ฉบับที่ 206 ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลต

ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลตแม้หลายคนจะยกให้โดนัทจะเป็นของว่างแสนอร่อย จนบางครั้งก็กินเพลินจนลืมไปว่าในความอร่อยที่แสนหวานนั้น ให้พลังงานสูงไม่แพ้การรับประทานอาหารจานหลักเลยทีเดียว และที่มากไปกว่านั้นยังทำให้เราเสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์อีกด้วย โดยสำหรับเจ้าไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) นั้น เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารทอด ครีมเทียม หรือพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำ อย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นถูกจัดให้เป็นไขมันตัวร้าย เนื่องจากสามารถเพิ่มระดับระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบง่ายขึ้น ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันทรานส์ หรือไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน และควรพบความเข้มข้นในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภคฉลาดซื้อฉบับนี้จึงกลับมาเอาใจคนชอบกินโดนัทกันอีกครั้ง ด้วยการทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาดจำนวน 13 ตัวอย่าง ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยประเทศไทยอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือ ห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2561 อ้างอิงบทความข่าวจาก https://www.matichon.co.th/news/781033สรุปผลการทดสอบจากโดนัทที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า1. พลังงาน- ยี่ห้อที่ให้พลังงาน/ 100 กรัม มากที่สุด คือ แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE) ให้พลังงาน 471 kcal./ 100 กรัมในขณะที่ยี่ห้อ ดังกิ้น โดนัท ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ 381 kcal./ 100 กรัม- ยี่ห้อที่ให้พลังงาน/ ชิ้น มากที่สุด คือ แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE) ให้พลังงาน 320 kcal./ ชิ้น (68 กรัม)ส่วนยี่ห้อ เอ็น.เค.โดนัท (NK Donut) ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ 85 kcal./ชิ้น (19 กรัม)2. ไขมันทรานส์ผลการทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ โดยแบ่งเป็น - ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ 100 กรัม มากที่สุด คือ ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts) มีปริมาณไขมันทรานส์ 6.65 กรัม./ 100 กรัมในขณะที่ยี่ห้อ เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field) มีปริมาณไขมันทรานส์น้อยที่สุด คือ 0.12 กรัม./ 100 กรัม- ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ ชิ้นมากที่สุด คือ ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัม./ ชิ้น (69 กรัม)ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ ชิ้นน้อยที่สุด คือ แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัม./ ชิ้น (51 กรัม)ข้อสังเกต- ไขมันทรานส์ จากโดนัทที่นำมาทดสอบทั้งหมด พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ เฉลี่ย 1.25 ต่อหน่วยบริโภค ซึ่งสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือไม่ควรเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดยหากเราบริโภคหลายชิ้น อาจได้รับปริมาณไขมันทรานส์มากกว่าเกินกว่า 2.2 กรัม/วันได้ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ - โดนัทส่วนใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 60 กรัม/ ชิ้น และให้พลังงานเฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่ ซึ่งหากเราอร่อยเพลิน อาจทำให้ได้รับพลังงานสูงเกินกว่าที่ต้องการต้องการได้ เพราะอย่าลืมว่าโดนัท เป็นเพียงของหวานรับประทานเล่นเท่านั้น ยังมีอีก 3 มื้อหลัก/ วันรออยู่ (ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันคือ 2,000 กิโลแคลอรี่)**** อัพเดท***เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 204 ไขมันทรานส์ ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

ตามที่สัญญากันไว้ว่าเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง กับผลการทดสอบไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง หลังจากเล่มที่ผ่านมาเราได้เสนอผลการตรวจสอบ ปริมาณพลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าวไปแล้ว ไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์(Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารจำพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว อาหารทอดหรือครีมเทียม เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง เพราะสามารถส่งผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว โดยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL: low-density lipoprotein) เพิ่มสูงขึ้น และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี(HDL: high-density