ฉบับที่ 263 ระวัง เผลอกดลิงก์แอปฯเงินกู้ มือถือโดนดูดข้อมูล ถูกประจานว่าหนีหนี้

        ภัยออนไลน์เดี๋ยวนี้มีมาสารพัดรูปแบบ หากไม่ระมัดระวัง อาจตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ให้ลูกเล็กใช้มือถือดูการ์ตูนหรือเล่นเกมต่างๆ  เด็กๆ อาจเผลอกดลิงก์อันตรายที่เด้งขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนอย่างลูกชายของคุณขวัญใจก็ได้         คุณขวัญใจเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายวัย 2 ขวบ หยิบโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่น แล้วบังเอิญไปจิ้มกดโหลดแอปฯ เงินกู้เงินด่วนฟ้าผ่า ผ่านลิงก์จากโฆษณาในยูทูป หลังจากนั้นเธอก็โดนแอปฯ นี้ ดูดเอาข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างในมือถือไปใช้ โดยพวกมิจฉาชีพได้โทรไปหลอกทุกคนที่มีรายชื่อในคลังเบอร์โทรศัพท์ของเธอว่า เธอได้กู้เงินจากแอปฯไปแล้วไม่ชำระคืน และยังพูดข่มขู่ให้พวกเขาจ่ายเงินคืนแทนเธอด้วย อีกทั้งยังนำรูปของเธอที่อยู่ในโทรศัพท์ไปโพสต์ประจานตามสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายมาก จนเธอต้องถูกไล่ออกจากงาน คุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องนี้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้คุณขวัญใจยังไม่สูญเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพแต่อย่างใด ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำดังนี้        1. รีบดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวน ตำรวจ สืบหาผู้กระทำความผิด หรือมิจฉาชีพ หรือคนร้ายดังกล่าว ในการหลอกดูดข้อมูลคลังเบอร์โทรศัพท์ที่มีอยู่ในมือถือไปใช้        2. รีบติดต่อทางไลน์ หรือทางเฟซบุ๊ก หรือโทรติดต่อกับทุกรายชื่อที่มีเบอร์บันทึกไว้ในมือถือ เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่า ตอนนี้มือถือของตัวเองถูกดูดข้อมูลไป ถ้ามีคนร้ายหรือมิจฉาชีพโทรไปขอให้โอนเงินมาใช้หนี้แทนตน อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 หลอกลงทุนทิพย์ แต่หมดตัวจริง

        บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินได้ฟังข่าวเกี่ยวกับการจับกุมบรรดาพ่อข่ายแม่ข่ายชวนลงทุนแล้วเชิดเงินหนี และมีคนเสียหายหลายสิบล้าน จากเดิมที่ชวนลงทุนในสินค้าขายปลีก ก็มาสู่การลงทุนผ่านออนไลน์ แม้ช่องทางหรือสินค้าที่นำมาหลอกให้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจแต่รูปแบบการหลอกลวงก็ยังเหมือนเดิม คือหลอกให้ร่วมทำธุรกิจ อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ความจริงเน้นหาสมาชิกและนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนเมื่อหมุนเงินไม่ไหวก็จะพังลง และจะหนีหายไปทิ้งไว้แต่หนี้สินให้เป็นของดูต่างหน้า ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรง เพราะในการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเกิดความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวช่วงต้นปี 2566 คือกรณี น.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ หรือ ‘เม พรีมายา’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อแบรนด์ PRIMAYA (พรีมายา) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ลักษณะเชิญชวนอ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท พร้อมโพสต์ภาพหญิงคนหนึ่งคู่กับรถหรูในโชว์รูม ในลักษณะเชิญชวน ซึ่งต่อมาโดนหมายจับ พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งการหลอกลวงเช่นนี้ เกิดขึ้นตลอด         หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 หลายคนคงรู้จัก “ซินแสโชกุน” อายุเพียง 34 ปี ร่วมกับพวก หลอกให้ร่วมลงทุนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองจะพาสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น สุดท้ายลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีคนถูกหลอกกว่าแปดร้อยราย ความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาท ท้ายที่สุดศาลก็สั่งจำคุกซินแสโชกุนกับพวก เนื่องจากมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จึงจำคุก คนละ 2,903 ปี 4 เดือน ส่วนโชกุนโดนจำคุก 4,355 ปี  แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรืออีกคดีกรณี “เมจิกสกิน”   เป็นคดีรีวิวเครื่องสำอางเมจิกสกินและจำหน่ายสินค้าปลอม มีการฟ้องในฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.บ เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศาลตัดสินปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 175,000 บาท  จำเลยที่ 2 และ 3 จำคุกคนละ 20 ปี 5 เดือน และปรับ 170,500 บาท จำเลยที่ 4 -6 จำคุกคนละ 20 ปี และปรับ 147,500 บาท         ช่วงปี 2561 นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปี อดีตประธานกก.ดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ฯ ลงทุนแชร์ล็อตเตอรี่ สูญเงินกว่า 187 ล้านบาท จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงลงโทษฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุดให้ลงโทษ ทุกกรรมกรรมละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพลงโทษเหลือกรรมละ 2 ปี 6 เดือน การกระทำจำเลยเป็นความผิด 100 ครั้ง คงลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งหมด 200 ปี 600 เดือน เเต่ตามกฎหมายคงจำคุกจริงมีกำหนด 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีมหากาพย์คดี Forex-3D  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 พัวพันกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก หลอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) มีผู้หลงเชื่อตกเป็นผู้เสียหาย 9,824 คน ความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐที่สอบสวนเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยากให้ทุกท่านได้เห็นว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงไม่ว่าจะมาในลักษณะชวนลงทุนโดยใช้ข้อความชวนเชื่อจูงใจให้ลงทุนน้อยๆ อ้างได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาศัยคนมีชื่อเสียงเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือก็ตาม เมื่อหลงเชื่อไปแล้ว สุดท้ายเกิดความเสียหายกับคนจำนวนมากที่โดนหลอกเงิน การดำเนินคดีก็มุ่งไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดที่ฉ้อโกงหลอกลวงให้ติดคุก ซึ่งเราก็เห็นจากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่กล่าวมาว่า ต่อให้ศาลมีกำหนดโทษจำคุกมากถึงร้อยปีพันปี แต่สุดท้ายกฎหมายอาญาก็ให้ลงโทษจำคุกจริงสูงสุดเพียง 20 ปี  เพียงเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนที่ถูกหลอก กลับไม่เป็นจริง โอกาสที่จะไปติดตามเส้นทางการเงินหรือหาเงินมาชดเชยความเสียหายเป็นไปได้ยาก         ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การมีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะลงทุนใดๆ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีลักษณะชวนเชื่อที่อ้างการใช้เงินลงทุนน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือกิจการที่ชอบโชว์ชีวิตแบบหรูหรา ใช้ของแพง เที่ยวต่างประเทศ เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงวิธีการให้หลงเชื่อเพื่อหลอกเอาเงิน หากเจอการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบดังกล่าว ควรร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อช่วยตรวจสอบ แจ้งเตือนภัย เพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อภัยลงทุนทิพย์เหล่านี้ ประมวลกฎหมายอาญา         มาตรา 91  เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้         (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี         (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี         (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ‘บัฟเฟตต์’ กับ ‘โซรอส’ แตกต่างเหมือนกัน

        บทเรียนแรกๆ ของการออม การลงทุน การจัดการการเงินส่วนบุคคล คือการรู้จักและเข้าใจตัวเอง ทั้งในแง่นิสัยใจคอ การยอมรับความเสี่ยง เป้าหมายการลงทุน ไปจนถึงวิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเรา จะเดินสาย investor หรือเดินสาย trader ก็ขอให้เป็นคุณเดินแล้วเดินได้สะดวก         มีนักลงทุนระดับตำนาน 2 คนที่มีวิธีการลงทุนต่างกันคนละขั้ว คนหนึ่งคือวอร์เรน บัฟเฟตต์ เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา สาย value investor อีกคนคือจอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรกับทุกสิ่ง คนนั้นนั่นแหละ คนที่โจมตีค่าเงินบาทไทยตอนปี 2540         มีหนังสือขายดีตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2005 เคยแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2554 และถูกพิมพ์ซ้ำเรื่อยมา ‘The Winning Investment Habits of Warren Buffett & George Soros’ หรือชื่อไทยว่า ‘บัฟเฟตต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ’ ก็อย่างที่บอกว่าทั้งสองคนมีแนวทางการลงทุนที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ Mark Tier ผู้เขียน ก็วิเคราะห์แนวทางการลงทุนที่เป็นลักษณะร่วมของทั้งสองคนออกมาได้น่าสนใจทีเดียว         ยกอุปนิสัยบางข้อมาเล่าให้ฟังแล้วกัน บางข้อก็เป็นเรื่องทั่วไปมากๆ เลย แต่ไอ้ความทั่วไปนี่แหละที่แยกนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จกับนักลงทุนที่ล้มเหลว เช่น การ ‘มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยง’ หรือ ‘จงรักษาเงินต้นไว้ให้ได้เสมอ’ เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เราพอจะควบคุม หมายถึงประเมินและยอมรับระดับความเสี่ยงได้ มากกว่าเรื่องผลตอบแทนที่แสนผันผวนตามอารมณ์ของตลาด ส่วนการรักษาเงินต้น...ก็ตามนั้นแหละ         ชวนดูอีกสัก 2 ข้อ ‘สร้างปรัชญาการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง’ กับ ‘พัฒนาระบบในการคัดเลือก ซื้อ และขายการลงทุนต่างๆ อันเป็นแบบฉบับของตัวเอง’ สองข้อนี้รวบตึงเป็นข้อเดียวกันก็ได้และมาจากรากฐานเบื้องต้นนั่นคือการรู้จักตนเอง ...ขอยกข้อความมา 2 ย่อหน้า         “ถ้าหุ้นโค้กราคาตกหลังจากบัฟเฟตต์เข้าซื้อ เขาจะทำเช่นไร ถ้าคิดว่าราคา 5.22 ดอลล่าร์ถือว่าถูกมากแล้ว พอราคาร่วงลงมาที่ 3.75 ดอลลาร์ ก็ยิ่งต้องถือว่าถูกกว่าเดิมซะอีก และเขาย่อมซื้อเพิ่มอยู่แล้ว         “แต่ระเบียบวิธีของโซรอสกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ถ้าเขาซื้ออะไรแล้วราคาของมันตก เขาจะถือว่าตลาดกำลังบอกว่าเขาทำผิด และเขาก็ออกทันที ถ้าราคาเพิ่มขึ้น เขาก็จะยังซื้อเพิ่ม เพราะตลาดกำลังบอกว่าสมมติฐานของเขาถูกต้องแล้ว”         สองย่อหน้านี้น่าจะสรุปความแตกต่างที่เหมือนกันของทั้งสองได้ดีสุดแล้ว พวกเขาเข้าใจตัวเองมากพอจะสร้างแนวทางการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ลองให้สองคนสลับวิธีกันก็เป็นไปได้ว่าจะเจ๊งยับและโลกจะไม่รู้จักชื่อบัฟเฟตต์และโซรอส         อ้อ ยังมีอีกข้อที่ทั้งสองคนมีเหมือนกันและเป็นรากฐานที่สำคัญมากๆๆๆๆ แต่ถูกละเลยเสมอ นั่นก็คือ         ‘จงลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจเท่านั้น’

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 เรื่องน่าผิดหวังแห่งปี

        เป็นธรรมเนียมประจำปีของ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียที่จะประกาศรางวัล Shonky Awards ให้กับสินค้าหรือบริการที่สร้างความผิดหวังให้ผู้บริโภคมากที่สุด มาดูกันว่าในปี 2022 หลังการระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย มีผู้ประกอบการเจ้าไหนได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง          เริ่มจาก Qantas สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะความคับข้องใจของลูกค้าที่ต้องเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้า (สถิติการตรงต่อเวลาของควอนตัสขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีเที่ยวบินตรงเวลาเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น) สัมภาระสูญหาย และความสับสนวุ่นวายขณะทำการเช็คอิน พวกเขาคิดแล้วไม่เข้าใจ อุตส่าห์ควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วสำหรับ “สายการบินพรีเมียม” แต่ได้รับบริการไม่ต่างกับสายการบินต้นทุนต่ำ         แถมด้วยเรื่องเก่าที่เคลียร์ไม่จบจากยุคโควิด เมื่อผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงที่รัฐบาลจำกัดการเดินทางต่างก็ได้รับ “เวาเชอร์”​ ไว้ใช้ภายหลัง แต่กลับพบว่าตั๋วที่ใช้เวาเชอร์ซื้อได้นั้นมีราคาแพงกว่าปกติ ในขณะที่ “คะแนนสะสม” ของหลายคนก็ไม่ได้รับการต่ออายุทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในช่วงโควิด         แน่นอนว่าต้องมีคำถามจากลูกค้ามากมาย แต่สายการบินกลับไม่เตรียมการไว้รองรับ บางคนที่โทรไปคอลเซ็นเตอร์ของควอนตัส ต้องถือสายรอเกือบ 50 นาที บริษัทต้องปรับปรุงอีกมาก หากต้องการจะใช้สโลแกน “Spirit of Australia” ต่อไป         ตามด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างว่าคิดค้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ปกครองที่ลูกไม่ชอบกินผัก บริษัท Steggles ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่อยู่คู่กับออสเตรเลียมาเกือบร้อยปี ได้ปล่อยนักเก็ตไก่แช่แข็ง แบบ “ซ่อนผัก” ออกสู่ตลาด พร้อมฉลากที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ “ผัก” ถึง ¼ ถ้วยหรือ 50 กรัม พร้อมรูปดอกกะหล่ำบนกล่อง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายถูกใจยิ่งนัก แม้ต้องจ่ายแพงกว่านักเก็ตไก่ธรรมดา ก็ยอมเปย์        แต่สารอาหารที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์มีเพียง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ทำให้ CHOICE เกิดข้อสงสัยจึงส่งตรวจวิเคราะห์หา “ความเป็นผัก” ในนักเก็ตดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีอยู่เพียงน้อยนิด และ “ผัก” ที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่ง (ร้อยละ 11) ส่วนดอกกะหล่ำตามรูปบนบรรจุภัณฑ์นั้นมีเพียงร้อยละ 3           หากคำนวณโดยนับรวมทั้งดอกกะหล่ำและมันฝรั่ง ปริมาณผักที่ได้ก็เป็นเพียงร้อยละ 20 ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน พูดง่ายๆ ถ้าจะกินให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เด็กต้องกินมากกว่าหนึ่งกล่อง ในขณะที่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า หนึ่งกล่อง (ขนาด 400 กรัม) เหมาะสำหรับรับประทาน 4 คน           ต่อไปขอแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์เพื่อการหุงต้มที่ชื่อว่า Zega Digital หม้อต้มที่อ้างว่าใช้งานง่าย สะดวก ทันสมัย สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ แถมยังช่วยคุณประหยัดพลังงาน เพราะคุณสามารถปิดแก๊สก่อนอาหารสุกแล้วความร้อนในหม้อที่มีผนังสองชั้นทำหน้าที่ให้ความร้อนต่อไป         มันดีงามเสียจน CHOICE ต้องซื้อมาทดลองใช้ หลังจากทำตามคำแนะนำในคู่มือของบริษัท ทีมงานพบว่าทั้งไก่และผักยังไม่เข้าข่าย “สุก” และซอสก็ไม่เหนียวข้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ที่อันตรายอย่างยิ่งคือเขาพบว่าบริเวณตรงกลางของเนื้อสัตว์มีอุณหภูมิเพียง 66 องศาเซลเซียส (ซึ่งควรเป็น 75 องศา หรือสูงกว่า เพื่อความปลอดภัยจากจุลินทรีย์) และพวกเขายังต้องนำหม้อดังกล่าวไปตั้งเตาต่ออีก 90 นาที จึงจะได้อาหารสุกพร้อมรับประทานได้อย่างปลอดภัย ... ดูแล้วไม่น่าจะประหยัดทั้งเงิน ทั้งพลังงาน         ด้านบริษัทผู้ผลิตออกมาตอบโต้ว่าน่าจะเป็นเพราะทีมงานยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุดไฮเทคของเขามากกว่า และบริษัทได้ส่งคำแนะนำในการทำเมนูดังกล่าวให้กับองค์กรผู้บริโภคแล้ว         มาที่ผลิตภัณฑ์เงินกู้ซึ่งมีอยู่มากมายในออสเตรเลียกันบ้าง (คนออสซี่ก็เป็นหนี้มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับห้าของโลก) ปีนี้ CHOICE ยินดีมอบรางวัลเจ้าหนี้ยอดแย่ให้แก่ VetPay บริการเงินกู้เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยง        มองเผินๆ บริการนี้คือความหวังของบรรดา “ทาส” ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพราะเบี้ยประกันแสนแพง แถมยังมีเงื่อนไขข้อยกเว้นอีกมากมาย โฆษณาของ VetPay กล่อมบรรดาทาสว่าพวกเขาจะมีโอกาสนำน้องแมว น้องหมา หรือน้องอื่นๆ ไปรับการรักษาแบบผ่อนส่งได้ ด้วยการจ่ายค่ารักษาให้กับคลินิกเบื้องต้นเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็ผ่อนชำระเป็นรายปักษ์กับบริษัทด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.4 พร้อมกับ “ค่าธรรมเนียมการผ่อนจ่าย” ทุกงวด งวดละ 2.5 เหรียญ ซึ่งลูกหนี้จะทราบข้อมูลเหล่านี้หลังจากได้สมัครเป็นสมาชิกรายปี และจ่ายค่าสมาชิกในอัตรา 49 เหรียญ (ประมาณ 1,200 บาท) แล้ว         เว็บไซต์ของบริษัทเขียนเอาไว้หล่อๆ ทำนองว่า เราเข้าใจคนรักสัตว์เป็นอย่างดี เราเป็นพันธมิตรกับคลินิกสัตวแพทย์ในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ช่วยให้เจ้าของตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมโดยมีข้อมูลประกอบ และยินดีเป็นตัวกลางระหว่างคลินิกกับเจ้าของสัตว์         แต่ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนบริษัทกำลังหาประโยชน์จากเจ้าของสัตว์เสียมากกว่า  VetPay เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เงินกู้ที่แพงที่สุดที่ CHOICE เคยพบมาเลยทีเดียว         รางวัลสุดท้ายของปีนี้ CHOICE ขอมอบให้กับร้านดอกไม้ออนไลน์ Bloomex บริษัทสัญชาติแคนาดาที่มีสาขาในอเมริกาและออสเตรเลียด้วย บริษัทที่อ้างว่าได้สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนไม่ต่ำกว่า 3.8 ล้านคนทั่วโลกมาแล้ว กลับทำให้คนออสซี่ได้แต่ยิ้มอ่อน        ปัญหานี้เรื้อรังยาวนานจนมีการตั้งกลุ่มใน facebook เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวความผิดหวังจากบริการส่งดอกไม้และกระเช้าของขวัญดังกล่าวกันอย่างจริงจัง         มีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคให้บริษัท “หยุดรับออเดอร์” หากไม่พร้อมหรือไม่มีความมั่นใจว่าสามารถจัดส่งดอกไม้ได้ตามกำหนดเวลา เพราะการรับออเดอร์เกินตัวทำให้เกิดความผิดหวังกันทั่วหน้า กรณีที่อุกอาจที่สุดคือกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่สั่งซื้อช่อดอกไม้ “ขนาดใหญ่พิเศษ” หกช่อ ในราคา 325 เหรียญ (ประมาณ 7,700 บาท) ให้นำไปส่งในงานพิธีศพของคนรู้จัก ผ่านไปหนึ่งวันหลังงานจบ เธอเพิ่งจะได้รับดอกไม้ที่หน้าประตูบ้านในเวลาตีสอง และสิ่งที่เธอได้คือดอกเดซี่ช่อเดียว ในสภาพเหี่ยวสุดๆ         เมื่อโทรไปคอมเพลนและขอรับเงินคืน (เธอพยายามอยู่สองวันกว่าจะมีคนรับสาย) ก็ถูกพนักงานวางหูใส่ บริการอะไรกันนี่ ... ทั้งช้าและเฉา ไม่เข้ากับสโลแกน “เฟรช ฟาสต์ แอนด์แฟร์” ของบริษัทเอาเสียเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 จงทำให้ ‘เวลา’ อยู่ข้างเรา

        ปัจจัย 3 อย่างที่มีผลต่อการสะสมความมั่งคั่งให้งอกเงย ได้แก่ เงินต้น อัตราผลตอบแทน และเวลา หมายความว่าถ้าใครมีเงินตั้งต้นสำหรับลงทุนมากกว่า สร้างอัตราผลตอบแทนได้มากกว่า และมีเวลามากกว่า ก็จะสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่า         มักจะพูดกันว่าแต่ละคนมีเงินตั้งต้นไม่เท่ากันตามแต่ต้นทุนชีวิต ส่วนอัตราผลตอบแทนถ้าอิงจากผลตอบแทนตามดัชนี set 50 ก็คงอยู่ราวๆ 8-10 เปอร์เซ็นต์ทบต้น นี่ไม่ได้พูดถึงการลงทุนชนิดหวือหวานะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พอจะทำให้คนที่มีเงินตั้งต้นไม่มากแต่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้แบบไม่น้อยหน้านักก็คือ ‘เวลา’         วอร์เรน บัฟเฟตต์ (คนนี้อีกแล้ว) นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าสร้างผลตอบแทนต่อปีจากการลงทุนที่ 22 เปอร์เซ็นต์ทบต้น ตอนปี 2020 มีความมั่งคั่งสุทธิ 84,500 ล้านดอลลาร์ (พระเจ้าช่วย!!!) อันเป็นผลลัพธ์จากการที่เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ (พระเจ้าช่วย!!!)        แค่บัฟเฟตต์ลงทุนช้ากว่านี้ไป 15 ปีหรือก็คือเริ่มลงทุนตอนอายุ 25 ปีซึ่งเป็นวัยเริ่มทำงาน ความร่ำรวยของเขาจะไม่สูงขนาดนี้ ตัวเลขจะต่างอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว         เขาถึงพูดกันว่ายิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งได้เปรียบไงล่ะ         เอาล่ะ ใช่ว่าเด็กอายุ 10 ทุกคนจะหมกมุ่นกับการลงทุนเหมือนบัฟเฟตต์ซะทีไหน เว้นเสียแต่พ่อแม่จะเก็บออมและลงทุนเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็คงมีไม่มากนักหรอก แต่ท่านคุณเริ่มจัดการการเงินส่วนบุคคลตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน คุณก็มีโอกาสสูงที่จะเกษียณแบบรวยๆ         หมายความว่าตั้งแต่โรงเรียนถึงอุดมศึกษาจะต้องเตรียมองค์ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลไว้ให้เนิ่นๆ         ปัญหาไม่ใช่แค่ว่าสถาบันการศึกษาไทยไม่สอนเรื่องนี้ แต่ยังอยู่ที่วินัยในการออมของแต่ละคนด้วย เพราะต่อให้มีความรู้ ถ้าไม่ลงมือทำก็ไร้ประโยชน์         มันอาจจำเป็นที่ต้องมีกลไกของรัฐเข้ามาช่วย อันที่จริงก็มีแล้วอย่างกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและไม่ได้อยู่ในกองทุนประกันสังคม แต่มันก็ยังไม่ครอบคลุมและจำนวนเงินที่จะได้รับหลังเกษียณก็ไม่มากมาย         เคยมีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย ‘หวยบำเหน็จ’ คือไหนๆ ชาวบ้านก็ซื้อหวยอยู่แล้ว เงินที่ซื้อแทนที่จะซื้อทิ้งๆ ก็เก็บเป็นเงินออมไปเลย เป็นนโยบายที่น่าสนใจ         ประเด็นคือนอกจากประชาชนจะเก็บออม ลงทุนด้วยตนเองแล้ว ถ้ารัฐสร้างกลไกการออมที่หลากหลายและสามารถรองรับคนได้ทุกกลุ่มตั้งแต่เริ่มทำงาน มันจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของประชาชนได้มาก         เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นๆ ที่ดีมีคุณภาพ คนไทยชีวิตดีแน่นอน...ว่าแล้วก็ตื่นจากฝัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

หลายคนคงเคยสงสัยว่า เวลาที่เป็นคนเป็นหนี้กันปกติเจ้าหนี้ก็ต้องไปทวงเอาเงินจากลูกหนี้ แต่หากวันหนึ่งลูกหนี้ตายไปก่อนใครจะต้องรับผิดจะไปฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้รับผิดได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องมรดกที่ต้องมาพิจารณากำหนดไว้ว่า หากลูกหนี้ที่เป็นเจ้ามรดกเสียชีวิตแน่นอนว่ามรดกที่ตกแก่ทายาทจะมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่กฎหมายก็กำหนดขอบเขตความรับผิดของทายาทไว้ว่าให้รับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ตายไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ  เช่น ลูกหนี้ เป็นหนี้จำนวนหนึ่งล้านบาท  เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต นายแดงทายาทได้รับมรดกคือเงินในบัญชีจำนวนหนึ่งแสนบาท เช่นนี้ หากเจ้าหนี้มาฟ้องนายแดงที่เป็นทายาทของลูกหนี้ นายแดงก็จะรับผิดเพียงทรัพย์มรดกที่ตนได้รับคือหนึ่งแสนบาทเท่านั้น และเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินส่วนตัวของนายแดงเพื่อไปชำระหนี้ก็ไม่ได้  โดยมีคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 2161/2558 ได้เคยตัดสินเอาไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้           คำพิพากษาฎีกาที่ 2161/2558        แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่         คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทอีกตัวอย่าง กรณีที่ลูกหนี้ตาย ทายาทไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ และตกลงชดใช้เงินตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด ศาลก็ได้ตัดสินไว้ว่าสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ และไม่ถือเป็นการแปลงหนี้กันใหม่ให้เป็นความรับผิดของทายาทเป็นการส่วนตัว ดังนั้น ทายาทของลูกหนี้ก็รับผิดแค่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539           ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ปลดหนี้ บนออนไลน์

        ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าหรือการกู้ยืมเงินสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ เกิดการโฆษณาให้ข้อมูลที่หลากหลายรวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจากเดิมที่ต้องเดินทางไปมาหากันก็เหลือเพียงวีดีโอคอลหรือแชทไลน์สนทนาทำให้ติดต่อกันได้รวดเร็วมากขึ้น         แน่นอนว่าเรื่องของกฎหมายก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ในเรื่องของการกู้ยืมเงินกัน ที่เมื่อก่อนต้องมีการเจอหน้าพูดคุยทำสัญญากู้ยืมกัน แต่ปัจจุบันเมื่อวิธีติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลง การกู้ยืมเงิน การติดตามทวงถามให้ใช้หนี้ ก็ทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบการพิมพ์ข้อความแชทสนทนา ซึ่งหลักฐานสนทนาเหล่านี้ กฎหมายยอมรับให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเรียกร้องกันได้ และแน่นอนว่าปัญหาการผิดนัดเบี้ยวหนี้ก็มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนเกิดเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลมากมาย ดังนั้นจะขอหยิบยกตัวอย่างคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินกันและปรากฏว่าตัวเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ มีการส่งข้อความแชททางเฟซบุ๊กไปยังลูกหนี้ผู้กู้ว่าเงินที่กู้ยืมทั้งหมดนั้น ไม่ต้องส่งคืนยกให้ทั้งหมด ข้อความดังกล่าวศาลเห็นว่า แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ แต่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายซึ่งยอมรับให้ถือเสมือนมีการลงลายมือชื่อแล้วและการส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและผู้ให้กู้ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง เช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่ผู้กู้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วทำให้หนี้ระงับไปศาลจึงยกฟ้องผู้ให้กู้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560         จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย         แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง         ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว  หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง         กฎหมายที่เกี่ยวข้อง        พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544         มาตรา 7  ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์        มาตรา 8  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว         มาตรา 9  ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า         (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ         (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 การออมไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นฐานของการลงทุน

        วันนี้กลับมาคุยกันเรื่องเบสิกสุดๆ อีกครั้งนั่นก็คือ การออมและการลงทุน         เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องการออมและการลงทุน ไปๆ มาๆ เลยเอา 2 คำนี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องบอกดังๆ ว่า ไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน         การออมคือการเก็บเงินนั่นแหละ เข้าใจง่ายสุด เราเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เตรียมไว้เป็นค่าเทอม เก็บไว้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินต่างๆ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปตามกำลัง บ้างเสนอว่าควรเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ บ้างก็ว่าไม่พอแล้วต้องอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่าควรเก็บ 1 ใน 4         ฝากธนาคารเป็นวิธีเก็บเงินออมที่คนส่วนใหญ่ใช้ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะปลอดภัยและสะดวกที่สุด โดยได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ยด้วยเช่นกัน ไม่ชนะเงินเฟ้อแน่นอน ยิ่งฝากค่าเงินยิ่งเล็กลง แต่ไม่มีเงินออมฝากธนาคารเลยได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเพราะเป็นเรื่องของสภาพคล่อง         คราวนี้ พอเก็บเงินได้เยอะขึ้นๆ จะปล่อยกินดอกเบี้ยในธนาคารอย่างเดียว ชาตินี้คงไม่มีเงินพอเกษียณ หลังจากจัดแจงแบ่งส่วนเงินออมที่มีแล้ว เราถึงกันเงินส่วนหนึ่งออกไปลงทุนหรือเก็บเงินออมเพื่อการลงทุน         เห็นแล้วนะว่าการออมไม่ใช่การลงทุน แต่การออมเป็นฐานของการลงทุน เงินออมใช้เป็นเงินลงทุนต่อยอดสร้างผลตอบแทน         ถามว่าไม่ต้องออมได้ไหม เพราะฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย สู้เอาไปลงทุนเลยดีกว่า?         ตอบว่าไม่ได้ บ้าบิ่นเกินไป คอลัมน์นี้เคยพูดถึงเงินออมฉุกเฉิน อารมณ์คล้ายๆ กัน การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยต้องใช้เวลา (ต่อให้คุณเป็นสายเทรดเดอร์หรือสายเก็งกำไรก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำรอง) ถ้าเอาเงินมาลงทุนโดยไม่มีหลังพิง เกิดขาดสภาพคล่อง เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือขาดรายได้จะทำยังไง ก็ต้องไปดึงเอาเงินที่ลงทุนออกมาทั้งที่ยังขาดทุนอยู่หรือดีหน่อยคือไม่ขาดทุน แต่คุณจะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว         เอ๊ะ แล้วที่โฆษณาออมหุ้นๆ กันล่ะ เป็นการลงทุนหรือการออมกันแน่? อันนี้น่าสนใจ         การออมหุ้นเป็นการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินธนาคารแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ที่ใช้คำว่า ออมหุ้น เพราะคนทำมาหากินธรรมดาจะเอาเงินถุงเงินถังจากไหนไปซื้อหุ้นทีละเป็นหมื่นเป็นแสนหุ้น ดังนั้น โบรกเกอร์จึงเสนอบริการให้เราได้ทยอยสะสมหุ้มโดยไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่         พอค่อยๆ สะสมหุ้น มันเลยให้อารมณ์เหมือนกันออม ถึงเรียกว่าออมหุ้น แต่ไม่ใช่ออมเงิน ที่สำคัญก่อนจะออมหุ้นต้องออมเงินให้ได้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กระแสต่างแดน

ใส่วนไป        ที่ผ่านมาการรีไซเคิลเสื้อผ้าด้วยกระบวนการทางเคมีทำได้กับเส้นใยโพลีเอสเตอร์เท่านั้น ฟินแลนด์กำลังจะเปิดโรงงานแห่งแรกในโลกที่สามารถผลิตเส้นใยฝ้ายจากเสื้อผ้าทิ้งแล้ว ภายในปี 2025         โรงงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษเก่าในเมืองเคมิทางเหนือของทะเลบอลติก ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาทมีกำลังผลิต “เส้นใยรีไซเคิล” ปีละ 30,000 เมตริกตัน (เท่ากับเสื้อยืดประมาณ 100 ล้านตัว) และในอนาคตยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแบบนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ         โดยทั่วไปเสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว จะใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 2,700 ลิตร แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ลงได้ถึงร้อยละ 99         ฟินแลนด์ซึ่งมีสถิติการทิ้งเสื้อผ้าต่อคนอยู่ที่ปีละ 13 กิโลกรัม กำหนดเป้าหมายว่าจะจัดการเก็บแยกขยะเสื้อผ้าให้ได้ภายในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมายร่วมของสหภาพยุโรปถึงสองปี   ตั๋วไม่ถูก        องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Konsumentverket เผยผลวิเคราะห์เหตุผลที่มีจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์มถูกปรับมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือส่วนใหญ่มีตั๋วโดยสารแต่จ่ายเงินไม่ครบ บ้างไม่มีใบเสร็จ บ้างก็ซื้อตั๋วผิดประเภทจากแอปฯ           สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องคือ การลดหย่อนหรือยกเลิกค่าปรับในกรณีที่ผู้โดยสาร “ใช้ตั๋วไม่ถูกต้อง” แต่ไม่ได้ตั้งใจแอบขึ้นฟรี (ซึ่งมีค่าปรับ 1,500 โครนา หรือ ประมาณ 5,200 บาท)         การตรวจตั๋ว (เมื่อผู้โดยสารลงจากรถ) งดเว้นไปในช่วงการระบาดของโควิด และเมื่อเริ่มมีการตรวจอีกครั้งกลางเดือนมิถุนายน ก็พบว่ามีคน “แอบขึ้นฟรี” ถึง 80,000 คนในเดือนนั้น            อัตราค่าโดยสารในบัตร SL Access ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ มีให้เลือกตั้งแต่ ตั๋วเที่ยวเดียว/ 24 ชั่วโมง/ 72 ชั่วโมง/ 7 วัน/ 30 วัน (ประมาณ 3,300 บาท) / 90 วัน และตั๋ว 1 ปี (ประมาณ 34,800 บาท) โดยมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรครั้งแรก 20 โครนา (ประมาณ 70 บาท)  ก่อนเช่าต้องชัด        “ผู้เช่าบ้าน” ในฝรั่งเศสได้รับการคุ้มครองค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องข้อมูลที่ผู้ให้เช่าจะต้องบอกไว้ใน “โฆษณา”           อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ฝรั่งเศสกำหนดให้ใครก็ตามที่ต้องการปล่อยบ้านหรือห้องให้ผู้อื่นเช่า ต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้         ค่ามัดจำ ค่าเช่ารายเดือน ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าระบบทำความร้อน ที่จอดรถ โดยระบุวิธีการชำระเงินให้ชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าของบ้านต้องบอกให้ชัดเจนหากต้องการให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายรับภาระและแจ้งจำนวนเงิน         กรณีที่บ้านหรือห้องเช่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมค่าเช่า” โฆษณาจะต้องระบุอัตราค่าเช่าสูงสุดและต่ำสุดในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าของบ้านตรวจสอบได้จากเว็บของรัฐบาลและต้องระบุว่าเป็นบ้าน/ห้องเปล่า หรือตกแต่งพร้อมให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตรและอยู่ในเขตเลือกตั้งใดรู้ไว้ก่อนขายของสด        การ “ไลฟ์ขายของ” ที่แฟนๆ ชาวจีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันติดหนึบด้วยคอนเทนต์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศข้อห้ามถึง 31 ข้อ                ตัวอย่างเช่น ห้ามส่งเสริมการกินทิ้งกินขว้าง ห้ามโอ้อวดความร่ำรวย (เช่น นำเพชรพลอย เงินกองโต หรือสินค้าแบรนด์เนมมาวางประกอบฉาก) ห้ามแต่งตัวยั่วยวน ห้ามพูดจาลามก ห้ามทรมานสัตว์ เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามเลี่ยงภาษี         หน่วยงานฯ เขายังกำหนดให้คนที่จะไลฟ์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย การศึกษาหรือการให้คำแนะนำทางการเงิน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว         ร้อยละ 63 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้ชมการไลฟ์สด ทางการจีนระบุว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิด “คอนเทนต์คุณภาพ” ที่นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นสิทธิในการทำแท้ง        ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก การทำแท้งที่นั่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 6 ปี           อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้หญิงใช้แสวงหาความช่วยเหลือเมื่อต้องการหยุดการตั้งครรภ์ พวกเธอใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลเรื่องการทำแท้ง รวมถึงใช้นามแฝงเข้าไปพูดคุยสอบถามปัญหาในเฟซบุ๊ก หรือในแอปฯ อย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อขอคำปรึกษาจากคนแปลกหน้า           แน่นอนว่าทางออกนี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และพวกเธอยังอาจถูกจับดำเนินคดีด้วยหลักฐานการสนทนาในแอปฯ ดังกล่าวด้วย         แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครต้องขึ้นศาลเพราะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่คำตัดสินของศาลอเมริกันที่มีผลให้การทำแท้งไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหลายประเทศ และทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลการค้นหาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 รวมพลังสู้ ‘เงินเฟ้อ’

        ศัตรูสำคัญของเงินออมคือเงินเฟ้อ มันเหมือนมอดปลวกที่คอยกัดกิน ‘มูลค่าเงิน’ ของเราให้ถอยถดลดลง         ทำไมต้องใช้คำว่า ‘มูลค่าเงิน’ เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยสับสนระหว่างจำนวนเงินกับมูลค่าเงินน่ะสิ เหมือนจะเคยเล่าไปแล้วว่าถ้าคุณฝากเงินไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย สมมติว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หมายความว่าต่อให้เงิน 100 บาทในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1 บาท ความจริงคือเงินของคุณมีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาทไปแล้วจากเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว         เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของในท้องตลาดราคาขยับสูงขึ้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ได้ในปริมาณลดลง         สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยรอบนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันนั่นแหละ) ไหนจะภาครัฐยังลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ ส่วนภาคธุรกิจก็ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อมายังผู้บริโภค (ขึ้นราคาสินค้า) แต่รอบนี้หนักกว่าเคยเพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกสืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตั้งท่าจะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเหมือนกัน         เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ         แต่การลงทุนอะไรที่จะชนะเงินเฟ้อได้? คำตอบคือหุ้น และถ้าไม่มีเวลาไล่ดูหรือศึกษาหุ้นที่ละตัว กองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะในระยะยาวแล้ว ย้ำว่าในระยะยาวหุ้นรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้         สินทรัพย์อีกประเภทคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะมันไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น แล้วค่าเช่าก็มักเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อนั่นแหละ แต่จะควักเงินก้อนซื้อที่ดิน ซื้อตึกแถวเองคงยาก ก็มีรีทหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE INVESTMENT TRUST: REIT) ให้เลือกลงทุน         บ้างก็ว่าทองคำหรือกองทุนรวมทองคำเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษามูลค่าเงิน เพราะโลหะสีเหลืองนี่ขยับมูลค่าตามเงินเฟ้อเหมือนกัน         ถ้าใครตามส่องบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงนี้ จะเห็นว่าแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมในหุ้นต่างประเทศกันยกใหญ่ ยังไงก็ควรศึกษาก่อนตัดสินใจให้ดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณาอย่างเดียวเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >