ฉบับที่ 235 ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

        ความสูญเสียที่ป้องกันได้ เหตุการณ์ผู้ใหญ่ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 คือเหตุสลดอีกครั้งที่พรากชีวิตเด็กน้อยอายุเพียง 3 ปี จากนครศรีธรรมราช “น้องกองบิน” ไป         เชื่อหรือไม่ สถิติเด็กถูกลืมไว้ในรถตั้งแต่ปี 2557 ถึง 17 สิงหาคม 2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่ามีเด็กถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถทุกประเภทมากถึง 129 ครั้ง ที่สำคัญมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 6 ราย ซึ่ง 5 ใน 6 ราย เป็นเด็กที่ถูกลืมในรถรับส่งนักเรียน และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2 - 6 ปี โดยมีสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจเพราะอยู่ในรถที่มีสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง         สอดรับกับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก ที่ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ระบุ กล่าวคือ “การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของเด็กมีความร้อนสูงเกินขนาด คือมีความร้อนสูงถึง 42 องศา หากถูกลืมไว้ในรถนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตาย เลือดในร่างกายจะเริ่มเป็นกรด ต่อมาสมองก็จะบวมจนไปทับก้านสมองในส่วนการควบคุมในระบบการหายใจ”         เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการคุณภาพและมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานรถและคุณภาพบริการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันรถรับส่งนักเรียนถูกแปรสภาพกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของเด็กนักเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว และคาดว่ามีรถที่ถูกนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต ขาดการจัดการควบคุมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ปลอดภัย        เมื่อปัญหาเกิดขึ้นสังคมก็ขยับเขยื้อนไปบ้าง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยากให้เหตุการณ์น้องกองบินเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย สังคมไทยไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจึงเห็นข่าวหลายโรงเรียนที่มีเด็กเล็กใช้รถรับส่งนักเรียน ได้พยายามหาแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเมื่อติดอยู่ในรถว่าต้องทำอย่างไร (ทั้งที่เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่อ่อนด้อยศักยภาพเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้)  หรือจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนและเช็คนักเรียนทุกครั้งที่มาถึงโรงเรียน เป็นต้น        แต่หากวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ความรู้เด็กและจัดทำรายชื่อเด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดนั้นคงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น มิใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการคืออะไร        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเสนอแนวทางป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง ดังนี้           1) มีระบบฐานข้อมูลนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียน รายชื่อคนขับรถรับส่งนักเรียน และเส้นทางเดินรถแต่ละคันที่มีนักเรียนใช้บริการ         2) มีระบบการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนก่อนขึ้นและหลังลงรถรับส่งนักเรียน โดยคนขับรถรับส่งนักเรียนหรือพี่เลี้ยงทุกครั้ง         3) ตรวจเช็คนักเรียนบนรถทุกครั้งหลังจากส่งถึงจุดหมายปลายทาง         4) มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครองและคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดการรับส่งนักเรียน เช่น กลุ่มไลน์ ว่ารับเด็กจากต้นทางและส่งเด็กถึงจุดหมายปลายทางแล้วทุกครั้ง         และ 5) มีการประเมินมาตรการความปลอดภัยบนรถรับส่งนักเรียนทุกเดือนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วแม้จะกำหนดกฎกติกาความปลอดภัยเพียงใด หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ครู ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน ยังไม่ใส่ใจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ปัญหาที่ควรแก้ไขป้องกันได้แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำย้ำรอยเดิม ขอภาวนาให้เหตุการณ์น้องกองบิน เป็นครั้งสุดท้ายของการลืมเด็กนักเรียนในรถรับส่ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

        กลับมาแล้วจ้า ผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์ซีท) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้โดยเก็บตัวอย่างคาร์ซีทรุ่นยอดนิยมที่วางตลาดในยุโรปในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 คราวนี้ให้เลือกพิจารณากัน 19 รุ่น โดยการทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง คะแนนรวมคิดจากคะแนน 3 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัย ได้แก่ ประสิทธิภาพการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น (ร้อยละ 50) ความสะดวกในการใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้ง√ใช้งาน√ปรับระยะหรือขนาด√ทำความสะอาด (ร้อยละ 40)การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น (ร้อยละ 10)นอกจากนี้ยังตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก เป็นต้น         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบคราวนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 6,000 ยูโร (ประมาณ 222,000 บาท) โดยเฉลี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 กระแสต่างแดน

มันจะมากไปแล้ว        ปัจจุบันร้อยละ 20 ของเด็กมัธยมฯ ในอังกฤษเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน รัฐบาลจึงตั้งเป้าจะดึงตัวเลขดังกล่าวลงมาให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 และแผนแรกที่จะลงมือคือการเรียกเก็บภาษีจากอาหารที่มีไขมันสูงคาดการณ์ว่าภาษีอาหาร “มันจัด” ในอัตราร้อยละ 8 นี้จะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขได้ถึง 66,000 ล้านปอนด์ต่อปี เป็นที่รู้กันดีว่าโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคอื่นๆ และในกรณีของโควิด-19 คนที่มีโรคอ้วนจะติดไวรัสง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้มีภาวะโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด-19 กำลังเตรียมประกาศเปิดตัวแอปฯ ช่วยลดน้ำหนัก ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดฟรี และสั่งแบนโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดช่วงก่อนสามทุ่มด้วยรายได้จากภาษีนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนในอัตราหัวละ 21 ปอนด์ (ประมาณ 900 บาท) ต่อสัปดาห์เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่รับใบเสร็จ        ทุกวันนี้เวลาจะซื้อภาชนะใส่น้ำใส่อาหาร เราจะมองหาสัญลักษณ์ที่บอกว่าปราศจาก BPA (บิสฟีนอลเอ) เพื่อความปลอดภัย แต่เรื่องยังไม่จบเพราะในภาชนะบรรจุอาหาร/เครื่องดื่มกระป๋อง (ที่เราหลายคนต้องพึ่งพาในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้าน) ก็มีสารนี้เคลือบอยู่เช่นกันนอกจากขวดโพลีคาร์บอเนต (พลาสติกชนิดแข็ง) บรรจุน้ำที่สามารถปล่อย BPA ลงน้ำดื่มได้แล้ว อีกอย่างที่เราลืมระวังคือใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษร้อน ซึ่งก็คือใบเสร็จทั่วไปที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สำคัญสารที่ว่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่าเมื่อเราใช้เจลแอลกอฮอลล้างมือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การสุ่มตรวจปัสสาวะของผู้ใหญ่ในอเมริกา พบการปนเปื้อนแทบทุกตัวอย่าง ในขณะที่งานวิจัยล่าสุดก็พบว่าคนที่มีปริมาณ BPA ตกค้างในปัสสาวะสูง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 10 ปี มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 49 วิกฤติอเมซอน         องค์กร Igarape Institute ของบราซิล ซึ่งติดตามสำรวจคดีสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอเมซอนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยตัวข้าราชการเช่น ตำรวจ ทนาย เจ้าหน้าที่ศุลกากร และนักการเมืองที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการทำลายป่าโดยอาชญากรและเครือข่ายธุรกิจมืด  ปีนี้ในบราซิลมีการทำลายป่ามากขึ้นร้อยละ 34 และหากคุณซื้อเนื้อวัวในตลาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเนื้อดังกล่าวมาจากวัวที่เลี้ยงในพื้นที่ๆ รุกป่า แต่ความซับซ้อนในสายการผลิตทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่แท้จริงองค์กรนี้ยังระบุว่า แม้บราซิล โคลอมเบีย เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ กายอานา ซูรินาม และเวเนซูเอลา จะมีสนธิสัญญาความร่วมมืออเมซอนมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะไม่เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก อีกทั้งหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศก็ไม่จริงจังกับการติดตาม สืบสวน ฟ้องร้อง หรือลงโทษผู้กระทำผิดข้อมูลจาก MapBiomass ระบุว่าร้อยละ 90 ของการตัดไม้ในเขตอเมซอน เป็นการตัดอย่างผิดกฎหมาย เร็วกว่า ราคาเดิม        การรถไฟอินเดียตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อปีให้ได้ 15,000 ล้านรูปี (ประมาณ 65,000 ล้านบาท) โดยไม่ขึ้นค่าโดยสารสิ่งที่เขาจะทำคือรื้อตารางการเดินรถใหม่ หมายความว่าจะมีการยกเลิกรถไฟประมาณ 500 กว่าเที่ยว ซึ่งวิ่งผ่านกว่า 10,000 สถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มเที่ยวขบวนรถสินค้าร้อยละ 15 ในเส้นทางที่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ รวมถึงการใช้ความเร็วในขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้วยนอกจากนี้ยังมีแผนจะยกเลิกรถไฟเที่ยวที่เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้วมีผู้โดยสารน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่ง รวมถึงการไม่กำหนดป้ายหยุดในระยะ 200 กิโลเมตรสำหรับรถทางไกล เว้นแต่จะเป็นเมืองใหญ่แผนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ทันทีที่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และอินเดียกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้การรถไฟอินเดียเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ก็คือภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศนั่นเอง แต่จะได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป ต้นทุนที่แท้ทรู        งานวิจัยโดยห้างค้าปลีก Penny ในเยอรมนีพบว่า ราคานม เนื้อสัตว์ และชีสในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากการผลิตอาหาร และหากคนรุ่นเราไม่จ่าย ต้นทุนนี้ก็จะตกเป็นของคนรุ่นต่อไปตัวอย่างเช่น ราคาเนื้อบดครึ่งกิโลกรัมที่ขายอยู่ 2.79 ยูโรนั้น หากคำนวณโดยนำปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมถึงพลังงานที่ใช้ มารวมกับต้นทุนปกติ จะมีราคาถึง 7.62 ยูโร (แพงขึ้นร้อยละ 173) เช่นเดียวกับนมวัวที่จะแพงขึ้นร้อยละ 122ในขณะที่ผักผลไม้แพงขึ้นไม่ถึงร้อยละ 20 รวมถึงหากเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงแบบออกานิกราคาก็จะแพงขึ้นจากเดิมร้อยละ 126 เท่านั้น อาหารมังสวิรัตและออกานิกจึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะห้าง Penny สาขาในเบอลินก็เริ่มทดลองติดป้ายแสดงทั้งราคาปกติ และราคาแบบ “ร่วมรับผิดชอบ” ในสินค้าเฮาส์แบรนด์บางชนิด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ... ผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 เปรียบเทียบฉลากแป้งเด็ก

        อย. ยืนยันแป้งฝุ่นโรยตัวเด็กที่ขายในไทยปราศจากการปนเปื้อนแร่ใยหิน  ย้ำ ! มีการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าอย่างเข้มงวด และเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ (https://www.komchadluek.net/news/regional/431652)           การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกโรงยืนยันอีกครั้งเรื่องแป้งฝุ่นไม่มีอันตรายนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องสำอาง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมากจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหาย (คดีแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่น)         กรณีประเทศไทย อย.ยืนยันว่าได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์แป้งฝุ่นโรยตัวเด็กจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) พบว่าทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน (จากสารทัลค์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในแป้งฝุ่น) จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรการเฝ้าระวังของ อย.         อย่างไรก็ตามหากจำกันได้ ย้อนไปเมื่อปี 2559 นิตยสารฉลาดซื้อได้สำรวจและเปรียบเทียบฉลากแป้งฝุ่นโรยตัวเช่นกัน โดยเน้นเรื่องส่วนประกอบสำคัญและคำเตือน ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อสรุปไว้เมื่อฉบับที่ 182 ดังนี้        1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง         2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ         3. คำเตือนที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์        4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ และ 1 ตัวอย่างไม่มีทัลค์          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการตามสถานการณ์ของนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราจึงเก็บตัวอย่างแป้งเด็ก ทั้งชนิดแป้งฝุ่นและชนิดเนื้อโลชั่น รวม 40 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบฉลากโดยดูส่วนประกอบและคำเตือน พร้อมเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนักต่อราคา ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้ออีกครั้ง สรุปการเปรียบเทียบฉลากระหว่างปี 2559 และ 2563 แป้งเด็ก แป้งฝุ่น ผลิตจากอะไร        แป้งเด็กและแป้งฝุ่นส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลค์ (Talc) หรือ แมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น ลดการเสียดสีของผิวหนัง และป้องกันผดผื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจแต่งกลิ่น สี หรือผสมสารอื่นเพิ่มเติม เช่น สารป้องกันความชื้น สารที่ทำให้ผิวเย็น สารสกัดธรรมชาติเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เป็นต้น         ผงทัลคัมทำมาจากแร่หินทัลค์ซึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ออกซิเจน ซิลิกอน และบางส่วนอาจมีเส้นใยแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นที่มีผงทัลค์เป็นส่วนประกอบจำนวน 73 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2558 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการตรวจสอบของ อย. ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเก็บตัวอย่างเดือนมิถุนายน 2563ราคาคำนวณจากราคาที่ซื้อ ณ จุดขาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดีจริงหรือ

        ผู้ใหญ่หลายคนมักทักเด็กน้อย หรือคนที่ขาเป็นแผลถลอกพุพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีรอยแผลเป็นที่ลายพร้อยไปทั้งแขน ขาว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งก็งงกันไปว่า มันไม่ดียังไง เกิดจากอะไร เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่า เพราะอันที่จริงโรคน้ำเหลืองไม่ดีนั้น ไม่มี มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง         บ้านเรานั้นอากาศร้อนชื้น มีแมลงรำคาญก็มาก ดิน น้ำ พงหญ้าชื้นแฉะ แมลงชุม เวลาที่ผิวหนังของเรา โดนแมลงต่างๆ กัด หรือระคายเคืองจากพืชบางชนิด หากมีอาการแพ้เกิดผื่นหรือตุ่มคัน บางคนเกาเบาๆ อาการก็ดีขึ้นหรือแค่ป้ายยาหม่องก็หาย แต่หลายคนคันมากก็เกามาก บางคนห้ามใจไม่อยู่เกากันจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนอง เมื่อแผลหายแล้วก็ยังเกิดเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้คิดถึงอีก อาการแบบนี้คนสมัยก่อนจะบอกว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ต้องกินยานี้ ไม่กินอาหารนี้เพราะมันแสลงโรค รวมทั้งมีสื่อที่โฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมหลายชนิดที่มักอวดอ้างสรรพคุณว่า กินแล้วช่วยให้หายจากโรคน้ำเหลืองไม่ดี มาขายในราคาแสนแพงอีกด้วย  สวยอย่างฉลาดคราวนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดอีกต่อไป และเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา            โรคน้ำเหลืองไม่ดี ไม่มีอยู่จริงในวงการแพทย์ ภาวะที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือโรคที่มีแผลเรื้อรังที่ขา แขน หรือผิวหนังของร่างกาย บางที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Impetigo ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ทั้งนั้น เพียงแค่การลุกลามและเรื้อรังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและรักษาอาการนั้นมากน้อยแค่ไหน                    การรักษาความสะอาดสำคัญที่สุด        ภาวะนี้หากเกิดกับเด็ก จะดูแลยากหน่อย เพราะห้ามเด็กไม่ให้เกาเมื่อคันนั้นยาก บางทีหลับแล้วก็ยังเผลอเกาจนน้ำเหลืองเยิ้มกลายเป็นแผลติดเชื้อ ดังนั้นต้องเริ่มจากการป้องกัน กล่าวคือ ไม่ควรให้เด็กเล่นดิน ทราย หรือน้ำที่สกปรก ไม่เข้าพงหญ้าที่มีแมลง แต่หากสัมผัสกับสิ่งสกปรกเหล่านี้ต้องรีบล้างทำความสะอาดทันที และควรต้องตัดเล็บเด็กให้สั้นเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเล็บและการเกาจนเกิดบาดแผล         การรักษา หากเกิดตุ่มคัน ผื่นแพ้ บวม แดง ให้รีบล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลโดยอาจฟอกด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น chlorhexide หรือทายาฆ่าเชื้อกลุ่ม cloxacillin dioxacillin หรือ Cephalexin แต่หากอาการรุนแรง แผลลุกลาม มีไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบบกินหรือฉีด และอาจต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล         ในผู้ใหญ่ก็คล้ายกัน ป้องกันก่อนดีที่สุด หากเกิดผื่นแพ้หรือตุ่มคัน ควรหายาทาบรรเทาอาการ หรือรับประทานยาแก้แพ้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือ การรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น อาบน้ำล้างแผลให้สะอาด ไม่แกะ ไม่เกาแผล เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่แผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า         เรื่องจริงของแผลติดเชื้อ        ·  ไม่มีของแสลง อาหารกินได้ทุกชนิด ไม่ต้องงด เนื้อ นม ไข่        ·  พ่นยา พ่นเหล้า พ่นสมุนไพร อาจจะยิ่งติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น        ·  ไม่มีอาหารเสริมเพื่อมารักษา ดีสุดกินอาหารครบ 5 หมู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ของเด็กเล่นต้องปลอดภัย

ของ “เด็ก” เล่น        ของเล่น ในความเข้าใจของคนทั่วไปคือ สิ่งของที่มีไว้สำหรับ “เล่น” ของเด็ก เพื่อให้สนุกและเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะ ”ของเล่น” นั้น คนทุกวัยสามารถสนุกและเพลิดเพลินได้ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำสิ่งของทั่วไปจากธรรมชาติหรือประดิษฐสิ่งของขึ้นเพื่อเล่นมาตั้งแต่อดีตกาล มีหลักฐานสืบค้นได้จากวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณคือ ว่าว ลูกดิ่ง(โยโย่) ลูกบอล เป็นต้น         อย่างไรก็ตามการเล่นสิ่งของของเด็กมีความพิเศษต่างไปจากวัยอื่น เพราะของเล่นถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการในด้านต่างๆ สำหรับเด็กด้วย  โดยพื้นฐานแล้วของเล่นทุกประเภทนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ของเล่นที่ต้องใช้กำลังและการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงเพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวและรองรับการเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ขณะที่การเล่นของเล่นที่ใช้การสัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม เช่น การปั้นดินน้ำมัน การเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ช่วยควบคุมนิ้วมือให้ทำงานที่มีความละเอียดอย่างการวาดรูป เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านของพัฒนาการทางสติปัญญา ของเล่นช่วยให้เด็กเพิ่มความสามารถในการคิด การวางแผน การวางลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วย         ของเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐเสมอไป แค่กิ่งไม้ ดิน ทราย กระดาษ ก็เป็นของที่เด็กนำมาเล่นได้ แต่สำหรับโลกปัจจุบันของเล่นในรูปแบบสิ่งประดิษฐนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทั้งสินค้าของเล่นที่ผลิตในประเทศและสินค้าของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความรู้และความใส่ใจในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากของเล่นได้ง่ายและรุนแรงถึงขนาดก่อผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหรือถึงแก่ชีวิตได้  ในเกือบทุกประเทศของเล่นจึงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมด้วย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทย “ของเล่น” สำหรับเด็ก ถือเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัยและรอดพ้นจากอันตรายเมื่อเล่นของเล่นทำไมไทยจึงยังมีปัญหาจากของเล่นไม่ได้มาตรฐาน        แม้มีการกำหนดให้ของเล่นเป็นสินค้าที่ต้องมีตรา มอก.หรือมาตรฐานบังคับ แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารและงานวิจัยหลายฉบับพบว่า ยังคงมีสินค้าของเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่        1.ผู้บริโภคนิยมซื้อของเล่นที่วางจำหน่ายในตลาดที่เน้นราคาถูก และนิยมของเล่นที่เป็นสินค้าเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์(ของปลอม) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. หรือมีตราสัญลักษณ์ที่ปลอมขึ้นมา สินค้าประเภทนี้มักพบในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทุกชิ้นราคาเดียว ซึ่งร้านค้าประเภทนี้มีการกระจายตัวไปทั่วประเทศในเกือบทุกชุมชน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยากที่จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทั่วถึง และยังรวมไปถึงร้านค้าที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายแต่ยากแก่การกำกับดูแล        2.ช่องโหว่ของกฎหมายในการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต เพราะ “ของเล่น” จำนวนมากในตลาดไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นของเล่นตามกฎหมาย ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่อาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้นิยาม “ของเล่น” ตาม มอก.685-2540 คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ใช้เล่น        ของเล่นโดยนิยามนี้คือ “ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้เด็กเล่น” และ “เด็กหมายถึงผู้มีอายุไม่เกิน 14 ปี” ดังนั้นหากเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่แสดงเจตนาว่าเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภควัยใด สินค้านั้นจะไม่จัดเป็นของเล่นตามนิยามนี้ แต่ในส่วนของการวางจำหน่าย ส่วนใหญ่ผู้ขายจะจงใจนำสินค้าที่ไม่เข้านิยามของเล่นไปจำหน่ายให้แก่เด็ก เช่น การวางขายปะปนในชั้นวางของเล่น หรือจำหน่ายในร้านที่ขายเฉพาะของเล่นที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย        3.การขาดระบบการตรวจสอบหลังการวางจำหน่าย การกำหนดให้ของเล่นได้มาตรฐาน มอก. ทำให้ผู้ผลิตของเล่นสำหรับเด็กตามนิยามกฎหมายต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานและนำสินค้าไปทดสอบก่อนได้รับมาตรฐานและวางจำหน่าย เช่นเดียวกันกับการนำเข้าเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและเก็บตัวอย่างไปทดสอบกับหน่วยตรวจ จึงจะได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดอายุของใบอนุญาต ทำให้ภายหลังจากการได้รับอนุญาตของเล่นเด็กหรือการนำเข้าของเล่นเด็กแล้ว ของเล่นที่ได้รับการอนุญาตจะไม่ได้รับการติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม         แม้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรามาตรฐานบังคับ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ในการกำกับดูแลความปลอดภัย  ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องเรียนหรือเมื่อพบว่าความเป็นอันตรายของสินค้าได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจเอง กฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด        4.ข้อกำหนดสำหรับการกำกับดูแลความปลอดภัยในของเล่นในระดับสากลมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ในขณะที่มาตรการกำกับดูแลของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มากและไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ยังมิได้กำหนดห้ามสารในกลุ่มทาเลต(Phthalates) นำมาเป็นส่วนประกอบในของเล่นเด็ก ซึ่งในมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับของเล่นเด็กอย่าง EN 71 (มาตรฐานสหภาพยุโรป) และ ASTM F 963 (มาตรฐานสหรัฐอเมริกา) ได้กำหนดห้ามไว้นานแล้วข้อมูลนลินี ศรีพวงและคณะ. การศึกษาวิจัยพิษและอันตรายในของเล่นเด็กและมาตรการความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2551. “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก” ศรารัตน์ อิศราภรณ์.วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2561)“มหาภัยของเด็กเล่น” http://www.csip.org/csip/autopage/show_page.php?h=119&s_id=30&d_id=24&page=1&start=1“วันเด็กกับสถานการณ์อันตรายของเล่นในประเทศไทย” http://www.csip.org/csip/autopage/print.php?h=119&s_id=153&d_id=153&page=1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผลทดสอบสารทาเลตในของเล่น/ ของใช้พลาสติก

ทาเลต (Phthalates) เป็นกลุ่มของสารที่ใช้ผสมในพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยทำให้เกิดความอ่อนนิ่มมากขึ้น ทาเลตไม่มีพันธะเคมีที่เชื่อมต่อกับพีวีซี จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์พีวีซีไปเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่อาจมีส่วนประกอบของทาเลต เมื่อเด็กใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นของใช้ ก็อาจได้รับสารทาเลตได้        ทาเลตบางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทาเลตบางชนิดจึงมีข้อจำกัดในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่นในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย PUBLIC LAW 110-314 มาตรา 108 เพื่อควบคุมปริมาณทาเลตในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีทาเลตได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ซึ่งในสหภาพยุโรปและแคนาดาก็มีการออกกฎหมายควบคุมเช่นกัน         เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณทาเลตในสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กอย่างชัดเจน ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นเด็ก ของคล้ายของเล่นที่เด็กอาจนำมาเป็นของเล่น และของใช้ประเภทพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะผิวสัมผัสนิ่ม สามารถกด ยืด หรืองอได้ จำนวน 51 ตัวอย่าง ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อนุพันธ์ทาเลตทั้งหมด 6 ชนิด (ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบ ในบริเวณหรือส่วนที่สัมผัสถึง) ได้แก่         1) บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)         2) ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต  di-n-butyl phthalate (DBP)           3) เบนซิลบิวทิลทาเลต  Benzyl butyl phthalate (BBP)          4) ไดไอโซโนนิลทาเลต  di-iso-nonyl phthalate (DINP)          5) ไดไอโซเดซิลทาเลต  di-iso-decyl phthalate (DIDP)         และ 6) ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต  di-n-octyl phthalate (DNOP)          เพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับทาเลตในของเล่นของสหภาพยุโรป และมาตรฐานอุตสาหกรรม (ฉบับร่าง)โดยเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในตัวอย่างของเล่น แสดงดังตารางต่อไปนี้ซึ่งผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลตทั้ง 7 ชนิด จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้  แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลต จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ทั้งหมด 51 ตัวอย่างสรุปผลการสำรวจ        ผลการตรวจของเล่น/ของใช้ จำนวนทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบสารทาเลต (phthalates) เกินกว่าค่ามาตรฐานสากล จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 35.29 โดยชนิดของอนุพันธ์ทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุด คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)แผนภูมิผลการทดสอบปริมาณทาเลตในตัวอย่างของเล่น/ ของใช้ 51 ตัวอย่าง        และยังพบว่า ของเล่นที่ตรวจพบค่าทาเลตรวมสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่        1)  ยางบีบหมู จาก ตลาดบางพลัด (หน้าเมเจอร์ปิ่นเกล้า) ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ (ต้องไม่เกิน 0.1) ประมาณ 378 เท่า         2)  แรคคูณสีเหลือง จาก ร้านค้าเช่น ชั้น 2 ห้างเซ็นจูรี่ฯ อนุสาวรีย์ชัยฯตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  36.42 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)                 และ 3)  พะยูนสีเขียว จาก ร้านค้าเช่าขายของเล่น แฟลตคลองจั่น ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  35.739 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)         โดยผลทดสอบจากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 20 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45         ส่วนตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อนอกห้างสรรพสินค้า จำนวน 25 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36        ทั้งนี้ จากการสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. พบว่า        ตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 45 ตัวอย่าง (ไม่รวมของเล่นที่สั่งซื้อออนไลน์ 6 ตัวอย่าง) มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. 19 ตัวอย่าง และ ไม่มีเครื่องหมาย 32 ตัวอย่าง        ซึ่งของเล่น/ของใช้ที่มี มอก. 19 ตัวอย่างข้างต้น ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36.84        ส่วนที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 26 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42         และตัวอย่างของเล่นที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง จากร้านค้าในเว็บไซต์ Shopee และ Lazada เป็นของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีคำอธิบายภาษาไทย ไม่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. ซึ่งไม่พบสารทาเลตสูงเกินค่ามาตรฐานสากล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ทำไมจักรยานยนต์จึงควรช้าลง

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์“เด็กคนนี้หมอได้รูปมาจากโคราชเด็กกำลังขับขี่รถกลับจากโรงเรียนตอนเย็น แล้วก็ไปชนกับรถบัส เป็นโชคดีในโชคร้ายก็คือรถบัสไม่ได้ตกถนนไปเพราะหักหลบเด็กคนนี้ ถ้ารถบัสตกถนนไปก็จะมีคนในรถบัสตายอีก” อาจารย์ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ ในวัยเกษียณอายุราชการ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาสำนักงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) และอาจารย์ผู้สอนและผู้เขียนตำราสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร Board of Traffic medicine, Medical council, Thailand เริ่มต้นเล่าปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการตายในปัจจุบัน         ในภาพรวมของอุบัติเหตุขนส่งทั้งหมด เราจะเห็นภาพผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร แล้วก็คนเดินเท้า มี 72 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งในกลุ่มผู้ขับขี่ 89 เปอร์เซ็นต์เป็นมอเตอร์ไซด์ ในส่วนของผู้โดยสาร 23 เปอร์เซ็นต์ มี 64 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้โดยสารมอเตอร์ไซด์ ถามว่าแล้วคนเดินเท้าถูกชนด้วยรถอะไรมากที่สุด ก็มอเตอร์ไซด์อีก    เราปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้มานานเกินไปเป็นยี่สิบกว่าปี มันก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามาดูในเด็กต่ำกว่า 18 ปีก็จะเห็นได้ว่า เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ 55 เปอร์เซ็นต์ พอไปดูจริงๆ ก็เป็นขับรถมอเตอร์ไซต์ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในกลุ่มผู้โดยสารก็เป็นโดยสารมอเตอร์ไซต์ 74 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ถูกชนก็โดยมอเตอร์ไซต์อีก ยังไงก็หนีไม่พ้นมอเตอร์ไซต์ “หมอก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่มีการขยับ” เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหลักๆ ลองดูในเด็กที่ไม่ควรมีใบขับขี่แล้ว  พวกเขาไม่ควรขับขี่รถใดๆ เลย แต่เราก็ยังพบว่าเขาเป็นผู้ขับขี่ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ (เป็นรถมอเตอร์ไซต์สักเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้โดยสาร 42 เปอร์เซ็นต์) ทุกอย่างเป็นมอเตอร์ไซต์หมด         ที่นี้เรามาดูกลุ่มอายุในกลุ่มมอเตอร์ไซด์แท้ๆ เลย กลุ่มมอเตอร์ไซต์แท้ๆ จะเริ่มบาดเจ็บรุนแรงได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดก็มีแล้ว เพราะเอาเด็กขึ้นมอเตอร์ไซต์ 10-14 ปี ชัดเจนแต่ไปสูงสุดที่ 15-19 ปี แล้วก็ไล่ๆ ลงมา แม้แต่วัยที่สมควรมีใบขับขี่แล้วคือ 20 ปี อันนี้เป็นอีกฐานหนึ่งที่เราต่างกันไป เราได้ ข้อมูลเรื่องการตายรวมจาก 3 ฐาน ที่พบว่า ผู้ตายจากบาดเจ็บอุบัติเหตุขนส่ง  15-19 ปี มีสัดส่วน เพิ่ม จาก2552ไป2557 เกือบ5%  จากนพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ข้อมูล 3 ฐานอันนี้เราจะเห็นได้แม้แต่กลุ่ม 20 ปี ตอนนี้ที่ยุโรปเขาถึงได้มีการเจรจาอยากจะเปลี่ยนคนที่ขับรถได้ให้เป็นอายุแถวๆ 25 ปี ซึ่งคงยากเพราะตรงนี้เขาจะดูกราฟจับแยกกันแล้วก็ตัดสิน เราเห็นกราฟพวกนี้มานานแล้ว สัดส่วนการตายในกลุ่ม 15-19 ปี ล่าสุดที่หมอเห็นปี 2552-2557 ขึ้นมาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เด็กเราตายเพิ่มขึ้น สรุปว่าเราอยากได้คนหนุ่มคนสาวไว้ดูแลคนแก่ แต่ว่าจะมาตายเพราะมอเตอร์ไซต์กันเยอะมากๆ ถ้ามาดูเป็นรายขวบปีอันนี้ก็เป็นการที่บาดเจ็บรุนแรง รุนแรงแปลว่า Admit  ดูอาการ หรือตายในโรงพยาบาลรวมหมด ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ขวบหนึ่งบาดเจ็บมานอนโรงพยาบาลแล้ว ไล่ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นจากฐานเฝ้าระวังของ 33 โรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทย หรือก็คือหนึ่งในสาม ถ้าประมาณการคร่าวๆ ทั้งประเทศก็คูณสามเข้าไป แปลว่าทุกๆ ปีเราจะมีคนบาดเจ็บประมาณสามเท่าของอันนี้ แล้วจะเห็นได้ว่าสถิติมันขึ้นชัดเจนมาที่ประมาณอายุ 12 ปี 13 ปี 14 ปี แล้วก็กระโดดขึ้นมา 15 ปี เพราะว่าได้ใบขับขี่ชั่วคราวแล้ว สถิติก็ขึ้นไปอีกไปสิ้นสุดที่อายุ 19 ปี จึงจะเริ่มลงมาหน่อย ภาพรวมนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่ 2538        มาดูสถิติคนตายจากการใช้รถจักรยานยนต์ คนตายเริ่มตั้งแต่ขวบหนึ่งก็มีแล้ว ทุกคนอยู่บนมอเตอร์ไซด์จะขี่หรือจะซ้อนก็ตามเรารวมหมด เป็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ แล้วก็จะเริ่มมีผู้ขับขี่ให้เห็นตอน 8 ขวบ คนที่ตายจากการใช้รถจักรยานยนต์เป็นรายปีจะเห็นว่ามันไปสูงสุดที่อายุ 19 ปี ตรงนี้เป็นอะไรที่เราควรจะปกป้องเขาไหม         มาดูเวลา เวลาที่เขาตายเวลาที่เขาเจ็บรวมกันจะเห็นว่ามันเริ่มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คือตั้งแต่ตอนเวลาเราออกจากบ้านแล้วไปสูงสุดที่ 19.00 น. เพราะฉะนั้นเด็กที่ได้ใบขับขี่ปีแรกไม่ควรจะออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็นแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรมันไม่ใช่โรงเรียนนี่ แต่ว่าขนส่งจะบอกเสมอเลยว่าคุณหมอต้องยอมให้เด็กขี่มอเตอร์ไซต์นะเพราะเขาต้องไปโรงเรียน เขาต้องไปทำอะไรให้พ่อแม่ เรื่องนี้คุยกับขนส่ง(กรมการขนส่งทางบก) มาหลายปีแล้วไม่มีทางทำอะไรกับเรื่องที่เขาอ้างได้ ถามว่า การขับขี่จักรยานยนต์เกิดการตาย การตายเกิดจากอะไรมากที่สุด เกิดจากการชนถึง 73 เปอร์เซ็นต์ คว่ำเองก็มีประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ ที่มาสถิตินี้นี้เกิดจากการศึกษาเครือข่ายเฝ้าระวัง 9 โรงพยาบาล            ถามว่ารถชนส่วนใหญ่ชนจากใคร ถ้าเอาเป็นยานพาหนะที่เขาชนร่วมก็คือรถจักรยานยนต์ด้วยกันเอง ปิกอัพ รถเก๋ง อันนี้ต่างจากฐานข้อมูลตำรวจ ฐานข้อมูลตำรวจมักจะใส่รถใหญ่ ไม่ใส่รถมอเตอร์ไซต์เพราะว่ามอเตอร์ไซต์กับมอเตอร์ไซต์มันอาจไม่นับเป็นกรณี(case) ได้ เจ็บไปโรงพยาบาลแต่ไม่แจ้งตำรวจ เห็นใจกันอันนี้ก็เป็นจุดที่ต่างกัน         เวลาเรานำเสนอต้องดูทั้งสองทาง มาดูกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ อายุน้อยที่สุด ป.1 อายุ 7 ปีที่เจ็บมานอนโรงพยาบาล แล้วเวลาเราไปเมืองนอกตอนนำเสนอ Young Driver ของประเทศอื่นเขา 18 ปี พอเราบอกของเราว่า 7 ปี ต่างชาติเขาบอกว่าเป็นไปได้อย่างไร     ที่เมืองเขาไม่ให้เกิดหรอกผู้ใหญ่จะห้ามเด็กไว้ไม่ให้ออกจากบ้าน เกิดอะไรขึ้นทำไมปล่อยให้เกิดอย่างนี้ได้ เมืองไทยคือขับตั้งแต่ 5 ขวบ 6 ขวบ พอขายันถึงก็ขี่แล้ว อายุ 12 ปีมีอัตราส่วนผู้ขับขี่ต่อผู้โดยสารคือ 2 ต่อ 1 อายุ 12 ปีก็ขี่มากกว่าซ้อนแล้ว แต่ว่าพ่อแม่ปล่อยให้เขาใช้ กลุ่มอายุที่ต้องมีใบขับขี่แต่ไม่มีบ่อยที่สุดคือ 15-19 ปี พวกนี้ยังไม่มีใบขับขี่ อันนี้เรารู้กันมานานแล้ว วิธีแก้ของขนส่งก็คือรีบแจกให้มันเยอะๆ ซึ่งมันก็ผิดทางอีก กลุ่มที่อายุขับขี่แล้วก็ไปชนกับคนอื่นก็เป็นกลุ่มนี้แหละ 15-19 ปี เราเริ่มสงสัยแล้วว่าการอนุโลมให้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีตั้งแต่ 2548 ไม่น่าจะช่วยลดปัญหาแต่กลับเพิ่มการตายในกลุ่ม 15-19 ปี แล้วก็กระตุ้นการขับขี่ก่อนวัยอันควรในอายุ  6-14 ปี อันนี้ คือกฎกระทรวงที่ออกในปี 2548 หมอโมโหมาก หมอไม่รู้เรื่องนี้ก่อนเลยขนาดเป็นนักวิชาการขนส่ง ใบอนุญาตใบขับขี่เด็กต่ำกว่า 15 ปีให้ขับขี่ได้ไม่เกิน 110 กม./ชม. (เดิม 90) พอหมอไปเมืองนอกได้สักปีสองปีเขาก็ทำอันนี้เลยซึ่งไม่มีใครรู้แล้วเราก็เพิ่งมาเห็นกัน  ดูเหตุผลนะคะ เหตุผลอันนี้น่าตื่นเต้นมาก เหตุผลในการประกาศคือ เพราะว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มขนาดความจุของกระบอกสูบให้สูงขึ้น มันไม่มีกฎหมายประเทศไหนหรอกที่ออกตามคนขาย มีแต่มันต้องออกมาคุมไม่ให้ทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ฟ้องให้เห็นเลยว่า “ประเทศไทยทำผิดทาง” แล้วขนส่งไม่ต้องไปคุยเลย เขาไม่ทำ เราคุยเรื่องนี้กันมา 30 กว่าปีแล้ว เรื่องของ “คำ” ที่ใช้ในการโฆษณามีส่วนด้วยไหม         ที่สำคัญเลยก็คือการโฆษณานี่แหละ การโฆษณาของประเทศไทยก็จะมีคำว่า  เร็ว เจ๋ง New Model  Maximum Speed  เพิ่มขึ้น ของเมืองนอกจะเขียนแค่ เท่ สกู๊ตเตอร์ธรรมดา แล้วก็ขับขี่ smooth(นุ่มนวล) ที่สำคัญก็คือพรีเซนเตอร์ กลุ่มที่เอามาโฆษณาประเทศเราใช้เด็กวัยรุ่น ใช้คนหนุ่มสาว ใช้ทั้งครอบครัว มันระบาดไปทั่วโลก อย่างกรณีหนึ่งมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราวัยรุ่นชายของไทยแสดงการขับขี่สื่อถึงความเร็ว โฆษณาออกทีวีเลยยกล้อออกทีวีค่ะ ตอนนั้นหมออยู่อินเดียหมอเลย capture หน้าจอไว้ แล้วหมอก็ไปพูดที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคมเขาตอบสนองทันที เขาสั่งห้ามโฆษณาแบบนี้ แล้วก็ออกมาเป็นตัววิ่งว่าถ้าใครเห็นโฆษณาที่สุ่มเสี่ยงอย่างนี้ให้โทรไปรายงานที่ Hotline เบอร์นี้         หมอก็นึกว่าเมืองไทยเรียบร้อยแล้วคงทำกันดีแล้ว พอเกษียณกลับมาก็ไปเปิดดู นี่เลย 2019 ตอนแรกเขาให้โชว์เปิดตัวเฉยๆ แต่ตอนจบของการแข่งในสนามยกล้อให้ดูตอนจบพอดี หน้าพระบรมมหาราชวัง เด็กมันเห็นยกล้อ  เด็กไม่ได้คิดเองเท่าไหร่หรอกแค่รู้ว่าทำได้ แล้วเห็นจากที่ไหนล่ะ ก็โฆษณา  โฆษณาเขาบอกว่าเด็กต้องขี่มอเตอร์ไซต์ ขี่เร็วขี่แข่งกับนักแข่งได้แล้วก็ไม่ต้องไปคนเดียวนะไปได้สามคนเพราะเบาะยาว ทุกอย่างมันเหนี่ยวนำหมด เขาโชว์แบบนี้มันดูสนุกสนานตื่นเต้นน่าดู เขาไม่เคยโชว์อันตราย  ซึ่ง “อันตราย” อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่ตำรวจเห็น   สิ่งที่หมอเห็น สิ่งที่พยาบาลเห็นอยู่ทุกวัน คนที่รอดตายมาได้ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ลองดูรถคันนี้นะคะ(คุณหมอแสดงภาพอุบัติเหตุ) จักรยานยนต์คันเดียวไปกัน 4 คน แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก  เขาซื้อเพราะโฆษณา ที่สื่อข้อความว่า เป็นความฝัน ตั้งชื่อดีมากเลย Dream ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชนชั้นกลาง และชนชั้นที่รายได้อยู่ด้านล่างเขาก็ใฝ่ฝันอย่างนี้ว่า สักวันเขาต้องมี นี่คือสิ่งที่เขาฝัน แต่สิ่งที่เขาต้องเจอคืออย่างนี้ ใครจะไปคิดว่าลูกน้อยของเขาจะถูกดูดเข้าไปในนี้ ชายผ้าอ้อมมันลงไปแล้วล้อมันพันเด็กเข้าไปคาอยู่ระหว่างซี่ล้อเลยดึงแรงมาก มันไวด้วยนะพันก็เรียบร้อยเลย         มีอีกอันที่อาจารย์หลายท่านเป็นห่วงว่าอย่าให้มีตะกร้าหน้ารถ ขอเลย เพราะตะกร้าหน้ารถนี่เขาบอกมันสบายดีมันใส่ของได้แต่ถ้าใส่เยอะๆ มันบังไฟไม่ปลอดภัย แล้วถ้าหนักก็ทำให้หน้ารถส่าย แต่ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือว่ามันเอาไว้เก็บหมวก พอพ้นตำรวจแล้ววางหมวกได้ แต่ถ้าเราไม่มีตะกร้าเขาก็จะลำบากหน่อย มอเตอร์ไซด์ไทยปลอดภัยจริงไหม         ปลอดภัยจริงไหม บริษัทรถเขามักพูดอยู่เสมอว่า รถเขาได้มาตรฐานเขาพูดทุกครั้ง อันนี้ต้องขอบคุณ ดร.ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิชาการอิสระ เป็นคนแรกที่ทำวิจัยนี้ให้ ลองดูข้อมูลนี้ ฮอนด้าสกู๊ปปี้ ที่ญี่ปุ่นหน้ายางล้อ 90 มิลลิเมตรของเรา 70 มิลลิเมตรหน้ายางเราแคบกว่า แล้วก็วงล้อของเขา 10 นิ้ว ของเรา  14 นิ้ว ความเร็วสูงสุดของเขาให้แค่ 90 กม./ชม. แต่สิงห์มอเตอร์ไซต์ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นเขาควบคุมที่ตัวจุดไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าไม่ให้มันวิ่งได้เร็วของเราเร็วที่สุดเลยคือ 143 กม./ชม. ลองดูทุกยี่ห้อมีหมด ในกลุ่ม Family มอเตอร์ไซต์กลุ่มครอบครัว อันนี้เอามาเพื่อฆ่าครอบครัวโดยตรง 125 ซีซี หน้ายาง 89 มิลลิเมตร แต่ว่าของไทยหน้ายาง 70 มิลลิเมตร  ที่สำคัญคือคุณศิริวรรณเขาฝากว่า เขาเห็นว่าเบาะมันน่าจะยาวกว่าด้วยนะ ต้องไปวัดดูเพราะว่าเบาะยาวกว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นถ้าเบาะยาวซ้อนได้เยอะได้สามสี่คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นด้วยบังเอิญ ทุกอย่างมันมีการวางแผนไว้ ของสหรัฐอเมริกาคุณศิริวรรณเขาทำไว้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาความเร็วอยู่แถวๆ 70 90 / 65 90 แล้วเขาก็สังเกตว่าน้ำหนักรถมันมากกว่า จุดนี้อาจารย์พิชัย ธานีรณานนท์ ก็บอกว่าน้ำหนักรถมันเยอะกว่า แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร น้ำหนักรถของมอเตอร์ไซต์ในปะเทศไทยถึงเบากว่า พอน้ำหนักเบาปุ๊บมันก็วิ่งได้เร็วขึ้น อาจจะเปลี่ยนเหล็กมาเป็นพลาสติก(ไม่แน่ใจ) แล้วคุณศิริวรรณเขาก็บอกหมอๆ นึกดีๆ นะ  ถ้ามันเบาลงมันดีอย่างไรเด็กมันบังคับได้ เด็กตัวเล็กๆ มันก็บังคับมอเตอร์ไซต์ได้ เพราะมันไม่หนัก เรามาดูว่าทางบริษัทมอเตอร์ไซด์นี่เราคุยกับเขานานแล้ว เขาบอกว่าของเขาได้มาตรฐานแล้วก็ไม่มีปัญหาของเขาปลอดภัยจนกระทั่ง ผศ.ดร.จุฑามาศ ม.สงขลา พูดเรื่อง การทดสอบเพียงแค่ 60 กม./ชม. และข้อมูลที่อาจารย์ไม่ได้กล่าวแต่แสดงตารางการเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ  เห็นได้ว่า รถจักรยานยนต์รุ่นเดียวกัน ในอังกฤษ เกือบทั้งหมด หน้ายางกว้างกว่าไทยชัดเจน  ของไทยกับของอังกฤษที่บอกว่าปลอดภัยเหมือนกันนี่ปลอดภัยจริงไหม เพราะว่าเราไม่สามารถจะบังคับให้มอเตอร์ไซต์มาแถลงต่อหน้าศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนนได้ คือตอนนั้นคุยกันแล้วและเราก็เถียงกันแล้ว เราก็บอกว่าเขาขอพบหมอนอกรอบ หมอบอกไม่พบเพราะถ้าพบแล้วหมออาจถูกถ่ายรูปแล้วไปโชว์ว่าหมอชไมพันธุ์ support  หมอบอกไม่พบค่ะ พบกันที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเลย ตอนนั้นหมออยู่ต่างประเทศแล้ว ปรากฏว่าเขาฝากคนที่เคยทำงานของญี่ปุ่นมาติดต่อ ทีนี้เขาก็บอกว่าของเขาปลอดภัย ผลการทดสอบ เราทดสอบที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่รู้ว่ามันวิ่งได้ 130  พบว่า หน้ายางที่กว้างจะช่วยผู้ขับขี่ควบคุมรถได้มีเสถียรภาพมากกว่าหน้ายางแคบ เพราะพื้นที่สัมผัสระหว่างยางกับถนนมากแรงเสียดทานมากและยึดเกาะถนนดีกว่า         ดร.จุฑามาศ เสนอแนะอย่างกล้าหาญเลยบอกว่า ควรจะมีหน้ายางที่กว้างขึ้น โดยที่ผู้ผลิตจักรยานยนต์ในประเทศไทยควรผลิตหน้ายางให้กว้างขึ้นอย่างน้อยยางหน้า 110 มิลลิเมตร ยางหลังก็เป็น 120 มิลลิเมตร และควรจะมีการวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นการนำเสนอที่กล้าหาญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่วิศวกรจะไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้ เหมือนหมอไม่ค่อยจะทำอะไรกับบริษัทยาอารมณ์เดียวกัน เรามาดูว่าแล้วที่บอกว่าแรงยึดเกาะถนนต่ำวิ่งเร็วดัดแปลงทำความเร็วได้นี่เจ็บจริงไหม ก็เจ็บมาเป็นอันดับต้นๆ นี่คือร้อยละของรุ่นจักรยานยนต์ที่ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตใช้ ก็เป็นไปตามส่วนแบ่งการตลาด(Market share)   คือ Market share เป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ใครขายดีกว่า สถิติการบาดเจ็บ ตาย ก็เรียงแบบเดียวกัน แล้วที่สำคัญรุ่นล้อกว้างสร้างเด็กแว้น พวกนี้เป็นอีกกลุ่มคือเขาไปทำเนื่องจากตะเกียบมันยาว เขาสามารถจะเอาล้อเล็กๆ ยางเล็กๆ ไปใส่เพื่อให้วิ่งเร็ว ลองดูที่เขาจับมาที่เป็นเด็กแว้นมันจะเป็นมอเตอร์ไซต์ถูก    มันไม่ใช่มอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ คือพวกนี้เขาไปกว้านลูกสูบ ไปเปลี่ยนยาง ราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยถูกเมื่อคิดเป็นเหรียญสหรัฐ เราไม่รู้ทำไมถึงทำได้ถูกมาก ปรับเปลี่ยนค่านิยมจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ไหม         ทำไมมันเกิดวิถีชีวิตแบบนี้ขึ้นมาในสังคมไทย เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมันถูกหลอมมา ฝรั่งถามว่าผู้ใหญ่เมืองไทยไปไหนหมดทำไมปล่อยให้เด็กขี่ ต้องบอกว่าพ่อแม่ให้หนูขี่เองใช้ไปซื้อของด้วยซ้ำไป แปลว่าเขาไม่คิดว่ามันอันตราย เมื่อก่อนนี้เขาก็ให้ลูกขี่ควายไปปากซอยไปปากถนน ตอนนี้ควายไม่มีแล้วมีแต่มอเตอร์ไซต์ส่งไปไม่เห็นมีใครบอกว่ามันอันตรายเลยใช่ไหม         ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข เป็นด็อกเตอร์ทางสังคมศาสตร์ท่านไปวิจัยไปอยู่คลุกคลีกับคนใช้มอเตอร์ไซต์ ท่านบอกว่ารถมอเตอร์ไซต์ที่แม่ซื้อให้ตอน ม.1 ที่จริงไม่ใช่ของขวัญ  ที่แท้แล้วคือเป็นภัยร้ายพ่อแม่สอนเองตั้งแต่ ป.5 แล้วตัดสินใจซื้อรถเมื่อ ม.1 บังเอิญท่านเป็นเด็กโชคดีที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้ บางคนเขาบอกเพราะว่าลูกอยู่ไกลถ้าเป็นหมอๆ ก็เข้าใจเขานะถ้าเขาต้องจ่าย 800 บาททุกเดือนเป็นค่ารถประจำทาง รถรับส่งนักเรียน เราเอา 800 บาททุกเดือนมาผ่อนมอเตอร์ไซต์ 2 ปีก็ได้แล้วคันหนึ่ง เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดาเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายว่ามันมีผลกระทบอย่างไร แล้วก็ยากด้วยที่คนต่างจังหวัดจะไปไหนมาไหนโดยไม่มีมอเตอร์ไซต์         คุณศิริวรรณที่เป็นคนวิจัยเขาบอกว่าเขาเป็นคนหนองคาย เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขามีรถประจำทางวิ่งจากท่าบ่อเข้าหนองคาย ต่อมาพอรถมอเตอร์ไซต์เยอะๆ มันเจ๊งหมด ตอนนี้หลานเขาต้องซ้อนมอเตอร์ไซต์ไปเพราะว่าเป็นวิธีเดียวที่จะไปโรงเรียน ขนส่งมันพังหมดเลยต้องให้บริษัทมอเตอร์ไซต์มาช่วย ถ้าระบบขนส่งดีทุกคนเข้าถึง ปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซต์กับอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์คงดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แว่นกันแดดสำหรับเด็ก

        ฉลาดซื้อรับร้อนด้วยผลทดสอบแว่นกันแดดที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT โดยสมาคมผู้บริโภคออสเตรีย (VKI) เป็นเจ้าภาพทำไว้ เขาทดสอบแว่นกันแดดสำหรับเด็กที่เป็นที่นิยมในยุโรป (แต่ผลิตในจีนหรือไต้หวันเป็นส่วนใหญ่) ไว้ทั้งหมด 30 รุ่นการทดสอบครั้งนี้ใช้ต้นทุนไม่มากเมื่อเทียบกับการทดสอบเรื่องอื่นๆ แต่ก็ได้ผลทดสอบที่ยืนยันว่าราคาอาจไม่บ่งบอกคุณภาพ แว่นสองรุ่นที่ได้คะแนนเต็ม 100 ได้แก่ Primetta และ Marvel Ultimate Spider-Man นั้นราคาไม่เกิน 300 บาท แต่แว่นราคาเกือบ 900 บาทกลับได้คะแนนไปแค่ 48 คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ระดับการป้องกันยูวี ความทนทานต่อการตกหล่น (สำรวจความเสียหายหลังปล่อยแว่นจากความสูง 1.5 เมตร ทั้งหมด 5 ครั้ง) ความทนทานต่อการแตกหัก (หลังถูกอาสาสมัครน้ำหนัก 75 กิโลกรัม นั่งทับบนเก้าอี้ 5 ครั้ง) การทนต่อรอยขีดข่วน (โดยใช้ปากกาทดสอบ Erichsen Hardness รุ่น 318S) การป้องกันแสงจากด้านข้างดวงตา (จากการสัมภาษณ์เด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 6 ขวบจำนวน 4 คนที่ทดลองสวม) การเช็ดทำความสะอาดเลนส์ (โดยดูว่าเลนส์หลุดออกจากกรอบหรือไม่ขณะเช็ดทำความสะอาด) และการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิ้ล สารหนู และสารเคมีอันตรายเช่น พทาเลทและ PAH หรือโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เด็ก...ที่มีพ่อแก่

หลายคนมีสัญชาติญาณต้องการมีลูกด้วยสาเหตุนานับประการ ซึ่งผู้เขียนไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่ขอเล่าเพียงว่า โดยส่วนตัวแล้วเมื่อครั้งมีลูกใหม่ๆ นั้นสิ่งที่ประจักษ์แน่คือ รักแม่มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะการเลี้ยงเด็กอ่อนแต่ละคนจนโตนั้น พ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบมักรู้สึกทั้งเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ จนทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งชื่อพระราชบุตรว่า ราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง ที่ทำให้เราต้องเป็นห่วงประจำ         อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นในปัจจุบันนี้ สำหรับพ่อแม่ที่ไม่คิดมีลูกกวนตัว เพราะสนุกกับงาน สนุกกับรูปแบบชีวิตที่หวือหวา สนุกกับเทคโนโลยีที่อำนวยความสนุก จนวันหนึ่งหลังจากอายุล่วงเลยเข้าสู่วัยแห่งความโรยรา จึงคิดได้ว่า ควรมีลูกเสียที ไม่ว่าจะโดยวิธีธรรมชาติหรือใช้ความสามารถของวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วย ซึ่งถ้าลูกมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง โตขึ้นเรียนหนังสือจบ ทำมาหาเลี้ยงตนเองได้ แล้วสุดท้ายกลับมาดูแลพ่อแม่เมื่อแก่ เรื่องราวก็จบลงอย่างสุขสมบูรณ์ แต่ถ้าเคราะห์ร้ายได้ลูกที่ไม่ปรกติ ทุกอย่างไม่เป็นตามที่หวัง ความทุกข์ย่อมมาเยือนสำหรับผู้หญิงเป็นที่รู้กันว่า ถ้ามีอายุมากเกิน 35 ปี เมื่อตั้งท้องแล้วจำเป็นต้องตรวจเซลล์ในถุงน้ำคร่ำว่า มีโครโมโซมผิดปรกติหรือไม่ เพื่อยืนยันว่าเด็กในท้องนั้นมีความปรกติอย่างที่ควรเป็น เพราะไข่ในรังไข่ของผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปีนั้นถือว่าเป็น ไข่ที่เก่าแล้ว (เนื่องจากไข่ทั้งหมดนั้นถูกสร้างไว้ในรังไข่ของเด็กหญิงตั้งแต่ราว 3 เดือนก่อนออกจากท้องแม่ จากนั้นไข่จึงถูกพัฒนาให้สุกพร้อมผสมกับอสุจิเมื่อโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มีฮอร์โมนเพศหญิงต่าง ๆ มาจัดการ) อาจมีการกลายพันธุ์ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ไข่ถูกเก็บไว้ในรังไข่นั้น ไข่มีโอกาสสัมผัสสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายผู้เป็นแม่ หรือแม่รับการแผ่รังสีที่ทะลุทะลวงถึงเซลล์ไข่แล้วทำให้เกิดความผิดปรกติที่โครโมโซมของไข่ ดังนั้นโอกาสที่เด็กซึ่งเกิดจากแม่มีอายุเลยวัยกลางคนแล้วจึงมีโอกาสผิดปรกติเช่น ดาว์นซินโดรม สูงกว่าเด็กที่มีแม่อายุประมาณ 20 ปีสำหรับผู้ชายในตำราสรีรวิทยาที่ผู้เขียนเคยเรียนมาบอกเป็นทำนองว่า อสุจิของพ่อนั้นสร้างใหม่ทุกครั้งที่ต้องใช้(freshly prepare) แบบวันต่อวัน ผู้เขียนจึงสรุปเองว่า อสุจินั้นไม่น่าเป็นสินค้าค้างสต็อกนาน เหล่าชายชาตรีทั้งหลายจึงร่าเริงคิดเข้าข้างตนเองว่า มีลูกเมื่อใดก็ได้ ตราบใดที่ใจยังสู้ชูสองนิ้วอยู่ ดังนั้นผู้ชายหลายคนที่เมื่อภรรยาคนแรกปิดโรงงานไม่ยอมมีลูกเพราะอายุมากแล้วนั้น เขาต่างหาเหตุเปิดโรงงานใหม่เพื่อให้ได้มีลูกเพิ่มขึ้นมาโดยไม่มีความรู้ว่า ในส่วนหนึ่งของอัณฑะที่เรียกว่า หลอดสร้างอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นมีเซลล์ที่เรียกว่า สเปอร์มาโทโกเนียม (spermatogonium) ซึ่งจะมีฮอร์โมนมาช่วยพัฒนาให้กลายเป็นอสุจิตามความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเซลล์ดังกล่าวนี้จึงมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่ชายสูงวัยแล้วแต่ยังต้องการสร้างตัวอสุจิก็จำเป็นต้องใช้เซลล์ที่เก่าเก็บมานาน ซึ่งอาจสัมผัสสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลาของการมีชีวิตหรือรับการแผ่รังสีจากแหล่งต่าง ๆ (เช่นเดียวกับไข่ในรังไข่ผู้หญิง) จนกลายพันธุ์ไปส่งผลให้ตัวอสุจิที่ได้ไม่สูมบูรณ์ดังที่ควรเป็น        บทความเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (doi: 10.1136/bmj.k4372) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ BMJ 2018;363:k4372 ในเดือนตุลาคม 2018 ได้ศึกษาและอภิปรายผลเหมือนเป็นการยืนยันว่า สมมุติฐานของความไม่สมบูรณ์เนื่องจากอสุจิของชายสูงวัยแล้วทำให้ได้ลูกที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นจริง รวมถึงแม่ซึ่งแม้ยังสาวอยู่แต่ได้ตั้งท้องกับชายสูงวัยก็อาจมีลูกที่สุขภาพที่ไม่ปรกติงานวิจัยดังกล่าวศึกษาในเด็กอเมริกันเกิดใหม่ในช่วงปี 2007-2016 กว่า 40 ล้านคน โดยแบ่งกลุ่มพ่อของเด็กเหล่านี้ออกได้เป็น 5 กลุ่มอายุ คือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายมีความจำกัดของอายุในการมีลูก โดยเด็กที่มีพ่อสูงวัย (เกิน 45 ปี) มักคลอดก่อนกำหนดพร้อมน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ และมีสุขภาพไม่ค่อยดีเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติจึงทำให้มีค่า APGAR score ที่ต่ำ        APGAR score คือ ตัวเลขที่ได้จากการประเมินสภาวะเด็กทารกแรกเกิดใน 1 นาทีแรก ต่อด้วย 5 นาที และ 10 นาที หลังคลอด เป็นการประเมินภาวะการหายใจในทารกประกอบด้วย ลักษณะสีผิว อัตราการเต้นของหัวใจ สีหน้าจากการกระตุ้น การเคลื่อนไหวของทารก และความพยายามในการหายใจ ซึ่งมีค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทารกปกติต้องมีคะแนน 7 คะแนนขึ้นไป (ข้อมูลนี้อากู๋บอก)         นอกจากนี้ยังมีอาการผีซ้ำกรรมซัดให้สตรีที่ท้องกับสามีที่มีอายุเกิน 45 ปี ต้องเสี่ยงต่อโอกาสเป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง (gestational diabetes ซึ่งส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง วิตกกังวล และมักจำต้องทำการผ่าท้องคลอด) เนื่องจากรกที่เชื่อมระหว่างลูกและแม่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน human placental lactogen แล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดของแม่จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมันแล้วสงวนน้ำตาลในเลือดส่งไปให้ทารกในครรภ์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอาการเบาหวานขณะตั้งท้องแล้วไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้เหมาะสมนั้น มักมีน้ำหนักมากผิดปรกติ มีน้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นดีซ่าน        ประเด็นสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลจากการมีลูกเมื่ออายุมากของพ่อแม่นั้น เป็นเพราะประชาชนทั้งหญิงและชายของสหรัฐอเมริกาขณะนี้ จำเป็นต้องมีลูกเมื่ออายุสูงกว่าเดิมแล้วทั้งนั้น ในกรณีของผู้หญิงดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า รู้กันมานานว่าอายุที่จะมีลูกนั้นไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ไม่สนใจไม่ได้ ผู้เขียนเคยอ่านพบคำแนะนำในวารสารวิชาการเรื่องหนึ่งกล่าวว่า อายุเหมาะที่สุดในการมีลูกสำหรับผู้หญิงคือ ช่วง 20 ปีต้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงมักทำไม่ได้เพราะยังเรียนไม่จบปริญญาตรี ยังไม่มีงานที่มั่นคงถาวรจึงมีการเสนอว่า อายุประมาณ 27 ปี ดูเหมาะสมที่สุด ส่วนผู้ชายนั้นแต่เดิมไม่เคยกังวลเรื่องอายุ จึงมักทำหยิ่งไม่รีบมีลูก แต่เมื่องานวิจัยออกมาดังกล่าวข้าง งานก็เข้าซิครับท่านผู้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของชาย-หญิงอเมริกันจำนวนหนึ่งระบุว่า เขาเหล่านี้มักมีหนี้ที่กว่าจะชำระหมดก็เป็นช่วงวัยกลางคนตอนปลายๆ หนี้เหล่านี้ ได้แก่ เงินยืมเพื่อการศึกษา(ทำนองเดียวกับ กยศ.) เงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น มือถือ ตลอดจนถึงสร้อยคอ เท่าที่แหล่งเงินกู้ยอมให้ยืม เนื่องจากคนอเมริกันไม่เคยเรียนรู้คำว่า พอเพียง จึงทำให้เป็นหนี้ยาวจนต้องรอถึงช่วงสูงวัยปลอดหนี้จึงคิดถึงการมีลูกเสียที ประเด็นนี้ดูจะคล้ายคนบางอาชีพในประเทศ กูมี ที่มักนิยมเป็นหนี้สหกรณ์เพื่อซื้อของที่อยากได้ให้มีเหมือนคนอื่นเขา ในลักษณะรสนิยมสูงเกินรายได้ จนมีการตั้งกลุ่มประกาศขอชักดาบเงินกู้ต่างๆ ทำให้สังคมที่ได้ยินข่าวนี้พากันสรรเสริญในความเลวที่ตั้งท่าจะกระทำบทเรียนที่อาจถอดออกมาได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับการที่เด็กมีพ่อสูงวัยในสหรัฐอเมริกาอาจมีปัญหาด้านสุขภาพนั้น สามารถนำมาประยุกต์กับคนไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะปรากฏว่า อัตราการเกิดของคนในพื้นที่อาณาเขตประเทศไทยนั้นต่ำลงมาก โดยเฉพาะในคนที่มีการศึกษาดีที่มองอนาคตของลูกที่จะเกิดมาไม่ออก จนเมื่อใกล้หมดวัยเจริญพันธุ์แล้ว (แค่) บางคน (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ที่มองเห็นทางออกว่า ลูกที่อาจมีจะทำมาหากินอะไร จึงกระตืนรือล้นอยากมีลูก ส่วนที่เหลือไม่หวังมีลูกก็ได้แต่ก้มหน้ารอรับกรรมเมื่อแก่ต่อไปเพราะคงไม่มีลูกมาดูแล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลิตภัณฑ์เด็กสมาธิสั้น แต่ครูนักแต่งเพลงของฉันมาได้ไง?

 น้องคนหนึ่งส่งคลิปสั้นๆ มาให้ผมดู พร้อมทั้งคำถามว่า “มันเป็นจริงไหม?” ผมตามไปดูในคลิปซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของผู้ขาย ภาพแรกในคลิป เป็นภาพนิ่งมีข้อความว่าจะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กขี้ลืม หาตัวช่วยจำให้ลูก หากิจวัตรให้ลูก ไม่ควรทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูแลสุขภาพของลูก ฝึกสมองอยู่เสมอ แต่ที่สะดุดตาคือ มีภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งอยู่กลางภาพ ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นภาพเด็กๆ พร้อมขึ้นข้อความต่างๆ เช่น เด็กติดเกมส์ เด็กติดโทรศัพท์ ฯลฯ           ผมเข้าไปค้นข้อมูลในเน็ตตามชื่อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ พบข้อความโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและระบบประสาท ดูแลสมอง เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการบำรุงดูแลสมอง ผู้ที่มีอาการสมาธิสั้น จำยากลืมง่าย ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ผลการเรียนไม่ดี วัยทำงานซึ่งใช้สมองเยอะ สมองล้าบ่อยๆ ผู้ที่วิตกกังวล เครียด ผู้ป่วยความจำเสื่อมหรือเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สูญเสียความทรงจำ ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย หญิงตั้งครรภ์ก็ทานได้           แค่ข้อความเบื้องต้นก็ค่อนข้างจะเกินขอบเขตผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว พอผมไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็พบภาพของครูนักแต่งเพลงที่ออกรายการทีวีบ่อยๆ แกเคยโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงสายตาที่เคยโดนร้องเรียนไปแล้ว คราวนี้รูปแกมาอยู่ในผลิตภัณฑ์นี้ พร้อมข้อความระบุสรรพคุณผลิตภัณฑ์นี้มากมาย เช่น ช่วยฟื้นฟูความจำและบำรุงสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำลายและขจัดสารพิษจากตับ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเป็นโรค ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง บำบัดรักษาการอักเสบของเส้นประสาทในสมอง ช่วยบำรุงประสาทและสมองช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรธฮอร์โมน ช่วยแก้ไขอารมณ์ ซึมเศร้า ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยป้องกันสมองและตับจากการถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยา และ การสูบบุหรี่ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สมาธิดีขึ้น คิดอ่านได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพการหลับ ช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น ช่วยป้องกัน มะเร็งต่างๆ ลดอาการภูมิแพ้และไข้หวัด ช่วยให้มีสมาธิในการเรียน การทำงาน จดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ได้นานยิ่งขึ้น           ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แจ้งว่ามีส่วนประกอบสำคัญได้แก่  Bacopa สารสกัดพืชพรมมิ สารสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำมันปลา Choline Bitartrate L-Tyrosine L-Theanine  L-Cysteine Taurine วิตามิน บี1 บี6 บี12 ฯลฯ อันที่จริงเคยมีผลงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่ง พบว่า สารสกัดพืชพรมมิ มีฤทธิ์ต่อสมอง องค์การเภสัชกรรมก็ยังนำไปผลิต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเรียบร้อยแล้ว แต่หากใครเคยซื้อมารับประทานจะพบว่า ไม่มีข้อความระบุสรรพคุณโอเวอร์ขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เขายังมีคำเตือนชัดเจนบนฉลากว่า “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”            ผมแจ้งน้องที่ส่งข้อมูลไปแล้ว ให้ช่วยกันดำเนินการแจ้งผู้ดูแลต่างๆ ให้จัดการด้วย ตอนนี้พบว่าหลายเว็บปิดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดสักที ใครมีญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาสรรพคุณโอเวอร์เหล่านี้นะครับ และถ้าใครสนิทกับครูนักแต่งเพลงท่านนี้ก็ช่วยเตือนท่านด้วย ลำพังรายได้ท่านก็เยอะอยู่แล้ว อย่ามายุ่งกับของแบบนี้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 “เรื่องของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เล่าว่าสาเหตุที่เลือกเรียนด้านกุมารเวชศาสตร์นั้น เพราะมองว่าปัญหาสุขภาพเด็ก นอกจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว หากมองลึกลงไป ยังมีเรื่องนโยบายอยู่เบื้องหลังด้วย เช่น ปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มารดาได้รับโภชนาการที่ไม่ดี และหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมมารดาจึงไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ทุกสิ่งเป็นเหตุและผล จากวันนั้นมาจนวันนี้ เรื่องราวของเด็กน้อย จึงไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไปเพราะ มันส่งผลถึงอนาคตของประเทศด้วย อาจารย์อดิศักดิ์ เล่าภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน  ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ(ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เราเริ่มจับประเด็นนี้ เราพบว่า ของเล่นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางด้านกายภาพก็อาจจะมีอันตราย เช่น มีความแหลมคม มีช่องรูที่อาจจะไม่เหมาะสม ด้านเคมีก็ตรวจพบเจอสารตะกั่วในค่าที่สูงมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีการแถลงข่าว มีการประชุมร่วมกันของเครือข่าย ทั้งด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทาง สคบ. กระทรวงอุตสาหกรรม มอก. ทั้งหลาย รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนของภาครัฐ สมัยก่อน การแถลงข่าวก็ยังมีความเกรงใจกันว่าจะแถลงข่าวอย่างไรเกรงใจผู้ผลิตอาจจะไปโดนผู้ผลิตหลายรายเช่นกัน ไม่รู้ที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ไม่รู้ว่ามีการผ่าน มอก. แล้ว แต่มาเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ทำให้มาเปลี่ยนโครงสร้างทีหลังแต่ไปยึดเอา มอก. เดิมมาใช้ ทำให้มันผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง  แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย หรือบางบริษัทไม่มีเลยตั้งแต่แรก ไม่เคยมาขออนุญาตเลยทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป สุดท้ายในคราวนั้นมีการนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งท่านมีการแถลงเอง โดยท่านยกของเล่นทั้งหมดที่เราตรวจสอบมาแถลง นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยเรื่องของเล่นกัน ผลการแถลงครั้งนั้นต่อมา “ของเล่น” ก็มีการปรับปรุง มีการไปตรวจสอบตลาดซ้ำ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น   แสดงว่ามาตรฐานของเล่นดีขึ้นแล้วตอนนี้             ก็ดีขึ้น แต่ “ของเล่น” ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่อง อย่างตอนเจอของเล่นแปลกๆ ทีมก็ลองไปเช็คดู เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองๆ กลมๆ เล็กๆ กระบอกละ 50 - 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ แล้วในกลุ่มนี้มีอะไรอีกบ้าง ปรากฎว่า ปืนฉีดน้ำก็ไม่ใช่ของเล่นนะ ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่นวางขายเต็มไปหมด เครื่องบินที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจึงเกิดอีกบทบาทหนึ่งขึ้น คือทำงานร่วมกับ สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำในเรื่องของสินค้าที่ไม่เข้ากับกฎหมายใด (ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจง) สินค้าแบบนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ที่จะไปจัดการทั้งหมด เช่น มีประกาศของเล่นตัวยืดขยาย ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นน้ำยาเคมีที่เป่า ปืนฉีดน้ำที่เป็นท่อกระบอกพีวีซี เหล่านี้ ก็เป็นของที่หลุดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลุดจากนิยามของเล่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาถูกจัดการด้วยประกาศสินค้าที่เป็นอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาต่อมา   ทางศูนย์วิจัยยังทำเรื่องกระเป๋านักเรียนอยู่ไหมคะ           กระเป๋านักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลย เพราะว่าเราเห็นเด็กๆ แบกกันอุตลุด ตอนก่อนโน้นก็ไปดูมาตรฐานการแบกของ แม้แต่ของผู้ใหญ่เองในการประกอบอาชีพ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ ในของเด็กเองเมื่อมาเทียบเคียงแล้วก็มีในหลายประเทศที่เขาห้ามการแบกของหนัก ซึ่งในบ้านเราตอนนั้นทีมไปวิจัยกันมา มีการแบกกันหนักมาก จากค่ามาตรฐานของหลายประเทศจะยึดถือที่ค่าอยู่ระหว่าง 10 – 20 % ของน้ำหนักตัว เรายึดค่ากลาง คือที่ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว จะให้ดีต้องต่ำกว่า 10% รุนแรง/ร้ายแรงถ้าเกิน 20% เราก็ไปยึดที่ค่า 15% ของน้ำหนักตัว พอลองไปชั่งน้ำหนักกระเป๋าบวกถุงศิลปะบวกปิ่นโตอาหารของเด็กที่แบกมา โรงเรียน พบว่า ถ้าเป็นเด็ก ป.2 นะ ป.1 ยังไม่เท่าไหร่ ป.5 – ป.6 ก็ยังไม่เท่าไหร่ หนักสุดก็พวก ป.2, ป.3, ป.4 พวกนี้เป้จะมีน้ำหนักมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งที่แบกของเกินกว่าร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว       ตอนนั้นมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนะ มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ก็ไปทำการวิจัยกันต่ออีก ต่างคนต่างทำแต่ก็เอาข้อมูลมาดูๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเจอปัญหาคล้ายๆ กันทั้งหมดว่า แบกเกิน ประกอบกับทางวิศวกรรมจุฬา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการก็มีความสนใจในเรื่องนี้ด้วย อ.ไพโรจน์ ก็ส่งนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก รวมกับอีกหลายชิ้นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋าแล้วทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ต่อมาค่าแรงที่เด็กทนได้(การรับน้ำหนัก) ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำ เช่น ร้อยละของน้ำหนักตัวจะไม่เหมาะสมในกรณี เด็กมีน้ำหนักมาก คำนวณไปแล้วมีโอกาสแบกกระเป๋าได้เยอะมาก มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น วัดจากค่าแรงแล้วมีการปรับเปลี่ยน ยึดเอาอายุ อายุก็ไปแปลงเป็นชั้นปี เช่น ป.1 ป.2 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง ป.3 ป.4 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เกิดเป็นคำแนะนำขึ้นมา เกิดการผลักดันมาตรการการเฝ้าระวังของโรงเรียนขึ้น เช่น คุณครูชั่งน้ำหนักกระเป๋าของเด็กอย่างสม่ำเสมอ มี record บันทึกไว้ และมีมาตรการการลดน้ำหนักของเป้หรือกระเป๋า โดยของใช้บางอย่าง สามารถเก็บของไว้ใต้โต๊ะได้ มีตู้เก็บของ เก็บเอกสาร อย่างนี้เป็นต้น มีข้อแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองด้วย ว่าให้ช่วยจัดกระเป๋าให้ลูก เพราะหลายคนแบกเพราะว่าไม่จัดตารางสอน อย่างนี้เป็นต้น มีการดีไซน์กระเป๋าให้เหมาะสมในการแยกเป็นช่องเล็กช่องน้อย แล้วก็ในการวางของให้กระจายออกตามช่องต่างๆ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป ไม่ถ่วงอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง มีข้อแนะนำการแบกกระเป๋า เช่น กระเป๋าจะต้องแบกด้วยสะพายสองสายเสมอ ไม่สายเดียว มีสายรัดเอวเพื่อให้ช่วงล่างที่เป็นช่วงที่น้ำหนักถ่วงอยู่นั้นแนบติดกับลำตัว และช่วงล่างสุดไม่ต่ำกว่าบั้นเอวของเด็กลงไป จะช่วยให้อาการการปวดหลัง การเกิดกระดูกสันหลังคดงอในขณะแบกกระเป๋าลดน้อยลง ยังมีความพยายามที่จะออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรากฎว่า หลังการประชุมมีการเชิญผู้ใหญ่มาเยอะนะ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เรื่องการแบกกระเป๋าหนักๆ นี้ สามารถที่จะสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากขึ้น อยากให้มีคนรับรู้มากขึ้น ให้ขยายตัวมากขึ้นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาการเรียนด้วย การแบกของหนักๆ มากๆ ก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษา   แล้วหากเปลี่ยนเป็นเรียนผ่านแทบเลต           แทบเลตนี่เคยมีการแจกกันตอน ป.1 ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน แทบเลตก็เป็นสินค้า เป็น สินค้าที่พบว่า มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ถึงขนาดเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องเรียนอิเลคโทรนิค มีคนพูดมากมาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้สินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีระดับของเศรษฐกิจที่สูง มีการประมูลถึงหมื่นๆ ล้านบาท สินค้าตัวแทบเลตเองมันจะวิ่งได้ก็ต้องมีแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้อินเทอร์เน็ต ตัวอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ซ่อนอยู่ในตัวแทบเลตหรือตัวโทรศัพท์มือถืออีกต่อหนึ่ง ถือว่าเป็นสินค้า 2 ชิ้น ที่ซ่อนเร้นกันอยู่ การกระตุ้นให้เด็กใช้บูรณาการด้านการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ค้นคว้าหาความรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาที่เป็นมัลติมีเดีย มีรูปมีเสียงที่กระตุ้นการศึกษาได้ แต่ขณะเดียวกัน โทษก็มากมายเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ได้จะต้องยอมรับประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน และผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคุณรับผิดชอบต่อประโยชน์ เช่น เก็บเงินค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาท ต่อ เด็ก 1 คน ทุกเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสายอินเทอร์เน็ต ก็ควรต้องมีการแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดโทษต่อเด็กด้วย แต่ปัจจุบันไม่เห็นตรงจุดนี้ ไม่มีการคิดเกี่ยวกับคนที่เอาข้อมูลมาใส่ เกี่ยวกับถนน(ช่องทาง) ที่สร้างไปให้ถึงตัวเด็ก เกี่ยวกับรถ(เนื้อหา) ที่วิ่งอยู่บนถนนปล่อยทุกอย่างให้ไปชนเด็กเอง แล้วก็เอากำไรอย่างเดียวไม่นึกถึงโทษที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นเลย ดังนั้นเด็กที่ได้แทบเลตฟรีจากรัฐบาล เสียค่าอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าใครต่อไวไฟโรงเรียนก็รอดไปไม่ต้องเสีย แต่ถ้าใครต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์ด้วยก็ต้องจ่ายเอง ส่วนโรงเรียนเองก็ปล่อยไวไฟ แต่ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่มีการกรอง เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก เด็ก 1 คนจึงสามารถที่จะเข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ เล่นเกมส์ที่แบบเลือดสาด เรตติ้ง 13 – 18 ปี ให้เล่น เด็กก็เล่นได้หมด โซเชียลมีเดียที่คนอายุที่เขาเขียนไว้อยู่แล้วไม่ให้ 13 ปีเล่น ให้พ่อแม่มาลงทะเบียน เด็กก็เข้าได้หมด ตัวระบบไม่ได้ป้องกัน ทั้งหมดก็ยกให้เด็กป้องกันตัวเองหมด อยู่บนแทบเลตที่รัฐบาลเป็นคนแจก อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เด็กต้องจ่ายเงินเอง แล้วคนเก็บเงินไปบอกว่าไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับคนใส่ content เข้ามา ทีนี้พอมีการพูดถึงจะสร้างระบบเป็น single gateway เพื่อให้การควบคุมเป็นจริงได้มากขึ้นคนก็ร่วมกันถล่มทลายในเรื่องสิทธิ ซึ่งคนเหล่านั้นแน่นอนต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่มีเด็กคนไหนมาอ้างสิทธิเรื่อง single gateway แน่นอนเพราะยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำไป แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือ ผลเสียต่อตัวเด็กทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า “สองชิ้นซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว”  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง แล้วก็ยกเว้นการลงทุน เช่น การทำ parental control การเซ็นสัญญาระหว่างพ่อแม่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตกรณีที่จะส่งสายนี้เป็นสายของลูก  และบริษัทไม่ต้องลงทุนทำอะไร ถ้าเป็นสายของลูกจะทำให้เกิดการเซ็ตอินเทอร์เน็ตให้ได้ เช่น ฝ่าย parental control เป็น automatic ให้หรือว่าลงทุนทำ แอปพลิเคชัน parental control ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คัดกรองแอปพลิเคชันให้เกินอายุเด็กออกไปให้หมดให้ได้ ก่อนจะไปเก็บเงินเด็ก พวกนี้ก็ไม่ทำทั้งสิ้น แล้วก็ถูกยอมรับโดยสังคมว่า ถูกต้องแล้ว บริษัทแบบนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ดีแล้ว ขณะเดียวกันก็มาพูดเรื่อง white Internet แล้วไม่ได้ทำจริง ถึงเวลาจะทำจริงก็คัดค้านทั้งหมด ก็ไปสอดคล้องกับเรื่อง E-Sport ที่โผล่ขึ้นมาบนออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน   พอปัญหาถูกปล่อยให้เกิดไปเรื่อยๆ มาแก้ทีหลังก็ยากแล้ว อันนี้ก็เป็นผลมาจากที่เราไม่คัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เด็กใช้ สุดท้ายก็ถูกประยุกต์ใช้ต่างๆ มากมายแล้วก็ยิ่งคัดค้านยากขึ้นไปใหญ่  และเด็กก็เล่นได้ทุกอายุเช่นเดียวกัน E-Sport นี่เด็กเล่นกันจนเสียการเรียนและไม่มีอายุจำกัด ตั้งสมาคมได้โดยไม่ต้องผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมีระเบียบด้วยซ้ำไปว่าเด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันที่เขารับรองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องมีระเบียบอะไรเลยแล้วจะพูดถึงระเบียบก็พูดถึงว่า มีการเติบโตกันไปเยอะแล้วเศรษฐกิจนี้เป็นหลายแสนล้าน ต่างประเทศเดินหน้าเต็มตัวแล้วเรายังจะมาชักช้าได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สินค้า” ทั้งนั้นเพียงแต่อยู่ในรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือเป็น air line ลอยทางอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภค แล้วก็เป็นเรื่องของภัยที่ซ่อนเร้นภายใต้เศรษฐกิจที่ต้องเติบโตทำให้มองหรือพยายามที่จะไม่มองว่าเป็นภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นบรรทัดฐานจริงหรือเปล่า ในสังคมไทยถ้าพูดถึง สิ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือว่าเป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งไม่มองยิ่งมีความรู้สึกว่าต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก   ปัญหาเยอะขนาดนี้อาจารย์เคยท้อบ้างไหมคะ ไม่ๆ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกเรื่องก็แบบนี้ สมัยก่อนถนนอันตราย ถึงวันหนึ่งถนนก็ปลอดภัยมากขึ้นเมื่อร่ำรวยมากขึ้น โรงงานทุกวันนี้ก็ปล่อยสารพิษ มาตรการความปลอดภัย ออกกฎหมายไม่ยอมทำ ขยะอุตสาหกรรม ทิ้งมั่ว เอาของจากต่างประเทศข้ามมาทิ้งอีกต่างหาก ถึงวันหนึ่งก็จะดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้สึกว่าเสรีมาก เศรษฐกิจต้องโตห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งเกิดผลเสียมากๆ ก็จะดีขึ้น เราจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนั้นนานหรือเปล่า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น มันจะต้องมีคนส่วนหนึ่งไปไม่ถึงวันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >