ฉบับที่ 270 ‘บัญชีรายรับ-รายจ่าย’ ทำเถอะ ดีต่อเงินของเรา

        คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม         ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ         บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า         ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง         เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ         ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง         แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย         ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย         ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เตือนภัยยาสูตรเข้มข้น อันตรายก็เข้มขึ้น

        ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท         นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ         ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่  อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา        อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ  และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน           ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน  ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้  เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 กระแสต่างแดน

ขอที่ปูผ้า        ชาวบ้านบนเกาะพารอส ประเทศกรีซ พากันนุ่งผ้าเช็ดตัวออกมาเรียกร้องการเข้าใช้พื้นที่บนหาดทราย หลังกิจการบาร์ชายหาดรุกพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนไม่เหลือที่ให้คนท้องถิ่นมาปูผ้านอนอาบแดดได้โดยไม่ต้องเสียเงิน         กิจการ “ให้เช่าเก้าอี้อาบแดด” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ใครก็อยากเข้ามาลงทุน เพราะเรียกเก็บค่าเช่าแพงๆ จากนักท่องเที่ยวได้ แค่เตียงผ้าใบสองตัวกับร่มอีกหนึ่งคัน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) แล้ว         โดยทั่วไปร้านค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะให้บริการเช่าเตียงและร่มได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่เกินจากที่ขอไว้         “ม็อบผ้าเช็ดตัว” ทำให้เกิดกระแสขอคืนพื้นที่บนชายหาดของเกาะยอดนิยมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ มีทั้งการเดินประท้วงและการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ         ชายหาดกว่า 16,000 กิโลเมตรของกรีซ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายล้านคนในช่วงวันหยุดฤดูร้อน พกร่มให้หล่อ        ตลาดร่มสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชายเริ่มหันมาใช้ร่มกันมากขึ้น         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่าปีนี้ยอดขาย “ร่มผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ห้างบอกว่าจากร่มในสต็อก 600 รุ่น มีถึง 80 รุ่น ที่เป็นร่มสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ         ร่มที่ลูกค้าชายชอบคือร่มสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า และน้ำเงิน เป็นแบบพับได้หลายตอนและมีขนาดเล็กใส่กระเป๋าสะดวก (ในขณะที่ผู้หญิงชอบร่มที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพื่อให้เปิด/ปิดได้ง่าย ไม่เกี่ยงขนาด)         สาเหตุที่ผู้ชายนิยมกางร่มมากขึ้นเพราะเหตุผลด้านการดูแลผิว ผู้อยู่เบื้องหลังได้แก่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้าผู้ชายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายของญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30  ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดด/แก้ผิวไหม้ ก็โตขึ้นร้อยละ 20 เช่นกัน         ห้างวิเคราะห์ต่อว่าการประชุมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้ชายใส่ใจรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะได้เห็นหน้าตัวเองบนจอภาพพร้อมกับหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น   ไม่รับเงินสด         เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคเสมอ เมื่อผู้ประกอบการยืนยันว่า “ไม่รับเงินสด” โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริการรถสาธารณะ         กฎหมายของเดนมาร์ก จึงกำหนดให้ธุรกิจขนส่งไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการชำระเงิน ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรับชำระเงินเป็นเงินสด แม้แต่การปฏิเสธ “แบงค์ใหญ่” เพราะไม่มีเงินทอน ก็ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้         แต่ Midttrafik ผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก กลับยืนยันว่าตั้งแต่พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่รับชำระค่าโดยสารเป็นเงินสดแล้ว          เทศบาลเมืองออฮุสแถลงว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินสดกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ประตูกลางหรือประตูหลังของรถ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องยกเครื่องเหล่านี้ออกไปทำลาย ช่องทางชำระด้วยเงินสดจึงหมดไปโดยปริยาย อยากระบาย         บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันจัดให้ฟรีสามครั้งสำหรับคนอายุ 15 ถึง 30 ปี ได้รับการตอบรับดีเกินคาด         ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ “คนไข้” จำนวน 6,000 คน ปัจจุบันมีคนมาจองพบจิตแพทย์ในคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเต็มหมดแล้ว         สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะ นอกจากภาวะหดหู่และโดดเดี่ยวในช่วงที่มีการระบาดของโควิดที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนแล้ว คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจมอยู่กับอินเทอร์เน็ต ขาดทักษะทางสังคมและคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาก็มีสถิติการหย่าร้างสูงขึ้น         กรมฯ มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ไม่กลัวที่จะเล่าปัญหาตนเองให้คนอื่นฟัง ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าที่เลือกจะไม่ปรึกษาใครเพราะกลัวเสียภาพพจน์   แก้ขาดทุน         ปีหน้าผู้โดยสารรถไฟในเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมชั่วโมงเร่งด่วน” ร้อยละ 7 หลังรัฐบาลอนุมัติแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟเนเธอร์แลนด์ (NS) ที่ต้องการนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยกับรายได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย         รัฐบาลยังเว้นการเรียกเก็บภาษีปีละ 80 ล้านยูโรจากบริษัท และให้เงินช่วยเหลือปีละ 13 ล้านยูโรด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้องค์กร Alliance of Passenger Rail New Entrants (ALLRAIL) ออกมาค้านว่าน่าจะผิดกฎสหภาพยุโรป ที่ระบุว่ากิจการแสวงหากำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าโดยสารและรายได้อื่น ไม่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป         ที่แน่นอนคือสัญญาการเดินรถระหว่างประเทศของ NS กำลังจะสิ้นสุดลง สหภาพยุโรปกำหนดว่าตั้งแต่ 25 ธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป ต้องมีการประมูลรับสัมปทานกิจการรถไฟระหว่างประเทศกันใหม่ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากเยอรมนี อิตาลี รวมถึงบริษัทร่วมทุนเนเธอร์แลนด์/เบลเยียมก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไข่ฮ้างฮัง

        มีคลิปหนึ่งที่ถูกโพสต์ลง TikTok มีเนื้อหาประมาณว่า เมื่อคุณแม่ซื้อไข่ฮ้างฮังมาแต่ยังไม่ได้กินเพราะไม่อยู่บ้าน 3 วันในหน้าร้อน เมื่อกลับมาบ้านต้องตกใจเมื่อเปิดประตูบ้านมาเจอลูกเจี๊ยบกว่าสิบตัววิ่งอยู่ในบ้าน ในขณะที่บางตัวกำลังฟักออกจากไข่         ผู้เขียนขอสารภาพว่า ไม่เคยได้ยินคำว่าไข่ฮ้างฮัง หรือที่บางคนให้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า อาจเรียกว่า ไข่ฮ้างรังหรือไข่ค้างรัง จึงเข้าค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วพบข้อมูลประมาณว่า ไข่ฮ้างฮัง คือไข่ที่ฟักยังไม่สำเร็จแต่ถึงเวลาแล้วที่แม่ไก่บ้านต้องไปเลี้ยงลูกเจี๊ยบส่วนใหญ่ที่ออกจากไข่ก่อน (ปรกติแล้วแม่ไก่ฟักไข่ประมาณ 21 วัน) จึงต้องทิ้งรังไปตามวิถีชีวิตธรรมชาติของแม่ไก่ที่ต้องพาลูกไปหากิน ส่วนไข่ที่เหลือยังฟักไม่สำเร็จผู้เลี้ยงไก่มักนำไปบริโภค โดยไข่ฮ้างฮังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ไข่ตัว คือไข่มีเชื้อที่เริ่มเจริญเป็นตัวอ่อน และตายในระยะใดระยะหนึ่ง ไม่สามารถฟักเป็นตัวออกมาจากไข่เป็นลูกเจี๊ยบได้และ ไข่ข้าว คือไข่ที่ไม่มีเชื้อ ไม่มีการเจริญเป็นตัวอ่อน แต่ได้รับการฟักทำให้สภาพของเนื้อไข่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความร้อนจากการฟักของแม่ไก่ทำให้ไข่ข้าวแตกต่างจากไข่ไก่สดทั่วไป (ข้อมูลนี้ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้จริงหรือ)         อย่างไรก็ดีมีกระทู้หนึ่งใน pantip.com (ในเดือนเมษายน 2566) เรื่อง ลักษณะไข่แบบนี้ไข่เน่าหรือไข่ค้างรัง ให้ข้อมูลต่างออกไปบางส่วนประมาณว่า ไข่ข้าวคือ ไข่ที่ถูกผสมด้วยน้ำเชื้อของไก่ตัวผู้แล้วถูกฟักแต่ยังไม่เป็นลูกเจี๊ยบคนก็เอามากินก่อน หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ข้าวเพื่อขาย (น่าจะได้ราคากว่าขายไข่ต้ม) ส่วนไข่ฮ้างฮังเป็นไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วแต่แม่ไก่กกไข่ฟักยังไม่เสร็จก็ทิ้งรังไปดูลูกเจี๊ยบตัวอื่น ตัวอ่อนในไข่ใบนั้นก็ตายกลายเป็นไข่ฮ้างฮัง หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ฮ้างฮังเพื่อขาย         หลังจากได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับไข่ฮ้างฮังแล้วก็นึกย้อนหลังไปเมื่อราว 60 ปีก่อน สมัยยังเด็กเคยเห็นรถเข็นขายไข่ต้มซึ่งมีไข่ต้มลักษณะหนึ่งที่ส่วนไข่แดงกลายเป็นลูกเจี๊ยบขนขึ้นเล็กน้อยแล้ว จึงถามแม่ของผู้เขียนว่า มันคืออะไร แม่ได้อธิบายว่าเขาเรียกว่า ไข่ข้าว ซึ่งคนที่ซื้อกินนั้นเชื่อว่า กินแล้วสมรรถภาพทางเพศจะดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนฟังแล้วก็เก็บข้อมูลไว้ในสมองเฉยๆ จนมาได้ดูข่าวที่กล่าวถึงข้างต้นจึงรำลึกได้ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามเพราะสงสัยอยู่ว่า คนไทยกินไข่ฮ้างฮังทำไม เหมือนฝรั่งที่กินหรือไม่         คำตอบแรกนั้นมีในอินเทอร์เน็ตว่า เพราะชอบกลิ่นและรส ส่วนเหตุที่มีคำถามถึงฝรั่งนั้นก็เพราะนึกได้ว่า สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกานั้นมีโอกาสได้อ่านบทความในนิตยสาร PlayBoy (ซึ่งเพื่อนในหอพักซื้อมาอ่านแล้ววางไว้ในห้องนั่งเล่น) มีบทความหนึ่งเกี่ยวกับฝรั่งแถวสแกนดิเนเวียนิยมกินลูกไก่ที่ยังอยู่ในเปลือกไข่เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางเพศหรือ Libido ดังนั้นผู้เขียนจึงลองค้นหาข้อมูลทางวิชาการในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับงานวิจัยไข่ที่มีลักษณะของไข่ฮ้างฮังว่ามีหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีไม่มากนักและที่น่าสนใจคือบทความเรื่อง Fibroblast growth factor (FGF) identification of a fertilized chicken egg whites and their effects on stem cells regeneration in the pancreas of hyperglycemia mice ในวารสาร Der Pharma Chemica ของปี 2016 ซึ่งบทความนี้เป็นผลการวิจัยของชาวอินโดนีเชียที่ให้ข้อมูลว่า สาร Fibroblast Growth Factor ที่สกัดได้จากตัวอ่อนในไข่ที่ถูกฟักแต่ยังไม่ออกเป็นตัวสามารถกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดของตับอ่อนที่นำออกมาจากหนูที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เพราะได้รับสาร alloxan ซึ่งทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินของตับอ่อน) พัฒนาไปเป็นเซลล์ที่หลั่งอินซูลินได้ ส่งผลให้มีการตั้งความหวังว่า สารสกัดจากไข่ที่มีตัวอ่อนนั้นน่าจะถูกใช้ช่วยกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดในอวัยวะต่างๆ พัฒนาไปทำงานทดแทนเซลล์เดิมซึ่งหมดความสามารถ         สิ่งที่น่าสนใจคือ เว็บ https://synergisticnutrition.com มีบทความเรื่อง Fertilized & Incubated Chicken Eggs and Fibroblast Growth Factors ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่ไข่ซึ่งได้รับการปฏิสนธิแล้วถูกฟักนาน 9 วันขึ้นไปนั้นมีปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ (fibroblast growth factors) ซึ่งเดิมทีนั้นในปี 1929 มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานแล้วทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า ปัจจัยสำคัญในไข่ดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่น่าเสียดายที่ผู้ศึกษาได้ตายไปในปี 1943 ทุกอย่างจึงถูกลืม จนผ่านไปเกือบ 50 ปีต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยไข่ระดับแนวหน้าของนอร์เวย์กลุ่มหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานว่า ไข่ไก่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วถูกฟักนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นของผสมของกรดอะมิโน เปปไทด์ และโปรตีนขนาดเล็กรวมกันที่น่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและถูกฟัก 9 วันนั้นมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (ของลูกไก่) สารสำคัญต่าง ๆ ที่คิดกันว่าเป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไฟโบรบลาสต์นั้นน่าจะมีความสามารถในลักษณะการสั่งให้เกิดการดูดซับกรดอะมิโน เปปไทด์ และสารอาหารเพื่อกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ของอวัยวะ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อสมองและอื่น ๆ ของตัวอ่อน สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับของผสมที่ช่วยให้ลูกไก่เจริญได้ระหว่างฟักนั้น บทความเรื่อง Basic Fibroblast Growth Factor in the Chick Embryo: Immunolocalization to Striated Muscle Cells and their Precursors ในวารสาร The Journal of Cell Biology ของปี 1989 ให้ข้อมูลว่า สารจำเป็นต่อการเจริญของตัวอ่อนในไข่ไก่นั้นเริ่มปรากฏขึ้นราววันที่ 2 ของการฟักและจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 11 ของการฟักไข่         เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีอยู่ทั่วร่างกายมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงแม้จะโตเติมที่แล้ว โดยเป็นเซลล์ที่รอการกระตุ้นที่เหมาะสมเพื่อรับสารอาหารสำหรับแปลงเซลล์เหล่านั้นให้เป็นเซลล์ใหม่ที่ทำงานได้เหมือนเซลล์ที่เสียหายไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ ดังนั้นจึงเป็นความหวังว่า องค์ประกอบที่สกัดได้จากไข่ไก่ที่ผ่านการปฏิสนธิและถูกฟักแล้วระยะหนึ่งอาจช่วยให้เกิดเซลล์ใหม่มาแทนเซลล์ที่เสื่อมไปของสมอง หัวใจ ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต เยื่อบุลำไส้ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย เพื่อฟื้นคืนชีพการทำงานของอวัยวะและกระตุ้นความต้องการทางเพศให้กลับคืนมา         คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ มีงานวิจัยเกี่ยวกับสินค้าที่มีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับไข่ฮ้างฮังบ้างหรือไม่ คำตอบคือ มีสินค้าซึ่งอ้างว่าเพิ่มสมรรถนะทางเพศของชาย โดยสินค้านั้นมีส่วนประกอบเป็นสารสกัดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วและฟักได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนพบว่ามีบทความของนักวิจัยชาวนอร์เวย์เรื่อง Sexual Desire in Men: Effects of Oral Ingestion of a Product Derived from Fertilized Eggs ในวารสาร Journal of International Medical Research ของปี 1997 ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่อ้างว่าให้ผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือ Libido (Libid, Libbido, Erosom และ Ardorare เป็นชื่อที่ใช้ในการทำตลาด) มีส่วนประกอบที่ได้มาจากไข่ไก่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฟักช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลงในผู้ชาย ผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกแบบ double-blind cross-over บ่งชี้ว่า ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ของการศึกษาพบว่า 58% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาชาวนอร์เวย์ที่มีความต้องการทางเพศต่ำลง มีความรู้สึกดีขึ้นตามที่ได้ประเมินโดยใช้ Visual Analog Scale ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภคชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มขึ้น ระดับความสุขที่ได้รับ และความแข็งแกร่งในความเป็นชาย นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาในชายสวีเดนที่แยกศึกษาต่างหากพบว่า 84% ของผู้ชาย 31 คน รายงานความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์หลังกิน Libido โดยต้องใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์ของการกิน Libido 3 กรัมต่อวันๆ ละสองครั้งก่อนที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน         ผู้เขียนได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บ https://www.pdr.net ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดูว่าเชื่อถือได้ เพราะเป็นแหล่งที่พิมพ์หนังสือ Physicians' Desk Reference (ปัจจุบันให้ข้อมูลฟรีบางส่วนแบบ online) ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่รู้จักดี ได้มีบทความเรื่อง Laminine (dietary supplement) - Full Prescribing Information ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ Laminine (ตั้งชื่อล้อกับคำว่า laminin ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรากฐานเครือข่ายโปรตีนที่อยู่ระหว่างเซลล์ของอวัยวะส่วนใหญ่ของสัตว์ทุกชนิด) ได้ติดฉลากบนสินค้าว่า มีสารสกัดจากไข่ไก่ที่ปฏิสนธิพร้อมด้วยส่วนผสมของโปรตีนที่เว็บไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าคืออะไร เพื่อให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมดและกล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้พัฒนาเพื่อซ่อมแซมเซลล์ชราที่เสียสภาพได้         สำหรับคำถามที่ว่า การกินไข่ข้าวหรือไข่ฮ้างฮังของคนไทยนั้นจะได้ผลเหมือนการที่ฝรั่งกินผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นหรือไม่นั้น คำตอบง่ายๆ คือ คงต่างกัน เพราะไข่ข้าวที่ขายตามรถเข็นนั้นถูกปิ้งด้วยความร้อน ดังนั้นสาร Basic Fibroblast Growth Factor ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีนคงเสียสภาพไปหมด ในขณะที่ส่วนสกัดที่ได้จากไข่ข้าวของฝรั่งนั้นผลิตด้วยวิธีการสกัดทางชีวเคมีในห้องปฏิบัติการแล้วทำให้แห้งด้วยวิธี  freez-drying ดังนั้นส่วนสกัดที่ได้จึงน่าจะยังคงสภาพการทำงานอยู่ในระดับหนึ่ง โดยสรุปแล้วคนไทยที่กินไข่ฮ้างฮังแล้วรู้สึกอร่อยก็คงกินไปโดยไม่ต้องหวังอะไร อีกทั้งสินค้าของฝรั่งที่อาจมีขายออนไลน์นั้นก็อย่าได้หวังอะไรนัก เพราะการโฆษณานั้นเป็นการให้ข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ค้าสินค้านั้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ปิดล็อก “3 ชั้น” ด้วยปลายนิ้ว

        ปัจจุบันสมาร์ทโฟนแทบจะกลายเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายของเราแล้ว เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มากมายที่ต้องการรับรู้นั้นสามารถค้นหาภายในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่อย่างง่ายดาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีทั้งข้อมูลที่มีสาระประโยชน์ ข้อมูลที่ให้ความบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจากปลายนิ้วนั้น ทำให้เพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดรูปแบบการช้อปปิ้งออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ฯลฯ         แค่เพียงหยิบสมาร์ทโฟนเข้าท่องโลกอินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆ ก็จะหลั่งไหลมาให้พวกเราได้อ่านและได้ติดตามกันตลอด เมื่อความนิยมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นมากนั่นเอง         เมื่อต้องใช้บริการ ผู้ให้บริการทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ มักจะเลือกการเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งาน โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือหมายเลขโทรศัพท์ โดยหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ในการลงทะเบียนเข้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง บางท่านอาจจะเคยได้ยินข่าวที่มีผู้ต้องหาแอบอ้างใช้หมายเลขโทรศัพท์ ที่ถูกเปิดใช้งานภายใต้ชื่อของผู้เสียหาย และนำหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปใช้ในทางที่ผิด ส่งผลให้ผู้เสียหายถูกหมายจับดำเนินคดี         ด้วยเหตุนี้ ในฐานะประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองและตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่ตนเองครอบครองอยู่ได้ เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์จนเกิดคดีความ ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสิทธิของประชาชน ไม่ให้ตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เฝ้าระวังและรู้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งนี้สามารถดำเนินการปิดกั้นการใช้ข้อมูลได้ด้วยตนเองทันที         มารู้จักแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “3 ชั้น” หรือ “3 steps” มีสโลแกนว่า ตรวจ..แจ้ง..ล็อค เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยมาคอยจัดการข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการรักษาสิทธิการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละบุคคล ภาพรวมของแอปพลิเคชันจะสามารถช่วยตรวจสอบว่ามีการลงทะเบียนการใช้หมายเลขโทรศัพท์ในชื่อและนามสกุลของผู้ใช้แอปฯ จำนวนกี่หมายเลข         ขั้นตอนแรกให้กดลงทะเบียน โดยเลือกรูปแบบออนไลน์ (หรือเลือกลงทะเบียนที่ศูนย์ให้บริการกรณีไม่สะดวกในรูปแบบออนไลน์) จากนั้นกรอกเลขบัตรประจำตัวประชน หมายเลขโทรศัพท์ และเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ ระบบจะส่งเลข OTP มาให้กรอก และเริ่มต้นตรวจสอบเอกสาร ได้แก่ การสแกนบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายภาพใบหน้า โดยขั้นตอนสุดท้าย ระบบจะให้ตั้งรหัสผ่าน         หน้าแรกจะปรากฎเครือข่ายโทรศัพท์ พร้อมทั้งจำนวนหมายเลขที่เปิดใช้งาน ถัดไปจะเป็นหมวด ตรวจ/แจ้ง โดยสามารถกดดูสถานะหรือแจ้งหมายเลขที่ตกหล่นได้ผ่านสองหน้านี้ ต่อมาจะเป็นปุ่มที่โดดเด่นที่สุด คือ ปุ่มปลดล็อกหน้าที่ของปุ่มนี้ จะทำแค่ปิดล็อกและปลดล็อก เมื่อต้องการล็อกการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ให้กดปิดล็อก โดยถ้ามีการกดปลดล็อกเมื่อใด ระบบจะทำการปิดล็อกให้ภายใน 5 นาที         เพื่อความแน่ใจและความปลอดภัยของการโดนแอบอ้างชื่อของตนไปเปิดหมายเลขโทรศัพท์ อีกทั้งการปิดกั้นและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เข้าไปพัวพันสิ่งผิดกฎหมายได้ ดังนั้นการเปิดใช้แอปพลิเคชันนี้ ย่อมเป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจเช็คได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ทวงหนี้ผ่านออนไลน์ กฎหมายที่ลูกหนี้ควรรู้

        ปัจจุบัน การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องปกติ ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ การกู้ยืมเงินยิ่งทำได้ง่าย แค่พิมพ์คุยกันทางแชท มีหลักฐานโอนเงิน ตกลงวันเวลาคืนเงิน ทุกอย่างมีหลักฐานการกู้ยืมหมด และบางครั้ง เมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้เบี้ยว เจ้าหนี้ก็ต้องมีการติดตามทวงถามหนี้ แต่บางครั้ง เจ้าหนี้ก็ใช้วิธีการทวงหนี้ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เช่น โพสต์ทวงหนี้ผ่านเฟสบุค หรือบางคนใช้วิธีนินทาบอกคนอื่นในกลุ่มไลน์ เช่นนี้ หลายคนสงสัยว่าทำได้หรือไม่          ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การทวงถามหนี้ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถทำได้ แต่เป็นการทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่หากใช้วิธีบอกคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ มีการบอกชื่อสกุล หรือทำให้รู้ว่าหมายถึงคนใดอันเข้าข่ายประจานลูกหนี้ โดยวิธีการโพสต์ หรือพิมพ์ทางไลน์กลุ่มที่มีคนอื่นนอกจากลูกหนี้อยู่ อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326         นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมาย ชื่อว่า พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นกฏหมายคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกทวงหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นต้น  แต่เจ้าหนี้ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะหมายถึงเฉพาะ ผู้ให้สินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินเท่านั้น  เช่น สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นอกระบบ บริการแอปกู้เงินต่างๆ ดังนั้น หากเป็นกรณี บุคคลธรรมดายืมเงินกัน เช่น เจ้าหนี้เป็นเพื่อน ญาติ  คนในครอบครัว ที่ให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว ไม่ใช่คนมีอาชีพปล่อยเงินกู้เป็นปกติ ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ หรือผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น แม้มีการทวงหนี้จากบุคคลดังกล่าวผ่านทางเฟสบุคหรือกลุ่มไลน์ ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558   ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563         โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและฐานทวงถามหนี้ผู้อื่นในลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ การเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ การติดต่อลูกหนี้โดยสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (1) (2) (3) (4) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจหยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์และจำเลยย่อมฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225         พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 3 “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง และ “ผู้ให้สินเชื่อ” หมายความว่า (1) บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ (2) บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด         จำเลยไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ อันเป็นผู้ทวงถามหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทวงถามหนี้ในลักษณะเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (3)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บและเส้นหมี่

        อาหารที่เรียกว่า กึ่งสำเร็จรูป คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จัก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากที่สุด เพราะคุ้นชินและมีความนิยมมากเมื่อมองจากมูลค่าการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสูงถึงสองหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ไม่ได้มีเพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้นยังมีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มหรือซุป กึ่งสำเร็จรูป ที่วางจำหน่ายทั่วไป         ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ โจ๊ก ข้าวต้ม กึ่งสำเร็จรูป นั้น “ฉลาดซื้อ” เคยสำรวจฉลากอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาเลือกซื้อให้กับผู้อ่าน แต่สำหรับคราวนี้เราเลือกหยิบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนด้วยเทคโนโลยีการผลิตและความนิยมอาจจะทำให้มีผู้ผลิตไม่มากนัก ยากจะฝ่ากระแสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่ก้าวหน้าทั้งการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันเราจะพบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (หมี่โคราช) วางจำหน่ายในตลาดมากขึ้น โดยบางยี่ห้อก็สามารถทำยอดขายจากผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปได้ถึงปีละ 100 ล้านซอง เรียกว่ากำลังเป็นตลาดที่น่าจับตา         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (ผัดโคราช) และยำขนมจีน  จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำมาสำรวจฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่อง การแสดงฉลากทั่วไป การแสดงคุณค่าทางด้านโภชนาการและราคา เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้เปรียบเทียบและพิจารณาเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง ตรงใจ     สรุปผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่และยำขนมจีน        1.     ทุกตัวอย่างทั้ง 19 ยี่ห้อ  มีเลขสารบบอาหาร (อย.)         2.     การแสดงฉลากโภชนาการ                 - ก๋วยจั๊บสำเร็จรูป แสดงฉลากโภชนาการ 5 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 2 ตัวอย่าง                - หมี่โคราช แสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง                 - ยำขนมจีน แสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง                 -  ก๋วยเตี๋ยวเรือ แสดงฉลากโภชนาการ  ตัวอย่าง         3.     ปริมาณโซเดียมพบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง                 - ก๋วยจั๊บในขนาดซองเล็กที่ปริมาณ 50-75 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 1280 – 1730 มก.                - ผัดหมี่โคราชในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 100 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 720 – 1330 มก.                - ยำขนมจีนในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 120 กรัม จะมีโซเดียม 1990 มก.                - ก๋วยเตี๋ยวเรือ ในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ   กรัม จะมีโซเดียม    มก.        4.     มีเพียง ห้าดาว หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป สูตรต้นตำรับโคราช ระบุไม่เจือสีและวัตถุกันเสีย         5.     ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง    บาท    ฉลาดซื้อแนะ        1.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยาและรสชาติที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ปริมาณโปรตีนต่ำและมีโซเดียมสูงซึ่งเกิดจากการปรุงรสให้กลมกล่อม ดังนั้นไม่ควรรับประทานบ่อย และในการปรุงควรเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร         2.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป         3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน        4.หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 269 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี หรือยัง

        ปรากฎการณ์อีวีหรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในปี 2565 ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคัน เทียบกับสามล้านคันเมื่อสามปีก่อนหน้า ปัจจุบันในบรรดารถยนต์ที่จำหน่ายออกไปทุกๆ 20 คัน จะมี 3 คันที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และองค์การพลังงานระหว่างประเทศยังคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคัน           ในจำนวน 10.2 ล้านคันที่ว่านั้น หากแยกออกมาดูจะพบว่า 5.9 ล้านคันคือยอดขายในประเทศจีน ตามด้วย 990,000 คัน ในสหรัฐอเมริกา อันดับถัดมาคือเยอรมนี (830,000 คัน) และอังกฤษ (370,000 คัน) ในขณะที่เกาหลีใต้เข้ามาเป็นอันดับ 8 ด้วยยอดขาย 131,000 คัน         อีกประเทศที่มาแรงแม้จะไม่ติดอันดับเรื่องยอดขายคือนอร์เวย์ เพราะมีสัดส่วนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 88 จากยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2565)         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอชวนคุณไปสำรวจสถานการณ์ “การยอมรับ” รถอีวีของผู้บริโภคในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เราได้ทำการสำรวจไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย         เริ่มจาก ประเทศจีน ที่บรรลุเป้าหมายการมียอดขายรถยนต์ “พลังงานใหม่” ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 (ก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ถึงสามปี)  ในขณะที่ปีนี้ยอดจองรถดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคที่เคยตั้งใจจะรอให้รถอีวีราคาถูกลง ก็เริ่มตัดสินใจซื้อแล้วเพราะสถานการณ์เริ่มชัดเจนว่าราคารถคงจะไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว นอกจากจากนี้ยังรีบซื้อเพราะช่วงนี้มี “โปรโมชัน” จากรัฐบาล ทั้งเรื่องการลดหย่อนภาษี คูปองเงินสด หรือการยกเว้นค่าจดทะเบียน เป็นต้น        ความคึกคักของตลาดรถไฟฟ้าในจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ เห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น Xpeng  Nio  และ Li Auto ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ดีดตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้รายได้จากการจำหน่ายรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรีและชนิดปลั๊กอินของผู้ประกอบการในจีนที่ขยันทำรถรุ่นใหม่ๆ พร้อมฟังก์ชันดึงดูดใจออกมาให้เลือกมากมาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกด้วย         แต่ใน อเมริกา รถอีวียังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากเท่าที่ควร การสำรวจล่าสุดโดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับสำนักข่าวเอพี พบว่าร้อยละ 47 ของคนอเมริกัน ยังคิดว่า “เป็นไปได้น้อยมาก” ที่รถคันต่อไปที่พวกเขาจะซื้อจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือพวกเขาคิดว่ายังมีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ และรถก็ยังมีราคาค่อนข้างแพง        มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ตอบว่า “เป็นไปได้มาก” หรือ “เป็นไปได้อย่างยิ่ง”แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนก็ไม่ด้อยไปกว่าจีน รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ร้อยละ 50 ของรถยนต์ที่จำหน่ายจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะต้องมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 500,000 สถานีทั่วประเทศ         หน่วยงานของรัฐบาลกลางก็มีแผนจะจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและเล็กจำนวน 13,000 คันในปีงบประมาณ 2566 ก่อนจะเปลี่ยนรถที่ใช้ในราชการทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2570 สำหรับรถเล็ก และปี 2578 สำหรับรถขนาดกลางและใหญ่        ภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วม เช่น Amazon นำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการจัดส่งสินค้าแล้วกว่า 3,000 คัน และประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 100,000 คันภายใน 7 ปีข้างหน้า บริษัทที่ทำธุรกิจด้านวัสดุในการผลิตแบตเตอรี Cirba Solutions ก็ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการผลิตรถอีวีหนึ่งล้านคันภายใน 5 ปี         ด้าน Walmart มีแผนจะติดตั้ง “สถานีชาร์จเร็ว” ตามสาขาต่างๆ ของห้างหลายพันสาขาภายในปี 2573 ส่วน Google ก็รับปากว่าจะให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผ่านเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ที่นำข้อมูลของรัฐเข้ามาประมวลผลด้วย มาดูกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปกันบ้าง         สหภาพยุโรปประกอบด้วย 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 477 ล้านคน ร้อยละ 75 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง             ปลายปี 2565 มีรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี จดทะเบียนในสหภาพยุโรปทั้งหมด 3,056,849 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.19 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในสหภาพยุโรป         ในปี 2565 องค์กร EAFO (European Alternative Fuels Observatory) ได้ทำการสำรวจความตั้งใจของผู้บริโภคเรื่องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้และการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาและความท้าทายที่พบ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดมมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และสเปน         การสำรวจครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 16,664 คน ประกอบด้วยคนใช้รถอีวี (380 คน) และคนไม่ได้ใช้รถอีวี (16,284 คน)        เมื่อถามถึงทัศนคติและแรงจูงใจที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี พบว่าหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างรู้จักรถประเภทนี้เป็นอย่างดี ร้อยละ 41 มีความสนใจในรถอีวี ในขณะที่ร้อยละ 54 ของคนที่ยังไม่เคยใช้รถอีวี ก็มีทัศนคติที่ดีต่อรถชนิดนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ารถอีวีมีข้อดีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกที่ประหยัด แต่เมื่อถามถึงเหตุผลที่จะไม่เลือกใช้รถอีวีก็พบว่า อันดับหนึ่งคือราคาที่ยังแพงเกินไป (ร้อยละ 26) ตามด้วยความกังวลว่ายังมีสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ (ร้อยละ 18) ส่วนหนึ่งไม่อยากซื้อมาใช้เพราะที่บ้านไม่มีจุดชาร์จ (ร้อยละ 10) และบางคนก็กลัวจะขับไปไกลไม่ได้ (ร้อยละ 7)         ที่น่าสนใจคือมีถึงร้อยละ 31 ที่ตั้งใจจะซื้อรถอีวีภายในห้าปี อีกร้อยละ 9 มีแผนจะซื้อในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ร้อยละ 13 ตอบว่าคิดจะซื้อแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ส่วนอีกร้อยละ 47 ที่เหลือยังไม่คิดจะซื้อรถอีวี         การสำรวจส่วนที่สองมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น “ผู้ขับขี่รถอีวี” 1,387 คน ในภาพรวมพบว่า “บุคลิกของคนขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป” คือ ชายอายุ 35 ปี พักอาศัยในบ้านเดี่ยว มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 2,000 ถึง 3,999 ยูโร (ประมาณ 76,000 ถึง 152,000 บาท) และมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป         เมื่อแยกดูพฤติกรรมการใช้รถพบว่า ร้อยละ 62 ใช้รถอีวีมาไม่เกินสามปี ร้อยละ 97 ใช้ทุกวันหรือหลายครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อไปซื้อของ หรือกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดินทางไปพบแพทย์ระยะทางเฉลี่ยต่อวันคือ 126 กิโลเมตร         ในเรื่องของความเป็นเจ้าของ ร้อยละ 70  เป็นเจ้าของรถเอง ในขณะที่ร้อยละ 22 ใช้วิธีเช่ารถขับ ที่เหลืออีกร้อยละ 8 ใช้รถของบริษัท กลุ่มที่เป็นเจ้าของรถเอง        ร้อยละ 41               ซื้อมาในราคาระหว่าง 20,000 ถึง 40,000 ยูโร (760,000 ถึง 1,500,000 บาท)        ร้อยละ 31               จ่ายมากกว่า 40,000 ยูโร         ร้อยละ 18               จ่ายระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ยูโร (380,000 ถึง 760,000 บาท) กลุ่มที่เช่าขับ ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละไม่เกิน 500 ยูโร (19,000 บาท)         ร้อยละ 67 เป็นรถอีวีใหม่ อีกร้อยละ 33 เป็นรถอีวีมือสอง         เรามาดูพฤติกรรมการชาร์จของผู้ใช้รถกลุ่มนี้กันบ้าง จากคำถามเรื่องระยะเวลาที่ผู้ใช้รถยินดีจะรอคิวชาร์จ พบว่ามีถึงร้อยละ 37 ที่ตอบว่า “ไม่รอ”  ตามด้วยร้อยละ 33 ที่ตอบว่ายินดีรอ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง อีกร้อยละ 25 ที่เหลือตอบว่าระยะเวลาที่ยินดีรอคือ 15 นาที         สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากสถานีชาร์จมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ความเร็วในการชาร์จการเข้าถึงสถานีชาร์จและการจ่ายเงินที่สะดวกผ่านแอปฯ หรือบัตรเงินสด ตามด้วยการคิดค่าบริการตามกระแสไฟฟ้าที่ชาร์จ (ไม่ใช่ต่อนาทีหรือต่อครั้ง)         มาดูที่ ประเทศไทย ของเรากันบ้าง ตลาดรถไฟฟ้าบ้านเรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในช่วงห้าเดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 อยู่ที่ 32,450 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่าร้อยละ 470          คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ “บอร์ดอีวี” คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาไม่ต่างจากรถยนต์สันดาป บอร์ดตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (จักรยานยนต์ รถยนต์ รถปิกอัพ รถบัส รถบรรทุก) รวม 1,055,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 15,580,000 คันในปี 2578         ไม่เพียงการใช้ในประเทศเท่านั้น ประเทศไทยยังต้องการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งเอเชียภายในปี พ.ศ. 2573 และผลักดันให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีดังกล่าว ขณะนี้มีอย่างน้อยสองบริษัทจากประเทศจีน (BYD และ Great Wall Motor) ที่ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่ระยองแล้ว  ตัวอย่างมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและการลงทุนของไทย    -  เงินอุดหนุน 150,000  บาทสำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ    - การลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ ร้อยละ 2    - การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ    - การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 13 ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย    - การขยายโครงข่ายสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีพ.ศ. 2573          นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ 1,125 คน* เรื่องความรู้พื้นฐานและความคิดเห็นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 25 - 30 เมษายน ที่ผ่านมา         เราพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 เชื่อว่าไทยมีความพร้อมสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยังพบว่า ร้อยละ 64.7 คิดว่าราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีแล้ว และคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.8) เห็นด้วยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ของภาครัฐ สามารถส่งเสริมให้คนซื้อรถยนต์อีวีมาใช้งานมากขึ้น         ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีถึง ร้อยละ 85.8 ที่เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้         ขณะเดียวกันเราพบว่ามีเรื่องที่ผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น         กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.8 ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท (ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV Plug-in Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV Fuel Cell Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี หรือ BEV Battery Electric Vehicle)        ร้อยละ 61.5 ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Quick Charger ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ 3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน        ร้อยละ 60.5 ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี สำหรับรถประเภท BEV (รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว)                       ร้อยละ 57.4 ไม่ทราบว่าระยะเวลารับประกันแบตเตอรีโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำกัดอยู่ที่ประมาณ 8 ปี          ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.5) มองว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น         ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเรื่องข้อจำกัดของรถอีวี และความพร้อมของสถานีชาร์จ         ร้อยละ 86.4 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป         ร้อยละ 73.3 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่        ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดในการขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง         ร้อยละ 64.6 เชื่อว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงพอ เอกสารอ้างอิง https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/04/17/fact-sheet-biden-harris-administration-announces-new-private-and-public-sector-investments-for-affordable-electric-vehicles/ https://www.cnbc.com/2023/04/11/nearly-half-of-americans-say-its-unlikely-theyll-buy-an-ev-next-poll.html https://www.iea.org/energy-system/transport/electric-vehicles https://www.scmp.com/business/companies/article/3230136/chinas-ev-frenzy-drives-carmaker-stocks-outperformance-hang-seng-index-red-hot-sales-show-no-signs https://alternative-fuels-observatory.ec.europa.eu/system/files/documents/2023-06/2022%20EAFO_CountryReport_EU.pdfhttps://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1073646https://techsauce.co/news/board-ev-aim-thailand-electric-vehicle-production-base https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4up-when-thailand-wants-to-move-towards-electric-vehicle-hub

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากคลีนซิ่ง รีมูฟเวอร์

        คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ         ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ         • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด         • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร         • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส         • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์         • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต         • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx)         • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี         • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม)         • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์             • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง)         • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ         • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า         • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้         • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น         • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง         • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 269 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป         นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ   สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ”       จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่         เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี  2544  ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ           ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ   เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป         ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน         เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล  ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้  เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล  เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร         พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน  คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ  เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร         เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา  ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้  ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย        ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ  แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้         สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ  เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้  เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้  ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร  ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย  การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี  เป็นอย่างไร         พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ  และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา   ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง         ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร         ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี  อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร  และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป         เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว  แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้  เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก  แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย  อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย  วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง  ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก  มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร         ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร  สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย  เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก  ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง  ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง         เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ  มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย  ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ    สิ่งที่อยากฝาก          เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ความเปราะบางของสิทธิผู้บริโภคในหนี้รถยนต์

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูง  มีรถยนต์เสี่ยงจะถูกยึดถึงกว่า 1 ล้านคัน เป็นสัญญาณเศรษฐกิจพัง ไม่ใช่แค่หงอย หรือ ซึม!         กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 190,000  ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 180,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีมูลหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในจากปีก่อนถึงกว่า 40,000 ล้านบาท        กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้เสียคือกลุ่ม GEN Y ช่วงอายุ 18 – 32 ปี  มีพฤติกรรมจ่ายค่างวด 1- 3 งวด หรือค้าง 2 งวด และกลับมาจ่ายในงวดที่สามเพื่อประคับประคองหนี้ และไม่ให้รถถูกยึด!         นี่เป็นเพียงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงสถานการณ์ตลอดทั้งปีที่จะเกิดขึ้น         ผู้คนจำนวนมากกำลังตกในสถานการณ์เป็นหนี้เสียในกลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กลุ่มหนี้ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นทำให้ยังเกิดความ ‘ไม่พอดี’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลทำให้ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีคุณยุพิน อายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย ใน จ. สุรินทร์ ที่เริ่มมีปัญหาค้างส่งงวดรถตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา          “ก่อนที่ยังไม่เกิดปัญหาโควิด พี่ยังหารายได้ได้คล่อง แต่เมื่อเกิดโควิดแล้วทางจังหวัดสั่งให้หยุดตลาดนัด 3 เดือน ทั้งเช้า- เย็น เราก็หมดโอกาสทำมาหากินแล้ว ตอนนั้นเราผ่อนรถอยู่กับอีกธนาคาร รายจ่ายเราเท่าเดิมแต่รายได้เราไม่มี ทั้งค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารถโรงเรียน ค่าเช่าบ้าน แล้วมีรายได้ทางเดียวเราเลยต้องไปพึ่งเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยรายวันมาช่วยเราส่งเคลียร์หมด พอเราหมุนเงินไม่ทัน ค้างงวดรถ เราต้องจ่ายแบบค้าง 2 งวด และจ่ายงวดที่ 3 เพื่อให้รถยังอยู่เพราะเราต้องเอารถใช้ขับขายของ ”         “พอเข้างวดที่ 3 เราก็ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ) เขาบอกว่าหลังจากค้างถึงงวดที่ 3 แล้วต้องบวกไปอีกไม่เกิน 30 วัน  สัญญาจะยกเลิกอัตโนมัติแล้วถึงจะมีสิทธิยึดรถ เราก็เชื่อแบบนั้น แต่พอค้างงวดที่ 3 ผ่านไปวันเดียวเขามาที่บ้านเลย เราก็บอกว่า คุณจะยึดไม่ได้นะ เขาก็ไม่ฟัง เราบอกว่ายังมีกฎหมายที่ยังคุ้มครอง  เราไม่ให้ยึดเขาก็ไม่ยอม  เราเลยบอกว่าจะหาเงินมาให้ 1 งวด เขาบอกไม่ได้  คุณต้องเคลียร์ทั้งหมด  อย่างสมมุติเราผ่อนเดือนละ 10,000 เราก็ต้องหาเงินไปให้เขา 30,000 บาท พร้อมค่าติดตามอีก หลังจากนั้นไม่เกิน 1 อาทิตย์เราก็ส่งเข้าไปอีก 1 งวด เป็น 2 งวด เขาก็หยุดตามแต่บอกให้จ่ายเพิ่มให้คนติดตามอีก 1,200 เราก็ไม่ได้ให้ ”         หลังจากนั้นด้วยมีรายได้ไม่แน่นอน แม้เมื่อเริ่มกลับมาขายของในตลาดได้ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝน ขายของในตลาดนัดไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ คุณยุพินเริ่มกลับมาค้างจ่าย แต่เมื่อหาเงินกลับไปโปะค่างวดรถกลับมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ คุณยุพินจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง         “เราเอาเงินไปจ่ายค่างวด 16,000 บาท จ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารแต่เขาตัดเป็นค่าติดตามทวงถามทั้งหมดไม่ตัดงวดให้เรา เราเลยไม่เอาแล้ว พอมารีไฟแนนซ์กับอีกที่ เราไม่จ่ายหน้าเคาน์เตอร์แล้ว อันนี้คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้”         “ตอนนี้รถยังอยู่ เพราะเรายังพยายามจ่ายงวด 3 ไว้ เพื่อเอารถไว้ทำมาหากิน เราไม่คิดว่าจะเอารถไปแอบซ่อนไว้ที่ไหน เราชัดเจนว่าเราทำมาหากิน ถามว่าเราเสียเปรียบไหมเรารู้อยู่แล้วไฟแนนซ์เป็นแบบนี้  การจัดแบบนี้เราก็ยอมรับแต่ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ดีแบบนี้ เราจ่ายอยู่แล้ว เพราะเราอยากเอารถไว้ใช้ทำมาหากิน เราคิดว่ามีประชาชนแบบเราเยอะ เราถาม สคบ. เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ นี่เป็นช่องว่างที่ประชาชนยังขาดความคุ้มครอง”         กรณีของคุณยุพินเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้เช่าซื้อที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามกันได้    สรุปปัญหา ที่ยังขาดการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์        · ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ มีการคิดไม่เป็นธรรม        · ไม่มีการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจน  ผู้ทวงถามหรือไฟแนนซ์คิดตามใจ        · การคิดยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดไม่ชัดเจน และสูงกว่าที่ศาลจะพิพากษาให้ได้        · กฎหมายยังให้อำนาจกับผู้ให้เช่าซื้อมากเกินไป กล่าวคือยังไม่มีการนำสัดส่วนของการผ่อนชำระมาคิดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อ เช่น แม้ผู้เช่าซื้อบางรายจะผ่อนชำระมาจนใกล้จะหมดแล้ว แต่เมื่อขาดส่ง รถก็ถูกยึดไปอย่างง่ายดายแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาล เมื่อถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดี   ทนายความ กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์  ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้รถยนต์ และการเงินการธนาคารโดยเฉพาะ ได้สรุปข้อควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไว้ดังนี้         · ผู้เช่าซื้อสามารถคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว หากไม่มีค่างวดรถค้างจ่าย เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ใน  ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561        · หากค้างจ่าย 3 งวดซ้อน กฎหมาย มีเงื่อนไขกำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้อง” ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา “แจ้งมาถึงผู้เช่าซื้อ “ และต้องนับไปอีก 30 วัน นับจากที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ นั่นถึงจะทำให้ การบอกเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์ตามสัญญาและตามกฎหมาย  หากไฟแนนซ์ มายึดรถไปก่อน  “ค่าส่วนต่างผู้เช่าซื้อไม่เสียแม้แต่บาทเดียว ” แต่ผู้เช่าซื้อ ยังต้องรับภาระ นั่นคือ “จ่ายค่าขาดประโยชน์ “ ในช่วงที่ค้างจ่ายค่าเช่าซื้อรถ 3 งวด        · เมื่อผู้เช่าซื้อถูกฟ้องร้องในชั้นศาล  ผู้เช่าซื้อควรยื่นคำให้การสู้คดีในชั้นศาลเพื่อร้องให้ศาลพิพากษาโดยการคำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยแยกจากกัน  เช่น ราคาเช่าซื้อรถ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถจริงอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท บวก ดอกเบี้ย 60 งวด หรือ 5 ปี เท่ากับ 4 แสนบาท  สมมุตเมื่อจ่ายเงินงวดให้ไฟแนนซ์ ไปแล้ว 5 แสนบาทและไฟแนนซ์ ได้ยึดรถไปขายทอดตลาดได้เงิน 2.5 แสนบาท ไฟแนนซ์จึงได้กำไรแล้วส่วนหนึ่ง ศาลจึงจะพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบให้อีกตามความเหมาะสมซึ่งจะไม่สูงตามที่ไฟแนนซ์ได้ร้องขอต่อศาล           · ดังนั้นหากผู้เช่าซื้ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ แต่สิงสำคัญคือต้องไปศาล  นี่คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพิทักษ์สิทธิของท่านเองเพื่อให้ ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่ใช้คัดง้างกับคำขอของไฟแนนซได้          · เมื่อถูกไฟแนนซ์ยึดรถเอาไปขายทอดตลาด  ไฟแนนซ์จะต้องมีหนังสือแจ้ง ผู้เช่าซื้อ ให้รับทราบ วัน - เวลา และ สถานที่ขาย ล่วงหน้า อย่างน้อย 7 วัน หากไฟแนนซ์ ไม่ยอมแจ้ง , ศาล ยกฟ้อง ทุกกรณี คณะกรรมการสัญญา “ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด   ความเคลื่อนไหว เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในปัจจุบัน   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค        ช่วงเดือน มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว         หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15% และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)         ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง) เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566 นี้          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความหวังและจะติดตามต่อไปว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง ...ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่269 หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน         เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น          ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes)         ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร         โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี         บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้         1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง         2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ         สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023)         3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน         4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง         5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน         6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่         ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ         สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >