ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ไอโฟนรุ่นพิเศษ ผ่อนไปซ่อมไป

คุณกีรติ ใช้บัตรอิออนไปเช่าซื้อไอโฟน 3G เครื่องมือสอง ราคา 18,900 บาท ที่ร้านเจมาร์ทสาขาบิ๊กซี พัทยาเหนือ ใช้งานได้เพียง 6 วันโทรศัพท์ก็เสีย คุณกีรติจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้าน “ผมแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการคืนสินค้า เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใน 7 วัน แต่ทางร้านไม่รับคืนและไม่เปลี่ยนเครื่องให้ บอกว่าถ้าจะให้ซื้อคืนจะรับซื้อในราคา 9,000 บาทเท่านั้น และไม่มีเครื่องเปลี่ยนให้ ผมเลยต้องยอมให้ทางร้านนำเครื่องไปซ่อมจนกว่าจะใช้ได้” ผ่านไปเดือนกว่าโทรศัพท์ก็ยังซ่อมไม่เสร็จเสียที ขณะที่ใบแจ้งหนี้จากอิออนก็มีมาเรียกเก็บแล้ว โดยคุณกีรติจะต้องผ่อนทั้งหมด 12 งวดๆละ 1,841 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,000 กว่าบาท ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น “ผมแจ้งให้อิออนทราบ อิออนแจ้งว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่างวดที่ 2 พร้อมกับค่าติดตามอีก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของอิออน ก็บอกให้ผมไปตกลงกับทางร้านเอง” “ผมน่ะไปตกลงกับทางร้านหลายครั้งแล้วว่าต้องการคืนสินค้า เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพแต่ทางร้านเจมาร์ทก็ไม่ยอมและไม่ทำเรื่องยกเลิกสัญญาซื้อขายให้ เดี๋ยวก็คงจะมีค่างวด 3 งวด 4 ตามมาอีก ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรมครับ” คุณกีรติร้องถามอย่างน่าเห็นใจ แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่ใช้บัตรเครดิตไปทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนสินค้า ขอให้รู้ว่า สัญญาของบัตรเครดิตนั้นเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บัตรเครดิตในกรณีที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อหรือผ่อนสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่เวลาที่กำหนด หรือได้รับสินค้าแต่สินค้านั้นเสียหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ประสงค์ ผู้ใช้บัตรมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้านั้นได้ทันทีและมิต้องชำระเงินให้กับบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ในข้อสัญญาเหล่านี้เพราะทางบัตรเครดิตถ้าลูกค้าไม่ถามก็มักจะไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบ เพราะอยากได้เงินจากลูกค้ากันทั้งนั้น วิธีแก้นั้นง่ายมากครับ ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายส่งถึงร้านค้าที่ขายสินค้าแจ้งถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าและขอคืนสินค้า พร้อมทั้งส่งสินค้าคืนให้กับทางร้านค้าไปพร้อมกับจดหมายฉบับดังกล่าว ขั้นที่สองให้มีจดหมายอีกฉบับแจ้งไปที่บริษัทบัตรเครดิต เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทำจดหมายเสร็จแล้วให้ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับ แล้วเก็บใบตอบรับพร้อมสำเนาจดหมายไว้เป็นหลักฐาน เท่านี้ก็จะทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทบัตรเครดิตได้ชำระเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิตที่จะไปทวงถามตามเอาเงินของตนที่จ่ายไปคืนเอง สำหรับปัญหาของคุณกีรตินั้น เมื่อได้ทำจดหมายส่งไปถึงร้านเจมาร์ทและบริษัทบัตรเครดิต ไม่นานร้านเจมาร์ทต้องแจ้นส่งเครื่องใหม่เอี่ยมเปลี่ยนมาให้คุณกีรติใช้งานทันทีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคืนเงินค่าโทรศัพท์ให้กับอิออนนั่นเองคุณกีรติแอบยิ้มให้กับตัวเอง “ไหนว่าไม่มีเครื่องเปลี่ยนไงฟะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ไม่ชอบใจบทละครไทย

ขอความกรุณาท่านช่วยดำเนินการบทละครทีวีไทยที่มีแต่เรื่องอิจฉาริษยา ตบจูบ ในละครทีวีช่องต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมากมายเหลือเกินการพูดจากับพ่อแม่ใช้คำพูดกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน และไม่รักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมไทยที่มีความเคารพ ยำเกรงผู้ใหญ่ บุพการี ละครทีวีไทยพยายามยัดเยียดกิริยา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่วิถีชีวิตคนไทย เช่น ก้าวร้าว เอะอะ ว้ายกรี๊ด อิจฉาริษยาซ้ำซาก ชอบตบหน้ากัน เห็นหรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาจากสื่อละครไทยโดยเฉพาะจากทีวีดูบทละครเกาหลีที่ส่งมาบ้างสิครับส่ งออกวัฒนธรรมเข้ามาครอบงำเมืองไทยจนเป็น KPop ไปหมดแล้วใครๆ ก็อยากไปเที่ยวเกาหลี เพราะเขาฉลาดกว่า แม้แต่เรื่องกับข้าวกับปลาที่ไม่เอาไหนไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเมืองไทยเขาก็ส่งออกมาครอบงำเราได้ ตื่นเสียบ้างเถอะครับอย่าดูถูกผู้บริโภคอีกเลยพวกท่านควรตื่นขึ้นมาดูแลบ้างได้แล้วและที่สำคัญและซ้ำซากแทบทุกบททุกตอนละครไทยทำไมต้องมีบทกระเทยมากมายนัก จนวัยรุ่นเอาอย่างกันมากมาย รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมก่อนที่สังคมไทยจะฟอนเฟะมากกว่านี้ ผมไม่ได้ดูละครไทยมานานแล้วเพราะมีการออกอากาศพวกนี้ วี้ดว้าย ก้าวร้าว ตบ จูบ พูดจาไม่เหมาะสมกับบุพการี อิจฉาริษยา ลูกๆ ผมยังไม่แนะนำให้ดูละครพวกนี้ ทั้งที่อยากสนับสนุนกิจการคนไทยแต่รับไม่ไหวจริง ๆ ช่วยรีบดำเนินการด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อร้องเรียนทางออนไลน์จากผู้บริโภคที่ใช้นามว่า “สมบัติ” ซึ่งต้องขอบพระคุณมากครับที่ช่วยเปิดประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อขึ้นมาขอแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดตัวโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงโดยกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไปถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการคุ้มครองสิทธิด้านสื่อ หากพบเจอปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อเรื่องใด ให้ส่งข้อร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ได้ที่ www.consumerthai.org/e-mouth/ หรือที่ Face Book “ซอกแซกสื่อ” ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ร้องประปาเชียงใหม่ ใช้ข้อความข่มขู่

“หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อาจถูกงดจ่ายน้ำ และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม 535 บาท”เป็นข้อความแบบนี้ล่ะครับ ที่คุณสุธน เห็นว่าเป็นการข่มขู่ผู้ใช้บริการน้ำประปา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระค่าน้ำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 คุณสุธนได้ส่งแฟกซ์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีข้อร้องเรียนด้วยลายมือหนึ่งหน้ากระดาษ พร้อมสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ที่มีข้อความเจ้าปัญหาล้อมกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ใต้ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการน้ำประปาคุณสุธนบอกว่า ตนพึ่งได้รับบริการ ติดตั้งประปาที่บ้านไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะบ้านอยู่นอกเขตเทศบาล แต่ให้มาเสียความรู้สึกทุกครั้งเมื่อต้องมาเจอข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณูปโภคของประชาชน จึงสามารถ(ข่มขู่ ขูดรีด) จากผู้ใช้บริการได้ขนาดนี้ ในกรณีหากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าใช้บริการน้ำประปา“ผมขอฝากร้องเรียน และสอบถามผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการด้วย... เห็นการข่มขู่เช่นนี้แล้วทนไม่ได้ครับ เห็นใจคนจนๆ อื่นๆ” เป็นข้อความทิ้งท้ายของคุณสุธน แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับข้อร้องเรียนและสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการน้ำประปาจากคุณสุธน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไม่นานได้รับหนังสือตอบกลับจากการประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ)ได้ออกไปพบและเรียนชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคุณสุธนจนเป็นที่พึงพอใจแล้วและในส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ประทับตราลงในใบแจ้งค่าบริการน้ำประปานั้น ได้รับข้อมูลแจ้งว่า การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ) ไม่ได้ประทับตราข้อความนี้ลงในใบแจ้งค่าบริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณการประปาส่วนภูมิภาคที่ใส่ใจต่อสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ และขอให้กิจการเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ขอมาตรฐานรถตู้โดยสารด้วยจ้ะ

เผลอ..แป๊บเดียวสงกรานต์มาถึงอีกแล้วหรือนี่...  เฮ้อ...วันเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เอ้า...เมื่อสงกรานต์มาถึงก็หมายความว่าเทศกาลแห่งการเดินทางของผู้คนก็มาถึงอีกแล้วซิ...  เมื่อถึงเทศกาลนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ บขส.รถไฟ ดั่งแต่ก่อน ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถตู้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน เพราะทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่า(ไม่ค่อยจอดรับรายทางแต่ความปลอดภัยตัวใครตัวมัน) ธุรกิจรถตู้จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้ว่าทุกซอกทุกมุมทั้งต่างจังหวัดและในเมืองมีคิวรถตู้เกลื่อนไปหมดวันก่อนมีชาวบ้านมาตั้งคำถามว่าหน่วยงานไหนควบคุมดูแลรถตู้(นั่นซิหน่วยงานไหนจ๊ะ) แล้วทำไมรถตู้จึงสามารถเพิ่มที่นั่งได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่น กฎหมายกำหนดไว้ให้มีที่นั่งได้ 11 ที่นั่ง แต่รถตู้โดยสารสามารถเพิ่มที่นั่งได้ถึง 14 ที่ อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่มีใครสนใจ  แม้แต่ตำรวจจราจรตำรวจทางหลวงก็เพิกเฉยและยิ่งไปกว่านั้นด้านหน้ารถจริงๆ มีได้แค่ 2 ที่นั่ง คือคนขับและคนนั่งอีกคน แต่รถตู้สามารถเสริมให้มีคนนั่งข้างคนขับได้ถึง 2 คน และที่แย่ไปกว่านั้นคือคนที่นั่งข้างหน้าริมประตูคนเดียวที่มีเข็มขัดให้คาด ส่วนคนนั่งกลางตัวใครตัวมัน  หากมีอุบัติเกิดขึ้นอาจกระเด็นทะลุกระจกออกไปได้ง่ายๆ  ลุงยังบอกอีกว่าผู้โดยสารอย่างเขามีสิทธิบอกมั้ย... ว่าอย่าเพิ่มที่นั่งเลย จะคิดค่าโดยสารเพิ่มก็ได้ แต่ขอความปลอดภัยให้เขาได้ไหม? เพราะการเพิ่มที่นั่ง มันทำให้นั่งไม่สบายอึดอัด  ยิ่งเป็นรถที่ขับระยะทางไกลๆ กว่าจะถึงที่หมายก็เกือบเป็นอัมพาตกันเลยทีเดียว   นั่นนะซิ..ใครล่ะที่จะเป็นคนบอกว่าได้ไม่ได้   ตกลงผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เป็นคนจ่ายสตางค์มีสิทธิที่จะร้องขอความปลอดภัยบ้างไหม.. ทำไมรถตู้ถึงมีเอกสิทธิเหนือกฎหมายได้ขนาดนี้ปากก็บอกว่าจะจัดระเบียบรถตู้ มีการเอาจริงเอาจังขนาดตรวจจับกันเลยทีเดียว   แต่ที่สำคัญคือไอ้ที่ดูๆ อยู่น่ะ...ดูกันแค่ ป้ายเหลืองหรือป้ายดำเท่านั้น  ส่วนความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่เห็นมีใครพูดถึง    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะดูแลเรื่องพวกนี้บ้าง? ไม่ใช่จ้องจะนับศพว่าปีนี้จะตายมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ฟังแล้วมันวังเวง และหดหู่ใจ  ที่ตื่นเช้ามาก็จะมีรายงานข่าววันที่ 1 ตายกี่ศพและนับทบไปเรื่อยๆ จนทำให้เราลืมไปว่ากำลังอยู่ใน เทศกาล สงกรานต์ ปีใหม่  หรือเทศกาลแห่งความตายกันแน่    ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่ให้มีรถตู้แต่อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานกันให้ชัดเจน  ใครฝ่าฝืนก็ดำเนินการตามกฎหมายผู้โดยสารจะได้อุ่นใจ  และเดินทางอย่างมีความสุข เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดที่พบเห็นเรื่องราวที่ท่านคิดว่าไม่เป็นธรรมและไม่ค่อยจะปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ก็ขอให้เล่าสู่กันฟังมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เราจะได้ช่วยกันพัฒนาระบบบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น พลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเราช่วยกันสอดส่องดูแล  ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและมีความสุขกับครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ปี 54 ทุกคนนะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ไม่มีให้ซื้อตามโฆษณา ก็ต้องฟ้องสิจ้ะ

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ได้มีโอกาสหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน และได้เห็นการโฆษณาของห้างโลตัส เป็นภาพสีคู่ 2 หน้า และแสดงภาพสินค้าราคาขายอย่างชัดเจน มีทั้งสินค้าลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2553 ถึง 2 มกราคม 2554 พร้อมคำบรรยายว่าซื้อแล้วจะได้สิทธิคูณ แต้ม 3 เท่าในคลับการ์ด และมีข้อความตัวเล็กๆ ด้านล่างของกรอบโฆษณา ถึงข้อจำกัดการซื้อ เช่น กรณีสินค้าขาดตลาด จำหน่ายหมดก่อนกำหนดหรือปฏิบัติตามคำสั่งราชการ โดยไม่มีการระบุว่าสินค้ามีจำนวนจำกัดเมื่ออ่านข้อมูลครบถ้วน ผู้เขียนได้ชวนพี่สาวและหลานๆ เดินทางไปที่ห้างโลตัสสมุทรสงคราม เวลาประมาณ 10.40 น. เพื่อไปซื้อสินค้าตามโฆษณา ไปถึงชั้นวางของปรากฏว่าไม่มีของตามที่โฆษณาวางอยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่า ของหมดแล้ว(ฮ้า....นี่เพิ่งวันแรกแต่เช้าหมดแล้วเหรอ..) เอ้า...หมดก็หมด ผู้เขียนเตรียมกลับบ้าน หันมาเจอพี่สาวและหลานๆ เห็นซื้อของกันมาเต็มมือก็เลยถามว่าอ้าว...ของที่ตั้งใจมาซื้อไม่มีแล้วซื้ออะไรกันมา ก็ได้คำตอบว่าไหนๆ ก็เสียเวลามาแล้ว ก็ซื้อๆไปเถอะ (อ้าว...อีกครั้ง)ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาของเขาได้ผล เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาก็อยากจะมาที่ห้าง มาแล้วไม่เจอของที่ตั้งใจซื้อ ก็ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้หรือเปล่า คือเป้าของการโฆษณา แต่คิดอีกที เออ..สินค้าเขาคงหมดจริงๆจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวประจำวันผู้เขียนได้เดินทางไป ที่ห้างโลตัสอีกครั้ง ก่อนเที่ยง ปรากฏว่าก็ไม่มีสินค้าอีก เอาละอันนี้เริ่มชัด(อะไรว่ะ....มากี่ทีก็ไม่มีของ..) ผู้เขียนจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคุยกับผู้จัดการ รอสักพักผู้จัดการ(หรือเปล่าไม่รู้) ก็มาคุยและแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงได้นำหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาของห้างไปแสดงและชี้ให้เห็นว่า ไม่มีข้อความไหนบอกว่า สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ได้บอกว่าต้องมาซื้อสินค้าเวลาไหนจึงจะซื้อสินค้าตามที่โฆษณาได้ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่มีการเจรจาก็มีผู้บริโภครายอื่นๆ มายืนฟังด้วย(ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ..มีผู้บริโภคบางคนพูดว่า...ของมันหมดแล้วมาโวยทำไม หมดก็ซื้ออย่างอื่นซิ..กลายเป็นว่าคนใช้สิทธิเป็นคนผิดอีก..แส้นนนน....ดี...จริงผู้บริโภคไทย) ผู้จัดการบอกว่าขอเบอร์โทรไว้แล้วกันหากสินค้ามาและจะโทรบอก อันนี้ล่ะ..ที่ผู้เขียนรับไม่ได้ พอใครโวยก็ให้สินค้าใครไม่โวยก็หลอกลวงกันเรื่อยๆไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามากอบโกยรายได้จากผู้บริโภคไทย ด้วยการใช้เทคนิคทางการตลาด นำสินค้าชิ้น 2 ชิ้น มาโฆษณาเป็นเหยื่อล่อ หลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปที่ห้างของตนนั้น เป็นเทคนิคการตลาดที่ขาดจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง(จริงๆ) ผู้เขียนได้โทรไปที่สายด่วนผู้บริโภค มีเสียงอัตโนมัติตอบกลับมาว่า ผู้ให้บริการติดบริการรายอื่นอยู่โปรดรอสักครู่ จนสายถูกตัด แต่ก็พยายามโทรอีกหลายครั้งใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เลยต้องโทรหาท่านเลขา สคบ.ท่านก็รับเรื่องแล้วบอกว่าจะดูแลให้ แต่เมื่อคิดอีกทีไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ก็คงดีก็เลยไปแจ้งความไว้ที่โรงพักเพื่อที่จะได้ดำเนินการฟ้อง พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป และในวันเดียวกันก็มีผู้บริโภครายอื่นโทรมาร้องเรียนว่าถูกหลอกเช่นกัน โดยดูทีวีมีการโฆษณาว่ามีกล้องโซนี่ ซื้อ 1แถม 1 ไปซื้อจริงๆไม่มีสินค้าเช่นกัน จึงแนะนำให้ไปแจ้งความไว้อีกคดี กลายเป็นว่าผู้บริโภคได้ร่วมกันให้ของขวัญปีใหม่กับห้างโลตัสไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าหลายห้างใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ไม่อยากจะฝากหน่วยงานแล้วเพราะฝากไปก็เหนื่อยเปล่า ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องร่วมมือกันเมื่อเจอเหตุช่วยกันแจ้งความ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ พลังของเราจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 2

1. ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม• เอสเอ็มเอสกวนใจ และอินเตอร์เน็ตสุดอืดปัญหากลุ่มนี้ อันดับหนึ่งเป็นปัญหาของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราวร้อยละ 48 และอันดับสองคือ ปัญหาการใช้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 33 ในกลุ่มปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือสมัครเข้าใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจและถูกหักเงินค่าใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับปัญหาการคิดค่าบริการผิดพลาดด้วย เนื่องจากถูกหักเงินโดยไม่ทราบเหตุผลส่วนปัญหาอินเตอร์เน็ตนั้น จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือ ปัญหาเน็ตช้า ไม่เร็วอย่างที่โฆษณา และปัญหาซื้อสินค้าผ่านเน็ต ถูกหลอกให้โอนเงินแต่ไม่ได้สินค้า แนวทางแก้ไข• กรณีมีเอสเอ็มเอสขยะเข้ามากวนใจตลอดเวลา ผู้บริโภคสามารถทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการมือถือได้ว่าโทรศัพท์มือถือเบอร์ใดที่ไม่ต้องการรับเอสเอ็มเอสขยะได้ และหากยังมีเข้ามาอีกก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาตกลงกันแล้ว• กรณีสมัครเอสเอ็มเอส โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทราบว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทันที เพื่อแจ้งยกเลิกการใช้บริการรับข้อความเอสเอ็มเอสและมิให้เรียกเก็บเงิน หรือหากมีการหักเงินเรียกเก็บไปแล้ว ก็ให้ผู้ให้บริการมือถือคืนเงินโดยทันที เพราะถือว่าเป็นการใช้บริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจสมัคร• ปัญหาเน็ตช้า ผู้บริโภคควรเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีบริการตรวจสอบความเร็วเน็ต และปริ้นท์ข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน หากความเร็วเน็ตที่ใช้ได้ไม่ถึง 80% จากความเร็วที่โฆษณา ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาให้มีความเร็วตามที่โฆษณาได้และยังขอลดหย่อนค่าบริการได้ หรือปฏิเสธการจ่ายค่าบริการได้ หากไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีหลักฐานชัดเจน• ส่วนการซื้อสินค้าผ่านเน็ตนั้น ทราบว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการกับปัญหานี้ โดยพยายามให้มีการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้ตัวตนผู้ขายสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น   2. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ คนร้องคอนโดแซงหน้าปัญหาบ้านจัดสรร ในปี 2553 ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเบียดแซงหน้าปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรไปแบบเฉียดฉิว โดยกลุ่มปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การร้องรียนเรื่องคอนโดคิดเป็นร้อยละ 40 และปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 37 ปัญหาคอนโด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เหลี่ยมกฎหมายมักตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเหตุไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาในการจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจอง เงินดาวน์ไปก่อน ในระหว่างที่รอคำตอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อทราบผลว่าสินเชื่อไม่อนุมัติ ทำให้ผู้บริโภคต้องสูญเงินจองเงินดาวน์ไปเป็นจำนวนมาก แนวทางแก้ไข• กรณีคอนโดมีปัญหาในการก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคทราบเหตุปัญหาในขั้นตอนไหน ลักษณะใด ให้ทำหนังสือทักท้วงให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขหรือให้ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยทันที อย่าใช้วิธีโทรศัพท์ติดตามเพียงอย่างเดียว และไม่ให้จ่ายเงินค่างวดจนกว่าปัญหาที่ทักท้วงไปนั้นจะได้รับการแก้ไขลุล่วงเรียบร้อย หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายได้ • กรณีซื้อบ้านจัดสรร ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วยังไม่รู้ผลอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเงินจองเงินดาวน์ไปแบบกินเปล่า ก่อนที่จะลงนามในสัญญาจองและสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคควรขอให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ในสัญญาเลยว่า หากกู้ไม่ผ่านผู้ประกอบธุรกิจยินดีจะคืนเงินจอง เงินดาวน์ทั้งหมด หรือในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่าไปตามที่จะตกลงกัน หากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงานขายไม่ยินยอม ให้เดินออกมาได้เลย ไม่ต้องสนใจกับโครงการนั้นอีกต่อไป   3. ปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข• ฟิตเนส...สัญญาชั่วฟ้าดินสลาย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าฉาย คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักสุดหน่วงระหว่างอาสะใภ้กับหลานชายของสามี แบบ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ดูไปแล้วเอามาเทียบกับการเป็นสมาชิกบริการฟิตเนสช่างเหมือนกันได้แบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันนิดเดียวคือฟิตเนสจะออกแนว “สมาชิกชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” เป็นสมาชิกไปแล้ว เลิกไม่ได้ ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ ลูกเดียว นอกจากฟิตเนสแล้ว จากการร้องเรียนยังพบว่าบรรดาศูนย์สุขภาพและความงามจำพวกสปามีการใช้สัญญาชั่วนิรันดร์ลักษณะนี้กับผู้บริโภคเช่นกัน นับเป็นภัยผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาในปี 2554ปัญหาสัญญาสัญญาไม่เป็นธรรมของบริการฟิตเนส เป็นปัญหายอดฮิตที่มีการร้องเรียนในกลุ่มปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยมีมากถึงร้อยละ 45 แนวทางแก้ไข• ผู้บริโภคควรตั้งสติก่อนคิดทำสัญญา• หากหลงเข้าทำสัญญาไปแล้ว ถ้าเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หากไม่ประสงค์จะใช้บริการต้องรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง หรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ แล้วให้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินโดยทันที• หากผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสผิดสัญญาในเงื่อนไขสำคัญ นอกจากจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเรียกร้องค่าสมาชิกคืนได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จอาจต้องใช้การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในท้ายที่สุด4. ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางจับตา...อาหารไม่ปลออดภัยปัญหาด้านอาหารเท่าที่มีการร้องเรียนกับมูลนิธิฯ มีสองลักษณะใหญ่คือ อาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริง  โดยอาหารไม่ปลอดภัยนั้นมักเกิดในลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ และเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต การบรรจุหรือการเก็บรักษา ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กรณีที่เคยนำมาลงในฉลาดซื้อ เช่น พบตัวมอดในนมผงสำหรับเด็กเล็ก นมบูดเสียก่อนกำหนดส่วนด้านการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือสงสัยว่าเป็นเท็จนั้น มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาตามสื่อทีวีดาวเทียมหรือสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ แนวทางแก้ไขใน 7 กลุ่มปัญหา ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางนับเป็นกลุ่มปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ความเสียหายไม่ชัดเจน หรือเสียหายไม่มาก หรือพบปัญหาบ่อยมากจนเป็นเรื่องชินชา อย่างไรก็ดีปัญหากลุ่มนี้นับเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดกว่ากลุ่มใด จึงจำเป็นที่มูลนิธิฯ จะต้องดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิให้มากยิ่งขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 1

เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องประสบวิบากกรรมเพลิงไหม้สำนักงาน ทำให้พวกเราเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้องกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชั่วคราวสถานที่ทำงานต้องถูกย้ายไปย้ายมา สัมภาระข้าวของที่ต้องแบกขนกันอีรุงตุงนัง ที่สำคัญสายโทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลัก เหลือใช้งานเพียงเบอร์เดียวจากที่เคยมีอยู่ 3 เบอร์ด้วยสภาพที่ทุลักทุเลของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯที่ไม่ต่างจากชาวบ้านที่โดนน้ำท่วม ทำให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯในปี 2553 มียอดรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจเท่าไรนักคือนับได้ 796 กรณี(นับแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน) ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบยอดรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 ที่มีถึง 1,587 รายอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องร้องเรียนจะผ่านเข้ามาน้อย แต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังคงคุณภาพเข้มข้นให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีแรงทำได้ และส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของผู้บริโคภที่สำคัญหลายประการภาพรวมเรื่องร้องเรียนปี 2553ในปี 2553 ปัญหาหนี้สิน การเงิน การธนาคาร ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคนำมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่มเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาบริการสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 14 ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 11 และที่เกาะกลุ่มตามมาติดๆ คือปัญหาจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาอาหาร ยา เครื่องสำอาง คิดเป็นร้อยละ 8,8,7 และ 3 เรียงตามลำดับ นอกนั้นเป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาด้านผู้บริโภคอีกร้อยละ 4 แน่นอนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของทุกกลุ่มปัญหาจะเป็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในปี 2554 ปัญหาเหล่านั้นมีเรื่องใดบ้าง เชิญติดตามได้     1. ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร • หนี้บัตรเครดิต ปัญหาอมตะที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปี 2553 เรื่องร้องเรียนหนี้บัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 268 กรณี(เฉพาะที่มีการบันทึก) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มการเงินการธนาคารที่มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 360 กรณีลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษา คือ ใช้บัตรเครดิตในทางไม่เหมาะสม เช่น เบิกถอนเป็นเงินสดเพื่อมาลงทุนประกอบธุรกิจแต่ไม่สามารถสู้กับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงของบัตรเครดิตได้พยายามช่วยเหลือตนเองจนเกิดหนี้หลายบัตร เพิ่มเป็นหนี้หลายทางทั้งในและนอกระบบ ขาดความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน และเลือกใช้วิธีหมุนเงินในอนาคตจนสุดสายป่าน ท้ายสุดต้องผิดนัดชำระหนี้ยกแผง เกิดทุกข์ติดตามเป็นกระบวน คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม บางรายถูกหักเงินในบัญชีเงินเดือน ถูกฟ้องศาล และถูกบังคับคดี  บางครอบครัวถึงกับอยู่ในสภาพล่มสลายโดยมิได้เป็นบุคคลล้มละลาย   แนวทางแก้ไข• ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างวินัยการใช้จ่ายและการจัดการบริหารหนี้ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้บริการด้านการเงินการธนาคารอย่างเต็มที่ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารจัดการรายได้ การออม การใช้จ่าย การให้ความรู้ในการขอสินเชื่อตรวจสอบค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น• ให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม , กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ,กฎหมายการแข่งขันด้านการเงิน เป็นต้น• รัฐควรจัดให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก• ควรกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การให้วงเงินและเพิ่มวงเงินของบัตรเครดิต ควรใช้ข้อมูลเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่ใช้ฐานจากยอดใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทั้งต่อลูกหนี้และผู้ประกอบธุรกิจได้ง่าย เป็นต้น • การเช่าซื้อรถยนต์และการจองรถสองเรื่องนี้เปรียบเหมือนปัญหาคู่แฝดสำหรับคนอยากมีรถแต่ไม่มีเงินสด และเป็นปัญหาลูกพี่ลูกน้องของคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆการขอสินเชื่อผ่อนรถจากไฟแนนซ์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงได้สะดวกรวดเร็วมากที่สุดวิธีการหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคบางรายมีปัญหาทางด้านการเงิน ประวัติเครดิตมีตำหนิ แต่ไม่สามารถสลัดความอยากออกจากจิตใจได้เพราะถูกโฆษณาเล้าโลมจนอ่อนระรวย คนกลุ่มนี้มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์บังหน้าได้ง่ายๆ โดยจะถูกหลอกให้วางเงินจองรถอย่างน้อย 5,000 บาท เพื่อแลกกับการซื้อรถใหม่ราคาถูกกว่าปกติ แถมออฟชั่นเพียบ แต่สุดท้ายมักถูกริบเงินจองในท้ายที่สุด เพราะถูกอ้างว่าขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ไม่ผ่านแนวทางแก้ไขo ให้ผู้บริโภครู้ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีการควบคุมสัญญาการซื้อขายรถที่มีการจองแล้วo สัญญาจะซื้อจะขายรถต้องมีรายละเอียดของรถที่ชัดเจน พร้อมกำหนดวันที่คาดว่าจะส่งมอบรถo เมื่อรู้ว่าขอสินเชื่อไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ให้แจ้งแก่ผู้ขายโดยทันที ให้เป็นลายลักษณ์อักษรดีที่สุด เพราะสัญญาควบคุมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ขายทราบเรื่องนี้จะต้องคืนเงินจองให้โดยเร็ว ไม่ถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา  o อย่าซื้อรถกับเต้นท์ขายรถเลื่อนลอย ควรซื้อรถกับผู้ขายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลo ถ้าจะซื้อรถกับบุคคลธรรมดา ต้องไม่ซื้อรถกับคนที่ไม่ให้สำเนาบัตรประชาชน   2. ปัญหาด้านบริการสาธารณะ• รถโดยสารสาธารณะ ยมทูตติดล้อในกลุ่มปัญหาด้านบริการสาธารณะ เกือบครึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงปี 2553 มียอดผู้ประสบภัยจากรถโดยสารที่ปรากฏเป็นข่าวมากกว่า 2,000 รายในจำนวนนี้ผู้ประสบภัยกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากบริการรถโดยสารปรับอากาศประจำทาง สาเหตุสำคัญมาจากระบบการบริการที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ทั้งคุณภาพของรถและคุณภาพของคนขับที่มาของปัญหา : รถโดยสารสาธารณะกลุ่มใหญ่เป็นรถร่วมบริการของภาคเอกชน ขาดการอุดหนุน ส่งเสริมด้านความรู้และเงินทุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและขาดความชัดเจน การประกันภัยภาคบังคับเน้นการเยียวยาด้านชีวิตและร่างกาย ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจเน้นใช้หลักฐานานุรูป หรือความยากดีมีจนเป็นเกณฑ์การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยทั้งสองแบบยังให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารด้านอื่นๆในระดับที่น้อยมาก แนวทางแก้ไข• ให้รัฐประกาศรับรองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และมีเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นที่ชัดเจน และไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งให้มีบทกำหนดโทษหากมีการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร• ให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร  ส่งเสริมอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการให้บริการที่ดีโดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้สู่บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลักภาระของผู้ประกอบการมาสู่ผู้บริโภค และไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากจนเกินไป• แหล่งที่มากองทุน ให้พิจารณาจากเงินรายได้ที่ได้รับจากภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล  เงินค่าปรับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น   3. ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป• รถยนต์ไม่ได้คุณภาพ และรถยนต์ซื้อใหม่ ใช้ไปซ่อมไปปัญหาในกลุ่มรถยนต์ เป็นเรื่องร้องเรียนหลักในด้านสินค้าและบริการทั่วไปที่เข้ามาที่มูลนิธิฯเกือบจะทุกยี่ห้อดังปัญหามีหลายลักษณะ ตัวอย่างปัญหาในกลุ่มรถใหม่ เช่น รถติดก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานระบบทำงานไม่สมบูรณ์ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นตลอด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนรถใหม่แต่ถูกผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธ  ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานของรถนั้น มีการร้องเรียนและกลายเป็นคดีฟ้องร้อง มี 2 กรณี คือ รถชนอย่างแรงแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารถชนผิดเหลี่ยมและชนแรงไม่พอ กับอีกกรณีคือ มีควันพิษรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร โดยผู้ขับขี่ไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาสุขภาพ  แนวทางแก้ไข• ในกรณีที่พบว่ารถเกิดปัญหาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขก่อน และให้เก็บหลักฐานการซ่อมนั้นไว้ทุกครั้ง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในค่าขาดโอกาสในการใช้รถยนต์ หรือขอให้มีรถใช้ระหว่างซ่อมได้• เมื่อให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ยังเกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก หรือเกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่อง ผู้บริโภคควรใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายหรือขอเปลี่ยนรถได้• แนวทางนี้ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นกัน   ฉบับนี้คงรายงานได้เพียงแค่นี้ ติดตามเรื่อง สื่อและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาบริการด้านสุขภาพ อาหารและยา ได้ในฉบับหน้า ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบคุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่างดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใดหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเองโดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >