ฉบับที่ 109 GT200 กับการคุ้มครองผู้บริโภค

นับตั้งแต่ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ให้สังคมไทยรับทราบทั่วกันว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่จัดซื้อกันมาใช้ในหลายหน่วยราชการ ด้วยราคาแสนแพงนี้ ไม่น่าทำงานจริงได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ มีทั้งผู้ที่เชื่อถือว่าเครื่องนี้จะทำงานได้ และมีผู้ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถทำงานได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์) จนกระทั่งท้ายสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ และผลการทดสอบก็เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนแล้วว่า จากการตรวจ 20 ครั้ง ถูกต้องเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นโอกาสถูกเพียง 20% หรือเท่ากับการเดาสุ่ม ซึ่งน้อยกว่าการเดาสุ่มอีกแบบที่บอกเพียงแค่ว่า “มีหรือไม่มี” เสียอีก (ซึ่งโอกาสถูกยังมีมากถึง 50%) ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือที่ตรวจสอบนี้ไม่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาที่แพงเป็นแสนเป็นล้านบาท น่าแปลกใจว่า บรรดาหน่วยงานทั้งหลายกลับมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่นี้ต่อไป พร้อมทั้งมีการชี้แจงเป็นระยะว่า ผู้ใช้ตัวจริงจากพื้นที่จริงยืนยันว่าใช้ได้ แม้ว่าการตรวจสอบจะให้ผลในทางตรงข้ามก็ตาม.... สังคมไทยที่ยังเป็นสังคมประเภทที่อาศัยความเชื่อมากกว่าความจริง เช่นเชื่อว่าวัวห้าขาจะสามารถใบ้หวยได้หรือการขูดหาเลขท้ายสองตัวสามตัวจากต้นไม้ประหลาดหน้าตาคล้ายมังกร ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีคนที่บังเอิญถูกเลขท้ายเพียงแค่คนหรือสองคนจากคนที่ขูดหาเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วมีคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกหวย ก็โพนทะนาว่ามันแม่นมาก ศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก คนอื่นๆ ที่ขูดแล้วได้เลขที่ไม่ถูกต้องก็พาลพาด่าทอตัวเองว่า เราดันไม่ไปขูดตรงที่เค้าขูดเอง หรือขูดไม่ถูกวิธี หรือขูดโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สมควรเช่นมีดหรือส้อมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น นอกจากวัวหรือต้นไม้ที่จะถูกรบกวนโดยความไม่รู้ของผู้คน แต่สำหรับความเชื่อในเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนี้ หากเชื่อว่าเครื่องทำงานได้ แต่พอถึงเวลาใช้งานเครื่องทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด นั่นอาจหมายถึงชีวิตของทั้งผู้ที่ตรวจหาหรือประชาชนที่จะต้องรับเคราะห์กรรม ดังนั้น เรื่องราวประเภทนี้จึงควรใช้ความจริงเป็นสิ่งตัดสินใจมากกว่าความเชื่อ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการเพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 ซึ่งคงเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีการออกแบบการทดลองใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าผมได้ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ผมคงจะขอเสนอให้ผู้ที่เชี่ยวชาญชำนาญใช้งานเครื่องนี้มาเป็นผู้ทดสอบด้วยตนเอง ขอเชิญผู้ที่ชำนาญมากที่สุด อยู่ในสภาวะที่ท่านคิดว่าพร้อมที่สุด แล้วเชิญท่านมาทดสอบใช้เครื่อง เพื่อให้เห็นชัดกันไปจริงๆ ว่า มันใช้ได้หรือไม่ได้โดยตัวท่านเอง หรือแม้การพิสูจน์จะผ่านไปแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ใช้งานเครื่องนี้จริง จากพื้นที่จริงและมีข้อสงสัยในประสิทธิภาพได้มาทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะบรรเทาความคลางแคลงใจในประสิทธิภาพลงไปได้อีกระดับหนึ่ง การจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในหลายรัฐบาล หลายผู้นำ จำนวนเครื่องมากน้อยต่างๆ กันไป แล้วแต่ความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ และเมื่อมีประเด็นในด้านประสิทธิภาพของเครื่องมือกับราคาที่แพงมาก ก็คงมีคำถามจากสังคมมากมายในทำนองว่า มีการคอรัปชันหรือไม่ ใต้โต๊ะบนโต๊ะหรือไม่ หรือเราโดนหลอกหรือไม่ การตอบคำถามเพื่อแก้ประเด็นเหล่านี้กลับไปอยู่ที่ความพยายามบอกว่าเครื่องทำงานได้มีประสิทธิภาพดี เหตุเกิดเพียงเพราะนักวิชาการชอบมากวนน้ำให้ขุ่น แต่ไม่ได้เคยมีความพยายามที่จะพิสูจน์ให้ทราบว่าการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราอาจถูกหลอกให้ซื้อเครื่องเหล่านี้จริงๆ เพราะการยอมรับในข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อย่อมเท่ากับยอมรับว่าอาจมีการทุจริตในองค์กร และการยอมรับเรื่องถูกหลอกขายของ ก็จะทำความเสียหาย เสียหน้า เสียชื่อเสียงขององค์กรนั่นเอง หากผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ในครอบครอง ทันทีที่นายกฯ ได้แถลงผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเป็นทางการว่าเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพและขอให้ระงับการใช้งาน สิ่งแรกที่ผมจะทำคือฟ้องร้องบริษัทที่ขายเครื่องมือดังกล่าวต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ผมเห็นว่าการถูกหลอกขายของยังไม่น่าจะอับอายเท่ากับการทรยศคดโกงชาติด้วยการคอรัปชัน หน่วยงานราชการทั้งหลายที่จัดซื้อถือว่าเป็นผู้บริโภคโดยตรงได้ซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาใช้หลายเครื่อง แต่พิสูจน์และปรากฎชัดแล้วว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการหลอกลวงอย่างชัดเจน ถ้าร้องเรียนต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจะพิจารณาอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ผู้บริโภค (ในที่นี้ผู้ชื้อคือหน่วยงานของรัฐ) เมื่อประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบหรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผลการพิจารณาตัดสินก็จะชี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครเป็นคนผิดดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐจัดซื้อไปเนื่องจากเชื่อในคำโฆษณากล่าวอ้าง แล้วได้สินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรที่จะรีบดำเนินการฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเชื่อมั่นว่าเครื่องมือของตนสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างจริง ก็หาหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้เลยครับ อย่าใช้วิธีปิดบริษัทหนีไปเสียก่อน ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าท่านมาหลอกขาย และเมื่อศาลตัดสินหรือมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว หน่วยงานของรัฐก็ควรรีบดำเนินการฟ้องร้องศาลอื่นๆ ต่อไป เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเรากลับคืนมา ซึ่งควรที่จะรวมไปถึงค่าเสียหายของบรรดาทหาร ตำรวจ รวมทั้งบุคลากรของรัฐที่ต้องเสี่ยงภัยใช้เครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพนี้ไปด้วยครับ แน่นอนครับ ผมเชื่อว่า อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ยากที่จะไปดึงเอาออกมาได้ เช่นเดียวกัน เงินที่เราได้จ่ายไปแล้วสำหรับเครื่องมือประเภท “ไม้ล้างป่าช้า” คงจะไม่มีวันที่ตามคืนกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนแก่ประเทศไทย แก่หน่วยงานของรัฐทั้งหลายที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือพิเศษทันสมัยล้ำยุคอื่นๆ ได้ควรได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ และในกรณีที่มีข้อข้องใจสงสัย ในประเทศไทยมีองค์กรของรัฐและเอกชนที่มีเทคโนโลยีทัดเทียมหรือล้ำหน้าอารยประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหลายองค์กรเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความเห็นในเชิงวิชาการอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติความเชื่อและผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อที่คนไทยจะได้ไม่เสีย “ค่าโง่” กันอีกต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point