ฉบับที่ 175 อ้างวัว อ้างควาย เพื่อขายของ

เมื่อกระแสรักสุขภาพกลับมาบูมอีกครั้ง  น้ำคลอโรฟิลล์ที่เลิกฮิตไปนาน  จึงกลับมาผงาดอีกครั้ง  คราวนี้เจาะตลาดคนรักสุขภาพ  เชียร์ให้พกเป็นขวดไว้ดื่มหลังออกกำลังกาย  มีทั้งชนิดผงละลายน้ำ  ชนิดเป็นของเหลวเข้มข้น  อ้างว่าเป็นคลอโรฟิลล์ บริสุทธิ์100% ให้ผู้ซื้อนำไปผสมกับน้ำ โดยใช้เพียง 1 มิลลิลิตรผสมกับน้ำ 1.5 ลิตร ดื่มก่อนเข้านอน และตอนตื่นนอนด้วยตัวเองขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ดันอยากจะโฆษณาจนตัวสั่นว่ารักษาโรคได้ แต่ก็เกรงว่าจะโดนจับ ก็เลยอ้อมๆ แอ้มๆ กระมิดกระเมี้ยนเลี่ยงว่า “คลอโรฟิลล์ไม่ใช่ยานะ ตัวเราเป็นสารอาหารที่ได้จากใบไม้” แล้วอ้างต่อไปว่า “คลอโรฟิลล์เป็นสารอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด  ลองดูซิ ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์เหล่านี้กินหญ้ากับน้ำเท่านั้น ทำไมมันตัวใหญ่ แข็งแรงกล้ามเนื้อเป็นมัด เพราะหญ้าที่มันกิน คือคลอโรฟิลล์นั่นเอง” ที่เด็ดกว่านั้น ดันบอกอีกว่า “เคยเห็นหมาเห็นแมวกินหญ้าบ้างไหม เวลาหมาแมวมันป่วยมันถึงจะกินหญ้า เพื่อให้มันอาเจียนออกมา นั่นแหละ มันกินหญ้าเพื่อขับสารพิษออกมา และที่สำคัญ ในหญ้าก็มีคลอโรฟิลล์นั่นไง” ผมเห็นโฆษณาแบบนี้ก็ได้แต่อนาถใจ จะหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่ดันใช้วิธี อ้างช้างม้าวัวควาย หมาๆ แมวๆไปเรื่อย ผมคิดว่าคงไม่มีใครหลงเชื่อ  ที่ไหนได้ มันดันเล่นแฝงอวดอ้างสรรพคุณต่ออีก คราวนี้มาเป็นชุด เช่น “คนเลือดจางเลือดน้อยไม่ต้องกลัว ดื่มคลอโรฟิลล์แล้วมันจะเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดได้ทันที ถ้าเวียนหัวเมื่อเริ่มดื่มใหม่ๆไม่ต้องตกใจ มันคืออาการที่คลอโรฟิลล์กำลังไปสร้างกระดูก ส่วนคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต เลือดข้น เนื่องจากมีสารเคมีจากยาของโรงพยาบาลที่ได้รับมานาน ให้ดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ขจัดไขมัน ขจัดน้ำตาล ขับพิษสารเคมีออกจากร่างกาย” ยังไม่หมด ยังอ้างไปถึงผลการรักษา อัมพฤกษ์ อัมพาต เกาต์ ไทรอยด์ ไซนัส สะเก็ดเงิน ต้อเนื้อ ต้อลม ฯลฯ จนหลายคนหลงเชื่อ บางคนเอาไปให้ทารกดื่มแทนนมแม่อีกด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเคยออกมาเตือนประชาชนว่า อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคำโฆษณาเชิญชวนที่เกินจริงเหล่านี้เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าได้ผลจริง  เคยมีการวิจัยพบว่าการบริโภคคลอโรฟิลล์อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน ลิ้นเปลี่ยนสีเป็นเหลืองหรือดำ และยังทำให้สีของปัสสาวะและอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ หากรับประทานมากเกินวันละ 450 มิลลิกรัม ก็อาจจะทำให้ไตทำงานหนักและส่งผลระยะยาวในอนาคตได้ หนำซ้ำกุมารแพทย์ยังออกมาเตือนสำทับอีกว่า “โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ที่อวัยวะภายในยังทำงานไม่เต็มที่ ห้ามกินเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้”ผู้ประกอบการรายใดที่โฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครพบเห็น รีบสะกิดเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลยครับ อย่าปล่อยให้โฆษณาหลอกลวง ล้วงเงินจากกระเป๋าแถมเอาเราสุขภาพไปเสี่ยงอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สบู่มีไว้ถู หนูหนูอย่าถูกหลอก

หน่วยงานของผมเพิ่งจัดกิจกรรม อย.น้อย ปีนี้เราเน้นประเด็น “เชื่อมโยงเครือข่าย เตือนภัยสุขภาพ” เมื่องานเลิก อาจารย์ท่านหนึ่งเดินมาหาผม เปิดภาพจากสมาร์ทโฟนพร้อมให้ข้อมูลว่า “เดี๋ยวนี้เด็กๆ เขานิยมใช้สบู่ชนิดนี้ ซื้อทางเน็ตมาใช้กันมาก เห็นเด็กๆ บอกว่าใช้แล้วขาวจริงๆ” ผมตามไปค้นข้อมูลต่อในอินเตอร์เน็ต พบโฆษณาสบู่ชนิดนี้ (ซึ่งตั้งชื่อให้คล้ายผงซักฟอก โอโม่พลัส) ราคาก้อนละ 50 บาท ในภาพระบุข้อความว่า “ฟอกผิวขาวเนียนใส ขาวทะลุมิติ เป็นสบู่ 5 สี จาก ทับทิม (ผิวขาวใส ลดรอย)  องุ่น (คอลลาเจน ผิวเต่งตึง กระชับ) เลมอน กีวี่ (ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดสิว) สับปะรด วิตามินซี (ผลัดเซลล์ผิว ขาวกระจ่างใส) และกลูต้าน้ำนม (ผิวขาวเนียนนุ่ม) ฟอกให้ทั่วตัว ทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วล้างออก ใช้เป็นประจำ เช้า-เย็น” ผมพยายามเอาหลักวิชาการมาตรวจสอบว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ถูสบู่แล้วผิวจะขาววอกอย่างที่โฆษณา แต่ยังไม่ทันไร ก็ดันไปพบโฆษณาสบู่อีกชนิดหนึ่ง“สบู่เซลลูไลท์ ลดไขมันส่วนเกิน ลดหน้าท้องเร่งด่วน ลดพุง ลดหุ่น ลดพุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรธรรมชาติ ช่วยสลายไขมัน บริเวณใต้ผิวหนัง  ปัญหาผิวเปลือกส้ม และยังช่วยกระชับสัดส่วน มีวิตามินอีเพิ่มความกระชับของผิว ลดเซลลูไลท์ได้ดีเมื่อใช้เป็นประจำและต่อเนื่อง เห็นผลแน่อน” โฆษณายังอ้างว่า สบู่ของตนเองผลิตจากสาหร่ายในทะเลน้ำลึก ผสมน้ำแร่ และพริกไทย ประสิทธิภาพล้ำหน้าด้วยเนื้อสบู่นาโน  ซึ่งจะเข้าแทรกซึมเพื่อขจัดไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวให้มีขนาดเล็กลง ทำให้ชั้นผิวภายในเรียบเสมอกัน สาหร่ายจากทะเลลึกมีส่วนช่วยในการจับไขมัน และพริกไทยจะออกฤทธิ์ช่วยเผาผลาญได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เกิดอาการแสบร้อนใดๆ สามารถแทรกซึมลงสู่ชั้นใต้ผิวหนังได้อย่างรวดเร็วขณะฟอก ตรงเข้าทำงานในการช่วย เผาผลาญและสลายไขมัน เซลล์ลูไลท์ ที่สะสมมานานให้สลายตัวได้อย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้ไขมันมีการแตกตัวและกระจายตัวได้ดี โดยเฉพาะ หน้าท้อง จะเห็นผลได้ดีที่สุด ใช้ขณะอาบน้ำ ควรถูนวด วนๆ บริเวณที่ต้องการ ทิ้งไว้ 2 นาที แล้วจึงล้างออก (เอาล่ะซิ ทั้งสาหร่าย ทั้งพริกไทย และยังนาโนอีกเอากันเข้าไป แล้วยังบรรยายกลไกการทำงานแบบอ่านแล้วยังตะลึง) อันที่จริง เครื่องสำอางตามกฎหมาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม ไม่สามารถอ้างว่า วินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ต้องมาแจ้งเพื่อขออนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากด้วย โดยเลขที่ใบรับแจ้ง จะประกอบด้วยตัวเลข 10 หลัก แต่ไอ้เจ้าสบู่ทั้งสองชนิดนี้ ตัวมันเองเป็นเครื่องสำอางแน่นอน แต่ดันแอบมาอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะเป็นยา ผมพยายามเพ่งบนฉลากในรูปก็ไม่เห็นเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากแต่อย่างใด ซึ่งถ้าไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด สบู่ทั้งสองชนิดนี้น่าจะผิดกฎหมายแน่นอน ผลิตภัณฑ์สุขภาพสมัยนี้ มันมีขายมากมายยังกับดอกเห็ด หากเราเชื่อมเครือข่ายผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดเครือข่ายที่จะเป็นหูเป็นตา ช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ดังเช่น เครือข่าย คุณครูและ อย.น้อย ที่มาแจ้งข้อมูลเรื่องสบู่ให้ผมทราบไงครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ชุดอุปกรณ์นั่งๆ นอนๆ ทับเงินทับทอง

ชุดอุปกรณ์มหัศจรรย์เสียเงินเสียทองแห่งชาติชุดนี้ พบจากบ้านผู้ป่วยรายหนึ่งในอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ป่วยรายนี้หมดเงินไปแสนกว่าบาท กว่าจะได้อุปกรณ์ชุดนี้มารนั่งๆ นอนๆ ทับมัน ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกตนได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์สุขภาพสุขภาพวีเก็น  ซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง หลังจากสมัครสมาชิกแล้ว ตนก็ได้สิทธิเข้าไปใช้บริการกับอุปกรณ์เหล่านี้ หลังจากรับบริการไป 2-3 ครั้ง ทางศูนย์ฯ ก็จะแนะนำให้ตนซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ไว้ใช้ที่บ้านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมามารอคิวรับบริการ อุปกรณ์ที่ผู้ป่วยรายนี้ซื้อมามี 2 – 3 ชิ้น ราคาแสนกว่าบาท อุปกรณ์ชิ้นแรก เรียกว่าเก้าอี้แร่ ราคาประมาณ 20,000 กว่าบาท ลักษณะจะคล้ายๆ เก้าอี้นั่ง  มีรูปตรงกลาง ขนาดประมาณฝ่ามือ ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าพอเสียบปลั๊กเก้าอี้ก็จะเริ่มสั่น พร้อมทั้งมีไอร้อนพวยพุ่งออกมาสัมผัสกับก้นน้อยๆ ของผู้นั่ง สามารถปรับระดับอุณหภูมิที่ความร้อนจะสัมผัสก้นได้ถึง 5 ระดับ ตามความทนทานของก้น (ฮา)   ผู้ขายบอกว่าอย่าตกใจ  มันคือไอของแร่ธาตุที่กำลังพวยพุ่งออกมาเพื่อรักษาอาการป่วย (เหมือนรังสีเฮ้ากวงทะลวงก้นชอบกล) นอกจากนี้สามารถปรับระดับความแรงของการสั่นได้ 3  ระดับและตั้งเวลาได้ 3 ช่วงตั้งแต่ 10  -  20  หรือ 30 นาที   ผู้ป่วยรายนี้บอกว่าเมื่อตนนั่งครั้งแรกรู้สึกเวียนศีรษะมาก เพราะเก้าอี้จะสั่นตลอดเวลาและเมื่อนั่งไปสักพักก็จะเริ่มรู้สึกร้อนก้น  ผู้ขายอธิบายว่า การที่เครื่องสั่น มันจะสะเทือนไปถึงเลือดในเส้นเลือดของผู้นั่งไปด้วย เสมือนเป็นการฟอกเลือด  นอกจากนี้ยังสามารถรักษาได้ทั้ง เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวารหนัก  (อ้างว่าไอร้อนของแร่จะทำให้หัวของริดสีดวงแห้งและฝ่อไป) รักษาต่อมลูกหมากโต ป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูก  แก้ปวด แนะนำให้นั่งนานมากที่สุดไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง อุปกรณ์ชิ้นที่สองคือเตียงนวด ราคาประมาณ 103,000 บาท (ขอย้ำอีกครั้งว่าว่าแสนกว่าบาท)  เป็นเตียงต่อกับไฟฟ้า โฆษณาว่ารักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว หมอนรองกระดูกทับเส้น และอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือ แผ่นประคบแร่ธาตุ โฆษณาว่าคลายเส้น แก้ปวด ราคา 30,000 บาท ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอนุญาตให้โฆษณาอย่างนี้ ใครเจอก็แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปตรวจสอบให้หายสั่นซะทีนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กะเพรา มีดีมากกว่า เมนูสิ้นคิด !

กองบอ.กอ. ฉลาดซื้อเปรยว่า ไม่เอากล้วยต่อจากฉบับที่แล้วได้ไหม ? คนหัวอ่อนเชื่อง่ายใครว่าอะไรชอบทำตาม จึงขออนุญาตผู้อ่านที่เคยรับปากว่าจะต่อเรื่องกล้วย ให้เว้นวรรคไปฉบับหน้า ก.กล้วยไม่เอา ขอเป็น ก.กะเพรา พืชสวนครัวแทนนะขอรับ กะเพรา มีชื่อเรียกทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า Holy basil หรือ Sacred Basil แปลแบบไทยๆ ก็ “พืชศักดิ์สิทธิ์” เลยทีเดียว ใครตั้งชื่อไม่รู้แต่ที่ประเทศอินเดียเขาถือว่า กะเพราคือพืชที่ใช้ในการบูชาเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ใครเคยไปจะแปลกใจอย่างยิ่งที่ตลาดสดและทางเข้าวัดฮินดูจะมีกะเพราะมัดเป็นช่อให้คนนำไปบูชา พี่แขกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าแปลงกายมาเป็นกะเพรา จึงเป็นพืชที่ใช้ปัดเป่าความชั่วและเคราะห์ร้ายต่างๆ บ้างบ้านถึงกับปลูกกะเพราไว้ในบริเวณบ้านหรือปลูกในกระถางนำมาบูชา และนำมาใช้เป็นยาบำบัดโรคและอาการต่างๆ มากมาย แต่ควรจำไว้ให้ดีถ้าไปเยือนแดนภาระตะ ห้ามไปผัดกะเพรากินเด็ดขาด พี่แขกเขาบูชาและไม่มีวัฒนธรรมหม่ำผัดกะเพรา(นะนาย) เคยมีคนไทยไปอยู่แล้วคิดถึงรสชาติอาหารไทยมาก เห็นปลูกกะเพราะเต็มบ้านเลยเด็ดมาผัดกะเพราะไข่ดาว งานเข้า..... พี่แขกเคืองว่าไม้ศักดิ์สิทธิ์ของไอทำไมยูฟาดซะเรียบ !   กะเพราดีอย่างไร ? กล่าวตามหลักทฤษฎีรสยา กะเพรามีรส เผ็ด ฉุน และขม (ลองเคี้ยวใบกะเพราสดๆพิสูจน์ดูได้) รสยาแบบนี้หมอแผนไทยท่านใช้แก้โรคและอาการได้หลายอย่าง คือ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไข้ได้โดยเฉพาะไข้หนาวๆ เพราะกินกะเพราแล้วช่วยทำให้ร่างกายร้อนขึ้น แก้อาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับเตรียมความพร้อมรับภัย ตรงที่ปลูกผักสวนครัวไว้ในกระถาง หากหนีน้ำก็เอากะเพราขึ้นไปชั้นสองด้วย ยามที่ปวดท้อง มีลมในท้อง ระบบธาตุ(กระเพาะลำไส้)ไม่ปกติ ให้กินกะเพราช่วยบรรเทาอาการได้ดี วิธีง่ายที่สุดกินสด เด็ดใบ 8-10 ใบ ล้างน้ำเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนกินไปเลย ดื่มน้ำตาม ถ้าทนรสเผ็ดไม่ไหวตำคั้นเอาน้ำกิน ใบสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาแต่น้ำ ได้น้ำยาประมาณ ๒ ช้อนแกง ดื่มรวดเดียวซี๊ดปากกับรสชาติ ถ้าเลือกแบบมีระดับไม่เผ็ดมาก ให้ชงน้ำกิน เป็นการเก็บตัวยาไว้ใช้ในยามจำเป็น เอาใบไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผง เก็บใส่โหลดปิดสนิท ยามที่ต้องใช้ ผงยา 1-2 ช้อนชา ชงน้ำร้อนแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 15 นาที จิบกินทั้งน้ำยาและผงยาให้หมด หรือชอบสดใช้ใบสด 10-15 ใบ ใส่แก้วชงน้ำร้อน ปิดฝาทิ้งไว้ 15 นาที แล้วนำมาจิบกินได้ฤทธิ์ยาเช่นกัน ถ้าบังเอิญเด็กเล็กปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ ลองเอาใบสดหลายๆ ใบมาขยี้ในฝ่ามือทั้งสองข้าง จะได้น้ำยาสีดำๆ เอายานี้ไปทาที่ท้องเด็กยกเว้นสะดือ และทาที่ฝ่ามือฝ่าเท้าน้อยๆ บางครั้งเอาน้ำยากะเพราะผสมน้ำผึ้งให้เด็กกินก็ได้ แต่ขอบอกว่าวิธีทาท้องนี้ ใช้กับพี่ๆ ผู้ใหญ่ไม่เวิร์คนะ เพราะบรรดาพุงไขมันและผิวหนังของพี่ๆ หนาเกินกว่าตัวยาจะแทรกซึมไปได้ และการศึกษาวิจัยใหม่ๆ พบว่ากะเพรามีน้ำมันหอมระเหย ที่ทำให้เราได้กลิ่นฉุนๆ นั้น มีคุณสมบัติทางยาหลายประการ เช่น พบว่าแก้หืด แก้อักเสบ มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยลดโคเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด และมีสารที่กินแล้วต้านความเครียดหรือช่วยให้คลายเครียดได้ ใครกำลังเครียด เมนูมื้อต่อไปขออย่าได้ดูแคลนพืชศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอให้ลองสั่งผัดกะเพราใส่เนื้อสัตว์น้อยๆ และขอเพิ่มกะเพราะเยอะๆ ราดข้าวกิน อร่อย ได้ยาดี ไม่ใช่เมนูสิ้นคิดแน่นอน.   แมงลัก Hairy basil โหราพา Sweet basil

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ก.เอ๋ย ก.กระเทียม

  มิตรผู้ติดตามนิตยสารไร้สปอนเซอร์โฆษณาหนึ่งเดียวของสยามประเทศ ย่อมเคยพบกับคอลัมน์ “ทำเองใช้เอง” มาบ้างแล้ว คราวนี้กลับมาใหม่เพราะแพ้ใจให้กับ บก.สาว “ฉลาดซื้อ” ที่ปรารถนาให้ผู้อ่านได้ตระเตรียมตัวและสิ่งรอบตัวให้พร้อมเสมอเมื่อเจอภัย โดยเฉพาะภัยน้ำที่ยังหลอกหลอนจิตใจคนหลายล้านคนในปีกลายที่ผ่านมา เพราะพอมีความรู้เรื่องสมุนไพรและการดูแลสุขภาพแนวพึ่งตนเองอยู่บ้าง บก.สาว(ตัวใหญ่)จึงอยากให้มาเล่าเรื่องทำนองนี้แบบสบายๆ แต่ขอให้ทำได้จริงคล้ายของเดิม “ทำเองใช้เอง” ที่ผ่านมา จึงตั้งใจไล่เรียงกันแบบท่องอักษรไทย ๔๔ ตัว ไม่รู้ว่าทั้งผู้อ่านและ บก.สาวจะเบื่อกันไปหรือเปล่า ดังนั้นเสียงสะท้อนจากผู้อ่านจึงมีความสำคัญมาก ขอขอบคุณข้อแนะนำจากท่านไว้ที่นี้ มาดูกันว่า ทำไมจึงแนะนำให้รู้จัก กระเทียม เหตุผลแรกบ้านเรือนไทยส่วนใหญ่ แม้อยู่คอนโด(น้ำท่วมไม่ถึง) แต่บ้านใดนิยมทำอาหารกินเองจะต้องมีกระเทียมประจำครัว เหตุที่สองกระเทียมที่ยังอยู่เป็นพวง หรือแม่ค้าแกะเป็นกลีบแล้วสามารถเก็บได้นาน ภัยมาเมื่อใดหยิบใช้ได้ทันกาล กระเทียมนับเป็นยอดสมุนไพรในครัวเรือน ประโยชน์อย่างแรกใช้แก้โรคผิวหนัง นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้วิจัยยอมรับตามภูมิปัญญาโบราณแล้วว่า มีฤทธิ์พิชิตเชื้อราได้ โดยเฉพาะเชื้อราที่มากวนใจและกวนกายของเราตามผิวหนัง เช่น กลาก แกลื้อน และเชื้อราตามนิ้วมือนิ้วเท้า เชื้อรามาจู่โจมเมื่อใดให้เอากระเทียมมาโขลกคั้นเอาน้ำทาเท่านั้น ให้ทาอย่างน้อยวันละ ๒-๓ ครั้ง บางคนไม่รอครกตำ แค่แกะเปลือกออกเอากระเทียมสดทาๆ ที่เป็น น้ำมันในกระเทียมคือโอสถกำจัดเชื้อราได้อย่างดี นอกจากราที่ผิวหนังแล้ว เด็กๆ ที่ไปตัดผมกับร้านที่ไม่ค่อยดูแลเรื่องความสะอาด ก็มักเป็น “ขี้กลาก”บนหนังศีรษะ หรือที่อับชื้นในร่มผ้าจนเป็น “สังคัง” ดังที่เคยเป็นข่าวว่าเหล่าทหารมายืนแช่น้ำหรืออยู่ในชุดเปียกชื้นทั้งวันเป็นสัปดาห์ อาจเกิดเชื้อราในขาหนีบหรืออัณฑะ บอกกันดังๆ ว่า ยาดีไม่ใช่อื่นไกล ก.กระเทียม คือทหารสมุนไพรเผด็จศึกราได้ มีข้อความรู้นิดเดียวว่า บางคนไม่ชอบกลิ่นกระเทียม และบางคนทาแล้วรู้สึกแสบๆ (ในช่วงแรกเท่านั้น ทิ้งไว้สักพักจะหาแสบเอง) กระเทียมยังเป็นยาอายุวัฒนะที่คนโบราณใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อบำรุงสุขภาพหรือบำรุงกำลัง ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า กระเทียมมีสรรพคุณในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ จึงช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และยังมีผู้ใช้เป็นอาหารลดความดันโลหิตสูงที่คนไทยเป็นกันมากด้วย โดยเฉพาะยามอยู่ในภาวะวิกฤติไม่ว่าจะภัยธรรมชติหรือเครียดจากงาน ความดันมักจะขึ้นสูง มีสูตรกินข้าวกับกระเทียมสดๆ เป็นทั้งยาอายุวัฒนะและช่วยลดความดันฯ  ให้สอยกระเทียมสดให้ละเอียด กินครั้งละประมาณครึ่งช้อนชา แต่จำไว้ต้องกินพร้อมอาหาร  ไม่เช่นนั้นจะทำให้แสบท้อง กินวิธีนี้ยังช่วยแก้ไข้หวัด และถ้ากินประจำช่วยป้องกันไข้หวัดด้วย ไปตลาดอย่าลืมอุดหนุนเกษตรกรไทย ซื้อกระเทียมสดของไทย(ไม่ใช่ของจีน) มาเก็บไว้เป็นอาหารและยาสมุนไพรประจำบ้านแต่บัดนี้.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ไปรษณีย์ไม่ต้องมีขายก็ได้นะ

  ผมได้รับแผ่นพับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอีกแล้ว เปิดดูก็ไม่ต่างจากที่เคยได้รับจากผู้บริโภคที่เคยมาแจ้งข่าว เพราะในแผ่นพับมีการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย) ซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้คืออาหาร แต่ลองดูข้อความสรรพคุณที่โฆษณาซิครับ ผิดกฎหมายชัดเจน เพราะแสดงสรรพคุณเป็นยา เพราะระบุว่า บำบัด บรรเทา รักษาโรคทั้งนั้น  สนนารายณ์ (นามสมมุติ) บรรเทาอาการปวดหลัง เอว ข้อเข่า เก๊า ชาตามมือ-เท้า เบาหวาน .. ขจัดไขมันที่อุดตันตามเส้นเลือด แถมยังระบุคุณสมบัติพิเศษให้ตะลึงอีกว่า “ท่านจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ทางเพศของท่านมีความสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น เพิ่มปริมาณน้ำเชื้อมากขึ้นหลังจากรับประทานติดต่อกัน 7-15 วัน...รู้สึกดีขึ้นด้วยตัวท่านเอง” (เฮ้อ! อ่านไปขนลุกไป) “ไม่มีส่วนผสมของกวาวเครือแดงและสารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย”  เท็จนางพญา (นามสมมุติ) บรรเทาอาการปวดหลัง เอว ข้อเข่า เก๊า ชาตามมือ-เท้า เบาหวาน .. ขจัดไขมันที่อุดตันตามเส้นเลือด แถมยังระบุคุณสมบัติพิเศษให้ตะลึงอีกว่า “รับประทานติดต่อกัน 7-15 วันผ่านไป จะสังเกตว่าหน้าอกที่เคยหย่อนยาน จะรู้สึกว่าหน้าอกกระชับเต่งตึงและเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ช่องคลอดฟิตกระชับขึ้น ไม่ต้องทำรีแพร์ ...ท่านจะรู้สึกได้ด้วยตัวท่านเอง” (อะไรจะมหัศจรรย์ศัลยกรรมได้ขนาดนั้น) มีข้อความยืนยันคล้ายๆ ผลิตภัณฑ์แรก “ไม่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวและสารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย”  นารีงามละหน (นามสมมุติ) สกัดไขมันส่วนเกินไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ละลายไขมันส่วนเกินที่หน้าท้อง สะโพก ต้นขา ต้นแขน ให้กระชับและเต่งตึง ลดเส้นเลือดขอด ...ไม่เหี่ยวย่นหลังการลด ไม่ต้องอดอาหาร เห็นผลภายใน 2-4 สัปดาห์ แถมมีคำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับสุภาพสตรีว่า สำหรับผู้ผ่านการมีบุตรแล้ว ขอแนะนำให้รับประทานคู่กับเท็จนางพญา จะช่วยให้หุ่นดี หน้าอกสวยกระชับเต่งตึง ....เห็นผลชัดเจนภายใน 30 วัน ส่วนคุณสุภาพบุรุษ ก็อย่าน้อยใจไปครับ เพราะเขามีคำแนะนำให้เช่นกัน “สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ขอแนะนำให้รับประทานคู่กับ สนนารายณ์ (นามสมมุติ) เพื่อปรับความสมดุลและเพิ่มความกระฉับกระเฉง”   ที่น่าทึ่งคือ นอกจากในเอกสารจะแจ้งชื่อติดต่อแล้ว ยังระบุสถานที่จำหน่าย “ ณ ที่ทำการไปรษณีย์.........” เอาละซิครับ ไปรษณีย์ไทย ไหงเป็นแบบนี้ล่ะครับ ไหนๆ ก็จะทำ CSR ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ช่วยตรวจสอบหน่อยนะครับว่าเป็นเหยื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกกฎหมายมาแฝงจำหน่ายหรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจ เวลาพนักงานไปส่งจดหมายที่สำนักงานสาธารณสุข ให้แวะไปสอบถามข้อมูลได้นะครับ  ส่วนผู้อ่านถ้าพบเห็น เช่นเคยนะครับ แจ้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 จะขายก็หลอก ยังมาบอกให้เจาะเลือด

  เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับแจ้งข่าวจาก ภก.สันติ โฉมยงค์ รุ่นน้องที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลที่มาเจาะเลือด และหลอกขายอาหารเสริมจนชาวบ้านหมดเงินไปหลายหมื่น ได้สำเร็จ แว่วมาว่าจากการหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนานเกือบปี รายได้เกือบล้านบาท เทคนิคของบุคคลกลุ่มนี้จะเริ่มจากมาออกหน่วยตรวจสุขภาพ โดยจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาช่วยวัดความดัน ส่วนคนของบริษัทซึ่งแต่งกายคล้ายแพทย์จะเป็นผู้ทำการเจาะเลือด   หรือบางครั้งก็จะมาในลักษณะ “โครงการรักษ์สุขภาพสู่ชุมชน” ไปตามหน่วยงานภาครัฐ เทศบาล อบต. วัด มัสยิด และเวทีประชุมผู้นำชุมชน  โดยหลอกขายอาหารเสริม ด้วยเทคนิคเดิมๆ คือ วัดความดันและตรวจเช็คผลเลือด เคยมีผู้เสียหายบางรายซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย และหลานสาวซึ่งป่วยเป็นทาลัสซีเมีย โดนหลอกจนหมดเงินไปกว่าหนึ่งหมื่นบาท  ผู้กระทำการหลอกลวงกลุ่มนี้ ยังอ้างถึงข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนตน และเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม อาศัยช่องว่างกฎหมายเอาตัวรอดไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกคำให้การไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ   แต่บริษัทก็ยังไม่หยุดการกระทำ พยายามว่าจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือญาติเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มาร่วมขบวนการด้วย แถมยังมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มขึ้นไปอีก โดยการเข้าไปติดต่อกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ออกหนังสือเชิญบริษัทมาให้บริการตรวจวัดความดันและเช็คผลเลือดฟรีเสียเอง ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานหลายแห่งเกิดความอับอายที่เสียรู้บริษัท จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุม  อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกรรมก็ตามทันซะที สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานงานกับตำรวจ ส่งสายลับไปล่อรับบริการ พบว่าขบวนการหลอกลวงดังกล่าวมีการทำงานเป็นทีม เริ่มตั้งแต่มีการลงทะเบียนผู้มารับบริการ มีเจ้าหน้าที่คอยวัดความดัน 1 คน(บางครั้งจะจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาวัดความดันเพื่อให้น่าเชื่อถือ) มีเจ้าหน้าที่คอยจัดคิวเพื่อรอเจาะเลือด 1 คน มีพนักงานแต่งกายคล้ายแพทย์ 1 คน ทำหน้าที่เจาะเลือด เพื่อนำไฟส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยเชื่อมต่อกับเครื่องฉายให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แล้วพยายามพูดวินิจฉัยโรค ร่วมกับการใช้ stethoscope ฟังปอด และใช้ไฟฉายส่องดูคอในบางครั้ง   โดยชายดังกล่าวอ้างตัวว่า มาจากโรงพยาบาลจุฬา มีพนักงาน 1 คนคอยบันทึกคำวินิจฉัยโรคของชายคนดังกล่าวลงในเอกสารแนะนำอาหารเสริม หลังจากทราบผลเลือดตัวเองแล้ว ผู้บริโภคจะต้องไปเข้ารับฟังข้อมูลอาหารเสริมจากพนักงานขาย ซึ่งตั้งโต๊ะให้บริการอยู่ 2 โต๊ะ (โรคส่วนใหญ่จะเป็นพวก ไขมันสูง น้ำตาลสูง ยูริคสูง และเลือดข้น เลือดหนืด)   หลังการจับกุม พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็ยังพยายามติดต่อผู้ใหญ่จากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกฯ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว ซึ่ง ภก.สันติ บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแอบกระซิบบอกว่า “มันใหญ่มาก” จริงๆ ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องดูแลกันนะครับ เพราะภก.สันติแอบเห็นรายชื่อจังหวัดแว้บๆ จากสมุดจด พบว่ากลุ่มคนไม่ดีเหล่านี้ตระเวนหลอกมาหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี  ขอนแก่น นครปฐม ฯลฯ   ฝากทุกท่านช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 เจ้าหน้าที่ก็เจอดี

เรื่อง เล่าฉบับนี้ขอเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนะครับ แต่ดันมาเกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแทนครับ เป็นเรื่องของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ สุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งหนึ่ง จากที่ผมได้รู้จักกับเธอยอมรับว่าเธอมีเลือดเนื้อรวมทั้งจิตวิญญาณของการ คุ้มครองผู้บริโภคเต็มเปี่ยมเพราะจังหวัดของเธอดำเนินคดีกับผู้ผลิตแบบกัด ไม่ปล่อยมาหลายรายแล้ว วัน หนึ่งเธอเดินทางไปเที่ยวที่อเมริกา และได้ซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ Pin Phone เพื่อใช้ในยามติดต่อกลับประเทศ และเธอก็มีโอกาสได้ใช้มันจริงๆ โดยใช้โทรผ่านโทรศัพท์มือถือของเธอเครือข่ายหนึ่ง แต่ พอกลับมาเมืองไทย ยังไม่ทันจะได้ดื่มด่ำกับความสุขจากการเดินทาง เธอก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์จากเครือข่ายนี้ 10,056.47 บาท โอ้...แม่เจ้า แต่ด้วยความที่เธอมีเลือดคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เต็มตัว “ทีเรื่องคนอื่นเจ๊ยังดำเนินการเปรียบเทียบปรับมาหลายราย พอมาเจอกับตัวเอง เจ๊ทนไม่ด๊ายยย” (ฮา) เธอโทรไปที่บริษัทมือถือ สอบถามว่า เหตุอันใดจึงคิดค่าโทรซ้ำซ้อน เพราะเธอเข้าใจว่าเงินค่าโทรมันน่าจะหักจากบัตร Pin Phone แล้ว ทางบริษัท มือถือตอบเธอว่า จะลดค่าโทรให้ 1,941.10 บาท เล่นแบบนี้มีหรือที่เธอจะยอม ขอตรวจสอบเบอร์ที่โทรก่อนถึงจะยอมชำระเงิน(เพราะในบิลไม่ระบุเบอร์โทรนี่นา) แต่ทางบริษัทกลับตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบเบอร์ได้เนื่องจากเป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศที่ใช้บริการ แต่ในระหว่างนี้บริษัทได้เก็บเงินไปแล้ว โดยหักจากบัตรเครดิตของเธอไป 8,115.37 บาท (แหม..ทีเก็บเงินล่ะเร็ว...ฮา) เมื่อ สถานการณ์บังคับ เธอจึงร้องเรียนไปยัง สคบ. ซึ่ง สคบ.ก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงบริษัทมือถือให้พิจารณา และเมื่อได้ผลการพิจารณาจากบริษัท ก็ได้แจ้งกลับมาให้เธอทราบ สรุปผลการพิจารณาจากบริษัทแจ้งมาพร้อมข้อความรายละเอียดต่างๆ ที่คนทั่วไปอ่านแล้วคงงงๆ แต่พูดย่อๆ ง่ายๆ ว่า ไม่จ่ายคืน(จะทำไม?) ซึ่งเธอก็ได้ใช้สิทธิโต้แย้งกลับไป สุดท้าย เมื่อไม่ไหวจะเคลียร์ เธอเลยตัดสินใจสวมวิญญาณ จีจ้าราชินีหนังบู๊ ร้องเรียนไปยังศาลจังหวัด โดยยื่นคำขอฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปาฏิหารย์ มีจริงครับ เพราะที่ผ่านมาบริษัทอ้างโน้นอ้างนี้ตามระเบียบและเหตุผลต่างๆ ที่เราคนธรรมดาอ่านแล้วยังงงๆ แต่ปรากฏว่าพอเป็นเรื่องฟ้องคดีเท่านั้นแหละ บริษัทวิ่งให้ทนายมาขอไกล่เกลี่ย โดยจะชำระเงินคืนให้ 7,000 บาท ซึ่งเป็นยอดที่บริษัทไม่สามารถบอกเบอร์ปลายทางได้ และเมื่อบริษัทโอนเงินกลับมาให้ เธอจึงได้ถอนฟ้อง แบบเรียบร้อยโรงเรียนจีน (ไม่ใช่ซิโรงเรียนผู้บริโภคมากกว่า) เธอ ฝากผมมาบอกท่านผู้อ่านว่า หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อย่ายอม “เรายังมีทางเลือกที่เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคได้เลย” เพราะมันช่วยได้จริงดังกรณีเธอเป็นตัวอย่าง ขอบคุณน้องท่านนี้ผ่านคอลัมน์ด้วยนะครับ อย่างน้อยก็คงทำให้ทั้งผู้อ่านและบริษัทได้บทเรียนไปด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ชาโอเว่อร์

ไม่รู้ผู้ขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ไปหาอีเมล์ผมจากไหน วันๆ ผมต้องมาคอยลบเมล์ที่ส่งมาจากใครที่ไม่รู้จักมากมาย เนื้อหาก็ไม่มีอะไร นอกจากขายสินค้าอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ มากมาย ล่าสุดนี้ผมได้รับเมล์จากใครก็ไม่รู้ ทีแรกนึกว่าเป็นเพื่อน เพราะชื่อคล้ายกันมาก พอเปิดเมล์ดู กลายเป็นเมล์แนะนำชาสมุนไพร ชนิดหนึ่ง ลองดูเนื้อหาที่เขาส่งมาทางเมล์ซิครับ โฆษณาซะระเบิดเถิดเทิงกันเลย “ ชาสมุนไพรลดเซลลูไลท์เพื่อสุขภาพ (Instant Beverage Green tea Extract) ประกอบด้วยส่วนผสมของหัวชาชั้นดี และสมุนไพรที่คัดเลือกแล้ว , ช่วยในการเผาผลาญไขมันส่วนเกินให้เปลี่ยนรูปเป็นพลังงาน ทั้งยังช่วยกระชับกล้ามเนื้อและผิวหนังไว้ไม่ให้เหี่ยวย่น , ช่วยชดเชยการออกกำลังกาย (ไม่ใช่ทดแทน) ร่างกายเราจะมีปริมาณการเผาผลาญที่สูงขึ้น ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด” “ดื่มชาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว จะเผาผลาญไขมันได้เท่ากับการวิ่งออกกำลังกาย 3 กิโล , ช่วยลดส่วนเกินได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นไขมันหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา , *ช่วยลดเซลลูไลท์ที่อยู่บริเวณใต้คางหรือข้างแก้ม ทำให้หน้าเรียวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด , ช่วยการขับสารพิษ และสิ่งสกปรกที่อาจตกค้างในร่างกาย และช่วยทำความสะอาดระบบภายใน” (เว่อร์กันเข้าไป) “ช่วยในกระบวนการกำจัดไขมัน โคเรสเตอรอลในหลอดเลือด ซึ่งทำให้ลดภาวะความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง , จากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด , ช่วยในการขับสารพิษ และสารอนุมูลอิสระ จึงส่งผลในการป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งและโรคความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย , ช่วยทำให้ร่างกายของเรารู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าเนื่องจากมีผลในการกระตุ้นการทำงานระดับเซลล์ , ให้สารคลอโรฟิลล์(Chlorophyll) ซึ่งมีประโยชน์ต่อขบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและขับสารพิษตกค้างออกจากร่างกาย” (ยังเว่อร์ไม่หยุด) มาอีกแล้วครับ การอ้างรับรองคุณภาพแบบไร้หลักฐาน “นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีอย.รับรอง 70 ประเทศทั่วโลก” ยังไม่พอนะครับ เขายังนำรูปผู้คนต่างๆ มาโชว์ให้เห็นอีกด้วย โดยแสดงเปรียบเทียบก่อนและหลังการใช้ ผมเลยตามเข้าไปดูในเว็ปที่ให้มา ก็ไม่มีการแสดงภาพสินค้าอะไรนะครับ มีแต่แบบฟอร์มให้กรอกการสั่งซื้อและขอให้แจ้งความประสงค์ในการส่งข้อมูลต่างๆ (แสดงว่าหัวหมอไม่เบา เล่นเอาตัวเองปลอดภัยไว้ก่อนเลยนะ) และท่าทางจะยิ่งรู้มากพอสมควร จึงอาศัยลูกเล่นของการได้รับอนุญาตอาหารมาโฆษณาเอาดื้อๆ “จดทะเบียน อย.ในหมวดอาหาร ไม่ใช่ยา สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ยิ่งทานในปริมาณมากยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น หมายเลข อย. : 10-3-07839-1-0001” แต่ทำไมไม่ยักรู้ว่าเมื่อเป็นอาหาร ต้องขออนุญาตโฆษณาในลักษณะอาหารเท่านั้น ไม่ใช่ดันทะลึ่งมาโฆษณาสรรพคุณแสนวิเศษจนเสมือนยา จนชาสมุนไพรกลายร่างเป็นชาโอเว่อร์ ไปซะแล้ว ใครเจอก็ช่วยกันแจ้ง อย.หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหสัดด้วยนะครับ เผื่อจะได้ไปแนะนำแบบประชิดตัวให้ถูกกฎหมายซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ครูจ๋า อย่าประมาท (2)

ฉบับที่แล้ว ผมได้เกริ่นว่าสถานการณ์ปัญหาการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่น่าไว้ใจ มันได้คืบคลานเข้าไปสู่สถานศึกษาแล้ว ล่าสุดผมได้รับแจ้งเรื่องจากอาจารย์ท่านหนึ่งพร้อมเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีบริษัทติดต่อมาทางโรงเรียน จะขอเข้ามาแนะนำความรู้ในโรงเรียน ทราบว่าตอนนี้ตระเวณเดินสายแบบคิวทองไปหลายต่อหลายโรงเรียนแล้ว ผมดูในเอกสารที่อาจารย์นำมาให้ปรากฏว่า เป็นจดหมายของบริษัท เรียน อาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการว่าจะขอเข้ามาแนะนำโครงการตรวจสุขภาพในโรงเรียน ชื่อโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (ชื่อสมมุตินะครับ) แล้วก็อ้างว่าปัจจุบันนี้สังคมเต็มไปด้วยสารพิษสารเคมี ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตจากโรคร้ายแรงจำนวนมาก เช่น มะเร็ง หัวใจ แม้ว่าหน่วยงานจะมีสวัสดิการให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ดีพอ เนื่องจากเครื่องมือที่ตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะเป็นเครื่องมือเบื้องต้น หากต้องการรู้ลึกรู้จริงจะเสียค่าใช้จ่ายสูง (อูยยย...ตอนต่อไปเดาได้เลยครับว่าเขาจะต้องบอกว่า ของดีอยู่ที่บริษัทเขา...ฟันธง!) จริงดังคาดครับ เพราะเขาบอกต่ออีกว่า “แต่วันนี้เป็นข่าวดีของหน่วยงาน เพราะบริษัท (ระบุชื่อ) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชั้นนำจากต่างประเทศ สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ได้จัดทำโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (นามสมมุติอีกครั้งนะครับ) เน้นการให้ความรู้และบริการตรวจสุขภาพแบบแพทย์ทางเลือก ด้วย เครื่องมือทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยผู้รับบริการไม่ต้องเจาะเลือดและไม่ต้องอดอาหาร สามารถรู้ถึงความผิดปกติของระบบภายในร่างกายได้ถึง 12 จุด เช่น หัวใจ หลอดเลือด ม้าม ตับ ไต ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกและปริมาณไขมันในร่างกาย” ท้ายจดหมายยังระบุว่า “หากท่านมีความประสงค์จะรับบริการ กรุณากรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มและส่งกลับมายังชื่อในท้ายจดหมาย” (นั่นแน่...โยนให้คนอื่นรับผิดชอบนี่นา)  ผมพลิกไปดูแบบฟอร์มตอบรับ มันก็ช่างเย้ายวนเหลือเกิน เพราะนอกจากให้ผู้สนใจต้องแสดงความประสงค์เองแล้ว ยังบอกว่าโอกาสพิเศษครบรอบหลายปีของบริษัทจะลดค่าบริการการตรวจจาก 500 บาท หรือเพียง 100 บาทต่อท่าน แต่ที่แสบสันต์คือในแบบฟอร์มนี้เขาให้เราระบุด้วยว่า “ยินดีให้บริษํท นำเสนอสินค้าให้กับพนักงานเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ” เท่าที่ทราบบริษัทนี้ตระเวณไปหลายโรงเรียน ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพ และอาจารย์ก็ยอมเสียเงินกันหลายคนแล้ว แต่ผมอยากให้สังเกตดีๆ เห็นมั้ยครับ แม้กระทั่งในแบบฟอร์ม ทางบริษัทเขาก็อุดช่องโหว่ที่จะเอาผิดเขาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะเล่นให้คุณครูกรอกแสดงความจำนงเอง หากมีปัญหาก็คงจะเข้ารูปทางที่ว่า “บริษัทเปล่าหนา ครูดันมาเอง” งานนี้อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เบ้อเริ่ม ขอเตือนสติครูอาจารย์ทั้งหลายนะครับ การกระทำแบบนี้มันไม่ค่อยชอบมาพากล หากเจอแบบนี้รีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละจังหวัดทราบ เพื่อร่วมตรวจสอบโดยด่วนเลยครับ จะได้ไม่พลาดพลั้งเสียใจภายหลัง ครูจ๋า...อย่าประมาทนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ครูจ๋า อย่าประมาท (1)

ที่แผนกของผมมักจะมีกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้กับกลุ่มคุณครูเสมอๆ เราเจอกันบ่อยจนแทบจะเป็นเพื่อนสนิทกันไปแล้ว อบรมทีไรก็มักจะได้สนุกสนานเฮฮากันทุกที เพราะลักษณะการอบรมของที่นี่จะไม่ใช้วิธีบรรยาย เนื่องจากพวกเราอยากให้คุณครูได้มีส่วนร่วมกับการอบรมมากที่สุด และยังอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องกับคุณครู รูปแบบที่เราใช้จึงมักเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พวกเราให้ความรู้ ส่วนคุณครูก็ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาแก่เรา ปีนี้เราจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยจัดเป็นฐานความรู้ประมาณ 8-9 ฐาน โดยแบ่งคุณครูจำนวน 100 กว่าคนเป็นกลุ่มเท่ากับจำนวนฐาน หมุนเวียนกันเข้าแต่ละฐาน ส่วนพวกผมก็แบ่งทีมกันประจำฐาน กิจกรรมในฐานมีทั้งการจัดสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ การสาธิตการตรวจสอบ เกมส์จับผิดโฆษณา รวมทั้งเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องมาแสดงให้คุณครูเห็น และชะรอยทุกคนจะเห็นว่าผมมีพรสวรรค์ทางด้านการแหกปากร้องทุกข์กระมัง จึงสรุปให้ผมประจำฐาน “กล้าร้องทุกข์” โดยให้เหตุผลสนับสนุน (แต่ฟังคล้ายๆหลอกด่าชอบกล) ว่า การจะสอนให้คุณครูรู้เท่าทันของแย่ๆ ต้องใช้กลเม็ดเด็ดพรายผสมผสานความกะล่อนพอสมควร (ฮา) ผมจัดเตรียมฐาน โดยนำสินค้าที่ไม่ถูกต้อง (ส่วนใหญ่ก็เคยเขียนลงในคอลัมน์นี้แหละครับ) มาวางให้คุณครูเห็น พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ก่อนจะทิ้งท้ายว่าถ้าคุณครูเจอสินค้าหรือเหตุการณ์อย่างนี้ คุณครูจะแจ้งข่าวให้พวกผมทราบได้อย่างไร ทีนี้ก็สนุกละซิครับ คุณครูแต่ละท่านก็สวมวิญญาณเป็นคุณหมอพรทิพย์ หรือไม่ก็ คุณเชอร์ล๊อค โฮล์ม ช่วยกันระดมสมองกันใหญ่ สุดท้ายก็นำไปสู่การสรุปที่ว่า เมื่อเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ สิ่งที่คุณครูจะต้องพยายามทำเพื่อให้การตามรอยของไม่ถูกต้องได้ผล ก็คือคุณครูต้องพยายามรวบรวมพยานต่างๆให้ได้ ทั้งพยานวัตถุ (ได้แก่ ของที่ไม่ถูกต้องทั้งหลาย) พยานเอกสาร (ได้แก่ เอกสารต่างๆ ที่มีผู้ขายนำมาประกอบการขาย เช่น แผ่นพับโฆษณาต่างๆ) พยานบุคลล (เช่น คนที่ทราบเหตุการณ์ หรือเหยื่อของการใช้สินค้านั้นๆ) ผลพวงของการเข้าฐานความรู้นี้ ทำให้ผมได้ทราบข้อมูลปัญหาต่างๆ จากคุณครูด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงทั้งหมดนี้ คุณครูหลายท่านก็เคยซื้อมารับประทาน บางท่านหมดเงินเป็นหมื่นไปซื้อยาน้ำโสมเกาหลีตะกุยทรัพย์ (นามสมมุติ) มารับประทานในราคาเป็นหมื่นบาท แม้กระทั่งน้ำมหาบำบัดของป้าคนดัง ก็ซื้อมาแล้ว (ทันสมัยไม่เบาซะด้วย) นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายในหมู่เด็กๆ อีกด้วย เช่น มีการวางขายเลนส์ตาโตแบกะดินตามตลาดนัดและมีเด็กๆ แอบไปซื้อมาใส่ มีเด็กๆ บางคนไปหาซื้อกลูตาไธโอนมากินในราคาเม็ดละ 5 บาท (ไม่รู้ว่าของจริงหรือของปลอม) เอาครีมทาหน้าขาวที่ไม่ถูกต้องไปทารักแร้เพื่อจะได้ขาวถาวรแบบหน้า (คิดได้ยังไงเนี้ยะ) ฟังแล้วก็ได้แต่ทึ่งกับสถานการณ์ที่ได้ยิน ฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อว่านอกจากนี้แล้วมันมีอะไรพิสดารล้ำลึกไปอีก แต่ก่อนจบก็ต้องรีบเตือนคุณครูทั้งหลายก่อนนะครับ ว่าภัยสุขภาพมันกระดืบกระดืบ เข้าไปใกล้สถานศึกษาเรื่อยๆแล้ว “ครูจ๋า..อย่าประมาทนะครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 หลักประกันสุขภาพ

1. การลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ต้องทำอย่างไรเอกสารลงทะเบียน1)    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)2)    สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ หนังสือรับรองการพักอาศัยสถานที่ลงทะเบียน ในวันเวลาราชการต่างจังหวัด : สถานีอนามัย/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกรุงเทพฯ : ติดต่อที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร             สอบถามเขตที่เปิดให้บริการ โทร.สายด่วน สปสช.1330การลงทะเบียนคนพิการ (ท.74)คนพิการผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่ยังไม่ได้ระบุสิทธิย่อย ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ต้องนำในรับรองความพิการจากแพทย์หรือแสดงบัตรคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ลงทะเบียน ณ สถานที่รับลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพได้2. การขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ต้องทำอย่างไร         หน่วยบริการ  หมายถึง โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข  สถานพยาบาลของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ  หมายถึง  หน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเลือกลงทะเบียนเพื่อรับบริการสาธารณสุขเป็นประจำ  โดยทั่วไปจะเป็นหน่วยบริการที่มีสถทนที่ตั้งใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพการขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ   นำบัตรประจำตัวประชาชน ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  หรือสำนักงานเขตของกทม.ที่เปิดรับลงทะเบียนในวันเวลาราชการ  โดยมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (ตุลาคมถึงกันยายนของปีถัดไป)การเข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการแห่งใหม่ สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ได้หลังแจ้งความจำนงเปลี่ยนหน่วยบริการประมาณ 1 เดือน  โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 หลักประกันสุขภาพ

เมื่อวันที่  2-3  มีนาคม 2558  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) ได้จัดกิจกรรม เรื่อง  การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น ขึ้น ณ โรงแรมประจักษ์ตรา  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  โดยร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  อุดรธานี  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนการทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน  โดยกลุ่มเป้าหมายนำร่องที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้แก่ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดภาคอีสานตอนบน จำนวน  24 แห่ง  จาก 9 จังหวัด  ได้แก่ จ.อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู หนองคาย  เลย  นครพนม  มหาสารคาม  กาฬสินธุ์ และ ร้อยเอ็ด  วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสิทธิผู้บริโภค เสริมพลังในการทำงานของภาคีเครือข่ายให้ตระหนักและเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น  เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคระดับท้องถิ่นขึ้นมา โดยนายแพทย์วีระวัฒน์  พันธุ์ครุฑ   รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวในการเปิดงานว่า  “ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค  ก็เปรียบเสมือน การเล่นฟุตบอล ประกอบไปด้วย ผู้บริโภค ซึ่งต้องคิดไตร่ตรองการตัดสินใจ    หน่วยราชการ ผู้รับผิดชอบในการดูแลควบคุมผู้ประกอบการ    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใกล้ชิดกับประชาชนสามารถดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในอนาคตอาจเป็นองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคโดยตรง  และยังมีกลไกอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ทั้งสมาคม  มูลนิธิ “นอกจากกิจกรรมเสวนาภายในโรงแรมแล้ว ยังมีกิจกรรมเสริม คือการดูงานในสองพื้นที่ ที่มีการทำงานที่แตกต่างกัน พื้นที่แรก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง  อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู (พื้นที่ต้นแบบ)  ความโดดเด่นของ อบต.แห่งนี้คือ การมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์( Lab ) สำหรับตรวจสารเคมีในผักที่ขายในท้องถิ่นเป็นของตนเอง  โดยความคิดริเริ่มของท่านนายก อบต.คุณคมกริช    สีอาจ ที่มีความคิดว่าจะทำอย่างไร ให้พื้นที่ส่วนนี้ลดการใช้สารเคมี     จึงเริ่มนำโครงการผักปลอดสารพิษเข้าสู่ระดับจังหวัด  เก็บข้อมูลและเริ่มหาแนวทางในการลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ ต่อมาก็เริ่มก่อตั้งห้อง LAB วิทยาศาสตร์ ขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบผักหาสารเคมีตกค้าง  โดยมีอาสาสมัครชุมชน เป็นผู้ดำเนินการภายใต้การอบรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี  ซึ่งหลังจากดำเนินงานหลายสิบปี พบว่าชาวบ้านให้ความสนใจและถ้าไม่มั่นใจว่าอาหารที่ซื้อมากินปลอดภัยหรือเปล่า  ชาวบ้านก็จะนำมาตรวจกับแล็บท้องถิ่น ถือเป็นการเฝ้าระวังในพื้นที่อีกด้วย การลงพื้นที่กลุ่มที่สอง คือการไปพื้นที่โรงพยาบาลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู   รพ.ตัวอย่างที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อาทิ เจ้าหน้าที่มีจิตอาสาจิตสาธารณะในการดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง  มีความร่วมมือของภาคีเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิ ที่มีกระบวนการทำงานเป็นรูปธรรมชัดเจน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 Code นมสิ่งสำคัญในการปกป้องสุขภาพเด็กไทย

Code นม หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast  Milk Substiututes ) ณ ปัจจุบันหลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีกฎหมายเป็นข้อบังคับ จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลให้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยอยู่ภาวะที่ต่ำมากในเอเชีย นั่นหมายถึงสุขภาพของเด็กไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในอนาคต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  Code นม ที่ประเทศต่างๆ ได้มีมติรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524  เป็นกฎเกณฑ์ปกป้องสุขภาพเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินนมแม่  ซึ่งถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2524  แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีหลักฐานจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กนั้น มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  อย่างเช่นการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในปี 1986 ส่งผลให้มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลลดลง จากร้อยละ 57.5  ในปี ค.ศ. 1986 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี ค.ศ. 1988  ประเทศไทยของเราน่าเป็นห่วงมากว่า ถึงแม้เราจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่เราไม่สามารถป้องกันหรือบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน การมีหลักเกณฑ์จึงไม่สามารถควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่ได้ ในทัศนะของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้ติดตามการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย เห็นว่า มีกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ  มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นของขวัญฟรีแก่แม่  การใช้ข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจว่าสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก และมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ  การอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสถานประกอบการ หรือผ่านกิจกรรมในโรงพยาบาล  การทำตลาดผ่านสื่อ Call Center  จดหมาย หรือ SMS  เพื่อติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง  การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ่านโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแจกของขวัญให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล “เครื่องมือส่งเสริมการตลาดเหล่านี้ ได้สร้างมายาคตินมผงเท่ากับนมแม่ ชวนให้แม่เชื่อผิดๆ ว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมแม่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลที่อุตสาหกรรมนมผงใช้ในการขัดขวางการผลิตน้ำนมของแม่  เมื่อแม่ไม่ได้ให้นมลูก กระบวนการผลิตน้ำนมก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น  ทำให้น้ำนมแม่ก็แห้งไปจากอกแม่  แม่จึงเข้าใจว่าน้ำนมไม่พอ ในที่สุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก็ไม่สำเร็จ” เมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอในช่วง 6 เดือนแรก ทารกก็สูญเสียสิทธิที่จะได้รับสารอาหารที่ดีสุดในชีวิตไป ซึ่งทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงเลี้ยงลูกสูงถึงปีละกว่า 7 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโรคภูมิแพ้อีกปีละเกือบ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ท่ามกลางความเสียหายต่อสุขภาพทารกและระบบสาธารณสุขของประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมทำให้อุตสาหกรรมนมผงได้กำไรต่อปีกว่าพันล้านบาท ทางด้านเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มคุณแม่ ที่มีความตระหนักร่วมกันไม่ต้องการให้การตลาดนมผงมาสร้างมายาคติ หรือความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี เพราะนมมีคุณค่าที่สุดที่จะเลี้ยงลูกของตนเอง  จากคุณแม่ไม่กี่คนที่เชื่อมั่น และต้องการเห็นเด็กๆ คนอื่น มีความเท่าเทียมในการเติบโตอย่างมีสุขภาพ จึงเริ่มต้นแนะนำให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ด้วยสื่อออนไลน์เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย จากเว็บไซต์ และปัจจุบันยังอาสาทำงานให้ความรู้คุณแม่เท่าทันการตลาด ล่าสุดเข้าเพื่อความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและขยายผลได้ดี ปัจจุบันจึงเป็นเฟสบุ๊ค “นมแม่ แบบแฮปปี้” พญ.ศศินุช รุจนเวช  ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ยังเล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่กุมารแพทย์ เหมือนกับคุณแม่ทั่วไป ที่กังวลกับการมีลูก ตอนที่มีลูกก็มีปัญหาน้ำนมไม่มี แต่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่เข้ามาสนับสนุนนมแม่ จึงเริ่มสนใจเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และเริ่มต้นจากแม่ๆ มาเริ่มพูดคุยแชร์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  จึงเกิดความต้องการอยากให้คุณแม่ทุกคนให้นมแม่สำเร็จ เห็นลูกเราแข็งแรง แต่เด็กอื่นๆ ที่กินนมผง กินนมแม่น้อย มีความเจ็บป่วยมากกว่า มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้สนใจเรื่องการตลาด และข้อเท็จจริงก็คือคนส่วนใหญ่สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่พอมีการตลาดเข้ามาก็ไปขัดขวางให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้ผิดๆ  เราเป็นห่วงว่าอัตราการให้นมแม่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างคุณแม่ในทีมที่แข็งขันท่านหนึ่ง ที่มีสามีเป็นแพทย์ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลตรงนี้มาเผยแพร่ พวกเราช่วยกันทำงานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุยกับคนใกล้ตัว แล้วก็เจอปัญหาที่โดนคนรอบข้างกดดันเพราะอิทธิพลของการโฆษณา หลายคนเจอว่าทำไมไม่ให้ลูกกินนมผง มีสารดีๆ อยู่ในนมผงเยอะนะ  เราจึงเห็นว่านี่คือผลของอิทธิพลการโฆษณา ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและส่งผลต่อแม่ที่อยากให้ลูกทานนมแม่ ประเทศไทยจึงควรขจัด “มายาคติ” เหล่านี้ จึงอยากฝากคุณแม่ทุกท่านให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และอยากให้มีเครือข่ายกว้างขวางช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ถ้าเครือข่ายเราเข้มแข็งการป้องกันเด็กทารกจะดีขึ้น และท้ายที่สุดหวังว่าจะมีการสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยจากอิทธิพลของการตลาดนมผง   ข้อมูลจาก เวทีชี้แจงกับสื่อมวลชน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ในประเด็น “ความสำคัญของ Code นม เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กไทย”  ที่ โรงแรมแรมเอเชีย  จัดโดยโครงการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่ฯ  ได้รับการสนับสนุน โดย องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 คนไข้ไทย..กับทางตัน

ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออกมารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ “แพทยสภา” และ “กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่างๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช้อำนาจรัฐในการซ้ำเติมความทุกข์ของผู้เสียหายเหมือนอย่างที่เคยทำ ฤา..พฤติกรรมที่ฉ้อฉลของหน่วยงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของคู่กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 คนรักหลักประกันสุขภาพ

  สร้างความเท่าเทียมมาตรฐานรักษาพยาบาล ดีกว่าร่วมจ่ายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในการจ่ายรักษา หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลในเรื่องที่รัฐไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอ ผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนา หลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น   ฉลาดซื้อจึงขอพาคุณไปคุยกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอย่างชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายโรคมะเร็ง กันค่ะว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มหรือพัฒนาการอะไรบ้าง หรือทางออกที่ดีของการสร้างหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร สหรัฐ ศราภัยวานิช อาสาสมัครชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเก็บค่าบริการ 30 บาท ใครอื่นอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนที่ใช้สิทธิอยู่มันไม่มี 100 บาทก็ไม่มี 30 บาท ก็ดูจะยาก “การที่จะเก็บ 30 บาทแล้วบอกว่าเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้บริการ ไม่ให้ประชาชนมาหาหมอพร่ำเพรื่อ แต่ถ้ามองในความจริงแล้ว ไม่มีใครอยากไปหาหมอหรอกครับถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ” สหรัฐมองต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าไปรับบริการสุขภาพซึ่ง เขาเองใช้สิทธิประกันสังคม เขาเองก็ยอมรับว่าสิทธิของประกันสังคมในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างครอบคลุม แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามา “ค่าเดินทางไปฟอกเลือดทีก็ 200 บาท ค่าอาหาร บางอย่างก็มีการเก็บเพิ่มเช่น ค่ากระดาษรองแขน คิดอาทิตย์ละ 100 บาท อย่างผมไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เรื่องยาก็สำคัญนะครับ บางตัวหมอไม่ได้จ่ายให้ แต่เราจำเป็นต้องกิน ก็ต้องซื้อกินเองเดือนละ 300 บาท รวมประมาณการ เดือนละ 1,000 บาทครับ” แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้น สหรัฐให้ความเห็นว่าเพราะเขารู้ช่องทางการไปฟอกไต จึงทำให้ค่าใช้จ่ายถูก แต่บางคนต้องเดินทางมาจากสมุทรปราการ บางทีมาจากประจวบฯ เพื่อมาฟอกไตที่ รพ.สงฆ์ “ก่อนที่จะมีโครงการฟอกไต ต้องบอกว่าตกเดือนละ 30,000 บาท ทั้งค่าฟอกไต ค่ายาฉีดเพิ่มเลือด ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายมากครับ มากจนบางคนล้มละลายไปเลยก็มี ต้องขายที่ดินเพื่อรักษาตัวเอง แต่พอการรักษาครอบคลุม ทุกอย่างดีขึ้นเยอะครับ แต่ถ้ามองดูสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิในการล้างช่องท้อง สำหรับคนเป็นโรคไต หลังปี 51 จะเลือกการรักษาโดยการฟอกเลือดไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด บางคนกลัวว่าล้างช่องท้องแล้วจะติดเชื้อ ก็ยอมจ่ายค่าฟอกเลือด 1,000 ถึง 1,500 บาทก็ยอมจ่าย” การไปฟอกเลือดแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการฟอกเลือด แต่ยังไม่ได้รวมเวลาในการเข้าคิวรอ บางรายมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้ฟอกเลือด 6 โมงเช้า จะได้กลับบ้านก็ 11 โมง   ส่งเสริมสิทธิการรักษาให้เท่าเทียม การรักษาโรคไตมี 2 มาตรฐานนั่นคือ คนที่ได้รับสมุดฟอกเลือด กลุ่มแรกเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำบัตรประกันสังคม กลุ่มที่สองทำบัตรประกันสังคมก่อนแล้วถึงเป็นโรคไต ซึ่งกลุ่มที่สองนั้นสิทธิจะครอบคลุมหมดเลยการฟอกเลือด 1 ครั้งประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,500 บาท “ส่วนกลุ่มแรกนั้น ประกันสังคมจ่ายให้ 1,000 บาท ในเรื่องสิทธิของการเปลี่ยนไตนั้นเท่าเทียมกัน สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนไตได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่ถ้าเทียบกับสิทธิผู้ป่วยไตของกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้นในเรื่องค่ายากดภูมิ ไม่จำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาล” อีกเรื่องที่สหรัฐชี้ให้เห็นก็คือเรื่องยาในบัญชียาหลัก ที่มีความแตกต่างการจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย “ในเรื่องของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย สำหรับบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 51 ซึ่งจะให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยรายเก่าที่เลือกวิธีการฟอกเลือดต่อไป จะได้รับความคุ้มครองโดยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท สปสช.ชดเชยให้หน่วยบริการ 1,000 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยืนยันจะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน คือถ้าหากมีการรวมกองทุนและสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรฐานการรักษา จะดีมากเลย คือเรื่องความสะดวกสบายน่ะไม่เป็นไร เราต้องการความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการรักษามากกว่า” การรวม 3 กองทุน สู่มาตรฐานสุขภาพ ดาราณี โพธิน อาสาสมัครเครือข่ายโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นผู้ประกันตนที่ร่วมส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 นั่นคือเงินบำนาญ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าประกันสังคมน่าจะนำเงินส่วนกองทุนสุขภาพ มาเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ เพราะเมื่อชราภาพลงก็น่าจะมีกองทุนที่ช่วยเยียวยา “เราเห็นสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ามันยังไม่ครอบคลุมเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง หากจะมีการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกนั้น ก็น่าจะมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปรอหมอ กว่าจะได้พบหมอ ได้รักษาก็ครึ่งค่อนวัน คนในชุมชนเองซึ่งก็ทำงานรายวัน อย่างขายน้ำ พอไปหาหมอ 1 วัน วันนั้นรายได้ก็จะไม่มีเข้ามาแล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร หากจะกลับมาเก็บ 30 บาท ต้องมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวแล้วมองว่า 3 กองทุนสุขภาพ นั่นคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างคนในชุมชนใช้สิทธิประกันสุขภาพนอนดูอาการ อยู่หลายวัน แต่สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่เจ็บใจก็คือสิทธิของประกันสังคม ด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ประกันสังคมต้องจ่ายเงิน แต่สิทธิด้านการรักษาโรคยังครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพซะอีก เลยอยากให้นำส่วนที่เราจ่ายเงินไปสบทบในส่วนกองทุนชราภาพให้เราใช้ตอนแก่ยังจะดีกว่า เพราะสภาพสังคมแบบนี้จะมัวไปพึ่งลูกหลานอยู่ก็ไม่ได้ หากเป็นไปได้การจะพัฒนาเรื่องสุขภาพจริงๆ ก็ควรที่จะพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกัน ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”   ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ  พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปบทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่    การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ประกันสุขภาพ อยากได้แต่ไม่อยากเสีย

แม้โฆษณาการประกันภัยของบริษัทต่างๆ จะมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อบริการเห็นถึงการรับประกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยหากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตหรือทรัพย์สิน ผู้ซื้อก็จะไม่ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ เหล่านั้นเพียงผู้เดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้รู้หรือบริษัทไม่เคยบอกอย่างชัดเจนก็คือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงอยู่ในข้อสัญญากรมธรรม์ต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเคยต้องผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมดังกรณีของผู้ร้องรายนี้“บริษัทฯ ใคร่ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ขออภัยที่จะต้องขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด โดยกรมธรรม์มีผลบังคับสิ้นสุดลงวันที่…”ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาในจดหมาย เพื่อระงับการเอาประกันของภรรยาผู้ร้องที่ซื้อประกันภัย “HIP MediCare1” ของบริษัทกรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยผู้ร้องได้ชี้แจงว่าเขาซื้อประกันภัยแบบเหมาจ่ายให้กับตนเอง ภรรยาและลูก 1 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 6 งวด งวดละ 1,102 บาท (รวมภาษีและอากรแล้ว) มีข้อตกลงและความคุ้มครองที่สำคัญคือ การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่ออุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่ทำประกันภัยนั้น ภรรยาของเขาได้มีการเบิกเคลมค่าสินไหมจำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 26,000 บาท สำหรับการป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ได้แก่ อาการจากเยื่อบุจมูกอักเสบ กระเพาะอักเสบและน้ำในหูไม่เท่ากัน ประเด็นที่สำคัญ คือภรรยาของผู้ร้องไม่ได้เบิกเคลมเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ และไม่ได้ผิดสัญญาการชำระเบี้ยประกันเลย ดังนั้นเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกจากบริษัทและให้กรมธรรม์มีผลสิ้นสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล จึงทำให้ผู้ร้องไม่เข้าใจว่าตนเองผิดสัญญาข้อไหน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุการยกเลิกประกันภัย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงนัดเจรจา โดยบริษัทประกันภัยนำเอกสารใบกรมธรรม์มาชี้แจงว่า สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามสัญญาข้อ 12.1 ที่ระบุว่า “บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติในวันสุดท้ายที่เบี้ยประกันภัย ซึ่งได้รับชำระมาแล้วสามารถซื้อความคุ้มครองได้ โดยบริษัทไม่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด”อย่างไรก็ตามจากข้อความในสัญญากรมธรรม์ รวมทั้งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้ผู้ร้องทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงต้องบอกยกเลิกการเอาประกันของภรรยาเขาได้ ทางศูนย์ฯ จึงต้องดำเนินการหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป เพราะการที่บริษัทฯ บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง และอาจเข้าข่ายเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผลให้บอกเลิก รวมทั้งต้องไม่เป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียวดังเช่นในกรณีนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 การใช้สิทธิตามมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

คุณหนึ่ง(นามสมมติ) ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยเรื่องมีอยู่ว่า แม่ของคุณหนึ่ง เกิดอาการผิดปกติ โดยอาเจียนอย่างรุนแรงถึง  4 ครั้ง มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง พูดไม่ชัด ผู้ร้องจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาร่วมชั่วโมง และเมื่อแพทย์ฟังอาการของคุณแม่ ที่คุณหนึ่งเล่า ก็สั่งจ่ายยาและให้กลับบ้านได้ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด แม้จะทักท้วงเพื่อขอให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือให้น้ำเกลือ แต่ทางแพทย์ก็ปฏิเสธทั้งสองกรณีเมื่อกลับมาบ้านได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะอาการอาเจียนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและแพทย์ได้ตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุว่าอาเจียนเพราะเหตุใด ผู้ร้องปรึกษาว่าควรให้คนไข้นอนที่นี่ไหมเพื่อเฝ้าติดตามประเมินอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแต่แพทย์ปฏิเสธเป็นครั้งที่ 22 วัน ต่อมา คุณแม่อาการรุนแรงขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่เช่นเดิม กว่าจะได้ตรวจเสียเวลามาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง มีไข้สูงแต่พยาบาลก็ไม่ทำอะไร แพทย์กลับมาดูอีกครั้งผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ในที่สุดต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สำเร็จผู้ป่วยได้เสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นนั้น ได้แนะนำให้ทางผู้ร้องคือคุณหนึ่ง ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 ซึ่งว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ร้องได้ทำการร้องเรียนและได้รับเงินชดเชยมาทั้งหมด 360,000 บาท แล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่า หากโรงพยาบาลมีการให้บริการที่ดีผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิต จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบี้องต้นได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000  บาทผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่ สำนักงานสาขาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในจังหวัดนั้น หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตร 50 (5)การพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม >