ฉบับที่ 188 เรียกเก็บเงินเกินโปรโมชั่น

โปรโมชั่นส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขยิบย่อยที่อาจทำให้เราลืมสังเกตได้ ซึ่งเรามักจะมารู้ทีหลังก็เมื่อตอนที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการ เหมือนดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยแจ้งว่าได้เปิดใช้บริการของ ทรูอินเทอร์เน็ต โดยเลือกใช้โปรโมชั่นซุปเปอร์สปีด ไฟเบอร์ (Super Speed Fiber) เหมาจ่ายราคา 799 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งสามารถโทรฟรี 50 นาทีและเล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30 เม็กกะไบต์ อย่างไรก็ตามเขาพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม เดือนละ 100 – 120 บาททุกเดือน ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการเกินโปรโมชั่นที่กำหนดไว้ จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องนำเอกสารสำคัญ เช่น ใบเรียกเก็บเงิน ใบเสร็จรับเงิน ใบโฆษณาต่างๆ มาเป็นหลักฐานประกอบการร้องเรียน จากนั้นจึงแจ้งเรื่องไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้แจ้งกลับว่า กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินราคาโปรโมชั่น เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้เบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรออกไปยังหมายเลขพิเศษ เช่น เบอร์โทรที่มี 4 หลัก ซึ่งการโทรไปยังเลขหมายดังกล่าว ไม่อยู่ในเงื่อนไขการโทรฟรี ทำให้ต้องจ่ายครั้งละ 3 บาท รวมทั้งมีการโทรเข้าบ้านด้วยกันเอง ทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าบริการเพิ่ม เพราะตามโปรโมชั่นการโทรฟรี 50 นาที สามารถใช้โทรเข้าเบอร์มือถือ (ทุกเครือข่าย) ได้เท่านั้น ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับคำอธิบายดังกล่าวก็เข้าใจและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 1)

“บอกเลิก” อย่างไรให้ได้ผล เห็นจั่วหัวอย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นคอลัมน์ปรึกษาปัญหาความรักนะครับ เพราะ “วิธีการบอกเลิก” ที่ผมจะแนะนำนี้ เอาไว้ใช้ยกเลิกบริการโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน หรือบริการอินเทอร์เน็ต อย่าเอาไปใช้กับคนข้าง ๆ นะครับ ไม่รับประกันความปลอดภัยเวลาที่เราต้องการยกเลิกบริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่สมัครไว้ บรรดาบริษัทผู้ให้บริการทั้งหลายก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเหนี่ยวรั้งลูกค้าเอาไว้ อาจจะด้วยการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ ลดราคาค่าบริการให้ หรือบางทีก็จะยกเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญามาอ้าง ไม่ให้เรายกเลิกบริการ เช่น รับเครื่องฟรีไปแล้วต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา , ยกเลิกบริการที่นี่ไม่ได้ ต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ , ถ้าจะยกเลิกบริการต้องเสียค่าปรับ ค่าติดตั้ง ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ผู้บริโภคหลายคนเจอบริษัทใช้ลูกไม้นี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องทนใช้บริการต่อไปก็มี หนักกว่านั้นคือ บางคนยอมจ่ายค่าบริการไปเรื่อยๆ ให้ครบตามสัญญา เพราะกลัวถูกปรับ ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการแล้วประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ข้อ 72  ผู้ใช้บริการมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที            (1)  ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการ ได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ            (2) ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา            (3) ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย            (4) ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ ซึ่งมีผลเป็นการลดสิทธิหรือประโยชน์อันพึงได้รับของผู้ใช้บริการลง เว้นแต่เกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติถ้าคุณต้องการจะยกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคม ลองทำตามนี้ครับสิทธิในการยกเลิกบริการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณต้องใช้บริการที่คุณไม่ต้องการ ซึ่งกฎหมายก็รับรองสิทธิข้อนี้ของผู้บริโภคไว้กรณีศูนย์บริการจังหวัด ซึ่งทำได้ทุกอย่าง เปิดเบอร์ เปลี่ยนโปรโมชั่น รับชำระค่าบริการ แต่พอจะเลิกใช้บริการกลับบอกให้ไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพฯ โอ้ว...แม่เจ้า ฟังแล้วของขึ้นถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปสำนักงานใหญ่นะครับ แค่เขียนจดหมายน้อยฉบับเดียวเขียนถึง กรรมการผู้จัดการบริษัท แจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ต้องการจะเลิกใช้บริการ อาจจะให้เหตุผลประกอบไปด้วยก็ได้ว่าทำไมเราถึงต้องการยกเลิกบริการ เช่น คุณภาพบริการไม่ดี มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ ฯลฯ และแนบสำเนาใบเสร็จการชำระค่าบริการเดือนสุดท้ายไปเป็นหลักฐาน แล้วก็ส่งไปถึงบริษัทจะทางไปรษณีย์ โทรสารหรืออีเมล์ ก็ได้ แค่นี้การบอกเลิกสัญญาใช้บริการของคุณก็มีผลตามกฎหมายแล้วส่วนเรื่องนโยบายการปฏิเสธไม่รับยกเลิกบริการที่ศูนย์บริการนั้น ข่าวแว่ว ๆ มาว่า กสทช. เตรียมจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายน่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะ ถ้าศูนย์บริการไหน เปิดบริการให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็ควรจะไปยกเลิกบริการที่ศูนย์นั้นได้เช่นกัน มิใช่สร้างภาระ กีดกันมิให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการแหม จะยกเลิกบริการแต่ละที ทำไมยากเย็นแท้ เดี๋ยวฉบับหน้ามาดูกันว่า จะมีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าผู้ให้บริการอ้างว่าใช้บริการยังไม่ครบตามสัญญา ถ้ายกเลิกก่อนครบกำหนดจะต้องถูกคิดค่าปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ไม่พอใจหลังเซ็นสัญญา

สิ่งสำคัญก่อนตกลงเซ็นชื่อลงในสัญญาใดๆ คือ เราต้องรู้และเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของสัญญานั้น เพราะบางทีคู่สัญญาของเราก็ไม่ได้บอกทุกรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับเรา และอาจทำให้เรารู้สึกภายหลังว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม หรือรู้อย่างนี้ไม่เซ็นชื่อไปก็ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมศรีได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการนวดแผนไทย โดยศูนย์บริการนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่าช่วยรักษาโรคให้ดีขึ้นได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดต่างๆ แต่ศูนย์บริการแนะนำว่าให้มาตรวจอาการดูก่อน จึงสามารถวินิจฉัยการรักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เธอและคุณแม่เดินทางไปที่ศูนย์ดังกล่าว ภายหลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ แพทย์ก็แจ้งว่าเธอควรรักษาอาการเข่าเสื่อม บ่าแข็งและตะคริว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่านี้ ส่วนคุณแม่ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็ควรทำการรักษาด้วยการนวดบำบัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิการได้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นคอร์สรักษา 10 ครั้ง 65,000 บาท โดยแบ่งจ่ายล่วงหน้า 55,000 บาทก่อนได้ หลังได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว คุณสมศรีก็ตัดสินใจตกลงเข้ารับบริการ และทำการรักษาในครั้งแรก ซึ่งเมื่อรักษาเสร็จพนักงานก็นำเอกสารมาให้เซ็นเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเป็นส่วนของการรับทราบผลการรักษา และยอดค้างชำระ อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าพนักงานเร่งรัดให้เธอรีบเซ็นชื่อและไม่ให้ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งไม่ให้สำเนาของเอกสารดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงเอกสารที่ได้เซ็นชื่อไป โดยขอให้พนักงานถ่ายรูปข้อความในเอกสารส่งมาให้ดู และเมื่อได้อ่านเอกสารดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าข้อสัญญาเอาเปรียบมากเกินไป เช่น หากทำผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญา นอกจากนี้ยังตะหนักว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นที่เคยใช้บริการมา เธอจึงต้องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยผู้ร้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา และสอบถามถึงข้อเท็จจริงก่อนการตกลงทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งพบว่าผู้ร้องรับทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อนเซ็นชื่อแล้ว เช่น ราคาหรือจำนวนครั้งที่สามารถใช้บริการได้ เพียงแต่เธอไม่พอใจที่พนักงานเร่งรัดให้เซ็นเอกสาร โดยไม่แนะนำให้อ่านรายละเอียดก่อน หรือไม่แจ้งข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่เพิ่งตระหนักได้ภายหลังว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับที่อื่นที่เคยใช้บริการมา จากกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการยกเลิกสัญญา พบว่าเป็นไปได้ยากเพราะเธอรับทราบรายละเอียดของการเข้ารับบริการและพึงพอใจก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อแล้ว ซึ่งแม้ภายหลังศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ อย่างไรก็ตามศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำให้ผู้ร้องไปเจรจาต่อรองกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ก่อน โดยหากเห็นว่าค่าบริการแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่เคยรักษาในวิธีการอย่างเดียวกันมาก็ควรขอต่อรองราคา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ทางศูนย์บริการยินยอมลดให้ 10,000 บาท และทางผู้ร้องก็พอใจและยินดีใช้บริการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของสัญญาที่ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญาหากทำผิดสัญญานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้บริการจะถูกฟ้องร้อง หากทำผิดข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ แต่หากถูกฟ้องแล้วก็ต้องมาตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปจริงหรือไม่ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าเอาเปรียบเกินสมควรจริง ตามกฎหมายก็จะบังคับให้ชดใช้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หรือตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 Call center ปฏิบัติการ โทรหาเธอวันละ 3 เวลา

  ฉลาดซื้อลงเรื่องทดสอบประสิทธิภาพของโทรศัพท์มือถือมาแล้วหลายครั้ง คราวนี้ขอลองทดสอบดูการให้บริการลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์ ของแต่ละเครือข่ายดูบ้าง หลายคนคงอยากรู้ว่าคนอื่นๆ ที่เป็นลูกค้าของเครือข่ายอื่นๆ เขาต้องรอนานเหมือนเราหรือเปล่า  อาสาสมัครช่างโทรของเรา รับหน้าที่โทรเข้า Call center ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 บริษัท ได้แก่ AIS DTAC และTRUE MOVE วันละ 3 เวลา (09:00 น. 12:30 น. และ 20:00 น.) ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มิใช่เพื่อการเม้าท์มอยด้วยความคิดถึง แต่เพื่อจับเวลาในการรอสาย   โดยเริ่มนับจากเวลาที่โทรติด จากนั้นฟังขั้นตอนต่างๆ จากระบบให้ข้อมูลอัตโนมัติของเครือข่าย จนกระทั่งได้ข้อมูลว่าต้องกดหมายเลขอะไรเพื่อติดต่อโอเปอเรเตอร์ และหยุดนับเวลาเมื่อโอเปอเรเตอร์รับสาย แต่ทั้งนี้อาสาสมัครจะวางสายเองถ้าต้องรอมากกว่า 5 นาที   จากการโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของแต่ละบริษัท บริษัทละ 45 ครั้ง ทำให้เราได้ข้อมูลเรื่องระยะเวลาในการรอสายมาเล่าสู่กันฟังดังนี้   เวลาเฉลี่ยในการรอสายของแต่ละเครือข่าย1 นาที 15 วินาที  DTAC  1 นาที 59 วินาที  TRUE MOVE 2 นาที 39 วินาที  AIS   เวลาเฉลี่ยในการรอสายเมื่อโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงเวลาต่างๆ ของแต่ละเครือข่าย เวลา / เครือข่าย AIS DTAC TRUE MOVE 9:00 น. 3 นาที 03 วินาที 1 นาที 12 วินาที 1 นาที 46 วินาที 12:30 น. 1นาที 52 วินาที 1 นาที 49 วินาที 1 นาที 58 วินาที 20:00 น. 3 นาที 04 วินาที 1 นาที 56 วินาที 3 นาที 02 วินาที   • ถ้าคุณเป็นลูกค้า AIS เวลาที่เหมาะจะโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์ คือช่วงเที่ยงๆ เพราะตอนเช้าและหัวค่ำนั้นคุณอาจจะต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 นาที• ลูกค้า DTAC นั้นจะโทรเช้า เที่ยง หรือเย็นก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ข่าวดีคือรอไม่เกิน 2 นาที• ลูกค้า TRUE MOVE กรุณาอย่าโทรช่วงหัวค่ำเพราะต้องรอมากกว่า 3 นาที เปลี่ยนมาโทรช่วงเช้าหรือเที่ยงจะดีกว่า___  อาสาสมัครของเราทดลองโทรเข้าไปขอข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนไปใช้บริการของเครือข่ายอื่น พบว่าแต่ละเครือข่ายยินดีให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจ พูดจาสุภาพ และไม่พยายามจะตื้อให้เราใช้เครือข่ายเดิมต่อแต่อย่างใด ___ โพลล์ “ครอบครัวฉลาดซื้อ” รอสายกันนานไหมคราวนี้เราได้รับความร่วมมือจาก “ครอบครัวฉลาดซื้อ” สมาชิกฉลาดซื้อ และผู้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคที่โรงแรมเอเชีย ในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน 2554 ทั้งหมด 275 คน ในการช่วยให้ข้อมูลเรื่องการรอสายรับบริการจากศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์   ___  ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 275 คน• ร้อยละ 37 เป็นลูกค้าของดีแทค DTAC • ร้อยละ 35.8 เป็นลูกค้าของเอไอเอส AIS• ร้อยละ 24.2 เป็นลูกค้าของทรูมูฟ TRUE MOVE• ร้อยละ 3 เป็นลูกค้าของฮัทช์ HUTCHผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87.5) ใช้บริการมาแล้วกว่าสองปี ___ • ร้อยละ 76.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยประสบปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาเรื่องระบบสัญญาณ   ร้อยละ 59.5  ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริการเสริมต่างๆ  ร้อยละ 20 ปัญหาค่าบริการ    ร้อยละ 13.6 และปัญหาอื่นๆ     ร้อยละ 6.8   • การสำรวจครั้งนี้พบว่า  ทรูมูฟ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 82.8เอไอเอส มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา ร้อยละ 75.3ฮัทช์ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 75ดีแทค มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 74.7  • สามอันดับปัญหายอดฮิตปัญหาเรื่องสัญญาณ  ร้อยละ 59.7ปัญหาเรื่องบริการเสริม  ร้อยละ 19.9ปัญหาเรื่องค่าใช้บริการ  ร้อยละ 13.4   • ร้อยละ 75.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยใช้บริการคอลเซ็นเตอร์ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 34.2  รอสายประมาณ 3 ถึง 5 นาที ร้อยละ 32.9  รอสายน้อยกว่า 3 นาที ร้อยละ 21  รอสาย 5 ถึง 10 นาที ร้อยละ 11.9  รอสายเป็นเวลามากกว่า 10 นาที  ----ร้อยละ 12 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยรอสายมากกว่า 10 นาทีร้อยละ 38.5 ของคนที่เคยรอสายนานกว่า 10 นาทีเป็นลูกค้าของ TRUE MOVE ----

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 บริการถึงที่ คุกตารางถึงตัว

ผมได้รับแจ้งเรื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอำเภอหนึ่ง  ว่าพบผู้ป่วยหลายรายที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้การรักษาสอบถามข้อมูล  ก็พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้ต่างซื้อยามารับประทานจากร้านค้าของชำแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน  ทีมเจ้าหน้าที่ ทั้งสาธารณสุข  ท้องถิ่น  และมหาดไทย ได้ร่วมลงพื้นที่ตามรอยและตรวจสอบร้านค้าชำแห่งนี้ผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบยาหลายรายการในร้านค้าชำ  มีทั้งยาแก้ไข้หวัดที่คุ้นๆ ชื่อจากโฆษณาในโทรทัศน์ พบยาอันตรายหลายชนิด  นอกจากนี้ยังพบยาชุดมากมายหลายขนาน  เช่น ยาชุดแก้ยอก  ยาชุดแก้ปวดฟัน  ยาชุดแก้ไข้หวัดสำหรับผู้ใหญ่  ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดยาและส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป    จากการสอบถามเจ้าของร้าน ได้ให้ข้อมูลว่า  ตนเองเปิดร้านชำมานานแล้ว  จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนขับรถกระบะมาจอดที่ร้าน  และนำรายการยามาให้ตนดูพร้อมทั้งชักชวนให้ตนเลือกยาตามรายการเหล่านี้ไว้จำหน่ายในร้าน  ตนไม่รู้ข้อมูลทางกฎหมาย  จึงเลือกยาตามรายการดังกล่าวไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อจำหน่ายไปได้สักระยะหนึ่ง  ก็เริ่มมีคนมาเรียกหายารายการอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น(ขาดดีซะงั้น)  ตนเลยให้คนที่มาขายยาให้ตนหายามาให้จนเลยเถิดเพิ่มจากเดิมไปหลายรายการ  นอกจากนี้เจ้าของร้านยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  พ่อค้าที่ขับรถกระบะมาขายนั้น ไม่ได้มีแค่รายเดียว  เพราะหลังจากนั้น มีคนขับรถแวะมาจอดที่ร้านหลายราย  คนเหล่านี้ต่างนำรายการยามาเชิญชวนให้ตนเลือกซื้อเพื่อจำหน่ายหลายรายการ  ยาต่างๆ พร้อมทั้งยาชุดที่ตนจำหน่ายก็ล้วนมาจากพ่อค้าเหล่านี้ ผมนำข้อมูลมาเตือนผู้อ่านทุกท่าน หรือใครที่มีธุรกิจเปิดร้านค้าร้านชำ  อย่าเสี่ยงรับยามาจำหน่ายเลยครับ เพราะมันผิดกฎหมาย  ยามันมีทั้งคุณและโทษ หากจำหน่ายโดยไม่มีการระมัดระวัง ผู้ขายไม่มีความรู้ จะเกิดอันตราย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอก็ได้  ดังนั้นกฎหมาย จึงอนุญาตให้ร้านค้าทั่วไปจำหน่ายได้เฉพาะยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น(สังเกตที่ฉลาก จะต้องระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ถ้าไม่มีแสดงว่าไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน) หากใครขายยานอกเหนือจากนี้ โดยไม่มีใบอนุญาต  จะมีความผิดตามกฎหมายยา มาตรา 12 (ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน  เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต)  ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามมาตรา 101 อาจถึงจำคุก (ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องและแนะนำคนรอบข้างด้วยครับ จงอย่างได้เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางกันเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 รับบริการปลูกผม แต่ไม่ได้ผล

ปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้บริโภคอย่างเรา ซึ่งหากเราชะล่าใจ หรือรอการตอบกลับจากทางบริษัทเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ว่าอาจทำให้อายุความของคดีนั้นหมดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเราทั้งในเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเยียวยาที่เราควรจะได้รับด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการปลูกผม โดยเขาเลือกใช้บริการจากบริษัท สเวนสันแฮร์  ตอนปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาผู้ร้องพอใจมากเพราะผมค่อยๆ ขึ้นทีละน้อย อย่างไรก็ตามในการรักษา 3 ครั้งสุดท้าย พนักงานได้เปลี่ยนวิธีการรักษาไปจากเดิม โดยไปเน้นการขยี้หนังศีรษะเพียงอย่างเดียว ไม่มีอบและนวดหนังศีรษะเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านไปสักพักก็เกิดสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นแดงจำนวนมากบนหนังศีรษะ เขาจึงสอบถามและร้องเรียนไปยังบริษัทเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ภายหลังผู้ร้องจึงไปร้องเรียนที่ สคบ. ในปี 2558 ก็ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 6,000 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมด 80,000 บาท นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ผู้ร้องลบทุกข้อความที่เขียนไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการเยียวยาของบริษัทฯ ยังไม่มีความเป็นธรรม จึงมาร้องเรียนต่อที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในการร้องเรียนลักษณะนี้ หากผู้ร้องมีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการเข้ารับบริการปลูกผมจริง เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในจำนวนที่เป็นธรรม โดยผู้ร้องสามารถรวบรวมเอกสารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด มาเรียกร้องในส่วนที่เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมความเสียหายได้อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ร้องได้มากกว่านี้ เพราะคดีได้หมดอายุความในเรื่องสัญญาหรือการละเมิดไปแล้ว เพราะกฎหมายได้กำหนดให้อายุความในการฟ้องร้องคดีการละเมิดอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งหากฟ้องร้องต่อไปก็จะถูกโต้แย้งในประเด็นอายุความและถูกยกฟ้องในที่สุด นอกจากนี้บริษัทอาจอ้างได้อีกว่า ผู้ร้องยินดีรับเงินค่าชดเชยไปแล้วอีกด้วย ทำให้เขาจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไปดังนั้นแล้วจะฟ้องก็รีบฟ้อง เดี๋ยวจะหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 9 เทคนิคจับผิดร้านค้าออนไลน์ เพื่อไม่โดนหลอก

แม้ว่าการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เป็นที่นิยมของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งโจรของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาอีกไม่น้อย S! Money มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อย ฝากไว้เป็นข้อสังเกต ก่อนที่จะตัดใจจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ ดังนี้1. นำชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือ username ของคนขายมา search หาใน google หากชื่อนี้เคยหลอกลวงคนอื่นมาก่อน แล้วกลับมาโพสต์ขายของอีก จะมีคนพูดถึงรายละเอียดคดีความของเขาขึ้นมาเลยด้วย2. ให้กดค้นหาชื่อร้านค้า หรือคนขาย ใน Facebook หรือ Twitter ตรวจสอบสถานะว่ามีการขายของจริงๆ หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีตัวตัวผ่านเครื่องมือ ต่างๆ ของโซเชียลแน่นอน3. ลองค้นหาในเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบตัวตน เช่น  peekyou.com , touchgraph.com/seo หรือ socialmention.com แล้วใส่ชื่อ หรือ username ของผู้ขายลงไป ก็จะเจอข้อมูลมากมายทั้งอีเมล์ ข้อมูลบนเว็บต่างๆ และ Social Network ของเขา4. ตรวจสอบกับผู้ที่เคยซื้อ ว่าได้รับสินค้าจริงๆ หรือไม่? อาจจะหลังไมค์ไปพูดคุยกับคนที่เคยสั่งซื้อที่มีชื่อปรากฏการจองสินค้า เช่น ถ้าร้านขายใน Facebook เราก็ Inbox ไปสอบถามความรู้สึก ความคิดเห็นว่า สินค้าเป็นอย่างไร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการตัดสินใจได้อีกทาง 5. อย่าเห็นแก่ของราคาถูก! ถ้าพบว่าร้านค้าออนไลน์ขายของถูกเกินจริง ต้องยิ่งสังเกตและระวังเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสโดนหลอกสูงมากๆ  และอุทาหรณ์ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีนี้6. ลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า คนขายคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงๆ (หากเป็นคนโกง เค้าจะพยายามให้คุณสั่งของทีละมากๆ ระวังเอาไว้)7.อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายแอ็คเค้า(account)  พยายามขอแอ็คเค้าจริงๆ ที่เขาใช้ ที่สามารถเห็น เพื่อนๆ และพฤติกรรมจริงๆ ได้8.ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การอัพเดทสินค้าเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าร้านออนไลน์ของเขาอยู่จริง ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น9. ส่วนการจ่ายเงิน หากจำเป็นต้องโอนผ่านธนาคาร พยายามเลือกร้านที่มีรีวิวการส่งสินค้า การรับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ใช้รูปเดิม เพื่อยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริงที่มา  http://money.sanook.com/229693/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ไม่ได้ขออะไร แค่ขอให้คิดราคาตามที่ใช้จริง

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้บ้างเรื่องที่  สปช.มีมติให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม(โทรศัพท์) คิดค่าบริการลูกค้า  ตามที่ใช้จริงเป็นวินาที (ปัจจุบันคิดเป็นนาที) เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการ  เช่น  ใช้จริง 1 นาที 1 วินาที  ก็จะถูกเรียกเก็บเป็น 2 นาที  ใช้ 3 นาที  5 วินาที  จะถูกเรียกเก็บ เป็น 4 นาที เป็นต้น  สรุปหากมีเศษวินาที ไม่ว่ามากหรือน้อย จะถูกปัดขึ้นไปเป็นนาทีโดยอัตโนมัติวันที่ 13 มกราคม 2558  ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  (ของ สปช.) ร่วมกับผู้ให้บริการทุกค่าย   มีคำถามหลายคำจากผู้บริโภคที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่พอใจ  เช่น  หากเราไปซื้อส้ม 1 กิโลกรัม แม่ค้าชั่งให้ 1 โล 1 ขีด  เรียกว่าอะไร  โกงตราชั่งหรือโกงเงิน  การปัดวินาทีเป็นนาที เรียกว่าโกงมั้ย?  ถึงกับออกอาการว่า ไม่ได้โกง  ไม่สบายใจเลย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง  สูตรคิดค่าบริการนี้ เป็นสากล ใครๆ เขาก็ใช้กันมีคำถามอีกว่า  ทำไมไม่ปัดเศษลง   ปรับขึ้นเป็นนาทีทำไม?  ไม่มีคำตอบ   แต่มีคำต่อว่า สปช.ว่าเรื่องเก็บเงินเป็นนาทีหรือวินาทีเป็นเรื่องเล็กๆ ผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่แล้ว  ยังไงค่าโทรก็จะถูกลงเอง  สปช. ควรจะไปทำเรื่องใหญ่ไม่ใช่มาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ ( หึ.....เรื่องที่เกี่ยวกับคน 60  กว่าล้านคนนี่นะเรื่องเล็ก)  ผู้ให้บริการยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคอาจไม่พอใจ ในการเก็บเงินเป็นวินาที  เพราะคนโทรสั้น จะได้ประโยชน์  แต่นักธุรกิจที่โทรยาวๆ จะเสียประโยชน์ (อ้าว...ตกลงทุกวันนี้คนจนช่วยจ่ายค่าโทรศัพท์ให้คนรวยใช่มั้ย???) คุณหมอประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  พูดชัดเจนว่า  ปัจจุบันคนโทรสั้นต้องรับภาระจ่ายค่าโทรให้คนโทรยาว  เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือ ใครใช้เท่าไร  ต้องจ่ายเท่านั้น  และการคิดค่าบริการเป็นวินาที ก็น่าจะทำได้เลย  เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ  ก็มีเทคโนโลยี ตรวจการใช้บริการเป็นวินาทีอยู่แล้ว  ปัญหาคือการปัดเศษขึ้นไปเป็นนาที  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  และการแก้ปัญหาโดยการใช้โปรโมชั่น  นาทีและวินาที ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกน่าจะไม่ถูกต้อง   แต่ต้องกำหนดให้ทุกโปรโมชั่น  ต้องคิดค่าบริการตามที่ใช้จริง   ที่สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้   จะมีการประมูล 4G   จะเสนอให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลต้องคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ.....

ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มากจนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้   แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 เอสเอ็มเอส ไม่สมัครไม่ต้องจ่าย

มาอีกแล้วกับเรื่องเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ แต่เครือข่ายดันมาคิดค่าบริการแล้วบอกปัดว่า “ไม่ใช่ของบริษัทฯ ค่ะ จึงไม่สามารถระงับบริการได้” ใครจะเชื่อที่ผ่านมาและน่าจะยังเป็นเรื่องปัจจุบันด้วย คือรูปแบบการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ปัญหาจะมีลักษณะที่อ้างว่าเป็นบริการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความตลก คลิปลับ ดูดวง ชิงโชค บริการข่าว โหลดเพลง ฯลฯ และมีการหักเงินค่าบริการผ่านระบบการหักเงินอัตโนมัติจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่างๆ ทั้งในระบบเติมเงิน และรายเดือน บางท่านจะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกหักเงิน จนเมื่อโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้นั่นแหละ ถึงจะทราบว่าตนเองเป็นเหยื่อไปอีกรายแล้วคุณณิชาก็เช่นกัน เธอเล่าว่าใช้บริการของทรู ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต Wi-Fi มานานแล้ว จนพฤษภาคม  ปีที่แล้วได้เปิดบริการเพิ่มอีก 1 เบอร์ โดยวงเงินของเบอร์นี้จำกัดไว้ที่ 1,000 บาท และเนื่องจากใช้บริการหลายอย่างจึงไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ(รายละเอียด)ของค่าบริการว่ามีอะไรบ้าง ได้แต่ชำระเงินไปตามยอดที่ตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์ของทรูเท่านั้น จนเดือนตุลาคมเธอไม่สามารถใช้บริการโทรออกจากเบอร์ที่เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ จึงรู้ตัวว่าโดนเข้าแล้ว“ก็มียอดค้างค่าบริการเบอร์นี้ประมาณ 1 เดือนนะคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดบริการ พอลองหาใบแจ้งหนี้ค่าบริการดู เลยมารู้ตัวว่า เบอร์นี้ไม่เคยมีใบแจ้งหนี้มาที่บ้านเลยตั้งแต่สมัคร เมื่อสอบถามกับคอลเซนเตอร์ ปรากฏว่าทางบริษัทฯ จัดส่งใบแจ้งหนี้ไปที่ที่อยู่เก่า ทั้งที่ตอนสมัครใช้ก็แจ้งที่อยู่ปัจจุบันอย่างชัดเจน ยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 701 บาท ซึ่งสูงมากเพราะดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก จึงถามรายละเอียดว่าเป็นค่าอะไร ทางคอลเซนเตอร์แจ้งว่า เป็นค่าบริการที่สมัครเกมจาวา งงไปเลยค่ะว่าสมัครไปตอนไหนกัน” คุณณิชาปฏิเสธว่าไม่เคยสมัครเล่นเกมอะไรเลย ทางคอลเซนเตอร์จึงทำเรื่องยกเลิกให้ ทั้งหมด 4 เกม จากนั้นคุณณิชาลองมาดูรายละเอียดการใช้งานในเดือนกันยายนผ่านทางเว็บไซต์ ก็พบว่า มีการส่ง SMS มาที่เบอร์นี้เยอะมาก ประมาณ 80 ข้อความ(ค่าบริการ 10-20 บาท/ข้อความ) และสำหรับเดือนตุลาคมที่ยังไม่ได้ตัดรอบบิลก็เจอไปอีก 130 ข้อความ ค่าบริการทะลุไป 1,350 บาท ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาคือช่วง 05.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่เคยจะหยิบโทรศัพท์มาใช้งานเลยสำหรับคุณณิชา“ดิฉันแจ้งร้องเรียนกับทางคอลเซนเตอร์ทันที ยืนยันไปค่ะว่าไม่เคยสมัคร ทางคอลเซนเตอร์ก็ยืนยันว่า ลูกค้าสมัครๆ และเสนอว่าจะลดค่าบริการให้ 300 บาท จากยอดสองเดือนรวมๆ ประมาณ 2,000 กว่าบาท มันไม่แฟร์เลยนะคะ”คุณณิชาไม่เชื่อว่าทางทรูจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ช่วยเหลือ 300 บาท ก็ขนาดยอดเงินในเบอร์นี้มีแค่ 1,000 บาท ยังปล่อยให้ข้อความสั้นมันทะลุเกินวงเงินไปได้ จึงมาร้องเรียนและขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อไม่ได้สมัครใช้บริการ ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าบริการ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำให้คุณณิชาทำหนังสือ หรือทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ถึงบริษัท ทรู โดย 1.ขอให้ทางทรูตรวจสอบค่าใช้จ่ายกรณีบริการเสริมข้อความสั้น พร้อมปฏิเสธการชำระค่าบริการข้อความสั้นทั้งหมด ตามใบแจ้งหนี้ในรอบบิลที่มีปัญหา พร้อมยกเลิกบริการเสริมทุกชนิด(เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต) 2.แจ้งขอให้ทางบริษัทฯ เปิดสัญญาณการใช้งานตามปกติ โดยทางผู้ร้องจะชำระค่าบริการที่ยังค้างอยู่เฉพาะที่เป็นค่าบริการจริงไม่เกี่ยวกับค่าบริการข้อความสั้นที่ผู้ร้องไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยหนังสือนี้สำเนาถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ด้วยต่อมาได้รับแจ้งจากคุณณิชาว่า ได้ส่งอีเมล์ไปถึงบริษัท ทรู เพื่อดำเนินการตามที่ทางศูนย์ฯ แนะนำ ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยปรับลดค่าบริการส่วนเกินจากบริการข้อความสั้น(SMS) รวม 1341.78 เหลือเฉพาะค่าบริการจริง โดยจะเปิดสัญญาณให้ 3 วันเพื่อให้ทางผู้ร้องได้ชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ พร้อมระงับบริการ SMS ทั้งหมด คุณณิชาขอบคุณที่ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในครั้งนี้ และยินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนทางมูลนิธิฯ หากมีประเด็นที่ต้องการพลังจากผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 แฟนท้อง อยากจะขอเลิกสัญญาฟิตเนส

แฟนเล่นฟิตเนสครบปีและเพิ่งต่อสัญญาเมื่อเดือนมกราคม ในสัญญาลงไว้ 12 เดือน ถ้าจะ dropต้องเสีย ทุกเดือน 20% หรือประมาณ 400 บาทตอนนี้แฟนผมท้อง จึงจะขอยกเลิกสัญญา เพราะคิดว่าไม่ได้ไปใช้บริการเพราะไม่จำเป็นทำไมต้องเสียเงินอีก ไม่ทราบยกเลิกสัญญาได้ไหมครับ แล้วต้องทำอย่างไรถึงไม่โดนหักบัตรเครดิตต่อ ขอบคุณครับ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. ๒๕๕๔  มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หมายความว่า หากข้อความในสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนขัดต่อประกาศฉบับนี้ให้ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และหากสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนไม่มีข้อความตามประกาศฉบับนี้ ก็ให้ถือว่าสัญญาของฟิตเนสนั้น มีข้อความหรือข้อสัญญาตามที่ประกาศได้กำหนดไว้โดยอัตโนมัติทันที แม้มิได้มีข้อความปรากฏอยู่ในสัญญาฉบับนั้นก็ตาม “ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกาย” ตามประกาศฉบับนี้ หมายความว่า ธุรกิจให้บริการ ใช้สถานที่ และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจทำสัญญาให้บริการ ออกกำลังกายกับผู้บริโภคให้เป็นสมาชิก แต่ไม่หมายความรวมถึงธุรกิจให้บริการเฉพาะโยคะ ศิลปะการป้องกันตัว และกีฬา ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้(1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของสถานที่ให้บริการออกกำลังกาย จำนวนประเภทและจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการให้บริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิพึงได้รับตามสัญญา(2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้ บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้น และสิ้นสุดการเป็นสมาชิก(3) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุเหตุในเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำหรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่การผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ดังนี้ (ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า)(ก) กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา(ข) มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น(ค) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงประกาศฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภค ไว้เพียง 3 กรณี คือ(1) ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือบริการอื่น ๆ ตาม (1) หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ เมื่อเทียบกับ จำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง(2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ(3) ได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่องดังนั้น จากคำถามที่ถามมา ภรรยาตั้งครรภ์หรือการมีปัญหาทางด้านสุขภาพ จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อมีหลักฐานใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการฟิตเนสต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ไปแสดงประกอบการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้บริโภคชำระค่าสมาชิกและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งระงับการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงคำบอกกล่าวในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคให้ทำเป็นจดหมายส่งถึงผู้ให้บริการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นดีที่สุดครับ        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆองค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?”เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เป็นหนี้สองแสนเพราะทำสปาแบบไม่ตั้งใจ

ศิริวัลย์ อยากบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากบริการสปา หลังจ่ายเงินไปร่วมสองแสนบาท แต่อ้อยเข้าปากสปาปากแล้ว เอาออกยากยิ่งกว่าปากช้างเสียอีกศิริวัลย์บอกว่าเมื่อเดือนตุลาคมปลายปีที่ผ่านมา ได้สมัครสมาชิกสปาและสถานบริการฟิตเนส สปานั้นเป็นสปาหน้าและตัววงเงิน 20,000 บาท ส่วนสถานบริการฟิตเนสวงเงิน 25,000 บาทเราถามว่า กล้าจ่ายเงินมากขนาดนั้นได้ไง เธอบอกว่า มันเริ่มจากการที่พนักงานขายเชิญชวนและให้เช็คสุขภาพ และได้ทดลองเข้าใช้บริการฟรี 1 ครั้ง พอไปเข้าใช้บริการครั้งแรก พนักงานขายก็พยายามเชิญชวนให้ปรับคอร์สขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเข้ารับบริการพนักงานทำทรีทเมนต์ก็ยังแนะนำเสนอขายเครื่องสำอางอีก 1 ชุด“ทุกครั้งที่รับบริการเสร็จ พนักงานขายและเจ้าหน้าที่ที่พนักงานขายแนะนำว่าเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติบริการจะพูดจาโน้มน้าวให้เราซื้อคอร์สเพิ่มขึ้น จนเราต้องยอมซื้อโดยจ่ายค่าคอร์สวีไอพีเป็นเงินรวม 200,000 บาท เครื่องสำอางอีก 1 ชุด 9,240 บาท รวมจ่ายทั้งสิ้น 209,240 บาท รูดบัตรเครดิตไปทั้งสิ้น 6 ครั้งค่ะ”เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนสมัครคอร์สวีไอพี พนักงานขายแจ้งว่า เป็นสมาชิกโดยไม่มีหมดอายุ สามารถให้ผู้ใดมาใช้บริการด้วยก็ได้ ตอนที่ตกลงทำสัญญาไปก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาสัญญาอย่างละเอียดเนื่องจากมีพนักงานขายถึง 3 คนมาช่วยดำเนินการ นอกจากนั้นยังมีการคืนยอดบัตรเครดิตเข้าออกถึง 2 ครั้งจนสับสนไปหมด“เราไม่มีโอกาสได้อ่านสัญญาอย่างถี่ถ้วน มีเพียงทำเครื่องหมายให้เราเซ็นชื่อ พนักงานขายเพียงพูดว่าเป็นไปตามที่เขาพูด” นอกจากนี้เธอยังเล่าอีกว่า ในวันที่สมัครสมาชิกแล้วและได้ทดลองทำสลิม 2 ครั้ง หลังจากที่ทำครั้งแรกแล้วน้ำหนักลดเพียง 2 ขีด และเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กิโลกรัมก่อนทำในครั้งที่สอง เมื่อทำเสร็จก็ลดลง 2 ขีด เสียเงินสองครั้งนั้นไป 11,000 บาท และยังมาเสียเงินทำสปาอีก 2 ครั้งเป็นเงิน 4,500 บาท เพียงแค่วูบเดียวแทนที่น้ำหนักจะถูกรีด กลับกลายเป็นเงินในกระเป๋าถูกรีดไป 15,500 บาทหลังจากที่ได้สมัครไปแล้ว กลับมานั่งทบทวนสัญญาที่บ้าน พบว่ามีสัญญาบางข้อที่ไม่เป็นไปตามที่พนักงานให้ข้อมูล เช่น ระยะเวลาการเป็นสมาชิกที่บอกว่าเป็นตลอดชีพ แต่ในสัญญาระบุว่า สมาชิกมีอายุคงอยู่ได้ 2 ปี และต้องเข้ารับบริการให้ครบถ้วน การต่ออายุต้องมีการสมัครใช้บริการเพิ่ม 15,000 บาท นอกจากนี้เครื่องสำอางยังมีราคาแพงกว่าสินค้าที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต และไม่มีภาษาไทยหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นที่แสดงถึงความมั่นใจในผลิตภัณฑ์เมื่อมีโอกาสได้ตรวจดูข้อสัญญาและข้อมูลต่างๆแล้ว ทำให้สติกลับคืนมา อยากจะบอกเลิกสัญญา และขอเงินที่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไปร่วม 2 แสนบาทคืน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด“บริษัทฯ ไม่มีนโยบายคืนเงิน” นั่นคือคำตอบที่เธอได้รับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับสัญญาบริการฟิตเนส  คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เป็นประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2554 ระบุถึงสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคไว้ดังนี้ ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นตามที่ได้แจ้งหรือสัญญาไว้กับผู้บริโภค หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิก และพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้นๆที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่อง เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่ผู้ร้องเรียนยกขึ้นมากล่าวอ้างเทียบกับสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคตามประกาศข้างต้น จะเห็นว่าไม่เข้ากันหรือไม่สามารถใช้เป็นเป็นสิทธิบอกเลิกสัญญาตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองได้อย่างไรก็ดี มูลนิธิฯได้ติดต่อไปที่สถานบริการฟิตเนส เพื่อแจ้งถึงความประสงค์ของลูกค้าที่ต้องการขอเลิกสัญญาและขอเงินคืน ได้รับแจ้งกลับมาว่า บริษัทฯไม่มีการคืนเงินให้ลูกค้าทั้งหมด แต่จะคืนเงินให้ 85% หลังหักจากยอดที่ผู้บริโภคได้ใช้บริการไปแล้ว 5 ครั้ง เป็นเงิน 15,500 บาท รวมกับคอร์สที่ผู้บริโภคต้องเข้าใช้บริการเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท โดยบริษัทขอหักค่าดำเนินการ 15% เป็นเงิน 26,061 บาท คงเหลือคืนผู้ร้อง 147,679 บาทศิริวัลย์นั่งคิดคำนวณดูแล้ว ท้ายที่สุดตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทเสนอมา พร้อมทั้งฝากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเตือนผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเสริมความงามหรือสถานบริการออกกำลังกายให้ตรวจสอบราคาค่าบริการให้ดี อ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็น และอย่าสมัครเพราะขัดใจพนักงานขายไม่ได้“หลังจากเข้าไปรับบริการจนครบคอร์สที่เหลืออีก 20,000 บาท ก็คงไม่ซื้อคอร์สเพิ่มแล้ว คงหยุดซื้อโดยเด็ดขาดแล้วค่ะ” ศิริวัลย์กล่าวด้วยความเข็ดขยาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 บ้านถูกน้ำท่วม ไม่ใช้เน็ตแต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่อยู่อาศัยแถบอำเภอบางบัวทองต้องถูกน้ำท่วมอย่างหนัก แทบไม่มีใครอยู่อาศัยได้ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆล่ม จึงมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ความดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตของทรูไลฟ์พลัส เพราะมีการร้องเรียนว่ายังเรียกเก็บค่าบริการต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคุณชูชัยเป็นผู้บริโภครายหนึ่งที่ร้องเรียนมาว่า ตนและครอบครัวอยู่อาศัยในหมู่บ้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านถนนบางกรวยไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อน้ำท่วมใหญ่เข้าอำเภอบางบัวทองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554  ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ จึงได้โทรแจ้งไปยังบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัดว่า บ้านถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้จึงไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทได้ ขอให้บริษัทระงับการเรียกเก็บค่าบริการไว้ก่อนเสียงร้องขอของผู้บริโภคคงไร้ความหมาย เจตนารมณ์ของทรูไลฟ์พลัส คงไม่เปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นรักษาสโลแกนของตนไว้เหมือนเดิม “ชีวิตมีแต่บวก” ก็เลยมีการส่งใบแจ้งหนี้บวกเพิ่มให้คุณชูชัยเข้ามาทุกเดือน กลายเป็นหนี้สะสมทบติดต่อกันมาถึง  5 เดือนนับจากวันที่น้ำท่วมเข้าบางบัวทอง จนถึงวันที่ร้องเรียน คุณชูชัยก็ยังไม่สามารถเข้าอาศัยในบ้าน ของตัวเองได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมแซมต้องไปหาพักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งแทน จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ได้มีการร้องเรียนไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.)ของ กสทช.อีกทางหนึ่งด้วย เราจึงได้สอบถามความคืบหน้าไปที่ สบท. ทราบว่าหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัสฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ทรู ได้ปรับลดค่าบริการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงรอบเรียกเก็บในเดือนมีนาคม 2555 เป็นเงิน 3,700 กว่าบาทให้ และได้มีการเริ่มต้นคิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคอีกครั้ง สอบถามคุณชูชัยได้ความว่าตอนนี้ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดยังไม่ได้กลับเข้าบ้านเพราะบ้านยังซ่อมไม่เสร็จ จึงอยากจะทำเรื่องยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและขอเงินประกันกล่อง Router คืนไปเลย แต่กล่อง Router หายไปตอนน้ำท่วมหลังทราบความต้องการของผู้บริโภค ทรูจึงทำการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งว่าค่าประกันกล่อง Router อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่สักพัก เพราะจริงๆแล้ว กล่อง Router นั้นไม่มีการทำประกัน แต่เป็นลักษณะของการซื้อขายอุปกรณ์เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตครบ 1 ปี กล่อง Router จะตกเป็นของผู้บริโภค ส่วนเงินที่ติดตามทวงถามคืนนั้นเป็นค่าประกันหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ จึงได้มีการติดตามทวงถามคืนจากทีโอทีรวมจำนวน 2 เลขหมาย และท้ายที่สุดได้คืนเป็นจำนวนเงินเลขหมายละ 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาทเรื่องจึงเป็นอันยุติ สวัสดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต.2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต.3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบันดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชนสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม

บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี“คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทักตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ”เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ“รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก“ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกันระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ“พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ”“คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย”“ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ”“เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู“นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผลคุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดูเซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต“โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน”“ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืนเซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้“หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!”“คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน“ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป“โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่”“ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม“อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร”คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก“ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ“เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ”“เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม“พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง“พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้”“เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาทการแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเราตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกันหลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด“ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ”“ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต”เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกันดาวโหลดจดหมายตัวอย่างยกเลิกสัญญา <<< คลิก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >