ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสต่างแดน

อย่าทิ้งกันง่ายๆหนุ่มสวิสวัย 33 ปี ถูกตัดสินจำคุกสองวันเพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับจากการฝ่าฝืนเทศบัญญัติ เดือนพฤศจิกายนปี 2517 สายสืบของเทศบาลเมืองบีล/เบียนน์ พบถุงขยะในวันที่ไม่อนุญาตให้ทิ้ง และถุงดังกล่าวไม่มีสติกเกอร์แสดงการเสียภาษี เมื่อตามหาเจ้าของถุงพบจึงเรียกมาจ่ายค่าปรับ 150 ฟรังก์ (ประมาณ 5,000 บาท) แต่เจ้าตัวไม่ยอมจ่าย เรื่องจึงยืดเยื้อมาจนมีคำตัดสินดังกล่าวสวิตเซอร์แลนด์แลนด์มีอัตราการสร้างขยะ 714 กิโลกรัม/คน/ปี สูงกว่าหลายประเทศในยุโรป รัฐบาลจึงเข้มงวดมาก ครัวเรือนต้องจัดเก็บขยะลงถุงที่รัฐกำหนด(ราคาถุงรวมค่าธรรมเนียม) หรือหากเป็นถุงทั่วไปก็จะต้องซื้อสติกเกอร์ภาษีมาติดแน่นอนว่ามีคนพยายามลักไก่ ปีที่แล้วมีคนถูกปรับ 209 คน โดนตักเตือน 600 คน (และมีไม่น้อยที่ขับรถข้ามชายแดนไปทิ้งขยะในฝรั่งเศส!) แต่ในภาพรวมสวิตเซอร์แลนด์แลนด์สามารถจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอัตราการรีไซเคิลสูงกว่าร้อยละ 50 เมดอินเจแปน? กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามสั่งปรับผู้ประกอบการ “ร้านร้อยเยน” โทษฐานไม่  แสดงข้อมูลบนฉลากให้ชัดเจนเรื่องสถานที่ผลิต แต่กลับโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านขายของ  นำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น กระทรวงฯ สำรวจพบว่า ร้อยละ 99.3 ของสินค้าในร้าน Mumuso ผลิตมาจากประเทศจีน ส่วนบางเครือ เช่น Miniso หรือ Daiso มีการแสดงฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน หรืออังกฤษ แต่ไม่มีภาษาเวียดนามแปลกำกับว่า “ผลิตในประเทศจีน”  ร้านสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมมาก (นอกจากที่กล่าวมา ยังมี Minigood Yoyoso และ Ilahui) เพราะโดนใจลูกค้าทั้งราคาและดีไซน์ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา คนเวียดนามซึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเกาหลีจึงรู้สึกผิดหวังไม่น้อย บ้างว่าจะไม่อุดหนุนอีกแล้วเพราะรู้สึกถูกหลอก บ้างก็ว่าจะช้อปต่อไป แต่จะเลือกเฉพาะสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่านั้นใครๆ ก็เช็ดได้  “คลีเน็กซ์ แมนไซส์” เป็นทิชชูขายดีในอังกฤษมากว่า 60 ปี แต่วันนี้ผู้ผลิตตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพราะเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ทิชชูที่มีผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 3.4 ล้านคนต่อปีจะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลีเน็กซ์ขนาดใหญ่พิเศษ” ทั้งนี้ผู้ผลิตไม่เชื่อว่าชื่อเดิมเป็นการเหยียดหรือแบ่งแยกเพศตามที่โดนกล่าวหา แต่ก็ยินดีจัดให้ คนอังกฤษเอือมกับการแบ่งแยกสินค้าตามเพศโดยไม่จำเป็น ที่ลุกลามจากมีดโกน ไปถึงปากกา หรือแม้กระทั่งขนมหวานองค์การมาตรฐานโฆษณาก็ประกาศว่าจะแบนโฆษณาที่สื่อไปในทางเหยียดเพศ เช่น โฆษณาที่นำเสนอว่าผู้ชายไม่รู้จักหยิบจับงานบ้าน หรือผู้หญิงต้องเป็นคนเก็บกวาด เมื่อสมาชิกครอบครัวทำเลอะ เป็นต้น  ทั้งนี้การสำรวจอิทธิพลของโฆษณาต่อผู้ชมพบว่ามันสามารถสร้างภาพจำในแง่ลบให้ผู้บริโภคได้จริง องค์กรสิทธิสตรีให้ความเห็นว่า การตลาดยุคนี้ควรทำอะไรได้มากกว่าการเสนอภาพเดิมๆ ซ้ำซาก ถึงคราวต้องคลีนมาแล้ว! ผลการสำรวจประจำปีเรื่องนโยบายส่งเสริมการงดใช้ยาปฏิชีวนะของเครือร้านเบอร์เกอร์ในอเมริกา 25 แบรนด์ เคยมีผลตอบรับที่ดีเรื่องเนื้อไก่มาแล้ว มาดูเนื้อวัวบ้าง แบรนด์เหล่านี้จะได้แต้มถ้ามี 1) นโยบายส่งเสริมการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 2) แนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามนโยบาย และ 3) การลงมือทำจริงจาก 25 แบรนด์ มีเพียง 2 แบรนด์เท่านั้นที่ได้เกรด A (Shake Shack และ BurgerFi)  ตามมาห่างๆ ด้วย Wendy’s ที่ได้เกรด D-  ที่เหลือทั้งหมดรวมกลุ่มกันติด F (ในกลุ่มนี้มี McDonald’s  Burger King และ A&W อยู่ด้วย)ทั้งนี้การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ (เช่น ใช้ “เร่งโต” หรือ “ป้องกันโรค”) เป็นอันตรายมาก  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริการะบุว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิต 23,000 คนและผู้ป่วย 2,000,000 คน จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเต้าหู้ที่คุณคู่ควร สภาผู้บริโภคฮ่องกงแถลงผลการตรวจสอบปริมาณโปรตีน ไขมัน และแคลเซียมในเต้าหู้ 40  ตัวอย่าง (แบบแพ็กสำเร็จ 34 ตัวอย่าง และไม่แพ็ก 6 ตัวอย่าง)  ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยในเต้าหู้ที่ฮ่องกงนำมาทดสอบอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และมีเต้าหู้อย่างน้อยสามยี่ห้อมี ปริมาณโปรตีนต่างจากที่ระบุไว้เกินร้อยละ 20  ส่วนไขมันนั้น เต้าหู้เจ็ดยี่ห้อมีปริมาณไขมันต่างจากที่ระบุไว้ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 212  ในขณะที่พบแคลเซียมระหว่าง 16 - 420 มิลลิกรัมในเต้าหู้ที่นำมาทดสอบ สภาฯ ลงความเห็นว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกับปริมาณจริง (ไม่ว่าจะมากหรือน้อยกว่าที่ตรวจพบ) อาจส่งผลให้ ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะกับความต้องการของตนเองได้ว่าแล้วก็สั่งเก็บบางยี่ห้อออกจากร้านและส่งต่อบางยี่ห้อให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >