ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ของขวัญที่ให้ แน่ใจแล้วหรือ?

        ในยุคที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ช่วงเทศกาลทีไร ผมมักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับเป็นของขวัญ ทั้งๆ ที่ผู้ให้ก็ตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆ ต่อสุขภาพแก่ผู้รับ แต่บางครั้งของขวัญที่ให้อาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง มีตัวอย่างและคำแนะนำเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกของขวัญเพื่อให้ผู้รับเกิดความปลอดภัยดังนี้         1.ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมให้เป็นของขวัญกันมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณในด้านการบำรุงหรือรักษาโรค เคยมีกรณีที่ลูกชายซื้อผลิตภัณฑ์โสมสกัดมาเป็นของขวัญให้คุณแม่ โดยลืมนึกไปว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ส่วนคุณแม่แม้เคยได้รับคำเตือนว่า โสมอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เห็นว่าลูกชายอุตส่าห์ซื้อมาให้แล้ว ก็เลยรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปโรงพยาบาล เพราะความดันโลหิตสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่         2. วิตามินต่างๆ เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่หลายคนนิยมซื้อให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ เพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็เคยมีกรณีที่ผู้ที่รับบางคน รับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้วิตามิน หรือวิตามินบางชนิดเมื่อรับประทานพร้อมกับอาหารหรือยาบางประเภท ก็จะเกิดปฏิกิริยาเพิ่มหรือลดคุณภาพของตัวมันเองหรือยา ที่ผู้รับประทานไปด้วย      ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้รับจึงไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินให้เป็นของขวัญ โดยขาดข้อมูลเบื้องต้น เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ หากอยากจะให้เป็นของขวัญจริงๆ ควรมีข้อมูลว่าผู้รับเคยรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรให้เป็นของขวัญ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า มีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ และต้องระวังด้วย หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วจะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย หนำซ้ำถ้าผู้รับนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เกิดอันตรายแต่ก็จะทำให้เขาเสียเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาวด้วยเช่นกัน         3. ยาสามัญประจำบ้าน แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เหมาะที่จะมีติดไว้ประจำบ้าน แต่ก็พบว่ายาสามัญประจำบ้านที่จัดไว้เป็นชุดขายสำเร็จรูปนั้น ยาบางตัวผู้รับแทบไม่ได้นำไปใช้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นสุดท้ายเมื่อหมดอายุก็ต้องนำไปทิ้ง   หากจะซื้อยาสามัญประจำบ้านให้เป็นของขวัญ ควรเลือกรายการยาที่ผู้รับจำเป็นจะต้องใช้ หรือควรมีไว้ติดบ้านจริงๆ โดยอาจปรึกษารายการยากับเภสัชกรประจำร้านยาก็ได้         4. หนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนชอบซื้อให้เป็นของขวัญ แต่เคยพบว่าผู้บริโภคบางคนที่ได้รับหนังสือความรู้ด้านสุขภาพ และนำมาสอบถามข้อมูล ปรากฎว่าหนังสือนั้นกลับให้ข้อมูลสุขภาพผิดจากข้อเท็จจริงเยอะมาก มีคำแนะนำในการเลือกซื้อหนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จะให้เป็นของขวัญว่า ควรเลือกจากผู้จัดทำที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานทางด้านวิชาการ มีตัวตนหลักแหล่งที่ชัดเจน รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ปลูกต้นไม้แถมสุขภาพดีกับ Plant Nanny

        ช่วงนี้สถานการณ์ร้อนผ่าว ร้อนแรงในหลายเรื่องพร้อมๆ กัน แต่ที่เครียดมากคงเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ในฐานะอย่างเรา (ผู้เขียน) รับรองว่าเรื่องนี้เครียดสุดๆ เมื่อไม่นานมานี้ได้แอบเห็นแอปพลิเคชั่นสุดน่ารักน่าชังแว๊บๆ จึงได้ดาวน์โหลดมาลองเล่นดู ช่วยทำให้เพลินอารมณ์และคลายเครียดได้ดีเชียว แถมพ่วงด้วยประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพร่างกายของเราด้วยนะจะบอกให้         มารู้จักแอปพลิเคชั่น Plant Nanny กัน แอปพลิเคชั่นนี้มีไว้ช่วยดูแลสุขภาพในรูปแบบเกมส์ปลูกต้นไม้ มีวิธีเล่นง่ายๆ คือ พยายามดูแลรดน้ำต้นไม้ให้โต และนำต้นไม้นั้นย้ายไปไว้ในสวนเพื่อจัดให้สวยงาม โดยปริมาณน้ำที่ใช้รดต้นไม้มาจากปริมาณน้ำที่ผู้เล่นดื่มในแต่ละวันนั่นเอง สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          มาเริ่มต้นเล่นเกมส์กันเลยดีกว่า หลังจากดาวน์โหลดมาเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมจะให้เลือกหน่วยของปริมาณน้ำที่ต้องการระหว่างมิลลิลิตร (ml) กับออนซ์ (oz) ซึ่งบ้านเราส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบมิลลิลิตร (ml) และให้เลือกน้ำหนักของผู้เล่น พร้อมกิจกรรมประจำวันว่าอยู่ในระดับปกติหรือระดับตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนหมดแล้วโปรแกรมจะคำนวณว่าในแต่ละวันผู้เล่นจำเป็นต้องดื่มน้ำในปริมาณเท่าใด        ยังไม่จบเพียงนี้ เพราะผู้เล่นต้องเลือกขนาดแก้วที่ใช้ดื่มเป็นประจำ ไม่ว่าจะในรูปแบบแก้วสั้น แก้วยาว แก้วมัค ขวด กระติก ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขปริมาณน้ำกำกับอยู่ ต่อจากนั้นมาเริ่มปลูกต้นไม้กันได้เลย เมื่อผู้เล่นได้ดื่มน้ำตามปริมาณที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชั่น ให้กดค้างบริเวณปุ่มสัญลักษณ์วงกลมที่มีชนิดของแก้วน้ำที่เลือกไว้อยู่ตรงกลาง จนกระทั่งเกิดเส้นสีฟ้าโดยรอบวงกลมนั้น เมื่อรดน้ำต้นจนครบปริมาณน้ำที่เพียงพอ ต้นไม้ก็จะเติบโตขึ้นในทุกวันนั่นเอง         บริเวณหน้าแอปพลิเคชั่นจะมีปุ่มสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่ ดังนี้ ปุ่มสัญลักษณ์หยดน้ำสีส้มตรงมุมบนซ้ายจะบอกการเติบโตของต้นไม้ ถัดมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูปสำหรับถ่ายภาพต้นไม้ของเรา ด้านบนขวาจะมีปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้าจะแสดงให้รู้ว่าวันนี้ผู้เล่นได้ดื่มน้ำไปในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ยังสามารถกดแถบหมวด History ด้านล่างเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ประวัติการดื่มน้ำทั้งหมดได้ด้วย         ต่อมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์ขีด 3 ขีด โดยภายในจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ภาพรั้วจะไปยังหน้าสวนไว้สำหรับเก็บต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่แล้ว ภาพร้านค้าจะให้เป็นแผงขายของให้เลือกซื้อตั้งแต่กระถางต้นไม้ ชนิดพันธุ์ต้นไม้ น้ำ ภาพพื้นหลัง เป็นต้น ภาพภูเขาจะเป็นที่เก็บภาพพื้นหลังที่ได้ซื้อไว้ และภาพประแจจะเป็นส่วนของการตั้งค่าภายในแอปพลิเคชั่นทั้งหมด         แอปพลิเคชั่น Plant Nanny นี้เป็นได้ทั้งเกมส์ทั้งสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้เล่นดื่มน้ำในปริมาณที่ควรได้รับในแต่วันให้เพียงพอ โดยการดื่มน้ำนั้นไม่ควรน้อยเกินไปและมากจนเกินไป ซึ่งถ้ามีการรดน้ำต้นไม้เกินปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน แอปพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้ผู้เล่นได้รู้ตัวทันทีว่าให้ระมัดระวังที่จะดื่มน้ำมากจนเกินไป         เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการเล่นเกมส์ แถมได้รับสุขภาพดี แบบนี้ดีจริงๆ นะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 10 ปีผ่านไป มหากาพย์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ยังไม่จบ

        ‘แร่ใยหิน’ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ? มีการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เป็นอันตรายจริง           จากรายงานวิจัยรองรับหลายชิ้นทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ก็มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เป็นต้น         สิ่งนี้เป็นเหตุให้หลายประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ยกเว้นประเทศไทย ทำไม ? ทั้งที่ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกอบการ กลุ่มแรงงานและภาคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 สิ่งที่สะท้อนกลับมามีเพียงความเงียบงัน การนิ่งเฉย และสารพัดเหตุผลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ประกอบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังยืนยันจะใช้แร่ใยหิน         อันที่จริง นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยที่เรื่องสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภคมักมาทีหลังเหตุผลด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์         มติสมัชชาสุขภาพ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’         หมุดหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มติที่ 1 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายน 2554 จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ของมติสมัชชาทันที         ยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินประกอบด้วยมาตรการหลายอย่างที่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เช่น ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554 ซึ่งจะห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง การขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารหรือวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และการกำหนดมาตรการการทิ้งขยะแร่ใยหิน โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างและการบริการติดตั้ง การขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น โดยต้องแล้วเสร็จภายในปี 2555         แต่การออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและ สช. ไม่มีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม การ ‘ขอให้’ ก็คือการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานจะมีกะจิตกะใจให้ความร่วมมือหรือไม่         10 ปีผ่านมาหลังจากมติสมัชชาฯ สังคมไทยก็ยังไม่ปลอดแร่ใยหิน         8 ปีผ่านไป กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน         19 มิถุนายน 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งข้อเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ผลการดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 โดยระบุว่า กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา จะยกเลิกภายใน 5 ปี         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวว่า ในครั้งนั้นมีการขับเคลื่อนให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายระบุให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าไม่สามารถประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ผิดกฎหมาย         “แต่ตรงนี้หากพิจารณาดูดีๆ มีสารเคมีหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่หลายรายการ โดยเฉพาะแร่ใยหินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ไครโซไทล์ ก็ถูกประกาศเป็นประเภทที่ 4 ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ต้องมีการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากแร่ใยหินที่ไม่ใช่ไครโซไทล์”         โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ใช้กฎหมายอื่นๆ และค่อยๆ ลดการใช้ จนกระทั่งยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ได้ภายใน 5 ปี ตามข้อเสนอข้างต้น ซึ่งถ้านับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การยกเลิกกลับยังไม่เกิดขึ้น         ทำไมจึงไม่ยกเลิก         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อสมมติฐานว่าไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์จากรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งไปเกี่ยวพันกับประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างรัสเซียกับไทย โดยทางรัสเซียเสนอว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการมาช่วยศึกษาว่าแร่ใยหินไครโซไทล์มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยจริงหรือไม่ อย่างไร แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบปฏิเสธ         ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อ้างข้อมูลของ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยค่อนข้างน้อยจึงไม่คุ้มที่จะยกเลิกการนำเข้า สช. จึงมอบหมายให้ ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งและกระทรวงสาธารณสุขศึกษาจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในปี 2558 และ 2559 ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วย 28 รายใน 2 ปี         เมื่อเห็นข้อมูลการศึกษานี้อาจรู้สึกว่า ผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินก็น้อยจริงเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ของไทยนำเสนอ แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้น และถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า แร่ใยหินสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเหตุแร่ใยหินโดยเฉพาะไครโซไทล์ทำได้ยาก เนื่องจากมะเร็งปอดมีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งปอดและสงสัยว่าจะเกิดจากแร่ใยหินจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อปอดหรือนำน้ำล้างปอดมาตรวจเพื่อหาเส้นใยแร่ใยหิน จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจากโรคเหตุแร่ใยหินไม่ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากไครโซไทล์เป็นเส้นใยที่มีรูปร่างคดเคี้ยวและเปราะบางมาก เมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะสลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด การตรวจพบจึงน้อยกว่าแร่ใยหินชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ามะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหินน่าจะมีจำนวนมากกว่ามะเร็งเยื่อเลื่อมจากแร่ใยหินค่อนข้างมากประมาณ 4-5 เท่า         สำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็เช่นกัน โรคนี้มักจะเป็นบริเวณเยื่อหุ้มปอด การวินิจฉัยจะต้องตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปย้อมพิเศษทางห้องปฏิบัติการและเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มปอดเท่านั้น เหตุนี้เมื่อมีอาการบริเวณนั้นก็อาจคิดว่าเป็นมะเร็งปอด ทำให้ไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดตามขั้นตอน ยืนยันได้ว่าสาเหตุเกิดจากการได้รับแร่ใยหินแน่นอน         “อีกประเด็นหนึ่งสำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็คือหลังจากได้รับหรือสัมผัสแร่ใยหินเข้าไปแล้วจะใช้เวลา 30 ถึง 40 ปีกว่าที่จะเกิดมะเร็งเยื่อเลื่อมได้ เพราะฉะนั้นบางทีเขาอาจเกษียณแล้ว แล้วเกิดอาการขึ้นมา เราก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนหรือลืมไปแล้วว่าในอดีตเคยทำอะไรที่สัมผัสกับแร่ใยหิน”         อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ผลิตไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแร่ใยหินคือ วัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินมีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินมีหลายชนิด มีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังมีวัตถุดิบบางรายการ เช่น เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติสามารถผลิตได้ในประเทศ ดังนั้น อัตราภาษีขาเข้าจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้น         จะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนของประชาชน การผลิตผ้าเบรกด้วยแร่ใยหินมีความปลอดภัย การวินิจฉัยและระยะเวลาในการแสดงอาการของมะเร็งเหตุแร่ใยหิน และความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาใช้กับการเมืองเรื่องแร่ใยหินเสมอ         อีกครั้งและอีกครั้ง         การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและมติสมัชชาฯ มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน แม้ยังคงลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ยังผลให้ช่วงตั้งแต่ปี 2550 การนำเข้าแร่ใยหินมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการนำเข้าแร่ใยหินสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แม้ว่า 66 ประเทศทั่วโลกจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าในปี 2560 ยังกลับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,000 ตัน จึงเกิดการผลักดันให้มีการ ‘ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชน ส่งเสริมการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยง และทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย         จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น กลุ่มแรงงานก่อสร้างอิสระยังเข้าถึงข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินไม่มากนัก การรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเก่าที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินในอาคารก่อสร้างใหม่ ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมหรือห้ามใช้ รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ยังขาดระบบในการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว ควรมีการจัดทำระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการรายงานโรคเหตุใยหินที่เหมาะสม เป็นต้น         ทางสมัชชาฯ จึงทำข้อเสนอหลายประการเพื่อขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง เช่น        · ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด ภายในปี 2565 และ 2568        · ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง        · ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ        · ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินและออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน        · ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐ ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน        · ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร        · ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน         ไร้แร่ใยหินหรือไม่ คำตอบยังอยู่ในสายลม          เมื่อถาม ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ว่าการผลักดันให้สังคมไร้แร่ใยหินรอบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่         “จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเหมือนรอบที่แล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการนำเข้าจากรัสเซีย แต่ความพร้อมต่างๆ เทคโนโลยีสารทดแทนมีความพร้อมอยู่แล้ว เวลาที่มีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์มาคุยก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่ จริงๆ มติสมัชชาสุขภาพรอบนี้ปี 2562 ตอนแรกเน้นว่าทำอย่างไรจะเสริมความเข้มแข็งของประชาชนในการดูแล ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีแร่ใยหินและการรื้อถอนอย่างปลอดภัย การจัดการขยะอันตรายจากแร่ใยหินโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นว่ามีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาควบคู่กันไปกับมาตรการเดิมที่ให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้ก็คือการสร้างการตระหนักรับรู้ของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างที่รอการยกเลิก”          พอถามย้ำอีกครั้ง ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ตอบว่า         “ผมว่าถึงที่สุดแล้วก็น่าจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามระยะเวลาที่เสนอไปหรือเปล่า”        ในส่วนของภาคประชาชนจะต้องรอไปอีก 10 ปีหรือนานกว่านั้นหรือไม่? คงขึ้นกับความเข้มแข็งและการขับเคลื่อนที่มีพลังมากพอจะกดดันให้หน่วยงานรัฐเข้าอกเข้าใจว่า สุขภาพของประชาชนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 กระแสต่างแดน

หยุดมลพิษปรอท        แอนดริว เลวิทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ “Minamata” เรียกร้องให้ออสเตรเลียหยุดเพิกเฉยต่อปัญหาพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะเมื่อ 7 ปีก่อน        ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปิดโปงให้โลกได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอหน์นี่ เดปป์) ช่างภาพของนิตยสาร Life ที่เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายภาพเหยื่อ “โรคมินามาตะ” เมื่อปี 2514        ตัวการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะก็คือโรงงานสารเคมีชิสโสะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้นนั่นเอง        ที่น่าเศร้าคือแม้จะพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2499 แต่กลับต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าบริษัทชิสโสะจะยอมชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ 10,000 กว่าราย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับการชดเชย        สารปรอทส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติและอาจมีไอคิวต่ำ        เลวิทัสกล่าวในเทศกาลภาพยนตร์เบอลินว่าเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างกระแสให้คนออสซี่ลุกขึ้นมากดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับปัญหามลพิษปรอทโดยด่วน        ออสเตรเลียมีการปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 18 ตัน หากคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร อัตราการได้รับปรอทของคนออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นการรับปรอทเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารทะเลและปลาแม่น้ำ (สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนออสซี่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน)        นอกจากนี้ปรอทยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และปัจจุบันยังถูกใช้ในสารเคมีฆ่าเชื้อราในต้นอ้อยด้วย           หมายเหตุ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเช่นกันเตรียมลงดาบ        คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ACCC ประกาศว่าปีนี้จะจับตาและลงดาบธุรกิจรับจัดงานศพ หลังพบว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอมานาน        ธุรกิจรับจัดงานศพในออสเตรเลียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ทั้งๆที่มีผู้ประกอบการน้อยราย มักถูกร้องเรียนเรื่องค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและการผิดสัญญากับลูกค้า           ปลายปีที่แล้ว InvoCare ถูกเปิดโปงโดยนิตยสาร CHOICE ว่าเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเกินเวลา” ทั้งๆ ที่ลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา        บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ของธุรกิจงานศพอีกสองแบรนด์ (White Lady Funerals และ Simplicity Funerals) รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในแต่ละรัฐของออสเตรเลียอีก 40 แบรนด์ ในปี 2561 InvoCare จัดงานศพ 36,000 งาน ทำรายได้ไป 290 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,900 ล้านบาท)        อีกเรื่องที่ ACCC ต้องตั้งรับคือการหาผลประโยชน์จากวิกฤติ เช่น การระดมทุนทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่า หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงพวกที่กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายเกินราคาด้วยบริการเสริมจากไปรษณีย์        แม้การส่งจดหมายจะลดลงเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศส (La Poste) ยังไปได้สวยด้วยบริการ V.S.M.P หรือบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง          นอกจากส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว พนักงานไปรษณีย์จะเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ นำยาตามใบสั่งแพทย์มาส่ง ช่วยสั่งซื้อของออนไลน์ นำหนังสือไปคืนห้องสมุด ซ่อมแซมปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยค่าบริการรายเดือน 37.90 ยูโร (ประมาณ 1,300 บาท)        พนักงานจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในแอป และเมื่อผู้รับบริการพอใจแล้ว (ส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที) ก็จะลงชื่อในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะแจ้งความคืบหน้าไปยังลูกหลาน          บริการนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ ตามเมืองเล็กๆ ก็มีคนอายุมากกว่า 75 ปีอีกหลายล้านคนอยู่บ้านคนเดียว และใน 15 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของฝรั่งเศสจะมีอายุมากกว่า 60 ปี        จุดเริ่มของโครงการนี้คือเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นให้ส่งพนักงานออกไปตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ต่อมาบริการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันและเทศบาลท้องถิ่นว่าจ้างให้ทำงานแทนให้ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาก็พัฒนามาเป็นบริการผ่านแอปฯ สำหรับคนทั่วไป        La Poste ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายให้ส่งน้อยลงเกือบ 8,000 ล้านฉบับ ปัจจุบันรายได้บริการนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละ 28 ของรายได้รวมเท่านั้น        ข่าวร้ายสำหรับคนที่ยังรักจดหมาย ปีนี้ค่าแสตมป์ภายในประเทศปรับขึ้นจาก 78 เป็น 86 เซนต์ (ประมาณ 30 บาท) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เมื่อนวดไทย เป็นมรดกของโลก

“เมื่อปลายปี 2019 คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก มีมติประกาศให้นวดไทยติด 1 ใน 15 มรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประจำปี 2019 ซึ่งจัดประชุมครั้งที่ 14 ขึ้นที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มติของยูเนสโกให้ขึ้นบัญชี "นวดไทย" (Nuad Thai, traditional Thai massage) เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) พร้อมกับมรดกวัฒนธรรมฯ จากประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศ” ฉลาดซื้อจึงขอร่วมแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ ด้วยการพา ดร. ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เล่าถึงความดีงามของนวดไทย ว่าทำไมยูเนสโกเห็นว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ทำไมยูเนสโกจึงเลือก “นวดไทย”         ทำไมยูเนสโกเขาคิดเรื่องว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ก็คือว่าในโลกของยุคสมัยใหม่มันมีลักษณะการจดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ของสิทธิ์ต่างๆ ในหลายลักษณะมากที่เขาเรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็การแสดงความเป็นเจ้าของมันก็ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งมีการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาเยอะแยะ เพราะว่าถ้าเมื่อไรผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยใครคนใดคนหนึ่งจะกระทบคนอื่นที่เขาเคยใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดถึงว่า แล้วจะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นความรู้เป็นการปฏิบัติที่คนเคยทำกันมาแล้วสืบทอดกันมาได้อย่างไร ไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปเป็นจดสิทธิบัตรของที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จดสิทธิความเป็นเจ้าของ ของใครคนใดคนหนึ่ง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องวัฒนธรรมของมนุษย์         เพราะฉะนั้นเขาก็เลยคิดว่ายูเนสโกควรมีบทบาทในการทำเรื่องนี้โดยการขึ้นทะเบียน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า List Type ผมอยากจะแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการประกาศจารึกไว้ว่า นี่มันเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเขาก็ใช้อนุสัญญาฉบับนี้เพื่อที่จะทำให้ประเทศต่างๆ มาทำเรื่องนี้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น หัวใจของการที่ได้ขึ้นจารึกว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ขึ้นไปเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้คนอื่นห้ามมาใช้ มันจะคนละ concept  คนละวิธีคิดกับเรื่องของสิทธิบัตรคนละเรื่องกันเลย มันไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นการแสดงว่าเป็นของมนุษยชาติที่โลกนี้มนุษย์ควรจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันคุ้มครองอย่าให้มันสูญหาย ต้องช่วยกันดูแล concept ตรงนี้ ต้องเข้าใจกันให้ชัด เพราะว่าผมได้มีโอกาสไปคุยกับราชการบางส่วนที่พอเห็นว่า  นวดไทยขึ้นยูเนสโกแล้วอยากจะโหนกระแส โดยไม่เข้าใจ concept ของเขา แล้วก็จะบอกว่าถ้าเราได้ขึ้นยูเนสโกอย่างนี้เราก็จะไปขอจดสิทธิบัตรได้ไหม เพราะนี่เขารับรองเป็นมรดกโลกแล้ว ผมบอกไปว่าคนละเรื่องกัน ความต่างของนวดไทยกับนวดแบบอื่นๆ         ขอบเขตของนวดไทยไม่ใช่แค่นวดภาคกลางแต่หมายถึงนวดพื้นบ้านด้วย นวดพื้นบ้านที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ มันมีภูมิปัญญาของเขาเกิดขึ้นมาเอง สัดส่วนของร่างกายในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกของเขา กระบวนการนวดรักษาแตกต่างกัน  ฤาษีดัดตนกับนวดไทยก็ไม่รวมกัน         คือเราบรรยายในเอกสารที่เราเสนอยูเนสโกว่า เรื่องของนวดไทยเราเป็นทั้งศาสตร์เป็นทั้งศิลปะในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่ไม่ใช้ยา โดยใช้มือผสมกับกาลเวลา โดยมีตัวทฤษฎีที่เป็นหลักการสำคัญก็คือเรื่องของเส้นโดยเฉพาะเส้นประธาน 10 ในส่วนของตรรกะอาจจะมีส่วนที่ใกล้กับราชสำนัก(นวดแบบหนึ่ง) ก็จะมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบมากหน่อย ก็จะมีเรื่องของเส้นประธาน 10 อย่างชัดเจน   ในส่วนที่แตกต่างกันไปตามหัวเมือง concept เรื่องเส้นกับลมก็ยังมีอยู่อย่างชัดเจน ไม่ต่างกัน แล้วก็เรื่องของธาตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ธาตุทั้ง 4 คือเขาจะอยู่บนๆ เพียงแต่ว่าความลึกความละเอียดมันอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ concept เดียวกันคือเรื่องเส้น เรื่องลม เรื่องธาตุที่จะมาจัดการกับความเจ็บป่วยโดยใช้มือกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เน้นใช้ยา         แล้วก็เราก็พยายามทำให้กระจ่างบอกว่า concept เรื่องเส้นประธานของเราก็ไม่ได้เหมือนกับทางจีนทางอินเดียเสียทีเดียว มันก็มีความแตกต่างกัน มีบางคนชอบพูดว่าเราเอามาจากอินเดียพอเราไปดูอินเดียก็ไม่เห็นมี นวดจีนก็เป็นอีกแบบก็มีเส้นลมปราณของเขา ซึ่งเราก็เคยเชิญอาจารย์จากปักกิ่งมา เขาก็มาสาธิตวิธีการนวดของเขาแลกเปลี่ยนกับของเรามันก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทฤษฎีเส้นประธาน 10 ของเราของเขาก็ไม่มี เขามี 12 14 เส้นของเขา ส่วนของอินเดียเขาก็มีจักรกะต่างๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งของพลังงาน แต่ก็มีแนวดีที่คล้ายของเรา แนวอินทารา   แต่ก็ไม่ใช่ตรงกันเสียทีเดียวชื่ออาจจะพ้องกันสามเส้นสี่เส้นก็แล้วแต่ แต่ว่าทิศทางหรือการนำมาใช้ก็คนละเรื่องกัน พูดง่ายๆ คือคนละศาสตร์กัน         แต่ว่าของบางอย่างมันก็อาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันได้ เพราะมันก็อยู่บนร่างกายมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามจะทำให้ชัดเจนว่ามันก็เป็นลักษณะที่มีความเฉพาะของไทยเรามีความเฉพาะเจาะจงพอสมควรเพื่อป้องกันว่าจะมีคนอ้างว่า เช่นนวดไทยเป็นของอินเดียเราไปเสนอได้อย่างไร อันนี้เพื่อจะเคลียร์ประเด็นพวกนี้ ต่อไปนี้เราจะไม่พูดว่านวดไทยมาจากอินเดียเพราะมันไม่มีหลักฐาน นวดไทยมาจากจีนมันไม่มีหลักฐาน พูดไปโดยไม่มีหลักฐานมันไม่เกิดผลดีอะไร เราควรจะพูดจากสิ่งที่ปรากฏแล้วเราก็อาจจะสันนิษฐานว่ามันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในลักษณะไหน อาจจะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่เวลาคนไปมาหาสู่กันก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่จะบอกว่าอันนี้มาจากที่นั่นที่นี่โดยตรงมันพูดยาก ยกเว้นบางเรื่องชัดๆ อย่างเช่น พุทธศาสนามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียตอนเหนือถึงแม้กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนเถียงอยู่นะว่าไม่จริงหรอกอันนี้ก็ว่ากันไป วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนานใช้เวลา การจะพูดอะไรควรจะพูดจากหลักฐานที่มีอยู่พูดเกินเลยหลักฐานมันสร้างปัญหา แล้วอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า จริงๆ การทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เราต้องการบอกว่าของเหล่านี้มีคุณค่าต่อมนุษย์เท่านั้นเอง การนวดมีอันตรายไหม          คนที่นวด นวดไปทำไม นวดไปเพื่ออะไร จากที่ไหนคุณภาพเชื่อถือได้ไม่ได้อย่างไรตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งราชการเขาก็พยายามทำอยู่ บางอย่างเช่น ทำให้นวดทั่วๆ ไปมีสถานที่ ที่ด้รับการรับรองแล้วคนนวดก็ผ่านการอบรมมาในระดับที่เขาพอยอมรับได้ แต่ว่านวดพวกนี้เป็นนวดที่ไม่ได้เน้นการรักษาโรคเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสบาย แต่ว่าประชาชนที่ไปนวดบางทีเขาก็คาดหวังว่านวดแล้วมันก็ต้องแก้โน่นแก้นี่ให้เขาได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไปบางทีหมอก็อาจจะต้องทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา บางทีก็ทำในสิ่งที่มันอาจจะยิ่งซ้ำเติมเพราะว่าความรู้กับประสบการณ์ก็อาจจะยังน้อยแต่ว่าไปทำในเรื่องที่เกินขีดความสามารถของตัวเอง แล้วก็อาจจะไปทำในสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น อันนี้มันก็ทำให้เกิดผลเสียโดยรวม         ในช่วงสักสองสามปีที่ผ่านมามันจะเจอเคสที่นวดแล้วเป็นอันตราย ซึ่งมันก็ปนๆ กันตอนนี้คนนวดอย่างที่ว่ามันหลากหลายมากเราก็ไม่รู้ว่าพวกไหนเป็นพวกไหน แต่ตอนนี้สิ่งที่ราชการเขาพยายามทำคือ ตะล่อมให้เข้าไปอยู่ในที่ทางที่เขาดูแลได้ นอกจากนั้นก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ว่าที่ผิดกฎหมายที่ทำกันอยู่เยอะแยะที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย  ก็ยังมีอยู่เยอะแยะแล้วก็อาจจะทำดีบ้างไม่ดีบ้างปนๆ เราก็ไม่รู้ไม่สามารถประกันอะไรได้ทั้งนั้น อาจจะมีคนมีฝีมืออยู่ในนั้นก็มี มีคนที่ตั้งตัวมาแล้วก็ทำในจุดในสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงก็ได้ก็ไม่มีใครรู้ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ประชาชนเองก็ต้องระวัง แล้วก็อย่าคิดว่าการนวดมันจะเกิดผลดี ถ้านวดโดยคนที่ไม่มีความชำนาญมันก็เกิดผลเสียแล้วก็ในบางกรณีก็อาจจะเกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการนวดในข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ให้นวดกัน มันก็มีนะข้อห้ามในการนวดมันก็มีอยู่ ไปนวดก็เกิดอันตรายอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ตำแหน่งบางแห่งของร่างกายเราก็ไม่ให้นวดเพราะว่ามันมีความเสี่ยง เช่นอาจจะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท อาจจะทำให้เกิดอัมพาตตามมาก็ได้ ในบางที่ ในบางท่า แล้วก็อาจจะถึงแก่ชีวิตด้วยซ้ำในบางตำแหน่งเช่นไปกดประตูลมตรงท้อง โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพองในท้องกดไปก็หลอดเลือดแตกทันทีเลย มันก็อันตรายพวกนี้ถ้าคนที่เขาเรียนมาเยอะพอเขาจะรู้ข้อระวังพวกนี้แล้วเขาจะต้องมีวิธีตรวจหรือต้องซักประวัติสอบถามจนแน่ใจว่าไม่เข้าข่ายที่จะเกิดอันตรายได้เขาถึงจะทำ         เพราะฉะนั้นการนวดมันก็มีสองด้านเรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ คนที่อบรมมาน้อยเรียนมาน้อยหรือว่าเรียนแบบงูๆ ปลาๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะรู้น้อย หรือถ้าคนที่เรียนมากรู้มากขึ้นเขาก็จะรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจประชาชนที่จะไปใช้บริการเองก็ต้องเข้าใจว่าหมอมีหลากหลายมาก เรียนมาหลากหลายมากบางคนก็รู้น้อยบางคนก็อาจจะรู้มากมีประสบการณ์มากมันต้องพิจารณาให้ดีก็ไม่ง่ายที่จะไปพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราต้องช่างสังเกต เราจะสังเกตหมอนวดอย่างไร         ตอนนี้คือถ้าหากว่าไม่แน่ใจก็ต้องยังไม่เสี่ยงที่จะไปนวดกับคนที่เรายังไม่รู้จักไม่แน่ใจ อย่าคิดว่านวดมันมีแต่ผลดีอาจจะเกิดผลเสียแทรกซ้อนได้ ถ้าทำโดยคนที่ไม่รู้ ถ้าเราไม่แน่ใจก็อย่าให้เขานวด ส่วนหนึ่งมันจะมีการนวดที่อยู่ในคลินิกหรือในสถานพยาบาลอันนี้ก็จะถือว่าน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เพราะว่าการที่เขามีคลินิกเปิดคลินิกได้มันก็ต้องผ่านการรับรองโดยราชการต้องมาอนุญาตแล้วก็เขาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ คนที่มีใบประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนที่ไม่มี เพราะว่าถ้าเขาทำอะไรผิดพลาดเขาก็จะถูกถอนใบอนุญาตได้คือตัดอาชีพเขาเลย แล้วคนที่จะมาเปิดคลินิกรักษาโดยมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่แน่ใจว่าตัวเองมีฝีมือพอสมควร   มีความรู้พอสมควรที่จะทำแล้วมีคนมาหาแล้วก็อยู่ได้อยู่รอด เพราะว่าการเปิดสถานพยาบาลหรือคลินิกมันต้องลงทุนมันมีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่กล้าเปิด แต่ถ้าร้านนวดเล็กๆ นวดในที่ไม่ต้องอะไรมากมายก็การลงทุนก็อาจจะไม่เยอะก็ตั้งตัวขึ้นมาแล้วก็นวดๆ ไป นวดไทยมีบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือยัง         มีอยู่หลายตัวอย่างที่เขาทำๆ กันอยู่หลายที่แล้วเขาก็ทำกับชุมชนแล้ว รพ.สต ก็ไปสนับสนุนให้เขาอยู่ได้แล้วก็ดูแลกัน ก็มีพ่อหมอมาช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลชาวบ้านช่วยกันดูแลผู้ป่วยอาจจะใช้สถานที่ในศาลาประชาคมของหมู่บ้าน บางที่เขาก็ใช้อย่างนั้นแต่ว่าก็ต้องมีการจัดการเพราะว่ามันก็ต้องมีคนมาช่วยจัดการถึงจะไปได้ แล้วก็บางทีก็ต้องหาเงินหาทุนมาสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้บางอย่างจะให้ชาวบ้านลงทุนเองทั้งหมดก็จะทำยาก เท่าที่ผมไปเห็นมาแล้วก็ราชการก็ลงมาสนับสนุนแล้วก็ช่วยดู ส่วนของเจ้าหน้าที่  ที่เป็นทางฝ่ายสาธารณสุขเขาก็จะเข้าใจในเรื่องสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสิ่งที่อาจจะเกิดผลแทรกซ้อน ก็จะช่วยกันดูแลช่วยกันควบคุมดูแลกำกับกันให้อยู่ในกรอบไม่สร้างปัญหา ถ้าเกิดว่าทำอะไรที่มันล่อแหลมเกินไปอันตรายเกินไปก็ต้องคอยเตือนๆ กันว่าท่านี้นวดแบบนี้มันอาจจะเสี่ยงเกินไป มีคนช่วยกันดูก็จะทำให้มันลดปัญหาลงไปได้ ปัจจุบันมีการจัดระเบียบการควบคุมราคา เรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการไหม         คือเราเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องดูแลเรื่องนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเขาก็พยายามทำอยู่พยายามอยู่แต่ว่าเนื่องจากเรื่องการนวดมันกว้างขวางมันแพร่หลายมากก็เห็นใจว่ามันไม่ได้ง่าย แต่ว่าคนที่จะทำได้ก็คือราชการเพราะมีกลไกมีมือไม้ทุกจังหวัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลห้ามปรามกัน เพราะว่าถ้าทางราชการไม่ไปห้ามปรามไม่ไปดูแล  มีคนหนึ่งทำได้โดยผิดกฎหมายคนอื่นก็ทำตามเขาอ้างว่าคนนั้นก็ทำได้ฉันก็ทำบ้าง อันนี้ราชการเองก็ต้องคอยกวดขันห้ามปรามอาจจะต้องถึงขั้นจับกุมในบางกรณีเพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎหมายมันมีอยู่เรื่องพวกนี้แต่ว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ใช้สิทธิผู้ป่วย … ใช้สิทธิในการมีสติ

        เพื่อนนอกวงการสุขภาพคนหนึ่งของผม พิมพ์ข้อความปรึกษาผ่านมาทางไลน์ เกี่ยวกับอาการท้องเสียของเขา เล่าว่าถ่ายบ่อยๆ ติดกันมาสองวันแล้วจะทำอย่างไรดี เท่าที่ผมดูอาการก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่เพลีย ไม่มีไข้หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สอบถามข้อมูลก็ไม่ค่อยทราบอะไรมากนัก จึงแนะนำในแง่การปฏิบัติตัว ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัดไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ         เพื่อนคนนี้หายไปห้าหกวันก็ไลน์กลับมาปรึกษาอีก เล่าว่าหลังจากสองวันอาการถ่ายก็หาย แต่ด้วยความไม่สบายใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สถานพยาบาลแห่งนั้นตรวจแล้ว ก็ขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าในอุจจาระมีเชื้ออะไรที่อาจทำให้เกิดโรค หลังจากยอมให้ตรวจโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อกลับไปอีกครั้งทางสถานพยาบาลก็บอกอีกว่า น่าจะตรวจลำไส้หาสาเหตุต่างๆ เพิ่มอีก รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วย         ตนเองเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติตนเองก็ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอมาโดยตลอด และไม่เคยพบว่าผิดปรกติอย่างไร เพียงแค่ครั้งนี้ถ่ายบ่อยๆ ติดต่อกันสองวันนั้นเอง และอาการก็หายไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกทักและชักชวนให้ตรวจอะไรต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มกังวล และหากตรวจเพิ่มตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย         ผมแนะนำให้กลับสอบถามทางสถานพยาบาลให้ชัดว่า ทำไมถึงต้องชักชวนให้ตรวจอะไรหลายๆ อย่าง มีเหตุผลจำเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าไม่กล้าถาม        เพื่อนของผมก็คงคล้ายๆ กับผู้ป่วยอีกหลายคน เมื่อไปรักษาทางการแพทย์แล้วมักเกิดความสงสัยต่างๆ แต่กลับไม่กล้าสอบถามอะไรกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลับมาวิตกกังวลเสียเอง ผู้ป่วยหลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน          โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือที่รีบด่วนหรือจำเป็น  นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน ตลอดจนสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพท่านอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้ ฯลฯ         การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบ การตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้ แต่การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง          และอย่าลืมว่า เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ หากพบว่ามีคมเสี่ยงต่างๆ เราก็จะได้รีบหันมาดูแลสุขภาพของตนเองได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ธรรมชาติปลอดภัยกว่าหรือดีกว่า...หรือ

        ผู้คนจำนวนมากมีอคติในความเชื่อว่า อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมดูดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ปลอดภัย อคติดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากความไม่รู้ว่า สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมักต้องถูกประเมินความปลอดภัย ด้วยวิธีการที่มีจุดประสงค์ในการเผยศักยภาพของการก่อความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีการใช้สัตว์ทดลองต่างๆ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงมนุษย์ ในการนำสารสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตเป็นสินค้านั้น สารสังเคราะห์แต่ละชนิดจะถูกประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลในสัตว์ทดลองก่อน ว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับใด ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการก่อมะเร็งนั้นมักใช้ระดับว่า ในล้านคนจะมีคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเท่าใด แล้วสังคมของผู้บริโภคยอมรับในความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่          ในกรณีสารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปเคยกินมาแล้วในอดีต ส่วนใหญ่มักไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เคยมีข้อมูลว่าก่ออันตรายใดๆ มาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้วสารที่ได้จากธรรมชาติบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ถ้ามีการนำมาใช้ในลักษณะที่ต่างจากวิธีการที่ใช้ในเวลาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ขนาดการใช้หรือรูปแบบการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่มีข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์คือ เรื่องอันตรายในการถ่ายพยาธิด้วยสารสกัดจากผลมะเกลือ          ผลมะเกลือนั้น ชาวบ้านใช้ในการย้อมผ้าให้ได้ผ้าสีดำที่คงทนมาแต่โบราณ และได้มีการนำผลสดมาคั้นน้ำแล้วผสมกับกะทิกินทันทีเพื่อถ่ายพยาธิ แต่ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีกินเป็นยานั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดพิษทำให้เสี่ยงต่อการที่ตาบอดได้ โดยเมื่อคั้นน้ำไว้แล้วไม่ดื่มทันทีหรือใช้วิธีคั้นด้วยน้ำปูนใส สารสำคัญบางชนิดได้เปลี่ยนไปเป็นสารพิษในกรณีแรก  หรือมีสารบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีกว่าปรกติเมื่อถูกสกัดออกมาในน้ำปูนใส การที่คนรุ่นเก่าผสมสารสกัดจากผลมะเกลือกับกะทินั้นเข้าใจว่า เป็นการยับยั้งไม่ให้สารที่อาจก่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต แต่เคลื่อนลงไปจัดการกับพยาธิในทางเดินอาหารตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ         อคติในความชอบของบุคคลต่อสิ่งที่มาจากธรรมชาติเหนือสิ่งที่ประดิษฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารสกัดอัลคาลอยด์จากสมุนไพรชื่อ หมาหวง (Ma Huang หรือ Ephedra) ซึ่งมีการจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยปราศจากการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง         หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงผลกระทบในคนกล่าวว่า สมุนไพรดังกล่าวมีสารอัลคาลอยด์ ephedrine ชึ่งมีผลกระทบหลายประการต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเร่งในการเผาผลาญไขมัน ผู้ประกอบการบางคนจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากหมาหวงเป็นองค์ประกอบนั้นควรช่วยลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรนี้ในขนาดสูงกว่าที่แพทย์แผนจีนกำหนดได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น (ถึงขั้นอาจหัวใจวายได้) หรือมีอาการทางจิตเวช ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี ephedrine ผสมนั้นถูกห้ามจำหน่ายโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวสมุนไพรนั้นยังขายได้ในบางรัฐ         ด้วยเหตุที่ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของผู้บริโภคต่อคำโฆษณาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นไม่เท่ากัน หน่วยงานด้านการแพทย์ทางเลือกและการบูรณาการเพื่อสุขภาพหรือ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ได้มีบทความเรื่อง “Natural Doesn't Necessarily Mean Safer, or Better”เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังวรณ์ถึงความแตกต่างในความหมายระหว่างคำว่า ธรรมชาติ และ ปลอดภัย         เนื้อหาของบทความนั้นกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์ ธรรมชาติเอื้อให้มีการผลิตยาแอสไพริน (จากใบหลิว) และมอร์ฟีน (จากฝิ่น) ช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ยังมียาบำบัดโรคอื่นๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนาน ส่งผลถึงการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ แต่ความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ได้บ่งบอกว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสมอไปเพราะมีปัจจัยอื่นมากำหนดด้วย          นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาถึงประสิทธภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางชนิดแต่ก็พบว่า ตัวอย่างที่ได้จากท้องตลาดนั้นหลายส่วนล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ดังที่โฆษณา เช่นการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรชื่อ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งไม่พบหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการบำบัดไข้หวัดดังที่โฆษณา แต่กลับมีผลข้างเคียงบางอย่างในผู้บริโภคบางคน เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เจ็บคอ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ลิ้นชา วิงเวียน หลับยาก สับสน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ หรือแม้กระทั่งก่อการอักเสบของตับด้วย อีกตัวอย่างคือ การศึกษาผลของใบแปะก๊วยที่มีอาสาสมัครสูงอายุกว่า 3,000 คน เข้าร่วมแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีใบแปะก๊วยเป็นองค์ประกอบนั้นไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม         หลายคนคิดว่า ยา“ธรรมชาติ” ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากเหมือนยาสังเคราะห์ ซึ่งหลายครั้งแสดงความเป็นพิษได้ และอาจรวมถึงการมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนเนื่องจากการผลิตที่ควบคุมไม่ดี แต่แนวความคิดดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น  คาวา (kava) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีสารสำคัญคือ “คาวาแลคโตน (kavalactone)” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความวิตกกังวล แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารธรรมชาติดังกล่าวมีผลข้างเคียงหลายประการและที่น่ากังวลคือ มีความเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้นก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากคาวาจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง         มีบทความเรื่อง Adverse Events Reported to the US Food and Drug Administration for Cosmetics and Personal Care Products ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ซึ่งมักผสมองค์ประกอบธรรมชาตินั้น ควรได้รับการปรับปรุง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ขาดการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการออกสู่ตลาด ผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์เนื่องจากสินค้าไปยัง FDA และ CFSAN (The Center for Food Safety and Applied Nutrition ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างจากเครื่องมือแพทย์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจร้ายแรงเนื่องจากเครื่องสำอางจึงเกิดได้บ่อยครั้ง ดังนั้นวุฒิสมาชิก Diane Feinstein ของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงได้เสนอ Personal Care Products Safety Act (PCPSA) สู่วุฒิสภาในปี 2017         ความจริงกฏหมายในลักษณะเดียวกันเคยมีวุฒิสมาชิกท่านอื่นเสนอแล้วในปี 2011 เพื่อให้อำนาจ FDA ในการสั่งให้เจ้าของสินค้าเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องทำการทบทวนความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้เพิ่มงบประมาณในการทดสอบความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอางแก่ National Toxicology Program ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่ผู้บริโภคต้องสัมผัส อีกทั้งในปี 2019 ร่างกฏหมายดังกล่าวก็ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีไม่ได้คลอดออกมาบังคับใช้ดังปรากฏในข่าว The Introduction of the Personal Care Products Safety Act 2019 in the United States Senate ซึ่งมีข้อมูลที่ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.modernsoapmaking.com/personal-care-products-safety-act-2019

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 สิทธิของผู้ใช้ฟิตเนส

เรื่องการมี “สุขภาพ” ดีกำลังเป็นที่นิยมของคนปัจจุบัน ทำให้กิจการต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลร่างกายได้รับความนิยมไปด้วย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจฟิตเนส ที่บรรดาคนอยากมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค สัดส่วนกระชับ เลือกใช้บริการ ซึ่งฟิตเนสแต่ละแห่งก็สรรหาเครื่องออกกำลังกาย และจัดโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจลูกค้า แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง หรือผู้บริโภคมีเหตุให้ไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องทำอย่างไร เรามาดูกัน         เรื่องที่ 1  อุปกรณ์ไม่พอ          ภูผา เป็นคนหนึ่งที่ต้องการมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค จึงเลือกสมัครสมาชิกรายปีกับฟิตเนสแห่งหนึ่งในห้างชื่อดังย่านรังสิต โดยชำระเงินเป็นบัตรเดบิต เมื่อเขาไปใช้บริการช่วงแรกก็สะดวกสบายดี พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายมีจำนวนมากเพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ แต่เมื่อผ่านไปสักประมาณสองเดือน เขากลับรู้สึกไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนเดิม เพราะว่ามีสมาชิกเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายไม่เพียงพอกับผู้มาใช้บริการ สมาชิกมีมากกว่าอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย แต่ทางผู้ให้บริการฟิตเนสกลับไม่ได้มีการเพิ่มเครื่องออกกำลังกายให้เพียงพอ ทำให้เขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายได้         ภูผาไตร่ตรองแล้ว เขาคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและขอเงินได้  แต่เพื่อให้ชัดเจนจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่ากรณีแบบนี้สามารถยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่         เมื่อรับเรื่องราวของคุณภูผาได้ไม่ทันไร ก็มีการขอคำปรึกษาจากคุณทัดดาว ในกรณีเกี่ยวกับบริการฟิตเนสเช่นกัน มาลองดูเรื่องของคุณทัดดาวกันบ้าง         เรื่องที่ 2  เจ็บป่วย        คุณทัดดาว สมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทฟิตเนสแห่งหนึ่งเมื่อเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทันได้เข้าใช้บริการ คุณทัดดาวเกิดอาการป่วยกะทันหัน มีอาการปวดท้องรุนแรงเมื่อเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ระบุว่า เป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน         หลังจากผ่าตัดคุณทัดดาวยังต้องพักผ่อนต่อเนื่อง สภาพร่างกายย่อมไม่แข็งแรงพอจะไปใช้บริการที่ฟิตเนสได้ จึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทฟิตเนสดังกล่าว แต่พบว่าทางบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมให้ยกเลิกสัญญา แม้คุณทัดดาวจะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าตนเองมีเหตุให้ใช้บริการไม่ได้จริง โดยทางบริษัทฯ พยายามยื่นเงื่อนไขให้คุณทัดดาวจ่ายค่าบริการรายเดือน เดือนละ 500 บาท เพื่อเป็นค่ารักษาสถานภาพสมาชิกไว้  และจะระงับการเข้าใช้บริการชั่วคราวให้แทน “เพราะไม่สามารถยกเลิกสัญญา” ได้  จนกว่าจะหายดีจึงค่อยเข้ามาใช้บริการใหม่          คุณทัดดาวจึงปรึกษามาทาง ศูนย์พิทักษ์สิทธิเช่นกันว่า ควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        ธุรกิจฟิตเนส มีกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควบคุมกำกับดูแล คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 ข้อ 3 (4) ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ดังนี้        1. อุปกรณ์/พื้นที่ ไม่เพียงพอ โดยไม่จัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งจากสมาชิก        2. มีใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้        3. ได้รับบาดเจ็บจากผู้ฝึกสอนหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องของฟิตเนส         เบื้องต้นผู้บริโภคที่พบปัญหาจากเหตุต่างๆ ต้องแจ้งให้ฟิตเนสทราบ เช่น เรื่องมีสมาชิกมาใช้บริการมากกว่าอุปกรณ์ ทำให้พื้นที่และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และให้แก้ไขปัญหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง ถ้าฟิตเนสยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาได้โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ส่งไปยังประธานกรรมการของบริษัท ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และผู้จัดการสาขา แบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งบริษัทต้องคืนเงินค่าสมาชิกในส่วนที่ยังไม่ใช้บริการให้แก่ผู้ร้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา ถ้าบริษัทไม่คืนเงินภายใน 30 วัน ผู้ร้องสามารถเรียกเบี้ยปรับได้ด้วย         ในกรณีทั้งของคุณทัดดาวและคุณภูผา ฝ่ายแรกได้ทำหนังสือแล้ว แต่บริษัทฯ บ่ายเบี่ยงจึงมีการเจรจาในเบื้องต้น ซึ่งทางฟิตเนสยินยอมยกเลิกสัญญาและคืนเงินทั้งหมดให้กับคุณทัดดาว ส่วนกรณีของคุณภูผา อยู่ระหว่างยื่นเรื่องดำเนินการ คาดว่าคงมีการยกเลิกสัญญาแต่อาจจะไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมดเพราะได้ใช้บริการไปบางส่วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 หุ่นจะดี ขอให้มีเงิน

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์แปลกๆ ตามโซเชียลมีเดีย มันผุดเป็นดอกเห็ด หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนตามไล่จับไม่ทัน ในยุคแรกๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ ต่อมาสื่อโซเชียลมีหลากหลายชนิดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเปลี่ยนช่องทางการขายหันมาทางเฟซบุ๊คขาย พอเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจเช็คเฟซบุ๊ค ก็ย้ายฐานการโฆษณามายังไลน์ และล่าสุดย้ายไปขายในอินสตราแกรมกันครึกโครม เล่นเอาเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไล่แทบไม่ทัน พอจะดำเนินการบางรายก็ปิดเฟซ ปิดไลน์ ปิดอินสตราแกรมหนี หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาเปิดใหม่อีก และถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแวดวงของพวกเขา เราก็จะไม่รู้ข้อมูลพวกนี้เลย เพราะทุกวันนี้มันมีกลุ่มปิด กลุ่มเฉพาะ ทางสื่อโซเชียลเหล่านี้มากมาย         ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีเงิน สนใจเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายให้คนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ราคาถูกๆ แต่มักจะขายในราคาแพง และมักจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบทุกชนิดที่เจอ จะไม่มีการขออนุญาตในประเทศไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ขายจะอ้างว่าตนหิ้วมาเองจากต่างประเทศ         ล่าสุดผมได้รับแจ้งว่า มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก โดยผู้ขายบอกว่าถ้าจะใช้ต้องซื้อเป็นเซ็ต ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูลสามชนิดสามขวด อ้างสรรพคุณว่าชนิดแรกจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่เรารับประทานเข้าไป ชนิดที่สองจะไปบล๊อคการดูดซึมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่เรารับประทาน และชนิดที่สามจะไปบล๊อคความหิวของเรา         ผู้ขายอ้างว่า สามารถลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกินที่เกาะตามส่วนต่างๆ ได้ ทั้ง ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หรือส่วนต่างๆ ทั้งไขมันเก่าและใหม่  เหมาะกับคนที่หิวบ่อย อยากปรับกระเพาะไห้เล็กลง คนที่กินจุบจิบ อยากกินอาหารเยอะๆ เหมาะสำหรับคนที่จะไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ประเภททริปตะลุยกินโดยเฉพาะ  ตลอดจนยังเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและอยากให้น้ำหนักลงเร็ว หรือคนที่ชอบกินของมันๆ ของหวาน หรือกินแป้งเยอะๆ พิซซ่า ชาบู  ของทอด ฯลฯ มีการย้ำว่ารับรองลดไขมันได้ 5 กิโลกรัมขึ้นไป  ราคาทั้งเซ็ต  4,790 บาท ถ้าแยกซื้อเป็นชนิดๆ ก็ตกชนิดละเกือบสองพันบาท         ตามไปดูที่โฆษณา ก็เหมือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆที่ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งว่าสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ทั้งสารสกัดจากถั่วขาว  และสารสกัดจากผลส้มแขก โดยอ้างว่าจะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยแป้งได้ถึงกว่า 50% และยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันน้อยลง ลดความอยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และเร่งการสลายไขมัน และยังแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นเฉียบตามหลังรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ เพราะจะยิ่งช่วยให้ร่างกายนำพลังงานมาปรับเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ให้เท่าอุณหภูมิในร่างกาย         ถ้าจะให้สรุปว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผลตามที่อวดอ้างหรือไม่ ขอยืนยันเลยว่ายังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นทางการออกมายืนยัน แม้ผู้ขายจะอ้างว่านำหิ้วเข้ามาจากประเทศอังกฤษ แต่การนำเข้ามาโดยไม่มาขออนุญาต จึงทำให้ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่า การโฆษณาสรรพคุณตามที่อ้างมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ฟันธงได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ผิดกฎหมาย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หนำซ้ำยังเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 224 ตะละแม่หน้าขาว กับหม่องหายเมื่อย

        เรื่องสุขภาพแข็งแรงและความสวยงาม ไม่ว่าชนชาติไหนในโลกคงไม่ต่างกัน ในขณะที่ในประเทศไทย เรายังไล่ตามกวดจับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด ที่ลักลอบผลิตหรือใส่สารอันตรายกันอย่างแทบไม่หมดสิ้น กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะของไทยๆ ที่ไทยทำไทยใช้เท่านั้น         ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเขตกรุงเทพมหานคร พี่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีคนงานต่างชาติชาวพม่า เธอเป็นคนรักสวยรักงาม หลังๆ แอบสังเกตว่าหน้าเธอขาวขึ้นแบบผิดหูผิดตา ซักไซร้ไล่เลียงเลยทราบว่าเธอใช้ครีมทาหน้าขาว ที่ซื้อมาจากเพื่อนชาวพม่าที่มาทำงานใกล้ๆ บ้านกัน ด้วยความเป็นห่วงเพราะข่าวครีมหน้าขาวอันตรายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เลยไปขอดูครีมที่เธอใช้กัน ปรากฎว่าครีมที่ใช้เป็นครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่แสดงเป็นภาษาพม่าทั้งหมด จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเธอสั่งซื้อจากเพื่อนของเธอ ซึ่งซื้อต่อๆ กันมาจากผู้ขายผ่านทางโซเชียล เวลาสั่งก็จะสั่งทางไลน์ แว่วๆ ว่าผลิตในประเทศนี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าคนผลิตคือโรงงานในประเทศ ผลิตแล้วติดฉลากภาษาพม่า เพื่อจำหน่ายในกลุ่มพวกเธอ หรือเป็นคนชาติเดียวกับเธอแอบลักลอบทำมาขายกันเอง         สาวใช้พม่ารายนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ได้มีแค่ครีมหน้าขาวนะ ยาแก้ปวดเมื่อยสำหรับแรงงานชาวพม่าก็มีจำหน่าย จัดเป็นชุดๆ มักขายให้พวกผู้ชาย ผู้หญิง ที่ใช้แรงงานหนักๆ หรือทำงานจนปวดเมื่อย กินแล้วได้ผลชะงัด เวลาซื้อก็จะสั่งต่อๆ กัน เขาก็จะส่งมาให้ ส่วนรายละเอียดบนฉลากก็เป็นภาษาพม่าเช่นเคย         พี่จากเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติไหน ก็ไม่น่าจะต้องมาเสี่ยงอันตรายจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ และยังเกรงว่าหากนิยมกันมากๆ อาจแพร่ระบาดมายังคนไทยที่ชอบลองของใหม่ๆ อีกด้วย ผมแนะนำเธอว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าซื้อจากที่ไหน หรือถ้ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้นำมาให้ดูด้วย จะได้ช่วยกันสืบหาต้นตอแหล่งผลิต ว่าเป็นของที่ลักลอบผลิตกันในประเทศ หรือลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนกันแน่         ตามกฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ทุกชนิดที่ผลิต จำหน่าย หรือนำสั่งเข้ามาในประเทศ จะต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สาวพม่านำมาใช้ หรือยาที่แรงงานต่างๆ นำมาใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงเพราะไม่ทราบว่ามันมีส่วนผสมของอะไร และอันตรายหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ผลหลังจากการใช้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งหน้าขาว หรือหายปวดเมื่อย จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะผสมสารอันตราย         ฝากผู้อ่านทุกท่านคอยสอดส่องด้วยนะครับ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เครียดทำหมดสวย

        ขณะกำลังเค้นสมองคิดว่า “สวยอย่างฉลาด” ฉบับนี้จะนำเสนอเรื่องอะไรดี ก็เริ่มรู้สึกตัวว่าหัวคิ้วชนกันแน่น และกล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งนิดๆ ใช่แล้ว อาการเครียดนั่นเอง นี่แหละศัตรูตัวร้ายอันดับต้นๆ ที่ทำให้เราหมดสวย         ไปค้นนิยามเรื่องความเครียดจากกรมสุขภาพจิต ได้ความว่า  ความเครียดนั้นเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อม  ความเครียดเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคลในสภาวการณ์อย่างเดียวกันร่างกายจะแสดงออกเวลามีความเครียดโดยมีความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติชีพจรเต็นเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น  หัวใจจะทำงานมากขึ้น  และกล้ามเนื้อจะเกร็ง ปฏิกิรยาเหล่านี้เรียกโดยรวมว่าเป็นปฏิกิรยาของการ “จะสู้หรือจะถอยหนี ”         ความจริงเมื่อเกิดความเครียดมันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจ แน่นอนว่าผิวพรรณย่อมได้รับผลตามไปด้วย ลองมาสังเกตชัดๆ ว่ามีอะไรบ้าง         กลิ่นตัวแรง เวลาวิตกกังวลร่างกายจะหลั่งเหงื่อออกมามาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นตัว         แผลอักเสบ บางคนเวลาเครียดอาจเผลอแกะสิว เกาเนื้อตัวอย่างรุนแรงจนเกิดแผลและกลายเป็นผิวอักเสบ        บางคนความเครียดจะแสดงทางร่างกายด้วยอาการผมร่วง รังแคที่ผิวหน้า(เซ็บเดิร์ม)        ริ้วรอยเหี่ยวย่น เมื่อเครียดหัวคิ้วที่ย่นเข้าหากันจนเกิดร่องรอยลึก บางคนก็นอนไม่พอส่งผลให้ขอบตาดำคล้ำ        ที่กล่าวถึงนี้มีสาเหตุจากความเครียด และพอรู้สึกตัวว่าร่างกายไม่ปกติ ผิวพรรณไม่สดใส แก่ก่อนวัย ก็ยิ่งทำให้พลอยเครียดมากไปกว่าเดิม          การบำรุงผิวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความเครียด        แน่นอนว่าต้องไปกำจัดที่ต้นตอ คือ กำจัดความเครียดให้พ้นไป เมื่อร่างกายผ่อนคลาย จิตใจไม่วิตกกังวล การฟื้นฟูสภาพของผิวก็ไม่ยาก แต่ใช่ว่าจะกำจัดความเครียดกันได้ง่ายๆ บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า กำลังอยู่ในสภาวะเครียด ฉะนั้นเราก็ต้องดูแลป้องกันผิวพรรณในระหว่างที่ค้นหาทางจัดการกับความเครียดเสียก่อน         สิว อาจเกิดจากอาการท้องผูก หรือฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาในช่วงเครียด ทางแก้คือรับประทานอาการที่มีกากใยสูง อาหารที่มีโพรไบโอติกช่วยเรื่องการระบาย ในส่วนผิวหน้าอย่าแกะเกาหรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่รุนแรง อาจงดแต่งหน้าเพื่อให้ผิวได้ผ่อนคลายบ้าง         ผิวแพ้ง่าย เกิดผด ผื่นแดง อาการลมพิษอ่อน เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง ควรรักษาตามอาการ ใช้ยาให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้เกิดแผลอักเสบ         ถุงใต้ตาหรือขอบตาคล้ำ เพราะนอนไม่หลับ ดูแลด้วยผลิตถนอมผิวรอบดวงตา(อายครีม) หรือวิธีธรรมชาติอย่างการใช้แตงกวา ถุงชาวางบนผิวเปลือกตา (ควรศึกษาวิธีก่อนใช้) ผมลีบแบนหรือแตกปลาย เพราะอาจไม่มีเวลาหรือจิตใจจะดูแลเส้นผม ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและหาเวลาดูแลเส้นผมมากขึ้น         ผมหลุดร่วง อาจเกิดจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากเครียดจนไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ต้องใช้การบำรุงทั้งจากภายใน รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เพิ่มพวกโปรตีนมากขึ้น และดูแลภายนอกด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่รุนแรงต่อเส้นผม          หลักๆ คือสังเกตและให้เวลากับการดูแลตัวเอง อย่าปล่อยให้ความเครียดทำให้หมดสวยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กระแสต่างแดน

Shonky Awards 2019        ทุกปีองค์กรผู้บริโภคออสเตรเลีย CHOICE จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดแย่โดยคัดเลือกจากผลสำรวจความเห็น ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเรื่องร้องเรียนต่อผู้ประกอบการ และในปีนี้ “ผู้โชคดี” ได้แก่...         ·  ห้างออนไลน์ Kogan ที่โฆษณาว่าตนเองเป็น “ผู้นำด้านการบริการลูกค้า” แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีกลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 300 เรื่อง (เฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์) ลูกค้าหลายรายต้องเสียเวลาวุ่นวายอยู่นานกว่าจะได้เงินคืนกรณีที่สั่งซื้อสินค้ามาแล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง อดีตพนักงานคนหนึ่งของห้างบอกว่าเคยเห็นยื้ออยู่สามสี่รอบ ทั้งๆ ที่ลูกค้าควรได้เงินคืนตั้งแต่รอบแรก นอกจากนี้บริษัทยังถูก ACCC องค์กรที่ดูแลด้านการแข่งขันฟ้องเพราะถูกจับได้ว่าแอบเพิ่มราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 10 ก่อนที่จะทำโปรโมชั่น “ลด 10 เปอร์เซนต์” ...สายช้อปออนไลน์ต้องระวัง         ·  อีกรายคือผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก XO Crunch ที่ติดฉลากอวดอ้างว่าเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ CHOICE คำนวณแล้วพบว่าถ้าจะกินให้ได้ครบความต้องการของร่างกายของเด็ก ลูกๆ ของคุณจะต้องกินถึง 8 ถ้วย และรับน้ำตาลเข้าไป 62 กรัมหรือ 14 ช้อนชาด้วยและที่น่าสงสัยคือ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ “4 ดาวสุขภาพ” มาได้อย่างไร ทั้งที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 22 ความจริงเมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน XO Crunch ควรจะได้แค่ 1.5 ดาวเท่านั้น (ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน)         ·  AMP ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเจ้าดังในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลนี้ไปเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนเกินเข้าใจว่าทำไมถึงแนะนำให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยมี แล้วขายแผนการคุ้มครองใหม่ให้ด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้น รายนี้คิดค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาแพงลิ่วโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนลูกค้า และฝ่ายที่ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้ามากที่สุดคือฝ่ายดูแลกองทุนเงินเกษียณ บริษัทมีบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว AMP Retirement Trust และ Super Savings Trust อยู่ประมาณหนึ่งล้านบัญชี ในปี 2018 เอาไว้กินค่าธรรมเนียมสบายๆ         ·  นอกจากตู้ โต๊ะ เตียงแบบประกอบเอง และสินค้าเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ อิเกีย ยังทำตู้เย็นขายด้วย ทีมทดสอบของ CHOICE ซึ่งทดสอบตู้เย็นมาอย่างโชกโชนพบว่าตู้เย็นรุ่น Nekyld ของเจ้านี้มีข้อบกพร่องมากจนไม่น่าเชื่อ         ตู้เย็นแบบ “มินิมอลลิสต์” นี้ใช้พลังงานมากกว่าที่ระบุบนฉลากประหยัดไฟถึงร้อยละ 8.9 และเพื่อให้ราคาถูก เขาจึงตัดฟีเจอร์ที่ “ไม่จำเป็น” ออกไปหลายอย่าง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น ตู้เย็นรุ่นนี้ได้คะแนน 39 เต็ม 100 ถ้าเป็นการสอบก็เรียกว่า “ตก” สินะ         ·  โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพของออสเตรเลียถือว่าไม่คุ้มค่าเงินนัก การสำรวจโดย CHOICE ก็พบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนออสซี่กังวลมากที่สุดคือเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจซื้อน้อยลง เพราะนอกจากเบี้ยจะสูงขึ้นทุกปี ความคุ้มค่ากลับลดลง มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์นอกเหนือไปจากที่ทุกคนได้ฟรีอยู่แล้วในระบบประกันสุขภาพ แต่เจ้าที่โดดเด่นจนต้องได้รับรางวัลไปได้แก่ เมดิแบงก์ ที่ขายแผนประกันแบบ “เบสิก” ในราคาที่แพงกว่าแบบ “บรอนซ์” ของเจ้าอื่นๆ         ·  CHOICE ออกตัวชัดเจนให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน จากการสำรวจกรมธรรม์ประกันสัตว์เลี้ยงเขาพบว่าเงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อจำกัด มันมากมายจนเวียนหัว เช่น ไม่รวมค่าหมอถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วยแบบเดิมซ้ำ หรือไม่รวมค่าตรวจนอกเวลาทำการ ที่สำคัญถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังอายุน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนต้องเริ่มจ่ายเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ซื้อไว้ก่อน ก็จะมีข้อยกเว้นมากมายเรื่องสุขภาพของสัตว์ก่อนการทำประกัน ราคาเบี้ยมีตั้งแต่ปีละ 180 ถึง 4,500 เหรียญ (3,700 ถึง 93,000 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผู้สูงวัยดูแลผิวแห้งลอกเป็นขุยอย่างไรดี

        พอเลขอายุเริ่มสูงขึ้น สุขภาพผิวก็เสื่อมลงเป็นธรรมชาติอันยากจะเอาชนะ ผิวที่แห้งแตกลอกเป็นขุยในผู้สูงวัยเกิดจากการผลัดผิวของชั้นหนังกำพร้าที่ช้าลงไปเรื่อยๆ (ปกติผิวชั้นหนังกำพร้าจะเปลี่ยนเซลล์ใหม่ในเวลา 4 สัปดาห์)  ทำให้ผิวแตก เกิดขุยและคัน บางคนเกาจนกลายเป็นแผลอักเสบติดเชื้อ  ฉลาดซื้อจึงขอนำแนวทางการดูแลผิวแห้งมาฝากเพื่อช่วยให้อาการคันและอักเสบต่างๆ บรรเทาลง         ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง        ถ้าสภาพผิวแห้งมากควรอาบน้ำโดยงดเว้นการใช้สบู่ ทั้งสบู่ก้อนและสบู่เหลว เพราะสบู่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะสบู่เหลวมีสารชำระล้างที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิว หากจะเลือกใช้ควรเปลี่ยนเป็นสบู่เด็กหรือสบู่ที่ผลิตแบบธรรมชาติไม่ได้ใช้ไขมันสัตว์ ไม่ใส่สารชำระล้างที่แรง(สังเกตจากฟอง ฟองมากมักเกิดจากสารชำระล้าง) ไม่มีวัตถุกันเสียหรือแอลกอฮอล์         ครีมบำรุงผิว/โลชั่น        หลังอาบน้ำ ควรทาครีมบำรุงผิว โดยเลือกที่เนื้อครีมหนักเน้นให้ความชุ่มชื้น เลือกที่ไม่มีส่วนผสมของสารกันเสียอย่างพาราเบน แอลกอฮอล์ หรือเลือกใช้เป็นเบบี้ออยล์ชโลมผิว อาจรู้สึกเหนอะหนะแต่จะช่วยลดอาการผิวลอกเป็นขุยได้         เลี่ยงการอาบน้ำอุ่น        หลายท่านชอบอาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นเพราะรู้สึกผ่อนคลาย แต่น้ำอุ่นสร้างความแห้งให้แก่ผิวโดยตรง ยิ่งสัมผัสนานผิวยิ่งแห้งดังนั้นควรเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น หรือหากต้องการผ่อนคลายควรแช่เฉพาะบางส่วนเช่น มือ เท้า         ใช้ครีมกันแดด        เมื่อต้องออกไปเผชิญแดดจัดจ้าควรปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยครีมกันแดด หรือสวมใส่เสื้อผ้าปิดบังผิวบริเวณที่มักลอกเป็นขุยเช่น แขน หน้าแข้ง หรือใช้ร่ม หมวกเพื่อลดความเสี่ยงจากแสงแดดแรงที่ส่งผลต่อผิวหนัง         ดูแลเรื่องอาหาร         ดื่มน้ำให้มาก งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่                 ไม่ใช้ยาประเภทคาลาไมน์                      เวลาเกิดผดผื่น บางคนนิยมใช้ยาคาลาไมน์หวังทาลดอาการคัน แต่รู้ไหมว่าผลข้างเคียงคือทำให้ผิวยิ่งแห้งตึง         สังเกตความผิวปกติของไฝหรือก้อนเนื้อบนผิว         หากไฝหรือตุ่มนูนบนผิวมีการขยายใหญ่ขึ้น หรือเกิดการอักเสบมีเลือดออก สีเปลี่ยนไป ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและรักษาทันที         ผิวแห้งกร้านในผู้สูงอายุ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพราะเป็นเรื่องของผิวที่เสื่อมลงไปตามกลไกธรรมชาติ แต่สามารถดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ ผู้สูงอายุบางท่านอาจไม่สามารถจดจำหรือดูแลตัวเองได้ ลูกหลานควรใส่ใจและช่วยดูแลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของท่าน   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 รู้เท่าทันพลังกับสุขภาพ

        เป็นเรื่องฮือฮามากเมื่อสองสามเดือนก่อน จากกรณีที่ชาวบ้านในหลายจังหวัดหลงเชื่อและซื้อ “บัตรพลังงาน” โดยอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ เช่นอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย วิธีการรักษา คือให้นำบัตรไปแตะบริเวณที่ปวด หรือนำแก้วน้ำไปวางบนบัตร หรือนำเอาบัตรไปจุ่มในแก้วแล้วดื่ม จนมีการเปิดโปงและจับกุม เรามารู้เท่าทันบัตรพลังงานกันเถอะ ความเชื่อเรื่องพลังกับสุขภาพ        ถ้าเราอ่านข่าวครั้งแรก เราคงรู้สึกว่า ทำไมชาวบ้านถึงหลงเชื่อง่ายๆ ว่า บัตรคล้ายบัตรโทรศัพท์มีพลังงานที่จะรักษาโรค ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้  จริงๆ แล้ว ความเชื่อเรื่องพลังในวัตถุต่างๆ นั้นมีในทุกวัฒนธรรม ทุกยุค ทุกสมัย ในการแพทย์ดั้งเดิมเชื่อว่า หิน วัตถุบางชนิดมีพลังในตัว และสามารถส่งผลต่อสุขภาพ จนการแพทย์ทางเลือกจัดเรื่องพลังเป็นประเภทหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก การแพทย์จีนเชื่อเรื่องพลังชี่ การแพทย์แผนไทยเชื่อเรื่องพลังที่วิ่งตามเส้นประธานทั้งสิบ โฮมีโอพาธีย์เชื่อเรื่องพลังจากพืช สัตว์ โลหะ ที่นำมาเจือจางและกระแทก เขย่าในน้ำหรือสารละลาย หลายวัฒนธรรมเชื่อเรื่องผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น บัตรพลังงานจึงสอดคล้องกับความเชื่อเรื่อง พลังในวัตถุและพลังกับสุขภาพได้ง่าย มีระบบธุรกิจรองรับ         บัตรพลังงานนี้มีชื่อว่า ‘Kartu Sakti’ พบว่าต้นตอมาจากประเทศอินโดนีเซีย ทางเว็บไซต์ต้นทางของบัตรระบุว่า มียอดขายแล้วกว่า 5 แสนใบทั่วโลก          นอกเหนือจากความเชื่อเรื่องพลังงานในบัตรแล้ว ยังต้องมีระบบธุรกิจรองรับ เพื่อให้เกิดความนิยมและขยายตัว  สามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนมาก จึงมีการโฆษณาในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องบัตรพลังงาน หรือบัตรพลัง หรือการ์ดวิเศษ ว่ามีคุณสมบัติพิเศษ สามารถช่วยค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส LPG NGV และน้ำมัน ได้เพียงแค่นำไปแปะไว้ที่อุปกรณ์ไฟฟ้า ถังน้ำมัน หรือถังแก๊สนั้น(กระทรวงพลังงานของประเทศไทยได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และอย่าตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพจนทำให้ต้องสูญเสียเงินทองโดยไม่จำเป็น)         นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรม และสาธิตสรรพคุณของบัตร มีการรับสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้บัตรพลังงานไปใช้ โดยมีการจ่ายเงินซื้อบัตร และจำหน่ายบัตรให้คนที่สนใจ เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย หากขายได้และมีสมาชิกเพิ่ม ก็จะได้เงินจากการขาย ไม่มีงานวิจัยรองรับ         ปกติแล้ว ธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพจะอ้างอิงงานวิจัยในวารสารที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์แต่ละตัวมีประสิทธิผลที่น่าเชื่อถือ  แต่สำหรับบัตรพลังงานนั้นใช้การสาธิตกับบุคคล และบุคคลนั้นยืนยันว่าบัตรพลังงานใช้ได้ผลจริง ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ  จริงๆ แล้ว ต้องใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆ ตามคำบอกเล่า ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรพลังงาน พลังงานของบัตรกลายเป็นกัมมันตรังสี         คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยผลตรวจสอบบัตรพลังงานล่าสุด พบมีสารกัมมันตรังสี และโลหะหนัก เสี่ยงก่อมะเร็ง เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ “บัตรพลังงาน” บัตรไม่มีกระแสไฟฟ้า หรือพลังงานตามที่บริษัทผู้จำหน่ายกล่าวอ้างสรุป     จะมีผลิตภัณฑ์สุขภาพเกิดขึ้นอีกมากที่ใช้ความเชื่อของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ  ร่วมกับระบบธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทน จึงควรวิเคราะห์หาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจใช้

อ่านเพิ่มเติม >