ฉบับที่ 255 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2565

ต่อไปเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ส่วนสูงไม่เกิน 135 ซม.ต้องสวมคาร์ซีท        7 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระราชบัญญัติ จราจกทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565  โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการจราจรทางบก ดังนี้ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ผู้ที่อยู่ในรถต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไปนี้ 1. ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์  2. คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาขณะโดยสาร 3.คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 4. คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ในส่วนกรณีผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพที่ไม่สามารถรัดร่างด้วยเข็มขัดได้ให้ได้รับการยกเว้น แต่ต้องมีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ  โดยบทบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับกับรถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้ในการเกษตร ทั้งนี้ หากใครฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท         ทั้งนี้จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย ในจำนวนนี้มี 221 ราย เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 ราย) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่ากลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียงร้อยละ 3.46% “นมข้นหวาน” ห้ามใช้เลี้ยงทารกเด็ดขาด         กรณีคลิปในโลกออนไลน์จากผู้ใช้ Tiktok รายหนึ่งได้โพสต์คลิปนมข้นหวานผสมน้ำเปล่าให้ลูกกิน วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนควรกินเพียงนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นสามารถกินนมแม่คู่กับอาหารได้ตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับทารกและสารอาหารกว่า 200 ชนิด และได้ย้ำว่า นมข้นหวานไม่เหมาะสำหรับเป็นอาหารเด็ก เพราะมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ซึ่งต่างจากนมแม่และนมผงดัดแปลง จึงห้ามใช้เลี้ยงเด็กทารกเด็ดขาด เพราะทำให้เด็กทารกเสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงาน สารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำและอันตรายถึงชีวิตได้ ก.คลังเร่งแก้หนี้ประชาชน 6 กลุ่ม         ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงประเด็นของบทบาทกระทรวงการคลังในการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งได้ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายที่กำหนดว่า “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยหนี้ประชาชนส่วนใหญ่กู้มาเพื่อประกอบอาชีพ จำแนกได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.หนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2.หนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3.หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์  5.หนี้นอกระบบ  6.ลูกหนี้ทั่วไป         ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะต่อไปมี 2 เรื่อง คือ 1. สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยให้ความรู้ทางการเงิน  ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำแผนบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ และอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และ 2. กำกับดูแลออกนโยบายไม่จูงใจให้กับประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องสร้างหนี้ต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนให้สามารถสร้างรายได้กลับมา ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ เยาวชนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 5.34% ผลกระทบจากโควิด-19         แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มถึง 2 เท่า ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทยข้อมูลจาก Mental Health Check In กลุ่มประชากร อายุต่ำกว่า 18 ปี ช่วง 12 ก.พ. - 23 พ.ค. 65 พบว่า เสี่ยงต่อการซึมเศร้า 5.34% และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 7.99% อย่างไรก็ตามทางกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาช่องทางช่วยเหลือเยาวชนโดยมีระบบ Mental Health Check In ที่เยาวชนสามารถนำไปใช้ประเมินความเครียดของตัวเองในเบื้องต้นได้  และออกแบบระบบการดูแลสุขภาพจิตโรงเรียนแบบดิจิทัลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ School Health HERO ที่คุณครูจะช่วยดูแลช่วยเหลือปัญหาของเด็กได้ผ่าน e-learning  หากการช่วยเหลือไม่ดีขึ้นปรึกษาได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน HERO Consultant ได้ มพบ.เผยผู้เสียหายคดีกระทะโคเรียคิงถูกฟ้องปิดปาก!         สืบเนื่องจากคดีฟ้องร้องกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริงในปี 2560 นั้น เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2565 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เสียหายท่านหนึ่ง คือคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง จากเครือข่ายผู้บริโภค จ.สตูล ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง (โจทก์ที่ 2 ในคดีที่มีการฟ้อง บ.วิซาร์ดโซลูชั่น เป็นคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่ง) เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินจริงและสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณานั้น ได้ถูก บ.วิซาร์ดโซลูชั่น ผู้นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง (จำเลย) ฟ้องในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ ที่ศาลจังหวัดสตูล โดยศาลนัดได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 อันเป็นวันเดียวกับคดีที่ศาลแพ่งนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งคุณกัลยทรรศน์ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.พหลโยธิน เรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนแล้วในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรณีนี้อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากผู้บริโภค         “ย้อนไปในปี 2560 กลุ่มผู้เสียหายจำนวน 72 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทไปเมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2560 ต่อศาลแพ่งและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650 บาท ต่อมา 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มเช่นกัน โดยจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ซื้อกระทะโคเรียคิงรุ่นไดมอนด์และรุ่นโกลด์ของจำเลย ภายใน 17 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันยังไม่ได้ตกลงรับการแก้ไขเยียวยาจากจำเลย”         ทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในกรณีดังกล่าวข้างต้น การกระทำของผู้เสียหาย ไม่ได้เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือเบิกความเท็จแต่อย่างใด ดังนั้นทาง มพบ.จะดำเนินการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากชนะคดีแล้วก็จะต้องดำเนินคดีกับบริษัทด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 แก็งเก็บเงินพัสดุปลายทางกำลังระบาด ระวังกันด้วย

        ใครไม่เคยชอปปิ้งออนไลน์นี่ต้องเรียกว่า ใจแข็งมาก เพราะทุกวันนี้การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิตไปแล้ว สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจการรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายเจ้ามากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ถ้าใครอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ก็คงสังเกตได้ถึงรถมอเตอร์ไซต์ที่วิ่งเข้าออกซอยนั้นซอยนี้ เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค แน่นอนว่ามันก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้ทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในเวลานี้คือ การส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ ที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery)         คุณปลาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุแต่ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานบางแห่งอยู่ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าเรื่องที่ตนเองก็พลาดเหมือนกันกับเจ้า COD นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง มพบ.นำมาเตือนผู้บริโภค         วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งนำพัสดุแบบ COD มาส่ง ซึ่งคุณปลายก็รับไว้เพราะราคาที่แจ้งเก็บเงินนั้นตรงกันพอดีกับสินค้าที่สั่งซื้อไป ยอมรับเลยว่า “ตนเองไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน พอได้สินค้ามาก็สเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าไว้ก่อนวางทิ้งหนึ่งคืน” ต่อเมื่อแกะสินค้าดูจึงพบว่า ไม่ใช่สินค้าที่สั่ง         คุณปลายจึงลองติดต่อกับบริษัทขนส่งเพราะต้องการทราบรายละเอียดว่า ผู้ที่นำสินค้ามาส่งและเก็บเงินตนเองไปนั้นเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ข้อมูลอะไร ทำให้สงสัยว่าทำไม มิจฉาชีพรายนี้จึงมาส่งถูกและเก็บเงินได้ตรงกับสินค้าที่ตนเองสั่งพอดีขนาดนั้น จึงโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรของคุณปลายอาจหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งสินค้าผิดกฎหมายก็เป็นได้ ซึ่งคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าแค่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรไม่น่าจะเป็นอะไร และต่อไปหากมีพัสดุน่าสงสัยมาส่ง หรือเกิดกรณีแบบนี้อีกก็ให้โทรแจ้งทาง สน. ซึ่งจะส่งสายตรวจมาช่วยดูแลให้ นี่ก็ขอบใจทั้งบริษัทขนส่งและทาง สน.ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะราคาไม่สูง แต่ก็อยากฝากเตือนทุกคนไว้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขออนุญาตนำข้อมูลของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) มาแจ้งเตือนผู้บริโภค ดังนี้        วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงินกับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่คุณไม่ได้สั่ง         ทำไมมิจฉาชีพ ถึงรู้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเรา ในการส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง        1. ทำเว็บไซต์หลอกขึ้น เช่น เปิดรับสมัครงาน รายได้ดี ใครสนใจกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ โดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน,ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จากการให้กรอกเลขที่บัญชีธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเข้าทำงาน ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือน        2. เปิดเฟซบุ๊กโพสต์สินค้าประเภทพรีออเดอร์ ของพรีเมียม สินค้าราคาพิเศษ แล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ และ เบอร์โทร. เพื่อใช้สิทธิ์จองสินค้า ซึ่งสังเกตได้จากการออกอุบายจ่ายเงินเมื่อของมาถึง ทำให้เราตายใจว่ายังไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียข้อมูลส่วนตัวไปให้แล้ว        3. เป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จะรั่วไหลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือบริษัทด้านการขนส่ง ที่อาจจะมีพนักงานของบริษัทเหล่านี้ ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าออกไป.วิธีป้องกัน        1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทน ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ให้โทรสอบถามเจ้าตัวว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง จริงหรือไม่ ต้องจ่ายเงินเท่าไร        2. ดูบนกล่องพัสดุ จะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรผู้ส่ง ให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม.ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร)         บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) คือตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ลูกค้าจะชำระเงินก็ต่อเมื่อพัสดุที่สั่งไปจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้วเท่านั้น และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากลูกค้าชำระเงินกับบริษัทขนส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขนส่งแต่ละเจ้าจะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ถูกแอปฯ เงินกู้หลอก ต้องทำยังไง?

        ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว         เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หัก​ค่า​บริการไป 1,170 บาท เธอได้​รับ​เงิน​มาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายาม​จะ​สอบถาม​รายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ          วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน           คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทาง​การ​แก้ไข​ปัญหา        ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้​เก็บ​หลัก​ฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและ​เรื่องการ​ทวง​หนี้​โดย​ผิด​กฎหมาย​ตาม​ พ​รบ​.​ทวง​หนี้ เมื่อ​แจ้ง​ความ​หรือ​ลงบันทึกประจําวัน​แล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู ​อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า ​คุณอรสาได้​ถ่าย​ภาพ​หน้า​/หลัง​บัตร​ประชาชน​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​สําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตร​ประชาชน​ใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป......         ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 DCA ชีวิตจริงไม่สวยหรูอย่างที่คิด

        ค้นดูต้นฉบับที่เคยเขียน เฮ้ย ไม่เคยเขียนวิธีการเก็บออมแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging เลยได้ยังไงนะ บ้าไปแล้ว ทั้งที่เป็นวิธียอดฮิตและน่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจการลงทุนมากนัก        แปลว่าตอนนี้จะเล่าเรื่อง DCA ใช่มั้ย? ไม่ใช่ (อ้าว)        การลงทุนแบบ DCA พูดให้เข้าใจง่ายคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนโดยลงเงินเท่ากันทุกเดือนในกองทุนรวมหรือหุ้น ใดๆ ก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็นการลงทุนระยะยาว กูรูมักบอกว่าอย่างน้อย 7 ปี วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีและเหมาะกับคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ๆ         DCA เป็นวิธีการที่ดี แต่ชีวิตจริงไม่ได้หรูหราหมาเห่าแบบนั้นน่ะ         ไม่นานมานี้ มีเพจเกี่ยวกับการลงทุนเผยแพร่เนื้อหาว่ายิ่งทำ DCA เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ประมาณว่าถ้าอยากมีเงิน 10 ล้านหลังเกษียณต้อง DCA ต่อเดือนเท่าไหร่ ถ้าได้ผลตอบแทน 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้น        เกษียณตอนอายุ 60 ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่ 25 ต้องเก็บเดือนละ 5,000 ถ้าเริ่มตอน 30 ต้องเก็บเดือนละ 7,500 ถ้าเริ่มตอน 40 ต้องเก็บเดือนละ 18,500 ถ้าเริ่มช้าเท่าไหร่ ตัวเลขเงินเก็บต่อเดือนจะยิ่งมโหฬาร         คำถาม-คนทำงานที่จะเก็บเงินได้ 5,000 บาทตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีสักกี่คนในประเทศนี้ มนุษย์เงินเดือนปริญญาตรีที่รัฐบาลโม้ว่าจะกำหนดเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทยังทำไม่ได้เลย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 244,838 บาท หารด้วย 12 เดือนจะเท่ากับ 20,400 บาท         เงิน 20,400 บาทเยอะมากมั้ยกับสภาพเงินเฟ้อเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.73 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 13 ปีสูตรสำเร็จที่ว่า DCA เท่าๆ กันทุกเดือน พอฐานเงินเดือนสูงขึ้น ก็เพิ่มยอดเงินลงทุนแต่ละเดือนให้มากขึ้น พอเกษียณก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้สบายๆ ดูจะโลกสวยเกินไปสำหรับคนไทยทุกคนโดยเฉลี่ย อย่าว่าแต่สิบล้านเลย เงินเก็บหลักหมื่น หลักแสน คนไทยจำนวนมากยังไปไม่ถึง         พูดแบบนี้อย่าตีเจตนาว่า ไม่ต้องเก็บออม ใช้เงินหาความสุขให้เต็มที่ เปล่า แค่จะบอกว่าเราปล่อยให้คนในสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ เก็บเงินตามยถากรรมไม่ได้หรอก คนส่วนใหญ่ไม่มีทางไปถึงแน่         ต้องมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะ รัฐสวัสดิการ กฎหมายแรงงานที่ดี สวัสดิการสุขภาพ ระบบคมนาคมขนส่ง การศึกษาที่ฟรีจริงๆ กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อให้กับคนทุกชนชั้น การเมืองที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ พวกนี้แหละที่จะคอยโอบอุ้มผู้คนในสังคม ไม่ใช่เอะอะบอกให้เก็บเงินท่าเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กู้เงินผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ มีแต่เสียกับเสีย

        ช่วงนี้การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อะไรมาค้ำประกัน แถมแอปพวกนี้สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายผ่าน Play Store (ที่โหลดแอปต่างๆ ในมือถือ) บางคนอาจเคยกู้เงินผ่านแอปมาแล้ว แอปเหล่านี้จริงๆ แล้วต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย แต่แอปใน Play Store ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค         ภูผา ณ ขณะนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง ชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าต่างๆ ทยอยขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน หมู มาม่า เขาต้องการเงินมาใช้จ่ายเลยไปกู้เงินผ่านแอปเงินกู้ เขากู้เงิน 60,000 บาท แอปแจ้งว่าเขาต้องโอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการก่อน 3,000 บาท เมื่อโอนไปแล้วทางแอปบอกว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ต้องโอนไปอีก 6,000 บาท พอโอนไปแล้วเขาบอกว่าบัญชีเงินเต็มแล้ว ต้องโอนเงินไปให้เขาเพิ่มอีก 6,000 บาท พอเป็นแบบนี้เขาก็ไม่มีเงินโอนเพิ่มให้แล้วจึงบอกไปว่าเขาไม่ต้องการกู้เงินแล้ว ขอให้แอปโอนเงินที่เขาโอนไปคืนมา แต่แอปบอกมาว่าถ้าจะยกเลิกต้องโอนเงินค่ายกเลิกมาอีก 8,000 บาท ถึงจะได้เงินที่โอนไปแล้วก่อนหน้านี้ 9,000 บาทคืน แต่เขาไม่มีเงินโอนไปให้แล้ว เขาขอเงินคืนแต่แอปไม่ให้คืน สรุปว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เงินคืนเลย เขาถึงรู้ตัวว่าเขาโดนหลอกแน่ๆ จึงมาขอคำปรึกษามูลนิธิ          แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ชื่อแอปพลิเคชัน, ข้อความแชทที่คุยกับแอป, หลักฐานการโอนเงิน        2. นำหลักฐานที่เก็บรวบรวมไว้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแอป ที่สถานีตำรวจในท้องที่ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ และขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีที่ได้โอนเงินไป        3. นำเอกสารอายัดบัญชีไปดำเนินเรื่องอายัดบัญชีธนาคารที่ธนาคารสาขาใดก็ได้        4. ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สายด่วน 1213 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โทร 1441

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 28-DeFi ระบบการเงินไร้คนกลาง (คงต้องรออีกนาน)

        ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างสินทรัพย์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง มีคนรวยจากมันก็มาก บาดเจ็บก็เยอะ บิทคอยน์นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาทำเอาหลายคนน้ำตาตกเพราะเงินดิจิทัลตกเอาๆ         โลกดิจิทัลยังไปต่อไม่รอใครทั้งนั้น ราวๆ 5 ที่แล้วหรือปี 2018 โลกเราก็ได้รู้จักกับ DeFi หรือ Decentralized Finance แปลเป็นไทยน่าจะประมาณว่า การเงินแบบกระจายศูนย์หรือบางทีก็เรียกว่าเป็นการเงินแบบไม่มีคนกลาง         คนกลางในที่นี้เป็นใคร?         ง่ายสุดคือธนาคาร ตั้งแต่สยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ธนาคารก็มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย มีอิทธิพลชี้เป็นตายของธุรกิจเนื่องจากเป็นผู้กุมเงินสดและมีสิทธิจะให้ใครกู้หรือไม่กู้ ในยุคทหารครองอำนาจเราจึงเห็นนายธนาคารอัญเชิญนายพลไปนั่งเป็นคณะกรรมการกันมากมาย ปล่อยกู้ให้พวกพ้อง นักการเมือง จวบจนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารและสถาบันการเงินล้มระเนนระนาดนั่นแหละ อิทธิพลของนายธนาคารจึงลดลง แต่ไม่ได้หมดไป         ขณะที่ตระกูลมหาเศรษฐีอาจใช้แค่นามสกุลบนบัตรประชาชนกู้เงินจากธนาคารได้ไม่ยากเย็น รายเล็กรายน้อยกลับลำบากยากเข็ญ ต้องพินอบพิเทา กว่าจะได้เงินสักแดงมาทำธุรกิจหรือซื้อบ้าน         แต่ DeFi ไม่ง้อธนาคาร มันเปิดทางให้ผู้กู้เข้าถึงผู้ปล่อยกู้ได้โดยตรง ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่าถ้าเกิดผู้กู้ชักดาบล่ะ เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง เพราะผู้กู้จะต้องฝากทรัพย์สินดิจิทัลของตนไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อค้ำประกัน อารมณ์เหมือนแม่ค้าเอาทองไปตึ๊งไว้กับอาเสี่ยหรือเราไปโรงรับจำนำนั่นแหละ         ฟังดูดีใช่ไหม? ยังไม่แน่ DeFi ยังมีข้อบกพร่องให้แก้ไขอีกมาก แม้จะมีคนเริ่มลงทุนสร้างผลตอบแทนจากมันแล้ว แต่ผลตอบแทนก็ยังไม่คงที่ ความปลอดภัยก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์         ที่สำคัญ ถ้าคิดว่ามันจะมาแทนสถาบันการเงิน ช่วยให้รายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คงต้องคิดใหม่ คำถามพื้นฐานที่สุดคือเวลานี้มีคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยสักกี่คนที่มีความรู้เรื่องนี้ มีสักกี่คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับค้ำประกัน         แค่ Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเขตเมืองกับชนบทยังต่างกันอยู่เลย เรายังต้องการนโยบาย การส่งเสริม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกเยอะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและเข้าถึงการออมการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ         แล้วในประเทศที่เพิ่งประกาศให้ใช้อีเมล์รับ-ส่งหนังสือราชการได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 คิดดูแล้วกันว่าต้องรออีกนานแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทวงหนี้ผิดกฎหมาย

        ชีวิน เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาค้างยอดชำระหนี้อยู่ 20,000 บาท โดยเขาไม่ได้ชำระหนี้เลยเพราะหมดความสามารถ ต่อมาเขาถูกโทรทวงถามหนี้ แต่ว่าเจ้าหนี้ไม่ได้โทรมาทวงที่เขาโดยตรง แต่เป็นฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของบริษัทบัตรเครดิตได้โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเขา บอกเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟังว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่กับบริษัทฯ ให้ผู้ใหญ่บ้านไปบอกชีวินว่า ให้รีบไปใช้หนี้ด่วน ซึ่งชีวินเครียดมาก เขาไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาเป็นหนี้ และก็ไม่เคยบอกบริษัทบัตรเครดิตไว้ว่าให้ทวงหนี้กับผู้ใหญบ้านได้ การโทรทวงหนี้ที่ผู้ใหญ่บ้านของบริษัทบัตรเครดิต ทำให้เขาอับอายอย่างมาก จึงขอคำปรึกษามูลนิธิว่า บริษัทบัตรเครดิตสามารถทวงถามแบบนี้ได้หรือไม่ และเขาควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันเรื่องการทวงหนี้ได้มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองลูกหนี้ คือ พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายบอกว่า การทวงหนี้ต้องทวงกับลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งไว้ว่าให้ทวงได้เท่านั้น ห้ามแจ้งว่าลูกหนี้เป็นหนี้กับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้แจ้งไว้ การที่บริษัทบัตรเครดิตแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ร้องเสื่อมเสียชื่อเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย         เมื่อเกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายผู้ร้องสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทบัตรเครดิต  อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ หากไม่มีความสามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ควรหาทางประนอมหนี้กับทางบริษัทบัตรเครดิต เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการทวงหนี้ผิดกฎหมายและเพื่อไม่ให้เสียเครดิตทางการเงินด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 เสี่ยงเป็นหนี้ก้อนโต ถูกประจานให้อับอาย

        ใครที่กำลังคิดจะกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ต้องตั้งสติและหาข้อมูลดีๆ อย่าหลงไปกับข้อความเชิญชวนฉาบฉวยที่ว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ เหล่านี้ เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อนเหมือนอย่างคุณนิดก็ได้         วันนั้นคุณนิดนั่งไถมือถือดูข้อมูลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในเว็บไซต์หนึ่งอยู่ จู่ๆ ก็มีแอปกู้เงินเด้งขึ้นมาติดๆ กันหลายแอป เหมือนจะรู้เธอกำลังอยู่ในช่วงที่ชักหน้าไม่ถึงหลังพอดี เธอเลื่อนๆ ดู ก็ไปถูกใจที่เงื่อนไขของแอปกู้เงินชื่อ LOAN HUB ซึ่งโฆษณาว่าถ้ากู้ 5000-50000 บาท สามารถใช้คืนภายใน 91 วันได้ คุณนิดจึงลองกู้ไป 3,000 บาทก่อน แต่พอกู้ผ่านและเข้าไปกดยอมรับข้อบังคับต่าง ๆ ในแอปทั้งหมดแล้ว กลับมีเงินโอนเข้ามาให้เธออีกถึง 10 แอป แอปละ 1,200 บาท เธองงมาก เพราะตั้งใจจะกู้แค่แอปเดียวเท่านั้น         หลังจากนั้นไม่ถึง 7 วัน พนักงานของแอปโทรศัพท์มาแจ้งให้จ่ายหนี้คืนภายในวันที่ 7 ก่อนเที่ยง คุณนิดยอมรับว่าเธอขัดสนจริงๆ และได้ใช้เงินทั้งหมดไปแล้ว เธอจึงหาเงินมาจ่ายคืนให้ไม่ทัน เมื่อถึงวันครบกำหนด ทางแอปก็ส่งข้อความมาทวงหนี้พร้อมข่มขู่ว่า         “...ถ้าไม่ชำระยอดหนี้ให้ทางแอปเรา ทางเราจะเอาข้อมูลของคุณไปกู้เงินสัก 20 แอป กู้ไม่เยอะหรอก แอปละ 3000 บาท 20 แอปก็ 60,000 เตรียมตัวจ่ายหนี้แทนบริษัทได้เลย และเราจะเอาข้อมูลทั้งหมดแชร์ไปในโซเชียลและจะติดต่อไปหาญาติพี่น้องและเพื่อนทั้งหมด”         คุณนิดกลัวว่าจะต้องเป็นหนี้ก้อนโต แต่ก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปคืนได้ทัน ต่อมาทางแอปกู้เงินก็ยังมาโพสต์ประจานเธออย่างเสียๆ หายๆ และหยาบคายอีก เธอจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ได้แนะให้คุณนิดใช้หนี้คืนเท่าที่ยืมมา ส่วนที่โดนแก๊งทวงหนี้ข่มขู่นั้นก็ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ เช่น  โดนข่มขู่ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือที่บ้าน ที่จะให้สถานีตำรวจท้องที่ช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด จากนั้นให้ติดต่อธนาคารเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินส่วนตัวไปใช้ และหากจำเป็นต้องกู้เงินครั้งต่อไป ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้         เช็คแอปฯ เงินกู้ แหล่งไหนได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดูที่นี่ รายชื่อที่อยู่ Website สถาบันการเงิน และ Non-bank (bot.or.th)

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 253 กระแสต่างแดน

สวยต้องเสี่ยง        ในปี 2021 สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับศัลยกรรมความงามถึง 16,459 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ “เงินกู้อัปหน้า” ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 30        เรื่องดังกล่าวจบลงหลังรัฐบาลสั่งให้สถาบันการเงินตัดสัมพันธ์เงินกู้ฟาสต์แทรคกับบรรดาคลินิกศัลยกรรมต่างๆ          แต่ปัญหายังไม่หมด ความต้องการอัปหน้าในราคาประหยัดยังคงมีอยู่ และ “ศูนย์ฝึกอบรม” ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ “บุคลากร” เพื่องานดังกล่าวก็ได้รับความนิยมเช่นกัน        ล่าสุด งาน 315 Gala หรืองานแฉผู้ประกอบการแตกแถวประจำปีของจีน เปิดโปงศูนย์ฯ แห่งหนึ่งในเมืองอานฮุย ที่เปิดสอนทุกอย่างตั้งแต่การฉีดโบท็อกซ์ ทำตาสองชั้น หรือแม้แต่เสริมจมูก แต่ละหลักสูตรใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยผู้เรียนไม่ต้องมีพื้นฐานอะไรเลย        แถมเมื่อเรียนจบคอร์สที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 5,000 หยวน (ประมาณ 26,500 บาท) ผู้เรียนยังได้ “ใบประกาศ” ไว้ใช้สมัครงานอีกด้วย ดาวน์ไซเคิล        ว่ากันว่า PET คือพลาสติกชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด เพราะขวดพลาสติกที่นิยมใช้บรรจุน้ำดื่มนี้มีอัตราการรีไซเคิลที่สูงมาก เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ระบบ “คืนเงิน” ให้กับผู้บริโภคที่นำขวดใช้แล้วมาฝากเข้า “ธนาคารรีไซเคิล”           ขวดเหล่านี้มีอัตราการรีไซเคิลถึงร้อยละ 50 แต่งานวิจัยโดย Zero Waste Europe กลับพบว่าพลาสติกจากขวดเก่าเหล่านี้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบเพียงร้อยละ 17 ของขวดที่ผลิตขึ้นใหม่เท่านั้น        งานวิจัยจาก Eunomia พบว่าขวดรีไซเคิลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปแปรรูปเป็นถาดพลาสติก สายรัด หรือเชือกต่างๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ต้องการวัสดุนี้ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจึงไม่สามารถเข้าถึงวัสดุรีไซเคิลจากขวด PET ได้มากเท่าที่ควร         เมื่อสิ่งที่เคยเป็นขวดน้ำ ไม่สามารถกลับมาเป็นขวดน้ำได้อีก ก็แปลว่าไม่เกิดการหมุนเวียนอย่างแท้จริง การ “รีไซเคิล” กลายเป็นการ “ดาวน์ไซเคิล” ที่วัสดุถูกนำไปใช้ซ้ำอีกเพียงครั้งเดียวแล้วก็สิ้นสุดวงจรชีวิต การ์ดอย่าตก        อิสตันบูล เมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในยุโรป ติดโผระดับต้นๆ ของเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากสุดในโลก ด้วยสถานที่ตั้งที่ถูกขนาบด้วยน้ำเค็มจากทะเลดำและทะเลมาร์มารา ประกอบกับอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ลำคลองประมาณ 300 สายหายไปกว่าครึ่ง         ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจึงเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องรับมือตลอดมา รายงานข่าวระบุว่าปีนี้ธรรมชาติเป็นใจ ส่งหิมะลงมาให้อิสตันบูลมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ระดับน้ำสำรองในเขื่อนทั้ง 10 แห่งของเมืองรวมกัน มีมากถึง 757 ล้านคิวบิกเมตร ผู้คนจึงมีน้ำสำรองไว้ใช้อีกประมาณ 9 เดือน         นักวิชาการรีบออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยง” ยังไม่หายไปไหน สถิติการเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า หรือคลื่นความร้อน ในตุรกียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีแผนสร้างเขื่อนใต้ดินถึง 150 แห่ง  ประชากรเมืองนี้ก็ยังต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ากันต่อไป ขอลุคเกาหลี         MUSINSA ร้านเสื้อผ้าออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในเกาหลีตกเป็นเป้าโจมตี หลังชาวเน็ตตั้งคำถามว่าทำไมนายแบบนางแบบในเว็บไซต์ของแบรนด์นี้ถึงมีแต่ “ฝรั่ง”        บริษัทอธิบายว่าเขาไม่ได้เจาะจงอย่างนั้น เขาเพียงต้องการใครก็ได้ที่สามารถนำเสนอคอนเซ็ปต์ ดีไซน์ และตัวตนของแบรนด์ได้ดีที่สุด และพรีเซ็นเตอร์หลักของเขาก็คือยูอาอิน ซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีนั่นเอง        ความจริงแล้วการใช้ฝรั่งผิวขาว ก็เป็นที่นิยมของแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน KIRCH และ COVERNAT ก็จ้างฝรั่งเป็นหลัก ส่วนนายแบบนางแบบเกาหลีแท้ๆ เป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น แม้กระทั่งโฆษณาเสื้อผ้าเด็ก ก็ยังนิยมใช้เด็กฝรั่ง เพราะพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัย 30 – 40 กว่า ชอบแบบนั้น         บางแบรนด์ก็อธิบายว่าเขาเลือกจ้างชาวต่างชาติผิวขาวตาสีฟ้าเพราะค่าตัวถูกกว่าดาราดังของเกาหลี          ด้านเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลอุตสาหกรรมแฟชันของเกาหลี ให้ความเห็นว่าหากแบรนด์เกาหลีต้องการไปให้ไกลกว่านี้ พวกเขาจะต้องฝืนเทรนด์นี้ให้ได้ และเปิดรับความหลากหลายให้มากขึ้น  บ้านไม่พอ        สวีเดนมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยมานาน เพราะกฎระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างทำให้ต้นทุนการสร้างบ้านสูง ราคาบ้านเลยแพงตามไปด้วย        กฎเกณฑ์การให้เช่าบ้านก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน จึงไม่ค่อยมีคนอยากทำ “บ้านเช่า” คนที่อยากเช่าก็ต้องเข้าคิวรอกันไม่ต่ำกว่า 9 ปี ส่วนหนึ่งเลยหันไปพึ่ง “ห้องแอบเช่า” ที่ค่าเช่าแพงลิบ แถมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร          สถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ความต้องการบ้านเพิ่มสูงขึ้น เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงโรคระบาดกำลังจะกลายเป็นเทรนด์  ร้อยละ 20 ของคนที่ work from home บอกว่าจะทำเช่นนั้นต่อไป        บริษัทต่างๆ จึงลดพื้นที่สำนักงาน ในขณะที่ร้านรวงจำนวนมากก็ปิดหน้าร้านไป เพราะผู้คนหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว         การเคหะของสวีเดนจึงเตรียมเสนอแผนเปลี่ยนสำนักงานหรือร้านว่างเหล่านี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยไปเสียเลย         ขณะนี้สวีเดนต้องการที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 140,000 ยูนิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลงทุนในตัวเองก่อน รวมแหล่งเรียนรู้ด้านการเงิน การลงทุน แบบไม่ขายฝัน

        พื้นที่ตรงนี้ย้ำหลายครั้งว่า การลงทุนในตัวเองหรือพูดให้ชัดคือลงทุนในความรู้และทักษะ เรื่องนี้น่าจะเถียงยาก เพราะลองว่ามีความรู้และทักษะซะอย่างย่อมนำไปใช้ต่อยอดได้         ในแง่การลงทุนก็เหมือนกัน ถ้าต้องการลงทุนแบบไม่ทุกข์ร้อนใจมากนัก เข้ากับสไตล์ของตัวเอง ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลความรู้ เลยคิดว่าตอนนี้จะรวบรวมแหล่งความรู้ให้คนที่คิดจะเริ่มลงทุนใช้เป็นห้องเรียน โดยเกณฑ์ที่ใช้เลือกคือไม่ขายฝัน ประเภทผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือออกแนวแชร์ลูกโซ่ ตัดทิ้ง         สอง-ฟรี อันนี้สำคัญ บางคนเสียเงินค่าคอร์สแพงเว่อร์ แถมโดนขายคอร์ส ชวนลงทุนอีก         สาม-ปูพื้นฐาน ต้นไม้ที่มั่นคงเกิดจากรากที่แผ่กว้างและลึก         สี่-เข้าถึงได้ง่ายเพราะทั้งหมดอยู่บนอินเตอร์เน็ต         เว็บไซต์ต่อไปนี้บางคนอาจรู้จักอยู่แล้ว         1. www.set.or.th เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ด้านบนของเว็บมีส่วนที่ชื่อว่า ‘ความรู้การลงทุน’ คลิกเข้าไปจะเจอกับคลิปแนะนำตั้งแต่การเงินส่วนบุคคลเริ่มต้นจนถึงการลงทุนในอนุพันธ์กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีแนะนำการเป็นผู้ประกอบการอีกต่างหาก แค่สมัครและล็อกอินเข้าไป คุณจะพบแหล่งเรียนรู้ที่ฟรีและดี         2. www.a-academy.net เป็นเว็บไซต์ที่ทำขึ้นโดยศักดา สรรพปัญญาวงศ์ ผู้ก่อตั้งและวิทยากรประจำเว็บไซต์ จัดเป็นแหล่งเรียนรู้เริ่มต้นที่ดีมากๆ แหล่งหนึ่ง ไม่ขายฝัน สมเหตุสมผล เริ่มต้นจากการเงินส่วนบุคคล การจัดการหนี้สิน การวางแผนภาษี การวางแผนเกษียณ การลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม เรียกว่าถ้าดูจบทุกคลิปก็น่าจะเซียนการลงทุนกันเลยทีเดียว         3. doctorwanttime.com/ เว็บที่มีชื่อไทยน่ารักๆ ว่าหมอยุ่งอยากมีเวลา เจ้าของคือ พญ.อรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร เป็นเว็บที่ขยับขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่งเพราะจะเน้นเรื่องการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมโดยเฉพาะ มีสอนการอ่านงบการเงิน การคัดเลือกหุ้น คัดเลือกกองทุน สอนแบบเข้าใจง่าย ไม่ใช่ศัพท์แสงยุ่งยากฟังแล้วหัวจะปวด         4. bear-investor.com/ เน้นการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมเช่นกัน ความแตกต่างคือสำหรับคนที่สนใจกองทุนรวมแบบดัชนี ผู้ก่อตั้งเว็บเชื่อมั่นว่าการลงทุนแนวทางนี้ตอบโจทย์และให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนเชิงรุกที่ระยะยาวแล้วไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ หลายบทความอธิบายแบบเจาะลึกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ อาจจะไม่ได้สอนการลงทุนโดยตรง แต่พูดในเชิงวิธีคิด ข้อเสียคือเว็บไม่ได้อัพเดทมาสักพักใหญ่แล้ว แต่บทความเดิมๆ ที่มีอยู่เยอะแยะยังทันสมัยเสมอ         ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกเยอะแยะ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ เข้าไปศึกษาหาอ่านกันและขอให้มีความสุขกับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แอปฯ เงินกู้คนกรุงเริ่มใช้แล้ว 22 %

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 (กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง)         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3         รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3         โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7         รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4         โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 Currency Converter Calculator เรื่องง่ายๆ ของการแปลงค่าเงิน

        สมัยนี้อินเทอร์เน็ตได้เชื่อมโลกไว้รวมกันจนทำให้สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตกันมากขึ้น แค่เพียงมีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทุกที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถช่วยหาสินค้าที่ต้องการได้หลากหลายกว่าเดิม ทั้งในแง่ของชนิดของสินค้า ราคาของสินค้า และประเทศผู้ขายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากขึ้น ประกอบกับเมื่อมีการแข่งขันทางการตลาดอย่างสูงจะยิ่งทำให้ราคาลดต่ำลงตามอุปสงค์และอุปทาน สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทั้งสิ้น         เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตได้ย่อโลกของการเข้าถึงสินค้าและบริการมาไว้ในสมาร์ทโฟน ดังนั้นการซื้อสินค้าในต่างประเทศก็ย่อมทำได้ง่ายและมีความรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก ในบางครั้งสินค้าบนโลกออนไลน์เหล่านั้นจะแจ้งราคาเป็นสกุลเงินประเทศนั้นๆ         ดังนั้นผู้บริโภคกลุ่มนี้เหมาะมากที่จะดาวน์โหลดแอปลพิเคชั่น Currency Converter Calculator ไว้บนสมาร์ทโฟนอย่างยิ่ง Currency Converter Calculator เป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณแปลงค่าเงินบาทอย่างง่ายๆ ที่ไม่มีความยุ่งยากในการใช้งาน หน้าตาของแอปพลิเคชั่นนี้จะเหมือนกันกับเครื่องคิดเลขที่ใช้กันทั่วไป แต่มีความพิเศษตรงที่สามารถแปลงค่าเงินต่างประเทศให้ได้ทันที โดยอ้างอิงจากข้อมูลเงินบาท ณ วันนั้นๆ ซึ่งจะมีการอัปเดตอัตราการแลกเปลี่ยนให้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลวันและเวลาที่มีการอัปเดตของแอปพลิเคชั่นได้บริเวณด้านล่างหน้าจอ         วิธีใช้ก็ไม่ซับซ้อน เพียงเลือกสกุลเงินที่ต้องการให้แอปพลิเคชั่นคำนวณ โดยสามารถเรียกดูอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินได้ทั่วโลกกว่า 150 สกุลเงิน รวมถึงเงินดิจิตอลอย่างค่าเงินคริปโต (Cryptocurrency) ซึ่งถือว่าแอปพลิเคชั่นนี้สามารถรองรับการแปลงสกุลเงินเกือบทั่วโลกทีเดียว อาทิเช่น US Dollar ประเทศสหรัฐอเมริกา, Yen ประเทศญี่ปุ่น, Won ประเทศเกาหลี, Ringgit ประเทศมาเลเซีย, Rupee ประเทศอินเดีย, Dong ประเทศเวียดนาม และ Bitcoin เป็นต้น หลังจากนั้นให้กดคำนวณเหมือนกับการใช้เครื่องคิดเลขได้เลย         นอกจากนี้แอปพลิเคชั่น Currency Converter Calculator นี้ยังเหมาะกับกลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ ช่วยให้การคำนวณค่าใช้จ่ายในขณะที่อยู่ต่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้น และยังสามารถช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายให้ตรงตามความต้องการได้อีกด้วย โดยแอปพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android และที่สำคัญสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ‘Stop Loss’ วินัย วินัย และวินัย

        เดี๋ยวนี้การเทรดเป็นอาชีพที่มีคนสนใจกว้างขวาง หุ้น ทองคำ คริปโตฯ เยอะขนาดว่าบางคนต้องเขียนบรรยายโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียว่าไม่สนใจเพราะมักจะมีนักเทรดมาขอเป็นเพื่อนเพื่อชักชวนเข้าสู่วงการ         เทรดเดอร์ (Trader) หรือนักเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาอยู่คนละฟากฝั่งกับนักลงทุน (Investor) พวกเขาเน้นถือหุ้นระยะสั้น เข้า-ออกตามจังหวัดกำไร-ขาดทุน เฝ้าดูและวิเคราะห์กราฟเพื่อหาหุ้นที่น่าเข้าไปเล่น ซื้อๆ ขายๆ เพื่อทำกำไร ฟังดูเหมือนงานง่าย รายได้ดี ไม่หรอก เทรดเดอร์ทุกคนผ่านช่วงเวลาเสียหายหนักๆ มาแล้วทั้งนั้น ใช้เวลาไปมากมายกับการเรียนรู้ การอ่านกราฟ การดู Bid และ Offer กับอีกสารพัด         ไม่ว่าคุณคิดจะเดินสายไหนก็จำเป็นต้องหาความรู้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณเก่งจริงก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ ดูอย่างจอร์จ โซรอส ผู้เก็งกำไรในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่หุ้นยันค่าเงิน        พื้นที่นี้เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่าจะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคือวินัย         ถ้าคุณจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA หรือซื้อเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกเดือนในหุ้นหรือกองทุนรวม คุณก็ต้องมีวินัยในการทำตามแผนการออมระยะยาว เทรดเดอร์ก็เช่นกัน และวินัยที่สำคัญมากๆ หรืออาจจะสำคัญที่สุดก็คือการ Stop Loss หรือตัดขาดทุน         อธิบายให้ง่ายที่สุด คุณเป็นเทรดเดอร์เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาท ถ้าหุ้นราคาขึ้นคุณก็ปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ Let’s Profit Run แต่ถ้าจะขาดทุน คุณวางเกณฑ์ไว้เลยว่าถ้าขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ขาดทิ้งทันที ถ้าหุ้นตัวนี้ลงไปที่ 9 บาทก็ถึงเวลาที่คุณต้องขายโดยไม่มีเยื่อใย         อันนี้แบบเข้าใจง่ายๆ เทรดเดอร์มืออาชีพนี่เขาวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกว่าจะตัดขาดทุนราคาไหน ไม่หมูแบบนี้หรอก        แต่คนส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม         พอกำไรนิดๆ หน่อยๆ รีบขาย เช่นขึ้นไป 12 บาท กำไร 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ ขายเลย สุดท้ายราคาไปต่อ 15 บาท 17 บาท 19 บาท ศัพท์ในวงการเรียกขายหมู         ตรงข้าม พอขาดทุนถึงจุดที่ต้อง Stop Loss แล้วกลับเสียดาย เข้าข้างตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็กลับขึ้นมาอีก กอดหุ้นจนตัวตาย สุดท้ายแทนที่จะขาดทุนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ 70 เปอร์เซ็นต์ วงการติดดอย สูงด้วย         ถึงบอกไงว่าความรู้สำคัญที่สุดและต้องมาควบคู่กับวินัยที่สำคัญพอๆ กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ในกรุงเทพมหานคร

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3          รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4          โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3          โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7          รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4     โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2   ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน  1. เหตุผลที่ท่านทำการกู้ยืมเงิน (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     นำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์                ร้อยละ   35.8     นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   31.8     นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                          ร้อยละ   27.5     นำไปใช้เพื่อการศึกษา                             ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ               ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ                   ร้อยละ   17.3     อื่นๆ                                                       ร้อยละ   0.2   2. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล                        ร้อยละ   34.2     การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   30     การกู้ซื้อรถยนต์                                      ร้อยละ   23.1     การกู้ยืมจากกองทุน                                ร้อยละ   19.5     การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ                        ร้อยละ   17.4     การกู้ยืมจากแอปพลิเคชันเงินกู้                ร้อยละ   14.5     การกู้ยืมจากสหกรณ์                               ร้อยละ   14.2               3. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน จากผู้ให้กู้ยืมเงินในแบบใด (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง                           ร้อยละ   33.1     ธนาคารพาณิชย์                                    ร้อยละ   31.4     คนปล่อยกู้                                            ร้อยละ   21.9     แอปพลิเคชันเงินกู้                                ร้อยละ   14.4     บริษัทสินเชื่อเงินด่วน                            ร้อยละ   17     สหกรณ์                                               ร้อยละ   11.1     กองทุน                                               ร้อยละ   10.4                   ------ 4. ท่านเคยกู้เงินผ่าน แอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     เคย                                            ร้อยละ   21.8     ไม่เคย                                        ร้อยละ   61     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   17.2   *****กลุ่มตัวอย่างที่ตอบข้อ 4.1 - 4.4 มีจำนวน 416 กลุ่มตัวอย่าง*****   4.1 ท่านได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทางใด     SMS                              ร้อยละ   33.7     Line                               ร้อยละ   31.7     Facebook                      ร้อยละ   30.8     อื่นๆ                                ร้อยละ   3.8  4.2 ท่านได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับสัญญาเงินกู้                           ร้อยละ   41     ไม่ได้รับสัญญาเงินกู้                       ร้อยละ  33.6      ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   25.4 4.3 ท่านได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ท่านได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับเงินเต็มตามจำนวน                 ร้อยละ   35.4     ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน             ร้อยละ  32     ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   32.6  4.4 ท่านทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ทราบ                                        ร้อยละ   43.3      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   28.8     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   27.9  5. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่าน     ทราบ                                        ร้อยละ   58.2      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   27     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   14.8 6. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน ยกตัวอย่าง ท่านกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินกู้เพียง 1,220 บาท แต่ต้องชําระเงินคืน 2,007 บาท     ทราบ                                        ร้อยละ   41.7     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   39.5     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   18.8  7. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย        ทราบ                                        ร้อยละ   44.1     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   35.3     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   20.6 8. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากท่านตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์     ทราบ                                         ร้อยละ   50.5     ไม่ทราบ                                     ร้อยละ   31.6     ไม่แน่ใจ                                     ร้อยละ   17.9 9. ท่านเคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     พูดจาไม่สุภาพ                                    ร้อยละ   37     คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง                       ร้อยละ   30.1     ประจานทำให้อับอาย                           ร้อยละ   21.5     การข่มขู่                                             ร้อยละ   17.4     จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก                 ร้อยละ   19.7     ทวงหนี้กับญาติ                                  ร้อยละ   16.2     ส่งคนติดตาม                                     ร้อยละ   15.3     ทวงหนี้กับเพื่อน/หัวหน้างาน                ร้อยละ   11      10.      ท่านทราบหรือไม่ว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร     ทราบ                                                 ร้อยละ   46.4     ไม่ทราบ                                             ร้อยละ   29.2     ไม่แน่ใจ                                             ร้อยละ   24.4  11.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง     ทราบ                                          ร้อยละ   47.2     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   30.8     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22 12.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   59.3     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   18.7     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22  13.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   53.1     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   23.4     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   23.5       14.      ท่านได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้บ้าง      ถูกประจานทำให้อับอาย                       ร้อยละ   34     ถูกส่งคนติดตาม                                  ร้อยละ   23.3     อื่นๆ                                                   ร้อยละ   17.2     ถูกข่มขู่                                              ร้อยละ   14.5     ถูกทำร้ายร่างกาย                                ร้อยละ   11   ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์   1. เพศ               หญิง                        ร้อยละ   51.7     ชาย                         ร้อยละ   48.3   2. อายุ           36 – 40  ปี            ร้อยละ   23.7     31 – 35  ปี              ร้อยละ   23.1     26 – 30  ปี              ร้อยละ   16.5     41 -  45 ปี               ร้อยละ   16.3     46 -  50 ปี               ร้อยละ   9.7     20 – 25  ปี              ร้อยละ   7.6     มากกว่า 50 ปี          ร้อยละ   2.2     ต่ำกว่า 20 ปี            ร้อยละ   0.8     3. อาชีพ         พนักงานบริษัทเอกชน                                    ร้อยละ   26.2     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 ร้อยละ   22.2     รับจ้างทั่วไป                                                                   ร้อยละ   17.9     พ่อค้า/แม่ค้า                                                                   ร้อยละ   14.6     แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                               ร้อยละ   12     นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                                ร้อยละ   7.1      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2565

แนวโน้มอาชญากรรมไซเบอร์ ปี 65        ข้อมูลสถิติจากการแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า  อาญชกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2564 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย  ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ผู้ได้รับความเสียหายจากการแฮกข้อมูล  จำนวน 585 ราย และมีค่าเสียหายรวม 67 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกขายสินค้าและบริการ จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง.ผบก.ปอท. กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 2565 ว่า ปี 2565  ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น เช่น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์  การหลอกลวงผ่านอีเมล  การแฮกเพื่อเอาข้อมูลผ่านการลวงให้กด  มัลแวร์เรียกค่าไถ่  การหลอกลวงขายสินค้า การหลอกรักออนไลน์  การหลอกรักลวงลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผล ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องได้!         ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เรื่องการจัดตั้ง แผนกคดีซื้อของออนไลน์ในศาลแพ่ง นายสรวิศ ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า  ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จะเริ่มทำการเมื่อใดต้องรอประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งอีกครั้ง ถ้าได้รับความเสียหายตอนนี้ก็ให้รวบรวมหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนก่อนแล้วรอฟ้องตอนแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เปิดทำการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคดีซื้อขายออนไลน์ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในแผนกคดีผู้บริโภคของศาลแพ่ง จะให้แผนกคดีผู้บริโภคซึ่งพิจารณาคดีนั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ         แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีช่องทางกฎหมายที่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นผ่านทางอีเล็คทรอนิคส์ไฟล์ลิ่งในหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ) โดยผู้ฟ้องคดีแค่คลิกเข้าไปสมัครยืนยืนตัวตน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ฟ้องใคร เรื่องอะไร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการติดต่อซื้อขาย ชื่อเว็ปไซต์ ชื่อร้านค้าที่ซื้อสลิปโอนเงิน เท่าที่จะหาได้ เมื่อยื่นคำฟ้องทาง E-ไฟล์ลิ่งแล้ว จะมีเจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบให้ว่าใส่ข้อมูลคดีครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าครบถ้วนศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป         เปิดรับปีใหม่พบร้านขายยาผิดกฎหมายมากกว่าร้อยราย         ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยาหลายแห่งเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจค้นเป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มกราคม พบว่า มีร้านขายยากระทำผิดจำนวนมาก จับกุมร้านยาที่ผิดกฎหมาย 127 ราย และตรวจยึดของกลางได้กว่า 359 รายการ มีทั้งยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านขายเหล่านี้ได้ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ โดยไม่ใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัดและขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537  ลงทุนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี และรัฐห้ามใช้ซื้อขายสินค้า        กรมสรรพกร ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากการลงทุนว่า ยังยึดลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรต้องเสียภาษีและพิจารณาเป็นรายธุรกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังมีกฎหมายยกเว้นให้คือ “การเสียภาษีคริปโทฯ ก็เหมือนกับขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายแล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย”           ด้าน ก.ล.ต. ร่วมกับแบงก์ชาติ ประชุมและแถลงข่าวว่า ไม่ให้นำคริปโทฯ มาชำระค่าสินค้า โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน         มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาทมพบ.คัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย         จากกรณีบอร์ดสมาคมวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น        เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ 1.สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป  การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว หากเริ่มขาดทุนจะใช้สิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา  จึงเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค 2.การออกคำสั่งของ คปภ.  ได้แก่  1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม  3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญา หากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นธรรมเช่น บริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10 เท่าของเบี้ยประกันที่ผู้บริโภคจ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบบัที่ 251 ETF ทางเลือกของการลงทุนในกองทุนดัชนี

        เคยพูดกองทุนรวมไปแล้ว โดยเฉพาะกองทุนรวมดัชนีหรือ Index Mutual Fund หรือ Passive Fund ที่ใช้วิธีการลงทุนล้อไปกับดัชนีของตลาด หมายความว่าถ้า SET50 หรือหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุด 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยรวมกันสร้างผลตอบแทนใน 1 ปีได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนดัชนี SET50 ก็จะลงทุนในหุ้น 50 ตัวนี้ในสัดส่วนเดียวกันกับตลาดและสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง         ข้อดีของกองทุนรวมประเภทนี้คือมีค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่เหมือนกองทุนรวมที่ต้องการเอาชนะตลาด         วันนี้จะมาแนะนำอะไรที่คล้ายๆ กัน มันมีชื่อเรียกว่า ETF หรือ Exchange Traded Fund เอาเข้าจริงมันก็คือกองทุนรวมนั่นแหละ ลงทุนในทรัพย์สินได้หลายประเภทเหมือนกัน เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ น้ำมัน และอื่นๆ แต่เป็นกองทุนรวมที่เปิดขายในตลาดหลักทรัพย์และต้องการสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิงของ ETF นั้นๆ         เรียกว่าไม่เอาชนะตลาด กูรูด้านการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่าไม่มีกองทุนรวมไหนในระยะยาวที่เอาชนะตลาดได้หรอก         เราก็จะพอมองเห็นความต่างระหว่าง ETF กับกองทุนรวมดัชนีได้บ้างแล้ว ETF ซื้อ-ขายในตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นทั่วไป ราคาก็เป็นราคาตลาด ณ เวลานั้น ซึ่งกองทุนรวมดัชนีทำไม่ได้ เพราะกองทุนรวมถ้าซื้อวันนี้ต้องรอราคาของวันพรุ่งนี้ก่อน คำสั่งซื้อถึงจะมีผลว่าเราจะได้กี่หน่วย         จุดที่ต่างกันอีกข้อหนึ่งของ ETF คือการซื้อขั้นต่ำต้องซื้ออย่างน้อย 100 หน่วยเหมือนหุ้น ต่างจากกองทุนรวมที่ระบุขั้นต่ำเป็นจำนวนเงิน เดี๋ยวนี้ซื้อขั้นต่ำ 1 บาทยังมีเลย         ต่อมาก็เรื่องการขายคืน พูดให้เข้าใจง่ายคือขายกองทุนรวมที่ถือไว้ออกมาเป็นเงิน สำหรับ ETF ถ้าสั่งขายวันนี้ (ต้องอยู่ในเวลาของตลาดหลักทรัพย์) คุณจะได้เงินในอีก 3 วันให้หลัง ไม่รวมวันหยุด หรือที่เรียกว่า T+3ส่วนกองทุนรวมเป็น T+4 หรือ 4 วัน         ส่วนเรื่องภาษี ทั้ง ETF และกองทุนรวมดัชนี ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา เช่น ซื้อมา 10 บาท ตอนขายคืนขายในราคา 15 บาท ส่วนต่าง 5 บาทได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสีย ยกเว้นว่ามีเงินปันผล ซึ่งทั้งสองตัวเหมือนกัน ถ้าได้เงินปันผล เงินปันผลนั้นจะถูกหักภาษี 10 เปอร์เซ็นต์         เป็นที่มาของคำแนะนำว่าไม่จำเป็นก็ควรเลือกกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล จะคุ้มกว่า         เพราะถ้าเสียภาษีแล้วรัฐเอาไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็น่าคิดหนักอยู่ จริงไหม?         คนที่ชื่นชอบการลงทุนในกองทุนดัชนี ETF เป็นทางเลือกการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็อยากซื้อเก็บไว้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เพราะรัฐต้องดูแลชีวิตประชาชน

        ปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ พูดแบบไลฟ์โค้ชด้านการเงินก็คงบอกว่าควรใช้เวลานี้เริ่มเก็บออมเงินสำหรับใครก็ตามที่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีต่อตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็จริง         เมื่อใครๆ ก็พูดไปแล้วจึงไม่ขอพูดซ้ำอีก แต่ขอพูดในสิ่งที่ไลฟ์โค้ชไม่พูด ซ้ำยังทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจเสียอีก         ขณะที่เรากำลังเก็บหอมรอมริบ เราควรเริ่มใส่ใจ กดดัน และเรียกร้องการดูแลจากรัฐให้มากขึ้น ที่ไลฟ์โค้ชชอบพูดกันเหมือนนกแก้วนกขุนทองว่าจงสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง อย่าแบมือขอ บางทีก็ไร้สาระ ทำไมเราจะเรียกร้องให้รัฐดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเราไม่ได้ ในเมื่อเราเสียภาษีเพื่อการนี้และเป็น ‘หน้าที่’ ของรัฐโดยตรง         ตรงกันข้าม ถ้ารัฐไม่เอาเงินภาษีไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การซื้ออาวุธ การปรับปรุงคลองด้วยเงิน 80,000 ล้าน (คือมันต้องมากขนาดนี้เหรอ?) สร้างห้องน้ำบนเครื่องบินของนายกฯ ราคาหลายสิบล้าน แล้วนำมาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ มันจะช่วยผ่อนเบาภาระของเราลงได้หลายเรื่อง         ทำไมการที่รัฐดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิการพื้นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำ ถึงช่วยให้เราเก็บเงินได้เร็วขึ้น สะสมความมั่งคั่งได้เร็วขึ้น         -ถ้าสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว 3 ระบบถูกจัดการให้เป็นระบบเดียวจะช่วยให้สวัสดิการสุขภาพมีเงินมากขึ้น แล้วจัดการระบบให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยระบบก็เข้ามาดูแล เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากเท่าทุกวันนี้         -ถ้าการศึกษาที่มีคุณภาพและฟรีจริงๆ เราก็ไม่ต้องกังวลกับค่าเทอม ค่าแปะเจี๊ยะ ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์ ค่าเรียนพิเศษ ไม่ต้องให้นักร้องมาวิ่งขอเงินเป็นทุนให้เด็กแค่ 109 คน เราจะเก็บเงินได้เร็วขึ้น         -ถ้ามีระบบประกันสังคมที่ดี แรงงานนอกระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการสามารถเข้าสู่ระบบนี้ได้ ตกงาน คลอดลูก งานศพ เราจะได้รับเงินเยียวยา         -ถ้าป้องกันการผูกขาดได้ ธุรกิจมีการแข่งขัน ตลาดทำงาน ย่อมเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างสรรค์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนในหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนดีขึ้น         -ถ้ามีระบบบำนาญแห่งชาติที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินรายเดือนอย่างเพียงพอ เงินที่เราต้องเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณก็จะลดลง เบาแรงไปได้เยอะ         -ถ้ามีการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีทรัพย์สิน ย่อมมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ ข้างต้น        -ถ้าการเมืองดีและเป็นประชาธิปไตย เราจะมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทัดทานการใช้งบประมาณแบบไม่เห็นหัวประชาชน         เห็นไหมว่าเรื่องระดับโครงสร้างนั้นกินความถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการเก็บออมเงิน อย่าเชื่อแต่คำพูดดูดีของไลฟ์โค้ช เพราะถ้าเราผลักดันให้โครงสร้างสังคมดี มันก็ไม่ต่างกับการลงทุนชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทั้งต่อตัวเอง คนอื่นๆ และลูกหลานด้วย

อ่านเพิ่มเติม >