ฉบับที่ 271 มาตาลดา : วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิร์ลด์

        สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก พล็อตเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครต่างๆ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศแบบไร้ที่เป็นมาเป็นไป หากแต่มีเงื่อนไขและที่มาที่ไปซึ่งยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราเสมอ และที่สำคัญ ภาพที่เห็นผ่านละครและตัวละครอันหลากหลายที่เราสัมผัสอยู่นั้น ล้วนเป็นจินตนาการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนย้อนให้เราคิดถึงความเป็นจริงในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่        กับคำอธิบายชุดนี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “มาตาลดา” ที่ได้รับการเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ “ฮีลหัวใจ” ให้กับผู้ชมผ่านโลกของละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติก        มาตาลดาถูกสรรค์สร้างให้เป็นนางเอกผู้มี “พลังแห่งความใจดี” เป็นผู้หญิงที่ประหนึ่งขี่ม้าหลุดออกมาจากท้องทุ่งลาเวนเดอร์ คอยให้ความหวัง ให้พลังใจกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อาจเป็นเพราะว่า “เกริกพล” พ่อของเธอเป็นกะเทยนางโชว์เจ้าของสมญานามว่า “เกรซ” ถูก “เปา” ผู้เป็นอากงไล่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเพราะ “เกิดมาเป็นคนผิดเพศ” พ่อเกรซจึงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองว่า จะเลี้ยงมาตาลดาให้ “กลายเป็นคนที่ใจดีที่สุดในโลก” ให้จงได้        กับการเปิดตัวในฉากแรกๆ ของมาตาลดา เราก็จะเห็นพลังของความใจดีที่แผ่ซ่านไปทั่ว นับตั้งแต่เปิดฉากที่พ่อเกรซเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นประหนึ่งเจ้าหญิงผมทองผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไปจนถึงฉากที่มาตาลดาให้ความเอ็นดูและรับเลี้ยงบรรดาสุนัขจรจัดแทบจะทุกตัวที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ        ในขณะที่มาตาลดาเป็นตัวละครที่ใจดีชนิดที่หาได้ยากยิ่งในกาลสมัยปัจจุบัน ผู้คนที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตเธอกลับถูกออกแบบให้ดูมีความผิดปกติหรือมีปมบาดแผลในจิตใจกันถ้วนหน้า        เริ่มจากนางโชว์ “ตัวตึง” อย่างพ่อเกรซเอง ที่เลือกเพศวิถีอันต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม จนถูกทุบตีอัปเปหิออกจากบ้าน และไปๆ มาๆ ก็กลับกลายเป็นบาดแผลที่ทั้งพ่อเกรซ อากง และอาม่า “เฟิน” ต่างก็บาดเจ็บจากทิฐิที่อากงสาดใส่เพศสภาพ LGBTQ+ ของบุตรชายไม่แตกต่างกันเลย        ตามมาด้วยพระเอกหนุ่ม “ปุริม” หรือที่ “บุญฤทธิ์” ผู้เป็นพ่อ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “เป็นหนึ่ง” ก็คืออีกหนึ่งตัวละครซึ่งต้องทนทุกข์ยากจากการแบกภาระและความคาดหวังที่บิดาอยากให้เขาเป็นที่หนึ่งเหนือทุกๆ คน และแม้เขาจะเรียนเก่งเรียนดีจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็กลายสภาพเป็น “หมอหัวใจที่ไม่มีหัวใจและไร้ความรู้สึก”        ฉากต้นเรื่องที่เป็นหนึ่งใส่แว่นตาของนักประดาน้ำนั่งอยู่เดียวดายในห้องนอน ก็ไม่ต่างจากการบ่งบอกนัยว่า ชีวิตของเขาถูกบิดากำหนดและกดทับไว้ให้จมอยู่ใต้ห้วงมหาสมุทรแห่งความคาดหวังของครอบครัวที่หนักอึ้งอยู่บนสองบ่า        ในเวลาเดียวกัน สำหรับบุญฤทธิ์ที่หน้าฉากสังคมประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน หากแต่ความรู้สึกผิดจากอดีตที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เขาถ่ายโอนความเจ็บปวดมาที่การเรียกร้องความเป็นเลิศจากบุตรชาย และสร้างความรู้สึกทุกข์ใจให้กับ “ชนิดา” ผู้เป็นภรรยาไปด้วยเช่นกัน        เพื่อผลักดันให้บุตรชายได้ขึ้นเป็นที่หนึ่งดังใจปรารถนา บุญฤทธิ์เจ้าของงานเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตไม่ติดกรอบ” กลับเลือกสร้างกรอบจับคู่เป็นหนึ่งกับหญิงสาวในวงสังคมอย่าง “อรุณรัศมี” ที่สวยหรูดูแพง เพียบพร้อมทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม และยิ่งเมื่อภายหลังเป็นหนึ่งมาติดพันหลงรักมาตาลดา บุตรสาวของกะเทยนางโชว์ บุญฤทธิ์ก็ยิ่งออกฤทธิ์กีดกันความรักของทั้งคู่ในทุกทาง        แต่ในทางกลับกัน หลังฉากชีวิตของอรุณรัศมี ลูกสาวท่านรัฐมนตรีที่ดูเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ลึกๆ กลับเป็นผู้หญิงที่แล้งน้ำใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะทุกคนที่เหนือกว่าตน โดยเฉพาะกับมาตาลดาที่แสนจะธรรมดาแต่กลับปาดหน้าเค้กพิชิตหัวใจเป็นหนึ่งไปได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมารดาของอรุณรัศมีเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลุกขึ้นมาสู้ แต่ยอมศิโรราบต่อการถูกกระทำทารุณทั้งกายวาจาใจอยู่ตลอดจากชายผู้เป็นสามี        ส่วนทางฝั่งของชนิดามารดาของเป็นหนึ่ง ก็มีน้องสาวคือ “ชุลีพร” ที่จิตใจห้วงลึกตั้งแง่อิจฉาริษยาความสำเร็จของพี่สาว และเอาแต่เสี้ยมสอน “ไตรฉัตร” บุตรชายให้เอาชนะเป็นหนึ่ง ด้วยการแย่งชิงอรุณรัศมีมาเป็นคนรักของตนให้ได้ และยิ่งเมื่อภายหลังไตรฉัตรรู้ว่าผู้หญิงที่เป็นหนึ่งรักอยู่ก็คือมาตาลดา เขาก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนางเอกผู้แสนใจดีแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ชุลีพรมักเปรียบเทียบว่าตนเป็นรองต่อเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา        ท่ามกลางผู้คนรายรอบที่ชีวิตช่างดูกะปลกกะเปลี้ยพิการทางใจนั้น ตัวละครมาตาลดาได้เล่นบทบาทที่แตกต่าง ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับสรรพชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในท้องเรื่อง หากแต่ผลานิสงส์แห่งความใจดีและมองโลกสวย ยังช่วยคลี่คลายเปลาะปมให้ตัวละครผ่านพ้นความเจ็บปวดและเยียวยารอยร้าวต่างๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ปู่กับหลาน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา หรือผู้คนต่างรุ่นต่างวัย ควบคู่ไปกับคำพูดและวลีเด็ดๆ ที่พร่ำสอนคุณธรรมให้ตัวละครและผู้ชมได้ร่วมกันขบคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตไปพร้อมๆ กัน        ในโลกที่จิตใจของมนุษย์ช่างเปราะบางอยู่นั้น ประโยคที่มาตาลดาพูดกับเป็นหนึ่งผู้เป็นคุณหมอโรคหัวใจที่ไร้หัวใจว่า “คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยากได้หมอที่เก่งที่สุด แต่เป็นหมอที่เข้าใจหัวใจเค้าดีที่สุด เค้าอาจกำลังมองหาหมอที่ใจ และมองเห็นเค้าเป็นคนก็เป็นได้” ก็สะท้อนให้เห็นว่า ก้นบึ้งของปัญหาที่ปัจเจกบุคคลยุคนี้เผชิญอยู่ ที่สุดแล้วก็คงมาจากการมองข้ามความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริงๆ        เมื่อผู้เขียนดูละครเรื่องนี้จบ เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ระหว่างมาตาลดากับตัวละครที่ป่วยทางจิตใจกันถ้วนหน้าอยู่นั้น ใครคือมนุษย์จริงๆ ในโลกมากกว่ากัน คำตอบที่เราน่าจะเห็นพ้องก็คือ ตัวละครอื่นๆ ต่างดูเป็นผู้คนที่พบได้ในโลกใบนี้ หาใช่มาตาลดานางเอกผู้แสนดีที่ดูช่างเซอร์เรียลิสต์เหนือจริงเสียนี่กระไร        และหากจะถามต่อไปว่า แล้วในขณะที่ละครสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตผ่านตัวละครอื่นๆ อยู่นั้น ตัวละครอุดมคติประหนึ่งยูโธเปียอย่างมาตาลดาปรากฏตนขึ้นมาได้อย่างไร กับคำถามข้อนี้เชื่อกันว่า หากในโลกความจริงมนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่จัดการไม่ได้ โลกสัญลักษณ์ที่สมมติตัวละครแนวอุดมคตินี่เอง จะช่วยบำบัดความขัดแย้งอย่างน้อยก็ในจินตนาการให้บรรเทาเบาบางลงไป        เมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง ที่ตัวละครซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามความรักและครอบครัว ต่างให้อภัยและลุกขึ้นมาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานราวกับไม่เคยมีปัญหาใดๆ กันมาเลยในชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นการ “ฮีลหัวใจ” ของผู้ชมเท่านั้น หากแต่ยังชวนขบคิดไปด้วยว่า กับความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ในโลกความจริง ถ้าเราเคยเยียวยามาได้แล้วในอุดมคติแห่งโลกของละคร เราจะทำให้การคลี่คลายปัญหาเช่นนี้บังเกิดขึ้นในโลกความจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >