ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 กฎหมายความรับผิดของนิติบุคคลคอนโด

ในสังคมเมืองใหญ่ สำหรับที่อยู่อาศัยแล้ว บ้านแนวราบลักษณะที่เป็นหมู่บ้าน โครงการบ้านได้พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมหรือห้องชุดที่อยู่อาศัยแนวดิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้พื้นที่น้อยลงได้จำนวนห้องมากขึ้น แต่เมื่อเป็นการอยู่อาศัยร่วมกัน สิ่งที่สำคัญคือการมีกติการ่วมกัน หลายคนที่อยู่ในคอนโด ก็จะมีนิติบุคคลอาคารชุดเป็นคนดูแล จ้างผู้จัดการมาคอยจัดการเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ที่จอดรถ น้ำประปา ไฟฟ้า และทรัพย์ส่วนกลางต่างๆ ให้ใช้งานได้เป็นปกติ รวมถึง จัดประชุมเจ้าของห้องชุด เพื่อออกระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้การอยู่อาศัยร่วมกันเป็นปกติสุข         อย่างไรก็ตามมีปัญหามากมายเกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาระหว่างนิติบุคคลอาคารชุดกับเจ้าของห้องชุดอยู่เสมอๆ จนถึงขั้นฟ้องร้องกันก็มีมากมาย ครั้งนี้จึงยกบางกรณีที่น่าสนใจเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียม         คดีแรกเป็นเรื่องของคอนโดแห่งหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมห้องพัก ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าสาเหตุมาจากปัญหาท่อรับน้ำภายในอาคารชุด ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เพราะได้เรียกเก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางจากเจ้าของห้องชุดไปแล้ว และได้นำเงินไปจ้างบริษัทมาบริหารอาคารชุดแทนตน เมื่อบริษัทดังกล่าวปล่อยปละละเลยให้เกิดน้ำท่วมห้องพัก ทำให้ทรัพย์สินของเจ้าของห้องชุดเสียหาย เช่นนี้ ศาลก็วินิจฉัยว่า บริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชอบในฐานะตัวการตัวแทน         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 มีรายละเอียด ดังนี้         พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตัน และจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น หรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน  เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์         อีกคดี เป็นเรื่องของการออกระเบียบเกี่ยวกับการจอดรถยนต์ ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีอำนาจในการกำหนดระเบียบเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกัน อันเป็นการจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน แต่การที่มีเงื่อนไขในเรื่องการค้างค่าส่วนกลางมากำหนดในระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิในการขอรับขอรับสติกเกอร์จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ เป็นการกำหนดที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะถือเป็นการบังคับเอากับเจ้าของห้องชุดให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ตนกำหนด โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550         ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 บัญญัติว่านิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การที่จำเลยออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในอาคารจอดรถยนต์ของจำเลยจะต้องได้รับสติกเกอร์จากจำเลยเพื่อติดรถยนต์ก่อนอันเป็นการจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน จำเลยย่อมสามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการขอรับสติกเกอร์จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ ข้อ 1 แต่การที่จำเลยกำหนดในข้อ 2 ว่าเจ้าของร่วมผู้มีสิทธิในการขอรับสติกเกอร์ตามข้อ 1 จะต้องไม่ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเรื่องการค้างชำระค่าส่วนกลางถือเป็นหนี้ที่จะต้องมีการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย การออกระเบียบเช่นนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูกต้อง มีเจตนาที่จะบีบบังคับเอากับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยกำหนดจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้         จึงเห็นได้ว่าการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้นิติบุคคลอาคารชุดต้องจัดการดูแลทรัพย์สินทรัพย์ส่วนกลางให้เรียบร้อยเป็นปกติ  หากมีปัญหาผู้บริโภคในฐานะเจ้าของห้องชุดสามารถไปใช้สิทธิทางศาลฟ้องเพื่อให้รับผิดชอบแก้ไขหรือจัดการให้ถูกต้องได้ รวมถึงหากพบระเบียบ กติกาบางข้อที่ประกาศออกมาไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคให้ศาลชี้ขาดว่าระเบียบหรือข้อกำหนดใดขัดต่อกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมคนอื่นๆ ให้ได้รับการคุ้มครองได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ถูกหลอกซื้อบ้านที่ต้องเวนคืน มีสิทธิเรียกร้องอะไรบ้าง

        ก่อนที่เราจะตัดสินใจมีบ้านสักหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีข้อมูล เพื่อให้เราเลือกบ้านได้ตามที่เราต้องการ ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจขายบ้านก็มักมีคำโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อข้อความที่โฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านสักหลัง ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีความสุจริตในการทำโฆษณาไม่หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด  มิเช่นนั้นผู้บริโภคก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ คืนจากผู้ประกอบธุรกิจได้          ผมขอยกตัวอย่างคดีที่ผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจอยากมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้วต่อมาทราบข้อมูลภายหลังว่า บ้านที่ตนซื้อเป็นพื้นที่กำลังโดนเวนคืน จึงเกิดความเสียหายเพราะผู้ประกอบธุรกิจปกปิดข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินค่าบ้านคืน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว  เช่น ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น         ลักษณะข้างต้นเช่นนี้ศาลถือว่าเป็นการใช้ “กลฉ้อฉล” โดยวิธีปกปิดไม่บอกความจริงเกี่ยวกับบ้านว่าอยู่บนพื้นที่เวนคืน ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการหลงทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561         การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้         จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี         หากขณะทำสัญญาซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เช่นนี้ ไม่ถือว่าปกปิดข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2537         ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้วการเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใดจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กระแสต่างแดน

ใส่วนไป        ที่ผ่านมาการรีไซเคิลเสื้อผ้าด้วยกระบวนการทางเคมีทำได้กับเส้นใยโพลีเอสเตอร์เท่านั้น ฟินแลนด์กำลังจะเปิดโรงงานแห่งแรกในโลกที่สามารถผลิตเส้นใยฝ้ายจากเสื้อผ้าทิ้งแล้ว ภายในปี 2025         โรงงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษเก่าในเมืองเคมิทางเหนือของทะเลบอลติก ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาทมีกำลังผลิต “เส้นใยรีไซเคิล” ปีละ 30,000 เมตริกตัน (เท่ากับเสื้อยืดประมาณ 100 ล้านตัว) และในอนาคตยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแบบนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ         โดยทั่วไปเสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว จะใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 2,700 ลิตร แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ลงได้ถึงร้อยละ 99         ฟินแลนด์ซึ่งมีสถิติการทิ้งเสื้อผ้าต่อคนอยู่ที่ปีละ 13 กิโลกรัม กำหนดเป้าหมายว่าจะจัดการเก็บแยกขยะเสื้อผ้าให้ได้ภายในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมายร่วมของสหภาพยุโรปถึงสองปี   ตั๋วไม่ถูก        องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Konsumentverket เผยผลวิเคราะห์เหตุผลที่มีจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์มถูกปรับมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือส่วนใหญ่มีตั๋วโดยสารแต่จ่ายเงินไม่ครบ บ้างไม่มีใบเสร็จ บ้างก็ซื้อตั๋วผิดประเภทจากแอปฯ           สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องคือ การลดหย่อนหรือยกเลิกค่าปรับในกรณีที่ผู้โดยสาร “ใช้ตั๋วไม่ถูกต้อง” แต่ไม่ได้ตั้งใจแอบขึ้นฟรี (ซึ่งมีค่าปรับ 1,500 โครนา หรือ ประมาณ 5,200 บาท)         การตรวจตั๋ว (เมื่อผู้โดยสารลงจากรถ) งดเว้นไปในช่วงการระบาดของโควิด และเมื่อเริ่มมีการตรวจอีกครั้งกลางเดือนมิถุนายน ก็พบว่ามีคน “แอบขึ้นฟรี” ถึง 80,000 คนในเดือนนั้น            อัตราค่าโดยสารในบัตร SL Access ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ มีให้เลือกตั้งแต่ ตั๋วเที่ยวเดียว/ 24 ชั่วโมง/ 72 ชั่วโมง/ 7 วัน/ 30 วัน (ประมาณ 3,300 บาท) / 90 วัน และตั๋ว 1 ปี (ประมาณ 34,800 บาท) โดยมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรครั้งแรก 20 โครนา (ประมาณ 70 บาท)  ก่อนเช่าต้องชัด        “ผู้เช่าบ้าน” ในฝรั่งเศสได้รับการคุ้มครองค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องข้อมูลที่ผู้ให้เช่าจะต้องบอกไว้ใน “โฆษณา”           อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ฝรั่งเศสกำหนดให้ใครก็ตามที่ต้องการปล่อยบ้านหรือห้องให้ผู้อื่นเช่า ต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้         ค่ามัดจำ ค่าเช่ารายเดือน ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าระบบทำความร้อน ที่จอดรถ โดยระบุวิธีการชำระเงินให้ชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าของบ้านต้องบอกให้ชัดเจนหากต้องการให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายรับภาระและแจ้งจำนวนเงิน         กรณีที่บ้านหรือห้องเช่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมค่าเช่า” โฆษณาจะต้องระบุอัตราค่าเช่าสูงสุดและต่ำสุดในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าของบ้านตรวจสอบได้จากเว็บของรัฐบาลและต้องระบุว่าเป็นบ้าน/ห้องเปล่า หรือตกแต่งพร้อมให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตรและอยู่ในเขตเลือกตั้งใดรู้ไว้ก่อนขายของสด        การ “ไลฟ์ขายของ” ที่แฟนๆ ชาวจีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันติดหนึบด้วยคอนเทนต์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศข้อห้ามถึง 31 ข้อ                ตัวอย่างเช่น ห้ามส่งเสริมการกินทิ้งกินขว้าง ห้ามโอ้อวดความร่ำรวย (เช่น นำเพชรพลอย เงินกองโต หรือสินค้าแบรนด์เนมมาวางประกอบฉาก) ห้ามแต่งตัวยั่วยวน ห้ามพูดจาลามก ห้ามทรมานสัตว์ เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามเลี่ยงภาษี         หน่วยงานฯ เขายังกำหนดให้คนที่จะไลฟ์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย การศึกษาหรือการให้คำแนะนำทางการเงิน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว         ร้อยละ 63 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้ชมการไลฟ์สด ทางการจีนระบุว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิด “คอนเทนต์คุณภาพ” ที่นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นสิทธิในการทำแท้ง        ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก การทำแท้งที่นั่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 6 ปี           อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้หญิงใช้แสวงหาความช่วยเหลือเมื่อต้องการหยุดการตั้งครรภ์ พวกเธอใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลเรื่องการทำแท้ง รวมถึงใช้นามแฝงเข้าไปพูดคุยสอบถามปัญหาในเฟซบุ๊ก หรือในแอปฯ อย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อขอคำปรึกษาจากคนแปลกหน้า           แน่นอนว่าทางออกนี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และพวกเธอยังอาจถูกจับดำเนินคดีด้วยหลักฐานการสนทนาในแอปฯ ดังกล่าวด้วย         แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครต้องขึ้นศาลเพราะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่คำตัดสินของศาลอเมริกันที่มีผลให้การทำแท้งไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหลายประเทศ และทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลการค้นหาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว     

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 255 คำรับสารภาพ ช่วยลดโทษได้จริงหรือ

        ตามที่มีข่าวคดีขับรถบิ๊กไบค์ชนหมอบนทางม้าลายจนเสียชีวิต และหลังศาลมีคำพิพากษาก็เกิดกระแสของคดีนี้ และตั้งคำถามต่อบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก และมีการคาดหวังที่จะเห็นบทลงโทษอย่างเหมาะสมเพื่อป้องปราม และเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนให้รักษากฎระเบียบจราจรและความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ซึ่งมีประเด็นว่า ในคดีดังกล่าว ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรารวมถึง ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดย ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตาม เครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ทำให้โทษที่จำเลยได้รับจากการกระทำความผิดต่าง ๆ ดังกล่าว เหลือเพียง จำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา         นอกจากนี้ศาลยังสั่งริบจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้กระทำผิด และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยด้วย         จากคดีดังกล่าว จึงมีเรื่องที่น่าสนใจว่า การรับสารภาพช่วยให้บรรเทาโทษหรือลดโทษได้เสมอไปหรือไม่ ซึ่งในความจริงแล้วการรับสารภาพที่จะเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นบทบัญญัติในการ "ใช้ดุลพินิจของศาล" ไม่ใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเสมอไป ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2547                 "ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่         การรับสารภาพ อาจมีสาเหตุได้หลายประการ และบางอย่างก็อาจไม่เป็นเหตุให้ศาลบรรเทาโทษ เช่นกรณีการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ยากที่จะอ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ แม้จะกระทำความผิดครั้งแรกก็ตาม         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2546         "จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 110,000 เม็ดน้ำหนัก 10,496.92 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 1,044.916 กรัม แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไปกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล เป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้และมาเบิกความยืนยันความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ"         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2527        จำเลยไปขอเงินผู้ตายซึ่งเคยเป็นภรรยามีบุตรด้วยกัน แต่เลิกกันแล้ว ผู้ตายให้ไปเอาที่บ้าน จำเลยขู่จะฆ่ามารดาผู้ตายห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยตีและเตะจนผู้ตายล้มลงไปในนามีน้ำขัง จำเลยตามไปกดคอจนตายเพราะขาดอากาศหายใจ ดังนี้ เป็นการข่มเหงรังแกเอาแก่สตรีโดยปราศจากเมตตาปรานีและโดยไม่มีเหตุอันน่าเห็นใจแต่อย่างใดกระทำต่อหน้าพยาน ทั้งถูกจับกุมได้ในทันทีหลังเกิดเหตุแม้รับสารภาพ ก็เป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยได้         จากตัวอย่างคำพิพากษาที่ยกมาข้างต้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อเทียบเคียงกับคดีที่เกิดขึ้น การรับสารภาพของผู้ขับบิ๊กไบค์ดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นการรับสารภาพโดยจะถือว่าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาล หรือเป็นเพราะกระแสสังคมกดดัน และจำนนต่อพยานหลักฐาน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจไม่มีเหตุลดโทษก็ได้  โดยคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด มีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ปีกว่าที่ว่างเปล่า สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยในระบบราชการไทย

        กว่า 60 ปี การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและเลือกหนทาง มิพักต้องพูดถึงแนวคิดล้าหลังที่ซุกอยู่ในกฎหมายทำแท้งที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 301 และมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง          ปี 2561 พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครจะรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          ในฐานะผู้ที่ผลักดันการแก้กฎหมายทำแท้งคนหนึ่ง พญ.ศรีสมัย ใช้เหตุการณ์นี้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องเป็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ในที่สุด          โดยในมาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม          ส่วนมาตรา 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ดังนี้         1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น         2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง         3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ         4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์         5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น          ไม่มีปฏิเสธว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญ เมื่อพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ายังมีก้าวอื่นอีกที่ต้องไปต่อ  ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย          เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้คือการยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้ง การทำแท้งต้องไม่ใช่ความผิด และผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร การทำแท้งต้องเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของผู้หญิงและมีกระบวนการครอบคลุม ครบถ้วน โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับเคลื่อนตระหนักดีว่าบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยากคือผ่านมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปปีกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขสำหรับวางแนวทางรองรับกลับยังไม่ถูกประกาศใช้         สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เล่าว่าที่ผ่านมา 3 สิ่งที่เอื้อต่อการทำงานคือการแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งซึ่งทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น หน่วยบริการมีมาตรฐานมากขึ้น สอง-มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้วัยรุ่นได้รับสิทธิและเกิดคณะทำงานขับเคลื่อน ประการสุดท้าย ในช่วงโควิดก็มีนโยบาย Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ส่งยาให้กับผู้ที่จำเป็นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทำให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย          แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นเพราะผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ทั้งยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ พร้อมกับที่ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนก็มีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม          จากการเก็บข้อมูลการให้บริการท้องไม่พร้อมของสายด่วน 1663 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 มีจำนวนพผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย มากกว่า 20 ปี 79 ราย          “เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนถึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ” สมวงศ์ ตั้งคำถาม          ระบบราชการทำ สธ. ประกาศกระทรวงไม่ได้          ผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้บริโภคยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สืบเนื่องจากระบบราชการแบบไทยๆ ที่มักติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่         ความเดิมมีอยู่ว่า หลังจากแก้กฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างประกาศใช้เป็นแนวทางการให้บริการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี คณะกรรมการยกร่างประกาศเสร็จสิ้น ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่         หมวดที่ 1เรื่องการให้การปรึกษาทางเลือก         หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ         หมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง          กรมอนามัยนำส่งร่างต่อไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามบังคับใช้ ทาง สธ. เพื่อลงนามบังคับใช้ ทว่า กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทักท้วงว่า ตัวร่างในหมวดที่ 2 และ 3 อาจจะเกินขอบเขตที่มาตรา 305 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงให้กระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปรึกษาทางเลือกเท่านั้น          “ทางกรมอนามัยจึงหารือกับคณะกรรมการยกร่าง” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้”          คำอธิบายข้างต้นไม่สามารถเบาบางข้อวิตกกังวลของกองกฎหมาย สำนักปลัดฯ ได้ เพราะถ้าระบุลงไปแล้วในทางปฏิบัติทำไม่ได้ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว ยังอาจถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทางสำนักปลัดฯ ต้องให้ประกาศสั้น กระชับ และตรงประเด็น เพื่อให้ในทางปฏิบัติไม่ต้องมีข้อถกเถียง          นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนกรานจึงจบลงด้วยบทสรุปที่ให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นอีกชุดเพื่อยกร่างประกาศใหม่โดยอ้างอิงมาตรา 305 โดยตรงและใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้น          กรณีโรงพยาบาลประกันสังคมบางแห่งไม่รับผิดชอบ         เวลาที่ยืดเยื้อออกไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง สมวงศ์เล่าถึงกรณีหนึ่งว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งเป็นโรคหัวใจและตั้งครรภ์ เธอฝากครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสังคม ปรากฏว่าทั้งแพทย์สูตินรีเวชและแพทย์ด้านหัวใจบอกตรงกันว่าไม่ควรตั้งครรภ์ต่อเพราะมีอันตรายต่อชีวิต ซึ่งขณะนั้นอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว          “เขาโทรมาหาเรา เราบอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพคุณควรได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลประกันสังคมของคุณ เขาก็เลยกลับไปที่โรงพยาบาล ทางนั้นบอกว่าไม่มีบริการทำแท้งจึงปฏิเสธและไม่รับฝากท้องด้วยเนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจ เขาจึงกลับมาปรึกษาเราอีกครั้งหนึ่งว่าโรงพยาบาลประกันสังคมไม่ดูแลเขา          เราจึงติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่าย ปรากฏว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับทำให้และยืนยันว่าเคสนี้อันตรายถึงชีวิตจริงและมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงแนะนำให้กลับไปที่โรงพยาบาลประกันสังคมนำประวัติการรักษาทั้งหมดมาและทำหนังสือส่งตัวเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท อันนี้เป็นเรื่องการรักษา เป็นเรื่องสุขภาพจริงๆ ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมตัดสินใจทำใบส่งตัวให้ แต่ไม่ส่งตัวไปให้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ส่งไปให้อีกโรงพยาบาลหนึ่งในเครือข่ายของเขา         วิธีส่งตัวคือทำเอกสารขึ้นมาใบหนึ่งแล้วให้ผู้รับบริการเดินไปรับบริการเอง ไม่มีการประสานส่งตัว ผู้รับบริการก็เดินไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แต่ทางนั้นก็บอกว่าไม่ได้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็ปฏิเสธ สุดท้ายก็จำเป็นต้องรับบริการจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ประกันสังคมต้องรับผิดชอบ โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้รับบริการ”          การรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องชนชั้น          สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง องค์การภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการทำแท้งที่ปลอดภัย เปิดรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 พบว่า ในปี 2563 สปสช. ตั้งเป้าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ที่ 23,000 ราย แต่ทำได้จริงเพียง 4,924 ปี 2564 จึงตั้งเป้าต่ำลงคือ 12,000 ราย แต่ก็ทำได้จริงเพียง 5,294 ราย          “แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน” สุพีชา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ กลุ่มทำทางแจกแจงออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย          1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ ประชาชนและส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่เองที่ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่ได้รับมอบหมายนโยบายจึงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีผู้มาขอรับบริการ ประชาชนจึงไม่รุ้ว่าจะไปรับบริการได้ที่ไหน บริการเป็นอย่างไร         2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ สุพีชาบอกว่าในประเทศไทยมีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการทำแท้งปลอดภัย 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเอกชน 21 แห่ง เปิดให้บริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น          “เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเป็นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค” สุพีชา อธิบาย “ค่าบริการแตกต่างกัน บางแห่งต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางที่ให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”          3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ และสูญเสียรายได้จากการหยุดงานหรือบางรายที่ทำงานไม่ให้หยุด          “การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”          4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร          5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ การถูกตีตรายังมีอยู่อย่างรุนแรง สุพีชา กล่าวว่า          “อย่าปล่อยให้หมอที่ให้บริการต้องเคว้งคว้าง การประชาสัมพันธ์คือการคุยกับสังคมว่ารัฐบาลสนับสนุน กฎหมายสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวง สุพีชายังเสนออีกว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และสิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ          และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          รอดูกันว่าสิ้นปีนี้ระบบราชการไทยจะผลักประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลูกตาย พ่อทำสัญญายอมกับคนทำละเมิดแล้ว แม่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

        อย่างที่ทุกท่านทราบว่าความสัมพันธ์ของคนที่ยินยอมตกลงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน กฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยาที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ก็เป็นสินสมรส  แต่ในบางเรื่องกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองแต่ละคนไว้เป็นการเฉพาะ เช่นในกรณีที่มีคนทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย เช่นนี้ตามกฎหมายให้สิทธิผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้  ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้ก็รวมถึง “ค่าขาดไร้อุปการะ” ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อกัน ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร และบุตรก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่มีคนมาทำละเมิดทำให้บุตรตาย ทำให้บิดามารดาขาดคนอุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ศาลก็ให้ผู้เป็นบิดามารดาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากคนทำละเมิดต่อบุตรของตนได้  อย่างไรก็ดี ก็เกิดประเด็นน่าสนใจว่า หากบิดาได้ไปฟ้องคดีเอง โดยมารดาไม่รู้ แล้วบิดาก็ไปตกลงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว และมีข้อตกลงจะไม่ติดใจฟ้องร้องกันอีก เช่นนี้จะมีผลอย่างไร          เรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้นจริง และไปถึงศาลฏีกา จนที่สุดศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางแนวตัดสินคุ้มครองมารดามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะนี้ด้วย เพราะศาลเห็นว่า สิทธิในการเรียก “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556         สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้         นอกจากนี้  “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้เลี้ยงดูบิดามารดาจริงหรือไม่  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง

พูดถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถอยไปก่อนโซเชียลมิเดียและสมาร์ทโฟนถือกำเนิด มันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ง่ายดายและข้อมูลที่จะโยงกับมาสู่ตัวเจ้าของก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ตัดกลับมาปัจจุบัน ข้อมูลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ตัวเราเองเป็นผู้บอกให้โลกรับรู้         ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ มันถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงุนงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน         เมื่อข้อมูลที่สามารถสืบสาวกลับเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวบุคคลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม กฎหมายจึงต้องวิวัฒน์ตามเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้คือกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้สนทนากับ ผ.ศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIP, CIPM, CIPP/US, CIPP/E (GDPR), CIPP/A, EXIN/PECB Certified Data Protection Officer ว่าด้วยหลักการ แนวคิดของกฎหมาย และผู้บริโภคจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล ขอบเขตมันกว้างแค่ไหน         ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า PDPA ในมาตรา 6 บอกไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาซึ่งทำให้สามารถระบุตัวคนนั้นได้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ที่กฎหมายไทยเขียนไว้แค่นี้คือการเขียนที่สอดคล้องกับ GDPR รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศที่เอา GDPR ไปเขียนเป็นกฎหมาย เขียนแบบปลายเปิด นี่คือความยาก มันทำให้บทนิยามคำว่าข้อมูลส่วนบุคคลในทางการบังคับใช้มีต้นทุนสูง เพราะมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ ถ้าเราไปดูของฝั่งสหภาพยุโรป ตัว GDPR เขาเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่เขามียกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสถานที่ สิ่งต่างๆ ที่ระบุอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ของคุณ Username Password Cookie ID ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เชื่อมโยงมาแล้วบอกได้ว่าเป็นตัวคุณ         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดู PDPA มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว กฎหมายให้ตัวอย่างของ Identifier บางอย่างที่ใช้เชื่อมโยงหรือระบุตัวบุคคลได้ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งพวกนี้เป็น Sensitive Data ซึ่งกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความหมายคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล เราจะบอกว่าต้องดูจากบริบทการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เอาจริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลแทบทุกอย่างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้หมดขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งานว่าคุณเอามาใช้แล้วมันเชื่อมโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการ Linkable หรือ Identifiable มันเป็นเรื่องที่พูดยากในบริบทของกิจกรรมการประมวลผลที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง Cookie ID ออนไลน์แทร็คกิ้ง  Location Data ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นใคร เราไม่รู้ แต่มี Operator รู้ มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีบางหน่วยงานที่สามารถ Identify ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเลยบอกว่าข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมโยงกลับไปได้ว่าหมายถึงใคร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ผมต้องบอกด้วยว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับกับผู้ควบคุมของข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทุก ๆ ประเภท ทุก ๆ ธุรกิจ เว้นแต่บางกิจการหรือกิจกรรมที่กฎหมายอาจจะยกเว้นให้ ดังนั้น บริบทมันกว้างกว่า Operator ความหมายของผมก็คือทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ในบริบทระหว่างผู้รับบริการหรือผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ดังนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงหมายถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต  ธนาคารพานิชย์ บริษัทประกันภัย อี-คอมเมิร์ส ทุกผู้ประกอบการมีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค เขาจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐถือเป็นผู้ควบคุมด้วยหรือไม่         PDPA ไม่ได้แยกระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานเอกชน องค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อยกเว้นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ หนึ่ง คุณได้รับการยกเว้นโดยกิจการ สอง คุณได้รับยกเว้นโดยองค์กรของคุณ มีหน่วยงานรัฐบางองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนบางกิจการที่ได้อาจได้รับการยกเว้น อาทิถ้าเป็น กิจการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน คุณได้รับการยกเว้นกฎหมายฉบับนี้เฉพาะในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมตามวิชาชีพ เพราะนี่คือการรักษาสมดุลระหว่าง 2 เรื่อง ประการแรก คือหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยความจริง เป็น Freedom of Expression คือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คุณเอาข้อมูลของคนมาเปิดเผยไม่ได้หรือมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ปัญหาจะเกิดทันทีเพราะว่าคุณไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อการตัดสินใจของประชาชนได้ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กรรมาธิการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายยกเว้นให้แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนยกเว้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 องค์กรใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้าบทนิยามคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หรือ ‘ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ คุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA         คราวนี้ในกฎหมายคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หมายถึงอะไร มันหมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คำว่าเก็บรวบรวมใช้ เปิดเผย ในทางปฏิบัติเราใช้คำรวม ๆ ว่า ‘การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่องค์กรที่กฎหมายยกเว้นให้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรเอกชน  เพียงแต่เงื่อนไขการประมวลผลและฐานทางกฎหมายที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ใช้หรือผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง?         PDPA เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ คุณหรือผมในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคนที่กฎหมายให้สิทธิ PDPA เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่มีหน้าที่ของเราเลย ตัวกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ว่าด้วยหน้าที่ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้กับคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ ซึ่งก็คือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คิดง่าย ๆ ก็คือผู้ให้บริการทั้งหลาย ภาคธุรกิจที่เอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั่นแหละที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย         หน้าที่ของเขา ผมขอใช้คำหนึ่ง เรียกว่า Responsible Use การใช้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ เขาต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accountability มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่จำกัด และชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการใช้ข้อมูลนอกวัตถุประสงค์ที่เขาแจ้งเราไว้ เป็นต้น           ถามว่าในแง่ของผู้บริโภคเราในฐานะผู้ใช้บริการควรจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างในการปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความจำเป็น ตัวอย่างเช่นการตั้ง Password การปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ ไม่ให้คนมาเอาข้อมูลของเราไปโดยมิชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่เราดูแลตัวเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ไม่มีหน้าที่         การใช้ข้อมูลต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นเราใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราและสัญญาให้บริการติดต่อเรา ส่งใบแจ้งหนี้ ใช้ที่อยู่เรา โทรหาเรา SMS ถึงเรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา แต่สิ่งที่ทำไม่ได้หรือถ้าจะทำคุณต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม สมมติว่าค่ายมือถือเพิ่มธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ถามว่าเขาจะเอาลูกค้ามาจากไหน ง่ายสุดก็ลูกค้าเดิม มีชื่อ มีนามสกุล มีที่อยู่ มีเบอร์โทรทุกอย่างแล้ว การที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสัญญานี้มาใช้กับตลาดใหม่ของเขา จะทำได้ก็ต่อเมื่อขอความยินยอมจากเราใหม่แยกต่างหากจากสัญญาหลัก เพราะนี่คือการเปลี่ยนจากวัตถุประสงค์เดิม ข้อมูลใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ เพียงแต่คุณมีหน้าที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับข้อมูลส่วนบุคคล โปร่งใสคือเอาไปทำอะไรต้องบอก เป็นธรรมแจ้งให้เราทราบด้วย แล้วก็ใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เราอนุญาต เวลาผู้บริโภคสมัครใช้แอพลิเคชันของธนาคาร จะมีข้อความยาวๆ ขึ้นมาให้กดยินยอม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่กดยินยอมก็ใช้แอพฯ ไม่ได้ กฎหมายพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง         อาจมี 2 เรื่อง เวลาที่เรากดรับความยินยอม กรณี Application ต้องแยกให้ออกว่ามันคือความยินยอมในแง่การเข้าทำสัญญา คือ Terms and Conditions หรือเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ คือเรายินยอมเพื่อเข้าทำสัญญาการใช้ Application นั้น เราเคยได้ยินเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม หรือสัญญาสำเร็จรูป คือ สัญญาที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคทำได้แค่เซ็นหรือไม่เซ็น อันนั้นมาในรูปของ Terms and Conditions ของสัญญาหรือบางกรณีก็พ่วงมากับการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลด้วยซึ่งจะกลายเป็นสัญญาพ่วงแบบ Consent ซึ่งหลักการนี้ค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ถ้าเป็นฝั่ง GDPR ‘ความยินยอม’ กับ ‘สัญญา’ คุณต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ถ้าเป็นการตกลงให้ความยินยอมเพื่อเข้าทำสัญญา มันไม่ใช่เรื่องความยินยอมในการใช้ข้อมูล มันคือเรื่องสัญญา แต่ถ้าคุณจะขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลก็เป็นเรื่องความยินยอมตาม PDPA มันคนละวงเล็บกันตามกฎหมายเลย มันคือคนละฐานในการประมวลผล ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถูกองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ซื้อขายต่อ และกลายเป็นปัญหารบกวน ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตน         ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริง ๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         แต่ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน         หรือ ณ ขณะนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคธุรกิจบางส่วนเองก็รับรู้แล้ว แต่ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับทั้งฉบับ ขาดผู้กำกับดูแลที่จะบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและโกยข้อมูล แต่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับเต็มรูปแบบ ทุกองค์กรต้องตอบได้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้บริโภคมีสิทธิตั้งคำถามกับคนที่โทรมาว่าคุณเอาข้อมูลมาจากไหน อย่างไร และถ้าคุณไม่พอใจให้เขาติดต่อมาอีก ก็บอกว่าขอให้ยุติการประมวลผล หรือขอให้ลบข้อมูลของคุณเสีย นี่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 249 แฝงสัญญาค้ำประกันในการเช่าซื้อข้อตกลงให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ใช้บังคับได้หรือไม่

        สวัสดีทุกท่านครับ  ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย         โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ    อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้  อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1         นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2  ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้    จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้         จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ถ้าไม่ทำตามที่โฆษณาเรามีสิทธิอย่างไร

ฉบับนี้ ผมก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวมาเสนออีกเช่นเคย ในช่วงโควิดระบาดเช่นนี้ ธุรกิจหลายอย่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจซื้อขายห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม หลายคนก็อาศัยช่วงนี้ที่ราคาคอนโดถูกลงเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักแสนจนหลักสิบล้าน การที่เราจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงอยากนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านในการซื้อคอนโดครับ         หลายท่านคงเริ่มจากค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและไปดูสถานที่จริง อย่างไรก็ดีเราจะพบว่าฝั่งโครงการ ซึ่งเป็นผู้ขายมักมีการทำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อให้เราตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น มีทั้งทำโฆษณาในออนไลน์ แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ป้ายใหญ่โต แต่เมื่อเราตัดสินใจทำสัญญาซื้อคอนโดไปแล้ว ผู้ขายมักไม่ทำตามคำโฆษณาและทำให้เกิดข้อพาทกัน เช่นในคดีหนึ่ง ผู้ประกอบการได้ทำเปิดขายอาคารชุด มีการแจกแผ่นพับโฆษณาโดยมีรูปแผนผังทำให้ผู้ซื้อเชื่อว่าที่ดินทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่ผู้ซื้อจะสามารถใช้สอยได้  แต่ต่อมากลับแจ้งผู้ซื้อว่าที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อมาฟ้องศาลเพื่อให้ทำตามที่โฆษณาไว้         ต่อมาศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ประกอบการต้องทำตามที่โฆษณาโดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม         ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือ เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย          จากคำพิพากษาข้างต้น ยังมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่น่าสนใจคือ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นคือทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วม ไม่ว่าทรัพย์นั้นทะเบียนอาคารชุดจะระบุไว้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 อะไรควรทำไม่ควรทำของสภาองค์กรของผู้บริโภค

        การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรมนูญมาตั้งปีพ.ศ.2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน         โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามในการจัดทำกฎหมายจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของรัฐสภา หลังผ่านกรรมาธิการร่วมเพื่อให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขณะที่ฝั่งองค์กรผู้บริโภคไม่รอกฎหมายและปฏิบัติการทำงานผ่านคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน         มาตรา 46 ของรัฐธรรมบัญญัติให้สิทธิผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง และกำหนดให้มีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยหลักเกณฑ์ วิธีการจัดตั้ง และอำนาจในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคให้มีการออกกฎหมาย                 รัฐบาลได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 150 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภคจากนายทะเบียนกลาง (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)) รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง” เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2563ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค มีสิทธิหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ.2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         พระราชบัญญัติการจัดตั้งกำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำงานทั้งเชิงรุกในการเฝ้าระวังและการรับเรื่องร้องเรียนช่วยไกล่เกลี่ยและฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค จัดทำรายงานการคุ้มครองผู้บริโภคประจำปี และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคอย่างน้อยปีละครั้ง รวมทั้งสนับสนุนสมาชิกของสภาซึ่งขณะนี้มีจำนวน 198 องค์กรให้สามารถทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น         นอกจากทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภคควรจะทำเรื่องอะไร เชื่อว่าไม่ง่ายเหมือนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในอดีต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่สื่อสังคมออนไลน์ โลกดิจิทัลที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ความเท่าทันและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล อยากชักชวนให้มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงไปกับตัวแทนของคุณ สภาองค์กรของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ตลกร้ายของประเทศนี้

        ไทย ประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คน ต่อปี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพันธะสัญญากับองค์การอนามัยโลกและนานาชาติว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามปฎิญญามอสโกที่กำหนดให้ ปี 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทว่าสิบปีผ่านไปทุกอย่างกลับล้มเหลว และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสองหมื่นคนไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย         แย่ยิ่งกว่านั้นทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลยังสวนทางกับเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการกำกับบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย  แม้ว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบร้อยละ 70 จะมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ แต่ภาพรวมของความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพาหนะทุกประเภทเกือบทั้งหมดล้วนมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด         ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังส่งเสริมให้คนเข้าถึงความเร็วของถนนได้มากขึ้นกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มคิกออฟเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม.         กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. หากใช้ช่องขวาสุดต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ซึ่งเงื่อนไขของถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ประกอบด้วย มี 4 ช่องจราจร ไปกลับสองช่องจราจร เกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยต้องเป็นเส้นทางที่ประกาศโดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เท่านั้น         ที่สำคัญกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาท่ามกลางข้อทักท้วงจากนักวิชาการถนนปลอดภัยที่ต่างให้ข้อคิดเห็นว่ากฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ยังไม่ใช่ทางออก และไม่เหมาะสมที่จะประกาศใช้ ชี้ความเร็วคือจุดเริ่มต้นของปัญหาอุบัติเหตุและความรุนแรง อีกทั้งถนนในบ้านเรายังไม่รองรับความเร็ว 120 กม/ชม. ที่มีก็อาจจะมีเพียงทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน เพราะถึงตอนนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว        ส่วนประเด็นความไม่พร้อมของถนนที่นักวิชาการทักท้วงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงคมนาคม เพราะมีหลายคนบอกต่อกันว่า “เขาออกกฎหมายมาก่อนแล้วค่อยสร้างถนนตามทีหลัง” ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ภายหลังที่กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ต่างประกาศแผนสร้างถนนรองรับนโยบายความเร็ว 120 กม/ชม. อีกกว่า 25 เส้นทางทั่วประเทศทันที เรียกได้ว่าพร้อมขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงกันเต็มที่         ขณะที่ข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เรื่องความเร็วกับถนนยกตัวอย่างของต่างประเทศจะดูตามสภาพของถนนและกายภาพของถนน โดยจะแบ่งถนนเป็นลำดับชั้น เช่น Freeway เทียบได้กับทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ในบ้านเรา โดยจะต้องเป็นถนนที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางเข้าออกอื่น ไม่มีจุดยูเทิร์น  ไม่มีรถจักรยานยนต์วิ่ง ต่อมา คือ ถนน Arterial หรือถนนสายหลักเทียบได้กับถนนสายเอเชีย สุขุมวิท มิตรภาพ ที่เป็นถนนแบบมีทางเข้าออก มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีจุดยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งในต่างประเทศการกำหนดความเร็วของถนนจะกำหนดตามลำดับชั้นก่อน ถ้าเป็น Freeway ก็จะวิ่งได้ความเร็วสูงกว่าถนนลำดับรอง แต่ก็ดูต้องด้วยว่าถนนเส้นนั้นอยู่ในเขตเมืองหรือนอกเมืองอีกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญในต่างประเทศถ้าเป็นถนนฟรีเวย์แบบนอกเมืองที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งจะจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 110 กม./ชม. และยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่กำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. เหมือนบ้านเรา         กลับมาที่ถนนสายเอเชียที่เป็นจุดคิกออฟความเร็ว 120 กม./ชม. แม้จะได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี แต่กายภาพของถนนสายเอเชียไม่ได้ถูกออกแบบเหมือนถนน Freeway เช่น ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ที่มีทางเข้าออกชัดเจน ไม่มีจุดกลับรถ แต่ถนนสายเอเชียโดยปกติ มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีรถขับออกมาจากถนนด้านข้าง ไม่มีแบริเออร์กั้นกลาง หรืออาจจะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากความเร็วของรถที่วิ่งไปมาได้         นอกจากนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. ยังส่งผลถึงพฤติกรรมผู้ขับรถยนต์ที่รู้สึกอยากขับรถเร็วขึ้น เพราะเบื่อเลนขวาแต่ขับช้า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคุ้นชินในการขับรถเร็วที่ต่อไปอาจจะไม่อยู่แค่ในเขตเส้นทางที่กำหนดก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้         อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วกฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. อาจจะถูกใจคนขับรถเร็ว และเอาใจรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายไว้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน และยังไม่เห็นถึงข้อดีตามแบบที่รัฐมนตรีคิดไว้  ที่สำคัญรัฐควรตาสว่าง ไม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ความเร็วที่ไม่ปลอดภัย แต่ควรส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า เพราะคงเป็นเรื่องตลกขำไม่ออกที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดความเร็วลงเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับมุ่งมั่นทำให้ทุกคนได้ขับรถเร็วขึ้น มันน่าอายเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายลูกหนี้เรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่

        ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้  นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ  กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15 ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  1.25  ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่  ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560         การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)         ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 อายุความ เรียกค่าสร้างบ้าน

สวัสดีครับฉบับนี้อยากหยิบยกปัญหาใกล้ตัวเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หลายท่านคงฝันว่าอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่ท่านทราบหรือไม่  ในเรื่องการก่อสร้างบ้าน กฎหมายได้กำหนดอายุความไว้หลากหลาย เช่น อายุความเรียกค่าจ้างทำของ กำหนดไว้ 2 ปีนับแต่รับมอบงาน แต่มีข้อสังเกตว่า อายุความ 2 ปีนี้ ใช้กับคู่สัญญาที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นคนธรรมดาที่ว่าจ้างให้สร้างบ้าน หรือเรียกว่าจ้างสร้างเป็นการส่วนตัว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2534         การฟ้องเรียกค่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 มีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันรับมอบงาน โจทก์สร้างบ้านและรั้วพิพาทเสร็จส่งมอบให้จำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และจำเลยได้เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาไม้แบบพิพาทของโจทก์ไปทำสะพานทางเดินและเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ดังกล่าวคืนนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556         จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยโดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร  โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ  การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาคาจ้างจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้นต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลย  ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความถึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ         แต่ถ้าฝ่ายผู้ว่าจ้างทำโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เช่น พวกบ้านจัดสรร และว่าจ้างผู้รับจ้างทำการรับเหมาก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ ต้องใช้อายุความ 5 ปี ในการฟ้องร้องเรียกสินจ้าง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552         คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)          อายุความเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องของเราได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  เช่นในเรื่องนี้ หากจะเรียกค่าจ้างก่อสร้างบ้าน กรณีสร้างแบบส่วนตัว ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 2 ปี หรือหากเป็นบ้านโครงการก็ต้องฟ้องภายใน 5 ปีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง

        ปัญหาบอส กระทิงแดง ทำให้ย้อนกลับมาคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นอกเหนือจากตำรวจและอัยการ ที่ต้องการปฏิรูป ลดขั้นตอน สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การฟ้องศาลยังเป็นเรื่องยุ่งยากต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  คดีผู้บริโภคมีผู้ประกอบการฟ้องคดีมากกว่าผู้บริโภคดำเนินการฟ้องเอง จนถูกข้อครหาว่าช่วยทวงหนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังเป็นความจริง ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากฎหมายได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั่นคือ“พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551” ที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคเรียกว่า“กฎหมายช่วยฟ้อง”          หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองกล่าวคือเมื่อถูกละเมิดสิทธิสามารถเอาหลักฐานความเสียหายที่มีไปศาลฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องจากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย         กฎหมายช่วยฟ้องยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการโดยกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบการ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ         ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองโดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานของคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิตตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค         สามารถมีคำพิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้ผู้ถือหุ้นมาร่วมรับผิดชอบ มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดกฎหมายซ้ำหรือยุติการเอาเปรียบผู้บริโภค เท่ากับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ การฟ้องคดีไม่ใช่การตั้งรับเยียวยาความเสียหายเพียงอย่างเดียว โดยสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท และมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าจริงจากบทเรียนกรณีการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้จันทบุรีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งเพื่อการลงโทษที่ชัดเจน https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/public-society/4256-611004van.html         ผู้บริโภคสามารถทำได้จริงเมื่อใช้สิทธิกับผู้ประกอบการแล้วไม่สำเร็จ เช่นตัวอย่างฟ้องร้านทองของผู้บริโภคที่รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำกำหนด บริการส่งอาหารไม่เป็นธรรม ซื้อที่นอนออนไลน์แล้วถูกฉ้อโกง สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา ใช้บริการรถโดยสารแล้วประสบอุบัติเหตุ จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใช้บริการโรงพยาบาลแล้วราคาแพง หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ         หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรม ฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมมากขึ้นกับผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยกันตรวจสอบว่าทำได้จริงมั้ย เพื่อช่วยป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นระบบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยฟ้อง

อ่านเพิ่มเติม >