ฉบับที่ 257 พิษรักรอยอดีต : ความพยาบาทเป็นของหวาน…ของผู้หญิงอ้วน

               มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่มีความมหัศจรรย์บางอย่าง หากใครก็ตามที่มีเรือนร่างสรรพางค์กายผิดแผกไปจากมนุษย์ส่วนใหญ่ เธอหรือเขาผู้นั้นก็จะถูกสายตาของคนในสังคมกดทับกำกับความหมายว่ามี “ความเป็นอื่น” ที่ยากจะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคนธรรมดาสามัญ         เฉกเช่นกรณีร่างกายของ “คนอ้วน” ก็เป็นหนึ่งในทุกรกิริยาที่สังคมบรรจงหยิบยื่นผ่านการกำหนดคุณค่าและความหมายเชิงลบ ให้แก่มนุษย์ผู้สั่งสมชั้นไขมันใต้ผิวหนังมากเกินกว่าที่พบเห็นในคนทั่วไป         แม้ไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังจะเป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลพึงมีอำนาจอันชอบธรรม ทั้งที่จะเลือกและตัดสินใจนำมาบรรจุไว้ในร่างกายของตนเอง แต่เอาจริงแล้ว ไขมันในร่างคนอ้วนก็มักถูกเทียบค่าเป็น “ความแปลกประหลาด” ภายใต้การรับรู้ของมวลมหาสาธารณชน         ในสายตาของหลายๆ คน คนอ้วนก็อาจถูกนิยามว่า “ตลก” บ้าง “ตุ๊ต๊ะอุ้ยอ้าย” บ้าง หรือในทัศนะของบุคลากรการแพทย์ ร่างกายของคนอ้วนก็ถูกตีความว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “โรคอ้วน” รวมไปถึงมุมมองของคนบางกลุ่มอีกเช่นกันที่กำหนดความหมายของคนอ้วนว่า “โง่” บ้าง “ไม่ทันคน” บ้าง นัยเชิงลบเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการตอกลิ่มสลักรอยบาดแผลเอาไว้ในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ผู้มีรูปร่างอ้วนท้วนไปโดยปริยาย         และผู้หญิงอ้วนอย่าง “ผิง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษรักรอยอดีต” ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนของมนุษย์ที่ต้องตกอยู่ใต้ม่านหมอกแห่งอคติที่สังคมกำหนดให้ร่างกายของเธอกลายสภาพเป็นอื่นด้วยเช่นกัน         ละครเปิดเรื่องด้วยภาพของ “เมย์” สาวสวยที่ดูลึกลับและทรงเสน่ห์ ได้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศพร้อมกับ “อาฉง” ผู้เป็นอากง และ “กล้า” ชายหนุ่มที่ตาขวาพิการ พลันที่เหยียบผืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง เมย์ก็พูดขึ้นว่า “ต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ เราเกิดใหม่จากความตาย เพื่อที่จะได้มาทวงทุกอย่างคืน”         จากนั้นภาพก็ค่อยๆ ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน แท้จริงแล้ว เมย์ก็คือตัวละครผิงในอดีต ผิงเป็นสาวน้อยที่ออกจะเจ้าเนื้อ แต่ทว่าภายใต้ร่างกายที่อ้วนตุ๊ต๊ะนั้น ผิงเป็นหญิงอ้วนที่น้ำใจงาม และที่สำคัญ เธอก็แสนจะใสซื่อโลกสวย ประหนึ่งเจ้าหญิงที่ขี่ม้ากลางทุ่งลาเวนเดอร์ในจินตนิยาย         อาฉงผู้มีศักดิ์เป็นปู่หรืออากงของผิง เป็นเจ้าของร้านขายยาสมุนไพรจีน “กงผิง” ในย่านแพร่งภูธร และเพราะถูกพร่ำสอนจากอากงให้เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ผิงจึงชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ และใช้ความรู้สมุนไพรรักษาโรคให้กับคนเร่ร่อนและคนยากจน ที่แม้ว่าหลายๆ ครั้งคนเหล่านั้นก็จนยากเสียจนไม่มีเงินที่จะเจียดมาจ่ายเป็นค่ายารักษาได้เลย         จุดพลิกผันของเรื่องที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผิง เกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวของตัวละครอีกสองคน คนแรกคือหญิงสาวสวยชื่อ “นิสา” ที่มาทำงานเป็นลูกมือในร้านสมุนไพรกงผิง และทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนเป็นพี่สาวที่ผิงมอบความไว้เนื้อเชื่อใจเธอเป็นที่สุด กับอีกคนหนึ่งก็คือ “เฟย” ผู้ชายรูปหล่อหน้าตาดีที่ผิงหลงรัก และตกลงใจแต่งงานร่วมหอลงโรงเป็นภรรยาตามกฎหมายของเขา         แม้สำหรับผิงแล้ว “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” แต่ในทางกลับกัน สำหรับนิสาและเฟยนั้น กลับมองผู้หญิงร่างอ้วนเป็นเพียง “ผู้หญิงโง่ ไม่ทันคน และง่ายต่อการถูกหลอก” เพราะเบื้องหลังแล้ว ทั้งสองคนคือคู่รักตัวจริงที่เข้าหาผิงเพียงเพื่อลวงหลอกเอาสินทรัพย์สมุนไพรราคาแพงของร้านกงผิงมาเป็นสมบัติของพวกตน         เมื่อความโลภเข้าครอบงำจิตใจ และม่านมายาแห่งอคติต่อคนอ้วนเข้าบังตา ทั้งนิสาและเฟยก็ไม่เห็นว่าหญิงอ้วนที่น้ำใจงามอย่างผิงเป็น “มนุษย์” ที่มีชีวิตเลือดเนื้ออีกต่อไป และเพียงเพื่อผลประโยชน์เชิงวัตถุและเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยของการผนึกกำลังกันระหว่างคนทั้งสองกับตัวละครผู้ร้ายอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ “เฉิน” มารดาของเฟย “ฮั่น” ชายหนุ่มที่อาฉงเองก็รักเหมือนหลานคนสนิท “เฮียตง” เจ้าพ่อมาเฟียประจำถิ่น และ “ผู้กองสันติ” นายตำรวจกังฉินแต่ปากกลับบอกว่าตนรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม         ทฤษฎีสมคบคิดภายใต้โครงข่ายของกลุ่มมิจฉาชีพที่โยงใยกันอย่างแนบแน่นนี้เอง ได้นำไปสู่ฉากการฆาตกรรม “ป้าแวว” ญาติผู้ใหญ่ที่รักยิ่งของผิง ทำให้หนุ่มเร่ร่อนจรจัดอย่างกล้าที่พลัดหลงมาเห็นเหตุการณ์ถูกทำร้ายจนสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง และที่สำคัญ ทั้งหมดยังได้ร่วมมือกันพยายามฆ่าผิงและอาฉงโดยฝังให้ “ตายทั้งเป็น” อยู่กลางป่ารกร้างลับตาคน         แต่จะด้วยเพราะดวงที่ยังไม่ถึงฆาต หรือจะเพราะจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติในสังคมได้เริ่มก่อตัวขึ้นมา ผิงผู้ที่ถูกฝังกลบทั้งเป็นก็กลับฟื้นขึ้นมาจากหลุมดินกลางป่า ประหนึ่งเป็นการบ่งบอกนัยแห่งการ “ถือกำเนิดใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับตัวตนและจิตสำนึกเดิมที่ได้ตายจากไป         หลังจากที่ต้องพลัดถิ่นฐานหลบลี้หนีภัยไปอยู่แดนมังกร ผิงคนเดิมซึ่งบัดนี้เปลี่ยนรูปลักษณ์และจิตสำนึกเสียใหม่ ได้เดินทางกลับมาเมืองไทย พร้อมกับความแค้นที่เต็มเปี่ยม กอปรกับการไปร่ำเรียนศาสตร์วิชาการฝังเข็มจากหมอแผนจีนโบราณ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ผู้หญิงสาวสวยอย่างหมอเมย์ได้ก้าวสู่การแก้แค้นบรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดกันฝังเธอทั้งเป็นมาก่อน         หากความรู้เป็นดั่งศาสตราวุธ พ่วงกับความพยาบาทที่เป็นดั่งแรงผลักเสริม ดังนั้น เมื่อครั้งหนึ่งร่างกายของผู้หญิงอ้วนเป็นสนามที่สังคมได้เคยเลือกปฏิบัติต่อเธออย่างไร้ปรานี ผิงจึงใช้ความรู้สมุนไพรและการฝังเข็มเอาคืนต่อร่างกายศัตรูที่เคยฝังร่างของเธอในป่าร้างมาก่อน         เริ่มจากการฝังเข็มให้อดีตแม่สามีอย่างเจินเพื่อปลุกกระตุ้นความอยากอาหารให้กินแบบตายผ่อนส่ง เหมือนกับที่ผิงแอบเปรยขึ้นว่า “กินเยอะๆ นะคะอาม้า จะได้อ้วนแบบผิง” จากนั้นก็ฝังเข็มกระตุ้นต่อมกำหนัดของเฟย จนเขาเผลอไปมีสัมพันธ์กับเมียของเฮียตง และตามมาด้วยการใช้สมุนไพรปลุกแรงขับทางเพศจนนิสาและฮั่นมีสัมพันธ์อันเกินเลย เพื่อทำให้เฟยหึงหวงจนเหมือน “ตายทั้งเป็น” ทางอารมณ์และจิตใจ        แม้การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติทางสังคมมักจะต้องแลกมากับความสูญเสีย เหมือนกับที่ผิงเองก็ต้องสูญเสียอิสรภาพและติดคุก เพราะวิถีการล้างแค้นที่ทำให้ศัตรูตายไปทีละคนสองคนก็เป็นสิ่งที่ขัดกับตัวบทกฎหมายที่สังคมบัญญัติขึ้น แต่เมื่อฟ้าหลังฝนที่ได้อิสรภาพกลับคืนมา เธอก็ลงเอยมีความสุขกับพระเอกหนุ่มอย่าง “โช” ผู้ที่อาจไม่ร่ำรวย แต่เขาคือคนที่สารภาพกับเธอว่า “สำหรับผม อ้วนไม่อ้วน สวยไม่สวย ไม่เกี่ยวเลย แต่สิ่งที่ผมชอบผิงคือจิตใจที่อ่อนโยนกับทุกคน แม้แต่คนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างผม”        จะว่าไปแล้ว ละคร “พิษรักรอยอดีต” อาจจะจบลงโดยง่าย หากผิงถูกฝังกลบตายทั้งเป็นอยู่กลางป่าร้างตั้งแต่ครึ่งแรกของเรื่อง แต่เพราะจิตสำนึกของผู้หญิงอ้วนไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจสังคมที่กลบฝังร่างกายและจิตใจของเธอ ยิ่งผสานกับแรงพยาบาทซึ่งเป็นดั่งขนมหวานที่หากลิ้มรสการต่อสู้แล้วก็ติดใจได้ไม่ยาก เมื่อนั้นผู้หญิงอ้วนก็พร้อมจะกล้าลุกขึ้นมาใช้มันสมองและจิตวิญญาณเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คุณหมีปาฏิหาริย์ : วัตถุเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้

                ในสังคมตั้งแต่ครั้งบุรพกาลนานมา เชื่อกันว่า วัตถุมิใช่เพียงแค่สิ่งของที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ หากแต่ข้าวของต่างๆ รอบตัวเรานั้น เป็นวัตถุธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งความทรงจำและจิตวิญญาณอันเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา อันเป็นการผูกโยงไว้ซึ่งความสัมพันธ์สามเส้าอันแนบแน่นระหว่างมนุษย์ วัตถุในธรรมชาติ และความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ         ดังตัวอย่างของความคิดความเชื่อเรื่องการสู่ขวัญให้กับวัตถุต่างๆ ที่ดำรงอรรถประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การปลุกเสกให้วัตถุสามัญมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สถิตของพลังอำนาจบางอย่าง ไปจนถึงการที่คนสมัยก่อนเองก็มักใช้วัตถุเป็น “ของขวัญ” หรือตัวแทนเชื่อมโยงความรักความทรงจำ ที่คนคนหนึ่งผูกพันจิตใจให้ไว้กับคนอีกคนหนึ่ง         แต่ทว่า มุมมองต่อวัตถุข้าวของเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อระบอบทุนนิยมได้ตัดสะบั้นความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างมนุษย์-วัตถุ-สิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเสีย สิ่งของต่างๆ สามารถสรรหามาได้เพียงเพราะเราใช้เงินในกระเป๋าซื้อมา พร้อมๆ กับลัทธิวัตถุนิยมได้เข้ามาแทนที่ความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ จนท้ายที่สุดวัตถุก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ขาดความทรงจำทั้งของปัจเจกบุคคลและของสังคมไปโดยปริยาย         ด้วยเหตุฉะนั้น เมื่อละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกเอาใจบรรดา “สาววาย” อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้เปิดเรื่องขึ้นโดยให้ตุ๊กตาหมีสีขาวนวลตัวใหญ่ของพระเอกหนุ่ม “พีรณัฐ” บังเอิญถูกสุนัขชื่อ “ขึ้นช่าย” บุกเล่นงานจนตกลงมาจากห้องนอนชั้นสอง และกลายร่างเป็นชายหนุ่มร่างสูงผิวขาวที่มีเลือดเนื้อและจิตใจขึ้นมา ปาฏิหาริย์ที่บังเกิดต่อตุ๊กตาหมีก็ดูเหมือนจะพาเราหวนกลับไปสู่โลกทัศน์ที่ครั้นอดีตเราเคยเชื่อกันว่า วัตถุสิ่งของล้วนมีจิตวิญญาณและความทรงจำสลักฝังอยู่ในนั้น         เพราะสิ่งของก็มีจิตใจ เมื่อตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้ตื่นจากสภาพหลับใหลกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ตุ๊กตาในร่างชายหนุ่มที่ “มทนา” แม่ของพีรณัฐเชื่อว่า เขาเป็น “เจ้าชายน้อย” ตัวละครเอกในวรรณกรรมคลาสสิกที่เธอชื่นชอบ และเธอได้เรียกขานตั้งชื่อเขาว่า “เต้าหู้” สมาชิกใหม่ในบ้าน ผู้ที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยและซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่ห่างหายไปนานแล้วในครอบครัวของพีรณัฐ         ควบคู่ไปกับการกลายร่างเป็นมนุษย์ของตุ๊กตาหมี ผู้ชมเองก็ได้ถูกดึงหลุดเข้าไปท่องพิภพแฟนตาซีอยู่ในห้องนอนของพีรณัฐ ที่บรรดาวัตถุสิ่งของต่างลุกขึ้นมามีชีวิต ณ อีกโลกหนึ่งที่คู่ขนานไปกับโลกที่มนุษย์เราสัมผัสผ่านได้เพียงอายตนะทั้งห้าเท่านั้น         กับฉากอรุณสวัสดิ์เริ่มต้นเรื่อง ที่แนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครวัตถุข้าวของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมุดบันทึกสีน้ำตาลผู้คอยรองรับน้ำตาและความทรงจำของพีรณัฐยามที่เขาทุกข์โศก คุณหมอนข้างและคุณน้าผ้านวมที่แสนใจดีและอบอุ่น คุณโต๊ะผู้เป็นโค้ชใหญ่ของบ้าน คุณเก้าอี้สาวขี้อายประจำห้องนอน และอีกหลากหลายสรรพชีวิตของวัตถุสิ่งของที่พูดคุยเสวนาสารทุกข์สุขดิบกันทุกๆ เช้า รวมไปถึงตุ๊กตาหมีผู้ผูกพันและนั่งอยู่ในห้องนอนเคียงข้างตัวพีรณัฐมานานนับสิบปี         เพราะสิ่งของเครื่องใช้มีส่วนผสมทั้งด้านวัตถุรูปธรรมที่จับต้องได้ กับด้านแห่งจิตใจหรือจิตวิญญาณนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ วัตถุอย่างตุ๊กตาหมีจึงถูกมอบหมายให้เป็นสะพานเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อตุ๊กตาหมีกลายร่างเป็นคน ภารกิจการถักทอสายสัมพันธ์จึงทำให้เต้าหู้ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพีรณัฐ (หรือที่เต้าหู้เรียกว่า “พี่ณัฐ”) และผู้คนรอบตัวไปด้วยเช่นกัน         เมื่อเข้ามาอยู่ในวังวนของชีวิตมนุษย์ เต้าหู้ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ทุกวันนี้ระบอบอำนาจนิยมได้แผ่ซ่านซึมแทรกอยู่ในถ้วนทั่วทุกองคาพยพของสังคม โดยเริ่มจากในครอบครัวก่อนจะลามไปสู่สถาบันอื่นๆ แบบเดียวกับที่ “ตาธาร” ผู้เป็นรักครั้งแรกของพี่ณัฐเคยกล่าวว่า “แค่คนเราคิดต่างกัน คนเราก็ทำร้ายกันได้”         ไม่ว่าจะเป็น “สิบหมื่น” ผู้ใช้อำนาจของพ่อกดทับและทำร้ายจิตใจพี่ณัฐ ที่ไม่เลือกเพศวิถีตามที่ชายชาติทหารผู้พ่ออยากให้ลูกชายเป็น หรือ “แสน” พี่ชายฝาแฝดของสิบหมื่นและเป็นอดีตคนรักของมทนา ที่เพียงเพื่อปกป้องอดีตคนเคยรัก ก็ถึงกับเลือกวางยาฆาตกรรมน้องชายของตน หรือแม้แต่ “สัจจารีย์” ภรรยาที่ไม่เคยได้รับความรักจากแสน ก็ลุแก่อำนาจจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเรื่อง         เพราะระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์ห้ำหั่นกัน และสลัดทิ้งขว้างข้าวของให้กลายเป็นวัตถุซึ่งปราศจากชีวิตจิตใจ ภารกิจของเต้าหู้จึงเริ่มต้นประสานสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเติมเต็มความรักที่เหือดแห้งไปนานแล้วจากหัวใจของพี่ณัฐ ภาพความรักมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งเอาใจ “สาววาย” ของพีรณัฐกับเต้าหู้น่าจะแสดงนัยได้ว่า แม้เขาจะลืมรักแรกไม่ได้ แต่เต้าหู้ก็ไม่ต่างจาก “ของขวัญ” ที่มาชดเชยด้านที่หายไปในชีวิต เฉกเช่นที่พระเอกหนุ่มได้พูดว่า “ที่มึงเคยถามกูว่าวันเกิดปีนี้ทำไมกูไม่อยากได้อะไร เพราะว่าปีนี้กูมีมึงแล้วไง”         และควบคู่กันไปนั้น เต้าหู้และเพื่อนๆ ข้าวของเครื่องใช้เองก็ยังได้เข้ามาดูแลมทนาที่มีอาการอัลไซเมอร์ในระยะแรกๆ และได้ต่อเติมความรักความผูกพันที่หดหายไปเป็นสิบปีระหว่างพีรณัฐกับมารดา         ปิ่นโตอาหารที่ทั้งมทนาและเต้าหู้ปรุงสำรับให้พีรณัฐทุกเช้า เค้กวันเกิดสีรุ้งที่แม่บรรจงทำให้กับลูกชาย โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่พีรณัฐซื้อให้แทนความรักความห่วงใยต่อมารดา เครื่องสำอางและเสื้อผ้าชุดใหม่ที่พี่ณัฐเลือกให้แม่ได้แปลงโฉมต่างไปจากเดิม ไปจนถึงรองเท้าคู่ใหม่ที่พี่ณัฐนั่งสวมใส่เท้าของแม่ ล้วนแล้วแต่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกอิ่มใจ หลังจากที่สายสัมพันธ์แม่ลูกถูกเซาะกร่อนมาเป็นเวลานานแสนนาน         ก็คงเหมือนกับเสียงความในใจของเต้าหู้ที่ตั้งคำถามว่า “ข้าวของบางชิ้นถ้าคนไม่ต้องการ ก็จะเอาไปทิ้งได้ แต่คนเราจะทิ้งคนด้วยกันได้จริงหรือ” เพราะฉะนั้น อาจมีบางจังหวะที่มนุษย์หลงลืมความรักความผูกพัน หรือเริ่มต้นกันบนความไม่เข้าใจ แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่เราจะหวนกลับมาซ่อมแซมมันได้อีกครั้งครา         ด้วยเหตุที่วัตถุจะมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ ก็เพราะมนุษย์ใส่ความรักสลักความทรงจำลงไปในนั้น ดังนั้นในตอนจบของเรื่องจึงเฉลยคำตอบให้เรารู้ว่า เต้าหู้ก็คือของขวัญที่พี่ณัฐรับมอบเป็นตัวแทนความรักจากตาธารเมื่อสิบปีก่อน และความรักความทรงจำของทั้งสองคนก็คือ “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ตุ๊กตาหมีตื่นมามีชีวิตเป็นเต้าหู้ผู้มีเลือดเนื้อและหัวใจ และที่สำคัญ แม้จะดูทำร้ายจิตใจคอละคร “สาววาย” ก็ตาม แต่เต้าหู้ก็เลือกที่จะสละความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อให้ตาธารได้กลับมามีชีวิต และให้พี่ณัฐได้สมหวังกับความรักกันอีกครั้ง         กับภาพฉากจบที่เต้าหู้ได้เข้ามานั่งอยู่ระหว่างอ้อมกอดของพี่ณัฐและตาธาร ก็คงย้อนกลับไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในวัตถุสิ่งของทั้งหลายต่างก็มีชีวิตและความทรงจำของมนุษย์แอบอิงอยู่ในนั้น เสียงก้องในใจของตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ก็ชวนขบคิดว่า “ข้าวของเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้” และก็คงเป็นสิ่งของเครื่องใช้นั่นแหละที่ทำให้มนุษย์หันกลับมามีรอยยิ้มและความผูกพันกันได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สิเน่หาส่าหรี : การพบกันของผู้หญิงต่างเวลาต่างพื้นที่

        “ชาติ” กับ “ประเทศ” ต่างกันอย่างไร คำว่า “ประเทศ” มีแนวโน้มจะหมายถึงพื้นที่รูปธรรมซึ่งปัจเจกบุคคลยืนเหยียบและใช้ชีวิตอยู่ หากแต่ “ชาติ” จะมีนัยเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึกร่วมที่ปัจเจกบุคคลต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดเข้าหาอาณาบริเวณหนึ่งๆ จนมีคำถามสำคัญว่า ความเป็นชาตินั้นสามารถยึดโยงปัจเจกบุคคลข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ได้หรือไม่ และคงอยู่หรือผันแปรไปอย่างไรท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง         แค่ได้ยินชื่อเรื่องละครโทรทัศน์แนวดรามาแฟนตาซีว่า “สิเน่หาส่าหรี” ผู้เขียนก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ต่อโครงเรื่องและตัวละครที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฉากหลังของพล็อตเรื่องเป็นดินแดนในอนุทวีป         จะว่าไปแล้ว ก่อนที่สยามประเทศในอดีตจะเผชิญหน้ากับอารยธรรมใหม่ของมหาอำนาจชาติตะวันตก กระแสการเปิดรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่เรียกว่า “ภารตภิวัตน์” นั้น มีมาช้านานก่อนที่ชาวสยามจะรู้จักกับชนเผ่าแขกขาวอารยันจากยุโรปกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมภารตะกลายมาเป็นเรื่องเล่าในของละครโทรทัศน์ จึงดูน่าสนใจยิ่งว่า ในทัศนะมุมมองแบบไทยร่วมสมัย เราจะรับรู้ความเป็นภารตวิถีกันเช่นไร         ด้วยฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสภารตภิวัตน์ ละคร “สิเน่หาส่าหรี” ได้กำหนดเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ โดยสร้างจินตนาการประเทศสมมติขึ้นมาในนาม “มันตราปุระ” ซึ่งได้ชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรและอัญมณีมากมาย แต่ก็สามารถเล็ดรอดจากการเป็นอาณานิคมในห้วงยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษเรืองอำนาจ         แม้จะอยู่รอดจากลัทธิเมืองขึ้นจนผ่านกาลเวลามายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในดินแดนอนุทวีปในยุคเดียวกัน) แต่มันตราปุระก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการสืบทอดราชบัลลังก์ และการคัดเลือกพระชายาขององค์รัชทายาท ผู้จะกลายมาเป็นมหารานีเคียงคู่กับองค์กษัตริย์แห่งมันตราปุระในอนาคต         ด้วยเหตุดังกล่าว ปมแห่งเรื่องละครจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงไทยหรือสตรีต่างชาติอย่าง “นิลปัทม์” ตัดสินใจจะเสกสมรสกับ “เจ้าชายชัยทัศน์” องค์รัชทายาทแห่งมันตราปุระ อันเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยยึดถือกันมา และเป็นเหตุวิสัยให้ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างเวลาและต่างพื้นที่ได้เวียนว่ายข้ามแดนดินมาพบเจอกัน         สตรีนางแรกก็คือ นางเอก “นวลเนื้อแก้ว” ดีไซเนอร์หญิงไทยผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ ของนิลปัทม์ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูแลน้องสาวสุดที่รัก ไม่เพียงแต่นวลเนื้อแก้วต้องเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่ดูผิดแผกแตกต่างไปจากที่เธอคุ้นชินแล้ว เธอยังต้องสวมบทบาทเป็น “คนแดนไกลที่ใช่” ตามคำทำนายซึ่ง “เจ้าชายกีริช” พระเอกหนุ่มเฝ้าตามหา เพื่อช่วยปลดปล่อยปริศนาแห่งมันตราปุระที่ร่ำลือตกทอดมาจากอดีต         ผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ศศิประไพ” มหารานีองค์ปัจจุบันของ “กษัตริย์ชัยนเรนทร์” และเป็นผู้ควบคุมกฎการตั้งว่าที่พระชายาให้องค์รัชทายาท แม้ด้านหนึ่งเธอจะเริ่มต้นจากการตั้งแง่รังเกียจสาวไทยอย่างนิลปัทม์แบบออกนอกหน้า เนื่องจากแหวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมา แต่อีกด้านหนึ่ง มหารานีเองก็คือตัวแทนผู้หญิงที่ยึดมั่นในสำนึกความเป็นชาติต่อมันตราปุระอย่างเข้มข้น         และสตรีคนสุดท้ายก็คือ “ราชมาตาสริตา” วิญญาณย่าทวดของกีริชและชัยทัศน์ ผู้ซึ่งข้ามภพข้ามกาลเวลามาคอยพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์แห่งมันตราปุระ และเป็นผู้วางปริศนาเรื่อง “คนแดนไกลที่ใช่” ที่จะมากอบกู้บ้านเมืองจากตระกูล “พสุธา” ของตัวละคร “ขจิต” ผู้เป็นอริราชศัตรู         เนื่องจากชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงปัจเจกบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาระบุตัวตนในจินตกรรมดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น การที่ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างพื้นที่และต่างเวลาได้โคจรมาบรรจบพบเจอกันจึงมิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ หากแต่เป็นด้วยอานุภาพแห่งสำนึกความเป็นชาติที่ร้อยรัดให้ผู้หญิงทั้งสามได้มาปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและการดำรงอยู่แห่งมันตราปุระนั่นเอง         นอกเหนือจากที่ชาติจะได้ถักทอผู้หญิงซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้มายึดมั่นในภารกิจเดียวกันแล้ว เพื่อให้จิตสำนึกแห่งชาติที่มีต่อมันตราปุระปรากฏเป็นรูปธรรม สำนึกร่วมอันเป็นนามธรรมดังกล่าวจะเผยตัวออกมาอย่างเข้มข้นได้ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลยึดเหนี่ยวอยู่ในสัญลักษณ์ร่วมบางอย่าง เพื่อตอกย้ำความเป็น “เรา” ที่แตกต่างจากความเป็น “อื่น” (คงคล้ายๆ กับที่ความเป็นชาติแบบไทยๆ ก็ต้องสร้างประเทศเพื่อนบ้านให้กลายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูในจินตกรรมของเรา)         ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ร่วมเป็น “ตราแผ่นดิน” ที่หายสาบสูญไป และกำหนดรหัสข้อตกลงไว้ว่า หากผู้ใดค้นพบและครอบครองตราแผ่นดิน ผู้นั้นก็จะได้ปกครองมันตราปุระด้วยความชอบธรรม         เพราะตราแผ่นดินมิใช่แค่วัตถุหนึ่งๆ หากเป็นสัญลักษณ์ที่อุปโลกน์ขึ้นแทนสำนึกร่วมในความเป็นชาติ เราจึงเห็นภาพตัวละครสตรีที่แตกต่างหลากหลายมา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อค้นหาและส่งมอบการถือครองตราสัญลักษณ์อันเป็นสิ่งสมมติแทนตัวตนแห่งมันตราปุระ โดยมิพักว่าพวกเธอจักต้องถือกำเนิดในแว่นแคว้นแดนดินของประเทศนั้นๆ จริง หรือจะข้ามภพจากห้วงเวลาใดในทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม         ไม่ว่าจะเป็นนวลเนื้อแก้ว “คนแดนไกลที่ใช่” ซึ่งถูกมอบหมายให้ต้องบุกบั่นถักทอผืนผ้าส่าหรี เพื่อเผยให้เห็นลายแทงที่ซ่อนของตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน หรือมหารานีศศิประไพ “คนที่ถูกต้อง” ที่ถือกำเนิดในมันตราปุระ ผู้จะค้นหาสตรีที่เหมาะสมเป็นพระชายาแห่งองค์รัชทายาท ไปจนถึง “วิญญาณพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง” ของราชมาตาสริตา ผู้คอยช่วยเหลือให้ภารกิจครอบครองตราแผ่นดินลุล่วงไปได้ในท้ายที่สุด         เมื่อพลังสามประสานของ “วันเดอร์วูแมน” จากต่างพื้นที่และห้วงเวลารวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ตัวละครผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะค้นพบความจริงดังที่ราชมาตาสริตาได้กล่าวไว้ในนิมิตว่า ด้วยสำนึกร่วมในความเป็นชาติ “ไม่ว่าเธอจะทำอะไร เธอต้องรู้ตัวว่าเธอแกร่งกว่าที่เธอคิด”         จนมาถึงฉากจบเรื่องเมื่อพลังประสานของผู้หญิงที่ผนวกรวมกับจินตกรรมคำว่า “ชาติ” ผู้ชมจึงได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งตราแผ่นดินที่ทำลายอริราชศัตรูอย่างขจิตแบบน่าตื่นตะลึง ก่อนจะปิดท้ายกับภาพแบบภารตวิถีที่ชาวเมืองทั้งหมดในมันตราปุระออกมาเต้นเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานในชุดพื้นเมืองและส่าหรีหลากสีสัน         เพราะ “ชาติ” มิใช่ “ประเทศ” เพราะจินตนาการไม่ใช่วัตถุที่จับต้องเป็นของจริง และเพราะปัจเจกบุคคลถูกกำหนดบทบาทให้ปกป้องและสืบต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติ จึงไม่แปลกกระมังที่สตรีผู้ถือกำเนิดในมาตุภูมิ ผู้หญิงที่ข้ามแดนดินมาจากถิ่นอื่น และผู้หญิงที่ข้ามภพชาติห้วงเวลา จะสามารถประสานพ้องเสียงเพื่อธำรงจินตกรรมร่วมของชาติ ที่ปนเปผสมผสานระหว่างภารตภิวัตน์กับความเป็นไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 เพชฌฆาตจันทร์เจ้า : จะขอให้มีแค่ใครคนหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ช้ำ และไม่ทำให้เราเศร้าใจ

        “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง”         บทเพลงกล่อมเด็ก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ข้างต้นที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่างมีนัยความหมายของเนื้อเพลงที่สะท้อนวิธีคิดของคนสมัยก่อน ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุ รวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วย         ไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นแกง แหวนทองแดง ช้างม้า เก้าอี้เตียงตั่ง และอื่นๆ ที่ขับกล่อมอยู่ในเนื้อเพลง ต่างบ่งชี้ให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนผู้ “พี่” ที่ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้มาซึ่งวัตถุที่เชื่อว่ามีคุณค่าเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งยุคนั้น ก็เพื่อให้เด็กน้อยผู้เป็น “น้องข้า” ได้มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเยาว์         หาก “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานมาจากการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับโลกรอบตัว ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมเฉกเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในยุคสมัยใหม่สายสัมพันธ์ในความเป็นมนุษย์เริ่มเปราะบางและ “แปลกแยก” ไปท่ามกลางผลประโยชน์อื่นที่เข้ามาทดแทน         คำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอันแปลกแยกดังกล่าว สามารถส่องซูมและเรียนรู้ได้จากตัวละครนักฆ่าสาวสมัญญานามว่า “มูน” หรือ “บลัดดี้มูน” อันแปลว่า “พระจันทร์สีเลือด” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เพชฌฆาตจันทร์เจ้า”         มูนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อคนที่หญิงสาวเรียกว่า “นาย” หัวหน้ากลุ่มมาเฟียค้าอาวุธข้ามชาติ และด้วยถูกหล่อหลอมให้เป็นนักฆ่า มูนจึงถูกเลี้ยงมาให้มีหัวใจที่เย็นชาหยาบกระด้าง ภายใต้กฎบัญญัติแห่งมือสังหารที่ว่า นักฆ่าต้องลงมือเพียงลำพัง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในมือให้เป็นอาวุธ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องนายและความลับของนาย และที่สำคัญ ต้องหยิบยื่นความกลัวและความตายให้กับศัตรู         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายใต้กฎเหล็กที่บัญญัติเอาไว้นี้ นักฆ่าอย่างมูนจึงไม่ต่างอันใดจากสัญลักษณ์ตัวแทนของ “สภาวะแปลกแยก” ใน “ความเป็นมนุษย์” นั่นเอง         โดยทั่วไปแล้ว ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกบุคคลถูกตัดสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับคนอื่น และท้ายที่สุด ความเป็นมนุษย์ของเขาก็จะค่อยๆ ถูกทำลายไป         เพราะฉะนั้น เมื่อมูนถูกฝึกให้เป็นมือสังหาร เธอจึงกลายเป็นคนที่ไร้จิตใจ ไร้ความรัก ไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ที่จะยึดโยงผูกพันกับคนรอบข้าง และที่สำคัญ เธอจะแปลกแยกไม่เหลือความเป็นคน จนกลายเป็นเพชฌฆาตสมญาบลัดดี้มูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับที่นายได้เคยกล่าวถึงมูนกับ “ลุงแสง” ครูฝึกนักฆ่าว่า “เลี้ยงมันให้กลายเป็นนักฆ่า ทำลายความเป็นมนุษย์ของมันลง”         หลังจากกลายเป็นนักฆ่าสาวเลือดเย็นแล้ว ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่แต่ต้อง “หันซ้ายหันขวา” ไปตามอาณัติอำนาจของนาย ทำให้มูนลงมือสังหารศัตรูของนายลงคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งที่มูนทำงานพลาด เธอเองจึงถูก “ภพ” กับ “เข้ม” ลูกสมุนซ้ายขวาของนายไล่ฆ่า และพลาดท่าพลัดตกจากหน้าผาในคืนวันที่พระจันทร์ส่องแสงเป็นสีเลือด         ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกหนุ่ม “อติรุจ” หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติป่างาม มูนสามารถรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอกลับตกอยู่ในสภาพความจำเสื่อม และมีพฤตินิสัยที่แตกต่างไปจากนักฆ่าสาวเลือดเย็นโดยสิ้นเชิง         หลังจากไฟล์ตัวตนเดิมถูกดีลีทไปจากคลังความทรงจำ มูนได้มาสวมอัตลักษณ์เป็นแม่บ้านคนใหม่ของอติรุจ พร้อมกับชื่อที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า “จันทร์เจ้า” ก่อนที่ภายหลังก็ต้องมาสวมบทบาทเป็นภรรยาปลอมๆ ของพระเอกหนุ่ม เพื่อช่วยให้เขาหนีรอดจากการคลุมถุงชนของ “เฉิดโฉม” ผู้เป็นมารดา         กล่าวกันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะแปลกแยกเพียงใด ความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยในจิตวิญญาณของคนเรา ก็ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่รอวันดิ้นรนเพื่อฟื้นคืนชีพ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นประหนึ่งดินน้ำปุ๋ยและแสงแดดจะเอื้ออำนวย ดังนั้นจันทร์เจ้าสาวน้อยผู้ที่ถือกำเนิดใหม่จึงเริ่มเรียนรู้และซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่สึกหรอ ด้วยเพราะผู้เป็นนายเคยสะบั้นและพรากไปเสียจากห้วงชีวิตของเธอ         เริ่มจากสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่ “สาวใหญ่” ผู้เป็นเสมือนพี่สาวที่คอยช่วยเหลือและรับฟังทุกข์สุขของจันทร์เจ้า กลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานและชาวบ้านแห่งป่าเกาะงามที่ไม่ต่างจากเครือญาติกลุ่มใหม่ ภพและลุงแสงผู้แอบคอยช่วยดูแลจันทร์เจ้าอยู่ห่างๆ ไปจนถึงความรักที่ผลิบานกับพระเอกหนุ่มอติรุจผู้ที่กล่าวกับจันทร์เจ้าในช่วงที่เธอถูกทำร้ายจนสลบว่า “กลับมานะจันทร์เจ้า เธอยังมีฉันในวันที่อ้างว้าง โลกใบนี้ไม่ได้หม่นหมอง โลกใบนี้ยินดีต้อนรับเธอเสมอ”         ที่น่าสนใจ เมื่อนักฆ่าตัดสินใจปลดอาวุธมาเป็นแม่บ้าน ทักษะควงมีดใช้ดาบแบบเดิมก็กลายมาเป็นทักษะในงานครัว จันทร์เจ้าได้ปรับเปลี่ยนอาวุธที่รุนแรงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารใหม่ๆ เสน่ห์ปลายจวักกับคมมีดในห้องครัวทำให้เธอได้ลงแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของ “อาจารย์ป้าพาเพลิน” ผู้เป็นกูรูอาหาร และได้ใช้รสชาติอาหารเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งชายคนรักของเธอ         แต่ทว่า สิ่งที่จันทร์เจ้าต้องเรียนรู้ก็คือ ในขณะที่กำลังฟื้นฟูสภาวะความเป็นมนุษย์กลับมานั้น ระบอบแห่งอำนาจเองก็ไม่เคยเปิดให้ปัจเจกบุคคลเป็นอิสระหลุดพ้นไปจากวังวนของมันไปได้ ยิ่งเมื่อภายหลังละครได้เฉลยคำตอบว่า ตัวจริงของนายก็คือ “อธิปัตย์” ผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของอติรุจ จันทร์เจ้าผู้เลือกสลัดความเป็นบลัดดี้มูนทิ้งก็พบว่า อำนาจของนายยิ่งไม่มีวันปล่อยให้เธอได้เลือกทางเดินชีวิตหรือเป็นมนุษย์ไปได้จริงๆ เหมือนกับที่นายเองก็เคยสบถออกมาว่า “เป็นนักฆ่า สะเออะจะมีความรัก…”         เพราะจันทร์เจ้าเชื่อว่า “ทุกครั้งที่นายเรียกว่ามูน หนูจะรู้สึกเจ็บปวดตลอด” ฉะนั้นหนทางเดียวที่ปัจเจกจะหลุดรอดไปจากกรงแห่งอำนาจ อาจไม่ใช่การหนีไปให้พ้น หากแต่ต้องตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่แผ่ซ่านไปถ้วนทั่วทุกๆ อณูของสังคม และต้องเป็นการต่อสู้ในแบบที่เธอเป็น ไม่ใช่ในแบบบลัดดี้มูนอีกต่อไป         เมื่อมาถึงฉากอวสานของละคร แม้ด้านหนึ่งเราจะได้เห็นจุดจบของนายเป็นบทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ แต่ในอีกด้านจันทร์เจ้าก็ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตกันใหม่ โดยมีความรักดีๆ ของพระเอกหนุ่มและคนรอบข้างเป็นน้ำเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงอยู่         ในวันนี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขอพร “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้ข้าวได้แกงหรือได้แหวนทองแดงมาผูกมือ “น้องข้า” กันเหมือนเดิมต่อไปแล้ว หากคงต้องร้องเพลงขอพรให้ “น้องข้า” หลุดพ้นจากสภาพนักฆ่า และหวนคืนความเป็นมนุษย์ที่นับวันจะแปลกแยก ห่างเหิน และแร้นแค้นกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 Help Me คุณผีช่วยด้วย : แล้วใครจะช่วยคุณผีบ้างครับ

              “ผี” เป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบุพกาล ก่อนที่พุทธศาสนาจะถูกนำเข้าจากอนุทวีปมาหยั่งรากแตกกอออกเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ         สำหรับคนไทยเราแล้ว ผีเป็น “อมนุษย์” หรือมี “ความเป็นอื่น” ซึ่งต่างไปจากมนุษย์ ผีมีทั้งที่ร้ายและที่ดี อันว่าผีร้ายก็น่าจะหมายรวมถึงภูตผีสัมภเวสีที่เฝ้าแต่จะหลอกหลอนทำร้ายผู้คน แต่ทว่าในส่วนของผีดีนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกุศโลบายความเชื่อที่คนโบราณสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดระเบียบจารีตปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้คนในสังคม         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผีจึงเป็นกลไกการควบคุมทางสังคม เพราะผีร้ายจะลงโทษทัณฑ์ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตนไปในทางไม่ดี ดังข้อห้ามในสังคมไทยไม่ให้ผู้ใดกระทำ “เสียผี” หรือ “ผิดผี” แต่ในเวลาเดียวกัน ผีดีก็จะคอยพิทักษ์ปกป้องผู้ที่ประพฤติดี เฉกเช่นวลีที่ว่า “คนดีภูตผีย่อมคุ้มครอง”         แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ หากผีเป็นกลไกกำกับควบคุมการขับเคลื่อนชีวิตผู้คนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร และเมื่อใดก็ตามที่คนดีตกอยู่ในภยันตราย ผีดีก็จะคอยช่วยเหลือคุ้มครองด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีที่คอยอภิบาลปกป้องคนดีกลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ จนหาทางออกไม่ได้เสียเอง คำตอบข้อนี้คงต้องเรียนรู้จากชะตากรรมของผีในละครโทรทัศน์กึ่งคอมเมดี้กึ่งดรามาอย่าง “Help Me คุณผีช่วยด้วย”         เรื่องราวความรักของ “มุทิตา” ยูทูบเบอร์สาวสวย นักรีวิสินค้าน้อยใหญ่ กับ “เขตขันธ์” ไฮโซนักธุรกิจหนุ่มคุณสมบัติสุดเพอร์เฟ็คต์ รูปหล่อพ่อรวยแม่หวง ที่กว่าจะลงเอยครองคู่กันได้ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากวิญญาณผีของ “อานนท์” เพื่อให้ “มิสชั่น” ของเธอและเขา “พอสสิเบิ้ล” ได้ในฉากแฮปปี้เอนดิ้ง         เพราะมุทิตามาจากครอบครัวของชนชั้นกลาง มีมารดาเป็นอดีตนางงามและเป็นแม่บ้านสายมูผู้บ้าโชคลางอย่าง “เฉิดฉาย” กับบิดาข้าราชการครูผู้คิดบวกอย่าง “วิหาร” จึงก่อกลายเป็นปมเงื่อนที่แม่ของเขตขันธ์ “คุณนายมัณฑนา” ตั้งแง่รังเกียจว่าที่ลูกสะใภ้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจสังคมหาใช่จะควรคู่กับบุตรชายมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปได้เลย         ปมความขัดแย้งที่สั่งสมมานี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวละคร เมื่อเขตขันธ์วางแผนจัดฉากเซอร์ไพรส์ขอมุทิตาแต่งงาน โดยจ้างอานนท์อดีตสตั๊นแมนอารมณ์ดีมาแกล้งปลอมเป็นโจร แต่แผนการนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมุทิตาเลือกปฏิเสธเขตขันธ์โดยอ้างว่า เธอเองยังไม่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่กับเขาในเวลานั้น         แต่แล้วการณ์ยิ่งกลับตาลปัตรมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากความรักของตัวละครเอกจะดูไม่เป็นไปตามคาดหวังแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ภาพตัดสลับมาที่อานนท์ซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านเพื่อไปหาลูกเมีย กลับถูกคนร้ายดักปล้นและทำร้ายจนเสียชีวิต อานนท์จึงกลายมาเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนซึ่งตายก่อนกำหนด เพียงเพราะ “หน่วยคัดกรองบุญบาป” ของยมโลกวินิจฉัยอายุขัยของเขาผิดพลาดคลาดเคลื่อน         หากผีเป็นอุบายที่ใช้เป็นกลไกควบคุมทางสังคม และให้ความคุ้มครองดูแลต่อผู้กระทำดี ดังนั้น แม้จะเป็นวิญญาณร่อนเร่ล่องลอย ยมทูตจึงได้มอบหมายพันธกิจให้อานนท์เล่นบทบาทคอยช่วยเหลือสรรพชีวิตทั้งหลายที่ทำคุณงามความดี แต่กลับต้องเผชิญห่วงกรรมต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นทุกข์ทั้งปวง         เมื่อต้องเล่นบทบาท “คุณผี” ที่คอยปกป้องดูแลสัตว์โลก และเพราะอานนท์กับมุทิตาเกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน ทำให้วิญญาณอานนท์สามารถปรากฏร่างให้มุทิตาเห็นได้ และคอยเฝ้าช่วยเหลือความรักของนางเอกสาวได้ลงเอยสมหวังกับเขตขันธ์ให้จงได้         แต่ทว่า ยิ่งเมื่อก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตส่วนตัวและสายสัมพันธ์ระหว่างยูทูบเบอร์สาวกับไฮโซเศรษฐีหนุ่ม คุณผีอานนท์ก็เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังปัญหาทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตคนเราล้วนมีสาเหตุมาจากการเห็นผิดจนติดยึดและไม่อาจปล่อยวางทุกข์ต่างๆ นั้นได้เลย         อาการยึดติดไม่ปล่อยวางนี้ ดูจะแผ่ซ่านประหนึ่งโรคระบาดฝังแน่นอยู่ในจิตใจของถ้วนทั่วทุกตัวละคร ตั้งแต่ตัวมุทิตาเองที่ยึดติดงานเป็นสรณะ จนลืมไปว่าการบ้างานเกือบทำให้เธอต้องสูญเสียชายคนรักไป แถมร่วมด้วย “สุธาพร” หมอหนุ่มอดีตคนรักของมุทิตาที่ไม่ยอมมูฟออน หากแต่เฝ้าวนเวียนในชีวิตนางเอก จนทำให้เขตขันธ์เองก็มักขาดสติเป็นเนืองๆ เพราะคิดว่าหญิงคนรักยังมีเยื่อใยต่อชายคนรักเก่าอยู่         อาการ “ผีซ้ำด้ำพลอย” ยังบังเกิดตามมาอีก ไม่ว่าจะมาจาก “ปวีณา” หญิงคนรักใหม่ของหมอสุธาพรที่เป็นยิ่งกว่าโรคลมเพชรหึงและไม่ยอมปล่อยวางเรื่องความรัก จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียในฉากจบเรื่อง หรือ “ละออองค์” หญิงสาวอีกคนผู้เป็นศัตรูหัวใจที่คอย “กดปุ่มสตีล” เพื่อฉกเขตขันธ์ไปจากนางเอกมุทิตา ไปจนถึงคุณนายมัณฑนาที่เฝ้ายึดติดอยู่กับการไร้ฐานานุรูปทางเศรษฐกิจสังคมของว่าที่ลูกสะใภ้ จนเพิกเฉยต่อความรู้สึกที่อยู่ในหัวใจของบุตรชายตนเอง         เมื่อความรักของมุทิตากับเขตขันธ์ต้องเปิดศึกรอบด้าน และกลายมาเป็นแหล่งหลอมรวมมนุษยชาติผู้เปี่ยมมิจฉาทิฐิมากหน้าหลายตาหลากเหตุปัจจัยและผลประโยชน์เยี่ยงนี้แล้ว อาการที่ตัวละครเอกต้องกู่ร้อง “help me” ขอให้คุณผีอานนท์เข้ามาช่วยเหลือ จึงเหมือนกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่ผู้ชมได้ยินซ้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง         แม้วิญญาณอานนท์จะถูกยมทูตวางตัวเล่นให้บทบาทคุณผีซูเปอร์ฮีโร่ช่วยภารกิจให้มนุษย์สัมฤทธิ์ผลสมหวังก็ตาม แต่ที่ชวนขบขันเสียดสีอยู่ในทีก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาผีๆ ทั้งหลายในปรโลกเอง ก็เหมือนจะติดกับอยู่ในวังวนการไม่ปล่อยวาง ไม่ต่างจากตัวละครผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์เราๆ กันเลย         ตั้งแต่วิญญาณ “อากง” ที่เป็นห่วงลูกหลานจนไม่ยอมปล่อยวาง วิญญาณ “ป้าศรี” แม่ค้าส้มตำผู้ตามอาฆาตสามีหนุ่มที่แอบมีเมียน้อย วิญญาณผีโฮสผัวน้อยที่รอคอยการหลุดพ้น และวิญญาณอีกน้อยใหญ่ รวมไปจนถึงตัวของคุณผีอานนท์เองที่ผูกห่วงไว้กับ “อนงค์” ผู้เป็นภรรยา และหึงหวง “พงศ์สนิท” ชายหนุ่มที่เสนอตนมาเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับอดีตภรรยาของเขา        จนมาถึงฉากจบของเรื่องที่วิญญาณอานนท์สามารถช่วยเหลือตัวละครเอกจนสมหวังเรื่องความรักได้แล้ว คุณผีของเราก็ได้เล็งเห็นว่า ความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตล้วนเกิดขึ้นจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยวาง อานนท์จึงเริ่มทำใจวางอุเบกขาเรื่องความรัก ก่อนจะตัดสินใจอำลามุทิตาเพื่อเดินทางไปสู่สัมปรายภพ        บทสรุปของละครจึงเหมือนจะย้อนกลับไปสู่เสียงความในใจของอานนท์ที่เปิดฉากให้เราได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “เพราะแต่ละคนมีวิบากแห่งกรรมของตน หากไม่รู้จักปล่อยวาง ตายไปแล้วก็จะไม่มีความสุข”         นี่ขนาดทั้งคนทั้งผียึดติดอยู่กับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ และเรื่องของครอบครัว คนกับผีก็เกิดอาการเสียศูนย์จนต้องร้อง “help me” กันจ้าละหวั่น ถ้าเป็นเรื่องการยึดติดกับเก้าอี้ ชื่อเสียง ลาภยศ เงินทอง ไปจนถึงอำนาจด้วยแล้ว ถึงจะตะโกน “help me” สักกี่พันครั้ง ก็ไม่รู้ว่าคนและผีจะยอมหลุดพ้นปล่อยวางกันได้จริงๆ ล่ะหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระเช้าสีดา : ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาไม่รักหรอก

              มีข้อสังเกตอยู่ว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำคุกรุ่นอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่ทว่าจิตสำนึกของคนไทยก็มักเลือกที่จะ “ซุกขี้ฝุ่นไว้ใต้พรม” หรือใช้วิธีหรี่ตาให้กับความขัดแย้งต่างๆ แต่ในขณะที่สังคมไทยพยายามปิดบังอำพรางเชื้อฟืนแห่งความขัดแย้งเอาไว้ กลับเป็นละครโทรทัศน์ที่เลือกจะ “เลิกพรมขึ้นมาดูขี้ฝุ่นที่อยู่ใต้พื้น” และนำความเหลื่อมล้ำขัดแย้งมาเผยให้ได้เห็นกันอยู่ทุกค่ำคืน         และหนึ่งในความขัดแย้งที่มักถูกมานำเสนอเป็นเรื่องเล่าของละครโทรทัศน์ ก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง ซึ่งต่างก็ช่วงชิงโอกาสและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจสังคม และยังเป็นเส้นเรื่องในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนในละครโทรทัศน์เรื่อง “กระเช้าสีดา”         เมื่อสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยอ่านนิทานตำนานของต้นไม้ที่ชื่อ “กระเช้าสีดา” ว่า แต่เดิมไม้เถาพันธุ์นี้เป็นกระเช้าของนางสีดาที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่นางถูกทศกัณฐ์อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม จากนั้นทวยเทพยดาเบื้องบนจึงบันดาลดลให้กระเช้ามีรากงอกออกมาเป็นไม้เถา เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของนางสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์         แม้ในทุกวันนี้ ต้นกระเช้าสีดาจะยังมีข้อถกเถียงว่า ใช่ต้นไม้กาฝากที่เฝ้าคอยดูดน้ำเลี้ยงจากไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้เถาที่เพียงอิงแอบอาศัยไม้อื่นเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยกันแน่ แต่สำหรับในละครโทรทัศน์แล้ว กระเช้าสีดาเป็นอุปมาอุปไมยถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่แอบอิงเอาแต่จะเกาะกินเซาะทำลายชนชั้นนำที่วางสถานะเศรษฐกิจสังคมไว้สูงส่งกว่า         หากกระเช้าสีดาเป็นไม้เลื้อยที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไม้อื่น ตัวละครอย่าง “รำนำ” ก็เหมือนจะถูกสร้างขึ้นให้เป็นภาพแทนของเถาไม้แห่งชนชั้นล่างดังกล่าว รำนำเติบโตเป็นเด็กรับใช้ และเป็นลูกของ “นุ่ม” สาวใช้ในบ้านของ “ลือ” เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ ลือจึงสงสารและเอ็นดูเด็กหญิง เพราะคิดเสมอว่า เด็กที่ขาดพ่อก็ขาดซึ่งความอบอุ่น เลยอนุญาตให้รำนำนับถือเรียกเขาว่า “คุณอา” ทั้งที่ลึกๆ ในใจนั้น รำนำกลับแอบผูกจิตปฏิพัทธ์ให้กับ “คุณอา” ผู้เป็นญาติสมมติมาตั้งแต่เติบโตเข้าสู่วัยสาว         ตรงข้ามกับผู้หญิงอีกคนอย่าง “น้ำพิงค์” ซึ่งละครเปิดฉากแรกก็แนะนำให้ผู้ชมรับรู้สถานภาพของเธอในฐานะประธานบริหารเจ้าของบริษัทรถยนต์นำเข้าจากยุโรป และด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เช่นนี้เอง เมื่อน้ำพิงค์แต่งงานมาใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับลือ จึงเท่ากับการทำลายความฝันและพรากความหวังที่รำนำจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจหนุ่มใหญ่ที่เธอแอบหลงรักมานานแล้ว         ความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจและหน้าตาทางสังคมของผู้หญิงสองคนที่โคจรให้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ลูกแม่บ้าน กับอีกคนหนึ่งเป็นหญิงที่เพียบพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงไม่ต่างจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้สมุทรที่ความขัดแย้งแห่งชนชั้นรอคอยวันปะทุขึ้นมา         เมื่อไม่มีต้นทุนชีวิต รำนำก็ได้แต่เชื่อว่า การอยู่เฉยๆ เป็น “ข้าวรอคอยฝน” คงไม่ใช่คำตอบในชีวิตของเธอ ผู้หญิงที่เกิดมาในสถานะแบบชนชั้นล่างจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสด้วยสองมือของตนเอง         ประโยคที่รำนำเน้นย้ำกับแม่ว่า “พวกเราเป็นคนต่ำต้อย ไม่มีใครเขาประเคนอะไรให้เราหรอก ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องแย่งเอง” อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้จะ “เกิดมาเป็น” ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีจิตสำนึกที่ศิโรราบต่อสถานะอันเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งปัจเจกบุคคลจึงเริ่มต้นขึ้น และแม้จะไม่มีต้นทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด หากทว่า “นารีก็ยังมีรูปที่เป็นทรัพย์” รำนำจึงวางแผนหว่านเสน่ห์ยั่วให้ลือลุ่มหลง และมีสัมพันธ์เกินเลยกับเธอ รวมไปถึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ “ความลับไม่เป็นความลับ” จนสามารถเขย่าขาเตียงของลือกับน้ำพิงค์ และนำไปสู่การหย่าร้างจากกันได้ในที่สุด         แต่ทว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รำนำก็ต้องเรียนรู้ในสนามต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ สำหรับชนชั้นนำอย่างน้ำพิงค์แล้ว เนื่องจากมีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมที่ล้นเกิน แถมยัง “สวยเลือกได้” อีก สโลแกนของคนกลุ่มนี้จึงครวญออกมาเป็นวลีที่ว่า “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เพราะแม้จะเลิกรากับลือไป เธอก็พร้อมจะมีหนุ่มโสดในฝันอย่าง “อำพน” มาจ่อคิวรอคอยดูแล ก่อนจะก้าวเป็น “สามีแห่งชาติ” ในลำดับถัดมา         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถลำเข้าสู่สมรภูมิเกมแห่งชนชั้นแล้ว รำนำก็ได้สำเหนียกว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมต่างถักสานโครงข่ายผลประโยชน์ระหว่างกันของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้งผลประโยชน์ด้านสว่างและด้านมืดที่โยงใยอย่างซับซ้อน โดยที่ลูกสาวคนใช้อย่างเธอยากนักจะเข้าไปเจียดแบ่งผลประโยชน์มาดอมดมได้บ้างเลย         เริ่มจากหนุ่มหล่อลูกชายของเจ้าของธุรกิจสื่อรายใหญ่อย่าง “เวไนย” ผู้เคยแอบหลงเสน่ห์ที่รำนำโปรยไว้ให้ แต่เมื่อรู้ภายหลังว่ารำนำเป็นลูกสาวใช้และเป็นอนุภรรยาของลือ เขาก็เลือกสลัดเธอทิ้งไป พร้อมๆ กับสนับสนุนมารดาให้ใช้อำนาจสั่งปลดรำนำจากพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ตามมาด้วย “ศศี” นักธุรกิจสาวที่คอยกีดกันความรักที่รำนำมีต่อลือ จนสร้างความขัดแย้งของผู้หญิงสองคนชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย         แถมด้วย “พาที” ผู้บริหารธุรกิจกลางคืน ก็หลอกใช้รำนำเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางสู่ผลประโยชน์ของเขา ไปจนถึง “ท่านจรินทร์” นักการเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นรำนำเป็นเพียงของเล่นชั่วครั้งคราว หรือหลอกใช้เธอให้เป็นบันไดเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แต่ยังสั่งฆ่าเธอได้เมื่อของเล่นชิ้นนี้หมดประโยชน์ลง         ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเช่นนี้ คนชั้นล่างผู้เสียเปรียบก็ยิ่งถูกทำให้เสียเปรียบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขูดรีดผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่เหนือกว่าอยู่วันยังค่ำ แถมซ้ำด้วยการถูกยัดเยียดฝากฝัง “ความรู้สึกผิด” เอาไว้ในความคิดของชนชั้นล่างโดยคนกลุ่มเดียวกันเอง เหมือนกับที่แม่นุ่มก็พูดย้ำเตือนสำนึกอันผิดพลาดของรำนำว่า “คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาแบบไหน หรือพ่อแม่มีอาชีพอะไร แต่มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำตัวไร้ค่า ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไร้ค่าอยู่ดี”         ด้วยต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกันในสนามรบนี้ แม้ในตอนจบเรื่อง รำนำอาจจะพิชิตหัวใจของลือและลงเอยใช้ชีวิตคู่กับเขาได้ก็ตาม แต่ “ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน” สำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นก็ช่างแพงแสนแพงเหลือเกิน ทั้งถูกทำร้ายจนเหลือเพียงร่างพิการ ทั้งเสียลูกที่อยู่ครรภ์ ไปจนถึงสูญเสียชีวิตแม่นุ่มผู้ได้ชื่อว่าหวังดีที่สุดในชีวิตของเธอ         ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง ทางออกของความขัดแย้งได้รอมชอมขึ้น เมื่อรำนำและน้ำพิงค์หันหน้ามาปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อผู้หญิงจากชนชั้นที่แตกต่างหันมาพูดคุยกันอีกคำรบหนึ่งเช่นนี้ บางทีละครก็ทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า ระหว่างผู้หญิงที่ “ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” กับผู้หญิงที่ “ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตนทางเศรษฐกิจสังคม” นั้น คนกลุ่มใดกันแน่ที่เป็นไม้เลื้อยหรือกาฝากที่เกาะเกี่ยวพันไม้อื่นเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่เบี้ย : จิตมนุษย์นี้ไซร้…อยู่ในเรือนไทยริมน้ำ

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้” คืออะไรกันแน่? แม้นว่าความข้อนี้ดูจะตอบได้อย่าง “ยากแท้หยั่งถึง” แต่มนุษย์เราก็ยังมุ่งหมายที่จะเข้าถึงปริศนาธรรมอันยากหยั่งจะควานหาคำตอบนี้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างของศาสตร์ความรู้ด้าน “จิตวิทยา” สมัยใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เป็นความพยายามของการแสวงหาคำตอบว่า จิตของมนุษย์คืออะไร ดำรงอยู่ที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไร         นักจิตวิทยาบางคนได้ใช้หลักการทดลองกับหนูตะเภาหรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ ในห้องแล็บ ก่อนจะให้ข้อสรุปว่า จิตของคนเราเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา ตามแต่ว่าจะมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่าง ในขณะเดียวกับที่นักจิตวิทยาบางรายกลับเห็นว่า จิตคือการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อโลกรอบตัว จนเกิดเป็นความเข้าใจที่สลักฝังไว้เป็น “กล่องดำ” ในคลังความคิดของคนเรา         อย่างไรก็ดี ถ้าเรานำคำถามเดียวกันนี้ไปขอคำตอบจากคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คุณปู่ฟรอยด์ก็จะอธิบายว่า จิตของมนุษย์นั้นเป็นด้านที่เราไม่สำเหนียกรู้ตัว เป็นส่วนที่ไร้สำนึก ทว่าหลบเร้นเป็นแรงขับที่อาจจะรอวันปะทุไม่ต่างจากภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ใต้มหาสมุทร         เพื่อจำลองให้เห็นว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา…” และจิตของคนเราก็ดำดิ่งฝังลึกอยู่ใต้ห้วงมหรรณพเฉกเช่นนี้ เราอาจต้องไปลองส่องดูความเป็นไปของตัวละครต่างๆ ณ เรือนไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรีในละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่เบี้ย” หรือที่ใครต่อใครตั้งสมญาให้ว่าเป็น “เรือนบาป”         เรือนไทยริมน้ำที่ฉากหน้าดูสวยงามแปลกตาหลังนี้ มีอีกด้านที่เป็นอดีตอันลี้ลับดำมืดหลบเร้นอยู่ ทายาทรุ่นปัจจุบันของเรือนดังกล่าวเป็นหญิงสาวสวยลึกลับผู้มีนามว่า “เมขลา” ซึ่งแม้จะมีชีวิตที่ดูรักสันโดษ แต่ความงามของนางก็ดึงดูดชายหนุ่มมากหน้าหลายตาให้แวะเวียนมาเยือนเรือนไม้โบราณของเธอ         แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาที่คอนโดฯ หรูหราใจกลางป่าคอนกรีตของกรุงเทพมหานคร เมขลากลับดำเนินชีวิตผกผันแตกต่างไปจากที่เคย “เป็นอยู่คือ” ในเรือนไทยริมน้ำชนบท เธอเป็นเซเลบเจ้าของบริษัททัวร์ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม และมักจะพานักท่องเที่ยวมาเยือนเรือนไทยโบราณซึ่งเธอถือมรดกครอบครองอยู่         หากเรือนไทยริมน้ำเป็นประดุจแบบจำลองแห่งจิตของมนุษย์ เรือนโบราณที่ตั้งเด่นตระหง่านนี้เองก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของงูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ อสรพิษตัวยักษ์ทำหน้าที่ปกป้องและพร้อมจะคร่าชีวิตใครก็ตามที่ไม่หวังดีต่อเมขลาและทุกคนที่อาศัยอยู่ในเรือนริมน้ำ จนชาวบ้านต่างโจษจันกันว่า งูใหญ่ที่มักแผ่แม่เบี้ยพังพานตัวนี้เป็น “งูผี” บ้าง หรือเป็น “งูเจ้า” บ้าง “งูเจ้าที่” บ้าง         จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “ชนะชล” หนุ่มใหญ่คุณพ่อลูกสอง ได้ขอให้ “ภาคภูมิ” เลขานุการส่วนตัวของเขาช่วยหาเรือนไทยโบราณริมน้ำสักหลัง เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่พักผ่อนเงียบๆ เมื่อว่างจากภาระงาน ภาคภูมิจึงได้ติดต่อให้ชนะชลเข้าร่วมคณะทัวร์ของเมขลา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พระเอกหนุ่มได้จมดิ่งสู่ห้วงแห่งจิตที่อยู่ในหลืบลึกของบ้านเรือนไทย และเผชิญหน้ากับความลับของงูเห่าตัวใหญ่ตัวนั้น         ตามทัศนะของคุณปู่ฟรอยด์ เพราะจิตเป็นสนามสัประยุทธ์กำลังกันระหว่างด้านดิบๆ ของสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนเรา กับอีกด้านที่เป็นกฎระเบียบศีลธรรมของสังคมที่เข้ามากำกับปิดกั้นมิให้ความปรารถนาดิบๆ เหล่านั้นได้เผยอตัวออกมา การช่วงชิงชัยระหว่างสองด้านที่อยู่ในจิตของมนุษย์นี้เองถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตตาหรือตัวตนของปัจเจกบุคคล         ดังนั้น เมื่อชนะชลได้เดินทางมาถึงเรือนโบราณหลังนี้ ความทรงจำบางอย่างที่หลบเร้นอยู่ในจิตของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ก็เริ่มเผยตัวตนออกมา นอกจากเรือนไม้หลังเดียวกันนี้จะปรากฏเป็นฉากหลังในความฝันหรือห้วงจิตไร้สำนึกของเขาอยู่เป็นเนืองๆ แล้ว ในจิตนิวรณ์แห่งฝันอีกเช่นกัน ที่เขาเห็นภาพตัวเองกำลังจมดิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำ อันเป็นบาดแผลเจ็บปวดที่ชนะชลเคยเกือบเสียชีวิตกลางสายน้ำมาตั้งแต่วัยเด็ก         ขณะเดียวกัน พลันที่ชนะชลได้มาพบกับเมขลาเป็นครั้งแรก อารมณ์และจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงสาวก็ปะทุขึ้น แม้ชนะชลจะแต่งงานอยู่กินกับ “ไหมแก้ว” ผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในแวดวงสังคมชั้นสูง และมีลูกด้วยกันสองคน ไม่ต่างจากภาพอุดมคติครอบครัวที่สังคมได้กำหนดคาดหวังเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่งศีลธรรมครอบครัวก็คอยย้ำเตือนให้เขาต้องกักกั้นเก็บกดความปรารถนาทางเพศรสที่มีต่อนางเอกสาว ไม่ให้สำแดงตนออกมา         ทุกครั้งที่ได้มาเยือนเรือนไทยด้วยจิตผูกพันถวิลหาในตัวเมขลา ชนะชลก็สัมผัสได้ว่า มีสายตาของงูเห่าตัวใหญ่คอยจับจ้องมองการกระทำของเขาอยู่ ยิ่งเมื่อเส้นศีลธรรมระหว่างหนุ่มใหญ่กับหญิงสาวจะถูกล่วงละเมิดขึ้นคราใด งูเจ้าที่ก็ไม่เพียงปรากฏตัวออกมา หากแต่มุ่งมาดจะเข้ามาฉกทำร้ายชนะชลทุกครั้งครา         งูเห่าที่คอยแผ่แม่เบี้ยหลอกหลอนตัวนี้ จึงไม่ต่างจากกรอบศีลธรรมทางสังคมที่คอยกระตุกเตือน “ความรู้สึกผิด” ของตัวละคร เหมือนกับคำสรรพนามแบบเคารพที่เมขลาเรียกงูใหญ่ว่า “คุณ” อันมีนัยประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ด้านดิบได้เข้าครอบงำตัวตนของปัจเจกบุคคล         แต่ก็เหมือนที่คุณปู่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้ แม้จะปิดกั้นเก็บกดไว้ด้วยความรู้สึกผิดเพียงไร แต่ทว่า ในห้วงลึกของจิตนั้น ด้านดิบหรือ “ดำฤษณา” แห่งตัวละครก็ดูจะเกินหักห้ามข่มจิตใจเอาไว้ได้ ดังนั้น เมื่อกลับจากเรือนไทยริมน้ำ ชนะชลก็ได้แต่ฝันซ้ำๆ ถึงเรือนไม้โบราณ และในฉากฝันนั้น เมขลาในชุดไทยก็จะคอยกระทุ้งแรงปรารถนาและกามารมณ์ของเขา ไม่ต่างจากเมขลาเองก็ร้อนรุ่มและพยายามขัดขืนผลักไส หรือแม้แต่แสดงอาการเกรี้ยวกราดต่อ “คุณ” หรืองูเห่าเจ้าที่ให้ออกไปจากชีวิตของทั้งเขาและเธอ         จนเมื่อมาถึงขีดสุด มนุษย์เราก็พร้อมจะสลัดม่านประเพณีปฏิบัติที่เกาะกุมจิตแห่งตน แม้งูเห่าตัวใหญ่จะออกมาเตือนเป็นระยะๆ แต่ความปรารถนาดิบของพระเอกหนุ่มก็ทำให้เขา “รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง” ท้าทายกับอสรพิษร้ายผู้ลึกลับและน่ากลัว         ดังภาพอีโรติกต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่องละคร ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ชายหนุ่มหญิงสาวชวนกั้นคั้นกะทิสด (ซึ่งดูหวือหวาต่างออกไปจากภาพจำของฉากขูดมะพร้าวในตำนาน) ฉากร่วมรักหลับนอนบนเตียงไม้ และล้ำเส้นศีลธรรมที่สังคมเรียกว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ไปจนถึงฉากที่ชนะชลยอมก้มกราบไหมแก้วผู้เป็นภรรยา เพราะศิโรราบต่อแรงขับแห่งอารมณ์ดิบๆ ซึ่งเขาเองกลับทึกทักไปว่า นั่นเป็นเพราะ “พรหมลิขิต”         จนมาถึงฉากจบ หลังจากได้เห็นสรรพชีวิตที่สูญเสียท่ามกลางวังวนแห่ง “เรือนบาป” และเรียนรู้วัตรวิถีแห่งจิตมนุษย์กันแล้ว ชนะชลผู้มีชื่อแปลว่าชัยชนะเหนือสายน้ำ ก็เลือกจะหันกลับมาเผชิญหน้ากับ “คุณ” และยอมพ่ายแพ้ดิ่งดำสู่ใต้ท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมขลาที่เลือกจะกำจัด “คุณ” ให้หายไปจากชีวิต และเดินดำดิ่งสายน้ำสู่ห้วงแห่งดำฤษณาไปกับชนะชล ก่อนจะทิ้งปริศนาของงูเห่าตัวใหญ่และเรือนไทยริมน้ำไว้อีกครา เพื่อรอคอยมนุษย์รายถัดไปให้มาเรียนรู้และเข้าใจการดำรงอยู่แห่งจิตที่ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 มนต์รักหนองผักกะแยง : ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว

        วรรณกรรมท้ายรถแท็กซี่ เคยปรากฏข้อความสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” วลีแบบนี้สะท้อนจิตสำนึกของคนอีสานผู้พลัดถิ่นมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่พยายามยึดโยงและภูมิใจในตัวตนของความเป็น “อีสานบ้านเฮา” แม้จะพลัดพรากมาพำนักในพื้นถิ่นดินแดนอื่นก็ตาม         แต่ดูเหมือนว่า ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่นเช่นนี้ ไม่น่าจะใช่คำอธิบายที่ถูกต้องนักสำหรับพระเอกหนุ่มอย่าง “บักเขียว” ที่ “ละทิ้งแผ่นดินถิ่นอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า” เพื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กลางแห่งเมืองหลวงอันทันสมัย         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” นั้น ได้ย้อนภาพกลับไปสัมผัสชีวิตของบักเขียวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยแห่งชุมชน “บ้านหนองผักกะแยง” โดยมีเด็กหญิงคู่หูคู่ปรับข้างบ้านชื่อ “ชมพู่” เป็นเพื่อนไม้เบื่อไม้เมากันมา ครั้นพอโตขึ้น บักเขียวได้ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้เด็กน้อยสองคนต้องแยกจากกันไป         เมื่อมาอยู่มหานครอันศิวิไลซ์ จากนักเรียนดีเด่นของแดนดินถิ่นอีสานที่เว้าลาวพูดไทยไม่ชัด และกินปลาร้าปลาแดกเป็นนิจสิน บักเขียวได้ถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งบูลลี่กับวัตรปฏิบัติที่ต่างไปจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังล้อเลียนบักเขียวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” บ้าง หรือเป็น “เด็กลาวเด็กอีสาน” บ้าง ไปจนถึงทำให้เด็กชายพลัดถิ่นกลายเป็น “ตัวตลก” ในหมู่ผองเพื่อนชาวกรุงไป         ในห้วงจิตใจลึกๆ บักเขียวโทษความผิดว่า เป็นเพราะ “ยายเพียร” ที่เลี้ยงดูเขามาให้เป็น “คนอีสาน” เขาจึงบอกตัวเองว่า จักต้องลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปจากชีวิต และจะไม่กลับไปเหยียบบ้านหนองผักกะแยงอีกเลย         เพราะศักดิ์ศรีแห่งคนอีสาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่ต้องให้คนกรุงเทพหรือ “คนอื่น” มาเชิดชูยอมรับ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกของ “คนใน” เองที่ต้องมั่นอกมั่นใจในตัวตนความเป็นอีสานนั้นเสียก่อน ดังนั้น บักเขียวจึงเลือกจะรื้อถอนชื่อแซ่อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สลายหายไปในทุกวิถีทาง ถึงขนาดที่ว่า ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า “บักเขียว” มาอยู่กรุงเทพ เพียงประเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนจากบักเขียวเป็น “ธรากร” กันเลย         บักเขียวในคราบไคลใหม่ เริ่มฝึกพูดภาษาไทยไม่ให้เหลือสำเนียงอีสานแต่อย่างใด เลิกกินและแสดงอาการรังเกียจปลาร้าปลาแดกอย่างออกหน้า เปลี่ยนลุคปรับวิธีเดินเหินและการแต่งตัวเสียใหม่ ไปจนถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่จะไม่ต้องเฉียดกรายกลับสู่วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าที่ถีบตัวเองออกมา         กล่าวกันว่า พื้นที่ความเป็นเมืองเป็นดินแดนที่ปราศจากซึ่งความรัก แม้จะปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเพียงใด เมื่อบักเขียวเรียนจบ ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์และคบหากับ “อลิซ” แฟนสาว รวมทั้งทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อผ่อนคอนโดเรือนหอหลักล้าน แต่แล้ว ภายใต้ความฝันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในเมืองมั่งคั่ง อลิซก็สะบั้นรักหักอกเขา แถมยังใช้เล่ห์กลโกงโฉนดสัญญาคอนโดไปเป็นของเธออีก         “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้ ผู้หญิงที่กรุงเทพก็อันตราย เพราะพวกเธอหลายใจหัวใจพี่เองก็แพ้…” บักเขียวผู้ครวญเพลง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” จึงได้แต่พกพาจิตใจอันบอบช้ำกลับไปเยียวยาบาดแผลยังบ้านหนองผักกะแยง ภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ตนจากมากว่ายี่สิบปี         แม้ละครจะผูกปมให้เห็นว่า เขี้ยวเล็บที่บักเขียวลับคมมาจากเมืองกรุง ทำให้จิตสำนึกของเขาได้แต่มองที่ดินของยายเพียรเป็นเพียงสินทรัพย์ที่จะขายไปเพื่อต่อทุน และกลับไปตั้งหลักใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกคำรบหนึ่ง แต่ความรักและสายสัมพันธ์อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวยึดโยงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ก็ทำให้สายตาของบักเขียวค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชนบทอีสานบ้านเกิดที่ต่างออกไป         ในห้วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยพยายามสร้าง “ภาพจำ” เพื่อเหมารวมอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง แร้นแค้น เป็นดินแดนแห่งความยากจน ความทรงจำวูบแรกที่ผู้คนนึกถึงวิถีอีสานมักเกิดขึ้นบนผืนดินแตกระแหง และเป็นชีวิตที่ไม่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจใดๆ ภาพจำแบบนี้จึงเป็นแรงผลักให้เกิดแรงงานอีสานพลัดถิ่นที่ซัดเซพเนจรมาเสี่ยงโชคชะตาในมหานครเมืองกรุง         ดังนั้น เมื่อต้องพลัดถิ่นไปนาน และติดบ่วงอยู่ในภาพจำแบบเดิมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่อาการบักเขียวผู้กลับมาหนองผักกะแยงช่วงแรกๆ จึงกอปรขึ้นจากความรังเกียจรังงอน สีหน้าขยะแขยงอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาร้า ไปจนถึงอากัปกิริยาเหม็นขี้วัวที่ต้องโกยมาทำปุ๋ยคอก ดูจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี         เพราะอีสานเป็นเบ้าหลอมที่บักเขียวใช้ชีวิตเติบโตมา และก็เหมือนกับความเชื่อมั่นที่ยายเพียรกล่าวถึงหลานชายว่า “คนเรามันเปลี่ยนกันได้ เบิ่งไป” เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในท้ายสุดบักเขียวก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ดินของบรรพชนเพื่อแลกกับเม็ดเงินหลายสิบล้าน และเลือกจะใช้ชีวิตครองคู่กับชมพู่น้องนางบ้านนามากกว่าผู้หญิงกรุงเทพที่หักอกเขาแบบไม่ไยดี         แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบันที่คนอีสานในโลกความเป็นจริงมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ภาพจำในแบบเดิมๆ จึงถูกบักเขียวรับรู้และตีความอีกครั้งให้กลายเป็น “อีสานใหม่” ผ่านโลกสัญลักษณ์แห่งละครโทรทัศน์ไปเสียเลย         จากผืนดินที่แตกระแหงก็กลายเป็นผืนนาอันเขียวขจี จากภาพอีสานที่ยากจนแร้นแค้นกลายเป็นชีวิตผู้คนที่หาอยู่หากินและร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน จากภูมิภาคที่ล้าหลังดิบเถื่อนกลายเป็นแอ่งอารยธรรมที่โอบอุ้มประเพณีพิธีกรรมอันน่าถวิลหา จากความแห้งแล้งและคราบน้ำตากลายเป็นดินแดนแห่งรักโรมานซ์ที่แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชมและอยากใช้ชีวิตอยู่ และที่สำคัญ จากภาพคนอีสานตัวดำในห้วงคำนึงกลายเป็นพระเอกหนุ่มที่สวมบทบาทโดยคุณพี่ณเดชน์สามีแห่งชาติของสาวๆ รุ่นใหม่หลายคน         เพราะจิตสำนึกของคนเราเปลี่ยนได้แบบที่ยายเพียรมั่นใจในหลานชายของตน จากคนที่พลัดถิ่นไปอยู่ในวิถีบริโภคล้วนๆ เป็นหนุ่มเมืองหลวง เมื่อได้ย้อนกลับคืนบ้านเกิด บักเขียวได้ลงมือปลูกแตงกวาและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เขาก็ค่อยๆ สำเหนียกเห็นคุณค่าของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม จนพูดกับตนเองว่า “คิดถึงแปลงแตงกวา ไม่เคยคิดถึงแตงกวามากขนาดนี้มาก่อนเลย”         หลังผ่านการรื้อถอนปอกเปลือกคราบไคลที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ออกไป ในท้ายที่สุด “จริต” ของบักเขียวที่เคย “ดัด” ให้ต้องพูดภาษาไทยชัดเจนด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ก็กลับกลายมาเป็นคนอีสานบ้านเฮาที่เว้าภาษาบ้านเกิดเป็นไฟแลบโดยไม่รู้ตัว         หากในเมืองหลวงถิ่นอื่น คนอีสานมีแต่ต้องชะเง้อหาแนวร่วมที่จะตะโกนร้อง “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แต่ทว่าในถิ่นฐานภูมิลำเนาที่ตนภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเท่านั้น บักเขียวก็พร้อมจะบอกทั้งตนเองและคนอื่นๆ ว่า ณ บ้านหนองผักกะแยงแห่งนี้ “ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 บาปอยุติธรรม : ความ(อ)ยุติธรรมได้ทำงานของมัน

        ในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” แห่งสังคม กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่แค่การพยายามค้นหานิยามว่า อะไรคือความยุติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเกิดมาจากการตั้งคำถามว่า สังคมทุกวันนี้ยังจะมีความยุติธรรมด้านต่างๆ ได้จริงหรือ         โดยทั่วไปแล้ว ความยุติธรรมจะมีความหมายในสองลักษณะ โดยในนิยามแรก ความยุติธรรมคือ “ความเท่าเทียม” หรือการที่ทุกคนต้องได้ต้องมีอย่างเท่ากัน กับอีกนิยามนั้น ความยุติธรรมหมายถึง “ความคู่ควร” เช่น คนที่ทำงานหนักหรือดีกว่า ก็พึงต้องได้ประโยชน์มากกว่าบุคคลอื่นๆ ด้วย         กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องความยุติธรรมหาใช่จะเป็นเพียง “ผล” ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมหรือคู่ควรแค่นั้นไม่ หากอยู่ที่ “การเข้าถึง” ซึ่งจะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วยเช่นกัน เพราะหากกระบวนการจัดการหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ยังถูกกำกับไว้ภายใต้โครงสร้างอำนาจบางอย่าง ความยุติธรรมก็ยากที่จะบังเกิดขึ้นได้จริง         หากความยุติธรรมสัมพันธ์กับโอกาสแห่งการเข้าถึงที่จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมและความคู่ควรดั่งนี้แล้ว ชะตากรรมชีวิตของตัวละครพระเอกหนุ่มอย่าง “ชิดตะวัน” ผู้ถูกตัดสินให้ติดคุกกว่า 11 ปีด้วยคดีที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด ก็คงเป็นภาพฉายให้เห็นลักษณาการอันผิดเพี้ยนของสถาบันหรือกลไกที่ทำหน้าที่สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม         ต้นเรื่องของละครเปิดฉากขึ้นด้วยภาพที่ดูสดใสอบอุ่นของตัวละครชิดตะวันนักศึกษาแพทย์อนาคตไกล ทั้งนี้ ว่าที่หมอหนุ่มไม่เพียงแต่มุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อจะเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” ของคนไข้ทั้งหลาย หากแต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความฝันที่จะได้ลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “น้ำทิพย์” แฟนสาวที่คบหากันมายาวนาน         แต่แล้วจุดพลิกผันของกราฟชีวิตก็อุบัติขึ้น เมื่อ “ชลธี” บิดาของน้ำทิพย์ถูกยิงเสียชีวิต และหลักฐานทั้งมวลได้ชี้มาที่ตัวของชิดตะวันว่า เขาคือผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียว โดยมี “บัวบูชา” เด็กหญิงวัยสิบสามปี ที่ถูก “บริบูรณ์” ผู้เป็นพี่ชาย วางแผนให้เป็นพยานชี้ตัวชิดตะวันในครั้งนั้น ทั้งที่ลึกๆ แล้ว เด็กน้อยเองก็ไม่รู้ประสีประสากับแผนการครั้งนี้         จากผู้ต้องสงสัยกลายเป็นผู้ต้องขัง จากชายผู้มีอนาคตอันสวยงามสู่ชายผู้สิ้นหวังและถูกคนรักสะบั้นความสัมพันธ์ที่คบหามา และจากโทนอารมณ์ของละครซึ่งดูสดใสในตอนต้นเรื่อง ฉับพลันกลายเป็นโทนอารมณ์ดาร์กๆ มืดมนลง ชีวิตที่ภินท์พังลงด้วยความอยุติธรรมทำให้ชิดตะวันต้องกลายเป็นนักโทษคดีฆ่าคนตาย และสูญเสียโอกาสในชีวิตไปตลอดกาล         11 ปีผ่านไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ 11 ปีที่เวลาแห่งชีวิตต้องหายไป ทนายสาว “ปลายฝน” นางเอกของเรื่อง ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชิดตะวัน และด้วยหลักฐานใหม่ที่ปลายฝนนำมาอ้างอิงเพื่อต่อสู้คดีนี้เอง ในที่สุดชิดตะวันก็ได้ออกจากเรือนจำ และได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพนอกกรงขังเป็นครั้งแรก         และพลันที่ได้ก้าวย่างออกจากเรือนจำ ชิดตะวันกลับพบว่า ความผิดเพี้ยนของระบบยุติธรรมไม่ได้แค่ทำให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพมานานกว่าทศวรรษเท่านั้น แม้แต่กับชีวิตนอกคุกของคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของเขา ก็ยังกลายเป็นเหยื่อเซ่นสรวงต่อความอยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         เริ่มตั้งแต่ “อนุพงษ์” ผู้เป็นบิดา ก็ต้องตกงานเพราะตราประทับของสังคมที่ตีค่าให้เขากลายเป็นพ่อของนักโทษฆ่าคนตาย “มาลินี” ผู้เป็นมารดา ก็ไม่หลงเหลือรอยยิ้มเพราะชีวิตถูกผลักให้อยู่ในสภาวะระทมทุกข์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และ “ศศิ” น้องสาวคนเดียวก็ต้องระเห็จลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากฐานะที่อัตคัดลงของครอบครัวจึงไม่อาจส่งเสียให้เธอศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้        ไม่ว่าความยุติธรรมจะหมายถึงความเท่าเทียมหรือคู่ควรที่มนุษย์พึงได้นั้น ชิดตะวันก็ตระหนักว่า ที่แน่ๆ ความยุติธรรมหาใช่จะ “ตกมาจากฟากฟ้า” หรือถูกจัดสรรให้มีอยู่แล้วสำหรับทุกคนในสังคม การได้มาซึ่งความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องต่อสู้ช่วงชิง “โอกาสแห่งการเข้าถึง” เพื่อให้ได้มาเท่านั้น         เมื่อสวรรค์ไม่ได้บันดาลความยุติธรรมมาให้ ชิดตะวันผู้ได้ลิ้มรสอิสรภาพเข้าไปจึงสมาทานตนที่จะสร้างโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมดังกล่าวเอง เพราะแม้จะออกจากคุกมาแล้ว แต่เขาก็บอกตนเองและใครต่อใครว่า กับชีวิตคนที่เคยถูกตีตรา “บาปแห่งความอยุติธรรม” นั้น “อดีตหนีไปไม่พ้น มันตามไปทุกที่”         เพราะตัดสินใจกลับสู่สมรภูมิช่วงชิงความยุติธรรมคืนอีกครั้ง ข้อเท็จจริงบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมา ในขณะที่ “คทาเพชร” เพื่อนวัยเด็กของน้ำทิพย์ ก็คือตัวการวางแผนใส่ความพระเอกหนุ่มเพื่อพรากหญิงคนรักมาจากเขา แต่ทว่า ยิ่งเมื่อความลับนี้ถูกสาวไส้ออกมามากเท่าไร ชิดตะวันกลับยิ่งพบว่า ความอยุติธรรมมีความซับซ้อน และเกาะเกี่ยวเป็นโครงข่ายที่กัดกร่อนรากแก้วของสังคมไว้อย่างน่าสะพรึงกลัว         แม้ด้านหน้าฉาก คทาเพชรจะเป็นอดีตศัตรูหัวใจที่ชิดตะวันต้องสัประยุทธ์ต่อกรด้วย แต่ฉากหลังอันดำมืดของคทาเพชร ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนผู้วางโครงข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ผนวกผสานเข้ากับกลไกแห่งอำนาจรัฐเอาไว้ โดยมี “สารวัตรนิติ” นายตำรวจกังฉิน กับ “เตชินท์” ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจมืด เป็นฟันเฟืองหลักที่ทำให้วงจรแห่งความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยวไป         และแม้แต่ปลายฝนเอง ก็มีความลับด้านหลังที่เธอคือเด็กหญิงบัวบูชา ผู้ชี้ตัวชิดตะวันจนเขาต้องโทษในคุกกว่าสิบปี แม้ปลายฝนจะเลือกใช้อาชีพทนายเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้พระเอกหนุ่ม เหมือนที่เธอกล่าวว่า “ความยุติธรรมมันพิกลพิการ เลยขับเคลื่อนไปช้าๆ แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันก็จะไปสู่จุดหมาย” แต่จริงๆ แล้ว จุดหมายปลายฝันที่ขับเคลื่อนไป ก็ช่างเชื่องช้าริบหรี่จนไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาเลย         หลังจากที่พระเอกหนุ่มต้องสูญเสียบิดาเพื่อเซ่นสังเวยแก่ความอยุติธรรม เพราะไปรับรู้เบื้องหลังโครงข่ายอำนาจที่กลุ่มทุนประสานประโยชน์เพื่อขูดรีดโอกาสจากผู้เสียเปรียบ ดังนั้น “หลังที่ต้องพิงฝา” หรือ “สุนัขที่ถูกบีบให้ต้องจนตรอก” เมื่อความอยุติธรรมได้แทรกซึมอยู่ในทุกองคาพยพแห่งสังคม คงมีเพียงจิตสำนึกกับสองมือของปัจเจกบุคคลเท่านั้นที่จะรื้อถอนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ “พิกลพิการ” นั้นได้         ตามสูตรเรื่องราวละครแนวดรามา ที่หลังจากตัวละครเอกต้องสูญเสียระลอกแล้วระลอกเล่า ในฉากท้ายเรื่องก็ถึงคราวที่ตัวร้ายจะต้องพบจุดจบ ไม่ตายก็ต้องติดคุกหรือถูกลงทัณฑ์ แบบเดียวกับที่ชิดตะวันได้พูดขมวดทิ้งท้ายไว้ว่า “ความยุติธรรมได้ทำงานของมัน” ภายหลังสถานการณ์ร้ายๆ คลี่คลายไปแล้ว         อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ ยังคุกรุ่นเป็นภูเขาไฟรอวันปะทุอยู่ในสังคม ละครอาจบอกนัยที่คู่ขนานไปอีกทางด้วยว่า เผลอๆ อาจไม่ใช่ “ความยุติธรรม” แต่เป็น “ความอยุติธรรม” ต่างหากกระมังที่เป็น “บาป” ซึ่งรอวัน “ทำงานของมัน” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วันทอง : (ไม่)อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน

                คุณผู้อ่านเคยเป็นหรือไม่ เมื่อเราหยิบงานวรรณกรรมที่เคยอ่านเอามา “อ่านใหม่” อีกครั้ง การตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาสารเหล่านั้น บ่อยครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม         ทุกครั้งที่เราอ่านเนื้อหาสารใดอีกคราหนึ่ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “re-reading” การรับรู้ความหมายมักจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านที่เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะจิตสำนึกของคนเราที่แปรเปลี่ยนไป จึงทำให้การมองโลกและรับรู้เรื่องเดิมผิดแผกแตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน         หนึ่งในตัวอย่างของ “เรื่องเก่าที่เอามาอ่านตีความใหม่” เช่นนี้ ก็คือการปรับแปลงนิทานพื้นบ้านอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “วันทอง” ที่แค่ชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเอกอย่าง “ขุนช้าง” หรือ “ขุนแผน” ได้เวลาถอยไป เพราะถึงคราวตัวแม่อย่าง “วันทอง” จะ “องค์ลง” มาขอสิทธิ์เสียงเป็นตัวละครเดินเรื่องหลักกันบ้างแล้ว         สมัยเด็กๆ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสือ เคยต้องท่องจำบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ฉากเปิดตัว “พลายแก้ว” หรือต่อมาก็คือขุนแผนแสนสะท้านพระเอกของเรื่อง บทอาขยานท่อนนั้นท่องว่า “จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี กับนางทองประศรีผู้มารดา…” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอภิตำนานชีวิตพระเอกหนุ่มเนื้อหอม รูปงาม มีความรู้ความสามารถและสรรพคาถาวิชา         ครั้นพอดัดแปลงตีความใหม่เป็นละครโทรทัศน์ออกมานั้น ไหนๆ ผู้ผลิตก็ผูกเล่ามหากาพย์ชีวิตของนางวันทองให้เป็นตัวเอกของเรื่องราวขึ้นมาบ้าง ละครก็ได้ให้น้ำหนักกับการปูที่มาที่ไปของนาง “พิมพิลาไลย” ผู้เป็นต้นธารแห่งมายาภาพ “นางวันทองหญิงสองใจ” โดยมิพักต้องเล่าสาธยายรายละเอียดภูมิหลังชีวิตของพลายแก้วแววไวแบบที่เราคุ้นเคยกันมาอีกเลย         หากดำเนินความตามท้องเรื่องแบบ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับเดิม เส้นเรื่องหลักจะเดินไปตามพัฒนาการชีวิตของขุนแผนจากวัยเยาว์ ไปจนท้ายเรื่องที่ “สมเด็จพระพันวษา” ได้ปูนบำเหน็จเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมีเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คู่ขนานไปกับ “ศึกรบ” ก็คือ “ศึกรัก” ระหว่างขุนแผนชายหนุ่มรูปงาม กับขุนช้างชายรูปชั่วหัวล้าน จนเกิดเป็นตำนาน “วันทองหญิงสองใจ”         แต่ในละครโทรทัศน์นั้น ผู้ผลิตได้ปรับโฟกัสการรับรู้จากทัศนะคนทั่วไปที่มักตีตราวันทองว่า เป็น “หญิงสองใจ” จนนำไปสู่คำพิพากษาของสมเด็จพระพันวษาให้ประหารชีวิต เพียงเพราะนางไม่สามารถ “เลือก” ชายคนใดได้ระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง มาสู่มุมมองใหม่จากความในใจและสายตาของตัวนางวันทองเอง         และเพื่อรื้อถอนภาพจำแห่งเรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีมาก่อน ละครจึงเลือกตัดภาพมาขึ้นต้นด้วยฉากชะตากรรมท้ายเรื่องที่วันทองกำลังจะขึ้นศาลฟังการไต่สวนพิพากษา         ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพบรรดาตัวละครแม่ค้าประชาชีมารุมด่าประณามสาปแช่งด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีหญิงสองใจ” บ้าง “อีตัวต้นเหตุ” บ้าง หรือแม้แต่ “อีหญิงสองผัวชั่วชาติ เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน” โดยที่วันทองก็ได้แค่กล่าวโต้กลับแต่เพียงว่า “เอ็งยังไม่รู้จักข้า แล้วเอ็งมาด่าข้าได้ยังไง” ช่างเป็นประโยคที่เสียดแทงอยู่ในทีว่า มติสาธารณะที่ทั้งแม่ค้ารวมถึงคนดูแบบเราๆ เคยรับรู้และตัดสินคนอื่นด้วยบรรทัดฐานบางชุดเยี่ยงนี้ เป็นความถูกต้องชอบธรรมแท้จริงหรือไม่         จากนั้น คู่ขนานไปกับการไต่สวนความนางเอกของเรื่องนี้ ละครก็ค่อยๆ แฟลชแบ็คภาพกลับไปให้เราได้เห็นชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ที่เธอเลือกแต่งงานอยู่กินกับขุนแผน ฮันนีมูนพีเรียดอันแสนสั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พลันที่ขุนแผนชนะศึกที่เชียงทองและพานาง “ลาวทอง” เข้ามาร่วมหอในชายคาเดียวกัน         ในขณะที่เจตนารมณ์ของบุรุษเพศทั่วไปนั้น “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนกับงูที่ไม่มีพิษ” แต่สำหรับผู้หญิงอย่างวันทองแล้ว “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ปรารถนาจะเสียผัวให้แก่ใคร” เมื่อชายคนรักเลือกที่จะมีเมียมากกว่าหนึ่ง วันทองถึงกับประชดประชันขุนแผนว่า “ข้าไม่อยากเป็นเมียเอก แต่ข้าอยากเป็นเมียเดียวของพี่”         และในอีกทางหนึ่ง วันทองเองก็ยังถูกลากเข้าสู่ใจกลางสมรภูมิหัวใจระหว่างตัวละครชายสองคน เมื่อขุนแผนต้องไปออกศึกรับใช้บ้านเมือง ขุนช้างก็ใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงตัวนางมาเป็นเมีย โดยสร้างเฟคนิวส์ว่าขุนแผนได้เสียชีวิตแล้วในสงคราม ทำให้ต่อมาในภายหลังนางเองก็ถูกขุนแผนชายคนรักปรามาสดูถูกว่า “ตำแยที่ว่าคัน ก็ยังไม่เท่าเจ้าเลย”         ทั้งถูกประณามหยามหมิ่น และถูกชักเย่อไปมาระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ชายหนึ่งคือ “คนที่นางรัก” กับอีกชายหนึ่งคือ “คนที่รักและดีกับนาง” ในที่สุดเรื่องก็เดินไปถึงจุดสุดขั้นเมื่อวันทองถูกนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา เพื่อยุติปัญหารักสามเส้าแบบ “หนึ่งหญิงสองชาย” เหมือนกับที่เราเคยได้อ่านมาในวรรณกรรม         แบบที่ผู้ชมก็ทราบกันดีว่า หากวันทองตัดสินใจ “เลือก” ลงเอยกับชายคนใดสักคน นางก็จะรอดจากการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เมื่อนางได้ใคร่ครวญแล้วว่า “ขาดเธอก็คงไม่เหงา ขาดเขาก็คงไม่เสียใจ” การตัดสินใจต้อง “เลือก” ใครสักคนก็ยังคงสืบต่อคำถามแบบที่นางได้ทูลสมเด็จพระพันวษาว่า “แล้วเราจะไม่ต้องเจ็บเพราะผู้ชายอีกต่อไปใช่ไหมเพคะ”         ดังนั้น พอถูกตีความว่าโลเลตัดสินใจไม่ได้ วันทองก็ถูกตีตราลงโทษว่าเป็น “หญิงสองใจ” ที่ “ไม่สามารถเลือก” ชายใดได้สักคน จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับตราประทับดังกล่าวของสังคม         อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากันดีๆ แล้ว ขณะที่สังคมกำหนดให้ “เลือก” ระหว่างชายสองคน แต่วันทองเองก็ได้ “เลือก” เหมือนกัน เพียงแต่บนคำตอบที่เธอขอ “เลือก” กำหนดเองว่า จะไม่ขอกากบาทตัวเลือกข้อใดที่สังคมหยิบยื่นให้มา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาทั้งปวงได้ แบบที่นางได้กล่าวก่อนถูกประหารว่า “ข้ายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกให้เรา”         และเพราะไหนๆ ละครโทรทัศน์ก็เป็นการอ่านใหม่ในเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ผู้ผลิตจึงดัดแปลงฉากจบให้วันทองยังคงมีลมหายใจต่อไป ก็คงเพื่อยืนยันว่า ชีวิตของหญิงที่ขอ “เลือก” ในสิ่งที่ตนปรารถนา และ “ไม่อยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายที่สังคมกระทำต่อเธอแบบอยุติธรรม         บทสรุปของการอ่านเพื่อตีความใหม่เฉกเช่นนี้ ก็คงต้องการสนับสนุนคำพูดของวันทองที่กล่าวในท้ายเรื่องว่า “สิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำก็คือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” และที่สำคัญ “ศักดิ์ศรีไม่ใช่ให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือชาย แต่ข้าแค่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของผู้หญิงบ้าง…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมียจำเป็น : โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร

                ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป โลกแห่งความจริงกับโลกของละครเป็นสองโลกที่มีเส้นกั้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน โลกแห่งความจริงเป็นโลกทางกายภาพที่มนุษย์เราสัมผัส จับต้อง และใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริงๆ ในขณะที่โลกของละครเป็นจินตนาการที่ถูกสมมติขึ้นด้วยภาษาสัญลักษณ์         อย่างไรก็ดี นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เคยโต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว โลกแห่งความจริงกับโลกของละครไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง แต่กลับไขว้ฟั่นพันผูกกันอย่างแนบแน่น จนแม้ในบางครั้ง เรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการก็แยกแยะออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว         กับละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “เมียจำเป็น” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งละครที่มนุษย์เราดื่มด่ำประหนึ่ง “มหากาพย์แห่งความรื่นรมย์” อยู่นั้น หาใช่เพียงแค่เรื่องประโลมโลกย์ไร้สาระแต่อย่างใดไม่ หากแต่ทุกวันนี้โลกทัศน์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้อรรถรสแห่งละคร ได้ก่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนเราไปเสียแล้ว         ด้วยโครงเรื่องคลาสสิก (กึ่งๆ จะเหลือเชื่อแต่ก็เป็นจริงได้) ที่สาวใช้สู้ชีวิตอย่าง “ตะวัน” ได้ประสบพบรักและลงเอยแต่งงานกับ “โตมร” พระเอกหนุ่มลูกชายเศรษฐีเจ้าของสวนยางที่ภูเก็ต แม้จะดูเป็นพล็อตที่มีให้เห็นทั่วไปในละครหลังข่าว แต่ลีลาอารมณ์ของเรื่องที่ผูกให้มีลักษณะเสียดสีล้อเลียน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแนว “parody” นั้น ก็ชวนให้เราพร้อมจะ “ขบ” คิด ก่อนที่จะแอบขำ “ขัน” อยู่ในที         เริ่มต้นเปิดฉากละครด้วยภาพของตะวัน หญิงสาวผู้ต่อสู้ชีวิตด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน กอปรกับ “เดือน” ผู้เป็นแม่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะอีก ตะวันจึงรับจ้างทำงานเป็นแม่บ้านพาร์ตไทม์ จนเป็นที่ไวรัลกันปากต่อปากว่า เธอเป็นแม่บ้านรับจ้างมือหนึ่ง ที่ดูแลทำความสะอาดบ้านได้อย่างเกินล้น ล้างจานได้สะอาดหมดจด รวมไปถึงมีกรรไกรตัดเล็บติดตัว พร้อมปฏิบัติภารกิจผู้พิทักษ์สุขอนามัยอย่างเต็มที่         ตัดสลับภาพมาที่โตมร หนุ่มนักเรียนนอกเนื้อหอม แม้ด้านหนึ่งเขาจะชอบวางมาดไม่ต่างจากพระเอกละครโทรทัศน์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกเศรษฐีผู้มีน้ำใจกับคนรอบข้าง และก็เป็นไปตามสูตรของละครแนวพระเอกผู้ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด” โตมรก็ถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนให้หมั้นหมายเพื่อแต่งงานกับ “หยาดฟ้า” ผู้ที่ไม่เคยเจอหน้าเจอตากันมาก่อน         เพราะโตมรต้องการปฏิเสธสภาวะคลุมถุงชนครั้งนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดูตัวว่าที่เจ้าสาว โดยหวังว่าจะได้จัดการถอนหมั้นเธอให้จบไป นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พระเอกหนุ่มกับนางเอกแม่บ้านพาร์ตไทม์ได้มาพบเจอกัน โดยมีเหตุให้โตมรเข้าใจผิดว่า แม่บ้านออนไลน์อย่างตะวันก็คือหญิงสาวที่เป็นคู่หมั้นหมายของเขาจริงๆ         จากนั้น เมื่อในทางหนึ่งหยาดฟ้าที่คบหาอยู่กับชายหนุ่มเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง “บรรเลง” ก็ไม่อยากแต่งงานกับชายหนุ่มบ้านนอกที่เธอไม่รู้จักมักจี่มาก่อน กับอีกทางหนึ่ง ตะวันก็ต้องการเงินมารักษาแม่ที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลเกมสลับตัวของผู้หญิงสองคนจึงเกิดขึ้น ตะวันในนามของหยาดฟ้าเลยตกลงปลงใจมายอมรับสภาพเป็น “เมียจำเป็น” ณ นิวาสถานของพระเอกหนุ่มโตมรในที่สุด         เมื่อต้องกลายมาเป็น “เมียจำเป็น” ตะวันก็ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันที่หมายมาดจะเข้ามาช่วงชิงบทบาทความเป็น “เมีย” ของนายหัวโตมร ไม่ว่าจะเป็น “โสภิต” เลขาคู่ใจ แต่คิดกับพระเอกหนุ่มเกินคำว่าเพื่อน หรือ “กิ่งแก้ว” พยาบาลของ “คุณน้อย” น้องสาวพิการของโตมร ที่อยากเลื่อนขึ้นมาเป็นพี่สะใภ้มากกว่า รวมไปถึงหยาดฟ้าตัวจริงเอง ที่ภายหลังก็คิดจะเลิกร้างกับบรรเลง เพื่อมาเป็นภรรยาเจ้าของสวนยาง        จากความขัดแย้งของเรื่องที่นางเอกยากจนต้องมาต่อสู้กับบรรดานางร้ายผู้มีหมุดหมายเป็นพระเอกหนุ่มคนเดียวกันเช่นนี้ ละครก็เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า สำหรับคนชั้นล่างแล้ว “ความจำเป็น” ทางเศรษฐกิจสังคมก็คือ ตัวแปรต้นที่ทำให้ตะวันจำยอมตัดสินใจมารับบทบาทความเป็น “เมียแบบจำเป็น”         ตรงกันข้ามกับบรรดาคนชั้นนำที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ใน “ความไม่จำเป็น” แต่อย่างใด ทว่าคนกลุ่มนี้กลับใช้อำนาจและพยายามทุกวิถีทางที่จะครอบครองสถานะความเป็น “เมีย” เพียงเพื่อสนอง “ความปรารถนา” มากกว่า “ความจำเป็น” ของตนเท่านั้น         คู่ขนานไปกับการนำเสนอความขัดแย้งระหว่าง “ความจำเป็น” กับ “ความปรารถนา” นั้น ด้วยวิธีเล่าเรื่องแนวเสียดสีชวนขัน ในเวลาเดียวกัน เราจึงได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครเอกที่ผิดแผกไปจากการรับรู้แบบเดิมๆ ของผู้ชม         แม้พระเอกนางเอกจะต่างกันด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคม แต่ทั้งคู่ก็ถูกออกแบบให้กลายเป็นคนที่ชอบดูละครโทรทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ แม้พระเอกหนุ่มจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มั่งคั่ง แต่เขาก็ติดละครหลังข่าวแบบงอมแงม เช่นเดียวกับตะวันที่เมื่อทำงานเสร็จ ก็ต้องรีบกลับบ้านมาดูละครภาคค่ำทุกๆ คืน         การโคจรมาเจอกันของแฟนคลับละครจอแก้ว ไม่เพียงจะทำให้คนสองคนได้ปรับจูนรสนิยมในการคบหากันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว พร้อมๆ กันนั้น ความคิด การกระทำ และประสบการณ์ชีวิตของพระเอกนางเอกก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากละครโทรทัศน์หลากหลายเรื่องที่ทั้งคู่รับชมมาตั้งแต่เด็กๆ        ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่หลายฉากหลายสถานการณ์ที่ปรากฏในละคร “เมียจำเป็น” จึงช่างดูคุ้นตาแฟนานุแฟนของละครภาคค่ำยิ่งนัก         ตั้งแต่ฉากที่ตะวันผูกผมเปียถือกระเป๋าเดินเข้าบ้านหลังใหญ่ของคุณโตมร ที่ยั่วล้อฉากคลาสสิกของ “บ้านทรายทอง” ฉากน้องสาวพิการที่หวงพี่ชายจนเกลียดนางเอกแสนดีเหมือนพล็อตในละคร “รักประกาศิต” เนื้อเรื่องที่เล่นสลับตัวนางเอกมาแต่งงานหลอกๆ คล้ายกับเรื่องราวในละครทีวีหลายๆ เรื่อง ไปจนถึงฉากที่นางเอกถูกกักขังทรมานในบ้านร้างที่ก็อปปี้ตัดแปะมาจากละครเรื่อง “จำเลยรัก”        ด้วยเส้นเรื่องที่ “ยำใหญ่” ละครเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกหลายเรื่องและเอามาล้อเล่นเสียดสีแบบนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรา “ขบขัน” กับความซ้ำซากจนกลายเป็นความคุ้นชินในชีวิตผู้ชมเท่านั้น หากแต่อีกด้านหนึ่ง ก็ชวนหัวชวนคิดไปด้วยว่า ตกลงแล้วระหว่างละครกับชีวิตจริง อะไรที่กำหนดอะไรกันแน่        ในขณะที่ชีวิตจริงของคนเราก็ถูกสะท้อนเป็นภาพอยู่ในโลกแห่งละคร แต่ในเวลาเดียวกัน ละครที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันก็ได้ย้อนยอกจนกลายมาเป็นชีวิตจริงของคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ประโยคที่โตมรหันมามองกล้องและพูดด้วยเสียงก้องตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนจะยอมมาเป็นเมียจำเป็น” ก็อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ “ความจำเป็น” จะทำให้ผู้หญิงดีๆ บางคนต้องลุกขึ้นมายินยอมสวมบทเป็น “เมียจำเป็น” ได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ตราบฟ้ามีตะวัน : ใครๆ ก็ไม่รักหนู ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย

                ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเคยผ่านช่วงชีวิตแบบวัยรุ่นกันมาแล้วทุกคน แต่ก็น่าแปลกใจว่า พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เราก็มักจะพากันหลงลืมความทรงจำเมื่อครั้งที่เป็นวัยรุ่นแทบจะทั้งสิ้น         วัยรุ่นมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความคึกคะนอง ชอบทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นช่วงอายุบนความคลุมเครือ จะเด็กก็ไม่ใช่ จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีวิถีปฏิบัติบางอย่างที่พร้อมจะ “ขบถ” และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่กฎกติกาแห่งสังคมพยายามจะจัดระเบียบวินัยให้กับพวกเขาเหล่านี้         และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ใหญ่ๆ หลายคนจึงมักมองวัยรุ่นด้วยสายตาแปลกๆ และเลือกที่จะหลงลืมความทรงจำแห่งสำนึกขบถต่อต้าน หรือแม้แต่ออกอาการรังเกียจต่อวัยรุ่น ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพวกตนก็เคย “เป็นอยู่คือ” มาก่อน เพียงเพื่อจะบอกคนอื่นได้ว่า ตนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีของระบบไปแล้ว         อาการเกลียดกลัววัยรุ่นแบบนี้ กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ผูกโยงชีวิตของนางเอก “วันฟ้าใหม่” หรือ “แป้ง” ผู้เจอมรสุมหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น จนกลายเป็นเด็กมีปัญหา ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แต่ทว่าลึกๆ ลงไปนั้น แป้งกลับเป็นเด็กที่ขาดความรักและรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว         ละครเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในอดีต แป้งเป็นบุตรสาวของครอบครัวเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่าง “ธราเทพ” และ “พิมนภา” แม้ว่าฉากหน้าพ่อและแม่ของแป้งจะเป็นคู่รักที่ใครๆ อิจฉา เพราะเพียบพร้อมทั้งฐานะเศรษฐกิจและสังคม แต่เบื้องลึกแล้ว ครอบครัวนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งฉากหน้าที่ฉาบเคลือบไว้         ธราเทพผู้เป็นบิดาที่วันๆ เอาแต่ทำงานกับงาน กับพิมนภามารดาผู้เป็นสาวสังคมที่โลดแล่น แต่ทั้งคู่ก็ละเลยต่อลูกสาวคนเดียว แป้งที่เติบโตมากับ “อึ่ง” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหา และทำตัวขบถเรียกร้องเพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายไปในชีวิตเธอ         จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อธราเทพและพิมนภาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตลงกะทันหัน และแป้งได้เห็นภาพติดตาของร่างซึ่งไร้วิญญาณของพ่อแม่ที่จากเธอไป จากเด็กที่ยังเคยมีความน่ารักอยู่บ้าง ก็ยิ่งกลายเป็นเด็กที่เคยตัวและเอาแต่ใจตนเองอย่างสุดโต่ง         สถานการณ์ที่แป้งต้องเผชิญตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยแบบนี้ เหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่า เผลอๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเยาวชน ก็อาจไม่ได้ฝังรากเนื้อแท้มาจากภายในจิตใจของเด็กเองหรอก ทว่าจุดเริ่มต้นของปัญหากลับมาจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ก่อขึ้น จนสั่งสมเป็นปมปัญหาที่พรากความฝันและจิตวิญญาณของเด็กรุ่นใหม่ให้สลายหายไป         และภายหลังจากบุพการีเสียชีวิตลง แป้งผู้ขบถก้าวร้าวก็ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ “ครองประทีป” เจ้าของไร่แสงตะวันผู้เป็นเพื่อนรักของธราเทพ ครองประทีปพาแป้งมาอยู่ที่ไร่ และให้ “อาทิตย์” บุตรชายคอยเฝ้าดูแลเด็กหญิง แป้งจึงเริ่มรู้สึกผูกพันยึดติดกับพี่อาทิตย์อย่างมาก จนเข้าใจว่า สิ่งที่พระเอกหนุ่มทำให้คือความรักที่เขามีต่อเธอ และเธอก็โหยหาความรักดังกล่าวนั้นอยู่         แม้ช่วงแรกพระเอกหนุ่มจะรู้สึกเอ็นดูและสงสารเด็กหญิง แต่เมื่ออาทิตย์ได้ทราบความจริงว่า บิดาได้แอบหมั้นหมายให้เขาแต่งงานกับแป้งตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับธราเทพก่อนตาย อาทิตย์ก็ตั้งแง่รังเกียจเด็กสาว ในทางตรงกันข้ามกับแป้งที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับคำมั่นสัญญาของบิดา จนเลือกที่จะอาละวาดทุกคนในไร่ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอได้แต่งงานกับพระเอกหนุ่ม         ในฉากที่เด็กนักเรียนมัธยมอย่างแป้งแสดงกิริยาดื้อดึง และออกปากว่าตนจะต้องแต่งงานกับอาทิตย์จงให้ได้ รวมไปถึงสร้างเรื่องราวว่าอาทิตย์จะใช้กำลังปลุกปล้ำกระทำชำเราเธอ ด้านหนึ่งก็อาจทำให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง เพราะขาดความรักความไยดีจากคนรอบข้าง แบบที่แป้งกล่าวว่า “แป้งไม่มีอะไรจะเสีย พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย แป้งไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพี่อาทิตย์”         แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพเดียวกันนี้ก็อาจทำให้สายตาของผู้คนในสังคมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับอากัปกิริยาที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ต่อต้านท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการแสดงความปรารถนาดิบลึกเชิงชู้สาวในที่สาธารณะเยี่ยงนี้ เฉกเช่นประโยคที่อาทิตย์ได้พูดกับแป้งแบบไม่เหลือเยื่อใยว่า “ต่อให้เหลือผู้หญิงคนเดียวในโลก ฉันก็ไม่เอาเธอมาทำเมีย”         เพราะเหตุผลของวัยรุ่นไม่ได้มีอำนาจและความชอบธรรมเท่ากับเหตุผลของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นด้วยนิสัยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานเช่นนี้ ในที่สุดครองประทีปก็ตัดสินใจส่งแป้งไปศึกษาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ห่างไกลจากอาทิตย์และไร่แสงตะวัน         และก็อย่างที่ทุกคนก็ตระหนักกันดี สถาบันการศึกษาหาใช่เพียงแหล่งผลิตและถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการขัดเกลาและจัดวินัยวัยรุ่นผู้มักมีจิตสำนึกขบถ ให้เข้ารีตเข้ารอย จนพร้อมจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ที่อยู่ใต้อาณัติของกฎกติกาแห่งสังคม         ดังนั้น 6 ปีที่เธอจากไป หญิงสาวก็ได้หวนกลับมายังไร่แสงตะวันพร้อมกับความรู้สึก “สำนึกบาป” เป็นแป้งคนใหม่ ผู้ซึ่งผ่านการขัดและเกลาวินัยแห่งร่างกายและจิตใจมาแล้ว แต่เพราะใครต่อใครในไร่แสงตะวันก็ยังคงรำลึกและรังเกียจภาพวีรกรรมที่เธอเคยทำเอาไว้เมื่อครั้งอดีต เธอจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจากประชาคมผู้คนในไร่ เพื่อจะยืนยันมั่นใจให้ได้ว่า แป้งได้กลับตัวกลับใจแบบ 360 องศาแล้วจริงๆ         ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษจากพี่อาทิตย์ที่ให้แป้งล้างคอกวัว ล้างจานชามของคนงานในไร่ทุกคน ขุดดินดายหญ้า ไม่ให้กินข้าวกินปลา ไม่ให้อาบน้ำอาบท่า ไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในบ้านพัก ไปจนถึงการลงทัณฑ์ให้เธอต้องกินข้าวในถาดของสุนัข         แม้จะมีบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าสถานกักกันนักโทษ แต่เพราะวัยรุ่นเป็น “ข้อต่อข้อสุดท้าย” ก่อนที่จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บทลงทัณฑ์เหล่านี้จึงสรรค์สร้างขึ้นบนความชอบธรรมแห่งการจัดวินัยเพื่อดัดพฤตินิสัยว่า แป้งจักได้กลายเป็นคนดีหรือเป็น “คนที่เชื่องๆ” ไร้ซึ่งจิตสำนึกขบถนั่นเอง เหมือนที่แป้งก็มักจะพูดกับตนเองเป็นระยะๆ ว่า “เราต้องทนให้ได้ เรากำลังใช้กรรมอยู่”         ครั้นพอถึงในฉากจบ แน่นอนว่า หลังจาก “ชดใช้กรรม” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองได้ปลอดคราบไคลจิตสำนึกขบถจากบรรทัดฐานแห่งสังคมไปแล้ว แป้งก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากประชาคมไร่แสงตะวัน และลงเอยครองคู่กับพี่อาทิตย์ตามสูตรของละครแนวโรแมนติกดรามาไปในที่สุด          ทุกวันนี้ แม้ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยืนหยัดเชื่อมั่นในเหตุผลและกฎกติกาที่ตนได้ขีดเขียนเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว ตัวละครแบบแป้งผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสำนึกขบถต่อต้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็หาได้จางหายไปจากโลกแห่งความจริงไม่ ความเกลียดกลัววัยรุ่นก็ยังคงดำรงอยู่ และจะดำเนินต่อไป “ตราบฟ้ามีตะวัน” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ : แม้แต่เทวดาก็ทำผิดพลาดอยู่บ่อยไป

        ตามคติความเชื่อของคนไทยนั้น “เทวดา” ก็คือ ชาวสวรรค์ ซึ่งมีทิพยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ หรือลิ้มรสอาหารทิพย์ และเสวยสุขดำรงตนอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ         กระนั้นก็ดี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น หาใช่จะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ แม้คนไทยจะมีวิธีคิดที่จำแนกความสัมพันธ์สามส่วนระหว่างสวรรค์ (ที่อยู่ของเทวดา) โลก (ที่อยู่ของมนุษย์) และนรก (ที่อยู่ของผีชั้นต่ำ) อันเป็นภพภูมิที่แบ่งพื้นที่ตามลำดับชั้นก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่สามภูมิภพนี้ก็ไม่ได้ตัดขาดจากกันแบบ “ทางใครทางมัน” เสียทีเดียว         ในนิทานพื้นบ้านสมัยก่อน ชะตากรรมของตัวละครมักถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของเทวดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชีวิตคู่ที่ลงเอยมักจะมีทวยเทพคอยอุ้มสมให้สมรักสมรสกันได้ ชีวิตคู่ที่ต้องพลัดพรากบางครั้งก็มักมาจากการที่เทพยดาบันดาลลมหอบให้จรจากกัน หรือแม้แต่บางทีก็แสร้งแปลงร่างปลอมตัวมายั่วล้อเล่นกับปุถุชนวิถี เฉกเช่นการเล่นตีคลีเพื่อทดสอบคุณธรรมความดีของพระสังข์ ก็เคยกระทำมาแล้วเช่นกัน         การที่ผู้คนในอดีตยอมรับและอยู่ใต้อาณัติที่จะให้ทวยเทพเทวดามากำกับการกระทำใดๆ แห่งตนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็ด้วยมนุษย์เชื่อว่า “สวรรค์มีตา” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนต่างกอปรขึ้นด้วยความเป็นกลาง และเป็นเทพผู้สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้จะเข้ามาแทรกแซงปริมณฑลชีวิตทางโลกของตนก็ตาม         ครั้นพอมาถึงกาลปัจจุบัน ที่เหตุผลถูกกำหนดให้อยู่เหนือความงมงาย และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กลายเป็นตรรกะสำคัญกว่าองค์ความรู้เหนือธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ก็ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาฟ้าดินจะหายไปไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาเบื้องบนได้ถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า จะยังคงดำรงอยู่หรือปรับแต่งแปลงโฉมหน้ากันไปอย่างไร         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” ผูกเรื่องอยู่บนพื้นฐานปาฏิหาริย์แห่งความรักของนางเอก “อรรพี” ที่ต้องสูญเสีย “ภาคย์” ผู้เป็นสามี จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบินตก ในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น การตายของภาคย์กลับเกิดจากความผิดพลาดจากการทำงานของสรวงสวรรค์         ในขณะที่มนุษย์โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “บิ๊กดาต้า” หรือปริมาณข้อมูลอันมหาศาล ที่ท่วมบ่าและซัดกระหน่ำเข้ามา จนบางครั้งก็ยากเกินกว่าที่ชีวิตประจำวันของคนเราจะปรับตัวตามทัน สภาพการณ์ดังกล่าวก็เลยล่วงเข้าไปสู่สรวงสวรรค์ทั้งเจ็ดชั้นโดยด้วยเช่นกัน                  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบิ๊กดาต้าที่ถาโถมท่วมท้น ภาระงานอันล้นมือและการประมวลผลข้อมูลที่ผิดพลาดของ “เทวา” เทวดาอินเทิร์นผู้สถิตอยู่บนสวรรค์ จึงเกิดสภาวะ “เออเร่อร์” และส่งผลให้ภาคย์ต้องเสียชีวิตก่อนอายุขัย ดังนั้น “หน่วยเหนือ” ผู้เป็นต้นสังกัด จึงบัญชาให้เทวาส่งภาคย์กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง         ด้วยเหตุดังนี้ ภาคย์ก็ได้กลับมาเกิดในร่างใหม่ของ “ทิชงค์” บุตรชายของ “ชนา” ผู้ชอบทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ โดยเงื่อนไขที่เทวากำหนดไว้ให้กับภาคย์ก็คือ เขาจะมีเวลาบนโลกมนุษย์ได้เพียง 24 ปีเท่านั้น และหากวันใดที่ภาคย์ไม่ตระหนักถึงการกระทำความดี เขาก็จะพลัดพรากจากอรรพีไปตลอดกาล         จากนั้น 23 ปีผ่านไปไวยิ่งกว่าโกหก อรรพีได้เข้ามาดูแลบริษัท “ลมติดปีก” ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเล็กแบบไม่หวังผลกำไร และเป็นจิตอาสาที่คอยบินไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค เพื่อไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมี “อิสร์” เพื่อนรักของภาคย์คอยดูแลให้กำลังใจอรรพีอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ในตอนท้ายเรื่อง ละครจะเฉลยว่า อิสร์เองกลับเป็นคนร้ายและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคย์เสียชีวิตเช่นกัน         และเพราะผูกพันกันมาแต่ปางก่อน ในภพใหม่นี้ ทิชงค์ที่เป็นเพื่อนรักกับ “ภาม” บุตรชายของอรรพีและภาคย์ จึงได้หวนกลับมา “เกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” อีกคำรบหนึ่ง โดยมีเทวาที่ถูกลงโทษให้กลายมาเป็นบัดดี้เทวดาประจำตัว และคอยสนับสนุนให้เขาทำความดี เพื่อแลกกับความทรงจำในชาติภพก่อนให้กลับคืนมา         จากโครงเรื่องที่ผูกเปลาะปมเอาไว้เช่นนี้ ในด้านหนึ่งเราก็ยังได้เห็นอำนาจของเทวดาที่สามารถแทรกแซงความรักและการพลัดพรากของปัจเจกบุคคลให้อยู่ใต้อาณัติได้ ไม่แตกต่างจากคติความเชื่อที่คนไทยสมัยก่อนเคยยึดถือเป็นเรื่องเล่ากันมา         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป และโลกทัศน์ของผู้คนก้าวหน้าขึ้น ละครโทรทัศน์ก็ได้ฉายภาพความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่นางเอกอรรพีสามารถสวมบทบาทเป็นนักบินหญิงได้เฉกเช่นบุรุษเพศ หรือได้เห็นความรักข้ามรุ่นของอรรพีกับพระเอกหนุ่มรุ่นลูก ที่กลายเป็นเรื่องยอมรับกันได้แล้วในสังคมปัจจุบัน         และภายใต้บริบทแห่งโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน ภาพของเทวดาและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนก็มีอันต้องผันตัวตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่ฉากของสรวงสวรรค์ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้จนกลายเป็นยูโทเปียอันทันสมัย ที่มีทั้งน้ำพุกลางลานและลิฟต์กลขับเคลื่อน เทวดาต่างปรากฏตนแบบหล่อเท่ในชุดสูทสีขาว แถมยังสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์หนุ่มพาวิญญาณพระเอกเดินทัวร์วิมานสวรรค์ตั้งแต่ฉากต้นๆ ของเรื่อง         ที่ชวนขบขันยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะกลายสภาพเป็นแดนสวรรค์อันทันสมัย แต่ใจกลางหลักแห่งปัญหาทั้งหมดของเรื่อง ก็ล้วนมาจากโปรแกรมการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ผิดพลาดเออเร่อร์ของเทวดา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลางที่สุดในการพิพากษากำหนดความเป็นไปของทุกชีวิตบนโลกมนุษย์นั่นเอง         พร้อมๆ กันนั้น ในขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ในยุคเก่าก่อนธำรงอำนาจได้ก็ด้วยความยุติธรรมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พอทุกวันนี้ที่ปุถุชนเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นกลางว่า ยังเป็นจริงอยู่ได้ถึงระดับใด ปฏิบัติการของเทวดาจึงไม่ต้องหมกเม็ดอำพรางความเป็นอัตวิสัยส่วนตนกันอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่เทวาเองก็เลือกเข้าข้าง แสดงออกทั้งดีใจ เสียใจ และร่วมลุ้นภารกิจความรักของพระเอกนางเอกกันอย่างออกหน้าออกตา         จะว่าไปแล้ว โดยแกนหลักของเรื่องที่พระเอกกลับมาเกิดในร่างชายหนุ่มในภพชาติใหม่ ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์กับผู้ชมว่า ชีวิตคนเราล้วนสั้นนักและไม่แน่นอน อันเป็นนัยตอกย้ำให้เราตระหนักถึงการมุ่งมั่นทำความดี เช่นเดียวกับทิชงค์ที่ได้พูดกับอรรพีในฉากใกล้หมดเวลาของเขาในตอนท้ายเรื่องว่า “เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องจริง ขอเพียงศรัทธาในความดีก็พอ”         แต่ก็อีกเช่นกัน หากการทำคุณงามความดีตามคติความเชื่อของคนไทย จะมีเทวดาอารักษ์คอยบริบาลคุ้มครอง หรือแม้แต่แทรกแซงชะตาชีวิตโดยที่มนุษย์มิอาจสำเหนียกได้ แต่สำหรับในยุคที่ความเป็นกลางเริ่มถูกตั้งคำถาม และความยุติธรรมมีแนวโน้มจะถูกท้าทาย อำนาจของทวยเทพเทวดาก็อาจไม่ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์อีกต่อไป เพราะในทุกวันนี้ แม้แต่เทวดาก็เออเร่อร์และตัดสินผิดพลาดได้บ่อยไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เมียอาชีพ : อย่าลืมกรอกใบสมัครก่อนเข้างานด้วยนะ

                       เพียงเห็นแค่ชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ “เมียอาชีพ” ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจขึ้นโดยพลันว่า บทบาทความเป็น “เมีย” ในยุคสมัยนี้ ได้เขยิบจากพื้นที่ของครัวเรือน กลายมาเป็น “งานอาชีพ” อีกแขนงหนึ่งของบรรดาคุณผู้หญิงทั้งหลายไปเสียแล้วเหรอ ???        เมื่อพูดถึงคำว่า “งาน” แล้ว สังคมไทยค่อนข้างกำหนดนิยามความหมายของ “งาน” เอาไว้กลางๆ และกว้างๆ ตั้งแต่ความเป็นงานที่ดูจริงจังและเป็นความจำเป็นในชีวิต ดังเช่นบรรดาภาระงานหรือหน้าที่การงานต่างๆ ไปจนถึงความเป็นงานที่ดูไม่ขึงขังไม่จริงจัง หากแต่บันเทิงเริงรมย์กันอีกต่างหาก อย่างงานอดิเรก งานปาร์ตี้ หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลอง         แต่หากกล่าวจำเพาะมาที่ “งานอาชีพ” ด้วยแล้ว ก็น่าจะหมายถึงภาระงานที่ผู้คนประกอบขึ้นเป็นสัมมาอาชีวะ เช่น งานทำไร่ทำนา งานราชการ งานอาชีพค้าขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรายรับ รายได้ หรือเงินเดือน         ดังนั้น เมื่อตัวละครอย่าง “ชลลดา” หรือ “ดาว” ได้ก้าวย่างจากความเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มาสวมบทบาทเป็น “เมีย” และยังต้องเป็น “เมียแบบมืออาชีพ” ด้วยแล้ว บทบาทที่ทับซ้อนในความเป็น “เมียอาชีพ” ของดาว จึงก่อให้เกิดภาพความหมายที่ทั้งเหมือนและผิดแผกไปจากภาพของเมียในแบบที่ผู้คนคุ้นเคยหรือรับรู้กันมาก่อน        ชะตากรรมของดาวเริ่มต้นจากที่เธอเป็นพริตตี้รับงานอีเวนท์โน่นนี่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่เมื่อ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา เกิดป่วยหนัก และต้องใช้เงินเป็นแสนเพื่อรักษา ดาวจึงตัดสินใจไปกู้หนี้จาก “มิสเตอร์โรเบิร์ต” โดยมีเงื่อนไขว่า เธอต้องเซ็นสัญญากู้ยืมกับบริษัทเดอะแพลนของเขา        ทว่า เงื่อนไขดังกล่าวกลับทำให้ดาวต้องตกอยู่ในหนี้สัญญาทาสที่ผูกมัดเธอให้ทำในสิ่งที่ไม่ปรารถนา คือการกลายมาเป็นสินค้าในโครงการ “Perfect Wife” ของเดอะแพลน ที่จัดหาสินค้าภรรยาผู้สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้าระดับซูเปอร์วีไอพี ตามสโลแกน “perfect match, perfect wife”        จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกหนุ่มหล่อ “กษิดิศ” ไฮโซเศรษฐีทายาทผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ Way Ex ได้มาพบปะเจอะเจอกับดาวโดยบังเอิญ แล้วกลายเป็นตกหลุมรักเมื่อแรกเห็น เขาจึงเชื้อเชิญให้ดาวมาทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัว โดยในช่วงแรกกษิดิศหารู้ไม่ว่า เขาเองก็คือเป้าหมายหลักของเดอะแพลนที่ส่งดาวมาลวงล่อให้เขารับเธอเป็น “เมียอาชีพ” เพื่อผลประโยชน์ในเม็ดเงินมหาศาลของบริษัทเดอะแพลน         เพราะด้วยชีวิตที่ “ปากก็ต้องกัด ตีนก็ต้องถีบ” แม้ดาวจะไม่ได้ปลื้มปริ่มกับการที่ต้องมาหลอกลวงกษิดิศให้ตกหลุมพรางของมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ตามสูตรสำเร็จของเรื่องเล่าแนวนี้ ยิ่งรู้สึกผิดเธอก็ยิ่งตกหลุมรักเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งเมื่อต้องทำเพื่อเงิน แต่ความเป็น “เมียอาชีพ” ก็ทำให้ดาวต้องสวมบทบาทในวิชาชีพแห่งความเป็นเมียที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเช่นกัน         แม้ในภายหลัง กษิดิศที่ล่วงรู้ถึงความลับ และยินยอมจ่ายค่าตัวของดาวให้กับมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ด้วยความเป็น “เมียรับจ้าง” ที่เป็น “มืออาชีพ” ดาวก็ต้องบริหารจัดการควบคู่กันไปทั้ง “งานหลวงที่ต้องมิให้ตกขาด” และ “งานราษฎร์ที่ต้องมิให้บกพร่อง” เพราะนับจากวันที่เขาเสียเงินแลกซื้ออิสรภาพให้กับ “เมียอาชีพ” นั้น ดาวก็ต้องทำหน้าที่ภรรยาให้สมกับที่กษิดิศได้กล่าวว่า “ผมซื้อคุณแล้ว คุณก็เป็นของผม”        ในส่วนของ “งานหลวง” ที่เป็นภาระงานนอกบ้านนั้น ดาวก็ต้องเผชิญหน้ากับ “เมตตา” เลขานุการคนเก่าที่วันๆ ก็ต้องคอยเขม่นหาเรื่องดาวที่จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงาน หรือแม้แต่ต้องปะทะต่อกรกับ “จารุณี” อาสะใภ้ของกษิดิศ ที่เบื้องลึกก็หวังจะฮุบกิจการของ Way Ex มาไว้ในมือของเธอ         และเมื่อจารุณีสืบความจริงได้ว่า สถานะของดาวเป็นเพียง “เมียอาชีพรับจ้าง” ของกษิดิศ เธอก็คอยตามรังควานหยามเหยียดฐานะที่ต่ำกว่าของดาว แต่เพราะมนุษย์ก็มีสองมือไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งเมื่อถูกจารุณีตบหน้า และดูถูกว่าเธอเป็น “ผู้หญิงชั้นต่ำ” ดาวก็ตบหน้าอาสะใภ้ของสามีกลับ พร้อมกับพูดให้บทเรียนที่แสบสันว่า “จะสูงจะต่ำ ถูกตบมันก็เจ็บเหมือนกัน”        จนถึงตอนท้ายของเรื่อง ความเป็น “มืออาชีพ” ของดาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นเลขานุการมือใหม่ แต่ความสามารถที่เท่าทันเกมก็ทำให้เธอสืบจนพบว่า จารุณีวางแผนโกงบริษัท Way Ex ของกษิดิศ พร้อมๆ กับช่วยกอบกู้เครดิตภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของลงบริษัทให้กลับมาดูดีในสายตาของบอร์ดบริหารทุกคน        ส่วนพันธกิจ “งานราษฎร์” ของความเป็นภรรยานั้น “เมียอาชีพ” อย่างดาวก็สามารถดูแลภาระหน้าที่ตามบรรทัดฐานแห่งความเป็นเมียได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ        ถึงแม้จะเป็นเพียง “เมียรับจ้าง” แต่ในความเป็นเมียนั้น ดาวก็มี job description ที่ต้องปรนนิบัติพัดวีคุณสามี เธอเริ่มลงมือไปเข้าคอร์สเรียนทำอาหารทำขนมเพื่อเสริมเสน่ห์ปลายจวัก ทุกเช้าต้องดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนที่เขาจะไปทำงาน รวมไปถึงการดูแลเรื่องบนเตียงมิให้ขาดตกบกพร่อง แบบที่ละครเองก็เลือกฉายภาพฉากฟินๆ ของคู่พระนางให้ผู้ชมได้รื่นรมย์ชมชื่นอยู่เป็นระยะๆ        แม้ในชีวิตคู่จะมีบททดสอบจากทั้ง “แอนนา” ศัตรูหัวใจของดาวที่แอบหลงรักกษิดิศนานมาแล้ว หรือจะมีผู้ชายดีๆ อย่าง “มหานที” เจ้าของบริษัทคู่แข่งของกษิดิศ เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในชีวิตของดาว แต่บรรทัดฐานที่ “เมียอาชีพ” พึงยึดถือก็ต้องรักเดียวใจเดียว เคียงข้างและซื่อสัตย์กับสามีผู้แม้จะมีอีกสถานะที่เป็นนายจ้างของเธอก็ตาม         ถึงที่สุดแล้ว แม้ตัวละครอย่างดาวจะทำให้เราเห็นว่า บทบาทของความเป็นเมียได้เขยิบปริมณฑลจากพื้นที่ของครัว มาเป็นเมียที่กรอกใบสมัครเข้าทำงานเป็นอาชีพ แถมมีรายได้รายรับพ่วงติดมาด้วยเฉกเช่นแวดวงอาชีพอื่นๆ ก็ตาม แต่เพราะความเป็น “เมียอาชีพ” นั่นเอง เธอก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่า “เมียสมัครเล่น” ที่รับรู้กันโดยทั่วไป        เมื่อดูละครจบลง คำถามที่ชวนฉงนใจยิ่งก็อยู่ที่ว่า แม้จะก้าวเข้าสู่สถานะของ “เมียอาชีพ” กันแล้ว นอกจากผู้หญิงพึงต้องรู้จักบริหาร “ความเป็นเมีย” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามภาระงานที่ระบุไว้ แต่ในอีกฟากหนึ่ง การดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งภรรยาที่ซื่อสัตย์แสนดีโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ก็ยังเป็นคำตอบให้ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ก้าวข้ามจาก “เมียสมัครเล่น” เป็น “เมียอาชีพ” ก่อนจะกลายเป็น “เมียที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” ตามจารีตปฏิบัติที่สังคมยึดถือและต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ลับลวงใจ : อยู่ตรงกลางใจ...อยู่ที่ใจกลางความเจ็บปวดรวดร้าวที่มี

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” เป็นความเปรียบท่อนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในครรโลงแห่ง “โคลงโลกนิติ” ที่อธิบายได้อย่างแยบคายว่า แม้มหาสมุทรจะหยั่งลึกเพียงใด หรือแม้ภูเขาจะสูงเสียดฟ้าเพียงใด แต่ก็มิอาจเทียบได้กับการหยั่งรู้จิตใจของมนุษย์จริงๆ         แต่ยิ่งหากเป็นจิตใจของบุรุษเพศด้วยแล้ว การจะหยั่งรู้ความลับและก้นบึ้งแห่งจิตใจของเขาได้นั้น ดูเหมือนจะยากยิ่งขึ้นไปอีก...เหมือนกับเบื้องลึกเบื้องลับในจิตใจของตัวละครชายหนุ่มอย่าง “โจ้” ผู้มีทั้ง “ความลับ” และ “ความลวง” หลบเร้นอยู่ในซอกหลืบของจิตใจแบบยากเกินหยั่ง และกลายเป็นเงื่อนไขหลักของปมปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ลับลวงใจ”         จะว่าไปแล้ว “ลับลวงใจ” เดินอยู่บนแก่นเรื่องหลักที่ต้องการจะเผยให้เห็นว่า มนุษย์ปุถุชนไม่ว่าจะใครก็ตาม ต่างก็มี “ความลับความลวง” อยู่ในใจด้วยกันทั้งสิ้น โดยละครผูกโยงความสัมพันธ์ให้โจ้ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับตัวละครทั้งหลายในตระกูลนักธุรกิจผู้มั่งคั่งอย่าง “วงศ์ว่านเครือ”         เปิดฉากมานั้น ละครฉายภาพของตระกูลวงศ์ว่านเครือที่มั่งคั่ง ซึ่งมี “ต่อ” ซีอีโอหนุ่มพี่ชายคนโตของบ้านเป็นประธานกรรมการบริหารใหญ่ของธุรกิจต่างๆ ในเครือ และแม้ว่าต่อจะประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการครอบครัวจนมีชื่อเสียงร่ำรวย แต่ลึกๆ ความลับในใจของเขาก็คือ หัวใจที่บาดเจ็บอย่างหนักจาก “วี” หญิงผู้เป็น “รักแรก” จนเขาเลือกจะปิดตายต่อชีวิตคู่กับผู้หญิงทุกๆ คนขณะเดียวกัน แม้จะหลีกหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่า ธุรกิจสายตระกูลขนาดใหญ่มักมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในครอบครัวนั่นเอง แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงสามคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของต่อ ซึ่งก็คือ “กิ๊ฟ” “ตุ้ม” และ “นิ้ง” ต่างก็ดูรักใคร่กลมเกลียว แถมยังเป็นหญิงสาวผู้เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ ทั้งประเทศ รวมทั้งโจ้ซึ่งภายหลังได้เข้ามาเป็นตัวการและตัวแปรอันนำไปสู่ความไม่ลงรอยกันของผู้หญิงทั้งสาม             ในเวลาเดียวกัน เมื่อตัดสลับมาที่ภาพครอบครัวของโจ้ หนุ่มหล่อโปรไฟล์ดีและมีเสน่ห์ทางเพศ จนกลายเป็น “รักแรก” ของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แต่ด้วยความลับที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการต้องรองรับนิสัยฟุ้งเฟ้อและจมไม่ลงของ “อนงค์นาถ” ผู้เป็นมารดา จนต้องขายสมบัติพัสถานชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อรักษาหน้าตาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หรือการต้องกำความลับของ “นายพลจริณ” ผู้เป็นบิดา ที่ปิดบังใครต่อใครเรื่องการมีบ้านเล็กและอนุภรรยาเป็นตัวเป็นตน         แต่ทว่าท่ามกลางความลับมากมายดังกล่าว สิ่งที่เป็นห้วงลึกห้วงเร้นจริงๆ ในจิตใจของชายหนุ่มอย่างโจ้ ก็คือ นิสัยที่ถูกหล่อหลอมจากพ่อแม่ว่า เขาจะต้องยืนเป็น “ที่หนึ่ง” เหนือคนอื่นๆ ในสังคม เหมือนกับที่โจ้เคยพูดกับมารดาว่า “ผมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นให้กับตนเอง”         เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่เขาเที่ยวไปบริหารเสน่ห์ต่อผู้หญิงแบบไม่ซ้ำหน้า หรือเปลี่ยนคู่ควงเป็นว่าเล่น โดยที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับหญิงสาวคนใดเป็นพิเศษ ก็เป็นไปเพื่อเยียวยาความรู้สึกที่ว่าตนต้องเป็น “ที่หนึ่ง” ก็เท่านั้น แบบที่เขาเองกล่าวอุปมาอุปไมยถึงผู้หญิงมากหน้าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตว่า “มันก็เหมือนมีเพชรกับโคตรเพชร เราก็ต้องเลือกโคตรเพชรมากกว่าอยู่แล้ว”         เพื่อบำบัดความปรารถนาลึกๆ ที่อยากจะเป็น “ที่หนึ่ง” นั้น ในบรรดาผู้หญิงที่ต้องโคจรเข้ามาเป็นเหยื่อของโจ้ ก็เริ่มต้นจากวีอดีตคนรักของต่อ ตามติดมาด้วยผู้หญิงคนถัดมาก็คือ นางเอกแสนสวยอย่าง “หมอดี” อายุรแพทย์ที่เรียบร้อย จิตใจดีงาม แต่ก็เข้ามาติดกับดักเสน่หาของโจ้อีกคน แม้ว่าตลอดเวลาต่อจะคอยเตือนหมอดีให้ระวังบทเรียนประวัติศาสตร์แห่งความลับลวงใจที่อาจจะกลับมาซ้ำรอยกับเธอก็ตาม         และที่ดูเหมือนจะเป็นการเสียดสีอยู่ในทีก็คือ ในวิชาชีพความเป็นแพทย์นั้น หมอดีอาจจะมีความรู้และเชี่ยวชาญที่จะจำแนกสมุฏฐานโรคและอาการเจ็บป่วยของคนไข้ได้ก็จริง แต่ในความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่จะแยกแยะผู้ชายว่าใครคนไหนจริงใจกับตนเองบ้าง หมอดีกลับไร้เดียงสาและหามีความชำนัญไม่ จนกระทั่งในที่สุดเธอก็เป็นผู้หญิงอีกคนที่โจ้บอกเลิก เพื่อหันไปเลือกกิ๊ฟจากตระกูลวงศ์ว่านเครือที่มั่งคั่งร่ำรวยกว่า         แต่เพราะ “จิตผู้ชายนี้ไซร้” ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” คล้ายดังคำโคลงโลกนิติข้างต้น ดังนั้น ลึกๆ แล้วการหันไปคบหากิ๊ฟหาได้มาจากความรักของโจ้แต่อย่างใด หากเป็นเพียงความมุ่งหมายของชายหนุ่มที่จะตอบโจทย์ความเป็น “ที่หนึ่ง” เนื่องจากทุนทรัพย์ของวงศ์ว่านเครือเท่านั้นที่สามารถพลิกให้เขากลายเป็นเศรษฐี และกอบกู้สถานะทางการเงินของครอบครัวที่กำลังตกต่ำลง        ในเวลาเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง โจ้เองก็ยังดำเนินเกมหว่านเสน่ห์ให้กับตุ้มและนิ้งทายาทที่เหลือของตระกูลวงศ์ว่านเครือ โดยหวังจะให้เธอเหล่านั้นมาเป็นตัวสำรอง หากเขาพลาดที่จะได้ลงเอยกับกิ๊ฟ ตัวละครผู้หญิงมากมายเหล่านี้จึงเป็นประหนึ่งไพ่หลายใบในมือของชายหนุ่ม ที่จะทำให้เขามีอำนาจที่จะยึดกุมและเลือกได้ว่าจะทิ้งไพ่ใบใดในสำรับเพื่อบรรลุฝั่งฝันในความเป็น “ที่หนึ่ง” นั่นเอง         และก็แน่นอน เมื่ออยู่ในเกมเสน่หาที่จะขึ้นสู่ความเป็น “ที่หนึ่ง” เช่นนี้ ผู้ชายอย่างโจ้ก็ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมอดีซึ่งทำใจกับรักแรกที่ผิดหวังได้แล้ว เธอก็หันไปคบหากับต่ออย่างเปิดเผย จนในที่สุดก็ลงเอยเข้าสู่ประตูวิวาห์กัน นั่นเองที่ทำให้โจ้รู้สึกถึงคำว่า “เสียเชิงชาย” และสะกิดบาดแผลในจิตใจที่เขารู้สึกว่าตำแหน่ง “ที่หนึ่ง” ได้หลุดลอยออกไปจากมือของตน         จากนั้นเมื่อบาดแผลจากการเป็น “ที่หนึ่ง” ของผู้ชายดำเนินมาถึงจุดสุดขั้นของเรื่อง ฉากจบก็คือโศกนาฏกรรมของเหยื่อผู้หญิงทั้งหลาย ไม่เพียงแต่กิ๊ฟที่ต้องเจ็บปวดที่เรียนรู้ว่าสามีอย่างโจ้ไม่เคยมีหัวใจรักให้กับเธอเลย ขณะเดียวกับตุ้มที่ลักลอบเป็นภรรยาลับคนหนึ่งของโจ้ก็ต้องเจ็บปวดเมื่อเขาปฏิเสธเธออย่างไร้เยื่อใย จนตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมในฉากจบ         ภายใต้บทสรุปที่มีทั้งการสูญเสียและให้อภัยกันในตอนท้าย ละคร “ลับลวงใจ” ได้ยืนยันเส้นเรื่องหลักที่ว่า ห้วงสมุทรอันล้ำลึกในจิตใจของมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึงจริงๆ ไม่ต่างจากตัวละครทั้งหลายที่ต่างแอบมี “ความลับ” และ “ความลวง” หลบเร้นอำพรางอยู่ระหว่างกัน         แต่ที่คู่ขนานไปกับเส้นเรื่องหลักดังกล่าวนั้น ละครก็ยังให้ข้อสรุปที่น่าขบคิดด้วยว่า ยิ่งหากเป็นห้วงลึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของบุรุษเพศด้วยแล้ว บางทีการที่ผู้ชายอย่างโจ้เลือกปฏิบัติรุนแรงต่อทั้งกาย วาจา และจิตวิญญาณของผู้หญิง อาจมิใช่ด้วยต้องการมีอำนาจที่จะครอบงำเหนือเธอเท่านั้น หากแต่ต้องการปกปิด “ใจกลางแห่งความเจ็บปวด” ที่เขาปรารถนาจะยืนหยัดเพื่อเป็น “ที่หนึ่ง” ให้ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 นางสาวไม่จำกัดนามสกุล : ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ

                ทุกวันนี้ คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่เล่นบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย แต่หากจะถามว่า แล้วคนชั้นกลางเป็นใครกัน หรือตัวตนหน้าตาแบบใดที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง         เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่ดำรงอยู่มานานแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มชนชั้นชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสังคมที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่มนี้ช่างคลุมเครือและย้อนแย้งยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากชีวิตของตัวละครอย่าง “เรียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “นางสาวที่ไม่จำกัดนามสกุล”        เรียมเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนในเนื้อเพลงว่า “ตื่นขึ้นมาทุกวันฉันยังเหมือนเดิมเริ่มชีวิตด้วยแสงสว่าง” และด้วยชีวิตที่ซ้ำซากเหมือนเดิมๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งของเรียม เธอจึงบอกตนเองว่า “แต่พอมองเข้าไปที่ใจฉันเอง กลับได้พบแค่ความเดียวดาย เก็บความเงียบเหงาไว้ในใจมานาน...”        พื้นเพภูมิหลังของเรียมก็คือ ผู้หญิงที่พลัดถิ่นฐานภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด แม้ที่บ้านของเธอจะเปิดร้านขายหมูยอจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดภาคอีสาน แต่เรียมก็ตระหนักว่า นั่นหาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ในชีวิตของเธอไม่ เรียมจึงเลือกเข้ามาเสาะแสวงหาโชคและทำงานเป็นเซลส์ขายอาหารสุนัขในเมืองหลวง ดุจเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยอีกหลายๆ คน ที่ก็มีพื้นฐานเป็นคนพลัดถิ่นเฉกเช่นนี้        และในสังคมเมืองใหญ่ที่แตกต่างไปจากพื้นถิ่นพื้นฐานบ้านเกิดนี่เอง ตัวตนของเรียมก็ดำเนินไปท่ามกลางสภาวะที่แปลกแยกกับโลกภายนอก คอนโดที่เธอพักอาศัยก็ไม่เพียงจะจับผู้คนมาแยกอยู่ในกล่องหรือห้องใครห้องมัน ความเปลี่ยวเหงาในสังคมเมืองกรุงก็ทำให้ชีวิตมนุษย์เวียนวนจนเป็นสายพาน และขาดสายสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างรอบตัว        จากอาการแปลกแยกกับสายสัมพันธ์ทางสังคม ในที่สุดก็ก่อกลายมาเป็นสภาวะที่ปัจเจกบุคคลอย่างเรียมก็เริ่มแปลกแยกกับตัวของเธอเอง เมื่อหมอตรวจพบว่าเรียมมี “ช็อกโกแลตซีสต์ในมดลูก” แม้ว่าซีสต์จะเป็นภาวะทางร่างกายที่ท็อปฮิตกันในหมู่คนยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก้อนซีสต์ก็บ่งนัยว่า มนุษย์เรานับวันจะแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น จนสามารถสร้างก้อนเนื้อใดๆ ขึ้นมาเป็นซีสต์ให้คับข้องใจกันได้ตลอดเวลา        เพื่อจัดการกับสภาวะแปลกแยกดังกล่าว หมอจึงแนะนำว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะหายขาดก็คือ ต้องหาผู้ชายสักคนมาแต่งงานและมีลูก ซีสต์หรือความแปลกแยกต่อร่างกายของเรียมก็จะค่อยๆ มลายหายไป ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการสลายชอกโกแล็ตซีสต์และปฏิบัติการค้นหาตัวตนของผู้หญิงคนชั้นกลางอย่างนางสาวเรียมจึงเริ่มต้นขึ้น เฉกเดียวกับท่วงทำนองที่ว่า “อยากมีใครสักคนที่เดินเข้ามาให้ความรักและความอบอุ่น...”        ชายหนุ่มคนแรกที่เข้ามาในปฏิบัติการสลายซีสต์ก็คือ “ปกรณ์” CEO หนุ่มรูปหล่อทายาทเจ้าของธุรกิจนับพันล้าน ในการคบหากับปกรณ์นั้น เรียมก็ต้องตัดแต่งตัวตนของเธอให้กลายเป็นสาวสังคมชั้นสูง ไปรับประทานดินเนอร์สุดหรู เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับชีวิตมหาเศรษฐี แม้ในความเป็นแล้ว เธอเองก็ยังคงเป็นแค่ลูกสาวเจ้าของร้านขายหมูยอ ฐานะอันแตกต่างกันนี้เองจึงเป็นชนวนเหตุให้รักของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง        เมื่อเลิกราไปจากปกรณ์ เรียมก็มาคบหาดูใจกับศิลปินนักร้องหนุ่มสไตล์โอปป้าแสนอบอุ่นอย่าง “พีท” ชีวิตรักที่ได้ผูกพันกับเซเลบริตี้ขวัญใจแฟนคลับมากมาย ทำให้ตัวตนของเรียมแปลกแตกต่างและตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แม้ในภายหลัง เธอเองก็พบว่า ความรักกับบุคคลสาธารณะแบบนี้หาใช่คำตอบเสมอไปสำหรับเรียมผู้ที่อีกด้านก็รักชีวิตสันโดษแบบเราสอง        จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ผู้ชายคนถัดมาที่เรียมเลือกไว้ก็คือ หนุ่มโสดหล่อล่ำกล้ามโตอย่าง “อาร์ม” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตเพื่อนเที่ยวของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แม้การคบหากับอาร์มจะทำให้เรียมได้ย้อนกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงพร้อมจะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่สนใจความทรงจำจากอดีต แต่ในที่สุด ไลฟ์สไตล์แบบใหม่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ความรักของทั้งคู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้        ถัดจากเทรนเนอร์ฟิตเนส เรียมก็เริ่มผูกจิตปฏิพัทธ์กับ “ทวีป” สัตวแพทย์หนุ่มนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ทวีปทำให้เรียมเข้าใจชีวิตว่า ตัวตนของคนชั้นกลางก็น่าจะทำประโยชน์หรือขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นอีกครั้งที่เธอพบว่า ทางสองแพร่งที่อยู่ระหว่างจิตสาธารณะและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรัก ก็ดูจะยากยิ่งที่ไหลมาบรรจบกันได้        กับ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียมที่ประกอบร่างสร้างตัวตนแบบนี้ สะท้อนนัยให้เห็นว่า อัตลักษณ์คนชั้นกลางไทยไม่เพียงแต่ “ยังสร้างไม่เสร็จ” และ “รื้อสร้างใหม่ไปได้เรื่อยๆ” หากแต่ยังมี “ความย้อนแย้ง” แทรกซึมอยู่ในตัวตนคนชั้นกลางยิ่งนัก        แม้การสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแห่งคนชั้นกลาง แต่ภูมิหลังการเป็นลูกแม่ค้าหมูยอก็ทำให้ฝันไม่อาจบรรลุถึงฝั่งได้ หรือแม้ต้องการจะใช้ชีวิตสาธารณะโลดแล่นมีชื่อเสียง แต่หากชีวิตสาธารณะเข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวเกินไป คนชั้นกลางก็พร้อมจะสละความปรารถนาดังกล่าวไปได้        หรือแม้คนชั้นกลางเลือกพร้อมที่จะลบลืมอดีตของปัจเจกและมองทุกอย่างไปที่อนาคต แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมจะให้อดีตมาคอยหลอกหลอนชีวิตปัจจุบันอยู่เช่นกัน และท้ายสุด แม้คนกลุ่มนี้จะพยายามก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะ แต่พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ถ้าประโยชน์สาธารณะจะบั่นทอนประโยชน์สุขส่วนบุคคล        เมื่อตัวตนคนชั้นกลางช่างย้อนแย้งเป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้เยี่ยงนี้ เรียมก็ค่อยๆ ย้อนคิดตริตรองใหม่จนได้คำตอบว่า การวิ่งตามหาใครสักคนมาอยู่ข้างๆ หรือผูกติดตัวตนของเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันก็อาจไม่ใช่อัตลักษณ์หรือเป็นความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางได้เลย        เพราะฉะนั้น ในตอนท้ายของเรื่อง หลังจากผ่านตัวเลือกชายหนุ่มมากมายในชีวิต เรียมก็ตระหนักว่า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลแต่อย่างใด เพราะเป็นพระเอกหนุ่มอย่าง “องศา” ที่อยู่ข้างห้องนี่เอง ที่เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งยึดโยงรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เป็นคนที่อยู่เคียงข้างในทุกปัญหาที่เธอเผชิญ และเป็นผู้ชายที่พูดกับเรียมด้วยประโยคว่า “ฉันชอบตัวเองเวลาอยู่กับแก”        ไม่ว่า “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียม หรือจะเป็นคนชั้นกลางอย่างเราๆ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลาง “ซีสต์แห่งความแปลกแยก” หรือ “ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่เรียมพูดกับองศาในฉากจบก็ช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “แค่คนที่พอดี มันก็ดีพอแล้ว...บางทีคนที่ใช่มันก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!

เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!                                                                                                                             แรกเริ่มที่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “เกมเสน่หา” นั้น ผู้เขียนก็รู้สึกสนใจใคร่รู้ว่า ทุกวันนี้เรื่องของความรักและความ “เสน่หา” ได้ถูกเสกสรรปั้นแต่งให้กลายเป็น “เกม” ที่มนุษย์เราใช้วางหมากวางกลระหว่างกันและกันแล้วหรือ?     และยิ่งเมื่อได้ยินประโยคที่ “เหมือนชนก” นางเอกของเราเชือดเฉือนคารมกับ “ลัคนัย” พระเอกหนุ่มรูปหล่อในเรื่องว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชวนให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วในทุกวันนี้สังคมได้เปลี่ยนนิยามของความเป็น “เกม” ให้แตกต่างไปจากที่เคยรับรู้กันมาเยี่ยงไร?      ย้อนไปในยุคอดีต เกมถือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมา เพื่อขีดวงให้เป็นพื้นที่ที่แยกตัวออกไปจากชีวิตประจำวันปกติ เช่น เกมเป็นกิจกรรมที่เล่นในช่วงเวลาว่างที่แยกไปจากชีวิตการทำงานประจำของเรา     และที่สำคัญ เมื่อคนเราเข้าสู่สนามแห่งเกม เราก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า ในเกมนั้นมีกฎกติกาซึ่งผู้เล่นแต่ละคนต่างก็ต้องเคารพและพึงปฏิบัติตาม เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมที่กำหนดขึ้นเอาไว้ก่อนหน้าที่เราจะลงไปในสนามเสียด้วยซ้ำ แต่ทว่า ภายใต้กฎแห่งเกมนั้น ปัจเจกบุคคลที่เดินหมากอยู่ก็สามารถสร้างสรรค์ทำการอันใดได้ แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของกรอบกติกาที่สังคมได้ร่วมกันกำหนดตกลงเอาไว้     ครั้นเมื่อสังคมสมัยใหม่ได้ก่อร่างก่อตัวขึ้นมา ระบอบทุนนิยมกลับเปลี่ยนแปลงความหมายของเกมเสียใหม่ จากเดิมที่เกมเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เพื่อทำความเข้าใจที่อยู่ร่วมกันโดยเคารพซึ่งกฎกติกา กลายมาเป็นสนามแห่งการแข่งขันช่วงชิงเพื่อกำชัยชนะระหว่างกัน ไม่ว่าจะในพื้นที่ส่วนรวมของสังคม เช่น การวางหมากเกมทางการเมือง หรือการเอาชนะเกมการแข่งขันทางธุรกิจ ลามไปจนถึงในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่ใน “เกมเสน่หา” เหมือนกับชื่อของละคร     กับนิยามความหมายใหม่ของเกมเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากกรณีความสัมพันธ์ของเหมือนชนกและลัคนัย ที่เคลื่อนไปท่ามกลางสงครามความขัดแย้งในชีวิตรัก ชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัวของเหมือนชนกเอง      เปิดฉากแรกมา นักเรียนนอกรูปสวยรวยทรัพย์อย่างเหมือนชนก ลูกสาวของ “ธวัช” และ “วิสาขา” ได้ถูกวางคาแรกเตอร์ไว้ให้เป็นคุณหนูผู้เอาแต่ใจตัวเอง และพยายามขีดกฎกติกาเพื่อเล่นเกมให้โลกทั้งโลกต้องมาโคจรรอบตัวเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือการสร้างวีรกรรมมากมายตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนต่างแดน    ครั้นเมื่อเหมือนชนกเดินทางกลับมาเมืองไทย เธอก็ต้องเซอร์ไพรส์กับข้อเท็จจริงที่ว่า ธวัชและวิสาขาเพิ่งจะจดทะเบียนหย่าอย่างเป็นทางการ ความจริงข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่คุณหนูขี้วีนมิอาจรับกับความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ และพยายามที่จะเดินเกมทุกอย่างให้พ่อกับแม่กลับมาเคียงคู่เป็นสามีกันอีกคำรบหนึ่ง    เนื่องจากเหมือนชนกเป็น “เธอผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในเกมใดๆ” เธอจึงวางหมากเดินเกมต่างๆ ที่จะหน่วงรั้งให้ครอบครัวที่บุพการีแยกทางกัน กลับมาเป็นครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” ที่เหมือนชนกสามารถจับทุกคนให้มาเป็นเบี้ยบนกระดานที่เธอจะเดินไปมาแบบใดก็ได้     ตั้งแต่การเดินเกมจัดการความสัมพันธ์ระหว่างธวัชกับว่าที่แม่เลี้ยงคนใหม่อย่าง “พิมลแข” หรือการอาศัยยืมมือทั้งวิสาขาและ “มาลินี” ผู้เป็นยาย ให้เข้ามาขัดขวางการแต่งงานครั้งใหม่ของบิดา รวมไปถึงการพยายามเอาชนะแม้แต่กับ “เพ็ญพรรณี” บุตรสาวของ “ไพพรรณ” แม่บ้านที่รักเหมือนชนกไม่ต่างจากลูกสาวของตน เพียงเพื่อจะบอกกับทุกคนว่า คุณหนูของบ้านก็ต้องมีชัยเหนือกว่าใครต่อใครในบ้านทุกคน    เพราะเหมือนชนกนิยามความหมายของเกมว่า เป็นเวทีแข่งขันที่มีเฉพาะผู้ชนะเท่านั้นจึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายฝันได้ ดังนั้น ผู้คาดหวังชัยชนะจึงไม่สนใจว่า เกมที่ตนเล่นจะยุติธรรมหรือไม่ หรือในการเดินเกมแต่ละครั้งของเธอจะยืนอยู่บน “กฎกติกา” หรือ “ข้อตกลงร่วม” ที่ผู้เล่นทุกคนยอมรับโดยชอบธรรมหรือไม่อย่างไร หากเพราะเกมจะดำเนินไปได้ก็ด้วย “กฎกติกา” ที่เหมือนชนกเป็นผู้เขียนขึ้นเพียงคนเดียว    และที่สำคัญ เมื่อเกมที่เหมือนชนกเขียนกติกาขึ้นด้วยตัวของเธอเองดำเนินไปถึงขีดสุด ลัคนัยพระเอกหนุ่มของเรื่องจึงถูกดึงเข้ามาเห็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดาน เมื่อเธอจำใจเลือกที่จะแต่งงานกับลัคนัย ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตคนรักของพิมลแข เพียงเพราะหวังว่าการแต่งงานครั้งนี้จะเป็นเกมที่เหมือนชนกบงการหลอกใช้ลัคนัยให้ช่วยริดรอนความสัมพันธ์ระหว่างธวัชและพิมลแขได้นั่นเอง     เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดพลิกผันของเรื่อง ในขณะที่เหมือนชนกคิดอยู่ตลอดว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ที่เธอจะจับวางใครต่อใครมาเป็นหมากเป็นเบี้ยให้เดินได้ แต่อันที่จริงแล้ว หากเหมือนชนกสามารถขีดกติกาของเธอในการเดินเกมแบบใดก็ได้ ลัคนัยเองก็ต้องการให้บทเรียนกับเธอว่า บนหมากกระดานเดียวกันนั้น แม้แต่หมากเบี้ยอย่างลัคนัยก็มีสิทธิ์ที่จะเขียนกฎของการเล่นเกมขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน    ดังนั้น เมื่อทราบว่าเหมือนชนกตั้งครรภ์ และเธอก็ยังยืนกรานว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมที่จะเอาชนะตัวละครทุกคน ลัคนัยก็ได้สร้างข้อตกลงกับเธอว่า ถ้าลูกที่คลอดออกมาเป็นเพียงเกมที่ไม่ได้เกิดจากความรักของผู้เป็นแม่แล้ว เขาก็ขอสิทธิ์ในการดูแลลูกที่เกิดมาและจะหลบหน้าหายไปจากชีวิตของเหมือนชนกตลอดไป    เพราะฉะนั้น วันเดียวกับที่เหมือนชนกคลอดลูกชาย ลัคนัยก็เลือกที่จะพรากลูกและเดินออกไปจากชีวิตของเหมือนชนก ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการบอกแก่เธอว่า ในชีวิตคู่และสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนสองคนจะแข่งขันเป็นเกมการเมืองเพื่อเอาชนะกัน หรือถูกเบียดบังจนมืดมนไปด้วยทิฐิที่จะห้ำหั่นให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้จนราบคาบ    แม้ผู้ชมเองจะเดาได้ไม่ยากว่า “หมากเกมนี้ฉันก็รู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร” เพราะฉากจบเหมือนชนกก็ได้ทบทวนตนเอง และพยายามที่จะไขว่คว้าให้ชีวิตคู่ของเธอกลับคืนมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครก็ยังเรียนรู้ด้วยว่า เกมที่เดินไปในชีวิตจริงไม่ควรถูกนิยามว่าเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ โดยไปล่วงละเมิดความปรารถนาของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ชายคนรัก หรือคนอื่นๆ โดยไม่ยอมรับในข้อตกลงกฎกติการ่วมแต่อย่างใด     แม้ว่าทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมจะนิยามความหมายใหม่ให้กับเกมว่า เป็นเวทีที่ปุถุชนจะต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะเหนือผู้อื่น แต่ในท้ายที่สุด ข้อสรุปใน “เกมเสน่หา” ที่มนุษย์ต่างเดินหมากวางกลใส่กันนั้น ก็คงไม่ต่างจากประโยคที่คุณยายมาลินีของเหมือนชนกได้กล่าวไว้ว่า “…นี่แหละที่สอนให้ฉันรู้ว่า ทิฐิมันไม่เป็นผลดีกับใคร โดยเฉพาะกับคนที่รักกัน...”

อ่านเพิ่มเติม >