ฉบับที่ 162 เลือกบริโภค “ผัก” ปลอดสาร ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริง

“กินผักดี  มีประโยชน์” แนวทางหนึ่งที่คนรักสุขภาพเชื่อกันว่าจะทำให้ห่างไกลจากโรควิถีชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนยุคนี้ถึงกว่า 66 % โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภคอาหารนอกบ้าน ประเภทอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมกินอาหารมีไขมันแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ­­ “เตรียมผักไว้ทำกับข้าว” กินที่บ้านกับคนในบ้าน ดีทั้งสุขภาพ และมีความสุขกับคนในครอบครัว ลูกๆ หลานๆ  แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ผัก” ที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ปลอดสารพิษ กินดี และมีประโยชน์จริง เพราะผักปลอดสารพิษที่นำมาขายตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า มีมากชนิดเสียจนบางครั้งก็ทำให้สับสนว่าจะเลือกซื้อร้านไหน หรือ ยี่ห้อไหนดี หรือว่าจำเป็นหรือไม่ที่หันมาบริโภคผักปลอดสารพิษที่มีราคาสูงกว่าผักทั่วไปถึง 3-4 เท่าตัว สำหรับผักปลอดสารพิษนั้น หลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามีกรรมวิธีการปลูกขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงแล้วอ่านดูจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พบว่าเขาอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีบางชนิดในผักปลอดสารพิษได้ เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน แต่มีข้อแม้คือ สารเคมีดังกล่าวจะต้องมีสารตกค้างในระยะสั้นเท่านั้น และจะต้องหยุดใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดไว้  ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรการป้องกันระดับหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐ จากตารางข้างต้น อธิบายได้ว่า ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค คือผักที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งสิ้นในการปลูก ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดโรค กำจัดแมลง กำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ไม่ใช้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรม และให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม. ส่วนผักอนามัย จะปลูกแบบใช้สารเคมีในปริมาณที่กรมฯ กำหนด มีการใส่ใจเรื่องความสะอาดทุกขั้นตอน ก่อนและหลังการเก็บและบรรจุลงหีบห่อ สำหรับ  ผักปลอดสารพิษ ต้องไม่มีการใช้สารเคมีแต่ก็มีบางชนิดที่สามารถใช้ได้ ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกโดยน้ำนั้น ยาฆ่าแมลงและยาปราบ ศัตรูพืชจะเข้าสู่ผักได้ แต่ทราบว่ากรมฯ เขาก็ได้กำหนดปริมาณที่เหมาะสมไว้แล้วเช่นกัน ฟังดูอย่างนี้ก็จะรู้สึกว่าผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค น่าจะสะอาดที่สุดและปลอดภัย กว่าผักประเภทอื่น แต่ก็มีราคาสูงมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแล้วว่าจะเลือกซื้อแบบไหน ที่น่าคิดคือ เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อความที่พิมพ์ไว้บนถุงผักที่วางขายตามร้าน ได้ผ่านการปลูกแบบปลอดสารพิษจริงๆ ไม่ใช่แค่พิมพ์ข้อความไว้เท่านั้น ก็คงต้องฝากหน่วยงานไปเข้มงวดกวดขันกันหน่อย หรือหากไม่อยากเสียเงินเยอะๆ ก็ซื้อผักธรรมดาตามท้องตลาดก็ได้ แต่ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น อย่าเลือกซื้อแต่ผักที่สวย ไม่มีหนอนหรือแมลงกัดกิน เพราะนั่นแสดงว่าอาจมีการใช้สารเคมีในการปลูก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไปเพราะได้ข่าวว่าหลังๆ นี้เริ่มมีวิธีการหลอกลวงขั้นเทพ คือสามารถทำให้ผักที่ขายมีร่องรอยเหมือนหนอนกินได้แล้ว เท็จจริงอย่างไรก็ลองสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป กินผักตามฤดูกาล กินผักหน้าตาแปลกๆ บ้าง ไม่ซ้ำซากอยู่แต่กับผักเดิมๆ ก็ช่วยได้มาก ข้อสำคัญไม่ว่าจะเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ หรือไม่ปลอดสารพิษมาแล้วก็ต้องล้างให้สะอาดด้วยอย่างน้อยก็ช่วยลดสารปนเปื้อนลงได้ระดับหนึ่ง(เว้นพวกดูดซึม อันนี้สุดจะเยียวยา) ก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร จะได้มั่นใจขึ้นเป็นสองเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 “Startup” บริษัทไอทีต้องมีคุณธรรม

น่ายินดีกับข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนในแวดวงการไอทีและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตอนนี้รายงานจากผลสำรวจผู้ก่อตั้งกิจการโลกหรือ World Startup Report ล่าสุดพบว่า 50 อันดับแรกของประเทศที่มีบริษัทไอทีเกิดขึ้นใหม่เมืองไทยบ้านเราก็ติดอันดับกับเขาด้วยเหมือนกันอยู่ในอันดับที่ 36 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วความเก่งไม่แพ้กันเลยยกตัวอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งตอนนี้อยู่ในอันดับที่ 30 และ 32 ตามลำดับ “บริษัทไอทีหน้าใหม่” ซึ่งศัพท์เฉพาะของคนในวงการไอทีเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Startup” นั้นนับว่ามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพอสมควรทีเดียวเพราะปัจจุบันบริษัทไอทีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทและจากที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ Startup ในงาน “Start it Up, Power it Up  ครั้งที่ 6” ซึ่งจัดขึ้นโดยทีมงานผู้ดูแลเว็บไซต์ thumbsup.in.thเมื่อเร็วๆนี้ก็พบว่าบริษัทไอทีอันดับ 1 ของไทยคือAsiaSoftมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5,810 ล้านบาทรองลงมาคือAgodaมูลค่าตลาด 2,440 ล้านบาทและอันดับ 3 คือOokbeeมูลค่าตลาด 2,250 ล้านบาท เมื่อมองไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันนี้เราจะพบว่าผู้คนนิยมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะไม่ต้องออกจากบ้านสินค้าราคาไม่แพงแถมมาส่งถึงหน้าบ้านอีกด้วยสะดวกสบายและจ่ายเงินน้อยอย่างนี้จึงทำให้มีผู้บริโภคกว่า 23 ล้านคนเลือกที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวอย่างไรก็ตามธุรกิจไอทีเป็นการซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแตกต่างจากการค้าขายทั่วไปโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าไปจนถึงการชำระเงินจึงทำให้หลายๆครั้งที่สินค้าที่ได้มาไม่ตรงตามความต้องการหรือคุณภาพด้อยกว่าที่ผู้บริโภคคิดไว้   เพื่อป้องกันการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อขายสินค้าในรูปแบบต่างๆมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้แนวทางวิธีป้องกันไว้ดังนี้ 1.      เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ต้องเก็บหลักฐานการสั่งซื้อไว้เช่นหลักฐานการโอนเงินค่าสินค้าหรือเอกสารสั่งซื้อหากกรณีมีปัญหาสินค้าที่สั่งมาไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณาจะได้เอาผิดกับผู้ประกอบการได้ 2.      กรณีสั่งซื้อสินค้าไม่ได้รับสินค้าตามระบุไว้ในโฆษณาในเว็บไซต์ให้ทำหนังสือส่งไปยังเจ้าของเว็บไซต์พร้อมแนบสำเนาหลักฐานการโอนเงินและการสั่งซื้อสินค้าระบุให้ผู้ประกอบการจัดส่งสินค้าใหม่ให้ผู้บริโภคภายใน 7 วันนับจากที่ได้รับจดหมายหรือเอกสาร 3.  หากพ้นวันที่กำหนดการจัดส่งสินค้าและไม่ได้รับสินค้าเข้าข่ายหลอกลวงให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าให้ผู้บริโภคเข้าแจ้งความที่สำนักงานตำรวจใกล้บ้าน นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคได้ผ่านช่องทางต่างๆได้ไม่ว่าจะเป็นกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคโทรศัพท์ 02-5137113,02-5133681 , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-2483737 หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสายด่วน 1166 เมื่อทางด้านผู้บริโภคมีวิธีป้องกันการละเมิดสิทธิแบบนี้แล้วด้านผู้ประกอบการที่คิดจะทำธุรกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จมีลูกค้าจำนวนมากๆอยู่ในแวดวงไอทีได้นานๆนอกจากการทำให้ลูกค้าพึงพอใจด้วยสินค้าที่มีคุณภาพโดนใจและส่งสินค้าได้ทันใจแล้วก็ควรต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและยึดหลักความถูกต้อง – ซื่อสัตย์ – เชื่อถือได้ไม่หลอกลวงก็จะส่งผลให้สามารถทำธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน. //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 เคล็ด(ไม่)ลับ เลือกแฟรนไชส์อย่างไร ให้ไปรอด

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าการเริ่มทำธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเองทุกอย่าง คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งทั้งหมดด้วยตนเอง ลองผิด-ลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสูตรสำเร็จ บางคนโชคดีหน่อยใช้ระยะเวลาค้นหาไม่นานนัก แต่ส่วนใหญ่จนเงินทุนหมดไปแล้วก็ยังไม่พบคำตอบเสียที “ธุรกิจแฟรนไชส์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งระบบธุรกิจทางเลือกที่เหมาะกับการลงทุนเป็นเจ้าของในยุคนี้ ที่ผมอยากนำเสนอให้ลองพิจารณา เพราะด้วยระบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้า หรืองานบริการ ที่มาพร้อมด้วยสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า การตลาดที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นแบบแผน มีการอบรมพนักงาน ให้คำปรึกษาและแนะแนวความรู้ อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีคนเคยศึกษาตัวเลขพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของคนที่เริ่มทำธุรกิจมักจะทยอยปิดตัวลง หากทุนไม่หนา ประสบการณ์ไม่มากพอ ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในวงการนี้ยาก แม้จะเดินตามแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแนวทางมาให้แล้วเสร็จสรรพก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น  คนเป็นแฟรนไชส์ก็ต้องลงมือทำธุรกิจเองอย่างตั้งใจ ผลกำไรหรือยอดขาย จะอยู่ที่ความเอาใจใส่ของเจ้าของร้าน และการทำตามข้อแนะนำ วิธีการที่ผ่านความสำเร็จมาแล้ว ความนิยมเปิดร้านแฟรนไชส์ที่มีมากขึ้นทำให้ปัจจุบัน มีแฟรนไชส์เปิดใหม่มากกว่า 80,000 แห่งต่อปี และธุรกิจนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-25 % จากแฟรนไชส์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ปะปนกันไป เคล็ด(ไม่)ลับของการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ให้ผิดหวังนั้นทำได้ง่ายๆ จากคำแนะนำของคุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ที่ได้ให้ไว้ในการสัมมนา “Franchise Guide 2014  แนะทางรวยด้วยธุรกิจแฟรนไชส์” ดังนี้ 1. ดูอายุของธุรกิจว่าเปิดมานานแค่ไหนแล้ว ถ้า 5 ปีขึ้นไปถือว่ามีประสบการณ์ ลองผิด – ลองถูก มากพอที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวทางการทำกำไรให้เราได้ 2. เป็นกิจการที่มีกำไร มีร้านสาขา ส่วนใหญ่สามารถทำกำไรได้ 3. มีสาขาอยู่แล้วหลายแห่ง แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการสาขา 4. มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำตลาด บริษัทแม่ทุ่มเทในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อร้านแฟรนไชส์ซี่ด้วย 5. มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก แฟรนไชส์ที่ดีควรมีการสร้างแบรนด์และมีฐานทางการตลาดอยู่แล้ว จะทำให้เมื่อเปิดร้านขึ้นมาจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทันที  แตกต่างจากการที่เราต้องสร้างแบรนด์เองเพราะต้องใช้ระยะเวลานาน 6. เป็นธุรกิจที่มีตลาดกว้าง สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่และมีการซื้อซ้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงกับการทำธุรกิจที่ยาวนาน เช่นธุรกิจอาหาร, บริการด้านสุขภาพ-ความงาม, สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นต้น 7. มีระบบงานที่ทันสมัย เช่น มีคู่มือการทำงานที่ดี มีระบบบัญชี มีเทคโนโลยีและให้การฝึกอบรมเจ้าของร้านและพนักงาน เป็นต้น 8. มี ผู้บริหารที่มีความสามารถ เพราะการขยายแฟรนไชส์เป็นการบริหารจัดการขนาดใหญ่ เจ้าของจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการต่างๆ ให้บรรลุผล 9. มีทีมงานสนับสนุน แฟรนไชส์ที่ดีควรให้การสนับสนุนเพื่อช่วยเริ่มกิจการและทำให้ร้านดำเนินงานได้ต่อเนื่อง 10. การสำรวจร้านที่มีอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด สำหรับตัดสินใจ 11. มีกำไรเพียงพอเพราะแฟรนไชส์จะมีต้นทุนจากการขายที่ต้องแบ่งให้บริษัทแม่ด้วย 12. มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง บริษัทแม่ที่ดีจะต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดเวลา เพื่อเอาชนะการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง สำหรับท่านผู้บริโภคที่ต้องการผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการดูบ้าง ลองนำเอาเทคนิคง่ายๆ 12 ข้อนี้ไปใช้ก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้นะครับ   เพราะนอกจากจะทำให้ท่านกลายเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ท่านยังจะรู้จักและเข้าใจในชีวิตอีกบทบาทหนึ่งมากขึ้นด้วย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 เถ้าแก่ร้านค้าออนไลน์ ต้องมุ่งคุ้มครองผู้ซื้อ

ใครหลายๆคนที่กำลังสนใจอยากมีกิจการเป็นของตนเอง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ บนโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองอย่างดีสำหรับ “เถ้าแก่ยุคใหม่”ทั้งหลายนะครับ.. เพราะไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ ตกแต่งร้าน หรือแม้กระทั่งนั่งเฝ้าหน้าร้านกันขโมยตลอดเวลา ก็สามารถเปิดร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มาก เริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจง่าย ๆ เลย คือคุณอยากรู้ว่าจะขายอะไร พร้อมเตรียมเงินลงทุนในกระเป๋าไม่กี่พันบาท และคุณใส่ใจเรื่องของอินเทอร์เน็ต อยากมีหน้าเว็บไซต์เป็นของตนเองที่เหล่าบรรดานักพัฒนาทั่วโลกได้เขียนขึ้นในรูปแบบของการทำเว็บไซต์สำเร็จรูปมาให้คุณเลือกใช้ (Content Management System:CMS) ที่สามารถใส่เนื้อหา ข้อความง่ายๆ, ภาพถ่าย, เพลง, วิดีโอ, หรือเอกสาร โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้โค๊ดเฉพาะยากๆเหมือนในอดีต สมัยนี้การจดทะเบียนประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำได้สะดวก ในไทยเองก็มีจำนวนผู้จดทะเบียนไปแล้วประมาณ 8,000 ราย เป็นแบบบุคคลธรรมดา  5,000 ราย เป็นนิติบุคคล 3,000 ราย ซึ่งผู้ประกอบการ 1 รายอาจมีเว็ปไซต์ได้มากกว่า 1 เว็ปไซต์ ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเป็นเถ้าแก่บนโลกออนไลน์ อย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะก็ นอกจากเรื่องการวางแผนธุรกิจแล้วคุณก็ต้องมีการ ตั้งชื่อให้ร้านของคุณ โดเมนเนม (Domain name) หรือ ชื่อเว็บไซต์ เป็นตัวตนของร้านที่จำเป็นต่อการสร้างแบรนด์คุณให้ติดตา แก่บรรดาขาช้อปในโลกออนไลน์ มีชื่อร้านแล้ว...รายละเอียดของสินค้า หรือ Content ข้อมูลต้องมีการระบุให้ละเอียด ชนิดที่ลูกค้าที่มาใช้บริการอ่านปุ๊ป แล้วทราบข้อมูลและการบริการ ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด มีการเชื่อมโยงหน้า หรือทำ Link ให้ง่ายต่อการค้นหา แม้ธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ดูจะสดใสเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่ทว่าก็ยังมีเรื่องที่ต้องพึงระมัดระวังในการทำธุรกิจอย่างยิ่งยวด นั่นคือเรื่องข้อกฏหมายและเรื่องการดูแลคุ้มครองผู้ซื้อ ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์,กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามเถ้าแก่หน้าใหม่ทั้งหลาย หากคิดจะค้าขายทางนี้ ก็ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือบกพร่อง รับประกันสินค้าให้ตรงตามสรรพคุณที่โฆษณา และมีบริการหลังการขายที่ดีพอ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง แล้วคุณจะได้ความพึงพอใจจากลูกค้า และการไว้วางใจ ที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าหรือบอกต่อให้ญาติสนิท มิตรสหาย มาซื้อสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ของคุณ เรียกว่าต้องคำนึกถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักสำคัญเลยทีเดียว ผมอยากให้เถ้าแก่หน้าใหม่ มาจับจองเปิดพื้นที่ร้านค้าออนไลน์กันให้มากๆ เพราะคุณจะได้ลูกค้าคนไทยกว่า 73% หรือ 25.1 ล้านคน ที่มีปริมาณการใช้งานค้นหากว่า 19 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับเถ้าแก่ที่กำลังหาลูกค้า และถ้ามองให้กว้างไปอีกนิดในเอเชียมีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 1.76 พันล้านคน และทั่วโลกกว่า 2.4 พันล้านคน ถือเป็นการวางแผนธุรกิจที่สร้างรายได้ให้คุณได้ง่ายๆ และนอกจากผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่จะมีรายได้เติบโต เศรษฐกิจในประเทศเติบโต และยังทำให้การค้าประเทศชาติเติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 คำถามสำคัญก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

คำถามที่ผู้เขียนได้รับเป็นประจำเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับนักวิ่ง และนักออกกำลังกายต่างๆ   ไม่น้อยไปกว่ารายละเอียดการบริโภคเมนูอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์  ก็คือ “อาหารเสริม  หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนั้น , ตัวนี้   เป็นประโยชน์จริงหรือไม่?” ถือผู้ถามอยากรู้ว่า   ถ้ามีประโยชน์จริง   จะได้ซื้อกิน   จึงอยากถามความเห็นผู้เขียน ในแง่มุมของผู้เขียน   การที่ผู้ถามเลือกที่จะถามเรา   รู้สึกตัวเองเป็นตรายาง  รับประกันผลิตภัณฑ์   ถ้าพูดอย่างไรไป  หรือตอบไปในทิศทางไหน   อาจถูกตำหนิได้ง่ายๆ  จากช่องโหว่ของคำแนะนำ   ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่ใครก็ตามที่จะสามารถกล่าวคำแนะนำอย่างนี้ได้   ต้องเข้าถึงองค์ความรู้รอบด้าน   ไม่เพียงแต่ต้องติดตามรับรู้ผลวิจัยโภชนาการและเภสัชวิทยาใหม่ๆ เท่านั้น   แต่ยังต้องติดตามกระแสสังคม  และไหวทันเล่ห์กลของบริษัทการค้าให้ทันด้วย ที่ผมยอมรับว่า   สุดวิสัยที่จะทำได้   มันเป็นการยากมากที่ผู้บริโภคปัจเจก หรือ  Exercises Instructor  คนหนึ่งที่มีเครื่องมือแค่อินเตอร์เน็ต  จะไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หากินกับผลิตภัณฑ์คาบเกี่ยวระหว่างสุขภาพและผลประโยชน์เหล่านี้   ที่มีแหล่งทุนมหาศาลจ้างทีมงาน  ทั้งเภสัช   ทั้งแพทย์   และเครื่องไม้เครื่องมืออย่างห้องแล็บที่เป็นของตัวเอง   ตลอดจนนักจิตวิทยาการค้า  Creators   และนักภาษาศาสตร์ กับถ้อยคำชี้นำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ   โดยปราศจากข้อที่จะเอาผิดได้ทางด้านกฎหมาย   แต่เราแน่ใจได้อยู่อย่างว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้  แต่เดิม มุ่งเป้าหมายผู้ที่อยู่ใต้ระดับโภชนาการมาตรฐาน   ปัจจุบัน   ได้เบนเข็มมุ่งเป้าหมายชนชั้นที่ใฝ่ใจสุขภาพและประชาคมออกกำลังกาย ค่าที่ว่าพวกเขาวิจัยออกมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่น่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง   และพวกเรานักออกกำลังกายจึงถูกผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้  มองกระเป๋าสตางค์  ตาเป็นมัน เนื่องจากธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง   ของกลุ่มผู้ออกกำลัง ก็คือ   เป็นกลุ่มผู้มีแนวโน้มมีระดับการศึกษาเฉลี่ยกลางค่อนข้างสูง  และฐานะทางการเงินก็เป็นเช่นเดียวกัน   จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ผลวิจัยออกมาเป็นเหยื่อล่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  จะได้แหวกกระเป๋าสตางค์สำเร็จ บ่อยครั้งที่แม้จะเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์   จะเป็นเช่นที่บริษัทการค้ากล่าว   แต่ในทางปฏิบัติในระดับของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์   มันกลับไกลจากผลลัพธ์ด้านคุณที่ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่ต้นอย่างลิบลับจนมองไม่เห็นเลย   หรือไม่ก็ได้รับน้อยมากๆๆๆๆ แทนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามเหล่านี้ทีละราย   อธิบายผลิตภัณฑ์ทีละตัว   ผู้ถามต่างหากควรจะหาคำตอบเอาเองจากคำถามที่ผมตั้งไว้  ดังต่อไปนี้ 1   มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดบ้างกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์? 2   มีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใดบ้าง?   ที่สอดคล้องกับคำโฆษณา 3  โดยใคร?.......สถาบันที่บริษัทอ้างถึงนั้น   มีความน่าเชื่อถือทางสาธารณะขนาดไหน?     เป็นเพียงสถาบันที่มีแต่ชื่อหรูๆ  หรือผ่านควอลิฟายด์จากใคร? 4  นักวิจัยเหล่านั้นดำรงสภาพผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับบริษัทหรือไม่? 5  ผลงานวิจัยที่กล่าวอ้างมา  เราจะเชื่อเลยโดยอัตโนมัติเลยหรือ?   โดยเราจะเอาเครื่องมือใดตรวจสอบ   ผลงานวิจัยเหล่านั้นถูกตีพิมพ์ที่ไหน? 6  ผลวิจัยเหล่านั้นมีเนื้อหารายงานฉบับเต็มๆ   ไม่ใช่บางส่วนว่าอย่างไร 7   มีผลวิจัยอื่นคัดค้าน หรือ แสดงผลลัพธ์ไปคนละทิศละทางกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่?    และจากสถาบันใดที่มีควอลิฟายด์เช่นกัน 8  เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นประเด็นนี้   มีความเห็นเช่นไร 9  ใครคือผู้เชี่ยวชาญ  และใครเรียกเขาว่า  “ผู้เชี่ยวชาญ” จะบอกอะไรให้ครับ   ธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญคือ  มีความขัดแย้งกันเองมาก  เห็นกันไปคนละทาง  อันเป็นลักษณะปัญญาชน  อยู่ที่เรารู้จักเลือกพิจารณา 10  ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้  มีผลประโยชน์ติดปลายนวม  ในทางไม่เปิดเผยกับผลิตภัณฑ์หรือไม่? 11  ถ้าคำกล่าวอ้างโฆษณาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นความจริง   น่าสนใจว่า   ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์จากมานำเสนอ   ถามว่า  ทำไมเรายังดำเนินสภาพความเป็นปกติสุขได้ในชีวิตความเป็นอยู่  ในการออกกำลังกาย   โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ   ตรงกันข้าม   ความผิดปกติต่างๆถูกนำมาขยายจนเราเห็นภาพน่ากลัว  จูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรมภายหลังจากที่เราพบตัวแทนขาย ความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ที่ดี  ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสุขภาพที่ดีเท่านั้น   แต่ยังต้องยึดกุมเงื่อนไขให้รอบคอบ  อย่างมีบุคลิกตรวจตรา  ใส่ใจ  และกลั่นกรองอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค… อีกนิดเดียวจะเป็นจริง(?)

เคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ประมาณนี้กันไหมครับ…   ทางด่วนขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาท หรือรัฐวิสาหกิจขึ้นราคาพลังงาน เรากลับทำอะไรไม่ได้ ตรวจสอบความเป็นเหตุเป็นผลของการขึ้นราคาก็ไม่ค่อยได้   ฟรีทีวีจอดำก็ต้องปล่อยให้ดำต่อไป เว้นแต่ต้อง “ซื้อกล่อง” มาติด   ถอยรถป้ายแดง ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก หน่วยราชการก็ไร้น้ำยาที่จะช่วยเหลือ   หากรถโดยสารสาธารณะที่นั่งไปเกิดอุบัติเหตุ กลับต้องไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกันเอง เพราะรถโดยสารเหล่านั้นไม่ได้ถูกบังคับจากหน่วยราชการที่กำกับดูแลให้ต้อง ซื้อประกันภัยชั้น 1 แถมบางคันก็เป็น “รถตู้เถื่อน”   อาหารที่กินเข้าไปจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ก็ยากที่จะทราบได้ เพราะข้อความในฉลากมักจะกำกวม อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง   หรืออยากกินอาหารที่ปลอดการตัดต่อทางพันธุ กรรม (จีเอ็มโอ) หรือปลอดสารเคมีก็เลือกไม่ได้ เพราะไม่ได้มีระเบียบให้ผู้ผลิตต้องทำฉลากอาหารที่ชัดเจนเพื่อแจ้งผู้บริโภค …สถานการณ์ข้างต้นน่าจะคลี่คลายไปได้มากโข เพราะคาดกันว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้ สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมสองสภามาเรียบร้อยแล้ว   หากสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมี “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์   เอาเข้าจริงแล้ว การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมานานกว่า 15 ปี นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 57) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 61) ซึ่งต่างก็บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระขึ้น เพื่อตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง เข้าถึงการร้องเรียนที่เป็นธรรม และได้รับการเยียวยา   เหตุการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ ในที่สุดเมื่อ 6 ตุลาคม 2553 ที่ประชุม ส.ส.สมัยนายชัย ชิดชอบ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมี 7 ร่าง ทั้งร่างของ ครม. พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น) และภาคประชาชน 11,230 คนที่ลงชื่อเสนอกฎหมาย   ระหว่างที่ร่างกฎหมายอยู่ที่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 มีผลให้ร่างนี้ต้องตกไปโดยปริยาย แต่ ครม.ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติขอดึงร่างกฎหมายนี้กลับมาให้สภาพิจารณาต่อ โดยไม่ยอมปล่อยให้ตกไป   แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่านักการเมืองในช่วงหลังๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภค ซึ่งก็คือสิทธิของคนทุกคน   ทีนี้หากจะถามว่า ในเมื่อเรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอาหารและยา (อย.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการค้าภายใน กรมการขนส่งทางบกฯลฯ แต่ทำไมจึงต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาอีก คำตอบมีดังนี้ ประการแรก องค์การอิสระเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ถูกกำกับโดยฝ่ายการเมือง (ที่บางทีอาจเกรงใจฝ่ายธุรกิจ) อีกทั้งกฎหมายองค์การอิสระบัญญัติให้รัฐจัดสรรเงินไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ให้องค์การอิสระฯใช้ไปทำงาน (เท่ากับ 3 บาท X 64 ล้านคน ตกราวๆ 192 ล้านบาท ขึ้นไปต่อปี) จึงทำให้มีเงินไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามสมควร การกำหนดว่ารัฐต้องจัดสรรอย่างน้อย 3 บาทต่อหัว ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก เพราะหากเขียนว่า “ให้รัฐจัดสรรเงินให้อย่างพอเพียงทุกปี” ก็อาจทำให้รัฐจ่ายเท่าไรก็ได้ตาม “ดุลพินิจ” ซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นอิสระขององค์การได้ นอกจากนี้ ที่มาของกรรมการ 15 คน ก็จะมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้บริโภคและมาจากกรรมการสรรหา ซึ่งจะปลอดจากฝ่ายราชการและการเมือง จึงทำให้องค์การอิสระ มีอิสระกว่าหน่วยราชการอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด   ประการที่สอง ความเป็นอิสระขององค์การทำให้ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐได้เต็มที่ เช่น ตรวจสอบหน่วยราชการว่าทำไมจึงยังปล่อยให้มีแร่ใยหินอยู่ในสินค้า (เช่นกระเบื้องมุงหลังคา) ทั้งๆ ที่หลายๆ ประเทศมีคำสั่งห้ามไปแล้ว หรือตรวจสอบการขึ้นราคาทางด่วน หรือการปรับราคาพลังงาน ว่าเป็นการขึ้นราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการขึ้นราคาที่ไม่โปร่งใส เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก   ประการที่สาม องค์การอิสระมีอำนาจตามกฎหมายเปิดเผยรายชื่อสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ บริโภคเสียหาย เพื่อเตือนให้สาธารณะได้รับรู้ เช่น มีสมาชิกร้องเรียนหน่วยราชการตั้งแต่ปี 2552 ว่าฟิตเนสแห่งหนึ่งไม่ได้ให้บริการตามสัญญา แต่หน่วยราชการแห่งนั้นกลับไม่เคยเตือนประชาชน ทำให้มีผู้บริโภคไปสมัครเป็นสมาชิกรายใหม่ จนในที่สุดมีผู้เสียหายถึง 1.5 แสนคน ฯลฯ ซึ่งการออกมาเตือนจะช่วยยับยั้งการลุกลามของปัญหาได้   ประการที่สี่ องค์การอิสระจะทำงานแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one stop service) ว่ากันว่าหน่วยราชการที่ทำงานด้านอาหารปลอดภัยมีถึง 13 หน่วยงานใน 11 กระทรวง ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น ต้องการให้มีฉลากอาหารที่ระบุว่าอาหารนั้นมีจีเอ็มโอ หรือต้องการทำฉลากอาหารให้อ่านได้ง่ายขึ้น เช่น หากอาหารมีน้ำตาลมาก หรือมีโซเดียมมาก ก็จะติด “สีแดง” บนฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภค หรือกรณีขวดนมเด็กที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือกรณีมีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เนื้อสัตว์ ฯลฯ องค์การอิสระฯก็จะมีความเห็นทางวิชาการเพื่อผลักดันหน่วยราชการต่างๆ ให้มีมาตรการบังคับฝ่ายธุรกิจให้ทำฉลากเตือนตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากหน่วยราชการเหล่านั้นไม่ยอมทำตามความ เห็นขององค์การอิสระฯ ก็ต้องแถลงเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงทำไม่ได้ เท่ากับทำให้หน่วยราชการอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชน จะทำงานเช้าชามเย็นชาม หรือให้อำนาจเงินอยู่เหนือสาธารณะไม่ได้อีกต่อไป มิฉะนั้น หากเข้าสู่อาเซียนแล้วแต่งานคุ้มครองผู้บริโภคยัง “ประสานงา” และอ่อนแออย่างทุกวันนี้ ไทยก็จะกลายเป็นตลาดที่รองรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพอย่างแน่นอน   ประการที่ห้า องค์การอิสระสามารถฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้ โดยร้องผ่านอัยการสูงสุด   เช่น ผู้บริโภคมีเงินเหลือในโทรศัพท์ 10 บาท แต่ถูกริบเพราะบัตรเติมเงินหมดอายุ ทั้งๆ ที่ระเบียบกำหนดไว้ว่าห้ามกำหนดวันหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องชดเชยให้ผู้บริโภค 5 เท่าของเงินที่ริบไป กรณีเช่นนี้ผู้บริโภคคงไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องเงิน 50 บาท (5 เท่าของ 10 บาท) แต่องค์การอิสระฯสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหมดที่ถูกริบเงินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการต้องจ่ายเงินค่าปรับให้ผู้บริโภคทุกคน และคงไม่กล้าฝ่าฝืนระเบียบเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินอีก   ประการสุดท้าย สิ่งที่หน่วยราชการที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ค่อยทำ แต่องค์การอิสระมีหน้าที่ต้องทำ คือสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค เช่น ส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้บริโภค ในลักษณะที่ฝ่ายธุรกิจทำมาก่อน อาทิ การรวมตัวเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ผู้บริโภคจะได้เข้มแข็ง สามารถถ่วงดุลกับเอกชนได้   ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คาดว่าสภาจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดังนั้น 15 ปีที่รอคอยกันมา จึงใกล้จะเป็นจริงแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 Up date มาตรา 61

ระหว่างกำลังรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาของ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กำลังงวดเข้ามาทุกที มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ก็ได้ฝึกภาคปฏิบัติกันอีกครั้ง โดยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนเรื่อง การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ของรัฐบาลท่านนายกยิ่งลักษณ์ ในเวที สัมมนา เรื่อง “จับตายุทธการกินรวบประเทศไทย ตอน การขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG” โดยมีเจ้าภาพใหญ่คือ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นการระดมความคิดเห็นและการแสดงพลังจากภาคประชาชนที่มีคนให้ความสนใจเยอะมาก เรียกว่าได้ใส่กันเต็มที แม้งานนี้จะไม่เห็นคนจากรัฐบาลหรือปตท.เลยก็ตาม(แบบที่มาอย่างเปิดเผยนะ) ซึ่งถ้ามีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ รัฐบาลและหน่วยงานที่สร้างผลกระทบทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนในวงกว้าง จะต้องมาให้ข้อมูลโดยไม่หลบเลี่ยง ข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะจะได้เปิดออกมาจริงๆ เสียทีไม่ใช่งุบงิบๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เอาน่า รอหน่อยล่ะกัน  ฮึ่ม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 Up date มาตรา 61

  ข่าวรัฐสภาโหวตรับรองกฎหมาย 24 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ในท่ามกลางภาวะวิกฤตน้ำท่วม เป็นอันว่า... กฎหมายนี้ได้เข้าไปรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาแล้ว ในการพิจารณาชั้นวุฒิสภา จะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 29 ท่าน โดยเป็น กรรมาธิการที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 13 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันร่าง พรบ.ดังกล่าว ได้แก่  นายไพโรจน์  พลเพชร  นายนิโรจน์   เจริญประกอบ นายถนอม  อ่อนเกษ นายวรรณชัย    บุญบำรุง  รศ.ดร.จิราพร    ลิ้มปานานนท์ รศ.ดร.วิทยา     กุลสมบูรณ์  ผศ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ดร.ไพบูลย์    ช่วงทอง ศ.เจิมศักดิ์   ปิ่นทอง  นางสาวสารี     อ๋องสมหวัง  นายชัยรัตน์    แสงอรุณ   นางสาวบุญยืน    ศิริธรรม และนางสาวกรรณิการ์   กิจติเวชกุล ทุกท่านล้วนทำงานแข็งขันถือเป็นความภูมิใจของภาคประชาชนค่ะ หวังว่าการพิจารณาจะผ่านไปได้ด้วยดี จนออกมาเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์ ผู้บริโภคเราจะได้มี องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อดทนรอคอยกันมายาวนานเสียที เพิ่มเติมเรื่องข้อกฎหมายสักนิด ในการพิจารณาในชั้นวุฒิสภานั้น ระยะที่ใช้คือ 30 วัน แต่ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน ซึ่งสมัยนิติบัญญัตินี้จะเปิดการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ และจะครบ 30 วัน ในวันที่ 18 มกราคม 2555 โอ้...อีกนิดก็ถึงฝั่งฝันแล้วค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 Up date มาตรา 61

  เพราะเหตุน้ำท่วมหนักเกินบรรยาย ทำให้การพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร์เลื่อนไปเรื่อยๆ จะเปิดสภาก็เฉพาะให้บรรดาท่าน สส.ได้ฉะกันเรื่อง ใครทำน้ำท่วม บ้านเมืองเสียหาย เอาเถอะ ภาคราชการยังไม่เคลื่อนไหว แต่ภาคประชาชนเรายังขับเคลื่อนต่อไป เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคหลายจังหวัดในช่วงที่คนภาคกลางตื่นน้ำกันอยู่นั้น ก็ได้จัดเวทีเพื่อเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ถึงความสำคัญขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อว่าเมื่อออกมาเป็นกฎหมายใช้ได้จริงแล้ว จะได้หยิบจับมาใช้กันได้อย่างเต็มที่ เริ่มที่ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มงานภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค(คคส.),สำนักงานสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ร่วมกับหน่วยงานสำคัญๆ ในพื้นที่ จัดงาน  “อนาคตที่รออยู่ข้างหน้ากับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ” ณ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในพื้นที่ของจังหวัดพะเยา พบว่า  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีสาเหตุจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดข้อมูลของผู้บริโภค และยังถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ทางด้านโทรคมนาคม เช่น เรื่องของค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เรื่องรถโดยสารสาธารณะ ปัญหาสื่อท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวีที่โฆษณาอาหารเป็นยา หลอกลวงผู้บริโภค และเรื่องอันตรายใกล้ตัวอย่างกรณี แร่ใยหิน ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นร่วมกันว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง อีกทั้งพวกเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคควรช่วยกันสนับสนุน จะมีข้อกังวลอยู่บ้างก็ที่ว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงๆ อาจจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยตามมา เนื่องจากประเทศไทยเรามีการออกกฎหมายมามากมายแต่มักมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งองค์การอิสระฯ นี้ เป็นอะไรที่น่าจะต้องหามาตรการรองรับปัญหานี้ให้ได้ ฉบับหน้าจะได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 Up date มาตรา 61

  นับว่าที่ลงแรงไปไม่เสียเปล่า รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ตอบรับให้ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...เดินหน้าต่อ ตามหมายเดิมจะเข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม 54 แต่อย่างที่ทราบกัน ประเทศไทยเรากำลังประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายนับแสนล้าน จึงมีหมายยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าวออกไปก่อน ไม่เป็นไรค่ะ เรารอได้ ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก ทุกฝ่ายต้องเร่งเข้าช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ก่อน อย่างไรเสียขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยเถิด   น้ำท่วมครั้งนี้ หลายเครือข่ายงานผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือ ถูกน้ำท่วมสำนักงานเสียหาย ก็ขอเอาใจช่วยนะคะ และต้องชื่นชมกับสิ่งที่พวกเราพยายามรณรงค์กันสุดตัวในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่าย กทม. ที่ขนทีมมาช่วยกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่ สิ่งที่เรียกว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ   เราไปกันหลายพื้นที่ในเขต กทม. เช่น รณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ  มาตรา 61  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 12 ก.ย. พอวันที่ 13 เราก็ไปร่วมรณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และ ยื่น จม.ให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำกฎหมายมาพิจารณาในการประชุม ครม.(วันอังคาร) 14 ก.ย. ไปสีลม 17 ก.ย. ไปเดอะมอลล์บางกะปิ และในช่วง 15 – 20 ก.ย. เครือข่ายทั่วประเทศ ก็ช่วยกันขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ มาตรา 61 ให้ สส.สว. สนับกฎหมายองค์การอิสระทั่วประเทศ   นอกจากนั้นยังใช้ Social network ทำงาน ทั้ง คลิป ใน ยูทูป และ เฟสบุ๊ค   เรียกว่า ทุ่มกันสุดตัว ก็นับว่า ผ่านไปด้วยดี แต่...   เราก็ยังต้องร่วมใจกันขับเคลื่อนให้ กฎหมายนี้สำเร็จให้ได้นะคะ ตอนนี้มันแค่ครึ่งทางเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 Update มาตรา 61

  ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งสมัยนั้นก็ยากหน่อย ต้องรวมกันให้ได้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อให้มีกฎหมายสักฉบับ  แต่กฎ กติกานี้ ผ่อนคลายลงเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้แค่ 10,000 รายชื่อเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด พอมีช่องทางก็เลยสบโอกาสเสนอกฎหมายภาคประชาชนกันบ้าง เสนอกันเข้าไปหลายฉบับเชียว ซึ่งมันสะท้อนล่ะนะว่า ยิ่งภาคประชาชนเสนอกฎหมายมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า ปัญหาของประชาชนมันมากมายหลายเรื่อง  เฉพาะองค์กรผู้บริโภคกับองค์กรพันธมิตร ก็มีร่างกฎหมายที่นอนรอดูตัวรอบสองรอบสามในสภากันถึง 9 ฉบับ โดยเฉพาะ กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ผ่านการพิจารณาจาก สส. ในรัฐบาลที่แล้วไปแบบฉลุย 3 วาระนั้น ดันสะดุดวิกฤตการเมืองเข้า รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ยุบสภาไปเสียก่อนไม่อยู่จนครบวาระ เลยต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จ จัดรัฐบาลใหม่เสร็จ และรอรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่านยิ่งลักษณ์ชงเรื่องต่อเพื่อให้ร่างกฎหมายฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสมาชิกต่อไป ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณานำเสนอกฎหมายให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่การเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก  ถามว่า ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ชงเรื่องต่อ ร่างกฎหมายฯ จะเป็นอย่างไร งานเข้าเต็มๆ สิ ทำงานใหม่กันอีกครั้งเลยนะคะพี่น้อง ต้องออกหารายชื่อ 10,000 กันใหม่ เริ่มผลักดันกันใหม่ คืออะไรๆ ที่ทำมา(14 ปี) มันสูญเปล่าต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง  ตอนนี้เลยต้องเร่งรณรงค์กันใหญ่ ก่อนวันสิ้นสุด 60 วัน คือในวันที่ 30 กันยายน 54 เพื่อขอให้ประชาชนทั่วไป ช่วยส่งเสียงเชียร์ให้รัฐบาลท่านเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายฯ มาตรา 61  เพราะฉะนั้นหากท่านเห็น ขบวนการหน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค มาตรา 61 แวะเวียนไปรณรงค์กันที่ไหน โปรดส่งแรงใจและช่วยลงรายชื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่126 เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นที่พะงัน: เมื่อชุมชนรับรองกันเอง

  ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง   เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นเกษตรอินทรีย์กันไปหมด หันไปทางไหนก็มีสินค้าออร์แกนิค ที่อ้างว่า ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์  บางคนอาจมีการขอรับรองมาตรฐานเฉพาะของบ้านเรา และบางคนก็หลายมาตรฐานทั้งยุโรป อเมริกาและสากล ดูลายตาไปทีเดียว  ที่จริงแล้ว การรับรองมาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด  มีเกษตรกรหลายคน ฟาร์มหลายแห่ง ที่ทำเกษตรโดยยึดหลักการเกษตรอินทรีย์จริงๆ (ตามหลักการของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ เป็นธรรม และดูแลเอาใจใส่) โดยไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน  แต่ก็มีหลายฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจุบัน การรับรองมาตรฐานเป็นธุรกิจที่หน่วยตรวจรับรองมาตรฐานหลายแห่งให้บริการตรวจรับรองฟาร์ม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพและหลักการเกษตรอินทรีย์กันเท่าไหร่นัก  แต่การรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการจำหน่ายผลผลิตไปให้กับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถทราบและมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จริงมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตที่ขายผลผลิตในท้องถิ่นหรือขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(16 สิงหาคม 2553) องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะพะงัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเกาะพะงัน ให้เป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีท่านรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ เป็นประธานในการจัดงานดังกล่าว และต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ได้ ริเริ่มโครงการ "เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดยมอบหมายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาร่วมกันกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบนเกาะพะงันร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์ โดยจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรบนเกาะพะงันผลิตอาหารออร์แกนิค ส่งขายให้กับร้านอาหาร โรงแรม และใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนเศษอาหาร อาหารที่เป็นขยะอินทรีย์จะถูกจัดแยก แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ เป็นการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารและปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน  นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนให้โรงแรมเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ในห้องพักและสวนไม้ประดับรอบโรงแรม มาเป็นสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย  หลายคนอาจเห็นว่า การพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์นี้น่าจะต้องใช้ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ที่มีการทำอยู่แล้วในต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว(ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) มีความมั่นใจในสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นบนเกาะพะงัน โดยให้หน่วยงานอิสระจากภายนอกเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วเกาะพะงันมีทางเลือกอย่างอื่นอยู่อีก  จากการศึกษาข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่า  มีระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่น่าจะเหมาะสมกับเกาะพะงันมากกว่าการตรวจสอบจากภายนอก คือระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ "ชุมชนรับรอง" โดย ระบบ "ชุมชนรับรอง" นี้เป็นการริเริ่มของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ในระบบชุมชนรับรองนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน(ถ้าเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า คลัสเตอร์เกษตรกรอินทรีย์) โดยสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาจมีประมาณ 5 - 7 คน จะหมุนเวียนไปตามฟาร์มของเพื่อนสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งในหมู่สมาชิกเกษตรกรอาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และให้ข้อแนะนำกันเองไปในตัว  เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง ยิ่งกว่า "3 in 1" เสียอีก  และถ้าใครคิดว่าเกษตรกรจะโกงกันเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบระบบชุมชนรับรองนี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกลุ่ม ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรสมาชิกทุกราย รวมทั้งผลการตรวจรับรองโดยชุมชนด้วย  และถ้ายังไม่เชื่อกันอีก ก็สามารถแวะเวียนไปดูฟาร์มของเกษตรกรด้วยตัวเองได้ ซึ่งอาจกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการพัฒนา “เกาะพะงัน เกษตรอินทรีย์” ที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน  ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ ที่ facebook/Organic Phangan หรือจะไปทดลองเป็นนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปดูฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พะงันด้วยก็ได้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ปัจฉิมกถา งาน ๑๐๐ ปีชาตกาล

  ท่านทั้งหลายได้รับฟังถ้อยคำที่ยกย่องเชิดชูท่านอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้วมาแล้วกว่าครึ่งวัน ทั้งจากกวี นักวิชาการ ศิษยานุศิษย์ จะขาดคนสำคัญไปก็เพียงคนเดียว คืออดีตนายกรัฐมนตรี ที่จำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ   แท้ที่จริง ถือได้ว่า ท่านอาจารย์หมอเสมเป็นปูชนียบุคคลร่วมสมัยที่สำคัญยิ่งของเรา แม้คนในสังคมส่วนใหญ่จะไม่แลเห็นคุณค่าของท่านเท่าที่ควรก็ตาม แต่อย่างน้อยในวงการของพวกเราซึ่งรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเนื่องในชาตกาลครบศตวรรษของท่านในวันนี้ ก็มีมากและหลากหลายพอ และแต่ละหน่วยงานนั้นๆ ยังประกอบไปด้วยผู้คนที่ยืนหยัดอยู่ข้างคุณงามความดี ทั้งบางคนยังมีความกล้าหาญจากจริยธรรม ถึงกับไม่กลัวกับการเสี่ยงชีวิต เพื่อท้าทายอำนาจอันเป็นธรรม นอกเหนือไปจากหลายท่าน ที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะเช่นท่านอาจารย์หมอเสม โดยช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมทางด้านความดีความงามและความจริง อย่างไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ ทั้งหมดนี้พวกเราล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านอาจารย์หมอเสมด้วยกันแทบทั้งนั้น แม้เราจะดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ ได้ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของท่านแต่คุณูปการที่ท่านมอบให้เรามา ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นพลานุภาพที่สำคัญยิ่งนัก ท่านได้ฟังถ้อยคำ มาจากหลายท่านแล้ว แล้วจะมีอะไรให้ข้าพเจ้ากล่าวปิดท้ายอีกเล่า ทั้งท่านอาจารย์หมอเสมยังขอร้องข้าพเจ้าไว้ด้วยว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพูด ขออย่าได้พูดปากเปล่า ให้เขียนมาอ่านให้ฟังกัน เพราะท่านเกรงโอษฐภัยของข้าพเจ้า ซึ่งอาจต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าอีกก็เป็นได้ และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องคดีดังกล่าว หรือเผชิญกับโลกธรรมในทางลบ ท่านจะกรุณาหาทางช่วยเยียวยาแก้ไขให้ข้าพเจ้าเสมอๆ มา ไม่แต่ในทางการแพทย์ หากรวมถึงในทางจิตวิทยาและในทางสังคมการเมืองอีกด้วย ดังเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับอุปการคุณจากท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้าย่อมมีอีกมิใช่น้อย   ปาฐกเอย กวีเอย และนักอภิปรายเอย ล้วนพูดถึงท่านอาจารย์เสมกันมามากแล้ว และเชื่อว่าจะบรรยายถึงคุณความดีของท่านอีกต่อไปเท่าไรๆ ก็ได้ หากในที่นี้ ข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญของท่านอาจารย์หมอเสมในแง่มุมของข้าพเจ้า กล่าวคือท่านเป็นพุทธศาสนิกก่อนอื่นใด ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธไทยส่วนใหญ่นั้นคือพิธีกรรม ดังงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านอาจารย์เสมคราวนี้ ก็มีพิธีกรรมทางฝ่ายพระพุทธแต่ตอนเช้า ทั้งๆ ที่พิธีกรรมดังกล่าวเกือบสื่อสาระมายังชาวพุทธไทยร่วมสมัยไม่ได้เอาเลย อาจมีคุณประโยชน์ก็ตรงที่พอพระฉันภัตตาหารแล้ว เราก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน   แต่ถ้าเราจับสาระแห่งพุทธพิธีได้ เราน่าจะตราไว้ว่า ประการแรกคือการรับไตรสรณคม ซึ่งหมายความว่าเราถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับเรา ว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งสำหรับเรา โดยเราอาจเข้าถึงการตื่นอย่างพระพุทธะก็ได้ เราอาจเข้าไปแนบสนิทกับคุณงามความดีอันสูงสุดอย่างพระธรรมก็ได้ โดยเราอาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นชุมชนที่ถือเอาความเสมอภาคเป็นเนื้อหา มีภารดรภาพเป็นแกนกลาง เพื่อให้เราเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง อย่างพระอริยสงฆ์ก็ได้   ถ้าเราเข้าถึงสาระของการรับไตรสรณคมได้ ชีวิตเราจะมีความหมายยิ่งนัก ชีวิตเราย่อมจักไม่เป็นไปเพียงทรัพย์ศฤงคาร หรือยศศักดิ์อัครฐาน หรือการแก่งแย่งแข่งดีกัน ดังที่มักเป็นไปอยู่ในสังคมกระแสหลัก อย่างน่าสมเพทเวทนายิ่งนัก   อาจารย์หมอเสม ท่านถือเอาพระรัตนตรัยเป็นนิรัตศัยบุญเขต อย่างยากที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าได้ถึง ท่านจึงเต็มไปด้วยการให้ ยิ่งกว่าการรับ ท่านเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ แทนความโกรธเกลียด และท่านเต็มไปด้วยปัญญาที่รับรู้อะไรๆ อย่างเป็นองค์รวม อย่างไม่แยกเป็นเสี่ยงๆ ดังวิทยาการกระแสหลักในโลกสมัยใหม่ อาจารย์หมอเสม ดำเนินรอยตามพระบาทพระบรมศาสดา ซึ่งทรงเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ ทางนิกายวัชรยาน เขามีพระพุทธรูปปางพระไภษัชคุรุไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเตือนพุทธศาสนิกว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นทั้งแพทย์และเป็นทั้งครู คือครูที่เรียนจากตนเองด้วย เรียนจากผู้อื่นด้วย และเรียนจากธรรมชาติด้วย ผู้ที่ถึงพร้อมในการเรียนรู้ ย่อมอยู่ในสถานะที่พร้อมจักเป็นผู้สอน หากจักไม่สอนเกินความรู้หรือประสบการณ์ของตน โดยที่ความรู้หรือวิชานั้นย่อมควบคู่ไปกับจรณะ หรือความประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นคุณประโยชน์ด้วยเสมอไป การสอนตามตำราดังการศึกษากระแสหลัก หรือสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง ย่อมให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ และถ้าครูปราศจากองค์คุณของความเป็นคนที่พร้อมจะให้ พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัวแล้วไซร้ ครูพวกนี้มีโทษยิ่งกว่ามีคุณ   แพทย์ก็เช่นกัน คำๆ นี้เป็นไวพจน์กับวิทยะ คือความรู้ที่แท้ ซึ่งทางภาษาบาลีใช้คำว่า วิชชา อันตรงกันข้ามกับ อวิชชา ความหลง ความยึดถืออย่างผิดๆ หรืออย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยอ้าขาผวาปีกว่าตนเรียนรู้มาดีกว่าคนอื่น สูงส่งกว่าคนอื่น ยิ่งได้ไปชุบตัวในต่างประเทศมาด้วยแล้ว ยิ่งมักจะกำเริบเสิบสานกันยิ่งนัก และยิ่งแพทย์ที่มีอติมานะเช่นนี้ บวกไปกับอวิชชา ซึ่งยึดมั่นถือมั่นว่าจำเพาะความรู้ในแวดวงของตนเท่านั้น คือคำตอบ นั่นคือเหตุแห่งความหายนะ โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงเอาเลยก็ว่าได้ แพทยศาสตร์ สยบอยู่กับลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมมากเพียงใด โดยมิใยต้องเอ่ยว่า บรรษัทยาและบริษัทที่ควบคุมเครื่องยนต์กลไก ในสิ่งซึ่งอ้างถึงความทันสมัยต่างๆ ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น นับว่าเป็นอันตรายในวงการแพทย์อย่างมหันต์   เมื่อใดแพทย์ แลเห็นว่าวิชาชีพของตนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรู้ ซึ่งมักถูกผนวกเอาไว้กับอวิชชาแล้วไซร้ นั่นแหละเขาอาจจะเกิดมนสิการขึ้นได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของเขา สูงส่งมากกว่าความเป็นแพทย์ โดยเขาน่าจะต้องตราจ่อไปด้วยว่า อวิชชาหรือโมหจริตนั้น มักโยงไปถึงโลภจริต ที่ทำให้หมอมักร่ำรวยเกินคนธรรมดาสามัญเกินไป โดยไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าการแพทย์สมัยใหม่โยงไปถึงโทสจริตด้วย ดังคงจะสังเกตได้ว่านายแพทย์มักเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานต่างๆ กันมิใช่น้อย เช่น พากันไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น โดยที่รู้กันไหมว่า การบริหารจัดการนั้นๆ ทำให้เขาตกอยู่ใต้โทสจริต ซึ่งโยงไปถึงโลภจริตและโมหจริตพร้อมๆ กันไป ยังนายแพทย์ชั้นนำเป็นจำนวนมากไม่น้อย ก็เข้าไปข้องแวะกับนักการเมือง นักการทหาร อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพียงใด ตระหนักกันบ้างไหม หาไม่นายแพทย์บางคนก็เตรียมให้ทายาทได้ไต่เต้าไปเอาดีทางการเมืองเอาเลย โดยเขาแลเห็นไหมว่านั่นคือผลพลอยได้จากอกุศลมูลทั้งสาม ดังที่กล่าวมาแล้วมากกว่าอะไรอื่น   การกล่าวปิดงานนั้น ควรมีบทสรุป แต่ข้าพเจ้าต้องการเปิดประเด็นไว้ให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดนึกตรึกตรอง เพื่อหาสาระจากชีวิตสำหรับตัวท่านเอง และถ้าพิจารณาวิถีชีวิตอาจารย์หมอเสมได้ชัด ก็ย่อมถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางที่ท่านเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ โดยที่ท่านเป็นมนุษย์ที่พยายามสนิทแนบแน่นกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาแทบตลอดชีวิตของท่านอันยืนยาวจนครบศตวรรษในวันนี้   ส.ศิวรักษ์ กล่าวปิดในงาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ววันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว สิ้นลมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ด้วยโรคชราหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้นายแพทย์เสมเพิ่งมีอายุครบ100ปีไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 คนไข้ไทย..กับทางตัน

ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออกมารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ “แพทยสภา” และ “กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่างๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช้อำนาจรัฐในการซ้ำเติมความทุกข์ของผู้เสียหายเหมือนอย่างที่เคยทำ ฤา..พฤติกรรมที่ฉ้อฉลของหน่วยงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของคู่กัน

อ่านเพิ่มเติม >

บทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

บทความพิเศษบทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ศลิษา เตรคุพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและประเมินสินค้าไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของผู้บริโภคที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะประสบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมาโดยตลอด ดังที่ท่านจะได้รับทราบจากประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงกรณีศึกษาจากการทดสอบสินค้าต่างๆ   ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าชนิดหนึ่งๆมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือคุณภาพ ส่งผลให้มีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตสินค้าต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตมักนำมาใช้คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้า หรือ การให้ข้อมูลสินค้าไม่ครบ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยตามหลักวิชาการอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับที่มูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ STIFTUNG WARENTEST ได้ดำเนินการมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กรฯปี 1962 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เสนอความคิดในการจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นกลางขึ้นต่อรัฐสภา หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจได้วางแผนสร้างองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐสภา (สภาบุนเดสทาก) มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ ที่ขอจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าในรูปของมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ STIFTUNG WARENTEST (ชติ๊ฟทุ่ง วาเร่นเทสท์) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน และใน วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ทำพิธีเปิดมูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้านี้อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกำหนดระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 1966 STIFTUNG WARENTEST ได้จัดจำหน่ายวารสาร test ฉบับปฐมฤกษ์ตามร้านค้าทั่วไปในราคาเล่มละ 1.50 มาร์ค รวมทั้งจัดจำหน่ายวารสารในรูปแบบของสมาชิกอีกด้วย โดยสินค้าแรกๆ ที่ถูกนำมาทดสอบคือ จักรเย็บผ้าและเครื่องผสมอาหาร ส่วนผลการทดสอบสินค้าในวารสารฉบับแรกๆ นั้นจะเป็นการบรรยายความคิดเห็นโดยรวมเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาผลการทดสอบให้อยู่ในรูปของค่าคะแนนและจัดอันดับระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ระดับ ‘ดีมาก’ ‘ดี’ ‘ปานกลาง’ ‘พอใช้’ ไปจนถึง ‘คุณภาพต่ำ’ ค่าคะแนนและการจัดอันดับนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ (ที่ได้รับคะแนนดี!) สามารถนำไปใช้โฆษณาสินค้าของตนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่มูลนิธิกำหนดไว้เท่านั้น จวบจนทุกวันนี้ STIFTUNG WARENTEST ก็ยังคงจำหน่ายวารสารดังกล่าวอยู่ ในราคา 4.20 ยูโร ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีการทดสอบสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือของ STIFTUNG WARENTEST ทำให้บริษัทเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ Forsa (Forsa: Gesellschaft f?r Sozialforschung und statistische Analysen mbH) สรุปผลการวิจัยในปี 2000 ว่า ชาวเยอรมันจำนวนถึง 96 % รู้จัก STIFTUNG WARENTEST และหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรจะยึดผลการทดสอบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างเรื่องราวของกรณีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ และคำพิพากษาของศาลล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่างๆ ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น กรณีศึกษาที่ 1 : การทดสอบอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี (1975)เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี จึงทำให้ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ (Bundesgerichtshof) ณ เมือง คาร์ลสรูเฮ่อ (Karlsruhe)ได้เข้ามาพิจารณาการทำงานของมูลนิธิเพื่อการทดสอบสินค้าเป็นครั้งแรก และให้คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานแก่มูลนิธิ โดยศาลฯได้เน้นย้ำถึงหน้าที่อันจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความสำคัญขององค์กรนี้ ตลอดจนได้ให้อำนาจแก่ STIFTUNG WARENTEST เพื่อพิจารณากำหนดขั้นตอนการทดสอบสินค้า การประเมินคุณภาพ และการแสดงผลการทดสอบเองอีกด้วย   กรณีศึกษาที่ 2: เครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติ (1987)ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ได้พิพากษากรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติแห่งหนึ่ง ข้อพิพาทนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อสงสัยที่ว่า การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธินั้นทำให้สินค้าต้องมีมาตรฐานสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สถาบันเพื่อการวางมาตรฐานแห่งเยอรมันหรือ สถาบันมาตรฐานสินค้า DIN (DIN: Deutsches Institut f?r Normung) กำหนดไว้หรือไม่ โดยศาลฯพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภาระหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องทำการเปิดเผยสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ทั้งนี้รวมถึงข้อบกพร่องของมาตรฐาน DIN ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออย่างไร้ความเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ เสีย อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป กรณีศึกษาที่ 3 : ครีมบำรุงผิวหน้า (2005-2006)เกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อ Hautnah (เฮ้าท์นา) ที่มีดาราหญิงยอดนิยมรุ่นใหญ่ ชื่อ อุ๊ชชี่ กลาส (Uschi Glas)เป็นพรีเซนเตอร์ โดยได้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้อง STIFTUNG WARENTEST ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากทางมูลนิธิได้ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขายตรงต่างๆ และให้ผลการประเมินครีมชนิดนี้ว่า ‘คุณภาพต่ำ’ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ คดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ต่อมาศาลแขวงกรุงเบอร์ลินจะพิจารณาเพิกถอนคำร้องของโจทก์ แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ละความพยายามและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอีกครั้ง ทว่าศาลสูงกรุงเบอร์ลินก็เพิกถอนคำร้องดังกล่าวซึ่งทำให้คดียุติลงได้ในที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ขององค์กรทดสอบสินค้าและบริการ ซึ่งทางกลุ่ม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สนใจและเห็นความสำคัญ ในการทดสอบสินค้า ตลอดจนให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและยุโรป คือการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กลรักลวงใจ : เมนูบุฟเฟ่ต์ของเจ้าหญิงในเทพนิยาย

  เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสคุยผ่านทางโลกออนไลน์กับ บก. นิตยสารฉลาดซื้อ และ บก. ได้ปรารภขึ้นมาว่า ช่วงนี้กระแสของละครโทรทัศน์บ้านเรากำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ผมจะสนใจลองเปลี่ยนสลับมาเขียนวิจารณ์หรือเชิญชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้เท่าทันละครโทรทัศน์กันบ้างหรือไม่ ผมก็ได้ตกปากรับคำคุณ บก. เธอไปว่าจะเริ่มต้นจากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้ก็แล้วกัน  ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตสลับฉากสลับอารมณ์ของคุณผู้อ่านมาวิเคราะห์ละครโทรทัศน์กันบ้าง โดยเลือกเรื่อง “กลรักลวงใจ” ที่หลายคนหลายบ้านติดกันงอมแงมในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับส่งกอง บก. ชิ้นนี้ ก็เพราะทั้งความน่ารักของคุณเจนนี่ในบทของบัวระวง และความหล่อเหลาของคุณเคนธีรเดชในบทของพี่รัญ กับทัศนียภาพวิวสวยๆ ในดินแดนฝันอย่างกรุงปรากของสาธารณรัฐเชค  อันที่จริง โครงเรื่องของละครนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเรื่องราวสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ของบัวระวงลูกสาวเศรษฐีโรงงานซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย กับเลขานุการเอกอัครราชทูตหนุ่มไทยประจำกรุงปรากอย่างพี่รัญ ทั้งคู่ได้ถูกทางบ้านจับคลุมถุงชนกับคนที่ตนเองไม่ได้รู้จักรักกันมาก่อน น้องบัวเธอก็เลยต้องระเห็จปลอมตัวมาเป็นสาวขายบริการ เพื่อไปรับจ้างเป็นภรรยาของพี่รัญถึงอีกฟากหนึ่งของโลก  ด้วยความที่บัวระวงเธอทั้งสวย ฉลาดหลักแหลม และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี จึงทำให้พี่รัญแอบหลงรักเธอตั้งแต่แรกเห็นเป็น “love at the first sight” แต่ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะฝ่าด่าน “กลรัก” มากมายที่มา “ลวงใจ” ได้นั้น ก็ต้องมีบททดสอบจากผู้คนรอบข้างเพื่อพิสูจน์ว่า “รักแท้” ต้องมาจากการพิสูจน์ของชายหญิงเท่านั้น แม้ว่าโดยธีมหลักของเรื่องจะเป็นการเปิดโปงให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ ไม่ใครก็ใคร หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องผองเพื่อนกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านั้นจะปลอดจากการเสกสรรปั้นแต่งหน้ากาก “กลลวง” มาล่อหลอกจิตใจของกันและกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นกลวิธีตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงชนชั้นกลางยุคนี้ ว่า เมื่อพวกเธอต้องมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมรอบตัว เธอเหล่านั้นจะกากบาททับตัวเลือกทางเดินชีวิตเยี่ยงไร  ก็แบบเดียวกับบัวระวง ที่พอถูกจับคู่คลุมถุงชนกับลูกชายรัฐมนตรีที่เธอไม่ได้เลือกเองอย่างฉัตรชัย แถมเขายังเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เป็นเบอร์หนึ่ง เธอเองก็เลือกกากบาทที่การหลบลี้หนีปัญหาไปตามล่าหาชายในฝันแบบพี่รัญ ซึ่งเธอเองเคยแอบหลงรักมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นวัยรุ่น  หนีแล้วก็ไม่หนีเปล่า...บัวระวงก็ได้พาผู้ชมเข้าไปชิม “บุฟเฟ่ต์ยำใหญ่” ของการ “ตัดแปะ” ผสมเอา fairy tales เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาสร้างเป็นจินตนิยายแบบที่เธอเองจะได้สนุกสนานจากการหลบเร้นหนีปัญหานั้นไปเสียเลย  เริ่มตั้งแต่ที่หญิงสาวเก็บกระเป๋าออกจากคฤหาสน์โรงงานซีอิ๊วไปเป็นคุณโดโรธีที่ “follow the yellow line” บินลัดฟ้าตามกระต่ายไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ที่ไกลโพ้นถึงกรุงปราก ที่บรรยากาศก็ช่างดูไม่แตกต่างจากเทพนิยายแฟนตาซีแต่อย่างใด  และถ้าจะให้ดูเป็นเทพนิยายจริง ๆ แล้ว “Beauty” แบบน้องบัวระวง ก็ต้องไปพบกับเจ้าชายในฝันที่รูปหล่อเลิศเลอเพอร์เฟ็ค (หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจ้าชายที่หาได้ยากยิ่งในโลกความจริง) ซึ่งเลขานุการหนุ่มของท่านทูตไทยอย่างคุณพี่รัญก็คือเขาคนนั้นที่เป็น “The Best” ของ “Beauty” อย่างน้องบัว   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ในเทพนิยายแบบนี้ บัวระวงก็ต้องจำแลงกายอีกครั้งเป็นคุณอลิซผู้ท่องวันเดอร์แลนด์ ควงแขนพี่รัญพากันเดินเที่ยวชมทัศนียภาพของกรุงปรากโดย “ไม่สนสายตาใคร” ไล่เลาะกันเรื่อยไปตั้งแต่ย่านโอลด์ทาวน์สแควร์ ผ่านสะพานชาร์ลส์บริดจ์ ไปจนถึงปราสาทแห่งปรากที่มองเห็นแม่น้ำไหลผ่านอยู่ไกลๆ  เมื่อท่องเที่ยวเป็นอลิซอินวันเดอร์แลนด์แล้ว บัวระวงก็มาเป็นซินเดอเรลล่าคอยทำงานบ้าน ปรนนิบัติพัดวี กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม และสร้างสรรค์เมนูอาหารตำรับนานาชาติมาบำรุงบำเรอพระเอกหนุ่มเลขาท่านทูต  เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับฉากการเดินท่องเที่ยววนรอบกรุงปรากกันแล้ว บัวระวงก็มักจะปรากฏกายในชุดคอสตูมผ้ากันเปื้อน และสาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตในห้องครัว รังสรรค์เมนูนานานาชนิดอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อ “พ่อแง่” มาเจอกับ “แม่งอน” ในดินแดนในฝันแบบนี้ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ก็ต้องมีฉากประเภทที่บัวระวงในอารมณ์งอนง้อพี่รัญ และหนีออกไปจากบ้าน จนไปพานพบกับคนร้ายหรือบรรดาปีศาจที่จะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับเธอ และก็ต้องเป็นเจ้าชายอย่างพี่รัญนั่นแหละที่เข้ามาช่วยเธอจัดการกับเจ้าปีศาจเพื่อพิสูจน์ว่ารักแท้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว  รวมไปถึงฉากคลาสสิคแบบที่พี่รัญอาบน้ำอยู่แล้วบังเอิญทำสบู่เข้าตา ก็ต้องเป็นบัวระวงนี่เองที่เอาน้ำมาล้างตาให้เขา และแอบสำรวจตรวจสอบเรือนร่างของเจ้าชายหนุ่มที่กำลังสรงสนานอยู่นั้น และไหนๆ ก็สร้างแฟนตาซีในฝันกันมาเสียขนาดนี้ ถ้าจะให้ครบเรื่องกันแล้ว ละครก็ต้องสร้างตัวละครผู้หญิงที่ร้ายกาจอย่างอ้อมคู่หมั้นของพี่รัญขึ้นมา ให้เป็นประหนึ่งนางแม่มดที่คอยหาเรื่องหาราวสโนว์ไวท์บัวระวงกับเจ้าชายรัญรูปงามไม่ให้ “they live happily ever after” กันได้ง่าย ๆ จนกว่าจะถึงตอนจบ กว่าที่สโนว์ไวท์บัวระวงจะฝ่าด่านแม่มดอ้อมตัวร้ายไปได้ เธอก็แทบจะงอมพระรามกันไปเลย เพราะบังเอิญในโลกจินตนาการนั้น สโนว์ไวท์กลับลืมพาบรรดาเพื่อนคนแคระทั้งเจ็ดมาเป็น “ตัวช่วย” ไปเสียนี่ ก็เลยต้องเป็นเธอเองที่ประมือกับนางแม่มดกันโดยตรง  “กลรัก” ที่ “ลวงใจ” ของน้องบัวระวงและพี่รัญนั้น ดูแล้วช่างไม่แตกต่างจากการซื้อตั๋วไปดู “ฮอลิเดย์ออนไอซ์” ที่ผู้สร้างบทได้ “ตัดแปะ” ปรุงบุฟเฟ่ต์เจ้าหญิงในเทพนิยายหลาย ๆ เรื่องที่ลากพาผู้หญิงชนชั้นกลางให้หลีกหนี มากกว่าจะหันกลับไปเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง และที่สำคัญ ยิ่งผู้หญิงกลุ่มนี้หนีจากปัญหาไปมากเท่าไร เธอก็จะยิ่งรู้สึกสนุกสนานกับการท่องโลกแฟนตาซีกันไปอย่างไม่สิ้นไม่สุด ดูชีวิตหญิงชนชั้นกลางแบบบัวระวงที่เลือก “หลบหนี” ปัญหาไปเช่นนี้แล้ว ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงชายขอบบ้างล่ะ เมื่อพวกเธอต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต เธอจะเลือกสร้างเทพนิยายท่องวันเดอร์แลนด์หรือไม่ หรือเธอจะเลือกครวญเพลงว่า “ก็ฉันเองก็เป็นหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่ใช่ดังเจ้าหญิงในนิยาย”…???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 เวทีนี้ไม่มีแพ้คัดออก

  เมื่อวันก่อน ขณะที่ผมกำลังเผชิญชะตากรรมรถติดเป็นแพอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครอยู่นั้น ผมได้เหลือบไปเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่คันหนึ่ง เขียนข้อความว่า “ไม่ต้องเร่ง...กูก็รีบ”  ผมอ่านสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไป ก็ขำไป ทำไมมนุษย์เราช่างมีอารมณ์ขันจนสร้างสรรค์ข้อความเสียดสีล้อเลียนบรรยากาศที่เกิดทุกช่วงเช้าและเย็นในเมืองหลวงของเรากันได้ขนาดนี้???  แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นสติ๊กเกอร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ในวังวนของ “การแข่งขัน” ที่จะเอาชนะกันอย่างสูง แข่งขันกันในภาระหน้าที่การงาน แข่งกันกินแข่งกันอยู่ แข่งกันดังแข่งกันเด่น แข่งกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่วายเว้นแม้แต่จะแข่งขันเร่งรีบกันอยู่บนท้องถนนขนาดนี้  แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “แข่งขัน” ที่แปลว่า ต่อสู้ช่วงชิงชัยเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และเพื่อจะไม่เราต้องกลายเป็น “the weakest link” ที่จะถูก “กำจัดจุดอ่อน” ออกไปเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยามเดียวที่ผูกขาดความหมายของคำว่า “การแข่งขัน” เสมอไปนะครับ ในระบบวิธีคิดของคนไทย เรายังมีชุดความหมายอื่นๆ ของคำว่า “แข่งขัน” ได้อีกเช่นกัน ในโฆษณาน้ำอัดลมอัดกระป๋องยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าเรื่องราวการแข่งขันประชันเสียงดนตรีร็อคของคนสองกลุ่มเอาไว้ กลุ่มแรกเป็นคณะนักดนตรีร็อคชื่อก้องอย่างวงบอดี้สแลม ที่นำโดยพี่ตูนและคณะ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำโดยดาราหนุ่มสุดหล่ออย่างน้องเก้าจิรายุและผองเพื่อน  เปิดฉากมา พี่ตูนและคณะนักดนตรีบอดี้สแลมเดินทางมาที่เขาชนไก่ พร้อมอาวุธเครื่องดนตรีครบมือ และระหว่างทางนั้น ทั้ง 4 ชีวิตก็มาพานพบเจอกับกลุ่มศิลปินรุ่นน้องอีก 4 คนที่ดักรออยู่  จากนั้น เสียงดนตรีร็อคก็ดังกระหึ่มขึ้น เมื่อศิลปินทั้งสองกลุ่มต่างประชันกันด้วยอาวุธในมืออย่างเป็นพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดกีต้าร์ไฟฟ้า การรัวไม้กลองห้ำหั่น หรือการกระหน่ำยิงเสียงดนตรีใส่กัน ประหนึ่งการโคจรมาเจอกันในสนามเล่นบีบีกันยังไงยังงั้น  ต่างฝ่ายต่างวิ่งหลบเข้าหลังบังเกอร์บ้าง หลบหลังกำแพงอิฐบ้าง ในหลืบตึกบ้าง หรือหลบอยู่หลังหอคอยกระโดดสูงบ้าง พร้อมๆ กับที่ทุกชีวิตต่างก็สาดกระสุนตัวโน้ตดนตรีร็อคกระจายไปทั่วสนามฝึกที่เขาชนไก่ หลังจากที่พี่ตูนและน้องเก้าหลบออกมาจากหลังบังเกอร์กำแพงแล้ว ต่างก็รัวกีตาร์ไฟฟ้าสาดห่ากระสุนตัวโน้ตเข้าใส่กัน ศิลปินรุ่นพี่ใช้ไหวพริบหลอกล่อรุ่นน้องวิ่งตามไปจนติดกับบ่วงเชือกที่กระตุกขาของเขาขึ้นไปห้อยติดอยู่บนต้นไม้ ก่อนที่พี่ตูนจะยกนิ้วเป็นสัญญาณว่า “เป็นต่อ” อยู่ในขณะนั้น   ภาพตัดมาที่พี่ตูนและศิลปินบอดี้สแลมทั้งวงวิ่งตรงมายังเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง พี่ตูนกระโดดขึ้นไปบนเวทีและเตรียมเริ่มต้นการแสดงของพวกเขา แต่ปรากฏว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักดนตรีร็อคยังรู้พลั้ง พี่ตูนของมิตรรักแฟนเพลงกลับเผลอลืมหยิบปิ๊กเล่นกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมาเวทีเสียนี่  น้องเก้าจิรายุที่คราวนี้มายืนเชียร์อยู่ด้านล่างเวที ก็เลยเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม แล้วโยนฝาขึ้นไปบนเวที ให้พี่ตูนได้ใช้แทนปิ๊กเล่นกีตาร์ ก่อนโฆษณาจะจบลงด้วยภาพศิลปินทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโดดขึ้นไปร่วมแจมดนตรีกันบนเวทีอย่างมีความสุข  ในขณะที่คนเราทุกวันนี้อาจจะรับรู้ว่า “การแข่งขัน” ก็คือ การพยายามเอาชนะหรือห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ทว่า ความหมายอีกชุดหนึ่งของ “การแข่งขัน” แบบในโฆษณา ก็อาจจะแปลความได้ด้วยว่า เป็นการประชันฝีมือ ลับเหลี่ยมลับคมอย่างมีมิตรภาพ  บนเวทีของระบบการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น พยายามทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า วิธีคิดเรื่อง “การแข่งขัน” นั้นมีอยู่เพียงความหมายเดียว นั่นคือ ในสนามแข่งขันนั้น “ม้าตัวสุดท้าย” ต้องถูกคัดออกเสมอ เพราะฉะนั้น หากใครก็ตามคิดจะมาลงแข่งขันกันในสนามของระบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องพยายามถีบตัวเองให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เข้าวิน และต้องทำทุกวิถีทางแม้จะต้องห้ำหั่นทำลายกันเพื่อไม่ให้ตนตกเป็น “ม้าตัวสุดท้าย” ที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขัน  แต่ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง หากเราย้อนกลับยังวิถีการผลิตของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมแล้วนั้น คำว่า “การแข่งขัน” อาจมิได้เป็นไปเพื่อการประหัตประหารกันและกันให้ม้วยสิ้นไปข้างหนึ่ง ตรงกันข้าม การแข่งขันถือเป็นกิจกรรมทางสังคม เพื่อลับเหลี่ยมลับคมลับฝีมือกันมากกว่าจะทำลายกัน  ตัวอย่างศิลปินในสมัยก่อนนั้น กว่าที่จะมีชื่อเสียงขจรขจายขึ้นมาได้ พวกเขาไม่ใช่แค่จะร่ำเรียนฝึกฝนความรู้อยู่กับตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขามักจะชอบออกตระเวนท่องยุทธภพไปแสวงหาความรู้และฝึกฝนประชันกับศิลปินที่มีความสามารถสมน้ำสมเนื้อหรือพอเหมาะพอฝีมือกัน   ด้านหนึ่ง การออกไปตระเวนร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของบรรดาศิลปินโบราณ ก็เพื่อสานมิตรสร้างเครือข่ายของศิลปินด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะว่า การได้ประชันฝึกฝีมือกับศิลปินคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับการเอามีดไปฝนลับกับหิน ยิ่งลับก็จะยิ่งคมมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็เหมือนกับศิลปินร่วมสมัยรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในโฆษณานั่นแหละครับ ที่นานๆ ครั้งก็ต้องมีจังหวะท้าดวลท้าประลองดนตรีร็อคกันให้สนั่นภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือกีตาร์ไฟฟ้ากับการรัวไม้กลองดนตรีนั้น จะ “คม” ขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการ “ลับ” ฝีมืออยู่เป็นเนืองๆ  ไหวพริบ ลีลา และตัวโน้ตที่บรรเลง จึงต้องมาจากการฝึกฝนกันอยู่ในสนามประลอง ผลัดกันรุกผลัดกันรับ หรือแม้แต่การพลาดท่าติดบ่วงเชือกไปห้อยอยู่บนต้นไม้ ก็เป็นบทเรียนที่ดีของศิลปินรุ่นน้องที่จะใช้ความผิดพลาดเป็นครูที่ดี ก่อนจะขึ้นเวทีเติบใหญ่เป็นศิลปินที่เข้มแข็งในอนาคต  และที่สำคัญ หลังจากสาดกระสุนตัวโน้ตกันจนเขาชนไก่แทบแตกแล้ว เกมจบก็คือการแข่งขันก็ต้องจบลงเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการประชันในเกมนี้ก็คือ การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพ มิใช่การพยายามทำลายล้างกันและกันจนราบกันไปทุกๆ ฝ่าย “ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร...” แบบที่โฆษณาน้ำอัดลมก็บอกเราด้วยว่า หากทุกวันนี้ เราลองย้อนกลับไปหาความหมายเก่าๆ ความหมายดีๆ ของ “การแข่งขัน” แบบที่เคยมีมาในอดีตบ้าง ต่อไปสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเขียนข้อความใหม่ว่า “คุณไม่เร่ง...ผมก็เลยไม่รีบ” เพราะเวทีนี้เขาไม่มีการแพ้คัดออกกันอีกแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point