ฉบับที่ 185 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 2)

ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว ผมได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปแล้วว่ากฎหมายนี้ จะช่วยคุ้มครองสิทธิของคุณในฐานะลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง ผ่านไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งฉบับนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีอื่น ๆ ต่อไป ให้ครบ 10 ประการ   5. ห้ามทวงหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ หรือวิธีการอื่นใดที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน  แม้แต่ซองจดหมายที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้  กฎหมายก็ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใด ๆ      ที่สื่อไปในทางทวงหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เอกสารทวงหนี้มัก        จะตีตรา “ชำระหนี้ด่วน”    ตัวแดงเด่นชัดเห็นมาแต่ไกล ราวกับจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านรู้ว่าคุณเป็นหนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ การพยายามเปิดเผยเรื่องหนี้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 6. ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งชื่อเอาไว้ ถ้าเกิดไม่เจอตัวลูกหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ลูกหนี้เท่านั้น จะไปฝากเรื่องทวงหนี้เอาไว้กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนข้างบ้านหวังจะประจานให้ลูกหนี้ได้อายอย่างเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แล้ว  ข้อนี้ มีโทษหนักถึงขั้นต้องปิดบริษัท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทวงหนี้กันเลยทีเดียว7. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการทุกแห่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ คนในเครื่องแบบ คนมีสี ไม่ว่าจะสีเขียว หรือสีกากี ต่อไปห้ามรับ job ทวงหนี้เด็ดขาด ถูกร้องเรียนขึ้นมามีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องออกจากราชการหมดอนาคตไปด้วย 8. การติดต่อลูกหนี้ถ้าเป็นวันธรรมดาให้ติดต่อได้ในช่วง 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ให้ติดต่อเวลา08.00-18.00 น. แต่การเจรจาพูดคุยกับลูกหนี้ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่ใช่โทรมาทุกสิบนาทีตลอดทั้งวัน แบบนั้นก็ไม่ใช่ละส่วนสถานที่ติดต่อต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม พนักงานทวงหนี้ห้ามเข้ามาถ้าคุณไม่อนุญาต ไม่อย่างนั้น เจอข้อหาบุกรุกแน่  9. เป็นหน้าที่ของพนักงานทวงหนี้ ที่จะต้องแจ้ง ชื่อ -สกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ กรณีรับมอบอำนาจมาก็ให้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และถ้ามีการชำระหนี้ก็ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกหนี้ด้วย และตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยถูกต้องแล้ว10. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ หรือคนในครอบครัว สามารถร้องเรียนพฤติกรรมโฉดของแก๊งทวงหนี้ได้ ที่สถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารการร้องเรียน เสนอให้ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด” เป็นผู้พิจารณาจัดการกับพวกทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย ต่อไป      ถึงตอนนี้ คุณก็ไม่ต้องกลัวพวกทวงหนี้โหดอีกแล้ว เพราะการติดหนี้นั้นเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกลัวติดคุก แต่การทวงหนี้นอกกติกา ป่าเถื่อนนี่สิ เป็นคดีอาญา มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้โดยการข่มขู่ ประจาน ทำให้เสียชื่อเสียง ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการคุกคามลูกหนี้ด้วยวิธีการสกปรกต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เจ้าหนี้คนไหนฝ่าฝืนมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้น ใครที่กำลังถูกพวกทวงหนี้โหดคุกคาม คุณควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพราะมันเป็นเสมือนยันต์เกราะเพชร ที่จะคอยปกป้องคุณจากบรรดาพวกทวงหนี้ขาโหดได้เป็นอย่างดีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ที่อยากให้คุณรู้ 1. พวกรับจ้างทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทรับทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้” กับทางราชการ เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การทวงหนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากใครทวงหนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อมูลสำคัญ...ที่ต้องจำ เมื่อถูกทวงหนี้เจอพนักงานทวงหนี้ครั้งต่อไป อย่าลืมจดข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ – นามสกุล, ชื่อบริษัทต้นสังกัด, เลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการทวงถามหนี้, หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าหนี้,    ที่อยู่ - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากมีการพูดจาข่มขู่ คุกคาม คุณจะได้มีหลักฐานไว้เล่นงานพวกทวงหนี้นอกรีตเหล่านี้ 2. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ด้วย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรงมาก คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...งานนี้นักเลงทวงหนี้ มีสิทธิติดคุกยาว 3. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิด เช่น จดหมายทวงหนี้ที่ใช้ข้อความว่า อนุมัติฟ้องดำเนินคดี เตรียมรับหมายศาล เตรียมยึดทรัพย์ ถ้าไม่ใช้หนี้จะติด Black List เครดิตบูโร เพื่อจะขู่ให้ลูกหนี้กลัว และที่สำคัญห้ามแอบอ้างให้ลูกหนี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือแต่งกายเลียนแบบ ข้อนี้มีโทษหนักมาก จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ4. ห้ามทวงหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น ข้อนี้น่าจะช่วยกำจัดพวกทวงหนี้ปากปลาร้าไปได้เยอะเลย เพราะถ้าคุมหมาในปากไม่อยู่ อาจจะต้องถูกปรับหนึ่งแสนบาท หรือต้องไปกินข้าวแดงในคุกฟรี นะจ๊ะอีก 6 ข้อควรรู้ที่เหลือ ติดตามต่อได้ในฉลาดซื้อ ฉบับหน้านะครับ ส่วนใครที่ร้อนใจ เพราะตอนนี้ปัญหาหนี้สินรุมเร้าเหลือเกิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook : รู้สู้หนี้ หรือ www. rusunee.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ระวังหนี้เพิ่มจาก โปรโมชั่น ผ่อน 0%

เศรษฐกิจยามนี้ ฝืดเคืองเหลือเกิน เมื่อคนไม่ซื้อของ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ต้องัดกลวิธีทุกวิถีทางเพื่อเรียกลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือ “ผ่อนดอกเบี้ย 0%” ซึ่งเดี๋ยวนี้ เราสามารถใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% ได้เกือบ ทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่ โทรศัพท์ , TV , ตู้เย็น , ยางรถยนต์ ไปจนกระทั่งทัวร์ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีโปรผ่อน 0%       “Oh Wow อะไรมันจะดีอย่างนี้ ผ่อน 0% ตั้ง 10 เดือน จ่ายน้อย ผ่อนนาน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โอกาสแบบนี้รีบคว้าเลย” หลายคนตาเป็นประกาย เตรียมหยิบบัตรเครดิตออกมารูดแล้วใช่ไหม แต่ช้าก่อน ลองทบทวนดูอีกทีว่า “โปรผ่อน 0%” นี้จะเป็น โอกาสทอง หรือ กับดัก ตัวอย่าง เช่น Smartphone รุ่นใหม่ ตัว Top ราคา 24,000 บาท มีโปรโมชั่นให้ผ่อนได้นาน 12 เดือนดอกเบี้ย 0% เมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต แว๊บแรกในความคิดแรกของคนทั่วไปเมื่อเห็นโปรโมชั่น 0% แบบนี้คือ โทรศัพท์ราคา 24,000 บาท ผ่อน 12 เดือน ไม่เสียดอกเบี้ย ก็แบ่งจ่ายแค่เดือนละ 2,000 บาท แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ เราไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแค่รายการเดียวน่ะสิ แต่ละเดือนเราอาจจะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้า จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าอาหารร้านอร่อย ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ รวมกันหลายรายการ สมมุติว่า ผ่อน Smartphone 2,000 บาท + กินใช้อื่น ๆ 5,000 บาท ยอดที่เรียกเก็บมาในเดือนนั้นจะเท่ากับ 7,000 บาท และโดยปกติบัตรเครดิต จะกำหนดยอดขั้นต่ำเท่ากับ ยอดผ่อนสินค้าบวกกับ 10% ของยอดที่ใช้บัตร จากตัวอย่างก็จะเท่ากับ 2,500 บาท (2,000 + 10% ของ 5,000) 1.    ถ้าคุณชำระเต็มตามยอดที่เรียกเก็บมาทั้งหมด แบบนี้คุณก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น2.    ถ้าคุณชำระเต็มตามจำนวนที่เรียกเก็บไม่ได้ ก็ขอให้จ่ายเกินกว่าหรือเท่ากับยอดขั้นต่ำที่เรียกเก็บมา 2,500 บาท เพราะกรณีนี้ แม้คุณจะยังต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่คุณรูดบัตรเครดิตเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งยังชำระไม่ครบ แต่ในส่วนยอดผ่อน Smartphone 0% ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย3.    แต่ถ้าคุณผิดนัดไม่จ่ายหนี้ หรือชำระได้น้อยกว่ายอดขั้นต่ำ เช่น 2,000 บาท แม้จะเท่ากับยอดผ่อน 0% ที่เรียกเก็บมา แต่กรณีนี้คุณจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้งในส่วนที่ผ่อน Smartphone แม้จะมีโปรโมชั่น 0% และเสียดอกเบี้ยในส่วนที่ใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายค่ากินใช้อื่น ๆ ด้วยสรุป มีเพียงกรณีเดียวที่คุณจะได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่น “ผ่อน 0%” อย่างเต็มที่ นั่นคือ ต้องชำระเต็มตามจำนวนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บทุกครั้ง และที่นี้รู้ยังว่า บริษัทบัตรเครดิตทำกำไรได้อย่างไรจาก “โปรโมชั่นผ่อน 0%”  เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักกระเป๋าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำกำไรจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 “อยากปิดบัญชีหนี้ ต้องมีเอกสารยืนยัน”

เมื่อมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ หากไม่อยากถูกเจ้าหนี้หลอกให้ชำระหนี้บางส่วน ลูกหนี้ต้องเรียกร้องขอเอกสารยืนยันที่ชัดเจน เพราะสามารถใช้ยืนยันทางกฎหมายได้นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการรักษาสิทธิของตัวเอง ด้วยการเรียกร้องขอเอกสารยืนยันการเจรจาปิดบัญชีหนี้ก่อนชำระเงิน ซึ่งกว่าจะได้เอกสารก็ล่วงเลยกำหนดการชำระไปแล้ว ทำให้ผู้ร้องต้องกลายเป็นคนผิดนัดการชำระหนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดอะไรผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิต ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยาจำกัด จำนวนกว่า 90,000 บาท บริษัทฯ จึงนัดเจรจา เพื่อให้เข้าโปรแกรมส่วนลดหนี้เหลือเป็น 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้ชำระภายใน 5 วันถัดมานับจากวันที่มีการเจรจา ซึ่งหากไม่ชำระจะถือว่าการเจรจาส่วนลดนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อมีเงื่อนไขแบบนี้ ผู้ร้องจึงยินดีตอบตกลง และเร่งหาเงินมาให้ครบตามจำนวนที่ได้ส่วนลดไว้ เพียงต้องการเอกสารการยืนยันที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ ก่อนการชำระหนี้นั้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ กลับแจ้งว่าสามารถชำระได้เลย โดยจะส่งเอกสารตามไปทีหลังแน่นอนว่าผู้ร้องไม่ยอมทำตามด้วยการไปชำระหนี้ก่อน ยังคงยืนยันที่จะรอเอกสารยืนยัน เพราะต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ จนในที่สุดเอกสารก็ส่งมา แต่กลับส่งเลยกำหนดการชำระหนี้ที่เคยตกลงกันไว้ จนทำให้ผู้ร้องตกอยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ และทำให้การเจรจาดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ ผู้ร้องจึงต้องการให้บริษัทฯ แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว ที่ทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้นั้นต้องสูญเปล่า จึงมาร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือทักท้วงไปที่บริษัทฯ โดยระบุสาเหตุที่ผู้ร้องไม่ชำระหนี้ว่า เป็นเพราะบริษัทฯ ทำเอกสารส่งมาให้ผู้ร้องล่าช้า และเลยวันที่กำหนดชำระหนี้ไปแล้ว ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ถือว่าเป็นคนผิดสัญญาการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างที่รอบริษัทฯ ส่งเอกสารที่แก้ไขแล้วมาให้ใหม่ ผู้ร้องยังไม่ต้องชำระหนี้นั้นหลังจากบริษัทฯ ได้รับเรื่องก็ยินยอมที่จะแก้ไขวันที่ในเอกสารให้ใหม่ เป็นวันที่ปัจจุบันและขยายกรอบเวลาออกไป ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับเอกสารยืนยันที่ชัดเจนแล้ว ก็ดำเนินการชำระหนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับเอกสารยืนยันการปิดบัญชีหนี้ สามารถถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งหากมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ต้องมีเอกสารยืนยันเสมอ เพราะหากเราไม่มีเอกสารยืนยัน ก็อาจกลายเป็นว่าเราถูกเจ้าหนี้หลอกให้เราชำระหนี้เพียงบางส่วนได้ และเราก็ยังคงต้องชำระเงินเต็มจำนวนเช่นเดิม หรือกรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อความบางอย่างในเอกสาร จนทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้อย่างไรก็ตามเอกสารยืนยันการชำระหนี้ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ควรมีคำสำคัญดังต่อไปนี้ จึงจะถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถมีผลใช้ยืนยันทางกฎหมายได้1. เลขที่สัญญา หรือ เลขที่บัญชีหนี้2. จำนวนเงินที่เป็นหนี้3. จำนวนเงินที่ตกลงกันเพื่อปิดบัญชีหนี้4. ข้อความที่ระบุว่า “หากลูกหนี้ชำระแล้ว จะถือว่าท่านชำระหนี้เสร็จสิ้น ไม่มีหนี้ค้างอยู่กับบริษัท”5. ลายเซ็นผู้มีอำนาจของบริษัทในการอนุมัติปิดบัญชีหนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “หนี้จากบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้”

อิทธิพลของยุคซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋า จนบางครั้งเปิดกระเป๋ามาเจอบัตรเครดิตเยอะกว่าเงินก็มี อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตเหล่านี้ก็อาจสร้างภาระให้เราแทนได้ หากเราใช้จ่ายมากเกินไปจนกลายเป็นหนี้ หรืออย่างในกรณีนี้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายแต่ดันเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ร้องเคยสมัครบัตรเครดิตกับธนาคาร UOB แต่ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าใดๆ เพราะมีบัตรเครดิตอื่นที่ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ได้ยกเว้น เธอจึงตัดปัญหาภาระที่ไม่จำเป็น ด้วยการโทรศัพท์ไปที่ Call center ของธนาคารเพื่อยกเลิกบัตรใบนี้ ซึ่งพนักงานก็ได้ดำเนินการยกเลิกให้เธอเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่คิดต้นปี 2557 เธอได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของธนาคารดังกล่าวว่า ขอให้ชำระหนี้จากการนำบัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้ ATM รวมแล้วจำนวนกว่า 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงกลับไปว่า ไม่เคยเปิดใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับบัตรเครดิตใบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้เธอหาทางดำเนินการแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการแนะนำให้โทรศัพท์ไปที่ Call center หรือฝ่ายตรวจสอบการทุจริตของธนาคาร ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าจะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมา พร้อมกับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นเธอจึงต้องทำตามคำแนะนำ โดยการไปแจ้งความขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามตู้ ATM ต่างๆ ที่มีการกดเงินจำนวนนั้นไป และโทรศัพท์ไปยังธนาคารต่างๆ ให้เก็บภาพวงจรปิดไว้ ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าคนที่มากดเงิน เป็นชายใส่หมวกนิรภัยปิดหน้าที่เธอไม่รู้จัก ต่อมาจึงประสานกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าว เพื่อขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลของบัตรและพบว่า มีไฟล์เสียงของเธอที่ยืนยันการเปิดและยกเลิกบัตรเครดิตทางโทรศัพท์ โดยภายหลังได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะถือบัตรเครดิตใบนี้ต่อ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งมา เธอยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เคยตกลงเจรจากับธนาคารเช่นนั้น จึงขอไฟล์บันทึกเสียงที่อ้างข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ธนาคารกลับไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอง่ายๆ คลิปเสียงที่จะเป็นพยานสำคัญในการเอาผิดผู้ร้องกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารไม่ยอมส่งคลิปเสียงทั้งหมดมาให้ โดยอ้างว่าบางส่วนได้ทำลายทิ้งไปแล้ว และที่มีอยู่ก็เป็นไฟล์เสียงที่ไม่สมบูรณ์อีก มากไปกว่านั้น เมื่อผู้ร้องตรวจสอบวันเวลาของไฟล์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่อ้างไว้ตอนแรก นอกจากนี้การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดธนาคารจึงปล่อยไม้เด็ดคือ ไม่ตอบข้อร้องเรียนหรือหลักฐานไฟล์เสียงที่ผู้ร้องขอ เพียงส่งหนังสือระบุว่า ตามเงื่อนไขสัญญาการทำบัตรเครดิต เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานะของผู้ร้องคือ เป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และการที่ผู้ร้องทำหนังสือไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้จะเป็นธนาคารแห่งชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบระบบเชิงลึกรายบุคคล เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้อง ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นผู้กดเงินสดจำนวนนั้นไป นอกจากนี้ข้อสังเกตต่างๆ ที่ผู้ร้องได้ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ได้รับการอธิบาย โดยในระหว่างนี้เรื่องอยู่ระหว่างการเจราจาที่อัยการ ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้ยุติการเรียกเก็บหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารกล่าวอ้าง เพราะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 นับถอยหลัง 180 วัน พรบ.ทวงหนี้

จากปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย  เช่น การข่มขู่  การประจาน  ทวงหนี้ไม่เป็นเวลา  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง  ฯลฯ  สร้างแรงกดดันให้ลูกหนี้  ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ ได้    หลังจาก  คสช.ได้หยิบร่าง พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. ..   มาปัดฝุ่นใหม่  ส่งให้สภานิติบัญญัติไปแก้ไขร่างให้ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 57     หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี   คงต้องนับถอยหลังจากวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558   ไปอีก 180  วัน“พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” จะมีผลบังคับใช้ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนติดตามทวงหนี้ ลูกหนี้ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้คงได้เฮ กันอย่างถ้วนหน้า  ที่จะเห็นคนติดตามทวงหนี้มีมารยาทดีขึ้น  วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  เนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องมาดูกัน ว่าฝันของลูกหนีจะเป็นจริงหรือไม่เนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้  พ.ศ. 25581. ขอบเขตการใช้บังคับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย  หากเป็นทนายความให้ดำเนินการจดทะเบียนได้ที่สภาทนายความ 3. การติดตามทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐาน การรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วยหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใด ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิตมาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 4. การกำกับดูแลและตรวจสอบ คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องมีความรูความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมายหรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่ห้ามอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38 (4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ (5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ (4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี (3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย   5. บทกำหนดโทษ 5.1 โทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท   5.2 โทษอาญา บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น  เปิดเผยหนี้  ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย  ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน  หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น  หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้   ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ  มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ การทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา  หรือมาให้ถ้อยคำ   แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี  เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน  กฎหมายฉบับนี้ออกมามีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรม  ของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น     มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้    ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน  ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้     เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 อุทาหรณ์ ของ ลูกหนี้ ที่ทำสัญญา “ขายฝาก”

ธุรกิจรับจำนำ  ขายฝาก  เฟื่องฟูมากในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เงินในกระเป๋าของผู้ปกครองคงชักหน้าไม่ถึงหลัง  ช่วงนี้โรงรับจำนำ  ร้านทอง  จึงเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนที่นำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อหาเงินไปต่อชีวิตตัวเอง   กรณีคุณรัชนี ก็เช่นกัน  แต่เธอไม่ได้พึ่งพาโรงรับจำนำ  กรณีของเธอคือ นำเครื่องไอโฟน 5  ไปทำสัญญาขายฝากกับร้านโทรศัพท์มือถือ  เพราะต้องการใช้เงินด่วนมากคุณรัชนีได้เงินมา 7,000 บาท    โดยตกลงกับร้านว่าครบกำหนดไถ่ถอน ในวันที่ 27 ตุลาคม 57 จะต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนวน 7,700  บาท  แต่ปรากฏว่าเธอไม่ได้ไปไถ่ถอนตามกำหนด      เพราะหาเงินไม่ทันและคิดว่าไม่เป็นไร เพราะร้านอื่นที่เคยทำสัญญาขายฝากไม่เคยมีปัญหาอะไร  ถ้าเลยกำหนดไปบ้าง  ในวันที่  28 ตุลาคม  จึงได้ติดต่อไปที่ร้านโทรศัพท์ ล่าช้าไปเพียง  1  วัน  เธอบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้วและหลังจากนั้นอีกวันเธอเดินทางไปที่ร้านโทรศัพท์  แต่เจ้าของร้านบอกว่าขายโทรศัพท์ไปแล้ว  แกรู้สึกเสียดายโทรศัพท์อยากได้คืน  จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับฟังปัญหา  ได้ชี้แจงเบื้องต้นให้กับผู้ร้องฟังว่า การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง   ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที แต่มีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด  โดยต้องชำระค่าไถ่ถอนตามที่ตกลงกัน เรียกว่า สินไถ่ สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินได้ทุกประเภททั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่า ให้ผู้ขายมีสิทธิมาไถ่ทรัพย์สินที่ขายคืนได้ภายในกำหนดระยะตามที่ตกลงกัน  ซึ่งสัญญาประเภทนี้ หากผู้ขายฝากทราบอยู่แล้วว่าจะไถ่ถอนไม่ทัน ผู้ขายฝากสามารถที่จะแจ้งต่อผู้ซื้อฝากก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้   แต่ต้องทำข้อตกลงการขยายระยะเวลาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน   แต่หากไม่ติดต่อและไม่ไถ่ถอนตามกำหนด  ร้านค้าจะยึดทันทีโดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด  ร้านค้าได้กำไรงาม จึงเห็นได้ว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้ขายฝากเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งหากเผลอไผลไม่ไปไถ่ถอนในกำหนดเวลาก็จะต้องเสียกรรมสิทธิทันที   ต่างกับ “สัญญาจำนำ” ที่ผู้รับจำนำต้องมีแนวปฏิบัติก่อนยึดทรัพย์จำนำดังนี้ 1.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) ภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าว 2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ 3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ แก่ผู้ที่จะนำทรัพย์สินไปขายฝาก   ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องไปไถ่ถอนตามเวลา  เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “พรบ.ทวงหนี้” กฎหมายที่ลูกหนี้รอคอย

การกู้ยืมเงิน เพื่อการจัดซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต(บางสิ่งก็ไม่จำเป็น) เช่น ซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ฯลฯ   สมัยนี้เป็นไปได้ง่าย เพราะมีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจที่เสนอบริการเงินด่วน อันแสนง่ายดายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขจูงใจ ทั้งจ่ายเงินคืนขั้นต่ำจากวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ฐานเงินเดือนที่ไม่สูงมาก    จ่ายน้อย ผ่อนนาน ฯลฯ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการใช้จ่ายเงินจาก บัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อหมุนเวียน กันเป็นจำนวนเงินมหาศาล บางคนก็ได้รับความสะดวกสามารถจ่ายคืนได้ปกติ แต่หลายคนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะมีหนี้สินเกินตัวกันไปแล้วปัญหาหนี้สินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากมาย  จนก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ “การติดตามทวงหนี้”   พฤติกรรมของคนที่รับทวงหนี้มีหลากหลาย  ตั้งแต่  ทวงหนี้ทั้งวัน  โทรมาหาเจ้านายประจานหนี้   ข่มขู่ ว่าไม่ชำระจะต้องเข้าคุกเพราะโกงเจ้าหนี้  อ้างว่าเป็นตำรวจจะมาจับหากไม่ใช้หนี้  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง หรือใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาลหลอกลูกหนี้  ฯลฯ  กลวิธีมีหลากหลายมากมาย  โดยเฉพาะการด่า หรือพูดจาหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยาม  เสมือนลูกหนี้ เป็น “อาชญากรของสังคม”ปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้แก่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง แต่ยังคงเป็นเพียงแนวปฏิบัติที่มิได้มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน และไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หรือการรับจ้าง หรือรับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้ให้สินเชื่อดังกล่าว  อีกทั้งข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมการทวงหนี้มิได้ลดลงแต่อย่างใดในปีเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติรับหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดสถานะลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาในเดือนกันยายน 2553 กระทรวงการคลังเสนอ ร่าง ร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าไปใหม่ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างระราชบัญญัติฯ  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงมิได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้พิจารณาและจะนำเสนอ คสช. ให้ความเห็นชอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับแรก  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับนี้แล้ว  โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ (ร่าง) พระราชบัญบัติการทวงถามหนี้ พ.ศ”สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ....1. ขอบเขตการใช้บังคับ- ผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ นิติบุคคลที่รับซื้อ หรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด และบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง- ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้- ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง3. การติดต่อกับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ทำได้เพียงสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้นโดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่น เช่น ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือหรือในสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ ไม่ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการทวงถามหนี้ ดังนี้4.1  วิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ติดต่อในเวลา 9.00น. – 20.00น. แจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากผู้ให้สินเชื่อต่อลูกหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วให้ผู้ทวงถาม ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้4.2 ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น1) ไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้หรือบุคคลอื่น เปิดเผยความเป็นหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึกหรือโทรสาร หรือใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ และทวงถามหนี้ในลักษณะอื่นตามคณะกรรมการประกาศกำหนด2) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการ ทวงถามหนี้โดยแสดงหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้ ทำโดยทนายความ สำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกอายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต3) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้5. การกำกับดูแลผู้ทวงถามหนี้5.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน และเจ้าหน้าที่ สศค. เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันสศค. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ ประสานราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ให้สินเชื่อ ผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใด รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย6. บทกำหนดโทษ6.1 กำหนดแยกระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำผิด ที่ไม่ร้ายแรงให้แยกเป็นโทษทางปกครอง เช่น ติดต่อโดยไม่แจ้งชื่อ ที่มา ติดต่อนอกเวลา เรียกค่าธรรมเนียมเกินอัตรา และกรณีความผิดร้ายแรงให้แยกเป็นโทษอาญา โดยกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินกิจการฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสน6.2 โทษอาญา1) จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกอบธุรกิจโดย ไม่จดทะเบียน เปิดเผยความเป็นหนี้กับบุคคลอื่น ใช้วาจาดูหมื่น เสียดสี จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค)2) จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เชื่อว่าเป็นการกระทำของทนายความ)3) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ)7. บทเฉพาะกาลผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่ก่อนวันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับลูกหนี้คงต้องตั้งตาคอยกันว่า  กฎหมายฉบับนี้จะคลอดเมื่อไร และจะคลอบคลุมพฤติกรรมของคนทวงหนี้ได้จริงหรือไม่  หวังว่า การพิจารณาร่างกฎหมายคงออกมาให้ลูกหนี้ได้ชื่นใจ สมกับคำที่ว่า   คสช. คืนความสุขให้กับคนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เป็น “หนี้” เพราะยกเลิกประกันชีวิต

ยกเลิกประกันชีวิต  แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเป็นหนี้     ฟังแล้วก็งง ไปตามกัน  ลองค่อยๆ ติดตามกันว่าเรื่องมันมีที่มาที่ไปอย่างไรตอนที่ลุงสายันต์ หอบกรมธรรม์ที่ลุงเก็บไว้ในซองจดหมายของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งแต่ปี 2553  มากางให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ดู แล้วก็โวยวายว่า   ลุงเป็นหนี้เพราะถูก บริษัทฯ หลอกให้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อแล้วลุงจะได้เงินคืนทั้งหมด   ลุงอุตส่าห์ไปกู้เงินเพื่อนมาจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนรวมแล้ว หมื่นเจ็ดพันกว่าบาท แต่จ่ายครบแล้วบริษัทฯ กลับเบี้ยวคืนเงินให้ลุงไม่ครบ   ลุงจะไปแจ้งความข้อหาหลอกลวง  เอ้า !  ไปกันใหญ่เสียงลุงดังมาก จนต้องบอกคุณลุงใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คุยกัน หลังจากปล่อยให้ลุงสงบ สติอารมณ์ สักพักเราซักถามลุงจึงรู้ว่าที่ลุงพูดเสียงดังๆ เพราะหูข้างซ้ายพิการไม่ได้ยิน  และนี่เป็นสาเหตุที่ลุงต้องไปขอยกเลิกสัญญากรมธรรม์กับบริษัทฯ  ความพิการทำให้ลุงไม่สามารถทำงานหาเงินส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีกได้  แต่ตอนที่ลุงไปแจ้งบริษัทฯ  มันครบสองปีแล้ว  เจ้าหน้าที่ Call center บอกให้ลุงส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีก 1  ปี เพื่อที่จะได้เงินคืนตามสิทธิ  ลุงคิดคำนวณแล้วว่า หากลุงส่งเบี้ยประกันเพิ่มอีกปี ลุงจะได้เงินคืนประมาณ ห้าหมื่นบาท  ลุงจึงไปกู้เงินเพื่อนมาส่งเบี้ยประกัน    แต่เมื่อครบกำหนด ลุงไปแจ้งยกเลิกกรมธรรม์  บริษัทฯ กลับคืนเงินให้ลุง เพียง 15,400 บาท  บอกว่าลุงมีสิทธิที่จะได้เงินคืนเท่านี้ลุงไม่ยอมจำนนง่ายๆ ไปร้องเรียนที่ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)  เจ้าหน้าที่เรียกบริษัทมาฯ ไกล่เกลี่ย  ทางตัวแทนบริษัทฯ  ก็บอกว่าจะเสนอบริษัทฯ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ลุงอีกสามพันกว่าบาท  ลุงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คปภ.เข้าข้างบริษัทฯ ก็เลยไม่ตกลง  ลุงจึงไปปรึกษาทนายความที่รู้จัก  “เขาบอกว่าลุงฟ้องชนะแน่” ลุงบอกว่าอย่างนั้น ฟังลุงเล่าแล้วซับซ้อนน่าดู    แต่พอมาตรวจสอบจากเอกสาร  เจ้าหน้าที่อย่างเราเลยถึงบาง “อ้อ”  ว่าเงินที่ลุงแกเข้าใจว่าต้องได้คืนนั้น  คือ เบี้ยประกันชีวิตที่ส่งมา 3 ปี ส่วนที่บริษัทฯ บอกว่าแกจะได้เงินตามสิทธินั้น เป็น “มูลค่าเงินสด”  ที่หากผู้เอาประกันบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ภายหลังส่งเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี  จะมีสิทธิได้รับเงินคืน ที่เราเรียกกันว่า “ค่าเวนคืนกรมธรรม์”  ซึ่งจะมีระบุอยู่ในกรมธรรม์ว่า ในแต่ละปีมีมูลค่าเงินสดเท่าไร      เมื่อทราบสาเหตุจึงได้พยายามอธิบายให้ลุงทราบ  ซึ่งกว่าลุงจะเข้าใจเสียงแหบเสียงแห้งไปตามๆ กัน แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้เชิญตัวแทนบริษัทฯ  และลุงเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้  ทนายที่เป็นตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่า (1) ลุงไปบอกเลิกสัญญาก่อนครบ 2  ปีเพียงเดือนเดียว   ดังนั้นเจ้าหน้าที่ Call center เห็นว่าหากยกเลิกก่อนลุงจะเสียสิทธิไม่ได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประมาณเจ็ดพันกว่าบาท  และเหลือเวลาไม่นาน จึงแนะนำให้ลุงส่งต่อ  แต่ไม่แน่ใจว่าขณะอธิบายลุงเข้าใจอย่างไร  (2) เมื่อลุงสายันต์ส่งเบี้ยประกันต่อมาเรื่อยๆ  แต่ลุงไม่ได้แจ้งยกเลิกสักที  บริษัทฯ จึงคิดว่าคงไม่ยกเลิกแล้ว  แต่ลุงมาแจ้งยกเลิกเมื่อครบปีที่ 3  และพอลุงทราบว่าได้เงินไม่ครบตามที่ลุงคิด  ลุงจึงไปร้องที่ คปภ. ตัวแทนบริษัทฯ จึงไปชี้แจงพร้อมทั้งเสนอเงินช่วยเหลือ  แต่ลุงปฏิเสธ  เพราะความเข้าใจผิดหลังจากทุกฝ่ายได้พูดคุยและเข้าใจตรงกันแล้ว  จึงตกลงกันที่ข้อยุติที่ว่า  บริษัทฯ จะคืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในปีที่ 2  และเงินค่าเบี้ยประกันในปีที่ 3  ทั้งหมด  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24,712 บาท  วันที่ลุงมารับเช็คจากบริษัทฯ   ลุงบอกขอบคุณมูลนิธิฯ  มากมายที่ช่วยให้ลุงได้รับเงิน  ลุงจะได้มีเงินไปใช้หนี้เพื่อนที่ยืมมาซักทีข้อคิดจากเรื่องนี้คือ ผู้บริโภคพึงทราบว่า การซื้อประกันชีวิตต่างกับการฝากเงินออมทรัพย์ ตรงที่ว่าฝากเงินเท่าไร ถอนเงินเมื่อไรก็ได้ และจะได้เงินคืนเท่าที่ฝากพร้อมดอกเบี้ย   แต่หากทำประกันชีวิต เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไม่ได้คืน  และหากยกเลิกสัญญาก่อน 2 ปี จะไม่มีมูลค่าเงินสดเพื่อนำมาคำนวณ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เลย  ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดีก่อนทำสัญญาประกันชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่”

เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องปี 2532 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรและคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านการเกษตรให้มาเข้าร่วม “โครงการนิคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในสมัยนั้นว่า “โครงการเกษตรกรยุคใหม่” หรือ “เกษตรกรก้าวหน้า”ครั้งนั้น ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้ด้วยคำโฆษณาและความเชื่อมั่นในความเป็นธนาคารของรัฐ หนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหลายร้อยรายตัดสินใจสมัครสอบเข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 80 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำสัญญาซื้อที่ดินที่ทุ่งดอนโพ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านบางกะโด ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จากบริษัทร่วมโครงการคือบริษัท มีดีเทค จำกัด ในราคา 27.3 ล้านบาท โดยทำสัญญาจำนองกับ ธ.ก.ส. และทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกัน และมีบริษัท นิวเจนเนอร์เรชั่น ฟาร์มโปรดิวส์ จำกัด (เอ็น จี ซี) ทำหน้าที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และมีพนักงานประจำในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคุมการคัดคุณภาพของผลผลิต จัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้บริการเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น รถไถ เครื่องพ่นยา เครื่องรดน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ยกระดับเป็นหมู่บ้าน มีชื่อกลุ่มว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โครงการผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี บริษัทเอกชนก็ละทิ้งโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. ก็มุ่งแต่ติดตามทวงหนี้ ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยวไปตามยถากรรม และต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตร และเพื่อนำไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทมีดีเทคฯ ในราคาร่วม 27.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก จนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขอให้มูลนิธิฯ หาหนทางช่วยเหลือด้วย   ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้     ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี ...พวกเขากลายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท   แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเราได้สอบถามข้อมูล ทราบความเป็นมาเห็นความเป็นจริงทั้งหมด จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การช่วยเหลือด้านคดีความ และการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำปัญหาของตัวเองฟ้องต่อสังคม โดยแนวทางทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรและ ธ.ก.ส.อย่างเป็นธรรมการช่วยเหลือด้านคดีความ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดทนายความเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้คดีโดยชี้ให้ศาลได้เห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมิได้เกิดจากปัญหาของเกษตรกรโดยตรงแต่มาจากการดำเนินโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลเองส่วนการช่วยเหลือเพื่อการฟ้องต่อสังคมนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบในเวลาต่อมาว่ายังมีกลุ่มกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน จึงได้ใช้พลังจากสภาพของสุนัขจนตรอกของชาวบ้านรวบรวมกำลังใจและกำลังคนมารวมตัวที่หน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นางเลิ้ง เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเต็มขั้นคือ(1)ให้ ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด(2)ให้ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด และ(3) ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาและชดใช้ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านจากความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว และได้มารวมตัวกันอีกครั้งที่หน้า ธ.ก.ส. เพื่อฟังคำตอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2551ผลของการดำเนินการในครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทั้งหมด โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ดำเนินการคือการขอให้ศาลชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนและยุติการเรียกเก็บหนี้กับเกษตรกรทั้งต้นและดอกออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายกระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีการประชุมครั้งที่  9/2553 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิจารณาและให้ความเห็นชอบในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ดังนี้(1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย(2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นจากมติบอร์ด ธ.ก.ส. ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรและ ธ.ก.ส. จึงได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2554 เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ปรากฏว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า จนปี 2556 มูลนิธิฯได้มีหนังสือติดตามเรื่องไปอีกครั้ง ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบภายในของ ธ.ก.ส. แล้วว่าตามแนวทางดังกล่าว ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการเองได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้อนกลับไปติดตามเรื่องกับ ธ.ก.ส. ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เคยมีมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยอดหนี้เดิมตกคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทลดเหลือเพียง 130,000 บาท กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนไม่เกิน 9 ปี ใช้หลักประกันจำนองเดิม ส่วนเรื่องงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ ธ.ก.ส.ขอคิดอัตราดอกเบี้ย บวกลบ MRR 3% ซึ่งปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ของยอดหนี้ที่ 130,000 บาทเพื่อให้เกิดสภาพบังคับไว้บ้างกลุ่มเกษตรกรได้พิจารณาเทียบกับระยะเวลาที่ได้หยุดพักชำระหนี้ไปตั้งแต่ปี 2552 จนมีโอกาสฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวแม้จะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่บ้างแต่ก็มีความเหมาะสมแล้วและสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรจำนวนกว่า 90 ครัวเรือนที่เคยตกเป็นทาสหนี้ครัวเรือนละ 1.5-1.6 ล้าน จึงยินยอมตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เองส่วนคนที่เคยถูกฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการถอนฟ้องทั้งหมด แนวทางนี้ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน จนสามารถปลดหนี้ไถ่ถอนที่ดินสร้างความเป็นไทให้กับครอบครัวได้ในเวลาไม่นานวันนี้ฟ้าใหม่เปิดแล้ว เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์กำลังกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าของของพวกเขาอีกไม่นาน หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นสถานที่ผลิตพืชผักผลไม้นานาพรรณ ใครผ่านไปทางนั้นควรไปแวะเยี่ยมชมและซื้อหาผลผลิตได้ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านฝากบอกว่า ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง   แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เป็นหนี้สองแสนเพราะทำสปาแบบไม่ตั้งใจ

ศิริวัลย์ อยากบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากบริการสปา หลังจ่ายเงินไปร่วมสองแสนบาท แต่อ้อยเข้าปากสปาปากแล้ว เอาออกยากยิ่งกว่าปากช้างเสียอีกศิริวัลย์บอกว่าเมื่อเดือนตุลาคมปลายปีที่ผ่านมา ได้สมัครสมาชิกสปาและสถานบริการฟิตเนส สปานั้นเป็นสปาหน้าและตัววงเงิน 20,000 บาท ส่วนสถานบริการฟิตเนสวงเงิน 25,000 บาทเราถามว่า กล้าจ่ายเงินมากขนาดนั้นได้ไง เธอบอกว่า มันเริ่มจากการที่พนักงานขายเชิญชวนและให้เช็คสุขภาพ และได้ทดลองเข้าใช้บริการฟรี 1 ครั้ง พอไปเข้าใช้บริการครั้งแรก พนักงานขายก็พยายามเชิญชวนให้ปรับคอร์สขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเข้ารับบริการพนักงานทำทรีทเมนต์ก็ยังแนะนำเสนอขายเครื่องสำอางอีก 1 ชุด“ทุกครั้งที่รับบริการเสร็จ พนักงานขายและเจ้าหน้าที่ที่พนักงานขายแนะนำว่าเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติบริการจะพูดจาโน้มน้าวให้เราซื้อคอร์สเพิ่มขึ้น จนเราต้องยอมซื้อโดยจ่ายค่าคอร์สวีไอพีเป็นเงินรวม 200,000 บาท เครื่องสำอางอีก 1 ชุด 9,240 บาท รวมจ่ายทั้งสิ้น 209,240 บาท รูดบัตรเครดิตไปทั้งสิ้น 6 ครั้งค่ะ”เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนสมัครคอร์สวีไอพี พนักงานขายแจ้งว่า เป็นสมาชิกโดยไม่มีหมดอายุ สามารถให้ผู้ใดมาใช้บริการด้วยก็ได้ ตอนที่ตกลงทำสัญญาไปก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาสัญญาอย่างละเอียดเนื่องจากมีพนักงานขายถึง 3 คนมาช่วยดำเนินการ นอกจากนั้นยังมีการคืนยอดบัตรเครดิตเข้าออกถึง 2 ครั้งจนสับสนไปหมด“เราไม่มีโอกาสได้อ่านสัญญาอย่างถี่ถ้วน มีเพียงทำเครื่องหมายให้เราเซ็นชื่อ พนักงานขายเพียงพูดว่าเป็นไปตามที่เขาพูด” นอกจากนี้เธอยังเล่าอีกว่า ในวันที่สมัครสมาชิกแล้วและได้ทดลองทำสลิม 2 ครั้ง หลังจากที่ทำครั้งแรกแล้วน้ำหนักลดเพียง 2 ขีด และเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กิโลกรัมก่อนทำในครั้งที่สอง เมื่อทำเสร็จก็ลดลง 2 ขีด เสียเงินสองครั้งนั้นไป 11,000 บาท และยังมาเสียเงินทำสปาอีก 2 ครั้งเป็นเงิน 4,500 บาท เพียงแค่วูบเดียวแทนที่น้ำหนักจะถูกรีด กลับกลายเป็นเงินในกระเป๋าถูกรีดไป 15,500 บาทหลังจากที่ได้สมัครไปแล้ว กลับมานั่งทบทวนสัญญาที่บ้าน พบว่ามีสัญญาบางข้อที่ไม่เป็นไปตามที่พนักงานให้ข้อมูล เช่น ระยะเวลาการเป็นสมาชิกที่บอกว่าเป็นตลอดชีพ แต่ในสัญญาระบุว่า สมาชิกมีอายุคงอยู่ได้ 2 ปี และต้องเข้ารับบริการให้ครบถ้วน การต่ออายุต้องมีการสมัครใช้บริการเพิ่ม 15,000 บาท นอกจากนี้เครื่องสำอางยังมีราคาแพงกว่าสินค้าที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต และไม่มีภาษาไทยหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นที่แสดงถึงความมั่นใจในผลิตภัณฑ์เมื่อมีโอกาสได้ตรวจดูข้อสัญญาและข้อมูลต่างๆแล้ว ทำให้สติกลับคืนมา อยากจะบอกเลิกสัญญา และขอเงินที่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไปร่วม 2 แสนบาทคืน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด“บริษัทฯ ไม่มีนโยบายคืนเงิน” นั่นคือคำตอบที่เธอได้รับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับสัญญาบริการฟิตเนส  คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เป็นประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2554 ระบุถึงสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคไว้ดังนี้ ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นตามที่ได้แจ้งหรือสัญญาไว้กับผู้บริโภค หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิก และพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้นๆที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่อง เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่ผู้ร้องเรียนยกขึ้นมากล่าวอ้างเทียบกับสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคตามประกาศข้างต้น จะเห็นว่าไม่เข้ากันหรือไม่สามารถใช้เป็นเป็นสิทธิบอกเลิกสัญญาตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองได้อย่างไรก็ดี มูลนิธิฯได้ติดต่อไปที่สถานบริการฟิตเนส เพื่อแจ้งถึงความประสงค์ของลูกค้าที่ต้องการขอเลิกสัญญาและขอเงินคืน ได้รับแจ้งกลับมาว่า บริษัทฯไม่มีการคืนเงินให้ลูกค้าทั้งหมด แต่จะคืนเงินให้ 85% หลังหักจากยอดที่ผู้บริโภคได้ใช้บริการไปแล้ว 5 ครั้ง เป็นเงิน 15,500 บาท รวมกับคอร์สที่ผู้บริโภคต้องเข้าใช้บริการเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท โดยบริษัทขอหักค่าดำเนินการ 15% เป็นเงิน 26,061 บาท คงเหลือคืนผู้ร้อง 147,679 บาทศิริวัลย์นั่งคิดคำนวณดูแล้ว ท้ายที่สุดตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทเสนอมา พร้อมทั้งฝากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเตือนผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเสริมความงามหรือสถานบริการออกกำลังกายให้ตรวจสอบราคาค่าบริการให้ดี อ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็น และอย่าสมัครเพราะขัดใจพนักงานขายไม่ได้“หลังจากเข้าไปรับบริการจนครบคอร์สที่เหลืออีก 20,000 บาท ก็คงไม่ซื้อคอร์สเพิ่มแล้ว คงหยุดซื้อโดยเด็ดขาดแล้วค่ะ” ศิริวัลย์กล่าวด้วยความเข็ดขยาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ช่วยทำให้คนไม่คิดก่อหนี้ด้วยนะรัฐบาล

คงต้องยอมรับกันว่าปัจจุบันเรื่องหนี้ๆ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ในระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หนี้นอกระบบ” นั้น มีการกระพือโหมข่าวนี้กันมากในสื่อสารมวลชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์ มีการนำเสนอให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยกันแบบบ้าระห่ำชนิดว่าบ้านนี้เมืองนี้มันไม่มีขื่อมีแปกันเลยทีเดียว รวมถึงวิธีการทวงหนี้แบบมหาโหด ทั้งชกต่อยเตะตี และสุดท้ายของความรุนแรงคือ ถึงกับฆ่าแกงกัน จนทำให้รัฐบาลก้นร้อนนั่งไม่ติดต้องหาวิธีด้วยการหยิบยกปัญหาหนี้นอกระบบ ขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ โดยกระทรวงการคลังแอ่นอกมารับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ให้พ้นทุกข์พ้นร้อนจากวังวนดอกเบี้ยมหาโหดนั้นคือ ให้สถาบันการเงินในระบบเข้ามาช่วยเหลือ โดยให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถกู้เงินไปใช้หนี้ได้และมาเป็นหนี้สถาบันการเงินแทนในราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและระยะเวลาการผ่อนชำระก็ยืดเวลาให้ยาวขึ้น เรียกว่ามาตรการครั้งนี้ น่าจะสามารถช่วยให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากขอบเหวแห่งความทุกข์ร้อนของกระบวนการหนี้นอกระบบได้ เรียกง่ายๆ ว่า หลุดพ้นจากขุมนรกกันเลยทีเดียวก็ว่าได้ผู้เขียนเห็นมาตรการนี้แล้วก็รู้สึกโล่งอกโล่งใจและชื่นใจแทนลูกหนี้เหล่านั้น และนึกขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกระดับแบบได้ใจกันไปเต็มๆ กันเลยล่ะ (นี่ชมนะ ชมจริงๆ) แต่มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสระผมที่ร้านแห่งหนึ่งแถวสมุทรสงคราม พอดีในร้านนั้นมีคนนั่งพูดคุยกันอยู่เรื่องหนี้นอกระบบและการช่วยเหลือของรัฐ ก็เลยนั่งฟังเขาคุยกันจับใจความได้ว่า ดีจังเลยที่รัฐบาลช่วยเหลือในครั้งนี้ธนาคารออมสินก็ดี๊ดีๆให้เรากู้ง่ายมากแค่เรารวมกลุ่มกันไป 3 คน และค้ำประกันกันเองก็กู้ได้แล้ว งวดแรกเขาให้กู้คนละสองหมื่น หากเรามีประวัติดีเขาจะเพิ่มให้เป็นคนละห้าหมื่น แต่ในกลุ่มเราต้องส่งตรงเวลานะอย่าให้เสียประวัติ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เพิ่มวงเงินให้ ตอนนี้เอาไปใช้หนี้นอกระบบได้แล้วโล่งไปเลยดีจัง ผู้เขียนก็เลยถามเขาว่าทำไมถึงต้องกู้นอกระบบล่ะ เขาบอกว่าก็ตอนแรกลงทุนค้าขายมันไม่มีเงินทุนก็เลยต้องกู้เขา ก็คิดว่าจะส่งทันแต่มันขายของไม่ดีการส่งเลยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้เขียนก็พยักหน้าแบบเข้าอกเข้าใจกันแหละ สักพักเขาก็เปลี่ยนเรื่องคุยตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ตั้งใจฟังแต่มาสะดุดตรงที่ เสียงเจ้าของร้านคุยว่า แหม..เมื่อคืนดวงไม่ดีเสียป๊อกเด้งไปสามพัน เดี๋ยวคืนนี้แก้ตัวใหม่ เสียงอีกคน(ที่คุยเรื่องเป็นหนี้นอกระบบ)ก็ตอบมาว่าฉันก็ดวงไม่ดีงวดนี้ตาม 41 ไป 2,000 บาท ไม่กระทบเลย งวดหน้าเอาใหม่ ผู้เขียนฟังแล้วอึ้งทึ่งไปเลย...อะไรเนี่ย เมื่อกี้ยังคุยเรื่องความทุกข์ของการเป็นหนี้อยู่เลย แป๊บเดียวคุยเรื่องการพนันกันและ โอ้ย..ยังงี้เขาจะหลุดพ้นวังวนของการเป็นหนี้ได้อย่างไร หากลูกหนี้เหล่านั้นยังไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกจนได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะช่วยเขาคงไม่ใช่แค่หาแหล่งเงินกู้ให้ใหม่เหมือนที่ทำอยู่ แต่คงต้องมีการฝึกอบรมวินัยการบริหารจัดการเงินรวมถึงวิธีคิดให้เขาด้วย ไม่อย่างนั้นการช่วยเหลือของรัฐคงเป็นได้แค่ไฟไหม้ฟาง สุดท้ายเขาเหล่านั้นก็ต้องกลับไปเป็นลูกหนี้นอกระบบอีกเหมือนเดิม หากจะช่วยเขาจริงคงต้องคิดมากกว่านี้นะ รัด-ทะ-บาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 แก้หนี้นอกระบบ ต้องพบตำรวจดีที่สุด

คุณพรมีอาชีพค้าขาย โดยปกติของคนที่ประกอบอาชีพนี้ซึ่งมีกิจการไม่ใหญ่โตอะไรนักจะไปขอกู้เงินเพื่อลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีการพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบบ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่าดอกมันโหดแสนโหด แต่เพื่อความอยู่รอดก็ต้องยอมคุณพรไปทำสัญญาเงินกู้กับคนรู้จักกัน และก็เป็นปกติของพวกปล่อยกู้ที่จะอ้างว่าผู้หนุนหลังเป็นคนมีสีหรือผู้มีอิทธิพลลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สำหรับเจ้าหนี้รายนี้อ้างว่ามีสามีเป็นตำรวจทางหลวง คุณพรตกลงทำยอดกู้ 30,000 บาท ถูกหักเป็นค่าดำเนินการ 18,000 บาท ได้รับเงินจริง 12,000 บาท ทางผู้ให้กู้ให้ทำสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ผู้กู้ต้องจ่ายเงินคืนรายวันๆ ละ 180 บาท โดยคุณพรได้ชำระมากว่า 7 เดือนแล้ว แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหนี้ต่อมาคุณพรได้ติดต่อกับเจ้าหนี้บอกว่าจะขอคืนเงินต้น 20,000 บาทได้ไหมแล้วปิดบัญชีกัน แต่ทางเจ้าหนี้ไม่ยอมบอกต้องชำระเต็ม 30,000 บาทตามสัญญา ถ้าหากยังไม่ชำระเงินต้นคืนก็ต้องจ่ายดอกรายวันไปจนกว่าจะมีเงินต้น 3 หมื่นบาทมาคืนให้เจ้าหนี้“เมื่อครู่นี้เองค่ะน้อง พี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหนี้รายนี้ เขาบอกว่าจะส่งตำรวจมาเก็บเงินให้เตรียมไว้ ถ้าไม่เคลียร์ต้องมีเรื่องแน่นอน ตอนนี้พี่กับสามีพี่ไม่กล้าอยู่ที่บ้านแต่ห่วงแม่ที่เฝ้าบ้านอยู่ จะทำอย่างไรดีน้อง” คุณพรโทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั้งเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและการข่มขู่ กรรโชก สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือ การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุครั้งแรกที่คุณพรได้รับคำแนะนำ ก็คิดเหมือนกับลูกหนี้นอกระบบโดยทั่วไปว่าเจ้าหนี้มีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องไปแจ้งความกับตำรวจจะได้เรื่องได้ประโยชน์อะไร แต่ท้ายสุดได้ลองทำตามคำแนะนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท กลับพบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวรให้บริการด้วยความประทับใจ ทั้งรับแจ้งความและช่วยสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเจ้าหนี้นอกระบบรายนี้ด้วย ซ้ำยังให้นามบัตรและเบอร์มือถือส่วนตัวให้อีก พร้อมกับแจ้งกับคุณพรว่า ให้ติดต่อได้ทันทีหากเจ้าหนี้ส่งคนไปคุกคามท้ายที่สุดเจ้าหนี้รายนี้เมื่อรู้ว่าจะต้องเจอตำรวจตัวจริงเข้า ก็ยอมที่ยุติเรื่องตกลงเรียกเก็บหนี้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรกเท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันอีกต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจติดคุกได้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีจริง ๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 บทเรียนของพวกหากินกับหนี้เสีย

“ผมสงสัยว่าคดีหนี้ของผมจะขาดอายุความไปแล้ว อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยดูให้หน่อยครับ”บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 6 ตุลาคม 2552 คุณเสน่ห์ เดินเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมสำเนาคำฟ้องคดีผู้บริโภค ที่คุณเสน่ห์ตกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญากู้ยืมเงินที่เอามาจากบริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน)และถูกเรียกให้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 82,000 กว่าบาท แต่ชื่อโจทก์ที่ยื่นฟ้องกลับเป็นชื่อบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด ที่ซื้อหนี้เสียมาจากบริษัทอีซี่บาย“ศาลนัดผมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะแถลงด้วยวาจาว่าคดีของผมนั้นโจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของศาลแนะนำให้ผมเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่า ผมจึงได้ขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาไปอีกสักนัดเพื่อติดต่อหาทนายช่วยเขียนคำให้การเพราะผมไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร ศาลจึงได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ซึ่งครั้งนี้ผมจะต้องมีคำให้การของจำเลยไปยื่นต่อศาลครับ ไม่อย่างนั้นผมถูกพิพากษาให้ต้องชำระหนี้ก้อนนี้แน่”“ถามหน่อยเถอะครับ...ว่าทำไมคุณถึงไม่ชำระหนี้เขาต่อและทำไมคิดว่าคดีนั้นขาดอายุความไปแล้ว?” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนถาม “ผมกู้เงิน 1 แสนบาทจากอีซี่บายมาเมื่อปี 2544 ผมก็ชำระหนี้เรื่อยมาตลอดร่วม 2 ปี เป็นเงินร่วมแสนกว่าบาทแต่หนี้ในบัญชีมันไม่หมดสักที ดอกเบี้ยมันแพงมาก ตอนนั้นก็ลำบากมากเลยต้องหยุดจ่ายหนี้ไป จำได้ว่าผมจ่ายหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 แต่ในคำฟ้องแจ้งว่าผมไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เขามาฟ้องผมวันที่ 8 มิถุนายน 2552 นี่เอง ก่อนหน้านี้ผมได้เคยโทรมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ แล้วทราบว่า สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลอายุความที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องทำกันภายใน 5 ปีใช่ไหมครับ”“ใช่ครับต้องฟ้องร้องกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา แต่ต้องขอดูรายละเอียดในคำฟ้องก่อนนะครับว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร”แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำฟ้องพบข้อมูลที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าหรือลูกหนี้อีซี่บายดังนี้ครับ1. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 บริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการขายบัญชีหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเงินสดให้กับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด โดยมีจำนวนบัญชีลูกหนี้รวมกันทั้งสิ้น 17,170 ราย มูลหนี้รวมกันทั้งสิ้น 471 ล้านบาทเศษ โดยคิดค่าตอบแทนที่บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ จ่ายเพื่อซื้อหนี้เสียจากอีซี่บายก้อนนี้เป็นเงินเพียง 20 ล้านบาทเศษเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.25 ของมูลหนี้ทั้งหมด2. ผลจากการซื้อขายหนี้เสียดังกล่าวทำให้บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับหนี้ทั้งหมดตลอดจนการรับชำระหนี้แทนอีซี่บาย พูดง่ายๆ คือจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 4.25 แต่ได้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แถมดอกเบี้ยอีกต่างหาก3. อัตราดอกเบี้ยที่อีซี่บายทำกับผู้บริโภครายนี้ซึ่งทำในช่วงปี 2544 นั้น จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ 2.0 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 24 บาทต่อปี และยังคิดดอกเบี้ยอีกในอัตราร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 6 ต่อปีอีก จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 30 บาทต่อปี ซึ่งในขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าไปกำกับการเรียกเก็บดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารทั้งหลาย การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย4. สัญญากู้ยืมเงินที่เรียกว่าประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีข้อตกลงว่าผู้บริโภคจะใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเป็นงวดๆ ดังนั้น การฟ้องเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีกำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32(2) ในคำฟ้องระบุว่าฝ่ายผู้บริโภคไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สิทธิเรียกร้องของฝ่ายเจ้าหนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์มาฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เกินกว่า 5 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความครับ คือต้องฟ้องก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามที่กล่าวมาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยคำแนะนำของหัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจึงได้ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการร่างคำให้การจำเลยเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ไปยื่นต่อศาลในวันนัด โดยได้ให้การใน 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและเรื่องคดีขาดอายุความ ซึ่งท้ายสุดศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผู้บริโภครายนี้พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างเนื่องจากอีซี่บายมีการขายหนี้เสียออกไปร่วมสองหมื่นราย และอาจมีหลายรายที่เจ้าหนี้เสียสิทธิในการเรียกร้องแล้วเนื่องจากขาดอายุความ แต่หากลูกหนี้ไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีอย่างถูกต้อง ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ต่อไป ดังนั้นหากใครมีข้อสงสัยในประเด็นนี้รีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ทวงหนี้โหดจาก สนง.กฎหมายของ เอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคม ที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความไว้วางใจในการเลือกใช้บริการ โดยบริการหลายอย่างต้องถือว่ามีคุณภาพมาก แต่ยกเว้นอยู่อย่าง คือมารยาทในการติดตามทวงถามหนี้ของสำนักงานกฎหมายที่ทำงานให้ต้องถือว่าอยู่ในขั้นด้อยพัฒนาเอามากๆคุณธิติวัฒน์ ได้รับหนังสือติดตามทวงถามหนี้ที่เต็มไปด้วยข้อความ ข่มขู่ คุกคาม จากสำนักงานกฎหมายเซนิท ลอว์ จำกัด ซึ่งทำงานทวงหนี้ให้กับเอไอเอสเริ่มจาก การประทับตราแดงด้วยข้อความขนาดใหญ่ “ด่วนที่สุด” และ “เอกสารสำคัญเลขที่......./2552 และขึ้นหัวจดหมาย เรื่อง “ขอให้ชำระหนี้ก่อนบังคับคดี” (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง)สำหรับเนื้อหาในจดหมายทวงหนี้ก็ด้อยพัฒนาเอามากๆ“ตามที่ท่านได้ค้างชำระค่าบริการโทรศัพท์กับบริษัทฯ ทางสำนักงานฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บัญชีรายชื่อของท่านได้ถูกตรวจสอบและพิจารณาให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”เท่านี้ยังไม่พอ ข้อความข่มขู่กดดัน ยังสำรอกออกมาอีกหลายขยอก“ท่านต้องถูกบังคับคดี โดยทางสำนักงานจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยังบ้านที่ท่านมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อทำการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของท่านหรือไม่ก็ตาม...และนำทรัพย์สินที่ยึดได้ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ที่ค้างชำระ”พร้อมกับใส่ข้อความในลงเว็บว่า “(ซึ่งถ้าหากทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของท่าน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ไปร้องขัดทรัพย์ที่ศาล)” ที่หนักหนาสาหัสคือการกำหนดเวลาชำระหนี้ด้วยข้อความว่า “หากท่านต้องการระงับข้อพิพาท ทางสำนักงานให้โอกาสสุดท้ายกับท่าน(ดูเหมือนใจดีมาก) โดยท่านต้องชำระหนี้ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้...”หากคุณธิติวัฒน์เป็นหนี้จริง ก็ต้องกัดฟันทนคำข่มขู่ คุกคาม ดังกล่าว แล้วพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ทันตามเวลาที่ถูกกำหนดมาให้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครทำได้หรอกครับ) แต่ข้อเท็จจริงคือว่า คุณธิติวัฒน์ ไม่เคยเปิดใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกทวงหนี้มา จึงเป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียนมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยจัดการให้แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์จริงหรือไม่ การออกจดหมายทวงหนี้ก็ควรเป็นเพียงการแจ้งยอดหนี้และช่องทางในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่ควรจะมีลักษณะเนื้อหาของการข่มขู่กดดันในลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผู้บริโภคถูกทวงหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ตนเองไม่ได้เปิดใช้บริการ หรือเปิดใช้บริการแต่ค่าโทรศัพท์ไม่ถูกต้องตรงตามที่มีการใช้งานจริง ผู้บริโภคไม่ควรใช้วิธีร้องเรียนผ่านทางคอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้ให้บริการอย่างเดียวครับ ควรทำเป็นหนังสือทักท้วงการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว หากผู้บริโภคไม่ได้เปิดใช้บริการก็ให้ปฏิเสธโดยทันทีว่าตนมิได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่าถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าผู้บริโภคเป็นผู้เปิดใช้บริการหรือได้ใช้บริการโทรศัพท์จริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถมาเรียกเก็บหนี้กับผู้บริโภคได้หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายร้องเรียนไปยังเอไอเอสแล้ว เอไอเอสจึงได้มีหนังสือตอบรับกลับมาโดยทันทีว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลหลักฐานอยู่ และหากไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันว่าคุณธิติวัฒน์เป็นผู้เปิดใช้บริการโทรศัพท์รายเดือนหมายเลขนี้จริงภายใน 60 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนก็ถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บหนี้ส่วนนี้ไปทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >