“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ส่องราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ พรีเมียม

        ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาเนื้อหมูขึ้นราคาโดยทะยานไปสูงถึง กิโลกรัมละ 250 บาท เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ การระบาดของโรค อย่างไรก็ตามแม้มีการควบคุมราคาและดำเนินการเรื่องโรคระบาดแล้ว ราคาก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราคาเนื้อหมูยังคงสูง และเนื้อไก่ก็ขึ้นราคาตามมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบหลากหลายจากสถานการณ์โลกโดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน ค่าอาหารสัตว์         อย่างไรก็ตามจากการติดตามเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่อาจเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ผ่านมาของนิตยสารฉลาดซื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นฉลาดซื้อพบว่า ยังพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์หลายตัวอย่างแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงยังคงอยู่ จนเกิดความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลี้ยง         ความไม่มั่นใจในกระบวนการเลี้ยงหมู ไก่ ของผู้บริโภคนี้ย่อมทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผู้ผลิตสามารถควบคุมการเลี้ยงให้ปลอดภัยได้ตลอดกระบวนการ ดังนั้นในตลาดปัจจุบันจึงพบเห็นสินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ อนามัย ไร้สาร หรือเนื้อสัตว์แบบพรีเมียมที่ระบุว่า ตลอดกระบวนการเลี้ยงของตนนั้นปลอดจากการใช้สารต่างๆ ที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น         เมื่อกระบวนการผลิตบ่งบอกความพิเศษ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจก็คือ ราคาจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลี้ยงปกติที่จำหน่ายในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่กันที่ผู้บริโภคจะมีความมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตในกระบวนการปกตินั้นมีความปลอดภัย และมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการกล่าวอ้างถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยจากสารต่างๆ เพื่อดูว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มนั้น มีสัดส่วนที่แพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติเท่าไร         วิธีการเก็บตัวอย่าง เก็บผลิตภัณฑ์เนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนังของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างงว่าเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษ ปลอดภัยจากสารต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง ผลการสำรวจฉลาก         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จากฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาเก็ต ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก หมูสามชั้น 175 บาท/กิโลกรัม หมูสันนอก 130 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com)  )         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม (ตัดตัวอย่างเบทาโกรเนื้อไก่อนามัยออกไป เพราะเป็นราคาโปรโมชั่น) ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา ท็อปส์ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก อกไก่ 90 บาท/กิโลกรัม น่องติดสะโพก 85 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com))

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ท่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรรแตก หลังเข้าอยู่เพียง 2 ปี

        หลายปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ภายหลังลูกบ้านเข้าไปอยู่อาศัย เช่น เรื่องราวของคุณดิว ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศว่ารับประกันโครงสร้างถึง 5 ปี แต่เมื่อเข้าอยู่เพียง 2 ปี ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุเกิดท่อน้ำที่โครงการฯ ได้ออกแบบไว้ใต้บ้านแตกแบบที่คุณดิวไม่อาจรู้ตัวได้เลย เพราะน้ำในบ้านยังใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีน้ำไหลเอ่อ รบกวนเพื่อนบ้านเลยสักนิด            คุณดิวมารู้ตัวต่อเมื่อสิ้นเดือนถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาท คุณดิวจึงรู้ได้ว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ  จึงไปติดต่อที่สำนักงานการประปาเพื่อให้ตรวจสอบและพบว่ามิเตอร์น้ำไม่ได้เสียแต่เป็นปัญหาที่ท่อน้ำใต้บ้าน   คุณดิวจึงไปกลับมาติดต่อที่นิติบุคคลของหมู่บ้านแต่แล้วนิติบุคคลกลับไม่รับเรื่องรับผิดชอบเรื่องใดๆ คุณดิวจึงเข้าไปเขียนคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รับผิดชอบทั้งค่าเดินลอยทอน้ำใหม่ และค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บ         การติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ คุณดิวคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับได้รับแต่ความเงียบเฉย คุณดิวร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ จึงออกจดหมายไปถึงบริษัทที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นคุณดิวจึงเริ่มได้รับการติดต่อจาก สำนักงานใหญ่ว่าจะรับผิดชอบค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บจำนวน 50 % ซึ่งคุณดิวไม่รับข้อเสนอเพราะยังน้อยกว่าค่าน้ำที่เขาจ่ายจากเหตุที่เสียหายอยู่มาก อีกทั้งตลอดหลายเดือนที่ติดตามทวงถามความรับผิดชอบ เขาได้หยุดงานเพื่อดำเนินเรื่องต่างๆ ยาวนานเป็นความเสียหายหรือภาระเพิ่มเติมอีกด้วย    แนวทางการแก้ไขปัญหา                 ·     คุณดิวฝากบอกว่า หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วและพยายามร้องขอความรับผิดชอบและถูกปฏิเสธหมดทุกช่องทางก็อย่าหมดความหวัง ให้พยายามหาข้อมูลต่อไปว่ามีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง  กรณีการร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณดิวได้ร้องเรียนผ่านมาทางเฟสบุ๊คเพจ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ตอบกลับรวดเร็ว คุณดิวจึงกลับมามีความหวัง                ·     เมื่อเกิดปัญหาแล้ว รวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุด อย่างรัดกุม กรณีของคุณดิวได้เก็บบิลค่าน้ำในเดือนก่อนๆ เอกสารที่ได้เข้าไปเขียนคำร้องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รูปถ่ายจุดท่อน้ำแตกไว้อย่างครบถ้วน          ในช่วงต้นเดือนเมษายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคุณดิวและบริษัทเจ้าของโครงการฯ และมีข้อสรุปให้ บริษัทฯ รับผิดชอบค่าเดินลอยท่อน้ำใหม่ และค่าน้ำ จำนวน 70% บริษัทจ่ายเงิน 13,000 บาท คืนให้คุณดิวเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 “ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัว”

        ปัญหาของลูกบ้าน เมื่อซื้อบ้านจัดสรรแล้วเข้าอยู่อาศัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ กรณีที่นำมาเล่าในฉบับนี้ เหตุเกิดจากท่อน้ำแตกแบบที่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวได้เลย ทำให้คุณวุฒิชัย วงศ์สิริวิทยา เจ้าของบ้านถูกเรียกเก็บค่าน้ำในรอบ 1 เดือน สูงถึง 18,635.01 บาท ซึ่งคุณวุฒิชัยไม่ได้ทำท่อน้ำแตกและคาดว่ามาจากการวางโครงสร้างผังบ้าน จึงร้องเรียนให้บริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านรับผิดชอบค่าน้ำที่เขาได้จ่ายไปแล้ว...เรื่องราวจะจบลงอย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่         เกิดช่วงหลังปีใหม่ เจ้าหน้าที่การประปาเข้ามาจดมิเตอร์แล้วแจ้งว่า ค่าน้ำผิดปกติน่าจะมีท่อรั่วภายในบ้าน มิเตอร์ไม่ได้เสีย เพราะเจ้าหน้าที่โทรไปถามแล้ว เขาก็แจ้งว่าน่าจะท่อน้ำรั่วภายใน ผมจึงเพิ่งทราบตอนบิลค่าน้ำมาเรียกเก็บเลย รู้ตอนนั้นเลย ค่าน้ำผิดปกติ หน่วยค่าน้ำมันสูงกว่าปกติ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาทครับอาจมีคนถามว่า ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวเลย เพราะอะไร         ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการจะมีแทงค์น้ำอยู่หลังบ้าน ลักษณะที่ท่อนำแตกของบ้านผม เมื่อแตกแล้วน้ำยังไหลเข้าแทงค์ปกติ ปั้มน้ำทำงาน ปกติน้ำที่แตกเยอะขนาดนี้จะต้องเอ่อล้นออกมามานอกบ้าน ข้างบ้านแล้ว แต่ไม่ล้น ไม่มีอาการอะไรเลย ผมถามเพื่อนบ้านแล้วว่ามีน้ำเอ่อออกมาบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่มีน้ำอะไรเอ่อออกมาเลย แล้วทำอย่างไรต่อ         ผมจึงเข้าไปที่สำนักงานการประปาก่อน เพราะไม่แน่ใจ อยากเช็คอีกรอบว่ามิเตอร์น้ำปกติดีใช่ไหม เมื่อเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ให้ผมเข้าไปหาช่างส่วนจดมิเตอร์ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ามิเตอร์เสีย ตอนที่หมุนน้ำเข็มมันอาจจะไม่กระดิกเลย เขายืนยันว่าไม่ใช่มิเตอร์เสียแน่นอน หลังจากนั้นผมจึงไปติดต่อนิติบุคคลของหมู่บ้าน อยู่ตรงส่วนด้านหน้าของสำนักงานขาย เขาก็ไม่รับเรื่องอะไร เรื่องค่าน้ำเขาบอกว่าไม่รับผิดชอบให้ เขารับผิดชอบให้แค่เขาจะเดินท่อน้ำแบบลอยให้ คือเดินให้ใหม่ แต่เป็นการเดินลอยอกมาข้างบ้าน และต่อเข้าแทงค์น้ำ เขารับผิดชอบแค่นั้น ส่วนค่าน้ำ ก็พยายามถามเขาว่า มีงานส่วนไหนที่ช่วยได้บ้าง เขาไม่ตอบ เขาเงียบกันหมดเขาให้ผมเขียนคำร้องส่งไป แล้วเดี๋ยวช่างจะมาเดินลอยให้ แล้วตอนนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะเขาไม่ตอบว่าถ้าเดินลอยใหม่แล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม เรื่องค่าน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบให้ ไม่มีการประสานงานต่อ         ในระหว่างที่กำลังเดินลอย ผมก็คิดหาวิธีต่างๆ แล้วลูกบ้านด้วยกันเขาแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่อยู่แถวโลตัสบางกะปิ ผมเข้าไปบริษัทก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM เข้ามาดู ซึ่งเขาก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลโครงการที่ผมอยู่โดยเฉพาะพอประสานงานเสร็จกลับเงียบหายไปเลย ที่สำนักงานใหญ่ก็เงียบต่อมาเขาแจ้งมาว่าให้ผมรับผิดชอบเอง ผมถามไปชัดเจนว่า “มีหน่วยงานไหน ฝ่ายไหนที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ผมได้บ้าง” เขาก็รับเรื่องไว้ แล้วไม่ตอบเลย เขาโยนกันไปมา ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ CRM ที่ดูแลโครงการนี้ ผมก็ทำทุกอย่าง  เขาก็แจ้งว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่าง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ปัญหาที่เกิด จุดที่ท่อน้ำแตกส่งไปให้เขา ผมส่งด่วน EMS เขาได้รับเรียบร้อย แต่ก็เงียบเป็นอาทิตย์ ผมก็คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่ได้เรื่อง ไม่ตอบกลับ โทรไป เขาก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องร้องเรียนทางอื่นแล้วในเอกสารตอนนี้คือต้องการคำตอบว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าน้ำไหม และค่าเดินท่อลอยที่กำลังทำอยู่ใครจะออกค่าค่าใช้จ่ายใช่ไหม         ใช่ครับ ตอนแรกที่ผมเข้าไปหานิติบุคคล เขาจะให้ช่างมาเดินลอยให้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายเขาไม่ยืนยัน เขาอ้างว่าผมต่อเติมบ้านไปแล้ว แต่แค่ปูกระเบื้อง ผมก็งงว่ากระเบื้องหนักขนาดไหน ถึงทำให้ท่อน้ำใต้บ้านแตกได้ คือผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแตกตอนไหน เพราะว่าพี่ที่เขาเป็นช่างทางโครงการเข้ามาหาจุดแตกเขาหาจุดแตกไม่ได้ จนต้องเดินลอยใหม่         เรื่องนี้ถ้าไม่ถามไปเขาจะไม่ทำให้ฟรี  ผมพยายามเถียงจนสุดท้ายทางโครงการจะรับผิดชอบค่าเดินท่อลอยให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการที่เขาบอกว่าท่อน้ำแตกอาจจะเกิดเพราะปูกระเบื้องตรงนี้คุณวุฒิชัยมองว่าไม่สมเหตุสมผล เลยเดินหน้าสู้ต่อเรื่องให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ         ครับ คือผมซื้อบ้านมา ผมก็อยากทำกระเบื้อง เพราะตอนแรกพื้นบ้านไม่ได้ระดับบ้างด้วย น้ำขัง ต้องทำใหม่ เลยจบปัญหาโดยการปูกระเบื้องแล้วไล่ระดับน้ำให้น้ำออก ปัญหาก็หาย ทีนี้ค่าน้ำใครจะจ่ายผมไปที่สำนักงานใหญ่แล้วไม่มีใครช่วยได้ ผมจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนร้องเรียน แต่ละที่ดำเนินการอย่างไร          ผมไปที่ สคบ. ก่อน และลองดูช่องทางร้องเรียนอื่นคือ มพบ.ผมลองหาข้อมูลเขาแจ้งว่าสามารถร้องเรียนได้ที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏว่าเขาตอบกลับเร็วมาก ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณมาก เจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูล รายละเอียดและสอบถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร อันนี้ดีเลย         ส่วนที่ทาง สคบ. เขาติดต่อกลับมาช้าเพราะ ผมคิดว่าเขาคงรับเรื่องเยอะ ผมเลยตัดสินใจให้ มพบ.ช่วยเหลือผม   หลังจากมูลนิธิรับเรื่องแล้ว ดำเนินการร่วมกันต่ออย่างไร         ผมส่งเอกสาร หลักฐานทั้งหมดที่ให้บริษัท หลักฐานที่ผมมีทั้งหมดให้มูลนิธิฯ หมดเลย หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นมูลนิธิออกจดหมายไปถึง บริษัทที่สำนักงานใหญ่ ประมาณกว่า 2 สัปดาห์เลยกว่าที่สำนักงานใหญ่จะตอบกลับมูลนิธิมาว่า  บริษัทอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น รูปรอยแตก สภาพแวดล้อม บิลค่าน้ำย้อนหลังว่าเราใช้น้ำอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่สำนักงานใหญ่ และอีกประมาณครึ่งเดือนมูลนิธิก็แจ้งมาว่าบริษัทรอว่าจะตกลงกันอย่างไร จนช่วงเดือนมีนาคม ผมก็ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของบริษัทจะเข้ามาดูแล ตอนแรกเขาจะชดเชยที่ร้อยละ 50 ซึ่งผมไม่รับเพราะว่าส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบยังเยอะ และตอนแรกผมดำเนินการแล้ว บริษัทไม่ประสานงานอะไรให้เลย จนเราต้องร้องเรียนให้มูลนิธิช่วยแล้วท่อน้ำที่อยู่ใต้บ้านแตก แสดงว่าผิดตั้งแต่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่ว่าผมต่อเติมกระเบื้อง ผมซื้อมาได้ 2 ปีเอง มันไม่น่าจะเป็นไปได้ โครงการระบุว่ารับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พอผมถาม บริษัทบอกว่าท่อน้ำเป็นเรื่องสถาปัตย์ ไม่ได้อยู่ในการรับประกันโครงสร้าง         ผมไม่รับแล้วบอกว่าขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ ร้อยละ 80 ฝ่ายงานกฎหมายของบริษัทเขาขอลดมาที่ 70 จึงได้ข้อสรุป มันนานแล้ว ผมไม่ไหว ผมหยุดงานเพื่อไปดำเนินการต่างๆ โดนหักเงิน 3 วันทั้งที่ไปสำนักงานประปา ไปคุยที่สำนักงานใหญ่ หยุดงานเพื่อให้ช่างเข้ามาดูสาเหตุที่ท่อน้ำแตก  อยากจะจบเรื่องตรงนี้ ผมเลยเข้าไปไกล่เกลี่ยกับบริษัทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทรับผิดชอบ 70% ผมจ่าย 30 %  บริษัทจ่ายเชคให้ผมจำนวน 13,000 บาท         เรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผมก็ได้แจ้งว่าเรื่องของผมยุติแล้ว การร้องเรียนที่ สคบ. ก็ยุติเรียบร้อย ฝากถึงคนที่อาจจะเจอปัญหาได้         ตอนซื้อบ้านนะครับ  นี่คือบ้านหลังแรกของผม ผมไม่ทราบว่าโครงการอื่นๆ เขามีงานก่อสร้าง แบบไหนอย่างไรแต่ต้องระวังด้วย ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องคอยเช็คตลอด         และเมื่อเกิดเรื่อง แม้เราไม่ทราบ เราต้องหาข้อมูลทุกช่องทาง ออนไลน์ต่างๆ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เขาช่วย อย่าไปยอม ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องสู้บางคนอาจจะยอมแพ้ไปถึงสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเขามาโทษเราก็ไม่ได้ เราต้องสู่เพื่อความชอบธรรม  เพื่อสิทธิของเราครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 เรียกเก็บค่าส่วนกลางหมู่บ้านสูงกว่าที่กำหนดในสัญญา ต้องจ่ายไหม

        คนที่ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร แน่นอนว่าต้องมีหน้าที่ร่วมกันจ่ายค่าส่วนกลาง เพื่อเป็นเงินที่นิติบุคคลหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน นำไปดูแลพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน อาทิ ค่าบำรุงดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโครงการให้อยู่สภาพที่ใช้งานได้ ซ่อมไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าแม่บ้านและคนสวนในโครงการ ตลอดจนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนแก่พนักงาน เป็นต้น  ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อบ้านสักหลัง “ค่าส่วนกลาง” จึงเป็นอีกเรื่องที่หลายคนนำมาพิจารณาเปรียบเทียบในการตัดสินใจซื้อบ้านด้วยและการเรียกเก็บ “ค่าส่วนกลาง” ก็อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ควบคุมโดยคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด  และในการเรียกเก็บค่าส่วนกลางก็ต้องระบุอัตราที่เรียกเก็บไว้ให้ชัดเจนในสัญญา ด้วยเหตุนี้หลายคนที่ซื้อบ้านจึงอาจวางใจว่าหากมีเหตุต้องจ่ายเงินค่าส่วนกลางก็ต้องเป็นไปตามสัญญา แต่ปรากฎว่า มีบางโครงการที่ไปขอคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดปรับค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อบ้านจัดสรรต้องจ่ายสูงกว่าในสัญญา ฝั่งผู้บริโภคก็มองว่าเขาไม่ควรต้องจ่ายค่าส่วนกลางเกินกว่าที่ตกลงทำสัญญาไว้ สุดท้ายก็มีการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล          ในเรื่องนี้ ศาลฎีกาได้ตัดสินวางหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมตามสัญญา กล่าวคือ แม้โครงการจะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดให้เพิ่มค่าบริการสาธารณะ แต่ก็ยังต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขาย จะอ้างว่ามีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเพื่อขอขึ้นค่าส่วนกลางดังกล่าวในภายหลังแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยผู้บริโภคในฐานะคู่สัญญาไม่ยินยอมด้วยมิได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4229/2564         ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีที่อนุญาตให้โจทก์ขึ้นค่าส่วนกลางในอัตราตารางวาละ 30 บาท ต่อเดือน ชอบแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองย่อมต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นบุคคลสิทธิระหว่างกัน โดยให้เหตุผลว่าโจทก์มีสิทธิเก็บค่าบริการสาธารณะในอัตราตารางวาละ 20 บาท ต่อเดือน แต่โจทก์กลับเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองเพียง 500 บาท ต่อเดือน แสดงว่าโจทก์ยอมสละสิทธิการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะเต็มตามที่ได้รับอนุมัติโดยกลับมาผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายแทน         แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีให้เพิ่มค่าบริการสาธารณะ โจทก์ก็ยังต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จะอ้างว่ามีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเพื่อขอขึ้นค่าส่วนกลางดังกล่าวในภายหลังแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองในฐานะคู่สัญญาไม่ยินยอมด้วยมิได้ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้สละสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ สัญญาจะซื้อจะขายเป็นไปตามแบบที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวดนนทบุรีกำหนด ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายตลอดไป เงินค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะมิใช่กำไรหรือขาดทุนของผู้จัดสรรที่ดิน แต่เป็นบริการที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องดำเนินการให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและอ้างถึงขั้นตอน หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะตามมาตรา 53 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 32 ค่าบริการสาธารณะหรือค่าส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปจริง มิใช่เป็นการเรียกเก็บเพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์ ต้องนำเงินไปใช้จ่ายให้ตรงตามประเภทที่กฎหมายกำหนด สมเหตุสมผล มีหลักฐาน ต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตรวจสอบได้ และอ้างถึงเหตุผลที่ขออนุญาตและเหตุผลที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ขึ้นค่าบริการสาธารณะนั้น แม้จะเป็นการอ้างกฎหมายมาเป็นเหตุผลให้ดูประหนึ่งว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างนี้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภครับฟังว่า โจทก์ไม่ได้สละสิทธิการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะเต็มจำนวนตามที่ได้รับอนุญาตอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 47         จากคำพิพากษาข้างต้น  ผู้บริโภคก็สบายใจได้ว่า หากมีการเรียกเก็บค่าส่วนกลาง ก็ต้องเก็บตามสัญญาเท่านั้น จะเก็บเกินกว่าสัญญาก็ต้องได้รับความยินยอม หากไม่ยินยอมก็เรียกเก็บไม่ได้ อย่างไรก็ดี การชำระค่าส่วนกลางให้ตรงตามเวลาในสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ฉบับแก้ไขเมื่อปี 2558  ได้กำหนดหน้าที่และผลของการค้างค่าส่วนกลาง โดยกำหนดว่าหากมีค้างชำระเกินกว่าสามเดือนอาจถูกระงับการใช้บริการของส่วนกลาง และหากค้างเกินกว่าหกเดือน ได้เปิดโอกาสให้นิติบุคคลบ้านจัดสรรและผู้ประกอบการสามารถแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (อายัด) ในที่ดินจัดสรรแปลงที่ค้างชำระค่าส่วนกลางได้แต่ตั้ง 6 เดือนขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เรื่องหมู ที่ไม่หมู

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ ให้นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น เร่งปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งผู้บริโภคต้องมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือหมูหลุม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ         สาเหตุของหมูแพงเชื่อว่าผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากข่าวสารต่างๆในสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูก่อนหน้า การเป็นโรคอหิวาต์แอฟริการของหมูทำให้มีหมูน้อยลงทั้งระบบ และรวมถึงการปกปิดข้อมูลทำให้การจัดการปัญหาล่าช้า และไม่ทันการณ์การจัดการโรคระบาดซึ่งโดยข้อมูลของหลายหน่วยงานแจ้งว่า ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน        ทางออกของผู้บริโภคในเรื่องนี้ซับซ้อนมาก ถึงแม้ข้อเสนอระยะสั้นที่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่า อาจจะจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวเนื่องจากปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่การนำเข้าเนื้อหมูต้องกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น         ส่วนข้อเสนอระยะยาว จะทำอย่างไรให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อย ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย เพื่อทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและการกำหนดราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น ดังปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นต้นตอของโรคในหมู ต้นตอของความไม่ปลอดภัยและเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาในมนุษย์ในท้ายที่สุด         บทบาทของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นต่างๆที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติที่รู้จักกันในนามหมูหลุม และผู้บริโภคจะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร         ส่วนปัญหาโครงสร้างราคาที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่า ราคาหมูเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อเป็นเนื้อหมูทำอาหารทำไมต้องกำหนดราคาเป็นสองเท่าของหมูเป็น และปัญหาวัตถุดิบในการเลี้ยงหมูซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศ ความเป็นธรรมของราคาต่อผู้บริโภคและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 อยากเปลี่ยนสีรั้วแต่นิติบุคคลห้าม

        การเข้าอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร แน่นอนวาย่อมจะต้องมีกฎกติกาบางอย่างที่ลูกบ้านต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การทิ้งขยะ การจอดรถ ฯลฯ ทว่าจะก้าวล่วงไปถึงกระทั่งว่า ถูกห้ามทาสีรั้วบ้านใหม่ได้ด้วยหรือไม่         คุณวาริน เข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านชานเมืองหลวง ก่อนเข้าอยู่ก็ให้ซินแสมาทำนายทายทักตามความเชื่อส่วนบุคคลของตนเอง ซินแสทักให้ปรับปรุงหลายอย่าง จุดหนึ่งคือทักว่าสีรั้วไม่ถูกโฉลกกับดวงของเจ้าของบ้าน คุณวารินจึงหาช่างมาปรับปรุงสีรั้วบ้านใหม่ แต่ขณะที่ช่างกำลังทำงาน มีบุคคลอ้างว่าเป็นกรรมการ “นิติบุคคล” ของหมู่บ้าน มาบอกว่าจะเปลี่ยนสีรั้วบ้านไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดข้อห้ามที่ทางนิติบุคคลได้กำหนดไว้         “เฮ้ย...ทาสีบ้านตัวเองนี่ก็ทำไม่ได้หรือ” คุณวารินคิดในใจ และไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้วนิติบุคคลสามารถห้ามเรื่องแบบนี้ได้ด้วยเหรอ จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ค้นหาข้อกฎหมายของ “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” พบว่า กฎหมายที่กำหนดอำนาจของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไว้ ได้แก่ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 48 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้ “มาตรา 48 เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้        (1) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค        (2) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการจราจรภายในที่ดินจัดสรร        (3) เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก        (4) ยื่นคำร้องทุกข์หรือเป็นโจทก์ฟ้องแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกจำนวนตั้งแต่สิบรายขึ้นไป        (5) จัดให้มีบริการสาธารณะเพื่อสวัสดิการของสมาชิก หรือจัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์        (6) ดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง หรือข้อบังคับของคณะกรรมการที่ออกโดอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้         การดำเนินการตาม (1) (2) และ (5) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก”         เมื่อพิจารณาตามนี้ จะไม่มีข้อใดที่ห้ามไม่ให้คุณวารินปรับปรุงทาสีรั้วบ้าน เพราะเป็นการกระทำที่กระทำแก่ทรัพย์สินของตนเองไม่ได้ไปละเมิดใคร และไม่อยู่ในอำนาจของนิติบุคคล แต่ก็ชวนให้คุณวารินคิดการเพิ่มสักหน่อย บางทีการที่กรรมการนิติบุคคลมาทัก ก็อาจเป็นไปได้ว่า ห่วงภาพรวมเรื่องความสวยงามของสภาพแวดล้อมในหมู่บ้าน ดังนั้นหากจะพบกันครึ่งทางได้ กล่าวคือเป็นสีรั้วที่ไม่โดดเด่นจนสร้างความแตกต่างมากจนเกินไปต่อภาพรวมของสภาพแวดล้อมก็จะเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันที่น่ายินดี

อ่านเพิ่มเติม >

เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

        เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอส่วนใหญ่ปลอดภัย เหมาะซื้อเป็นของฝาก         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid)         สรุปผลการทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่ 1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ 2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ  และ 3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ     มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1)  เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.34 มก./กก.        2)  เซฟแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.68 มก./กก.        3)  444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 860.23 มก./กก.         4)  ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)  พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.         และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก 1,652.41 มก./กก.        นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า “ การเก็บตัวอย่างหมูยอ ครั้งนี้เราสุ่มเก็บตัวอย่างหมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความร่วมมือจาก จังหวัด ได้แก่ พะเยา, แพร่, เชียงราย, สำปาง, ลำพูน และเชียงใหม่ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งทางเครือข่ายภาคเหนือที่เป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่าง หลังจากทราบผลการวิเคราะห์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดประชุมหารือกับสำนักงานสาธารณสุขภาคเหนือถึงแนวทางการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หมูยอให้ปลอดจากสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยกับผู้บริโภคในพื้นที่และเป็นของฝากในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ ”         นอกจากนี้นิตยสารฉลาดซื้อสังเกตว่า โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย        อ่านผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ www.chaladsue.com/article/3555

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผลทดสอบสารบอแรกซ์และสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู

        เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับข้อความจากผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ถึงความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผงกรอบ หรือ น้ำประสานทอง สารเคมีที่มักถูกนำไปผสมในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมถึงสารเร่งเนื้อแดง ที่อาจถูกนำมาผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดปริมาณไขมันลง         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าอย่างสบายใจ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง “หมูเนื้อแดง” จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและเขียงหมูในตลาดสดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, จ.นครปฐม, จ.ราชบุรี และ จ.ปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 41 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) และ สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonist) ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine)   สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อหมูทั้งหมด 41 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax)         ส่วนการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) นั้นพบว่า มีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านเจ๊แหม่มหมูซิ่ง (ตลาดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 5.80 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        2) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า(เขียง) ข้างร้านสมใจ (ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 4.41 ไมโครกรัม/กิโลกรัมและ  3) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า (เขียง) หลังร้านเป็ดพะโล้ (ตลาดเทศบาล1 /ตลาดโอเดี่ยน จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ น้อยกว่า 0.30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสารดังกล่าวด้วย ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท         นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ยังระบุว่า “ห้ามใช้ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist)” อีกด้วย                    ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู        1. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าหรือตลาดสดที่น่าเชื่อถือ หรือได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์         2. ไม่ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงสดจนเกินไป หรือ มีไขมันน้อยจนผิดสังเกต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะปนเปื้อนสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เอกสารอ้างอิง- Borax / บอแรกซ์, ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร (www.foodnetworksolution.com)- บอแรกซ์ สารอันตรายที่แฝงอยู่ในอาหาร (www.pobpad.com)- สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (beta-agonist), ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย   สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/beta-agonist.pdf)- การปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง (กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์) ในเนื้อหมู  (https://www.ocpb.go.th/upvac_web/download/article/article_20171117141228.pdf)- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 สารกันบูดในหมูหมัก (หมูกระทะ) จังหวัดขอนแก่น

        อาหารยอดฮิตที่เวลานัดเจอกันยามปาร์ตี้จะมีอะไรดีไปกว่าหมูกระทะ ปิ้งย่างเพลินๆ กินไปคุยไปถูกใจสายกินยิ่งนัก นิยมกันชนิดไม่ต้องไปร้านก็ได้ แค่สั่งซื้อหมูหมักซึ่งเป็นทีเด็ดของแต่ละร้านมาอร่อยกันที่บ้านก็ทำได้ง่าย แสนสะดวกสบาย ยิ่งใกล้ปีใหม่คิดว่าเมนูนี้น่าจะมาวิน         อย่างไรก็ตาม รู้หรือไม่ว่าบางร้านหมูกระทะเวลาที่เขาหมักหมูนอกจากจะใช้เครื่องปรุงหรือซอสสารพัดอย่างแล้ว อาจมีของแถมเป็นผงสารกันบูดยอดนิยมอย่างกรดเบนโซอิก(ซึ่งหาซื้อง่าย) ผสมเข้าไปด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าหมูจะไม่เน่าไปก่อนขายหมด ปัญหาคือผลิตภัณฑ์หมูหมักไม่ควรเติมสารกันบูด เพราะธรรมดามันก็ปนเปื้อนจากเครื่องปรุงหรือซอสอยู่บ้างแล้ว ยิ่งคนหมักหมูไม่มีความรู้ นำสารกันบูดมาผสมแบบนึกจะใส่ก็ใส่เข้าไปอีก แบบนี้ความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารกันบูดมากเกินไปก็สูงลิ่วกลายเป็นยิ่งอร่อยยิ่งเสี่ยงภัย         เรื่องสารกันบูดในหมูหมักจึงถูกนำเสนอเข้าสู่แผนการเก็บตัวอย่างเพื่อการเฝ้าระวังฯ โดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางเครือข่ายฯ พบว่าชาวบ้านนิยมกันมาก นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมกันดำเนินการเก็บตัวอย่าง เนื้อหมูหมัก จากร้านหมูกระทะในจังหวัดขอนแก่นจำนวนทั้งสิ้น 21 ร้าน ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และสารบอแรกซ์ โดยเก็บตัวอย่างปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอาละดูกันสิว่าเจอมากน้อยแค่ไหน สรุปผลทดสอบ         ร้อยละ 85.7 เราพบสารกันบูด กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือพบ 18 จาก 21 ตัวอย่าง มีเพียง 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14) ที่ไม่พบการปนเปื้อน   การตรวจพบวัตถุกันเสียกลุ่มเบนโซเอต แบ่งเป็นสารสองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก INS 210 และ โซเดียมเบนโซเอต INS 211 ถึงร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างหมูหมักนั้นมีได้สองเหตุผล คือ         1.เกิดจากการใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้มีการใช้การกันเสียเพื่อควบคุมคุณภาพ กรณีนี้จะพบวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มากและแม้ว่าจะหมักเนื้อหมูรับประทานเองที่บ้าน ก็พบการปนเปื้อนได้เช่นกัน         2.เกิดจากการจงใจผสมวัตถุกันเสียลงไปในการหมักของผู้ขาย เพื่อต้องการควบคุมไม่ให้หมูเน่าเสียก่อนที่จะขายหมดหรือมีสภาพไม่สวยงาม เช่น มีสีเขียวคล้ำ ซึ่งจะพบการปนเปื้อนกรดเบนโซอิกในปริมาณสูง (มากกว่า 100 มก./ 1 กก.)          ส่วนการทดสอบสารบอแรกซ์ ไม่พบในทุกตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

นอกจากแคบหมูกับน้ำพริกหนุ่มที่เป็นของฝากยอดฮิตของเมืองเหนือแล้ว หมูยอก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน โดยก่อนนี้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 เดือนกรกฎาคม 2562 ได้ทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มกันไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอเก็บผลิตภัณฑ์หมูยอนำมาทดสอบกันบ้าง หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างหมูยอมาทดสอบเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในฉบับที่ 95 (เดือนมกราคม 2552)        หมูยอเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่พร้อมนำมาปรุงอาหารได้ง่ายๆ เหมือนกับลูกชิ้นและไส้กรอก มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ เนื้อหมู, แป้งมันสำปะหลัง, เกลือ, พริกไทย และเครื่องปรุงรส หมูยอนิยมนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลาย จัดเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน ผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด มีทั้งแบบห่อด้วยใบตองเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม และมีแบบห่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกใสที่สามารถเห็นชิ้นหมูยอได้ชัดเจน เรื่องความอร่อยขึ้นอยู่กับรสนิยม แต่ในเรื่องความปลอดภัยจากวัตถุเจือปนอาหารอย่างเช่น สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียนั้น ฉลาดซื้ออาสาทดสอบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันในฉบับนี้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ สรุปผลการทดสอบ         จากตารางแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า         มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่         1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ        2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ         และ     3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ              มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1) เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.34  มก./กก.                 2) เซพแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.68  มก./กก.                 3) 444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  860.23 มก./กก.          4) ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)             พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.        และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ พบปริมาณกรดซอร์บิก 1652.41 มก./กก.         โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         แต่จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า หมูยอ ที่ส่งทดสอบจำนวน 30 ตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในจำนวน 23 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 3.18 – 3874.95 มก./กก.        ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         ข้อสังเกตการแสดงวันผลิตและหมดอายุ         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน        เปรียบเทียบราคาต่อกรัม         เมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อกรัมของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่มีราคาจำหน่ายสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.35 บาท/กรัม ได้แก่ ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ และราคาจำหน่ายต่ำสุดนั้นอยู่ที่ 0.06 บาท/กรัม ได้แก่ โกบอม, พานทอง และ หมูยอเส้น เจ๊รดา ทั้งสามตัวอย่างซื้อจากตลาดสดบ้านดู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งหากลองเฉลี่ยราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.17 บาท/กรัม        ข้อสังเกตอื่น ๆ         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค         หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย  ข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2544 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟาร์มเลี้ยงหมู ส่งกลิ่นเหม็น

        หากใครเคยมีประสบการณ์รถบรรทุกหมูวิ่งผ่านหน้าบ้าน หรือเคยขับรถออกต่างจังหวัดแล้วสวนทางกับรถขนหมู คงจะเคยได้กลิ่นขี้หมูอยู่ไม่น้อยว่าคละคลุ้งขนาดไหน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วครู่ ก็อาจต้องรีบควานหายาดมในกระเป๋ากันทันที แต่นั่นคงไม่หนักเท่ากับคุณนภาพรและเพื่อนบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ที่ต้องอดทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของฟาร์มเลี้ยงหมูในชุมชน          คุณนภาพร ได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่ากรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการส่งกลิ่นเหม็นของฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยู่บริเวณชุมชนนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาตนและเพื่อนบ้านหลายครอบครัวต้องทนอยู่กับกลิ่นขี้หมูมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหารแถวหมู่บ้านที่บ่นว่าลูกค้าลดน้อยลงไปมาก เพราะทนกับกลิ่นไม่ไหว แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 3/2549 เรื่อง การควบคุมกิจการเลี้ยงสุกร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูให้มีระยะห่างตามเหมาะสมที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการเลี้ยงหมูตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป ควรมีระยะห่างตั้งแต่ 200 - 1,000 เมตร และมีการจัดการสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง         ทั้งนี้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 (4) กล่าวถึง การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมาตรา 26, 27 และ 28 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถห้ามหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเหตุรำคาญนั้น ให้ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นได้ และในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อแก้ไขเหตุรำคาญดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้นและอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก         ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกับคุณนภาพร ก็สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ชมโครงการเห็นเป็นสวนหย่อม ต่อมากลายเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย

        ต่อกันด้วยเรื่องบ้านอีกสักเรื่อง เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจัดสรร ท่านต้องเพิ่มความรอบคอบ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องคุณภาพของบ้าน แต่ต้องดูเรื่องสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านด้วย อย่าด่วนตัดสินใจ         คุณสายใจร้องเรียนเข้ามาว่า ตนเองซื้อบ้านในโครงการหนึ่ง เหตุจากขับรถผ่านไปเห็นป้ายโฆษณาที่เชิญชวนด้วยข้อความที่น่าสนใจ จึงเลี้ยวรถเข้าไปในโครงการดังกล่าว จากการพูดคุยกับพนักงานขาย ซึ่งให้ข้อมูลดีๆ (ตอนนั้น) มากมาย ทั้งมีการนำชมบ้านซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จที่ยังไม่ได้จำหน่ายอีกหลายหลัง “ดิฉันสนใจหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่สุดซอยเป็นบ้านสองชั้น สร้างไปแล้วกว่า 80 % จึงสอบถามราคาและรายละเอียด พนักงานขายเชียร์ว่าหลังนี้ดีมาก ทำเลดีมาก ติดสวนของโครงการฯ ที่อยู่สุดซอย พื้นที่ตรงข้ามบ้านก็ปลูกหญ้าเขียวสวย ร่มรื่นมีต้นไม้มากพอสมควร ไม่มีแววว่าจะก่อสร้างอะไร พนักงานก็บอกว่าเป็นสวน”   ทั้งหมดนี้ตรงใจคุณสายใจเพราะกำลังอยากได้บ้านที่ค่อนข้างสงบร่มรื่นเนื่องจากจะให้เป็นบ้านพักของคุณแม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังดังกล่าว โดยโอนเงินจองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และทำสัญญาพร้อมโอนบ้านในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน        เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยได้ประมาณ 1 ปี พบว่า ที่เคยเห็นเป็นสวนหย่อมกลับกลายเป็น บ่อบำบัดน้ำ มีการนำเครื่องจักรมาวางไว้รระเกะระกะ อีกทั้งน้ำที่พักไว้ก็เน่ามีสีดำ มีขยะมากมาย เมื่อตนเองนำเรื่องไปสอบถามกับโครงการ ได้คำตอบว่า ไม่ใช่บ่อบำบัดเป็นเพียงบ่อน้ำธรรมดา ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ใช่แน่ อีกทั้งยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้านใช้เป็นที่แวะเวียนเข้าไปปัสสาวะ จับกลุ่ม อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่วางไว้ก็เริ่มเปิดใช้งาน ส่งเสียงดังรบกวนตนเองและคนในบ้าน         “จากเดิมที่คิดว่าจะเป็นบ้านที่สงบเงียบจึงลงทุนไปถึง 16 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ตอนนี้ทุกคนในบ้านปวดหัวอยู่ไม่สงบสุข เสียงดังของเครื่องจักรรบกวนมาก พนักงานก็เชียร์แต่ว่าพื้นที่ตรงข้ามบ้านเป็นสวน ไม่เคยให้ข้อมูลว่าจะเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียเลย อย่างนี้ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามถึงความต้องการในส่วนของผู้บริโภค คุณสายใจต้องการให้ทางโครงการฯ ซื้อบ้านคืนไป พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้บางส่วน “ตอนนี้ไม่อยากอยู่บ้านนี้แล้ว” ถ้าจะประกาศขายก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครซื้อไหม เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดีแบบนี้         เบื้องต้นเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันก่อน จึงเชิญผู้ร้องและตัวแทนโครงการเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อตกลง ผู้ร้องเพิ่มเติมว่าถ้าไม่ซื้อบ้านคืนทางโครงการย้ายบ่อบำบัดได้ไหม ทั้งนี้ตัวแทนของโครงการปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายผู้บริโภคโดยอ้างว่า แม้พนักงานขายไม่ได้บอกว่า พื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ผู้บริโภคเข้าไปดูภายในโครงการหลายครั้ง จะต้องเห็นอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียและเมื่อได้ทดสอบวัดเสียงหน้าบ้านคุณสายใจก็พบว่า เสียงดังในระดับ 40 เดซิเบลเท่านั้น ซึ่งทางผู้บริโภคแย้งว่า เมื่อเข้าไปดูการก่อสร้างบ้านนั้น ไม่พบว่ามีการจัดวางอุปกรณ์ทำบ่อบำบัดแต่อย่างใด เห็นเป็นพื้นที่ว่างๆ เขียวๆ  อีกทั้งในแบบแปลนที่นำเสนอขายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเชื่อตามพนักงานขายว่าเป็นสวนหย่อม         เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ทางศูนย์ฯ จึงเสนอคุณสายใจเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งผู้บริโภคจะหาทนายทำเรื่องฟ้องคดีเองแต่จะปรึกษากับศูนย์ฯ หากเกิดเรื่องไม่เข้าใจขึ้นมา         คำแนะนำ กรณีการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านตามข้อเท็จจริงนั้น ผู้ร้องไม่ทราบว่าพื้นที่ว่างตรงข้ามบ้านที่ซื้อเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยแบบแปลนการเสนอขายก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ใด แสดงเพียงว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่ภายหลังผู้ร้องเข้าอยู่อาศัยจึงทราบว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ว่า ตรงข้ามบ้านจะไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างที่เกิดขึ้นจริง ผู้ร้องสามารถบอกล้างสัญญาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กุนเชียงกับสารตรึงสีและสารกันบูด

        ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง หมูยอ เป็นเนื้อสัตว์แปรรูปที่คนไทยนิยมทาน นอกจากอร่อยแล้วยังสะดวกในการปรุงด้วย เพราะเพียงแค่อุ่นร้อนไม่กี่นาทีก็รับประทานได้ และยังหาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมถึงการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเมื่อเดินทางท่องเที่ยว นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้เคยเก็บตัวอย่างและทดสอบสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิด ทั้งไส้กรอก หมูยอ แหนม  ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ดี ปลอดภัย อีกทั้งในรายที่ตกมาตรฐาน ก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น         ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทางโครงการฯ และนิตยสารฉลาดซื้อ จึงเก็บตัวอย่างสินค้า กุนเชียง ซึ่งเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมรับประทานกันมากและจัดเป็นของฝากของภาคอีสานมาทดสอบ ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียงจำนวน 19 ตัวอย่าง เดือนธันวาคม 2562 โดยเน้นพื้นที่โซนภาคอีสาน ได้แก่ กุนเชียงหมู 9  ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่  5  ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสารไนเตรท ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารตรึงสี(ช่วยให้มีสีแดงสวยและป้องกันการเน่าเสีย) และวัตถุกันเสีย สองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก มาดูกันว่า ผลทดสอบเป็นเช่นไร        กุนเชียง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน จัดเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Chinese sausage หรือ ไส้กรอกจีน ดั้งเดิมมีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อหมูและมันหมู โดยเนื้อสำหรับทำกุนเชียงจะเป็นเนื้อหมูที่บดหยาบกว่าเนื้อหมูที่ทำไส้กรอก แต่ปัจจุบันอาจผลิตจากเนื้อสัตว์อื่น เช่น ไก่ ปลา ซึ่งในการผลิตกุนเชียงผู้ผลิตบางรายอาจเติมเกลือไนไตรท์และเกลือไนเตรทเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสารกันเสียและตรึงสีทำให้กุนเชียงมีสีแดงน่าทาน และอาจเติมวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและซอร์บิก เพื่อให้สินค้าคงสภาพได้นานขึ้นเก็บตัวอย่างเดือนธันวาคม 2562สรุปผลทดสอบ                   สรุปผลทดสอบ        จากการทดสอบกุนเชียง จำนวน 19 ตัวอย่าง สรุปได้ดังนี้        -          กุนเชียงทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน        -          ไม่พบไนไตรท์ใน 18 ตัวอย่าง พบน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 1 ตัวอย่าง          -          พบไนเตรทเล็กน้อย ที่ค่าเฉลี่ย 11.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบเลย 7 ตัวอย่าง        -          พบกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้แจ้งไว้บนผลิตภัณฑ์ (การพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบ มิได้เกิดจากการตั้งใจใช้เพื่อป้องกันการเน่าเสีย)  วิธีเลือกซื้อกุนเชียง        1.เลือกที่เนื้อแน่น คงรูป ไม่มีโพรงอากาศ เนื้อมีความนุ่มพอเหมาะ เนื้อและมันสัตว์ผสมกันอย่างทั่วถึง ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน        2.เลือกสีที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ และสม่ำเสมอตลอดชิ้น ไม่มีสีผิดปกติ เช่น ซีด เขียวคล้ำ ดำ หรือรอยไหม้        3.ไม่มีกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหืน         4.ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน กรวด ทราย ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์        5.ภาชนะบรรจุสะอาด แห้ง ผนึกได้เรียบร้อย และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้        6.เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์กุนเชียงกุนเชียงจัดอยู่ในกลุ่ม เนื้อสัตว์บดที่ผ่านกระบวนการหมักหรือไม่ก็ได้แล้วและทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและอนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไนไตรท์ คือ อะไร“ไนไตรท์” เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ในกลุ่มสารกันเสีย (preservative) และสารตรึงสี ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “ไนไตรท์” ได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด โดย “ไนไตรท์” มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเน่าเสีย และยังมีหน้าที่ในการตรึงสีของเนื้อสัตว์แปรรูปให้เป็นสีชมพู ไม่ซีดไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำอันตรายหรือไม่        อันตราย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กำหนด โดยไนไตรท์จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง อาจเป็นลม หมดสติได้ แต่จะอันตรายมากกว่า หากไม่ใส่ในอาหารกลุ่มไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป คือ การเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม” ที่สามารถสร้างสารพิษร้ายแรงที่มีชื่อว่า “โบทูลินั่มท็อกซิน” (Botox) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจเสียชีวิตได้        การใช้ “ไนไตรท์” ภายใต้ปริมาณที่กำหนด สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียนี้ จึงช่วยให้มีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่าการใช้เกลือไนไตรท์ในปริมาณที่พอเหมาะ (50-100 มก./กก.) จะควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถสร้างสารพิษ ชื่อ โบทูลินั่มท็อกซิน        ในแต่ละวันร่างกายเราได้รับสารไนไตรท์ที่มาจากเนื้อสัตว์แปรรูปโดยเฉลี่ยประมาณ 10% อีก 90% เราได้รับมาจากพืชและแหล่งอาหารอื่นๆ ที่เราบริโภค ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่กำหนดก็จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้ได้ อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 สารเร่งเนื้อแดง

สารเร่งเนื้อแดง        ผมมีเพื่อนทำฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่นครปฐม เขาเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากกลับมาใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์เหมือนเมื่อก่อน เพราะคนจับหมูชอบและให้ราคาดีรวมถึงเป็นความต้องการของเขียงขายเนื้อหมูด้วย ผมจึงสงสัยว่ากฎหมายที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นำมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังเพียงใดหรือเป็นเพียงช่องทางให้เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าของฟาร์มเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงสารตกค้างที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเนื้อหมูเลย ผมจึงอยากร้องเรียนมายังท่านในฐานะองค์กรผู้บริโภค ช่วยตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าปล่อยปละละเลยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกคน ผมหวังว่าท่านคงเห็นถึงอันตรายของสารดังกล่าว                                                ครอบครัวผู้บริโภคเนื้อหมู ตอบ        ขอบคุณ​ สำหรับข้อมูล ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นดีๆ​ ที่เป็นประโยชน์ กับงานคุ้มครองผู้บริโภคนะคะ​ เรื่องสารเร่งเนื้อแดง​เป็นเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่เป็นปัญหา​ของบ้านเรา​ นิตยสารฉลาดซื้อ​เองก็จับตามองปัญหานี้อยู่เช่นกัน ทั้งการแก้ไขปัญหาและการเตือนภัยผู้บริโภค เราจะทำงานไปด้วยพร้อมกันค่ะ ท่านผู้อ่านท่านอื่นสามารถบอกเล่าข้อมูล หรือเสนอความคิดเห็น​ รวมทั้งเสนอเรื่องที่ท่านสนใจ​ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์​ด้านสุขภาพ​ อาหาร​ และนโยบาย​ ทางเราหาข้อมูล สำรวจ หรือทดสอบ ทางเรายินดีจะนำเรื่องเหล่านี้มาขยายความเป็นข้อมูลดีๆ​ คืนกลับให้แก่ท่านผู้อ่านต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213กระแสต่างแดน

ยังรู้ได้อีก     ร้อยละ 90 ของคนออสเตรเลียเห็นด้วยว่าการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ควรทำและร้อยละ 71 มั่นใจว่าตนเองรู้ว่าขยะแบบไหนสามารถนำมารีไซเคิลได้     แต่จากการสำรวจเทศบาล 180 แห่งในประเทศ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Planet Ark พบว่าร้อยละ 46 ของเทศบาลเหล่านี้มีคนนำพลาสติกอ่อนมาทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิล     ความจริงแล้วถุงพลาสติกหรือพลาสติกห่ออาหารควรถูกนำไปทิ้งในถัง RedCycle ที่ร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจัดไว้ต่างหาก เพราะมันจะเข้าไปติดในเครื่องแยกขยะ นอกจากนี้ร้อยละ 41 ของเทศบาลเหล่านี้ยังพบว่าผู้คนมักจะนำพลาสติกรีไซเคิลมาใส่รวมกันในถุงใบใหญ่ก่อนทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และการทิ้งเศษอาหารในถังรีไซเคิลก็ยังมีอยู่เช่นกัน ออเตรเลียเริ่มใช้ฉลากรีไซเคิลที่ระบุว่าบรรจุภัณฑ์ส่วนไหนควรถูกกำจัดอย่าง แต่ Planet Ark บอกว่าผลการสำรวจนี้ยืนยันว่ารัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย        ตกมาตรฐาน         บริษัทชั้นนำของโลกส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติกำหนดองค์กร Corporate Human Rights Benchmark  ได้ทำการสำรวจนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องความโปร่งใส การหลีกเลี่ยงบังคับใช้แรงงาน และการให้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ของบริษัทข้ามชาติ 100 แห่ง โดยดูจากการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ     คะแนนเฉลี่ยของบริษัทเหล่านี้อยู่ที่ 27 จากคะแนนเต็ม 100  และมีถึงสองในสามที่ได้น้อยกว่า 30 คะแนน     อันดับหนึ่งได้แก่ อาดิดาสที่ได้ไป 87 คะแนน ตามด้วยผู้ประกอบการเหมืองแร่ Rio Tinto และ BHP Billiton     สองอันดับท้ายสุดได้แก่ บริษัทสุรากุ้ยโจวเหมาไถ และแบรนด์เสื้อผ้า Heilan Home (HLA) จากประเทศจีน  ทั้งนี้ สตาร์บัคส์ ปราด้า และแอร์เมส ก็อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยเช่นกัน      ปัจจุบันการใช้แรงงานเด็กและการเอาเปรียบแรงงานหญิงยังมีอยู่ และมีคนไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกอยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงานคิดก่อนคีบ       สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์(เรียกสั้นๆ ว่า CASE) ได้เก็บตัวอย่างตะเกียบไม้ไผ่แบบใช้ครั้งเดียว ทิ้ง 20 ยี่ห้อจากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต มาตรวจหาปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้เพื่อฟอกขาวและป้องกันเชื้อรา    จากตัวอย่างที่นำมาตรวจ  เขาพบว่าไม่มียี่ห้อไหนมีสารดังกล่าวเกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ต่ำที่สุดคือ 7มล./กก. และสูงที่สุดคือ 364มล./กก.)     สิงคโปร์ใช้เกณฑ์อ้างอิงจากจีนและไต้หวันที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 600 มล./กก. และ 500 มล./กก. ตามลำดับ       แม้จะดูเหมือนปลอดภัย แต่ CASE ย้ำว่าเขายังไม่ได้ทดสอบตะเกียบจากร้านหรือศูนย์อาหารต่างๆ(ด้วยเหตุผลด้านการสืบหาที่มา) จึงแนะนนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงตะเกียบที่ดูขาวเกินไปหรือมีกลิ่นสารเคมีรุนแรง การได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ปีใหม่ต้องไม่เจ็บ         เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงทีไร ต้องได้ยินเสียงประทัดแว่วมา แต่ที่ฟิลิปปินส์นั้นเสียงประทัดไม่อาจจัดว่า “แว่ว” เพราะเขานิยมจุดให้เปรี้ยงปร้างอลังการเพื่อส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่     ความรื่นเริงนั้นไม่เป็นปัญหาแต่สิ่งที่มักเกิดตามมานี่สิใช่ เมื่อปี 2012 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องหามาตรการมารับมือ     เดือนมิถุนายนปีที่แล้วประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ได้ออกคำสั่งให้หยุดการขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้กับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายและผู้ขายประทัด       กรมสุขภาพฟิลิปปินส์พบว่า จำนวนผู้ผลิตที่ลดลงมีส่วนทำให้สถิติการบาดเจ็บลดลงด้วย ปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากประทัด 463 คน (ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 27)       กรมฯ ยังยืนยันว่าเป้าหมายสูงสุดคือการบาดเจ็บต้องเป็นศูนย์ และขอร้องให้ผู้ปกครองช่วยกันระมัดระวังดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยในงานปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประเทศนี้ต้องไม่หมู         ตามข้อตกลงการค้าล่าสุดระหว่างบริษัทของเดนมาร์กและจีน บริษัท  Danish Crown ของเดนมาร์กจะจัดส่งเนื้อหมูปริมาณ 250 ตันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลาห้าปี ให้กับ Win-Chain ของประเทศจีนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเบคอน      งานนี้เดนมาร์กจะได้เงินเข้าประเทศเกือบ 11,500 ล้านบาท และได้ของแถมเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วย      ตัวแทนกรีนพีซเดนมาร์กบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลยินยอมให้ผู้ประกอบการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศอื่น       เขายังบอกด้วยว่า แม้จะรู้กันว่าเนื้อสัตว์ คือผลิตภัณฑ์อาหารที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เดือนที่แล้วรัฐบาลเดนมาร์กกลับนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยไม่กล่าวถึงปัญหามลภาวะจากการผลิตเนื้อหมูเลย      เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้บริษัทสามารถทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2560กลุ่มผู้ซื้อรถมาสด้าแล้วเจอปัญหา ร้อง สคบ. จี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย ซึ่งซื้อรถยนต์ดังกล่าวในช่วงปี 2558-2559 พร้อมด้วย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบกรณีพบว่ารถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานอาการผิดปกติจนมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่ อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. และคงอาการลักษณะนี้จนปัจจุบันนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นสกายแอคทีฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำรถของตนเข้าศูนย์หลายครั้ง คิดเป็น 2 เท่าของระยะตรวจเช็คตามรอบปกติ เริ่มจากปัญหาโช้ครั่วที่พบหลังใช้รถ 2-3 เดือนแรก จนถึงปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาด ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิตทางกลุ่มผู้ร้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติที่ควรเป็น และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 2 ในรุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ ซึ่งหากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจริง ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งให้บริษัทรับผิดชอบรับซื้อรถยนต์คืนทั้งหมดย้อมสีเนื้อหมูหลอกขายเป็นเนื้อวัวพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความกับตำรวจ หลังพบว่าเนื้อวัวที่ซื้อมาเมื่อนำไปล้างน้ำทำความสะอาด สีลอกและซีดลง แถมไม่มีกลิ่นของเนื้อวัว พ่อค้ารายดังกล่าวสงสัยว่าแม่ค้าจะเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำเนื้อหมูมาย้อมสีโกหกว่าเป็นเนื้อวัวหลอกขายผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พร้อมทั้งควบคุมตัวแม่ค้ามาสอบปากคำ ท้ายที่สุดแม่ค้าก็รับสารภาพว่าได้เอาสีผสมอาหารย้อมเนื้อหมูให้มีสีแดงคล้ายเนื้อวัวจริง แล้วติดป้ายหลอกขายว่าเป็นเนื้อวัวในราคากิโลกรัมละ 235 บาท เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้นจากเนื้อหมูที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับแม่ค้าคนดังกล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงและขายสินค้าหลอกลวงประชาชน ถูกเปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งที่ถูกหลอก นวดปลอดภัย เลือกร้านที่มีใบอนุญาติถูกต้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการนวดต้องประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บปวด ต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้นโดยสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ 3. มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้นแต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือ ผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่ สบส. ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงสติกเกอร์มาตรฐาน สบส. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 3. มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอาหารเสริมคังหลินอวดอ้างสรรพคุณหลอกเงินชาวบ้านคณะกรรมการอาหารและยา และ กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรวาริชภูมิ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ที่ใช้หยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำสินค้ามาแนะนำ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจโรค ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท หลังจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานีต่อไป ทั้งนี้ อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างเรื่องการรักษาโรค เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างในกรณีนี้หากนำไปใช้หยอดหู หยอดตา สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาจเป็นอันตรายต่อหูและดวงตาของผู้ที่ใช้ถอนทะเบียนยา “ฟีนิลบิวตาโซน” 70 รายการ เหตุอันตรายถึงชีวิตในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1435/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) เป็นส่วนประกอบ หลังพบข้อมูลทางวิชาการว่า ยาฟีนิลบิวตาโซน เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 จึงมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาสําหรับมนุษย์ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซนเป็นส่วนประกอบ จํานวน 70 ตํารับ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ โดยสามารถดูรายละเอียดประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/277/62.PDF

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >