ฉบับที่ 185 ทำไมประกันภัยจ่ายไม่ครบ

ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามประกันภัยดังกล่าวก็สามารถสร้างความสับสนให้กับผู้ทำประกันในส่วนของการชดเชยค่ารักษาพยาบาลได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้ม จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 2,800 บาท อย่างไรก็ตามเขารู้ว่าได้ทำประกันภัยกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยภัยจากรถ (คปภ.) ไว้ จึงนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวไปเบิกกับบริษัทฯ แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าไม่สามารถเบิกได้เต็มจำนวน โดยจะชดเชยให้เพียง 520 บาทเท่านั้น ทำให้เขาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงไม่ยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวและมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดไว้ว่า สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อหนึ่งคน ศูนย์ฯ จึงส่งเรื่องร้องเรียนของคุณสุชาติไปไปสอบถามยัง คปภ. โดยแนบสำเนาใบเสร็จรับเงินของผู้ร้องไปด้วย ซึ่งภายหลังทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงกลับมาว่า “คปภ. ได้พิจารณาจ่ายรักษาพยาบาลคืนให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2,280.18 บาท โดยไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนคืนให้ได้ เพราะผู้ร้องเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุและทำประมาทเอง ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัย บริษัทกลางประกันภัย จำกัด กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถดำเนินการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ตามจำนวนจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินสูงสุด โดยให้จ่ายแต่ละรายการในอัตราไม่เกินราคาสูงสุดที่กำหนดตามมาตรฐานกลางของรายการ ซึ่งจากกรณีของผู้ร้องมีค่าใช้จ่ายที่เกินราคากลางไปจำนวน 520 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ผู้ร้องจำเป็นต้องจ่ายเอง”สรุปว่า คปภ. จ่ายได้ในแต่ละรายการไม่เกินอัตราสูงสุดที่ประกาศกำหนดไว้ ซึ่งกรณีของผู้ร้องนั้นสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 2,280.18 บาท ขาดไปจากที่จ่ายจริง 520 บาท ซึ่งผิดกับที่ผู้ร้องเข้าใจในตอนแรกว่าบริษัทฯ จะชดเชยให้เพียง 520 บาทเท่านั้น ภายหลังได้รับการชี้แจง ผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและยุติการร้องเรียนทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ต้องติดต่อกับบริษัทภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น โดยเตรียมหลักฐานต่างๆ ดังนี้1. กรณีบาดเจ็บ1.1 ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย2. กรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บต่อมาทุพพลภาพ นอกจากต้องยื่นหลักฐานตาม ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้ว ให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ หรือหลักฐานอื่นใดที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย3. กรณีเสียชีวิต 3.1 สำเนามรณะบัตร 3.2 สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน 3.3 สำเนาบัตรประจำตัว หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัยอย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลอื่นๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทฯ  http://www.rvp.co.th หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) http://www.oic.or.th/ และสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน 1791

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 25542 มิถุนายน 2554จ่ายเพิ่มชดเชยอุบัติเหตุรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เตรียมออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาท เป็นสูงสุด 300,000 บาท ทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีผลบังคับใช้กับกรมธรรม์ที่เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป  นอกจากนี้ คปภ. จะจัดทำระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-cliam) เพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เต็มวงเงินคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด พร้อมทั้งจะมีการเร่งจัดทำมาตรฐานราคาอ้างอิงค่าซ่อมรถใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน จากเดิมที่อ้างอิงราคาค่าซ่อมรถกำหนดตามขนาดของรถ จะมีการเปลี่ยนเป็นกำหนดตามรุ่นและยี่ห้อของรถแทน เพราะกระบวนการผลิตรถยนต์มีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยี รถขนาดใกล้เคียงกันอาจมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้รถมากที่สุด----------------------------------------------------------------------------   26 มิถุนายน 2554 “สมุดบันทึกยา” แก้ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน ยา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งถ้าเราต้องเผชิญกับหลายโรครุมเร้า การใช้ยาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามอาการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดหลายประเภทอาจไม่ช่วยรักษาโรคแถมยังกลับกลายเป็นผลร้าย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย “สมุดบันทึกยา” จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ป่วยได้บันทึกการใช้ยาของตัวเอง ป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนหรือยาออกฤทธิ์ตีกันจนกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย   ในงานสัปดาห์เภสัชกรรมประจำปี 2554 ได้มีการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อป้องกันการใช้ยาไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิดและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีโอกาสเกิดความสับสนในการใช้ยาได้ มีข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนั้นสาเหตุมาจากเรื่องการใช้ยา โดยร้อยละ 40 มาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง และร้อยละ 60 มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา   การจดบันทึกข้อมูลการใช้ยา ผู้ป่วยจะบันทึกด้วยตัวเองหรือจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้บันทึกก็ได้ ข้อมูลที่บันทึกจะเป็นประโยชน์มากในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยเองต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้เสียก่อนจึงจะสามารถจดบันทึกได้ เท่ากับได้เรียนรู้เรื่องยาไปด้วย --------------------------------------------------------   27 มิถุนายน 2554สคบ.คุมเข้ม “ฟิตเนส” ไม่ทำตามสัญญาต้องคืนเงิน ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศเรื่อง การให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 นี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกาย อาทิ ธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา  สาระสำคัญและเงื่อนไขที่ต้องระบุในสัญญา ให้ชัดเจน คือ 1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ และการให้บริการอื่นๆ 2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3) ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน  ในกรณีของผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยได้เงินคืนนั้นจะมาจาก 3 กรณี คือ 1)ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น หรือมีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ตามระบุในสัญญา 2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3) ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรือจากอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ชำรุดบกพร่องแต่ไม่มีการแจ้งเตือน --------------------------------------------------------   “หนี้” ปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้กฎหมายจัดการ “หนี้” ปัญหายอดฮิตของผู้บริโภค ทั้งเรื่องดอกเบี้ยสูงเกินจริง และการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมหนี้บัตรเครดิต และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นภาครัฐเร่งออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคด่วน   น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องความไม่เป็นธรรมจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างเดือน 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2554 พบว่า  มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 126 เรื่อง ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาได้แก่ การผิดนัดชำระ, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม, ถูกฟ้องให้ชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การคิดดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงมาก ปัจจุบันเรียกเก็บสูงสุดถึงร้อยละ 28 ขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี เก็บสูงสุดแค่ร้อยละ 16 (2) กรณีการทวงหนี้ในปัจจุบัน แม้ ธปท. มีประกาศชัดเจนเรื่องแนวทางการทวงหนี้ แต่ก็เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษในทางกฎหมาย และ (3) เรื่องการส่งเสริมการขายและการดึงดูดลูกค้าให้มีการเข้าถึงบัตรเครดิตมากขึ้น สุดท้ายก็มักเข้าสู่วังวนเรื่องหนี้ นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธาน ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เสนอแนะให้ภาครัฐ ต้องออกมาตรการควบคุมการเก็บดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม  โดยไม่ควรเกินร้อยละ 15  ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม  เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 2  สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ท่านสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทรศัพท์ 02-2483737 หรือปรึกษาทางเว็บไซต์กับชมรมหนี้บัตรเครดิต debtclub.consumerthai.org -----------------------------------   กด “Like” ถ้าโรงหนังทำให้ปวดใจ ค่าตั๋วแพง – โฆษณาเพียบ เมื่อสังคมบนโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แสดงพลังผู้บริโภคที่ง่ายและรวดเร็ว "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" จึงได้เปิดหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเข้าร่วมขบวนการกันมากมาย ประเด็นนี้ถือเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" ได้ก่อตั้งแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้นก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนที่รู้สึกถูกเอาเปรียบจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง “มัลติเพล็กซ์” โดยเฉพาะโรงหนังในเครือเมเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์นานเกินไป และเรื่องราคาตั๋วที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเปิดตัวแฟนเพจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 54 ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน มีผู้ใช้เฟซบุ้คมากดเป็นเพื่อนมากกว่า 2 หมื่นคน  ปัจจุบันราคาตั๋วชมภาพยนตร์ในโรงมัลติเพล็กซ์มีราคาสูงถึง 140 – 170 บาท ในช่วงวันหยุด ขณะที่วันธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 120 – 150 บาท ส่วนโฆษณาและตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายจริงนั้นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 นาที แม้กระแสบนโลกออนไลน์จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาได้ทันทีทันใด แต่โรงหนังเครือเมเจอร์ก็พยายามหาทางออกด้วยการติดป้ายบอกเวลาการฉายโฆษณาและหนังตัวอย่างให้กับผู้ชม แต่เป็นแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น จำนวนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ จากผู้บริโภคถึงผู้ประกอบการธุรกิจว่า หากผู้บริโภครู้สึกว่ามาเอาเปรียบกันมากเกินไปแล้ว ผู้บริโภคก็พร้อมออกมาทวงถามสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น  ยิ่งในโลกที่สื่อออนไลน์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจโปรดพึงระวัง การตอบโต้กลับจากผู้บริโภคที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหายทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว

เรื่องราวของอุบัติเหตุรถโดยสารมีให้เห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปไหน ไปทำงาน ทำบุญ หรือจะไปที่ไหนก็แล้วแต่  ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถแท็กซี่ รถเมล์ หรือรถทัวร์โดยสาร ก็เกิดกันได้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ตามมาก็คือ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ความเสียหายเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ที่แย่กว่านั้นหากเป็นรถโดยสารที่เจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย ไม่มีความรับผิดชอบ หรือประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุขึ้น หน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเข้าถึงตัวผู้เสียหายเพื่อจัดการเรื่องค่าสินไหมทดแทน คือ บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันภัยไว้กับรถยนต์คันเกิดเหตุ(ประกันภัยภาคสมัครใจ)  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากบาดเจ็บ ไม่ว่าเจ็บน้อยหรือเจ็บสาหัสมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ถึงกับตาย การได้ค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบริษัทประกันภัยมีเทคนิคมากมาย ที่จะจ่ายค่าสินไหมให้น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น  ผู้เสียหายหลายรายบ่นกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯว่า “บางครั้งเวลาเจรจาค่าเสียหาย รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังขอเงินเขาใช้ยังไงยังงั้น ทั้งที่เราเป็นคนเจ็บแท้ๆ แต่บริษัทประกันภัยกลับมาต่อรองเราครึ่งๆ เหมือนซื้อของกัน เขายังเห็นเราเป็นคนอยู่รึเปล่า อยากรู้จริงๆ”เมื่อผู้เสียหายต้องการมากเพราะเจ็บ แต่บริษัทประกันภัยต้องการจ่ายน้อยเพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ  หลายรายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงบางส่วนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล  และมีอีกหลายรายที่รู้ไม่ทันเกมของบริษัทประกัน ทำให้ต้องยอมรับค่าสินไหมทดแทนไปแบบ งงๆ มารู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว  และเรื่องราวต่อนี้ ก็เป็น 1 ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ของความสูญเสียที่ไม่ได้เกิดเป็นเรื่องแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกของอุบัติเหตุรถยนต์โดยสาร ที่รอวันแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…. เช้ามืดวันที่  23 ตุลาคม 2556  เวลา 5.00 น.   กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุจำนวนกว่า 120 คน จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ได้ร่วมกันจ้างเหมารถยนต์รับจ้างจำนวน 3 คัน  เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม บ้านวังเจริญ ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญทอดกฐินและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆมาทั้งวันแล้ว ในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่คณะกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่   โดยรถยนต์โดยสารทั้ง 3 คัน ขับเรียงกันมาตามเส้นทางถนนสายพะเยา-วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรถยนต์ขับมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นทางโค้งลาดลงเขารถยนต์โดยสารคันแรกเริ่มมีอาการกระตุก คนขับรถจึงได้หยุดจอด และพูดคุยกับคนขับรถคันที่ 2 ที่ขับตามมาว่า รถเบรกมีปัญหาเอาไม่อยู่ ให้รถที่ตามมาแซงไปก่อน เมื่อรถที่ตามมาแซงล่วงหน้าไปแล้ว ผู้สูงอายุที่นั่งด้านหน้าติดกับคนขับได้ยินก็ถามคนขับว่าจอดรถทำไมรถมีปัญหาหรือเปล่า คนขับรถตอบว่าไม่มีอะไรก่อนจะออกตัวขับรถยนต์โดยสารต่อไปหลังจากรถออกไป 5 – 10 นาที โดยประมาณ ผู้สูงอายุที่นั่งในรถก็เริ่มรู้สึกว่ารถแล่นเร็วผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมรถได้ และผู้โดยสารทางด้านท้ายรถเริ่มได้กลิ่นเหม็นน้ำมัน มีผู้โดยสารที่ไม่ได้นอนหลับ (ตอนหลังเสียชีวิต) ได้ตะโกนบอกให้คนขับจอดรถ แต่คนขับไม่ยอมจอด รถเริ่มส่ายไปมา ก่อนที่จะมีเสียงตะโกนว่ารถจะคว่ำแล้ว ไม่กี่อึดใจ รถก็พุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึกด้านล่างประมาณ 100 เมตร มีผู้เสียชีวิตที่กระเด็นออกนอกรถและถูกร่างทับกันตายเป็นจำนวนมาก  หลังเกิดเหตุจึงทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 17 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอำเภอสารภี ที่หลายคนเป็นพี่น้อง ญาติ สามีภรรยา พ่อแม่และลูก ส่วนคนขับอาศัยช่วงชุลมุนกระโดดออกจากรถก่อนตกเหวเอาตัวรอดไปได้แต่เรื่องยังไม่จบ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ญาติพี่น้องล้มตายบาดเจ็บยังไม่พอ หลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ยังถูกเจ้าของรถปฏิเสธการชดเชยเยียวยา อ้างว่ารถมีคันเดียว ตอนนี้ไม่มีเงิน แถมยังถูกบริษัทรับประกันภัย บิดเบือน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน พูดง่ายๆ หลอกให้ทำสัญญายอมรับเงินบางส่วน หรือที่เรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอม เพื่อเป็นค่าปิดคดีกับบริษัทรับประกันภัย นั่นหมายถึงว่า คนที่ลงชื่อในสัญญายอมรับเงินไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดกับคู่กรณีได้อีก…..เจอแบบนี้เข้า ชาวบ้านก็ไปต่อไม่ถูก แทนที่หน่วยงานที่กำกับดูแลจะมาช่วยชี้แจงให้ได้รับความเป็นธรรม กลับร่วมมือกับผู้รับประกันภัย มากล่อมเรา หรือจะเรียกว่า หลอกให้เราลงชื่อยอมรับเงินซะงั้น   “มาถึงเขาก็บอกให้ป้าเซ็นชื่อ  ป้าก็ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร เขาไม่ได้ให้อ่าน บอกให้ลงชื่อตรงนี้ๆๆๆ  ป้าถามว่าเป็นเงินอะไร เขาบอกว่าเป็นเงินชดเชย ไม่ใช่เงินค่าเสียหาย  ป้าเลยเซ็นชื่อรับเงินไป  แต่ตอนหลังถึงรู้ว่าที่เซ็นชื่อไปนั้น เป็นสัญญายอมความ ผู้เสียหายทุกคนเจอแบบเดียวกัน  ป้าจะเรียกร้องอะไรไม่ได้อีกแล้ว ถ้ารู้แบบนี้แต่แรก ป้าไม่เซ็นชื่อแน่ ป้าโดนหลอก !!!  ” เสียงสะท้อนจากคุณป้าที่รอดชีวิตอุบัติเหตุครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง รวมถึงการไม่ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน หรือการเฝ้ารอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีการสูญเสียอีกกี่รายกรณีนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรจะต้องได้รับการเผยแพร่ ตักเตือนให้กับผู้บริโภคทุกคนได้รับรู้ว่า หากวันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แล้วมีการพูดคุยเจรจาเพื่อตกลงค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย แล้วต้องมีการลงชื่อเซ็นเอกสารนั้น ผู้เสียหายต้องอ่านและดูเนื้อหาเอกสารให้ละเอียดชัดเจน หากมีข้อความทำนองว่า ถ้ารับเงินแล้วตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป....  ข้อความลักษณะนี้ ห้ามลงชื่อยอมรับเด็ดขาด !!! เพราะหากลงชื่อไปแล้ว ผู้เสียหายจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมทางแพ่งได้อีก  เมื่อรู้แบบนี้กันแล้ว ก็ช่วยกันบอกต่อกันไปนะครับ อย่างน้อยหากเราไม่สามารถหยุดเหตุความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ยังรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่จะตามมาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุกับการใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33

 คุณมิว...แวะซื้อนมถั่วเหลืองชนิดขวดแก้ว ราคา 10 บาท  จากร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย  จำนวน 1 ขวด  เพื่อใช้กินแทนมื้อเย็น ระหว่างเดินชิลๆ เข้าห้องพัก ขณะที่เปิดประตูห้อง ถุงขวดนมถั่วเหลืองได้หลุดจากมือตกใส่เท้าอย่างแรง แรงขนาดนิ้วเท้าที่เพิ่งถอดรองเท้าออก โดนเศษแก้วบาดตรงบริเวณนิ้วโป้งจนเลือดไหลไม่หยุด  คุณมิวตกใจพยายามห้ามเลือด แต่ดูท่าจะเอาไม่อยู่เพราะเลือดไหลตลอดแม้ใช้สำลีพันแผลไว้ และรีบนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปคลินิกใกล้หอพักเพื่อรักษาแผลคลินิกรักษาโรคทั่วไปที่คุณมิวพาตัวเองไปใช้บริการนั้น ตรงกระจกด้านหน้าคลินิกดังกล่าวได้ระบุไว้ว่ารับบัตรประกันชีวิตกรุงไทย, AIA  และอีกหลายบริษัทฯ  และรับสิทธิประกันสังคม  คุณมิวจึงเข้าไปเพื่อให้ทำแผลที่เลือดไหลไม่หยุด  เมื่อให้นางพยาบาลดูบัตรประกันชีวิต พยาบาลประจำคลินิกแจ้งว่า ไม่สามารถใช้ที่คลินิกได้ต้องไปรักษาที่ รพ.พระราม 9 ซึ่งเป็นรพ.เอกชนที่รับบัตรประกันชีวิตทุกชนิด พอสอบถามเรื่องสิทธิประกันสังคม ก็ทราบว่าคลินิกให้บริการเฉพาะบุคคลที่ใช้สิทธิที่ รพ.ตากสินทำไมชีวิตมันยุ่งยากนัก เลือดก็ไหลไม่หยุด แผลเริ่มปวด นางพยาบาลถามย้ำว่าจะล้างแผลที่นี่หรือจะนั่งรถไปที่ รพ.พระราม 9 หรือจะไปใช้สิทธิตาม รพ.ที่รองรับสิทธิของตนเอง  คุณมิวจึงตัดสินใจให้นางพยาบาลที่คลินิกทำแผล โดยยื่นความประสงค์ขอจ่ายเงินเอง เนื่องจากคงไม่สะดวกที่จะหอบเอาเท้าที่เลือดยังไหลไม่หยุดไปรักษาถึง รพ.พระราม 9 หรือ รพ.ราชวิถี แพทย์ที่รักษาคนไข้อยู่ในห้องอีกห้องได้เดินออกมาดูอาการพร้อมแจ้งให้นางพยาบาลฉีดยาบาดทะยักให้กับผู้ป่วยด้วย  พร้อมกำชับให้ดูแลความสะอาดไม่ให้แผลโดนน้ำ เมื่อทำแผลเสร็จแพทย์ได้เดินมาฉีดยากันบาดทะยักพร้อมให้นางพยาบาลแจ้งการเก็บค่ารักษาพร้อมค่ายา ซึ่งประกอบด้วย ยาแก้อักเสบ และยาพาราเซตามอล  อย่างละ 1 ถุง  ค่ายารวมทั้งหมด 800 บาท คุณมิวได้ขอใบรับรองแพทย์ พร้อมใบเสร็จรับเงิน ก่อนจ่ายค่ารักษา และใบนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก อย่างไรก็ตาม คุณมิว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 สิทธิ เพียงแต่สิทธิขึ้นอยู่ที่ รพ.ราชวิถี เมื่อไปเข้าคลินิกที่ไม่ได้รองรับสิทธิ    จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อน  ต่อมาเมื่อได้ทำเรื่องเบิกเงินคืนจากประกันสังคม เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ก็สามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ตามที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้   และได้รับเงินคืนครบตามจำนวนคือ 800 บาท โดยสำนักงานประกันสังคม โอนเงินผ่านทางธนาคาร ตามที่ระบุไว้ตอนที่ทำเรื่องเบิกเงินคืน แนวทางแก้ไขปัญหาจะพบว่า ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมไม่ได้รับความสะดวกในกรณีฉุกเฉินสักเท่าไร ถ้าไม่ใช่ รพ. ที่ระบุไว้ในบัตรหรือในเครือ ต้องออกเงินเองไปก่อน ต่อเมื่อทำเรื่องในภายหลังจึงจะได้รับเงินคืน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เนื่องจากเป็นกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ให้ผู้ประกันตนนำใบเสร็จรับเงิน, ใบรับรองแพทย์ มาประกอบในการขอเงินคืน โดยแนะนำผู้ประกันตนไปยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส.2-01/ม.40)  สามารถโหลดแบบฟอร์มได้ในเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/wpr/uploads/uploadImages/file/2sps201.pdf แนบใบรับรองแพทย์ (ตัวจริง)(ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)  ,ใบเสร็จรับเงิน (ตัวจริง) (ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)   และเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้  และสำเนาเวชระเบียน (ถ้ามี) แนบไปด้วย แนบสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร กรณีที่ให้สำนักงานประกันสังคมโอนเงินคืนทางธนาคาร ระบุแจ้งเบอร์โทรศัพท์ในใบข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการติดต่อประสาน ผู้ร้องสามารถยื่นเอกสารโดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือนำเอกสารไปยื่นได้ด้วยตนเองได้เลย ประมาณ 2 อาทิตย์ จะมีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานประกันสังคมกรณีอนุมัติเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.รถ อีกสักที

ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนสร้างความปวดหัว และปวดใจได้ไม่น้อยเลย ยิ่งในรายที่ประสบอุบัติเหตุแบบไม่ธรรมดา คือ ต้องไปข้องเกี่ยวกับรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ภาคบังคับ หรือบางราย พ.ร.บ.หมดอายุ (พ.ร.บ. ขาด) แล้วใครล่ะที่จะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)ให้กับผู้เสียหาย  เรื่องนี้มีคำตอบกรณีที่ผู้เสียหาย 3 คน เดินกินลมชมวิวริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถมาเฉี่ยวชน คนที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อย คนที่ 3 เสียชีวิตคาที่  และบังเอิญ รถคันที่มาชนไม่ได้ทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับเสียด้วย จะได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรบ้างการชดเชยในกรณีนี้ -  ทั้ง 3 คน สามารถใช้สิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ สามารถทำเรื่อง เบิกจ่ายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) -  คนที่ 1 ทายาทจะได้รับเงิน จำนวน 35,000 บาท ซึ่งจะหัก ค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิต ด้วย ในรายที่รักษาเกินกว่า 35,000 บาท ก่อนเสียชีวิตก็เท่ากับว่าจะไม่ได้ค่าปลงศพนั่นเอง -  คนที่ 2 โรงพยาบาลจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากเกินจะสามารถใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) -  คนที่ 3 ทายาทจะได้รับเงินค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทอีกกรณีคือเด็กชายอายุ 13 ปี ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ พาน้องสาวอายุ 9 ปี นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วถูกรถยนต์เก๋งชน จนเป็นเหตุให้คนขับบาดเจ็บ ส่วนน้องสาวเสียชีวิตคาที่  ทั้ง พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ และ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย อ้างว่า เด็กชายคนดังกล่าวไม่มีใบขับขี่การชดเชยในกรณีนี้ -  โปรดจำไว้ว่า แม้คนขับจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม จะได้รับจากชดเชยเยียวยาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามปกติคือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นฝ่ายผิดจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็นตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท  เพราะ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน หากคนขับไม่มีใบขับขี่จะถูกดำเนินการลงโทษจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการเปรียบเทียบปรับในภายหลัง - สำหรับคนซ้อน ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ทันที ที่ 200,000 บาท - หากไม่สามารถตกลงกันได้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   ความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าปลงศพ จำนวน 200,000 บาท ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หากไม่ทำจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถไว้ให้พร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาที่ใช้รถ เว้นแต่กรณีรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนหรือชำระภาษีประจำปีแล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 อยากซ่อม ไม่อยากขายซาก

รถเกิดอุบัติเหตุก็ต้องซ่อม แม้จะเยินไปหน่อยแต่ก็เพิ่งซื้อมา ทำประกันชั้นหนึ่งด้วย อยู่ๆ จะให้ขายเป็นซากแบบไม่สมเหตุผลมันก็ทำใจลำบากอยู่คุณผุสดี ซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงมาหมาด พร้อมทำประกันภัยชั้น 1 ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในวงเงิน 650,000 บาท โชคร้ายรถประสบอุบัติเหตุ(โชคดีที่คนขับไม่บาดเจ็บมาก) ทางประกันภัยจึงมายกรถที่สภาพเสียหายค่อนข้างหนักไปเข้าศูนย์ซ่อมแต่ผ่านไป 4 เดือน รถไม่เคยถูกซ่อม ทางประกันภัยแจ้งว่าทางศูนย์ซ่อมที่ประกันฯ นำรถไปดำเนินการนั้นแจ้งราคาซ่อมเกินวงเงินประกันภัย จึงไม่สามารถซ่อมได้ ประกันฯ ขอรับซื้อซากรถแทน “แต่ดิฉันไม่ตกลงขายค่ะ เพราะสภาพมันซ่อมได้ ไม่ใช่ว่าซ่อมไม่ได้เลย ดิฉันจึงทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันฯ ว่าจะขอนำรถมาซ่อมที่อู่ ซึ่งดิฉันรู้จัก ซึ่งประกันก็ยินยอม แต่ว่ารถก็ยังไม่ได้รับการซ่อมอยู่ดี อู่บอกว่าประกันฯ ยังไม่ได้คุยว่าจะต้องซ่อมอะไร ยังไง พอดิฉันไปคุยกับประกันฯ ทางประกันบอกว่าจะติดต่อกับอู่เองโดยตรง ดิฉันไม่รู้จะทำยังไงดี รถคันนี้ต้องใช้ประกอบอาชีพด้วย ตอนนี้เดือดร้อนมาก” แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดต่อเจรจากับทางบริษัทประกันภัย ได้ความว่า รถของผู้บริโภคนั้น มีสภาพความเสียหาย(ที่ต้องซ่อมแซม) เกินกว่า 70% ซึ่งเข้าข่ายซ่อมไม่ได้ จึงได้เสนอคืนเงินประกันให้กับคุณผุสดี แต่ทางคุณผุสดีแจ้งว่า เงินที่ทางบริษัทประกันจะคืนให้นั้น ไม่พอปิดยอดไฟแนนซ์ ซึ่งจะต้องชำระค่าส่วนต่างอีกหลายหมื่นบาท และเมื่อดูรายการตามที่ทางช่างได้ประเมินเรื่องการซ่อมแล้ว คุณผุสดีเห็นว่า ช่างยืนยันว่าซ่อมได้ ทั้งยังไม่เกินวงเงินประกันด้วย ทางบริษัทประกันฯ น่าจะพิจารณาคุ้มครองการจ่ายค่าซ่อมแซมทั้งหมดหลังการเจรจาเรื่องก็จบลงด้วยดีตามความประสงค์ของคุณผุสดีคือ ทางบริษัทประกันอนุมัติการซ่อม คุณผุสดีจึงขอบคุณทางศูนย์ฯ ที่ช่วยเรื่องการเจรจาในครั้งนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 อุบัติเหตุรัก

อนันยา นักศึกษาสาวใสวัยยี่สิบ ขับรถเก๋งมาจากแยกแจ้งวัฒนะตัดกับถนนวิภาวดี กำลังมุ่งหน้าไปทางวงเวียนบางเขนในช่องทางด้านซ้าย โดยไม่รู้ตัวว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเธอกำลังเจอเนื้อคู่ (คดี)อนันยา ขับรถไปฟังเพลงไปรู้สึกหิวขึ้นมาตะหงิดๆ เหลือบตาไปเห็นป้ายร้านแมคโดนัลด์ตั้งอยู่ริมทางซ้ายมือเกิดอาการน้ำลายสอ จึงหักพวงมาลัยเลี้ยวรถเพื่อเข้าร้านฯ ทันที โดยไม่ได้มองไปที่กระจกส่องหลังว่ามีรถใครตามมาหรือไม่ห่างกันไม่ถึง 10 เมตร บนถนนเส้นเดียวกัน อนันต์ หนุ่มใสวัยยี่สิบสอง บิดมอเตอร์ไซค์ตามหลังรถสาวอนันยามาในช่องทางด้านซ้ายสุดชิดขอบทางซึ่งถือว่าเป็นช่องทางของรถจักรยานยนต์ อนันต์ไม่คาดคิดว่ารถเก๋งคันข้างหน้าจะเลี้ยวซ้ายปาดหน้ารถของตัวเองอย่างกะทันหัน ดวงชะตาของหนุ่มสาวทั้งสองจึงปะทะกันอย่างรุนแรง ราวแรงถาโถมของคลื่นสึนามิที่กระแทกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต“โครม”“ว้าย…” สาวอนันยาใช้น้ำเสียงแอ๊บแบ๊วเจือสำเนียงเกาหลีร้องด้วยความตกใจ พร้อมเหยียบเบรคหยุดรถทันที“โอยยยยย....” หนุ่มอนันต์กระเด็นตกจากรถมอเตอร์ไซค์ ลงไปกองกับพื้นถนนนั่งกุมข้อมือขวาที่แตกหักด้วยความปวดร้าวเมื่อตาต่อตาประสานสบ บทพ่อแง่แม่งอนตามสูตรละครประเภทน้ำที่มีปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเกิดขึ้น“ขับรถมอเตอร์ไซค์ประสาอะไร ถึงขี่มาชนชั้นได้เนี่ยคุณ” สาวเจ้ายืนเท้าสะเอวใส่ฉอดๆ “อูยยย นี่คุณ...ที่คุณว่าน่ะมันต้องผมเป็นคนพูด นึกจะเลี้ยวก็เลี้ยว ไม่ดูหน้า ดูหลังบ้างเลย”“เอาล่ะ เอาล่ะ ไม่ต้องทะเลาะกัน รถติดเป็นแถวแล้ว น้องผู้ชายไปโรงพยาบาล น้องผู้หญิงไปสถานีตำรวจ ฟันธง!”ตำรวจจราจรผู้เข้ามาระงับเหตุประกาศด้วยเสียงเด็ดขาด เป็นเหตุให้โลกแห่งละครของคู่หนุ่มสาวทั้งสองต้องยุติลงแนวทางแก้ไขปัญหาบทสรุปรักครั้งนี้ ตำรวจระบุเป็น “คดีจราจร” โดยมีน้องนางเอกอนันยาตกเป็นผู้ต้องหา ข้อหาขับรถประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากตำรวจพิจารณารูปการณ์อุบัติเหตุแล้วชี้ชัดได้ว่า เกิดจากความประมาทของอนันยาที่ขับรถโดยใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ ทำให้มองไม่เห็นรถจักรยานยนต์ที่วิ่งตามหลังมาในช่องทางที่วิญญูชนทั่วไปรับทราบกันดีว่าเป็นช่องทางของรถจักรยานยนต์ ทำให้อนันยาต้องยอมรับผิดและถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหา “ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย” ส่วนค่าเสียหายทั้งตัวรถและค่ารักษาพยาบาลนั้นตำรวจเห็นว่ารถเก๋งของอนันยามีประกันอุบัติเหตุชั้น 1 จึงให้คู่กรณีตกลงค่าเสียหายกันเองทางแม่ของหนุ่มอนันต์ได้ออกมาปกป้องลูกชายสุดที่รักที่ถูกนางเอกของเรื่องขับรถชนจนชอกช้ำเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 50,000 บาท ซึ่งบริษัทประกันรับปากที่จะจ่ายชดใช้ให้ แต่ต่อมาก็เงียบหายแม่ของหนุ่มอนันต์ไม่รู้จะทำยังไง เพราะตำรวจบอกไม่ยุ่งเป็นเรื่องทางแพ่งให้เรียกเสียหายกันเอง ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับคนที่ประสบเหตุแบบนี้คือ1. ถ้าบาดเจ็บ มีค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นให้สำรองจ่ายไปก่อน แล้วนำใบเสร็จค่ารักษาไปเบิกกับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คันที่ตนขับขี่มาไม่ใช่คันของคู่กรณี แต่หากมีค่ารักษาพยาบาลเกิน 15,000 บาท ส่วนที่เกินให้เบิกกับประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิด2. ส่วนค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมรถที่เสียหาย ค่าขาดโอกาสในการทำงาน ค่าทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ ค่าขาดการอุปการะเลี้ยงดูนั้น สามารถเรียกร้องได้กับผู้ขับขี่คู่กรณี หากคู่กรณีได้ทำประกันภัยเพิ่มเติมไว้ ประกันภัยจะมีหน้าที่รับผิดชอบค่าสินไหมตามสัญญาของกรมธรรม์ที่ทำ3. แต่หากประกันภัยไม่จ่ายหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าความเสียหายที่ได้รับ ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีทางแพ่งได้กับผู้ขับขี่รถคู่กรณีในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่เกิดเหตุ และให้เรียกประกันภัยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายด้วยโชคดีที่การเยียวยารักครั้งนี้ไม่ถึงขั้นต้องไปพบกันที่ศาล เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อเจรจาจนบริษัทประกันยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ในท้ายที่สุด ความรักของหนุ่มอนันต์กับสาวอนันยาจึงถึงบทอวสานด้วยเหตุฉะนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ปัญหาจาก พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถอีกแล้วครับ..ท่าน

สวัสดีปีใหม่ ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านนะจ๊ะ(ไม่ช้าไปใช่ไหม) และเรื่องที่ตามมาคือจำนวนอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดจากการเดินทางด้วยรถประเภทต่างๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมากมาย และที่หนีไม่พ้นคือเมื่อเกิดเหตุจากรถ ก็ต้องมี พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ จึงเขียนเรื่องที่เกิดเหตุเมื่อตอนปลายปี 2552ช่วงนั้นมีข่าวแปลกๆ คือชาวบ้าน “แห่ศพไปสวดที่หน้าสถานีตำรวจ” สาเหตุเพราะผู้ตายประสบเหตุ ถูกรถกระบะของตำรวจเฉี่ยวชน รถซาเล้ง(มอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง) จนทำให้แม่ลูก 2 คน ที่โดยสารมาเสียชีวิตทั้งคู่ โดยตำรวจคนที่ขับรถมาชน(ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพล) สั่งห้ามแจ้งความและไม่ยอมแจ้งประกัน แต่จะจ่ายให้ 2 ศพ 30,000 บาท ชาวบ้านไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคนที่ขับรถชนคือตำรวจ แล้วเขาก็ต้องไปแจ้งตำรวจอีก ญาติจึงตัดสินใจแห่ศพไปสวดหน้าโรงพักซะเลย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลมากเพราะสื่อต่างๆ ให้ความสนใจ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ (ออกหน้าหนึ่งไทยรัฐ) ทำให้ผู้ว่าฯ นั่งก้นไม่ติดเก้าอี้ ต้องลุกขึ้นมาสั่งการให้มีการสอบสวนให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือเพราะกลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ข่าวสงบทุกอย่างก็จะเงียบอีก จึงได้ไปประสานงานเรื่องการชดเชยเบื้องต้นตามพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถก่อน จากข้อมูลที่ศูนย์ฯ ได้มาคือ รถซาเล้ง พรบ. ขาดยังไม่ได้ต่อ แต่รถคันที่มาชนมี พรบ. ผู้ประสบภัยจากรถ ศูนย์ฯ จึงได้ไปประสานงานกับบริษัทประกันภัยกลางจังหวัด เพื่อรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้โดยสารซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายศพละ 100,000 บาท ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด เพราะไม่ใช่คนขับขี่ แต่กรณีนี้ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยกลางแจ้งมาว่า จ่ายให้ได้แค่ศพละ 35,000 บาท เท่านั้น เพราะรถที่ผู้เสียชีวิตนั่งไปไม่ได้ทำประกัน อ้าว..ก็รถคันที่ชนมันมีประกันทำไมไม่ให้คันนั้นจ่ายให้ ล่ะ.. เพราะถึงรถคันที่นั่งไปไม่มีประกัน หากเขาไม่ถูกรถกระบะวิ่งมาชนเขาก็ไม่ตายนี่.. บริษัทกลางยืนยันยังไงก็จ่ายได้แค่นั้น เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ และนี่คือเหตุผลที่ต้องเขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังว่า พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถมันมีปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก พรบ.นี้ได้จริง เห็นมีแต่บริษัทประกันภัยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ และบริษัทประกันภัยกลางก็ไม่ได้ยินดียินร้ายกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เฉื่อยแฉะและเย็นชาเอามาก...ก...ก...เครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเรารู้ว่าเราพึ่งใครไม่ได้ (นักการเมืองไม่ว่างเพราะทะเลาะกันอยู่) ขณะนี้เราร่างพรบ.ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว และได้ชื่อมาแล้วกว่า 8,000 ชื่อ ยังขาดอีกนิดหน่อย จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านช่วยร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไข พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประสบภัยมากขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 บัตรเดบิตพ่วงประกัน รู้ให้ทันก่อนใช้

เดี๋ยวนี้บัตรเดบิตไม่ได้มีไว้แค่กดเงินสดจากบัญชีของเราผ่านทางตู้ ATM เพียงอย่างเดียว แต่บัตรเดบิตใบเดียวยังทำได้อีกหลายอย่าง แต่ที่หลายๆ คนให้ความสนใจแถมยังเคยเป็นประเด็นร้อนแรงจนเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ก็คือ “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ”  ที่เคยผู้บริโภคออกมาโวยว่าถูกธนาคารเอาเปรียบบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกัน ซึ่งค่าธรรมเนียมแพงกว่าบัตรเดบิตทั่วไป ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปดูกันสิว่า “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ” (เราเลือกเฉพาะคุ้มครองด้านอุบัติเหตุ) มีข้อดี-ข้อเสียยังไง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจแค่ไหน สำหรับคนที่อยากมีประกันอุบัติเหตุไว้ให้อุ่นใจเวลาเจอเหตุที่ไม่คาดฝัน แต่เดี๋ยวก่อน ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิเรามีมาฝากแน่ๆ แต่สิ่งที่เราอยากบอกคือ ลักษณะการให้บริการที่ไม่ตรงไปตรงมาของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงเพื่อมิให้ก่อปัญหาในอนาคต    โดยฉลาดซื้อได้ทดลองให้อาสาสมัครไปเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับสมัครบัตรเดบิตประเภทที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุกับธนาคาร 5 แห่งได้แก่ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และออมสิน  พบว่าทุกธนาคารที่ทดสอบไม่มีกรมธรรม์มอบให้ทั้งในขณะที่ขอเปิดบริการ มีเพียง 3 ธนาคารที่ให้แผ่นพับข้อมูลรายละเอียดการใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม เพื่อดูว่าจะมีการส่งกรมธรรม์มาให้ในภายหลังหรือไม่ ฉลาดซื้อได้ทิ้งระยะเวลาไว้  1 เดือน ซึ่งก็ไม่พบว่า มีการส่งกรมธรรม์มาให้กับอาสาสมัครตามที่อยู่ในการเปิดใช้บริการ และเมื่ออาสาสมัครเดินทางกลับไปยังสาขาที่เปิดใช้บริการบัตรเดบิตพร้อมประกันภัยเพื่อขอกรมธรรม์ด้วยวาจา ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่มีกรมธรรม์ให้ ทั้งๆ ที่กรมธรรม์นั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะก่อนที่เราจะใช้สิทธิเราควรรู้สิทธิประโยชน์ของเราก่อนว่ามีอะไรบ้าง รายละเอียด ข้อยกเว้น ฯลฯ ซึ่งควรเป็นรายละเอียดที่เราต้องได้พิจารณาจากกรมธรรม์ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ว่าจะยังคงทำสัญญากับบริษัทประกันภัยต่อไป หรือขอยกเลิกสัญญา เช่นเดียวกับการทำประกันภัยแบบอื่นๆ บัตรเดบิตท่านเลือกได้ว่าต้องการแบบใด เมื่อประมาณปีที่แล้วมีข่าวการร้องเรียนจากผู้ใช้บัตรเดบิตผ่านตามสื่อต่างๆ ว่าไปสมัครของใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิตแบบธรรมดาแล้วถูกทางธนาคารอ้างว่าไม่มีบัตรรุ่นพื้นฐานให้บริการ หรือต้องรอหลายวันถึงจะอนุมัติบัตรได้ พร้อมเสนอให้ทำบัตรที่ราคาสูงกว่า หรือบัตรที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา จนลูกค้าบางคนใจอ่อน แต่พอเมื่อรู้ว่าบัตรพ่วงประกันมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า ทำให้ลูกค้าหลายคนปฏิเสธที่จะใช้บริการ แต่บางคนก็ต้องตกลงทำบัตรแบบจำยอมเพราะจำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเมื่อเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสหนักเข้า ทางผู้บริหารธนาคารก็ต้องออกมาชี้แจงว่าทางธนาคารไม่ได้มีนโยบายในการบังคับให้ผู้บริโภคต้องสมัครบัตรเดบิตที่มีการพ่วงสิทธิประกันอุบัติเหตุ และบัตรขั้นพื้นฐานก็ยังมีให้บริการตามปกติซึ่งจากที่ฉลาดซื้อได้ลองไปสำรวจล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่าน เรายังพบการให้ผู้บริโภคสมัครบัตรที่มีการพ่วงสิทธิประกันโดยไม่มีการสอบถามหรือชี้แจงก่อนจากพนักงานธนาคาร ซึ่งหากผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันหรือไม่มีข้อมูลเรื่องบัตรก่อนก็อาจหลงสมัครใช้บัตรเดบิตพ่วงประกันโดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้องเสียเงินเป็นค่าธรรมเนียมบัตรที่สูงกว่าบัตรขั้นพื้นฐาน โดยบัตรเดบิตขั้นพื้นฐานจะมีค่าธรรมเนียมรายปีอยู่ที่ 200 บาทต่อปี ขณะที่บัตรเดบิตที่พ่วงสิทธิประกันอุบัติเหตุจะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 500 – 4,000 บาทต่อปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการให้บริการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในประเทศไทย ได้กำหนดข้อบังคับไว้ในประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต ว่าห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับให้ลูกค้าทำประกันทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นประกันวินาศภัย ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต รวมทั้งห้ามใช้วิธีบังคับขายประกันคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร หรือตั้งเป็นเงื่อนไขว่าต้องทำประกันก่อนจึงอนุมัติการทำธุรกรรมอื่นๆ ของธนาคาร เช่น ให้ผู้บริโภคต้องซื้อประกันผ่านทางธนาคารก่อนเพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการขอสินเชื่อแต่ธนาคารสามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันได้ แต่ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน และต้องไม่บังคับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ส่วนข้อกำหนดเรื่องการให้แยกเคาน์เตอร์ขายผลิตภัณฑ์ด้านประกันออกจากเคาน์เตอร์ที่ให้บริการรับฝากถอนเงิน โดยมีป้ายบ่งบอกหรือสัญลักษณ์ที่ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ในทางปฏิบัติดูแล้วยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะดูเป็นเพิ่มภาระให้กับธนาคาร ที่สำคัญในข้อบังคับเองก็ยังเปิดช่องว่างว่าหากเป็นการทำธุรกรรมที่ต่อเนื่องกัน อย่างการทำบัตรเดบิตที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุ ธนาคารก็สามารถให้บริการต่อเนื่องกันได้เลย ถือว่าเป็นไปในลักษณะการบริการแบบ One Stop Serviceฉลาดซื้อแนะนำ-สำรวจตัวเองว่ามีความจำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุหรือไม่ สำหรับคนที่มีประกันจากแหล่งอื่นอยู่แล้ว เช่น มีประกันชีวิตอยู่แล้ว หรือมีประกันอุบัติเหตุที่ที่ทำงานทำไว้ให้ หรือใครที่พอใจกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคม หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องสมัครบัตรเดบิตพ่วงประกันเพิ่มอีก ใช้บัตรเดบิตแบบธรรมดาก็พอไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย-แต่ถ้าใครสนใจอยากจะสมัครใช้บัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุ ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบครบถ้วน ดูเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย วงเงินในการคุ้มครอง โรงพยาบาลที่อยู่ในสิทธิ์ เงื่อนไขในการคุ้มครอง และเหตุที่จะทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ โดยเราสามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้กับธนาคารโดยตรง หรือทางหน้าเว็บไซต์ของธนาคาร (บางธนาคารมีเอกสารกรมธรรม์ให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ศึกษาข้อมูลและเป็นหลักฐานอ้างอิงในการขอรับสิทธิ)  หรือจะสอบถามที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรสายด่วน 1213 www.1213.or.th ซึ่งที่นี่เราสามารถร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการสถาบันการเงินต่างๆ ได้ด้วย-ส่วนใครที่เจอปัญหาธนาคารบังคับให้ทำบัตรเดบิตที่พ่วงประกัน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ว่าไม่สามารถออกบัตรเดบิตแบบธรรมดาหรือบัตร ATM ได้ ให้รู้ไว้เลยว่าธนาคารกำลังหลอกลวงเราอยู่ ปัจจุบันธนาคารเกือบทุกธนาคารยังมีบัตรเดบิตแบบธรรมดาให้บริการอยู่ ให้แจ้งยืนยันกับทางธนาคารว่าเราต้องการบัตรแบบธรรมดาเท่านั้น หากธนาคารยังแจ้งว่าไม่มีให้บริการ ให้ปฏิเสธการใช้บริการแล้วเปลี่ยนไปใช้บริการกับสาขาอื่น หรือธนาคารเจ้าอื่นแทน รู้ก่อนทำบัตรเดบิตพร้อมสิทธิประกันอุบัติเหตุจุดเด่นของบัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุก็คือ แค่เราเปิดบัญชีทำบัตรเดบิตเหมือนปกติทั่วไป แต่ได้รับการคุ้มครองเวลาที่เราได้รับอุบัติเหตุ ได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล พิการหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุญาติพี่น้องของเราได้รับเงินชดเชยตามวงเงินที่บัตรกำหนดไว้ เพียงแต่ค่าธรรมเนียมรายปีที่เราต้องจ่ายให้กับบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุก็จะสูงกว่าบัตรธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่ปีละ 500 บาทจนไปถึงหลักหลายพันบาทคุ้มครองอะไรบ้าง?บัตรเดบิตที่เพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการประกันอุบัติเหตุมาด้วย จะมีการระบุวงเงินชดเชยกรณีที่ผู้ถือบัตรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ย้ำว่าเฉพาะจากอุบัติเหตุเท่านั้น ถ้าหากสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ปวดหัว ตัวร้อน บอกเลยว่าหมดสิทธิ ซึ่งวงเงินที่บัตรเดบิตของแต่ละธนาคารจะจ่ายให้อยู่ที่ตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท ซึ่งวงเงินชดเชยนี้ครอบคลุมทั้ง การเสียชีวิต การได้รับอุบัติเหตุถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร และการสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ยังมีการจ่ายชดเชยให้กรณีเข้ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท ต่อการเข้ารักษาพยาบาล 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนตลอดอายุการถือครองบัตร ซึ่งหากค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าวงเงินที่บัตรระบุไว้ ผู้ใช้สิทธิจะต้องจ่ายเองในส่วนเกิน บางธนาคารมีเงินชดเชยการขาดรายได้ขณะเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลให้ด้วย ถ้าจะใช้สิทธิต้องทำยังไง?สำหรับวิธีการใช้สิทธิเมื่อต้องการเข้ารักษาตัวจากอาการบาดเจ็บทำได้โดย แสดงบัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุ พร้อมกับบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและออกโดยหน่วยงานราชการ ถ้าหากมีการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ต้องแสดงหลักฐานการเปลี่ยนการทางสถานพยาบาลด้วย ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ทันทีกับสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาผูกอยู่กับบัตรเดบิตที่เราถืออยู่ โดยจะรับการชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามวงเงินที่กำหนดไว้ ไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ถ้าเกินวงเงินเราต้องจ่ายเองแต่หากเป็นในกรณีที่เราเข้ารักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับทางธนาคาร ผู้ถือบัตรก็ยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชย แต่ต้องสำรองจ่ายเองไปก่อน แล้วค่อยทำเอกสารขอรับสิทธิไปยังบริษัทประกันที่ดูแล โดยเอกสารที่ต้องใช้ มีตั้งแต่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรเดบิตตามสิทธิ แบบคำร้องขอชดเชยค่ารักษาพยาบาล ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่เราเข้ารับบริการ **การขอรับค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับธนาคาร ธนาคารมักจะให้สิทธิเฉพาะกับโรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนคลินิกกับสถาเวชกรรมจะถูกยกเว้นเรียกร้องขอรับค่าชดเชยไม่ได้ส่วนการเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และชดเชยการขาดรายได้ระหว่างที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีเงื่อนไขว่าต้องจัดส่งเอกสารสำคัญให้กับบริษัทประกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มคำร้องขอค่าชดเชย ใบรับรองแพทย์ สำเนาใบมรณะบัตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรเดบิตตามสิทธิ ฯลฯ โดยต้องจัดส่งเอกสารทั้งหมดภายใต 30 วัน นับจากวันที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือจากวันที่แพทย์ลงความเห็นว่าทุพพลภาพยกเลิกได้มั้ย?บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุจะมีการต่ออายุบัตรเป็นรายปี โดยการหักเงินค่าธรรมเนียมอันโนมัติจากยอดเงินคงเหลือที่อยู่ในบัญชี เช่นเดียวกับบัตรเดบิตทั่วไป เพราะฉะนั้นหากต้องการยกเลิกใช้บัตรให้แจ้งยกเลิก หรือทำให้เงินคงเหลือในบัญชีน้อยกว่าค่าธรรมเนียมรายปีของบัตร เมื่อครบกำหนดธนาคารไม่สามารถหักค่าธรรมเนียมรายปีจากบัตรของเราได้ บัตรก็จะถูกยกเลิกโดยอันโนมัติ หากอยากยกเลิกบัตรก่อนครบกำหนดก็สามารถไปแจ้งยกเลิกได้ทันทีที่ธนาคารสาขาที่เราสมัครไว้ โดยเรามีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมบัตรคืนตามสัดส่วนระยะเวลาการใช้บัตรข้อจำกัดที่จะทำให้เรา “ไม่ได้รับการคุ้มครอง”-อุบัติเหตุที่เกิดขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์จะได้รับการชดเชยที่น้อยกว่าอุบัติเหตุจากอุบัติเหตุทั่วไป เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง บริษัทประกันจึงประเมินจ่ายค่าชดเชยให้น้อยกว่าอุบัติเหตุทั่วไป (ประกันอุบัติเหตุบางเจ้าถึงขั้นกำหนดเงื่อนไขไม่จ่ายกรณีอุบัติเหตุจากการขับขี่และโดยสารจักรยานยนต์)-การเจ็บป่วยใดๆ ที่ไม่ได้สืบเนื่องหรือมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ-อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะผู้เอาประกันอยู่ในอาการมึนเมาจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยาเสพติดให้โทษตามกฏหมาย-การเจ็บป่วยจากอาการติดเชื้อโรคต่าง หรือติดเชื้อจากบาดแผลที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ-การรักษาทางเวชกรรม หรือศัลยกรรม เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าต้องทำเนื่องจากอุบัติเหตุ-การแท้งลูก-การรักษาฟันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ-อาหารเป็นพิษ-อุบัติเหตุที่เกิดจากสถาการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การก่อจลาจล สงคราม การก่อการร้าย-การฆ่าตัวตาย หรือความพยายามใดๆ ที่จงใจให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บ-อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะผู้เอาประกัน ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น แข่งรถ แข่งเรือ ชกมวย โดดร่ม โดยสารอยู่บนบอลลูน เครื่องร่อน เล่นบันจี้ จัมพ์ ปีนเขา ดำน้ำ ฯลฯ-อุบัติเหตุขณะโดยสารเครื่องบินที่ไม่ใช่เครื่องบินทางการพาณิชย์-    อุบัติเหตุจากการทะเลาะวิวาท-ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่อาสาสมัคร ที่ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม หรืออยู่ในสงคราม***ข้อจำกัดที่จะทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองอาจแตกต่างกันไปในบัตรของแต่ละธนาคาร 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 165 กระแสต่างแดน

บำบัดแบบโมบายผู้ประกอบการให้บริการแท็กซี่ Taxi Stockholm ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแท็กซี่ และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าบอกว่า ช่วงเวลาการนั่งแท็กซี่เป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรต่ออะไรไปเรื่อย แล้วก็เล่าให้คนขับฟัง เขาเลยเชื่อว่าน่าจะส่งนักจิตบำบัดออกไปนั่งประจำในรถแท็กซี่ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ใช้บริการที่อยากได้ใครสักคนคุยด้วยขณะนั่งรถเสียเลย โดยเขาจะทดลองให้บริการนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์  ซึ่งเขาคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีในเมืองที่ทั้งหนาว ทั้งขาดแสงอาทิตย์อย่างสต็อกโฮล์ม ในช่วงปลายปีอย่างนี้ มีอา ฟาเลน หนึ่งในนักจิตบำบัดในโครงการนี้บอกว่า เธอรับงานนี้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายและน่าจะทำให้เธอได้พบกับโจทย์การทำงานใหม่ๆ แต่กระนั้นเธอบอกว่า พอจะเดาได้ว่าผู้คนในเมืองนี้คงมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือโรคเหงากำเริบ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว คนจากประเทศอื่นที่เข้ามาทำงานหรือมาใช้ชีวิตในเมืองนี้ก็มีปัญหาในการปรับตัวเช่นกัน เธอบอกว่าที่นี่อยู่ยาก เพราะคนสวีเดนเขาเงียบเฉยมากๆ เลยนะจะบอกให้ การโทรเรียกแท็กซี่บำบัดนั้น ถูกกว่าการไปพบนักจิตบำบัดที่คลินิก ซึ่งปกติมีค่าบริการครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และที่สำคัญในช่วงเวลาแค่ 10 นาทีบนรถ นักจิตบำบัดก็รู้ถึงปัญหาและสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วย เอ้ย ... ผู้โดยสารให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติบางอย่างให้ชีวิตดีขึ้นได้ แท็กซี่ สต็อกโฮล์ม ยืนยันว่าความลับจะไม่รั่วไหล เพราะคนขับเขาเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้แล้ว สปาไม่น่าปลื้ม เรื่องร้องเรียนต่อธุรกิจสปาและธุรกิจเสริมความงามในสิงคโปร์ก็มีมากไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน ข่าวบอกว่าความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวยังไม่เป็นผล สองปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เรื่อง แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังไม่ได้มาร้องเรียนกับ CASE (Consumers Association of Singapore) หรือสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ แต่ที่แน่ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกรณีร้องเรียนถึง 227 กรณี (เทียบกับ 199 กรณีในปีที่แล้ว) และเรื่องที่ร้องก็หนีไม่พ้นเทคนิคการขายแบบ “ฮาร์ดเซล” ที่ลูกค้าจะต้องถูกต้อนเข้ามุมให้ซื้อบริการ คุณภาพงานบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไปจนถึงการปิดกิจการลงไปเฉยๆ ข่าวบอกว่า ปัญหาหลักๆ มาจากระบบการขึ้นทะเบียนพนักงานผู้ให้บริการ ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากสถานประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนพนักงานก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจากตำรวจ แต่การปฏิบัติตามกฎดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และการกำกับดูแลค่อนข้างหละหลวม กิจการที่ไม่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างจึงยังเปิดกันได้ทั่วไป และถ้าถูกจับได้ก็เสียค่าปรับแค่ประมาณ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 25,000 บาท) เท่านั้น น้ำฟรีต้องมีบ้างนักการเมืองพรรคสังคมนิยมของสวิสเซอร์แลนด์ กำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ห้ามไม่ให้ร้านอาหารคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย เพราะเปิดมากจากก๊อกน้ำ ปัจจุบันมีบางร้านคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งทำให้ลูกค้าก็รู้สึกไม่คุ้ม จะเสียเงินทั้งทีขอสั่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มรสหวานแทนดีกว่า (ซึ่งไม่น่าจะดีต่อสุขภาพเท่าการดื่มน้ำเปล่า) ด้านสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยืนยันว่าให้แต่ละร้านมีสิทธิตัดสินใจเองดีกว่า เพราะปัจจุบันมีบางร้านที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เขายกตัวอย่างร้านพิซซาแห่งหนึ่ง ที่ต้องพึ่งพารายได้จากเครื่องดื่มถึงร้อยละ 75 และทางร้านก็คิดค่าน้ำเปล่าเหยือกละ 85 บาทเท่านั้น แถมยังยกเว้นให้กับนักเรียน นักศึกษาด้วย ตามธรรมเนียมของร้านอาหารในเมืองเจนีวานั้น ถ้าคุณอยากได้น้ำธรรมดา ต้องบอกเขาให้ชัดๆ มิเช่นนั้นทางร้านจะถือว่าคุณต้องการน้ำแร่บรรจุขวด ไม่ต้องรู้สึกอายใครที่จะสั่งน้ำธรรมดาที่ไขมาจากก๊อก เพราะบริษัท SIG ผู้จัดหาแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำประปาให้กับประชากรเมืองนี้เขายืนยันว่า น้ำของเขาซึ่งได้จากทะเลสาบเจนีวานั้นคุณภาพดีกว่าน้ำแร่ด้วยซ้ำ  เสี่ยงทั้งภูมิภาค ถ้าถามผู้คนในละตินอเมริกาว่ากลัวอะไรมากที่สุด จะได้รับคำตอบว่ากลัวโดนปล้น โดนฆ่าโดยแก๊งค์โจร แก๊งค์ค้ายาเสพติด แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าในอุรุกวัย (ซึ่งเป็นประเทศที่จัดว่าปลอดภัยที่สุดในละตินอเมริกา) ความเป็นไปได้ที่จะประสบอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่าการถูกปล้นด้วยซ้ำ ในอาร์เจนตินา อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนอายุต่ำกว่า 32  ในขณะที่ “รถเมล์นรก” ก็มีอยู่เต็มท้องถนนในเมืองลิมาประเทศเปรู และรถเก่าๆ ทั้งจากอเมริกาและรัสเซียตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ยังถูกใช้อยู่ในคิวบา ก็มีส่วนเพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อย ในการากัส เมืองหลวงของเวเนซูเอล่า กว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือผู้โดยสารที่ใช้บริการ “โมโตแท็กซี่” (คล้ายกับพี่วินที่บ้านเรา ต่างกันตรงที่เขานิยมนั่งซ้อนมากกว่าหนึ่งคน บางทีมากันทั้งครอบครัวพร้อมสัมภาระ และไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคอีกต่างหาก) สัญญาณไฟจราจรที่นี่ไม่มีความหมาย ไม่มีใครเคารพการจำกัดความเร็วหรือชะลอเมื่อถึงบริเวณทางม้าลาย สิทธิของคนเดินเท้าในภูมิภาคนี้เรียกได้ว่าตกต่ำถึงขีดสุด แม้อุบัติเหตุจากการจราจรจะสูงกว่าอาชญากรรมนั่นคือ ในประชากร 100,000 คนจะมี 16 คนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน (อ้างอิงสถิติปี 2013) แต่ประชากรในภูมิภาคนี้เขาก็ยังไม่นับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่นั่นเอง ขอหักมุมมาที่ประเทศไทยบ้าง สถิติของเราคือ 38.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (สถิติปี 2010) หนักหนากว่าเขาอีกนะนี่ ...  ประหยัดเกินจริงฮุนได มอเตอร์ และเกีย มอเตอร์ ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 300 ล้านเหรียญ โทษฐานที่แจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันเกินจริงในรถกว่า 1,200,000 คัน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืน “กฎหมายอากาศสะอาด” ของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาสองบริษัทนี้โฆษณาว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่วิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์ของคู่แข่งด้วยน้ำมันในปริมาณเท่ากัน แต่ในปี 2012 ทั้งฮุนไดและเกียซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์กรุ๊ป ออกมายอมรับว่าตนเองแจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันสูงเกินจริงในรถที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีก่อนหน้านั้น (แจ้งพลาดไปถึง 6 ไมล์ต่อแกลลอน)การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม (EPA) เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า รถที่ซื้อไปไม่เห็นจะวิ่งได้ไกลเท่าที่แจ้งไว้บนสติ๊กเกอร์บนกระจกรถเลย บริษัทออกมาขอโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทดสอบที่ทำขึ้นกับรถฮุนได อิลันทรา และเกีย ริโอ กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ผลิตจะต้องทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถแต่ละรุ่น และติดสติ๊กเกอร์แสดงให้ผู้บริโภคได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ  ที่ผ่านมาบริษัททำการทดสอบทั้งหมดในประเทศเกาหลี แต่คำตัดสินของศาลระบุว่า ต่อไปนี้การทดสอบจะต้องทำในห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ คำตัดสินนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงอุตสาหกรรมรถโดยรวม และเป็นก้าวสำคัญที่จะควบคุมให้รถรุ่นต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่โฆษณา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าธุรกิจที่เล่นตามกฎกติกาไม่ควรจะต้องมาแข่งขันในเกมเดียวกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 นั่งรถ(โดยสาร)กับใครปลอดภัยที่สุด

ทุกปีคนไทยราว 12 ล้านคน จำเป็นต้องใช้รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ทุกชีวิตเหมือนแขวนไว้บนเส้นด้าย ทุกเที่ยวการเดินทางเหมือนกำลังเสี่ยงดวงว่า จะรอดหรือจะเจ็บ-ตาย จากอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดปีละ 3-4 พันครั้ง โอกาสรอด  โอกาสตาย ใครกำหนดแต่ละปีมีรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 3-4 พันครั้ง/ปี โดย 1ใน3 เกิดกับรถโดยสารต่างจังหวัด และ 2ใน3 เกิดกับรถโดยสารใน กทม. เหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ พบได้หลายรูปแบบ เช่น พนักงานขับรถอย่างประมาททำให้รถพลิกคว่ำ พนักงานไม่ชำนาญเส้นทาง หรือ สภาพของรถที่เก่าและไม่ได้มาตรฐานทำให้ผู้โดยสารมีภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ อย่างเบาะหลุดออกจากตัวรถ โครงหลังคากดทับ กระจกปิดทึบไม่สามารถหนีออกมาได้กรณีไฟไหม้ ฯลฯ  ซึ่งในแต่ละครั้งแม้จะมีการระดมความคิดเพื่อหามาตรการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ 1.การให้ใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาระบบขนส่งที่มีคุณภาพ ปัจจุบันการกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะ(รถโดยสารประจำทาง) คือ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ โดยดูแลเรื่องเส้นทางที่รถโดยสารประจำทางให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ ความถี่ของการให้บริการและราคาค่าโดยสาร การให้ใบอนุญาตนั้นกรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาจากความต้องการของประชาชนในการเดินทางเส้นทางนั้นๆ เป็นหลัก โดยที่จะให้ใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี ถ้าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบการได้ตามข้อกำหนดของกรมฯ ตลอดช่วงเวลา 7 ปี ก็สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตได้ ลักษณะการให้ใบอนุญาตรายเส้นทาง เป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะสมในการพัฒนาระบบรถโดยสารให้มีคุณภาพดีได้ เนื่องจากการเดินทางของประชาชนมีลักษณะซับซ้อน ระบบรถโดยสารที่ดีควรต้องมีการพัฒนาในลักษณะโครงข่ายเพื่อให้ประชาชนได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วถึง หมายถึงว่าอาจต้องมีการเดินทางโดยรถโดยสารหลายต่อ(หลายเส้นทาง) หากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตในลักษณะโครงข่ายก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพในลักษณะการส่งต่อผู้โดยสารให้ถึงที่หมายได้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อได้รับใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ผู้ประกอบการก็จะไม่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ นอกจากเพิ่มความถี่ของการวิ่งเพื่อให้ได้จำนวนผู้โดยสารมากที่สุด ส่วนผู้โดยสารต้องไปต่อรถอะไรไปไหนก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้โดยสารเอง 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนอกจากการให้ใบอนุญาตรายเส้นทางทำให้ขาดการวางแผนในเชิงโครงข่ายและทำให้บริการไม่พัฒนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่พยายามจัดหาหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น  ทั้งทางเท้า ป้ายหยุดรถโดยสาร ไฟส่องสว่าง ระบบความปลอดภัย เพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 3.รถร่วมบริการ ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาระบบความปลอดภัยปัจจุบันผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในแต่ละเส้นทางจากกรมการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่ไม่มีรถพอที่จะให้บริการได้เองทั้งหมด ต้องหาเอกชนรายอื่นมาร่วมให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภูมิภาคเป็นรถร่วมบริการมากกว่าร้อยละ 80 ข้อดีของการให้มีรถร่วมบริการคือ ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตมีรถโดยสารให้บริการอย่างเพียงพอ แต่ในปัจจุบันปัญหาด้านความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการมาจากรถร่วมบริการนั่นเอง ในด้านความปลอดภัย รถร่วมบริการมีทุนในการประกอบการน้อย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกอบการรถร่วมไม่สามารถรับภาระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุได้ ครั้นผู้เสียหายจะไปฟ้องร้องเอากับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตก็เป็นเรื่องยากและกินเวลานาน ในส่วนของคุณภาพ ผู้ประกอบการรายย่อยที่มาร่วมให้บริการอาจมีรถเพียงหนึ่งหรือสองคัน ในขณะที่เส้นทางนั้นมีรถให้บริการอยู่หลายคัน ผู้ประกอบการรถร่วมมักไม่ค่อยคำนึงถึงคุณภาพการให้บริการของตัวเอง เพราะทุนต่ำอีกทั้งการพัฒนารถของตัวเองอาจไม่เกิดประโยชน์แก่รายได้ของตัวเอง เนื่องจากผู้โดยสารอาจเลือกขึ้นรถคันอื่นที่วิ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน 4.การกำกับดูแลมาตรฐานและความปลอดภัย ยังไม่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ดี แต่เนื่องจากระบบกำกับดูแลยังขาดความชัดเจน ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกณฑ์มาตรฐานและการบังคับใช้ต่างๆ จึงยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากรูปแบบของการประกอบกิจการรถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการให้บริการของเอกชน เป็นการประกอบการเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการต้องอาศัยค่าโดยสารเป็นรายได้หลัก แต่อัตราค่าโดยสารถูกควบคุมโดยภาครัฐ ดังนั้นถ้าเส้นทางที่ผู้ประกอบการให้บริการอยู่มีจำนวนผู้โดยสารน้อย การกวดขันเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยก็ทำได้อย่างยากลำบาก เพราะผู้ประกอบการไม่มีทั้งศักยภาพและแรงจูงใจเพียงพอที่จะลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การจัดหารถโดยสารที่ได้มาตรฐานมาให้บริการ การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย การจ้างพนักงานขับรถที่ชำนาญเส้นทางและเพียงพอต่อการให้บริการ เป็นต้น อย่างไรก็ดีแนวโน้มของคนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกลับมีจำนวนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น ประชาชนมีรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจในคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบัน ดังนั้นการจะพัฒนาให้ระบบรถโดยสารสาธารณะได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อประชาชนจำนวนกว่า 12 ล้านคน จำเป็นต้องปฏิรูประบบการขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ข้อมูล : เอกสารประกอบการเสวนา “ความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์” วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2553 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ  เรื่อง ความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง ความสำคัญของนโยบายและการกำกับดูแล โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง - มีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย- บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย - บาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสีย  2,300,000.00 บาท/ครั้งจำนวนอุบัติเหตุปีละ 3,500 – 4,000 ครั้ง คิดเป็นค่าเสียหายปีละ 8,000 – 9,000 ล้านบาทที่มา สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง 2007 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- สาเหตุหลักของอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ ปี พ.ศ.2545-2549 ร้อยละ 71 ขับเร็วเกินอัตรากำหนดร้อยละ 9 ตัดหน้าระยะกระชั้นชิดร้อยละ 3 อุปกรณ์รถชำรุดบกพร่องร้อยละ 3 หลับในร้อยละ 3 แซงอย่างผิดกฎหมายร้อยละ 1 เมาสุราร้อยละ 10 อื่น ๆ ที่มา  สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ประเภทใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้โดยสารประจำทางในเส้นทางการเดินรถหมวด 1 เป็นเส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารภายในเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล เมือง และเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัดหมวด 2 เป็นเส้นทางเดินรถโดยสารที่มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปยังส่วนภูมิภาค หมวด 3 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างจังหวัด หรือคาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดในภูมิภาค หมวด 4 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างอำเภอ หมู่บ้านหรือเขตชุมชนภายในจังหวัด ผลสำรวจคุณภาพการบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด (ปรับอากาศ) โชคชะตากำหนด?เพราะเราเชื่อว่า อุบัติเหตุป้องกันได้  ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ได้ปฏิรูปให้เกิดมาตรฐานและความปลอดภัยแก่ประชาชน โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทดลองสำรวจคุณภาพงานบริการของรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ในเส้นทางเดินรถ 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อนำเสนอข้อมูล “ทางเลือก” ให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เกณฑ์การสำรวจโครงการฯ ได้เลือกสำรวจรถโดยสารประจำทางปรับอากาศในกลุ่มมาตรฐาน 1 (ข) และรถกลุ่มมาตรฐาน 4 (ข) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1/ ป 1 (รถชั้นเดียวและรถสองชั้น) เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นกลุ่มรถโดยสารที่มีผู้นิยมใช้บริการจำนวนมากและมีจำนวนที่ให้บริการรวมกันถึง 3,000 กว่าคัน เงื่อนไขในการสำรวจ (เริ่มสำรวจ 5 ก.พ. – 27 มี.ค. 2553)1. เป็นรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด หมวด 2 วิ่งบริการระหว่าง กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้2. เป็นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศในกลุ่มมาตรฐาน 1 (ข) และรถกลุ่มมาตรฐาน 4 (ข)3. เป็นรถโดยสารประจำทางในเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป4. ให้อาสาสมัครขึ้นใช้บริการบนรถโดยสารประจำทางตลอดเส้นทางทุกบริษัทที่ให้บริการรถโดยสารภายใต้เงื่อนไขตามข้อ 1-3 บริษัทละ 2 เที่ยว โดยเลือกสุ่มสำรวจในเส้นทางจังหวัดปลายทางที่มีจำนวนประชากรมากเป็นสำคัญ สิ่งที่พบจากการสำรวจการให้ข้อมูลข่าวสาร แก่ผู้โดยสารจากการสำรวจพบว่า96.9 % ไม่ระบุเวลาถึงจุดหมายปลายทางบนตั๋ว94.6 % ไม่ได้รับการแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง96.9% ไม่มีการแจ้งเบอร์โทรอัตโนมัติในการร้องเรียน (1584) ของกรมการขนส่งทางบกบนตั๋ว54.6 % ไม่พบป้ายแจ้งชื่อพนักงานขับรถบนรถโดยสาร ความสะดวก สบายในการใช้บริการจากการสำรวจพบว่า 60 % สัมภาระที่ฝากไว้ในห้องเก็บสัมภาระ(ใต้ท้องรถ) ไม่มีป้ายแสดงความเป็นเจ้าของ44.1 % รถโดยสารถึงช้ากว่ากำหนดมากกว่า 15 นาที43.4 % ห้องสุขาไม่สะอาด มีกลิ่นและสภาพไม่เหมาะกับการใช้งาน มาตรฐานความปลอดภัยจากการสำรวจพบว่า69.5% ที่นั่งผู้โดยสารไม่มีเข็มขัดนิรภัย50.4% เมื่อรถวิ่งไปได้ 4 ชั่วโมง ไม่มีการเปลี่ยนพนักงานขับรถหรือให้พนักงานขับรถพัก 30 นาทีก่อนขับต่อไป40% ไม่มีค้อนสำหรับทุบกระจกภายในห้องโดยสาร35.4% ไม่มีถังดับเพลิงในห้องโดยสาร 5 อันดับยอดเยี่ยม – ยอดแย่ ภาคเหนือสำรวจทั้งหมด 19 บริษัท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point