ฉบับที่ 235 แนวความคิดและผลการศึกษาหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการคือ การที่เราเมื่อมีอาชีพมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ โดยที่เงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงินในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้างก็สามารถได้รับเงินทดแทน จนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพเราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน          เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้า ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น  ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่องหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขคืออะไร         หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข หรือ unconditional basic incomes คือ ประชาชนทุกคนในประเทศ จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นเพียงพอในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานเรียกได้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะมีรายได้ดำรงชีพ อย่างไรก็ตามแนวความคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงและสร้างความสงสัยให้กับหลายๆ คนว่า        1. คนเราไม่จำเป็นต้องมีอาชีพมีงานทำต่อไปใช่หรือไม่ ?        2. งานบางประเภทจะสูญหายไปถ้าค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ?        3. หลักการนี้ ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะใช้เงินจำนวนมาก ?        4. หลักการนี้ส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะแพงขึ้น ?        5. หลักการนี้ไม่ยุติธรรม เพราะคนรวยก็มีสิทธิได้รับเงินเหมือนกัน ?        6. หลักการนี้จะเหมือนกับเป็นการลงโทษคนขยันที่ยังทำงานอยู่ ?        7. หลักการนี้จะเป็นจุดจบของรัฐสวัสดิการ ?        8. หลักการนี้จะนำไปสู่สังคมของความเห็นแก่ตัว ?          จากแนวความคิดและคำถามตลอดจนข้อสงสัยต่อประเด็นดังกล่าวเบื้องต้น ได้มีกลุ่มคนที่สนใจสวัสดิการรูปแบบนี้ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig) เพื่อทำการทดลองเชิงปฏิบัติการ (Social Experiment) โดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ระดมเงินเพื่อนำมาให้กับคนที่ต้องการรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนทุกเดือน เดือนละ 1000 ยูโร เป็นระยะเวลานาน 1 ปี กระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ใช้กระบวนการสุ่ม เหมือนกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ไม่ต้องใช้เงินซื้อแต่ต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการทดลองโครงการของสมาคมนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน        บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้        1 คนที่ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่มีเงื่อนไขจะเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นมามีความเชื่อมั่นในอนาคตและรู้สึกมั่นคงกับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่การได้รับเงินแบบไม่มีเงื่อนไขคนรู้สึกเป็นอิสระ เมื่อคนในสังคมรู้สึกมั่นคง สังคมก็จะมั่นคง        2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษามาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์ หรือมีอาชีพอิสระเริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ          สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย         ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากผลการทดลองทางสังคมในเยอรมนีเกี่ยวกับหลักประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับทุกคน ครั้งหน้าจะมาสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อครับ         แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 อะพาร์ตเมนต์ไม่ให้สัญญาเช่า แถมจะริบเงินประกัน

        อะพาร์ตเมนต์แทบทุกแห่ง ล้วนมีการเก็บเงินประกันจากผู้เช่า เพื่อเป็นการประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ ต้องถูกระบุไว้ในสัญญาเช่า รวมถึงวิธีการคืนเงินประกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามผู้บริโภคหลายคนอาจเคยประสบปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าประกันอย่างไม่เป็นธรรมหรือการไม่คืนเงินประกันเมื่อยกเลิกสัญญาเช่าพักอาศัยแล้ว มาดูกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างกับปัญหาลักษณะนี้         คุณก้องเกียรติเช่าอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยก่อนย้ายเข้าได้วางเงินประกันเอาไว้จำนวนหนึ่ง ไม่กี่เดือนถัดมาคุณก้องเกียรติมีเหตุจำเป็นต้องย้ายออกอย่างกะทันหัน ซึ่งก็ได้ชำระค่าเช่าเดือนสุดท้ายไปแล้วเว้นแต่ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เพราะยังไม่มีการแจ้งราคามา อย่างไรก็ตามคุณก้องเกียรติ คิดเอาว่า ผู้ดูแลอะพาร์ตเมนต์จะหักเอาจากส่วนของเงินประกันที่ทางอะพาร์ตเมนต์ยังไม่ได้คืนให้        หนึ่งเดือนต่อมาผู้ดูแลอะพาร์ตเมนต์ได้ติดต่อมาทวงค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าทำความสะอาดห้อง รวมเป็นเงิน 900 กว่าบาท ทั้งยังบอกว่าจะริบเงินประกันที่ได้วางไว้ เพราะคุณก้องเกียรติผิดเงื่อนไขข้อตกลงไม่ยอมแจ้งย้ายออกก่อนล่วงหน้า 30 วัน        คุณก้องเกียรติได้จ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคไปตามจำนวนที่ผู้ดูแลเรียกเก็บ แต่ก็รู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบ หากจะโดนริบเงินประกัน เพราะตอนเข้าพักอาศัยก็ไม่เคยได้รับเอกสารสัญญาเช่า หรือใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือน เรื่องการแจ้งย้ายออกล่วงหน้า 30 วันก็เช่นกัน ตนเองไม่ทราบมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขให้ถูกริบเงินประกันได้ จึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา         ห้องพัก บ้าน อาคารชุด อะพาร์ตเมนต์ สำหรับการให้เช่าเพื่อพักอาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562  โดยผู้เช่าและผู้ให้เช่าทำสัญญาเช่าระหว่างกัน โดยแต่ละฝ่ายต้องได้รับเอกสารสัญญาเช่าที่มีข้อความถูกต้องตรงกันคนละฉบับ         โดยในสัญญาเช่าต้องมีรายละเอียดของผู้ให้เช่าและผู้เช่า ชื่อสถานที่ตั้งและสภาพของอาคาร ทรัพย์สินเครื่องใช้ต่างๆ ระยะเวลาเช่า จำนวนเงินประกัน ค่าเช่าล่วงหน้า อัตราค่าเช่า อัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา (โดยต้องแสดงวิธีคิดคำนวณ) รวมถึงอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่นๆ ที่ต้องคิดตามจริงและมีเหตุผลอันสมควร เงื่อนไขการผิดสัญญา รวมถึงมีใบแจ้งหนี้ที่แสดงรายการค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ และ ใบเสร็จรับเงินให้กับผู้เช่าด้วย         ดังนั้นเมื่อตกลงทำสัญญากันแล้ว ผู้บริโภคต้องขอเอกสารสัญญาเช่าไว้กับตนเองหนึ่งฉบับ และอ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการเสียเปรียบหรือเสียสิทธิอันพึงได้ หากผู้บริโภคไม่ได้รับเอกสารสัญญาเช่า ใบแจ้งหนี้ที่แสดงรายการค่าใช้จ่ายหรือไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน สามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง (สคบ. หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด หรือ สายด่วน สคบ. 1166 ได้ เพื่อปกป้องสิทธิของตนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เงื่อนไขประกันภัยที่ต้องรู้

ช่วงนี้หลายคนคงสนใจทำประกันโควิด-19   ผมจึงขอแนะนำบางเรื่องที่ควรใส่ใจ แม้การทำประกันอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการวางแผนและประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ทุกอย่างก็ย่อมทั้งมีข้อดีและข้อเสีย      หากไม่ศึกษารายละเอียดให้ดี อาจจะต้องทนปวดหัวกับปัญหาที่ต้องตามมา เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาก็ย่อมได้    ฉะนั้นก่อนทำสัญญาประกัน ขอให้ทุกท่านอ่านข้อความ เงื่อนไขต่างๆ ให้จบก่อน แล้วค่อยไปทำสัญญานะครับ         อย่างในตัวอย่างที่หยิบยกมาคุยในวันนี้ ก็จะเป็นคดีประกันที่ศาลฏีกาได้เคยตัดสินถึงความรับผิดของบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ยังต้องรับผิด  แม้รถยนต์ที่เอาประกันภัยจะมีการขายให้บุคคลอื่นไป แต่เมื่อการซื้อขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือว่ารถยนต์ยังเป็นของผู้เอาประกันภัย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย บริษัทประกันก็ย่อมมีหน้าที่ผูกพันตามสัญญาประกันภัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558         โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้         ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัย หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้ว ได้ขายรถให้ บ. ดังนั้น บ.จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ เมื่อรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ บ. กฎหมายก็ถือเสมือนว่า โจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเองทำให้รถยนต์สูญหาย บริษัทประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879        “ มาตรา 879  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ”        อีกคดีเป็นเรื่องของผู้เอาประกันภัย ที่ประมาทเลินเล่อขับรถชนรถคันอื่นจนเกิดความเสียหาย เมื่อประกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ก็มีสิทธิเรียกร้องคืนจากผู้เอาประกันภัยที่ทำละเมิดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559         การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้         ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)         สุดท้ายนี้ ฝากว่าหากมีคนใกล้ตัวกำลังวางแผนซื้อประกัน ขอให้มีสติ พึงระลึกว่าก่อนทำสัญญาประกัน เรามีอำนาจต่อรองมากกว่า มีสิทธิเลือกว่าจะทำกับเจ้าไหนก็ได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ให้ดี เพราะเมื่อทำสัญญาแล้ว เขาได้เงินเราไปแล้ว อำนาจต่อรองเราลดลงทันที และอาจต้องปวดหัวกับเงื่อนไขต่างๆ   ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าก่อนทำสัญญาอ่านเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ของท่านเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รับประกันหนึ่งเดือนแต่ทำไมต้องเสียค่ารักษาเพิ่ม

        การรับประกันต้องอ่านข้อกำหนดหรือข้อสัญญาให้ดี และสอบถามถึงเงื่อนไขที่ไม่อยู่ภายใต้การรับประกันให้แน่ใจก่อน มิเช่นนั้นก็อาจต้องปวดหัวเสียเวลา เหมือนที่คุณประคองเซลล์แมนผู้มีปัญหาฟันห่างประสบมา         อาชีพเซลล์แมนจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ ปัญหาฟันหน้าห่างจึงเป็นสิ่งที่คุณประคองรู้สึกเป็นปมด้อยของตนเองมาตลอด เวลาพบลูกค้าจะขาดความมั่นใจ เขาจึงปรึกษากับคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่ง ขอเรียกว่าคลินิกพี เรื่องการรักษาฟันห่าง ซึ่งทันตแพทย์แนะนำหลายวิธีตามหลักการรักษา วิธีซึ่งง่ายและไม่กระทบกับงานของคุณประคอง ผู้ไม่ค่อยมีเวลาว่างมาก คือการใช้วัสดุอุดฟันปิดเติมฟันหรืออุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน การรักษาวิธีนี้ทางคลินิกรับประกันผลหนึ่งเดือน         แต่ก็เหมือนโดนแกล้ง เพียงหกวันหลังการรักษาฟัน วัสดุที่อุดช่องว่างระหว่างฟันเกิดแตกร้าว คุณประคองจึงต้องกลับไปคลินิกพีอีกครั้งเพื่อให้ทันตแพทย์แก้ไข ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้น วัสดุที่ซ่อมก็เกิดหลุดออกมาอีกจึงต้องกลับไปคลินิกอีกครั้ง         ทันตแพทย์ระบุว่าต้องรื้อทำใหม่ และต้องเสริมด้วยการทำรีเทนเนอร์ครอบฟันไว้เพื่อไม่ให้เกิดการแตกร้าวอีก ซึ่งต้องชำระเงินเพิ่มเป็นค่ารีเทนเนอร์ 5,000 บาท คุณประคองต้องการให้การรักษาเป็นไปด้วยดี จึงจ่ายชำระเงินส่วนนี้เพิ่มไป แต่ยังไม่ได้ทำรีเทนเนอร์ในวันนั้นเพราะต้องมีการสั่งทำเฉพาะ ทันตแพทย์จึงแก้ไขบางส่วนให้ก่อน เมื่อกลับถึงบ้านปัญหายังคงเกิดขึ้นอีกครั้งในวันถัดมา เมื่อเขาติดต่อทางโทรศัพท์กับทางคลินิก เขาได้รับการนัดหมายให้มาพบทันตแพทย์ในอีกสองวัน แต่เมื่อมาตามนัด ได้พบทันตแพทย์คนใหม่ ซึ่งบอกเขาว่า ค่ารีเทนเนอร์คือ 8,000 บาท ไม่ใช่ 5,000 ตามที่ทันตแพทย์คนเดิมแจ้งไว้        “ผมรู้สึกไม่ชอบที่พนักงานบอกข้อมูลไม่หมด ไม่บอกผมว่าถ้าเป็นทันตแพทย์คนใหม่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงสามพันบาท แล้วการแตกของฟันก็ควรอยู่ในเงื่อนไขประกันที่ทางคลินิกระบุคือหนึ่งเดือน พอผมต่อว่าไป พนักงานบอกว่า ขอโทษที่ลืมแจ้งแต่หากจะทำในราคาที่จ่ายไป 5,000 บาท ต้องรอคิวคุณหมอท่านเดิม คือรออีกถึง 6 วัน ผมเป็นเซลล์ต้องพบเจอลูกค้าตลอด จะให้ฟันบิ่นๆ ไปถึง 6 วัน จะไหวเหรอ”        คุณประคองจึงย้ายไปรักษาที่คลินิกแห่งใหม่ และจ่ายค่าทำฟันไป 3,000 บาท เขาต้องการให้คลินิกพีเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาตรงนี้ จึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือควรดำเนินการอย่างไรต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องปรึกษาของคุณประคองนั้นทราบต่อมาว่า ทางคลินิกได้ให้ตัวแทนนำเช็คจำนวนเงิน 5,000 บาทมามอบให้ ซึ่งก็คือเงินค่ารีเทนเนอร์ที่คุณประคองโอนให้แก่คลินิก แต่ไม่ยินดีชดเชยในกรณีที่คุณประคองต้องไปรักษาที่คลินิกอีกแห่ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงเชิญทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย         ทางตัวแทนคลินิกยังยืนยันการคืนเงิน 5,000 บาทให้เท่านั้น แต่รับปากจะนำเรื่องไปเสนอผู้บริหาร ซึ่งภายหลังแจ้งผลว่า ยินดีคืนเงินเพียงแค่ค่ารีเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งคุณประคองรู้สึกผิดหวังที่ทางคลินิกเหมือนให้สัญญารับประกันที่เป็นแค่เพียงลมปาก แต่ก็ไม่อยากต่อความด้วย จึงตกลงรับเงินจำนวน 5,000 บาทคืนและยุติเรื่อง   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 228 ญาติไม่จ่ายหนี้รถคนค้ำก็ช้ำไป

        เรื่องปวดใจสำหรับคนค้ำประกันคือ แม้ไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงแต่ตามกฎหมายต้องรับภาระไม่ต่างจากผู้ซื้อ ซึ่งบางคนก็คาดไม่ถึงว่า การลงลายมือชื่อเพื่อค้ำประกันให้ญาติด้วยน้ำใจอันดี อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผิดใจกันมานักต่อนัก         คุณสนิท โทรศัพท์มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้ญาติ ต่อมาภายหลังประมาณหนึ่งปีกว่า ญาติผิดนัดไม่ชำระค่างวดรถ ต่อมารถยนต์ถูกยึดและบริษัทไฟแนนซ์ได้ขายทอดตลาด แต่ยังมีเงินส่วนต่างอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ 155,000 บาท ไฟแนนซ์ได้เรียกให้ตนเองและญาติชำระหนี้ ซึ่งตนเองพยายามติดตามให้ญาติใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงกลายเป็นคดีความ         ตอนที่ไปฟังคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ญาติและคุณสนิทให้ฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ไม่นานก็มีหมายบังคับคดีถึงบริษัทของคุณสนิทเพื่อที่จะอายัดเงินเดือน “ผมพยายามหาหยิบยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ไม่อยากโดนบังคับคดี อยากทราบว่าผมต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไม่ให้เสียเปรียบกับทางไฟแนนซ์ แล้วถ้าผมชำระหนี้หมดจะมีทางไหนเรียกเงินคืนจากญาติได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อต้องการปิดบัญชี คุณสนิทต้องขอเอกสารใบลดหนี้จากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อได้เอกสารแล้วให้อ่านข้อความให้ละเอียดว่า ตรงตามที่ได้ตกลงขอปิดหนี้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่        2.หากข้อความเป็นไปตามที่ตกลง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทไฟแนนซ์เพื่อให้มีหลักฐานคือยอดโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบและขอใบปิดบัญชีจากทางไฟแนนซ์มาเก็บไว้        3.กรณีที่คุณสนิทซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนญาติ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 (ผู้ซื้อ) คุณสนิทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับญาติได้ แต่ต้องดูว่าญาติมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีก็ฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นศาลก็สามารถบังคับคดีกับญาติต่อไป เพื่อนำทรัพย์ของญาติออกมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับคุณสนิท   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 225 กลไกความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย : กรณีศึกษาของระบบประกันสังคมเยอรมัน

        ประเทศเยอรมนีได้จัดว่าเป็นต้นแบบของระบบรัฐสวัสดิการ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ทุกคนมีสิทธิ และหน้าที่จากการทำงานมีรายได้ จะต้องสมัครเข้าร่วมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้มีรายได้รายเดือน จะถูกหักเข้ากองทุน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานจนถึงวันเกษียณอายุการทำงาน แบบอัตโนมัติทันที เงินที่ถูกหักจากรายได้ของคนทำงานรายเดือน ประกอบด้วย        · เงินประกันการตกงาน (Arbeitsloenversicherung: ALV)        · เงินบำนาญ (Deutsche Rentenversicherung: DRV)        · เงินประกันสุขภาพ (ภาคบังคับ Gesetzliche Krankkenverischerung: GKV)        · ประกันอุบัติเหตุ (ภาคบังคับ Gesetzliche Unfallversicherung: GUV)        · ประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพ เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามพิการ หรือชราภาพ (Pflegeversicherung: PV)         เสาหลักของระบบรัฐสวัสดิการ ของกองทุนดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายประกันสังคม 5 ชุดในแต่ละประเด็นดังนี้ คือ        · ระบบการช่วยเหลือผู้ตกงาน บรรจุอยู่ใน the 3rd  book of social code  (SGB III)        · ระบบประกันสุขภาพ บรรจุอยู่ใน the 5th book of social code  (SGB V)        · ระบบเงินบำนาญ บรรจุอยู่ the 6th  book of social code  (SGB VI)        · การประกันอุบัติเหตุ อยู่ใน the 7th  book of social code  (SGB VII) และ        · การประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพใน the 11th book of social code  (SGB XI)         ถึงแม้ว่าจะมีกลไกการประกันสังคม ในเรื่องเงินบำนาญหลังเกษียณให้กับประชาชนทุกคนแต่ก็พบว่า ประชาชนวัยชราหลังจากเกษียณแล้ว ได้รับเงินบำนาญในอัตราที่ต่ำกว่าค่าครองชีพอยู่มาก และไม่ได้มีสมบัติเก่าจากมรดกในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลจึงมีกลไกการช่วยเหลือ อีกทางหนึ่ง คือ ระบบการประกันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (basic life security: Grundsicherung)         สำหรับความช่วยเหลือของรัฐบาลในกรณีนี้ ก่อนที่จะอนุมัติความช่วยเหลือ ผู้ที่มีสิทธิในการยื่นคำขอจะถูกตรวจสอบ รายได้ และทรัพย์สินอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่า เงินช่วยเหลือนี้ ได้ส่งไปถึงผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจริงๆ จากสถิติของ สำนักงานสถิติแห่งประเทศเยอรมนี ในปี 2018 มีผู้ได้รับสิทธิในการให้ความช่วยเหลือถึง 550,000 คน         กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถสะสมเงินประกันสังคมได้เพียงพอ สำหรับชีวิตหลังเกษียณ (ซึ่งสะท้อนรายได้ของประชาชน กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ก็มักจะได้เงินบำนาญที่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ก็มักจะได้รับเงินไม่เพียงพอ) สาเหตุที่ทำให้ ประชาชนมีรายได้น้อย คือ การเจ็บป่วย การตกงานเป็นระยะเวลานานๆ         ขอยกตัวอย่างคนทำงานที่มีรายได้เฉลี่ย 1,621 ยูโร ส่งเงินประกันสังคม นาน 45 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญ เพียงครึ่งเดียว คือเดือนละ 743 ยูโร ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่า ค่าครองชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิตของเงินประกันคุณภาพชีวิต (basic life security) ที่ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 800 ยูโร         และเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและจำนวนเงินที่เหลือใช้แต่ละเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยในการกำหนดเงินช่วยเหลือ        สำหรับพื้นที่อาศัยของประชาชนที่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเภทนี้ ได้กำหนด ไว้ว่า        ห้องสำหรับ ผู้อยู่อาศัย 1 คน ขนาด 45- 50 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 2 คน ขนาดไม่เกิน 60 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 3 คน ขนาด ไม่เกิน 75 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 4 คน ขนาดไม่เกิน 90 ตารางเมตร         แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดสิทธิประโยชน์ และจำนวนเงินที่จะได้รับแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานประกันสังคม ดังนั้นหากมีกรณีพิพาท ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการต่อสู้คดีในศาลประกันสังคมได้ (Sozialgericht: Social Court)        กลไกดังกล่าว จะสามารถทุเลาสภาพยากจนตอนชราภาพได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนำกลไกดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทย คงต้องพิจารณ ถึงบริบทครอบครัวไทยตลอดจนสังคมเมือง สังคมชนบท และชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ แตกต่างกันด้วย          (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 3/2017 และ ปรับปรุงข้อมูล ฉบับ 11/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถ

        เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากประกันภัยรถยนต์ บางทีต้องรอให้ปัญหาปะทุและผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบอยู่นาน กว่าที่จะได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งผู้บริโภคเองต้องอย่าเพิกเฉย แม้บางครั้งการร้องเรียนอาจจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การร้องทุกข์หนึ่งครั้ง เชื่อเถอะว่า สามารถได้ผลกว่าการบ่นพันครั้งแน่นอน        ขณะคุณปิยบุตรกำลังชะลอรถยนต์ของตนเพื่อหยุดตรงไฟแดงเมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเหลือง แต่รถกระบะซึ่งตามมากลับชนรถยนต์ของคุณปิยบุตรเพราะไม่อยากจะหยุดรถที่สี่แยก โชคดีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะที่รถยนต์ คุณปิยบุตรปลอดภัย แต่ก็ต้องปวดหัวเพราะต้องวุ่นวายกับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายหนัก        แม้ทางคู่กรณีคือรถกระบะ ยอมรับผิดและมีประกันภาคสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้แจ้งรายละเอียดของอู่ต่างๆ เพื่อให้คุณปิยบุตรนำรถยนต์ไปซ่อมแซม (กรณีนี้คุณปิยบุตรต้องพึ่งอู่ที่ทางตัวแทนประกันภัยเสนอ เนื่องจากรถยนต์ของตนเองไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจมีเพียง ประกันตาม พ.ร.บ.เท่านั้น) แต่พอไปตามอู่ต่างๆ ที่ตัวแทนประกันภัยระบุ กลับถูกปฎิเสธจากหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ จึงมีอู่หนึ่งรับซ่อมแซมให้ซึ่งใช้เวลาในการซ่อมแซม 8 วัน คุณปิยบุตรจึงนำรถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ        ทางตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้จ่ายค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ให้กับคุณปิยบุตรเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ซึ่งจ่ายตามระยะเวลาที่รถยนต์อยู่ในการซ่อมแซมของอู่บริการ ทำให้คุณปิยบุตรสงสัยว่า แล้วระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ตนไม่ได้ใช้รถยนต์เพราะไม่มีอู่ไหนรับซ่อมแซมให้ ทำไมตนถึงไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงเวลานั้น แนวทางแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณปิยบุตรถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของคณะอนุกรรมการ คอบช. และได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งต่อมา ทางคปภ.ได้ปรับปรุงเรื่อง ความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัยและอยู่ระหว่างนำรถยนต์เข้าซ่อมแซม ดังนี้        รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท        รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท         รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท         “หากฝ่าฝืน มีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่า บริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”         ที่มา คปภ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กระแสต่างแดน

Shonky Awards 2019        ทุกปีองค์กรผู้บริโภคออสเตรเลีย CHOICE จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดแย่โดยคัดเลือกจากผลสำรวจความเห็น ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเรื่องร้องเรียนต่อผู้ประกอบการ และในปีนี้ “ผู้โชคดี” ได้แก่...         ·  ห้างออนไลน์ Kogan ที่โฆษณาว่าตนเองเป็น “ผู้นำด้านการบริการลูกค้า” แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีกลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 300 เรื่อง (เฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์) ลูกค้าหลายรายต้องเสียเวลาวุ่นวายอยู่นานกว่าจะได้เงินคืนกรณีที่สั่งซื้อสินค้ามาแล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง อดีตพนักงานคนหนึ่งของห้างบอกว่าเคยเห็นยื้ออยู่สามสี่รอบ ทั้งๆ ที่ลูกค้าควรได้เงินคืนตั้งแต่รอบแรก นอกจากนี้บริษัทยังถูก ACCC องค์กรที่ดูแลด้านการแข่งขันฟ้องเพราะถูกจับได้ว่าแอบเพิ่มราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 10 ก่อนที่จะทำโปรโมชั่น “ลด 10 เปอร์เซนต์” ...สายช้อปออนไลน์ต้องระวัง         ·  อีกรายคือผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก XO Crunch ที่ติดฉลากอวดอ้างว่าเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ CHOICE คำนวณแล้วพบว่าถ้าจะกินให้ได้ครบความต้องการของร่างกายของเด็ก ลูกๆ ของคุณจะต้องกินถึง 8 ถ้วย และรับน้ำตาลเข้าไป 62 กรัมหรือ 14 ช้อนชาด้วยและที่น่าสงสัยคือ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ “4 ดาวสุขภาพ” มาได้อย่างไร ทั้งที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 22 ความจริงเมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน XO Crunch ควรจะได้แค่ 1.5 ดาวเท่านั้น (ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน)         ·  AMP ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเจ้าดังในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลนี้ไปเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนเกินเข้าใจว่าทำไมถึงแนะนำให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยมี แล้วขายแผนการคุ้มครองใหม่ให้ด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้น รายนี้คิดค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาแพงลิ่วโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนลูกค้า และฝ่ายที่ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้ามากที่สุดคือฝ่ายดูแลกองทุนเงินเกษียณ บริษัทมีบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว AMP Retirement Trust และ Super Savings Trust อยู่ประมาณหนึ่งล้านบัญชี ในปี 2018 เอาไว้กินค่าธรรมเนียมสบายๆ         ·  นอกจากตู้ โต๊ะ เตียงแบบประกอบเอง และสินค้าเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ อิเกีย ยังทำตู้เย็นขายด้วย ทีมทดสอบของ CHOICE ซึ่งทดสอบตู้เย็นมาอย่างโชกโชนพบว่าตู้เย็นรุ่น Nekyld ของเจ้านี้มีข้อบกพร่องมากจนไม่น่าเชื่อ         ตู้เย็นแบบ “มินิมอลลิสต์” นี้ใช้พลังงานมากกว่าที่ระบุบนฉลากประหยัดไฟถึงร้อยละ 8.9 และเพื่อให้ราคาถูก เขาจึงตัดฟีเจอร์ที่ “ไม่จำเป็น” ออกไปหลายอย่าง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น ตู้เย็นรุ่นนี้ได้คะแนน 39 เต็ม 100 ถ้าเป็นการสอบก็เรียกว่า “ตก” สินะ         ·  โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพของออสเตรเลียถือว่าไม่คุ้มค่าเงินนัก การสำรวจโดย CHOICE ก็พบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนออสซี่กังวลมากที่สุดคือเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจซื้อน้อยลง เพราะนอกจากเบี้ยจะสูงขึ้นทุกปี ความคุ้มค่ากลับลดลง มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์นอกเหนือไปจากที่ทุกคนได้ฟรีอยู่แล้วในระบบประกันสุขภาพ แต่เจ้าที่โดดเด่นจนต้องได้รับรางวัลไปได้แก่ เมดิแบงก์ ที่ขายแผนประกันแบบ “เบสิก” ในราคาที่แพงกว่าแบบ “บรอนซ์” ของเจ้าอื่นๆ         ·  CHOICE ออกตัวชัดเจนให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน จากการสำรวจกรมธรรม์ประกันสัตว์เลี้ยงเขาพบว่าเงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อจำกัด มันมากมายจนเวียนหัว เช่น ไม่รวมค่าหมอถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วยแบบเดิมซ้ำ หรือไม่รวมค่าตรวจนอกเวลาทำการ ที่สำคัญถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังอายุน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนต้องเริ่มจ่ายเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ซื้อไว้ก่อน ก็จะมีข้อยกเว้นมากมายเรื่องสุขภาพของสัตว์ก่อนการทำประกัน ราคาเบี้ยมีตั้งแต่ปีละ 180 ถึง 4,500 เหรียญ (3,700 ถึง 93,000 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 อ่านกรมธรรม์ประกันให้ละเอียดป้องกันการเสียประโยชน์

        การทำประกันภัย ประกันชีวิต คุณจะละเลยการอ่านรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือมีความผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่พึงได้         คุณลลิตา กังวลใจมากเมื่อพบว่า ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จากการที่เธอทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่งได้รับมานั้น มีการสะกดนามสกุลผิด เธอจึงรีบทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทันที เพื่อให้บริษัทฯ แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก         แต่เรื่องกลับเงียบหาย เธอส่งจดหมายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และรอการติดต่อกลับจนล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2561 ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากบริษัทประกันภัย “ดิฉันพยายามแจ้งกับตัวแทนของบริษัทรถยนต์ที่ดิฉันเช่าซื้อ เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องให้ เขาก็รับปาก” ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ ก็ไม่มีความคืบหน้า คุณลลิตาจึงขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ไว้ เกรงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามเรื่องที่คุณลลิตาเคยทำไปถึงบริษัทประกันภัยและขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมกับทำสำเนาแจ้งไปที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  ซึ่งต่อมาก็ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์ให้ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดต่อไปที่คุณลลิตาผู้ร้อง ได้รับการยืนยันว่าทางบริษัทประกันภัยได้ส่งกรมธรรม์ใหม่ที่ได้แก้ไขชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้แล้วจริงหากผู้บริโภคท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย เบื้องต้นควรทำหนังสือขอให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมแนบสำเนาดังกล่าวส่งไปให้หน่วยงาน คปภ. ช่วยเหลือด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2562

เจ็บป่วยโรคหน้าร้อน ใช้สิทธิประกันสังคมได้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยขณะนี้ไทยเข้าสู่หน้าร้อน ซึ่งมีโรคอันตรายที่เกิดในฤดูนี้ 6 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า หากผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย         แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หลังจากนั้นให้ญาติรีบแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยด่วน เพื่อรับตัวไปรักษาต่อ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ ใน 3 วันแรก (72 ชม.) ตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนด เตรียมต่อยอดวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์กรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมยึดกัญชาของกลางที่ใช้ผลิตน้ำมัน และการแถลงข่าวของ นายเดชา สิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 ว่าเตรียมร่วมมือพัฒนายาที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เพื่อยกระดับยาจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น         ภญ.สุภาภรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา และยืนยันสถานะการเป็นหมอพื้นบ้านของนายเดชาว่า นายเดชามีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะหมอพื้นบ้าน และเป็นคนแรกๆ ที่รู้จักการใช้รางจืดในการรักษาโรคหรือล้างพิษ ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายเดชาจึงมีความเป็นหมอพื้นบ้านโดยพฤตินัย และเป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคม         ส่วนการรับรองตามระเบียบคาดว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายเดชาทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขการรับรอง เช่น มีความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และถ่ายทอดความรู้ให้สังคม         ทั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับยาหยอดที่มีสารสกัดจากกัญชาของนายเดชาจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่นั้น คิดว่าถึงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐ ควรใช้โอกาสจากกรณีนายเดชา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสม เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถใช้กัญชาในการดูแลตัวเอง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านได้ช่วยเหลือคนตามที่เคยดำเนินการมา กรมอนามัยแนะคนติดหวาน แม้เครื่องดื่มน้ำตาล 0% ก็เสี่ยงอ้วน         อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า น้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล จะใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมทดแทน แม้ไม่ให้พลังงาน แต่สารให้ความหวานเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ทำให้เกิดการติดรสหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ร่างกายหิวง่ายและกินมากกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเอง และกลายเป็นคนไม่ติดหวาน กรมควบคุมโรค เตือนอากาศร้อนจัดระวัง 'ฮีทสโตรก'         กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) พบผู้เสียชีวิต ในปี 2558 - 2561 จำนวน 158 ราย ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการต้องสงสัยว่าป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยายาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม หรือห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดร่างกายด้วยน้ำเย็น ถ้ามีสติให้ดื่มน้ำ สำคัญสุดเป็นอันดับแรกคือการทำให้อุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยลดลงก่อน หากมีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที อาลัย "สำลี ใจดี" เภสัชกรหญิงนักสู้วงการสาธารณสุขไทย         เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี นักต่อสู้วงการสาธารณสุขไทย ผู้เป็นแบบอย่างของการทำงานทางสังคมตลอดชีวิต ซึ่งอาจารย์ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 00.57 น. ของวันที่ 7 เม.ย.62         ผศ.ภญ.สำลี นั้นนับได้ว่าเป็นนักสู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน ในสมรภูมิสิทธิบัตรยา โดยการพาลูกศิษย์ไปทำค่ายอาสาในสู้ไม่ถอย ทำให้ได้พบการใช้ยาแบบผิดๆ จากความยากจน ความไม่รู้และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนผลิตและขายยากลายเป็นที่มาของการนำลูกศิษย์ ก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาปัญหายา” เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยากับประชาชน นำไปสู่การรณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด ยาซอง ยาแก้ปวด ควบคู่ไปกับการยกเลิกตำรับยาที่ไม่เหมาะสม         ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพถ้วนหน้า ผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ต่อสู้เพื่อฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย การนวดไทยให้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา         นอกจากนี้ ผศ.ภญ.สำลี ยังได้เปิดโปงการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เป็นประธานกรรมการที่กำกับดูแลงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ปลดล็อกการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และผลักดันให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2562

ไทยออกกฎหมายบังคับใช้ 'ซองบุหรี่แบบเรียบ' ชาติแรกในเอเชียตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 หรือ ประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ย.62ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิควบคุมยาสูบ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่ออกมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสซี่ลดลง 0.2% ต่อปี ซึ่งหากมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลในประเทศไทยเช่นเดียวกับออสเตรเลีย คาดว่าจะสามารถลดคนสูบบุหรี่ในประเทศได้ถึง 111,794 คนต่อปี จากคนสูบบุหรี่ซอง 5.9 ล้านคน 222 องค์กรผู้บริโภค ค้าน กม.จัดตั้งสภาผู้บริโภค ฉบับกฤษฎีกา 9 ม.ค.62 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และอาจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำ โดยเสนอให้ใช้ ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายศาลสตูลสั่ง “เพิร์ลลี่” จ่ายค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทจากกรณีผู้เสียหายเนื่องจากการใช้โลชั่นทาผิว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย ทำให้นำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทผู้ผลิตนั้น เมื่อ 27 ธ.ค.61 ศาลจังหวัดสตูลได้พิพากษาให้จำเลยคือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิว ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์และสมาชิกกลุ่ม รวมเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และอาจมากขึ้นหากมีผู้เสียหายเข้าชื่อเพิ่มเติม         นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้บริษัทระงับการจำหน่ายและออกประกาศรับคืนสินค้าที่มีปัญหาจากผู้บริโภค รวมทั้งเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและทำลายทิ้ง โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย. เสนอ รพ.จับมือ ร้านยา ช่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ลดความแออัดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร" จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ว่า อย.ตีความถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยา ไม่จัดเป็นการ "ขายยา" ตาม พ.ร.บ.ยาฯ ซึ่งการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจนำ "ร้านยา" เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา และยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดิม โดยการวางระบบจะพิจารณาถึงประเด็นของความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ความถูกต้องของยา ประสิทธิภาพยาในส่วนกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน ขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือถึงผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกิน ในปี 2561 จำนวน 60,409 ราย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืนทราบ โดยขอให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืน พร้อมแนบหลักฐานรายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเอง โดยสอบถามที่สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ประกันชีวิต+ประกันสุขภาพเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน

จากแบบประกันชีวิตที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น ประกันชีวิตเพื่อการออมทรัพย์ ประกันเพื่อการศึกษาบุตร ประกันเพื่อวัยเกษียณอายุ ประกันเพื่อการลงทุน และยังมีแบบอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่สำหรับบทความนี้จะศึกษาเฉพาะประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ เท่านั้น“ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอยกตัวอย่างของบุคคลเพศชาย (นามสมมติ “นายธรรมดา ฉลาดซื้อ”) อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความสนใจอยากเลือกซื้อประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) จำนวน 200,000 บาท มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี และชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน  และการชดเชยการขาดรายได้ที่พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท / วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิต จากข้อมูลของ นายธรรมดา ข้างต้น ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลและเงื่อนไขหลักจากบริษัทประกันชีวิต จำนวนทั้งสิ้น 11 บริษัท มาแสดงไว้ในตารางที่ 4 เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการเลือกซื้อประกันชีวิตที่มา : ใบเสนอราคาจากตัวแทนประกันชีวิต ช่วงเดือน มิถุนายน  2561แต่สมมุติตอนนี้นายธรรมดา ฉลาดซื้อ มีอายุ 55 ปี นายธรรมดา จะต้องเสียเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นดังภาพด้านล่าง  แสดงให้เห็นว่าการทำประกันชีวิตนั้น ควรจะเริ่มทำเมื่ออายุน้อย ๆ เพราะว่าเบี้ยประกันชีวิตของสัญญาหลักจะไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าอายุจะเปลี่ยนแปลงไป ข้อสังเกต : เบี้ยประกันชีวิตของบริษัทส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของผู้ประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น แต่มีบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง ที่อัตราค่าเบี้ยประกันชีวิต อายุ 35 ปี กับ 55 ปี มีจำนวนเท่ากัน คือ ชำระเบี้ยประกันเท่ากันทุกช่วงอายุ ได้แก่ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)จากตารางเปรียบเทียบข้อมูลการทำประกันชีวิต จะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท มีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิตไหนนั้น ฉลาดซื้อ จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงิน มาพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตโดยคิดผลตอบแทนที่ได้รับว่าประกันชีวิตของบริษัทไหนน่าสนใจมากที่สุด จากข้อมูลตารางที่ 4  คือการใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) มาช่วยในการพิจารณา             ค่า IRR หมายถึง อัตราลดค่า (Discounted Rate) หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) ที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะต้องจ่ายในการลงทุนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตลอดอายุสัญญา  ซึ่งค่า IRR สามารถคำนวณได้ตามสมการเมื่อ  n       =   จำนวนปีที่คุ้มครองในการทำประกันชีวิต         ESt   =   ผลตอบแทนรายปี ตั้งแต่ปลายปีที่  1 ถึง n         I0      =   เบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระ         IRR   =   อัตราผลตอบแทนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ IRR เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ที่เปอร์เซ็นต์มีค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าแบบประกันชีวิตนั้นๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบที่ให้ค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 210 การเลือกซื้อประกันสุขภาพ

 “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะแบ่งปันประสบการณ์ การเลือกซื้อประกันชีวิตควบคู่ประกันสุขภาพ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่พวกเราต้องพบเจอ มีอิทธิพลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่แปลงเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องรีบเร่ง ทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว มีเวลาพักผ่อนน้อย  อาหารการกินไม่มีเวลาเลือกสรรมากนัก ส่วนเรื่องการออกกำลังกายแทบไม่ต้องพูดถึง ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพาหมอหรือโรงพยาบาล ปัญหาที่ทุกท่านประสบเหมือนกันคือ ถ้าไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ท่านจะต้องเดินทางให้ถึงโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่ เพื่อรอรับบัตรคิวและรอคิวตรวจที่แสนจะยาวนาน โอกาสที่จะพูดคุยรายละเอียดของโรคกับแพทย์ที่รักษานั้นก็สั้นเต็มที  หรือถ้าต้องการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ก็จะพบกับค่ารักษาที่แสนจะแพงเกินกว่าที่คนชั้นกลาง จะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้             แนวทางการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การซื้อประกันสุขภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ให้กับบริษัทประกันชีวิต อย่างไรก็ตามการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต ท่านไม่อาจซื้อเฉพาะประกันสุขภาพอย่างเดียวได้ จะต้องซื้อสัญญาประกันชีวิต หรือที่เรียกว่าสัญญาหลัก เสียก่อน จึงจะสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมได้ แตกต่างจากการซื้อประกันอุบัติเหตุ ที่สามารถซื้อได้เลยโดยไม่ต้องซื้อประกันอย่างอื่นร่วมด้วย  ดังนั้น  “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันให้กับท่านผู้อ่าน  บทความนี้จะศึกษาถึงราคาเบี้ยประกันชีวิต(สัญญาหลัก) และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิต ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 11 ราย นับเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทประกันชีวิตที่มีอยู่ในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนการตลาดรวมจำนวน 94.30%     รวมถึงได้แสดงราคาค่าห้องพักรักษาพยาบาลประเภทเตียงเดี่ยว ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานครไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการเลือกตัดสินใจซื้ออัตราค่าห้องสำหรับการรักษากรณีเป็นผู้ป่วยในต้องพักค้างในโรงพยาบาล ตารางรายชื่อบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย จำนวน 22 บริษัท ตารางแสดงสัดส่วนการตลาดของบริษัทประกันชีวิตสูงสุด 11 รายแรก  คำนวณจากเบี้ยประกันรับรวม เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 คิดเป็นสัดส่วนทางการตลาด 94.30 %ส่วน 11 บริษัทประกันชีวิตที่เหลือ และไม่ได้แสดงในตาราง มีสัดส่วนทางการตลาดรวม คิดเป็น 5.70 % เท่านั้นที่มา : ข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2561ตารางอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวต่อคืน ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ที่มา : สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า              หรือสามารถค้นหาอัตราค่าห้องพักรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นทั่วประเทศไทยได้จาก                 www.aia-delivery.com/15077383/อัตราค่าห้องโรงพยาบาลเบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้คือ เพศ ช่วงอายุ และ อาชีพ  เพศหญิงหรือชายก็จะมีอัตราเบี้ยประกันที่ไม่เท่ากันแม้ว่าอายุจะเท่ากัน ยิ่งอายุมากขึ้น หรือทำงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยหรืออุบัติเหตุได้ง่าย เบี้ยประกันชีวิตก็จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุน้อย หรืออาชีพที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า             ประเภทของความเสี่ยงสำหรับบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะจัดกลุ่มอาชีพ ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้             กลุ่มที่ 1 : เป็นงานที่ทำในสำนักงาน ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น พนักงานบัญชี พนักงานธนาคาร ครู/อาจารย์ นักเรียน/นักศึกษา นักวิชาการ แพทย์ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น             กลุ่มที่ 2 : เป็นงานที่ต้องติดต่อนอกสำนักงานเป็นครั้งคราว ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุง่าย และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้แทนขาย พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เจ้าของร้านขายของชำ เจ้าของร้านเสริมสวย วิศวกร นักข่าว ช่างภาพ เป็นต้น             กลุ่มที่ 3 : ผู้ปฏิบัติงานด้านช่าง คนงานฝีมือ ธุรกิจไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง เช่น หัวหน้าคนงานก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างประปา เจ้าของโรงกลึง เจ้าของไร่ เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น             กลุ่มที่ 4 : เป็นกลุ่มที่ต้องปฏิบัติการภาคสนาม มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัย และอุบัติเหตุสูง เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  กลุ่มนี้บริษัทประกันชีวิตบางแห่ง อาจจะไม่รับประกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยสูงมาก เป็นต้น กรมธรรม์ประกันชีวิตในแต่ละฉบับจะมีเบี้ยประกันแบ่งแยกกันเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.      เบี้ยประกันชีวิต หรือเรียกว่าสัญญาหลัก เป็นเบี้ยประกันที่คุ้มครองชีวิตการจากไปก่อนเวลาอันสมควร หรือเกิดอันตราย ที่ทำให้ทุพพลภาพ เบี้ยประกันส่วนนี้เราจะได้รับคืนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกัน 2.      เบี้ยประกันสุขภาพที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า สัญญาเพิ่มเติมหรืออนุสัญญา คือสัญญาที่ระบุอัตราค่าห้องพักและค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกค้าที่จะต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ท่านจะซื้อเบี้ยประกันส่วนนี้ได้ บริษัทประกันจะบังคับให้ซื้อเบี้ยประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลักก่อน บริษัทประกันจะไม่ขายเบี้ยประกันสุขภาพให้กับลูกค้าแบบเดี่ยว ๆ  เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุด และบริษัทประกันจะปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุก ๆ 5 ปี 3.      เบี้ยประกันหรือสัญญาเพิ่มเติมอื่น  ๆ เช่น สัญญาเพิ่มเติมการเกิดอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมการคุ้มครองโรคร้ายแรง สัญญาค่าชดเชยรายวันที่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ค่าชดเชยการขาดรายได้) เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับคืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุดลง เช่นเดียวกับเบี้ยประกันสุขภาพ             เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทประกันชีวิต อัตราค่าห้องพักของโรงพยาบาล ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชนิดต่างๆ ของบริษัทประกันแล้ว คราวนี้ถ้าท่านผู้อ่านเกิดสนใจอยากจะทำประกันชีวิตไว้เพื่อความมั่นคงในชีวิต จะต้องทำอย่างไรบ้าง?             เริ่มแรกท่านสามารถสอบถามข้อมูลที่สนใจได้จาก Call Center ของบริษัทเหล่านั้น เพื่อนัดหมายให้ตัวแทนติดต่อกลับและพูดคุยเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต  หรือบางบริษัทจะขายผ่านธนาคารที่เป็นนายหน้า             สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ตัวแทนของบริษัทประกันจะเป็นคนให้ข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับประเภทและเงื่อนไขการประกันได้ดีที่สุด เพราะว่าผลิตภัณฑ์แต่ละบริษัทมีมากมายหลากหลายชนิด รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ผู้ทำประกันชีวิตจะต้องรู้หลายอย่าง อาทิเช่น แผนค่าใช้จ่ายการรักษา จำนวนปีที่คุ้มครอง การส่งเบี้ยประกัน การได้รับเงินปันผล หรือการได้รับเงินคืนระหว่างระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลบังคับ การเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกรณีที่ต้องเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล การได้รับเงินค่าเบี้ยประกันที่เราส่งเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาคืน รวมทั้งการใช้สิทธิในการนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีในแบบ ภงด. 90 หรือ ภงด. 91 ประจำปี เช่น เบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพ (สัญญาเพิ่มเติม) สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าการทำประกันชีวิต ท่านต้องอ่านและศึกษาข้อมูลในใบเสนอราคาโดยละเอียด สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจ ให้รีบหาคำตอบจากตัวแทนของบริษัทประกัน เนื่องจากการประกันชีวิตอาศัยความซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ การไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันชีวิตบอกล้างสัญญาในภายหลังได้ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อสินค้าทั่วไป ๆ ที่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประวัติข้อมูลของลูกค้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point