lipoprotein) ในเลือดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดีและการอักเสบ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังทั้งหลายดังนั้นหลายประเทศจึงออกกฎหมายกำกับปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(USFDA) กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่วางจำหน่ายและมีส่วนประกอบของกรดไขมันดังกล่าว ต้องระบุการใช้กรดไขมันทรานส์ไว้บนฉลากโภชนาการ รวมทั้งต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งนี้ภายหลังก็ได้ออกกฎหมายใหม่ให้เข้มงวดขึ้น โดยควบคุมการผลิตอาหารให้มีไขมันทรานส์เป็น 0% หรือห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารอีกเลย(หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2561) เนื่องจากตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของประชากรโลก องค์การอาหารและยา(อย.) บ้านเราตระหนักในผลร้ายของไขมันทรานส์เช่นกัน โดยล่าสุดทาง อย. ได้ออกประกาศว่ากำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่ห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในเดือนเมษายน 2561 (ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978)ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาช่วยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่าง โดยอ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกรดไขมันทรานส์ คือ ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน หรือควรพบความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันผลการทดสอบไขมันทรานส์ในทั้ง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจพบว่า มีปริมาณกรดไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 ยี่ห้อที่มีปริมาณกรดไขมันดังกล่าวสูง คือ เครื่องดื่มข้าวกล้องงอก ผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ยี่ห้อ โกเด้นท์ มีปริมาณไขมันทรานส์มากที่สุดคือ 2.43 กรัม/ 100 กรัม(0.7 ต่อหน่วยบริโภค)  ส่วนตัวอย่างที่เหลือพบว่ามีไขมันทรานส์อยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งอาจพบได้ในธรรมชาติและไม่เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  ตารางแสดงผลการทดสอบอย.เตรียมประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย.ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ในข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) “ยกเว้น” การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”การออกประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์ (trans fatty acids)” จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น อย.จึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวขึ้น โดยขณะนี้ตัวร่างอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหาร, โรงงานผลิตน้ำมันพืช, โรงงานผลิตนม-เนย-เบเกอรี่ และโดนัท ฯลฯ ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้น“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักอาหาร อย. รวมถึงการส่งหนังสือไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งความคิดเห็นกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น อย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดสรุปเสนอคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน หากความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย.จะเร่งประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าวที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978**อัพเดท**เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 199 ครีมสลายไขมัน มีประโยชน์จริงหรือ

หลายคนที่มีความกังวลเรื่องไขมันส่วนเกิน มักมองหาสารพัดวิธีเพื่อกำจัดปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เชื่อว่าเป็นทางลัดก็หนีไม่พ้นการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยสลาย ละลายหรือดูดไขมันได้ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ ทำไมต้องกำจัดไขมันส่วนเกินเหตุผลที่หลายคนมักกังวลกับไขมันส่วนเกิน มักมีสาเหตุหลักจากเรื่องความสวยงามและสุขภาพ เพราะนอกจากไขมันส่วนเกินจะทำให้ขาดความมั่นใจ เนื่องจากมักพบมากที่บริเวณหน้าท้อง ต้นขาหรือต้นแขนจนทำให้ใส่เสื้อผ้าไม่สวยหรือดูอ้วนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจหรือไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดไขมันแม้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าวิธีการกำจัดไขมันส่วนเกินนั้น ไม่มีอะไรมาก แค่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่เนื่องจากวิธีเหล่านั้นต้องทำเป็นประจำและใช้เวลาสักพักจึงจะเห็นผล ทำให้หลายคนต้องหาวิธีลัดในการกำจัดปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ทรีตเมนท์ละลายไขมัน เจลและมาส์กสลายไขมัน หรือสบู่ระเบิดไขมัน ออกมาโฆษณาว่าสามารถช่วยสลาย ละลายหรือดูดไขมันได้ โดยจะทำให้แขนขาเรียวเล็กหรือหน้าท้องแบนขึ้น เนื่องจากเต็มไปด้วยส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพในการสลายไขมันที่อยู่ภายใต้ชั้นผิว ทั้งยังปลอดภัยเพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติและมี อย. อย่างไรก็ตามผู้บริโภคอย่างเราต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงามเท่านั้น โดยไม่สามารถอ้างว่า บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค ความเจ็บป่วย มีผลต่อโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายได้ เพราะหากทำได้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะกลายเป็นยารักษาโรคแทน ซึ่งต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นยาและแสดงไว้บนฉลาก เป็นอักษรและตัวเลข เช่น Reg. No. 2C 93/52 โดยไม่ต้องมีกรอบ อย. ล้อมรอบ แตกต่างจากการจดแจ้งว่าเป็นเครื่องสำอางและใช้เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งที่ผ่านมาองค์การอาหารและยา (อย.) ได้พบว่ามีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่จัดเป็นเครื่องสำอาง แต่อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา เช่น โลชั่นปลูกผม ครีมเสริมสร้างทรวงอก ครีมลดไขมัน สบู่ลดความอ้วน โลชั่นกระชับจุดซ่อนเร้น หรือครีมฆ่าเชื้อโรค เป็นต้นแสดงให้เห็นว่าหากเราหวังผลในการลดไขมันส่วนเกิน แต่ดันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอาง ซึ่งมีประสิทธิภาพเพื่อความสะอาดหรือความสวยงาม ก็ไม่อาจช่วยรักษาหรือทำให้เกิดผลต่อโครงสร้างใดๆ ของร่างกายได้นั่นเอง นอกจากนี้หากเราเลือกใช้เครื่องสำอางดังกล่าวโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน อาจพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เข้าข่ายเครื่องสำอางอันตรายที่มีการใส่สารห้ามใช้หรือกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย ซึ่งหลักการง่ายๆ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัยนั้น สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบฉลากภาษาไทย ที่อย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง, ส่วนผสม, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า, ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งเลขที่จดแจ้งด้วย สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบฉลากภาษาไทย ที่อย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง, ส่วนผสม, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า, ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งเลขที่จดแจ้งด้วยแนะวิธีกำจัดไขมันส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ1. ออกกำลังกาย ด้วยการคาร์ดิโอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยานหรือแอโรบิก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที สามารถช่วยลดไขมันได้อย่างดี แต่ต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการที่ร่างกายจะเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับสารอาหารและพลังงานที่ร่างกายได้รับด้วย2. ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเครื่องมือเพื่อการสลายหรือดูดไขมันมีมากมาย เช่น เลเซอร์ คลื่นวิทยุ คลื่นเสียงความถี่สูงหรือความเย็นสลายไขมัน ซึ่งให้ประสิทธิผลที่ดี แต่ต้องเลือกสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยหรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาเพื่อฉีดสลายไขมัน เพราะปัจจุบัน อย. ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ฉีดยาดังกล่าวเข้าไปเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้***ร่วมแชร์กันนะครับ***

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมกราคม 2559อย.ยืนยันไม่เคยขึ้นทะเบียน “ยาฉีดสลายไขมัน” อย.ออกมายืนยันไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน หลังจากพบว่ามีการโฆษณาฉีดสารสลายไขมันจากผู้ที่แอบอ้างเป็นหมอ หรือ “หมอกระเป๋า” ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการรักษาใดๆ แต่รับฉีดยาให้กับผู้ที่ติดต่อซื้อบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ อย.ย้ำว่าการที่ผลิตภัณฑ์ใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะต้องผ่านการพิจารณาในด้านการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา โดยต้องผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักวิชาและข้อกำหนดตามกฎหมาย ผลิตภัณฑ์สลายไขมันซึ่งใช้วิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายที่มีจำหน่ายและบริการอยู่เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย การฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการแพ้ขั้นรุนแรง เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การจะเข้ารับบริการฉีดสารใดๆ เพื่อผลเรื่องความสวยความงามหรือผลต่อสุขภาพนั้น ควรเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย   ปปง.สั่งยึดทรัพย์ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แล้วหลังจากเป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2555 ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ได้ทำการดำเนินการยึดทรัพย์ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลังจากทำการปิดสถานบริการออกกำลังกายชื่อดัง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” โดยไม่มีการแจ้งให้กับผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า แถมไม่มีการดำเนินการชดเชยใดๆ ให้กับสมาชิกที่มีมากกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท  ซึ่งผู้เสียหายได้ร่วมตัวกันโดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเป็นตัวแทนในการดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมาย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิบพบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่มี นายเอริค มาร์ค เลอวียน เป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้มีการโอนเงินจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมีบริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัท ฟิตเนส เอสเตท มีรายชื่อของนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท แม้ต่อมาได้มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัท มีบริษัท ละติจูด 43 จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ละติจูด 43 จำกัด มีบุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง คือ นายเอริค มาร์ค เลอวีน ทั้งนี้ โดยการหลอกลวงนั้น ทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมจ่ายเงินเป็นค่าสมัครและใช้บริการ ก่อนจะปิดกิจการหนีหายไป จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลอาญาแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปปง. จึงมีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกไว้ชั่วคราว เป็นที่ดินในจังหวัดพังงาจำนวน 5 รายการ รวมประมาณ 17 ไร่ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 88,332,500 บาท จากนี้ก็จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อิเกีย เรียกคืนของเล่นเด็กอิเกีย ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีสาขาไปทั่วโลก ล่าสุดอิเกียประเทศไทยได้เรียกคืนสินค้า “ไม้กลองและกลองทังก์ดรัม รุ่น LATTJO/ลัททิโอ” หลังมีรายงาน 6 ฉบับจากพนักงานอิเกียที่ระบุว่า หัวยางบนไม้กลองอาจหลุดหรือหมุนออกมาได้ และอาจติดคอเป็นอันตราย หากเด็กเล็กกลืนลงคอด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าสินค้านี้จะผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับของเล่น แต่เมื่อมีการตรวจสอบในภายหลังแล้วพบว่าสินค้าอาจเกิดอันตราย อิเกียจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเบื้องต้นคือการเรียกคืนสินค้าและหยุดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ที่ผ่านมา อิเกียประเทศไทยได้มีการเรียกคืนสินค้ามาแล้วหลายรายการ เช่น ชิงช้า รุ่น GUNGGUNG/ยุงยุง เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์แขวนชิงช้าไม่ผ่านข้อกำหนดด้านคุณภาพ หรือแม้สินค้าประเภทอาหารอย่าง พาสต้ารูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR) และพาสต้าโฮลเกรนรูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR FULLKORN) เนื่องจากมีส่วนผสมของถั่วเหลืองแต่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้แพ้ถั่วเหลือง ปี 58 จับยาปลอม-อาหารเสริมโม้สรรพคุณ มูลค่ารวมถึง 180 ล้านบาทในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเรื่องของการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้งอาหารเสริมและยาปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เหมือนกับว่าปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิ่งจับก็ยิ่งเจอ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยเรายังตะหนักถึงเรื่องอันตรายของยาและอาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณกันไม่มากพอ ทำให้เกิดเป็นช่องทางให้พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่หวังดีนำสินค้าอันตรายมาหลอกขาย มีข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมา อย.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ทำการการจับกุมและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางจำนวน 101 ครั้ง พบผู้กระทำความผิดจำนวน 148 ราย จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่า 185.55 ล้านบาท แยกเป็น ยา มูลค่าของกลาง 31.17 ล้านบาท จำนวน 729 รายการ, อาหาร มูลค่าของกลาง 151.21 ล้านบาท จำนวน 181 รายการ, เครื่องสำอาง มูลค่าของกลาง 2.45 ล้านบาท จำนวน 84 รายการ, วัตถุอันตราย มูลค่าของกลาง 5 แสนบาท จำนวน 11 รายการ, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มูลค่าของกลาง 1.7 แสนบาท จำนวน 13 รายการ และยาเสพติด 5 หมื่นบาท จำนวน 1 รายการ นอกจากนี้ ในปี 2558 อย. ยังมีการเผาทำลายของกลางผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งสิ้น 132 คดี น้ำหนัก 32,730 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าของกลางกว่า 100 ล้านบาท NGO ร้องรัฐบาลตรวจ สสส. ต้องโปร่งใส อย่าให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์“ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ประกอบด้วย 20 เครือข่าย อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ ฯลฯ ร่วมกันแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยื่นต่อกรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ตามคำสั่งของ คสช. รวมถึงกรณีการสั่งชะลอโครงการกว่า 2,000 โครงการที่ภาคประชาชนรับงบสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานด้านพัฒนาสังคม งานพัฒนาสังคมหลายๆ ด้านต้องใช้พลังในการทำงานจากภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำโดยภาคประชาชนแล้วเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานด้านการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน การให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการเท่าทันสื่อ เรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ซึ่งการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องมีงบประมาณในการทำงานซึ่งที่ผ่านมา สสส. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ค่อยทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด หากรัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานของ สสส. และยุติการสนับสนุนทุนให้กับกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาและการเสริมสร้างความรู้ความเข้มแข็งของคนในประเทศอย่างแน่นอน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบอร์ด สสส. แต่มาเพื่อประชาชน เพราะการเหมารวมตรวจสอบทุกโครงการทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การตรวจสอบสามารถทำได้แต่ต้องโปร่งใสและยุติธรรม การปฏิรูป สสส. ต้องมีภาคประชาชนเจ้าไปมีส่วนร่วมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน

  “น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีอย. รับรอง 30 ประเทศทั่วโลก จดทะเบียน อย.ในหมวดอาหาร ไม่ใช่ยา สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ยิ่งทานในปริมาณมากยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น” ไม่กี่วันมานี้ เพื่อนฝูงผมหลายคนต่างได้รับอีเมล์ จ่อหัวเรื่องซะน่าสนใจว่า น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน โดยในเนื้อหาของอีเมล์นี้บอกว่าน้ำผลไม้ที่ว่านี้คือ น้ำผลไม้มากี้เบอร์รี่ Maqui Berry ซึ่งมีส่วนผสมของผลไม้ที่สำคัญและแร่ธาตุในน้ำว่านหางจระเข้ที่มีประสิทธิภาพ ผลไม้นี้ถูกค้นพบในป่าของทวีปอเมริกาใต้ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากผลไม้อื่นๆ ในโลก เพราะมากี้คือการผสมผสานของทุกอย่างไว้อย่างลงตัว ผมสงสัยว่าคำอธิบายเหล่านี้ คนขายคงกลัวว่า จะไม่น่าเชื่อถือ ในอีเมล์จึงมีการอธิบายคุณสมบัติมหาศาลเพิ่มเติมเข้าไปอีก จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมียาใดมาเทียมทานได้ในสามโลก เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในโลก จึงส่งผลในการป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งและโรคความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย  ช่วยในการลดน้ำหนัก 1 ขวด ช่วยลดน้ำหนักได้ 1-2 กก. ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้กลับมาเพิ่มขึ้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีสารพิษ หรืออนุมูลอิสระในร่างกายมากๆ เช่น ผู้ที่อยู่ในโปรแกรมการกำจัดไขมันหรือลดน้ำหนักหรือในผู้ที่ภาวะความเครียดจากการทำงาน ... ยังไม่หมดนะครับ ยังมีบอกต่อไปอีกว่า ช่วยทำให้มีสุขภาพผิวพรรณที่ดี ปรับผิวให้กระจ่างใสและปกป้องจากการถูกทำลายของแสงอาทิตย์ ช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ กระตุ้นการล้างพิษในร่างกาย ปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์และพาร์คินสัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง เพิ่มระดับพลังงาน สนับสนุนให้มีอายุยืนยาว  มีส่วนประกอบของวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็กและโพแทสเซียม ทำให้กระดูกและข้อต่อแข็งแรง ช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดจากข้อต่อโรคข้ออักเสบและกล้ามเนื้อ ป้องกัน LDL จากออกซิเดชัน มีส่วนผสมของ Resveratrol (เรสเวอราทรอล) ใน 1 ขวดเทียบกับ ไวน์แดง 7 ขวด  ประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโนและธาตุอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการรักษาความสมดุล    ช่วยควบคุมความเป็นกรดกระเพาะอาหาร   มีวิตามินบีสูง เพื่อสุขภาพระบบประสาทไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกันแร่ซีไอออนิก จำเป็นต่อการทำงานของตับและไตและการขับพิษในร่างกาย และยังระบุ หมายเลข อย. 10-3-07754-1-0005 อีกด้วย   อันที่จริงมีหลักง่ายๆ ฝากท่านผู้อ่าน สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ว่าเป็นจริงหรือไม่ คือ ก่อนอื่นพิจารณาดูว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอาหารหรือยา ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ถ้าเป็นอาหารก็จะต้องมีเลขสารบบ ซึ่งจะอยู่ในเครื่องหมาย อย. และที่สำคัญคือ ถ้าเป็นอาหารจะไม่มีสรรพคุณทางการรักษาโรคแต่อย่างใด ถ้ามีถือว่า ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้อ่านก็ลองตรวจสอบได้ด้วยตัวเองเลยครับว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ข้อมูลเท็จหรือไม่ แล้วเราจะได้คำตอบเลยว่า ยิ่งกินมากยิ่งเห็นผล ไอ้ผลที่ว่านั้นคือผลในการรักษาหรือผลที่คนขายจะรวยกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ผมส่งอีเมล์นี้ก็ไปถึง อย.เรียบร้อยแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 โอม… เพี้ยง! ไขมันจงลด

