ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ชั่งน้ำหนัก CPTPP สิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะสูญเสีย

ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกล็อกดาวน์ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางความนิ่งงันจากการกักตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึงและแสนวุ่นวาย รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ มีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้านรุนแรงจากหลายภาคส่วน         CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการฉบับหนึ่งที่เริ่มต้นจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ประเทศไทยก็แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว         ทว่า ภายหลังที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ประกาศถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ 11 ประเทศที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าต่อเป็น CPTPP แม้จะไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม ซึ่งก็ทำให้ขนาดตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ         เช่นเดียวกับทุกเรื่องบนโลก มักมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย CPTPP มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน เพียงแต่ฝั่งคัดค้านเสียงดังไม่ใช่น้อย ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้ ชวนสำรวจสิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะเสียหากเข้าร่วม CPTPP  ‘สมคิด’ หัวขบวนดันไทยเข้า CPTPP         สมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน  CPTPP มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เมื่อเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบัน         ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีมูลค่าคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีของทั้งโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน  ปี 2562 ประเทศไทยมีการค้าขายกับประเทศใน CPTPP ถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้ารวมของไทย         ตัวเลขดังกล่าวเย้ายวนมากในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สมคิดในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา หารือ และการรับฟังความเห็น นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เม็กซิโก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่         แต่การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก็ยืดเยื้อออกไป เมื่อทางจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่นำเรื่องนี้เข้า ครม. โดยให้เหตุผลว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้จนกว่าสังคมจะมีความเห็นต่อ CPTPP ไปในทิศทางเดียวกัน         ฟากอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ CPTPP กลายเป็นปัญหาการเมืองในซีกรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว  ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจาก CPTPP         แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?         แน่นอนว่าเหตุผลของสมคิดและกระทรวงพาณิชย์คือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การศึกษาของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 หรือ 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท         ในทางตรงกันข้าม หากไทยไม่เข้าร่วม จีดีพีของไทยจะได้รับผลกระทบ 26,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.25 และกระทบต่อการลงทุน 14,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 ทั้งยังอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ โดยในปี 2558-2562 ทั้งสองประเทศส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ส่วนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23         ด้านมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า ปี 2562 เวียดนามมีมูลค่า 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์ 63,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยมีเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น         ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยัง CPTPP ของไทย ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและของปรุงแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องสูบของเหลว เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า น้ำตาลและขนม ในด้านการบริการและการลงทุนจะได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว         ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน         เรื่องนี้ อาชนัน เกาะไพบูลย์ คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับว๊อยซ์ทีวีไว้น่าสนใจว่า 11 ประเทศสมาชิก CPTPP มีเพียงชิลี เม็กซิโก และแคนาดาเท่านั้น ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย หากทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มกับ 3 ประเทศดังกล่าว การส่งออกของไทยจะได้รับผลเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น          นอกจากนี้ จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีอยู่แล้ว กลับพบว่าภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์แค่ร้อยละ 30 ของการส่งออกเท่านั้น ทั้งยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ         ด้านการลงทุนที่เปรียบเทียบกับเวียดนาม อาชนันกล่าวว่า เป็นเพราะเวียดนามมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน เช่น นโยบายเปิดรับการลงทุน การมีแรงงานอย่างเพียงพอ และความมั่นคงทางการเมือง จุดสำคัญคือที่ผ่านมาการค้าการลงทุนไทยไม่ได้ขยายตัวจากการที่ไทยมีเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากนัก             อีกประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนจะหลงลืมไปก็คือ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตหลังโควิด-19 ห่วงโซ่อุปทานโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งร้อนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์มากอย่างที่ฟากรัฐให้ข้อมูล         ส่วนด้านผลกระทบที่เรียกว่าหนักหน่วง แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ ยาและทรัพยากรชีวภาพ  เมื่อการเข้าถึงยากำลังเป็นตัวประกัน         มาเริ่มกันที่ยาซึ่งเป็นหลักประกันของระบบสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาของประชาชน         เนื้อหาหลายประการใน CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ (ไม่นับรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ) ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจทางสังคม โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม การรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศจะถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ         กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch กล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยถูกบ่อนเซาะ เนื่องจากไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังต้องเปิดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศจะกลายเป็นหมัน         นอกจากนี้ สิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ของไทยอาจถูกกระทบ กรรณิการ์ อธิบายว่า         “ถ้าอ่านความตกลง CPTPP ในมาตรา 1.2 ที่ระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่ให้ข้อนี้อยู่ภายใต้มาตรา 28 ที่เกี่ยวกับการพิพาท หมายความว่าถ้ามีคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิก็สามารถเอาเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ เท่ากับนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้ แล้วถ้าเกิดความจำเป็นต้องประกาศซีแอลจะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าทำ”         CPTPP ยังเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage) ทั้งที่ควรแยกจากกัน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ ส่วนการรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่จะพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดให้กับผู้ยื่นคำขอฯ ตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร เมื่อนำ 2 เรื่องนี้มาปนกันเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ อย. จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียนยามีสิทธิบัตรด้วยหรือไม่     ใน CPTPP ระบุทางเลือกไว้สองทางคือ อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรรู้ว่ามีบริษัทยาอื่นมาขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกัน โดย อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียน หรือให้มีระยะเวลานานพอจนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน และประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร         “ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุไปแล้ว เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญภายในประเทศ และจะไม่มีบริษัทยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นสนใจมาขายยาในประเทศไทย”         ยังไม่หมด ยังมีสิ่งที่เรียกว่ามาตรการชายแดน (Border Measure) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วหรือที่อยู่ในระหว่างขนส่ง เพียงแค่ ‘สงสัย’ ว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งขัดกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่รวมถึงสินค้าระหว่างการขนส่ง บวกด้วยการเอาผิดกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ หมายถึงผู้ทรงสิทธิสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ กรณีละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นอาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ อย่างเช่นโรงพยาบาล นอกจากบุคคลอื่นในตลอดห่วงโซ่อุปทาน         “ใน CPTPP ไม่ได้หมายความแค่เครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดด้วย เพราะธุรกิจยา ชื่อยี่ห้อยาอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยส่วนมากบริษัทยามักจะตั้งชื่อให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ยาที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้”  โจรสลัดชีวภาพ         นอกจากเรื่องการเข้าถึงยาแล้ว ด้านการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยจึงแสดงจุดยืนคัดค้าน CPTPP อย่างเต็มที่ เนื่องจากมันกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้         ซ้ำยังทำให้กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ในการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีระบุกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้         ทางมูลนิธิชีววิถียังกล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า เนื่องจากการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ขยายระยะเวลาเป็น 20-25 ปี และขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ให้รวมถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือหากนำข้าวจากการปลูกไปหมักเป็นเหล้า การผูกขาดก็จะขยายไปถึงเหล้าด้วย เป็นต้น         เรื่องที่ทำให้เห็นความกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐก็คือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับทำการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายส่งผลให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ไปปลูกต่อมีความผิดตามกฎหมาย         เหตุนี้ อนุสัญญา UPOV 1991 จึงถูกขนานนามในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ’ กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า         CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ UPOV1991 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้น โดยในมาตรา 18.37 (4) บอกว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ “inventions that are derived from plants” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการที่สุดและพยายามมาตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้าน         “CPTPP เขียนอีกว่าไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้”         สังคมไทยคงต้องชั่งน้ำหนักว่า ผลประโยชน์ที่จะได้กับสิ่งที่จะสูญเสีย ฝั่งใดหนักหนากว่ากัน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มทุนเป็นฝ่ายเดียวที่มีสิทธิตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >