ฉบับที่ 157 การเลือกซื้อ กล่อง set top box

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการกล่อง set top box สำหรับแปลงสัญญาณโทรทัศน์ จากระบบอนาลอกสู่ระบบดิจิตอล ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอลได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และรอวันเคาต์ดาวน์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อวงการสื่อสารนั้น สมควรจะต้องมีการบันทึกและสื่อสารไปยังสังคมวงกว้างให้มากที่สุด การจัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคในประเทศไทย ในเยอรมนีเองก็มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้น เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการรับส่งสัญญาณ และช่วยเหลือให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา เพื่อการเตรียมตัวของผู้บริโภคในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียง (กสท.) ควรต้องจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นด้วย นอกเหนือจากจะมีนโยบายแจกคูปองให้ไปซื้อกล่อง set top box เพียงอย่างเดียว สำหรับบทความในวันนี้ ผมขอนำเรื่องการทดสอบและข้อแนะนำการเลือกซื้อกล่อง set top box ของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ( Stiftung Warentest ) ที่ได้ทำการทดสอบกล่อง set top box ในปี  2007 มานำเสนอ ถึงแม้ว่าระบบสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตัลภาคพื้นดิน ของเยอรมนีนั้น เป็นระบบ (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T) ซึ่งเป็นสัญญาณระบบแรกเริ่มที่เยอรมนีและยุโรป เลือกใช้ ในขณะที่ระบบส่งสัญญาณในประเทศไทยนั้น จะเป็นระบบที่พัฒนาจากระบบนี้มาสู่ระบบ (DVB-T2) ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่สองของระบบสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล หรือเรียกง่าย ๆ ว่ายุคที่สองในประเทศของเรานั่นเอง  ประเด็นนี้ประเทศเราใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าของเยอรมันที่จะเริ่มเปลี่ยนใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณปี 2007 แต่ก็สามารถนำข้อแนะนำมาปรับใช้กับการเลือกซื้อกล่องในประเทศของเราได้เช่นกัน   ซื้อกล่อง set top box ต้องคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้ 1.มีเครื่องหมาย กสทช. รับรองไว้หรือไม่ การมีตรารับรองจาก กสทช. นั้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า กล่องแปลงสัญญาณนั้น มีมาตรฐานทางเทคนิค ที่ผ่านการทดสอบจากห้องแลปมาตรฐานมาแล้ว  2.จุดเชื่อมต่อของสายอากาศกับโทรทัศน์ในบ้านเป็นแบบไหน สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรนึกถึงคือ ดูที่จุดเชื่อมต่อว่า โทรทัศน์ที่ใช้อยู่นั้นมีจุดเชื่อมต่อประเภทไหนบ้าง อาทิ จุดเชื่อมต่อแบบสการ์ต (scart) แบบสายโคแอกเซียล (coaxial cable) ซึ่งผมเคยเขียนอธิบายไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 133 มีนาคม 2555 เพื่อที่จะดูว่าเมื่อซื้อกล่องมาแล้ว สามารถเสียบเข้ากับปลั๊กสายอากาศ ที่บ้านของเราได้หรือไม่ และมีจุดเชื่อมต่อกี่จุด   3.ขนาดและตำแหน่งในการวางของกล่องเป็นอย่างไร ถ้ากล่อง set top box มีขนาดใหญ่ก็ต้องการพื้นที่ในการจัดวางเพิ่ม ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับขนาดและตำแหน่งของโทรทัศน์ในบ้านด้วย   ฟังค์ชันอื่นๆ ที่กล่อง set top box ที่ดีควรจะมี ฮาร์ดดิสค์ กล่อง set top box ปัจจุบันสามารถที่จะทำหน้าที่บันทึกรายการจากสถานีโทรทัศน์ได้โดยตรง โดยที่กล่องประเภทนี้จะมี hard disc รวมอยู่ด้วย โดยมีขนาดตั้งแต่ 80 GB- 160 GB  ซึ่ง hard disc ขนาด 80 GB สามารถบันทึกรายการได้นาน ถึง 50 ชั่วโมง Stand by mode ซึ่งเป็นฟังค์ชันที่จะใช้กับ รีโมตคอนโทรล เพื่อความสะดวกในการเปิดและปิดกล่อง set top box ฟังค์ชันการค้นหาช่องอัตโนมัติ (automatic channel searching) จัดเรียงช่อง และ บันทึกช่องสัญญาณ ฟังค์ชันแสดงเมนูบนจอโทรทัศน์ (On Screen Display: OSD) ในกรณีที่กล่อง set top box สามารถบันทึกรายการได้ ต้องพิจารณาว่าฟังค์ชันในการบันทึกรายการนั้น สามารถตั้งโปรแกรมบันทึกรายการได้กี่ช่อง เป็นรายวัน หรือรายอาทิตย์ และสามารถตั้งโปรแกรมตั้งเวลาปิดอัตโนมัติเมื่อ เราเผลอนอนหลับได้หรือไม่ (sleeping mode) สำหรับผู้บริโภคที่ชอบฟังค์ชันพิเศษเหล่านี้เพิ่มเติม ก็ต้องพิจารณาถึงราคาที่จะต้องจ่ายเพิ่มตามมาด้วยนะครับ   (ข้อมูลอ้างอิง: http://www.test.de/DVB-T-Empfaenger-15-Modelle-fuer-TV-und-PC-1504176-0/)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 เมื่อต้องซื้อ Set top box

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ถึงแม้ว่าจะก้าวแบบช้าๆ ตามก้นหลายๆประเทศก็ตาม แต่หวังว่าการเริ่มช้าในตอนเปลี่ยนผ่าน จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความผิดพลาดของหลายๆ ประเทศนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศไทยได้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เราควรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด มีการแข่งขันที่จริงจัง เป็นธรรม และองค์กรกำกับดูแลก็โปร่งใส ยอมรับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์จากสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น เหตุที่ผมเขียนเรื่องอุปกรณ์การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้น เพราะยังจำวิกฤติจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012 นั้นได้ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีดาวเทียม เคเบิล แต่เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็ยังอาจจะทำให้เกิดจอดำขึ้นอีก การที่แต่ละบ้านสามารถรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ(รุ่นใหม่) ได้ ก็จะขจัดปัญหานี้ออกไป และ กสทช. ต้องควบคุมให้ช่องทีวีสาธารณะ ขยายพื้นที่การแพร่สัญญาณออกไปให้มากที่สุด ตามแผนแม่บทด้วย ก็จะช่วยผู้บริโภคได้มาก   คราวนี้ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภค Stiftung Warentest ที่ทำหน้าที่ทดสอบสินค้า ข้าว ของ เครื่องใช้ และเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลในทางวิชาการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า องค์กรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับวารสารฉลาดซื้อที่เพื่อนสมาชิกกำลังอ่านอยู่นั่นแหละครับ และเราคาดหวังว่าหน้าที่ที่สำคัญขององค์การอิสระที่กำลังค้างอยู่ในสภานั้น จะคลอดออกมาในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้บริโภคไทยว่า จะสร้างความสมดุลในเรื่องความรู้ และข้อมูล ภายใต้ระบบการค้าที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมและไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้   คำแนะนำสำหรับผลการทดสอบ set top box นั้น ต้องยอมรับว่าผลการทดสอบค่อนข้างจะเก่า คือ ทดสอบในปี 2005-2006 หากท่านต้องการทราบผลการทดสอบล่าสุด อาจต้องให้ทางฉลาดซื้อนำผลของ ICRT มาลงในฉบับต่อๆ ไป การทดสอบนี้ทางผู้ทดสอบให้คะแนนในด้านคุณภาพของสัญญาณภาพ 30 % คุณภาพของสัญญาณเสียง 10 % ความยากง่ายในการติดตั้งและใช้งาน 30 % ค่าความอ่อนไหวในการรับสัญญาณ เช่น การรบกวนกันของสัญญาณ (Sensitivity) 10 % และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ใช้ไฟน้อย และความสามารถในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Recyclability) อีก 10 %   ในการทดสอบครั้งนี้ได้แบ่ง set top box ออกเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มี Hard disc สำหรับบันทึกข้อมูลในกรณีมีการอัดรายการโทรทัศน์เก็บไว้ และแบบที่ไม่มี hard disc ราคาตั้งแต่ 1,000 – 4,000 บาท ผลการทดสอบสรุปได้ว่า คุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา   นอกจากนี้ยังมี เสาหนวดกุ้งรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่ไว้ใช้ดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ผลทดสอบของอุปกรณ์ได้คะแนนเพียงพอใช้ เนื่องจากปัญหาจะเกิดตอนใช้งานคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการกระตุกของภาพ และภาพจะเคลื่อนไหวช้าลง (แต่คาดว่าปัญหาเทคนิคในเรื่องนี้ เครื่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ คงพัฒนาให้ดีขึ้นแน่นอน คาดว่า ICRT น่าจะมีผลการทดสอบเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านคอมพิวเตอร์ใหม่ล่าสุดเช่นกัน   สรุป กสทช. ควรจะรีบออกมาตรฐาน ของ Set top box ออกมารองรับตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะ จะมีการแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชน สามารถไปซื้อ set top box ในราคาที่ถูกลง ซึ่งมาตรฐานของสินค้าจะเป็นการรับประกันให้ผู้บริโภคได้ทั้งของถูก และของดี ด้วย เอาใจช่วย กสทช.ในเรื่องนี้ครับ     ภาพประกอบ ภาพที่ 1 ตัวอย่าง set top box แบบไม่มี hard disc ที่ได้คะแนนดีจากการทดสอบ ภาพที่ 2 ตัวอย่าง set top box แบบมี hard disc รุ่นซ้ายมือสุดได้คะแนนดี อีกสองรุ่น คะแนนพอใช้   ภาพที่ 3 เสารับสัญญาณขนาดเล็กสำหรับดูผ่านคอมพิวเตอร์ (แหล่งข้อมูล วารสาร Test ฉบับ 3/2006 และ 3/2007)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point