ฉบับที่ 261 Growth Mindset กับคนจน (2)

        มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านกัน ‘The Broken Ladder’ หรือชื่อไทยว่า ‘เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ โดย Keith Payne ของสำนักพิมพ์ Bookscape มันพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม๊ทำไมคนจนถึงชอบทำตัวที่ดูยังไง๊ยังไงก็ไม่เป็นคุณกับชีวิตตัวเองเลย         ถ้าเราเอาเรื่อง Growth Mindset มาจับ มันก็ง่ายดีที่เราจะสรุปว่าคนจนไม่มี Growth Mindset เป็นพวก Fixed Mindset ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง เอาแต่รอความช่วยเหลือ แถมที่ดูน่าหงุดหงิดคือทั้งที่เงินก็ไม่ค่อยจะมียังทำตัวแย่ๆ อย่างสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เรียนหนังสือ แถมมีลูกเร็วอีกต่างหาก         Keith Payne เรียกว่า พฤติกรรมบั่นทอน สิ่งนี้แหละนำไปสู่ข้อสรุปอันหละหลวมที่ว่าคนจนก็เพราะทำตัวเอง         Keith Payne ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมบั่นทอนน่ะเป็นเรื่องจริง เห็นๆ กันอยู่ คนจนเองก็มีส่วนทำตัวเอง แต่ๆๆ ...“ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และความแตกต่างของพฤติกรรมแต่ละคนก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”         ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกแบบสังคมไทย มันส่งผลต่อพฤติกรรมของคนจนอย่างมีนัยสำคัญ มันคือผลของวิวัฒนาการและจิตใจ         คนจนไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีกินมั้ย จะมีค่านม ค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า ต้องดิ้นรนทุกทางให้มีวันพรุ่งนี้ ความไม่มั่นคงนี้เองทำให้พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่าอนาคตที่ยังลูกผีลูกคน         คนจนมักถือคติว่า ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว’ และ ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’ เป็นคำที่ Keith Payne ใช้ ก็เพราะชีวิตพวกเขาเป็นเช่นนั้น         การพัฒนาตนเองน่ะเหรอ? การเรียนรู้น่ะเหรอ? การยอมรับความผิดพลาดและใช้เป็นบทเรียนน่ะเหรอ? มันต้องใช้ทั้งเวลาและเงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเชียวนะ         การมี Growth Mindset น่าจะดีแหละ แต่บอกว่าคนจนเพราะไม่มี Growth Mindset ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว         Keith Payne ย้ำตลอดทั้งเล่มว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อของคนเรา คนที่อยู่บนบันไดสถานะต่างกัน มีมุมมองต่อโลกและชีวิตต่างกัน         บางที Growth Mindset ควรต้องมีองค์ประกอบว่าด้วยความเข้าใจและการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนบนโลกทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 Growth Mindset กับคนจน (1)

        ยุคนี้ใครๆ ก็ต้องพูด Growth Mindset ทั้งผู้บริหาร นักการศึกษา จนถึงไลฟ์โค้ช คำนี้มีที่มาจากหนังสืออันโด่งดังของด็อกเตอร์ Carol Dweck ที่ชื่อว่า ‘Mindset’         ด็อกเตอร์ Carol แบ่ง Mindset เป็น 2 แบบคือ Fixed Mindset กับ Growth Mindset อธิบายง่ายๆ ได้ว่าคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset จะมองว่าทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่อยากผิดพลาด ไม่อยากเรียนรู้จึงไม่พยายาม         ส่วน Growth Mindset ตรงข้าม คือเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาตัวเองและชีวิตให้ดีขึ้นได้ ชอบที่จะเรียนรู้และไม่กลัวความผิดพลาด เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอเพราะเชื่อว่ามันคือหนทางก้าวไปข้างหน้า        ถ้าว่ากันด้วยนิยามนี้ คนที่มี Growth Mindset ย่อมมีโอกาสมากกว่าในชีวิต         ในเรื่องทางการเงินก็เช่นกัน Growth Mindset ช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จทางการเงินได้มากกว่า เพราะคนที่มี Growth Mindset ใส่ใจกับการเรียนรู้และการเรียนรู้เป็นการลงทุนในตัวเองเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด มุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยความเชื่อว่าชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้         คนที่มี Growth Mindset รู้ว่าควรตั้งเป้าหมายให้ชีวิตอย่างไร เป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ วัดผลได้ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นระบบ         คนที่มี Growth Mindset ล้มเหลวและผิดพลาดได้เหมือนคนอื่นๆ แต่พวกเขาจะลุกขึ้นเร็ว มองความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธี และนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไป        คนที่มี Growth Mindset สนใจการลงมือทำมากกว่าการบ่นหรือโทษคนอื่น ไม่รอให้ทุกอย่างพร้อมหรือรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์เท่าที่ตัวเองพร้อมและรู้ในขณะนั้นๆ ไม่รอโอกาส แต่วิ่งเข้าหาโอกาส และกล้าเสี่ยง เพราะต้องไม่ลืมว่าการไม่เสี่ยงเลยคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ถ้าคุณอยากจะพัฒนา Growth Mindset ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีให้อ่านเยอะแยะมากมายบนอินเตอร์เน็ต เช่น การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง (และของคนอื่น) เพราะมันจะทำให้คุณตระหนักว่าคุณต้องทำผิดพลาดแน่ๆ ในสักวัน ฉะนั้นอย่าไปกังวลมาก แค่เปิดรับประสบการณ์ ทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยคิดหรือไม่เคยกล้าทำ อย่างการลงทุน คุณอาจเริ่มลงทุนจำนวนน้อยๆ กับกองทุนที่ศึกษามาแล้ว เป็นต้น         แต่เรื่องนี้จะหักมุมตอนท้าย เป็นไปได้หรือที่เราจะทำให้คน 7 พันล้านคนบนโลกมี Growth Mindset แล้วคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งมักจะวัดด้วยตัวเงินคือคนที่มี Growth Mindset คนจนที่มีพฤติกรรมน่าหงุดหงิดในสายตาชนชั้นกลางล่ะ เพราะพวกเขามี Fixed Mindset หรือมันมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น         ...มาดูกันฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >