ฉบับที่ 230 LDL ในเลือดสูงแล้วอายุยืน...จริงหรือ

        วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพเชื่อกันมานานแล้วว่า คอเลสเตอรอล นั้นถ้ามีมากเกินไปในร่างกาย (โดยเฉพาะที่ปรากฏในเลือด) เป็นดัชนีที่ชี้ถึงความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดทั้งที่หัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ยังมีข้อยกเว้นบ้าง เพราะคอเรสเตอรอลนั้นเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มิเช่นนั้นร่างกายคงไม่สร้างขึ้นมา        หน้าที่สำคัญหนึ่งของคอเลสเตอรอลคือ เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ที่ทำให้ผนังเซลล์มีความยืดหยุ่นพอดี สามารถทำหน้าที่ได้ตามปรกติที่ควรเป็น อีกทั้งผู้ที่จบการศึกษาด้านพิษวิทยาย่อมตระหนักดีว่า สารพิษส่วนใหญ่ในร่างกายมนุษย์นั้นมักถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับออกจากร่างกายที่ออร์กาเนลในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโครโซม (แหล่งรวมของระบบเอ็นซัมเปลี่ยนแปลงสารพิษ ที่สำคัญคือ ระบบไซโตโครม พี-450) ซึ่งมีงานวิจัยที่นานกว่า 50 ปีแล้วบอกว่า ไมโครโซมนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือ คอเลสเตอรอล ภายหลังอีกไม่นานก็มีการค้นพบว่า ไมโครโซมนั้นจริงแล้วคือ ผนังเซลล์ที่ม้วนพับเข้าไปอยู่ในเซลล์ในช่วงที่ไม่มีการแบ่งเซลล์ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบสำคัญของออร์กาเนลนี้ ทั้งนี้เพราะความอ่อนตัวของผนังเซลล์ (cell membrane fluidity) ที่พอเหมาะพอดีจะส่งผลถึงการทำหน้าที่ทางชีวภาพของผนังเซลล์นั้นถูกกำหนดด้วยปริมาณคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดูได้จากหลายคลิปใน YouTube เช่น เรื่อง Cholesterol and Fatty Acids Regulate Membrane Fluidity ที่ https://www.youtube.com/watch?v=wnBTZ02wnAE        อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้นโอกาสที่จะพบว่าความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดสูงมีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะร่างกายเด็กคงนำคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างผนังเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้หมด แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยที่การสร้างเซลล์น้อยลงแต่ระดับการสร้างคอเรสเตอรอลยังคงที่ โอกาสที่ความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นจนก่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและสมองจึงอาจเกิดได้ ในคนที่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ จนเกิดการออกซิเดชั่นที่ทำลายชั้นไขมันของผนังเซลล์ด้วยอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นในเซลล์ที่ประกอบเป็นผิวหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่ราบเรียบเหมือนปรกติ ดังนั้นในคนที่ขาดการออกแรงกายจนเลือดไม่มีโอกาสสูบฉีดแรงๆ เป็นครั้งคราว คอเลสเตอรอลที่เคลื่อนตัวช้าๆ ในเส้นเลือดจึงมีโอกาสตกตะกอนเกาะติดกับผนังเส้นเลือดที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอนุมูลอิสระ (ในลักษณะการเกิดตะกรันในท่อประปาเหล็กซึ่งเป็นสนิม) ซึ่งเมื่อมากขึ้นย่อมขัดขวางการไหลของเลือดที่นำออกซิเจนไปส่งให้เซลล์ในที่สุด และถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือสมอง โอกาสเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น         ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดเนื่องจากการมีระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือดของคนไทยนั้น เริ่มเป็นไปด้วยดีในปัจจุบัน เนื่องจากมีการรนณรงค์ของหน่วยงานด้านสุขภาพ เห็นได้จากการที่คนไทยเริ่มมีการออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารระมัดระวังขึ้น แม้จะรู้ว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวในการก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดของหัวใจและสมอง แต่การระวังในการกินอาหารนั้น เป็นเรื่องดีซึ่งส่งผลในการลดความเสี่ยงที่น่าสะพรึงกลัว อย่างไรก็ดีปัจจุบันกลับมีคนไทยบางคนเริ่มออกมาพูดตามที่ฝรั่งเขียนบทความในเว็บต่างๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากบทความวิชาการในหลายเว็บเช่น Daily Mail, Guardian, Independent, Telegraph, BBC Radio Four และอื่น ๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของคอเรสเตอรอลในเลือดเมื่ออายุเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี เพราะมีงานวิชาการบ่งชี้ว่าสัมพันธ์กับการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น (นี่เป็นการค้านกับความคิดเดิม) อีกทั้งยังแนะนำให้เกิดแนวความคิดในการเลิกกินยากลุ่มสแตตินที่หมอมักสั่งให้กินเมื่อตรวจพบว่า มีค่า LDL ในเลือดสูงเกินระดับปรกติ เพราะเข้าใจว่ามันไม่ก่อประโยชน์         แนวความคิดที่มีการกล่าวถึงนั้นสืบเนื่องมาจากงานวิชาการของกลุ่มนักวิจัยนานาชาติที่มี Magle Stora Kyrkogata ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดนเป็นชื่อต้นของบทความเรื่อง Lack of an association or an inverse association between low-density lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ของปี 2016 รายงานชิ้นนี้เป็น “การนำผลการวิจัยเดิม 19 ฉบับ มาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL-คอเลสเตอรอลและความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี” แล้วได้ผลสรุปว่า “การมีคอเลสเตอรอลไม่ดีคือ LDL ในเลือดสูงเมื่อคนมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว อายุจะยืนยาวโดยไม่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยาสแตตินที่แพทย์มักให้กินเมื่อค่า LDL ในเลือดสูงนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย”         ทว่าปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นก็ไม่ต่างจากที่เริ่มเกิดในต่างประเทศ เพราะเริ่มมีเหล่าบุคคลซึ่งมีเบื้องหลังการขายสินค้าไขมันบางประเภทได้เริ่มนำข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่อ้างถึงข้อมูลจากบทความวิจัย (ที่จะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งดูมีปัญหาในการแปรผลตามความเห็นของผู้รู้ในวงการสุขภาพเกี่ยวกับการบริโภคอาหารไขมัน สิ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าไขมัน LDL ในเลือดสูงและต้องกินยากลุ่มสแตตินนั้น ดูเหมือนว่าจะยอมรับกับข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้กาลามสูตร 10 อาจเป็นเพราะมันตรงกับความต้องการส่วนลึกที่ไม่อยากพะวงต่อค่า LDL และการกินยาสแตติน         บทความดังกล่าวใน BMJ Open ของปี 2016 นั้นได้ถูกวิจารณ์ถึงความหละหลวมในการศึกษา ซึ่งอ่านได้จากบทความเรื่อง Flawed cholesterol study makes headlines ในเว็บ www.bhf.org.uk ซึ่งกล่าวประมาณว่า จำนวนของผู้ถูกสำรวจในการศึกษานั้นนับรวมได้เกือบ 70,000 คน แต่มีเพียง 9 จาก 19 การศึกษาเท่านั้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด โดย 2 ใน 3 ของจำนวนอาสาสมัครนั้นมาจากเพียงการศึกษาเดียว (คือ งานวิจัยของนักวิจัยชาวเดนมาร์คจากมหาวิทยาลัย University of Southern Denmark เรื่อง Association of lipoprotein levels with mortality in subjects aged 50+ without previous diabetes or cardiovascular disease ในวารสาร Scandinavian Journal of Primary Health Care ในปี 2013) ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของอาสาสมัครที่นำมาพิจารณานั้นไม่ได้เป็นการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเช่นที่ควรเป็นตามวิธีการสำรวจในการทำวิจัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการสรุปผลในบทความ         สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความวิจัยตัวจริงของกลุ่มนักวิจัยเดนมาร์คจะพบความเป็นจริงว่า งานวิจัยนั้นมีข้อสรุปมากกว่าที่บทความจาก BMJ Open ของปี 2016 ยกมาอ้าง คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวม HDL-คอเลสเตอรอล หรือ LDL-คอเลสเตอรอล สูงได้ปราศจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งรวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (coronary heart disease) และเส้นเลือดในสมองอุดตัน (stroke) หรือเบาหวาน มีอัตราการตาย (ก่อนวัยอันควร) ต่ำ แต่ยังปรากฏว่า การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลโดยใช้ยาสแตตินนั้นยังให้ประโยชน์ต่อคนไข้ในการเอาชีวิตรอดโดยไม่มีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล และพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) อย่างเด่นชัดในสตรีสูงวัย         สิ่งที่สำคัญคือ มีงานวิจัยเยอะมากที่รายงานผลว่า ยากลุ่มสแตตินนั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคหัวใจ (อาจมีผู้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยเหล่านั้นอาจได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตยากลุ่มสแตติน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องหาหลักฐานกันต่อไป) ซึ่งบทความใน BMJ Open ของปี 2016 ไม่ได้กล่าวถึงในรายงาน อีกทั้งการที่อาสาสมัคร (อายุเกิน 50 ปี) ที่มี LDL สูงและถูกพิจารณาว่ามีอายุยืนนั้น อาจเป็นเพราะได้เริ่มกินยาสแตตินหรือเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารเพื่อลดการรับคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายแล้ว และอาจมีการเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย จึงมีผลให้ความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจลดลง แม้ว่าระดับคอเรสเตอรอลจะไม่ลดลงเท่าค่าเฉลี่ยของคนปรกติ แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง และที่แน่ ๆ คือ นักวิจัยชาวสวีเดน ที่ออกมาป่วนว่าระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้นดี ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนไข้จริง

อ่านเพิ่มเติม >