ฉบับที่ 229 น้ำเข้ารถ... ความผิดใคร รถหรือคน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำเข้าในตัวรถ ไม่ว่าจะล้างรถหรือฝนตกน้ำจะเข้ามาในตัวรถตลอด มันเข้าทั้งสี่ประตูเลย ที่เห็นครั้งแรกคือ ขับรถจากเมืองทองธานีกลับบ้านประมาณ 30 กิโลเมตร  แล้วฝนตกตลอดทางเมื่อมาถึงบ้านแล้วเห็นว่าในรถเปียกดูว่ามันมีน้ำเข้ามา ก่อนหน้านี้เคยได้กลิ่นอับในรถแต่พี่ไม่ได้สังเกต ที่เห็นด้วยตา คือวันนั้นวันแรกที่ว่าขับมาแล้วฝนตกมาตลอด” คุณวัลทิชา ประสงค์เวช ผู้บริโภคเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยปัญหามาตรฐานของรถยนต์    ทราบปัญหาเรื่องน้ำเข้ารถเมื่อไร         ครั้งแรกที่เห็นคือประมาณสักสองประตู เยอะอยู่ พี่ก็เอาไปเข้าศูนย์ให้เขาทำ เขาก็บอกว่าเขาจะซีล (seal) ให้ พี่ไปรับรถพี่ก็พยายามจะถามว่ามันเกิดจากอะไร ตรงไหนอย่างไร ซึ่งพนักงานคนนั้นเขาพูดติดๆ ขัดๆฟังยาก ซึ่งเราก็เข้าใจยากก็พยายามฟังก็ไม่ได้ตำหนิอะไรเขาตรงนั้น เข้าใจว่าเขาซีลใหม่ตรงประตูทั้งสองประตูที่น้ำเข้า หลังจากที่พี่ใช้ไปอีกสักระยะหนึ่ง พี่จอดรถไว้กลางแจ้งแล้วก็เดินไปโรงพยาบาล ตอนนั้นฝนตกก็ไม่น่าจะเกินครึ่งชั่วโมง พอกลับมาที่รถ ปรากฏว่าน้ำเข้ามากกว่าเดิมในตำแหน่งเดิม พี่จึงกลับไปที่ศูนย์นั้นอีก แล้วเขาก็แก้ไขให้อีก คือถ้านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ (วันที่ให้สัมภาษณ์) พี่ทำมาแล้วห้าครั้ง เขาก็แก้ไขปัญหาด้วยการซีลที่ตัวประตูทุกครั้ง ตอนนี้พี่ก็เจอเพิ่มว่ามันไม่ใช่สองประตูแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นสี่ประตูเข้าทั้งสี่ประตูเลย  ไม่ไหวแล้วจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ         จริงๆ แล้วพี่เอาเข้าศูนย์ฯ แล้วสี่ครั้ง แต่พี่ก็ติดต่อกับมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยเรื่องเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ แต่การเจรจามันไม่ได้ช่วยทำให้เรารู้สึกดีหรือมีความมั่นใจในสิ่งที่เขา (บริษัท) พูด เพราะเขาไม่ได้เคยทำในสิ่งที่พูดเลย พี่ก็เริ่มไม่มั่นใจ หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์แต่ว่าการพูดจาของเขามันทำให้พี่รู้สึกว่าแย่ลงไปกว่าเดิม เหมือนพี่ถูกกระทำมากกว่าเดิม พี่ก็ลองให้โอกาสเขาอีกสักครั้ง ก็คือการเข้าไปซ่อมครั้งที่ห้า ที่เป็นศูนย์ของบริษัทใหญ่เขาเลยที่ถนนศรีอยุธยา พี่ก็ลองดูว่าเอาอีกครั้งเผื่อว่ามันจะดี เพราะว่าสี่ครั้งที่ผ่านมาพี่ไม่ได้ซ่อมกับศูนย์เขาเลย พี่ก็เปลี่ยนศูนย์แต่ล่าสุดที่เจอก็คือ พอพี่ล้างรถแค่ล้างรถนะยังไม่ได้เจอฝนจริงๆ ปรากฏว่าน้ำเข้าแล้ว         ตอนที่มาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯ  ทางนี้ช่วยเรื่องเจรจาให้ ซึ่งพี่ก็ทดลองให้เขาลองซ่อมอีกสักครั้งหนึ่ง ซ่อมครั้งนี้ไม่ดีครั้งที่ห้าแล้ว พี่จึงติดต่อกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกว่าพี่เจอปัญหานี้ ทางมูลนิธิวันนั้นก็นัดกันกับบริษัทรวมทั้งเชิญนักวิชาการมาดูในการตรวจสอบ ให้เขาเห็นว่าน้ำเข้ารถจริง ทางบริษัทเขาเห็นว่าหลังจากที่ซ่อมห้าครั้งแล้วมันก็มีการเข้าจริง ตรวจสอบวันนั้นก็เห็นกันเลยว่าเข้าหมดเลยทั้งสี่ประตู ทดสอบอย่างไรบ้าง         เราทดสอบด้วยการเอารถไปที่ศูนย์แล้วก็ใช้สายยางฉีดน้ำ ไม่นานค่ะเหมือนพี่ล้างเอง ก็ไม่นานไม่กี่นาทีเอง น้ำก็เข้าเลย พอเห็นพร้อมกันทั้งสองฝ่าย คือเรากับเขา เขาบอกจะให้เราเอาไปซ่อมอีก เขาสันนิษฐานว่าตัวซีลพลาสติกมันไม่แนบสนิทมันมีช่องว่างช่องโหว่ซึ่งทำให้น้ำเข้าได้ และช่องว่างนั้นมันก็เกิดจากฝีมือของช่างที่ทำ  มันก็เลยทำให้พลาสติกมันไม่แนบสนิทไปกับตัวซีลเลยเป็นเหตุให้น้ำเข้าในตัวรถ เขาอ้างอย่างนั้น        เขาบอกว่าเขามีตัวซีลมาใหม่ ซึ่งมันจะมีคุณภาพดีกว่าที่แล้วๆ มา อยากให้เราเอาไปซ่อมอีก คือใช้ซีลตัวใหม่อะไรประมาณนี้ พี่ก็ไม่ได้รับข้อเสนอตรงนั้นเพราะพี่เชื่อว่าห้าครั้งแล้วมันไม่ได้ทำความมั่นใจให้เราแล้ว พี่ก็ถามเขาว่าแล้วซีลตัวเดิมที่ใช้กับรถพี่มันใช้กับรถรุ่นอื่นของยี่ห้อนี้ไหม เขาก็บอกว่าใช้ พี่ก็บอกว่าแล้วทำไมมันถึงยึดที่เกรด ถ้าคุณบอกว่าปัญหามันเกิดจากตรงนั้น ทำไมมันเกิดที่รถพี่อย่างเดียวถ้าคุณใช้ซีลตัวเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนของรถคุณก็ตาม เคยพบปัญหาแบบนี้ในรถแบบเดียวกันกับของพี่ไหม         ถ้าเป็นคนรู้จักกันพี่ก็ไม่ค่อยรู้จักใครที่ใช้ แต่เท่าที่พี่เคยอ่านในเน็ตก็จะมีอยู่รายหนึ่งที่เหมือนพี่ คือน้ำเข้าที่ประตูเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ไปตามต่อแต่รู้สึกว่าเคสนั้นเขาเป็นคดีกัน เพราะว่าเจ้าของรถเขาไปร้องในงาน Motor Show เขาก็เป็นคดีกันไป รถคันนี้พี่ซื้อปลายปี 2560 ได้รถเดือนธันวาคม 60 แต่พี่ไม่ได้ขับเลย พี่จอดเอาไว้ พี่ขับจริงๆ คือปีใหม่ของปี 2561 เป็นช่วงที่ไม่ใช่หน้าฝน พี่ก็ขับมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าฝนพี่ถึงเห็นตรงนั้น จุดประสงค์ของพี่ต่อการร้องเรียนครั้งนี้คืออะไร        เราเคยเจราจากันตั้งแต่ตอนที่พี่ซ่อมไปแล้วสี่ครั้ง พี่ขอให้เขาซื้อคืน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่เขาปฏิเสธ คือตอนนั้นที่พูดคุยกันว่าเราจะทำข้อตกลงว่า ถ้าพี่ซ่อมครั้งที่ห้าไม่หายเขาต้องซื้อคืน โดยซื้อคืนเกินราคากับตลาดทั่วไป พี่เรียกเกินจากตลาดทั่วไป 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็รับปากรับคำวันนั้น วันนั้นที่คุยกันคือซื้อคืนเกินราคาตลาด ซึ่งพี่ยังไม่ได้แจ้งว่ากี่เปอร์เซ็นต์เพราะว่าพี่ขอไปดูก่อน หลังจากที่พี่ตกลงใจว่าขอเป็น 15 เปอร์เซ็นต์พี่ก็โทรไปบอกเขา แต่เขาก็ปฏิเสธกลับมาว่ายังไม่รู้เลยว่าเกิดจากอะไรจะให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร มันเป็นการบิดพลิ้วในสิ่งที่พูดกันวันนั้นว่าเขาจะต้องทำข้อตกลงว่า หนึ่ง ในระหว่างซ่อมมีรถให้เราใช้ อันที่สองถ้าซ่อมแล้วไม่หายให้เราทำอย่างไร แต่หลังจากที่บอกเรื่องราคาว่าเกินราคาตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็โยกอีกทางว่าก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร   มันไม่เป็นไปตามที่เราพูดคุยกัน เสียความรู้สึกมากไหม เห็นว่าชอบรถยี่ห้อนี้        เรามั่นใจว่าบริษัทแบบนี้มันน่าจะมีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี ลายเป็นว่าคุณไม่ซื้อเราคืน และยังพูดจาทำร้ายเรา ขณะที่เราเจอปัญหากับรถแล้วเรายังจะมาเจอกับปัญหาคำพูดของคุณอีก เหมือนเราถูกทำซ้ำๆ เราทุกข์อยู่แล้วเขาไม่ได้ช่วยให้เราคลายทุกข์ลงไปสักนิดเดียว แต่กลับเป็นการเพิ่มขึ้นมาด้วยซ้ำไป   วันนั้นพี่รู้สึกเหนื่อย แล้วรู้สึกว่าบางอย่างมันดำเนินการช้า ข้อตกลงก็ไม่มี แต่พี่ก็เอาไปซ่อมอีกครั้งเป็นครั้งที่ห้า โดยที่พี่ก็ไม่ได้แจ้งทางสำนักงานใหญ่เขาว่าพี่เอาไปซ่อมแล้วหรือว่าเอาไปแจ้งที่ดีลเลอร์ที่พี่ซื้อมาพี่ก็ไม่ได้แจ้ง        พี่ว่าพี่พอแล้วกับการซ่อมห้าครั้ง พี่ถือว่าพี่ให้โอกาสเขามากแล้ว ห้าครั้งแก้ไม่หายแล้ว มันจะมีอะไรมาให้พี่มั่นใจว่าครั้งที่หก เจ็ด มันจะหาย ถูกไหมคะ เราใช้รถมาเข้าปีที่สามแล้วประกันจะหมดแล้ว ถ้าหมดประกันไปแล้วพี่ต้องจ่ายเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่ปัญหาที่มันเกิดไม่ได้เกิดจากพี่เลยมันเกิดจากการผลิตของคุณ แล้วคุณก็รับประกันเราแค่สามปี หลังจากนั้นเราก็ต้องรับผิดชอบเองตลอดไป ในเมื่อมันแก้ไม่หายแบบนี้ การแก้ของเขานี่คือไม่ใช่ว่าแก้ตรงนี้แล้วเราจะเจอเลยนะ เขาฉีดน้ำให้เราดูวันนั้นมันก็ไม่เข้า แต่เราใช้ไประยะหนึ่งมันถึงจะเข้ามันเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการควรเป็นอย่างไร         อันนี้มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเครื่องยนต์ที่เขาอ้างว่ามันไม่ใช่เกี่ยวกับความปลอดภัย เขาพูดกับพี่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัย เขามองว่าถ้าเครื่องยนต์มีปัญหาคือเรื่องความปลอดภัย แต่พี่มองว่านี่ก็คือความปลอดภัยของพี่ที่จะขับรถไปทั้งๆ ที่น้ำก็นองอยู่ในรถ รถเป็นราแล้วพี่จะเป็นโรคไหม พี่มองว่าการที่รถจะออกจากบริษัทมันควรจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น เข้มงวด ถึงแม้เขาจะอ้างว่ามันก็ต้องมีบ้าง แต่พี่มองว่ามันไม่ควรจะมีบ้าง มันไม่ควรมี ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วคุณควรรับผิดชอบเราไม่ให้รู้สึกแย่ไปกว่านี้ ให้เรารู้สึกว่าเราได้รับการดูแลที่ดีเพราะเราซื้อคุณในราคาเต็ม เราไม่ได้ซื้อคุณในราคาที่ลด พี่พูดกับเขาว่าถ้าคุณบอกกับเขาว่ารถคุณมีปัญหามาก่อนแล้วฉันซื้อ ฉันยอมรับว่ามันมีปัญหามาก่อน แต่คุณไม่เคยบอกแล้วคุณก็ขายฉันในราคาเต็ม พี่เขียนจดหมายถึงบริษัทแม่เขาเลยที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ตอนนั้นคือครั้งที่สี่หลังจากที่มามูลนิธิแล้ว สิ่งที่ทำตอนนี้         คิดว่าพี่คงต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย อาจจะต้องฟ้องคดี อยากบอกให้รู้ว่าถ้าคุณไม่รับผิดชอบแล้ว มันต้องมีกระบวนการอื่นที่จะมาช่วยตรงนี้ เราก็ไม่ควรจะนิ่งเฉยหรือยอมคุณต่อไป เพราะพี่ถือว่าห้าครั้งพี่ยอมมามากแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังใช้รถอยู่ พอหน้าฝนพี่จะขนหัวลุกพี่หลอนมากเลย เวลาพี่ไปทำงานพอฝนตกพี่จะไม่ออกยังไม่กลับ ลำบากมาก ขณะขับไปแล้วฝนตกกลางทางพี่ก็จะภาวนาว่าอย่าตกเยอะนะพี่จะเป็นอย่างนี้ตลอด เราหลอนตลอดจิตตก         พี่อยากฝากถึงคนอื่นๆ ถ้าเราเจอปัญหาและเราไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างนี้ เราควรลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ของเรา เราอาจจะไปหาหน่วยงานที่เราคิดว่าสามารถสนับสนุนหรือช่วยเหลือเราได้ เราไม่ควรที่จะเอาของๆ เราที่มันไม่ดีไปขายต่อให้คนอื่น เขาเคยแนะนำพี่นะคนจากบริษัท คนที่มาเจรจาบอกให้พี่ซ่อมก่อนแล้วเอาไปขาย แต่พี่บอกว่าถ้าพี่จะขายก็ขายได้ในราคานี้ มีดีลเลอร์ของบริษัทนี้ที่อยู่ที่อื่นก็อยากได้รถพี่มากเลย พี่ไม่กล้าขายเพราะพี่ไม่อยากเอาความทุกข์ที่พี่มีไปให้คนอื่น พี่ไม่อยากเอาของที่เรารู้ว่ามันไม่ดีแล้วไปให้คนอื่นแล้วพี่ก็รอดตัวไป พี่ไม่ทำ ไม่หาวิธีการนั้น  หาวิธีการดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่ผลิตของออกมาดีกว่าที่เราเอาของที่ไม่ดีแล้วเอาไปโยนให้คนอื่นต่อ กลัวไหมการฟ้องคดีกับบริษัทใหญ่แบบนี้        พี่ไม่กลัวค่ะ พี่มองว่าถึงแม้เขาจะมีฝ่ายกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญแล้วก็เจอคดีมาเยอะ พี่เชื่อว่าพี่ไม่ใช่รายแรกที่ลุกขึ้นมาฟ้องเขา และเขาก็อาจมีทางหนีทีไล่ และพี่ก็รู้ว่าพี่จะต้องเหนื่อยอีกหลายรอบหลายครั้ง แต่พี่ว่าอย่างไรพี่ก็ต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ พี่ยอมเหนื่อยพี่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ เราต้องสู้ให้เห็นว่า ถึงคุณจะเป็นบริษัทอะไรอย่างไร แต่คุณต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ คุณไม่ใช่ใช้วิธีการที่ทำให้เรารู้สึกว่าให้เราล้าไปเอง เหนื่อยไปเองไม่อยากต่อสู้กับคุณอีกต่อไป พี่รู้สึกเหมือนเขาใช้กลยุทธ์แบบนี้กับเรา ให้เราเหนื่อย ท้อแท้ กลัวสารพัดแล้วจะเลิกราไปเอง มันไม่เชิงเป็นแรงผลักดันแต่ปกติพี่เป็นคนไม่กลัวและพี่คิดว่าพี่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิทธิ์อันชอบทำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลการทดสอบการใช้งานกล้องติดรถยนต์

        ผู้ใช้รถยนต์ในปัจจุบันมีความสนใจในการใช้งานกล้องติดรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ขับและผู้ร่วมเส้นทางสัญจร โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งมียี่ห้อและรุ่นหลากหลาย ในการทดสอบกล้องติดรถยนต์เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ เราสุ่มซื้อกล้องติดรถยนต์ที่ตัวอย่างจากท้องตลาดและร้านออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ในราคาระหว่าง 1,290 ถึง 3,990  บาท (ราคาซื้อขายในท้องตลาด ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2562)        วิธีการทดสอบที่ใช้ดัดแปลงจากการทดสอบของนิตยสาร CHOICE  ออสเตรเลีย (https://www.choice.com.au/) โดยให้อาสาสมัครที่ใช้งานรถเป็นประจำ 3 คน ใช้งานกล้องจริงคนละ 10 ยี่ห้อแล้วให้ความคิดเห็น โดยทีมทดสอบได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ความเห็นแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย (อาสาสมัครไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้องติดรถยนต์) คะแนนในการสำรวจความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่        1) บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ และการติดตั้ง (สำรวจ 6 หัวข้อ ได้แก่ ความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลในคู่มือการใช้งาน ความสะดวกในการติดตั้ง ความมั่นคงหลังการติดตั้ง ความสะดวกในการเปิด-ปิดกล้อง และความสะดวกในการเปิดดูภาพย้อนหลัง) ร้อยละ 30        2) การใช้งานในช่วงเวลากลางวัน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางวัน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางแดด) ร้อยละ 35        3) การใช้งานในช่วงเวลากลางคืน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางคืน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางคืน) ร้อยละ 35          ในภาพรวมสามารถสรุปได้ว่าผู้ทดลองใช้มีความพึงพอใจในระดับสูงกว่าระดับปานกลางทั้งด้านการติดตั้ง และการใช้งานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน อย่างไรก็ตามมีคุณสมบัติบางประการที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างมาก เช่น ลักษณะการติดตั้ง คู่มือการใช้งาน การ์ดหน่วยความจำ กล้องด้านหลัง การบดบังทัศนวิสัย การรบกวนของแสง และความคมชัดของหน้าจอ ผู้ใช้จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งาน และขอคำแนะนำจากผู้ขายที่เชี่ยวชาญตารางคุณสมบัติเฉพาะและอุปกรณ์ประกอบของกล้องติดรถยนต์          กล้องแต่ละรุ่นให้อุปกรณ์ประกอบการติดตั้งแตกต่างกัน เช่นการจับยึดกล้อง ส่วนใหญ่ใช้แป้นสุญญากาศและ/หรือแป้นกาวสองหน้า กล้องชนิดครอบกับกระจกมองหลัง จะไม่สามารถติดตั้งด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แต่จะมีกล้องเสริมสำหรับติดท้ายรถมาให้ด้วย ทุกรุ่นจำหน่ายพร้อมหัวเสียบช่องจ่ายไฟฟ้าในห้องโดยสารแรงดัน 12 V บางรุ่นมีสาย USB แยก เพื่อให้ต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ และมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่จำหน่ายพร้อมหน่วยความจำ ผู้ใช้อาจต้องศึกษาอุปกรณ์ประกอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาถึงวิธีการติดตั้ง การใช้งาน และความครบถ้วนสมบูรณ์ของอุปกรณ์ข้อสังเกตเพิ่มเติม         การใช้งานในเวลากลางวัน        จากผลการประเมินจะเห็นว่ากล้องติดรถยนต์แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันมากที่สุดในเรื่องความคมชัดของหน้าจอ ทั้งขนาดและความสว่างของหน้าจอ ผู้ใช้อาจต้องพิจารณาก่อนการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการใช้หน้าจอเพื่อดูภาพที่บันทึกไว้ กล้องบางรุ่นที่ไม่มีหน้าจอต้องเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ การแสดงผลภาพจึงต้องพิจารณาถึงการส่งภาพมายังโทรศัพท์มือถือด้วย รวมไปถึงระดับการบดบังทัศนวิสัย ที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งการติดตั้งที่เหมาะสม ส่วนหัวข้ออื่นๆ ได้แก่ แสงรบกวนและความมั่นคงของการใช้งานกลางวัน มีคะแนนเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก      กล้องติดรถยนต์ที่มีระดับการบดบังทัศนิวิสัยในระดับปานกลางถึงไม่บดบังสายตาเลย ได้แก่ Blueskysea ส่วนยี่ห้อที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ HP AnyTek PROOF และ Transcend          กล้องที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ AnyTek และ PROOF ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi และ DOD การใช้งานในเวลากลางคืน        จากผลการประเมินด้านการใช้งานกลางคืน พบว่ากล้องแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันด้านระดับแสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ และระดับการบดบังทัศนวิสัย เนื่องจากในเวลากลางคืนหน้าจอของกล้องจะมีความสว่างและโดดเด่นขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงรบกวนและทำให้ทัศนวิสัยโดยรวมสูญเสียไปกล้องที่มีระดับแสงรบกวนมากจะมีระดับการบดบังทัศนวิสัยมากด้วย ผู้ใช้ที่ใช้รถในเวลากลางคืนอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงวิธีการลดระดับแสงรบกวนระหว่างการใช้งาน แต่ในด้านความคมชัดของหน้าจอไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างการใช้งานกลางวันและกลางคืน จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่ไม่มีแสงสว่างรบกวนสายตาในเวลากลางคืน ได้แก่ HP ASTON Xiaomi Blueskysea และ DENGO ในขณะที่จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่มีแสงสว่างรบกวนสายตามากที่สุดคือ AnyTek และ Transcend     กล้องติดรถยนต์ที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืนได้แก่ HP ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi GoTrec และ DENGO

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 226 คดีรถชน ผู้ตายมีแอลกอฮอล์ คนขับที่เป็นคู่กรณีต้องรับผิดไหม

        สวัสดีครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงและเริ่มหนาวกันแล้ว ต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีๆ  อย่าประมาทนะครับ เดี๋ยวจะป่วยเป็นภูมิแพ้  เมื่อพูดถึงเรื่องความประมาท ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ก็อยากหยิบยกเรื่องราวน่าสนใจของคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนมาเล่าสู่กันฟัง หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถชนก็มักพบว่า สาเหตุมาจากคนขับที่ไม่ได้ระมัดระวังให้ดี  ซึ่งในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อด้วยความเร็ว ระหว่างที่ขับตามหลังรถกระบะคันหนึ่ง อยู่ดีๆ รถกระบะคันดังกล่าวก็หยุด เพราะมีรถอีกคันออกมาจากปั๊มน้ำมัน ทำให้จำเลยที่ขับรถสิบล้อหักรถไปทางขวาไปชนกับรถผู้ตาย ต่อมาก็พบว่าผู้ตายมีแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยจึงอ้างว่าผู้ตายก็มีส่วนประมาทด้วย  ซึ่งต่อมาศาลฏีกาก็ได้ตัดสินว่าแม้ผู้ตายจะมีแอลกอฮอล์ แต่เมื่อจำเลยขับรถประมาท จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550         จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะ ซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้          จากคดีนี้ นอกจากเรื่องแอลกอฮอลล์แล้ว เราจะเห็นได้ว่าศาลฏีกาก็มองว่า เมื่อผู้ตายไม่ได้มีส่วนประมาทกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ         อีกประเด็นที่อยากฝากไว้คือ กรณีที่เมาแล้วขับกับขับรถประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวางหลักไว้ว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อตัดสินลงโทษ ต้องใช้บทลงโทษที่หนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 “มาตรา 291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550         การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด         สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงทุกท่านที่จะใช้รถใช้ถนน ขอให้มีความระมัดระวัง เอื้อเฟื้อต่อกัน บางเรื่องหากเราไม่ใชอารมณ์ เคารพกฎหมาย ถ้อยทีถ้อยอาศัย คดีความก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถ

        เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากประกันภัยรถยนต์ บางทีต้องรอให้ปัญหาปะทุและผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบอยู่นาน กว่าที่จะได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งผู้บริโภคเองต้องอย่าเพิกเฉย แม้บางครั้งการร้องเรียนอาจจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การร้องทุกข์หนึ่งครั้ง เชื่อเถอะว่า สามารถได้ผลกว่าการบ่นพันครั้งแน่นอน        ขณะคุณปิยบุตรกำลังชะลอรถยนต์ของตนเพื่อหยุดตรงไฟแดงเมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเหลือง แต่รถกระบะซึ่งตามมากลับชนรถยนต์ของคุณปิยบุตรเพราะไม่อยากจะหยุดรถที่สี่แยก โชคดีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะที่รถยนต์ คุณปิยบุตรปลอดภัย แต่ก็ต้องปวดหัวเพราะต้องวุ่นวายกับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายหนัก        แม้ทางคู่กรณีคือรถกระบะ ยอมรับผิดและมีประกันภาคสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้แจ้งรายละเอียดของอู่ต่างๆ เพื่อให้คุณปิยบุตรนำรถยนต์ไปซ่อมแซม (กรณีนี้คุณปิยบุตรต้องพึ่งอู่ที่ทางตัวแทนประกันภัยเสนอ เนื่องจากรถยนต์ของตนเองไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจมีเพียง ประกันตาม พ.ร.บ.เท่านั้น) แต่พอไปตามอู่ต่างๆ ที่ตัวแทนประกันภัยระบุ กลับถูกปฎิเสธจากหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ จึงมีอู่หนึ่งรับซ่อมแซมให้ซึ่งใช้เวลาในการซ่อมแซม 8 วัน คุณปิยบุตรจึงนำรถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ        ทางตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้จ่ายค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ให้กับคุณปิยบุตรเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ซึ่งจ่ายตามระยะเวลาที่รถยนต์อยู่ในการซ่อมแซมของอู่บริการ ทำให้คุณปิยบุตรสงสัยว่า แล้วระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ตนไม่ได้ใช้รถยนต์เพราะไม่มีอู่ไหนรับซ่อมแซมให้ ทำไมตนถึงไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงเวลานั้น แนวทางแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณปิยบุตรถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของคณะอนุกรรมการ คอบช. และได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งต่อมา ทางคปภ.ได้ปรับปรุงเรื่อง ความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัยและอยู่ระหว่างนำรถยนต์เข้าซ่อมแซม ดังนี้        รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท        รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท         รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท         “หากฝ่าฝืน มีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่า บริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”         ที่มา คปภ.

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อบอกเลิกสัญญาได้นะ

        รู้หรือไม่ว่า ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 นั้นได้กล่าวถึงเหตุที่ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ        1.ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด        3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา        4.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา        และ/หรือ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตามกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        กรณีตัวอย่างของคุณโดมินิค ที่ไปจองรถยนต์ BMW รุ่น 320d iconic ปี 2017 ในราคา 2,329,000 บาท กับบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด โดยพนักงานขายแจ้งให้วางเงินจองไว้จำนวน 50,000 บาท และส่วนที่เหลือให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ โดยมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561        ระหว่างเวลาก่อนส่งมอบนั้น มีงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคุณโดมินิคลองสอบถามกับพนักงานขายว่า จะมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตนเองจะสามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรุ่นที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่า หากต้องการข้อเสนอพิเศษหรืออุปกรณ์เสริมคือกล้องติดรถยนต์ ต้องขยับมารับรถยนต์ในเดือนเมษายน คุณโดมินิคตอบตกลงแต่ขอให้ส่งมอบรถยนต์ก่อนสงกรานต์ พนักงานจึงขอให้นำเอกสารมามอบให้ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้วันสงกรานต์ทางพนักงานไม่ติดต่อมา คุณโดมินิคจึงติดต่อกลับไปทำให้ทราบว่าบริษัทไฟแนนซ์หยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว จนวันที่ 20 เมษายนทางพนักงานจึงติดต่อมาแจ้งว่า ไฟแนนซ์อนุมัติไม่เต็มวงเงิน คุณโดมินิคต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 50,000 บาท แต่ไม่มีเอกสารจากทางไฟแนนซ์ยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นการอนุมัติแบบพิเศษไม่มีเอกสาร ทำให้คุณโดมินิคไม่แน่ใจจึงบอกปฏิเสธการวางเงินดาวน์เพิ่มและขอยกเลิกสัญญา        เมื่อบอกเลิกสัญญาพนักงานขายได้แจ้งว่า ทางไฟแนนซ์ได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ แต่คุณโดมินิคก็ยังยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ทำให้ผู้จัดการบริษัทติดต่อกับคุณโดมินิคโดยตรงเพื่อตกลงเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งคุณโดมินิคบอกซ้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องการได้รถยนต์แล้ว  แต่ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทกลับส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบรถยนต์ที่ได้สั่งซื้อตามใบจองมาให้ คุณโดมินิคจึงทำหนังสือแจ้งขอคืนเงินมัดจำกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆ จากทางบริษัท คุณโดมินิคจึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา        จากเหตุที่เกิดขึ้น คุณโดมินิคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ และมีสิทธิได้รับการคืนเงินมัดจำ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุดทางบริษัทตกลงคืนเงินจองให้กับผู้ร้องเรียนจำนวน 50,000 บาท แต่ขอหัก 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิตที่ทางบริษัทถูกเรียกเก็บ เหลือคืนให้ผู้ร้อง 48,500 บาท ซึ่งผู้ร้องตกลงจึงเป็นอันยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความคืบหน้า กรณีรถยนต์ใหม่มีปัญหา “มาสด้าสกายแอคทีฟ”

        จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วซึมของโช้ครถยนต์ทางด้านหลัง  ต่อมาเมื่อนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ช่างของศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนโช้คให้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้ร้องว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรถล็อตที่ผลิตในปี 2015 เท่านั้น เพราะซัพพลายเออร์มีปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเห็นว่าการที่อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้คุณภาพ อาจจะส่งผลต่อการขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และทำให้รถเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  ล็อตดังกล่าวหรือผู้อื่นที่เป็นผู้ร่วมใช้ถนนเกิดความเสียหาย จึงร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค และเร่งให้บริษัทมีมาตรการในการดูแลชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่อยู่ระหว่างร้องเรียน ทางผู้ร้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรถมาสด้า 2 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนใช้รถยนต์รุ่นนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มว่า มีผู้ซื้อรถ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  รายอื่นพบปัญหาเช่นเดียวกันกับตนเอง        จึงเกิดการรวมตัวและตั้งกลุ่ม “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นในเฟซบุ๊ค และยังพบว่ารถรุ่นดังกล่าวยังมีอาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. กลายเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น        หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยมีแกนนำคือผู้ร้องเรียนท่านแรก ได้พยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ  ผู้ร้อง ถูกบริษัทมาสด้า ฟ้องดำเนินคดี ในฐานความผิดละเมิด ใช้สิทธิเกินส่วน กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 84 ล้านบาท โดยอ้างว่าการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของผู้ร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทลดลงแนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงบริษัทมาสด้า ขอให้ถอนฟ้องผู้ร้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้อง แต่บริษัทเพิกเฉยและดำเนินคดีกับผู้ร้องต่อไป        ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการจัดหาทนายความ ในการทำคำให้การต่อสู้คดีให้แก่ผู้ร้อง ปัจจุบันศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของบริษัท      ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกค้ากว่า 80 ล้าน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง         จากกรณีที่ เมื่อต้นปี 2561 บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยทางบริษัทให้เหตุผลในการฟ้องว่าผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลงนั้น                        30 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี                นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้นเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง        และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         “เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นเองว่าเราทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับ” นายภัทรกรกล่าว         

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เพิ่งออกรถใหม่แต่มีปัญหา เบื่อซ่อมขอเงินคืนได้หรือไม่

        เมื่อซื้อสินค้าใหม่ สิ่งที่คาดหวังคือคุณภาพของสินค้าที่ใช้งานได้แบบสมบูรณ์ แต่หากเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพที่ไม่เหมือนใหม่หรือด้านประสิทธิภาพที่บกพร่อง คุณก็คงอยากเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่หรือขอเงินคืน ซึ่งกับสินค้าทั่วไปอาจทำได้ไม่ยาก แต่ของมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ บอกเลยว่ายาก เพราะบริษัทรถยนต์เกือบทุกค่ายไม่มีนโยบายนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ผู้บริโภคต้องสู้กันเต็มที่กว่าจะได้ในสิทธิที่ตนพึงได้        เรื่องรถใหม่ป้ายแดงมีปัญหาไม่ได้เกิดกับเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ใช้งานทั่วไป แม้กับรถยนต์หรูก็มีปัญหาได้ เช่นกรณีของคุณกรุณา ซึ่งได้วางเงินจองรถยนต์หรูจากโชว์รูมรถยนต์ที่มาเปิดขายในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปี 2560   ในราคารวมทั้งสิ้น 3,990,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ไว้ 1,197,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระกับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 48 งวด        คุณกรุณารับรถยนต์มาใช้งานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 และเพียงแค่ 4 วัน รถก็มีอาการเกียร์ลาก จึงแจ้งไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งบอกให้คุณกรุณานำรถมาตรวจสภาพในวันที่ 23 มกราคม เมื่อช่างตรวจสภาพแล้วบอกว่า รถไม่มีปัญหาอะไรแต่จะปรับปรุงชุดคำสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ หรือ update software ให้ ซึ่งต้องนำจอดไว้ที่ศูนย์ฯ 2 สัปดาห์        เมื่อคุณกรุณานำรถกลับมาใช้งานอีกครั้งปัญหาเดิมก็กลับมา รถเกียร์ลาก วิ่งไม่ออก จึงนัดกับทางศูนย์ฯ ว่าจะนำรถกลับไปตรวจสภาพใหม่ แต่บังเอิญคุณกรุณาเกิดอุบัติเหตุหกล้ม จึงไม่สะดวกขับรถไปที่ศูนย์ฯ ตามนัด อย่างไรก็ตามในเวลานั้นพนักงานขายได้นำรถสำรองมาให้ใช้งานแทนรถยนต์ที่มีปัญหา และนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์บริการให้ จนระยะเวลาย่างเข้าเดือนเมษายน ทางศูนย์ฯ ได้แจ้งว่าช่างจากทางบริษัทแม่บอกให้เปลี่ยนเกียร์ใหม่  แต่ต้องรออะไหล่จากทางบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งคุณกรุณานั้นคิดว่า เมื่อทางศูนย์บริการเปลี่ยนสมองเกียร์และอัปเดต ซอฟท์แวร์แล้ว รถยนต์น่าจะใช้งานได้ ถ้าแค่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ ขอนำรถมาใช้งานก่อนได้ไหม เมื่ออะไหล่มาถึงค่อยนำรถไปศูนย์บริการ  เพราะตั้งแต่ซื้อรถยนต์มาได้ใช้งานแค่ไม่กี่วัน ขณะที่เงินก็จ่ายไปเป็นล้านแล้ว        แต่เมื่อได้รถมา วิ่งไปได้ไม่กี่วัน รถก็เกียร์ลาก วิ่งไม่ออกเหมือนเดิม  และเมื่อทางศูนย์ฯ บอกว่าอะไหล่มาแล้วให้นำไปเปลี่ยนเกียร์ใหม่แต่จะไม่มีรถยนต์สำรองให้ คุณกรุณาเลยขอขับคันนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้รถสำรอง ซึ่งต้องรอจนถึงต้นเดือนมิถุนายน และรถยนต์คันหรูก็เข้าไปจอดในศูนย์บริการอีกครั้ง จนวันที่ 19 มิถุนายน พนักงานขายได้ขับรถที่เปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยแล้วมาส่งให้ที่บ้าน          คุณกรุณาใช้งานไปได้อีกราวสองเดือน วันหนึ่งขณะที่ขับรถอยู่คุณกรุณาก็ต้องขวัญหาย เมื่อรถเกิดอาการกระชากอย่างแรงขณะกำลังออกตัวหลังจอดติดไฟแดง ทั้งยังมีเสียงดังเหมือนกับว่ามีรถคันอื่นมาชน จึงสงสัยว่าน่าจะเป็นอาการผิดปกติของเกียร์อีกแล้ว จึงต้องนำรถเข้าศูนย์บริการอีกครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งว่าทางศูนย์ฯ จะเปลี่ยนสมองเกียร์ให้อีกครั้ง โดยคราวนี้ต้องรออยู่เกือบสองเดือนกว่าทางศูนย์ฯ จะโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรับรถได้        “ดิฉันเบื่อมากๆ รถยนต์ที่จ่ายเงินสดไปเป็นล้าน แต่ได้มาใช้งานอยู่ไม่กี่เดือน เข้าๆ ออกๆ ศูนย์บริการไม่รู้กี่รอบ ไม่ไหวแล้วจริงๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ลง อย่างนี้จะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม”  นั่นเป็นสิ่งที่คุณกรุณาแจ้งขอคำปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา        อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เรื่องการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของบริษัทค่ายรถยนต์ในไทย แต่บริษัทรถยนต์มักจะขอตรวจสอบและแก้ไขก่อนจนกว่าลูกค้าจะพอใจ หรือปลอบใจลูกค้าด้วยการแถมระยะเวลารับประกันชิ้นส่วน หรือฟรีค่าแรงในการซ่อมบำรุงให้ยืดระยะเวลาออกไปอีกเล็กน้อย เฉพาะบางรายเท่านั้นที่ค่ายรถยนต์ยอมทำตามลูกค้า เพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ตัวเองเอาไว้        ในกรณีของคุณกรุณา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการเจรจาเองกับทางผู้ร้อง และทราบต่อมาในภายหลังว่าสามารถยุติเรื่องลงได้ เป็นอันว่าคุณกรุณาเป็นกรณีเฉพาะรายที่ทางบริษัทต้องการรักษาชื่อเสียงของบริษัทไว้ และดูจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว คุณกรุณาแทบจะไม่ค่อยได้ใช้งานรถยนต์เลย เป็นความเสียหายที่เกิดจากสภาพรถยนต์เองโดยแท้        อย่างไรก็ตามจากบทเรียนในอดีต การใช้สิทธิขอเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือขอเงินคืน จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ซื้อไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการผิดปกติหรือชำรุดในแต่ละกรณี อีกทั้งรถยนต์ก็ได้ใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว ตรงนี้จะเกิดปัญหาภาระในการติดตามทวงสิทธิและการพิสูจน์ความบกพร่อง ซึ่งผู้บริโภคจะเสียเปรียบด้านข้อมูล กระนั้นแล้วหากไม่พอใจสินค้าใหม่ป้ายแดงจริง ก็ต้องใช้สิทธิให้ถึงที่สุด อย่างแรกคือต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ให้ดี เปิดเจรจาและที่สุดคงต้องให้ศาลวินิจฉัย เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 “ ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่” และในส่วนของกฎหมายเช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถในสภาพที่สมบูรณ์หรือใช้งานได้เป็นปกติแก่ผู้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การฟ้องร้องคดีประวัติศาสตร์ ขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี

จากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา (EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ของเยอรมนี(Musterfeststellungsklage) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภคเยอรมนี(The consumer protection federal association: VZBV) ร่วมกับ สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี(The German automobile club: ADAC) ได้เป็นแกนนำในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะในการฟ้องคดีที่มีผู้บริโภคเสียหายเป็นจำนวนมาก ลักษณะการฟ้องคดีแบบเฉพาะนี้เรียกว่า Musterfeststellungsklage(Pattern Declaratory Action) ผมขออนุญาตนำประเด็นและสาระสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องดำเนินการการฟ้องคดีด้วยวิธีพิเศษนี้ มาเล่าสู่กันฟังครับ1 ทำไมองค์กรผู้บริโภคต้องฟ้องคดีองค์กรผู้บริโภคได้รณรงค์ให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Pattern Declaratory Action) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้บริโภคในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้สินค้าและบริการ ที่กระทบกับประชาชนในฐานะผู้บริโภคในวงกว้าง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง และด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ จะช่วยให้ข้อจำกัดในเรื่องของอายุความหมดไป        2 บทบาทหน้าที่ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีคดีประวัติศาสตร์นี้ เป็นคดีแรกที่ทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันฟ้องคดี ซึ่งการร่วมกันฟ้องคดีของทั้งสององค์กร จะช่วยเพิ่มโอกาสในการชนะคดีมากกว่าการแยกกันฟ้อง และสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีเองก็มีหน้าที่ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ที่เป็นผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ และผู้ซื้อรถยนต์        3 ใครสามารถมาร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกบ้าง ?ผู้บริโภคทุกคนที่เป็นเจ้าของ รถยนต์ยี่ห้อ VW, Audi, Seat และ Skoda ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล รุ่น EA 189 ขนาด 1.2, 1.6 และ 2 ลิตร)        4 ประเด็นอะไรที่ศาลพิจารณาในคดีนี้ศาลพิจารณาว่า VW ที่ ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลผิดพลาด เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย จากการชำรุดบกพร่อง อันเป็นผลมาจากการจงใจ แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ(Software Manipulation) 5 ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีครั้งนี้สามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้เข้าร่วมลงชื่อฟ้องคดีในครั้งนี้ ควรปรึกษาทนายความหรือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ        6 เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไปการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ มีไว้เพื่อให้ศาลตัดสินว่า การกระทำของ บริษัท VW มีความผิด แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี เพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหาย  ซึ่งหากศาลตัดสินคดีทางผู้บริโภคแต่ละรายต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาล จะส่งผลให้การดำเนินคดีที่ต่อเนื่องกับการฟ้องร้องคดีนี้สะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดีในศาล ข้อดีของการฟ้องคดีด้วยวิธีการแบบนี้ คือ ความเสี่ยงจะตกอยู่กับองค์กรผู้บริโภคไม่ใช่ ตัวผู้บริโภค และผู้บริโภคยังมีเวลาในการตัดสินใจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายหากผลของการตัดสินคดี เป็นคุณกับโจทก์ที่เป็นองค์กรผู้บริโภค7 ในกรณีที่องค์กรผู้บริโภคแพ้คดี มีผลอย่างไร ในกรณีที่ศาลตัดสินว่า VW ไม่ได้กระทำผิด ผลของคำพิพากษามีผลผูกพันไปยังศาลอื่นๆ ด้วย องค์กรหรือบุคคลที่ร่วมฟ้องคดี ไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้        8 ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมฟ้องคดีได้อย่างไรผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายสามารถลงชื่อเข้าร่วมการฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทางองค์กรผู้บริโภคจะส่งรายชื่อผู้ร่วมฟ้องร้องไปยัง สำนักงานกระทรวงยุติธรรมยุติธรรม (Bundesamt fÜr Justiz) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากนั้น ทางสำนักงานจะส่ง คำฟ้องคดีและรายชื่อผู้ร่วมฟ้องไปยังฝ่ายจำเลย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลา 14 วัน        9 ผู้บริโภคสามารถถอนรายชื่อในภายหลังได้หรือไม่สามารถทำได้ จนกว่าศาลจะนัดคู่ความมาศาลครั้งแรก ซึ่งหากศาลบอกวันนัดมาแล้วทางองค์กรผู้บริโภคจะแจ้ง ผู้ที่ลงชื่อร่วมฟ้องทันทีที่ได้รับหมายนัดจากศาล10 ในกรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองไปแล้วยังสามารถร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อฟ้องร้องคดีได้ หากกระบวนการทางศาลยังไม่ถึงที่สุด(คำพิพากษาศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) แต่กระบวนการทางศาลของผู้บริโภคจะถูกระงับไว้ เพื่อรอผลของการฟ้องร้องคดีนี้11 จะสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่ถ้า เคยทำสัญญาไกล่เกลี่ยกับ บริษัท VW มาแล้วโดยทั่วไปการทำสัญญาไกล่เกลี่ย มักจะมีข้อสัญญาที่ไม่ให้คู่ความไกล่เกลี่ยใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาลได้ ในภายหลัง ดังนั้นหากสนใจจะลงชื่อ ร่วมฟ้องคดี ผู้บริโภคต้องปรึกษากับทนายความ และฝ่ายกฎหมายขององค์กรผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีก่อน        12 ผู้บริโภคที่ขายรถไปแล้วสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่กระบวนการลงชื่อร่วมฟ้องเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ซื้อรถยี่ห้อ และรุ่นดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2008 สามารถร่วมลงชื่อได้ รวมทั้งผู้บริโภคที่ซื้อรถใช้แล้ว ด้วยเช่นกัน13 ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นประเด็นที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ กระบวนการนี้ เริ่มที่ศาลสูงแห่งรัฐ(Oberlandesgericht: OLG) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 2  ปี ในการพิจารณาพิพากษาคดี และอาจไปจบที่ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) ในเวลา 2-3 ปี        14 ผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดีสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้อย่างไรผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ ที่เวบไซต์ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (adac.de/musterfeststellungsklage) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  (www.musterfeststellungsklagen.de* (vzbv))กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มตาม เยอรมนีโมเดลนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน กว่าที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Musterfeststellungsklage) ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา และประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018  และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ได้ทดลองใช้เครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมเลยทันที สำหรับประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 46 ก็บัญญัติให้  “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของ  ผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผมมองว่า องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระควรมีส่วนร่วมในการร่างและพิจารณากฎหมาย ที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคทุกฉบับ และควรมีบทบาทในฐานะกรรมาธิการในวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ ให้ความเห็นและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จนต้องใช้การฟ้องร้องคดี หรือใช้ความรุนแรง ในการทวงถามความยุติธรรมเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน เท่าที่เราพบเห็นในข่าวสารทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ผลทดสอบประสิทธิภาพแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์ระดับสูง

จากบททดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์ จากฉลาดซื้อฉบับที่ 197 เดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นการทดสอบสำหรับฟิล์มกันร้อนระดับล่าง ราคาอยู่ในช่วง 3,000-5,000 บาท ทั้งนี้ได้มีผู้บริโภคเรียกร้องให้ทดสอบฟิล์มกันร้อนระดับสูงด้วย ดังนั้นการทดสอบในครั้งนี้ จึงใช้ตัวอย่างฟิล์มกันร้อน ระดับช่วงราคา 18,000 – 30,000 บาท จำนวน 7 ตัวอย่าง จากยี่ห้อที่เป็นที่นิยมในตลาด ได้แก่ Vox, Ultimate, Ceramic Original, Smarttec, 3M และ V-kool โดยแสดงค่าคุณสมบัติจำเพาะดัง ตารางที่ 1ตารางที่ 1 แสดงค่าคุณสมบัติจำเพาะต่างๆ ของฟิล์มกันร้อน ซึ่งจะอธิบายความหมายตามหลักทฤษฎีที่กล่าวว่า แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV) อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้การเกิดความร้อนในรถยนต์ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ             สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้ -  VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา -  Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง -  IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด -  UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลต TSER (Total SolarEnergy Rejection) การป้องกัน พลังงานแสงอาทิตย์โดยรวมเครื่องมือ อุปกรณ์ทดสอบ -  ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต -  แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง -  เครื่องวัดอุณหภูมิ -  เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm) -  เครื่องวัดแสงยูวีเอ หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์การทดสอบ การทดสอบแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ -  ทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ -  ทดสอบเรื่องการป้องกันความร้อน   ทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ     วัดค่าสเปคตรัมของแสง เพื่อตรวจสอบแสงที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงและรังสีความร้อน ที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมเพียงพอ ช่วงที่ต้องการทดสอบด้วยเครื่องวัดแสงเชิงสเปคตรัมมีความสามารถวัดค่าได้ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร สำหรับค่ารังสีความร้อนช่วง อินฟราเรด ที่มีความยาวคลื่นมากกว่า 1000 นาโนเมตรจะไม่สามารถวัดค่าได้ ด้วยเครื่องวัดนี้ พลังงานความร้อนในรูปแบบนี้ จะใช้วิธีประเมิน ในหัวข้อถัดไป   สำหรับผลของสเปคตรัมของแสงที่วัดได้จากเครื่องมือ เป็นดังนี้ ตารางที่ 2 ผลการทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ ของตัวอย่างฟิล์มกันร้อนระดับสูง  ทดสอบเรื่องการป้องกันความร้อน เป็นการวัดหาประสิทธิภาพการสกัดกั้นความร้อนของฟิล์มกันความร้อน โดยให้ความร้อนด้วยหลอดไฟขนาด 2000 วัตต์ ที่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้ววัดค่าความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตู้ทดสอบ เปรียบเทียบกับอุณหภูมิ ที่เกิดขึ้นภายนอก โดยประสิทธิภาพของฟิล์มกันความร้อนจะถูกประเมินจาก อุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างภายในตู้ทดสอบกับภายนอกตู้ทดสอบ หากมีความแตกต่างกันมาก ฟิล์มชนิดนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ชนิดที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิน้อย ก่อนทดสอบ จำเป็นต้องหาช่วงเวลาที่ใช้ในการทดสอบ โดยประเมินจากผลของค่าอุณหภูมิภายนอก หลังจากให้แสงความร้อนไป ช่วงเวลาหนึ่ง ที่ทำให้อุณหภูมิมีค่าคงที่ ดังแสดงในภาพที่ 4 พบว่าในเวลานาทีที่ 15 อุณหภูมิมีความคงที่ดี ดังนั้นจึงกำหนด ให้วัดค่าอุณหภูมิภายนอกและภายในตู้ทดสอบ ที่เวลาเริ่มต้นและ เวลา 15 นาที หลังจากให้แสงและความร้อนหลังจากเปลี่ยนฟิล์มกันความร้อนที่นำทดสอบ ชนิดต่างๆ กันแล้ว ผลที่ได้นำมาเปรียบเทียบกันแสดงในตารางที่ 3สรุป   จากการผลการทดลองที่ได้พบว่าฟิล์มกันความร้อน V Kool VK30 มีความสามารถกันความร้อนได้สูงสุดเหนือกว่ายี่ห้ออื่นอย่างเห็นได้ชัด (ความต่างของอุณหภูมิภายนอกและภายในตู้ทดสอบ 13.86) แต่จากการสืบราคา ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งก็มีราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ เช่นกัน และถึงแม้ว่าฟิล์มกันความร้อน  ยี่ห้อ Vox รุ่น Luxury 60 มีความสามารถในการกันความร้อนด้อยกว่ายี่ห้ออื่น แต่หากดูผลของตารางที่ 2 (ความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ) เปรียบเทียบด้วยจะเห็นว่า Vox รุ่น Luxury 60 มีความใสกว่าทุกยี่ห้อ  สำหรับในกลุ่มที่ผลของการกันความร้อนใกล้เคียงกันได้แก่ Ultimate, Ceramic Original, Lamina, Smarttec และ 3M แต่หากพิจารณา ตารางที่ 2 และ 3 ควบคู่กัน จะพบว่าฟิล์มกันความร้อนยี่ห้อ Ultimate รุ่น UM15 จะมีความสามารถมากกว่า เนื่องจากแผ่นฟิล์มใสกว่า แสงผ่านมาได้มากกว่า อีกทั้งมีความสามารถในการต้านทานความร้อนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประสิทธิภาพตามผลทดสอบ ความพึงพอใจของผู้บริโภคก็มีความสำคัญ ก่อนพิจาณาเลือกซื้อควรเปรียบเทียบ ข้อมูลหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ราคา มุมมอง ทัศนวิสัย และความอับสัญญาณ GPS ด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 211 ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ รู้หรือไม่ เรียกได้จากใคร?

        หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน กรณีรถยนต์ โดนรถของคู่กรณีชนได้รับความเสียหาย ถ้าท่านเป็นฝ่ายถูก และไม่ได้มีส่วนร่วมในการประมาทที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ได้จากใคร?         ถ้าเราเป็นฝ่ายถูก  สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์จากบริษัทประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีได้ ไม่ใช่เรียกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนเองนะครับ        การเรียกร้องต้องทำอย่างไร ยุ่งยากหรือเปล่า?  ขอเริ่มดังนี้ คือ        1.    เราต้องขอใบเคลมรถยนต์ของคู่กรณี สำหรับยืนยันว่ารถยนต์คู่กรณีป็นฝ่ายผิด และถ่ายรูปใบเคลม กรมธรรม์ประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีไว้ เพื่อจะได้ทราบรายละเอียด เช่น ชื่อบริษัทประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถยนต์ของคู่กรณี  ชื่อผู้ขับขี่ และเลขการเคลมประกัน         2.  หลังจากนั้นให้ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์ หรืออู่ในเครือบริษัทประกันของท่าน        3.  เมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จ ให้ขอรายการซ่อมแซมรถยนต์ว่ามีรายการอะไรบ้าง และใบรับรถยนต์จากศูนย์หรืออู่ซ่อม โดยต้องระบุวันที่เข้าซ่อม และวันที่ซ่อมรถยนต์เสร็จ จากศูนย์หรืออู่ที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม         4. ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณี เพื่อเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ โดยใช้เอกสารประกอบดังนี้                   - สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์                   - สำเนาทะเบียนรถยนต์                   - สำเนากรมธรรม์ของผู้เรียกร้อง                   - ใบรับรถยนต์จากศูนย์ หรืออู่ซ่อม                   - รายการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหาย                   - ภาพถ่ายรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ                   - สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร                   - หนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์                   - หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้)       5. การติดต่อบริษัทประกันของรถยนต์คู่กรณี ถ้าสะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ก็จะรวดเร็วกว่า แต่ถ้าท่านอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ติดต่อผ่านสำนักงานสาขาของบริษัทประกันภัยนั้นๆ สาขาเขาจะส่งเรื่องต่อเข้าไปที่สำนักงานใหญ่เอง แต่อาจจะให้เวลานานกว่ายื่นเองที่สำนักงานใหญ่             ท่านสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ ที่ต้องใช้พาหนะอื่นๆ ในการเดินทางแทน เช่น ค่ารถแท็กซี่ หรือค่ารถจักรยานยนต์รับจ้าง  โดยคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นรายวัน  คูณ กับจำนวนวันที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม             ค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์บริษัทประกันภัยมีแนวปฏิบัติคราว ๆ  ไว้ว่าจะต้องจ่ายดังนี้     1.    รถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถเก๋ง บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 300 – 400 บาท     2.    รถกระบะที่ใช้ในการบรรทุก หรือรับขนส่งสินค้า บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 500 – 700 บาท     3.    รถตู้ที่วิ่งโดยสาร บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ  1,000 บาท         กรณีที่ท่านมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าขาดประโยชน์มากกว่าตัวเลขดังกล่าว ก็สามารถเรียกตามจริงไปก่อนได้ เพราะว่าบริษัทประกันภัยจะต้องมีการเจรจาต่อรองกับท่านอีกครั้ง พร้อมกันนี้ผมได้แนบ ตัวอย่างหนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้อ่านในการเรียกร้องจากบริษัทประกันภัย        เมื่อเจรจาตกลงกับบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณีได้แล้ว เขาจะให้ท่านลงนามในหนังสือประนีประนอมยอมระงับข้อพิพาท  สำหรับตัวเงินที่ตกลงกันได้   หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยคู่กรณี จะโอนเงินค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ให้ท่าน เป็นอันเสร็จกระบวนการเรียกร้อง        ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงจะได้ความรู้ ในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่ต้องเสียค่าเดินทางด้วยพาหนะอย่างอื่น แทนการใช้รถยนต์ของตนเอง  แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ…..

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสต่างแดน

แบบนี่สิ “ซูเปอร์”ต่อไปนี้ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการเรียกตัวเองว่า ซูเปอร์มาเก็ต ในเวียดนามจะต้องผ่านเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า  “ซูเปอร์มาเก็ต” ต้องมีพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร (หากพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปจะเป็น “ศูนย์การค้า”) และต้องเปิดให้บริการระหว่างสิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่มเป็นอย่างต่ำนอกจากข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวอาคาร อุปกรณ์ในร้าน วิธีการเก็บรักษาสินค้า รวมถึงบริการที่ต้องจัดให้สำหรับเด็กและผู้พิการแล้ว เขายังระบุเงื่อนไขการทำโปรโมชั่นด้วย...ซูเปอร์มาเก็ตจะจัดโปรฯ ลดราคาได้ไม่เกินสามครั้งต่อปี แต่ละโปรฯ จะต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน และโปรโมชั่นใหม่ต้องทิ้งระยะห่างจากโปรฯ ก่อนหน้า ไม่ต่ำกว่า 30 วันที่สำคัญ “โปรฯ ลดราคา” หมายความว่าต้องมีสินค้าในร้านมากกว่าร้อยละ 70 ที่ปรับราคาลดลง เรื่องขยะ ต้องขยับหลายประเทศตื่นตัวและเริ่มลงมือจัดการกับขยะพลาสติกที่กำลังจะท่วมโลกมานานแล้ว สิงค์โปร์เพื่อนบ้านของเราก็จัดการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่หยุดแค่นั้น  ล่าสุดองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์เตรียมกำหนดให้ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตรายงาน ปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ ขยะจากหีบห่อสินค้า รวมถึงนำเสนอแผนลดการใช้พลาสติกต่อรัฐฯ ภายในปี 2021  เขาบอกว่าอาจมีมาตรการจูงใจด้วยการลดภาษีเพื่อตอบแทนผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลก็สนับสนุนให้เอกชนร่วมมือกันจัดเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้โครงการ (RENEW: Recycling Nation’s Electronic Waste Programme) ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝากทิ้งได้ที่สาขาของร้าน Best Denki ร้าน Courts ร้าน Gain City และร้าน Harvey Normanของมันต้องมีธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสวิตเซอร์แลนด์และบริษัทด้านการเงิน UBS สำรวจราคาของสินค้าที่มนุษย์มิลเลเนียลต้องมีใน 11 เมือง (นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ซูริค ดูไบ ฮ่องกง โจฮันเนสเบิร์ก มอสโคว บัวโนสไอเรส โตรอนโต และกรุงเทพฯ“ของ” ดังกล่าวได้แก่ ไอโฟน คอมพิวเตอร์พกพา กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบ ค่าสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ กาแฟ บิ๊คแม็ค และอโวคาโด  เขาพบว่า มิลเลนเนียล(คนที่มีอายุระหว่าง 22 ถึง 34 ปี ซึ่งจะเป็นคนส่วนใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ) ชาวบางกอก ต้องใช้เงินซื้อ “ของต้องมี” มากกว่ามิลเลนเนียลในฮ่องกงหรือดูไบ  คุณสามารถซื้อสินค้าทั้ง 8 อย่างได้ในราคา 1,825 เหรียญ (59,500 บาท) ที่ฮ่องกง และ 2,004 เหรียญ (65,500 บาท) ที่ดูไบ  แต่หากซื้อที่กรุงเทพฯ คุณต้องจ่ายถึง 2,131 เหรียญ (69,500 บาท)  เฉพาะทะเบียนปักกิ่งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนปีหน้า รถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในปักกิ่งจะไม่สามารถวิ่งหรือจอดในเมืองนี้โดยไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ผู้ขับขี่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ปีละ 12 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นระยะเวลาเจ็ดวันติดต่อกันปักกิ่งใช้ระบบจับฉลากทะเบียนรถมาตั้งแต่ปี 2010 ผู้ที่ต้องการซื้อรถต้องลุ้นโชคเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของทะเบียน คนที่ไม่รอโชคชะตาก็จะหันไปพึ่งพาตัวแทนขายรถให้ดำเนินการจดทะเบียนที่เมืองอื่นให้ ด้วยค่าบริการ 4,500 หยวน (ประมาณ 23,000 บาท)จากนั้นเจ้าของรถก็ขอใบอนุญาตออนไลน์เพื่อนำรถเข้ามาใช้ในเมืองได้ครั้งละเจ็ดวัน ปัจจุบันสถิติการขอใบอนุญาตสูงถึง 725,000 ใบต่อสัปดาห์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรถยนต์สัญจรไปมาในตัวเมืองปักกิ่งมากกว่าวันละ 700,000 คัน มาตรการดังกล่าวจึงออกมาเพื่อลดความแออัดบนท้องถนน ลดมลภาวะในเมือง และทำให้ผู้คนกลับไปเชื่อมั่นในนโยบายจับฉลากมากขึ้น อาหารก็เปลี่ยนปัญหาโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรเท่านั้น งานวิจัยจากลอนดอนพบว่าภาวะแห้งแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของผลผลิตทางการเกษตรด้วยนักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าคุณค่าทางอาหารของพืชหลักที่เราบริโภคนั้นเริ่มลดน้อยลง แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพราะการปลูกแบบเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่พืชต้องใช้ในการเติบโต แต่การได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้พืชผลิตคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวอย่างกลูโคสมากขึ้น ในขณะที่ผลิตโปรตีน สังกะสี และเหล็กน้อยลงปัจจุบันร้อยละ 76 ของประชากรโลกพึ่งพาโปรตีนจากพืชอย่างข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมันฝรั่ง มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดระบุว่า ภายในปี 2050 จะมีคน 150 ล้านคนเป็นโรคขาดโปรตีนเพราะความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เราไม่ได้โดดเดี่ยว ความในใจกลุ่มผู้เสียหายจากรถยนต์มาสด้า

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า  และเพื่อนซึ่งเป็นผู้เสียหายจากกรณีคล้ายกัน คือซื้อรถยนต์มาสด้า 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น XD High Plus และ Sky Active ปี 2014 – 2016 แล้วพบว่า มีอาการสั่นขณะเร่งความเร็วและเกิดอาการกระตุกขณะขับรถในช่วงความเร็ว 60 – 120 กม./ชม. เมื่อนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงช่างแจ้งว่าปัญหาเกิดจากเขม่า จึงทำการเปลี่ยนสปริงวาล์วกับระบบหัวฉีด และเปลี่ยนกล่อง Converter DCDC ให้ อย่างไรก็ตามเมื่อนำรถกลับมาใช้กลับพบอาการเดิม ผู้เสียหายจึงได้เข้าร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน ทว่าหลังจากนั้น บริษัทฯ ได้ฟ้องกลับผู้บริโภคข้อหาใช้สิทธิเกินส่วน เรามาฟังความในใจของผู้เสียหายที่รับทุกข์ซ้ำซ้อนอย่าง คุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์ และ   “การออกมาเรียกร้องสิทธินั้นตนได้ทำด้วยความสุจริตใจและอยากให้บริษัทแก้ปัญหาที่เกิดเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจทำลายชื่อเสียงของบริษัท" ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ก่อนจะมาถึงขั้นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เรื่องราวเป็นมาอย่างไร  ซื้อรถยนต์มาแล้วพบว่า มีอาการสั่นขณะเร่งความเร็วและเกิดอาการกระตุกขณะขับรถในช่วงความเร็ว 60 – 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นปัญหาของรถที่มันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก เมื่อผมได้ส่งรถเข้าซ่อมที่ศูนย์ฯ แล้วแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จึงมีการตั้งกลุ่มทางเฟซบุ๊คชื่อว่า อำนาจผู้บริโภคช่วยเหลือผู้ใช้ Mazda Skyactiv เครื่องสั่น เร่งไม่ขึ้น ฯลฯ เพื่อรวมตัวกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของรถ ผมมองว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาของส่วนรวม ผมเรียนตามตรงว่าผมเป็นนักวิทยุสมัครเล่นและทำงานจิตอาสามาตลอดอยู่แล้ว เรื่องอะไรที่เรามองว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะผมก็ดำเนินการแทนเพราะส่วนใหญ่น้องๆ ก็ใช้รถรุ่นนี้ที่ถือว่าเป็นอีโคคาร์ ก็ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียนว่าต้องดำเนินการอย่างไร แต่เราทำมาเรารู้กระบวนการว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียวมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ซึ่งเรามองว่าผู้ผลิตควรต้องรับรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของส่วนรวม สิ่งที่เราเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตมาชี้แจงก็เพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งนั้นจำนวนผู้เสียหายที่รวบรวมได้ มีแนวทางทำงานกันอย่างไร เริ่มต้นจากกรณีของผมเอง ซึ่งร้องเรียนในประเด็นปัญหาอื่นก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้รับคำตอบจากทางผู้ผลิตจนร้องมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และทางมูลนิธิฯ เป็นคนดำเนินการให้เรื่องผ่าน สคบ. ก็ผ่านมาเกือบปีครึ่ง ซึ่ง สคบ.ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย ทางโน้น(บริษัทผู้ผลิต) ตอบมาว่ายังไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไรและก็ไม่ได้ตอบคำถามของเรา เราก็เรียกร้องไปจนมีการตั้งกลุ่มและเปิดเพจชื่อ “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่ามีปัญหาอาการรถแบบนี้ใครมีปัญหาบ้างก็รวบรวมรายชื่อมาจนได้ระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มเติมรายชื่อในส่วนของ สคบ. จนร้องมาที่มูลนิธิฯ ว่าปัญหานี้มันรุนแรงนะมีเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่และมีการรวมกลุ่มกันและไปยื่นเรื่องที่ สคบ. ในกรณีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์สั่นเร่งไม่ขึ้นในการขับขี่ ตอนนี้จากหลักฐานทางทะเบียนที่เปิดทาง Google doc มีผู้เสียหายประมาณ 200 กว่าท่าน แต่ว่าคนที่มาแสดงตัว ประมาณ 20 – 30  กว่าท่านที่มีความประสงค์จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค  ข้อดีของการที่ผู้เสียหายได้รวมกลุ่มกันคือ ทำให้คนที่ไม่ทราบปัญหาว่าสิ่งผิดปกตินี้มันไม่ได้เกิดจากผู้บริโภคนะ เราต้องเรียกร้องสิทธิสิ อย่างที่บอกว่าไป คือแทนที่ผมจะสู้คนเดียว ณ วันนี้เขาฟ้องผมคนเดียว(การใช้สิทธิเกินส่วน) ถ้าผมยืนคนเดียวผมคงเหนื่อย แต่พอมีผู้เสียหายมารวมตัวกันอย่างน้อยมันก็เป็นกำลังใจให้ผมด้วย และเป็นแนวทางในการต่อสู้ ผมถือว่าผู้บริโภคที่มีปัญหาต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองรู้สึกอย่างไรเมื่อโดนบริษัทฟ้องว่าใช้สิทธิเกินส่วน(ช่วงปลายปี 2560 กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ มาสด้า 2 รุ่น รวมตัวกันและเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สคบ. เรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งยังได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อตัวแทนบริษัทมาสด้าเซลส์(ประเทศไทย) ในงาน Motor EXPO ทำให้บริษัทฯ ฟ้องคดีคุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เรียกค่าเสียหายถึง 84 ล้านบาทโดยอ้างเหตุว่า เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ทำให้ภาพลักษณ์บริษัทฯ เสียหาย ขายรถไม่ได้)  ผมคงเดินหน้าสู่ศาลผู้บริโภค ในเมื่อผู้ผลิตเขาไม่ยอมรับว่าสินค้าของเขามีข้อบกพร่อง คงไปพิสูจน์ในชั้นศาลครับ ความกังวลมันไม่ได้กังวลว่าเราจะแพ้คดีหรืออะไรนะ ผมกังวลว่าเราจะต้องเสียเวลามากกว่า แต่เรื่องข้อเท็จจริงผมมั่นใจว่าผมพูดไปด้วยประโยชน์สาธารณะและเป็นไปด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมดซึ่งผมไม่พูดอะไรเกินเลยจากข้อเท็จจริงเลย ผมสู้แค่ตายครับสิ่งที่อยู่ในใจและฝากให้คนอื่นคืออะไรถ้าเรายึดถือสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญก็คงต้องรักษาสิทธิของเราเอง แต่ว่าแทนที่เราจะรักษาสิทธิของตนเองต้องหาว่ามีพวกร่วมชะตากรรมเรื่องนี้ไหมและเดินไปด้วยกัน พลังของผู้บริโภคพวกนี้มันสามารถจะเอาไปต่อรอง อย่างที่ผมบอกว่ามาร้องเรียนไปหากผู้ผลิตไม่เคยตอบอะไรกลับมาเลยจนเรื่องถึงที่สุดมีหนังสือออกมา1 ฉบับ ก็ยังดีที่สิ่งที่เราเรียกร้องไปมันรับรู้ถึงบริษัทว่ามีปัญหาอยู่จริงซึ่งเขาจะปฏิเสธก็อีกเรื่องหนึ่ง“เวลาขับจะมีการสะเทือน สั่น และเร่งไม่ขึ้นควบคู่กันไป”คุณกรกนก อรรถพรพิมล ผู้เสียหายอีกท่านที่เข้ามารวมกลุ่มฟ้องคดี เล่าถึงความยากลำบากเมื่อไม่ได้ใช้งานรถยนต์ตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อมาลำบากตรงต้องไปยืมเช่าหรือขอยืมรถญาติ ทั้งๆ ที่เรายังต้องผ่อนทุกเดือนและไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าอะไรมันเสีย ได้แต่รอให้เขาแจ้งมาหลังจากเสร็จจากช่างนำไปซ่อม เราก็มาคิดว่าน่าจะจบแต่มันมีปัญหาจุกจิกสารพัด เช่น ฝาถังน้ำมันเปิดไม่ได้มากกว่า 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งก็มีปัญหาคือน้ำมันจะหมดแต่ฝาเปิดไม่ได้ เขาบอกว่าถ้าเราแงะเองนั่นคือหมดประกัน ก็เลยต้องรอ บางทีติดวันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งศูนย์ปิด ต้องเปิดโรงแรมนอนรอก็ทำมาแล้ว เพื่อให้ศูนย์เปิดฝาถังให้โดยไม่มีค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นก็เกิดอาการล่าสุดที่รับไม่ได้เลยก็คือ จอดซ่อมอีก 18 วัน สาเหตุเกิดจากเทอร์โบแตก ต้องยกเครื่องออกทั้งหมดเลยและก็หมดวารันตีพอดี เพิ่งเข้าไปเช็คระยะ 100,000 กม. แล้วหมดพอดี ไฟหน้าก็มีอาการหนักกว่าตอนที่ไปเช็คระยะ 60,000 กม. คือวิ่งได้ที่ความเร็ว 20 รถกระชาก เร่งไม่ขึ้น พอช่วงถอนคันเร่งก็กระชาก เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นก็ต้องขับรถเข้าศูนย์เพราะว่าไม่มีบริการลากแล้วการดูแลของบริษัทต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีการดูแลเลย เขาได้แต่ถามไถ่และให้เหตุผลประมาณว่า “เป็นอย่างนี้แหละรถเทคโนโลยีสูง รถต้นแบบเทคโนโลยีล้ำมันก็ต้องมีข้อผิดพลาดแบบนี้แหละ” เลยอยากถามกลับว่า ทำไมไม่ทดลองให้มันเสร็จก่อนค่อยออกมาขาย และลูกค้าตอบรับเยอะ ทำให้ผลิตอะไหล่ไม่ทัน ทำให้ต้องไปจ้างโรงงานอื่นผลิต ซึ่งมันไม่สามารถเช็คได้ทั่วถึงว่าโรงงานนั้นๆ ผลิตดีไหม แล้วบังเอิญเราไปเจอเทอร์โบที่ผลิตโรงงานนี้เลยพัง แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทราบ แล้วตั้งแต่บัดนั้นจนวันนี้ไม่มีความสบายใจในการที่จะขับรถเลย ต้องเลิกเปิดวิทยุเพื่อที่จะเงี่ยหูฟังว่า จะมีอะไรพังอีกไหม ไม่มีความสุขเลย  แล้วเราต้องเดินทางทุกวันด้วยทราบว่ามีการเก็บหลักฐานไว้ตลอดทุกเรื่องบันทึกไว้ตลอดทุกข้อมูล พยายามขอข้อมูลจากศูนย์ว่า ให้ช่วยออกเอกสารยืนยันมาหน่อยว่ามันได้เข้าซ่อมจริง เกิดอาการจริง เพราะว่ารถจะหมดวารันตีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็หมดไปแล้ว และถ้าจะขายต่อก็ไม่มีใครซื้อหรอก ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่ และข้อมูลมันทำให้เราไม่มีความสบายใจในการขับรถเลย ค่าอะไหล่แพงมาก เทอร์โบตัวหนึ่ง 5 – 6 หมื่นบาท ยังไม่รวมค่าแรงอีก แถมยังต้องจอดทิ้งไว้ทีละครึ่งเดือน นี่มันใช่หรือกับรถใหม่มั้ย แล้วที่เราเลือกยี่ห้อนี้เพราะมันดูแลง่าย เป็นเครื่องดีเซล และทุกครั้งที่เขาบอกต้องรอเขาจะพูดลักษณะคือ มีแต่คำพูดเท่านั้น เลยบอกให้เขาออกเอกสารมาให้เราว่าพบปัญหานี้จริง ให้ลงวันที่ด้วยและคุณขอเวลา เอกสารพวกนี้ก็ต้องขอและบางที่ไม่ยอมให้ด้วย ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของรถแต่ขอประวัติการซ่อมรถที่ศูนย์ก็ไม่ให้ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเพราะอะไร เข้ามาร่วมกลุ่มกับพวกพี่ๆ เขา เพราะว่าตอนแรกทางศูนย์บอกว่าเราต้องจ่ายเอง หลังจากนั้นเราก็ได้มารวบรวมข้อมูลว่า มันเป็นการเสียต่อเนื่องถึงจะได้สิทธินั้น แต่ถ้าคนที่ไม่ทราบก็ต้องซ่อมทีละ 5 – 6 หมื่น บ้าหรือเปล่า เราคือผู้บริโภคยังต้องผ่อนรถอยู่เลยทั้งๆ ที่การใช้งานของเราไม่ได้สมบุกสมบัน ออกรถมาไม่ถึงปีต้องเปลี่ยนโช้คหลังทั้งซ้ายขวา แล้วทางศูนย์ยังมาถามว่าเจ้าของรถน้ำหนักเท่าไร เลยตอบไปว่ามันเกี่ยวอะไรกันนี่มันรถยนต์ 7 ที่นั่งนะไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์ถึงมาถามว่าเราหนักเท่าไร แล้วก็ถามกลับว่าถามทำไม เขาตอบว่าโช้คพบการรั่วซึมของน้ำมัน นี่เลยทำให้รู้สึกว่าจะมั่นใจได้ไหม รถใหม่ป้ายแดงส่องกระจกหลังทุกวันๆ เริ่มรู้สึกว่าทำไมมองเห็นน้อยลง สรุปกระจกเสื่อม มันลามเข้ามาเหมือนกระจกหมดอายุเลย ทุกวันนี้เริ่มทยอยเสีย กระจกข้างปกติมันพับเก็บได้ ตอนนี้เก็บได้ข้าง ไม่ได้ข้าง บางทีเก็บไปไม่อ้าออก ซึ่งน่าจะเป็นที่มอเตอร์ ทุกอย่างทยอยเสีย แบตเตอรี่ก็ 2 ลูกแล้ว ลูกแรกก่อน 1 ปีแต่เขาบอกว่าด้วยความที่มันเป็น...มันเปลืองแบตฯ ก็ไม่เป็นไรเปลี่ยนที่ศูนย์ พอมาอีกทีให้เปลี่ยนอีกแล้ว คือมีแต่เรื่อง เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลให้เราต้องมาวันนี้เพราะมันเป็นแบบนี้ไง ไม่ใช่การมโนแต่มันเกินที่เราจะอดทนแล้วจริงๆ ทำไมจึงร่วมฟ้องคดี  มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้บริโภค เราก็กลัวนะเพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยมีแค่ข้อมูลความเป็นจริงแค่นั้น แต่อยากรู้เพราะว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวแล้วมันเป็นสิทธิของเราด้วย ถ้ามีการยื่นข้อเสนอมาแล้วไปตกลงนั่นก็อีกเรื่อง แต่นี่ไม่ใช่ หนำซ้ำยังฟ้องกลับอีก เดิมเราก็ไม่ได้เรียกร้องจะเอาค่าเสียหายหรืออะไรมาเยอะๆ แต่เราเป็นลูกค้าของเขานะ ซื้อด้วยความที่ชอบและตัดสินใจอย่างดีแต่ผลที่เราได้รับกลับลอยๆ ขึ้นมา และเขาก็ส่งหนังสือกลับมาว่าเสียจากปัจจัยภายนอก ถ้าลูกค้ามีความไม่สบายใจให้นำรถเข้ามาเช็คที่ศูนย์ได้ เนื่องจากว่ามันอาจมีความบกพร่องจากปัจจัยภายนอก เลยถามว่าปัจจัยภายนอกคืออะไร ต้องมีหิมะหรือเปล่า  ตอนนี้อยากให้คนอื่นๆ ที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน มาแสดงตัวไม่ใช่อะไรก็ไม่เป็นไร และมูลค่าก็ไม่ใช่ 20 บาท แต่นี่มัน 890,000 บาท เงินเกือบล้านทั้งๆ ที่เรายินดีจ่ายแม้กระทั่งดอกเบี้ยค่างวดรถเราบวกไปแล้วในส่วนที่เรายินดีไม่ใช่ว่ารถต้นแบบแล้วเซลส์ให้ 50 % ถ้าแบบนั้นถือว่าเราก็ยินดีซื้อของเซลส์ แต่นี่เก็บเราเต็มและเราก็ยินดี เลยมีความรู้สึกว่าเราต้องสู้ ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ได้หวังว่าจะต้องชนะหรืออะไรแต่ว่าอยากให้รู้ว่าความถูกต้องมันต้องมี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 การเลือกซื้อรถยนต์ให้สัมพันธ์กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

เมื่อทราบข่าวจากคุณแม่ว่าจะมีสมาชิกใหม่ในบ้าน หลายครอบครัวก็ต้องมาวางแผนในการที่จะต้องซื้อของเพื่อใช้ในการเลี้ยงเด็กทารก รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทางร่วมกันของครอบครัว ดังนั้นการเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง ความเป็นมิตรกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก (Family friendly car) จำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรถเข็นเด็กทั่วไป คือ ยิ่งเป็นรถขนาดใหญ่ยิ่งดีใช่หรือไม่?คำตอบคือ ถูกเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ความง่ายในการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก(car seat) และเข็มขัดนิรภัยของรถ สามารถติดตั้งได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งในรถรุ่นเก่าก่อนปี 2004 จะไม่มีตะขอโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะสำหรับติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก แบบ Isofix ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน(โดยเฉพาะรถยนต์ ของประเทศยุโรป)  ที่มีไว้สำหรับการติดตั้ง car seat สำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยาวของเข็มขัดนิรภัยในรถด้วย เพราะถ้าความยาวของเข็มขัดสั้นเกินไปอาจทำให้เกิดการรัดเข็มขัดที่ยากขึ้น หรือไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้สำหรับกรณีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับทารกแบบ carry seat ซึ่งการติดตั้งในกรณีที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าข้างคนขับจะต้องล็อคไม่ให้กลไกถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่เด็กในกรณีเกิดอุบัติเหตุ  และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรถที่มี ประตู ปิด เปิด แบบสไลด์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงรถยนต์คันใหม่ที่จะซื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึง ที่นั่งนิรภัยที่จะซื้อตามมาอีกด้วย เพราะ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ไม่ได้ทำมาเพื่อติดตั้งได้กับรถทุกคันในตารางที่แสดงผลการทดสอบ ความเหมาะสมของที่นั่งตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ รถยนต์ กลุ่ม Middle class SUV VAN และ Compact wagon จำนวน 18 รุ่น จะเห็นได้ว่า การติดตั้งที่นั่งนิรภัยด้านข้างคนขับนั้นทุกยี่ห้อ ได้ผลการประเมินเพียงแค่ พอใช้ หรือผ่านเท่านั้น เนื่องจากเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้าข้างคนขับ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า การที่นั่งข้างหลังสำหรับการให้คะแนนในการประเมินทางองค์กรที่ทดสอบการติดตั้งที่นั่งนิรภัยจะพิจารณาจากความยาวของเบาะที่นั่ง ที่ว่างด้านหน้าเบาะ ตำแหน่งของตะขอสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบ Isofix และความยาวของเข็มขัดนิรภัยที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 7/2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบผลเสียหายอันเนื่องจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่า จะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไป 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะ คุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 การทดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์

แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV)อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้- VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา- Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง- IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด- UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลตเราทดสอบอะไรบ้าง1. ทดสอบการป้องกันรังสียูวี ช่วง  UVA และ UVB ความยาวคลื่น 280-400 นาโนเมตร2. ทดสอบการส่องผ่านของแสงช่วงที่สายตามองเห็น ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร3. ทดสอบการลดรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อน ความยาวคลื่น 800-1000 นาโนเมตร4. ทดสอบการป้องกันความร้อนสะสมการทดสอบออกแบบให้สามารถวัดความสามารถของฟิล์มติดรถยนต์ในเรื่องการช่วยลดแสงยูวี การช่วยลดแสงสว่างในช่วงที่สายตามองเห็น ความสามารถในการกันรังสีความร้อน (Infrared) และการป้องกันความร้อนสะสมสำหรับการออกแบบการวัด ได้จำลองตู้ทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนของรถยนต์ที่มีกระจกที่ติดฟิล์มตัวอย่าง ปิดอยู่ด้านบน รับแสงจากหลอดฮาโลเจน มีเครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัมอยู่ภายใน และหัววัดอุณหภูมิภายนอกและภายใน ซึ่งผลการวัดจะแสดงถึงความสามารถในการกันแสงและความร้อนของฟิล์มตัวอย่าง อุปกรณ์1. ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต 2. แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง3. เครื่องวัดอุณหภูมิ4. เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm)5. หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์วิธีการทดสอบเลือกฟิล์มที่นิยมใช้กันทั่วไปในตลาดโดยเลือกอยู่ในระดับการกรองแสงเท่าๆ กันประมาณ 60 % (ตามค่าที่แจ้งบนฉลาก) แต่ค่าจำเพาะบางค่าอาจไม่เหมือนกัน แสดงดังตารางดังนี้ทดลองโดยการวัดค่าอุณหภูมิทุกๆ 30 วินาที เป็นเวลา 15 นาที โดยเรียงลำดับดังนี้1. ตู้เปล่า2. แผ่นกระจกไม่ติดฟิล์ม3. แผ่นกระจกติดฟิล์มยี่ห้อต่างๆ4. นำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ผลวัดค่าสเปคตรัมของแสงเพื่อตรวจสอบแสง ที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมช่วงที่ต้องการทดสอบ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร เป็นดังนี้ภาพที่ 5 ผลของแสงและรังสีความร้อนภายในตู้ทดสอบ ที่ถูกวัด ขณะไม่มีกระจกกั้น เท่ากับ 100%สรุปผลการทดสอบการทดสอบฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์นี้ ผลที่ได้พบว่าทุกๆ ยี่ห้อสามารถป้องกันแสง UV ได้ใกล้เคียงกัน การป้องกันความร้อน ถ้าค่าความแตกต่างของอุณหภูมิด้านนอกกับด้านในมีน้อย แสดงว่าสามารถกันความร้อนได้ดี และพบว่า Hi-Kool มีความสามารถกันความร้อนความร้อนได้ดีกว่าทุกยี่ห้อ แต่ความสามารถของการส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็น ผ่านเข้ามาได้ค่อนข้างน้อย หากค่าแสงช่วงสายตามองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้น้อยเกินไปก็ทำให้การมองเห็นได้ไม่ดีอาจจะลดทัศนวิสัยในการขับรถได้สำหรับในการพิจารณาเรื่อง การส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็นค่าความสว่างของแสง(Lux) มากจะทำให้การมองเห็นชัดเจนกว่าค่าความสว่างของแสงน้อย ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนเวลาขับรถเวลากลางคืน  ทำให้ ฟิล์ม 3M อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ จากข้อมูลในตารางที่ 2 ฟิล์มยี่ห้อ Xtra-Cole อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับ ความสามารถในการป้องกันความร้อน และทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่                 การป้องกันความร้อนได้ดีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกฟิล์มกรองแสงไว้ใช้งาน แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ให้พิจารณาเช่น ความคงทนต่อรอยขีดข่วน การซีดจาง เปลี่ยนสี การหลุดร่อนตามอายุการใช้งาน การรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ การรบกวนระบบนำทาง GPS เป็นต้นขอขอบคุณห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 การเลือกซื้อที่นั่งนิรภัย (car seats) สำหรับเด็ก

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี เพื่อใช้สำหรับการเดินทางร่วมไปกับพ่อแม่ในรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งในหลายๆ ประเทศ การติดตั้ง car seat ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและทารก ดังนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้ แต่ก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และซื้อมาติดตั้งเป็นจำนวนหลายรายทีเดียว บทความนี้ต้องการให้ข้อมูลซึ่งเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ car seat เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประกอบในการเลือกซื้อ และใช้งาน car seat ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมี 2 แบบ แบบแรก เรียกว่า เป็นมาตรฐานที่กำหนดตามขนาดของร่างกายเด็ก i-Size (เป็นไปตามมาตรฐาน ECE R 129) แบ่งขนาดของทารกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ (ขนาดตัวเด็กไม่เกิน 75 เซนติเมตร) และ ตั้งแต่ 1 ขวบ- 4 ขวบ (ขนาดตัวไม่เกิน 105 เซนติเมตร) แบบที่สอง แบ่งตามน้ำหนักของทารก (ตามมาตรฐาน ECE R44)การติดตั้งที่นั่งนิรภัย การติดตั้งที่นั่งนิรภัยควรติดตั้งไว้ทางด้านหลัง เพราะให้ความปลอดภัยสูงกว่าการติดตั้งด้านหน้า ในกรณีที่ ติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ด้านหน้าข้างคนขับ จำเป็นต้องล็อคถุงลมนิรภัยไม่ให้ทำงาน กรณีเกิดการชน เพราะแรงดันของถุงลมนิรภัยทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ตัวเด็กทารกอย่างรุนแรงที่นั่งนิรภัยแบบไหนที่ป้องกันเด็กและทารกได้เป็นอย่างดี สำหรับทารกแรกเกิดที่นั่งนิรภัย แบบ carry seat ที่สามารถถอดประกอบกับที่นั่งนิรภัยได้ เหมาะสมที่สุด และการติดตั้งที่นั่งนิรภัย ควรติดตั้งในทิศหันหลังให้กับด้านหน้ารถ เนื่องจากลำคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการติดตั้งแบบนี้จะช่วยประคองลำคอของทารกได้ดี การติดตั้งแบบหันหลังนี้ ควรใช้ไปจนถึงทารกหรือเด็กสามารถเดินได้ จึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นหันหน้าออกสู่ด้านหน้ารถ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งศีรษะพ้นจากที่นั่งนิรภัย เป็นสิ่งที่บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าได้เวลาเปลี่ยนที่นั่งนิรภัยอันใหม่ที่มีขนาดพอเหมาะกับร่างกายของเด็กแล้วที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 9- 18 กิโลกรัม (หรืออายุไม่เกิน 4 ขวบ)ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กขนาดนี้มีระบบนิรภัย 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า Impact shield และ แบบ Full belt safety harness ข้อดีของที่นั่งนิรภัยแบบ Impact shield นี้ คือ ในกรณีที่เกิดการชนกัน ที่นั่งนิรภัยแบบนี้จะรับแรงกระแทกได้ดีกว่าแบบ Full belt safety harness แต่แบบนี้เด็กจะนั่งได้สบายกว่า แต่การติดตั้งก็จะยุ่งยากกว่า และที่สำคัญ ต้องปรับเข็มขัดให้ติดแน่นกับตัวเด็ก เพราะเมื่อเกิดการชนกัน เข็มขัดจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงและป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกของตัวเด็กที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15- 25 กิโลกรัม (หรืออายุ3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ขวบ)ที่นั่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับระดับความสูงของพนักพิงหลังได้ ซึ่งลำตัวของเด็กจะล็อคติดไว้กับ three point safety belt ซึ่งระบบนิรภัยแบบนี้จะเหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ขวบสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยและวิธีการใช้ ควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี ยังได้ทดสอบความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราสามารถดูผลทดสอบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยได้อีกเช่นกัน บางครั้งก็จะมีการแจ้งเตือนที่นั่งนิรภัยบางยี่ห้อ บางรุ่นที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย (www.adac.de) ซึ่งผู้ประกอบการก็จะตอบรับการแจ้งเตือนโดยการเรียกคืนสินค้า หรือนำสินค้ามาปรับปรุงเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับความมั่นใจในการใช้งานสูงสุด(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 11/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รถใหม่ขึ้นสนิม

รถขึ้นสนิมเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ปรารถนา ยิ่งถ้าเป็นรถใหม่ด้วยแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าหลังซื้อรถมาได้ไม่กี่ปี แต่มีสนิมเกาะเสียแล้ว เราควรจัดการอย่างไรคุณสุชาติซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อฮอนด้า อย่างไรก็ตามหลังใช้งานตามปกติไป 1 ปี เขาก็พบว่าเกิดคราบสนิมขึ้นบริเวณภายในห้องเครื่องยนต์ ขอบประตูทั้ง 4 บานและรูระบายน้ำ จึงนำรถยนต์เข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของยี่ห้อดังกล่าว เนื่องจากไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ภายหลังการซ่อมแซมและแก้ไข คุณสุชาติพบว่ารถยังคงเป็นสนิมทั้งในบริเวณเดิมและบริเวณใหม่ จึงนำรถเข้าศูนย์บริการอีกรอบ โดยครั้งนี้ทางศูนย์ได้เปลี่ยนประตูหน้าซ้าย-ขวา ทำสีและเคาะพ่นสี ในบริเวณที่เป็นสนิมให้หลายครั้ง แต่เมื่อเขานำรถกลับมาใช้งานก็ยังพบปัญหาสนิมเช่นเดิม เขาจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยมีข้อเสนอต่อบริษัทดังนี้1. ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2. ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้น เพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้สอยโดยปกติของผู้บริโภค 3. ขอให้ศาลห้ามบริษัทจำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้ห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย 4. ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการดำเนินการ เช่น รูปถ่ายบริเวณที่เกิดสนิม เอกสารการซื้อรถ และเตรียมออกหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องแจ้งว่า ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการแล้ว และไม่เกิดปัญหาสนิมขึ้นอีก นอกจากนี้ทางบริษัทได้เพิ่มการรับประกันคุณภาพเฉพาะสีและตัวถัง(กรณีเกิดสนิม) โดยนับจากวันส่งมอบรถใหม่ จากเดิม 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เป็น 5 ปีแล้ว จึงไม่ติดใจร้องเรียนต่อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ผลการทดสอบ smart phone สำหรับ การทำงานของ Navigator App

วารสาร  Test ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ app  ที่ทำใช้เป็น navigator เสมือนเป็นผู้ช่วยขับรถ บอกเส้นทางและสภาพการจราจร ในอนาคต Navi app เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้ไม่ต้องเจอกับปัญหาการหลงทาง การทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าวได้เปรียบเทียบ Navi app จำนวน 3 ยี่ห้อ คือ androidauto  Apple CarPlay และ MirrorLink โดยทดสอบกับรถยนต์ Seat Leon ปี 2016 ซึ่งเป็นรถยนต์ของค่าย Volkswagen ผลทดสอบเปรียบเทียบตามตาราง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลพฤติกรรมการขับรถเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่สามารถปกปิดเป็นความลับได้ และบริษัทรับประกันภัยสามารถทราบถึงข้อมูลการขับรถได้เช่นกัน ในปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ติดตั้ง อุปกรณ์ที่เรียกว่า telematics box ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการขับรถของเราไว้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการติดตั้งโดยความสมัครใจแต่ในปี 2018 รถใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบส่งข้อมูลในกรณีฉุกเฉินเรียกว่าระบบ eCall อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่คงเป็นประเด็นทางการเมือง และเป็นข้อถกเถียงระหว่าง สิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการจราจรยุคใหม่ ที่เรียกว่า ยุค mobility 4.0(ที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 8/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ

อ่านเพิ่มเติม >