ฉบับที่ 232 อู่ซ่อมรถด้วยอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรได้บ้าง

        รถยนต์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ เมื่อนำเข้าอู่ซ่อมตามที่บริษัทประกันรถแนะนำ ก็ยังไม่วายโดนดี มีการซ่อมแซมด้วยอะไหล่มือสองของไม่มีคุณภาพ แถมยังกักรถไว้ต่อรองเรียกเงินอีก นี่คือสิ่งที่คุณชนิกาและสามีร้องเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษา เรามาดูกันว่าเรื่องเป็นมาอย่างไรและควรจัดการอย่างไร         เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณชนิกาขับรถอยู่ดีๆ ในช่องทางที่ถูกต้อง ก็มีรถยนต์อีกคันพุ่งมาชน โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่โชคร้ายที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามรถยนต์คันนี้มีประกันภัย ชั้นสอง บวกทุนค่าซ่อมรถยนต์ 1,000,000 บาท กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้ ขอเรียกว่า บริษัท A จึงพอให้อุ่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการซ่อม        เจ้ากรรมรถยนต์ที่อุตส่าห์ลากไปยังอู่ที่รู้จักปฏิเสธให้บริการด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่อู่ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกัน A จึงปรึกษากับตัวแทนบริษัทประกันว่า ควรเข้าซ่อมที่อู่ไหน ซึ่งบริษัทแนะนำ อู่ ช. ว่าเป็นอู่ในเครือของประกัน เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมแซมกับอู่ดังกล่าว อู่กับบ.ประกันทำสัญญาซ่อมแซมกัน แบบเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท โดยบ.ประกันโอนเงินดังกล่าวให้กับสามีของคุณชนิกาซึ่งเป็นเจ้าของรถ เมื่อโอนเงินแล้วก็ยกเลิกกรมธรรม์ไป และระบุว่า ไม่รับผิดชอบใดๆ หลังโอนเงินเต็มทุนประกันแล้ว         ดังนั้นเธอและสามีจึงต้องเป็นคนติดตามการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งพบปัญหาหลายประการ เช่น การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ตรงกับรุ่น มีการนำอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพมาเปลี่ยนและมีการแปลงสภาพรถ เธอกับสามีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐาน แต่ทางอู่ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอ เธอและสามีจึงขอยุติการซ่อมกับ อู่ ช. และตั้งใจจะนำรถไปซ่อมที่อู่อื่นแทน ทางบ.ประกันก็ทำหนังสือยุติการซ่อมมาให้ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเธอกับสามีจะไปนำรถออกจากอู่ ต้องพบกับท่าทีคุกคามของเจ้าของอู่และพนักงานของอู่ ช. เพื่อเลี่ยงการทะเลาะวิวาทเธอและสามีจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และไปร้องเรียนต่อ คปภ.และแจ้งให้บริษัทประกันภัยช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ จึงมีการนัดเจรจากันขึ้น ผลการเจรจาคือ อู่ขอเก็บเงินค่าซ่อมแบบเหมา 850,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงค่าใช้จ่ายในส่วนของอะไหล่ต่างๆ หากไม่ยินยอมจ่ายอู่จะใช้สิทธิกักรถไว้ คุณชนิการู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะอู่ชี้แจงไม่ได้ว่า จำนวนเงิน 850,000 มีที่มาอย่างไร อู่จึงยึดรถไว้ ทำให้คุณชนิกาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ไปถึง 93 วัน เธอจึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากโทรมาปรึกษา คุณชนิกาตัดสินใจฟ้องร้องอู่ ช. โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะเป็นการซ่อมรถตามที่ซื้อประกันไว้ แต่การซ่อมก็ยังคงต้องทำตามหลักเรื่องสัญญา หากซ่อมแล้วมีการปกปิดและแอบนำเอาอะไหล่มือสองมาอ้างเป็นอะไหล่แท้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง หรือการคิดการซ่อมแซมแบบเหมาจ่ายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 มาตรการเพื่อรองรับบริการรถสาธารณะในยุคโควิด 19

        นับแต่มีนาคมถึงมิถุนายนเป็นเวลากว่าสามเดือนเต็ม ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจหยุดการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด 19” ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2562  และกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกจนทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมตอนนี้มากกว่า 9,000,000 คน และเสียชีวิตแล้วกว่า 460,000 คน นับเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เป็นความสูญเสียยุคใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้         สำหรับประเทศไทยอาจจะดูเบาใจลงได้บ้าง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงหลายวันแล้ว และน่าจะใจชื้นขึ้นได้อีกเมื่อประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียอีกด้วย          แต่แม้จะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นประเทศที่ติดอันดับโลกในการฟื้นตัวจากโรคระบาดนี้ ก็อย่าลืมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ปัญหาคือ แล้วถ้าต้องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้แค่รับคนไทยจากต่างประเทศกลับเข้ามาก็พบคนมีไข้เสี่ยงติดเชื้อหลายคนอยู่แล้ว ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนที่จะเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับพวกเราทุกคนแน่นอน         หันมองเพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว คงต้องบอกว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะหลายประเทศที่ดูสงบนิ่ง ตอนนี้เริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กันบ้างแล้ว นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดรอบสองกำลังเริ่มขึ้น และการปิดประเทศหนีหรือล็อคดาวน์อีกรอบคงไม่ใช่คำตอบ อย่างเก่งคงทนได้ไม่เกินสามเดือน ยิ่งการอัดฉีดเม็ดเงินก็ไม่ได้ทำได้ตลอดไป เพราะถ้าพลาดการ์ดตกเมื่อไหร่ กลับไปใช้ชีวิตแบบประมาทไม่สนใจอะไรเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า รอบสองของเราอาจมาเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้         แต่การมาของวิกฤตโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ ทำให้คนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบใหม่ ๆ เพราะถ้าเราต้องป้องกันตนเองจากโรคร้ายที่เชื่อว่าจะต้องอยู่กับพวกเราไปอีกนาน เช่น การเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้น ลดการสังสรรค์นอกบ้านถ้าไม่จำเป็น ไม่นำพาตนเองเข้าไปอยู่ในที่แออัด สั่งอาหารเดลิเวอรี่ เลือกช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ หรือ ปรับพฤติกรรมการเดินทาง ลดการใช้รถสาธารณะที่เบียดเสียด แล้วหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์แทน รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างกัน และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน        สิ่งเหล่านี้ คือ ความปกติใหม่ ที่เราต้องซึมซับจากสิ่งรอบตัว ภาษา ท่าทาง พฤติกรรม ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้เราต้องคุ้นชินอยู่กับสิ่งเหล่านี้กันไปอีกสักพักใหญ่ อย่างน้อยก็อีกหลายเดือนนับจากนี้        แน่นอนว่าเมื่อตอนนี้สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มดีขึ้น รัฐบาลเริ่มทยอยปลดล็อคข้อบังคับหลายอย่างสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางบ้างแล้ว เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเร็วที่สุด แต่การเดินทางด้วยรถสาธารณะกลับยังถูกจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยมีปัจจัยบ่งชี้ว่า รถสาธารณะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีการยกตัวอย่างของประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อในรถสาธารณะปรับอากาศที่มีคนค่อนข้างแน่น ขณะที่มีผู้โดยสารที่มีเชื้อเพียง 1 คน นั่งอยู่แถวหลัง การแพร่เชื้อไปยังผู้โดยสารคนอื่นบนรถก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะนั่งห่างกันถึง 4 เมตรก็ตาม         จากกรณีดังกล่าวจึงทำให้ผู้กำกับนโยบายหลายฝ่ายในประเทศไทยยังไม่กล้าที่จะปลดล็อคการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะ ทั้งในรถเมล์และรถไฟฟ้ารวมถึงกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัด เพราะยังไม่มั่นใจและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อบนรถสาธารณะ ทั้งที่การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการตามภาพที่ทุกคนพบเห็น คือ คนยืนเบียดเสียดเต็มคันรถ แต่เบาะที่นั่งบนรถยังต้องเว้นระยะอยู่ แล้วแบบนี้จะเรียกว่ามาตรการป้องกันได้อย่างไร         ขณะที่คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายถึงที่สุดแล้ว การเดินทางของประชาชนจะกลับมาเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้รถเมล์และรถไฟฟ้ากันเหมือนเดิม ทั้งการเดินทางระยะทางสั้นในเขตเมือง และเดินทางระยะยาวข้ามจังหวัด และคาดหมายว่าจะมีคนใช้บริการรถเมล์มากถึง 650,000 คนต่อวัน ขณะที่ระบบขนส่งทางรางเดิมก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ใช้บริการมากถึง 900,000 คน/วัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้า BTS เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 517,560 คน/วัน MRT เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 284,841 คน/วัน และ แอร์พอตลิงค์เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 45,703 คน/วัน และรถไฟฟ้าเดิมอยู่ที่ 59,767 คน/วัน         หากรัฐยังไม่มีมาตรการใหม่และยืนยันต้องเว้นระยะห่างบนรถสาธารณะเหมือนเดิม ปัญหาการไม่เพียงพอของรถสาธารณะและความยากลำบากของผู้ใช้บริการก็จะกลับมา เพราะต้องยอมรับว่าระบบขนส่งมวลชนไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบไว้รองรับมาตรการระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทางออกเร่งด่วนที่ดีที่สุดตอนนี้คือ รัฐควรต้องเร่งปลดล็อคและปรับมาตรการอื่นเข้ามาเสริมแทน  เช่น จริงจังกับนโยบาย work from home สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่พร้อมเพื่อลดปริมาณการเดินทาง ทดลองลดระยะห่างบนรถสาธารณะเพื่อเพิ่มความจุในปริมาณที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมที่เน้นความปลอดภัยและกำหนดมาตรการการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ การบังคับใช้หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องจริงจัง         เช่นเดียวกับกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัดที่ต้องวิ่งรับส่งคนโดยสารในระยะทางไกล รัฐควรต้องกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมมากกว่าการเว้นเบาะที่นั่ง เพราะการจำกัดจำนวนที่นั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการจนนำไปสู่ปัญหาการบรรทุกเกิน แอบขึ้นราคาค่าโดยสารและสุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งหมดคือผู้บริโภคนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 สงสัยจริงจังราคาวีไอพี แต่ทำไมไม่มีบริการพิเศษ

หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หลายคนต้องพึ่งพาบริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์โดยสารหรือเครื่องบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสะดวกเดินทางแบบไหน แต่ไม่ว่าจะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทใด ก็ควรต้องได้รับการบริการที่ปลอดภัย พร้อมบริการที่คุ้มค่าและได้มาตรฐาน        คุณนิชรัตน์ มีธุระต้องไปทำงานที่จังหวัดขอนแก่นแบบเร่งด่วน ในช่วงเย็นจึงรีบเก็บกระเป๋าและนั่งรถเมล์มาที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เธอซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นตั๋ววีไอพีของรถเสริมในราคา 700 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่า คุณนิชรัตน์ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะว่าวันนั้นถ้าไม่จ่ายราคานี้ก็จะไม่มีเที่ยวรถอื่นบริการอีก         หลังจากรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตมุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดินทางคุณนิชรัตน์ ไม่ได้รับการบริการอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงผ้าห่มที่เธอคุ้นเคยว่าต้องมีบริการเหล่านี้ หรือเพราะว่าเป็นรถเสริม แต่ทว่าราคาตั๋วที่จ่ายนั้นมีราคาแพง และก็เรียกว่า วีไอพี แต่ทำไมบริการถึงได้แย่ขนาดนั้น ไม่สมกับราคาเลย คุณนิชรัตน์คิดว่าสิ่งนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงได้ร้องกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา         สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ประสานงานกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า ทางศูนย์ฯ พบว่า ผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารที่คุณนิชรัตน์เดินทางนั้น จำหน่ายตั๋วในราคาแพงกว่าปกติจริง ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินส่วนต่างค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้บริโภค และดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภคหากมีข้อสงสัยว่า บริการรถทัวร์ที่ท่านใช้งานนั้นกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ไม่แสดงอัตราค่าโดยสาร ณ บริเวณจุดจำหน่ายตั๋ว หรือพนักงานขายตั๋วออกตั๋วโดยสารโดยไม่มีใบเสร็จ หรือท่านต้องจ่ายเงินค่าโดยสารเกินกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนตั๋วหรือใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งการนำรถเสริมมาให้บริการ หรือการปรับค่าตั๋วโดยสารโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งงานบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ท่านสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารฯ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บตั๋วโดยสารไว้ด้วยทุกครั้งที่เดินทาง และภ่ายภาพเลขรถโดยสารคันที่ท่านใช้บริการไว้ด้วย จะช่วยให้จดจำเลขประจำรถได้สะดวกขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้านขายยางรถหมดอายุทำอะไรได้บ้าง

        คุณสุรชัยได้ขับรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมรถแห่งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนยางรถเส้นใหม่ แต่ร้านไม่มียางรถยนต์รุ่นที่คุณสุรชัยต้องการ ร้านจึงเสนอยางรถยนต์รุ่นอื่นและบอกว่าสามารถใช้แทนกันได้ โดยจะลดราคาให้พิเศษ คุณสุรชัยจึงได้เปลี่ยนยางเส้นใหม่ตามที่ร้านแนะนำ         ไม่กี่เดือนหลังเปลี่ยนยาง คุณสุรชัยรู้สึกว่ารถมีอาการขับกินซ้ายตลอด จึงตัดสินใจนำรถเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อ แต่อาการขับกินซ้ายก็ยังไม่ดีขึ้น         ผ่านไปกว่าครึ่งปีคุณสุรชัยได้นำรถเข้าศูนย์ซ่อมรถอีกครั้งเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ โดยพนักงานได้ให้ความเห็นว่า ยางรุ่นนี้แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนวันหนึ่งลูกชายของคุณสุรชัยได้นำรถไปล้าง แล้วสังเกตว่ายางรถน่าจะเป็นยางที่หมดอายุแล้ว คุณสุรชัยจึงปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        หากปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจาก ยางรถหมดอายุ ยางเสื่อมคุณภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี หรือ ทางร้านแนะนำยางรุ่นอื่นให้ใช้ทดแทนแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยผู้บริโภคมาทราบทีหลัง และพิสูจน์ได้ว่าความผิดปกติจากการใช้รถที่เกิดขึ้นเกิดจากยางรถที่เปลี่ยนมา ก็สามารถขอคืนเงินได้         รวมถึงสามารถเรียกค่าใช้จ่ายจากความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการนำรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมได้ เช่น ค่าที่ผู้ร้องต้องนำรถเข้าตั้งศูนย์ถ่วงล้อ เพราะเข้าใจผิดว่าอาการขับกินซ้ายเกิดจากการตั้งศูนย์ เป็นต้น         ทั้งนี้การซื้อยางรถยนต์ ผู้บริโภคอาจสังเกตปีที่ผลิต สภาพของยางรถ ซึ่งสถานที่ที่เก็บรักษายางรถควรมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ไม่ตากแดดตลอดเวลาและเลือกซื้อยางรถยนต์จากร้านที่น่าเชื่อถือ และควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการร้องเรียนหากได้สินค้าไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รถเมล์ไทย ทำอย่างไรให้เป็นตัวเลือกแรกของการเดินทาง

        รถเมล์เป็นรูปแบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่ทุกคนน่าจะต้องเคยใช้ เนื่องจากเป็นบริการขนส่งมวลชนที่มีราคาถูกและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการแออัดของผู้คนและรถยนต์จำนวนมาก รถเมล์เป็นพาหนะที่ขนคนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกประเภท  ในทุกวันมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนใช้บริการรถเมล์ (จาก 10 ล้านคน) ถึงอย่างนั้นรถเมล์กลับไม่ใช่ตัวเลือกลำดับแรก สำหรับคนที่จะต้องเดินทางในเขตเมืองหากพวกเขาเลือกได้        คงต้องยอมรับว่า ปัญหาบริการขนส่งสาธารณะบ้านเมืองเรามีทั้งปัญหาด้านคุณภาพและด้านปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณการสัญจรของประชาชน ซ้ำยังมีปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ แม้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาเสริม แต่ด้วยราคาค่าบริการที่แพง ล้วนทำให้คนกรุงเทพส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43 % รถจักรยานยนต์ 26 % และรถขนส่งสาธารณะเพียง 24 % เท่านั้น         หันมาดูข้อมูลด้านปริมาณรถเมล์ของ ขสมก. กันบ้าง ณ 31 มีนาคม 2562  ขสมก. มีรถเมล์วิ่งให้บริการทั้งหมด 13,461 คัน แยกเป็น ขสมก. รถร้อน 1,543  คัน รถปรับอากาศ 1,501 คัน รถ PBC (รถเช่า) 117 คัน และมีรถเอกชนร่วมวิ่งบริการเป็น รถร้อน 1,870 คัน รถร่วมบริการ รถปรับอากาศ 1,396 คัน รถมินิบัส 882 คัน  รถเล็กในซอย 2,052 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 4,103 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 87 คัน         เห็นตัวเลขรถเมล์กันแล้วอาจดูเยอะมีหมื่นกว่าคัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่รถทุกคันจะออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นรถเก่าอายุเกิน 20 ปี จอดเสียซ่อมบ่อย ทำให้รถเมล์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนที่ใช้บริการโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นผลสะสมส่วนหนึ่งที่ทำให้ ขสมก. ขาดรายได้ และนำไปสู่ข้ออ้างของการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ในเวลาต่อมา        แม้ว่าแนวทางการควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง ที่รัฐต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงบริการนี้ได้ และรัฐต้องพร้อมขาดทุนเพื่อจัดบริการพื้นฐานเพื่อการเดินทางนี้ให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาการคิดอัตราค่าโดยสารรถเมล์กลับคิดตามต้นทุนและภาะหนี้สินของ ขสมก. มากกว่าคิดตามสภาพความพร้อมในการจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคารถเมล์ทุกประเภทครั้งล่าสุดเมื่อ 22 เมษายน 2562 ที่ปรับขึ้นจากเดิม 1 – 7 บาท ตามระยะทาง รวมถึงรถแอร์รุ่นใหม่ใหม่ที่คิดระยะเหมา 15-20-25 บาท และในส่วนของรถร่วมบริการที่ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาทด้วย         ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้จัดทำข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถสาธารณะเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การใช้รถเมล์ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 14 - 16% เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หรือเท่ากับ ค่าแรง 300 บาท/วัน จะต้องเสียค่าเดินทางเกือบ 50 บาท/วัน และในปกติคงไม่มีใครเดินทางแค่เที่ยวเดียว          และหากต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มด้วยแล้วไม่ว่าจะเป็น BTS MRT และ ARL จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28 % ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % เท่านั้น เท่ากับคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพงมาก ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย        โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในตอนเช้าของทุกวัน ที่ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14-16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ        จะเห็นได้ว่าปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง การมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางในแต่ละวันที่อยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งหมดอาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่ใช้รถเมล์ รถสาธารณะ เพราะรวมๆ กันแล้ว แพงมาก ดังนั้นหากพอมีทางเลือกทุกคนอยากไปกับรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า        การจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด คือต้องออกแบบและพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะให้เป็นจริง กล่าวคือ  ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท (เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องเดินทางออกจากซอย เป็นต้น) โดยอาจจะเริ่มด้วยวิธีการง่ายๆ        เริ่มจากทำให้ประชาชนต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งมวลชนในระยะทาง 500 เมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที พัฒนาระบบแอปพลิเคชันให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้าถึงทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อดูได้ว่า รถเมล์สายอะไรที่กำลังจะมา เพื่อเชื่อมต่อการพัฒนาระบบขนส่งอื่นๆ ลดระยะเวลารอรถเมล์ให้ไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงการเดินทางประจำวัน และที่สำคัญค่าโดยสารโดยรวมทุกประเภทต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำของประชากร ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภควันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 น้ำเข้ารถ... ความผิดใคร รถหรือคน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำเข้าในตัวรถ ไม่ว่าจะล้างรถหรือฝนตกน้ำจะเข้ามาในตัวรถตลอด มันเข้าทั้งสี่ประตูเลย ที่เห็นครั้งแรกคือ ขับรถจากเมืองทองธานีกลับบ้านประมาณ 30 กิโลเมตร  แล้วฝนตกตลอดทางเมื่อมาถึงบ้านแล้วเห็นว่าในรถเปียกดูว่ามันมีน้ำเข้ามา ก่อนหน้านี้เคยได้กลิ่นอับในรถแต่พี่ไม่ได้สังเกต ที่เห็นด้วยตา คือวันนั้นวันแรกที่ว่าขับมาแล้วฝนตกมาตลอด” คุณวัลทิชา ประสงค์เวช ผู้บริโภคเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยปัญหามาตรฐานของรถยนต์    ทราบปัญหาเรื่องน้ำเข้ารถเมื่อไร         ครั้งแรกที่เห็นคือประมาณสักสองประตู เยอะอยู่ พี่ก็เอาไปเข้าศูนย์ให้เขาทำ เขาก็บอกว่าเขาจะซีล (seal) ให้ พี่ไปรับรถพี่ก็พยายามจะถามว่ามันเกิดจากอะไร ตรงไหนอย่างไร ซึ่งพนักงานคนนั้นเขาพูดติดๆ ขัดๆฟังยาก ซึ่งเราก็เข้าใจยากก็พยายามฟังก็ไม่ได้ตำหนิอะไรเขาตรงนั้น เข้าใจว่าเขาซีลใหม่ตรงประตูทั้งสองประตูที่น้ำเข้า หลังจากที่พี่ใช้ไปอีกสักระยะหนึ่ง พี่จอดรถไว้กลางแจ้งแล้วก็เดินไปโรงพยาบาล ตอนนั้นฝนตกก็ไม่น่าจะเกินครึ่งชั่วโมง พอกลับมาที่รถ ปรากฏว่าน้ำเข้ามากกว่าเดิมในตำแหน่งเดิม พี่จึงกลับไปที่ศูนย์นั้นอีก แล้วเขาก็แก้ไขให้อีก คือถ้านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ (วันที่ให้สัมภาษณ์) พี่ทำมาแล้วห้าครั้ง เขาก็แก้ไขปัญหาด้วยการซีลที่ตัวประตูทุกครั้ง ตอนนี้พี่ก็เจอเพิ่มว่ามันไม่ใช่สองประตูแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นสี่ประตูเข้าทั้งสี่ประตูเลย  ไม่ไหวแล้วจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ         จริงๆ แล้วพี่เอาเข้าศูนย์ฯ แล้วสี่ครั้ง แต่พี่ก็ติดต่อกับมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยเรื่องเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ แต่การเจรจามันไม่ได้ช่วยทำให้เรารู้สึกดีหรือมีความมั่นใจในสิ่งที่เขา (บริษัท) พูด เพราะเขาไม่ได้เคยทำในสิ่งที่พูดเลย พี่ก็เริ่มไม่มั่นใจ หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์แต่ว่าการพูดจาของเขามันทำให้พี่รู้สึกว่าแย่ลงไปกว่าเดิม เหมือนพี่ถูกกระทำมากกว่าเดิม พี่ก็ลองให้โอกาสเขาอีกสักครั้ง ก็คือการเข้าไปซ่อมครั้งที่ห้า ที่เป็นศูนย์ของบริษัทใหญ่เขาเลยที่ถนนศรีอยุธยา พี่ก็ลองดูว่าเอาอีกครั้งเผื่อว่ามันจะดี เพราะว่าสี่ครั้งที่ผ่านมาพี่ไม่ได้ซ่อมกับศูนย์เขาเลย พี่ก็เปลี่ยนศูนย์แต่ล่าสุดที่เจอก็คือ พอพี่ล้างรถแค่ล้างรถนะยังไม่ได้เจอฝนจริงๆ ปรากฏว่าน้ำเข้าแล้ว         ตอนที่มาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯ  ทางนี้ช่วยเรื่องเจรจาให้ ซึ่งพี่ก็ทดลองให้เขาลองซ่อมอีกสักครั้งหนึ่ง ซ่อมครั้งนี้ไม่ดีครั้งที่ห้าแล้ว พี่จึงติดต่อกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกว่าพี่เจอปัญหานี้ ทางมูลนิธิวันนั้นก็นัดกันกับบริษัทรวมทั้งเชิญนักวิชาการมาดูในการตรวจสอบ ให้เขาเห็นว่าน้ำเข้ารถจริง ทางบริษัทเขาเห็นว่าหลังจากที่ซ่อมห้าครั้งแล้วมันก็มีการเข้าจริง ตรวจสอบวันนั้นก็เห็นกันเลยว่าเข้าหมดเลยทั้งสี่ประตู ทดสอบอย่างไรบ้าง         เราทดสอบด้วยการเอารถไปที่ศูนย์แล้วก็ใช้สายยางฉีดน้ำ ไม่นานค่ะเหมือนพี่ล้างเอง ก็ไม่นานไม่กี่นาทีเอง น้ำก็เข้าเลย พอเห็นพร้อมกันทั้งสองฝ่าย คือเรากับเขา เขาบอกจะให้เราเอาไปซ่อมอีก เขาสันนิษฐานว่าตัวซีลพลาสติกมันไม่แนบสนิทมันมีช่องว่างช่องโหว่ซึ่งทำให้น้ำเข้าได้ และช่องว่างนั้นมันก็เกิดจากฝีมือของช่างที่ทำ  มันก็เลยทำให้พลาสติกมันไม่แนบสนิทไปกับตัวซีลเลยเป็นเหตุให้น้ำเข้าในตัวรถ เขาอ้างอย่างนั้น        เขาบอกว่าเขามีตัวซีลมาใหม่ ซึ่งมันจะมีคุณภาพดีกว่าที่แล้วๆ มา อยากให้เราเอาไปซ่อมอีก คือใช้ซีลตัวใหม่อะไรประมาณนี้ พี่ก็ไม่ได้รับข้อเสนอตรงนั้นเพราะพี่เชื่อว่าห้าครั้งแล้วมันไม่ได้ทำความมั่นใจให้เราแล้ว พี่ก็ถามเขาว่าแล้วซีลตัวเดิมที่ใช้กับรถพี่มันใช้กับรถรุ่นอื่นของยี่ห้อนี้ไหม เขาก็บอกว่าใช้ พี่ก็บอกว่าแล้วทำไมมันถึงยึดที่เกรด ถ้าคุณบอกว่าปัญหามันเกิดจากตรงนั้น ทำไมมันเกิดที่รถพี่อย่างเดียวถ้าคุณใช้ซีลตัวเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนของรถคุณก็ตาม เคยพบปัญหาแบบนี้ในรถแบบเดียวกันกับของพี่ไหม         ถ้าเป็นคนรู้จักกันพี่ก็ไม่ค่อยรู้จักใครที่ใช้ แต่เท่าที่พี่เคยอ่านในเน็ตก็จะมีอยู่รายหนึ่งที่เหมือนพี่ คือน้ำเข้าที่ประตูเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ไปตามต่อแต่รู้สึกว่าเคสนั้นเขาเป็นคดีกัน เพราะว่าเจ้าของรถเขาไปร้องในงาน Motor Show เขาก็เป็นคดีกันไป รถคันนี้พี่ซื้อปลายปี 2560 ได้รถเดือนธันวาคม 60 แต่พี่ไม่ได้ขับเลย พี่จอดเอาไว้ พี่ขับจริงๆ คือปีใหม่ของปี 2561 เป็นช่วงที่ไม่ใช่หน้าฝน พี่ก็ขับมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าฝนพี่ถึงเห็นตรงนั้น จุดประสงค์ของพี่ต่อการร้องเรียนครั้งนี้คืออะไร        เราเคยเจราจากันตั้งแต่ตอนที่พี่ซ่อมไปแล้วสี่ครั้ง พี่ขอให้เขาซื้อคืน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่เขาปฏิเสธ คือตอนนั้นที่พูดคุยกันว่าเราจะทำข้อตกลงว่า ถ้าพี่ซ่อมครั้งที่ห้าไม่หายเขาต้องซื้อคืน โดยซื้อคืนเกินราคากับตลาดทั่วไป พี่เรียกเกินจากตลาดทั่วไป 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็รับปากรับคำวันนั้น วันนั้นที่คุยกันคือซื้อคืนเกินราคาตลาด ซึ่งพี่ยังไม่ได้แจ้งว่ากี่เปอร์เซ็นต์เพราะว่าพี่ขอไปดูก่อน หลังจากที่พี่ตกลงใจว่าขอเป็น 15 เปอร์เซ็นต์พี่ก็โทรไปบอกเขา แต่เขาก็ปฏิเสธกลับมาว่ายังไม่รู้เลยว่าเกิดจากอะไรจะให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร มันเป็นการบิดพลิ้วในสิ่งที่พูดกันวันนั้นว่าเขาจะต้องทำข้อตกลงว่า หนึ่ง ในระหว่างซ่อมมีรถให้เราใช้ อันที่สองถ้าซ่อมแล้วไม่หายให้เราทำอย่างไร แต่หลังจากที่บอกเรื่องราคาว่าเกินราคาตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็โยกอีกทางว่าก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร   มันไม่เป็นไปตามที่เราพูดคุยกัน เสียความรู้สึกมากไหม เห็นว่าชอบรถยี่ห้อนี้        เรามั่นใจว่าบริษัทแบบนี้มันน่าจะมีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี ลายเป็นว่าคุณไม่ซื้อเราคืน และยังพูดจาทำร้ายเรา ขณะที่เราเจอปัญหากับรถแล้วเรายังจะมาเจอกับปัญหาคำพูดของคุณอีก เหมือนเราถูกทำซ้ำๆ เราทุกข์อยู่แล้วเขาไม่ได้ช่วยให้เราคลายทุกข์ลงไปสักนิดเดียว แต่กลับเป็นการเพิ่มขึ้นมาด้วยซ้ำไป   วันนั้นพี่รู้สึกเหนื่อย แล้วรู้สึกว่าบางอย่างมันดำเนินการช้า ข้อตกลงก็ไม่มี แต่พี่ก็เอาไปซ่อมอีกครั้งเป็นครั้งที่ห้า โดยที่พี่ก็ไม่ได้แจ้งทางสำนักงานใหญ่เขาว่าพี่เอาไปซ่อมแล้วหรือว่าเอาไปแจ้งที่ดีลเลอร์ที่พี่ซื้อมาพี่ก็ไม่ได้แจ้ง        พี่ว่าพี่พอแล้วกับการซ่อมห้าครั้ง พี่ถือว่าพี่ให้โอกาสเขามากแล้ว ห้าครั้งแก้ไม่หายแล้ว มันจะมีอะไรมาให้พี่มั่นใจว่าครั้งที่หก เจ็ด มันจะหาย ถูกไหมคะ เราใช้รถมาเข้าปีที่สามแล้วประกันจะหมดแล้ว ถ้าหมดประกันไปแล้วพี่ต้องจ่ายเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่ปัญหาที่มันเกิดไม่ได้เกิดจากพี่เลยมันเกิดจากการผลิตของคุณ แล้วคุณก็รับประกันเราแค่สามปี หลังจากนั้นเราก็ต้องรับผิดชอบเองตลอดไป ในเมื่อมันแก้ไม่หายแบบนี้ การแก้ของเขานี่คือไม่ใช่ว่าแก้ตรงนี้แล้วเราจะเจอเลยนะ เขาฉีดน้ำให้เราดูวันนั้นมันก็ไม่เข้า แต่เราใช้ไประยะหนึ่งมันถึงจะเข้ามันเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการควรเป็นอย่างไร         อันนี้มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเครื่องยนต์ที่เขาอ้างว่ามันไม่ใช่เกี่ยวกับความปลอดภัย เขาพูดกับพี่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัย เขามองว่าถ้าเครื่องยนต์มีปัญหาคือเรื่องความปลอดภัย แต่พี่มองว่านี่ก็คือความปลอดภัยของพี่ที่จะขับรถไปทั้งๆ ที่น้ำก็นองอยู่ในรถ รถเป็นราแล้วพี่จะเป็นโรคไหม พี่มองว่าการที่รถจะออกจากบริษัทมันควรจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น เข้มงวด ถึงแม้เขาจะอ้างว่ามันก็ต้องมีบ้าง แต่พี่มองว่ามันไม่ควรจะมีบ้าง มันไม่ควรมี ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วคุณควรรับผิดชอบเราไม่ให้รู้สึกแย่ไปกว่านี้ ให้เรารู้สึกว่าเราได้รับการดูแลที่ดีเพราะเราซื้อคุณในราคาเต็ม เราไม่ได้ซื้อคุณในราคาที่ลด พี่พูดกับเขาว่าถ้าคุณบอกกับเขาว่ารถคุณมีปัญหามาก่อนแล้วฉันซื้อ ฉันยอมรับว่ามันมีปัญหามาก่อน แต่คุณไม่เคยบอกแล้วคุณก็ขายฉันในราคาเต็ม พี่เขียนจดหมายถึงบริษัทแม่เขาเลยที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ตอนนั้นคือครั้งที่สี่หลังจากที่มามูลนิธิแล้ว สิ่งที่ทำตอนนี้         คิดว่าพี่คงต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย อาจจะต้องฟ้องคดี อยากบอกให้รู้ว่าถ้าคุณไม่รับผิดชอบแล้ว มันต้องมีกระบวนการอื่นที่จะมาช่วยตรงนี้ เราก็ไม่ควรจะนิ่งเฉยหรือยอมคุณต่อไป เพราะพี่ถือว่าห้าครั้งพี่ยอมมามากแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังใช้รถอยู่ พอหน้าฝนพี่จะขนหัวลุกพี่หลอนมากเลย เวลาพี่ไปทำงานพอฝนตกพี่จะไม่ออกยังไม่กลับ ลำบากมาก ขณะขับไปแล้วฝนตกกลางทางพี่ก็จะภาวนาว่าอย่าตกเยอะนะพี่จะเป็นอย่างนี้ตลอด เราหลอนตลอดจิตตก         พี่อยากฝากถึงคนอื่นๆ ถ้าเราเจอปัญหาและเราไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างนี้ เราควรลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ของเรา เราอาจจะไปหาหน่วยงานที่เราคิดว่าสามารถสนับสนุนหรือช่วยเหลือเราได้ เราไม่ควรที่จะเอาของๆ เราที่มันไม่ดีไปขายต่อให้คนอื่น เขาเคยแนะนำพี่นะคนจากบริษัท คนที่มาเจรจาบอกให้พี่ซ่อมก่อนแล้วเอาไปขาย แต่พี่บอกว่าถ้าพี่จะขายก็ขายได้ในราคานี้ มีดีลเลอร์ของบริษัทนี้ที่อยู่ที่อื่นก็อยากได้รถพี่มากเลย พี่ไม่กล้าขายเพราะพี่ไม่อยากเอาความทุกข์ที่พี่มีไปให้คนอื่น พี่ไม่อยากเอาของที่เรารู้ว่ามันไม่ดีแล้วไปให้คนอื่นแล้วพี่ก็รอดตัวไป พี่ไม่ทำ ไม่หาวิธีการนั้น  หาวิธีการดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่ผลิตของออกมาดีกว่าที่เราเอาของที่ไม่ดีแล้วเอาไปโยนให้คนอื่นต่อ กลัวไหมการฟ้องคดีกับบริษัทใหญ่แบบนี้        พี่ไม่กลัวค่ะ พี่มองว่าถึงแม้เขาจะมีฝ่ายกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญแล้วก็เจอคดีมาเยอะ พี่เชื่อว่าพี่ไม่ใช่รายแรกที่ลุกขึ้นมาฟ้องเขา และเขาก็อาจมีทางหนีทีไล่ และพี่ก็รู้ว่าพี่จะต้องเหนื่อยอีกหลายรอบหลายครั้ง แต่พี่ว่าอย่างไรพี่ก็ต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ พี่ยอมเหนื่อยพี่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ เราต้องสู้ให้เห็นว่า ถึงคุณจะเป็นบริษัทอะไรอย่างไร แต่คุณต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ คุณไม่ใช่ใช้วิธีการที่ทำให้เรารู้สึกว่าให้เราล้าไปเอง เหนื่อยไปเองไม่อยากต่อสู้กับคุณอีกต่อไป พี่รู้สึกเหมือนเขาใช้กลยุทธ์แบบนี้กับเรา ให้เราเหนื่อย ท้อแท้ กลัวสารพัดแล้วจะเลิกราไปเอง มันไม่เชิงเป็นแรงผลักดันแต่ปกติพี่เป็นคนไม่กลัวและพี่คิดว่าพี่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิทธิ์อันชอบทำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลการทดสอบการใช้งานกล้องติดรถยนต์

        ผู้ใช้รถยนต์ในปัจจุบันมีความสนใจในการใช้งานกล้องติดรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ขับและผู้ร่วมเส้นทางสัญจร โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งมียี่ห้อและรุ่นหลากหลาย ในการทดสอบกล้องติดรถยนต์เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ เราสุ่มซื้อกล้องติดรถยนต์ที่ตัวอย่างจากท้องตลาดและร้านออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ในราคาระหว่าง 1,290 ถึง 3,990  บาท (ราคาซื้อขายในท้องตลาด ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2562)        วิธีการทดสอบที่ใช้ดัดแปลงจากการทดสอบของนิตยสาร CHOICE  ออสเตรเลีย (https://www.choice.com.au/) โดยให้อาสาสมัครที่ใช้งานรถเป็นประจำ 3 คน ใช้งานกล้องจริงคนละ 10 ยี่ห้อแล้วให้ความคิดเห็น โดยทีมทดสอบได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ความเห็นแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย (อาสาสมัครไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้องติดรถยนต์) คะแนนในการสำรวจความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่        1) บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ และการติดตั้ง (สำรวจ 6 หัวข้อ ได้แก่ ความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลในคู่มือการใช้งาน ความสะดวกในการติดตั้ง ความมั่นคงหลังการติดตั้ง ความสะดวกในการเปิด-ปิดกล้อง และความสะดวกในการเปิดดูภาพย้อนหลัง) ร้อยละ 30        2) การใช้งานในช่วงเวลากลางวัน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางวัน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางแดด) ร้อยละ 35        3) การใช้งานในช่วงเวลากลางคืน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางคืน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางคืน) ร้อยละ 35          ในภาพรวมสามารถสรุปได้ว่าผู้ทดลองใช้มีความพึงพอใจในระดับสูงกว่าระดับปานกลางทั้งด้านการติดตั้ง และการใช้งานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน อย่างไรก็ตามมีคุณสมบัติบางประการที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างมาก เช่น ลักษณะการติดตั้ง คู่มือการใช้งาน การ์ดหน่วยความจำ กล้องด้านหลัง การบดบังทัศนวิสัย การรบกวนของแสง และความคมชัดของหน้าจอ ผู้ใช้จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งาน และขอคำแนะนำจากผู้ขายที่เชี่ยวชาญตารางคุณสมบัติเฉพาะและอุปกรณ์ประกอบของกล้องติดรถยนต์          กล้องแต่ละรุ่นให้อุปกรณ์ประกอบการติดตั้งแตกต่างกัน เช่นการจับยึดกล้อง ส่วนใหญ่ใช้แป้นสุญญากาศและ/หรือแป้นกาวสองหน้า กล้องชนิดครอบกับกระจกมองหลัง จะไม่สามารถติดตั้งด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แต่จะมีกล้องเสริมสำหรับติดท้ายรถมาให้ด้วย ทุกรุ่นจำหน่ายพร้อมหัวเสียบช่องจ่ายไฟฟ้าในห้องโดยสารแรงดัน 12 V บางรุ่นมีสาย USB แยก เพื่อให้ต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ และมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่จำหน่ายพร้อมหน่วยความจำ ผู้ใช้อาจต้องศึกษาอุปกรณ์ประกอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาถึงวิธีการติดตั้ง การใช้งาน และความครบถ้วนสมบูรณ์ของอุปกรณ์ข้อสังเกตเพิ่มเติม         การใช้งานในเวลากลางวัน        จากผลการประเมินจะเห็นว่ากล้องติดรถยนต์แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันมากที่สุดในเรื่องความคมชัดของหน้าจอ ทั้งขนาดและความสว่างของหน้าจอ ผู้ใช้อาจต้องพิจารณาก่อนการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการใช้หน้าจอเพื่อดูภาพที่บันทึกไว้ กล้องบางรุ่นที่ไม่มีหน้าจอต้องเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ การแสดงผลภาพจึงต้องพิจารณาถึงการส่งภาพมายังโทรศัพท์มือถือด้วย รวมไปถึงระดับการบดบังทัศนวิสัย ที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งการติดตั้งที่เหมาะสม ส่วนหัวข้ออื่นๆ ได้แก่ แสงรบกวนและความมั่นคงของการใช้งานกลางวัน มีคะแนนเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก      กล้องติดรถยนต์ที่มีระดับการบดบังทัศนิวิสัยในระดับปานกลางถึงไม่บดบังสายตาเลย ได้แก่ Blueskysea ส่วนยี่ห้อที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ HP AnyTek PROOF และ Transcend          กล้องที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ AnyTek และ PROOF ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi และ DOD การใช้งานในเวลากลางคืน        จากผลการประเมินด้านการใช้งานกลางคืน พบว่ากล้องแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันด้านระดับแสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ และระดับการบดบังทัศนวิสัย เนื่องจากในเวลากลางคืนหน้าจอของกล้องจะมีความสว่างและโดดเด่นขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงรบกวนและทำให้ทัศนวิสัยโดยรวมสูญเสียไปกล้องที่มีระดับแสงรบกวนมากจะมีระดับการบดบังทัศนวิสัยมากด้วย ผู้ใช้ที่ใช้รถในเวลากลางคืนอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงวิธีการลดระดับแสงรบกวนระหว่างการใช้งาน แต่ในด้านความคมชัดของหน้าจอไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างการใช้งานกลางวันและกลางคืน จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่ไม่มีแสงสว่างรบกวนสายตาในเวลากลางคืน ได้แก่ HP ASTON Xiaomi Blueskysea และ DENGO ในขณะที่จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่มีแสงสว่างรบกวนสายตามากที่สุดคือ AnyTek และ Transcend     กล้องติดรถยนต์ที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืนได้แก่ HP ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi GoTrec และ DENGO

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 228 ญาติไม่จ่ายหนี้รถคนค้ำก็ช้ำไป

        เรื่องปวดใจสำหรับคนค้ำประกันคือ แม้ไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงแต่ตามกฎหมายต้องรับภาระไม่ต่างจากผู้ซื้อ ซึ่งบางคนก็คาดไม่ถึงว่า การลงลายมือชื่อเพื่อค้ำประกันให้ญาติด้วยน้ำใจอันดี อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผิดใจกันมานักต่อนัก         คุณสนิท โทรศัพท์มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้ญาติ ต่อมาภายหลังประมาณหนึ่งปีกว่า ญาติผิดนัดไม่ชำระค่างวดรถ ต่อมารถยนต์ถูกยึดและบริษัทไฟแนนซ์ได้ขายทอดตลาด แต่ยังมีเงินส่วนต่างอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ 155,000 บาท ไฟแนนซ์ได้เรียกให้ตนเองและญาติชำระหนี้ ซึ่งตนเองพยายามติดตามให้ญาติใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงกลายเป็นคดีความ         ตอนที่ไปฟังคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ญาติและคุณสนิทให้ฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ไม่นานก็มีหมายบังคับคดีถึงบริษัทของคุณสนิทเพื่อที่จะอายัดเงินเดือน “ผมพยายามหาหยิบยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ไม่อยากโดนบังคับคดี อยากทราบว่าผมต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไม่ให้เสียเปรียบกับทางไฟแนนซ์ แล้วถ้าผมชำระหนี้หมดจะมีทางไหนเรียกเงินคืนจากญาติได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อต้องการปิดบัญชี คุณสนิทต้องขอเอกสารใบลดหนี้จากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อได้เอกสารแล้วให้อ่านข้อความให้ละเอียดว่า ตรงตามที่ได้ตกลงขอปิดหนี้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่        2.หากข้อความเป็นไปตามที่ตกลง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทไฟแนนซ์เพื่อให้มีหลักฐานคือยอดโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบและขอใบปิดบัญชีจากทางไฟแนนซ์มาเก็บไว้        3.กรณีที่คุณสนิทซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนญาติ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 (ผู้ซื้อ) คุณสนิทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับญาติได้ แต่ต้องดูว่าญาติมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีก็ฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นศาลก็สามารถบังคับคดีกับญาติต่อไป เพื่อนำทรัพย์ของญาติออกมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับคุณสนิท   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

                ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้         ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจนมองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ         หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้         หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 – 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน         แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน…         แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป         ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 โชว์แค่ภาพถ่ายตั๋ว ขึ้นรถทัวร์ได้ไหม ?

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเรื่องมีอยู่ว่า          คุณนิตยา ได้ซื้อตั๋วรถทัวร์โดยสารระหว่างจังหวัด จากจุดขายตั๋วของบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา เพื่อให้หลานชายใช้เดินทางจากเชียงใหม่กลับบ้านที่พะเยา เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้ว คุณนิตยาก็ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพตั๋วโดยสาร ส่งไลน์ไปให้หลานชายที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่         เมื่อถึงวันเดินทาง หลานชายคุณนิตยา ได้แสดงภาพถ่ายตั๋วโดยสารในมือถือ ให้พนักงานประจำรถที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ดู แต่พนักงานประจำรถกลับปฏิเสธไม่ให้ขึ้นรถ โดยให้เหตุผลว่า ต้องใช้ตั๋วโดยสารฉบับจริงเท่านั้น และบอกให้หลานชายคุณนิตยาซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่ช่องขายตั๋ว หลานชายคุณนิตยาจึงจำต้องเสียเงินซื้อตั๋วโดยสารใบใหม่เพื่อให้ได้ขึ้นรถกลับบ้าน         เมื่อหลานชายเดินทางกลับถึงบ้าน ก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้คุณนิตยาฟัง คุณนิตยาจึงสอบถามมายัง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ถึงประเด็นที่ว่า ก่อนหน้านี้ ก็เคยใช้รูปถ่ายตั๋วโดยสารขึ้นรถจากพะเยาไปเชียงใหม่ได้ แต่ทำไมไม่สามารถใช้ขึ้นรถโดยสารบริษัทเดียวกันจากเชียงใหม่กลับพะเยาได้ อยากให้บริษัทมีมาตรฐานการให้บริการที่เหมือนกัน และช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าสามารถเดินทางได้ มากกว่าการให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสารใหม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อประสานงานกับบริษัทรถทัวร์โดยสาร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริการให้มีมาตรฐานเดียวกัน  ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ตอบกลับมาว่า จะดำเนินการปรับปรุงการบริการให้มีมาตรฐานดีขึ้นต่อไป  ข้อแนะนำ          การซื้อตั๋วรถโดยสาร มีทั้งแบบที่ต้องใช้บัตรประชาชน พร้อมระบุชื่อผู้โดยสาร กับ แบบที่ไม่ระบุชื่อ ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการนั้นๆ ซึ่งการแสดงตนเพื่อใช้บริการควรใช้ตั๋วโดยสารฉบับจริง        ในกรณีข้างต้น ผู้บริโภคเคยใช้ภาพถ่ายตั๋วเพื่อเดินทางในบริษัทเดียวกันมาก่อน แต่พอมาขึ้นรถโดยสารจากต้นทางอีกแห่ง กลับไม่สามารถใช้ภาพถ่ายตั๋วเพื่อเดินทางได้ ทำให้ผู้บริโภคสับสน ดังนั้นบริษัทฯ ควรกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้มาตรฐานในทุกสาขา         นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเก็บตั๋วเอาไว้ให้ดี หากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทาง ตั๋วโดยสารจะเป็นหลักฐานสำคัญในการใช้สิทธิต่างๆ ในภายหลัง         ทั้งนี้ หากท่านต้องการคำแนะนำเรื่องสิทธิผู้บริโภค สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา www.phayaocivil.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กระแสต่างแดน

เข้มได้อีก        กรุงโซลแบนการใช้ถุงและภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารมาได้สองปีแล้ว และเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2563 โซลได้เพิ่มกฎการแยกขยะขวดน้ำพลาสติก(ขวด PET) ด้วย         ครัวเรือนในอพาร์ตเมนท์จะต้องลอกฉลากขวดออก แล้วนำมาทิ้งในที่ๆ ส่วนกลางจัดไว้ ส่วนผู้อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวต้องไปรับ “ถุงทิ้งขวด PET” จากเทศบาล เมื่อใส่ขวดดังกล่าวจนเต็มแล้วก็นำไปทิ้งในจุดที่กำหนด ในวันพฤหัสเท่านั้น         เดนมาร์กก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้อียูแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งและห้ามร้านค้าแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้ว ลูกค้าที่ต้องการใช้ต้องซื้อและจ่ายแพงขึ้นด้วย รายงานบอกว่าถุงหูหิ้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือพลาสติกชนิดหนากว่า 0.33 มม. จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 4 โครน (ประมาณ 5 บาท)        ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัย เขายังอนุญาตให้ร้านแจกถุงบางๆ สำหรับใส่ผักผลไม้หรือขนมปังได้         ถูกและไว        รถไฟ AVLO หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “รถไฟความเร็วสูงต้นทุนต่ำ” พร้อมจะเปิดให้บริการระหว่างเมืองมาดริดและบาเซโลนา (ระยะทาง 621 กิโลเมตร) ในเดือนเมษายนนี้แล้ว         รถไฟดังกล่าวมีให้บริการวันละ 5 เที่ยวจากแต่ละเมือง ด้วยค่าโดยสารในอัตรา 10 ถึง 60 ยูโร (ประมาณ 345 ถึง 2,000 บาท) ต่อเที่ยว ทั้งนี้ AVLO สามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกกว่า AVE รถไฟความเร็วสูง (310 กม./ชม.) ของสเปนที่ให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้ในราคา 41 ถึง 152 ยูโร (ประมาณ 1,400 ถึง 5,200 บาท) ต่อเที่ยว        AVLO ซึ่งมีพื้นที่ระหว่างที่นั่งเท่ากับ AVE จะไม่มีบริการอาหารและไม่มีไวฟายฟรี         Renfe หรือการรถไฟสเปนระบุว่า แต่ละปีมีผู้คนเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ถึง 10 ล้านคน (4 ล้านคนเดินทางด้วยรถยนต์ 4 ล้านคนใช้บริการ AVE และอีก 2 ล้านคนใช้เครื่องบิน) เขาคาดหวังว่าในสองปีแรกที่เปิดดำเนินการจะมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน โดยเน้นไปที่คนหนุ่มสาวที่เคยเดินทางด้วยรถยนต์        ไม่มีพี่วิน         ผู้คนในเมืองลากอส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของไนจีเรีย ออกมาแสดงความไม่พอใจกันอย่างกว้างขวางหลังรัฐบาลประกาศให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย         การจราจรในลากอสหนาแน่นไม่แพ้ใครในโลก ด้วยปริมาณรถ 200 คันต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร บวกกับบริการรถ/เรือโดยสารสาธารณะที่ยังมีไม่เพียงพอ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดสำหรับคนที่เดินทางไปทำงาน         แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่ามอเตอร์ไซค์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในอันดับต้นๆ สร้างความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบบนท้องถนน และมักถูกใช้เป็นพาหนะพาอาชญากรหลบหนีการจับกุม         การแบนครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสตาร์ทอัปที่ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์อย่าง Okada และ ORide ในขณะเดียวกันบริการเรียกรถยนต์อย่าง Uber และ Bolt ที่ผู้คนต้องหันไปพึ่งพาก็มีอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังการประกาศ        เกินควบคุม        ที่อยู่อาศัยในปารีสนั้นขึ้นชื่อว่าหายากและราคาแพงสุดๆ รัฐบาลจึงออกกฎหมายกำหนดเพดานค่าเช่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้เช่าถูกเอาเปรียบ        แต่การสำรวจประกาศโฆษณาบ้านเช่าในปารีส 1,000 ชิ้นโดย CLCV องค์กรผู้บริโภคของฝรั่งเศส พบว่า ร้อยละ 44 ของโฆษณาเหล่านั้นยัง “ผิดกฎหมาย” และชนิดของที่อยู่อาศัยที่มีการละเมิดผู้บริโภคมากที่สุดคืออพาร์ตเมนต์แบบห้องนอนเดียว ตามด้วยอพาร์ตเมนต์แบบ 2-3 ห้องนอน และแบบ 4 ห้องนอน         โดยเฉลี่ยแล้วค่าเช่ารายเดือนที่ระบุในโฆษณา สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อย 120 ยูโร (4,100 บาท) และเขายังพบว่า เจ้าของบ้านที่ติดประกาศเองมีอัตราการเอาเปรียบผู้เช่าสูงกว่าบริษัทนายหน้าด้วยซ้ำ (ร้อยละ 52 และ ร้อยละ 30 ตามลำดับ)         แม้จะเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แต่จนถึงธันวาคม 2562 มีผู้ร้องเข้ามาแค่ 21 รายเท่านั้น CLCV บอกว่าผู้บริโภคอาจยังไม่รู้กฎหมาย หรืออาจยอมจ่ายแพงเพราะหาบ้านจนท้อแล้วก็ได้        มีต้นทุน        พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีกำลังผลักดันให้เบอลินออกตั๋วโดยสารรายปีในราคา 365 ยูโร (12,540 บาท) เรื่องนี้ถูกใจคนเดินทางที่ปัจจุบันจ่าย 728 ยูโร (25,000 บาท) แน่นอน         แต่สมาคมการขนส่งและค่าโดยสารแห่งมิวนิคค้านว่า “แผนตั๋วถูก” นี้ต้องใช้เงินสนับสนุนถึงปีละ 160 ล้านยูโร (54,000 ล้านบาท) และตั้งคำถามว่าเงินนี้จะมาจากไหน สมาคมฯ ระบุว่ากรุงเวียนนา ในออสเตรียสามารถทำตั๋ววันละ 1 ยูโรได้ตั้งแต่ 7 ปีก่อน เพราะมีระบบรองรับที่ดีบวกกับมีค่าจอดรถที่แพงจนผู้คนไม่อยากใช้รถ         ก่อนหน้านี้แคว้นบาวาเรียเคยเสนอแผนดังกล่าวแต่ก็พับเก็บไป มีเพียงนักเรียนและผู้ที่อยู่ระหว่างฝึกงานเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ตั๋ว 365 ยูโรได้             ในเบอลิน นักเรียนนักศึกษาได้รับยกเว้นค่าโดยสาร คนว่างงานมีสิทธิซื้อตั๋วเดือนราคาพิเศษ (27.5 ยูโร หรือ 950 บาท) และพนักงานบริษัทที่เซ็นสัญญาร่วมจ่ายกับรัฐในโครงการ Job Ticket สามารถซื้อตั๋วราคาพิเศษได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ตลกร้ายรับปีใหม่ ของขวัญแด่คนกรุงเทพ

        รถเมล์สามพันคันประกันหมด        ถอนหายใจสามเฮือก ขสมก.คิดทำอะไรอยู่ รู้ทั้งรู้ว่าประกันภัยจะหมดสิ้นปี แต่ยังปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น อ้างยังไม่สามารถจัดหาบริษัทประกันภัยรายใหม่ได้ทัน เนื่องจากความล่าช้าของการอนุมัติโครงการ เหตุเพราะผิดขั้นตอนจึงถูกตีตกไปจัดทำใหม่         ถ้าว่ากันเรื่องมาตรฐานองค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ออกมาขอโทษหรือแก้ตัว หน้าที่องค์กรของรัฐอย่าง ขสมก.ควรมีความรับผิดชอบและมาตรฐานการจัดการที่ดีมากกว่านี้ แค่ตั้งใจปล่อยข่าวออกมาให้ประชาชนรู้หลังประกันภัยหมดหลายวัน ก็ไม่จริงใจต่อกันแล้วหลายคนรับไม่ได้แล้ว แต่องค์กรอย่าง ขสมก.ก็ยังอยู่ได้ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น         แม้ว่าภายหลัง ขสมก.จะออกมาแก้ข่าวว่า ขสมก.จะรับผิดชอบดูแลความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุ โดยพนักงานขับรถไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของ ขสมก. แต่สิ่งที่ออกมาบอกก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วมิใช่หรือ การรับผิดชอบประชาชนที่ใช้รถเมล์กว่าล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ยังไม่รวมถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบที่ดีที่ต้องมีมากกว่านี้        หากกรณีนี้เป็นรถร่วมเอกชนที่ออกมาบอกว่า รถประกันหมดนะ ขอวิ่งไปก่อนจนกว่าจะหาประกันภัยใหม่ได้ คงโดนเล่นงานสาปส่งลงโทษสถานหนักแล้ว เพราะการนำรถที่ไม่มีประกันออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่พอเป็น ขสมก.ที่ออกมาบอกหน้าตาเฉยว่าประกันหมด ตอนนี้กำลังรีบหาประกันภัยใหม่อยู่ บอกแบบนี้ คือให้ทุกคนต้องดูแลตัวเองอย่างนั้นหรือ ความปลอดภัยของประชาชนและความเชื่อมั่นต่อองค์กรหนี้แสนล้านนี้อยู่ที่ไหน ตรงนี้ประชาชนถามเยอะมาก แต่ก็ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ออกมาจาก ขสมก. ความผิดพลาดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นและควรต้องมีคนรับผิดชอบ         เรื่องรถเมล์ว่าแย่แล้ว ปัญหาเรื่องรถตู้โดยสารก็ยังไม่จบ         ประมาณเดือนมีนาคมนี้คงได้คำตอบจากกระทรวงคมนาคมว่า ที่ขอขยายเวลาไปศึกษาแนวทางการยืดอายุรถตู้โดยสารประจำทางหมวด 1 และ 4 ที่อายุสิบปีไม่ให้ต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสนั้น ทิศทางข้างหน้าจะเป็นยังไง         เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมต้องคิดให้รอบคอบ เพราะกว่าที่ทุกฝ่ายจะผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยให้รถตู้โดยสารประจำทางมาจนถึงจุดนี้ ที่ผ่านมาต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้สูญเสียมากมาย บทเรียนจากอดีตเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และแก้ไข เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่การวิ่งใกล้หรือวิ่งไกลอย่างที่ผู้ประกอบการโต้แย้ง แต่ประเด็นอยู่ที่สภาพโครงสร้างของรถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบให้มาวิ่งรับส่งคนโดยสาร การเอาชีวิตรอดจากโครงสร้างรถตู้ที่ไม่ปลอดภัยต่างหากคือเรื่องสำคัญ การเปลี่ยนผ่านรถตู้เป็นรถไมโครบัสที่ปลอดภัยกว่าจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยินยอมเปลี่ยนรถ ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยด้านคนขับและการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ลดลง         อย่างไรก็ดีต้องให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางกันสักนิด ที่หลังจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในหลายส่วน รวมถึงการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการ มีผลทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารประจำทางลดน้อยลงอย่างน่าพอใจ         กลับกันรถตู้ส่วนบุคคลหรือที่เรียกกันว่า รถตู้ป้ายฟ้า และรถตู้โดยสารไม่ประจำทางกลับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเกิดเหตุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางอย่างชัดเจน และโดยเฉพาะกลุ่มรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรถกลุ่มนี้จะไม่ถูกกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ไม่ต้องติด GPS ไม่ถูกควบคุมความเร็ว ไม่บังคับทำประกันภัยค้ำจุน ไม่ต้องมีสมุดประจำรถ ไม่ต้องเดินรถด้านซ้าย ฯลฯ เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ ที่เป็นรถส่วนบุคคลห้ามนำมาวิ่งรับจ้าง         แต่ในทางปฏิบัติกลับมีรถกลุ่มนี้ออกมาวิ่งรับส่งคนตามท้องถนนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ผ่านมามีเพียงคำขู่จากกรมการขนส่งทางบก แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นถึงมาตรการเด็ดขาดที่จะหยุดรถกลุ่มนี้ไม่ให้ออกมาวิ่งรับจ้างแต่อย่างใด         เหตุผลสำคัญคือ นอกจากสภาพโครงสร้างรถจะไม่ปลอดภัยแล้ว รถกลุ่มนี้อาจจะไม่จัดทำประกันภัยค้ำจุน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้หากเกิดอุบัติเหตุความรุนแรง เจ้าของรถก็จะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อชดเชยเยียวยาผู้โดยสารที่จ้างเหมาได้ ทุกคนอาจจะต้องเจ็บตัวฟรี เหมือนกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น         และปัญหาใหญ่ที่เริ่มกันแล้วในตอนนี้ คือ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทางทั้งประเภททะเบียน 30 และ 36 ที่ออกมาเรียกร้องปลดแอกไม่ให้ถูกเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวกับรถตู้โดยสารประจำทาง อ้างว่าเพราะเป็นกลุ่มรถรับจ้างเช่าเหมา จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง รวมถึงการเรียกร้องยกเลิกข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น ไม่เอา GPS ที่ควบคุมความเร็ว ไม่เอาความเร็วที่บังคับ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอคืนป้ายทะเบียนรถรับจ้างเพื่อกลับมาใช้ป้ายรถส่วนบุคคล ไม่ต้องทำประกันภัยค้ำจุนเพิ่ม (ภาคสมัครใจ) เพราะจ่ายค่า GPS ไปแล้ว และอีกหลายข้ออ้างเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง         หากกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยตามข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ เห็นผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง จนละเลยความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดความปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคที่ใช้บริการและกลุ่มผู้ประกอบการเอง ถ้ายอมให้คืนป้ายกลับไปใช้ป้ายส่วนบุคคลได้ รถผีรถเถื่อนจะเกลื่อนเมือง หรือ ถ้ายอมยกเลิก GPS ยอมเพิ่มความเร็ว เชื่อเลยว่าอุบัติเหตุที่รุนแรงจะกลับมา การบังคับใช้กฎหมายจะล่มสลาย คำถามคือ แล้วกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบไหวได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 คดีรถชน ผู้ตายมีแอลกอฮอล์ คนขับที่เป็นคู่กรณีต้องรับผิดไหม

        สวัสดีครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงและเริ่มหนาวกันแล้ว ต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีๆ  อย่าประมาทนะครับ เดี๋ยวจะป่วยเป็นภูมิแพ้  เมื่อพูดถึงเรื่องความประมาท ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ก็อยากหยิบยกเรื่องราวน่าสนใจของคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนมาเล่าสู่กันฟัง หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถชนก็มักพบว่า สาเหตุมาจากคนขับที่ไม่ได้ระมัดระวังให้ดี  ซึ่งในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อด้วยความเร็ว ระหว่างที่ขับตามหลังรถกระบะคันหนึ่ง อยู่ดีๆ รถกระบะคันดังกล่าวก็หยุด เพราะมีรถอีกคันออกมาจากปั๊มน้ำมัน ทำให้จำเลยที่ขับรถสิบล้อหักรถไปทางขวาไปชนกับรถผู้ตาย ต่อมาก็พบว่าผู้ตายมีแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยจึงอ้างว่าผู้ตายก็มีส่วนประมาทด้วย  ซึ่งต่อมาศาลฏีกาก็ได้ตัดสินว่าแม้ผู้ตายจะมีแอลกอฮอล์ แต่เมื่อจำเลยขับรถประมาท จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550         จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะ ซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้          จากคดีนี้ นอกจากเรื่องแอลกอฮอลล์แล้ว เราจะเห็นได้ว่าศาลฏีกาก็มองว่า เมื่อผู้ตายไม่ได้มีส่วนประมาทกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ         อีกประเด็นที่อยากฝากไว้คือ กรณีที่เมาแล้วขับกับขับรถประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวางหลักไว้ว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อตัดสินลงโทษ ต้องใช้บทลงโทษที่หนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 “มาตรา 291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550         การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด         สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงทุกท่านที่จะใช้รถใช้ถนน ขอให้มีความระมัดระวัง เอื้อเฟื้อต่อกัน บางเรื่องหากเราไม่ใชอารมณ์ เคารพกฎหมาย ถ้อยทีถ้อยอาศัย คดีความก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ‘ค่ารถไฟฟ้าแพง’ เรื่องเล่าจากพนักงานออฟฟิศสู่ระบบขนส่งมวลชนที่รอวันปฏิรูป

                ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทตั้งแต่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงสถานีเคหะฯ คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 118 บาท         ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่จนถึงสถานีหลักสอง คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 140 บาท         เมื่อคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ 331 บาทซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 หมายความว่าค่าเดินทางของคุณจะเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของค่าแรงต่อวัน         แน่นอน นี่เป็นอัตราส่วนที่สูงมากจนน่าตกใจ         ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ดังกึกก้องมากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คำถามนี้ยังคงดังอยู่และเป็นไปได้ว่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น วันที่เครือข่ายรถไฟฟ้าทุกสายเปิดให้บริการ ค่าโดยสารจากสถานีปลายทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่งจะสูงขึ้นถึงเพียงไหน         ระบบขนส่งมวลชนจะกลายเป็นระบบของคนจำนวนหนึ่งที่มีกำลังซื้อมากพอเท่านั้นหรือเปล่า? ว่าด้วยการเดินทางของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง         เรามาสำรวจการเดินทางมาทำงานของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง วิภาพร ฟักอินทร์ ว่าจากบ้านถึงที่ทำงานและจากที่ทำงานถึงบ้าน เธอต้องไปจ่ายไปเท่าไหร่         วิภาพร เล่าว่า เธอนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีเคหะถึงสถานีสำโรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการคิดค่ารถในส่วนนี้ แต่จากสถานีสำโรงมาสถานีอ่อนนุชเธอต้องจ่ายเงินสดซื้อบัตรโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัตร 25 เที่ยวต่อเดือน ราคา 725 บาทที่เธอใช้อยู่ เมื่อตีเป็นตัวเงิน การเดินทางจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีอโศกจึงเท่ากับ 29 บาทต่อเที่ยว หมายความว่าค่าโดยสารจากสถานีเคหะถึงสถานีอโศกเท่ากับ 44 บาท         ที่ทำงานของวิภาพรอยู่ห้วยขวาง เธอต้องนั่งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีจากสถานีสุขุมวิทมาลงสถานีห้วยขวางอีก 23 บาท เธอบอกว่าบัตรเติมเงินของเอ็มอาร์ทีไม่มีการลดค่าโดยสาร คิดเต็มราคา เฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินของเธอต่อเที่ยวเท่ากับ 67 บาท เมื่อรวมไปและกลับเท่ากับ 134 บาท         แต่ไม่ใช่แค่นั้น วิภาพรแจงรายละเอียดอีกว่า เธอต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากหน้าโรงเรียนของลูกไปรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 บาท และขากลับจากรถไฟฟ้าบีทีเอสกลับบ้านอีก 40 บาท รวมส่วนนี้เข้าไปด้วย ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานของเธอจะเท่ากับ 184 บาทต่อวัน         ตีคร่าวๆ ว่า 1 เดือน มี 30 วัน หักวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ออก 8 วัน เหลือวันทำงาน 22 วัน วิภาพรจะมีค่าเดินทางต่อเดือน 4,048 บาท เมื่อถามว่าคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือน เธอตอบว่าประมาณร้อยละ 13 ดูตัวเลขนี้อาจให้ความรู้สึกว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่เธอบอกว่าในอดีตที่เธอยังเงินเดือนไม่มากนัก เธอก็ต้องจ่ายค่าเดินทาง 4,048 บาทเช่นกัน เธอบอกว่าจ่ายได้เพื่อแลกกับเวลาในการเดินทาง แต่         “เราว่ามันแพงไปและไม่สะดวกในเรื่องที่คิดอัตราค่าโดยสารแบบเที่ยวแล้วยังมาตัดเงินสดอีก เทียบกับค่ารถเมล์มันแพงมาก สำหรับเราค่าโดยสารพอจ่ายได้ แต่ควรทำให้มันไม่เสียบ่อยและมาบ่อยๆ ไม่ใช่อัดแน่นมากช่วงเร่งด่วน         “แล้วบัตรเดียวควรใช้ได้ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพราะเราชอบหยิบบัตรผิด แต่เอ็มอาร์ทีไม่มีส่วนลดนะ ไม่มีแบบเที่ยว ตัดเงินอย่างเดียว อยากให้จัดการให้ระบบมันลิงค์กัน ควบคุมราคาค่าโดยสารโดยให้คนที่ฐานเงินเดือนแบบจบใหม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น และควบคุมคุณภาพ แต่ถ้าถูกได้กว่านี้เราก็ชอบ”        วิภาพรบอกว่า ปัจจุบันเธอไม่ขึ้นรถเมล์แล้วเพราะรถติด แต่ถ้ามีทางเฉพาะให้รถเมล์วิ่งและปรับปรุงคุณภาพรถเมล์ เธอก็เห็นว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ค่าโดยสารรถไฟแพง หรือค่าแรงเราต่ำ หรือทั้งสองอย่าง?         คราวนี้ ลองเปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้ากับค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 300 บาทกับประเทศอื่นๆ ที่ทีดีอาร์ไอทำออกมาจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น บอกก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำในที่นี้ถูกคิดเป็น ‘ชั่วโมง’ ไม่ใช่ ‘รายวัน’        ค่าแรงขั้นต่ำของไทย 37.50 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 16-70 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 221 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 37-96 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของสิงคโปร์ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 17-60 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 91 บาทตลอดสาย        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 279 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 39-913 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 331 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 119-253 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 370 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 71 บาทตลอดสาย         ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลีย 457 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 85-256 บาท         จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงถือว่าสูงมาก         และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังพบว่า เมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ ค่ารถไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่สิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว เรียกว่าของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ถึงร้อยละ 50 ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ ค่าโดยสารระบบรางของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งยังมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด ของไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาททำไมค่าโดยสารรถไฟฟ้าถึงแพง                 น่าจะเป็นคำถามคาใจที่สุดของใครหลายๆ คน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากทีดีอาร์ไอ คือผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด         ดร.สุเมธอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากเรื่องรูปแบบของการลงทุน เนื่องจากรัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจึงต้องอาศัยเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รถไฟฟ้าสายแรกของบีทีเอสเป็นรูปแบบที่รัฐให้ใช้ที่ดินฟรีเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดเอกชนเป็นผู้ลงทุน ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและสามารถคืนทุนได้         “พอเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าต่อๆ มา รัฐก็เริ่มเห็นข้อจำกัดว่าถ้าปล่อยให้เอกชนลงทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยที่รัฐช่วยเหลือน้อย ค่าโดยสารก็คงถีบตัวสูงกว่านี้หรืออาจจะไม่มีเอกชนมาร่วมลงทุนเลย รัฐก็เลยมีการเปิดรูปแบบอื่นๆ ในเส้นทางอื่นๆ เช่น รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เอกชนมาเดินรถ แต่ทีนี้จะเริ่มเห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงรัฐก็ยังมีความจำเป็นให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานและร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ เมื่อร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ ทำให้อัตราค่าโดยสารต้องสะท้อนต้นทุนก็เลยมีอัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง”        ขณะที่รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไป ดร.สุเมธยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เริ่มสร้างรถไฟฟ้าก่อนไทยเพียงไม่กี่ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานเดินรถเพียงอย่างเดียว วิธีการนี้ทำให้ภาครัฐของสิงคโปร์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ก็สะท้อนออกมาในค่าโดยสารที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเอกชนของสิงคโปร์ที่เข้ามาเดินรถไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเพียงแค่เดินรถ จ่ายค่าดำเนินงาน ค่าบุคลากร ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา และคิดค่าโดยสารเฉพาะส่วนที่เป็นการเดินรถ จะเห็นได้ว่าการกำหนดรูปแบบการลงทุนและการสนับสนุนจากรัฐจะส่งผลต่อค่าโดยสารอย่างมีนัยสำคัญ         ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมืองอย่างการจัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น กรุงลอนดอนหรือสิงคโปร์ต่างก็ใช้มาตรการนี้ ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่างในลอนดอนพบว่ามีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50  ความซับซ้อนของผู้โดยสาร ต้นทุน และสัญญาสัมปทาน         ดร.สุเมธอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าในหลายกรณียิ่งปริมาณผู้โดยสารมาก อัตราค่าโดยสารอาจจะต่ำลงได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ผู้โดยสารครึ่งคันกับเต็มคันไม่ได้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นมากนัก เพราะฉะนั้นยิ่งจำนวนผู้โดยสารมากเท่าไหร่ต้นทุนเฉลี่ยต่อคนยิ่งต่ำลงเท่านั้น ในวงวิชาการจึงมีการถกเถียงกันในระดับหนึ่งว่า ค่าโดยสารถูกแล้วทำให้จำนวนผู้โดยสารมากหรือจำนวนผู้โดยสารมากทำให้ค่าโดยสารถูก         ทางฉลาดซื้อถามต่อว่า ในกรณีบีทีเอสถือว่ามีจำนวนผู้โดยสารมากหรือยัง?        “บีทีเอสถือว่าผู้โดยสารเยอะแล้ว แต่ capacity ของระบบยังเพิ่มได้อีก คือปกติ capacity มันอยู่ที่จำนวนขบวนต่อคันกับความถี่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณคนที่สามารถบรรทุกได้ ณ ปัจจุบัน บีทีเอสวิ่งอยู่ที่ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน แต่ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบไว้สามารถรองรับได้ถึง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน เพราะฉะนั้นการเพิ่มตู้เป็น 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนจะเพิ่ม capacity ของระบบได้         “ประเด็นที่ 2 คือถ้าต้องการวิ่งถี่ ตอนนี้ที่เขาทำได้คือ 2 นาทีหรือ 1 นาทีกว่าๆ ยิ่งวิ่งถี่ก็ยิ่งขนคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้บีทีเอสน่าจะเข้าใกล้จุดที่ถี่มากที่สุดแล้ว ถี่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นทางเลือกก็น่าจะเป็นการขยายขบวน ซึ่งทางบีทีเอสก็มีการดำเนินการมาอยู่เป็นระยะๆ เช่น เริ่มต้นเป็น 3 ตู้ต่อ 1 หนึ่งขบวน แต่ห้าถึงสิบปีที่แล้วขบวนใหม่ที่สั่งเข้ามาเปลี่ยนเป็น 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน และอีกเจ็ดแปดปีจากนี้ที่มีส่วนต่อขยายแล้ว เขาก็จะสั่ง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนเข้ามาเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น”         แต่เมื่อผู้โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นแล้วเหตุใดค่าโดยสารจึงยังสูงอยู่ ดร.สุเมธตอบว่าการเพิ่มขึ้นของความจุจะส่งผลต่อต้นทุนด้วย วิ่งถี่ขึ้น ค่าซ่อมบำรุงอาจจะขึ้นบ้างแต่ไม่ได้มาก ถ้าวิ่งถี่ขึ้นและรับผู้โดยสารได้เต็มที่ต้นทุนต่อคนก็อาจจะถูกลง แต่พอคนมากขึ้นต้องเพิ่มตู้ เพิ่มขบวน ตรงนี้จะเริ่มมีการลงทุน คำถามต่อมาคือถ้าลงทุนซื้อตู้ ณ วันนี้ สัญญาสัมปทานของบีทีเอสเหลือเพียง 10 ปี อีกทั้งสัญญาสัมปทานระบุชัดเจนว่าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นการซื้อตู้ในช่วงนี้ เพิ่มผู้โดยสารได้ แต่ใช้ได้แค่ 10 ปี ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุน จึงไม่มีแรงจูงใจให้เอกชนขยาย capacity เมื่อภาครัฐขยับตัว         ภายหลังที่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอออกมา ทางกรมขนส่งทางรางก็ได้เตรียมเสนอ 7 มาตรการให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่ (ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งรัฐบาล) พิจารณา ประกอบด้วยเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost (PPP gross cost หมายความว่ารัฐเป็นผู้จ้างเอกชนเดินรถ โดยรัฐจะแบกภาระความเสี่ยงไว้เองด้วยการนำรายได้จากเส้นทางที่มีกำไรมาชดเชยให้กับเส้นที่ขาดทุน) กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคมทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า         อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวกับสื่อว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. มีมติลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีม่วงจาก 12-42 บาท เป็น 14-20 บาท หรือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในทุกช่วงเวลา รวมระยะเวลาลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน คาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจากการโดยสารรถไฟฟ้าเป็นมูลค่า 38.7 ล้านบาทต่อเดือน         ดร.สุเมธ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือรายได้เฉลี่ยของคนในเมืองค่อนข้างต่ำ ถ้าค่าโดยสารราคาสูงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงตลาดงาน เมื่อทำการแบ่งแต่ละกลุ่มรายได้แล้วดูค่าเฉลี่ยพบกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกลุ่มที่ 1 2 3 และ 4 จากข้างล่าง ค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อวันจะอยู่ไม่เกิน 40-50 บาท เมื่อเทียบต่อวันต่อเที่ยว คนกลุ่มนี้จะเดินทางต่อเที่ยวได้ไม่เกิน 25 หรือ 28 บาท ซึ่งหมายถึงขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถขึ้นสุดสาย 40 กว่าบาทได้         “ถ้าต่อไปรถไฟฟ้าที่ต่อหลายสายขึ้นเป็นประมาณ 70-100 บาท ถ้าคุณต่อหลายสาย คนกลุ่มรายได้นี้อาจจะไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวัน นั่นหมายถึงว่าเขาอาจไม่มีงานประจำที่อยู่ในเมืองหรือมีการเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมืองด้วยรถไฟฟ้าได้ แล้วเขาอาจต้องหารูปแบบการเดินทางแบบอื่นที่มีความสะดวกสบายน้อยกว่า” ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ต้องมองทั้งระบบ         ในส่วนมาตรการ 7 ข้อข้างต้น ดร.สุเมธ เห็นว่าน่าจะช่วยลดค่าเดินทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สุด ถามว่าถ้าต้องทำให้สุดควรเป็นอย่างไร?         “ถ้าเอาแนวของสิงคโปร์ มีจังหวะหนึ่งเขาซื้อคืนรถไฟฟ้ากลับมาหมดเลย เขาคล้ายๆ ของไทยในช่วงแรกคือให้เอกชนลงทุน แล้วก็มีสินทรัพย์ มีโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเดินรถ มีจุดหนึ่งที่เขาไหวตัวทัน เป็นจุดที่รถไฟฟ้ายังไม่เยอะสายมาก เขาซื้อคืนกลับมาหมดเลยให้เป็นของรัฐ แต่มันต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งเราคงไม่สามารถทำได้”         สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งต้องไม่ดึงออกจากสมการคือรถเมล์         “ถ้าเราส่งเสริมรถเมล์ได้ อย่างสิงคโปร์ที่ค่อนข้างชัดที่ทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้ามีค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกัน และอาจจะสร้างแรงจูงใจในการใช้ขนส่งมวลชน เช่น คุณใช้รถเมล์แล้วมาต่อรถไฟฟ้าคุณจะได้ส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งของเราคงไปถึงจุดนั้นยาก เพราะรถเมล์เรายังไม่พัฒนา แต่หวังว่าอีกสองสามปีข้างหน้า รถเมล์เริ่มปฏิรูปแล้ว มีสายใหม่ มีเอกชนเข้ามา แล้วก็จะมีเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงกันเองได้ หมายถึงเอกชนที่เดินรถเมล์กับเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง แล้วก็จะเริ่มทำตั๋วเชื่อมกันได้และอาจมีส่วนลดที่ช่วยกระตุ้น รถเมล์ก็จะเปลี่ยนเป็น feeder ในอนาคต น่าจะออกไปในแนวนั้นได้”         หากจะสรุปก็คงได้ประมาณว่า ใช่, ค่ารถไฟฟ้าของไทยแพงและต้องแก้ไข แต่เราจะมองแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนไปพร้อมๆ กัน หมายเหตุ ทางนิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบีทีเอสเพื่อรับฟังข้อมูล แต่ทางผู้บริหารบีทีเอสไม่สามารถจัดเวลาให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 225 รถตู้ใหม่ยังต้องวัดใจคมนาคม

        ผลงานของรัฐมนตรีสายล่อฟ้าภายใต้รัฐบาลลุงชุดนี้ คงไม่มีใครโดดเด่นเท่าภูมิใจไทยของเสี่ยหนูอนุทิน ที่สร้างกระแสติดตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่เสนอเปิดผับได้ถึงตี 4 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จนถูกกระแสตีกลับถอยไม่เป็นท่า ตามด้วยศึกแบนพาราควอตของคนทั้งชาติ ที่กว่าจะลงตัวได้เจ้ากระทรวงก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย และสุดท้ายที่แรงดีไม่มีตกกับอภิมหาโปรเจ็คของเจ้ากระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ         เรียกได้ว่าหลายนโยบายของคมนาคม หมายมั่นว่าทุกฝ่ายจะเดินไปด้วยและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นไม่ว่ากลุ่มไหนสายใดจะยื่นข้อเสนอมา ท่าทีของคมนาคมจะรับไว้หมด หากอันไหนเป็นข้อขัดแย้งก็จะส่งเรื่องให้ ขบ.หรือกรมการขนส่งทางบกไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างน้อยก็ยื้อเวลาให้กับทุกฝ่ายได้สักระยะ ก่อนจะมีข้อสรุปว่าจะเอายังไงกันต่อ         อันที่จริงจะแตะไปตรงไหนของคมนาคมก็มีแต่ผู้ประกอบการขนส่งเดือดร้อน รถเมล์ขอขึ้นราคาบอกขาดทุนเงินไม่มีหมุนเวียน แท็กซี่ไม่น้อยหน้าขอขึ้นราคาด้วยบอกหลายสิบปีแล้วราคาเดิมตลอด รถตู้ครบสิบปีแต่ขอไม่บังคับเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส แถมขอขยายอายุรถกับยกเลิก GPS ด้วย ส่วนพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจับมือแท็กซี่ต้านรถแกร๊บอ้างเดือดร้อนถูกแย่งทำมาหากิน ยังไม่รวมราคารถไฟฟ้าที่พุ่งปรี๊ดจนคนรายได้น้อยเรทค่าแรงขั้นต่ำคงใช้ไม่ได้ ดูแล้วมีแต่ผู้ประกอบการเรียกร้องทั้งนั้น และหลายเรื่องก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ แต่เสียงสะท้อนของคนใช้บริการจริงๆ ดูจะไปไม่ถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ         ยกตัวอย่าง เรื่องที่กลุ่มรถตู้โดยสารออกมาเรียกร้องขอไม่เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสจะขอวิ่งต่อทั้งที่ครบสิบปีตามเงื่อนไขเดิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงและผลักดันกันมาตลอดว่ารถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับขนส่งคนโดยสาร หลายเหตุการณ์ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารมาตลอด และเป็นกลุ่มรถโดยสารที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดอีกด้วย         จนกระทั่งเหตุการณ์  2 มกราคม 2560 ที่มีผู้เสียชีวิตในครั้งเดียวมากถึง 25 คน กรณีรถตู้โดยสารพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จากครั้งนั้นนำมาสู่การกำหนดมาตรการความปลอดภัยกับรถโดยสารสาธารณะ และรวมถึงรถตู้โดยสารที่ถูกจัดระเบียบความปลอดภัยด้วย        นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 5/2560 ได้มีมติห้ามเพิ่มจำนวนรถตู้โดยสารในเส้นทางรถโดยสารประจำทางทุกหมวดตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2560 และกำหนดมาตรการอายุรถสิบปีในการเปลี่ยนรถแทนรถตู้โดยสาร         และเป็นนโยบายต่อเนื่องจนถึงการประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 7/2560  เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ยืนยันมติห้ามเพิ่มจำนวนรถตู้โดยสารประจำทางทุกหมวดตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2560 และในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 ในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคให้ขยายเวลาการนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสารประจำทางคันเดิมได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562(รวมถึงรถตู้ในเส้นทางหมวด 2 หมวด 3 ที่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทางด้วย)         เรียกได้ว่านโยบายเอารถตู้โดยสารประจำทางออกจากระบบเริ่มเห็นชัดเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ประกอบการรถตู้โดยสารหลายรายเริ่มทยอยเปลี่ยนไปบ้างแล้ว และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนด 30 กันยายน 2562         แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่ากลางกระทรวงคมนาคม หลังกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารเข้าพบเจ้ากระทรวง กระแสปล่อยรถตู้โดยสารสิบปีให้วิ่งรับส่งคนโดยสารต่อได้ก็ว่อนไปทั่วทุกทิศทาง แต่ก็ยังแทงกั๊กให้ไม่หมดตามที่ขอ ยังยืนยันไม่ยกเลิกจีพีเอส ยอมให้รถตู้สิบปีเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสแบบสมัครใจ และให้ ขบ.หาข้อสรุปรถตู้ขอขยายอายุอีกด้วย         แนวทางตามประกาศของเจ้ากระทรวง ยังมีผลต่อมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562  ที่อนุญาตให้รถตู้โดยสารหมวด 1 และหมวด 4 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ให้สามารถวิ่งในกรุงเทพและปริมณฑล โดยขยายเวลาอีก 180 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากรถตู้โดยสารคันใดครบอายุการใช้งานสามารถเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสหรือจะเปลี่ยนรถตู้โดยสารใหม่ได้ตามความสมัครใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีมติให้ยุติการใช้รถตู้โดยสารในการขนส่งสาธารณะประจำทาง         มติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยอมรับให้มีรถโดยสารที่ไม่ปลอดภัย(รถตู้โดยสาร) ในการให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่จะต้องจัดให้มีรถโดยสารที่ปลอดภัยให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ซึ่งกระทบต่อสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         เท่ากับว่าตอนนี้สำหรับเรื่องรถตู้โดยสาร คงต้องรอดูว่าผลการศึกษาที่คมนาคมสั่ง ขบ.ไปนั้นจะมีผลอย่างไร คงต้องวัดใจคมนาคมกันว่าจะเลือกเอาใจกลุ่มรถตู้ หรือจะเลือกความปลอดภัยของประชาชน… กุมภาพันธ์ 2563 นี้ได้รู้กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถ

        เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากประกันภัยรถยนต์ บางทีต้องรอให้ปัญหาปะทุและผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบอยู่นาน กว่าที่จะได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งผู้บริโภคเองต้องอย่าเพิกเฉย แม้บางครั้งการร้องเรียนอาจจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การร้องทุกข์หนึ่งครั้ง เชื่อเถอะว่า สามารถได้ผลกว่าการบ่นพันครั้งแน่นอน        ขณะคุณปิยบุตรกำลังชะลอรถยนต์ของตนเพื่อหยุดตรงไฟแดงเมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเหลือง แต่รถกระบะซึ่งตามมากลับชนรถยนต์ของคุณปิยบุตรเพราะไม่อยากจะหยุดรถที่สี่แยก โชคดีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะที่รถยนต์ คุณปิยบุตรปลอดภัย แต่ก็ต้องปวดหัวเพราะต้องวุ่นวายกับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายหนัก        แม้ทางคู่กรณีคือรถกระบะ ยอมรับผิดและมีประกันภาคสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้แจ้งรายละเอียดของอู่ต่างๆ เพื่อให้คุณปิยบุตรนำรถยนต์ไปซ่อมแซม (กรณีนี้คุณปิยบุตรต้องพึ่งอู่ที่ทางตัวแทนประกันภัยเสนอ เนื่องจากรถยนต์ของตนเองไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจมีเพียง ประกันตาม พ.ร.บ.เท่านั้น) แต่พอไปตามอู่ต่างๆ ที่ตัวแทนประกันภัยระบุ กลับถูกปฎิเสธจากหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ จึงมีอู่หนึ่งรับซ่อมแซมให้ซึ่งใช้เวลาในการซ่อมแซม 8 วัน คุณปิยบุตรจึงนำรถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ        ทางตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้จ่ายค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ให้กับคุณปิยบุตรเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ซึ่งจ่ายตามระยะเวลาที่รถยนต์อยู่ในการซ่อมแซมของอู่บริการ ทำให้คุณปิยบุตรสงสัยว่า แล้วระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ตนไม่ได้ใช้รถยนต์เพราะไม่มีอู่ไหนรับซ่อมแซมให้ ทำไมตนถึงไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงเวลานั้น แนวทางแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณปิยบุตรถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของคณะอนุกรรมการ คอบช. และได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งต่อมา ทางคปภ.ได้ปรับปรุงเรื่อง ความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัยและอยู่ระหว่างนำรถยนต์เข้าซ่อมแซม ดังนี้        รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท        รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท         รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท         “หากฝ่าฝืน มีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่า บริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”         ที่มา คปภ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กระแสต่างแดน

เรื่องเที่ยวเฟี๊ยวกว่า        สินค้ายอดนิยมชนิดใหม่ที่ชาวจีนนิยมสั่งซื้อออนไลน์ใน “วันคนโสด” คือ “ประสบการณ์กิน/เที่ยว” ที่มียอดเติบโตถึงร้อยละ 60 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ในขณะที่สินค้าหรูหราอย่างไวน์ หรือนมผงไฮเอนด์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า เติบโตร้อยละ 50)         ข่าวระบุว่าสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ขายดีที่สุดในวันนี้ สามอันดับแรกได้แก่ ตั๋วเครื่องบิน เวาเชอร์โรงแรมหรูพร้อมคูปองบุฟเฟต์ และบัตรเข้าสวนสนุก         เว็บฟลิกกี้ในเครือของอาลีบาบารายงานว่ามีผู้คลิกซื้อทัวร์ต่างประเทศถึง 5 ล้านราย (ปลายทางยอดนิยมสามอันดับแรกของชาวจีนได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) ซื้อบริการรับทำวีซ่า 900,000 ราย และจองห้องพักไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านห้อง           ปีนี้มีผู้บริโภคหน้าใหม่ที่เข้ามาช้อปในวัน 11.11 มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 30 และขาช้อปออนไลน์จาก เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และปักกิ่ง (ตามลำดับ) คือกลุ่มที่มีสถิติช้อปสูงสุดเข้าขั้นวิกฤต        นอกจากปัญหา “โลกร้อน” แล้ว มนุษย์ยังกำลังเผชิญกับ “มลภาวะจากยาปฏิชีวนะ” ที่องค์การสหประชาชาติประเมินว่าจะเป็นสาเหตุการตายของผู้คนถึง 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2050         นักวิจัยพบว่าสองในสามของตัวอย่างน้ำ 711 ตัวอย่างจากแม่น้ำใน 72 ประเทศจาก 6 ทวีป มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในระดับที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีประชากรมีฐานะยากจน         ทวีปที่มีการปนเปื้อนรุนแรงที่สุดคืออัฟริกา ตามด้วยเอเชีย (บังคลาเทศที่มีการปนเปื้อนของเมโทรนิดาโซลเกินระดับที่ปลอดภัยถึง 300 เท่า) อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ตามลำดับ         โดยรวมแล้วไม่มีที่ไหนปลอดภัย แม้แต่แม่น้ำเทมส์ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่สะอาดที่สุดก็ยังปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะถึง 5 ชนิด ในขณะที่แม่น้ำดานูบได้ตำแหน่งแม่น้ำที่ปนเปื้อนมากที่สุดในยุโรปไปครอง          ยาเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำผ่านทางขยะ ของเสียของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการรั่วไหลจากโรงบำบัดน้ำเสียหรือจากโรงงานผลิตยานั่นเองผู้หญิงจ่ายแพง        ในที่สุดอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่เก็บภาษีผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยสตรีสูงเป็นอันดับ 6 ของยุโรป ก็ประกาศลดภาษีผ้าอนามัยเหลือร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป         การรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลตีความว่าผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยนั้นมีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะผลักดันได้สำเร็จ อิตาลีกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไว้ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเช่น ไวน์ บุหรี่ อยู่ที่ร้อยละ 22         ปีที่แล้วรัฐบาลอิตาลีประกาศลดภาษีเห็ดทรัฟเฟิล แต่กลับคงภาษีผ้าอนามัยไว้ที่ร้อยละ 22 ทำเอาหลายฝ่ายงุนงงว่าการมีประจำเดือนมันฟุ่มเฟือยกว่าการซื้อเห็ดกิโลกรัมละเป็นแสนเป็นล้านได้อย่างไร         ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเรียกเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราต่ำ อังกฤษเก็บที่ร้อยละ 5 ในขณะที่ไอร์แลนด์ไม่เรียกเก็บเลย เช่นเดียวกับใน 12 มลรัฐในอเมริกา    อย่าทิ้งหนู        ในช่วงที่ผ่านมามีเด็กหลายรายเสียชีวิตเพราะถูกผู้ปกครองลืมทิ้งไว้ในรถ อิตาลีจึงออกกฎหมายกำหนดให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยต่ำกว่า 4 ขวบ จัดหาคาร์ซีทหรือที่นั่งสำหรับเด็ก ชนิดที่มีสัญญาณเตือนไปยังผู้ขับขี่หากยังมีเด็กนั่งอยู่ในรถ หรือซื้อสัญญาณเตือนมาติดคาร์ซีทที่มีอยู่แล้วก็ได้         ที่นั่งแบบ “ป้องกันการถูกทิ้ง” มีราคาตั้งแต่ 50 ถึง 100 ยูโร (ประมาณ 1,700 – 3,400 บาท) เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐบาลจึงประกาศให้เงินสนับสนุน 30 ยูโรต่อที่นั่ง         รายงานข่าวบอกว่างบประมาณที่เตรียมไว้สามารถช่วยได้แค่ 1 ใน 4 ของพ่อแม่ที่ต้องใช้คาร์ซีทเท่านั้นงานนี้เขาใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน ไม่เกี่ยงเรื่องรวยหรือจน         อิตาลีเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2019 ผู้ฝ่าฝืนต้องจ่ายค่าปรับ 326 ยูโร (ประมาณ 11,000 บาท) และเสียแต้มในใบขับขี่ 5 คะแนนนั่งแล้วหนาว        นอกจากจะต้องทนนั่งรถเมล์ที่ขับได้หวาดเสียวและฝ่าฝืนกฎจราจรตลอดเวลา ผู้โดยสารรถเมล์ในศรีลังกาต้องตื่นเต้นขึ้นอีกหลายระดับเมื่อมีคนออกมาเปิดโปงว่ากว่าครึ่งของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์เอกชน “ติดยาไอซ์”         ผู้คร่ำหวอดในวงการบอกว่านี่คือความผิดพลาดของระบบขนส่ง การไม่มีป้ายรถเมล์ที่ชัดเจน หรือตารางออกรถที่แน่นอน รวมถึงการจราจรที่ติดขัด ล้วนทำให้คนทำงานเกิดความเครียด จนต้องพึ่งยาเมื่อ “ติด” แล้ว ก็เริ่มทอนเงินผู้โดยสารไม่ครบ หรือเก็บค่าโดยสารเกินจริง เพื่อนำเงินส่วนเกินไปซื้อยาอาจดูเป็นการกล่าวหารุนแรง แต่แหล่งข่าวคือบรรดาเจ้าของกิจการรถเอกชนที่ทนพฤติกรรมลูกจ้างของตัวเองไม่ไหวจนต้องบอกผ่านใครสักคน          กระทรวงคมนาคมรับปากว่าจะส่งทีมไปตรวจการใช้ยาเสพติดให้บ่อยขึ้น หากพบว่ามีการใช้ยาขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็จะยึดใบอนุญาตทันที แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะปรับปรุงระบบโดยรวมอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ชวนวิ่ง...สร้างกองทุนเพื่อเหยื่อรถโดยสาร

        วันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่สนใจกิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ถามมาว่ากิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้ด้วย  แล้วทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น และเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน วันนี้เลยมาขอตอบให้ชัดกันไปเลยว่าทำไม!         สำหรับคำถามแรกที่ถามว่า กิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้  ?    ต้องบอกเลยว่างานนี้เป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี 3 เหตุผลสุดคุ้ม ที่ว่าทำไมต้องหยุดซิ่ง...แล้วมาวิ่งกันเถอะ         ประการที่หนึ่ง เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ เพราะประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึงวันละ 62 คนต่อวัน หรือทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2.5 คน ตัวเลขดูน้อยๆ แบบนี้ พวกเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่นัก เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่ตัวเราหรือคนใกล้ชิด ในความเป็นจริงหากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ความสูญเสียนั้นไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไป แต่หมายรวมถึงครอบครัวที่ต้องมาทนทุกข์กับการสูญเสียนี้ด้วย         ประการที่สอง เพื่อจัดตั้งกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รู้ไหมในแต่ละปีผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน แม้วันเวลาจะพาให้เรื่องราวของอุบัติเหตุจะผ่านพ้นไป แต่ความทุกข์ของคนที่บาดเจ็บและสูญเสียนั้นยังอยู่ การใช้ชีวิตหลังความสูญเสียต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้รัฐจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่การเข้าถึงสิทธิกองทุนกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิ ขณะที่สิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องการ คือ อยากให้มีกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้จริง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน           ประการที่สาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกายกับการเดิน-วิ่งที่เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและต้นทุนน้อยที่สุด ที่สำคัญถ้าทุกคนได้มาวิ่งที่สวนบางกะเจ้า ก็จะได้พบกับแหล่งโอโซนอากาศบริสุทธิ์ สถานที่ฟอกปอดที่เหมาะสำหรับการมาเดิน-วิ่ง พักผ่อนกันแบบชิลๆ และไม่ใช่จะได้เพียงสุขภาพที่ดีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ทุกคนยังได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนที่คงอยู่กับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอีกด้วย          สำหรับคำถามสองที่ถามว่า กิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น ?         เพราะวันที่ 17 พฤศจิกายนของปีนี้ จะตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ “วันเหยื่อโลก” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง        เพราะอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และคร่าชีวิตผู้คนจากความประมาทเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขที่น่าตกใจที่พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 คนต่อปี  หรือ 62 คนบนถนนทุกวัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เสียชีวิตต่อปีประมาณ 26,500 คน         จะเห็นได้ว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งเป้าหมายของ “วันเหยื่อโลก” คือวันที่คนทั้งโลกจะร่วมกันรำลึกอาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง         อย่างไรก็ดี ในวันเหยื่อโลกของทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่หลากหลายรูปแบบกันไป และวันเหยื่อโลกในปีนี้ที่จะมาครบบรรจบในวันที่ 17 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะเป็นครั้งแรกของการรวมพลังของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่อยากรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน         ด้วยการรณรงค์เดิน-วิ่ง หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ “Run for Road Traffic Victims” ที่มีเป้าหมายเพื่อการลดอุบัติเหตุหยุดไม่ให้เหยื่อรายใหม่ และรายได้จาการค่าสมัครสมทบจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวให้มีสิทธิ และโอกาสการเข้าถึงสังคมเหมือนเช่นคนปกติทั่วไป         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องเวรกรรมและเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ นอกจากนี้ทุกคนยังมีโอกาสเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าประมาทชะล่าใจ สักวันอาจจะเกิดกับตัวเราและคนรอบข้างก็ได้  ถึงเวลาแล้วล่ะที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดสิ่งนี้ด้วยกัน หยุดซิ่ง…แล้วมาวิ่งกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >