ฉบับที่ 252 ส่งผลไม้กับบริษัทขนส่ง คนสั่งไม่ได้กินเพราะเหลือแต่เปลือกอยู่ในกล่อง

        การสั่งผลไม้จากสวนเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกร รายได้ก็เข้าเกษตรกรโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพียงแต่การส่งสินค้าจำต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค        ภูผา เป็นเจ้าของสวนมังคุดชื่อดังย่านประจวบคีรีขันธ์ เขาส่งมังคุดให้ลูกค้า จำนวน 4 กล่อง โดยใช้บริการขนส่งของ บริษํทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกค้าของเขาแจ้งมาว่า ได้รับสินค้าแล้ว แต่ว่ากล่องมังคุดที่ส่งมาชำรุด และพบว่าเหลือแต่เปลือกมังคุดอยู่ในกล่อง เขาจึงให้ลูกค้าถ่ายรูปกล่องที่ชำรุดและเปลือกมังคุดมาให้เขา เมื่อได้รับหลักฐานจากลูกค้าแล้ว ภูผาจึงสอบถามไปยังบริษัทฯ  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความรับผิดชอบ แต่ทางบริษัทฯ ตอบเขามาว่าจะชดเชยให้เฉพาะค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายตามจริงเท่านั้น ไม่รับผิดชอบค่าขนส่ง เขาจึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าเสียโอกาส และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทคู่กรณีคุณภูผา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมี           ต่อมาทางบริษัทขนส่งคู่กรณีทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังมูลนิธิฯ และเสนอชดเชยค่าสินค้าและค่าบริการขนส่งให้ผู้ร้องตามที่เสียหายจริง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,482 บาท ซึ่งคุณภูผายอมรับตามข้อเสนอของทางบริษัทฯ แต่ก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้เสียเวลาใช้สิทธิในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคก็ควรได้รับการคุ้มครองทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนลวกขา

        เรื่องราวจากข่าวที่เกิดขึ้นในกระแสโซเชียลที่ผ่านมา สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนที่มีหญิงวัย 47 ปี  เข้าใจผิดคิดว่าถุงทำความร้อนเป็นซองเครื่องปรุงและได้รับประทานเข้าไป จนเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และอาเจียนนั้น ทำให้คุณน้ำตาลนึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับเธอเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนเจ้าปัญหานี้ทันที         คุณน้ำตาลได้มาเล่าเรื่องราวให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่าเมื่อปีที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้เธอฝึกงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งทุกเย็นหลังเลิกงานจะแวะเข้าร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ข้างบริษัททุกวันก่อนกลับบ้าน วันเกิดเหตุเธอก็เข้าไปเลือกซื้อของในมินิมาร์ทแบบทุกวันเดินดูของไปเรื่อยๆ และไปสะดุดกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนทันที เธออยากจะลองซื้อมากินบ้าง เพราะเห็นว่าในอินเทอร์เน็ตมีรีวิวที่น่าสนใจและเป็นกระแสอยู่ จึงได้ตัดสินใจลองซื้อมา 1 ถ้วย         เมื่อถึงบ้านเธอรีบนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนออกมาทันที อ่านฉลากและวิธีการรับประทานว่าต้องทำอย่างไร และทำตามขั้นตอนที่มีระบุอยู่บนถ้วยร้อนทุกขั้นตอนไม่ผิดพลาด แต่พอน้ำในถ้วยเริ่มร้อนอยู่ๆ ถ้วยร้อนก็ตกมาจากโต๊ะทำให้น้ำที่อยู่ในถ้วยลวกขาเธอเกือบทั้งขา เธอบอกว่าตอนนั้นเธอตกใจและกรีดร้องดังมากเพราะน้ำจากถ้วยบะหมี่มันร้อนมาก พอเธอได้สติเธอก็พบว่าโต๊ะที่เธอวางถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นโต๊ะกระจก คาดว่าความร้อนในถ้วยร้อนนั้น ร้อนจนทำให้แผ่นกระจกของโต๊ะแตกลงมาจนถ้วยร้อนหกลวกขา          ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ฉลากไม่มีคำเตือนลักษณะนี้ ซึ่งเธอคิดว่าทางผู้ประกอบการควรจะมีป้ายฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภคไว้สักหน่อย เพราะหากมีใครที่ไม่รู้เหมือนกรณีของเธออาจจะต้องเจ็บตัวแบบเธอก็เป็นได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลไม่ได้อยากเรียกร้องอะไร เพียงแต่ว่าอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังเพื่อเตือนผู้บริโภคด้วยกันให้ระวังไว้ เนื่องจากเรื่องราวของคุณน้ำตาลเป็นเรื่องที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว จึงไม่ได้ติดใจอะไร แต่หากผู้บริโภคบางรายเจอปัญหาดังกล่าวแบบเธอก็สามารถร้องเรียนกับทางผู้ประกอบการได้ทันที นอกจากนี้ คุณน้ำตาลอยากให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำเตือนให้กับผู้ประกอบการว่าควรจะมีรายละเอียดที่ครบถ้วนในฉลากและชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ถุงเท้า 1 แถม 1 ที่ราคาไม่ตรงกับป้ายที่ติดไว้

        ผู้บริโภคคงเคยเจอเหตุการณ์ร้านค้าขายสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคาที่แจ้งไว้ แล้วได้จัดการปัญหานี้อย่างไรหรือว่าปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ผ่านไป ถ้าเราอยากจัดการปัญหาลองมาดูกันสิว่าผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์แบบนี้เขามีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร         คุณจันจิราพนักงานบริษัทผู้แข็งขันได้รับมอบหมายให้จัดประชุมกรรมการบริหารของบริษัท จึงไปเตรียมการจัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องพักเธอนำเสื้อผ้าออกจากประเป๋า เพื่อเตรียมชุดสำหรับประชุมวันรุ่งขึ้น แต่กลับพบว่า เธอไม่ได้นำถุงเท้ามาด้วย จึงต้องออกไปซื้อถุงเท้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม เบื้องต้นก็ถามพนักงานว่า มีถุงเท้าขายไหม อยู่ตรงไหน พนักงานพาเธอมาตรงชั้นสินค้าที่วางถุงเท้า เธอเห็นป้ายราคาติดไว้ 35 บาท ซื้อ 1 แถม 1 “เออก็ถูกดีนะ” เธอจึงหยิบมา 2 คู่ ตามป้ายที่ระบุไว้ คือ 1 แถม 1 (ถุงเท้า 2 คู่ ราคา 35 บาท)        เมื่อพนักงานชำระเงินสแกนบาร์โค้ดสินค้า ราคาถุงเท้าจาก 2 คู่ 35 บาท เป็น 2 คู่ 49 บาท เธอจึงแย้งพนักงานว่า ที่ชั้นวางสินค้าติดราคาไว้ว่า 2 คู่ 35 บาท ทำไมราคาไม่ตรงกัน พนักงานจึงเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า พบว่าป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ คุณพนักงานรีบกล่าวขอโทษ แต่แจ้งเธอว่า “สินค้าหมดโปรโมชั่นแล้วค่ะ” คุณจันจิราคิดในใจ “ไม่เล่นแบบนี้นะคะน้อง” แล้วจึงหยิบป้ายที่ติดราคาไว้มาดูและชี้ให้พนักงานดูว่า “ยังไม่หมดโปรโมชั่นค่ะ” พนักงานจึงกล่าวขอโทษอีกครั้งและแจ้งว่าน่าจะติดราคาสินค้าผิด        คุณจันจิราเริ่มหงุดหงิด จึงบอกให้พนักงานเอาป้ายราคาที่ติดผิดออก พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวจะดำเนินการนำป้ายราคาที่ผิดออก “แน่ะ ยังจะเดี๋ยวอีก” คุณจันจิราแจ้งว่าให้นำออกทันทีสิคะ เพราะอาจจะมีคนอื่นซื้อเพราะเข้าใจผิดอีกก็ได้ เป็นพนักงานของร้านเมื่อพบว่า ป้ายสินค้ามีปัญหาก็ควรรีบแก้ไข และควรระวังการติดป้ายราคาผิดพลาดด้วย  หลังจากจัดพนักงานไปหนึ่งชุด สุดท้ายเธอก็จำต้องซื้อถุงเท้ามาในราคา 49 บาท เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่าถ้าเธอหรือคนอื่นเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ที่เธอทำไปถูกหรือไม่ จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า จริงๆ แล้ว ผู้ร้องสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ร้านค้าติดป้ายไว้ เพราะเป็นความผิดของทางร้านค้า การที่ผู้ขายขายสินค้าไม่ตรงกับราคาตามป้ายแสดงราคา มีความผิดต้องโดนปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผู้ร้องสามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง         นอกจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาของตัวเองแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของร้านค้า ทั้งนี้หน่วยงานยังมีรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 25 เท่าของค่าปรับ เมื่อหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะร้องเรียนไปยังหน่วยงาน เพื่อใช้มาตรการทางอ้อมในการให้ร้านค้าคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เตือนภัย! โทร.มาอ้าง คปภ. ล้วงข้อมูลกรมธรรม์ หลอกขายประกัน

        อย่าหลงกล ถ้าจู่ๆ มีคนโทร.เข้ามาว่าได้รับแจ้งจาก คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ให้มาดูแลผลประโยชน์ของผู้ที่ทำประกันเอาไว้ เพราะนี่คือรูปแบบการหลอกลวงของตัวแทนประกันนอกรีต ที่กว่าคุณจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้ว         วันหนึ่งคุณไอติมได้รับโทรศัพท์อ้างว่า “เขา” เป็นผู้ที่จะเข้ามาดูแลผลประโยชน์ในเรื่องกรมธรรม์ให้นั้น เธอไม่ได้เอะใจอะไรเพราะได้ยินคำว่า คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมอบหมายให้บุคคลผู้นี้โทร,มา จึงยอมให้เขานำกรมธรรม์ทั้งหมดของเธอกลับไปทำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์ส่งมาให้ ซึ่ง “เขา” บอกจะแจกแจงให้คุณไอติมได้ทราบว่าควรจัดการอย่างไรถึงจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่... “เขา” หายไปเดือนกว่าจนเธอต้องโทร.ไปทวงกรมธรรม์คืน ซึ่งนั้นระหว่างนั้นก็มีคนโทร.เข้ามาพูดในลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ราย พอ “เขา” เอามาคืน ก็ไม่มีผลวิเคราะห์ใดๆ มาให้ มีแต่การนำเสนอขายประกันให้ ประจวบกับที่เธอกำลังมีปัญหาสุขภาพ และเห็นว่าเงื่อนไขที่เขาเสนอว่าค่ารักษาที่ไม่จำกัดวงเงินสามารถปรับเปลี่ยนเป็นค่าห้องได้นั้นเข้าท่าดี จึงตกลงซื้อประกันสุขภาพไป แต่เหมือนเธอยังมีโชคอยู่บ้าง ไม่รู้อะไรดลใจให้วันรุ่งขึ้นเธอโทรไปตรวจสอบเงื่อนไขนี้กับฝ่ายค่าสินไหมของโรงพยาบาลที่รักษาประจำ ซึ่งได้คำตอบว่าทำไม่ได้ ถ้ามีบริษัทประกันไหนมาอ้างแบบนี้อย่าไปเชื่อ เธอจึงโทร.ไปขอยกเลิกประกันสุขภาพฉบับนั้นได้ทันก่อนจะสายไป         ย้อนไปตอนที่เธอตกลงซื้อประกันสุขภาพไป เขาบอกว่าจะนำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์มาให้ แต่พอเธอยกเลิกประกันไป เขาบอกว่าไม่ทำให้แล้วเพราะเธอไม่ใช้บริการของเขา เธอจึงตำหนิไปตรงๆ ว่าถ้าอย่างนี้คือเขาตั้งใจหลอกลวงโดยอ้างว่า คปภ.ให้มาดูแล แต่จริงๆ แล้วมาเพื่อจะเสนอขายประกันมากกว่า เธอจึงไม่ไว้วางใจคนๆ นี้แล้ว เกรงว่าเขาจะเป็นมิจฉาชีพ จึงขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายเซ็นของเธอที่ใช้เป็นหลักฐานตอนซื้อประกันสุขภาพคืนมาทั้งหมด เขาก็รับปาก แต่ก็เงียบหายไปเลย คุณไอติมจึงมาเล่าเรื่องนี้ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไว้เตือนภัยคนอื่นๆ พร้อมกับปรึกษาหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหากผู้อื่นนำเอกสารข้อมูลส่วนตัวของเธอไปใช้โดยพลการ      แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณไอติมไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ได้ให้เอกสารไปกับบุคคลนี้ มีรายละเอียดดังนี้ ถ้าเกิดเหตุอะไรที่นอกเหนือจากนี้ คุณไอติมไม่รู้เรื่องและไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 โน้ตบุ๊ก 2022

        หากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตที่มีอยู่มันเล็กเกินไปหรือใช้งานได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร จนทำให้คุณต้องมองหาอุปกรณ์ชิ้นใหม่มาตอบสนองการใช้ในการเรียน ทำงาน หรือแม้แต่ติดต่อสื่อสารกับพี่น้องเพื่อนฝูง หรืออัปเดตความรู้จากอินเทอร์เน็ตในยามว่าง  ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบคอมพิวเตอร์แบบพกพารวมถึงกลุ่ม Chromebook ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ตั้งแต่ปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 ในช่วงแรกนี้เราขอเอาใจผู้ใช้ที่เดินทางบ่อย และไม่ต้องการแบกน้ำหนักมากเกินไป จึงขอคัดมาเฉพาะรุ่นเล็กที่มีขนาดระหว่าง 10.5 ถึง 14.2 นิ้ว ทั้งหมด 20 รุ่น         ในภาพรวมของการทดสอบเราพบว่าคุณภาพยังต้องแลกมาด้วยราคา และโน๊ตบุ้คทุกวันนี้ก็มีราคาที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้สักเท่าไรนัก (กลุ่มที่เราเสนอผลทดสอบมีสนนราคาตั้งแต่ 7,900 ถึง 73,900 บาท จากการสำรวจราคาออนไลน์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565) แต่หากคุณตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะต้องมีไว้ใช้สักเครื่อง เชิญพลิกหน้าต่อไปเพื่อหารุ่นที่ตรงใจกันได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 251 แปรงสีฟันไฟฟ้า

        ปัจจุบันตลาดสินค้าสำหรับอนามัยช่องปากคึกคักขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ดับกลิ่นปาก รวมถึงแปรงสีฟันไฟฟ้าก็มีหลากยี่ห้อ หลายระดับราคาให้เลือกมากขึ้น ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยขอนำเสนอผลการทดสอบแปรงสีฟันไฟฟ้าที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบไว้จำนวน 14 รุ่น มาให้สมาชิกที่กำลังมองหาตัวช่วยให้ประสบการณ์แปรงฟันครั้งละสองนาทีน่ารื่นรมย์ขึ้น         แปรงไฟฟ้าที่ทดสอบครั้งนี้มีราคาตั้งแต่ประมาณ 700 ถึง 11,200 บาท* โชคดีที่ทั้งสองรุ่นนี้ไม่ใช่รุ่นที่ได้คะแนนต่ำสุดหรือสูงสุด  โดยในการทดสอบได้แบ่งคะแนนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟัน (ให้น้ำหนักจากคะแนนรวม ร้อยละ 50)  และความสะดวกในการใช้งาน แบตเตอรีการทำงานของแท่นชาร์จ และเสียงที่ไม่ดังเกินไปขณะใช้งาน (ร้อยละ 25, 20, และ 5 ตามลำดับ)         นอกจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้ว ในส่วนของคะแนนความสะดวกในการใช้งานนั้นมากจากความเห็นของอาสาสมัคร (ที่อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี ที่สุขภาพฟันแข็งแรง มีค่าดัชนีวัดหินปูน > 1.5 และมีฟันแท้อย่างน้อย 20 ซี่)         ·         ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร ตามองค์กรผู้บริโภคซื้อจากร้านค้าในประเทศของตนเอง โปรดตรวจสอบราคา (และคำนวณค่าจัดส่งหากสั่งซื้อออนไลน์) อีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point




ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่ได้รับความนิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน หารับประทานได้ไม่ยากมีตั้งแต่ราคาพอเหมาะจ่ายได้ไม่แพงจนถึงราคาแพงหรูหรา อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทนี้จะมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการถนอมอาหารและให้สีสันที่สวยงาม ดังนั้นหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่ถูกต้อง ใช้ตัวที่ห้ามใช้หรือใช้เกินมาตรฐาน ก็จะได้ยินข่าวตามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อ่อนไหวง่ายอย่างเด็กๆ         เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน (methemoglobinemia) จำนวน 14 รายใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกิน "ไส้กรอก" ซึ่งจากการสืบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า เป็นไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ “ฤทธิ์” ฮอทดอก รมควัน และฟุตลองไก่รมควัน ไม่ระบุยี่ห้อ  พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง  35-48 เท่า ทำให้ อย.ขยายผลต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่อมามีรายงานข่าวว่า อย.จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่กว่า อย.จะแถลงว่าพบสินค้าไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานยี่ห้อใดบ้าง ก็ผ่านเวลาไปหลายวัน (แถลงผลวันที่ 13 ก.พ.) ซึ่งในช่องว่างของระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ออกจากโรงงานไปนั้นประเทศไทยไม่มีระบบการเรียกคืน และระบบการกระจายสินค้าของโรงงานไม่สามารถบอกได้ว่าส่งขายไปที่ไหนบ้าง ผู้บริโภคจึงยังคงเสี่ยงภัยกับสินค้าจากโรงงานดังกล่าว           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางจึงลงพื้นที่และทำงานร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจำนวน 17 ตัวอย่างภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดวังน้อย เมืองใหม่, ตลาดเจ้าพรหม, ห้ามแมคโคร อยุธยา, ร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ เมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์ 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ สรุปผลทดสอบ1.พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มก./กก. ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น) 2.พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์3.พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Kfm ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มก./กก. , ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มก./กก. และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มก./กก.  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid)4.พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตย. ทั้งนี้ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มก./กก.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก. ข้อสังเกตจากผลการทดสอบพบว่า        1.มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ (วันผลิต/วันหมดอายุ ) ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม        2.การพบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุกหรือก็คือห้ามใช้ (หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มก./กก.) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ทั้งจากการที่ผู้ผลิตจงใจใช้ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณ ไม่เกิน 500 มก./กก. ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิตข้อแนะนำในการบริโภค        หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และเนื่องจากเด็กๆ จะชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีความไวต่อวัตถุกันเสียโดยเฉพาะประเภทไนไตร์ท ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาให้เลือกรับประทานอย่างเหมาะสมข้อมูลอ้างอิง- กิตติมา โสนะมิตร และ เอกสิทธิ์ เดชานุวัตร.การประเมินการได้รับสัมผัสไนไตรท์และไตรทจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์. ว.กรมวิทย์ พ.2564 ; 63 (1) : 160-172.- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) - พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 252 ‘Stop Loss’ วินัย วินัย และวินัย

        เดี๋ยวนี้การเทรดเป็นอาชีพที่มีคนสนใจกว้างขวาง หุ้น ทองคำ คริปโตฯ เยอะขนาดว่าบางคนต้องเขียนบรรยายโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียว่าไม่สนใจเพราะมักจะมีนักเทรดมาขอเป็นเพื่อนเพื่อชักชวนเข้าสู่วงการ         เทรดเดอร์ (Trader) หรือนักเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาอยู่คนละฟากฝั่งกับนักลงทุน (Investor) พวกเขาเน้นถือหุ้นระยะสั้น เข้า-ออกตามจังหวัดกำไร-ขาดทุน เฝ้าดูและวิเคราะห์กราฟเพื่อหาหุ้นที่น่าเข้าไปเล่น ซื้อๆ ขายๆ เพื่อทำกำไร ฟังดูเหมือนงานง่าย รายได้ดี ไม่หรอก เทรดเดอร์ทุกคนผ่านช่วงเวลาเสียหายหนักๆ มาแล้วทั้งนั้น ใช้เวลาไปมากมายกับการเรียนรู้ การอ่านกราฟ การดู Bid และ Offer กับอีกสารพัด         ไม่ว่าคุณคิดจะเดินสายไหนก็จำเป็นต้องหาความรู้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณเก่งจริงก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ ดูอย่างจอร์จ โซรอส ผู้เก็งกำไรในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่หุ้นยันค่าเงิน        พื้นที่นี้เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่าจะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคือวินัย         ถ้าคุณจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA หรือซื้อเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกเดือนในหุ้นหรือกองทุนรวม คุณก็ต้องมีวินัยในการทำตามแผนการออมระยะยาว เทรดเดอร์ก็เช่นกัน และวินัยที่สำคัญมากๆ หรืออาจจะสำคัญที่สุดก็คือการ Stop Loss หรือตัดขาดทุน         อธิบายให้ง่ายที่สุด คุณเป็นเทรดเดอร์เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาท ถ้าหุ้นราคาขึ้นคุณก็ปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ Let’s Profit Run แต่ถ้าจะขาดทุน คุณวางเกณฑ์ไว้เลยว่าถ้าขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ขาดทิ้งทันที ถ้าหุ้นตัวนี้ลงไปที่ 9 บาทก็ถึงเวลาที่คุณต้องขายโดยไม่มีเยื่อใย         อันนี้แบบเข้าใจง่ายๆ เทรดเดอร์มืออาชีพนี่เขาวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกว่าจะตัดขาดทุนราคาไหน ไม่หมูแบบนี้หรอก        แต่คนส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม         พอกำไรนิดๆ หน่อยๆ รีบขาย เช่นขึ้นไป 12 บาท กำไร 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ ขายเลย สุดท้ายราคาไปต่อ 15 บาท 17 บาท 19 บาท ศัพท์ในวงการเรียกขายหมู         ตรงข้าม พอขาดทุนถึงจุดที่ต้อง Stop Loss แล้วกลับเสียดาย เข้าข้างตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็กลับขึ้นมาอีก กอดหุ้นจนตัวตาย สุดท้ายแทนที่จะขาดทุนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ 70 เปอร์เซ็นต์ วงการติดดอย สูงด้วย         ถึงบอกไงว่าความรู้สำคัญที่สุดและต้องมาควบคู่กับวินัยที่สำคัญพอๆ กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ยอมได้ไหม เมื่ออายุเป็นมากกว่าตัวเลข

        การคิดราคาไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวในราคาที่เอื้อมถึง (เช่น ราคานักศึกษา หรือบัตรสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น) และยังช่วยให้เกิดสมดุลขอดีมานด์และซัพพลาย (เช่น ตั๋วถูกนอกเวลาเร่งด่วน) แต่ขณะเดียวกันการใช้นโยบาย “การตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนัก เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักที่หลายคนได้ราคาต่างกันโดยไม่ทราบเหตุผล หรือกรณีที่ Uber แพลตฟอร์มบริการเรียกรถ ใช้อัลกอริทึมประเมินราคาสูงสุดที่คน “พร้อมและยินดี” จ่าย สำหรับการเดินทางในช่วงเวลาต่างๆ (ข้อมูลจากการเปิดเผยของ “คนใน”) หรือกรณีของ บางประเทศ เช่นบราซิล ก็จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ในปี 2017 เว็บขายทัวร์ Decolar.com ถูกสั่งปรับ 7.5 ล้านเรียล (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) โทษฐานที่คิดราคาทัวร์ต่างกันตาม “ที่อยู่” ของลูกค้า         อีกบริการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมได้แก่ แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ก็มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับมูลนิธิมอซิลลา Mozillia Foundation ที่เปรียบเทียบราคาสมาชิกของผู้ใช้แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่าง Tinder ในหกประเทศ ได้แก่ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์         การสำรวจดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้        - ไม่มีการแจ้งผู้ใช้เรื่องนโยบายการตั้งราคาแบบเฉพาะบุคคลอย่างชัดเจน มีเพียงเนื้อหาใน “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำเสนอดีลและส่วนลดที่เหมาะกับโพรไฟล์ของผู้ใช้         -  “ราคาสมาชิก” มีหลายระดับ        Tinder Plus ในเนเธอร์แลนด์มีถึง 21 ระดับระคา ในขณะที่อเมริกามี 9 ระดับ น้อยที่สุดคือบราซิล (2 ระดับ)ราคาสูงสุด แพงกว่าราคาต่ำสุดประมาณ 4 ถึง 6 เท่า ในกรณีของเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์  ส่วนของอินเดียก็ต่างกันมากกว่าสองเท่า        - \ อายุ เป็นปัจจัยในการกำหนดราคา        ร้อยละ 65.3 ของคนในช่วงอายุ 30 – 49 ปี จ่ายค่าสมาชิกแพงกว่ากลุ่ม 18 – 29 ปี        ในทุกประเทศที่สำรวจ (ยกเว้นบราซิล) กลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ถูกเรียกเก็บค่าสมาชิกแพงกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายไม่แตกต่างกัน          แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมากำหนดราคา เช่น กรณีของบราซิลและนิวซีแลนด์ มีกลุ่มอายุมากกว่าที่ได้ราคาต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็พบคนกลุ่มอายุน้อยในเกาหลี เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ที่ต้องจ่ายในราคาสูงเช่นกัน         พื้นที่อยู่อาศัยก็อาจเป็นอีกปัจจัย แต่ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีการสำรวจเพิ่มเติม การสำรวจนี้พบว่าคนเมืองในอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เสียค่าสมาชิกถูกกว่า แต่คนเมืองในเกาหลีและอินเดีย กลับต้องจ่ายแพงกว่า เป็นต้น          -   ผู้บริโภคยังมีความกังวล          ร้อยละ 56 ของผู้ใช้ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ในขณะที่หนึ่งในสามรู้สึกว่าการตั้งราคาแบบนี้ไม่ยุติธรรม เมื่อถามถึงประโยชน์ของการตั้งราคาเฉพาะบุคคลร้อยละ 14 ไม่เห็นประโยชน์ร้อยละ 38 เชื่อว่ามันช่วยให้ได้สินค้าและบริการตรงใจขึ้นร้อยละ 40 เชื่อว่ามันอาจทำให้พวกเขาได้ราคาที่ถูกลง          แต่เมื่อถามว่าถ้ามีปุ่มให้เลือก “ไม่ต้องตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ก็มีถึงร้อยละ 83 ที่จะคลิก         ทีมสำรวจยังพบด้วยว่าแต่ละประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ส่วนที่มีก็ยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งราคาส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันควรจะเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มข้นขึ้น เช่น ผู้ใช้จะต้องรู้ตัวว่าจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และแพลตฟอร์มจะต้องต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ รวมถึงควรมีความโปร่งใสในนโยบายการตั้งราคา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัลโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง

พูดถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถอยไปก่อนโซเชียลมิเดียและสมาร์ทโฟนถือกำเนิด มันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ง่ายดายและข้อมูลที่จะโยงกับมาสู่ตัวเจ้าของก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ตัดกลับมาปัจจุบัน ข้อมูลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ตัวเราเองเป็นผู้บอกให้โลกรับรู้         ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ มันถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงุนงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน         เมื่อข้อมูลที่สามารถสืบสาวกลับเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวบุคคลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม กฎหมายจึงต้องวิวัฒน์ตามเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้คือกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้สนทนากับ ผ.ศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIP, CIPM, CIPP/US, CIPP/E (GDPR), CIPP/A, EXIN/PECB Certified Data Protection Officer ว่าด้วยหลักการ แนวคิดของกฎหมาย และผู้บริโภคจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล ขอบเขตมันกว้างแค่ไหน         ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า PDPA ในมาตรา 6 บอกไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาซึ่งทำให้สามารถระบุตัวคนนั้นได้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ที่กฎหมายไทยเขียนไว้แค่นี้คือการเขียนที่สอดคล้องกับ GDPR รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศที่เอา GDPR ไปเขียนเป็นกฎหมาย เขียนแบบปลายเปิด นี่คือความยาก มันทำให้บทนิยามคำว่าข้อมูลส่วนบุคคลในทางการบังคับใช้มีต้นทุนสูง เพราะมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ ถ้าเราไปดูของฝั่งสหภาพยุโรป ตัว GDPR เขาเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่เขามียกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสถานที่ สิ่งต่างๆ ที่ระบุอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ของคุณ Username Password Cookie ID ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เชื่อมโยงมาแล้วบอกได้ว่าเป็นตัวคุณ         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดู PDPA มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว กฎหมายให้ตัวอย่างของ Identifier บางอย่างที่ใช้เชื่อมโยงหรือระบุตัวบุคคลได้ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งพวกนี้เป็น Sensitive Data ซึ่งกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความหมายคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล เราจะบอกว่าต้องดูจากบริบทการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เอาจริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลแทบทุกอย่างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้หมดขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งานว่าคุณเอามาใช้แล้วมันเชื่อมโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการ Linkable หรือ Identifiable มันเป็นเรื่องที่พูดยากในบริบทของกิจกรรมการประมวลผลที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง Cookie ID ออนไลน์แทร็คกิ้ง  Location Data ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นใคร เราไม่รู้ แต่มี Operator รู้ มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีบางหน่วยงานที่สามารถ Identify ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเลยบอกว่าข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมโยงกลับไปได้ว่าหมายถึงใคร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ผมต้องบอกด้วยว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับกับผู้ควบคุมของข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทุก ๆ ประเภท ทุก ๆ ธุรกิจ เว้นแต่บางกิจการหรือกิจกรรมที่กฎหมายอาจจะยกเว้นให้ ดังนั้น บริบทมันกว้างกว่า Operator ความหมายของผมก็คือทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ในบริบทระหว่างผู้รับบริการหรือผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ดังนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงหมายถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต  ธนาคารพานิชย์ บริษัทประกันภัย อี-คอมเมิร์ส ทุกผู้ประกอบการมีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค เขาจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐถือเป็นผู้ควบคุมด้วยหรือไม่         PDPA ไม่ได้แยกระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานเอกชน องค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อยกเว้นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ หนึ่ง คุณได้รับการยกเว้นโดยกิจการ สอง คุณได้รับยกเว้นโดยองค์กรของคุณ มีหน่วยงานรัฐบางองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนบางกิจการที่ได้อาจได้รับการยกเว้น อาทิถ้าเป็น กิจการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน คุณได้รับการยกเว้นกฎหมายฉบับนี้เฉพาะในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมตามวิชาชีพ เพราะนี่คือการรักษาสมดุลระหว่าง 2 เรื่อง ประการแรก คือหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยความจริง เป็น Freedom of Expression คือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คุณเอาข้อมูลของคนมาเปิดเผยไม่ได้หรือมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ปัญหาจะเกิดทันทีเพราะว่าคุณไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อการตัดสินใจของประชาชนได้ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กรรมาธิการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายยกเว้นให้แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนยกเว้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 องค์กรใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้าบทนิยามคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หรือ ‘ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ คุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA         คราวนี้ในกฎหมายคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หมายถึงอะไร มันหมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คำว่าเก็บรวบรวมใช้ เปิดเผย ในทางปฏิบัติเราใช้คำรวม ๆ ว่า ‘การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่องค์กรที่กฎหมายยกเว้นให้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรเอกชน  เพียงแต่เงื่อนไขการประมวลผลและฐานทางกฎหมายที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ใช้หรือผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง?         PDPA เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ คุณหรือผมในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคนที่กฎหมายให้สิทธิ PDPA เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่มีหน้าที่ของเราเลย ตัวกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ว่าด้วยหน้าที่ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้กับคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ ซึ่งก็คือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คิดง่าย ๆ ก็คือผู้ให้บริการทั้งหลาย ภาคธุรกิจที่เอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั่นแหละที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย         หน้าที่ของเขา ผมขอใช้คำหนึ่ง เรียกว่า Responsible Use การใช้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ เขาต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accountability มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่จำกัด และชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการใช้ข้อมูลนอกวัตถุประสงค์ที่เขาแจ้งเราไว้ เป็นต้น           ถามว่าในแง่ของผู้บริโภคเราในฐานะผู้ใช้บริการควรจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างในการปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความจำเป็น ตัวอย่างเช่นการตั้ง Password การปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ ไม่ให้คนมาเอาข้อมูลของเราไปโดยมิชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่เราดูแลตัวเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ไม่มีหน้าที่         การใช้ข้อมูลต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นเราใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราและสัญญาให้บริการติดต่อเรา ส่งใบแจ้งหนี้ ใช้ที่อยู่เรา โทรหาเรา SMS ถึงเรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา แต่สิ่งที่ทำไม่ได้หรือถ้าจะทำคุณต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม สมมติว่าค่ายมือถือเพิ่มธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ถามว่าเขาจะเอาลูกค้ามาจากไหน ง่ายสุดก็ลูกค้าเดิม มีชื่อ มีนามสกุล มีที่อยู่ มีเบอร์โทรทุกอย่างแล้ว การที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสัญญานี้มาใช้กับตลาดใหม่ของเขา จะทำได้ก็ต่อเมื่อขอความยินยอมจากเราใหม่แยกต่างหากจากสัญญาหลัก เพราะนี่คือการเปลี่ยนจากวัตถุประสงค์เดิม ข้อมูลใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ เพียงแต่คุณมีหน้าที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับข้อมูลส่วนบุคคล โปร่งใสคือเอาไปทำอะไรต้องบอก เป็นธรรมแจ้งให้เราทราบด้วย แล้วก็ใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เราอนุญาต เวลาผู้บริโภคสมัครใช้แอพลิเคชันของธนาคาร จะมีข้อความยาวๆ ขึ้นมาให้กดยินยอม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่กดยินยอมก็ใช้แอพฯ ไม่ได้ กฎหมายพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง         อาจมี 2 เรื่อง เวลาที่เรากดรับความยินยอม กรณี Application ต้องแยกให้ออกว่ามันคือความยินยอมในแง่การเข้าทำสัญญา คือ Terms and Conditions หรือเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ คือเรายินยอมเพื่อเข้าทำสัญญาการใช้ Application นั้น เราเคยได้ยินเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม หรือสัญญาสำเร็จรูป คือ สัญญาที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคทำได้แค่เซ็นหรือไม่เซ็น อันนั้นมาในรูปของ Terms and Conditions ของสัญญาหรือบางกรณีก็พ่วงมากับการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลด้วยซึ่งจะกลายเป็นสัญญาพ่วงแบบ Consent ซึ่งหลักการนี้ค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ถ้าเป็นฝั่ง GDPR ‘ความยินยอม’ กับ ‘สัญญา’ คุณต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ถ้าเป็นการตกลงให้ความยินยอมเพื่อเข้าทำสัญญา มันไม่ใช่เรื่องความยินยอมในการใช้ข้อมูล มันคือเรื่องสัญญา แต่ถ้าคุณจะขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลก็เป็นเรื่องความยินยอมตาม PDPA มันคนละวงเล็บกันตามกฎหมายเลย มันคือคนละฐานในการประมวลผล ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถูกองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ซื้อขายต่อ และกลายเป็นปัญหารบกวน ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตน         ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริง ๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         แต่ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน         หรือ ณ ขณะนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคธุรกิจบางส่วนเองก็รับรู้แล้ว แต่ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับทั้งฉบับ ขาดผู้กำกับดูแลที่จะบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและโกยข้อมูล แต่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับเต็มรูปแบบ ทุกองค์กรต้องตอบได้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้บริโภคมีสิทธิตั้งคำถามกับคนที่โทรมาว่าคุณเอาข้อมูลมาจากไหน อย่างไร และถ้าคุณไม่พอใจให้เขาติดต่อมาอีก ก็บอกว่าขอให้ยุติการประมวลผล หรือขอให้ลบข้อมูลของคุณเสีย นี่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถ

ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าประวัติทางการเงินของผู้เช่าซื้อก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาพิจารณา หากประวัติไม่ดี บริษัทหรือสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินดีกว่าตน มาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ที่เห็นกันอยู่เสมอคือคนใกล้ชิดหรือใช้บุคคลในครอบครัวมาทำสัญญาเช่าซื้อ เช่น คนเป็นแฟนกัน หรือพี่น้องกัน ก็ ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะผู้เช่าซื้อในสัญญา ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อตัวจริง         ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้เช่าซื้อตัวจริงผิดนัดไม่จ่ายเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน  เช่นนี้เองผู้เช่าซื้อ (ตามสัญญา) จึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อ (ตัวจริง) โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง กลายเป็นปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่        เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดเรื่องราวจนฟ้องร้องกันถึงศาลฏีกา ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง เพราะมองว่าผู้เช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีเจตนาทุจริต  การกระทำจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลฏีกาพิพากษากลับให้ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยคือผู้เช่าซื้อผู้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตัวจริง เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทผู้จำหน่าย และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562                 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว         ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 การดูแลผิวไหม้จากแดดหน้าร้อน

        เมื่อถึงช่วงเวลาฤดูร้อน สิ่งที่ทุกคนประสบปัญหาก็คงหนีไม่พ้นแสงแดดที่ร้อนแรงของประเทศไทย ซึ่งแม้อยากหลีกเลี่ยงไม่ขอโดนแดดเลย แต่อย่าลืมว่า “แสงแดด” มีประโยชน์มหาศาลเช่นกันต่อสุขภาพ โดยเฉพาะแสงแดดยามเช้า แต่หากเป็นแสงแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 ขึ้นไป แน่นอนว่าควรหลีกเลี่ยง โดนก็ให้น้อยที่สุด เพราะหากเผชิญกับแสงแดดนานๆ นอกจากจะเกิดอาการผิวไหม้ที่รุนแรงได้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ด้วย    รู้จักภาวะผิวไหม้         ผิวไหม้ สาเหตุเกิดจากการโดนแดดในอุณหภูมิที่สูงและนานเกินไป จนเกิดอาการแสบร้อนแดง  คัน ผิวหมองคล้ำ หรืออาจเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณผิวหนังโดยอาจจะเกิดจากการที่เราไม่ได้ทากันแดดซ้ำ หรือไม่ได้ทาเลยตั้งแต่แรก ซึ่งอาการ ผิวไหม้ นั้นมีหลายระดับดังนี้        1. อาการผิวไหม้ในภาวะไม่รุนแรงมากจะมีอาการแดง และเจ็บปวดบริเวณที่ผิวไหม้เล็กน้อยประมาณ 3-5 วัน ผิวจะมีอาการลอกและกับเข้าสู่สภาวะปกติของผิวหนัง         2. อาการผิวไหม้เริ่มรุนแรงในระดับปานกลาง มีอาการแสบคัน ผิวแดง บวม เจ็บปวดเวลาสัมผัสผิวบริเวณนั้น ต้องคอยบำรุงผิวใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความชุ่มชื้นเพื่อให้ผิวหนังกลับสู่ภาวะปกติในระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน         3. อาการผิวไหม้ในระดับรุนแรง ที่ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง จะมีอาการ แสบร้อน คัน ผิวแดง บวม และมีตุ่มใสบริเวณผิวหนัง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูผิวให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ วิธีดูแลผิวไหม้ระดับหนึ่งและสอง        1. อาบน้ำเย็น แต่หากไม่สามารถอาบน้ำได้ในเวลานั้นทันที ให้ใช้น้ำเกลือที่แช่เย็นไว้แทน โดยนำผ้าชุบน้ำเกลือมาประคบไว้ เพื่อลดอาการแสบร้อนได้ แต่ห้ามเป็นน้ำที่มีความเย็นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กัดผิวได้        2. ทามอยเจอร์ไรส์เซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยทาหลังจากอาบน้ำในขณะที่ตัวหมาดๆ หรือใช้เจลว่านหางจระเข้ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนและถนอมผิว แต่หากผิวมีอาการอักเสบมากสามารถใช้ยาที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ได้เหมือนกัน แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น        3. ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจากอาการผิวไหม้ และนอกจากนี้การดื่มน้ำมากๆ ยังทำให้ช่วยลดอาการผิวแห้งอีกด้วย        4. ไม่ควรแกะ ลอก หรือเกา ในบริเวณผิวที่ไหม้เพราะผิวบริเวณนั้นมีความเปราะบางมากและไวต่อการระคายเคืองมาก        5. ในกรณีที่ไหม้แดดมาก ถึงขั้นมีอาการตุ่มแดงพองมีน้ำใสๆ หรือตุ่มน้ำห้ามเจาะออกเองเด็ดขาด หากเจาะตุ่มน้ำออกมาเอง อาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะฉะนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องเท่านั้น        หากอยู่ในภาวะผิวไหม้แดด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ เพื่อลดการเสียดสี และหลีกเลี่ยงการออกไปในสถานที่กลางแจงที่มีแดดจัดๆ เพื่อให้ผิวหนังได้มีการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้เต็มที่           สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดด หากเราใช้ชีวิตประจำวันอยู่แค่เพียงในอาคาร สามารถใช้แค่ SPF15+ ขึ้นไป แต่หากอยู่กลางแจ้งควรที่จะใช้ SPF30+ ขึ้นไปข้อมูลอ้างอิง : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1411https://www.pobpad.comhttps://www.youtube.com/watch?v=2Hzf1kNFANE

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ไกลแค่ไหนคือใกล้ เมื่อติดต่อผ่าน Call Zen

        ยุคสมัยปัจจุบันองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้บริการหลังการขายทั้งสิ้น เนื่องจากปัจจุบันบริการหลังการขายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วย ถ้าสินค้าใดไม่มีบริการหลังการขายหรือยากแก่การเข้าถึง หรือแม้กระทั่งมีปัญหาจุกจิกกวนใจในการติดต่อประสานงาน ผู้บริโภคหลายคนเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้านั้นเลยก็มี         เมื่อกล่าวถึงบริการหลังการขาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้นึกถึงคือ call center ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าติดต่อสื่อสารกับเจ้าของสินค้าเหล่านั้นได้ แต่ call center กลับสร้างปัญหาในการเข้าถึงอย่างมาก ซึ่งควรจะเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด กลับกลายเป็นช่องทางที่ให้รอสายนานที่สุดเช่นกัน บางครั้งกดเลือกอยู่นาน แต่ไปไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการสักที ต้องวางสายและกดโทรออกเริ่มใหม่อีกครั้ง ทำให้ท้อใจไปตามๆ กันเลยทีเดียว เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต้องเคยประสบกับปัญหาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน           ดังนั้นถ้าต้องการให้ความท้อใจนี้หมดไป ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Call Zen มาไว้ติดสมาร์ทโฟนกันดู ช่วยข้ามขั้นตอนการรอสายนานไปได้มากเลย         Call Zen เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ผ่านระบบ Call Center มาไว้ภายในที่เดียวกัน ปัจจุบันมีหมวดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 22 หมวด ได้แก่ หมวดเบอร์ติดต่อพิเศษสำหรับโควิด-19 หมวดแจ้งเหตุทุจริต หมวดโทรคมนาคม ซึ่งเกี่ยวกับเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต หมวดธนาคาร หมวดบัตรสมาชิก หมวดบัตรเครดิต หมวดฉุกเฉินและบริการสาธารณะ เช่น สายด่วนกรมทางหลวง ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์บริการข้อมูลจราจร แจ้งรถหาย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เป็นต้น         หมวดสายการบิน หมวดอี-คอมเมิร์ซ หมวดมือถือและอุปกรณ์ไอที หมวดขนส่ง หมวดประกันชีวิต หมวดประกันภัย หมวดโรงพยาบาล หมวดเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง หมวดสาธารณูปโภค หมวดอุปกรณ์ตกตแงบ้าน หมวดหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐ หมวดสื่อมวลชน หมวดแจ้งเหตุอัคคีภัย หมวดแจ้งเหตุอุทกภัย และหมวดบริการส่งอาหาร         หลังจากเลือกเข้าไปตามหมวดแล้ว แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหมวดหมู่ย่อยให้เพิ่ม เพื่อให้เลือกเข้าถึงตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ติดต่อเจ้าหน้าที่ อายัดบัญชี แจ้งปัญหาร้องเรียน สอบถามยอดค้าชำระ ยกเลิกข้อความโฆษณา เป็นต้น จากนั้นแอปพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียด เวลาทำการ และหมายเหตุระยะเวลาก่อนกดข้ามขั้นตอน ทั้งนี้ถ้าต้องการติดต่อก็สามารถกดโทรออกภายในหน้านี้ได้ทันที         แอปพลิเคชั่นจะมีการแจ้งการอัปเดตข้อมูลภายในผ่านหัวข้อข่าวสาร บนหน้าหลักของแอปพลิเคชั่น ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่ามีการอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่เท่าไร และเป็นข้อมูลด้านใดบ้าง         หลังจากทดลองใช้แอปพลิเคชั่น Call Zen มาสักพักแล้วรู้สึกพึงพอใจมากกว่าในอดีตที่ต้องรอสายแล้วรอสายอีกจนเหนื่อยใจแถมเสียเวลากับการใช้บริการ Call Center เป็นอย่างมาก ช่วยลดความหงุดหงิดและรำคาญใจไปได้มากจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >