ฉบับที่ 179 ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ระบบจ่ายยาของไทยมีประสิทธิภาพแค่ไหน

แม้แพทย์จะวินิจฉัยอาการของโรคถูกต้อง แต่จ่ายยาให้ผู้ป่วยผิดซอง ก็เท่ากับว่าการรักษานั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยปัญหาการได้ยาผิดซองเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนไม่ต้องการ เพราะนอกจากจะไม่สามารถทุเลาอาการเดิมให้หายได้ ซ้ำยังเพิ่มความเสียหายให้กับร่างกายมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงพบปัญหานี้อยู่เสมอ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะผู้ป่วยลืมตรวจสอบยาให้ดีก่อนนำไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าน่าจะได้รับยาที่ถูกต้องแล้ว แต่ระบบการจ่ายยาของทุกโรงพยาบาลก็ควรมีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดนี้ขึ้น ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณวาสนาใช้สิทธิบัตรทอง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าด้วยอาการหอบ ไข้สูง ปวดหัว แพทย์ให้พักรักษาตัวเพื่อดูอาการและให้กลับบ้าน โดยสั่งยาให้กลับไปรับประทาน ซึ่งหลังรับประทานยาแล้วพบว่ามีอาการมึนงง ปวดหัวและอาเจียน จึงนำซองยาดังกล่าวมาตรวจสอบ และพบว่าไม่ใช่ชื่อของตนเอง ดังนั้นจึงให้บุตรสาวกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อเปลี่ยนยารักษาให้ถูกต้องเมื่อกลุ่มงานเภสัชกรรมของทางโรงพยาบาลดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบแล้วแจ้งกลับว่า รายการยาที่ผู้ป่วยได้รับนั้น แม้ชื่อผู้รับบนซองยาผิด แต่เป็นยาที่สั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยจริง อย่างไรก็ตามเหตุที่ชื่อบนซองผิดพลาด เนื่องจากการบันทึกรายการยาจะเป็นการบันทึกตาม VN ของผู้ป่วย (VN หรือ Visit Number คือ หมายเลขที่กำหนดขึ้นเพื่อตรวจสอบจำนวนผู้รับบริการในแต่ละวัน หรือหมายเลขสำหรับผู้ป่วยนอกเท่านั้น) ซึ่งหากไม่ได้เปลี่ยนวันที่จะเกิดปัญหาการทำรายการผิดคน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ ทั้งนี้สำหรับอาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานยา ได้ชี้แจงว่าเป็นเพียงผลข้างเคียงจากการใช้ยาเท่านั้น สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โชคยังดีที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย แต่ทางด้านผู้ร้องก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับไปใช้ยาดังกล่าวอีก เพราะผลข้างเคียงจากยาผิดแปลกไปจากที่เคยได้รับการรักษาที่ผ่านมาแนวทางการแก้ไขปัญหา หากผู้ร้องไม่กลับไปเปลี่ยนยาหรือปล่อยปละละเลยไป ก็อาจมีเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นแม้ผู้ร้องได้รับยาที่ถูกต้องตามชื่อของตัวเองแล้ว แต่ก็ต้องการให้โรงพยาบาลดังกล่าวปรับปรุงระบบการจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ อีก ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงส่งหนังสือประสานงานไปกับทางโรงพยาบาลดังกล่าว โดยเบื้องต้นขอให้มีการเยียวยาผู้บริโภคและตรวจสอบระบบการจ่ายยา ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ตอบกลับมาและชี้แจงว่า จะปรับปรุงและพัฒนาระบบการจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะมีการยิงบาร์โค้ดที่ใบสั่งยา ควบคู่กับการคีย์ HN ของคนไข้ (HN หรือ Hospital Number คือหมายเลขของผู้ป่วยนอก ซึ่งโรงพยาบาลจะออกหมายเลขให้สำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยที่จะตรวจในโรงพยาบาล) เพื่อความถูกต้องของข้อมูลคนไข้ต่อไป นอกจากนี้ก็พร้อมยินดีที่จะเยียวยาผู้ร้อง ด้วยการชดใช้ค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบยาดังกล่าวจำนวน 500 บาท โดยให้ผู้ร้องส่งเลขที่บัญชีให้กับทางโรงพยาบาลเพื่อโอนเงินให้ผู้ร้องต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”   ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ  พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปบทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่    การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ประกันสุขภาพ อยากได้แต่ไม่อยากเสีย

แม้โฆษณาการประกันภัยของบริษัทต่างๆ จะมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อบริการเห็นถึงการรับประกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยหากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตหรือทรัพย์สิน ผู้ซื้อก็จะไม่ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ เหล่านั้นเพียงผู้เดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้รู้หรือบริษัทไม่เคยบอกอย่างชัดเจนก็คือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงอยู่ในข้อสัญญากรมธรรม์ต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเคยต้องผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมดังกรณีของผู้ร้องรายนี้“บริษัทฯ ใคร่ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ขออภัยที่จะต้องขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด โดยกรมธรรม์มีผลบังคับสิ้นสุดลงวันที่…”ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาในจดหมาย เพื่อระงับการเอาประกันของภรรยาผู้ร้องที่ซื้อประกันภัย “HIP MediCare1” ของบริษัทกรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยผู้ร้องได้ชี้แจงว่าเขาซื้อประกันภัยแบบเหมาจ่ายให้กับตนเอง ภรรยาและลูก 1 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 6 งวด งวดละ 1,102 บาท (รวมภาษีและอากรแล้ว) มีข้อตกลงและความคุ้มครองที่สำคัญคือ การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่ออุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่ทำประกันภัยนั้น ภรรยาของเขาได้มีการเบิกเคลมค่าสินไหมจำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 26,000 บาท สำหรับการป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ได้แก่ อาการจากเยื่อบุจมูกอักเสบ กระเพาะอักเสบและน้ำในหูไม่เท่ากัน ประเด็นที่สำคัญ คือภรรยาของผู้ร้องไม่ได้เบิกเคลมเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ และไม่ได้ผิดสัญญาการชำระเบี้ยประกันเลย ดังนั้นเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกจากบริษัทและให้กรมธรรม์มีผลสิ้นสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล จึงทำให้ผู้ร้องไม่เข้าใจว่าตนเองผิดสัญญาข้อไหน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุการยกเลิกประกันภัย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงนัดเจรจา โดยบริษัทประกันภัยนำเอกสารใบกรมธรรม์มาชี้แจงว่า สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามสัญญาข้อ 12.1 ที่ระบุว่า “บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติในวันสุดท้ายที่เบี้ยประกันภัย ซึ่งได้รับชำระมาแล้วสามารถซื้อความคุ้มครองได้ โดยบริษัทไม่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด”อย่างไรก็ตามจากข้อความในสัญญากรมธรรม์ รวมทั้งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้ผู้ร้องทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงต้องบอกยกเลิกการเอาประกันของภรรยาเขาได้ ทางศูนย์ฯ จึงต้องดำเนินการหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป เพราะการที่บริษัทฯ บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง และอาจเข้าข่ายเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผลให้บอกเลิก รวมทั้งต้องไม่เป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียวดังเช่นในกรณีนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 การใช้สิทธิตามมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

คุณหนึ่ง(นามสมมติ) ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยเรื่องมีอยู่ว่า แม่ของคุณหนึ่ง เกิดอาการผิดปกติ โดยอาเจียนอย่างรุนแรงถึง  4 ครั้ง มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง พูดไม่ชัด ผู้ร้องจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาร่วมชั่วโมง และเมื่อแพทย์ฟังอาการของคุณแม่ ที่คุณหนึ่งเล่า ก็สั่งจ่ายยาและให้กลับบ้านได้ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด แม้จะทักท้วงเพื่อขอให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือให้น้ำเกลือ แต่ทางแพทย์ก็ปฏิเสธทั้งสองกรณีเมื่อกลับมาบ้านได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะอาการอาเจียนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและแพทย์ได้ตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุว่าอาเจียนเพราะเหตุใด ผู้ร้องปรึกษาว่าควรให้คนไข้นอนที่นี่ไหมเพื่อเฝ้าติดตามประเมินอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแต่แพทย์ปฏิเสธเป็นครั้งที่ 22 วัน ต่อมา คุณแม่อาการรุนแรงขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่เช่นเดิม กว่าจะได้ตรวจเสียเวลามาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง มีไข้สูงแต่พยาบาลก็ไม่ทำอะไร แพทย์กลับมาดูอีกครั้งผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ในที่สุดต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สำเร็จผู้ป่วยได้เสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นนั้น ได้แนะนำให้ทางผู้ร้องคือคุณหนึ่ง ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 ซึ่งว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ร้องได้ทำการร้องเรียนและได้รับเงินชดเชยมาทั้งหมด 360,000 บาท แล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่า หากโรงพยาบาลมีการให้บริการที่ดีผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิต จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบี้องต้นได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000  บาทผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่ สำนักงานสาขาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในจังหวัดนั้น หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตร 50 (5)การพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้นฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่...เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญาผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ช่วยบอกหน่อยว่าเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน

“เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ก่อนจัดจำหน่ายไปยังลูกค้า ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์”ใครที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ถ้าเพ่งพินิจหน้าซอง มักจะเห็นข้อความโฆษณาเลิศหรูแบบนี้ แต่มันไม่จะไม่มีข้อความส่วนไหนที่บอกให้คุณรู้เลยว่า มันเป็นหมันคุณดาลิน เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมี และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 ที่ผ่านมานี่เอง เธอไปออกบูทงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุด มีเกษตรกรรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทด้านเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ว่า เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ซื้อมา เพาะปลูกไปแล้วไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกอีกครั้งได้  เช่น พริกก็เป็นหมัน  เอามาทำพันธุ์เพาะปลูกต่อไม่ได้   แม้กระทั่งตัวคุณดาลินเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่มีใจรักด้านการเกษตร ลงทุนร่วมกับพี่ชายไปซื้อที่ทำนาในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากบริษัทข้ามชาติมาปลูก เมื่อปลูกและได้ผลผลิตข้าวแล้ว จะเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก  ปรากฏว่าเสียรู้  เพาะปลูกไม่ขึ้นในฤดูกาลถัดไป หรือปลูกได้ก็ได้ผลผลิตแย่มากไม่เหมือนปลูกครั้งแรกคุณดาลินเธอบอกว่า เคยติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานด้านเกษตรหลายหน่วยงานอย่าง กรมวิชาการเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงกรมวิชาการพันธุ์พืชได้คำตอบจากข้าราชการไทยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกษตรกร รู้อยู่แล้ว ทำไมไม่ไปร้องเรียน ....ที่อื่น”คุณดาลินเห็นว่า หากเกิดความเสียหายด้วยความไม่รู้ของเกษตรกรแล้วมาร้องทุกข์ ก็จะโดนภาษาจากข้าราชการ อย่างนี้เช่นเดียวกัน และ อาจโดนคำพูดปลอบใจว่า เค้ารู้กันทั่วบ้านเมือง ...ดิฉันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เคมี ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าคำว่า OP ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน คำว่า S1 ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน หรือคำว่า เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน “ข้อความแบบนี้เป็นภาษาที่ไม่สื่อ ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ชัดเจน กำกวม และทำให้ เกษตรกรเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุให้เกิดการหลงเชื่อไปในทางเข้าใจผิดได้ อยากจะขอให้มีการเพิ่มข้อความ ระบุบนซองเมล็ดพันธุ์  ที่ขึ้นชื่อว่า OP, S1, เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือเมื่อมีแนวโน้มเอียงไปในทางไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  ให้มีถ้อยคำเพิ่มเติม  ดังนี้1.ให้ระบุฉลากให้มีคำว่า  เมล็ดพันธุ์ “ หมัน “ บนหน้าซอง2.ให้ระบุฉลาก ให้มีข้อควรระวังว่า “ ไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป“ บริเวณด้านหลังซองเพื่อป้องกัน  ความเข้าใจผิด  หรือลดการหลงผิดแก่เกษตรกรรายใหม่  และช่วยทำให้เกษตรกรที่มีการศึกษาน้อย วุฒิการศึกษาขั้นประถมศึกษา สามารถอ่านภาษาไทย  แม้เขียนภาษาไทยไม่ได้ ได้รู้ถึงความหมาย เมื่อแรกที่หยิบซองเมล็ดพันธ์ขึ้นมาอ่าน  และเข้าใจได้ทันที  ด้วยภาษาที่ง่าย หรือเป็นภาษาที่ใช้งานกันบ่อยในชีวิตประจำวัน   และแปลความหมายเข้าใจได้ง่ายกว่า  คำว่า  พันธ์ลูกผสม  (ซึ่งข้าพเจ้า วุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาเคมี ยังไม่รู้เลยว่า  ผลคือ หมัน ) แล้วจะคาดหวังเกษตร หลงเข้าใจได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหานายอำพล เสนาณรงค์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงพันธุ์พืชที่เรียกว่าพันธุ์ลูกผสมไว้ว่าพันธุ์ลูกผสม  หมายถึง  ลูกผสมชั่วที่  ๑  (F1) ของพันธุ์สองพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่ของพันธุ์ลูกผสมอาจจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ประชากร หรือพันธุ์บริสุทธิ์  ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะลูกผสมมักมีผลิตผลสูงและคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เรียกว่า "ความดีเด่นของลูกผสม" (Hybrid vigor  หรือ Heterosis)   และเกษตรกรผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูปลูก  เนื่องจากลูกชั่วต่อไปของลูกผสมจะมีผลิตผลลดลง  และคุณสมบัติอื่น ๆ ปรวนแปร และไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ เพราะบริษัทผู้ผลิตจะหวงพันธุ์และเก็บไว้เป็นความลับ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพด ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดาลิน ที่อยากจะเห็นข้อความที่ให้สารสาระบ่งชี้ชัดเจนเข้าใจโดยไม่คลาดเคลื่อนว่า เมล็ดพันธ์ลูกผสมใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมล็ดที่ได้จากการปลูกครั้งแรกไม่สามารถนำมาเพาะปลูกได้อีก หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้เกษตรกรได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับปรุงการแสดงฉลากบนซองเมล็ดพันธุ์ให้มีความชัดเจนนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กู้แบงค์ผ่าน แต่คุณภาพบ้านไม่ผ่าน อยากบอกเลิกสัญญาขอเงินค

  เป็นปัญหาเรื่องบ้านๆ ที่ฉีกไปอีกมุม แต่น่าสนใจไม่แพ้ในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอไปคุณสุปราณี ส่งแฟกซ์ขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาเธอเล่าว่า เมื่อประมาณวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ได้เข้าไปดูตัวอย่างบ้านที่โครงการโฮมการ์เด้นวิลล์-บายพาส ของบริษัท อิมเมจ พร็อพเพอร์ตี้ ทู จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานขายอยู่ที่ถนนรัตนพิธาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดูแบบบ้านตัวอย่าง เห็นรายการของแถมต่างๆ พิจารณาราคาบ้านและที่ดินตก 1.6 ล้าน แถมโครงการยังมีสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่าน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน โครงการยินดีคืนเงินจองเงินทำสัญญาให้ลูกค้าทันทีคุณสุปราณีเธอปิ๊งทันทีครับ เห็นสัญญาและเงื่อนไขแบบนี้ จึงตกลงวางเงินจองเงินทำสัญญารวม 40,000 บาทในวันนั้นทันทีคุณสุปราณี คงเป็นคนที่มีเครดิตดีมากในสายตาของธนาคาร เพราะผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารผ่านเกิน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน จึงโทรไปแจ้งโครงการเพื่อนัดโอนบ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2554 และไม่ลืมแจ้งกับโครงการว่าจะขอเข้าตรวจเช็คสภาพความเรียบร้อยของบ้านก่อนในช่วงเช้าของวันที่นัดหมายโอนบ้านการขอดูความเรียบร้อยของบ้านก่อนโอนถือเป็นความรอบคอบที่คุ้มค่ามาก ในวันที่ 25 มกราคมก่อนถึงวันโอนบ้าน 2 วัน คุณสุปราณีไปเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อเตรียมจ่ายเช็คให้กับโครงการตามวันที่นัดไว้ แต่พอได้ไปดูสภาพบ้านในช่วงเช้าของวันโอน ก็ต้องร้องโอย...เพราะสภาพบ้านยังไม่เรียบร้อย ช่างไม่มีการเก็บงานและยังไม่ติดตั้งของแถมให้ตามเงื่อนไข ตัดสินใจเซย์โนไม่โอนบ้านทันที วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ไปแจ้งเซลล์ว่าขอยกเลิกไม่โอนบ้าน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เดินทางเข้าไปเซ็นเอกสารขอเงินค่าทำสัญญาคืน แต่พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เซลล์โทรมาแจ้งว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่คืนเงินทั้งหมดให้คุณสุปราณีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเสียความรู้สึกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วกับการดำเนินการของโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหาการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ตามสัญญา แม้จะหลุดไปเพียงแค่วันหรือสองวัน ผู้บริโภคมีสิทธิใน 2 ทางเลือก คือ จะรับโอนบ้านหรือยืนยันบอกเลิกสัญญาขอเงินจองเงินทำสัญญาคืนก็ได้เข้าใจว่า คุณสุปราณี เธอคงไม่แน่ใจในคุณภาพบ้านว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่าตามที่เซลล์บอกมา และไม่อยากเสียเวลากับโครงการ จึงยืนยันเจตนาที่จะขอบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าทำสัญญาคืน เราจึงแนะนำให้ทำจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการฝั่งผู้ประกอบธุรกิจไปให้ชัดแจ้ง พร้อมเขียนท้ายจดหมายว่าสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปส่งด้วยตัวเอง แต่ให้ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปไม่นาน...คุณสุปราณีก็ได้รับเงินคืนตามข้อเรียกร้องเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ถ้าไม่รักษาสัญญากับผู้บริโภคที่มีความฉลาดขึ้น รับประกันว่าขายสินค้าไม่ได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 สิ่งนี้หรือคือเสรีภาพของสื่อมวลชน

หมีแพนด้า หมีแพนด้า หมีๆ แพนด้า...ช่วงนี้พูดได้ว่า ไม่มีข่าวอะไรที่ฮิตฮอต เกินข่าวแพนด้าตัวน้อยที่น่ารัก น่าชัง กับแม่หลินฮุ่ย ที่เล่นเอาพ่อช่วงช่วง ตกกรอบข่าวไปจนหาไม่เจอเลยทีเดียว ความน่ารักของแพนด้าน้อยคงช่วยทำให้ผู้ที่ได้ชมนั่งอมยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็นภาพ ความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี (ถึงแม้เป็นการเห่อตามกระแสก็เถอะ) แต่ก็ถือได้ว่าข่าวแพนด้ายังเป็นข่าวที่ทำให้ผู้รับข่าวสารอ่านแล้ว ดูแล้วมีความสุขพอสมควรตรงกันข้ามกับอีกข่าวหนึ่ง ดังไม่แพ้กัน แต่กี่ครั้งที่เห็นก็อดที่จะสะท้อนใจไม่ได้และรู้สึกไม่สบายใจ นั่นคือข่าวที่พ่อ-ลูก ของอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังออกมาทะเลาะกันเป็นเวลาติดต่อกันหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งสองข่าวนี้ดังไม่แพ้กัน ต่างกันอยู่ที่ข่าวแพนด้า(ข่าวของสัตว์)นำเสนอให้เห็นมุมของความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี ที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่ข่าวหลัง(ข่าวของคน) เป็นการนำเสนอความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างลูกกับพ่อ ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารไม่เข้าใจเลยว่า การสื่อสารเรื่องนี้(ของคน)สู่สังคม สื่อต้องการสื่อสารอะไร การที่ลูกกับพ่อออกมาทะเลาะกัน ไม่ว่าใครจะผิดจะถูกอย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็คือผู้เสียหายและตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ดังนั้นมันเป็นการสมควรแล้วหรือ ที่ต้องนำข่าวนี้ออกมาเผยแพร่ แบบเจาะลึกชอนไช ทุกซอกทุกมุมแบบนี้ เรียกได้ว่ามีการเผยแพร่ข่าวสารแบบครบวงจรกันเลยทีเดียวทั้งทางข่าวทีวี ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่เว้นแม้แต่รายการทอล์คโชว์ต่างๆ ดังเสมือนว่า พ่อ-ลูก คู่นี้เป็นเหยื่ออันโอชะ เป็นแหล่งทำมาหากินของวงการข่าวสารของไทยก็ว่าได้ โดยไม่เว้นเวลาให้เขาหายใจหายคอกันเลยทีเดียวสื่อที่เห็นส่วนใหญ่มักทำตัวเป็นบ่างช่างยุ ถามทางโน้นที ยั่วทางนี้ที เหมือนว่ามีความสุขมากมายที่ได้เสนอข่าวนี้ออกไป(หรือว่าเพื่อเงินทำได้หมด) ทั้งๆ ที่ข่าวแบบนี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์ใดๆ ทั้งพ่อทั้งลูกก็เสียหาย คนอ่านก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรที่ประเทืองปัญญา ดีไม่ดีเกิดการเลียนแบบขึ้นมาอีก การเสนอข่าวนี้ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำจารึกรอยแผล แห่งความล่มสลายของครอบครัวไว้ในสังคม(ต้องการอย่างนั้นกันหรือ) ซึ่งผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ ว่าวงการข่าวสารไทย ที่ออกมาเรียกร้องว่าผู้สื่อข่าวต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าว ปราศจากการแทรกแซงใดๆ (ซึ่งก็เห็นด้วย) แต่ตัวเองอิสระแล้วยังไงล่ะ พวกเขาเคยคิดบ้างไหมที่จะปล่อย(เหยื่อ)พ่อ-ลูกคู่นี้ให้เขาได้มีอิสระที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวเขาเองได้บ้างหรือเปล่า ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้บริโภคข่าวคนหนึ่งหวังอย่างยิ่งว่าวงการข่าวสารของไทยจะพัฒนามากขึ้น เสนอข่าวสารอย่างมีสติ จะนำความจริงที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ตีแผ่ความฉ้อฉล สร้างการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาสังคมได้มากขึ้น ไม่ใช่เสนอข่าวตามกระแสตลาดอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้ โดยเห็นความจ็บปวดของแหล่งข่าวเป็นอาหารอันโอชะ ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้กับใคร ผู้บริโภคอย่างเรายังคงต้องบริโภคข่าวแบบไม่มีทางเลือกต่อไป นี่คือเสียงหนึ่งของผู้บริโภคที่อยากบ่นดังๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตื่นๆๆ กันเสียที เฮ้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กล้องอัจฉริยะใช้ 6 เดือน ซ่อม 6 เดือน

กล้องถ่ายรูปที่ดีไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้เท่านั้น แต่คุณภาพบริการหลังการขายของผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตสินค้าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 คุณจุฑามาศสาวน้อยผู้รักการถ่ายภาพ ได้ไปเดินหาซื้อกล้องถ่ายรูปที่แผนกขายกล้องของห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี แล้วมาปิ๊งกับกล้อง แกรนด์วิชชั่น รุ่น s.50z ที่คุณจุฑามาศเข้าใจว่าเป็นของบริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ(ไทยแลนด์) จำกัด ผ่านมาได้ 6 เดือน อยู่ดี ๆ ขาขั้วแบตเตอรี่ของกล้องเกิดหักขึ้นมาทำให้เปิดใช้เครื่องไม่ได้ จึงนำกล้องถ่ายรูปกลับไปที่แผนกขายกล้องที่ห้างบิ๊กซี ราชบุรี ด้วยความชีช้ำหวังจะให้เวิลด์ไวด์อิมเมจรับซ่อมกล้องให้ คุณจุฑามาศกลับมาบ้านพร้อมกับใบรับซ่อมที่ระบุข้อความที่ดูเหมือนจะเป็นข้อสัญญาว่า กรณีที่มีอะไหล่จะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 เดือน ส่วนในกรณีที่ไม่มีอะไหล่ ต้องรออะไหล่อาจใช้เวลานาน 3-4 เดือน คุณจุฑามาศเฝ้ารอสัญญาณผลการซ่อมตั้งแต่ต้นฝนจนเข้าต้นหนาวเดือนพฤศจิกายนกล้องสุดที่รักก็ยังไม่กลับมาเสียที จึงได้โทรติดต่อกลับไปที่บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจฯ จึงได้รับแจ้งข่าวดีว่าจะจัดส่งสินค้ามาทางไปรษณีย์ประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะได้รับ แต่ข่าวร้ายที่พ่วงตามมาคือ บริษัทแจ้งว่าความเสียหายของกล้องที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของเจ้าของกล้องเอง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ต้องเสียค่าซ่อมที่ประมาณ 1,000 บาท “นี่ถ้าดิฉันไม่โทรไปถามก็ไม่รู้ว่าจะได้กล้องคืนมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้กล้องตามที่บอกเลย สอบถามศูนย์ซ่อมกล้องหลายแห่ง บอกว่าราคาซ่อมน่าจะอยู่ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น ถ้ามีอะไหล่ก็เปลี่ยนได้เลย หรือดัดแปลงได้ไม่น่าใช้เวลานานขนาดนี้.... เบื่อทวงเสียความรู้สึก รอจนหง่อมแล้วค่ะ....แล้วยังจะต้องมาเสียค่าซ่อมขนาดนี้ด้วยเหรอคะ” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายสอบถามไปที่บริษัทเวิลด์ไวด์อิมเมจ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อติดตามกล้องให้กับคุณจุฑามาศ ซึ่งได้รับคำตอบจากทั้งสองบริษัทในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่การซ่อมกล้องล่าช้าใช้เวลานานมากเนื่องจาก บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ นั้นความจริงแล้วไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง เป็นแต่เพียงบริษัทที่ไปรับซื้อกล้องดิจิตอลจากผู้แทนจำหน่ายกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องหมายการค้าต่างๆ อีกทีหนึ่ง แล้วนำมาฝากขายให้กับห้างบิ๊กซีทุกสาขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งกล้อง แกรนด์วิชชั่น ที่คุณจุฑามาศซื้อไปนั้นแกรนด์วิชชั่นซื้อมาจากบริษัท อัลฟ่าบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อสินค้าชำรุดก็เลยต้องส่งต่อกันเป็นทอดๆ ระยะเวลาการซ่อมจึงขึ้นกับตัวแทนจำหน่ายว่าจะสามารถซ่อมได้เอง มีฝ่ายซ่อม หรือมีอะไหล่ของสินค้ารุ่นนั้น ๆ อยู่หรือไม่ กล้องยี่ห้อที่มีลูกค้าซื้อเป็นจำนวนมากมักจะซ่อมได้เลย แต่บางยี่ห้อต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องส่งสินค้ากลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นจึงทำให้ใช้ระยะเวลาในการส่งสินค้าซ่อมค่อนข้างนาน กรณีของคุณจุฑามาศเวิลด์ไวด์อิมเมจได้ส่งสินค้าให้ผู้แทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และได้รับสินค้าที่ซ่อมเสร็จคืนมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และส่งต่อไปให้ห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี เมื่อ 13 ธันวาคม 2551 ท้ายสุดทั้งสองบริษัทได้กล่าวขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนคุณจุฑามาศได้รับกล้องคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องเสียค่าซ่อมตามที่เคยถูกเรียกมา เฮ้อ รวมระยะเวลาที่กล้องเครื่องนี้ต้องบินไปเข้าอู่ร่วม 6 เดือนครับ สงสัยเขาจะส่งไปทางเรือ...ยังไงๆ ก็ช่วยปรับปรุงกันหน่อยครับเพื่อภาพพจน์ที่ดีของบริษัทจะได้ยั่งยืนตลอดไปนิรันดร์กาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ประสิทธิภาพ “เครื่องดูดฝุ่น”

เครื่องดูดฝุ่น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวัน ช่วยให้การทำความสะอาดบ้านง่ายขึ้นเยอะ ทุ่นแรงทุ่นเวลา หลายบ้านอยากจะมีเจ้าเครื่องดูดฝุ่นไว้ใช้งาน แต่อาจยังติดเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง และอาจยังไม่มั่นใจว่าซื้อมาแล้วจะใช้งานได้คุ้มค่าหรือเปล่า แถมยังสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการดูดฝุ่นว่าจะดีจริงอย่างที่โฆษณาหรือเปล่า เพื่อไขข้อข้องใจให้กับคนที่กำลังมองหาเครื่องดูดฝุ่นไว้ใช้งานสักเครื่อง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้ พลังในการดูด ไปดูกันสิว่าเครื่องยี่ห้อไหน รุ่นอะไร คุ้นค่าน่าซื้อกันบ้าง การทดสอบครั้งนี้ทดสอบโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ตัวอย่างเครื่องดูดฝุ่นที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 9 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่น เป็นถุงผ้า จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Tefal รุ่น city space TW2422 AH ระบุกำลังไฟฟ้า 2000 วัตต์Philips รุ่น PowerLife FC 8451 ระบุกำลังไฟฟ้า 1900 วัตต์ Panasonic รุ่น MC-CG 331ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์ 2.กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็น ถังพลาสติก จำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่Samsung รุ่น VCMA 18 AV ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Hitachi รุ่น CV-SH18 ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Sharp รุ่น EC-L518-V ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Electrolux รุ่น MobiMAXX ZAR 3500 ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์Imaflex รุ่น VC-932 ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์ LG รุ่น VC 2316 NND.BORPETH ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์                                         ฉลาดซื้อแนะนำ• ก่อนซื้อควรพิจารณาว่า เครื่องดูดฝุ่นของเราสามารถดูดฝุ่นเก็บในปริมาณมากหรือน้อย ซึ่งสามารถดูจากปริมาตรของถุงและถังเก็บฝุ่น• อย่าลืมตรวจสอบอุปกรณ์เสริมสำหรับการใช้งานในที่แคบ บางยี่ห้อไม่มีอุปกรณ์เสริมสำหรับการดูดฝุ่นในที่แคบ • กำลังไฟฟ้าที่ระบุไว้ (จากการทดสอบนี้) อาจไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการดูดฝุ่น จะเห็นได้ว่า ในกรณีของกลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า เครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อ Philips ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1900 วัตต์ สามารถดูดผงทรายและผงเหล็ก ได้ดีกว่ายี่ห้อ Tefal ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 2000 วัตต์ ในกรณีของ กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถังพลาสติก เครื่องดูดฝุ่น ยี่ห้อ Imaflex ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1600 วัตต์ สามารถดูดผงทรายและผงเหล็ก ได้ดีกว่า ยี่ห้อ Hitachi ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1800 วัตต์----------------------------------------------------- วิธีการทดสอบ1.ทดสอบ “ดูดผงเหล็ก” และ “ผงทราย” บนพื้นพรม และ ทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูน-นำผงเหล็กและผงทรายที่ชั่งน้ำหนักแล้วไปโรยบนพื้นพรม และพื้นปูน ปาดผงเหล็กและผงทรายเกลี่ยให้ทั่ว บนพื้นที่ทดสอบ ขนาด 3 เมตร x 3 เมตร -การทดสอบดูดผงเหล็กบนพื้นพรม เครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า ใช้ปริมาณผงเหล็ก 2.5 กิโลกรัม ส่วนเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงเหล็ก 5 กิโลกรัม-การทดสอบดูดผงทรายบนพื้นพรม เครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า ใช้ปริมาณผงทราย 1.5 กิโลกรัม ส่วนเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงทราย 3 กิโลกรัม-การทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูน ทั้งเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุง และกลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงทราย 1.5 กิโลกรัม เท่ากัน-เปิดเครื่องดูดฝุ่นให้มีกำลังสูงสุด ดูดจนกระทั่งพื้นพรมและพื้นปูนสะอาด จับเวลา และวัดการใช้พลังงานด้วยเครื่องวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า ยี่ห้อ Voltcraft รุ่น Cost Control 3000 SET-ชั่งน้ำหนักของผงเหล็กและผงทราย ที่เครื่องดูดฝุ่นสามารถดูดกลับคืนมาได้ 2.ทดสอบความดังของเสียง-เปิดเครื่องดูดฝุ่นที่ระดับกำลังสูงสุด ทำการดูดผงทรายที่พื้นปูน เป็นเวลา 1 นาที-วัดระดับความดังของเสียง ด้วยเครื่องวัดความดังเสียง ยี่ห้อ ONO SOKKI รุ่น LA 4440 บันทึกค่าความดังสูงสุดที่วัดได้ 3.ประเมินความสามารถในการดูดฝุ่นในที่แคบการทดสอบนี้จึงใช้การประเมินความสามารถในการดูดในพื้นที่แคบ โดยดูจากขนาดของปากท่อและความยาวของหัวดูด ซึ่งขนาดของปากท่อที่ดูดขนาดเล็กจะมีความสามารถในการแทรกซอนลงไปในพื้นที่แคบได้ดีกว่า เกณฑ์การให้คะแนนการทดสอบ “ดูดผงเหล็ก” และ “ผงทราย” บนพื้นพรม และ ทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูนดีมาก : 3 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้ครบ)ดี : 2 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้เกินกว่า 90 %ของน้ำหนักทั้งหมด)ผ่าน : 1 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้น้อยกว่า 90 %ของน้ำหนักทั้งหมด) การทดสอบ การวัดความดังของเสียง ดีมาก : 3 คะแนน (ระดับเสียงน้อยกว่า 75 เดซิเบล)ดี : 2 คะแนน (ระดับเสียงระหว่าง 75-80 เดซิเบล)ผ่าน : 1 คะแนน (ระดับเสียงมากกว่า 80 เดซิเบล) การประเมินความสามารถในการดูดฝุ่นในที่แคบ ดีมาก : 3 คะแนน (สามารถใช้ดูดได้ในที่แคบและลึก)ดี : 2 คะแนน (สามารถใช้ดูดได้ในที่แคบ)ผ่าน : 1 คะแนน (ใช้ดูดได้ในที่แคบ)ไม่ผ่าน : 0 คะแนน (ใช้ในการดูดในที่แคบไม่ดี) กิตติกรรมประกาศเครือนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ให้ความอนุเคราะห์ การใช้เครื่องมือวัดระดับความดังของเสียงในการทดสอบการใช้งานเครื่องดูดฝุ่นครั้งนี้      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 127 เลือกไดร์เป่าผมกับฉลาดซื้อ

  ฉลาดซื้อฉบับนี้ เอาใจคนผมยุ่งด้วยการทดสอบประสิทธิภาพไดร์เป่าผม โดยการทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยนั้น ดำเนินการโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สำหรับในส่วนการทดสอบเรื่องความพึงพอใจ นิตยสารฉลาดซื้อได้รับความร่วมมือจาก สมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อเข้าร่วมทดสอบไดร์ไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2554  ไดร์เป่าผมที่เลือกมาทดสอบในครั้งนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ รุ่นกำลังไฟไม่เกิน 1200 วัตต์ 5 ตัวอย่าง และรุ่นที่กำลังไฟเกิน 1200 วัตต์ 4 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง  ผลการทดสอบ  ในกลุ่มไม่เกิน 1,200 วัตต์ ไดร์ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ PHILIPS HP4931 ส่วนในกลุ่มที่กำลังไฟเกิน 1,200 วัตต์ ไดร์ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ PANASONIC (EH-NE50-S)  และหากวัดในเรื่องความพึงพอใจ สมาชิกฉลาดซื้อเลือก PANASONIC (EH-NE50-S) เป็นอันดับหนึ่ง สูสีกับ PHILPS HP4931 ที่ตามมาเป็นอันดับสอง PHILIPS HP4931 5 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 620 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 5 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 4 ดาว PANASONIC(EH-NE50-S) 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1600 ราคา (บาท) 1,150 คุณภาพสินค้า 5 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 5 ดาว BABYLISS PRO Nano Titanium 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1750 ราคา (บาท) 2,500 คุณภาพสินค้า 5 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว MAMARU MR-7502 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1850 ราคา (บาท) 390 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว LE'SASHA LS0300 3  ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 590 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   PANASONIC EH-ND11-A 3 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1000 ราคา (บาท) 369 คุณภาพสินค้า 2 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 4 ดาว     REMINGTON PROFRESSIONAL TRAVEL 1800 D2922 3  ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1800 ราคา (บาท) 1,350 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 2 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   SEVERIN HT6021 2 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1000 ราคา (บาท) 665 คุณภาพสินค้า 1 ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   AIKO Cool Function OL-1280 1 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 399 คุณภาพสินค้า 2 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 3 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 2 ดาว  *สัดส่วนการให้คะแนน ประเมินคุณภาพสินค้า 25% (หมายถึง คุณภาพวัสดุ ฟังก์ชันการทำงาน สายไฟ อุปกรณ์เสริม)ประสิทธิภาพการใช้งาน 40% (หมายถึง ความแรงลม ความร้อนของลม เสียง)ด้านความปลอดภัย 25% (หมายถึง ความแน่นหนาการต่อเชื่อมเครื่องกับสายไฟ มอก. คู่มือฉลาก คำเตือน ประกัน)ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 10% (จากการทดลองใช้งานของสมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อ 16 คน)  **เกณฑ์การให้ดาว เมื่อเทียบเป็น 100 คะแนน ต่ำกว่า 50 = 1 ดาว50-59 = 2 ดาว60-69 = 3 ดาว70-79 = 4 ดาว80-100 = 5 ดาว90-100 = 5 ดาว การเลือกซื้อไดร์เป่าผม 1. วัตถุประสงค์การใช้ • แบบพกพา จุดสังเกตที่ควรจะดู คือข้อต่อของตัวด้ามจับที่ควรจะมีความแข็งแรง ไม่พับเก็บง่ายจนเกินไป• แบบใช้ในบ้านหรือร้านเสริมสวย โดยทั่วไปมักจะเลือกไดร์เป่าผมที่มีกำลังวัตต์สูง แต่ก็ควรคำนึงถึงความแรงของลมให้สอดคล้องกันด้วย เพราะไดร์บางตัวมีกำลังวัตต์สูงแต่ให้แรงลมเบากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กินไฟเกินความจำเป็น    2. ลองก่อนซื้อ  กำลังวัตต์ที่สูงไม่ได้บ่งชี้ว่าจะมีลมแรงหรือร้อนกว่าเสมอไป เนื่องจากการออกแบบของแต่ละยี่ห้อนั้นมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นควรลองก่อนหลายๆ ยี่ห้อเพื่อเปรียบเทียบจากกร้านที่ซื้อ  3. คุณสมบัติ / ฟังก์ชันการทำงานคุณสมบัติที่ไดร์เป่าผมควรจะมีคือ ควรจะปรับความแรงลมได้หลายระดับ และมีปุ่มปรับลมเย็น (Cool) ซึ่ง ทำให้ปรับเป็นลมเย็นได้ในทันที เทคนิคการใช้ลมร้อนและลมเย็นมีดังนี้คือ ลมร้อนจะช่วยทำให้ผมเป็นเกลียวหรือเรียบได้เร็ว แต่ไม่ควรเป่าแช่ค้างที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเพราะจะทำให้ผมไหม้ แห้งกรอบ และเสียได้ ส่วนลมเย็นจะช่วยให้เกลียวผมอยู่ตัวและเรียบนาน  (เพิ่มเติม: นอกจากนี้ ไดร์เป่าผมรุ่นใหม่ยังเพิ่มเครื่องพ่นไอออนประจุลบ เพื่อช่วยรักษาสุขภาพผม เพราะประจุลบที่ปล่อยลงไปเคลือบเส้นผมขณะเป่า จะช่วยเก็บความชุ่มชื้นเข้าสู่แกนผม ผมจึงเสียน้อยลง แต่หลักการนี้จะใช้ได้ดีจริงหรือไม่เพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเส้นผมของแต่ละคนด้วย) วิธีการใช้ไดร์เป่าผม หลังจากสระผมเสร็จ ก่อนจะเริ่มไดร์ผม ใช้ผ้าขนหนูซับให้ผมแห้งหมาดๆ เสียก่อน และเปิดเครื่องไดร์ไปที่ระดับความร้อนและแรงลมสูงสุด เป่าผมทั่วศีรษะให้หายเปียกชื้น และปรับลดความร้อนลงเมื่อต้องการจัดแต่งทรงผมโดยเฉพาะถ้าเป็นผมดัด ผมย้อม หรือผมที่แห้งเสียอยู่แล้ว ควรใช้ความร้อนและแรงลมต่ำๆ เข้าไว้ เมื่อเราแปรงผมและไดร์ผมในลักษณะช้อนผมขึ้น  จะช่วยให้ผมดูดก หนาและดูมีน้ำหนัก  ต่อจากนั้นจึงแปรงผมและไดร์ให้เข้ารูปเข้าทรงตามทรงผมที่ต้องการ    การดูแลรักษาไดร์เป่าผม  เมื่อเลิกใช้งาน: 1. ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กออก2. วางเครื่องเป่าผมลงบนพื้นผิวที่ทนความร้อน ปล่อยไว้จนกระทั่งเครื่องเย็นลง3. ถอดแผงครอบทางลมเข้าออกจากเครื่องเพื่อกำจัดเศษผมและฝุ่นผงออก4. ทำความสะอาดตัวเครื่องด้วยผ้าชุบน้ำพอหมาด5. เก็บเครื่องไว้ในที่แห้งและปลอดภัย ปราศจากฝุ่น คุณสามารถเก็บเครื่องโดยแขวนด้วยห่วงสำหรับแขวน6. ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผมติดต่อกันนานจนเกินไปโดยไม่พัก ควรมีการปิดเครื่องพักเป็นระยะๆ เพื่อช่วยผ่อนแรงของมอเตอร์ เป็นการยืดอายุของไดร์   ข้อควรระวัง1.  ห้ามใช้ไดร์เป่าผมใกล้น้ำ2. ห้ามปิดกั้นตะแกรงช่องลมของตัวเครื่อง3. ห้ามพันสายไฟรอบเครื่อง4. ก่อนใช้ควรตรวจดูสภาพของไดร์เป่าผมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 102 “เตาแม่เหล็กไฟฟ้า คุ้มค่าแค่ไหน”

“เสน่ห์ปลายจวักผัวรักจนตาย” สุภาษิตไทยโบราณที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำกับข้าวเข้าครัวของฝ่ายหญิงที่ใช้เป็นสิ่ง ผูกมัดใจฝ่ายชายให้อยู่กับบ้านกินกับเรือน ไม่ให้หนีไปหากิ๊กที่อื่นหรือมีข้ออ้างไปหาอาหารกินนอกบ้าน เรื่องดังกล่าวถือเป็นวัฒนธรรมที่ ยกให้ผู้หญิงเป็นใหญ่หรือเป็นคนสำคัญในบ้าน คล้ายกับวัฒนธรรมของชาวอิตาเลี่ยนที่คุณย่าหรือคุณยายมีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงคนใน ครอบครัวและเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในบ้าน เพราะเป็นผู้ที่รักษาความลับในการทำพาสต้าให้คนในครอบครัว รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย และเมื่อลูกสะใภ้หรือลูกสาวได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับการทำอาหารจากคุณย่าหรือคุณยายแล้วก็จะเป็นแม่ ครัวประจำบ้านแทนทันที เมื่อนั้นความสำคัญในครอบครัวก็จะตกมาอยู่ที่ลูกสาวหรือลูกสะใภ้ต่อไป   ปัจจุบันการจะทำอาหารรับประทานกินเองในครอบครัวนั้น ถูกจำกัดด้วยสภาพที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัย อยู่ในอาคารชุด ทำให้มีข้อจำกัดในการทำอาหารรับประทานเองในที่พักอาศัย เนื่องจากอาคารชุดบางแห่งห้ามใช้เตาแก๊สในการประกอบอาหาร ทำให้ “เตาไฟฟ้า” เป็นทางเลือกหนึ่งในการหุงต้มอาหาร ซึ่งเตาไฟฟ้ามีข้อดีหลายอย่าง แต่ใช้เวลานานในการให้ความร้อนเมื่อเทียบกับเตาแก๊ส ในปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับเตาไฟฟ้าเพื่อใช้ประกอบอาหารก้าวหน้าไปมาก “เตาแม่เหล็กไฟฟ้า” ถือได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ใน การปรุงอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าให้เลือกใช้หลากหลายยี่ห้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาด การทดสอบนี้เป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกซื้อเตาไฟฟ้าให้ตรงกับความต้องการและงบประมาณที่กำหนด ฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้า จำนวน 15 ยี่ห้อ 16 รุ่น จากห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ราคาตั้งแต่ 999 บาท ถึง 6,000 บาท โดยทดสอบเปรียบเทียบในเรื่องการใช้พลังงาน การใช้งาน และการปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Elektrosmog) แสดงผลตามตาราง  การทดสอบการใช้พลังงานทดสอบโดยต้มน้ำปริมาตร 1.5 ลิตร เปิดฝา จับเวลา และวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้มจนกระทั่งน้ำเดือด ผลจากการทดสอบสามารถแบ่งเตาแม่เหล็กไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินไฟน้อย ได้แก่ เตายี่ห้อ VZIO, House Worth, Orchid, Nicole, Electrolux และ Toshiba กลุ่มที่กินไฟปานกลาง ได้แก่ AJ, Midea, Hanabishi, Imarflex รุ่น IF-830, Imarflex รุ่น IF- 863, OTTO, Zebra Head, Fagor และ Mamaru กลุ่มที่กินไฟมาก ได้แก่ Oxygen การทดสอบการปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electrosmog)สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากเตาแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือวัดค่าสนามแม่เหล็กแบบดิจิตอล ยี่ห้อ Gigahertz Solution รุ่น ME 3030 B ระหว่างช่วงความถี่ 16 เฮิตร์ซ ถึง 2000 เฮิตร์ซ โดยวางเครื่องมือวัดให้มีระยะห่างจากเตาแม่เหล็กไฟฟ้า 50 เซนติเมตร และเปิดเตาไฟฟ้าที่กำลังสูงสุด จากการทดสอบสามารถอ่านค่าความเข้มสนามแม่เหล็กได้สูงสุด 2000 นาโนเทสลา (nT) สำหรับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กมากกว่า 2000 นาโนเทสลา (nT) เครื่องมือวัดฯ ไม่สามารถประเมินในเรื่องความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม สถาบัน T?V Rheinland หน่วยงานอิสระที่ทำการทดสอบทางด้านเทคนิคของประเทศเยอรมนี ได้ให้คำแนะนำว่า ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ควรเกินกว่า 200 นาโนเทสลา (nT) การใช้งาน การใช้งานของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าพิจารณาจากคู่มือการใช้งาน และแผงหน้าปัด คู่มือการใช้งาน ในการจัดทำคู่มือการใช้งานของผลิตภัณฑ์ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย คู่มือการใช้งานได้ดีมาก ได้แก่ Toshiba ซึ่งเป็นคู่มือการใช้งานที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ ตัวหนังสือมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย สบายตา มีภาพประกอบคำอธิบายชัดเจน คู่มือการใช้งานได้ดี ได้แก่ House Worth, AJ, Zebra Head และ Mamaru ขนาดตัวหนังสือที่ใช้อธิบายมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย แต่มีภาพประกอบน้อย คู่มือการใช้งานได้พอใช้ ได้แก่ ยี่ห้อ Electrolux, Fagor, Imaflex รุ่น IF 830 และรุ่น IF 863, Midea และ Hanabishi ตัวหนังสือขนาดใหญ่ มีภาพประกอบน้อย และมีข้อมูลในการใช้งานน้อย คู่มือการใช้งานที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ VZiO, Orchid, OTTO, Nicole, และ Oxygen โดยเฉพาะยี่ห้อ VZiO ไม่มีคู่มือที่แปลเป็นภาษาไทย แผงหน้าปัด แผงหน้าปัดควบคุมของผลิตภัณฑ์ แบ่งตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบสัมผัส (Touch screen) ได้แก่ เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ยี่ห้อ Electrolux, House Worth, VZIO, OTTO, Fagor, Zebra Head และ Toshiba แบบปุ่มกด ได้แก่ Orchid, Nicole, AJ, Midea, Hanabishi, Imaflex รุ่น IF 830 และ รุ่น IF 863, Mamaru และ Oxygen แผงหน้าปัดถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการใช้งาน เพราะต้องสื่อสารด้วยสัญลักษณ์หรือภาษาที่เข้าใจง่าย ตัวหนังสือ ต้องมีขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน บางยี่ห้อ ปุ่มกดหรือผิวสัมผัส มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะผู้ใช้งานสูงอายุ ที่มีความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินค่อนข้างจำกัด จากการทดสอบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าทุกรุ่น พบว่า ปุ่มกดหรือผิวสัมผัสจะมีเสียงสัญญาณ เพื่อยืนยันการกดใช้งาน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณไฟเพื่อบอกการทำงานของเตาด้วย ตัวอย่างแผงหน้าปัดที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ที่มีขนาดใหญ่ ภาพและตัวหนังสือ ชัดเจน และมีภาษาไทยประกอบ คือ Hanabishi, Zebra Head และ AJ ดูรูปที่ภาคผนวก 1 แผงหน้าปัดที่ไม่มีภาษาไทยประกอบคือ Imaflex รุ่น IF- 863, Toshiba, VZiO, Orchid, Nicole, Oxygen, Midea, OTTO, Fagor, และ Electrolux ซึ่ง แผงหน้าปัดมีการใช้สัญลักษณ์ เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้ใช้งานสับสนได้ ดูรูปที่ภาคผนวก 2 แผงหน้าปัด ที่มีภาพและตัวหนังสือขนาดเล็ก แป้นกดขนาดเล็ก คือ Imaflex รุ่น IF 830, House Worth, Mamaru ดูรูปที่ภาคผนวก 3ความปลอดภัยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะทำงานจะมีการสร้างสนามแม่เหล็กส่งผ่านมายังกระทะสแตนเลส (ใช้ได้เฉพาะโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หรือแม่เหล็กถาวรดูดติดเท่านั้น) ขึ้นมาด้านบน ซึ่งมีน้ำหรือน้ำมันอยู่ และย้อนกลับไปยังเตาแม่เหล็กไฟฟ้า สนามแม่เหล็กนี้เองที่เป็นตัวสร้างความร้อนให้เกิดขึ้นที่ก้นภาชนะ และถ่ายเทความร้อนให้กับน้ำหรือน้ำมันในกระทะสแตนเลส ในขณะที่ตัวกระทะด้านบนยังมีความเย็นอยู่และจะร้อนขึ้นจากการถ่ายเทความร้อนมาจากก้นภาชนะขึ้นมา บริเวณแผ่นส่งความร้อนตรงที่ไม่ได้มีภาชนะวาง จะไม่เกิดการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็ก จึงไม่เกิดความร้อน เพราะฉะนั้นบริเวณรอบๆ ภาชนะ จึงไม่ได้เกิดความร้อน ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่ป้องกันอันตรายจากความร้อนของหัวเตา เตาแม่เหล็กไฟฟ้าไม่สามารถใช้ได้กับภาชนะที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หม้อหรือภาชนะที่เป็นอลูมิเนียม หรือกระเบื้อง หรือแก้วไม่สามารถใช้อุ่นหรือปรุงอาหารด้วยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ดังนั้นหากเราต้องการอุ่นอาหารด้วยหม้ออลูมิเนียมแล้วเตาแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวไม่ทำงาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าชำรุดแต่ประการใด เตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะที่กำลังทำงานอยู่จะมีการสั่น ซึ่งสามารถทำให้กระทะหรือหม้อมีการเคลื่อนที่ได้ และถ้าโต๊ะหรือที่วางเตาแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้ระนาบ กระทะหรือหม้ออาจจะพลิกหรือตกจากเตาได้ ดังรูปที่ 1  รูปที่ 1 ความเสี่ยงจากการใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้าบนโต๊ะที่ ไม่ได้ระนาบ ผลข้างเคียงจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับเรื่องความปลอดภัยหรือความเสี่ยงของมนุษย์ภายใต้สภาวะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นสูงนั้น มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงกันของนักวิชาการฝ่ายที่ทำงานให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และฝ่ายที่ทำงานในด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบันนี้ ในยุโรปเองก็ยังไม่มีข้อสรุปในการออกเป็นกฎหมายบังคับ และยังไม่มีงานวิจัยใด ที่สามารถบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค เพราะการพิสูจน์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาก แต่ในฐานะผู้บริโภคเราควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในด้านลบหากอยู่ภายใต้ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสูงๆ เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ pace maker ไม่ควรที่จะเข้ามาอยู่ใกล้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะเครื่องทำงาน เพราะสนามแม่เหล็กอาจจะไปรบกวนการทำงานของเครื่อง pace maker หรือไปหยุดการทำงานของเครื่อง pace maker ได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นเรื่อง electrosmog เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จะหาโอกาสมาเล่าถึงในโอกาสต่อไป เตาแม่เหล็กไฟฟ้ากับการประหยัดพลังงานหลักการโดยทั่วไปในการหุงต้มในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ ความร้อนที่เกิดจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าความร้อนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า เพราะการใช้พลังงานปฐมภูมิ (เช่น ก๊าซธรรมชาติ) มีประสิทธิภาพดีกว่าพลังงานความร้อนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าที่มีการสูญเสียพลังงานโดยรวมมากกว่า แต่ในด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะการหุงต้มในอาคารชุด จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานของเตาหุงต้มประเภทต่างๆ คือ เตาไฟฟ้า ที่ทำจากเหล็กหล่อ (Cast iron hot plate) เตาอินฟราเรด เตาอินฟราเรดพร้อมเซนเซอร์ เตาฮาโลเจน และเตาแม่เหล็กไฟฟ้า (Induction hot plate) จากรูปสามารถสรุปได้ดังนี้ รูปที่ 2 แผนภูมิแสดงการใช้พลังงานในการทดสอบของ เตาไฟฟ้าประเภทต่างๆ [1] จากผลการทดสอบเปรียบเทียบการต้มน้ำปริมาตร 1.5 ลิตร เตาอินดัคชันใช้พลังงานในการต้มน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเตาชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ในการอุ่นอาหารและรักษาอุณหภูมิอุ่น นาน 45 นาที เตาอินดัคชันใช้พลังงานน้อยที่สุดเช่นกัน ประเภทของเตาไฟฟ้า  รูปที่ 3 รูปแสดงประเภทของเตาไฟฟ้า [2] เตาไฟฟ้าสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะแผ่นส่งความร้อนออกเป็น 2 ประเภทคือ1. เตาไฟฟ้าแบบธรรมดา แผ่นส่งความร้อนเป็นเหล็กหล่อใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำให้เตาเกิดความร้อน มีราคาถูกกว่าเตาไฟฟ้าแบบอื่น (รูปประกอบ 3ก)2. เตาไฟฟ้าแบบแผ่นส่งความร้อนทำจากเซรามิก เตาประเภทนี้สามารถจำแนกพลังงานที่ทำให้เกิดความร้อน ได้ 4 ประเภท คือ 2.1 เตาอินฟราเรด (Infrared hot plate) เป็นเตาที่ให้ความร้อนโดยใช้รังสีอินฟราเรด (รูปประกอบ 3ข) 2.2 เตาฮาโลเจน (Halogen hot plate) เป็นเตาที่ให้ความร้อนโดยขดลวด ภายใต้บรรยากาศก๊าซเฉื่อย) (รูปประกอบ 3ข) 2.3 เตาอินดัคชัน (Induction hot plate) (รูปประกอบ 3 ค) เป็นเตาที่ใช้หลักการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจากการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะเกิดบริเวณก้นภาชนะที่เป็นวัสดุประเภทเฟอโรแมกเนติก (Ferromagnetic- วัสดุที่สามารถใช้แม่เหล็กดูดแล้วติด เช่น เหล็กเหนียว และเหล็กหล่อ) โดยบริเวณอื่นของภาชนะไม่เกิดความร้อนจากการเหนี่ยวนำ แต่เกิดจากการนำความร้อนจากก้นภาชนะ สำหรับบริเวณด้านนอกที่ก้นหม้อหรือกระทะ ไม่ได้สัมผัสกับเตาจะไม่เกิดความร้อนเช่นกัน ทำให้สามารถใช้มือสัมผัสได้ หรือถ้าเราเปิดเตาแต่ไม่ได้วางภาชนะลงไปก็จะไม่เกิดความร้อนขึ้น ถือได้ว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์การทำอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยการให้ความร้อนแบบนี้เรียกว่า (cold cooking) 2.4 เตาแก๊ส ความร้อนได้จากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติ (รูปประกอบ 3 ง) ซึ่งการให้ความร้อนของเตาทั้งสามประเภทนี้ หากเราปล่อยให้ความร้อนสูงเกินไปจะทำให้แผ่นส่งความร้อนไหม้ได้ (Overheating) ภาชนะที่เหมาะสมกับเตาอินดัคชันภาชนะที่เหมาะสมที่ใช้กับเตาอินดัคชันต้องเป็นวัสดุที่สามารถดูดติดกับแม่เหล็กได้ และขนาดของภาชนะควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 12 เซนติเมตร ก้นของภาชนะต้องแบนราบ เพราะหากก้นของภาชนะมีลักษณะโค้งเว้าจะทำให้พลิกคว่ำได้ง่าย ในกรณีที่ภาชนะมีขาตั้ง ระยะห่างระหว่างก้นของภาชนะกับแผ่นนำความร้อนไม่ควรจะสูงเกินกว่า 2 มิลลิเมตร การบำรุงรักษาเตาแม่เหล็กไฟฟ้าหลังจากใช้งานเสร็จแล้วควรตั้งเตาทิ้งไว้สักพัก ให้เย็นตัวลง หลังจากนั้นใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบนน้ำหมาดๆ เช็ดให้สะอาด หากมีคราบน้ำมันติดอยู่ ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยาล้างจาน เช็ดคราบสกปรกออก และขณะทำความสะอาดควรถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้ง เนื่องจากแผ่นเตาเป็นวัสดุที่ทำจากแก้ว หรือเซรามิก จึงมีความเปราะ เวลาตั้งภาชนะ ไม่ควรกระแทกลงบนเตา และไม่ควรใช้โลหะหรือฝอยขัดหม้อขัดที่ผิวเตา หากผิวเตาแตกชำรุดไม่ควรใช้งานต่อ สรุปผลการทดสอบผลการทดสอบนี้พบว่า เตาแม่เหล็กไฟฟ้าหลายยี่ห้อประหยัดพลังงาน แต่ประเด็นเรื่องการจัดทำคู่มือการใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานนั้น พบว่ามีหลายยี่ห้อที่ยังต้องปรับปรุงและให้ความสำคัญในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น สำหรับแผงหน้าปัดควบคุมการใช้งานควรมีภาษาไทยประกอบ ซึ่งบางยี่ห้อไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้เลย การให้คะแนนผลิตภัณฑ์ที่น่าใช้งาน แบ่งตามเกณฑ์ดังนี้ เกณฑ์การประเมินดังกล่าวผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เอกสารอ้างอิง1 วารสาร Test ฉบับที่ 8 ปี 20042 เอกสาร Eco Top Ten for stove and hot plate,Institute for Applied Ecology, 2008 ภาคผนวก รูปที่ 1: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่มีปุ่มกดมีขนาด ใหญ่ เห็นได้ชัดเจน มี ภาษาไทยประกอบ เข้าใจง่าย รูปที่ 2: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่ไม่ มีภาษาไทย ประกอบ เน้นการใช้ สัญลักษณ์ เข้าใจยาก ไม่สะดวกในการใช้งาน รูปที่ 3: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่มีปุ่มกดและตัว อักษรขนาดเล็ก ไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 152 ยาปลุกนกเขา(แผนปัจจุบัน) ในยาแผนโบราณบำรุงร่างกาย

อันว่าภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกสภาวะเสื่อมถอยทางกาย(แก่นั่นแหละ) และหลายคนก็อาจมีสาเหตุทางด้านจิตใจ หรือเกิดจากการใช้ยาประจำบางอย่าง โดยไม่รู้ถึงผลข้างเคียง ดังนั้นควรได้รับการวินิจฉัยปัญหาอย่างรอบคอบและแก้ไขที่ต้นเหตุ มิใช่ว่า ต้องฝืนปลุกนกเขาให้ขันตลอด ด้วยการโด๊ปยาอย่างที่หลายท่านชอบทำ เรื่องของเรื่องคือ เมื่อเฝ้าดูรายการโทรทัศน์ในช่องเคเบิลและดาวเทียมทั้งหลายแล้ว ทำให้แจ้งในใจว่า คุณผู้ชายส่วนใหญ่วุ่นวายใจกับเรื่อง หย่อนสมรรถภาพทางเพศจริงจังมาก ไม่ว่ายาอะไรโฆษณาว่าดี ว่ายอดเป็นต้องหามาลองโดยไม่ได้มองถึงอันตรายใดๆ ยาพวกนี้เวลาโฆษณาจนติดแล้วในช่องทางเคเบิล ก็มาโผล่ในฟรีทีวี หรือคัตเอ้าต์ระดับสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสรรพคุณบำรุงร่างกาย(แต่คนได้ยินชื่อก็รู้ล่ะว่า เป็นยาเพื่อเรื่องอย่างว่า) ยาประเภทนี้มักมาในรูปของยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ผสมสารพัดสมุนไพร แน่นอนราคาแพงมาก(ไม่รู้แพงเพราะตัวยาหรือโฆษณา) ซึ่งสรรพคุณเด่นดังในทางบำรุงร่างกาย(เพศชาย) นี่เอง ที่ทำให้เกิดปัญหาว่า ยาเหล่านี้อาจมีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไป เข้าอีหรอบเดียวกับกาแฟลดน้ำหนัก ที่ใส่ตัวยาลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นข่าวมาโดยตลอด ล่าสุดได้รับรายงานผลการทดสอบจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ (เชียงใหม่และอุบลราชธานี) ว่า เจอยาแผนปัจจุบัน(Tadalafil และ Sildenafil ตัวหลังนี้มีชื่อการค้าว่า ไวอากร้า) ในยาบำรุงร่างกาย เกร็กคู จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง และแคปปร้า หรือ cappra อันนี้โชว์ป้ายโฆษณาท้าทายสายตาอยู่ ณ สนามบินสุวรรณภูมิด้วย   สรุปผล นกเขาขันเพราะยาแผนปัจจุบัน ก็เป็นอันตอบคำถามได้ว่า ทำไมยาแผนโบราณชื่อดังเหล่านี้จึงตอบโจทย์ท่านชายได้ ไอ้ที่ว่าได้ผลดีเยี่ยม ก็เพราะแอบใส่ยาแผนปัจจุบันเข้าไปนี่เอง การรับประทานยาด้วยความเข้าใจผิดแบบนี้ อันตรายต่อสุขภาพมาก เพราะหนึ่งการรับประทานยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ หลายท่านยังเข้าใจผิดว่า ปลอดภัย (อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่าสารเคมีสังเคราะห์) ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย มันก็อันตรายด้วยกันทั้งสองแบบ แต่ยาแผนโบราณดีกว่านิดหน่อยเพราะไม่ได้ออกฤทธิ์รวดเร็วเท่ายาแผนปัจจุบัน อีกทั้งผลข้างเคียงอาจน้อยกว่า แต่เมื่อมาในรูปของการแอบแฝง ทำให้คุณผู้ชายอาจรับประทานยาเกินขนาดและขาดความระมัดระวัง ซึ่งตัวยา Sildenafil และ Tadalafil มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด คนที่เป็นโรคหัวใจและกินยาโรคหัวใจอยู่ โดยเฉพาะยาในกลุ่มไนเตรท เช่น ยาไนซอดิล ยาอมใต้ลิ้นที่ชื่อไนโตรกลีเซอรีล หรือยาไนโตรเดิร์ม ยารักษาโรคหัวใจเหล่านี้จะไปเสริมฤทธิ์กับยา Sildenafil ซึ่งอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้   ดังนั้นโปรดใช้สติในการซื้อหามารับประทานกันด้วยนะครับ   ------------------------------------------------------------------------------------------------------ Sildenafil หรือ VIAGRA ที่เป็นชื่อทางการค้า ของบริษัท PFIZER ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ Sildenafil Citrate (ชื่อสามัญทางยา) เกิดจากการวิจัยเพื่อผลิดยาขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยรักษาเรื่องหัวใจขาดเลือด แต่กลับพบว่าผลข้างเคียงที่ได้ คือทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว คณะนักวิจัยจึงได้วิจัยต่อมาเพื่อเป็นยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และในปี 1998 ได้ผ่าน FDA ของอเมริกาโดยบริษัท PFIZER เป็นเจ้าของสิทธิบัตร หลังจากได้วางขายยา VIAGRA มันก็เป็นที่นิยมมาก นัยว่าเป็นยาชุบชีวิตของท่านชายหลายคนที่ประสบกับปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และนับจากนั้นไม่นานก็ได้แพร่หลายเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงไม่พึ่งประสงค์มากมาย   ------------------------------------------------------------------------------------------------------ พระราชบัญญัติ ยา พ.ศ. 2510 “ยาสมุนไพร” หมายถึง ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือ แร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุงหรือแปรสภาพ “ยาแผนโบราณ” หมายถึง ยาที่มุ่งหมายสาหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือ ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตารับยาเป็นยาแผนโบราณ ------------------------------------------------------------------------------------------------------ มะเขือเผา นกเขาหลับ ทำไงดี เป็นคำสแลงไว้เรียก อาการที่องคชาติไม่แข็งตัว จัดว่าเป็นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า อิมโพเทน (impotence) หรือ เมล อิเรคไท ดิสออเดอร์ (male erectile disorder) หรือ อิเรคไท ดิสฟังชั่น (erectile dysfunction) เรียกย่อๆ ว่า อีดี (ED) ซึ่งมีคำแปลว่า “ภาวะบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต”  ภาวะนี้สร้างความทุกข์ใจอย่างมาก และแน่นอนเมื่อเกินจะเยียวยาก็ต้องหาหนทางบำบัดอาการ ดังนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 ทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์กันแดด

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งประเภทครีม โลชั่น และสเปรย์ ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาฝากผู้อ่านกัน แต่ต้องย้ำกันตรงนี้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายในยุโรป และส่งเข้าทดสอบโดยองค์กรผู้บริโภคในยุโรปนั่นเอง  การทดสอบครั้งนี้จุดประสงค์อยู่ที่การสำรวจว่าในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้น แท้จริงแล้วมีค่า SPF และประสิทธิภาพในการกันน้ำ ตามที่ได้แจ้งไว้บนฉลากหรือในโฆษณาหรือไม่ โดยมีอาสาสมัครเป็นผู้ลงทุนอุทิศแผ่นหลังเพื่อการทดสอบ ประมาณ 10 – 14 คน ต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในการทดสอบครั้งนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกส่งเข้าทดสอบทั้งหมด 55 ผลิตภัณฑ์ แต่เราขอนำมาลงเฉพาะแบรนด์ที่พอจะพบเห็นกันได้ในบ้านเราเพียง 15 ผลิตภัณฑ์ จากการทดสอบพบว่า•    ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีค่า SPF ใกล้เคียงกับที่แจ้งไว้บนฉลาก หรือไม่ก็มากกว่า (มีอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ที่เรานำเสนอในครั่งนี้ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้ง หนึ่งในนั้นมีไม่ถึงครึ่งของค่าที่แจ้งไว้ด้วย) •    ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังเหลือประสิทธิภาพในการกันแดด มากกว่าร้อยละ 50 หลังจากที่ผิวหนังสัมผัสกับน้ำ (เกณฑ์ที่ระบุไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถระบุที่ฉลากว่ากันน้ำได้ คือร้อยละ 50)-----ฉลาดซื้อสำรวจ การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด•    ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84) เคยใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด โดยเหตุผลที่ใช้คือ เพื่อป้องกันผิวเสีย ริ้วรอย และป้องกันปัญหาสุขภาพผิว•    เกือบร้อยละ 50 ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทุกวัน ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร•    มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถาม ซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดประมาณ 5 ครั้งต่อปี•    แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 62) ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีในผลิตภัณฑ์กันแดด•    มีถึงร้อยละ 16 ที่เคยได้รับผลข้างเคียงจากผลิตภัณฑ์กันแดด และร้อยละ 94 ของผู้ที่เคยได้รับผลข้างเคียงเชื่อว่าสาเหตุคือสารเคมีในผลิตภัณฑ์  •    ร้อยละ 86.5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม อ่านฉลากก่อนซื้อ•    ร้อยละ 87 เห็นด้วยว่าค่า SPF ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป ตามแต่ลักษณะการใช้ •    แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กันแดด อันดับหนึ่งได้แก่โฆษณาจากสื่อต่างๆ ตามด้วยเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด•    ปัจจัยในการเลือกซื้ออันดับหนึ่งคือประสิทธิภาพในการป้องกันแดด ตามด้วยราคา และสภาพผิว(* สำรวจในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 100 คน เป็นผู้หญิง 60 คน ผู้ชาย 40 คน)•    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลาดครีมกันแดดในประเทศไทยในปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 750 ถึง800 ล้านบาท -----•    อย่าลืมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดใกล้ๆตัว แบบใช้แล้วใช้ซ้ำได้ เช่นเสื้อ กางเกงขายาว หมวก หรือแว่นกันแดด (ยอมรับกันเถอะพี่น้อง ว่าคนทั่วไปที่ไม่ใช่ดาราที่ต้องคอยระวังปาปารัซซี่แอบถ่าย ก็ใส่ได้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 64 การพัฒนาเพื่อคุณภาพร้านยาในประเทศไทย

ภ.ญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร1, ภ.ก.วราวุธ เสริมสินสิริ2 สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม, สำนักงานโครงการพัฒนาคุณภาพร้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   ร้านยาเป็นสถานบริการทางสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ซึ่งมีความสำคัญ เป็นที่พึ่ง และอยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นแหล่งที่ประชาชนตัดสินใจเลือกไปใช้บริการในเบื้องต้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น เป็นทางเลือกเพื่อการดูแลสุขภาพก่อนที่จะเริ่มมีการก่อตั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามการแพทย์ตะวันตก  และจากการศึกษามากมายบ่งชี้ให้เห็นว่า  ร้านยาเป็นจุดที่ประชาชนเลือกมารับบริการเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นสูงถึงร้อยละ 60-80  และคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 45 ของมูลค่าการบริโภคยาทั้งประเทศ (สุวิทย์และคณะ, 2537)  และพบว่าการใช้บริการด้านยาผ่านร้านยานี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 14.8 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพของครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 6.83 ของรายจ่ายสุขภาพเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมดของประเทศไทย (อดิศวร์ หลายชูไทยและคณะ, 2541) จากสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตนเองมากนัก ละเลยในการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ได้ใส่ใจที่จะออกกำลังกาย มุ่งแต่ทำงาน  และมีเวลาให้ตนเองน้อยลง เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนจึงยังต้องพึ่งบริการจากร้านยา แม้ว่าปัจจุบันสถานพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลินิกหรือโรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมายแล้วก็ตาม ร้านยายังเป็นทางเลือกที่สะดวก เข้าถึงง่าย จากการสำรวจรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน (ระบบยา, 2545) พบว่าหลังจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แนวโน้มที่ประชาชนซื้อยากินเองกลับเพิ่มขึ้นจาก 15.4 ในปี 2542 เป็น 18.6 ในปี 2543 ขณะที่สัดส่วนการใช้บริการที่สถานพยาบาลลดลง   และจากรายงานการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ในปี 2544 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2545) พบว่าพฤติกรรมในการเลือกใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยกรณีไม่ต้องนอนโรงพยาบาลของประชาชนไทย ส่วนใหญ่ซื้อยากินเองร้อยละ 23  ใช้บริการที่สถานีอนามัยร้อยละ 20   ใช้บริการที่โรงพยาบาลจังหวัด/โรงพยาบาลอื่นๆ ของรัฐ ร้อยละ 20  ใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 13   ใช้บริการที่คลินิกเอกชนร้อยละ 12  และอื่นๆ   จะเห็นได้ว่าร้านยาเป็นสถานบริการหนึ่งที่ประชาชนเลือกใช้บริการเป็นด่านแรก และยังคงเป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ในการดูแลตนเอง แต่การที่ประชาชนตัดสินใจซื้อยากินเอง ก็พบปัญหาที่ต่อเนื่องมากมาย  ทั้งการใช้ยาไม่เหมาะสม การใช้ยาฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น การใช้ยาที่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงอันตรายจากการใช้ยาในบางประเภท ทั้งยาชุดและยาควบคุมพิเศษต่าง ๆ   สาเหตุหลัก ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากร้านยาในสังคมไทย ยังไม่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดและคาดหวังไว้ การควบคุมกำกับร้านยาให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่ต่อเนื่องจริงจัง มีการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงการจ่ายยาที่ผิดกฎหมายและไม่เหมาะสมตามหลักการวิชาการ (บรรหาร และคณะ, 2540; เพียงฤทัย และดวงฤดี, 2544; โกมาตร และคณะ, 2542; Thamlikitkul 1998) สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปี 2544 ที่ชี้ให้เห็นว่า มีการจ่ายยาเตตร้าซัยคลินที่หมดอายุแล้วโดยร้านขายยาแผนปัจจุบันและร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จฯ ถึงร้อยละ 23.8 และ 21.7 ตามลำดับ (เพียงฤทัย และดวงฤดี, 2544) นอกจากนี้ จากการสำรวจของบริษัท IMS (ธีระ ฉกาจนโรดม, 2543) พบว่ายอดขายยาผ่านช่องทางร้านยาสูงสุด 10 อันดับแรก มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1,289 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 12.4 ของมูลค่าการบริโภคยาผ่านช่องทางร้านยาในช่วงเดียวกัน  โดยยาคุมกำเนิด Diane-35 มียอดขายสูงสุด รองมาเป็นยาแก้หวัด Tiffy  ผลการสำรวจสอดคล้องกับการสำรวจรายการยา จากร้านยาเพื่อการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดค่ายาเมื่อปี 2541 (รุ่งเพ็ชร เจริญวิสุทธิวงศ์, 2541)  ที่พบว่า Tiffy มียอดขายสูงสุดในยากลุ่มทางเดินหายใจ และ Diane-35 มียอดขายสูงสุดในกลุ่มยาคุมกำเนิด   มีข้อสังเกตว่ายา Diane-35 ซึ่งติดอันดับยอดขายสูงสุดไม่ใช่ยาที่ควรซื้อใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร   จากการพิจารณายาใน 10 อันดับแรกที่มีการบริโภคสูงสุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการโฆษณาที่บริษัทต่างๆ ใช้ ผลักดันให้อุปทานยาขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลให้เกิดการบริโภคยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เกินความจำเป็น หรือมีการบริโภคผิดซึ่งอาจเกิดอันตรายและสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาประเมินความสูญเปล่าจากการจ่ายยาแก้ปวดหลังของร้านยาในกรุงเทพมหานครโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่ามีมูลค่า 29 - 62 ล้านบาทต่อปี (ดวงทิพย์, 2540) ปัญหาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายควบคุมร้านยาที่เป็นอยู่น่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ และไม่สามารถใช้เป็นมาตรการหลักในการกำกับให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพในร้านยาได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีโครงการพัฒนาร้านยาให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สร้างขึ้น  เพื่อยกระดับการให้บริการของร้านยา แต่โครงการก็ไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนของมาตรฐาน กลไกการประเมิน วิธีเพิกถอนใบรับรอง และที่สำคัญในระบบที่ผ่านมายังขาดแรงจูงใจและความชัดเจนในการกระตุ้นให้ร้านยาต่าง ๆ พัฒนาตนเอง (มาตรฐานร้านยา อย., 2537, 2540) สภาเภสัชกรรมเห็นความสำคัญของร้านยา ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ดูแลตนเองยามเจ็บป่วยเบื้องต้น เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเพื่อให้ร้านยาพัฒนาบทบาทให้เกิดความยอมรับในการเป็นหน่วยหนึ่งแห่งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงได้พัฒนาและจัดการยกระดับคุณภาพร้านยาให้สามารถเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนและสังคมโดยรวมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยดำเนินการให้มีการรับรองคุณภาพร้านยาขึ้น และพัฒนา "มาตรฐานร้านยา" ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อใช้เป็นคู่มือแนวทางในการบริการของเภสัชกรชุมชนที่ร้านยา และเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานร้านยา รายละเอียดของคู่มือ แนวทางการประเมินตนเอง แนวทางการเยี่ยมสำรวจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ ทำการเยี่ยมสำรวจ และประชุมรับรองคุณภาพร้านยารอบแรก ถึงรอบที่ 3 ไปแล้ว โครงการ "พัฒนาและรับรองคุณภาพร้านยา" ของสภาเภสัชกรรมนี้ เป็นงานในความรับผิดชอบของสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา กิจกรรมหลักในโครงการฯ จะเป็นการสร้างรูปแบบการปฏิบัติงานและการให้บริการของร้านยาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการสร้างกลไกประเมินที่ตรวจสอบได้และทันการณ์ และมีการสร้างแรงจูงใจให้ร้านยาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่กำหนด (สภาเภสัชกรรม: โครงการพัฒนารูปแบบการรับรองคุณภาพร้านยา, 23 ธค.45)บทบาทของร้านยาคุณภาพต่อสุขภาพของคนใช้ยา เภสัชกรที่ให้บริการในร้านยาเป็นส่วนหนึ่งและในหลายกรณีมีฐานะเป็น "ด่านแรก" ที่ผู้ป่วยจะเข้ามาใช้บริการสุขภาพจากผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งบางรายดูแลสุขภาพตนเองมาแล้วในเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยา ผู้ป่วยที่พึ่งพาร้านยา ไว้วางใจให้ร้านยาเป้นบริการด่านแรกของตนมีหลายกลุ่ม แบ่งได้ดังนี้ 1.    กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการดูแลรักษาพยาบาลตนเองในเบื้องต้น (Self medication)ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวต้องการที่จะเลือกซื้อยาบำบัดอาการ ความเจ็บป่วยของตนในเบื้องต้น โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจของตนเอง การบอกเล่าจากเพื่อน เครือญาติ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง หรือ มาจากการโฆษณายาทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านสื่อต่างๆ ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะมาเภสัชกรในร้านยาโดยจะเรียกหา "รายชื่อยา" ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับดูแลรักษาตนเองหรือคนในครอบครัว ต่อกรณีนี้บทบาทของเภสัชกรในร้านยาจะมีบทบาทหลัก คือการประเมินความเหมาะสม ของยาที่เรียกหานั้น และส่งเสริมการดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยเภสัชกรจะมีกระบวนการในการสอบถาม ตรวจสอบซ้ำถึงความเจ็บป่วยและอาการของผู้ป่วย เภสัชกรจะประเมินยาที่เรียกหาว่ามีความเหมาะสมกับอาการและความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงใด รวมทั้งประเมินความเหมาะสมด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นอายุ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำอยู่ หากผู้ป่วยเข้าใจผิดในสรรพคุณของยาที่ตนเองเรียกหาหรือเกิดความไม่เหมาะสมขึ้น เภสัชกรจะให้ความรู้และปรับเปลี่ยนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ รวมทั้งเสนอแนวทางการเลือกใช้ยา และการรักษาที่ถูกต้อง 2.    กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการปรึกษาต้องการคำแนะนำและให้เภสัชกรพิจารณาเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาด้วยการบอกเล่า อาการความเจ็บป่วยและให้เภสัชกรเลือกสรรยาที่เหมาะสมให้ ต่อกรณีนี้บทบาทของเภสัชกร คือการคัดกรองและรักษาโรคพื้นฐานอย่างเหมาะสม อยู่ภายใต้ขอบเขตความรู้ความสามารถของ เภสัชกรโดยเภสัชกรจะมีกระบวนการซักประวัติผู้ป่วย วินิจฉัย และเลือกยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย โดยใช้องค์ความรู้หลักๆ คือ Pharmaco therapy (เภสัชบำบัด) ความรู้พื้นฐานเรื่องโรค รวมทั้งทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทดังกล่าวนั้นจะถูกวางกรอบไว้ เฉพาะผู้มารับบริการรายที่ป่วยด้วยโรคพื้นฐาน (ไข้หวัด ท้องเสีย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ บาดแผล เป็นต้น) โดยเภสัชกรจะประเมินแล้วว่า อยู่ในขอบเขตที่สามารถให้การดูแล รักษาได้ การส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรับการตรวจวินิจฉัย และ รักษาจากแพทย์ในสถานพยาบาลที่เหมาะสมหลังจากที่เภสัชกรคัดกรองผู้ป่วยแล้วจะส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ในรายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและการรักษาจากแพทย์ เช่น เป็นอาการฉุกเฉินของโรคบางอย่าง เป็นโรคที่เกินกว่าศักยภาพของเภสัชกรในการดูแล มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรัง หรือ ควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น การสื่อสารกับแพทย์อาจจะจำเป็นในบางกรณีเพื่อทุ่นเวลาหรือชี้ประเด็น สำหรับอำนวยความสะดวกกับแพทย์ที่จะรับการส่งต่อ โดยอาจจะมีเอกสารประกอบการส่งตัว เช่น ใบส่งตัว (Referral form) 3.    กลุ่มผู้ป่วยที่มาเรียกหา "ยาที่ใช้ประจำ" หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์มาแล้วในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวนั้นจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน ต้องการการติดตามการดำเนินโรคและการควบคุมโรคจากแพทย์ โดยหลักแล้วการมีโอกาสได้พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในหลายกรณี การพบแพทย์อย่างต่อเนื่องนั้นมีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเสียเวลารอคอย ภาระค่าใช้จ่ายที่สูง หรือกรณีที่ยาหมดก่อนถึงวันนัด เป็นต้น ดังนั้นการมาเรียกหายาที่ใช้ประจำในร้านยาจะเป็นการสะดวกกับผู้ป่วย โดยบทบาทของเภสัชกรในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวคือประเมินสภาวะของโรคและความเหมาะสมในการจ่ายยาที่ใช้ประจำ [Refill]รวมทั้ง สืบค้น และติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ก่อนที่เภสัชกรจะ Refill ยาให้ผู้ป่วย การประเมินความเหมาะสมก่อนจ่ายยามีความจำเป็น โดยการพิจารณาถึง ประสิทธิภาพการการควบคุมโรคของยาเดิมด้วยการติดตามผลการรักษาว่าสามารถควบคุมอาการ โรคได้หรือไม่ โดยจะมีซักถามอาการ รวมทั้งอาจจะให้บริการอื่นๆ เช่น บริการเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลโดยใช้เครื่องตรวจแบบง่ายๆ หรือวัดความดันโลหิต นอกจากนั้นจะพิจารณาถึง ความถี่ห่างของการพบแพทย์ และที่สำคัญคือ การ สืบค้นปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ความร่วมมือในการใช้ยา การได้รับยามากเกินไป น้อยเกินไป การเกิดDrug Interaction ระหว่างยาเป็นต้น ให้คำแนะนำเฉพาะที่จำเป็นต่อผู้ป่วยที่มารับบริการ จ่ายยาเดิมที่ใช้ประจำ [Refill] ยาหลังจากนั้นจะให้บริการด้านคำแนะนำเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้มาใช้บริการร้องขอหรือประเมินแล้วผู้ป่วยขาดข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งคำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีมากมาย เช่น-    ข้อบ่งใช้ของยา-    การปฏิบัติตัวเฉพาะของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ-    อาการแทรกซ้อนที่จะตามมา-    การใช้และรับประทานยาที่ถูกต้อง-    ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น -    ปฏิกิริยาของ ยาอื่นๆ ที่ผู้ใช้อยู่ประจำ กับ ยาที่มาหาซื้อ-    ส่วนอื่นๆที่สนใจ เช่น การแก้ไขเบื้องต้นในอาการแทรกซ้อนที่จะเกิด-    การปรับวิถีชีวิตและการปฏิบัติตัว (Life  style  modification) เฉพาะของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ-    ความจำเป็นในการพบแพทย์ และช่วงเวลาที่ควรไปพบแพทย์ครั้งต่อไป โดยการประเมินจากประสบการณ์ส่วนตัวของเภสัชกรว่า โรคนั้นๆ ผู้ป่วยรายนั้นๆ ควรไปพบแพทย์เมื่อใด บ่อยแค่ไหน แพทย์นัดเมื่อไร ผู้ป่วยทั้ง 3  กลุ่ม นอกจากจะได้รับการบริการเฉพาะข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับบริการที่เป็นพื้นฐานในการให้บริการ คือ การส่งมอบยา พร้อมคำแนะนำด้านยา และตอบสนองสิทธิผู้ป่วยพื้นฐานด้านข้อมูลยาหลังจากเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแล้ว การส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำด้านการใช้ยาเป็นบทบาทสำคัญที่ตามมา โดยเภสัชกรจะให้คำแนะนำด้านการใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพในการรักษา มีเข้าใจ และเกิดความร่วมมือในการใช้ยา (Compliance) โดยการให้คำแนะนำจะเน้นประเด็นต่างๆที่สำคัญ เช่น ชื่อยา (ระบุบนซองยา) ปริมาณและวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ (ระบุบนซองยา)   คำเตือน (ระบุบนซองยา)  สรรพคุณของยา ข้อบ่งใช้ กลไกของยาในการรักษาเบื้องต้น และการเฝ้าระวัง ป้องกัน และบำบัดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการบริโภคยา โดยใช้องค์ความรู้ในเชิง เภสัชวิทยา (Pharmacology) เสริมในการให้บริการ นอกเหนือจากความรู้ที่ใช้ในการรักษาโรคพื้นฐานด้วยยาการให้ความรู้เรื่องโรคและยา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยควรรู้บทบาทในการให้ความรู้ด้านอื่นๆ นอกจาก "ยา" เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจาก ผู้ที่มาใช้บริการมักจะขาดความรู้ในเรื่องที่จำเป็นในการดูแล รักษาโรคที่ตนกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของโรค การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การดูแลตนเองให้หายจากการเจ็บป่วยเร็วมากขึ้น การประเมินความรุนแรงของโรคด้วยตนเอง การระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ และการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือจะเป็นความรู้เบื้องต้นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้นการให้ความรู้นอกจากจะให้เป็นรายบุคคลแล้ว เภสัชกรจะให้ความรู้กับผู้ที่สัญจรไปมา ด้วยการจัดบอร์ดให้ความรู้ เอกสารแผ่นพับ จดหมายข่าว ฯลฯ  หรือในบางกรณีเภสัชกรชุมชนอาจจะมีกิจกรรมที่ให้ความรู้ต่อชุมชน  เช่น  การมีจดหมายข่าวไปสู่สมาชิกในชุมชน  การเยี่ยมบ้าน หรือการจัดบอร์ดในชุมชนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ และ รับประกันคุณภาพของยาก่อนถึงมือผู้ใช้กระบวนการในการคัดเลือกยาที่จะมาให้บริการในร้าน เป็นอีกบทบาทที่มีความสำคัญ โดยการใช้ทักษะองค์ความรู้เฉพาะทางเภสัชศาสตร์ พิจารณารูปแบบยาจากภายนอก ประสบการณ์ในการคัดเลือก ประสบการณ์ด้านคุณภาพโรงงานผลิต เป็นต้น เพื่อการมียาที่คุณภาพดีที่จะใช้บริการผู้ป่วย นอกจากนั้นยังต้องสร้างระบบการควบคุม เฝ้าระวังการหมดอายุของยา ใม่ว่าจะเป็นระบบแถบสี หรือ บัญชียาหมดอายุ รวมทั้งการเก็บรักษายาตามหลักเภสัชศาสตร์เพื่อป้องกันการเสื่อมอายุของยา การเป็นปรึกษาและเป็นที่พึ่งเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน ที่เข้าถึงง่ายเมื่อเรื่องของสุขภาพมีในหลายแง่มุม กว้างขวาง ประชาชนยังมีความรู้ไม่พอเพียง และต้องการที่ปรึกษาที่เข้าถึงง่าย เภสัชกรในร้านยาที่มีคุณภาพมักจะสามารถสร้างความเชื่อถือ ไว้ใจ ใกล้ชิดกับประชาชนพอที่จะให้บริการตอบคำถามต่างๆ ในเรื่องของสุขภาพได้ โดยไม่คิดมูลค่า เช่น ในกรณีที่ต้องการให้ช่วยประเมินความปลอดภัยของยาที่จะใช้กับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์  การประเมินความจำเป็นในการไปพบแพทย์ เป็นต้น บริการดีๆของร้านยาที่มีคุณภาพ บทบาทของเภสัชกรในร้านยาที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ร้านยาคุณภาพพึงจะมีให้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ นอกจากบทบาทพื้นฐานเหล่านี้  เช่น-    เก็บบันทึกประวัติผู้ป่วยเรื้อรังที่มีปัญหาจากการใช้ยาหรือป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ระบบการติดตามผล -    การรณรงค์ป้องกันโรคในชุมชน โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม-    บันทึกแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในกาคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา-    ออกให้บริการ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา นอกสถานที่ แล้วแต่เทศกาล-    เยี่ยมบ้านสำหรับผู้ป่วยบางราย-    ทำจดหมายข่าวให้ความรู้ กรณีตัวอย่างที่ 1ร้านส่งเสริมเภสัช ตั้งอยู่เลขที่ 255/47 ถนน พหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี - ตำบลคูคต เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย  6 หมู่บ้าน คือ บ้านขจรเนติยุตร, บ้านคลอง 3, บ้านสายไหม, บ้านลำสามแก้ว, บ้านสาดสนุ่น, บ้านสามัคคี เป็นตำบลที่มีการคมนาคมสะดวก เป็นที่ตั้งของตลาดสดสี่มุมเมือง ทำให้มีการสัญจรไปมาขับคั่ง ตำบลคูคต ทิศเหนือ ติด ต.ประชาธิปัตย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ทิศใต้ ติด กรุงเทพฯ ทิศตะวันออก ติด ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และทิศตะวันตก ติด ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี จำนวนประชากรทั้งสิ้น 15,694 คน ในตำบลคูคต มีร้านยาจำนวน 25 ร้าน คิดเป็น จำนวนร้อยละ 16.55 ของจำนวนร้านยาทั้งหมดในจังหวัดปทุมธานี ร้านส่งเสริมเภสัช โดย ภ.ก.วิรัตน์ เมลืองนนท์ ได้จัด บอร์ดให้ความรู้แก่ผู้สัญจรไปมา และผู้มาใช้บริการ เพื่อให้ได้มีความรู้มากขึ้นในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยมีบอร์ดสำเร็จรูปทั้งหมดที่ร้านทำไว้ 40 - 50 แฟ้มที่เอาไว้เปลี่ยน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นโรคพื้นฐาน เช่น เรื่องโรคกระเพาะ เรื่องการใช้ยา เรื่องเริม และจะมีเปลี่ยนเดือนละ 1 - 2 ครั้ง ส่วนการเลือกเรื่องนั้น แล้วแต่ฤดูกาล"...เรื่องของ โปสเตอร์หน้าร้าน นั้นจะเปลี่ยนตามช่วง ช่วงที่มีไข้เลือดออกระบาดก็จะทำเนื้อหาเกี่ยวกับไข้เลือดออกเป็นต้น ซึ่งดูจากสื่อมวลชน เราจะรู้ว่าช่วงนี้ควรติดเรื่องอะไร และดูตามฤดูกาล เช่น เข้าหน้าหนาวเราควรดูแลตนเองอย่างไร ข้อมูลที่มาจากคนไข้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่เป็นหลัก..." (สัมภาษณ์ เภสัชกรผู้ให้บริการหลักในร้านส่งเสริมเภสัช)บทบาทในการให้ความเรื่องอื่นนอกจาก "ยา" เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจาก ผู้ที่มาใช้บริการมักจะขาดความรู้ในเรื่องที่จำเป็นในการดูแล รักษาโรคที่ตนกำลังประสบอยู่"...ความรู้ที่ให้ไปนั้น บางครั้งเรามองว่าเป็นบทบาทของอีกวิชาชีพหนึ่ง แต่ถึงเวลาจริงๆ คนไข้กลับไม่ได้รับความรู้เรื่องนั้นๆ ในชุมชนที่เราอยู่ไม่มีคนให้ความรู้ หรือ คนไข้ไม่ได้รับความรู้มาทั้งหมด มีระบบที่มีการให้พยาบาลมาให้ความรู้ตามโรงพยาบาล แต่ละโรงพยาบาล ระบบนี้ก็ไม่ได้ให้เหมือนกันทั้งหมด ผู้มาใช้บริการกับผมมักจะไม่ค่อยรู้ การแบ่งบทบาทวิชาชีพเป็นเรื่องดี แต่ในฐานะที่เภสัชกรชุมชน ที่มีหน้าที่ต้องคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น ผมว่าควรให้ความรู้อื่นๆประกอบนอกจากเรื่องยาของเรา...และต้องมีองค์ความรู้เพียงพอในเรื่องโรค เพราะในบางครั้งเราสามารถเสริมในสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าผู้ป่วยเรียกร้อง หรือคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะให้.. บางครั้งเราก็ต้องรู้เพื่อแบ่งเบาภาระ แต่ต้องรู้ว่าด้านนี้ไม่ใช่ภาระหลักของเภสัชกร แต่เราต้องรู้เพื่อครอบคลุมการดูแลชุมชนของเรา เพื่อคุ้มครองเขา..." (สัมภาษณ์ เภสัชกรผู้ให้บริการหลักในร้านส่งเสริมเภสัช) กรณีตัวอย่างที่ 2ร้านเรือนยา  ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนฯ เป็นร้านขายยา ขนาด 2คูหา มี ภ.ก.คฑา บัณฑิตานุกูล เป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเปิดตั้งแต่ 8.00 - 22.00 น. มีการรับสมัครสมาชิกกว่า 500 ราย และมี จดหมายข่าวด้านสุขภาพ ในชื่อ " เรือนยาสัมพันธ์ " เป็นสายใยความผูกพันระหว่างร้านยาและผู้ใช้ยา ส่งตรงถึงบ้านสมาชิกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกเดือน ๆ ละฉบับ กว่า 4 ปีแล้ว ที่วารสารเกือบ 50 ฉบับได้ส่งถึงมือผู้รับพร้อมมอบสาระ ความรู้ และสร้างความผูกพันระหว่างกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากบริษัทยาใด ๆ เป็นความตั้งใจให้จดหมายข่าวทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยมีความมุ่งหมายคือการส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพทั้งก่อนเจ็บป่วยและหลังเจ็บป่วย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม บางฉบับมีการสร้างกิจกรรมร่วมกันโดยมีแบบสอบถามความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน ของขวัญที่เป็นหนังสือความรู้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ล่าสุดมีความพยายามในการเปิดเวทีความคิดให้กับสมาชิกมาร่วมกันในจดหมายข่าวมากขึ้นเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกด้วยกันมากขึ้น ตอนนี้ถึงแม้มีผู้ใช้ยาหลายคนย้ายที่อยู่และไม่ได้มาใช้บริการกับร้านเรือนยาแล้ว แต่ด้วยสายใยที่ยังเหนียวแน่น จดหมายข่าวจะยังไปถึงมือสมาชิกต่อไปแม้จะได้มาใช้บริการที่ร้านก็ตาม สิ่งดีๆเหล่านี้มีความเผยแพร่แนวคิดเรื่องจดหมายข่าวให้กับร้านยาอื่นๆ มากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเนื้อหาสาระ รูปแบบใหม่ๆ ที่สำคัญคือการสานให้เกิดเครือข่ายร้านยาที่มีจุดหมายและกิจกรรมที่ดีๆสู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องและขยายตัวออกไป กรณีตัวอย่างที่ 3 ร้าน เอ็น & บี ฟาร์มา แคร์ เป็นร้านยาที่เปิดตัวขึ้นใหม่ แถวรามคำแหง 2 เขตประเวศ บริหารโดย ภ.ก.นาวี ช่วยชาติ เภสัชกรหนุ่ม ไฟแรงมีความใฝ่ฝันในการพัฒนาคุณภาพงานบริการทางเภสัชกรรมในร้าน เป็นร้านยาใหม่ที่วางแนวทางเป็นร้านยาคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้น เป็นอีกร้านที่มีความพยายามที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการภายในร้าน กิจกรรมที่น่าสนใจในร้านนี้เห็นจะได้แก่การเก็บประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  เช่น โรคความดันโลหิตสูง และ กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเชื้อจุลชีพ ที่เป็นผู้ป่วย 2 กลุ่มที่ต้องการการติดตามการใช้ยา ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือไม่ และใช้เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลที่เป็นพื้นฐานสำหรับในการให้บริการด้านยาในครั้งต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูล  "ไม่เอาผู้มาใช้บริการเป็นหนูทดลองยาและบางครั้งยังทำให้เกิดการประหยัดสำหรับผู้มาใช้บริการด้วย"  เป็นทัศนคติที่สำคัญของเภสัชกรประจำร้าน ผู้มาใช้บริการร้านนี้ หลังจากใช้ยาที่ต้องติดตามแล้วจะมีเสียงโทรศัพท์จากร้านยา เพื่อแสดงความห่วงใยและติดตามผลการใช้ยา รวมทั้งเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น  แม้จะเป็นบริการรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้มาใช้บริการหลายคนถึงกับแปลกใจในระยะแรก ปัจจุบันก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 9 ข้อ ประเมินร้านยาที่ท่านใช้บริการ 1.    ท่านจะรู้ทันทีว่า ใครกำลังให้บริการท่านอยู่ เป็นเภสัชกร ผู้ช่วยเภสัชกร  แต่อย่างไรก็ตามเภสัชกรจะส่งมอบยาขั้นสุดท้ายก่อนถึงมือท่าน 2.    เมื่อท่านเรียกหายา ผู้ให้บริการจะถามถึงผู้ใช้ยาที่แท้จริง และถามย้ำเพื่อยืนยันให้แน่ใจว่า ยาที่ท่านเรียกหานั้น เหมาะสมกับโรคหรืออาการที่ท่านเป็น มีความปลอดภัยกับท่าน ไม่ตามใจท่านโดยขายอย่างเดียว3.    เมื่อท่านได้รับยาแล้ว ท่านจะรู้ว่า ยาที่ได้รับ มาจากร้านชื่ออะไร ชื่อยาอะไร รักษาอะไร วิธีใช้อย่างไร มีคำเตือนอะไร โดยระบุบนซองยาและฉลากให้ความรู้ด้านคำเตือนเสริมให้ในข้อมูลที่สำคัญ 4.    ไม่มีจ่ายยาเป็นชุดๆ  แต่จะ จ่ายยาพร้อมให้คำอธิบายที่จำเป็น เช่น วิธีใช้ การปฏิบัติตัวเพื่อให้หายป่วย การใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น5.    ถ้าท่านเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมารับบริการต่อเนื่อง จะมีแฟ้มเก็บ "ประวัติการใช้ยา" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยจากการใช้ยา 6.    ในกรณีมีปัญหาจากการใช้ยา จะมีบริการ "ให้คำปรึกษาด้านยา" เพื่อแก้ไขปัญหาจากการใช้ยา และ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาอยู่อย่างสม่ำเสมอ 7.    เมื่อโรคและอาการที่มาเกินความสามารถของเภสัชกรในการดูแล รักษา จะมีการส่งต่อให้แพทย์ดูแล 8.    มีสื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ และมีประกาศสิทธิผู้ป่วย ให้เห็นชัดเจน9.    ปรึกษาเรื่องยา เรื่องสุขภาพ การป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ได้ด้วย -    Mapping (ร้านยาที่ผ่าน / ร้านยาที่สมัคร)ร้านยาที่สมัครเข้าโครงการเพื่อพัฒนาเป็นร้านยาคุณภาพ ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก เพียง 200 กว่าร้าน แต่ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาเภสัชกรรมร้านยาที่ผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพ โดยสภาเภสัชกรรม ในปี 2546 (รุ่นที่ 1 ) มี 26 ร้าน และในปี 2547 (รุ่นที่ 2 ) 21 ร้านนี้ คาดว่าจะมีเพิ่มอีกกว่า 50 ร้านก่อนสิ้นปี 2547  ทั้งใน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ผู้ประสานงานเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ภ.ญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร อนุกรรมการ และ ผู้เยี่ยมสำรวจ สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม T. 02 590 1877, M. 01 627 4848ภ.ก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้ประสานงาน สำนักงานโครงการพัฒนาคุณภาพร้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาT. 02 589 7147, M. 09 796 1437

อ่านเพิ่มเติม >