ฉบับที่ 116 สิทธิของคนชอบบิน

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศหลายราย ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ บางรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำประกาศของกระทรวงคมนาคม “สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ” ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นขั้นพื้นฐานใน 3 กรณียอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศมักถูกเอาเปรียบ มานำเสนอ เผื่อเอาไว้ให้คุณผู้อ่านและเพื่อนพ้องได้ใช้เรียกร้องสิทธิกับสายการบินภายในประเทศกันครับ ซึ่งหากสายการบินใดได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในระดับที่ดีกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการขั้นพื้นฐานนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารได้3 ปัญหายอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศต้องได้รับการปกป้องสิทธิ1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding) คือ การที่สายการบินปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง(Check in) ภายในระยะเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ หรือ เอสเอ็มเอส(SMS) ฯลฯ หรือถ้ายสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ ให้ถือเวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีก่อนเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation)  คือ การที่สายการบินยกเลิกการบินเที่ยวบินใดๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ(Extra Flight)3. เที่ยวบินล่าช้า (Filght Delay)  คือ กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร   กรณีที่ได้รับความคุ้มครองหรือยกเว้น มาตรการคุ้มครองสิทธิและข้อยกเว้น ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ให้สายการบินจ่ายเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคาร แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers และ/หรือบริการอื่นๆแทน จะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย(ถ้าไม่เอาอย่าเผลอเซ็นชื่อเด็ดขาด) ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย   (ก)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกการเดินทางต่างๆ (ข)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ให้ ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ค)     สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุสุดวิสัย คือ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใดๆที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร การนัดหยุดงานหรือการกระทำใดๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน และเหตุสุดวิสัยอื่นใดที่สายการบินสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน หมายเหตุ : ภาระการพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ และได้แจ้งข่าวเมื่อใด เป็นภาระของสายการบินผู้ให้บริการ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง สิทธิทางเลือกในการรับคืนค่าโดยสาร, เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน  หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น (เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง)   ทางเลือกที่ 1 การรับคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่จ่ายไปสำหรับการเดินทาง หรือส่วนของการเดินทางที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง รวมถึงการเดินทางหรือส่วนของการเดินทางที่ได้เดินทางไปแล้วแต่ไม่สมประโยชน์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งการเดินทางในเที่ยวบินกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้โดยสารนั้นเองโดยเร็วที่สุด   ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินภายในวันเดียวกัน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารโดยเร็วที่สุด   ทางลือกที่ 3 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารในวันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร   ทางเลือกที่ 4 เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมาย ปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดใกล้เคียงแล้วแต่ความเหมาะสม   หมายเหตุ : การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสารและที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจะจัดให้ได้ หากค่าโดยสารในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นสูงกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระแล้ว สายการบินจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการเพิ่มอีก และหากค่าโดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินนั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปแล้ว สายการบินจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารภายใน 7 วัน และในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย   กรณีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่น หากค่าเดินทางสูงหรือต่ำกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระไปแล้วก็ให้ใช้วิธีชดเชยลักษณะเดียวกัน ถูกปฏิเสธการขนส่ง   สิทธิที่จะได้รับการดูแล 1.ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องต่อไปนี้ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป (ก)     อาหารและเครื่องดื่ม ตามความเหมาะสมกับระยะเวลารอขึ้นเครื่อง ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ข)     ที่พักแรม สำหรับการพำนักตั้งแต่หนึ่งคืนขึ้นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม(กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ค)     การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม (กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2.ผู้โดยสารมีสิทธิโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือส่งอีเมล์ที่สายการบินจัดให้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกิน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด   3.สายการบินจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่เดินทางโดยลำพัง และคนพิการ การรักษาสิทธิ : กรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศเดิม)เลขที่ 71 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: 02-287-0320-9 โทรสาร: 02-286-3373   หากมีความเสียหายมากกว่าที่ได้รับจากมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องสายการบินเป็นคดีผู้บริโภคได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆอันเป็นผลโดยตรง แต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง”      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 “สปาเซ็นเตอร์” คนมีบัตรเครดิต ตั้งสติให้ดี ก่อนคิดใช้บริการ

 “สปาเซ็นเตอร์” ประกาศตัวเองว่าเป็นสถาบันลดน้ำหนักและกระชับสัดส่วน เปิดสาขาให้บริการตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ใช้พนักงานสาวหน้าตาดีออกมายืนเชิญชวนคนที่มีบัตรเครดิตให้สมัครเข้าไปใช้บริการปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้บริโภคทยอยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หลงเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการเพราะทนคำรบเร้าของสาวพนักงานไม่ได้  แต่เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่าการบริการไม่เป็นไปตามที่สาวนักขายโฆษณาไว้ อยากจะบอกเลิกสัญญาขอเงินที่จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตคืน ก็ขอคืนไม่ได้เพราะสัญญาที่ไปเซ็นไว้มีข้อผูกมัดที่จะไม่คืนเงินให้กับผู้บริโภคในทุกๆ กรณี“ดิฉันซื้อคอร์สมา 30,000 บาทเมื่อ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา” ผู้บริโภครายหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา“ตอนนั้นจำได้ว่ารีบมากจะต้องไปธุระต่อ แต่พนักงานขายคะยั้นคะยอบวกกับความเกรงใจและหวังว่าจะเห็นผลเพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ คอร์สจริงเซลอ้างว่า 70,000 บาท แต่ลดลงมาเหลือ 45,000 บาท แต่ดิฉันจ่ายไม่ไหวเซลเลยลดให้เหลือ 30,000 บาท”“กลับมาบ้านสมองก็ตึงๆ ไปเหมือนกัน เพราะราคาสูงมาก ไม่รู้ตกลงไปได้ยังไงดิฉันชำระผ่านบัตรเครดิตค่ะ 3000x10 เดือน ตอนนั้นยังไม่เอะใจกับคำว่า "ไม่คืนเงินทุกกรณี" ถ้าสติดีกว่านี้ ตอนนั้นคงยกเลิกไปทันทีที่พนักงานให้เซ็นเอกสาร”เมื่อผู้บริโภครายนี้เข้าไปใช้บริการก็พบว่ามีการให้บริการที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่พนักงานเสนอขาย“จากการที่ไปใช้บริการ 1 ครั้ง การบริการไม่เหมือนคอร์ส 30,000 บาทเลยค่ะ ผิดหวังกับการบริการมาก แถมตอนขายคอร์สบอกจำนวนที่ใช้บริการประมาณ 15 ครั้งแต่สอบถามเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ตกใจมากที่หดเหลือ 10 ครั้ง แถมอีก 1” ผู้บริโภคอีกรายร้องเรียนมาว่า สปาฯ ไม่มีบริการพอกตัวมีแต่นวดตัว และไม่มีอ่างน้ำวนบริการ ทั้งๆ ที่ตอนที่พนักงานสาวเสนอขายบอกว่ามีบริการทั้งหมด แต่พอถึงเวลาไปใช้บอกว่ากำลังติดตั้งอ่างน้ำยังไม่เสร็จปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาก็คือ ใช้บริการไปได้เพียงแค่ครั้ง 2 ครั้งแต่เมื่อเห็นว่าบริการไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปจึงอยากจะเลิกบริการขอเงินคืน แต่บริษัทไม่ยอมให้คืน โดยอ้างข้อความในสัญญาที่ระบุว่าจะไม่มีการคืนเงินให้ในทุกกรณีแนวทางแก้ไขปัญหาลักษณะสัญญาของสปา มีข้อผูกมัดคล้ายๆ กับข้อสัญญาของฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง เช่น ต้องอยู่เป็นสมาชิกอย่างน้อย 12 เดือน ห้ามบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด เน้นวิธีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น คนที่มีบัตรเครดิตโดยเฉพาะคุณผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของสัญญาลักษณะนี้กันเป็นจำนวนมากคำถามสำคัญของคุณผู้หญิงที่หลงเข้าไปสมัครใช้บริการกับสถานบริการเหล่านี้คือ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้หากผู้บริโภคพบว่าทางผู้ประกอบการไม่จัดให้มีบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสำคัญในสัญญาหรือโฆษณาก็ให้ใช้เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาได้เลยครับ เช่น เป็นสปาแต่ไม่มีอ่างน้ำวน หรือบอกว่าเป็นนวดน้ำมันแต่พอไปใช้จริงเหมือนโดนลูบตัวหรือถูขี้ไคลเสียมากกว่า ไม่ได้ใช้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตมาให้บริการ อย่าไปใช้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่อยากไปเล่น ไม่สะดวกอย่างนั้นอย่างนี้ ขืนพาซื่อไปใช้เหตุผลแบบนี้ รับรองโดนตามทวงหนี้หัวหงอกแน่ เพราะฝ่ายผิดสัญญาจะเป็นผู้บริโภคนั่นแหละที่ไม่รู้จักประเมินตัวเอง เห็นว่าเงินหาง่าย แล้วไปเที่ยวเซ็นสัญญาทิ้งๆ ขว้างๆวิธีบอกเลิกสัญญาเคยเขียนไว้ในเล่มก่อนๆ แต่เพื่อไม่ต้องไปค้นย้อนหลังเลยขอย้ำอีกครั้งว่า การแจ้งเลิกสัญญาและขอเงินคืนนั้น อย่าไปใช้วิธีโทรศัพท์หรือเดินไปบอกด้วยตัวเองอย่างเดียวครับ ต้องทำเป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัท และให้สำเนาจดหมายนี้ส่งไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่จ่ายเงินแทนด้วย เพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินจดหมายที่ส่งไปทั้งสองที่ให้ส่งเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น จะได้มีหลักฐานไว้ยันกันในภายหลัง หากต้องเป็นคดีความกันวิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกผูกมัดไม่ให้เลิกใช้บริการแบบนี้ใช้ได้กับบริการพวกฟิตเนสหรือ บริการที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตได้เช่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 แสตมป์แลกเก้าอี้เซเว่น รอครึ่งปียังไม่ได้

“คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นไม่มีให้ซื้อ.....” เพลงลูกทุ่งยอดฮิตของน้องจั๊กจั่น วันวิสา คงเป็นเพลงคาใจของคุณยายเฉลียวไปอีกนาน หลังจากที่ได้มีประสบการณ์กับการรอโปรโมชั่นแสตมป์แลกสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่นนานถึงครึ่งปีคุณยายเฉลียวโทรศัพท์มาหาเราในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบอกว่า บ้านของคุณยายอยู่แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ซึ่งก็เป็นปกติของทุกปากซอยที่มีผู้คนหนาแน่นคับคั่งว่าจะต้องมีร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งอยู่หนึ่งร้านเป็นอย่างน้อยคุณยายเฉลียวถึงจะมีอายุปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังแฟนพันธุ์แท้ของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ทุกๆ วันคุณยายจะต้องมีเหตุให้ไปซื้อสินค้าจาก 7-11 ที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยใกล้บ้านไม่เคยขาดช่วงปี 2552 คงจำกันได้ร้าน 7-11ได้กระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคด้วยโปรโมชั่น ซื้อสินค้าครบ 40 บาท ใบเสร็จใช้แลกแสตมป์สะสมได้ 1 ดวง เมื่อลูกค้าสะสมแสตมป์ได้ครบตามจำนวนที่ร้านระบุไว้ สามารถใช้แลกสิ่งของกระจุ๊กกระจิ๊กที่ 7-11 กำหนดไว้ได้ อาทิ แก้วน้ำ น้ำอัดลมกระป๋อง รวมถึงเก้าอี้สนาม เป็นต้น คุณยายเฉลียวเป็นคนขยันซื้อเอามากๆ ในเวลาไม่นานคุณยายสะสมแสตมป์ได้ถึง 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามที่ร้านเซเว่นหน้าปากซอย ได้ไป 1 ตัว ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2552 คุณยายเฉลียวยังมุ่งมั่นซื้อสินค้ากับ 7-11สาขาหน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 อย่างไม่รู้เบื่อ ไม่นานก็สามารถสะสมได้อีก 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามอีกตัวตั้งใจว่าจะเอาไว้นั่งคุยเล่นกับเพื่อนบ้าน แต่คราวนี้ต้องผิดหวังเพราะร้านบอกว่าของหมดให้รออีกหนึ่งเดือน คุณยายก็ทนรออีกหนึ่งเดือนพอถึงกำหนดระยะเวลาที่ 7-11สัญญา คุณยายเฉลียวจึงได้มาทวงเก้าอี้สนาม แต่มากี่ครั้งๆ ก็ได้แต่คำตอบว่าของหมดยังไม่มา ทวงเป็นสิบๆ เที่ยวจนคนแก่หมดกำลังใจ จึงจับโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหานับเป็นความสามารถพิเศษของคุณยายโดยแท้และเป็นหนึ่งในคุณภาพของผู้บริโภคที่ 7-11 จะต้องรักษาไว้ เพราะแสตมป์รวมกว่า 660 ดวงที่คุณยายเฉลียวสะสมได้นั้นต้องใช้เงินซื้อสินค้ากับ 7-11 มากถึง 26,400 บาท เพื่อขอแลกเก้าอี้สนามราคาไม่กี่ร้อยบาทจำนวน 2 ตัวเราทำหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดูแลร้านค้า 7-11 ทั่วประเทศให้ดูแลรับผิดชอบผู้บริโภคชั้นดีอย่างคุณยายเฉลียวด้วย ไม่นาน บริษัท ซีพี ออลล์จึงได้ติดต่อกับคุณยายโดยตรงเพื่อชี้แจงถึงปัญหาขาดแคลนเก้าอี้พร้อมทั้งจัดส่งเก้าอี้สนามที่คุณยายรอคอยมานานกว่าครึ่งปีให้เป็นที่เรียบร้อย โดยที่คุณยายไม่ติดใจเอาความใดๆ กับ 7-11 อีก“ต่อไปนี้คงจะเข้าร้านเซเว่นน้อยลง เพราะไม่ประทับใจการให้บริการของร้านแล้ว และขอบคุณมูลนิธิฯที่ดำเนินการติดตามเรื่องให้ ไม่ผิดหวังที่ได้รู้จักและโทรเข้ามาร้องเรียน ขอให้กำลังใจมูลนิธิฯในการดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป” คุณยายเฉลียวให้พรทิ้งท้ายก่อนวางหูโทรศัพท์ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ถูกบังคับให้ทำ เอทีเอ็ม?

เวลาไปเปิดบัญชีธนาคาร เคยรู้สึกกันบ้างไหมว่า พนักงานธนาคารจะพยายามชักชวนให้เราทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อย เอทีเอ็มบ้างล่ะ เดบิตบ้างล่ะ ล่าสุดก็ให้ซื้อประกันชีวิตอีก จนผู้บริโภครู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ใช้บริการ ไม่ทำตามแล้วดูเหมือนจะมีความผิดและเป็นลูกค้าที่ไม่สมประกอบ ธนาคารมีสิทธิที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ ประสบการณ์จากคุณวัชระน่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้คุณวัชระร้องเรียนเข้ามาว่า วันหนึ่งได้พาพ่อตาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารทหารไทย สาขาอุดรธานี แล้วรู้สึกเหมือนว่า ถูกพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรเอทีเอ็ม พ่อตาของคุณวัชระบอกว่ายังไม่สะดวกที่จะทำ เลยขอร้องพนักงานธนาคารไปว่า ไม่ทำได้มั้ยวันนี้จะขอทำในภายหลัง แต่กลับถูกพนักงานของธนาคารปฏิเสธ อ้างว่าเป็นนโยบายของธนาคาร“ผมเองได้ยินอย่างนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ จึงได้โทรไปที่ 1558 (คอลเซนเตอร์ของธนาคารมหารไทย) สอบถามความจริงได้คำตอบว่า ลูกค้าจะไม่ทำเอทีเอ็มก็ได้ ผมเลยให้พนักงานคนนั้นรับสายคุยกับ 1558 จากนั้น ก็มีทีท่าว่าไม่ยอมอ้างว่ายังไงก็ต้องทำเอทีเอ็ม และต้องเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อจะได้ร่วมลุ้นบอลโลก “ “ผมคิดในใจ (นี่บ้าหรือเปล่า) สุดท้ายก็ต้องยอมทำตาม(ความต้องการ)ของพนักงานธนาคาร เพราะอยากไปทำธุระอย่างอื่น”คุณวัชระจึงฝากคำถามนี้มายังเราเพื่อให้สอบถามไปที่ผู้บริหารของธนาคารธนาคารทหารไทยว่ามีนโยบายเช่นนี้จริงหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ทำหนังสือสอบถามไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย ต่อมาธนาคารทหารไทยได้มีหนังสือตอบจากเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารคุณภาพบริการสาขา แจ้งว่า คุณวัชระและพ่อตามาเปิดบัญชีกับธนาคาร และพนักงานธนาคารได้แนะนำผลิตภัณฑ์และอธิบายสิทธิประโยชน์รวมทั้งความสะดวกของบัตรเอทีเอ็ม โนลิมิต ให้ลูกค้าทราบ ซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าหน้าที่จะต้องหใบริการแนะนำบริการและผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า แต่ธนาคารไม่มีนโยบายให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีต้องทำบัตรเอทีเอ็มด้วย“อย่างไรก็ตามธนาคารได้ขออภัยลูกค้าที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารอาจจะสื่อสารให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งธนาคารได้แจ้งพนักงานแล้วให้ระมัดระวังการสื่อสารไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก”ชัดเจนกันแล้วนะครับว่า ธนาคารจะขายอะไรก็ขายไป แต่ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิเต็มร้อย ที่จะเลือกซื้อหรือจะปฏิเสธสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่ต้องการได้ตลอดเวลา สิทธิที่จะซื้อหรือไม่ซื้อนั้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ใครจะมาล่วงละเมิด หรือบีบบังคับให้เราต้องสละสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 อย่าลืมปฏิรูป

เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อนทีวีไทย (ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังรายการทีวีไทย) ในหัวข้อรับฟังความคิดเห็นมีหัวข้อหนึ่งคือคนสุพรรณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างในพื้นที่ที่ต้องพึ่งสื่อ และก็มีหลากหลายปัญหาที่ลั่งไหลออกมาจากเวทีนั้น แต่มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดหูมากเป็นเรื่องของคุณจันทร์(นามสมมุติ) เธอเล่าว่าเธอกำลังปลูกบ้านใหม่ เลยเข้าไปติดต่อที่ร้านโฮมโปรบางใหญ่และได้คุยกับเซลล์โดยตรง และมีการตกลงซื้อไม้รามิเนสซึ่งเซลล์บอกว่าเป็นไม้เยอรมัน และได้บอกขนาดของบ้านให้เซลล์ช่วยคำนวณไม้ให้ ว่าต้องซื้อจำนวนเท่าไร รวมถึงซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้านด้วย รวมๆ แล้ววันนั้นคุณจันทร์จ่ายเงินล่วงหน้า ไปประมาณ 200,000 บาท โดยมีสัญญาว่าจะส่งมอบของให้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน พอครบเดือนของยังไม่มาส่งคุณจันทร์ได้โทรทวงถาม คำตอบที่ได้คือ พี่ปรับพื้นหรือยัง(อ้าวทำไมไม่บอกว่าต้องปรับพื้นก่อนส่งของ)คุณจันทร์จึงตอบไปว่าอีก 15 วันมาส่งของได้เลย ผ่านไป 15 วันของก็ยังไม่มาส่ง จากนั้นก็โทรตามตลอด กว่าจะมาส่งของก็เล่นไป เกือบๆ 4 เดือน จึงมีความชัดเจนว่าจะนำของมาส่งและส่งช่างมาปูพื้นให้ตามสัญญา คุณจันทร์ก็บอกว่าไหนๆ จะมาส่งไม้ 80 ตารางเมตร จึงแล้วขอให้เอาไม้มาเพิ่มอีก 5 ตารางเมตร เผื่อไม่พอจะได้ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ปรากฎว่าของที่เอามาส่งไม่ตรงตามที่สั่งทั้งสีและลาย แต่ไหนๆ ก็มาส่งแล้วหยวนๆ แล้วกัน(นิสัยผู้บริโภคทั่วไป) และก็ไม่มีไม้มาเพิ่มตามที่ตกลงและสิ่งที่คุณจันทร์กังวลก็เกิดขึ้นจริงคือไม้ไม่พอ ขาด 5 ตารางเมตร ตรงนี้คุณจันทร์ร้องทุกข์ว่าอาจเป็นเทคนิคการขายสินค้าของร้านนี้ เพราะเมื่อไม่พอก็ต้องกลับไปเอาใหม่ และคิดค่าขนส่งเพิ่มอีกเที่ยวละ 1,500 บาท ฟังดูรู้สึกได้เลยว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียเปรียบไปทุกทาง เอาเงินเขาไปหมุนก่อนตั้ง 4 เดือน กว่าจะส่งของ(ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด) และยังมีการเอารัดเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยกันอีก แล้วเรื่องอย่างนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณจันทร์รายเดียว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพึ่งใครได้ นอกจากต้องใฝ่คว้าหาความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วยตนเองเพิ่มขึ้นไม่อย่างนั้นก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างผู้ประกอบการอยู่อย่างนี้ร่ำไป คงต้องขอบอกดังๆ อีกครั้ง ว่าเราต้องการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ่อรอเข้าสภาผู้แทนมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว(เป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อไปแล้ว1สมัย)หวังว่า สมัยประชุมนี้จะไม่เบี้ยวกันอีกนะท่านนักการเมือง..... ไหนๆ ก็กำลังเข้าสู่กระแสการปฏิรูปฟีเวอร์กันแล้ว ก็ขอให้ ช่วยปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมในทุกด้าน ด้วยนะ ท่าน นน....อะ-พิ-สิดดดดๆๆๆๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ค่าโทรโผล่ที่ไอร์แลนด์

“ดิฉันโดนเรียกเก็บค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศไปประเทศไอร์แลนด์ 2 รอบบิลติด ทั้งที่ไม่มีคนรู้จักหรือเคยโทรออกไปประเทศนี้เลยค่ะ”คุณมนต์ชิตาลูกค้าทรูมูฟร้องทุกข์“ตอนที่ได้รับบิลแรกได้โทรกลับไปสอบถามที่คอลเซนเตอร์ เค้าบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นเครื่องของเราโทรออกไป แต่เรายืนยันว่าไม่ได้โทรออกไปจริงๆ ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเคยทำมือถือหาย ไม่รู้ว่าซิม เก่าโดนใช้หรือเปล่า แต่ถูกปฏิเสธทันที ว่าเป็นไปไม่ได้”“ดิฉันยุ่งๆ เลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอบิลมาอีกครั้ง ก็มีโทรไปประเทศเดิม เบอร์เดิมอีก ดิฉันโมโหมาก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ พนักงานถามว่า มือกดไปโดนรึเปล่าคะ หรือมีการโทรออกเองอัตโนมัติหรือเปล่าคะ”เจอคำถามแบบนั้นคุณมนต์ชิตาก็ได้แต่คิดใจว่า มือใครมันจะสามารถกดไปโดนเบอร์เดียวกันถึง 6 ครั้งในเวลาที่ต่างกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเบอร์นี้บันทึกไว้อยู่ในเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์คงไม่มีทางโทรออกได้เองแน่“ดิฉันที่เป็นเจ้าของเครื่อง ยืนยันว่าไม่ได้โทร เขายังบอกว่าโทร ดิฉันเลยบอกว่าจะให้สาบานมั้ย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรแล้ว เขายังถามต่ออีกว่า มีคนอื่นเอาไปใช้มั้ย คือวันๆ ได้แต่เลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน ลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แถมยังไม่เคยมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ หรือถ้าลูกเอาไปกดเล่น ก็คงจะไม่กดได้เบอร์เหมือนกันทุกครั้งใช่มั้ยคะ แล้วคงจะไม่รู้ว่าโทรไปต่างประเทศต้องเริ่มกดด้วย 006 แน่ๆ” เมื่อเซ็งสุดๆ กับผีคอลเซนเตอร์ คุณมนต์ชิตาจึงขอปิดบริการเบอร์มือถือเจ้าปัญหา แต่ผีคอลเซนเตอร์กลับโยกโย้เยกเย้แจ้งว่า จะต้องไปปิดที่ทรูชอปสาขาใดก็ได้ แต่บ้านของคุณมนต์ชิตาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ได้อยู่ในอำเภอที่มีทรูชอป“แล้วดิฉันจะทำอย่างไรหล่ะคะ ถ้ารอบบิลหน้า มันมีโทรไปไอร์แลนด์อีก พวกพนักงานโง่ไม่สามารถตอบได้ จนดิฉันต้องบอกว่าทำไมไม่ระงับการโทรออกไปต่างประเทศให้ลูกค้า ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้โทร ทำไมพวกคุณไม่เสนอให้เค้าระงับสัญญาณโทรออกต่างประเทศ”“ดิฉันบอกพนักงานว่าดิฉันจะจ่ายแต่ยอดที่ดิฉันใช้จริง ที่ไม่ได้ใช้จะไม่จ่าย และตอนนี้มีจดหมายจากทนายมา ดิฉันควรทำอย่างไรคะ”แนวทางแก้ไขปัญหาตามกฎหมายโทรคมนาคมผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้บริการที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การแจ้งไปที่คอลเซนเตอร์มักไม่ค่อยได้เรื่องแถมยังทำให้รำคาญใจเสียอีก วิธีที่ได้ผลกว่าคือให้แจ้งเป็นหนังสือจะเป็นรูปของจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับหรืออีเมล์ก็ได้ส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการและให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้นก็ให้สำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยเมื่อส่งจดหมายออกไปแล้ว กฎหมายโทรคมนาคมจะบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครับ และกฎหมายโทรคมนาคมได้บังคับให้ผู้ให้บริการต้องมีคำชี้แจงกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ถ้าไม่ตอบมาภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะหมดสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินที่มีปัญหากันอยู่ทันทีคุณมนต์ชิตาใช้วิธีเขียนเรื่องร้องเรียนไปที่ www.truemove.com ไม่นานมีพนักงานของทรูมูฟติดต่อกลับมา แจ้งว่ายินดีจะยกเว้นการเรียกเก็บเงินจำนวนที่ทักท้วงให้ แต่ขอให้เซ็นเอกสารที่มีใจความว่าผู้ร้องไม่ติดใจเอาความกับบริษัททรูมูฟอีกต่อไป คุณมนต์ชิตาเห็นว่ายอดเงินตรงกันจึงตกลงเซ็นยินยอมยุติเรื่องโดยไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ถูกปลอมลายเซ็นสมัครฟิตเนส

ณ สำนักงานชั่วคราว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคารเซนจูรี่มูฟวี่ ชั้น 6 ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราระเห็จเข้ามาปักหลักในสำนักงานชั่วคราวแห่งนี้ได้ประมาณเดือนเศษ หลังจากตึกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ซอยราชวิถี 7 ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนอันเนื่องจากการลอบวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์การเมืองชุลมุนคุณปราณีพร้อมลูกสาววัยยี่สิบเข้ามาร้องเรียนกับเราในวันนั้น เธอบอกว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เธอกับบุตรสาวได้ไปเดินเล่นในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชอปอยู่นั้น ได้มีเซลล์ของสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่ง สมมติชื่อว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสเข้ามาชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ก็ตามสูตรของนักขายมืออาชีพเขาล่ะ คุยซะไม่มีเนื้อมีแต่น้ำ แต่ก็ได้ผลทำให้สองแม่ลูกเดินตามเข้าไปในฟิตเนสจนได้“ก็ไม่ตั้งใจจะเล่นจริงๆ จังๆ หรอกค่ะแต่เห็นเขาอัธยาศัยดี เขาถามว่าเราจะสมัครเป็นแบบ 6 เดือนหรือ 12 เดือนก็ได้ ก็บอกเขาว่าไม่อยากเล่นนานขนาดนั้น ขอทดลองเล่นสักครั้งได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้จ่ายแค่ 2,399 บาท ก็เข้าเล่นได้เลยถ้าเรามีเวลาว่างมา ไม่ต้องสมัครเป็นปีก็ได้”“แล้วเค้าก็เอาใบสัญญาสมัครสมาชิกมาติ๊กมากรอกเองทั้งหมดโดยมีดิฉันกับลูกสาวนั่งดู โดยที่เราไม่ได้เซ็นชื่อในใบสมัครสมาชิกที่อยู่ส่วนหน้า ไม่ได้ให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตเพราะเป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าได้เซ็นชื่อในเอกสารที่แนบตามหลังใบสมัคร เช่น แบบทบทวนความเข้าใจสำหรับสมาชิกใหม่อะไรทำนองนี้ ส่วนลูกสาวตอนนั้นอายุก็ยังไม่ครบยี่สิบปี เราในฐานะแม่ก็ไม่ได้เซ็นยินยอมอะไรไป แต่ก็เห็นเซลล์เขานั่งติ๊กนั่งกรอกแบบฟอร์มให้ลูกสาวเราด้วยก็คิดว่าเป็นการทำเอกสารเพียงเพื่อให้เราเข้าไปใช้บริการหนึ่งครั้ง”จากนั้นคุณปราณีก็ได้จ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการไปคนละ 2,399 บาท โดยได้ใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่ไม่มีลายเซ็นของตัวเองกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งและไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิเล่นกันเพียงตามที่ได้จ่ายเงินไปเท่านั้น ข้ามเข้าปี 2553 เดือนกุมภาพันธ์มีจดหมายจากตุ๊ดตู่ฟิตเนสแจ้งเชิญชวนให้คุณปราณีสมัครเป็นสมาชิกสัญญาระยะสั้นเวลา 6 เดือนค่าสมัคร 9,000 บาท ที่สำคัญจะมีการเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกที่คงค้างอยู่ หากได้เปลี่ยนเป็นสัญญาระยะสั้นนี้คุณปราณีได้รับเอกสารก็งงๆ แต่ไม่ใส่ใจอะไรมากนักเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปออกกำลังกายในฟิตเนส อีกทั้งยังแพงอีกด้วย จึงไม่ใส่ใจกับหนังสือเชิญชวนฉบับนั้นพอเข้าต้นเดือนมีนาคม 2553 ตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีจดหมายเซอร์ไพรส์แจ้งกับคุณปราณีว่ามีหนี้ค้างค่าบริการรายเดือนจำนวน 2 เดือนเป็นเงินจำนวน 4,700 กว่าบาท พร้อมกำชับว่าถ้าอยากแก้ปัญหานี้ก็น่าจะเข้าไปทำสัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือน“ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันไม่ได้เป็นหนี้เขา และที่ฟิตเนสบอกว่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตจากธนาคารได้ดิฉันก็งงมากค่ะเพราะดิฉันไม่เคยมีบัตรเครดิต”คุณปราณีคิดว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสคงจะเข้าใจผิดหรือส่งจดหมายผิดคนก็เลยเฉยๆ กับจดหมายฉบับนั้นไป ปรากฏว่าถึงเดือนมิถุนายน 2553 เจ้าตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีหนังสือรังควานมาอีกฉบับ แต่จดหมายฉบับนี้เล่นซะคุณปราณีอยู่ไม่สุข เพราะแจ้งว่าคุณปราณีมีหนี้ค้างรวมเป็น 11,000 กว่าบาท และหากไม่ชำระหนี้นี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด ตัดสินใจหยิบมือถือโทรไปสอบถามที่ฟิตเนสว่าตัวเองเป็นหนี้อะไร“ได้คำตอบว่าเป็นหนี้ค่าบริการฟิตเนสสัญญา 12 เดือน เราก็แปลกใจก็บอกว่าสมัครแค่เดือนเดียวนี่ไม่ใช่ 12 เดือน แล้วของลูกสาวน่ะมีหนี้ด้วยหรือเปล่า”“อ๋อของลูกสาวไม่มีนะคะเพราะไม่ได้เซ็นชื่อสมัคร”“ดิฉันก็ไม่ได้เซ็นชื่อสมัครเหมือนกันนะคะวันนั้น”“มีนะคะลายมือชื่อของคุณพี่อยู่ในใบสมัครชัดเจนค่ะ”คุณปราณีแปลกใจหยิบใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่เก็บไว้ยกขึ้นมาดูในช่องลงชื่อผู้สมัคร/ผู้ซื้อ เห็นแต่ความว่างเปล่า“งั้นช่วยส่งแฟกซ์ใบสมัครมาให้ดูหน่อยได้มั้ยคะ” คุณปราณีอยากรู้ไม่นานเกินรอแฟกซ์ใบสมัครสมาชิกได้มาอยู่ในมือคุณปราณี มันมีลายเซ็นชื่อคุณปราณีชัดเจน แต่เมื่อเพ่งดูนิ่งและนานขึ้น เอ๊ะนี่ไม่ใช่ลายมือของเรานี่ ไม่ได้เรื่องแล้วคุณปราณีรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และเพิ่งได้ แจ้นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือทันทีแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากสอบถามรายละเอียดกันจนชัดแล้ว และให้คุณปราณีลองช่วยเซ็นลายมือชื่อของตัวเองให้เราดูกันหลายรอบก็พบความผิดปกติจนได้ในลายเซ็นที่ปรากฏในใบสมัครที่ตุ๊ดตู่ฟิตเนสส่งแฟกซ์มาว่ามันมีความผิดเพี้ยนในตัวอักษรหลายจุดแต่เพื่อไม่ให้กระต่ายตื่นตัว เราจึงช่วยร่างจดหมายปฏิเสธหนี้ให้กับคุณปราณีแล้วส่งไปให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทตุ๊ดตู่ฟิตเนส เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพนักงานขายคนไหนเล่นไม่ซื่อบ้าง ปรากฏว่ามีโทรศัพท์อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายยืนยันให้คุณปราณีต้องชำระหนี้ ไม่งั้นจะดำเนินการฟ้อง คุณปราณีก็บอกว่างั้นก็ฟ้องมาเลย เพราะใจนั้นอยากเห็นบริษัทใช้ใบสมัครที่มีลายเซ็นที่ไม่ใช่ของตนเองถูกแสดงต่อหน้าศาล จะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้โดนโทษอาญาให้เข็ดไปเลย มูลนิธิฯ ก็รออยู่เหมือนกันพร้อมจัดทนายอาสาเข้าช่วยทำคดี แต่จนถึงวันนี้ไม่มีวี่แววว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสจะรังควานมาอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 เรื่องของหมากับสัญญาหมา หมา

เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคายกันนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายหมาสายพันธุ์ที่คนรักหมาต้องอ่านจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากความสงสารหมา   เพื่อนรักของคุณอธิป เป็นคนขายหมา ได้เอาหมาแม่ลูกอ่อนพร้อมลูกหมาไปประกาศขายในเน็ต มีคนซื้อตัวลูกไปแต่ไม่มีคนซื้อตัวแม่ เพราะความสงสารหมาพอรู้เรื่องคุณอธิปเลยอาสารับเลี้ยงแม่หมาให้  ต่อมาอีกสามสี่เดือนเพื่อนรักก็เอาตัวผู้มาให้เลี้ยงอีกตัวและบอกกับคุณอธิปว่าจะยกตัวเมียให้เดี๋ยวเซ็นต์โอนให้เลย แต่คุณอธิปเห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกันไม่ต้องมานั่งเซ็นต์อะไรกันก็ได้จากนั้นได้เฝ้าคอยประคบประหงมป้อนข้าวป้อนน้ำป้อนยาให้หมาทั้งสองตัวจนเวลาล่วงไปเป็นปี เงินทุกบาททุกสตางค์เจ้าของตัวจริงไม่เคยมาจ่าย มีแต่โทรมาบอกว่าให้พาหมาไปเที่ยวที่บ้านบ้าง พอพาหมาตัวเมียไปเที่ยว เจอพี่เขยของเพื่อน หมาคงไม่ชอบหน้าเป็นทุนเดิมถูกหมาเห่าใส่ พี่เขยเลยตบหมาซะปากแตก “วันนั้นพาหมากลับบ้านเลยครับ หลังจากนั้นก็ไม่พาไปอีกเลยเค้าก็ไม่สนใจ” คุณอธิปบอกวันเวลาผ่านไปหมาทั้งสองตัวเกิดอารมณ์เสน่หากันตามธรรมชาติ คุณอธิปไม่คิดขัดขวางเพราะเห็นว่ารักกัน ปล่อยให้มันได้สมรสสมรักจนหมาตัวเมียสมหวังตั้งท้องในเวลาต่อมา พอรู้ว่าหมาตัวเมียตั้งท้องอีกครั้ง เพื่อนสุดที่รักนักขายหมาก็แวะมาหาบอกว่าถ้าหมาคลอดลูกจะแบ่งกันคนละตัว เมื่อครบกำหนดปรากฏว่าแม่หมาคลอดลูกได้สองตัวพอดี แต่แทนที่เพื่อนเลิฟจะรับไปเลี้ยงตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อนเลิฟกลับเงียบหาย คุณอธิปจำได้ว่า ลูกหมาอายุได้หนึ่งเดือนเพื่อนเลิฟแวะมาเยี่ยมหนึ่งครั้งซื้อยาสีฟันหมามาให้แค่หลอดเดียวสองเดือนต่อมาคุณอธิปพาลูกหมาไปให้เพื่อนรักดูถึงบ้าน กะว่าเพื่อนคงจะรับเลี้ยงแน่คราวนี้ แต่พอเพื่อนเห็นลูกหมาก็ไม่ได้ว่าอะไร พูดคุยกันเล่นสักพักคุณอธิปจึงอุ้มลูกหมากลับเพราะเห็นว่าลูกหมาห่างนมแม่มาทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเพื่อนรักโทรศัพท์มาหา แทนที่จะบอกว่าจะรับเลี้ยงแล้วจ้า กลับบอกให้คุณอธิปถ่ายรูปหมาส่งไปให้หน่อย จะเอาไปฝากขายที่สวนลุมไนท์คุณอธิปบอกเพื่อนว่ารอให้ลูกหมาโตหน่อยไม่ได้เหรอ สงสารมันเห็นมันอยู่กันพร้อมพ่อแม่ลูกทำไมต้องพรากลูกเขาไปด้วย สุดท้ายก็อ้อนวอนขอซื้อตัวที่จะขายซะเอง เพื่อนรักบอกว่า ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อลูกทั้งสองตัวราคา 70,000 บาท และตัวแม่อีก 30,000 บาท รวมเป็นหนึ่งแสน ไม่งั้นจะยึดหมาคืนไปทั้งหมดคุณอธิปกลัวเพื่อนจะพรากหมาไป สงสารและอยากได้หมาตัวแม่และตัวลูกๆ มาก เลยขอต่อรองราคาอีกครั้ง สุดท้ายจบด้วยความปราณีของเพื่อนสุดเลิฟที่ 60,000 บาท และจับคุณอธิปเซ็นต์สัญญาซื้อขายหมาโดยไม่ได้ให้อ่านรายละเอียดและคิดว่าเป็นสัญญาซื้อขายหมากันธรรมดาๆ จนต้องเจ็บกระดองใจ   เมื่อเห็นเนื้อหาในสัญญาของเพื่อนรัก คุณอธิปก็ได้แต่บ่นว่า   คนซื้อไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากสัญญา นอกจากความดีใจที่ได้รับหมากลับมา สาระสำคัญของสัญญาซื้อขายหมาที่เป็นประเด็นปัญหาหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ1. ผู้ซื้อสัญญาว่า จะให้สุนัขเพศเมียได้ตั้งท้องโดยสุนัขที่คลอดมานั้น จะต้องมีชีวิตและมีสภาพสมบูรณ์ครบทุกประการแล้วส่งมอบสุนัขให้แก่ผู้ขายทั้งหมดทุกตัวภายใต้สภาพสมบูรณ์เท่านั้น จำนวน 1 ครอกโดยผู้ซื้อสัญญาว่าจะไม่เก็บเงินค่าลูกสุนัขและค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ขายทั้งสิ้น2. ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสุนัขทั้งสามตัวให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะทำตามข้อ 13. ผู้ขายรับรองว่าสุนัขทั้งสามตัวที่ทำการส่งมอบมีความปกติสมบูรณ์ทุกประการโดยที่ผู้ซื้อรับทราบ โดยผู้ขายส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อไว้ในความดูแลได้ แต่ยังไม่โอนกรรมสิทธิจนกว่าจะสิ้นสัญญาในข้อหนึ่ง4. หากสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในระหว่างความดูแลของผู้ซื้อซึ่งยังไม่โอนกรรมสิทธิผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ขายพร้อมทั้งผู้ขายไม่ต้องคืนเงินและหากตรวจสอบว่าผู้ซื้อได้บอกกล่าวเป็นเท็จไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้ขายมีสิทธิเอาผิดจากผู้ซื้อได้ทุกประการโดยจะริบเงินดังกล่าวรวมถึงผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย5. หากผู้ซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ผู้ขายสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและริบเอาเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระมาแล้วเป็นของผู้ขายทั้งสิ้น และผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย รวมถึงไม่ตัดสิทธิผู้ขายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นด้วย6. สืบเนื่องจากข้อ 5  และให้ถือว่าการโอนกรรมสิทธิการเป็นเจ้าของสุนัขมาเป็นผู้ซื้อถือเป็นโมฆะคุณอธิปสอบถามว่า สัญญาออกมาแบบนี้ ทางผู้ขายยังจะมีสิทธิที่จะทำตามที่เขียนหรือไม่ และผู้ซื้อสามารถอ้างสิทธิในตัวสัตว์ แล้วแจ้งสมาคมพัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของได้หรือไม่แนวทางแก้ไขปัญหา ประเด็นที่คนอยากซื้อหมาควรทราบ1. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่มีราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ หากฝ่ายไหนผิดสัญญาซื้อขายปากเปล่ากันก็สามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลได้ แต่หากมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จะฟ้องร้องต่อศาลกันได้ต้องมีหลักฐานการซื้อขายที่ลงลายมือชื่อผู้ซื้อ ผู้ขายกันด้ว2. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมว หมู กระต่ายนั้น กรรมสิทธิในสัตว์เลี้ยงได้ถูกโอนตกเป็นของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน โดยที่ไม่ต้องไปทำเรื่องจดโอนกับเจ้าพนักงานเหมือนสัตว์พาหนะพวกช้าง ม้า วัว ควายที่มีกฎหมายสัตว์พาหนะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ3. หากสัญญาซื้อขายสัตว์เลี้ยงมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับกันไว้ กรรมสิทธิ์ในสัตว์เลี้ยงที่ขายถือว่ายังไม่โอนให้ผู้ซื้อจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ดังนั้นจากเรื่องราวและคำถามที่คุณอธิปถามมาแสดงว่า สัญญาซื้อขายหมาที่ทำกันนั้นเป็นสัญญาแบบมีเงื่อนไข ผู้ขายจึงยังมีสิทธิในตัวหมาอยู่ และผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญา จนกว่าจะปลดล็อกเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ ทางแก้ก็คือปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่หมาทั้งสองเร่งสมรสสมรักกันอีกครั้ง เมื่อได้ลูกออกมาแล้วอีกรุ่นก็ยกให้เพื่อนสุดเลิฟโดยทำบันทึกกันให้ชัดเจน กรรมสิทธิ์ของหมาที่ซื้อมาทั้งหมดจึงจะตกเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ แล้วทีนี้จะนำไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของ พาไปประกวดหมาสวยงามที่ไหน ก็เชิญตามสบายครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

 เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการแต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็กปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่

ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ

เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคมด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้วคุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดีแนวทางการแก้ไขปัญหาเราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท

หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถวแต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบวันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป“วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไปเหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้นประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้นดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ถูกโครงการบ้านจัดสรรไม่ยอมขายบ้านให้ อ้างเหตุ “กลัวลูกค้าป่วน”

คุณนิวัติ เดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งความประสงค์อยากขอความช่วยเหลือจากทนายความอาสาของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยสู้คดีกับโครงการ “บ้านนนทกร”คุณนิวัติแจ้งว่า ตนถูกบริษัทท็อป บลิช จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรบ้านนนทกร บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งที่ได้จ่ายเงินค่าจอง ค่าทำสัญญา และค่างวดแล้วจนครบถ้วนจำนวน 360,000 บาทเศษ เหลือแต่เงินค่าโอนบ้านอีกประมาณ 2.6 ล้านบาทที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อและได้มีการนัดวันโอนกันเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ดีๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย โครงการกลับโทรศัพท์แจ้งขอเลื่อนวันโอนไปอย่างไม่มีกำหนด และพอทำหนังสือสอบถามถึงกำหนดวันนัดโอนใหม่ โครงการกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินและแนบเช็คคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยกลับมาให้คุณนิวัติโดยทันทีก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คุณนิวัติและภรรยาได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินเนื้อที่ 42.5 ตารางวากับโครงการดังกล่าวในราคารวมทั้งสิ้น 2,990,000 บาท ซึ่งได้ทยอยจ่ายค่าจอง ค่าทำสัญญา ค่างวดตามสัญญา แต่ในระหว่างก่อสร้างบ้าน คุณนิวัติได้ขอให้ทางโครงการแก้ไขแบบรั้วกำแพงข้างบ้านจากรั้วทึบเป็นรั้วด้านบนโปร่งซึ่งทางโครงการได้ยอมแก้ไขให้ ต่อมาคุณนิวัติได้ทำหนังสือขอให้ทางโครงการพิจารณาแก้ไขแบบรั้วกำแพงด้านหลังบ้านให้เหมือนกับด้านข้างอีกครั้ง แต่คราวนี้โครงการมีหนังสือตอบปฏิเสธว่าไม่สามารถทำให้ได้พร้อมกับแจ้งว่ายินดีรับคืนบ้านและจะคืนเงินให้แก่คุณนิวัติคุณนิวัติรู้สึกฉุนเล็กๆ จึงทำหนังสือสอบถามถึงความชัดเจนในสัญญาว่าแค่ลูกค้าไม่ชอบแบบรั้วและขอเปลี่ยนแบบจะเป็นเหตุให้มีการคืนบ้านกันง่าย ๆ เลยหรือ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเรื่องขอเปลี่ยนแบบรั้วอีก และรอให้ถึงวันนัดโอนเพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านที่ซื้อเสียที แต่สุดท้ายได้ถูกโครงการปฏิเสธที่จะขายบ้านให้โดยให้เหตุผลว่าคุณนิวัติมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของหมู่บ้านต้องเสียไปและจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยรายอื่นและต่อโครงการโดยรวม“บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยับยั้งเหตุอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บริษัทจึงมีความจำเป็นสุดวิสัยที่จะต้องบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวกับท่าน โดยให้มีผลโดยทันทีในวันนี้...” คุณนิวัติอ่านเนื้อจดหมายบอกเลิกสัญญาจากบริษัทถึงกับอึ้ง คิดไม่ออกว่าตัวเองทำผิดอะไร แค่ขอแก้ไขแบบรั้วบ้านถึงกับต้องถูกบอกเลิกสัญญาไม่ขายไม่โอนบ้านให้ หลังจากนั้นคุณนิวัติจึงได้ยื่นเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้บริษัทโอนบ้านให้ ปรากฏว่าบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่าได้ขายบ้านในฝันของคุณนิวัติให้ลูกค้าคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว คุณนิวัติจึงต้องติดต่อขอสินเชื่อทำเรื่องซื้อบ้านใหม่จากอีกโครงการหนึ่งซึ่งมีราคาแพงกว่าและตั้งเรื่องฟ้องร้องใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและมาขอให้มูลนิธิฯ ช่วยจัดทนายความอาสาช่วยเหลือต่อสู้คดีแนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าสู้คดีให้กับคุณนิวัติ โดยที่คุณนิวัติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หลังการต่อสู้คดีในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาว่า บริษัทโครงการบ้านจัดสรรเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วจากลูกค้าพร้อมดอกเบี้ยและต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นคือค่าส่วนต่างของราคาบ้านที่คุณนิวัติต้องหาซื้อใหม่ โดยศาลชั้นต้นพิจารณาว่าบ้านที่คุณนิวัติซื้อจากโครงการบ้านนนทกรมีเนื้อที่ 42.5 ตารางวา ราคา 2,990,000 บาท คิดเป็นเงินตารางวาละ 70,352.94 บาท ส่วนบ้านที่คุณนิวัติไปซื้อใหม่มีเนื้อที่ 54 ตารางวา ราคา 4,690,000 บาท คิดเป็นตารางวาละ 86,851.85 บาท สูงกว่าราคาบ้านเดิมตารางวาละ 16,489.91 บาท แต่อย่างไรก็ดีหากโครงการบ้านจัดสรรไม่ผิดสัญญาคุณนิวัติก็จะได้บ้านในเนื้อที่เพียง 42.5 ตารางวา ดังนั้นเนื้อที่ส่วนที่เกินขึ้นจากการซื้อบ้านหลังใหม่จึงไม่ถือว่าเป็นความเสียหายที่คุณนิวัติได้รับ ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าคุณนิวัติคงได้รับความเสียหายเฉพาะส่วนต่างของราคาที่ดิน 42.5 เป็นเงิน 701,203.67 บาท จึงพิพากษาให้โครงการบ้านจัดสรรชำระเงิน 701,203.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากที่ใช้เวลาในการต่อสู้คดีประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์คาดว่าจะทราบผลตัดสินในเวลาไม่นานและถือเป็นข้อยุติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยง

เรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณาไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริงผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกันอย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ“ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจนดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้วศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย...ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สื่อวันนี้อิสระจริงหรือ?

วันนี้เราคงต้องยอมรับกันว่า สื่อมีอิทธิพลสูงสุดในภาวะสงครามสีของประเทศไทย ทั้งสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอที ซึ่งการส่งข่าวสารในปัจจุบันว่องไวปานสายฟ้าแลบก็ไม่ปาน ดังนั้นข่าวสารจึงหลั่งไหลไปทุกทิศทุกทางอย่างยากจะหยุดยั้ง คนไทยส่วนใหญ่หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น และที่สนใจมากขึ้นเพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร จะรุนแรงมั้ยและจะจบอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนอยากรู้แต่ไม่มีใครตอบได้(แฮะๆ ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้จ้ะ) และที่สำคัญคือสื่อยังสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อไปทางใดทางหนึ่งได้โดยง่าย ยิ่งเป็นรายงงานข่าวที่มีการวิเคราะห์แง่มุมของเนื้อข่าวอย่างละเอียดด้วยแล้วจะได้รับความสนใจจากคอข่าวชาวไทยอย่างมาก ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลมหาศาลในสังคมไทยจริงๆวันนี้คนไทยทุกคนรับรู้ว่าสื่อมีความเป็นอิสระเป็นอย่างมาก ขนาดบัญญัติความอิสระของสื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เลยทีเดียวเชียว โดยคนไทยก็ชูจั๊กกะแร้เชียร์ ขอให้สื่อมีความอิสระจริงๆ เพราะคนไทยอยากเห็นข่าวสารที่ตรงไปตรงมาบนข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่ง แต่เอาเข้าจริงก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่าวันนี้สื่อเป็นอิสระจริงหรือ? อาจจะมีคำตอบว่าขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะมาถามทำไม? ที่ต้องถามเพราะผู้เขียนมีข้อสงสัยในความอิสระของสื่อจริง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ที่สงสัยเพราะสื่อทั้งสองชนิดนี้ก็ยังผูกติดอยู่กับโฆษณา เพราะการมีโฆษณาคือการอยู่รอดของสื่อ หรือที่เรียกกันว่าผู้มีอุปการะคุณนั่นเอง และเมื่อสื่อยังต้องพึ่งโฆษณา โดยเฉพาะสื่อทีวีอาจจะมีบางรายการที่ได้รับความนิยมมากๆ บริษัทที่ซื้อโฆษณาก็มีบทบาทน้อยหน่อย แต่รายการกลางๆ ที่ต้องพึ่งโฆษณาเพื่อความอยู่รอดของรายการบริษัทที่ซื้อโฆษณา สามารถสั่งได้ว่าต้องการให้รายการนั้นๆ ออกมาในรูปแบบใด และที่สำคัญคือสื่อสิ่งพิมพ์(หนังสือพิมพ์)ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปิโตรเลียมทุ่มซื้อโฆษณาในหลายฉบับ เรียกว่าคุมได้หมดก็ว่าได้ที่พูดได้อย่างนี้เพราะเคยมีประสบการณ์มาหลายครั้ง เพราะบางครั้งเราแถลงข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในวงการปิโตรเลียมของไทยเพื่อให้คนไทยได้ร่วมรับรู้ ข่าวเหล่านั้นไม่เคยได้ปรากฎในสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์เลย ถามนักข่าวไปก็ได้คำตอบมาว่าลงให้ไม่ได้เพราะจะกระทบบริษัทที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อแต่ละสำนัก (ไหนว่าสื่ออิสระไงทำไมไม่กล้าลงข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงล่ะ ?) ยกตัวอย่างกรณีศาลตัดสินให้ปตท.คืนส่วนต่าง(ค่าวางท่อก๊าซ)คืนคลัง โดยให้สตง.ร่วมประเมินราคาท่อที่ปตท.ต้องคืน แต่ปตท.รีบร้อนคืนมาประมาณหมื่นหกพันล้านบาท ทั้งที่จริงสตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าปตท.ต้องคืนส่วนต่างให้คลังเกือบแสนล้านบาท แต่ปตท.คืนหมื่นกว่าล้านแล้วบอกจบ เราในฐานะคนไทยก็ควรได้รับรู้เรื่องนี้บ้าง แต่สื่อไม่กล้าลงเพราะกลัวกระทบกับโฆษณา สิ่งที่เราทำได้คือเรารวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เร่งตรวจสอบและเรียกร้องให้ปตท.คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่สตง.ตรวจพบไม่อย่างนั้นพวกจะฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เหมือนเดิมคือมีข่าวลงน้อยมาก ทีวีที่เราได้ออกมีช่องเดียวคือ ทีวีไทย ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์แทบหาไม่เจอเลย ที่เขียนมานี้ไม่ได้มีอคติกับสื่อ เพียงอยากจะแค่ถามว่า วันนี้สื่อมีอิสระแล้วจริงๆ หรือ?  

อ่านเพิ่มเติม >