ฉบับที่ 273 ‘วางแผนเกษียณ’ การรับมือกับบั้นปลายชีวิต

        “สิ่งที่น่าเสียดายคือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด สิ่งที่น่าสลดคือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตาย”         เป็นคำพูดขำๆ ขมๆ ที่หลายคนเคยได้ยิน น่าสลดยิ่งกว่าคือคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จัดอยู่ในกลุ่มหลัง คือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตายหรือจนก่อนแก่นั่นเอง ซึ่งถ้าคิดตามสูตรการใช้ชีวิตปัจจุบัน ทำงานมีเงินเดือน เก็บเงิน ตอนเกษียณก็น่าจะมีเงินก้อนพอสมควร ยกเว้นข้าราชการที่มีเงินบำนาญ ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งเยอะ อย่างอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เงินบำนาญ 60,000 ต่อเดือน (แม่เจ้า!!)         การวางแผนเกษียณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงและสวัสดิการไม่ทั่วถึงเท่าเทียมอย่างไทย         เว็บไซต์ของธนาคารกรุงไทยเสนอสูตรคำนวณจำนวนเงินหลังเกษียณที่ควรมีไว้ว่า         จำนวนเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ         ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปีจะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันหรือคุณจะปรับสัดส่วนตามที่ต้องการก็ได้ แล้วคุณยังต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเพราะ 100 บาทตอนที่คุณวางแผนเกษียณจะมีมูลค่าน้อยกว่า 100 บาทตอนที่คุณเกษียณแล้วแน่นอน         แล้วก็ต้องคอยปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง ความผันผวนต่างๆ นานาตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือก็คือยิ่งแก่สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้นควรลดสัดส่วนลง พอเกษียณแล้วก็ต้องคอยดูแลพอร์ตอีกเพราะคุณต้องคอยเอาเงินออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เขาถึงพูดว่าสำหรับแผนเกษียณใครเริ่มได้เร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาจะยิ่งเพิ่มพูนมูลค่าสินทรัพย์และลดความเสี่ยงลง (แต่ต้องลงทุนให้ถูกต้องนะ)         แต่พูดก็พูดเถอะ ชีวิตไม่ง่ายดายขนาดนั้น วางแผนไว้ดีแค่ไหนก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามแผน ต่อให้คุณกันเงินฉุกเฉินไว้ตามสูตรเป๊ะๆ ก็อาจเหตุฉุกเฉินกว่าได้เสมอ เลยต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าการจัดการการเงินส่วนบุคคลก็ทำไป อีกขาก็ต้องผลักดัน กดดันให้รัฐบาลสร้างระบบดูแลผู้คนที่มีเท่าเทียม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพให้ได้         อย่างนโยบายบำนาญแห่งชาติที่จะจ่ายให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทที่ใช้หาเสียง นั่นก็เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนจนฝ่ายการเมืองตอบรับ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่และทำเมื่อไหร่ เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน         คุณอาจคิดว่าเงิน 3,000 จะพอเหรอ? ไม่พอหรอก แต่มันจะช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับคนทำมาหากินทั่วไปที่ต้องแบกรับคน 2 เจเนอเรชั่นคือคนรุ่นพ่อแม่กับคนรุ่นลูก         ส่วนจะวางแผนเกษียณอย่างไร เชิญเสิร์ชหาด้วยคำว่า ‘การวางแผนเกษียณ’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ผู้ประกอบการ “ยอดแย่” แห่งปี

        ประมาณช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียหรือเรียกสั้นๆ ว่า CHOICE จะ “มอบ” รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคจนสมควรแก่การพูดถึง ปีนี้เป็นการแจกครั้งที่ 18 แล้ว เจ้าของรางวัล Shonky 2023 มีตั้งแต่ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อุปกรณ์ไอที เว็บไซต์ ไปจนถึง “ตู้เย็น”ห้างค้าปลีก Woolworths and Coles ได้รางวัลแชมป์ขูดรีด         ปีนี้คนออสซีเผชิญค่าเช่าแพง ดอกเบี้ยเงินกู้แพง แถมข้าวของยังพากันขึ้นราคาอีกการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 88 ของคนออสเตรเลียกังวลเรื่องราคาอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันเพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่าได้ของกลับบ้านน้อยทั้งๆ ที่จ่ายเงินมากขึ้น ในขณะที่สองห้างใหญ่โกยกำไรอู้ฟู่         เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาห้างวูลเวิร์ธประกาศว่าปีนี้มีกำไร 1,620 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีก่อนหน้า ผู้บริหารให้เหตุผลว่าที่กำไรเพิ่มก็เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวกับโควิดน้อยลง หลังทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ทางห้างโคลส์ก็มีกำไรถึง 1,100 ล้านเหรียญ เช่นกัน         การสำรวจโดย CHOICE ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 60 ของนักช้อปเชื่อว่าสองห้างนี้กำลังกอบโกยกำไรมหาศาลจากการขึ้นราคาสินค้า มีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่คิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแห่ง (ครองตลาดรวมกันถึงร้อยละ 65) ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้า RentTech แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า ที่ข้อมูลเกินจำเป็น         นอกจากค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นแล้ว คนออสซีจำนวนไม่น้อยยังหาบ้านอยู่ไม่ได้อีกด้วย แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อย่าง Ignite, 2Apply และ Snug จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้าย พวกเขาต้องยอมให้ข้อมูลมากมาย เพราะอยากมีที่อยู่ ตั้งแต่สเตทเมนท์ธนาคาร ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ก่อนหน้า บุคคลรับรองจากงานที่ทำล่าสุด 5 งาน หรือแม้แต่รูปถ่ายของลูกๆ และสัตว์เลี้ยง         การสำรวจโดย CHOICE พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ใช้แอปฯ เหล่า รู้สึกไม่พอใจกับปริมาณหรือชนิดของข้อมูลที่ต้องให้กับแอปฯ         ในขณะที่ร้อยละ 41 เคยถูกเจ้าของบ้านกดดันให้ทำเรื่องขอเช่าผ่านแอปฯ มีจำนวนไม่น้อย (ร้อยละ 29)ที่ตัดสินใจไม่เช่าเพราะไม่ไว้ใจแพลตฟอร์มเหล่านี้         CHOICE เสนอว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายควบคุม เพื่อป้องกันการเรียกขอข้อมูลตามใจชอบโดยไม่มีการแจ้งผู้ใช้ว่าจะส่งให้ใคร นำไปใช้อย่างไร และจะเก็บไว้นานแค่ไหน  Personal alarms อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ชิลเกินไป         สินค้ายอดนิยมอย่างหนึ่งที่ลูกหลานนิยมซื้อให้ผู้สูงอายุใส่ติดตัวคืออุปกรณ์แจ้งเตือนฉุกเฉิน เจ้าเครื่องนี้ควรจะช่วยให้ผู้ที่สวมใส่ (ห้อยไว้ที่คอ สวมรอบข้อมือ หรือติดเป็นเข็มขัด) สามารถส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลได้อย่างรวดเร็ว         แต่การทดสอบของ CHOICE ที่ทำกับอุปกรณ์นี้จำนวน  40 รุ่น พบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะทำหลายปีก็ยังไม่เจออุปกรณ์ที่ดีสักรุ่นเดียว ทั้งตั้งค่ายาก ใช้งานยาก ตัวหนังสือเล็กมาก คู่มือก็ไม่มีให้ ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดเองจากอินเทอร์เน็ต ได้มาแล้วก็ยังอ่านยาก เจ้าหน้าที่ทดสอบ (ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี) อ่านเท่าไรก็ยังไม่เข้าใจ ต้องโทรไปถามฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัท แถมต้องชาร์จบ่อย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำจะทำอย่างไร แต่ถึงจะจำได้ก็ชาร์จยากอยู่ดี ซ้ำร้ายบางรุ่นสัญญาณจะขาดหายเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บนยานพาหนะ เช่น รถเมล์ รถไฟ บ้างก็ไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อผู้สวมใส่อยู่นอกเขตที่โปรแกรมไว้ สรุปว่าผู้ผลิตต้องปรับปรุงด่วน อุปกรณ์เหล่านี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้ก็ต่อเมื่อมันทำงานได้จริง Kogan First ทำเนียนเก็บค่าสมาชิก         การซื้อของออนไลน์ เหมือนการเดินฝ่าดงกับระเบิด หูตาต้องไว บางครั้งอาจไม่ใช่การกด “เลือก” แต่เราต้องมีสติและกด “ไม่เลือก” ไม่เช่นนั้นอาจถูกหักเงินในบัญชีบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว         ผู้ที่ซื้อของกับร้านออนไลน์ของ Kogan หรือ Dick Smith จะเห็นตัวเลือก “ฟรีช้อปปิ้ง” ที่หน้าเช็คเอาท์ มีเครื่องหมายเหมือนถูกกดเลือกไว้แล้ว พวกเขาก็เข้าใจไปว่ามันฟรีตามนั้น แต่มองไม่เห็นตัวหนังสือเล็กๆ ที่แจ้งข้อความทำนองว่า “คุณได้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการของเรา และสามารถใช้ได้ฟรีเป็นเวลาสองสัปดาห์ หากพ้นกำหนดแล้วคุณจะถูกหักเงิน 99 เหรียญ”         CHOICE ทอลองให้ผู้ใช้ 19 คน ลองเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าว และพบว่ามีถึง 9 คนที่ “พลาด” สมัครใช้บริการโดยไม่รู้ตัวว่าอีกสองอาทิตย์จะถูกหักเงิน         ปัจจุบันออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายที่จะสกัดพฤติกรรมแบบนี้ของผู้ประกอบการ ในขณะที่ยุโรป อเมริกาและสิงคโปร์มีแล้ว   Xbox Mini Fridge ตู้เย็นอะไร แช่แล้วไม่เย็น         เครื่องใช้ไฟฟ้านี้เป็นผลงานที่ Microsoft กับ Ukonic ร่วมกันพัฒนาเพื่อตอบโต้เรื่องล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเกมคอนโซล Xbox Series X หน้าตาเหมือนตู้เย็นไม่มีผิด         ไหนๆ ถูกล้อแล้วก็ทำตู้เย็นไปเลย แต่ปัญหาคือมันแช่แล้วไม่เย็นนี่สิ         การทดสอบของ CHOICE ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ 32 องศา พบว่าตู้นี้ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงกว่าจะทำให้เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง 8 กระป๋อง มีอุณหภูมิ 21 องศา (น้ำเปิดจากก๊อกยังเย็นกว่า) แถมยังกินไฟมากด้วย ถ้าเสียบปลั๊กไว้ทั้งวันทั้งคืนจะกินไฟประมาณ 376 kWh ต่อปี ไม่ต่างกับตู้เย็นขนาด 500 ลิตร ที่ทำความเย็นได้จริงๆ เลย เสียชื่อไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้นำด้านการลดการใช้พลังงานของวิดีโอเกม         CHOICE สรุปว่ามันไม่ใช่ตู้เย็น มันเป็นแค่ตู้เก็บความเย็นที่มีความจุ 10 ลิตร เราต้องนำของไปแช่ในตู้เย็นจริงๆ ก่อนแล้วค่อยเอามาใส่ แถมยังแช่เครื่องดื่มได้น้อยกว่าที่ออกแบบและโฆษณาไว้ เพราะกระป๋องเครื่องดื่มในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่าในอเมริกา เลยใส่ได้แค่ 8 กระป๋อง แทนที่จะเป็น 12

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 คนนครนายกไม่ต้องการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

        หาก สวนลุมพินีคือพื้นที่ปอดของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนทั้งประเทศได้พักผ่อน เชื่อว่าหลายคนย่อมคิดถึง จังหวัดนครนายก ที่มีทั้งน้ำตกและภูเขา แต่ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้กำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ตั้ง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ตั้งแต่ปี 2536  แม้ประชาชนในพื้นที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีการทุจริตจนชะงักลง แต่ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยกลับมาดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มขนาดจาก 10 เป็น 20 เมกะวัตต์โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนยังคงเดินหน้า คัดค้านอย่างหนัก เช่นเดิม         ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ที่เริ่มรณรงค์ เคลื่อนไหวเพื่อยุติโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน    คุณหมอเริ่มคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มาตั้งแต่ตอนไหน        ไม่ได้เริ่มคัดค้านแต่แรก  โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เริ่มเลยมีมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชาย ปี 2531-2533 เขาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง เขตชุมชนไม่ควรจะอยู่แบบนี้ควรเอาออกจากเขตชุมชน เขาเลยจะหาที่ใหม่ ต่อมาปี 2536 รัฐบาลอนุมัติโครงการฯ เราในพื้นที่ นักวิชาการต่างๆ ก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วโครงการฯ ก็มีการทุจริต จนมีคดีความ ก็ชะงักไป  ในช่วงปี 2549  จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการฯ นี้ก็ถูกนำกลับมาอีก  ผมเข้าไปคัดค้านอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2556 ตอนนั้นยังเป็นขนาด 10เมกะวัตต์  แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น 20 เมกกะวัตต์  ในช่วงปี 2560         เขามีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 เลย ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจัดที่ไหน ครั้งที่ 1 คือผ่านหลักการไปแล้วเรียบร้อย ว่า โอเค ยอมรับให้ไปทำประชาพิจารณ์ต่อในวาระ 2 และ 3 เขาให้กำนันผู้ใหญ่บ้านพาชาวบาน ทั้งหมดเกือบ 600 คน มีการให้เงินคนละ 200 บา เขาบอกว่ามันคือค่าเดินทาง ปกติเราไม่จ่ายเงินในการประชาพิจารณ์ มันคือผิดกฎหมายนะ เพราะหลักการของประชาพิจารณ์ต้องอิสระ เสรี  แล้วต้องแจ้งล่วงหน้า  เหตุผลที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เลือกพื้นที่จังหวัดนครนายก เพราะอะไร         ผมยังไม่ทราบเลย ถามเขาก็ไม่มีคำตอบ คือพื้นที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไร ปกติการจะเลือกพื้นที่มันจะต้องมีการสำรวจก่อนเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ไหนเหมาะสมบ้าง มีกี่แห่ง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาเลือกว่าสุดท้ายจะเลือกที่ไหน เอกสารนี้เราขอเขาไปนานมาก ไม่เคยได้เลย อยู่ๆ มาบอกว่าจะทำที่องครักษ์เลย มันผิดขั้นตอนขององค์การระหว่างประเทศในการคัดเลือกสถานที่ที่จะตั้งนิวเคลียร์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่         คือการเลือกพื้นที่ เขาตัดสินใจมาตั้งแต่ปี 2533 ผ่านมา 33 ปีแล้ว เอกสารขอไปเราก็ไม่เคยมีให้ชาวบ้านได้ดูเลยทั้งที่ข้อมูลนำมาวางเลยสิ่งเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่างๆ ได้ และการกำหนดพื้นที่ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่เดิมยุทธศาสตร์จังหวัดนครนายกเป็นเมืองไข่แดงที่รอบด้าน ล้อมด้วยจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหมดแล้ว ทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กทม.  อยุธยา ลพบุรี เหลือแต่จังหวัดนครนายกที่ยังไม่มีอุตสาหกรรม ในปี 2558 เราก็ต่อต้านคัดค้านผังเมืองอุตสาหกรรมไปซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่อยู่ๆ คุณจะมาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผมว่ามันข้ามขั้นเกินไปมากๆ เลยกับพื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนี้    เรื่องนิวเคลียร์ หลายประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว และเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายแห่งเช่นเดียวกัน หากมีการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือโครงการมีการทุจริตแบบนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบไหม         มี ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อคือ IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศนะ เราก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าการจะทำอะไร ต้องใช้แนวทางสากล เขาก็บอกว่าเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ใช่กฎหมายไทย ผมมองดูเขาไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มากทั้งที่ควรจะซีเรียส เหมือนกันเวลาที่เราจะปกป้องพื้นที่ เพราะเราบอกว่า ทั่วโลกเขายกให้เป็นพื้นที่ มรดกโลกนะ ไม่ควรสร้างเขื่อน เขาบอกว่า มรดกโลกไม่ใช่กฎหมาย เป็นแบบนั้น ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีความคืบหน้าอย่างไรหลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา      ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน คือวันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 เรากับชาวบ้านก็คัดค้าน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ขัด ทั้งที่เราถามเขาไปหลายเรื่องแต่ไม่ได้คำตอบเลย อย่างแรกเลยคือพื้นที่จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไรยังไม่มีคำตอบ สอง พื้นที่ตั้งของโครงการฯอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำนครนายก  อาจห่างไม่ถึงกิโลด้วย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมามีโอกาสที่จะรั่วไหลลงแม่น้ำได้ ด้วยสภาพความเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง เตาซีเมนต์ เหมือนตุ่มใบหนึ่งหากตั้งแล้วโคลงเคลงก็แตกได้แล้วเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง  การปนเปื้อนจะกระจายลงแม่น้ำนครนายก ลงบางประกง คลองรังสิต เข้า กทม. ปทุมธานี เจ้าพระยาได้เลย นอกจากนี้โครงการฯ ยังอยู่ติดชุมชน ตลาดสดองครักษ์ พอเราคัดค้านเรื่องนี้ เขาเลยประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ไป ซึ่งในต่างประเทศเขาดูผลกระทบกว้างมาก เป็นระยะรัศมี 5 กิโลเมตรเลย ซึ่งในพื้นที่ของโครงการฯ ในระยะ 5 กิโลเมตรของเรา เราจะมีโรงพยาบาล มศว. มีคนไข้วันหนึ่งราว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษา มศว. 10,000 คนขึ้นไปชุมชนรอบนั้นมีวิทยาลัยกีฬา มีวิทยาลัยการอาชีพ บ้านพักผู้สูงอายุ เดี๋ยวเรือนจำไปตั้งอีก ผมคิดว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่โครงการฯ จะมาตั้งหากมีสารเคมีรั่วกระจายลงแม่น้ำนครนายก ปลาของชาวบ้านจะกิน หรือจะขายได้ไหม ความมั่นคงในอาหาร เราจะเสียไปทันที         อีกความเคลื่อนไหว คือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปดูงานนิวเคลียร์ของเขา เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้เข้าด้วย พอไปดูแล้ว ผมมองว่ายังไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลย  ชื่อโครงการเต็มๆ ว่า โครงการจัดตั้ง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  จริงๆ ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ไหม         คือรังสีมีประโยชน์ เราใช้ทั้งในการแพทย์ วินิจฉัยโรค ใช้รักษาโรคมะเร็ง อันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอัญมณี ใช้วิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร ทำให้พืชพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่แบบนี้ครับ ประเด็นเลย คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราพอบอกว่า อยากได้รังสีนิวเคลียร์ก็คิดถึงเตานิวเคลียร์ อยากได้น้ำก็นึกถึงเขื่อน เป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้น จริงๆ ต้องบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์มันถูกสร้างได้หลายแบบ หลายวิธี และเราไม่ต้องสร้างเองทั้งหมด หากเราสร้างสารได้ 5 ตัว เราสามารถใช้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทั้งหมด ทุกตัว         ประเด็นต่อมาคือ เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงต้องการตัวไหน เพราะอะไร ความต้องการมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญที่จุฬาประเมินเมื่อ 5- 6ปี แล้วเขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำนะ เราจะสูญเสีย โอกาสปีละเป็นพันล้าน รายงานการประเมินตัวนี้เราไม่เคยได้เห็น จนเมื่อร้องเรียนอย่างหนัก เขาเลยปล่อยรายงานหลายร้อยหน้าให้ชาวบ้านได้ดูเมื่อใกล้จะจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เราได้ทราบเลย ทั้งที่เขาเพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ จนถึงวันนี้ครบ 3 เดือน หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว  คุณหมอจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร            ผมส่งเสียงตลอด ในทุกเวที ทุกสื่อที่มีโอกาส  แล้วเมื่อเขาทำหนังสือตอบเรามาว่าเขาทำตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการก็ยังไม่ได้ยุติ ตอนนี้หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10 ก.ย. จะครบ 3 เดือน ยังไม่มี ความชัดเจนเลย เราอาจจะทำจดหมายซักถามและคัดค้านจดหมายที่เขาตอบกลับเรามา   อยากฝากอะไรกับสังคมบ้าง          หนึ่งนะครับ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งบประมาณเกือบกว่า 2 หมื่นล้าน เป็นเงินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ตอนนี้ประเทศของเรายากจน งบขัดสนการจะนำเงินไปใช้ต้องมีความหมายต่อเวลานี้อย่างมาก สอง โครงการควรสร้างความกระจ่างเรื่องการทุจริตก่อน ตอนนี้ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ยังฟ้องร้องกันอยู่  โครงการของรัฐใหญ่ๆ ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น มีที่มา ที่ไปชัดเจน และให้ทุกคนได้รับรู้ อะไรที่มันไม่ชัดเจนแบบนี้ ไม่มีที่มา ที่ไป มันคือการใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า  และปัญหาใหญ่สุดคือการทิ้งกากนิวเคลียร์อายุร้อยปี พันปี หมื่นปี ทิ้งไว้บนฝั่งแม่น้ำนครนายกของเรา เพราะย้ายไม่ได้ ทุบไม่ได้ หนีไม่ได้  ผมมองว่า จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มาพักผ่อนได้ เป็นสวนหย่อมของประเทศแห่งหนึ่งเลย จึงอยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันจับตาโครงการฯ นี้ และเอาความจริงให้กับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 อ่านหนังสือผ่านแอปพลิเคชันลัดกับ “สรุปให้อ่าน”

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ของทุกคนตั้งแต่เกิด ควบคู่ไปกับการสะสมจากการเรียนรู้และจากการสั่งสอนจากบุคคลรอบข้าง จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของงานหนังสืออย่างมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในปี 2562 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 888 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 937,877 คน ยอดขายอยู่ที่ 250,301,842 บาท ในปี 2563 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 746 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 556,053 คน ยอดขายอยู่ที่ 192,005,641 บาท ในปี 2564 จัดในรูปแบบออนไลน์ และในปี 2565 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ มีบูทหนังสือ 819 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,355,893 คน ยอดขายอยู่ที่ 347,331,734 บาท         จากข้อมูลสถิติจะเห็นได้ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงและยังคงชื่นชอบการอ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่ได้ชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีเวลา หรือกลุ่มคนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ แต่ใจรักที่จะเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ลองมาดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “สรุปให้อ่าน” นี้กันดู         แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ โดยตั้งใจทำให้การอ่านหนังสือหนึ่งเล่มเป็นเรื่องง่าย นำความรู้ในแต่ละเล่มมาย่อยในรูปแบบง่ายๆ สรุปเรื่องน่ารู้ให้อยู่ในกระดาษหนึ่งใบ เพื่อประหยัดเวลา แต่ยังได้ข้อมูลความรู้ได้อัดแน่น จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบอ่านสรุป ซึ่งเป็นการสรุปหนังสือด้วยภาพที่เข้าใจง่าย อ่านจบใน 8 นาทีต่อเล่ม และแบบฟังผ่าน Podcast ซึ่งสรุปสาระสำคัญของหนังสือผ่านเสียง ฟังจบใน 8 นาทีต่อเล่ม         เมื่อดาวน์โหลดมาไว้บนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว ขั้นแรกให้สมัครสมาชิกโดยใช้อีเมล เมื่อเข้าไปภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนู 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าหลัก หมวดหมู่ หมวดคอร์ส หมวดชั้นหนังสือ และหมวดบัญชี ซึ่งแต่ละหมวดมีรายละเอียดดังนี้ หมวดหน้าหลัก จะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในแต่ละสัปดาห์ หมวดหมู่ จะแบ่งหมวดหมู่หนังสือเพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจ ซึ่งมีอยู่ 10 หมวด ได้แก่ หมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หมวดการศึกษา หมวดการเงินการลงทุน หมวดวิทยาการและเทคโนโลยี หมวดอัตชีวประวัติและชีวประวัติ หมวดอาหารและสุขภาพ หมวดความรู้ทั่วไป หมวดแม่และเด็ก หมวดบริหารและการตลาด และหมวด HOW TO ส่วนหมวดคอร์ส จะเป็นการเรียนออนไลน์ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น และหมวดชั้นหนังสือ จะเป็นส่วนที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกหนังสือที่สนใจเข้าชั้นหนังสือส่วนตัว         ในรายละเอียดของหนังสือหนึ่งเล่ม จะบอกถึงชื่อนักเขียน สำนักพิมพ์ จำนวนผู้อ่าน ชื่อผู้สรุป ข้อมูลสรุปที่นำเสนอเป็นอินโฟกราฟฟิก ในกรณีที่หนังสือเล่มนั้นมี Podcast ก็จะปรากฎสัญลักษณ์ Play ให้เป็นตัวเลือกเพิ่มเติม เมื่อผู้อ่านรู้สึกชื่นชอบหนังสือเล่มใด ให้กดสัญลักษณ์รูปหัวใจที่อยู่ด้านขวามือ หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะบันทึกหนังสือเล่มนั้นไปวางไว้บนหมวดชั้นหนังสือในเมนูหนังสือที่ชื่นชอบทันที         เมื่อหลายคน ไม่มีเวลาอ่าน อ่านไม่เคยจบ อ่านไม่เข้าใจ ฯลฯ แต่อยากได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)

        ปัจจุบันเราจะพบว่า ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สัญญาที่ตนเขียนขึ้นมาฝ่ายเดียวและมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่พบเจอบ่อยๆ คือ เรื่องของการริบเงินมัดจำ ซึ่งแน่นอนว่ามัดจำเป็นเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจริบได้ หากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญา อย่างไรก็ตามเราจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี จึงมีประเด็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด  ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563          คำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง  ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2551   เอกสารหมาย  จ.13  ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  มาตรา  35  ทวิ  จึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ความตามข้อ  3  (4)  ของประกาศกำหนดว่า  “ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า  ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม  (2)” ความตามข้อ  3  (2)  กำหนดว่า  “กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์”  ความตามข้อ  3  (5)  กำหนดว่า  “เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม  (3)  หรือ  (4)  แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน  15  วัน”  และความตาม  ข้อ  4  กำหนดว่า  “ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้  ...(2)  ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ  ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์  ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา...” ดังนี้          การวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จึงต้องพิจารณาว่า  เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาหรือไม่         เมื่อได้ความว่าขณะสั่งจองรถยนต์นาย  ศ. ทราบดีว่า  จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนพิเศษต่างหากจากรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่จำเลยต้องเสียไปในการสั่งรถยนต์นำเข้ามาให้แก่นาย  ศ. เป็นการเฉพาะ  และทราบดีถึงการที่จำเลยไม่อาจจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการทั่วไปในท้องตลาดได้ดังเช่นรถยนต์รุ่นปกติ  แต่นาย ศ. ก็ยังยืนยันประสงค์จะให้จำเลยสั่งรถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษเช่นนั้นจากผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาเพื่อความประสงค์ของตนเป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยนาย ศ. ยินยอมตกลงกับจำเลยในเงื่อนไขไม่ต้องคืนเงินจองให้ไม่ว่ากรณีใด  ซึ่งหมายความว่า  ในกรณีการซื้อขายไม่เกิดขึ้น  นาย ศ. ยินดีให้จำเลยริบเงินจองนั้นได้         เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้  ความเข้าใจ  สถานะของนาย  ศ. ที่เป็นกรรมการของบริษัทจำกัด  ตลอดจนอำนาจต่อรองและทางเลือกอย่างอื่นรวมทั้งทางได้เสียทุกอย่างของทั้งสองฝ่าย  ประกอบปกติประเพณีของการทำสัญญาจองรถยนต์กับโอกาสที่นาย  ศ.  มีในการไตร่ตรองทบทวนข้อตกลงไม่คืนเงิน  เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาของนาย  ศ.  แล้ว  เห็นว่า  หากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยก็ดีหรือด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ก็ดี  ย่อมเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่จำเลยต้องรับผิดชอบและจำเลยจะแสวงประโยชน์จากข้อตกลงให้ริบเงินนั้นมิได้  เพราะมิได้เกิดแต่การกระทำของนาย  ศ. อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น...อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ฉบับ 274   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 แท็บเล็ต 2023

กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบอุปกรณ์แท็บเล็ตที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้ในปีนี้  คราวนี้มีรุ่นที่ขนาดใหญ่กว่า 9 นิ้ว มานำเสนอให้เลือกกัน 18 รุ่น ในสนนราคาตั้งแต่ประมาณ 7,000 ถึง 50,000 บาท สัดส่วนของการให้คะแนนยังคงเหมือนเดิมคือ-         ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 22.5 จากการทดสอบใช้ขณะวางบนโต๊ะ บนตัก หรือถือด้วยมือข้างเดียว รวมถึงการใช้ปุ่มปิดเปิดต่างๆ สั่งงานผ่านหน้าจอแบบสัมผัส คีย์บอร์ด และการใช้งานหลายโปรแกรมพร้อมกัน เป็นต้น-         ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ร้อยละ 22.5เช่น การใช้เพื่อดูหนัง ฟังเพลง ใช้วิดีโอคอล ถ่ายภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว รวมถึงความยากง่ายในการมองเห็นข้อความบนหน้าจอในสภาพแสงที่แตกต่างกัน-         หน้าจอ ร้อยละ 15-         แบตเตอรี ร้อยละ 15-         ตัวอุปกรณ์ ร้อยละ 10 ขนาดเครื่อง หน่วยความจำ ช่องรองรับการเชื่อมต่อ และความสะดวกในการพกพา-         การใช้งานทั่วไป ร้อยละ 7.5เช่น ความเร็วในการรับส่งไฟล์ และการเชื่อมต่อผ่าน wifi -         ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ร้อยละ 7.5 นอกจากนี้เราขอนำเสนอผลคะแนนเปรียบเทียบความปลอดภัยและการแบคอัปข้อมูลไว้ด้วย แม้จะยังไม่ได้นำมาคิดในคะแนนรวม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 272 BKK Rail รวมเส้นทางรถไฟฟ้า

        ระบบสาธารณูปโภค ด้านการให้บริการการเดินรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2542 เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งระบบรถสาธารณะประเภทรถไฟฟ้า ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก จนแทบจะไม่รู้จักการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกันแล้ว        เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในรูปแบบรถไฟฟ้านั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคุ้นเคยต่อการเดินทางในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าจะคุ้นเคยกับทุกเส้นทาง รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่แทบจะไม่มีความคุ้นเคยกับการเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเลย ดังนั้นฉบับนี้ขอเอาใจทุกคนที่ยังสับสนกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกรูปแบบ          เพียงกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BKK Rail ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android บนสมาร์ทโฟนได้เลย         การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก มีให้เลือกเส้นทางรถไฟทั้งหมด 9 สี 9 สาย ได้แก่ สายที่ 1 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) เดินทางจากสถานีคูคตไปสถานีเคหะฯ สายที่ 2 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) เดินทางจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีบางหว้า สายที่ 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีบางแค และสถานีบางซื่อไปสถานีท่าพระ สายที่ 4 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เดินทางจากสถานีเตาปูนไปสถานีคลองบางไผ่ สายที่ 5 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงเข้ม เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อไปสถานีรังสิต สายที่ 6 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน สายที่ 7 รถไฟฟ้าสายสีทอง เดินทางจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน สายที่ 8 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL เดินทางจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ และสายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือ YL เดินทางจากสถานีลาดพร้าวไปสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู เดินทางจากสถานีแครายไปสถานีมีนบุรี         เมื่อกดเลือกเส้นทางรถไฟจากทั้งหมด 9 สี 9 สายแล้ว แอปพลิเคชันจะปรากฎสถานีทั้งหมดของสายรถไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกสถานีที่ต้องการ โดยจะแสดงช่วงตารางเวลาที่รถไฟฟ้าจะเดินทางมาถึงสถานี พร้อมกับรายละเอียดสิ่งอำนาวยความสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถกดเชื่อมต่อไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานีนั้นได้อีกด้วย         อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จะเป็นการค้นหาข้อมูลของเส้นทางเดินทาง โดยเลือกสถานีจุดเริ่มต้น และสถานีจุดหมายปลายทางที่จะไป เพียงเท่านี้แอปฯ ก็จะแนะนำเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดให้ผู้ใช้เลือก แถมยังคำนวณเวลาที่ใช้เดินทาง ราคาค่าโดยสาร และจำนวนสถานีเพิ่มเติม         เมื่อเดินทางไปไหนไม่ถูก ลองเปิดใช้แอปพลิเคชัน BKK Rail ที่ได้รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สี 9 สายมาไว้ที่เดียวกันดู แล้วจะรู้ว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยให้กับนักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางได้มากเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 272 ภัยการเงินในเด็กและเยาวชน

        กลางปีที่ผ่านมา  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยข้อมูลภาพรวมการทำงานรับเรื่องร้องเรียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบปัญหาผู้บริโภคอันดับต้นๆ คือถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ และที่น่าวิตกอย่างมาก คือมีเยาวชนจำนวนมากถูกหลอกให้ทำธุรกรรมด้านการเงินมากขึ้นและมากขึ้น  อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้เรายังได้เห็นข่าวเด็กและเยาวชนถูกหลอกให้ซื้อโทรศัพท์แต่ไม่ได้ของทั้งยังไม่ได้เงินคืน  หรือหลายคนถูกหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิตลง นับเป็นสถานการณ์ที่น่าสะเทือนใจของสังคม         รู้หรือไม่ว่า ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก         ในประเทศไทยข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566) จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท โดยภัยการเงินทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้วใน 7 กลุ่มประเภทคือ หลักๆ คือ 1.ซื้อของออนไลน์ จากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ไม่รู้จัก   2.หลอกยืมเงิน คนร้ายแฮกข้อมูลจากคนใกล้ตัวของเรา 3.หลอกจะให้ทำงาน  4.หลอกให้โอนเงิน / ลงทุน  5. หลอกให้จ่ายภาษี  6. หลอกให้ผ่อนสินค้าแทน 7. โรแมนส์ สแกม         ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งซับซ้อนและแพร่ระบาด เมื่อลงไปในกลุ่มเปราะบางคือ เด็กและเยาวชน สำรวจภัยการเงินที่เข้าหาเยาวชนผ่านเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ข้อมูลเฉพาะในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนภัยทางเงินออน์ไลน์ที่เข้ามาหาเยาวชนหลากหลายลักษณะ มีตัวอย่างดังนี้           กรณีที่ 1 เด็กอายุ 12 ปีถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคา กว่า 60,000 บาท         เรื่องราวของคุณเบญจวรรณ ที่ลูกสาวอายุ 12 ปี เห็นสื่อโฆษณาให้ผ่อนมือถือ ราคา 60,000 บาท ใน Instragram และหลงเชื่อโอนเงินไปให้หลายครั้ง  โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ปรึกษาพ่อแม่ ต่อเมื่อพ่อแม่ได้รู้ขอคืนเงินกับทางร้านและไม่ยอมคืนเงิน จนคุณเบญจวรรณขู่จะดำเนินคดีจึงได้เงินคืนในที่สุด          กรณีที่ 2 โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!         นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ที่ต้องการหารายได้เมื่อห็นข้อความโฆษณาว่า “เงินเดือนหลักหมื่น! เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ จึงหลงเชื่อและสมัครแต่กลับถูกหลอกให้ไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน จึงจะได้รับการพิจารณารับเป็นพนักงาน โดยมิจฉาชีพได้พาน้องนักศึกษาไปถึงศูนย์บริการและหลบหายไป เมื่อนักศึกษาเปิดซิมโทรศัพท์ได้ทั้ง 3 เบอร์โทรศัพท์แล้วจึงกลับมา 3 เดือนต่อมา นักศึกษาคนดังกล่าวถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก 3 ค่าย มือถือรวมกับค่าปรับเป็นเงินกว่า 2 หมื่น ทำให้นักศึกษา และคุณแม่เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะถูกหลอก ไม่ได้ทำงานและยังเสียเงินอีกด้วย           กรณีที่ 3 ขายตรง ขายฝัน ลวงเด็ก         เมื่อนักศึกษาหญิงวัย 17 ปี อยากมีรายได้และได้รับการชักชวน จาก UP LINE ของบริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่สัญชาติตะวันตกรายหนึ่ง ( ไม่ใช่ แชร์ลูกโซ่ ) จึงขอเงินจากคุณพ่อเพื่อสมัครสมาชิก 1,500 บาทและได้รับคำแนะนำจากพ่อขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากกา ยาสีฟัน ต่อมาผู้เป็นพ่อได้รับโทรศัพท์และรู้ว่าลูกสาวไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อคอร์สดดูแลสุขภาพของบริษัทขายตรงดีงกล่าวราคา 15,000 บาทเพราะถูกชักชวนว่าหากไม่เคยทดลองใช้บริการเองจะขายสินค้าและบริการของบริษัทไม่ได้   นักศึกษาจึงไปกู้เงินในกลุ่มทวิตเตอร์ ที่เด็กๆ ปล่อยเงินกู้กันเองแต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยราคาแพง จากนั้นยังถูกชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ สุดท้ายเป็นวังวนที่ไม่สามารถปิดหนี้กับบริษัทขายตรงได้  และทำให้มีหนี้สินรวมกว่า 5 หมื่นบาท  สาเหตุที่เราถูกหลอกและเยาวชนคือเหยื่อที่กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ         ทำไมมิจฉาชีพจึงหลอกเราได้ ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ เพราะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ทำให้หลงเชื่อได้คือ          1.เทคโนโลยี ปัจจุบันสามารถ ปลอมเบอร์ ปลอมเอกสาร เปลี่ยนชื่อผู้ส่งให้ปลายทางเห็นว่าเป็นหน่วยงานใดก็ได้  หลายเรื่องประชาชนยังไม่ทราบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ เมื่อไม่มีความรู้จึงหลงเชื่อ         2. มีการซื้อขายข้อมูลกันจริงในประเทศไทย และยังมีข้อมูลรั่วไหล         3.มิจฉาชีพใช้จิตวิทยาสร้างความน่าเชื่อถือ โน้มน้าวและกดดัน ทำให้รีบตัดสินใจ         4. คนไทยยังขาดวินัยทักษะทางการเงินที่ดี  มีหนี้สินครัวเรือนสูง         การตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์จึงเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อนเกิดจากหลายปัจจัยและเมื่อมิจฉาชีพเจาะกลุ่มลงมาที่กลุ่มเยาวชน ปัญหาจึงยิ่งบานปลาย          สพลดนัย  พระธรรมมัง  อายุ 17  ปี เลขานุการสภาเด็กและเยาวชน  จังหวัดชลบุรี  กล่าวว่า         “ผมเกิดมาในยุคที่มีโซเชียล มีอินเตอร์เน็ตแล้ว เราโตมากับสิ่งนี้ เราไม่มีความเข้าใจเปรียบเทียบว่าก่อนหน้านี้มีความปลอดภัยที่มากกว่านี้อย่างไร ซึ่งเราจะเน้นติดต่อกันทางโซเชียลตลอดและอาจจะทำให้พวกเราคิดว่าโลกโซเชียลที่เราใช้อยู่ปลอดภัยและเวลาที่เราคิดจาทำอะไรสักอย่าง  ด้วยความเป็นเด็ก เราอาจจะไตร่ตรองไม่ได้มากพอ  สิ่งที่เราทำไป เราคิดว่าไม่ได้มีผลต่อเรามากขนาดนั้น จนอาจเกิดเหตุการณ์  ผลกระทบกับเราไปแล้ว เราถึงรู้ทีหลังว่าไม่ทันแล้ว  ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยกล้าปรึกษาผู้ใหญ่ เพราะกลัวการถูกต่อว่า”           ในปี 2565  กรมกิจการเด็กและเยาวชนเผยว่า เด็กไทยร้อยละ 81  มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ร้อยละ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40% ประกอบกับมิจฉาชีพเข้าหาเยาวชนด้วยการโน้มน้าว เชิญชวนให้เล่นพนัน ฝากเงินได้แม้ในจำนวนไม่มากเพียงหลัก 30 – 50 บาท ก็สามารถทำได้ ทำให้เยาวชนอาจประมาทหลงเข้าไปทำธุรกรรมแต่กลับทำให้ถูกดูดข้อมูล ข่มขู่ได้         ปัจจุบันพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ในระบบธนาคารแล้วจำนวนมากถึง 200,000 - 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี และยังพบรายชื่อผู้เข้าข่ายบัญชีม้าเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ         นี่จึงเป็นองค์ประกอบที่พร้อมให้ภัยการเงินทางออนไลน์ยิ่งระบาด เมื่อเด็ก เยาวชนไทยส่วนใหญ่มีเครื่องมือการสื่อสารแล้วแต่กลับแวดล้อมด้วยมิจฉาชีพให้เข้าถึงได้ทุกเมื่อ และเมื่อถูกหลอกแล้วก็ยากแสนยากที่จะได้ทรัพย์สินที่สูญหายไป กลับคืนมา  เราจะดูแลเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากภัยการเงินออนไลน์ได้อย่างไร         คุณเบญจวรรณ ดำรงกิจการ  แม่ของเด็กหญิงวัย 12 ปีที่ได้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หลังจากบุตรสาวได้ถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคากว่า 60,000 บาท เมื่อคุณเบญจวรรณทราบเรื่องและได้คำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและยืนยันจะดำเนินคดีกับมิจฉาชีพให้ถึงที่สุด สุดท้ายจึงได้รับเงินคืนเล่าว่า         “ลูกสาวน่าจะเห็นโฆษณาให้ผ่อนมือถือจากใน IG  เลยกดเข้าไป เขายังไม่มีบัญชีธนาคาร  แต่มีบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ทจึงโอนผ่อนจากตรงนั้น โทรศัพท์ราคา 60,000 บาท ลูกเราอยากได้ บอกกับทางร้านว่าพ่อแม่อนุญาตแล้ว แล้วเขาผ่อน 5 บาท บ้าง 100 บาทบ้าง ครั้งที่โอนเยอะที่สุด คือ 500 บาท ทางร้านก็บอกว่า ผ่อนมากน้อยไม่เป็นไร ขอให้โอนมาเรื่อยๆ พอเรารู้เราถามลูกว่า หนูลองคำนวณดูสิ  หนูผ่อนเท่านี้ อีกกี่ปีจะได้มือถือ คิดแล้ว 10 ปีแต่เด็กเขาอยากได้ เขายังเชื่อก็บอกเราว่า ‘แต่ร้านบอกว่า ถึงเวลานั้นหนูก็เปลี่ยนเครื่องได้นะแม่’  คือความไร้เดียงสาของเด็ก เขาไม่ได้คิดรอบคอบ ไม่ได้มองไปไกลๆ ได้”         “เรารู้ว่าลูกแอบผ่อนมือถือ เพราะเราแอบดูมือถือเขา เวลาที่เขาหลับ การที่ลูกมีโทรศัพท์มือถือไม่ได้หมายความว่า  เราจะไม่สามารถรู้เรื่องของเขาได้ เราตกลงกับลูกเลยว่า ตราบใดที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราจำเป็นต้องมีรหัสเข้าดูมือถือเขา พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น เราเอามาเป็นโอกาสที่เอาข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแชร์กับลูก ว่ามีความจำเป็นอะไรที่แม่ต้องเข้าไปดู เราคิดว่าพ่อแม่ปัจจุบันต้องใส่ใจในทุกสิ่ง แล้วต้องมีวิธีการในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกว่า เราไม่ได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของลูกนะ แต่มีความจำเป็นว่าถ้าเราปล่อยให้เขาตัดสินใจโดยที่เราไม่รับรู้ด้วยที่เขายังไม่บรรลุนิติภาวะจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง”         ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยว่า  การที่เด็กและเยาวชนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ เด็กและเยาวชนยังมีพัฒนาการทางสมองด้านอารมณ์ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีความสามารถในการ เข้าใจ วางแผน การคาดคะเนเหตุการณ์ได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ สมองส่วนอารมณ์ของเขายังหุนหัน พลันแล่น เป็นช่วงชีวิตที่จะเจ้าอารมณ์ ส่งผลให้เมื่อโดนหลอก มีปัญหาชีวิตเขาอาจจะจัดการได้ไม่เหมาะสม ทำร้ายตัวเองและหลายรายจบชีวิตตัวเองแบบที่ได้เห็นตามข่าว         “ ส่วนปัจจัยภายนอก คือมิจฉาชีพที่เขาเข้ามาหลอก ต้องยอมรับว่าเขาก็พัฒนา วิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็อยู่ในสังคมที่มีการซื้อขายข้อมูลด้วย  ถ้าใครมาพูดถึงข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราไม่เคยบอกใคร เขาก็ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาแล้ว คือไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเดินให้เขาหลอก การถูกหลอกจึงเกิดขึ้นได้เพราะมีหลายปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่อาจบอกได้ง่ายๆ ว่าเพราะเธอโง่หรือไม่ฉลาด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถนำมาบูลลี่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่หรือหมอ ก็ถูกหลอกได้หมด เราก็เห็นมาแล้ว”         ธนกฤษ ชี้ชวนให้เห็นว่า ความสำคัญคือการรับมือหลังจากเมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วว่าครอบครัวสามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้พราะสุดท้าย ด้วยความเป็นเด็กย่อมต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือ         “ บางครอบครัวบอกว่า มีอะไรมาบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่องนะ แต่พอมาเล่าแล้วโดนว่า “ทำไมถึงทำอย่างนั้น” “ไม่ฉลาดเลย” เด็กก็ได้รับ Feedback ที่ไม่ดีไป เขาก็เกิดการเรียนรู้ว่ามาปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้นะ บางบ้านพ่อแม่อาจจะบอกตลอดว่า “ระวังนะ มันมาหลอก อย่าไปหลงเชื่อนะ” แต่วันนึงเมื่อตกเป็นเหยื่อ เขาเลยอาจจะคิดว่า เออ เรามันโง่จริงๆ แหละ พ่อแม่เตือนแล้วเด็กเขาดีลกับความกังวลได้ไม่นาน ก็จะเครียด จะเศร้า สุดท้าย อ่ะ ตายดีกว่าไหมล่ะ ตัวเองมองแล้วมันแก้ไขปัญหาไม่ได้ไง”         “การเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหลานในครอบครัวของเราได้ ซึ่งในทางจิตวิทยาจะบอกว่าสัมพันธภาพของเรากับเขาดี พอดีแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ประตูในการแก้ไขปัญหาเรามีมาก ที่เรามักจะได้ยินว่า เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน ไม่ตัดสิน ไม่วิพาก์วิจารณ์หรือตำหนิ อาจเป็นเรื่องที่ยังยากสำหรับบางครอบครัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกเพื่อดูแลลูกหลานของเราเอง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ถ้าปัญหายังไม่เกิดกับคุณ ลองถามตัวเองว่าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น แล้วเราโกรธไหม เราโกรธแล้วเราทำอะไร เรายังอยากจะรับฟังปัญหา ความรู้สึกของลูกไหม เพราะการรับฟังจริงๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว เราต้องสำรวจความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วเราต้องปรับความคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครผิด ใครถูกที่แท้จริง คนเป็นพ่อแม่ต้องกลับมาศึกษาอารมณ์ ความคิดของตัวเองว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เราจะถามลูกว่า “ ทำไมลูกถึงมีปัญหา  ทำไม”  “ลูกไม่ได้คิดเหรอ” หรือเลือกจะรับฟังอย่างตั้งใจ แค่นี้เราก็ตอบได้แล้วว่าเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้น  ส่วนการตรวจเช็คโทรศัพท์ ผมคงไม่บอกว่า ทำอะไรดีหรือไม่ดี แต่ละบ้านย่อมมีความเหมาะสมที่จะทำอะไรได้แตกต่างกัน และถ้าสัมพันธภาพกับเด็กไม่ดี เราทำอะไรลงไปอาจจำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ก็ได้ แต่พัฒนาการช่วงวัยรุ่น เขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวแล้วเขาหวง และผมมองว่า เราจะเช็คโทรศัพท์เขาทุกครั้งที่เรากังวลมันช่วยลดความกังวลของเราเอง หรือช่วยป้องกันลูกได้จริงๆ ผมมองว่า การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันตลอด ว่าตอนนี้มีแบบนี้นะ หนูเจอแบบนี้บ้างไหม “ถ้าหน่วยงานราชการจริง ตำรวจจริง เขาไม่โทรหาเราครั้งเดียวหรอก เดี๋ยวเขาต้องมาหาเราเอง” ให้มีการแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติ แล้วมีอะไรเขาเองที่อยากมาแลกเปลี่ยน มาเล่าให้เราฟังแบบนั้นน่าจะดีที่สุด”         นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยว่า ภัยการเงินในเด็กและเยาวชนที่มีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเรื่องการถูกหลอกไปเปิดซิมจำนวนมาก ซึ่งแม้หลายคนจะได้ทราบว่ากฎหมายการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กำหนดโทษไว้ในมาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (บัญชีม้า) หรือให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังอาจชะล่าใจว่าเมื่อเป็นเด็กจะได้รับโทษลดลง แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ง่ายเลย         “กรณีที่เป็นเด็กและเยาวชน แน่นอนว่าเมื่อทำผิด ก็มีกระบวนการทางกฎหมายที่เน้นไปที่การบำบัด แก้ไขเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม  แต่สิ่งที่ได้รับเหมือนๆ กันคือการถูกเรียกเก็บเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะเห็นว่าสุดท้ายผู้ปกครองก็จะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ หรือบางรายเด็กต้องการแก้ไขปัญหาเองก็กลายเป็นทำให้หาทางออกที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากขึ้น”         “ เรื่องภัยการเงินทางออนไลน์เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูหลายฝ่ายจริงๆ แต่ดิฉันคิดว่าทางออกที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องเยาวชนของเราและทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือการปลูกฝังเรื่องวินัย ทักษะความรอบรู้ทางการเงิน เริ่มจากเราสังเกตลูกหลานของเราว่าตอนนี้เขามีการใช้เงินอย่างไร มีระเบียบไหม และเราเองสามารถจะเป็นคนที่แนะนำให้ความรู้กับเขาได้ไหม เพราะจุดเริ่มต้นหลักๆ ที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ คืออยากได้เงิน เมื่อเกิดปัญหา เรายิ่งต้องการเงินแต่เราไม่มี เราก็ไปกู้นอกระบบ ยิ่งทำให้สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ  และยิ่งตอนนี้เราเห็นว่า มีบัตรเครดิต บัตรต่างๆ ให้นักศึกษาใช้ แม้คนกลุ่มนี้เขาจะยังไม่มีรายได้ประจำก็ตาม แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สุดท้ายเป็นครอบครัวที่จะรับผลที่เกิดขึ้น”คำแนะนำเพื่อเฝ้าระวัง สร้างความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ สื่อสาร        ·     หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้รู้เท่าทัน  เทคนิค วิธีการที่มิจฉาชีพใช้         ·     พูดคุย สร้างความเข้าใจและอัพเดตภัยการเงินต่างๆ ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ         ·     ปลูกฝังวินัย ทักษะทางการเงินให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ลูกยังเด็ก         ·     ติดตามความรู้การเงินการลงทุนดีๆ เพื่อเห็นโอกาสในการลงทุนที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ        ·     ตั้งค่าการใช้แอพลิเคชันที่ใช้อยู่เป็นประจำให้ปลอดภัย เช่น ไม่ใช้รหัสผ่านที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือ วัน เดือน ปีเกิด ไม่เชื่อมต่อแอพลิเคชั่นต่างๆ ให้ลิ้งค์เข้าหากัน เพื่อป้องกันการถูกดูดข้อมูล หรือการตั้งค่าไลน์ไม่ให้บุคคลสาธารณะเข้าถึงได้ให้กับมือถือของบุตรหลาน เป็นต้น         ·     ไม่ซื้อของออนไลน์จากร้านที่ไม่รู้จักหรือ ควรโทรไปสอบถามให้บ่อยครั้ง จนแน่ใจก่อน         ·     ไม่โอนเงินลงทุน หรือหลงเชื่อคนที่รู้จักแต่ติดต่อมาทางออนไลน์ เพราะบุคคลดังกล่าวอาจถูกแฮกข้อมูลได้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อน          ·     ก่อนกรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ในเว็บไซต์ใดๆ ควรตรวจความปลอดภัยของเว็บไซต์ก่อนด้วยการเข้าไปตรวจเช็คโดเมนเนมของเว็บไซต์ว่าปลอดภัย เชื่อถือได้หรือไม่        ·     ระมัดระวังการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปปลอมจาก google play เพราะแอปปลอมจะอนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในเครื่องได้        ·     เลือกลงทุนในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น โดยเข้าไปตรวจทะเบียนรายชื่อ Investor Alert ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ( www.sec.or.th ) หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First        ·     ทุกการทำธุรกรรม การโอน การลงทุน เก็บหลักฐาน ข้อมูล รายละเอียดไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามหาตัวคนร้ายในภายหลังได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 การทดสอบประสิทธิภาพทางเทคนิคของพัดลม

        พัดลมเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้ประจำบ้านในเกือบทุกครัวเรือน จากรายงานสรุปผลที่สำคัญ การใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนไทยมีพัดลมไว้ประจำบ้านในอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 98.60 ของครัวเรือนทั้งหมด[1] จัดเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้งานในครัวเรือน  พัดลมไฟฟ้านั้นมีหลายแบบ ซึ่งแบบที่นิยมกันในปัจจุบันทั้งชนิดตั้งโต๊ะ ตั้งพื้น ติดผนัง ระบายอากาศ แขวนเพดาน และส่ายรอบตัว แต่ละแบบก็เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดเฉพาะคุณลักษณะด้านความปลอดภัย โดยเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 934-2558 (มอก. 934-2558)         สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของพัดลมครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ออกแบบและกำหนดการทดสอบ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2) ระดับความดังเสียงของพัดลมระหว่างการทดสอบ และ 3) ค่ามุมส่ายสูงสุด  ซึ่งกำหนดขอบเขตคุณสมบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการสุ่มซื้อสินค้าที่จะนำทดสอบดังนี้         1 สินค้าต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม         2 เป็นพัดลมที่ใช้ในครัวเรือนขนาดใบพัดไม่เกิน 16 นิ้ว และ         3 กำลังไฟฟ้าที่ระบุไม่เกิน 70 วัตต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สุ่มซื้อมาทดสอบมีสมบัติเบื้องต้นตามที่ระบุไว้ในฉลากและคู่มือการใช้งาน ตามตารางที่ 1         การให้คะแนนเพื่อจัดลำดับแต่ละประเด็นของการทดสอบ ขึ้นอยู่กับอันดับของผลการทดสอบแต่ละประเด็นโดย ผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับดีที่สุดจะได้คะแนน 15 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนลำดับสุดท้ายจะได้ 1 คะแนน สำหรับการจัดลำดับขั้นตอนสุดท้านคือการนำคะแนนที่ได้ของการทดสอบแต่ละประเด็นมารวมกัน  สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและทางเทคนิคของพัดลมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งสามประเด็น ผลิตภัณฑ์ของ Mi รุ่น JLLDS01XY ได้คะแนนสูงสุด คือ 39 คะแนน ผลิตภัณฑ์ Misumaru รุ่น AP-SF1602AT ได้คะแนนรวม 32 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ซึ่งได้คะแนนรวมเท่ากันทั้งสามผลิตภัณฑ์ คือ 31 คะแนน ได้แก่ Toshiba รุ่น F-ASY50TH (W) Mitsubishi รุ่น LV16-GA SF-GY และ Mamaru รุ่น DFS-9136[1] (พัดลม (ร้อยละ 98.6) โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 96.4) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ร้อยละ 93.1) ตู้เย็น (ร้อยละ 92.2) โทรทัศน์ (ร้อยละ 91.7))  และหลอดไฟนีออน (ร้อยละ 90.7)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ส่องราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ พรีเมียม

        ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาเนื้อหมูขึ้นราคาโดยทะยานไปสูงถึง กิโลกรัมละ 250 บาท เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ การระบาดของโรค อย่างไรก็ตามแม้มีการควบคุมราคาและดำเนินการเรื่องโรคระบาดแล้ว ราคาก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราคาเนื้อหมูยังคงสูง และเนื้อไก่ก็ขึ้นราคาตามมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบหลากหลายจากสถานการณ์โลกโดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน ค่าอาหารสัตว์         อย่างไรก็ตามจากการติดตามเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่อาจเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ผ่านมาของนิตยสารฉลาดซื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นฉลาดซื้อพบว่า ยังพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์หลายตัวอย่างแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงยังคงอยู่ จนเกิดความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลี้ยง         ความไม่มั่นใจในกระบวนการเลี้ยงหมู ไก่ ของผู้บริโภคนี้ย่อมทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผู้ผลิตสามารถควบคุมการเลี้ยงให้ปลอดภัยได้ตลอดกระบวนการ ดังนั้นในตลาดปัจจุบันจึงพบเห็นสินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ อนามัย ไร้สาร หรือเนื้อสัตว์แบบพรีเมียมที่ระบุว่า ตลอดกระบวนการเลี้ยงของตนนั้นปลอดจากการใช้สารต่างๆ ที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น         เมื่อกระบวนการผลิตบ่งบอกความพิเศษ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจก็คือ ราคาจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลี้ยงปกติที่จำหน่ายในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่กันที่ผู้บริโภคจะมีความมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตในกระบวนการปกตินั้นมีความปลอดภัย และมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการกล่าวอ้างถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยจากสารต่างๆ เพื่อดูว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มนั้น มีสัดส่วนที่แพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติเท่าไร         วิธีการเก็บตัวอย่าง เก็บผลิตภัณฑ์เนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนังของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างงว่าเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษ ปลอดภัยจากสารต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง ผลการสำรวจฉลาก         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จากฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาเก็ต ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก หมูสามชั้น 175 บาท/กิโลกรัม หมูสันนอก 130 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com)  )         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม (ตัดตัวอย่างเบทาโกรเนื้อไก่อนามัยออกไป เพราะเป็นราคาโปรโมชั่น) ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา ท็อปส์ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก อกไก่ 90 บาท/กิโลกรัม น่องติดสะโพก 85 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com))

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ปัญหาที่มากกว่าวัยของโชเฟอร์

        แท็กซี่เป็นบริการรถสาธารณะที่เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ เมื่อบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล หลายประเทศจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับบริการแบบมืออาชีพ ในราคาที่เหมาะสม และมีจำนวนรถให้เรียกใช้บริการเพียงพอ         ระยะหลังเราเริ่มได้ยินข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการแท็กซี่ในต่างแดน เช่น กรณีของเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 70 ของโชเฟอร์ ล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในวัย 60 หรือ 70 กว่าปีขึ้นไป ที่ไม่นิยมออกรถในช่วงเวลาดึก เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากมองเห็นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่ต้องการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ภาครัฐเลยต้องเตรียมขึ้นอัตราค่าโดยสารเพื่อให้อาชีพขับแท็กซี่มีรายได้ดีพอจะดึงดูดคนวัยหนุ่มสาวที่หนีไปทำงานกับบริษัทขนส่งในช่วงโควิดระบาด ให้กลับมาขับแท็กซีกันมากขึ้น         ข่าวใหญ่ไม่แพ้กันคืออุบัติเหตุที่ฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บสามรายเพราะถูกรถแท็กซี่ชน หลังพวงมาลัยคือโชเฟอร์วัย 85 ปี ที่มีอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันและไม่สามารถควบคุมรถได้ ในขณะที่คนขับแท็กซี่อีกคนในวัย 75 ก็หลับใน ขณะที่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ โชคดีรถโดนเบรกโดยแผ่นปูนกั้น จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพราะบริเวณนั้นเป็นย่านธุรกิจที่มีผู้คนพลุกพล่าน มากกว่าครึ่งของโชเฟอร์แท็กซี่ในฮ่องกงมีอายุเกิน 60 ปี และสถิติระบุว่าในปี 2023 มีคนขับแท็กซี่ที่อายุเกิน 70 ปี ถึง 31,000 คน         เมื่อดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแท็กซี่ระหว่างปี 2013 ถึง 2022 จะพบว่ากลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถให้บริการบ่อยที่สุดคือกลุ่มที่อายุ 20 ถึง 24 ปี (ใน 1,000 คน จะเกิดอุบัติเหตุ 51.3 คน) แต่สถิติของกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี อยู่ที่ 15.8 คน ต่อ 1,000 คน อาจดูเหมือนไม่มาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เกิดกับคนขับสูงวัยเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า (จาก 400 คน เป็น 1,100 คน)         ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะต้องมีผลการตรวจร่างกาย เพื่อขอ/ต่อใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี รายงานระบุว่าในข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในปีหน้า ฮ่องกงเตรียมจะเสนอให้เปลี่ยนกำหนดอายุจาก 70 เป็น 65 ปี เหมือนในสิงคโปร์ และลดระยะเวลาการต่อใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็นทุก 1 ปี          ด้านสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ บอกว่ากำลังจะเปิดศูนย์ตรวจร่างกายที่นำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยงานให้ได้ถึง 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ การตรวจดังกล่าวประกอบด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป 37 รายการ การตรวจวัดสายตา การทดสอบการได้ยิน และปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เป็นต้น         นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้นำระบบช่วยเบรกอัตโนมัติยามฉุกเฉิน หรือการแจ้งเตือนทันทีที่รถไม่อยู่ในเลนตัวเอง แบบเดียวกับที่ใช้ในญี่ปุ่นซึ่งมีโชเฟอร์แท็กซี่สูงวัยเป็นจำนวนมาก เข้ามาใช้ด้วยแต่ “วัย” หรือสุขภาพของคนขับแท็กซี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น สิ่งที่เรื้อรังมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบคือสภาพการทำงาน         ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้บอกว่าโชเฟอร์ก็ไม่ต่างอะไรกับ “เหยื่อ”  ของเจ้าของใบอนุญาตฮ่องกงได้จำกัดจำนวนใบอนุญาตไว้ที่ 18,000 ใบ มาตั้งแต่ปี 1994 ทำให้ราคาซื้อขายใบอนุญาตตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 14 ล้านบาท) ผู้ที่ถือครองจึงมีแต่นิติบุคคลเป็นหลัก ร้อยละ 90 ของโชเฟอร์ฮ่องกงใช้วิธีเช่ารถจากบริษัทเหล่านี้ ในอัตราวันละประมาณ 400 เหรียญ (ประมาณ 1,900 บาท) ต้นทุนการทำงานจึงอยู่ที่วันละ 500 เหรียญ (อีก 100 เหรียญ หรือประมาณ 470 บาท เป็นค่าเชื้อเพลิง)         รายงานระบุว่าโชเฟอร์ที่นั่นมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 60 เหรียญ และในหนึ่งกะหรือ 10 ชั่วโมง จึงมีรายได้ประมาณ 600 เหรียญ จากการขับรับส่งผู้โดยสาร 25 เที่ยว ใครที่ร้อนเงินก็จะพยายามขับให้ได้จำนวนเที่ยวมากขึ้นโดยไม่พักเลยซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองและผู้โดยสารได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนขับมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพรถแท็กซีที่เก่าเกินไป จากรถแท็กซี่ 18,000 คัน มีรถชนิดห้าที่นั่งที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงอยู่ 3,000 คัน รถเหล่านี้อายุเกิน 15 ปี แต่คนก็นิยมเช่ามาขับเพราะค่าเช่าถูกกว่า         ที่น่าสังเกตอีกประเด็นคือ แม้ฮ่องกงจะเป็นประเทศที่ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ผู้บริโภคที่นั่นยังไม่สามารถใช้บริการแอปฯ เรียกรถ เหมือนที่อื่นได้ เพราะขนส่งฯ ฮ่องกงยังไม่รับรอง ตรงข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่บริการของ “ตีตี้ ชูซิง” ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งเพราะได้รับการออกแบบมาให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เรื่องนี้ก็อยู่ในข้อเสนอที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน ก่อนหน้านี้ค่าย Uber เคยพยายามเข้ามาจดทะเบียนทำธุรกิจบนเกาะฮ่องกง แต่ถูกคัดค้านจากผู้ให้บริการแท็กซี่ท้องถิ่นจนต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไป          กลับมาที่คำถามว่าแล้วโชเฟอร์สูงวัยที่รายได้ไม่พอใช้ จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือไม่ ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ โดยรัฐจะให้ในอัตราเดือนละ 4,060 เหรียญ (ประมาณ 19,000 บาท) สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,580 เหรียญ (ประมาณ 50,000 บาท) กรณีไม่มีคู่สมรสและมีทรัพย์สินไม่เกิน 388,000 เหรียญ และรายได้ไม่เกิน 16,080 เหรียญ (ประมาณ 75,800 บาท) สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส และมีทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 589,000 เหรียญ          https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/09/113_337693.html         https://www.chinadaily.com.cn/a/202309/29/WS65165246a310d2dce4bb8812.html             https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/4/201069/Taxi-accident-brings-the-trade’s-aging-workforce-back-in-the-limelight

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ดวงใจจอมกระบี่ : แล้วเราก็พบรักกันในเมตาเวิร์ส

                นับแต่เบิกอรุณรุ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมไทยและสังคมโลกค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งโลกเสมือนจริง ยิ่งในช่วงสักราว 2-3 ปีให้หลังมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ใหญ่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศเจตนารมณ์ทักทายชาวโลกด้วยวลีว่า “Hello, Meta” ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อารยธรรมของมวลมนุษยชาติกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่ง “เมตาเวิร์ส” กันอย่างแท้จริง         โดยรากศัพท์ “เมตา” หมายถึง “เหนือกว่า” ส่วน “(ยูนิ)เวิร์ส” ก็แปลว่า “จักรวาล” เมื่อรวมกันเข้าก็หมายความได้ว่า เป็นจักรวาลอันเหนือกว่า หรือที่บัญญัติศัพท์คำไทยไว้อย่างเท่ระเบิดว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งเป็นประหนึ่งโลกอันแปลกใหม่ ที่เพียงแค่มีเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง มนุษย์เราก็เข้าไปสู่มิติพิศวงหรือทำลายกำแพงการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง         ปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมร้อยความจริงเข้าสู่โลกเสมือนแห่งจักรวาลนฤมิตดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็คือ วิถีการมองโลกในแบบที่เชื่อว่า ทุกวันนี้เส้นกั้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงนับวันจะพร่าเลือนลง จนในที่สุดพื้นที่แห่งโลกเสมือนจริงก็มีพลังหลอกล่อยั่วยวนให้มนุษย์เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวาลเสมือนที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นั่นเอง         ในขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศการก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สอย่างเต็มตัวในโลกตะวันตก ละครโทรทัศน์ของไทยก็ขานรับกับการสร้างให้ตัวละครมากหน้าหลายตาได้เดินทางข้ามภพไปมาระหว่างจักรวาลเหนือจริงกับโลกแห่งมนุษย์ ณ กาลปัจจุบัน แบบที่รับชมกันผ่านละครแนวแฟนตาซีเรื่อง “ดวงใจจอมกระบี่”         และเพื่อให้สอดรับกับความพิศวงงงงวยที่จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม ละคร “ดวงใจจอมกระบี่” ก็เลยผูกเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครอย่าง “หวังอี้เทียน” ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในนวนิยายออนไลน์แนวกำลังภายใน ได้เดินทางพลัดหลุดมาอยู่ในโลกมนุษย์ที่เราๆ เวียนว่ายใช้ชีวิตกันอยู่         จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวนางเอกสาว “นลิน” ผู้หญิงที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และยังต้องอยู่ด้วยความระแวงระวังภัยจาก “อติรุจ” และ “อิงอร” อาแท้ๆ กับอาสะใภ้ที่จ้องจะทำทุกอย่างเพื่อฮุบมรดกและหุ้นเกินกว่าครึ่งของธุรกิจตระกูลที่นางเอกเราถือครองอยู่         เพื่อจะหาจังหวะชีวิตที่หลบหนีจากสภาวะแปลกแยกไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว นลินจึงชอบอ่านวรรณกรรมจีนออนไลน์ จนมักฝันเฟื่องอยากไปพบรักกับพระเอกจอมยุทธ์ และหลุดไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแฟนตาซีแบบบู๊ลิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ         และแล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ชักนำ เมื่อนลินที่อยู่ในสภาวะเหมือนจะสูญสิ้นซึ่งแรงเกาะเกี่ยวในใจ ก็ได้มาเจอกับตัวละครหวังอี้เทียนที่พลัดตกจากผาชิงดาวในอาณาจักรยุทธภพของนวนิยาย “ตำนานกระบี่เย้ยฟ้า” ที่นลินชื่นชอบและกำลังติดตามอ่านเรื่องราวเป็นตอนๆ จากโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นก็เป็นปฐมบทที่ตัวละครในจินตนาการมาปรากฏอยู่แบบตัวเป็นๆ ตรงต่อหน้าของนางเอกสาว         ในขณะเดียวกัน นลินก็มีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวคือ “เรน” และแม้ด้วยวิชาชีพของเรนจะเป็นแพทย์ผู้เติบโตมากับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ หากว่าหมอเรนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องตำนานกระบี่เย้ยฟ้า ไม่ต่างจากเพื่อนรักของเธอ         แม้จะยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ แต่หมอเรนก็รู้วิธีถอดจิตไปสู่โลกเสมือน และทำให้เธอได้ไปพบเจอกับ “ฉีเซิน” สหายร่วมสาบานของหวังอี้เทียน ที่ออกตามหาเพื่อนรักผู้หายตัวไปจากยุทธภพ ทำให้ทั้งหมอเรนและฉีเซินต้องเดินทางสลับไปมาระหว่างโลกแฟนตาซีกับโลกปัจจุบันขณะ จนว้าวุ่นกันไปถ้วนหน้า         ด้วยเหตุที่ทั้งโลกความจริงและโลกจินตนาการต่างก็มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่น และต่างก็มีปัญหาของตัวละครซึ่งดำเนินอยู่ในโลกคู่ขนานทางใครทางมัน โดยทางด้านของหญิงสาวอย่างนลินก็ต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายที่หมายปองชีวิตเธอในฐานะผู้ถือครองหุ้นกว่า 50% ของตระกูลดาราลัยกรุ๊ป ในขณะที่หวังอี้เทียนก็ต้องต่อสู้กับ “จอมโจรพรรคดอกไม้แดง” เพื่อรักษาความสงบสุขของยุทธภพ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประมุขสูงสุดแห่ง “สำนักคุ้มภัยพยัคฆ์เมฆา”         แต่ทว่า โลกที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันแบบนี้ ก็สามารถจะไขว้พันกันจนลางเลือนเส้นกั้นแบ่งแห่งความจริงความลวงจนเจือจางหายไป คล้ายๆ กับประโยคที่หวังอี้เทียนได้พูดกับนลินในคราหนึ่งว่า “ทุกเรื่องราวในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ฟ้า อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่คน”         เพราะฉะนั้น อาจจะด้วยฟ้าลิขิตมาส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำมือมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้สร้างโลกเสมือนในจินตนาการขึ้นมา และโลกเสมือนที่มนุษย์เราสร้างไว้นี่เองก็ทำให้ตัวละครในโลกจริงและโลกไซเบอร์เวิร์ลด์ได้เดินทางข้ามไขว้ไปมาหากันได้ เป็นประหนึ่งประดิษฐกรรมของเมตาเวิร์สภายใต้กลิ่นอายแห่งยุทธจักรบู๊ลิ้ม         จากนั้น เมื่อเส้นทางของนวนิยายกำลังภายในได้มาบรรจบกับชีวิตจริงของมนุษย์เรา ก็ไม่แปลกที่ละครได้หวนคืนไปหยิบยกเรื่องราวและการกระทำของตัวละครแห่งอาณาจักรยุทธภพให้มาปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อสายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเพลงกระบี่ของจอมยุทธ์ การใช้พัดด้ามติ้วเป็นศาสตราวุธ การเดินพลังลมปราณ การจี้จุดสกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การลอบวางยาพิษ การประลองยุทธ์เพื่อชำระหนี้แค้น และอื่นๆ อีกหลากหลายที่บรรดาคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะรู้สึกคุ้นชินกันเป็นเรื่องปกติ         ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การกระทำอันคุ้นชินของตัวละครจากโลกยุทธภพดังกล่าว ละครยังได้ย้อนคืนคุณค่าหลักหลายอย่างที่มักปรากฏผ่านละครจีนแนวบู๊ลิ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมน้ำมิตร เป็นศิษย์ต้องเคารพครู ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน รวมไปถึงการได้ยินวลีวาจาและคำพูดที่คมคายจากปากของตัวละคร เริ่มตั้งแต่ “ฟ้าไม่แล้งน้ำใจคนพยายาม” “นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่” “เป็นดั่งขุนเขาแมกไม้ อยู่เพื่อให้ มิใช่เพื่อรับ” “ไม่มีพรสวรรค์ หากตั้งใจฝึกฝนก็สำเร็จวิชาได้” และอื่นๆ อีกมากมาย        จนมาถึงฉากจบเรื่อง ไหนๆ ภาพจำลองของละครได้นำพาโลกบู๊ลิ้มมาบรรจบกับโลกจริงแล้ว ก็คงไม่น่าประหลาดใจนักที่เราจะเห็นคำตอบของเรื่องในแบบที่นลินได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่ในโลกแฟนตาซีกับหวังอี้เทียน สลับกับฉีเซินที่เลือกออกจากโลกนิยายออนไลน์มาสานต่อความรักกับหมอเรนกันในโลกจริง         ถึงที่สุดแล้ว หากความรักไม่ต่างจากตัวแทนแห่งการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ ปรากฏการณ์อย่างเมตาเวิร์สที่ราวกับจะแร้นแค้นความรู้สึกผูกพันของมนุษย์จริงๆ ก็อาจให้คำตอบแก่ผู้คนที่สายสัมพันธ์โดดเดี่ยวเปราะบางได้ว่า บางทีคนเราก็อาจพบรักกันได้แม้แต่ในโลกเสมือนของเมตาเวิร์สนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนดื่มกาแฟไร้คาเฟอีน

        สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association - NCA) ระบุว่า การดื่มกาแฟปราศจากคาเฟอีนหรือดีแคฟ  (decaffeinated coffee) นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา กาแฟประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาดื่มกาแฟปรกติแล้วใจสั่น คนที่ต้องนอนหลับให้ได้ในเวลาที่กำหนด ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่ตั้งท้อง ฯ จึงเลี่ยงไปดื่มกาแฟที่ได้มาจากกระบวนการสกัดสารคาเฟอีนออก พฤติกรรมนี้ดูแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพ (จิต) อย่างไรก็ดีหลังจากที่หลายคนได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟประเภทนี้มากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปก็พบว่า กาแฟดีแคฟบางยี่ห้อผ่านการผลิตโดยอาศัยสารเคมีซึ่งมีข้อมูลควรระวัง ส่งผลให้ความกังวลใจ (มากกว่าเดิม) มาเยี่ยมเยือน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างไรถึงจะมีความสบายใจขึ้นในการดื่มกาแฟดีแคฟ  กาแฟไร้คาเฟอีนนั้นผลิตอย่างไร         กาแฟประเภทนี้ผลิตจากเมล็ดกาแฟที่คาเฟอีนถูกกำจัดออกไปอย่างน้อย 97% นั่นคือ สำหรับเมล็ดกาแฟทุกๆ 100 กรัม ปริมาณคาเฟอีนควรไม่เกิน 0.1 กรัม (สำหรับในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 197) พ.ศ. 2543 เรื่อง กาแฟ กำหนดว่า มีคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก)         มีหลายวิธีในการขจัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ เช่น การใช้น้ำช่วยพร้อมการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Swiss water process) กระบวนการที่สองคือ การใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ คือ methylene chloride (ซึ่งมีอีกชื่อคือ dichloromethane) หรือใช้ ethyl acetate ช่วยในการผลิต และกระบวนการสุดท้ายเป็นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (supercritical fluid extraction ซึ่งมีค่าความดันวิกฤตเป็น 73.8 บาร์ และอุณหภูมิวิกฤตเป็น 31.1 องศาเซลเซียส) ช่วยในการผลิต         ส่วนขั้นตอนการผลิตกาแฟดีแคฟแบบสั้นๆ คือ เมล็ดกาแฟถูกล้างในตัวทำละลายจนกระทั่งสกัดคาเฟอีนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงกำจัดตัวทำละลายออก แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปคั่วและบด คุณสมบัติของกาแฟไร้คาเฟอีนควรเกือบเหมือนกับกาแฟทั่วไป ยกเว้นปริมาณคาเฟอีนที่มีน้อยมาก ทำไมบางคนถึงกังวลกับดีแคฟที่ผลิตโดยใช้สารเคมีช่วยในการกำจัดคาเฟอีน          Methylene chloride เป็นสารออกฤทธิ์หลักในน้ำยาล้างสี (paint stripper หรือ paint remover) ที่ถูกห้ามโดย US.EPA ในเดือนมีนาคมปี 2019 ในทางตรงกันข้ามปัจจุบัน US.FDA ยังอนุญาตให้ใช้ Methylene chloride ในกระบวนการกำจัดคาเฟอีน (ทำหน้าที่เป็น processing aid) ในกาแฟโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผกระบวนการกำจัดคาเฟอีนบนฉลาก         Methylene chloride ในปริมาณน้อยถูกร่างกายเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจนำไปสู่พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในผู้อ่อนไหวบางคน รายงาน Report on Carcinogens, Fifteenth Edition (2021) ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปเล่มและออนไลน์ของ U.S. National Toxicology Program ให้ข้อมูลว่า Methylene chloride (หรือ Dichloromethane) ได้รับการจัดว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอของการก่อมะเร็งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพียงแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยายังไม่พอ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระดับใดของ Methylene chloride ในอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน สำหรับ IARC (International Agency for Research on Cancer องค์กรหนึ่งซึ่งสังกัดองค์การอนามัยโลกที่มีบทบาทในการประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า IARC Monograph) กล่าวว่า Methylene chloride อยู่ใน Group 2B (possibly causing cancer in humans)         ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อกาแฟดีแคฟจากออนไลน์หรือจากซูเปอร์มาเก็ตได้เป็นบางยี่ห้อที่ระบุการกำจัดคาเฟอีนด้วย Swiss water process ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าชนิดที่ไม่บอกกระบวนการเอาคาเฟอีนออก อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรเป็นการรับประกันว่าจะได้ของตรงฉลาก (เมื่อซื้อออนไลน์) ยกเว้นเชื่อในความน่าเชื่อถือของผู้ขายที่ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต มีข้อมูลหรือไม่ว่า กาแฟดีแคฟมี Methylene chloride ตกค้าง         ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (California Environmental Health Hazard Assessment) ได้เพิ่ม Methylene chloride เข้าไปในรายการของข้อเสนอ 65 (Prop. 65) เพราะการประเมินอย่างเป็นทางการของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นได้สรุปว่า ในระหว่างตั้งครรภ์ Methylene chloride สามารถถ่ายทอดจากแม่ (สัตว์ทดลอง) สู่ลูกได้         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากทั้งสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ล้วนเป็นผู้บริโภคกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นประจำ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่ากาแฟนั้นเอาคาเฟอีนออกด้วยวิธีใด เพราะฉลากกาแฟดีแคฟนั้นไม่บังคับให้ระบุวิธีการเอาคาเฟอีนออก นอกจากผู้ผลิตจะรู้สึกเองว่า ในการติดฉลากว่า ใช้กระบวนการ Swiss water process น่าจะก่อความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อบริโภคมากขึ้น         Clean Label Project ซึ่งเป็นองค์กรณ์เอกชน (NGO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาได้มีเอกสารในเว็บขององค์กรเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2022 เรื่อง More Methylene Chloride! ซึ่งรายงานผลการวิเคราะห์ Methylene chloride ในกาแฟดีแคฟ หลายยี่ห้อโดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐบาล ผลปรากฏว่าพบ methylene chloride ในกาแฟดีแคฟบางยี่ห้อ (ขอสงวนนาม) ซึ่งผลการทดสอบในภาพรวมนั้นระดับของ Methylene chloride สูงขึ้นกว่าระดับที่เคยตรวจพบในครั้งก่อนหน้าเมื่อหลายปีราว 10 เท่า-100 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดจำกัดตามกฎระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีคาเฟอีนต่ำหรือไม่มีคาเฟอีนเลยมีหรือไม่         Wikipedia ให้ข้อมูลว่าในปี 2004 มีรายงานบนโลกออนไลน์ว่า กาแฟชนิดหนึ่งมียีน caffeine synthase บกพร่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมธีโอโบรมีน (theobromine) แทนที่สารนี้จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นคาเฟอีน ลักษณะดังกล่าวเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ การผสมข้ามพันธุ์จนเกิดภาวะดังกล่าวหรืออาจใช้กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมเพื่อ knock out (ปิดการทำงาน) ยีนที่สร้างคาเฟอีน         ในปี 2009 ความก้าวหน้าในการปลูกเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนกลับมาเป็นที่สนใจอีก รายงานข่าวกล่าวว่า เป็นกาแฟชนิดที่เรียกว่า "Decaffito" คำๆ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายคุณสมบัติกาแฟนี้ และเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในบราซิล         กาแฟ Decaffito ที่พบในธรรมชาตินั้นคือ กาแฟสายพันธุ์ Coffea charrieriana ที่ปราศคาเฟอีน (หรือมีน้อยมาก) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปอัฟริกา แต่รายละเอียดในรูปงานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society ของปี 2008 เรื่อง A new caffeine-free coffee from Cameroon ส่วนเมล็ดกาแฟชนิดซึ่งมีคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบสำคัญและนิยมปลูกทั่วโลกคือ Coffea arabica และ Coffea robusta โครงการค้นหากาแฟไร้คาเฟอีนนั้นเป็นอย่างไร         มีตัวอย่างโครงการลักษณะนี้ที่ศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำของ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิล หน่วยงานนี้ได้เริ่มกระบวนสำคัญของโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการสองทศวรรษในการพัฒนากาแฟสายพันธุ์ที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือมีต่ำมาก) ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวมีศักยภาพทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมาก         ความสำเร็จของสายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้อาจเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล อย่างเช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าต้องการดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติแทนที่การดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมี นอกจากนั้นบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้คาเฟอีนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟพันธุ์ปกติไปได้ พร้อมกับภาพพจน์ที่ว่า บริษัทนั้นใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค         ปัจจุบันกาแฟบางสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในศูนย์วิจัยการแฟของ IAC ให้มีคาเฟอีนต่ำนั้น ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราวสองถึงสามปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบผลที่ได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสนใจกล่าวถึงธีโอโบรมีนที่อาจสูงขึ้นได้ในกาแฟที่ไร้คาเฟอีนว่า อาจก่อปัญหาอื่นตามมา เพราะเคยมีข่าวในบ้านเราว่า เด็กสาวเกือบขิตเพราะดื่มโกโก้เย็นที่ชงอย่างเข้มข้น (ซึ่งโกโก้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีธีโอโบรมีนสูงเป็นซิกเนเจอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนตัดสินใจ “สักคิ้ว”

        “การสักคิ้ว” เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการความสวยความงามของไทย ก็อย่างว่าคิ้วคือมงกุฎของหน้า สาเหตุที่คนนิยมกัน ก็เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาบริเวณส่วนคิ้ว เช่น บางคนต้องการสักคิ้วเพื่อแก้ปัญหาคิ้วบางจนเกินไป ไม่มีความมั่นใจหรือบางคนแค่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วให้ดูสวยขึ้น เป๊ะปังอยู่ตลอดเวลานั้นเอง การสักคิ้วสมัยนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้ง 3 มิติ 6 มิติ แบบการฝังสีคิ้วสไตล์เกาหลี เพิ่มโหงวเฮ้งของใบหน้าก็มีหาได้ทั่วไป          อย่างไรก็ตาม หากต้องการสักคิ้วจริงๆ อยากให้ผู้บริโภคศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสักหน่อย เพราะหากสักพลาดไปแล้วแน่นอนแก้ยากกว่าที่คิด หลายคนคงจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนพลาดไปสักคิ้วแล้วได้คิ้วทรงแปลกๆ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ฉลาดซื้อ จึงอยากแนะนำ ดังนี้          1. ตรวจสอบร้านสักคิ้วที่เราต้องการใช้บริการ ช่างมีใบรับรองวิชาชีพหรือไม่ ก่อนลงมือสักมีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย         2. สถานที่ใช้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ซึ่งใบประกอบดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้ ภายในร้านต้องสะอาด ถูกอนามัย อยู่ในพื้นที่เปิดเผยเป็นหลักแหล่ง อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ควรใช้ซ้ำ         3. อ่านรีวิวก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของร้าน และให้แน่ใจว่าการใช้บริการจะปลอดภัย ตรงนี้แนะนำให้เช็กดีๆ         4. สำหรับคนที่แพ้ยาชาไม่ควรสักคิ้ว เนื่องจากการสักคิ้วก่อนลงเข็มจะต้องมีการลงยาชาเพื่อลดอาการเจ็บก่อน         5. ก่อนลงมือสักคิ้ว ควรแจ้งรายละเอียดทรงคิ้วที่อยากได้ให้ชัดเจน ให้ช่างร่างทรงคิ้วให้ดูก่อนยิ่งดีอย่าตามใจช่างเพราะอาจได้ทรงคิ้วที่ไม่ถูกใจ เมื่อสักไปแล้วการแก้ไขภายหลังก็ยากมากขึ้น         6. สำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนทรงคิ้วตามกระแสบ่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์     ความเสี่ยงในการสักคิ้ว         -  ไม่ได้ทรงคิ้วตามที่ต้องการอาจจะหนาเกินไป เหมือนที่คนทั่วไปเรียกว่า “คิ้วปลิง” นั้นเอง         -  การแก้ไขในภายหลังกรณีที่ทำการสักคิ้วไปแล้ว เช่น การสักคิ้วแบบถาวร ซึ่งอาจจะต้องแก้ด้วยการเลเซอร์ลบรอยสักเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอีกหลายครั้งจนกว่าสีจะจางเป็นปกติ แถมยังอาจมีแผลเป็นตามมาอีกด้วย         -  การเลือกร้านสักที่ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีมาตรฐาน ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด         -  มีอาการแพ้สีที่ใช้สัก หรือยาชาโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เกิดการอักเสบ คัน หรืออื่นๆ แนะนำว่าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที         -  ค่าใช้จ่ายในการสักคิ้ว ราคาสูงไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด                    นอกจากนี้  การสักคิ้วไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี เช่น ช่วยเสริมโหวงเฮ้ง ลดเวลาการเขียนคิ้วแต่งหน้า แก้ปัญหาสำหรับสาวคิ้วบางได้ตามที่กล่าวไปข้างบน แต่สำหรับใครที่ขี้เบื่อหรือชอบเปลี่ยนทรงคิ้ว แต่ยังอยากสักคิ้วจริงๆ  อาจเลือกการสักคิ้วแบบฝังสีฝุ่น ซึ่งเป็นการฝั่งสีคิ้วไปบริเวณบนหนังกำพร้า อยู่ได้ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นและจะเริ่มจางหายไปเองตามธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วอยู่เรื่อย แต่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบคิ้วสไตล์เกาหลีเท่านั้น          ทั้งนี้ “สำหรับคนที่ได้ไปสักคิ้วมาแล้ว ก็อยากให้ดูแลโดยการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำ ทำตามคำแนะนำของช่าง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อและอักเสบด้วยนะคะ”           ข้อมูลจาก : สักคิ้ว ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ - พบแพทย์ (pobpad.com)สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก - พบแพทย์ (pobpad.com)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม >