ฉบับที่ 242 25 บาททำได้จริง ไม่ใช่ฝัน

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นแล้ว เปิดตัวงานแรกคัดค้านประกาศกรุงเทพมหานครที่ให้จ่ายค่ารถไฟฟ้า 104 บาทต่อเที่ยวร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค การคัดค้านนี้เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอ 104 บาท และสภาฯ ยังยืนยันว่า 25 บาททำได้จริงเพราะรถไฟฟ้าเป็นระบบบริการขนส่งมวลชน (Public Goods)  ราคาค่าบริการจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เช่นเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เกิน 10% ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวที่สร้างปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ         ทำไม 25 บาทถึงทำได้จริง จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอราคาของระบบสายสีเขียวนี้ อยู่ที่ 49.83 บาท ต่อเที่ยว ซึ่งจะทำให้สายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาทเมื่อหมดสัมปทานในปี 2602 สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ลดค่าโดยสารลง 50% คือ 25 บาท ก็ยังทำให้ กทม. มีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท         หากถามว่า ทำไมไม่พิจารณาค่าโดยสารในปัจจุบัน เพราะบริษัท BTS มีสิทธิใช้ราคา 44 บาท ต้องให้ความคุ้มครองในส่วนนี้ จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนหนี้สินกับ BTS ประมาณ 30,000 ล้านกทม. และรัฐบาลต้องชำระในส่วนนี้ แต่เมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว รัฐมีหน้าที่จัดบริการขนส่งมวลชน ต้องพิจารณาให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้จริง        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า หาก กทม. ใช้ราคา 65 บาท จะทำให้กรุงเทพมหานครมีรายได้ 240,000 ล้านบาท คำถามไปยังกทม. ว่า ทำไมต้องกำไรมากขายขนาดนั้น ไม่ว่าจะ 240,000 ล้านบาท หรือ 380,200 ล้านบาทก็ตาม         ที่สำคัญไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแม้แต่กรรมาธิการการคมนาคมหรือกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร จนมีมติให้นายกชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน หากพิจารณารายได้ที่ในการคำนวณเพื่อต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ข้อเท็จจริงรายได้ของบริษัทจากรายงานประจำปี 2562 พบว่า บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 39,937 ล้านบาท จากการขนส่ง 32,076 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 5,735 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 8,817 ล้านบาท         ขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้ราคา 25 บาท คือ ต้องหยุดการพิจารณาของครม.ในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า เพราะหาก ครม.มีการพิจารณาประเด็นนี้ ประชาชนต้องปฏิบัติตามราคาค่าโดยสารที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทนั้นแพงเกินกว่าความสามารถของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยจะไม่สามารถใช้เพื่อการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกรุงได้ ทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดความแออัดของจราจรบนท้องถนนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ         สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ กำหนดให้ราคาสูงสุดที่มวลชนจะสามารถจ่ายได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เร่งดำเนินการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนกับทุกระบบเมื่อมีการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า และให้มีการจัดระบบตั๋วร่วมหรือระบบบัตรใบเดียวเพื่อใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทั้งระบบซึ่งรวมทั้งรถเมล์ เรือเมล์เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >