ฉบับที่ 271 ผู้บริโภคไทยกับสังคมไร้เงินสด

        เหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ตลอดจนความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ และความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว        อย่างไรก็ตามการก้าวไปสู่ แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด นั้น ผู้บริโภคพร้อมจริงๆ หรือแค่ถูกสถานการณ์บังคับ หรือความกังวลใจในเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ จึงทดลองหาคำตอบ โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูลในวันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2566)        คำถามที่ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดแล้วหรือไม่ ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ร้อยละ 66 ใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 66.1 และไม่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 33.9        อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจการเงินในการทำความรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือทราบ (ร้อยละ 32.3) และอันดับสุดท้ายคือ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 24.4)ซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์เดือนหนึ่งมากกว่า 10 ครั้ง        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 750 กลุ่มตัวอย่าง มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 10 ครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 40.3) อันดับสองคือ 7 – 8 ครั้ง (ร้อยละ 16.4) อันดับสามคือ 5 – 6 ครั้ง (ร้อยละ 15.2) อันดับสี่คือ 9 – 10 ครั้ง (ร้อยละ 12.7) อันดับห้าคือ 3 – 4 ครั้ง (ร้อยละ 10.9) และอันดับสุดท้ายคือ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 4.5) โดยยอดเงินที่ใช้หรือโอนต่อการใช้จ่ายต่อครั้งนั้น อันดับที่หนึ่งคือ 101 – 300 บาท (ร้อยละ 28.8) อันดับสองคือ 301 – 500 บาท (ร้อยละ 24.5) อันดับสามคือ 501 – 800 บาท (ร้อยละ 16.5) อันดับสี่คือ มากกว่า 1,000 บาท (ร้อยละ 11) อันดับห้าคือ 801 – 1,000 บาท (ร้อยละ 9.7) และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท (ร้อยละ 9.5)แอปพลิเคชันธนาคารคือคำตอบ        มีการชำระค่าสินค้าบริการโดยไม่ใช้เงินสด อันดับที่หนึ่งคือ โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร (ร้อยละ 40.1) อันดับสองคือ จ่ายผ่าน QR Code (ร้อยละ 30.9) อันดับสามคือ โอนเงินระบบ PromptPay ร้อยละ (11.6) อันดับสี่คือ ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต (ร้อยละ 10.3) และอันดับสุดท้ายคือ จ่ายผ่าน e-Wallet (ร้อยละ 7.1)        ความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกใช้การซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/การจ่ายเงินออนไลน์ สะดวกต่อการใช้จ่าย (ร้อยละ 97.1) ความรวดเร็ว (ร้อยละ 96.8) และ มีบันทึกการใช้จ่าย สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด (ร้อยละ 67.6)คำถามเกี่ยวกับความพร้อมและข้อกังวล        • หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบ Online Payment หรือการจ่ายเงินออนไลน์ จะทำให้ท่านใช้บริการนี้น้อยลงหรือไม่                             น้อยลง                       ร้อยละ   55.9                             ไม่น้อยลง                   ร้อยละ   14.8                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   29.3        • คิดว่าปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   50.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   19.8                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.5        • คิดว่าการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์) เพิ่มมากขึ้นหรือไม่                             ใช่                              ร้อยละ   73.5                             ไม่ใช่                          ร้อยละ   10.7                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   15.8        • คิดว่าปัจจุบันระบบของธนาคารสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   44.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   26                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.3        • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                         ร้อยละ   50.8                             ไม่พร้อม                     ร้อยละ   25.9                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   23.3        • ระบุเหตุผลที่ไม่ใช้บริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือการชำระเงินออนไลน์ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)                            ไม่มีโทรศัพท์มือถือ                                                                   ร้อยละ   14.6                             โทรศัพท์มือถือที่มี ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้                                      ร้อยละ   33.7                             ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี                                                          ร้อยละ   56                             กลัวพลาดเพราะมีปัญหาสุขภาพ (เช่น สายตาไม่ดี มือสั่น)         ร้อยละ   22.6                             ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย กลัวตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ                     ร้อยละ   26.1                             ยังไม่เห็นข้อดีของธุรกรรมแบบไร้เงินสด                                    ร้อยละ   10.5                             สะดวกที่จะใช้เงินสดมากกว่า                                                     ร้อยละ   55.8                             อื่นๆ                                                                                           ร้อยละ   1.6         • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                        ร้อยละ   39.5                             ไม่พร้อม                    ร้อยละ   33.3                            ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ   27.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่269 หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน         เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น          ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes)         ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร         โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี         บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้         1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง         2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ         สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023)         3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน         4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง         5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน         6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่         ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ         สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ระวังเข้ากลุ่มออนไลน์ จะได้คนแอบแฝง

        ยุคนี้ใครไม่มีสังคมในโลกออนไลน์ดูจะล้าสมัยไปแล้ว  หลายคนจึงมีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กันมากมาย เมื่อใช้กันจนคล่อง ก็เริ่มมองหากลุ่มที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเพจ เป็นสังคมต่างๆ หลากหลาย เช่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มทำอาหาร แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ เท่าที่เห็น มีทั้งกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลดน้ำหนัก เป็นต้น         ผมลองเข้าไปสังเกตการณ์ในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าหลายคนที่เป็นสมาชิก มีทั้งที่ใช้ชื่อตัวตนชัดเจน และใช้ชื่อเป็นคำต่างๆ แทนชื่อจริง บรรยากาศการพูดคุยก็มักจะเป็นการช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน ยิ่งสมาชิกเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ สุดท้ายก็เกิดความสนิทสนมกัน ทั้งที่บางคนแทบไม่รู้จักกันในโลกแห่งความจริง แต่กลับสนิทสนมกันในโลกออนไลน์         หากลองติดตามอ่านเนื้อหาที่พูดคุยไปเรื่อยๆ แม้หัวข้อและเนื้อหาที่พูดคุยจะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แต่หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆ แอบแฝงมาแบบเนียนๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยก็มักจะมีสมาชิกบางคนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วลงท้ายว่าได้ผล หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง หรือทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มออกกำลังกาย ก็มักจะมีสมาชิกบางท่านเข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์สร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะพวกเวย์โปรตีนมากมายหรือในกลุ่มลดน้ำหนัก ก็มักจะมีการนำภาพของตนเองช่วงก่อนปฏิบัติตัวและหลังปฏิบัติตัว ซึ่งมักจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างชัดเจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าทำให้ตนเองมีหุ่นที่ดีขึ้น         เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พวกเราหลงใหลไปกับ สมาชิกที่แอบแฝงมาแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคำแนะนำดังนี้         1. อย่าเพิ่งเชื่อตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งตัวจริง และตัวปลอมที่ใครก็สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้         2. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สมาชิกเหล่านั้นพูด ไม่ว่าจะเป็นภาพรูปร่างที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์สามารถประดิษฐ์ตกแต่งภาพให้ดูดีเสมอ ส่วนคำบอกเล่า ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นจริง เพราะในโลกออนไลน์ใครจะพิมพ์อย่างไรก็พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นจริงหรือเท็จ         3. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผล เพราะบรรดาผู้คนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บางทีก็เป็นหน้าม้า ทำเป็นขบวนการ แบบที่เราจะเห็นอาชีพใหม่คือรับจ้างรีวิวสินค้าต่างๆ และภาพถ่ายสินค้าในกล่องกระดาษกองมหึมา ที่อ้างว่ากำลังส่งให้ลูกค้าก็อย่าเพิ่งเชื่อ กล่องจริงกล่องปลอมกล่องเปล่า โลกออนไลน์ทำได้หมด          4. อย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่อ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว แม้เราจะตรวจสอบจากทะเบียนข้อมูลแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขออนุญาตออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนการตรวจสอบไล่ตามแทบไม่ทัน ทำให้ผู้ผลิตบางรายฉกฉวยโอกาสนี้ มาขอ อย.ออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยอาจจะแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง         5. ขอให้ท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เทวดาใดๆในโลกนี้ ที่ใช้ได้ผลทันที ดีจนตะลึง หากมันดีจริง มันควรถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ไม่ใช่มาโฆษณากันเยอะแยะ แต่ในสถานพยาบาลต่างๆ กลับไม่มีใครนำไปใช้เลย         6. สรุปสุดท้ายว่า ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยงมาใช้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยตรวจสอบและแนะนำจะปลอดภัยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ตราบฟ้ามีตะวัน : ใครๆ ก็ไม่รักหนู ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย

                ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเคยผ่านช่วงชีวิตแบบวัยรุ่นกันมาแล้วทุกคน แต่ก็น่าแปลกใจว่า พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เราก็มักจะพากันหลงลืมความทรงจำเมื่อครั้งที่เป็นวัยรุ่นแทบจะทั้งสิ้น         วัยรุ่นมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความคึกคะนอง ชอบทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นช่วงอายุบนความคลุมเครือ จะเด็กก็ไม่ใช่ จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีวิถีปฏิบัติบางอย่างที่พร้อมจะ “ขบถ” และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่กฎกติกาแห่งสังคมพยายามจะจัดระเบียบวินัยให้กับพวกเขาเหล่านี้         และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ใหญ่ๆ หลายคนจึงมักมองวัยรุ่นด้วยสายตาแปลกๆ และเลือกที่จะหลงลืมความทรงจำแห่งสำนึกขบถต่อต้าน หรือแม้แต่ออกอาการรังเกียจต่อวัยรุ่น ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพวกตนก็เคย “เป็นอยู่คือ” มาก่อน เพียงเพื่อจะบอกคนอื่นได้ว่า ตนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีของระบบไปแล้ว         อาการเกลียดกลัววัยรุ่นแบบนี้ กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ผูกโยงชีวิตของนางเอก “วันฟ้าใหม่” หรือ “แป้ง” ผู้เจอมรสุมหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น จนกลายเป็นเด็กมีปัญหา ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แต่ทว่าลึกๆ ลงไปนั้น แป้งกลับเป็นเด็กที่ขาดความรักและรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว         ละครเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในอดีต แป้งเป็นบุตรสาวของครอบครัวเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่าง “ธราเทพ” และ “พิมนภา” แม้ว่าฉากหน้าพ่อและแม่ของแป้งจะเป็นคู่รักที่ใครๆ อิจฉา เพราะเพียบพร้อมทั้งฐานะเศรษฐกิจและสังคม แต่เบื้องลึกแล้ว ครอบครัวนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งฉากหน้าที่ฉาบเคลือบไว้         ธราเทพผู้เป็นบิดาที่วันๆ เอาแต่ทำงานกับงาน กับพิมนภามารดาผู้เป็นสาวสังคมที่โลดแล่น แต่ทั้งคู่ก็ละเลยต่อลูกสาวคนเดียว แป้งที่เติบโตมากับ “อึ่ง” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหา และทำตัวขบถเรียกร้องเพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายไปในชีวิตเธอ         จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อธราเทพและพิมนภาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตลงกะทันหัน และแป้งได้เห็นภาพติดตาของร่างซึ่งไร้วิญญาณของพ่อแม่ที่จากเธอไป จากเด็กที่ยังเคยมีความน่ารักอยู่บ้าง ก็ยิ่งกลายเป็นเด็กที่เคยตัวและเอาแต่ใจตนเองอย่างสุดโต่ง         สถานการณ์ที่แป้งต้องเผชิญตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยแบบนี้ เหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่า เผลอๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเยาวชน ก็อาจไม่ได้ฝังรากเนื้อแท้มาจากภายในจิตใจของเด็กเองหรอก ทว่าจุดเริ่มต้นของปัญหากลับมาจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ก่อขึ้น จนสั่งสมเป็นปมปัญหาที่พรากความฝันและจิตวิญญาณของเด็กรุ่นใหม่ให้สลายหายไป         และภายหลังจากบุพการีเสียชีวิตลง แป้งผู้ขบถก้าวร้าวก็ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ “ครองประทีป” เจ้าของไร่แสงตะวันผู้เป็นเพื่อนรักของธราเทพ ครองประทีปพาแป้งมาอยู่ที่ไร่ และให้ “อาทิตย์” บุตรชายคอยเฝ้าดูแลเด็กหญิง แป้งจึงเริ่มรู้สึกผูกพันยึดติดกับพี่อาทิตย์อย่างมาก จนเข้าใจว่า สิ่งที่พระเอกหนุ่มทำให้คือความรักที่เขามีต่อเธอ และเธอก็โหยหาความรักดังกล่าวนั้นอยู่         แม้ช่วงแรกพระเอกหนุ่มจะรู้สึกเอ็นดูและสงสารเด็กหญิง แต่เมื่ออาทิตย์ได้ทราบความจริงว่า บิดาได้แอบหมั้นหมายให้เขาแต่งงานกับแป้งตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับธราเทพก่อนตาย อาทิตย์ก็ตั้งแง่รังเกียจเด็กสาว ในทางตรงกันข้ามกับแป้งที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับคำมั่นสัญญาของบิดา จนเลือกที่จะอาละวาดทุกคนในไร่ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอได้แต่งงานกับพระเอกหนุ่ม         ในฉากที่เด็กนักเรียนมัธยมอย่างแป้งแสดงกิริยาดื้อดึง และออกปากว่าตนจะต้องแต่งงานกับอาทิตย์จงให้ได้ รวมไปถึงสร้างเรื่องราวว่าอาทิตย์จะใช้กำลังปลุกปล้ำกระทำชำเราเธอ ด้านหนึ่งก็อาจทำให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง เพราะขาดความรักความไยดีจากคนรอบข้าง แบบที่แป้งกล่าวว่า “แป้งไม่มีอะไรจะเสีย พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย แป้งไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพี่อาทิตย์”         แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพเดียวกันนี้ก็อาจทำให้สายตาของผู้คนในสังคมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับอากัปกิริยาที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ต่อต้านท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการแสดงความปรารถนาดิบลึกเชิงชู้สาวในที่สาธารณะเยี่ยงนี้ เฉกเช่นประโยคที่อาทิตย์ได้พูดกับแป้งแบบไม่เหลือเยื่อใยว่า “ต่อให้เหลือผู้หญิงคนเดียวในโลก ฉันก็ไม่เอาเธอมาทำเมีย”         เพราะเหตุผลของวัยรุ่นไม่ได้มีอำนาจและความชอบธรรมเท่ากับเหตุผลของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นด้วยนิสัยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานเช่นนี้ ในที่สุดครองประทีปก็ตัดสินใจส่งแป้งไปศึกษาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ห่างไกลจากอาทิตย์และไร่แสงตะวัน         และก็อย่างที่ทุกคนก็ตระหนักกันดี สถาบันการศึกษาหาใช่เพียงแหล่งผลิตและถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการขัดเกลาและจัดวินัยวัยรุ่นผู้มักมีจิตสำนึกขบถ ให้เข้ารีตเข้ารอย จนพร้อมจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ที่อยู่ใต้อาณัติของกฎกติกาแห่งสังคม         ดังนั้น 6 ปีที่เธอจากไป หญิงสาวก็ได้หวนกลับมายังไร่แสงตะวันพร้อมกับความรู้สึก “สำนึกบาป” เป็นแป้งคนใหม่ ผู้ซึ่งผ่านการขัดและเกลาวินัยแห่งร่างกายและจิตใจมาแล้ว แต่เพราะใครต่อใครในไร่แสงตะวันก็ยังคงรำลึกและรังเกียจภาพวีรกรรมที่เธอเคยทำเอาไว้เมื่อครั้งอดีต เธอจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจากประชาคมผู้คนในไร่ เพื่อจะยืนยันมั่นใจให้ได้ว่า แป้งได้กลับตัวกลับใจแบบ 360 องศาแล้วจริงๆ         ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษจากพี่อาทิตย์ที่ให้แป้งล้างคอกวัว ล้างจานชามของคนงานในไร่ทุกคน ขุดดินดายหญ้า ไม่ให้กินข้าวกินปลา ไม่ให้อาบน้ำอาบท่า ไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในบ้านพัก ไปจนถึงการลงทัณฑ์ให้เธอต้องกินข้าวในถาดของสุนัข         แม้จะมีบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าสถานกักกันนักโทษ แต่เพราะวัยรุ่นเป็น “ข้อต่อข้อสุดท้าย” ก่อนที่จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บทลงทัณฑ์เหล่านี้จึงสรรค์สร้างขึ้นบนความชอบธรรมแห่งการจัดวินัยเพื่อดัดพฤตินิสัยว่า แป้งจักได้กลายเป็นคนดีหรือเป็น “คนที่เชื่องๆ” ไร้ซึ่งจิตสำนึกขบถนั่นเอง เหมือนที่แป้งก็มักจะพูดกับตนเองเป็นระยะๆ ว่า “เราต้องทนให้ได้ เรากำลังใช้กรรมอยู่”         ครั้นพอถึงในฉากจบ แน่นอนว่า หลังจาก “ชดใช้กรรม” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองได้ปลอดคราบไคลจิตสำนึกขบถจากบรรทัดฐานแห่งสังคมไปแล้ว แป้งก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากประชาคมไร่แสงตะวัน และลงเอยครองคู่กับพี่อาทิตย์ตามสูตรของละครแนวโรแมนติกดรามาไปในที่สุด          ทุกวันนี้ แม้ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยืนหยัดเชื่อมั่นในเหตุผลและกฎกติกาที่ตนได้ขีดเขียนเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว ตัวละครแบบแป้งผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสำนึกขบถต่อต้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็หาได้จางหายไปจากโลกแห่งความจริงไม่ ความเกลียดกลัววัยรุ่นก็ยังคงดำรงอยู่ และจะดำเนินต่อไป “ตราบฟ้ามีตะวัน” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กลไกความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย : กรณีศึกษาของระบบประกันสังคมเยอรมัน

        ประเทศเยอรมนีได้จัดว่าเป็นต้นแบบของระบบรัฐสวัสดิการ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ทุกคนมีสิทธิ และหน้าที่จากการทำงานมีรายได้ จะต้องสมัครเข้าร่วมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้มีรายได้รายเดือน จะถูกหักเข้ากองทุน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานจนถึงวันเกษียณอายุการทำงาน แบบอัตโนมัติทันที เงินที่ถูกหักจากรายได้ของคนทำงานรายเดือน ประกอบด้วย        · เงินประกันการตกงาน (Arbeitsloenversicherung: ALV)        · เงินบำนาญ (Deutsche Rentenversicherung: DRV)        · เงินประกันสุขภาพ (ภาคบังคับ Gesetzliche Krankkenverischerung: GKV)        · ประกันอุบัติเหตุ (ภาคบังคับ Gesetzliche Unfallversicherung: GUV)        · ประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพ เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามพิการ หรือชราภาพ (Pflegeversicherung: PV)         เสาหลักของระบบรัฐสวัสดิการ ของกองทุนดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายประกันสังคม 5 ชุดในแต่ละประเด็นดังนี้ คือ        · ระบบการช่วยเหลือผู้ตกงาน บรรจุอยู่ใน the 3rd  book of social code  (SGB III)        · ระบบประกันสุขภาพ บรรจุอยู่ใน the 5th book of social code  (SGB V)        · ระบบเงินบำนาญ บรรจุอยู่ the 6th  book of social code  (SGB VI)        · การประกันอุบัติเหตุ อยู่ใน the 7th  book of social code  (SGB VII) และ        · การประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพใน the 11th book of social code  (SGB XI)         ถึงแม้ว่าจะมีกลไกการประกันสังคม ในเรื่องเงินบำนาญหลังเกษียณให้กับประชาชนทุกคนแต่ก็พบว่า ประชาชนวัยชราหลังจากเกษียณแล้ว ได้รับเงินบำนาญในอัตราที่ต่ำกว่าค่าครองชีพอยู่มาก และไม่ได้มีสมบัติเก่าจากมรดกในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลจึงมีกลไกการช่วยเหลือ อีกทางหนึ่ง คือ ระบบการประกันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (basic life security: Grundsicherung)         สำหรับความช่วยเหลือของรัฐบาลในกรณีนี้ ก่อนที่จะอนุมัติความช่วยเหลือ ผู้ที่มีสิทธิในการยื่นคำขอจะถูกตรวจสอบ รายได้ และทรัพย์สินอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่า เงินช่วยเหลือนี้ ได้ส่งไปถึงผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจริงๆ จากสถิติของ สำนักงานสถิติแห่งประเทศเยอรมนี ในปี 2018 มีผู้ได้รับสิทธิในการให้ความช่วยเหลือถึง 550,000 คน         กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถสะสมเงินประกันสังคมได้เพียงพอ สำหรับชีวิตหลังเกษียณ (ซึ่งสะท้อนรายได้ของประชาชน กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ก็มักจะได้เงินบำนาญที่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ก็มักจะได้รับเงินไม่เพียงพอ) สาเหตุที่ทำให้ ประชาชนมีรายได้น้อย คือ การเจ็บป่วย การตกงานเป็นระยะเวลานานๆ         ขอยกตัวอย่างคนทำงานที่มีรายได้เฉลี่ย 1,621 ยูโร ส่งเงินประกันสังคม นาน 45 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญ เพียงครึ่งเดียว คือเดือนละ 743 ยูโร ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่า ค่าครองชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิตของเงินประกันคุณภาพชีวิต (basic life security) ที่ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 800 ยูโร         และเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและจำนวนเงินที่เหลือใช้แต่ละเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยในการกำหนดเงินช่วยเหลือ        สำหรับพื้นที่อาศัยของประชาชนที่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเภทนี้ ได้กำหนด ไว้ว่า        ห้องสำหรับ ผู้อยู่อาศัย 1 คน ขนาด 45- 50 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 2 คน ขนาดไม่เกิน 60 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 3 คน ขนาด ไม่เกิน 75 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 4 คน ขนาดไม่เกิน 90 ตารางเมตร         แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดสิทธิประโยชน์ และจำนวนเงินที่จะได้รับแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานประกันสังคม ดังนั้นหากมีกรณีพิพาท ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการต่อสู้คดีในศาลประกันสังคมได้ (Sozialgericht: Social Court)        กลไกดังกล่าว จะสามารถทุเลาสภาพยากจนตอนชราภาพได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนำกลไกดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทย คงต้องพิจารณ ถึงบริบทครอบครัวไทยตลอดจนสังคมเมือง สังคมชนบท และชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ แตกต่างกันด้วย          (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 3/2017 และ ปรับปรุงข้อมูล ฉบับ 11/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2562

เจ็บป่วยโรคหน้าร้อน ใช้สิทธิประกันสังคมได้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยขณะนี้ไทยเข้าสู่หน้าร้อน ซึ่งมีโรคอันตรายที่เกิดในฤดูนี้ 6 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า หากผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย         แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หลังจากนั้นให้ญาติรีบแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยด่วน เพื่อรับตัวไปรักษาต่อ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ ใน 3 วันแรก (72 ชม.) ตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนด เตรียมต่อยอดวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์กรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมยึดกัญชาของกลางที่ใช้ผลิตน้ำมัน และการแถลงข่าวของ นายเดชา สิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 ว่าเตรียมร่วมมือพัฒนายาที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เพื่อยกระดับยาจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น         ภญ.สุภาภรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา และยืนยันสถานะการเป็นหมอพื้นบ้านของนายเดชาว่า นายเดชามีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะหมอพื้นบ้าน และเป็นคนแรกๆ ที่รู้จักการใช้รางจืดในการรักษาโรคหรือล้างพิษ ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายเดชาจึงมีความเป็นหมอพื้นบ้านโดยพฤตินัย และเป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคม         ส่วนการรับรองตามระเบียบคาดว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายเดชาทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขการรับรอง เช่น มีความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และถ่ายทอดความรู้ให้สังคม         ทั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับยาหยอดที่มีสารสกัดจากกัญชาของนายเดชาจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่นั้น คิดว่าถึงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐ ควรใช้โอกาสจากกรณีนายเดชา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสม เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถใช้กัญชาในการดูแลตัวเอง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านได้ช่วยเหลือคนตามที่เคยดำเนินการมา กรมอนามัยแนะคนติดหวาน แม้เครื่องดื่มน้ำตาล 0% ก็เสี่ยงอ้วน         อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า น้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล จะใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมทดแทน แม้ไม่ให้พลังงาน แต่สารให้ความหวานเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ทำให้เกิดการติดรสหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ร่างกายหิวง่ายและกินมากกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเอง และกลายเป็นคนไม่ติดหวาน กรมควบคุมโรค เตือนอากาศร้อนจัดระวัง 'ฮีทสโตรก'         กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) พบผู้เสียชีวิต ในปี 2558 - 2561 จำนวน 158 ราย ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการต้องสงสัยว่าป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยายาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม หรือห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดร่างกายด้วยน้ำเย็น ถ้ามีสติให้ดื่มน้ำ สำคัญสุดเป็นอันดับแรกคือการทำให้อุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยลดลงก่อน หากมีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที อาลัย "สำลี ใจดี" เภสัชกรหญิงนักสู้วงการสาธารณสุขไทย         เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี นักต่อสู้วงการสาธารณสุขไทย ผู้เป็นแบบอย่างของการทำงานทางสังคมตลอดชีวิต ซึ่งอาจารย์ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 00.57 น. ของวันที่ 7 เม.ย.62         ผศ.ภญ.สำลี นั้นนับได้ว่าเป็นนักสู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน ในสมรภูมิสิทธิบัตรยา โดยการพาลูกศิษย์ไปทำค่ายอาสาในสู้ไม่ถอย ทำให้ได้พบการใช้ยาแบบผิดๆ จากความยากจน ความไม่รู้และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนผลิตและขายยากลายเป็นที่มาของการนำลูกศิษย์ ก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาปัญหายา” เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยากับประชาชน นำไปสู่การรณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด ยาซอง ยาแก้ปวด ควบคู่ไปกับการยกเลิกตำรับยาที่ไม่เหมาะสม         ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพถ้วนหน้า ผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ต่อสู้เพื่อฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย การนวดไทยให้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา         นอกจากนี้ ผศ.ภญ.สำลี ยังได้เปิดโปงการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เป็นประธานกรรมการที่กำกับดูแลงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ปลดล็อกการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และผลักดันให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 M Help Me ช่วยเหลือคนทั้งมวล

                สังคมโซเชียลในปัจจุบันมีให้เห็นข่าวภัยอันตรายที่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าสังคมไทยมีแต่เรื่องน่ากลัวไปหมด ผู้ใหญ่เริ่มเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกหลานกันมากขึ้น จนอาจถึงขั้นวิตกกังวล หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เรียนวิชาป้องกันตัว การลงทุนซื้อรถยนต์ส่วนตัวให้ เป็นต้น         ด้วยภัยอันตรายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในปัจจุบัน จนทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต เครื่องมือหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยได้ส่วนหนึ่งก็คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” มาบนสมาร์ทโฟนที่ผู้อ่านใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน “M Help Me” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ในการเข้าป้องกัน ให้ความช่วยเหลือ และแจ้งข่าวสารในด้านต่างๆ เมื่อเข้าแอปพลิเคชันครั้งแรกจะต้องเลือกภาษาที่ต้องการ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) และเริ่มต้นการใช้งานโดยกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานระบบแอปพลิเคชัน         ภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนูด้านบนสุด จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร กรมเจ้าท่า สำนักงานสถิติ กรมทรัพยากร กระทรวงพัฒนาการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น หรือสามารถเข้าได้ในเมนูถัดไปที่เขียนว่าแจ้งข่าวสารก็ได้         ถัดลงมาจะเป็นการแสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้แอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ ต่อจากนั้นจะเป็นหัวข้อการช่วยเหลือ ซึ่งจะรวบรวมแบบฟอร์มการร้องทุกข์ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ และยังมีข้อมูลการช่วยเหลือที่แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ สายด่วน แผนที่ เตือนภัย และประกาศ        สามารถค้นหาสถานที่สาธารณะในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ สถานพยาบาล หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานีรถไฟ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยจะปรากฎเป็นแผนที่เส้นทางให้อัตโนมัติ        ที่สำคัญของแอปพลิเคชันนี้คือ ปุ่มแจ้งเหตุ โดยผู้ใช้ต้องเลือกหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุระหว่างกองบังคับการตำรวจจราจรกับศูนย์ความช่วยเหลือ และกรอกข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งเป็นข้อความหรือภาพถ่าย ภาพวิดีโอ เพื่อส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยังปลายทาง         ส่วนบริเวณด้านล่างสุดของหน้าแอปพลิเคชันยังมีส่วนของการรายงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แสดงให้ทราบว่ามีผู้ที่รอความช่วยเหลือและช่วยเหลือสำเร็จแล้วกี่คนบ้าง        ต่อไปเป็นปุ่มที่สามารถใช้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องการได้รับความช่วยเหลือทันที เป็นปุ่มสีแดงที่เขียนว่า SOS เมื่อกดเข้าไปจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเริ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินภายใน 3 วินาที ซึ่งปุ่ม SOS นี้มีความสำคัญอย่างมาก         ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจึงควรที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาเก็บไว้ใช้งานกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เพราะแอปพลิเคชัน “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” สามารถช่วยเหลือคนทั้งมวลเหมือนตามชื่อแอปพลิเคชันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์ “Socialbot”

มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์  “Socialbot”ประเทศของเรากำลังเข้าสู่ โหมดการเลือกตั้ง(รัฐบาลประกาศ 24 ก.พ. 62) และใกล้เวลาสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งเต็มรูปแบบเข้ามาทุกขณะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา Artificial Intelligence (AI) ได้ถูกนำมาใช้ ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา จนทำให้เกิดบทเรียนมากมายจากเหตุการณ์ดังกล่าว  การใช้ Socialbot ซึ่งเป็นตัวอย่างของการใช้ AI ให้เป็นอาวุธทางการเมือง จนอาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายและหลักการการหาเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นบทความนี้ขอกล่าวถึง เรื่อง Socialbot เนื่องจาก อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเลือกตั้งในบ้านเมืองของเราได้เช่นกัน      Bot มาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งคำเต็มๆ คือ Robot นั่นก็คือหุ่นยนต์ที่เรารู้จักกันดี แต่ในบริบทของโลกยุคไซเบอร์ ความหมายคือ Artificial Intelligence รูปแบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ เสมือนคนใน สื่อสังคมออนไลน์ เช่นใน Facebook หรือ twitter โดยจะส่งข่าวสารหรือความเห็นผ่านไปยังสื่อโซเชียลเหล่านี้ โดยพยายามในการสร้างกระแสขึ้นมา สำหรับคนทั่วๆ ไป เป็นการยากที่จะจำแนกว่า ข้อความหรือความเห็นดังกล่าวมาจาก Socialbot หรือ มาจากคนจริงๆ ในสื่อโซเชียล สำหรับเหตุผลในการใช้ Socialbot ก็คือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง รูปแบบการทำงานของ Socialbot คือ ค้นหา Keywords ในสื่อโซเชียล เมื่อค้นพบคำดังกล่าว ก็เริ่มปฏิบัติการให้ข้อมูลหรือ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ และพยายามในการสร้างบทสนทนากับคน(จริงๆ) โดยที่คนทั่วๆ ไปไม่ทราบเลยว่ากำลังพูดคุยกับ Socialbot อยู่ ความสามารถของ Socialbot คือ สามารถเลียนแบบพฤติกรรมหรือ รูปแบบการสนทนาของมนุษย์ได้ สามารถขอเป็นเพื่อนกับเราได้ใน Facebook สามารถติดตามการ twit ของมนุษย์ ใน twitter หรือส่งข้อความที่สร้างโดย Socialbot ได้เองอีกด้วย การทำงานของ Socialbot มีหลายอย่างแต่สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ใหญ่ ได้ 3 กลุ่มคือ  1 Overloadingเป็นกลไกการส่งข้อมูลเพื่อทำให้เกิดการท่วมท้น page ใด page หนึ่ง ในกรณีที่ Socialbot พบคำสำคัญ(Keywords) ที่ถูกกำหนดไว้ในโปรแกรม และทำการตอบโต้ ด้วยการกระทำดังกล่าวเพื่อทำลายกระบวนการ dialogue หรือ discuss ในประเด็นทางการเมืองนั้น 2 Trendsettingเป็นกลไกที่ Socialbot กำหนด เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะทั้งๆ ที่ ประเด็นนั้น เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ Socialbot ทำหน้าที่ในการปั่นกระแส จนคนที่ใช้ Social Media จริงๆ ก็อาจหลงไปร่วมถกแถลง อภิปรายในประเด็นนั้นๆ ด้วย เพราะเข้าใจว่า เป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจสาธารณะ และบางครั้งอาจติดกับไปกับกระแสดังกล่าว ที่เป็นเพียงข่าวปลอม (Fake News) 3 Automatic trollsเป็นรูปแบบ ของ Socialbot ที่ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจ ในประเด็นหลักของการสนทนาของคน 2 คน และหากคู่สนทนาติดกับดักก็อาจต้องเสียเวลาหลายๆ ชั่วโมงกับบทสนทนาที่ไร้ความหมายเหล่านี้ โดยที่ไม่ทราบว่ากำลังสื่อสารกับ Socialbot อิทธิพลของ Socialbotบ่อยครั้งที่ การทำงานของ Socialbot ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ Hate Speech และความรุนแรง โดยที่มียอดกด ไลค์ กดแชร์สูงมากจนคนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นความเห็น ความชอบ ความนิยมของคนจริงๆ ส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ย่อมมีอิทธิพลต่อคนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ ผลการศึกษาในประเทศเยอรมนี ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ยังมีข้อโต้แย้งถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ต่อผลการเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนประชากรที่ใช้ สื่อสังคมออนไลน์ในเยอรมนียังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในประเทศเยอรมนีพรรคการเมืองทุกพรรคทำสัตยาบันร่วมกันว่า จะไม่ใช้ Socialbot ในการหาเสียง จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเหมือนกับการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับแนวทางการจัดการการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส และเป็นธรรม การเฝ้าระวังและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แหล่งข้อมูลที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้ ก็เป็นเวบไซต์ที่ให้ความรู้ในเชิง รู้เท่าทันสื่อโซเชียล ที่เกิดจากการทำงานของ สื่อสาธารณะและองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองมาทำหน้าที่จัดการเรื่องความรู้ของสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคม

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเอกสารแจ้งรายละเอียดเงินสมทบกรณีชราภาพ ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสในสังคมเกี่ยวกับการตรวจสอบเงินสมทบว่า สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ใดบ้าง  ฉบับนี้จึงขอมานำเสนอข้อมูลการเข้าตรวจสอบดังกล่าวให้ได้ทราบกันขอให้ความรู้สักนิดเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม โดยปกติการมีสิทธิประกันสังคมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำงานและเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 (ยังทำงานในสถานประกอบการ) หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ออกจากงานและยังส่งเงินประกันสังคมต่อ) แต่ปัจจุบันมีมาตรา 40 ขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องการมีสิทธิประกันสังคมในเรื่องการทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ เงินชราภาพและกรณีเสียชีวิต แต่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาท         กลับมาที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมให้เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม                    ได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เริ่มต้นจากการคลิกสมัครสมาชิก โดยเว็บไซต์จะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านที่ตั้งขึ้น ชื่อนามสกุล เบอร์มือถือ วันเกิดและเมล จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP เข้าเบอร์มือถือที่ให้ไว้ และนำไปกรอกบนหน้าเว็บไซต์ คลิกยืนยัน  หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อจากนั้นผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปที่คำว่าผู้ประกันตน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ดังนี้ ข้อมูลผู้ประกันตน ข้อมูลการส่งเงินสมทบ ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ และตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ในข้อมูลผู้ประกันตน จะแจ้งข้อมูลชื่อนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานพยาบาลที่เลือกไว้ ในส่วนข้อมูลการส่งเงินสมทบ จะแสดงรายละเอียดงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน จำนวนเงินสมทบที่นำส่ง โดยจะมีข้อมูลแยกเป็นรายเดือน สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ประกันตนเคยขอรับ อย่างเช่น กรณีการทำฟันที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท เป็นต้น ต่อไปเป็นการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ จะเป็นรายละเอียดเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นยอดรวมจำนวนเงินในแต่ละปี ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเงินออมที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร เรื่องการยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ก็จะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล ซึ่งจะสอดคล้องกันกับเรื่องประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล อันสุดท้ายคือเรื่องตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินโดยต้องสมัครขอรายละเอียดในเรื่องนี้ตามขั้นตอนต่อไป หลายคนอาจไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกันสังคมของตนเองเลย หรืออาจไม่เคยเข้าใจว่าเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออม ดังนั้นการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลของตนเองถือว่าเป็นสิทธิและเป็นข้อดีสำหรับเราแม้ว่าคนไหนจะเคยทำงานเมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้ทำงานมาหลายปี แต่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อขอรับสิทธิเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออมได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม

ซูเปอร์มาร์เก็ต คือหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว การเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงและสร้างงานโดยอ้อมจำนวนมาก การเป็นปลายทางของสินค้าของซัพพลายเออร์  เกษตรกร ชาวประมงและผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับล้านทั่วประเทศ หากจะกล่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ต คือคนกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกันคงจะไม่ผิดนักปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ตงานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (2561) ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในหลายประเทศทั่วโลก เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เนื่องมาจากรายได้ที่จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ การขาดอำนาจการต่อรอง และพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาไปถึงผู้ซื้อ ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปนั้น มีรายได้ที่เติบโตน้อยกว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา ในบางรายต้องทำงานเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และพบแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแม้ว่าจะมีงานทำ(In-work Poverty) ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้อผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่ามีนโยบายครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร เป็นที่มาของงานรณรงค์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้ กรอบการประเมินนโยบายด้านความเท่าเทียมและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทค้าปลีก  เพื่อมองภาพสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  โดยหวังให้เกิดความร่วมมือหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายอาหารรายใหญ่ในระบบอาหารของไทย บริษัทค้าปลีกที่ได้รับการประเมินนโยบายในปี 2560-2561 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะนั้น พิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของกลุ่มสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการติดต่อและได้รับการประเมินมีทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ซีพี เฟรชมาร์ท, และ Gourmet Market    ทั้งนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความเป็นธรรมและยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีองค์การอ็อกแฟมในระดับสากลเป็นองค์กรผู้ประเมิน โดยใช้กรอบการประเมินชุดเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทยกรอบและแนวทางการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทยกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอ้างอิงมาจากกรอบ Food Retailers Accountability Tool ขององค์การอ็อกแฟมในระดับสากล โดยประกอบไปด้วยการประเมินใน 4 มิติ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการรายย่อย และด้านสตรี ซึ่งทั้งสี่มิติถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พิจารณาจากการมีนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนคณะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท(Human Rights Due Diligence) การพัฒนาและปรับใช้กลไกร้องทุกข์และการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ(Grievance Mechanism and Remedy) ตลอดจนการมีมาตรฐานจริยธรรมทางการค้าและการตลาด(Ethical Marketing Standards)มิติด้านแรงงาน ครอบคลุมถึงการมีนโยบายสิทธิแรงงานสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทงยึดตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ การไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในองค์กร ตลอดจนการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานมีนโยบายและแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกจากนี้มิติด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการที่บริษัทเข้าร่วมหรือจัดตั้งการริเริ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าเชื่อถือ(Credible Multi-stakeholder Initiatives) เพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมิติด้านผู้ประกอบการรายย่อย การประเมินในมิติผู้ประกอบการรายย่อยนั้น องค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessments: HRIAs) ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงของผู้ผลิต การมีแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้ผลิต ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้ของผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานมิติด้านสตรี เน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากการลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ(UN Women's Empowerment Principles), ความโปร่งใสในการติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตรีในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท การประเมินผลกระทบของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสตรี การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้นหลักการประเมินจะพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายของบริษัทที่เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์กร รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนหลักจริยธรรมพนักงานและนโยบายการจัดซื้อที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น โดยพิจารณาจากนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โครงการ รวมถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรีเหตุผลหลักในการพิจารณาจากข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากสามารถแสดงให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกในการเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารระยะเวลาการดำเนินการและการมีส่วนร่วมการประเมินครั้งนี้ทางภาคีทั้งสามองค์กรได้ประสานกับทางบริษัทค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ภายใต้กรอบเวลาที่เพียงพอ (4 เดือน) ให้ทางบริษัทสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาในกระบวนการทำงาน ทางภาคีทั้งสามให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล และคำอธิบายเพิ่มเติมแก่ทางบริษัทค้าปลีกที่ถูกประเมิน ตลอดจนยินดีตอบคำถามและข้อสงสัยเพื่อให้ทางการจัดทำ Scorecard ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เชิญทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด เข้าร่วมพบปะเพื่อร่วมรับฟังหลักการและเหตุผล กรอบและแนวทางการประเมินนโยบาย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนสามารถสอบถามข้อมูลและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินในครั้งนี้นอกจากนี้ในระหว่างช่วงที่ทำการประเมิน บริษัทยังสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายด้วย ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  ข้อสรุปจากการประเมินนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทยทั้ง 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-เมษายน 2561 มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้1. ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเพียงบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานประจำปี และรายงานด้านความยั่งยืนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายรายนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือมีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มีผลการประเมินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ 2. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้มากกว่ามิติอื่นๆในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 ราย ได้รับคะแนนในประเด็นการส่งเสริมให้เกษตรกรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนจัดการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามประเด็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยสามารถพัฒนาได้อีกคือการพัฒนานโยบายและข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม (Sourcing practices and fair deals) เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทได้รับข้อตกลงที่โปร่งใส มั่นคง และยาวนานเพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอานาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้และให้ได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมเกษตรรายย่อยในปัจจุบันมักเป็นการทำงานเชิงโครงการในแต่ละกลุ่มสินค้าหรือแต่ละพื้นที่มากกว่าเป็นนโยบายที่มีความผูกพันกับองค์กร3. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังสามารถทำให้ดีขึ้นคือมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) และมิติด้านแรงงาน (Workers) ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ต 3 รายที่ได้รับคะแนนในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ช่องว่างที่สำคัญคือการขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดจนการตรวจสอบด้านมนุษยนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ต่อไป นอกจากนี้มีบริษัทค้าปลีกเพียงส่วนน้อยที่แสดงคำมั่นอย่างเปิดเผยในการยอมรับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล4. มิติด้านสตรีเป็นมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนน้อยที่สุด ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวมิได้แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสตรีหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจนและเปิดเผย ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบายที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ดีที่เห็นได้บางประการคือมีซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางรายมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรี หรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้และลดความเปราะบางให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายจาก 7 รายที่มีผลการประเมิน ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลการประเมินในแต่ละหมวดแสดงถึงการที่บริษัทค้าปลีกรายนั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสที่แตกต่างอย่างมีนัยยะจากองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และต้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก  ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจหรือต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านรายงาน “ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย กับนโยบายสาธารณะด้านสังคม” ฉบับเต็มได้ที่ www.dearsupermarkets.com------------------------------------------------บทบาทและความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.4% ภาพของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก ในปี 2544 สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกส่งสมัยใหม่อยู่ที่เพียง 25% ในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทนธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือมีสัดส่วนเกินกว่า 60% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดนอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ คิดเป็นอันดับสามรองจากภาคการเกษตรและภาคบริการ ข้อมูลในในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศมีการจ้างงานประมาณ 6.6 ล้านคนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตและการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ในปี 2559 อยู่ที่ 218,163 ล้านบาท รองลงมาคือแม็คโคร (172,790 ล้านบาท) และบิ๊กซี (120,918 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาทนอกเหนือไปจากสัดส่วนทางการตลาดที่สูง ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (Market Penetration) และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 อันดับแรกของไทยมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนกระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น กล่าวได้ว่าจากนี้ต่อไปหน้าร้านของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แค่เพียงสาขานับพันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเช่นกันในบรรดาสินค้านับหมื่นชนิดที่วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า กลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ คือสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2558) สินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสำคัญกับซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 SSO Connect บัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์

ฉบับนี้ขอเอาใจผู้อ่านที่ใช้บริการประกันสังคมกันสักหน่อย ทั้งผู้ทำงานและผู้ที่เคยทำงานที่ต้องใช้บริการประกันสังคม โดยปกติผู้ที่มีสิทธิการใช้ประกันสังคมจะได้รับบัตรประกันสังคมประจำตัวคนละใบ ซึ่งในบัตรจะระบุรายละเอียดชื่อผู้ถือบัตร เลขบัตรประชาชน สถานพยาบาล ระยะเวลาการหมดอายุของบัตร แต่ถ้าผู้ถือบัตรอยากทราบข้อมูลการส่งเงินสมทบ การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เงินสงเคราะห์ชราภาพที่ตนส่งนั้นมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน สามารถเข้าตรวจสอบรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ประกันสังคมโดยตรง แต่ทั้งนี้ต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกในระบบดังกล่าวเสียก่อนจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้สังคมยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดียในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนที่เป็นไปอย่างแพร่หลาย  สำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน จึงพัฒนาระบบและการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเข้าถึงงานบริการของรัฐในรูปแบบของบัตรประกันสังคมออนไลน์ ที่สามารถใช้งานได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้เปิดบริการออนไลน์ที่มีชื่อว่า SSO  Connect ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการออนไลน์ได้ที่ ssoconnect.mywallet.co หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น my SSO ได้ทั้งระบบ ios และ Andriod เมื่อเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co ระบบจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะมีเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้บริการบัตร SSO  Connect ให้อ่านและกดยอมรับ ระบบจะบอกขั้นตอนและตัวอย่างในการปฏิบัติ เพื่อทำการดาวน์โหลดบัตรประกันสังคม ส่วนแอพพลิเคชั่น my SSO ก็จะมีให้ลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบเช่นกันภายในบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ จะปรากฏชื่อผู้ประกันตน ยอดเงินการใช้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม สิทธิสถานพยาบาล ยอดเงินสมทบทั้งหมด วันหมดอายุของบัตร โดยบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ออกให้จากประกันสังคม นอกจากนี้บนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะมีปุ่มสัญลักษณ์วงกลม i  ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากบนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วันออกบัตร วันหมดอายุบัตร สิทธิประโยชน์ของคุณ ประวัติการส่งเงินสมทบและการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ โดยเมื่อคลิกเข้าสู่ระบบเพื่อดูข้อมูลสิทธิประโยชน์จะเชื่อมต่อไปที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th สำหรับบนแอพพลิเคชั่น my SSO จะมีเมนูข้อมูลส่วนตัว เงินสะสมชราภาพ เงินสมทบผู้ประกันตน ตรวจสอบสถานการณ์เบิกสิทธิประโยชน์ และเมนูสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้การบริการออนไลน์ SSO  Connect บนหน้าบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะอัพเดทข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยให้ผู้ประกันตนทราบข้อมูลปัจจุบันล่าสุด และถ้าเกิดมีข้อสงสัยการบริการออนไลน์ SSO  Connect ก็จะมีเบอร์ติดต่อ พร้อมกับเบอร์สายด่วนการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 25601 เม.ย.ทำฟันประกันสังคมกับ รพ.รัฐไม่ต้องสำรองจ่าย 1 เมษายน 2560 นี้ ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการด้านทันตกรรมที่โรงพยาบาลรัฐ ทั้งโรงพยาบาลสังกัด สธ., สังกัดกระทรวงกลาโหม, สังกัดกทม. และ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ตามสิทธิ 900 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่วางกำหนดไว้วันที่ 1 ก.พ. เพื่อให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 530 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง ทั้งนี้ก่อนรับบริการให้สังเกต “สติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม” ที่จะติดไว้ที่คลินิกที่ร่วมโครงการ ซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายผู้ประกันตนที่พบปัญหาจากใช้บริการหรือพบคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีสติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม แต่ยังมีการเรียกเก็บเงิน สามารถโทร.แจ้งเอาผิดได้ที่สวยด่วน สปส. โทร. 1506 คิดดอกเบี้ยเงินกู้โหด เจอโทษตามกฎหมายจากนี้ไปลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยโหดอีกแล้ว เพราะล่าสุดได้มีการออกพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กำหนดให้ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดโทษไว้ว่าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 พันบาทนอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการระบุว่า ห้ามกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอันตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีการระบุว่าจะเรียกรับประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรือโดยวิธการอื่นใด จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้สารกันบูดน้อยลง แต่ยังเจอเกินค่ามาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัย โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือการควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียโดยมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 - 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง ซึ่งค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้พบคือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนกรดซอร์บิค พบประมาณร้อยละ 3.1 ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 - 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลงจาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังเกินกว่าค่ามาตรฐาน“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ชื่อนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เตรียมเปลี่ยนชื่อโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ เป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาความเข้าใจผิด ของทั้งผู้ป่วย ญาติ และสถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเรื่องสถานพยาบาลเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยโดยการใช้คำว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับสีแดง ซึ่งสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ทุกสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งหลักการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงที่ กพฉ. กำหนด แบ่งเป็น 25 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3.สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6.หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด 14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19.เด็ก กุมารเวช 20.ถูกทำร้าย 21.ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24.อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25.อื่นๆ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669ชัดเจน!!! ห้ามใช้ “โคลิสติน” ในฟาร์มสัตว์หลังจากมีข่าวว่ามีการตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายจังหวัดมีการใช้ยา “โคลิสติน” (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เพราะทำให้เกิดการดื้อยาทั้งในคนและสัตว์เรื่องดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลกับผู้บริโภคไม่น้อย กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่จัดการดูแลปัญหานี้โดยตรงก็ไม่รอช้าเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความรวดเร็ว โดยได้ออกคำสั่ง “เรื่อง การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยเนื้อหาสำคัญในประกาศ คือการสั่งห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะแต่ก็ยังผ่อนปรนให้สามารถใช้ยาโคลิสตินได้ ในกรณีที่สัตว์ป่วยแล้วไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล“ยาโคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวะที่นิยมใช้รักษาหมูท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย “อี.โคไล” แต่เมื่อปีที่แล้วมีข่าวว่าจีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ที่สามารถส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะนี้มีรายงานการพบยีนดื้อยาตัวนี้ในมนุษย์ หมู และไก่ ช่วงปี 2010–2015 จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนธันวาคม 2559“ขนมควันทะลัก” กินได้แต่ต้องระวัง!!!“ขนมควันทะลัก” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนมชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมแล้วมีการนำ “ไนโตรเจนเหลว” มาเทใส่ทำให้เกิดควันลอยกระจายขึ้นมา เมื่อตักขนมเข้าไปในปากก็จะเกิดควันลอยออกมา มีกระแสข่าวลือตามว่า ไนโตรเจนเหลวที่นำมาผสมในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย รุนแรงถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า ก๊าซไนโตรเจน เป็นก๊าซที่มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาบีบอัดด้วยแรงดันสูงทำให้ก๊าซชนิดนี้อยู่ในรูปของเหลวและมีอุณหภูมิติดลบถึง 196 องศาเซลเซียส เมื่อนำมาเทใส่ในอาหาร เช่น ไอศกรีม เจลลี่ หรือ ค็อกเทล จะทำให้เกิดเป็นควันลอยขึ้นมา ซึ่งการรับประทานไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุตามที่มีการแชร์กัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานขณะที่ควันยังอยู่ในอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก ไม่ควรสูดดม และสัมผัสกับไนโตรเจนเหลวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสเกิดรอยแผลหรือรอยไหม้ได้ใช้แอพฯในมือถือเช็คมาตรฐานรถฉุกเฉินรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ถือเป็นหน่วยแรกที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนถึงมาตรฐานของรถพยาบาลเข้ามายังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. ก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้เพื่อวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อว่า “EMS Certified” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันไหนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วบ้าง โดยสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. หรือไม่ และ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่ที่ผ่านมา สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุก ที่มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ภายนอกต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 แสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ส่วนภายในรถก็ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง เฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิงสพฉ.ให้ข้อมูลเสริมว่า มีรถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ยังมีบ้างในบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการรับรอง แต่กำลังเร่งดำเนินการรับรองให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดโดยผู้ที่ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับกรมอนามัยชู “พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง” ส่งเสริมการบริโภคนมแม่กรมอนามัย ยืนยัน “พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” เป็นประโยชน์ต่อแม่และทารก ช่วยส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการให้เด็กรับประทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ขวบเป็นอย่างน้อย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก นมผงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับแม่ที่มีปัญหาเรื่องผลิตน้ำนมนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม เหตุที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว แม้จะมีความพยายามจากสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กหรือเพียงสูตรสำหรับเด็กอายุ 1 ปีเท่านั้นนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นโฆษณาที่พยายามส่งเสริมให้เด็กเล็กหันมากินนมผงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบลดแลกแจกแถม การเพิ่มสารอาหารต่างๆ ลงไป รวมทั้งการสื่อเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกว่าเด็กที่กินนมผงจะมีความรู้ความฉลาดและร่าเริงกว่าเด็กทั่วไปข้าราชการค้านย้ายสิทธิรักษาพยาบาลให้บริษัทประกันจากการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะโอนย้ายระบบสิทธิดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่รัฐเป็นผู้ดูแล ไปให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารงานทั้งหมดแทน โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการรั่วไหลของงบประมาณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากข้าราชการที่เกรงว่าการให้บริษัทประกันดูแลจะมองแต่เรื่องของผลกำไร ขาดทุน เป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ข้าราชการไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิที่ตัวเองควรได้รับอย่างเต็มที่โดย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้แถลงคัดค้านกรณีดังกล่าว นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การโอนสิทธิไปให้บริษัทประกันเอกชนบริหารอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งให้บริษัทเอกชนมาบริหารกว่าร้อยละ 40 ซึ่งบ่อยครั้งที่เมื่อมีผู้ประสบภัยมาขอรับการเยียวยา มักจะพบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่ทำได้ยาก มีความล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน ผู้ประสบภัยจากรถหลายคนต้องเลี่ยงไปใช้สิทธิด้านอื่นทั้งจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ที่มีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่สะดวกกว่าปัจจุบันเงินที่ดูแลระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท/ปี แน่นอนว่าเมื่อโอนย้ายไปให้บริษัทเอกชนดูแล งบประมาณจะต้องลดลงทันทีเพราะบริษัทจะกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหารจัดการ 10-25% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระทบต้องการดูแลเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่มากก็น้อย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2558 “สีย้อมผ้า” ห้ามใช้สารก่อมะเร็งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ. ออกมายืนยันแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศมาตฐารบังคับ (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ สีย้อมผ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้าที่วางขายในประเทศไทยมีการใช้สาร “อโรมาติกส์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปได้มีการประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าวแล้ว เพราะหากผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสารดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่ยังมีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์สีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำมัน และ สีเคลือบแอลคีด ในด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณโลหะหนัก อย่าง ตะกั่ว แคดเมียม ไม่ให้เกิน 100 พีพีเอ็ม เพราะสารโลหะหนักถือเป็นสารอันตรายที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งที่ผ่านมานิตยสารฉลาดซื้อเองก็เคยลงผลสำรวจว่า ยังพบการใช้สีน้ำมันที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ทาอยู่ตามอาคารต่างๆ เครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก ซึ่งโลหะหนักจะพบได้ในสีที่มีเฉดสีสดๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งสีที่ทาไปนานๆ อาจจะมีการหลุดร่อนออกมา หากเด็กๆ มีการสัมผัสหรือนำเข้าปากก็จะเป็นอันตราย   เพิ่มโทษคนขายเครื่องสำอางอันตรายในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้ผู้ใช้เสียโฉม อย.พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิด พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช่เครื่องสำอาง และต้องมีมาตรการเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาขายในประเทศ ที่สำคัญคือการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด จากเดิมที่ผู้ขายผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้ามจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ อย. ในการกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาเอาไว้ด้วย จากเดิมที่ต้องอ้างอิงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้การตรวจสอบและจัดการปัญหาน่าจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “คปภ.” จับมือ “ศาลยุติธรรม” พัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับมือร่วมทำงานกับ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องนำไปเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งใช้เวลานาน ถือเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทประกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีบริการอยู่มากมาย ซึ่ง คปภ. เองก็คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยในแต่ละปีมีเรื่องฟ้องร้องด้านประกันภัยมาที่ คปภ. ประมาณ 12,000 เรื่อง โดยสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% ในปี 2559 คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ กินหลากหลายลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปและเนื้อแดงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่เราทานกันเป็นปกติ เนื้อสัตว์มีโปรตีนซึ่งให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายของเรา ซึ่งผลวิจัยที่นำมาออกมาเผยแพร่นั้นเป็นผลวิจัยที่ได้จากห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้บริโภคเพียงแค่เนื้อสัตว์อย่างเดียว ข้อมูลที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำเตือนเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคมากกว่าที่เป็นไปในลักษณะของการห้ามการบริโภคแบบเด็ดขาด รศ.ดร.วิสิฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ ไม่ใช่แค่การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะเกิดโรคขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ เท่าที่มีหลักฐานคือ การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยน้อย ซึ่งตามปกติต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม นอกจากนี้เราควรกินอาหารแต่พอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่ให้ลำไส้อยู่นิ่งๆ และต้องขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ให้ลำไส้สะสมสารพิษ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีครอบคลุมหลายด้าน เช่น  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จากเดิมที่มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย กรณีคลอดบุตร และ สงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิให้ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง  พร้อมได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง จากเดิมที่มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้เพิ่มเป็นคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมที่ได้รับคราวละไม่เกิน 2 คน สำหรับกรณีว่างงาน ก็มีการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายด้านที่เพิ่มขึ้นในพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ผู้ประกันตนสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว สิงหาคม 2558 กสทช. สั่งปรับดีแทคให้ลูกค้าใช้เน็ตฟรี 1 กิกะไบต์เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ “ดีแทค” บางส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากมีสัญญาณต่ำมาก ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งทาง กสทช. ได้เรียกผู้แทนของบริษัท ดีแทค เข้ามาชี้แจงถึงเหตุของปัญหาดังกล่าวพบว่า เกิดจากอุปกรณ์โครงข่ายบางส่วนของดีแทค ได้เกิดความขัดข้อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคราว 50,000 ราย     ทาง กสทช. ได้สั่งให้ดีแทคเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางดีแทคได้แจ้งว่าจะชดเชยผู้ใช้บริการ 50,000 รายที่ได้รับผลกระทบ โดยจะให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มฟรี จำนวน 1 กิกะไบต์ ในรอบบิลถัดไป    ใครที่เป็นผู้ใช้เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือระบบดีแทคแล้วได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว หากไม่ได้รับจากชดเชยเยียวยาตามที่แจ้ง สามารถติดต่อสอบถามไปที่ ดีแทค คอล เซนเตอร์ โทร. 02-2027267 (โทรฟรี) หรือสายด่วน กสทช. 1200 ห้ามบรรจุภัณฑ์ทำไซต์ใหญ่ตบตาผู้บริโภคเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์หลายชนิดหลายยี่ห้อที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลที่ตั้งใจจะตบตาผู้บริโภค ให้สินค้าตัวเองดูมีขนาดใหญ่น่าจะให้ปริมาณเยอะ แต่แท้จริงมีของอยู่ไม่ถึงครึ่งบรรจุภัณฑ์ แถมยังเป็นเพิ่มปริมาณขยะอีกต่างหาก ซึ่งปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข หลังจากพบว่ามีร้องเรียนปัญหาด้งกล่าวเป็นจำนวนมากเข้ามายัง สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยมีการสำรวจสินค้าต่างๆ พบว่าสินค้ากลุ่มที่พบการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้พื้นที่มากเกินความจำเป็น ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ว่างเฉลี่ยถึง 15 - 35% แม้ว่าสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะมีน้ำหนักหรือปริมาณที่ตรงกับที่ระบุไว้ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ แต่การที่บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะเห็นบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ และคิดว่าปริมาณสินค้าด้านในจะมากใกล้เคียงกับขนาดบรรจุภัณฑ์โดยหลังจากนี้ สคบ. ตั้งใจที่จะออกเป็นข้อกำหนดหรือ พ.ร.บ. ควบคุมเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นช่วยผู้บริโภคไม่ให้เกิดความสับสน กระตุ้นให้ผู้ผลิตลดการใช้ทรัพยากรส่วนเกินและลดการเพิ่มปริมาณขยะ “ยากำจัดฝุ่นไร” เป็นยาอันตรายใช้ต้องระวังปัญหาเรื่องฝุ่นไรภายในบ้านถือเป็นเรื่องที่หลายๆ ครอบครัวกังวลและให้ความสำคัญ เพราะฝุ่นไรที่มักอยู่ตามที่นอน ผ้าม่าน อาจเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ได้ ซึ่ง อย. ก็ออกมาให้คำแนะนำก่อนที่ผู้บริโภคจะหาซื้อผลินภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ โดยเฉพาะต้องไม่ลืมคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดไรฝุ่นบ้านจัดเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อาจจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3  ขึ้นอยู่กับชนิดของสาระสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารสำคัญในผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ น้ำมันกานพลู (Clove Oil) และน้ำมันอบเชย (Cinnamon Oil)สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านนั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และมีการแสดงเลขทะเบียน วอส. (วัตถุอันตราย ) ในกรอบเครื่องหมาย อย. ควรอ่านฉลากก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีการใช้สําหรับที่นอน ฉีดผลิตภัณฑ์กําจัดไรฝุ่นให้ทั่วที่นอนแล้วใช้ผ้าห่มหรือพลาสติกคลุมทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แล้วจึงเปิดผ้าคลุมออก ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ สําหรับผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา โซฟา ฉีดสเปรย์ให้สัมผัสโดยตรง ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ ระวังอย่าให้ละออง เข้าตา ปาก หรือจมูกเมื่อเสร็จจากการใช้แล้วต้องรีบล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยว่าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายใดที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือไม่ สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ เลือกผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย และทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อ สารสําคัญ และเลขทะเบียนวัตถุอันตราย “ประกันสังคม” สิทธิทันตกรรมแย่สุดเมื่อเทียบ 3 สิทธิทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของ 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และประกันสังคม พบว่าแต่ละกองทุนมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมไว้ครอบคลุมไม่เท่ากัน โดยสิทธิประกันสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำที่สุด และกลุ่มที่เหมือนจะถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดด้วย เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่าย แต่สิทธิที่ได้รับการทำฟันน้อยมาก จำกัดเพียงแค่การถอนฟัน อุดฟัน การขูดหินน้ำลาย และใส่ฟันเทียมถอดได้ โดยมีเบิกจ่ายสูงสุดได้เพียงแค่ 600 บาทต่อปี และกำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายจากการทำหัตถการ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 300 บาท ถือว่าน้อยมากและยุ่งยากขณะที่ระบบบัตรทองให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการทำหัตถกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ยกเว้นการรักษาคลองรากฟัน ไปจนถึงการใส่ฟันเทียม ซึ่งถือว่าดีกว่าประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการถือว่าให้การดูแลผู้ป่วยทันตกรรมดีที่สุด เพราะสิทธิประโยชน์ครอบคลุมหัตถการทันตกรรมทั้งหมด เพียงแต่จำกัดต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งบางแห่งมีคิวหนาแน่น เพราะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยบัตรทองและข้าราชการทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายก (สำรอง) ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ฝากข้อเสนอถึง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าควรปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายในส่วนของทันตกรรมให้มากกว่าแค่ 600 บาท เพราะเป็นวงเงินที่น้อยเกินไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกันตนถือเป็นระบบประกันภาคบังคับ จึงควรได้รับการดูที่ดีและครอบคลุมมากกว่าที่จะผลักภาระให้ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินค่ารักษาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นอีกสายการบินโลว์คอสห้ามคิดค่าโดยสารเกิน 13 บาทต่อ กม.ปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airline) เปิดให้บริการหลายสายการบิน  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการผ่านมายังกรมการบินผลเรือนและทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องโปรโมชั่นที่ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ในโฆษณา เช่นการจองที่นั่งแล้วพบว่าไม่มีที่นั่งตามที่จอง หรือการจำกัดจำนวนแต่ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดไว้ว่าปัจจุบันเหลือที่นั่งเท่าไหร่ สามารถจองได้ถึงเมื่อไหร่ รวมทั้งเรื่องราคาที่ไม่ได้แจ้งราคาสุทธิจริงๆ ไว้ในโฆษณา ซึ่งจากนี้สายการบินต้นทุนต่ำจะต้องมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆ ในการใช้บริการ เงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องครบถ้วนชัดเจน ในทุกช่องทางการโฆษณาสำหรับการแข่งขันเรื่องราคา กรมการบินพลเรือนแจ้งว่ายังไม่พบปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันได้กำหนดราคาขั้นสูงไว้ไม่ให้เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ส่วนราคาขั้นต่ำไม่ได้กำหนด  ซึ่งแต่ละสายการบินสามารถจัดโปรโมชั่นแข่งขันลดราคาได้ แต่ต้องไม่เป็นการดัมพ์ราคา หรือตัดราคาสายการบินอื่นจนแข่งขันไม่ได้ ปัจจุบันคาดว่าต้นทุนของสายการบินต้นทุนต่ำ กม.ละ 2-5 บาท

อ่านเพิ่มเติม >