ฉบับที่ 235 ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

        ความสูญเสียที่ป้องกันได้ เหตุการณ์ผู้ใหญ่ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 คือเหตุสลดอีกครั้งที่พรากชีวิตเด็กน้อยอายุเพียง 3 ปี จากนครศรีธรรมราช “น้องกองบิน” ไป         เชื่อหรือไม่ สถิติเด็กถูกลืมไว้ในรถตั้งแต่ปี 2557 ถึง 17 สิงหาคม 2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่ามีเด็กถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถทุกประเภทมากถึง 129 ครั้ง ที่สำคัญมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 6 ราย ซึ่ง 5 ใน 6 ราย เป็นเด็กที่ถูกลืมในรถรับส่งนักเรียน และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2 - 6 ปี โดยมีสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจเพราะอยู่ในรถที่มีสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง         สอดรับกับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก ที่ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ระบุ กล่าวคือ “การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของเด็กมีความร้อนสูงเกินขนาด คือมีความร้อนสูงถึง 42 องศา หากถูกลืมไว้ในรถนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตาย เลือดในร่างกายจะเริ่มเป็นกรด ต่อมาสมองก็จะบวมจนไปทับก้านสมองในส่วนการควบคุมในระบบการหายใจ”         เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการคุณภาพและมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานรถและคุณภาพบริการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันรถรับส่งนักเรียนถูกแปรสภาพกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของเด็กนักเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว และคาดว่ามีรถที่ถูกนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต ขาดการจัดการควบคุมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ปลอดภัย        เมื่อปัญหาเกิดขึ้นสังคมก็ขยับเขยื้อนไปบ้าง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยากให้เหตุการณ์น้องกองบินเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย สังคมไทยไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจึงเห็นข่าวหลายโรงเรียนที่มีเด็กเล็กใช้รถรับส่งนักเรียน ได้พยายามหาแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเมื่อติดอยู่ในรถว่าต้องทำอย่างไร (ทั้งที่เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่อ่อนด้อยศักยภาพเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้)  หรือจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนและเช็คนักเรียนทุกครั้งที่มาถึงโรงเรียน เป็นต้น        แต่หากวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ความรู้เด็กและจัดทำรายชื่อเด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดนั้นคงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น มิใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการคืออะไร        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเสนอแนวทางป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง ดังนี้           1) มีระบบฐานข้อมูลนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียน รายชื่อคนขับรถรับส่งนักเรียน และเส้นทางเดินรถแต่ละคันที่มีนักเรียนใช้บริการ         2) มีระบบการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนก่อนขึ้นและหลังลงรถรับส่งนักเรียน โดยคนขับรถรับส่งนักเรียนหรือพี่เลี้ยงทุกครั้ง         3) ตรวจเช็คนักเรียนบนรถทุกครั้งหลังจากส่งถึงจุดหมายปลายทาง         4) มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครองและคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดการรับส่งนักเรียน เช่น กลุ่มไลน์ ว่ารับเด็กจากต้นทางและส่งเด็กถึงจุดหมายปลายทางแล้วทุกครั้ง         และ 5) มีการประเมินมาตรการความปลอดภัยบนรถรับส่งนักเรียนทุกเดือนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วแม้จะกำหนดกฎกติกาความปลอดภัยเพียงใด หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ครู ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน ยังไม่ใส่ใจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ปัญหาที่ควรแก้ไขป้องกันได้แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำย้ำรอยเดิม ขอภาวนาให้เหตุการณ์น้องกองบิน เป็นครั้งสุดท้ายของการลืมเด็กนักเรียนในรถรับส่ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 บ้านที่สร้างเสร็จไม่เรียบร้อย อย่าเซ็นรับ

การมีบ้านเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคนทั่วไป การจะมีบ้านสักหลังหากไม่ปลูกสร้างเอง โครงการบ้านจัดสรร โครงการห้องชุดคอนโดมิเนียมก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม แต่การซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะราคาที่ต้องจ่ายออกไปไม่ใช่ถูกๆ ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งการทำสินเชื่อ ทำสัญญาให้รอบคอบ และที่จะพบปัญหาได้บ่อยอีกอย่างหนึ่ง คือ การตรวจรับบ้าน ครั้งนี้มีเรื่องราวเตือนใจมาฝากผู้บริโภค ว่าอย่าเซ็นรับ หากบ้านหรือห้องชุดคอนโดไม่เรียบร้อยตามสัญญา           กรณีคุณนวลฉวี เธอทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านกับโครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง โดยเป็นลักษณะบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ซึ่งคุณนวลฉวีได้วางเงินจองเอาไว้กับโครงการฯ เป็นเงิน 10,000 บาท โดยจะต้องจ่ายเพิ่มในวันทำสัญญาอีก 30,000 บาท          เมื่อโครงการฯ สร้างบ้านเสร็จ ได้ติดต่อให้คุณนวลฉวีเข้าไปตรวจรับบ้าน แต่เนื่องจากคุณนวลฉวีไม่เคยมีประสบการณ์ในการตรวจรับบ้านมาก่อน จึงได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความรู้เกี่ยวกับบ้านมาช่วยตรวจสอบอย่างละเอียด         หลังจากตรวจสอบสภาพบ้าน พบจุดชำรุดบกพร่องหลายจุดที่ต้องแก้ไข คุณนวลฉวีจึงแจ้งความไม่เรียบร้อยดังกล่าวให้ทางโครงการฯ ทราบ และขอให้แก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะเซ็นเอกสาร ตรวจรับบ้าน แต่พนักงานของทางโครงการฯ บ่ายเบี่ยง ขอให้คุณนวลฉวีเซ็นรับบ้านไปก่อน แล้วจะแก้ไขให้ภายหลัง โดยทางพนักงานอ้างว่า “เป็นนโยบายของโครงการฯ หากไม่รีบเซ็นรับก็จะถูกริบเงินทั้งหมด”         คุณนวลฉวีทราบดังนั้นก็เกิดความไม่สบายใจ เกรงจะถูกริบเงินตามคำขู่ จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีที่คุณนวลฉวีได้ว่าจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ในการตรวจรับบ้านมาช่วยดูความเรียบร้อยของบ้านที่สร้างเสร็จนั้น นับว่ามีความละเอียดรอบคอบดี ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ตรงนี้อาจใช้บริการลักษณะนี้เป็นทางเลือกได้ ทั้งนี้ควรถ่ายภาพจุดที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งต้องให้ทางโครงการฯ ดำเนินการแก้ไขให้ครบทุกจุดก่อน แล้วให้ผู้ที่เราจ้างมาช่วยตรวจรับว่าแก้ไขตรงจุดหรือไม่ซ้ำอีกครั้ง         สำหรับกรณีคุณนวลฉวี ศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ทำหนังสือถึงโครงการฯ โดยส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ ให้ทางโครงการฯ รีบเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขตามจุดต่างๆ ให้เรียบร้อย พร้อมนัดวันตรวจรับใหม่ โดยอาจกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้คุณนวลฉวีต้องไม่เซ็นรับบ้านก่อนโดยเด็ดขาด ควรปล่อยให้ทางโครงการฯ ซ่อมแซมจุดชำรุดบกพร่องให้แล้วเสร็จก่อน การที่มาอ้างเรื่องการริบเงินของคุณนวลฉวีเอาไว้ ก็ไม่ต้องกลัวแต่อย่างใด เพราะหากโครงการฯ ริบเงินไป คุณนวลฉวีก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ทันที เรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ซื้อบ้านกำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 หน้าฝนระวังอาการภูมิแพ้เชื้อรา

        ฝนตกหนักน้ำท่วมขังและบ้านที่อับชื้น ไม่เพียงทำให้อารมณ์ไม่สดชื่น มันอาจเสี่ยงกับอาการภูมิแพ้เชื้อราด้วย  ซึ่งคนที่รู้ตัวว่ามีอาการภูมิแพ้อากาศคงไหวตัวทัน เมื่อเริ่มหายใจอึดอัด น้ำตาไหล หรือเกิดหอบหืดกำเริบ แต่หลายคนอาจเพิ่งเริ่มหรือเพิ่งเคยมีอาการ ก็ขอให้ระมัดระวังและเร่งป้องกันก่อนกลายเป็นปัญหาใหญ่        ในสิ่งแวดล้อมมีเชื้อราลอยอยู่ในอากาศทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรคและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เชื้อราบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคได้ถ้าร่างกายอ่อนแอ ปกติคนแข็งแรงมักไม่ก่ออาการ แต่ในคนที่มีอาการภูมิแพ้อาจจะมีอาการน้ำมูกไหล หายใจไม่ออก น้ำตาไหล หอบหืด มีผื่นผิวหนังอักเสบ และมักจะกำเริบในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น เพราะมีเชื้อราเป็นตัวกระตุ้น โดยสปอร์ของเชื้อราสามารถกระจายไปได้ในอากาศ เราจึงควรทราบถึงแหล่งที่มาของเชื้อราเหล่านี้ และพยายามกำจัดให้หมดไปจากบริเวณบ้าน         เชื้อราชอบอยู่ตามที่ชื้นและอับทึบ         ห้องน้ำ ห้องครัวหรือในพื้นที่ส่วนที่ใช้ในการชำระล้าง ต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้แห้ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ปล่อยให้ชื้นแฉะตลอดเวลา        ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นประจำจะเป็นที่ที่มีความชื้นมาก เชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย ควรหมั่นตรวจตราเปิดให้อากาศถ่ายเท ตัวเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้         ตู้เย็น หลายครั้งที่สะสมอาหารไว้เป็นจำนวนมากในตู้เย็นแล้วรับประทานไม่ทัน อาหารบางอย่างก่อให้เกิดเชื้อรา ถ้าพบทิ้งทันที ห้ามรับประทาน วิธีป้องกันง่ายๆ คือ ไม่สะสมอาหารจนรับประทานไม่ทัน        ต้นไม้ ปัจจุบันนิยมปลูกต้นไม้ในบ้านเพื่อช่วยฟอกอากาศ แต่รู้ไหมว่าดินที่ใช้ปลูกก็เป็นแหล่งที่ก่อเกิดเชื้อราได้ ควรวางไว้ในตำแหน่งที่แดดส่องถึง รดน้ำแต่พอชุ่มไม่บ่อยเกินไป แต่หากเป็นผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไม่ควรนำต้นไม้วางไว้ในบ้าน อีกอย่างที่อาจคาดไม่ถึงคือ ดอกไม้ประดับ ดอกไม้บูชาพระ หากเหี่ยวเฉาแล้วควรรีบทิ้งไป ไม่ปล่อยไว้เพราะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้เช่นกัน         สํารวจเชื้อราหลังน้ำท่วม         หน้าฝนหลายบ้านระบายน้ำไม่ทัน น้ำท่วม หลังคารั่ว ควรต้องสังเกตว่ากลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราหรือไม่ อาจทําได้ง่ายมองหาว่า ผนังมีรอยเปื้อนหรือมีลักษณะเชื้อราขึ้นหรือไม่ และวิธีดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราเป็นกลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีเชื้อราควรให้ใช้หลักว่า สิ่งของใดที่ไม่สามารถกําจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้ง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน ซึ่งไม่สามารถชะล้างและทําให้แห้งได้จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา ส่วนผ้าที่เกิดเชื้อราฝังอยู่ หากยังเสียดายต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มด้วยน้ำร้อนก่อนจึงจะนํามาใช้อีก         หลังน้ำลดต้องรีบทําความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุดภายใน 24 - 48 ชั่วโมง อย่าทิ้งไว้จนเกิดคราบรา กรณีเกิดคราบราขึ้นแล้ว ต้องเร่งกำจัด ควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วตามด้วยการขัดล้างด้วยน้ำยา ถ้าเป็นการขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบควรขัดด้วยแปรงชนิดแข็ง น้ำยาฆ่าเชื้อรามีจำหน่ายในท้องตลาดหลายชนิด ชนิดที่หาซื้อง่ายและราคาไม่แพง คือน้ำยาดับกลิ่นไลโซล หรือน้ำยาฟอกฝ้าขาวเช่น คลอร็อกซ์ เป็นต้น ระหว่างทําความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว กรณีกำจัดเชื้อราไม่ออกเป็นคราบฝังแน่นตามผนังควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ทาสีทับ         เชื้อรานอกบ้าน        หลีกเลี่ยงการสูดดมสปอร์ของเชื้อรา ง่ายๆ โดยใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก แนะนำเป็นการสวมหน้ากากอนามัย (จะป้องกันได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากผ้า)        ตรวจร่างกาย         บางคนไม่เคยมีประวัติของโรคภูมิแพ้แต่มีอาการหอบ ไอและเหนื่อยเมื่อถึงฤดูฝน หากสงสัยตัวเอง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเพียงไข้หวัดหรือเป็นโรคภูมิแพ้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้เพื่อตรวจว่าแพ้อะไรบ้าง จากนั้นก็ต้องคอยหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ยามาตามแก้เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น         เราสามารถควบคุมความชื้นได้ โดยอาจจะใช้อุปกรณ์วัดระดับความชื้น เครื่องดูดความชื้น ซึ่งสามารถหาซื้อมาใช้ได้ทั่วๆ ไป แต่ในการเลือกซื้อและนำมาใช้งานก็ควรศึกษาผลให้ดี เพราะในระดับความชื้นที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็สามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่าน “DLT Vehicle Tax”

        กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ต้องลดการเดินทางไม่ไปอยู่ในพื้นที่แออัด ต้องป้องกันตนเองโดยการลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ แถมช่วงนี้ยังต้องช่วยกันรักษาการ์ดไม่ให้ตก เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง ดังนั้นไม่แปลกที่หน่วยงานต่างๆ ยังคงออกเทคโนโลยีมาสนับสนุนบริการในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง         ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มช่องทางการชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่านแอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปีที่มีชื่อว่า “DLT Vehicle Tax” และเปิดบริการตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติที่ชื่อ “Kiosk” เรียบร้อยแล้ว         การชำระภาษีรถด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่งในขั้นตอนแรกต้องลงทะเบียนชื่อ นามสกุล เมล เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ โดยระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้เพื่อให้เข้าไปตั้งรหัส PIN Code ของแอปฯ ต่อจากนั้นให้เลือกปุ่มชำระภาษีรถ จะปรากฎขั้นตอนการชำระภาษี 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เลือกรูปแบบชำระภาษี ขั้นที่ 2 เลือกประเภทรถ ขั้นที่ 3 บันทึกข้อมูลทะเบียนรถ และขั้นที่ 4 บันทึกข้อมูลประกันภัยรถ         ขั้นที่ 1 การเลือกรูปแบบชำระภาษีจะให้เลือกชำระภาษีรถตนเองหรือชำระภาษีแทนเจ้าของรถ โดยจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถนั้น ต่อจากนั้นแอปฯ จะไปขั้นที่ 2 ให้เลือกประเภทรถ 4 ประเภท ดังนี้ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ในกรณีที่เป็นรถที่มีอายุเกิน 7 ปีจะไม่สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ได้         เมื่อไปถึงขั้นที่ 3 จะให้บันทึกข้อมูลทะเบียนรถและจังหวัดของรถ ขั้นสุดท้ายจะให้กรอกรายละเอียดของข้อมูลประกันภัยรถ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วแอปพลิเคชั่นจะให้ QR Code สำหรับนำไปชำระภาษีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ หลังจากชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงเครื่องหมายการเสียภาษีรถชั่วคราวในระหว่างที่รอรับเครื่องหมายฉบับจริง โดยสามารถขอรับเครื่องหมายฉบับจริงได้ 2 วิธี คือ เลือกให้จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือรับเอกสารด้วยตนเองที่ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบก         ทั้งนี้สามารถชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบกได้ ซึ่งทำตามขั้นตอนเหมือนกับแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax แต่จะได้รับเครื่องหมายฉบับจริงทันที      ใครมีรถยนต์ที่ถึงเวลาต้องชำระภาษีประจำปีแล้ว แต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกด้วยตนเอง ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax มาใช้บริการกันดู กดชำระภาษีประจำปีผ่าน DLT Vehicle Tax แล้วทำแค่นั่งรอไปรษณีย์มาส่งถึงที่บ้าน ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยเทคโนโลยีบริการออนไลน์จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 พยากรณ์ซ่อนรัก : มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน...

        “ความลับ” ก็คือ เรื่องบางเรื่องที่ไม่เล่าไม่บอกออกไปสู่สาธารณะ หรือเป็นความจริงที่มิอาจเปิดเผยได้ แต่จริงๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ความลับเองมักพ่วงพามาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของบุคคลผู้เป็นเจ้าของแห่งความลับนั้นๆ ด้วยเหตุฉะนี้ หากใครก็ตามสามารถเข้าไปสัมผัสล่วงรู้ความลับของบุคคลอื่น ก็อาจหมายถึงการเข้าไปละเมิดล่วงยังพรมแดนแห่งอำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลนั้นเช่นกัน         ละครโทรทัศน์เรื่อง “พยากรณ์ซ่อนรัก” เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการตั้งข้อถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งปัจเจกบุคคล         โครงเรื่องหลักของละครดำเนินไปบนตรรกะพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความลับ” อันสะท้อนนัยทางสังคมว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างคนเรานั้น มีลักษณะเหมือนเป็น “เหรียญสองด้าน” ที่พลิกไปมาระหว่างด้านแห่งความเป็น “หน้าฉาก” กับอีกด้านที่เป็น “หลังฉาก”          ในขณะที่ “หน้าฉาก” หรือเสี้ยวส่วนที่คนเรายินยอมเผยให้คนอื่นสัมผัสได้ เพราะเราเองก็มีอำนาจกำหนดเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ “หลังฉาก” ก็คือ ส่วนเสี้ยวที่ความลับถูกซุกซ่อนเก็บไว้ โดยที่เรามิปรารถนาจะให้ใครอื่นมากล้ำกรายสัมผัสถึง         และเพราะความลับเป็นสิ่งที่ปกปิดอำพรางไว้หลังฉากของชีวิตสามัญชนคนทั่วไป เมื่อ “โรสิตา” หรือ “โรส” นางเอกสาวผู้สืบทอดศาสตร์แห่งการพยากรณ์ มีความสามารถเข้าไปล่วงรู้ความลับของบุคคลที่สามอื่นๆ ทำให้เธอต้องเผชิญกับด้านมืดแห่งการเก็บงำความลับที่ใครต่อใครพากันซ่อนเร้นเอาไว้         เนื่องจากศาสตร์แห่งการพยากรณ์ถือเป็นองค์ความรู้ที่ให้คำตอบในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่อาจพิสูจน์ได้ และยังเป็นศาสตร์ที่แตกสายพันธุ์ออกไปได้มากมายหลายประเภท ละครก็เลยเลือกสร้างให้โรสเป็นเทพธิดาพยากรณ์แห่ง “กุพชกศาสตร์” หรือผู้มีความสามารถสื่อสารกับดอกกุหลาบ และใช้ดอกกุหลาบทำนายความลับแห่งโชคชะตาของมนุษย์ได้ ด้วยตรรกะที่โรสได้กล่าวเอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรในโลกที่กุหลาบไม่รู้ อยู่ที่ว่ากุหลาบจะบอกเราหรือเปล่า”         ละครเริ่มต้นเรื่องด้วยฉากงานวันเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของ “พัสสิตา” ที่เชิญโรสให้มาร่วมทำนายดวงชะตาให้กับผู้มีเกียรติในแวดวงชนชั้นนำหลายคนที่ร่วมอยู่ในงาน         ในขณะที่ปุถุชนคนทั่วไปต่างก็มี “ความลับที่ฉันซ่อนไว้ ไม่เคยบอกใคร จนอดใจไม่ไหว” อยู่นั้น ยิ่งหากเป็นกลุ่มคนชั้นนำของสังคมด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้ยิ่งจะ “มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน” และ “เป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้” ทับทวีคูณขึ้นไปอีก         ดังนั้น หลังจากที่โรสเข้าไปพยากรณ์การเลือกดอกกุหลาบ และเข้าไปล่วงรู้บางส่วนแห่งโชคชะตาทั้งในอดีตและในอนาคตของบรรดาเซเลบริตี้หลายคน ชีวิตของโรสก็เลยตกอยู่ในอันตราย เพราะความลับในชะตากรรมของคนชั้นนำเหล่านี้ต่างสัมพันธ์กับผลประโยชน์อันมากมายมหาศาลของพวกเธอและเขา         เริ่มต้นจาก “ไลลา” สาวนักเรียนนอกผู้กลายมาเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก ที่ต้องปกปิดความลับแห่งตัวตนและอัตลักษณ์ว่า อดีตของเธอก็คือ “อีกลอย” สาวอีสานบ้านนอกที่เคยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ และชุบตัวเองได้ดิบได้ดีจนมาเป็นเจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ดัง         คนที่สองคือ “นันทวดี” ภรรยาของ “นายพลวัฒนา” ที่อดีตเคยผลักพี่สาวตกน้ำจนเสียชีวิต เพื่อจะได้ครอบครองหัวใจของท่านนายพลไว้เพียงผู้เดียว ความลับที่อาจถูกเผยออกมาของเธอจึงเกี่ยวพันกับสถานะครอบครัวและชีวิตคู่ที่ช่างไม่มั่นคงแต่อย่างใด         คนถัดมาคือ “รินรดี” ดาราสาวที่หน้าฉากสวมบทบาทเป็นนางเอกที่แสนดี เก่งกล้า มีความสามารถรอบตัว แต่อีกฝั่งฟากหนึ่ง เธอก็มีหลังฉากเป็นอนุภรรยาเก็บของ “ธนพล” สามีนักธุรกิจของพัสสิตาซึ่งเป็นผู้จัดงานเปิดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ครั้งนี้ หน้าฉากและหลังฉากที่เสมือน “คนละโลก” ดังกล่าว แน่นอนย่อมมีผลต่อชื่อเสียงและความมั่นคงทางอาชีพในแวดวงบันเทิงของเธอ         อีกคนหนึ่งก็คือ “วุฒิกร” นักการเมืองระดับรัฐมนตรี ที่แม้ฉากหน้าจะดูเป็นคนที่ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แต่เบื้องหลังกลับกลายเป็นชายโฉดที่ใช้มูลนิธิบ้านสงเคราะห์เยาวชนเป็นแหล่งหาเด็กผู้หญิงมาปรนเปรอทางเพศ ความลับเรื่องการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กหญิงที่อาจถูกเผยออกมา ก็ย่อมทำให้อำนาจและตำแหน่งทางการเมืองของเขาสั่นคลอนได้         และคนสุดท้ายก็คือธนพล นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพื่อผลประโยชน์แล้ว เขาสามารถทำทุกอย่างได้ ตั้งแต่หลอกลวงภรรยา ไปจนถึงลอบฆ่า “ครูสมปอง” ผู้ที่ล่วงรู้ความลับว่า นายทุนใหญ่รายนี้คอยเป็นนายหน้าจัดส่งเด็กผู้หญิงป้อนบำเรอกามารมณ์ของรัฐมนตรีวุฒิกร เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนทางธุรกิจของตน         ตัวละครในกลุ่มคนชั้นนำมากมาย ต่างก็มีความลับที่สัมพันธ์กับอำนาจและผลประโยชน์ เพราะกว่าที่พวกเธอและเขาจะขึ้นมามีฐานะทางเศรษฐกิจและทุนสัญลักษณ์ชื่อเสียงหน้าตา หน้าตักของคนกลุ่มนี้ก็สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อโรสมีนิมิตหยั่งรู้ความลับที่ปกปิดไว้ ก็เท่ากับไปสร้างแรงกระเทือนต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ที่วางแผนไล่ล่าเพื่อปิดปากนางเอกของเราในทุกวิถีทาง        และที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่โรสเข้าไปสัมผัสรู้ชะตาชีวิตของผู้อื่น แต่อีกด้านหนึ่ง แม้แต่ตัวเธอเองก็มีความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อ “ธีรุตม์” พระเอกของเรื่องเลือกหยิบดอกกุหลาบมาให้โรสเสี่ยงทาย โรสก็ไม่เพียงแต่ได้เห็นชะตาชีวิตของเขา หากยังสัมผัสถึงความลับแห่งอนาคตที่ชายหนุ่มผู้นี้ได้ถูกลิขิตให้กลายมาเป็นคู่ชีวิตของเธอในฉากจบ         ในขณะที่แก่นแกนของละคร “พยากรณ์ซ่อนรัก” ดูจะยืนยันในประโยคที่ตัวละครทั้งหลายต่างพูดย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า “ไม่มีใครหนีโชคชะตาพ้น แม้แต่กับคนทำนายโชคชะตา” และบทบาทของผู้พยากรณ์ดวงชะตาก็ต้องยืนอยู่บนหลักการที่ว่า “คนเราเปลี่ยนแปลงโชคชะตาไม่ได้ แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้” แต่คู่ขนานกันไปกับความคิดดังกล่าว ละครก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความลับที่ไม่ลับช่างมีความหมายบางอย่างแฝงฝังอยู่มากมาย         อันที่จริง คนไทยสมัยก่อนเคยให้คำตอบเรื่องความลับเอาไว้ว่า “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด” หรือ “หากน้ำลดเดี๋ยวตอก็จะผุดขึ้นมาเอง” เพราะ “ความลับย่อมไม่มีในโลก” แต่ถึงที่สุดแล้ว ตราบใดที่ความลับของบุคคลมีผลประโยชน์กำกับเอาไว้เป็นเบื้องหลัง ตราบนั้นเจ้าของความลับที่ยิ่งเป็นคนชั้นนำที่อยู่ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งตนเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ ‘สารกันบูด – ปริมาณไขมัน’ ในน้ำสลัดครีม แนะควรเลือกแบบไขมันต่ำ เพื่อไม่ให้ไขมันต่อวันเกิน

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูดและปริมาณไขมันในสลัดครีม 17 ตัวอย่าง พบสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 ตัวอย่าง และมีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อ แนะผู้บริโภคอ่านข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย ปริมาณโซเดียมและไขมัน ฉลาดซื้อแนะควรดูปริมาณไขมันก่อนรับประทาน         วันนี้ (5 ต.ค.63) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบปริมาณวัตถุกันเสีย และปริมาณไขมัน ในผลิตภัณฑ์สลัดครีม 17 ตัวอย่าง ที่สุ่มเก็บจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าทั่วไปใน กทม.         โดยจากผลตรวจปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch)  ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม         ในขณะเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สลัดครีม 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 569.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ 1,233.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         น้ำสลัดสูตรดั้งเดิมรวมถึงที่ปรับเป็นสไตล์ญี่ปุ่นจะมีความอร่อยทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม สูตรที่มีความดั้งเดิมสูงจึงมีไขมันในปริมาณสูง ทั้งนี้ การบริโภคสูตรที่มีปริมาณไขมันสูงที่สุดคราวหนึ่งจะได้รับไขมันถึงประมาณ 15 กรัม คิดร้อยละ 69 ของไขมันที่ควรกินไม่เกินในมื้อนั้น ซึ่งก็คงต้องระมัดระวังไขมันจากอาหารอื่นในมื้อนั้นไม่ให้สูงมาก ดังนั้น การเลือกกินสูตรที่ปริมาณไขมันต่ำกว่า ย่อมให้โอกาสกินอาหารอย่างอื่นได้มากขึ้น อย่างไรก้ตาม บนฉลากน้ำสลัดส่วนใหญ่ระบุว่าใช้น้ำมันถั่วเหลืองทำให้ตัดข้อกังวลเรื่องไขมันอิ่มตัวที่อาจได้รับมากเกินไปได้         ทั้งนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่าง ๆ อยู่ที่ 30 กรัม โดยผู้บริโภคสามารถอ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3452

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อพบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ

        วันนี้ (25 กันยายน 2563 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอตจำนวน 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33  หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมด ใน 6 จังหวัด  โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม         ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่        1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม          ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้สนับสนุน ให้ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 รายการ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ยกเลิกไปจำนวน 2 รายการ คือ พาราควอต และคลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ ไกลโฟเสต          องค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันรณรงค์และประสานงานองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคเดินหน้าการยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้ง 3 รายการ และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรในอาหารโดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)         นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์เราพบสารพาราควอตแม้ว่าจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้น  เป็นปูนาที่มีการปนเปื้อนสารเคมีประเภทพาราควอต จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะมีการห้ามการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลของ “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา ตามที่เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา และใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (28 กันยายน) ทั้งที่ข้อเท็จจริงการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็มที่ใช้ในการทำส้มตำในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังไม่เคยทำการทดสอบน้ำปูหรือน้ำปู๋อาหารของคนไทยภาคเหนือตามที่อ้าง         วันนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยืนยันว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ของ 5 จังหวัด  จาก 6 จังหวัด มีการตกค้างพาราควอตถึง 1 ใน 3 จาก 24 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่ได้ทำการทดสอบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสารพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน มีอันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งเป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าประเทศ รวมทั้งยังใช้การกดดัน การจ้างมืออาชีพล็อบบี้ เจรจา ให้กระทรวงเกษตร ฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง         องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอคัดค้านให้มีการทบทวนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส โดยขอให้คงมติการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดและเร่งดำเนินการเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค         นางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำปูหรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น วิธีการทำน้ำปูนั้นชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำ กรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียว เป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น สำหรับผู้บริโภคหากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบพาราควอต พบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีอื่นๆ ข้อมูลเพิ่มเติม : นิตยสารฉลาดซื้อ 02 248 3737 ต่อ 127-129

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 234 ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

        กลับมาแล้วจ้า ผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์ซีท) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้โดยเก็บตัวอย่างคาร์ซีทรุ่นยอดนิยมที่วางตลาดในยุโรปในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 คราวนี้ให้เลือกพิจารณากัน 19 รุ่น โดยการทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง คะแนนรวมคิดจากคะแนน 3 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัย ได้แก่ ประสิทธิภาพการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น (ร้อยละ 50) ความสะดวกในการใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้ง√ใช้งาน√ปรับระยะหรือขนาด√ทำความสะอาด (ร้อยละ 40)การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น (ร้อยละ 10)นอกจากนี้ยังตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก เป็นต้น         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบคราวนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 6,000 ยูโร (ประมาณ 222,000 บาท) โดยเฉลี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 ปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รี

        แยม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ นิยมนำมาทาบนขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (spreads) หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้ายหรือทาบนขนมปังที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลายครั้งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในแยมที่วางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีปริมาณของเนื้อผลไม้อยู่สักแค่ไหน ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงค้นหาข้อมูลตรงนี้มาฝากผู้บริโภค โดยเราเลือกผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในบรรดาแยมรสต่างๆ         เราซื้อผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รีจำนวน 34  ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป นำมาพิจารณาสัดส่วนของเนื้อผลไม้หรือเนื้อสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้แจ้งไว้บนฉลากว่ามีปริมาณเท่าไร พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม (บางผลิตภัณฑ์แสดงเป็น มิลลิลิตร)            มาดูกันว่า แยมสตรอว์เบอร์รียี่ห้อไหน ให้เนื้อสตรอว์เบอร์รีเยอะสุด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผลทดสอบโลหะหนัก ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 231 (เดือนพฤษภาคม 2563) ได้สำรวจและทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋องไปแล้ว และเพื่อเฝ้าระวัง “ปลากระป๋อง” อาหารคู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ในฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศบ้าง         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินทั่วไปจำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลาก ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์แสดงในหน้าถัดไป         สรุปผลการทดสอบ         พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*         ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน         *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา           โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน  ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง         พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม)         และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)         ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม  คำแนะนำในการบริโภค         แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        สำหรับการเลือกซื้อปลากระป๋องนอกจากการอ่านข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ เช่น สถานที่ผลิตที่น่าเชื่อถือ เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) สังเกตวันหมดอายุแล้ว ยังควรตรวจดูสภาพของกระป๋องว่าไม่บุบ โป่ง บวม มีรอยรั่ว หรือเป็นสนิม        ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้        นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ   (https://news.thaipbs.or.th/content/254561) - บทความ Histamine, กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง  (https://www.fisheries.go.th/quality/บทความ-Histamine-300658-Final.pdf) - ปลาซาร์ดีน (Sardine), ฐานข้อมูลงานวิจัยปลาทูน่าและปลาซาร์ดีน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)     (http://agknowledge.arda.or.th/tuna&sardine/?page_id=264)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กระแสต่างแดน

มันจะมากไปแล้ว        ปัจจุบันร้อยละ 20 ของเด็กมัธยมฯ ในอังกฤษเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน รัฐบาลจึงตั้งเป้าจะดึงตัวเลขดังกล่าวลงมาให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 และแผนแรกที่จะลงมือคือการเรียกเก็บภาษีจากอาหารที่มีไขมันสูงคาดการณ์ว่าภาษีอาหาร “มันจัด” ในอัตราร้อยละ 8 นี้จะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขได้ถึง 66,000 ล้านปอนด์ต่อปี เป็นที่รู้กันดีว่าโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคอื่นๆ และในกรณีของโควิด-19 คนที่มีโรคอ้วนจะติดไวรัสง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้มีภาวะโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด-19 กำลังเตรียมประกาศเปิดตัวแอปฯ ช่วยลดน้ำหนัก ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดฟรี และสั่งแบนโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดช่วงก่อนสามทุ่มด้วยรายได้จากภาษีนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนในอัตราหัวละ 21 ปอนด์ (ประมาณ 900 บาท) ต่อสัปดาห์เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่รับใบเสร็จ        ทุกวันนี้เวลาจะซื้อภาชนะใส่น้ำใส่อาหาร เราจะมองหาสัญลักษณ์ที่บอกว่าปราศจาก BPA (บิสฟีนอลเอ) เพื่อความปลอดภัย แต่เรื่องยังไม่จบเพราะในภาชนะบรรจุอาหาร/เครื่องดื่มกระป๋อง (ที่เราหลายคนต้องพึ่งพาในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้าน) ก็มีสารนี้เคลือบอยู่เช่นกันนอกจากขวดโพลีคาร์บอเนต (พลาสติกชนิดแข็ง) บรรจุน้ำที่สามารถปล่อย BPA ลงน้ำดื่มได้แล้ว อีกอย่างที่เราลืมระวังคือใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษร้อน ซึ่งก็คือใบเสร็จทั่วไปที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สำคัญสารที่ว่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่าเมื่อเราใช้เจลแอลกอฮอลล้างมือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การสุ่มตรวจปัสสาวะของผู้ใหญ่ในอเมริกา พบการปนเปื้อนแทบทุกตัวอย่าง ในขณะที่งานวิจัยล่าสุดก็พบว่าคนที่มีปริมาณ BPA ตกค้างในปัสสาวะสูง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 10 ปี มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 49 วิกฤติอเมซอน         องค์กร Igarape Institute ของบราซิล ซึ่งติดตามสำรวจคดีสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอเมซอนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยตัวข้าราชการเช่น ตำรวจ ทนาย เจ้าหน้าที่ศุลกากร และนักการเมืองที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการทำลายป่าโดยอาชญากรและเครือข่ายธุรกิจมืด  ปีนี้ในบราซิลมีการทำลายป่ามากขึ้นร้อยละ 34 และหากคุณซื้อเนื้อวัวในตลาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเนื้อดังกล่าวมาจากวัวที่เลี้ยงในพื้นที่ๆ รุกป่า แต่ความซับซ้อนในสายการผลิตทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่แท้จริงองค์กรนี้ยังระบุว่า แม้บราซิล โคลอมเบีย เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ กายอานา ซูรินาม และเวเนซูเอลา จะมีสนธิสัญญาความร่วมมืออเมซอนมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะไม่เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก อีกทั้งหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศก็ไม่จริงจังกับการติดตาม สืบสวน ฟ้องร้อง หรือลงโทษผู้กระทำผิดข้อมูลจาก MapBiomass ระบุว่าร้อยละ 90 ของการตัดไม้ในเขตอเมซอน เป็นการตัดอย่างผิดกฎหมาย เร็วกว่า ราคาเดิม        การรถไฟอินเดียตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อปีให้ได้ 15,000 ล้านรูปี (ประมาณ 65,000 ล้านบาท) โดยไม่ขึ้นค่าโดยสารสิ่งที่เขาจะทำคือรื้อตารางการเดินรถใหม่ หมายความว่าจะมีการยกเลิกรถไฟประมาณ 500 กว่าเที่ยว ซึ่งวิ่งผ่านกว่า 10,000 สถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มเที่ยวขบวนรถสินค้าร้อยละ 15 ในเส้นทางที่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ รวมถึงการใช้ความเร็วในขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้วยนอกจากนี้ยังมีแผนจะยกเลิกรถไฟเที่ยวที่เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้วมีผู้โดยสารน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่ง รวมถึงการไม่กำหนดป้ายหยุดในระยะ 200 กิโลเมตรสำหรับรถทางไกล เว้นแต่จะเป็นเมืองใหญ่แผนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ทันทีที่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และอินเดียกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้การรถไฟอินเดียเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ก็คือภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศนั่นเอง แต่จะได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป ต้นทุนที่แท้ทรู        งานวิจัยโดยห้างค้าปลีก Penny ในเยอรมนีพบว่า ราคานม เนื้อสัตว์ และชีสในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากการผลิตอาหาร และหากคนรุ่นเราไม่จ่าย ต้นทุนนี้ก็จะตกเป็นของคนรุ่นต่อไปตัวอย่างเช่น ราคาเนื้อบดครึ่งกิโลกรัมที่ขายอยู่ 2.79 ยูโรนั้น หากคำนวณโดยนำปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมถึงพลังงานที่ใช้ มารวมกับต้นทุนปกติ จะมีราคาถึง 7.62 ยูโร (แพงขึ้นร้อยละ 173) เช่นเดียวกับนมวัวที่จะแพงขึ้นร้อยละ 122ในขณะที่ผักผลไม้แพงขึ้นไม่ถึงร้อยละ 20 รวมถึงหากเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงแบบออกานิกราคาก็จะแพงขึ้นจากเดิมร้อยละ 126 เท่านั้น อาหารมังสวิรัตและออกานิกจึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะห้าง Penny สาขาในเบอลินก็เริ่มทดลองติดป้ายแสดงทั้งราคาปกติ และราคาแบบ “ร่วมรับผิดชอบ” ในสินค้าเฮาส์แบรนด์บางชนิด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ... ผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (จบ)

        เรายังอยู่กับเรื่อง ‘หนี้’ ปัญหาคับอกคับใจคนจำนวนมาก ตอนก่อนๆ หน้านั้น เราจำแนกหนี้ดีกับหนี้เสียกัน จนถึงขั้นตอนแรกของการปลดหนี้ นั่นก็คือการหยุดก่อหนี้เพิ่ม         ลำดับต่อมาคือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อน         ฟังดูงงๆ หมายความว่าคุณต้องสำรวจหนี้สินแต่ละก้อนว่าก้อนไหนสร้างภาระดอกเบี้ยมากที่สุด เพื่อหยุดวงจรดอกทบต้น ต้นทบดอกไม่จบสิ้น และก้อนนี้เป็นหนี้ที่คุณควรจัดการก่อนเป็นอันดับแรก         การเรียงลำดับความสำคัญการชำระหนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือสถาบันการเงิน อย่ากลัวหรือคิดไปเองว่าหนี้สถาบันการเงินไม่อาจผ่อนผันได้ อย่างไรเสีย สถาบันการเงินก็ต้องการให้เราผ่อนชำระหนี้ให้หมด แทนที่จะปล่อยให้เป็นหนี้เสีย เมื่อส่วนนี้ลุล่วงก็มาถึงขั้นต่อไปว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้?         แน่นอนว่าต้องเป็นเงินที่เราทำมาหาได้ ขั้นตอนนี้มี 2 สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หนึ่ง-การลดรายจ่าย และสอง-การเพิ่มรายได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณเงินที่จะนำไปใช้หนี้ แยกแยะระหว่าง ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็หาช่องทางสร้างรายเสริมอื่นๆ จากทักษะความรู้ที่มี เช่น เป็นติวเตอร์ การทำขนม และอื่นๆ อีกมากมาย ไปจนถึงการลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็คล้ายกับการออกกำลังกายนั่นแหละ เพราะมันจะช่วยให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตและยังช่วยเพิ่มทักษะด้านการจัดการและการทำธุรกิจ         ต่อมา วางแผนการปลดหนี้ เช่น ถ้าคุณมีหนี้อยู่ 3 ก้อน รู้แล้วว่าก้อนไหนมีภาระดอกเบี้ยมากที่สุดคุณต้องจัดการก้อนหนี้นี้ก่อน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ชำระหนี้อีก 2 ก้อนเลย การเจรจากับเจ้าหนี้ถึงได้สำคัญ คุณอาจผ่อนหนี้ 2 ก้อนหลังลดลงก่อน วางเป้าหมายว่าจะชำระหนี้ก้อนแรกให้จบภายในเวลาเท่าไหร่ เช่น ภายใน 18 เดือน เมื่อมีเป้าหมายชัด คุณจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเอาเงินบางส่วนไปใส่ไว้ที่ไหนเพื่อให้เงินงอกเงยแล้วนำกลับมาชำระหนี้ภายหลัง ต้องหารายได้เสริมต่อเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ         การกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่ายังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ไม่ถือเป็นกฎตายตัว มันต้องห้ามกรณีรูดบัตรใหม่มาโปะบัตรเก่าและกรณีกู้นอกระบบ ซึ่งยิ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตทางการเงินที่ควรหลีกเลี่ยง                 โชคดีที่โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการ ‘รีไฟแนนซ์’ (Refinance) ซึ่งมักจะใช้ในกรณีการกู้ซื้อบ้าน จริงๆ มันก็คือการกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าโดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักประกัน โดยทำผ่านสถาบันการเงิน ใช่ว่ามันไม่ได้ทำให้หนี้หายไป มันเพียงทำให้หนี้เก่าที่มีภาระดอกเบี้ยสูงจบ แล้วคุณไปจ่ายหนี้ก้อนใหม่ให้กับสถาบันการเงินด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลง       เมื่อหนี้ก้อนแรกจบ หมายความว่าคุณจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เงินที่จะใช้ชำระหนี้ก้อนต่อมาก็จะเพิ่มขึ้นและจบหนี้ก้อนนี้ได้เร็วขึ้นอีกเป็นวงจรไปเรื่อยๆ บางคนเรียกวิธีนี้ว่า สโนว์บอล (snow ball) จากเงินใช้หนี้ก้อนเล็กๆ หากวางแผนและจัดการดีๆ มันจะขยายใหญ่ขึ้น เหมือนลูกบอลหิมะที่ไหลลงจากเขา       หลังจากปลดหนี้แล้ว อย่าลืมรักษาวินัยทางการเงินและเลี่ยงการเป็นหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง

        ปัญหาบอส กระทิงแดง ทำให้ย้อนกลับมาคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นอกเหนือจากตำรวจและอัยการ ที่ต้องการปฏิรูป ลดขั้นตอน สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การฟ้องศาลยังเป็นเรื่องยุ่งยากต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  คดีผู้บริโภคมีผู้ประกอบการฟ้องคดีมากกว่าผู้บริโภคดำเนินการฟ้องเอง จนถูกข้อครหาว่าช่วยทวงหนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังเป็นความจริง ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากฎหมายได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั่นคือ“พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551” ที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคเรียกว่า“กฎหมายช่วยฟ้อง”          หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองกล่าวคือเมื่อถูกละเมิดสิทธิสามารถเอาหลักฐานความเสียหายที่มีไปศาลฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องจากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย         กฎหมายช่วยฟ้องยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการโดยกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบการ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ         ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองโดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานของคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิตตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค         สามารถมีคำพิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้ผู้ถือหุ้นมาร่วมรับผิดชอบ มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดกฎหมายซ้ำหรือยุติการเอาเปรียบผู้บริโภค เท่ากับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ การฟ้องคดีไม่ใช่การตั้งรับเยียวยาความเสียหายเพียงอย่างเดียว โดยสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท และมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าจริงจากบทเรียนกรณีการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้จันทบุรีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งเพื่อการลงโทษที่ชัดเจน https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/public-society/4256-611004van.html         ผู้บริโภคสามารถทำได้จริงเมื่อใช้สิทธิกับผู้ประกอบการแล้วไม่สำเร็จ เช่นตัวอย่างฟ้องร้านทองของผู้บริโภคที่รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำกำหนด บริการส่งอาหารไม่เป็นธรรม ซื้อที่นอนออนไลน์แล้วถูกฉ้อโกง สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา ใช้บริการรถโดยสารแล้วประสบอุบัติเหตุ จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใช้บริการโรงพยาบาลแล้วราคาแพง หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ         หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรม ฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมมากขึ้นกับผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยกันตรวจสอบว่าทำได้จริงมั้ย เพื่อช่วยป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นระบบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยฟ้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 คัดค้านแพทย์สภาเรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย

        ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีตาข้างนึงมีปัญหาความดันตาสูง และต้องได้รับการฉีดก๊าซเพื่อทำการรักษา         วันที่ไปรับการรักษา ช่วงเช้าได้รับการตรวจตาตามนัด เนื่องจากติดพักกลางวัน แพทย์เลยให้ไปพักกลางวันทานอาหารก่อน แล้วค่อยมาฉีดก๊าซในตอนบ่าย         ตอนบ่ายกลับมาฉีดก๊าซตามที่แพทย์แจ้ง ก็พบว่า ตอนจะฉีดก๊าซผู้ป่วยถูกปิดตาอีกข้างที่ไม่มีปัญหา ก็ได้ถามคนไข้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไรทำไมไม่แจ้งแพทย์และพยาบาลว่าปิดผิดข้าง ซึ่งคนทั่วไปจะคิดว่า นั่นซิแล้วทำไมคนไข้ไม่บอก คำตอบที่ได้รับจากคนไข้หลังจากถาม คนไข้บอกว่า ที่ไม่บอกเพราะคิดว่าการฉีดก๊าซจะต้องทำจากอีกข้างไปสู่อีกข้าง เป็นวิธีการของแพทย์ในการรักษาต้องใช้เทคนิคแบบนั้น และยังคิดว่าแพทย์ยังจำได้ว่าตนมีปัญหาตาข้างไหนเพราะเพิ่งตรวจไปกับแพทย์ตอนเช้า         สุดท้ายผู้ป่วยตาบอดทั้งสองข้างเพราะฉีดก๊าซผิดข้าง ผู้ป่วยรายนี้มีอาชีพขับรถรับจ้างทั่วไป และทุกวันต้องขับรถพาภรรยาไปขายขนมที่ตลาด เมื่อตาบอดทำให้ไม่สามารถขับรถได้ ไม่ได้ทำงาน ภรรยาก็ไปขายของไม่ได้ เดือดร้อนมาก ลูกสาวมีครอบครัวอยู่คนละจังหวัด ลูกสาวไปบ้านเพื่อนซึ่งกำลังคุยกับนักกฎหมาย เลยมีโอกาสพบกับนักกฎหมาย นักกฎหมายแนะนำให้คุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นสาเหตุให้มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยเพื่อเยียวยาความเสียหาย         ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ในข้อ 2 ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ “ที่เป็นจริงและอยู่ในความรับรู้” ของผู้ป่วยแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะได้รับทราบข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้การรักษาพยาบาลและป้องกันมิให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง         เฉพาะข้อนี้อย่างเดียว หากมีการฟ้องร้องกันก็ทำให้ผู้ป่วยยากที่จะต่อสู้แล้ว ว่าทำไมไม่แจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีปัญหาตาอีกข้าง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และการพยาบาลก่อนการฉีดก๊าซจะต้องตรวจสอบชื่อนามสกุล ว่าถูกคนมั้ย ตรวจสอบต่อไปว่าถูกข้างมั้ย เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการให้บริการทางการแพทย์         แน่นอนหากเรามองกรณีโควิด19 ที่ผู้ป่วยไม่ยอมแจ้งข้อมูลว่า เกี่ยวข้องกับคนที่ติดเชื้อโควิด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและต้องกักตัวนานถึง 14 วัน เป็นปัญหาต่อบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ต่อระบบสาธารณสุข แต่เรื่องนี้หากมองให้รอบคอบเราสามารถใช้กฎหมายควบคุมโรคระบาด หรือแม้แต่ พรบ.ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้กับผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผย โดยไม่จำเป็นต้องออกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อกรณีอื่นๆอีกหลายกรณี         ยังไม่รวมถึง หน้าที่ของผู้ป่วยในการเอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเห็นว่า ไม่อาจทำตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ทราบโดยทันที เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ซึ่งการรักษาแต่ละครั้งไม่ต้องอ้างว่าจะถาม แค่เวลาในการซักถามเรื่องการรักษายังทำได้ยาก แถมยังถูกหมั่นไส้เอาอีกด้วย         เพียงสองข้อ ที่ยกตัวอย่างสะท้อน การขาดความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้แต่การใช้สารเคมีทางการเกษตร อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของแพทย์และคนไข้ คนไข้อายุ 60 ปี ต้องยกมือไหว้แพทย์ อายุ 30 ปีก่อนทุกครั้งนั่นเป็นคำตอบอย่างดีว่าทำไมผู้ป่วยและผู้บริโภคต้องคัดค้านและต้องหาทางยกเลิกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย หรือถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องออกประกาศหน้าที่ของแพทย์อันพึงปฏิบัติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วยกันหยุดการทำมาหากินกับการป่วยออนไลน์

        ประชาชนจำนวนมาก หากเทียบเคียงในอดีต คงไม่แตกต่างจากขบวนการขอทานที่ตัดแขนตัดขาเด็กเพื่อขอทานตามสถานที่สาธารณะ จะแตกต่างกันเพียงการใช้ระบบดิจิทัลเท่านั้น รับรู้ประเด็นข่าวได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วมากกว่าระบบแบบเดิม             ภาพเด็กป่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคมไทยได้เป็นอย่างมากในการขอรับบริจาค ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความไม่เชื่อมั่นบางอย่างในระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศ การใช้เงินในการรักษาพยาบาลช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่ทุกคนที่ป่วยควรเข้าถึงการรักษาได้ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละคน ไม่ว่าระบบราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทอง         ความไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลที่รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลในระบบอื่นๆ โดยทุกคนจะได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาตามทะเบียนบ้านกับหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีระบบที่ชัดเจน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การขอย้ายสิทธิ โดยที่สิทธิประโยชน์รองรับการรักษาโรคทุกโรคตามมาตรฐาน ทั้งนี้ในแต่ละปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการรับฟังความเห็นเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันฯ ให้ครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนตรวจสอบสิทธิการรักษาของตัวเองด้วยการโทรสอบถามที่สายด่วน สปสช. โทร 1330         ถึงเวลาที่ภาครัฐควรทบทวนการสร้างระบบการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะเชื่อว่าเวลาที่เราป่วย เราต่างต้องการบริการ การตรวจหรือยาที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี หากได้รับบริการสุขภาพมาตรฐานเดียวกันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการไปรับบริการ         การระบาดของโควิด19 ในปัจจุบัน บริการสาธารณสุขที่ทุกคนได้รับเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งประเทศเหมือนการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน แต่การรักษาโรคเรื้อรังและการเจ็บป่วยอื่นๆ ยังมีหลายมาตรฐานนี่คือสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาในฐานะที่เป็นมนุษย์         กรณีข้างต้นนี้ทำให้เราเรียนรู้ร่วมกันว่า สังคมปัจจุบันทำให้เรารู้จักเพื่อนออนไลน์มากกว่าเพื่อนข้างบ้าน คนเก็บขยะ คนกวาดถนนที่เราเห็นทุกวัน การช่วยเหลือปันน้ำใจทำได้ทุกที่ทุกแห่ง และโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ชุมชนหรือสังคมใกล้ตัว ไม่จำเพาะออนไลน์ที่เราตรวจสอบได้ยากยิ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องมั่นใจว่าการบริจาคนั้นผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เราเชื่อถือซึ่งมีอยู่มากมาย ที่สำคัญการบริจาคควรจะเป็นเรื่องการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของคนที่ป่วยหรือคนดูแลมากกว่า ที่เขาอาจจะไม่ได้ทำงานหรือรักษาตัวจนตกงาน หรือเราต้องช่วยผลักดันให้รัฐมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเรื่องบำนาญแห่งชาติ ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า การบริจาคเหมือนการให้ทานให้ไปแล้วถือว่าจบ แต่ต้องไม่ส่งเสริมให้เกิดการฆ่าชีวิตเพื่อรับบริจาค หรืออย่างน้อยเราไม่เป็นฟันเฟืองสนับสนุนให้ทำแบบนี้ได้อีกต่อไปกรณีเหตุการณ์หญิงสาวรายหนึ่งขอรับบริจาค โดยอ้างว่าลูกป่วยด้วยโรคที่หายาก จนได้รับเงินบริจาคจาก

อ่านเพิ่มเติม >