ฉบับที่ 234 ยาจากวัด ขจัดความปลอดภัย ?

        ผมมักจะได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการซื้อยามากินเองอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่มักจะซื้อมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามแขนขา เมื่อใช้ครั้งแรกๆ จะได้ผลเร็ว อาการปวดเมื่อยต่างๆ มักจะหายทันที แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะได้อาการอื่นๆ แถมมาด้วย เช่น ตัวเริ่มบวม ปวดท้อง กระเพาะเป็นแผล บางคนเป็นมากถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือดจนต้องเข้าโรงพยาบาล          เมื่อนำยาที่ผู้ป่วยมาตรวจหาสารสเตียรอยด์จะพบว่ามีสารสเตียรอยด์ผสมในยาเกือบทุกตัวอย่าง และเมื่อสอบถามถึงแหล่งที่ซื้อยา พบว่าผู้ป่วยหลายคนซื้อยามาจากวัดเนื่องจากคิดว่า ยาที่ขายในวัดคงเป็นยาที่ปลอดภัย คนขายก็คือคนในวัด บางวัดก็มีพระสงฆ์เป็นผู้ขายเองด้วยซ้ำ          จากประสบการณ์ที่เคยไล่ติดตามตรวจสอบยาที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ พอสรุปลักษณะของยาที่ไม่ปลอดภัย ที่มักจะแอบจำหน่ายในวัดบางแห่ง ดังนี้        1. ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ รูปแบบอาจเป็นยาผง ยาลูกกลอน หรือตอกอัดเป็นเม็ดแบบง่ายๆ บางครั้งอาจมีการบรรจุในแคปซูล แต่ดูด้วยสายตาจะแตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน         2.ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อในลักษณะยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ มีการระบุสรรพคุณต่างๆ มากมาย ชนิดที่ยาแผนปัจจุบันยังไม่กล้าระบุขนาดนี้         3. ในฉลาก ไม่มีหมายเลขการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด แสดงว่ายาเหล่านี้ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต (ในแง่กฎหมาย ยารักษาโรคจะต้องแสดงหมายการขึ้นทะเบียนตำรับยาทุกตัว)         4. แม้ฉลากของยาที่ขายจะแสดงข้อมูลมากมาย แต่สิ่งที่หาไม่เจอคือสถานที่ผลิต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกติดตามดำเนินการตามกฎหมาย         5. มักบรรจุในภาชนะที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน อาจใส่ซองใส หรือขวดใส ฉลากก็พิมพ์แบบง่ายๆ         บ่อยครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลแหล่งที่ซื้อจากผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเนื่องจากกลัวข้อมูลจะไปถึงวัดผู้ป่วยบางคนถึงกับบอกว่า กลัวพระ เพราะพระที่นี่เป็นผู้มีอิทธิพล (ว่าเข้าไปนั่น)         เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราและคนในชุมชน มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้        1. ไม่แนะนำให้ซื้อยาจากวัด หากไม่มั่นใจ ขอให้ไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก่อน        2. ตรวจสอบฉลาก หากไม่มีทะเบียนยาแสดงว่ายานี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมาย แต่ถ้ามีทะเบียนยาแล้ว ก็อย่าเพิ่งมั่นใจเพราะโดยทั่วไปแล้วสถานที่ขายยาจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ยกเว้นสถานที่ขายยาสามัญประจำบ้านที่ไม่ต้องมาขออนุญาต         3. แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกลุ่มงานค้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้มาติดตามตรวจสอบก่อน หากกังวลอาจแจ้งข้อมูลในทางลับหรือส่งเป็นเอกสารระบุข้อมูลให้ครบถ้วนก็ได้         4. หากไม่สะดวกที่จะแจ้งข้อมูลกับสาธารณสุขอาจแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจำจังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมวัดต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 3 )

        ในตอนที่ 2 เราได้อธิบายความเบื้องต้น ในการให้ทราบว่ามีบุคคลใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ เรื่องหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหลายคนคิดว่าจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน ซึ่งไม่ใช่ เพราะที่จริงแล้ว เนื้อหาหลักคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส โดยอยู่บนพื้นฐานในเรื่องสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งถือว่าเป็นสิทธิที่เกิดจากความสมัครใจในการที่จะเลือกในการให้ “ความยินยอม” ในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ความยินยอมนั้นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว คือผู้ให้ความยินยอมซึ่งแสดงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีหน้าที่ที่จะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบที่กฎหมายที่กำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่า ความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นใบอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้กับข้อมูลนั้น โดยรายละเอียดของความยินยอมจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้         1) ลักษณะทั่วไปของความยินยอม            ความยินยอมต้องขอก่อนจะมีการประมวลผล โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องให้ความยินยอมโดยปราศจากความกลัวที่จะเกิดผลเสียสำหรับตนเองหรือปราศจากอิทธิพลหรือแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งความยินยอมดังกล่าวต้องเกิดจากความสมัครใจและเป็นอิสระหมายความว่า ความยินยอมนั้นจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการให้เข้าทำสัญญาหรือใช้บริการใดๆและไม่มีเงื่อนไขในการยินยอมเพื่อการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีความจำเป็น        2) วิธีการหรือแบบของการขอความยินยอม            การขอความยินยอมจะต้องชัดแจ้งหรือเป็นการเจตนาของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจนว่าได้มีความยินยอมเพื่อการเก็บใช้รวบรวมใช้หรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยชัดแจ้งเท่านั้น และต้องไม่ขอความยินยอมในลักษณะที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยวิธีการของความยินยอมโดยหลักนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีดังกล่าวได้ - การขอความยินยอมนั้นต้องแยกออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน มีแบบหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าย การขอความยินยอมจะต้องมีรายละเอียดข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วน แต่เนื้อหาต้องไม่ยาวจนเกินไป รวมทั้งภาษาที่อ่านง่ายด้วย        3) ข้อมูลเพื่อการขอความยินยอม ซึ่งจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและการแจ้งวัตถุประสงค์นั้นจะต้องไม่ทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์และไม่เป็นการหลอกลวง ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่เองได้โดยไม่ขอความยินยอมใหม่        4) การให้ความยินยอมต้องเพิกถอนได้ โดยหลักแล้ว เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะถอนความยินยอมเสียเมื่อใดก็ได้โดยจะต้องถอนความยินยอมได้ง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม การกำหนดวิธีการยกเลิกหรือเพิกถอนความยินยอม อาจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสามารถแจ้งยกเลิกความยินยอมได้โดยง่าย เช่น ทางเว็บไซต์ของผู้ควบคุมข้อมูล เป็นต้น กล่าวโดยสรุป “ความยินยอม”(Consent) ต้องประกอบด้วย            1. ต้องทำโดยชัดเจนเป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์            2. ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล            3. ต้องแยกส่วนความยินยอม ใช้ภาษาที่อ่านง่ายและไม่เป็นการหลอกลวง            4. ต้องมีความเป็นอิสระในการให้ความยินยอม            5. ต้องสามารถถอนความยินยอมเมื่อไหร่ก็ได้ เว้นแต่มีข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอม         ดังนั้น หัวใจหลักของกฎหมายบอกว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เมื่อให้ใครไปแล้ว เขาจะต้องเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็น คือ นำไปใช้เท่าที่บอกว่าจะใช้ ไม่เอาไปใช้งานอื่นเกินเลย กว่าที่ขอความยินยอมไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาและใช้มันอย่างปลอดภัย จะเผยแพร่ต่อให้คนอื่นไม่ได้ถ้าไม่ได้ถามเราก่อนและเราในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบอกเลิกการครอบครองข้อมูลนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ การที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้สิทธิในการที่จะเลือกในการให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลแล้ว หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูล จะต้องทำอะไรบ้างและห้ามทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่สำคัญมากและมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 อุ้มรักเกมลวง : มดลูกในความคาดหวังของสังคม

        ตามความเข้าใจของคนเรา มดลูกก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี และเป็นปัจจัยการผลิตที่ก่อกำเนิดทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ๆ มาทำหน้าที่สืบต่อระบบสังคมออกไป แต่แม้มดลูกจะเป็นอวัยวะที่ดูหลบเร้นในหลืบลึกของร่างกายผู้หญิง ก็ใช่ว่าพื้นที่อันลึกลับในร่างกายนี้ จะปลอดซึ่งอำนาจและความคาดหวังของสังคม        พลันที่มนุษย์เราถือกำเนิดชีวิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ สังคมก็เริ่มต้นกำหนดความคาดหวังเอาไว้เหนือปัจเจกบุคคลโดยทันที โดยเข้าไปกำกับไว้ซึ่งความคิด พฤติกรรม การกระทำ จนถึงจิตใจและองคาพยพทุกส่วนในร่างกายของคนเรา         ไม่ต่างจากการผูกปมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อุ้มรักเกมลวง” ที่พันผูกให้ชีวิตตัวละครได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลแห่งความคาดหวังของสังคมที่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยพล็อตเรื่องราวย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นของนางเอกสาว “กชมน” หรือ “เกี้ยว” ผู้กำกับละครเวทีนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นเรื่องได้บอกเลิก “สิบทิศ” แฟนหนุ่มที่คบหากันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และทั้งคู่ก็ห่างหายร้างราจากกันไป         จากนั้นสิบห้าปีให้หลัง กชมนได้กลายมาเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาและละครซีรีส์ และเป็นเจ้าของสมญา “ป้ามั่น” แม้เธอจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในอาชีพการงาน แต่ฝันร้ายของการบอกเลิกรากับสิบทิศก็ยังคอยตามหลอกหลอนกชมนอยู่ตลอดเวลา         ในขณะที่สิบทิศได้แต่งงานกับ “ปิ่นปัก” ผู้หญิงทำงานที่ตั้งใจลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยาอย่างเต็มตัว กชมนกลับยังครองตัวเป็นโสดในวัยที่ตัวเลขอายุเริ่มมากขึ้น โดยมีก็แต่ “เพียงพันแสง” เพื่อนเกย์หนุ่มคนสนิทที่คอยปรับทุกข์ระหว่างกัน ไม่ต่างจากเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ยืนอยู่เคียงข้างเธอ         บนเส้นทางที่เดินหน้าโลดแล่นไปของชีวิตตัวละครนั้น ละครก็ได้วางพล็อตให้บุคคลทั้งสี่คนมีเหตุให้ต้องโคจรมาร่วมชะตากรรมหลักเดียวกันของเรื่อง ที่ตัวละครต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้องบางอย่างของสังคม โดยเริ่มต้นจากสิบทิศและปิ่นปักที่แม้จะแต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว แต่สังคมก็ยังคงกำกับความคาดหวังต่อไปอีกว่า ชีวิตครอบครัวที่จะสมบูรณ์ได้ต้องกอปรด้วยความสัมพันธ์ที่ครบแบบ “พ่อแม่ลูก” เท่านั้น         ส่วนเกย์หนุ่มอย่างเพียงพันแสงก็เช่นกัน เขามีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของบิดาว่า การเป็นบุตรชายคนเดียวนั้น มีภาระหน้าที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงสักคนเพื่อมีทายาทไว้สืบสกุล ดังนั้น ไม่เพียงแต่เขาจะต้องปกปิดความลับเรื่องเพศวิถีต่อบุพการีแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาก็ได้วางแผนยื่นข้อเสนอต่อกชมนให้รับเป็น “แม่อุ้มบุญ” และเป็นภรรยากำมะลอ เพื่อสนองความคาดหวังที่มาจากคนรอบข้าง        และแน่นอน สำหรับกชมนที่ตัวเลขอายุเฉียดใกล้เลขสี่เข้าไปนั้น การตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นแม่อุ้มบุญให้เพื่อนเกย์ ก็เพียงเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว ก็ควรจะมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นก็ต้องก้าวเท้าเข้าไปใช้ชีวิตใน “คานทองนิเวศน์” อยู่อย่างเดียวดาย         แม้ในบทบาทของผู้กำกับละครหญิง กชมนอาจมีอำนาจเขียนบทและกำกับโชคชะตาของตัวละครที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาได้ แต่กับชีวิตจริงนั้น ความรักและชีวิตคู่หาใช่สิ่งที่มนุษย์เราจะมีอำนาจจับมาออกแบบวางเรียงได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์         จากความคาดหวังของสังคมที่เข้ามากำกับอยู่นั้น ตัวละครทั้งหมดได้ใช้การทำกิฟต์เป็นคำตอบ และด้วยการตัดสินใจใช้วิธีปฏิสนธิเทียมเช่นนี้เอง ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครทั้งสี่ได้ช่วยสืบต่อลมหายใจให้สังคมดำรงและดำเนินต่อไปได้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ตัวแทนของสถาบันสังคมอย่างการแพทย์สมัยใหม่ ได้เข้ามามีอำนาจกำกับควบคุมความคิด การกระทำ ไปจนถึงแม้แต่อวัยวะที่เรียกว่ามดลูกของผู้หญิง         หลังจากที่ตัวละครเลือกยินยอมให้อำนาจและความคาดหวังของสังคมเข้ามากำกับชีวิตของปัจเจก บททดสอบใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดย “เอมิกา” ซึ่งแค้นใจที่กชมนวางแผนล่มงานวิวาห์ของเธอกับ “ฌาน” จนพังไม่เป็นท่า จึงได้วางแผนสลับตัวอ่อนผสมเทียมกันในครรภ์ของกชมนกับปิ่นปัก         บททดสอบใหม่ดังกล่าวก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งตัวอ่อน การตั้งครรภ์ และปฏิบัติการทั้งหลายของการปฏิสนธิในมดลูกของผู้หญิง ไม่เคยที่จะปลอดซึ่งอำนาจที่สังคมจะเข้าไปกำกับบงการได้เลย         จะด้วยเหตุผลที่ต้องการแกล้งคนรักเก่าอย่างสิบทิศ หรือหมั่นไส้ปิ่นปักที่ร่ำร้องให้เธอช่วยดูแลตัวอ่อนของลูกที่สลับอยู่ในครรภ์เป็นอย่างดี แต่ที่แน่ๆ ในจิตใจลึกๆ แล้ว เพราะกชมนเองก็เชื่อว่า สิทธิในร่างกายและมดลูกของเธอ เธอเองก็น่าที่จะมีอำนาจเข้าไปกำหนด เราจึงเห็นภาพปฏิบัติการแห่ง “อนารยะขัดขืน” ที่กชมนลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมที่มีต่อร่างกายของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์         ไม่ว่าจะเป็นการสนุกสนานเฮฮากับการร้องเต้นในวงคาราโอเกะ สวมรองเท้าส้นสูงเดินไปมา ดื่มกาแฟถ้วยแล้วถ้วยเล่า ไปจนถึงกินปูดองและอาหารเสาะท้อง ที่ด้านหนึ่งก็ดูขบขัน แต่อีกด้านก็เพื่อจะยืนยันสิทธิเหนือร่างกายภายใต้ความคาดหวังที่สังคมถาโถมให้ผู้หญิงพึงต้องปฏิบัติตาม โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความคาดหวังนั้นขีดขึ้นเมื่อไร และเขียนขึ้นโดยใคร        ในขณะที่ทุกคนได้รางวัลจากการสมาทานตนต่อความคาดหวังของสังคม เหมือนที่สิบทิศและปิ่นปักก็ได้ทารกแสนน่ารักมาเป็น “โซ่ทองคล้องใจ” หรือเพียงพันแสงที่ได้ลูกชายไว้สืบสายสกุลให้กับบิดา จะมีก็แต่กชมนที่กลับพบว่า การเลือกขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้เธอเองกลายเป็น “คนที่ไม่มีใครเลย” เหมือนกับที่กชมนได้เคยตัดพ้อว่า “ทุกคนมารุมวุ่นวายกับฉัน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการไป ฉันไม่ได้อะไรเลยนะ…”         ตามบทสรุปของละครนั้น คำตอบของปัจเจกบุคคลอาจไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการสมยอมหรือปฏิเสธต่อความคาดหวังของสังคม หากแต่อยู่ที่ว่า ภายใต้อำนาจของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มา “รุมวุ่นวาย” เหนือร่างกายและจิตใจของเรานั้น เราจะรอมชอมหรือต่อรองกับความคาดหวังดังกล่าวได้อย่างไร         ดังนั้น พลันที่หมอหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เจษ” ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับสอนให้กชมนเริ่มรู้สึก “รักตัวเอง” และบอกกับเธอว่า “ขออยู่กินกาแฟด้วยทุกเช้านะ” ในความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ กชมนก็ค้นพบว่า หากความคาดหวังแห่งสังคมเข้ามาล่วงลึกได้ถึงมดลูกในฐานะปัจจัยแห่งการผลิตของสตรี การลงเอยกับสูตินารีแพทย์หนุ่มก็น่าจะย้อนศรให้เธอได้เข้าไปต่อรองกับชายผู้มีความรู้เหนืออวัยวะที่ลึกลับที่สุดในความเป็นเพศหญิง        ประหนึ่งเดียวกับเสียงก้องในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งกชมนพูดขึ้นหลังจากเข้าใจที่จะต่อรองกับพลังแห่งความคาดหวังของสังคมว่า “ก่อนที่ฉันจะเริ่มใหม่ ฉันก็ต้องเชื่อใจในความรักเสียก่อน ฉันต้องวางเรื่องเก่าๆ เอาไว้ ก่อนที่จะวางใจไปกับใครสักคน และฉันก็เพิ่งรู้ว่า เมื่อเราพร้อม เราถึงจะเจอคนที่ใช่...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทุก 15 นาที คนไทย 1 คนจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา

ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงถี่ขึ้นตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าแปลกที่สถานการณ์กลับไม่ทุเลาลงสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม มันดูจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการใช้ยาปฏิชีวนะลามไปถึงในพืชแล้ว        ‘ฉลาดซื้อ’ พูดคุยกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาสมเหตุผล กันแบบตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจนน่ากังวล       ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ข้อมูลว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งและเบาหวานรวมกัน ส่วนในไทยปัจจุบัน ทุกๆ 15 นาที จะมีคนไทย 1 คนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา นับเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการ        อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วความตระหนักรู้ของเราทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมากมายที่จะยับยั้งเรื่องนี้ อยากเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานว่า เวลาพูดว่าดื้อยา เชื้อดื้อยา หมายถึงอะไร        เวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยา เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าเชื้อในที่นี้ก็คือเชื้อโรคซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญคือเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อไวรัส ยาที่ใช้กับเชื้อแบคทีเรียเรียกว่ายาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้กับเชื้อไวรัสเรียกว่ายาต้านไวรัส ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้เมื่อใช้ไป แม้จะใช้อย่างถูกวิธีหรือผิดวิธีก็ตาม เชื้อที่ว่านี้ก็จะพยายามต่อต้าน ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยาจะเน้นที่เชื้อแบคทีเรียเป็นสำคัญ ในทางการแพทย์เมื่อเราใช้ยาด้วยความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยา เราจะฆ่าแบคทีเรียฆ่าไวรัสได้เสมอเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมาเชื้อจะกลายพันธุ์จนมีความสามารถเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นของยาเท่าเดิมแต่รักษาโรคไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะไม่มีความเข้มข้นใดเลยที่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียหรือไวรัสนั้น อันนี้เรียกว่าดื้อยาอย่างสมบูรณ์ ในทางการแพทย์ถ้าเชื้อดื้อยาในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ หมอจะเริ่มไม่สบายใจ เพราะโอกาสหายแค่ 7 คนอีก 3 คนไม่หาย แต่ปัจจุบันอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทั่วไป โอกาสที่จะรักษาหายต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แทบทั้งสิ้น ยาปฏิชีวนะบางชนิดถูกดื้อยาในอัตราสูงถึง 80-90% นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้น ภาวะเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นได้อย่างไร         การดื้อยา กรณีที่หนึ่ง เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเมื่อมีสิ่งใดมาคุกคาม มันก็ต้องพัฒนาการโดยการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่มีความสามารถต่อต้านยาที่จะมาฆ่ามัน ยกตัวอย่างวิธีการหนึ่งที่ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียได้คือเมื่อยาสัมผัสโดนแบคทีเรียแล้ว มันจะไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียก็จะตาย จากนั้นสิ่งที่แบคทีเรียทำคือมันจะสร้างเอนไซม์ออกมาห้อมล้อมตัวมัน เพื่อทำลายยาที่กำลังจะสัมผัสตัวมัน พอยามาโดนสารนี้มันจะสลายไป ไม่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียได้อีก แบคทีเรียมีวิธีในการดื้อยามากมายหลายวิธี แม้ว่าเราจะใช้ยาอย่างถูกต้องก็ตามการดื้อยาจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การดื้อยาตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป         กรณีที่สองเกิดขึ้นจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล อัตราและความรุนแรงในการดื้อยาของแบคทีเรียจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าการคุกคาม หมายความว่าถ้าเราไม่ใส่ยาปฏิชีวนะเข้าไปเยอะๆ ในคนจำนวนมาก แบคทีเรียก็ไม่โดนคุกคามเกินจำเป็น มันก็ไม่ดื้อมาก แต่ถ้าเราใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง การดื้อยาจะค่อยเป็นค่อยไปและเราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่ปัจจุบันเราใช้ยามากกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว ทำให้แบคทีเรียสัมผัสยาปฏิชีวนะในอัตราที่ผิดธรรมชาติ จึงเกิดอัตราเร่งในการดื้อยาขึ้น         การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผลมี 4 แบบ หนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นคือใช้ไม่ตรงกับโรค เช่นการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด ไอ เจ็บคอ ซึ่งโรคเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส สองคือใช้ยาปฏิชีวนะแล้วหยุดยาก่อนกำหนด เพราะขณะที่หยุดยาเชื้อแบคทีเรียยังไม่หมดไปจากร่างกาย แต่มันสัมผัสโดนยาแล้ว ทำให้มันรู้จักยาและหาวิธีดื้อยาจนสำเร็จ ข้อที่ 3 ใช้ยาในขนาดต่ำเกินไป คือเรารู้ว่ายาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ต้องมีความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรากินยาไม่ตรงตามโดส เช่น เราควรจะกินยา 2 เม็ด แต่กินแค่เม็ดเดียว ปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายและสัมผัสโดนแบคทีเรียจะต่ำลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แต่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยา และข้อที่ 4 ใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินจำเป็น ยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์กว้างขวางไม่เท่ากัน ประชาชนควรทราบว่าในร่างกายเรามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เช่นปกคลุมตามผิวหนัง อาศัยในช่องปาก ในอุจจาระที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นโรคที่ใช้ยาออกฤทธิ์แคบได้ เราไม่ใช้ ดันไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง แบคทีเรียที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เมื่อโดนยาก็จะพยายามดื้อยา เท่ากับสร้างกลุ่มของแบคทีเรียที่ดื้อยาให้กว้างขวาง และสะสมไว้ในร่างกายของเรารอวันของการประทุเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อที่ไต และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น  สถานการณ์เชื้อดื้อยาทั้งในระดับโลกและในประเทศรุนแรงแค่ไหน         รุนแรงมากครับ ในระดับโลกมีการคำนวณไว้ว่าในปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเบาหวานและมะเร็งรวมกัน เขาคำนวณไว้ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี เมื่อคำนวณกลับมาเท่ากับจะมีคนเสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 3 วินาที และครึ่งหนึ่งของ 10 ล้านคนจะอยู่ในทวีปเอเชียซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วย          ส่วนในประเทศไทยเองมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากมาย ในปีหนึ่งจะมีคนที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 1.2 แสนกว่าคนและในจำนวนนี้จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 28,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก เท่ากับมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15 นาทีต่อ 1 คน ที่สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาก         อีกปัญหาหนึ่งคือคนไข้ที่ติดเชื้อดื้อยาจะออกจากโรงพยาบาลได้ช้า หมายความว่าถ้าเชื้อไม่ดื้อยา รักษาแค่ 5 วัน 7 วันก็กลับบ้านแล้ว แต่พอเป็นเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้เวลานาน เช่น ใช้ยาตัวแรกไม่หาย เปลี่ยนเป็นตัวที่ 2 ถ้าเปลี่ยนทันก็ดี เปลี่ยนไม่ทันหรือเชื้อดื้อต่อยาทุกชนิดในโรงพยาบาลก็เสียชีวิต กรณีแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยแสนกว่าคนยึดครองเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน หมายความว่าผู้เจ็บป่วยรายใหม่จะเข้าก็เข้าไม่ได้เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยายึดครองเตียงไว้         ปัจจุบันเราพบเชื้อดื้อยาได้มากมายมหาศาลในทุกโรงพยาบาล ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อดื้อยาแล้วเสียชีวิตลงก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดื้อยาหมดไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต แต่เชื้อยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม เช่น คนไข้คนหนึ่งเสียชีวิตในห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชื้อดื้อยาสุด ๆ ตัวนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปในห้องไอซียูนั้น ใครเข้ามาติดเชื้อตัวนั้นก็อาจตายอีก อันนี้คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น แสดงว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้เลวร้ายและก็จะเลวร้ายลงไปอีก         เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งเราอยากจะสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ คนที่รู้คือหมอ พยาบาลและเภสัชกรในโรงพยาบาลที่เห็นคนไข้เสียชีวิตเป็นประจำจากเชื้อดื้อยา แต่ประชาชนอยู่ข้างนอกไม่รู้ เราจึงต้องสื่อสารให้คนเกิดความตระหนักว่าเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะที่พูดถึงสาเหตุของเชื้อดื้อยา ประชาชนช่วยได้เยอะเลย เช่น การใช้ยาเกินจำเป็น ประชาชนช่วยได้ ใช้ยาแล้วหยุดก่อนกำหนด ประชาชนก็ช่วยได้ เป็นต้น แต่เวลาประชาชนไปซื้อยาตามร้านขาย เภสัชกรก็จะรู้ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่หรือ         ใช่ นี่เป็นประเด็นสำคัญมาก ผมจะพูดรวมไปถึงหมอด้วย ที่คนไข้เจ็บคอมาแล้วสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย เป็นการกระทำที่เรียกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผล การใช้ยามี 2 แบบคือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เช่น เราติดเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพราะรักษาด้วยอีกวิธีหนึ่ง ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าคุณหมอหรือร้านขายยาจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับเรา แปลว่าเขากำลังใช้ยาไม่สมเหตุสมผล และกำลังใช้ยาโดยขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา         เชื่อหรือไม่องค์การอนามัยโลกบอกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผล ทั้งโดยแพทย์และเภสัชกร         ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่เรียกว่า service plan  ได้กำหนดตัวชี้วัดว่าในโรค หวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย โรงพยาบาลสั่งยาปฏิชีวนะได้ไม่เกิน 2 คนใน 10 คน ซึ่งในอดีตใช้อยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นโยบายนี้ชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) แปลว่าเดิมมีการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลอยู่จึงต้องมีนโยบายเช่นนี้ ถ้าโรงพยาบาลใดมีการสั่งยาปฏิชีวนะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ทำให้ลงมาต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านตัวชี้วัด บอกให้รู้ว่าโรงพยาบาลรัฐเริ่มต้นแล้ว เพราะเห็นความสำคัญ ขณะนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกือบ 10,000 แห่งใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในคนไข้เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย แล้ว แล้วในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก?         ภาครัฐเรารู้อยู่แล้วว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ภาคเอกชนก็คาดได้ว่าน่าจะเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อันนี้แหละคือปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข การแก้ไขเราทำทั้งฝั่งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาด้วย แต่มีความยากตรงที่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการที่จะออกกฎระเบียบให้ภาคเอกชนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็พยายามอยู่ในการหาช่องทางต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ในการอุดช่องโหว่นี้เพื่อให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง         แต่อีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือการทำให้ประชาชนตระหนักว่าโรคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย เมื่อเข้าใจแล้วประชาชนก็จะแสดงท่าทีตั้งแต่แรกว่าต้องการคำอธิบายมากกว่าต้องการยาปฏิชีวนะและจะสอบถามถึงความจำเป็นในการจ่ายยาปฏิชีวนะ ขอคำอธิบายว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ยังไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะได้ไหม และรอก่อนได้ไหม         ประโยคหลังนี้สำคัญมาก เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรในจิตสำนึกของเขาต้องการให้คนไข้หายไวๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเรารอได้ ถ้าเป็นไวรัส เดี๋ยวมันก็หาย ถ้าเป็นแบคทีเรียแล้วอาการกำเริบ เขากลับมาอีกครั้งก็ได้ คุณหมอและเภสัชกรก็ไม่ต้องรีบสั่งยาปฏิชีวนะให้         การหายเร็วหรือช้ายังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวของประชาชนด้วย กล่าวคือ โรคที่เกิดจากไวรัสเป็นโรคที่หายได้เองจากภูมิต้านทานของเรา ถ้ายังนอนดึกอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังดื่มเหล้า ยังโดนฝน ยังตากแดด โรคที่เกิดจากไวรัสก็หายช้า คุณหมอที่กลัวจะโดนต่อว่าก็จะสั่งยาปฏิชีวนะไปก่อน นี่คือปัญหาที่เกิดจากประชาชน ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยาอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงก็มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว         สิ่งที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือการรณรงค์และการให้ความรู้ต่างๆ มักไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่นเรารณรงค์ว่าเมาห้ามขับรถ แต่ถ้าเราไม่มีกฎระเบียบใดๆ เลยก็ยังมีคนเมาแล้วขับรถอยู่ คนจะเลิกดื่มเหล้าแล้วขับก็ต่อเมื่อมีการตั้งด่านตรวจอย่างสม่ำเสมอและรู้ว่าถ้าดื่มแล้วขับ ตรวจเจอ คุณติดคุก ที่ต่างประเทศจึงค่อนข้างจะประสบความสำเร็จหมายความว่าเราต้องมีกฎระเบียบในการทำให้คนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างพร่ำเพรื่อ เช่นในต่างประเทศประชาชนจะซื้อก็ซื้อไม่ได้ เภสัชกรจะจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านขายยาก็จ่ายเองไม่ได้แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ คุณหมอจะสั่งก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ เป็นต้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา         ขณะนี้เรามีนโยบายข้อหนึ่งที่ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำลังดำเนินการ คือการทำบัญชีสถานะของยาปฏิชีวนะ ในต่างประเทศ ถ้าคุณเดินไปร้านขายยา คุณจะขอซื้อยาปฏิชีวนะไม่ได้ จะซื้อได้ต่อเมื่อคุณต้องพบแพทย์ก่อน แล้วหมอเป็นคนเขียนใบสั่งยา ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ที่เราทำอยู่คือแบ่งระดับยาปฏิชีวนะออกเป็นกลุ่มๆ อย่างยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างส่งผลกระทบมากต่อปัญหาเชื้อดื้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ร้านขายยา ร้านขายยาควรจะเหลือเฉพาะยาพื้นฐานที่ช่วยคนไข้ที่จำเป็นที่ยังไม่มีเวลาไปหาหมอ เป็นการออกกฎระเบียบเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไปจนส่งผลกระทบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่         และยังมีข้อกำหนดต่อไปด้วยว่าเมื่อมีการจัดกลุ่มยาปฏิชีวนะใหม่แล้ว เภสัชกรร้านยายังต้องผ่านการประเมินหรือการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้มีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (RDU Pharmacy) เช่นเดียวกันกับแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วผ่านนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital)         อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือให้ร้านขายยาและคลินิกมีฉลากยามาตรฐาน ที่บอกผู้ใช้ยาว่ายาตัวนั้นชื่ออะไร และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็ต้องระบุไว้ให้เห็นชัดเจน ส่วนโรงพยาบาลต่าง ๆ จะระบุชื่อยาไว้ที่ฉลากยาอยู่แล้ว และมักมีข้อความระบุว่าเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกำกับไว้ แต่ประชาชนมักจะทราบทางอ้อมว่าเป็นยากลุ่มนี้เมื่อเห็นข้อความว่า “รับประทานยานี้จนหมด”         อย่างไรก็ตามการเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า รับประทานยานี้จนหมด นั้นเป็นการสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอยู่ กล่าวคือ หากยาปฏิชีวนะนั้นถูกสั่งใช้มาอย่างไม่สมเหตุผล ประชาชนต้องหยุดยานั้นในทันทีที่ทราบ ไม่ใช่กินต่อจนหมดตามที่ฉลากยาระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเป็นการจ่ายยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นย่อมหมายความว่าประชาชนไม่ต้องใช้ยานั้นตั้งแต่แรก การกินต่อไปจะยิ่งรบกวนแบคทีเรียตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย และยิ่งก่อปัญหามากขึ้นตามปริมาณยาและระยะเวลาที่ยังคงใช้ยาอยู่ ใจความที่ถูกต้องคือ “ควรกินยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่งในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสควรหยุดยาทันที ไม่ควรกินต่อ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 หูฟังบลูทูธ

        อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการความบันเทิงขณะออกกำลังกายหรือผู้ใช้รถสาธารณะที่ต้องมีไว้ควบคู่กับสมาร์ตโฟนคงหนีไม่พ้นหูฟัง หากคุณอยากลงทุนกับหูฟังประเภทไร้สายเพราะมันสะดวกและคล่องตัวกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบหูฟังบลูทูธ ที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียได้ทำไว้ โดยเลือกมาเฉพาะรุ่นที่ทำคะแนนได้ดี 18 อันดับแรก  สนนราคาระหว่าง 1,300 ถึง 8,990 บาท         ในการทดสอบครั้งนี้ ผู้ให้คะแนนคือผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ซึ่งทดลองใช้และให้คะแนนหูฟังแต่ละรุ่นในด้านต่างๆ ดังนี้        -  คะแนนด้านคุณภาพเสียง (เสียงพูด เสียงเพลง: แจ๊ส ร็อค ป้อปและคลาสสิก) ร้อยละ 55        -  ความสบายเมื่อสวมใส่/ความทนทาน (เช่น เมื่อสวมพร้อมแว่น สายไม่พันกัน และวัสดุที่ใช้) ร้อยละ 35        -  โหมดเพิ่มคุณภาพเสียง (เสียงที่รั่วออกจากหูฟัง การตัดเสียงหรือคลื่นรบกวน) ร้อยละ 10         ในภาพรวมเราพบว่าราคายังไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดี รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด 63% ในการทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้ได้แก่ Beats by Dr. Dre Beatsx มีราคาประมาณ 3,600 บาท ในขณะที่ Bang and Olufsen Earset ซึ่งมีราคาเกิน 10,000 บาท กลับได้คะแนนเพียง 53% เท่านั้น         หมายเหตุ: ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โปรดตรวจสอบกับทางร้านค้าอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตทางการตลาดสูงในปัจจุบันก็คือ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี โดยมีมูลค่าการตลาดเมื่อปี 2562 สูงถึง 933 ล้านบาทและก้าวเข้าสู่หลัก 1,300 ล้านบาทในปี 2563          เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้น จัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage) เครื่องดื่มเหล่านี้จะอ้างสรรพคุณว่าเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน, ช่วยเผาผลาญไขมัน, ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการออกกำลังกาย, ผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ จนไปถึงคอลลาเจนและสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเครื่องดื่มผสมวิตามินซีจะเน้นการโฆษณาที่จุดขายนี้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 21 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ว่าเป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหรือไม่ โดยผลตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางหน้าถัดไป                                                                                                ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                                                เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563                                                                                                *ค่า RDI (สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน  สรุปผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี          จากผลการทดสอบ พบว่า        (1) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี มากที่สุด ได้แก่              - เครื่องดื่มวู้ดดี้ ซี+ล็อค วิตามินซี 200% (ขนาด 140 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 496.76 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (140 มล.)                 หรือเท่ากับ 354.83 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (2) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี น้อยที่สุด ได้แก่             - อควาฟิน่า ไบโอ น้ำผสมวิตามินซี กลิ่นออเร้นจ์โรส (ขนาด 350 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 30.73 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (350 มล.)                หรือเท่ากับ 8.78 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (3) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่                1) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 (ขนาด 345 มล.)                 2) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ออเรนจ์ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสส้ม 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร (ขนาด 100 มล.)                      3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)                4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นส้มผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)        (4) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 11 ตัวอย่างที่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลาก และจำนวน 10 ตัวอย่างไม่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหมายเหตุ ค่า RDI ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากเลือกซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซี นอกจากเรื่องรสชาติความชอบ ปริมาณวิตามินซี และราคาแล้ว ผู้บริโภคอาจสังเกตฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย เพราะบางยี่ห้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หรือดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยร่างกายควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออยู่ในช่วง 100 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากได้รับในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์วิตามินนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซีนั้นตัวมันเองไม่ได้รักษาโรคหวัด แต่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหวัดได้ แต่หากร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และวิตามินซีนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด เมื่อถูกขับออกทางไตบ่อย ๆ อาจทำให้ไตระคายเคืองจนก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินซีอย่างพอเหมาะทั้งนี้ นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถบริโภควิตามินซีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินซีแบบเม็ดเป็นอีกทางเลือกก็ได้ หรือ การรับประทานผักหรือผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ฝรั่ง, มะขามป้อม, มะเขือเทศ, พริกหวาน, ผักคะน้าข้อมูลอ้างอิง- วิตามินและแร่ธาตุ  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413) - วิตามินซีกับการป้องกันหวัด  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17) - วิตามินซี (Vitamin C) ประโยชน์ของวิตามินซี 18 ข้อ !  (https://medthai.com/วิตามินซี/) - ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับ     (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7189/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 เปรียบเทียบฉลากแป้งเด็ก

        อย. ยืนยันแป้งฝุ่นโรยตัวเด็กที่ขายในไทยปราศจากการปนเปื้อนแร่ใยหิน  ย้ำ ! มีการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าอย่างเข้มงวด และเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ (https://www.komchadluek.net/news/regional/431652)           การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกโรงยืนยันอีกครั้งเรื่องแป้งฝุ่นไม่มีอันตรายนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องสำอาง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมากจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหาย (คดีแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่น)         กรณีประเทศไทย อย.ยืนยันว่าได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์แป้งฝุ่นโรยตัวเด็กจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) พบว่าทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน (จากสารทัลค์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในแป้งฝุ่น) จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรการเฝ้าระวังของ อย.         อย่างไรก็ตามหากจำกันได้ ย้อนไปเมื่อปี 2559 นิตยสารฉลาดซื้อได้สำรวจและเปรียบเทียบฉลากแป้งฝุ่นโรยตัวเช่นกัน โดยเน้นเรื่องส่วนประกอบสำคัญและคำเตือน ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อสรุปไว้เมื่อฉบับที่ 182 ดังนี้        1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง         2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ         3. คำเตือนที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์        4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ และ 1 ตัวอย่างไม่มีทัลค์          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการตามสถานการณ์ของนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราจึงเก็บตัวอย่างแป้งเด็ก ทั้งชนิดแป้งฝุ่นและชนิดเนื้อโลชั่น รวม 40 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบฉลากโดยดูส่วนประกอบและคำเตือน พร้อมเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนักต่อราคา ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้ออีกครั้ง สรุปการเปรียบเทียบฉลากระหว่างปี 2559 และ 2563 แป้งเด็ก แป้งฝุ่น ผลิตจากอะไร        แป้งเด็กและแป้งฝุ่นส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลค์ (Talc) หรือ แมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น ลดการเสียดสีของผิวหนัง และป้องกันผดผื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจแต่งกลิ่น สี หรือผสมสารอื่นเพิ่มเติม เช่น สารป้องกันความชื้น สารที่ทำให้ผิวเย็น สารสกัดธรรมชาติเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เป็นต้น         ผงทัลคัมทำมาจากแร่หินทัลค์ซึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ออกซิเจน ซิลิกอน และบางส่วนอาจมีเส้นใยแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นที่มีผงทัลค์เป็นส่วนประกอบจำนวน 73 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2558 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการตรวจสอบของ อย. ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเก็บตัวอย่างเดือนมิถุนายน 2563ราคาคำนวณจากราคาที่ซื้อ ณ จุดขาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร

        เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ของวันที่ 6 มกราคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้น สายกรุงเทพฯ-พนมไพร เสียหลักพลิกคว่ำลงร่องกลางถนน บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามร้านไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  หลังรับผู้โดยสารมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตถึง 6  ราย        จากเหตุการณ์นั้นนอกจากความสูญเสียจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่น่าตกใจจากการสืบสวนสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเป็นข้อมูลสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น คือ สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งปกติหากเราต้องการความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ องค์ประกอบสำคัญของความปลอดภัยจะประกอบด้วย คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะ “คน” สามารถแยกออกได้เป็น พนักงานขับรถโดยสาร พนักงานผู้ช่วยคนขับ และ ผู้โดยสาร        ในกรณีพนักงานขับรถโดยสาร หากเจาะจงเรื่องสมรรถนะและความพร้อมในการขับรถ ย่อมรวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การกินอยู่ตามอัตภาพปกติที่คนทั่วไปพึงกระทำ และรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอดูแลตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งในกรณีนี้พบว่าพนักงานขับรถโดยสารคันเกิดเหตุนอกจากจะต้องขับรถมือเดียวจากต้นทางอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดมากรุงเทพมหานครที่มีระยะเวลาขับรถต่อเนื่องมากกว่า 10 ชั่วโมงแล้ว ยังได้รับค่าตอบแทนจากการขับรถโดยสารเพียงเที่ยวละ 500 บาท เท่ากับสามารถวิ่งได้เพียง 1 เที่ยวต่อวัน และหากขับรถทุกวันๆละ 1 เที่ยวในหนึ่งเดือนจะได้ค่าตอบแทนเพียง 15,000 บาท เท่านั้น        ค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานขับรถโดยสารที่ย่ำแย่ เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี มีปัญหารุมเร้ม พักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลถึงสมรรถนะและความพร้อมในการบริการขับรถโดยสาร ที่ต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบในชีวิตทรัพย์สินของผู้โดยสารจำนวนมาก        จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับสำนักงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการศึกษา “ความพึงพอใจของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางที่มีต่อค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน” เพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารในประเภทต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการช่วยบรรเทาผลกระทบและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของพนักงานขับรถได้ โดยอาศัยหลักปฏิบัติ 4 ข้อที่ผู้ประกอบการขนส่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้        1) ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยทั่วไปของพนักงานขับรถและปัจจัยองค์กร เช่น ประสบการณ์ ขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ประสิทธิภาพการขับขี่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้โดยสาร ความเชี่ยวชาญเส้นทาง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดรายได้ของพนักงาน ผนวกกับปัจจัยองค์กรที่จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกัน เช่น การกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอและเป็นธรรม การให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าชดเชยวันหยุด ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมบุตร เป็นต้น         2) ปัจจัยร่วม เป็นปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ เช่น เงินรางวัลเมื่อพนักงานขับรถได้ตามเป้าหมาย ค่าตอบแทนเหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย การได้รับการยกย่อง ชื่นชมจากผู้โดยสาร จำนวนวันหยุดที่เพียงพอ และเงินรางวัลและสวัสดิการเพียงพอครอบคุมถึงครอบครัว เป็นต้น         3) การสร้างแรงจูงใจ เป็นอีกปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พนักงานขับรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานจะมีวิธีการดังนี้คือ 1) มีความพยายามในการพัฒนาวิธีการทำงานของตนเอง 2) เป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ 3) ได้รับความไว้วางใจจากองค์กร และ 4) ได้รับการยอมรับจากผู้โดยสาร         4) การเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพการทำงาน การเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและทำให้พนักงานขับรถมีความพึงพอใจและภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง อีกทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาสร้างโครงสร้างรายได้ของผู้ขับรถโดยสาร        ทั้งนี้เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความมั่นคงทางอาชีพให้กับพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งจากการสอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการทั่วไปพบว่า เห็นด้วยกับการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารและสมควรที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีรายได้ที่เพียงพอดูแลครอบครัว พักผ่อนเพียงพอไม่ต้องทนเหนื่อยง่วงขับรถทำรอบ เพียงเพื่อหวังรายได้ให้มากขึ้น ก็จะลดโอกาสความเหนื่อยล้าและความเสี่ยงที่นำไปสู่การหลับใน อันเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาดต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจริงหรือ

        คนไทยนิยมใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก และสถิติอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของไทยก็มาจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ         พี่ชายของคุณวิเชียร เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักล้ม ตัวพี่ชายกระแทกแท่งแบริเออร์อย่างแรง อาการหนัก กู้ภัยมาช่วยและดำเนินการส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา โรงพยาบาลแรกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการรักษา แพทย์ผู้ทำการรักษาตรวจพบว่า อวัยวะภายในเสียหายอย่างมาก ตับแตก ต้องทำการผ่าตัด และทางโรงพยาบาลบอกเขาว่าต้องออกค่ารักษาเอง เป็นค่าผ่าตัด 30,000 บาท เพราะพ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ขาด (หมดอายุ) เขางงว่าในเมื่อพี่ชายของเขามีสิทธิประกันสังคมทำไมใช้สิทธิประกันสังคมรักษาไม่ได้ และสงสัยว่าโรงพยาบาลสามารถเรียกค่ารักษา 30,000 บาท โดยอ้างว่า พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ได้หรือ จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้รับทำประกัน กรณีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุล้มเอง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามอเตอร์ไซค์คันที่เกิดเหตุมีประกันภาคบังคับไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังไม่หมดอายุ ผู้ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้คนละไม่เกิน 35,000 บาท         แต่กรณีของผู้ร้องเสียหลักล้มเอง เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี และพ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ผู้ร้องจึงต้องออกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 30,000 บาทเอง หรือผู้ร้องสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ แต่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเรียกเงินตามจำนวนที่จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถ (เพราะขาดการต่ออายุ พ.ร.บ.) รวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัย         ส่วนเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงต้องใช้สิทธิในส่วนนี้ก่อน ถ้าการรักษาพยาบาลเกินวงเงิน 30,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินมาจึงจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 คอมพิวเตอร์(ยัง)ใหม่พังจ้า ขอเปลี่ยนเครื่องได้ไหม

        ชาวออฟฟิศทั้งหลายปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ถือว่าเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เลยก็ว่าได้ ถ้าขาดไปชาวออฟฟิศคงทำงานกันไม่ได้ ถ้าวันไหนคอมพิวเตอร์เสียหรือมีปัญหาเราก็อยากให้ซ่อมให้เสร็จภายในเร็ววัน        ที่ทำงานของคุณภูผา ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ 1 เครื่อง ให้เขาใช้งาน โดยซื้อในงานคอมมาร์ท จากร้านค้าชื่อ Advice เป็นเครื่องของ Lenovo ออล-อิน-วัน ราคา 15,900 บาท ตั้งแต่ซื้อเขาก็ใช้งานตามปกติเรื่อยมา ใช้ได้ประมาณ 7-8 เดือน จอคอมก็มีเส้นวิ่งๆ ขึ้นมาและก็หายไป จนกระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 10 ก็มีเส้นค้างหน้าจอตลอดเวลา เขาติดต่อไปยัง Lenovo เพื่อสอบถามวิธีการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่บอกเขาว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาก็ให้ความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเส้นค้างหน้าจอได้ ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ เขาก็แจ้งไปยังหัวหน้าว่า คอมพิวเตอร์มีปัญหาและยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้         หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของ Lenovo ก็อีเมลมาแจ้งสเปคของคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ใหม่ ภูผาพบว่าเครื่องที่จะเปลี่ยนให้ใหม่สเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา เมื่อตรวจสอบราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ราคาก็ต่างจากเครื่องที่ซื้อมาเกือบ 3,000 บาท เขาปรึกษาหัวหน้า เพราะเป็นคอมพิวเตอร์ของที่ทำงาน หัวหน้าให้ยืนยันไปว่าต้องการเปลี่ยนคอมเป็นสเปคเท่ากับเครื่องที่ซื้อมา         ภูผาจึงได้อีเมลตอบกลับไปตามที่หัวหน้าแนะนำ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ Lenovo โทรศัพท์มาอธิบายว่า เครื่องรุ่นที่ซื้อมาไม่มีในสต็อกเมืองไทยแล้ว เลยขอเปลี่ยนเครื่องตามที่ Lenovo เสนอไป ถ้าตกลง Lenovo ก็จะนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ทันที ภูผางงใจ ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี เครื่องก็ไม่ใช่ของเขา หัวหน้าก็บอกให้เปลี่ยนเท่ากับสเปคที่ซื้อมา Lenovo ก็บอกว่าไม่มีสินค้าในไทยแล้ว เขาจึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมตามสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ผู้ร้องซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ ผู้ร้องต้องได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ หากเกิดปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันบริษัทยิ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีของผู้ร้องบริษัทจะต้องเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสเปคเท่ากับตัวที่ซื้อมา จะอ้างว่าไม่มีสต็อกสินค้าในประเทศและขอเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีสเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมาไม่ได้ ถ้าไม่มีในสต็อก บริษัทต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นที่มีสเปคเท่ากับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา หรือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเดิมแต่สเปคต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา หรือคืนเงินจำนวน 15,900 เท่ากับราคาที่ซื้อมาให้แก่ผู้ร้อง          ผู้ร้องได้โทรศัพท์ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Lenovo โดยบอกข้อเสนอตามที่มูลนิธิแนะนำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันว่าขอเปลี่ยนเครื่องตามที่เขาเสนอมา ผู้ร้องจึงบอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ข้อเสนอของ Lenovo เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ร้องขอให้ Lenovo ดำเนินการแก้ไขปัญหาขั้นต่ำตามที่ผู้ร้องเสนอ ถ้า Lenovo ยังยืนยันตามข้อเสนอที่เอาเปรียบผู้บริโภคเช่นเดิม ผู้ร้องขอไม่รับการแก้ไขปัญหาแบบนี้ และคงต้องดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นตัวอย่างกรณีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภค         สุดท้ายเรื่องนี้จบด้วยการที่ Lenovo ยอมเปลี่ยนเครื่องที่มีสเปคสูงกว่านิดหน่อยให้แก่ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผู้บริโภคได้อะไรจากน้ำมันกัญชา

        ในช่วงที่กัญชา (Cannabis indica) กำลังจะถูกกฏหมายนั้นพืชที่เป็นพี่น้องของกัญชาคือ กัญชง (Cannabis sativa) ก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของสังคมไทยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสรรทนาการ แต่เป็นด้านการนำเปลือกจากลำต้นไปทำเส้นใยเพื่อผลิตสินค้าหลายชนิดที่มีความทนทาน ทำเป็นเส้นด้ายและเชือกสำหรับการทอผ้าเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ผลิตเป็นกระดาษ ใช้ดูดซับกลิ่นของน้ำหรือน้ำมัน ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การนำน้ำมันที่ สกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันเฮมพ์ (Hemp oil หรือ Hemp seed oil) มาใช้ในกิจการด้านอาหารและโภชนาการและการนำน้ำมันที่ สกัดจากต้นและใบกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันซีบีดี (cannabidiol oil) มาใช้เป็นยาบำบัดบางโรคที่เกี่ยวกับสมอง         น้ำมันเฮมพ์นั้นได้มาจากการบีบ (หีบ) น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดกัญชง ซึ่งมีขั้นตอนทำนองเดียวกับการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชน้ำมันทั่วไป สิ่งที่ควรทราบคือ น้ำมันเฮมพ์นั้นไม่ควรมีสาร CBD (cannabidiol) หรือ THC (tetrahydrocannabinol) หรือสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆ เพราะในเมล็ดกัญชงมีสารเหล่านี้น้อยมากจนถึงไม่มีเลย         ข้อมูลทางโภชนาการของน้ำมันเฮมพ์คือ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบีต่าง ๆ ธาตุโปแทสเซียมและธาตุแมกนีเซียม ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวนั้นมีประมาณร้อยละ 82 โดยเป็นกรดไขมันโอเมกา-6 ราวร้อยละ 54 และมีกรดไขมันโอเมกา-3 มีร้อยละ 22 (ซึ่งถือว่ามีในปริมาณสูงกว่าเมล็ดพืชอื่น ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 7) แต่เมื่อเทียบกับน้ำมันจากเมล็ด flax (ลำต้นถูกใช้ทอเป็นผ้าลินิน) ซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 53 แล้วน้ำมันเฮมพ์ดูว่าแพ้ราบคาบ (โดยเฉพาะเรื่องราคา) นอกจากนี้น้ำมันเฮมพ์ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับใช้ปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเช่น สลัดผัก หรือทำเครื่องสำอางค์ เช่น ครีมทาผิว แชมพู และสบู่ เป็นต้น        สำหรับน้ำมันซีบีดี (CBD oil) ซึ่งสกัดมาจากทุกส่วนของกัญชงยกเว้นเมล็ดนั้น มีสารสำคัญหลักคือ สาร CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ ที่ไม่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการทำงานของสมอง น้ำมันซีบีดีนั้นถ้าสกัดโดยไม่ผ่านการแยกสารอาจมีสาร THC ปนนิดหน่อยขึ้นกับกฏหมายของแต่ละประเทศอนุญาตให้มีได้เท่าไหร่ เช่น ในยุโรปนั้นผลิตภัณฑ์ซีบีดีที่ถูกกฏหมายสามารถมี THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 ส่วนในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีสาร THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.3 สำหรับไทยนั้นในอนาคตอันใกล้น่าจะกำหนดปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีได้ไม่เกินร้อยละ 1         ในอนาคตอันไม่ไกลนักผู้เขียนเข้าใจว่า น้ำมันซีบีดีคงได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิดตามกฏหมายในหลายประเทศ ดังนั้นในการซื้อน้ำมันซีบีดีที่ขายออนไลน์ สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรกระทำคือ คุยกับแพทย์ที่รู้และเข้าใจในโรคที่ผู้ต้องการใช้น้ำมันซีบีดีเป็นเสียก่อน ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการสั่งซื้อออนไลน์มาใช้ตามคำแนะนำของผู้ไม่รู้จริง         ประเด็นสำคัญที่มีการเตือนไว้ในอินเทอร์เน็ต คือ สินค้าที่ระบุว่าเป็นน้ำมันซีบีดีนั้นมีหลายลักษณะ ซึ่งราคานั้นต่างกันมากแม้แต่ในแพลทฟอร์มของการค้าออนไลน์เดียวกัน เนื่องจากองค์ประกอบที่ต่างกันน้ำมันซีบีดีจึงมีการขายอยู่ใน 3 รูปแบบคือ         ลักษณะแรกเป็นน้ำมันที่สกัดอย่างง่ายจากต้นและใบของกัญชงดังนั้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอะไรต่อมิอะไรผสมอยู่ ซึ่งอาจมีสาร THC ปนบ้างเล็กน้อย         ส่วนลักษณะที่สองนั้นเป็นน้ำมันที่มีการสกัดแยกให้ได้สารในกลุ่มของแคนนาบินอยด์ต่าง ๆ ผสมกันแต่ไม่มี THC แล้ว และ         ลักษณะสุดท้ายเป็นน้ำมันที่มีการแยกเอาเฉพาะแคนนาบิไดออลอย่างเดียวออกมา ซึ่งลักษณะสุดท้ายนี้มีราคาแพงที่สุดและควรใช้ในลักษณะยาบำบัดโรคที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล        ข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันซีบีดีที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ นั้น ผู้บริโภคควรทราบระดับการวิจัยว่าถึงขั้นใดคือ ในคน ในสัตว์ หรือระดับหลอดทดลอง ซึ่งความจริงแล้วก็ขึ้นกับชนิดของความเจ็บป่วยว่าทดลองได้ถึงระดับใดด้วย ผู้เขียนได้ให้ระหัส doi หรือ Digital object identifier สำหรับผู้ที่สนใจและสามารถเข้าค้นหาในอินเตอร์เน็ทเพื่อดูรายละเอียดของแต่ละบทความ ตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันซีบีดีมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น        ·  เจ็บปวดเรื้อรัง ปวดไมเกรน เจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาท และเจ็บปวดจากมะเร็ง (ศึกษาได้ผลในคนไข้ doi: 10.1186/s10194-018-0862-2)         ·  หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (ศึกษาได้ผลในเซลล์มะเร็งเต้านมที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi: 10.1016/j.toxlet.2012.08.029)         ·  โรคลมชักหรือลมบ้าหมู (การศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1007/s13311-015-0375-5)         · โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.3389/fneur.2017.00299)         ·  กล้ามเนื้ออ่อนแรง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองและผลในสัตว์ทดลอง doi: 10.4103/1673-5374.197125)         ·  โรคพาร์กินสัน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1089/can.2017.0002)         ·  อาการอักเสบที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.4155/fmc.09.93)         · สิว (ศึกษาได้ผลในเซลล์ผิวหนังที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1172/JCI64628)         ·  โรคสะเก็ดเงินบนผิวหนัง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ keratinocyte ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1016/j.jdermsci.2006.10.009)         ·  กระดูกหัก (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi 10.1002/jbmr.2513)         ·  โรควัวบ้า (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.1523/JNEUROSCI.1942-07.2007)         ·  เบาหวาน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1016/j.ajpath.2011.11.003)         ·  ความดันโลหิตสูง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1172/jci.insight.93760)         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลถึงผลของน้ำมันซีบีดีต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  คลื่นไส้ วิตกกังวล สมาธิสั้น โรคจิตเภท อาการติดยา อาการอยากเหล้า อยากบุหรี่ โรคหัวใจ อาการลำไส้แปรปรวน และความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าน้ำมันซีบีดีนั้น เข้าข่ายเป็นยาครอบจักรวาฬซึ่งพึงต้องระวังอย่างมากในการซื้อหามาใช้         อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ การสกัดน้ำมันซีบีดีจากต้นกัญชงมีขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาก เพราะน้ำมันซีบีดีนั้นมีปริมาณน้อยมาก ต้องใช้ต้นกัญชงจำนวนมากในการสกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการได้น้ำมันซีบีดีคุณภาพสูงต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพงซึ่งใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่อุณหภูมิต่ำมาก เพื่อให้ได้น้ำมันที่เมื่อระเหยเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกแล้วได้น้ำมันที่ปราศจากกลิ่นของตัวทำละลาย จึงทำให้ราคาน้ำมันซีบีดีแพงกว่าน้ำมันเฮมพ์หลายเท่าตัว แพลทฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการขายน้ำมันจากกัญชงจึงพยายามโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (เอง) ว่า น้ำมันเฮมพ์มีศักยภาพคล้ายน้ำมันซีบีดีหรือสินค้าบางยี่ห้อระบุเลยว่า น้ำมันที่ขายนั้นสกัดจากทั้งใบ ต้น ดอกและเมล็ด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคที่สนใจสินค้าเข้าใจสับสนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 สิวและผื่นแพ้ที่มาจากการสวมหน้ากากอนามัย

        เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นของจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่กลายมาเป็นเรื่องกวนใจอาจไม่ใช่แค่รู้สึกอึดอัด  แต่มันคือ อาการผื่นแพ้หน้ากากและบางคนเกิดปัญหาสิวขึ้นมาอย่างมิอาจเลี่ยง เรามาหาวิธีรับมือกันเถอะ         การสวมหน้ากากตลอดวันและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดผื่นหรือตุ่มแดง มีอาการคันบริเวณที่สวมหน้ากาก​ หรือบริเวณใบหูได้ แบบนี้คืออาการผื่นแพ้ ถ้ารุนแรงถึงขั้นมีตุ่มน้ำ น้ำเหลืองซึมรีบพบแพทย์ทันที ในรายที่อาการเบาๆ แค่ผื่นแดง คันยิบๆ  อาจต้องเปลี่ยนหน้ากากอนามัย เลือกประเภทและขนาดที่เหมาะสม และสำคัญต้องรักษาความสะอาด อย่าประหยัดเกินไป หน้ากากอนามัยราคาลดลงแล้ว ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ควรเป็นครั้งเดียวทิ้ง ชนิดผ้าซักได้ ต้องหมั่นทำความสะอาด        การระคายเคืองหรือแพ้ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการเสียดสี​ การสวมใส่ที่แน่นเกินไป เพราะขนาดหน้ากากไม่เหมาะกับใบหน้า หรือสายคล้องตึงเกินไปทำให้บริเวณใบหูถูกเสียดสี ตลอดจนความอับชื้นจากเหงื่อ ครีมและเครื่องสำอางที่ทาบนใบหน้า การแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากาก​ เช่น กาวผ้า สีย้อมผ้า พลาสติก​ ยาง ดังนั้นต้องทดลองหาให้พบหน้ากากที่เหมาะกับตนเอง          สิวจากการสวมหน้ากาก        สาเหตุของการเกิดสิวเมื่อใช้หน้ากากอนามัยพบได้บ่อยสองลักษณะ คือ การเสียดสีของหน้ากากกับผิวหน้า ซึ่งอาจรบกวนการผลัดเซลล์ผิว บริเวณที่ถูกเสียดสีจึงปรากฎสิว และอีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ ความอบอ้าวที่เกิดจากการใส่หน้ากากทำให้น้ำมันถูกขับจากผิวมากขึ้น เมื่อรวมกับเครื่องสำอางหรือครีมที่เคลือบผิวหน้าอาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนจนกลายเป็นสิว          วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาสิวจากการใส่หน้ากากอนามัย         1.ควรงดแต่งหน้าในช่วงที่สิวเห่อ เพื่อลดปัญหาการอุดตัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิวที่ช่วยให้สิวยุบไว อาจเลือกมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อ่านฉลากและคู่มือการใช้ให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนจากการแพ้สารในเจล         2.หากสิวหายแล้วควรเลือกเครื่องสำอางที่เนื้อเบาๆ (ถ้าเป็นได้ก็งดแต่งหน้าสักพักสำหรับคนที่เป็นสิวง่าย)         3.รักษาความสะอาดของผิว เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบล้างหน้า         4.ลดเวลาการสวมใส่หน้ากากลง สวมเฉพาะเมื่อจำเป็นหรืออยู่ในสถานที่สาธารณะ         5.เปลี่ยนหน้ากากให้บ่อย อย่าใช้ซ้ำ กรณีหน้ากากผ้าซักใช้ใหม่ทุกวัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 หยุดเบอร์โทรรบกวน ด้วยแอปพลิเคชั่น “กันกวน”

        ช่วงสภาวะที่ยังคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่องแบบนี้ ส่งผลให้หลายองค์กรทำงาน “หาลูกค้า” ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องลงพื้นที่ตามแหล่งชุมชน ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยตนเอง อย่างกลุ่มที่ทำงานขายประกัน ขายบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนลูกค้าแบบตัวต่อตัว        เมื่อไม่สามารถหาลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ จึงต้องหันมาใช้รูปแบบการโทรศัพท์ถึงกลุ่มเป้าหมายแทน แต่บางครั้งการโทรศัพท์เพื่อขายสินค้าและบริการในลักษณะนี้ก็ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มเป้าหมายเท่าใดนัก บางทีไม่ใช่แค่เพียงการขายประกัน ขายบัตรเครดิต ขายตรงเท่านั้น แต่บางกลุ่มก็มาในรูปแบบมิจฉาชีพที่ทำให้เกิดการเสียเงินผ่านค่าโทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน แถมก่อให้เกิดความรำคาญกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย         สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เห็นถึงปัญหาและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กันกวน” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีสิทธิ์ในการปิดกั้นการโฆษณาการขายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องการเองได้ และเป็นฐานข้อมูลในการร่วมกันดูแล คอยแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มธุรกิจที่ใช้โทรศัพท์มาขายสินค้าหรือบริการ โดยแอปพลิเคชั่น “กันกวน” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         หลังจากเปิดแอปพลิเคชั่น “กันกวน” มาใช้ในครั้งแรก จะต้องกรอกเลขโทรศัพท์มือถือและหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ระบบตรวจสอบ และสร้างบัญชีด้วยการใส่ชื่อนามสกุล เมล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่น โดยแอปพลิเคชั่นนี้จำเป็นต้องเปิดอนุญาตการใช้งานให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์ด้วย เพื่อให้เข้าไปกลั่นกรองเบอร์ที่มีการขายสินค้าและบริการไม่ให้โทรศัพท์เข้ามากวนคุณได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีรายการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่ถูกส่งรายงานเข้ามาว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่มีการโฆษณาและการขาย ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลกลางจำนวนทั้งสิ้น 494 หมายเลข โดยฐานข้อมูลนี้ทุกคนสามารถร่วมส่งข้อมูลที่เห็นว่าเบอร์โทรศัพท์ไหนเข้าข่ายรบกวนและเป็นการขายสินค้าและบริการได้ เพียงกดปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายบวก แล้วกรอกรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์นั้นลงไป และเลือกกดแจ้งไปยังแอปฯ กันกวน เพื่อให้ กสทช. ดำเนินการจัดประเภทเป็นเบอร์รบกวน และนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางเพื่อส่งข้อมูลเบอร์ดังกล่าวไปยังทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ หรือเลือกกดปิดกั้น เพื่อดำเนินการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาสำหรับสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เท่านั้น         การเลือกกดแจ้งไปยังแอปพลิเคชั่นกันกวน จะถูกแบ่งการปิดกั้นเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มขายประกัน กลุ่มขายบัตรเครดิต กลุ่มทวงถามหนี้ กลุ่มขายเกมส์ออนไลน์ กลุ่มขายคอนเทนต์ออนไลน์ กลุ่มขายสื่อลามก กลุ่มโฆษณารบกวน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถตั้งค่าเองเพื่อเลือกอนุญาตไม่ปิดกั้นเฉพาะบางเบอร์ได้ และตั้งค่าให้ปรับปรุงฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย         ใครมีปัญหาการโทรมากวนใจเพื่อขายสินค้าและบริการในช่วงนี้ ลองใช้แอปพลิเคชั่น “กันกวน” กันดูนะคะ เป็นตัวเลือกที่สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 รู้เท่าทันเห็ดถั่งเช่าอีกครั้ง

        ณ เวลานี้คงไม่มีโฆษณาใดจะชุกและบ่อยเท่ากับโฆษณาเห็ดถั่งเช่า ไม่ว่าจะในทีวี สื่อออนไลน์ต่างๆ รวมถึงป้ายโฆษณาตามข้างถนน มีการใช้ดารา ศิลปิน อาจารย์ และผู้มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมทั้งการลดแลกแจกแถมเพื่อให้คนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถั่งเช่าดีจริงหรือไม่ คุ้มกับเงินทองที่เสียไปหรือไม่ ฉลาดซื้อเคยลงบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อกลางปี 2563 ร่วมสองปีก่อน เรามารู้เท่าทันกันอีกครั้ง  ถั่งเช่าเน้นสรรพคุณอะไร         การโฆษณาในปี 2563 ดูจะเน้นผู้สูงอายุเป็นสำคัญ เพราะฐานกลุ่มผู้สูงอายุจะใหญ่กว่ากลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถั่งเช่าก็มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และที่มาจากทิเบต นอกจากนี้ยังมีถั่งเช่าหลายประเภท ตั้งแต่ถั่งเช่าสีทอง ถั่งเช่าทิเบต ถั่งเช่าหิมะ เป็นต้น ถั่งเช่าคืออะไร          “ถั่งเช่า” หรือที่รู้จักกันว่า “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” แปลเป็นไทยว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” หรือที่เรียกกันว่า “หญ้าหนอน”  ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัวหนอนของผีเสื้อ และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่ง (Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.)  ถั่งเช่าก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง ถั่งเช่ามีสารอะไรบ้าง         ถั่งเช่ามีสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ นิวคลีโอไทด์, cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล ยังมีสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ (E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) ถั่งเช่ามีสรรพคุณอะไรบ้าง        เมื่อทบทวนวรรณกรรมการศึกษาเกี่ยวกับถั่งเช่าในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ พบว่ามีรายงานการศึกษาเรื่องถั่งเช่าตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจำนวนมาก ทั้งในวารสาร Pubmed และห้องสมุดคอเครน        การศึกษาสรรพคุณของถั่งเช่าต่อไต เมื่อใช้ถั่งเช่าร่วมกับการรักษาโรคไตเรื้อรังตามมาตรฐาน พบว่า ครีอะตินีน (ของเสียในเลือดเพื่อวัดค่าการทำงานของไต) ในเลือดลดน้อยลง ลดโปรตีนในน้ำปัสสาวะ แต่ก็มีข้อสรุปในตอนท้ายว่า คุณภาพของหลักฐานนั้นต่ำเกินไป มีผู้ป่วยจำนวนน้อยเกินไป ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม         ยังมีการศึกษาถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่า อาจมีผลในการเพิ่มการทำงานของปอด แต่วิธีการวิจัยยังไม่ดีพอและมีความโน้มเอียงในการศึกษา         หมอพื้นบ้านของสิกขิมใช้ถั่งเช่าในการรักษาอาการเจ็บป่วยถึง 21 อาการ ตั้งแต่ มะเร็ง หอบหืด วัณโรค เบาหวาน ไอ และหวัด หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น แต่จากการทบทวนการศีกษาวิจัย พบว่า ผลต่อไต ตับ ค่อนข้างน่าสนใจและน่าทำการศึกษาเพิ่มเติม         การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับประสิทธิผลในเรื่องการหย่อนสมรรถภาพทางเพศของนักวิจัยไทย พบว่า ถั่งเช่าเพิ่มปริมาณสเปิร์ม และสเปิร์มที่เคลื่อนไหว และฮอร์โมนเพศชาย         สรุป  ถั่งเช่าเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน ทิเบตที่เก่าแก่ ใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกาย จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า ถั่งเช่ามีสารประกอบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และมีประสิทธิผลต่อร่างกายในบางด้าน แต่ยังไม่สามารถยืนยันผลที่แน่นอน หนักแน่นว่ามีสรรพคุณต่างๆ จริง เพราะการศึกษาที่มีอยู่นั้นยังไม่มีคุณภาพที่ดีพอ และอาจมีขนาดการศึกษาที่ไม่มากพอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 การสำรวจการปนเปื้อนของตะกั่วในแกงส้มแป๊ะซะ

         แกงส้มแป๊ะซะ เป็นทางเลือกที่ร้านอาหารทั่วไปต้องมีไว้ในเมนู ใครๆ ก็ชอบเพราะเป็นอาหารสุขภาพที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ไหนจะได้โปรตีนและไขมันดีจากเนื้อปลาและยังมีผักอีกหลากหลายที่ให้ทั้งวิตามินและไฟเบอร์ แถมรสชาติก็จี๊ดจ๊าดถูกใจ ติดอยู่อย่างเดียวตรงภาชนะที่ทางร้านใช้เสิร์ฟบนเตาร้อนๆ หลายคนสงสัยว่าจานเปล (ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปปลา) เหล่านั้นปล่อยโลหะหนักออกมา ปะปนอยู่ในน้ำแกงด้วยหรือเปล่า         ภาชนะที่นิยมใช้เสิร์ฟแกงส้มแป๊ะซะโดยทั่วไปคือ อลูมิเนียม เหล็ก สังกะสี หรือที่มีส่วนผสมของโลหะเหล่านี้ เพราะนำความร้อนได้ดี แต่ทั้งนี้หากการผลิตภาชนะไม่ได้มาตรฐาน ก็จะนำไปสู่การปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว (ซึ่งใช้ในการบัดกรี) ได้  โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้ใส่อาหารที่มีความเป็นกรด และการทดลองโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบตะกั่วปนเปื้อนในน้ำ เมื่อนำภาชนะดังกล่าวมาต้มที่อุณหภูมิ 80 – 90 องศาเซลเซียส นานต่อเนื่อง 3-9 ชั่วโมง และปริมาณตะกั่วจะมากขึ้นหากมีส่วนผสมของเกลือด้วย         เพื่อตอบข้อกังวลดังกล่าว ทีมงานวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับนโยบายจากคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ที่จะใช้ศักยภาพทางห้องทดลองและห้องปฏิบัติการที่มีอยู่  มาช่วยตอบปัญหาให้แก่สังคม โดยเฉพาะปัญหาที่ไม่อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จึงได้สนับสนุนงบประมาณและสนับสนุนให้ทำการศึกษาร่วมกับเภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ทำการเก็บตัวอย่างแกงส้มแป๊ะซะจากร้านอาหาร 5 แห่งในจังหวัดหนองบัวลำภู  โดยเก็บร้านละ 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ  1 สัปดาห์ ตัวอย่างที่เก็บมีทั้งน้ำแกงขณะเย็น ขณะเดือด และหลังเดือด 5 นาที   จากนั้น นำตัวอย่าง มาบรรจุในภาชนะพลาสติก (polyethylene) ปิดสนิท และนำส่งยังห้องปฏิบัติการทดสอบโลหะหนัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำการตรวจวิเคราะห์ตามวิธีมาตรฐานด้วย Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrometer (GFAAS)  สรุปว่าปลอดภัยหรือไม่        นับว่าโชคยังเข้าข้างนักกินอยู่บ้าง การศึกษานี้พบตะกั่วในค่าที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้มีได้ การศึกษานี้ยังได้วัดค่าความเป็นกรดของน้ำแกงส้ม ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 3.67–5.95  โดยร้อยละ 80 ของตัวอย่างมีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 4.00–5.00 ซึ่งถือได้ว่าน้ำแกงส้มมีค่าเป็นกรด         อย่างไรก็ตามสายกินอย่างเราก็ควรเพิ่มการระมัดระวังในการเลือกภาชนะเพื่อประกอบอาหาร รวมถึงช่วยกันตรวจสอบ เฝ้าระวัง ภาชนะที่ใช้ใส่อาหารของร้านอาหารในพื้นที่ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน และต้องไม่ลืมว่าตะกั่วเป็นโลหะที่สะสมในร่างกายได้นาน และเรายังมีความเสี่ยงที่จะได้รับตะกั่วจากทางอื่น เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น         ทั้งนี้คณะผู้ทำการศึกษาย้ำว่า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น จะต้องมีการสำรวจชนิดของภาชนะที่ใช้ปรุงอาหารของทางร้านก่อนจะนำมาเสิร์ฟให้กับลูกค้า เพื่อนำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของการปนเปื้อน รวมถึงต้องมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถควบคุมตัวแปรอื่นๆ ทำให้ได้ คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น         นอกจากนี้ควรศึกษาปริมาณการบริโภคอาหารจากหม้อไฟ/กระทะร้อน ที่จะนำไปสู่การคาดคะเนปริมาณการปนเปื้อนที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค เนื่องจากตะกั่วเป็นโลหะหนักที่สะสมในร่างกายได้ยาวนาน การพิจารณาความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมิอาจใช้อาหารชนิดเดียวมาเป็น ข้อสรุปว่าสุขภาพของผู้บริโภคมีความปลอดภัย  ขอขอบคุณ·  คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส·  ห้องปฏิบัติการกลาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ร่วมตรวจวิเคราะห์·  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านในฝ่ายเภสัชสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘โควิด-19’ ภาพสะท้อนการจัดการขยะติดเชื้อของไทย

พอจะพูดได้ว่า เวลานี้เราผ่านช่วงตึงเครียดของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาแล้ว มาตรการล็อคดาวน์ทยอยไขกุญแจออกทีละส่วน (แต่ทำไมไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?) อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 ยังต้องเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนบ่อยครั้งว่าการ์ดห้ามตก         ประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่มากคือเรื่องขยะติดเชื้อ         ขยะติดเชื้อไม่ใช่ปัญหาใหม่ ตรงกันข้าม มันเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปี ลองดูตัวเลขจาก ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564)’ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ในปี 2557 มีมูลฝอยติดเชื้อทั่วประเทศประมาณ 52,147 ตัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 ที่มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพียง 40,000 ตันเท่านั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 57 มาจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่อีกร้อยละ 43 มาจากโรงพยาบาลเอกชนและสถานบริการขนาดเล็ก ได้แก่ คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์        ตัวเลขที่ชวนให้ตั้งคำถามและเรียกร้องคำตอบจากภาครัฐอยู่ที่ว่า ในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ได้รับการจัดการอย่าง ‘ถูกต้อง’ โดยการเผาไม่น้อยกว่า 35,857 ตันต่อปี หรือร้อยละ 70 ของปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมด         ขยะติดเชื้ออีก 16,290 ตันไปไหน?         ล่วงเลยถึงปี 2563 ขยะติดเชื้อคาดได้ว่าเพิ่มปริมาณขึ้นจากเมื่อ 6 ปีก่อนแน่นอน การกำจัดอย่างถูกต้องรองรับได้แค่ไหน คงต้องบอกว่าเสียใจที่งานชิ้นนี้ไม่มีคำตอบให้ แต่เราจะพาไปสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาพจากอดีต และความคาดหวังเล็กๆ ในอนาคต         ปริมาณขยะติดเชื้อช่วงโควิด        กลางเดือนเมษายนเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่า กรมอนามัยได้เฝ้าระวังและติดตามสถานะการณ์ขยะติดเชื้อใน 2 กลุ่มเป้าหมาย         กลุ่มแรกคือผู้ป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้จำนวนขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระบบของการรักษาพยาบาล พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 คนมีอัตราการเกิดมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน ส่งผลให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้         กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกกักกันหรือการกักตัวเอง ซึ่งมีการกำจัดขยะแบบขยะติดเชื้อ เมื่อรวมขยะติดเชื้อของ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น         ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวผ่านเว็บไซต์ของทางสถาบันว่า ขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทั่วประเทศมีประมาณ 1.5–2 ล้านชิ้นต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 ตันต่อวัน เมื่อรวมขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้จากสถานพยาบาลต่างๆ และนำไปกำจัดโดยเตาเผาที่มีประสิทธิภาพวันละ 50 ตัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้อ 43 ตันต่อวัน          แต่ยังมีข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจ...         นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ระบบติดตามขยะติดเชื้อในสถานบริการหรือหน่วยต่างๆ พบว่า โดยปกติก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณที่มีการจัดการและกำจัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3,900 ตันต่อเดือน แล้วมาขึ้นสูงช่วงที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มกราคม         “แล้วคงมีการตื่นตัว ระมัดระวังในการให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเดิมจาก 3,900 ตันต่อเดือนมันไหลลงมาอยู่เกือบ 3,700 ตันต่อเดือนแล้วก็กลับขึ้นไปประมาณ 4,000 ตันต่อเดือนอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ตันต่อเดือน         แต่ข้อมูลตรงนี้ผมอยากเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็น ในเดือนกุมภาพันธ์ไม่ดูตามจำนวนยอดใหญ่ แต่ดูจากภาพรวมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณมูลฝอยขยะติดเชื้อลดลงจากฐานเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 6.98 เปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคมลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.22 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของเดือนเมษายนและพฤษภาคมกำลังรวบรวมอยู่”         ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยนอกต่อเดือนจากเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปี 2562 มีจำนวนประมาณ 26 ล้าน 28 ล้าน และ 30 ล้านครั้งต่อเดือน และขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ที่ประมาณ 31 ล้านครั้งต่อเดือน แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาบวกกับการปรับตัวของโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด เพราะเริ่มมีความกังวลว่าการไปรับบริการที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับเชื้อ ทำให้ยอดผู้ป่วยนอกของเดือนกุมภาพันธ์ตกลงมาอยู่ประมาณ 26 ล้านครั้งต่อเดือน และ 23 ล้านครั้งต่อเดือนในเดือนมีนาคม ซึ่งจำนวนขยะติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล         “ถ้าเป็นข้อมูลที่เราได้จากสถานบริการจะเป็นข้อมูลที่แม่นยำกว่าและมีระบบการรายงานในส่วนของการคาดการณ์ต่างๆ และตัวเลขจากห้องแล็บต่างๆ ที่มีมาในช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ยังมีปริมาณการตรวจไม่มากนัก เนื่องจากห้องแล็บที่จะตรวจได้มีจำกัด แล้วตอนหลังก็มีการประเมินและให้ห้องแล็บโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดตรวจเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะติดเชื้อก็เป็นเรื่องของนิยามส่วนหนึ่งว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มาจากห้องปฏิบัติการติดเชื้อก็ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงในช่วงเดือนเมษายนเพราะว่าเริ่มตรวจเยอะขึ้นและห้องแล็บมีปริมาณเยอะขึ้น” นพ.ดนัย กล่าว          ว่าด้วย ‘นิยาม’ ขยะติดเชื้อ คืออะไรกันแน่?         นพ.ดนัย เอ่ยถึง ‘นิยาม’ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะติดเชื้อ          “ในส่วนของครัวเรือนหลายคนอาจคิดว่าก็เป็นมูลฝอยติดเชื้อ แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถอธิบายได้ ผมเรียนว่า ถ้าเป็นการใส่หน้าอนามัยโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อแล้ว ส่วนนี้ยังไงก็ต้องจัดการแบบมูลฝอยติดเชื้อ แต่กรณีการใส่หน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วย ถ้าจะให้คำจำกัดความว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้เป็นมูลฝอยเชื้อด้วย มันคงจะเป็นปริมาณมหาศาลและในเชิงระบบของเราก็ไม่สามารถรองรับได้ หมายความว่าทุกเคสที่เราวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิดหรือสงสัยว่าเป็น เราจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลและมีการตรวจ ดังนั้นข้อมูลขยะติดเชื้อจึงเป็นข้อมูลที่เกิดจากการให้บริการผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วย สิ่งต่างๆ ที่เราใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกอย่างจะถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ”         ด้วยนิยามดังกล่าว ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจะมากจริงหรือไม่ ต้องดูข้อมูลของผู้มารับบริการที่เป็นโควิด แต่ถ้าประชาชนทั่วไปขยะที่มาจากหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นขยะทั่วไป ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ เพียงแต่ถ้าจะให้เกิดความเหมาะสมก็ควรมีการคัดแยกและทิ้งให้เป็นสัดส่วน ส่วนการกำจัดก็ทำเหมือนขยะทั่วไป เพราะความเสี่ยงที่หน้ากากเหล่านี้จะสัมผัสกับเชื้อถ้าเทียบเคียงแล้วถือเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย         ถึงจุดนี้เราจะเห็นประเด็นปัญหาเรื่องนิยาม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมองว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทั่วไปใส่เป็นขยะติดเชื้อ แต่กรมอนามัยมองว่าไม่ใช่ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันขนานใหญ่ทีเดียว         ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใส่ก็ถือเป็นขยะติดเชื้อด้วย เธอกล่าวว่า         “ภายใต้สถานการณ์โควิดเกิดการตั้งคำถามว่าขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถุงมือ ขวดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับทั้งประเทศอยู่ในช่วงต้องตื่นตัว โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐก็จะตื่นตัวกับเรื่องนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไปได้สักพักหนึ่งกรมอนามัยก็มีหนังสือแนะนำแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภท แล้วกรมส่งเสริมก็มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดก็จะมีหนังสือแจ้งไปยัง อปท. ว่ากรมอนามัยได้มีข้อแนะนำมาอย่างนี้ๆ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำทั่วๆ ไป”         เพ็ญโฉมคิดว่า ถ้าพิจารณาถึงมาตรการในการรับมือและการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ปกติ คำแนะนำดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับความใหญ่โตของระบบราชการที่ต้องส่งคำสั่งเป็นทอดๆ ที่อาจทำให้การรับมือล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น          อาการหมักหมมของปัญหาขยะติดเชื้อในไทย         “พูดถึงปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเรา ซึ่งเป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว เท่าที่เราเคยสำรวจดูการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบางพื้นที่ เราพบว่าระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลบางแห่งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานที่รับรองได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปกติขยะติดเชื้อมีส่วนผสมหลายอย่างจะถูกส่งเข้าเตาเผา สิ่งที่กังวลมากเวลาเผาขยะติดเชื้อก็คือการปลดปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส แต่เราพบว่าการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเราหลายพื้นที่น่าจะยังไม่ได้มาตรฐานเรื่องการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาวัสดุต่างๆ”          ปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อประการที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยมีคลินิกเอกชนกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ต้องดูว่า อปท. ในแต่ละพื้นที่มีมาตรการเก็บขนและการกำจัดอย่างไร บางพื้นที่จะมีการจ้างบริษัทเอกชนให้เป็นผู้รับขยะติดเชื้อไปกำจัดในเตาเผา แต่จะขึ้นกับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาลแต่ละแห่งถ้าเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทเอกชนที่ให้บริการรับขนจะมาเก็บขนเป็นล็อตๆ แต่เนื่องจากว่าเรามีคลินิกเอกชนและสถานพยาบาลขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วประเทศ ตรงนี้ตรวจสอบไม่ได้เลยว่ามีการเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างไร ทำให้มีข่าวว่ามีการทิ้งขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลบางแห่งปะปนกับขยะมูลฝอยจากชุมชนที่นำไปทิ้งตามหลุมฝังกลบของเทศบาลต่างๆ         “การเก็บขนขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชนทุกวันนี้ เราบอกไม่ได้ว่ามีการเก็บขนที่ครบถ้วนสมบูรณ์และนำไปสู่การจัดการที่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ถ้ามองในเชิงสถานการณ์โควิค ปัญหาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่ดีขึ้น ปัญหาใหม่ก็ทับถมเข้ามา ถ้าพูดโดยสรุปคือการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบ้านเรายังไม่อยู่ในภาวะที่สามารถรับมือและนำไปสู่มาตรการการเก็บขนและกำจัดได้อย่างมีมาตรฐานที่ปลอดภัยเพียงพอทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม”          ความพยายาม         นพ.ดนัย กล่าวถึงปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อว่า ทางกรมอนามัยพยายามติดตามและดำเนินการอยู่โดยในอดีตขยะติดเชื้อสามารถกำจัดได้ด้วยเตาเผาขยะที่โรงพยาบาล แต่ 10 ถึง 20 ปีให้หลังมานี้ โรงพยาบาลของเราอยู่ในที่ชุมชน รวมถึงปริมาณขยะติดเชื้อก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นจึงไม่สามารถเผาในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งต้องเป็นเตาเผาคุณภาพสูงและเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้การรวบรวมขยะติดเชื้อไปกำจัดในแหล่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีทั่วไปในทุกจังหวัด         เหตุนี้จึงต้องใช้บริการเก็บขนจากบริษัทเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 24 รายที่ไปรับจากโรงพยาบาลต่างๆ มาส่งยังแหล่งกำจัด 10 กว่าแห่งที่มีการดำเนินการ         “เรากำกับในส่วนของบริษัทเอกชนกับเตาเผาขยะโดยการใช้ระบบ Manifest Online ข้อมูลขยะติดเชื้อที่มีการเก็บมาจากโรงพยาบาลมีจำนวนเท่าไหร่และนำส่งไปที่เตาเผาจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเชื่อมกัน ซึ่งตอนนี้สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่งอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่เรากำลังเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเรากำลังพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ อยู่ซึ่งยังต้องลงทุนอีกเยอะ         มาตรการที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราพยายามกำหนดบทบัญญัติต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากขึ้นโดยมีมาตรการการกำจัดเก็บขนในการบังคับให้หน่วยต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนด แต่อาจจะมีผลบังคับใช้จริงภายในเดือนกันยายนปีนี้เพราะมีขั้นตอนในเชิงกฎหมาย และเรากำลังปรับปรุงระบบกำกับติดตามการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อให้มีความทันสมัย สามารถติดตามดูว่ารถขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกําเนิดไปยังแหล่งกำจัดมีเส้นทางและมีการดำเนินการที่ถูกต้อง”          สร้างทางเลือกใหม่ๆ         1,000 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิที่เพียงพอจะกำจัดขยะติดเชื้อโดยไม่ปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม แต่ ดร.สมไทย วงษ์พาณิชย์ ผู้ก่อตั้งโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บอกกับเราว่า ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลที่ส่งให้บริษัทที่รับอนุญาตนำไปกำจัดโดยการเผามี 2 ระบบคือ 400 องศาและ 800 องศา เพื่อเผาขี้เถ้าให้หมดสิ้นไปเป็นการจัดการที่ถูกวิธีเบื้องต้น         “แต่ขยะติดเชื้อที่อยู่นอกสถานพยาบาล ที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยงานราชการ มีการทิ้งปะปนไปกับขยะชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องสนใจเฝ้าดูว่ามันจะอันตรายแพร่กระจายเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราไม่ทราบ”         ดร.สมไทย มองปัญหาขยะติดเชื้อในไทยว่า กลไกและระเบียบของภาครัฐในการจัดการขยะติดเชื้อของไทยยังไม่ทันสมัย และเรายังไม่เคยมีความรอบรู้มาก่อนในกรณีมีภัยคุกคามจากโรคระบาดต่างๆ ว่าจะมีการป้องกันในระยะยาวอย่างไร         ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อของ 20 กว่าบริษัทในไทย ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพียงแค่จัดการได้เบื้องต้นเท่านั้น การตรวจเตาเผาขยะติดเชื้อที่ปลายปล่องต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ ซึ่งเรายังไม่มีห้องปฏิบัติการเพียงพอสำหรับงานนี้         “ในเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เผาขยะติดเชื้อ แต่ใช้วิธี steam ด้วยความร้อนสูงพันกว่าองศา ขยะที่ถูกฆ่าเชื้อและมีความเสถียรแล้ว เขานำมารีไซเคิลได้โดยไม่ต้องเผา นอกจากนี้ยังมีการทำบ่อซีเมนต์เป็นผนังคอนกรีตหนาที่ซีนแล้วไม่มีรั่วเลย เป็น secure landfill ซึ่งบริษัทในไทยที่รับจัดการขยะติดเชื้อยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้”         ด้านเพ็ญโฉมแสดงทัศนะว่า สิ่งที่พอจะเริ่มต้นได้ทันทีคือการรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าขยะติดเชื้อคืออะไรและควรจัดการอย่างไร ในส่วนภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทผู้ก่อมลพิษและประชาชน         โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่แทรกซ้อนเข้ามาโดยไม่คาดคิด ตอกย้ำให้เห็นสถานการณ์และปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อในไทย แน่นอนว่าด้วยพื้นที่อันจำกัดย่อมไม่สามารถฉายภาพทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยผู้บริโภคอย่างเราคงได้เห็นภาพคร่าวๆ และการแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติของตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทุเลาปัญหาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฏาคม 2563

5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียว 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน         นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง         “จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”         ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง  คาดธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเติบโตขึ้นรับยุคนิวนอร์มัล        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจมีธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึง COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของคนเมือง         โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โรงเรียนสังกัดกทม.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ขนมกรุบ ลดภาวะฟันผุในเด็ก         นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับสุขภาพทางช่องปาก พบเด็กนักเรียนมีฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่/คน ดังนั้นสำนักการศึกษา กทม. จึงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ในเรื่องการจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่มในโรงเรียน โดยห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาหารจะต้องมีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอยภัยแก่นักเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหารแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน เครือข่ายผู้ป่วยยื่นคัดค้าน ประกาศแพทยสภา 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติ        ตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้กำหนดหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ 10 ข้อ และมีผลในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น         8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ (Healthy Forum) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เนื่องจากพบว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศฯ นั้นไม่ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย          ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยในหลายข้อ มีประเด็นปัญหาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สะท้อนทัศนคติทางการแพทย์ที่คับแคบ มองว่าประชาชนไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และปัญหาสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น           นอกจากนี้กระบวนการในการจัดทำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนี้นั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเอง  ภาครัฐและประชาชนร่วมใจพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล        กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา         คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (1)

        ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่อง ‘หนี้’ พร้อมกับแยกหนี้ดีและหนี้เสียให้เห็น แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คนมีหนี้สินส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดน่าจะเป็นว่า         “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         นี่เป็นคำถามคลาสสิกกันเลยทีเดียว ถึงกับมีหนังสือที่ว่าด้วยการปลดหนี้โดยเฉพาะ ลองมาดูกันก่อนว่าคนไทยแบกหนี้กันหนักแค่ไหน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณร้อยละ 59.2 ต้องจ่ายหนี้ 16,960 บาทต่อเดือน กับหนี้นอกระบบอีกร้อยละ 40.8 ส่วนนี้ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือน 5,222 บาท             ผลสำรวจนี้ยังแบ่งตามอาชีพด้วย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของกิจการ แรงงานรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ใน 5 อาชีพนี้มี 2 อาชีพที่มีแหล่งหนี้เหมือนกันเป๊ะ แค่สลับตำแหน่งความมากน้อยของหนี้         เฉลย-ข้าราชการและพนักงานเอกชนเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต แต่สาเหตุการเกิดหนี้ของข้าราชการเรียงลำดับจากบ้าน รถ และบัตรเครดิต ส่วนพนักงานเอกชนจะเป็นรถ บัตรเครดิต และบ้าน ขณะที่ 3 อาชีพที่เหลือหนี้บัตรเครดิตไม่ติด 3 อันดับแรก ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร         กลับมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการ ‘หยุดก่อหนี้เพิ่ม’ ทั้งหนี้ดี-หนี้ไม่ดี เอาล่ะๆ หนี้บ้าน หนี้รถ ซึ่งเป็นหนี้ผ่อนกันยาว ก่อแล้วใช่ว่าจะหยุดง่ายๆ ตรงนี้ละเอาไว้ อาจจะฟังดูยวนยีไปหน่อย แต่ลองคิดดูว่าคุณจะปลดหนี้สินได้ยังไง ถ้าจ่ายหนี้ทุกเดือนและยังก่อหนี้ใหม่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลย ‘อย่าสร้างหนี้ใหม่เพื่อเอาไปโปะหนี้เก่า’ แบบนี้ยิ่งหนัก เพราะจะทำให้เงื่อนหนี้ที่รัดคอคุณอยู่ ยิ่งรัดหนักขึ้นและแก้ยากขึ้น         คงเคยได้ยิน คนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดปื๊ดๆ เพลินๆ ไป จนผ่อนไม่ไหว ต้องกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบ สุดท้ายก็พัง         มีคำแนะนำชนิดหักดิบว่า หักบัตรเครดิตทิ้ง เป็นวิธีการที่ดุดันอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต ลองนึกดู ในสถานการณ์ที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เงิน แล้วคุณมีเงินสดไม่พอหรือมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ในรูปของกองทุนตราสารเงิน ซึ่งการจะได้เงินสดกลับคืนมาต้องใช้เวลา 1 วันหรือ 2 วัน ถ้าคุณสั่งขายหน่วยลงทุนหลัง 15.00 น. บัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยที่ดี         อย่าลืม! ต้องแยกให้ออกว่าอะไร ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’         ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต หากอยู่ที่วิธีและวินัยในการใช้บัตรเครดิตต่างหาก         ส่วนว่าจะแก้วิธีและวินัยอย่างไร ตอบยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล         กลับมาเรื่องแก้หนี้ ซึ่งยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกเอง มันยังมีขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร แต่พื้นที่จบแล้ว คงต้องไปต่อกันตอนหน้า และอย่างที่บอกเสมอ เรื่องการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลไปเสียหมด เรื่องหนี้ก็ไม่ต่างกัน แนวทาง นโยบาย และการบริหารของรัฐเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >