ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 มาตาลดา : วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิร์ลด์

        สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก พล็อตเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครต่างๆ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศแบบไร้ที่เป็นมาเป็นไป หากแต่มีเงื่อนไขและที่มาที่ไปซึ่งยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราเสมอ และที่สำคัญ ภาพที่เห็นผ่านละครและตัวละครอันหลากหลายที่เราสัมผัสอยู่นั้น ล้วนเป็นจินตนาการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนย้อนให้เราคิดถึงความเป็นจริงในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่        กับคำอธิบายชุดนี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “มาตาลดา” ที่ได้รับการเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ “ฮีลหัวใจ” ให้กับผู้ชมผ่านโลกของละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติก        มาตาลดาถูกสรรค์สร้างให้เป็นนางเอกผู้มี “พลังแห่งความใจดี” เป็นผู้หญิงที่ประหนึ่งขี่ม้าหลุดออกมาจากท้องทุ่งลาเวนเดอร์ คอยให้ความหวัง ให้พลังใจกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อาจเป็นเพราะว่า “เกริกพล” พ่อของเธอเป็นกะเทยนางโชว์เจ้าของสมญานามว่า “เกรซ” ถูก “เปา” ผู้เป็นอากงไล่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเพราะ “เกิดมาเป็นคนผิดเพศ” พ่อเกรซจึงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองว่า จะเลี้ยงมาตาลดาให้ “กลายเป็นคนที่ใจดีที่สุดในโลก” ให้จงได้        กับการเปิดตัวในฉากแรกๆ ของมาตาลดา เราก็จะเห็นพลังของความใจดีที่แผ่ซ่านไปทั่ว นับตั้งแต่เปิดฉากที่พ่อเกรซเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นประหนึ่งเจ้าหญิงผมทองผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไปจนถึงฉากที่มาตาลดาให้ความเอ็นดูและรับเลี้ยงบรรดาสุนัขจรจัดแทบจะทุกตัวที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ        ในขณะที่มาตาลดาเป็นตัวละครที่ใจดีชนิดที่หาได้ยากยิ่งในกาลสมัยปัจจุบัน ผู้คนที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตเธอกลับถูกออกแบบให้ดูมีความผิดปกติหรือมีปมบาดแผลในจิตใจกันถ้วนหน้า        เริ่มจากนางโชว์ “ตัวตึง” อย่างพ่อเกรซเอง ที่เลือกเพศวิถีอันต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม จนถูกทุบตีอัปเปหิออกจากบ้าน และไปๆ มาๆ ก็กลับกลายเป็นบาดแผลที่ทั้งพ่อเกรซ อากง และอาม่า “เฟิน” ต่างก็บาดเจ็บจากทิฐิที่อากงสาดใส่เพศสภาพ LGBTQ+ ของบุตรชายไม่แตกต่างกันเลย        ตามมาด้วยพระเอกหนุ่ม “ปุริม” หรือที่ “บุญฤทธิ์” ผู้เป็นพ่อ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “เป็นหนึ่ง” ก็คืออีกหนึ่งตัวละครซึ่งต้องทนทุกข์ยากจากการแบกภาระและความคาดหวังที่บิดาอยากให้เขาเป็นที่หนึ่งเหนือทุกๆ คน และแม้เขาจะเรียนเก่งเรียนดีจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็กลายสภาพเป็น “หมอหัวใจที่ไม่มีหัวใจและไร้ความรู้สึก”        ฉากต้นเรื่องที่เป็นหนึ่งใส่แว่นตาของนักประดาน้ำนั่งอยู่เดียวดายในห้องนอน ก็ไม่ต่างจากการบ่งบอกนัยว่า ชีวิตของเขาถูกบิดากำหนดและกดทับไว้ให้จมอยู่ใต้ห้วงมหาสมุทรแห่งความคาดหวังของครอบครัวที่หนักอึ้งอยู่บนสองบ่า        ในเวลาเดียวกัน สำหรับบุญฤทธิ์ที่หน้าฉากสังคมประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน หากแต่ความรู้สึกผิดจากอดีตที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เขาถ่ายโอนความเจ็บปวดมาที่การเรียกร้องความเป็นเลิศจากบุตรชาย และสร้างความรู้สึกทุกข์ใจให้กับ “ชนิดา” ผู้เป็นภรรยาไปด้วยเช่นกัน        เพื่อผลักดันให้บุตรชายได้ขึ้นเป็นที่หนึ่งดังใจปรารถนา บุญฤทธิ์เจ้าของงานเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตไม่ติดกรอบ” กลับเลือกสร้างกรอบจับคู่เป็นหนึ่งกับหญิงสาวในวงสังคมอย่าง “อรุณรัศมี” ที่สวยหรูดูแพง เพียบพร้อมทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม และยิ่งเมื่อภายหลังเป็นหนึ่งมาติดพันหลงรักมาตาลดา บุตรสาวของกะเทยนางโชว์ บุญฤทธิ์ก็ยิ่งออกฤทธิ์กีดกันความรักของทั้งคู่ในทุกทาง        แต่ในทางกลับกัน หลังฉากชีวิตของอรุณรัศมี ลูกสาวท่านรัฐมนตรีที่ดูเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ลึกๆ กลับเป็นผู้หญิงที่แล้งน้ำใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะทุกคนที่เหนือกว่าตน โดยเฉพาะกับมาตาลดาที่แสนจะธรรมดาแต่กลับปาดหน้าเค้กพิชิตหัวใจเป็นหนึ่งไปได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมารดาของอรุณรัศมีเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลุกขึ้นมาสู้ แต่ยอมศิโรราบต่อการถูกกระทำทารุณทั้งกายวาจาใจอยู่ตลอดจากชายผู้เป็นสามี        ส่วนทางฝั่งของชนิดามารดาของเป็นหนึ่ง ก็มีน้องสาวคือ “ชุลีพร” ที่จิตใจห้วงลึกตั้งแง่อิจฉาริษยาความสำเร็จของพี่สาว และเอาแต่เสี้ยมสอน “ไตรฉัตร” บุตรชายให้เอาชนะเป็นหนึ่ง ด้วยการแย่งชิงอรุณรัศมีมาเป็นคนรักของตนให้ได้ และยิ่งเมื่อภายหลังไตรฉัตรรู้ว่าผู้หญิงที่เป็นหนึ่งรักอยู่ก็คือมาตาลดา เขาก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนางเอกผู้แสนใจดีแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ชุลีพรมักเปรียบเทียบว่าตนเป็นรองต่อเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา        ท่ามกลางผู้คนรายรอบที่ชีวิตช่างดูกะปลกกะเปลี้ยพิการทางใจนั้น ตัวละครมาตาลดาได้เล่นบทบาทที่แตกต่าง ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับสรรพชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในท้องเรื่อง หากแต่ผลานิสงส์แห่งความใจดีและมองโลกสวย ยังช่วยคลี่คลายเปลาะปมให้ตัวละครผ่านพ้นความเจ็บปวดและเยียวยารอยร้าวต่างๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ปู่กับหลาน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา หรือผู้คนต่างรุ่นต่างวัย ควบคู่ไปกับคำพูดและวลีเด็ดๆ ที่พร่ำสอนคุณธรรมให้ตัวละครและผู้ชมได้ร่วมกันขบคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตไปพร้อมๆ กัน        ในโลกที่จิตใจของมนุษย์ช่างเปราะบางอยู่นั้น ประโยคที่มาตาลดาพูดกับเป็นหนึ่งผู้เป็นคุณหมอโรคหัวใจที่ไร้หัวใจว่า “คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยากได้หมอที่เก่งที่สุด แต่เป็นหมอที่เข้าใจหัวใจเค้าดีที่สุด เค้าอาจกำลังมองหาหมอที่ใจ และมองเห็นเค้าเป็นคนก็เป็นได้” ก็สะท้อนให้เห็นว่า ก้นบึ้งของปัญหาที่ปัจเจกบุคคลยุคนี้เผชิญอยู่ ที่สุดแล้วก็คงมาจากการมองข้ามความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริงๆ        เมื่อผู้เขียนดูละครเรื่องนี้จบ เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ระหว่างมาตาลดากับตัวละครที่ป่วยทางจิตใจกันถ้วนหน้าอยู่นั้น ใครคือมนุษย์จริงๆ ในโลกมากกว่ากัน คำตอบที่เราน่าจะเห็นพ้องก็คือ ตัวละครอื่นๆ ต่างดูเป็นผู้คนที่พบได้ในโลกใบนี้ หาใช่มาตาลดานางเอกผู้แสนดีที่ดูช่างเซอร์เรียลิสต์เหนือจริงเสียนี่กระไร        และหากจะถามต่อไปว่า แล้วในขณะที่ละครสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตผ่านตัวละครอื่นๆ อยู่นั้น ตัวละครอุดมคติประหนึ่งยูโธเปียอย่างมาตาลดาปรากฏตนขึ้นมาได้อย่างไร กับคำถามข้อนี้เชื่อกันว่า หากในโลกความจริงมนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่จัดการไม่ได้ โลกสัญลักษณ์ที่สมมติตัวละครแนวอุดมคตินี่เอง จะช่วยบำบัดความขัดแย้งอย่างน้อยก็ในจินตนาการให้บรรเทาเบาบางลงไป        เมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง ที่ตัวละครซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามความรักและครอบครัว ต่างให้อภัยและลุกขึ้นมาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานราวกับไม่เคยมีปัญหาใดๆ กันมาเลยในชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นการ “ฮีลหัวใจ” ของผู้ชมเท่านั้น หากแต่ยังชวนขบคิดไปด้วยว่า กับความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ในโลกความจริง ถ้าเราเคยเยียวยามาได้แล้วในอุดมคติแห่งโลกของละคร เราจะทำให้การคลี่คลายปัญหาเช่นนี้บังเกิดขึ้นในโลกความจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ผู้บริโภคไทยกับสังคมไร้เงินสด

        เหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ตลอดจนความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ และความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว        อย่างไรก็ตามการก้าวไปสู่ แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด นั้น ผู้บริโภคพร้อมจริงๆ หรือแค่ถูกสถานการณ์บังคับ หรือความกังวลใจในเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ จึงทดลองหาคำตอบ โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูลในวันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2566)        คำถามที่ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดแล้วหรือไม่ ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ร้อยละ 66 ใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 66.1 และไม่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 33.9        อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจการเงินในการทำความรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือทราบ (ร้อยละ 32.3) และอันดับสุดท้ายคือ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 24.4)ซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์เดือนหนึ่งมากกว่า 10 ครั้ง        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 750 กลุ่มตัวอย่าง มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 10 ครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 40.3) อันดับสองคือ 7 – 8 ครั้ง (ร้อยละ 16.4) อันดับสามคือ 5 – 6 ครั้ง (ร้อยละ 15.2) อันดับสี่คือ 9 – 10 ครั้ง (ร้อยละ 12.7) อันดับห้าคือ 3 – 4 ครั้ง (ร้อยละ 10.9) และอันดับสุดท้ายคือ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 4.5) โดยยอดเงินที่ใช้หรือโอนต่อการใช้จ่ายต่อครั้งนั้น อันดับที่หนึ่งคือ 101 – 300 บาท (ร้อยละ 28.8) อันดับสองคือ 301 – 500 บาท (ร้อยละ 24.5) อันดับสามคือ 501 – 800 บาท (ร้อยละ 16.5) อันดับสี่คือ มากกว่า 1,000 บาท (ร้อยละ 11) อันดับห้าคือ 801 – 1,000 บาท (ร้อยละ 9.7) และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท (ร้อยละ 9.5)แอปพลิเคชันธนาคารคือคำตอบ        มีการชำระค่าสินค้าบริการโดยไม่ใช้เงินสด อันดับที่หนึ่งคือ โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร (ร้อยละ 40.1) อันดับสองคือ จ่ายผ่าน QR Code (ร้อยละ 30.9) อันดับสามคือ โอนเงินระบบ PromptPay ร้อยละ (11.6) อันดับสี่คือ ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต (ร้อยละ 10.3) และอันดับสุดท้ายคือ จ่ายผ่าน e-Wallet (ร้อยละ 7.1)        ความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกใช้การซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/การจ่ายเงินออนไลน์ สะดวกต่อการใช้จ่าย (ร้อยละ 97.1) ความรวดเร็ว (ร้อยละ 96.8) และ มีบันทึกการใช้จ่าย สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด (ร้อยละ 67.6)คำถามเกี่ยวกับความพร้อมและข้อกังวล        • หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบ Online Payment หรือการจ่ายเงินออนไลน์ จะทำให้ท่านใช้บริการนี้น้อยลงหรือไม่                             น้อยลง                       ร้อยละ   55.9                             ไม่น้อยลง                   ร้อยละ   14.8                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   29.3        • คิดว่าปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   50.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   19.8                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.5        • คิดว่าการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์) เพิ่มมากขึ้นหรือไม่                             ใช่                              ร้อยละ   73.5                             ไม่ใช่                          ร้อยละ   10.7                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   15.8        • คิดว่าปัจจุบันระบบของธนาคารสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   44.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   26                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.3        • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                         ร้อยละ   50.8                             ไม่พร้อม                     ร้อยละ   25.9                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   23.3        • ระบุเหตุผลที่ไม่ใช้บริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือการชำระเงินออนไลน์ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)                            ไม่มีโทรศัพท์มือถือ                                                                   ร้อยละ   14.6                             โทรศัพท์มือถือที่มี ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้                                      ร้อยละ   33.7                             ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี                                                          ร้อยละ   56                             กลัวพลาดเพราะมีปัญหาสุขภาพ (เช่น สายตาไม่ดี มือสั่น)         ร้อยละ   22.6                             ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย กลัวตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ                     ร้อยละ   26.1                             ยังไม่เห็นข้อดีของธุรกรรมแบบไร้เงินสด                                    ร้อยละ   10.5                             สะดวกที่จะใช้เงินสดมากกว่า                                                     ร้อยละ   55.8                             อื่นๆ                                                                                           ร้อยละ   1.6         • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                        ร้อยละ   39.5                             ไม่พร้อม                    ร้อยละ   33.3                            ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ   27.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 น้ำตาลเทียมขม

        วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวทั่วโลกให้ข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายคือ แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถูกจัดระดับการก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้นในกลุ่ม 2B possibly carcinogenic to humans (น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ตามข้อเสนอของ International Agency for Research on Cancer (IARC) ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสารชื่อ Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134 ซึ่งผู้อ่านสามารถดาว์นโหลดเอกสารที่เป็นบทความ pdf มาอ่านได้จาก https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications อย่างไรก็ดีทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำต่อว่า ให้ทำการศึกษาที่ "มากขึ้นและดีขึ้น" พร้อมด้วย "การติดตามผลที่ยาวนานขึ้น" เพื่อประเมินหาหลักฐานการก่อมะเร็งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น         องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินปัจจัยการดำรงชีวิตและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์บังคับ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและนโยบายของผู้บริหารประเทศซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศต้องติดตามสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  สารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น IARC จัดแบ่งอย่างไร         IARC จำแนกสารเคมีที่มนุษย์สัมผัส (หมายรวมถึงลักษณะอาชีพการทำงานที่ต้องสัมผัสสารบางชนิดด้วย) ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบเสนอให้สารนั้นถูกพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดลำดับซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ        ·     Group 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to humans มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์ และหลักฐานที่เพียงพอในสัตว์ทดลองและชัดเจนว่า มนุษย์ได้สัมผัสสารนี้) มี 126 ชนิด เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, สารพิษจากเชื้อรา aflatoxin, แบคทีเรีย Helicobacter pylori, ควันจากถ่านหิน, ไวรัส Epstein-Barr, รังสีจากแสงแดด, ฝุ่นหนัง (Leather dust) เป็นต้น        ·     Group 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 95 ชนิด เช่น Androgenic (anabolic) steroids ซึ่งคนที่ชอบสร้างกล้ามเนื้อมักใช้, ชีวมวล หรือ Biomass fuel (หลักๆคือ เศษไม้), สารประกอบตะกั่ว, เกลือ nitrate และ/หรือ เกลือ nitrite ที่กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชั่นในกระเพาะอาหาร, hydrazine เป็นต้น        ·     Group 2B น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (possibly carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 325 ชนิด เช่น ผักดอง, สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้, Ochratoxin A, 1,6-Dinitropyrene เป็นต้น        ·     Group 3 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (not classifiable หลักฐานไม่เพียงพอในมนุษย์และไม่เพียงพอหรือจำกัดในสัตว์ทดลอง) มี 500 ชนิด เช่น ยาคลายเครียด Diazepam, สีแดง Ponceau SX, ยารีเซอร์พีน (reserpine เป็นสารอัลคาลอยด์ ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ)        ·     Group 4 ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably not carcinogenic to humans มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสารเคมีใดเหลืออยู่ในกลุ่มนี้  สถานภาพของแอสปาร์แตมก่อนเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เป็นสมาชิกของ Codex ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติถือว่า แอสปาร์แตมอยู่ในชั้นความปลอดภัยสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 1981 จึงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมมากมาย เช่น น้ำอัดลมไร้พลังงาน อาหารเช้าทำจากธัญพืช หมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำตาลเทียมบรรจุซองสำหรับชากาแฟและอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นควรเป็นอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยมีการยกตัวอย่างจำนวนหน่วยบริโภคของเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องว่า ควรเป็นเท่าใดตามน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป          การเป็นสารก่อมะเร็ง Group 2B มีความหมายอย่างไรต่อผู้ผลิตอาหาร         การอภิปรายถึงโอกาสก่ออันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เกิดขึ้นในสังคมผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ สั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงดูว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ละชนิดไม่ใช่แค่เพียงแอสปาร์แตม         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทน้ำอัดลมใหญ่บริษัทหนึ่งได้เคยถอดแอสปาแตมออกจากส่วนผสมของเครื่องดื่มไดเอ็ทของบริษัทในปี พ.ศ. 2558 แต่นำกลับมาใช้อีกครั้งในอีกหนึ่งปีผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2563 จึงเลิกใช้อีกครั้ง ดังนั้นการที่แอสปาร์แตมถูกปรับระดับเป็น สารที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ นั้น อาจเป็นการเปิดประตูสำหรับการดำเนินคดีโดยผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีของสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่ถูกฟ้องเป็นคดีในสหรัฐอเมริกาว่าก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้ในระยะยาว  ตัวอย่างงานวิจัยที่คงเป็นข้อมูลที่ทำให้ IARC ตัดสินใจ         บทความเรื่อง Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Sante´ population-based cohort study (สารให้ความหวานเทียมและความเสี่ยงต่อมะเร็ง: ผลลัพธ์จากการศึกษาตามกลุ่มประชากรของ NutriNet-Sante') ในวารสาร PLOS Medicine ของปี 2022 ให้ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งเป็นการติดตามหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส 102,865 คน นานเฉลี่ย 7.8 ปี โดยบันทึกการบริโภคอาหารและชนิดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลและอุบัติการณ์ของมะเร็งตามแบบจำลองซึ่งปรับตามอายุ เพศ การศึกษา การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ส่วนสูง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการติดตาม เบาหวาน ประวัติครอบครัวในการเป็นมะเร็ง รวมแล้วจำนวน 24 รายการ โดยบันทึกรายละเอียดการบริโภคอาหารรายชั่วโมง และปริมาณพลังงานรวมที่บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกลือโซเดียม กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร น้ำตาล ผักและผลไม้ อาหารธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยเฉพาะแอสปาร์แตมและอะซีซัลเฟม-เค มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยในรายละเอียดนั้นการบริโภคแอสปาร์แตมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งทรวงอกและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและใหม่สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงซ้ำในการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดย European Food Safety Authority และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลก  ผู้บริโภคควรทำเช่นไรในสถานการณ์ที่มีข่าวดังกล่าวข้างต้น         ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องถามตนเองก่อนว่า จำเป็นต้องกินแอสปาร์แตมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ จำเป็น ก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไม พร้อมกับคำถามต่อทันทีว่า มีทางเลือกชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นชนิดอื่นอีกหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญคือ การที่ใครสักคนควรกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใดเป็นประจำนั้นควรตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า การกินน้ำตาลธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และอาจรวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูง  ถ้าเชื่อว่ากันไว้ดีกว่าแก้หรืออ้วนไม่ได้เพราะอาชีพกำหนด ผู้บริโภคควรทำอย่างไร         คำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักคือ กินแต่พออิ่ม (หยุดก่อนอิ่มจริงสักนิด) กินผักและผลไม้ที่มีความหวานต่ำในปริมาณที่มากพอทำให้อิ่ม ประมาณว่าในมื้อหนึ่งมีอาหารเนื้อสัตว์ แป้งและไขมันเป็นครึ่งจานและมีผักผลไม้ในอีกส่วนครึ่งของจาน พร้อมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำได้ดังนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ควรเข้าใจว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีความหวานเพื่อการตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ยากจะควบคุม เช่น เป็นการลดความทรมานในผู้กินอาหารคีโต เป็นต้น ยังคงบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ต่อไปหรือไม่         ตราบใดที่องค์กรที่ดูแลสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลกยังเชื่อในข้อมูลของ Codex ที่บอกว่า แอสปาร์แตมยังปลอดภัยในระดับที่แนะนำให้บริโภคได้นั้น การยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำใจ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่นที่ดูมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อยกว่า เช่น สารในกลุ่มน้ำตาลอัลกอฮอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มหลายชนิดใช้สารซูคราโลส (sucralose) เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มตามกฏหมายใหม่ซึ่งดูสอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่แนะนำให้ลดละเลิกอาหารหวานมันเค็ม ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 270 สมาร์ตโฟน 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณเลือก 25 รุ่น เลือกจากรุ่นที่ได้คะแนนระดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในครึ่งแรกของปี 2023           การทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้แบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่            ร้อยละ 25   ประสิทธิภาพของกล้อง            ร้อยละ 15   แบตเตอรี             ร้อยละ 15   หน้าจอ             ร้อยละ 10   คุณภาพเสียง             ร้อยละ 10   ความทนทาน             ร้อยละ 10   ประสิทธิภาพโดยรวม         เนื่องจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้ “สมาร์ตโฟน” ยุคนี้เปลี่ยนไป คะแนน “การใช้งานโทรศัพท์” จึงถูกนำไปรวมกับคะแนนด้านความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานอย่างปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน รวมกันเป็นอีกร้อยละ 15 ที่เหลือ         สมาร์ตโฟนเหล่านี้มีตั้งแต่รุ่นที่ขนาดหน้าจอ 6.1 ไปจนถึง 7.6 นิ้ว สนนราคาระหว่าง 7,000 ถึง 63,000 บาท* รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ (80 คะแนน) ไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุด แต่ก็ราคามากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่รุ่นที่ถูกสุดเป็นรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดเช่นกัน โชคดีที่ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนดีพอสมควรในราคาประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หน้าตาและสเปคจะถูกใจหรือไม่ พลิกดูในหน้าต่อไปได้เลย        ·      ราคาที่แสดงเป็นราคาที่ได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบราคาล่าสุดและโปรโมชันกับทางร้านอีกครั้ง        ·     ดูผลการทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนครั้งก่อนหน้านี้ได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 253

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 270 เทคโนโลยี “ฝากไข่” ช่วยคนมีลูกเมื่อพร้อม กับข้อที่ต้องศึกษา รู้ก่อนเสียเงินมหาศาล

        ด้วยความที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง หรือไม่ว่าจะเป็นเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้หลายครอบครัวมีลูกเมื่ออายุมากขึ้น ด้ายสภาพร่างกายที่อาจไม่สมบูรณ์ถึงเวลานั้นบางคนก็ไม่สามารถมีลูกได้ หรือบางคนก็มีลูกยากและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงทารกในครรภ์ที่เสี่ยงเกิดมาไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการมีลูกมากขึ้น อย่างเช่น หลายๆ ครอบครัวที่พอมีเงินก็จะเลือกใช้วิธี “ฝากไข่” ไว้กับสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากเอาไว้ก่อน เมื่อพร้อมจึงมาทำการผสมเทียมและฝังตัวอ่อนต่อไป         การกำกับดูแลสถานพยาบาลสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก         ปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเด็กหลอดแก้ว จนแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยากก็เข้ามารับการรักษาในเมืองไทยจำนวนมากขึ้น เพราะมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐานของสถานพยาบาลและบุคลากร ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลที่ให้การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากนั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)        นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสบส. อธิบายให้ฟังว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีต่างๆ  แน่นอนว่ารวมไปถึงการเก็บไข่ ฝากไข่ กระทั่งสเปิร์มก็ตาม  ตลอดจนการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) จะถูกกำกับด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ทั้งเรื่องผู้รับบริการที่จะมีการกำหนดถึงความเป็นสามี ภรรยาตามกฎหมาย ตลอดจนกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาล และบุคลากรการแทพย์           สำหรับ “สถานพยาบาล” ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ จะต้องจัดให้มี องค์ประกอบต่างๆ ตามมาตรฐาน ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีองค์ประกอบ ของบุคลากร ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน สูตินรีแพทย์ พยาบาล รวมทั้งมีสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว สบส. จะออกหนังสือรับรองมาตรฐานฯ ให้ พร้อมทั้งจัดทำ โปรแกรม ICMART-IVE ซึ่งเป็นโปรแกรมคลังข้อมูลด้าน เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯของประเทศไทย (Big-DATA)         “ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ ทั้งสิ้น 110 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพยาบาลรัฐ 16 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 94 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง และคลินิกเอกชน 64 แห่ง รองรับผู้รับบริการที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากทั้งคนไทยและต่างชาติ อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึง 46 % ให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา  สร้างรายได้ในบริการทางการแพทย์นี้กว่า 7,500 ล้านบาท”         ส่วนเรื่องการตั้งครรภ์แทนนั้น ยิ่งมีความเข้มงวดมาก โดยกำหมายกำหนดว่า ในกรณีที่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้จะสามารถขออนุญาตดำเนินการให้มี การตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 23 ซึ่งจะต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง มาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่ กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผ่านการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภแทน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะออกหนังสืออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆ ต่อไป           “นพ.สุระ” ย้ำว่า ประชาชนที่กำลังจะเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จะต้องทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ  ต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และห้ามทำในเชิงพาณิชย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ นายหน้า คู่สมรส และหญิงที่ตั้งครรภ์แทน หากมีปัญหาในการรับบริการ หรือพบเห็นการทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งที่สายด่วนกรม สบส. 1426  เรื่องต้องรู้ การตลาดกับบริการรับฝากไข่         แม้จะมีข้อกำหนดตามกฎหมายที่ชัดเจนในการให้บริการ แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะการโฆษณาหรือนำเสนอข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด ตลอดจนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังเช่นกรณีหนึ่งที่เข้ามาร้องเรียนต่อ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ก็เป็นปัญหาเริ่มตั้งแต่กระบวนการ “เก็บไข่ ฝากไข่” เลยด้วยซ้ำ และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการฝากไข่ โดยผู้ร้องให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ได้จ่ายเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท เพื่อตกลงซื้อแพ็คเกจฝากไข่ Oocyte Freezing Package ซึ่งราคาเต็มอยู่ที่ 189,000 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2565 เข้ารับการเก็บไข่ตามกระบวนการ พร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือ รวมถึงค่ายาฮอร์โมนกระตุ้นเพิ่มเติมประมาณ 20,000 บาท  และวันที่ 21 มีนาคม 2565 โรงพยาบาลดังกล่าวได้นัดผู้ร้องเพื่อฟังผล และแจ้งว่าจะต้องชำระเงินเพิ่มอีก 40,000 บาท เพื่อแช่ไข่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามแพ็คเกจของโรงพยาบาลฯ แต่พยาบาลแจ้งแก่ผู้ร้องว่ายังไม่ต้องดำเนินการชำระเงิน ให้ผู้ร้องมาต่อสัญญาใหม่หลังจากสัญญาเดิมครบกำหนด เมื่อครบกำหนด 1 ปี         โรงพยาบาลฯ ส่งข้อความ ผู้ร้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลติดต่อเพื่อให้เข้าไปดำเนินการต่อสัญญาตามใบนัด แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลแจ้งว่าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะดำเนินการปิดศูนย์ฯ โดยทางโรงพยาบาลมีข้อเสนอดังนี้ 1. ให้ผู้ร้องย้ายไปฝากกับ “แพทย์ที่ดูแลผู้ร้อง” ซึ่งได้ย้ายไปทำหัตถการในคลินิกอื่น หรือ 2. ให้ฝากกับโรงพยาบาลในเครือของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว แต่ผู้ร้องจะต้องชำระค่าฝากปีแรก 20,000 บาท และปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนด         ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ประสงค์ย้ายการฝากไข่ไปที่คลินิกอื่นเพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียงของโรงพยาบาลจึงตัดสินใจเลือกฝากที่โรงพยาบาลเดิมตั้งแต่แรกแม้จะมีค่าใช่จ่ายที่สูงกว่า แต่การที่ให้ยายไปฝากไข่ที่โรงพยาบาลในเครือแล้วต้องจ่ายค่าฝากปีแรก 20,000 บาท ส่วนปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนดนั้น ผู้ร้องมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมที่ได้ทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการฝากแช่ไข่ 5 ปี จำนวน 40,000 บาท ไปอีกหลายเท่า ซ้ำในปีถัดไปโรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ร้องจะต้องจ่ายเท่าไหร่  จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ         ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2566 ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ ก็ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า โรงพยาบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ร้อง โดยหากผู้ร้องประสงค์ย้ายไปฝากไข่กับสถานพยาบาลอีกแห่งจะคิดค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ปีละ 20,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มย้ายไข่ หากครบกำหนดระยะเวลา 5ปี ค่าใช้จ่ายจะเป็นไปตามที่สถานพยาบาลแห่งนั้นกำหนด แต่ผู้ร้องปฏิเสธข้อเสนอ        มูลนิธิฯ จึงทำหนังสือขอให้ทบทวนค่าใช้จ่ายในการย้ายไปฝากไข่ที่สถานพยาบาลแห่งใหม่ โดย 3 ปีแรกขอให้คิดค่าใช้จ่ายจำนวน 40,000 บาท และ ปีต่อๆไป ปีละ 15,000 อีก 2 ปี ทั้งนี้หากไม่สามารถตกลงกันได้ผู้ร้องขอใช้สิทธิทางศาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แต่ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิฯ ทำให้ทางฝั่งผู้ร้องมีการปรึกษาหารือกับทีมกฎหมายอยู่ระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายตัดสินใจย้ายไข่ไปฝากกับสถานพยาบาลแห่งอื่นแทน แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องน้ำยาการแช่ไข่ทำให้ไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลปลายทางที่ผู้ร้องเลือกได้ ทำให้ผู้ร้องต้องเลือกข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชนดังที่ระบุไว้ในตอนต้น         ทั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่บกพร่องจากตัวผู้บริโภคเอง สุดท้ายต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงขอแนะนำผู้ที่มีความสนใจอยากฝากไข่ จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ  เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ เช่น ใบโฆษณา รายละเอียดคอร์ส หลักฐานการชำระเงิน ให้ครบถ้วนและที่สำคัญต้องมีสัญญา โดยสัญญาต้องมีความชัดเจน ระบุรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน เช่น กรณีการยกเลิกสัญญา การย้ายโรงพยาบาล การคืนเงิน เป็นต้น         เทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่อยากมีลูกสามารถมีลูกได้สมความตั้งใจ ทุกฝ่ายทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้กำกับดูแล ต่างอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย แม่หวังแต่ประโยชน์หรือผลกำไรที่จะ “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” เชื่อว่า นอกจากจะเป็นการช่วยให้ครอบครัวมีความสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สู้กับวิกฤติเด็กเกิดน้อยในปัจจุบันได้ จากนั้นก็เข้ากระบวนการหล่อหลอมทางการศึกษา สังคม เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังหลักของประเทศต่อไปอ้างอิงจากบทความของเว็บของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา National Institutes of Healthhttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4554370/#:~:text=The%20most%20problematic%20aspects%20in,granted%20oocyte%20cryopreservation%20is%20a..................................................Ø ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566) สถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ – กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (moph.go.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก (ลีฟออน)

            ผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก โดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติปกป้องและบำรุงเส้นผมภายนอกจะมีทั้งที่เป็นน้ำมัน เซรั่ม เจลวิตามิน และลีฟออนครีม จัดเป็นไอเท็มโดนใจสำหรับใครที่ต้องการปรับสภาพเส้นผมที่แห้งเสีย เนรมิตให้ผมไม่ชี้ฟู ดูมีน้ำหนัก และเงางามสลวยได้ทันใจในชั่วโมงเร่งด่วน หรือต้องการปกป้องเส้นผมจากความร้อนของแสงแดดหรืออุปกรณ์ทำผมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายสูตรเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเส้นผมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออก แสดงว่าส่วนประกอบต่างๆ จะเคลือบเกาะติดอยู่บนเส้นผมนานกว่าแชมพูและครีมนวดที่ต้องล้างออกทันที ดังนั้นนอกจากคาดหวังผลลัพธ์ให้ผมสวยแล้ว ผู้บริโภคควรใส่ใจความปลอดภัยจากสารที่อาจตกค้างหลังใช้ด้วย           นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดไม่ต้องล้างออก จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ที่ใช้เพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อย ๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         พาราเบน (Parabens) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : สารกันเสียที่มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ ผลการสำรวจ ·     พบสารซิลิโคน ใน 11 ตัวอย่าง คิดเป็น 91.67% ของตัวอย่างทั้งหมด·     พบพาราเบน ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน, โลแลน อินเทนซ์ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ฟอร์ เอ็กซ์ตร้า ดราย แฮร์ และฟรี แอนด์ ฟรี แดเมจ เอด·     พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น, แพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน และแคริ่ง เมอร์เมด ซุปเปอร์ ซิลกี้·     เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม แพงที่สุดคือ 4.20 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ถูกที่สุดคือ 0.98 บาท ข้อสังเกต·     ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม ไม่พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone (9 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Cyclopentasiloxane (8 ตัวอย่าง) และ Dimethiconol (6 ตัวอย่าง)·     สารกลุ่มพาราเบนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Methylparaben (3 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Propylparaben (2 ตัวอย่าง)·     ตัวอย่างทั้งหมดที่ระบุวันผลิตไว้ ผลิตในปี 2003  ยี่ห้อเอ็กซ์คิวท์ มี ออร์แกนิค อาร์แกน ออยล์ แฮร์ เซรั่ม ระบุอายุไว้นานสุดคือ 5 ปี ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ระบุอายุไว้น้อยสุดคือ 2 ปี โดยส่วนใหญ่ระบุไว้ที่ 3 ปี ·     ยี่ห้อลอรีอัล ปารีส เอลแซฟ เอ็กซ์ตรอว์ดินารี่ ออยล์ เฟรนช์ โรส ออยล์ อินฟิวชั่น ฟรากรานซ์ แฮร์ ออยล์ และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ระบุเฉพาะวันผลิต ส่วนยี่ห้อเดอะเฟสซ็อป เอสเซ็นเชี่ยล ดาเมจ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ระบุเฉพาะวันหมดอายุในปี 2024 ·     ทุกตัวอย่างระบุวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไว้ และมี 6 ตัวอย่างที่ไม่ระบุคำเตือนหรือข้อควรระวังกำกับไว้ ฉลาดซื้อแนะ·     ควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม ·     ควรอ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่อาจมีรายละเอียดขั้นตอนแตกต่างกัน และปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ถ้าเข้าตาควรล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที เก็บให้พ้นมือเด็กและแสงแดด หากเกิดการผิดปกติให้หยุดใช้ และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น  ·     ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันเหมาะสำหรับเส้นผมที่โดนความร้อนเป็นประจำ ส่วนเส้นผมที่แห้งเสียมากควรใช้ประเภทครีมหรือเจลเพื่อปรับสภาพผมให้ชุ่มชื้นขึ้น·     ควรสระผมและเช็ดผมให้หมาดๆ ก่อนใช้ ผลิตภัณฑ์จะเคลือบเส้นผมได้ดี และช่วยให้ประหยัดด้วย เพราะไม่ต้องใช้ปริมาณเยอะ แค่ลูบไล้บริเวณปลายผมก็เพียงพอแล้ว·     แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดที่ไม่ต้องล้างออก แต่ถ้ามีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ หลังใช้ 1-2 วันควรสระผมทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยให้สารเคมีเกาะเคลือบอยู่บนผมนานเกินไป เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผมhttps://th.my-best.com/48384https://thaieurope.net/2018/03/16/eu-restriction-d4-and-d5/ EU

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ผัดหมี่สำเร็จรูป (ผัดหมี่โคราช)

        สินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของเมืองโคราชต้องมีผัดหมี่โคราชติดอันดับต้นๆ เป็นทั้งของที่ต้องกินและของฝากติดไม้ติดมือ  และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็น “หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ต้องไปถึงโคราชก็หาสินค้านี้ได้ตามร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เรียกว่าเป็น เส้นกึ่งสำเร็จรูป ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผัดหมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูปมาทดสอบเพื่อให้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค จำนวน 8 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยนำส่งห้องปฎิบัติการเพื่อทดสอบปริมาณ Bacillus cereus และสารกันเสีย ในน้ำซอสปรุงของผลิตภัณฑ์ สรุปผลการทดสอบ             1.ไม่พบปริมาณ Bacillus cereus ทุกตัวอย่าง             2.มีการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิค (ในซอสปรุงรส)                    ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไป ฉลาดซื้อแนะ        1.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป         2.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน         3. หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน         4.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยา อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ดังนั้นอาจเพิ่มปริมาณโปรตีนด้วยเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2566

10 แอปพลิเคชันอันตรายบนแอนดรอยด์         สิงหาคม 66  ตำรวจสอบสวนกลางโพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน พบแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ดักข้อมูลแฝงอยู่และมียอดการดาวน์โหลดทะลุล้านครั้ง โดยบางแอปได้มีการนำออกจาก Play Store แล้ว แต่ยังสามารถติดตั้งผ่านช่องทางอื่นได้อยู่ เช่น รูปแบบ  Mini-Game ที่มีการให้ผู้ใช้เข้ามาเล่นเพื่อรับรางวัล ซึ่งมี 10 แอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.Noizz (แอปตัดต่อวิดีโอพร้อมเพลง) 2.Zapya (แอปแชร์ไฟล์ ย้ายไฟล์) 3.VFly (แอปสร้างวีดีโอ) 4.MVBit (แอปตัดต่อวีดีโอ) 5.Biugo (แอปตัดต่อวีดีโอ) 6.Crazy Drop (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 7.Cashzine (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 8.Fizzo Novel (แอปอ่านหนังสือออฟไลน์) 9.CashEM (แอปรับรางวัล) 10.Tick (แอปดูวีดีโอเพื่อรับรางวัล) ทั้งนี้ การป้องกัน คือ อัปเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งหลาย พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงไม่คลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ  บังคับใช้แล้ว เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการกำหนดที่นั่งนิรภัยพิเศษและการป้องกันอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 66 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท)  และคาร์ซีทต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1.ขับช้าๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และขับชิดซ้าย 2.ให้เด็กนั่งที่นั่งโดยสารตอนหลัง ถ้าเป็นรถกระบะหรือกึ่งกระบะให้นั่งตอนหน้า แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ 3. ให้มีผู้ดูแลเด็กตลอดระยะทางหรือให้เด็กรัดเข็มขัดเฉพาะหน้าตัก ทั้งนี้ ในกรณีรถรับจ้างและรถสาธารณะยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีทได้ ส่วนโทษปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้อง สธ. กรณีประกาศแบนพาราควอต         29 สิงหาคม 66 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและเกษตรกรรวม 56 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง(ฉบับที่ 3) การกำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์  พาราควอตบิส(เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต-การค้า ควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ นำเข้า-ส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย         อย่างไรก็ตาม ทางศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้  ประกาศดังกล่าวคือการกำหนดคุณภาพอาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ตรวจพบวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร พิพากษายกฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ภาครัฐ-เอกชน ดูแลลงโทษ ผู้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งมิจฉาชีพ         จากกรณีที่มีข่าวตำรวจไซเบอร์จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สุดท้ายได้มีการซักทอดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนนั้น                 นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชาชน หากบุคคลในองค์กรได้กระทำตัวเป็นขโมย ลักลอบข้อมูลจากแก๊งมิจฉาชีพ จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นความผิดในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 27 และมีบทลงโทษ ตามมาตรา 79 วรรค 2 ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงปม 'ปังชา' ยันขายได้แต่อย่าเลียนแบบภาชนะ          จากกรณีร้านดังได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบจนเป็นประเด็นดรามานั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าวซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต ดังนั้นการใช้คำว่า ปังชากับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ         อนึ่ง “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการไม่สามารถนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า” (ที่มา ดร. พีรภัทร ฝอยทอง)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 แค้น : เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม

        “ความแค้น” คืออะไร? พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า “แค้น” คือ อาการโกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย และหากเป็น “คนเจ้าคิดเจ้าแค้น” แล้ว จะหมายถึง คนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำร้ายหรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย         ในทางพุทธศาสนา ที่ยึดหลักแห่งความเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้งนั้น อธิบายว่า ความแค้นเป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับความเมตตา เป็นเสมือนไฟแผดเผาใจให้มอดไหม้ มักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงเสียหาย และนำสู่ความหงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตนเอง ดังนั้น ศาสนาจึงสอนให้ปุถุชนพยายาม “ดับความแค้น” ในใจ เมื่อมีคนใดมาทำให้โกรธแค้น ก็พึงแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง         แม้ว่าความแค้นจะเป็นคู่ตรงข้ามกับการให้อภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแค้นเป็นสิ่งที่เกิดเนื่องมาแต่ “ความต้องการอำนาจ” ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการ “เอาคืน” จากความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ดุจดังความแค้นฝังแน่นชนิด “ตายไม่เผาผี” กันไปข้างหนึ่งระหว่าง “เหมือนแพร” กับ “ปรางทอง” ในละครโทรทัศน์ที่ชื่อเรื่องสั้นๆ ตรงเป้าตรงประเด็นว่า “แค้น”         แล้วทำไมผู้หญิงสองคนต่างจึงโกรธแค้นกันชนิด “เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม” และ “ตายกันแบบไม่เผาผี” อีกเลย? ละครได้ย้อนไปหาคำตอบผ่านชีวิตของเหมือนแพร หญิงสาวที่ในชีวิตไม่เคยตระหนักเลยว่า ความรักที่เธอมีให้ผู้ชายคนหนึ่ง และความศรัทธาที่มีต่อผู้หญิงที่เธอเคารพรักเสมือนเป็นญาติคนสนิท จะพลิกผันจาก “ความรัก” เป็น “ความแค้น” ที่ปะทุฝังแน่นอยู่ในอุรา         ถ้าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างเจนเนอเรชันเป็นสมรภูมิที่ปะทุปะทะกันอย่างเข้มข้น ภาพจำลองสนามรบของคนต่างรุ่นวัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านความแค้นที่ระเบิดออกมาเป็น “ศึกสองนางพญา” ระหว่างนางเอกเหมือนแพร กับปรางทิพย์ หรือที่เธอเรียกว่า “น้าปราง”         สงครามความแค้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่ปรางทองได้เข้ามาในบ้านของเศรษฐีที่ดินตระกูล “พิพัฒน์ผล” แต่เพราะมีสถานะเป็นลูกติดของ “ปรางทิพย์” ผู้เป็นภรรยาน้อย เธอจีงถูก “ปิ่นมณี” บุตรสาวคนเดียวของตระกูลปฏิบัติกับเธอเยี่ยงเด็กรับใช้ในบ้าน หรือทาสในเรือนเบี้ย จนบ่มเพาะเป็นความแค้นที่อยู่ในใจของปรางทองมานับจากนั้น         สองปีถัดมา เมื่อปิ่นมณีได้ให้กำเนิดเหมือนแพร ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของปรางทองตกต่ำลงไปอีก แม้เหมือนแพรจะสนิทสนมและนับถือเธอประหนึ่งน้าแท้ๆ แต่ปรางทองก็มีชีวิตไม่ต่างจากสาวใช้ที่ต้องดูแลเด็กน้อย และเป็นรองทุกอย่างให้กับเด็กหญิงที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นเจ้าของสมบัติตระกูลพิพัฒน์ผลทั้งหมด         ด้วยความแค้นต่อโชคชะตาที่ปรางทองสั่งสมเอาไว้ เธอจึงมุ่งมั่นตั้งแต่มารดาเสียชีวิตว่า สักวันหนึ่งจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างของบ้านพิพัฒน์ผลมาเป็นของตนให้ได้ ดังนั้น เมื่อปรางทองเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแผนการเสนอตัวเข้าไปช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล และยังชักชวนแฟนหนุ่ม “อรรณพ” ให้มาเป็นผู้ช่วยของ “พัฒนะ” บิดาของเหมือนแพร โดยแนะนำว่าเขาเป็นเพื่อน มิใช่แฟน         และแล้วแผนการของปรางทองก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่พัฒนะและปิ่นมณีเสียชีวิตลง เธอก็ได้ยุให้เหมือนแพรที่ไร้เดียงสาและอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว เซ็นเอกสารยินยอมให้อรรณพเป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการทางธุรกิจแทน ก่อนจะยืมมืออรรณพที่เด็กสาวแอบหลงรักมาฮุบสมบัติของพิพัฒน์ผลจนสำเร็จดังหวัง หลังจากนั้นปรางทองก็เปิดตัว “เก่งกาจ” ลูกชายวัยสองขวบ ความรักความไว้ใจกลายเป็นความเจ็บปวดและสูญเสียทุกอย่าง จนเหมือนแพรเลือกตัดสินใจฆ่าตัวตาย         แม้เหมือนแพรจะรอดจากอัตวินิบาตกรรมครานั้น แต่ด้วยจิตใจที่แตกสลาย เธอได้เลือกบินไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่สิบกว่าปี กว่าที่จะทำใจกลับมาเยียวยาบาดแผลซึ่งฝังรากอยู่ในห้วงความทรงจำลึกๆ ของเธอ         ในขณะที่หลักศาสนาพร่ำสอนว่า “พึงระงับความแค้นด้วยการให้อภัย” และ “กฎแห่งกรรมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้” แต่สิ่งที่พบเจอมาในชีวิตของเหมือนแพรที่บัดนี้กลายเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้นำไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่ว่า “ทำไมคนที่ทำแต่เรื่องชั่วๆ ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้” และแม้ “พิธาน” พระเอกหนุ่มน้องชายของอรรณพจะเตือนสติให้เธอละเลิกความพยาบาท แต่เหมือนแพรก็เลือกประกาศกับเขาว่า “ถ้ากรรมไม่ทำงาน แพรก็จะลงมือทำเอง”         อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิครั้งใหม่นี้ ปรางทองกลับเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะเธอได้รวบปัจจัยการผลิตทั้งหมดมาจากชีวิตเหมือนแพร และแปลงทรัพยากรเม็ดเงินและธุรกิจในมือเป็นอำนาจในการจัดการกับอดีตหลานสาว จนถึงกับประกาศศึกว่า “มันได้กินยาตายรอบสองแน่ แล้วครั้งนี้มันจะได้ตายสมใจ” รวมทั้งใช้แม้แต่กำลังความรุนแรงแบบไร้มนุษยธรรมเพื่อเผด็จศึกชนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน          ทว่า สิ่งที่ปรางทองมองข้ามไปก็คือ ในศึกแค้นคำรบใหม่นี้เช่นกัน คู่ชกที่เธอปรามาสว่าอ่อนหัดกลับมีเจตนารมณ์แน่แน่วที่จะแปลงเพลิงแค้นให้เป็นพลังต่อสู้ แม้ว่าในยกแรกๆ เหมือนแพรจะเพลี่ยงพล้ำขนาดที่ถูกลากมาตบมาซ้อมในที่สาธารณะท่ามกลางสายตาผู้คนนับร้อยในงานกาล่าของชาวไฮโซ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งก็บ่มเพาะให้เหมือนแพรสุขุมคัมภีรภาพ และรู้จักเป็นผู้เดินเกมบนกระดานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น         ในขณะที่คนรุ่นก่อนแบบปรางทองเลือกวิธีต่อสู้ในเกมแบบการเล่น “หมากรุก” ที่ทำทุกอย่างโดยมุ่งเป้าพิชิตตัวขุนผู้เป็นตัวนำเพื่อชนะศึกในกระดาน แต่ทว่าคนรุ่นใหม่แบบเหมือนแพรกลับชำนิชำนาญการเล่นเกมแบบ “หมากล้อม” ช่วงชิงเก็บแต้มเล็กแต้มน้อย จนในท้ายที่สุดก็จะยึดพื้นที่หมากโกะได้หมดทั้งกระดาน         เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นภาพเหมือนแพรที่ค่อยๆ วางแผนซื้อหุ้นของธุรกิจพิพัฒน์ผลกลับมาทีละเล็กละน้อย และช่วงชิงแนวร่วมพันธมิตรของปรางทองทีละคนสองคน ไล่ตั้งแต่บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่ละคน “โภไคย” และ “ดาหวัน” ผู้ร่วมทำธุรกิจกับปรางทอง พิธานพระเอกหนุ่มที่แอบรักเธออยู่ หรือแม้แต่วางแผนหลอกใช้และปั่นหัวเก่งกาจลูกชายของปรางทอง ให้เขากบฏแข็งข้อต่อผู้เป็นแม่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน         แต่ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ละครก็ได้ตั้งคำถามว่า หากจะแปลงความแค้นเป็นสงครามปั่นประสาทแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เยี่ยงนี้ “ความเลว” ก็ไม่อาจล้มล้างได้ด้วยการปะทะกันทางอารมณ์แต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ “ความจริง” เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบรรลุชัยชนะ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเหมือนแพรก็เคยถูกใช้ความรักความหวังดีมาสร้างเป็นจิตสำนึกปลอมๆ จนมองข้าม “ความจริง” อันเป็นธาตุแท้ของศัตรู         ในสังคมที่ความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยว และโอกาสในชีวิตที่ถูกพรากไปโดยไร้กฎกติกา ชะตากรรมของตัวละครก็อาจบอกเราได้ว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นจริง บางทีเราต้องหัดแปลงแรง “แค้น” ให้เป็นสติในการเห็นถึง “ความจริง” ที่จะปลดปล่อยจิตสำนึกจอมปลอมที่แอบล่อหลอกลวงตาเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไปกินสุกี้บุฟเฟต์แล้วเกิดอาการหน้าบวม

        วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน         ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ  แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น          จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้             1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด            2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป             3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้  ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร         ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์          ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน  แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/           ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ประกาศเวลาไว้ แต่ไม่ให้บริการตามเวลา !

        เรื่องของคุณหนิงต่อจากนี้ แม้อาจฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้น...ได้เจอกับตัวเองแล้ว ก็เสียความรู้สึกอย่างมากได้เช่นเดียวกัน         เรื่องราวคือ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณหนิงได้ตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกของ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อเข้าใช้บริการห้องฟิตเนส  เพราะศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่นอยู่ห่างจากที่พักเพียง 2 กิโล         ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ประกาศเวลาการในการบริการรับสมัครสมาชิกไว้คือ วันจันทร์ เวลา 10.00 – 16.30 น. วันอังคาร - เสาร์  เวลา 10.00- 20.00 น. และวันอาทิตย์เวลา  13.00 – 20.00 น. โดยสมัครได้ที่ห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เท่านั้น         วันที่คุณหนิงตัดสินใจไปสมัคร เป็นวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม เมื่อเลิกงานเวลา 17.00 น. แล้ว คุณหนิงมีธุระต้องไปทำต่อที่ธนาคารในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คุณหนิงจึงลังเลว่าจะเข้าไปสมัครสมาชิกทันไหม  แต่เมื่อคิดว่าวันศุกร์เธอก็จะไม่สะดวกต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดทันทีที่เลิกงาน หากจะรอถึงวันจันทร์ เธอก็ยังไม่สามารถสมัครได้อีก เพราะศูนย์ฯปิดให้บริการเวลา 16.30 น. ก่อนที่คุณหนิงจะเลิกงาน  คุณหนิงจึงคิดว่า รีบทำธุระให้เสร็จแล้วเข้าไปสมัครสมาชิกให้ทันเลยจะดีกว่าเพื่อที่วันอังคารหน้าเมื่อเลิกงานแล้วเธอจะได้เข้ามาใช้บริการห้องฟิตเนสได้ทันก่อนที่จะปิดบริการเวลา 19.00 และไม่ต้องเสียเวลาไปในการสมัครสมาชิกอีก          คุณหนิงจึงรีบทำธุระ แต่แล้วฝนก็ตกลงมา คุณหนิงจึงต้องเรียกบริการรถด่วน (Bolt) เพื่อกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องพักก่อน เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จแล้ว เธอจึงเรียกรถไปสมัครสมาชิกที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ต่อทันที ระหว่างนั่งรถไปครั้งนี้ฝนที่ซาก็เริ่มกลับมาตกอีกครั้ง เวลาก็ใกล้เข้า 2 ทุ่มขึ้นมาทุกที คุณหนิงคิดว่าจะไปทันไหม แต่ไหนๆ เมื่อนั่งรถมาขนาดนี้แล้ว ก็อยากไปให้ถึงจึงบอกให้รถขับต่อไปจนถึงศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง)         คุณหนิงมาถึงหน้าห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เวลา 19.57น. จึงเคาะหน้าต่างเลื่อนที่ช่องรับบริการและแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “มาสมัครเป็นสมาชิกศูนย์ฯ ค่ะ”  แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบกลับมาว่า “ปิดรับสมัครแล้วค่ะ”         “แต่ตามประกาศบอกว่ารับสมัครสมาชิกถึง 2 ทุ่มไม่ใช่หรือคะ”         เจ้าหน้าที่มองนาฬิกาและพบว่าเป็นเวลา 20.00 น. พอดี จึงตอบคุณหนิงว่า  “ก็ตอนนี้มันก็ 2 ทุ่มแล้วค่ะน้อง”         “แต่ตอนที่เคาะบอกพี่ มันยังไม่ 2 ทุ่มนะคะ”         “ก็ตอนนี้มัน 2 ทุ่มแล้วค่ะ”         ถึงตอนนี้ คุณหนิงรู้สึกเสียความรู้สึกมากเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ แต่เธอก็ตั้งใจมาสมัครเป็นสมาชิกแม้ฝนจะตกเธอก็ตัดสินใจแล้วว่าจะมาสมัครให้ได้ จึงตอบกลับเจ้าหน้าที่ว่า “จริงๆ ถ้าทางศูนย์ฯ ประกาศไว้ว่าจะให้บริการสมัครสมาชิกถึงตอน 2 ทุ่มก็ควรจะทำให้ได้ตามนั้นนะคะ”         “ก็พี่ปิดเคาน์เตอร์ไปแล้ว รับเงิน ปิดรายงานไปแล้ว น้องจะให้พี่เปิดมาทำใหม่หรือคะ”         คุณหนิงได้แต่ส่ายหัว รู้สึกเสียใจ เสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ติดว่า ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อยู่ใกล้ที่พักที่สุด เธอไม่อยากจะกลับมาที่แห่งนี้อีกเลย            แนวทางการแก้ไขปัญหา          หลังเหตุการณ์วันนั้น คุณหนิงได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรโทรไปที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น)  เพื่อร้องเรียนงานบริการที่คุณหนิงประสบปัญหา ดังนั้นเธอจึงได้โทรเข้าไปร้องเรียนที่ฝ่ายอำนวยการถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ารับเรื่องไว้แล้วจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป  ทั้งนี้คุณหนิงยังได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร  เพื่อให้เป็นหลักฐานถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งมี เฟซบุ๊กเพจ  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประชาชนสามารถสื่อสาร ร้องเรียน การทำงานของหน่วยงานในสังกัดของกรุงเทพมหานครได้โดยตรงได้อีกด้วย         เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ย้ำว่า หากคุณหนิงทำหนังสือ ร้องเรียนเรื่องราวถึงสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จะทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ได้รับประโยชน์ด้วย อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ให้บริการจึงยิ่งต้องเต็มใจและตั้งใจบริการให้ประชาชน         ล่าสุดหลังจากได้โทรเข้าไปร้องเรียนแจ้งปัญหาแล้ว  คุณหนิงจึงได้ทำการทดสอบเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อีกครั้งในวันที่ เสาร์ที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการไปถึงที่หน้าเคาเตอร์ในเวลา 19.58 น. ก็พบว่าเจ้าหน้าที่คนเดิมให้บริการรับสมัครสมาชิกให้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไม่หลอกก็เหมือนหลอกกับ Voucher ฟรีที่ใช้ไม่ได้จริง!

        แม้ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นแล้ว แต่ยังอาจถูก ผู้ประกอบการสบช่องโหว่บางประการชวนให้คนเข้าซื้อสินค้า โดยอาจใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น เรื่องราวของคุณฝ้ายที่ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ...         “ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆ อีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป”         คุณฝ้ายไม่รอช้า โปรโมชั่น Flash Sale เปิดให้จองเพียง 20 นาทีเท่านั้น  และเพียงกดเข้าไป Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ”         คุณฝ้ายนึกดีใจ รอวันใช้  Voucher  ที่ร้านอาหารนานาชาติในราคาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมากๆ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้อความมาแจ้งว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชันมีจำนวนมากทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้องทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้นจึงขอแจ้งยกเลิก Voucher         บริษัทอ้างเพราะระบบขัดข้องทำให้ต้องแจ้งยกเลิกการใช้  Voucher  โดยแจ้งว่า บริษัทจะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 และ 200 บาทแต่หากลูกค้าต้องการเงินคืน 100% ให้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัทซึ่งต้องทำภายใน 1 วันหลังจากที่บริษัทประกาศเท่านั้น  คุณฝ้ายมองว่า ปัญหาลักษณะนี้อาจหลอกเอาเงินผู้บริโภคได้จำนวนมาก เพราะด้วยราคาไม่สูงมากจึงอาจทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากที่แห่กดเข้าไปเมื่อทราบว่าตนเองไม่ได้สิทธิ การทำเรื่องขอเงินคืนบริษัทให้เวลาน้อยมาก ผู้บริโภคหลายคนน่าจะไม่อยากเสียเวลาเพื่อรับเงิน 99 บาทคืน จึงส่งเสียงร้องเรียนเรื่องนี้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค             แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้            1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆ ที่พบ             2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ             3.หลักฐานการชำระเงิน             4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ             5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย)         เมื่อมีหลักฐานแล้วต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้ง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกับ แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่งhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling และหากจะฟ้องคดีแพ่งส่วนตัวก็จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์กับ สคบ. เสียก่อน         เรื่องราวของคุณฝ้าย แม้จำนวนเงินอาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อผู้เสียหายหลายราย คำนวณจึงเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ช่วยกันส่งเสียง อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อีกต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ถามหามาตรฐานเครื่องทำน้ำแข็งทางออนไลน์ใช้ปีเดียวสนิมเขรอะ

        การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย         ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้         คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท  “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย         แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)  หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 จัดการหัวเข่า-ข้อศอกดำด้านอย่างไรดี?

        ปัญหาผิวกายที่กวนใจสุดๆ ของหลายคน นอกจากเรื่องผิวแห้งคล้ำเสียหรือริ้วรอยจากแผลต่างๆ  อีกเรื่องก็คงเป็น “ข้อศอกกับหัวเข่า ดำและด้าน” ใช่ไหม ปัญหาสุดคลาสสิกของเหล่าคนที่ชอบผิวสวยสว่าง การมีข้อศอกและหัวเข่าดำด้านคงทำให้หงุดหงิดเป็นแน่         เนื่องจากเป็นจุดของข้อต่อ การมีผิวหนังบริเวณดังกล่าวดำด้านสาเหตุมักจะเกิดจากการเสียดสีบ่อยๆ เช่น การเท้าโต๊ะ วางแขนในการนั่ง นอน หรือนั่งคุกเข่าบ่อยๆ และบางคนก็อาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอีกด้วย         ดังนั้นหากเป็นสาเหตุที่พฤติกรรม เช่น การเท้าโต๊ะหรือคุกเข่าบ่อยๆ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีกับบริเวณข้อศอกและเข่าได้  หรือสามารถดูแลได้ตามวิธีดังนี้         ·     ใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มผลัดเซลล์ผิวช่วย เช่น กลุ่ม AHA BHA ได้แต่ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะเกิดการระคายเคืองหรือผิวอักเสบ ทำให้ผิวบริเวณนั้นมีสีที่เข้มกว่าเดิมได้ และอีกตัวเลือก คือ พวกกลุ่ม Whitening ก็ช่วยได้เหมือนกัน        ·     อีกวิธีคือการสครับผิวบริเวณข้อศอกและหัวเข่า เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป แต่ก็ไม่ควรสครับโดยการขัดและถูแรงๆ จนเกินไป 1 อาทิตย์ใช้แค่ 2-3 ครั้งพอ         ·     ส่วนจะซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ได้ที่ไหนแล้วไม่เป็นอันตราย สามารถเลือกซื้อได้ตามร้านค้าที่น่าเชื่อถือในห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้เลย ใครที่จะใช้พวกครีมผลัดเซลล์ผิวที่มีส่วนผสม AHA BHA ก็ควรเลือกเน้นสูตรที่อ่อนโยนต่อผิวเป็นหลักได้ยิ่งดี ใครที่ชอบสครับก็เลือกที่เป็นส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ เช่น มะขาม ขมิ้น เป็นต้น  นอกจากนี้ ไม่ซื้อตามออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง เช่น ร้านที่โฆษณาสินค้าเกินจริง เคลมการเห็นผลไว 3 วัน 7 วัน เห็นผล หรือถ้าจะสั่งออนไลน์จริงๆ ก็ควรสั่งกับ Account official ของร้านค้าเท่านั้น         ·     ที่สำคัญอย่าลืมเช็กรายละเอียดก่อนซื้อ คือ เลขจดแจ้งของ อย. และมีการเขียนส่วนผสมในฉลากให้ชัดเจน มีชื่อผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุให้ครบถ้วน         อย่างไรก็ตาม ฉลาดซื้อแนะนำให้ใช้มอยเจอร์ไรส์เซอร์เป็นตัวช่วยร่วมด้วย เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวในส่วนของข้อศอกและหัวเข่า เพราะว่าข้อศอกและหัวเข่าด้านนั้นคงมีอาการแห้งร่วมด้วย การบำรุงผิวด้วยการเติมความชุ่มชื้นประกอบกับผลัดเซลล์ผิวไปด้วยจะช่วยให้ผิวบริเวณนั้นดีขึ้นได้           ทั้งนี้ การเลือกมอยเจอร์ไรส์เซอร์ก็ควรเลือกที่เหมาะกับตัวเอง งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม พาราเบนหรือแอลกอฮอล์ ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองไปด้วย เพราะอย่าลืมว่าบางคนก็มีผิวที่บอบบาง ซึ่งอาจทำให้มีอาการแพ้และผิวบริเวณนั้นมีอาการหนักกว่าเดิมได้ แต่หากใครที่ใช้กลุ่มที่มีน้ำหอมแล้วไม่แพ้ก็สามารถใช้ต่อไปได้ปกติค่ะ         กรณีข้อศอก เข่า ดำด้านในผู้ที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังโดยตรง พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้ละเอียดว่ารักษาหรือใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้แพทย์รู้สาเหตุและรักษาได้อย่างตรงจุด         ทิ้งท้ายสิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือ การหาข้อมูลการรักษาโรคในออนไลน์แล้วมีการให้ใช้ส่วนผสม ต่างๆ (ซึ่งไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิชาการ) มาทาที่ผิว บางอย่างถ้าไม่ศึกษาให้ดีก็อาจเป็นอันตรายได้ และจะยิ่งมีผลร้ายทำให้ต้องเสียทั้งสุขภาพและเงินทองจึงต้องระมัดระวังอ้างอิง :        https://hellokhunmor.com | ข้อศอกด้าน สาเหตุ การดูแลและการป้องกัน        https://th.theasianparent.com | ศอกด้านแค่ไหนก็เอาอยู่! วิธีแก้ข้อศอกด้าน ศอกดำ กู้ศอกคล้ำให้กลับมาขาวเนียน        https://youtu.be/uAGnNtlmkM0?si=l_NZXKbjeXoZIrdJ | "แก้หัวเข่าดำ ทำได้ไม่ยาก" คุยกับหมออัจจิมา

อ่านเพิ่มเติม >