ฉบับที่ 172 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง”

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร  และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ ส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน     การทดสอบในปี 2558 นี้ ทางผู้วิจัยได้เลือกสียี่ห้อเดียวกันกับตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 โดย•    เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบสารตะกั่วสูงกว่า 100 ppm •    เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นหลังกลุ่มตัวอย่างของปี 2553 และ 2556•    สียี่ห้ออื่นที่ผลิตโดยผู้ผลิตสีในกลุ่มตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 รวมทั้งสิ้น 100 ตัวอย่าง(56 ยี่ห้อ จากผู้ผลิต 35 บริษัท) ซึ่งทางฉลาดซื้อจะขอนำเสนอเป็นสองส่วน โดยฉบับนี้จะลงรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณสารตะกั่วเกินค่า 100 ppm จำนวน 61 ตัวอย่าง และอีก 39 ตัวอย่างซึ่งพบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm จะนำเสนอในฉบับถัดไป         ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ รับรองมาตรฐานโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์สารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (Environmental Lead Proficiency Analytical Testing – ELPAT)  2 แห่ง •    ห้องปฏิบัติการ Certottica Scarl ประเทศอิตาลี •    ห้องปฏิบัติการ AIJU Research Center ประเทศสเปน วิธีวิเคราะห์ CPSC – CH – E1003.09.1 •    ขูดสีจากชิ้นไม้ และใช้กรดย่อยสารตะกั่วในสี•    วิเคราะห์สารตะกั่วในสารละลายด้วยเครื่อง ICP - AES *มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทำงานเพื่อความเป็นธรรมและความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาและติดตามนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม สถานการณ์มลพิษอุตสาหกรรม และรูปแบบการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน เน้นส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ธรรมาภิบาล และความพร้อมรับผิดของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ผลกระทบของสารเคมีอันตรายที่เกิดต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และสุขภาพของคนงานงานศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย (Asian Lead Paint Elimination Project) เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) และองค์กรภาคประชาสังคมใน 7 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และไทย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Switch Asia)องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้กำหนดให้การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นวาระเร่งด่วน โดยจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP) และกำหนดเป้าหมายให้รัฐสมาชิกทุกประเทศออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2563  ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเนปาล โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ประกอบการไทยให้ปฏิบัติตาม กฎหมายต่างประเทศอย่างเคร่งครัดและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนอย่างต่อ เนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกสีทาและวานิชไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 83 ของ (ไม่น่า) เล่น

ใครๆก็รู้ว่าของเล่นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างช่วยเสริมทักษะ และสนับสนุนพัฒนาการต่างๆให้กับเด็กได้ แต่ใช่ว่าของเล่นทุกชิ้นที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดจะปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของท่าน หลายคนอาจได้ยินเรื่องของของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วที่ต้องมีการประกาศเรียกคืนมาบ้างแล้ว เพราะของเล่นดังกล่าวอาจจะทำให้พัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กช้าหรือน้อยลงนั่นเอง มาดูกันว่าของเล่นที่มีขายในตลาดบ้านเราชิ้นที่เป็นอันตรายเพราะมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐานนั้นมีอะไรบ้าง ข้อมูลที่ฉลาดซื้อนำมาเสนอนั้นได้จาก ศูนย์วิจัยเสริมสร้างความปลอดภัยการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ทำการตรวจสอบหาโลหะหนักในของเล่นจำนวน 183 ชิ้น ที่มีราคาระหว่าง 20 – 150 บาท และเป็นของเล่นที่หาซื้อได้จากห้างและตลาดทั่วไป ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก สระแก้ว และ บุรีรัมย์ ผลการตรวจสอบ•    ของเล่นที่พบว่ามีสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดนั้นมีทั้งของเล่นที่มี และไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม •    ในภาพรวม ร้อยละ16.9 ของของเล่นทั้งหมดที่ตรวจสอบ มีระดับสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน•    ร้อยละ 16.3 ของของเล่นที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม และร้อยละ 18.8 ของของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว มีระดับสารตะกั่วสูงเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน สมบูรณ์ด้วยสารอาหารป้องกันโรค

ทดสอบมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ถ้าเห็นคนเฒ่าคนแก่อายุแปดสิบ เก้าสิบที่ยังแข็งแรงมากๆ ไปถามดูเถอะว่ากินอะไรถึงแข็งแรงอายุยืน รายไหนๆ ก็ตอบว่ากินข้าวทั้งนั้น ไม่ได้กินอะไรวิเศษ วิโส อย่างที่มีคนนำมาอวดอ้างขายของกันให้เกร่ออย่างในเวลานี้ ข้าว อาหารหลักของไทยนี่แหละ สุดยอดอาหารที่อุดมด้วยโภชนาการล้นเหลือ โดยเฉพาะ ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ถูกลืมเลือนกันไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ตอนนี้ก็มีคนดีที่พยายามอนุรักษ์ไว้ และยังหาทางให้เกิดความยั่งยืนด้วยการแนะนำของดีให้แก่ผู้คนที่เห็นคุณค่าด้วย วิธีหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าของข้าวพันธุ์พื้นบ้านก็คือ เปิดเผยข้อมูลสำคัญในเรื่องสรรพคุณที่สุดแสนจะวิเศษของข้าวพันธุ์พื้นบ้านให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ โดยแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส.ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า สามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ ไปวิเคราะห์หาคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สารอาหารชนิดต่างๆ ที่พบในข้าวพันธุ์พื้นบ้านเบต้าแคโรทีน : ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันมะเร็งบางชนิด เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ โดยจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอเมื่อดูดซึมเข้าร่างกาย แล้ว ปกติคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ต้องวิตามินเอประมาณวันละ 800 ไมโครกรัม ข้าวที่มีเบต้าแคโรทีนมาก ได้แก่ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ ใน 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน 11.75 ไมโครกรัม รองลงมาได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ และ ข้าวเล้าแตก 5.17 ไมโครกรัม และ 4.93 ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไป ไม่มีเบต้าแคโรทีนจ้ะ แหล่งอาหารที่จะพบเบต้าแคโรทีนมากๆ อีก ได้แก่ พืชผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองหรือสีส้ม เช่น ใบตำลึง แครอท ฟักทอง ผักบุ้ง ยอดแค ส่วนผลไม้มีมากในแตงโมจินตหรา มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ วิตามินอี : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย ช่วยขยายหลอดเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและช่วยสมานผิวที่เป็นแผลให้หายเร็วขึ้น ปกติคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ต้องวิตามินอีวันละ 10 มิลลิกรัม>ข้าวที่มีวิตามินอีมาก ได้แก่ข้าวหน่วยเขือ 787.31 ไมโครกรัม/ 100 กรัม รองลงมาคือ ข้าวมะลิดั้งเดิม 376.58ไมโครกรัม/100กรัม ข้าวโสมาลี382.60ไมโครกรัม/100กรัม ข้าวหอมมะลิแดง336.62ไมโครกรัม/100กรัม และข้าวเล้าแตก 309.10ไมโครกรัม/ 100กรัม ส่วนข้าวทั่วไปที่ขัดขาว วิตามินอี แทบไม่มีเหลืออีกแล้ว แหล่งอาหารที่จะพบวิตามินอีมากๆ อีก ได้แก่ น้ำมันพืชชนิดต่างๆ ธัญพืชที่ไม่ขัดสีและผักใบเขียว สำหรับผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงๆ ได้แก่ ทุเรียน มะม่วงเขียวเสวยและมะม่วงน้ำดอกไม้ลูทีน : ช่วยป้องกันโรคต้อกระจกที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุข้าวที่มีลูทีนมาก ได้แก่ข้าวก่ำเปลือกดำข้าวหน่วยเขือ 14.37ไมโครกรัม/100 กรัม ข้าวช่อขิง10.29 ไมโครกรัม/100 กรัม ข้าวมะลิดั้งเดิม 9.48 ไมโครกรัม/100 กรัม และข้าวเล้าแตก 8.51 ไมโครกรัม/100 กรัม 240.09 ไมโครกรัม/100 กรัม รองลงมาได้แก่ แหล่งอาหารที่จะพบลูทีนได้อีก จริงๆ ลูทีนมีมากในนมแม่ เด็กที่ดื่มนมแม่จะมีสุขภาพตาที่ดีมาก นมผงไม่มีเลยต้องพยายามหามาใส่ลงไปทดแทน สำหรับผู้ใหญ่นอกจากข้าวพื้นบ้าน ลูทีนยังพบในผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง ใช่แล้ว...ลูทีนเขาก็อยู่ในผัก ผลไม้กลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีนนั่นเอง เหล็ก: มีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และยังมีผลต่อระดับสติปัญญาด้วย ร่างกายต้องการธาตุเหล็กไม่มาก วันหนึ่งประมาณ 15 มิลลิกรัม แต่ก็สำคัญขาดไม่ได้ ข้าวที่พบว่ามีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ1.22 มิลลิกรัม/100 กรัม ข้าวมะลิแดง 1.2 มิลลิกรัม/100 กรัม ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ 0.95 มิลลิกรัม/100 กรัม และข้าวเล้าแตก 0.91 มิลลิกรัม/100 กรัม ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไปมีธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม/100 กรัม แหล่งอาหารที่พบ ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อน เหล็กในอาหารมีสองรูปแบบ คือ ฮีมกับไม่ใช่ฮีมความสำคัญคือ เหล็กในรูปฮีม ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า เหล็กในรูปฮีมมีอยู่ในเลือด ตับและเนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารทะเล ส่วนเหล็กในพืชจะอยู่ในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ร่างกายดูดซึมได้น้อยทองแดง : เป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์จำนวนมากในร่างกาย ทำงานคู่กับเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง สร้างเนื้อเยื่อระบบประสาท สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วยปกติคนเราต้องการทองแดงไม่มาก แค่วันละ 2 มิลลิกรัมเท่านั้นข้าวที่พบทองแดงมาก ได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ มีทองแดง 0.5 มิลลิกรัม/100 กรัม หอมมะลิแดง 0.43 มิลลิกรัม/100 กรัม และข้าวเหนียวหอมทุ่ง (ขัดขาว) 0.38 มิลลิกรัม/100 กรัม ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไปมีอยู่ 0.1 มิลลิกรัม/100 กรัมเท่านั้นผลไม้ที่มีทองแดงมาก ได้แก่ องุ่นเขียว ทุเรียน ขนุน ลิ้นจี่ ศักยภาพในการป้องกันและรักษาโรคข้าวหอมมะลิแดงเหมาะสุดกับคนเป็นเบาหวานจากการทดสอบพบว่า ข้าวหอมมะลิแดงที่หุงสุกแล้ว มีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลกลูโคสในช่วงเวลา 20 นาทีแรกค่อนข้างช้า คือ 10.60 กรัมต่อ 100 กรัม และเมื่อย่อยแล้วผ่านไป 120 นาที ก็มีค่าของน้ำตาลกลูโคสเพียง 8.59 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งอัตรานี้เหมาะสมสำหรับคนที่มีภาวะเบาหวาน ชนิดที่ 2 (เบาหวานที่หาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด) เพราะข้าวหอมมะลิแดงไม่ได้ทำให้น้ำตาลขึ้นพรวดพราดเหมือนข้าวเจ้าทั่วไป ข้าวพื้นบ้านมีแอนติออกซิแดนซ์ มากกว่าข้าวทั่วไปคำว่า แอนติออกซิแดนซ์ ก็เรียกแบบไทยๆ ว่า สารต้านอนุมูลอิสระ นั่นเอง อนุมูลอิสระว่ากันว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวไม่ผ่องใส แก่ไว แผลหายช้า หลอดเลือดและระบบหัวใจทำงานไม่ดี เพราะอนุมูลอิสระเป็นผู้ร้าย ก็เลยมีคนผลิตพวกสารต้านอนุมูลอิสระออกมาขาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินอี ทองแดง สังกะสี เบต้าแคโรทีน เพื่อกำจัดอนุมูลอิสระออกไป แต่จริงๆ นั้น หากรับประทานข้าวพื้นบ้านร่วมกับอาหารธรรมชาติอื่นๆ ตามที่ได้แนะนำไป ก็แทบไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทนี้มารับประทานเลย เปลืองโดยใช่เหตุ กินข้าว ปลา อาหารธรรมชาติดีกว่าเยอะ และยังส่งเสริมเกษตรกรดีๆ ที่พยายามอนุรักษ์พันธุ์ข้าวอันแสนวิเศษที่ปู่ย่าตาทวดของเราได้สั่งสมประสบการณ์ คัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์กันมานับร้อยๆ ปี ซื้อได้ที่ไหนบ้างล่ะ อุตส่าห์พามาแนะนำตัวกันขนาดนี้ ถ้าไม่บอกว่ามีขายที่ไหน เห็นจะอึดอัดใจตายกันแน่ๆ ติดต่อได้ตามนี้เลยนะคะ ใกล้ที่ไหนใช้บริการที่นั่น เพื่อลดการสูญเสียจากค่าการขนส่งค่ะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร - 081-470-0864 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ - คุณนก โทร. 081-718-4220 เครือข่ายเกษตรทางเลือกพัทลุง - คุณสวาท 084-748-9204 ประพัฒน์ จันทร์อักษร 074-615-314 กลุ่มหวันอ้อมข้าว - คุณโต 089-657-0718 คุณสาว 084-583-6127 เครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา - คุณพลูเพชร 081-431- 6690 มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี - คุณอณัญญา 084-646-5908 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) นนทบุรี ติดต่อ - คุณนวล 02-591-1195 ถึง 6 คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้องพื้นบ้านเปรียบเทียบกับข้าวกล้องทั่วไป   พันธุ์ข้าว   คุณค่าทางโภชนาการ (หน่วย มิลลิกรัม/100 กรัม)   เหล็ก   ทองแดง   เบต้าแคโรทีน   ลูทีน   วิตามินอี   ข้าวทั่วไป (คำนวณโดยเฉลี่ย)   0.42   0.1   ไม่พบ   ไม่พบ   0.03   ข้าวหน่วยเขือ (นครศรีธรรมราช)   1.22   0.5   0.0052   0.0144   0.7873   ข้าวก่ำเปลือกดำ (ยโสธร)   0.95   0.08   0.0118   0.2401   0.1946   หอมมะลิแดง (ยโสธร)   1.2   0.43   0.0033   0.0091   0.3366   หอมมะลิ (ทุ่งกุลาร้องไห้)   1.02   ไม่พบ   0.0031   0.0095   0.3766   เล้าแตก (กาฬสินธุ์)   0.91   0.06   0.0049   0.0085   0.3092   หอมทุ่ง*(กาฬสินธุ์)   0.26   0.38   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0118   ป้องแอ๊ว* (มหาสารคาม)   0.24   ไม่พบ   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0089   ช่อขิง (สงขลา)   0.8   ไม่พบ   0.0041   0.0103   0.1788   มันเป็ด *(อุบลราชธานี)   0.2   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0045   0.026   ปกาอำปีล*   0.46   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0036   0.0226   สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล *ข้าวขัดขาว   รู้ไหมว่า การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ด้วยวิธีการทันสมัย ใช้พลังงานมากกว่าวิธีดั้งเดิมถึง 8 เท่า การผลิตข้าวแบบดั้งเดิม แค่อาศัยแรงงานสัตว์ ปุ๋ยจากธรรมชาติและปัจจัยจากธรรมชาติ ใช้พลังงาน เพียง 1,465.3 กิโลแคลอรี่/ผลผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ขณะที่การผลิตแบบใหม่ต้องใช้พลังงานมากถึง 11,715.2 กิโลแคลอรี่/ผลผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ข้อมูล : พลัง+งาน ปฏิบัติการพลังงานเพื่อชุมชน ฉบับที่ 1หน้า 26

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 เจ้าบ้านเจ้าเรือน : เมื่อหนุ่มรูปหล่อกลายมาเป็น “โสนน้อยเรือนงาม”

สังคมไทยเรามีระบบคิดเรื่อง การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษในสายเครือญาติ ระบบคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝังรากอยู่ลึก หากแต่ยังแปรรูปแปลงร่างกลายมาเป็นความเชื่อในชีวิตประจำวันเรื่องการเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ โดยผีที่ดำรงอยู่ในสถาบันครัวเรือนและมีบทบาทใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”     “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” หรือเราอาจเรียกต่างกันไปว่า “ผีเหย้าผีเรือน” หรือ “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน” นั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน ที่ด้านหนึ่งสมาชิกสังคมรุ่นหลังต้องแสดงกตเวทิตาต่อบรรพชนของตนเอง โดยมีวัตรปฏิบัติที่ลูกหลานต้องกระทำกันสืบเนื่องอย่างการเซ่นไหว้และบวงสรวงเคารพบูชา เพื่อที่อีกด้านหนึ่งผีบ้านผีเรือนท่านก็จะได้คุ้มครองและนำพาความสุขความเจริญมาให้กับสมาชิกครัวเรือนนั้นๆ    อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่าผีบ้านผีเรือนจะเป็นความเชื่อที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าการรับรู้ความเชื่อดังกล่าวจะสถิตเสถียรโดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง และหากเราอยากรู้ว่าผีบ้านผีเรือนยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนลุคโฉมโนมพรรณกันไปอย่างไร ก็คงต้องสัมผัสผ่านภาพตัวละคร “ไรวินท์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”    จับความตามท้องเรื่องของละคร เริ่มต้นจากนางเอก “แพรขาว” ที่สามี “พัสกร” ไปคว้าผู้หญิงอื่นมาเป็นอนุภรรยา เธอจึงตัดสินใจหอบ “ชมพู” ผู้เป็นลูกสาวมาเช่าบ้านริมน้ำเพื่ออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก และเป็นที่บ้านริมน้ำแห่งนี้เองที่วิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเรือนของไรวินท์ ได้ออกมาปกป้องแพรขาวทั้งจากสามีและภยันตรายต่างๆ และก็เป็นที่นี่อีกเช่นกัน ที่แพรขาวได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติว่า ทำไมไรวินท์จึงกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนติดอยู่ในเรือนริมน้ำหลังนั้น    ในอดีต ไรวินท์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่มีบิดาที่เจ้าชู้และทิ้งมารดาของเขาไปอยู่กินกับภรรยาใหม่ แม้จะมีบทเรียนจากชีวิตคู่ของบิดามารดามาก่อน แต่ก็เข้าตำราที่ว่า “เกลียดสิ่งใดก็กลับเลือกเป็นสิ่งนั้น” เมื่อไรวินท์ตกลงตามใจมารดาโดยยอมแต่งงานกับ “สีนวล” เขากลับเลือกเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของบิดา อันเป็นปมปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง    เพราะถูกจับคลุมถุงชน กับเพราะผู้หญิงอย่างสีนวลก็ไม่ใช่คนที่เขารัก ดังนั้นภายหลังแต่งงานกัน ไรวินท์จึงยังคงเลือกคบและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่สาวน้อยแรกรุ่นอย่าง “บัวน้อย” น้องสาวของเพื่อนรักอย่าง “รำไพ” หญิงสาวมีหน้ามีตาทางสังคมอย่าง “สุดสวาท” และผู้หญิงที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำยิ่งอย่าง “มาลาตี”     ชะตากรรมของสีนวลที่แม้จะเป็นเมียแต่งอยู่ในเรือนหลังงาม จึงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงพันธนาการที่มีเสียงเพลง “จำเลยรัก” ก้องอยู่ในห้วงจิตใจตลอดเวลาว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น กักขังฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนบาป...”     จนเมื่อลูกสาวของทั้งคู่จมน้ำเสียชีวิต ไรวินท์จึงสบโอกาสขอแยกทางกับสีนวล โดยยกเรือนหลังใหญ่และสมบัติทั้งหมดให้เธอครอบครอง จวบจนวาระสุดท้ายของสีนวลผู้ที่ภักดีแต่มีจิตใจแหลกสลาย เธอก็ได้แต่เอามีดกรีดข้างเสาเรือนเพื่อรอคอยเขาแบบนับวันนับคืน จนตรอมใจตายในที่สุด    ดังนั้น เมื่อไรวินท์ที่ชีวิตบั้นปลายถูกผู้หญิงที่เขาหลงใหลอย่างมาลาตีหลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว ได้กลับมาที่เรือนงามหลังใหญ่อีกครั้ง เขาจึงเสียชีวิตลงโดยถูกพันธนาการไว้ด้วยแรงแค้นของวิญญาณสีนวล และกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่แพรขาวมาพำนักอาศัยอยู่นั่นเอง    ด้วยโครงเรื่องที่ดูซับซ้อนซ่อนปม แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ผูกเรื่องให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ตามจินตกรรมของคนไทย ผีบรรพบุรุษมักถูกรับรู้ว่ามีรูปลักษณ์เป็นชายแก่สูงวัย ปรากฏตัวในชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบนบ้างหรือก็อาจเป็นผ้าม่วง และสถิตอยู่ในศาลพระภูมิที่ผ่านกาลเวลายาวนานของบ้านแต่ละหลัง    แต่เพราะไรวินท์เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่สืบต่อมาถึงยุคปี 2016 เยี่ยงนี้ เขาจึงเป็นผีเจ้าเรือนที่มีภาพลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม ปรากฏร่างในชุดสูทสีขาวตลอดเวลา สถิตพำนักในศาลพระภูมิที่ดูโอ่อ่าหรูหรา ไปจนถึงมีกิจกรรมยามว่างที่คอยเล่นเปียโนขับกล่อมแพรขาวและคนในบ้านให้รู้สึกรื่นรมย์    แม้จะมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ละครได้ทดลองสลับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายให้กับตัวละครหลักของเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน    หากย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอย่าง “โสนน้อยเรือนงาม” ที่ถูกนางกุลากักขังให้เป็นข้าทาสทอผ้าย้อมผ้าอยู่ในเรือนหลังงาม จนมาถึงนางเอก “โสรยา” ในละคร “จำเลยรัก” หรือ “ภัทรลดา” ในละคร “ทางผ่านกามเทพ” นั้น ตัวละครผู้หญิงมักถูกนำเสนอให้กลายเป็นผู้ถูกขูดรีดและถูกกระทำทั้งกายวาจาใจ และคอย “เชิญคุณ(ผู้ชาย)ลงทัณฑ์บัญชา จนสมอุราจนสาแก่ใจ...”    แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไรวินท์กับสีนวลแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้สิ้นใจวายปราณลง อำนาจที่ผกผันทำให้ผีสีนวลได้พันธนาการวิญญาณของไรวินท์หนุ่มรูปงามได้กลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน และทำให้เขาซาบซึ้งความรู้สึกของการถูกกักขังในเรือนริมน้ำ แบบที่ครั้งหนึ่งสีนวลเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่    ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ละครมอบหมายบทบาทให้แพรขาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเป็นผู้หารายได้ต่างๆ เข้ามาในครัวเรือน ผีเจ้าเรือนอย่างไรวินท์ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเด็กและเป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวแพรขาว อันเป็นพันธกิจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณของสีนวลคอยใช้อำนาจจับตามองและประเมินผลดูว่า พฤตินิสัยและการปฏิบัติตัวของอดีตสามีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร    จนเมื่อผู้ชายอย่างไรวินท์เริ่มเข้าอกเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนทัศนะจาก “คนบาป” มาเป็น “พ่อนักบุญ” แบบที่เขาได้กล่าวกับแพรขาวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ยอมสละตนอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน” เมื่อนั้นวิญญาณของไรวินท์ก็ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมและการถูกกักกันเอาไว้ในเรือนงาม    บนความสัมพันธ์ของหญิงชายในชีวิตจริงนั้น คงไม่ต้องรอกักขังบุรุษเพศให้เป็นผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนแต่อย่างใด หากเพียงผู้ชายได้ตระหนักว่าผู้หญิงไม่ใช่ “โสนน้อยเรือนงาม” หรือ “จำเลยรัก” ที่อยู่ใต้อาณัติบงการแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ที่เคียงคู่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็จะเกิดขึ้นได้ในเรือนหลังงามเช่นเดียวกัน                                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 หนุ่มบ้านไร่กับหวานใจไฮโซ : เมื่อความไม่เข้ากัน โคจรมาพบกัน

แค่เห็นชื่อเรื่องละครครั้งแรกว่า “หนุ่มบ้านไร่กับหวานใจไฮโซ” ผมก็เกิดความสนใจใคร่รู้ว่า ชีวิตของหนุ่มบ้านไร่กับชีวิตของสาวไฮโซ ที่เหมือนจะอยู่กันคนละมุมโลก แต่เหตุไฉนละครจึงเลือกจับเอาสองชีวิตที่อยู่กันคนละฟากฟ้า ให้วนโคจรมาบรรจบกัน หากคิดตอบโดยใช้สามัญสำนึกทั่วไป หนุ่มบ้านไร่จะเวียนวนมาตกหลุมรักกับสาวไฮโซได้นั้น ก็ต้องด้วยบุพเพสันนิวาส หรือเป็นเหตุเนื่องแต่ “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” แต่เพียงสถานเดียว แต่หากพินิจพิจารณาดูจากชีวิตของหนุ่มบ้านไร่อย่างนายปราบกับสาวไฮโซอย่างนับดาวแล้วล่ะก็ บุพเพสันนิวาสก็อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง แต่ก็อาจมีตัวแปรเรื่องช่องว่างระหว่าง “ความเป็นชนบท” กับ “ความเป็นเมือง” ที่กลายมาเป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน   โดยปกติแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า นับเป็นเวลาหลายทศวรรษภายหลังจากที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติถูกนำมาใช้ และกลายเป็นกรอบวิธีคิดหลักที่สังคมไทยยอมรับกันทั่วทุกหัวระแหง ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมืองก็นับวันจะยิ่งถูกถ่างออกจากกันไปเรื่อยๆ โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่ชนบทจะค่อยๆ ถูกกลืนกลายให้เปลี่ยนสถานะเป็นชายขอบของความเป็นเมืองแบบไม่มีที่สิ้นสุด นับดาว เธอผู้เป็นไฮโซสาวเจ้าของฉายา “นับดาวว้าวแซ่บ” ก็คือตัวแทนของภาพชีวิตความเป็นเมือง ที่แม้เบื้องหน้าของคนกลุ่มนี้อาจจะดูทันสมัย ดูสวย ดูหรู มีสไตล์ หรือ “ว้าวแซ่บ” สมกับฉายาที่เธอได้รับ หากแต่เบื้องหลังของนับดาว กลับเป็นไฮโซถังแตก ที่ต้องเอามรดกของปู่ย่าตายายมาออกขายเพื่อเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ด้วยเหตุผลที่ “จมไม่ลง” และต้องกอดเกียรติยศที่ค้ำคอเชิดๆ เอาไว้ ไฮโซสาวว้าวแซ่บจึงต้องไปตระเวนออกงานสังคมมากมาย สลับกับฉากที่เธอและคุณน้าอะซ่า (หรือชื่อจริงว่า อลิสา) ก็ต้องแอบหาเงินไปไถ่เครื่องเพชร เครื่องประดับ หรือกระเป๋าแบรนด์เนมจากโรงรับจำนำ มาแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อเฉิดฉายในงานสังคมเหล่านั้น และความหวังเดียวของนับดาว ก็มีเพียงการจ้องจะแต่งงานกับไฮโซแฟนหนุ่มอย่างชัยชนะ เพื่อกอบกู้ฐานะทางเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมา โดยที่เธอเองก็หารู้ไม่ว่า แฟน ดร.ไฮโซหนุ่มของเธอเองนั้นก็ถังแตกไม่แพ้กัน และก็ถูกมารดาอย่างคุณชัชฎาชักใยให้เขาพยายามจับคู่แต่งงานกับนับดาวให้ได้ เพื่อปลดหนี้สินที่ล้นพ้นอยู่ด้วยเช่นกัน ภาพของตัวละครไฮโซอย่างนับดาว ชัยชนะ และคุณชัชฎานี้เอง ก็ไม่แตกต่างไปจากโลกแห่งสังคมเมือง ที่แม้หน้าฉากจะดูทันสมัย สวยงาม หรือมีมิตรจิตมิตรใจระหว่างกัน แต่หลังฉากนั้น กลับเปี่ยมไปด้วยความหลอกลวง ไม่วางใจกันและกัน และที่สำคัญ เบื้องลึกเบื้องหลังกลับไม่มีทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอันใด ที่จะทำให้สังคมแบบนี้ยืนหยัดขับเคลื่อนต่อไปได้จริงๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในโลกที่เจริญก้าวหน้าหรือทันสมัยแบบนี้นั้น จะมีก็แต่ “ภาพลักษณ์” ที่ผู้คนปั้นขึ้นมาไว้ขายให้กันและกันดูเท่านั้น แต่ “ภาพลักษณ์” ดังกล่าวก็เป็นแค่ “มายา” ทว่า “ปากท้องข้าวปลา” ที่เป็น “ของจริง” กลับหายากแร้นแค้นยิ่งนักในสังคมแบบนี้ ตรงข้ามกับภาพของปราบ หนุ่มบ้านไร่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับ “ของจริง” ไม่ว่าจะเป็นของจริงที่เป็นปัจจัยการผลิตต่างๆ ทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ที่ดินทำกินในไร่ แรงงานเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังหลักในการผลิต รวมถึงวัตถุดิบการผลิต ที่สามารถแปรรูปมาเป็นอาหารป้อนให้มนุษย์ได้มีอยู่มีกินมีอิ่มท้อง เพราะฉะนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งมีแต่ “ภาพลักษณ์” ที่กินไม่ได้ แต่ปั้นหน้าลวงหลอกผู้อื่นไปวันๆ กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมี “ของจริง” ที่กินได้ แต่เป็นเพียงชนบทที่ถูกผลักออกไปไว้ยังชายขอบของสังคม คนสองกลุ่มที่มาจากพื้นเพสังคมต่างกันหรือเหมือนจะเคยยืนอยู่กันคนละฟากฟ้า ก็มีเหตุอันให้ต้องมาบรรจบพบเจอกันในที่สุด เพียงเหตุปัจจัยเดียวที่ต้องการรักษาหน้าตาและอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมเอาไว้ ไฮโซสาวชาวเมืองอย่างนับดาวกับคุณน้าอะซ่าจอมวางแผน ก็เลยต้องสวมวิญญาณแบบเจ้าจักรวรรดิที่เริ่มออกล่าอาณานิคม เพื่อขูดรีดและกอบโกยเอาทรัพยากรในชนบทชายขอบ มาหล่อเลี้ยง “ภาพลักษณ์” หรือหน้าตาของคนในศูนย์กลางสังคมทันสมัย แล้วละครก็เริ่มสาธิตให้เห็นขบวนการมากมายในการขูดรีดชนบท ตั้งแต่การกุข่าวปั้นเรื่อง การโกหกหลอกลวง การสร้างสถานการณ์ การเสแสร้งเป็นพวกความจำเสื่อม และอีกร้อยเล่ห์มารยาที่ถูกเสกสรรขึ้นมาลวงล่อปราบกับชาวบ้านไร่คนอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในระบบจักรวรรดินิยมเยี่ยงนี้ สาวไฮโซตัวแทนแห่งสังคมเมือง จะทำทุกวิถีทางที่จะให้หนุ่มหน้ามนคนชนบทอย่างปราบยอมขายที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของสังคมเกษตร เพียงเพื่อแปรเปลี่ยนที่ดินทำกินของบ้านไร่ให้กลายเป็นรีสอร์ตอันโอ่อ่าเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น และก็ต้องรอให้คุณงามความดีของพ่อหนุ่มบ้านไร่ได้พิสูจน์ตัวระลอกแล้วระลอกเล่านั่นแหละ นับดาวจึงเริ่มตกหลุมรักเขา และเข้าใจสัจธรรมที่ว่า ชีวิตที่มีแต่ “ภาพลักษณ์” นั้นช่างไม่จีรังยั่งยืนเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับชีวิตของชาวบ้านไร่บ้านนา ที่แม้จะดูเชยล้าสมัย แต่ก็เป็นโครงกระดูกสันหลังจริงของสังคมไทย แบบเดียวกับที่นับดาวได้พูดสรุปถึงโลกอันจอมปลอมเธอกับปราบว่า “นี่แหละชีวิตของนับดาวว้าวแซ่บ...ฉันรู้ว่าคุณรักฉัน แล้วฉันก็รักคุณ แต่ในโลกของฉัน ความรักมันไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายนักหรอก ในโลกของฉัน เราแต่งงานกับคนที่เหมาะสมกับเราเท่านั้น...” ในตอนจบของละครนั้น ความรักความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมืองอาจจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ในโลกจริง “ภาพลักษณ์” ยังเป็นหน้าตาและอำนาจที่สาวไฮโซแห่งเมืองทันสมัยยังพยายามรักษาอยู่ ก็ไม่รู้ว่าบทสรุปลงเอยที่สองฝ่ายโคจรมาเจอกันจริง ๆ จะเป็นประหนึ่งในละครกันไหม???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 แก้กฎหมายซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด คุ้มครองผู้ซื้อบ้านและคอนโดมือ 2 ไม่ต้องจ่ายหนี้ส่วนกลาง

นี่คงเป็นข่าวดี สำหรับคนที่สนใจซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดผ่านช่องทางการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี ที่จะมีกฎหมายคุ้มครองคนซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดให้ได้รับความเป็นธรรมจากการขายทอดตลาดดียิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาความสนใจของผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดในตลาดดังกล่าวไม่ค่อยมีเท่าที่ควร เพราะเจอปัญหาที่ผู้ประมูลจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหนี้ส่วนกลาง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ประมูล แต่เนื่องจากลูกหนี้เดิมค้างชำระค่าส่วนกลางบวกกับดอกเบี้ยปรับที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะมากพอๆ กับราคาประมูลขายห้องชุด ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการซื้อขาย กรมบังคับคดี ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปลดล็อกภาระผู้ซื้อห้องชุด ในที่สุดก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เพิ่มเติม มาตรา 309 จัตวา ว่าด้วยการซื้อห้องชุดและบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จึงขอสรุปโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ผู้ที่ประมูลซื้อที่อยู่อาศัย ประเภทอาคารชุด และ ที่ดินจัดสรร จากการขายทอดตลาดไม่ต้องรับภาระชำระหนี้ค่าส่วนกลางที่เจ้าของห้องเก่าค้างชำระไว้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ก่อนขายทอดตลาดเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่จะต้องบอกกล่าวแก่ นิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร แล้วแต่กรณี เพื่อให้แจ้งหนี้สินค่าส่วนกลางที่ค้างชำระ ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ 2. เมื่อขายทอดตลาดแล้ว กรมบังคับคดีจะกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้คงค้าง เพื่อให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของใหม่ได้ต่อไป โดยผู้ซื้อไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้   3. กรณีที่ นิติบุคคลฯ แจ้งว่าไม่มีหนี้ค้างค่าส่วนกลาง หรือ ไม่แจ้งภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ หรือในกรณีบ้านจัดสรร หากยังไม่มีการตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อ 4. ขั้นตอนหลังจากนั้น เมื่อกรมบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ได้แล้ว ก็ให้นำเงินมาชำระให้นิติบุคคลฯ ก่อนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยกรณีที่ดินจัดสรรแปลงนั้น ๆ ถูกระงับการโอนไว้เนื่องจากค้างหนี้ค่าส่วนกลาง ให้ถือเป็นอันยกเลิก โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีเหตุผลที่มาสำคัญเกี่ยวกับการบังคับคดีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังมีข้อขัดข้อง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดกระบวนการโอนทรัพย์สินมีทะเบียนหรือเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ที่สะดวกรวดเร็ว และเพื่อเป็นการคุ้มครองให้ผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องรับผิดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากความรับผิดดังกล่าวเป็นของเจ้าของเดิม และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายไปแล้ว ทำให้แนวคำพิพากษาของศาลเดิมที่ ได้วางบรรทัดฐานไว้ให้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าส่วนกลางทั้งต้นเงินและค่าปรับที่เจ้าของเดิมค้างชำระจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554 หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง ดังนั้น คำพิพากษาข้างต้น จึงไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเรื่องความรับผิดของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดอีกต่อไป ซึ่งต่อจากนี้ไป ( หลังวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ) ผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดหรือบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องกังวลกับหนี้ค่าส่วนกลางอีกต่อไปแล้ว และสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ไม่จ่ายค่าผ่อนบ้านเพราะยังไม่สร้าง ต่อมาบอกเลิกสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบมัดจำหรือไม่

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามารู้จักสิทธิของผู้บริโภคที่ทำสัญญาซื้อบ้านหรืออาคารพาณิชย์กันครับ สมัยนี้ มีการสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากท่านลองสังเกตดีๆ จะพบว่าผู้ขายมักมีป้ายโฆษณาเปิดให้จองกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้าง ผู้บริโภคเมื่อเห็นว่าเป็นทำเลดี ก็รีบจองกันมากมาย กลัวจะเสียโอกาสได้ที่พักอาศัยอย่างที่ตนต้องการ  แต่เมื่อหลงจ่ายเงินจองบ้านไปแล้ว ตกลงทำสัญญากันเป็นหนังสือเรียบร้อย โดยไม่ได้สังเกตให้ดีว่าในสัญญาไม่ได้ระบุวันที่จะเริ่มก่อสร้าง และวันที่ต้องสร้างเสร็จเอาไว้ เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินงวดแรก จึงทราบว่า บ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่วาดฝันไว้ ยังไม่เริ่มสร้าง เช่นนี้ จึงตัดสินใจไม่ชำระเงิน และบอกเลิกสัญญาเพื่อขอเงินจองคืน  แต่ผู้ขายก็มักชอบอ้างว่า ผู้บริโภคผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ตกลงกัน จึงขอริบมัดจำ เช่นนี้ มีสิทธิทำได้หรือไม่   เรื่องนี้ เกิดขึ้นกับผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาจะซื้อขายอาคาร โดยชำระเงินจองในวันทำสัญญา และตกลงชำระเงินดาวน์ 12 งวด ถึงกำหนดชำระเงินดาวน์งวดแรก ผู้ซื้อไม่ชำระเพราะผู้ขายยังไม่เริ่มก่อสร้าง จึงร้องเรียน สคบ.และบอกเลิกสัญญา ผู้ขายริบมัดจำ ผู้บริโภคจึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาล และศาลได้ตัดสินให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี การไม่จ่ายเงินค่างวดยังไม่ถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา ดังนั้น ผู้ขายไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ คำพิพากษาฎีกา 797/2556 แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จไว้ แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องรีบลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างที่แล้วเสร็จไว้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้แต่เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยก็มีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้าง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักความสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 หาใช่การจะเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาแล้วเสร็จนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องรีบก่อสร้างโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203  เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ดังนั้น การที่โจทก์ชำระเงิน 800,000 บาท แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วย่อมมีความคาดหวังจะได้เห็นจำเลยปฏิบัติชำระหนี้ตอบแทน คือ การเริ่มลงมือก่อสร้าง แต่เมื่อจะครบกำหนดเวลาชำระเงินดาวน์งวดแรกได้ความว่า จำเลยยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารพาณิชย์ทำให้โจทก์เกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลย เพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท โจทก์จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยเองก็ไม่ได้แสดงความสุจริตโดยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือหรือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดอีก จึงถือได้ว่าการชำระหนี้ของโจทก์มิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการริบมัดจำไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 เมื่อพูดถึงเรื่องการวางเงินจองเพื่อซื้อที่ดินหรืออาคารพาณิชย์  โดยทั่วไป จะมีเขียนข้อตกลงในใบจองว่า จะไปทำสัญญาเป็นหนังสือกันอีกครั้งในภายหลัง จึงทำให้เข้าใจกันว่า ใบจองเป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้น เพื่อจะไปทำสัญญากันอีกครั้ง แต่เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลเรื่องหนึ่ง ถือว่าใบจองที่ทำกันเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา และในใบจองไม่ได้เขียนเรื่องการสิทธิบอกเลิกสัญญาไว้ จึงต้องใช้การเลิกสัญญาตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่าหากจะเลิกสัญญาต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อนโดยให้เวลาพอสมควร หากไม่ดำเนินการก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งในคดีตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีการซื้อขายที่ดินสองแปลง แปลงแรก ผู้ขายมีหนังสือแจ้งให้ผู้ซื้อมารับโอนแล้ว และให้มาชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด แต่ปรากฎว่าผู้ซื้อไม่ชำระเงิน ศาลจึงเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาของผู้ขาย ได้ทำตามกฎหมายแล้ว จึงถือว่าผู้ซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ แต่ที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ผู้ขายไม่ได้แจ้งให้ผู้ซื้อชำระเงิน และใช้สิทธิบอกเลิกทันที จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ซื้อผิดสัญญา และกรณีนี้ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงเลิกสัญญาต่อกัน จึงถือได้ว่าไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา ผู้ขายจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำของผู้ซื้อ ต้องคืนเงินมัดจำแก่ผู้ซื้อ คำพิพากษาฎีกาที่ 2569/2556โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลยสองแปลงโดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานได้ทำสัญญากันขึ้นแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์มีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระซึ่งตามแผนผังที่ดินและภาพถ่ายอาคารพาณิชย์จำนวน 4 ภาพ ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จองซื้อเป็นแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป จึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ตามใบจองซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อความระบุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ หากโจทก์ประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เพียงแปลงเดียว ทั้งโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงกับจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาโดยเหตุใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันมิได้กำหนดเวลาลงไว้แน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่กำหนดได้ หากจำเลยประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ชำระราคาที่ค้างชำระโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน และจำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เฉพาะแปลงหมายเลข 1314 เพียงแปลงเดียวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก่อน แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลากำหนด จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยเฉพาะที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 ชอบแล้ว และถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกันแม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ซื้อบ้านมือสอง บ้านเกิดชำรุดบกพร่อง ผู้ขายต้องรับผิดไหม ?

ในทุกวันนี้ ราคาของบ้านพัก คอนโด มีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปหาบ้านมือสองราคาถูก แต่เมื่อเลือกซื้อแล้ว อยู่ได้ไม่นานบ้านมีปัญหา เกิดความชำรุดต้องซ่อมแซม ผู้ขายมักจะอ้างว่าขายไปแล้ว บ้านเป็นของผู้ซื้อตนเองไม่เกี่ยว ส่วนผู้ซื้อก็มองว่า ตอนซื้อบ้านไม่เห็นความเสียหาย มันเกิดชำรุดจากภายใน ตรวจสอบไม่ได้ ขายของไม่ดี ต้องรับผิดชอบซ่อมให้ใช้อยู่อาศัยได้ เช่นนี้ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เคยมีผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาล ฟ้องว่าซื้อบ้าน แล้วพบว่าบริเวณชั้นสองของบ้าน เหล็กเส้นมีสนิมกัดกินคานบ้านชั้นสอง ทำให้บ้านเสียหาย เสื่อมราคาและประโยชน์ใช้งาน ฟ้องให้ผู้ขายรับผิด และศาลก็ได้ตัดสินว่าผู้ขายต้องรับผิดชอบ โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะที่ขายผู้ขายรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของบ้านนั้นหรือไม่ ตามคำพิพากษาฏีกา ดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)อีกเรื่อง เป็นกรณีที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วพบภายหลังว่าผนังบางส่วนแตกร้าว เมื่อฝนตกมีน้ำซึมเข้ามาทำให้บ้านเสียหาย เช่นนี้ ศาลเคยตัดสินให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบ แม้ว่าก่อนผู้บริโภคจะรับโอนบ้านได้มีการว่าจ้างบริษัทมาตรวจบ้านแล้วก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความจากคำพิพากษาของศาลฏีกาทั้งสองตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความชำรุดที่ไม่สามารถเห็นได้โดยง่าย แต่ต้องระวังว่า ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันพบเห็นความชำรุดบกพร่อง ไม่งั้นจะเสียสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งศาลเคยตีความว่าการทำบันทึกข้อตกลงว่าผู้ขายจะซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องคดีกับผู้ขาย โดยไปทำกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพราะไม่ได้ทำกับผู้บริโภค เป็นผลให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ตามตัวอย่างฎีกาต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2540การให้ถ้อยคำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 เป็นการยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นการแสดงเจตนาจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คือโจทก์แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่นายวิชัย รังนกใต้ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนและมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้ คือ ซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย กรณีจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้ (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งการนำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้กับกรณีนี้เพราะฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ที่ให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จึงเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 บ้านไม่มีกำหนดเวลาสร้าง สัญญาไม่บอก จะหาทางออกอย่างไร

หลายคนฝันจะมีบ้านเป็นของตนเอง อดทนทำงานเก็บหอมรอมริบอย่างดี จนมีเงินพอ และตั้งใจว่าจะสร้างบ้านเป็นของตนเอง เพราะไม่ค่อยวางใจกับบ้านจัดสรร หรือพวกห้องชุดคอนโดต่างๆ ที่มักมีข่าวอยู่เสมอว่าสร้างไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงตามแบบ ใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ แต่เมื่อคิดจะสร้างเองก็ต้องมีการทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาดำเนินการ ทำสัญญากันตกลงกันว่าจะสร้างบ้านแบบไหนออกแบบบ้านโดยสถาปนิก และให้ผู้ว่าจ้างเป็นคนเลือกสี วัสดุต่างๆ ซึ่งก็เคยมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ตอนตกลงทำสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น กำหนดแต่เรื่องเงินค่าก่อสร้าง ว่าจะจ่ายกันกี่งวด เป็นจำนวนเท่าใด แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จเอาไว้ เช่นนี้ ผู้รับจ้างก่อสร้าง จะต้องสร้างให้เสร็จเมื่อใด  ถ้าเวลาล่วงเลยผ่านไปนาน  บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บ้านจะมีสิทธิทำอะไรบ้าง ในเรื่องนี้ ก็เคยมีการฟ้องคดีต่อศาล เนื่องจากบ้านยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งสัญญาจ้างก่อสร้างก็ไม่มีเขียนไว้ว่ากำหนดเวลาสร้างบ้านต้องภายในกี่เดือน กี่ปี ผู้ว่าจ้างก็อยากเลิกสัญญา เรียกค่าเสียหาย   โดยคดีดังกล่าว ศาลฏีกาได้วางแนวตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1378/2546 สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านระบุว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญา150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีก 1,433,190บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน ส่วนที่เหลือ 3,694,110บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น แม้สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ แต่ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลย และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้าน เมื่อตามหนังสือสอบถามโจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้าน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม...." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้" และมาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จแก่โจทก์  จากคำพิพากษาของศาลฏีกาดังกล่าว ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แม้กำหนดเวลาปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ จะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา ก็สามารถใช้เรื่องกำหนดเวลาผ่านชำระค่างวดมาเป็นตัวกำหนดได้ เพราะสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น ตามกฎหมาย ถือว่าเป็น “ สัญญาจ้างทำของ “ อย่างหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาคือผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างชำระเงินไปแล้ว ผู้รับจ้างก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างได้ผ่อนชำระค่างวดบ้านไปด้วย ในเมื่อไม่ได้ดำเนินการทั้งที่รับค่าจ้างไปแล้ว จนบ้านยังไม่ได้ปลูกสร้าง อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าจะชำระเงินงวดสุดท้าย ต่อเมื่อบ้านได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อบ้านยังสร้างไม่เสร็จ จึงถือว่าผู้รับจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ตกเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้   ซึ่งในฏีกาดังกล่าว ท่านผู้พิพากษาไพโรจน์ วายุภาพ  ได้มีหมายเหตุท้ายฏีกาอย่างน่าสนใจ ดังนี้  หมายเหตุ  สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องทำการปลูกสร้างบ้านจนเสร็จ จึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ตราบใดที่งานไม่เสร็จ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่การปลูกสร้างบ้านย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควรจนกว่าจะเสร็จจึงจะถือว่าชำระหนี้ครบถ้วน แต่จำเลยกลับไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลย เมื่อโจทก์ไม่ต้องการผูกพันกันต่อไปจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืน ซึ่งการบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยจำเลยต้องตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าจำเลยยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอีก โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ปรากฏว่าสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ซึ่งถ้านำมาตรา 203 มาปรับ ก็ต้องถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลันแล้ว จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านทันที เมื่อจำเลยไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลยย่อมถือว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยลงมือก่อสร้างบ้านภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรได้ ถ้าจำเลยไม่ลงมือทำการปลูกสร้างบ้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 387 ต่างกับการที่จำเลยลงมือก่อสร้างบ้านแล้วและทำงานไปเรื่อย ๆ ตามขั้นตอนของการก่อสร้าง ย่อมจะถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้หาได้ไม่ กรณีไม่น่าจะต้องพิจารณาว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่ได้รับจากโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ส่วนการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยไปถูกต้องทุกงวดก็คงเพียงแต่เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่เสียสิทธิในการบอกเลิกสัญญาเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เมื่อคนร้ายงัดบ้าน เอาสมุดฝากเงินกับบัตรฯ ไปถอนเงิน

สำหรับฉบับนี้เป็นอุทาหรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการฝากเงินไว้กับธนาคาร และเหตุตามอุทาหรณ์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในยุคโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534  โจทก์ทำสัญญาฝากเงินและเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาวันที่ 25  มีนาคม 2549  มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการรวมทั้งบัตรประชาชนและสมุดฝากเงินดังกล่าวไป  ในวันนั้นโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันที  และในวันเดียวกันเวลา 17.34 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งศูนย์กรุงไทยโฟน หมายเลข 1551  ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งว่ารับแจ้งอายัดเฉพาะบัตรถอนเงินและบัตรเครดิต ไม่รับแจ้งอายัดเงินฝาก หากจะแจ้งอายัดเงินฝากต้องแจ้งที่สาขาที่โจทก์เปิดบัญชีไว้  โจทก์ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์  ต่อมาวันที่ 26  มีนาคม 2549  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์มีหญิงคนหนึ่งนำสมุดเงินฝากของโจทก์ไปถอนเงินจำนวน  280,000  บาท  ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หญิงคนดังกล่าวไป โจทก์จึงได้มาฟ้อง จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ธนาคารผู้เป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน  จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลายประเด็น  แล้วผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2556  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1  มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดแล้วโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคาร โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นที่แสดงตัวเป็นโจทก์ ทำให้โจทก์สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลฝากทรัพย์ด้วย  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับฝากเงินต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 659  วรรคสาม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า ถ้าโจทก์เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับตัวคนร้ายก็ไม่สามารถปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่ามีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการ  บ้านเป็นเคหสถานซึ่งปกติบ่อมเป็นที่ปกป้องเก็บรักษาทรัพย์สินได้ การที่มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินภายในบ้านโจทก์ รวมทั้งนำสมุดฝากเงินและบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปใช้ถอนเงินไปใช้ถอนเงินจากจำเลยที่ 2 จะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ พิพากษายืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ซื้อบ้านที่สาธารณูปโภคยังไม่เสร็จ ไม่ยอมรับโอนได้หรือไม่

  ฉบับนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคที่ไปซื้อบ้านจัดสรรในโครงการแห่งหนึ่ง ซึ่งสัญญาว่าจะมีสาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับ ซึ่งพิมพ์โฆษณาว่า จะมีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม ผู้บริโภคชำระค่างวดไป 20 งวดแล้ว พอบ้านเสร็จแต่สาธารณูปโภคไม่เสร็จ โครงการจะให้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินไปก่อน โดยชำระค่าส่วนกลางไปด้วย ผู้บริโภคไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญา ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมคืนเงินอ้างว่า ผู้บริโภคไม่ยอมไปรับโอนบ้านและที่ดินเอง จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินคืน เรามาดูกันว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552 สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่า มีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่งรอบทะเลสาบและทะเลสาบ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน   แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้าน ซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับ   ในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์  หมายเหตุผู้เขียน : คดีนี้ฟ้องก่อน พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ และถึงแม้จะฟ้องคดีทำนองนี้ในปัจจุบันนี้ผลของคดีก็คงไม่เปลี่ยนแปลง แต่เหตุผลในการวินิจฉัยของศาลอาจอ้างถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวเพราะ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 10 บัญญัติว่า   “ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 หลักฐานนะ มีมั้ย

ฉบับนี้มีคดีผู้บริโภคตัวอย่างที่น่าสนใจใหม่ล่าสุดมาให้สมาชิกได้อ่านดู เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย แจ้งให้แก้ไขหลายครั้ง บริษัทฯ เลยบอกเลิกสัญญาริบเงิน แบบว่ารำคาญนั่นแหละ ดูกันซิว่าจะริบเงินได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552 คดีระหว่าง นายวีรวุฒิ พงศ์สุรพัฒน์ โจทก์ กับ บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์คือนายวีรวุฒิยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจำเลยจะต้องปลูกบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2540 นั่นก็หมายความว่าบ้านจะต้องเสร็จทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่กลับปรากฏว่าภายในเดือนกันยายน 2540 ดังกล่าว บ้านหาได้แล้วเสร็จไม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เพียงแต่ขอระงับการผ่อนชำระค่างวดไว้ก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องระยะเวลา แต่ถือเอาความสำเร็จเรียบร้อยของบ้านเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงาน 9 รายการ จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีรายการต้องแก้ไขเพียงแต่ขอให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541  จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธ์ และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม 2541 ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธ์ 1 วัน คือในวันที่ 17 มีนาคม 2541 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 21 รายการ ครั้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสร้างบ้านให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้โจทก์ไปตรวจความเรียบร้อยของบ้านในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีการตรวจความเรียบร้อยดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 20 รายการ จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ปรากฏว่าโจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด แต่หลังจากวันนัด 3 วัน คือในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ขอยกเลิกวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือฉบับสุดท้ายแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 ก่อนวันนัด 3 วัน บิดาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า จำเลยยังแก้ไขงานไม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 30 รายการ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของโจทก์นั้น จำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญแล้ว เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารใดมานำสืบให้เห็นว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิดวิสัยที่จำเลยเป็นถึงบริษัทมหาชนรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแต่ไม่ปรากฏเอกสารใดมายืนยันว่าที่โจทก์ให้มีการแก้ไขงานนั้นได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยจริง แม้จำเลยมีนายชาญรงค์ ทัพกฤษณ์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้แก้ไขงานครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็เป็นคำเบิกความที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการผิดวิสัยของผู้รับสร้างบ้านที่มีคุณภาพพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีของโจทก์มีการขอให้แก้ไขงานหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ารายนี้น่าจะมีปัญหา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีเอกสารหรือภาพถ่ายประกอบสัญญาไว้ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาโดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไปสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 2,343,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ข้อควรระวังก่อนซื้อบ้านหรืออาคารชุด

ในการซื้อบ้านหรืออาคารชุดผู้บริโภคมักจะต้องวางเงินจอง ผ่อนเงินดาวน์ก่อน ส่วนเงินที่เหลือที่จะชำระในวันโอนถ้ามีเงินไม่พอก็ต้องกู้สถาบันการเงินและผ่อนชำระเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหน้าที่จัดหาสถาบันการเงินนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค การที่สำนักงานขายของโครงการมีโฆษณาว่าสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าไปกู้เงินก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเรียกหลักฐานจากผู้บริโภคเพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้ก็ดี รวมทั้งเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงบริษัทเจ้าของโครงการแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากโครงการก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟ้องได้ว่าทางผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้บริโภค ซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2541 ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อสัญญาใดระบุหน้าที่จำเลยว่าเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โจทก์ การที่สำนักงานขายจำเลยมีโฆษณาของสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าจำเลยไปกู้ยืมเงินถือเป็นเรื่องของสถาบันการเงินที่จะโฆษณาหาลูกค้า หามีผลผูกพันให้จำเลยต้องจัดหาสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ไม่ แม้พนักงานของจำเลยจะเรียกหลักฐานจากโจทก์เพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องให้ความสะดวกแก่โจทก์เพื่อประโยชน์แก่การขายอาคารชุดของจำเลยมากกว่าที่จำเลยจะผูกพันในรูปสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ ส่วนเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงจำเลยแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออาคารชุดจำเลย ก็ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟังได้ว่าจำเลยมาสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ " ซึ่งในสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมักจะระบุว่า “ในกรณีที่ผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ผู้จะซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมดทันที รวมทั้งมีสิทธินำห้องชุดที่จะซื้อจะขายกันตามสัญญานี้ไปขายให้กับบุคคลใดก็ได้โดยผู้จะซื้อไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าทดแทนใดๆ จากผู้จะขายทั้งสิ้น " ดังนั้นการที่ผู้บริโภคกู้ไม่ผ่านไม่มีเงินไปโอนกรรมสิทธิ ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือในวันที่ผู้ประกอบธุรกิจนัดไปโอน ฝ่ายผู้บริโภคจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อาจถูกริบเงินต่างๆ ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องทดลองกู้เพื่อประเมินศักยภาพของตนเองว่าจะกู้ได้แค่ไหนเพียงใดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านหรืออาคารชุด ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคชายจะซื้อบ้านหรืออาคารชุดเพื่อเป็นเรือนหอ หากคนเดียวกู้ไม่ผ่าน ก็อาจจะต้องให้แฟนมาช่วยร่วมกู้ด้วยเผื่อจะกู้ผ่านได้วงเงินตามที่ต้องการ แต่ถ้าตัวเองกับแฟนร่วมกันกู้แล้วไม่ผ่านก็คงต้องปรับลดวงเงินหรือปรึกษากับทางสถาบันการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรดี ส่วนข้อตกลงในสัญญาที่ว่าหากฝ่ายผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่ฝ่ายผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายผู้จะขายได้นั้นข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ดังนั้นเงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ “ คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จากยอดเงิน 840,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 สร้างบ้านบกพร่อง แล้วไม่แก้ไข บอกเลิกสัญญาได้

ในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยนั้นเราต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการโครงการบ้านนั้นเป็นบริษัทที่ดีมีชื่อเสียงในด้านซื่อตรงในการดำเนินกิจการหรือไม่ อีกทั้งในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อความเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมในตอนใดก็ควรขอแก้ไขเสีย หากเขาไม่ยอมแก้ไขให้ก็ควรจะหาซื้อที่โครงการอื่นๆ ดีกว่า  สัญญาที่เป็นธรรมอย่างน้อยควรมีระยะเวลาก่อสร้างและระยะเวลาสร้างเสร็จ วัสดุก่อสร้างควรจะชัดเจนว่าจะใช้อะไรก่อสร้างและหากวัสดุดังกล่าวไม่มีจะใช้อะไรทดแทนในคุณภาพที่เท่ากัน มีข้อกำหนดให้ผู้จะซื้อตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านก่อนรับโอนได้ และหากมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน สำหรับกรณีศึกษาในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จะขายสร้างบ้านโดยใช้วัสดุไม่เหมือนกับบ้านตัวอย่าง และมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายรายการ ผู้จะซื้อแจ้งให้แก้ไขหลายรายการ แต่ผู้จะขายแก้ไขเพียงบางรายการ เท่านั้น ผู้จะซื้อจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายหาว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาแล้วริบเงินที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาฟ้องเรียกเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนไปแล้วบางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย มาดูกันสิว่าผู้บริโภคจะเรียกคืนได้หรือไม่ คำ พิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่น การเปลี่ยนวิธีการสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ “ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 เคล็ดลับการดูแลบ้านและลูกน้อยของคุณแม่ชาวยุโรป (2)

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ การทำความสะอาดบ้านของคุณสามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีในบรรยากาศภายในบ้านได้  บางครั้งอาจมีปริมาณสูงกว่าบรรยากาศภายนอกอาคารในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ สารเคมีมากมายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลบ้านนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ถูกใช้ในสารทำความสะอาดในอุตสาหกรรมที่ใช้งานหนัก  นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเริ่มที่จะกังวลว่าการได้รับสารเคมีหลายชนิดในปริมาณน้อยๆ เป็นระยะเวลายาวนาน  เหมือนที่ถูกพบในอากาศภายในบ้านและฝุ่นอาจจะทำให้มีปัญหาสุขภาพได้  การทดสอบผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ทดลองเฉพาะในสารเคมีประเภทเดียว  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง  เราทุกคนต่างก็ได้รับสารเคมีหลายชนิดในทุกๆ วัน  เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  งานทำความสะอาดบ้านส่วนมากนั้นสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมธรรมดาที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าและมีราคาถูกกว่า เช่น เบคกิ้งโซดา  น้ำส้มสายชู เกลือ น้ำมะนาว น้ำมันพืช สบู่ บอแรกซ์และโซดาซักผ้า  ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์มีอยู่เป็นจำนวนมากในตลาด  อาจประกอบไปด้วยสารก่อความระคายเคืองรุนแรง เช่น แอมโมเนียซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อไตและตับ  คลอรีนหรือที่รู้จักกันในชื่อสารฟอกขาว และสารก่อมะเร็ง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์   นอกจากนี้จะมีสารกันบูด น้ำหอมและสี  รวมถึงสารเคมีที่ทำให้ฮอร์โมนหยุดทำงาน  และสารเคมีที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง  และการหายใจติดขัด   เคล็ดลับในการใช้งาน• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับทำความสะอาดหน้าต่าง ตะแกรง เครื่องเงิน หรือเตาอบ เพราะมันอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณสูง• พึงตระหนักไว้เสมอว่าคลอรีนสามารถสร้างก๊าซคลอรีนที่เป็นพิษได้ ถ้าถูกผสมกับแอมโมเนียหรือน้ำส้มสายชู• ต้องมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอในขณะที่กำลังทำความสะอาด ไม่ควรปิดหน้าต่างขณะทำความสะอาด• ผ้าไมโครไฟเบอร์สามารถกำจัดคราบสกปรก คราบเหนียวและฝุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทำความสะอาด ผงซักฟอกประกอบด้วยสารฟอกขาว  สารสังเคราะห์ที่ให้ผ้าขาวขึ้น น้ำหอมและสารลดความตึงผิวที่ทำให้เกิดอาการแพ้  ผงซักฟอกที่ตกค้างบนเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนเป็นแหล่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง  และกลิ่นหอมที่ติดอยู่จากผลิตภัณฑ์ที่ใส่น้ำหอมสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการหายใจได้   เคล็ดลับในการใช้งาน• หลีกเลี่ยงน้ำยาปรับผ้านุ่ม  น้ำยากำจัดคราบ  น้ำยาซักผ้าที่ฆ่าเชื้อโรค  และผลิตภัณฑ์สำหรับก่อนซัก• ซักผ้าที่อุณหภูมิต่ำเพื่อประหยัดพลังงาน• ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผิวหนัง   น้ำยาล้างจาน ล้างจานด้วยมือให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และประหยัดกว่าการใช้เครื่องล้างจาน เพราะใช้น้ำและเวลาในการล้างที่น้อยกว่ามาก  น้ำยาล้างจานสำหรับเครื่องล้างจานมักจะมีฟอสเฟตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และมีสารที่ทำให้เกิดอาการผื่นคัน  น้ำยาล้างจานสำหรับการล้างด้วยมือนั้นเป็นอันตรายต่อผิวหนังน้อยกว่า   น้ำยาล้างห้องน้ำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโถส้วมจำนวนมากมักจะมีฤทธิ์กัดกร่อนและทำให้เกิดแก๊สพิษเมื่อผสมกับน้ำ  พวกมันอาจมีสาร 1,4-ไดคลอรอเบนซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อตับและไตได้  ไอระเหยกรดไฮโดรคลอริคทำให้เกิดอาการไอและหายใจลำบาก  และสารเคมีที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตา  ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ  และสามารถก่อให้เกิดก๊าซคลอรีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง   เคล็ดลับการใช้งาน• ป้องกันคราบฝั่งแน่นโดยการทำความสะอาดด้วยแปรง• ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ “น้ำยาฆ่าเชื้อโรค” หรือ สาร “ต่อต้านแบคทีเรีย”• น้ำยาดับกลิ่นและเจลให้กลิ่นหอมเป็นสิ่งไม่จำเป็น  และมีส่วนผสมที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้เมื่อมีการสัมผัส• หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์  ละอองที่เกิดขึ้นถูกสูดดมเข้าไปได้โดยง่ายและก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อปอด   น้ำยาทำความสะอาดพื้น พรม และเฟอร์นิเจอร์สารทำความสะอาดพื้น พรม และเฟอร์นิเจอร์อาจมีตัวทำละลายและสารกันบูดที่เป็นพิษต่อระบบประสาทและพทาเลตที่ทำให้รบกวนการทำงานของฮอร์โมน  และน้ำหอมที่ทำให้เกิดอาการผื่นคัน  เคล็ดลับการใช้งาน• สำหรับพื้น เช่น เสื่อน้ำมัน กระเบื้องพลาสติก  หินธรรมชาติและสำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวเป็นไม้และพลาสติกให้ใช้น้ำ  ถ้าสกปรกมากใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ชนิดอ่อนโยน• สำหรับตู้ โต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์ไม้อื่นๆใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ก็เพียงพอแล้ว• สำหรับพื้นผิวที่ลงน้ำมันและเคลือบเงาให้ใช้น้ำมันลินสีดหรือขี้ผึ้ง• กำจัดคราบบนพื้นพรมและเครื่องหนังด้วยน้ำ  หรือใช้น้ำส้มสายชูพร้อมกับน้ำสบู่อ่อนๆ ในกรณีที่สกปรกมาก   น้ำหอมปรับอากาศโถเครื่องหอมกลิ่นลาเวนเดอร์ในห้องน้ำ  เทียนหอมในห้องรับแขก  สเปรย์ “กลิ่นทะเล” หรือสเปรย์กำจัดกลิ่นบุหรี่และกลิ่นกับข้าว  น้ำหอมปรับอากาศเหล่านี้อาจมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง  และก่อให้เกิดอาการแพ้และมีปฏิกิริยาต่อระบบทางเดินหายใจ   เคล็ดลับการใช้งาน• เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเสียออกไป อากาศบริสุทธิ์ดีกว่าผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ใดๆ   ข้อมูลอ้างอิงWoman in Europe for a Common Future (WECF) www.wecf.eu ตารางแสดงสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งพบในน้ำยาซักล้างและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารเคมีอันตราย ผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพ Formaldehydeฟอร์มัลดีไฮด์ Carcinogenic, mutagenic, toxic to reproduction ก่อให้เกิดมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธ์ เป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ Triclosanไตรโคลซาน Very toxic to aquatic life, disrupts the hormone system เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน 1,2-dichlorobenzene1,2-ไดคลอโรเบนซิน Very toxic to aquatic life เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ 2-methoxyethanol 2-เมททอกซีเอทานอล Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ 2-ethoxyethanol 2-เอททอกซีเอทานอล Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ 2-ethoxyethyl acetate2-เอททอกซีเอธิลอะซีเตท Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ Phthalates(DEHP, Bis (2-ethylhexylphthalat)พทาเลต (DEHP, Bis(2-เอธิลเฮซิลพทาเลต) Impaires fertility, harmful for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  เป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ Nitromusks, polycyclic musks(Galaxolide, Tonalide)ไนโตรมัสค์, โพลีไซคลิก มัสก์ (กาแล็กโซไลด์, โทนาไลด์) Disrupts the hormone system, allergen ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  และก่อให้เกิดอาการแพ้ Octamethylcyclotetrasiloxane ออคตะเมธิลไซโคลเตตระไซโลเซน Disrupts the hormone system and the fertility ทำให้ระบบฮอร์โมนและความสามารถในการสืบพันธ์หยุดทำงาน Octylphenol (ethoxylates) ออคทิลฟีนอล (เอทอกซิเลท) Disrupts the hormone system ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 เคล็ดลับการดูแลบ้านและลูกน้อยของคุณแม่ชาวยุโรป (1)

  ผมได้ติดตามนโยบายปกป้องอันตรายที่อาจเกิดกับเด็กจากการใช้สารเคมีทำความสะอาดในบ้านขององค์กรสตรีในยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกกำไร และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เลยขอนำเสนอสาระที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกๆ ซึ่งวันนี้จะเล่าถึงเรื่องวิธีการทำความสะอาด การใช้สารเคมีทำความสะอาดในบ้านที่เป็นมิตรและปลอดภัยสำหรับเด็กและทารกครับ การทำความสะอาดบ้านของคุณสามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีในบรรยากาศภายในบ้านได้ บางครั้งอาจมีปริมาณสูงกว่าบรรยากาศภายนอกอาคารในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ สารเคมีมากมายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลบ้านนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ถูกใช้ในสารทำความสะอาดในอุตสาหกรรมที่ใช้งานหนัก เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย งานทำความสะอาดบ้านส่วนมากนั้นสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมธรรมดาที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าและมีราคาถูกกว่า เช่น เบคกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู เกลือ น้ำมะนาว น้ำมันพืช สบู่ บอแรกซ์และโซดาซักผ้า ขณะเดียวกันผู้ผลิตที่เสนอผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นพิษน้อยลงก็มีจำนวนมากขึ้น   เคล็ดลับทั่วไปในการใช้สารเคมี• อ่านฉลากผลิตภัณฑ์และค้นคว้าเกี่ยวกับสารเคมีที่ปรากฏอยู่บนฉลากนั้นๆ  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม ห้องทารกที่สะอาดไม่ควรจะมีกลิ่นอะไรเลย • หลีกเลี่ยงน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าต่อต้านแบคทีเรียได้ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคควรใช้เฉพาะในโรงพยาบาลและบ้านที่มีผู้ป่วยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอาศัยอยู่ การทำความสะอาดทั่วไปก็เพียงพอที่จะกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตราย น้ำยาฆ่าเชื้อโรคอาจจะมีฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งและเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ และคลอรีนที่ส่งผลระคายเคืองต่อปอด ผลิตภัณฑ์ที่มีสารต่อต้านแบคทีเรียและสารต่อต้านจุลินทรีย์จะฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์เช่นกัน และมีส่วนทำให้แบคทีเรียเกิดอาการดื้อยาต่อยาปฏิชีวนะ  • อย่าไว้ใจกับการกล่าวอ้างถึงสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต  • ผงซักฟอกไม่มีทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ดังนั้นใช้มันอย่างประหยัดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และควบคุมปริมาณการใช้ โดยเฉพาะการใช้ผงซักฟอกชนิดเข้มข้น  • ยึดหลักการปลอดภัยไว้ก่อน หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษ เก็บผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้พ้นมือเด็ก อย่าเทผลิตภัณฑ์ใส่ขวดชนิดอื่น  • หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงสารกันบูด น้ำหอม และสารดังต่อไปนี้ เช่น ไอโซเทียโซลีนโนน (CMIT, MIT, BIT, OIT), เอมิลซินนามาล, เฮกซิลซินนามัลดีไฮด์ ลินาลู, เบนซิลแอลกอฮอล์ คูมาริน เบนซิลเบนโซเอท เจรานอล ยูจีนอล ลิเลียล เมทิลเฮปตินคาร์บอร์เนต ซิโตรเนลโล ไลมอนีน ซิตราล และเจรานอล --------------------------------------------------------------------------------------------------- ทำไมจึงต้องใส่ใจเมื่อมีเด็กๆ อยู่ในบ้านเด็กคือคนที่อ่อนไหวที่สุดต่อสารพิษของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปและสารเคมีที่ใช้ในบ้านอื่นๆ เหตุผลคือร่างกายพวกเขามีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเทียบสัดส่วนสารที่ปริมาณเท่ากัน ในเด็กจะรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ยิ่งกว่านั้น อวัยวะของพวกเขายังอยู่ระหว่างการพัฒนาและไม่สามารถกำจัดสิ่งที่พวกเขาได้รับเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำได้ ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือผิวหนังของพวกเขาอ่อนโยนกว่าของผู้ใหญ่ และข้อสุดท้าย เด็กๆ มักสำรวจโลกด้วยมือและปากของพวกเขา พวกเขาคลานและเล่นบนพื้น พวกเขามักจะอยู่ใกล้กับพื้นมากกว่าผู้ใหญ่ พื้นเป็นส่วนที่สะสมสารเคมีที่เหลืออยู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจะถูกควบคุมภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับสารชะล้างแห่งสหภาพยุโรป กฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไป กฎหมายที่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและ ระเบียบสารเคมี (REACH: Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals) ของสหภาพยุโรป แต่ทว่าสารที่เป็นอันตรายก็ยังถูกพบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอยู่ดี ---------------------------------------------------------------------------------------------------  ประเภทของน้ำยาทำความสะอาดที่ควรปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เราควรจำกัดปริมาณการใช้สารเคมี เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากสารพิษได้แก่   • น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์• น้ำยาทำความสะอาดหน้าต่าง• น้ำยาทำความสะอาดพื้น• น้ำยาทำความสะอาดและซักล้างพรม• ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์• และสารขัดเงา• ผงซักฟอก• และน้ำยาล้างจาน  ส่วนจะปรับเปลี่ยนอย่างไร คงต้องขอนำเสนอคราวหน้าครับ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก  ข้อมูลอ้างอิงWoman in Europe for a Common Future (WECF) www.wecf.eu  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 บ้าน..ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย

นอกจาก“บ้าน...คือวิมานของเราแล้ว บ้านยังเป็น”โลก”ของเด็กๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อาศัย ยังเป็นโลกแห่งจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวล ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันบ้านก็เป็นตำแหน่งที่เด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ปีเกิดการบาดเจ็บได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน “การดูแลความปลอดภัยในบ้าน” จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งของคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเด็ก หลักการสำคัญสำหรับการจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยได้แก่ “จัดพื้นที่ให้ปลอดภัย เพื่อให้ลูกเล่นได้อิสระ..แต่ไม่ให้คลาดสายตา”เด็กปฐมวัย หมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ เด็กปฐมวัยใช้ชีวิตภายในอาคารเป็นส่วนใหญ่ การจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยจะต้องใช้ทั้งสามองค์ประกอบได้แก่ ประการที่หนึ่งการเฝ้าดูแลโดยผู้ดูแล ประการที่สองการสอนเด็ก ฝึกเด็กให้รู้ความเสี่ยง มีทักษะในการป้องกันความเสี่ยงอันตราย และประการที่สามได้แก่การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่เนื่องจากพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุและผลอย่างแท้จริง จึงยังไม่สามารถใช้การเรียนรู้ของเด็กเป็นวิธีการป้องกันอันตรายต่างๆได้ การดูแลเด็กให้ปลอดภัยนั้น ผู้ดูแลเด็กไม่ควรใช้วิธีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดและห้ามเด็กสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผู้ดูแลเด็กต้องมีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ และจัดการความเสี่ยงให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กในอาคารมีลักษณะปลอดภัย เพื่อให้เด็กได้สร้างเสริมพัฒนาการตนเองทุกด้านโดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมได้อย่างอิสระ ในพื้นที่ที่มีการจัดการความปลอดภัย รั้ว และประตูรั้ว รั้วมีหลายรูปแบบเช่นเป็นโครงเหล็ก เป็นไม้ หรือเป็นกำแพงปูน ประตูรั้วอาจทำจากวัสดุได้หลายแบบเช่นเดียวกับรั้ว กลไกการเปิดประตูรั้วอาจเป็นบานเปิดหรือบานเลื่อน กรณีประตูรั้วบานเลื่อนมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากรางเลื่อนและล้มทับเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดขึ้นขณะที่เด็กปีนป่ายและเลื่อนประตูเล่น รั้วต้องสร้างให้มั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มหรือหลุดออกจากรางและมีการตรวจสอบความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประตูรั้วบานเลื่อนควรเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ออกแบบให้มีอุปกรณ์ป้องกันการหลุดออกจากรางแล้วล้มทับผู้ใช้โดยมีกลไกป้องกันการล้มหลายระบบร่วมกันเช่น มีล้อบังคับบานที่วางระดับให้สามารถประคองประตูไว้ได้ตลอดเวลา ประตูไม่หลุดออกจากล้อบังคับบานได้ง่าย และมีเสาป้องกันการล้ม ร่วมกับส่วนยื่นเพื่อไม่ให้ส่วนริมประตูเลยออกจากเสาป้องกันการล้มเมื่อเลื่อนปิดประตู รางเลื่อนและชุดล้อเลื่อนต้องเป็นวัสดุที่ไม่เป็นสนิม เคลื่อนที่ได้ง่าย ตัวหยุดการเลื่อนของบานประตูซึ่งมักใช้น๊อตหรือสกรูต้องมีขนาดที่ใหญ่ แข็งแรง เหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของประตู ซึ่งถ้าเป็นประตูบานขนาดใหญ่ รางเลื่อนและชุดล้อเป็นสนิมต้องออกแรงลากมาก ล้อและตัวบานประตูอาจกระโดข้ามตัวน๊อตไปได้ ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับส่วนป้องกันบานประตูล้ม ทั้งสามส่วนที่กล่าวมา คือเมื่อน๊อต หยุดบานประตูไม่ได้ ก็จะเลยระยะส่วนยื่นกันบานประตูล้มที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ รวมทั้งอาจหลุดออกจากรางเลื่อน ชุดบนได้ด้วย ฉะนั้นการออกแบบส่วนหยุดนี้ก็มีความสำคัญมากโดยเฉพาะบานประตูที่มีน้ำหนักมากเมื่อเคลื่อนที่แล้วจะหยุดได้ยากรั้วและประตูรั้งต้องได้รับการบำรุงรักษาที่ หากขาดการดูแลเป็นประจำขณะใช้งานเช่น บริเวณล้อราง มักจะมีเศษวัสดุอยู่บริเวณรางประตู เมื่อเปิดปิด ล้อจะกระดกตกรางได้ หรือประตูและอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในสภาพผุกร่อน ชำรุดทรุดโทรม หรือ รางประตู จะมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของพื้นบริเวณรางประตู ทำให้รางประตูคดงอ บิดเบี้ยว การทรุดตัวของพื้นหน้าประตูทำให้ล้อวิ่งออกนอกราง ผนังอาคาร ต้องมีความแข็งแรง สิ่งของที่แขวนบนผนังต้องถูกยึดติดอย่างมั่นคงและต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเช่นการแขวนโทรทัศน์ไว้กับผนังเป็นต้น ไม่ควรจัดให้พื้นที่ใต้วัสดุที่ถูกแขวนไว้กับผนังเป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆของเด็ก สิ่งที่ใช้แขวนไว้โดยไม่ได้ยึดติดเช่นกรอบรูปควรมีน้ำหนักเบาและแขวนไว้สูงเกินกว่าที่เด็กจะคว้าถึงได้ นอกจากทางกายภาพแล้ว ทางเคมีต้องไม่มีความเป็นพิษด้วย ผนังอาคารสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กต้องไม่ทาด้วยสีที่มีสารตะกั่ว (lead) สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนโดยเฉพาะต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก เนื่องจากสารตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายคนได้ยาวนาน และมีอันตรายโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก โดยอาจก่อผลกระทบถาวรต่อเด็กคนนั้นไปชั่วชีวิต องค์การอนามัยโลกเคยทำการศึกษาและเปิดเผยถึงอันตรายจากพิษตะกั่วเมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่า สารตะกั่วมีอันตรายต่อร่างกายของคนไม่ว่าจะได้รับเข้าไปในปริมาณเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม นอกจากนี้ยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันพบว่า ยังมีบริษัทจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่ผลิตสีผสมสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดอย่างแพร่หลาย สารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในสีทาอาคาร สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจและการกิน สำหรับเด็กปฐมวัยจะได้รับสารตะกั่วในสีโดยการกินตามพฤติกรรมที่ชอบหยิบของเข้าปากหรือพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินที่สารตะกั่วปนเปื้อนที่มีอยู่รอบตัวโดยไม่ตั้งใจ ประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม จากนั้นก็จะถูกดูดซึมโดยระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดและสะสมที่กระดูก สมองเป็นระยะเวลายาวนาน โดยร่างกายสามารถขับออกจากร่างกายได้อย่างช้าๆ พื้น การพลัดตกจากพื้นที่ต่างระดับและการหกล้มจากพื้นระนาบอาคารเดียวกันเป็นความเสี่ยงต่ออันตรายภายในบ้านที่พบได้บ่อยมากที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย ควรจัดเตรียมป้องกันการหกล้ม โดยเตรียมพื้นให้ไม่ลื่น เช่นไม่เปียกน้ำเฉอะแฉะ หรือ เป็นคราบมัน ไม่สะดุดหกล้มได้ง่ายเช่น ไม่มีความต่างระดับ เก็บของเล่น ของใช้ ไม่ให้เรี่ยราดตามพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชิ้นเล็กที่เด็กสามารถนำเข้าปากและสำลักได้บันได ระเบียง นับว่าเป็นจุดที่เด็กชอบปีนป่าย อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยคือ การพลัดตกจากที่สูง เช่นการพลัดตกจากการปีนราวกันตก หรือมุดลอดราวกันตก หรือมุดลอดได้แต่ลำตัว แต่ศีรษะของเด็กติดคาระหว่างราวกันตก เกิดการติดค้างของศีรษะหรือลำคอ (head or neck entrapment) หากลำตัวเด็กที่มุดลอดออกก่อนตกจากที่สูงโดยศีรษะติดค้างทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจในลักษณะแขวนคอ (strangulation) งานวิจัยของ คาล์เวเนอร์ (Culvenor, 2002) ประเทศออสเตรเลียซึ่งศึกษาเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูง 6,642 คน พบว่าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตกซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก การป้องกันคือ ควรจัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ให้เด็กเล่นปีนป่ายบันได ควรมีประตูกั้นไม่ได้เด็กเล็กขึ้นลงบันไดได้เองตามลำพัง (ภาพที่1)  ภาพที่1 ลักษณะที่ปลอดภัยของราวระเบียงของอาคารที่มีความสูงหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงของราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตรจากพื้น ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึงต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ (คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น ถ้าไม่เป็นผนังทึบกันตกแล้วราวกั้นกันตกควรเป็นลักษณะแนวตั้งโดยมีราวแนวนอนเฉพาะคานล่างและบนหรือคานแบ่งที่ระยะ 100 เซนติเมตร เมื่อราวกันตกมีความสูงมากกว่า 100 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เด็กปีนป่ายได้ โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือมิฉะนั้นก็ควรหาไม้ ตาข่าย หรือ แผ่นพลาสติคมาปิดกั้น (ภาพที่ 2)  ภาพที่2ประตู เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยๆ เช่น ปิดประตูโดยไม่ระวังทำให้หนีบนิ้ว หรือกระแทกศีรษะ การบาดเจ็บจากประตูพบได้บ่อยในอาคารที่มีเด็กหลายคนอยู่อาศัยร่วมกัน และเปิดประตูห้องต่างๆไว้ให้เดินไปมาระหว่างห้องได้ โดยไม่มีการยึดติดประตูไม่ให้เด็กปิดได้เอง หากเป็นประตูที่ต้องเปิดปิดสามารถใช้อุปกรณ์ป้องกันการหนีบนิ้วมือได้ทั้งด้านที่เป็นลูกบิดประตู และด้านที่เป็นส่วนของบานพับ (ภาพที่3) สำหรับการใช้ประตูบานเลื่อนที่เป็นกระจกธรรมดานั้นมีความเสี่ยงที่เด็กปฐมวัยจะวิ่งชนกระแทกด้วยความไม่ระมัดระวังทำให้กระจกแตกและชิ้นส่วนกระจกอาจบาด หรือทิ่มแทงเด็กก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรงได้ ภาพที่ 3  ประตูกระจกควรเป็นกระจกนิรภัย หรือกระจกที่มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย ควรเป็นกระจกมีสี สังเกตได้ง่าย เพื่อป้องกันการวิ่งชนกระแทกของเด็ก หน้าต่าง เป็นจุดที่เด็กให้ความสนใจในการปีนเพื่อมองเห็นภายนอกอาคาร หน้าต่างที่ปลอดภัยต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กปีนป่ายออกนอกหน้าต่างได้ ไม่จัดวางเฟอร์นิเจอร์เช่นเก้าอี้หรือเตียงไว้ชิดกับหน้าต่างเพราะเด็กใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับปีนป่ายสู่หน้าต่างได้ หากติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเด็กปีนออกหรือโจรขโมยปีนเข้าจากช่องหน้าต่างเช่นเหล็กดัด ต้องออกแบบให้ผู้ใหญ่สามารถเปิดเปิดออกได้จากด้านใน หน้าต่างในห้องต่างๆที่มีผ้าม่าน มีมู่ลี่ แล้วมีสายยาวๆให้ดึง ต้องระวังเส้นสายยาวรัดคอได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาพบเด็กที่เสียชีวิตจากเชือกกระตุกมู่ลี่ที่ขดเป็นวงกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ในเด็กทารกมักถูกจัดให้นอนบนเตียงที่อยู่ใกล้กับหน้าต่าง แล้วเด็กสามารถคว้าเล่นสายมู่ลี่ได้ ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีมักจะปีนป่ายโดยต่อเก้าอี้บ้าง กล่องบ้าง แล้วเล่นเชือกสายเหล่านั้น ก่อนจะพลัดตกจากสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ปีน ทำให้เชือกสายรัดคอเสียชีวิต การเปลี่ยนสายจากลักษณะเป็นวง กลายเป็นปลายเปิดทั้งสองข้าง (ภาพที่ 4) จะสามารถลดความเสี่ยงได้   ภาพที่ 4 ก.ภาพจำลองการการรัดคอเด็กโดยสายกระตุกมู่ลี่ ข.การแก้ไขลักษณะเส้นสายที่ขดเป็นวงที่มีความเสี่ยงต่อการรัดคอเด็ก เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ จัดให้ปลอดภัยจากการชนกระแทกเช่น ไม่มีเสาหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุม โต๊ะและตู้ไม่มีขอบคม มุมคม เช่นโต๊ะเป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ หรือติดตั้งอุปกรณ์กันกระแทกมุมขอบโต๊ะ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มคว่ำได้ง่ายเมื่อเด็กปีนป่าย เฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูง มีน้ำหนักมากควรยึดติดผนัง เช่นตู้ ชั้นวางของต่างๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระจกเพื่อป้องกันการทิ่มแทงบาดหากมีการแตกหักของกระจกการจัดวางเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความปลอดภัยที่หลายคน อาจคาดไม่ถึง เช่น โซฟาที่ไม่ควรวางใกล้หน้าต่าง โดยเฉพาะเด็กๆที่เริ่มตั้งแต่วัยเตาะแตะ กระทั่งเด็กโตที่มักจะชอบปีนป่าย ใช้โซฟาปีนป่ายไปยังหน้าต่างเป็นสาเหตุให้เด็กตกตึกจากหน้าต่างได้ โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่าย หรือควรจะหาอุปกรณ์ยึดติดกับกำแพง (ภาพที่5)  ภาพที่5 โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่ายปลั๊กไฟ เต้าเสียบ เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนจะมีพัฒนาการในการสอดใส่ส่วนของร่างกายเข้าไปในช่องรู เช่นแหย่นิ้วเข้าไปในปลั๊กไฟเป็นต้น เต้าเสียบปลั๊กไฟควรจะอยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตรเพื่อป้องกันเด็กไม่ให้เล่นปลั๊กไฟ หากติดตั้งปลั๊กไฟไว้ต่ำควรมีฝาครอบ หรือมีที่เสียบสำหรับปิดรูปลั๊ก ในอาคารทุกอาคารระบบไฟฟ้ารวมควรมีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ และมีการวางระบบสายดินให้ถูกต้องเสมอ ห้องนอน เตียง เครื่องนอน การจัดการนอนที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจจากการกดทับทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการนอนของทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ลักษณะที่นอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกคือ เบาะบาง ที่มีความแข็งกำลังดีไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป ต้องจัดเด็กให้นอนหลับในท่านอนหงายเสมอ นอนคว่ำหน้าจะมีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ จากการกดทับใบหน้า ปาก จมูกบนที่นอน ไม่ควรมีผู้ใหญ่หรือเด็กโตนอนใกล้กว่า 1 เมตรเพราะมีความเสี่ยงต่อการนอนทับ (overlying) โดยเฉพาะหากผู้นอนข้างทารกมีลักษณะอ้วนมาก มีอาการเมา ขาดสติลึกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด หรือเซื่องซึมจากการรับประทานยาแก้หวัด หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทั้งหลาย เตียงนอนสำหรับเด็กอาจมีอันตรายได้ทั้งเด็กทารกและเด็กปฐมวัย หากเป็นเตียงแบบที่มีราวกั้นกันการตกซึ่งเหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซี่ราวกั้นแต่ละซี่ควรห่างกันไม่เกิน 6เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอาลำตัวลอดซี่ราวและติดค้างที่บริเวณลำคอหรือศีรษะได้ภาพที่6) ภาพที่ 6 ความเสี่ยงของเตียงเด็กจากซี่ราวกันตกและมุมเสา ห้องน้ำ     ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่เด็กหกล้มได้ง่าย พื้นผิวห้องน้ำควรทำด้วยวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ ผู้ดูแลต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้พื้นแห้งอยู่เสมอ สุขภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีขนาดและการติดตั้งที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถใช้สุขภัณฑ์ได้พอดี ไม่ต้องปีนป่ายในแต่ละปีมีเด็กปฐมวัยทั้งทารก วัยเตาะแตะ และวัยอนุบาลต้องเสียชีวิตเพราะจมน้ำในถังน้ำ กะละมัง ตุ่ม โอ่ง อ่างอาบน้ำในบ้าน ไห โถชักโครก ร่องน้ำ และ บ่อน้ำข้างๆบ้าน สระว่ายน้ำในบ้าน (ภาพที่ 4 ) ดังนั้นการกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านเช่นการคว่ำกะละมัง ปล่อยน้ำในอ่างอาบน้ำทิ้งทันทีหลังใช้งานเสร็จ การปิดแหล่งน้ำ แยกแหล่งน้ำไม่ให้เด็กเข้าถึงเช่นการปิดฝาตุ่ม โอ่ง ปิดประตูห้องน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อเลี้ยงปลา การจำกัดพื้นที่เด็กไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำเช่นการทำรั้วเสริมปิดกั้นไม่ให้เด็กออกนอกบ้าน กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว (ภาพที่ 7) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันการจมน้ำในเด็กปฐมวัยเด็กเล็กปีนป่ายตุ่มน้ำแล้วหน้าทิ่มลงไป เพียง 4นาที เด็กจะขาดอากาศหายใจจนสมองเสียหายนำไปสู่การตายหรือพิการถาวร เด็กวัยนี้จึงจัดอยู่ในวัยที่ผู้ดูแลจะต้องมองเห็นเด็กตลอดเวลา และเด็กต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมคว้าถึง ดังนั้นความเผอเรอของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก แม้แต่เพียงแค่ชั่วขณะ หมายถึงวินาทีแห่งความเป็นความตายที่อาจคาดไม่ถึง ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กเพื่อเตือนสติพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก คำเตือนต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 3 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว และข้อความที่เป็นคําเตือนต้องใช้ตัวอักษรทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลากในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลาก แสดงไว้ในลักษณะที่คงทน (ภาพที่9)นอกจากนั้นในห้องน้ำมักมีน้ำยาทำความสะอาดรูปแบบต่างๆเป็นสารพิษที่พบบ่อยในเด็ก เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม รื้อค้นของ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาเคมีหรือสารพิษชนิดต่างๆควรเก็บไว้ที่ในที่สูงที่เด็กปีนค้นไม่ถึง หรือเก็บในตู้ที่สามารถปิดล๊อกซึ่งเด็กไม่สามารถเปิดเองได้  ภาพที่ 7 แสดงการจมน้ำของเด็กในถังที่สูงประมาณ 35-40 เซนติเมตร ภาพที่ 8 กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว    ภาพที่ 9 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กห้องครัว ห้องครัวเป็นบริเวณที่มีอันตรายหลายประเภทต่อเด็ก เช่นของมีคม ของร้อน สารเคมีทำความสะอาด ไฟ เป็นต้น ลักษณะห้องครัวที่ปลอดภัยควรแยกพื้นที่ครัวออกจากพื้นที่อื่น โดยใช้ประตูหรือรั้วเตี้ยๆ เพื่อกั้นไม่ให้เด็กเล็กเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวได้ เก็บของมีคม และสารเคมีไว้ในตู้ที่สามารถล๊อกได้ หรือหากไม่สามารถล๊อกได้ให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับการปิดล๊อก อุปกรณ์เหล่านี้ออกแบบมาให้ติดตั้งได้ง่าย (ภาพที่ 10)ผู้ใหญ่สามารถเปิดออกได้ง่ายในขณะที่เด็กไม่สามารถเปิดออกได้ และต้องไม่ให้เด็กอยู่ใกล้เตาแก็สหรือเตาไฟฟ้าที่กำลังหุงต้ม และไม่ให้เด็กอยู่ในบริเวณที่กำลังแจกจ่ายอาหารที่ร้อน  ภาพที่ 10 อุปกรณ์เสริมสำหรับล๊อคตู้ไม่ให้เด็กเปิดออกได้เอง         เด็กจะต้องซนได้อย่างปลอดภัย เพราะธรรมชาติของเด็กๆย่อมต้องชอบ ปีนป่ายกระโดด โลดเต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเสียแต่แรกเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับการเฝ้าดูแลระวังใกล้ชิด ความผิดพลาดมักเกิดเสมอเมื่อคิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” “เอาไว้ก่อน” “ไม่ต้องหรอกเดี๋ยวดูแลเองได้” “ประเดี๋ยวเดียว” 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 รับมือกับความเสี่ยงเรื่อง บ้าน

บ้าน..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน  หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตเป็นของตนเอง แต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  ทำให้การจะได้บ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องที่ยากเสียแล้ว แต่การจะมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะสมกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเราพบว่าปัญหาที่เกิดหลังการซื้อบ้าน มีอยู่มากมาย ดังนั้นการรู้วิธีแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ภาพรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถจัดกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ บ้าน / ที่ดิน / อาคารพาณิชย์ ไม่สร้างบ้านตามสัญญา , ไม่ได้สร้างตามแบบที่ขออนุญาต ไม่สามารถโอนบ้านได้ตามสัญญา วัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการประมูลของธนาคาร แต่ต้องรับภาระฟ้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิม ชำรุดหลังปลูกสร้าง ,  ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างล่าช้า สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 2.  อาคารชุด / คอนโดมิเนียม สร้างไม่เสร็จตามสัญญา ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ลูกบ้าน ไม่โอนตามสัญญา พื้นที่ไม่ครบตามสัญญา ไม่คืนเงินมัดจำ วัสดุไม่มีคุณภาพ ชำรุดหลังรับโอน สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 3.  สาธารณูปโภค / พื้นที่ส่วนกลาง (รวมทั้งบ้านและอาคารชุด) ไม่สร้างสาธารณูปโภคตามสัญญา ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางตามแบบที่ขออนุญาตจัดสรร ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกบ้าน นำพื้นที่ส่วนกลางไปจำหน่ายให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น 4.  อื่นๆ เช่น การขอคำปรึกษาการฟ้องคดี   เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยง Ø ปัญหาระหว่างการจองหรือก่อนตกลงทำสัญญา ผู้บริโภคขาดข้อมูลการตัดสินใจในการซื้อ หรือละเลยการแสวงหาข้อมูล เรื่องความพร้อมของผู้บริโภคเองและความมั่นคงของผู้ประกอบการในโครงการที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงปัญหาของสัญญาจะซื้อจะขายที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียเงินจองเงินมัดจำ แล้วเมื่อเกิดปัญหาก็เรียกคืนไม่ได้   ก่อนเสียเงินจอง ผู้ซื้อต้องรู้อะไรบ้าง แม้ปัญหาที่อยู่อาศัยจะมีหลายระดับ แต่ก้าวแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  คือ การทำสัญญาจอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องรอหน่วยงาน เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ อย่างที่วาดหวังไว้ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 1.  รู้จักตัวเองให้ดีก่อน  จำไว้ ก้าวแรกของปัญหา คือเราต้องป้องกัน เมื่อมีความคิดอยากจะมีบ้านสักหลัง  ผู้ซื้อต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ  กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก 2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ  ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ บริษัทเป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญ ผู้ซื้อต้องไม่ลืมที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย 3. ต้องรู้กฎหมายเบื้องต้น   การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ผู้ซื้อควรต้องรู้ว่า เบื้องต้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน  เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ หรือ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ 4. ไปดูสถานที่จริง  มีหลายกรณีที่ ภาพจากหน้าเว็บไซด์หรือเอกสารแนะนำโครงการ(โบรชัวร์) มีความแตกต่างจากสถานที่จริง ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักถึงข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบรชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพของสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร  มีความสะดวก เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่ 5.  ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี  ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง  ผู้บริโภคควรสอบถามถึงรูปแบบของสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจากผู้ขายเพื่อมาศึกษาเป็นตัวอย่างก่อนตัดสินใจ  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย กรณีสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรนั้น  ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากผู้จัดสรรที่ดินใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  34 มีโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือกรณีอาคารชุด  ตามมาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ระหว่างผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินและอาคารกับผู้จะซื้อห้องชุด  หรือแบบ อช.22 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6/2  มีโทษตามมาตรา 63  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 6. มีสติ อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ผู้ซื้อไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะของแถม สิทธิพิเศษ บรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น เห็นมีผู้คนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือพนักงานสวยๆ พูดจาหวานๆ มาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการหาลูกค้าและกลวิธีอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ 7. ทำสัญญาต้องมีใบจอง    การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐาน เช่น วันเวลาสถานที่ทำสัญญาจอง , ชื่อผู้จองและผู้รับจอง , รายการทรัพย์สินและราคา ต่อกัน (ถ้าไม่มีห้ามทำสัญญาจองด้วยเด็ดขาด)     วิธีแก้สุดแนว ของการจองบ้าน มีอะไรบ้าง ? หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่ ก่อนทำสัญญาจอง ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน  ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น   หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่ หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้       สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ หลังจากที่เราทราบวิธีการเบื้องต้นในการที่จะซื้อบ้านแล้ว หลังจากวางเงินมัดจำหรือเงินจองแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างที่เราต้องใส่ใจในเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแก่โครงการ ก่อนที่จะรับโอนบ้าน หรือการโอนกรรมสิทธิ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าก่อนการทำสัญญา เพราะเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 % ของราคาขายได้ถูกชำระไปแล้วกับการทำสัญญา หากภายหลังพบว่า บริษัทเอาเปรียบเช่นไม่ก่อสร้างตามกำหนด บ้านไม่เป็นไปตามแบบบ้านตัวอย่าง ฯลฯ ผู้ซื้อบ้านบางรายส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะหยุดผ่อนชำระ เพราะหากไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิตามกำหนดก็จะเป็นผู้ผิดสัญญา และถูกริบเงินดาวน์   ข้อสังเกตและคำเตือนมีดังนี้ 1. ผู้บริโภคต้องชำระเงินค่าผ่อนบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขในสัญญา  ไม่ควรผิดนัด หรือค้างชำระหนี้ มิฉะนั้น ท่านอาจถูกทางโครงการบอกเลิกสัญญาซื้อขายเอาได้เนื่องจากตกเป็นผู้ผิดสัญญา  และอาจถูกริบเงินค่ามัดจำในที่สุด 2. ในระหว่างที่ผ่อนบ้านนั้น ก็ควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ  ในการทำเรื่องขอกู้เงินผ่อนบ้านกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ให้เรียบร้อย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ กู้เงินไม่ผ่านและถูกริบเงินมัดจำเนื่องจากผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนบ้านได้ 3. ก่อนที่จะรับโอน  ควรใส่ใจ แวะตรวจดูบ้านที่ทำสัญญาซื้อขาย  หากยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการก่อสร้างล่าช้า  ผู้บริโภคควรระงับการชำระเงินค่าผ่อนบ้านเอาไว้ก่อน และทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา 4. แต่หากทำหนังสือแจ้งแล้ว โครงการยังเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้า ไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญา  กรณีเช่นนี้ ถือว่าโครงการเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน  และหากมีค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บ้านสร้างไม่เสร็จ เช่น ต้องไปซื้อบ้านที่อื่น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกร้องให้โครงการรับผิดในส่วนนี้ได้อีกเช่นกัน 5. หรือหากบ้านที่จะซื้อ ทางโครงการได้สร้างเสร็จแล้ว ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียด โดยแจ้งนัดตรวจบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการให้ชัดเจน อาจทำเป็นหนังสือแจ้งทางโครงการและควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน อีกทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ละเอียดอีกด้วย หากตรวจสอบบ้านแล้ว พบว่าบ้าน ยังไม่เรียบร้อย   ไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยอยู่ คำตอบเดียวที่ทำได้ คือ ห้ามรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเด็ดขาด !!  แม้จะถูกรบเร้า ขอร้อง อ้อนวอน จากพนักงานขาย ผู้บริโภคควรทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการแก้ไข  และขอขยายกำหนดเวลารับโอนกรรมสิทธิออกไปก่อน จนกว่าทางโครงการจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จึงจะยอมรับโอนกรรมสิทธิบ้านตามสัญญาได้   Ø ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิแล้ว ไม่ว่าจะพบการชำรุดเสียหาย บ้านจัดสรรปลูกสร้างผิดแบบ การไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญา การบริหารจัดการของนิติบุคคลที่เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เมื่อผู้บริโภคเรียกร้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักเพิกเฉย ทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาลเป็นหนทางสุดท้าย เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย   Ø หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ด้านที่อยู่อาศัย 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10120 สายด่วน 1166 http://www.ocpb.go.th Email : consumer@ocpb.go.th2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ศาลากลางประจำจังหวัดทุกจังหวัด)3. กรมที่ดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ : 02-1415555 http://www.dol.go.th4. การเคหะแห่งชาติ เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0-2351-7777 สายด่วน 1615 Email : prdi@nha.co.th5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 248 3734-7 โทรสาร 02 248 3733  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point