ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อยากไปเที่ยวด้วยรถเช่าต้องเท่าทันกลโกง

        ช่วงวันหยุดยาวอันแสนคิดถึง คุณชัยพรวางแผนเดินทางกับครอบครัวด้วยรถเช่า เขาเล็งจังหวัดแถบภาคอีสานไว้หลายพื้นที่ ตอนแรกก็คิดว่าอยากจะเช่ารถกับบริษัทใหญ่ที่มีสาขาทั่วไทย แต่ก็คิดว่า ราคาแรงอยู่เพราะมีประกันมีเงื่อนไขมาก ถ้าใช้บริการรถเช่าในพื้นที่น่าจะช่วยประหยัดลงไปได้อีกนิด จึงลองค้นหาจากกูเกิ้ล โดยพิมพ์คำว่า “รถเช่าจังหวัด XXX” ซึ่งมีข้อมูลให้เลือกมากพอสมควร เมื่อลองเปรียบเทียบราคาแล้วพบว่า มีบริษัทหนึ่งดูโอเคมาก รีวิวก็ดี จึงติดต่อไปทางไลน์ไอดี         หลังจากติดต่อและแจ้งว่าต้องการรถอะไร ไปวันไหน สอบถามราคา คุณชัยพร ก็วางเงินมัดจำ เงินประกันไป 5,000 บาท วันที่นัดรถมาส่ง รถก็มาตามที่นัดก็ได้เที่ยวกับครอบครัวสนุกสนาน เมื่อคืนรถแล้ว คุณชัยพรเผอิญเจองานด่วนเข้าพอดี ทำให้ลืมว่ายังไม่ได้รับเงินมัดจำคืน ปล่อยเวลาไปสองสามวัน จนมานึกได้และติดต่อกลับไป คราวนี้ยาว เพราะทางบริษัทฯ อ้างว่า รถมีสภาพเสียหายจากการใช้งานของลูกค้า ต้องยึดเงินมัดจำและเงินประกันไว้ก่อน คุณชัยพรไม่เข้าใจและไม่คิดว่า ตนเองทำอะไรให้รถเสียหายเพราะตอนคืนรถก็มีการถ่ายรูปดูสภาพรถกันแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทฯ ก็ไม่ได้แจ้งอะไร ตนจึงต่อรองและเจรจากับบริษัทฯ ไปอีกหลายครั้ง ซึ่งทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงไม่คืนเงิน “ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง” จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        มูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องเรียนติดตามทวงถามเงินค่ามัดจำคืนด้วยการทำจดหมายทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยเนื้อความต้องระบุให้ชัดเจนว่า เมื่อตอนบริษัทฯ รับรถคืนนั้นได้มีการตรวจสอบสภาพรถก่อนรับคืนแล้ว    อีกทั้งเมื่อบริษัทรับรถยนต์กลับไปแล้ว ก็ควรจะต้องคืนเงินภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกัน (ตามสัญญา)  ดังนั้นหากบริษัทฯ ยังบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงินให้ ผู้ร้องสามารถระบุลงไปในจดหมายขอคิดค่าปรับรายวัน  วันละ...........บาท     และหากบริษัทไม่คืนเงินตามจดหมายทวงถามให้ผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อให้เรียกผู้ประกอบการมาคืนเงิน โดยทางมูลนิธฯ จะช่วยติดตามให้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 “ราคารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าใด ทำไมคมนาคมเสนอ 36 บาทและทำไมสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ 25 บาท”

        ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บางส่วนยังตั้งคำถามกับราคา 25 บาทที่สภาองค์กรของผู้บริโภคนำเสนอว่าทำได้มั้ย มาจากอะไร         ราคาตั้งต้นของกระทรวงคมนาคมกำหนดค่าโดยสารที่ 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ลดราคาค่าโดยสารลงเหลือ 50% เฉลี่ยที่ 25 บาทโดยยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรถไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิมตามตัวเลขของกระทรวงคมนาคม พบว่ากทม. ยังมีรายได้ในปีพ.ศ. 26020 จำนวน 23,200 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการยืนยันจาข้อมูลของนักวิชาการว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของสายสีเขียวระหว่างปี2557-2562 อยู่ระหว่าง 10.10-16.30 บาท เท่านั้น หรือหากติดตามข้อมูลเรื่องนี้ก็จะพบว่า ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือพรรคการเมืองต่างๆ ยืนยันว่าราคา 20 บาทขึ้นไปเป็นราคาที่ทำได้จริง         แต่สิ่งที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหารถไฟฟ้าราคาแพงถึงคนรุ่นต่อไป คือโอกาสของประเทศในการจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบ ระบบตั๋วร่วมการยกเว้นค่าแรกเข้า การกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุด เพราะถึงแม้สายสีเขียวจะถูกลงแต่หากสัญญาสัมปทานไม่มีข้อกำหนดหรือกติกาเหล่านี้ ประชาชนก็ต้องจ่ายราคาแพงในการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี ซึ่งสัญญาสัมปทานสายสีเขียวที่นำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้เลย และหากจะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอนคต คงหลีกเลี่ยงค่าโง่ในการดำเนินการมิได้         การดำเนินการครั้งนี้จึงมีความสำคัญกับประชาชน ในการทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและการเชื่อมต่อกับจังหวัดรอบๆ ปริมณฑลเป็นจริงเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ฝุ่น PM 2.5และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน         ล่าสุดจากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงคมนาคมวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าสามารถใช้ราคา 36 บาทในการดำเนินการได้จากรายได้ที่กรุงเทพมหานครได้รับ         นอกจากนี้การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ได้ถูกตั้งคำถามปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ดำเนินการตามพรบ. ร่วมทุน และปัญหาค่าโดยสารราคาแพงที่เป็นภาระหนักของผู้บริโภคในอนาคตนานถึง 37 ปี ที่สูงถึง 65 บาท หรือ 39% ของรายได้ขั้นต่ำของ ประชาชน จะมีทางออกอย่างไร ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะยังชะลอการนำเข้าพิจารณาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา         ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งข้อเท็จจริงหรือรายได้ ราคาค่าโดยสารที่ขาดที่ไปที่มา ไม่ครบถ้วน ซึ่งราคาที่กำหนดยังได้รับการยืนยันว่า เป็นการเหมารวมระบบสัมปทานแบบทั้งการเดินรถและสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การโฆษณาตลอดระยะเวลา 37 ปี จึงมั่นใจว่า ราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาทที่นำเสนอจึงเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและหากจะรวมค่าโดยสารรถเมล์หรือบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกไม่เกิน 8 บาท รวม 33 บาทจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 252 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถ

ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าประวัติทางการเงินของผู้เช่าซื้อก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาพิจารณา หากประวัติไม่ดี บริษัทหรือสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินดีกว่าตน มาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ที่เห็นกันอยู่เสมอคือคนใกล้ชิดหรือใช้บุคคลในครอบครัวมาทำสัญญาเช่าซื้อ เช่น คนเป็นแฟนกัน หรือพี่น้องกัน ก็ ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะผู้เช่าซื้อในสัญญา ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อตัวจริง         ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้เช่าซื้อตัวจริงผิดนัดไม่จ่ายเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน  เช่นนี้เองผู้เช่าซื้อ (ตามสัญญา) จึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อ (ตัวจริง) โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง กลายเป็นปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่        เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดเรื่องราวจนฟ้องร้องกันถึงศาลฏีกา ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง เพราะมองว่าผู้เช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีเจตนาทุจริต  การกระทำจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลฏีกาพิพากษากลับให้ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยคือผู้เช่าซื้อผู้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตัวจริง เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทผู้จำหน่าย และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562                 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว         ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ภัยโควิดกับรถรับส่งนักเรียน

        การเข้ามาของโควิด-19 เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ   ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่เตรียมตัวตั้งรับอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ตั้งตัวรับไม่ทัน หลายธุรกิจต้องล้มพับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่อีกหลายธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างต้องกัดฟันสู้ต่อ ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตว่าสิ่งที่เคยรุ่งโรจน์จะกลับมาได้หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่แทบจะล่มสลายลงในช่วงเวลาเพียงสองปีที่โควิด-19 คืบคลานเข้ามา         ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกมิติต้องรีเซ็ตจัดระบบตัวเองใหม่เท่านั้น ระบบการศึกษาของชาติที่มีนักเรียนนับล้านคนอยู่ในระบบก็ได้รับผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่ากันด้วย อีกทั้งการไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สำหรับนักเรียนทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับการเรียนการสอนนักเรียนเป็นออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์หรือการไปโรงเรียนตามปกติ นัยนึงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อีกนัยนึงก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่รู้จะจัดการป้องกันให้ปลอดภัยได้อย่างไร         แม้การเรียนออนไลน์จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนของนักเรียน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ การมุ่งสนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะนักเรียนจำนวนมากยังมีความไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ          แน่นอนว่าคงจะมีนักเรียนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะเข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์ แต่ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม และเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้เด่นชัดมากขึ้น  โดยการตอกย้ำผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่กล้าให้ความมั่นใจในความปลอดภัยนักเรียนทั่วประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กและนักเรียน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนและกำหนดมาตรการให้วัคซีนกับนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม         เพราะอย่างไรก็ดีชีวิตการเรียนของนักเรียนก็คือ การได้พบปะเพื่อนฝูง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนธนาระหว่างกัน นี่คือชีวิตวัยเรียนที่มีคุณค่าที่มีข้อบ่งชี้ถึงการพัฒนาการของเด็กนักเรียนวัยนี้ มากกว่าการนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีตัวตน        เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเปิดเรียนสำหรับนักเรียนทุกคนแล้ว โดยยืนยันแล้วว่า 1 พ.ย. 2564 คือ วันเปิดภาคเรียนเทอมสองของโรงเรียนทั่วประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ห่วงว่า ถ้านักเรียนไปโรงเรียนแล้วจะโชคร้ายติดโควิด-19 หรือไม่ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกประกาศเพิ่มความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไว้วางใจดีขึ้นแม้แต่น้อย         เพราะการเปิดเทอมครั้งนี้ หมายถึง การเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ โดยที่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีพ่อแม่ไปส่งหรือไม่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปเอง นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะที่มีโอกาสต้องพบเจอเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นหรือบุคคลอื่นที่โดยสารมาในรถคันเดียวกัน โดยที่ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงหรือคลัสเตอร์ใหม่สำหรับการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ทุกเวลา และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ภายหลังเปิดเทอมสองได้ไม่นาน หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต่างก็พบว่ามีนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กันแล้ว เช่น โรงเรียนที่นครราชสีมา หรืออุบลราชธานีที่เกิดคลัสเตอร์รถรับส่งนักเรียน ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการควบคุมอีก 3 แห่ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนี้ เกิดจากนักเรียนหลายพื้นที่มาใช้รถรับส่งนักเรียนคันเดียวกัน ทำให้การระบาดแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามไปด้วย         สิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องที่อยากสะท้อนไปถึงกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบก ในฐานะสองหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับและจัดการความปลอดภัยของนักเรียนในทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นช่องว่างของปัญหาที่รอการแก้ไข เพราะการป้องกันที่ยากที่สุด คือ การป้องกันในที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตโรงเรียนนั่นเอง         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยความยินยอมร่วมมือของทุกฝ่าย (ถ้าขอความร่วมมือแล้วไม่ยอมก็ต้องมีมาตรการบังคับ) ทั้งโรงเรียน สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจ ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน  เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนของนักเรียนทุกคนจะต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่หลอกหลอนอยู่จนวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อรถยนต์มือสองชำรุดใครต้องรับผิดชอบ

        รถยนต์มือสอง ตัวเลือกที่หลายคนเลือก อาจเป็นเพราะราคาที่ถูกกว่ารถใหม่มาก เรียกว่าเป็นราคาที่เอื้อมถึง และหลายคนก็พบว่า หากเลือกได้ดีการมีหรือซื้อรถยนต์มือสองที่สภาพดีไว้ใช้งานก็คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ใช้ไปนานๆ แล้วเกิดปัญหาของสภาพเครื่องยนต์ขึ้นมา ค่าซ่อมอาจมากกว่าราคาที่ซื้อมาก็เป็นได้ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี เรามาดูกรณีของผู้บริโภคท่านนี้เผื่อจะได้ไว้เป็นข้อคิดเตือนใจ           คุณอำพนเป็นอีกคนที่เลือกซื้อ รถยนต์มาสด้ามือสอง จากเต็นท์ขายรถยนต์มือสองแห่งหนึ่งไว้ใช้งาน ซึ่งตอนไปเลือกซื้อรถ เขาเจอรถที่ถูกใจและรุ่นที่ต้องการอยู่พอดี จึงตกลงซื้อรถด้วยเงินสดในราคา 290,000 บาท เขาตรวจสอบสภาพตัวรถยนต์และเครื่องยนต์ระดับหนึ่งก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร สภาพดูดีพร้อมใช้งานเลยแหละว่างั้นเถอะ         แต่...เมื่อได้รับรถยนต์มาแล้วปัญหาที่คาดไม่ถึงก็ปรากฎ คุณอำพนนั้นเมื่อได้ใช้รถยนต์คันนี้ไปได้สักพัก เขาก็พบว่ารถคันนี้มีอาการผิดปกติ คือเมื่อเข้าเกียร์ว่างแต่รถกลับเคลื่อนที่ได้เองโดยเคลื่อนที่ถอยหลัง และเครื่องยนต์มีอาการสั่นรุนแรง  เขาเริ่มไม่แน่ใจกับสภาพรถยนต์มือสองคันนี้ว่าจะปลอดภัยต่อการใช้งานหรือไม่  จึงนำไปรถเข้าเช็คที่ศูนย์รถยนต์มาสด้า เบื้องต้นช่างระบุว่า ตัวหัวฉีดและกระบอกสูบของรถยนต์มีปัญหา ส่วนเกียร์ก็มีปัญหาแต่ต้องใช้เวลาเพื่อตรวจดูอย่างละเอียดอีกรอบหนึ่งก่อน         เมื่อรู้ถึงปัญหาความชำรุดบกพร่อง คุณอำพนรีบแจ้งไปยังเต็นท์รถทันทีเพราะมองว่าควรเป็นความรับผิดชอบของทางเต็นท์ ที่รถยนต์มีสภาพผิดปกติ แต่ทางเต็นท์ได้แจ้งว่า ไม่ขอรับผิดชอบในความชำรุดที่เกิดขึ้น เพราะรถยนต์คันดังกล่าวได้มีการขายเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อ้าว..ไหงงั้นล่ะ จะทำอย่างไรดี เมื่อคุณอำพนเจอคำปฏิเสธของเต็นท์รถมือสอง เขาจึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่ทำการซื้อขายรถยนต์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่ผู้ร้องได้พูดมานั้นเป็นความจริง เพราะถ้าไม่จริงก็ถือว่าแจ้งความเท็จซึ่งผู้ร้องจะต้องมีความผิดทางกฎหมาย        2. ทำจดหมายหรือหนังสือไปยังเต็นท์รถยนต์มือสองที่ผู้ร้องซื้อรถมา ให้รับผิดชอบกับความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โดยส่งจดหมายแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ        3. ถ้าเต็นท์ขายรถยนต์มือสองไม่ตอบรับหรือไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่เยียวยาแก้ไขปัญหาผู้ร้องสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยนำหลักฐานการตรวจสภาพรถ บันทึกประจำวัน จดหมายขอให้รับผิดชอบ มาใช้เป็นพยานในการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         เมื่อดำเนินการในข้อ 1 และ 2 แล้ว ทางมูลนิธิฯ จะช่วยผู้บริโภคในเรื่องการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติต่อไป ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ปัญหาโครงสร้างน้ำมัน ไม่ใช่รถบรรทุกหยุดวิ่ง

        โครงสร้างราคาน้ำมันที่ซับซ้อน หรือทำให้ซับซ้อน ถูกพูดถึงน้อยจากทุกฝ่าย เพราะหากติดตามการรณณงค์ของสมาพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจน ว่า ทางกลุ่มสมาพันธ์ ฯ ต้องการให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน และไม่ต้องการผลักภาระค่าน้ำมันให้กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าบริการของผู้บริโภค ตามที่ประธานสมาพันธ์ ฯ ยืนยันมาโดยตลอด        กลุ่มผู้บริโภคต้องขอบคุณและอยากให้ผู้บริโภค ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทุกส่วน ทั้งกิจการขนส่ง กิจการการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภค         หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมัน เห็นความไม่ถูกต้องจากหลายส่วน อาทิเช่น ราคาน้ำมันดิบตั้งต้นที่เป็นปัญหาต้นทาง ที่ใช้ราคาน้ำมันบวกค่าขนส่งเทียมหรือขนส่งทิพย์นำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่ไม่ได้มีการนำเข้าจากสิงคโปร์จริงซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาทำให้ราคาน้ำมันแพงไปอย่างน้อยอีก 1 บาท         มาพิจารณากันว่า 25 บาทที่องค์กรผู้บริโภคเสนอมาจากอะไร และรัฐบาลสามารถทำได้จริง            +ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามราคาตลาดโลก ราคา 18.45 บาท            +ค่าการตลาด ราคา 1.40 บาท            +ส่วนต่างกำไรที่เป็นเงินเหลืออีก (รายได้ของรัฐบาล) 5.15 บาท หากรวมต้นทุนเทียมเท่ากับรัฐบาลมีกำไรมากถึง 6.15 บาทจากต้นทุนเทียมขนส่งจากสิงคโปร์         โครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบี้ยวจากข้อมูลข้างต้น และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างภาระให้กับทุกส่วนยกเว้นบริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันและกิจการพลังงาน ซึ่งควรได้รับการแก้ไข ทางออกคงไม่ใช่จัดหาบริการขนส่ง แทนรถบรรทุก แต่ต้องการการออกแบบโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการของประชาชนทั้งระบบ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดการปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคสักที

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ไม่มีทรัพย์สินจะถูกบังคับคดีได้ไหม

        ภูผา เช่าซื้อรถยนต์ ราคา 265,000 บาท โดยต้องผ่อนชำระทั้งหมด 74 งวด งวลละ 7,400 บาท เขาชำระไปได้เพียง 36 งวด แต่ไปต่อไม่ไหว เพราะเขาตกงาน สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ต่อมาไฟแนนซ์ฟ้องคดีให้เขาชำระค่าส่วนต่าง เพราะรถที่ยึดไปขายทอดตลาดนั้นได้เงินมา 90,000 บาท ขาดไป 175,000 บาท ถึงจะเท่ากับราคาของรถยนต์ที่ได้เช่าซื้อมา         ภูผาได้ไปทำสัญญาประนอมหนี้กับไฟแนนซ์ที่ศาลว่าจะผ่อนกับไฟแนนซ์เป็นจำนวนเงิน 6,8000 บาท ทุกเดือน แต่ผ่อนได้แค่ 1 ปี ก็ผ่อนต่อไม่ไหวเพราะสถานการณ์โควิดทำให้แทบไม่มีรายได้เหลือพอผ่อนหนี้ ทางไฟแนนซ์เร่งให้เขาหาเงินมาจ่าย มิฉะนั้นจะทำเรื่องบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของเขาเสีย ภูผาคิดว่าตนเองก็ไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องค้างคาหรือมีปัญหาในอนาคต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอธิบายให้คุณภูผาฟังว่า เมื่อผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องเอง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์และเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ขึ้นไป ผู้ร้องไม่ต้องรู้สึกกดดันในเรื่องของการบังคับคดี เพราะถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์อย่างไรก็จะไม่พบ เนื่องจากผู้ร้องไม่มีทรัพย์สิน เมื่อไม่พบทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้อง เจ้าหนี้ก็ต้องแขวนหนี้ไว้ 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งภายใน 10 ปี ผู้ร้องไม่สามารถมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องได้ ถ้าผู้ร้องมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องและเจ้าหนี้ทราบ เจ้าหนี้จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดมาชำระหนี้ต่อไป         อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ร้องสามารถทำได้ ในช่วงเวลา 10 ปี ผู้ร้องต้องสะสมเงินเพื่อที่จะปิดบัญชี (หนี้) ในอนาคต โดยอาจปิดด้วยเงินก้อนเดียวและเจรจาต่อรองเพื่อขอลดยอดหนี้ลงมา แต่ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้ เมื่อใกล้ระยะเวลาในการบังคับคดีจะหมดลง  ผู้ร้องก็อาจจะต่อรองขอปิดบัญชีตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องสามารถจะปิดได้ในขณะนั้น ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้ก็จะรับไว้ เพราะถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ผู้ร้องเสนอให้ เมื่อครบระยะเวลาในการบังคับคดีเจ้าหนี้ก็อาจจะไม่ได้อะไรจากผู้ร้องเลย          และเมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีไปแล้วผู้ร้องก็สามารถมีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องได้ โดยที่เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้ เนื่องจากหมดระยะเวลาในการบังคับคดีแล้ว แต่หนี้ยังคงอยู่ไม่ได้หมดไปพร้อมกับระยะเวลาในการบังคับคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 #ถ้าการเมืองดี

        ในช่วงเวลาหนึ่งของปี 2563 มีแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า #ถ้าการเมืองดี เกิดเป็นกระแส ซึ่งเป็นเสมือนการแชร์ไอเดียกันว่าหากประเทศไทยการเมืองดี คุณภาพชีวิตและสังคมไทยจะเป็นอย่างไร         ทันทีที่แฮชแท็กนี้ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ชาวโซเชียลจำนวนมากช่วยกันดันจนแฮชแท็กนี้ติดอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ และกับเรื่องเด่นหลายเรื่อง เช่น การศึกษาที่เด็กควรได้เรียนอย่างอิสระไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายของคนยุคเก่า การรักษาพยาบาลควรดีกว่านี้คนจะได้ไม่ต้องมาเข้าคิวรอหมอนัดข้ามคืน รวมถึงถ้าการเมืองดีคนไทยจะได้ไม่ต้องทนใช้รถโดยสารเก่า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีฟุตบาททางเท้าได้มาตรฐาน เดินได้ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเป็นความเชื่อและความฝันของคนจำนวนมากที่คิดว่า ถ้ากรุงเทพมีระบบขนส่งสาธารณะดีบริการทั่วถึงเพียงพอ การจราจรบนท้องถนนเบาบางลง ผู้คนยอมจอดรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้านแล้วออกมาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างที่ในต่างประเทศนิยมใช้กัน ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ มลภาวะเป็นพิษทางอากาศจะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตคนเมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ ผู้คนจะมีความสุข ได้เดินบนฟุตบาทอย่างปลอดภัย ปั่นจักรยานโดยไม่ต้องกลัวรถมาชนท้าย นั่งรถเมล์ต่อรถไฟฟ้าไปทำงานแบบมีโปรโมชั่นส่วนลด ที่สำคัญจะไม่มีใครต้องมาเสียเวลารถติดเปลืองพลังงานอยู่บนถนนแบบไร้คุณค่าเหมือนทุกวันนี้         แล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจริงได้ไหม? เพราะปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สามารถทำให้ไร้รอยต่อได้จริง อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องเดินออกจากที่พักในระยะทางมากกว่า 1,000 เมตร เพื่อมาที่ป้ายรถเมล์ คุณภาพรถเมล์ยังสวนทางกับราคาค่าบริการ คนรายได้น้อยที่ต้องการใช้รถไฟฟ้ายังไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเพราะสู้ราคาไม่ไหว เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยนั้นติดอันดับแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพ          ในบรรดาของที่แพงขึ้นๆ นั้น ค่ารถไฟฟ้าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพราะขึ้นราคามาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน เมื่อผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศแจ้งยกเลิกตั๋วรายเดือน 30 วัน อ้างว่าเป็นโปรโมชั่นส่วนลดของบริษัทมานาน 15 ปีแล้ว และได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคมาแล้ว พบว่า พฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง การเดินทางที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จึงต้องยกเลิกโปรโมชั่นนี้        ฟังเหตุผลของบีทีเอสแล้วคงต้องซาบซึ้งใจในความห่วงใยที่มีต่อผู้โดยสาร แต่การอ้างถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ทุกชีวิตทุกระบบของระบบขนส่งสาธารณะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์กรุงเทพทำให้อัตราการใช้ขนส่งสาธารณะมีจำนวนน้อยลดลง แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อคดาวน์จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าก็เริ่มกลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น การอ้างพฤติกรรมของผู้โดยสารช่วงล็อคดาวน์จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ หรือการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะมีเหตุผลอื่นแฝงซ่อนอยู่….?         การยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วรายเดือนนี้ นอกจากไม่ได้ช่วยเหลือลูกค้าประจำของบีทีเอสเองแล้ว ยังเป็นการผลักให้มิตรกลายเป็นศัตรู ซ้ำเติมสร้างวิกฤตใหม่ ผลักภาระให้กับประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือ ลูกค้าประจำหรือคนที่เดินทางบ่อยเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าค่าโดยสารบีทีเอสเป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำวันอยู่แล้ว ที่สำคัญการยกเลิกตั๋วรายเดือนส่งผลโดยตรงให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น บางรายเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “บีทีเอสกำลังจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาลเพื่อต่อสัญญาสัมปทานใช่หรือไม่” เพราะที่ผ่านมาบีทีเอสได้พยายามออกมาทวงหนี้กรุงเทพมหานครที่ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน (ตามที่คุยกันไว้แล้ว) จนโด่งดังไปทั่วโลก และกดดันรัฐบาลให้เร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่ไปไหน         แม้ต่อมาผู้บริหารบีทีเอสจะออกมาปฏิเสธทันทีว่า การยกเลิกตั๋วรายเดือนไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกตั๋วรายเดือนมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานจริง และเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองใช่หรือไม่?  โดยมีข้อเท็จจริงที่กรุงเทพมหานครติดหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ จำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว และยอดหนี้ค่าจ้างก่อสร้างงานระบบอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาลแต่คาดหมายว่าจะต้องฟ้องต่อในอนาคต        ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยตัดสินใจถอนเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกจากวาระเพื่อพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขระเบียบมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามกระทรวงคมนาคมและสังคมได้ว่า เหตุใดจึงต้องยอมเสียเปรียบเอกชนต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสทั้งที่ยังเหลือเวลาอีก 8 ปี และทำไมต้องเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท รวมถึงรายละเอียดในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่มีผลกระทบต่อรัฐและประชาชนอย่างไร          ถ้าประเด็นคำถามข้อสงสัยต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ผลประโยชน์นับแสนล้านจากการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มหาดไทย คมนาคม ก็ยังไม่ควรต้องเร่งรีบพิจารณาอนุมัติ จากเรื่องขนส่งสาธารณะกลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ของนักการเมือง สรุปแล้วแบบนี้ประเทศไทยเราการเมืองดีแล้วหรือยัง ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 มหานครระบบราง ??

        ในตอนที่แล้ว เราจบเรื่องไว้ที่ว่า ทำไมการเพิ่มสัดส่วนคนใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑล ถึงเกี่ยวพันกับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทย เหตุผลที่ตอบได้ทันทีเลย คือ เพราะหากระบบขนส่งทางรางในระบบรถไฟฟ้าสามารถเปิดใช้บริการได้ทุกเส้นทางเต็มรูปแบบอย่างที่ภาครัฐคาดหวังไว้ ตัวเลขสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในภาพรวม (ที่ไม่ได้ระบุแยกประเภทของขนส่งสาธารณะ) ก็จะมีตัวเลขที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว และคาดหมายผลรวมถึงตัวชี้วัดตามแผนย่อยยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี จะสำเร็จได้ตามเป้าหมาย         เมื่ออ้างอิงจากปัจจุบัน กรุงเทพและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าทั้งบนดิน ใต้ดิน และลอยฟ้าเปิดให้บริการแล้ว 5 สาย คือ สายสีเขียว แบ่งเป็นเส้นสุขุมวิท (คูคต – เคหะสมุทรปราการ) และเส้นสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า) สายสีน้ำเงิน แบ่งเป็นสามช่วง (บางซื่อ – หัวลำโพง) (หัวลำโพง – หลักสอง) และ (บางซื่อ – ท่าพระ) สายสีม่วง (คลองบางไผ่ – เตาปูน) สายสีทอง (ช่วงสถานีกรุงธน-สำนักงานเขตคลองสาน) และสายท่าอากาศยาน (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ระยะทางรวม 170.38 กิโลเมตร         นอกจากนี้ยังมีสายสีแดง เส้นทางรังสิต – บางซื่อ ระยะทาง 26 กิโลเมตร และ บางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างเปิดให้บริการทดลองนั่งฟรี ทำให้ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าทั้งหมดที่เปิดให้บริการทั้งที่เรียกเก็บค่าบริการและทดลองนั่งฟรีมีระยะทางรวม  211.38 กิโลเมตร           ขณะที่ยังมีโครงการรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างก่อสร้างและกำลังจะสร้างอีกมากกว่า 350 กม. ในเส้นทางสายสีส้ม สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีเทา สายสีน้ำตาลอ่อน และสายสีฟ้า ซึ่งตามแผนแม่บทการก่อสร้างโครงการจะทยอยเสร็จและเปิดบริการตั้งแต่ปี 2565 - 2570 รวมมีระยะทางรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมดกว่า 554 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพจะกลายเป็นมหานครระบบรางติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกทันที และแน่นอนว่าจะส่งผลให้เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลระยะที่สองภายใน 2570 ที่ต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สำเร็จตามไปด้วยโดยไม่ต้องรอผลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในประเภทอื่นอีกด้วย         อ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะมีแต่เรื่องดีไม่ใช่หรือ เมื่อรัฐบาลเร่งลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างมหานครระบบรางในกรุงเทพเมืองหลวงของประเทศไทยให้คนกรุงเทพและปริมณฑลได้ใช้ขนส่งสาธารณะดีมีคุณภาพ เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – 2563 รัฐบาลได้มีการลงทุนในระบบรางรวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ  พัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ และพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง         แต่คำถามสำคัญ ณ ตอนนี้ คือ เมื่อรถไฟฟ้ามีหลายสีหลายสาย ขณะที่มีเจ้าของหลายคน ระบบต่างๆจะเชื่อมต่อกันได้อย่าง ตัวอย่างเช่น บีทีเอส และกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สายสีเขียวอ่อน สายสีเทา สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู และอยู่ระหว่างการประมูลสายสีส้มตะวันตก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRT รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีส้มตะวันออก กลุ่ม CP รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้า Airport Rail Link และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้า สายสีแดง ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่มีระบบไหนที่เชื่อมต่อกันได้เลย ยกเว้นแค่สกายวอร์คที่สร้างไว้เดินเชื่อมถึงกันเท่านั้น         เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ของบริการขนส่งสาธารณะประเทศไทย คือ ระบบที่ไม่เชื่อมต่อกัน หรือ พูดกันง่ายๆ คือ ต่างคนต่างทำ ทำกันคนละระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งให้เป็นบริการหนึ่งเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าแต่ละสาย ซึ่งระบบเชื่อมต่อที่ง่ายที่สุด คือ ตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวที่ผู้บริโภคควรใช้เพื่อขึ้นรถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า รวมถึงซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อให้จบเบ็ดเสร็จในบัตรเดียวเหมือนที่ในหลายประเทศทั่วโลกทำกัน แต่ประเทศไทยทำไม่ได้!!         ขณะที่ประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีไร้รอยต่อ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ล้วนมีตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวใช้กันทั้งนั้น ตัวอย่าง ญี่ปุ่นมี Suica IC Card ฮ่องกงมีบัตร OCTOPUS CARD และไต้หวันมีบัตร EASYCARD ซึ่งระบบบัตรของทั้งสามประเทศล้วนมีคุณสมบัติสารพัดประโยชน์ที่ใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟ รถไฟฟ้า รถบัส รวมทั้งซื้อสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อได้อีกด้วย นอกจากนี้สำหรับบัตร EASYCARD ของไต้หวันยังมีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับการใช้รถไฟและรถเมล์ภายในหนึ่งชั่วโมง เพื่อสร้างจูงใจให้คนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นด้วย      ส่วนกรุงเทพมหานครเดิมมีบัตรแมงมุมที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2561 ด้วยความคาดหวังคนไทยบัตรแมงมุมใบเดียวใช้จ่ายได้ทุกอย่าง แต่ถึงตอนนี้ยังไม่ทันได้พ่นใย บัตรแมงมุมนี้ก็หมดประโยชน์แล้ว เพราะกระทรวงคมนาคมยุคนี้มีแนวโน้มจะพัฒนาระบบตั๋วร่วมเป็นระบบ Europay Mastercard and Visa (EMV) หรือใช้บัตรเครดิตชำระค่าโดยสารแทน อ้างความสะดวกของผู้โดยสาร และลดต้นทุนในการบริหารจัดการตั๋วไม่ต้องทำใหม่         ที่สำคัญการล่มสลายของบัตรแมงมุมเท่ากับเป็นการลงทุนด้วยภาษีประชาชนที่สูญเปล่า ทั้งยังสะท้อนถึงความล้มเหลวเชิงนโยบายที่เปลี่ยนไปมา ทั้งที่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรว่าจะเป็นบัตรอะไร แต่อยู่ที่ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของใครกันแน่! เพราะฉะนั้นต่อให้สร้างรถไฟฟ้าเสร็จทุกสาย แต่ระบบไม่เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังไม่รู้สึกอยากจอดรถแล้วมาใช้รถไฟฟ้า สุดท้ายก็จะเหลือแต่ตอม่อกับรางไว้ให้ดูต่างหน้าเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >