ฉบับที่ 151 รู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด ตอนที่ 1

หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบคงรู้จักหรือได้รับการชักชวนให้ทำคีเลชั่นบำบัด  แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ  เพียงแค่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหรือแพทย์ในคลินิกเอกชนบางคนก็เสนอให้ทำเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น  ดูราวกับว่าการบำบัดด้วยคีเลชั่นนั้นเป็นการบำบัดสารพัดนึก  สามารถช่วยบำบัดอาการต่างๆ ได้แทบทุกอาการ  โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งถึงกับทำแผ่นพับเสนอการทำคีเลชั่นบำบัดโดยข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ส่วนหนึ่ง  และต้องจ่ายสมทบเองอีกส่วนหนึ่ง คีเลชั่นบำบัดคืออะไร  สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง  สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้จริงหรือไม่ ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยรับรองเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์หรือยัง  มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่ เราควรรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด  ดังต่อไปนี้ คีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือ การดึงเอาโลหะหนักในร่างกายออกมาโดยใช้สารเคมี EDTA (ethylene diamine tetra-acetic acid) ฉีดเข้าไปในร่างกาย  เดิมใช้กับคนไข้ธาลัสซีเมีย  เนื่องจากมีเหล็กสะสมมาก สะสมในตับ ตับอ่อน หัวใจ และอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาพิษตะกั่ว ปรอท ซึ่งเป็นการรักษาที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรับรองให้เป็นวิธีการรักษาโรคดังกล่าว ต่อมามีการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบราวปี พ.ศ. 2493 เพราะเชื่อว่า การเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นเพราะมีแคลเซียมเกาะตามหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย การฉีด EDTA จะช่วยดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือด  ทำให้การตีบของหลอดเลือดลดน้อยลง มีการใช้คีเลชั่นบำบัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยโรงพยาบาลของภาคเอกชนและถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์เอกชนหลายแห่งที่มีการให้บริการการบำบัดด้วยคีเลชั่นโดยบอกว่าสามารถบำบัดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ต้องทำการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด  นอกจากนี้สถานบริการของภาครัฐบางแห่งทำการโฆษณาการบริการบำบัดด้วยคีเลชั่น  และข้าราชการสามารถเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางได้ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำแนวเวชปฏิบัติที่ดีในการบำบัดด้วยคีเลชั่น และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเพื่อเสนอแนะให้กับบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยงาน หรือสถานบริการที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค (การทำแนวเวชปฏิบัตินั้นหมายถึง แนวทางการบำบัดรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนดขึ้นหรือนำมาใช้เพื่อเป็นการให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่า การบริการนั้นๆ เป็นที่รับรองประสิทธิผล ความปลอดภัย ตามพ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้อง) การทำคีเลชั่นบำบัดมีการใช้สารสองตัว  ได้แก่ สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ซึ่งมีแต่โซเดียม ไม่มีแคลเซียม โซเดียมเป็นตัวดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือดหัวใจ ใช้บำบัดธาลัสซีเมีย และ สารแคลเซียมไดโซเดียมอีดีทีเอ ซี่งมีแคลเซียม  สารตัวนี้จะไม่ดึงแคลเซียม  ใช้ดึงโลหะหนัก  ใช้รักษาพิษตะกั่ว  ในประเทศไทยมีการใช้สารทั้งสองชนิด ในอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ประมาณ 20 ราย กลางปี พ.ศ. 2551  ทำให้บริษัทยาสองแห่งที่ขายยานี้ในอเมริกาถอนยาตัวนี้ออกจากตลาดยาในอเมริกา  แต่ในประเทศไทยยังมีการใช้ยาตัวนี้อยู่ สถาบันหลักของอเมริกาได้แก่ สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สมาคมแพทย์อเมริกา, FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา), ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค  และอีกหลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากรักษาโรคพิษจากโลหะหนัก การทำคีเลชั่นบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการได้รับการรักษาที่ดีและอยู่ในมาตรฐานการรักษาที่ยอมรับ  เช่น การควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  และการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด   ท่านผู้อ่านคงจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น 9 ข้อที่กล่าวมาว่า  ในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากยังไม่รับรองการทำคีเลชั่นให้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอ  แต่ในประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้อย่างแพร่หลายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  เราจะรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัดอย่างไรดี  คงต้องติดตามต่อฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point