ฉบับที่ 227 สั่งของออนไลน์ โอนเงินไปแล้วทำไมต้องจ่ายปลายทางอีก

        “เราสั่งของออนไลน์ เงินก็โอนให้แล้ว แต่จะมาเก็บเงินปลายทาง พอเราไม่ให้และไม่รับสินค้า แม่ค้าบอกว่า เราต้องจ่ายค่าไม่รับของ 150 บาท หรือจริงๆ คือค่าส่ง แม่ค้าทำแบบนี้ได้ไหมคะ”          เป็นคำถามที่คุณนิสา โทรศัพท์มาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ว่า  เมื่อวันที่ 6 เดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา คุณนิสาถูกใจสินค้าตัวหนึ่งซึ่งขายทางร้านออนไลน์ จึงสั่งซื้อด้วยการเลือกจ่ายเงินเข้าบัญชีร้านค้า จนผ่านไปหลายวันสินค้าก็ยังไม่มาจึงทวงถามไปทางร้านค้า ทำให้ทราบว่ายังไม่มีการจัดส่ง ทางร้านรับปากจะรีบนำส่งโดยเร็ว จนวันที่ 15 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำสินค้ามาส่งให้แต่ระบุว่า เป็นการเก็บเงินปลายทาง ตนเองปฏิเสธเพราะได้จ่ายเงินไปทางร้านค้าแล้ว และยังไม่ทันได้ติดต่อกับทางผู้ขาย ไปรษณีย์ก็นำสินค้ากลับไป ต่อมาแม่ค้าติดต่อมาว่า เราปฏิเสธไม่รับสินค้า ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขาเป็นจำนวนเงิน 150 บาท จึงโทรมาปรึกษาว่า จะต้องทำอย่างไร และที่แม่ค้าทวงถามมานั้นถูกต้องหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหา         การตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เป็นการทำสัญญาลักษณะหนึ่ง เมื่อผู้ซื้อคือคุณนิสา เห็นว่าการเก็บเงินปลายทางเป็นการซ้ำซ้อน การปฏิเสธไม่จ่ายเงินย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ เมื่อสิ่งของกลับคืนไปแล้ว สัญญาก็เป็นอันจบไป การที่คุณนิสาจะถูกเรียกเก็บ 150 บาท โดยผู้ขายอ้างว่า เป็นค่าเสียหายนั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่มีการตกลงกันไว้ก่อน ว่าหากเกิดการปฏิเสธจะต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียหาย อีกประการหนึ่งคุณนิสา สามารถเรียกร้องขอให้คืนเงินที่โอนไปแล้วเป็นค่าสินค้าคืนได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ซื้อเช่นกัน         คุณนิสารู้สึกสบายใจขึ้น แต่ไม่อยากวุ่นวายเรื่องที่จะทวงเงินค่าสินค้าคืนเพราะเห็นว่า จำนวนเงินไม่ได้มากนัก จึงไม่ติดใจตรงนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 How to เก็บ เก็บยังไงให้เหลือเงิน How to ลด ลดยังไงไม่ให้เหลื่อมล้ำ

                ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาช่างฝืดเคืองในความรู้สึกของชาวบ้านร้านช่อง ส่วนในปี 2563 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ให้ความหวังมากนักว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและการท่องเที่ยวที่อาจไปไม่ถึงเป้า ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่ลดลงน่าจะส่งผลถึงปีนี้ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังพบว่า ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์และเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 7.4 บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดรบรากัน เศรษฐกิจไทยปี 2563 จึงเสี่ยงที่จะเติบโตช้า        คำถามตัวโตๆ ก็คือผู้บริโภคอย่างเราจะอยู่อย่างไรในสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้         ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนหาคำตอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่น่าจะพอช่วยฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจปี 2563 การเงินในระยะยาว แต่ต้องเน้นตัวโตๆ ตรงนี้ว่ามันคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปตายตัวที่ทุกคนจะนำไปใช้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ถูกค้ำจุนจากเชิงโครงสร้าง การผลักดันทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้          เริ่มรู้จักตัวเองและเก็บออม          การเงินส่วนบุคคลหรือ personal finance เป็นวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน นี่เป็นจุดอ่อนใหญ่ของระบบการศึกษาไทย         พูดถึงเรื่องเก็บออมหรือลงทุน เรามักนึกถึงเรื่องจำนวนเงิน ผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการสารพัดที่หนังสือฮาวทูโฆษณาว่าจะทำให้คุณรวยเร็ว ฯลฯ ผิด! เพราะสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก่อนคือ ‘รู้จักตัวเอง’ เริ่มจากการสำรวจตัวเอง ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติต่อเรื่องเงิน ภาระค่าใช้จ่าย งบการเงิน หนี้สิน รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของตน เวลาพูดถึงเป้าหมายการออมและลงทุน คำตอบมักหนีไม่พ้น ‘อยากรวย’ แต่ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่ารวย รวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน        หลังจากนั้น คุณต้องหันทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้รู้ว่าเงินของคุณเดินทางเข้าออกอย่างไร มันจะช่วยให้เห็นว่ารายจ่ายตรงไหนที่ประหยัดได้อีก แต่ละเดือนมีเงินเหลือหรือไม่ กล่าวคือมันเป็นการเริ่มต้นสำรวจสถานะการเงินของคุณ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง เงินสดในกระเป๋าสำหรับใช้จ่ายกินอยู่ ถ้าคุณไม่มีสภาพคล่อง หนี้สินก็จะตามมา การรู้รายรับ-รายจ่ายและการบริหารสภาพคล่องจึงเป็นเสาหลักต้นแรกที่ต้องใส่ใจ         ไม่ใช่แค่ใช้จ่าย สภาพคล่องในที่นี้ยังต้องรวมเงินสำหรับเก็บออมด้วย คำแนะนำโดยทั่วไปคือเมื่อคุณได้รายได้มาให้หักเงินออมก่อนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายได้ เพราะความคิดเดิมที่ว่าเหลือแล้วค่อยเก็บนั้นล้าสมัยไปมากแล้ว         ถามว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่? เงินก้อนแรกที่คุณต้องเก็บคือเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน เช่น ถ้าใน 1 เดือนคุณมีรายจ่ายและเงินออมรวม 10,000 บาท คุณต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน 60,000 -120,000 บาท ฟังดูมากจนน่าท้อใจ แต่ถ้าวันหนึ่งที่คุณไม่มีรายได้หรือเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนคุณจะเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ และในระหว่างที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คุณยังสามารถออมเงินอีกก้อนไปพร้อมกันได้ หากรู้จักจัดสรรเงินโดยไม่กระทบสภาพคล่อง         อีกทั้งมันยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเก็บออม นั่นคือ ‘วินัย’ ที่มักทำให้หลายคนตกม้าตายไปไม่ถึงเป้าหมายการออมของตน          จัดการหนี้สิน         หนี้สินเป็นสิ่งที่กัดกินสภาพคล่องและความมั่งคั่ง การจัดการหนี้สินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ         สิ่งแรกที่ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าหนี้จะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป คุณต้องแยกระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีให้ได้ หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อแล้วส่งผลดี เช่น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ หนี้ที่นำมาลงทุนทำอาชีพเสริม เป็นต้น ส่วนหนี้ไม่ดีก็คือหนี้บริโภคจากการใช้จ่ายเกินตัว        จุดนี้ต้องแยกแยะให้ดี เพราะการกู้หนี้มาซื้อของอย่างเดียวกันอาจเป็นได้ทั้งหนี้ดีและหนี้ไม่ดี ยกตัวอย่างการซื้อรถ ถ้าคุณเป็นเซลที่ต้องเดินทางออกไปเสนอผลิตภัณฑ์กับลูกค้าบ่อยๆ หนี้รถก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการก่อหนี้ดีจะต้องไม่กระทบกับสภาพคล่อง ทีนี้ ถ้าคุณซื้อรถเพราะเห็นเพื่อนๆ มีรถก็อยากมีบ้างหรือซื้อเพื่อแสดงสถานะทางสังคมทั้งที่รายได้ยังไม่มากพอ แบบนี้ก็เป็นหนี้ไม่ดี ดังนั้น จงหลีกเลี่ยง         หากทำได้ กำจัดหนี้ไม่ดีออกไปให้เร็วที่สุด คำนึงถึงความจำเป็นเป็นหลัก การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอาจไม่สะดวกเท่าขับรถไปทำงานเอง แต่มันอาจประหยัดได้มากกว่าหลายเท่าตัวกับค่าผ่อนรถ ค่าบำรุงรักษา ภาษี และอื่นๆ          รับมือความเสี่ยง        ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นเบาะกันกระแทกที่ดีเมื่อคุณต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เอ๊ะ แล้วเงินสำรองฉุกเฉินล่ะทำไมไม่เอามาใช้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าคุณสามารถถ่ายโอนภาระความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นแบกรับแทน แม้คุณจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน แต่อุบัติเหตุร้ายแรงเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เงินก้อนนี้หายไปในชั่วพริบตา อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีคัดเลือกประกันและเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับตัวคุณ        ปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคิดก่อนซื้อประกันคือสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น ประกันอุบัติเหตุของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น แน่นอนว่าสิทธิการรักษาพยาบาลควรเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างครอบคลุม เสมอหน้า และเท่าเทียม ทว่า ในรัฐที่ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมและมีรัฐบาลที่เห็นว่าการซื้ออาวุธสำคัญกว่าสุขภาพของประชาชน การซื้อประกันก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า          เรียนรู้เพื่อลงทุน-อย่าโลภ         เมื่อคุณมีเงินสำรองฉุกเฉิน จัดการหนี้สินได้ มีเงินออม และเริ่มมีเงินเหลือ การวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณก็จะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรคิดตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน เพราะความมั่งคั่งจากการลงทุนต้องอาศัย 3 ปัจจัย-เงินต้น ผลตอบแทน และระยะเวลา         คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เงินต้นไม่มากพอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ต่ำเตี้ยมาเป็นเวลานานโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ คงมีแต่เวลาที่พอจะมีใกล้เคียงกัน (แต่ก็ไม่เสมอไป) ดังนั้น ยิ่งคุณเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ         การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่คำตอบของการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุนต่างหากที่ช่วยได้        ทันทีที่พูดเรื่องการลงทุน คนส่วนใหญ่จะทำหน้างอและถอย ข้ออ้างคือไม่มีความรู้ ไม่มีเงินก้อน นี่เป็นมายาคติตัวใหญ่ที่ขวางกั้นคุณกับความมั่งคั่ง สกู๊ปนี้คงไม่ลงรายละเอียดว่าต้องลงทุนอย่างไร คุณสามารถหาความรู้ด้านการลงทุนมากมายได้จาก www.set.or.th/education        เรามีแค่คำเตือน-อย่าโลภ ขายตรง ทองคำ ฟอร์เร็กซ์ ข่าวคราวแชร์ลูกโซ่ที่มากทั้งจำนวนผู้เสียหายและจำนวเงิน ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นคำโฆษณาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เช่น ร้อยละ 12 ต่อเดือน จงระวังตัว          วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่าที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งจนได้ฉายาว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ยังสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียงประมาณร้อยละ 22 ต่อปีเท่านั้น แล้วคุณเชื่อหรือว่าจะมีคนที่คุณเอาเงินไปให้แล้วจะสร้างผลตอบแทนให้ร้อยละ 12 ต่อเดือนโดยที่คุณแค่นั่งเฉยๆ         ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน คุณต้องหาความรู้ เข้าใจความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ผลตอบแทนที่ต้องการ รักษาวินัยในการลงทุน และอย่าโลภ          ความเหลื่อมล้ำอันกว้างใหญ่         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเย็นเกินกว่าจะลงมือทำ         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ ‘ทุกคน’ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค คำตอบคือไม่ เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนติดลบตั้งแต่เกิด อีกบางคนมีมูลค่าเป็นพันล้านตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงเด็กชาย         วารสารการเงินการธนาคารฉบับเดือนธันวาคมปี 2562 เผยภาพรวมเศรษฐีหุ้นไทยโดยวัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่ามีจำนวน 7,626 คน มูลค่าหุ้นรวมกันเท่ากับ 2,127,895 ล้านบาท คน 7,626 นี้ได้รับปันผลจากหุ้นที่ตนถือครอง 60,060 ล้านบาท ส่วนมหาเศรษฐีหุ้นไทย 500 อันดับแรก มูลค่าหุ้นที่คนกลุ่มนี้ถือครองคือ 1,607,362 ล้านบาท         นิตยสาร Forbes Thailand จัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรก พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้ง 50 คนอยู่ที่ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท มหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในตระกูลที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี โอสถานุเคราะห์ อัศวโภคิน กาญจนพาสน์ ปราสาททองโอสถ โสภณพนิช ว่องกุศลกิจ เป็นต้น         ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทั้งประเทศอยู่ที่ 3,200,000 ล้านบาท         อีกฟากฝั่งของความร่ำรวยของคนไม่กี่คนและไม่กี่ตระกูล จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินฝากมีการกระจุกตัวสูงโดยผู้ฝากรายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีเงินฝากรวมถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และคนไทยกว่าครึ่งมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และมีเพียงร้อยละ 0.2 ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 32.8 ของผู้ฝากหรือ12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท และจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 หรือปี 2561 ประเทศไทยก็ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ        ลองเทียบตัวเลขคุณจะเห็นความผิดปกติบางอย่าง ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในไทยช่างกว้างใหญ่ราวมหาสมุทรแปซิฟิก        รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของไทยเป็นผลจากนโยบายของรัฐมักเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนับสนุนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตนเอง ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรมตามหลักการจัดสรรรายได้จากคนรวยสู่คนจนจึงไม่ทำงาน          สร้างรัฐที่ดูแลประชาชน         การเก็บออมเป็นวินัยที่ทุกคนควรมี แต่มันไม่เพียงพอ การถักทอตาข่ายทางสังคมที่รองรับทุกคน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องผลักดันควบคู่กันไปให้เป็นสิทธิของเราที่รัฐต้องจัดหาให้แก่ประชาชน นโยบายที่ควรต้องขับเคลื่อนให้รัฐตอบสนอง เช่น        1.การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ        2.การจัดสวัสดิการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ และต้องฟรีจริงๆ        3.การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ        4.การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีผลได้จากทุน เป็นต้น อย่างมีประสิทธิภาพ        5.การสร้างระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มได้ส่งเสียงและเสนอความต้องการ        6.การจัดสรรให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเป็นธรรม        ฯลฯ         การผลักดันเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ทำได้หรือไม่? ก็ไม่ได้ เพราะมันจะช่วยดึงความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนไม่กี่คนกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศ         อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ยืนขวางอยู่คือรัฐบาลสืบทอดอำนาจและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ลูกหนี้รู้ไว้ อย่าตกใจเมื่อถูกฟ้องอายัดเงินเดือน

        สวัสดีครับ ผมอยากพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนควรทราบเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในช่วงที่เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ หลายคนที่เป็นลูกหนี้มักกลัวว่า เกิดไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมายึดเอาเงินเดือน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของลูกหนี้ไปไหม  บางครั้งก็มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมายมาขู่ว่า จะฟ้องคดี ยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน  สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเสมอกับคนที่เป็นหนี้ และหลายคนเกิดความกังวล บางคนถึงกับลาออก หางานใหม่ซึ่งการทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร         ดังนั้น เราควรมีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องการอายัดเงินเดือนไว้  เพื่อลดความวิตกกังวล และสามารถวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกลัวคำขู่ของเจ้าหนี้หรือทนายที่รับทวงหนี้         โดยเมื่อปี 2560 มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 30 กำหนดมูลค่าของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดไม่ได้หรือมีอายัดได้จำกัด เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชย ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เช่นนี้ ลูกหนี้ต้องจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้จะยึดเงินเดือนก็ยึดได้ แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินเดือน 19,500 บาท ไม่ถูกอายัด แต่หากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัดทั้งหมด ก็อายัดได้เพียงแค่ 10,000 บาท ต้องเหลือให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท  หรือหากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัด 5,000 บาท ถูกอายัด 5,000 บาท ลูกหนี้เหลือไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท เป็นต้น         อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในอดีต เคยมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฏีกาในเรื่อง การอายัดเงินเดือนซ้ำ กรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน ซึ่งศาลฏีกาก็ตัดสินไว้ว่า การยึดอายัดซ้ำต้องเป็นกรณีทรัพย์รายเดียวกัน ดังนั้น เงินเดือนของลูกหนี้ หากอายัดในจำนวนที่แยกต่างหากจากกันกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ถือว่าอายัดซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553        การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ                  นอกจากนี้ กรณีเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ เจ้าหนี้ก็อายัดไม่ได้  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559         เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ทำอย่างไร... เมื่อเผลอโอนเงินไปผิดบัญชี

หลายคนคงเคยใช้มือถือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะระบบพร้อมเพย์ ที่ใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับได้แล้ว นับว่าสะดวกรวดเร็วกว่าการโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม หรือ หน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร นอกจากไม่เสียเวลารอคิว ยังฟรีค่าธรรมเนียมการโอนอีกด้วย ขอเพียงมีมือถือและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ทว่าความผิดพลาดในการโอนเงินผ่านแอปฯ ด้วยการกรอกเลขหมายโทรศัพท์ หรือ เลขบัญชีก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างเช่นกรณีนี้ ที่ศูนย์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดกำแพงเพชรได้รับร้องเรียนมา        คุณอรวรรณ ได้นำเงินสดจำนวนหนึ่งฝากเข้าบัญชี ธนาคาร A เพื่อที่จะใช้โทรศัพท์มือถือโอนเงินผ่านแอปฯ ไปยังอีกบัญชีหนึ่งซึ่งเป็นของธนาคาร B ขณะที่ใช้แอปฯ โอนเงิน จำนวน 25,500 บาท ด้วยความเร่งรีบ จึงไม่ได้ตรวจทาน ก่อนกดยืนยัน ทำให้เงินจำนวนดังกล่าวถูกโอนเข้าบัญชีคนอื่น เพราะกรอกเลขบัญชีธนาคารสองตัวสุดท้ายผิดไป        เมื่อคุณอรวรรณทราบว่า ตนได้โอนเงินผิดบัญชี ก็รีบเดินทางไปธนาคาร A เพื่อขอความช่วยเหลือทันที เมื่อไปถึงพนักงานธนาคารได้แนะนำให้คุณอรวรรณเดินทางไปยังธนาคาร B เพื่อติดต่อขอข้อมูลเจ้าของบัญชีปลายทางที่โอนผิดไป        เมื่อคุณอรวรรณ เดินทางไปถึงยังธนาคาร B ก็ได้รับแจ้งจากพนักงานของธนาคารว่า ทางธนาคารไม่สามารถให้ข้อมูลลูกค้ากับบุคคลอื่นได้ แต่จะช่วยติดต่อกับเจ้าของบัญชีให้ ขอให้คุณอรวรรณใจเย็นๆ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องส่งเรื่องกลับให้ทางธนาคาร A ดำเนินการตามกระบวนการ        ผ่านไป 60 วัน คุณอรวรรณ ได้รับการติดต่อจากธนาคาร A ว่า ไม่สามารถติดต่อเจ้าของบัญชีได้ ทางธนาคารให้เพียงชื่อที่อยู่และเลขบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยอีก 45 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับในคดียักยอกทรัพย์        ผ่านไปหลายเดือน คุณอรวรรณคิดว่าคงไม่ได้เงินคืนเสียแล้ว จนวันหนึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว และต่อมาศาลได้นัดไกล่เกลี่ย โดยผู้ต้องหาขอให้ญาติเป็นผู้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืน เดือนละ 500 บาท        อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย คุณอรวรรณ ก็ยังไม่มีวี่แววได้รับเงินคืนอีก จึงได้ติดต่อไปยังทนายความของผู้ต้องหาอีกครั้งเพื่อขอความช่วยเหลือ จนผ่านไปอีกกว่าครึ่งปี ญาติผู้ต้องหาจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้ทั้งหมด        นับเป็นเวลาหลายเดือน กว่าที่คุณอรวรรณจะได้เงินทั้งหมดคืน จากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคจะใช้บริการโอนเงินผ่านมือถือ ก็ขอให้ตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีให้แน่ใจเสียก่อน ที่จะกดยืนยันการโอนเงิน เพราะการสละเวลาในการตรวจสอบเพียงเล็กน้อย ย่อมดีกว่าเวลาที่อาจเสียไปอีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดตามมา ซึ่งกรณีแบบนี้ เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย        ทั้งนี้ หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ที่คล้ายกัน ก็ขอให้รีบดำเนินการตามขั้นตอน ต่อไปนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.   หากทราบว่าโอนเงินผิด ให้รีบติดต่อเจ้าของบัญชีปลายทางให้โอนเงินคืน (หากสามารถติดต่อได้)        2.   หากติดต่อเจ้าของบัญชีปลายทางไม่ได้ หรือ ถูกปฏิเสธที่จะโอนเงินคืน ให้รีบโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการ แจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่น วัน เวลา และจำนวนเงินที่โอนผิด ให้ทางธนาคารช่วยอายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้        3.   รีบเดินทางไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด เพื่อแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน        4.   รอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางธนาคารดำเนินการตามขั้นตอน        นอกจากนี้ หากท่านบังเอิญได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแบบไม่ทราบที่มา ก็ไม่ควรนำเงินจำนวนนั้นไปใช้ โดยเฉพาะหากเป็นเงินที่เจ้าของโอนผิดเข้ามา เพราะท่านอาจโดนฟ้องในคดียักยอกทรัพย์ได้ หรืออาจเป็นแผนของมิจฉาชีพที่หลอกให้ท่านโอนเงินหรือหลอกถามข้อมูลความลับทางบัญชี เช่น เลขที่บัญชี เลขบัตรเดบิต เลขบัตรเครดิต หรือรหัสผ่าน หากท่านได้รับเงินโอนเข้าบัญชีโดยที่ไม่ทราบที่มา ก็ขอให้ลองติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูล ว่าเงินจำนวนดังกล่าวมาจากไหน        หากผู้บริโภคต้องการขอคำแนะนำหรือร้องเรียน กับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดกำแพงเพชร สามารถติดต่อได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/consumerthai.kp/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 รู้จักใช้เงินให้เป็นกับ Money Manager

     หลายคนอาจคิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ซึ่งมันก็จริงตามนั้น แต่อยากให้มองเห็นถึงความสำคัญของการออมเงิน เพราะเงินที่ออมนั้นจะสามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นเงินเก็บเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ วัยที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะวัยที่เริ่มทำงานที่ยังไม่มีภาระควรออมเงินบางส่วนไว้สำหรับอนาคต แนะนำว่าควรนำรายได้หักลบจากเงินออม ส่วนเงินที่เหลือก็ค่อยไว้ใช้จ่าย        แต่เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่มักใช้จ่ายเกินเงินที่ควรใช้และต้องมาเอาเงินในส่วนที่ออมไว้ไปใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้อ่านได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แค่ขจัดความอยาก ความไม่จำเป็นออกไป เมื่อเกิดความอยากสิ่งที่ตามมาคือการหาเหตุผลในการใช้จ่าย แต่บางครั้งเหตุผลดังกล่าวอาจเป็นแค่ข้ออ้างในความอยากได้เท่านั้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่ต้องใช้จ่ายนั้นเป็นแค่ความอยากหรือเป็นความจำเป็น ก่อนที่เงินในกระเป๋าจะหมดเกลี้ยงไปอย่างไม่รู้ตัว         วิธีที่ดีที่สุดนั่นคือการทำบันทึกรายรับรายจ่ายการใช้จ่ายเงินของตนเองในแต่ละวัน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินตัว นอกจากนี้ควรวางแผนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ตั้งงบประมาณรายจ่ายค่าอาหารต่อเดือนไว้ประมาณ 3,000 บาท เป็นต้น         การทำบันทึกรายรับรายจ่ายอาจจะใช้วิธีการจดบันทึกลงสมุด หรืออาจจะบันทึกผ่านแอปพลิเคชันก็ได้เช่นกัน ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชัน Money Manager         ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดรายรับรายจ่าย, หมวด Stats, หมวด Accounts และหมวด settings โดยสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่เข้าไปที่หมวดรายรับรายจ่ายเป็นหลัก เพื่อที่จะเพิ่มข้อมูลจากการเลือกว่าเป็นรายรับหรือรายจ่ายเท่าใด หลังจากนั้นให้เลือกรูปแบบการใช้เงิน เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น เลือกหมวดค่าใช้จ่ายของสินค้า ระบุตัวเลขที่ใช้จ่าย และกดบันทึก         ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถเลือกดูรูปแบบการสรุปการใช้จ่ายเงินเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยสรุปเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายในแต่ละเดือนออกมาเป็นสถิติรูปวงกลมก็ให้ไปดูได้ที่หมวด Stats หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยแบ่งตามรูปแบบการใช้จ่ายว่าการใช้จ่ายเงินสดใช้เงินไปทั้งหมดเท่าใดและใช้ผ่านบัตรเครดิตไปจำนวนเท่าใดก็สามารถดูได้เช่นกัน         ประโยชน์ของการใช้แอปพลิชัน Money Manager นี้จะช่วยสรุปค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้รู้ว่าในแต่ละช่วงสัปดาห์ได้ใช้จ่ายไปในเรื่องใดมากที่สุด และพิจารณาว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการบริหารการใช้เงินและควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้เกินตัวได้ทางหนึ่ง         อย่าลืมท่องเอาไว้ว่า “เงินจะไม่หมด ถ้ารู้จักใช้เงินให้เป็น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ยืมเงินผ่านแชต เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้ไหม

          สวัสดีครับ ฉบับนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการหยิบยืมเงิน ที่ต้องบอกว่าไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูแพงไปหมด เกิดภาวะเงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ก็ต้องหยิบยืมจากคนใกล้ตัวมาหมุนไปก่อน และช่องทางสื่อสารที่นิยมกัน ยืมเงินกันง่ายไม่ต้องมาจ้องตา คือคุยยืมกันผ่านอินบ๊อกในเฟซบุ๊คหรือไลน์  ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าข้อความแชตสนทนาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้  จึงอยากนำความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับการแชตอย่างไรให้มีหลักฐาน และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง        ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยืมเงินกันก่อน โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับการยืมเงินกันไว้ว่า ถ้ามีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"        จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้            1. ข้อความสนทนา (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน            2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้            3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ             หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้[1]            อีกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.   ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระคืนงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ อนึ่ง กรณีที่มีการชำระต้นเงินคืนบางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย ย่อมเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้นับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 2.   สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่มีข้อตกลงให้ผ่อนชำระคืนต้นเงินเป็นงวดๆ จะใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 "มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี" สัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงให้ชำระต้นเงินคืนในคราวเดียว เช่น ให้ชำระต้นเงินทั้งหมดคืนในวันที่ 30 มิ.ย.59 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุ แม้สัญญากู้ยืมเงินที่พิพาทในคดีนี้ แม้มีจะข้อตกลงให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ในส่วนของต้นเงินนั้น คู่สัญญาตกลงกันให้ชำระในวันที่ 9 พ.ค.40 ในคราวเดียว จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 [1] เพจเฟสบุ๊ค สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 กระแสต่างแดน

ดังก็โดนกิจการของ Red Balloon เว็บไซต์ขายประสบการณ์ตื่นเต้นเร้าใจกำลังไปได้สวย  ใครๆ ก็อยากจะลองเหินฟ้าดิ่งพสุธา นั่งบอลลูน ตระเวนชิมไวน์ หรือเรียนทำอาหารแปลกๆ ผู้ก่อตั้งเว็บนี้ก็กลายเป็นคนดังในสังคมออสซี่ เพราะเธอเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินประจำรายการ Shark Tank เกมโชว์ปั้นธุรกิจหน้าใหม่  นาโอมิ ซิมสัน ดังยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อบริษัทของเธอถูกคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งปรับเป็นเงิน 43,200 เหรียญ(ประมาณ 1.07 ล้านบาท) เพราะคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเดบิตและเครดิตเกินกำหนดกับลูกค้าไป 4 รายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เธอให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เจตนาของบริษัท ทีมงานของเธอแค่พลาดรายละเอียดเรื่องนี้ไปเท่านั้น กฎหมายห้ามคิดค่าธรรมเนียมเกินควรนี้บังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่มาได้ประมาณหนึ่งปีแล้ว ส่วนธุรกิจรายย่อยนั้นเริ่มบังคับเมื่อเดือนกันยายน คณะกรรมการฯ บอกว่าผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรให้กับผู้บริโภคเกินกำหนดได้กลับเองได้บรรดาครูและผู้บริหารโรงเรียนในอิตาลีต่างพากันโล่งออกเมื่อได้ข่าวว่าจะมีการแก้กฎหมายให้นักเรียนอายุต่ำกว่า 14 ปีสามารถกลับบ้านโดยไม่มีผู้ใหญ่มารับได้   สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแก้กฎหมายที่ว่าคือการที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาออกมาเรียกร้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองไปรับลูกที่โรงเรียนเพราะ “มันเป็นกฎหมาย และทุกคนต้องปฏิบัติตาม” ถ้าไม่ว่างก็ต้องจัดให้ปู่ย่าตายายไปรับแทน(สื่ออิตาลีแอบไปขุดคุ้ยมาได้ว่าตัวเธอเองไม่เคยว่างไปรับหลานสาวที่โรงเรียนเหมือนกัน)  คำพูดดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะต้องมีการจัดเวรยามเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน การเตรียมตัวถูกฟ้องร้องกรณีที่เกิดอันตรายกับเด็กในระหว่างที่เดินทางกลับบ้านในที่สุดข้อเสนอที่ออกมาคือการให้ทางเลือกแก่ผู้ปกครอง หากเชื่อมั่นในบุตรหลานและต้องการให้เด็กกลับบ้านด้วยตนเองก็สามารถเซ็นใบอนุญาตให้กับทางโรงเรียนไว้ได้เลยดีเซลหมดสิทธิเห็นเงียบๆ แต่เยอรมนีก็มลพิษเพียบนะคะ ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมยื่นฟ้องเยอรมนีในวันที่ 7 ธันวาคม โทษฐานที่ไม่ดูแลคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงของอียูและหากศาลยุโรปเห็นว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องจ่ายค่าปรับมิใช่น้อยการตัดสินใจนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลท้องถิ่นบางรัฐในเยอรมนี เมืองหลวงของรัฐบาลเดิน เวิร์ทเทมเบิร์กที่ชื่อว่าเมืองชตุทท์การ์ท เป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศเกินกำหนดถึงสองเท่า กำลังจะออกประกาศห้ามรถดีเซลเข้าเขตเมืองภายในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ตามคำตัดสินของศาลท้องถิ่น Environmental Action Germany ผู้ยืนฟ้องรัฐบาเดิน เวิร์ทเทมเบิร์ก ระบุว่าการห้ามรถดีเซลนี้เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะข้อเสนอของบรรดาค่ายรถ(เช่น เดมเลอร์ และปอร์เช่ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองนี้เช่นกัน) เรื่องการอัปเดตซอฟต์แวร์นั้นไม่ช่วยอะไรตามแผนนี้ รถที่จะวิ่งในเขตตัวเมืองได้จะต้องมีสติกเกอร์สีน้ำเงิน ซึ่งจะออกให้เป็นการรับรองรถที่ผ่านมาตรฐานยูโร- 6 เท่านั้น  ข่าวบอกว่ามิวนิคก็เล็งจะแบนรถดีเซลในเมืองเช่นกันต้องไม่หวั่นไหวเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางใต้ของเกาหลีเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนไม่น้อย เพราะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ที่น่าตกใจกว่าคือผลการสำรวจของเทศบาลกรุงโซลที่ออกมาหลังจากนั้น เทศบาลกรุงโซลพบว่ามีเพียงร้อยละ 30 ของอาคารบ้านช่องในโซลเท่านั้นที่สามารถต้านทานความแรงของแผ่นดินไหวได้   ถ้าแยกเป็นอาคารที่อยู่อาศัยแล้วจะพบว่ามีร้อยละ 46 ที่ถูกออกแบบมารองรับความสั่นสะเทือน ในกรณีของบ้านเดี่ยวแล้วมีเพียงร้อยละ 14.5 เท่านั้น   ส่วนอาคารสำนักงานนั้นดีขึ้นมาอีกนิดเพราะมีถึงร้อยละ 63 ที่พร้อมรับแผ่นดินไหว ในขณะที่ตัวเลขของโรงเรียนอยู่ที่ร้อยละ 33.5     เกาหลีใต้เริ่มจริงจังเรื่องการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2012 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้กำหนดให้อาคารทุกชนิดที่สูงเกินสองชั้นและมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 500 ตารางเมตร ต้องออกแบบให้รองรับการสั่นสะเทือนด้วยภาระคนโสด มหกรรมจับจ่ายเงินของคนโสดในประเทศจีนเมื่อนวันที่ 11เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาทำให้เกิดการไหลสะพัดของเงินมากเป็นประวัติการณ์ แต่ละชั่วโมงร้านค้าออนไลน์มีรายได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ ด้านผู้ซื้อก็เบิกบานกันทั่วหน้าเพราะได้สั่งซื้อสินค้า(ที่เชื่อว่าเป็น) ราคาโปรฯ มาครอบครอง แต่สิ่งที่มาพร้อมกันกับมหกรรมช้อปกระจายคือ ขยะจำนวนมหาศาล ลองจินตนาการถึงแพคเก็จจำนวน 331 ล้านกล่อง บวกด้วยถุง เทปกาว และเชือก สถิติปีก่อนระบุว่า “วันคนโสด” ปีที่แล้วทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติถึง 52,000 ตัน(ในขั้นตอนการผลิต บรรจุหีบห่อ และขนส่งนั่นเอง)  ผู้ประกอบการอย่างเจดี เถาเป่า หรืออาลีบาบา ต่างก็เคยแสดงท่าทีว่าจะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้แพคเก็จที่ย่อยสลายเร็ว ใช้กล่องพลาสติกแทนกล่องกระดาษ หรือแม้แต่การออกแบบกล่องที่ไม่ต้องใช้เทปใสปิดทับ    แต่องค์กรสิ่งแวดล้อมที่นั่นยืนยันว่าความพยายามนี้ยังไม่เด่นชัดนัก ปีหน้าเราอาจได้เห็นนวัตกรรมเด็ดๆ ในการจัดส่งสินค้าแดนมังกรในวัน “โสดต้องซื้อ” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เงินประกันที่อยู่อาศัยยึดได้จริงหรือ?

หัวเมืองใหญ่ๆ นั้น ถือว่าเป็นสถานที่สำหรับคนต่างจังหวัดที่จะเข้ามาหางานทำ รวมทั้งนักศึกษาที่จะต้องเข้ามาศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ ที่อยู่อาศัยในระหว่างการทำงานและการเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนทำงานมักหาที่อยู่อาศัยแบบบ้านเช่าหรือห้องแบ่งให้เช่า ส่วนนักศึกษาก็จะอยู่อพาร์ตเม้นท์ หรือหอพัก หากพิจารณารายละเอียดก่อนที่จะเข้าไปอยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะต้องมีการทำสัญญากับผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่าจะเตรียมสัญญาสำเร็จรูปที่เป็นรูปแบบที่ใช้เหมือนกันทุกคนในที่อยู่อาศัยนั้น  โดยผู้เช่าไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาได้เลย จึงเห็นได้ว่าผู้เช่าจะไม่ค่อยได้อ่านในรายละเอียดของสัญญาหรืออ่านแล้วแต่ก็ไม่ได้สงสัยแต่อย่างใด ประเด็นสำคัญของสัญญานั้นมีหลายข้อ แต่ข้อที่เป็นปัญหามากที่สุด คือเรื่องเงินประกัน ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดคำว่า “ที่อยู่อาศัย” หมายถึง สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับการให้เช่าเพื่อเป็นที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร อาคารชุด อพาร์ตเม้นท์ หรือสถานที่พักอาศัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ดังนั้นเมื่อทำสัญญาเช่ากันแล้ว ผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าพร้อมเงินประกัน ซึ่งผู้ให้เช่าจะต้องจัดให้มีหลักฐานการรับเงินและมอบให้แก่ผู้เช่าในทันทีที่รับเงินประกัน โดยในหลักฐานการรับเงินที่ผู้ให้เช่าออกให้นั้น ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และจะต้องมีสาระสำคัญและเงื่อนไป ดังต่อไปนี้ 1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ และของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน2. ชื่อและที่อยู่ของผู้เช่า3. ชื่อและสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัย4. กำหนดระยะเวลาที่อยู่อาศัย โดยระบุวันเริ่มต้นการเช่า และวันสิ้นสุดการเช่า(ถ้ามี)5. วัน เดือน ปี ที่รับเงินประกัน6. จำนวนเงินประกัน และข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับเงินคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับเงินคืนประกันภายในเจ็ดวัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้นตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบซึ่งในเรื่องของเงินประกันนั้น มีประเด็นปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ว่าควรจะหักได้เท่าไหร่จากความเสียหายอะไรบ้าง ตามกฎหมายนั้นกำหนดว่า ผู้เช่าจะต้องรับผิดในกรณีที่มีการทำของภายในห้องเช่าชำรุด เช่น ผ้าม่าน ประตู ตู้ เตียง ที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของห้องเช่าหรือหอพัก อันเกิดจากความผิดของผู้เช่าเองหรือของบุคคลอื่นที่เช่าอยู่ด้วย แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในกรณีเกิดความสกปรกที่เกิดจากจากใช้ห้องเช่าหรือหอพักนั้น แต่สำหรับค่าทำความสะอาดห้องนั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลังจากผู้เช่าแจ้งย้ายออกแล้ว ผู้ให้เช่าจะจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาด ซึ่งจะหักจากเงินประกันและในสัญญาเช่าก็ได้เขียนไว้เกี่ยวกับการย้ายเข้าและย้ายออก ถ้าผู้เช่าอ่านก่อนเซ็นสัญญาก็จะทราบ แต่ที่สำคัญคือ จำนวนเงินที่หักไว้เป็นค่าทำความสะอาดนั้น ควรจะเหมาะสมกับความเป็นจริง จึงจะถือว่าไม่เอาเปรียบผู้เช่า เช่น ค่าทำความสะอาดห้อง 200-500 บาท  แต่ที่อยู่อาศัยบางที่หักค่าทำความสะอาดจากเงินประกันเกือบทั้งหมด มีทั้งค่าทำความสะอาดห้อง ค่าเสียหายต่างๆ ซึ่งบางอย่างผู้เช่าไม่ได้เป็นคนทำชำรุด แต่เกิดจากการชำรุดก่อนหน้าที่จะเข้าอยู่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ไม่สามารถที่จะยึดเงินประกันทั้งหมดของผู้เช่าได้ดังนั้น ในการที่ผู้ให้เช่าจะหักเงินประกันอะไรได้บ้าง ต้องเป็นไปตามกฎหมายและหากมีการตกลงกันเป็นเงื่อนไขของการหักเงินประกันตามสัญญา ก็ควรเป็นไปตามความเหมาะสมของความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย คงไม่ต้องถึงขนาดต้องมีการโพสต์ระบายในเฟชบุ๊กในกรณีที่มีการเอาเปรียบกันเกินไปครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 งานแต่งเลื่อน ขอเงินค่าแพ็กเกจถ่ายรูปคืน

เพราะการแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน การจ้างช่างภาพมืออาชีพเพื่อมาเก็บภาพความประทับใจหรือบรรยากาศภายในงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปัจจุบันการถ่ายภาพงานแต่งมักเป็นแพ็กเกจการถ่ายรูป ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเราพบว่างานแต่งที่วางแผนไว้กลับล่ม แต่ตกลงซื้อแพ็กเกจการถ่ายรูปงานแต่งไว้แล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ลองไปดูกันคุณไอติมวางแผนแต่งงานไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการถ่ายภาพและเช่าชุดงานแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังตกลงกันเรียบร้อย และจ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเป็นจำนวนเกือบ 40,000 บาท กลับพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ ทำให้งานแต่งต้องยกเลิกไปก่อน คุณไอติมจึงต้องการยกเลิกสัญญาการถ่ายภาพและเช่าชุดแต่งงาน แต่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการขอเงินคืนทั้งหมด ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงชี้แจงผู้ร้องว่า การจ่ายเงินมัดจำ เป็นการให้คำมั่นว่าจะมีการทำตามที่ตกลงในสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องขอยกเลิกสัญญาเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเกือบ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการจ่ายเงินมัดจำสูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดว่าสามารถลดลงได้เท่าที่เสียหายจริง ในเบื้องต้นศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งระงับการจ่ายเงินกับธนาคารของบัตรเครดิตก่อน จากนั้นช่วยทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน โดยให้บริษัทฯ สามารถหักค่าเสียหายได้เท่าที่เสียหายจริง รวมทั้งเชิญให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิ ภายหลังการเจรจาพบว่า บริษัทแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เสียไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 บาท ซึ่งหากยกเลิกสัญญาจะต้องหักจากเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป พร้อมเสนอให้หักเพียง 5,000 บาท ทางบริษัทจึงขอนำกลับไปพิจารณา และแจ้งกลับมาภายหลังว่ายินดีทำตามข้อเสนอของผู้ร้อง แต่จะคืนเงินให้หลังจากที่ขายแพ็กเกจดังกล่าวให้ลูกค้าคนอื่นได้แล้ว ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ปฏิบัติการทวงเงินคืน เมื่อคอนโดสร้างผิดแบบ

คุณทัศนีย์ ศิริการ ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เธอวางแผนซื้อคอนโด เพื่อเก็บเป็นสินทรัพย์ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตัวเธอเองและหลานๆ จุดเริ่มต้นเรื่องดูเหมือนจะราบเรียบ อะไรคือจุดหักเหที่ทำให้เธอได้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ถูกละเมิดสิทธิอะไรบ้างดิฉันไปซื้อคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านอโศก ช่วงที่ไปซื้อตอนนั้นไม่ได้มีห้องตัวอย่างให้ดู แต่เราเป็นลูกค้าของบริษัทผู้สร้างคอนโดแห่งนี้มาก่อน แล้วเซลส์ก็โทรมาแจ้งว่ามีโครงการนี้นะ สนใจไหม ซึ่งตอนเราไปซื้อเป็นช่วงพรีเซลส์ ห้องตัวอย่างก็ยังไม่เสร็จ แต่สนใจเลยตกลงทำสัญญาไป ส่งค่างวดไป 29 งวด เป็นเงินประมาณ 9 แสนกว่าบาท ระยะเวลา 2 ปีกว่า พอส่งครบ 29 งวด คอนโดฯ ก็เสร็จเขาถึงนัดไปตรวจห้อง เดี๋ยวนี้คอนโดบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขาจะขายแบบนี้กันทั้งนั้น คือตึกยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็ขายก่อน ผ่อนดาวน์ไปเรื่อยๆ โครงการก็สร้างไปเรื่อยๆ พอวันไปตรวจห้องก็พบว่า ตรงที่เขาเขียนว่าเป็นระเบียง มันกลายเป็นหน้าต่าง ไม่มีประตูออกไประเบียง เหมือนทำไว้วางคอมเพรสเซอร์แอร์ฯ แค่นั้น แล้วก็วางตรงกลางเลยไม่ได้ชิดมุมใดมุมหนึ่งเพื่อที่เราจะได้ออกไปตากผ้าหรือทำอะไรได้เลย คือ เข้าใจใช่ไหม คนไทยเรามันมีความรู้สึกว่าต้องออกไปตากผ้าที่ระเบียงให้ลมโกรก คือบ้านเราไม่มีเครื่องอบผ้า แล้วในห้องก็ไม่มีเครื่องซักผ้า มันเป็นจุดที่ส่งซักก็ไม่สะดวก เพราะมันมีหลายอย่างที่เราส่งไม่ได้ ทั้งรองเท้า ชุดชั้นใน พรมเช็ดเท้า ซึ่งมันก็ตากในห้องไม่ได้อีก ก็กลายเป็นว่าระเบียงของเขาเป็นแค่ช่องหน้าต่างที่เป็นบานกระทุ้งแต่ออกไปข้างนอกไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าตอนซื้อเราดูไม่ละเอียดหรือเปล่า ก็กลับมาดูแปลนในสัญญาซื้อขาย ซึ่งในแปลนจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็มีส่วนที่ยื่นเป็นแง่งออกมา ซึ่งคอนโดที่อยู่ในปัจจุบันก็ออกแบบเป็นแง่งแบบนี้แต่มีประตูและก็ออกไประเบียงได้ เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลยพอเราเห็นแบบนี้ตอนแรกก็เลยโทรไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งหาเบอร์โทรจากอินเตอร์เน็ตเจอเบอร์ที่ไม่ใช่ 1166 แต่เป็นเบอร์ขึ้นว่าทนายเดชา แล้วก็มีหลายๆ เบอร์ขึ้นมาก็โทรไปแล้วถามว่าใช่ สคบ. ไหม เขาก็บอกว่าจะโอนสายไปที่ทนายให้ พอคุยเขาก็บอกว่าให้ไปหาเขาแล้วจะทำจดหมายแจ้งโนติสโครงการให้แต่จ่ายเงินเขามา 5,000 บาท ก่อน ก็ไปจ่ายนะตอนนั้น เขาก็ทำจดหมายแจ้งโนติสมาให้เราทางไลน์ว่าข้อความตามนี้โอเคไหม ซึ่งตอนนั้นที่ไปคุยกับเขา เราก็รู้สึกแปลกๆ อยู่อย่างคือเขาไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไรที่ละเอียดเลย เราก็คิดว่าเราควรจะถามใครอื่นดีที่เป็นผู้รู้ ก็พอดีมีเพื่อนที่เรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนสมัยอยู่ที่จันทบุรีด้วยกัน เพื่อนก็บอกให้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะเพื่อนก็ไม่ได้รู้รายละเอียดเรื่องพวกนี้มากเท่าไรเลยอยากให้มาคุยกับคนที่รู้ดีกว่า พอมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิฯ ก็เลยได้มาคุย ได้เอารูปที่เคยโฆษณามาให้ดูว่าตรงนี้มันเป็นระเบียงจริงหรือเปล่า เพราะถ้าดูจากในรูปมันอาจจะเป็นระเบียงหรือกันสาดก็ได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แนะนำว่า ถ้าอยากทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ให้ไปขอคัดพิมพ์เขียวที่เขตโยธาฯ เราก็ไป ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ เขาบอกว่าอยู่ๆ จะมาขอคัดไม่ได้ต้องมีจดหมายคำร้องจากศาลมาขอ เพราะเขากลัวเราจะไปก็อปปี้แล้วสร้างโครงการอื่น กลัวเราจะเป็นหน้าม้าเอาพิมพ์เขียวเขาไปใช้ต่อ ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเราเป็นผู้บริโภคจริงๆ มีเรื่องแบบนี้ๆ แล้วไม่ได้จะเอาพิมพ์เขียวไปทำอะไร แค่อยากได้เงินดาวน์คืนแค่นั้น เขาเลยยอมแต่ให้เราเขียนเป็นคำร้องไว้แล้วให้ไปรับวันหลัง เขาจะหาให้ พอถึงวันที่ไปรับพี่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เขาโทรไปแจ้งกับทางโครงการคอนโดแล้วนะว่า ทำไมทำแบบนี้ คือ ในพิมพ์เขียวเขียนว่า เป็นระเบียงแล้วทำไมให้ออกไปข้างนอกไม่ได้ ทำแบบนี้มันเสียชื่อเสียงหมดอะไรประมาณนี้ แล้วก็ให้พิมพ์เขียวเรามา พอได้มาแล้วก็รู้ว่ามันเป็นระเบียงจริงๆ แต่เราก็ดูไม่เป็น เลยไปให้พี่ที่โยธาฯ ที่ห้วยขวางช่วยดูให้ เขาก็บอกว่า เอาจริงๆ เขาก็ไม่อยากจะว่าคนอาชีพเดียวกัน แต่ว่าคนที่เป็นคนอนุมัติพิมพ์เขียวนี้ดูไม่ละเอียดเพราะถ้าเขียนว่า เป็นระเบียงมันจะต้องออกไปใช้พื้นที่ตรงระเบียงได้ แต่กลายเป็นเขียนว่าระเบียงแต่ตรงนั้นเป็นหน้าต่าง คือมันขัดแย้งกันในตัว เขาบอกว่าคนอนุมัติดูไม่ละเอียด ตรงนั้นถ้าไม่เป็นระเบียงต้องเขียนเป็นกันสาดหรือไม่ก็ต้องทำเป็นประตูให้ออกไปได้ เพราะระเบียงจะต้องเป็นพื้นที่ที่เราออกไปใช้สอยได้ เขาพูดไว้แบบนี้เลยและพี่เขาก็โทรไปที่โครงการฯ เหมือนกัน แต่ทางโครงการฯ แจ้งว่าพื้นที่ตรงระเบียงเขาไม่ได้คิดเงินนะ พอดีเราเอาโฉนดติดไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ให้น้องที่เป็นเซลส์แฟกซ์โฉนดมาให้ก่อนแล้ว เพราะเราอยากรู้เหมือนกันว่า ตรงนี้คิดเงินเราไหม ปรากฏว่าก็คิด เลยเอาโฉนดมายืนยันกับพี่ที่เป็นโยธา  พี่เขาก็บอกว่าให้เราไปฟ้อง สคบ. เลย แต่เรื่องยังไม่ถึง สคบ. เพราะว่ามาที่มูลนิธิฯ ก่อน แล้วพอดีกับมีจดหมายจากบริษัทฯ ส่งมาแจ้งให้ไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เลยมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทางศูนย์จึงแนะนำให้ตอบจดหมายกลับไปว่า ทางเราไม่สามารถรับโอนได้ เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขเรื่องระเบียงให้เรา คือก่อนหน้านั้นพอรู้ว่ามันไม่เป็นระเบียงก็ได้เขียนจดหมายไปแล้วว่าให้แก้ไขให้ภายใน 7 วันในส่วนที่ไม่เป็นระเบียง ถ้าไม่แก้ไขเราจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปแสดงว่าตอนแรกได้แจ้งทางโครงการไปแล้วว่าให้แก้ไขเป็นระเบียงให้ก่อน ยังไม่ได้เรียกร้องเงินคืน ใช่ คือให้แก้ไขภายใน 7 วัน ก็เขียนไปวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แล้วประมาณต้นเดือนมีนาคม ทางบริษัทฯ ก็ส่งจดหมายมาให้เราไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เขียนไปว่า เราโอนไม่ได้เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขในส่วนที่เราแจ้ง และเราก็ขอเงินคืนเนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไข ถ้าไม่คืนเงินภายในกี่วัน เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เราก็ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแสดงตัวตามที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำ ว่าให้เราไปแสดงตัวว่าเราเป็นเจ้าของห้องและไม่ได้ผิดนัด ก็ถามน้องคนที่เป็นคนของโครงการว่า พี่มาโอนห้องมีชื่อของพี่อยู่ในคิวไหม น้องบอกว่าไม่มี ก็เลยโทรปรึกษาศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทางศูนย์แนะให้เราไปขอบัตรคิวแล้วไปเข้าคิวเหมือนปกติ เสร็จแล้วน้องที่ให้คิวของสำนักงานเขต ก็บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ให้เราแจ้งเป็นผิดนัดไปเลยได้นะ น้องเขาก็เลยทำเป็นข้อร้องเรียนตามกฎหมายว่าผิดนัด บริษัทฯ ไม่ได้มาตามสัญญา เหมือนทางคอนโดฯ นัดเราเองแต่ไม่ได้มา  มีคนของโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้ มานัดรับโอนกรรมสิทธิ์กับเจ้าของห้องอื่นๆ อีกหลายคน เพียงแต่ของเราไม่ได้อยู่ในระบบของเขา เข้าใจว่า เขาคงคิดว่าเราไม่มาแน่ๆ เพราะเราส่งจดหมายไปแล้วว่าไม่โอน แต่น้องที่รับทำบัตรคิวก็ทำเป็นผิดนัดให้ไว้ ก็ดี จะได้มีหลักฐานว่าเรามาจริง ซึ่งทางสำนักงานที่ดินก็ช่วยเหลือดีมาก เพราะจริงๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรแค่อยากได้เงินคืน เพราะค่างวดที่จ่ายไปมันเป็นเงินเก็บจากเงินเดือนเรา เราก็ไม่ใช่คนรวยอะไร เป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรง ก็อยากได้คืนแค่นั้น ซึ่งเราซื้อไว้ 2 ห้อง พอช่วงเดือนเมษายน ทางบริษัทฯ ก็ทำจดหมายมาให้โอนอีกห้องวันที่ 20 เมษายน เราก็ไปอีกก็เหมือนเดิมเลย คือไม่มีชื่อของเราอยู่ในคิว เราก็ทำเหมือนเดิม คือให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือว่าทางบริษัทฯ ผิดนัด ขณะที่รอทางที่ดินทำหนังสือผิดนัดอยู่ น้องที่เป็นพนักงานขายโครงการก็โทรมาว่า เรื่องของพี่ได้คุยกับเจ้านายแล้วและทางโครงการจะคืนเงินให้ทั้งหมด เลยถามว่าจะได้คืนภายในเมื่อไร เขาก็บอกว่าปกติระบบของเราจะจ่ายเช็คเดือนละ 2 ครั้ง คือ 15 วันจ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้คืนเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาโอนเงินคืนเข้าบัญชีเลยทั้ง 2 ห้อง เราก็มาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เขายอมคืนอาจจะเป็นเพราะว่าทางโยธาฯ โทรไปต่อว่ากับทางโครงการฯ แล้วมันเป็นจุดที่เขาผิดจริงๆ เพราะว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการแรกที่เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่น และเป็นโครงการแรกที่ระเบียงออกไปข้างนอกไม่ได้ ก่อนหน้านั้นก็มีระเบียงที่ออกไปได้ปกติ โดยเขาพูดทำนองว่า เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่นและที่ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกเยอะมาก เขาเลยไม่ทำที่ให้ออกไปตรงระเบียงได้  ข้อมูลนี้ทราบมาตอนไปตรวจห้องแล้วน้องที่พาไปตรวจห้องเขาบอกไว้ ซึ่งจริงๆ เราก็มานึกๆ มันก็คนละประเทศกันไหม มันจะใช้หลักการเดียวกันแบบนี้ไม่ได้ ญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่ค่อยมีแดด เขาก็ต้องมีเครื่องอบผ้าหรือเปล่า แต่แดดบ้านเราแรงขนาดนี้ ก็ควรเอาผ้าไปตากแดดดีกว่า พี่ยังต้องตากผ้าอยู่ลักษณะห้องทุกห้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดใช่ค่ะ แปลนเดียวกันเป็นแบบนี้หมด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าห้องอื่นเขาคิดกันอย่างไร พี่ไม่ได้คุยกับคนอื่นเลย แต่ประเด็นของพี่ พี่ว่ามาถูกทางตรงเราไปขอพิมพ์เขียวแล้วพิมพ์เขียวมันขัดแย้งกันเอง ก็เลยเป็นข้อที่ถ้าเขาต่อสู้ คนที่อนุมัติพิมพ์เขียวก็จะมีปัญหาหลังจากโอนเงินคืนมาแล้ว มีคนโทรติดต่อเข้ามาอีกไหมไม่มีเลย โอนเงินมาก็จบไม่ได้คุยอะไรกันอีกเลยอยากให้ฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมีข้อควรระวังอะไรบ้างต้องถามเซลส์ให้ละเอียดว่า ห้องเป็นลักษณะอย่างไรแต่ถ้าเอาให้ชัวร์ๆ ก็คือไปดูห้องตัวอย่างก่อน รอห้องตัวอย่างเสร็จก่อน เพราะว่าตอนที่พี่ซื้อโครงการฯ นี้มันเป็นทำเลที่ดีมาก อยู่แถวถนนพระราม 9 ไปเส้นอโศก แล้วเราก็มีคอนโดฯ ที่ซื้อกับบริษัทฯ นี้มาก่อน แล้วไม่มีปัญหาอะไร คือเราก็มีความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่า ตัวเองไม่ละเอียดรอบคอบพอด้วยเหมือนกัน และสำคัญควรเก็บหลักฐานให้ดี เอกสารโบรชัวร์ ใบเสร็จต่างๆ พวกค่ามัดจำ รายละเอียดสัญญาจะซื้อจะขายก็เก็บไว้ทั้งหมดนะ เพราะว่าเวลามีปัญหาเรามีข้อมูลครบหมด ว่าเราซื้อเมื่อไร อย่างไร คือข้อมูลต้องพร้อม บทเรียนที่ได้จากการพยายามใช้สิทธิร้องเรียน เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลย โดยปกติคนเราก็จะนึกถึง สคบ. แต่พี่รู้สึกว่า สคบ. อาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเพราะคนร้องเรียนเยอะ ทำให้มันล่าช้าและเราก็ไม่รู้ว่าพนักงานตรงนั้นอาจจะงานโหลด ทำให้มูลนิธิฯ เป็นทางเลือกที่ดีและช่วยเหลือพี่อย่างดี แต่เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ คนที่มาร้องเรียนบางคนอาจจะคาดหวังให้มูลนิธิฯ ทำให้ทุกอย่าง ซึ่งมันก็คงไม่ได้เพราะคนก็มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เยอะเหมือนกัน อย่างของพี่เวลาทำจดหมายก็ส่งให้ทางศูนย์ช่วยดูว่า การใช้คำตรงไหนต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ช่วยดูให้ตลอด แต่เป็นเรื่องของเรื่องตัวผู้บริโภคเองที่จะต้องลงมือปฏิบัติเอง ว่าร้องเรียนแล้วต้องทำตามคำแนะนำว่าควรไปที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่ว่าโยนให้คนอื่นช่วยทำ แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ เราเองต้องทำให้ถึงที่สุดก่อน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่างตอนที่ดูพิมพ์เขียวก็พยายามหาข้อมูลว่าเขียนว่า AW นี่หมายถึงอะไร ก็ได้ความรู้มาว่าถ้าเป็นประตูมันต้องเขียนว่า AD คือ Door แต่ในพิมพ์เขียวเขียนว่า AW น่าจะหมายถึงหน้าต่างก็คือ พยายามหาข้อมูลให้พร้อมที่สุดเพื่อมาสนับสนุนคำร้องของเราให้ได้เยอะที่สุด พอมาถูกทางแล้วเรื่องมันก็ไว อย่างพี่ตอนแรกก็คิดว่าเงินคงไม่ได้คืน ถ้าได้คงต้องรอเป็นปีแน่ๆ แต่กรณีของพี่ประมาณ 5 เดือนก็ได้เงินคืนแล้วซึ่งพี่ดีใจมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 คำนวณสกุลเงินกับ “SuperRichTH”

เมื่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ที่ชอบเดินทางในราคาประหยัดและไม่ชำนาญกับการคำนวณสกุลเงินมากนัก การเดินทางไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง จึงมักมีปัญหากับการเปรียบเทียบตัวเลขของค่าเงินจากสกุลเงินประเทศนั้นๆ เป็นเงินบาท เพื่อให้ได้สิ่งของในราคาที่เหมาะสม แต่ปัญหาแรกคือ คนส่วนใหญ่มักจะสับสนกับวิธีการหรือคำเรียกในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน อย่างคำว่า ราคาซื้อ ราคาขาย จนทำให้ต้องมาตั้งหลักทำความเข้าใจใหม่ทุกครั้งไป อย่างแรกเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า ราคาซื้อและราคาขาย กันก่อน ราคาซื้อ หมายถึง ราคาที่ธนาคารรับซื้อเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย หรือจำง่ายๆ ว่าเราถือเงินต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทไทย  ส่วนราคาขาย หมายถึง ราคาที่ธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หรือนำเงินบาทไทยไปแลกเงินตราต่างประเทศมา สรุปดังนี้ ธนาคารรับซื้อเงินต่างประเทศ หมายถึง ราคาซื้อ ส่วนธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หมายถึง ราคาขาย   สำหรับเรื่องปัญหาการเปรียบเทียบราคาของค่าเงินต่างประเทศกับเงินบาทไทย ผู้เขียนขอแนะนำชื่อสถานที่ที่ใครๆ จะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รู้จักกันดี คือ  ซุปเปอร์ริช นั่นเอง ซุปเปอร์ริชไทยแลนด์ มีแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยแก้ปัญหากับความไม่เชี่ยวชาญทางด้านการเงินของนักท่องเที่ยว ชื่อว่า “SuperRichTH” แอพพลิเคชั่นนี้จะคอยนำเสนอทุกความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 30 สกุลทั่วโลกและอัพเดทข้อมูลตลอด ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างใกล้ชิด เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นเข้าไป เราสามารถเลือกสกุลเงินของประเทศที่ต้องการ ต่อจากนั้นให้กรอกตัวเลขว่าต้องการได้เงินในสกุลต่างประเทศจำนวนเท่าไร โปรแกรมจะคำนวณมาให้เป็นผลลัพธ์ด้านล่างเป็นค่าเงินบาทไทย โดยให้สังเกตที่ลูกศรตรงคำว่า converter ถ้าลูกศรหันไปทางซ้าย หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทไทย ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาซื้อ  และถ้าลูกศรหันไปทางขวา หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินบาทไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาขาย นอกจากนี้ภายในแอพพลิเคชั่น “SuperRichTH” ยังมีแผนที่สถานที่ซุปเปอร์ริช และเบอร์โทรติดต่อ เพียงแค่คลิกก็สามารถโทรติดต่อได้ทันที ลองแอพพลิเคชั่นนี้ดู เผื่อสักวันหนึ่งการคำนวณเงินตราต่างประเทศระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะช่วยทำให้การช้อปปิ้งสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็ช่วยให้เข้าใจระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาซื้อ ราคาขาย ได้ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสในประเทศ

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2555 สคบ.เตรียมคุมเข้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจของผู้บริโภคยุคนี้ วัดได้จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่สูงสูสีพอๆ กับปริมาณหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สคบ. จึงเตรียมผลักดันให้ธุรกิจสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาสั่งสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างหวัง หรือได้บ้านแต่เป็นบ้านที่ไม่มีคุณภาพ มาจากธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีสัญญาควบคุมอย่างเป็นมาตรฐาน แม้มีหน่วยงานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีสัญญากลางไว้ช่วยกำกับดูแล แต่ปัญหาผู้รับเหมาผิดสัญญาผู้ซื้อบ้านก็ยังก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สคบ. ที่ต้องรีบจัดทำสัญญามาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำผิดหรือหาช่องละเมิดผู้บริโภค และช่วยให้มีเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมา โดยทาง สคบ. ตั้งใจดำเนินการเรื่องการควบคุมสัญญาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้   คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านให้ อันดับแรกควรศึกษาประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และอย่าลืมตรวจสัญญาให้ดีว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบก่อนที่จะเซ็นสัญญา หรือหากมีข้อข้องใจเรื่องการทำสัญญาสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สคบ. โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โทร. 02-629-7065-66 ----------------------------------------------------------- สัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. ได้ออกข้อบังคับให้ต่อนี้ไป ธนาคารต่างๆ ต้องแสดงข้อความ ลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ที่ได้รับความคุ้มครองว่า “เงินฝากนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของผู้ที่มาใช้บริการ ให้ได้รับรู้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นสิทธิสำคัญของผู้ฝากเงินกรณีที่ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 นี้เป็นต้นไป จำนวนเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยคุ้มครองสูงถึง 50 ล้านบาท โดยประเภทของเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน เฉพาะที่เป็นเงินบาท เพราะฉะนั้นใครที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องมั่นติดตามข่าวสารสถานการณ์การเงินของธนาคารที่เราฝากเงินไว้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยๆ การที่ สคฝ. ออกมาตรการให้ธนาคารต้องแสดงสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก ก็เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของเราจะได้รับการดูแล ใครที่มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th ----------------------------------------------------------------------- จัดระเบียบตลาดนัด ตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กัน เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอ พูดได้เลยว่าตลาดนัดถือเป็นครัวหลักของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารการกิน แต่หลายคนมีอคติกับตลาดนัดที่เรื่องความสกปรก กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมจัดระเบียบตลาดนัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลาดนัดถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผู้ประกอบการตลาดนัดจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และต้องผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการได้แก่ 1.สถานที่สะอาด 2.อาหารที่วางขายต้องไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายอย่างน้อย 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอร์มาลีน สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น มีตาชั่งมาตรฐานเที่ยงตรง ราคายุติธรรม มีชุดตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงตลาดให้เข้ากับเกณฑ์ที่กระทรวงตั้งไว้ เพื่อให้คนไทยได้ชิมช้อปกันอย่างปลอดภัย -----------------------------------------------------------------------------   กสทช.สั่งแบนมือถือ 280 รุ่น ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่าได้สั่งเพิกถอนในรับรองโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่น จาก 27 บริษัท เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลรายงานการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งเพิกถอนนี้มีผลทำให้ห้ามมีการนำเข้าและจำหน่ายมือถือทั้ง 280 รุ่นต่อไป แม้มาตรการที่มีต่อผู้ประกอบการจะค่อนข้างชัดเจน คือการระงับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกยกเลิกทะเบียน แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่มีมาตรการรับผิดชอบใดๆ โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม หากมือถือที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหาก็ยังสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่หากผู้บริโภคใช้โทรศัพท์ที่ถูกยกเลิกแล้วมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องเป็นกรณีไป ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่มีปัญหาหลายๆ รุ่น ว่าขายมาตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อน คาดว่าน่าจะมีคนที่ซื้อไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ใครที่อยากรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายทั้ง 280 รุ่นมีรุ่นใดบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ กสทช. Call Center 1200 ---------------------------------------------------------------------------- กินหน่อไม้ดิบ ระวังชีวิตดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอย่ากินหน่อไม้ดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าหน่อไม้บางสายพันธุ์สามารถกินดิบๆ ได้ ซึ่งความจริงถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะตามธรรมชาติในหน่อไม้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากสารก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณมากสารไซยาไนด์ก็จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินหน่อไม้ ต้องต้มให้สุกทุกครั้ง โดย นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร แนะนำให้ต้มหน่อไม้ทิ้งไว้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที เพราะจะช่วยลดสารไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ได้ถึงร้อยละ 90.5 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2555 เรียวปากสวย...แต่เสี่ยงสารตะกั่ว สาวๆ คงต้องให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นพิเศษ เพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Time Healthland ของอเมริกา รายงานว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วอยู่ในลิปสติกยี่ห้อดังอย่าง Maybelline’s Colour Sensation เฉดสี Pink Petal, L’oreal Colour Riche เฉดสี Volcanic และ ลิปสติก Nars เฉดสี Red Lizard กับเฉดสี Funny Face ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องนำสินค้าชนิดเดียวกันในวางขายอยู่ในประเทศไทยมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทผู้นำเข้าคือ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด ชี้ได้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีการใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ แต่สารตะกั่วที่พบนั้นมาจากการปนเปื้อนในธรรมชาติ เช่น น้ำ อากาศ และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การปนเปื้อนที่พบในลิปสติกน้อยกว่าการปนเปื้อนในธรรมชาติ แต่ทาง อย. ก็ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ลิปสติกยี่ห้อที่ต้องสงสัยเหล่านี้ หยุดใช้ชั่วคราวจนกว่า อย. จะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ได้   เมื่อ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา เคยสุ่มตรวจลิปสติกจำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่การปนของตะกั่วในลิปสติกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายโดยตรงและใช้บ่อยครั้ง คนที่ใช้เป็นประจำจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เติมความ “สด” ให้นมโค “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง?” คำถามที่แสดงถึงความห่วงใย เพราะนมมีประโยชน์ เราจึงอยากให้ทุกคนดื่มนมกันประจำ แถมจากนี้ไปนมที่เราดื่มจะยิ่งมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตรียมแก้ไขนิยามผลิตภัณฑ์นมโคพร้อมดื่ม จากที่ใช้คำว่า “นมโค” ให้เติมคำว่า “สด” ต่อท้าย เพื่อให้เห็นภาพของนมโคแท้ 100% ที่ผ่านกรรมวิธีพลาสเจอร์ไรส์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นมโคสด” เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมกับผู้ผลิตที่เดี๋ยวนี้มีนมที่ผสมนมผงหรือใช้วิธีการผลิตแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การพลาสเจอร์ไรส์ออกมาทำให้คนที่ชอบดื่มนมเข้าใจผิด ซึ่งจากนี้ไป อย. ก็จะออกข้อบังคับให้นมโคพร้อมดื่มที่ไม่ใช่นมโค 100% ต้องแสดงข้อมูลปริมาณนมโคที่ใช้จริงหรือสูตรของนมผงที่นำมาผสม อีกหนึ่งข้อดีที่ผู้บริโภคจะได้รับ หากมีการบังคับให้ใช้คำว่านมโคสดคือ ต้องกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุของตัวสินค้าไม่ให้เกิน 10 วัน ซึ่งทำให้นมสดที่เราดื่มจะมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะเป็นนมที่ผลิตใหม่และสดจากฟาร์มจริงๆ ทาง อย. คาดการณ์ว่าประกาศนี้จะผ่านคณะกรรมการพร้อมบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 ------------------------------------------------------------------------------------------------- สคบ.ออกตราการันตีของดีสำหรับผู้บริโภค จากนี้ไปผู้บริโภคน่าจะมีความมั่นใจในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตรียมออก “ตราสัญลักษณ์ของ สคบ.” (CONSUMER PROTECTION GUARANTEE) ตรารับรองสินค้าและบริการที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ สคบ.กำหนด ซึ่งทาง สคบ.เชื่อว่าการให้สินค้าติดตรารับรอง จะช่วยลดปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ ลงได้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ สคบ.นี้จะเป็นตัวคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากได้รับความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งเพื่อขอรับการแก้ไขหรือการชดเชยความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น เพราะทาง สคบ. มีข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว โดยสินค้าและบริการที่ สคบ.จะออกตราการันตีให้ ได้แก่ รถยนต์มือ 2 โทรศัพท์มือถือ ทองรูปพรรณ ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ใหม่ หอพัก บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจซ่อมรถยนต์ บ้านจัดสรรและอาคารชุด เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟิตเนส บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเสริมความงาม สินค้าเกษตร ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โรงเรียนกวดวิชา อัญมณี ศูนย์บริการดูแลเด็ก ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และบริษัทรับออกแบบ ซึ่งผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์สินค้าต้องมาต่ออายุทุก 2 ปี และจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจคุณภาพสินค้าทุก 6 เดือน --------------------------------------------------------------------------------------------- “พารา” ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาสารพัดประโยชน์ทั้งแก้ปวดและแก้ไข้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีหลากหลาย การรักษาก็ต้องใช้ตัวยาที่แตกต่างกัน เตือนคนที่ยังใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกกับโรค อาจเกิดอันตรายกับร่างกายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน หรือจากบาดแผลขนาดใหญ่ มักใช้กับคนไข้ในสถานพยาบาลต่างๆ ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจส่งผลต่อระบบประสาทและระบบหายใจ ส่วนยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และลดการอักเสบ แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งถ้าใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ------------------------------------ เริ่มแล้ว!!! เติมเงินห้ามหมดอายุ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการเอาผิดกับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ยังมีการออกข้อกำหนดเรื่องวันหมดอายุบัตรเติมเงิน เนื่องจากมีความผิดเพราะฝ่าฝืนประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ตั้งแต่สมัยยังเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนตอนนี้ผ่านมาถึง 7 ปี กสทช. เพิ่งจะมีมาตรการเด็ดขาดเอาผิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคคอยติดตามและสอบถามถึงการดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังมานาน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิของตัวเองถึง 7 ปี เหตุผลมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นคนออกข้อบังคับเองแท้ๆ แต่กับบังคับใช้กฎหมายของตัวเองไม่ได้ สำหรับบทลงโทษที่ทาง กสทช. จะดำเนินการกับบริษัทผู้ให้บริการหากยังมีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน คือ การปรับเงินจำนวน 100,000 บาทต่อวัน แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ ในกรณีที่ถูกกำหนดวันหมดอายุหรือถูกยึดเงินเพราะวันหมดแต่เงินในโทรศัพท์ยังเหลือ ผู้ใช้โทรศัพท์แบบบัตรเติมเงินแล้วพบปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ กสทช. โทร 1200 ช่วยร้องเรียนกันเยอะๆ เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 25545 กันยายน 2554สินค้าลดราคาช่วยเหลือผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการ ปรับลดราคาสินค้า 5 ประเภท รับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสินค้าทั้ง 5 รายการประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ลดราคาถุง (50 กก.) ละ 5-10 บาท จากราคาปัจจุบัน 135-140 บาท กระเบื้องมุงหลังคา ลดลงแผ่นละ 5 บาท จากราคา 36-40 บาท ปุ๋ยเคมี ลดลงถุงละ 5-8 บาท จากราคา 905-1,010 บาท เครื่องปั๊มน้ำ ลดลงเครื่องละ 100-200 บาท จากราคา 4,590 บาท และแป้งสาลี ลดลงถุงละ 10 บาท จากราคา 477-698 บาท  นอกจากนี้กระทรวงจะพิจารณาปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดูตามราคาทุนหากมีการปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่ยังไม่สามารถลดราคาได้ทันที ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะตรึงราคาจำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี ได้แก่ หมวดของใช้ประจำวัน เช่น ผงชักฟอก สบู่ ยาสีฟัน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้น-------------   14 กันยายน 2554  แปรงสีฟัน เลือกไม่ดีอาจมีเสี่ยง เมื่อการแปรงฟันอาจเป็นฝันร้าย เพราะอันตรายจากแปรงสีฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยผลสำรวจแปรงสีฟันที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ พบว่าด้อยคุณภาพถึง 61% ซึ่งมีปัญหาขนแปรงแข็งเกินไป หัวแปรงใหญ่และขนหลุดง่าย แถมยังพบสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ที่บริเวณด้ามแปรง และหัวแปรง ซึ่งถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่พบเฉพาะในแปรงสีฟันที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น   สคบ. จึงได้ประกาศให้แปรงสีฟันจำนวน 83 ยี่ห้อ 229 รุ่น เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุลักษณะของขนแปรง ชนิดของขนแปรง วัสดุที่ใช้ผลิตด้ามแปรง และวิธีใช้ ถ้าเป็นแปรงสีฟันนำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย สำหรับวิธีการเลือกซื้อแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนาดพอดีกับช่องปากของเรา หัวแปรงต้องไม่มีลักษณะทรงแหลมหรือมีความคม ด้ามแปรงก็ต้องไม่สั้นเกินไป ขนแปรงต้องทำจากเส้นใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เป็นเส้นกลม หรือรี ขนตั้งตรง ผิวเรียบ ปลายมน ไม่มีขอบคม หรือขรุขระ ที่สำคัญคือควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และผู้บริโภคควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุกๆ 3 เดือน------------     16 กันยายน 2554ห้ามตัดสัญญาณมือถือเติมเงิน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเตรียมเฮ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามตัดสัญญาณคนใช้มือถือแบบเติมเงินที่ไม่ได้เติมเงินในเวลาที่กำหนด หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งเสียเวลาในการพิจารณาไปกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งมาถึงผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนให้กับค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการระงับการใช้มือถือแบบเติมเงิน สิทธิในเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นของผู้ใช้  ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการพิจารณามาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติของทั้งผู้ให้บริการ และให้ผู้บริโภคได้รู้สิทธิของตัวเอง ----------  เฝ้าระวังความปลอดภัย “ของกิน – ของเล่นหน้าโรงเรียน” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝากข้อความร่วมมือจากครู – อาจารย์ ตามโรงเรียนต่างๆ  ไปจนถึงพ่อ – แม่ ผู้ปกครอง ตรวจตราดูอาหารและของเล่นที่ไม่ได้มาตราฐานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน เพราะอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน  อย. ได้ฝากเตือนว่า อาหารที่ขายให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพวกของทอดหรือปิ้งย่าง ถ้าเป็นขนมก็เป็นพวกขนมกรุบกรอบหรือไม่ก็ขนมที่มีสีสันน่าสงสัย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนของเล่นที่ขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนนั้น แนะนำให้สังเกตสัญลักษณ์ของ สมอ. เพื่อความปลอดภัย และให้ระวังของเล่นต้องห้าม ทั้ง ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตัวดูดน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่อันตรายมากหากหลุดเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าใครพบเจอของเล่นต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ที่เบอร์ 1166 ----------------------------------     รถตู้โฟตอนไม่ได้คุณภาพ เสียทั้งค่าเช่าจ่ายทั้งค่าซ่อมสมาชิกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อโฟตอนจาก บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลล์ จำกัด ซึ่งรถตู้ยี่ห้อดังกล่าวเป็นรถด้อยคุณภาพ ต้องนำรถไปซ่อมแซมหลายครั้ง ไม่สามารถนำรถยนต์มาประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ซื้อรถต้องแบกรับภาระทั้งค่าเช่าซื้อและค่าซ่อมแซม กลายเป็นหนี้ค้างชำระกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องถูกยึดรถยนต์และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่อศาล รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท   โดยที่บริษัทยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นายทรงผล พ่วงทอง ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า การที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ อยากขอให้รัฐมนตรี ช่วยดำเนินการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >