ฉบับที่ 214 ทวงหนี้โหดร้องเรียนได้แล้วนะ

หลายท่านคงหงุดหงิดรำคาญใจจากการถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายทวงหนี้ (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) ออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีเจ้าหนี้ทวงถามหนี้แบบข่มขู่คุกคาม และมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราเป็นหนี้แล้วถูกทวงถามแบบสุภาพชนถือว่าปกติ แต่ผู้ร้องรายนี้ไม่ได้เป็นหนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่บริษัททวงหนี้โทรมาตามเลย จะทำอย่างไรดี        คุณภูผาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ถูกเจ้าหน้าที่บริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ลูกหนี้ชื่อคุณดวงรัตน์(นามสมมติ) เป็นคนที่คุณภูผาไม่รู้จัก ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งคุณภูผาก็งงว่าทำไมโทรศัพท์มาทวงที่ตนเอง ดวงรัตน์เป็นใครตนเองไม่ได้รู้จักแม้สักนิด การทวงถามนี้คุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่แสดงตนว่าชื่อ-นามสกุลอะไร มาจากบริษัทอะไร เมื่อคุณภูผาขอให้แจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ ทั้งนี้ยังแสดงวาจาไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำหยาบคาบ และข่มขู่คุกคามอีกด้วย คุณภูผาปฏิเสธว่าไม่รู้จักลูกหนี้คนดังกล่าวและตนเองก็ไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตใคร จึงวางสายไป  แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังโทรศัพท์มาทวงถามซ้ำๆ อีกหลายครั้ง จนเหนื่อยใจ คุณภูผาจึงตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาทวงหนี้คือ 02-7912800 จากเว็ปไซด์ www.google.com พบว่าคือเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไอคอน แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการทวงถามหนี้ของธนาคาร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณภูผาได้ทำหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขอให้แก้ไขพฤติกรรมการทวงหนี้ และแสดงความรับผิดชอบโดยมีหนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรให้ นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขอให้ดำเนินการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ เวลาผ่านมาหลายเดือนคุณภูผาไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย จึงปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าควรดำเนินการต่ออย่างไรดีประเด็นนี้การกระทำของบริษัททวงหนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ห้ามข่มขู่คุกคาม บทลงโทษอยู่ในมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ บทลงโทษอยู่ในมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถานีตำรวจนครบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอและสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่        ผู้ร้องอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีหนังสือถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามผลการดำเนินการกรณีคุณภูผา         สถานการณ์ปัจจุบัน จากการที่ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ระดับประเทศ พบว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทวงถามหนี้ค่อนข้างน้อย หรือบางจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียนเลย ทำให้คณะกรรมการฯ ระดับประเทศเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ และบริษัททวงหนี้มีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกบริษัททวงถามหนี้ข่มขู่ คุกคาม และมีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่พบเห็นหรือถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่แนะนำไว้ข้างต้น เพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดกฎหมายถูกลงโทษ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 คนกรุงกับชีวิตหนี้

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนของคนกรุงเทพมหานคร พบ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 77 มีหนี้สิน ร้อยละ 14 ปลอดภาระหนี้ และมีร้อยละ 8.5 ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีหนี้สินหรือไม่ โดยเป็นหนี้เกี่ยวกับการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 37.6 รองลงมาได้แก่ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 28.2 การกู้ยืมเงินจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 18.8 และการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ก่อน ปี 2561 ที่น่าสนใจคือ เหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ พบว่า ร้อยละ 23.6 เป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป แหล่งเงินกู้และภาระหนี้  แหล่งเงินกู้อันดับ 1 คือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 36.4 รองลงมาคือ ไฟแนนช์ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบหนี้คือ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 15.3 ยังต้องใช้บริการของคนปล่อยกู้(หนี้นอกระบบ) โดยร้อยละ 40 เป็นหนี้น้อยกว่า 100,000 บาท ร้อยละ 30 เป็นหนี้ในช่วง 1-5 แสนบาท และร้อยละ 17.4 เป็นหนี้ในช่วง 5 แสน – 1 ล้านบาท        สำหรับสภาพคล่องพบว่า ร้อยละ 53.4 เคยผิดนัดผ่อนชำระ และร้อยละ 34.4 ไม่เคย ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหนี้   คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 จะทราบข้อมูลเรื่องอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 52.3 ทราบว่ามีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้ และเคยถูกทวงถามหนี้ถึงร้อยละ 46.3 ในลักษณะของจดหมายมากที่สุด ร้อยละ 33.5 พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 19.6 คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 15.4 ตามลำดับเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ   คนกรุงที่ตอบแบบสำรวจครั้งนี้ มีร้อยละ 22.8 ที่ก้าวไปถึงขั้นถูกดำเนินคดี แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ไม่ไปถึงขั้นดังกล่าว และเมื่อสอบถามถึงมาตรการที่ทางรัฐดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ ไม่ว่าจะเป็น คลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย, สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง(สินเชื่อพิโก) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(นาโนไฟแนนซ์) ประมาณ ร้อยละ 40 จะทราบว่ามีแหล่งสินเชื่อที่เป็นมาตรการใหม่เหล่านี้ แต่จากทุกข้อที่ทำสำรวจว่าทราบหรือไม่ทราบ หากรวมร้อยละของผู้ที่ตอบว่า ไม่ทราบ กับที่ตอบว่า ไม่แน่ใจ ก็พอจะเห็นภาพรวมได้ว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้าสู่มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ   โดยเฉพาะคลินิกแก้หนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของคุณชูชาติ บุญยงยศ  ในนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 209 พบว่า ไม่มีผู้บริโภคแม้แต่รายเดียวที่ผ่านเกณฑ์อันเข้มงวดซับซ้อนจนสามารถใช้คลินิกแก้หนี้ได้ นาโนไฟแนนซ์ คืออะไร   นาโนไฟแนนซ์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ คือ สินเชื่อเงินกู้สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นทะเบียนการค้า นาโนไฟแนนซ์ จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าสินเชื่อแบบอื่นทั้งนี้ก็เพราะรัฐต้องการสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปประกอบอาชีพ หรือต่อยอดกิจการ หรือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งสุดท้ายเพื่อนำไปสู่การปลดหนี้ได้ในที่สุด โดยลูกค้าแต่ละรายสามารถกู้เงินได้สูงสุด ไม่เกิน 100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี  จุดประสงค์ของโครงการนาโนไฟแนนซ์ คือ ภาครัฐต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันเกือบสิบล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงต้องกู้หนี้มาใช้เพื่อการบริโภค และมูลหนี้ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้กำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” พบว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีจำนวนบัญชีสะสม 112,571 บัญชี เพิ่มขึ้น 32,255 บัญชี หรือ 40% จากไตรมาสที่ 1/2560 ส่วนสินเชื่อสะสมอยู่ที่ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 937 ล้านบาท หรือ 43.7% ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท หรือโต 197% เทียบจากไตรมาสแรกที่มีหนี้เสียสะสมเพียง 37 ล้านบาทเท่านั้น  ซึ่งเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าว่า โครงการนี้อาจจะไปไม่รอดโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,171 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2561

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 211 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

“หนี้นอกระบบ…กับมุม(มอง)ในทางกฎหมาย”ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน เป็นผลให้การจับจ่ายใช้สอยทางการเงินของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การหยิบยืมเงินทองของผู้อื่นจึงเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคมักเลือกใช้ แต่เมื่ออำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทั้งในเชิงผลประโยชน์ และการบีบบังคับให้ผู้กู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ต้องตกลงเข้าทำสัญญาโดยสภาวะจำยอมและจำใจ จึงทำให้ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน คือ “ปัญหาหนี้นอกระบบ” ด้วยความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญของรายได้ และสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้รายได้ที่เข้ามาในครอบครัวไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้สินจึงเป็นโบนัสก้อนโตที่ตามมาโดยที่ผู้กู้นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และแม้ว่ารัฐบาลในยุคหลังๆ จะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวกลับยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างผลกระทบที่กว้างมากขึ้นคำว่า “หนี้นอกระบบ” ถือเป็นการปล่อยเงินกู้รูปแบบหนึ่งโดยเมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมาย จะพบว่ามักเป็นการให้กู้ยืมเงินที่มีการตกลงคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง อาทิ ดอกเบี้ยรายวัน รายเดือน หรือรายปี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอัตราที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น กล่าวคือ กฎหมายกำหนดห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยกันเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ในระหว่างประชาชนทั่วไปด้วยกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบมาตรา 4 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตัวอย่าง นายเอ กู้ยืมเงิน นายบี จำนวน 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน (ร้อยละ 24  ต่อปี) โดยนายเอ ได้ชำระดอกเบี้ยไปให้นายบี แล้วเป็นเงิน 25,000 บาท ภายหลังครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา นายเอ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ นายบี ผู้ให้กู้จึงฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งแต่เดิมนั้นศาลฎีกาได้วางหลักไว้คำพิพากษาหลายฉบับในทำนองเดียวกันว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ เพราะแยกส่วนออกจากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น ผู้ให้กู้จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ในส่วนต้นเงินจำนวน 100,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแม้ดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ผู้กู้ได้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราไปแล้ว จำนวน 25,000 บาท ถือเป็นกรณีที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยโดยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้กู้จึงไม่อาจเรียกคืนได้หรือให้นำมาหักกับต้นเงินที่ผู้กู้ค้างชำระอยู่ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ประกอบ มาตรา 411”    เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นช่องทางที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตราไม่ได้ตามกฎหมายก็จริงอยู่ แต่จำนวนเงินที่ผู้กู้จ่ายมาเพื่อชำระดอกเบี้ยไม่ว่าจำนวนเท่าไร ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้หรือนำมาหักกับต้นเงินก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำเจ้าหนี้นอกระบบยังมีสิทธิได้รับเงินต้นคืนเต็มตามจำนวนเสียอีก จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความไม่เป็นธรรมแก่ตัวผู้กู้ซึ่งมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบจึงไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังส่งผลให้มีจำนวนผู้ให้กู้นอกระบบเพิ่มมากยิ่งขึ้น   สืบเนื่องจากปัญหาที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนั้น  ปัจจุบันศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ซึ่งได้วางแนวบรรทัดฐานในเรื่องของการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เสียใหม่ทำนองเดียวกัน ความว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ แต่การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยไป 25,000 บาท ถือไม่ได้ว่าผู้กู้ชำระหนี้อันเป็นการกระทำตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระหรือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตามมาตรา 407 ประกอบมาตรา 411 เมื่อดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยเอาไว้ ผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย การที่ผู้ให้กู้รับเงินซึ่งเป็นการชำระดอกเบี้ย จำนวน 25,000 บาทไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จึงต้องนำเงินจำนวน 25,000 บาทดังกล่าวที่ผู้กู้ชำระไปหักกับต้นเงินของผู้ให้กู้จำนวน 100,000บาท ผู้กู้จึงเหลือหนี้ที่ต้องชำระ คือ ต้นเงินจำนวน 75,000 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้จนครบถ้วน”   คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวถือเป็นอีกตัวอย่างของการใช้คำพิพากษาที่ให้ความคุ้มครองผู้กู้ซึ่งแต่เดิมมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ให้กู้ ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ทั้งเป็นบรรทัดฐานที่ดีที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบจะต้องกลับมาให้ความสำคัญถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ไม่เกิดความรับผิดในทางอาญาแก่ฝ่ายผู้ให้กู้เองและความเหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะคำว่า “หนี้นอกระบบ” แม้อาจเป็นคำที่ดูน่ารังเกียจสำหรับหลายท่าน แต่ก็ถือเป็นความหวังที่หยิบยื่นให้กับหลายครอบครัวที่มืดดำและไม่เห็นแม้แสงสว่างในชีวิต ได้มีโอกาสกลับมามีความหวังอีกครั้ง แม้ท้ายที่สุดผลของมันอาจจะสวยงามกับลูกหนี้หรือไม่ก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกรณีร้องเรียนอันดับต้นๆ ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ครั้งนี้เราขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการฟ้องคดีหนี้มาเป็นข้อมูลสำหรับลูกหนี้ที่รักทุกท่าน             เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คุณประนอมเกิดภาวะธุรกิจขาดทุน ทำให้การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่งต้องหยุดชะงักลง เป็นจำนวนเงินที่ค้างชำระหนี้ 50,000 บาท และแม้ว่าจะได้เคยมีการเจรจากันไปครั้งหนึ่ง โดยธนาคารเจ้าของบัตรเสนอคุณประนอมให้จ่ายขั้นต่ำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาท แต่คุณประนอมต่อรองเป็น 1,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ยินยอมบอกว่าจำนวน 2,000 บาทนี้ถือว่าต่ำสุดแล้ว เรื่องจึงเป็นอันไม่คืบหน้าไปไหน หนี้ก็ยังเป็นหนี้ต่อไป             ต่อมา ธนาคารได้ส่งข้อความแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องของคุณประนอมให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งไปแล้ว คุณประนอมต้องเจรจาทุกอย่างกับสนง.กฎหมายแห่งนั้นเอง ซึ่ง สนง.กฎหมายแห่งนั้นก็ติดตามทวงหนี้กับคุณประนอม อย่างไม่ประนีประนอมเท่าไร เมื่อปฏิเสธการจ่ายไป  สุดท้ายทาง สน.แห่งนั้น แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องคดีกับคุณประนอม จึงกลายมาเป็นเรื่องปรึกษาที่ว่า “ควรทำอย่างไรดี ขณะนี้ตนเองก็มีภาระบ้านซึ่งติดจำนองอยู่” แนวทางการแก้ไขปัญหา            เมื่อนำข้อมูลของคุณประนอมมาพิจารณาพบว่า การชำระหนี้ล่าสุดของคุณประนอมคือ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี ทำให้เกิดข้อต่อสู้คดีได้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้าย หากเกินกว่า 2 ปี ถือว่าขาดอายุความ            ดังนั้นหาก สนง.กฎหมายซึ่งรับซื้อหนี้จากธนาคารมา จะฟ้องคุณประนอมจริง คุณประนอมจะต้องหาทนายความเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้ในเรื่อง อายุความ หากผู้ร้องไม่ให้การเรื่องนี้ จะถือว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นสมบูรณ์และสามารถชนะคดีจนบังคับคดีได้                กรณีที่หนี้ขาดอายุความ  ลูกหนี้ต้องสู้คดี  ศาลจึงจะสามารถนำมาพิจารณายกฟ้องได้   และหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง    หมายความว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้องอีกไม่ได้ จึงจะไม่มีผลทางบังคับคดีอีก              อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ ทั้งนี้เพื่อรักษาเครดิตไว้ ต่อไปจะได้สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว เมื่อคุณประนอมมีสถานะทางการเงินดีขึ้น ควรขอเจรจาเพื่อปิดหนี้จำนวนนี้โดยต่อรองเพื่อลดหนี้ลงมาให้อยู่ในกำลังที่สามารถทำได้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 “คลินิกแก้หนี้” แก้ได้จริงหรือ?

สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อไม่มากก็น้อยคงทราบดีว่าเรื่องปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต  เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคมายาวนาน เมื่อไม่นานมานี้มีโครงการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผุดไอเดียดูดีชื่อ “คลินิกแก้หนี้” โครงการที่เป็นเสมือนความหวังของลูกหนี้ทุกคน  ฉลาดซื้อจึงพูดคุยกับคุณนกกระจอกเทศ ผู้บริโภคที่มีความชำนาญ ในการให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตมามากกว่า 10 ปี ให้กับผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต จาก Webboard คนยิ้มสู้หนี้ ของเว็ปไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) จะมาเล่าให้เรากระจ่างว่า คลินิกแก้หนี้ จะแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่?จุดเริ่มต้นของโครงการ “คลินิกแก้หนี้” นั้นอ้างอิงจาก ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ต้นปี พ.ศ.2560 ประชากรไทยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 70 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด 21 ล้านคนและในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้อยู่ 3 ล้านคน ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว (หยุดจ่ายแล้ว) จนกลายเป็น”หนี้เสีย” หรือ NPL จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นคนไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีในช่วงเวลานั้น(ต้นปี 2560) ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(หรือที่เรียกกันว่าแบงก์ชาติ) โดน "ด่าจนเละ" ว่าปล่อยให้มีคนไทยที่เป็น "หนี้เสีย"(NPL) หรือที่เรียกกันว่า "ติด Blacklist" อยู่ในเครดิตบูโร มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคนทางแบงก์ชาติไม่คิดจะหาทางทำอะไรบ้างเลยหรือยังไง? พอโดนวิจารณ์มากๆ เข้า ก็เลยต้องคิดทำโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ขึ้นมา โดยการนำเอา "สัญญาประนอมหนี้" หรือ "สัญญาปรับโครงสร้างหนี้" ที่เคยมีอยู่เดิม แต่นำมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่าเป็น "โครงการคลินิกแก้หนี้"...เพื่อลดแรงกดดันจากทั่วสารทิศโครงการตัวนี้ ทางแบงก์ชาติได้เรียกประชุมสถาบันการเงินทั้งหมด ให้มาเข้าร่วมประชุม แล้วขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินทั้งหลายช่วยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตัวนี้ของแบงก์ชาติด้วยขอย้ำว่า...เป็นการขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ หรือที่เรียกกันว่าเป็น "สัญญา MOU" ไม่ใช่ ประกาศ หรือกฎหมายบังคับ  หากสถาบันการเงินใด ที่ยินดีให้ความร่วมมือในโครงการ "คลินิกแก้หนี้" ตัวนี้ ก็ให้ลงนามใน "สัญญา MOU" ดังกล่าว ว่าจะให้ความร่วมมือด้วย...หรือจะมีสถาบันการเงินใด ที่ไม่ประสงค์จะให้ความร่วมมือก็ได้ไม่ได้บังคับทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน ทางแบงก์ชาติยังได้ออกข้อกำหนดมาด้วยว่า หากสถาบันการเงินใด ที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ จะต้องทำการคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ ในระหว่างที่ลูกหนี้ขอผ่อนตามสัญญาตัวนี้ จะคิดดอกเบี้ยได้สูงสุด ไม่เกินกว่า 7% ต่อปี โดยทางแบงก์ชาติ ได้ทำการแต่งตั้งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือมีชื่อย่อว่า SAM ให้เป็นผู้แทนแบงก์ชาติ ในการเจรจาให้สถาบันการเงินที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการตัวนี้ ต้องปฏิบัติตามกฏของการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวดังนั้น หากลูกหนี้คนใด ที่มีความสนใจจะเข้าสมัครในโครงการตัวนี้ ก็สามารถติดต่อกับทาง SAM ได้เลย เพื่อให้ SAM เป็นผู้คัดกรอง และเจรจาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ที่เข้ามาร่วมกับโครงการตัวนี้ โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการตัวนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย ถึงจะสามารถผ่านการเข้าร่วมโครงการได้ โดยมี คุณสมบัติ ดังนี้1. ต้องมีอายุไม่เกินกว่า 60 ปี (หรือห้ามแก่เกินกว่าเกษียณการทำงาน)2. ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเดือนประจำที่มั่นคงแน่นอน3. ต้องเป็นลูกหนี้ที่ติด Blacklist ในเครดิตบูโรมาแล้ว อย่างน้อย 2 สถาบันการเงินขึ้นไป...และจะต้องเป็นผู้ที่ติด Blacklist มานานแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ด้วย4. จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาก่อนเลย...แม้แต่คดีเดียว5. ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการ ต้องเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกเจ้า เข้าร่วมในโครงการให้หมด6. ยอดหนี้รวมทั้งหมด ที่ลูกหนี้จะสามารถเข้าร่วมโครงการตัวนี้ได้ จะต้องไม่เกินกว่า 2 ล้านบาท7. ลูกหนี้สามารถขอผ่อนได้นานไม่เกิน 10 ปี...(แต่เอาเข้าจริงๆ เจ้าหนี้มันก็ยอมให้ลูกหนี้สามารถผ่อนได้นานสูงสุด เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น)มีธนาคารหรือสถาบันการเงินใดที่เข้าร่วมโครงการบ้างผลจากการประชุมขอความร่วมมือของแบงก์ชาติในวันนั้น มีธนาคารที่ตอบรับเข้าร่วมลงนามในสัญญา MOU ของ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ทั้งหมด จำนวน 16 ธนาคาร โดยมีรายชื่อดังนี้ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารซิตี้แบงก์ , ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ,ธนาคารทหารไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารธนชาติ ,ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต ,ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี ,ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (พวก Non-Bank ทั้งหมด) ไม่มีการลงนาม MOU เข้าร่วมกับโครงการนี้เลย...แม้แต่รายเดียว ตอนนี้...โปรดมาสังเกตรายชื่อของธนาคาร 10 รายแรก ให้ดีนะครับ(ขีดเส้นใต้) เพราะมันเป็นรายชื่อของธนาคารที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้ประชาชนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว...ลูกหนี้ต่างคุ้นเคยกันดีแต่ดูรายชื่อของธนาคารอีก 6 ราย ที่ถัดมาสิครับ...เขาเคยทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้กับเราด้วยหรือ? คุณเคยเห็นบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดของธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต , ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี , ธนาคาร แลนด์ แอนด์เฮ้าส์...พวกคุณเคยเห็นด้วยหรือครับ? โดยเฉพาะธนาคารไอซีบีซี มันตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทยกัน?เมื่อ 6 รายนี้ไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดให้กับประชาชนทั่วไป...แล้วแบงก์ชาติไปชักชวนให้เข้ามาร่วมใน “โครงการคลินิกแก้หนี้” นี้ด้วยทำไม มันจะมีประโยชน์อะไรกับลูกหนี้ หรือว่าแบงก์ชาติต้องการเพียงแค่จะอวดว่า มีธนาคารที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ ถึง 16 แห่ง (แม้จะมีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหนี้บัตรต่างๆ จริงเพียงแค่ 10 ธนาคารเท่านั้น) แต่รายสำคัญจริงๆ คือกลุ่ม Non-Bank กลับไม่มีเลยแม้แต่รายเดียวข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ผู้บริโภคควรรู้อย่างที่ผมเกริ่นไปว่าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ตัวนี้ มันเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ...ไม่ได้เป็นกฎหมาย...และไม่ได้บังคับ จะไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีสถาบันการเงินที่เป็น Non-Bank รายใด ที่ลงนามในสัญญา MOU เลยแม้แต่รายเดียว...ขนาดธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ และธนาคารฮ่องกงแบงก์(HSBC) ยังไม่ร่วมลงนามให้ความร่วมมือด้วยเลย  แล้วเท่าที่ผมทราบข้อมูลมา แม้มีลูกหนี้ผู้ถือบัตรต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” แต่ว่าเมื่อสมัครไปแล้ว ยังไม่มีใครสามารถผ่านการอนุมัติได้เลยสักคนทำไมถึงสมัครไม่ผ่าน ลองดูนะครับ เงื่อนไขมันโหดมาก1.ลูกหนี้คนนั้น จะต้องเคยหยุดจ่ายหนี้มาก่อน อย่างน้อยก็ต้องหยุดจ่ายตั้งแต่ 2 ใบขึ้น และได้หยุดจ่ายมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งตัวของลูกหนี้คนนั้น ได้ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560…ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มหยุดจ่าย หรือติดมา Blacklist ภายหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไปแล้ว...จะสมัครไม่ผ่าน2.หากลูกหนี้ที่ต้องการจะสมัครเข้าในโครงการนี้ ในอดีตเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีเงินเดือนประจำ แต่ปัจจุบันตกงาน หรือลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือทำงานฟรีแลนซ์ ไม่มีเอกสารใบรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน มาประกอบแนบกับใบสมัครด้วย...แบบนี้ก็สมัครไม่ผ่าน3.หากปัจจุบันลูกหนี้มีอายุมาก หรือเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว...สมัครไม่ผ่านเช่นกัน4.ลูกหนี้ที่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาแล้ว แม้เพียงคดีเดียว...สมัครไม่ผ่าน5.ลูกหนี้ที่จะสมัครเข้าโครงการตัวนี้ จะต้องถูกบังคับให้เอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียวดังนั้นสมมติว่า ลูกหนี้ที่สนใจจะเข้าสมัคร มีบัตรเครดิตและบัตรกดเงินทั้งหมด 5 ใบ และเคยติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรมาก่อนแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม(ตรงตามเงื่อนไขของข้อ 1.) และต่อให้ยังไม่เคยถูกฟ้องศาลเลยก็ตาม แต่ดันมี 1 ในบัตรที่ลูกหนี้ถืออยู่เป็นบัตรของพวก Non-Bank ต่างๆ เช่น อิออน , ยูเมะพลัส , KTC , เฟิร์สช้อยส์ , บัตรกรุงศรี , พรอมิส , เอมันนี่ , เจมันนี่, กรุงศรีโฮมโปร , เซนทรัลการ์ด ฯลฯ...จะสมัครไม่ผ่าน เพราะพวก Non-Bank ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพราะข้อกำหนดในข้อ 5. บังคับเอาไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องเอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการนี้ให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียว ดังนั้นหากลูกหนี้ดันมีบัตรที่เป็นเจ้าหนี้ประเภท Non-Bank เพียงใบใดใบหนึ่ง ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เลยบทสรุปของ “คลินิกแก้หนี้”สรุปแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ตัวนี้ ทางแบงก์ชาติออกมาตรการมาเป็นเพียงแค่ “ยาหอม” เพื่อลดแรงเสียดทานในช่วงที่โดนกระแสวิจารณ์มากๆ ก็เท่านั้นเองครับว่า  “ตอนนี้มีลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ 3 ล้านราย ( ต้นปี 2560) ทางแบงก์ชาติไม่คิดที่จะทำอะไรบ้างเลยหรือ? “  แบงก์ชาติก็เลยลดกระแสที่ถูกด่าอย่างหนักโดยการหยิบยกเอา“สัญญาประนอมหนี้” หรือ “สัญญาปรับโครงสร้างหนี้” ที่มีอยู่แล้วของเดิม มาทำการปัดฝุ่นใหม่ โดยการเปลี่ยนชื่อให้มันดูไพเราะเพราะพริ้งว่าเป็น“โครงการคลินิกแก้หนี้” โดยมอบหมายให้ SAM เป็นผู้ดำเนินการแทนในการคัดกรองและเจรจา แล้วก็เอาดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อนตามสัญญาคลินิกแก้หนี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยราคาถูกมาก(ไม่เกิน 7% ต่อปี) มาเป็น“ตัวล่อ”ให้ลูกหนี้มีความหวังแบบ ลมๆ แล้งๆ การทำแบบนี้ก็สามารถออกมาอ้างได้ว่า แบงก์ชาติมีการทำโครงการเพื่อลดจำนวนลูกหนี้ที่ติด Blacklist มากถึง 3ล้านคนให้แล้วนะ...แต่พอดูเงื่อนไขที่จะสามารถสมัครให้ผ่านเข้าโครงการฯ ได้ มันโหดมาก ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือความจริงให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย มาจนถึงกรกฎาคม พ.ศ.2561 แล้วนะครับ  ผ่านมาปีกว่าตัวเลขของลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโร ได้พุ่งสูงเกินกว่า 3 ล้านคนไปมากแล้ว ผมอยากทราบจริงๆ ว่า มีลูกหนี้ที่สมัครในโครงการคลินิกของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการอนุมัติสักกี่คนครับ  เพราะฉะนั้นทางออกของลูกหนี้ทั้งหลายคืออะไรถ้าผมเป็นลูกหนี้ ผมคงไม่เสียเวลากับโครงการตัวนี้ ผมจะไปทำงานหารายได้ให้มากๆ เพื่อที่จะเก็บสะสมเงินไว้เอาไป Hair cut กับเจ้าหนี้แต่ละบัตรโดยตรงเองดีกว่าครับ มันคือวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ ในตอนนี้ ต้องการปรึกษา หรือข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามได้ที่ http://debtclub.consumerthai.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 จ่ายหนี้ไม่ไหว ปรับโครงสร้างหนี้ดีไหม

หลายครั้งเมื่อลูกหนี้แสดงทีท่าว่าจะจ่ายหนี้ไม่ไหว แหล่งเงินกู้ต่างๆ มักเสนอการประนอมหนี้ หรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่ลูกหนี้ได้ประโยชน์ แต่อาจทำให้ลูกหนี้ต้องมีหนี้เพิ่ม หรือผูกพันกับหนี้ก้อนใหม่แทนคุณสมพลโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยผ่อนชำระที่เดือนละกว่า 5,000 บาท ต่อมาเกิดปัญหาการเงินภายในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้เขาต้องชำระหนี้ล่าช้าติดต่อกันหลายเดือน ภายหลังทางบัตรเครดิตจึงโทรศัพท์มาเสนอให้เขาเปลี่ยนยอดชำระจากเดือนละ 5,000 บาทเหลือเพียงเดือนละ 1,000 บาทแทน แต่คุณสมพลไม่แน่ใจว่าหากเขายินดีรับข้อเสนอดังกล่าว จะส่งผลต่อยอดหนี้อย่างไรบ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ถือเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยหากเรานำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า แต่ไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 20 % ต่อปี หรือหากมีการกดเงินสดจากบัตรกดเงินสด และชำระไม่ตรงกำหนดก็จะเสียดอกเบี้ยในอัตรา 28 % ต่อปี ซึ่งจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่มีการกดเงินสดออกมาจากบัตร ส่งผลให้ผู้บริโภคหลายคนที่ชำระหนี้เต็มจำนวนไม่ไหว และมักชำระหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 5-10 % ของยอดหนี้ จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น เพราะเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถูกเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ หลายคนจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว แต่อาจลืมไปว่าแม้การประนอมหนี้ จะมีข้อดีคือสามารถปรับตามกำลังหรือความสามารถของเราที่จะชำระหนี้ได้ แต่จะถือเป็นการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมทั้ง เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เบี้ยทวงถาม เบี้ยค่าติดตาม ทั้งหมดมารวมกันและกลายเป็นหนี้ใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้ระยะการชำระหนี้นานขึ้นอีกด้วยศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้หากผู้ร้องหยุดพักชำระหนี้และพยายามเก็บเงินก้อนให้ครบจำนวนยอดหนี้เดิม เพื่อชำระให้หมดภายในครั้งเดียวจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หากผู้บริโภคท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนอย่ายอมจ่ายหนี้ หากเลิกสัญญาแล้ว

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนดกรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตนางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย”  นางนฤมล กล่าวต่อว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณีหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่องดาวน์โหลดตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญา คลิก!ข้อมูลนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เขียนมีความตั้งใจกระตุ้นเตือนและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนที่พึ่งทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจซื้อบริการใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หนี้ไม่หาย แม้ตายไปแล้ว

บางครั้งบางทีชีวิตก็เล่นตลกร้ายให้เราอาจกลายเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เพราะคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วมีภาระหนี้สินทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ ซึ่งเราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณสมชายโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาว่า ลูกสาวของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตไป เป็นหนี้บัตรเครดิตรวมมูลค่ากว่า 400,000 บาท ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าต้องชำระหนี้ดังกล่าวแทนลูกสาวหรือไม่ นอกจากนี้ทางครอบครัวได้รับเงินชดเชยมาจากบริษัทที่เธอเคยทำงานอยู่จำนวน 200,000 บาท จะถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกของลูกสาวหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หนี้ไม่สูญเมื่อเสียชีวิต ซึ่งทายาทต้องเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวแทน โดยหากพบว่า ผู้ตายมีมรดกและมรดกนั้นตกทอดไปถึงทายาทหรือผู้จัดการมรดก เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกนั้นเพื่อให้ชำระหนี้แทนผู้ตายได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ได้รู้ถึงความตาย และทายาทจะต้องชำระหนี้ไม่เกินจำนวนที่ได้รับมรดกนั้น เช่น ได้มรดกมา 200,000 บาท แต่ผู้ตายมีหนี้ถึง 400,000 บาท ทายาทที่ได้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกก็จะต้องชำระหนี้เพียง 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจากกรณีนี้เงินชดเชยที่บริษัทให้มาถือว่าเป็นมรดกของลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งนี้สำหรับกรณีอื่นที่ผู้ตายไม่มีมรดก ทายาทหรือผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินดังกล่าวที่ผู้ตายได้ทำไว้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องมาทายาทหรือผู้จัดการมรดกก็จะต้องไปแถลงต่อศาลว่า ผู้ตายไม่มีมรดกตกทอดแต่อย่างใด ซึ่งหากศาลไต่สวนดูแล้วว่าเป็นตามที่ได้แถลงมาศาลก็จะยกฟ้อง ผู้ที่ไม่ได้รับมรดกก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เมื่อถูกขโมยบัตรเครดิต

แม้บัตรเครดิตสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ได้ หากเราถูกขโมยบัตรไปใช้และโดนทวงหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องทั้ง 2 รายนี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสมหญิง เธอร้องเรียนมาว่าถูกคนร้ายขโมยบัตรเครดิตที่ทำไว้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไปใช้ ซึ่งนำไปรูดซื้อสินค้ารวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่พกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้รูดซื้อสินค้าใดๆ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่ามีใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในประเทศที่เขาได้ไปเที่ยวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายเข้าแจ้งความ และแจ้งไปยังธนาคารของบัตรเครดิตเหล่านั้นภายใน  24 ชม. นับตั้งแต่ทราบว่าถูกขโมยบัตรไปใช้ พร้อมส่งหนังสือปฏิเสธการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วย นอกจากนี้ต้องขอหลักฐานลายมือชื่อในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถส่งพิสูจน์ลายมือได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-1439112 รวมทั้งรูปจากกล้องวงจรปิดของร้านค้าในวันที่มีการซื้อสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสต่างแดน

ขอแชร์เรื่องร้อนข้อมูลมหาศาลจากกิจกรรมออนไลน์ของเราไม่ได้ถูกเก็บในก้อนเมฆอย่างที่เราเรียกกัน จริงๆ แล้วมันอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ อาจเป็นห้องเล็กๆ หรืออาคารขนาด 15 สนามฟุตบอลที่ไหนสักแห่งในโลกนี้ และมันบริโภคร้อยละ 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์ ในอังกฤษระบุว่าการแชะ แชร์ ช้อปและอื่นๆ บนอุปกรณ์สื่อสารของเราจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 300 เท่าอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องรีบทำตัวให้ “เขียว” เช่น Facebook เลือกสร้างศูนย์ข้อมูลไว้ทางตอนเหนือของสวีเดน 70 ไมล์จากวงแหวนอาร์กติกเพื่อลดความร้อนของเซิร์ฟเวอร์ (แต่ก็ยังต้องใช้พัดลมยักษ์ช่วยถึง 500 ตัว) ในขณะที่ค่าย Ericsson ส่งลมร้อนที่เกิดขึ้นไปให้ความอบอุ่นกับผู้คนในเมืองเคอโดนูมี ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ด้าน Google และ Apple เริ่มหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google ที่มีแผนจะใช้พลังงานสะอาดในศูนย์ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทภายในปี 2017ขอคืนด้วยคนเยอรมันรักการดื่มกาแฟไม่แพ้ชาติใดในโลก มีผู้คนถึงร้อยละ 70 ที่นิยมซื้อกาแฟใส่แก้วไปทานนอกร้าน ทำให้สถิติการใช้แก้วกระดาษของเขาอยู่ที่ชั่วโมงละ 320,000 ใบ หรือปีละ 3,000 ล้านใบ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 83,000 ตัน และเนื่องจากเยอรมนีเคร่งครัดเรื่องความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหาร ผู้ผลิตจึงไม่นิยมนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ จึงมีต้นไม้ถูกตัดปีละ 43,000 ต้น สมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเยอรมนีบอกว่าถ้ากาแฟ “ทูโก” จะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ก็ควรมีแก้วกาแฟแบบใช้ซ้ำไว้เป็นทางเลือกบ้าง โปรเจค “ไฟร์บูร์กคัพ” เริ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าจะไปได้สวย ขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านกาแฟเข้าร่วม 56 ราย และมีแก้วกาแฟที่ล้างแล้วใช้ซ้ำได้ถึง 400 ครั้งหมุนเวียนอยู่ในเมือง 15,000 แก้ว (แต่แมคโดนัลด์และสตาร์บัคส์ ไม่ร่วมด้วยเพราะไม่ต้องการใช้แก้วที่ไม่มีสัญลักษณ์แบรนด์ตัวเอง)ผู้ซื้อจ่ายค่ามัดจำแก้ว 1 ยูโร (38 บาท) ไปพร้อมค่ากาแฟ เมื่อดื่มหมดแล้วก็นำแก้วไปขอรับเงินคืนจากสาขาใดก็ได้ของร้านดังกล่าว เจ้าของร้าน Cafe Aspekt บอกว่าขณะนี้ร้อยละ 30 ของลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ “ไฟร์บูร์กคัพ” แล้วแอปหมูๆชาวโฮจิมินห์มีตัวช่วยในการเลือกซื้อเนื้อหมูในตลาดสดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม เป็นมา ผู้บริโภคจะสามารถโหลดแอปจาก www.te-food.com ลงในสมาร์ตโฟนเพื่อใช้สแกนข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ ฟาร์มเลี้ยง โรงฆ่า ไปจนถึงตลาดที่จำหน่าย จากตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดอยู่ที่เนื้อหมูได้ขณะนี้มีฟาร์มประมาณ 1,000 แห่ง โรงฆ่า 11 โรง และตลาดอีก 60 แห่งสนใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมและการค้า การเกษตร การพัฒนาชนบท และเทคโนโลยี งานนี้เขารับประกันว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าถึงเนื้อหมูคุณภาพได้ เพราะตลาดขายส่งสองแห่งที่ร่วมโครงการ(ตลาดบินเตียนและตลาดฮกมน) ก็เป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อหมูถึงร้อยละ 80 แล้วโครงการฉบับเต็มจะเริ่มในเดือนมีนาคมปีหน้า และจะขยายต่อไปยังเนื้อสัตว์ชนิดอื่น รวมถึงผัก และผลไม้ เพราะถึงเวลาแล้วที่เทคโนโลยีต้องช่วยให้เรากินดีอยู่ดีหนี้เหนือระบบแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่หนุ่มสาวชาวจีน เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงเรื่องจำนวนเงิน การค้ำประกัน และดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องพบเจอกัน การหาเงินกู้มันจะสะดวกสบายอะไรปานนั้น แต่มันอาจต้องแลกมาด้วยความอับอาย ในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีรูปนู้ดของสาวๆ จำนวนมากถูกแชร์ออกมาในอินเตอร์เน็ต ผู้หญิงในรูปก็คือบรรดาลูกหนี้ที่ค้างจ่าย และคนที่นำรูปมาเผยแพร่ก็คือเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหดนั่นเอง เจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์ Jiedaibao ซึ่งออกตัวว่าไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงข้อตกลงระหว่างผู้ใช้บริการได้ เจ้าหนี้กลุ่มนี้ (ซึ่งปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาโดยเฉพาะ) เลือกใช้หลักประกันเป็นรูปถ่ายหวิวของลูกหนี้ขณะถือบัตรประจำตัว และลูกหนี้ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงอายุระหว่าง 19 – 23 ปีก็ยินยอมให้เผยแพร่ได้หากชำระเงินไม่ตรงเวลาพร้อมหรือยังเมื่อโดนัลด์ ทรัมพ์บอกว่าเขาจะฟื้นอุตสาหกรรมสิ่งทอในสหรัฐและนำเม็ดเงินกลับมาเข้ากระเป๋าคนอเมริกัน ในการหาเสียงที่กรีนส์โบโร ในอริโซนา(อดีตฐานการผลิตสิ่งทอของสหรัฐฯ) ... หลายฝ่ายเกิดความสงสัยโรงงานผลิตเสื้อผ้าขนาดใหญ่ในอเมริกาปิดกิจการไปหมดแล้วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพราะแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ย้ายไปใช้โรงงานในประเทศจีนกันหมด คนอเมริกันเองก็คุ้นชินและคาดหวังเสื้อผ้าคุณภาพดีราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศกันหมดแล้ว ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 2 ของเสื้อผ้าเท่านั้นที่ผลิตในอเมริกา ร้อยละ 20 นำเข้าจากเม็กซิโก ที่เหลือก็มาจากแถวใกล้ๆ บ้านเรานี่เองแม้แต่แบรนด์เสื้อผ้า IVANKA TRUMP มูลค่า 135 ล้านเหรียญของลูกสาวเขาเองก็ใช้ฐานการผลิตในจีนและเวียดนาม ก่อนจะโน้มน้าวใครให้หันกลับมาสร้างงานให้คนอเมริกัน ทรัมพ์คงต้องคุยกับลูกสาวตัวเองก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การทวงหนี้มีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากขึ้น โดยมีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ แต่เราก็ยังพบว่าการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณยุพาเป็นหนี้บัตรเครดิต อิออน เนื่องจากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมียอดค้างชำระจำนวน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องตกลงกับทางบริษัทว่าจะแบ่งผ่อนชำระ 2 งวด อย่างไรก็ตามภายหลังเธอไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ จึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทรับทราบและขยายเวลาให้เรียบร้อย แต่ไม่นานพนักงานของบริษัทก็มาทวงหนี้ถึงสถานที่ทำงาน ในขณะที่เธอกำลังทำงาน รวมทั้งโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ในเวลางานอีกด้วย ทำให้เธอรู้สึกอับอายและส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาว่าการทวงหนี้ด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทวงหนี้ที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดได้ ทั้งนี้ตาม พรบ. ดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ไว้ ดังนี้1.ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท- เปิดเผยความเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท - ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- แอบอ้างว่าเป็นการทวงถามหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 4. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

เมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตไปแล้ว แต่พบว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่พนักงานขายแจ้งไว้หรือมีการชำรุดบกพร่อง มีวิธีที่ดีกว่าการทำใจยอมรับคือ การปฏิเสธชำระเงินกับบัตรเครดิตนั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจถูกชักชวนให้เข้ารับบริการคอร์สนวดหน้า จากสถาบันเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนแรกเธอได้ปฏิเสธไป เพราะรู้ว่าตนเองเป็นคนผิวแพ้ง่าย แต่พนักงานกลับยืนยันว่าการนวดหน้าดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แน่นอน รวมทั้งตอนนี้จัดโปรโมชั่นให้ทดลองทำฟรีได้ 1 ครั้ง เมื่อถูกชักจูงใจเช่นนี้เธอจึงตกลงสมัครเข้าคอร์สดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้ 10 ครั้ง ในราคา 50,000 บาทและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเข้ารับบริการทดลองนวดหน้าฟรี กลับพบว่ามีอาการคันรอบๆ ใบหน้าและดวงตา จนต้องขอให้พนักงานหยุดให้บริการ และไม่นานก็มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าของเธอ รวมทั้งมีอาการคันมากขึ้น ทำให้ต้องรับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงไม่ต้องการกลับไปใช้บริการที่สถาบันเสริมความงามนั้นอีก เพราะเชื่อว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการนวดหน้า เธอจึงส่งจดหมายไปยังสถาบันเสริมความงาม เพื่อขอยกเลิกสัญญาการเข้ารับบริการ และโทรศัพท์ไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่ได้ชำระเงินไป เพื่อขอระงับการชำระเงิน ซึ่งพนักงานก็แจ้งว่าสามารถทำได้ โดยให้ส่งเอกสารปฏิเสธการชำระเงินมาทางแฟกซ์ แม้เธอจะโล่งใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว แต่กลับพบว่ามีบิลแจ้งยอดให้ชำระเงินค่าคอร์สดังกล่าว และเมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า การยกเลิกสัญญาต้องให้ทางร้านเป็นผู้บอกเลิกเอง อย่างไรก็ตามคุณสมใจก็ไม่ยินยอมชำระค่าบริการดังกล่าว และส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา  เบื้องต้นศูนย์ฯ ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจา ระหว่างผู้ร้องให้เจรจากับสถาบันเสริมความงามดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ทางบริษัทปฏิเสธการคืนเงิน โดยยื่นข้อเสนอให้แทน คือ 1. สามารถโอนย้ายสิทธิให้ผู้อื่นได้ หรือ 2. เปลี่ยนแปลงคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และ 3. หากต้องการยกเลิกคอร์สจะถูกหักเงินร้อยละ 70 ของราคาคอร์ส ตามสัญญาที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอใดๆ เพราะเธอได้บอกเลิกสัญญาการใช้บริการไปแล้ว ด้านบริษัทจึงขอเก็บข้อเสนอผู้ร้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ถัดมาศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังบริษัทบัตรเครดิต เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือบริการ ภายในเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ซึ่งถ้าบริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามจุดประสงค์ ไม่ครบถ้วนหรือชำรุดบกพร่อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทบัตรเครติตยังคงติดตามทวงหนี้อยู่ และที่สุดก็มีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ร้อง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายด้วยการเป็นทนายความให้ และภายหลังศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไป ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ควรทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเลิกสัญญา โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังบริษัทดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างบอกเลิกสัญญา คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2558 ฟ้องไทยพาณิชย์-ธปท. ทวงค่าปรับโดยมิชอบ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อดีตอัยการอาวุโสยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุเรียกค่าปรับทวงถามโดยมิชอบ แถมฟ้องอาญาผู้บริหาร ธปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างป้องกันประชาชนถูกเอาเปรียบ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ต่อศาลแพ่ง และฟ้องผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อศาลอาญา สำหรับสาเหตุที่ยื่นฟ้องว่า สืบเนื่องจากธนาคารได้เปลี่ยนแปลงวงเงินเครดิตและการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังเรียกค่าปรับหรือค่าทวงถามโดยมิชอบไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. จึงฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินคดี บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อให้เพิกถอนประกาศค่าปรับ, ละเมิด, ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งได้เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้อง ธปท. เพราะ ธปท.มีอำนาจหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหลังโดนธนาคารไทยพาณิชย์กระทำอย่างไม่ชอบ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ธปท.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประกาศ ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 กระทั่งล่วงเลยมาจนครบ 60 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ทวงถามถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งต่อ ธปท. ซึ่งได้รับชี้แจงว่าได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้กำชับไปถึงสถาบันการ เงินให้ปฏิบัติต่อลูกค้าตามแนวนโยบายและประกาศที่เกี่ยวข้องส่วนการเรียกค่า ธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ธปท.จะตรวจสอบต่อไปและจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นไปตามหน้าที่ที่ควรกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ ถูกต้องตามประกาศของ ธปท. เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "ผมถูกเรียกเก็บค่าทวงถามเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หลายคนอาจยอมจ่ายให้เรื่องจบเพราะเงินเล็กน้อยมาก ถ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต้องเสียค่าดำเนินการเป็นหลักหมื่นบาท ต้องเสียเวลา แต่ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่อยากให้ธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดง่ายๆ ต่อรอบบัญชี หากมีลูกหนี้บัตรเครดิตถูกเรียกปรับอย่างผมสัก 10,000 คน ธนาคารจะได้รับเงินกินเปล่าถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว ส่วนที่ฟ้องผู้บริหาร ธปท.ด้วยเพราะอยากให้ ธปท.คำนึงถึงหน้าที่กำกับดูแลธนาคารให้ดีอย่าให้มาเอาเปรียบประชาชน" นายประวิทย์กล่าว     คนไทยป่วย ไบโพลาร์ เพิ่ม ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่  กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว   เราอ่านและซื้อหนังสือกันน้อยลงทุกปี ระยะเวลาของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 28 นาที  ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน เหตุเวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย หนังสือฯ จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่าน และซื้อหนังสือของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) พบมีกลุ่มที่อ่านหนังสือเป็นประจำเพียง 40%  ที่เหลือ 20% อ่านบ้าง อีก 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย วัยรุ่นหรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปี  ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเกือบ 4 ชั่วโมง    โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง ระบุอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยเพราะส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน สำหรับการซื้อหนังสือ ดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น  จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี “หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”   โปรดเกล้าฯ แล้ว พ.ร.บ.ทวงหนี้ ฉบับใหม่ "ใช้ความรุนแรง- ข่มขู่- กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียงทรัพย์สิน ลูกหนี้หรือผู้อื่น" แอบอ้างคำสั่ง "ศาล" โทษหนัก จำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับห้าแสน เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวประกอบธุรกิจโดนด้วย ในการทวงถามหนี้ กฎหมายระบุว่า บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงบุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถาม หนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ มีดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้า หนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อ ศาล และในกฎหมายยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้ (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หรือกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือ (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ระวางโทษ จำคุกสูงถึงห้าปี หรือ ปรับสูงสุดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2557 ใช้ “พ.ร.บ.ทวงหนี้” จัดการเจ้าหนี้โหด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ...” เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  พร้อมเสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัจจุบันปัญหาเรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในสังคม โดยวิธีการที่เจ้าหนี้ใช้มีทั้ง การข่มขู่ การใช้วาจาหยาบคาย ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลจากการคุกคามของเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้ต้องกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบเพิ่มอีก บ้างก็ตัดสินใจออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว, ครอบครัวมีปัญหา รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว ซึ่งการมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา พ.ร.บ.ฯ ครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับมีข้อเสนอเพิ่มเติม ทั้งการควบคุมให้สถาบันการเงินที่ปล่อยบัตรสินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่อให้กับลูกหนี้ ห้ามยึดเงินเดือนจากบัญชีธนาคารของลูกหนี้เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย การยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือนเท่านั้น หรือการคิดดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายระบุ ซึ่งนายมนตรีรับปากว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ประกาศใช้ได้ก่อนสิ้นปี 2557 นี้   เครือข่ายผู้บริโภคขอ “พ.ร.บ. ยา” ที่เป็นธรรมกับประชาชน แนะตัดภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการฯ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา  และตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม 15 องค์กร เข้าพบเลขาธิการอย. เพื่อยื่นหนังสือโดยขอให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่าง “พระราชบัญญัติยา พ.ศ.....” ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)  เพื่อให้แก้ไขและบรรจุในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดตามมติดังนี้ 1. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ...... ฉบับประชาชน  เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาระบบยาของประเทศ 2. เสนอให้ตัดผู้แทนจากภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการยาทั้ง 4 ชุด เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สมควรเข้ามากำกับดูแลนโยบาย 3. เสนอให้คงไว้และห้ามตัดออกสาระที่ดีมากใน พ.ร.บ. ยาฉบับกฤษฎีกา คือ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา โดยเฉพาะ โครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตร เพราะมีส่วนในการกำหนดราคายาที่เหมาะสมและเป็นการเข้าถึงยาของประชาชนเมื่อยานั้นหมดสิทธิบัตรลง 4. เสนอให้เพิ่มหมวดการควบคุมราคายา เพื่อป้องกันการกำหนดราคายาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยให้นำสาระจากร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน 5. การจัดการกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยยกระเบียบต่างๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย 6. ต้องไม่ขยายคำจำกัดความของ “ยาปลอม” ไปครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นกลวิธีของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนและทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ   สปสช., สคบ., มพบ. จับมือทำงาน “ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” ซึ่งการเสวนาและระดมความคิดเพื่อยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกันในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผู้บริโภค การแลกเปลี่ยนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศจากประสบการณ์ของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากเวียดนามและอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียนปัญหา แนวทางการพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง การนำเสนองานวิจัยที่เกียวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย มีการจัดการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “What’s next? ความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับประเทศในอนาคต” เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน เรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการคุมครองผู้บริโภค และเรื่องของนวัตกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศปี 2556 โดยผู้ได้รับรางวัลประเภทโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด อันดับที่ 2  โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และอันดับที่ 3  โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง อันดับที่ 2 โรงพยาบาลสนม จังหวัดสุรินทร์ และอันดับที่ 3 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่โรงพยาบาลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลชุมชนได้แก่ โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม   ยกเลิกสัญญาอินเตอร์เน็ตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินจากการขอยกเลิกบริการอินเตอร์เน็ตภายในบ้าน เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าถูกผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด โดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด  757 กรณี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมักอ้างเหตุผลว่า ฟรีค่าติดตั้งและค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่หากผู้ใช้บริการบอกเลิกการใช้บริการก่อนกำหนดจะต้องจ่ายค่าบริการที่เป็นโปรโมชั่นดังกล่าว เหมือนเป็นการผู้มัดผู้ใช้บริการว่าต้องใช้สินค้าของตนแม้จะใช้แล้วรู้สึกไม่พอใจในสินค้าแต่ก็ห้ามยกเลิก หากยกเลิกต้องเสียเงิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง “มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” ซึ่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการคิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตกับผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าวสามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. 1200   นักวิชาการชี้ “ยาอมแก้เจ็บคอ” ไม่ช่วยรักษาอาการ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาอมแก้เจ็บคอที่วางขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั้น พบว่า มีการผสมยาปฏิชีวนะ 2 ประเภท คือ นีโอมัยซิน (Neomycin) และเบซิทราซิน (Bacitracin) ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอให้ตาย แต่กลับเข้าไปรบกวนแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการต่อต้านและกลายพันธุ์เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก ส่วนที่กินแล้วรู้สึกอาการเจ็บคอดีขึ้น เป็นเพราะมียาชา จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งทบทวน และยกเลิกตำรับยาประเภทนี้ เพราะถือเป็นการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การเจ็บคอเนื่องจากหวัดนั้นกว่า 70-90% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะสูตรเดี่ยว หรือยาที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมมาใช้ในการรักษา เพราะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง เช่น 1. ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง 2. ยาอมสมุนไพรฟ้าทลายโจร 3. อมน้ำเกลือกลั้วคอ 4. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 25542 มิถุนายน 2554จ่ายเพิ่มชดเชยอุบัติเหตุรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เตรียมออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาท เป็นสูงสุด 300,000 บาท ทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีผลบังคับใช้กับกรมธรรม์ที่เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป  นอกจากนี้ คปภ. จะจัดทำระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-cliam) เพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เต็มวงเงินคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด พร้อมทั้งจะมีการเร่งจัดทำมาตรฐานราคาอ้างอิงค่าซ่อมรถใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน จากเดิมที่อ้างอิงราคาค่าซ่อมรถกำหนดตามขนาดของรถ จะมีการเปลี่ยนเป็นกำหนดตามรุ่นและยี่ห้อของรถแทน เพราะกระบวนการผลิตรถยนต์มีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยี รถขนาดใกล้เคียงกันอาจมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้รถมากที่สุด----------------------------------------------------------------------------   26 มิถุนายน 2554 “สมุดบันทึกยา” แก้ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน ยา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งถ้าเราต้องเผชิญกับหลายโรครุมเร้า การใช้ยาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามอาการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดหลายประเภทอาจไม่ช่วยรักษาโรคแถมยังกลับกลายเป็นผลร้าย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย “สมุดบันทึกยา” จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ป่วยได้บันทึกการใช้ยาของตัวเอง ป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนหรือยาออกฤทธิ์ตีกันจนกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย   ในงานสัปดาห์เภสัชกรรมประจำปี 2554 ได้มีการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อป้องกันการใช้ยาไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิดและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีโอกาสเกิดความสับสนในการใช้ยาได้ มีข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนั้นสาเหตุมาจากเรื่องการใช้ยา โดยร้อยละ 40 มาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง และร้อยละ 60 มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา   การจดบันทึกข้อมูลการใช้ยา ผู้ป่วยจะบันทึกด้วยตัวเองหรือจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้บันทึกก็ได้ ข้อมูลที่บันทึกจะเป็นประโยชน์มากในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยเองต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้เสียก่อนจึงจะสามารถจดบันทึกได้ เท่ากับได้เรียนรู้เรื่องยาไปด้วย --------------------------------------------------------   27 มิถุนายน 2554สคบ.คุมเข้ม “ฟิตเนส” ไม่ทำตามสัญญาต้องคืนเงิน ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศเรื่อง การให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 นี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกาย อาทิ ธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา  สาระสำคัญและเงื่อนไขที่ต้องระบุในสัญญา ให้ชัดเจน คือ 1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ และการให้บริการอื่นๆ 2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3) ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน  ในกรณีของผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยได้เงินคืนนั้นจะมาจาก 3 กรณี คือ 1)ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น หรือมีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ตามระบุในสัญญา 2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3) ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรือจากอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ชำรุดบกพร่องแต่ไม่มีการแจ้งเตือน --------------------------------------------------------   “หนี้” ปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้กฎหมายจัดการ “หนี้” ปัญหายอดฮิตของผู้บริโภค ทั้งเรื่องดอกเบี้ยสูงเกินจริง และการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมหนี้บัตรเครดิต และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นภาครัฐเร่งออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคด่วน   น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องความไม่เป็นธรรมจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างเดือน 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2554 พบว่า  มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 126 เรื่อง ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาได้แก่ การผิดนัดชำระ, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม, ถูกฟ้องให้ชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การคิดดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงมาก ปัจจุบันเรียกเก็บสูงสุดถึงร้อยละ 28 ขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี เก็บสูงสุดแค่ร้อยละ 16 (2) กรณีการทวงหนี้ในปัจจุบัน แม้ ธปท. มีประกาศชัดเจนเรื่องแนวทางการทวงหนี้ แต่ก็เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษในทางกฎหมาย และ (3) เรื่องการส่งเสริมการขายและการดึงดูดลูกค้าให้มีการเข้าถึงบัตรเครดิตมากขึ้น สุดท้ายก็มักเข้าสู่วังวนเรื่องหนี้ นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธาน ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เสนอแนะให้ภาครัฐ ต้องออกมาตรการควบคุมการเก็บดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม  โดยไม่ควรเกินร้อยละ 15  ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม  เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 2  สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ท่านสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทรศัพท์ 02-2483737 หรือปรึกษาทางเว็บไซต์กับชมรมหนี้บัตรเครดิต debtclub.consumerthai.org -----------------------------------   กด “Like” ถ้าโรงหนังทำให้ปวดใจ ค่าตั๋วแพง – โฆษณาเพียบ เมื่อสังคมบนโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แสดงพลังผู้บริโภคที่ง่ายและรวดเร็ว "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" จึงได้เปิดหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเข้าร่วมขบวนการกันมากมาย ประเด็นนี้ถือเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" ได้ก่อตั้งแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้นก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนที่รู้สึกถูกเอาเปรียบจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง “มัลติเพล็กซ์” โดยเฉพาะโรงหนังในเครือเมเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์นานเกินไป และเรื่องราคาตั๋วที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเปิดตัวแฟนเพจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 54 ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน มีผู้ใช้เฟซบุ้คมากดเป็นเพื่อนมากกว่า 2 หมื่นคน  ปัจจุบันราคาตั๋วชมภาพยนตร์ในโรงมัลติเพล็กซ์มีราคาสูงถึง 140 – 170 บาท ในช่วงวันหยุด ขณะที่วันธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 120 – 150 บาท ส่วนโฆษณาและตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายจริงนั้นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 นาที แม้กระแสบนโลกออนไลน์จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาได้ทันทีทันใด แต่โรงหนังเครือเมเจอร์ก็พยายามหาทางออกด้วยการติดป้ายบอกเวลาการฉายโฆษณาและหนังตัวอย่างให้กับผู้ชม แต่เป็นแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น จำนวนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ จากผู้บริโภคถึงผู้ประกอบการธุรกิจว่า หากผู้บริโภครู้สึกว่ามาเอาเปรียบกันมากเกินไปแล้ว ผู้บริโภคก็พร้อมออกมาทวงถามสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น  ยิ่งในโลกที่สื่อออนไลน์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจโปรดพึงระวัง การตอบโต้กลับจากผู้บริโภคที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >