ฉบับที่ 209 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2561พาณิชย์ไม่อนุมัติผู้ผลิตลดขนาดสินค้าแต่ขายราคาเดิมอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ผลิตสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ยาสีฟัน และผงซักฟอก หลายยี่ห้อได้ทำหนังสือเข้ามายังกรมฯ เพื่อขอออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณสินค้า แต่ยังขอจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม โดยให้เหตุผลว่ามีการปรับปรุงสูตรให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น แต่หลังจากที่กรมฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า สินค้าไม่ได้แตกต่างจากของเดิม จึงไม่ได้อนุมัติให้มีการดำเนินการตามคำขอทั้งนี้กรมการค้าภายใน ไม่ได้ปิดกั้นผู้ผลิตทำการปรับลดขนาดหรือปริมาณสินค้า แต่หากผู้ผลิตมีการนำเสนอรายละเอียดต้นทุนที่ชัดเจน และสมเหตุสมผล กรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นสินค้ามีการปรับลดขนาดหรือปริมาณบรรจุ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กรมสุขภาพจิตสั่งเปิดคลินิกบำบัดนักพนันบอลโลกอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่ง ใน 13 จังหวัด เปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันบอลในแผนกผู้ป่วยนอก และให้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิตตลอด 24 ชม. และผ่านทางเฟซบุ๊กในช่วงเวลา 14.30 – 22.30 น. โดยใช้เทคนิคการบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ ใช้กระบวนการทางจิตวิทยาควบคู่กับการใช้ยา เน้นการกระตุ้นให้ผู้บำบัดค้นหาเป้าหมายหรือแรงจูงใจภายในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สำหรับโรคติดพนันจะมีอาการ 9 อย่าง ดังนี้ 1. คิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนันตลอดเวลา 2. เล่นพนันโดยเพิ่มจำนวนเงินพนันขึ้นเรื่อยๆ 3. เล่นเสียเป็นหนี้ก็ยังเล่นต่อ หวังจะได้เงินคืน 4. ยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และเล่นพนัน 5. พูดปด ปกปิดปัญหาที่ลุกลามจากการเล่นพนัน 6. มีปัญหากู้หนี้ยืมสิน 7. สูญเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวจากการเล่นพนัน 8. ใช้การพนันเป็นทางออกในการหนีปัญหา 9. ล้มเหลวทุกครั้งที่คิดจะเลิกพนัน หากตรวจสอบตนเองแล้วมีพฤติกรรมดังกล่าว 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดพนัน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.เผยคนไทยใช้สมุนไพรมากขึ้นจากฐานข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560 พบว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยฯ ในโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 32 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มารับบริการกว่า 164 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19.75 และมีการใช้ยาสมุนไพรเพิ่ม 406 ล้านบาท จาก 1,700 ล้านบาทในปี 2559 เป็นกว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2560 สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปี 2560 แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 192,600 ล้านบาท อาหารเสริม 51,848 ล้านบาท และยาสมุนไพร 7,548 ล้านบาท รวมมูลค่าการใช้สมุนไพรทั่วประเทศทั้งสิ้น 254,830 ล้านบาทประกาศห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน13 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง ห้ามมีการผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) น้ำมันเหล่านี้จะมีส่วนผสมของกรดไขมันทรานส์( trans fat) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ซึ่งโรงงานอาหารประเภทเบเกอรี่ ขนมหวาน นมข้นหวาน หรือของทอดที่ใช้ชอร์ตเทนนิ่ง ต้องปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันวันเวลาตามที่กฎหมายกำหนดกองปราบจับ 22 ผู้ต้องหา OD Capital ฉ้อโกงประชาชนเมื่อ 11 ก.ค.61 กองบังคับการปรามปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จับกุม 22 ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในนามของ OD Capital โดยจากการสืบสวนพบว่า โอดีแคปปิตอลดำเนินการในลักษณะนำเงินไปลงทุนในบริษัทหรือกิจการอื่นๆ โดยระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไป โดยการติดต่อ ชักชวน หรือโฆษณาทางสื่อออนไลน์ว่าเมื่อนำเงินมาลงทุนกับโอดีแคปปิตอลแล้ว จะได้รับผลตอบแทน 10% ของเงินลงทุน นอกจากนี้ หากสามารถชักชวนคนมาร่วมลงทุนได้จะได้ผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมอีก จากการตรวจสอบพบว่า โอดีแคปปิตอลไม่ได้มีการจดทะเบียนพาณิชย์ในไทย และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก กลต. และ สคบ. โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอ 8 แนวทางแก้ปัญหารถโดยสารสองชั้นโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 บทเรียนจากวังน้ำเขียว

ฉบับนี้เห็นทีต้องกลับมาคุยเรื่องรถสองชั้นกันอีกครั้งนะครับ จากเหตุระทึกขวัญสั่นประสาทที่วังน้ำเขียว กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางสองชั้นของบริษัท กันเองทัวร์ เสียหลักลงข้างทาง ชนเพิงพักของชาวบ้าน ก่อนชนต้นไม้พลิกคว่ำ บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน โดยทั้งหมดเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลหลุบ และตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เหมารถท่องเที่ยวไปทะเลที่จังหวัดจันทบุรี ขณะเกิดเหตุกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สาธารณะกันอีกครั้ง ถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า เพราะรถโดยสารสองชั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน รวมคนบนรถทั้งหมดที่อยู่ในรถคันเกิดเหตุมากกว่า 50 คนเลยทีเดียวแม้ข้อเท็จจริงในเหตุครั้งนี้จะชี้ชัดออกมาแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุมาจากคนขับรถคันเกิดเหตุที่ไม่ชินเส้นทาง อีกทั้งยังเสพยาบ้าก่อนออกเดินทางจำนวน 2 เม็ด เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุจึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ประกอบกับสภาพรถที่ไม่พร้อมใช้งาน และสภาพถนนที่คดเคี้ยวลงเขาและโค้งที่เสี่ยงต่ออันตราย แต่ประเด็นที่กำลังปะทุอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ตอนนี้ คือ ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่ปลอดภัยแล้วทำไมถึงยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ แล้วประชาชนจะรู้ได้ยังไงว่าคันไหนปลอดภัยคันไหนไม่ปลอดภัย เพราะเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่วังน้ำเขียวนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นอีกหลายครั้ง เช่น 28 กุมภาพันธ์ 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนโรงเรียนบ้านดงหลบ จังหวัดนครราชสีมา ไปทัศนศึกษาที่หาดจอมเทียน ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่บริเวณทางขึ้นเขาศาลโทน ถนน 304 อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 15 คน เจ็บมากกว่า 40 คน24 มีนาคม 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาของผู้นำชุมชนของเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก ไปดูงานที่จังหวัดอุบลราชธานีและสปป ลาว เสียหลักตกเหวลึกกว่า 30 เมตร บริเวณดอยรวก ถนนสาย ตาก-แม่สอด จังหวัดตาก มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 22 คน 9 มีนาคม 2560 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนจากโรงเรียนพังทุยพัฒนศึกษา จังหวัดขอนแก่น ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดจันทบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุเสียหลักชนแผงกั้นคอนกรีต ตกไปในเหวฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 30 คน และยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้นต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารชั้นเดียวมากถึง 8 เท่าจากความสูญเสียในอดีตที่เกิดขึ้น หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2559 พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้ยกเลิกรถโดยสารสาธารณะสองชั้นมาแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถยกเลิกรถโดยสารสองชั้นออกจากระบบได้ในทันที แต่สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมไม่ให้มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มเติมในระบบ มกราคม 2560 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างยิ่งรถโดยสารขนาดใหญ่(รถสองชั้น) ซึ่งต่อมาคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) กำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ต้องมีความสูงไม่เกิน 4.0 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร รวมทั้งยังต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารทุกประเภททุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจากมาตรการข้างต้นนี้ หลายคนคงถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้จะไม่มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่ที่สูงปรี๊ดออกมาวิ่งบนถนนกันแล้ว แต่นั่นหมายถึงเฉพาะรถใหม่!!!คำถามคือ แล้วรถโดยสารสองชั้นเก่าที่จดทะเบียนมาแล้วก่อนหน้าวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่มีอยู่ในระบบอีกมากกว่า 7,000 คัน รถเหล่านี้รัฐบาลจะมีการกำกับดูแลยังไง เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของกรมการขนส่งทางบกเหมือนจะผิดที่ผิดเวลาอยู่ตลอด การมุ่งควบคุมมาตรฐานรถที่จดทะเบียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถเก่าที่จดทะเบียนมาก่อนจะทำอย่างไร แม้ล่าสุด มีนาคม 2561 หลังเหตุระทึกขวัญที่วังน้ำเขียวนายกฯ จะกลับมามีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้ความสูงของรถโดยสารสองชั้น พร้อมเตรียมหาแนวทางกำหนดอายุใช้งาน และจำกัดเส้นทางวิ่งของรถโดยสารสองชั้น ซึ่งการสั่งการครั้งนี้น่าจะเด็ดขาดและชัดเจนที่สุดแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าคำสั่งของนายกฯ จะได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดสั่งการไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว จนปัจจุบันก็ยังยกเลิกไม่ได้  หากแนวทางยกเลิกนั้นทำไม่ได้ เนื่องด้วยติดสัญญาขัดข้อกฎหมายหรือยังไม่มีเหตุเพียงพอ การออกมาตรการควบคุมการใช้งานรถโดยสารสองชั้น เช่น การกำหนดอายุการใช้งานรถที่เหมาะสม การกำหนดเส้นทางที่ไม่ให้รถโดยสารสองชั้นวิ่งได้ เช่น เส้นทางลาดชันขึ้นเขาลงเขา หรือการรับซื้อรถคืนตามสภาพของรัฐบาล ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีและทำได้สำหรับปัญหารถโดยสารสองชั้นในเวลานี้  ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ แบบที่ผ่านมา ก็อาจจะมีความสูญเสียครั้งใหม่เกิดขึ้นมาอีก เชื่อว่าทุกคนอยากให้เหตุที่วังน้ำเขียวนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะคนที่ต้องเดินทางและต้องเสี่ยงกับความสูญเสียไม่ใช่คนในรัฐบาลหรือหน่วยงาน แต่เป็นประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสองชั้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 2!!

แม้ว่าประเด็นความเสี่ยงในความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จะเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยกันแน่ ทั้งที่รถโดยสารสองชั้นที่วิ่งกันทุกวันนี้ ล้วนผ่านการรับรองการใช้งานจากกรมการขนส่งทางบกมาแล้วทุกคัน แต่ด้วยความสูงของรถโดยสารสองชั้นที่สูงมากถึง 4.30 เมตร ในทางวิศวกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ยิ่งหากมีปัจจัยความประมาทเลินเล่อของคนขับ และปัจจัยเสี่ยงจากสภาพถนนโค้ง ลาดชัน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ใช้ความเร็วมาก จากความสูญเสียในหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการป้องกันสำหรับรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ การทดสอบการทรงตัว หรือที่เรารู้จักกันว่า การทดสอบความลาดเอียง 30 องศานั่นเอง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการ ลำดับการจัดการปัญหารถโดยสารสองชั้นเริ่มแรกในปี 2555 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร ขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวหรือผ่านทดสอบความลาดเอียง 30 องศา มีผลให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร (ส่วนใหญ่คือรถโดยสารสองชั้น) ที่จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ส่วนรถที่จดทะเบียนใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ต่อมาในปี 2557 กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงระยะเวลาการบังคับใช้เกณฑ์การทรงตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ประกาศฉบับนี้ก็ไม่ได้การยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการ จนนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออก ผ่อนผันจากมาตรการบังคับให้ต้องนำรถเข้ารับการทดสอบตามประกาศฉบับนี้ ทำให้ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศฉบับที่ 2 กรมการขนส่งทางบก ต้องออกประกาศฉบับที่ 3 ยกเลิกข้อความตามประกาศฉบับที่ 1 และที่ 2 เพื่อผ่อนผันให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม 2556 จำนวนกว่า 5,700 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถโดยสารสองชั้นทั้งหมด ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบความลาดเอียงตามกำหนดระยะเวลาเดิม แต่ต้องนำรถไปติดระบบ GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วแทน และหากรถในกลุ่มนี้ แจ้งยกเลิกการใช้หรือนำรถมาจดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนแปลงตัวถังรถ รถในกลุ่มนี้ก็ต้องบังคับให้เข้ารับการทดสอบความลาดเอียงก่อนวิ่งให้บริการเช่นเดียวกัน และในปี 2560 นี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการคุมกำเนิดรถโดยสารสองชั้นเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่มาจดทะเบียนใหม่จะต้องมีความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นเพิ่มใหม่ในระบบอีก ซึ่งจะเป็นการจัดระบบรถโดยสารสองชั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย อนาคตของรถโดยสารสองชั้นจากมาตรการต่างๆ ของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางจัดการที่มุ่งเน้นไปกับกลุ่มรถจดทะเบียนใหม่ที่ควบคุมได้ง่ายมากกว่า ในขณะที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นทางออกร่วมกันกับกลุ่มรถเก่าหรือรถที่ใช้งานมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่เป็นรถกลุ่มใหญ่ในระบบตลาดทุกวันนี้ แม้ทางออกในวันนี้ คือ การติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนขับรถด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีผลช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์โครงสร้างของตัวรถโดยสารสองชั้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเส้นทางเสี่ยงได้ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกอบต่อรถโดยสารขนาดใหญ่ของอู่ต่อรถในบ้านเรา ยังต่อกันตามแบบที่สั่งกับแบบที่มี ไม่ใช่ต่อตามแบบมาตรฐานที่กรมฯ ควรจะกำหนดไว้ ดังนั้นหากกรมการขนส่งทางบก ปรับนโยบายใช้แนวทางการหาทางออกแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดแบบมาตรฐานโครงสร้างรถโดยสารที่ปลอดภัย การสนับสนุนอาชีพพนักงานขับรถที่มีประสิทธิภาพ และระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยที่จะออกมาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการทบทวนมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่ายมากกว่าการบังคับเพียงฝ่ายเดียวแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้แบบที่ผ่านมา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ภัยไม่เงียบ รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 1!!

เข้าใกล้สิ้นปีเมื่อใด นั่นหมายความว่าเทศกาลเดินทางการท่องเที่ยวเริ่มมาแล้ว และแน่นอนเมื่อมีการท่องเที่ยวกันมากขึ้น การต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเดินทางก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานไปด้วย และรถโดยสารยอดนิยมที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการเลือกใช้โดยสารนั่นก็คือ รถโดยสารสองชั้น! แล้วทำไมรถโดยสารสองชั้นถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ??ตอบได้เลย เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรองรับคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเช่ารถโดยสารจำนวนหลายคัน เช่น นักท่องเที่ยวเพื่อทัศนาจร นักเรียน-นักศึกษาเพื่อทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเพื่อศึกษาดูงาน หรือการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และด้วยความต้องการใช้รถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ที่ผ่านมาปริมาณรถโดยสารสองชั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการจากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่  31 ธันวาคม 2559  พบว่า มีรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 7,324 คัน   โดยแบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,947 คัน  รถโดยสารไม่ประจำทาง 5, 314 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 63 คัน สาเหตุที่กลุ่มผู้ใช้บริการนิยมเลือกใช้รถโดยสารสองชั้นพบว่า ส่วนใหญ่เลือกจากความสะดวกสบายของตัวรถ สภาพรถใหม่  ที่นั่งชั้นสองมองเห็นวิวข้างทางได้  มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับความต้องการครบครัน  เช่น เบาะนวดไฟฟ้า คาราโอเกะ ดนตรี อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ขณะที่มีพื้นที่ชั้นล่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในขณะเดินทางได้แต่หลายคนจะรู้หรือไม่ว่า รถโดยสารสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนใหญ่มีความสูงขนาดไหนกัน  กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก  พ.ศ. 2522  กำหนดคุณสมบัติของรถโดยสารสองชั้นไว้ว่า เมื่อวัดส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง จะต้องไม่เกิน  2.55 เมตร ความสูงภายนอกของตัวรถที่ใช้ในรถโดยสารเมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน  4.30 เมตร และความยาวต้องไม่เกิน 12 เมตร  ซึ่งเมื่อดูจากขนาดของรถโดยสารสองชั้นที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีขนาดเล็กกว่า  สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย  ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า รถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นนั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้นเมื่อวิเคราะห์ถึงอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทางมากกว่ารถโดยสารสองชั้นประจำทาง ด้วยจำนวนและปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทาง จึงเป็นส่วนที่น่าเป็นห่วงและต้องให้ความสำคัญ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าเป็นรถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้  แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางแล้วนั้น เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ  ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อลองพิจารณาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้นทั้งหมดแล้ว แม้ปัจจัยความเสี่ยงของผู้ขับขี่จะดูเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลับใน ขับรถเร็ว ประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพกฎจราจร แต่สภาพรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน ก็มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย ด้วยเหตุผลจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถโดยสารสองชั้นเอง (ติดตามต่อในตอนที่ 2) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสต่างแดน

เยอรมันก็มุงความอยากรู้อยากเห็น(และอยากถ่ายรูป) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่บางครั้งมันก็ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดอุบัติเหตุรถโดยสารชนท้ายรถบรรทุกแล้วเกิดไฟลุกไหม้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย บนมอเตอร์เวย์สาย A9 ในแคว้นบาวาเรียนั้นเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้ดีข่าวระบุว่าทีมช่วยเหลือใช้เวลา 10 นาทีเพื่อมายังที่เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่ควรมาถึงเร็วกว่านี้หากไม่ต้องเจอกับรถที่ชะลอดู ถ่ายรูป ถ่ายคลิป กว่ารถพยาบาลและรถดับเพลิงจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ไฟก็โหมจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาได้รัฐบาลของแคว้นบาวาเรียกำลังเตรียมพิจารณาขึ้นค่าปรับสำหรับเยอรมันมุง จาก 20 ยูโร(775 บาท) ในปัจจุบัน เป็น 155 ยูโร(6,000 บาท) และอาจแถมโทษจำคุกให้ด้วย เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เอาอะไรมาแลกก็ยอมPurple บริษัทผู้ให้บริการฮอทสป็อตไวไฟรายหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษทดลองซ่อนเงื่อนไขแปลกๆ ลงไปในข้อตกลงการเข้าใช้ไวไฟฟรี(ที่ผู้ใช้ควรอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนจะกด “ยอมรับ”) ในสองสัปดาห์ บริษัทพบว่ามีผู้ใช้ 22,000 คนที่ “ยินดี” สละเวลามาทำงานบริการสังคม เช่นล้างห้องน้ำสาธารณะ ขูดหมากฝรั่งตามพื้นถนน หรือล้วงท่อระบายน้ำ เป็นเวลา 1,000 ชั่วโมงเขาเสนอให้รางวัลกับคนที่อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขโดยละเอียด(และพบข้อความแปลกๆ) มีผู้ได้รางวัลไปทั้งหมด... หนึ่งคน ผลการทดลองนี้ยืนยันอีกครั้งว่า เราหน้ามืดขนาดไหนเวลาอยากใช้ของฟรี สามปีก่อนหน้านี้บริษัทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสรายหนึ่ง ก็เคยทดลองในลอนดอน แม้จะเขียนไว้ชัดเจนว่าบริการฟรีนั้นจะต้องแลกกับ “ลูกคนแรก” ก็ยังมีคนลงชื่อใช้ถึง 6 คนต่ำกว่าคาดจากการเปรียบเทียบความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของ 139 ประเทศทั่วโลก ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์สูงเป็นอันดับ 10 กำลังจะดีแล้วเชียว แต่... ผลสำรวจระบุว่า บรอดแบนด์สำหรับอินเทอร์เน็ตบ้านในออสเตรเลียยังมีราคาแพงเกินไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเป็น “เศรษฐกิจดิจิตัลระดับเวิร์ลดคลาส” อย่างที่ตั้งใจ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วระดับการเข้าถึงของออสเตรเลียหล่นลงไปที่อันดับ 57)ความเร็วเบรอดแบนด์เฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 11.1Mbps หรืออันดับที่ 50 ของโลก ในขณะที่อันดับหนึ่งอย่างเกาหลีมีความเร็วเฉลี่ยสูงสุด 28.6Mbps (สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราอยู่อันดับ 7)ร้อยละ 56 ของคนออสซี่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตของเขาอยู่ในระดับแถวหน้าและรัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณลงไปกับโครงการ NBN (New Broadband Network) ไม่น้อย ไม่ต้องรีบเริ่มแล้ว! แผนลดความแออัดของรถไฟโตเกียวในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อสยบความวุ่นวายโกลาหลในการเดินทางให้ได้ก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวอยากขอร้องจากมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคือ ช่วยมาขึ้นรถกันก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วนกันบ้างนางยูริโกะ โคอิเกะ เคยเสนอแผนนี้ไว้เมื่อครั้งที่เธอสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เธอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนทัศนะของคนญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับชั่วโมงทำงานอันยาวนานและการเบียดเสียดขึ้นรถไฟไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกันแผนดังกล่าวประกอบด้วยความร่วมมือจาก 260 บริษัทและหน่วยงาน ที่จะเพิ่มบริการรถเที่ยวเช้าตรู่จัดหาของรางวัลให้กับผู้ที่เลือกเดินทางก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงให้พนักงานในบริษัทตัวเองเลือกเวลาทำงานได้ แบบนี้เรียกจริงจังตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของมาเลเซีย การขายกุ้งแห้งย้อมสีมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 ริงกิต(ประมาณ 785,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วสองพี่น้องคู่หนึ่งถูกจับได้(เพราะมีคนถ่ายคลิปไว้) ว่าพ่นสีสเปรย์ลงในกุ้งแห้งเพื่อให้มีสีแดงสดน่ารับประทานและขายได้ราคาดีขึ้น กุ้งธรรมดากิโลกรัมละ 20 ริงกิต แต่กุ้งสีสวยของร้านนี้ขายได้ถึง 25 ริงกิตเนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลในท้องถิ่นและการท่องเที่ยวของเมืองโคตาคินาบาลูในภาพรวม ศาลจึงตัดสินให้ผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับสูงสุด 100,000 ริงกิต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 อุบัติเหตุรถโดยสารมากสุดปี 2559 รถตู้ครองแชมป์

นี่คือยุคของ “รถตู้โดยสารสาธารณะ”  ที่ทุกวันนี้กลายเป็นพาหนะเดินทางที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด รถตู้กลายเป็นรถประจำทางในเกือบทุกเส้นทางรอบกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเส้นทางระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามความสะดวกสบายจากทางเลือกใหม่นี้ ไม่ได้มาพร้อมกับความปลอดภัย เมื่อดูจากสถิติจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ หรือสภาพของรถตู้โดยสารบางคันที่ไม่เหมาะจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ หรือรถตู้เถื่อนที่แอบวิ่งรับส่งคน ในเส้นทางที่มีระยะทางไกลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร ” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากถึง  215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน  บาดเจ็บ  1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน  มีผู้เสียชีวิต  103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน  สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่  และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต เกิดขึ้นจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับดังนี้ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง  มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน   รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7คน  และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน (ปัจจุบันมีรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559  จำนวน 156,089 คัน   โดยเป็นรถตู้โดยสารจำนวน  41,202 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน)สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ และถนน  เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่  โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในรถตู้โดยสารและรถโดยสารสองชั้น  รูปแบบถนนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร  ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ ฯลฯ  และแม้ว่า กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในช่วงปี 2558  ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้   ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  การบรรทุกผู้โดยสารเกิน  โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง  ซึ่งสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันที่ยังพบปัญหาลักษณะดังกล่าวอยู่  จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค  การละเลยเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ และการขาดความต่อเนื่องในการกำกับดูแลของรัฐที่จริงจัง ชัดเจน ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการตื่นตัว แต่พอไม่นานเรื่องก็ซาไป โจทก์จึงอยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบเพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 GPS ตรวจจับพฤติกรรมผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ

จากที่เคยมีข่าวรถโดยสารขับรถเร็วเกินกำหนด ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาหลายครั้ง โดยที่ไม่เคยใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่ต้องโดยสารรถสาธารณะ  จนปัจจุบันได้มีมาตรการการเยียวยาเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการขับขี่โดยประมาทของคนขับรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นระบบของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้ติดตั้งระบบที่เรียกว่า GPS ซึ่งย่อมาจาก Global Positioning System หรือ “ระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก” ระบบนี้จะอาศัยการคำนวณพิกัดจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก โดยจะรับสัญญาณจากดาวเทียมตั้งแต่ 3 ดวงขึ้นไป ทำให้ระบบนี้สามารถชี้บอกตำแหน่งได้ทุกแห่งบนโลก ระบบนี้มีความแม่นยำของข้อมูลด้านทิศทาง เส้นทางการเดินทาง ถนน และสถานที่ต่างๆ แต่มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณส่งไม่ถึง เช่น อยู่ในตึก ใต้ทางด่วนก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ หรือแม้กระทั่งถ้าฟ้าปิด ฟ้าไม่ปลอดโปร่งก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้เช่นกัน  ผู้ที่ติดตั้งระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก หรือ GPS  จำเป็นต้องอยู่ตรงถนนสายหลักๆ ต่างๆ   เมื่อระบบสามารถแจ้งพิกัดที่เราอยู่บนพื้นโลกนี้ได้ จึงส่งผลให้การติดตั้งระบบ GPS ที่ทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้นำมาใช้ติดตั้งกับรถโดยสารสาธารณะนั้น จะช่วยบอกข้อมูลของรถแต่ละคันแบบ Realtime โดยจะแสดงข้อมูลตำแหน่งของรถ ความเร็วที่ขับ และลักษณะของรถที่มีการขับผิดปกติ ได้แก่ การเบรคกะทันหัน การขับกระชาก การเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือรถที่มีการเอียงเกิน 30 องศาซึ่งเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมาปรากฏขึ้นภายในศูนย์ควบคุมของบริษัท อย่างน้อยด้วยระบบติดตามรถสาธารณะชนิดนี้ ก็ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการรถสาธารณะสบายใจกันบ้าง   ประเภทของ GPS แบ่งออกตามประโยชน์การใช้งานได้ 2 แบบคือ ระบบนำทาง (Navigation System) โดยโครงสร้างของอุปกรณ์จะมีชุดรับสัญญาณดาวเทียม GPS ขนาดเล็ก ฝังติดตั้งอยู่ภายในแผ่นเซอร์กิต จากนั้นสัญญาณดาวเทียมจะถูกควบคุมด้วยโปรแกรมนำทางอีกที ระบบติดตาม (Tracking System) ใช้ในการติดตามสิ่งของที่อยู่ติดกับตัวอุปกรณ์ และในชุดอุปกรณ์จะมี ช่องให้ใส่ซิมการ์ด (โทรศัพท์มือถือ) เนื่องจาก GPS Module จะทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียม แล้วปล่อยออกมาเป็นข้อมูลพิกัด ณ จุดนั้น จากนั้น ก็ต้องอาศัยระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่งพิกัดนี้ ออกไปทาง SMS, EDGE , GPRS เป็นต้น เมื่อปลายทางได้รับข้อมูลแล้วก็จะนำเอาพิกัด ไป Plot กับตารางแผนที่ จึงออกมาเป็นตำแหน่งบนแผนที่ที่อุปกรณ์นั้นติดตั้งอยู่ ระบบนี้ โดยมากจะใช้ติดตามยานพาหะนะ ที่กำลังเป็นที่นิยมกันเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน  โดยสามารถนำมาใช้กับการติดตามคน และสัตว์เลี้ยงได้ด้วย **ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.it24hrs.com/2011/about-gps/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2557 ชาวซอยร่วมฤดีเฮ!!! ศาลสั่งรื้ออาคารสูง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาต่อสู้ในศาลนานถึง 6 ปี ในที่สุด คดีที่ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งหมด 24 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการมีอำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครอง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เหตุออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ก็ได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเรียบร้อย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว และครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่หากจะได้รับความเป็นธรรมต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"     อย. จับอาหารเสริม "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ใส่ “ไซบูทรามีน” โดนปิดบัญชีไปอีกราย สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลอกลวงผู้บริโภค กับอาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ “โอ้โห บาย ปูนิ่ม” ที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก อย. ดำเนินการจับผู้ผลิตและยึดสินค้าของกลาง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท!!! สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้เก็บตัวอย่างและทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ที่โฆษณาขายอย่างคึกโครมอยู่ในเฟซบุ๊ค  สร้างเครือข่ายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 3 – 4 พันคนทั่วประเทศ ซึ่งจากผลทดสอบที่ได้พบว่าตัวผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าช่วยลดน้ำหนักมีการใส่สาน “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะมีอันตรายร้างแรงต่อผู้ที่รับประทาน ทำให้หัวใจขาดเลือด เป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยความผิดตามกฎหมายที่เจ้าของและผู้บริหาร บริษัท โอ้โห สลิมพลัส จำกัด เจ้าของสินค้า มีดังนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐานจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานโฆษณาคุณประโยชน์และคุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ฐานขายเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) ผิดกฎหมาย ห้ามให้บริการ กรมขนส่งทางบกออกคำสั่งห้าม “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) วิ่งให้บริการในประเทศ หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หลังมีการตรวจสอบพบว่า อูเบอร์ แท็กซี่ ทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต อูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) เป็นบริการแท็กซี่โดยสารการเรียกโดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นบริการที่มีมาแล้วในหลายประเทศ ในประเทศไทยของจาก อูเบอร์ แท็กซี่ แล้ว ยังมีบริษัทผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นผ่านมือถืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท อีซีแท็กซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แกรบแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องรู้จักเลือกใช้อย่างมีข้อมูลเพื่อความปลอดภัยและคุ้มค่าในการเดินทาง     เตือน!!! กินอาหารเสริม “คลอโรฟิลล์” ระวังเจอผลข้างเคียง ไม่รู้ว่ารอบที่เท่าไหร่แล้วที่ อย. ต้องออกมานั่งยันนอนยันว่าการรับประทานอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มที่ผสม “คลอโรฟิลล์” ไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดๆ ที่รับรองว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยบำรุงร่างกาย ขับสารพิษ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส หรือบรรเทาอาการเจ็บไข้ใดๆ แต่ที่ยืนยันได้จริงก็คือการรับประทานคลอโรฟิลล์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ที่มีอาการแพ้ เช่นทำให้เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ล่าสุดเกิดกรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งโพสภาพพร้อมข้อความเยินยออาหารเสริมที่ผสมคลอฟิลล์ยี่ห้อหนึ่งว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ขนาดให้เด็กทารกแรกเกิด 7 วัน กินแล้วแข็งแรง น้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว ทาง อย.จึงได้ตรวจสอบกลับไปยังผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในภาพ พบว่ามีการใช้ข้อความอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ขอยืนยันอีกทีว่าการทานอาหารเสริมผสมคลอโรฟิลล์ที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานานั้น ไม่มีความจำเป็น เราสามารถได้รับคลอโรฟิลล์จากการกินผักใบเขียว ซึ่งนอกจากจะเสียเงินโดยใช้เหตุแล้ว อาจเสี่ยงผลเสียต่อสุขภาพด้วย     “รถโดยสารไทย” ถึงเวลายกเครื่องเรื่องประกันภัยและการจ่ายชดเชยเยียวยา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตัวแทนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” ซึ่งในเวทีก็มีตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและบริษัทประกันภัยร่วมแลกเปลี่ยนด้วย โดยภาพรวมของเวทีวิชาการครั้งนี้ ได้นำเสนอถึงปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบอุบัตเหตุรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จากกระบวนการพิสูจน์ถูกผิดที่ล่าช้า ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดความเข้มงวดและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในเวทียังได้มีตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องรถโดยสารปลอดภัย มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องรถโดยสารที่ด้อยคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้เสียหายบางรายใช้เวลาร่วม 10 ปีในการต่อสู้ในชั้นศาลกว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา ทั้งๆ ที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบาดเจ็บพิการและเสียชีวิต รวมถึงวงเงินชดเชยเยียวยาวคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มองว่ายังน้อยเกินไปควรมีการปรับให้สูงขึ้น จากเดิมค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจะได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสนอให้ปรับเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ เดิมจะได้ไม่เกิน 200,000 บาท เสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2555 เจ็บป่วย ฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ไม่มีแบ่งสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาได้ทันทีทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ใกล้ที่ไหนไปที่นั้น ไม่มีการแบ่งสิทธิ ทุกกองทุนสุขภาพให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของไทย ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ จับมือร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลของบ้านเราให้เป็นไปอย่าง เท่าเทียม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แถมยังเป็นก้าวสำคัญที่อาจเป็นความหวังเล็กๆ ที่นำไปสู่การสร้างระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกันให้กับคนไทยทั้งประเทศ สำหรับนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้กำหนดเอาไว้หมายถึง ผู้ป่วยด้วยโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามใกล้ชิด เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน   หากต้องการความช่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถติดต่อได้ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669 แต่หากมีข้อสงสัยเรื่องสิทธิหรือสอบถามรายชื่อ รพ. ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ โทร. 1330 -------------------------------------------     คนไทยป่วยมากขึ้น เพราะกินผักน้อยลง ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อมีผลการวิจัยออกมาว่า คนไทยกินผัก – ผลไม้น้อยลง ซึ่งส่งผลทำให้คนไทยเราป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง กันมากขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่กล่าวมาเฉลี่ยปีละ 97,900 คน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกว่า 6 หมื่นคนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเราอายุสั้นลง แถมคนไทยเรายังกินยากันมากถึงปีละ 4.7 หมื่นล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยป่วยเพิ่มขึ้น มาจากการขาดการดูแลสุขภาพที่ดี ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ที่สำคัญคือการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม กินแต่ของหวาน ของเค็ม ของมัน แต่กลับกินผัก – ผลไม้น้อยเกินไป ซึ่งจากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา คนไทยกินผักกันค่อนข้างน้อยเฉลี่ยแค่คนละ 1.8 กรัมหรือไม่ถึง 2 ขีดเท่านั้น ทั้งที่ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ให้กินผักให้ได้อย่างน้อยวันละ 4 ขีด จึงจะผลในทางบวกต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นในฐานะที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ควรหันมาให้ความสำคัญกับการกินผัก – ผลไม้กันให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง -----------------------------------------------     ตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสาร...มาตรการเพื่อความปลอดภัย ช่วงที่ผ่านมามีข่าวรถตู้โดยสารสาธารณะประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนน่าตกใจ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือจำนวนทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการที่มีแต่มากขึ้น ในสภาพการจราจรที่แสนจะแออัดวุ่นวายของกทม. แม้จะหวั่นใจเรื่องอุบัติเหตุแต่รถตู้โดยสารก็เป็นทางเลือกที่หลายคนต้องการ เพราะสะดวกกว่าและประหยัดเวลา แต่เรื่องความปลอดภัยยังไงก็เรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง กรมขนส่งทางบกจึงออกมาตรการให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบตรวจจับความเร็วที่มีชื่อว่า RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ตรวจจับความเร็วของรถตู้โดยสารสาธารณะขณะวิ่งบนทางด่วน โดยความเร็วที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 90 กม./ชั่วโมง รถตู้ที่ฝ่าฝืนขับเร็วเกินกว่าที่กำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 5,000 บาท ถ้าทำผิดซ้ำจะถูกปรับเพิ่มเป็น 10,000 บาท โดยขณะนี้ยังมีการใช้ระบบตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสารเฉพาะในกทม.เท่านั้น แต่ในอนาคตข้างหน้ากรมขนส่งทางบกตั้งใจจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับการเลือกใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องสังเกตแผ่นป้ายทะเบียนที่ต้องเป็นพื้นสีเหลือง ตัวเลขและตัวอักษรเป็นสีดำ แสดงชื่อเส้นทางทีวิ่ง ด้านข้างรถมีเครื่องหมายแสดงการเข้าร่วมกับ ขสมก. และ บขส. -------------     “สเตียรอยด์” ตัวร้าย...อันตรายที่แฝงมากับยาแผนโบราณ เพราะบ้านเรายังมีความเชื่อผิดๆ เรื่องการใช้ยากันอยู่อีกมาก อย่างความเชื่อที่ว่าการใช้ยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากยังพบว่ามีการใส่สารสเตียรอยด์ลงในยาแผนโบราณที่วางจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จึงได้งานเสวนาเรื่อง “สภาพปัญหาและผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์” เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนอันตรายของสารสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่ในยาแผนโบราณ จากการเก็บตัวอย่างยาแผนโบราณที่วางขายทั่วไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ยังพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์ ทั้งในยาที่ได้และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน พบทั้งในแบบที่เป็นยาลูกกลอน ยาชุด ยาน้ำสมุนไพร รวมถึงเดี๋ยวนี้ถูกนำมาไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมด้วย ซึ่งอันตรายของสารสเตียรอยด์มีตั้งแต่ไปกัดกระเพาะอาหาร ทำให้กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นไตวาย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลา ยิ่งกินต่อเนื่องเป็นเวลานานยิ่งอันตรายมาก คนที่เสี่ยงกับสารสเตียรอยด์ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ตามต่างจังหวัด เพราะเวลาที่เจ็บป่วยไม่นิยมไปสถานพยาบาล อาจจะด้วยเพราะเดินทางลำบากหรือคิดว่าไปหาหมอต้องเสียเงินมาก จึงเลือกวิธีซื้อยามากินเอง ซึ่งยาที่ซื้อก็มักเป็นยาสมุนไพรยาแผนโบราณที่ขายตามร้านขายของชำทั่วไปบ้าง รถเร่ที่ประกาศขายยาต่างๆ บ้าง เป็นเพราะหลงเชื่อในคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ แม้เดี๋ยวนี้จะการควบคุมเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้มงวดขึ้น แต่รูปแบบของการหลอกขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นหลายช่องทาง ทั้ง อินเตอร์เน็ต ทีวีเคเบิ้ล วิทยุชุมชน การขายตรง ภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการกินยาที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค และควบคุมดูแลการผลิตยาที่ปลอดภัย อย่าให้มีการลักลอบใช้สารสเตียรอยด์ พร้อมทั้งป้องกันการผลิตและจำหน่ายยาที่ผิดกฎหมาย ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องรู้เท่าทันเลือกกินยาที่ปลอดภัยได้รับการรับรองจากเภสัชกร อย่ากินเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง --------------------------------------------     วันสิทธิผู้บริโภคสากล ถึงเวลาตื่นตัวปัญหาผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ต้อนรับ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้มีการแปลอักษรคำว่า “World Consumer Rights Day” รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคและชักชวนให้ผู้บริโภคหันมาตระหนัก และสนใจในสิทธิรอบตัว เช่น การโดยสารรถสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์ร่วมกันคือ ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคาร ซึ่งองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยของเรามีประเด็นปัญหาการเงินการธนาคารที่อยากให้ภาครัฐจัดการแก้ไข ได้แก่ 1.ปัญหาการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป 2.ปัญหาการทวงหนี้ไม่เป็นธรรม และ 3.ตั้งคณะทำงานทบทวนมาตรการการกำหนดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนโยบายหรือมาตรการที่ออกมาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการแทบทั้งสิ้น เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก การเก็บค่าธรรมเนียมการการโอนเงิน การฝากเงิน การเก็บเงินจากการใช้บริการตู้เอทีเอ็ม ผู้บริโภคต้องรับภาระส่วนนี้โดยไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคยังส่งเสียงถึงรัฐบาล เรียกร้องให้เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 25539 พฤศจิกายน 2553เรื่อง “ยา” ที่ต้องรู้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศคำเตือนเกี่ยวกับใช้ยาที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องรู้มาแจ้งให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการให้เพิ่มคำเตือนในฉลากยาและเอกสารกำกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน “กลุ่มไทอะโซลิดีนไดโอน” (Thiazolidinedione) ว่าห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคหัวใจล้มเหลวในระดับที่รุนแรง เพราะยานี้อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หากใช้ยาแล้วมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว หรือเกิดอาการบวมมากให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที โดย อย. จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่แพทย์ทั่วประเทศและทำหนังสือแจ้งเวียนให้บริษัทผู้ผลิตยารักษาโรคเบาหวานปฏิบัติตามเรื่องที่ 2 คือ กำหนดมาตรฐานกระบอกฉีดอินซูลินชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะกระบอกฉีดอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. รองรับ โดยกระบอกฉีดอินซูลินที่ดีนั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีทำให้ปราศจากเชื้อโรคและใช้งานเพียงครั้งเดียว พร้อมทั้งต้องแสดงรายละเอียดบนฉลากบรรจุกระบอกฉีดอินซูลิน เป็นข้อความภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ โดยให้ระบุเลขที่ครั้งที่ผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ ข้อความหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายว่าปราศจากเชื้อ เดือนปีที่ทำการฆ่าเชื้อและวันหมดอายุการฆ่าเชื้อ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นโรคเบาหวานและต้องใช้กระบอกฉีดอินซูลิน สามารถอ่านได้ชัดเจน+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++  28 พฤศจิกายน 2553“ปืนอัดลม” ของเล่นทำร้ายเด็กไทย สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนความปลอดภัยในเด็ก ร่วมกับอีกหลายเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับ “สถานการณ์อันตรายจากปืนของเล่น” พบว่ามีเด็กไทยบาดเจ็บจากการเล่นปืนอัดลมเฉลี่ยถึงปีละ 5,000 คนรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่ามีเด็กที่มารักษาตัวตามห้องฉุกเฉินเพราะบาดเจ็บจากการเล่นปืนอัดลมถึง 4,792 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปีนอกจากนี้ บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ยังได้ทำการทดสอบปืนอัดลมทั้งสั้นและยาว ปืนลูกดอก ปืนลูกบอล ในท้องตลาดไทยรวม 27 ชนิด พบว่ามีปืนอัดลมที่ไม่ผ่านการทดสอบถึง 25 รายการ ซึ่งมีความเร็วและความแรงของกระสุนหรือวัตถุที่ยิงออกมาเกินมาตรฐานกำหนด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) จึงเตรียมสั่งให้ปืนอัดลมเป็นสินค้าอันตราย เพราะถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธไม่ใช่ของเล่น ไม่ควรวางขายทั่วไป +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++  30 พฤศจิกายน 2553“เบอร์เดิมย้ายค่าย” จ่าย 99 บาทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ยืนยันมาแล้วว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถใช้บริการ “เปลี่ยนค่ายใช้เบอร์เดิม” ได้แล้ว แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในราคา 99 บาท ต่อ 1 เลขหมาย พร้อมมีข้อแนะนำก่อนการย้ายเครือข่าย ให้เคลียร์ค่าบริการ ยอดเงินและยอดวันคงเหลือให้เรียบร้อย หากมีเหลืออยู่ควรใช้ให้หมดหรือโอนให้คนอื่น เพราะเมื่อย้ายเครือข่ายแล้วจะไม่สามารถโอนย้ายเงินหรือวันมาด้วยได้ และที่สำคัญคือเลขหมายโทรศัพท์ที่จะย้ายค่ายต้องเป็นเลขหมายที่จดทะเบียนแล้วเรียบร้อย เพื่อความสะดวกและป้องกันการแอบอ้างหรือลักลอบใช้บริการของผู้ไม่หวังดี ใครอยากใช้บริการนี้ต้องติดต่อไปยังค่ายมือถือใหม่ที่ต้องการย้ายไปใช้งาน     หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด!!!องค์กรผู้บริโภคส่งตัวแทนจากทั่วประเทศเดินขบวนเรียกร้องค่ายมือถือ "หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด" ขอคำตอบภายใน 30 วัน อย่างช้าไม่เกิน 60 วัน หากยังนิ่งเฉยจะรวบรวมผู้ที่เดือดร้อนดำเนินการทางกฎหมายกับทุกค่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งได้รวบรวมคนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ละภูมิภาค ภูมิภาคละ 1-2 คนต่อหนึ่งบริษัท กำหนดกลับมาทวงคำตอบอีกครั้งเดือน ม.ค. 2554  ผลการวิจัยระบุ คนไทยใช้เงินค่าโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท แต่กลับถูกบังคับให้ต้องเติมเงินค่ามือถือเดือนละ 300 บาท แม้จะใช้ไม่ถึง เท่ากับผู้ให้บริการมีเงินหมุนเวียนจากการจ่ายล่วงหน้าจากผู้บริโภคทั้งประเทศเดือนละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ให้บริการก็ยินดีรับข้อเรียกร้องกลับไปพิจารณา แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ต้องคอยติดตามกันต่อไป+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++    ถึงเวลาปฏิรูปรถโดยสารเพื่อความปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคร่วมกันจัดสัมมนา “สภาผู้บริโภคเพื่อการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ใช้รถและผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งสาเหตุหลักก็ยังคงเป็นเรื่องของความด้อยคุณภาพของตัวรถและความประมาทของพนักงานขับรถ   ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้รถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันส่วนใหญ่ด้วยคุณภาพ เนื่องจากทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต่างก็เปิดให้เอกชนรายย่อยเข้ามาร่วมบริการ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2551 พบว่าจำนวนผู้ประกอบการเอกชนที่มีใบอนุญาตเดินรถสาธารณะทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 800 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นผู้ถือใบอนุญาตที่ไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเอง มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีรถโดยสารให้บริการ ซึ่งส่งผลการควบคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทำได้ลำบาก และการควบคุมดูแลยากที่จะทั่วถึง  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังกล่าวเสริมในเรื่องที่ผู้ประสบอุบัติเหตุที่มักจะไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลแก้ไข ให้สมกับที่รัฐบาลได้ประกาศให้เรื่องอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติด้วย ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองก็ควรตื่นตัวปกป้องสิทธิตนเอง และหากผู้บริโภคประสบปัญหาสามารถติดต่อให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือได้เช่นกัน  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมปี 2553 พบว่ารถประจำทางปรับอากาศ เป็นรถโดยสารที่มีสถิติประสบอุบัติเหตุมากที่สุดถึง 97 ครั้ง บาดเจ็บ 938 ราย เสียชีวิต 78 ราย รองลงมาคือรถนำเที่ยว 42 ครั้ง บาดเจ็บ 582 ราย เสียชีวิต 38 ราย ที่เหลือก็มีทั้ง รถรับจ้างรับส่งพนักงาน รถตู้รับจ้าง รถเมล์ รถโดยสารระหว่างจังหวัด รถสองแถว และรถแท็กซี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 255219 สิงหาคม 2552อันตราย! อย่าซื้อยาต้านหวัด 2009 ผ่านเน็ตนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาขายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางอินเทอร์เน็ต โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายยา เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งจากการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดื้อยา   ยาต้านไวรัสดังกล่าวจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีเงื่อนไขให้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล จะไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระจายยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) ไปยังโรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น 25 สิงหาคม 2552เชิญร่วมทดสอบความไวเน็ต เร็วจริงหรือแค่คำโฆษณาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จับมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดโครงการ "สปีดเทสต์" (Speed Test) เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องความเร็วในการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากว่าความเร็วต่ำกว่าที่มีการโฆษณา โดยหวังใช้ผลทดสอบครั้งนี้เป็นแนวทางแก้ไขและเอาผิดผู้ให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า “โครงการนี้มีชื่อว่า "โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ตปี 2552" โดยที่มาของโครงการนี้เนื่องจากทาง สบท. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนม.ค.- มิ.ย. 2552 จำนวน 622 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถึง 90% ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณา จุดมุ่งหมายของการสำรวจข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายได้มีข้อร้องเรียนเกินกว่า 50% ก็จะแจ้งให้ กทช.ดำเนินการต่อไป แต่เพื่อให้พัฒนาบริการไม่ใช่เพื่อปิดการให้บริการ” ผู้บริโภคสามารถเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตัวเองใช้ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.speedtest.or.th ซึ่งระบบจะทดสอบความเร็วของผู้ให้บริการรายนั้นทันที และเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ จากนั้นจะนำผลที่ได้มาทำการประมวลและแจ้งผลให้ทราบในวันที่ 30 พ.ย. 2552 27 สิงหาคม 2552อย. ยันยังไม่พบสาหร่ายปลอมกรณีพบฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องสาหร่ายปลอม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคว่า สาหร่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีการปลอมปนพลาสติกนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ตรวจสอบการนำเข้าและการจำหน่าย พร้อมเก็บตัวอย่างสาหร่ายอบแห้งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หา DNA ของสิ่งมีชีวิตและพิสูจน์ว่าเป็นพลาสติกหรือไม่ โดยตรวจสอบสาหร่ายอบแห้งที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 5 ยี่ห้อ ซึ่งจากการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะทางกายภาพ ปรากฏว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นสาหร่ายจริง อย. แนะผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดครบถ้วน ย้ำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. ปลอดภัยแน่นอน สธ. รับกลับไปใช้ชื่อ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” ตามเดิมหลังเจรจาเครือข่ายภาคประชาชนสธ. มอบคำมั่นกับภาคประชาชน ยืนยันใช้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ตามเดิม พร้อมรับพิจารณาเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการต้องเท่าเทียม ส่วนเรื่องตั้งเป็นองค์กรอิสระให้ครม.ตัดสินใจ เร่ง รมว.สธ. ทำข้อสรุปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชมรมเพื่อนโรคไต ฯลฯ กว่า 100 คน ได้เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปเรียกร้อง ติดตามและหาข้อสรุป เรื่องร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” โดยมีนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งในการพิจารณาของกฤษฎีกามีการแก้ไขในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายโดยเป็นไปตามที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ทั้งในส่วนของชื่อร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการช่วยเหลือในเรื่องการดูแลชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดการฟ้องร้องระว่างแพทย์และคนไข้ได้อีกด้วย เรื่องการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรเป็นอิสระและเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่พบว่ามีไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สภาวิชาชีพกับภาคประชาชน จึงต้องการให้มีการพิจารณาแก้ไข หลังจากการประชุมหารือ นายพิเชฐ ได้กล่าวสรุปเห็นด้วยว่าให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ชื่อตามร่างเดิม ส่วนประเด็นการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งร่างเดิมไม่มีความชัดเจนว่าจะตั้งเป็นองค์กรในลักษณะใด ดังนั้นในการพิจารณาชั้นกฤษฎีกาจึงให้สำนักงานดังกล่าวขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า สำนักงานน่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นจะทำข้อสรุปให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม. ทบทวนว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีมติให้อยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ถือเป็นการตัดสินใจของ ครม. ส่วนเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการตาม ที่ประชุมยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันแต่มีแนวโน้มที่จะใช้ข้อกำหนดตามร่างเดิม คือ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนสภาวิชาชีพฝ่ายละ 3 คน แต่เนื่องจากการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนภายในสภาวิชาชีพอยู่ด้วย จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ โดยทั้งนี้จะทำสรุปข้อเสนอต่างๆ ของที่ประชุมให้ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังกฤษฎีกาอีกครั้ง สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 52 ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เวทีติดตามนโยบาย : สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะ” โดยมีผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะหลายท่านร่วมเป็นวิทยากร ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี จากสำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอปัญหามาตรฐานตัวถังรถที่มักมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้เสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น เก้าอี้หลุด หลังคายุบ ยางรถไม่มีดอกยาง ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ขณะที่คนขับรถโดยสารสาธารณะมักขาดคุณสมบัติและขาดการฝึกอบรมที่ดี ขณะที่สภาพถนนในหลายจุดของประเทศก็สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการควบคุมการให้บริการ ควบคุมราคา ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาดูจัดการตรงนี้อย่างจริงจังก็น่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารให้เพิ่มขึ้นได้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงปัญหาของผู้ประสบภัยซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งการเตะถ่วงดึงเวลาจากบริษัทรถและบริษัทประกัน การไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและการที่ผู้เสียหายไม่ทราบสิทธิของตัวเอง โดยปกติผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แต่ก็จะมีการจำกัดวงเงินการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยหนักหรือทุพพลภาพที่ต้องรักษาต่อเนื่องมักถูกผลักภาระให้ไปอยู่ในระบบสุขภาพอื่นๆ หรือกรณีที่มีคู่กรณีชัดเจนก็ต้องรอการพิสูจน์ความผิดเสียก่อน ทำให้กระบวนการชดเชยค่าเสียหายล่าช้า หากเสียชีวิตก็ได้รับเงินเพียง 1 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราต่ำมากในปัจจุบัน ทางออกที่เห็นว่าเหมาะสม คือการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. … ขึ้นมาทดแทน พ.ร.บ. ฉบับเดิม ซึ่งจะช่วยเรื่องการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามจริง ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ลดภาระประชาชน และลดภาระความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ประสบภัย "ปฏิญญาเชียงราย" มาตรการคุ้มครองสิทธิด้านโทรคมนาคมสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเวทีการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจาก 8 ประเทศ ร่วมรายงานสถานการณ์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจโทรคมนาคม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย โดยสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของโทรคมนาคมที่กระทบต่อผู้บริโภคคือ ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เที่ยงตรง การโทร.และส่งข้อความรบกวน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การไม่รู้เท่าทันกฎหมาย ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการใช้โทรคมนาคม เป็นต้น ผลจากการประชุมทำให้ได้ร่างปฏิญญาเชียงรายที่มีเนื้อสำคัญดังนี้ (1) ทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องร่วมกับภาคีในกิจการโทรคมนาคม (2) กำหนดมาตรฐานพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (3) ตระหนักว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐาน (4) ตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้แนวทาง "คนเป็นศูนย์กลาง"(5) จัดตั้งหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคโดยใช้กลไกที่จัดตั้งขึ้นแล้วเป็นหลัก (6) จัดประชุมทุกปี โดยจัดทำประเด็นรณรงค์ร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้บริการโทรคมนาคมต่อสุขภาพ หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน (7) ดำเนินการวิจัย/สำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม โดยมีหัวข้อหลักคือการเข้าถึงเท่าเทียม ระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่เที่ยงตรง และความปลอดภัย (8) สร้างเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (9) เรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรปกป้องผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (10) ผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมใช้หลักบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ตามหาเงินเยียวยา

ดิฉันชื่อ ฉันทนาค่ะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ได้นั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปลงที่โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อไปหาพ่อแม่ จองตั๋วรถกับบริษัท แอร์อุดร จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-บึงกาฬ ระหว่างทางรถโดยสารขับมาด้วยความเร็วสูงมาก ถึงช่วงถนนมิตรภาพ  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ดิฉันนั่งมาคนขับพยายามจะขับแซงรถพ่วงแต่ไม่พ้น และไปชนท้ายรถบรรทุกพ่วงอย่างแรงก่อนเสียหลักลงไหล่ทาง ทำให้ดิฉันได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก และกระดูกนิ้วก้อยเท้าขวาแตกหน่วยกู้ภัยพาดิฉันส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ได้ทำการรักษากระดูกแตกที่นิ้วเท้าและเย็บแผลแตกที่ศีรษะรวม 10 เข็ม จะกลับบ้านได้ต้องโทรศัพท์ให้ญาติมารับหลังประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท แอร์อุดรเลย ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ได้รับการติดต่อจากแม่ว่า ตำรวจให้ไปพบที่สถานีตำรวจโพนพิสัย จึงได้ไปตามนัดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 บริษัท แอร์อุดร ได้ส่งพนักงานไม่แจ้งชื่อมาเจรจาโดยมีข้อเสนอชดใช้เยียวยาให้ที่จำนวน 50,000 บาท ดิฉันได้ตกลงยอมรับข้อเสนอ พนักงานคนนั้นจึงบอกกับดิฉันว่าจะติดต่อกลับมาภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้ง แต่จนถึงปัจจุบัน(28 สิงหาคม 2555) ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลยดิฉันขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเงิน 50,000 บาท ให้กับดิฉันด้วยค่ะ แนวทางแก้ไขปัญหาคุณฉันทนาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มูลนิธิฯได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า รถโดยสารคันดังกล่าว ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด จึงได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย มาร่วมเจรจากันในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่เนื่องจากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจาได้ จึงมีการเจรจากับผู้เสียหายทางโทรศัพท์กันในวันนั้น ได้ผลว่า บริษัท ทิพยประกันภัย ตกลงจ่ายค่าสินไหมตามที่ได้มีการร้องขอและเจรจากันไว้แต่แรก จำนวน 50,000 บาท และนัดหมายเพื่อมารับเช็คค่าสินไหมอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป อาทิตย์ต่อมาตัวแทนของทิพยประกันภัยเตรียมเช็คค่าสินไหมมาตามวันเวลานัดหมาย แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดตามตัวได้ในวันนั้น จึงต้องกำหนดนัดใหม่เป็นสัปดาห์ถัดไป อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาผู้เสียหายจึงสามารถเดินทางมารับเช็คค่าสินไหมได้ด้วยตนเองนอกจากคุณฉันทนาแล้ว ยังมีผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งคือคุณโพสิทธิ เครือเนตร ที่ได้รับบาดเจ็บและทิพยประกันภัยตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทิพยประกันภัยจึงได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ว่า หากผู้เสียหายท่านนี้ได้ติดต่อกลับมา ทางทิพยประกันภัยยินดีดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้ต่อไปคุณโพสิทธิ หรือญาติ ทราบข่าวแล้วโปรดติดต่อกลับมาด่วน ทิพยประกันภัยรอคุณอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง 2

โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย พยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถทัวร์โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 1,784 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ------------------------------------------------------------------------------------------------ในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เฉลี่ย 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจากสถิติเฉลี่ยแล้ว พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 0.42 รายหรือครึ่งคน บาดเจ็บสาหัส 4 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความเสียหายมหาศาล รวมถึงปีละ 8,000 – 9,000 พันล้านบาทต่อปี   ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ 4 ภูมิภาคภาคเหนือ 609 ภาคใต้ 432 ภาคตะวันออก 263 ภาคอีสาน 480 อาชีพนักเรียน 23.9% รับจ้าง 16.6% พนักงานบริษัทเอกชน 13.9% ธุรกิจส่วนตัว 13.7% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10.3%เกษตรกร 8.5% แม่บ้านพ่อบ้าน 5.8% ว่างงาน 4.5%   ผลสำรวจโดยสรุป 1.ประชาชนยังนิยมใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การเดินทางทั้งไปทำธุระ กลับบ้านและไปเรียนหนังสือ โดยรถ ป.2 ชั้นเดียวได้รับความนิยมที่สุด และบริษัทรถร่วม บขส. ได้รับความนิยมพอๆ กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด2. เหตุผลที่ใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ คือ ความสะดวก ปลอดภัยและราคาถูก เรียงตามลำดับ มากไปน้อย 3.ความพึงพอใจทั้งเรื่องพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ และความสะดวก ความสะอาดของสถานีรถ อยู่ในค่าเฉลี่ยปานกลาง แต่ยังพบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินประมาณ 9.4%4.ภายในรถโดยสารส่วนใหญ่มีเข็มขัดนิรภัย(80% ตอบว่ามี) และประมาณ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทางรถโดยสารได้แจ้งข้อมูลให้กับผู้โดยสารทราบผ่านโทรทัศน์บนรถ แต่มีถึง 45 % ที่ไม่คาดเข็มขัดในขณะโดยสาร ด้วยเหตุผลว่า อึดอัดเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีเข็มขัดหรือเข็มขัดไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คิดว่าเดินทางแค่ระยะสั้นๆ รวมทั้งอายจึงไม่กล้าคาดเข็มขัด5.มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 23% ที่ทราบว่าถ้าไม่คาดเข็มขัดจะถูกปรับ 5000 บาท6.เกี่ยวกับอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถ ทั้งค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ส่วนใหญ่จะระบุว่ามี (68.6% ,71.6%) เรื่องประตูฉุกเฉิน 82.2 % สังเกตว่ามี ส่วนที่น่าสนใจคือ การแจ้งเรื่องการใช้อุปกรณ์มีครึ่งหนึ่ง คือ 53.4% ไม่พบว่ามีการให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ หรือ วิดีโอ 7.ความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร อยู่ที่ระดับปานกลาง คือ 46.7%   รายละเอียดการสำรวจ         เลือกรถโดยสาร อย่างไรให้ปลอดภัย 1. เลือกรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมาย เช่น ถ้าเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเป็นรถร่วมบริการที่ได้รับอนุญาต (มีตราหรือสัญลักษณ์ของ บ.ข.ส. หรือ ขสมก. ติดข้างรถ) หรือ รถโดยสารป้ายทะเบียนสีเหลืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น 2. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ‘รถเสริม’ ไม่ควรใช้บริการ รถทัวร์ผี รถตู้เถื่อน ที่มาวิ่งเสริมรับคนในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเด็ดขาด ซึ่งรถดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตรวจสภาพมาก่อน และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถผีรถเถื่อนแล้ว ผู้โดยสารจะไม่มีหลักประกันใดมารับรองความปลอดภัย อาจจะเจ็บตัวฟรีได้ 3. ผู้โดยสารควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ใช้บริการ เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุ4. เมื่อต้องเดินทางเกิน 300 กม. ไม่ควรเลือกเดินทางโดยรถตู้โดยสาร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้โดยสารให้บริการได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กม. เท่านั้น เพราะหากไกลกว่านั้นอาจจะทำให้พนักงานขับรถอ่อนเพลียจนเกิดอุบัติเหตุและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายด้วย 5. ถ้ามีผู้โดยสารอื่นขึ้นเต็มรถอยู่ก่อนแล้ว ไม่ควรฝืนขึ้นไปยืนหรือนั่งเบาะเสริม เพียงเพราะต้องการอยากให้ไปถึงที่ด้วยความรวดเร็วอย่างเดียว เพราะการบรรทุกผู้โดยสารเกินของรถโดยสารอาจจะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 6. ไม่ทนนั่งรถโดยสารอันตราย ผู้โดยสารควรสังเกตพฤติกรรมและอากัปกริยาของพนักงานขับรถ เช่น มีอาการง่วงซึม หรือมึนเมาจากสุรา สารเสพติดหรือไม่ หรือขับรถเร็วผิดปกติ ส่ายไปส่ายมา แซงซ้ายปาดขวา ไม่เคารพกฎจราจร หากพบเห็น ต้องไม่อายที่จะแจ้งเตือนพนักงานขับรถทันที หรือรีบแจ้งสายด่วน 1584 หรือ 191 หรือกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารกับตัวเอง ต้องทำยังไง1. ผู้โดยสารต้องตั้งสติให้ได้ก่อน2. เมื่อมีสติแล้ว ให้สำรวจดูสภาพร่างกายของตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ติดตัวมายังอยู่ครบหรือเปล่า 3. ถ้ามีสติ รู้สึกตัวดี และสำรวจสภาพร่างกายตนเองเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระเป๋าสตางค์ , โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แล้วพาร่างกายออกจากตัวรถโดยทันที 4. เมื่อออกมาพ้นตัวรถแล้ว ให้รีบโทรศัพท์ (ถ้ามี) แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193 5. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 4 เรียบร้อยแล้ว หากท่านยังพอมีแรงอยู่ ให้ท่านเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นที่บาดเจ็บเท่าที่พอจะช่วยได้ หากไม่สามารถทำได้ ให้บุคคลอื่นมาช่วยเหลือ 6. (ถ้ามีสติและทำได้) ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ถ่ายภาพตอนบาดเจ็บของตนเองและคนอื่นที่บาดเจ็บ ไว้เป็นหลักฐานด้วยโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย 7. เมื่อผู้โดยสารที่บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากบาดเจ็บไม่มากและรู้สึกตัวดี ผู้บาดเจ็บต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวนที่มาขอข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อเป็นหลักฐาน8. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ตามสิทธิ พ.ร.บ. รถ ของรถโดยสารคันที่โดยสารมา (ผู้โดยสารไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลที่รับการรักษาเป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากบริษัทประกันภัยเอง)9. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บต้องตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของรถโดยสารคันเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวน หรือตัวแทนของคู่กรณี (เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัย) ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้หรือไม่ ถ้าทำ ทำไว้กับบริษัทใด เพราะหากรถโดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้ ผู้โดยสารจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและเยียวยาความเสียหายเพิ่มเติมได้    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point