ฉบับที่ 212 ฉวยโอกาสโฆษณา

“การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ และสื่อสารให้ชัดเจน  มิฉะนั้นอาจถูกผู้อื่นฉวยโอกาสนี้ โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนได้เช่นกัน”ผมมอบหมายให้น้องนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่มาฝึกงานที่หน่วยงาน ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อแนะนำความรู้ให้กับผู้บริโภคและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนแห่งหนึ่ง หัวข้อในการให้ความรู้ครั้งนี้คือ การป้องกันอันตรายจากการใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  ซึ่งนอกจากจะทำกิจกรรมให้ความรู้แล้ว  ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาและผู้บริโภคด้วย และยังมีบริการตรวจสอบยาต่างๆ จากผู้บริโภคด้วยว่ามีสารสเตียรอยด์เจือปนหรือไม่ในระหว่างที่นักศึกษาทำการตรวจสอบยาต่างๆ นั้น  มีคุณป้าท่านหนึ่งนำยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมาให้ตรวจสอบว่ามีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนหรือไม่  ผลการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  แต่แทนที่เรื่องจะจบ ปรากฏว่าคุณป้าท่านนั้นกลับถือโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ผู้บริโภคท่านอื่นทันที“ฉันเคยเห็นคนรู้จักที่เคยเป็นฝ้า  อยู่ๆ ก็หน้าใสขึ้น  ถามดูเลยรู้ว่าใช้ยาสมุนไพรตัวเดียวกับหลานสาวฉัน  ฉันเลยลองเอามากินดูบ้าง  อาการตกขาวก็หายไป  คนยังชมฉันเลยว่าทำไมหน้าใสผิวพรรณเต่งตึงมากขึ้น  นี่กินมาสองเดือนแล้ว  มีคนนำมาขายป้าต่อๆ ใครสนใจฉันจะแบ่งขาย เม็ดละ 1 บาท มีสามร้อยเม็ด”น้องๆ นักศึกษาเลยต้องรีบอธิบายว่า  การที่ยานี้ตรวจไม่พบสารสเตียรอยด์นั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารอันตรายชนิดอื่นเจือปนอยู่ การที่ผู้บริโภครับประทานยานี้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที  เช่น หน้าใส ฝ้าหาย ตกขาวหาย แสดงว่าอาจจะมีส่วนผสมของสารอื่นๆ ก็ได้ และยาตัวนี้ไม่มีทะเบียนด้วย เรายิ่งไม่รู้เลยว่าคนผลิตเขาใส่สารอะไรเติมลงไปหรือไม่ นอกจากผิดกฎหมายแล้วยังอาจจะเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ  น้องๆ นักศึกษาพูดยังไม่จบ  คุณป้าท่านนี้ก็หายตัวไปจากที่อบรมทันทีเหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเกิดกับเจ้าหน้าที่เสมอๆ โดยเฉพาะช่วงดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย จำได้ว่าในอดีต ช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง เป็นข่าวครึกโครมทางสื่อมวลชน  ปรากฏว่าตัวแทนขายตามต่างจังหวัดกลับฉวยโอกาสบอกผู้บริโภคว่า ให้รีบซื้อสินค้าของตนโดยด่วนเพราะของปลอมถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแล้ว ผู้บริโภคในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเท่าทันกับผลิตภัณฑ์อันตราย เพราะนอกจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงแล้ว ยังต้องเท่าทันเทคนิคการขายแบบตัวต่อตัวที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆ หลอกลวงผู้บริโภคด้วย ยังไงใช้คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ แบบที่เคยแนะนำในเล่มที่แล้ว เตือนสติตัวเองด้วยนะครับจะได้ไม่เสี่ยงจากผลิตภัณฑ์อันตรายต่างๆ  “4 สงสัย” (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? “2 ส่งต่อ” (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 2)

ดังได้กล่าวในตอนที่แล้วประมาณว่า การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกานั้น ใครใคร่ทำนั้นสามารถทำได้ แต่อย่าโอ้อวดจนน่าเกลียดเพราะมีนักร้อง(เรียน) อาชีพคอยจัดการอยู่ตัวอย่างต่อไปที่ผู้เขียนอ่านพบในอินเทอร์เน็ตคือ เมื่อปี 2009 ซึ่งกระแสความตื่นกลัวของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู(H1N1) กำลังแรง บริษัทขายอาหารเช้าชนิดที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งตัวสินค้านั้นมีความละม้ายคล้ายข้าวเม่าคั่ว ได้ทำฉลากติดพาดกลางกล่องสินค้าชนิดที่ผลิตจากข้าวโพดว่า สินค้านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็กได้ดี พร้อมการอวดอ้างว่า การกินสินค้าดังกล่าวด้วยปริมาณที่บริษัทแนะนำนั้น ทำให้ผู้บริโภคได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารอาหารถึงร้อยละ 25 ที่ร่างกายต้องการ แต่ทันทีที่ข้อมูลบนฉลากกระทบตานักวิชาการ คำถามถึงที่มาและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลถึงที่มาของข้อความดังกล่าวก็ถูกตั้งเป็นประเด็นขึ้น จนสุดท้ายบริษัทก็ฉีกฉลากดังกล่าวทิ้งถังขยะไปในปีเดียวกันนั้นกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ขอคำอธิบายจากบริษัทเดียวกันนั้นว่า การอวดอ้างว่าสินค้าที่ทำจากข้าวสาลีนั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่อง ความเอาใจใส่(attentiveness) สูงขึ้นร้อยละ 20 นั้น ท่านได้แต่ใดมา ซึ่งทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจึงได้สั่งการแบบปรานี ประมาณว่า ให้บริษัทถอดโฆษณาดังกล่าวออกพร้อมสำทับว่า คราวหน้าถ้าจะโฆษณาอะไรก็ตามเกี่ยวกับสินค้าว่า มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคนั้น ขอให้ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลที่ชัดแจ้ง อย่าได้บังอาจคิดว่าผู้บริโภคนั้นกินฟางเป็นอาหารหลักสืบเนื่องจากการโฆษณาสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อการเพิ่มความสามารถของคนดังกล่าวข้างต้นนั้น ชาวอเมริกันหลายคนที่มีโอกาสได้ดูโฆษณาสินค้าอาหารบางชนิดในประเทศไทย อาจประหลาดใจว่า โฆษณาสินค้าที่อ้างว่าทำให้คนฉลาดนั้นหลุดรอดออกมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร เช่น สินค้าบางชนิดอ้างเองว่า ผู้ที่กินเข้าไปแล้วจะฉลาดขึ้น เสมือนคนที่มะงุมมะงาหราอยู่ในที่มืดมานานแล้วสามารถเปิดไฟสว่างมองเห็นทางออก เช่น สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ความฉลาดของมนุษย์นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวคุม โดยหนึ่งนั้นคือ สภาวะโภชนาการ ซึ่งเป็นผลจากการกินอาหาร ซึ่งต้องเป็นอาหารที่ครบหมู่ต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่สินค้าที่เหมือนได้จากการต้มโครงหมูกระดูกไก่แล้วแต่งสีบรรจุขวดขายอีกตัวอย่างที่ดูเหมือนเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตสตรีและผู้ที่ข้ามเพศจำต้องหามาใช้บำรุงชีวิตนั้น คือ เครื่องสำอาง ผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งใน YouTube เกี่ยวกับสตรีไทยผู้มีอาชีพเป็นนางแบบภาพเปลือย ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า nude นั้นเป็นอย่างไร มีตอนหนึ่งที่สะกิดใจมากคือ นางแบบนั้นขอทาอายไลเนอร์ก่อนถ่ายภาพทั้งที่วันนั้นเป็นการถ่ายภาพที่มองไม่เห็นส่วนดวงตาของเธอก็ตาม ซึ่งน่าจะแสดงว่าสตรีบางคนในเมืองที่มีแสงสีนั้น ขอบำรุงผิวหน้าสักหน่อยก่อนออกไปไหนๆ เพื่อความมั่นใจในตนเอง เกี่ยวกับเครื่องสำอางโฆษณาเกินจริงนี้ ผู้เขียนขอข้ามจากสหรัฐอเมริกาไปยังสหราชอาณาจักรสักหน่อย เพราะในปี 2009 นั้นผู้ดูแลด้านกฏหมายการโฆษณาของสหราชอาณาจักร(U.K.’s Advertising Standards Authority) ได้สั่งถอดโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นครีมที่ใช้บำรุงผิวหนังบริเวณหลังตา โดยการสั่งห้ามนั้นมาจากสาเหตุที่ในการโฆษณานั้นมีการใช้นางแบบวัยดึกอายุราว 60 ปี คนหนึ่งซึ่งเคยถูกขนานนามว่า สวยแบบผอมกระหร่องที่สุดในโลก (นางเข้าวงการเดินแบบเมื่ออายุ 15 ปีในปี 1966 โดยเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสไตล์ "Androgyny" ซึ่งเป็นสไตล์กึ่งหญิงกึ่งชาย) มาอวดอ้างว่า ครีมนั้นป้องกันตีนกา(ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า crow’s feet) ได้ สุดท้ายแล้วข่าวในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า หลังจากการพูดจากันระหว่างผู้ดูแลกฎหมายและผู้ประกอบการ  ซึ่งก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า ภาพที่โฆษณานั้นใช้การตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์(retouching) เพื่อกำจัดริ้วรอยของความแก่ตามวัยที่หางตานางแบบนั้นออกไป และสุดท้ายบริษัทก็เปลี่ยนภาพนางแบบจากสาวแก่เป็นสตรีเยาว์วัยแทนปรากฏการณ์เอาเรื่องของผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาเครื่องสำอางในอังกฤษนั้น ยากที่จะเกิดในบางประเทศ เพราะผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางส่วนใหญ่ในประเทศ กำลังพัฒนา มักใช้กระบวนการประมาณว่า(สมน้ำหน้า) ถ้าเครื่องสำอางนั้นใช้ไม่ได้ผลก็ให้โยนลงถังขยะแล้วอย่า(โง่) ไปซื้อมาใช้อีก โดยไม่คำนึงเลยว่า ค่าโง่ของผู้บริโภคนั้นมันต้องเสียเงินไปมากแค่ไหนย้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อดูข่าวเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการที่คนอเมริกัน ถูกหลอกให้กินผลไม้กวนปลอมปนที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา(บริษัทนี้ขึ้นชื่อในการผลิตอาหารที่ทำจากแป้งเมื่อเริ่มต้นตั้งบริษัท จากนั้นก็ขยายไลน์ของผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย พร้อมธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชามากคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดแผ่นอบกรอบชนิดที่ขายดีในวันฮาโลวีน) ขนมผลไม้กวนม้วนที่คล้ายมะม่วงกวนบ้านเราซึ่งบริษัท(ซึ่งผู้เขียนไม่ขอออกนาม) ผลิตนั้น ได้ใช้ชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำจากผลสตรอว์เบอร์รี ทั้งที่มีส่วนผสมหลักคือ น้ำคั้นจากลูกแพร์เข้มข้น น้ำตาลข้าวโพดเข้มข้น น้ำตาลทราย และอื่น ๆ เช่น เพ็กตินซึ่งทำให้สินค้าเป็นแผ่นเหมือนผลไม้กวน โดยอาจมีสตรอว์เบอร์รีบ้างเป็นบางครั้งแต่ก็ไม่ถึงร้อยละ 2 (ข้อมูลจาก wikipedia)การหลอกพ่อแม่เด็กชาวอเมริกันว่า สินค้านั้นทำจากผลไม้ธรรมชาติแล้วโฆษณาว่า เด็กจะมีสุขภาพดีเพราะได้สารอาหารเหมือนกินผลไม้แท้นั้น กระตุ้นให้ The Center for Science in the Public Interest (CSPI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้นเกิดอาการ หัวร้อน จัดการฟ้องร้องบริษัทนี้ในด้านละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2011 จนสุดท้ายมีการตกลงกันนอกศาล(ตามระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา) ว่า ผู้ผลิตต้องเลิกใช้รูปผลไม้บนฉลากสินค้า เลิกอวดอ้างว่าทำจากผลไม้แท้ หรือข้อมูลที่ทำให้ผู้จ่ายเงินซื้อเข้าใจว่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้แท้ สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้กระทำครบแล้วตามศาลสั่งในปี 2014สินค้าอาหารหลายอย่างที่มีลักษณะการผลิตดังที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนี้ ในบ้านเราคงมีขายอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบและคิดว่าน่าจะเข้าข่ายการหลอกลวงนั้นเกิดในสมัยผู้เขียนยังทำงานสอนหนังสืออยู่คือ เมื่อชงกาแฟ 3 in 1 ยี่ห้อหนึ่งในช่วงเช้าก่อนเวลาทำงาน ปรากฏว่าเกิดกลิ่นหอมออกไปจากห้องทำงานถึงทางเดินส่วนกลางจนมีผู้ตามกลิ่นเข้ามาดูว่า กาแฟอะไรทำไมถึงหอมอย่างนี้ ปรากฏว่าเมื่อดูที่ฉลากบนซองได้พบมีการระบุชัดเจนว่า เติมกลิ่นรสกาแฟสังเคราะห์ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนี้ผู้เขียนคงได้เคยประสบมาแล้วอีกเช่นกัน เมื่อวันหนึ่งเดินเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่แถวสยามสแควร์เวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้กลิ่นกาแฟหอมฉุยมาจากร้านกาแฟร้านหนึ่ง จึงเดินตามกลิ่นไปดู สิ่งที่พบคือ พนักงานของร้านยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟเลย เพียงแต่เอาสเปรย์กลิ่นกาแฟฉีดเพื่อให้เกิดบรรยากาศเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สินค้าที่ท่านซื้อมาบริโภคในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการได้จริงในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตเพื่อตบตานั้นได้ก้าวล้ำไปไกลแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 แบไต๋ ‘โฆษณาออนไลน์’

โฆษณาออนไลน์...เชื่อได้แค่ไหน ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูก “หลอก” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ต้องอาศัยความ “เชื่อใจ” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงๆ และที่สำคัญคือ ต้องจ่ายเงินไปก่อน ผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้  เรียกว่า ต้อง “ลุ้น” กันหลายต่อ ลุ้นว่า จ่ายเงินแล้ว ผู้ขายจะส่งสินค้ามาให้หรือไม่  จ่ายเงินแล้วจะได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อหรือไม่   จ่ายเงินไปสินค้าจะมีคุณภาพ(ผลลัพธ์) เหมือนอย่างที่ “โฆษณา” ไว้หรือไม่  ข้อมูลผลการดำเนินงานตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาฯ ปี 2559 ของศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) พบ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) รองลงมาคือ อาหาร (ร้อยละ 36) และยา ร้อยละ 15 ขณะที่ผลการรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค (มพบ.) โดยสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการอิสระ พบว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีผู้ร้องเรียนมายังศรป.มากที่สุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) ขณะที่ มพบ. พบการร้องเรียนอันดับ 1 คือ อาหาร (ร้อยละ 54)    ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งซื้อออนไลน์มากสุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 38) รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดอ้วน และขาวใส (ร้อยละ 24) โดยเหตุผลที่เลือกซื้อเนื่องจาก โฆษณาจูงใจ พรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และอาจได้ผลเหมือนโฆษณา  (ร้อยละ 30)  และ เห็นโลโก้ อย. บนตัวผลิตภัณฑ์ มั่นใจว่ามี อย.จึงคิดว่าปลอดภัย (ร้อยละ 25) เผยไต๋...โฆษณาออนไลน์ ผิดกฎหมายซ้ำซาก จากการเสวนาแนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายบนออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย แต่ “ผู้บริโภค” ไม่รู้ หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมเสวนาครั้งนั้นคือ คุณวรรณวิษา ถนอมสินธุ์ ตัวแทนเพจดอกจิก ที่เกาะติดและเฝ้าระวังการโฆษณาออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการ “หลอกลวงผู้บริโภค” โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทเมจิก สกิน จำกัด ที่พบการกระทำผิด  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ภายหลังจากการตรวจค้นโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฐานความผิดที่พบในส่วนของ พ.ร.บ.อาหาร คือ  ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง (มาตรา 6  วรรคหนึ่ง) ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 14  วรรคหนึ่ง) ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม(ตามมาตรา 27 (4)) กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่าได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว(มาตรา 25(2))  โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 41 ) ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง  คือ แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง(มาตรา 22 (1)  ฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด(มาตรา 22 วรรค 2 (3) )  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่พบ เช่น  Linda Drink, Apple Slim, Shi-No-Bi, Fern Vitamin และ Treechada (Underraem Serum) ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิตให้บริษัทตรีชฎา)  “ปัญหาหลักๆ เกิดจาก การโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งในที่นี้มีผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ลงทุนโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แม้ว่าเจ้าของแบรนด์จะชี้แจงว่า มีเลข อย. แต่ อย.แจ้งว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลในสารบบที่ผิด เพราะบริษัทเมจิกสกินไม่ได้ผลิตสินค้าเองตามที่กล่าวอ้าง แต่มีบริษัทอื่นผลิตให้จึงถือว่าทำผิดกฎหมายชัดเจน”  คุณวรรณวิษากล่าว พร้อมยกตัวอย่าง รูปแบบการโฆษณาออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหลอกล่อให้...กิน  กินแล้วผอม กินแล้วขาว กินแล้วสวย.... ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้วิธี  “จูงใจ” ผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่าเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้แล้วจะได้ “ผลลัพธ์” ตามคำโฆษณา ด้วยราคาที่ “ถูก”  ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นและมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวโฆษณานั้นๆ เช่น  “หญิงย้วยอยากหน้าเด็กเหมือนอลิส อลิสอยากสวยเหมือนพี่หญิงย้วย (เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี)”    ขณะที่ด้านหลังซองมีคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” และด้านหน้าซองมีข้อความว่า “ขาวใสใน 7 วัน”   “Mezzo 100%  สบู่เมโสหน้าใสเหมือนฉีด นำเข้าจาก Switzerland”  ทั้งที่ เมื่อตรวจตรวจสอบส่วนประกอบแล้วไม่ใช่สารสกัดจากรกแกะดังที่กล่าวอ้างแต่เป็นสารสกัดจากพืช   นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณา โดยใช้ดาราและ เน็ต ไอดอล เพื่อจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า พรีเซ็นเตอร์ย่อมมีความผิดด้วยเช่นกันหลอกล่อให้ลงทุน...รวย รวย รวย เป้าหมายสำคัญของบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เพียงต้องการขายผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อชิ้นเท่านั้นแต่มุ่งเน้นโฆษณาเชิญชวนให้คนสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย  ด้วยการลงทุน “หลักร้อย” แต่ได้ค่าตอบแทน “หลักล้าน” เช่น  โรงเรียนสอนรวยหญิงย้วยออนไลน์  “สมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ลงทุนหลักร้อย ! เงินเข้าบัญชี 1.5 ล้าน”  ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการแต่งบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการโฆษณาเท่านั้น   มีรูปแบบการขายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ คือแบ่งระดับขั้นตามมูลค่าการลงทุน เช่น ตัวแทนรายย่อย ต้องซื้อ 20 ชิ้น ตัวแทนหลัก ต้องซื้อ 1,000 ชิ้น ระดับ VIP ต้องซื้อสินค้า 5,000 ชิ้น เพื่อได้ต้นทุนต่อชิ้นที่ถูกลง  โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น “แม่ทีม” ที่ต้องไปแสวงหาเครือข่ายมาเป็น “ลูกทีม” ต่อๆ กันเป็นทอดๆ แต่ละทีมจะมีวิธีจูงใจให้คนสมัครแตกต่างกันไป เช่น จูงใจด้วยสินค้าแบรนด์เนม โทรศัพท์มือถือ ทองคำ หรือแม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศ  พร้อมการรับประกันว่า “ขายไม่ได้ ยินดีคืนเงิน”  ทั้งที่ไม่เป็นเช่นนั้น มีการสอนแต่งบัญชีธนาคาร มีการดึงเน็ตไอดอล หรือดารามาโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการสอนเทคนิควิธีไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้ “หน้าม้า” เพื่อกระตุ้นเร่งเร้าให้รีบตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นตัวแทน  ดังเช่นที่ คุณณภัทร ทยุติชยาธร ในฐานะผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เปิดเผยในการเสวนาครั้งนี้ว่า “ตอนแรกเราสั่งสินค้า 1,000 ชิ้น จ่ายเงินเต็ม 30,000 แต่ได้ของมา 100  ชิ้น ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าอยากได้ของมากกว่านี้ต้องเลื่อนระดับขึ้นไปอีก กระทั่งจองไป 5,000 ชิ้น จ่ายเงินไป 135,000 ได้ของประมาณ 1,000 ชิ้น เมื่อของไม่พอ ทำให้เราต้องจองสินค้าเป็น 10,000 ชิ้นเสียเงินอีก 2 แสนกว่า  แล้วบอกให้เรารีบโอนเงินมาภายในวันนี้ๆ เดี๋ยวของไม่เกิน 5 วันส่งมาให้ พอเช้ารับสินค้า บ่ายโมงเขาดีดเราออกจากกลุ่มไลน์ทันที  ไม่ให้เราอยู่  “เขาให้เหตุผลว่า เราไปบอกความจริงกับเด็กระดับล่าง เพราะเมื่อเราเข้าไปอยู่ระดับ Super VIP เขาจะสอนวิชามารการไลฟ์สดให้ว่า ก่อนจะไลฟ์สด ลูกต้องเตรียมทีมงานไว้หลายๆ  คน มีมือถือไว้คนละเครื่องสองเครื่อง แล้วโพสต์กันเข้าไปเวลาที่แม่ทีมไลฟ์สด ให้บอกว่า สินค้าเราดีมาก อยากสมัครจัง ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าม้าทั้งหมด ส่วนคนที่สมัครจริงๆ จะรู้ได้จากการทิ้งลิงค์ไลน์ไว้ด้านล่าง  เขาจะไลฟ์สดทุกวัน ทำให้ได้ยอดคนสมัครตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น เขาไม่เคยบอกให้เราไปขายเป็นซอง แล้วถามว่าสินค้าที่ได้มา เอาไปทำอะไร ถ้าขายได้ก็ขายไป แต่ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องใช้กันเอง”  ในกรณีของบริษัทเมจิก สกิน  ยังมีการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย  โดยการโฆษณาว่า “รับผลิต” และ “จำหน่ายสินค้า” อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง มีการลงรูปโรงงานที่ทันสมัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจให้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์  “กรณีความผิดการสวมเลขสารบบ อย.  เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชิ-โน-บิ ที่ด้านหลังซองระบุว่า  ผลิตโดยบริษัท  เมจิกสกิน จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบพบผู้ได้รับอนุญาต คือ บริษัทอินโนว่า แล็บโบราโทรี่  ส่วนผลิตภัณฑ์ Mezzo ที่ระบุว่า บริษัทเมจิกสกินผลิตเองนั้น แท้จริงกลับผลิตที่ บริษัท พี โอ เอส  คอสเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทนี้รับผลิต ให้บริษัทเมจิก สกิน ตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวใส เช่น โอโม่  ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมลดน้ำหนักที่เป็นน้ำชง เช่น Apple Slim , Linda Drinks ผลิตที่บริษัท เนเจอร์ นิวทรี”  คุณวรรณวิษา กล่าว  เห็นได้ว่า นอกจากการ ชวนลงทุน ทั้งที่ไม่มีโรงงานผลิต ชวนกิน ว่ากินแล้วดี สวย ผอม ขาว โดยใช้กลยุทธ์สื่อบุคคล เช่น ดาราและ เน็ตไอดอล  สร้างระบบตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาหลอกล่อให้สต๊อกสินค้าจำนวนมาก  แต่ปัญหาที่ดูจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุด คงไม่พ้น เรื่องของ “คุณภาพสินค้า” ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา หรืออาจจะได้ผลลัพธ์ แต่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ และการ  “สูญเสียชีวิต”  ที่ด้วยเช่นกันโลกเปลี่ยน...ผู้บริโภคต้องปรับ    ในท่ามกลางการหลั่งไหลของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ยังมีสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซากอีกจำนวนมาก เห็นได้จากข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ภายหลังจากที่ อย.ออกประกาศเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีสารอันตราย เช่น Abdomen Slim จากการค้นหาในกูเกิ้ลพบมากถึง 6,990,000 รายการ และพบมีขายอยู่ใน Market Place เช่น Lazada  3,650รายการสินค้า  แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเมจิก สกิน ภายหลังจากบุกค้นโรงงานก็ยังสามารถพบโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั่วไป เช่น บนสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ท้ายรถเมล์ เป็นต้น โลกทุกวันนี้ แค่เห็นแล้ว “เชื่อ” คงไม่พอ หากผู้บริโภคต้อง “ตรวจสอบ” และแสวงหาข้อมูลรวมถึงวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ก่อนที่เราจะแตะสั่งสินค้าและจ่ายเงินไปนั้น สินค้าที่สั่งซื้อจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณาเกินจริง แม้ไม่เชื่อ ก็มีความผิด

สวัสดีครับ พบกันทุกเดือนเช่นเคยฉบับนี้ ผมขอบอกเล่าเรื่องอุทาหรณ์ของการโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวสาร โฆษณาต่างๆ เพื่อชวนเชื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการมากมาย  ที่มีทั้งจริงและไม่จริง มีคนสงสัยว่า ในทางกฎหมาย การโฆษณานอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว หากข้อความโฆษณานั้น มีลักษณะโอ้อวดเกินจริง ใครก็รู้ ไม่ได้หลงเชื่อ แบบนี้จะมีความผิดไหม  พอค้นๆ ดู ก็พบว่า มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาในแผ่นพับของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่โอ้อวดว่าของตนดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ และไปกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของโจทก์เขาไม่ดี  ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวเอาเรื่องมาฟ้องศาล สู้กันจนถึงศาลฎีกา และมีคำพิพากษาในที่สุดว่า การโฆษณาของโรงพยาบาลที่โอ้อวดเกินจริงมีความผิด และเป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 หรือบางครั้ง แม้ข้อความที่พูด จะไม่เข้าข่ายการกล่าวโอ้อวดเกินจริง แต่หากทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียงก็เป็นละเมิดต้องรับผิดต่อเขาเช่นกัน ดังฎีกาต่อไปนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” หรือ “มันเป็นสามานย์” แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ด แต่ก็มิใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 423แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้นประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกสภาเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนสนใจและเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ข่าวนั้นคือ “พบ 102 ผลิตภัณฑ์อาหารและยาโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากสุด 59% ‘สุภิญญา’ เผยเตรียมผุดโมเดล จว.นำร่อง ‘เพชรบุรี’ หวังจับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา ชง รบ.บรรจุวาระชาติ กวาดล้างธุรกิจลวงผู้บริโภคจริงจัง” ข่าวดังกล่าวนั้นเป็นการจัดแถลงผลงานของสำนักงาน กสทช. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ตามข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภูมิภาค โดยทำการวิจัย (ธันวาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556) พบการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียมที่อวดอ้างสรรพคุณการบำบัดบรรเทาหรือป้องกันโรคตลอดจนบำรุงร่างกายทั้งสิ้น 102 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ทุกผลิตภัณฑ์ สุดท้ายของข่าวคือ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวประมาณว่า หากรัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยมที่ช่วยเหลือคนยากจนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ควรแสดงความจริงใจโดยมีนโยบายกวาดล้างธุรกิจเหล่านี้ และสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ช่วยดำเนินการด้วย มิใช่ตั้งเป้าเพียงคดีทางการเมือง เนื่องจากหลายธุรกิจมีส่วนโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น”ผู้เขียนรู้สึกสะกิดใจทุกครั้งที่ย้อนไปอ่านข่าวนี้ว่า ได้พลาดการพบข่าวว่ามีหน่วยงานใดสนใจข่าวและมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณสุภิญญาหรือเปล่า แต่ก็ได้ตอบตัวเองว่า ไม่น่าพลาดเพราะติดตามข่าวทำนองนี้มาตลอด อีกทั้งยังได้เห็นปรากฏการณ์ของโฆษณาตามลักษณะที่งานวิจัยข้างต้นพบนั้นตำตาอยู่ตลอดเวลา จนมีความรู้สึกว่า มันคงต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุดแบบว่า คงต้องถอดใจในความหวังว่าจะมีการแก้ไขประเด็นปัญหานี้แล้วดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้และฉบับหน้า ผู้เขียนจะนำตัวอย่างการจัดการปัญหาสินค้าที่มีการโฆษณาตามใจบริษัทในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมาเล่าเป็นตัวอย่างว่า มีชะตากรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเริ่มต้นจากผู้บริโภคหรือองค์กรเอกชนแล้วสานต่อด้วยหน่วยงานรัฐที่ถูกกระตุ้นให้กระทำสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างสุดๆ พร้อมทั้งการบังคับใช้กฏหมายแบบ(แทบ) ไม่มีการยกเว้น ต่างจากบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้เท่าที่เป็น(เพราะพัฒนาต่อไปไม่ไหว) โดยเรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างให้รู้ว่า การโฆษณาขายสินค้าแบบมั่วๆ ในสหรัฐอเมริกาทำไม่ได้นะ เพราะประเทศนี้ก็มีนักร้อง (เรียน) ระดับชาติเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค และศาลอเมริกันนั้นเอาจริงเสมอถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดผลประโยชน์ของผู้บริโภคหลายปีมาแล้วมีบริษัทหนึ่งขายรองเท้าที่โฆษณาว่าเป็น "รองเท้าที่ใส่แล้วเหมือนวิ่งด้วยเท้าเปล่า (Barefoot Running Shoe)" อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาช่วงล่าง กระตุ้นการทำงานของประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความว่องไว อีกทั้งช่วยให้เท้าและลำตัวเคลื่อนไปเป็นธรรมชาติ รองเท้าที่ว่านี้ต่างจากรองเท้าอื่นเพราะออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมีนิ้วเท้าห้านิ้วและส้นค่อนข้างบางมาก (FiveFingers shoes) นัยว่าเมื่อใส่แล้วควรรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่มีลูกค้าถึง 70 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าประหลาดนี้ในราคาคู่ละเกือบ 100 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็มีนักร้อง(เรียน) ชาวอเมริกันคนหนึ่งเอาเรื่องถึงศาล โดยกล่าวหาว่าบริษัททำโฆษณาแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ เป็นการโฆษณามั่วซั่วเกี่ยวกับสุขภาพเท้าของประชาชน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพบางคนกล่าวว่า รองเท้าประหลาดนี้อาจทำให้สุขภาพเท้าเสื่อมได้เมื่อใส่วิ่ง สุดท้ายในปี 2012 ศาลจึงตัดสินว่า บริษัทต้องจ่ายค่าปรับ 3.75 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐให้กระทรวงพาณิชย์(Federal Trade Commission) และต้องคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปราวคู่ละ 20- 50 เหรียญ(คงเป็นไปตามสภาพรองเท้าที่เหลืออยู่)ในปี 2005 มีบริษัทผลิตน้ำบ้วนปากยี่ห้อหนึ่งถูก Federal Judge (น่าจะหมายถึง ศาลสูง) สั่งให้แพ้คดีที่บริษัทผลิตไหมขัดฟันฟ้องว่า โฆษณามั่วซั่วที่ไปอ้างว่า น้ำบ้วนปากที่ผลิตโดยบริษัทมีประสิทธิภาพดีเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกร่น ข่าวกล่าวว่า ผู้พิพากษาชาวอเมริกันเชื้อสายจีนตัดสินคดีพร้อมให้ความเห็นว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการทำวิจัยก่อนกล่าวอ้างเอาเองแบบนี้ ซึ่งบริษัทขายน้ำบ้วนปากก็รับรู้จ่ายค่าปรับโดยดีเมื่อตามข่าวเกี่ยวกับน้ำบ้วนปากยี่ห้อดังกล่าวในทางลึกพบว่า เมื่อปี 1976 ซึ่งขณะนั้นบริษัทที่ผลิตน้ำบ้วนปากนี้เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ได้ถูกคำพิพากษาให้ใช้เงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการทำโฆษณาเผยแพร่ว่า โฆษณาเดิมที่อ้างว่า น้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ป้องกันหวัดและอาการเจ็บคอได้ นั้นไม่เป็นความจริงเรื่องที่สามนี้อาจเกี่ยวกับการที่เราพยายามเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ โปรดพิจารณา เพราะมันเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน โดยมีการอวดอ้างว่าการส่งภาพลามก(salacious pictures) ตลอดจนการเขียนหรือส่งต่อข้อความลามก(sexting) ผ่านแอปพลิเคชันหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือที่บริษัทหนึ่งเขียนขึ้นนั้นไม่มีใครสามารถเก็บไว้ได้(พูดง่ายๆ คือ ถ่อยกันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวว่ามีการเก็บไว้เป็นหลักฐานตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของแต่ละชาติ) เพราะมันจะถูกลบไปในเวลาสั้น ๆ ตามที่ผู้ส่งกำหนดไว้ สำหรับในบ้านเรานั้น มีการแนะนำแอปพลิเคชันนี้บนเว็บภาษาไทยโดยตอนหนึ่งกล่าวว่า “รูปที่ส่งไป หลังจากที่ผู้ใช้งานเปิดดูรูป จะมีเวลาจำกัดในการดูตามเวลาที่ถูกตั้งไว้ สามารถกด Replay ได้ 1 ครั้ง/1 วัน หลังจากนั้น รูปนั้นก็จะหายไปจากระบบตลอดกาล (แต่เราสามารถแคปเก็บไว้ได้นะครับ) อีกทั้งไม่ใช่เพียงแต่รูปที่หายไป แต่หากเราไม่ได้กดเซฟข้อความไว้ ข้อความที่เราคุยก็จะหายไปเช่นกัน” ข้อมูลจาก Wikipedia เล่าว่า แอปพลิเคชันของบริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าหลอกลวงนี้ จัดอยู่ในโหมด Social Network ซึ่งก่อตั้งในปี 2011 โดยเริ่มแรกนั้นสื่อสารกันผ่านรูปถ่ายและคลิปสั้นๆ เป็นหลัก แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถ ส่งรูปถ่าย, คลิปสั้น, ข้อความ จนไปถึง Video callดังที่มีผู้อธิบายถึงการใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นภาษาไทยแล้วว่า ทั้งรูปและข้อความนั้นสามารถแคปเก็บไว้ได้ ผู้ใช้จึงควรคำนึงตลอดเวลาว่า ปรกติแล้วบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีปุ่ม PrtScn ไว้ให้เราเก็บสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพอยู่แล้ว(ในกรณีที่สั่ง save ไม่ได้) สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งผู้เขียนไม่ชำนาญนั้นก็คงมีปุ่มวิเศษลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติการในการส่งภาพหรือข้อเขียนที่สังคมไม่นิยมในที่แจ้ง (แต่อาจแอบดูในที่ลับ) ด้วยแอปพลิเคชันนี้แล้ว ก็ควรทำใจสบายๆ เกี่ยวกับผลกรรมที่อาจตามมาได้ในอนาคตตัวอย่างต่อมาคือ คำว่า Naked หรือเปลือยนั้น ได้ถูกนำไปรวมกับคำว่า น้ำผลไม้ แล้วจดทะเบียนการค้าเป็นสินค้าซึ่งจริงแล้วคือ น้ำผลไม้(คั้นสดหรือปั่น) ในชั้น premium grade สำหรับผู้ดื่มคอสูง เพราะเมื่อสำรวจราคาในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า ขวด(1 ออนซ์) ราคาราว 5-25 เหรียญดอลลาร์ สินค้านี้เริ่มผลิตในปี 1983 เป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดแช่เย็นไม่มีวัตถุกันเสีย ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อขายแก่ขานู้ด(เปลือย) ที่ชอบไปอาบแดดที่ชายหาด ซานตา-มอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจขานู้ดที่มีอันจะกินทั้งหลาย จึงขายดีมากจนในปี 2001 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่หนึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อสินค้าแล้วทำการ rebranding ขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพ จนในปี 2012 ก็เจอดีโดนฟ้องเนื่องจากโฆษณาเกินจริง (ตามที่ระบุใน Wikipedia) ว่า "The product was 100% Juice, was "All Natural, contained Nothing Artificial, and was Non-GMO"  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีการเติมน้ำตาล และน้ำตาลเทียม ใยอาหาร กลิ่นรสสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ ซึ่งสุดท้ายบริษัทผู้ผลิตได้ยอมลบข้อความอวดอ้างเกินจริงออกจากฉลากอาหาร สำหรับในประเทศไทยนั้นสินค้าลักษณะดังกล่าวพร้อมโฆษณาคล้ายกัน ยังมีขายในอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าเพื่อสนองนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง (โปรดติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสต่างแดน

เปลี่ยนแล้วปังปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มหันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น นี่คือข้อสรุปจากรายงานของ Baptist World Aid Australia ที่สำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 407 แบรนด์มีผู้ได้คะแนนสูงสุด (A+) แปดราย แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่เคยได้คะแนน B- เมื่อห้าปีก่อนอย่าง Cotton On สามารถเพิ่มคะแนนจริยธรรมการประกอบการของตนเองขึ้นมาเป็นระดับ A ได้สวยๆ  บริษัทยอมรับว่าผลสำรวจคราวก่อนเป็นแรงผลักดันให้คิดใหม่ทำใหม่ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บริษัทแสดงรายชื่อโรงงานกว่า 2,500 แห่งที่ผลิตสินค้าของบริษัทให้ผู้สนใจเข้าดูได้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนไร่ฝ้ายในเคนยาที่มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน และมีโครงการรับเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ากลับไปรีไซเคิลด้วย  ในขณะเดียวกันรายที่ได้คะแนนต่ำอ้างว่าการสำรวจนี้ให้เวลาน้อยเกินไป ถามคำถามจุกจิก และเกณฑ์ของผู้สำรวจไม่ตรงกับเกณฑ์ที่บริษัทใช้อยู่ อืม...นะ(เผื่อคุณสงสัย... Zara และ H&M ได้คะแนน A- และ B+ ตามลำดับ)  ปิดบัญชีตำรวจเซี่ยงไฮ้กำลังจับตาบัญชีธนาคารที่ไม่มีเงินฝาก เพราะมีแนวโน้มจะเป็นบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนโอนเงินผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ล่าสุดเขาสั่งปิดบัญชีแบบนี้ไป 405 บัญชี หน่วยปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และโทรคมนาคมของเซี่ยงไฮ้ พบว่ามีโทรศัพท์ “น่าสงสัย” วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 สาย โดยคนที่โทรมามักแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นผู้ดูแลที่อยู่อาศัยที่ ทางการส่งมา การหลอกลวงรูปแบบนี้แพร่ระบาดมากขึ้น สองปีก่อนตอนที่เริ่มก่อตั้งหน่วยฯ สถิติโทรศัพท์โทรศัพท์หลอกลวงอยู่ที่วันละ 100 สายเท่านั้น นอกจากจะตามปิดบัญชีเปล่าแล้ว หน่วยนี้ยังจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทต่างๆ ด้วย  “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดี กฎหมาย Fair Housing Act ของอเมริกาจึงห้ามการโฆษณาขายหรือให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ความพิการ หรือสถานะครอบครัว  ล่าสุด กลุ่มผู้รณรงค์ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันฟ้อง facebook ที่ยอมให้มีการเจาะจงเลือกเสนอโฆษณาขายหรือให้เช่าบ้านกับคนบางกลุ่ม ในขณะที่ “ผู้หญิง” และ “ครอบครัวที่มีเด็ก” เสียโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเพราะไม่สามารถมองเห็นโฆษณานั้นได้  องค์กรพัฒนาเอกชน ProPublica เคยทดลองปลอมเป็นตัวแทนขายบ้านและซื้อโฆษณากับ facebook โดยระบุเงื่อนไขว่าไม่ต้องแสดงโฆษณาดังกล่าวกับ คนเชื้อสายยิว ชาวต่างชาติจากอาร์เจนตินา คนที่พูดภาษาสเปน คนที่เคยแสดงความสนใจเรื่องทางลาด และคุณแม่ชาวอัฟริกันอเมริกันที่มีลูกกำลังเรียนมัธยมปลาย สิ่งที่เขาพบคือ facebook ยินดีจัดให้ตามนั้นจริงๆ  จัดก่อนจรการใช้จักรยานร่วมกัน (bike sharing) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ขณะนี้มีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แน่นอนการเปลี่ยนมาใช้จักรยานเช่านั้นมีข้อดีหลายอย่าง ตามข้อตกลงการใช้ ผู้ขับขี่สามารถจอดจักรยานไว้ตรงไหนก็ได้เพื่อให้คนที่ผ่านมาใช้แอปเปิดล็อกและใช้ต่อได้เลย แต่สิ่งที่เริ่มเป็นปัญหาตอนนี้คือ จักรยานที่จอดเกะกะอยู่ทั่วทั้งเมือง ตั้งแต่กลางทางเท้า เลนจักรยาน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะ เมื่อจำนวนจักรยานดูเหมือนจะมากเกินพื้นที่จอด หลายเมืองในเยอรมนีจึงต้องรีบออกมาจัดระเบียบ เมืองโคโลญกำหนดโซนห้ามจอดจักรยานแล้ว ในขณะที่มิวนิคและแฟรงค์เฟิร์ตจัดพิมพ์คู่มือให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กำหนดพื้นที่จอด รวมถึงจำนวนจักรยานที่อนุญาตให้จอดได้ต่อหนึ่งจุดด้วยด้านสมาคมจักรยานก็กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่จอดจักรยานเสียเลย วนิลาบุกป่าไม่นานมานี้ มาดากัสการ์เบียดเม็กซิโกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวนิลาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา(ปัจจุบันกิโลละประมาณ 16,000 บาท) ใครๆ ก็อยากปลูกสิ่งที่เกิดตามมาคือการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกวนิลา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การลักขโมยผลผลิต การข่มขู่รีดไถโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงการลงมือทำร้ายหรือสังหาร “ผู้ร้าย” โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพาตำรวจพืชที่ให้กลิ่นรสหอมหวานนี้ยังกลายเป็นสินค้าหลักในการฟอกเงินของขบวนการลักลอบค้าไม้พยูงไปยังประเทศจีนอีกด้วย  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาะมาดากัสการ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 กระแสต่างแดน

สินค้าย่อไซส์ปรากฏการณ์ข้าวของเล็กลงที่ญี่ปุ่นวันนี้ ไม่ได้เกิดจากไฟฉายย่อส่วนของโดราเอมอน แต่เป็นผลจากแผนของรัฐบาลที่ต้องการสร้างภาวะเงินเฟ้อให้ได้ร้อยละ 2 ตามหลักคิดที่ว่า... เมื่อสินค้าแพงขึ้น ค่าแรงจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมก็จะดีขึ้นเพื่อคงราคาขายไว้เหมือนเดิม ผู้ผลิตจึงใช้วิธีลดปริมาณสินค้า เช่น คิวพี ลดปริมาณซอสลงร้อยละ 13 (จาก 295 กรัมเหลือ 255 กรัม) โดยให้เหตุผลว่า ขนาดครอบครัวทุกวันนี้เล็กลง  ค่ายผู้ผลิตนมสดก็พร้อมใจกันเปลี่ยนจากขนาด 1 ลิตร มาเป็น 900 มิลลิลิตร “เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถหยิบจับได้ถนัดมือขึ้น”  ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการออกแบบ/เปลี่ยนแปลงหีบห่อให้เหมาะสมตอนนี้ท่านอาเบะคงคิดหนัก เพราะสินค้าก็แพงขึ้นแล้วแต่ค่าแรงในญี่ปุ่นยังคงเท่าเดิม หมายเหตุ: ใครอยากรู้ว่าอะไรถูกลดไซส์บ้าง สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.shrinkflation.info    ไม่มีก่อน ไม่มีหลังWeight Watchers ต้นตำรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์/บริการลดน้ำหนัก ด้วยรูปภาพ “ก่อน” และ “หลัง” ของผู้ใช้ ประกาศยกเลิกการโฆษณาในรูปแบบดังกล่าวแล้วเนื่องจากมัน “ไม่อินเทรนด์” การควบคุมน้ำหนักและการใช้ชีวิตอย่างระวังรักษาสุขภาพนั้นควรอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน... เขาว่าเวท วอทเชอรส์ (ซึ่งพิธีกรชื่อดัง โอปรา วินฟรีย์ เป็นทั้งพรีเซ็นเตอร์และผู้ถือหุ้น) บอกว่านั่นเป็นนโยบายแต่เขาไม่ได้ห้ามผู้ใช้บริการที่อยากจะโพสต์รูปตัวเองเพื่อโชว์ความเปลี่ยนแปลงให้โลกรู้แถมยังเปิดให้เด็กวัย 13 – 17 ปีสมัครเป็นสมาชิกฟรี เพราะเขาต้องการมีส่วนช่วยลดปัญหาการเกิดโรคอ้วนในเยาวชนอเมริกัน ฟังดูเหมือนจะดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการออกมาเตือนว่า การพยายามควบคุมอาหารนั้นอาจนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในวัยรุ่นได้  ปิดก็ปรับได้ศาลแขวงเมืองโอ้คแลนด์สั่งปรับ Appenture Marketing บริษัทขายอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เป็นเงิน 114,000 เหรียญ (2.5 ล้านบาท) โทษฐานฝ่าฝืนกฎหมายการค้าที่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทำ สัญญาและการกู้ยืม บริษัทแจ้งลูกค้าว่าการที่สินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคล่าช้ากว่ากำหนด ไม่อาจใช้เป็นเหตุในการขอเงินคืนได้   และยังแอบคิดค่าทำสัญญา 40 เหรียญ โดยไม่แจ้งยอดดังกล่าวในใบเรียกเก็บเงิน ความผิดดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2015 ถึงเดือนเมษายน 2016 บริษัทเลิกกิจการไปในปี 2017 แต่คณะกรรมการด้านการค้าชี้แจงว่า แม้ความเป็นไปได้ที่จะได้รับ การชดใช้ความเสียหายจะมีน้อย แต่การฟ้องร้องต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นไม่เอาเยี่ยงอย่างนิวซีแลนด์มีคดีฟ้องร้องผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 12 กรณี (ที่ตัดสินแล้ว) และเรียกค่าปรับไปกว่า 1.23 ล้านเหรียญ (28 ล้านบาท)  เชิญชุมนุม ปลายปีที่แล้วกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Attac ได้เข้าไปนั่งประท้วงในร้านของ Apple ในปารีสเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายภาษีย้อนหลังให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส บริษัทบอกว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้พนักงานและทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน จึงยื่น ขอคำสั่งศาลห้ามกลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาชุมนุมในร้านอีก ไม่ว่าจะสาขาใด หากฝ่าฝืนจะมีค่าปรับ 150,000  ยูโร (5.7 ล้านบาท) และค่าชดเชยความเสียหายอีก 3,000 ยูโร (115,000 บาท)  แต่ศาลตัดสินว่าคนเหล่านี้ไม่ได้กระทำการที่เป็นอันตราย พวกเขายังมีสิทธิชุมนุมได้ หากนั่งในร้านอย่างสงบและไม่ปิดทางเข้าออกประเด็นเรื่องภาษีของ Apple เป็นข่าวมาโดยตลอด สองปีที่แล้วบริษัทถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากรัฐบาลไอร์แลนด์ 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 450,000 ล้านบาท) อยู่ยากหากถามความเห็นของคนออสซี่วันนี้ เขาคงเสริมว่า “ตายก็ไม่ง่าย”  เพราะพื้นที่สำหรับใช้เป็นสุสานใกล้เมืองใหญ่ๆ ในออสเตรเลียมีจำกัด  จากการคำนวณพบว่าอีก 33 ปี ซิดนีย์จะไม่เหลือที่ทำสุสาน รัฐนิวเซาท์เวลส์จึงเสนอแผนทำสัญญาเช่าพื้นที่ฝังศพครั้งละ 25 ปี หากไม่มีการต่อสัญญา หรือไม่สามารถติดต่อญาติได้ ทางการก็จะย้ายกระดูกออกไปเพื่อให้รายใหม่ได้เข้าใช้พื้นที่แทนหลายคนเลือกใช้บริการเผาศพ เพราะถูกกว่าและไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ แต่เนื่องจากบริการนี้ยังไม่มีกฎระเบียบชัดเจน สนนราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจึงมีตั้งแต่ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 24,500 บาท) ไปจนถึง 4,000 เหรียญ (98,000 บาท) ทั้งๆ ที่บริการไม่ต่างกันมากแถมยังมีเรื่องฉาวเป็นระยะ บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการแช่ศพไว้ในตู้เย็นแล้วเผารวมกันคราวเดียว บางรายแอบเปลี่ยนโลงสวยๆ (ที่ญาติจ่ายในราคา 1,700 เหรียญ) เป็นกล่องไม้ราคา 70 เหรียญก่อนนำเข้าเตาเผา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ห้องจริงไม่เหมือนในตัวอย่าง

การตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากใบโฆษณา หรือจากห้องตัวอย่างอาจสร้างความผิดหวังได้ หากพบว่าห้องจริงที่ได้มานั้น ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี 2556 คุณภารดรได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ ออริจินส์ บางมด-พระราม 2  ซึ่งเขาได้ชำระค่าทำสัญญาไป 27,000 บาท และผ่อนดาวน์เดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 21 งวด รวมเป็นเงิน 139,200 บาท และยังชำระเกินไปอีก 2 งวดจำนวน 10,000 บาท ต่อมาในปี 2558 ทางโครงการฯ ได้ส่งจดหมายแจ้งให้คุณภารดรทำการยื่นขอสินเชื่อและเข้าไปตรวจดูห้องชุด ซึ่งปรากฏว่าห้องที่ทางโครงการจะส่งมอบให้มีการออกแบบแตกต่างไปจากในใบโฆษณาสินค้าหลายประการ เขาจึงไม่พอใจและต้องการยกเลิกสัญญา จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำผู้ร้องว่า การยกเลิกสัญญาเนื่องจากห้องชุดที่ได้ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้สามารถทำได้ โดยตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ 8.6 ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินทั้งหมดคืนจากผู้ขายได้ หากผู้ขายไม่ได้ทำตามแบบที่นำแสดงขายหรือห้องตัวอย่างไว้ โดยศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัท ทั้งนี้ภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งทางบริษัทยินยอมคืนเงินที่ผู้ร้องชำระไป จำนวนกว่าเก้าหมื่นบาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2560เตรียมบังคับแท็กซี่ติดตั้งปุ่มฉุกเฉินและกล้องวงจรปิดเราได้เห็นข่าวคราวในแง่ลบของบริการแท็กซี่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบคนขับแท็กซี่ หรือพนักงานขับรถที่พูดจาไม่ดี หรือแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมกับผู้โดยสาร แม้จะมีหน่วยงานให้ร้องเรียนอย่างกรมขนส่งทางบก แต่ก็ดูเหมือนปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกล่าสุดปัญหานี้น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง(หรือไม่) เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการหารือเรื่องความคืบหน้าการจัดระเบียบแท็กซี่ โดยเตรียมประกาศใช้กฎกระทรวงที่จะบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันต้องติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตั้งกล้องซีซีทีวีภายในรถ และมีปุ่มกดฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสาร เพื่อส่งข้อมูลเข้ามายังศูนย์ควบคุมที่จะมีการตั้งขึ้นเพื่อบริการผู้โดยสารแท็กซี่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค.2560 นี้เป็นต้นไป โดยรถแท็กซี่ใหม่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนดไว้ทันทีก่อนนำมาให้บริการ ส่วนแท็กซี่ที่ใช้มาแล้ว 3-6 ปี จะขยายเวลาติดตั้ง 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนแท็กซี่เก่าที่กำลังจะถูกปลดระวางภายใน 1-2 ปี จะได้รับการยกเว้น“อาหารเสริม” – “กาแฟลดน้ำหนัก” แอบใส่ยาอันตรายเพียบใครที่ชอบกินกาแฟลดน้ำหนัก ระวังให้ดี เพราะมีผลทดสอบยืนยันแล้วว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยเฉพาะในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งพบเห็นมีการจำหน่ายอยู่มากมายตามสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจสอบพบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยากลุ่มที่รักษารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 นอกจากนี้ยังพบทั้งยาลดความอ้วน (ร้อยละ 13.7) และกลุ่มยานอนหลับ (ร้อยละ 0.5)ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง ก็พบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบยาชนิดเดียวและสองชนิดรวมกัน มากถึงร้อยละ 42.9 รวมทั้งกลุ่มยาลดความอ้วน ยาระบาย และยาลดความยากอาหาร นอกจากนี้ยังพบกลุ่มยาอันตรายอย่าง สเตียรอยด์ และ ไซบูทรามีน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่มีผลทางการบำบัด บรรเทา หรือรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ทั้งสิ้น อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจึงถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผิดกฎหมาย รวมทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับประทาน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก ความดันโลหิตสูง ส่วน ไซบูทรามีน ที่เป็นสารอันตราย แต่ผู้ผลิตที่ไม่หวังดีชอบเอามาใส่ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ทำมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ใช้ “รีเทนเนอร์” เถื่อนเสี่ยงติดเชื้ออันตรายถึงชีวิตอย.ฝากเตือนถึงคนที่กำลังคิดจะใส่เครื่องมือที่ช่วยรักษาสภาพฟันหลังการจัดฟัน หรือ“รีเทนเนอร์” (Retainer) ต้องได้รับบริการจากทันตแพทย์เท่านั้น โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟันของผู้ป่วยและส่งข้อมูลของผู้ป่วยให้ผู้ผลิต ผลิตรีเทนเนอร์ออกมาเพื่อให้ตรงกับสภาพฟันของผู้ป่วย เพราะเรื่องในช่องปากเป็นเรื่องเฉพาะคน จึงต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ตรวจและหล่อบล็อกออกมาเฉพาะคนหลังจากเกิดดราม่าบนโลกออนไลน์กรณีที่ “จ๊ะ อาร์สยาม” หรือ น.ส.นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง รับบริการทำรีเทนเนอร์โดยตรงกับแฟนคลับ ที่อ้างว่ามีใบอนุญาตผลิตรีเทนเนอร์ จึงหลงเชื่อให้แฟนคลับคนดังกล่าวพิมพ์ฟันให้และช่วยโปรโมตร้านผลิตรีเทนเนอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ร้านดังกล่าวมีใบอนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์จริง แต่เป็นเพียงการผลิตฟันปลอม ไม่ครอบคลุมถึงรีเทนเนอร์นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจะผลิตรีเทนเนอร์ให้คนไข้หรือคนจัดฟันใส่นั้น ผู้ผลิตจะต้องผลิตตามใบสั่งของทันตแพทย์เท่านั้น ส่วนที่มีการโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ทางโซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะผู้มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมเท่านั้นที่สามารถจะพิมพ์ฟันได้ และต้องทำภายในสถานพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมเท่านั้นสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยการใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดให้ผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงที่ต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงินสามารถแสดงความจำนงเข้ามาเพื่อร่วมดำเนินการตามกฎหมายในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกระแสดราม่ากระทะโคเรียคิง จุดเริ่มต้นมาจากที่มีคนไทยไปพบกระทะยี่ห้อดังกล่าววางจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ในราคาที่ตีเป็นเงินบาทแล้วแค่ 600 บาท แต่ในเมืองไทยกลับจำหน่ายอยู่ที่ราคาสูงถึง 2,000 กว่าบาท แถมในโฆษณายังมีการอ้างว่าเป็นราคาที่ลดลงมาจากราคา 30,000 กว่าบาท ซึ่งนอกจากความสงสัยของผู้บริโภคในเรื่องของราคาแล้ว ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในเรื่องของคุณสมบัติของกระทะ ทั้งเรื่องการเคลือบผิวกระทะ 8 ชั้น การใช้หินอ่อนเคลือบกระทะ ตามที่ระบุในโฆษณาสคบ.จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการและสถาบันด้านการทดสอบ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของกระทะโคเรียคิง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า 1.เนื้อกระทะทำมาจากอะลูมิเนียมเสริมเหล็ก 2.เนื้อกระทะเคลือบด้วยพอลิเมอร์ และ 3.ตรวจสอบดูชั้นเคลือบของกระทะ พบว่าไม่ได้มี 8 ชั้น และไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะเป็นที่มาให้ สคบ.มีคำสั่งให้กระทะโคเรียคิงชะลอการโฆษณา เนื่องจากมีการใช้ข้อความไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 และ พรบ.ขายตรง 2545 ซึ่งขณะนี้ พบว่า โฆษณามีลักษณะจูงใจ เช่นการใช้คำว่า กระทะโคเรียคิงมีความลื่นไหลกว่า 300% หรือ 3 เท่า เคลือบ 8 ชั้น หรือ กำหนดเงื่อนไขราคาที่สูงแต่ขายจริงในราคาต่ำ ไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่มาของราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีผลต่อการจูงใจผู้บริโภค แต่ทว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงแล้วต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงิน โดยการยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีแบบกลุ่ม สามารถส่งหลักฐานการซื้อกระทะโคเรียคิง เช่น ใบเสร็จการซื้อ หลักฐานการโอนเงินสั่งซื้อ และสำเนาบัตรประชาชน ได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือทางอีเมล์ complaint@comsumerthai.org       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลของสัญญาต่างตอบแทนที่ควรรู้

การทำสัญญาที่อยู่ใกล้ตัวทุกท่านอย่างหนึ่ง ก็คือสัญญาต่างตอบแทน ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสัญญาต่างตอบแทนคืออะไร มันคือสัญญาที่มีลักษณะที่คู่สัญญาต่างมีหนี้ต้องชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในสัญญาเดียวกัน เช่น สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ขายนอกจากมีหน้าที่ในฐานะลูกหนี้ต้องส่งมอบบ้านที่พร้อมอยู่อาศัยแก่ผู้ซื้อ ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับเงินค่าขายบ้านจากผู้ซื้อด้วย นอกจากนี้ บรรดาสัญญาเช่าหอพัก สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนทั้งสิ้น เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทำให้เกิดหนี้ที่ต้องตอบแทนกันทั้งสองฝ่าย ต่างจากสัญญาทั่วไป ที่เกิดหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผลของสัญญาต่างตอบแทน คือ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่หนี้ของฝ่ายแรกยังไม่ถึงกำหนด ซึ่งเพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่ผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรของโครงการแห่งหนึ่ง โดยผู้ประกอบการโฆษณาว่า โครงการจะมีการทำคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม แต่เมื่อมีการติดต่อให้ผู้บริโภคไปรับโอน ปรากฎว่าผู้ประกอบการยังไม่ก่อสร้างสาธารณูปโภคตามที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภครายนี้จึงขอเลิกสัญญาและให้คืนเงิน ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่คืน จึงต้องมาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้ ศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน และผลคือเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกตัวอย่าง เป็นเรื่องของสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ ซึ่งศาลตีความว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าสามารถใช้งานได้ ดังนั้น ระหว่างที่ปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ผู้เช่าจึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2535สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์มีข้อความว่า ผู้เช่าสัญญาว่าจะจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เสมอด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหากมีการชำรุดบกพร่อง แตกหักเสียหายด้วยประการใด ๆ ผู้เช่าจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบทันที และดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมด้วย ค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองทั้งสิ้นนั้น หมายถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาตามปกติและเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้นผู้เช่าจึงจะมีหน้าที่ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า แต่อาคารโรงภาพยนตร์ทรุด และพื้นคอนกรีตแตกร้าวเสียหายมากหลายแห่ง เป็นความเสียหายร้ายแรงจนอาจเกิดการพังทลายเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมภาพยนตร์ได้จึงเป็นเรื่องมีความจำเป็นและสมควรที่จะต้องซ่อมแซมใหญ่อย่างรีบด่วนเพื่อรักษาโรงภาพยนตร์ให้สามารถใช้การต่อไปไม่ให้พังทลายไปเสียก่อนมิใช่กรณีต้องซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547หาใช่หน้าที่ของผู้เช่าไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 แต่โจทก์รับค่าเช่าจากจำเลยโดยไม่ได้ทวงถามค่าเช่าสำหรับเดือนดังกล่าวจนล่วงเลยมาถึงเดือนกันยายน 2526 การรับเงินค่าเช่าโจทก์ได้ออกใบรับเงินให้จำเลยทุกครั้ง กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 ที่ว่า ในกรณีชำระดอกเบี้ยหรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้นถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จรับเงินให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายนี้ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้ชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 ให้โจทก์แล้ว โจทก์ปิดและบูรณะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ที่ให้เช่า จำเลยผู้เช่าจึงไม่อาจใช้ฉายภาพยนตร์ได้ตามสิทธิการเช่าของตน สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระค่าเช่าในระหว่างที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ผู้บริโภคร้อง ถอดแผ่นป้ายโฆษณาปิดบังบริเวณกระจกหน้าต่างรถไฟโดยสาร ได้ไหม?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดบนรถไฟโดยสาร บางท่านอาจเคยสังเกต เวลาเรามองรถไฟจากภายนอกรถก็เห็นภาพป้ายโฆษณาสวยงามประดับอยู่ที่ตัวรถไฟโดยสาร แต่สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟ อาจไม่รู้สึกดีด้วยเท่าไหร่ เนื่องจากแผ่นป้ายดังกล่าว เมื่อมองจากข้างในรถไฟจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้ ซึ่งบางครั้งเกิดอาการตาลาย เวียนหัวได้ หรือ จะมองหาป้ายบอกทาง ทิวทัศน์ต่างๆ ก็เห็นไม่ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงเจอกันนะครับ แล้วมันเป็นคดีสู่ศาลได้ยังไง เรามาดูกันครับเรื่องเกิดขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ขึ้นรถไฟโดยสารขบวนด่วนพิเศษกรุงเทพ – เชียงใหม่ เขาเดินไปนั่งริมหน้าต่างของรถไฟที่มีแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวแปะอยู่ และมองออกไปข้างนอก ก็ไม่สามารถเห็นทิวทัศน์ข้างทางได้ชัดเจน แถมยังเกิดอาการตาพร่ามัว และคลื่นไส้ ระหว่างการเดินทาง หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภครายนี้ก็ทำหนังสือร้องทุกข์ไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างผู้โดยสาร แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องว่าการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างของตู้รถโดยสารทุกสายทั่วประเทศและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างรถตู้โดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนให้สะอาดต่อมา ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจาก ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กำหนดหน้าที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถไฟโดยสารของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการทำบริการสาธารณะดังกล่าว เช่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตู หน้าต่างของรถโดยสารให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร และหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างรถตู้โดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ( คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)จากคดีตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวเราบางครั้ง เราอาจมองข้ามไปทั้งที่มันก็เป็นปัญหากับเรา หลายท่านอาจเคยเกิดความเดือดร้อนรำคาญจากแผ่นป้ายโฆษณาลักษณะนี้ แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิของตนเองเหมือนผู้ฟ้องคดีรายนี้ ที่ทำหนังสือถึงหน่วยงานให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จัดการแก้ไข จนไปถึงขั้นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ผลคดีเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนที่ใช้บริการรถไฟโดยสารของไทย ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นปัญหาจากบริการสาธารณะ ไม่ใช่แค่รถไฟโดยสาร แต่รวมถึงรถตู้โดยสาร รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ฯลฯ แต่ปัญหานั้นจะลดลงหรือหายไปก็ต่อเมื่อมีคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เราต้องช่วยกันครับเพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2559 แอบอ้างโลโก้ สธ. หลอกขายเครื่องสำอางสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักของบรรดาพ่อค้า-แม่ค้าในการลงโฆษณาขายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวที่ผู้บริโภคหลงซื้อไปกินไปใช้เพราะเชื่อในสรรพคุณที่โฆษณา แต่สุดท้ายกับต้องเจอกับผลลัพธ์ที่น่าเศร้า เสียงทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพล่าสุดเจอกรณีที่น่าตกใจ เมื่อมีผู้ผลิตเครื่องสำอางเจ้าหนึ่ง เหิมเกริมถึงขั้นสร้างเพจเฟซบุ๊คแอบอ้างว่าเป็นเพจของ กระทรวงสาธารณสุข ใช้ภาพโลโก้ของกระทรวง พร้อมมีการใช้ข้อความที่ชวนให้เข้าใจผิดว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม พร้อมแนบลิงค์เชิญชวนให้คลิ๊กต่อเพื่อไปยังหน้าเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. ออกมายืนยันแล้วว่าหน้าเพจเฟซบุ๊คดังกล่าวไม่ใช่ของกระทรวง เป็นการแอบอ้างของผู้ไม่หวังดีที่จงใจให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายขายสินค้าทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงเตรียมเดินหน้าเอาผิดผู้ที่กระทำการดังกล่าวตามกฎหมาย และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าผ่านการรับรองหรือไม่ ทั้งนี้ได้ฝากเตือนมายังผู้บริโภคอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ให้ชัดเจนถูกต้อง มีแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปลอดภัย ได้รับการรับรองถูกต้องจาก อย. ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต-ผู้ขายถูกต้องตรวจสอบได้สมอ.ฟัน!!!เครื่องสำอางของเล่นเด็ก “BARBIE” ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายหลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้ซื้อของเล่นเด็กที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอางจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โดยพบว่าของเล่นชิ้นดังกล่าวหมดอายุมากว่า 2 ปี ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บริษัทนำเข้าสินค้า ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้า และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาล่าสุด ทาง สมอ. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า จากการตรวจสอบบริษัท โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทฯ ที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว พบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ.ให้นำเข้าผลิตภัณฑ์นั้น จึงได้อายัดผลิตภัณฑ์ไว้ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามกฎหมาย ทางด้าน อย. ได้แจ้งกลับมาว่าได้ตรวจสอบสถานที่นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นดังกล่าวแล้ว ชี้ชัดว่าของเล่นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งการไม่จดแจ้งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2558ทางด้านบริษัทโซลิดฯ ส่งหนังสือใบอนุญาตมายังมูลนิธิฯ โดยแจ้งว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเข้าสินค้าใดๆ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต โดยบริษัทฯ ดำเนินการขอใบอนุญาตกับ สมอ.มาตลอด และมีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายฉบับ พร้อมกับส่งตัวอย่างใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ดี เอกสารที่บริษัทฯ ส่งมาไม่มีใบอนุญาตของผลิตภัณฑ์ตัวที่เป็นข่าวแต่อย่างใดทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ มีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐาน และผ่านการรับรองยืนยืนว่าปลอดภัยก่อนอนุญาตให้วางจำหน่าย และเอาผิดกับผู้ลักลอบไม่ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างจริงจังผู้ประกันตนเฮ!!! สิทธิทำฟัน 900 บาท เต็มวงเงินไม่มีเงื่อนไขคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เห็นชอบยกเลิกประกาศแนบท้าย สิทธิค่าบริการทันตกรรรมที่ปรับเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข จากเดิมที่มีการกำหนดเพดานเงินในการรักษาแต่ละประเภทเอาไว้ดังนี้ 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ(เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2. อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลทัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาทอุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น  คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ได้ทำหนังสือเรียกร้องไปยัง สปส. เพราะเห็นประกาศแนบท้ายฉบับดังกล่าวเป็นการกำจัดสิทธิในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน และอาจทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิทั้งนี้สิทธิด้านทันตกรรม ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิการรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในวงเงินค่ารักษาไม่เกิน 900 บาท หากกรณีที่มีค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท สถานพยาบาทต้องแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบก่อนดำเนินการรักษาตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสองสคบ. เปิดตัวโครงการ "ตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสอง" เอาผิดกับผู้ประกอบการขายรถยนต์มือสองที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการซื้อรถยนต์มือสองผ่านเต็นท์รถต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ความยุ่งยากในการนำรถไปจดทะเบียนต่อ รถที่นำไปใช้เกิดการชำรุดง่าย โดยผู้ประกอบการไม่รับแก้ไข และปัญหาตกแต่งตัวเลขระยะทางการใช้รถ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สคบ.ยอมรับว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยำเกรงโดยโครงการนี้เจ้าหน้าที่ของ สคบ.จะทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเต็นท์รถยนต์มือสอง โดยจะดูเรื่องการติดฉลากแจ้งข้อมูลของรถยนต์มือสองที่จำหน่าย และความถูกต้องเรื่องการทำสัญญาซื้อขาย เพราะปัจจุบันมีกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ที่ใช้ควบคุมการประกอบธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 35(2556) เรื่อง ให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าควบคุมฉลาก กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจัดทำฉลากสินค้า ระบุรายละเอียดสำคัญ คือ ชื่อ ประเภทหรือชนิดของสินค้า ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ขาย ขนาดหรือน้ำหนัก สมุดคู่มือการบำรุงรักษารถ และข้อมูลการประสบภัย  อีกฉบับคือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้วเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหลักฐานการรับเงินให้กับผู้บริโภค โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วนชัดเจนผู้บริโภคค้านโอนย้ายตรวจอาหารนำเข้าให้กระทรวงเกษตรฯ ห่วงอาหารไม่ปลอดภัยกลับสู่ตลาดอนุกรรมการด้านอาหารและยา องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คบอช.) ออกแถลงถึงความกังวลต่อการที่ อย. ออกประกาศถ่ายโอนย้ายหน้าที่ในเรื่องการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหารกลุ่มที่ยังไม่แปรรูป ไปให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล หวั่นผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในส่วนของอาหารที่ถูกตีกลับ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ดูแลในส่วนของการส่งออกอาหารอยู่แล้ว อนุกรรม คบอช. กังวลว่าจะใช้เรื่องการนำเข้าอาหารซึ่งต้องยึดเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญไปเป็นการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้าน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปรกติของประกาศฉบับนี้ว่า เป็นประกาศ อย. ที่ไม่ได้อ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมาย แต่อ้างอิงนโยบายรัฐมนตรีและข้อเสนอคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีเพียงแค่ภาครัฐและนักธุรกิจ แต่ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค นอกจากนี้การตรวจสอบสินค้าอาหาร อย.ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงเกษตรฯได้เพราะ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้ให้อำนาจ อย.กระทำเช่นนั้น การถ่ายโอนภารกิจของ อย.ไปให้กระทรวงเกษตรฯ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. กล่าวว่าจากประกาศฉบับนี้ ส่งผลโดยตรงให้กระทรวงเกษตรฯ มีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ถ้าดูจากที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ เองก็เคยเจอปัญหาเรื่องที่มีการพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผัก-ผลไม้ที่ได้รับมาตรฐาน Q และ Organic Thailand จากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าของกระทรวงเกษตรฯ ยังมีปัญหาอนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. เสนอให้มีการทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงอย่างละเอียดว่า มีกระบวนการตรวจสอบสินค้าตีกลับอย่างไร มีการควบคุมเรื่องความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ห้องพักไม่เหมือนในโฆษณา

แม้ว่าการหาห้องพักผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย แต่เราสามารถมั่นใจได้จริงหรือว่า รูปภาพและคำโฆษณาต่างๆ จะตรงกับความจริงเสมอไปเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณสมใจ เธอต้องการเช่าหอพักรายเดือน จึงหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดัง ในที่สุดเมื่อเจอหอพักที่ถูกใจก็ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ ซึ่งภายหลังการพูดคุยผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ผู้ดูแลหอก็ส่งรูปภาพของห้องพักมาให้ดู เพื่อย้ำว่าเป็นรูปจริงที่เพิ่งถ่ายไม่นานมานี้ ซึ่งรูปภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นสภาพภายในห้องที่ดูน่าอยู่สวยงาม คุณสมใจจึงตัดสินใจตกลงเช่าห้องดังกล่าว โดยโอนเงินมัดจำไปให้ก่อนจำนวน 2,000 บาท โดยตกลงว่าจะย้ายของเข้ามาอยู่ในวันถัดไปเมื่อคุณสมใจมาถึงหอพัก เธอกลับต้องตกใจกับสภาพห้องที่ไม่เหมือนในโฆษณาเลย เช่น มีรูปเตียงนอนอย่างดีโฆษณา แต่ความจริงมีเพียงแค่ฟูกให้นอนเท่านั้น อย่างไรก็ตามเธอก็ไม่มีทางเลือก เพราะขนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาแล้วเรียบร้อย ทำให้จำต้องพักอยู่ที่ห้องดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งคืน และรอติดต่อเจ้าของหอพักในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังเธอแจ้งว่าไม่ต้องการอยู่ห้องนี้แล้ว เพราะเห็นว่าสภาพแย่มากไม่เหมือนกับในโฆษณาทางเว็บไซต์ และต้องการเงินมัดจำคืนก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ คนอื่นก็ต้องจ่ายแบบนี้ทั้งนั้น ทำให้เธอเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพห้องพักมาให้เพิ่มเติม พร้อมเข้าไปตรวจสอบโฆษณาของหอพักดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ก็พบข้อความโฆษณาว่า หอพักพร้อมเฟอร์นิเจอร์สภาพใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 2,000 – 2,800 บาท มีคีย์การ์ดและกล้องวงจรปิด โดยมีรูปประกอบเป็นสภาพห้องพักที่ดูน่าอยู่สวยงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับรูปภาพจริงที่ผู้ร้องส่งมาให้ดู  สำหรับกรณีนี้อาจถือได้ว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง โดยมีการโฆษณาด้วยข้อความและรูปภาพที่ทำให้ผู้ร้องเข้าใจผิด จนตกลงไปเช่าห้องพักดังกล่าว ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน โดยผู้ร้องสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ศูนย์ฯ แนะนำให้มีการเจรจากับเจ้าของหอพักดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งเธอแจ้งกลับว่าให้ทางครอบครัวช่วยเจรจาให้ โดยทางเจ้าของหอยินยอมให้เปลี่ยนห้องใหม่ได้ แต่จะไม่คืนเงินมัดจำ ซึ่งภายหลังเธอได้ดูห้องอื่นๆ ของทางหอพักก็ตกลงเช่าอยู่ต่อ และยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2559เริ่มเก็บค่าผ่านทางอัตราใหม่ “มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี” 18 เม.ย.กรมทางหลวงออกประกาศว่า ในวันที่ 18 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยในระยะทางตอนแรกจากกรุงเทพฯ-ชลบุรี 78 กิโลเมตร จะเป็นระบบปิด คือเก็บตามระยะทางรับบัตรจากต้นทาง แล้วจ่ายเงินเมื่อออกจากด่าน เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาท จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวคือด่านละ 30 บาท โดยมี 5 ด่าน คือ ด่านลาดกระบัง ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคม และด่านพานทอง ซึ่งอัตราค่าผ่านทางใหม่นี้จะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการคิดตามระยะทางโดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประเภทรถ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 10 - 60 บาท รถ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 15 - 95 บาท และ รถที่มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 20  – 140 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คของกรมทางหลวง เพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะถือว่าเป็นข่าวดี เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตและทุพลภาพจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และเพิ่มค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจาก 50,000 บาท เป็น 80,000 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 นี้เป็นต้นไปนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการเพิ่มเติมวงเงินชดเชยครั้งนี้ เป็นข้อสรุปที่ได้จากการร่วมประชุมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนบริษัทประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงเพิ่มความคุ้มครองครั้งนี้ จะครอบคลุมกับผู้ที่ทำประกันทั้งหมด ทั้งผู้ประกันรายใหม่และผู้ที่ทำประกันเดิมที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาประกัน ที่สำคัญคือค่าเบี้ยประกันยังคิดในอัตราเดิมไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   เมืองไทยยังขาดแคลนนักบินปัจจุบันนี้ในบ้านเราการสัญจรโดยเครื่องบินโดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศมีแน้วโน้มความต้องการการใช้บริการที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง จำนวนเที่ยวและสายการบินที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินจากการเปิดเผยข้อมูลโดย สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พบว่าขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่จำนวน 2,500 - 3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400 - 500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200 - 300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000 - 9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300 - 400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปีด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพของหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนด้านการบิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของธุรกิจการบินในประเทศ แต่สายการบินส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายการบินที่เปิดใหม่ก็ยังมีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ ทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน เอาผิด “สุรชัย Face Off” โฆษณาเกินจริงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เอาผิดโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล หลังมีความผิดจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง กรณีทำศัลยกรรมเสริมความงามให้แก่ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่ง ในโครงการ “เฟซออฟ ผ่าแหลก ศัลยกรรม 10 อย่างบนหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 โดย ดร.เซปิง” โรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล มีการยินยอมให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณบริการเสริมความงาม เนื่องจากไม่ได้มีการทักท้วงหรือปฏิเสธ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวเลย ซึ่งถือว่าผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล โดยจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวน 20,000 บาท และจะปรับต่อวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการเผยแพร่การโฆษณา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ให้ความเห็นถึงการโครงการ “เฟซออฟ” ผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าให้ดูอ่อนวัยลงครั้งนี้ว่า “การทำศัลยกรรมของคุณสุรชัยครั้งนี้ เป็นการทำเฟซลิฟต์ (Face Lift) คือ การดึงหน้าให้ตึงขึ้น ทั้งส่วนของหน้าผาก การดึงแก้มไปซ่อนที่หลังหู นอกจากนี้ ยังมีการทำตา ฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดร่องลึก และฟิลเลอร์ให้เต่งตึง ซึ่งตรงนี้จะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน การทำศัลยกรรมดึงหน้าและทำตา ถือว่าเป็นหัตถการที่ไม่เสี่ยงมาก หากประชาชนทั่วไปอยากทำก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาฝีมือของหมอด้วย”   เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเราคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้ร่วมรณรงค์ในประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างเรื่อง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในอาหารซึ่งส่งผลต่อมายังสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่ง สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ยกเป็นประเด็นรณรงค์ที่สำคัญและเร่งด่วน โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ให้เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารโดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่ปลอดจากการใช้ยาปฏิชีวนะนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้กล่าวว่า ในต่างประเทศร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง  แมคโดนัลด์ เริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้บ้างแล้ว โดยสาขาในอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 การรณรงค์ในประเทศไทยครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ร้านฟาสต์ฟู้ดที่เปิดสาขาในเมืองไทยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการ กพย. กล่าวว่า การดื้อยาทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพของผู้คนทั่วโลก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้คาดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 63,200 ตันในปี พ.ศ. 2553 เป็น 105,600 ตันในปี พ.ศ. 2573 ถ้าไม่จัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งการดื้อยาจะส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยบางโรค อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจเป็นเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนได้การรณรงค์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เกิดการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ได้ที่ www.change.org ในหัวข้อ เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา (Antibiotics Off the Menu)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2556 แบนโฆษณา “แค่ดื่มก็สอบได้” สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงดาบสั่งระงับการฉายโฆษณาเครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มแล้วบำรุงสมอง จากการที่มีการอวดอ้างว่าดื่มแล้วช่วยให้นักเรียน – นักศึกษาสอบติดคณะเด่นๆ อย่างคณะแพทย์ วิศวกร ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งเป็นการโฆษณาที่อ้างสรรพคุณเกินจริงและสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค เนื้อหาในโฆษณาที่ทาง สคบ. แพทยสภา และ อย. เห็นว่าเป็นปัญหากับผู้บริโภคก็คือ ประเด็นการโฆษณาสรรพคุณของเครื่องดื่มที่บอกว่าดื่มแล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง เติมความรู้ สร้างความจำให้ดีขึ้น ดื่มแล้วก็สามารถสอบเข้าคณะแพทย์หรือคณะอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้ ถือว่าเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และการนำนักศึกษาที่ใส่ชุดประจำสถานศึกษาชื่อดังหลายแห่งมาร่วมในโฆษณาเพื่อสื่อว่าสอบติดได้เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม ความฉลาดต้องเกิดจากความขยันตั้งใจศึกษาหาความรู้ อาหารก็ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งถือว่าเพียงพอและเหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม ถ้าใครพบเห็นโฆษณาอาหารหรืออาหารเสริมที่ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค รีบแจ้งไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือ อย. 1556     ป้องกันรังสียูวี...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม อย.ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ต้องระบุระดับหรือค่าตัวเลข SPF, PFA หรือ PA ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติการทดสอบ โดยผลสำรวจผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปี พ.ศ. 2549-2550 พบการแสดงค่า SPF หรือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีที่ไม่ถูกต้องตามที่ระบุบนฉลาก ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเข้าใจผิด จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดต้องแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดดังนี้ 1. การแสดงค่า SPF ที่มีค่าการป้องกันรังสียูวีอยู่ระหว่าง 6-50 ให้แสดงระดับ หรือค่า SPF ตามจริง ถ้ามีค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีมีค่ามากกว่า 50 ให้แสดง “SPF 50+” ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบหรือมีผลการทดสอบได้ค่าการป้องกันรังสียูวีต่ำกว่า 6 ไม่ให้แสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด 2. การแสดงค่า PFA หรือ PA ที่แสดงถึงการป้องกันรังสียูวีเอ ให้แสดงระดับสัญลักษณ์ หรือค่าความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค่า PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึงประสิทธิภาพระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมาก ถ้ามีการแสดงค่าความสามารถในการกันน้ำต้องแสดงระดับของประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ โดยให้แสดงค่าว่า Water resistance พร้อมกับแสดงตัวเลขเวลาที่ผ่านการทดสอบในการป้องกัน 40 นาที หรือ 80 นาที   เมื่อคอนโดราคาแพงเกินจริง? ปริมาณคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคหลายรายร้องเรียนผ่าน สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เรื่องราคาขายคอนโดว่าเข้าข่ายแพงเกินจริงหรือไม่? บางโครงการหนึ่งห้องพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ขายราคา 4 – 5 ล้านบาท ราคาจริงน่าจะถูกกว่านั้น สคบ. จึงได้เชิญ สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ร่วมถึงผู้ประกอบการ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการได้ให้เหตุผลที่คอนโดตั้งราคาขายไว้สูงนั้นเกิดจากปัจจัยของต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน ที่ล้วนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าคอนโดไม่ใช้สินค้าควบคุม การตัดสินใจเลือกซื้อเปรียบเทียบคุณภาพและราคานั้นเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ทำได้เองอยู่แล้ว ทาง สคบ. ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายคอนโดต้องแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย เช่น ชนิดหรือราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคที่โครงการมอบให้ผู้ซื้อ หลังจากนี้ สคบ. จะร่วมกับสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เพื่อตรวจประเมินหาราคากลางที่เหมาะสมของโครงการคอนโดต่างๆ และจะประสานกับกรมการค้าภายในเพื่อดูความเหมาะสมของราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง     ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค หลังจากทั้ง 2 มูลนิธิได้มีการแถลงผลการทดสอบข้าวสารบรรจุถุงที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารโบรไมด์อิออนที่ตกค้างจากการใช้สารเมทิลโบรไมด์รมควันข้าวสารเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม โดยการเสวนาทางวิชาการมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง แพทย์ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ นักโภชนาการ นักพิษวิทยา นักการเกษตร และสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค โดยมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในประเด็นที่ว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน หรือคนที่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ส่วนข้อมูลเรื่องการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงนั้น  สามารถลดการตกค้างได้บางส่วน แต่ยังมีปริมาณการตกค้างหลังหุงยังต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพราะผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกัน งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4%     ร้อง สคบ. ช่วยจัดการกรณี รถเชฟโรเลต ครูซ ขับไปซ่อมไป ผู้ผลิตเลี่ยงรับผิดชอบ กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถเชฟโรเลต ครูซ และ แคปติวา จำนวน 25 ราย ได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากพบปัญหาจากการใช้รถ ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ไม่นาน ซึ่งปัญหาที่พบถือเป็นปัญหาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เช่น รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง รถพุ่งไปข้างหน้าเองในขณะที่จอดติดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ระบบเกียร์ล็อค เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ เป็นต้น กลุ่มผู้เสียหายและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เข้ายื่นหนังสือกับเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เสียหารและดำเนินการกับผู้ประกอบการ คือ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย โดยผู้เสียหายเรียกร้องให้ สคบ. ช่วยดำเนินการเรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งหากการเจรจาหาข้อตกลงไม่ได้ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และให้มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพรถที่มีปัญหาเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ โดยระหว่างการตรวจสอบให้ สคบ. ออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว จนกว่าจะมีผลพิสูจน์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น และหากพิสูจน์แล้วพบว่าความบกพร่องเกิดจากผู้ผลิต ต้องออกคำสั่งให้บริษัทรับซื้อคืนรถคันดังกล่าวจากผู้ซื้อที่ได้รับความเสียหาย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2552 22 พ.ย. 52โพลชี้ชัด! ผู้บริโภคไม่อยากดูโฆษณาแฝงนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโฆษณาแฝง” พบว่ากว่าร้อยละ 72 ไม่เห็นด้วยกับร่างแนวทางที่ สคบ. กำลังพิจารณาว่าการปรากฏให้เห็นของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง ทำให้มีโฆษณาแฝงเกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายระบุไว้ จากการสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์รุกล้ำสิทธิของผู้บริโภค และคิดว่าควรมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้จากโฆษณาแฝงและให้มีการตรวจสอบระบบการเสียภาษีให้กับรัฐให้ถูกต้อง นางอัญญาอร กล่าวว่า “ร่างฯ นี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่กลับจะยิ่งทำให้โฆษณาแฝงมีความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะร่างแนวทางระบุให้การปรากฏของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา ซึ่งจะยิ่งทำให้มีโฆษณาแฝงในรายการทีวีเพิ่มมากขึ้น” 26 พ.ย. 52องค์กรผู้บริโภคจี้ ก.อุตสาหกรรมเลิกใช้ “แร่ใยหิน” เหตุเป็นสารก่อมะเร็งแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคการประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 เรื่อง “ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก” โดยมีผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยพบได้ในผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน กระเบื้องปูพื้น ผ้าเบรก หรือแม้กระทั่งในเครื่องสำอาง องค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอ 10 ข้อยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีประเด็นสำคัญคือ ให้กำหนดมาตรการยกเลิกการนำเข้าภายใน 3 เดือน และยกเลิกการผลิต การจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี พร้อมทั้งยกเลิกภาษีวัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหิน และควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและชนิดของสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน 27 พ.ย. 52อย. ออกคำสั่ง! ห้ามใช้ยาแอสไพรินกับเด็กสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีคำสั่งให้ผู้ผลิตยาแอสไพรินแก้ไขทะเบียนตำรับยา ไม่ให้ใช้ แก้ปวด ลดไข้ ในเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรายย์ ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงเนื่องจากตับถูกทำลาย ทำให้สมองบวม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า มียาแอสไพรินที่ขึ้นทะเบียนโดยเป็นยาสำหรับเด็กเท่านั้น จำนวน 29 ตำรับ และตำรับที่มีข้อบ่งใช้ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 55 ตำรับ ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องมีหน้าที่แก้ไขฉลากและเอกสารกำกับยา โดยให้ตัดข้อความที่แสดงสรรพคุณที่ใช้สำหรับเด็กออกไป ซึ่งคำสั่งนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2552 หากไม่ปฏิบัติตามประกาศจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย 29 พ.ย 2552“นมหวาน” ทำร้ายเด็ก ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุว่ายังมีผู้ปกครองซื้อนมหวานให้เด็กบริโภคเป็นประจำถึงปีละ 9,924 พันตัน ผลเสียทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นทันทีจากการดื่มนมรสหวานโดยใช้ขวดนม คือเด็กจะฟันผุตั้งแต่ฟันน้ำนมยังขึ้นไม่เต็มปาก ส่งผลให้เด็กเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ปวดฟัน นอนหลับไม่สนิท การกินนมรสหวาน จะนำไปสู่พฤติกรรมติดหวานและทำให้เด็กอ้วน จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต “แม้เครือข่ายด้านสุขภาพร่วมกับ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 286 ระบุไม่ให้มีการเติมน้ำตาลซูโครสลงในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ทำให้แนวโน้มการใช้นมรสหวานเลี้ยงเด็กทารกลดลงอย่างมาก ปีละประมาณ 1,000 ตัน แต่ประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงนมผงครบส่วนสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงทำให้ยังมีทั้งนมผงรสหวานและรสจืดวางขายในท้องตลาดอีกจำนวนมาก  ร้องนายก ให้ กฟผ. คืนเงินคนใช้ไฟฟ้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มพลังงานทางเลือก ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ เพื่อขอให้ยุติการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และนำเงินที่เรียกเก็บโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งคืนให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะการจัดตั้งกองทุนเพื่อเรียกเก็บเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน ทั้งนี้ กฟผ. ได้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยเรียกเก็บเงินจากค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ซึ่งเป็นการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เครือข่ายประชาชนยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ กฟผ. ยุติการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากค่าเอฟทีโดยทันที 2.ให้นำเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ ไปแล้วทั้งหมดส่งคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเร็ว 3.ให้หามาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อการเรียกเก็บเงินสำหรับดำเนินการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยตรง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการตามที่ได้เรียกร้องจะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด กลุ่มองค์กรและเครือข่ายประชาชนก็จะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินการต่อไป เร่ง คลัง – พลังงาน ทวงเงินชาติคืนจากปตท.เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้บังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินกลับคืนให้กับประเทศ หลังจากศาลพิพากษาให้ ปตท. ต้องทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แต่จากรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนทรัพย์สินเพียงเฉพาะที่ดินเวนคืนมูลค่า 1.45 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินมูลค่า 1,125.11 ล้านบาท และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเพียง 3 โครงการ (โครงการท่าบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่าราชบุรี-วังน้อย) รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งสิ้นเพียง 16,176.22 ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่ตามรายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานว่า ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่าทางบัญชีสุทธิ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2544 จำนวน 52,393,498,180.37 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการตรวจสอบทรัพย์สินโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน พบว่ายังมีทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาเพิ่มเติมหลังการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 205,891 ล้านบาทมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายจึงต้องการเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ให้ ปตท. คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 เมื่อเซเลบโกหก

ผู้เขียนตั้งใจไว้นานแล้วว่า วันหนึ่งจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าในประเทศไทย โดยจะมุ่งเน้นให้เห็นว่า ทำไมพวก เซเลบ (เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ย่อมาจากคำว่า celebrity ซึ่งหมายถึง คนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมชมชอบของคนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม ศัพท์คำนี้ส่วนใหญ่ใช้กับคนที่มีอาชีพแกล้งทำเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเองเพื่อการบันทึกภาพไปออกโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ แต่ก็สามารถรวมถึงคนที่มีความสามารถอื่นๆ เช่น นักกีฬา นักร้อง แม้แต่นักการเมืองและ/หรือขอทานก็เป็นเซเลบได้ ถ้าเขาคนนั้นดูดีและประชาชนชื่นชอบ) ถึงยอมลดศักดิ์ศรีเพื่อพูดเท็จแลกกับเงินในการรับจ้างโฆษณาสินค้าที่ชาตินี้ทั้งชาติเขาคงไม่ยอมใช้ เมื่อช่วงน้ำท่วมกรุงเทพปี 2554 นั้น มีการโฆษณารถยนต์อีโคคาร์ โดยเซเลบคนหนึ่ง(ซึ่งมีพฤติกรรมขายอาหารไร้สาระในยูทูป) ทั้งที่เมื่อดูพฤติกรรมเซเลบคนนี้ก็รู้ได้ว่า ในชีวิตประจำวันนั้นเขาคงต้องใช้รถแรงราคาหลายล้านบาทแน่ๆ นอกจากนั้นเมื่อนานมาแล้วมีดาราชายหน้ายาวคนหนึ่งเปิดตู้เย็นมีสินค้าที่เป็นเครื่องดื่ม(ซึ่งมีงานวิจัยว่า อาหารลักษณะนี้มีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนระหว่างการผลิต) เต็มตู้และป่าวประกาศผ่านจอโทรทัศน์ว่า ดื่มเป็นประจำ หรือดาราหนังทำรายได้หลายร้อยล้านบาทจากภาพยนตร์กวนโอ๊ยออกมาบอกว่า เครื่องดื่มชนิดหนึ่งซึ่งรสชาติไม่เอาอ่าวนั้น สามารถทำให้สติปัญญาคนดีขึ้นมาได้ ที่แย่กว่านั้นก็คือ แม้แต่หมาแมวก็ถูกนำมาโฆษณาขายอาหารของสายพันธุ์ โดยผู้ชมไม่สามารถรู้ได้ว่า สัตว์ที่มาทำหน้าที่โฆษณานั้นถูกทารุณกรรม เพื่อให้แสดงออกถึงความชอบอาหารที่คนผลิต จึงมีการตั้งประเด็นว่า หมาแมวมันรู้สึกอร่อยจริงหรือเพราะถูกปล่อยให้อดอาหารมาหลายมื้อก่อนเข้าฉาก ยังมีโฆษณาสินค้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นอาหาร ผ้าซับประจำเดือนสตรี เสื้อชั้นนอก กางเกงชั้นใน เครื่องดื่มต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงการขี้ปดของเซเลบหลายคน สำหรับถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจอยากดูหน้าเซเลบขี้ปดเหล่านี้ ก็ไปดูได้ที่ www.adintrend.com จากนั้นเมื่อดูแล้ว ท่านลองถามตนเองสิว่า ท่านเชื่อคนที่มาเยินยอสินค้าที่ท่านเข้าไปดูหรือไม่ หรือว่าสักแต่ดูไปอย่างนั้นเองยังไงๆ ก็จะซื้อหรือจะไม่ซื้อสินค้ายี่ห้อนั้นเมื่อต้องการสินค้าประเภทนั้น แต่ที่สำคัญคือ เขาหรือหล่อนทั้งหลายทำไมถึงมีสิทธิมาโกหกท่านผ่านสื่อต่างๆ ทั้งที่การโกหกเพื่อให้คนเสียเงินนั้นน่าจะเป็นความผิดทางแพ่ง ขอนักกฎหมายช่วยอธิบายด้วยแล้วกัน   อย่างที่เกริ่นในตอนต้นแล้วว่า เรื่องเซเลบมาโม้ว่าสินค้าดีนั้น ผู้เขียนอยากเขียนเรื่องนี้มานานแต่ไม่มีใครชงประเด็นให้ จนกระทั่ง 19.00 น.ตรง ของวันที่ 12 กันยายน 2557 ผู้เขียนได้ดูข่าวจากสปริงนิวส์ ซึ่งรายงานข่าวที่ทำให้ตื่นเต้นว่า จีนแผ่นดินใหญ่นั้นกำลังทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สาระสำคัญมีว่า “แต่นี้ไปเซเลบจะมีโทษทางแพ่งเมื่อโฆษณาสินค้าอะไรก็ตามที่ตนเองไม่เคยใช้มาก่อน” พอได้ยินข่าวนี้ผู้เขียนก็ได้รีบเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตเพื่อหาว่า ข่าวดังกล่าวนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จาก google นั้นผู้เขียนก็พบรายงานข่าวดังกล่าวบ้างในหลายเว็บ แต่ที่น่าสนใจและให้รายละเอียดดีพอควรนั้นคือ เว็บ www.wantchinatimes.com ได้รายงานหัวข้อข่าว “Tougher laws to regulate star endorsements in China” ในวันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2014 โดยมีเนื้อหาอ้างถึงรายงานของหนังสือพิมพ์ Yangtse Evening News ที่นานจิงว่า ผู้บริหารของจีนแผ่นดินใหญ่ได้มองประเด็น การที่เซเลบต่างๆออกมาบอกผู้บริโภคว่า สินค้าของบริษัทที่ตนรับสตางค์ (ผ่านบริษัทครีเอตีฟทั้งหลาย) ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้โดยไม่เคยใช้สินค้านั้นเลยนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี สมควรทำร่างกฎหมายเพื่อแก้รัฐบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาเสนอแก่ Standing Committee of the National People's Congress ครั้งที่ 10 (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามันคือ การประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติจีนหรือไม่) ร่างประกาศฉบับนี้ได้แก้ไขประเด็นที่สำคัญมากคือ เซเลบที่ไม่เคยใช้สินค้าไม่ควรเสนอหน้ามาบอกประชาชนว่า สินค้านั้นดีอย่างไร โดยจะมีการปรับเป็นเงิน 2-3 เท่า ของค่าจ้างที่ได้จากการโฆษณาสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหายเนื่องจากความเข้าใจผิดในโฆษณานั้น ๆ มีคำอธิบายความหมายของการโฆษณาลวงกว้างๆในร่างประกาศว่า คือการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ไม่มีขายจริง อ้างอิงคุณภาพเกินจริงเกี่ยวกับสินค้า(ซึ่งรวมถึงประเทศที่ผลิต ปริมาณสินค้า คุณสมบัติ ราคา ผู้ผลิต) วันหมดอายุ การขายประกอบรางวัล หรือการอ้างอิงข้อมูลปลอมทางวิทยาศาสตร์ ทางสถิติ การสำรวจ หรืออ้างถึงใครสักคนบอกว่าสินค้าหรือบริการนั้นสุดจะดีทั้งที่ไอ้หมอนั่นไม่เห็นจะน่าเชื่อถือ ทั้งนี้เพราะจำนวนการโฆษณาสั่วๆ ที่พบในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว(2013) มีถึงราว 31,500 ชิ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจากเดิมถึงร้อยละ 19.3 และที่น่าตกใจคือ หนึ่งในสามของโฆษณาดังกล่าวนี้มันเกี่ยวกับ ยา อาหาร และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่สำคัญประการหนึ่งของร่างกฎหมายคือ มีการบัญญัติห้ามองค์กรหรือใครก็ตามส่งคำโฆษณาทางโทรศัพท์ไปหาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน มือถือธรรมดา หรือมือถือที่ใช้นิ้วเขี่ยไปมา ทางจดหมายอิเล็กทรอนิค ถ้าผู้บริโภคไม่ได้ร้องขอหรือยินยอม ทั้งนี้เพราะปีที่แล้วมีการส่งโฆษณาไปรบกวนชาวจีนทั้งประเทศถึง 2 แสนล้านครั้ง (200 billion mobile advertisements) ซึ่งหมายความว่า มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นถึง 2 แสนล้านครั้งที่ผู้บริโภคต้องเสียเวลากดรับสาย (หรือกดปิดแบบผู้เขียนทำเป็นประจำ) โดยที่ข้อมูลไร้สาระนั้น เป็นการยกยอสินค้าทั่วไปเสียร้อยละ 65 และอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 15 ที่เหลือนั้นเป็นอะไรนั้นเว็บไม่ได้บอกไว้ ที่น่าสนใจอีกประเด็นสำหรับองค์กรที่รับภาษีบาปของไทยเพื่อนำมาใช้ในการบริหารงาน น่าจะลองพิจารณาเรื่องนี้ดูคือ ร่างประกาศนี้ห้ามการโฆษณายาเส้นและบุหรี่ทางวิทยุ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ไม่ว่าในรูปภาพและ/หรือเสียง ป้ายโฆษณาทุกชนิดในที่เป็นสาธารณะ หนังสืออิเล็กทรอนิค เครือข่ายโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ท ทั้งนี้เพราะมีคนจีนถึง 300 ล้านคนที่เป็นขี้ยาได้ตายไปด้วยโรคที่สมัครใจเป็นสิงห์อมควันนี้ถึงกว่าล้านศพต่อปี การปรับแก้กฎหมายนี้พ้องกับการที่มีดาราไต้หวันชื่อ Kai Ko หรือ Ko Chen-tung และดาราฮ่องกงลูกของแจ๊คกี้ ชาน คือ Jaycee Chan ถูกจับในข้อหาดูดกัญชา ซึ่งทำให้สินค้า 19 ชนิดที่ Kai Ko โฆษณาอยู่มีภาพพจน์ที่ไม่ดี เพราะคนโฆษณาเป็นคนไม่ดี สินค้าเลยถูกมองว่าไม่ดีตามไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของจีนท่านหนึ่งชื่อ Liu Kewi กล่าวว่า เซเลบจะเจ๊งทันทีถ้าโม้กับผู้บริโภคว่าตัวเองเคยใช้สินค้าชิ้นนั้นๆ มาแล้ว ทั้งที่ไม่เคยใช้จริง ที่น่าสนใจคือ เซเลบแต่ละคนที่ไม่รู้เรื่องการแพทย์จะไม่สามารถโฆษณาเกี่ยวกับการขายบริการทำหมันของโรงพยาบาล(บ้านเราคงต้องเป็นเรื่องอุ้มบุญ) และอื่นๆ ถ้าเขาเหล่านั้นไม่มีทักษะในสินค้านั้นๆ มีเว็บหนึ่งได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า ถ้าเซเลบเป็นแมนทั้งแท่ง ก็ไม่ควรโฆษณาชุดชั้นในสตรี แต่ถ้าเขาได้ข้ามเพศหรือหวังจะข้ามเพศแล้วจะสามารถโฆษณาชุดชั้นในสตรี(ซึ่งน่าจะรวมถึงยาคุมกำเนิดของสตรีด้วย) ได้หรือไม่ เพราะเขาผู้ฉิงทั้งหลายได้ใช้สินค้านั้นๆ เป็นประจำ ประเด็นนี้คงต้องตีความกันต่อไปถ้ามีการผ่านกฎหมายนี้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 98 โฆษณา อันตรายหลบใน

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ : สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดลnukks@mahidol.ac.th โฆษณาเครื่องสำอางสำหรับทาผิวสาวยี่ห้อหนึ่งได้กระตุ้นให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้ ความจริงมันก็เป็นโฆษณาที่เหมือนโฆษณาเครื่องสำอางทั่วไป (คือ ไม่บอกความจริงทั้งหมด) โดยให้สาวหน้าตาพาไปวัดตอนสายๆ ได้บอกผู้ชมว่า สาร SPF นั้นป้องกันแสง UVB ได้เท่านั้นนะ ส่วน UVA นั้น สาร SPF ส่วนใหญ่ปกป้องไม่ได้ จึงทำให้คนที่ทาเครื่องสำอางป้องกันอันตรายจากแดดนั้น ยังไง ๆ ก็คล้ำแน่ ดังนั้นเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวจึงใส่สารอื่นลงไปด้วยป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB เล การใช้ครีมกันแดดซึ่งมี SPF สูงกว่า 15 นั้น เป็นคำแนะนำของแพทย์โรคผิวหนัง ที่เตือนคนทั่วไปให้ระวังเมื่อออกแดด แต่แพทย์คงไม่ได้หวังให้สาวไทยผิวขาวเป็นจิ้งจกเผือก เพราะวันใดที่สาวที่ผิวขาวลืมทาครีมออกไปกลางแดด โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังก็จะเพิ่มขึ้น เพราะตำแหน่งของประเทศไทยนั้นรับแสง UVB มากกว่าประเทศแถบอบอุ่นและแถบหนาว ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การโฆษณานั้นมีนิยามมากมาย มนุษย์คนหนึ่งนิยามว่า "การโฆษณา หมายถึง การสื่อสารในรูปแบบใดๆ ซึ่งเจตนาที่จะกระตุ้นผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อ และการส่งเสริมในด้านการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมถึงการสร้างประชามติ การกระทำการเพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนทางการเมือง การขายความคิดหรือการเสนอความคิดเห็น หรือสาเหตุต่างๆ และการกระทำเพื่อให้ประชาชนเห็นคล้อยตามหรือปฏิบัติไปในทางที่ผู้โฆษณาประสงค์" จะเห็นว่าการโฆษณานั้นไม่ได้พูดถึง ความเสียหายของผู้ที่บริโภคสินค้านั้นๆ เลย เสมือนกับว่า เมื่อถูกโน้มน้าวให้ควักกระเป๋าแล้วก็ตัวใครตัวมัน คนทำโฆษณาก็ได้เงิน คนขายสินค้าก็ได้เงิน ส่วนผู้บริโภคนั้นถ้าเป็นไรไป ก็ตามหาหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมาช่วยเอาเอง ที่สำคัญก็คือ มันเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า การโฆษณานั้นเป็นการที่บ้านเมืองอนุญาตให้ใครก็ไม่รู้มาพูดในสิ่งซึ่งอาจเป็นการโกหกโดยสิ้นเชิงในที่สาธารณะได้ โดยไม่ผิดกฏหมาย เช่น การออกมาพูดในโทรทัศน์ว่า ดื่มกินสินค้าชนิดหนึ่งแล้วอึง่าย ทั้งที่ความจริงไม่เคยกินเลย สวนกาแฟมาตลอดประเด็นสำคัญคือ ผู้ร่วมในการทำโฆษณาคงไม่เคยอารธนาศีลข้อ 4 แน่นอน ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอออกนอกเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารมาเป็นเรื่องเครื่องสำอางบ้าง เพราะสินค้านี้อยู่ภายใต้การดูแลของ อย เช่นกัน แต่ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องจับผิดโฆษณาเท่าไร เพราะแค่จับน้ำดื่มบรรจุขวดผิดมาตรฐาน อย ก็ดูจะหมดแรงแล้ว เด็กไทยเรียนรู้มานานแล้วว่า ถ้าได้ออกไปเล่นกลางแดดตอนเช้าๆ บ้างจะแข็งแรง ไม่เป็นโรคกระดูกอ่อน เพราะได้แสงแดดในตอนเช้าถึงสายกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ วิตามินดีเป็น วิตามินที่เกี่ยวกับการสะสมแคลเซียมที่กระดูกทำให้กระดูกเจริญเติบโตและแข็งแรง ในแสงแดดมีแสงหลายระดับคลื่นประกอบอยู่ ระดับที่เรียกว่าแสงอัลตราไวโอเลตเป็นแสงที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างไวตามินดี ข้อมูลจากวิกิพีเดียกล่าวว่า รังสีเหนือม่วง หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) หรือ รังสียูวี (UV) เป็นช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็น มีความยาวคลื่นในช่วงต่ำกว่า 400 นาโนเมตร มันได้ชื่อดังกล่าวเนื่องจากสเปกตรัมของมันประกอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นที่มนุษย์มองเห็นเป็นสีม่วง รังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งเป็น UVA UVB และ UVC (แต่ไม่มี UBC นะครับเพราประเภทหลังเป็นอันตรายต่อสุขภาพเนื่องจากทำให้คนนอนน้อย) UVA มีพลังงานต่ำที่สุด แต่ทะลุลงมาถึงพื้นโลกได้ตลอดวัน แสง UVA นี้แน่มาก ทะลุกระจกได้ราว 70% ดังนั้นถ้าต้องการป้องกันไม่ให้ผิวคล้ำมาก ต้องใช้ผ้าม่านบังแดด อย่างไรก็ดีรังสีนี้ไม่ทำให้เกิดผิวไหม้แดด เพียงแต่ทำให้คล้ำพอสวยงาม จึงมีฝรั่งหัวใสผลิตหลอดไฟปล่อยแสง UVA สำหรับใช้ปิ้งให้สาวฝรั่งที่ผิวขาวเป็นจิ้งจกมีผิวคล้ำขึ้น ซึ่งสาวไทยไม่ชอบนั่นเอง ส่วนปรากฏการณ์ผิวดำตับเป็ดนั้นเกิดเนื่องจาก UVB ที่ทะลุชั้นผิวหนังน้อยกว่า ทำให้เกิดความร้อนและไหม้ เพราะรังสี UVB เป็นต้นเหตุที่ให้คนมีสีผิวดำเพราะกระตุ้นให้มีการสร้างรงควัตถุที่เรียกว่า เมลานิน อย่างไรก็ดีรังสีนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีการสร้างวิตามินดีในร่างกายจากอนุพันธ์ของโคเลสเตอรอลได้ถ้ารับรังสีนี้นานพอควร รายละเอียดมีเยอะมากในเน็ทต่าง ๆ เช่น http://www.westonaprice.org/basicnutrition/vitamindmiracle.html ระยะเวลาในการที่ร่างกายเรารับแสงเพื่อสังเคราะห์วิตามินดีนั้นขึ้นกับตำแหน่งบนพื้นโลก เช่น ประเทศไทยไม่ควรนานนักเพราะ UVB มีเยอะและออกมาแต่เช้า แต่ถ้าไปอยู่แถบประเทศที่เกินเส้นรุ้งที่ 30 องศาไปทั้งเหนือและใต้จะมีรังสี UVB น้อยกว่าและมาในเวลาที่สายกว่าเช่น สิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นเวลาที่แสงแดดบ้านเรากำลังร้อนมากสามารถเผาคนไทยให้สุกได้กลางถนนทีเดียว ที่เป็นเช่นเป็นผลเนื่องจากมุมหักเหแสงที่ตกกระทบพื้นโลกที่ตำแหน่งต่างกัน ดังนั้นคนที่อยู่ในแถบมีรังสี UVB น้อยจึงมักมีผิวขาวเพื่อให้รับแสงได้มาก ส่วนคนในพื้นที่มี UVB มากจึงต้องมีสีผิวคล้ำเพื่อป้องกันไม่ให้รับมากไปจนเกิดอันตราย เพราะทั้งรังสี UVA และ UVB นั้นเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งผิวหนังถ้าสัมผัสนานเกินไป ประการสำคัญคือ รังสี UVA นั้นทะลุลงไปในชั้นผิวหนังได้ลึกกว่า เลยถูกสงสัยว่าทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า non-melanoma skin cancers โดยสรุปแล้ว ถ้าจะให้ปลอดภัยกับเด็กๆ ควรให้สัมผัสแสงแดดไม่เกินเก้าโมงเช้าและหลังบ่ายสี่โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความร้อนของแดดพอทนได้ แต่ที่สำคัญคือ ควรหัดให้เด็กใส่แว่นดำกลางแดด ไม่ใช่เพื่อสวยเท่ แต่เพื่อป้องกันอันตรายจากแสง UV ทั้งสองที่อาจทำให้ตาเป็นโรคต้อได้เมื่ออายุมากขึ้น สำหรับ UVC นั้นเป็นตัวแสบ เพราะพลังงานสูงมาก ถ้าโดนผิวก็จะแสบร้อน แต่มนุษย์ยังโชคดีที่รังสีนี้ถูกดูดซับไว้ได้ด้วยชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก แต่อีกไม่นานมนุษย์ก็อาจโชคเลวได้ เพราะตอนนี้ชั้นโอโซนเริ่มเป็นรูเนื่องจากถูกสาร Chlorofluorocarbon (CFC) ที่ใช้เป็นก๊าซอัดในกระป๋องที่ต้องการฉีดพ่นอะไรก็ตามที่ต้องการพ่น หรือที่ใช้เป็นตัวทำให้เกิดความเย็นในเครื่องปรับอากาศตกยุค ลอยขึ้นไปถึงชั้นโอโซนและทำลายโอโซนจนเกิดช่องในชั้นบรรยายกาศของแถวขั้วโลกแล้ว UVC นี้เราสามารถผลิตได้โดยใช้หลอดไฟพิเศษ วัตถุประสงค์เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในห้องผ่าตัด เนื่องจากรังสีนี้มีพลังทำลายได้ถึงหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงมีการประยุกต์นำหลอดไฟประเภทนี้มาใช้ในกระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำดื่มบรรจุขวดด้วย กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ หลอดฆ่าเชื้อประเภทนี้มีอายุใช้งาน ซึ่งเมื่อใช้นานไป แม้หลอดยังติดอยู่แต่ฆ่าเชื้อไม่ได้แล้วเพราะพลังงานต่ำลง ซึ่งปรากฏว่าโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแบบห้องแถวมักไม่สนใจ เนื่องจากมันยังติดอยู่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วหลอดชนิดนี้ต้องเปลี่ยนเมื่อใช้ครบตามชั่วโมงที่โรงงานผลิตกำหนดมา ไม่ใช่ใช้จนโรงงานเจ๊ง ที่ได้กล่าวเรื่องแสง UV มานี้เพื่อจะเข้าเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องสำอางในโทรทัศน์ที่ พูดถูกแต่อันตราย ทั้งนี้เพราะบริษัทผลิตเครื่องสำอางจับไต๋ผู้ชายไทยได้ว่า ชอบผู้หญิงที่เรียกว่า ชีชีแปะแป๊ะ (ซึ่งน่าจะแปลว่า อวบๆ ขาวๆ) แม้รักแร้ยังต้องทาให้ขาวเนียน จึงจะมีโอกาสหาสามีได้เครื่องสำอางสำหรับผิวหนังจึงต้องผสมสารทำให้ผิวขาวที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป คำว่า SPF นั้นย่อมาจาก Sun Protecting Factor หรือเรียกง่ายๆ ว่า ค่าป้องกันแสงแดด โดยถ้าเราเคยตากแดดในระดับหนึ่งแล้วผิวไหม้ใน 15 นาที แต่ถ้าทาครีมที่มี SPF 6 ผิวก็จะไหม้ช้าลง 6 เท่าคือ ไหม้หลังจากตากแดดในระดับเดียวกัน 90 นาที ถ้า SPF 8 ก็จะไหม้ที่ 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมง ยังมีหลายๆ คนเข้าใจผิดว่าการใช้ค่า SPF สูงๆ จะทำให้ตากแดดได้นานขึ้น ซึ่งไม่จริง เพราะค่า SPF ที่สูงขึ้น ไม่ได้แปรผันตามความทนแดดเลย ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 นั้น สามารถป้องกันรังสียูวีบีได้ 93% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับค่า SPF30 จะป้องกันได้เพียง 96% เท่านั้น ดังนั้น ค่า SPF ที่สูงขึ้น ก็ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเท่าไหร่ แถมสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาและความเหนียวเหนอะหนะเพิ่มมากขึ้น หากไม่จำเป็นก็ใช้ SPF ที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ผิวหนังของเราต้องแบกรับภาระของสารเคมีที่มากเกินไป ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ถ้าสาวๆ ใช้เครื่องสำอางเพื่อพยายามทำให้ผิวของตนเองขาวมากที่สุดเท่าที่ขาวได้ คุณๆ ต้องป้องกันแสงแดดให้ดี เพราะผิวคุณแทบไม่มีภูมิคุ้มกันแสง UV ที่อาจทำอันตรายให้คุณเป็นมะเร็งได้เลย คุณต้องทำเหมือนคนที่มีอาการความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องกินยาลดความดันตลอดชาติ ดังนั้นเมื่อคุณมีผิวขาวเพื่อประกันความสามารถจะยั่วยวนหนุ่ม คุณก็ต้องมีสตางค์ที่ต้องซื้อเครื่องสำอางมาปกป้องผิวตลอดไป หรือไม่ก็ต้องใส่เสื้อปกปิดผิว แม้อากาศจะร้อนมากในเดือนเมษายน แต่ถ้าคุณเป็นสตรีที่มีผิวคล้ำ แม้จะดำตับเป็ดก็ตาม คุณค่อนข้างจะปลอดภัยจากมะเร็งผิวหนังเพราะ พ่อแม่ให้พันธุกรรมสร้างเม็ดสีปกป้องผิวเป็นของขวัญชีวิต เพื่อปกป้องคุณจากการเป็นมะเร็งผิวหนัง รู้อย่างนี้แล้ว จะไปซื้อเครื่องสำอางมาลดเกราะคุ้มกันผิวตามที่เขาโฆษณา ก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า หามะเร็งผิวหนัง

อ่านเพิ่มเติม >