ฉบับที่ 145 ชีวิตไม่ใช่แค่หนังสั้นๆ

  เมื่อเรื่องผู้บริโภคไปโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ใน โครงการ “เล่าเรื่องผู้บริโภคผู้กำกับหนังสั้นกิตติมศักดิ์ 6 ผู้กำกับ” ฉลาดซื้อก็ไม่พลาดที่จะมาจับเข่าคุยกับผู้กำกับหนังสั้น   พัฒนะ จิรวงศ์ ผลงานสารคดีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค   พัฒนะ จิรวงศ์ ใครหลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับหนังสั้นเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเรื่องที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ The Missing Piece ฉันอยู่นี่...เธออยู่ไหน นอกจากจะเป็นผู้กำกับแล้วเขายังสอนการทำภาพยนตร์ ที่ ม.กรุงเทพ  รวมถึงรับเขียนบทให้กับหนังใหญ่ อย่างเรื่อง  'พุ่มพวง The Moon' ฝีไม้ลายมือขนาดนี้ไปดูแนวกันทำหนังผู้บริโภคกันบ้างค่ะ   “ครั้งนี้ทำสารคดี สะท้อนชีวิตคนประสบอุบัติเหตุทางรถตู้ จะเล่าชีวิตประจำวันของคนที่เป็นเหยื่อซึ่ง ต้องรักษาตัวต่อเนื่องและต้องใช้เงินตัวเองในการรักษา บริษัทรถหรือบริษัทประกันก็พยายามบ่ายเบี่ยงการจ่ายเงิน จะตัดสลับคำให้สัมภาษณ์ของคุณสารี  เพราะว่าน่าจะนำเสนอเรื่องได้จริงกว่าการสร้างเรื่องขึ้นมา  บางทีการสร้างเรื่องขึ้นมาข้อมูลมันอาจจะไม่ตรง 100% แต่นี่เราให้ฟังจากปากคุณสารีเอง ก็น่าจะกระจ่างว่าเราต้องการสื่ออะไร และเห็นเหตุว่าทำไม่ต้องต่อสู้ก็จะเห็นใจหรือสนับสนุนมากขึ้น”   สารคดีจะสื่ออะไรให้คนดู “ต้องการจะบอกว่าเรื่องผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะไปฟ้องศาล ไม่ให้คิดว่าแค่เรื่อง 10 บาทไปฟ้องทำไมให้อายเขา ถ้ามีองค์การอิสระจะช่วยอะไรได้ ตอนนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังต่อสู้กับอะไรอยู่เพื่อผู้บริโภค นั่นก็คือการผลักดันกฎหมายมาตรา 61 อยากให้คนดูได้รู้ว่ามูลนิธิฯ ทำอะไร ในขณะที่ให้ความช่วยเหลือ  ตัวเองก็กำลังสู้กับอะไรอยู่   การคิดแนวสารคดีที่ทำอยู่ ก็ถือว่ายากเหมือนกันว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมา เพราะว่าจะเป็นบทสรุปให้กับหนังสั้นเรื่องอื่นๆ ในโครงการนี้ด้วย ก็ต้องเสนอในลักษณะสถานการณ์รวมๆ แต่ก็จะมีประเด็นใหญ่ที่นำเสนอเข้าไปด้วยก็คือเรื่องการฟ้อง ปตท.ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนภาพได้ชัดมากว่า การที่ไม่มีองค์การอิสระฯ ที่สามารถฟ้องแทนผู้บริโภคได้ มันเกิดปัญหาอย่างไร” ##############   มานุสส วรสิงห์ ผลงานเรื่อง “ Priceless “ มานุสส วรสิงห์ ผู้กำกับและมือตัดต่อขั้นเทพ  เริ่มต้นงานในวงการภาพยนตร์จากการเป็นผู้ถ่ายเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง “นายอโศกกับนางสาวเพลินจิต” เมื่อปี 2546     ล่าสุดคว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 จากเรื่อง It gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก จากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556     มี ผลงานภาพยนตร์สั้นที่ได้รางวัลมากมายในประเทศ และยังได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายแห่ง เช่น ผลงานเรื่อง เจ้าหญิงนิทรา, เพื่อนยาก ฯลฯ     มีผลงานการลำดับภาพให้ภาพยนตร์ไทยกว่า 20 เรื่อง เช่น ยอดมนุษย์เงินเดือน, แต่เพียงผู้เดียว, ไม่ได้ขอให้มารัก It Gets Better, คืนวันเสาร์ถึงเช้าวันจันทร์, ปัญญาเรณู 1-2 ฯลฯ    มีผลงานการกำกับภาพยนตร์ที่ผ่านมานั้นมีเพียงเรื่องเดียว คือ "ตายโหง ตอน คุกกองปราบ" ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2553     เป็นหนึ่งในวิทยากรของกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ กลุ่มคนทำหนังที่รวมตัวกันเพื่อจัดทำการอบรมการทำภาพยนตร์สั้น ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ   หนังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร “หนังสั้นเรื่องนี้ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ในการเรียกร้องค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต คือ...พอเราได้อ่านข้อมูล แล้วทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าการจะเยียวยาชีวิตหนึ่ง เขาจะวัดจากรายได้ อาชีพ การทำงาน ซึ่งมันต้องมีหลักฐาน เหมือนต้องอยู่ในระบบ แล้วก็มามองดูตัวเองซึ่งทำงานอิสระ ถ้าหากว่าตายขึ้นมา พ่อแม่เราจะได้รับการชดเชยยังไง เพราะเราทำงานอิสระ เงินได้มาก็ไม่ค่อยเอาเข้าบัญชีเท่าไหร่ ได้มาก็ใช้ไป ซึ่งคิดว่าตัวเองตายไปก็คงจะเรียกร้องไม่ได้เท่าไร ก็ทำให้เห็นระบบว่ามองคนไม่เท่ากัน   เราก็เลยคิดวิธีทำหนังขึ้นมาโดยให้ครอบครัวนี้เล่นเป็นตัวเองที่น้องชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารซึ่งก็ไม่ได้ทำอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ที่ต้องแบกรับภาระด้วยการดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต แต่ก็ไม่ได้เอาชีวิตเขาให้มาเล่นใหม่ในชีวิตจริงนะ เราเพียงแค่นำเสนอบางแง่มุม เพื่อให้เห็นมุมมองของปัญหา”   ต้องการสื่ออะไร “หนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะใครดูก็อยากให้เข้าใจเรื่องที่ต้องการจะบอก สุดท้ายเมื่อดูหนังจบเราก็อยากให้เขาตั้งคำถามเหมือนกับเราว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร  ราคาชีวิตแต่ละคนควรจะเป็นเท่าไร  กฎหมายจะช่วยได้อย่างไร   แต่ตราบใดที่คนยังไม่โดนกับตัวเอง ผมก็คิดว่าคนยังไม่คิดว่าเป็นปัญหาของตัวเองที่ต้องมาแก้ร่วมกัน  อย่างกรณีรถตู้โดยสาร ถึงแม้มันอุบัติเหตุทุกวัน อ่านข่าวเจอแล้วมันสลดใจ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เช้าวันรุ่งขึ้นบางคนก็ต้องนั่งรถตู้ไปทำงานอยู่ดี เพราะเราไม่มีทางเลือก ในขณะที่คนยังมีภารกิจที่ต้องทำยากเหมือนกันครับที่คนจะลุกขึ้นมาทำอะไร   หนังน่าจะสร้างความสงสัยให้คนได้ตั้งคำถาม  แล้วก็ลุกขึ้นมาทำอะไรและหลายส่วนก็ต้องเข้ามาช่วยกัน”   ยากไหมในการคิดประเด็น “ยากนะครับ สับสนเหมือนกันว่า สคบ. กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อันเดียวกันไหม พอได้เข้ามาจริงก็รู้ว่ามันแตกต่างกัน และเพื่อนๆ หลายคนก็ไม่รู้สิทธิเลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง  ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นประเด็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ ก็อยากจะสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด” ##############   ชาญ  รุ่งเรืองเดชวัฒนา ผลงานเรื่องเรื่อง “ กลับบ้าน (Go Home) “ ชาญ  รุ่งเรืองเดชวัฒนา ผู้กำกับหนังโฆษณาเลื่องชื่อ  มีผลงานที่ผ่านมา ทั้งผลงาน ธนาคารออมสิน , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , บุญถาวร , ชมรมเมาไม่ขับ , เสถียรธรรมสถาน , กระทรวงการต่างประเทศ , ธ.อ.ส. , ธนาคารธนชาติ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิชาการสร้างสรรค์โฆษณา , การออกแบบสิ่งพิมพ์ , การเขียนบทโฆษณา , การผลิตภาพยนตร์โฆษณา , การวางแผนกลยุทธ์งานโฆษณา , วิจารณ์งานโฆษณา   ทำไมถึงสนใจทำหนังเรื่องนี้ “ทำอย่างไรจะให้เกิดความใส่ใจเรื่องผู้บริโภค คนนั่งรถโดยสารดูจะใกล้ตัวที่สุดเพราะคนก็ต้องเดินทาง ซึ่งก็เห็นความไม่ปลอดภัยในหลายๆ เรื่องทั้งจากที่นั่ง 11 ที่ กลายเป็นที่นั่ง 17 ที่นั่ง แต่รถยังมีขนาดเท่าเดิมผู้โดยสารก็ต้องเบียดกันมากกว่าเดิม เจ้าของธุรกิจก็รวยกว่าเดิมซึ่งก็เป็นปัญหาผู้บริโภค   อีกอย่างก็คือคนที่นั่งรถตู้กลับต่างจังหวัดก็คือ การที่คนขับไม่ใส่ใจคนนั่งเช่นคนขับไม่พร้อมจะขับรถ  และที่พยายามจะนำเสนออีกอย่างก็คือบริษัทรถซื้อยางรถ ที่เรียกว่ายางวิ่งลอบ เหมือนซื้อยางที่ประเทศญี่ปุ่นโล๊ะแล้วมาใช้กับรถตัวเองเพราะราคาถูก แต่เล่าในหนังได้ไม่หมด”   คาดหวังกับหนังเรื่องนี้อย่างไร “หนังเรื่องนี้ช่วยตะโกน ถึงแม้จะไม่ทำให้หน่วยงานต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในทันที  หนังช่วยตะโกนถึงสิ่งที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการเหลียวแล  ช่วยสะกิดให้หน่วยงานไปจนถึงภาครัฐได้หันมาใส่ใจและกระตุ้นเตือนให้เจ้าของธุรกิจที่เอาเปรียบผู้โดยสาร ให้ฉุกคิดได้บ้าง   ตอนถูกทาบทามให้มาทำเรื่องผู้บริโภค ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร “ทำหนังเพื่อธุรกิจมาเยอะแล้ว  การที่เรามาทำงานเพื่อคืนกำไรให้สังคมบ้าง ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี รู้สึกท้าทายมาก ต้องกระโดดลงมาทำและไม่ลังเล ผมว่ามันเป็นการปลดปล่อยความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมในอีกมุมหนึ่ง  หนังสั้นจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้ถ่ายทอดจินตนาการผ่านเรื่องราวของหนังสั้น อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้ดีขึ้น   ตอนแรกก็หนักใจว่าจะสื่อสารอย่างไร ก็ได้นำเสนอพลอตเรื่องให้กับทางทีมงาน มูลนิธิฯ ถึงความเข้าใจและงานของเรา ก็เข้าใจตรงกันช่วยกันปรับหนังสั้นให้ได้เนื้อหาออกมาหนักแน่นในช่วงตอนจบ เช่นขึ้นสถิติอุบัติเหตุว่ามีเท่าไร  คนที่ตายอยู่ในวัยทำงาน และญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ก็น่าจะช่วยตะโกนไปถึงหน่วยงานได้   คิดว่าหนังสั้นจะสื่อสารที่ต้องการสื่อออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเล่าผ่านรูปแบบความบันทึก คนจะซึมซับเนื้อหาเข้าไปเอง แต่ถ้าเล่าเรื่องราวผ่านสารคดีผมว่าคนก็ตั้งกำแพงที่จะรับ  หนังที่ผมนำเสนอก็เป็นเรื่องราวที่เป็นชีวิตประจำวันของคน  ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้ยัดเยียดให้ผู้ชมจนเกินไปให้เครียด คนก็น่าจะซึมซับเข้าไปได้ไม่ยาก หนังเรื่องนี้ขอบอกว่าคุณภาพเต็มเหมือนหนังใหญ่ทีเดียวทั้งการถ่ายทำ ตัดต่อ คุณภาพเสียง   ถ้าหากพูดถึงงบประมาณในการผลิตต้องบอกว่า “ทำงานด้วยหัวใจจริง” ซึ่งงานนี้ถ้าหากเป็นไปได้ควรจะมีโรงหนังสนับสนุนเยอะๆ มีรอบการฉายเยอะๆ เพราะรอบยิ่งเยอะจะยิ่งมีผลดีเป็นเงาตามตัว อยากฝากไว้ว่าความคิดสร้างสรรค์ยิ่งพร่างพรูออกมามากเท่าไร ก็ควรที่จะมีช่องทางในการรองรับให้มากมันถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 " World Consumer Rights Day"

ฉบับนี้ขอพาคุณไปพบกับสตรีแกร่งแห่งวงการสิทธิผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ มุมมองในประเทศโดย คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมุมมองจากต่างประเทศ ดาโต๊ะ อินดรานี ทูไรซิงคาม ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ในสถานการณ์ที่ไทยและเหล่าประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน   “ไปดูรายงานของ กกต.ที่บอกว่าธุรกิจใหญ่ๆ สนับสนุนงบประมาณให้พรรคการเมือง หากกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ภายใต้กลไกการเมือง ก็ไม่มีความเป็นอิสระ  การที่จะมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้นได้ยาก”   ผู้บริโภคไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งที่เรากลัวมาก ก็คือการที่แต่ละประเทศมีการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายอย่างมากนั่นคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว ยกเลิกแล้ว  แต่ไทยยัง ถ้าเรายังไม่มีกลไกของรัฐในการผลักดันให้เป็นมีเอกภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นที่ทิ้งขยะสารเคมีเหล่านี้ เพราะประเทศอื่นมีการถอนทะเบียนไปแล้ว  ก็ควรที่จะมีกติกาในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนกัน   อีกเรื่องก็คือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนเองยังกระจัดกระจาย อย่างคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนซึ่งเป็นกลไกของหน่วยงานรัฐที่มารวมตัวกันนั้น ดูเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป  แต่อาหาร ยา ก็ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ อย.แต่ละประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค มันจึงมีหลายส่วนหากทำให้ระดับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างน้อยมีมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมือนกัน  ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันใน 10 ประเทศทั้งที่เราจะเป็นประชาคมเดียวกัน   ที่น่ากังวลอีกส่วนก็คือประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวมากพอในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค เห็นได้จากคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน ซึ่งมีเว็บไซต์ ให้สมาชิกแจ้งสินค้าที่อาจมีอันตรายกับผู้บริโภคและมีการนำออกนอกตลาด ไทยเราไม่แจ้งเข้าไปเลย ทั้งที่ก็พบอยู่ประเทศที่ส่งอยู่ 5 ประเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์  มาเลเซีย เช่น อินโดนีเซียห้ามขายหม้อหุงข้าว  ไดร์เป่าผม ที่ไม่มีภาษาอินโดนีเซีย ก็สะท้อนว่าเรายังไม่มีความตื่นตัวที่จะร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียน  ไทยเราควรตามเรื่องเหล่านี้ให้ทัน  สคบ.ควรที่จะนำข้อมูลการแจ้งเตือนเหล่านี้มาแปลและแจ้งให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ตอนนี้ก็ใช้ได้เฉพาะผู้บริโภคที่รู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ประเทศไทยอย่ามัวกังวลในการคุ้มครองผู้ประกอบการอยู่   องค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภคเตรียมตัวอย่างไร ปีนี้ครบ 30 ปีในการทำข้อตกลงความคุ้มครองผู้บริโภคในสหประชาชาติ ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้ทำงานผ่านรัฐบาลของประเทศต่างๆ ขณะนี้จะทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับโลกทั้งเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่อาจะไม่ทันสมัย ซึ่งหน่วยงานรัฐไทยเราก็น่าจะถือโอกาสนี้ปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย และสร้างกลไกในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระทั้งจากการเมือง ธุรกิจ หากไปดูรายงานของ กกต.ที่บอกว่าธุรกิจใหญ่ๆ สนับสนุนงบประมาณให้พรรคการเมือง หากกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ภายใต้กลไกการเมือง ก็ไม่มีความเป็นอิสระ  การที่จะมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้นได้ยาก   การมีองค์การอิสระฯ จึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ตัวตรวจสอบตัวสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคได้เท่าทันการใช้ชีวิต ซึ่งคิดว่าการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกลไกที่มีความสำคัญ   องค์กรผู้บริโภคเองก็ตื่นตัวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน มีการตั้ง “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ขึ้น ซึ่งหากพบปัญหาอะไรที่รุนแรงก็พร้อมจะร่วมมือกัน อย่างการพยายามสร้างกลไกให้ความเห็นต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน ว่าควรจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ที่ตื่นตัวมากขณะนี้ก็ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ที่ผ่านมาก็ทำ MOU เรื่องการเยียวยาผู้บริโภคในอาเซียน เช่น ผู้บริโภคไปซื้อของที่สิงคโปร์ กลับมาไทยแล้วมีปัญหา ก็ให้องค์กรผู้บริโภคที่สิงคโปร์รับเรื่องร้องเรียนแทนเราได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือผู้บริโภค -----------------------   ดาโต๊ะ* อินดรานี ทูไรซิงคาม ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง   “ผู้หญิงคือผู้ริเริ่มเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง จะทำให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิ และตัดสินใจด้วยตนเองได้”   บทบาทผู้หญิงกับการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ผู้หญิงให้ความสนใจมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ หรือการมีโภชนาการดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหม่ๆ เช่นบริการการเงินการธนาคาร การบริโภคอย่างยั่งยืน หรือความปลอดภัยของข้อมูลด้วย   ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและตัดสินใจรูปแบบการบริโภค และการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัว และธรรมชาติของผู้หญิงในฐานะผู้ให้การดูแลและสัญชาติญาณในการเอาใจใส่ผู้อื่น ทำให้ผู้หญิงมีส่วนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อตนเองและครอบครัว   ผู้หญิงกำลังทำลายกำแพงและผลักดันให้รัฐบาลยกระดับความสำคัญของสตรี พวกเธอไม่ใช่ช้างเท้าหลังอีกต่อไป ผู้หญิงมีความสนใจสิทธิและความยั่งยืน และประเด็นเล่านี้จะเป็นสิ่งที่ควบคุมทิศทางความเคลื่อนไหวในอนาคต   ต่อไปนี้ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะต้องสมบูรณ์(ไม่ใช่สินค้ามีตำหนิ) คุณภาพดี สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคุ้มค่าเงิน เป็นต้น   ผู้หญิงคือผู้ริเริ่มเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง จะทำให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิ และตัดสินใจด้วยตนเองได้  ผู้บริโภคต้องตระหนักว่าทุกๆ การกระทำของตนเองมีผลต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการแข่งขันในตลาด  ดังนั้นจึงต้องมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะว่าเมื่อไรตนเองกำลังถูกเอาเปรียบ   และที่สำคัญ ประเด็นที่ผู้หญิงใส่ใจ เช่นการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และอาหารที่เด็กๆ บริโภค ได้กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่องค์กรสากลอย่าง องค์การอนามัยโลก และแผนงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ก็ให้ความสนใจเช่นกัน   อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือผู้บริโภคในอาเซียนขาดความกระตือรือร้น และปล่อยให้ตัวเองถูกบริษัทใหญ่ๆเอาเปรียบ พวกเขาไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงกลไกตลาดได้ ประกอบกับภาครัฐก็ขาดความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายด้วย ถ้าเทียบกันแล้วในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าที่สุดและการบังคับใช้ได้ดีที่สุดด้วย เช่น สิงคโปร์มีกฎหมายเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน/ความคาดหวังของผู้บริโภค (Lemon Law) และมีศาลพิจารณาคดีสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เป็นต้น   ประเทศไทยน่าจะมาเป็นอันดับสอง ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และองค์กรผู้บริโภคในประเทศไทยก็มีความตื่นตัว และมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างเพื่อปัญหาผู้บริโภค   สื่อใหม่ในสังคมออนไลน์กับการคุ้มครองผู้บริโภค มันมีทั้งประโยชน์และโทษ อยู่ที่วิธีการใช้  เราสามารถใช้มันเพื่อเผยแพร่ประเด็นผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางโดยใช้เวลาไม่มาก  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบหรือไม่มีจริยธรรม ก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการเอาเปรียบผู้บริโภคได้เช่นกัน ผู้บริโภคยุคนี้จึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา   *“ดาโต๊ะ” คือตำแหน่งที่รัฐบาลมาเลเซียมอบให้แก่บุคคลที่ทำประโยชน์ให้สังคม   อินดรานีเรียนจบทางด้านกฎหมาย เธอบอกว่าอยากทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม เธอจึงเลือกทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในปีพ.ศ. 2542 เมื่อเธอยังทำงานอยู่ที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งมาเลเซีย Federation of Malaysian Consumers Associations (FOMCA) อินดรานีและทีมประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในปี  พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2550 เธอเป็นผู้แทนขององค์กรผู้บริโภคแห่งมาเลเซียในคณะกรรมการของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และปัจจุบันเธอทำงานเคลื่อนไหวเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาคในตำแหน่งผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ขณะนี้อินดรานีเป็นผู้ประสานงานการทำข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ ต่อสหประชาชาติ ซึ่งกำลังปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 ร่ายมนต์ “รักษ์” แม่กลอง

  “ค่าหัวผม 1 ล้านบาท ตอนโรงทอผ้ามาสร้าง เขาให้เลือกว่าจะเอาอะไร ‘เงินหรือลูกปืน’” ศิริวัฒน์ คันทารส ผู้ประสานงานประชาคมคนรักแม่กลอง เอ่ยถึงค่าหัวของเขาเมื่อครั้งเขาและทีมลงให้ข้อมูลกับชาวบ้านทั้งข้อมูลชุมชน  สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เมื่อตอนที่โรงงานทอผ้าจะมาสร้างในพื้นที่กับชาวบ้าน ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปคุยกับ “กลุ่มประชาคมคนรักแม่กลอง” ว่า “ร่ายมนต์แบบไหน” คนแม่กลองถึงรักกันหนักหนา วิถีคนแม่กลองเป็นอย่างไร แม่กลองถือเป็นเมืองสวนกระแสโลก ถึงแม้จะแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  แต่วิถีชีวิตผู้คนยังคงอยู่กับวิถีเดิมๆ และเป็นเมืองที่อยู่กับทรัพยากร  สิ่งแวดล้อมเพราะทรัพยากรเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต และกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง  คนยังอยู่น้ำ  ลม ทรัพยากรและภูมิปัญญา เป็นสังคมเกษตรกับสังคมประมง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้ายังทำอาชีพยังทำเกษตรกับประมงเป็นหลัก การดูแลรักษาธรรมชาติก็ไม่ต้องพูดถึงละเพราะเขายังหาอยู่ หากินกับสิ่งเหล่านี้  หาอยู่หากินเองได้คนจึงทะนงตัว และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพราะว่าไม่ต้องพึ่งใคร และมีวัฒนธรรมรวมกลุ่มน้อยมาก มีศักดิ์ศรีอยู่ในตัวสูง   เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ในปี พ.ศ. 2518 - 2521 ที่เปลี่ยนเพราะนโยบายรัฐ จุดเปลี่ยนจุดแรกก็คือการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ กับเขื่อนวชิราลงกรณ์ที่ส่งผลทำให้คนอพยพออกนอกพื้นที่  ส่งผลต่อระบบนิเวศ สร้างเขื่อนศรีนครินทร์ส่งผลอย่างไรกับชาวบ้าน พอน้ำจืดถูกกักก็ทำให้น้ำเค็มดันขึ้น ทำให้ต้นไม้ในสวนต่างๆ  ตาย พืชผลต่างๆ ตายหมด บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนคิดว่าเป็นภัยแล้ง คนในพื้นที่ก็อพยพย้าย  แล้วคนนอกพื้นที่ก็เริ่มเข้าซื้อที่ดินทำนากุ้ง  คือพอน้ำทะเลหนุนพื้นที่สวนจะแย่ แต่พื้นที่ทางทะเลจะดี ก็เลยกลายเป็นยุคทองของประมงชายฝั่ง แล้วก็มาเจอนโยบายเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ถือเป็นโอกาสของคนแม่กลองเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืน คนออกรถใหม่เป็นว่าเล่น เพราะราคากุ้งดี แต่ทำสัก 3 ปี ยุคทองก็หมด สักปี 2530 ที่ดินก็เริ่มเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ประกอบการทั้งซีพี  ปตท. กระทิงแดง แล้วก็พวกพ่อค้าที่ดินที่กว้านซื้อเป็นร้อยๆ ไร่ ก็เลยมีคำๆ หนึ่งว่า “กุ้งกินโฉนด” ตอนแรกก็กินอาหารเม็ด แต่หลังๆ เริ่มกินโฉนด ชาวบ้านก็ยังไม่รู้สึกอะไร  แต่เราสูญเสียป่าชายเลนไปเยอะมาก ตอนนี้เราเหลือเพียง 100 เมตรจากชายฝั่ง  สักปี 2534 ก็เริ่มมีการรวมตัวของชาวบ้านที่คลองโคลนในการอนุรักษ์ป่าชายเลนเพราะระบบนิเวศหาย ทรัพยากรมันเปลี่ยน  และไม่อยากให้ผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐสร้างความลำบากยากแค้นแก่ชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่เคยรับรู้ว่าจะมีผลกระทบเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ปัญหาอะไรที่ทำให้เห็นพลังคนแม่กลอง ทั้งที่คนแม่กลองไม่ชอบการรวมตัว รวมหมู่ วิกฤตโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นจุดเริ่ม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแนวคิดขนส่งน้ำมันเตาผ่านลำน้ำแม่กลอง ไปยังโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี จึงมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งสองฝั่งปากน้ำแม่กลองที่อาจเกิดขึ้น จากวิกฤตนี้  ผู้คนจึงรวมกันได้มากขึ้น องค์กรต่างๆ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา [LDI] ได้เข้ามาร่วมทำงาน  ตามมาด้วยการจัดประชาพิจารณ์ของสภาพัฒน์ฯ  ในเวทีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ช่วงปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) และถือว่าเป็นการจัดตั้งกลุ่มประชาคมรักแม่กลองขึ้นอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 9/9/99 เพื่อดูแลและ ติดตามผลจากการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อผู้คนและสังคมท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม  แล้วก็มาต่อด้วยโรงฆ่าหมู เป็นการสร้างโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ 2,000 ตัวต่อวัน บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างน้ำเค็มกับน้ำกร่อย ซึ่งก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างไปในทะเล ประชาคมฯ ทำงานกับชาวบ้านอย่างไร การทำงานระยะแรกของกลุ่มประชาคมฯ ใช้บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรฯ เป็นสถานที่พบปะพูดคุย มี หอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามเป็นแนวร่วมสำคัญ เราเริ่มพูดคุยชวนคน ทำข้อมูลความรู้  เสนอข้อมูลว่าความเป็นอยู่ในชีวิตเป็นอย่างไร  ระบบนิเวศเป็นอย่างไร ถ้าได้รับกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ก็ได้มวลชนจากพื้นที่ชายคลองเยอะทั้งยี่สาน ปลายโพงพาง บ้านแพรก หนามแดง บางกระบูน การให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่มีความสำคัญมาก เพราะเราเชื่อว่าคนผูกพันกับสิ่งแวดล้อม พี่ๆ ในประชาคมลงทำข้อมูลกับชาวบ้าน เก็บข้อมูลต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าบ้านที่เราอยู่เป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร แล้วถ้ามีโรงงานเข้ามาจะส่งผลอย่างไร แล้วก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน  การต่อสู้เรื่องโรงฆ่าสัตว์ครั้งนั้นก็เลยได้ประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสงคราม ว่าต้องเป็นโรงงานที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบท้องถิ่น ประมาณปี 2548 หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องเส้นทางลัดสู่ภาคใต้จะได้มวลชนแถบชายฝั่งทะเล  คลังแก๊ส โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายทะเลบางแก้ว แล้วก็เริ่มขยับเป็นเครือข่ายจังหวัด หัวใจของการทำงานคือ หัวใจสำคัญในการผลักดันกระบวนการทำงานร่วมกัน คือ เน้นการใช้ฐานข้อมูลพื้นฐานที่เป็นภูมิปัญญา ที่สั่งสมมาจากรากเหง้าของคนแม่กลองผสมผสานกับความรู้ในระดับครัวเรือน ทำให้มี ข้อเท็จจริงเป็นเครื่องมือในการผลักดันการแก้ไขปัญหา ผนวกกับความรักแบบจริงใจต่อท้องถิ่นที่เป็น บ้านเกิดเมืองนอนมากกว่าการเน้นรักษาเพียงอย่างเดียวจึงทำให้มีทิศทางหรือเป้าหมายการดำเนินงานเดียวกัน มีการทำข้อมูลทางทะเล ข้อมูลน้ำ ข้อมูลลม เพราะเราเชื่อว่าแนวคิดหลักของประชาคมคนรักแม่กลองคือไม่ได้ทำหน้าที่ไปบอกชาวบ้านว่าทำอะไรไม่ดี หรือจะเกิดผลกระทบอย่างไร แต่เรามีหน้าที่ไปทำให้เห็นว่า ‘ชีวิตมันเป็นแบบนี้  โครงการต่างๆ ของโรงงานมันเป็นแบบนี้ ก็ให้ชาวบ้านช่วยกันตัดสินใจ ว่าเป็นอย่างไร’ เคยถามน้องๆ ที่ไปเจอตอนร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้า ว่าไม่อยากมีเมืองที่เจริญเหรอ น้องตอบกลับมาว่าถ้าอยากเห็นความเจริญก็ไปเที่ยวกรุงเทพฯ ได้ ห้างสรรพสินค้าก็ไปเดินกรุงเทพฯ  อยากเก็บเมืองนี้ไว้อยู่  เก็บเมืองนี้ไว้ตาย อยากให้เมืองนี้อากาศดี น้องเขาตอบแบบนี้   ถ้าจะเห็นภาพชัดก็คือการลุกขึ้นสู้โรงไฟฟ้าของคนแม่กลอง มีทั้งชาวบ้าน นักเรียน เยาวชน พระ มีการทำหนังสือ “คนแม่กลองไม่เอาถ่าน” ระดมทุนเพื่อสู้โรงไฟฟ้า  มีคนช่วยทำเว็บไซต์  หาข้อมูลมาสู้กับโรงไฟฟ้า  ชาวบ้านสามารถพูดได้ ให้ข้อมูลได้ทุกคน  เพราะเขารู้ เขาเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า  ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็จะเข้าใจได้และรวมกลุ่มกันสู้เพื่อบ้านของตัวเอง ปัญหาที่คนแม่กลองรับมืออยู่เปลี่ยนไปจากเดิมไหม ความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาตอนนี้ไม่ใช่มาแบบ โครงการใหญ่ ๆ แต่จะเข้ามาแบบเล็กๆ อย่างโรงแรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่เหมือนโครงการใหญ่ของรัฐที่เหมือนยักษ์ที่เราดูออกว่า  เราต้องถูกกินแน่ๆ จะมาแบบเทพบุตรที่นำผลประโยชน์ต่างๆ มาให้ชาวบ้าน  ทำให้ชาวบ้านมองผลประโยชน์ตัวเองเป็นตัวตั้ง ตัวเองได้ประโยชน์ ชุมชนได้ประโยชน์ อย่าง “ชูชัยบุรี ศรีอัมพวา” ชูชัยบอกว่าจะให้ไปขายของ อ่ะได้ประโยชน์   โรงงานเหล็กมาให้เงิน 2,000 บาท อ่ะฉันได้ประโยชน์  โรงงานทอผ้ามาบอกว่าจะดูแลรับคนเข้าทำงาน อ่ะฉันได้ประโยชน์  ชุมชนได้ประโยชน์ก็อย่างเช่น โรงเรียนได้เงิน วัดได้เงิน แต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ร่วมกับที่อื่นจะไม่สนใจ  ค่อยๆ ถูกแยกออกไป ภาพก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากภาพกว้างที่มองเห็นประโยชน์ร่วมกัน  ถูกทำให้มองแยกเป็นส่วนย่อย ทางออกกับปัญหารูปแบบใหม่นี้ควรจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเราต้องทำข้อมูลให้เยอะขึ้นมากกว่าความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจให้กับคนให้มากกว่านี้   พยายามทำงานแบบเป็นภาคีเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้นำเดี่ยวตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งส่วนบุคคลไปให้มากที่สุด แต่พยายามให้ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง เพื่อให้สามารถใช้ในการประสานงานหรือรู้สำนึกในการทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด การเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของชีวิต และทำงานแบบมีภาคีเครือข่าย เพราะชุมชนไม่สามารถจัดการปัญหาได้เพียงลำพังแต่จะอาศัยพลังทางสังคมในการประสานความร่วมมือขับเคลื่อนร่วมกันปัญหาทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ครับ   ถ้าจะเห็นภาพชัดก็คือการลุกขึ้นสู้โรงไฟฟ้าของคนแม่กลอง มีทั้งชาวบ้าน นักเรียน เยาวชน พระ มีการทำหนังสือ “คนแม่กลองไม่เอาถ่าน” ระดมทุนเพื่อสู้โรงไฟฟ้า  มีคนช่วยทำเว็บไซต์  หาข้อมูลมาสู้กับโรงไฟฟ้า  ชาวบ้านสามารถพูดได้ ให้ข้อมูลได้ทุกคน  เพราะเขารู้ เขาเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า  ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็จะเข้าใจได้และรวมกลุ่มกันสู้เพื่อบ้านของตัวเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ผ่าตัดครั้งนี้พี่ต้องหาย

“พี่คิดอย่างเดียวก็คือ ถ้าได้ผ่าตัดอีกครั้งพี่ต้องหายแน่ๆ  พี่อยากหาย เพราะมันลำบากมาก ตัวและตาเหลืองมาก เวลาเดินไปหาหมอในโรงพยาบาล ทุกสายตามองพี่อย่างรังเกียจ  เขามองราวกับว่าพี่เป็นโรคร้าย...”   นิตยา ผาแดง เบือนหน้าหนีจากคู่สนทนา  เพื่อปาดน้ำในตาเมื่อเอ่ยถึงแผลในใจ ที่บังเอิญได้มาพร้อมกับการเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554  ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตามสิทธิประกันสังคมสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณไปพูดคุยกับ นิตยา  ผาแดง ผู้ใช้สิทธิการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วเกิดปัญหา ไปดูวิธีการแก้ปัญหาของเธอกันค่ะ   ก่อนหน้านั้นนิตยามีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ แพทย์แผนกศัลยกรรมตรวจอาการพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี 3 เม็ด  แพทย์จึงผ่าตัดออกและให้พักรักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน  ครั้นกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ นิตยาเกิดอาการตัวเหลือง  ตาเหลือง ไม่มีแรง  เธอจึงกลับไปหาหมออีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อเช็คว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่  ซึ่งอาจทำให้เลือดไม่หมุนเวียนและแจ้งว่าหากพบนิ่วจะส่งตัวเธอไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช  แต่เมื่อตรวจเอ็กซเรย์แล้วแพทย์เจ้าของไข้ไม่ได้แจ้งผลให้เธอทราบ  จนเวลาผ่านไป 10 วัน อาการของเธอก็ทรุดลงเรื่อยๆ “การกลับเข้าไปหาหมอครั้งนี้พอหมอเจ้าของไข้ตรวจล่าสุดแล้วก็หายตัวไปเลย  ให้หมอท่านอื่นเข้ามาดูแลแทน  เราก็บอกกับหมอที่ดูแลคนใหม่ว่าหมอคนเก่าจะส่งตัวเราไปโรงพยาบาลศิริราช หมอขอเช็ครายละเอียดแล้วแจ้งว่าจะส่งเราไปโรงพยาบาลศิริราช” แพทย์โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการตรวจสอบอาการและจะเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์อีกครั้ง เพราะผลการเอ็กซเรย์จากโรงพยาบาลแรกที่ผ่าตัดให้ไม่ชัดเจน แต่เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง  โรงพยาบาลที่ส่งเธอมา จึงแจ้งให้เธอไปทำเรื่องเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือเดียวกัน แล้วนำผลเอ็กซเรย์ ไปให้โรงพยาบาลศิริราช ทำการรักษาต่อไป  ซึ่งการส่งไปส่งมานี้ใช้เวลาในการเดินเรื่องกว่า 2 เดือน ในขณะที่อาการของเธอก็ไม่ดีขึ้น ไปขอเวชระเบียนยากไหม “พี่ทำเรื่องขอเวชระเบียนจากโรงพยาบาลแรก ก็ได้เฉพาะส่วนที่เข้าโรงพยาบาลไปครั้งที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มี ซึ่งทางโรงพยาบาลบอกว่า ถ้าหากหมอที่โรงพยาบาลศิริราชต้องการก็ให้ทำหนังสือไปขอเอง ตอนไปขอเวชระเบียน  ส่วนตัวมองว่ามันยุ่งยากนะ เราต้องทำเรื่องขอเองและก็ถูกถามว่า ‘จะเอาไปทำอะไร’ พอได้มาแล้วก็นำไปส่งให้โรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งมันกลับไป กลับมา ถ้าเป็นไปได้น่าจะทำเรื่องส่งมาครั้งเดียวเลย” วันที่ 6 มกราคม 2555  เธอจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชและแพทย์ได้ผ่าตัดให้เธออีกครั้ง โดยต้องตัดไส้มาเย็บต่อกับท่อน้ำดีให้กับเธอ  เพราะการผ่าตัดครั้งแรกของโรงพยาบาลเอกชนได้ตัดสายท่อน้ำดีสั้นเกินไป ทำให้เวลาเย็บต่อกลับคืนเกิดการตีบตันของทางเดินเลือด  ส่งผลทำให้นิตยาตัวเหลือง  ตาเหลือง ไม่มีแรง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว   ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ “คิดเยอะค่ะ แต่พี่คิดแล้วมีหวังก็คือ ถ้าได้ผ่าตัดอีกครั้งพี่ต้องหายแน่ๆ  พี่อยากหาก มันลำบากมาก ตัวและตาเหลืองมาก เวลาเดินไปหาหมอในโรงพยาบาล ทุกสายตามองพี่อย่างรังเกียจ  เขามองราวกับว่า...พี่เป็นโรคร้าย มันเหลืองมากๆ น้ำหนักลดลงฮวบๆ จาก 55 กก. เหลือ 44 กก. ตัวที่เหลืองก็ดำขึ้นและเริ่มคันตามเนื้อตัว มันน่าเกลียดมาก ผอมก็ผอม เสื้อผ้าที่เคยใส่ได้ก็ใส่ไม่ได้เลย การงานก็ไม่มีแรงทำ  พี่ขายอาหาร พอคนมาเห็นสภาพของพี่เป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากจะซื้อ  ลูกชายกำลังเรียนอยู่ ปวช.ปี 3 และกำลังฝึกงานอยู่ ต้องใช้เงินพอสมควร ลูกออกปากว่า ‘จะหยุดเรียน’ ได้ยินแล้วหัวใจมันจะสลาย  เราก็บอกลูกไปว่าอย่าออกมานะลูก เดี๋ยวแม่ก็หายและดีขึ้น ตอนนั้นมาแย่มาก เราเลิกกับสามี และก็มีเรานี่ละเป็นเสาหลักของบ้าน แต่ก็ยังโชคดีที่มีน้องสาวช่วยดูแล ไปสมัครบัตรสินเชื่อแล้วกดเงินมาหมุนเพื่อใช้ชีวิตก่อน  ตอนนั้นไม่คิดอะไรอื่นนอกจาก... ผ่าตัดครั้งนี้พี่ต้องหาย” ปัจจุบันนิตยา ได้รับการเยียวยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตามเกณฑ์สมควรได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เป็นมาตรการที่ดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำนวน 50,000 บาท  เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 หลังยื่นเรื่องเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตบางขุนเทียนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 และทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการผ่าตัดในครั้งแรก ก็เรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาเป็นเงิน 250,000 บาท  และวันที่ 8 ตุลาคม 2555 นิตยาได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 240,000 บาท   รู้เรื่องการเรียกร้องสิทธิได้อย่างไร “ตอนนั้นเราคิดอย่างเดียวก็คือ หมอช่วยทีเถอะทำไงก็ได้ให้เราหาย  ขอให้เราหายก็พอ เรื่องการเรียกร้องไม่เคยรู้เรื่องเลย  พ่อของน้อง(ลูกชาย) เขามาแนะนำว่าเราสามารถเรียกร้องสิทธิได้นะ ก็ให้เราทำหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์หลักประกันสุขภาพฯ ไม่คิดเหมือนกันว่า ‘จดหมายฉบับเดียวนี้จะส่งผลกับเราถึงขนาดนี้’ ใจจริงของเราก็ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไรเลย  เราหวังเพียงอยากจะหาย และไปใช้ชีวิตของเราปกติเท่านั้นเอง ถ้าหมอมาคุยกัน  มาให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็จะหาทางออกไปด้วยกัน  ส่วนหนึ่งเราต้องการรู้ว่าเราเป็นอะไร  จะต้องรักษาด้วยวิธีไหน แต่นี่หมอหายไปเลย พี่ว่าต้องคุยกัน”   ตอนนั้นไม่คิดว่าสามารถรับการเยียวยาได้ “ไม่เคยรู้เลยว่าจะเรียกร้องหรือชดเชยเยียวยาได้  ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร  แต่การเยียวยาส่วนนี้ก็ถือว่าช่วยเราได้เยอะ  เพราะเราทำงานไม่ได้เลยช่วงที่เราป่วย เป็นหนี้อีกต่างหาก  อยากขอบคุณทั้ง สปสช.และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ให้ความช่วยเหลือ   ครั้งนี้ได้บทเรียนอย่างไรบ้าง “ส่วนหนึ่งเราก็อยากแนะนำ  อยากบอกต่อเรื่องราวต่างๆ ให้คนได้รู้ว่าเรามีสิทธิอะไรผ่านประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวของเรา  แต่อีกใจก็กลัวว่าพอเราแนะนำออกไปแบบนี้แล้ว เราจะถูกฟ้องกลับหรือเปล่านะสิ (หัวเราะ)... แต่ใครมาถามก็คงจะบอกต่อแนะนำไปค่ะ  เบอร์โทรศัพท์ก็มีแล้ว ต้องบอกต่อแน่นอน  ตอนนี้หลังการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย อาการดีขึ้นเรื่อยๆ  หลังการจ่ายเงินเยียวยาแล้ว ผอ.โรงพยาบาลเอกชนที่ผ่าตัดให้เรา ท่านก็ดี ท่านก็โทรมาสอบถามอาการต่างๆ เอาใจใส่เรา ซึ่งก็ถือว่าดีค่ะ ถึงที่สุดแล้วผู้ป่วยทุกคนก็ต้องการการเอาใจใส่ ตอนนี้สิทธิการรักษาก็ยังอยู่ที่โรงพยาบาลนี้นะคะ  ไม่คิดเปลี่ยน เพราะถ้าเปลี่ยนโรงพยาบาลจะต้องเดินทางไกลมากขึ้น  เราก็คิดว่าอยู่นี่ล่ะ”   ตอนนี้นิตยากลับมาเปิดร้านขายอาหารประเภทยำได้ตามปกติแล้ว ด้วยการเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปตลาดซื้อของ กลับมาเตรียมของ จัดร้าน ขายของจนถึง 4 -5 ทุ่มเช่นเดิม ด้วยเงินลงทุนวันละ 2,000 บาท ได้กำไรหักต้นทุนแล้วเหลือ 1,000 บาท แต่หากวันไหนไม่ได้ขายรายได้ก็คงไม่ต้องถามถึง อีกบทเรียนจากประสบการณ์จริงของผู้บริโภคที่เรียนรู้เรื่องสิทธิผ่านประสบการณ์ตรง  ฉลาดซื้อหวังเพียงว่าการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้  ส่วนหนึ่งจะทำให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ทราบและรู้สิทธิของตัวเอง  และลุกขึ้นมาใช้สิทธิได้ทุกคน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 ตัวชี้วัดของไทย ขอเป็นโอกาสเถอะครับ

...ถ้าเรามองในแง่ประเด็นที่กระทบอนาคตจริงๆ ถ้าถามผมสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าการว่างงานคือเรื่องของว่าเรากำลังให้ โอกาสคนหรือเปล่า ตอนที่จะดูว่าเด็กที่จบมาใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ มันมีโอกาสหรือเปล่า มันก็ต้องไล่ไปในหลายมิติ... ฉบับนี้ฉลาดซื้อ พาคุณไปคุยกับ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ซึ่งสถาบันฯ แห่งนี้ ทำหน้าที่นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ สังคมโดยรวม ทำอย่างไรให้ประชาชน เอกชน รัฐ สื่อมวลชน ใส่ใจเรื่องระยะยาวมากกว่าเรื่องเฉพาะหน้าและเรื่องระยะสั้น สถาบันฯแห่งนี้พยายามหาวิธีทำเรื่องอนาคตเรื่องระยะยาวให้จับต้องได้ โดยเป็นรูปธรรมที่วัดได้ แปลงเป็นตัวเลขได้ แปลงเป็น KPI (Key Performance Indicators) หรือตัวชี้วัดได้  คราวนี้เรามาเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวกันค่ะ   การที่ผู้บริโภครับรู้เรื่อง KPI จะนำพาประเทศไทยไปสู่โลกอนาคตที่ดีได้อย่างไร บ้านเมืองเราวุ่นวายมาก 3- 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ คนเราจำความได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ หมายความว่าเด็กที่จะอายุ 15 ไม่เคยเห็นบ้านเมืองสงบเหมือนรุ่นเราๆ ที่เคยเห็น พอนึกแล้วตกใจ เพราะยาวไปถึงรากฐานของประเทศด้วย เมื่อก่อนอ่านหนังสือพิมพ์มีการวิจารณ์กัน ก็ฟังเหตุผล   ใครพูด  แต่ปัจจุบันไม่ใช่กลายเป็นว่า “ผมพูดและผมเป็นคนดีในหมู่พวกคุณ  คนอื่นที่พูดไม่ใช่พวกคนดี” ผมว่ามันยิ่งกว่าใครพูดนะ คือ ใครที่ไม่ได้ออกจากปากพวกเราไม่ใช่คนดี เห็นไหม หรือรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา  มีการเสนอนโยบายไว้ เริ่มทำงบประมาณ อ้าวหมดวาระเปลี่ยนรัฐบาลกันอีก  จะเห็นว่ามันไม่มีความต่อเนื่องในการบริหารงานอย่างปี  2552 มีการเปลี่ยนการบริหารถึง 3 รัฐบาล และเปลี่ยนรัฐมนตรีอีก 9 ท่าน ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผมไม่ได้วิจารณ์ว่านโยบายไหนดี ใครหลายคนๆ อาจมองว่าทำไมต้องไปดูเรื่อง KPI อะไรให้มันยุ่งยาก ก็เพราะว่าบ้านเราหยุดอยู่กับที่มา 7 – 8 ปีแล้ว และมองอะไรเพียงสั้นๆ  ชอบดูกันนักเรื่อง GDP (Gross Domestic Product) ก็พูดกันแต่เรื่อง GDP   จริงๆ คิดว่าผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่า GDP ไม่ได้มีความหมายกับเรา มีความหมายไหม ผมว่าเราอ่านหนังสือพิมพ์กันจนหล่อหลอมให้รู้สึกว่า GDP เยอะมันคงดี  ซึ่ง GDP ก็คือ กำไร รายได้ต่างๆ ของผู้ประกอบการ มาดูว่าเรามีเค้กอยู่ชิ้นหนึ่ง เราจะแบ่งไว้กินวันนี้หรือเก็บไว้กินวันหน้า  เหมือนเงินน่ะ เรามีอยู่หนึ่งร้อยบาท  เราจะกินหรือเราจะออม   GDP ก็คือรายได้ ความฟู่ฟ่าของเศรษฐีในวันนี้  คำถามก็คือว่า ถ้าเค้กเราชิ้นใหญ่แล้วแบ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ออม 60 เปอร์เซ็นต์มากินวันนี้มีความสุขมาก เพราะมันเยอะ  แล้วก็มาถามต่อว่าเค้กเรามันชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็ก แล้วเราแบ่ง 99 เปอร์เซ็นต์ กินวันนี้ แหมวันนี้มันช่างดูดีเหลือเกิน  แต่ปรากฏว่าในกระเป๋าที่ออมเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่ดีแน่ ผมพยายามโยงจากหลายส่วนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ บางส่วนมันทำให้เหมือนว่าเศรษฐกิจไทยเราไปได้ดี  ปันผลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เยอะเมื่อเทียบกับภูมิภาค  แต่การลงทุนเราน้อย  นั่นหมายความว่าเงิน 100 บาท เราเอามากินวันนี้หมด โดยที่เก็บไว้ลงทุนน้อย  ต่างชาติมาลงทุนได้กำไรแล้วก็ไม่ลงทุนต่อ ได้กำไรเต็มที่แล้วก็กลับบ้าน   แล้วบ้านเราจะเหลืออะไรจริงไหม ถ้าคนเรามันมองสั้นหมดแล้ว KPI สั้นหมด GDP มันก็ไปได้เรื่อยๆ พอทุกคนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว ถามว่าเก็บอะไรให้อนาคตบ้าง คำตอบก็คือไม่มี คือถ้ามองตัว KPI สั้น นโยบายรัฐที่ออกมาก็จะสั้น   ดังนั้นตัวชี้วัดหรือข้อมูลอะไรที่มันสื่อถึงอนาคตประเทศไทย ยกตัวอย่างเรื่องการว่างงานที่บอกว่า 1% ถึงน้อยกว่า แล้วประเทศเราดีจริงหรือเปล่าสำหรับตัวเลขการว่างงาน 1% ข้อมูลลึกๆ ข้างในพบว่าวัยทำงานของเรา 38 ล้านคน หรือ 40% อยู่ภาคเกษตร เพราะฉะนั้นตกงานจากในเมืองก็ไปอยู่ภาคเกษตรได้ พอหน้าฝนก็ให้ข้าวกินน้ำไป ตัวเองก็มาทำงานในเมือง พอฤดูแล้งกลับไปเกี่ยวข้าว ผู้รับเหมาจะสร้างทางก็ไม่มีแรงงาน เพราะว่ากลับไปเกี่ยวข้าวกันหมด ในทางกลับกัน ตัวเลขการว่างง่าน 1% ดูเหมือนจะดูดี แต่จริงๆ แล้วมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เลยทำให้หลังๆ ผู้ประกอบการก็เลยเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา อย่างตัวเลขแรงงานพม่าประมาณ 2 ล้านคน แต่กระทรวงแรงงานบอกว่าที่ไม่จดทะเบียนอีกเท่าตัว สรุปแล้วแรงงานต่างด้าว 4 ล้านคน คิดเป็น 10% ของจำนวนแรงงานในระบบของไทย วันดีคืนดี ถ้าพม่าพัฒนาประเทศได้ แล้วเขากลับไปหมด ดังนั้น การว่างงานที่ดูเหมือนจะต่ำเพราะมีภาคเกษตรที่คอยรองรับ การที่แรงงานย้ายไปย้ายมา ทำให้ผู้ประกอบการปรับนิสัยก็ใช้วิธีเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทน คนตกงาน 1% โดย 40% ของใน 1% เป็นแรงงานที่มีอายุ 24 ปีลงมา กลับกลายเป็นว่าคนแก่ๆ เดี๋ยวนี้ตกงานไม่เป็นไร กลับไปทำไร่ทำนาได้ แต่เด็กยุคใหม่บอกลืมไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอนทำไร่ทำนา จบออกมาปุ๊บ ตกงาน ก็ไปทำไร่ทำนาไม่ได้ ก็ตกอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละ เกือบครึ่งหนึ่ง กลับกลายเป็นตกงาน อันนี้คือโอกาส ดังนั้นที่บอกว่าตัวเลขการตกงานต่ำๆ ก็พูดกันไป แต่ประเด็นคืออะไร ประเด็นคือต่ำแล้วคือดีแล้วใช่ไหม ถ้าดูตัวเลขอย่างนี้ก็หมายความว่า นโยบายก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะตัวเลขที่ประกาศมันดี นโยบายก็ออกเป็นว่าไม่ใส่ใจ หรือถ้าเรามองในแง่ประเด็นที่กระทบอนาคตจริงๆ ถ้าถามผมสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าการว่างงานคือเรื่องของว่าเรากำลังให้ โอกาสให้คนหรือเปล่า ตอนที่จะดูว่าเด็กที่จบมาใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ มันมีโอกาสหรือเปล่า มันก็ต้องไล่ไปในหลายมิติ เช่นว่า บ้านเราตอนนี้ ถ้าคุณจะมีโอกาสคือคุณต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ตอนนี้จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้พอที่จะส่งลูกเรียนปริญญาตรีและที่สูงกว่า นี้ได้มีกี่ครัวเรือน ถ้าคุณมีเงินออมพอส่ง มีโอกาส ก็จบ นอกจากจบมาแล้วหางานได้หรือเปล่า จบใหม่ๆ ก็หางานไม่ได้ หรือถ้าหางานได้ มีโอกาสที่จะหางานตรงกับที่เรียนหรือเปล่า อันนี้เราวัดได้ ตอนนี้คนจบปริญญาตรีเยอะ แต่จบปริญญาตรีก็ไปเป็นเสมียนเยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคุณภาพไม่ค่อยดี แต่โอกาสในแง่ของตลาดแรงงานอาจจะไม่ดีด้วย นอกจากนี้ โอกาสเข้าถึงการเรียนหรือเปล่า จบแล้วหางานได้หรือเปล่า หางานได้แล้ว คุณเจริญในหน้าที่การงานหรือเปล่า หรือรายได้คุณโตหรือเปล่า พวกนี้จริงๆ วัดได้หมดเลย ความคิดเราก็คือทำพวกนี้เป็นตัวชี้วัดเพื่อที่จะสะท้อนเรื่องของโอกาส เอามายำเป็นอินเด็กซ์แล้วก็บอกว่า ดูตัวนี้สำคัญกว่าไปดูตัวเลข 1% ของเขา ถ้าเห็นว่าตรงนี้มันมีปัญหา ซึ่งมันมีจริงๆ ตัวประชากรเลขเรียนจบมีมากขึ้น ดูตามแนวโน้มแบบนี้ก็ดูดีขึ้นหมด แต่ไม่เคยใส่ใจว่าจบแล้วไปทำอะไร ทำงานตรงตามที่จบมาหรือเปล่า ตัวเลขนี้ไม่ดูเลย เหมือน KPI ประชาชนที่จบปริญญาตรีกี่คน แต่ถ้าคุณเห็นว่า KPI ของคุณไม่ใช่เรื่องว่าคุณผลิตคนมากี่คนแล้ว แต่คือถามว่าคนที่คุณผลิตแล้วมีโอกาสในการหางาน มีงานที่ทำให้รายได้โตหรือเปล่า หากตัวเลขออกมามันเปลี่ยนแล้ว จะเห็นทันทีว่าตัวชี้วัดพวกนี้ไม่ดี ดังนั้นการกำหนดนโยบายต้องเปลี่ยน คุณต้องไปดูเรื่องหลักสูตร เพราะหลักสูตรที่คุณผลิตออกมา มันไม่ตอบโจทย์ตลาด รายได้คุณถึงไม่โต หรือเขาหางานไม่ได้ การที่สถาบันฯ จะหยิบตัวเลขพวกนี้มาหวังว่าจะช่วย เหมือนกระตุกหางหมา อย่างน้อยให้คนระแวงว่าอย่าไปหลงกับตัวเลข มีช่องทางที่จะไปสู่การปฏิบัติในการกำหนดนโยบายที่ตรงประเด็นได้บ้างไหม จริงๆ เรามองเป็น 3 ชั้น โดยชั้นในสุดแกนกลางที่เป็นไข่แดง หรือ Policy Maker (ผู้กำหนดนโยบาย) ทำอย่างไรให้ Policy Maker สนใจเรื่องพวกนี้  อย่างเรื่องการศึกษาเป็นต้น  วงถัดมาเป็นพวกกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ นักคิด นักวิชาการต่างๆ ส่วนวงนอกสุดเป็นวงสาธารณะ สื่อ ประชาชนทั่วไป ตอนที่เราคิดถึงโปรดักส์นี่เราก็ต้องนั่งนึกด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายเรามีใหญ่ กลาง เล็ก ตั้งแต่วงในสุด “ไข่แดง” ยันวงนอกสุด “ไข่ขาว” แต่ละโปรดักส์ของเราสนองความต้องการของแต่ละคนอย่างไร ยกอย่างตัว Policy watch นี่ พูดถึงแต่อนาคต คนก็บอกว่า เดี๋ยวฉันก็ตายแล้วไม่ต้องมาสนใจอนาคตอะไร แต่ว่าตัว Policy watch เราคงต้องมีเพราะว่าสื่อมวลชนก็ดี ใครก็ดี เขาก็สนใจในปัจจุบันบ้าง เราควรที่จะ Policy watch ปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอะไรเป็นหลัก คำถามก็คือ เรามี 3 วง วงนอกคือ สื่อ ประชาชน วงกลาง นักคิด นักทำ วงในสุดคือ Policy Maker ซึ่งประชาชนเป็นหนึ่งในโปรดักส์ของเรา คือ Policy watch แต่เราจะทำเฉพาะ watch ที่เกี่ยวกับอนาคต ไม่ได้เกี่ยวกับวาเลนไทน์ว่า  จะทำให้จีดีพีโตเท่าไหร่  และสถาบันฯ ไม่ใช่จะไปชี้นำ Policy เพียงแต่เราจะยกระดับของการดีเบต  ให้รู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย  พอจบแล้วก็จะไม่ชี้นำอะไร  แต่ว่าตัว Policy watch จะพยายามให้เห็น 2 มุม นักข่าวจะเอา 2 มุมนี้ไปถามใครก็ได้ หรือจะถามเราก็ได้เหมือนกัน  เป็นเหมือน Third Opinion แต่ว่าตอนเปิดโปรดักส์  เราไม่ได้ทำโปรดักส์แล้วบอกว่าต้องทำอย่างนี้สิ ไม่ใช่อันนี้ก็คือฝั่งที่เป็นไข่ขาวข้างนอก (สื่อ ประชาชน) ส่วนระดับตรงกลางนี่เราจะสร้างโดยใช้ Network Community เนื่องจากเรามีคนอยู่แค่หยิบมือหนึ่ง ยังไงเราเป็นกูรูทุกเรื่องไม่ได้ ซึ่ง Network Community มีทั้งผู้ใหญ่ในกรรมการที่ปรึกษา ทั้งผู้ใหญ่ในคณะกรรมการ เพื่อนๆ ที่อยู่ตามภาคเอกชนก็ดี  ก็บอกว่าเรามีอินเด็กซ์เรื่องนี้  เคยรู้หรือเปล่าว่า เช่นว่าแรงงานที่อยู่ในระบบตกงานเท่าไหร่ ตัวเลข 40% หรือเคยรู้หรือเปล่าว่าอัตราการดำรงตำแหน่งผู้ว่าอยู่ที่ 1 ปีหรือ 1.1 ปี เคยรู้หรือเปล่าว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเซกเตอร์ไหน  เราก็เอาของเหล่านี้ที่เป็นอินเด็กซ์ไปขายในเครือข่ายนักคิด  ในอดีตมันก็มีหลายฟอรั่มที่พยายามจะรวมนักคิดรุ่นใหม่  ตั้งแต่รุ่นใหม่ จนขณะนี้เป็นรุ่นเก่า ก็ไม่เห็นใครรวมตัวได้เสียที อินเด็กซ์ของเราคือทำเพื่ออนาคต หรือเห็นอนาคต หรืออาจจะเห็นปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคต ดังนั้น ในเนื้อของอินเด็กซ์นี่ถ้าเขาจะไปเขียนอะไร  เขาต้องไปเขียนเรื่องปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอยู่  ดังนั้นตัวเขา (business community) งานก็เบาลง เพราะเหมือนมีมือไม้ทางนี้  พอเขาโทรมาเราอาจจะจัดข้อมูลให้เขา พอเขียนเสร็จปุ๊บ อย่าลืมนะครับ ปั๊มตรา ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ของเราด้วย ตอบคำถามที่ว่า พวกที่คิดมาต่างๆ นี่ จะผลักดันให้เป็นจริงอย่างไร โปรดักส์ต่างๆ ที่คิด คิดในเรื่องของการผลักดัน เพราะเราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง คราวนี้ก็จะมีไข่ขาว ระดับตรงกลาง คือพวกกลุ่มนักคิด จะเอาไปช่วยผลักดันนั่นเอง” ฉลาดซื้อเชื่อว่านอกจากจะจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดแล้ว ก็ต้องการผลักดันให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจดัชนีเพื่ออนาคต เมื่อเราสนใจดัชนีเพื่ออนาคต นโยบายที่ออกมาก็เป็นนโยบายเพื่ออนาคตด้วย ตัวเลข ตัวชี้วัดต่างๆ เป็นตัวเลขที่สะท้อนเรื่องศักยภาพของอนาคตเรา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อสารในการจัดงานเปิดตัวสถาบันในวันนี้ คืออนาคตไทยเราเลือกได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 จิระชัย มูลทองโร่ย สคบ.ยุคนี้ จะไม่มองแบบม้าลำปาง

“...ภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา...” ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปทำความรู้จักคนคุ้นเคย ที่ทำงานคู่ขนานกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาตลอด ท่าน “จิระชัย มูลทองโร่ย” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 55 หากแต่คลุกคลีอยู่ใน สคบ.มากว่า 12 ปีแล้ว ไปดูแนวคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในยุคของเลขาฯ สคบ.ท่านนี้กันค่ะ ประเด็นใดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถือเป็นความท้าทายของ สคบ. งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องทำต่อก็คือ ต้องผลักดันประเด็นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้เราซื้อสินค้าด้วยความเสี่ยง ซื้อไปแล้วเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ต้องมาร้องที่ สคบ. ซึ่งนั่นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมๆ เราจึงจัดทำเครื่องหมายของ สคบ.แสดงไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ว่าเมื่อไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วจะไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกหลอกลวง หรือเมื่อไปซื้อสินค้าและใช้บริการแล้วเกิดปัญหา ผู้ประกอบการต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือชดใช้อย่างชัดเจน แต่ที่ยังไปไม่ได้ก็คือการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ นั่นก็คือถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมาจะมีหลักการรับประกันอย่างไร ยังอยู่ในการทำความเข้าใจกันอยู่ ซึ่งตอนนี้มีสินค้าและบริการที่ต้องทำตรา สคบ.แล้ว 26 รายการ 8 หมวด นั่นก็คือทั้งอสังหาริมทรัพย์ สินค้า สุขภาพ ฯ   อีกความท้าทายก็คือการเป็นศูนย์กลางในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.เป็นหน่วยงานเดียวที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 5 ข้อนี้ การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ เพราะภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา ในต่างจังหวัดนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคนแค่เพียง 10 ล้านกว่าคน ในต่างจังหวัดอีกกว่า 75 จังหวัดล่ะ “ใครดูแลเขา” ในอดีต สคบ.อาจจะไม่มีการประสานความร่วมมือทางหนังสือเท่าไรนัก แต่ต่อจากนี้ไปจะประสานความร่วมมือและพบปะพูดคุยกันให้มากยิ่งขึ้น ประสานส่วนผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการผมถือว่าเป็นต้นน้ำของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องประสานก่อนเลยก็คือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ สคบ.เข้าไปรับฟังขอบเขตงานด้วย และจะร่วมมือกันในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร นั่นก็คือต้องดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีการติดฉลาก ดูการโฆษณา ดูสัญญาก่อน ต่อไปก็ไปดูเรื่องความรับผิดชอบว่าถ้าเกิดความเสียหาย จะเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร สินค้าที่มีปัญหามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเยียวยา ประสานส่วนภาคประชาชน ที่มีการรวมกลุ่มกันชัดเจนแล้ว อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็จะมีเครือข่ายผู้บริโภค ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีจุดหมายเดียวกัน ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การทำงานของมูลนิธิฯ อาจจะง่ายและกระชับกว่า ก็จะได้ผนวกไปด้วยกัน หรืออาจจะเชิญตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ สคบ. รวมไปถึงการทดสอบสินค้า การรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบผู้ประกอบการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในช่วงปี 2556 อยากจะทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนต่างจังหวัด มีแผนงานอะไรก็บอกกันให้รู้ สคบ.จะได้ส่งคนเข้าไปช่วยดำเนินการด้วย การทำงานร่วมกัน?...จะเป็นลักษณะแบบไหน จะเป็นคล้ายๆ ระบบสั่งการเหมือนภาครัฐทำกับภาครัฐหรือเปล่า ไม่เหมือนแน่นอน การสั่งการในภาครัฐก็อาจจะทำได้เป็นเรื่องๆ ที่เป็นนโยบายร่วมกัน เราใช้คำว่า “ประสานงาน หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน” ร่วมกันทำงาน “สคบ.จะไม่ใช่ One man show” แต่จะประสานงานร่วมกัน สคบ.จัดการกับผู้ประกอบการอย่างไร อีกหน้าที่ที่ต้องทำก็คือการตรวจสอบผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องทำตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างไปสำรวจเต็นท์รถยนต์มือสอง ว่ามีการจัดทำฉลาก ทำหลักฐานการรับเงินหรือเปล่า ในห้างสรรพสินค้ามีสินค้าหมดอายุมาขายไหม ฉลากถูกต้องหรือเปล่า สำรวจเสร็จ สคบ.ในฐานะมีหน้าที่และอำนาจทางกฎหมาย ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดการกับผู้ประกอบการ ซักถามเรื่องกฎหมาย ตักเตือน ก็ว่ากันไป ในเรื่องการจัดการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนนี้มีปัญหาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่ามีความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของ สคบ.ในชั้นการเจรจาไกล่เกลี่ย สามารถจบลงได้ 80 % ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นประโยชน์ของคู่กรณีทั้งคู่ ผมยังให้ความสำคัญอยู่ ก่อนที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาล ผมไม่ตามใจผู้ร้องนะ อย่างซื้อรถยนต์ใหม่มาแล้วมีปัญหา จะขอเปลี่ยนคันเลย ก็ต้องให้บริษัทชี้แจง แก้ไขจุดบกพร่องก่อน ให้เวลาผู้ประกอบการบ้าง เรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ เป็นจำนวนมากที่ผู้ร้องไม่ยินยอมรับการชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทนำเสนอ หรือตามที่ สคบ.เห็นว่าสมควรแล้ว แต่ผู้ร้องยังเรียกร้องตามอำเภอใจ ซึ่งผมเองมั่นใจว่าจะใช้อำนาจในการบริหารยุติเรื่องและให้ผู้ร้องไปฟ้องศาลด้วยตนเอง การดำเนินคดีในชั้นศาลผมถือว่าไม่เป็นประโยชน์ส่วนรวม การจะฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ผมมีองค์ประกอบ 3 เหตุผล 1.ต้องเป็นผู้บริโภค 2.ต้องถูกละเมิดสิทธิ 3.ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวม สคบ.ฟ้องแทนผู้บริโภค จะฟ้องรวมหมู่ได้ไหม เรื่องการฟ้องแทนเราฟ้องให้อยู่แล้ว ถ้าฟ้องแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนให้ อย่างผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องซื้อหมามาเลี้ยงผ่านไป 2 วัน แล้วหมาตาย สคบ.ก็รับเรื่องแล้วชวนมาไกล่เกลี่ย เจ้าของฟาร์มเสนอไม่ชดเชยให้ แต่ถ้าซื้อตัวใหม่จะลดให้ครึ่งราคา ส่วนผู้ร้องไม่รับข้อเสนอ จะให้ชดเชยเป็นค่าสุนัข 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลอีก 9,000 บาทรวมค่าเสียเวลา ฟาร์มบอกว่าตั้งแต่ขายมาไม่มีปัญหาอะไรเลย กรณีแบบนี้เราก็ฟ้องให้นะครับ เพราะเราถือว่าตลาดนัดจตุจักร มีคนเข้าออกประจำ อาจจะพบปัญหาเหมือนกับกรณีรายนี้ด้วยก็ได้ เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้ามาเกี่ยงกันในเรื่องการชดเชยที่ต่างกันแค่ 500 หรือ 1,000 บาท แบบนี้เราไม่ฟ้องให้ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีการโกงผู้บริโภคแค่ 1 บาท เราก็ฟ้องให้ เพราะสินค้าผลิตมาเท่าไร...มากมาย เราก็เปรียบเทียบตัวเลขผู้ประกอบการกับตัวเลขผู้ร้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนผู้บริโภคได้   สคบ.มีบทลงโทษผู้ประกอบการ แต่การไม่เปิดเผยชื่อผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกปรับทำให้ผู้บริโภคยังถูกละเมิดต่อ วิธีการแบบนี้ยกเลิกได้ไหม อือ...หลายคนตำหนิ สคบ.อย่างนี้ว่าลงโทษผู้ประกอบการ แต่ไม่บอกว่าใคร ความจริงเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 10 อนุ3 บอกให้ สคบ.เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการรวมถึงสินค้า ว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ สคบ.เองก็ปรับปรุงว่าเราต้องมีสื่อที่จะลงข่าวเหล่านี้ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำสื่อ แล้วก็เผยแพร่สู่สื่อมวลชน เครือข่ายผู้บริโภคและพี่น้องประชาชน เพราะการจะเปิดเผยชื่อได้นั้น ต้องผ่านมติคณะอนุกรรมการก่อนถึงจะเปิดเผยรายชื่อได้ จะเปิดเผยรายชื่อทันทีก็ไม่ได้ ไม่งั้น สคบ.เองนั้นละจะถูกฟ้อง   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 จะช่วยหนุนการทำงานของ สคบ.อย่างไรบ้าง และมีความคิดเห็นต่อ กม.นี้อย่างไร เป้าหมายการทำงานของ สคบ.กับ องค์กรผู้บริโภค มีเป้าหมายเดียวกันคือการคุ้มครองผู้บริโภค จะแตกต่างกันก็แค่ภารกิจ วิธีการ มีอะไรที่เราทำร่วมกันได้ก็มาแชร์กัน อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถ้ามีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการองค์การอิสระฯ ก็เข้าไปทำงานเลย แบบนี้มูลนิธิฯ ก็จะมีแนวทางในการขยายความร่วมมือต่อไปได้ แล้วถ้าถามต่อว่า สคบ.จะอยู่อย่างไร ผมก็ต้องอยู่เพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่องค์การอิสระฯ รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร ก็ควรที่จะทำอย่างนั้น เช่นรัฐธรรมเขียนอำนาจหน้าที่ไว้ 3 แต่กลับไปเพิ่มเป็น 4 5 6 นั้นเป็นการก้าวก่ายแล้ว ไม่ได้ต่อต้านนะ เห็นด้วยที่ให้มีเพราะต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบูรณาการทุกเรื่อง เข้ามาเสริม เข้ามาหนุนงาน ให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากกว่า ควรจะมีกรอบอย่างนั้น เรื่องการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ สคบ.ตั้งมา 30 กว่าปีแล้ว ยังได้งบไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วองค์การนี้เพิ่งจะร่างขึ้นมาไปเอาค่าหัวดำเนินการ 3 บาท 5 บาท ไปเอาเกณฑ์อะไรมา ทำไมไม่ให้ สคบ. เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหลักด้วยซ้ำ ปีหนึ่งได้ 100 ล้านบาท ก็ส่งงบลงพื้นที่ กระจายทุกจังหวัดที่ ให้กับประชาชนที่มีโครงการมากมาย บุคลากรก็ต้องให้ความรู้ทุกเรื่อง ยังได้ไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วนี่องค์การนี้เพิ่งจะเกิด มีคณะกรรมการ 15 คน ภารกิจหนักหนาขนาดไหน ต้องเอาค่าหัว 3 บาท 5 บาท แต่ผมไม่ได้คัดค้านนะ แต่ควรที่จะเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย @.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 สังคมรีไซเคิล สังคมโลกใหม่ของคนทันสมัย

“ป้าคะ รู้จักโรงงานรับซื้อของเก่าของวงษ์พาณิชย์ไหม” ฉันถามป้าขายก๋วยเตี๋ยว เพราะเหลือบไปเห็นกองขวดพลาสติก  กระดาษ กองอยู่หลังร้าน “ขับรถตรงไปแล้วก็เลี้ยวขวาข้างหน้า ขับไปเรื่อยเดี๋ยวก็เจอ โรงงานเขาใหญ่” ป้าว่าพลางทำก๋วยเตี๋ยวให้ลูกค้าต่อไป ........................ ทันทีที่เลี้ยวรถเข้าโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์  พบป้ายสีฟ้าโดดเด่นเขียนว่า “ศูนย์กระจายสินค้าวัสดุรีไซเคิลสี่แยกอินโดจีน” ประกบกับป้ายบอกทาง คุนหมิง หลวงพระบาง ปีนัง ย่างกุ้ง อยู่ข้างถนน ด่านแรกของวงษ์พาณิชย์เป็นจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีราคากลางบอกไว้ ทั้งกระดาษ พลาสติก  ขวด-แก้ว  เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์  โลหะ หลังรับซื้อแล้วก็จะถูกคัดแยกออกไปตามแผนกต่างๆ เศษเหล็ก  กระดาษ ขวดแก้ว อะลูมิเนียม โลหะ พลาสติก เครื่อง ใช้สำนักงาน-เครื่องใช้ไฟฟ้า เศษอาหาร และอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิง พนักงานแต่งตัวด้วยเครื่องแบบสีเขียว ยืนเรียงกันตามสายพาน การคัดแยกพลาสติกดูจะมีพนักงานมากสุด  ด้านหลังพนักงานแต่ละคนจะมีสุ่มหงายอยู่  แต่ละคนมีสีพลาสติกของตัวเอง สีเขียว  สีฟ้า สีขาว ของใครมาก็หยิบใส่สุ่ม เต็มแล้วก็แบกไปเทในส่วนการจัดแยกสีไว้เพื่อนำไปเตรียมย่อย ล้าง และส่งโรงงานนำไปรีไซเคิลต่อไป ด้านกระดาษแยกเป็นกระดาษขาว  กระดาษลัง แล้วนำมาอัดเป็นก้อน ก้อนละ 1 ตัน ส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระดาษ  เช่นกันกระป๋องอลูมิเนียม  ขวดเพ็ต ก็ถูกอัดเป็นก้อน เพื่อสะดวกในการขนส่ง ปัจจุบันวงษ์พาณิชย์มี 1,112 สาขาทั่วประเทศไทย ในประเทศลาว 4 สาขา ในประเทศมาเลเซีย 2 สาขา  ในประเทศพม่า 1 สาขา  กับประสบการณ์กว่า 37 ปี ในการบริหารจัดการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล   พาคุณผู้อ่านไปชมข้างในโรงงานแล้ว เราไปคุยกับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธาน กรรมการ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ กันดีกว่าค่ะ ในฐานะที่จัดการขยะมา 37 ปี เคยคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการขยะไหม เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไม่เคยคิด  ไม่เคยเลย คิดเพียงแค่จะช่วยรัฐได้อย่างไรเท่านั้นเอง  ทุกวันนี้ที่ทำอยู่ไม่ต้องการมีอำนาจอะไร ต้องการอย่างเดียวคือเป็นคนดี  ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนทำมาหากินอยู่ในสังคมได้  อันนี้เป็นแนวความคิดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็มองว่าอาชีพการจัดการขยะอย่างเรานั้น  มันไปสร้างผลกระทบให้กับรัฐบาลระดับใหญ่ ระดับกลาง  ระดับเล็ก  ได้ประโยชน์มาก ข้อแรก มันไปลดขยะบ้านเมืองลงได้ 100 % อย่าง “โครงการขยะเหลือศูนย์” ในงบประมาณ 1 ปีของรัฐใช้เงินเป็นแสนล้านบาท ที่เสียไปกับการจัดการขยะนั่นคือ หนึ่งซื้อที่ดินฝังกลบ  สองทำบ่อฝังกลบ สามตั้งโรงงานเผาขยะ และต้องจัดการกับขยะ  สี่ซื้อรถขนขยะให้เทศบาล แล้วไหนจะต้องจัดการกับเรื่องร้องเรียนกับชาวบ้านอีก  โครงการของเราก็ไปกระทบกับสิ่งเหล่านี้  ถ้าหากว่ามีการส่งเสริมและพัฒนาให้อาชีพรีไซเคิลผงาดขึ้นมาได้เมื่อไร  หรือถ้าหากภาครัฐมีน้ำใจสนับสนุน  ผมเชื่อว่าประโยชน์จะตกไปสู่สังคม ประชาชน คณานับทีเดียว เหมือนทำบุญให้กับคนและโลกครั้งใหญ่  เพียงแค่มีน้ำใจให้กับวิถีรีไซเคิล สังคมรีไซเคิล นโยบายของทรัพยากรหมุนเวียน จะช่วยโลก และถึงวันยุติที่จะก้าวร้าวทำร้ายโลกลงได้แล้ว วัตถุดิบ แร่ต่างๆ มันไม่ตายนะ เราเองต่างหากที่คิดว่ามันตาย พอเราคิดแบบนี้มันก็จะทำให้เราตายไปด้วยเช่นกัน  แต่ก็ดีใจนะที่รัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกให้ความสำคัญกับการดูแลโลกแล้ว ระบบการจัดการขยะในบ้านเรา วางระบบการทิ้งดี แต่พอเห็นรถขยะเทศบาลมาเก็บ ก็รวมกันไป... เพราะอะไรล่ะ  ยกตัวอย่างคนในกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านพยายามจะแยกขยะ นักวิชาการก็ให้แยกขยะ มีการให้ความรู้ด้านการแยกขยะ ชาวบ้านก็พยายามแยกขยะแต่รถก็มาขนรวมกันไป  ความไม่พร้อมของใคร? ภาครัฐไม่พร้อมไง  ถูกไหม... เท่านั้นยังไม่พอ การเกิดศูนย์รีไซเคิลในกรุงเทพมหานครเกิดไม่ได้นะ  หลายเขตที่เข้าใจเรื่องรีไซเคิลก็เกิดได้  แต่สำนักงานเขตบางเขตไม่เข้าใจเรื่องรีไซเคิล  มาสั่งปิดโรงงานรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ 3 เขตในกรุงเทพและดำเนินคดีอาญา และขึ้นศาล  ผมถามว่าแล้วชาวบ้านที่แยกขยะ จะเอาขยะที่แยกไปส่งตรงไหนล่ะ? ศูนย์รีไซเคิลถูกภาครัฐตั้งข้อหาว่าทำลายทัศนียภาพของเมือง  ผมบอกว่านั่นมันร้านค้าของเก่าโบราณที่ใช้ถนนเป็นโกดัง  ศูนย์รีไซเคิลยุคใหม่เขาทำระบบเป็นดีพาร์ทเม้นท์สโตร์กันแล้ว  มีการแยกหมวดหมู่สินค้า  การแต่งตัวของพนักงานสะอาด  มีวินัย มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม แต่ศูนย์อย่างนี้กลับถูกดำเนินคดีและขึ้นศาลอาญา เมื่อไรหนอประเทศไทยที่มีความคิดกว้างไกลด้านสิ่งแวดล้อมได้มาจุติและมาบริหารบ้านเมือง ให้เมตตาโลก แต่ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นก็เหมือนประเทศไทย ผลักดันศูนย์รีไซเคิลให้ออกไปนอกเมือง ปรากฏว่าขยะท่วมเมืองโตเกียว แต่ตอนนี้สนับสนุนให้ศูนย์รีไซเคิลเข้ามาเปิดในเมืองโตเกียวทำให้ขยะลดลงไป  ไม่ต้องขนขยะ  ซึ่งเป็นความชาญฉลาดของญี่ปุ่นที่รู้จักเปลี่ยนแปลง  ในบ้านเรารัฐบาลใหญ่ก็งานเยอะมากอาจจะมองไม่เห็นงานนี้ซึ่งมันสำคัญมาก ขยะในกรุงเทพวันหนึ่งมีขยะ 9,500 ตัน  ถ้าขนไปกองรวมกันที่สนามหลวง 4 วันเท่ากับตึก 4 ชั้นเลยนะ   ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดที่จะซื้อของด้วย ไม่ใช่ซื้อแต่ของถูก แต่ไม่มีคุณภาพและของนั้นทำร้ายโลก เช่นแบตเตอรี่ที่มาจากจีน  ถูกจริง แต่ซื้อแล้วกลับเป็นสารพิษมาทำโลกอีก นั่นไม่ใช่ฉลาดซื้อ  ฉลาดซื้อต้องเมตตาโลกด้วยนะ ถ้าอย่างนั้นแล้วมีวิธีการทำให้คนเห็นขยะมีมูลค่า ได้อย่างไร คนที่จะคิดเรื่องมูลค่าของขยะ อาจจะพูดได้ว่า “คนทันสมัยเท่านั้นที่จะรู้คุณค่าของขยะ” ไม่ว่าเด็ก  วัยกลางวัน หรือผู้สูงวัย  คนเหล่านี้เป็นคนทันสมัยหรือเปล่า  ถ้าหากว่าเป็นคนทันสมัยละก็ ต้องรู้และเห็นคุณค่าของขยะ ทำอย่างไรคนเราถึงจะคิดและปฏิบัติได้จริงเป็นรูปธรรม  1) ก็ต้องเริ่มจากการให้ความรู้ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัย แทรกเนื้อหาเรื่องการรีไซเคิล หัวใจรีไซเคิล สังคมรีไซเคิล  2) สร้างแนวความคิดอีโคดีไซน์ (ผลิตภัณฑ์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม) ต้องคิดเป็นว่าของแต่อย่าง แต่ละชิ้น ในการบริโภคในชีวิตประจำวัน  สิ่งของต่างๆ เกิดขึ้นบนพื้นฐานอีโคดีไซน์หรือเปล่า  วิศวกรแต่ละโรงงานรู้จักออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไหม  สินค้าทุกคนสามารถนำไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่  ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นขยะอีกต่อไป  รัฐบาลจึงจะออกตราสัญลักษณ์ “ฉลากเขียว” ให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าเป็นสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มโครงการนี้แล้ว  สินค้าที่จะเข้ามาในห้างฯ ทุกชิ้นต้องไม่เป็นวัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ต้องเป็นสินค้าที่อยู่บนพื้นฐานอีโคดีไซน์เท่านั้นจึงจะเข้ามาขายให้ห้างฯ ได้ เห็นไหมเจ้าของห้างฯ ยังตระหนักเรื่องนี้แล้ว ที่น่าจับตามองอีกประเทศก็คือประเทศอังกฤษ  คนเริ่มมีความคิดเรื่องอีโคดีไซน์ทำให้เกิดกระแสว่า ห้างฯ ไหนรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมห้างฯ นั้นก็จะขายดี  ห้างฯ ไหนไม่รับผิดชอบก็จะขายตกไป หรือขายไม่ได้  ขาดทุนจนอาจจะต้องปิดกิจการในอนาคตก็ได้ พูดถึงฉลากเขียว บ้านเรามีการบังคับใช้หรือยังคะ สำนักงานจัดซื้อสีเขียวนานาชาติ  ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันมีการประชุมใหญ่ให้ความรู้เรื่อง “หน่วยงานจัดซื้อสีเขียว” ของทุกๆ รัฐบาลใหญ่ในโลก  ไทยเราก็ไปร่วมประชุม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกำหนดเป็นนโยบายปฏิบัติกันเมื่อไร ถ้าหากว่าองค์กรภาคใหญ่ระดับรัฐบาล  กรม  กระทรวง  หรือสำนักงานต่างๆ  หน่วยงานจัดซื้อเขามีความรู้เรื่องการจัดซื้อสีเขียวนานาชาติ  มีการเข้ามาดูโรงงานรีไซเคิล และก่อนจะซื้อทุกครั้งต้องผ่านการเซ็นชื่อ อนุมัติว่า สินค้าที่จะซื้ออยู่ในมาตรฐานฉลากเขียว  อยู่ในการจัดซื้อสีเขียวได้ เป็นมาตรฐานที่ไม่ทำลายโลก วิศวกรผู้ออกแบบโรงงานทุกโรงงาน ก็ต้องมาเรียนรู้เรื่อง LCA (Life-cycle assessment) ต้องรู้ว่าตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ของเขา ต้องสะดวกต่อการรีไซเคิล ต้องลดการใช้ความร้อน ใช้พลังงานอย่างไร  ลดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร ถึงจะเป็น LCA ได้ ต้องคิดถึงขนาดนี้จึงจะผลิตสินค้าสู่ตลาดผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดที่จะซื้อของด้วย ไม่ใช่ซื้อแต่ของถูก แต่ไม่มีคุณภาพและของนั้นทำร้ายโลก เช่นแบตเตอรี่ที่มาจากจีน  ถูกจริง แต่ซื้อแล้วกลับเป็นสารพิษมาทำโลกอีก นั่นไม่ใช่ฉลาดซื้อ  ฉลาดซื้อต้องเมตตาโลกด้วยนะ   ทีนี้พอมีการปลูกฝังให้ความรู้ความคิดแล้ว ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดการขยะได้บ้างไหม เพื่อช่วยภาครัฐ พูดถึงประชาชน  ประชาชนนี่ล่ะเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นนักรีไซเคิล  เป็นนักจัดการขยะ  โรงงานจัดการขยะที่ทันสมัยที่สุดของโลกอยู่ที่ไหนรู้ไหม โรงงานจัดการขยะที่ทันสมัยที่สุดของโลก จริงๆ แล้วอยู่ทุกมือของประชาชน  และความรู้ที่อยู่ในตัวประชาชน เป็นโรงงานที่ไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆเลย เพียงแต่ 1) ต้องฉลาดซื้อสินค้าที่จะเข้าบ้าน ของที่จะเข้าบ้านต้องรีไซเคิลได้  2) สามารถให้ความรู้ประชาชนในการจัดการแยกขยะรีไซเคิลได้สำเร็จ โดยใช้หลัก “มันมาอย่างไร ก็ให้มันไปอย่างนั้น” เช่นเราไปซื้อของห้างฯบิ๊กซี  โลตัส  แมคโคร หรือแม้แต่ 7 มันมาถุงเล็ก ใส่ถุงหิ้วมานะ มันมาถุงใหญ่ใส่ถุงหิ้วมานะ เราก็มาตอกตะปูไว้ข้างฝาบ้านเรา ถุงใหญ่  ถุงกลาง  ถุงเล็ก ตอก ไว้ แล้วก็เขียนป้ายติดไว้ถุงนี้กระดาษ  กก.ละ 5 บาท ถุงนี้กระป๋องอลูมิเนียม กก.ละ 38 บาท  ถุงนี้กระป๋องสังกะสี กระป๋องกาแฟ กก.ละ 4 บาท  ถุงนี้พลาสติก กก.ละ 20 บาท  ถุงนี้ขวดแก้ว  แล้วก็เขียนชื่อผู้ดูแลรับผิดชอบไว้ด้วยเลย อย่างลูกสาว  ลูกชายของเรา กรณีมีข้อสงสัยติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ นั่นไง เห็นไหมมีนักสิ่งแวดล้อมอยู่ในบ้านของเราแล้ว ทั้งกระป๋องเบียร์ น้ำอัดลม หมดแล้วเราก็เหยียบแบนๆ ใส่ถุงไว้ กล่องกระดาษทำให้แบนๆ มัดรวมกันไว้ ไม่เกะกะ พอได้เต็มถุงก็ใส่รถแท็กซี่ไปขายที่ศูนย์รีไซเคิล ไปทีหนึ่งก็ราวๆ 2,000 กว่าบาท ต่างจังหวัดไม่มีปัญหา แต่กทม.ก็จะรถติดนี่สิ กว่าจะไปถึงก็หมดไปกับค่ารถแท็กซี่  นี่ไงการไม่ยอมมีศูนย์รีไซเคิลในเมือง รัฐบาลมีนโยบายให้แยกขยะจากที่บ้าน แต่บางเขตก็มองเรื่องรีไซเคิลเป็นภาพลบ ก็ไม่รู้อย่างไรเหมือนกัน เคยได้ยินเรื่องธนาคารขยะ วงษ์พาณิชย์มีแนวคิดอะไรในการตั้งขึ้นมา วงษ์พาณิชย์ เป็นต้นกำเนิดธนาคารขยะ  เป็นคนคิดครั้งแรกของโลกที่ตั้งธนาคารขยะประวัติศาสตร์ขึ้นมาที่  ร.ร.เทศบาล 5 วัดพันปี ในปี 1999 ตอนนี้ในประเทศไทยเกิดธนาคารขยะกว่า 2,000 ธนาคาร  มีที่ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ญี่ปุ่น ถึงสหรัฐอเมริกา ธนาคารขยะที่เกิดขึ้นตอนนั้น เป็นปีที่ฟองสบู่แตก ธนาคารต่างๆ ก็ปิดตัวลง เราก็เลยคิดตั้งธนาคารที่มั่นคงที่สุดในโลกขึ้น โดยไม่ใช่เงิน นั่นก็คือการตั้งธนาคารขยะ ไม่ต้องกลัวโจรที่ไหนมาปล้น  เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก อย่างคิดไม่ถึง พอตั้งธนาคารขึ้น 1) เราก็ให้เด็กบริหารจัดการ  มีการเลือกตั้ง ทำให้รู้จักการจัดการ รวมทั้งรู้จักประชาธิปไตย 2) ทำให้เด็กรู้จักการแยกขยะ และนำขยะมาแปลงเป็นเงิน ทำให้เด็กรู้จักการออม รู้จักสิ่งแวดล้อม 3) พอเด็กรู้วิธีการแยกขยะ ก็นำกลับไปบอกที่บ้านให้รู้จักแยกขยะ “ขวดน้ำปลา  กระดาษ ของหนู เป็นเงินค่าขนมของหนู” เด็กเอาไปบอกยายอายุ 70 ให้รู้วิธีการแยกขยะ ซึ่งยายเกิดมา 70 ปียังไม่รู้เลยว่าขยะเอามาขายได้  ให้เด็กเป็นครูให้กับที่บ้านด้วย การลงทุนธนาคารครั้งแรก เอาไม้มากั้นข้างฝา เอาสีเขียวที่ทากระดาษดำไปทาให้สวยๆ หน่อย แล้วติดป้ายว่า “ธนาคารขยะ” ถ้าภาครัฐสนับสนุนให้มีธนาคารขยะทุกโรงเรียน ทุกชุมชน สนับสนุนให้มีการรีไซเคิลขยะ รัฐก็จะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปหาวิธีการจัดการขยะ  ไปซื้อที่ดินหาที่ทิ้งขยะ  เสียดายงบประมาณมาก ขยะมันไม่ตายนะ เอามันไปฝังที่ป่าช้า อย่าคิดว่ามันตายนะ เพียงแต่มันรอวันระเบิดขึ้นมา... “ขอบคุณนะครับที่มาเที่ยวบ้านคนเก็บขยะ” เจ้าสัวราชาขยะทองคำ กล่าวคำลาก่อนจะจากกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 พ.ญ.ปิยะธิดา นางฟ้าของคนเป็นโรคไต

  “เราต้องสังเกตตัวเอง  มีคนไข้บางคนติดเชื้อมา  อย่างเรื่องผ้าเช็ดมือ  ถ้าเราใช้ทุกวันโดยที่ไม่เปลี่ยน  ถึงแม้จะล้างมือสะอาดแล้วแต่พอมาเช็ดมือกับผ้าที่มีเชื้อโรค ก็เหมือนกับไม่ได้ล้างมือ  แล้วพอเรามาปล่อยน้ำยาล้างไต เป็นไงคะ....ก็ติดเชื้อ” เสียงบรรยายนี้ ไม่ใช่วิชาสุขศึกษาในวิชาเรียน  แต่เป็นการทำความเข้าใจการล้างไตผ่านช่องท้องของผู้ป่วยโรคไตร่วมกับญาติ เพื่อผู้ป่วยและญาติจะดูแลกันอย่างถูกต้อง ของ พ.ญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สาขาพร้อมมิตร และสาขาธนบุรี “อ้าว ป้าแมว ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไรคะ” คุณหมอส่งเสียงเจื้อยแจ้วพูดคุยกับผู้ป่วยรุ่นแม่  รุ่นยายอย่างเป็นกันเอง เรียกชื่อได้ถูกต้องทั้งที่เพิ่งแนะนำตัวกันไปก่อนเริ่มการบรรยายทำความเข้าใจ การล้างไตผ่านช่องท้องของผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมารักษาที่นี่ ก่อนตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการนี้   คุณหมอบอกว่าถ้าได้มาหาผู้ป่วย จะคิดถึงและเป็นห่วง  เหนื่อยบ้างแต่สนุกกับการทำงานมากกว่า ได้มาเจอผู้ป่วยว่า “อ้อ ยังอยู่” นโยบาย “PD first policy” สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จึงได้มีการก่อตั้งศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตร  ตั้งแต่วันนั้นศูนย์ล้างไตทางช่องท้องโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีผู้ป่วย  1,297 ราย ผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่กับโรงพยาบาล 750 ราย  ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอยู่ในระดับสองของโลก และกว่า 30 โรงพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายมาที่นี่ ผู้ป่วยที่นี่เยอะ คำถามง่ายๆ เมื่อเดินเข้ามาแล้วเห็นผู้ป่วยจำนวนมาก ทำไมถึงมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตรักษาที่นี่เยอะ คุณหมอจึงแจกแจงว่า ส่วนหนึ่งโรงพยาบาลที่ทำการล้างไตทางช่องท้องอาจจะไม่สะดวกที่จะรักษาให้กับคนไข้บัตรทอง “ความจริงก็ทำกันเป็นหมดละ ทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ แต่อาจจะเป็นเพราะคนไข้บัตรทองเยอะ การที่ต้องเพิ่มจำนวนพยาบาล จำนวนสาขาวิชาชีพอื่นๆ มารองรับ ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องกำลังคน และขาดงบประมาณ การที่ศูนย์ฯของเราสามารถรับได้ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการออกนอกระบบ ทำให้ระบบการบริหารจัดการ ไม่ต้องอยู่ในกฎระเบียบมากนัก เพราะเราเลี้ยงตัวเอง แต่ก็ยังเป็นโรงพยาบาลที่ยังสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณะสุขอยู่นะคะ การบริหารก็ยังอยู่ภายใต้กระทรวง แต่งบประมาณที่ใช้เป็นส่วนที่ทางเราหาได้เองทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็คือความเป็นองค์การมหาชน ไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร    การที่ทำงานบริการอะไรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในองค์กร และให้งานบริการได้ก็สามารถรัน(run) งานได้  ผลกำไรจึงไม่สำคัญเท่าไร งบประมาณก็ไม่ต้องไปขอ  บุคลากรก็ไม่ต้องถูกบีบ จึงทำให้เรารับคนไข้ได้เยอะ” ล้างไตผ่านช่องท้อง ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ การล้างไตทางช่องท้องเป็นการบำบัดทดแทนไตที่มีการให้บริการอยู่แล้วในประเทศ ไทยก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มต้นนโยบาย “PD first policy” แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการทำให้จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวน้อยกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมค่อนข้างมาก แต่เมื่อภาครัฐได้พิจารณากำหนดนโยบาย “PD first policy” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการว่าการรักษาทั้ง 2 วิธี มีอัตราการรอดชีวิตไม่แตกต่างกัน แต่การล้างไตทางช่องท้องมีความเป็นไปได้ในการที่จะดำเนินการให้เกิดการ บริการได้ทั่วประเทศ โดยมีการเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างทั่วถึง และผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐน้อยกว่า  แต่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนต้องเข้าถึงใจจริงๆ “ช่วงแรกๆ คนล้างไตทางช่องท้องน้อย  แต่ช่วงหลังก็มีผู้ป่วยที่เข้าใจและเลือกที่จะทำ อย่างผู้ป่วยที่เข้ามาที่นี่ครั้งแรก เราก็จะทำความเข้าใจเรื่องการล้างไตทางหน้าท้อง พูดถึงนโยบาย  ความแตกต่างของการฟอกเลือดทั้งสองอย่าง แล้วให้เขาตัดสินใจเลือกว่าจะรักษาแบบไหน  การดูแลรักษาสุขภาพควรจะทำอย่างไร  คือผู้ป่วยกับญาติ จะต้องได้รับการอบรมให้ความรู้ด้วยกัน  เพื่อการดูแลที่ถูกสุขอนามัย และลดการติดเชื้อ  60 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาฟังคำแนะนำจะทำ บางคนตัดสินใจนาน เราก็ตามมาฟังต่อ แต่บางคนก็ตายไปก่อนที่จะทำ”   ผู้ป่วยบางคนไม่มีเงินค่าเดินทางมาเรียนล้างช่องท้อง มาหาหมอ ทางโรงพยาบาลเราก็มีเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ป่วยด้วยนะ  ให้เขามาหาเรา  ถ้าเขาแข็งแรงดี สุขภาพดี เขาก็จะมีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตอยู่และทำอย่างอื่นๆได้ ทำมาหากินได้ เอาใจใส่เหมือนญาติมิตร การเอาใจใส่ในความหมายก็คือคุณหมอและทีมงานจำชื่อของผู้ป่วยได้ทุกคนและเอาใจใส่เสมอ “ส่วนใหญ่จะจำได้ เพราะมีความตั้งใจที่จะจำ เพราะงานที่เราทำมันเป็นโรคเรื้อรัง  แล้วการรักษาก็ไม่เหมือนฟอกด้วยเครื่องฟอกไตเทียม ที่ผู้ป่วยมาฟอกที่โรงพยาบาล ถ้าอยากได้งานที่มีคุณภาพเราก็สั่งพยาบาลได้  ไม่ต้องไปสั่งผู้ป่วย  แต่งานล้างไตทางช่องท้อง ถ้าอยากได้งานคุณภาพ เราต้องบอกให้ผู้ป่วยทำ ซึ่งสั่งไม่ได้ เขาจะทำก็ต่อเมื่อเขาคิดว่ามันดีและได้ประโยชน์กับเขา  เราจึงบอกทีมเราเสมอว่า “เราต้องรู้จักผู้ป่วย”  ต้องรู้ว่าเขาจะอยู่เพื่ออะไร  บางคนอยู่เพื่อลูก  บางคนอยู่เพื่อตัวเอง  เราต้องเรียนรู้ผู้ป่วยแต่ละคน ว่าคนนี้ต้องพูดคุยแบบไหน  จะแนะนำอย่างไร  เราต้องเห็นเขา  เราจะสั่งเขาไม่ได้เพราะเขาไม่ใช่ลูกจ้างเรานี่นา จริงไหม” กิจกรรมก็จะเริ่มต้นด้วยการให้คำแนะนำก่อน พอผู้ป่วยเข้ามาฟังเราก็จะให้คำแนะนำเรื่องการล้างไต การดูแลรักษาตัวเอง แล้วก็ต่อด้วย การวางแผนการรักษา ก็จะทำเป็นรายคนไป ทุกคนจะต้องได้รับการวางสายเพื่อล้างไตผ่านช่องท้อง จะต้องผ่าตัดใส่สายยางเพื่อล้างไตหลังจากนั้นอีก 7 วัน  ก็ต้องวางแผนร่วมกับผู้ป่วย บางคนเปลี่ยนจากฟอกด้วยเครื่องมาล้างไตผ่านช่องท้อง ก็ไม่น่าห่วงเพราะเขามีคิวฟอกเลือดอยู่ก็จะไม่ด่วน  อีกกลุ่มก็จะเป็นกลุ่มที่มีของเสียในร่างกายเยอะ เราก็จะดำเนินการกับกลุ่มนี้ก่อนบางคนก็แนะนำให้ฟอกเลือดก่อนที่จะล้างไตทางช่องท้อง หลังจากแผลผ่าตัดแห้งก็เริ่มเรียนการเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยก็จะเรียนการล้างไต ก็จะใช้ตัวเองนี่ละเรียน  จะสอนปล่อยน้ำยาเข้าช่องท้องทิ้งไว้ 2 ชม.แล้วปล่อยออก แล้วก็ใส่เข้าไปใหม่ จะได้คล่อง  แต่ความจริงต้องมีญาติมาเรียนด้วยนะ บางครอบครัวมาทั้งตระกูลเลยก็มีก็ถือเป็นเรื่องดี  ไม่คิดเงินเพิ่มคะ บางประเทศคิดเพิ่มนะเพราะมันเหนื่อย บางคนอยู่คนเดียว ก็ต้องดูแลตัวเอง สังคมเมืองนี่นะ ไม่ดูแลตัวเองแล้วใครจะมาดูแล ตอนเรียนเราก็จะเข้มหน่อยต้องให้ผู้ป่วยล้างไตเองให้เป็นใน 7 วัน  และห้ามไม่ให้ผู้ป่วยสอนกันเองการล้างไตทางช่องท้องมันต้องใช้เวลา แล้วต้องล้างเต็ม 24 ชั่วโมง ถึงจะถือว่าของเสียถูกขับออกมา เพราะเป็นกระบวนการที่ช้าแต่ต่อเนื่อง และด้วยความช้านี่ละทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อหัวใจและไตเก่า  ผู้ป่วยจึงต้องเรียนให้เป็นให้เร็ว  แล้วก็ทำการสอบ  แล้วจึงพาไปส่งบ้านแล้วก็นัดตรวจทุกๆ เดือน ผู้ป่วยบางคนไม่มีเงินค่าเดินทางมาเรียนล้างช่องท้อง มาหาหมอ ทางโรงพยาบาลเราก็มีเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ป่วยด้วยนะ  ให้เขามาหาเรา  ถ้าเขาแข็งแรงดี สุขภาพดี เขาก็จะมีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตอยู่และทำอย่างอื่นๆได้ ทำมาหากินได้ เราก็มีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เป็นทีมนักวิชาการสาธารณสุข 750 คน ทยอยออกเยี่ยมบ้านทุกๆ 3 เดือน เพื่อไปดูการเปลี่ยนน้ำยาที่บ้าน  สภาพแวดล้อมที่บ้าน สังคม  ฐานะทางครอบครัว  เพื่อช่วยประสานงานให้ความช่วยเหลือกับองค์กรอื่นๆด้วย  เยี่ยมบ้านทีเราก็แบ่งออกเป็นสาย แบ่งๆ กันไป เพื่อให้ทันสถานการณ์เราก็มีโทรศัพท์สายด่วน บริการให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมง ให้คำปรึกษาเวลาฉุกเฉิน  เพราะเราเชื่อว่า “ผู้ป่วยทำได้ ถ้าหากเขาเข้าใจ เรามีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจว่าต้องเข้าใจเรื่องอะไร” ผู้ป่วยต้องรู้เพราะเขาเปลี่ยนน้ำยาเองที่บ้าน เราจึงเชื่อว่าทุกคนทำได้ถ้าหากเข้าใจ  ไม่เกี่ยงว่ารวยแล้วถึงจะเข้าใจ คนจนก็เข้าใจได้  บางคนจบ ป.4 ก็เปลี่ยนน้ำยาได้ไม่เห็นติดเชื้อเลย เป็นหน้าที่ของผู้สอนมากกว่าที่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้าใจ  เราต้องเอาใจใส่เขาไม่ใช่ไปสั่งเขาว่าต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้  ไม่มีใครทำแน่นอน เรามีอาสาสมัครด้วยนะ เป็นผู้ป่วยโรคไตนี่ละมาช่วยเราที่โรงพยาบาล  ช่วยทำกิจกรรมนักกำหนดอาหาร ดูแลผู้ป่วยในเรื่องอาหาร และเฉพาะกลุ่มบางคนต้องเสริมโปรตีน ต้องกินอะไรบ้าง เพื่อดูแลด้านโภชนาการของผู้ป่วย อีกกิจกรรมของอาสาสมัครก็คือ กิจกรรมรักตัวกลัวบวม ทำกิจกรรมเฉพาะคนที่ตัวบวม ให้เรียนรู้กันในกลุ่ม เพื่อลดอาการบวม ภาวะน้ำเกินของผู้ป่วย พอเห็นเพื่อนลดได้ก็จะมีกำลังใจในการดูแลตัวเอง  กำลังใจสำคัญมาก ถ้ามีกำลังใจก็จะลุยชีวิตต่อได้ เราพาผู้ป่วยไปเที่ยวด้วยนะ ปีละ 2 ครั้ง ก็ใช้งบโรงพยาบาลนี่ล่ะ ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างกำลังใจ เพราะผู้ป่วยที่อยู่กับโรคเรื้อรังมาเป็นเวลานานแล้วมันจะรู้สึกแย่ ท้อแท้ การที่เขาได้ออกมาเรียนรู้มาเห็นคนอื่นๆ ที่เป็นคล้ายๆ กัน  ได้ไปเที่ยวด้วยกัน ก็จะเติมกำลังใจกันให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อไปได้  มันเป็นการสื่อสารโดยไม่ต้องใช้ภาษา   ความเท่าเทียม 3 กองทุนเรื่องการฟอกไต มันพูดยาก ความเท่าเทียมกันไม่ได้หมายความว่าทั้ง 5 นิ้วต้องเท่ากัน  มันมีเงื่อนไขทางสังคม ทางเศรษฐกิจ  บางอย่างต้องใช้เวลา บางอย่างในกระดาษเขียนว่าเท่ากัน  แต่พอปฏิบัติจริงกลับไม่เท่ากัน สมมติอยากได้การฟอกเลือดฟรีทั้งประเทศ  แต่เอาเข้าจริงคนที่ฟอกเลือดไกลๆ คุณรู้ไหมว่าไตเทียมที่คุณฟอกเลือดอยู่อาจจะไม่มีคุณภาพ  เพราะตรวจไม่ทัน เพราะเครื่องไตเทียมอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนเยอะ  ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อการกุศลค่ะ  ทำเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ผลกำไร ไตเทียมต้องการพยาบาลเฉพาะทางปัจจุบันมีแค่ 1,200 คน ที่กำหนดชัดเจนว่าจำนวนกี่คนต่อเครื่อง  ถ้ามีคนไข้เท่านี้คนจะต้องมีพยาบาลกี่คน ถ้าอยากได้ในกระดาษเท่ากัน เขาก็จะจัดให้เท่ากัน แต่สิ่งที่ได้อาจจะไม่ได้คุณภาพ เพราะฉะนั้นส่วนตัวคิดว่ามันต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา ที่อยากให้ในกระดาษมันเขียนเท่ากัน แต่หารู้ว่าบางทีสิ่งที่มันเกิดมันไม่เท่ากันจริง  ถ้าไปยืนดูไตเทียมที่แยกอนุสาวรีย์ชัย  กับไปยืนดูไตเทียมที่จังหวัดขอนแก่น  มันไม่เท่ากันแบบอันตรายได้ คำว่าเท่ากันมันลึกซึ้งเกินกว่าจะมาเขียนบนกระดาษและบอกเพียงว่าต้องเท่ากัน  คงจะกินเวลาไม่นานนี้หรอกสิทธิน่าจะเท่ากัน  แต่บางทีก็อาจจะห่างกันขึ้นนะ ผู้ป่วยที่เป็นหลังวันที่ปี 51 ต้องล้างไตทางช่องท้องก่อนถึงจะสามารถฟอกเลือดโดยไม่ต้องร่วมจ่าย  แต่ก็นั่นล่ะอีกส่วนผู้บริการเองก็เกรงว่าจะให้บริการไม่ทัน ทั้งเครื่องมือ ทั้งบุคลากร  ก็ต้องใช้ระยะเวลา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 กรุงเทพเมืองจักรยาน ความฝัน...ที่ไม่ไกลเกินฝัน

“ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ”   ฉลาดซื้อฉบับนี้ “พาคุณ” ไปขี่จักรยานกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กับโครงการดีๆ จักรยานกลางเมือง ซึ่งมูลนิธิโลกสีเขียวทำงานสองส่วนนั่นก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน และการทำแผนที่ทางจักรยาน  มาค่ะ มาปั่นไปพร้อมกับเธอ   ขี่จักรยานแก้ปัญหาเมืองได้อย่างไร 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจักรยานถูกพูดถึงในทิศทางการพัฒนาเมือง อาจจะยังไม่เป็นกระแสหลัก เริ่มจากบทความ แมกกาซีน   เพราะจักรยานสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในสังคมได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความเหลื่อมล้ำ  พื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันก็มีหลากหลายกลุ่มเกิดขึ้นมาใหม่  ติดต่อกันเป็นโครงข่าย เพื่อจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมือง   ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ   คนที่เริ่มขี่จักรยานใหม่ๆ หลายคนเริ่มที่เหตุผลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  พอเริ่มขี่จักรยานชีวิตคุณก็จะเริ่มเปลี่ยน  มีการทักทายกัน พูดคุยกัน เกิดเป็นชุมชน ไปแตะรากของปัญหาต่างๆ ทั้งความไม่มีชุมชน สิ่งแวดล้อมไม่ดี  ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ไม่มีเวลา แต่พอได้เปลี่ยนมาใช้จักรยาน ทุกปัญหาก็จะถูกแก้ไปเอง   เมืองจักรยานตอนนี้ที่อื่นมีไหม จากการเริ่มต้นของหลายๆ เมืองอย่างโบโกต้า ที่มี “เมืองไบซิเคิลซันเดย์” ซึ่งเป็นวันที่มีการปิดถนนเพื่อให้เป็นเมืองจักรยาน คำว่าเมืองจักรยานไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องขี่จักรยาน แต่เป็นเมืองที่ทุกคนสัญจรได้อย่างไม่เบียดเบียนกันและกัน ขับรถยนต์ก็ได้แต่ต้องไม่ปล่อยให้รถยนต์เข้ามายึดชีวิต  และรัฐต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดี พอเราดูบทเรียนจากที่อื่นๆ เราก็จะเห็นว่าการที่จะส่งเสริมเมืองจักรยานก็ต้องอาศัย “เจตจำนงทางการเมือง” ต้องอาศัยแนวความคิด  ต้องเกิดการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์  เพราะว่าพวกเราเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเมืองที่ถูกเปลี่ยนเป็นรถยนต์ ถนนก็สร้างให้รถยนต์  ทั้งที่ถนนเป็นของทุกคน  ใช้ภาษีของเราในการสร้าง  เราก็ต้องสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยให้รถยนต์เข้าใช้หมด กรุงเทพฯ เรากลายเป็นเมืองที่ถูกรถยนต์บุกรุกไปแล้ว ต้องมีการขยายถนน ไล่รื้อบ้านของชาวบ้านเพื่อสร้างถนน ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน โบโกต้าสร้างความเปลี่ยนแปลงของเมืองโดยให้ “คนเป็นศูนย์กลาง” ไม่ใช่ให้ “รถยนต์เป็นศูนย์กลาง” ถ้าพัฒนาเมืองให้รถยนต์ก็จะไม่ได้เมืองให้กับมนุษย์  แต่ถ้าจะพัฒนาเมืองให้มนุษย์ก็จะไม่สามารถให้รถยนต์สบายที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องเลือกว่าจะพัฒนาอะไร หลายๆ เมืองทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จเรื่องการใช้จักรยานจะเห็นเลยว่ามีปัจจัยเดียวกันคือ มีโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่ขี่ถึงกันทะลุปรุโปร่ง เราไม่ได้ต้องการทางจักรยานที่สวยหรือแพงๆ แต่เป็นทางที่รู้จักผสมผสาน อาจจะแบ่งเลนหรือเป็นส่วนหนึ่งของถนนก็ได้  และควรจะมีข้อบังคับต่างๆ เช่น ประกาศจำกัดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนใช้ถนน และการเก็บภาษีค่ารถติด เช่นที่สิงคโปร์ ลอนดอน และหลายๆ เมืองทำอยู่   การจะเป็นเมืองจักรยานได้ต้องทำอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องเริ่มคือเริ่มเปลี่ยนความคิดคน ปลุกเร้าจินตนาการขึ้นมาให้ได้ เพราะต้องสร้างความเข้าใจ  แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน ต้องมีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน  นั่นคือต้องให้คนได้ลิ้มรสเมืองจักรยานก่อน  มานับหนึ่งปิดถนนกันที่เมืองเศรษฐกิจก่อน เพราะเราต้องการให้คนเห็น แรกๆแม่ค้าอาจจะต่อต้านเหมือนที่อื่นๆ ที่ห้ามรถยนต์เข้า แม่ค้าก็กลัวจะขายของไม่ได้ แต่ที่ไหนได้กลับขายดีกว่าเดิม  เพราะจักรยานสามารถไปได้ทุกที่ เราจึงต้องพยายามทำ “คาร์ฟรีซันเดย์” ช่วงแรกมีการประสานงานกับ กทม.ปิดที่ถนนสีลม  แต่ปิดถนนแค่เลนเดียว คนก็ยังไม่ตื่นตัว แล้วก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนที่แบบนี้ ตัวเราเองมองเป็นการขี่จักรยานพาไปเที่ยว  ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมของเรา ไม่ใช่ความหมายของเรา เป็นการเหนื่อยเปล่าๆ เราอยากทำอยู่ที่เดิม ให้คนได้รู้ คล้ายกับตลาดนัดมากกว่า อย่างเมืองจาการ์ตา(ประเทศอินโดนีเซีย) จากนัดทุกเดือนตอนนี้กลายเป็นทุกอาทิตย์ไปแล้ว บนถนนมีคนเดิน มีคนปั่นจักรยาน เด็กๆ วิ่งเล่นได้ เต้นรำได้บนถนน กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ  และจะเกิดการยอมรับและสร้างระบบ อย่างในจาการ์ตามีระบบคาร์พูล สามารถโบกรถแล้วขึ้นมาด้วยกันได้ แต่ถึงที่สุดแล้วการจะพัฒนาสู่ความเป็นเมืองจักรยาน ก็ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง อย่างโบโกต้า ก็มีปัญหารถยนต์ขึ้นมาจอดบนฟุตบาท รถติด  แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาก็สร้างระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมาตรฐาน เกิดโครงข่ายขนส่งมวลชน แต่รถยนต์ก็จะเข้าถึงได้ในบางพื้นที่ โครงข่ายที่ขนส่งที่จะเข้าถึงทุกพื้นที่ก็คือจักรยานนั่นเอง ต้องเปลี่ยนทัศนคติให้คนไม่รำคาญจักรยาน  และทำให้คนที่มีรถยนต์ใช้รถยนต์ให้น้อยลง  ไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้  เพราะส่วนหนึ่งก็จำเป็นแต่ใช้ให้เป็นเครื่องมือไม่ใช้เพราะเป็นทาสมัน  คนที่นั่งอยู่ข้างในรถต้องเปลี่ยนความคิดเพราะคุณกำลังเบียดเบียนคนอื่นอยู่   เริ่มต้นการเป็นนักปั่นในเมืองอย่างไรดี ในขณะที่เมืองบ้านเรายังไม่อำนวยทั้งถนนหนทาง เราก็ต้องปรับ ต้องทำอย่างผสมผสาน ทั้งขี่จักรยาน ขึ้นรถไฟ อย่างส่วนตัวใช้จักรยานพับ บ้านอยู่สุขุมวิท ก็ปั่นจากถนนที่บ้าน  มาขึ้นรถไฟใต้ดินที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ลงที่หัวลำโพง แล้วก็ปั่นจักรยานมาที่ทำงาน  ถ้าเราจะทำยังไงมันก็ต้องมีหนทางให้มาจนได้  ลองแล้วจะรู้ว่ากรุงเทพฯ มันไม่ได้ไกล แต่ที่รู้สึกว่ามันไกลก็คือรถมันติด  คนส่วนใหญ่ก็จะขี่เฉพาะใกล้ๆ แต่ก็ต้องขี่ให้ได้ทั้งใกล้และไกล อย่างที่ทำงานก็มีคนขี่จักรยานมาทำงานครึ่งหนึ่งของพนักงานที่เรามีเลยทีเดียว   ทางจักรยานบ้านเรามีไหม การพัฒนาเมืองต้องมีแผนการพัฒนา  ต้องมีเรื่องจักรยานเข้าไปด้วยในแผน  ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการพัฒนาเมืองเพื่อรถยนต์ วันหนึ่งเกิดอยากจะมีการทำทางจักรยาน ก็ทำให้แล้วคนทำ คนวางแผนไม่ได้ใช้ พอทำเสร็จแล้วก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนไม่ใช้ก็มันใช้ได้ไหม ขี่จักรยานไปแล้วก็ต้องยก  ต้องแบกจักรยาน หรือขี่ๆ ไป อ้าวมีสะพานลอยโผล่มา   ซึ่งการจะพัฒนาตรงนี้ก็ต้องให้คนใช้มาบอก มาช่วยคิด ซึ่งมันง่ายมาก ตอนนี้มูลนิธิโลกสีเขียวเราก็ทำเส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ โดยใช้ข้อมูลของคนที่ขี่จักรยานใช้กันอยู่ ใครอยู่ส่วนไหนก็แบ่งโซนกัน แล้วก็นำข้อมูลแต่ละโซนมารวมกัน  จะมีอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยต่อเติมในเส้นทางในส่วนที่เส้นทางยังเชื่อมกันไม่ได้ แล้วก็จะได้เป็นโครงข่ายเส้นทางจักรยานเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะนำเสนอเส้นทางตัวอย่าง 2 เส้นทางต่อรัฐเพื่อให้ปรับปรุง เส้นทางแรกก็เส้นคลองไผ่สิงโต ชื่อว่ากรีนเวย์ เป็นเส้นทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมสวน 2 แห่ง เป็นเส้นที่ดีในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ในระยะทางกิโลกว่าๆ ที่ต้องแบกจักรยานขึ้น – ลง บันไดถึง 6 ครั้ง แล้วบางจุดชันมาก  อีกเส้นก็คือถนนทรงวาด ซึ่งมีการทำเป็นถนนวันเวย์เยอะมาก จักรยานไม่ควรที่จะวันเวย์ เพราะมันจะอ้อม แต่ควรจะขี่ไปมาได้เลย   ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบว่าการที่รัฐทำเส้นทางจักรยานแล้วคนไม่ใช้ ซึ่งมันไม่ใช่  เพราะว่ามันใช้ไม่ได้ต่างหาก พอเราเสนอเส้นทางที่มีคนใช้อยู่แล้วก็น่าจะเป็นรูปธรรม  ให้รัฐพัฒนาเส้นทางจักรยานต่อไปได้   ถ้าจะเมืองจะเปลี่ยนไปใช้จักรยาน แล้วรถยนต์จะเป็นอย่างไร พอกลุ่มจักรยานเริ่มชัด ก็จะมีการออกมาเคลื่อนของกลุ่มรถยนต์ว่า “อยู่ในรถยนต์ปลอดภัยกว่า” แต่ก็จะมีบริษัทรถบางเจ้าที่ฉลาด พวกที่ไม่ฉลาดก็จะมองเราเป็นศัตรูที่จะทำอุตสาหกรรมของเราพัง แต่ถ้าฉลาดอย่างบริษัทรถในแคนาดาก็จะทำรถยนต์แนวกรีน  และมุ่งการขายรถยนต์ไปที่กลุ่มคนขี่จักรยาน อาจจะทำที่ใส่จักรยาน ย้อนมองมาในบ้านเราถึงแม้จะมีนโยบายรถคันแรกที่ทำให้ซื้อรถคันแรกได้ถูก  แต่ก็ไม่ได้มีแนวทางในการใช้  เพราะมุ่งเน้นที่จะขายรถอย่างเดียว ในขณะที่เราลดภาษีรถยนต์แต่ขอโทษทีจักรยานคุณภาพดีราคา ไม่แพง ต้องเสียภาษีนำเข้าเข้า  30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บ้านเรายังไม่มีนโยบายอุดหนุนนโยบายสีเขียวเลยที่จะอุดหนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่เรากำลังพูดถึงพื้นที่ของถนน ที่เป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้นะ ก็อือ...นะอะไรกันนี่...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 อย่าช่างมันเถอะ แม้เป็นอุบัติเหตุ

“ความเชื่อเรื่องเคราะห์ อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็คิดนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้ และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ คนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” ธิติยา ไชยศร หรือ ครูบิว ครูสอนพิเศษคณิตศาสตร์ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นใน Mansion 7 บูติค ทริลเลอร์มอลล์ ส่วน Playground Zone เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2554 เวลา 21.30 น. ซึ่งเธอได้ทำตามคำแนะนำและกติกาการเล่นที่พนักงานคุมเครื่องเล่นแนะนำก่อนการเล่นทุกอย่าง ทั้งสวมหมวกกันน็อค สนับข้อศอก และสนับเข่า เป็นอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุในขณะเล่นเครื่องเล่น “ป๊อก....” “เราได้ยินเสียง ตอนเราตกลงมา แต่ก็ไม่รู้ตรงส่วนไหน พอจะลุกรู้แล้วว่าข้อมือน่าจะหัก เพราะเราบังคับแขนไม่ได้ พอรู้ก็นอนอยู่ท่าเดิม”   ธิติยา ตกเครื่องเล่นลงมา สนับข้อศอกซ้ายที่ใส่อยู่เลื่อนหลุดมากระแทกกับข้อมือซ้ายหัก เจ้าหน้าที่ Mansion 7 บอกกับเธอว่าจะดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงพาเธอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 แพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกข้อมือซ้ายหัก ต้องเข้าเฝือก ผ่าตัดใส่เหล็กยึดกระดูก และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงพยาบาลประเมินค่าใช้จ่ายมา 60,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงให้เธอช่วยสำรองจ่ายไปก่อน เธอเห็นท่าไม่ดีจึงขอย้ายโรงพยาบาลไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เสียค่ารักษา 2,465 บาท เธอได้แจ้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลราคาใหม่ให้กับ Mansion 7 ทราบ เจ้าหน้าที่รับเรื่องและบอกว่าจะดำเนินการชดเชยเงินค่ารักษาพยาบาลให้เธอ แต่กว่าจะได้ 2,465 บาท ก็ช่างยากเย็น หลังจากโทรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไปสักระยะก็ดูจะไม่มีอะไรคืบหน้า เธอจึงทำหนังสือถึงกรรมการบริหารของ Mansion 7 จึงจะได้เงินชดเชยมา ปลอดภัยเมื่อใช้ ไม่ใช่แค่มีการเล่นเครื่องเล่น เธอต้องขึ้นไปนั่งข้างบนที่นั่งที่เป็นตัวสัตว์ต่างๆ และแกนกลางเป็นสปริง โยกไป โยกมาได้ และใช้วิธีการโยก เพื่อที่จะไปอีกย้ายตัวเอง ไปนั่งอีกตัวข้างหน้า “เราก็เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ มีการป้องกันก็จริง เราก็มองว่าเขาเองก็พยายามป้องกันแล้ว แต่มันเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม โอกาสที่จะเกิดอันตรายนั้นมีมาก อย่างเราตกลงมาก็ข้อมือหักเลย” การรองรับการตกของผู้เล่นนั้น พื้นเป็นเบาะยิมนาสติก 2 ชั้น แล้วมีโฟมรองอยู่ด้านบน “ส่วนตัวแล้วก็มีการป้องกันดีนะ แต่สนับก็น่าจะมี Size ไว้รองรับกับคนที่มาเล่นที่หลายๆ ขนาด หรืออาจจะกำหนดความสูงของคนเล่น สูงเท่านี้เล่นได้ สูงเท่านี้เล่นไม่ได้ เพราะมีผลต่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย คือมันเป็นลักษะการเล่นที่ต้องตก จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่ตก แต่ว่าพอตกลงมาควรจะมีอุปกรณ์อะไร ชนิดไหน มารองรับการตกของเราให้ปลอดภัย ซึ่งถ้ามองดูกรณีของเรา สนับแขนก็ตกลงมาที่ข้อมือแล้วและกลายเป็นว่าทำให้ข้อมือเราหัก แบบนี้มันจะปลอดภัยได้ไง” ตอนนี้เครื่องเล่นนี้ Mansion 7 ได้นำออกไปแล้ว และนำของเล่นใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเครื่องเล่นจะถูกหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ   ดูแลเหมือนเรื่องเกิดในบ้านตัวเอง “ตอนเราไปเล่น เราซื้อบัตรเข้าไปเล่น ก็น่าจะรับผิดชอบให้รวดเร็วด้วย เหมือนมีคนมาบาดเจ็บในบ้านเรา ถ้าเป็นเราจะนิ่ง จะเงียบ จะเฉยไหม ก็ต้องดูแลกันให้ดีที่สุด กว่าจะได้เงิน 2,465 บาท นี่ก็นานค่ะ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เราเสียไปจริง ก็แค่อยากจะให้เขารับผิดชอบในส่วนนี้เท่านั้นจริงๆ เรื่องรายได้ที่เราต้องเสียไปก็ถือซะว่าฟาดเคราะห์ แต่พอเริ่มกินเวลานานเข้า เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ละ คือเขาต้องแสดงความรับผิดชอบกันหน่อย เพื่อนที่เป็นทนายก็แนะนำว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ก็เลยร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” “คำบอก” จากหลายๆ “คำบอก” ของผู้บริโภคที่มีปัญหากับผู้ประกอบการ ก็คือการแสดงความรับผิดชอบ การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เกิดความเสียหายขึ้น จะมากจะน้อยไม่สำคัญ สำคัญเพียงแค่ได้พยายามแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นแล้วหรือยัง รู้สิทธิ ใช้สิทธิ ธิติยาเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมือวันที่ 15 พฤศจิกายน 54 และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทลานกลางเมือง จำกัด ซึ่งเธอยื่นเรียกค่าเสียหายรวม 54,200 บาท แบ่งออกเป็นค่าอุปกรณ์การรักษารวมกับค่าเดินทาง 3,800 บาท ค่าขาดรายได้จากการเป็นครูสอนพิเศษที่โรงเรียนบ้านคำนวณ สยามสแควร์ 51 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 20,400 บาท และจากการสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวอีก 20 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 200 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท รวมทั้งจากการสอนพิเศษแบบกลุ่มย่อย ที่ จ.ตรัง อีก 40 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 16,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,400 บาท ซึ่งแพทย์ได้ลงความเห็นให้เธอพักฟื้น 2 เดือนนั่นคือ 18 ก.ย. – 17 พ.ย. 54 ค่าเสียหายที่สำคัญอีกอย่างที่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ต้องไม่ลืมก็คือ ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ทั้งการปวดแผล ความเครียด ขาดการดูแลจากผู้ประกอบการฐอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เธอไม่ได้ไปเรียนและสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ตามเวลาที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับปริญญาโท คิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 10,000 บาท “ทางมูลนิธิฯ ก็ช่วยจัดการประสานงานให้จนเกิดการเจรจาชดเชย แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไร ยังมีค่าผ่าตัดนำเหล็กที่ข้อมือออกอีกใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนนี้เราไปให้โรงพยาบาลประเมินมาแล้วอยู่ที่ 60,000 บาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกเยียวยาหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องอนาคตเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผ่าตัดแล้วแผลจะอักเสบไหม จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอีกเท่าไร ถ้าหากว่าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องสู้ต่อในชั้นศาลค่ะ ซึ่งต้องเร่งให้เรื่องจบก่อน 1 ปี เพราะตอนนี้อายุความก็เกือบจะหมดแล้ว” เรื่องของธิติยาเกิดขึ้นก่อนมหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอเองก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ครั้นมหาอุทกภัยผ่านไปแล้ว การเยียวยาจากคู่กรณียังคงเจรจากันอยู่ “ตอนเราป่วย ยอมรับว่าทางบ้านลำบากค่ะ คือเราไม่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครอบครัว เพียงแต่เราดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาได้มาก็ส่งให้ครอบครัวบ้าง แต่พอเราป่วยเราทำงานไม่ได้ แล้วงานเราเป็นงานรายชั่วโมง ไม่สอนก็ไม่ได้เงิน พ่อกับแม่ก็หยิบยืมเงินก้อน เพื่อที่จะส่งมาให้เรา ตอนนี้ก็ทยอยใช้หนี้ไป”   สะเดาะเคราะห์ด้วยความรู้ ธิติยาบอกว่าตอนเธอทำหนังสือไปถึงกรรมการบริษัทนั้น ทำเพราะต้องการความยุติธรรม ยังไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิ หลังจากรู้ข้อมูลว่าการทำหนังสือไปถึงคู่กรณีนั้นควรจะลงส่งจดหมายแบบลงทะเบียน หรือส่งแบบมีใบตอบรับ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจดหมายที่ส่งไปนั้นได้รับหรือไม่และใครเป็นคนรับเก็บไว้เป็นหลักฐานในการติดต่อประสานงาน “ความเชื่อเรื่องเคราะห์ ส่วนหนึ่งก็เป็นความเชื่อที่อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็เชื่อนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ ความคิดเราจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน แรกๆ ก็ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไร แต่มันเริ่มนานไป เราก็เลยอยากให้แสดงความรับผิดชอบบ้าง อีกมุมก็คือเรารู้สิทธิของเราแล้ว บิวคิดว่าคนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” คุณครูสอนพิเศษ ฝากทิ้งท้าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 135 หนึ่งบทเรียนจากการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

“ผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประกันชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน...” ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อท่านหนึ่ง ได้แนะนำบุคคลน่าสนใจเข้ามา เพราะไปพบเรื่องราวการต่อสู้ที่เว็บไซต์ของ  www.pantip.com เขาเป็นผู้บริโภคอีกคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเองในกรณีเกี่ยวกับการประกันชีวิต เชิญมาติดตามกันค่ะ คุณทรงกฤษณ  ศรีสุขวัฒนา  เป็นอีกคนที่วางแผนและมองการณ์ไกลเรื่องอนาคต หลังการฟังคำแนะนำ ของตัวแทนบริษัทประกันชีวิต AIA (บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด) โดยใช้แผ่นพับแนะนำที่เรียกว่า  21 TMAE เรื่องแผนการออมเงินในรูปแบบของการทำประกันชีวิต เขาจึงตกลงใจทำสัญญาประกันชีวิต 21 ปี วงเงินประกัน 300,000 บาท เมื่อวันที่  4  สิงหาคม 2532 ในขณะที่เขาอายุ 31 ปี  โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนตามเอกสารแนะนำดังนี้   1.ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  10  %  ของวงเงินประกัน  ทุก  3  ปี  รวม 6 ครั้ง โดยจะได้รับเงิน  สิ้นปีที่ 3, 6, 9, 12, 15, และ 18  และได้รับเงินคืน  เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21  เป็นเงิน  40 %  ของวงเงินประกัน 2. เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับทุนประกันเพิ่มประมาณ 10  %  ของวงเงินประกันทุก  3  ปี  สะสมรวม  7  ครั้ง  เป็นเงินประมาณ  70 %  ของวงเงินประกัน 3.เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับเงินปันผลเมื่อครบกำหนดสัญญาประมาณ 30  % ซึ่งเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  รวมประมาณ  140 %  ของวงเงินประกัน  (40%+70%+30% = 140%)  (วงเงินประกัน  300,000 X 140 % = 420,000 บาท) ซึ่งเขาต้องจ่ายเบี้ยฝากสะสมเป็นรายปี  ปีละ  20,301 บาท  เป็นเวลา  21  ปี  เป็นเงินเบี้ยฝากสะสม  รวมทั้งสิ้น  426,321 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินที่จะได้รับแล้ว เขาจ่ายเงินส่วนต่างไป 6,321 บาท แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาของกรมธรรม์   21 ปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ทางบริษัทฯ ทำจดหมายแจ้งคุณทรงกฤษณมาว่า จะจ่ายเงินให้  405,000 บาท  ซึ่งน้อยกว่าในสัญญาที่ควรจะได้ 15,000 บาท คุณทรงกฤษณจึงทำหนังสือทวงถามทางบริษัทให้ชำระเงินส่วนที่เหลือตามกรมธรรม์  ต่อมาบริษัทฯได้ทำหนังสือชี้แจงการจ่ายเงินเบี้ยประกันให้กับคุณทรงกฤษณ  จึงทำให้ทราบว่ากรมธรรม์ ที่  บริษัท  AIA  ออกให้เมื่อวันที่  8  สิงหาคม  2532  นั้น  บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกัน เป็นไม่น้อยกว่า  6 %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้น้อยกว่าในแผ่นพับแบบ  21 TMAE ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี สุดท้ายจึงฟ้องบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ในคดีผิดสัญญา(ประกันชีวิต)  ที่ศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 40,894.52 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  โดยอ้างอิงแผ่นพับการเสนอขายประกัน 21 TMAE ที่ตัวแทนบริษัทประกันยื่นขาย เป็นหลักฐาน ภายหลังการพิจารณาคดีศาลพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ต้องจ่ายเงินคืนให้คุณทรงกฤษณ จำนวน 40,894.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันทวงถาม จนถึงวันยื่นฟ้อง ฟ้องเพื่อยกเป็นมาตรฐาน “ทางบริษัท AIA เขายื่นอุทธรณ์ผมเขียนยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว  การต่อสู้ในศาลทางบริษัทจะต่อสู้ว่าโบรชัวร์ไม่ใช่ของบริษัทของเขา แต่ผลสุดท้ายศาลก็ตัดสินให้ผมชนะ การต่อสู้ของผมครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อตัวเองเลย เพราะการเสนอขายประกันของบริษัท AIA  ที่เรียกว่า แบบ  21 TMAE นั้น  นอกจากจะขายให้ผมแล้วน่าจะขายให้กับคนอีกมาก และอาจจะเกิดปัญหาคล้ายๆ กับผม ก็น่าจะใช้เกณฑ์นี้ยื่นฟ้องศาลได้เช่นกัน ตอนแรกบริษัททำจดหมายแจ้งว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงิน 405,000 บาท แทนที่จะเป็น 420,000 บาท แบบที่คิดคำนวณ  ก็มีส่วนต่างอยู่ 15,000  บาท  พอผมทำจดหมายทวงถามไปก็ได้จดหมายชี้แจงมาทำให้ผมรู้ว่า บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกันเป็นไม่น้อยกว่า  6   %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้  น้อยกว่าในแผ่นพับ แบบ  21 TMAE  ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี ในปีแรกๆ จะจ่ายให้ 10.5 % ซึ่ง 0.5 % ที่เกินมาเป็นการกระตุ้นการขาย แต่พอช่วงหลังใกล้หมดสัญญาประกัน ก็จ่ายที่อัตราขั้นต่ำ 6%  เป็นระยะเวลา 3 งวด ผมจึงคิดส่วนต่างตรงนี้ เป็น 12% แล้วยื่นฟ้องต่อศาล การทำธุรกิจประกันภัยต้องคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก  แผนทางการเงินในเอกสารเสนอขายประกันกับสัญญากรมธรรม์ต้องเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งการที่ตัวแทนขายประกันหรือแผนทางการเงิน  ที่ไม่ได้บอกความรับผิดชอบสูงสุดในการจ่ายคืนเบี้ยประกันไว้ ก็หมายความว่าเสนอขายเท่าไรก็ได้  แต่สุดท้ายเมื่อครบกำหนดกรมธรรม์กลับบอกว่ารับประกันขั้นต่ำตามกรมธรรม์  ซึ่งถือเป็นการตีความฝ่ายเดียว แล้วประชาชนจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องฟ้อง คำพิพากษาจะมีค่ามากเพราะประชาชนได้ประโยชน์ และเป็นหัวใจในการต่อสู้ครั้งนี้  ที่สำคัญคือผมต้องชนะ  ไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง  แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐาน  และสร้างมาตรฐานให้ระบบประกันถ้าปล่อยไปแบบนี้มีปัญหาแน่นอน  ต่อไปถ้าตัวแทนเดินเข้าบ้านใครก็คงต้องถูกด่า เพราะคนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกัน ส่วนตัวผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน   บริษัทประกันต้องมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ การแก้ปัญหานั้นต้นตอมันอยู่ที่บริษัทประกัน  ต้องมีจริยธรรม  บางทีพอเรารู้เรื่องการคืนเบี้ยประกันไม่ตรงกับแผนทางการเงินในแผ่นพับแล้ว  แต่ยังไม่ครบกำหนดกรมธรรม์เราจะหยุดจ่ายก็จะกลายเป็นว่าเราผิดสัญญา  แต่ถ้าเราจ่ายต่อจนครบสัญญากรมธรรม์แล้วไปฟ้องศาล  ก็จะเป็นข้อต่อสู้คดีของเขาว่ารู้มาตั้งหลายปีแล้วยังยอมจ่ายก็จะมีการอ้างว่าเรายอมรับในเงื่อนไขนั้นแล้ว  ก็กลายเป็นว่าภาระตกอยู่ที่เราอีก การฟ้องศาลจึงดูจะเป็นทางออกในการสู้  ใครที่เกิดปัญหาต้องสู้เพื่อให้บริษัทเกิดคุณธรรม  จริยธรรม ยิ่งมีการฟ้องมากขึ้น  ภาพและคำถามที่ตามมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้  ก็จะช่วยสร้างทางออกได้   ศาลผู้บริโภค คุณทรงกฤษณ  ฝากบอกขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ศาลแขวงพระนครใต้ว่าให้ความช่วยเหลือด้านการเขียนคำฟ้องคดีผู้บริโภคอย่างดี “ต้องขอชื่นชมครับ ที่ให้ความช่วยเหลือดีมากในการยื่นฟ้องคดี  ใครที่มีปัญหานี้สามารถเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลที่นี่ได้เลยครับ กฎหมายฉบับนี้(พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมาก  ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องคดีได้  และไม่ต้องใช้ทนาย  ไม่ต้องมีเงินวางศาล แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคก็คือภาระการพิสูจน์ยังคงตกอยู่กับผู้บริโภคในการต่อสู้คดี” สำหรับใครที่เกิดปัญหาคล้ายๆ คุณทรงกฤษณนั้น สามารถยื่นเรื่องฟ้องได้ที่ศาลแขวงพระนครใต้ได้ค่ะหรือจะโทรปรึกษา คุณทรงกฤษณได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 089 – 494 – 7335 ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 คนรักหลักประกันสุขภาพ

  สร้างความเท่าเทียมมาตรฐานรักษาพยาบาล ดีกว่าร่วมจ่ายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในการจ่ายรักษา หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลในเรื่องที่รัฐไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอ ผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนา หลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น   ฉลาดซื้อจึงขอพาคุณไปคุยกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอย่างชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายโรคมะเร็ง กันค่ะว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มหรือพัฒนาการอะไรบ้าง หรือทางออกที่ดีของการสร้างหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร สหรัฐ ศราภัยวานิช อาสาสมัครชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเก็บค่าบริการ 30 บาท ใครอื่นอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนที่ใช้สิทธิอยู่มันไม่มี 100 บาทก็ไม่มี 30 บาท ก็ดูจะยาก “การที่จะเก็บ 30 บาทแล้วบอกว่าเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้บริการ ไม่ให้ประชาชนมาหาหมอพร่ำเพรื่อ แต่ถ้ามองในความจริงแล้ว ไม่มีใครอยากไปหาหมอหรอกครับถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ” สหรัฐมองต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าไปรับบริการสุขภาพซึ่ง เขาเองใช้สิทธิประกันสังคม เขาเองก็ยอมรับว่าสิทธิของประกันสังคมในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างครอบคลุม แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามา “ค่าเดินทางไปฟอกเลือดทีก็ 200 บาท ค่าอาหาร บางอย่างก็มีการเก็บเพิ่มเช่น ค่ากระดาษรองแขน คิดอาทิตย์ละ 100 บาท อย่างผมไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เรื่องยาก็สำคัญนะครับ บางตัวหมอไม่ได้จ่ายให้ แต่เราจำเป็นต้องกิน ก็ต้องซื้อกินเองเดือนละ 300 บาท รวมประมาณการ เดือนละ 1,000 บาทครับ” แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้น สหรัฐให้ความเห็นว่าเพราะเขารู้ช่องทางการไปฟอกไต จึงทำให้ค่าใช้จ่ายถูก แต่บางคนต้องเดินทางมาจากสมุทรปราการ บางทีมาจากประจวบฯ เพื่อมาฟอกไตที่ รพ.สงฆ์ “ก่อนที่จะมีโครงการฟอกไต ต้องบอกว่าตกเดือนละ 30,000 บาท ทั้งค่าฟอกไต ค่ายาฉีดเพิ่มเลือด ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายมากครับ มากจนบางคนล้มละลายไปเลยก็มี ต้องขายที่ดินเพื่อรักษาตัวเอง แต่พอการรักษาครอบคลุม ทุกอย่างดีขึ้นเยอะครับ แต่ถ้ามองดูสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิในการล้างช่องท้อง สำหรับคนเป็นโรคไต หลังปี 51 จะเลือกการรักษาโดยการฟอกเลือดไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด บางคนกลัวว่าล้างช่องท้องแล้วจะติดเชื้อ ก็ยอมจ่ายค่าฟอกเลือด 1,000 ถึง 1,500 บาทก็ยอมจ่าย” การไปฟอกเลือดแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการฟอกเลือด แต่ยังไม่ได้รวมเวลาในการเข้าคิวรอ บางรายมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้ฟอกเลือด 6 โมงเช้า จะได้กลับบ้านก็ 11 โมง   ส่งเสริมสิทธิการรักษาให้เท่าเทียม การรักษาโรคไตมี 2 มาตรฐานนั่นคือ คนที่ได้รับสมุดฟอกเลือด กลุ่มแรกเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำบัตรประกันสังคม กลุ่มที่สองทำบัตรประกันสังคมก่อนแล้วถึงเป็นโรคไต ซึ่งกลุ่มที่สองนั้นสิทธิจะครอบคลุมหมดเลยการฟอกเลือด 1 ครั้งประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,500 บาท “ส่วนกลุ่มแรกนั้น ประกันสังคมจ่ายให้ 1,000 บาท ในเรื่องสิทธิของการเปลี่ยนไตนั้นเท่าเทียมกัน สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนไตได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่ถ้าเทียบกับสิทธิผู้ป่วยไตของกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้นในเรื่องค่ายากดภูมิ ไม่จำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาล” อีกเรื่องที่สหรัฐชี้ให้เห็นก็คือเรื่องยาในบัญชียาหลัก ที่มีความแตกต่างการจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย “ในเรื่องของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย สำหรับบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 51 ซึ่งจะให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยรายเก่าที่เลือกวิธีการฟอกเลือดต่อไป จะได้รับความคุ้มครองโดยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท สปสช.ชดเชยให้หน่วยบริการ 1,000 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยืนยันจะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน คือถ้าหากมีการรวมกองทุนและสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรฐานการรักษา จะดีมากเลย คือเรื่องความสะดวกสบายน่ะไม่เป็นไร เราต้องการความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการรักษามากกว่า” การรวม 3 กองทุน สู่มาตรฐานสุขภาพ ดาราณี โพธิน อาสาสมัครเครือข่ายโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นผู้ประกันตนที่ร่วมส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 นั่นคือเงินบำนาญ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าประกันสังคมน่าจะนำเงินส่วนกองทุนสุขภาพ มาเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ เพราะเมื่อชราภาพลงก็น่าจะมีกองทุนที่ช่วยเยียวยา “เราเห็นสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ามันยังไม่ครอบคลุมเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง หากจะมีการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกนั้น ก็น่าจะมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปรอหมอ กว่าจะได้พบหมอ ได้รักษาก็ครึ่งค่อนวัน คนในชุมชนเองซึ่งก็ทำงานรายวัน อย่างขายน้ำ พอไปหาหมอ 1 วัน วันนั้นรายได้ก็จะไม่มีเข้ามาแล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร หากจะกลับมาเก็บ 30 บาท ต้องมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวแล้วมองว่า 3 กองทุนสุขภาพ นั่นคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างคนในชุมชนใช้สิทธิประกันสุขภาพนอนดูอาการ อยู่หลายวัน แต่สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่เจ็บใจก็คือสิทธิของประกันสังคม ด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ประกันสังคมต้องจ่ายเงิน แต่สิทธิด้านการรักษาโรคยังครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพซะอีก เลยอยากให้นำส่วนที่เราจ่ายเงินไปสบทบในส่วนกองทุนชราภาพให้เราใช้ตอนแก่ยังจะดีกว่า เพราะสภาพสังคมแบบนี้จะมัวไปพึ่งลูกหลานอยู่ก็ไม่ได้ หากเป็นไปได้การจะพัฒนาเรื่องสุขภาพจริงๆ ก็ควรที่จะพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกัน ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 การกำหนดค่าธรรมเนียมตายตัว คือต้นเหตุของปัญหา ?

  ฉลาดซื้อฉบับนี้ต้อนรับวันผู้บริโภคสากล ด้วยประเด็นการเงินการธนาคาร ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อํานวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ  มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการให้มุมมองเรื่อง ค่าธรรมเนียมธนาคารในประเทศไทยของเรา ที่หลายคนรู้สึกว่า “ทำไมแพงจัง” ดิฉันคิดว่าเรามีแบงค์เยอะมากในประเทศไทย แต่แข่งราคา ไม่ค่อยแข่งกัน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็จะไม่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นจะเห็นว่าบริการอะไรที่เขาออกมา ราคาจะเหมือนๆ กันหมด เดินไปกี่แบงค์ก็เหมือนกันหมด หลังๆ ดีขึ้น หลังๆ จะเริ่มมีคนโน้นไม่เก็บค่าบริการ ตอนนี้ชักจะฉีกๆ ออกมาบ้าง แต่ก่อนนั้นจะเหมือนกันเด๊ะ ธปท. ปรับอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงินผ่าน เครื่อง ATM ของธนาคารพาณิชย์ นั่นคือ 1).การโอนเงินธนาคารเดียวกันข้ามเขต ให้โอนเงินฟรีครั้งแรกของเดือน ส่วนครั้งต่อไปคิดไม่เกิน 15 บาท   2).การถอนเงินในธนาคารเดียวกันข้ามเขต ค่าธรรมเนียมใหม่ ไม่เกิน 15 บาท ต่อรายการ  3).การทำธุรกรรมถอน และ สอบถามยอดผ่าน ATM ต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกัน ให้ใช้บริการฟรี 4 ครั้ง ต่อเดือน ส่วนครั้งที่ 5 ขึ้นไปคิดไม่เกิน 10 บาท เหมือนกันทั้งในกทม. และ จังหวัดอื่น  4).การถอนเงินต่างธนาคารข้ามเขต คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 20 บาท ต่อรายการ   โดยระบุว่าในการคิดค่าธรรมเนียมการทำรายการข้ามธนาคารผ่านระบบ ATM ธนาคารจะแสดงเงื่อนไขการคิดค่าธรรมเนียมการทำรายการดังกล่าวบนหน้าจอ ATM เพื่อให้ลูกค้าทราบก่อนตัดสินใจทำรายการ (ที่มา...ข่าวประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย  27 ก.ย. 53)   สาเหตุของค่าธรรมเนียมแสนแพง สาเหตุที่การประกอบธุรกรรมในการโอนเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพง ทั้งที่ต้นทุนถูกมากเพราะส่วนหนึ่งเอากำไรจากส่วนนี้มาโปะในส่วนที่ธนาคารขาดทุน ตอนนี้ต้นทุนสูงที่สุดที่เราควรหลีกเลี่ยงคือ “การใช้เงินสด” เพราะการขนเงินสดมันต้องมีความปลอดภัย เอาเงินไปใส่ตู้เอทีเอ็มทีหนึ่ง ก็ต้องมีบริษัทซีเคียว ฯ คอยเอาไป ... ปัญหาของแบงค์ตอนนี้ก็คือว่ากรุงเทพฯ เป็นลักษณะที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ ต่างจังหวัดเป็นแหล่งที่มีการโอนรายได้ออกไป ดังนั้นการขนเงิน มันเหมือนเป็นไปในทางทิศเดียว ก็คือ คนกรุงเทพฯ โอนเงินไปให้ต่างจังหวัด แล้วต่างจังหวัดก็ถอนๆ ดังนั้นการขนเงินจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด มันก็ต้องมีเกิดขึ้น เพราะว่ากรุงเทพฯ โอนไปต่างจังหวัด แต่ก็อย่างว่า ต่างจังหวัดก็ใช้ ถ้าเกิดต่างจังหวัดใช้เงินสดในพื้นที่ มันก็อาจจำเป็นต้องหมุนเวียนอยู่ แต่ตอนนี้ที่ธนาคารเขาชี้แจงว่าทำไมเก็บแพง เพราะว่าเขาคิดค่าถอนเงินฝังเข้าไปในค่าโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย หมายความว่า เขาคิดว่า เมื่อคุณโอนไปแล้ว ค่าโอนคุณอาจจะแค่  2-3 บาท แต่ค่าที่คนที่ได้รับเงินไปถอนออก มันสูง(มันไม่บาลานซ์กัน) ...ใช่ แล้วเขาบอก ส่วนมากถอนออกหมดเลย เหมือนเราทำงานได้ 30,000 โอนเงินไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด 30,000 พ่อแม่ก็ถอนออกหมดเลย ต้นทุนตรงนั้นล่ะสูง ดังนั้นตอนนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้เงินสดแทบจะหายไปแล้ว เพราะว่ามีต้นทุนสูงมาก แต่สำหรับประเทศไทย เราก็ยังใช้เงินสดกันอยู่ค่อนข้างมาก เพราะว่าส่วนหนึ่งก็คือเรื่องเครดิตการ์ดในต่างจังหวัดส่วนมาก หลายคนก็ยังไม่มีเครดิตการ์ดหรือเดบิตการ์ด คือคนนี้ไม่ต้องมีเครดิต แต่จ่ายตามที่มีจริงหักตรงจากบัญชี โดยที่ไม่ต้องหอบเงินสดไป เดบิตการ์ดนี่ประเทศไทยพยายามจะเอามาใช้ รู้สึกทางแบงค์ชาติเองก็พยายามเอามาใช้ คือ คุณมีการ์ดใบหนึ่ง แล้วคุณมีรหัส 4 ตัว แล้วคุณจะไปซื้ออะไร ร้านค้าก็จะสามารถให้คุณเสียบเข้าไปได้ โดยที่ไม่ต้องถือเงินสด ดีอีกไม่ต้องถูกขโมย แล้วก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ในต่างประเทศ คุณไม่มีเครดิตการ์ดก็ไม่เป็นไร ก็ใช้เดบิตการ์ด ก็คือคล้ายๆ บัตรที่หักโดยตรงจากบัญชีตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะประหยัดเงินได้ แต่ต้องมีการออกแบบทั้งระบบ คือทุกแบงค์จะต้องเชื่อมกันได้ ถ้าเกิดมีตรงนี้มาเมื่อไหร่ ดิฉันคิดว่าเราน่าจะใช้เงินสดน้อยลงเยอะ แต่ตอนนี้หลักการก็คือให้ผู้บริโภคทราบว่า ค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในด้านการเงินนั้น คือการเดินไปใช้บริการที่สาขา ถ้าเผื่อท่านไม่จำเป็นต้องใช้ ก็อย่าไปใช้ เพราะบริการตอนนี้หลายๆ อย่างทำได้ทางอิเล็กทรอนิกส์ คือตัดก็ได้ ฝากบัญชีก็ได้ อัพเดตบัญชีก็ได้ ถ้าเผื่อคนไทยเราใช้ตรงนี้เยอะขึ้น อย่างน้อยสาขาก็คงไม่ต้องมีเพิ่ม แล้วก็จะประหยัดได้เยอะ   ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าการใช้เงินสดสะดวกกว่า ก็จริง แต่ประเทศอื่นๆ แทบจะไม่มีการใช้เงินสดแล้ว ประเทศไทยใช้เงินสดเยอะมาก จำไม่ได้สัดส่วนเท่าไหร่ แต่สูงมากอย่างฟิลิปปินส์ ที่รายได้เขาต่ำกว่าเรา ก็เป็นเพราะว่าโครงสร้างอัตราค่าบริการยังไงมันก็จูงใจให้ใช้เงินสดอยู่ ก็คือเรื่องการถอนเงิน อย่างน้อยในกรุงเทพฯ มันก็ไม่ใช่ข้ามเขต มันก็ไม่มีค่าใช้จ่าย คนก็ถอนกันได้ทีละ 20,000-30,000 กดกันไป ก็ไม่รู้สึกว่ามีต้นทุนอะไร แต่จริงๆ แล้วมันมี แล้วคนที่รับภาระต้นทุนก็คือพวกที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ พวกที่ใช้โอนเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นคนรับภาระไป ตรงนี้ดูในเชิงสังคมก็อาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร คนที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ก็คือคนมีเงิน มีปัญญารับก็รับไป อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่แบงค์กำหนดราคาตามขีดความสามารถในการจ่าย เพราะเห็นว่าผู้ที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นผู้ที่มีสตางค์ ก็จ่ายแพงหน่อย คนชาวบ้าน ถ้าเผื่อจะไปเก็บเขาทุกที เขาไม่มีเงิน ไปจิ้มๆ เอา แล้วก็แพงอย่างนี้ คือการเบิกครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่าย ก็เสียประโยชน์ ตรงนี้ในทางสังคมก็เข้าใจได้ แต่ปัญหาคือเวลาโครงสร้างมันเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยก็ไม่สามารถเดินไปสู่เส้นทางเหมือนประเทศอื่นได้ เราก็ยังกอดเงินสดอยู่ อันนี้ก็เลยเป็นประเด็น ทีนี้สิ่งที่ดิฉันคิดว่าทางออกที่ดีเป็นยังไง เราจะสุดโต่งในทางเศรษฐศาสตร์เป๊ะเลย เอาทุกอย่างเป็นต้นทุนหมด ชาวบ้านในต่างจังหวัดอาจจะเดือดร้อน คือทุกครั้งที่เดินเข้าไปในสาขา คุณยาย คุณป้า ใช้อิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็น ก็ต้องมานั่งคำนึงว่าเราไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ที่ทุกคนมีปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ เราต้องรู้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในครัวเรือนเรามีอัตรา น่าจะ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 3 นะ ยังมีจำนวนมากที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ หรือใช้เป็น ดังนั้นถ้าเกิดเราเอาเงื่อนไขนี้มาครอบปุ๊บ มันก็จะดูเหมือนไม่เป็นธรรม เพราะจริงๆ เขาไม่มีทางเลือก ไม่ใช่ว่าเขาไม่เลือกที่จะใช้อิเล็กทรอนิกส์ แต่เขาไม่มีทางเลือก เพราะว่าเขาใช้ไม่เป็น หรือบ้านเขาอยู่ในถิ่นกันดาร   ทางออกที่ควรเป็นคืออะไรตัวอิเล็กทรอนิกส์มันแพงเกินไป สิ่งที่ดิฉันได้เสนอกับแบงค์ชาติ บอกว่า ยังไงเราต้องลดค่าใช้จ่ายในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ดิฉันไม่เชื่อว่าถ้าไปบีบค่าใช้จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลงแล้ว ค่าบริการของชาวบ้านทั่วไปจะเพิ่มขึ้น ดิฉันว่า หนึ่ง แบงค์เขาสามารถหาทางออกของเขาได้ คือเราไม่ต้องไปคิดแทนแบงค์ว่ากำไรส่วนเกินของคุณ หายไปไหม แล้วคุณจะไปเพิ่มไหม แบงค์ชาติไม่ต้องไปบอกเขาหรอกว่า จะขึ้นค่าโน่นนี่ ดิฉันคิดว่าแบงค์เขารู้ว่า หนึ่ง เขามีกำไรส่วนเกินหรือเปล่า ถ้ามีกำไรส่วนเกิน แล้วไปกดค่าอิเล็กทรอนิกส์ลง เขาก็รับไป สมมติที่ผ่านมา เขามีกำไร เขาก็ต้องรับกำไรน้อยลงเอง เราไม่ต้องไปบอก เราบังคับให้เป็นไปตามต้นทุน เพราะตอนนี้มันสูงมาก แล้วมันไม่ดีต่อประเทศ ดังนั้นถ้าเผื่อตัวอิเล็กทรอนิกส์ถูกกดไปตามต้นทุนแล้ว หรือค่อยๆ ปรับลง แบงค์ก็ต้องไปหารายได้ทางอื่น ซึ่งมันมีหลายทาง เดี๋ยวนี้แบงค์ทำหลายอย่าง มันไม่ต้องแบบวิ่งไปปุ๊บ ไปเพิ่ม แหม เหมือนกับว่าลดอิเล็กทรอนิกส์จะต้องไปเพิ่มบริการพื้นฐาน ดิฉันคิดว่ามันไม่จำเป็นนะ แล้วคิดว่าถ้าธนาคารคิดว่าอยากรักษาลูกค้าอยู่ เขาก็คงไม่ทำอย่างนั้น เพราะคิดว่าลูกค้าส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้ถอนเงินสด แล้วที่สำคัญคือต้องปล่อยให้แบงค์แข่งกัน คุณจะกล้าขึ้นค่าเอทีเอ็มเวลากดถอนเงินเหรอ ถ้าเกิด สิบกว่าแบงค์ หรืออีกยี่สิบกว่าแบงค์ เขาไม่ขึ้น คุณจะกล้าเหรอ สิ่งที่ดิฉันวิเคราะห์มา ธุรกิจแบงค์เป็นธุรกิจที่แข่งขันกันได้เยอะนะคะ เพราะมี 20 กว่าราย แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ แบงค์ชาติไปกำหนดราคามันทุกอย่าง ค่าโอนเงิน ค่าทุกอย่าง ไปดูสิคะ ฟิกซ์หมดเลย ค่าเอทีเอ็มรายปี 200 มันเป็นตารางออกมาเลย ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้น แบงค์ก็พูดง่ายๆ ว่าฮั้วกัน โดยที่ถูกกฎหมาย ก็คือฮั้วกันโดยมีแบงค์ชาติเป็นคนบอกเรต อย่างนั้นมันก็ไม่ผิดกฎหมาย จริงๆ จะบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ก็ไม่แน่ใจนะ เพราะแบงค์ชาติบอกว่าเป็นอัตราสูงสุด ไม่ได้บอกว่าเป็นอัตราที่ธนาคารต้องเก็บ ดังนั้นถ้าเกิดธนาคารทุกแห่งบอกว่า อัตราสูงสุดที่แบงค์ชาติกำหนดเป็นอัตราที่เขาเรียกเก็บ มันก็ชักสงสัยว่าคุณฮั้วกันหรือเปล่า แต่การกระทำของเขาอย่างนี้ เนื่องจากแบงค์ชาติมีอัตราที่ลอยอยู่ ให้เขาฮั้วกันง่ายๆ เขาก็ไม่ต้องคุยกัน กฎหมายแข่งขันทางการค้า มันต้องมีพิสูจน์ว่าคุณฮั้วกัน คือคุณมาประชุมร่วมกันแล้วบอกว่าค่าอิเล็กทรอนิกส์เราจะเอา 35 บาทนะ มันต้องคุยกันสิ ไม่อย่างนั้น ราคามันจะเป๊ะๆ อย่างนั้นได้ยังไง ถ้าเกิดคุยกัน คุณเข้าตาราง แต่อย่างนี้คุณไม่ต้องคุยกัน เพราะแบงค์ชาติออกมาบอกแล้วนี่ ว่าอย่างนี้ๆ ทุกคนก็ไม่ต้องทำอะไร แค่มองตากันแล้วก็รู้ ใช่ไหม ถ้าเผื่ออย่างนี้ ไม่แน่ใจบางประเทศก็ถือว่าผิด บางประเทศก็ถือว่าไม่ผิด เขาไม่เรียกว่าการกำหนดราคาร่วมกัน เขาเรียกว่า เพอชันนอล ไพร์ซิ่ง หรือ การกำหนดราคาประสานกันไป คือมีจุดร่วมอยู่สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้กำหนดขึ้นมา ใครจะกำหนดขึ้นมาก็ตาม ดังนั้นดิฉันคิดว่าธุรกิจนี้ มันยังไม่แข่งขันกันเต็มที่ ทั้งที่มันมีโอกาสที่จะแข่งกันได้นะคะดิฉันคิดว่าเรามีแบงค์เยอะมากในประเทศไทย แต่แข่งราคา ไม่ค่อยแข่งกัน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็จะไม่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นจะเห็นว่าบริการอะไรที่เขาออกมา ราคาจะเหมือนๆ กันหมด เดินไปกี่แบงค์ก็เหมือนกันหมด หลังๆ ดีขึ้น หลังๆ จะเริ่มมีคนโน้นไม่เก็บค่าบริการ ตอนนี้ชักจะฉีกๆ ออกมาบ้าง แต่ก่อนนั้นจะเหมือนกันเด๊ะ ...ตอนนี้มีใครช้อปปิ้งอะราวด์ เอ ตอนนี้ฉันจะถือบัตรเอทีเอ็มสัก 1 บัตร แบงค์ไหนดีที่สุด ก็ไม่ค่อยมีคนหา ดูเหมือนปัจจุบันเราก็ต้องยอมจำนนให้ธนาคาร..คือมันไม่มีทางออก สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องก็อย่างน้อยในกรณีตู้เอทีเอ็ม อย่างน้อยต้องบอกกับเราก่อนว่าเขาเก็บค่าธรรมเนียมแค่ไหน ไม่ใช่กดไปแล้ว เพิ่งรู้ว่าเสียไปตั้งเยอะ คือ อย่างแรกคุณต้องบอกหน้าตู้เลย ค่าธรรมเนียมคุณเสียให้ใครบ้าง บางทีโอนไปแล้วถึงเพิ่งรู้ว่าโดนค่าโอน 25 บาท มันไม่ถูกหลัก จริงๆ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค สินค้ายังต้องติดฉลากเลย แล้วบริการทำไมไม่รู้ล่ะ มันก็เป็นสินค้า ดังนั้นขั้นตอนที่หนึ่ง ผู้บริโภคควรที่จะเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่จะได้รับรู้ว่าเขาจ่ายให้ใครบ้าง   เรียกร้องกับแบงค์ชาติได้ไหมเขาบอกว่าเขาคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว เขาก็กำหนดราคาเพดาน ดิฉันก็บอกให้เขาเลิก เขาบอกไม่ได้ เดี๋ยวเขา(ธนาคารพาณิชย์)จะขึ้นไปอีก ดิฉันไม่เชื่อ ก็บอกลองเลิกดูสิ แล้วลองขึ้นไปเป็น 15 บาทกันทุกคนสิ เข้าตารางแน่เลย เพราะว่าคุณไม่มีราคาร่วมกันแล้ว แต่คุณดันมีราคาเหมือนกัน แสดงว่าคุณต้องฮั้วกันพันเปอร์เซ็นต์เลยใช่ไหม ถ้าเผื่อคุณไม่มีเกณฑ์ แล้วคุณปุ๊บ 15 บาทหมดทุกคน คือถ้าเกิดจะขึ้นต้องขึ้นกันหมดนะ ไม่ใช่ขึ้นเจ้าเดียวนะ คุณขึ้นเจ้าเดียว ลูกค้าคุณเทออกหมดเลย ปัญหาคือคุณมี 22 เจ้า คุณจะทำยังไง คุณคิดเหรอว่าเขาจะกล้าขึ้น ใครจะกล้าขึ้น ทุกอย่างต้องปล่อยให้แข่งกัน ดิฉันถึงได้ค้านเรื่องที่จะมาจำกัดจำนวนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนต่างชาติ คนก็มองว่าดิฉันโปรต่างชาติ ไม่ใช่เลย ดิฉันไม่สนใจจะต่างชาติหรือไทย ขอให้มันมีมากที่สุดในตลาด เพราะดิฉันพูดเสมอว่าไม่ว่าไทยหรือต่างชาติจะเอาเปรียบผู้บริโภคถ้ามีโอกาส ไทยก็เอาเปรียบไม่น้อยกว่าฝรั่งเลย ฝรั่งถ้ามีโอกาสมันก็ผูกขาดเหมือนกัน เป็นสัญชาติญาณของธุรกิจ ต้องสร้างรายได้ให้มากที่สุด ถ้าคุณให้โอกาสเขา เขาก็จะเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับดิฉัน เราไม่มีธุรกิจไทยโดยเฉพาะใหญ่ๆ ไม่พูดถึงเอสเอ็มอีนะพวกโทรคมนาคม พวกนี้ ทำอะไรให้เรา ธุรกิจใหญ่ๆ ของไทยอย่าง ปตท. ทำอะไรให้เรา แล้วคุณภูมิใจในความเป็นไทยของบริษัท ดิฉันเสียใจที่ถูกขูดรีดอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นจะให้ต่างชาติเข้ามาก็เปิดให้เข้า ไม่ต้องไปกักเขาไว้ เพราะว่าการที่เราไปกักเขาไว้ ก็เป็นการที่เราทำให้คนไทยเราเอาเปรียบคนไทยเราเอง ดังนั้นธุรกิจต้องพยายามเปิดไว้ เพราะจะมีคนพยายามปิด อย่างโทรคมนาคม ที่เขาพยายามปิด เพราะว่ามันมีไม่กี่เจ้า ปิดไปเจ้าหนึ่งก็หวานหมูแล้ว ดิฉันคิดว่า เรื่องแบงค์ถ้าเราปลดล็อกเรื่องนี้(การกำหนดราคาค่าธรรมเนียมตายตัวโดยแบงค์ชาติ) ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์เยอะ เลิกไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 แค่ 927.32 บาท ก็ฟ้องครับ

“ผมเห็น อ.เจิมศักดิ์(ปิ่นทอง) ฟ้องโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องใช้ทนาย ผมก็ลองใช้บ้าง แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเลย...” คุณณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ผู้ซึ่งมี อ.เจิมศักดิ์ เป็นต้นแบบในการฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้ทนาย จะมาบอกเล่าถึงอุปสรรคที่เขาได้เจอ เมื่อถึงเวลาจะใช้สิทธิฟ้องร้องจริงๆ มันทั้งอึดอัดและน่ารำคาญ แต่ถึงอย่างไรมันก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แม้เส้นทางจะยากแค่ไหน เขาก็รู้สึกดีที่ได้ “ลงมือทำ”   พูดจาภาษากฎหมาย ประสบการณ์อันล้ำค่า วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกนั่งบัลลังก์ พิพากษา คดีละเมิดให้บริษัท ทีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้ คุณณัฐพงศ์ จำนวน 8,300 บาท และให้จ่ายเงินค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 อีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายจนครบ แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะจำเลยได้ขอขยายเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไปวันที่ 1 มี.ค. 2555 “อ.เจิมศักดิ์ บอกว่า พ.ร.บ.นี้ฟ้องเองได้เลย เดินเข้ายื่นฟ้องได้เลยไม่ต้องใช้ทนาย ทุกอย่างจบลงสวยงาม ผมก็มองว่าเอ้ย ถ้า อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องได้เราก็น่าจะฟ้องได้ ก็เข้าไปฟ้อง อ่ะ...แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ตอนไปยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่คดีบอกว่า ‘ถ้าเขาละเมิดพี่แต่พี่ไม่มีความเสียหายพี่ก็ฟ้องไม่ได้และถ้าพี่เสียหายแต่เขาไม่ละเมิดพี่ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้’ ฟังแล้วงงไหมครับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะเข้าใจไหมครับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ คนเขียน คนตรากฎหมายมีความตั้งใจมาก ต้องทำความเข้าใจ เหมือนปัจจุบัน กฎหมายผู้บริโภคตัวนี้ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นเครื่องมือของนายทุน ผู้ประกอบการใช้บังคับกับผู้บริโภคแทนอย่างคดีไฟแนนซ์ คดีเช่าซื้อ นัดเดียวจบ พอผู้บริโภคอย่างผมไปฟ้องบ้างนานนะครับ ไม่แป๊บเดียว”   บริการเจ้าปัญหา ทวงหนี้ ทั้งที่ไม่เป็นหนี้คุณณัฐพงศ์ ยื่นฟ้องบริษัททีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นฟ้องทั้ง 2 บริษัทในฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ที่ประกอบกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีเรียกเก็บค่าบริการจำนวน 927.32 บาท ทั้งที่ได้แจ้งยกเลิกบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 หลังจากนั้นก็ยังคงได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการอีก ซึ่งคุณณัฐพงศ์ ได้เข้าชี้แจงกับบริษัทผู้ให้บริการว่าได้ยกเลิกบริการเรียบร้อยแล้ว ด้านพนักงานก็รับปากว่าจะจัดการให้เรียบร้อย จนวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ก็ยังได้รับหนังสือทวงถามให้ไปจ่ายค่าบริการอีก ทำให้เขาต้องหยุดงาน เข้าไปชี้แจงว่าได้ชำระค่าบริการและได้ยกบริการไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 แล้ว พร้อมขอคำอธิบายถึงจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ได้คำตอบ ซึ่งพนักงานได้ขอให้นำใบเสร็จรับเงินว่าได้ชำระค่าบริการแล้วมายืนยัน คุณณัฐพงศ์ดูทีท่าแล้วคงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงขอพบผู้ลงนามในจดหมายทวงถามพร้อมทั้งขอให้ทางบริษัททำจดหมายขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “ผมสงสัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผมจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ หรือเปล่าจึงลองค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตดู ทำให้รู้ว่าเรื่องในรูปแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย คือไม่แสดงยอดค้างชำระในใบเสร็จรับเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ เมื่อมีการทวงถามให้ชำระหนี้อีก ใครเก็บใบเสร็จไว้ก็ให้นำไปแสดง ใครไม่เก็บก็ต้องจ่ายซ้ำอีก ซึ่งถ้าผู้บริโภคที่ไม่เก็บใบเสร็จรายใดไม่ยอมจริงๆ และเมื่อนำไปฟ้องร้อง ก็จะมีการเจรจาลดหนี้ให้ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมิได้เป็นหนี้เลย” และเพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเองคุณณัฐพงศ์จึงเข้าร้องเรียนต่อ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้แนะนำให้ไปร้องต่อ สบท.และทาง สบท.ได้แนะนำให้ไปพึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเข้าแจ้งความสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินไว้เป็นหลักฐาน และยื่นเรื่องฟ้องศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท   ไม่ท้อและไม่ถอยจากการนับหนึ่งเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เพื่อหวังใช้สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดี 1 ปี 2 เดือน 11 วัน และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการขยายเวลาในการอุทธรณ์ “มันยากครับตั้งแต่การพิจารณาว่าเป็นคดีผู้บริโภคไหม หรืออาจจะเพราะติดรูปแบบเดิมที่ยึดติดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งระยะเวลาในการพิจารณา ภาระการพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เป็นหนี้ ต้องรื้อหาใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าเราจ่ายไปแล้ว คือไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะต้องเก็บใบเสร็จไว้นานแค่ไหน หรือว่าต้องตลอดชีวิตหรืออย่างไรเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็จะสู้ต่อไปครับ มันไม่คุ้มหรอกถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป เราสู้นะเหนื่อยกายไม่เท่าไร แต่เราเหนื่อยใจมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท ซึ่งศาลก็พิพากษาออกมา ซึ่งผมก็พิสูจน์แล้วว่ากฎหมายตัวนี้ใช้ได้จริงครับแต่…ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะครับ อย่างในกฎหมายระบุว่า สามารถฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนาย แต่เอาเข้าจริงผู้พิพากษาก็ยังถามหาทนายของผมในวันนัดสืบพยาน และบอกว่าจะไม่สืบพยานให้ถ้าไม่มีทนาย และยังว่าหัวหมอ เรียกค่าเสียหายสูง แล้วคิดดูครับค่าเสียหายผมเท่านี้ จะมีทนายที่ไหนมาทำให้กับผม ผมจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายวินัยเพื่อขอความเป็นธรรม เพื่อขอเปลี่ยนผู้พิพากษา สุดท้ายก็ได้เปลี่ยนผู้พิพากษา หรือแม้แต่การเลื่อนวันพิจารณาคดีซึ่งในกฎหมายระบุไว้ว่าเลื่อนได้ไม่เกินครั้งละ 15 วัน แต่นี่เลื่อนผม 4 เดือน ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำความเข้าใจกฎหมายตัวนี้ให้มากๆ เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ขอยกกรณีตัวอย่างของ อ.เจิมศักดิ์ ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีออกมาแล้วว่าชดเชยให้ อ.เจิมศักดิ์ 50,000 บาท แล้วถ้าคนบนเครื่องบินในเที่ยวบินเดียวกับ อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องด้วย ศาลจะพิจารณาคดีอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ อ.เจิมศักดิ์จะตกใจเป็นคนเดียวนะ จริงไหม ถึงแม้จะกินเวลาหรือเสียเวลาในการฟ้องคดี แต่ผมคิดว่าผลการฟ้องคดีไม่ใช่มีผลกับเราแค่คนเดียว แต่คนอื่นก็ได้ด้วย และสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าเป็นไปได้ผู้บริโภคก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธินะ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าทางออกที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรจะมีองค์การอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องแทนผู้บริโภคได้ครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พลังงานไทย เพื่อใคร

  “ก๊าซ LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร...” จากการตามติดอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยในเรื่องพลังงาน วันนี้เราลองมาเปิดโลกเรื่องพลังงานไทยกันอีกครั้ง กับท่าน สว.รสนา โตสิตระกูล ดูกันว่าเธอค้นพบอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในระบบพลังงานไทยบ้าง ปัญหาใหญ่สุดของกิจการพลังงานประเทศนี้คืออะไรการขึ้นราคาเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลง ในขณะที่เรากำลังจะขึ้นราคาสวนทาง คิดว่ากลไกในการจัดการของภาครัฐต้องถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดือนตุลาคม 2554 เมื่อดูจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ในเดือนตุลาคม ปี 54 อยู่แค่ กก.ละ 4 บาท ในขณะที่ ปตท.ประชาสัมพันธ์ต้นทุนที่แท้จริงของราคาก๊าซ NGV ว่าเป็นเท่าไร ได้จะแสดงตัวเลข 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ราคาเนื้อก๊าซ ซึ่งเขาบวกกำไร ค่าบริหาร ค่าผ่านท่อ ไว้เรียบร้อยแล้วเพราะฉะนั้น 8.39 บาท/กก. จากตัวเลขที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมทั้ง ปตท.ซึ่งเคยชี้แจงกรรมาธิการ แล้วเราเทียบตั้งแต่ปี 46 จนถึงปี 51 ราคาก๊าซในตลาดโลก กับราคาก๊าซจากปากหลุมที่ ปตท.ซื้อ ของเราจะถูกกว่าตลาดโลกตั้งแต่ 45 % จนถึง 67%  การที่เค้าตั้งราคา 8.39 บาท จะเห็นว่าสูงกว่าราคาตลาดโลกมากกว่า 100 %  ถือเป็นการเอากำไรเกินควร จุดนี้จำเป็นต้องตั้งคำถามโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานทำไมปล่อยให้มีการแสวงหากำไรเกินควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจโดยงบประมาณมีรัฐบาลถือหุ้น 52% รัฐก็น่าจะสามารถกำกับราคา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ จะมาเอาเปรียบประชาชนอย่างนี้ได้อย่างไร ส่วนที่สองที่ ปตท.ชี้แจงคือค่าบริหารจัดการและการขนส่ง 5.56 บาท ค่าภาษีอีก 1.01 บาท รวมทั้งหมดแล้ว 14.96 บาท ซึ่งราคานี้ทาง ปตท.อ้างว่าเป็นราคาที่สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกำหนด จากตัวเลขการโฆษณา ถ้าเรานำต้นทุนค่าก๊าซ 8.39 บาท บวกด้วยค่าขนส่ง 5.56  บาท ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเท่า 40 % ของต้นทุนทั้งหมดถือว่าเยอะมากนะ ทีนี้มาดูราคาเนื้อก๊าซ ถ้าตลาดโลก กก.ละ 4 บาท ของบ้านเราก็จะ กก.ละ 2 บาท ค่าขนส่งจะกลายเป็น 73%  ธุรกิจอะไรที่ค่าขนส่ง 73% นั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว ค่าการบริหาร 40 – 73 % อันนี้เป็นอะไรที่ไร้เหตุผลสิ้นดีเลยนะ เป็นกิจการที่รัฐไม่ควรส่งเสริมเลย แต่ทำไมรัฐถึงพยายามส่งเสริมถึงขนาดนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปให้รถแท็กซี่ เพื่อให้เปลี่ยนจากถึง LPG มาเป็น NGV แล้วอุดหนุนเงินอย่างน้อยปีละ 3,600 ล้านบาทช่วยค่าขนส่งกิโลกรัมละ 2 บาท  รัฐยอมควักเงินตัวเอง ซึ่งก็มาจากภาษาประชาชนมาให้กับกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าราคาพลังงานในตลาดโลกมันถูกกว่าในบ้านเรา ก็นำเข้ามาเลย บ้านเรากิโลกรัม 8.39 บาท ก็ให้เก็บไว้ลูกหลานใช้ แล้วให้ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเลยกิโลกรัมละ 4 บาท  ซื้อเลย เวลาจะขายบอกว่าราคาตลาดโลกราคาเท่านั้นเท่านี้  แต่ต้นทุนไม่ยอมใช้ราคาตลาดโลกบ้าง  เพราะฉะนั้นก็นำเข้าเลย ราคาถูกกว่าตั้งเยอะ แล้วก็เก็บพลังงานที่แพงๆ ไว้ ให้ลูกหลานใช้ ก็ของเรามันแพง ก็ต้องเก็บไว้ใช้ จริงไหม ซื้อของคนอื่นมาใช้ดีกว่า ถูกกว่าเยอะ เหมือนนโยบายที่ออกมาก็ส่งเสริมให้คนใช้แต่ก๊าซ NGV เขาต้องการให้รถเล็กเปลี่ยนมาใช้ NGV ทั้งหมด ส่วน LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร ก็เข้ากระเป๋าคนเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติมาจากทรัพยากรในประเทศ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้  ตอนนี้เขาไม่กล้าให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” เขาก็เลยต้องยอมกล้ำกลืนว่าตรงนี้ต้องใช้ แต่ว่ารถนั้นเขาไม่อยากให้ใช้ก็พยายามดึงภาคขนส่งให้มาใช้ NGV  แต่หลังจากที่ส่งเสริมให้คนมาใช้ NGV ให้มากขึ้นก็จะเกิดปัญหาว่า “การผูกขาด” โดยเจ้าเดียว เขาจะขึ้นราคาอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระทรวงพลังงาน ที่ไม่กำกับดูแล แต่กระทรวงพลังงานกลายเป็นหน่วยงานที่คอยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ปตท. เพราะฉะนั้นมันก็กลับตาลปัตร กระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่คอยกำกับให้กำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และให้ราคาไม่กระทบต่อการครองชีพ  เพราะว่าเวลาก๊าซขึ้นราคานั้นส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นใช่ไหม   คิดอย่างไรกับบทบาทของกระทรวงพลังงาน เป็นส่วนที่คอยเปิดช่องให้ ปตท. มากกว่าการเป็นผู้กำกับ อย่างกรณีที่มีการออกประกาศให้ก๊าซ NGV มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึง 18% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน 6 เท่า เพราะในระดับโลกให้มีได้ไม่เกิน 3 % แล้วต้องบอกว่าการส่งเสริมก๊าซ LPG นั้นเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว เพราะเนื่องจากเขาไม่ต้องการให้คนไปก๊าซ LPG ที่ไปแข่งกับธุรกิจปิโตรเคมีของเขา  ก็เลยต้องพยายามดันให้ทุกคนที่จะต้องใช้พลังงานที่เป็นก๊าซ หันไปใช้ NGV เพราะคนที่หันมาใช้ก๊าซหนีราคาน้ำมันใช่ไหม สิ่งที่ต้องถามต่อไปก็คือกิจการของก๊าซ NGV ผลักภาระให้กับประชาชนทั้งนั้นเลย 1.ถึงบรรจุก๊าซต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% ทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นยิ่งส่งเสริมให้ใช้มากขึ้นเท่าไรก็จะเสียงบดุลให้กับต่างประเทศ เพราะต้องนำเข้าถัง และถังบรรจุกำหนดไว้ว่าสามารถรับ Co2 ได้ 3 % แต่ในบ้านเราล่อซะ 18 % มากกว่า 6 เท่า จริงๆ ต้องมีระบบตรวจเช็คทุก 5 ปีด้วยว่า ถังที่ใช้เสื่อมสภาพหรือยัง และยิ่งกว่านั้นเปิดให้มี Co2ถึง 18 % ถังก็จะเสื่อมขึ้น 6 เท่านะ ไม่มีการตรวจสอบระบบเหล่านี้เลย  แล้วค่าดูแลรถที่ใช้ก๊าซ NGV สูงกว่ารถที่ใช้ LPG มาก ภาระก็ตกอยู่กับประชาชน สิ่งเหล่านี้รัฐทำอะไรบ้าง...ไม่ทำอะไรเลย ยังสมควรที่จะเป็นรัฐอยู่ไหม?  ทำไมไม่ทำหน้าที่ตรง หรือมีมาเพื่อจะเป็น “กระดองหุ้ม ปตท.” เท่านั้นเอง กระทรวงพลังงานตอนนี้เป็นกระดองหุ้ม ปตท.นะ ปตท.เป็นเนื้ออยู่ข้างใน ปตท. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีการหมุนเวียนของเงินมากกว่ากระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นใหญ่ของภาครัฐ 3 เท่า ถือว่าใหญ่กระทรวงการคลังไหม คิดว่ากระทรวงพลังงานจะควบคุม ปตท.ได้ไหม  เมื่อมีเงินมากกว่าก็ย่อมที่จะเป็นฝ่ายคอนโทรล  กระทรวงพลังงานก็จะถูกคอนโทรล รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ด้วย  พวกนี้มีมาร์เก็ตแท็บอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 30 % เพราะฉะนั้นมันเป็นกระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลอย่างยิ่งในการบริหารแบบนี้  แต่มันยังอยู่ไ/ด้...เพราะอะไร...มันต้องถูกตั้งคำถาม ปตท.ถูกแปรรูปมาเพื่อให้เกิดการแข่งขันใช่ไหม ถูกแปรรูปออกมาเพื่อที่จะเป็นอิสระจากรัฐจะได้ไม่ถูกผูกขาดใช่ไหม แล้วทำไมรัฐถึงให้เอกชนมาผูกขาด   แบบนี้เรียกว่าฉ้อราษฎร์โดยสุจริตได้ไหม (หัวเราะ) กฎหมายจริงๆ เขาก็ไม่ได้ให้ทำนะ เพราะว่ากฎหมายมาตรา 84 (5) ที่บอกว่ารัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีให้เป็นธรรมและต้องป้องกันการผูกขาด ไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อมและต้องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นจะผูกขาดทั้งทางตรง หรือทางอ้อมไม่ได้ แต่นี่ผูกขาดตรงๆ เลย แบบนี้อยู่ได้อย่างไร แล้วรัฐบาลก็ออกกฎเอื้อเขาตลอดเลย กระทรวงพลังงานเคยมาชี้แจงที่กรรมาธิการ เรื่องการให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 18 % นี่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนะ เพราะจ่ายเงิน 100 บาท แต่จะได้เนื้อก๊าซแค่ 82 นะ ที่เหลือเป็นขยะ กระทรวงพลังงานชี้แจงว่าจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์นี้มาเพื่อให้ธุรกิจพอจะดำเนินต่อไปได้ อ้าว...นี่ตกลง จะคุ้มครองธุรกิจใช่ไหม ไม่คุ้มครองผู้บริโภค รัฐธรรมนูญ บอกให้คุ้มครองธุรกิจเหรอ รัฐธรรมนูญเคยบอกหรือว่าจะต้องส่งเสริมธุรกิจเสรีที่เป็นธรรมและให้ผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม และคุ้มครองธุรกิจ รัฐธรรมนูญเขียนอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ได้เขียนอย่างนั้นเลย (หัวเราะ) แต่ทำไมรัฐบาลทำตรงกันข้าม คือไม่มีใครไปจัดการกับเขา เพราะว่าระบบของเรามันยังมีจุดโหว่ค่อนข้างมาก กฎหมายดีมีเยอะแต่ไม่มีการบังคับใช้  จึงทำให้สภาพการณ์แบบนี้ยังคงดำรงอยู่ ดูที่ก๊าซ NGV สาเหตุสำคัญก็มาจากก๊าซ LPG นี่ล่ะ ก๊าซ LPG สามารถดึงส่วนประกอบอย่างก๊าซโพเพน และบิวเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่สามารถนำไปใช้ในปิโตรเคมีต่างๆ  ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ 9 – 20 เท่า แต่การที่กระทรวงพลังงานต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ที่แบ่งปันกัน จะให้ภาคปิโตรเคมีทั้งหมดไม่ได้ หรือให้ภาคครัวเรือนหันไปใช้ถ่านหุงข้าว ก็พูดไม่ได้ใช่ไหม หรือจะภาคขนส่งมีคนออกมาพูดกันเยอะว่าใช้กับรถไม่น่าจะใช้กับรถเลย ไม่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันต่างประเทศอย่างฮ่องกงให้รถแท็กซี่มาใช้ก๊าซ LPG แทนดีเซล จริงๆ ของในประเทศเรามันถูกหมด แต่ว่าตอนแรกที่เขาขายก๊าซ NGV นั้นเขาบอกว่าเป็นของเหลือ หากยังจำโฆษณายุคแรกๆ ที่ชักชวนให้รถแท็กซี่ รถบ้าน เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซ LPG มาใช้ NGV ด้วยการให้ราคาที่ถูกกว่า เพราะว่าราคาก๊าซ LPG ราคา กิโลกรัมละ 18.13  บาท ช่วงที่ขาย NGV ในช่วงแรกๆ ขายที่ราคา 8.50 บาท เพื่อตัดราคา LPG ให้คนหันมาใช้ NGV เพราะราคาถูกกว่า แต่ตอนนี้เขาก็จะขยับราคาก๊าซ NGV ให้ขึ้นไป กิโลกรัมละ 14.50 บาท เพราะเขาจะเทียบราคาจากดีเซล หากราคาดีเซล 30 บาท เขาก็จะขายในราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล อาจจะ 14.50 บาท หรือ 15 บาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไร้เหตุผล เอามาตรฐานที่ไหนมาคิดว่าทำไมต้องเป็นครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล  ทั้งที่ในต่างประเทศ พลังงานที่จะสามารถทดแทนกันได้ “ต้องแข่งกัน” และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าจะเลือกใช้อะไร  แต่บ้านเราเขากำหนดให้หมดเลยว่าคุณใช้อันนี้ราคานี้  คุณใช้อันนั้นราคานี้  มันไม่ใช่ราคาที่เกิดจากการแข่งขัน เป็นราคาที่เกิดจากการกำหนด แต่เวลาพูดก็จะบอกว่า “เราใช้กลไกตลาด” นี่เป็นกลไกตลาดตรงไหน ไม่มีกลไกการตลาดเลย แต่ชอบอ้างกลไกการตลาด ความจริงพลังงานทั้งหมดมันต้องแข่งกันมันถึงจะได้ราคาที่เป็นธรรม พอไม่มีการแข่งขัน ทีนี้ไม่ว่าจะมีการลงทุนแย่ขนาดไหน ก็โยนภาระมาให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่จะต้องรับกรรม เหมือนผู้ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหลาย ที่ลงทุนผิดพลาดแล้วโปะมาลงที่ค่า Ft หมด LPG ไม่อยากขาย แต่ลองให้รัฐไม่ตรึงราคา แล้วปล่อยให้เท่ากับราคาตลาดโลก รับรอง ปตท.จะต้องบอกว่า ให้รถเล็กมาใช้ได้เลย เพราะได้กำไรเท่ากัน ไม่ต้องส่งขายเมืองนอก และจะไม่มีการห้ามให้รถเล็กใช้  ตอนนี้รัฐมีการตรึงราคา LPG ไว้ทำให้ นโยบายต่างๆ มันบิดเบือนให้คนมาใช้ NGV  ในขณะที่ NGV สร้างภาระมหาศาล   การขึ้นราคาก๊าซ ประชาชนทำอะไรได้บ้าง ต้องเดินขบวนหรือเปล่า (หัวเราะ) พี่คิดว่าจริงๆ แล้ว จำเป็นต้องมีเสียงจากสังคม เพราะถ้าไม่มีเสียงจากสังคมขึ้นมา รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจอะไร ถ้าหากประชาชนยังเงียบก็จะขึ้นราคาแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ เพราะฉะนั้นเสียงสะท้อนจากประชาชนก็จะมีผลช่วยได้  แต่เขาก็ฉลาดนะมีการทำบัตรเครดิตพลังงานไว้รองรับ แต่นี่อาจจะเป็นช่วงโปรโมชั่นใช่ไหม ไม่ใช่ให้ตลอดไป แต่ให้เพื่อที่จะลดกระแสเพื่อไม่ให้ออกมาโวยวายใช่ไหม และจะให้บัตรเครดิตพลังงานไปได้นานเท่าไร แต่การที่ออกบัตรเครดิตพลังงานนั่นก็เงินของเราอีก ในที่สุดเราก็เสียเงินอยู่ดี แค่ควักกระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา และเป็นวิธีการที่รัฐผ่องถ่ายกำไรให้กับเอกชน แต่ขาดทุนมาอยู่ที่รัฐ หนี้มาไว้ที่รัฐ แต่กำไร ไปให้กับเอกชน แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐก็มีเอี่ยวด้วยใช่ไหม   เราเคยถามไหมว่า 48% ที่ถือหุ้นของ ปตท. มีนักการเมืองเข้าไปถือหุ้นเท่าไร ไม่เคยถูกเปิดเผย ว่าใครถือหุ้น มีฝรั่งหัวดำที่ไหนบ้างที่มาถือหุ้นในกองทุนนอมินีทั้งหลาย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงพลังงานที่เข้าไปนั่งในบอร์ด ปตท. ก็เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งโบนัส ทั้งเบี้ยประชุม เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจตัดสินใจแบบนี้ก็เท่ากับใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองด้วย ประชาชนต้องออกมาออกเสียง ส่งเสียง ไม่ใช่เงียบ เพราะความเงียบคือการยอมรับ และต้องตั้งคำถามว่าราคาแบบนี้เป็นธรรมไหม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ความยั่งยืนของอาหาร ที่คุณทำได้

  “ถ้าปีหน้าน้ำมันท่วมอีก ข้าวของก็คงขาดตลาดอีก คนก็ตุนมาม่า ปลากระป๋อง ไข่ พอมีความต้องการเยอะ ราคาของก็แพงขึ้น ทำไมเราไม่คิดกลับบ้าง ซื้ออาหารสดพวกปลา หมู มาทำหมูเค็ม ปลาเค็ม ก็เก็บไว้ได้นานเหมือนกัน ที่สำคัญคือผัก น้ำท่วมเราปลูกกินเองได้ ถั่วงอก ผักบุ้งนี่ก็ปลูกง่ายคุณค่าทางโภชนาการก็เยอะ” แก้วตา ธัมอิน นักเขียนบทกวีคนรุ่นใหม่เผยแนวคิดที่แตกต่าง แต่ลงตัวให้กับฉลาดซื้อได้เห็นในอีกมุมมองของการใช้ชีวิต เพื่อจะมีชีวิตอยู่และอยู่อย่างมีชีวิต ในการข้ามฝ่าวิกฤต ที่อาจอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด ฉลาดซื้อขอบอกเล่ากิจกรรมโครงการรณรงค์ของมูลนิธิชีววิถี โดยผ่านเรื่องราวจากปากของ แก้วตา ธัมอิน ที่วันนี้ไม่ได้มาในบทบาทของกวี แต่มาในบทบาทของเจ้าหน้าที่รณรงค์ เกิดกอ ก่อเมล็ดพันธุ์“โครงการ(ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์) นี้เกิดขึ้นมาเพราะภาวะน้ำท่วมขังที่ยาวนาน บางพื้นที่ เช่น จ.นครสวรรค์ ท่วมนานกว่า 3 เดือนทำให้พื้นที่การเกษตร ทั้งที่นา ที่สวน จนสวนรอบบ้าน ไม้ผล และพืชผักสวนครัว ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกเพื่อการผลิตในรอบต่อไปได้อีกเลย และเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในระยะฟื้นฟู เราจึงรับบริจาคเมล็ดพันธุ์ผัก-ข้าว กิ่งพันธุ์ผัก-ผลไม้ ที่เกษตรกรสามารถเก็บและขยายพันธุ์ไปปลูกต่อได้ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่น พืชผักสวนครัว เมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกเพื่อเป็นรายได้ช่วงหลังน้ำท่วม” นั่นคือที่มาของโครงการดี ดี แบบนี้ แต่จุดหมายหลักๆ ก็คือความพยายามจะสร้างความยั่งยืนด้านอาหารนั่นเอง ไม่ให้เมล็ดพันธุ์ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือบรรษัทไม่กี่บรรษัท เพราะตลาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล ซึ่งเมล็ดพันธุ์นั้นถือเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร ถ้าหากเกษตรกรไม่ได้จัดการเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง สุดท้ายพันธุ์พื้นเมืองก็จะสูญหายไป ความหลากหลาย การเข้าถึงด้านอาหารก็ยากขึ้น ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นที่ทางมูลนิธิชีวิถีเล็งเห็นก็คือ เกษตรกรมีรายได้น้อยเมื่อต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ที่จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม(hybrid) ทั้งหมด แล้วไหนจะต้องติดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดวงจรการเข้าไม่ถึงอาหาร ต้องเข้าเป็นหนี้ และยากจน หมุนวนเป็นวงจร เมล็ดพันธุ์ที่ทางมูลนิธิชีววิถีจับตาและรณรงค์อยู่ก็คือเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด รวมถึงผักพื้นบ้าน ที่พยายามให้พื้นที่เครือข่ายได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายนั่นเอง ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ความยั่งยืนด้านอาหาร พื้นที่เครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่เราทำงานด้วยอย่างจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีการแบ่งปันพันธุ์ข้าวมาให้กัน อย่างคนที่อบรมกับเครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่อยู่จังหวัดกำแพงเพชรก็ปันเมล็ดข้าวมาให้ ถึงแม้มันไม่มากมายแต่ก็ถือว่าเบาแรงกับต้นทุนที่ต้องลงทุนใหม่ ตอนนี้ชาวบ้านต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อายุสั้น เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว เพราะว่าไม่ได้ทำนามารอบหนึ่งแล้ว แล้วข้าวที่ทางเรามีอยู่ก็เป็นข้าวปี ซึ่งต้องใช้เวลานาน ข้าวอายุสั้นจึงเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน เพราะถ้าดูแล้วในฤดูกาลหน้า น้ำก็จะมาอีกแล้ว พฤษภาคม น้ำก็จะมีอีกแล้ว ถึงแม้ทาง.ธ.ก.ส.ที่ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเกษตรกร โดยการนำพันธุ์ข้าว ซีพี 111 มาขายให้ชาวบ้านในราคาถูก แต่ก็ต้องพ่วงปุ๋ย พ่วงยาของเขาไปด้วยพร้อมๆ กัน เรื่องผักที่เรารวบรวมก็เป็นพวกเครื่องเทศต่างๆ เพราะมันตายหมดเลยนะ ทั้งพริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา คือเหมือนห้องครัวของบ้านหายไปเลย เราก็รวบรวมให้ได้เยอะที่สุดแล้วนำไปให้กับชาวบ้าน รวมกันเป็นผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ 12 – 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้นำไปมอบเป็นผ้าป่าให้กับชาวนครสวรรค์ ซึ่งรวบรวมจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน ยกตัวอย่างจังหวัดฉะเซิงเทรา จะทำพวกผักพื้นบ้านเยอะ ก็จะรวมมาให้เยอะ ตอนนี้ก็จะมีพันธุ์พริก มะเขือ ถั่วพู เราจะไม่เพาะเป็นกล้านะ เพราะจะยากตอนขนย้าย ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ไปเลยจะสะดวกกว่า สวนผักคนเมืองที่นครปฐม คลองโยงก็ได้รับผลกระทบนะ ทางเครือข่ายเชียงใหม่ที่จับเรื่องที่ดินก็จะระดมเมล็ดพันธุ์ไปช่วย ชาวบ้านที่ปลูกผักออร์แกนิคที่ลาดหลุมแก้ว ก็ได้รับผลกระทบเยอะก็คิดไว้ว่าน่าจะมีผ้าป่าเมล็ดพันธุ์เพื่อไปช่วยเหลือชาวบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วมด้วย ภาพการเคลื่อนไหวในหลายๆ ส่วนที่เราระดมช่วยเหลือกันเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งน่าจะได้มาพูดกันในเรื่องวิกฤติของอาหาร ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ทั้งเรื่องการจะถูกคุกคามจากบรรษัทด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหนหมด  การพึ่งตัวเองในภาวะวิกฤต ถ้าหากภาวะวิกฤตแบบนี้เกิดขึ้นอีก คุณจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง หลายคนอาจเตรียมตัวไว้แล้วว่าจะตุนอะไรไว้บ้าง ทั้งอาหาร น้ำ แต่สำหรับแก้วตาเธอมีแผนไว้แล้วว่า จะอยู่กับน้ำยังไง “น้ำมาอีก ก็ปลูกผักลอยน้ำเลย หลายคนอาจเตรียมมาม่า ปลากระป๋อง มีน้องคนหนึ่งบ้านอยู่แถวนนทบุรี บอกว่าซื้อไข่เก็บไว้เป็นแข่งเลย ครอบครัวก็พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหน ทำไมจินตนาการไม่พ้นอาหารกระป๋องใช่ไหม พวกปลาเค็ม ปลาแห้ง เก็บไว้ได้ตั้งเยอะ หน่อไม้ดอง หน่อไม้อัด แต่คนเราจินตนาการไปไม่ได้ ก็ไปแย่งกันซื้อไข่ ซื้ออาหารกระป๋อง อยากมีผักกินสดกินใช่ไหม อ้าวก็เพาะถั่วงอกสิ คือมันต้องคิดถึงการสำรองอาหารในอีกรูปแบบ อ่ะอยากซื้อหมูใช่ไหม เราก็เก็บได้ ซื้อมา ไม่ใช่ไปเก็บในช่องฟรีซในตู้เย็นนะ พอถูกตัดไฟขึ้นมาจะทำไง คุณก็ทำแหนม ทำหมูเค็ม หมูแดดเดียว เห็นไหมทำได้ตั้งหลายอย่างง่ายๆ แต่พอถึงสถานการณ์นั้นจริงๆ คิดอะไรไม่ออกเลย ก็นะมันเป็นเรื่องที่เราต้องจินตนาการกับมันหน่อย แล้วเราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีชีวิต” สำหรับใครที่อยากร่วมทำบุญผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ส่งมาได้ที่ มูลนิธิชีววิถี 125/356 ม.3 หมู่บ้านนราธิป ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 หากเป็นกิ่งพันธุ์ หรือต้นกล้าจะขนมาส่งที่มูลนิธิชีววิถีก็ได้ หรือไม่สะดวกจะให้ไปช่วยขนก็สามารถแจ้งมาได้ที่ 02-9853837-8 หรือ คุณสุบิน 086-9194868,คุณนนทวรรณ 086-1828423 ทำบุญกับคนที่เขาต้องการจริงๆ ด้วยของที่ขาดแคลนจริงๆ ได้บุญเยอะนะเออ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน

  “ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง...” ฉลาดซื้อคราวนี้เราจะมาคุยกับ คุณกำชัย น้อยบรรจง  ชายหนุ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และอีกฐานะหนึ่งคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยกำลังของอาสาสมัครคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยจิตอาสา ผู้ประสบภัยกลายเป็นผู้ให้“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัย ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้นะ ทั้งที่มันไม่น่าท่วม อย่างปีก่อนไปช่วยที่นครราชสีมาซึ่งสูงกว่าสระบุรี  ช่วยเหลือเครือข่ายผู้บริโภคลพบุรี  น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนโบราณ ไม่ใช่น้ำหลาก ที่คนโบราณมีภูมิปัญญาโบราณในการตั้งรับทั้งการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่  ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือการก่อสร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ และการจัดการน้ำไม่เป็นระบบ” กำชัยให้ความเห็นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งของประเทศ  และจากบทเรียนการให้ความช่วยเหลือพี่น้องในปีที่ผ่านมา ทำให้เขามองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรจะทำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็คือ “ระบบเครือข่าย” และ “อาสาสมัคร” “ระบบการลำเลียงของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเราใช้ระบบเครือข่าย และอาสาสมัครในพื้นที่ อาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครที่เราทำงานในแต่ประเด็น เช่นในจังหวัดสิงห์บุรี เราก็ได้อาสาสมัครที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยประสานงานในพื้นที่ และส่งข้อมูลเข้ามาให้เราว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร  ทีมงานของเราและอาสาสมัครก็จะประเมินสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือว่าในส่วนของภาครัฐ ให้การช่วยเหลือถึงไหม หรือความช่วยเหลือเข้าไปเฉพาะบางจุด การให้ความช่วยเหลือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกันนะ ช่วงแรกเราจะช่วยเหลือผู้อพยพตามศูนย์ผู้ประสบภัย เพราะเราเชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการไม่น่าจะตกสำรวจ แต่พอเราเข้าไปดูเราก็เห็นข้อจำกัด อย่างบางศูนย์ฯ รับคนได้ 500 คน พอคนเกินก็เกิดความแออัด  ผู้เดือดร้อนบางคนไม่ยอมออกมาเพราะความเป็นห่วงของในบ้าน หรือคนแก่ไม่ยอมออกจากบ้าน”   อาสาสมัครมีใจอย่างเดียวไม่พอเมื่อเริ่มเรียนรู้ ทีมงานของกำชัยก็กลับมาพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวทางและบทบาทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พอเราเห็นช่องโหว่ก็กลับมาคุยกันในทีมทำงานในจังหวัดว่า ‘บทบาทของเราในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร’ ต้องบอกว่านะว่าอาสาสมัครแค่มีใจอย่างเดียวไม่พอนะ หนึ่งต้องมีเพื่อน สองต้องหาของไปช่วย สามต้องรู้ความต้องการของผู้ประสบภัย จริงไหม น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้พวกเขาได้ใช้หุงหาเองได้ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่าง เราเริ่มที่จังหวัดสระบุรีก่อน ที่ดอนพุดซึ่งหนักมากนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มประสานงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงได้จริง  ส่วนตัวผมนะ ผมมองว่าถึงกลุ่มเป้าหมายนะ เพราะพื้นที่ที่เราจะเข้าไปต้องขนของใส่รถทหาร ไปถ่ายใส่รถอีแต๋น ไปถ่ายของลงเรือและนั่งเรืออีก 2 – 3 ชั่วโมง เข้าไป 20 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นว่าคนที่ตกสำรวจจริงๆมันมีเยอะ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงน้ำใจคนที่ร่วมบริจาคมาให้มีอีกเยอะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการของบริจาค ของหน่วยงานรัฐเข้าถึงผู้ประสบภัยแค่ไหน” กำชัยและทีมงานเป็นตัวประสานงานในการจัดหาของบริจาค ทั้งน้ำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารจากชาวบ้าน ร่วมกับทีมทำงานช่วยกันแพ็กถุงยังชีพ บ้างก็ทำอาหารกล่องไปให้กับพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นอกจากนี้แล้วยังช่วยส่งน้ำ ให้กับเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอีกด้วย “ถ้าเทียบการจัดการถึงพื้นที่ต้องบอกว่าภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวกว่ารัฐบาล แต่ถ้าจะต้องช่วยอีกให้ปีต่อๆไป ต้องมาวางแผนให้ชัด วางจังหวะ และจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา อย่างในเครือข่ายผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร  ที่ตามมาก็คือเครือข่ายฯจะช่วยเพื่อน ช่วยชาวบ้านได้อย่างไร เหมือนกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในหลายๆเครือข่ายก้าวไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องรอคอยหน่วยงานรัฐว่าจะมาแจกของเมื่อไร ต้องเตรียมครับ ฟันธงว่า ‘มีแน่นอน’”   แก้ปัญหาน้ำต้องให้คนรู้มาทำกรมชลประทานต้องบริหารงานน้ำให้เป็น ถ้าสอบผมว่าก็ตก การให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหลักที่นานาประเทศใช้ก็คือสันนิษฐาน ถึงความเร็วร้ายที่สุดที่มันจะเกิด  และวางแผนรับว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะมีแผงการตั้งรับแบบไหน ควรที่จะบอกประชาชนอย่างไร เขื่อนกำลังจะแตก น้ำจะไหลไปทางไหน ประชาชนจะต้องอพยพไปตรงไหน น้ำท่วมขนาดนี้คุณจะอยู่ได้กี่วัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือมันต้องชัดเจนในการให้คำตอบกับประชาชน ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง น้ำท่วมครั้งนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอุทกภัยนะผมมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากคะแนนเต็ม 10 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ผมให้ 4 นะ มีอย่างที่ไหนเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่กลับต้องมาย้ายหนีน้ำ แบบนี้มีที่ไหน ชาวบ้านหรือโดยเฉพาะชาวกรุงเทพต้องการความเชื่อมั่นนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว  เขาก็ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขได้ เขาก็ยอมอพยพ ถ้าเทียบความเชื่อมั่นในบ้านเราก็อาจจะเทียบกันไม่ได้เลย ผมว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาจัดการและควรทำให้รวดเร็ว   อยู่ย้อนยุคกำชัยสะท้อนถึงการใช้ชีวิตหลังน้ำท่วมว่าควรที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ กลับมาใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน “ส่วนตัวผมนะผมว่าพวกเราต้องให้ความสำคัญกับการหันกลับมาใส่ใจวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน การบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำประเทศ บริโภคอย่างรู้จักความว่าพอ ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศต่อไปว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลจะมีแผนพัฒนาประเทศต่อไปในระบบแบบอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการวางแผนที่จัดการกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและทางน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถไฟไทยกับสิทธิของผู้โดยสาร

  ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณนั่งรถไฟไปย้อนรำลึกเหตุการณ์อุบัติเหตุ รถไฟตกราง โดยขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง – กรุงเทพ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝัน และไม่น่าจะเกิดขึ้น   สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.ร.ฟ.ท.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟไทยมากว่า 29 ปี จะช่วยไขปริศนาที่ว่า ทำไมรถไฟไทยทำไมถึงไม่พัฒนา และควรจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยกันอย่างไร   รถไฟไทยทำไมไม่พัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเรามีรถไฟใช้เป็นประเทศแรกและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านการโดยสารและสินค้าตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 แต่ปัจจุบันลองไปดูประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็จะเห็นว่าไทยเราล้าหลังที่สุดในขบวนการพัฒนา ต่อประเด็นนี้สาวิทย์ มองว่า  ผมก็คิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องหันมาดู โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา 115 ปี รถไฟไทยนั้น ก็อย่างที่เห็นว่าสภาพรถเก่า(มาก)  ขาดการเหลียวแล ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบายของรัฐบาล อันนี้ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนารถไฟ ทั้งที่รถไฟต้องทำหน้าที่บริการขนส่งสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารว่า จะถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย และต้องมีหัวรถจักรที่ลากจูงขบวนรถที่มีสภาพที่สมบูรณ์ 100 % ถ้าดูจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีเขาเต่า สาเหตุที่หนึ่งก็คือเรื่องบุคลากร คือคนขับรถไฟ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ  ปัจจุบันเราขาดแคลนมากๆ เพราะมีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 41 กำหนดว่าพนักงานรถไฟที่เกษียณออกไปให้รับใหม่ไม่เกิน 5 % ของผู้เกษียณอายุ ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีคนเกษียณประมาณ 300 – 400 คน นั่นก็เท่ากับว่าปีหนึ่งเรารับคนได้แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ทำให้บุคลากรน้อยลง แต่ความต้องการของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่มาก ก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน แล้วก็ไม่มีวันหยุด นั่นก็เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้พนักงานทั้งคู่ของขบวนที่ 84 ตอนนั้น วูบหลับไป เราพบว่าใน 1 เดือน พนักงานขับรถได้พักผ่อนแค่วันเดียว  สาเหตุที่สองก็คือเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก สหภาพฯ หยิบขึ้นมารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในห้องบังคับจะมีระบบความปลอดภัยป้องกันพนักงานหลับหรือหมดสติ เรียกว่าระบบ Vigilance   ซึ่งระบบนี้จะทำงานตลอดเวลาจะอยู่ที่เท้าของพนักงาน และต้องใช้เท้าเหยียบทุกๆ 8 วินาที ถ้าไม่เหยียบก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือน ถ้าหากไม่มีการตอบโต้ต่อสัญญาณเตือนภายใน 120 วินาที ระบบความปลอดภัยก็จะเริ่มลดกำลังไฟลงที่เรียกว่าระบบ Deadman ระบบห้ามล้อก็จะทำงานและขบวนรถก็จะหยุดในที่สุด แต่ระบบความปลอดภัยของรถไฟขบวนที่ 84 ปี 2552 มันใช้การไม่ได้  อีกสาเหตุหนึ่งก็คือซีนยางของประตูห้องเครื่องกับห้องคนขับมันรั่ว ก็เป็นไปได้ที่ควันไอเสียเข้ามาแล้วทำให้พนักงานดมควันเข้าไปแล้วหมดสติ   ทางออกเรื่องการพัฒนาความปลอดภัยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อการรถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของการรถไฟ โดยการรถไฟต้องเร่งจัดซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ บนรถจักร รถพ่วง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนนำรถออกไปวิ่งและต้องมีระบบ Vigilance และ Deadman ที่ใช้งานได้ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป แนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก และไม่เกิดผลดีกับใครเลยไม่ว่าจะเป็นการรถไฟที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เราไม่ต้องการให้ประชาชนต้องไปสุ่มเสี่ยงกับการเดินรถที่ไม่ปลอดภัย เหมือนการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีรถไฟเขาเต่าอีก ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงในช่วง 30 ปีของการรถไฟเลยทีเดียว อีกทางหนึ่งในการพัฒนาความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ได้แก่ ผู้โดยสารควรได้รับความคุ้มครองในการเดินทาง มีระดับมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้การรถไฟจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการรถไฟขึ้นมา โดยมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะ  และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟด้วย   จริงๆ แล้วการขนส่งทางราง เป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด   การเยียวยา ค่าชดเชยที่ไม่ตายตัวด้วยหลักเกณฑ์การเสียชีวิตการบาดเจ็บ เราเองไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและมองว่าการชดเชยเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการชดเชยไม่ว่าจำนวนเท่าไรมันก็ไม่เพียงพอสำหรับความสูญเสียที่ต้องเสียไป เพราะว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมันชดใช้ด้วยเงินแค่ สองสามแสนบาท ไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะไปทดแทนชีวิตคนได้หรอก เพราะว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่ ก็มีโอกาสที่จะเอื้อชีวิตให้กับครอบครัว  ต่อชุมชนเยอะแยะมากมาย  ในแง่ของจำนวนเงินบางครั้งมันอาจจะช่วยเยียวยาช่วยเหลือได้บางส่วนก็จริง แต่การชดเชยเยียวยา ไม่ควรไปมองแค่การกำหนดตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ แต่ควรดูว่า อายุ ครอบครัว ฐานะ กับสิ่งที่เขาจะมีจะได้ถ้ามีชีวิตอยู่เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่มองว่าตามระเบียบ ตามเกณฑ์กำหนดไว้แค่นี้ ก็ชดเชยแค่นี้ ผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง บ้านเราเรื่องความปลอดภัยเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลและเบาบางมาก ในขณะที่บ้านเราทุ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยจำนวนมาก อย่างการให้สวมหมวกนิรภัย มีการรณรงค์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” มันก็ถือเป็นการดีนะที่มีการรณรงค์และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรเทศกาลทีไรก็มีคนตาย คนบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าพันราย ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันในการกำหนดมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด  การขนส่งบ้านเราถือว่าน่ากลัวนะ อย่างการใช้รถตู้ขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดจะมีคนขับรถเพียงแค่คนเดียวอย่างกรุงเทพฯ -หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ  – นครสวรรค์ แล้ววิ่งทำรอบกัน แล้วรถตู้เหล่านั้นก็ออกแบบใช่ว่าจะแน่นหนา พอเกิดอุบัติเหตุทีไรก็เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นมาพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่   องค์การอิสระผู้บริโภคจะมีประโยชน์ไหมต่อการพัฒนารถไฟไทยองค์การอิสระฯ ปัจจุบันมีหลายองค์กรนะ ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดได้จริง ในแง่ของความเป็นอิสระ และเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ก็ยังเป็นกังวลว่า ทำอย่างไรจะไม่ถูกครอบงำ จะไม่ถูกแทรกแซง แล้วประชาชนจะมีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างไร  และองค์การอิสระฯ นี้จะมีอำนาจได้อย่างไร  อย่างเช่น อุบัติเหตุที่เขาเต่า เราจะมีอำนาจบังคับการรถไฟได้อย่างไรว่า รถที่ไม่มีความปลอดภัยไม่ให้นำมาวิ่งรับส่งประชาชน ซึ่งอำนาจตรงนี้เรา(องค์การอิสระฯ)ต้องสามารถกำหนดได้ เมื่อตอนที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและขอให้ศาลออกคำสั่งไม่ให้การรถไฟนำรถไม่ปลอดภัยออกมาวิ่งให้บริการกับผู้โดยสาร ศาลท่านบอกว่าในชั้นศาลแพ่งศาลไม่มีอำนาจในการบังคับได้  เพราะฉะนั้นองค์การอิสระฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องมีอำนาจในการสั่งการด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น  ไม่งั้นก็จะเหมือนองค์การอิสระอื่นๆ ที่ให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับและสั่งการ  อีกอย่างคือ ต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีอำนาจอะไรมาแทรกแซง ที่สำคัญคือต้องวางโครงสร้างดีๆ และต้องสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยจะได้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเกิดเดี๋ยวนี้

  ทุกคนมีสิทธิขอเกาะกระแสเรื่องเด่นฉบับนี้ พาทุกท่านไปพูดคุยกับ น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงแนวทางการทำงานคุ้มครองกันค่ะ พร้อมทั้งเลียบเคียงถามถึงองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดในรัฐบาลนี้หรือไม่  นโยบายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลที่ถือว่าเร่งด่วนคือเรื่องอะไร   เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำจริงๆ ตอนนี้ก็คือการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคให้กว้างขึ้น บุคลากรเรามี 200 คน งบประมาณ 190 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเครือข่ายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า   เครือข่ายการทำงานปัจจุบันก็มีเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานกันด้วยใจ ถึงแม้จะมีหน่วยงานรัฐที่ตั้งขึ้นดูแลผู้บริโภคในระดับจังหวัด ในระดับอำเภอแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้นต้องมีการประสานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่ทำงานภายใต้กฎหมายและอาจจะมีงบประมาณบางส่วนช่วยสนับสนุนในการทำงานลงไป เราเพิ่มคนไม่ได้ การขยายเครือข่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็น่าจะเป็นไปได้   ส่วนที่สองก็คือการสร้างทีมเฉพาะกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา เพื่อหนุนเสริมทีมงานของ สคบ. อย่างทีมตำรวจหน่วยสืบสวนสอบสวน การร่วมเผยแพร่ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะการเผยแพร่ข่าวก็ถือเป็นการปรามคนที่กำลังจะทำความผิด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้ช่องทางการใช้สิทธิของตัวเองด้วย   อีกส่วนที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบบเอกสารเป็นระบบของเทคโนโลยีสาระสนเทศที่สามารถค้นข้อมูลได้ง่าย เพราะคนเราน้อยจะได้ทำงานได้เร็วขึ้น  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ไหม ต้องบอกว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายของประชาชน และกฎหมายก็เข้าถึงชั้นวุฒิสภาแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่สภาผู้แทน ก็จะให้วุฒิสภาประชุมต่อเลย ถ้าหากมีการแก้ไขนิดหน่อยก็ผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้เลย แต่ถ้ามีการแก้ไขมากก็ย้อนไปที่สภาผู้แทน แต่กฎหมายตัวนี้พิจารณาแน่นอน  ฝากถึงประชาชนเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค อยากให้ประชาชนรู้สิทธิและตระหนักถึงการใช้สิทธิของตัวเองในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อถูกละเมิด เมื่อใช้แล้วไม่เกิดผลก็ประสานงานร้องเรียนมาที่หน่วยงานเพื่อให้เกิดการแก้ไข ถ้าหากว่าเป็นไปได้จะเกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการคุ้มครองสิทธิก็จะเป็นการดีมาก เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการทั้งเรื่องราคา เรื่องคุณภาพ ราคาแพงเกินไป คุณภาพไม่ได้มาตรฐานเราก็ไม่ซื้อ ดูสิว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร จริงไหม มันก็จะเป็นกลไกการตลาดที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าได้เลยนะ ******************************************** ผู้บริโภคต้องมีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาผู้บริโภคที่ต้องติดอาวุธทางความคิดและทางปัญหาให้กับตัวเอง อย่างสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล หญิงผู้ซึ่งกล้าฟ้องศาลเรียกความยุติธรรมจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ เธอยื่นฟ้องบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 , บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท -----------------------------------------------------------------------------------------------สุภาภรณ์ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า เมื่อปี 2547 เพื่อขับรับส่งลูกๆ 3 คนไปโรงเรียน แต่หลังจากใช้รถได้ไม่นาน เธอรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ก็ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเธอไม่เคยใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเรื่อง ปกติหรือไม่ จึงใช้รถยนต์ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549   เธอใช้รถยนต์คันดังกล่าวครบระยะ 50,000 กิโลเมตร จึงได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด พร้อมแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร แต่แล้วก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับพนักงานขายว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เธอจึงทำตามคำแนะนำ แต่กลิ่นก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร   วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2550 เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการของบริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด และได้ให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด มาตรวจสอบโดยให้เธอทิ้งรถยนต์ไว้ เมื่อครบกำหนดรับรถพนักงานได้แก้ไขให้โดยเปลี่ยนช่องลมบังโคลน ซ้าย – ขวา และบอกกับเธอว่าสามารถนำรถไปใช้ได้อย่างสบายใจ แต่กลิ่นและคราบเขม่าดังกล่าวก็ยังไม่หายไป   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เธอจึงนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังตรวจเช็คแล้ว ผู้จัดการศูนย์ฯ บอกกับเธอว่าไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อได้รับคำยืนยันว่า ‘เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล’ มาตลอด เธอเชื่อตามที่ผู้จัดการศูนย์ฯ บริษัทโตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด บอกว่า กลิ่นควันคล้ายท่อไอเสียดังกล่าวเป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จึงทนใช้รถยนต์เรื่อยมา และในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2552 เริ่มมีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารเป็นจำนวนมาก สุภาภรณ์จึงนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฯของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งพบว่า มีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารจำนวนมากจริง พนักงานของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด จึงได้ถ่ายรูปแล้วแล้วส่งเรื่องไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด โดยปกปิดไม่ให้เธอรู้ เธอจึงเริ่มเอะใจว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการตรวจรถยนต์คันดังกล่าวร่วมกันระหว่าง ตัวแทนบริษัทบริษัท โตโยต้า ฯ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสุภาภรณ์ ทดสอบโดยขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตรวจสอบรถยนต์ 2 คันเปรียบเทียบพร้อมๆ กันคือรถยนต์คันของสุภาภรณ์ กับรถยนต์ยี่ห้อ...ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องโดยสารรถยนต์คันของสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อ... ตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าว   เธอถึงบางอ้อถึงอาการผิดปกติของร่างกายทั้งในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีภาวะการหายใจลำบาก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบบ่อยครั้ง มึนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีอาการคล้ายจะเป็นลม แสบตา คันจมูก มีอาการคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะมา จากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นี่เอง   เธอจึงหยุดใช้รถคันเจ้าปัญหาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา!!! และถามการชดเชยจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ เสนอที่จะซ่อมรถให้เธอ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการใช้บริการได้พิสูจน์บางอย่างให้สุภาภรณ์เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เธอยื่นข้อเสนอที่จะขอเปลี่ยนรถคืนรถยนต์ แต่ทางบริษัทฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องและให้ทำตามที่บริษัทฯ เสนอจะดีกว่า  ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’  “ยอมรับว่าผิดหวังนะเราเชื่อในความเป็นโตโยต้ามาตลอด ซ่อมก็ซ่อมที่ศูนย์ของโตโยต้า ไม่เคยไปซ่อมที่อู่ไหนเลย แต่ดูเขาทำกับเราสิ”  หลังจากนั้นได้ร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่ยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น สุดท้ายเธอจึงยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท และศาลได้พิพากษา วันที่ 25 พ.ค. 2554 ให้จำเลยที่ 1 คือบริษัท โตโยต้า ธนบุรี และ จำเลยที่ 3 คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รุ่นเดียวกับสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และบริษัทฯทั้งสองให้ร่วมจ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 -----------------------------------------------------------------------------------------------------  เราบริสุทธิ์ใจ “เรายื่นฟ้องก็เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับสังคม พี่ว่ามันถึงเวลาแล้วนะที่ผู้บริโภคจะต้องมีองค์การอะไรสักอย่างขึ้นมาคุ้มครองให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ถึงแม้จะมีหน่วยงานอย่าง สคบ. แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ในเรื่องกระบวนการให้ความช่วยเหลือ  ที่ทำมามันก็เหนื่อยนะที่ต้องสู้กับบริษัทใหญ่ แต่เราอยากจะบอกกับทุกคนเรื่องความถูกต้องและในการที่เราจะไปสู้กับบริษัทใหญ่อันดับแรกเราต้องบริสุทธิ์ใจก่อน แล้วก็ต้องคิดความเสียหายตามจริง ไม่ใช่คิดจะไปเอาเปรียบเขา ไม่ใช่คิดเอาแต่ได้ เรามองไปที่ความถูกต้อง ความเชื่อใจในบริษัทของเขา และเราทำตามมาตรฐานของเขามาโดยตลอด ทั้งการดูแล การประกันภัย พยายามทำตามมาตรฐานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ น้ำมันเครื่องแม้แต่หยดเดียวก็ไม่เคยไปทำที่อื่น มีอะไรก็ใช้บริการศูนย์ของบริษัทฯ โดยตลอด แล้วพอมีความผิดพลาดเขากลับไม่รับผิดชอบ ไม่ได้ละมันต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบ รถยนต์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญนะ การเรียกร้องให้ผู้ประกอบการออกเยียวยาแล้วต้องไปทุบรถให้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งๆ แล้วถึงจะออกมารับผิดชอบ มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเราใช่ไหม ก็ยอมรับว่าบ้านเรามีการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง การเรียกร้องทางกฎหมายก็น่าจะเป็นทางออกในการสร้างบรรทัดฐานในการเยียวยาได้ ไม่ใช่ต้องทุบรถตลอดเวลาจริงไหม”  การใช้สิทธิต้องแลกกับระยะเวลา ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’ ถ้อยคำจากตัวแทนบริษัทกลายเป็นคำที่สร้างพลังให้สุภาภรณ์สู้สุดใจที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องรับผิดชอบ มันก็จริงอย่างที่เขาพูดนะ เพราะเวลาเราใช้สิทธิ เราต้องวุ่นทุกอย่างทั้งเอกสาร ทั้งเวลา ที่ต้องแลก ถามว่า 1 ปีที่ฟ้องศาลไปคุ้มไหม มันเทียบกันไม่ได้ แต่มันเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมบริษัทฯ ไม่ยอมรับความผิดพลาด ในต่างประเทศพอรถยนต์เกิดปัญหาเขาเรียกคืนรถยนต์เป็น "ล้านคัน" แล้วบริษัทฯ นั้นก็ยังขายรถรุ่นอื่นๆ ได้ กลับเป็นผลดีเสียอีกในการสร้างความเชื่อถือให้กับบริษัทฯ ว่ามีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคก็จะบอกต่อๆ กันเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์แม้แต่บาทเดียวจริงไหม เราเดินถือเงินล้านบาทไปให้บริษัทฯ เพราะเราเชื่อและไว้ใจในบริษัทฯ แล้วจริงไหม เพราะฉะนั้นเมื่อสินค้าเกิดปัญหาผู้ประกอบการก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ  อยากให้ทุกคนใช้สิทธินะคะแต่เราต้องมีความบริสุทธิ์นะ และอดทนในการใช้สิทธิเพราะต้องแลกด้วยระยะเวลา แต่สุดท้ายผลที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้ประกอบการและสังคมเห็นความเปลี่ยนแปลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 เสียหายจากการรักษา ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการฟ้องเสมอไป

  “การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา...” คุณปภาวี รอดแก้ว วัย 49 ปี เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เธอมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผลการรักษาทำให้ตาบอด ต่อมาภายหลังโรงพยาบาลฯ ได้ยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเธอจำนวนหนึ่ง   ดวงตาที่เริ่มมองไม่เห็นคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง จึงได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องทำทั้งหมด 4 ครั้ง  โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 ส่วนอีก 3 ครั้ง จำเป็นต้องย้ายไปทำการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณี โดยเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553  การผ่าตัดตาทั้งสองข้างนั้นคุณปภาวีทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้ปกติหลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย “ตอนเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรกเพื่อรักษาตาข้างขวาพี่เริ่มมองไม่เห็นแล้วนะ ส่วนตาข้างขวายังพอมองเห็นอยู่หลังผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอเปิดผ้าปิดตา พี่เริ่มจะเห็นแสงแล้วนะ วันต่อมาก็เริ่มเห็นหน้าหมอ หมอเองก็ยังแปลกใจเลย วันต่อมาอาการก็ดีขึ้น จนมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งมันต่างกันมากจากการผ่าตัดตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษาแพทย์ก็มาเปิดตาพี่แล้วก็ตรวจตาก่อนอาจารย์หมอจะมาตรวจ แต่ครั้งนี้พี่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก 1 เดือนให้หลังตาก็มองไม่เห็นอะไรเลย”   เลือกเพราะวางใจ คุณปภาวีบอกว่า เหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. อีกแห่ง ก็เพราะโรงพยาบาลแรกนั้น เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์เจ้าของไข้จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น “มาที่โรงพยาบาลนี้เพราะใกล้กับโรงพยาบาลแรก และเชื่อมั่นว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์ก็เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง” คุณปภาวีซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอมีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า โรงพยาบาลคู่กรณีอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการรักษา เธอบอกว่า “ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์....... ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว เราฟังแล้วก็เอ๊ะทำไมพูดแบบนี้ แล้วการผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.แรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่มเพราะมันหมดฤทธิ์ยาชา  เราไม่ได้สลบนะ ก็จะได้ยินทุกอย่างที่ทั้งหมอและพยาบาลคุยกันในห้องผ่าตัด เราก็จะรู้” เธอย้อนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัดดวงกับการผ่าตัดครั้งนั้น หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า “ตาบอด” ปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกกับเธอว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอประสาทตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าหากว่าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะช่วยรักษาได้บ้าง ที่เป็นอย่างนั้นแพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้   ร้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ“เราก็ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา ก็เลยทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เรียกเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านเองไม่มีอำนาจ ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้ เรารีบปฏิเสธเลย ผ่ามา 3 ครั้งยังไม่ดีขึ้นเลย  แล้วการที่เราตาบอดมันส่งกระทบกับเรามากทั้งครอบครัว ทั้งการงานของเราด้วยเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้ รับเดือนละ 2,000 บาท ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า คืนมันเปลี่ยนไปหมดเลย” เธอจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว โรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้  ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา “การเยียวยาของโรงพยาบาลก็ถือเป็นการดี แต่เป็นการเยียวยาในระยะสั้น อยากให้ทางโรงพยาบาลได้เฝ้าระวัง การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  อยากจะฝากบอกถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้รับความเสียหายก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่าเงียบเฉยๆ หรือจะร้องเรียนที่โรงพยาบาลก็ได้เพราะในแต่ละโรงพยาบาลก็มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนแล้ว” คุณปภาวีกล่าว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point