ฉบับที่ 259 ใต้หล้า : กว่าฝนจะตกทั่วฟ้า

        สังคมไทยมีรากเหง้าที่ผูกพันกับธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยริ้วรอยที่เห็นในความเปรียบสำนวนและพังเพยต่างๆ บ่งบอกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน         และในขณะที่ผู้เขียนยกร่างต้นฉบับบทวิจารณ์ละครอยู่ ณ ขณะนี้ ก็เป็นช่วงจังหวะที่ฟ้ากำลังฉ่ำฝน เพราะเมืองไทยก้าวย่างเข้าสู่วสันตฤดูกันอีกคราหนึ่ง เลยทำให้ขบคิดตระหนักได้ว่า คำพังเพยของไทยที่อุปมาอุปไมยด้วยเรื่องราวของฟ้าฝนที่ชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นแบบนี้ ก็ดูจะมีอยู่ไม่น้อย         ความเปรียบว่า “ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” ที่หมายถึงการกระทำอันใดเพื่อฝากฝังไว้ก่อนลาจากไป หรือพังเพยที่ว่า “ฝนตกอย่าเชื่อดาว” อันกล่าวเตือนสติว่าไม่ควรวางใจใครจนมากเกินไป หรือแม้แต่สำนวนเชิงประชดประชันอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ซึ่งหมายถึงคนที่พลอยทำตัวเหลวไหลไม่ดีไปด้วยกัน ต่างก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยผูกพันวิถีชีวิตในช่วงหน้าฝน จนกลายมาเป็นระบบภาษาสำนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน         เมื่อผู้เขียนนั่งดูละครโทรทัศน์แนวดราม่าเข้มข้นเรื่อง “ใต้หล้า” อยู่นั้น สำนวนเปรียบเปรยว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ก็ผุดขึ้นมาอยู่ในห้วงความคิด ความหมายจริงๆ ของสำนวนนี้แสดงนัยถึงการให้หรือจ่ายแจกสิ่งใดๆ โดยไม่ทั่วถึง หรือจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการที่คนโบราณตั้งคำถามว่า การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” กันบ้างไหม         หากคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นประหนึ่งการตั้งโจทย์ว่า ตกลงแล้วฝนตกลงมาถ้วนทั่วท้องฟ้าจริงๆ หรือ ชีวิตของตัวละครที่พื้นเพเป็นคนชั้นกลางทั่วไปแต่ฐานะขัดสนอย่าง “ใต้หล้า” ผู้ต้องเผชิญมรสุมแห่งความอยุติธรรมมากมาย ก็คือการพิสูจน์คำตอบว่า ถึงที่สุดแล้ว สองมือแห่งปัจเจกบุคคลจะสามารถทำให้ฝนจากฟ้าหล่นลงมาทั่วถ้วนผืนแผ่นหล้าได้หรือไม่         ชีวิตที่ดำเนินไปของตัวละครใต้หล้าดูจะไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเขาได้โคจรมาเจอกับ “หิรัญ” ลูกชายของ “เปี่ยมยศ” นักธุรกิจรายใหญ่แห่งตระกูล “เถากุหลาบ” และอาจจะด้วยเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ แต่ขาดความรักจากบิดา และถูกเลี้ยงตามใจให้เสียคนจาก “อุษา” ผู้เป็นมารดา หิรัญผู้เกิดมาบนกองเงินกองทองจึงเชื่อว่า “เงินเนรมิตความสุขทุกอย่างในชีวิตได้”         จนกระทั่งวันหนึ่ง หิรัญเมาสุราและได้ขับรถสปอร์ตคันงามซิ่งออกไปชนกับรถยนต์ที่พ่อแม่ของใต้หล้าขับมา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเพราะ “คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้จะ “เมาแล้วขับ” จนมีคนตาย และใต้หล้าเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงความถูกต้องยุติธรรมให้กับบุพการี แต่กระนั้น กฎหมายก็ไม่อาจทำอะไรกับทายาทมหาเศรษฐ๊ ผู้ที่ประกาศเสียงก้องอยู่ในสองโสตสัมผัสของพระเอกหนุ่มว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้ เพราะอะไร…เพราะกูคือเถากุหลาบ”         เมื่อสายธารชีวิตของชายหนุ่มสองคนได้ไหลมาบรรจบพบกัน โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนกลางของเส้นเรื่อง สงครามความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงระเบิดขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สำหรับชนชั้นรากหญ้าที่สังคมมักรับรู้กันว่า “คนจนแค่หายใจก็ผิดแล้ว” นั้น ในสงครามยกแรก ฐานานุภาพทางการเงินของเถากุหลาบก็ทำให้เปี่ยมยศมั่นใจที่จะพูดกับหิรัญว่า “ไอ้เด็กนั่นมันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้”         ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ละครได้ฉายภาพจำลองวิถีปฏิบัติของคนรวยที่ใช้เงินซื้อตัว “สันติ” ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ไม่มีอะไรเลยนอกจากหนี้ติดตัว” ให้มาสมอ้างเป็น “แพะรับบาป” ติดคุกแทนหิรัญ ตามด้วยการป้องปรามและเอาคืนใต้หล้าโดยตัดอนาคตของ “ฟ้ารุ่ง” พี่สาวของเขา ทั้งล่อลวงทางเพศและกระทำกับเธอประหนึ่งวัตถุสิ่งของด้วยการติดป้ายประจานกลางหลังว่า “ขายถูก” โพสต์เป็นคลิปลงในสื่อโซเชียล         ฉากจบในสงครามยกแรกจึงลงเอยที่ใต้หล้าได้ลุแก่โทสะท้าดวลและพลั้งไปตัดนิ้วมือข้างขวาของหิรัญขาด จนทำให้พระเอกหนุ่มติดคุกเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เซ่นสังเวยให้กับความยุติธรรมที่เขาต้องการทวงถาม         เพราะ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สองปีผ่านไป ผู้ต้องขังชั้นดีอย่างใต้หล้าก็พ้นโทษ และพร้อมจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมกันอีกคำรบหนึ่ง แม้ใครต่อใครรวมทั้ง “อาม่า” จะพยายามเตือนสติเขาว่า “คิดเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม มันเกิดไปแล้ว ให้เราพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่นั่นก็มิอาจหน่วงรั้งจิตสำนึกพระเอกหนุ่มผู้ต้องการต่อสู้เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบอันไร้ซึ่งความยุติธรรมไปได้เลย         เมื่อสงครามยกใหม่ระหว่างตัวละครได้เริ่มขึ้น ใต้หล้าผู้ที่บัดนี้มีอิสรภาพและปรารถนาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ “หยาง” นายทุนจีนรายใหญ่ผู้รักในคุณธรรมความดี ไม่นานนักเขาก็ค่อยๆ มีเงินทุนและมีฐานะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมบ่งชี้ข้อพิสูจน์กับใต้หล้าว่า สำหรับคนที่เคยติดคุก หากมีคุณธรรมและความพากเพียร ก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้ทุกคน         แต่เพราะสมรภูมิความขัดแย้งของชนชั้นเองก็มิเคยเจือจางลางเลือนหายไป เมื่อเถากุหลาบเล็งเห็นว่า ธุรกิจของใต้หล้าที่เติบโตและมีกลุ่มทุนจีนหนุนหลัง เริ่มเขยิบมา “เหยียบปลายจมูก” กันแล้ว ภาพของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่จับจ้องเอาเปรียบกลุ่มคนอื่นๆ เฉกเช่นใต้หล้า จึงวนเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็นความพยายามซื้อตัวฟ้ารุ่งมาเป็นพวก การลอบวางเพลิงเผาโกดังสินค้าของพระเอกหนุ่ม การที่หิรัญส่งนิ้วมือที่ถูกตัดของเขาไปข่มขู่คุกคามอาม่าผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการที่เปี่ยมยศใช้เงินเพื่อร้อย “อากาศ” ผู้หญิงคนรักของใต้หล้าเอาไว้หลอกใช้งาน ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวนอกสมรสคนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษามารดาที่ลมหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเถากุหลาบนั่นเอง         จากนั้น สงครามแห่งชนชั้นก็ได้ดำเนินมาใกล้ฉากจบ พร้อมๆ กับใต้หล้าและฟ้ารุ่งที่บอกกันและกันว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องสองคนจะ “set zero” เริ่มต้นใหม่ เพื่อทำให้เถากุหลาบรู้ซึ้งว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” ไม่ต่างจากหยาดฝนที่ปัจเจกบุคคลต้องลงมือทำให้ตกมาจากฟากฟ้าด้วยตนเอง         จนในท้ายที่สุดของเรื่อง เราจึงได้เห็นบทสรุปที่เป็นภาพของคนผิดอย่างหิรัญถอดนิ้วปลอมออกจากมือขวา และเดินเข้าคุกเพื่อชดใช้กรรม รวมไปถึงฉากที่ “แพะ” อย่างสันติตัดสินใจขับรถพุ่งชนเปี่ยมยศจนเขาพิการตลอดชีวิต แม้ภาพจะดูรุนแรง แต่ก็บอกเป็นนัยได้ว่า ถ้าความยุติธรรมในระบบกฎหมายใช้การไม่ได้กับคนบางคน หรือถ้าหาก “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” แต่เตียงโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นคุกที่ใช้ขังคนกลุ่มนี้ได้แทน         จากคำถามที่ว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า หรือความยุติธรรมมีจริงได้บ้างไหม คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การรอคอยให้เม็ดฝนนั้นตกมาเอง แต่อยู่ที่ปัจเจกบุคคลมากกว่าว่า จะลงมือสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เฉกเช่นที่ใต้หล้าได้ชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลโพ้น และกล่าวกับอากาศผู้เป็นหญิงคนรักว่า “แม้ความยุติธรรมจะใหญ่เหมือนภูเขาลูกโน้น แต่หล้าก็อยากจะลองขยับดู”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 เรื่องสยองของสิวกับผงไม่พิเศษ

ก “เฮ้ยยย..ว่าไงวัยรุ่น นายเป็นสิวเหรอ?” ข “เออ..ว่ะ ทำไงดีวะ เป็นสิวไม่อยากไปเรียนเลย มียาดีแนะนำมั้ยเพื่อน” ก “จัดไปให้ไวเลยเพื่อน..ยาผงแบบซองผสมน้ำแต้มหัวสิว ไม่สยิว สิวหายแน่นอน” ข “แล้วมันดีในระยะยาวจริงเหรอ เห็นหลายคนใช้แล้วไม่หายแถมได้แผลเป็นด้วยน่ะสิ…เฮ้อ!!”         นานกว่า 40 ปีแล้วที่วัยรุ่นทุกยุคสมัยคุ้นเคยและผ่านตากับยาผงในซองสีส้มแดงที่ว่ากันว่ามันเสมือนผงพิเศษที่สามารถแผลงฤทธิ์พิชิตสิวบนใบหน้าได้ง่ายๆ จากคำร่ำลือผ่าน ปากต่อปาก พี่สู่น้อง ผู้ปกครองสู่ลูกหลาน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย จนมีการพัฒนายารักษาสิวใหม่ๆ มากมาย แต่ยังคงพบว่าวัยรุ่นหลายคนก็ยังนิยมนำยาผงนี้มาทาหน้าแก้สิวกัน โดยแทบไม่รู้กันเลยว่ามันคือยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งในกลุ่มยาซัลฟา มีตัวยาสำคัญคือ“Sulfanilamide”  สิวมาจากไหน?         มนุษย์เรามีผิวหนัง 3 ชั้น ชั้นแรกคือชั้นหนังกำพร้า คอยปกป้องสิ่งสกปรก เชื้อโรค ชั้นต่อไปคือชั้นหนังแท้ เป็นที่อยู่ของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน เส้นขน ชั้นสุดท้ายคือชั้นที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไป เป็นชั้นที่สะสมไขมันให้ความอบอุ่นร่างกาย ปกติเจ้าต่อมไขมันในชั้นหนังแท้ จะคอยหลั่งไขมันออกตามรูขุมขนเพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้น แต่เมื่อวันดีคืนดีมันเกิดการอุดตันจากการที่มีสิ่งสกปรกที่ผิวหนัง ไขมันมันก็จะสะสมจนอักเสบเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เราเป็นสิวได้อีก เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น เป็นต้น ดังนั้นการรักษาสิงที่ถูกต้องจึงต้องแก้ให้ตรงกับสาเหตุที่เกิด หากใช้ยาปฏิชีวนะแต้มสิวจะมีผลสยองอย่างไรบ้าง?         เนื่องจากยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ“Sulfanilamide”เป็นยาที่เคยนำมาใช้ในการรักษาแผลติดเชื้อด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในสมัยก่อนๆ และใช้กันอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจดทะเบียนยา ให้มีสรรพคุณ เน้นเฉพาะรักษาสิวอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อ Cutibacterium acnes แต่เนื่องจากมีการนำมาใช้พร่ำเพรื่อติดต่อกันนานหลายปี ปัจจุบันจึงพบว่าเชื้อตัวนี้“ดื้อยา Sulfanilamide”ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพ้ยาในกลุ่มซัลฟาในประชาชนชาวไทยมากขึ้น ซึ่งหากใครแพ้ยากลุ่มซัลฟาแล้วมาใช้ยา Sulfanilamide ก็จะมีโอกาสแพ้ด้วยเช่นกัน บางรายจะมีอาการรุนแรง เช่น ผิวหนังลอก หรือเป็นด่างดำตามผิวหนังถาวร จึงไม่มีการนำมาใช้รักษาสิวแล้ว เพราะมียาอื่นๆ ที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า         รู้อย่างนี้แล้ว ช่วยกันบอกต่อๆ และเตือนกันด้วย อย่านำยาผงดังกล่าวมาทาหน้าแก้สิวเลย เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว มันไม่ใช่ผงที่จะรักษาสิวได้อย่างพิเศษแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อยาทางไลน์กับร้านยาแต่ไม่ได้ของ

        คุณยุเป็นลูกค้าประจำของร้านยาที่จำหน่ายยาในบริเวณตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นร้านยาขนาดใหญ่ขายยาราคาไม่แพงและครอบคลุมหลายชนิด ปกติเธอเดินเข้าออกร้านเพื่อซื้อยาทุกรอบสองสามเดือน ต่อมาช่วงโควิดระบาดหนักเข้า ทางร้านแจ้งทางไลน์กลุ่มว่า สามารถสั่งซื้อยาทางไลน์และรอรับยาที่บ้านได้เลย ทางร้านจะส่งผ่านบริษัทขนส่งไปให้ ไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านซึ่งเสี่ยงภัย คุณยุจึงทดลองสั่งยากับทางร้านเป็นจำนวนเงิน ราว 4,000 บาท        รอสินค้าอยู่ประมาณสองอาทิตย์คุณยุก็ยังไม่ได้รับยาตามสั่งซื้อ จึงติดต่อกลับมาทางร้าน ซึ่งเธอบ่นว่า ร้านแทบไม่ยอมรับสายเธอเลย เหมือนปิดการสื่อสารไป จนเธอต้องใช้วิธีใช้เบอร์อื่นโทรเข้าร้านยา ทางร้านจึงยอมรับสาย เมื่อเธอทวงถามสินค้า ทางร้านบอกว่าจัดส่งไปแล้วกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรับประกันว่าหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับจะเงินชดเชยความเสียหายหรือค่าประกันสินค้าให้ แต่คุณยุต้องเอาเลขที่พัสดุไปติดตามเอง โดยทางร้านอ้างว่า บริษัทขนส่งแจ้งมาว่ามีผู้เซ็นชื่อรับสินค้าไปแล้ว           จุดหงุดหงิดอยู่ตรงนี้เอง คุณยุไม่คิดว่าทางร้านยาจะปัดความรับผิดชอบโยนภาระการติดตามสินค้าให้กับผู้บริโภค เธอจ่ายเงินให้ทางร้านยา แต่เมื่อสินค้าไม่ถึงมือเธอกลับต้องเป็นคนไปติดตามเรื่องเอง เรื่องนี้คือสิ่งที่เธอสอบถามมายังมูลนิธิฯ ว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของร้านหรือเธอ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้คุณยุได้พยายามนำเลขพัสดุไปติดตามกับบริษัทขนส่งเอง ได้รับคำตอบว่า พนักงานที่อ้างว่ามีผู้รับสินค้าไปแล้วนั้น ได้ลาออกไปแล้ว ทางบริษัทขนส่งจะติดตามเรื่องให้และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน หากเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท จะมีการชดเชยเงินให้กับทางผู้ร้องตามเงื่อนไข         ส่วนกรณีเรื่องความรับผิดชอบ โดยทั่วไปทางร้านหรือผู้ขายควรเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามสินค้าให้แก่ผู้ซื้อถือเป็นบริการหลังการขาย อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าเมื่อสินค้าถึงส่งเข้าระบบของบริษัทขนส่ง ความรับผิดชอบส่วนนี้จะตกเป็นของบริษัทขนส่งที่ต้องรับผิดชอบชดเชยหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับ         แต่จุดที่น่าสนใจของกรณีการร้องเรียนนี้คือ  ยา จัดเป็นสินค้าพิเศษมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ร้านยาไม่สามารถขายยาผ่านทางไลน์หรือช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภายในร้านยา(สถานที่ที่ได้รับอนุญาต) ได้ เพราะเจตนาของกฎหมายคือ ต้องการให้ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำให้กับผู้บริโภค การขายยาอันตรายโดยรับขายไลน์และส่งทางไปรษณีย์ ถือว่าผิดกฎหมาย  ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องนี้แจ้งต่อทางหน่วยงานกำกับดูแลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 บริโภคอย่างปลอดภัย เฝ้าระวังง่ายๆ ด้วยตนเอง

        ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคล้วนต้องรับประทานอาหาร ยา ใช้เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆมากมาย  แต่เมื่อผู้บริโภคเสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภคนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ สิ่งแรกที่มักจะคิดกันก็คือ จะส่งไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้ได้ทุกครั้ง  และคงไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดได้ทุกชิ้นเช่นกัน  แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะมีวิธีการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?          เราอาจใช้แนวทางคร่าวๆในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคของเราเอง ดังนี้         1. ตรวจสอบจากฉลาก        1.1 ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นี้มีฉลากหรือไม่        1.2  ถ้ามีฉลาก  ตรวจสอบว่าเป็นฉลากภาษาไทยหรือไม่        1.3 ถ้ามีฉลากภาษาไทยแล้ว  ให้ตรวจสอบว่ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่          1.4 ถ้ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว อย่าเพิ่งไว้ใจ พวกหลอกลวงมันยังมี ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของ อย.เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเลขที่นั้น ตรงกับเลขที่ของผลิตภัณฑ์ในระบบข้อมูลหรือไม่         หากตรวจสอบตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว พบว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่ระบุ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย        2. ตรวจสอบข้อมูลความไม่ปลอดภัย        2.1 หากยังไม่แน่ใจ ลองตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เคยมีใครรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยหรือไม่  โดยตรวจสอบจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.แจ้งเตือนภัย)  เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ)  เว็ปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ         2.2 ถึงแม้จะไม่พบรายงานความไม่ปลอดภัย  แต่เมื่อเรานำมาบริโภคแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น        ·     รับประทานแล้วน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว (อาจใส่ยาลดน้ำหนัก)          ·     รับประทานแล้วหายปวดเมื่อยทันที  นอนหลับ  และกินข้าวได้อย่างดี (อาจใส่สเตียรอยด์ปนเปื้อน)        ·     ใช้แล้วผิวขาวอย่างรวดเร็ว  และเมื่อไม่ได้ใช้มักจะเกิดผิวอักเสบหรือผิวคล้ำตามมา (อาจจะใส่สารอันตรายที่ทำให้หน้าขาว เช่น  ไฮโดรควิโนน  กรดวิตามินเอ  ปรอท  สเตียรอยด์)        ·     รับประทานสมุนไพรแล้วกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ (อาจใส่ยากระตุ้นทางเพศ) หากมีอาการผิดปกติดังที่ยกตัวอย่างมานี้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจจะมีสารอันตรายผสมอยู่         2.3 เราอาจใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นที่มีขายในท้องตลาดมาตรวจสอบดูด้วยตนเอง หรือนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ไปปรึกษาเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชนหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 หนุ่มกรุงเก่าเตือนภัย ฉีดยาลดพุงกลับได้แผลลึก คลินิกดังไม่รับผิดชอบ ลุยทวงความยุติธรรมให้ถึงที่สุด

        “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย”         “เราไม่ควรใช้วิธีทางลัดในการลดน้ำหนัก”         นี่เป็นบทเรียนสอนใจที่ได้จากประสบการณ์หลอนของคุณพงษ์พัฒน์ ลอมคุณารักษ์ เมื่อครั้งที่เขาไปฉีดยาสลายไขมันลดพุงแล้วต้องเจ็บทั้งตัวเจ็บทั้งใจ เพราะไปหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงของคลินิกเสริมความงามชื่อดัง จนกระทั่งวันนี้เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง         คุณพงษ์พัฒน์ได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ว่า         “ช่วงนั้นผมน้ำหนักเยอะมาก ประมาณ 97 กิโลฯ คืออึดอัด ไม่ไหวแล้ว ปกติน้ำหนักผมจะอยู่ประมาณ 80 – 85 กิโลฯ เริ่มรู้สึกไม่คล่องตัว ตอนแรกก็กังวลว่าอาจจะถึง 100 กิโลฯ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ค่อยได้กินอะไรมาก พอดีไปเห็นโฆษณาฉีดสลายไขมันของคลินิกชื่อดังที่พิษณุโลก ผมก็เดินทางจากสุโขทัยไปเลย” ตัดสินใจวันนั้นเลยว่าจะฉีดสลายไขมันที่หน้าท้อง         ใช่ ก่อนจะไปผมก็แชตไปสอบถามและปรึกษากับทางคลินิกนี้ ตามช่องทางที่เขามีโฆษณาทางไลน์และเฟซบุ๊ก แล้วก็ตามดูรีวิว เขาก็ว่าปลอดภัย ว่าสารที่ฉีดเข้าไปไม่มีอันตราย ไม่ตกค้าง สามารถขับออกทางปัสสาวะและทางเหงื่อเองได้ พอไปถึงคลินิก ผมก็สอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าตัวยาเป็นอย่างไร ซึ่งทางคลินิกเขาก็บอกว่าไม่มีอันตราย แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีการเจ็บปวด หรือว่าต้องพักฟื้นอะไร คือเขาก็เหมือนโน้มน้าวให้ผมเกิดความมั่นใจ แล้วคลินิกเขาก็ใหญ่ มีหลายสาขาด้วย เขาก็บอกว่าถ้าจองภายในวันนั้นเลย ก็จะได้ส่วนลด ในราคา 3,900 บาท จากราคาเต็มประมาณ 5,900 บาท จ่ายเงินแล้วทำได้เลย         ผมก็ตกลง เขาให้เซ็นเอกสารที่จะมีระบุคล้ายๆ ว่าถ้าเกิดมีความเสียหายหรือผลข้างเคียง คือยินยอมให้คลินิกเป็นผู้รักษา ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร         วันนั้นแพทย์ที่ประจำคลินิกเป็นคนฉีดยาสลายไขมันให้ผม ฉีดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่เขาตีตารางไว้ก่อนแล้ว ผมซื้อโปรฯ แบบบุฟเฟต์ คือฉีดซ้ำๆ แบบไม่จำกัดซีซีเลย หมอหยิบเข็มมาแล้วก็จิ้มๆ ๆ เยอะมาก ไวมาก น่าจะ 2 - 3 นาทีเอง พอฉีดเสร็จ ผมเห็นรอยเข็มเต็มหน้าท้องไปหมดเลย แล้วสังเกตว่ามีรอยช้ำขนาดใหญ่อยู่จุดหนึ่ง ซึ่งหมอก็บอกว่ารอยช้ำนี้จะหายภายใน 3 - 4 สัปดาห์ แล้วก็ให้ผมกลับบ้านได้ ตั้งใจไปลดพุง แต่กลับได้แผลลึก         ช่วงแรกๆ  ทางคลินิกก็โทรศัพท์มาติดตามอาการและชวนให้ไปทำต่อ เขาบอกว่าถ้าอยากให้เห็นผลดียิ่งขึ้นต้องฉีดทุกอาทิตย์ แล้วทุกครั้งที่ฉีดก็ต้องจ่ายเท่าเดิม แต่ผมก็บอกว่าอยากรอให้รอยช้ำหายก่อน         ผ่านไปประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 1 ตุลาคม  ผมก็ติดต่อไปที่คลินิกทางไลน์ ส่งรูปให้ดูว่ารอยช้ำยังไม่หายและเหมือนจะแดงขึ้นด้วย แล้วเขาก็นัดให้ไปที่คลินิกในช่วงบ่ายวันนั้นเลย คุณหมอมาตรวจแล้วก็ให้ขึ้นนอนเตียง ใช้เข็มดูดตรงรอยช้ำที่เหมือนจะมีก้อนๆ ตรงหน้าท้อง ตอนนี้ผมไม่เห็น แต่ผมได้ยินว่าหมอน่าจะโทรศัพท์ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสักคน พอวางสาย หมอก็มาบอกขอกรีดนะ หลังจากฉีดยาชาแล้วหมอก็กรีดบริเวณหน้าท้องประมาณ 1-2 เซนติเมตร เหมือนเอาอะไรบางอย่างออกมา ทางคลินิกถ่ายวิดีโอไว้ จากนั้นหมอก็ยัดก็อซเดรนเข้าไปในรูหน้าท้อง แล้วก็ปิดแผลไว้ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอบอกว่าเป็นหนอง ผมถามว่าเป็นได้ยังไง หมอก็ไม่บอก พูดแต่ว่าคลินิกจะรับผิดชอบทุกอย่าง ไม่ต้องกลัว สบายใจได้ ตอนหลังคลินิกบอกปัดความรับผิดชอบ         ตอนแรกผมก็งงนะ เพราะวันนั้นหมอบอกว่าต้องมาล้างแผลทุกวัน แต่ผมอยู่สุโขทัยก็บอกไปว่าไม่สะดวก หมอก็บอกว่าให้ล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือมานอนโรงพยาบาลเอกชนที่พิษณุโลกก็ได้ ทางคลินิกจะออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งผมขอกลับบ้านมาปรึกษากับครอบครัวก่อน         วันที่ 2 ตุลาคม ตอนนั้นโรงพยาบาลสุโขทัยน้ำท่วม ผมก็เลยไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตถูกต้อง แล้วผมแจ้งค่าใช้จ่ายตามจริงไป 1,300 บาท คือ 800 เป็นค่ายา ฉีดยา ล้างแผล แล้วก็ค่าวินิจฉัยโดยอัลตราซาวด์ที่หน้าท้องพบว่าเกิดการอักเสบในชั้นไขมัน ส่วนอีก 500 บาทเป็นค่าน้ำมันรถ เขาก็รับผิดชอบโอนมาให้ทั้งหมด และย้ำว่าพรุ่งนี้ให้ไปล้างแผลอีก แล้วจะขอติดตามอาการด้วย         ผมเห็นเขารับผิดชอบจริง ผมก็คุยกับที่บ้านว่าน่าจะไปนอนโรงพยาบาลตามที่คลินิกแนะนำ แต่ยังไม่ทันได้แจ้งไปเลย วันรุ่งขึ้นเขาก็โทรศัพท์มาบอกว่าเขาไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการกระทำของคลินิก ให้ผมไปรักษาตัวเอง เขาจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกแล้ว ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้คิดอะไร ขอรักษาตัวให้หายก่อน ไปแจ้งความแต่กลับโดนคลินิกข่มขู่กลับ         ผมปรึกษาทางแพทยสภาก่อน ฝ่ายจริยธรรมและฝ่ายกฎหมายเขาก็แนะนำให้ผมไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ผมไปแจ้งแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจสอบ เบื้องต้นก็พบว่ามีความบกพร่องและถูกเปรียบเทียบปรับเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาเกินจริงไปแล้ว จากนี้ก็จะดำเนินคดีในส่วนของมาตรฐานการรักษาต่อไป ซึ่งในรายละเอียดของคดีตรงนี้ผมไม่แน่ใจ แต่ทางสสจ.พิษณุโลกส่งใบแจ้งผลมาให้ผมว่าได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง         ผมปรึกษาทางสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย เขาแนะนำมาว่าให้สาธารณสุขทำเป็นใบความเห็นออกมา แล้วก็แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ให้ตำรวจส่งฟ้อง แล้วอัยการเขาจะดำเนินการให้ พอผมรักษาตัวประมาณ  21 วัน แผลเริ่มแห้ง ผมก็ไปแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีทางคลินิกในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผมได้รับอันตรายสาหัส         วันที่ตำรวจนัดมาคุย คลินิกเขาก็ส่งทนายความมา ก็ปฏิเสธเหมือนเดิมว่าไม่ใช่ความผิดจากเขา แถมยังข่มขู่อีกว่าให้ผมยอมความ ถ้าไม่ยอมความ เขาก็จะดำเนินคดีกลับ เขาพูดทำนองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกับเป็นโชคร้ายของผมเอง ให้ผมยอมรับสภาพความเจ็บปวดหรือสิ่งที่สูญเสียไปนี้เอง แล้วให้จบกันไป ไม่มีเรื่องราวต่อกัน คือผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม แล้วหลังจากนั้นทางคลินิกก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย ตอนนี้ความคืบหน้าทางคดีเป็นยังไงบ้าง         ผมไปแจ้งความที่ สภอ.เมืองพิษณุโลก ที่คลินิกตั้งอยู่ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 ทางตำรวจได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและสอบพยานที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว เขาบอกว่าต้องรอผลจากแพทยสภา โดยไม่ได้บอกระยะเวลา ผมก็โทรไปปรึกษาทางแพทยสภา เขาก็บอกว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของตำรวจที่สามารถจะดำเนินคดีได้เลย เพราะแพทยสภาก็ได้รับเรื่องนี้ไว้สอบเรื่องจริยธรรมของแพทย์แล้ว         ผ่านมาหลายเดือนเรื่องยังไม่คืบ ผมก็เลยไปปรึกษาที่ตำรวจจังหวัดพิษณุโลก เขาก็แนะนำว่าถ้าเรื่องช้าก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้สอบพนักงานสอบสวนได้ แต่ผมไม่มีเจตนาแบบนั้นอยู่แล้ว แค่อยากหาทางออกว่าจะทำยังไงต่อไปดี หลังจากนั้นทางตำรวจก็ส่งเอกสารกลับมาแจ้งว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว และทางร้อยเวรก็โทร.มารับปากว่าเขาจะดำเนินการให้ แต่อีกใจก็กลัวว่าเรื่องจะไม่ไปถึงไหน เพราะเหมือนมาหยุดอยู่ที่รอแพทยสภา เรื่องไม่ไปถึงชั้นอัยการ ซึ่งจะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง ไม่อยากปล่อยผ่านผมร้องเรียนทุกหน่วยงาน         ตอนแรกผมก็ลองสอบถามพี่ที่รู้จักและเสิร์ชในกูเกิลว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้ความเป็นธรรมแล้วก็ช่วยเหลือผมได้บ้าง ผมก็ไปปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม สคบ. สำนักอัยการคุ้มครองสิทธิ  สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด แพทยสภา และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกหน่วยงานก็รับเรื่องไว้และให้คำแนะนำตลอดเลยครับ แล้วผมก็ยังหาข้อมูลทางอินเทอร์เนตเอาไว้ เพื่ออยากให้เรื่องนี้เกิดความเป็นธรรม แล้วก็เกิดการพิสูจน์หาความจริงมากที่สุด ผมไม่อยากปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป ไม่อยากให้เกิดกับคนอื่นอีก         ผมไปร้องเรียนในเพจเฟซบุ๊กของพิษณุโลก และออกข่าวช่อง PPTV 36 ด้วย จนมีคนทักมาส่วนตัวสอบถามว่าผมไปทำมาจากที่ไหน เขากลัวว่าถ้าไปทำแล้วจะเป็นแบบผม เพราะตอนนี้คลินิกก็ยังเปิดปกติ แล้วก็ยังมีโปรโมชันฉีดสลายไขมันแบบนี้อยู่ด้วย แผลนี้มีผลกระทบกับชีวิตยังไงบ้าง         ตอนนี้แผลแห้งแล้วมีรอยแผลเป็น หมอก็บอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่เหมือนเป็นปมอยู่ในใจผมตลอด เพราะช่วง 1 เดือนที่ต้องไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสุโขทัย ผมรู้สึกแย่มาก เพราะมันเป็นแผลเปิด พอขยับตัวมาก พวกน้ำเลือดน้ำหนองก็จะซึมออกมาเปื้อนผ้าที่ปิดไว้ ผมกลายเป็นคนวิตกกังวล ทำงานอะไรไม่ได้เลย ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ เพราะจะเจ็บมาก อาบน้ำก็ไม่ได้ นอนหงายก็ไม่ได้ ผมเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ซึ่งค่าความเจ็บปวดและความทรมานที่ผมได้รับนี้ตีเป็นราคาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ         ผมตั้งใจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อยากจะให้เรื่องนี้ตีแผ่เพื่อเตือนและเป็นอุทาหรณ์ให้กับทั้งคนที่จะไปฉีดและคลินิกด้วย อยากให้เป็นกรณีศึกษาแก่สถานประกอบการที่เปิดบริการแบบนี้ ว่าน่าจะมีมาตรการออกมาดูแล ติดตามผลและรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของคนที่จะไปฉีดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายมารับชะตากรรมเองแบบนี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกเลย         เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวออกไป ทางแพทยสภาก็แจ้งว่าเมื่อวันที่ 1 เมษาที่ผ่านมา ได้นำเรื่องนี้มาเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนแพทย์ที่ทำการฉีด ในเรื่องจริยธรรม เพราะเบื้องต้นเขาก็มีความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมีมูล ก็ให้แพทย์มาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าผิดจริงตามที่ยื่นฟ้องไป ก็อาจจะต้องลงโทษ แล้วก็มีมาตรการออกมาป้องกัน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก         “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลูกตาย พ่อทำสัญญายอมกับคนทำละเมิดแล้ว แม่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

        อย่างที่ทุกท่านทราบว่าความสัมพันธ์ของคนที่ยินยอมตกลงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน กฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยาที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ก็เป็นสินสมรส  แต่ในบางเรื่องกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองแต่ละคนไว้เป็นการเฉพาะ เช่นในกรณีที่มีคนทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย เช่นนี้ตามกฎหมายให้สิทธิผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้  ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้ก็รวมถึง “ค่าขาดไร้อุปการะ” ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อกัน ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร และบุตรก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่มีคนมาทำละเมิดทำให้บุตรตาย ทำให้บิดามารดาขาดคนอุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ศาลก็ให้ผู้เป็นบิดามารดาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากคนทำละเมิดต่อบุตรของตนได้  อย่างไรก็ดี ก็เกิดประเด็นน่าสนใจว่า หากบิดาได้ไปฟ้องคดีเอง โดยมารดาไม่รู้ แล้วบิดาก็ไปตกลงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว และมีข้อตกลงจะไม่ติดใจฟ้องร้องกันอีก เช่นนี้จะมีผลอย่างไร          เรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้นจริง และไปถึงศาลฏีกา จนที่สุดศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางแนวตัดสินคุ้มครองมารดามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะนี้ด้วย เพราะศาลเห็นว่า สิทธิในการเรียก “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556         สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้         นอกจากนี้  “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้เลี้ยงดูบิดามารดาจริงหรือไม่  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี : ไทยกับพม่ารักกันตรงไหน ให้เอาปากกามาวง

หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า “แม่น้ำอิรวดี”ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนานด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร                  โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว “นุชนาฏ” ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “ปกรณ์” หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก         และเหมือนกับชื่อเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย         แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม                  เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ “อูเทวฉ่วย” มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ “โมฮิงกา” ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้         เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์         ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา “เป็นอยู่คือ” หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร         แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง “ซินซิน” และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน         เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ “ปิ่น” หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ “โยเดีย” ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ “เจ้าฟ้ากุณฑล” และ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน          การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง         ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ “สะสะ” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า “หม่องสะ” ศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด         “อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น         เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก “อยุธยา” บ้านเกิดของเธอว่า “โยเดีย” อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม         จาก “เจ้าพระยา” สู่ “อิรวดี” ก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก “อิรวดี” ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ “เจ้าพระยา” แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2565

แนวโน้มอาชญากรรมไซเบอร์ ปี 65        ข้อมูลสถิติจากการแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า  อาญชกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2564 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย  ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ผู้ได้รับความเสียหายจากการแฮกข้อมูล  จำนวน 585 ราย และมีค่าเสียหายรวม 67 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกขายสินค้าและบริการ จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง.ผบก.ปอท. กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 2565 ว่า ปี 2565  ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น เช่น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์  การหลอกลวงผ่านอีเมล  การแฮกเพื่อเอาข้อมูลผ่านการลวงให้กด  มัลแวร์เรียกค่าไถ่  การหลอกลวงขายสินค้า การหลอกรักออนไลน์  การหลอกรักลวงลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผล ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องได้!         ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เรื่องการจัดตั้ง แผนกคดีซื้อของออนไลน์ในศาลแพ่ง นายสรวิศ ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า  ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จะเริ่มทำการเมื่อใดต้องรอประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งอีกครั้ง ถ้าได้รับความเสียหายตอนนี้ก็ให้รวบรวมหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนก่อนแล้วรอฟ้องตอนแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เปิดทำการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคดีซื้อขายออนไลน์ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในแผนกคดีผู้บริโภคของศาลแพ่ง จะให้แผนกคดีผู้บริโภคซึ่งพิจารณาคดีนั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ         แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีช่องทางกฎหมายที่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นผ่านทางอีเล็คทรอนิคส์ไฟล์ลิ่งในหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ) โดยผู้ฟ้องคดีแค่คลิกเข้าไปสมัครยืนยืนตัวตน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ฟ้องใคร เรื่องอะไร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการติดต่อซื้อขาย ชื่อเว็ปไซต์ ชื่อร้านค้าที่ซื้อสลิปโอนเงิน เท่าที่จะหาได้ เมื่อยื่นคำฟ้องทาง E-ไฟล์ลิ่งแล้ว จะมีเจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบให้ว่าใส่ข้อมูลคดีครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าครบถ้วนศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป         เปิดรับปีใหม่พบร้านขายยาผิดกฎหมายมากกว่าร้อยราย         ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยาหลายแห่งเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจค้นเป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มกราคม พบว่า มีร้านขายยากระทำผิดจำนวนมาก จับกุมร้านยาที่ผิดกฎหมาย 127 ราย และตรวจยึดของกลางได้กว่า 359 รายการ มีทั้งยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านขายเหล่านี้ได้ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ โดยไม่ใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัดและขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537  ลงทุนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี และรัฐห้ามใช้ซื้อขายสินค้า        กรมสรรพกร ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากการลงทุนว่า ยังยึดลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรต้องเสียภาษีและพิจารณาเป็นรายธุรกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังมีกฎหมายยกเว้นให้คือ “การเสียภาษีคริปโทฯ ก็เหมือนกับขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายแล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย”           ด้าน ก.ล.ต. ร่วมกับแบงก์ชาติ ประชุมและแถลงข่าวว่า ไม่ให้นำคริปโทฯ มาชำระค่าสินค้า โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน         มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาทมพบ.คัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย         จากกรณีบอร์ดสมาคมวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น        เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ 1.สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป  การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว หากเริ่มขาดทุนจะใช้สิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา  จึงเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค 2.การออกคำสั่งของ คปภ.  ได้แก่  1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม  3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญา หากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นธรรมเช่น บริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10 เท่าของเบี้ยประกันที่ผู้บริโภคจ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 หากไอศกรีมถ้วยโปรดกลายเป็นยาพิษ คุณจะทำอย่างไร ?

        พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล เป็นพนักงานของ บ.ชิปปิ้ง แห่งหนึ่ง หลังเสร็จจากภารกิจอันหนักอึ้งของวันทำงาน เธอจึงต้องการพักผ่อนคลายเครียดด้วยการรับประทานไอศกรีมของร้านประจำเจ้าดังที่เธอคุ้นเคย ซึ่งมีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้สถานที่ทำงาน แต่จากที่ต้องการคลายเครียดกลับยิ่งเพิ่มความเครียดเมื่อเธอได้รับความเสียหายจากการดูดไอศกรีมปั่น เธอจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แค่คิดก็เจ็บคอขึ้นมาทันที         “ วันนั้นเราสั่งเมนูปั่น แม้ว่าทางร้านเขาจะใส่เป็นแก้วใสๆ มาให้ แต่เราไม่ได้ดูที่ตัวแก้วเลย ทำให้มองไม่เห็นความผิดปกติของไอศกรีม ไม่เห็นว่าไอศกรีมเป็นอย่างไร เพียงมองผ่านก็คือหน้าตาน่ารับประเทาน ที่เราสั่งเป็นมอคค่าอัลมอนด์ซึ่งจะมีถั่วปั่นอยู่ในนั้น ไม่ใช่สิ เป็นช็อกโกแลตล้วน ไม่มีใส่ช็อกโกแลตชิพ ไม่ใส่ใดๆ เราก็เห็นแต่ข้างบนเป็นวิปปิ้งครีม มองไม่เห็นข้างล่าง เราก็ดูด ก่อนที่จะดูดได้เราต้องรอให้มันละลายนิดหนึ่ง เราดูดทีหนึ่งก็หมดไปค่อนแก้วแล้ว เราก็เพิ่งมาทราบว่ามันมีอะไรติดอยู่ที่ปาก มีทั้งเศษชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก แล้วมาทราบอีกทีหนึ่งก็คือเป็นชิ้นใหญ่แล้วมันบาดข้างในคอของเรา” แสดงว่ากินสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในนั้นเข้าไปแล้ว         ใช่ มันแข็ง ก็เอ๊ะ ทำไมมีเศษๆ อะไรสักอย่าง มันบาดคอแล้วก็สากๆ ลิ้น ก็คายส่วนที่ค้างในปากออกมา ปรากฏว่าเป็นเศษพลาสติกสีดำ เรารีบถ่ายรูปไว้ก่อนเลย แล้วโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ร้าน แจ้งว่าเราเพิ่งซื้อไอศกรีมจากร้านที่สาขาโลตัสพระราม 1 มา แล้วเจอแบบนี้นะ ร้านจะรับผิดชอบอย่างไร ก็อีกสักประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้จัดการร้านไอศกรีมสาขานั้นก็โทรกลับมาบอกให้ช่วยนำไอศกรีมแก้วนั้นเข้ามาที่ร้านให้เขาดู เราก็ไป พอไปถึงที่ร้าน  เขาทำแบบนี้ เขาเอาเครื่องปั่นมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วก็รอหลักฐานที่อยู่ในถ้วยไอศกรีมของเรา เอาไปดูว่าจะใช่อย่างเดียวกันหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าใช่ หลักฐานชิ้นนั้นคือ มันเป็นวงแหวนที่ซีลใบพัด ซึ่งตรงนั้นมันหลุดออกมาในเครื่องปั่น คือมันแหว่งหายไป แล้วเศษของมันที่หลุดออกมาก็เลยถูกปั่นรวมกับไอศกรีมแล้วมาอยู่ในแก้วของเรา น่ากลัวมากแล้วเขารับผิดชอบอย่างไรบ้าง        ผู้จัดการร้านก็คืนเงินค่าไอศกรีมให้เราก่อน หนึ่ง แล้วก็ถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราก็บอกว่าเจ็บคอ เขาก็ให้เราไปหาหมอ แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีอาการอะไรมากมายแค่เจ็บคอนิดๆ จนออกจากร้านมาได้สักพักก็ปวดท้อง เราก็โทรบอกเขาว่าเราจะไปหาหมอนะ เพราะตอนนี้ปวดท้องมาก เขาบอกว่า “ไปเลยครับสุขภาพสำคัญกว่า” เราก็ไปหาหมอเย็นนั้นเลยบอกอาการให้หมอฟัง หมอก็รักษาตามอาการ ส่วนเราไม่อยากนอนโรงพยาบาลเพราะสถานการณ์โควิด หมอก็ให้กลับมาหาอีกวันรุ่งขึ้นหากอาการไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นเรายังปวดท้องอยู่ แล้วสิ่งที่เพิ่มมาคือต่อมทอนซิลอักเสบด้วย เพราะว่ามีเศษพลาสติกบาดคอ(จากส่วนแหลมที่เกิดจากการปั่น)  แต่เราไม่กล้าไปโรงพยาบาลแล้วเพราะกลัวรับเชื้อโควิดกลับมา ก็เลยให้น้องสาวไปซื้อยาจากร้านยามาให้ ส่วนตัวเองต้องลางาน ต้องขอลาพักฟื้นอยู่บ้านนาน 11 วันได้ เราจึงท้วงติงกับทางผู้จัดการร้านไอศกรีมไปว่าเราไปหาหมอมานะ มีค่ารักษาพยาบาลนะ แล้วเราก็ต้องนอนพักผ่อนเพราะไข้ขึ้น (กังวลด้วยว่าจะเป็นโควิดไหม) ผู้จัดการฯ เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอพี่าหายก่อนแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีครับ เราก็ตอบตกลงไป คือไว้เจอกันวันนัดเลย สถานการณ์วันที่พบผู้ประกอบการ         วันนัด เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเซอร์เวย์มานั่งคุยร่วมกันด้วยที่ร้านไอศกรีม เจ้าหน้าที่คนนี้มารยาทไม่ดีเลย นั่งไขว่ห้างแล้วกระดิกเท้าใส่หน้าเรา พูดประมาณว่า “คุณเป็นใคร มาจากไหน คุณทำงานอะไร กินไอติมแค่นี้จะมาเรียกร้องทำไม”  นาทีนั้นเราเข้าใจได้ทันทีเลยนะว่า การพูดแบบนี้เป็นลักษณะที่จะข่มขู่เรา เพราะเขาบอกว่า บริษัทเขาใหญ่นะ ใหญ่กว่าเรามากๆ ด้วย  เราก็บอกว่าอย่าทำมารยาทไม่ดีแบบนี้ (คิดในใจว่าถ้าเปลี่ยนคนได้ก็ขอให้เปลี่ยนเถอะ  แล้ววันนั้นทางเซอร์เวย์บอกแต่เพียงว่า ถ้าจะร้องเรียนเขา เขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง ซึ่งขอเยอะมาก         พอเราส่งเอกสารไปให้แล้วเพื่อนัดกันอีกครั้ง เขาก็เปลี่ยนคนมาตามที่เราขอ เซอร์เวย์คนใหม่นี้บอกว่า ‘เอาอย่างนี้ได้ไหม ผมให้แค่ 10,000 บาท แล้วก็จบเรื่องกันไป’ เราก็บอกไม่รู้ว่าค่ารักษาพยาบาลขั้นต่อไปจะอีกเท่าไหร่ เราไม่รู้จะมีอาการอะไรอีกหลังจากนี้ ก็เลยไม่ได้รับเงินหมื่นเอาไว้ เพราะเราไม่แน่ใจว่า แค่ไหนถึงจะครอบคลุมความเสียหายของเรา เพราะมันมีเรื่องที่เราต้องเสียรายได้ หรือการขาดโอกาสทางธุรกิจเพราะต้องหยุดพักรักษาตัว         “ตอนที่ไม่สบาย เราต้องไปเลื่อนนัดกับลูกค้าต่างชาติ เขาก็แสดงท่าทีว่ากลัวเราเป็นไวรัลโคโรนาไหม เพราะเราเจ็บคอไง  เวลาคุยไปด้วยก็ไอไปด้วย เสียงเราก็แหบ ลูกค้าคงคิดว่าเราได้รับเชื้อโควิดหรือเปล่า เขาเลยไม่กล้าเจอเรา การเจรจาธุรกิจก็เสียหาย”         เราเลยต้องมาตั้งหลักว่า เออเราพอจะรู้แล้วว่า จากเหตุการณ์นี้ อุบัติเหตุนี้ ทำให้เราขาดประโยชน์อะไรไปบ้าง จำนวนหรือมูลค่าความเสียหายประมาณเท่าไหร่ เราจึงเขียนจดหมายไปเรียกร้องกับทางบริษัทต้นสังกัดของร้านไอศกรีม ส่งอีเมลไป โน่น...รอเป็นเดือน ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา เราจึงโทรศัพท์ไปหาผู้จัดการสาขาอีก เขาก็บอกว่าเขาให้ทางบริษัทประกันและเซอร์เวย์เป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว เราก็ต้องรอคนติดต่อกลับไปเท่านั้น         คราวนี้ไม่นานทางนั้นได้ติดต่อกลับมา เราก็ถามไปว่าจะยังไงกันคุณจะรับผิดชอบแค่ไหน ค่าขาดประโยชน์คุณก็ไม่ให้ ค่ารักษาพยาบาลคุณก็ยังไม่ให้เรา เขาก็บอกว่าจะให้เพิ่มเป็น 15,000 บาท เราก็ถามว่าคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็น 15 เท่าของค่ารักษาพยาบาลที่เราไปหาหมอเมื่อวันที่ปวดท้อง แต่เขาก็แค่พูดปากเปล่าไว้เท่านั้น ยังมีความเสียหายอื่นอีกไหม         มีค่ะ ตอนนั้นเราซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่บริษัทประกันที่เราซื้อประกันภัยไ บอกสัญญาจะไม่คุ้มครองหรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ถ้าเราป่วยเพราะเศษพลาสติกนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรต่อไปบ้าง คือไม่คุ้มครองอวัยวะใดก็ตามที่เป็นทางผ่านของพลาสติกชิ้นนี้ ตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ คอหอย ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทวารหนัก เราก็คิดว่านี่ทำให้เราขาดประโยชน์ไปด้วย คือเราไม่มีโรคประจำตัวอะไรใดๆ ทั้งสิ้น สุขภาพแข็งแรงดี ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพ เขาต้องคุ้มครองเรา 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แปลว่าบริษัทประกันคงพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง        เราก็ไปปรึกษากับคุณหมอ เขาก็บอกว่าปกติร่างกายจะขับถ่ายสิ่งแปลกปลอมออกมาอยู่แล้ว แต่ถ้าบางมากๆ ก็ขับถ่ายออกมาไม่หมด แผ่นพลาสติกอย่างนี้อาจจะไปแปะตามลำไส้ ผนังกระเพาะ หรือไส้ติ่งก็ได้ แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเป็นเนื้อไม่ดี (ร่างกายจะสร้างพังผืดออกมาหุ้ม)          เราก็รีบโทรศัพท์ไปคุยกับทางร้านเรื่องที่เราเสียสิทธิตรงนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย หลังจากเจรจากันได้แล้ว เราให้เขาช่วยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ตกลงกันมาให้ว่า “ทางบริษัทไอศกรีมยินดีรับผิดทุกประการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และจะรับผิดชอบโดยพาเราไปรักษาเพื่อเอาพลาสติกนี้ออกจากร่างกายให้หมด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะสรุปว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว หรือยังพบสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย หรือมีแผลแล้วต้องรักษาอย่างไรบ้าง ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ” ซึ่งเขาก็รับปากตามนั้นว่าจะส่งหนังสือสัญญามาให้ แต่ที่เขาส่งมาให้มันมีเพียงข้อความว่า เขาให้เรา 20,000 บาท แล้วยุติการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทายาทจะมาเรียกร้องใดๆ เขาก็ไม่รับผิดชอบ เราก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คือหลังจากนั้นก็ติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ใช่ คือเขาพูดโทรศัพท์อย่างหนึ่งแล้วส่งลายลักษณ์อักษรมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็เลยไปหาว่ามีใครที่จะช่วยเราได้บ้าง เราก็เห็นเว็บไซต์มูลนิธิฯ เจ้าหน้าที่อธิบายข้อกฎหมายให้เราฟังว่า มีทำผิดมาตราอะไรบ้าง เป็นละเมิดสิทธิเรื่องอะไรบ้าง แล้วเรา ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เราก็ขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิฯ ไปเจ้าหน้าที่ก็ให้เราส่งเอกสารที่เป็นหลักฐานที่เราเคยติดต่อกับทางบริษัทไอศกรีมทั้งหมดไปให้         ทางมูลนิธิฯ หลังดูเอกสารให้แล้ว โทรแจ้งเราว่า “ใกล้จะขาดอายุความแล้ว” เพราะว่าเป็นคดีแพ่ง จึงแนะนำให้เราไปแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผื่อไว้เป็นอีกทางหนึ่ง หากเกิดว่าหมดอายุความ 1 ปีแล้ว เราก็จะยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องต่อได้ เราก็รีบโทร.ไป สคบ.ด้วย สคบ. ก็ให้เราไปลงบันทึกประจำวันแจ้งความไว้ก่อนว่าคุยกับทางร้านไอศกรีมแล้ว เขาพูดอย่างหนึ่ง แต่เขาออกลายลักษณ์อักษรมาอีกแบบหนึ่ง คือผิดจากข้อตกลงไป ทางมูลนิธิฯ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง        ทางมูลนิธิฯ ตามเรื่องให้เรา แล้วพบข้อมูลว่า ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไอศกรีมยังไม่เคยเห็นเรื่องร้องเรียนของเราเลย  เราก็งง คือเราก็ไม่รู้ว่าเขาพูดไปทำงานกันอย่างไร สุดท้ายฝ่ายกฎหมายของทางบริษัทฯนัดให้มาไกล่เกลี่ยกัน โดยใช้สถานที่ของมูลนิธิฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ นั่งร่วมเจรจาด้วย         วันนั้นเราไปคนเดียว แต่ทางนั้นไปเกือบ 20 คน ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ก็คุยให้ว่าทางบริษัทประกันมีบริษัทในเครือไหมที่จะพาเราไปให้คุณหมอตรวจ แล้วออกเอกสารมาว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว เพื่อที่จะให้เราไม่หมดสิทธิในเรื่องของประกันสุขภาพที่เราทำไว้ บริษัทประกันก็โอเค จบไปหนึ่ง แต่บริษัทไอศกรีมโดยฝ่ายเซอร์เวย์มาพูดว่าทำแบบนั้นให้ไม่ได้ แต่ไม่บอกเหตุผล เขาบอกให้เราพูดมาเลยว่า “เราต้องการเงินเท่าไหร่ แล้วก็ให้จบยุติการเรียกร้องไป”         คือจริงๆ เราควรที่จะเรียกร้องมากกว่าที่เราได้สรุปสุดท้ายนี้ด้วยซ้ำ เราเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สบาย (ลูกค้าของบริษัทไม่ยินดีจะเซ็นสัญญา) โดยรวมทั้งหมด 250,000 บาท เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาจ่ายให้ไม่ได้ เราเลยเรียกเขาอยู่ประมาณ 50,000 บาท แต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะขอลดราคาลงมาอีก เหลือที่ 40,000 บาท หลังจากวันที่ไกล่เกลี่ยและเซ็นเอกสารว่าได้ 40,000 บาทจะยุติการเรียกร้องนั้นแล้ว อีก 15 วัน เขาก็โอนเงินมาให้ตามนั้น   ยังรู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่จริงใจ         วันไกล่เกลี่ยเราถามว่า ทำไมคุณไม่เอาฝ่ายกฎหมายของบริษัทมาด้วย แล้วก็จะได้เคลียร์กันที่ตรงนั้น คือเรามีความรู้สึกว่าเขาพยายามปิดใจความ หรือว่าพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ        เขาเป็นถึงบริษัทมหาชน เขาขายสินค้า ขายบริการ เขาได้เงินจากเราไปแต่เขาไม่ได้นึกถึงชีวิตของเราเลย เวลาที่เขาพูดอะไรออกมาทุกอย่างเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หมด คือเราพูดถึงขนาดที่ว่าอาจจะเสี่ยงกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในอนาคตได้ เขาก็บอกว่าไม่มีทางเป็นหรอก         สมมุติ ถ้าเป็นเด็กๆ คือโลตัสพระราม 1 อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เป็นคนที่ฐานะระดับล่างถึงปานกลาง ถ้าเด็กไปกินไอศกรีมที่มีสิ่งแปลกปลอมแล้วปวดท้องขึ้นมา เขาจะมีเงินไปหาหมอไหม แล้วเขาจะมาเรียกร้องกับทางร้านได้ไหม เราคิดนะ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไรแบบนี้ เขาคงไม่เรียกร้อง ไม่ต่อสู้อะไรขึ้นมา ก็คงจะแบบคืนค่าไอศกรีมให้เสร็จแล้วก็จบๆ กันไป บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์มากกว่านี้         เราก็บอกให้เขาช่วยตรวจตราอายุการใช้งานของอุปกรณ์ด้วย อย่างเครื่องปั่นอันนี้อายุปั่นได้กี่ครั้ง ถ้าครบแล้วควรที่จะหยุดแล้วนำไปเปลี่ยนอะไหล่ แล้วค่อยนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างนี้ถึงจะให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภค ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดเหตุการณ์อะไหล่ของเครื่องหลุดออกมาผสมกับผลิตภัณฑ์แล้ว ถึงจะมาแก้ไข แต่พูดแล้ว เขาก็แค่ฟังเฉยๆ         เรายังบอกเขานะว่า เงินที่เป็นผลกำไรที่เข้าบริษัทของเขาก็มาจากผู้บริโภคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการขายสิ่งที่เป็นอาหารมีทั้งเป็นข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีก็คือถ้าทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ดีก็ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายผู้บริโภคแข็งแรงด้วยนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าทำไม่ดีมันก็คือยาพิษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อบ้านในโครงการ และอยากรื้อรั้วของโครงการเพื่อขยายที่ดินทำได้ไหม

        หลายคนคงเคยเจอปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรร ทั้งปัญหาข้อพิพาทเรื่องการใช้สิทธิในถนน และที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของโครงการอยู่ เช่นเมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของโครงการบางแห่งกลับนำส่วนที่เป็นถนนหรือสาธารณูปโภคไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาในเรื่องของกรรมสิทธิ์หรือการใช้สิทธิที่ดินดังกล่าว หรือบางกรณีมีปัญหาการใช้สิทธิในถนนของโครงการ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันจนคดีถึงศาลฎีกา         มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับรั้วหมู่บ้าน เเล้วจะขอรื้อรั้วหมู่บ้านเพื่อล้อมใหม่ เเต่ผู้จัดสรรไม่ยอม เจ้าของบ้านจึงฟ้องผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งต่อมาเรื่องก็ไปจบที่ศาลฏีกา โดยศาลได้ตัดสินว่าเจ้าของบ้าน รื้อรั้วของหมู่บ้านจัดสรรมิได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552         หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แสดงว่ามีการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินหรือประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง มีหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว สิ่งก่อสร้าง ถนน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน บุคคลใดจะทำให้เสื่อมค่าทำให้ขาดประโยชน์ หรือผิดแผกไปจากที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจัดสรรโฉนดเลขที่ 6516 พร้อมบ้านจากโครงการของจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 911 จากผู้มีชื่อ อันเป็นที่ดินนอกโครงการจัดสรรและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีอาณาเขตด้านหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6516 โจทก์ประสงค์จะรื้อรั้วด้านที่ติดกันออก แล้วกั้นรั้วใหม่ให้เป็นผืนเดียวกันและถมที่ดินให้มีระดับเสมอกัน แต่จำเลยห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองรื้อรั้วและใช้ทางเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 911 เห็นว่า รั้วและทางเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ผู้ใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เพิ่มภาระผูกพันโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรื้อรั้วและใช้ถนนหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ของที่ดินโจทก์ทั้งสองที่อยู่นอกหมู่บ้านจัดสรรได้         จากคำพิพากษาของศาลฏีกา จะเห็นได้ว่า “รั้วและทาง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และนิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หมายถึง“สิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสัญญาหรือตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต” เมื่อกฎหมายต้องการให้รั้วและทางเป็นของใช้ร่วมกัน ดังนั้น แม้การรื้อรั้วอย่างกรณีตามคดีนี้จะไม่กระทบใคร แต่เมื่อรั้วและทางถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภค แม้เป็นผู้ซื้อบ้านในโครงการก็ไม่สามารถที่จะนำสาธารณูปโภคใดๆ ก็ตามมาเป็นของส่วนตัวได้ เพราะเป็นของใช้ส่วนรวมของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 250 หลงซื้อน้ำมันงาโบราณ ไม่มีเลขทะเบียนยา

        "อย.ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมักพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน”...นี่คือตัวอย่างคำเตือนที่มักปรากฏตามสื่อต่างๆ บ่อยๆ แต่บางครั้งบางคนก็หลงจ่ายเงินซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบจักรวาลมา เพียงเพราะหลังทดลองใช้แล้วเห็นผลทันตาเพียงครู่ เลยลืมดูรายละเอียดของข้อความบนฉลากให้ถ้วนถี่ซะก่อน          คุณเด่น ไกด์หนุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าตอนที่เขาพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวที่แก่งกึด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีแม่ค้ามาขายน้ำมันงาโบราณโดยบอกว่าใช้นวดแก้ปวดเมื่อยดีขนาด และจะมาขายแค่ปีละครั้งเท่านั้น เขาเองก็กำลังรู้สึกปวดที่ต้นแขนอยู่พอดี จึงขอลองใช้น้ำมันงาโบราณนี้นวดดูหน่อย อะ ได้ผลดีแฮะ นวดไปๆ กล้ามเนื้อที่ต้นแขนเริ่มหายปวดละ เขาจึงอุดหนุนแม่ค้าในราคาขวดละ 190 บาท มา 2 ขวด ว่าจะไว้ใช้เองขวดหนึ่ง อีกขวดจะเอาไปฝากแม่         เมื่อแม่ค้าคล้อยหลังไปแล้ว ไกด์หนุ่มจึงหยิบขวดน้ำมันงานั้นขึ้นมาอ่านฉลากให้ละเอียดอีกที ปรากฎว่าหมุนรอบขวดแล้วก็ยังหาเลขทะเบียนยา หรือ อย. ไม่เจอเลย ตัวฉลากก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดส่วนประกอบ ไม่มีวันหมดอายุ มีแต่เบอร์โทรคนขาย และเขียนวิธีใช้ว่า ใช้นวดเวลาปวด เช้า-เย็น มีสรรพคุณ ใช้นวดอาการปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดเข่า ปวดขา แก้ปวดฟัน รักษาอาการผื่นคัน ใช้ทาริดสีดวง สารพิษสัตว์กัดต่อย บาดแผลทุกชนิด ซึ่งดูจะเกินจริงไปมาก ไกด์หนุ่มเห็นแบบนี้ก็ไม่กล้าใช้แล้วเพราะกลัวว่าจะแอบใส่สารอันตรายอะไรปนไปหรือเปล่า จึงมาร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคุณเด่นว่า ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณจะต้องมีเลขทะเบียนยา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งน้ำมันงาโบราณนี้ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้เลย มีแต่สรรพคุณ วิธีใช้และเบอร์โทรผู้ขาย ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา และส่วนประกอบ จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ดีแล้วที่คุณเด่นไม่ใช้ต่อ ทางศูนย์ฯ จะนำผลิตภัณฑ์นี้ส่งตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายจะส่งเรื่องให้ทางสาธารณสุขจังหวัดจัดการต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ดูอย่างไรว่า “งานวิจัย” เชื่อได้

        ข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมักถูกใช้ในการตัดสินใจว่า ควรหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อมีการกล่าวถึง เช่นในกรณีการอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในการขายสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งโดยหลักการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเรามักกล่าวถึง กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อช่วยผู้บริโภคให้ คิดก่อนเชื่อ เพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้นั้น ผู้บริโภคควรใช้ข้อมูลอะไรช่วยในการคิด ซึ่งคำตอบง่าย ๆ คือ ใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ แต่ยังมีคำถามที่ตามต่อมาคือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์นั้นเชื่อได้เสมอหรือ ซึ่งคำตอบคือ “ไม่เสมอไป” ดังนั้นในการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการมาประกอบการโฆษณาสินค้าของผู้ขายนั้นทำให้จำเป็นต้องพิจารณาว่า  ผลงานวิจัยนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งลำดับแรกที่ควรทำคือ ดูจากการที่วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นมีกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของบทความที่รอบคอบสามารถจับผิดจับถูกในข้อมูลที่แสดงไว้ในบทความอย่างไร โดยกระบวนการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการปัจจุบันคือ การทำ peer review ต้นฉบับบทความก่อนสำนักพิมพ์ตัดสินใจตีพิมพ์ในวารสาร (peer-reviewed journals)         จากเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง Peer Review (THE NUTS AND BOLTS A guide for early career researchers) ตีพิมพ์ในเว็บ https://senseaboutscience.org เมื่อ 10 กันยายน 2021 นั้นมีข้อมูลหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจเพื่อนำมาใช้ในการประเมินว่า ควรใช้งานวิชาการในวารสารใดเพื่อการตัดสินใจเชื่อคำกล่าวถึงคุณภาพของสินค้าเพื่อสุขภาพตามหลักกาลามสูตร 10         ความหมายในภาษาไทยของคำว่า peer-review นั้นน่าจะเป็น การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน ซึ่งเป็นกระบวนการของวารสารที่เมื่อได้รับต้นฉบับบทความแล้ว บรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการต้องพิจารณาตรวจบทความว่า สมควรรับหรือไม่รับก็ได้ (ถ้ากล้าพอ) แต่เพื่อกันข้อครหานินทาจากสังคมนักวิชาการ กองบรรณาธิการมักตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ (โดยทั่วไปมักมีจำนวน 2-3 คน) ซึ่งเป็นผู้รู้ที่มีความรู้เสมอกันในสาขาวิชาดังกล่าว ที่พอจะเข้าใจลักษณะของงานวิจัยนั้น เป็นกรรมการผู้พิจารณาตรวจสอบอ่านบทความว่า เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่         ในการค้นหาชื่อของผู้เชี่ยวชาญนั้น วารสารมักเลือกจากฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในประเทศหรือต่างประเทศที่วารสารเข้าถึงได้ หรือจาก "PubMed" ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับการอ้างอิงบทคัดย่อ (ตลอดจึงการ download บางบทความที่เป็นตัวจริงที่ตีพิมพ์แล้ว) ซึ่งทำให้เห็นชื่อของนักวิจัยที่ทำงานในแต่ละสาขาที่มีผลงานถูกตีพิมพ์ในระดับน่าจะแสดงความเชี่ยวชาญได้ อย่างไรก็ดีบรรณาธิการหลายคนมีความเห็นว่า ควรเลี่ยงที่จะเลือกเชิญนักวิจัยระดับโลก (น่าจะหมายถึงคนที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ) มาช่วยตรวจสอบบทความที่ถูกเสนอเพื่อการตีพิมพ์ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้มักยุ่งเกินไปจนทำให้กระบวนการคัดเลือกบทความเพื่อวารสารแต่ละเล่มช้า จนในบางโอกาสผู้เชี่ยวชาญอาจให้ลูกศิษย์หรือนักวิจัยระดับรองในหน่วยงานทำแทน         กระบวนการทำ peer review ที่นิยมทำนั้นมี 3 แบบคือ แบบรู้เขาแต่เขาไม่รู้เรา (Single-Blind Review) ซึ่งกรรมการรู้ว่าใครเป็นคนเขียนต้นฉบับแต่ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้ช่วยให้กรรมการสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้เขียนจะตอบโต้ อย่างไรก็ดีข้อด้อยของกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นถ้าได้กรรมการที่ไร้ยางอาย หาทางชะลอกระบวนการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์แล้วขโมยแนวคิดไปทำวิจัยเสียเอง ส่วนแบบเขาไม่รู้เราและเราก็ไม่รู้เขา (Double-Blind Review) นั้นกรรมการไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งและเจ้าของต้นฉบับก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้น่าจะลดความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรู้ว่า ใครเป็นผู้แต่งและสามารถประเมินความเหมาะสมของผลงานด้วยตัวงานเอง อย่างไรก็ดีแม้ต้นฉบับไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน กรรมการ peer review อาจเดาได้ว่าใครคือเจ้าของต้นฉบับบทความได้หากผู้เขียนได้อ้างอิงบทความของตนเองหลายเรื่องในบทความ ส่วนกระบวนการแบบเปิดหน้าชก (Open Review) นั้นกรรมการผู้ประเมินรู้ว่าใครคือผู้เขียนและผู้เขียนรู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน ในกรณีที่วารสารเลือกใช้กระบวนการนี้มักมีการระบุชื่อผู้ประเมินควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อให้กรรมการได้รับเครดิตสาธารณะสำหรับความเสียสละในการอ่าน ซึ่งเป็นการแสดงความโปร่งใส เพิ่มความรับผิดชอบของกรรมการให้มากขึ้นและน่าจะลดโอกาสในการมีอคติหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม         ประเด็นสำคัญที่ต้องดูในการทำ peer review คือ 1.) ความสำคัญของบทความต่อสังคมทางวิชาการ 2.) การอธิบายกระบวนการทำวิจัยอย่างชัดเจน (เพียงพอสำหรับนักวิจัยคนอื่นทำซ้ำได้) เพื่อตอบสมมุติฐานที่กำหนดไว้ 3.) การวิเคราะห์ผลการศึกษาทางสถิติเหมาะสม 4.) การอภิปรายผลจากงานวิจัยนั้นดูมีความสำคัญทางวิชาการและคำนึงถึงข้อจำกัดของการศึกษาว่ามีทางแก้ไขหรือป้องกันหรือไม่ 5.) งานวิจัยนั้นเป็นนวัตกรรมหรือเป็นสิ่งที่ค้นพบใหม่และ/หรือก่อความท้าทายกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มความรู้ที่มีอยู่ 6.) การนำเสนอผลการวิจัยนั้นต้องปรับปรุงหรือไม่และผลนั้นเป็นการตอบคำถามที่ตั้งไว้หรือไม่ 7.) หากศึกษาในมนุษย์ เนื้อเยื่อของมนุษย์ หรือมีสัตว์เกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอนุมัติด้านจริยธรรมจากหน่วยงานที่ดูแลการทำวิจัย 8.) ข้อสรุปผลการวิจัยหรือ conclusion นั้นเหมาะสม สะท้อนประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้แต่ต้นโดยไม่เสนอแนวคิดใหม่ที่ไม่เกี่ยวในการทำวิจัย ตั้งคำถามที่ท้าทายโดยอ้างอิงผลการศึกษาที่ค้นพบเพื่อเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง         ประเด็นการแอบนำเสนอผลงานวิจัยของผู้อื่นในรูปแบบงานวิจัยของผู้เขียนต้นฉบับเองซึ่งเรียกว่า plagiarism นั้น ผู้ เชี่ยวชาญบางคนสามารถมองเห็นได้ว่า บทความที่กำลังตรวจสอบนั้นคล้ายกับบทความอื่นที่เคยได้อ่าน หรืออาจจำเป็นต้องใช้คำสำคัญ (key words) ค้นหาบทความในแนวเดียวกันจากฐานข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่พบความคล้ายกันแบบไม่บังเอิญกรรมการควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันทีพร้อมหลักฐาน         ในกรณีที่เจ้าของต้นฉบับสร้างข้อมูลเทียมในต้นฉบับอย่างระมัดระวัง การตรวจจับอาจยากมาก ตัวอย่างเช่น กรณีภาพถ่ายที่เคยมีการตีพิมพ์แล้วถูกนำเปลี่ยนสีและติดป้ายกำกับใหม่ให้ดูเป็นข้อมูลใหม่ หรือการลบบางส่วนของภาพทิ้ง อย่างไรก็ดีในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจสามารถสังเกตความผิดปรกติของข้อมูลตัวเลขที่ขัดต่อกฎทางคณิตศาสตร์ งานที่ขาดการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดในการศึกษาต่างกันมากอย่างไม่มีเหตุผล การวิเคราะห์ทางสถิติที่ไม่มีความหมายหรือผิดหลักการพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ ผลการศึกษาที่ดูดีเกินไปเช่น ค่าการเบี่ยงเบนมาตรฐานแคบจนไม่น่าเชื่อ หรือผลการจากกราฟที่แสดงความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงเกินไปทั้งที่เป็นทำวิจัยในสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย         มีปรากฏการณ์หนึ่งที่สามารถเกิดได้หลังจากที่บทความได้รับการตีพิมพ์แล้วคือ ผู้อ่านบางคนสามารถตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปรกติในบทความ (เช่น การลอกเลียนบางส่วนหรือทั้งหมดหรือตกแต่งตัวเลขที่เป็นผลจากการวิจัย) แล้วแจ้งต่อบรรณาธิการ ซึ่งวารสารที่ดีมักทำการถอนบทความนั้นออกเหมือนไม่ได้ตีพิมพ์ (retraction) โดยเอกสารการแจ้งถอนนั้นมักปรากฏควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ออนไลน์ หรือประทับคำว่า Retraction บนบทความ ผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถติดตามได้ในเว็บ Retraction Watch (https://retractionwatch.com)         ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีขอบเขตทางวิชาการกว้างและมีผู้นิยมส่งผลงานเป็นจำนวนมาก เช่นวารสาร Science หรือ Nature หลายบทความอาจได้รับการปฏิเสธแม้มีคุณภาพดีพอควรแต่ทางบรรณาธิการยังรู้สึกว่า ยังไม่โดดเด่นกระทบใจคนในวงการวิชาการ ส่วนวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น PLOS ONE, Scientific Reports และ Peer J ใช้กระบวนการ peer review ที่เคร่งครัดเพียงเพื่อตัดสินความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีเท่านั้น จึงทำให้วารสารเหล่านี้แทบจะตีพิมพ์บทความทั้งหมดที่ปฏิบัติตรงตามมาตรฐานที่จำเป็นของความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเจ้าของต้นฉบับบางคนทำให้เกิดขึ้นได้แม้เนื้องานอาจดูไม่ดี) สำหรับวารสารเฉพาะทางที่มีจำนวนการเผยแพร่ต่อผู้อ่านค่อนข้างน้อยจึงมักมีผู้เสนอต้นฉบับบทความเพื่อขอตีพิมพ์น้อย ทำให้การแข่งขันเพื่อการตีพิมพ์ไม่สูงนัก อัตราการตอบรับเพื่อตีพิมพ์เฉลี่ยจึงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง         การที่ต้นฉบับบทความวิชาการบางเรื่องได้รับการตีพิมพ์ยากนั้น อาจเนื่องจากเป็นสาขาวิชาเฉพาะที่ลงลึกมากจนหากรรมการที่เข้าใจได้ยากหรือคุณภาพงานไม่อยู่ในระดับที่ peer-reviewed journals ยอมรับ เจ้าของบทความ เช่น อาจารย์หรือนักวิจัยในหลายประเทศที่จำเป็นต้องมีผลงานในทุกปีมิเช่นนั้นอนาคตอาจมืดมลจนจำเป็นต้องเลือกไปใช้บริการจากวารสารประเภท จ่ายครบตีพิมพ์แน่ โดยวารสารลักษณะนี้เป็นของสำนักพิมพ์ที่ถูกเรียกว่า predatory publisher (สำนักพิมพ์นักล่าเหยื่อ) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่จัดทำวารสารเพื่อหารายได้เข้าตนเองเป็นหลัก กระบวนการทุกอย่างในการตีพิมพ์รวดเร็วทันใจมาก ในบางกรณีอาจพบว่าตัววารสารนั้นไม่ได้ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์ที่เป็นเรื่องเป็นราวแต่มักมีเว็บไซต์ซึ่งดูดี รายชื่อวารสารหลอกลวงเหล่านี้หาดูได้จาก Beall’s list of predatory publishers ซึ่งเป็นรายชื่อวารสารและสำนักพิมพ์ที่เข้าข่ายซึ่งนักวิชาการที่ดีไม่ควรส่งต้นฉบับงานวิจัยไปตีพิมพ์ เพราะถึงตีพิมพ์แล้วผลงานนั้นอาจไม่ได้รับการพิจารณาว่ามีมาตรฐานพอในการขอตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ รายชื่อนี้จัดทำโดยบรรณารักษ์ชื่อ Associate Professor Jeffrey Beall สังกัด University of Colorado สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการทบทวนกระบวนการทำงานและคุณภาพของวารสารจากสำนักพิมพ์จำนวนมาก จนเห็นความแตกต่างของวารสารที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีวารสารที่มีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและ/หรือออนไลน์แต่ไม่อยู่ใน Beall’s list นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคุณภาพดี แต่เพราะอาจเป็นเพียงวารสารประจำถิ่นที่ไม่ประสงค์ในการเผยแพร่การค้นพบสู่วงการวิชาการระดับนานาชาติ วารสารลักษณะนี้หาดูได้ไม่ยากนักในประเทศที่พัฒนาแล้วได้แค่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้         ข้อสังเกตง่าย ๆ ของ predatory publishers คือ 1.) เป็น วารสาร online แทบทั้งนั้น อาจมีการพิมพ์เป็นตัวเล่มบ้างเช่นกันพอเป็นกระสาย 2.) มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในราคาสูง 3.) มีกระบวนการพิจารณาเรื่องเพื่อตีพิมพ์รวดเร็วทันใจ ประเมินต้นฉบับบทความแบบอะลุ่มอล่วยพอเป็นพิธี 4.) สำนักพิมพ์ของวารสารมักตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานั้นๆ แต่หลายสำนักพิมพ์นั้นก็ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป 5.) วารสารเหล่านี้มักตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับวารสารมีชื่อเสียงที่มีมานานแล้วเพียงแต่ใช้วิธีลวงตา เช่นเติม s ไปท้ายชื่อวารสารเดิมหรือถ้าเดิมมี s ก็ตัดออกเสีย 6.) บทความที่ตีพิมพ์มักใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์บ้าง สะกดคำผิด เป็นต้น         วารสารประเภท predatory journals นั้นเป็นแหล่งตีพิมพ์ยอดนิยมของคนที่เรียนออนไลน์เพื่อขอรับปริญญาขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยห้องแถวในหลายประเทศ ซึ่งเจ้าของบทความไม่ได้เรียนจริงหรือแม้มีวิทยานิพนธ์ก็ใช้วิธีแอบทำสำเนาจากวิทยานิพนธ์ของคนอื่นที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท แล้วนำมาดัดแปลงโดยอาจอาศัยความช่วยเหลือจากมือปืนอาชีพในบางสาขาวิชาแล้วทำรูปเล่มให้ดูดี เพียงเพื่อใช้ลงใน social media ต่าง ๆ เพื่อลวงสังคมว่าได้จบในสาขาวิชาหนึ่งในขั้นสูงแบบเดียวกับคนที่เขาใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะได้มา คนประเภทนี้มีเสนอหน้ามากพอควรในสังคมโลกปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 หมวกนิรภัยสำหรับนักปั่น

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน         คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ         คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น         องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น         ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ         นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น         จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท        ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย        · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ  เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน  ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย        ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา         บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน         ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point