ฉบับที่ 220 กรงกรรม : บางทีคนเราก็ต้องการแค่โอกาส

               ผลพวงที่สำคัญประการหนึ่งหลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ได้แก่ การเติบโตอย่างเป็นล่ำเป็นสันของบรรดากลุ่มทุน หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจเข้าไปยึดเกาะกุมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมไทย และผ่านมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาที่กลุ่มทุนเหล่านี้จะทบทวนหวนคิดไปถึงเส้นทางที่พวกเขาเติบใหญ่ขึ้น ดุจเดียวกับชีวิตของตัวละครอย่าง “ย้อย” ในเรื่อง “กรงกรรม”        ว่ากันตามที่จริงแล้ว แก่นของละครโทรทัศน์ “กรงกรรม” ก็คือ การพยายามยืนยันว่า มนุษย์เราล้วนมี “กรงแห่งกรรม” สลักฝังติดตนเอาไว้ทุกคน ใครที่เคยหรือได้กระทำกรรมอันใดไว้ กรรมก็จะเป็นกรงอันย้อนกลับมากักขังมนุษย์ผู้นั้นไว้เป็นวัฏจักร        หาก “กรรม” คือการกระทำของคนเราแล้ว ไขว้ขนานไปกับแก่นของเรื่อง “กรรม” ดังกล่าว ละครก็ได้สะท้อนไปที่ภาพการกระทำและดำเนินชีวิตของกลุ่มทุนหน้าใหม่ในช่วงกึ่งศตวรรษก่อนอย่างย้อย ซึ่งแต่งงานใช้ชีวิตอยู่กินกับ “หลักเช้ง” และร่วมกันสร้าง “บ้านแบ้” หรือธุรกิจกงสีของตระกูล “อัศวรุ่งเรืองกิจ” อันเป็นรูปธรรมของกลุ่มทุนแบบไทย-จีน ที่ก่อตัวขึ้นในหัวเมืองท้องถิ่นอย่างอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์        กลุ่มทุนไทย-จีนในหัวเมืองใหญ่แบบนี้ ได้เข้าไปถือครองอำนาจในธุรกิจหลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงสีข้าว กิจการห้องแถว ธุรกิจ SME อย่างร้านชำ และอีกมากมาย และที่สำคัญ ตัวแทนกลุ่มทุนแบบย้อยยังจำลองให้เห็นความพยายามสืบต่ออำนาจทางเศรษฐกิจไปยังลูกชายทั้งสี่คนในเจเนอเรชั่นถัดไป อันได้แก่ “อาใช้” “อาตง” “อาซา” และ “อาสี่” ตามลำดับ        และเพราะกฎกติกาของทุนต้องไม่ใช่แค่การต้องสืบทอดเพื่อยืนยันการดำรงอยู่ของระบอบทุนไปสู่คนรุ่นใหม่เท่านั้น หากแต่เพราะ “ทุนต้องมีการต่อทุน” ดังนั้น การที่ย้อยเจ้ากี้เจ้าการพยายามจับบุตรชายคลุมถุงชนกับ “พิไล” หรือ “เพียงเพ็ญ” ลูกสาวของกลุ่มทุนในเขตอำเภออื่น ก็เป็นประหนึ่งการพยายามควบรวมและประสานทุนกันเป็นโครงข่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในวงจรการเติบโตของบรรดากลุ่มทุนนั่นเอง        จนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ “เรณู” ในฐานะสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้ ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ ถาโถมเข้าสู่วงจรการสั่งสมความมั่งคั่งในโครงข่ายทุนเศรษฐกิจของย้อย        ในอดีตเรณูเคยยากจน ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก จึงตัดสินใจทำอาชีพเป็นโสเภณีอยู่ที่ตาคลีมาก่อน จนเมื่อมาพบและตกหลุมรักกับอาใช้ เรณูก็อยากจะเลือกเดินชีวิตใหม่ และอยู่กินเป็นภรรยาของอาใช้ โดยมีความฝันอยากจะเป็นเจ้าของร้านขายขนมเล็กๆ แห่งหนึ่ง        แต่เมื่อทั้งเรณูและอาใช้เดินทางจากตาคลีกลับมาถึงชุมแสง ความขัดแย้งระหว่างเรณูกับย้อยก็อุบัติขึ้นนับแต่ก้าวแรกที่เหยียบบ้านแบ้ ไม่เพียงเพราะความหวังที่ย้อยจะจับบุตรชายแต่งงานร่วมหอลงโรงกับพิไลต้องพังทลายลงเท่านั้น แต่ด้วยภูมิหลังอาชีพดั้งเดิมของเรณูก็ส่งผลให้ย้อยตั้งกำแพงรังเกียจว่าที่สะใภ้ใหญ่ของตนเอาไว้ชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย        แม้หลักเช้งจะเคยเตือนสติย้อยว่า คนเราลบอดีตไม่ได้ แต่ให้เลือกวัดคุณค่าของคนที่อยู่ในปัจจุบันแทน แต่ทว่าย้อยก็หาลดความจงเกลียดเรณูไม่ และยังเปิดฉากทำสงครามสัประยุทธ์กับเรณูอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่ทั้งเธอและ “แย้ม” ผู้เป็นน้องสาวต่างติฉินนินทาสะใภ้ผู้นี้ว่า “ดูหน้าตาก็บอกยี่ห้อเลยว่ามาจากตรงไหนของตาคลี” หรือแม้แต่กล่าวผรุสวาทว่า “กะหรี่มันจะไปรักใครจริง รักบ้ารักบอสิ...”        แต่อย่างไรก็ดี บนความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้นี้เอง ความจริงทางสังคมบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมาให้เห็นในละครด้วยเช่นกัน การที่เรณูเลือกมาใช้ชีวิตอยู่กินกับอาใช้นั้น ก็มีเหตุผลเหมือนที่เธอเคยพูดว่า “ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งนั้น” และ “บางทีคนเราก็ต้องการแค่โอกาสจะทำอะไรสักอย่าง”        แต่คำถามก็คือ สิ่งที่เรณูเรียกว่าเป็น “โอกาส” ในชีวิตนั้น หาใช่เป็น “ทรัพยากร” ที่จัดสรรไว้ให้สำหรับทุกคนในสังคมโดยเท่าเทียมกัน เพราะอันที่จริงแล้ว “โอกาส” ของคนชั้นล่างอย่างเรณู รวมทั้ง “ติ๋ม” โสเภณีรุ่นพี่ของเธอ ก็คือสิ่งที่ถูกพรากไปจากชีวิตของพวกเธอโดยใครบางคนที่มีอำนาจมากกว่าอย่างย้อยนั่นเอง        จากภาพที่ละครย้อนรอยชีวิตของย้อยก่อนจะเข้ามาเป็นสะใภ้บ้านแบ้ จนกลายมาเป็นกลุ่มทุนหน้าใหม่ที่มีความมั่งคั่ง การสั่งสมทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ก็ได้อาศัยการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดทรัพยากรและปัจจัยการผลิตจากคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่าตนมาก่อน เหมือนกับที่ครอบครัวของติ๋มก็เป็นตัวอย่างของคนที่ถูกย้อยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทำสัญญากู้หนี้จนสิ้นเนื้อประดาตัว และผลักไสให้ติ๋มต้องมายึดอาชีพโสเภณีก่อนที่จะมาพบเจอกับเรณู        และเมื่อ “โอกาส” ถูกพรากไปจากชีวิต เรณูที่ไม่มีทั้งความรู้ ทุนทรัพย์ หรือสถานภาพใดๆ ทางสังคม ก็ต้องหันมาฉกฉวยสร้าง “โอกาส” ให้กับตนเอง เหมือนกับที่เรณูก็ยอมรับกับ “วรรณา” น้องสาวของเธอว่า “ชีวิตกูไม่เคยมี ไม่เคยได้อะไรง่ายๆ เหมือนคนอื่น ถ้ากูอายคน กลัวคน ไม่สู้คน กูไม่ทันเล่ห์คน กูตายไปนานแล้ว...”        เพราะไม่มีซึ่งทุนใดๆ ติ๋มจึงสนับสนุนให้เรณูหันไปใช้ “อวิชชา” มาเป็นเครื่องมือ ความรู้แบบคุณไสยและยาเสน่ห์ที่เรณูทำใส่อาใช้ และต่อมาก็ใช้กับย้อยนั้น ก็คือการบอกเป็นนัยว่า คนที่ไร้ซึ่ง “โอกาส” ก็ย่อมต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าลึกๆ จะรู้สึกผิดที่ต้องอาศัยด้านมืดของอวิชชาเพื่อให้ได้มาซึ่ง “โอกาส” ก็ตาม        แม้การทำยาเสน่ห์จะถูกมองว่าผิด เหมือนกับที่ชาวชุมแสงทั้งอำเภอพากันขับไล่ไสส่งให้เรณูออกไปจากชุมชนเมื่อความจริงถูกเปิดเผย แต่เล่ห์กลที่ย้อยเองใช้เพื่อพรากปัจจัยการผลิตและ “โอกาส” ในชีวิตของคนอื่นมาขยายทุนของตน ก็หาใช่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใดไม่        ยาสั่งที่เรณูและติ๋มทำใส่ย้อย จึงไม่เพียงแต่ทำให้ย้อยยอมรับการเข้ามาเป็นสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้ได้เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ย้อยเล็งเห็นว่า คนชั้นล่างอย่างเรณูหรือติ๋มก็มีสถานภาพ “เป็นคน” ด้วยเช่นกัน        จะด้วยฤทธิ์ของยาเสน่ห์หรือไม่มิอาจทราบได้ แต่ในท้ายที่สุด ย้อยก็ได้ทบทวนความคิดขึ้นใหม่ว่า ระหว่างเรณูที่ต้องการแค่ “โอกาส” และใช้ “โอกาส” เพื่อสร้างฝันเล็กๆ ของการเปิดร้านขนมโดยไม่ย่อท้อ กับพิไลสะใภ้ที่เธอเลือกมาเอง แต่วันๆ มุ่งแต่จะเฝ้าเก๊ะเพื่อยักยอกเงินกับพิทักษ์หีบสมบัติไม่ให้ตกเป็นของคนอื่น ตัวเลือกใดกันแน่ที่เหมาะจะเป็นสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้จริงๆ        หาก “กรรม” เป็นการกระทำที่ย้อนกลับมาเป็น “กรง” ขังเราเอาไว้ ก็คงถึงเวลาแล้วเช่นกัน ที่บรรดากลุ่มทุนซึ่งเติบโตมาเกินกว่ากึ่งศตวรรษจะเริ่มย้อนกลับไปถามตนเองแบบเดียวกับย้อยว่า การหลุดพ้นจาก “กรงกรรม” ที่กักขังพวกเขาไว้นั้น ก็อาจหมายถึงการเคารพศักดิ์ศรีและ “โอกาส” ของคนอื่นๆ ในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >