ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 242 เมากัญชาจากอาหารกันให้ครื้นเครง

        รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสในช่วง 9.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ตอนหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับ อาหารผสมกัญชา ซึ่งเป็นไปตามกาลสมัยที่ผู้อาศัยอำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศได้มองเห็นศักยภาพของกัญชาในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองจากประชาชนที่อยู่ในข่ายของคำพระที่ว่า “สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ” ซึ่งแปลได้ว่า กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย โดยเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฏหมายให้บางส่วนของกัญชาถูกเอามาผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้คนไทยยุคโควิด-19 นี้ได้ยิ้มกันทั่วหน้าทั้งที่กระเป๋าแห้งครึ่งค่อนประเทศ         สิ่งที่น่าสนใจในตอนหนึ่งของข่าวจากไทยพีบีเอสคือ ได้มีทั้งเภสัชกรของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการปรุงอาหารใส่ใบกัญชาและแพทย์ที่เป็นผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินอาหารใส่ใบกัญชาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า เหมาะสมแค่ไหนในการกินอาหารลักษณะนี้ โดยเฉพาะการเกิดปัญหายาตีกันในผู้ที่ได้รับสารเสพติดจากใบกัญชาแล้วไปมีผลต่อยาบำบัดโรคอื่นที่กำลังกินอยู่ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเตือนผู้บริโภคในการกินอาหารที่ปนกัญชาประมาณว่า กินน้อยเป็นคุณกินมากเป็นโทษ ต้องพอดี ( แต่คำว่า พอดี นั้นขึ้นกับแต่ละบุคคลซึ่งไม่เท่ากัน) ดังนั้นอาหารผสมกัญชาจะก่อปัญหาให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น อยู่ภายใต้สามัญสำนึกของผู้ประกอบการว่า ควรใส่ส่วนไหนของกัญชาลงในอาหารในปริมาณเท่าใด และมีการเตือนผู้บริโภคหรือไม่ว่าอาหารมีกัญชา         เนื้อความต่อไปนี้ไม่ได้ประสงค์จะต่อต้านการใส่กัญชาในอาหารแต่อย่างใดเพราะรู้อยู่แล้วว่า เปล่าประโยชน์ในการต่อต้าน เพียงแต่ต้องการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้อ่านลองหาคำตอบว่า มีวิธีการใดที่สามารถควบคุมผู้ประกอบการให้ใส่เฉพาะใบของกัญชาที่ซื้อจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตการปลูกตามกฏหมาย ด้วยจำนวนใบที่แค่เพิ่มความรู้สึกอร่อยของอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดอาการเมาสารเคมีในกัญชา และเมื่ออาหารที่ผสมใบกัญชามาถึงลูกค้าแล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาหารนั้นมีแค่ใบกัญชาจำนวนเท่าที่อนุญาต และ/หรือไม่มีการเติมสารสกัดหรือส่วนอื่นของกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ผู้สนับสนุนการค้าอาหารใส่กัญชาคงมีคำตอบว่า ไม่น่าจะมีการใส่เกินเพราะกัญชานั้นยังมีราคาแพง แต่ท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า ก่อนทำให้คนติดใจในอะไรสักอย่างก็คงต้องมีการลงทุนทำให้ติดใจเสียก่อน เพราะเมื่อติดใจจนใจติดแล้ว เท่าไรก็ยอมควักจ่ายเพื่อให้ได้ตามใจที่ต้องการ         เภสัชกรท่านหนึ่งได้เขียนบทความเรื่อง พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บ https://ccpe.pharmacycouncil.org (ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม) ตอนหนึ่งประมาณว่า  “ส่วนของต้นกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC มากที่สุด คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)”..... ดังนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า การบริโภคใบกัญชาในอาหารนั้นน่าจะเป็นหนทางการรับสาร THC เข้าสู่ร่างกายด้วยความตั้งใจนอกเหนือไปจากการสูดควันจากใบกัญชาที่มวนในลักษณะบุหรี่ อย่างไรก็ดีปริมาณ THC ในใบกัญชานั้นขึ้นกับสายพันธุ์ของกัญชาว่าเป็นสายพันธุ์ใดด้วย         อาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่องแล้วเมื่อใส่กัญชาลงไปอร่อยขึ้นหรือ คำตอบคือ ใช่ในภาพลวง ดังนั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวไร้ฝีมือย่อมพอใจถ้าคนกินอาหารเข้าไปแล้วสักพักก็ชมว่า อาหารจานนั้นอร่อย เพราะผลจากการที่สาร THC ในกัญชาวิ่งเข้าไปหาตัวรับ (receptor) ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทส่งสัญญาณไปสมองว่า ร่างกายรู้สึกชอบใจเมื่อได้กิน THC ในอาหารนั้นๆ ดังปรากฏจากบทความเรื่อง The endocannabinoid system controls food intake via olfactory processes ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2014 ที่ระบุว่า  เมื่อ THC เข้าไปในสมองของหนูทดลองแล้วได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่นและลิ้มรสอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้กินอาหารมีกัญชา (ซึ่งต้องมี THC) จึงคงรู้สึกพึงพอใจในอาหารจานนั้นมากขึ้นเพราะลิ้มรสได้ดีขึ้น ไม่ใช่อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด         นอกจากนี้บทความเรื่อง  Hypothalamic POMC neurons promote cannabinoid-induced feeding ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2015 พบว่า สารเคมีในกัญชาน่าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ทำให้กินอาหารไม่หยุด เพราะเซลล์ประสาทที่ดูเหมือนถูกเปิดให้ทำงานด้วยสาร THC นั้นเป็นเซลล์ประสาทที่ปรกติแล้วทำหน้าที่ปิดสัญญาณความหิวของร่างกายตามปกติเพื่อควบคุมการกินอาหาร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า THC ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมอง โดยส่งคำสั่งแสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวก็ตาม         บทความเรื่อง Smoking, Vaping, Eating Is Legalization Impacting the Way People Use Cannabis ในวารสาร International Journal of Drug Policy ของปี 2016 ให้ข้อมูลว่า อาหารผสมกัญชาที่มี THC นั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกหลุดไปจากโลกเช่นเดียวกับการสูบกัญชา นอกจากนี้การกินกัญชานั้นน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ THC ออกฤทธิ์ได้สูงกว่าเมื่อได้จากการสูบควัน ซึ่งมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการกินอาหารมีกัญชานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการกินนั้นใช้เวลาหลังจากกินแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงในการเริ่มต้นแสดงฤทธิ์เมา และอาจอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งต่างจากผลของ THC จากการสูบควันกัญชานั้นมักออกฤทธิ์เมาอยู่ในช่วง 1–4 ชั่วโมง         ในเอกสารเรื่อง The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids ของ The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine เผยแพร่โดย The National Academies Press ในปี  2017  กล่าวเป็นเชิงว่า การกินอาหารใส่กัญชานั้น เป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับควันจนเกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ หรือถ้ายาวไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ดังนั้นสำหรับผู้ประสงค์จะละศีลข้อ 5 เพื่อลองกินผลิตภัณฑ์ใส่กัญชาจึงรู้สึกว่า ได้ทำคุณแก่โลกที่ไม่ได้หยิบยื่นควันพิษให้สัตว์โลกที่อยู่ใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอคือ ควรเริ่มด้วยขนาดที่ต่ำหน่อยเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เพราะการกินนั้นง่ายมากที่จะกินจนได้สารเสพติดในขนาดที่สูงเกินไป ซึ่งกว่าที่จะรู้ผลที่เกิดขึ้นจาก THC นั้น ก็อาจเกินกว่าที่ร่างกายรับไหว         เรารู้กันมานานแล้วว่า สารเสพติด THC ในกัญชานั้นออกฤทธิ์แทบจะทันทีทันใดเมื่อสูบควันเข้าถึงปอด เพราะมีการส่งต่อสารเสพติดนั้นเข้าสู่เลือดในพริบตาที่ปอด ในขณะที่ผลของ THC จากการกินนั้นต้องรอเวลาย่อยผ่านระบบทางเดินอาหาร ไปตับก่อนเข้าสู่เลือดที่ต้องรอเวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีการเผาผลาญเร็วอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้เร็วขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถย่อยและประมวลผลสิ่งที่กินได้เร็วขึ้น การกินกัญชาตอนท้องว่างอาจทำให้ได้ผลเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการกินแบบกินร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือหลังกินอาหาร ดังนั้นหลังการกินอาหารใส่กัญชาสิ่งที่ผู้บริโภคอาจนึกไม่ถึงคือ การออกฤทธิ์ของสารเสพติดในกัญชา (ถ้ามี) อาจเริ่มขึ้นหลังจากอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แล้วเริ่มเคลิบเคลิ้มไปกับการจราจร         อาหารบางอย่างเช่นลูกอมหรือลูกกวาดนั้น การดูดซึมของ THC อาจทำให้เมาตั้งแต่ขนมนั้นอยู่ในปาก ดังบทความเรื่อง  Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ในวารสาร  European Journal of Internal Medicine ของปี 2018 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาในลูกอมที่เรียกว่า hard candy นั้นอาจเริ่มออกฤทธิ์ใน 15–45 นาที ในขณะที่กัญชาในอาหารอื่นอาจต้องรอเวลา 60–180 นาที กว่าที่ผู้บริโภคเริ่มเมา         ความสามารถทนได้ต่อการออกฤทธิ์ของสารเสพติดทั้งหลายในกัญชา (Individual tolerance) นั้นต่างกันในแต่ละคน สายเขียวที่จัดว่าได้สูบหรือกินกัญชามาเป็นเวลานานสามารถทนกับฤทธิ์ของ THC ได้ในปริมาณสูงระดับหนึ่งจึงจะเมาตามต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาอาจรู้สึกถึงฤทธิ์ที่รุนแรงอย่างรวดเร็วจนหัวทิ่มตำหลังได้ THC จากกัญชาในระยะเวลาไม่นานเท่าใด  ซึ่งตรงกับข้อมูลในบทความเรื่อง Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับ THC ในปริมาณหนึ่ง สายเขียวส่วนใหญ่อาจเมากัญชาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง) ในขณะที่มือใหม่หัดเสพอาจเป๋ได้ถึง 6–8 ชั่วโมง และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พบว่า คนที่ไวต่อสารเสพติดต่างๆ ในกัญชาสูงอาจเมาได้นานถึง 8–12 ชั่วโมง        เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณของ THC ในกัญชาว่า ควรเป็นเท่าใดในอาหารจึงจะไม่ออกฤทธิ์ที่ก่อปัญหาในคนที่ไวต่อการเมากัญชา  มีบางบทความในอินเตอร์เน็ทเสนอว่า สาร THC ในปริมาณที่ต่ำแค่ 0.5 มิลลิกรัม เรื่อยไปจนถึง  2.5-5.0 มิลลิกรัมนั้นไม่ควรส่งผลเสียในผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยรับรองข้อเสนอนี้ สำหรับสายเขียวมืออาชีพที่นิยมการใช้หรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชามักกล่าวว่า THC ประมาณ 10-15 มิลลิกรัม ก็ควรส่งผลให้ร่างกายรู้ได้ถึงฤทธิ์ของสารเสพติดดังกล่าวแล้วหลังการเสพเข้าไป 2-3 ชั่วโมง และเมื่อใดที่ขนาดของสาร THC ขึ้นไปถึง 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่มืออาชีพรับได้นั้น มือใหม่อาจจะได้รับโอกาสรู้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหายฟัง         ปริมาณจิ๊บ ๆ  (สำหรับบางคน) ของ THC ที่ 20 มิลลิกรัมนั้น ดูแล้วไม่เท่าไรเลยในผู้ที่ชินกับการสูบกัญชา แต่ปริมาณเดียวกันนี้อาจก่ออันตรายต่อมือใหม่หัดกินอาหารใส่กัญชา ดังที่บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Tasty THC Promises and Challenges of Cannabis Edibles ในวารสาร Methods Rep RTI Press ของปี 2017 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจาก THC ในอาหารที่กินได้อาจปรากฏในบางคนด้วยปริมาณที่ต่ำแค่ 2.5 มิลลิกรัม ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องการสูงถึง 50 มิลลิกรัมจึงจะซาบซึ้งถึงฤทธิ์ของ THC ช่วงที่กว้างของขนาดที่ออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคลของ THC นี้ดูเป็นการตอกย้ำถึงหลักการว่า คนที่ยินดีละศีลข้อ 5 ควรเริ่มต้นกินอาหารใส่กัญชาด้วยปริมาณที่น้อยก่อนถ้ายังคิดว่า โลกนี้ยังน่าอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ข้อควรรู้การมีกัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง

        หลังจากรัฐไฟเขียวให้สามารถใช้กัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางแล้วนั้น ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กรณีอาหารนั้นมีการผุดสารพัดเมนูคาวหวานมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และโฆษณากันให้ครึกโครม แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คงจะเกิดข้อห่วงใยขึ้นตามมาด้วยว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับสุขภาพตามมาอย่างไรหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงสอบถามข้อกังวลใจนี้ต่อผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ชำนาญการเรื่องการแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชา และ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มานำเสนอต่อผู้อ่านเพื่อเป็นข้อพึงรู้และข้อควรระวังหากคิดลอง กัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง         “ต้องเฝ้าระวังและดูว่าหน่วยงานจะทำหน้าที่ดูแลได้เท่าทันตลาดหรือไม่”         รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมีการติดตามผลกระทบกันต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการทยอยออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาผสมใน ยา อาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทว่ายังไม่ครบถ้วน         ในกรณีของการผสมในเครื่องสำอางยังอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งการกำหนดปริมาณสารเมาหรือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์  ทั้งเครื่องสำอางและอาหารพร้อมรับประทาน สามารถขออนุญาตผลิตได้โดยการขอจดแจ้ง ส่วนอาหารที่ปรุงขายทั่วไปสามารถทำได้เลยเพียงแต่ต้องมีที่มาของกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบ อยู่เสมอทั้งแหล่งที่มาและการปนเปื้อนสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนัก         สำหรับแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเนื่องจากการจดแจ้งและการตรวจสอบมีข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหาร เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่ผสมกัญชาต้องขอจดแจ้งจาก อย. จึงควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณของสาร THC ในผลิตภัณฑ์ทั้งตอนขอจดแจ้งและควรมีการตรวจสอบติดตามเมื่อวางขายในตลาดแล้วอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่พิจารณาแค่จากเอกสาร         “ฉลาก” ควรกำหนดให้ระบุข้อมูล คำเตือนและข้อห้าม การแจ้งปริมาณอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น การห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ เป็นต้น รวมทั้ง จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน ตัวอักษรมีขนาดให้อ่านได้ไม่ยาก         “การโฆษณา” ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อาจมีข้อความที่โฆษณาเกินจริงและจูงใจให้บริโภคเกินความจำเป็น ดังเห็นจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่พบว่ามีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงมีคำถามว่า แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะกำกับติดตามอย่างไรให้ทันท่วงที         ปัจจุบันมีการคาดการณ์ตลาดและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาในเชิงเศรษฐกิจไว้สูง ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นการโฆษณาคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้บริโภคต้องเท่าทันต่อการโฆษณาเกินจริ และช่วยกันสอดส่องโฆษณาผิดกฎหมาย  อย. ก็ต้องสร้างกลไกเพื่อติดตาม จับกุม และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ        อย่างไรก็ตามประชาชนเองก็ควรจะรู้เท่าทัน โดยการศึกษาข้อดี ข้อด้อย ข้อควรระวังก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีประโยชน์แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยเท่านั้น ห้ามการซื้อใช้เองตามคำโฆษณา เพราะอาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมีการแนะนำใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม         “การเลือกรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ผู้บริโภคต้องถามตัวเองด้วยว่ามีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาหรือไม่ มากน้อยเพียงไร เช่น ในกรณีเครื่องสำอาง ต้องรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ อย.อนุญาต สรรพคุณที่อ้างมีการทดสอบหรือไม่ อย่างไร เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ราคาสมเหตุผลหรือไม่”          “การออกแบบเมนูต้องคิดให้ดีไม่ให้เกิดปัญหาและเยาวชนต้องได้รับการป้องกัน”         ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ระบุว่า คนไทยมีประวัติการใช้ใบกัญชาในอาหารมานาน ตั้งแต่เป็นตำรับในวัง โดยมีหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ปี พ.ศ. 2451 และจากการสืบค้นความรู้จากหมอพื้นบ้านก็พบว่าใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ แต่เมื่อรักษาหายแล้วก็หยุดยา ดังนั้นจึงมองเห็นว่าใบกัญชาน่าจะมีประโยชน์บางอย่างเมื่อผสมลงไปในอาหาร         อย่างไรก็ตามมีคนกังวลว่ากัญชาไทยมี THC สูง ดังนั้นจึงมีการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศ เช่น แคนาดา พบว่าหากจะนำกัญชาหรือการชงมาผสมในอาหารจะต้องมี THC น้อยกว่า 10 มิลลิกรัมต่อแพ็ค เราจึงมาศึกษาและวิเคราะห์ ใบกัญชาที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปลูกก็พบว่า 1 ใบ มี THC ประมาณ 1-2 มิลลิกรัม จึงไม่ควรรับประทานเกิน 5-10 ใบ ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้ดั้งเดิมบอกไว้ว่า 1 คนไม่ควรรับประทานเกิน 5 -8 ใบ จึงคิดว่าปริมาณนี้เป็นปริมาณที่แนะนำ         ทั้งนี้เมื่อรับประทานแล้วหากรับประทานในปริมาณน้อยก็มีการศึกษาพบว่า กัญชาเป็นต้นทางของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสนั่นเอง และในทางแผนไทยระบุว่าเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพลังงานจึงส่งผลให้กินข้าวได้ นอนหลับดี         สำหรับ “ใบสด” ถือว่าไม่มีสารเมาแต่เป็นกรดของสารเมาที่ไม่ผ่านเยื่อหุ้มสมองเข้าไป ดังนั้นโอกาสจะเกิดอันตรายกับสมองก็น้อย แต่ถ้านำมาผ่านความร้อนจะทำให้กรดนั้นสลายไปแล้วเกิดเป็นสารเมา ดังนั้นยิ่งผ่านความร้อนมาก ก็จะยิ่งมีสารเมาในปริมาณมาก หรือถ้ามีน้ำมันอยู่ในตำรับด้วย เช่น ผัดกะเพราก็จะสกัดเอาสารเมาออกมาได้เยอะ  แต่การ “ผัดให้สลบ” อย่างองค์ความรู้บางพื้นที่ คือต้มแกงให้เดือดจนทุกอย่างสุกแล้วแล้วใส่ใบกัญชาทีหลังก็จะ “แค่สลบ” สารเมาก็จะน้อย ส่วนการทอด “เทมปุระ” สารเมาก็จะน้อย เพราะไปอยู่ในน้ำมันหมด ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการออกแบบเมนู         การออกแบบเมนูอาหารนั้นต้องคิดเยอะ แม้ว่าทางการแพทย์ระบุว่า “สารเมา” ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยในการนอนหลับ แต่การใช้ในบางคนต้องระวังให้มาก         กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ “เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี” เพราะพัฒนาการของสมองจะสมบูรณ์ที่ 25 ปี หากได้รับสารจากกัญชาเข้าไปเร็วอาจจะเกิดผลกระทบได้ นอกจากนี้ “คนท้องหญิงให้นมบุตร” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะไม่มั่นใจว่าสารนี้จะผ่านไปทางรกหรือน้ำนมหรือไม่ รวมถึงคนที่เป็น “โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนั้นอยู่ทั้งในภาวะที่คุมได้หรือไม่ได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานไปเลย สุดท้ายคือ “กลุ่มที่มีการใช้ยาวาฟารีนและใช้ยาที่มีผลต่อสมอง”         ส่วนเรื่องเครื่องสำอางตอนนี้ที่ให้ใช้ จะเป็นลักษณะของ “น้ำมันเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชา” ซึ่ง มีกรดโอเมก้าที่ดีช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้น ปรับสภาพผิวช่วยลดรอยเหี่ยวย่น แต่สิ่งที่กังวลคือสาร cbd ยังมีรายงานว่าก่อให้เกิดการระคายเคืองเช่นกัน        “เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ เพราะเราจะไปตามจับคนที่ทำผิดทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาชนจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองควรที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือถ้าเป็นเครื่องสำอางก่อนจะซื้อ ก็ต้องดูด้วยว่ามีความคุ้มทุนมีความคุ้มค่าที่เราจะเสียเงินซื้อหรือไม่ เช่นถ้าบอกว่าช่วยในเรื่องของการลดริ้วรอยแต่ราคาสูงมากเป็นหมื่นบาท มีเงินที่จะจ่ายตรงนี้หรือว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่ช่วยในเรื่องเดียวกันแต่ราคาเหมาะสมกว่ามีหรือไม่ ต้องคิดในหลายๆ มุม ซึ่งความรู้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการตัดสินใจ”         ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ เพราะเคยมีรายงานในต่างประเทศ พบว่าในผลิตภัณฑ์บรรจุปิดสนิท มีปริมาณ THC เกิน จากปริมาณที่กำหนด ส่วนของไทยในระยะแรกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา THC เกิน แต่กังวลว่าจะไม่มีสารใดๆ เลยมากกว่าแล้วนำมาหลอกขายในราคาสูง เพราะตอนนี้กัญชาหายาก จึงต้องระมัดระวังเอาไว้ ส่วนอนาคตก็ต้องระวังมากๆ ในเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มเยาวชน         “ต้องควบคุมด้วยการมีฐานข้อมูลแหล่งปลูก ร้านจำหน่ายที่ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก”                 “นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ” ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย ย้ำว่า ตนสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการรับรองการรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้ในทางการแพทย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ทั้งในเรื่องของปริมาณที่ควรได้รับและผู้ป่วยที่ควรได้รับ จึงถือว่าสามารถควบคุมดูแลได้         แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม โดยพยายามชูว่าเป็นพืชผักสมุนไพร เป็นอาหารวิเศษที่จำเป็นต่อร่างกาย ตรงนี้อยากจะให้เฝ้าระวังให้มาก แม้จะตั้งความหวังเอาไว้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ต้องมีมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าในใบ กิ่ง ก้าน นั้นยังมีสารเมาอยู่บ้างแม้จะมีในปริมาณน้อยก็ตาม การประกอบอาหารก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างมีความรู้         ต้องมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการที่หน่วยงานระบุว่ามีการควบคุมในส่วนของแหล่งปลูกกัญชาแล้ว ส่วนใครจะซื้อส่วนประกอบกัญชา (ยกเว้นช่อดอกและใบรองดอก) มาปรุงอาหารไม่ต้องขออนุญาตอีกนั้น มองว่ายังไม่เพียงพอควรมีการควบคุมที่ดี โดยควรทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั้งแหล่งปลูก และปลายทางคือร้านอาหาร ร้านค้าที่นำกัญชามาปรุงอาหารด้วย โดยจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แอพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว โดยเห็นได้จากการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ก็ดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือได้กันทั้งผู้ค้าขาย และผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งหากทำได้เท่ากับเป็นการคอยเฝ้าระวังหรือให้รู้ด้วยว่าวัตถุดิบนี้ไปอยู่ตรงไหน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและมีข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ได้ตลอด         “ส่วนที่น่ากังวลคือกรณีใน 1 ร้านมีหลายเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งเมนูคาว และของหวาน ไอศกรีม รวมถึงเครื่องดื่มอาจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเมาในกัญชาจากการรับประทานเมนูที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน เพราะอย่างที่บอกว่าหลายๆ เมนู คือไอศกรีม ของหวาน ขนมเค้ก ซึ่งเป็นของที่เด็กๆ เขารับประทานกันอยู่ ตรงนี้งานทางวิชาการหรือหน่วยงานของรัฐควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพราะตอนนี้รับประทานกันเพลินเลย”         เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้อย่างชัดเจน โดยในส่วนเจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่มใดมีเมนูกัญชาเป็นส่วนประกอบ ควรจะติดป้ายประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ แสดงข้อห้ามชัดเจนว่าไม่จำหน่ายให้กับเด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนภาครัฐ  โดยเฉพาะอย. ควรจะมีเกณฑ์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครที่ไม่ควรรับประทาน หรือต้องรับประทานด้วยความระมัดระวัง และมีคำแนะนำปริมาณในการปรุง คำแนะนำกับผู้บริโภคด้วยว่า ตลอดจนข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณหรือสารในกัญชาไม่ไม่เท่ากัน          “มีมาตรการสุ่มตรวจแน่นอนเพื่อดูว่าร้านค้าเอามาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่”        “ภญ.สุภัทรา บุญเสริม” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อย.ปลดล็อค ส่วนประกอบของกัญชา ยกเว้น ดอก และใบรองดอกออกจากการเป็นยาเสพติด และอนุญาตให้นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่มได้นั้น ทำให้ใบกัญชา กัญชง มีความต้องการสูงมาก เพื่อนำไปประกอบในเมนูอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ในท้องตลาด แต่ต้องยึดหลักกฎหมายว่าต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น         อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในเรื่องของการควบคุมยังเป็นการควบคุมที่ต้นน้ำ คือแหล่งที่ปลูกต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปลูกสามารถดาวน์โหลดเอกสารรับรอง และนำไปแสดงต่อผู้ที่ต้องการซื้อไปเป็นส่วนประกอบอาหารได้สบายใจว่าได้รับของที่ถูกกฎหมายแน่นอน         แต่ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าที่จะใช้กัญชาไปปรุงอาหารนั้นทาง อย.ยังไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องมาขออนุญาตใช้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเปิดได้เลยตามมาตรฐานร้านอาหารปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของกรมอนามัย แต่ อย.จะมีมาตรการสุ่มตรวจเพื่อดูว่ากัญชาที่เอามาใช้นั้นมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ถือเป็นการควบคุมในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องถึงขั้นต้องแขวนใบอนุญาตแหล่งที่มาของกัญชาให้เห็นชัดก็ได้ เพียงแต่เมื่อไรที่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ทางร้านจะต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ได้         สำหรับคำแนะนำแก่ผู้บริโภคนั้น เบื้องต้น อย.จะมีคำแนะนำให้ทราบตลอดถึงผลดี ผลเสีย ข้อควรระวัง และกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพียงแต่ไม่ได้ออกเป็นประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น อาทิ หญิงตั้งครรภ์ คนให้นมลูก เด็ก เยาวชน คนที่รับประทานยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่ม  คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจต้องระมัดระวังเวลารับประทาน แต่ก็ไม่ได้ห้ามรับประทาน         “เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าใบกัญชาไม่ใช่ผักหรือพืชผักสวนครัว เวลารับประทาน ต้องระมัดระวัง เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน แม้ว่าในใบจะมี THC ต่ำแต่ก็ไม่รู้ว่าในใบยังมีสารอะไรอีกหรือไม่ที่เรายังไม่รู้เพราะฉะนั้นการรับประทานจึงต้องระมัดระวัง”         สำหรับกรณีการนำไปผสมในเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์ เช่น น้ำมันเมล็ดกัญชง ให้ความชุ่มชื้น   ซึ่ง สาร CBD ก็ช่วยลดการอักเสบ ขณะเดียวกัน ตัวเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า 3 มีโปรตีนสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงหรือกัญชายังไม่เยอะ เพราะกฎหมายเพิ่งเปิด คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ แต่หลังจากนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้น ส่วนเรื่องราคานั้น ทางอย. ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่พยายามที่จะสำรวจราคาเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลและเป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นสำหรับคนซื้อและคนขาย เพื่อให้เป็นราคามาตรฐานเอาไว้เพื่อทำให้ไม่เกิดการโก่งราคา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันกัญชากินได้

        ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงให้กัญชาเป็นสารที่สามารถผสมในอาหารและขนมต่างๆ เพื่อการบริโภคได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งประเทศไทยก็พยายามให้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ดอก ไม่เป็นสารเสพติด สามารถนำมาบริโภคหรือใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ (โดยยังมีระเบียบการผลิต การปลูกกัญชาควบคุมอยู่) มีร้านอาหารบางร้านทั้งภาครัฐและเอกชนนำกัญชามาเป็นเมนูของอาหารที่ร้าน กัญชากินได้ในอาหารและขนมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ มีข้อดีข้อเสียต่อสุขภาพอย่างไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กัญชากินได้คืออะไร         กัญชากินได้คืออาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในขณะนี้ ความจริงแล้วการกินกัญชามีมานานหลายพันปีทั้งในเอเชียและประเทศทางตะวันตก ปัจจุบัน ในประเทศอเมริกา แคนาดา ยุโรป สามารถหาซื้อขนมปัง หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ยาอม น้ำดื่มใส่กัญชา เป็นต้น ในบ้านเราก็มีเมนูอาหารหลายอย่างที่เริ่มนำใบกัญชามาใส่ในอาหาร ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่         การกินกัญชาในอาหารทำให้เราได้รับสรรพคุณของกัญชาโดยไม่ต้องสูบ การกินก็ง่ายกว่าและดึงดูดใจมากกว่า เราจึงต้องรู้วิธีการกินและการดื่มที่เหมาะสม เพราะเมื่อกินกัญชาเข้าไป กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เพราะต้องผ่านระบบทางเดินอาหารก่อนดูดซึมเข้าในกระแสเลือด จึงอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงและระดับความเข้มข้นของกัญชาจะค่อยๆ เพิ่มจนถึงขีดสูงสุด ดังนั้น ระดับของกัญชาในเลือดจึงอาจกินเวลา 2-3 ชั่วโมงจนถึงตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากินกัญชามากน้อยแค่ไหน กลุ่มเสี่ยงต่อการกินกัญชาในอาหาร         วารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกินกัญชาในอาหารคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงในการกินมากเกินไป และเผลอกินเพราะนึกว่าเป็นขนมทั่วไป         ในต่างประเทศ กัญชาในอาหารหลายชนิดจะทำเป็นคล้ายลูกกวาด หมากฝรั่งที่มีรสหวาน ช็อกโกแลต ซึ่งผสม THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีผลต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ กัญชากินได้เหล่านี้เหมือนขนมเด็ก ทำให้เด็กหลงกินเข้าไป         กัญชากินได้ต้องผ่านการย่อยและดูดซึม ทำให้ผู้ที่ไม่รู้บริโภคมากเกินไป เพราะออกฤทธิ์จะช้า ทำให้กินเข้าไปมาก         กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะต้องการการบริโภคเพื่อช่วยให้จิตใจสบาย และเจริญอาหาร แต่ก็มีรายงานว่า มีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อสุขภาพ บางรายต้องรับรักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากการกินกัญชาในอาหาร         ปัจจัยที่มีผลต่อการกินกัญชากินได้คือ เพศ น้ำหนัก อาหาร และความทนต่อกัญชา         ปัญหาใหญ่ของการกินกัญชาคือ กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์จะนานกว่าการสูบ ประมาณว่า 3 ชั่วโมงหลังการกิน เมื่อไม่รู้สึกว่ากัญชาออกฤทธิ์ ก็จะกินมากขึ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ เมื่อกัญชาออกฤทธิ์ก็จะเกิดอาการของการกินกัญชามากเกินไป ทำให้เกิดอาการทางจิต เกิดความหวาดกลัว สับสน และเกิดภาพหลอน ในผู้สูงอายุสามารถเกิดอาการทางหัวใจได้         ดังนั้น กัญชาในอาหารมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ จึงต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างรอบคอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 กระแสต่างแดน

ช้าแต่ไม่ชัวร์        พาหนะไฟฟ้าขนาดมินิกำลังได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุชาวจีนที่รู้สึกเป็นอิสระในการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ไปโรงพยาบาล หรือไปซื้อของด้วยตัวเอง         ตัวเลือกและสนนราคาของพาหนะที่ว่านี้ก็ดึงดูดใจ มีตั้งแต่ที่หน้าตาเหมือนจักรยานสามล้อ (ราคาประมาณ 2,000 หยวน หรือ 9,300 บาท) ไปจนถึงแบบที่คล้ายรถจี๊ป (ราคา 10,000 หยวน หรือ 46,500 บาท) และด้วยความเร็วอันน้อยนิด จึงไม่ต้องจดทะเบียน         เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิต ผู้ใช้จึงพบกับปัญหา “รถเสีย” บ่อยครั้ง  และตามกฎหมายจีน รถแบบนี้ไม่สามารถนำมาวิ่งบนถนนหรือในทางจักรยาน ใช้ได้เพียงในบริเวณพื้นที่ปิดหรือในอาคารเท่านั้น แต่คุณตาคุณยายไม่ทราบ เพราะคนขายบอกว่า “ไปได้ทุกที่”         เมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้จึงมีมาตรการออกมารับมือ ด้วยการกำหนดให้ผู้ใช้รถแบบนี้มีใบขับขี่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และเตรียมประกาศมาตรฐานการผลิต การขาย การเก็บภาษี และการประกันด้วย    สโลว์แฟชัน        รายงานของ Changing Markets Foundation ระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชันพึ่งพาเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูก เช่น โพลีเอสเตอร์ เป็นหลักเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้ได้ราคาถูกลง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพิ่มขึ้น 9 เท่า และมีการใช้น้ำมันถึง 350 ล้านบาเรล/ปี ในการผลิตเส้นใยดังกล่าว         องค์กรดังกล่าวเสนอให้วงการนี้เลิกพึ่งวัตถุดิบจากฟอสซิลและ “ลดความเร็ว” ในการปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ลดปริมาณขยะเสื้อผ้า และลดไมโครไฟเบอร์ (ที่ไหลลงสู่ทะเลปีละ 500,000 ตัน หรือเท่ากับขวดพลาสติก 50,000 ล้านใบ)            ปัจจุบันธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้พลังงานมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน ร้อยละ 20 ของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมก็มาจากการผลิตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่         การรีไซเคิลเป็นสิ่งดี... แต่มันยังไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร ทุกวันนี้ร้อยละ 87 ของเสื้อผ้าทิ้งแล้วยังถูกนำไปเผา หรือฝังกลบ (ในอัตรา 1 คันรถขยะต่อ 1 วินาที)         สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้คือซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลงและใช้ประโยชน์จากมันให้นานขึ้น  ยังดีไม่พอ        สมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โหวตยืนยันอีกครั้งว่าน้ำผลไม้ 100% จะไม่ได้ “ห้าดาว” โดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่แท้จริง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม         เรื่องนี้ไม่ถูกใจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ซึ่งมีมูลค่าถึง 800 ล้านเหรียญแน่นอน เพราะน้ำผลไม้ 100% บางชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงอาจได้เรตติ้งเพียงสองดาวครึ่ง ซึ่งน้อยกว่าดาวบนฉลากน้ำอัดลมอย่าง ไดเอทโค้ก ด้วยซ้ำ         อเล็กซานดรา โจนส์ นักวิจัยด้านกฎหมายและนโยบายอาหาร ประจำสถาบัน George Institute for Global Health บอกว่าสิ่งที่สังคมได้จากการตัดสินใจครั้งนี้คือความเข้าใจว่า “น้ำผลไม้” ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเสมอไป และตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นที่จะได้ห้าดาว           ออสเตรเลียใช้ระบบ “ดาว” แสดงระดับความเป็นมิตรต่อสุขภาพบนฉลากอาหารมาตั้งแต่ปี 2557 อย่ากินน้องเลย         เทศบาลเมืองฮานอยออกมาเรียกร้อง (อีกครั้ง) ให้ผู้คนงดบริโภคเนื้อสุนัขและแมว เพื่อภาพพจน์ที่ “ศิวิไลซ์” ของเมืองหลวงประเทศเวียดนาม        สองปีก่อนรัฐบาลท้องถิ่นรณรงค์ให้งดการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่มองว่าเป็นการทารุณกรรม ทำให้คนฮานอยรุ่นใหม่เกิดการรับรู้และเปลี่ยนทัศนคติ ส่งผลให้ร้อยละ 30 ของร้านขายเนื้อสุนัขและแมวปิดตัวลง         แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าดีมานด์นี้จะหมดไป ปัจจุบันเวียดนามยังมีการบริโภคเนื้อสุนัขมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน แต่ละปีมีสุนัขประมาณห้าล้านตัวกลายเป็นอาหารของมนุษย์ แม้จะมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสุนัขก็ตาม          นอกจากนี้การค้าเนื้อสุนัขยังทำให้ความพยายามของเวียดนามในการควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จด้วย  ต้องมีที่มา         ศาลมิวนิกฟันธง ผักผลไม้ที่ขายออนไลน์ในเว็บ ”อเมซอนเฟรช” ต้องแสดงที่มาเช่นเดียวกับผักผลไม้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป หากฝ่าฝืนมีค่าปรับ 250,000 ยูโร (9,000,000 บาท)        องค์กร Foodwatch ในเบอลิน ได้ฟ้องร้องขอคำตัดสินจากศาล หลังทดลองสั่งซื้อผัก/ผลไม้ เช่น ผักกาด มะเขือเทศ องุ่น แอปเปิ้ล และอโวคาโด ทางอเมซอนเฟรช แล้วพบเรื่องแปลก         ครั้งแรกที่ทดลองสั่งในปี 2017 เขาพบว่าไม่มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้าบนเว็บ ส่วนครั้งที่สองในปี 2019 ทางเว็บแจ้งที่มาเอาไว้ แต่ผักผลไม้ที่ส่งมานั้นกลับถูกส่งมาจากที่อื่น         ทางอเมซอนให้เหตุผลว่าการใช้แหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีสินค้าจัดส่งให้กับลูกค้าสั่งซื้อไว้ล่วงหน้านานๆ ในกรณีที่สภาวะอากาศไม่เป็นใจหรือมีปัญหาระหว่างเก็บเกี่ยว และยังโต้แย้งด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวใช้กับการผัก/ผลไม้ที่แพ็คขายส่งเท่านั้น         อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตอนนี้ทางร้านจึงรับออเดอร์ล่วงหน้าแค่ 3 วันเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เครื่องปั่นอเนกประสงค์

        ฉลาดซื้อฉบับนี้มีภาคต่อของผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาฝากคุณอีกแล้ว คาวนี้มีให้เลือก 15 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 1800 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้แก่ Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ และ OCU-Ediciones จากสเปน ได้ร่วมกันทำไว้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา               เกณฑ์การให้คะแนนยังเป็นเช่นเดิมคือ คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วยคะแนนประสิทธิภาพในการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน)         ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนรวมถึง 70 คะแนน เครื่องปั่น KitchenAid ( ราคา 799-12,900 บาท ) ที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่ม ก็ได้ไปเพียง 68 คะแนน เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายรุ่นที่ “สอบตก” เพราะได้ต่ำกว่า 50 คะแนน         พลิกไปดูกันเลยว่าควรซื้อหารุ่นไหนมาไว้ใช้งานในวันที่อยู่บ้านฝึกฝนการเป็นเชฟมือใหม่กันได้เลย          ทั้งนี้ทีมได้ทดสอบเปรียบเทียบการประหยัดพลังงาน แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลในการให้คะแนนรวม ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นทุกได้คะแนนในระดับ 5 ดาว จึงไม่ได้นำมาประมวลผลเช่นกัน         หมายเหตุ        -          การทดสอบดังกล่าวมีค่าใช้จ่าย 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         -          ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่พบออนไลน์ และอาจเป็นการแปลงจากหน่วยเงินต่างประเทศ โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ         -          สามารถติดตามผลการทดสอบเครื่องปั่นครั้งก่อนหน้าได้ที่ ฉลาดซื้อ ฉบับ 227

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 239 อาหารพร้อมทานร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จานไหนโซเดียมสูง

        วิถีชีวิตแบบเร่งรีบของคนทุกวันนี้ ก่อให้เกิดวิถีการบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว กล่าวคือ ง่าย อิ่มและไม่แพง  ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์พิเศษโควิด 19 ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ ยิ่งส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ได้อย่างดี ไม่ต้องไปนั่งในร้านอาหาร ไม่ต้องยืนรอคิว ไม่ต้องสั่งให้คนนำอาหารมาให้ แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเลือกหยิบเมนูที่ชอบ นำเข้าไมโครเวฟอุ่นร้อนก็รับประทานได้ในเวลาอันรวดเร็ว         ดังนั้นเมื่อนิตยสารฉลาดซื้อได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจาก “สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อรถรงค์ ลดเค็ม ลดโรค โดยคณะทำงานของทางโครงการฯ ได้เก็บตัวอย่างสินค้า อาหารพร้อมทานทั้งแบบแช่เย็น แช่แข็ง จำนวนถึง 53 รายการ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 แล้วนำมาอ่านฉลากโภชนการว่าแต่ละเมนูที่เลือกมามีปริมาณโซเดียมเท่าไร ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า อาหารพร้อมทานแบบแช่เย็น แช่แข็งนั้น มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรตไต และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคทั่วไปจะได้รับโซเดียมเกินในแต่ละวัน         ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู คือแชมป์โซเดียมสูง        จากผลการสำรวจฉลากอาหารพร้อมรับประทานแบบแช่เย็น แช่แข็ง ทั้ง 53 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย        · อาหารจานหลัก ได้แก่ ข้าวผัด ข้าวหน้าต่างๆ ข้าวกะเพรา ยากิโซบะ และผัดไทย (จำนวน 35 ตัวอย่าง)         · อาหารอ่อน ได้แก่ โจ๊ก ข้าวต้ม เกี๊ยวน้ำ (จำนวน 15 ตัวอย่าง)         · ขนม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ บัวลอยมันม่วง บัวลอยเผือก และสาคูถั่วดำ         พบว่ามีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมทั้ง 53 ตัวอย่าง อยู่ที่ 858 มิลลิกรัม (ระหว่าง 210 – 1,390 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค) โดยเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มอาหาร           o กลุ่มอาหารจานหลัก ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 450 – 1,390   มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค        o กลุ่มอาหารอ่อน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 380 – 1,340   มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค และ        o ขนมหวาน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 210 - 230  มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค            และ 10 อันดับเมนูโซเดียมสูง จากการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่        1.ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู อีซี่โก 1,390 มก./  หน่วยบริโภค 240 กรัม        2.ผัดไทยกุ้งสด อีซี่โก  1,360 มก./ หน่วยบริโภค 225 กรัม        3..ข้าวต้มหมู แฟมิลีมาร์ท 1,340 มก./ หน่วยบริโภค 300 กรัม        4.ผัดไทยกุ้งสด มาย ช้อยส์ 1,310 มก./ หน่วยบริโภค 235 กรัม        5..ยากิโซบะหมู อีซี่โก  1,290 มก./ หน่วยบริโภค 195 กรัม.        6. ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม อีซี่โก 1,280 มก. / หน่วยบริโภค 210 กรัม        7 ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ อีซี่โก 1,200 มก. / หน่วยบริโภค 200 กรัม        8. ข้าวผัดปู เดลี่ไทย  1,200 มก. / หน่วยบริโภค 250 กรัม        9. เกี๊ยวกุ้ง ซีพี  1,160 มก. / หน่วยบริโภค 145 กรัม        10.เกี๊ยวกุ้ง บิ๊กมีล  1,130 มก. / หน่วยบริโภค 300 กรัม ทำไมอาหารแช่เย็นแช่แข็งถึงมีโซเดียมสูง         ในการผลิตอาหารแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากโซเดียมซึ่งอยู่ในรูปของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว แล้ว ยังมีการใส่วัตถุเจือปนอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารคงสภาพดีไปจนตลอดอายุ เช่น วัตถุกันเสีย (โซเดียม เบนโซเอต) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) สารเพิ่มความข้นเหนียว. (โซเดียม อัลจิเนต)  ฯลฯ ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ทางการอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ก็เพิ่มปริมาณโซเดียมเข้าสู่อาหารแช่เย็นแช่แข็งด้วยเช่นกัน แพทย์แนะวิธีบริโภคอาหารแช่เย็นแช่แข็ง         “อาหารแช่แข็ง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานควรดูที่ฉลากโภชนาการ หากมีโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือบวกได้อีก 100 มิลลิกรัมต่อมื้อ ถือว่ายังได้รับปริมาณโซเดียมในระดับที่ไม่อันตราย” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 FoodChoice ตัวช่วยของการรับประทานอาหาร

        สุขภาพที่แข็งแรงย่อมเกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เลือกรับประทานในชีวิตประจำวันมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ฉบับนี้จึงมาแนะนำการเลือกรับประทานอาหารในแบบฉบับใส่ใจและลงลึกถึงสารอาหารและข้อมูลทางโภชนาการกันดีกว่าค่ะ         เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “FoodChoice” ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” ตั้งใจมีไว้เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะจำแนกข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของปริมาณสารอาหาร ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน ให้ข้อมูลในหน่วยช้อนชา และทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการอีกด้วย         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมี 3 หมวด ดังนี้ หมวดแรกคือประวัติการค้นหา จะช่วยเก็บข้อมูลที่ได้ค้นหาข้อมูลบนฉลากโภชนาการทั้งหมด หมวดสองใช้สำหรับสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์เพื่อให้แอปฯ ประมวลผลข้อมูลบนฉลากโภชนาการ และหมวดสามเป็นข้อมูลทั่วไปของแอปพลิเคชั่น ได้แก่ การใช้งาน เกณฑ์สีและการจัดเรียงข้อมูล หน่วยงานที่ร่วมพัฒนา ช่องทางการติดต่อ และข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้         เมื่อต้องการทราบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ หลังจากนั้นจะปรากฎภาพข้อมูลโภชนาการในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแยกเป็นสารอาหารในปริมาณต่างๆ พร้อมคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นโรคใดบ้าง และช่วยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมได้ ดังนี้        1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด        2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง        3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด        4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก          ในกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถถ่ายรูปของด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลัก เพื่อแชร์รูปภาพให้ข้อมูลในแอปพลิเคชั่นทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลด้านโภชนาการและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน         การใช้แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” อย่างน้อยก็ช่วยสร้างให้ผู้บริโภคได้ตระหนักในการเลือกบริโภคและใส่ใจกับข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคและพิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับแต่อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 รู้เท่าทันอาหารเสริมบำรุงตา

        โรคความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นคือ สายตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัด พร่ามัว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมาโฆษณาชักชวนให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อให้สายตาดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาก็พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่ที่มีคนถามไถ่มากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดี คอนแทค ว่ามีสรรพคุณรักษาดวงตาตามโฆษณาจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ดีคอนแทคคืออะไร               มีการโฆษณาดีคอนแทค (D-Contact ) ทั้งจากผู้จำหน่าย ร้านค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยดูแลดวงตาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้แก่ ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม ตาบอดกลางคืน โรคตาแห้ง เป็นต้น         มีการโฆษณาว่าในดีคอนแทคมีส่วนประกอบหลักจากสารต่างๆ จากธรรมชาติ ได้แก่ เบต้ากลูแคนจากยีสต์ สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ กรดแอสคอร์บิก สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ สารสกัดจากบลูเบอรี่ สารสกัดจากดอกดาวเรือง เบต้า- แคโรทีน วิตามิน บี 12  รวมทั้งมีเลขทะเบียน อ.ย 10-1-15456-5-0019         ราคาขายมีตั้งแต่กล่องละ 700 กว่าบาทจนถึง 1,200 กว่าบาท กล่องละ 30 แคปซูล โดยสามารถหาซื้อได้จากผู้ขายตรงและในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ  ดีคอนแทคน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย        พยายามค้นข้อมูลดีคอนแทคในต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ในชื่อ ดีคอนแทคในต่างประเทศ และพยายามค้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องใน Pubmed และ Cochrane และในหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พบ จึงเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เลขทะเบียนอ.ย 10-1-15456-5-0019        เมื่อค้นข้อมูลในอย. พบข้อมูลว่า         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่างๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค         ต่อมา นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่ง อย.ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562        สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอย. แต่มีการนำไปโฆษณาใช้เป็นการรักษาโรค ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายจึงขอให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันไว้ว่า การมีเลขทะเบียนอย. นั้น ไม่ใช่การรับรองว่าเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้รักษาโรคได้ต่างๆ นานาตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ราคาอาหารไม่ตรงกับเมนู

        เวลาที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ราคาเป็นข้อมูลจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ขาย ต้องแสดงอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างราคาอาหารที่ต้องแสดงไว้ในเมนูของร้านเพื่อแจ้งต่อผู้บริโภค ถ้าไม่มีถือว่าผิด         คุณแก้วตากับเพื่อน ๆ ตั้งใจขับรถไปเที่ยวจังหวัดราชบุรีในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงจึงได้จอดรถแวะรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เมื่อเปิดดูเมนูอาหาร คุณแก้วตาและเพื่อนสาวก็สั่งอาหารอย่างที่ตนเองชอบ หลังจากจัดการอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็เรียกพนักงานเสิร์ฟมาคิดเงิน         เมื่อพนักงานแจ้งค่าอาหาร พบว่าราคาแต่ละจานไม่ตรงกับที่แสดงไว้ในเมนูเลย ทุกจานมีราคาแพงกว่าในเมนู 5 บาท คุณแก้วตาจึงขอคุยกับเจ้าของร้าน ซึ่งได้คำตอบว่าช่วงนี้วัตถุดิบขึ้นราคา จึงต้องปรับราคาอาหารขึ้นไปแต่ยังไม่มีเวลาเปลี่ยนป้ายราคา คุณแก้วตาและเพื่อนๆ ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงอะไร เพราะยังมีเรื่องที่ต้องเดินทางต่อแต่ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้ จึงได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ร้านอาหารทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ร้องเรียนได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีร้านค้าแสดงราคาอาหารในเมนูไม่ตรงกับราคาขาย ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ข้อ 11 ซึ่งกำหนดให้ การแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือค่าบริการ ต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ซึ่งร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า หรือค่าบริการ หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย หรือค่าบริการที่เรียกเก็บ เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ที่กำหนดว่า ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตาม มาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 กระแสต่างแดน

ลดช่องว่าง    สถิติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 940 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกรายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ยังบอกอีกว่าอัตราการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึงร้อยละ 67 (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือร้อยละ 62) และที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบทลดลงอย่างมาก เพราะร้อยละ 98 ของหมู่บ้านในชนบทห่างไกลมีอินเทอร์เน็ตผ่านไฟเบอร์ออปติกให้ชาวบ้านใช้แล้วขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 380 ล้านคน และยังมีการใช้ประโยชน์ในการทำงานจากบ้าน หรือ “พบแพทย์” ออนไลน์เพื่อขอคำปรึกษามากขึ้นสาเหตุที่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง มีลูก มีรางวัล    รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยแผนให้เงินช่วยเหลือ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 230,000 บาท) กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตร แถมด้วยโบนัสอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จข้อมูลปี 2018 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรของสิงคโปร์อยู่ที่ 1.14 คนต่อผู้หญิง 1 คน และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อคู่แต่งงานพากันยกเลิกแผนมีบุตร เพราะกังวลเรื่องปัญหาการเงินหรือการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงเตรียมประกาศแพ็กเกจใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิมเรื่องราวช่างตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของโลกคาดว่าจะมีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าปกติถึง 400,000 คน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 108 ล้านคน มีแนวโน้มจะมีเด็กเกิดใหม่อีก 2.6 ล้านคน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี คนท้องถิ่นต้องมีที่อยู่    การขยายตัวของการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่าง “เจ้าของบ้าน” ในเมืองยอดนิยมกับบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงิน ทำให้คนท้องถิ่นที่ต้องการหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือที่เรียนกลายเป็นกลุ่มที่ “ไร้ที่พักอาศัย” เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องซึ่งแพงขึ้นได้เทศบาลของ 22 เมืองยอดนิยมในยุโรปจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์มหรือแอปฯ อย่าง Airbnb ให้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัลกลุ่มพันธมิตรเมืองในยุโรป (Eurocities Alliance) ต้องการให้เทศบาลสามารถกำกับดูแลได้ ว่าเจ้าของบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการหรือไม่  หรือมีรายใดปล่อยเช่าห้องพักต่อปีกับแอปฯ เหล่านี้เกินจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า และแอปฯ ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการฝ่าฝืนจะอ้างว่าเป็นเพียงตัวกลางไม่ได้เมืองในพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ลอนดอน ปารีส มิลาน เบอลิน เวียนนา พอร์โต เฮลซิงกิ บาเซโลนา และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น เตรียมเลิกรถใช้น้ำมัน    แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอเมริกา (39.5 ล้านคน) ออก “คำสั่งผู้บริหาร” ห้ามใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ภายในปี 2035 แน่นอนว่าคำสั่งนี้ไม่ถูกใจค่ายรถยนต์และสร้างความหงุดหงิดให้ลุงทรัมป์เป็นอย่างมาก แต่ผู้ว่าการรัฐฯ เขาก็เล่นใหญ่ ถึงกับเซ็นคำสั่งดังกล่าวบนฝากระโปรงรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น Ford Mustang Mach E ออกสื่อมันเสียเลย แต่ก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะถูกล้มล้างโดยรัฐบาลหรือไม่  นอกจากการแบนรถใช้น้ำมันแล้ว แคลิฟอร์เนียยังมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง การปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยาน  กว่าร้อยละ 50 ของมลภาวะที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียมาจากการเดินทางขนส่ง จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงร้อยละ 80 ของปริมาณทีเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ภายในปี 2050นอกจากมลภาวะบนท้องถนนแล้ว ปีนี้แคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเพราะไฟป่าที่ กินพื้นที่ถึง 14,600 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย ไม่ขาดก็เกิน    ในปี 2018 อินโดนีเซียใช้เงินถึง 155,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” โดยร้อยละ 48 เป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ในขณะที่ร้อยละ 26 เป็นปัญหาการขาดอาหารในเด็ก ร้อยละ 20 เกิดจากมลภาวะ ที่เหลืออีกร้อยละ 6 คือการได้รับสารอันตรายจากยากำจัดศัตรูพืชนักวิจัยจากโครงการแนวร่วมอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) บอกว่ารัฐบาลยังใช้เงินอีก 137,000 ล้านเหรียญเพื่อลดผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 แก้ปัญหาภัยแล้ง และอีกร้อยละ 5 ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยยังขอร้องให้คนอินโดนีเซียปรับปรุงนิสัยการบริโภค ด้วยการกินผักให้มากขึ้น (คนอินโดฯ กินผักเพียงวันละ 122 กรัม จากปริมาณที่แนะนำ 300-400 กรัม) และบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง (จากมากกว่า 50 กรัมควรเหลือเพียงไม่เกิน 40 กรัม) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กระแสต่างแดน

มันจะมากไปแล้ว        ปัจจุบันร้อยละ 20 ของเด็กมัธยมฯ ในอังกฤษเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน รัฐบาลจึงตั้งเป้าจะดึงตัวเลขดังกล่าวลงมาให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 และแผนแรกที่จะลงมือคือการเรียกเก็บภาษีจากอาหารที่มีไขมันสูงคาดการณ์ว่าภาษีอาหาร “มันจัด” ในอัตราร้อยละ 8 นี้จะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขได้ถึง 66,000 ล้านปอนด์ต่อปี เป็นที่รู้กันดีว่าโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคอื่นๆ และในกรณีของโควิด-19 คนที่มีโรคอ้วนจะติดไวรัสง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้มีภาวะโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด-19 กำลังเตรียมประกาศเปิดตัวแอปฯ ช่วยลดน้ำหนัก ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดฟรี และสั่งแบนโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดช่วงก่อนสามทุ่มด้วยรายได้จากภาษีนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนในอัตราหัวละ 21 ปอนด์ (ประมาณ 900 บาท) ต่อสัปดาห์เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่รับใบเสร็จ        ทุกวันนี้เวลาจะซื้อภาชนะใส่น้ำใส่อาหาร เราจะมองหาสัญลักษณ์ที่บอกว่าปราศจาก BPA (บิสฟีนอลเอ) เพื่อความปลอดภัย แต่เรื่องยังไม่จบเพราะในภาชนะบรรจุอาหาร/เครื่องดื่มกระป๋อง (ที่เราหลายคนต้องพึ่งพาในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้าน) ก็มีสารนี้เคลือบอยู่เช่นกันนอกจากขวดโพลีคาร์บอเนต (พลาสติกชนิดแข็ง) บรรจุน้ำที่สามารถปล่อย BPA ลงน้ำดื่มได้แล้ว อีกอย่างที่เราลืมระวังคือใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษร้อน ซึ่งก็คือใบเสร็จทั่วไปที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สำคัญสารที่ว่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่าเมื่อเราใช้เจลแอลกอฮอลล้างมือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การสุ่มตรวจปัสสาวะของผู้ใหญ่ในอเมริกา พบการปนเปื้อนแทบทุกตัวอย่าง ในขณะที่งานวิจัยล่าสุดก็พบว่าคนที่มีปริมาณ BPA ตกค้างในปัสสาวะสูง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 10 ปี มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 49 วิกฤติอเมซอน         องค์กร Igarape Institute ของบราซิล ซึ่งติดตามสำรวจคดีสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอเมซอนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยตัวข้าราชการเช่น ตำรวจ ทนาย เจ้าหน้าที่ศุลกากร และนักการเมืองที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการทำลายป่าโดยอาชญากรและเครือข่ายธุรกิจมืด  ปีนี้ในบราซิลมีการทำลายป่ามากขึ้นร้อยละ 34 และหากคุณซื้อเนื้อวัวในตลาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเนื้อดังกล่าวมาจากวัวที่เลี้ยงในพื้นที่ๆ รุกป่า แต่ความซับซ้อนในสายการผลิตทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่แท้จริงองค์กรนี้ยังระบุว่า แม้บราซิล โคลอมเบีย เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ กายอานา ซูรินาม และเวเนซูเอลา จะมีสนธิสัญญาความร่วมมืออเมซอนมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะไม่เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก อีกทั้งหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศก็ไม่จริงจังกับการติดตาม สืบสวน ฟ้องร้อง หรือลงโทษผู้กระทำผิดข้อมูลจาก MapBiomass ระบุว่าร้อยละ 90 ของการตัดไม้ในเขตอเมซอน เป็นการตัดอย่างผิดกฎหมาย เร็วกว่า ราคาเดิม        การรถไฟอินเดียตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อปีให้ได้ 15,000 ล้านรูปี (ประมาณ 65,000 ล้านบาท) โดยไม่ขึ้นค่าโดยสารสิ่งที่เขาจะทำคือรื้อตารางการเดินรถใหม่ หมายความว่าจะมีการยกเลิกรถไฟประมาณ 500 กว่าเที่ยว ซึ่งวิ่งผ่านกว่า 10,000 สถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มเที่ยวขบวนรถสินค้าร้อยละ 15 ในเส้นทางที่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ รวมถึงการใช้ความเร็วในขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้วยนอกจากนี้ยังมีแผนจะยกเลิกรถไฟเที่ยวที่เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้วมีผู้โดยสารน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่ง รวมถึงการไม่กำหนดป้ายหยุดในระยะ 200 กิโลเมตรสำหรับรถทางไกล เว้นแต่จะเป็นเมืองใหญ่แผนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ทันทีที่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และอินเดียกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้การรถไฟอินเดียเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ก็คือภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศนั่นเอง แต่จะได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป ต้นทุนที่แท้ทรู        งานวิจัยโดยห้างค้าปลีก Penny ในเยอรมนีพบว่า ราคานม เนื้อสัตว์ และชีสในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากการผลิตอาหาร และหากคนรุ่นเราไม่จ่าย ต้นทุนนี้ก็จะตกเป็นของคนรุ่นต่อไปตัวอย่างเช่น ราคาเนื้อบดครึ่งกิโลกรัมที่ขายอยู่ 2.79 ยูโรนั้น หากคำนวณโดยนำปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมถึงพลังงานที่ใช้ มารวมกับต้นทุนปกติ จะมีราคาถึง 7.62 ยูโร (แพงขึ้นร้อยละ 173) เช่นเดียวกับนมวัวที่จะแพงขึ้นร้อยละ 122ในขณะที่ผักผลไม้แพงขึ้นไม่ถึงร้อยละ 20 รวมถึงหากเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงแบบออกานิกราคาก็จะแพงขึ้นจากเดิมร้อยละ 126 เท่านั้น อาหารมังสวิรัตและออกานิกจึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะห้าง Penny สาขาในเบอลินก็เริ่มทดลองติดป้ายแสดงทั้งราคาปกติ และราคาแบบ “ร่วมรับผิดชอบ” ในสินค้าเฮาส์แบรนด์บางชนิด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ... ผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 231 โควิดตัวร้ายกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

        เดือนที่ผ่านมาพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิท 19 กันทุกคน รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการ Social Distancing และรณรงค์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ร้านอาหารต่างๆ เปิดให้บริการเพียงแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งGrab Food, Food Panda, Lalamove, Line Man เมื่อผู้บริโภคใช้บริการมากก็จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าผู้บริโภครายนี้เขาเกิดความผิดพลาดอย่างไร และเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร         คุณภูผาต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไม่สะดวกออกไปซื้ออาหาร ทำเองก็ไม่สะดวก เขาจึงสั่งอาหารร้านชื่อดังแห่งหนึ่งผ่าน Grab food โดยมีเมนูข้าวหมกไก่ กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวมันไก่ทอด กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวหมกเนื้อ กล่องละ  50 บาท 2 กล่อง และสเต๊ะเนื้อ 1 ชุด 95 บาท ค่าอาหาร 285 บาท และค่าส่งอีก 25 บาท รวมเป็น 310 บาท พอกดสั่งอาหารแล้วก็แอบยิ้มดีใจนิดๆ ว่าแอปฯ ให้ส่วนลดเป็น reward ตั้ง 10 บาท โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต         เมื่อ Grab นำอาหารมาส่ง ภูผาก็ออกมารับของอย่างมีความสุข แต่มาเกิดเรื่องจนได้ตอนจะรับประทาน เพราะพบว่า ขาดข้าวหมกเนื้อไป 1 กล่อง จึงแจ้งไปยังศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชันพร้อมเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ว่า ได้อาหารไม่ครบขาดข้าวหมกเนื้อ 1 กล่อง ราคา 50 บาท และส่งรูปภาพไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10 – 15 นาที ก็มีอีเมล์ตอบกลับมาว่า ขออภัยและบอกว่าจะคืนเงินให้เป็น reward (reward คือการสะสมคะแนน เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือแลกสิ่งของ) จำนวน 50 บาท และให้แบ่งใช้ 2 ครั้ง 40 บาท และ 20 บาท โดยสามารถใช้ได้ในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามมีการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ด้วย         คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ เขารู้สึกว่า Grab เอาเปรียบเขา ทำไม Grab ไม่คืนเงินเข้าไปในวงเงินบัตรเครดิต หรือตัดบัตรเครดิตเพียงแค่ยอดที่เขาได้รับของมาคือ 260 บาท(หักข้าวหมกเนื้อออก) และการที่คืนเป็น Reward อาจจะฟังดูเป็นบุญคุณไปอีก “ไม่โอเค อ่ะ” ความผิดพลาดเกิดจากการส่งอาหารไม่ครบของพนักงาน (Rider) เอง สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ก็ยิ่งไม่ควรทำหากจะเลือกเยียวยาด้วยวิธีนี้ คุณภูผาคิดว่า ความผิดไม่ได้เป็นของผู้บริโภค (อาจพลาดที่ไม่ได้ตรวจก่อนว่ารับสินค้าครบไหม) ดังนั้น Grab ควรติดต่อร้านให้นำของมาส่งเพิ่มตามที่ขาดไปยังจะดีกว่า หรือคืนเงิน หรือคิดเงินเขาในราคาเท่ากับของที่เขาได้รับจริง จะโอเคที่สุด  ดังนั้นเขาจึงได้ทำเป็นข้อแนะนำเสนอต่อ Grab Food ไป และมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ควรทำอะไรเพิ่มอีก แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า มีวิธีจัดการปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้         1. ใช้ช่องทางผ่านตัวผู้ให้บริการแอป คือ ติดต่อไปยัง Grab Food อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอป หรือโทรศัพท์ติดต่อไปยัง Grab เพื่อปฏิเสธการคืนเป็น reward และแสดงความต้องการขอรับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นเงินคืนให้บัตรเครดิตเท่านั้น         2. ใช้ช่องทางบัตรเครดิต คือ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตว่า สั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ครบถ้วน โดยอ้างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (8) (ข) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารคืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต หรือให้ธนาคารเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่ได้รับสินค้า ไม่เรียกเก็บส่วนที่ไม่ได้สินค้า         เมื่อรับคำแนะนำแล้ว ผู้ร้องได้ลองติดต่อไปยังตัวผู้ให้บริการผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าขอให้ Grab คืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต เป็นจำนวนเงิน 50 บาท ปรากฎว่า คุณภูผาได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการด้วยการคืนวงเข้าบัตรเครดิตในวันรุ่งขึ้นทันที เขาจึงเสนอต่อ Grab เพิ่มว่า “ควรให้ลูกค้าเลือกใช้สิทธิว่าจะรับเป็น Refund, Reward, Re-Delivery ตั้งแต่แรกเลยจะจบแบบได้ใจลูกค้ามากกว่านี้”

อ่านเพิ่มเติม >