ฉบับที่ 178 ตู้เติมน้ำมัน (ไม่) อัตโนมัติ

คงไม่มีใครอยากซื้อของมาเพื่อซ่อม ยิ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่าง ตู้เติมน้ำมันอัตโนมัติด้วยแล้ว มาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งาน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่อยู่ในสถานะเป็นผู้ให้บริการ เขาซื้อตู้น้ำมันอัตโนมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราคาเกือบ 60,000 บาท พร้อมการรับประกัน 1 ปี มาให้บริการประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดใช้เครื่องก็มีปัญหาจุกจิกมาตลอด แม้จะแก้ไขปัญหาด้วยการให้ช่างของบริษัทมาเปลี่ยนอะไหล่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หายขาดได้ในที่สุดความอดทนของผู้ร้องก็หมดลงเมื่อใช้ไปได้ประมาณครึ่งปี เขาต้องการคืนสินค้าและขอเงินคืนเต็มจำนวน โดยให้เหตุผลว่าเครื่องดังกล่าวน่าจะมีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้สินค้าเสียบ่อยเกินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบเตือนภัย ลูกค้าเติมเงินแล้วไม่ได้น้ำมัน หรือหัวจ่ายน้ำมันออกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจและไม่อยากมาใช้บริการอีก นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือไม่ประทับใจบริการหลังการขายมากที่สุดอย่างไรก็ตามเมื่อเขาเสนอข้อเรียกร้องไปยังบริษัท กลับได้รับคำตอบว่าจะคืนเงินให้จำนวน 30,000 บาทเท่านั้น โดยไม่ชี้แจงเหตุผลที่ไม่คืนเงินเต็มจำนวน ซึ่งทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องทำให้หนังสือไปยังบริษัท โดยให้มีข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรูปถ่ายของตู้นำมันดังกล่าว และนัดเจรจากับทางบริษัท ซึ่งภายหลังการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทชี้แจงว่า ปกติสินค้าซื้อแล้วไม่รับคืน แต่หากสินค้าอุปกรณ์ชำรุด เนื่องจากผิดพลาดจากการผลิต ก็ยินดีเปลี่ยนอุปกณ์หรือซ่อมให้ฟรี อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการคืนเครื่องก็สามารถทำได้ แต่บริษัทจะคืนเงินให้เพียง 30,000 บาท เพราะอ้างว่าเป็นค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ หรือจะรับข้อเสนออื่นๆ จากบริษัทก็ได้ เช่น เปลี่ยนเครื่องใหม่ ด้านผู้ร้องไม่ต้องการใช้บริการกับบริษัทนี้แล้ว จึงต้องยินยอมรับเงินจำนวนนั้นไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อตู้นำมันอัตโนมัติ เมื่อได้เครื่องมาแล้วสามารถติดต่อกรมการค้าภายในที่เบอร์โทรศัพท์ 1569 ฝ่ายชั่งตวงวัด เพื่อให้มาตรวจสอบตู้น้ำมันก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับตู้น้ำมันอัตโนมัติที่ไม่ได้รับมาตรฐานนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้าง

หลายครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ติดป้ายว่า “ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน” ซึ่งบางคนอาจจะโชคดีที่ได้ของมีคุณภาพไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมสินค้าชิ้นนั้นหรือแก้ปัญหาด้วยการซื้อของใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างไรก็ตามไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่มีสิทธิจะติดป้ายเอาเปรียบดังกล่าว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณภา ต้องการซื้อกล้องวงจรปิด ที่มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ไปเดินดูที่ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ก็พบร้านที่ถูกใจ พนักงานขายแจ้งว่ามีกล้องวงจรปิดอย่างที่ต้องการ จึงตกลงซื้อมา ในราคา 1,450 บาท อย่างไรก็ตามในวันนั้น คุณภาต้องรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อ พร้อมกับที่ทางร้านแจ้งว่าคอมพิวเตอร์สำหรับไว้ใช้ทดสอบการทำงานของกล้องเสีย จึงทำให้เธอไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกล้องให้ครบถ้วนเมื่อกลับมาทดสอบด้วยตนเองที่บ้านจึงพบว่า กล้องดังกล่าวมีความละเอียดเพียง 3 แสนพิกเซลเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพลิกดูใบเสร็จรับเงินก็พบข้อความว่า สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน แต่มีการรับประกัน 1 ปี เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำก่อนเบื้องต้น   แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจากับทางร้านก่อน พร้อมส่งหลักฐานการชำระเงินและรูปสินค้ามาให้ ซึ่งผู้ร้องก็ได้ติดต่อกลับไปที่ร้าน ตามนามบัตรที่ร้านเคยให้ไว้ โดยทางร้านแจ้งว่า ไม่มีกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดเกิน 3 แสนพิกเซล อาจมีการเข้าผิดระหว่างผู้ร้องกับพนักงานขายหน้าร้าน อย่างไรก็ตามให้ผู้ร้องกลับไปที่ร้านเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งภายหลังการเจรจาทางร้านก็ยินดีรับคืนสินค้า พร้อมคืนเงินให้เต็มจำนวน เพราะผู้ร้องมีหลักฐานการชำระเงินจากทางร้านนับว่าผู้ร้องโชคดีที่ยังเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ เพราะหากเราไม่มีเอกสารอะไรไปยืนยัน ก็อาจต้องเสียเงินฟรีให้กับสินค้าที่ไม่ต้องการ และยังเปลี่ยนคืนไม่ได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อสินค้าที่ติดป้ายเช่นนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมา โดยสังเกตรายละเอียดเบื้องต้นต่างๆ คือ1. ป้ายราคาที่ชัดเจน 2. สินค้านั้นต้องสามารถจับต้อง พิสูจน์คุณภาพด้วยมือและตาของผู้ซื้อก่อนได้ หรือให้ลองได้ 3. เป็นสินค้าที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าอะไหล่ข้างใน มีประสิทธิภาพหรือเสื่อมภาพมากน้อยแค่ไหนแล้ว เช่น กรณีสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากผู้ขายติดป้ายห้ามเปลี่ยนคืน อย่างน้อยก็ต้องมีป้ายการรับประกันไว้ ทั้งนี้ หากเราโดนหลอกขายของคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับป้ายประกาศโฆษณา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะแสดงถึงเจตนาของร้านค้าที่จงใจไม่แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน อาจมีเจตนาที่จะหลอกลวงเรา หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาหลอกให้ซื้อด้วยวิธีการต่างๆ นั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ของหมดอายุ ควรมีอยู่ในห้างหรือไม่

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเลือกซื้อสินค้าสำหรับการบริโภค สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการตรวจสอบคือ วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ แต่หากเรารีบและไม่ได้ซื้อจำนวนมาก ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะลืมตรวจสอบสิ่งสำคัญเหล่านี้ไป ซึ่งหากเราดวงซวยไปซื้อของที่หมดอายุมากิน ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการทิ้งไปเฉยๆ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณกิตติยาซื้อขนมปัง ยี่ห้อ เอ พลัส ราคา 14 บาท จากมินิ บิ๊กซี ที่ปั๊มน้ำมัน บางจาก สาขา นวมินทร์ มารับประทาน ด้วยความเร่งรีบจึงไม่ได้ตรวจสอบวันเดือนปีที่หมดอายุ เพราะคาดว่าทางร้านไม่น่าจะวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุไปแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อจะนำมารับประทานก็พบว่าขนมปังดังกล่าวขึ้นรา และเลยวันหมดอายุตามที่ระบุไว้ข้างซองมานานแล้วผู้ร้องจึงเก็บใบเสร็จที่ซื้อไว้ และส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิ เพราะอยากให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายมากกว่านี้ เนื่องจากอาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่รีบซื้อสินค้า และพบปัญหาเดียวกันกับเธอก็ได้ ซึ่งเธอก็ต้องการให้ทางบริษัทรับผิดชอบ ด้วยการชดใช้เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากผู้ร้องส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ โดยแนบรูปขนมปังดังกล่าวและใบเสร็จมาด้วย ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซึ่งทางบริษัทฯ ได้นัดเจรจาติดต่อกับลูกค้า โดยภายหลังได้มีการขอโทษและมอบกระเช้าให้ผู้ร้อง แต่สำหรับการชดใช้เป็นจำนวนเงินดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ขอพิจารณาก่อน ซึ่งในที่สุดบริษัทก็ได้แจ้งว่า ยินยอมที่จะชดใช้ให้เป็นจำนวน 12,000 บาท แม้ตอนแรกผู้ร้องจะยืนยันจำนวนเท่าเดิม แต่เพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อไปนานกว่านี้ จึงต้องยินดีตอบตกลงจำนวนเงินนั้นไปถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ร้องรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ การวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุ แสดงให้ถึงความรับผิดชอบของผู้ขาย นอกจากนี้ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากว่า ที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง   วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร   ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้ เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ระบบจ่ายยาของไทยมีประสิทธิภาพแค่ไหน

แม้แพทย์จะวินิจฉัยอาการของโรคถูกต้อง แต่จ่ายยาให้ผู้ป่วยผิดซอง ก็เท่ากับว่าการรักษานั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยปัญหาการได้ยาผิดซองเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนไม่ต้องการ เพราะนอกจากจะไม่สามารถทุเลาอาการเดิมให้หายได้ ซ้ำยังเพิ่มความเสียหายให้กับร่างกายมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงพบปัญหานี้อยู่เสมอ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะผู้ป่วยลืมตรวจสอบยาให้ดีก่อนนำไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าน่าจะได้รับยาที่ถูกต้องแล้ว แต่ระบบการจ่ายยาของทุกโรงพยาบาลก็ควรมีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดนี้ขึ้น ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณวาสนาใช้สิทธิบัตรทอง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าด้วยอาการหอบ ไข้สูง ปวดหัว แพทย์ให้พักรักษาตัวเพื่อดูอาการและให้กลับบ้าน โดยสั่งยาให้กลับไปรับประทาน ซึ่งหลังรับประทานยาแล้วพบว่ามีอาการมึนงง ปวดหัวและอาเจียน จึงนำซองยาดังกล่าวมาตรวจสอบ และพบว่าไม่ใช่ชื่อของตนเอง ดังนั้นจึงให้บุตรสาวกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อเปลี่ยนยารักษาให้ถูกต้องเมื่อกลุ่มงานเภสัชกรรมของทางโรงพยาบาลดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบแล้วแจ้งกลับว่า รายการยาที่ผู้ป่วยได้รับนั้น แม้ชื่อผู้รับบนซองยาผิด แต่เป็นยาที่สั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยจริง อย่างไรก็ตามเหตุที่ชื่อบนซองผิดพลาด เนื่องจากการบันทึกรายการยาจะเป็นการบันทึกตาม VN ของผู้ป่วย (VN หรือ Visit Number คือ หมายเลขที่กำหนดขึ้นเพื่อตรวจสอบจำนวนผู้รับบริการในแต่ละวัน หรือหมายเลขสำหรับผู้ป่วยนอกเท่านั้น) ซึ่งหากไม่ได้เปลี่ยนวันที่จะเกิดปัญหาการทำรายการผิดคน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ ทั้งนี้สำหรับอาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานยา ได้ชี้แจงว่าเป็นเพียงผลข้างเคียงจากการใช้ยาเท่านั้น สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โชคยังดีที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย แต่ทางด้านผู้ร้องก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับไปใช้ยาดังกล่าวอีก เพราะผลข้างเคียงจากยาผิดแปลกไปจากที่เคยได้รับการรักษาที่ผ่านมาแนวทางการแก้ไขปัญหา หากผู้ร้องไม่กลับไปเปลี่ยนยาหรือปล่อยปละละเลยไป ก็อาจมีเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นแม้ผู้ร้องได้รับยาที่ถูกต้องตามชื่อของตัวเองแล้ว แต่ก็ต้องการให้โรงพยาบาลดังกล่าวปรับปรุงระบบการจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ อีก ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงส่งหนังสือประสานงานไปกับทางโรงพยาบาลดังกล่าว โดยเบื้องต้นขอให้มีการเยียวยาผู้บริโภคและตรวจสอบระบบการจ่ายยา ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ตอบกลับมาและชี้แจงว่า จะปรับปรุงและพัฒนาระบบการจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะมีการยิงบาร์โค้ดที่ใบสั่งยา ควบคู่กับการคีย์ HN ของคนไข้ (HN หรือ Hospital Number คือหมายเลขของผู้ป่วยนอก ซึ่งโรงพยาบาลจะออกหมายเลขให้สำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยที่จะตรวจในโรงพยาบาล) เพื่อความถูกต้องของข้อมูลคนไข้ต่อไป นอกจากนี้ก็พร้อมยินดีที่จะเยียวยาผู้ร้อง ด้วยการชดใช้ค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบยาดังกล่าวจำนวน 500 บาท โดยให้ผู้ร้องส่งเลขที่บัญชีให้กับทางโรงพยาบาลเพื่อโอนเงินให้ผู้ร้องต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 โดนหลอกให้ซื้อของมือสอง

"กระทู้เตือนภัย ระวังร้านมือถือขายส่งในห้างดัง / ระวังโดนหลอกซื้อเครื่องย้อมแมว…”เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับข้อความเหล่านี้ เมื่อกำลังหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพื่อเลือกซื้อมือถือใหม่สักเครื่อง แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีกว่าหากไม่ได้เป็นเซียนมือถือจริงๆ การแยกแยะความต่างระหว่างเครื่องจริงกับเครื่องปลอม หรือการตรวจสอบว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งจริงหรือไม่ นับวันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้ที่ผู้ร้องต้องการซื้อมือถือมือหนึ่ง แต่โดนต้มจนเปื่อยได้เครื่องมือสองมาใช้ ซึ่งหมดประกันไปแล้วเมื่อ 1 ปีก่อนคุณดวงพรต้องการโทรศัพท์ยี่ห้อ iPhone 4s สีดำมือหนึ่งเครื่องใหม่มาใช้งาน เมื่อเดินเลือกตามร้านตู้ (ร้านตู้กระจกค้าปลีกมือถือ) ในห้างดังแถวอนุสาวรีย์ชัยไปเรื่อยๆ ก็พบร้านที่ถูกใจ หลังตรวจสอบเครื่องและอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าอยู่ในสภาพดี อีกทั้งทางร้านยังบอกว่าเครื่องรับประกันศูนย์อีก 1 ปี เธอจึงตกลงใจซื้อมาในราคา 10,900 บาท โดยใช้การผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งผ่อนเครื่องหมด ปัญหาจึงเริ่มมาเยือน ผู้ร้องพบว่าเวลาเปิดลำโพงแล้วไม่ได้ยินเสียง หรือเวลารับสายและโทรออกก็ไม่ได้ยินเสียงของฝั่งตรงข้าม จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเพราะรู้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาการรับประกันตามที่ร้านบอกไว้ อย่างไรก็ตามทางร้านกลับแนะนำว่า ให้เธอนำไปซ่อมที่ศูนย์บริการของโทรศัพท์ iPhone เองจะรวดเร็วกว่า ดังนั้นเธอจึงไปที่ iCare ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลหลังการขายของโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว แต่แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพนักงานนำเครื่องไปตรวจสอบระยะเวลาการรับประกันแล้วพบว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ได้มีการเปิดใช้งานตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และหมดอายุการรับประกันไปกว่า 1 ปีแล้ว! คุณดวงพรจึงกลับมาที่ร้านเดิมและแจ้งเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่บ่ายเบี่ยงจากทางร้านว่า ถ้าผู้ร้องไปดำเนินการซ่อมที่ศูนย์เองไม่ได้ ก็จะส่งเครื่องซ่อมที่ศูนย์ให้เอง เพียงแต่อาจจะต้องรอนานกว่าเดิมเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์กลายเป็นแบบนี้ ผู้ร้องจึงมั่นใจว่าถูกร้านหลอกให้ซื้อเครื่องมือสองแล้วแน่นอน และที่สำคัญคือทางร้านไม่มีท่าทีจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เลย เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาโชคดีที่ผู้ร้องมีใบเสร็จการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเก็บไว้ จึงสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์โทรศัพท์เจรจาไกล่เกลี่ยให้ โดยขอให้รับเครื่องคืนพร้อมคืนเงินให้ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม เพราะการที่ผู้ขายไม่บอกความจริงกับผู้ซื้อตั้งแต่ทีแรก อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้บริโภคแม้ตอนแรกร้านดังกล่าวจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทำตามข้อเสนอ แต่เพื่อเป็นการยุติไม่ให้ปัญหาบานปลาย และเสื่อมเสียชื่อเสียงของร้านไปมากกว่านี้ จึงยินยอมคืนเงินให้ผู้ร้องจำนวน 7,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนนั้นไป เพราะไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้อง พร้อมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือที่ร้านตู้อีก แหม…ใครจะไปซื้อลง มาหลอกกันซะอย่างนี้ข้อแนะนำ ทั้งนี้แม้ไม่ใช่ร้านตู้ทุกร้านที่จะหลอกลวงผู้บริโภค แต่เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเบื้องต้นหากต้องการซื้อเครื่องมือหนึ่งก็ต้องตรวจสอบอายุการรับประกัน ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบรหัส Serial number (SN) หรือหมายเลข IMEI (อีมี่) หลังเปิดเครื่องที่เบอร์ *#06# โดยบนหน้าจอจะแสดงเลขจำนวน 15 หลัก เราก็นำเลขเหล่านี้ไปกรอกในเว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบอายุการรับประกันมือถือได้ ซึ่งจะรู้ทันทีว่าเราได้ของมือหนึ่งหรือมือสองมาครอบครอง เพราะหากทางร้านหลอกลวงเราก็แค่คืนเครื่องนั้นไป โดยไม่ต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลานั่นเองอย่างไรก็ตามสำหรับการตรวจสอบอื่นๆ เช่น วิธีตรวจสอบของแท้หรือของปลอม หรือเครื่องหิ้วเป็นอย่างไร เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือสำหรับกรณีที่เราตรวจสอบดีแล้วแต่เครื่องก็ยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดเราสามารถนำกลับไปเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใน 7 วัน พร้อมกับไม่ลืมหลักฐานสำคัญต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน เพราะสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 “อยากปิดบัญชีหนี้ ต้องมีเอกสารยืนยัน”

เมื่อมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ หากไม่อยากถูกเจ้าหนี้หลอกให้ชำระหนี้บางส่วน ลูกหนี้ต้องเรียกร้องขอเอกสารยืนยันที่ชัดเจน เพราะสามารถใช้ยืนยันทางกฎหมายได้นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการรักษาสิทธิของตัวเอง ด้วยการเรียกร้องขอเอกสารยืนยันการเจรจาปิดบัญชีหนี้ก่อนชำระเงิน ซึ่งกว่าจะได้เอกสารก็ล่วงเลยกำหนดการชำระไปแล้ว ทำให้ผู้ร้องต้องกลายเป็นคนผิดนัดการชำระหนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดอะไรผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิต ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยาจำกัด จำนวนกว่า 90,000 บาท บริษัทฯ จึงนัดเจรจา เพื่อให้เข้าโปรแกรมส่วนลดหนี้เหลือเป็น 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้ชำระภายใน 5 วันถัดมานับจากวันที่มีการเจรจา ซึ่งหากไม่ชำระจะถือว่าการเจรจาส่วนลดนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อมีเงื่อนไขแบบนี้ ผู้ร้องจึงยินดีตอบตกลง และเร่งหาเงินมาให้ครบตามจำนวนที่ได้ส่วนลดไว้ เพียงต้องการเอกสารการยืนยันที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ ก่อนการชำระหนี้นั้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ กลับแจ้งว่าสามารถชำระได้เลย โดยจะส่งเอกสารตามไปทีหลังแน่นอนว่าผู้ร้องไม่ยอมทำตามด้วยการไปชำระหนี้ก่อน ยังคงยืนยันที่จะรอเอกสารยืนยัน เพราะต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ จนในที่สุดเอกสารก็ส่งมา แต่กลับส่งเลยกำหนดการชำระหนี้ที่เคยตกลงกันไว้ จนทำให้ผู้ร้องตกอยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ และทำให้การเจรจาดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ ผู้ร้องจึงต้องการให้บริษัทฯ แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว ที่ทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้นั้นต้องสูญเปล่า จึงมาร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือทักท้วงไปที่บริษัทฯ โดยระบุสาเหตุที่ผู้ร้องไม่ชำระหนี้ว่า เป็นเพราะบริษัทฯ ทำเอกสารส่งมาให้ผู้ร้องล่าช้า และเลยวันที่กำหนดชำระหนี้ไปแล้ว ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ถือว่าเป็นคนผิดสัญญาการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างที่รอบริษัทฯ ส่งเอกสารที่แก้ไขแล้วมาให้ใหม่ ผู้ร้องยังไม่ต้องชำระหนี้นั้นหลังจากบริษัทฯ ได้รับเรื่องก็ยินยอมที่จะแก้ไขวันที่ในเอกสารให้ใหม่ เป็นวันที่ปัจจุบันและขยายกรอบเวลาออกไป ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับเอกสารยืนยันที่ชัดเจนแล้ว ก็ดำเนินการชำระหนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับเอกสารยืนยันการปิดบัญชีหนี้ สามารถถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งหากมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ต้องมีเอกสารยืนยันเสมอ เพราะหากเราไม่มีเอกสารยืนยัน ก็อาจกลายเป็นว่าเราถูกเจ้าหนี้หลอกให้เราชำระหนี้เพียงบางส่วนได้ และเราก็ยังคงต้องชำระเงินเต็มจำนวนเช่นเดิม หรือกรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อความบางอย่างในเอกสาร จนทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้อย่างไรก็ตามเอกสารยืนยันการชำระหนี้ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ควรมีคำสำคัญดังต่อไปนี้ จึงจะถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถมีผลใช้ยืนยันทางกฎหมายได้1. เลขที่สัญญา หรือ เลขที่บัญชีหนี้2. จำนวนเงินที่เป็นหนี้3. จำนวนเงินที่ตกลงกันเพื่อปิดบัญชีหนี้4. ข้อความที่ระบุว่า “หากลูกหนี้ชำระแล้ว จะถือว่าท่านชำระหนี้เสร็จสิ้น ไม่มีหนี้ค้างอยู่กับบริษัท”5. ลายเซ็นผู้มีอำนาจของบริษัทในการอนุมัติปิดบัญชีหนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”   ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ  พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปบทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่    การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “ไข่ดาวเป็นเหตุ”

สั่งสินค้าตามโปรโมชั่น แต่กลับได้รับของจริงไม่ครบ เพราะผู้ผลิตอ้างว่าลืมแปะรายละเอียดเล็กๆ เอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องเดือดร้อนกรณีนี้เกิดขึ้นที่ร้าน แมคโดนัลด์ สาขาเทสโก้โลตัส พระราม 3 จากการติดป้ายโฆษณาภาพโปรโมชั่นชุดอาหาร “มอบความสุข 2 ต่อที่แมคโดนัลด์” ที่ประกอบด้วยแมคข้าวกะเพราไข่ดาว 2 จาน ปีกไก่สไปซี่ 2 ชิ้นและโค้ก 2 แก้ว ราคา 149 บาท ดึงดูดใจให้ผู้ร้องเข้าไปรับประทานอาหาร แต่เมื่อสั่งอาหารชุดนี้ไปแล้วกลับพบว่าได้อาหารไม่ครบ เพราะขาดไข่ดาวตามรูปบนป้ายโฆษณา เมื่อทักท้วงไปกับพนักงานจึงได้คำตอบว่า ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 10 บาท ถึงจะได้รับไข่ดาวเหตุการณ์เช่นนี้ได้ทำให้ผู้ร้องมีความรู้สึกว่าตนเองถูกหลอก เพราะไม่มีรายละเอียดดังกล่าวระบุไว้ในป้ายโฆษณาเลย จึงถ่ายรูปหลักฐานต่างๆ เก็บไว้ และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะอยากให้ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบที่หลอกลวงผู้บริโภคด้วยป้ายโฆษณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้นับว่าเป็นตัวอย่างในการเอาผิดป้ายโฆษณาที่เอาเปรียบ หรือสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค เพราะหากมีข้อยกเว้นหรือรายละเอียดใดๆ ที่ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มจากราคาที่ตั้งไว้ ก็ควรแสดงให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน  หลังจากแนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือร้องเรียนไปที่ บริษัท แมคโดนัลด์ สำนักงานใหญ่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงนัดเจรจากับตัวแทนของบริษัทฯ ซึ่งได้ขอโทษและมอบของขวัญเป็นชุดอาหารให้ผู้ร้องได้รับประทาน พร้อมชี้แจงว่า ไม่ได้ตรวจสอบป้ายดังกล่าวก่อนนำไปวางโฆษณา และเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารการตลาด แต่ได้ดำเนินการแก้ไขโดยเก็บป้ายชุดอาหารดังกล่าวออกจากโฆษณาเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “หนี้จากบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้”

อิทธิพลของยุคซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋า จนบางครั้งเปิดกระเป๋ามาเจอบัตรเครดิตเยอะกว่าเงินก็มี อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตเหล่านี้ก็อาจสร้างภาระให้เราแทนได้ หากเราใช้จ่ายมากเกินไปจนกลายเป็นหนี้ หรืออย่างในกรณีนี้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายแต่ดันเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ร้องเคยสมัครบัตรเครดิตกับธนาคาร UOB แต่ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าใดๆ เพราะมีบัตรเครดิตอื่นที่ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ได้ยกเว้น เธอจึงตัดปัญหาภาระที่ไม่จำเป็น ด้วยการโทรศัพท์ไปที่ Call center ของธนาคารเพื่อยกเลิกบัตรใบนี้ ซึ่งพนักงานก็ได้ดำเนินการยกเลิกให้เธอเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่คิดต้นปี 2557 เธอได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของธนาคารดังกล่าวว่า ขอให้ชำระหนี้จากการนำบัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้ ATM รวมแล้วจำนวนกว่า 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงกลับไปว่า ไม่เคยเปิดใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับบัตรเครดิตใบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้เธอหาทางดำเนินการแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการแนะนำให้โทรศัพท์ไปที่ Call center หรือฝ่ายตรวจสอบการทุจริตของธนาคาร ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าจะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมา พร้อมกับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นเธอจึงต้องทำตามคำแนะนำ โดยการไปแจ้งความขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามตู้ ATM ต่างๆ ที่มีการกดเงินจำนวนนั้นไป และโทรศัพท์ไปยังธนาคารต่างๆ ให้เก็บภาพวงจรปิดไว้ ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าคนที่มากดเงิน เป็นชายใส่หมวกนิรภัยปิดหน้าที่เธอไม่รู้จัก ต่อมาจึงประสานกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าว เพื่อขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลของบัตรและพบว่า มีไฟล์เสียงของเธอที่ยืนยันการเปิดและยกเลิกบัตรเครดิตทางโทรศัพท์ โดยภายหลังได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะถือบัตรเครดิตใบนี้ต่อ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งมา เธอยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เคยตกลงเจรจากับธนาคารเช่นนั้น จึงขอไฟล์บันทึกเสียงที่อ้างข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ธนาคารกลับไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอง่ายๆ คลิปเสียงที่จะเป็นพยานสำคัญในการเอาผิดผู้ร้องกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารไม่ยอมส่งคลิปเสียงทั้งหมดมาให้ โดยอ้างว่าบางส่วนได้ทำลายทิ้งไปแล้ว และที่มีอยู่ก็เป็นไฟล์เสียงที่ไม่สมบูรณ์อีก มากไปกว่านั้น เมื่อผู้ร้องตรวจสอบวันเวลาของไฟล์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่อ้างไว้ตอนแรก นอกจากนี้การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดธนาคารจึงปล่อยไม้เด็ดคือ ไม่ตอบข้อร้องเรียนหรือหลักฐานไฟล์เสียงที่ผู้ร้องขอ เพียงส่งหนังสือระบุว่า ตามเงื่อนไขสัญญาการทำบัตรเครดิต เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานะของผู้ร้องคือ เป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และการที่ผู้ร้องทำหนังสือไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้จะเป็นธนาคารแห่งชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบระบบเชิงลึกรายบุคคล เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้อง ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นผู้กดเงินสดจำนวนนั้นไป นอกจากนี้ข้อสังเกตต่างๆ ที่ผู้ร้องได้ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ได้รับการอธิบาย โดยในระหว่างนี้เรื่องอยู่ระหว่างการเจราจาที่อัยการ ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้ยุติการเรียกเก็บหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารกล่าวอ้าง เพราะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “ทำประกัน จ่ายครบ แต่คืนไม่ครบ (อีกแล้ว)”

“การทำประกันชีวิต นอกจากจากช่วยคุ้มครองผู้ทำประกันภัยจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันแล้ว ยังสามารถเป็นการสะสมทรัพย์รูปแบบหนึ่ง เพราะเมื่อเราส่งครบตามกำหนดสัญญา สุดท้ายเบี้ยประกันพร้อมเงินปันผลต่างๆ ก็จะกลับคืนมาให้ผู้ทำประกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย…”หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยคยาวๆ ข้างต้น เพราะเรามักจะได้ยินเสมอเมื่อกำลังถูกโน้มน้าวใจให้ทำประกันชีวิต ซึ่งหากความจริงเป็นไปตามที่ตัวแทนกล่าวไว้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่เหตุการณ์ก็มักจะเกิดขึ้นตรงกันข้ามมากกว่า ดังที่เราจะเห็นข่าวการฟ้องร้องกรณีประกันภัยจ่ายไม่ครบ หรืออาจบอกเลิกสัญญากรมธรรม์กับเรากะทันหันกันมากมาย เช่นเดียวกันกับผู้ร้องรายนี้ ที่ได้ทำประกันชีวิตระยะยาว ซึ่งสุดท้ายก็ได้เงินคืนไม่ครบ โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรด้วยซ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2536 ผู้ร้องทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 21 ปี กับบริษัทประกันภัย เอไอเอ จำกัด ซึ่งต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 16,138 บาท โดยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์จะมีการจ่ายคืนทุกๆ 3 ปี จำนวน 6 งวด งวดละ 20,000 บาท และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญา 21 ปีก็จะจ่ายเงินงวดสุดท้ายคืนให้อีกจำนวน 280,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าอายุสัญญาครบกำหนดเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา แต่ผลประโยชน์ตอบแทนกลับไม่เป็นไปตามที่ได้แจ้งไว้เมื่อ 21 ปีก่อน ผู้ร้องได้รับเงินคืนงวดแรกทุกๆ 3 ปีจำนวน 6 งวดรวมทั้งสิ้น 120,000 บาทและงวดสุดท้ายอีก 239,000 บาท ซึ่งขาดไปอีก 41,000 บาท เมื่อสอบถามไปยังตัวแทนประกันก็ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ โดยบอกเพียงว่าให้ติดต่อกับบริษัทฯ ที่กรุงเทพเอง ดังนั้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองและรักษาผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านการส่งรายละเอียดทั้งหมดมาให้ทางจดหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือทวงถามจำนวนเงินที่ขาดไป และนัดเจราจากับบริษัทฯ ซึ่งภายหลังได้ยินยอมจ่ายเงินส่วนที่ขาดไปเพียง 31,000 บาท โดยไม่สามารถชี้แจงเหตุผลถึงเงินส่วนที่เหลืออีก 10,000 บาท ได้ว่าทำไมถึงไม่จ่ายคืนให้ครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา ด้านผู้ร้องก็เห็นว่าหากต้องฟ้องร้องคดีในศาล แม้จะรู้ว่าต้องชนะแน่นอน แต่ก็ต้องเสียเวลาอีกนาน จึงยินยอมรับเงินจำนวนนั้นไปสำหรับการฟ้องร้องเงินคืนไม่ครบตามสัญญานั้น ผู้บริโภคมักจะเป็นฝ่ายชนะคดีเสมอ โดยบริษัทก็ต้องเสียเงินมากกว่าค่าเบี้ยประกันที่คืนให้ไม่ครบ แต่กว่าจะชนะคดีก็ต้องเสียเวลานาน ทางออกจึงมักยุติได้ที่การเจรจาไกล่เกลี่ย ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องทำใจยอมรับการเสียประโยชน์ “เล็กน้อย” จากความไม่ซื่อสัตย์ของบริษัทประกันภัยนั้นไปโดยปริยาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 มะเร็งร้ายหายแต่ได้ภาวะแทรกซ้อนมาแทน

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา โดยให้เราลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าถ้าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เราปัสสาวะเองไม่ได้นานเป็นปี เรายังจะตัดสินใจรับการผ่าตัดนั้นอยู่หรือไม่ผู้ร้องอายุ 48  ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะแรก หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉือนบางส่วนออกเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจทำตามโดยใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งหลังการผ่าตัดนั้นก็พบว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกไปได้หมดจริงๆ แต่กลับทำให้เธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้อีกเลย หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 9 วันโดยการใช้ถุงเพื่อปัสสาวะมาตลอด เธอก็กลับบ้านและพบว่าชีวิตประจำวันของตัวเองต้องเปลี่ยนไป เพราะคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาช่วยกันดูแล สำหรับการสวนปัสสาวะทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยอาการยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม้จะไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่ได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแต่แจ้งว่าเป็นผลจากการผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาและฝึกฉี่เองอีกครั้ง และให้ถุงฟอเล่ หรือถุงฉี่กลับบ้านมาเท่านั้น การสวนปัสสาวะเองทุกครั้งก็ทำให้เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และถูกส่งตัวไปรักษาต่อตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันภายหลังเธอจึงไปตรวจอาการอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้พบความจริงว่าการผ่าตัดครั้งนั้นมีผลกระทบทำให้เส้นประสาททางเดินปัสสาวะโดนผ่าออกไปด้วย เพราะเส้นประสาทดังกล่าวผสานอยู่กับเนื้อเยื่อข้างเคียงของปากมดลูก ซึ่งมีสิทธิทำให้เซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกลุกลามได้ เป็นเหตุให้เธอเกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้) ซึ่งหมอก็ไม่ยืนยันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อพบว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกว่า ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะหากทราบก่อนการผ่าตัดว่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นนี้ ในตอนนั้นเธออาจจะเลือกไม่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะปัสสาวะเองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอยังต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งหากคิดแล้วก็ตกที่เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งยังต้องเดินทางไปหาหมอตามสถานที่ต่างๆ เองอีกด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความเป็นธรรม โดยหวังว่าอย่างน้อยแค่ให้หมอมาดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อสวนปัสสาวะบ้างก็ยังดีแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้ร้องใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงทำให้เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเองด้วย ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา อีกทั้งทำไมหมอที่ดูแลอาการถึงไม่ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนให้เธอทราบก่อนการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะทำให้เส้นประสาทปัสสาวะได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้มีการเจรจากับโรงพยาบาล โดยตัวแทนของศูนย์ฯ ไปร่วมเจรจาด้วย และให้ผู้ร้องทำรายการค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้รักษาหลังการผ่าตัดออกมา (ย้อนหลังไปประมาณ 8 เดือน) ซึ่งผลก็คือหมอที่ดูแลอาการได้ขอโทษผู้ร้อง ที่ไม่ได้ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด พร้อมเยียวยาเบื้องต้นโดยให้ผู้ร้องสามารถรับอุปกรณ์สำหรับสวนปัสสาวะฟรี รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ร้องเสียไปแล้วจำนวน 1 แสนบาท ผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 โฆษณาลดราคา แต่จ่ายเงินจริงเต็มจำนวน

การส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาสินค้า สามารถกระตุ้นความสนใจให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เสมอ แต่หากเราตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้นแล้ว กลับพบว่าการลดราคาเป็นเพียงลมปากเท่านั้น เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรผู้ร้องซื้อเชอร์รี่แดง 1 แพค จากร้าน ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต สาขาเทพารักษ์ เพราะเห็นว่าลดราคาเหลือ 199 บาทจาก 499 บาท แต่เมื่อมาชำระเงินพนักงานได้แจ้งว่าถ้าซื้อเชอร์รี่แดงเพิ่มอีก 1 แพค จะลดราคาอีก 120 บาท (เน้นขายลดราคาเป็นแพคคู่) ได้ยินดังนั้นผู้ร้องจึงตัดสินใจซื้อมาเพิ่มอีกรวมเป็นทั้งหมด 6 แพค ซึ่งเขาคิดว่าควรจะมีราคาทั้งหมด 834 บาท (199 x 2 = 398 บาท ลดราคาแพคคู่ละ 120 บาท เหลือคู่ละ 278 ถ้า 6 แพค = 834 บาท) แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ผู้ร้องคิดไว้ เพราะพนักงานคิดเงินรวมทั้งหมด 1,194 บาท หรือคิดเป็นราคาแพคละ 199 บาทเท่าเดิม เมื่อทักท้วงกับพนักงานก็ได้รับการยืนยันว่าทำตามป้ายโฆษณาที่มีอยู่ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมระบบถึงคิดเงินจำนวนเท่านี้ ผู้ร้องจึงขอเงินส่วนต่างคืนแต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ทำให้ได้รับความเสียหายและร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดใบเสร็จและภาพป้ายราคา เพื่อร้องเรียนต่อกรมการค้าภายใน และทำหนังสือร้องเรียนถึง ท็อปส์ สำนักงานใหญ่ให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมการแนวทางการจัดการปัญหานี้ในระยะยาว ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนผู้จัดการใหญ่ก็ขอเจรจาและแสดงความยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ยังมอบกระเช้าของขวัญและคืนเงินส่วนต่างให้จำนวน 360 บาทอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 พบปัญหานมเสียก่อนวันหมดอายุ อย่าเพิ่งทิ้ง

เรื่องนมบูดเสียก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างกล่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกล่องที่บรรจุเครื่องดื่มนั้นอาจมีรอยรั่วเล็กๆ ที่สามารถทำให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำนมจนเสียได้ แต่วิธีการจัดการปัญหาใกล้ตัวเพื่อรักษาสิทธิของตนเองที่เป็นผู้บริโภคนั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า ดังเช่นกรณีต่อไปนี้ผู้ร้องพร้อมเพื่อนซื้อน้ำนมข้าวโพดยี่ห้อ เนเจอรี่ มาดื่ม จำนวน 6 แพค บรรจุแพคละ 3 กล่อง รวมเป็นเงิน 174 บาท จากท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต ในห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค เมื่อวันที่ 4 เม.ย.58 และเมื่อดูวันหมดอายุข้างกล่อง ก็ระบุว่าเป็นวันที่ 5 ธ.ค.58  (051215)  หรืออีก 8 เดือนจึงจะหมดอายุ แต่พอนำกลับมาดื่มเช้าวันถัดมากลับพบว่า กล่องหนึ่งมีรสเปรี้ยวต่างไปจากที่เคยซื้อมารับประทาน นอกจากนี้เมื่อให้คนรอบข้างชิมก็รู้สึกเปรี้ยวตรงกัน จึงได้ลงความเห็นว่านมข้าวโพดกล่องนี้ต้องเสียแน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุ อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ไม่ได้ทิ้งน้ำนมข้าวโพดกล่องนั้นไปเฉยๆ เพราะคิดว่าผู้ผลิตควรรับผิดชอบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้มีความปลอดภัย จึงได้มาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องถ่ายภาพผลิตภัณฑ์  วันหมดอายุ เลขครั้งการผลิต ใบเสร็จรับเงินการซื้อสินค้า เพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้มูลนิธิทางอีเมล์ พร้อมแนะนำให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และทำหนังสือหรือไปแจ้งปัญหาที่ห้างสรรพสินค้าด้วยตัวเอง โดยนำหลักฐานต่างๆ พร้อมพยานไปด้วย ซึ่งหากสำนักงานใหญ่ของท็อป ซูเปอร์มาเก็ต ต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ไม่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ก็จะติดตามความรับผิดชอบให้อีกครั้ง ปรากฏว่า เมื่อผู้ร้องได้ดำเนินการตามคำแนะนำ บริษัทผู้ผลิตนมดังกล่าวได้ติดต่อมาเพื่อขอเจรจากับผู้ร้องที่มูลนิธิ โดยทางศูนย์ฯ ได้แจ้งผลการทดสอบเบื้องต้นให้ทราบว่า กล่องบรรจุภัณฑ์มีรอยชำรุดที่ไม่ทราบสาเหตุบริเวณด้านบนของกล่อง จึงคาดว่าอากาศน่าจะเข้าไปและทำให้น้ำข้าวโพดเสียได้ บริษัทจึงขอกล่องนมดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม และจะแจ้งผลการทดสอบให้ทราบภายใน 7 วัน ซึ่งผลการทดสอบก็พบว่ากล่องที่พบปัญหานมข้าวโพดเสียก่อนวันหมดอายุ มีรอยชำรุดจากการถูกของมีคมกรีดจริง จึงยินดีรับผิดชอบโดยการชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวน 10,000 บาท เรื่องราวยุติลงได้แบบนี้ผู้ผลิตก็สามารถรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ รวมทั้งผู้บริโภคเองก็ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาสิทธิของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ประกันสุขภาพ อยากได้แต่ไม่อยากเสีย

แม้โฆษณาการประกันภัยของบริษัทต่างๆ จะมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อบริการเห็นถึงการรับประกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยหากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตหรือทรัพย์สิน ผู้ซื้อก็จะไม่ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ เหล่านั้นเพียงผู้เดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้รู้หรือบริษัทไม่เคยบอกอย่างชัดเจนก็คือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงอยู่ในข้อสัญญากรมธรรม์ต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเคยต้องผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมดังกรณีของผู้ร้องรายนี้“บริษัทฯ ใคร่ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ขออภัยที่จะต้องขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด โดยกรมธรรม์มีผลบังคับสิ้นสุดลงวันที่…”ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาในจดหมาย เพื่อระงับการเอาประกันของภรรยาผู้ร้องที่ซื้อประกันภัย “HIP MediCare1” ของบริษัทกรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยผู้ร้องได้ชี้แจงว่าเขาซื้อประกันภัยแบบเหมาจ่ายให้กับตนเอง ภรรยาและลูก 1 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 6 งวด งวดละ 1,102 บาท (รวมภาษีและอากรแล้ว) มีข้อตกลงและความคุ้มครองที่สำคัญคือ การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่ออุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่ทำประกันภัยนั้น ภรรยาของเขาได้มีการเบิกเคลมค่าสินไหมจำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 26,000 บาท สำหรับการป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ได้แก่ อาการจากเยื่อบุจมูกอักเสบ กระเพาะอักเสบและน้ำในหูไม่เท่ากัน ประเด็นที่สำคัญ คือภรรยาของผู้ร้องไม่ได้เบิกเคลมเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ และไม่ได้ผิดสัญญาการชำระเบี้ยประกันเลย ดังนั้นเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกจากบริษัทและให้กรมธรรม์มีผลสิ้นสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล จึงทำให้ผู้ร้องไม่เข้าใจว่าตนเองผิดสัญญาข้อไหน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุการยกเลิกประกันภัย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงนัดเจรจา โดยบริษัทประกันภัยนำเอกสารใบกรมธรรม์มาชี้แจงว่า สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามสัญญาข้อ 12.1 ที่ระบุว่า “บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติในวันสุดท้ายที่เบี้ยประกันภัย ซึ่งได้รับชำระมาแล้วสามารถซื้อความคุ้มครองได้ โดยบริษัทไม่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด”อย่างไรก็ตามจากข้อความในสัญญากรมธรรม์ รวมทั้งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้ผู้ร้องทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงต้องบอกยกเลิกการเอาประกันของภรรยาเขาได้ ทางศูนย์ฯ จึงต้องดำเนินการหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป เพราะการที่บริษัทฯ บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง และอาจเข้าข่ายเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผลให้บอกเลิก รวมทั้งต้องไม่เป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียวดังเช่นในกรณีนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “โปรดระวังเอกสารสำคัญของตัวเอง”

“นักศึกษาช้ำกลายเป็นผู้ค้ำประกันแบบไม่รู้เรื่อง แถมยังโดนทวงหนี้กว่า 150 ล้าน!!”นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างนักธุรกิจร้อยล้านคุยกัน แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องที่เป็นนักศึกษาอายุ 20 ปีกับบริษัทประกันภัยชื่อดังอย่าง บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้รับจดหมายขอให้ชำระหนี้ ของสำนักงานกฎหมายที่อ้างว่าทวงถามหนี้ให้กับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เหตุเพราะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนขายประกันของบริษัทเนื้อหาในจดหมายอ้างว่าตัวแทนคนหนึ่งของบริษัทฯ ได้ชักชวนให้คนทำประกันภัย โดยเสนอผลตอบแทนสูงกว่าเงื่อนไขในกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยจำนวนมากหลงเชื่อและตกลงทำประกันชีวิต อย่างไรก็ตามต่อมาผู้เอาประกันภัยเหล่านั้นได้ขอยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้บริษัทฯ ต้องคืนเงินเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัย และสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินค่าบำเหน็จ และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ให้ตัวแทนดังกล่าวไปแล้ว รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 159,924,536.12 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยสามสิบหกบาทสิบสองสตางค์) ดังนั้นเพื่อเป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงขอให้ผู้ร้องในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันและตัวแทนดังกล่าว ร่วมกันชำระเงินที่บริษัทได้สูญเสียไปทั้งหมดข้างต้น พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ คืนเบี้ย!! แน่นอนว่าเงินจำนวนมากที่บริษัทเสียหายไปเทียบไม่ได้กับความตกใจของผู้ร้อง เพราะเขาไม่เคยรู้จักกับบุคคลตามสัญญาค้ำประกัน และไม่เคยเซ็นเอกสารหรือสัญญาใดๆ กับทางบริษัทฯ มากไปกว่านั้นด้วยวัยเพียง 20 ปีจะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนดังกล่าวได้อย่างไร ซ้ำยังต้องมาโดนทวงนี้กว่า 150 ล้านทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นอีก (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว)แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้แจ้งเรื่องมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ก่อน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือถึงบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา เพื่อขอหนังสือสัญญาดังกล่าวมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่า สัญญาการค้ำประกันฉบับนั้นมีการปลอมแปลงเอกสารทุกจุดได้อย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นของผู้ร้องหรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือ ทางศูนย์ฯ จึงให้ผู้ร้องไปแจ้งความอีกครั้ง แต่เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ สิ่งน่ากลัวสำหรับผู้บริโภคอย่างเราทุกคนก็คือ เอกสารสำคัญของเราสามารถถูกปลอมแปลงได้ตั้งแต่ต้นทาง และสามารถทำให้เรากลายเป็นหนี้จำนวนมากมายมหาศาลได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา สิ่งที่เราควรทำนอกเหนือไปจากการระมัดระวังไม่ให้เอกสารสำคัญเหล่านั้นสูญหายแล้วก็คือ ในทุกครั้งที่มีการทำสัญญาใดๆ ควรเขียนหรือเซ็นกำกับไว้ว่าเอกสารนั้นใช้สำหรับทำอะไร หรือแสดงความประสงค์แบบเฉพาะเจาะจงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เอกสารของเราถูกนำไปใช้ต่อโดยผู้ไม่ประสงค์ดีนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สัญญาต้องเป็นสัญญา”’

 สิ่งที่น่าปวดใจ เมื่อเราได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ไว้คือการที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา ซึ่งจะนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินสำหรับการฟ้องร้องคดีหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ หรือเสียเวลาหากคดีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียใจหากคดีของเราถูกตีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะฟ้องร้องคดีผิดประเภท!! ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปนี้สิ่งที่ผู้ร้องต้องการ เป็นเพียงการเช่าพื้นที่ขายของในโครงการ ตลาดน้ำสวนทวดจีบ กับบริษัท วัชรธร ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  โดยผู้ร้องทั้ง 15 คนได้จ่ายเงินไปแล้วรวมกันมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้มีกำหนดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่าตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใดสิ่งที่บริษัทฯ ทำ มีเพียงการแจ้งขอเลื่อนส่งมอบพื้นที่ไปเป็นปลายปี 2555 และกำหนดใหม่ว่าโครงการจะเปิดต้นปี 2556 แน่นอนว่าการเลื่อนระยะเวลาการเปิดตลาดออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เพราะเงินที่เสียไปแล้วไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย อีกทั้งการที่บริษัทฯ มาแจ้งใหม่ว่าจะเปิดโครงการในต้นปี 2556 ทำให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นกำหนดการที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ผู้ร้องจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯ จะคืนเงินด้วยการฝากขาย แต่ผู้ร้องต้องการให้คืนเงินในงวดเดียว ต่อมาเมื่อมีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ผู้ร้องก็พบว่าบริษัทฯ ได้มีการแอบเปลี่ยนข้อความในข้อเท็จจริงว่ายินยอมให้มีการฝากขาย ดังนั้นเมื่อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จึงมีมติดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทฯ แทนผู้ร้องเพื่อบังคับให้คืนเงิน คดีจึงเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อกลางปี 2558 แม้เหตุการณ์ดูเหมือนว่ากำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคแต่เป็นคดีแพ่งทั่วไป ทำให้ สคบ.ไม่มีอำนาจในการฟ้องแทน และต้องกลับไปเริ่มฟ้องใหม่โดยการเปลี่ยนประเภทคดี!! แนวการการแก้ปัญหา    สิ่งที่เสียไปแล้ว คือเวลา 4 ปีที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี เพียงเพื่อพบว่าฟ้องคดีผิดประเภท แม้ผู้บริโภคจะเสียใจ แต่สิ่งที่ยอมให้เสียไปอีกไม่ได้ก็คือสิทธิของเราเอง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ในการทำสัญญา คัดลอกคำตัดสินของศาล และตรวจสอบว่ายังมีการเปิดพื้นที่ให้เช่าในโครงการดังการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหากมีการเปิดพื้นที่จริง ปัจจุบันรายละเอียดของสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกครั้ง พร้อมหาช่องทางดำเนินการกฎหมายกับบริษัทฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ยังไม่ต้องกลัวหมดอายุความ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาที่มีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้งว่าจะยกฟ้องและให้ฟ้องใหม่ หรือให้แก้ฟ้องจากคดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งทั่วไป โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ก็จะติดตามคดีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “เอ๊ะ ทำไมปลากระป๋องนี้ดูเหมือนมีพยาธิ”

เชื่อว่าใครหลายคนอาจติดใจในรสชาติปลากระป๋อง เพราะไม่ว่าจะนำไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำเป็นยำแซ่บ หรือกินคู่กับข้าวเปล่าร้อนๆ ก็อร่อยไปหมด ซึ่งหลักการสำคัญในการเลือกปลากกระป๋องมารับประทานก็เป็นเรื่องทั่วไป เช่น การดูวันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหากเราเลือกแล้วอย่างรอบคอบ แต่กลับพบว่าเมื่อเปิดมารับประทาน ปลากระป๋องนั้นมีสิ่งแปลกปลอม ที่ดูคล้ายกับพยาธิอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรคุณนกได้ซื้อปลากระป๋องยี่ห้อ อะยัม (AYAM) มารับประทาน จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาปิ่นเกล้า ราคากระป๋องละ 32 บาท ซึ่งหลังจากรับประทานก็รู้สึกว่ารสชาติผิดปกติไปจากที่เคยกิน และเมื่อตรวจสอบปลาชิ้นนั้นดีๆ ก็พบสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ อยู่ในน้ำซอส จึงคาดเดาไปว่าเจ้าสิ่งนี้มันคือพยาธิแน่ๆ ถึงจุดนี้บางคนอาจจะนำไปทิ้งอย่างรวดเร็วด้วยความขยะแขยง แต่คุณนกผู้ร้องได้เก็บชิ้นส่วนที่น่าตกใจนั้นไว้ และนำมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นธรรมแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงส่งตัวอย่างที่ผู้ร้องนำมาให้กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าใช่พยาธิหรือไม่ พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาร่วมฟังผลการทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มพยาธิ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อปลาที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น พอได้ฟังอย่างนี้หลายฝ่ายต่างก็พากันโล่งใจ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ทางบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชิ้นเนื้อที่เปื่อยยุ่ยนั้นอาจเกิดจากคุณภาพและขนาดปลาแต่ละรอบที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ประสานงานไปยังบริษัทใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ควบคุมดูแลปลาแต่ละรอบให้มีความสมบูรณ์เท่ากันมากขึ้น นอกจากนี้ยังชดเชยผู้ร้องด้วยปลากระป๋องใหม่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นผู้ผลิตไม่ละเลยเรื่องทุกข์ร้อนของผู้บริโภค ซึ่งต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “จะตะคอกกันทำไม”

ทุกครั้งใช้บริการรถตู้สาธารณะ นอกจากจะคาดหวังให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้โดยสารต้องการคือ กิริยามารยาทที่สุภาพของคนขับ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่สุภาพ หรือแม้แต่การสนทนาอย่างสุภาพกับผู้โดยสาร เพราะนี่ถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ผู้ให้บริการทั้งหลายพึงปฏิบัติเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ผู้ร้องเรียนขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่วิ่งระหว่างคลองรั้ง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาอีกท่านหนึ่งด้วย โดยผู้พิการได้สอบถามเส้นทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีที่ใกล้ที่สุด ซึ่งผู้ร้องอาสาจะพาไปส่ง ดังนั้นพอรถตู้มาถึงทางขึ้นสะพานสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ร้องจึงบอกคนขับว่าขอลงป้ายประจำทาง โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะพาผู้โดยสารรถตู้ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ไปขึ้นบันไดเลื่อนตรงเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า BTS อย่างไรก็ตามเมื่อคนขับรถตู้ได้ยินดังนั้นก็บอกว่า จอดไม่ได้เพราะเป็นเขตห้ามจอด ทำให้ผู้ร้องแจ้งว่าปกติที่โดยสารรถตู้มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถลงบริเวณนี้ได้ พอได้ยินเช่นนั้นคนขับจึงแสดงอารมณ์โมโห และกล่าววาจาฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดเสียงดังว่า “ถ้ากูจอดมึงจะเสียค่าปรับ 500 ให้กูใช่ไหม เป็นพ่อกูหรือจะมาบังคับกู” แม้ผู้ร้องจะพยายามอธิบายต่อไปว่าไม่ได้มีเจตนาบังคับ แต่ถ้าจอดตรงนี้ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการทางสายตา ได้รับความสะดวกในการขึ้นรถไฟฟ้า อีกทั้งปกติรถตู้คันอื่นก็จอดบริเวณนี้จริงๆ แต่คนขับก็ไม่ได้รับฟังเหตุผลพร้อมกับพูดจาต่อว่า และท้าทายให้ผู้ร้องดำเนินการร้องเรียนกับหน่วยงานใดก็ได้ โดยแจ้งชื่อเล่นของตนเองให้อีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำและการให้บริการที่ไม่ดี ต่อผู้ร้องและผู้พิการทางสายตา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ภายในรถตู้ดังกล่าวด้วย จึงขอให้มีบทลงโทษต่อกรณีนี้ และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่อง จึงดำเนินการร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว และพิจารณาดำเนินการลงโทษตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและรักษาภาพพจน์ที่ดีขององค์กรหรือหน่วยงานต่อไป ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าพนักงานขับรถคันดังกล่าวมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการ โดยแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพจริง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเปรียบเทียบจึงได้มีการเรียกเจ้าของรถตู้มาตักเตือน พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รถตู้ 100% ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนดจริงหรือ?

อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ  โดยเฉพาะ”รถตู้” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีคือ  สะดวกสบาย  ออกตรงเวลา  ไม่แวะกลางทาง ถึงที่หมายในเวลาที่ชัดเจน รถตู้จึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้วินรถตู้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามอย่างเห็นได้ชัดคือ   อุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน   สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก  จึงได้ทำการสุ่มสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการรถตู้ โดยสุ่มสำรวจจากผู้ใช้บริการทั้งหมด 26 วิน วินละ 10 คน  รวมเป็นจำนวนผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 260 คน พื้นที่สำรวจ 3 จังหวัด คือ  1.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (18 วิน ) 2.จังหวัดกาญจนบุรี (12 วิน)  3. สุพรรณบุรี (6 วิน)  เชื่อไหมว่า เราพบประเด็นที่น่าตกใจ จากคำถาม “ท่านเคยพบรถตู้ที่ท่านนั่งขับเร็วเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่” คำตอบคือ  80% ของ 180 คน  (สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) พบรถตู้ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด  และ 100%  ของ 180 คน (จังหวัดประจวบฯ)  ซึ่งผลสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก   ที่แจ้งว่ารถตู้โดยสาธารณะจังหวัดประจวบฯ เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยพื้นที่ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ คือบริเวณจังหวัดเพชรบุรี      แม้จำนวนผู้ใช้บริการที่สำรวจครั้งนี้จะมีจำนวนไม่มาก  แต่ผลการสำรวจครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่มากกว่าที่ทำอยู่ขณะนี้  เพราะผล 100% ที่ระบุว่า มีการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  บอกได้หลายมิติ  ทั้งความหย่อนยานของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ  และกำกับดูแล  และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ  รวมถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น   เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และลดจำนวนอุบัติเหตุ   ต้องบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก  มิใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  ที่ตามมาด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >