ฉบับที่ 277 ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด และการโฆษณา ณ สถานที่ขาย

        เมื่อเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ ที่มีการแสดงฉลากระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่า เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม กล่าวอ้างว่า ไม่มีสารเร่งการเจริญเติบโต ไม่มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ตอนนั้นได้ทำการเปรียบเทียบราคาพบว่า แพงกว่าราคาปกติสองเท่า แต่ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ตัวฉลากของสินค้าว่า มีจุดบกพร่องหรือข้อมูลที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคหรือไม่ ทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านเภสัชกรรมและนักกิจกรรมที่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง การดื้อยาปฏิชีวนะ  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ปลอดจากยาปฏิชีวนะ         อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม  ทำการวิเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่นิตยสารฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ได้ให้ข้อสังเกต ดังนี้         - มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก (อาจสะท้อนว่าไม่มีการกำกับดูแลให้มีรูปแบบเดียวกันหรือไม่)         - การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’  ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         - บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         - ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว ใครดูแลฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม         ดังนั้นจึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือหน่วยงานอื่น ฉลากมีปัญหา โฆษณาก็ไม่ต่าง         การสำรวจฉลากเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของการโฆษณา ณ จุดขาย ดังนั้นทีมงานนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ลงสำรวจจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน มีทั้งร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ แผงในตลาดสด เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) ซึ่งรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นได้ จากการสำรวจร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน และพบคำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน         การอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน  (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย พบ 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         จากข้อมูลการสำรวจการโฆษณา ณ จุดขายข้างต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วิเคราะห์ว่า ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 นั้นกำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์  OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2 .ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3. ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว        4. มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 แผ่นพับโฆษณา คือส่วนหนึ่งของสัญญา

        ถ้าเราจะซื้อบ้านหรือคอนโดสักหลัง แน่นอนว่าเราย่อมต้องอยากเห็นก่อนว่าบ้านหรือคอนโดที่จะซื้อนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร         ปัจจุบันผู้ประกอบการมักชอบประกาศขายบ้านตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ มีการโฆษณาในช่องทางต่างๆ รวมถึงใช้เอกสารแผ่นพับโฆษณาเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เห็นได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามภาพที่นำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อก็มักทำให้เราวาดฝัน หลงเชื่อว่าจะได้บ้านหรือคอนโดตามที่โฆษณาไว้ เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว บางครั้งเราก็ไม่ได้บ้านหรือคอนโดตามโฆษณาเรียกว่าได้ของไม่ตรงปกเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องของผู้บริโภคตามมา อย่างเช่นในคดีหนึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...         แผ่นพับโฆษณาขายอาคารชุดของผู้ประกอบการ แสดงรูปแผนผังทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด ผู้ซื้ออาคารชุดเมื่อเห็นรูปแผนผังก็ทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนที่ดินทางพิพาทให้เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ผู้บริโภคก็เห็นว่าแผ่นพับข้อมูลโฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าได้คอนโดติดชายหาด จึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลซึ่งในคดีนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ว่า แผ่นพับโฆษณาขายคอนโดของผู้ประกอบการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อห้องชุด เมื่อผู้ประกอบการทำการโฆษณาโดยปกปิดไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่ดินทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของผู้ประกอบการจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงตัดสินให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน         จากคดีนี้ จึงเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทุกท่าน เวลาที่เราซื้อบ้านหรือคอนโดควรเก็บหลักฐานแผ่นพับ หรือภาพการโฆษณาต่างๆ ไว้ เพื่อหากวันหนึ่ง บ้านหรือคอนโดที่เราซื้อไม่มีตามที่โฆษณาจะได้นำเป็นหลักฐานในการเรียกร้องสิทธิหรือให้ชดเชยเยียวยาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ก่อนเฝ้าระวังสินค้า อย่าลืมเฝ้าระวังตนเอง

        “เราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตโดยมีเป้าหมายจะไปซื้อผงซักฟอกมาใช้ แต่สุดท้ายเราอาจจะพบว่า ณ จุดจ่ายเงิน ในรถเข็นบรรจุสินค้าของเรามันไม่มีแค่ผงซักฟอก แต่กลับมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย เกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมการบริโภคของเรา?”          จริงๆ แล้วเราอาจถูกหลอกโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ตอนเข้ามาในห้างแล้ว ซูเปอร์มาเก็ตเอารถเข็นมาจอดรอเราตรงประตูทางเข้า ทั้งๆที่ การซื้อผงซักฟอกก็แค่หยิบใส่ตระกร้าแล้วหิ้วไปจ่ายเงิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความคุ้นชิน ขี้เกียจ หนักไม่อยากหิ้ว หรือเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายรถเข็นก็มาอยู่ในมือเรา และผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเพลิดเพลินเดินเตร็ดเตร่ไปตามชั้นวางสินค้าอื่นๆ ต่อไปอีก เดินเลือกดู น้ำปลา เครื่องปรุงรส แป้งทำขนม รองเท้า กระดาษทิชชู ยาสีฟัน นม อาหารสด ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของเราแต่ละคน สุดท้ายในรถเข็นของเราก็มีทั้งผงซักฟอก และสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกโดยไม่รู้ตัว         นักการตลาดเขาฉลาดกว่าเรามาก สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยเหตุผล แต่ซื้อด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ความตื่นเต้น ความคาดหวัง หรือแม้กระทั่งความกลัว (เช่น ซื้อประกันชีวิต) การโฆษณาจึงก้าวเข้ามาในพฤติกรรมการบริโภคของเรา พวกเขาเลือกตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ออกแบบสถานที่ การจัดวางสินค้าเพื่อกระตุ้น“จิตใต้สำนึก” ของคน ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจในร้านค้าและตัวสินค้าจนต้องเดินเข้าไปดูและเข้าไปหยิบ สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราก็ตกเป็นเหยื่อเผลอเสียเงินซื้อโดยลืมเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริงของตนเอง         ชุมชนชนบทที่วิถีชีวิตไม่ได้เร่งรีบแบบชุมชนเมือง ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปส่งลูกหลานที่โรงเรียน รีบไปทำงานให้ทันตามเวลา ฯลฯ เมื่อมีร้านสะดวกซื้อต่างๆ มาจำหน่ายสินค้าในชนบทเพิ่มมากขึ้น สังคมที่เร่งเร้าให้ทุกคนต้องเร่งทำมาหากิน ทำให้ผู้คนในชนบทหันมาใช้บริการซื้อสินค้าและอาหารต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ ซื้อกระทั่งอาหารแช่แข็งเพราะมันตอบโจทย์ สะดวก ง่าย ถูก และรวดเร็ว เพื่อจะได้เอาเวลาที่เหลือไปทำงานหาเงินต่อไป         สุดท้ายวิถีเหล่านี้มันก็รุกคืบเข้ามาจนมีอิทธิพลในพฤติกรรมการบริโภคของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ป่วยยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราคาแพงโดยคาดหวังว่าจะช่วยให้หายจากโรค เด็กวัยรุ่นยอมซื้อผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนกิน ทั้งๆ ที่มีข่าวมากมายว่าอันตรายหรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่กำลังอยู่บนแฟลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้านั่งดูไลฟ์สดขายของด้วยความสนุกและกำลังหยิบของลงตระกร้าแล้วจ่าย         สิ่งที่เราควรทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าอันตรายในชุมชนคือ ตั้งสติ นั่งทบทวน เพื่อเฝ้าระวังตนเองด้วยว่าเรากำลังเป็นเหยื่อการโฆษณาหรือเหยื่อในการบริโภคสินค้าที่เกินจำเป็นต่อชีวิต จนสิ้นเปลืองเงินทองหรือเสี่ยงต่ออันตรายด้วยหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แค่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 6,185 คน         รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว จำนวน 6,185 คน ซึ่งกลุ่มที่พบมากที่สุด มี 3 อันดับ ได้แก่ อายุ 5-9 ปี  0-4 ปี  15-24 ปี ตามลำดับ โดยการระบาดจากทั้ง 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 3-348 คน พบว่าในทั้งหมดจากเหตุการณ์ มีการระบาดในสถานศึกษา 11 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ/ค่ายลูกเสือ 4 เหตุการณ์ อื่นๆอีก 3 เหตุการณ์ และบ้านพัก 1 เหตุการณ์  จึงคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกปีมักพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงช่วงต้นปี มกราคม – มีนาคม ลักษณะคล้ายคลึงกัน กรมฯ จึงให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สั่งปรับ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” กรณีโฆษณาผิดกฎหมาย         เภสัชวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแถลงการตรวจพบโฆษณาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้าและช้อปปี้ เป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี โดยทาง อย.ได้ปรับลาซาด้าไปแล้วกว่า 45 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท ปรับช้อปปี้ 22 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท รวมถึงคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ นอกจากนี้ ทาง อย.ยังได้เข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหารือในการกวาดล้างโฆษณาเถื่อนในตลาดออนไลน์ พบเว็บหน่วยงานรัฐโดนฝังโฆษณาเว็บพนันกว่า 30 URL         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในประเทศไทยกว่า 500 รายการ ส่วนมากเป็นการโจมตีในรูปแบบการแฮกเว็บไซต์  2 หรือ 3 ของการโจมตีทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด คือ หน่วยงานการศึกษา  รองลงมาหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ โดยหน่วยงานราชการ  20 กระทรวง โดนแฮ็กเว็บไซต์และถูกโจมตีข้อมูลด้วยการฝังสคริปต์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์มากถึง 30 ล้าน URL ทั้งนี้ ซึ่งทาง สกมช. ได้เสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี หากประชาชนที่พบเห็นการหลอกลวง เว็บไซต์ปลอม หรือผู้ที่มีข้อมูลเว็บพนันออนไลน์ สามารถแจ้งได้กับกระทรวงดิจิทัล  ได้ที่ 1212 หรือ https://facebook.com/DESMonitor เพจอาสาจับตาออนไลน์ หรือแจ้งได้ที่ ncert@ncsa.or.th หลังปรับมิเตอร์แท็กซี่ใหม่พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2000 เรื่อง         19 กุมภาพันธ์ 2566 กรมขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีการปรับราคาของแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ (16 มกราคม) มีผู้โดยสารร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่เป็นจำนวนกว่า 2,120 เรื่องแล้ว โดยความผิดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 720 เรื่อง 2.แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 455 เรื่อง 3.ขับรถประมาทหวาดเสียว จำนวน 358 เรื่อง 4.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จำนวน 237 เรื่อง 5.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ จำนวน 221 เรื่อง ทั้งนี้มีการดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 1,650 เรื่อง และจดแจ้งการกระทำผิด จำนวน 470 เรื่อง ทั้งนี้หากพบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สามารถแจ้งร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก โทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อย. ชี้แจง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายวิตามินซีและกาแฟปรุงสำเร็จ         จากกรณีมีผู้เสียหายร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ “ยี่ห้อ Boom VIT C 1,000 มิลลิกรัม และกาแฟปรุงสำเร็จรูปผง ยี่ห้อ Room COFFEE” โดยสั่งซื้อจากทาง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อได้ลองรับประทานไปพร้อมกับมารดา พบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น แขน ขา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ขึ้น จนไม่สามารถถือของได้ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงได้ส่งจดหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนผสมอันตรายหรือได้รับอนุญาตตามถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ส่งหนังสือ ชี้แจ้งถึงมูลนิธิฯ ว่า กรณีให้ตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 2 รายการ ทาง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ จากสถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจหาผลวิเคราะห์ยาแผนโบราณในผลิตภัณฑ์ พบว่า ไม่พบยาแผนปัจจุบันในทั้ง 2 รายการ แต่จากผลการตรวจสอบฉลากอาหาร พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปสำเร็จชนิดผงยี่ห้อ ROOM COFFEE แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทาง อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ดวงตาเป็นหน้าต่างของกำไร

        ปัจจุบันผู้คนเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้า ไม่ว่าใครต่อใครก็มักจะก้มหน้าใช้สายตาจ้องหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา อาการเหนื่อยล้าทางสายตาย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางคนเกิดปัญหาทางตาตามมาอีก จึงเป็นช่องทางให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาผุดออกมาจำหน่ายมากมายและรุกโฆษณาเข้าถึงตัวเราได้ง่ายๆ         ผมลองสังเกตหน้าจอมือถือที่จู่ๆ ก็มีโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาถึง แค่ครึ่งวันก็จู่โจมมาเกือบ 10 ยี่ห้อแล้ว        “เห็นยักใย่ ดำๆลอยไปลอยมา 1 เม็ดก่อนนอน ตาใสปิ๊งเหมือนได้ตาใหม่ ซื้อตอนนี้ 590 บาท ลดเหลือ 390 บาท”         “ฟื้นฟูดวงตาด้วยสารสกัดหญ้าฝรั่น ให้ผลไวกว่าลูทีนทั่วไป 5 เท่า ดูดซึมเร็วกว่าเดิมถึง 25 เท่า”                 “ตาพร่าดวงตาล้า ดูซีรี่ย์นานใช้ดวงตาเยอะ ....(ชื่อดารา)....เลือกใช้”                 “ปวดตาเคืองตา น้ำตาไหล มองไม่ชัด ซื้อ 3 แถม 1”         “....(ชื่อดารารุ่นแม่)....แนะนำสูตรใหม่ เห็นผลไวกว่าลูทีน 8 เท่า การันตีด้วยรางวัลโนเบล”         “สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด เป็นต้อ รู้สึกไม่สบายตา แสบตาเคืองตาอย่ารอช้า รีบทาน (โทรติดต่อ......)         “รวบรวมสารสกัดที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยสาร..... ซึ่งเป็นสารที่ช่วยปกป้องจอตาหรือเรตินาจากการถูก         ทำลายโดยแสงสีฟ้าและแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ สาร... ช่วยให้กล้ามเนื้อยึดเลนส์คลายตัว การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณรอบๆตาจึงไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดอาการอ่อนล้าของดวงตา ลดอาการตาแห้ง และเพิ่มการโฟกัสของตาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”         “บำรุงสายตาลดอาการตาแห้งตาล้า ช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น ป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า บำรุง ฟื้นฟู สายตา ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม ช่วยลดอาการตาแห้งจากลม เพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจน ช่วยปรับโฟกัส ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาของผู้สูงอายุ สามารถดูดซึมได้รวดเร็ว ภายใน 15 นาที”         ข้อความต่างๆ ที่ส่งเข้ามาจะหลากหลาย ตั้งแต่บอกว่ามีสารที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณบำรุง ป้องกัน ไปจนกระทั่งถึงรักษาโรคทางตาได้ด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ แต่ต้องมายื่นขอ อย.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในส่วนประกอบอาจมีสารอาหารมากกว่าอาหารทั่วๆ ไปเพิ่มเข้ามา ดังนั้นเมื่อมันเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทยา มันจึงไม่มีสรรพคุณในการ บำบัด บรรเทา ป้องกันหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถล้ำเส้นอ้างสรรพคุณทางยาได้ ซึ่งทางหน่วยงานที่ดูแลก็พยายามไล่กวดจับกันอยู่ แต่ผู้ขายและเครือข่ายก็มักจะแอบไปเปิดช่องทางใหม่ๆ ในโซเชียลจนเจ้าหน้าที่ตามแทบไม่ทัน         สุดท้ายนี้ขอแนะนำวิธีการถนอมสายตา เพื่อช่วยช่วยป้องกันสายตาเมื่อต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือใช้มือถือนานๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น (1) พักสายตาทุก 30 นาที (2) กะพริบตาให้ได้ 4-6 ครั้ง/นาที (3)ไม่ฝืนอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กมากจนเกินไป (4) เว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 30-40 เซนติเมตร (5) ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีไม่มืดหรือสว่างเกินไป (6)ไม่ใช้งานมือถือหากอยู่บนพาหนะที่มีความสั่นไหวเพราะทำให้มองจอได้ยาก (7)ช่วงอากาศแห้งไม่ควรใช้สายตานานจนเกินไป เป็นต้น         มันไม่คุ้มค่าหากตาจะพังและกระเป๋าตังค์จะรั่ว ต้องระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาล้ำเส้นจนเกินจริง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 260 โฆษณาลวงจนเข้าใจผิด หลงเชื่อซื้อบัตรเข้าชมละครเวที

        การโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ย่อมทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนมากมายตามมาเมื่อผู้บริโภคไม่ยินยอมที่จะโดนหลอกลวง  เหตุล่าสุดที่ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ  การโฆษณาขายบัตรเข้าชมการแสดงอัน“เกินจริง” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดังกล่าว          คุณณัฐ ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้มูลนิธิช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทผู้จัดการแสดง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีนาคม ปี 2565 (บริษัทเริ่มขายบัตรในเดือนมีนาคม) จนกระทั่งจัดการแสดงขึ้นในวันที่ 3-19  มิถุนายน ทั้งสิ้นกว่า 46 รอบ         เหตุของความเข้าใจผิดจากการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้อ้างอิงผลงานของอีกบริษัทหนึ่งที่เคยจัดการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำ ประทับใจจนมีผู้รอชมการแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทผู้จัดอ้างว่า เป็น 1ในผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยจัดการแสดงอันเลื่องชื่อดังกล่าว แต่ได้แยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่สำคัญบริษัทผู้จัดยังสามารถใช้พื้นที่ facebook ของอีกบริษัทในการประชาสัมพันธ์ได้  ประการต่อมา การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายบัตรเข้าชมผู้ซื้อบัตรยังรู้สึกว่า เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินจริง   เพราะใช้คำบรรยายที่สร้างความคาดหวังสูง เช่น ‘จัดโดยทีมงานชั้นนำของประเทศ’  พรรณาเทคนิคการแสดงที่ดีเลิศ เช่น ‘เทคนิค Immersive Musical Theater + Deep Experience & Learning  + Spatial Entertainment Design สุดพิเศษที่แรกของโลก’ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเข้าชมการแสดงแล้วไม่ได้เห็นการแสดงเป็นไปตามคำที่โฆษณา และต่างจากตัวอย่าง Treasure  3D ที่โฆษณาในเฟซบุ๊ก         คุณณัฐจึงชักชวนและรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เข้าข่ายหลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเป็นผู้ร่วมเจรจา ซึ่งจนถึงวันที่เข้ามาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิมีรายชื่อผู้เสียหายมีมากกว่า 41 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนบาท          นอกจากคุณภาพการแสดงจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจนรู้สึกว่าถูกหลอกลวงแล้ว มีรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความหละหลวมในการตรวจ ATK ระหว่างจัดการแสดงทั้งที่ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ  รวมถึงการที่ทางทีมผู้จัดการแสดงไม่สื่อสารและหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัย คำถามต่างๆ ที่ผู้ซื้อบัตรได้ถามเข้ามา ปล่อยปละล่วงเลยจนถึงวันจัดการแสดง และเมื่อมีการรวมตัวของผู้ไม่พอใจจำนวนมากก็ยังไม่สื่อสารโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งผู้แทนมารับฟังและเปลี่ยนตัวแทนหลายครั้งจนเรื่องราวไม่คืบ นำสู่การไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ก่อนการเจรจามูลนิธิฯ แนะนำให้กลุ่มผู้เสียหาย รวมรวมข้อเสนอที่ต้องการให้บริษัทผู้จัดการแสดงดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากวันที่ได้ไกล่เกลี่ยกัน คุณณัฐและกลุ่มผู้เสียหายได้ส่งหนังสือเรียกร้องและรวบรวมข้อเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนหลายประการ มูลนิธิจึงได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดการแสดง ขอให้แก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้เสียหาย 3 ข้อ ดังนี้           1. ให้บริษัททำหนังสือขอโทษและชี้แจงข้อคำถามของกลุ่มผู้เสียหาย          2. ให้คืนเงินค่าบัตรชมการแสดงคืนแก่ผู้ร้องที่มีหลักฐานยืนยันเต็มจำนวน         3. ให้ชดใช้ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดจากการชมการแสดง เช่น ค่าเดินทาง เป็นต้น           โดยระบุให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการให้มูลนิธิได้รับรู้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือ หากบริษัทไม่อาจชี้แจง หลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มผู้เสียหายก็จะยกระดับการดำเนินการในขั้นต่อไป           กรณีนี้ มูลนิธิเห็นว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ ไว้ได้อย่างละเอียด ทำให้คำว่า ‘ไม่พอใจคุณภาพของการแสดง’ ที่เป็นนามธรรม ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบริษัทผู้จัด ขอฝากไว้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ความตั้งใจที่จะสื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายย่อมช่วยลดปัญหาไม่ให้บานปลายได้แน่นอน  จึงนำมาเล่าต่อกันเพราะการร้องเรียนกรณีการจัดแสดงทางศิลปะเกิดขึ้นไม่บ่อยและเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคย่อมสามารถใช้สิทธิเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตนเองได้เช่นกัน   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 โฆษณาสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลอกลวง สัญญามีผลใช้บังคับได้ไหม

ในยุคที่สินค้าราคาแพง แถมยังมีการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายคนประสบปัญหาทางการเงินต้องวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาหมุนใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งธุรกิจให้กู้ยืมเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็มีเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจปล่อยสินเชื่อโดยเรียกเก็บโฉนดที่ดินหรือทะเบียนรถยนต์ก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และแน่นอนว่าเราก็พบเห็นข้อความโฆษณาของธุรกิจแบบนี้บนสื่อต่างๆ ในทำนองว่า “รับจัดสินเชื่อบ้าน ที่ดิน และรถทุกประเภท ไม่ต้องมีสลิป ไม่เช็คประวัติ อยู่ที่ไหนก็จัดได้ ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน” ซึ่งการโฆษณาเช่นนี้ ก็ทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจว่ากู้ง่ายได้ไวและตัดสินใจเข้ามาทำสัญญากู้เงิน          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าในความเป็นจริงธุรกิจให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นอย่างที่โฆษณา  เมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาปรากฎว่ามีการให้โอนเล่มทะเบียนซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณา เช่นนี้จึงได้มีการนำเรื่องไปฟ้องร้องกันในศาลและเรื่องไปสู่ศาลฏีกา ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อโฆษณาเกินจริง หลอกลวง โดยอ้างว่าไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน แต่เมื่อผู้บริโภคมาเข้าทำสัญญากลับมีการให้โอนเล่มทะเบียน เช่นนี้จึงทำให้การโอนเป็นโมฆะ เพราะขัดเเย้งกับสิ่งที่ได้โฆษณาไว้   ผลคือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ให้กู้จะต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่ผู้กู้   และผู้กู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นที่รับมาจากผู้ให้กู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้   โดยต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่ผู้กู้ต้องรับผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า “ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง” และ “ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด”         แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย   เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าวจึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วมาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิดและเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้         จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้การโฆษณาเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญา ผลคือสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับได้เลย  ดังนั้นการที่ไปโอนเล่มทะเบียนกันไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ก็ถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวไปด้วย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคก็ต้องคืนเงินที่กู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้กู้และเงินที่คืนกันนี้เป็นการคืนแบบลาภมิควรได้ ไม่ใช่การใช้เงินคืนตามสัญญากู้ ดังนั้นจึงมาคิดดอกเบี้ยไม่ได้  และเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ทั้งเรื่องกำหนดให้ข้อความโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา (มาตรา 11 )  การประกอบธุรกิจต้องกระทำโดยสุจริต ( มาตรา 12 ).................................        พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551         มาตรา 11 ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม         มาตรา 12 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         นอกจากนี้ การใช้โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญาก็เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มาตรา 47 อีกด้วย         มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กระแสต่างแดน

ใส่วนไป        ที่ผ่านมาการรีไซเคิลเสื้อผ้าด้วยกระบวนการทางเคมีทำได้กับเส้นใยโพลีเอสเตอร์เท่านั้น ฟินแลนด์กำลังจะเปิดโรงงานแห่งแรกในโลกที่สามารถผลิตเส้นใยฝ้ายจากเสื้อผ้าทิ้งแล้ว ภายในปี 2025         โรงงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษเก่าในเมืองเคมิทางเหนือของทะเลบอลติก ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาทมีกำลังผลิต “เส้นใยรีไซเคิล” ปีละ 30,000 เมตริกตัน (เท่ากับเสื้อยืดประมาณ 100 ล้านตัว) และในอนาคตยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแบบนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ         โดยทั่วไปเสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว จะใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 2,700 ลิตร แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ลงได้ถึงร้อยละ 99         ฟินแลนด์ซึ่งมีสถิติการทิ้งเสื้อผ้าต่อคนอยู่ที่ปีละ 13 กิโลกรัม กำหนดเป้าหมายว่าจะจัดการเก็บแยกขยะเสื้อผ้าให้ได้ภายในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมายร่วมของสหภาพยุโรปถึงสองปี   ตั๋วไม่ถูก        องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Konsumentverket เผยผลวิเคราะห์เหตุผลที่มีจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์มถูกปรับมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือส่วนใหญ่มีตั๋วโดยสารแต่จ่ายเงินไม่ครบ บ้างไม่มีใบเสร็จ บ้างก็ซื้อตั๋วผิดประเภทจากแอปฯ           สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องคือ การลดหย่อนหรือยกเลิกค่าปรับในกรณีที่ผู้โดยสาร “ใช้ตั๋วไม่ถูกต้อง” แต่ไม่ได้ตั้งใจแอบขึ้นฟรี (ซึ่งมีค่าปรับ 1,500 โครนา หรือ ประมาณ 5,200 บาท)         การตรวจตั๋ว (เมื่อผู้โดยสารลงจากรถ) งดเว้นไปในช่วงการระบาดของโควิด และเมื่อเริ่มมีการตรวจอีกครั้งกลางเดือนมิถุนายน ก็พบว่ามีคน “แอบขึ้นฟรี” ถึง 80,000 คนในเดือนนั้น            อัตราค่าโดยสารในบัตร SL Access ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ มีให้เลือกตั้งแต่ ตั๋วเที่ยวเดียว/ 24 ชั่วโมง/ 72 ชั่วโมง/ 7 วัน/ 30 วัน (ประมาณ 3,300 บาท) / 90 วัน และตั๋ว 1 ปี (ประมาณ 34,800 บาท) โดยมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรครั้งแรก 20 โครนา (ประมาณ 70 บาท)  ก่อนเช่าต้องชัด        “ผู้เช่าบ้าน” ในฝรั่งเศสได้รับการคุ้มครองค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องข้อมูลที่ผู้ให้เช่าจะต้องบอกไว้ใน “โฆษณา”           อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ฝรั่งเศสกำหนดให้ใครก็ตามที่ต้องการปล่อยบ้านหรือห้องให้ผู้อื่นเช่า ต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้         ค่ามัดจำ ค่าเช่ารายเดือน ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าระบบทำความร้อน ที่จอดรถ โดยระบุวิธีการชำระเงินให้ชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าของบ้านต้องบอกให้ชัดเจนหากต้องการให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายรับภาระและแจ้งจำนวนเงิน         กรณีที่บ้านหรือห้องเช่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมค่าเช่า” โฆษณาจะต้องระบุอัตราค่าเช่าสูงสุดและต่ำสุดในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าของบ้านตรวจสอบได้จากเว็บของรัฐบาลและต้องระบุว่าเป็นบ้าน/ห้องเปล่า หรือตกแต่งพร้อมให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตรและอยู่ในเขตเลือกตั้งใดรู้ไว้ก่อนขายของสด        การ “ไลฟ์ขายของ” ที่แฟนๆ ชาวจีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันติดหนึบด้วยคอนเทนต์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศข้อห้ามถึง 31 ข้อ                ตัวอย่างเช่น ห้ามส่งเสริมการกินทิ้งกินขว้าง ห้ามโอ้อวดความร่ำรวย (เช่น นำเพชรพลอย เงินกองโต หรือสินค้าแบรนด์เนมมาวางประกอบฉาก) ห้ามแต่งตัวยั่วยวน ห้ามพูดจาลามก ห้ามทรมานสัตว์ เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามเลี่ยงภาษี         หน่วยงานฯ เขายังกำหนดให้คนที่จะไลฟ์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย การศึกษาหรือการให้คำแนะนำทางการเงิน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว         ร้อยละ 63 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้ชมการไลฟ์สด ทางการจีนระบุว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิด “คอนเทนต์คุณภาพ” ที่นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นสิทธิในการทำแท้ง        ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก การทำแท้งที่นั่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 6 ปี           อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้หญิงใช้แสวงหาความช่วยเหลือเมื่อต้องการหยุดการตั้งครรภ์ พวกเธอใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลเรื่องการทำแท้ง รวมถึงใช้นามแฝงเข้าไปพูดคุยสอบถามปัญหาในเฟซบุ๊ก หรือในแอปฯ อย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อขอคำปรึกษาจากคนแปลกหน้า           แน่นอนว่าทางออกนี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และพวกเธอยังอาจถูกจับดำเนินคดีด้วยหลักฐานการสนทนาในแอปฯ ดังกล่าวด้วย         แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครต้องขึ้นศาลเพราะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่คำตัดสินของศาลอเมริกันที่มีผลให้การทำแท้งไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหลายประเทศ และทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลการค้นหาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล

        ช่วงนี้กระแสโฆษณาหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกำลังมาแรงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวเป็นอาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะย่อยกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการลดน้ำตาล จึงสนใจหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกันอย่างมากมาย เรามารู้เท่าทันกันเถอะ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลลดน้ำตาลคืออะไร         หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้นจะมีกระบวนการในการหุงที่แตกต่างกันกับหม้อหุงข้าวทั่วไป โดยมีการแยกน้ำที่ได้จากการหุงข้าวออกมาจากข้าว ทำให้ระดับน้ำตาลภายในข้าวลดลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หลังจากข้าวสุกแล้ว ทำให้เข้ากับกระแสการต่อต้านน้ำตาล หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศจีน จนสถาบันอาหารปักกิ่งต้องออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์จริงหรือไม่ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้จริงหรือไม่         ข้อมูลจากเว็บไซต์ใน Blogdits อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้งเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคสจำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ดเช่นเมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อยและมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้  ดังนั้นไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญและสามารถที่จะช่วยในการลดปริมาณน้ำตาลภายในข้าวได้จริงนั่นเอง         สถานีโทรทัศน์ของจีนยังรายงานผลการทดลองการเปรียบเทียบโดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัครที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาลพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญการหุงข้าวที่แยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ซึ่งนำมาใช้กับการหุงข้าวแบบหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ซึ่งน้ำข้าวนั้นจะอุดมไปด้วย โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย         การกินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเป็นเวลานาน จะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป         ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลของการลดน้ำตาลในข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล         สรุป     ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการลดน้ำตาลของข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล              ฉบับหน้า จะพูดถึงการหุงข้าวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดการดูดซึมแป้งหรือน้ำตาลในข้าวที่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านเพิ่มเติม >