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม “อัลดุลลา....มาแหล่ว....หายมั๊ย...หาย...ลดมั๊ย...ลด” ยาสมุนไพร เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุนิยมใช้กันมาก ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่ทีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษา โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผลการรักษาของยาแผนโบราณมันจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ผลปรู๊ดปร๊าดรวดเร็วแบบยาแผนปัจจุบันนะครับ วันหนึ่งมีผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40 ปี มาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ด้วยอาการที่ผิดปกติที่คาดว่าน่าจะเกิดจากการใช้ยา เภสัชกรสาวสวยผู้รับเรื่อง จึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับประทานยา “สมุนไพรอโรคยาศาลาอิสระธรรม” ตามสรรพคุณที่ว่า “ขยายหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด” พร้อมทั้งเล่าว่าได้ยานี้มาจาก อโรคยาศาลาอิสระธรรม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยจะรับประทานครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น หลังจากการกินมาประมาณ 2 เดือนก็พบอาการผิดปกติเภสัชกรสาวสวย (เธอฝากมาย้ำว่าให้ระบุด้วย) จึงได้ส่งยาไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลการตรวจปรากฏว่า พบ “ยาลดไขมัน Simvastatin” ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ผสมอยู่ในยาชนิดนี้ ไม่รู้ว่าตอนนั้นเธอจะร้อง กรี๊ดดดดดด หรือไม่ รู้แต่ว่าเธอแจ้นมาแจ้งเรื่องยัง เภสัชกร ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามทันที เจ้ายาลดไขมัน Simvastatin นี้ บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น อาการปวดเกร็งท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดแสบกระเพาะ ปวดศีรษะ มองภาพไม่ชัด เวียนศีรษะ ผื่น คัน นอกจากนี้ยังมีคำเตือนสำหรับผู้ใช้อีก คือ “ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์หรือสงสัยว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์ รวมทั้งในระยะให้นมบุตรด้วย และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นโรคตับ โรคไต ติดเชื้ออย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ควรบอกแพทย์หรือเภสัชกรว่าขณะนี้ได้รับยาอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะยา ซัยโคลสปอริน อิริโธรมัยซิน เจ็มไฟโปรซิล ไนอะซิน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน ฯลฯ (เพราะมันส่งผลต่อกัน) และถ้าหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันให้บอกแพทย์หรือทันตแพทย์ด้วยว่าขณะนี้ได้รับยา Simvastatin นี้อยู่ เนื่องจากยานี้จะไปส่งผลต่อยาอื่นและมีผลต่อร่างกาย และถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งกดเจ็บ ตะคริวหรืออ่อนเพลีย โดยมีไข้หรือไม่มีไข้ให้รีบพบแพทย์ทันที” แค่เห็นคำเตือนต่างๆ ก็ย่อมจะทราบได้ว่าเจ้ายาลดไขมันที่มันไปปรากฏแบบไม่ได้รับเชิญในยาสมุนไพรนั้น มันมีอันตรายอย่างไร ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ให้ไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ที่เล่านี้ก็อยากให้เป็นอุทธาหรณ์ว่า สมัยนี้หากจะเลือกยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณมารับประทาน อย่าไว้ใจง่ายๆ ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “ต้องมีทะเบียนยา” เสมอ และหากเจอผลการรักษาที่รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด ให้พึงสังหรณ์ใจไว้ก่อนว่าอาจจะมีแขกที่กฎหมายไม่ได้เชิญมาปนอยู่ด้วยก็ได้ ให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบโดยด่วน โอม เพี้ยง!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เช็ค “ไขมัน” “น้ำตาล” ในโยเกิร์ต

  “โยเกิร์ต” ถือเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยถูกปากถูกใจ แถมมีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโยเกิร์ตยี่ห้อใหม่ๆ รสชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะสูตรธรรมชาติ ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล สูตรผสมผลไม้ เติมใยอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ เรียกว่ามีให้เลือกสารพัด เอาใจคนชอบกินโยเกิร์ตสุดๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยรับอาสาสุ่มเก็บตัวอย่างโยเกิร์ตที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อมีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน เท่าไหร่กันบ้าง เพื่อให้คนที่ชอบกินโยเกิร์ตได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกกินโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด   ประโยชน์ของโยเกิร์ต -โยเกิร์ตมีโปรตีนจากนม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย มีกรดอะมิโนสูง -มีแคลเซียมสูง -มีกรดแลคติกช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค -มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส ที่เป็นประโยชน์ต่อสำไส้ ทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ แลคโตบาซิลัส ยังสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ด้วย -สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนนมได้ สำหรับคนที่แพ้นม หรือดื่มนมไม่ได้   วิธีเลือกซื้อโยเกิร์ต -อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อดูว่าปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการกินโยเกิร์ตถ้วยนั้นมีอะไรบ้าง(เปิดฉลาดซื้อเล่มนี้ได้เลยเช่นกัน) -เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ รสธรรมชาติ หรือ รสจืด จะได้ประโยชน์มากกว่าสูตรธรรมดาหรือสูตรที่ผสมผลไม้ ที่น้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง -เลือกซื้อโยเกิร์ตที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ(โยเกิร์ตที่ผลิตใหม่ๆ)  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณมาก เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา -การกินโยเกิร์ตไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่การกินโยเกิร์ตช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลเป็นปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครที่กินโยเกิร์ตเพื่อลดความอ้วนจึงเป็นความคิดที่ผิด   เปรียบเทียบปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสต่างแดน

โวดาโฟน VS โวดาเฟล โวดาโฟน (Vodafone) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสามของออสเตรเลีย ได้พบกับคู่ปรับรายใหม่ซึ่งได้แก่เว็บไซต์โวดาเฟลดอทคอม (www.vodafail.com) เข้าแล้ว  เว็บไซต์ที่ว่านั้นเป็นฝีมือของผู้บริโภครายหนึ่งที่สุดจะทนกับบริการอันยอดแย่ของบริษัทโวดาโฟนนั่นเอง  ปลายปีที่แล้ว อดัม บรีโม บัณฑิตหมาดๆ ด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้เซ็นสัญญาเป็นลูกค้าบริการ 3จี ของบริษัทโวดาโฟนเป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากใช้บริการไปได้เพียง 6 สัปดาห์ก็ต้องเซ็งจิตเพราะสัญญาณขาดๆ หาย เมื่อโทรไปร้องเรียนก็ได้รับคำตอบที่ไม่น่าประทับใจอีกด้วย  อดัมรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง ว่าแล้วก็ลงมือทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา และตั้งชื่อว่าโวดาเฟล (www.vodafail.com) เพื่อแอบประณามบริการที่ล้มเหลว (fail) ของโวดาโฟน และเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่เดือดร้อน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้เข้าไปดูเว็บดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 150,000 คน และมีไม่น้อยที่ร่วมบันทึกข้อมูลความเดือดร้อนของตนเองจากการโทรเข้าไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของโวดาโฟน เช่นวัน เวลา ที่โทรเข้า ระยะเวลาที่ต้องถือสายรอ ลงในหน้าเว็บดังกล่าวด้วย ผู้บริโภคมักถูกทิ้งให้รอสายนานมากเมื่อโทรเข้าไปร้องเรียนเรื่องบริการ 3 จี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสัญญาณขาดหาย การได้รับข้อความหรือวอยส์เมล์ล่าช้า ที่สำคัญผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลว่าเป็นปัญหาที่ตัวเครื่องมือถือหรือไม่ก็ซิมการ์ด และแนะนำให้ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่หรือเปลี่ยนซิมการ์ด (ซึ่งทำแล้วก็ไม่ได้ผล) ที่สำคัญรายงานนี้มีข้อมูลโดยละเอียดที่ระบุว่า บริษัทเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนจากลูกค้า และไม่มีการจัดการที่ดีพอ  ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดการและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ผลที่ได้คือรายงานสรุปกรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ 3 จีของโวดาโฟนทั้งหมด 12,000 กรณี ที่นำเสนอต่อองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคด้านบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ต้องติดตามกันต่อไป ว่าเขาจะจัดการกับบริษัทดังกล่าวอย่างไร  โวดาโฟนซึ่งควบรวมกิจการกับฮัทชิสันมีลูกค้ากว่า 6.3 ล้านคนทั่วออสเตรเลีย    “เพื่อนสาว” แน่นอนกว่าหมดสมัยแล้วกับการต้องเตรียมช็อคโกแลตเอาไว้ให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ สาวญี่ปุ่นยุคนี้เขาคิดใหม่ทำใหม่ หันมาซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนสาวดีกว่า  ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทกูลิโกะระบุว่า สามในสี่ของสาวญี่ปุ่นในวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆ บอกว่าปีนี้พวกเธอจะให้ “โทโมช็อกโก” หรือช็อกโกแลตเพื่อมิตรภาพกับเพื่อนผู้หญิงของตนเองในวันวาเลนไทน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่จะให้ขนมหวานกับแฟนหนุ่มหรือผู้ชายที่ตนเองแอบปลื้ม  เหตุผลหลักๆ คือผู้หญิงนั้นจะชื่นชมกับช็อกโกแลตที่ได้รับมากกว่า ฝ่ายที่ให้จึงรู้สึกเป็นปลื้มมากกว่า  บ้างก็ว่าสาวๆ เหล่านี้หมดความสนใจในตัวผู้ชายญี่ปุ่นแล้ว เพราะหาคุณสมบัติความเป็นแมนได้ยากเหลือเกิน โดยกลุ่มนี้อ้างว่ามันเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์  ส่วนบรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พร้อมปรับตัวเพื่อรับเทรนด์ใหม่นี้ ด้วยการจัดแผนกช็อกโกแลตสำหรับผู้หญิง ที่เน้นช็อกโกแลตสีสวยๆ รูปร่างน่ารักๆ ไว้บริการลูกค้าสาวๆ โดยเฉพาะ คุณผู้ชายไทยฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ อย่าได้มั่นใจเกินไปว่าคุณหล่อเลือกได้   กุหลาบต้นทุนสูงเชื่อหรือไม่ แม้เคนยาจะขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤตแต่ก็ยังเป็นผู้ส่งออกกุหลาบรายใหญ่ที่สุดไปยังยุโรป ร้อยละ 70 ของดอกกุหลาบที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปนั้นมาจากบริเวณรอบๆทะเลสาบไนวาชาในประเทศเคนยานั่นเอง  นักนิเวศน์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตทะเลสาบไนวาชา มากว่า 30 ปี บอกว่าการปลูกกุหลาบเพื่อส่งออกนั้นได้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์ของท้องถิ่นไม่น้อย   การใช้ทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุโรปนั้นไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปบรรจุขายในบรรจุภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง  ความจริงแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปก็มีดอกกุหลาบแฟร์เทรด หรือกุหลาบที่ปลูกด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและได้รับการรับรองเรื่องความเป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าดอกกุหลาบทั่วไปให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อกัน  เพียงแต่เมื่อถึงวันที่ต้องสู้รบกันในสงครามราคาในช่วงวันวาเลนไทน์และวันแม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะอดใจไม่ไหว ต้องหันไปหากุหลาบ “ต้นทุนต่ำ” ที่กล่าวมา  การประมูลซื้อดอกกุหลาบเป็นล็อตใหญ่ๆ นั้นจะมีขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม จึงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่ากุหลาบเหล่านั้นมาจากประเทศฮอลแลนด์ (เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่ว่า กุหลาบดอกใหญ่ที่เรียก กุหลาบฮอลแลนด์ อาจเดินทางมาไกลจากเคนยาก็ได้)   กินผิด ระวังจิตตกการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัวสูงนั้นไม่ได้ทำให้เราอ้วนขึ้นเท่านั้น งานวิจัยของสเปนบอกว่ามันเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วย  ข้อมูลได้จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของอาสาสมัครกว่า 12,000 คน เป็นเวลา 6 ปี พบว่าในตอนเริ่มงานวิจัยไม่มีใครเป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่เมื่อจบการเก็บข้อมูล พบคนที่มีอาการดังกล่าว 657 คน โดยคนที่รับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดหรือแพสตรี้บรรจุกล่องที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ มีอัตราความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ที่สำคัญอาสาสมัครกลุ่มนี้คือคนยุโรปที่บริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณค่อนข้างต่ำเป็นนิสัย คนเหล่านี้ได้พลังงานจากไขมันดังกล่าวเพียงร้อยละ 0.4 ของพลังงานที่ได้รับ  ลองนึกดูว่าในกลุ่มคนอเมริกันที่ได้พลังงานถึงร้อยละ 2.5 จากไขมันทรานส์นั้นจะมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้ามากกว่านี้สักกี่เท่า  แต่งานวิจัยนี้ก็ยังมีข่าวดีมาบอกกันอยู่บ้าง เขาบอกว่าน้ำมันมะกอก ซึ่งมีโอเมก้า-9 สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ด้วย  ปัจจุบันโลกเรามีผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวอยู่ประมาณ 150 ล้านคน     สนับสนุนคนไกลเกือบหนึ่งในสี่ของอาหารที่ระบุว่าเป็นของ “ผลิตในท้องถิ่น” ในอังกฤษและเวลส์นั้น ไม่ได้เป็นดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และต้องการสนับสนุนผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อการสร้างงาน และลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ก็มีผู้ประกอบการหัวใส ที่หาทางใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่ว่า ในประเทศอังกฤษก็มีผู้ประกอบการประเภทที่ว่าอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่หน่วยงานรัฐต้องลงมือสำรวจว่ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดมากน้อยเท่าไร  จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 558 ชิ้น ในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด กว่า 300 แห่ง หน่วยงานดังกล่าวพบว่าร้อยละ 32 ของสินค้าที่ชูจุดขายเรื่องความเป็น “ผลิตในท้องถิ่น” เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค  ในนั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น “เนื้อแกะจากเวลส์” ที่ผลิตในนิวซีแลนด์ หรือ “แฮมจากเดวอน” ทั้งๆ ที่นำเข้ามาจากเดนมาร์ก เป็นต้น นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์ที่อาจจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ส่งออกไปแปรรูปที่ประเทศจีนแล้วนำกลับเข้ามาขายในอังกฤษใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสามารถจัดเข้าเป็นสินค้าท้องถิ่นได้ด้วยหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >