ฉบับที่ 129 ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน

  “ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง...” ฉลาดซื้อคราวนี้เราจะมาคุยกับ คุณกำชัย น้อยบรรจง  ชายหนุ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และอีกฐานะหนึ่งคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยกำลังของอาสาสมัครคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยจิตอาสา ผู้ประสบภัยกลายเป็นผู้ให้“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัย ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้นะ ทั้งที่มันไม่น่าท่วม อย่างปีก่อนไปช่วยที่นครราชสีมาซึ่งสูงกว่าสระบุรี  ช่วยเหลือเครือข่ายผู้บริโภคลพบุรี  น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนโบราณ ไม่ใช่น้ำหลาก ที่คนโบราณมีภูมิปัญญาโบราณในการตั้งรับทั้งการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่  ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือการก่อสร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ และการจัดการน้ำไม่เป็นระบบ” กำชัยให้ความเห็นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งของประเทศ  และจากบทเรียนการให้ความช่วยเหลือพี่น้องในปีที่ผ่านมา ทำให้เขามองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรจะทำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็คือ “ระบบเครือข่าย” และ “อาสาสมัคร” “ระบบการลำเลียงของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเราใช้ระบบเครือข่าย และอาสาสมัครในพื้นที่ อาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครที่เราทำงานในแต่ประเด็น เช่นในจังหวัดสิงห์บุรี เราก็ได้อาสาสมัครที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยประสานงานในพื้นที่ และส่งข้อมูลเข้ามาให้เราว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร  ทีมงานของเราและอาสาสมัครก็จะประเมินสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือว่าในส่วนของภาครัฐ ให้การช่วยเหลือถึงไหม หรือความช่วยเหลือเข้าไปเฉพาะบางจุด การให้ความช่วยเหลือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกันนะ ช่วงแรกเราจะช่วยเหลือผู้อพยพตามศูนย์ผู้ประสบภัย เพราะเราเชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการไม่น่าจะตกสำรวจ แต่พอเราเข้าไปดูเราก็เห็นข้อจำกัด อย่างบางศูนย์ฯ รับคนได้ 500 คน พอคนเกินก็เกิดความแออัด  ผู้เดือดร้อนบางคนไม่ยอมออกมาเพราะความเป็นห่วงของในบ้าน หรือคนแก่ไม่ยอมออกจากบ้าน”   อาสาสมัครมีใจอย่างเดียวไม่พอเมื่อเริ่มเรียนรู้ ทีมงานของกำชัยก็กลับมาพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวทางและบทบาทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พอเราเห็นช่องโหว่ก็กลับมาคุยกันในทีมทำงานในจังหวัดว่า ‘บทบาทของเราในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร’ ต้องบอกว่านะว่าอาสาสมัครแค่มีใจอย่างเดียวไม่พอนะ หนึ่งต้องมีเพื่อน สองต้องหาของไปช่วย สามต้องรู้ความต้องการของผู้ประสบภัย จริงไหม น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้พวกเขาได้ใช้หุงหาเองได้ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่าง เราเริ่มที่จังหวัดสระบุรีก่อน ที่ดอนพุดซึ่งหนักมากนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มประสานงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงได้จริง  ส่วนตัวผมนะ ผมมองว่าถึงกลุ่มเป้าหมายนะ เพราะพื้นที่ที่เราจะเข้าไปต้องขนของใส่รถทหาร ไปถ่ายใส่รถอีแต๋น ไปถ่ายของลงเรือและนั่งเรืออีก 2 – 3 ชั่วโมง เข้าไป 20 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นว่าคนที่ตกสำรวจจริงๆมันมีเยอะ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงน้ำใจคนที่ร่วมบริจาคมาให้มีอีกเยอะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการของบริจาค ของหน่วยงานรัฐเข้าถึงผู้ประสบภัยแค่ไหน” กำชัยและทีมงานเป็นตัวประสานงานในการจัดหาของบริจาค ทั้งน้ำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารจากชาวบ้าน ร่วมกับทีมทำงานช่วยกันแพ็กถุงยังชีพ บ้างก็ทำอาหารกล่องไปให้กับพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นอกจากนี้แล้วยังช่วยส่งน้ำ ให้กับเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอีกด้วย “ถ้าเทียบการจัดการถึงพื้นที่ต้องบอกว่าภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวกว่ารัฐบาล แต่ถ้าจะต้องช่วยอีกให้ปีต่อๆไป ต้องมาวางแผนให้ชัด วางจังหวะ และจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา อย่างในเครือข่ายผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร  ที่ตามมาก็คือเครือข่ายฯจะช่วยเพื่อน ช่วยชาวบ้านได้อย่างไร เหมือนกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในหลายๆเครือข่ายก้าวไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องรอคอยหน่วยงานรัฐว่าจะมาแจกของเมื่อไร ต้องเตรียมครับ ฟันธงว่า ‘มีแน่นอน’”   แก้ปัญหาน้ำต้องให้คนรู้มาทำกรมชลประทานต้องบริหารงานน้ำให้เป็น ถ้าสอบผมว่าก็ตก การให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหลักที่นานาประเทศใช้ก็คือสันนิษฐาน ถึงความเร็วร้ายที่สุดที่มันจะเกิด  และวางแผนรับว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะมีแผงการตั้งรับแบบไหน ควรที่จะบอกประชาชนอย่างไร เขื่อนกำลังจะแตก น้ำจะไหลไปทางไหน ประชาชนจะต้องอพยพไปตรงไหน น้ำท่วมขนาดนี้คุณจะอยู่ได้กี่วัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือมันต้องชัดเจนในการให้คำตอบกับประชาชน ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง น้ำท่วมครั้งนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอุทกภัยนะผมมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากคะแนนเต็ม 10 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ผมให้ 4 นะ มีอย่างที่ไหนเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่กลับต้องมาย้ายหนีน้ำ แบบนี้มีที่ไหน ชาวบ้านหรือโดยเฉพาะชาวกรุงเทพต้องการความเชื่อมั่นนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว  เขาก็ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขได้ เขาก็ยอมอพยพ ถ้าเทียบความเชื่อมั่นในบ้านเราก็อาจจะเทียบกันไม่ได้เลย ผมว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาจัดการและควรทำให้รวดเร็ว   อยู่ย้อนยุคกำชัยสะท้อนถึงการใช้ชีวิตหลังน้ำท่วมว่าควรที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ กลับมาใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน “ส่วนตัวผมนะผมว่าพวกเราต้องให้ความสำคัญกับการหันกลับมาใส่ใจวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน การบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำประเทศ บริโภคอย่างรู้จักความว่าพอ ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศต่อไปว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลจะมีแผนพัฒนาประเทศต่อไปในระบบแบบอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการวางแผนที่จัดการกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและทางน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถไฟไทยกับสิทธิของผู้โดยสาร

  ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณนั่งรถไฟไปย้อนรำลึกเหตุการณ์อุบัติเหตุ รถไฟตกราง โดยขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง – กรุงเทพ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝัน และไม่น่าจะเกิดขึ้น   สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.ร.ฟ.ท.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟไทยมากว่า 29 ปี จะช่วยไขปริศนาที่ว่า ทำไมรถไฟไทยทำไมถึงไม่พัฒนา และควรจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยกันอย่างไร   รถไฟไทยทำไมไม่พัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเรามีรถไฟใช้เป็นประเทศแรกและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านการโดยสารและสินค้าตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 แต่ปัจจุบันลองไปดูประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็จะเห็นว่าไทยเราล้าหลังที่สุดในขบวนการพัฒนา ต่อประเด็นนี้สาวิทย์ มองว่า  ผมก็คิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องหันมาดู โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา 115 ปี รถไฟไทยนั้น ก็อย่างที่เห็นว่าสภาพรถเก่า(มาก)  ขาดการเหลียวแล ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบายของรัฐบาล อันนี้ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนารถไฟ ทั้งที่รถไฟต้องทำหน้าที่บริการขนส่งสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารว่า จะถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย และต้องมีหัวรถจักรที่ลากจูงขบวนรถที่มีสภาพที่สมบูรณ์ 100 % ถ้าดูจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีเขาเต่า สาเหตุที่หนึ่งก็คือเรื่องบุคลากร คือคนขับรถไฟ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ  ปัจจุบันเราขาดแคลนมากๆ เพราะมีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 41 กำหนดว่าพนักงานรถไฟที่เกษียณออกไปให้รับใหม่ไม่เกิน 5 % ของผู้เกษียณอายุ ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีคนเกษียณประมาณ 300 – 400 คน นั่นก็เท่ากับว่าปีหนึ่งเรารับคนได้แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ทำให้บุคลากรน้อยลง แต่ความต้องการของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่มาก ก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน แล้วก็ไม่มีวันหยุด นั่นก็เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้พนักงานทั้งคู่ของขบวนที่ 84 ตอนนั้น วูบหลับไป เราพบว่าใน 1 เดือน พนักงานขับรถได้พักผ่อนแค่วันเดียว  สาเหตุที่สองก็คือเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก สหภาพฯ หยิบขึ้นมารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในห้องบังคับจะมีระบบความปลอดภัยป้องกันพนักงานหลับหรือหมดสติ เรียกว่าระบบ Vigilance   ซึ่งระบบนี้จะทำงานตลอดเวลาจะอยู่ที่เท้าของพนักงาน และต้องใช้เท้าเหยียบทุกๆ 8 วินาที ถ้าไม่เหยียบก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือน ถ้าหากไม่มีการตอบโต้ต่อสัญญาณเตือนภายใน 120 วินาที ระบบความปลอดภัยก็จะเริ่มลดกำลังไฟลงที่เรียกว่าระบบ Deadman ระบบห้ามล้อก็จะทำงานและขบวนรถก็จะหยุดในที่สุด แต่ระบบความปลอดภัยของรถไฟขบวนที่ 84 ปี 2552 มันใช้การไม่ได้  อีกสาเหตุหนึ่งก็คือซีนยางของประตูห้องเครื่องกับห้องคนขับมันรั่ว ก็เป็นไปได้ที่ควันไอเสียเข้ามาแล้วทำให้พนักงานดมควันเข้าไปแล้วหมดสติ   ทางออกเรื่องการพัฒนาความปลอดภัยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อการรถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของการรถไฟ โดยการรถไฟต้องเร่งจัดซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ บนรถจักร รถพ่วง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนนำรถออกไปวิ่งและต้องมีระบบ Vigilance และ Deadman ที่ใช้งานได้ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป แนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก และไม่เกิดผลดีกับใครเลยไม่ว่าจะเป็นการรถไฟที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เราไม่ต้องการให้ประชาชนต้องไปสุ่มเสี่ยงกับการเดินรถที่ไม่ปลอดภัย เหมือนการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีรถไฟเขาเต่าอีก ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงในช่วง 30 ปีของการรถไฟเลยทีเดียว อีกทางหนึ่งในการพัฒนาความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ได้แก่ ผู้โดยสารควรได้รับความคุ้มครองในการเดินทาง มีระดับมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้การรถไฟจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการรถไฟขึ้นมา โดยมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะ  และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟด้วย   จริงๆ แล้วการขนส่งทางราง เป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด   การเยียวยา ค่าชดเชยที่ไม่ตายตัวด้วยหลักเกณฑ์การเสียชีวิตการบาดเจ็บ เราเองไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและมองว่าการชดเชยเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการชดเชยไม่ว่าจำนวนเท่าไรมันก็ไม่เพียงพอสำหรับความสูญเสียที่ต้องเสียไป เพราะว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมันชดใช้ด้วยเงินแค่ สองสามแสนบาท ไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะไปทดแทนชีวิตคนได้หรอก เพราะว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่ ก็มีโอกาสที่จะเอื้อชีวิตให้กับครอบครัว  ต่อชุมชนเยอะแยะมากมาย  ในแง่ของจำนวนเงินบางครั้งมันอาจจะช่วยเยียวยาช่วยเหลือได้บางส่วนก็จริง แต่การชดเชยเยียวยา ไม่ควรไปมองแค่การกำหนดตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ แต่ควรดูว่า อายุ ครอบครัว ฐานะ กับสิ่งที่เขาจะมีจะได้ถ้ามีชีวิตอยู่เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่มองว่าตามระเบียบ ตามเกณฑ์กำหนดไว้แค่นี้ ก็ชดเชยแค่นี้ ผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง บ้านเราเรื่องความปลอดภัยเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลและเบาบางมาก ในขณะที่บ้านเราทุ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยจำนวนมาก อย่างการให้สวมหมวกนิรภัย มีการรณรงค์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” มันก็ถือเป็นการดีนะที่มีการรณรงค์และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรเทศกาลทีไรก็มีคนตาย คนบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าพันราย ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันในการกำหนดมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด  การขนส่งบ้านเราถือว่าน่ากลัวนะ อย่างการใช้รถตู้ขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดจะมีคนขับรถเพียงแค่คนเดียวอย่างกรุงเทพฯ -หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ  – นครสวรรค์ แล้ววิ่งทำรอบกัน แล้วรถตู้เหล่านั้นก็ออกแบบใช่ว่าจะแน่นหนา พอเกิดอุบัติเหตุทีไรก็เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นมาพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่   องค์การอิสระผู้บริโภคจะมีประโยชน์ไหมต่อการพัฒนารถไฟไทยองค์การอิสระฯ ปัจจุบันมีหลายองค์กรนะ ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดได้จริง ในแง่ของความเป็นอิสระ และเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ก็ยังเป็นกังวลว่า ทำอย่างไรจะไม่ถูกครอบงำ จะไม่ถูกแทรกแซง แล้วประชาชนจะมีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างไร  และองค์การอิสระฯ นี้จะมีอำนาจได้อย่างไร  อย่างเช่น อุบัติเหตุที่เขาเต่า เราจะมีอำนาจบังคับการรถไฟได้อย่างไรว่า รถที่ไม่มีความปลอดภัยไม่ให้นำมาวิ่งรับส่งประชาชน ซึ่งอำนาจตรงนี้เรา(องค์การอิสระฯ)ต้องสามารถกำหนดได้ เมื่อตอนที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและขอให้ศาลออกคำสั่งไม่ให้การรถไฟนำรถไม่ปลอดภัยออกมาวิ่งให้บริการกับผู้โดยสาร ศาลท่านบอกว่าในชั้นศาลแพ่งศาลไม่มีอำนาจในการบังคับได้  เพราะฉะนั้นองค์การอิสระฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องมีอำนาจในการสั่งการด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น  ไม่งั้นก็จะเหมือนองค์การอิสระอื่นๆ ที่ให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับและสั่งการ  อีกอย่างคือ ต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีอำนาจอะไรมาแทรกแซง ที่สำคัญคือต้องวางโครงสร้างดีๆ และต้องสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยจะได้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเกิดเดี๋ยวนี้

  ทุกคนมีสิทธิขอเกาะกระแสเรื่องเด่นฉบับนี้ พาทุกท่านไปพูดคุยกับ น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงแนวทางการทำงานคุ้มครองกันค่ะ พร้อมทั้งเลียบเคียงถามถึงองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดในรัฐบาลนี้หรือไม่  นโยบายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลที่ถือว่าเร่งด่วนคือเรื่องอะไร   เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำจริงๆ ตอนนี้ก็คือการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคให้กว้างขึ้น บุคลากรเรามี 200 คน งบประมาณ 190 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเครือข่ายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า   เครือข่ายการทำงานปัจจุบันก็มีเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานกันด้วยใจ ถึงแม้จะมีหน่วยงานรัฐที่ตั้งขึ้นดูแลผู้บริโภคในระดับจังหวัด ในระดับอำเภอแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้นต้องมีการประสานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่ทำงานภายใต้กฎหมายและอาจจะมีงบประมาณบางส่วนช่วยสนับสนุนในการทำงานลงไป เราเพิ่มคนไม่ได้ การขยายเครือข่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็น่าจะเป็นไปได้   ส่วนที่สองก็คือการสร้างทีมเฉพาะกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา เพื่อหนุนเสริมทีมงานของ สคบ. อย่างทีมตำรวจหน่วยสืบสวนสอบสวน การร่วมเผยแพร่ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะการเผยแพร่ข่าวก็ถือเป็นการปรามคนที่กำลังจะทำความผิด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้ช่องทางการใช้สิทธิของตัวเองด้วย   อีกส่วนที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบบเอกสารเป็นระบบของเทคโนโลยีสาระสนเทศที่สามารถค้นข้อมูลได้ง่าย เพราะคนเราน้อยจะได้ทำงานได้เร็วขึ้น  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ไหม ต้องบอกว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายของประชาชน และกฎหมายก็เข้าถึงชั้นวุฒิสภาแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่สภาผู้แทน ก็จะให้วุฒิสภาประชุมต่อเลย ถ้าหากมีการแก้ไขนิดหน่อยก็ผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้เลย แต่ถ้ามีการแก้ไขมากก็ย้อนไปที่สภาผู้แทน แต่กฎหมายตัวนี้พิจารณาแน่นอน  ฝากถึงประชาชนเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค อยากให้ประชาชนรู้สิทธิและตระหนักถึงการใช้สิทธิของตัวเองในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อถูกละเมิด เมื่อใช้แล้วไม่เกิดผลก็ประสานงานร้องเรียนมาที่หน่วยงานเพื่อให้เกิดการแก้ไข ถ้าหากว่าเป็นไปได้จะเกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการคุ้มครองสิทธิก็จะเป็นการดีมาก เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการทั้งเรื่องราคา เรื่องคุณภาพ ราคาแพงเกินไป คุณภาพไม่ได้มาตรฐานเราก็ไม่ซื้อ ดูสิว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร จริงไหม มันก็จะเป็นกลไกการตลาดที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าได้เลยนะ ******************************************** ผู้บริโภคต้องมีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาผู้บริโภคที่ต้องติดอาวุธทางความคิดและทางปัญหาให้กับตัวเอง อย่างสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล หญิงผู้ซึ่งกล้าฟ้องศาลเรียกความยุติธรรมจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ เธอยื่นฟ้องบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 , บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท -----------------------------------------------------------------------------------------------สุภาภรณ์ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า เมื่อปี 2547 เพื่อขับรับส่งลูกๆ 3 คนไปโรงเรียน แต่หลังจากใช้รถได้ไม่นาน เธอรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ก็ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเธอไม่เคยใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเรื่อง ปกติหรือไม่ จึงใช้รถยนต์ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549   เธอใช้รถยนต์คันดังกล่าวครบระยะ 50,000 กิโลเมตร จึงได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด พร้อมแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร แต่แล้วก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับพนักงานขายว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เธอจึงทำตามคำแนะนำ แต่กลิ่นก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร   วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2550 เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการของบริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด และได้ให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด มาตรวจสอบโดยให้เธอทิ้งรถยนต์ไว้ เมื่อครบกำหนดรับรถพนักงานได้แก้ไขให้โดยเปลี่ยนช่องลมบังโคลน ซ้าย – ขวา และบอกกับเธอว่าสามารถนำรถไปใช้ได้อย่างสบายใจ แต่กลิ่นและคราบเขม่าดังกล่าวก็ยังไม่หายไป   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เธอจึงนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังตรวจเช็คแล้ว ผู้จัดการศูนย์ฯ บอกกับเธอว่าไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อได้รับคำยืนยันว่า ‘เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล’ มาตลอด เธอเชื่อตามที่ผู้จัดการศูนย์ฯ บริษัทโตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด บอกว่า กลิ่นควันคล้ายท่อไอเสียดังกล่าวเป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จึงทนใช้รถยนต์เรื่อยมา และในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2552 เริ่มมีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารเป็นจำนวนมาก สุภาภรณ์จึงนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฯของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งพบว่า มีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารจำนวนมากจริง พนักงานของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด จึงได้ถ่ายรูปแล้วแล้วส่งเรื่องไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด โดยปกปิดไม่ให้เธอรู้ เธอจึงเริ่มเอะใจว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการตรวจรถยนต์คันดังกล่าวร่วมกันระหว่าง ตัวแทนบริษัทบริษัท โตโยต้า ฯ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสุภาภรณ์ ทดสอบโดยขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตรวจสอบรถยนต์ 2 คันเปรียบเทียบพร้อมๆ กันคือรถยนต์คันของสุภาภรณ์ กับรถยนต์ยี่ห้อ...ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องโดยสารรถยนต์คันของสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อ... ตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าว   เธอถึงบางอ้อถึงอาการผิดปกติของร่างกายทั้งในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีภาวะการหายใจลำบาก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบบ่อยครั้ง มึนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีอาการคล้ายจะเป็นลม แสบตา คันจมูก มีอาการคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะมา จากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นี่เอง   เธอจึงหยุดใช้รถคันเจ้าปัญหาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา!!! และถามการชดเชยจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ เสนอที่จะซ่อมรถให้เธอ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการใช้บริการได้พิสูจน์บางอย่างให้สุภาภรณ์เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เธอยื่นข้อเสนอที่จะขอเปลี่ยนรถคืนรถยนต์ แต่ทางบริษัทฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องและให้ทำตามที่บริษัทฯ เสนอจะดีกว่า  ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’  “ยอมรับว่าผิดหวังนะเราเชื่อในความเป็นโตโยต้ามาตลอด ซ่อมก็ซ่อมที่ศูนย์ของโตโยต้า ไม่เคยไปซ่อมที่อู่ไหนเลย แต่ดูเขาทำกับเราสิ”  หลังจากนั้นได้ร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่ยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น สุดท้ายเธอจึงยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท และศาลได้พิพากษา วันที่ 25 พ.ค. 2554 ให้จำเลยที่ 1 คือบริษัท โตโยต้า ธนบุรี และ จำเลยที่ 3 คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รุ่นเดียวกับสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และบริษัทฯทั้งสองให้ร่วมจ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 -----------------------------------------------------------------------------------------------------  เราบริสุทธิ์ใจ “เรายื่นฟ้องก็เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับสังคม พี่ว่ามันถึงเวลาแล้วนะที่ผู้บริโภคจะต้องมีองค์การอะไรสักอย่างขึ้นมาคุ้มครองให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ถึงแม้จะมีหน่วยงานอย่าง สคบ. แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ในเรื่องกระบวนการให้ความช่วยเหลือ  ที่ทำมามันก็เหนื่อยนะที่ต้องสู้กับบริษัทใหญ่ แต่เราอยากจะบอกกับทุกคนเรื่องความถูกต้องและในการที่เราจะไปสู้กับบริษัทใหญ่อันดับแรกเราต้องบริสุทธิ์ใจก่อน แล้วก็ต้องคิดความเสียหายตามจริง ไม่ใช่คิดจะไปเอาเปรียบเขา ไม่ใช่คิดเอาแต่ได้ เรามองไปที่ความถูกต้อง ความเชื่อใจในบริษัทของเขา และเราทำตามมาตรฐานของเขามาโดยตลอด ทั้งการดูแล การประกันภัย พยายามทำตามมาตรฐานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ น้ำมันเครื่องแม้แต่หยดเดียวก็ไม่เคยไปทำที่อื่น มีอะไรก็ใช้บริการศูนย์ของบริษัทฯ โดยตลอด แล้วพอมีความผิดพลาดเขากลับไม่รับผิดชอบ ไม่ได้ละมันต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบ รถยนต์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญนะ การเรียกร้องให้ผู้ประกอบการออกเยียวยาแล้วต้องไปทุบรถให้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งๆ แล้วถึงจะออกมารับผิดชอบ มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเราใช่ไหม ก็ยอมรับว่าบ้านเรามีการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง การเรียกร้องทางกฎหมายก็น่าจะเป็นทางออกในการสร้างบรรทัดฐานในการเยียวยาได้ ไม่ใช่ต้องทุบรถตลอดเวลาจริงไหม”  การใช้สิทธิต้องแลกกับระยะเวลา ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’ ถ้อยคำจากตัวแทนบริษัทกลายเป็นคำที่สร้างพลังให้สุภาภรณ์สู้สุดใจที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องรับผิดชอบ มันก็จริงอย่างที่เขาพูดนะ เพราะเวลาเราใช้สิทธิ เราต้องวุ่นทุกอย่างทั้งเอกสาร ทั้งเวลา ที่ต้องแลก ถามว่า 1 ปีที่ฟ้องศาลไปคุ้มไหม มันเทียบกันไม่ได้ แต่มันเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมบริษัทฯ ไม่ยอมรับความผิดพลาด ในต่างประเทศพอรถยนต์เกิดปัญหาเขาเรียกคืนรถยนต์เป็น "ล้านคัน" แล้วบริษัทฯ นั้นก็ยังขายรถรุ่นอื่นๆ ได้ กลับเป็นผลดีเสียอีกในการสร้างความเชื่อถือให้กับบริษัทฯ ว่ามีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคก็จะบอกต่อๆ กันเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์แม้แต่บาทเดียวจริงไหม เราเดินถือเงินล้านบาทไปให้บริษัทฯ เพราะเราเชื่อและไว้ใจในบริษัทฯ แล้วจริงไหม เพราะฉะนั้นเมื่อสินค้าเกิดปัญหาผู้ประกอบการก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ  อยากให้ทุกคนใช้สิทธินะคะแต่เราต้องมีความบริสุทธิ์นะ และอดทนในการใช้สิทธิเพราะต้องแลกด้วยระยะเวลา แต่สุดท้ายผลที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้ประกอบการและสังคมเห็นความเปลี่ยนแปลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 เสียหายจากการรักษา ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการฟ้องเสมอไป

  “การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา...” คุณปภาวี รอดแก้ว วัย 49 ปี เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เธอมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผลการรักษาทำให้ตาบอด ต่อมาภายหลังโรงพยาบาลฯ ได้ยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเธอจำนวนหนึ่ง   ดวงตาที่เริ่มมองไม่เห็นคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง จึงได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องทำทั้งหมด 4 ครั้ง  โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 ส่วนอีก 3 ครั้ง จำเป็นต้องย้ายไปทำการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณี โดยเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553  การผ่าตัดตาทั้งสองข้างนั้นคุณปภาวีทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้ปกติหลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย “ตอนเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรกเพื่อรักษาตาข้างขวาพี่เริ่มมองไม่เห็นแล้วนะ ส่วนตาข้างขวายังพอมองเห็นอยู่หลังผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอเปิดผ้าปิดตา พี่เริ่มจะเห็นแสงแล้วนะ วันต่อมาก็เริ่มเห็นหน้าหมอ หมอเองก็ยังแปลกใจเลย วันต่อมาอาการก็ดีขึ้น จนมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งมันต่างกันมากจากการผ่าตัดตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษาแพทย์ก็มาเปิดตาพี่แล้วก็ตรวจตาก่อนอาจารย์หมอจะมาตรวจ แต่ครั้งนี้พี่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก 1 เดือนให้หลังตาก็มองไม่เห็นอะไรเลย”   เลือกเพราะวางใจ คุณปภาวีบอกว่า เหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. อีกแห่ง ก็เพราะโรงพยาบาลแรกนั้น เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์เจ้าของไข้จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น “มาที่โรงพยาบาลนี้เพราะใกล้กับโรงพยาบาลแรก และเชื่อมั่นว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์ก็เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง” คุณปภาวีซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอมีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า โรงพยาบาลคู่กรณีอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการรักษา เธอบอกว่า “ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์....... ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว เราฟังแล้วก็เอ๊ะทำไมพูดแบบนี้ แล้วการผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.แรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่มเพราะมันหมดฤทธิ์ยาชา  เราไม่ได้สลบนะ ก็จะได้ยินทุกอย่างที่ทั้งหมอและพยาบาลคุยกันในห้องผ่าตัด เราก็จะรู้” เธอย้อนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัดดวงกับการผ่าตัดครั้งนั้น หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า “ตาบอด” ปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกกับเธอว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอประสาทตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าหากว่าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะช่วยรักษาได้บ้าง ที่เป็นอย่างนั้นแพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้   ร้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ“เราก็ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา ก็เลยทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เรียกเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านเองไม่มีอำนาจ ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้ เรารีบปฏิเสธเลย ผ่ามา 3 ครั้งยังไม่ดีขึ้นเลย  แล้วการที่เราตาบอดมันส่งกระทบกับเรามากทั้งครอบครัว ทั้งการงานของเราด้วยเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้ รับเดือนละ 2,000 บาท ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า คืนมันเปลี่ยนไปหมดเลย” เธอจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว โรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้  ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา “การเยียวยาของโรงพยาบาลก็ถือเป็นการดี แต่เป็นการเยียวยาในระยะสั้น อยากให้ทางโรงพยาบาลได้เฝ้าระวัง การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  อยากจะฝากบอกถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้รับความเสียหายก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่าเงียบเฉยๆ หรือจะร้องเรียนที่โรงพยาบาลก็ได้เพราะในแต่ละโรงพยาบาลก็มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนแล้ว” คุณปภาวีกล่าว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน อุบัติเหตุชีวิตของลูกบ้าน ที่สยองกว่าลัดดาแลนด์

หลังเก็บเงินมากว่าครึ่งชีวิต “ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี” ก็ทุ่มเงินก่อนซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นที่หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน สมุทรปราการ โดยหวังสร้างครอบครัวอบอุ่น เล็กๆ ในฐานะผู้นำครอบครัว ไม่ต่างจากพระเอกในภาพยนตร์เรื่องลัดดาแลนด์ ครั้นอยู่มาเพียงแค่ 3 ปี ทุกอย่างที่เขาทุ่มเททำมาก็พลันมลายลงใน ราวๆ เวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 10 กันยายน 2553  “คืนนั้นมีเสียงดังสนั่นตั้งแต่หลังคา ฝ้าเพดาน ผนังห้อง พื้นห้อง ทรุดตัวแตกร้าวตามจุดต่างๆ มันน่ากลัวมาก” ธวัชชัย บอกเล่ากับทีมฉลาดซื้อ  เช้าวันรุ่งขึ้นเขาและเพื่อนบ้านในทรัพย์ยั่งยืน ซอย 22 และ 24 รีบเข้าแจ้งความกับตำรวจให้เข้าไปตรวจสอบ บ้านทั้ง 16 หลังซึ่งสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ลักษณะหันหลังชนกัน  ซึ่งกลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2553 ในเนื้อข่าวให้รายละเอียดไว้ว่า ‘หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีก่อน มีทั้งหมด 450 หลัง เดิมพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา ดินจึงอาจทรุดตัว’  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ จึงประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ย. 53  สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ระดมความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยนำเต๊นท์กางเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือหลังคาเรือนละ 20,000 บาท ด้านบริษัท ส.มณีสิน วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการหมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 30,000 บาท หลังการไกล่เกลี่ยจึงให้เพิ่มเป็นเงิน 200,000 บาท กับบ้านที่เสียหาย 16 หลังคาเรือนและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดอีก โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ ก่อสร้างตามมาตรฐานของแบบแปลนที่ฝ่ายโยธาธิการกำหนดไว้แล้ว  จากวันผ่านเป็นเดือน เต๊นท์หลังเดิมยังถูกกางไว้หน้าบ้านของธวัชชัย ข้าวของในบ้านถูกทยอยขนออกไปอยู่บ้านเช่าทีละชิ้นสองชิ้น หลงเหลือไว้เพียงความฝันของธวัชชัยที่คลุ้งอยู่เต็มทุกอณูของบ้านที่แตกร้าว   ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาคุณผู้อ่าน ไปพูดคุยกับธวัชชัยและเพื่อนบ้าน ที่เฝ้ารอวันตื่นจากฝันร้าย   เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงิน เก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น…แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน   บ้านในฝัน(ร้าย) ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี เลือกซื้อบ้านหลังนี้จากโฆษณาโครงการฯ ที่ดูดี ที่สำคัญเขาตัดสินเลือกเพราะว่าโครงการฯ นี้เหมาะกับการเดินทางเรื่องงานและอยู่ติดกรุงเทพฯ  แต่เขาลืมคิดไป(จริงๆ เรียกว่า คาดไม่ถึงมากกว่า) ว่าโครงการฯ นี้ใกล้แม่น้ำ ทำให้มันกลายมาเป็นปัญหาการทรุดตัวของบ้าน “ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ บ้านมีประกันอัคคีภัย แต่ไม่คิดว่ามันจะทรุด ก่อนซื้อเราก็ดูแล้วว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการใหญ่ แต่อยู่ๆ ไปเข้าปีที่ 4 บ้านก็ทรุด” (โครงการใหญ่ตามคำนิยามของธวัชชัยก็คือมีทั้งหมด 450 หลัง)  ตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้น ธวัชชัย พาครอบครัวออกจากบ้านในฝันราคากว่า 1 ล้านบาท ไปเช่าบ้านเดือนละ 5,000 บาทเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงต้องผ่อนบ้าน “ทรุด” หลังนั้นอีกเดือนละ 7,000 บาท ตามภาระผูกพันกับธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกยึดบ้าน  “ตอนเกิดปัญหาหน่วยงานราชการก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งนำเต๊นท์มากาง นำอาหารมาให้ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้  ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ก็ต้องวนกลับมาที่พวกผมล่ะว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงินเก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ก่อน อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนไว้ให้รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแบบพี่แบบน้อง แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน ผมยืนยันที่จะสู้ต่อไปกับเพื่อนบ้าน เพราะผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ตอนนี้ผมยังหาความยุติธรรมไม่ได้”  ธวัชชัยหวังไว้ว่าความยุติธรรมที่เขาตามหาอยู่จะช่วยซ่อมผนังบ้านที่ปริแตก แยกตัวออกเป็นชิ้นๆ ช่วยซ่อมพื้นห้องครัวที่ทรุดลงไปเป็นฟุตๆ ช่วยซ่อมผนังในครัวที่แยกตัวออกจากกันจนเดินเข้าออกได้ ฝ้าเพดานพังลงมาทั้งหลัง ไม่สามารถจะมีพื้นที่ไหนที่จะซุกตัวอยู่ได้   บ้านหลังแรก แตกเป็นชิ้นสามารถ คารพุทธา พ่อบ้านอีกรายที่ตกลงใจซื้อบ้านหลังแรกของชีวิตที่หมู่บ้านนี้ ในราคา 890,000 บาท ขนาดพื้นที่ 16 ตารางวา   “การอยู่การกินของเราลำบากครับ ผมทำงานรับจ้างตอนแรกก็ไปเช่าห้องอยู่ข้างนอก แต่ทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องเช่าถึง 2 ห้อง ห้องละ 1,500 บาทต่อเดือน ห้องหนึ่งก็ไว้เก็บข้าวของในบ้าน อีกห้องก็เอาไว้นอน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน(แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน) ก็คิดนะว่ามันคงไม่พังลงมาทีเดียวหรอกมั้ง  แต่ก็เช่าอีกห้องไว้เก็บของ” ครอบครัวของสามารถมีด้วยกัน 4 คน พวกเขาต้องจัดการชีวิตใหม่ โดยให้ลูกคนเล็กไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย เขาและภรรยาอยู่กับลูกชายวัย 17 ปี ซึ่งจำต้องอยู่ต่อ เนื่องจากขณะนี้เรียนอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน แล้วก็เช่นเดียวกับธวัชชัย สามารถยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 6,700 บาท บ้านที่เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไร  บ้านของสามารถดูภายนอกจะเหมือนไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ครั้นพอเดินผ่านประตูบ้านที่ปิดไม่สนิทเข้าไปในตัวบ้าน บานหน้าต่างที่บูดเบี้ยว เตียงนอนวางอยู่กลางห้องโถงชั้นล่างมีสายมุ้งมัด 4 ด้าน พื้นบ้านเอียงลาดไปด้านหลังบ้าน ฝาผนังมีรอยปูนแตกประดับประดาแทนภาพประดับบ้านทั่วไป ห้องครัวหลังบ้านพื้นยุบตัวลงไปเป็นคืบ ผนังแตกร้าว ชั้นสองห้องนอนด้านหน้าบ้านฝ้าเพดานพังลงมาหมดแล้ว ห้องนอนหลังบ้านซึ่งเป็นห้องนอนของลูกชาย หน้าต่างบิดเบี้ยวผิดรูป ฝ้าเพดาน มีรอยน้ำรั่ว  “ช่วงที่ฝนตก จะทรมานมากครับ เพราะต้องคอยรองน้ำที่ไหลลงมาจากรอยรั่วที่หลังคา ไม่งั้นก็จะเอ่อท่วมทั้งบ้าน เวลานอนก็กังวลครับ ไม่เคยหลับอย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีการยุบตัวอีกเมื่อไร ยิ่งฟ้าร้องนี้ก็ระแวงครับว่าเสียงบ้านทรุดหรือเปล่า คืนไหนที่ฝนตกจึงเป็นอีกคืนที่ไม่ค่อยได้นอน อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ เวลาเห็นสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว ยอมรับว่าดีใจครับ อย่างน้อยก็มีคนที่จะส่งผ่านเรื่องราวของพวกเราไปถึงหน่วยงานราชการให้เข้ามาแก้ปัญหา”   ความรู้สึกที่ไม่อาจเยียวยากัญญภัค โคตรพัฒน์ เป็นอีกคนที่บ้านหลังนี้คือความหวังทุกอย่างของเธอ เงินที่เก็บมากว่าครึ่งชีวิตก็ทุ่มไปกับบ้านหลังนี้ ครั้นบ้านที่สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงมาทรุดลง ความรู้สึกของเธอก็แตกร้าวทรุดตัวลงเช่นกัน  “ผิดหวังมาก คือเราซื้อบ้านเราก็หวังที่จะมีความสุข แต่มันไม่ใช่ มันสับสนนะ มันเหนื่อยอยู่ข้างในมัน...” เราต้องปล่อยให้เธอสงบใจสักพัก เมื่อเห็นน้ำตาที่รื้นขึ้นมา   เวลากลางวันกัญญภัคมาทำงาน มาเย็บผ้าที่บ้าน เพราะเป็นห่วงข้าวของที่ยังเก็บไว้ที่บ้านส่วนหนึ่ง เวลากลางคืนก็อยู่ที่ห้องพักที่สำนักงานขายหมู่บ้านปันพื้นที่บางส่วนให้ครอบครัวของเธออยู่ โดยช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมเดือนละ 1,000 บาท ครอบครัวของกัญญภัค มีด้วยกัน 4 คน  และยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 5,500 บาทกับธนาคาร   ความช่วยเหลือไม่มาก แต่อย่าให้น้อย ตั้งแต่เกิดเรื่องราว “ธวัชชัย” และเพื่อนบ้านก็ไม่ได้นิ่งเฉย หลังจากไม่สามารถตกลงกันได้กับบริษัท ส. มณีสิน วิลล่า จำกัด ที่มีสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย  หลังใช้เวลาไกล่เกลี่ย 3 ครั้งใช้เวลา 3 เดือน  วันที่ 14 ม.ค. 2554 สำนักงานจังหวัดฯ จึงส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัทฯ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายกับธวัชชัยและเพื่อนบ้านผู้เดือดร้อน    “จะให้เราไปฟ้องร้องเองก็ไม่ไหว เพราะเงินก็ไม่มี ก็ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เจตนาของเราก็คือต้องการไกล่เกลี่ย คือเรามาซื้อบ้านเราก็ไม่ได้ไปคดโกงใครมานะ เราเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา พอได้มาก็คิดว่าทุกอย่างคงสมบูรณ์ แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบช่วยเหลืออะไร  ซึ่งเขาควรจะรับผิดชอบ ก็ขอให้มีหน่วยงานไหนสักแห่งที่เข้ามาลงโทษเอาผิดกับเขาได้บ้าง ถึงที่สุดจริงๆ ก็ต้องต่อสู้ต่อไปล่ะครับ แต่จะช้าจะเร็ว ก็ต้องดูกันไป”  สุดท้ายธวัชชัยฝากบอกว่า “เวลาจะซื้อบ้านอยากให้มองไปถึงเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะเราไปวิเคราะห์ที่โครงสร้างภายในไม่ได้ ก็อยากให้เรื่องของพวกผมเป็นบทเรียนให้ทุกคน”   สถานการณ์ปัจจุบัน หลังเรื่องเข้าไปที่ สคบ.แล้ว จากการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. มีมติที่จะดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีความชำรุดของโครงสร้างก็จะมีหน่วยงานมาช่วยพิสูจน์ให้ ความคืบหน้าจะรายงานต่อไปค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 จากนักดนตรีสู่นักสู้รุ่นเยาว์

  “นักศึกษาร้อง ‘เอแบค’ เปลี่ยนหลักสูตรไม่บอก” “‘เอแบค’แจงหลักสูตรดนตรีได้มาตรฐาน” “นศ.คณะดนตรี ม.เอแบค ร้อง สกอ.เยียวยา 21 ล้าน” พาดหัวข่าวโต้ตอบดุเดือดระหว่างนักศึกษาและมหาลัยชื่อดังในช่วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้อง   เราขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับ ณัฏฐา  ธวัชวิบูลย์ผล นักศึกษาผู้เป็นต้นเรื่องนี้ค่ะ--------------------------------------------------------------------------------------------------- สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ ABAC ได้มีการเปลี่ยนแปลงหสักสูตรคณะดนตรี จากเดิม 4 สาขาวิชา นั่นคือ 1. Music Performance 2.Professional Music 3.Contemporary Music Performance 4. Contemporary Music Writing and Production เป็น 2 สาขาวิชาคือ 1.Music Business 2.Music Performance ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยไม่แจ้งนักศึกษาให้ทราบล่วงหน้าเลย  และจะเป็นอย่างไรถ้าในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่ยังมีนักศึกษาหลักสูตรเดิมเรียนอยู่ด้วย และไม่สามารถเทียบโอนบางรายวิชาได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------  ความฝันฝันค่ะ ฝันไว้ตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าจะเลือกเรียนดนตรีคลาสสิก กะไว้ว่าจะเข้า มหิดลแต่ว่าเข้าไม่ได้ จนจบ ม.6 ก็เอาละ จริงๆ ใจเราก็ไม่ได้รักคลาสสิกมาก แต่เราอยากเล่นดนตรีมากกว่า แล้วเห็นพี่สาวเข้าเรียนแจ๊ส พอมาเจอดนตรีแจ๊ส หลักสูตรดนตรีของมหาวิทยาลัยเอแบค ก็สนใจ ดูแล้วจบมามีงานทำแน่นอน  ก็ฝันนะคะเพราะถ้าจบมาเราก็ทำได้หลายอย่างทั้งเพอร์ฟอร์มเมอร์ นักแต่งเพลง คือเราฝันที่จะมีชีวิตที่เดินบนเส้นทางของดนตรี   ฝันมลายทั้งที่เพิ่งวางโครงสร้าง จนปี 2551 ความฝันของ “ณัฐฏา” ก็พังคลืนลงไม่เป็นท่า เมื่อมหาลัยเอแบค ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรดนตรีที่เธอเรียนอยู่ ตอนปี 2 เทอม 1 นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้อง เรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิม Contemporary Music Performance ปี 2548 นักศึกษาเรียน 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่  Music Performance ปี 2551จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต  บางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้  ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ (อัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชา) เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท ถ้าเป็นวิชาในคณะหน่วยกิตละ 2,000 หรือ 2,500 บาท เฉลี่ยค่าเทอมแล้ว เทอมละ 75,000 บาท  “อยู่ดี ๆ ก็ปรับเปลี่ยนหลักสูตร แล้วตัดวิชาที่สำคัญในการเรียนคณะนี้ออกไป ซึ่งถ้าไม่ได้เรียนแล้วฝีมือตกต่ำแน่นอน อย่างวิชารวมวง (Ensemble) ซึ่งวิชานี้เป็นการเตรียมความพร้อมกับนักศึกษา Music Performance ไปสู่การลงวิชาการแสดงคอนเสิร์ตก่อนจบการศึกษา แต่เขาก็ตัดวิชาสำคัญตรงนี้ออกไป  อีกตัวอย่างก็คือ สาขา Song Writing กลุ่มวิชาเอกบังคับ ในหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 มีวิชาเกี่ยวกับการเขียนเพลงเพียง 2 วิชา เมื่อเทียบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอื่นมีวิชาการเขียนเพลงถึง 6 – 8 วิชาด้วยกัน รวมทั้งนำวิชาอื่นไม่เกี่ยวข้องมาใส่ และในกลุ่มวิชาบังคับของหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีการเปิดสอนวิชาเขียนเพลง แต่ก็ควรจะมีวิชาที่เทียบเท่ากันได้อย่าง Introduction to Film Scoring ,Writing and Production Techniques in Pop/Rock Idioms,Contemporary Arranging for String ถึงแม้จะมีวิชา Lyrics Writing ในหลักสูตรใหม่ก็ไม่เคยเปิดสอน  ปัจจัยเกื้อหนุนก็ไม่พร้อม อย่างห้องซ้อมดนตรีก็มีเครื่องดนตรีไม่ครบ ทั้งที่ประกาศในสัญญาแล้วว่าต้องมีจำนวนเท่าไร มีอะไรบ้าง ถ้ามองในมุมมองของนักศึกษาอย่างหนูก็คือ ‘คณะมันไม่พร้อมที่จะเปิดตั้งแต่ต้น’ จากแต่ก่อนเราคิดว่าเราจบจากที่นี่อนาคตเราดีแน่นอน แต่ว่าเขาเปลี่ยนหมดเลย”  อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  ลุกขึ้นมาสู้ เธอยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็งงว่าจะทำอย่างไร เริ่มคุยกับรุ่นพี่ ปรึกษาอาจารย์ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็เริ่มถามตัวเองว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร เพราะวิชาสำคัญๆ ที่ต้องเรียน และต้องใช้ประกอบอาชีพถูกตัดออกไป    “ต้องมาเรียนวิชาการแสดง เราก็คิดว่าจบออกไปแล้วก็คงไม่ได้อะไร พยายามปรับตัวเอง ให้หันไปแต่งเพลงดีไหม แต่พอจะมุ่งมาทางการแต่งเพลงจริงๆ ก็มีวิชาการแต่งเพลงเพียงไม่กี่ตัวให้เรียน ‘เหมือนเขาจะสอนเป็ด ทั้งสอนว่ายน้ำ ทั้งสอนบิน แต่ก็ไม่ได้อะไรสักอย่าง’”  เธอกับเพื่อนร่วมคณะจำนวนหนึ่ง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 2 ของภาคเรียนที่ 2 พ.ศ. 2551 จนถึงล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2553 รวม 11 ครั้งในระยะเวลา 3  ปี จึงเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภควันที่ 24 ธันวาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ยื่นข้อเรียกร้องช่วย 3 ประเด็น  1)ให้มหาวิทยาลัยฯ คืนเงินชดเชยค่าลงทะเบียน และค่าขาดโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษา  2) ต้องการให้ปรับปรุงคณะดนตรี อุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดอาจารย์สอนให้ตรงกับสาขาวิชา และ  3) ต้องการให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค ต้องการย้ายไปเรียน ซึ่งเบื้องต้น สกอ.รับปากจะช่วยไกล่เกลี่ยให้  “การที่หนูออกมาเรียกร้อง เพราะได้เข้าพบผู้บริหารในเดือนพฤศจิกายน 2553 แล้วเขาบอกว่า ‘ถ้าไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ก็ให้ย้ายออกไปเรียนที่อื่น’ การออกมาเรียกร้องของพวกหนูก็ได้รับเพียงคำชี้แจงจากผู้บริหาร มากกว่าจะเป็นการแก้ไข แล้วยังว่าพวกหนูอีกว่าจะเรียกร้องอะไรกันมากมาย  อยากให้เขารับผิดชอบและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เรื่องแรกก็คือเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับชีวิตคนๆหนึ่ง เพราะเขาทำให้ชีวิตเด็กเสียหาย ถ้านับเป็นชีวิตก็ทั้งคณะนะคะ บางคนก็ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง จะมีบางกลุ่มอย่างพวกหนูที่กล้าออกมาเรียกร้อง และอีกกลุ่มก็คือพ่อแม่ไม่อยากให้ยุ่ง  อย่างที่สองที่ต้องรับผิดชอบก็คือค่าหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนไป  ซึ่งทางมหาลัยฯ ก็ต้องชดเชยเช่นกัน ซึ่งหากทางมหาวิทยาลัยยังเงียบ ไม่ยอมเจรจาด้วย คุยๆ กับเพื่อนไว้ค่ะว่าก็ต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีใครเข้ามารับผิดชอบต่อเรื่องนี้   อยากให้คนที่พบกรณีแบบเดียวกันนี้รักษาสิทธิของตัวเอง อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”  ฝันเปลี่ยนแต่รักดนตรีไม่เปลี่ยนณัฎฐาเองยังคงหวังที่เดินบนถนนดนตรี จึงหวังจะย้ายเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเรียนสายดนตรี แต่เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีปาฏิหาริย์ทุกคน เธอไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่นี่ได้ เพราะเทียบโอนได้บางวิชาเท่านั้น บางรายวิชาต้องไปเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 เรียนได้เทอมละ 1 วิชาเท่านั้น จึงไม่ต่างกับการเข้าเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 “เหมือนเราไปนับหนึ่งใหม่ในเส้นทางที่เราเดินมาแล้ว พอปรึกษากับพ่อ พ่อก็แนะนำให้ไปเรียนในอีกสาขาหนึ่งในสิ่งที่ชอบเท่ากันก็คือการครัว สุดท้ายก็ย้ายมาเรียนการครัว แต่ใจก็ยังรักดนตรีนะคะ”  หลังติดต่อหาที่เรียนเป็นที่เรียบร้อยที่ วิทยาลัยดุสิตธานี ในภาควิชาอุตสาหกรรมการบริหาร เธอยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นนักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัยเอแบค วันที่ 11 พ.ค. 2554   ณัฐฎากลายเป็นนักศึกษาปี 1 อีกครั้ง โดยเริ่มเรียนปรับพื้นฐานวันที่ 16 เม.ย. 54 ก่อนจะเปิดเทอมในเดือน มิ.ย.  “เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนเรามีหวังกับที่ใหม่ เป็นอีกทางที่เราเลือก พ่อเค้าก็อยากให้หนูได้สิ่งที่ดีที่สุด คืออย่างเอแบคเทอมละ 70,000 บาท สำหรับหนูถือว่าแพงแล้ว แต่พอต้องมานับหนึ่งใหม่ในอีกที่เรียนหนึ่งตกปีละ 300,000 บาท พ่อต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นก็เห็นใจพ่อนะคะ ปัจจุบันก็ต้องวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวและของตัวเอง อะไรที่ไม่จำเป็นละได้ก็ละ พ่อกับแม่บอกว่า ‘เงินก้อนสุดท้ายแล้วนะลูก’ ฟังแล้วสะอึก เราทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ จบมาแล้วต้องคืนทุนอย่างรวดเร็ว” อนาคตเชฟสาวผู้มีหัวใจรักดนตรีพูดทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ละครไม่พึ่งโฆษณาและบทไม่ต้องตบตี มีได้ไหม?

  รัศมี เผ่าเหลืองทอง  นักเขียน นักแปล ผู้กำกับ ที่หลายคนรู้จักในนาม คณะละคร สองแปดนักเขียนบท มือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือ ตุ๊กตาทอง  บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2528   จากเรื่องผีเสื้อและดอกไม้  และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม  พ.ศ. 2534  จาก  วิถีคนกล้าโดยมีประโยคเด็ดที่เป็นจั่วหัวของเรื่องคือ "ทำให้คนอื่นกลัว ทำให้ไม่กลัวคนอื่น” ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคต้นแบบที่ให้ความหมายเหมาะสมกับคนใน“ วิถี ”แห่งยุคการบริโภคสื่อ อย่างในปัจจุบันก็ได้  เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำมีโฆษณา ถ้าพูดถึงอิทธิพลของสื่อ “โฆษณา” จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน การทำโฆษณามันเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอยากได้ พอเราไปเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2533 ช่วงที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องวิถีคนกล้า (ภาพยนตร์วิถีคนกล้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันของ มาลา คำจันทร์ และเขียนบทภาพยนตร์โดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ต้องเดินทางไปบนดอย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรถเข้าไม่ถึงนะ ก็ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เป็นนายอำเภอว่าชาวเขาได้ดูทีวี ซึ่งการที่จะดูทีวีได้ต้องใช้ไฟเสียบจากแบตเตอรี่รถยนต์  แล้วทีนี้พอลงดอยเข้าเมืองไปซื้อของใช้ก็จะบอกกับร้านค้าว่า “เอารีจ้อยส์ขวดนึง” นึกภาพออกเลยว่าเขาคงเห็นภาพผมพลิ้ว สลวย หอม แน่นอนละเขาต้องอยากเป็นแบบนั้น พอเข้าเมืองก็ซื้อทันที เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากในสิ่งที่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ทำกับคนดู   การทำโฆษณา 1 ชิ้นมีงบประมาณเยอะมากทั้งการใช้ดารา ใช้ซูเปอร์สตาร์ของประเทศมาโฆษณา ค่าตัวกี่ล้านบาท ไหนจะค่าการผลิตอีกรวมแล้วก็ไม่น่าต่ำกว่า 20 ล้าน เพื่อโฆษณาลูกอมขาย 2 เม็ดบาท 3 เม็ดบาท เขาต้องขายให้ได้มากเท่าไรเพื่อที่จะคุ้มทุน และภาพโฆษณามันก็จะฝังเข้าไปเป็นค่านิยมของคนโดยไม่รู้ตัว ถูกกระตุ้นให้เกิดความยาก ต้องซื้อ ต้องใช้ เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกยุค เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากลัว   ในต่างประเทศการทำโฆษณามีจริยธรรมมาก เขาจะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ต่างกับเมืองไทยที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่ดูติด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศในการโฆษณา เพื่อให้คนติดตาและจำสินค้าได้ ไม่ว่าสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม   ที่เราต้องคิดกันต่อก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เลยมองไปว่าข้อแรกตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องแข็งแรง ต้องเท่าทันโฆษณา แม้แต่คนที่มีความรู้ก็ตกอยู่ในความอยากได้เมื่อดูโฆษณา ข้อสองก็คือคนที่ทำโฆษณาต้องมีสำนึกและต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาทำและสื่อออกมาส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ใช่หลอกล่อผู้บริโภคอย่างเดียว ข้อสามก็คือการควบคุมโฆษณาให้ไม่เกินเลย ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารส่วนหนึ่งอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่ก็ต้องมีการควบคุมด้วยว่าไม่ควรจะเกินเลยมากไปเช่นการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อย่างการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนออยู่หน้าข้างๆ แถบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นการโฆษณา เพราะเจตนาที่จะหลอกล่อ เหมือนดูถูกสติปัญหาของคนอ่าน สิ่งที่กองบรรณาธิการทำเหมือนดูถูกสติปัญญาของคนอ่านชัดเจน เหมือนโฆษณาแฝงในละครก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางประกอบฉาก บางรายการทีวีนึกว่าทำรายการโฆษณา ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังและต้องมีการควบคุมด้วยเช่นกัน   การให้เราต่อต้านบริโภคนิยม แต่ทั้งๆ ที่เรายังปล่อยให้มีโฆษณาแบบนี้อยู่ แล้ววันๆ ก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเพียงคำขวัญที่พูดกันไปวันๆ   การควบคุมในเรื่องการทำโฆษณามีมานานแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังโฆษณาที่เกินจริง ที่ถี่เกินไป ถ้าการควบคุมไม่ได้ผลจริงๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงาน อีกส่วนก็คือต้องเรียกร้องกลุ่มผู้บริโภคให้ออกเคลื่อนไหวโดยการใช้สื่อนี่ละในการออกมารณรงค์และเรียกร้อง ซึ่งต้องต่อสู้อย่างมากทั้งกลุ่มทุน ทั้งผู้ผลิต ก็ต้องลองดู   โซเชียลเน็ตเวิร์คกับการผลิตสื่อเพื่อผู้บริโภค ถ้าหากเราทำสื่อที่มีเนื้อหาก็ต้องค่อยๆ ทำไป อาจจะไม่ต้องดังตูมตาม เหมือนโฆษณาลดเหล้า แต่เราค่อยๆ ซึมลึกก็น่าจะดีนะ อย่างการนำเสนอเรื่องทดสอบ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ของฉลาดซื้อ ก็น่าจะมีคนสนใจ และคิดว่ามีความจำเป็นที่จะขยายสื่อของเราออกไปในสื่อวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อย่างสื่อวิทยุทำได้ง่าย อีกอย่างก็คือมีเนื้อหาอยู่แล้วและคนเราก็ฟังเป็นหลัก ทำงานบ้าน ขับรถ ก็ฟังวิทยุได้ ทำเป็นละครวิทยุหรือทำเป็นเรื่องเล่าก็ได้ อย่างเรานำเรื่องราวจากหนังสือฉลาดซื้อมาเล่าให้คนฟังได้ แล้วก็จะเป็นช่องทางรับสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้เพิ่มขึ้นอย่างการเปิดรับสายโทรศัพท์ให้เข้ามาพูดคุยในรายการ ซึ่งปัจจุบันก็ง่ายขึ้น และต้องหาบุคลิกของรายการของตัวเราให้เจอ เรื่องมีสาระไม่จำเป็นต้องเครียด ทำให้เป็นเรื่องสนุกๆ ได้ น่าจะทำได้นะเพราะเรามีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออาจจะประสานงานกับเครือข่ายพุทธิกา หากไม่มีคนจัดรายการก็เปิดรับคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษา เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการ ให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามาเรียนรู้โลกจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยก็น่าจะดี   ละครดี ไม่ต้องตบตีคนก็ติดได้ ละครไทยผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม ถ้าบอกว่าคนดูชอบ...ซึ่งถ้ามองไปที่คนดูก็ต้องบอกว่าเอ่อ..ดูละครแล้วมันสะใจ ดูแล้วมาคุยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความถ้ามีละครที่ดีแล้วพวกเขาจะไม่ดู หรือดูแล้วไม่ได้ความคิด ไม่งั้นทำไมเขาถึงดูหนังจีนเปาบุ้นจิ้น สามก๊ก คนที่ดูละครน้ำเน่ากันอยู่ก็ดู ดูแล้วเขาก็ได้ความคิด แต่ทำไมไม่เอาละครดีๆ มาให้ดู ก็เพราะว่าคนทำละครไม่มีจิตสำนึกทางสังคมเลย แล้วก็มักง่าย  เมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องที่มันยากๆ ลึกซึ้ง ที่ซับซ้อน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบบเรื่องเปาบุ้นจิ้น เรื่องสามก๊ก หรือของญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ละครที่เราเห็นฉายกันอยู่เราจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลา หรือใช้ความคิดสักเท่าไรเพราะว่ามันใช้สูตรเดิมๆ  ตัวละครจะมีอาชีพ เหตุการณ์ ฉาก คำพูด ประเด็นขัดแย้ง ก็แบบเดิม ก็จะเห็นว่าทำไปอย่างง่ายๆ คนดูก็ตอบรับดี แล้วก็พยายามเอาชนะละครเรื่องอื่นๆด้วยการใส่ความรุนแรงมากขึ้น ใส่ความวาบหวามมากขึ้น เพื่อเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกันด้วยความสามารถและสติปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นความมักง่ายของคนทำ แล้วคนดูก็ถูกอ้างว่าเป็นเพราะคนดูชอบ ถึงต้องทำออกมาแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว คนทำไม่มีความสามารถที่จะทำออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า แล้วพอดูเยอะมันก็ส่งผลต่อสังคม ส่งผลต่อคนผลิตด้วยก็จะขาดความมั่นใจในการผลิตรูปแบบอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นปัญหาในการทำงานสร้างสรรค์และการทำงานที่มีรสนิยมด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาทางผลิตและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้...”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 เปลี่ยนระบบประกันตนได้ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบสุขภาพไทย

  นิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณมาคุยกับ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะ เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน(เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.54) ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของประเทศไทย จากปัญหาใหญ่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพระหว่าง ระบบประกันสังคมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ฝ่ายหนึ่งยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลไม่ได้เท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย หลายคนเกิดคำถามว่าเหตุใดถึงลุกขึ้นเรียกร้องช่วงนี้ แล้วมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ตอนนี้ทำอะไรไปบ้าง ฉลาดซื้อจะพาไปคุยค่ะ   เปิดตัวชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ความจริงเรื่องนี้คิดกันมานานแล้วนะแต่ไม่ได้จังหวะทำ ด้วยงานที่ทำทั้งการรณรงค์เรื่องสิทธิบัตรทอง ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น การผลักเรื่องเครือข่ายผู้ติดเชื้อก็เริ่มลงตัว จึงเริ่มเดินเรื่องชมรมฯ กันได้ประกอบกับพวกเราอยากผลักเรื่องรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายบำนาญชราภาพ ที่มีการล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นรายชื่อเสนอกฎหมายกันไป อีกอย่างก็คืออยากแก้กฎหมายประกันสังคมเรื่องเงินออม ซึ่งเมื่อมองหลายๆส่วน หากเราต้องการผลักให้เกิดบำนาญชราภาพอย่างจริงจังก็ต้องผลักในหลายๆ ส่วน ซึ่งก็ต้องดูทั้งบำนาญชราภาพของคนที่นอกระบบที่รัฐจะให้ก็คือเดือนละ 1,500 บาท บำนาญชราภาพของคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่พอดูกันจริงๆ แล้ว ได้เดือนละ 3000 บาท ทำงานกันมานานมาก กว่าจะได้ใช้ก็อายุปาเข้าไป 55 ปี แรกๆ ก็ดูทุกคนอุ่นใจว่ามีบำนาญของประกันสังคม แต่ไม่เคยรู้ว่าได้เท่าไรเพราะคำนวณไม่เป็น แต่พอคำนวณได้   เอ้า...ตายละได้คนละ 3,000 บาท ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรผิดพลาดละ เลยมาคิดหาทางออกกันว่าจะปรับจะแก้อย่างไร จะนำเงินที่ไม่ได้ใช้ไปจ่ายเพิ่มค่าบำนาญได้อย่างไร ก็เล็งไปที่ระบบสุขภาพที่ดูกันจริงๆ แล้วไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ทุกเดือนเราต้องจ่ายให้ประกันสังคม 5% และ 1.5 % ถูกนำไปใช้ในระบบสุขภาพ  พี่ทำงานด้านเอดส์ก็จะเห็นภาพชัดเจน เพราะมีเครือข่ายผู้ติดเชื้อซึ่งพอเข้ามาทำงานกับเครือข่ายก็ต้องโอนย้ายสิทธิจากบัตรทอง มาใช้สิทธิการรักษาของประกันสังคม ก็ติดปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ในการับยาต้านไวรัส ต้องใช้รับรองเพื่อดูสูตรยาต้านฯ และยาต้านไวรัส บางตัว ระบบประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม บางคนก็บอกว่าไม่เข้าใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม เราก็พยายามอธิบายว่า ‘ประกันสังคมดีนะ มีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นด้วยทั้งเรื่องสวัสดิการการว่างงาน หรือเจ็บป่วยก็มีสิทธิชดเชยนะ หรือทำงานแล้วส่งเงินไป 15 ปีก็จะได้เงินบำนาญ’ แต่ที่พูดมาเป็นเรื่องราวในอนาคต ซึ่งการรักษาพยาบาลเราไม่ได้ใช้   และโครงการประชาวิวัฒน์เป็นตัวผลักดันให้เกิดชมรมฯ เพราะโครงการนี้มีการนำแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมแต่ไม่รวมเรื่องสุขภาพ ระบบสุขภาพยังอยู่กับบัตรทอง ซึ่งเราเห็นด้วย แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็คือรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายประกันคมให้คู่ของผู้ประกันตนย้ายออกจากบัตรทอง ที่มีระบบการกระจายความเสี่ยงที่ดีของระบบบัตรทอง ซึ่งผู้ประกันตนปัจจุบันมี 9 ล้านกว่าๆ แต่พอรวมคู่ประกันตนเข้าไปอีก 10 ล้าน บวกลูกผู้ประกันตนเข้าไปอีก ก็จะอยู่ราวๆ 20 ล้านคน ซึ่งในกฎหมายที่จะแก้ระบุว่าให้โอนงบประมาณค่ารายหัวตรงนั้นเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งเหมือนเงินมันหายไปเยอะมาก จะทำให้เกิดความสั่นคลอนกับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพมาก ก็คิดกันว่าระบบสุขภาพที่ดีที่สุดก็คือ “ต้องมีระบบสุขภาพระบบเดียว” นำคน งบประมาณ มาอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่งมันจะทำมีพลังในการต่อรองระบบการรักษาในโรคเดียวกัน ราคาเดียวกัน หากเราทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ระบบมันจะมีคุณภาพ   ระบบสุขภาพระบบเดียวสร้างมาตรฐานการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่างระบบสุขภาพของประเทศไต้หวัน ที่มีระบบสุขภาพระบบเดียว พอเป็นระบบเดียวก็มีองค์กรการบริหารองค์กรเดียว มีเงินก้อน แล้วโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องทำเป็นคู่สัญญากับองค์กรกับกองทุนนี้ เพราะระบบการรักษาพยาบาลนั้นรัฐบาลเป็นคนจ่าย ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่เข้าระบบก็จะไม่ใครเข้าไปใช้บริการ เพราะฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลอยากได้เงินก็ต้องร่วมกองทุน ซึ่งระบบนี้จะมีอำนาจในการกำหนดราคา คุณภาพบริการ ระบบการผูกขาดบางอย่างก็ดีถ้ามันเป็นประโยชน์โดยรวม  แต่บ้านเรายังกำหนดไม่ได้โรงพยาบาลนี้มีชื่อเสียงก็ราคาแพงหน่อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการคลอด โรงพยาบาลนี้ 10,000 แต่อีกโรงพยาบาล 50,000 บาท อะไรแบบนี้ เห็นไหมมันมีความต่างที่เรายังไม่สามารถกำหนดได้ ถ้าเรามีระบบสุขภาพระบบเดียวการผูกขาดแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในเชิงคุณธรรม ซึ่งมันเป็นเรื่องของชีวิตไม่ควรจะมีการค้ากำไร แต่ก็จะถูกโต้แย้งเสมอว่า “เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขัน พอมีการแข่งขันทุกโรงพยาบาลก็จะมีการบริการที่ดี” แต่ดูสิข้อเท็จจริงตอนนี้มันไม่ใช่ ที่มีการแข่งขันก็คือ แอร์เย็น มีระบบต้อนรับที่หรูหรา แต่คุณภาพการรักษามันก็โรคเดียวกันมันก็โรคเดียวกัน การใช้ยาก็ต้องใช้ยาเหมือนกันๆ แต่ราคาแตกต่างกัน ยาจะแตกต่างกันบ้างก็คือการใช้ยาในบัญชียาหลักและยานอกบัญชี ซึ่งก็จะแพงขึ้น   คิดใหม่ทำใหม่ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนต้องใช้เวลา ถามว่าจะนานแค่ไหนก็คงต้องดูกันต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล และหากเปลี่ยนแปลงได้มันจะเป็นการพลิกระบบสุขภาพ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างตอนที่เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำให้ประชาชนรักษาสุขภาพฟรี ก็ต้องใช้เวลา หรืออย่างเกิดระบบ “30 บาทรักษาทุกโรค” ถ้าหากพรรคการเมืองมองการณ์ไกลก็หยิบส่วนนี้ไปผลักคะแนนเสียงมาตรึม ที่ผ่านมาเราพยายามทำความเข้าใจว่าระบบการรักษาพยาบาลมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เราเริ่มต้นด้วยการสร้างกระแสผ่านสื่อทุกช่องทางทำให้คนรับรู้ว่ามันเกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ใช้มาตรการในการเจรจา ต่อรอง ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อสร้างแรงกดดัน เมื่อยังนิ่งอยู่เราก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่มี ซึ่งเราจะเห็นว่ากฎหมายผิดรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5,10 และ 11 มีความไม่เป็นธรรมในเรื่องสุขภาพที่รัฐเลือกปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญก็ว่าไป ที่เรามองต่อมาและชกตรงมากขึ้นก็คือศาลแรงงาน เพื่อให้เห็นคู่ชกก็คือผู้ใช้แรงงานที่ถูกหัก 5% กับสำนักงานประกันสังคม โดยเรียกร้องขอเงินคืน คืนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบด้านสุขภาพจำนวน 1.5% ตั้งแต่ปี 2545 แล้วนำไปใช้ในกองทุนบำนาญชราภาพ เพราะเป็นปีที่มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพและประชาชนไม่ควรที่จะถูกเก็บเงินสมทบตั้งแต่ปีนั้น ซึ่งที่เรียกร้องไม่ใช่เพื่อขอเงินคืน แต่เพื่อให้เห็นจำนวนเงินว่าสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ไหม อย่างไปใช้ในส่วนชราภาพ หรือชดเชยบุตรจาก 6 ปี เป็น 20 ปีก็ได้ หรือนำไปบวกในส่วนชดเชยการขาดรายได้ก็ได้ ประกันสังคมไม่ต้องไปจ่ายปีละ 20,000 ล้านในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเราก็หวัง แต่ต้องใช้เวลา   ต้องยอมรับกฎหมายประกันสังคมที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ที่แล้วเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นรัฐสวัสดิการแรกๆ ของเมืองไทยที่ดูแลคน แต่ว่าเมื่อสถานการณ์ สังคมเปลี่ยนมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพขึ้นมาแล้วดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศและดูแลได้ดีกว่า คนบริหารระบบประกันสังคมก็ต้องคิดที่จะพัฒนาว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะให้คนที่ใช้แรงงานได้ประโยชน์สูงสุด ในอดีตประกันสังคมมีอดีตที่ดีตอนนี้ปัจจุบันมันเปลี่ยนประกันสังคมก็ต้องเปลี่ยนเพื่อพิทักษ์ประโยชน์และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน จริงไหม??....  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 ธรรมาภิบาลของเอสซีจี

  เราไม่ได้พูดเก๋ๆ นะ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำอันนี้โต  แต่สิ่งแวดล้อม สังคมอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะขายของให้ใครมันก็ไม่มีสังคมที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้บริโภคของเราอยู่ดี ดังนั้นทั้งสามวงนี้ต้องโตไปด้วยกัน การทำให้ทั้งสามวงโตไปด้วยกันเรายึดถือเรื่อง good governance เราเรียกว่าการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต  วีนัส  อัศวสิทธิถาวรสาวนิเทศศาสตร์จากรั้วจามจุรีที่เริ่มจากการเป็นเหยี่ยวข่าวสาวของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง จนในปัจจุบันรั้งตำแหน่ง Corporate Communications Director ของ บ.เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)  องค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง และดำเนินกิจกรรมแถวหน้าของเมืองไทย กับแนวคิดดี ๆ เรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคมกันในฉลาดซื้อฉบับนี้กันค่ะ  ธุรกิจเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ในความคิดของคุณคืออะไร  ถ้าถามพี่ว่าซีเอสอาร์คืออะไร ในเอสซีจีเราไม่ได้เรียกซีเอสอาร์ เราเรียก การพัฒนาสู่ความยั่งยืน  ซึ่งส่วนหนึ่งซีเอสอาร์ก็อยู่ในนี้ เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ทำธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองเราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น โรงงานของเรา ที่ จ.ลำปางเป็นโรงงานซีเมนต์ เราผลิตซีเมนต์อาจจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะเสียงเพราะฝุ่น โรงงานซีเมนต์เกิดขึ้นล่าสุดประมาณ 15-20 ปี เรามีเทคโนโลยีล่าสุดเราก็จะเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาให้ เพราะฉะนั้นโรงงานซีเมนต์เราจะใช้ semi-open..   เราใช้ภูเขาหินปูนมาทำซีเมนต์ โรงงานนี้เราใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่มีขณะนั้นก็คือในภูเขาเราจะทำเป็นเหมือนควักลูกแตงโม มันมีสันเขา เราจะทำเหมืองภายในเขา สันเขาจะปิดฝุ่นไว้ ฝุ่นจะไม่ออกมาเลย เราจะปลูกต้นไม้คลุมสันเขา เราจะไม่เห็นฝุ่นเลย มันจะปิดไว้เป็นป่าเขียวไปหมดเลย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แพงมากแต่เราก็ลงทุน  อะไรคือแนวการปฏิบัติสู่ความยั่งยืนของเอสซีจีแนวการปฏิบัติสู่ความยั่งยืนของเอสซีจี ถือเป็นไกด์ไลน์ของพวกเราคนทำงาน ที่ทำมาสำหรับพนักงานทุกระดับให้ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะบอกเป้าหมายในการทำธุรกิจของเรา คือ พัฒนาสู่ความยั่งยืน เวลาเรามองเป้าหมายแม้เราจะเป็น economy เป็นเศรษฐกิจแต่เราไม่ได้มองเศรษฐกิจอย่างเดียวเรามองสามอันนี้คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หมายความว่าเราต้องทำธุรกิจเพื่อให้ได้ผลกำไรแบบยุติธรรมเพื่อเราจะได้ดูแลอีกสองส่วนดังนั้นจะเป็นว่าทั้งสามวงมีขนาดเท่ากัน   เราไม่ได้พูดเก๋ๆ นะ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำอันนี้(economy)โต  แต่สิ่งแวดล้อม สังคมอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะขายของให้ใคร มันก็ไม่มีสังคมที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้บริโภคของเราอยู่ดี ดังนั้นทั้งสามวงนี้ต้องโตไปด้วยกัน การทำให้ทั้งสามวงโตไปด้วยกันเรายึดถือเรื่อง good governance เราเรียกว่าการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้   พอเรายึดถืออย่างนี้ทุกภาคส่วนต้องทำรวมถึงพนักงานทุกคน เราก็จะเริ่มตั้งแต่ว่า ถ้าพนักงานเข้ามาน้องใหม่เข้ามายังไม่ให้ทำงาน หนึ่งเดือนแรกเราจะอบรมเรื่อง เป้าหมายของธุรกิจของเรา โดยมี คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)    คือคนแรกที่สอนน้องใหม่ น้อง ๆ ที่เข้าใหม่แต่ละปี มีหลายร้อยคนขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ แบ่งคลาสละประมาณ 50 คน ก็จะเข้ามานั่งรวมกัน พี่กานต์จะเล่าให้ฟังว่าเอสซีจี มีจรรยาบรรณทางธุรกิจ ก็คืออุดมการณ์สี่ อะไรบ้าง เราเรียกย่อๆ ว่า SD sustainable development คือสามวงที่กล่าวไป good governance และจรรยาบรรณทางธุรกิจ นี่คือหลักจริยธรรมในการทำงาน   จรรยาบรรณเอสซีจี ทุกคนจะได้รับแจกไป อุดมการณ์มีอะไรบ้าง ตั้งมั่นในความเป็นธรรม ซึ่งเดี๋ยวเราจะเห็นว่ามันสอดคล้องกัน มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ความเป็นธรรมคือความยุติธรรม ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย อย่างพี่จะรับน้องเข้ามาทำงานพี่ต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรม พี่จะประเมินผลขึ้นเงินเดือนน้องก็ต้องคิดอย่างเป็นธรรม ไม่ได้คิดคนเดียวต้องมีกรรมการ มีเหตุผลที่จะพิสูจน์ได้ว่าน้องคนนี้มีผลงานดีกว่าอีกคนหนึ่งอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาทุกคนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ คือทุกคนจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  การเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะทำสิ่งดีๆ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี สุดท้ายคือถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม  สิ่งที่เราเตรียมคนมามันเป็นเช่นนี้ ทุกคนจะได้รับการถ่ายทอดอย่างนี้มาเรื่อยๆ  แสดงว่าซีเอสอาร์ของที่นี่ไม่ได้เป็นแค่เพียงโครงการใช่ที่พูดนี้คือ CSR in process ในกระบวนการทำงาน เราเรียกว่า CSR in process  อันนี้คือแนวปฏิบัติแล้วจะกลับมาตอบคำถามว่าซีเอสอาร์คืออะไร อันนี้คือ in process ต้องเริ่มจากเราก่อน ต่อไปจะมี after process คือไปช่วยเหลือคนอื่นล่ะ ส่วนอันนี้คือในชีวิตประจำวัน ในเอสซีจีมีความเชื่อว่าที่เราทำคือส่งเสริมเรื่องแนวคิดให้เกิด creativity หรือ innovation Innovation หมายความว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งที่เราทำ อย่างเช่น เราทำกระดาษ เราทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของกระดาษได้ไหม มูลค่าเพิ่มอันหนึ่งสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเอาwaste เอาขยะมาทำมันก็ได้ ทีนี้ก็เลยบอกว่าเรามีอีกธุรกิจหนึ่งเรียกว่า inforsave คือ information save คือเก็บความลับ เราเอาตู้ไปตั้งเวลามีความลับเราก็จะเอากระดาษใส่ลงไปในตู้แล้วก็ล็อคกุญแจ พอถึงเวลาก็จะมาไขไป เอาข้อมูลทั้งหมดในตู้ไปต้มใหม่หมดเลย เก็บความลับ ที่บ้านพี่เก็บกองๆ ไว้ ถึงเวลาเขาก็จะมีคนรอรับ พี่เอากระดาษให้ บอกรหัสสมาชิก เขาก็จะถามว่ากระดาษนี้อยากได้บุญหรืออยากได้เงิน ถ้าอยากได้เงินเขาก็ไปชั่งกิโลให้เงิน ถ้าพี่บอกเอาบุญก็ไปเลือกเอาว่าจะทำบุญโรงเรียนอะไร เขาก็เอากระดาษนี้ไปรีไซเคิล ก็จะคิดว่ากิโลเท่าไหร่ แล้วเอาเงินนี้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเราทำแบบนี้กับหลายองค์กรมาก เป็นร้อยองค์กร แล้วเราก็จะได้ความลับเหล่านี้ไปเป็นความรักให้กับเด็กๆ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นี่ก็เป็นแนวปฏิบัติที่เราพยายามเชื่อมโยง in process กับ after process  After Processย้อนกลับไปว่า เรามีเรื่องอุดมการณ์สี่ เรามีเรื่อง SD (sustainable development) ที่เป็นแนวคิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราส่งเสริมให้ได้รับการ assign งานของตัวเอง มี KPI ของตัวเองว่าจะต้องทำเท่าไหร่ ต้องผลิตสินค้านี้กี่ชิ้น คนเป็นเซลล์ต้องขายได้เท่าไหร่ คนทำบัญชีก็ต้องทำอย่างซื่อสัตย์สุจริตอย่างไร นั่นคือหน้าที่หลัก เราก็อยากสนับสนุนให้เขามี DNA ของการแบ่งปัน โดยที่เราบอกว่ามีโครงการปันโอกาสวาดอนาคตเพราะเรามีมูลนิธิเอสซีจี สนับสนุนให้พนักงานรวมตัวกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปถึงกี่คนก็ได้ แล้วก็ทำโปรเจคที่เขาอยากจะทำ แต่มีความสามารถด้วยนะในการทำ คือเอาความสามารถตัวเองในการทำ พอเขารวมกลุ่มแล้วทำโปรเจค บริษัทจะให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง อาจจะพอหรือไม่พอเขาก็อาจจะไปหาส่วนหนึ่งมา ยกตัวอย่างสำนักงานพี่ 30 คน เราก็เลือกโปรเจคว่ารักหมารักแมวกัน เสาร์อาทิตย์เราไปร่วมกับสัตวแพทย์ทำหมันหมาแมวจรจัดดีไหม แล้วก็ช่วยรักษาหมาแมวเจ็บป่วย วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็นัดกันไปดูแลหมาแมว เราก็ทำteam building ไปด้วย ทำความดีไปด้วยในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งใช้ความสามารถของเราด้วยนะ แล้วบริษัทก็ให้เงินส่วนหนึ่ง มีโปรเจคแบบนี้ในเอสซีจีประมาณพันโปรเจค พนักงานมาร่วมทุกคนไหม ยัง แต่ส่วนใหญ่ก็มาร่วมแปดพันจากสามหมื่นคน ซึ่งขยายวงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีโปรเจคหลักขององค์กรอีก ซึ่งก็มีเยอะมาก เรามีโปรเจคหลักอยู่ 4 กลุ่ม มีการส่งเสริมเรื่อง good governance คือความซื่อสัตย์สุจริต อันที่สองเรื่องการดูแลช่วยเหลือสาธารณภัยต่างๆ อย่างการช่วยเหลือน้ำท่วม ภัยหนาว ภัยแล้ง เรื่องภัยแล้งเราก็มีถังกักเก็บน้ำไปให้ชุมชน โรงเรียน สามก็เรื่องสิ่งแวดล้อม หลักๆ เลยเราทำเรื่องน้ำ เราทำเรื่องฝายชะลอน้ำ เราลองทำที่ป่าต้นน้ำที่ลำปางก่อนรอบๆ โรงงานเรา ทำสักสามร้อยกว่าฝายภายในโรงงาน ตั้งเป้าว่าอีกสามปีบริษัทจะครบร้อยปีตอนนี้เก้าสิบเจ็ดปี จะทำให้ครบห้าหมื่น เพราะหน้าน้ำท่วมที่ผ่านมา ลำปางน้ำท่วมก่อนแต่หมู่บ้านที่ทำฝายน้ำไม่ท่วมเลย และอีกอันคือ Human Development การพัฒนาศักยภาพของคน  อันนี้เป็นportใหญ่ เราให้ทุนการศึกษาปีละห้าพันทุนทั้งในและต่างประเทศรวมกัน และให้ต่อเนื่อง ในองค์กรก็ให้แต่ไม่นับ เรานับให้ทุนคนอื่น เด็กขาดโอกาส ยากจน ให้ตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาตรี แล้วแต่เขารับได้เรียนได้เท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น เพิ่มเติมคือเรารับอาสาสมัครที่เป็นพี่เลี้ยงทุน คือเด็กพวกนี้โอเคไม่มีเงินให้เงิน แต่ปัญหาไม่ได้แค่นั้น เด็กบางคนขาดความอบอุ่นไม่มีพ่อแม่ชี้แนะ คือความยากจนก็มาพร้อมกับความยากไร้ทุกอย่าง สิ่งที่เราให้คือชี้แนะเด็ก น้องควรวางตัวยังไง เวลาเป็นวัยรุ่นควรจะยังไง จะสอบเอ็นทรานซ์มีคนติวให้ไหม เราก็เป็นพี่เลี้ยงเด็กในชุมชนของเราเอง   ตัวอย่างโปรเจคที่เรียกว่า ความซื่อสัตย์ถ้าเรื่องความซื่อสัตย์เราจะส่งเสริมผ่านโปรเจคที่เรียกว่า excellent intensive ทุกปีจะมีเด็กมาฝึกงานกับเราเยอะมา เราก็กะว่าจะฝึกให้ดีเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเก่งอยู่แล้ว เราจะให้เป็นเด็กดีด้วย ไปทำงานที่ไหนก็จะแพร่เชื้อซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่แค่ให้ทำงาน ก็ทำงานจริงนะ เป็นengineer ก็ต้องไปอยู่โรงงานจริง ใส่ชุดจริงทำงานจริงไม่ใช่มาเสิร์ฟน้ำ ชงกาแฟ แล้วพวกนี้ไม่ใช่แค่ทำงานให้เรียนหนังสือด้วย เรียนเรื่องธุรกิจ ทำเปลี่ยนจากนักศึกษามาทำธุรกิจ เขาต้องเรียนว่าธุรกิจมองสังคมอย่างไร แต่เราส่งเสริมธุรกิจที่มีคุณธรรม และเราก็จะสอนหลักจริยธรรมอย่างนี้เหมือนพนักงานของเรา คิดอย่างไรกับความสำเร็จของการทำซีเอสอาร์ที่ผ่านมาพี่ไม่เคยวัดความสำเร็จของซีเอสอาร์จากการตลาด เพราะทำในนามของเอสซีจีไม่ได้ทำในนามของ product ไม่ได้วัดว่าทำซีเอสอาร์แล้วจะขายของได้เท่าไหร่ สิ่งที่วัดคือวัดจากโปรเจค อย่างเรื่องหุ่นยนต์กู้ภัย ปีนี้มีคนมาสมัครเพิ่มขึ้นไหม มีคนสนใจเพิ่มขึ้นไหม เมื่อสักครู่อธิการที่มหิดลโทรมา พรุ่งนี้พี่จะพาเด็กไปเยี่ยมLab Robot มหิดล ซึ่งเป็นหลักของmedical robot คือทำโรบอตตัวเล็กๆ เข้าไปในร่างกายเหมือนเป็นเครื่องมือแพทย์ อะเมซิ่งมากๆ ไม่คิดว่าประเทศไทยจะทำได้ พี่วัดความสำเร็จโปรเจคยังไง มีเด็กสนใจมากขึ้นไหม มีเด็กมาส่งประกวดมากขึ้นไหม มีเด็กที่ชนะหุ่นยนต์กู้ภัยปีแรกแล้วได้เป็นแชมป์โลกเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ได้ทุนคนอื่นนะไม่ใช่ทุนพี่ ได้ทุนจากการที่เขาเป็นแชมป์โลก พี่ไปเจอเขาที่ออสเตรีย ตอนนี้จบโทแล้ว ทำงานที่สถาบันนิวเคลียร์ที่ปารีส ไปทำงานเพราะอยากให้เขาเห็นผลงานแล้วอยากไปเรียนปริญญาเอกด้วยทุนของเขา แล้วตอนนี้เด็กคนนี้กลับมาสอนที่พระนครเหนือ เด็กที่ได้ทุนนี้ไม่ใช่ไฮโซ แต่มีความสามารถเฉพาะตัว แล้วเขามีทางเดินเลยต่อจากนี้ไป  ซีเอสอาร์ไม่ใช่ว่าคุณมีเงินคุณได้ เพราะฉะนั้นพี่ก็วัดความสำเร็จจากสิ่งนี้ พี่ทำฝายชะลอน้ำไม่ได้วัดว่าทำกี่ฝาย แต่วัดว่า biodiversity ความหลากหลายในป่าเป็นยังไง น้ำไม่ท่วม พันธุ์นก พันธุ์แมลง ผีเสื้อมากขึ้นไหม มีการทำวิจัยก่อนแล้ว ชาวบ้านมาใช้ป่าได้ไหม มาเก็บเห็ด ผักหวาน ผลไม้ต่างๆ ได้ไหม ชาวบ้านที่พอนกมาไปยิงนกต้องไป educate ว่าพี่มีนกแล้วเก็บนกนี้ไว้ เวลาคนมาเที่ยวก็พอไปดูจะได้รายได้มากกว่านี้ คือเราสอนเรื่องความยั่งยืนแล้วเติบโตไปด้วยกัน เพราะว่าพี่มีหน้าที่ทำเรื่องนี้แล้วก็ชวนคนทำ แต่เราจะบอกว่าทุกคนจะต้องทำในองค์กรเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้อง educate   do and don’t ของการทำซีเอสอาร์คืออะไร• ก็มีอยู่สองสามข้อ แรกคือต้องตอบ need ของผู้รับไม่ใช่ need ของผู้ให้ อันที่สอง เราควรทำซีเอสอาร์แบบเคารพผู้รับ ไปเห็นอย่างสึนามิ เขาเดือดร้อน เราไปช่วยไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเข้าแถวมารับของ ทำไมไม่เดินไปให้เขา คือแค่เขาโดนก็ suffer จะแย่อยู่แล้ว สุดท้ายซีเอสอาร์ต้องต่อเนื่อง ทำแล้วอย่าหยุด  ให้ทุนการศึกษาเขาปีหนึ่ง ปีหน้าไม่ให้เขาจะเรียนต่อยังไง  สิ่งที่คิดไว้ว่าจะทำเพิ่มมันจะมีเทรนด์อันหนึ่งพี่กำลังมองอยู่คือเทรนด์ของ social enterprise ก็จะเป็นทั่วโลกอย่างญี่ปุ่น ทำจากบริษัทเล็กๆ ที่ทำแฮนด์เมดแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น แล้วก็กลายเป็นอะไรที่คนนิยม เพราะนิยมวิธีการของเขา คือแบรนด์ของเขาให้อยู่แล้วและสามารถอยู่ได้ อย่างนี้พี่ว่ามันยั่งยืน พี่มองดูว่าสเกลใหญ่มากก็ไม่ค่อยเวิร์คนัก ใหญ่มากเงินลงทุนเยอะมากคนก็อาจจะทนไม่ได้ที่เอาเงินขนาดนั้นไปลงทุน ก็ทำสเกลเล็กก่อนแล้วค่อยๆ ขยายวง ทำให้เกิดนิชมาร์เกต คือคนที่คล้ายๆ ว่ารับได้ส่วนหนึ่งแล้วค่อยขยายวงออกมา  กำลังคิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้เกิด social enterprise เช่นนี้ เช่นพี่อยากสนับสนุนให้รอบโรงงานลำปางเป็นecotourism พี่ทำให้เขาดูจนสามารถลองทำเอง เป็นสหกรณ์ของตัวเองได้ไหม โปรโมทเรื่องป่าเยอะๆ welcome ชาวบ้าน welcome นักท่องเที่ยว ดีไซต์ว่าโปรแกรมในแต่ละวันมีอะไรบ้าง หรือจะมีที่ให้อบรมสัมมนา ศาลาอากาศก็เย็นสบายไม่เห็นต้องติดแอร์มีเบาะนั่งนิ่มๆ สักหน่อย อยู่กับต้นไม้ใบหญ้า แล้วก็มีเซอร์วิส กลางวันมีข้าวห่อใบตองมาเสิร์ฟ มีขนมในพื้นที่ พี่ไปเจอถั่วแปลบกับน้ำตะไคร้ก็เก๋ดี อะไรอย่างนี้ก็เข้าท่า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 คู่บู๊ – คู่บุ๋น ความสุขสาธารณะ

  จะเป็นอย่างไรถ้า “งานสาธารณสุข” ที่ถูกนิยามให้เป็นศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดการสุขภาพของชุมชน ถูกผันนิยามมาเป็น “ความสุขสาธารณะของคนในชุมชน” ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาคุณมารู้จักกับคู่บู๊ – คู่บุ๋นที่เปลี่ยน “งานสาธารณสุข ให้กลายเป็นความสุขสาธารณะ” เรื่องที่ดูยุ่งยากจึงกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ชาวอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน “สร้างความสุขสาธารณะ” ของคุณเกษร วงศ์มณี หรือหมอน้อย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก และคู่ชีวิตของเธอนายแพทย์พงศ์พิชญ์ วงศ์มณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหล่มสัก ที่เปลี่ยนสถานีอนามัย 31 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล   “งานสาธารณสุขอำเภอก็จะทำหน้าที่ดูแลแลระบบการจัดการสุขภาพในระดับสถานีอนามัย ซึ่งที่เราทำอยู่ก็คือการพยายามพัฒนาสถานีอนามัยที่ให้ชาวบ้านมาเป็นเจ้าของ ไม่ให้เขามองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐซึ่งจะเป็นการรวมศูนย์ ซึ่งการไปหาหมอของชาวบ้านแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก บางคนมาตั้งแต่เช้า ตี 3 ตี 4 เพื่อมาหาหมอกว่าจะกลับบ้านก็เย็นแล้ว ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาหาหมออีก จุดนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมากในการทำงานว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและจะทำอย่างไรที่ไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลกระจุกตัวที่ส่วนกลาง ซึ่งถ้าเราจัดการแบบให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมเราจะกระจายได้ทั้งหมด” หมอน้อยบอกเล่าถึงจุดเริ่มของแนวคิด   และจากแนวคิดและปรัชญาที่เชื่อว่า 'บ้าน' เป็นสถานที่ที่มีระบบการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเองได้ดีที่สุด เพราะครอบคลุมทั้ง กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี จึงใช้กลยุทธ์ 'ใกล้บ้าน ใกล้ใจ' ในรูปของโรงพยาบาลตำบล เปิดประตูให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ ภายใต้ 3 ประสานหลัก คือ ชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรท้องถิ่นนั่นเองระบบสาธารณสุข จึงค่อยๆกลายเป็นความสุขสาธารณะ   โรงพยาบาลของเรา  "แนวคิดเรื่องโรงพยาบาล ชุมชนเกิดขึ้นโดย ชุมชนต้องร่วมกันลงขันคนละ 2 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อปี ถ้ามีประชากรในชุมชนจำนวน 10,000 คน ก็จะได้เงินสมทบจำนวน 240,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะผู้มีบทบาทในระบบสุขภาพของประชาชน ก็ร่วมลงขันด้วย และโรงพยาบาล (CUP) ในฐานะผู้บริหารเงินต่อหัวประชากร ได้จัดสรรงบจากรัฐบาลมาร่วมสมทบทุน กองทุนสุขภาพจึงมีงบประมาณปีละ 700,000 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุนสุขภาพ ที่ถูกคัดเลือกจากประชาชนและท้องถิ่นทุกหมู่บ้านในตำบล"  น.พ.พงศ์พิชญ์ บอกถึงที่มาของกองทุนโรงพยาบาล ซึ่งเขาบอกว่า “เงินน่ะมี เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีนำเงินมาใช้และบริหารอย่างไร” การระดมทุนจากการ “ลงขันคนละ 2 บาท” ทำให้ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในการจัดการกองทุนถึง 37 ล้านบาท และเงินตรงนี้เองที่เป็นทุนส่งคนในชุมชนเรียนพยาบาลถึง 38 คนทีเดียว ครั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาเป็นทำงานที่บ้านเกิด เหมือนหมอน้อยนั่นเอง   ปัจจุบันศักยภาพของโรงพยาบาลตำบลสามารถรักษาโรคที่เกินกำลังของสถานีอนามัย ปกติจะรับได้ อาทิเช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, โรคเกี่ยวกับข้อ เอ็นเข่า กล้ามเนื้อ, โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร, โรคเบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่งโรคทางจิตเวช และทันตกรรม โดยมีพยาบาล และทันตสาธารณสุข 'ทุน 2 บาท' ประจำโรงพยาบาลตำบลนั้นๆ เป็นผู้ดูแล   “ในแต่ละปีเราก็จะมีการนำเสนอข้อมูลว่าปีนี้เราทำอะไรไปบ้างในแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ค่ารักษาพยาบาลเท่าไร ได้เงินจากชาวบ้านมาลงขันจำนวนเท่าไร แล้วเราทำอะไรบ้าง ปีหน้าเราจะทำอะไร นอกจากจะให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของแล้วพี่ยังสร้างวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ของสาธารณสุข เราจะคืนข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สังเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สร้างพยาบาลให้กับภาคประชาชน และสร้างให้เกิดการจัดการระบบ จากตอนแรกเรามีพยาบาลแค่ 2 คน ตอนนี้เรามีพยาบาลถึง 77 คน เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติทั้งหมด ซึ่งเรารอจากส่วนกลางไม่ได้ ถึงแม้จะส่งมาก็จะลงที่อำเภอทั้งหมด ถ้าเราไม่คิดอะไรใหม่ๆ เราก็ไม่มีทางนำพยาบาลมาสู่ตำบลได้”   'กองทุน 2 บาท' ยังมีการต่อยอดในเรื่องเครื่องมือทางทันตกรรม หน่วยกู้ชีพประจำตำบลกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน หรือแม้กระทั่งการสามารถปรึกษาหมอผ่านระบบ Telemedicine ที่ถือเป็นไฮไลต์ของเครือข่ายโรงพยาบาลตำบล ด้วยโปรแกรมการติดต่อพูดคุยที่เรียกว่า Skype (โปรแกรมโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต) ซึ่งใช้ในการติดตามและประสานงานกับสถานีอนามัยทุกแห่งจำนวน 31 แห่งเลยทีเดียว   คนของเรา“นอกจากการให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของระบบสุขภาพและการมีส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว เราก็ใช้ชาวบ้านไปดูผู้ป่วย เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องถือมือหมอเราก็รักษากันเองได้ แต่เราต้องพัฒนาคนก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราต้องรักษาคนได้ตามขั้นตอน 1 2 3 เราก็อบรมกันไป หรืออย่างพยาบาลวิชาชีพเมื่อเราอยากได้เราก็ต้องสร้างต้องพัฒนาคนในชุมชนจากคนไม่จบปริญญาตรี แล้วส่งไปเรียนปริญญาตรี สามารถไปเรียนพยาบาลและเป็นพยาบาลเฉพาะทางได้   แค่นั้นยังไม่พอเราต้องคิดต่อด้วยว่าเราจะให้คนของเราอยู่ในระบบได้อย่างไรด้วย ซึ่งเราต้องมีงบจ้างพยาบาลไว้ที่โรงพยาบาลของเราด้วย ต้องหาวิถีที่จะทำให้เขาจบมาแล้วอยู่กับเราอย่างอยู่ รพ.เอกชนได้เดือนละ 15,000 บาท แต่อยู่กับเราเขาได้แค่ 8,000 บาท เราก็ต้องหากองทุนมาเติมให้กับเขาให้ได้ก็ใช้กองทุนโรงพยาบาล 2 บาทนี่ละเติมให้เด็กของเรา ถ้าเราคิดเป็นระบบและลงมือทำเราก็ทำได้”   การทำงานกับคนหมู่มากเช่นนี้แน่นอนจิตสำนึกต้องมาก่อน ซึ่งเธอบอกว่าเธอปลุกจิตสำนึกตั้งแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไล่มาถึงผู้นำชุมชน และไล่มาถึงภาคประชาชน   “ในแต่ละเดือนเราจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขวางแผนจัดอบรมแต่ละเรื่องเลยว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ทำมาตรฐานงานของเราในแต่ละชุมชน ส่วนชาวบ้านข้างนอกเราก็จะคิดแผนว่าเราจะให้พยาบาลอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ดูแลคนไข้ที่เป็นเบาหวานและความดันอย่างไร ซึ่งเราจะจับกลุ่มที่เป็นคนไข้ ญาติคนไข้ และคนที่ดูแลคนเจ็บป่วย แล้วค่อยขยายเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเรามีทั้ง อาสาสมัครเฉพาะทางหลักสูตรการอบรมเราก็คิดกันเอง โดยระดมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากชาวบ้าน ต้องสร้างหลักสูตรอาสาสมัครมาตรฐานขึ้น อาสาสมัครเฉพาะทางก็คือเขาต้องเก่งเฉพาะเรื่องอย่างเรื่องอนามัยแม่และเด็ก อนามัยสิ่งแวดล้อม แต่ละปีก็จัดอบรมกันไปและต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีอาสาสมัคร 3,000 คน นัด 3 เดือน 6 เดือน คุยกันนำเสนอผลงานด้วย” ชุมชนของเรา นอกจากจะมองในเรื่องของการสร้างสุขภาพแล้ว เธอยังมองรวมทั้งชุมชนโดยการสร้างอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค และเรื่องของสุขาภิบาลบ้าน “บ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญนะคะ บ้านอาสาสมัครจึงต้องเป็นตัวอย่างก่อนเลย อย่างบางหมู่บ้านเขาจัดประกวดนางงามกัน เราก็ต้องลงไปดูกันถึงบ้านทีเดียว สวยอย่างเดียวไม่ได้บ้านต้องสะอาดด้วย มีผลต่อคะแนนการประกวด หรือที่เขาโฆษณาน้ำดื่มอย่างน้ำมังคุด เราจะมีอาสาสมัครที่อัดเสียงส่งไปที่จังหวัดเลย ให้ทางจังหวัดมาตรวจสอบและดูแล จากทั้งหมด 251 หมู่บ้านเราก็มีการอบรมอาสาสมัครให้จัดมีการเช็คโฆษณาเหล่านี้ นอกจากนี้เราก็จัด “สื่อลอยลม” จัดรายการเสียงตามสายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนร่วมจัดรายการเกี่ยวกับผู้บริโภคอยากให้เขาเข้าใจว่าเราก็เลือกได้ไม่ใช่รับอย่างเดียว และผลักดันให้เป็นช่องทางการร้องเรียน หรือบางทีก็เปิดให้ชาวบ้านโหวตว่าร้านค้าร้านไหน อร่อย สะอาด ร้านไหนถูกโหวตเข้ามาเราก็ลงไปดู ถ้าสะอาดจริงเราก็จะประกาศโฆษณาให้ พร้อมมีใบประกาศให้ด้วยว่าผ่านการตรวจสอบจากสาธารณสุขและได้รับการโหวตให้เป็นร้านยอดนิยม คนที่เข้าโครงการนี้เยอะนะ เหมือนเขาแข่งกันทำดี” อีกโครงการดีๆ ที่หมอน้อยนำเสนอ   เรามีแต่ได้ถ้าเราทำ กว่า 10 ปีที่เธอสนุกกับงาน โดยมีคุณหมอพงศ์พิชญ์ ผู้เป็นทั้งสมองและกำลังใจสำคัญในการทำงาน เธอบอกว่าที่ร่วมมือกันทำตั้งแต่ปี 2544 นั้นเธอสนุกที่ได้ทำ และเธอก็ไม่ได้เสียอะไร เหนื่อยก็พักและถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานนี้   “ทำมานี่ก็ไม่เห็นว่าจะจนอะไร เหนื่อยก็พัก ได้รู้จักคนเพิ่มตั้งเยอะ สนุกกับทุกเรื่องที่ทำ พี่คิดว่ามันต้องได้อะไรบ้างแต่จะน้อยหรือมากก็อีกเรื่อง พี่คิดบวกไง คิดว่าเดี๋ยวมันก็สำเร็จ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่ได้คิดว่ามันจะทำไม่ได้ อะไรก็ตามมันมีทั้ง “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” เพราะฉะนั้นเราต้องจับให้ได้ว่า ’ในเสียนั้นเราต้องมีดีอยู่ให้ได้’ ไม่ได้ท้อถอยกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้ามองว่าเพี่อตัวเองก็คือ “ฉันมีความสุข” เพราะ “ฉันอยากทำ” เวลาที่เราทำความดีไม่เห็นจำเป็นจะต้องปิดทองหน้าพระ หลังพระ หรือก้นพระ พี่ก็จะมองว่า “ปิดทองไส้พระ” ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย” หลักการทำความดีของหมอน้อยที่ทำให้เธอมีเรี่ยวแรงในการทำงานเพื่อมวลชนต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 “สมุนไพรไทย” การพึ่งตนเองด้านยาอย่างยั่งยืน

  หมู่คำในจำพวก “แพทย์แผนไทย” “ยาหม้อ” “ใบลาน” “ตำรายาโบราณ” คนส่วนใหญ่คงหลับตาเห็นรากไม้สมุนไพรหงิกงอ น้ำยาเดือดจัดส่งควันกลิ่นเขียวฉุนในหม้อดิน หรือลูกประคบที่โชยกลิ่นไพลกรุ่น ซึ่งในบริบทของความทันสมัยและในมายาคติแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของแพทย์แผนไทย ทำให้บางคนอาจมองภาพเหล่านี้ด้วยความรู้สึกว่า เชย โบราณ และที่มากกว่านั้นคือความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาและลังเลใจที่จะนำมาใช้จริง   “ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมาแต่ รุ่นบรรพบุรุษของเราถูกลบลืมจนกระทั่งเลือนหายไปมากแล้วในปัจจุบันนี้”  แต่อย่างน้อยก็มีบุคคลหนึ่ง ซึ่งยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้อย่างเข้มแข็ง ขุนพลหญิงยาสมุนไพร ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม จากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม และได้รับคัดเลือกให้เป็น “บุคคลดีเด่นของชาติ” สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิไทยด้านการแพทย์แผนไทยประจำปี 2553 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยพัฒนาสมุนไพรนานาชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาสูตรตำรับเสลดพังพอนเพื่อนำมารักษาโรคเริมที่ริมฝีปาก ซึ่งมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลต่างๆ  วันนี้ฉลาดซื้อขอพาคุณมาสนทนาอย่างใกล้ชิดกับ พี่ต้อม ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ทั้งเรื่องชีวิต แนวคิด และการทำงานที่เธออุทิศให้ทั้งชีวิต   กำเนิดขุนพลหญิงยาสมุนไพร สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรหน้าใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากมหาวิทยาลัยมหิดล เธอมาจากครอบครัวชาวนาที่จนที่สุดในหมู่บ้านของจังหวัดนครนายก หากแต่ครอบครัวไม่ได้ขาดแคลนความรักและความอบอุ่นเลย  “พี่เติบโตมากับครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อที่สวดมนต์เป็นประจำ ทุกฤดูแล้ง พ่อจะมาทำงานเป็นกรรมกรในกรุงเทพ แล้วพ่อก็จะบอกว่า พ่อกินข้าวกับไข่ต้มวันละฟองเพื่อเก็บเงินไว้ให้ลูก” เธอพูดช้าๆ เนิบๆ และมีหยุดบ้างเพื่อสะกดก้อนสะอื้น เมื่อพูดถึงพ่อ   “แม่พี่จะเป็นคนขยันมาก จัดการทุกเรื่องในบ้าน และก็จะมองการณ์ไกล อย่างแม่เห็นพี่เรียนเก่ง ก็มองหาทางให้พี่ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เอาพี่มาฝากไว้กับเพื่อนที่เป็นคนจีน ตั้งแต่ ป.7 ถึง ม.ศ.1 ทำให้พี่ได้เห็นวิถีชีวิตคนจีน ได้เห็นเขาปลูกต้นยา ปลูกสมุนไพรไว้ในกระถางหน้าบ้านอย่างฟ้าทะลายโจร หลังจากนั้นแม่ก็มาทำกับข้าวขายเพื่อส่งลูกๆ เรียนที่ กรุงเทพฯ ซึ่งช่วงชีวิตนี้เองทำให้เราแกร่ง เพราะต้องทำทุกอย่างทั้งทำงานช่วยแม่ ต้องเรียนไปด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ลำบากไม่ต้องกลัว เพราะนั่นคือเส้นทางของการฝึก “แรงเยอร์” เพื่อการจะเป็นขุนพลต่อไปนั่นเอง”   ครอบครัวดูจะเป็นเบ้าหลอมความแกร่งให้กับขุนพลหญิงคนนี้นี่เอง ด้วยความยากลำบากที่ได้เจอทำให้เธอมุ่งที่จะเรียน เรียน และเรียน และเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สมัยนั่นยังมีเมล็ดพันธุ์ที่ทำอะไรเพื่อชุมชน มีระบบจัดตั้งด้านความคิดเพื่อชุมชน  “เราได้เห็นรุ่นพี่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี อย่างรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นหมอปลอมตัวเข้าไปอยู่กับคนงาน เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องแอสเบสตอส ตอนนั้นว่าจะทำให้เกิดมะเร็ง เราก็ได้เห็นตัวอย่างที่ดีที่อุทิศชีวิตเพื่อคนยากไร้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฝังเมล็ดพันธุ์บางอย่างในตัวเรา”   สมุนไพรไทยในนิยามที่เปลี่ยนไปตอนที่เธอจบมาใหม่ๆ และทำงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครานั้น ยาสมุนไพรยังถูกมองในมิติของคนจน แต่ปัจจุบันสมุนไพรกลับมาในนิยามของคนใส่ใจสุขภาพ ของกลุ่มคนที่มีอันจะกิน ของคนที่ใส่ใจการแพทย์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างมาก  เมื่อมองเทียบกับการนำเข้ายามารักษาโรคจากต่างชาติหลายหมื่นล้านบาท เธอให้นิยามว่าเป็นการล่าเมืองขึ้นของโลกยุคใหม่ ทางรอดของประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ โดยนำภูมิปัญญาไทยกลับมาสู่วิถีชีวิต ผ่านการพัฒนาสมุนไพรไทยทดแทนยานำเข้า   “ประมาณ ปี 2526 เราเริ่มจากสมุนไพรง่ายๆ รักษาโรคพื้นฐาน เช่น เสลดพังพอนรักษาโรคเริม แล้วนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งตัวเอง ไม่ต้องกินยาต่างชาติ กระทั่งปี 2529 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งโรงพยาบาลได้เริ่มวิจัยและผลิตยาสมุนไพรขึ้นใช้เองในโรงพยาบาล”   และด้วยวัตถุประสงค์หลักที่ไม่ได้หวังผลการค้า จึงดำเนินธุรกิจเป็นรูปแบบมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รายได้ 70% จะมอบให้แก่โรงพยาบาล อีก 30% นำไปพัฒนาสมุนไพร และทำประโยชน์เพื่อสังคมนอกจะผลิตยาสมุนไพรแล้วทางมีการ การสร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน   ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกได้เข้าส่งเสริมให้ชาวบ้านชุมชนบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี ปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อป้อนวัตถุดิบสมุนไพรให้โรงพยาบาลนำไปแปรรูปเป็นยา  สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” มี 5 กลุ่ม คือ ยาจากสมุนไพร อาหารสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งหมดมีกว่า 100 รายการ ส่วนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น จะดูตามความต้องการของสังคม ประกอบกับพิจารณาจากพืชที่มีศักยภาพโดยล่าสุดปี 2553 นี้ อยู่ที่ 200 ล้านบาท ได้กำไร 18 %  “ทำไมคนถึงเชื่อในยาสมุนไพรของเราก็เพราะเรามีครู เรามีผู้เฒ่าผู้แก่ มีคลังปัญญา และอีกอย่างก็คือพี่เชื่อในความเป็นเภสัชกรของพี่ที่ประยุกต์ คิด และทำสิ่งดีๆ ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพ การสกัดสาร การทำให้เป็นตำรับ การทดสอบการคงตัว การพัฒนาตำรับยา นำไปสู่กันวิจัย เพราะฉะนั้นความเป็นเภสัชกร ก็จะนำความรู้มาทำให้ผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ที่สำคัญก็คือเรามีทีมงานเข้ามาช่วย และสื่อสารต่อสาธารณะให้เกิดความเข้าใจได้ อย่างเรากินอะไรแล้วดีแล้วก็อยากบอกต่อใช่ไหมคะ” อย่างเรื่องของน้ำมันจากกะลามะพร้าวที่ใช้รักษาสังคัง เราก็บอกว่า ‘เอ้ย...น้ำมันมะพร้าวหรือเปล่า’ เขาก็หัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก บอกว่าไม่ใช่น้ำมันจากกะลามะพร้าว เขาก็เอาถ้วยมาแล้วเอากะลามะพร้าววางด้านบน เอาถ่านวางในกะลามะพร้าว สักพักน้ำมันก็หยดติ๋ง ติ๋ง ลงมา แล้วก็ใช้น้ำมันตัวนั้นล่ะทาสังคัง กลับมาเราก็มาค้นดูว่าในน้ำมันกะลามะพร้าวมันมีอะไร ก็รู้ว่า อ๋อมันมีฟีนอล คล้ายๆมีอยู่ในซีม่าโลชั่นนี่เอง   สมุนไพรดีจริงแต่ทำไมไม่ได้รับการส่งเสริมแต่ถึงแม้ว่าสมุนไพรมีประโยชน์และปลอดภัยแต่เมื่อเทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วทำไมคนก็ยังนิยมใช้ยาแผนปัจจุบันมากกว่าใช้ยาสมุนไพรนั้น จุดนี้เธอให้มุมมองว่าต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้าง รวมถึงต้องมีการทำวิจัยต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ และเธอก็เชื่อว่าในโลกข้างนี้จะเป็นโลกของความหลากหลาย มีความจำเพาะ มีความนิยมที่แตกต่าง สมุนไพรก็จะเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้น  คนที่ใช้สมุนไพรไม่ใช่เพราะนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้กินเพราะความจำเป็น แต่โลกทั้งโลกได้เคลื่อนมาสู่การแพทย์ตะวันออก การแพทย์ทางเลือก พลังผู้บริโภคก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน และประเทศของเราก็ต้องหันมาเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองมี ไม่เป็นเหยื่อของกลไกการตลาดที่มาพร้อมกับความคิด ความเชื่อของคน ขณะเดียวกันก็ต้องกลับมามองฐานของบ้านเราต้องสังเกต อย่างกระแสมาปุ๊บเราก็ส่งว่าวขึ้นไป แต่ต้องเตรียมว่าวนะ  เชื่อไหมว่าเราทิ้งงานแพทย์แผนไทยมา 100 กว่าปี เราไม่มีโรงเรียนแพทย์แผนไทย ไม่มีโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ไม่มีกระทรวงแพทย์แผนไทย เรามีแต่โรงพยาบาลแผนตะวันตก แพทย์แผนตะวันตก กระทรวงของหมอแผนตะวันตก หรือแม้กระทั่งเราขาดการสั่งสมความรู้ แล้วเราก็ทิ้งแพทย์แผนไทย แล้วก็บอกว่าโบราณ เหมือนเป็นการตีตราและสร้างคิดความเชื่อเหล่านั้น ถ้ามองแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่ใช่ความคิดของเขาที่ไม่ใช้แพทย์แผนไทย เพราะเขาไม่รู้แล้วก็ไม่คุ้นชิน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาไม่ส่งเสริม การที่เราจะส่งหันกับมาส่งเสริมอีกครั้งก็คือการสื่อสารต่อสาธารณะ สื่อถึงคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจนั่นเอง”   สมุนไพรไทยกับสิทธิบัตร “พูดถึงเรื่องสิทธิบัตรเราสู้เขาไม่ได้ กว่าจะเข้าถึง คือถ้าเขาจะจดสิทธิบัตรเป็นสารก็ว่าไป แต่ถ้าเป็นเรื่องพันธุกรรมก็ต้องสู้กันหน่อย และต้องมีระบบที่รักษาพันธุกรรมของเราไว้ด้วย ถ้ามีวันหนึ่งนะมีการบอกว่าเอาสมุนไพรไปบดขายแล้วมี DNA ตัวนี้แล้วมีระบบสิทธิบัตรเราก็แย่นะ   แต่ถ้าพูดถึงเรื่องตำราพื้นบ้านตอนนี้มีกว่า 500 เล่ม ซึ่งถือเป็นเอกสารข้อมูลวิชาการที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าให้คนรุ่นหลัง ซึ่งหวังว่าตำรายาจะไม่เป็นแค่ใบลาน สมุดข่อย หรือกระดาษที่รอวันผุพัง แต่จะเป็นองค์ความรู้ด้านสุขภาพอันทรงคุณค่าที่จะนำเอาไปใช้จริงได้ อย่างบางตำราก็เป็นคาถา ซึ่งเราต้องฟื้นทั้งกระบวนการต้องให้เคารพในต้นไม้ ในธรรมชาติ คือปัจจุบันเราถูกสอนให้มองหลายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มองสสารต่างๆ มองทุกอย่างเป็นกายภาพ แต่ถ้ามองในมุมมองของหมอพื้นบ้านเราจะไม่มองทางกายภาพ เราจะมองที่ความสัมพันธ์ด้านในมันอธิบายไม่ถูกนะ แค่อยากจะบอกว่าเวลาทำงานพี่มีมิติของหมอพื้นบ้านในตัวพี่เอง” เภสัชกรไม่ใช่แค่หมอยา จากการที่เธอได้ลงพื้นที่ได้ไปเจอพรรณไม้ใหม่ๆ ได้พูดได้คุยกับหมอยาพื้นบ้าน ได้เห็นตำรายา พิธีกรรมต่างๆ ที่หมอยาทำก่อนการรักษาทำให้เธอรู้ว่านี่คือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เริ่มไม่ค่อยได้เห็นมากนัก “พืชพรรณรอบตัวเรามีบทบาทหน้าที่ของมัน มีองค์ความรู้เหล่านี้อยู่ในขณะที่พวกเราถูกตัดขาดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยระบบการศึกษาแผนใหม่ หลายเรื่องเราเพียงท่องไป อย่างเรื่องของน้ำมันจากกะลามะพร้าวที่ใช้รักษาสังคัง เราก็บอกว่า ‘เอ้ย...น้ำมันมะพร้าวหรือเปล่า’ เขาก็หัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก บอกว่าไม่ใช่น้ำมันจากกะลามะพร้าว เขาก็เอาถ้วยมาแล้วเอากะลามะพร้าววางด้านบน เอาถ่านวางในกะลามะพร้าว สักพักน้ำมันก็หยดติ๋ง ติ๋ง ลงมา แล้วก็ใช้น้ำมันตัวนั้นล่ะทาสังคัง กลับมาเราก็มาค้นดูว่าในน้ำมันกะลามะพร้าวมันมีอะไร ก็รู้ว่า อ๋อมันมีฟีนอล คล้ายๆมีอยู่ในซีม่าโลชั่นนี่เอง  เหมือนเราสามารถเชื่อม 2 โลกเข้าด้วยกันก็คือ เภสัชกรจะรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องฟาร์มาโคยีโนมิกส์ เรื่องไบโอเคมี เรื่องออแกนิก เรื่องสารที่ออกฤทธิ์ เรื่องเชื้อโรคต่างๆ เราก็ใช้ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปค้นว่าสารฟีนอล มันทำให้ผิวหนังมีการหลุดลอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถอธิบายได้ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะรู้แต่เรื่องสารเคมี เป็นแพทย์แผนไทยก็จะรู้เรื่องเฉพาะยาไทยโบราณ แต่ตัวของเภสัชกรสามารถเชื่อม 2 โลกได้ คนที่เป็นหมอก็จะไม่รู้เรื่องต้นไม้ เพราะฉะนั้นเภสัชกรคือผู้ที่มีบทบาทที่จะภูมิปัญญาไทยในเรื่องของพืชพันธ์ต่างๆ มาใช้”   รางวัลของชีวิต ง่ายๆ แต่งาม ใครหลายคน คงมีวิธีให้รางวัลกับชีวิตเมื่อทำอะไรสักอย่างสำเร็จ และก็แตกต่างกันไป มาดูรางวัลชีวิตของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ เธอบอกว่า “รางวัลชีวิต” ของเธอเมื่อทำงานชิ้นหนึ่งสำเร็จก็คือ “การได้นั่งอ่านบันทึกเก่าๆ”   “อาจจะไม่เหมือนใคร มันมีความสุขนะเวลาเราได้กลับไปดูบันทึกเก่า ตอนเราเจอต้นไม้ใหม่ๆ เราก็จดทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็ดีที่ได้กลับไปอ่าน ไปทบทวนสิ่งต่างๆ ซึ่งมันดีนะ”   ครั้นถามถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการทำงานให้เธอไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขุนพลหญิงยาสมุนไพร ของเราตอบอย่างหนักแน่นว่า “เพราะเราชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี” นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค

ทุกคนมีสิทธิ 118 สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์/ถ่ายภาพ ปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญไทยที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั่นก็เพราะว่ามีกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น และเป็นถือเป็นครั้งแรกประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 57 “องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างอิสระ และด้วยการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในกฎหมาย ภาพการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 แต่แล้วก็ไปไม่ถึงฝั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกยกเลิกไป จนปี 2550 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถูกบัญญัติไว้อีกครั้งในมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่เน้นย้ำความอิสระของ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ”จากหน่วยงานรัฐจริงๆ โดยไม่อยู่ใต้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งต่างจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ที่ยังอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี  ในที่สุดความคึกคักก็กลับมาอีกครั้งมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐบาล และภาคประชาชนมารวมทั้งหมด 7 ฉบับ และที่ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดของการรอคอยกว่า 13 ปีของผู้บริโภคนั่นก็คือ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฉลาดซื้อขอตามสถานการณ์เรื่องนี้โดยการพาทุกคนมาพูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมาธิการภาคประชาชนนั่นก็คือคุณดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้คร่ำหวอดในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค   องค์การอิสระผู้บริโภคจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ไหมตอบยากนะ เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ การเป็นสมาชิกวุฒิสภามา 2 สมัย ซึ่งก็ 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองและที่ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ องค์การอิสระอย่าง กสช. และ กสทช. ที่จัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมและจัดสรรคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นงานที่เป็นองค์กรผลประโยชน์มหาศาล   เพราะเป็นองค์กรที่ทำให้องค์กรบางองค์กรเสียประโยชน์มหาศาล องค์กรทั้งสององค์กรนี้ยังไม่เกิดขึ้น จนผมพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ซึ่งช่วงที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกมาเราก็กระเหี้ยนกระหือรือ มีความกระตือรือร้นและสุขใจ ว่างานวิทยุโทรทัศน์จะได้เป็นธรรมสักที เพราะสื่อก็น่าจะเป็นของประชาชน ซึ่งก็คิดว่าในเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมและถูกต้อง โดยมี กสช.และ กสทช.เป็นผู้จัดสรร แต่แล้วมันก็ไม่ได้ จนกระทั่งวันนี้จะสิ้นปี 2553 แล้วก็ยังไม่ได้  ที่พูดเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่าไม่มีความมั่นใจเลยว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะออกหรือเราจะได้ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราก็ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัตินี้ และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังมีการประชุมและถกเถียงกันอยู่ อีกอย่างก็คือเราไม่รู้ความผกผันทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนรัฐบาลหรือจะยุบสภาฯไหม หรือถ้าได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ที่ได้มาจะมาต่อยอดเรื่ององค์กรอิสระนี้อีกเมื่อไร เราก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นคำตอบที่น่าเป็นการตอบเพื่อให้กำลังใจว่า “จะได้แล้วจะเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรานี้อยู่” จากประสบการณ์ของผม ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ก็อยากให้ความหวังว่าขอให้มันได้   ระหว่างการพิจารณากฎหมาย อุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรไหมอุปสรรคในการพิจารณาไม่มีนะ แต่มีปัญหาเพราะมันเป็นองค์การใหม่ และรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นในทรรศนะของผม ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้จริงหรือไม่ค่อยอยากจะได้องค์การอิสระฯ นี้นัก เพราะดูแล้วองค์การนี้ไม่ค่อยจะมีอำนาจ ความจริงเราไม่ได้ต้องการอำนาจอะไรนะ เพียงแต่ว่าเราต้องมีสิทธิและอำนาจในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมเพิ่งกลับจากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้พบเรื่องราวความเป็นจริงของงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นรูปธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และจริงจัง ของการบังคับใช้กฎหมายขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์การฯ ที่ภาคธุรกิจจะเกรงใจ และไม่กล้าที่ทำอะไรที่ไปละเมิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ยกตัวอย่างกรณีการบินไทยบ้านเรามีผู้โดยสารต้องการจะซื้อตั๋ว ซึ่งเขาบอกว่าเขาแพ้ถั่ว และเห็นว่าสายการบินนี้มีโฆษณาว่ามีการบริการอาหารสำหรับผู้แพ้ถั่ว ผู้โดยสารท่านนี้เลยต้องการจะบินกับสายการบินนี้ ซึ่งสายการบินก็ยินดีที่จะบริการอาหารที่ไม่มีถั่วให้กับเขา แต่ผู้โดยสารท่านนี้มีข้อแม้ว่า “คนที่นั่งอยู่บริเวณใกล้เขาต้องไม่มีถั่วด้วย” ซึ่งสายการบินก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ จะได้เฉพาะของยูเท่านั้นที่ไม่มีถั่ว แล้วเขาก็หายไปสัก 2 เดือน หลังจากนั้นเขาก็ฟ้องสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกว่านิวซีแลนด์คอมเมิร์ช คอมมิชชั่น พร้อมเรียกค่าเสียหาย ซึ่งผู้จัดการสายการบินบอกว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่เรื่องจะไม่ไปถึง สคบ.นิวซีแลนด์ เพราะถ้าหน่วยงานนี้ตัดสินเมื่อไร 95% ผู้บริโภคจะชนะ ซึ่งเขาให้ความศักดิ์สิทธิว่าผู้บริโภคต้องชนะ เพราะฉะนั้นมีอะไรที่พูดจา อะลุ่มอล่วยกันได้ เขาจะยอมหมด อย่างบินครั้งต่อไปจะอัพเกรดให้ไปนั่งในชั้นบิซิเนสคลาส ซึ่งถ้าบินมาเมืองไทยก็ราวๆ แสนกว่าบาท ซึ่งผู้โดยสารท่านนั้นก็ไม่ยอม ทั้งๆที่ เขายังไม่ได้ซื้อตั๋วและไม่ได้บินนะ แต่เหตุที่เขาอ้างเพราะว่า “เพราะเขาเชื่อโฆษณาทำให้เขาเสียเวลาเข้ามาติดต่อ” แล้วเรื่องก็ขึ้นศาลและศาลตัดสินให้การบินแพ้ ให้จ่ายค่าชดเชย 5,000 นิวซีแลนด์ดอลล่าร์ เห็นไหมว่าเมื่อมีองค์การฯ นี้ขึ้นมา เราต้องกลับมาย้อนมาฟังผู้จัดการสายบินซึ่งบอกมาว่าจะต้องดูแลโฆษณาไม่ให้คลุมเครือเกินจริง และอย่าให้เรื่องไปถึงหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ เพราะเรื่องไปถึงแล้วมีโอกาสแพ้ พอเราฟังเรื่องราวแบบนี้ และถ้ามีองค์การนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยและมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มข้น ประชาชนรู้จักใช้สิทธิ เราก็จะอยู่อย่างไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ   แล้วปัญหาว่าองค์การอิสระผู้บริโภคเป็นเรื่องใหม่คืออะไรถ้ามองกลับมาที่บ้านเราเรื่องของปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ผมเข้ามาประชุมทุกครั้งเรื่องก็จะวนๆ อยู่แต่เดิม เพราะความหวาดระแวงเขาเราที่มีอยู่เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ   และด้วยวิธีคิดของเราไม่เหมือนวิธีคิดของต่างประเทศ ซึ่งบ้านเรายังมองในเรื่องผลประโยชน์อยู่ ซึ่งก็ยังรู้ว่ารูปแบบจะออกมาอย่างไร กฤษฎีกา เอ็นจีโอ รัฐบาลก็ว่าอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกฝ่ายก็พยายามนะครับ ผมได้เตือนสติคณะกรรมาธิการฯ ว่าเราอย่าช้านักนะ เดี๋ยวมันมีความผันผวนทางการเมือง แล้วระยะเวลากว่า 13 ปีขององค์การฯ นี้จะเป็นอย่างไร คือในชีวิตนี้ของผมอย่างเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค  อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องงบประมาณ ผมคิดว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. นั้นมีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงน้อยนิด และมีงบประมาณน้อยทั้งที่ทำงานใหญ่ สมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็มีงบไม่ถึง 100 ล้านในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคที่ทุกคนถูกเอาเปรียบจากการบริโภคแทบทั้งสิ้น แล้วเราก็มีองค์กรอยู่เล็กนิดเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ.มีองค์การฯ นี้เกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาอย่าง พ.ร.บ.ที่คุณสารีเสนอมาก็เสนอให้คิดหัวละ 5 บาท จากประชาชน 60 ล้านคน ก็จะงบประมาณสนับสนุน 300 ล้านบาท ทีนี้พอเขียนเป็นกฎหมายแล้วก็ต้องบอกให้ละเอียดอีกว่าจากเงิน 5บาท อาจจะเหลือบาทเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดหลายๆ แบบว่าเงินสนับสนุนจะมาจากทางไหน งบประมาณอาจจะให้มาจากรัฐบาล จากสำนักงบประมาณซึ่งก็ต้องผ่านรัฐสภา ผ่าน ส.ส. ผ่าน สว.ซึ่งก็จะไปติดขัดเรื่องผลประโยชน์อีก ผลประโยชน์ในที่นี้ก็คือคนที่อยู่ในสภาฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจ เป็นคนที่มีผลประโยชน์อยู่ ซึ่งถ้าองค์การฯ นี้แข็งแรงมาก เขาก็คงไม่อยากให้แข็งแรงมากอาจจะให้เงินน้อยๆ ก็พอ ผมเคยพูดนานแล้วว่า ปปช. เนี่ยสมควรที่จะให้เงินเขาไปเป็นหมื่นๆ ล้าน ยังจะคุ้มเลยในการเข้าไปปกป้องรักษาการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ปีหนึ่งไม่ใช่น้อยแต่มันเป็นแสนๆ ล้าน   องค์การอิสระฯ ที่อยากเห็นเป็นอย่างไร อยากให้คล้ายกับนิวซีแลนด์ไหมใช่เลยครับอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้มีอำนาจและหน้าที่ ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงๆ แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเพียงแค่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นในการออกมาตรการ กฎหมาย   องค์การอิสระผู้บริโภคเรียกได้ว่าก้าวมาไกลพอควรแล้วอยากจะบอกอะไรถึงผู้บริโภคผมอยากจะฝากให้ประชาชนได้ใส่ใจถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง เพราะประชาชนไม่ค่อยสนใจ แทบจะไม่เห็นว่ามีข่าวในสื่อต่างๆ เลยในเรื่องของการที่จะมี พ.ร.บ.นี้ พูดก็พูดเถอะนะว่าจะมีก็แต่หนังสือฉลาดซื้อกับหนังสือคู่สร้างคู่สมนี่ล่ะ ที่ชี้นำและส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ และอยากวอนขอให้สื่อได้นำเสนอชักจูงประชาชนให้ใส่ใจและเฝ้ามองดูว่าในสภาฯ เขาทำอะไรกันอยู่ในเรื่องนี้   ขอย้ำอีกอย่างก็คือในประเทศไทยเรามีกฎหมาย มี พ.ร.บ.เป็น ร้อยเป็นพัน แต่มีกฎหมายไม่กี่ฉบับที่ประโยชน์เป็นของประชาชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ กฎหมายที่ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นของราชการในการที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคนั้นถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรรมการก็จะมาจากผู้บริโภค องค์การอื่นๆ ก็จะมาจากหลายภาคส่วน แต่ไม่มีผู้บริโภค อย่างผู้พิพากษา นักวิชาการ แต่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นประชาชนต้องสนใจต้องใส่ใจ ก็อยากจะขอวอนให้หันมาใส่ใจซึ่งก็ไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 GNH ความสุขมวลรวม เราสร้างได้

ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีภูฏาน  ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Sustainable Development through Gross National Happiness" ในงาน Thailand Sustainable Development Symposium 2010 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness หรือ GNH) เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เน้นมุมมองเรื่อง “ความสุข” ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลักโดยเน้นตามหลักพุทธศาสนา ฉลาดซื้อขอนำ “สกู๊ปพิเศษ” ว่าด้วยเรื่องของความสุขนี้มาบอกค่ะ ความคิด GNH นั้นคำนึงถึงความเป็นองค์รวมด้วยการพิจารณามิติทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมิติ อื่นๆได้แก่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครองที่ดี โดยมีหลัก 4 ประการดังนี้ ซึ่งถือเป็นหลักนโยบายและแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ของประเทศภูฏาน ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี   หลัก 4 ประการของ ความสุขมวลรวม (1) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตามแนว "ทางสายกลาง" (sustainable economic development) ไม่เร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางนิเวศและสังคมในระยะสั้น หากจัดสมดุลระหว่างตัวเลข พฤติกรรมการบริโภคและคุณค่าด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเอง (2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (conservation of the environment) ให้หลักประกันที่ว่า การพัฒนาใดๆ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน หรือประเพณีท้องถิ่น หรือจากปัจเจกบุคคล จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติอาจหมดลงได้ในวันหนึ่ง เราทุกคนจำเป็นจะต้องบำรุงเลี้ยงและปกป้องโลกในฐานะ “บ้านของเราทุกคน” (3) การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม (promotion of national culture) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักให้อภัย การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นต้น กำลังถูกกัดกร่อนจากโลภจริตหรือความโลภ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในขณะนี้ อันที่จริงแล้วคุณค่ามนุษย์ดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความหมาย มีความเอื้ออาทรต่อกัน และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (4) การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) เป็นเงื่อนไขสำคัญเช่นกันในการนำพาประชาชนไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ประเทศทั้งหลายในโลกจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม กำลังถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชนท้องถิ่นและชุมชนระหว่างประเทศ ให้เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหรือ "ธรรมาภิบาล" จากหลักการ 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้น  ประเทศภูฐานซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้  อันมีพระราชาธิบดีองค์ที่สี่ พระเจ้า Jigme Wangchuck ทรงเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 ว่า “Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”  (ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)  (ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา)ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวว่าสิ่งที่ประเทศภูฐานได้พยายามดำเนินโยบายการพัฒนาประเทศมาตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด GNH ที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ 1. นโยบายการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นปริมาณแต่คำนึงถึงคุณภาพ  โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการไหล่บ่าของวัฒนธรรมบริโภคนิยม  วัฒนธรรมที่มากับนักท่องเที่ยวยังอาจจะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบและสร้าง ความรู้สึกด้อยต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น  โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่อาจจะได้รับอิทธิพลและนำมาเป็นแบบอย่าง  รวมทั้งแรงกดดันที่ต้องการเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวด้วยการเร่งสร้างโรงแรม และสาธารณูปโภครองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  ก็อาจจะส่งผลต่อความไม่สมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะการกระตุ้นให้มี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตลอดทั้งปีก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ   เพราะผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมดังที่กล่าวมา  (GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด) 2. จำกัดการใช้ป่าไม้เพื่อการพาณิชย์  แต่ให้เป็นไปเพื่อการใช้สอยของครัวเรือนได้ หากแต่มีการควบคุม ปัจจุบันประเทศภูฐานมีกฎหมายป่าชุมชน เพื่อการดูแลรักษาป่าไม้  ซึ่งยังมีอยู่ถึง 70 % ของพื้นที่ประเทศ 3. เมื่อปีที่แล้ว ประเทศภูฏานได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปการศึกษา และรัฐบาลถือเป็นนโยบายให้นำแนวคิดเรื่อง GNH บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาชั้นประถมวัยจนถึงระดับ อุดมศึกษา  มีการจัดการอบรมครูทั่วประเทศเรื่องความเข้าใจในแนวคิดเกี่ยวกับ GNH   และการทำโครงการเชิงปฏิบัติการของโรงเรียนเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง GNH เช่นโครงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  การกำจัดขยะด้วยวิธีการทางชีวภาพ 4. ประเทศภูฏานกำหนดเป็นมาตรการห้ามมิให้ผู้ค้า ร้านค้า และตลาดใช้ถุงพลาสติก 5. ประเทศภูฏานประกาศเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ โดยควบคุมการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีส่วน ประกอบของการปลูกพืชทางการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ร่วมกันไป เช่น วัว และจามรีในพื้นที่สูง มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นปุ๋ยสำหรับพืชที่ปลูก 6. ด้านการสาธารณสุข แม้จะยังเป็นสาธารณสุขขั้นต้น ยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่รัฐก็ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จัดการดูแลรักษาพยาบาลให้ฟรี ถึงแม้จะยังไม่มีตัวชี้วัดความสุขที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ประเทศภูฏานคำนึงถึงก็คือ การวัดระดับความสุขขั้นพื้นฐานได้ ทั้งคุณภาพของโภชนาการการมีอาหารที่ดีกิน  การมีที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพที่ดีที่ต้องนอนวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ทำงาน 7 ชั่วโมง เวลาที่เหลือคือการให้สังคม  เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสุข ไม่ได้เน้นที่เงินทอง เช่นไปเลี้ยงเด็ก อยู่กับครอบครัว และซึ่งจะส่งผลทำให้เรามีชีวิตชุมชนที่ดี (อ้างแล้ว 2)   GNH vs GDP กระแส GNH  มีการเคลื่อนไหวเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติสู่กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ดำเนินการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 7 ครั้ง  เพื่อพัฒนาหัวข้อการวิจัยระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 – เดือนกุมภาพันธ์ 2553  ได้นำแนวคิด GNH มาศึกษาและพิจารณาร่วมกับแนวคิดที่มุ่งสร้างความสมดุล เช่น เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  หรือความคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี เป็นที่น่ายินดีที่มีหลายความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น  โดยพยายามนำเสนอเรื่องการพัฒนาทางเลือกที่ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่  ที่พ้นจากวิธีคิดแบบเอา GDP เป็นตัวตั้งเท่านั้น และเกิดการทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศและสังคม รวมทั้งการใช้ชีวิตของเรา  การนำเสนอวิธีคิดอย่างนี้อาจส่งผลต่อวิถีการผลิตและการตลาด  ระบบเศรษฐกิจอย่างใหม่นี้ควรมีพื้นฐานของของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแบบที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ควบคุมธรรมชาติ  การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมแบบเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขัน (อ้างแล้ว 2) ในประเทศไทย แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในด้านนโยบายจะผลิตตัวชี้วัดที่มากกว่า GDP แต่โดยภาพรวมประเทศก็ยังถูกขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาที่เร่งตัวเลขและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่แนวคิดที่พยายามถ่วงดุลหรือปรับแนวทางการพัฒนาให้คำนึงถึงความ ยั่งยืนมากขึ้น  มีชุมชนบางแห่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้วด้วยความตระหนักถึงผลกระทบ ของกระแสบริโภคนิยม  จึงร่วมกันหาหนทางป้องกันจนนำมาสู่การปรับเปลี่ยนและให้ความสนใจในแนวทางการ พัฒนาแบบพึ่งตนเอง  การให้ความสำคัญกับเรื่องความสุขที่แท้และความพอเพียง ถึงเวลาแล้วที่ GNH จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ข้อมูลอ้างอิงจาก 1 ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา 2 GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 116 ซื้อบ้าน...ใครก็อยากได้ในสิ่งที่สัญญาว่าจะมี

  “ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน…” อภิภพ พึ่งชาญชัยกุล หนึ่งในลูกบ้าน ที่ฟ้องโครงการหมู่บ้านจัดสรรชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับฉลาดซื้อ หลังมีคำพิพากษาว่าให้ทางโครงการบ้านจัดสรรสร้างคลับเฮ้าส์ สระว่ายน้ำและรั้วด้านหน้าโครงการ รวมถึงให้จ่ายค่าเสียหายให้เขาและลูกบ้านที่ร่วมกันฟ้องอีกเดือนละ 30,000 บาท นับตั้งแต่วันที่เขายื่นฟ้อง จนกว่าทางโครงการจะสร้างคลับเฮ้าส์เสร็จ ฉลาดซื้อขอยกย่องให้เป็นสุดยอดคนพิทักษ์สิทธิอีกหนึ่งคนค่ะ เราจะพาคุณไปคุยกับ อภิภพ  พึ่งชาญชัยกุล กันค่ะ  ไปดูว่าเขาและลูกบ้านมีวิธีการพิทักษ์สิทธิตัวเองจากการไม่สร้างคลับเฮ้าส์ของโครงการหมู่บ้านจัดสรรอย่างไร   บ้านหลังแรกในชีวิต“บ้านหลังนี้คุณแม่ซื้อให้หวังให้เป็นเรือนหอครับ ก่อนซื้อเราก็ดูหมดทุกอย่างแล้วตามข้อแนะนำการซื้อบ้าน ทั้งโครงการที่น่าเชื่อถือ ดูทำเล ไป-มาสะดวก เพราะผมทำงานอยู่สมุทรสงครามและบ้านก็อยู่ไม่ไกลเกินไป สุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) – กับบางประกง ขนาดเอาเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยดูโครงสร้างบ้านดีไหม ทุกอย่างดีหมด บ้านก็สร้างเสร็จแล้วนะตอนที่เราซื้อ เหลือแค่ตกแต่งเหลือแต่คลับเฮาส์ยังสร้างไม่เสร็จ เขาก็พาไปดูนะว่าที่เขากันไว้แล้ว มีแบบแล้ว กำลังจะลงมือ ก็ดูหมดทุกอย่าง แต่ก็โดนเข้าจนได้”อภิภพ หวังที่จะซื้อบ้าน เพื่อครอบครัว เมื่อมีลูกก็อยากให้ลูกได้วิ่งเล่น แทนที่จะอยู่บนคอนโดเหมือนตอนที่เขายังไม่ซื้อบ้าน เขาจึงตัดสินใจซื้อบ้านกับโครงการบ้านจัดสรรชื่อดังแถวอ่อนนุชในปี 2549 ในราคา 15 ล้านบาท โดยทางโครงการโฆษณาไว้ว่าจะมีคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีก รวมทั้งมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คุณอภิภพ และครอบครัวตัดสินใจซื้อบ้านที่นี่ ทั้งที่เขาก็ตระเวนดูมาหลายโครงการแล้ว แต่ที่โครงการนี้ตรงใจเขาที่สุด หลังจากอยู่ไปสักระยะ เขาและครอบครัวก็เฝ้ารอคลับเฮาส์ที่ทางโครงการโฆษณาไว้ แต่เฝ้ารอ รอ และรอ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะสร้างแต่อย่างใด เขาจึงรวมตัวกับลูกบ้านเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะส่วนตัวแล้วเขาก็เป็นผู้ที่รักษาสิทธิตัวเองอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว อีกทั้งยังเรียนกฎหมายมาเป็นทุน  หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ฟ้องอย่างไรให้ได้ผล แรกๆ เราก็ปรึกษากัน แล้วก็คุยกับทนายว่าจะฟ้อง แล้วพอทนายเขาดู ก็บอกว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงนะถ้าจะยื่นฟ้อง คือในหมู่บ้านผมมีโครงการโปรเจ็คหน้า 48 หลัง แต่ว่าเขาขายได้ประมาณ 20 หลัง แล้วเขาหยุดขาย พอหยุดขายปุ๊บ อะไรก็ไม่ทำทุกอย่างเลย  ขนาดฝาท่อยังไม่ปิดเลย เขาหยุดแล้วย้ายสำนักงานขายออกไปเลย(ทั้งที่จริงๆ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากด้วย) เรากับเพื่อนบ้านก็เลยเริ่มคุยกัน เราเริ่มคุยกับทางโครงการมา 2 ปี ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ พอเข้าไปคุยกับทางโครงการ เขาก็จะผัดวันประกันพรุ่ง  เดี๋ยวส่งคนโน้นมาคุย พอไปคุยใหม่ก็ส่งอีกคนมาคุย เปลี่ยนคนมาตลอดระยะ 2 ปี จึงไม่ความคืบหน้าอะไร ก็ทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) แต่พอถึงเวลาไกล่เกลี่ยก็ไม่สามารถจัดการทางโครงการได้ เพราะตัวแทนโครงการ เขาไม่มา สคบ.เขาก็ทำอะไรให้ไม่ได้ สคบ.จะทำเรื่องเสนอกรรมการดูว่าจะฟ้องคดีให้เราได้ไหม เราก็ถามว่าต้องรอนานแค่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ แล้วตอนนั้น มีกฎหมายผู้บริโภคใช้แล้ว(พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 ประกาศใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551)  ผมกับเพื่อนบ้านอีก 5 หลัง ก็เลยยื่นฟ้องไปเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2552 จริงๆ ตอนฟ้องไปเราก็คิดว่าคงใช้เวลานาน แต่มันก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เพราะเขาไม่คุย เราก็เลยฟ้อง ทีนี้เราฟ้องเราก็ฟ้องทั้งบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ เขาก็มีพูดนะว่าเขาจะฟ้องกลับ ฟ้องหมิ่นประมาทเรา ฟ้องว่าเราฟ้องเท็จ เขาก็มีพูดเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำ แล้วเรื่องของเราก็เป็นข่าวนะ เขาไปยื่นฟ้องนักข่าวที่เขียนข่าวของเราแทนก่อนยื่นฟ้องเราก็หาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเองด้วยนะครับ ว่าถ้าทางโครงการจะสร้างคลับเฮาส์จะต้องใช้เงินเท่าไร ก็ให้สถาปนิกช่วยตรวจประเมินราคาคลับเฮ้าส์ กับโครงการบ้านจัดสรรชื่อเดียวกันนี่ละที่เขาสร้างเสร็จแล้ว ว่าเขาใช้งบสร้างไปเท่าไร ซึ่งประเมินออกมาแล้วก็ไม่เท่าไรนะครับ ค่าก่อสร้างประมาณ 13,800,000 บาท ค่าติดดวงไฟและค่าสร้างรั้วอีก 500,000 บาท แต่เขาไม่สร้างให้เรา เราก็เลยยื่นฟ้องโครงการว่าผิดสัญญา เรายื่นฟ้องไป 25 เปอร์เซ็นต์จากราคาบ้านและที่ดิน รวมดอกเบี้ยอีก 7 เปอร์เซ็นต์ พอเรายื่นฟ้องคดีเขาบอกกับเราว่า ‘เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจให้เราถอนฟ้อง แล้วค่อยมาคุยกัน เราก็บอกว่าทำไมไม่กลับกันล่ะ คุณทำอะไรก่อนสิแล้วเราจะถอนฟ้องให้‘ แต่เราไม่ถอนฟ้อง เพราะดูสิทธิแล้ว ถอนฟ้องแล้วเราฟ้องอีกไม่ได้ มันจะกลายเป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน มันทำไม่ได้ เราก็ต้องรักษาสิทธิเอาไว้ก่อน เดี๋ยวถ้าเราถอนฟ้องแล้วคุณไม่ทำ ไม่สร้าง จะทำยังไง ก็จบล่ะสิทีนี้ หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ผมก็เก็บไว้ทุกอย่าง ทำไมที่ต้องเก็บนะเหรอครับ เพราะว่ามันมีผลทางกฎหมายเราสามารถใช้อ้างอิงได้ เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะว่าพวกนี้ถ้าตีความตามกฎหมายก็คือถือเป็นส่วนหนึ่งของคำเสนอขาย เพราะฉะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ถึงแม้ตอนที่เราทำสัญญา เขาอ้างในสัญญาซื้อ – ขาย นะว่าเขาไม่ได้ระบุเรื่องพวกสาธารณูปโภคพวกนี้ไว้เลย แต่เราก็อ้างว่าคุณมีในโบรชัวร์ไว้แบบนี้ก็ถือเป็นสัญญาเสนอขาย คนทั่วไปบางทีไม่เก็บนะ แต่ผมเก็บ อยากบอกคนอื่นๆ ว่าเก็บไว้เถอะครับ สักวันหนึ่งจะมีประโยชน์ คดีของผมกับลูกบ้านอีก 5 คนถือว่าเร็วนะครับคือพอไต่สวนมูลฟ้อง ศาลท่านก็ถามว่าพอจะตกลงกันได้ไหม ทางโน้นเขาก็รีบบอกว่าตกลงได้ มันก็ไปเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เหมือนเดิม มันก็เหมือนตอนที่เราไปคุยกับบริษัทเขาเมื่อสองปีที่ผ่านมา เสียเวลาไกล่เกลี่ยไปประมาณ 6-7 เดือน เพราะนัดทีหนึ่งก็นัดห่างกันสองเดือนหรือเดือนครึ่งบ้างประมาณนี้ สุดท้ายพอกลับมาเข้ากระบวนการน่าจะใช้เวลาไม่นาน แค่นัดหรือสองนัดก็จบ ไม่นานก็มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งพิพากษาออกมาว่าให้สร้างคลับเฮาส์ให้เรา  พร้อมจ่ายค่าเสียหายให้เราเดือนละ 30,000 ต่อบ้าน จนกว่าจะสร้างเสร็จคลับเฮาส์เสร็จ หรือจนกว่าจะครบ 25% ของราคาบ้านของแต่ละหลัง ซึ่งผมมองว่าท่านตัดสินให้ดีมากเลย   เงิน ไม่ใช่ประเด็น ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน เพียงแต่ศาลท่านก็บอกว่าคุณฟ้อง คุณก็ต้องให้ในสิ่งที่ศาลให้ได้ ซึ่งที่เราเรียกไปคือมูลค่าบ้าน 25% ของราคาบ้าน เพื่อนบ้านอีก 9 หลังก็เตรียมจะยื่นฟ้อง ซึ่งถ้าผลการพิพากษาออกมาแบบเดียวกัน รวมแล้วก็เกือบ 60-70 ล้าน กับการที่โครงการสร้างคลับเฮาส์ให้พวกเรา มันน่าจะง่ายกว่าการต้องมาเสียเงินก้อนนี้ให้พวกเรานะ ผมว่า คือถ้าโครงการไม่โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ เราไปดูโครงการอื่นที่มันถูกกว่านี้ หรือแม้กระทั่งโครงการอื่นที่เขามี เขาก็อาจจะถูกกว่านี้ แต่ที่เราเลือกโครงการนี้มันเพราะหลายๆอย่าง เราซื้อของอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะคุณสมบัติข้อเดียว มันต้องดูคุณสมบัติหลายอย่างร่วมกัน ทั้งทำเล ตรงนี้ทำเลดี บ้านแพงแต่ถือว่าทำเลดี ถ้าในอนาคตเราขายมันก็คงได้ราคาดี ในตอนนี้มีคนในหมู่บ้านเขาบอกขายนะ ไม่มีคนซื้อ เพราะมาถึงมาดูสภาพแล้วจะซื้อลงได้ยังไง ราคาก็ตก ขายถูกยังไม่มีคนเอาเพราะมันไม่น่าอยู่แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงที่รออยู่ครับ รอว่าหลังหนึ่งเดือนหลังจากคำพิพากษา ทางโครงการ จะอุทธรณ์หรือเปล่า ถ้าอุทธรณ์ก็จะต้องสู้กันต่อ ที่ลุกขึ้นมาสู้ก็เพราะว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ อย่างที่เห็นป้ายติดข้างนอกว่า ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง ไม่อย่างนั้นก็บ่นกันไปแบบนี้ ตอนนี้เพื่อนบ้านรู้จักกันหมดทุกคนดีไปอย่างครับ   กฎหมายผู้บริโภคช่วยได้เยอะ ถ้าหากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ส่วนตัวผมยอมรับครับว่าก็ต้องคงยากนะ  แต่กฎหมายตัวนี้อ่านง่ายนะครับ คือกฎหมายเขาเขียนไว้ให้อ่านง่ายพอสมควร และดีอีกอย่างก็คือว่าเจ้าพนักงานคดีที่ศาลเขาช่วยเราเยอะ อะไรที่เราเข้าใจผิดเขาก็อธิบายให้ฟังว่าเราทำได้ อะไรไม่ได้ ในตอนนี้ในแง่ของผู้บริโภค ผมว่าอาจจะเป็นคุณูปการไม่กี่อย่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีออกกฎหมายตัวนี้ออกมามองว่ามันทำให้คุณภาพชีวิตเราสูงขึ้น  ผู้ประกอบการจะทำอะไรออกมาขายก็ต้องคิดดีๆ นะ แม้กระทั่งประเด็นหลักๆ ผมมองว่าในส่วนของผู้จัดจำหน่าย จริงๆ ผู้ผลิตทุกคนอยากทำสินค้ามีคุณภาพ แต่เราก็ถูกบีบจากผู้จัดจำหน่าย ห้างอยากซื้อของถูก เพราะตอนนี้ พ.ร.บ.ความรับผิดกับสินค้าไม่ปลอดภัย เอาผิดทั้งหมด ผู้จัดจำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบ ผู้ผลิต ผู้โฆษณา ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบกันหมด ผมว่าถ้ามันทำให้มีของที่มีคุณภาพอยู่ในตลาดมากขึ้น คดีพวกนี้มันก็จะน้อยลง มันก็จะฟ้องในเรื่องใหญ่ๆ จริงๆ เรื่องจิ๊บๆจ้อยๆ มันก็ไม่ควรจะมาขึ้นศาล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 ขอนแก่นโมเดล

“เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นทางการรักษา เราก็ต้องขอโทษและแสดงความรับผิดชอบ เยียวยาและชดเชยความเสียหายในสิ่งที่เขาควรจะได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาดขึ้นหรอกครับ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับและขอโทษ” นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2552 โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นตกเป็นข่าวครึกโครม เมื่อคนไข้ที่ผ่าตัดต้อกระจกจากโรงพยาบาลฯ ติดเชื้อจากการรักษาถึง 10 ราย ตาบอดถาวร 7 ราย มองเห็นเลือนลาง 3 ราย แต่ที่นี่ไม่มีคนไข้รายใดฟ้องร้องคุณหมอหรือโรงพยาบาล นับเป็นกรณีตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่น่าสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังลูกผีลูกคนรอเข้าสภาอยู่ และมีแพทย์บางกลุ่มออกมาคัดค้านเสียงดังว่า หากกฎหมายตัวนี้มีการบังคับใช้ คุณหมอและโรงพยาบาลจะถูกฟ้องมากขึ้น ความกังวลของกลุ่มแพทย์ที่คาดเดาไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับอนาคตที่อาจต้องตกเป็นจำเลยเพราะถูกฟ้องร้องวุ่นวายจากคนไข้ ฉลาดซื้อฉบับนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปคุยกับ น.พ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ซึ่งผ่านอนาคตอันน่าเป็นห่วงของหมอบางกลุ่มมาแล้ว "ขอนแก่นโมเดล" ห้องทดลองภาคปฏิบัติของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ถ้ามี พ.ร.บ.ตัวนี้ออกมาตอนนั้นผมคิดว่าจะช่วยคนไข้กับโรงพยาบาลของผมได้เยอะนะในตอนที่เกิดเหตุขึ้น เพราะคนไข้ที่ตาบอด 10 รายเป็นคนไข้บัตรทอง 6 ราย และอีก 4 รายใช้สิทธิข้าราชการ พอเกิดเหตุขึ้นก็กลายเป็นว่าคนไข้บัตรทองได้สิทธิที่ดีกว่า เพราะได้รับสิทธิการชดเชยตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิของข้าราชการ เชื้อแบคทีเรียที่คนไข้ติดเชื้อชื่อว่า ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ในตัวคนก็มี ทางเราก็รักษาความสะอาดอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อเกิดติดเชื้อก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย พอเรารู้ว่ามีการติดเชื้อเราก็เรียกคนไข้ที่ผ่าตัดในช่วง 1 – 3 วัน กลับมาทั้งหมด คนที่ติดเชื้อเราก็รับตัวเข้ารักษา จะมีบางรายที่เขาไม่มั่นใจก็ขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น ทางเราก็ทำเรื่องให้ บางรายต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคตาเราก็ส่งตัวให้ไปรักษา การเยียวยาดำเนินการอย่างไร และทำอย่างไรให้คนไข้หรือญาติเข้าใจ คนไข้บางรายที่เกิดการติดเชื้อเร็วก็จะมาหาเราก่อนเพราะเขาปวดและบวม ญาติเขาก็เกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางคนก็โวยวาย บางคนก็เริ่มกังวลว่าตาจะบอดไหม จะรักษาได้ไหม จะต้องทำอย่างไร ตอนนั้นคำถามก็พรั่งพรูมาเต็มไปหมด ญาติคนไข้ก็เครียดหน้านิ่วคิ้วขมวด อารมณ์ก็ร้อน ทำไมตรวจช้ารักษาช้า คล้ายๆ ว่า “เขาไม่ได้คำตอบจากเรา” ทีมหมอและพยาบาลก็เครียด การเกิดเหตุแบบนี้นานๆ จะเกิดสักที ผ่าตัดไปหนึ่งหมื่นก็จะเกิดขึ้นสักรายหรือสองราย เราก็ตั้งใจรักษาพยาบาล ดูแลพวกเขาเต็มที่ สักพักทั้งคนไข้และญาติก็เริ่มสงบลง เราก็ถามญาติว่าต้องการรักษาที่ไหนที่ไม่ใช่โรงพยาบาลของเราบ้าง เราก็ทำเรื่องส่งไป ขณะเดียวกันเราก็จะทำทีมขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ป่วย จะมีทีมสอบสวนโรค ทีมรักษาโรค คนที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลขอนแก่นเราก็ไปดูแลทุกวัน ตามไปดู ไปคุยกับหมอที่นั่นเพื่อร่วมกันรักษา และเฝ้าติดตามอาการของพวกเขา ใครที่ดีขึ้นแล้วและอยากกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลของเราก็ไปรับกลับมา ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไปรักษาต่างโรงพยาบาลเราก็รับผิดชอบ พออาการอักเสบทุเลาลงเราก็จะเริ่มรู้แล้วว่า บางรายต้องควักลูกตาออก บางรายต้องขูดเนื้อเยื่อออก บางรายรู้แบบนี้ก็ร้อนขึ้นมาอีก เราต้องคุยกับคนไข้และญาติตลอด จะมีหมอและพยาบาลเป็นทีมไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจ แต่หลักๆ เราจะสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน ไม่ทอดทิ้งเขา อยู่เป็นเพื่อนเขาให้เขารู้สึกว่า “เขายังพึ่งเราได้” จากนั้นเราก็เริ่มการเยียวยาและชดเชยด้านสิทธิการรักษา ใครมีสิทธิตามมาตรา 41 เราก็ทำเรื่องให้ ไปแจ้งกรรมการกองทุนชดเชยและเยียวยา และคุยกับกรรมการว่าให้เร่งพิจารณาให้หน่อย ส่วนนี้ก็ได้รับการเยียวยาเต็มที่ซึ่งตามสิทธิของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ว่าถ้าพิการต้องชดเชย 120,000 บาท ส่วนกลุ่มข้าราชการก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ใช้เงินจากโรงพยาบาลเยียวยาให้ บางรายก็พอใจ แต่บางรายไม่พอใจ เราก็เจรจากันใหม่ ก็จ่ายไปเท่าๆ กัน ซึ่งตามหลักการแล้วผมคิดว่ากฎหมายใหม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะครอบคุลมไปถึงสิทธิการรักษาอื่นๆ ด้วย เพราะมาตรา 41 จะมีข้อจำกัดการรักษาแค่สิทธิผู้ถือบัตรทอง ระหว่างการรักษาเยียวยามีการเรียกร้อง(ฟ้องร้อง)ค่าชดเชยจากคนไข้ไหม คนไข้เขาก็ดีนะ เขาไม่ได้เรียกร้องโดยตรง เขาจะถามว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป แต่เราต้องเร็วและต้องรู้ว่าสัญญาณแบบนี้คือสัญญาณบอกเหตุ อย่างการพาทนายมาด้วย มาดูว่านอกจากการรับรักษาต่อแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไปไหม อย่างผู้ป่วยบางรายพอเข้ารักษาตัว เขาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ตรงนี้เราก็ต้องดูแล บางรายลูกหรือสามีต้องมาเฝ้าแล้วไม่ได้ไปทำงาน ไม่มีรายได้ เราก็ต้องเข้าถึงผู้ป่วยนะ แรกๆ เขาก็ไม่บอกเราหรอกว่าเขามีปัญหา เราก็ถามไป พอเขาบอกเราก็รู้แล้วว่าเขาเดือดร้อน แล้วก็ช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อน ชาวบ้านที่มารักษายากจน หาเช้ากินค่ำ คนที่มีฐานะดีเขาก็อยากรู้ว่าเราจะช่วยเหลืออะไรเขาบ้าง เขาไม่ได้ถามนะว่าเราจะให้เท่าไร แต่เราต้องรู้ เราต้องเปิดเวทีเจรจาพูดคุยกัน เราก็ตั้งโต๊ะกลมเจรจาขึ้น มีหมอ พยาบาล นักจิตวิทยา ฟังคนไข้กับญาติระบายความกังวล ความคับข้องใจ และต่อว่าต่อขานเรา เราก็ต้องรับฟังและต้องขอโทษตลอด ต้องแสดงความรับผิดชอบ และต้องไม่ทอดทิ้ง เราต้องเป็นที่พึ่งเขาได้ เบื้องต้นเราเยียวยาให้ก่อน 3,000 บาท เพราะครอบครัวเขาเดือดร้อน แล้วก็เพิ่มเป็น 50,000 บาท แล้วสุดท้ายเราเยียวยาให้เขารายละ 300,000 บาท แต่เราจะให้เขาเท่าไรมันก็ไม่สมกับที่เขาต้องสูญเสียดวงตาของเขาหรอกนะ พอเราทำดีกับเขาเขาก็เห็นความจริงใจของเรา และเห็นใจเรา เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เรื่องแบบนี้เกิด เขาก็เห็นใจหมอ เห็นใจพยาบาล ก็ให้กำลังใจ และนี่คือสัญญาณที่ดีแล้ว เพราะคนไข้ให้กำลังใจ บางรายยกมือท่วมหัวขอให้คุณพระ คุณเจ้าคุ้มครอง อวยพรให้เราด้วยทั้งที่เขาตาบอด นอกจากเราจะเยียวยาผู้ป่วยแล้ว ทีมหมอที่รักษาเราก็ต้องดูแลพวกเขาด้วยเหมือนกันเพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แรกๆ ที่เกิดเหตุก็จะมีการถามถึงคุณหมอว่าหมอคนไหนรักษา เราก็ต้องดูแลหมอด้วยเหมือนกัน คุณหมอมีความเห็นอย่างไร ต่อท่าทีของหมอหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ว่า หากมีกฎหมายขึ้นมาจะทำให้หมอถูกฟ้องมากขึ้น บางคนกังวลว่าจะมีการฟ้องร้องมากขึ้น ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมากขึ้น หรืออาจจะมีคนมาหากินกับกองทุนนี้หรือเปล่า แล้วทำให้หมอไม่กล้ารักษาผู้ป่วยหนักเพราะกลัวจะผิดพลาด นั่นก็เป็นธรรมดามันเป็นเรื่องความกังวล เพราะหมอเขารักษาผู้ป่วยทุกวัน ก็อาจจะมีสักวันที่เกิดพลาดขึ้นมา ผมคิดว่าก็น่าจะมีการศึกษาให้เข้าใจมากขึ้น แล้วก็ต้องมองโลกในแง่ดีว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น คนที่เขาจะฟ้องอย่างไรก็ต้องฟ้อง แต่จากประสบการณ์ตรง คนที่ฟ้องน่ะไม่เยอะ แต่คนที่ร้องเรียนมีเยอะ อย่างพูดไม่เพราะ หรือผ่าตัดไม่ดี หรือว่ารักษาไม่ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่ก็จะคลี่คลายได้ด้วยการเจรจาต่อรองและช่วยเหลือให้เขาพอใจ มีน้อยรายที่จะฟ้อง เพราะถ้าฟ้องปุ๊บก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่แล้วก็จะเรียกร้องค่าเสียหายเยอะ คุยกันจะดีกว่าเพราะว่าคนไข้ก็ไม่ตั้งใจจะฟ้องหรอกถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ หมอเองก็ไม่ได้มีเจตนาจะรักษาให้ผิดพลาดแต่เพราะมันสุดวิสัยจริงๆ ถ้าหากว่ามีกองทุนตาม พ.ร.บ.นี้มาก็น่าจะทำให้บรรยากาศไม่ร้อนแรง เพราะจะมีการเยียวยาก่อนโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ให้บรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน ตามธรรมชาติของคนไข้ถ้าเขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็จะหันไปหาทนาย หันไปหาสื่อหรือว่าไปแจ้งตำรวจ พอได้รับการเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วความร้อนแรงก็จะลดลง และก็จะเป็นเวทีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ และเป็นการพัฒนามาตรฐานการให้บริการด้วย แต่ความกังวลต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้หากยังขาดความเข้าใจ ผมว่าถ้าเลือกที่จะมาเป็นหมอแล้ว ก็จะไม่บ่ายเบี่ยงที่จะไม่รักษาคนไข้หรอก ขอเพียงหมอมีความรู้ความเข้าใจ และมีความสามารถที่เพียงพอ หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมองหาลู่ทางส่งต่อการรักษาแล้วว่าจะส่งไปที่ไหน ผมว่ากระบวนการเหล่านี้ก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 คิดอย่างคนรุ่นใหม่ ในแบบของ "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์”

  คิดอย่างคนรุ่นใหม่ ในแบบของ "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์” หลายคน คงพอคุ้นหน้าคุ้นตาหนุ่มคนนี้ จากผลงานภาพยนตร์เรียลิตี้เรื่อง “Final Score ไฟนอล สกอร์ 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์” คือหนึ่งในคนบันเทิงรุ่นใหม่ที่น่าจับตา จากผลงานหลากหลายในวงการบันเทิง ทั้ง นักแสดง ดีเจที่ 104.5 แฟต เรดิโอ และพิธีกรรายการ “ดิ ไอดอล คนบันดาลใจ” ทางโมเดิร์น ไนน์ ทีวี  แฟน “ฉลาดซื้อ” ที่ชื่นชอบ หรืออาจยังไม่รู้จัก และอยากรู้จักหนุ่มคนนี้ ลองมาฟังความคิด การใช้ชีวิต การทำงาน มุมมองเรื่องสื่อ และแนวคิดเรื่องการบริโภคของพิธีกรรุ่นใหม่คนนี้กัน   เริ่มต้นเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงได้อย่างไร? หลังจากได้เล่นภาพยนตร์เรื่อง Final Score ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักผมมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้มีวิทยุคลื่นหนึ่งติดต่อมาว่าอยากให้ผมไปเป็นดีเจ แต่เผอิญว่าในใจผมอยากจะ ไปทำกับคลื่นวิทยุอีกคลื่นหนึ่ง ซึ่งก็คือ 104.5 แฟต เรดิโอ ผมก็เลยขอร้องให้พี่พีอาร์ของบริษัท GTH ที่รู้จักกันตอนทำ Final Score ให้ช่วยติดต่อมาทาง แฟต เรดิโอ ว่าผมอยากมาเป็นดีเจที่นี้ ทาง แฟต เรดิโอ ก็เลยให้ทำเทปเดโมจัดรายการไปให้ลองฟัง ทาง Managing Director ของทาง แฟต เรดิโอ ซึ่งก็คือ พี่เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ด้วยความที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่สวนกุหลาบ และตัวพี่เต็ดเองก็เป็นคนที่ชอบให้โอกาสน้องๆ สุดท้ายก็เลยจับพลัดจับผลูได้มาเป็นดีเจที่ แฟต เรดิโอ หลังจากนั้นก็เริ่มได้โอกาสไปทำรายการอีกหลายๆ รายการ ซึ่งก็เป็นการต่อยอดการทำงานไปเรื่อยๆ   ช่วยเล่าวิธีการทำงานในฐานะพิธีกรให้ฟังหน่อย? ผมจะเปรียบตัวเองเป็นผู้ชมคนหนึ่ง คือจะดึงความรู้สึกตอนที่เราเป็นคนดู เวลาที่ดูรายการสัมภาษณ์ต่างๆ บางครั้งเรามักจะมีคำถามในใจ ที่บางครั้งพิธีกรไม่ได้ถามแขกรับเชิญที่มาออกรายการ เราก็จะจดจำคำถามพวกนั้นไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาดูรายการทีวีก็จะจินตนาการตามแล้วก็มักจะมีเสียงตอบโต้กับทีวี เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง หรืออาจจะมีคำ ถามว่า อาจจะมีด่าบ้าง ชมบ้าง พอเรามาได้มาเป็นพิธีกรเอง เราก็จะเอาความรู้สึกที่เราเคยได้รับเวลาดูทีวีทั้งจากตัวเองและคนรอบๆ ข้าง  มาแปลเป็นคำถามที่เราคิดว่าหลายๆ คนอยากรู้แต่ยังไม่เคยถูกถาม มาถามแขกรับเชิญ   มีเสียงตอบรับเรื่องการทำงานของเรายังไงบ้าง? เรื่องเสียงตอบรับที่มีต่อการทำงาน ปกติผมจะไม่ค่อยได้เช็คจากคนรอบข้างมากนัก แต่สำหรับตัวผมเองก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ เพราะทุกครั้งที่กลับมานั่งดูรายการก็ยังรู้สึกไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ายังไม่ค่อยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกครั้ง คือยังไม่มีเทปไหนที่ดูแล้วไม่อยากกลับไปแก้ไขอะไรเลย ซึ่งจุดที่อยากกลับไปแก้ไขก็อาจแตกต่างกันไปคนละจุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวคำถาม ที่บางครั้งก็มารู้สึกทีหลังว่าทำไมวันนั้นเราไม่ถามแบบนี้ หรือแม้แต่วิธีการถามกับคำถามแบบนี้เราน่าจะถามอีกแบบแทนที่จะถามแบบนี้ คือตัวผมจะให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด แม้แต่เรื่องการนั่งสัมภาษณ์ เทปนี้เผลอนั่งกระดิกขา นั่งสั่นหัว นั่งคุยกับกับกล้อง ผมจะให้รายละเอียดกับทุกๆ รายละเอียด ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผู้ชมอาจจะดูไม่ออกหรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมทำให้มันเกิดขึ้นเพราะไม่ทันสังเกต   ดูเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการทำงานค่อนข้างมาก? เพราะมันเป็น “งาน”  เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้ดี รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนดูไม่ทันสังเกต แต่มันส่งผลลึกๆ ไปถึงเขาเวลาที่กำลังดูเราสัมภาษณ์แขกรับเชิญ อย่างถ้าผมนั่งกระดิกขาระหว่างผมสัมภาษณ์ คนดูรายการอยู่สมาธิก็อาจจะหลุดจากเรื่องที่ผมสัมภาษณ์มาสนใจที่เท้าผม ว่าเฮ้ย! ไอ้นี่มันนั่งกระดิกขา ดนดูเขาก็ตกหล่นประเด็นเรื่องที่ผมอยากนำเสนอ มันเป็นการสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งคนดูไม่รู้แต่มันมีผล ซึ่งหน้าที่ของผมก็คือการนำเสนอในสิ่งที่ผมตั้งใจสื่อไปถึงผู้ชมให้สมบูรณ์แบบเต็ม 100% ที่สุด   มุมมองที่มีต่อสื่อในยุคปัจจุบัน? ผมคิดว่า สื่อ ก็เหมือนกับทุกอย่างบนโลกนี้ คือมันก็มีทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าเราจะหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาพูด รูปธรรม นามธรรม สิ่งของ คน หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างมีทั้งแง่ดีและไม่ดีเหมือนกันหมด ถามว่าในวันนี้มีสื่อที่ไม่ดีมั้ย มันก็อาจจะมี มีสื่อที่สร้างสรรค์สังคมมั้ย มี มองเปรียบเทียบอย่างเรื่องอาหาร ก็มีทั้งอาหารที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ หรือถ้ามองให้ลึกลงไปอีกของบางอย่างที่มองว่าดีก็อาจจะมีแง่ที่ไม่ดีปนอยู่ หรือของบางอย่างที่ดูว่าไม่ดีก็อาจมีสิ่งที่ดีอยู่บ้างเหมือนกัน ผมเองไม่เคยคิดขนาดว่าอยากจะให้สื่อพัฒนาไปทางไหน หรือคิดไปไกลว่าอยากจะให้สื่อเป็นไปในทิศทางไหน เพราะว่าก็ไม่ได้เป็นนายกสมาคมสื่อหรืออะไรแบบนั้น แต่สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสื่อหรือสิ่งต่างๆ ที่ผมจะทำ ยกตัวอย่างถ้าเป็นรายการทีวี อย่างแรกเลยคือจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตัวผม คือผมก็ต้องได้ความรู้ ความบันเทิง ความสนุก อย่างที่สองคือ สิ่งต่างๆ ที่ผมรู้สึก มันต้องส่งกลับไปหาคุณผู้ชมทางบ้านด้วย ทั้งความรู้ ความสนุก คนดูต้องได้เท่าๆ กับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอดเวลาที่ผมทำงานในฐานะสื่อ เพราะถือว่าเป็นการไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ถ้าถามว่ารายการทีวีอยู่ได้อย่างไร แน่นอนว่ามาจากการขายสปอนเซอร์ ขายโฆษณา แต่สปอนเซอร์จะขายได้อย่างไรถ้าไม่มีคนดู สุดท้ายแล้วรายการจะอยู่ได้จริงๆ ก็คือต้องมีคนดู ไม่ใช่ว่ารายการอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์อย่างเดียว ถ้ารายการไม่มีคนดูสปอนเซอร์ก็ไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นการที่จะต้องพึ่งอยู่กับผู้บริโภคที่เป็นคนดู จะหวังให้เขามาดูโดยที่เราไม่ได้มอบอะไรให้กับเขาก็เป็นเหมือนการเอาเปรียบกันมากกว่า บางคนอาจจะใช้ความบันเทิงมอบให้กับคนดู เพราะคนดูชอบความบันเทิง ขณะที่ก็มีคนดูอีกกลุ่มที่ชอบสาระ บางรายการก็จะเน้นมอบสาระให้กับคนดู ซึ่งก็แล้วแต่ช่องทางที่ผู้ผลิตรายการจะเลือกมอบให้กับคนดู แต่ผมเชื่อทั้งสองอย่างต้องปนอยู่ด้วยกันทั้งสาระและบันเทิงจึงจะทำให้รายการหนึ่งนั้นๆ ประสบความเร็จมีคนดูติดตาม  ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากรู้ว่ามีมุมมองเรื่องผู้บริโภคยังไงบ้าง? ผมเชื่อว่าทุกคนให้ความสำคัญกับการที่จะควักสตางค์เพื่อแลกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แน่นอนเวลาที่เราจะเสียสตางค์สักบาท สักร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง เราก็ต้องคำนวณก่อนแล้วว่าไอ้ของที่เราจะซื้อนั้นมีความจำเป็นต่อเรามากน้อยเพียงใด เราถึงต้องยอมเสียเงินจำนวนนั้นไปเพื่อแลกกับมันมา ซึ่งคนแต่ละคนก็ให้ความสำคัญไม่เท่ากัน นั่นก็เป็นเพราะเรื่องของปัจจัยสภาพทางการเงินด้วยส่วนหนึ่ง คือถ้าของมันไม่คุ้มที่จะเสียเงินไปผมเชื่อว่าถึงจะรวยแค่ไหนเขาก็ไม่ซื้ออยู่ดี ทีวียี่ห้อ เอ ถูกมากแต่โคตรห่วย ก็อาจจะมีคนที่เขาพอมีปัจจัยที่ซื้อจะได้ด้วยราคาถูกก็อาจจะเลือกซื้อเพราะเขามีตัวเลือกเดียว แต่คนที่เขามีตัวเลือกมากกว่านั้น แพงกว่านิดนึงแต่ดีกว่ากันเยอะ เขาอาจจะยอมเสียตังค์มากกว่าเพื่อซื้อสินค้าตัวนั้นก็ได้ อย่างถ้าจะซื้อโทรศัพท์สักเครื่องหนึ่ง เราก็ต้องศึกษาก่อนแล้วว่าโทรศัพท์แต่ละยี่ห้อมีอะไรดีไม่ดีบ้าง ถ้ามีงบเท่านี้จะซื้อรุ่นไหนดี มันต้องมีการเปรียบเทียบ ผมเชื่อว่าทุกคนสนใจ   คิดว่าสื่อมีอิทธิพลกับผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน? สื่อถือว่ามีบทบาทต่อชีวิตของคนทั่วไปอย่างมาก วันๆ หนึ่งถ้าเราไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน หรือไปสำรวจโลก สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ก็น่าจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์ ซึ่งจริงเท็จเราไม่รู้ เวลาคนเราจะเรียนรู้เรื่องราวอะไรต่างๆ เรามักจะเรียนรู้ผ่านทางคนบอกเล่า ผ่านจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้สัมผัสเอง คือไปลองทำจริงๆ ว่ามันส่งผลยังไงต่อตัวเรา เราจะได้เรียนรู้ ซึ่งสื่อเองก็มีบทบาทในอีกทางหนึ่งในการบอกเล่าประสบการณ์หรือเล่าเรื่องต่างๆ แต่เรื่องราวที่นำเสนอมักจะเป็นเพียงบางแง่มุมหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เสพสื่อต่างๆ เราควรเชื่อแค่ครึ่งเดียว แล้วลองวิเคราะห์หรือถ้าเป็นไปได้ลองไปศึกษาหาความจริงด้วยตัวเอง คือคนมักจะมีความเชื่อตามสื่อ เช่น ถามว่าทำไมเราถึงกลัวผี กลัวเอเลี่ยน กลัวนู้นนี่นั้น เพราะเราดูจากสื่อ เราก็เลยจินตนาการตามสื่อว่าผีเป็นอย่างนี้นะ เอเลี่ยนรูปร่างหน้าตาอย่างนี้นะ ซึ่งหน้าตาเป็นแบบไหนเราก็ไม่เคยเห็น หรือมีอยู่จริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้  แต่เพราะเราได้เห็นในสื่อเราก็เลยคิดเอาว่ามันมีอยู่มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้   แล้วเคยเจอปัญหาเรื่องการใช้สินค้าหรือบริการอะไรหรือเปล่า? ผมไม่เคยรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ เพราะว่าถ้าเรารู้ตัวเราว่าเราต้องการอะไรแล้วเลือกใช้ให้เป็น ได้คิดได้ไตร่ตรองก่อนจะจ่ายสตางค์ ผมว่าก็น่าจะช่วยให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกเอารัดเอาเปรียบเราต้องรู้ถึงจุดประสงค์ในการที่เราจะเสพสิ่งของ เสพสื่อ เพื่อที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาครอบงำเรา ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร สำหรับคนห่างไกลกันแต่ต้องการจะติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งก็ช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้น นั้นคือหน้าที่ของโทรศัพท์มือถือ แต่บางครั้งโทรศัพท์ก็สามารถใช้ส่งข้อความหากัน หรือคุยกันผ่านข้อความหรือการแชท ส่งเสียง ส่งรูปภาพ ออนไลน์หากันได้ตลอด ซึ่งหลายคนอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป จนดูเกินความจำเป็น ชีวิตของคนเราไม่จำเป็นต้องสื่อสารกันตลอดเวลามากขนาดนั้น บางครั้งการที่เราสื่อสารกันตลอดเวลาผ่านทางแชทหรือมือถือ ผมรู้สึกว่าจะทำให้มนุษย์เราใกล้กันเกินไป เป็นการลดพื้นที่ส่วนตัวลง คือผมไม่ได้จะบอกว่ามันไม่ดี แต่เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากมันให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็นก็จะกลายเป็นโทษ   วางอนาคตของตัวเองไว้ยังไง? อนาคต ก็ไม่ได้วางอะไรไว้ ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคตไป สำหรับผมเพียงแค่ทำหน้าที่ของทุกวันนี้ให้ดี แก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่ยังคิดว่ามันไม่ดีให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวันมีเรื่องให้แก้มีปัญหาใหม่ๆ มาทุกวัน ก็ต้องเรียนรู้ในการแก้ปัญหามันไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง   --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 "17 ปี คนฉลาดซื้อ"

17 คน 17 ปี นิตยสารฉลาดซื้อ 1.พัชรศรี เบญจมาศ นักข่าว / พิธีกร รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร แมร์ว่าคนเราบริโภคกันดุเดือดมากขึ้นนะ เพราะมันมีทั้งแรงโฆษณา กระแส ค่านิยม ซึ่งมันทำให้คนบริโภคกันอย่างดุเดือด อะไรที่ใครบอกว่าดี ก็อยากจะลอง ทั้งใช้ทั้งกิน จนบางครั้งก็ลืมถามตัวเองไปเลยว่า ‘มันจำเป็นกับตัวเราหรือเปล่า’ ‘แค่นี้พอหรือเหมาะสมกับตัวเราแล้วหรือยัง’ อีกอย่างที่แมร์คิดว่าสำคัญก็คือคนเราขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ เลือกใช้ หรือขาดข้อมูลที่จะสนับสนุนว่าอะไรดี อะไรที่เหมาะกับชีวิตของเรา ที่เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้   2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน แน่นอนค่ะ มันตามชื่อเลย “ฉลาดซื้อ” ทำให้คนฉลาดมากขึ้น การซื้อของไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวนะ เอ้อ..มันก็ต้องมีอะไรที่มันประกอบกันเข้าไปด้วยใช่ม้ะ…มันก็ต้องคิดบ้างล่ะว่าของสิ่งนี้มันเหมาะกับเราไหม รายได้เราเท่านี้ แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา มันก็น่าจะมีหน่วยงานอะไรที่มาบอกกับเรา คอยเป็นหูเป็นตาแทนเรา เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรมกับเรา หรือบอกเราว่า “อะไรที่คุ้มค่ากับเรา” ก็น่าจะมีหน่วยงานตรงนั้น 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อืมม..ได้รับเกียรติอย่างยิ่งค่ะ อ้อ..แน่ล่ะรูปลักษณ์มันต้องดูดี แพคเก็จต้องดูดี คนถึงจะหยิบจับไปใช้ ไปหาความรู้ การจัดวางหน้า ปกต้องดูดี รูปแบบตัวหนังสือ ภาพประกอบต้องดูดี หรือแม้แต่เนื้อหาในหนังสือก็ต้องปรับให้ทันยุคทันสมัย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่เป็นเพื่อนกับคนอ่าน เข้าถึงง่าย พอเขาอ่านได้ง่าย และเกี่ยวกับเขา การที่จะถูกเลือกให้เป็นหนังสือประจำบ้านก็จะง่ายมากขึ้น อย่างคอลัมน์สัมภาษณ์ทำให้ดีไปเลยนำเสนอวิถีและแนวคิดของคนที่ไปสัมภาษณ์ให้คนอ่านได้เห็น อาจจะเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ก็จะสนใจว่าคนเหล่านั้นเขาคิด กิน เลือกใช้อะไรกันอย่างไรนะ.   2.สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวโทรทัศน์ 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร คำว่าบริโภคนิยมมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะอยู่ในรูปแบบของสื่ออย่างเต็มรูปแบบ สมัยนี้ถ้าอะไรที่มันติดหรือเกิดกระแสก็จะเกิดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ผมว่าปัจจุบันคนเรามีความรู้ดีขึ้นนะ คนเราต้องมีการกรองในตัวของมันพอสมควร เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไม่ใช่แค่ขายคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว แต่ขายด้วยความหลากหลาย บางทีก็ขายรสนิยม ขายเทรนด์หรือบางตัวก็แบ่งผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่ว่ากัน มันขึ้นอยู่ที่ความคุ้มค่า นี่ผมพยายามมองอย่างเป็นกลางนะ อย่างสินค้าบางตัวซื้อด้วยอารมณ์ ซื้อเพราะอยากได้มากกว่าซื้อเพราะประโยชน์ เราก็ขอแต่เพียงว่าอย่าให้มันเป็นโทษก็พอ 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มากน้อยแค่ไหน นี่เป็นตัวสำคัญเพราะสามารถหาคำตอบได้เลยทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นปัญหาตรงที่จะทำอย่างไรให้เกิดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนโดยทั่วไป ฉลาดซื้อมีการเปรียบเทียบสินค้าที่ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อในด้านอารมณ์ความรู้สึก น่าเสียดายตรงที่อยู่ในวงแคบไปหน่อย ที่จะได้ให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้า อย่างผงซักฟอก เราจะเห็นการโฆษณาผงซักฟอกที่มีการทดลองซักผ้าขาว ยี่ห้อนี้ซักคราบกาแฟ ซักคราบซอสออก แข่งกันโฆษณา แบบนี้เราน่าจะแยกออกมาให้ผู้บริโภคเห็นกันชัดๆ ไปเลยว่ายี่ห้อไหนดี ยี่ห้อไหนเด่นเรื่องอะไร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟตอนนี้ไปใครๆ ก็บอกแต่ให้ซื้อแต่เบอร์ 5 ซึ่ง ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็อยากจะรู้ว่ามันมี 5.1 5.2 อีกหรือเปล่า หรือเตารีดใช้งานแบบเดียวกันยี่ห้อนี้ดีอย่างไร ดีกว่าแบบอื่นตรงไหน ให้เปรียบเทียบสินค้ากันให้เห็นไปเลย น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเป็นที่น่ารู้จัก เข้าใจนะว่าการทดสอบแต่ละครั้งต้องใช้เงินเยอะ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ผมว่าก็ดีอยู่แล้วนะ ถ้าเป็นผม ผมก็จะทำแบบนี้ล่ะ เพียงแต่ว่าผมจะมองเพิ่มในเรื่องของสื่อ อาจจะทำให้ประเด็นหวือหวาขึ้น เช่นเอาตัวคนที่มีชื่อเสียงเข้ามาใส่ เช่นการทดลองอะไรบางอย่างก็นำเอาคนที่มีชื่อเสียงเข้ามา หรือประเด็นวิชาการ ลองเขียนให้อ่านง่ายขึ้นหน่อยน่าจะดี คือพอเรานำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ไม่ว่าข้อมูลจะยากหรือซับซ้อนแค่ไหน มันก็จะง่ายขึ้น คนอ่านก็จะติดตามเราเอง 3. รองศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์   ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร นับวันสังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นสังคมบริโภคนิยมมากๆ คนจะอยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากเปลี่ยน และไม่ได้คิดถึงคุณค่าของอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับตัวผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่ออายุสั้น ไม่ได้ผลิตเพื่อให้ของนั้นสามารถใช้ได้อายุยาวชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วและหลากหลาย ทำให้เกิดการซื้อเยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างกระแสให้เกิดลัทธิการบริโภค ลัทธิการเอาอย่าง ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอันตราย และฉลาดซื้อเป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยได้ เป็นตัวที่ช่วยเทียบให้เห็นถึงความหลากหลายให้คนได้ชะลอตัวเองมากขึ้น ให้ได้คิดมากขึ้น คิดเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าที่จะซื้อ ไม่ใช่ซื้อเพราะชอบยี่ห้อนี้ไม่ได้ดูเหตุผลประกอบ อีกอย่างก็คือฉลาดซื้อมีคอลัมน์ที่หลากหลายทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย มาแบ่งปันประสบการณ์ทำให้เรารู้เท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมบริโภคบ้าง 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อยากเห็นซีรี่ส์ที่หลากหลายในฉลาดซื้อ ซึ่งตอนนี้ฉลาดซื้อสื่อออกมาในแนววิชาการที่น่าอ่านและน่าเก็บ แต่อยากเห็นฉลาดซื้อในเวอร์ชั่นสำหรับเยาวชน อยากเห็นจริงๆ ค่ะ อยากเห็นการเชิญชวนให้เยาวชนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ คิดนานๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธสังคมบริโภคนิยม ปฏิเสธลัทธิการเอาอย่างได้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เราและเยาวชนเท่าทันได้อย่างไร และนั่นล่ะคือสิ่งที่อยากเห็น อีกอย่างที่อยากเห็นคือการใช้พื้นที่ในส่วนของสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจและจะเป็นการส่งต่อที่รวดเร็วด้วย 4.ภัทรีดา ประสานทอง นักวาดภาพประกอบหนังสือ 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร ถามหน่อยว่าใครที่กลับบ้านโดยไม่ซื้ออะไรบ้าง เหมือนความสุขที่หาได้ตอนนี้คือการได้ซื้อแล้วค่ะ บางครั้งซื้อไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ แต่มีความสุขที่ได้ซื้อ หรือตอนนี้อาจจะกลายเป็นการติดการซื้อไปแล้ว 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ตอนได้เห็นหนังสือฉลาดซื้อที่แผง เปิดอ่านดู ต้องบอกก่อนนะคะว่า คำว่า“ฉลาดซื้อ” เหมือนทุกคนต้องป้องกันตัวเองในการซื้อน่ะ เรามีความสุขแค่การซื้อ จ่ายตังค์แล้วก็แค่ได้ของมาบางทีก็ลืมไปเลยว่าเราซื้อของนั้นมา เพราะฉะนั้นมันต้องมีเส้นแบ่งว่า ซื้อจ่ายตังค์แล้วมีความสุข ตอนนี้ความสุขไม่ได้จบลงแค่ของแล้วค่ะ แต่กลายเป็นมีความสุขที่ได้ซื้อ แล้วก็ซื้อไปเรื่อยๆ แต่ใน “ฉลาดซื้อ” ไม่มีโฆษณาเพื่อจูงใจให้ซื้อ อ่านแล้วต้องขอบคุณคนทำเลยค่ะ มีทั้งการเปรียบเทียบของแต่ละอย่าง คือทำให้เราอ่านเลยค่ะ มันต้องอ่านน่ะ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อยากให้หนังสือมีภาพประกอบที่โมเดิร์น เช่นนำภาพคนที่วาดการ์ตูนในหนังสือ 100 สิ่งที่ไม่ต้องทำฯ มาประกอบ หรือทำสีข้างในให้ดูสดใส ปรับฟ้อนท์อีกนิดหน่อย เนื้อหาข้างในดีอยู่แล้วค่ะ อยากให้ทุกบ้านมีฉลาดซื้อติดบ้านไว้ค่ะ เป็นนิตยสารที่ทุกคนต้องอ่านค่ะ 5.นที เอกวิจิตร์ - หนึ่งในสมาชิก วงบุดดาเบลส1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร ตามหลักพุทธศาสนาเลย ต้องใช้สติอย่างมาก เพราะปัจจุบันเราเห็นอะไรปุ๊บก็ซื้อเลย ยิ่งมีบัตรเงินสดสารพัดบัตร กด รูดกันปุ๊บปั๊บ เห็นโฆษณาเดี๋ยวนี้ก็สมเพชนะครับ ทำให้คนอยากได้ของ มีทั้งเอารถไปดาวน์ เปลี่ยนเป็นเงินสด คือของฟุ่มเฟือยน่ะ มันไม่มีมันก็ไม่ตายหรอกนะ ตรงข้ามกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง มันสวนกระแส ผมว่ามันเป็นทาง ฉิบหายเลยล่ะ เป็นทางสนับสนุนกิเลสโดยไม่เกิดผลเลยชัดๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากเลย ถึงแม้จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมันดีขึ้น คือตัวเลขมันวัดได้ก็จริง แล้วไม่ใช่ตัวเลขหรอกเหรอที่ทำให้เกิดฟองสบู่แตกมาไม่รู้กี่ครั้ง ในต่างประเทศก็เป็น อเมริกาก็เป็น IMF เป็นคนบอกให้เราด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร แต่ตัวมันเองยังจะเอาตัวไม่รอดผมว่าอย่างที่ในหลวงท่านพูด มันถูกทุกอย่าง เอาดัชนีความสุขมาวัดดีกว่า อย่ามาใช้ตัวเลขวัดกันเลย ตัวเลขมันก็เป็นแค่ตัวเลขน่ะ รวยแล้วเป็นอย่างไรมีความสุขไหม เศรษฐกิจดีแล้วไง มีความสุขอย่างไร ความสุขก็คือความทุกข์ที่มันยังมาไม่ถึง ฟังแล้วมันอาจดูเวอร์นะ แต่ผมว่าปล่อยให้มันค่อยไปจะดีกว่าไม่เห็นจะต้องตัวเลข GDP สูงกระฉูดเลย แค่ให้อยู่กลางๆ ให้ทุกคนไม่มีใครสุขหนักและทุกข์หนัก แบบนั้นผมว่ามันยังดีนะ เพราะว่าผมว่าบริโภคนิยมเดี๋ยวนี้ทำให้คนที่มีความสุขก็สุขสุดๆ ไปเลย อะไรอยากได้ก็ซื้อ ไม่มีปัญญาซื้อก็ดาวน์ก่อนผ่อนทีหลัง พอใช้หนี้ไม่ไหวก็ทุกข์หนักมีปัญหาตามมาค่อยว่ากัน คือมันสุขหนักกับทุกข์หนักไปเลย 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ผมว่าฉลาดซื้อนำเสนอเรื่องที่เราไม่เคยรู้ให้ได้รู้ คือถ้ามีคนมาทดลองให้เราดู ให้เรารู้ว่าสารนี้มีผลอะไรต่อร่างกาย ต้องกินเท่าไร กินอย่างไรไม่เป็นอันตราย ช่วยเราได้เยอะนะ อีกอย่างผมว่าฉลาดซื้อจะช่วยให้เราประหยัดได้นะ อย่างเรื่องเครื่องดื่มที่ทำให้สวย พอรู้แล้วว่าเอ้ย…ยย มันไม่มีอะไร แค่เรากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็สวยและสุขภาพดีได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออะไรแบบนี้แล้ว 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ผมอยากให้ทำสรุปผลการทดสอบออกมาเลย ว่าอะไรที่อันตราย หรือบอกว่าควรจะกินอย่างไร เดือนหนึ่งควรจะกินกี่ห่อ อะไรกินแล้วดี เพราะดูในตารางแล้วมันงง ไหงจะต้องมาสรุปเอง มันจะงง สรุปให้มันง่ายคนก็จะเข้าใจง่ายขึ้น อีกอย่างเรื่องความเชี่ยวชาญอย่างเรื่องกล้อง ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าจะเชี่ยวชาญมากกว่าที่อื่นหรือเปล่า น่าจะลงส่วนที่ทดสอบหรือห้องปฏิบัติการลงไปด้วย จะสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นครับ 6.ประกิต หลิมสกุล คอลัมนิสต์กิเลนประลองเชิง นสพ.ไทยรัฐ1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร สินค้าหรือของมีการออกมามากมายพัฒนาไปเยอะ ในขณะที่คนไทยภาพรวมในความคิดผมนะยังมีความรับรู้และเข้าใจต่อสิ่งที่จะเข้ามาไม่พอ ยังเลือกที่จะบริโภคของเพื่อตัวเองได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลย อย่างเรื่องราวของธุรกิจขายตรง ผมอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มานานก็จะเห็นเรื่องราวซ้ำซากอย่างแชร์ลูกโซ่ มันมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นอย่างแจกรถยนต์ มันก็คล้ายๆแชร์แม่ชะม้อยนั่นล่ะ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่เรื่องราวของการตกทอง เป็นการต้มตุ๋นอย่างเห็นได้ชัด ก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่การใบ้หวยปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เรื่องที่นอนแม่เหล็กที่เน้นไปที่ความกตัญญูให้ลูกซื้อรักษาโรคให้พ่อแม่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องราวการต้มกันชัดๆ ก็ยังมีอยู่ จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้การบริโภคเราแย่มาก ยังไปไม่ทัน 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน จากจำนวนสมาชิกฉลาดซื้อปัจจุบัน พอเทียบกับจำนวนคนในประเทศถือว่าน้อยมากนะ คิดเป็นจุดต่ำกว่าศูนย์กี่ตัว คนไทยควรจะอ่านนิตยสารฉลาดซื้อสักครึ่งหนึ่งของประเทศ แล้วสิ่งที่ฉลาดซื้อหวังไว้ถึงจะได้ ฉลาดซื้อก็ดีนะ ผมเห็นแล้วก็จะเปิดดู ผมว่าเก่งนะที่กล้าเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไทยรัฐก็เปิดคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” หรือมีข่าวมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราก็เลี่ยงที่จะไม่เปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ อย่างจิ้งจกในนม หรือสื่อของหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้แต่ออกมาเตือน ให้ระวังนะ แต่ก็ไม่ได้กล้าจะเปิดเผยชื่อ เพราะติดเรื่องกฎหมายอาจจะถูกฟ้องกลับได้ แต่ฉลาดซื้อทำได้ ฉลาดซื้อกล้าที่จะทำ กล้าที่จะบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ในขณะที่สื่อหลักอาจจะติดปัญหาเรื่องกฎหมาย หนังสือชื่อดีนะถ้าทำอะไรในทางการค้า จะขายได้และร่ำรวยเลย แต่ว่าทำโดยไม่แสวงประโยชน์ จึงไม่ร่ำรวย ถ้าฉลาดซื้อตกอยู่ในมือมารนะรวยแย่เลย 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ฉลาดซื้อทำดีกว่าสื่ออื่นนะ ทำอย่างมีหลักมีเกณฑ์ มีทนายคอยช่วยเหลือ มีหน่วยงานทดสอบ เรื่องราวการนำเสนอเป็นเรื่องราวมีประโยชน์ เป็นเรื่องราวของปัญญาชน แต่ไม่ค่อยมีคนชอบอ่าน เพราะเป็นเรื่องของคนที่ต้องใช้ปัญญา เขาถึงจะอ่านกัน ต้องใช้เวลา และถ้านำข้อมูลแบบฉลาดซื้อมาลงในไทยรัฐ เราก็จะขายได้แค่ 10,000 เล่มเท่านั้นละ มีคนมาดูงานที่ นสพ.ไทยรัฐนะแล้วก็ถามว่าทำไมทำหนังสือแบบนี้ ทำเรื่องนุ่งน้อยห่มน้อย ทำข่าวฆ่ากันตาย เพราะบ้านเรายังมีคนหลายกลุ่ม คนที่เป็นปัญญาชนบ้านเรายังน้อย คนที่หาแต่สาระยังมีน้อย ถ้ากล้าที่จะทำเรื่องที่ท้าทาย ฉลาดซื้อก็จะขายได้เยอะ แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา 7. ดร.ไพบูรณ์ ช่วงทอง1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไรตามความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ ผมว่าขายกันทั้งวันทั้งคืน ทั้งของข้างนอกและในทีวี เราจะเห็นว่ามีโฆษณาที่กระตุ้นให้อยากซื้ออยากได้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าขายกัน 24 ชั่วโมง ถ้าหากเราไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีวันว่างหนึ่งวันไว้ทำอะไร เล่นกีฬาออกกำลังกาย หรือมีเวลาให้กับครอบครัว แต่ของเรานี่ขายกันอย่างเดียวเลย มีตลาดนัดเกือบทุกที่ กระตุ้นกันอยู่ตลอดเวลา 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ผมมองว่าเป็นหนังสือที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญคือไม่มีโฆษณาทำให้ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสินค้าหรือภาคเศรษฐกิจ ผมว่าสังคมเราน่าจะเห็นความสำคัญของฉลาดซื้อ จะสนับสนุนแบบไหนก็อีกค่อยว่ากันอีกที ภาครัฐเองก็น่าจะสนับสนุนบางส่วน อย่างเยอรมันก็จะมีนิตยสารตัวหนึ่งที่ทำคล้ายๆ กับฉลาดซื้อทุกอย่างแต่ว่าของเขาจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่ถูกเขียนไว้ในกฎหมายที่รัฐจะต้องสนับสนุน เหมือนตั้งเป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าแล้วก็เผยแพร่ความรู้สู่ผู้บริโภค อย่างที่เยอรมันเขาจะทำการทดสอบสองเล่มคือ ทดสอบสินค้า กับทดสอบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทางด้านการเงิน คนที่นั่นจึงมีแหล่งข้อมูลและอาวุธในการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้า ซื้อรถยนต์ หรือแม้แต่เรื่องทัวร์ต่างประเทศเขาก็ใช้ข้อมูลนี้ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ก็คงจะเพิ่มเติมในส่วนวิชาการมากกว่าครับที่ทำอยู่ดีอยู่แล้วครับ ทางภาควิชาการก็จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วฉลาดซื้อเป็นองค์กรผู้บริโภคและต้องเล่นบทนำ นักวิชาการเล่นบทสนับสนุน งานคุ้มครองผู้บริโภคความจริงมีหลายด้านนะครับ จึงต้องมีหลายส่วนสนับสนุนและต้องมีภาคสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเป็นธรรม อีกส่วนที่ฉลาดซื้อน่าจะเพิ่มเข้าไปก็คือ News Letter ไม่ต้องรอบอกในหนังสือก็ได้ เพราะบางข่าวส่งถึงสมาชิกได้เลย อาจจะทางอีเมลล์ก็ได้ครับสะดวกดี หรือส่งทาง SMS ก็ได้ ด้านรูปเล่มผมว่าดูน่าอ่านมากขึ้นนะ แต่น่าจะนึกถึงผู้สูงอายุด้วยนะ เพราะบางทีตัวเล็กมากก็ลำบากเหมือนกันครับ 8.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร มองในฐานะของคนที่ทำงานองค์กรผู้บริโภคนะ เรียกสังคมว่าตอนนี้เป็นสังคมบริโภคนิยมแบบเต็มตัวไปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เราเจอก็จะเกิดจากการบริโภคที่เกินตัว และเกินความจำเป็น ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างเรื่องการแจกซิมการ์ด คือทั้งที่มันก็ไม่จำเป็นอะไรเลย แล้วปัญหาก็ตามมา แล้วไม่ใช่แค่ใช้บริการหรือใช้สินค้าแล้วมันปัญหา แต่มันเกิดปัญหาสังคมโดยภาพรวมตามมาเพราะมันมีความอยากได้ที่มากเกินกำลังของตัวเอง ตอนนี้กับเด็กจะเกิดปัญหามาก อยากมีให้เหมือนเพื่อน ต้องดีกว่าเพื่อน เพราะเขาถูกกระตุ้นความอยากได้ แล้วเขาก็ต้องหาให้ได้มา หรือก็ไปซื้อมาใช้โดยขาดข้อมูลหรือวุฒิภาวะการซื้อไม่เพียงพอ หรือไม่ก็ไปขอเงินพ่อแม่มา แล้วก็ซื้อหามาได้ง่ายๆ อาจจะไปสำแดงฤทธิ์กับพ่อแม่ ที่นี้พ่อกับแม่ก็ไปกู้สถาบันการเงิน นำเงินในอนาคตออกมาใช้ คนแก่ก็มีปัญหานะเพราะขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ ก็จะถูกหลอก เช่นมีคนเอาเก้าอี้รักษาโรคไปขาย ให้นั่ง 24 ครั้งแล้วหายจากอัมพาต ราคาเหยียบแสน ผู้ร้องยินดีที่จะขายที่ดินเพื่อจะซื้อเลยนะ เขาก็ยังจะซื้อเพราะเขาทุกข์ทรมานกับโรคมานาน หรือปัญหาโทรศัพท์มือถือจะมี SMS ไปรบกวน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการเลย เราจะเห็นความพยายามเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการในวิถีทางต่างๆ นานา 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ฉลาดซื้อช่วยได้เยอะนะคะ ฉลาดซื้อเหมือน “คัมภีร์ผู้บริโภค” บางคนอ่านแล้วก็บอกว่านี่ล่ะที่เขาหามานาน เป็นคู่มือผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าต่างๆ หรือบางเรื่องก็จะเป็นข้อมูลเตือนให้เขาระวัง ทำให้พวกเขาได้เท่าทันการบริโภคปัจจุบัน ในขณะที่เราทำงานผู้บริโภคฉลาดซื้อก็เหมือน “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ต้องมีเพราะเราสามารถหยิบเอาไปพูดในรายการวิทยุชุมชน พูดในเวที หรือเป็นเครื่องมือในการจัดนิทรรศการกับหน่วยงาน กับชาวบ้าน ก็จะหยิบฉลาดซื้อไปจัดนิทรรศการด้วยเป็น “นิทรรศการฉลาดซื้อ” ให้คนที่มาดูได้เห็นว่า ยังมีนิตยสารผู้บริโภคที่ทำเรื่องผู้บริโภคทุกอย่างที่เป็นปัญหา ซึ่งเราจะเห็นว่าเรื่องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฉลาดซื้อก็นำมาเสนออีกเราจะเห็นว่าปัญหามันแรงขึ้นกว่าเดิม เหมือนประเด็นของฉลาดซื้อทันสมัยตลอดเวลา ไม่เคยล้าสมัย 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ รูปเล่มหน้าตาดูดีขึ้น มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอด ก่อนที่จะปรับรูปเล่มเคยได้ยินคนบอกว่า “ฉลาดซื้อ อ่านได้ทั้งเดือน” คือมันไม่ล้าสมัย อ่านมันได้ตลอด แต่พอเป็นเล่มเล็กก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น น่าสนใจมากขึ้น อยากให้เพิ่มข่าวหรือสถานการณ์จากเครือข่ายลงไปด้วย เพราะจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของเครือข่ายและเรื่องผู้บริโภคในส่วนภาคอื่นๆ ด้วย 9.พระไพศาล วิสาโล1.มองสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคอย่างไรสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมบริโภคที่เข้มข้นมาก คือไม่ได้เป็นแค่สังคมของผู้บริโภคหรือสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่บริโภคในสิ่งที่ตนไม่ได้ผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมที่ถูกกระแสบริโภคนิยมครอบงำสูงมาก กล่าวคือผู้คนมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคหรือการมีวัตถุเยอะ ๆ ที่น่าสนใจคือเดี๋ยวนี้คนไม่ได้บริโภคเพราะหวังความสะดวกสบายหรือความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และกายเท่านั้น แต่ยังต้องการมีตัวตนใหม่จากการบริโภคด้วย เช่น บริโภคเพื่อเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้หญิงเก่ง เพื่อเป็นคนทันโลก ฯลฯ ด้วยเหตุนี้สินค้าแบรนด์เนมจึงสำคัญมาก เพราะมันช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีและทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนใหม่ที่โก้เก๋นี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมบริโภคอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่สังคมไทยแตกต่างจาก 2 ประเทศตรงที่ว่า ขณะที่คนอเมริกันและญี่ปุ่นแม้จะใฝ่เสพใฝ่บริโภค แต่เขาก็ใฝ่ผลิต คือมีความขยันขันแข็งด้วย ส่วนคนไทยนั้นไม่ค่อยมีความใฝ่ผลิต อยากได้อะไร ก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มาโดยไม่เหนื่อย ไม่ต้องออกแรง ก็เลยนิยมทางลัด เช่น เล่นพนัน เล่นหวย พึ่งพาไสยศาสตร์ หนักกว่านั้นคือขโมย โกง หรือคอร์รัปชั่น สรุปคือเป็นสังคมบริโภคที่ล้าหลังมาก 2. คิดว่านิตยสารฉลาดซื้อมีความหมายกับสังคมบริโภคนิยมมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้คนบริโภคอย่างฉลาด คือซื้อของอย่างรู้ค่าและเหมาะสมกับราคา ทำให้มีสติยั้งคิด ไม่หลงไปตามกระแสโฆษณา และหันมาช่วยเหลือกันเอง ประเด็นหลังนี้สำคัญมาก เพราะบริโภคนิยมมีแนวโน้มให้ผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่รวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่นิตยสารฉลาดซื้อช่วยให้ผู้บริโภคมีเวทีและพื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และปรึกษาหารือกัน 3.หากท่านเป็นบก.ฉลาดซื้อ คิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ หากเป็นบก.ฉลาดซื้อ อาตมาจะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ “สุขได้แม้ไม่ซื้อ” คือนอกจากซื้ออย่างฉลาดแล้ว เราควรฉลาดที่จะไม่ซื้อด้วย อาตมาจะเพิ่มคอลัมน์เรื่อง “หนึ่งสัปดาห์ในชีวิตที่ไม่ซื้อ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนที่ไม่ซื้ออะไรเลยตลอดหนึ่งอาทิตย์ แล้วเขาอยู่อย่างไรโดยที่มีความสุขด้วย อาจจะเชิญชวนคนดังหรืออาสาสมัครมาทดลองอยู่แบบนี้ ต่อไปก็อาจเพิ่มเป็น “หนึ่งเดือนในชีวิตที่ไม่ซื้อ” นอกจากนั้นก็จะมีคอลัมน์เกี่ยวกับการผลิตสิ่งของด้วยตัวเอง ที่เหมาะกับคนในเมือง จากนั้นก็จะขยายไปสู่แนวคิดเรื่อง “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” คือลงเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่มีความสุขเพราะไม่หลงติดในบริโภคนิยม สุขเพราะปลอดจากความอยากซื้อ 10. หมอวิชัย โชควิวัฒน์ ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไรเป็นสังคมบริโภคนิยมเกือบจะสุดขั้วเลย ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานี่นะ เขาเป็นบริโภคนิยม แต่เขาก็ส่งเสริมคนให้ผลิตด้วย แต่ของไทยเราเนี่ยนะส่งเสริมคนให้บริโภค แต่ไม่ส่งเสริมการผลิต แล้วการส่งเสริมการบริโภคนั้นก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่ามกลางระบบการคุ้มครองประชาชนด้านบริโภคที่อ่อนแอมาก 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน มีความหมายน้อย สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการพูดคุยไม่เน้นอ่าน เพราะอากาศมันร้อนคนก็ไม่อยากอุดอู้อยู่ในบ้านอ่านหนังสือ ไม่เหมือนประเทศหนาวที่หลบหนาวอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นเขาก็จะส่งเสริมการอ่านมากกว่าบ้านเรา ถ้ามองย้อนไปในอดีตบ้านเราแต่โบราณ วัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้เป็นแบบมุขปาฐะ คนที่รู้เยอะเขาจะเรียกว่าพหูสูตร เป็นพวกที่ฟังมาก ไม่ใช่อ่านมาก เพราะฉะนั้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน

ฉบับนี้ฉลาดซื้อพาคุณมารู้จัก “เรือจ้าง” อีกหนึ่งลำที่แจวพาผู้โดยสารไปส่งถึงฝั่งมาครั้งแล้ว ครั้งเล่าอย่าง อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร อดีตนักข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการข่าวและหนังสือพิมพ์ ผู้ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมุ่งหวังที่จะผลิตนักสื่อสารคุณภาพออกสู่สังคม ท่ามกลางกระแสสังคมสื่อที่เน้นความรวดเร็วและผลกำไรจนหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรม อาจารย์รุจน์มีวิธีการสอนนักศึกษาอย่างไร ฉลาดซื้อจะพาไปคุยกับ “เรือจ้าง” ลำนี้กันค่ะ เลือกเรียนสื่อสารมวลชนเพราะใจรักอาจารย์รุจน์สนใจเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะที่บ้านจะรับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ครั้นพออ่านแล้วก็สงสัยว่า เขาทำอย่างไร ไปสัมภาษณ์คนอย่างไร เขียนบทความ เขียนสารคดี ทำให้อาจารย์ได้รู้ว่างานหนังสือพิมพ์สามารถบอกข้อมูลคนได้เยอะ และถ้าหากเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์จะยิ่งมีประโยชน์ แล้วถ้าหากว่าตนเองได้ไปทำงานแบบนั้นเราคงมีเรื่องไปเล่าเยอะ ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาเลือกเรียนสื่อสารมวลชน “มาย้อนอดีตกันเลย ความจริงเลือกอยู่ 2 คณะคืออันดับ 1 เลือกสื่อสารมวลชน ที่ธรรมศาสตร์ อีกคณะที่อยากเรียนและเลือกเป็นอันดับสองคือคณะสังคมศาสตร์ เพราะได้รับอิทธิพลจากนวนิยาย”ปุลากง” แต่สุดท้ายก็ได้เรียนสื่อสารมวลชนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีสี่ทางคณะให้ฝึกงานก็ฝึกงานที่ นสพ.ไทยรัฐ พอจบก็ทำงานที่นั่นอยู่ 4 ปี ถ้าเรามองหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คนเรามักจะมองที่เรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่ถ้าเราต้องการจะสื่อสารอะไรออกไปเป็นจำนวนมาก ไทยรัฐจะช่วยเราได้เยอะเพราะถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสียงดัง ตอนเข้าไปก็ประจำอยู่ที่ โต๊ะข่าวกลาง แต่ที่ไทยรัฐเรียก “โต๊ะข่าวจเร” เป็นนักข่าวทั่วไปทำทุกข่าว อะไรที่ไม่มีเข้าหมวดข่าวก็จะตกมาที่นี่หมด อย่างข่าวม้อบที่มาร้องเรียนที่ทำเนียบ ที่กระทรวงเกษตร “โต๊ะข่าวจเร” ก็จะไปล่ะ หรือบางข่าวที่เขาต้องการความต่อเนื่องก็จะส่ง “โต๊ะข่าวจเร” ไป โต๊ะข่าวนี้จะไม่มีแหล่งข่าวประจำ และจะไม่เชี่ยวชาญอะไรเป็นเรื่องๆ แต่ก็ส่งผลดีที่เราสามารถพลิกแพลงและหาข้อมูลได้ทุกเรื่อง เราก็จะได้เดินทางเยอะ รู้เยอะ ชีวิตเปลี่ยนหลังช่วงพฤษภาทมิฬ เบื่อการเมืองไทยก็หาทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ในคณะสังคมวิทยาการสื่อสาร ตอนนั้นยังไม่ได้ลาออกจากไทยรัฐนะ กลับมายังไม่อยากกลับไปทำงานหนังสือพิมพ์ มันเหนื่อยๆ แต่ 4 ปีที่ไทยรัฐมันสนุกนะ มันเติมเต็มอะไรหลายๆ อย่าง เราได้บอกเรื่องราวให้คนรู้ในหลายๆ เรื่องอย่างเรื่องราวของพระประจักษ์ ที่เข้าไปรักษาป่าหยุดการทำลายป่าดงใหญ่ แต่ถูกมองว่าเป็นพระตัวแสบสำหรับราชการและนายทุนที่ต้องการทำลายป่า รางวัลที่ท่านได้รับคือ การถูกคุกคาม ตามล่าเอาชีวิต จนต้องหนีออกจากพื้นที่ ถูกบีบให้สึก ถูกทำลายชื่อเสียงต่างๆ นานา ซึ่งมันไม่ใช่ เราก็ไปนำเสนอข่าวออกมาว่าเป็นอย่างไร การทำงานที่นี่มันสนุกและเติมเต็มสิ่งที่เราฝันไว้ตอนเด็กๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็ดึงพลังเราส่วนหนึ่ง อย่างเราทำงาน 7 โมงเช้ากว่าจะกลับบ้านก็ 5 ทุ่ม หรือไม่ก็เที่ยงคืน เป็นแบบนี้ทุกวันไม่มีวันหยุด พอกลับมาก็ไม่อยากจะตกอยู่ในวังวนเดิมๆ อีก ก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้เอ็นจีโอ ที่เป็นเพื่อนๆ กัน ก่อนจะไปสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนวิชาหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2540 ลึกๆ แล้วผมก็เสียดายงานหนังสือพิมพ์นะ เพราะงานหนังสือพิมพ์มันเป็นงานทวีคูณ เราเขียน 1 ข่าวแต่คนรู้เป็นล้าน การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน การจับไมค์อยู่หน้านักศึกษา 30 – 40 คนนี่ก็ถือว่าทวีคูณล่ะ เพราะพอพวกเขาจบไปเป็นนักข่าวแล้วทำได้ดีก็คือว่าเป็นการขยายต่อที่ดีละ ทวีคูณเหมือนกัน ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง อาจารย์รุจน์บอกกับฉลาดซื้อว่าที่สนใจงานสอนหนังสือก็เพราะว่า ตอนที่ตนเองเรียนนั้นมีบางเรื่องที่นักศึกษาไม่เคยถูกบอก อย่างเรื่องของความเป็นจริงกับโลกในตำราต่างกันอย่างไร เพราะว่าโลกในความเป็นจริงไม่ได้สวยงามเหมือนในตำรามันมีเรื่องสีเทาๆ ที่นักศึกษาต้องถูกเตรียม ก่อนจะออกสู่โลกของความจริง ไม่งั้นถ้าหากไปเจอแล้วจะเกิดอาการเหวอ “โลกที่นักศึกษาถูกบอกก็คือโลกสีขาว สอนว่าอะไรไม่ดีอย่าไปทำ แต่พอออกไปแล้วไอ้ที่บอกว่าไม่ดีอาจจะทำอยู่ก็ได้ เราก็เลยคิดว่าเราต้องเตรียมนักศึกษาก่อนว่าโลก 2 โลกนี้มันต่างกัน มันจะมีจุดฟันหลอ จุดสีดำอยู่ในนั้น ถ้าหากรักที่จะทำอาชีพนี้จริงๆ ต้องเข้าใจว่าทางที่จะเดินนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบดังที่ฝันไว้ ผมก็เลยพยายามจะเชื่อมทั้งสองเข้าด้วยกันว่ามันมีข้ออ่อน ข้อดีอย่างไร ลึกๆ แล้วผมก็เสียดายงานหนังสือพิมพ์นะ เพราะงานหนังสือพิมพ์มันเป็นงานทวีคูณ เราเขียน 1 ข่าวแต่คนรู้เป็นล้าน การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน การจับไมค์อยู่หน้านักศึกษา 30 – 40 คนนี่ก็ถือว่าทวีคูณล่ะ เพราะพอพวกเขาจบไปเป็นนักข่าวแล้วทำได้ดีก็คือว่าเป็นการขยายต่อที่ดีละ ทวีคูณเหมือนกัน” แต่ถึงแม้ว่าจะมีการสอนและเชื่อมโลกสองส่วนนี้เข้าด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่อาจารย์รุจน์ห่วงก็คืองานหนังสือพิมพ์ ที่มองกำไรเป็นเป้าหมาย และนับวันกำไรจะเป็นเป้าหมายชัดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เป้าหมายที่จะช่วยกันคลี่คลายปัญหาให้สังคมกลับอ่อนแรงลงๆ สวนทางกับกำไรที่เริ่มแสดงตัวชัดชึ้นเรื่อยๆ “ไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจสื่ออย่างเดียวต้องเรียกว่าทั้งโลก เรื่องกำไรอย่างรวดเร็วมันครอบทั้งโลกแล้ว สื่อมวลชนก็หนีสายพานนี้ไม่พ้น จึงต้องเตรียมพวกเขาอย่างแรง แล้วเด็กนักศึกษาสมัยนี้ก็ถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจระบบตลาดเหมือนๆ กันหมด สังเกตง่ายๆ ก็คือ พอผมพานักศึกษากลับมาจากพื้นที่ ทุกคนจะกระหายร้านสะดวกซื้อมาก พอเจอเซเว่นเข้าไป ‘เย้ๆ เจอเซเว่นแล้ว’ ซึ่งต่างกันลิบลับกับเมื่อวานที่อ้อยอิ่งกับการลาชาวบ้านอยู่เลย ซึ่งผมก็คิดว่านี่ก็เป็นภาระหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ต้องทำให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งไม่ง่ายเลย” หาคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านนอกจากนักศึกษาจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวจากชีวิตของอาจารย์รุจน์แล้วยังมีโอกาสได้ลงไปศึกษาข้อเท็จจริงถึงในพื้นที่นั่นก็คือหมู่บ้านปีละ 1 ครั้ง“สิ่งที่ผมสอนพวกเขาอย่างเรื่องการนำโลกความเป็นจริงข้างนอกมาเล่าให้พวกเขาฟัง แล้วก็หรือยกสถานการณ์ขึ้นมา ถ้าเกิดเหตุแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมไม่ได้ให้ “ความรู้” พวกเขานะ เพียงแต่ผมอยากให้เขา “ได้รู้สึก” เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขาควรทำอย่างไร เพราะถ้าหากว่าเราให้ความรู้เขา ไม่นานเขาก็จะลืม แต่ถ้าเราสอนให้เขาได้รู้สึก เขาก็จะทำได้และน่าจะพอนึกออกเมื่อต้องเจอกันสถานการณ์จริงๆ อีกอย่างก็การทำให้พวกเขาได้เข้าถึงความจริง ข้อเท็จจริง ของเจ้าของประเทศนั่นก็คือประชาชนจึงได้ทำโครงการศึกษาชนบท ปีละ 10 วัน โดยให้นักศึกษาไปอยู่ไปกินกับชาวบ้าน ให้ไปอยู่กับชาวบ้านหลังละคนเลยทีเดียว จะเป็นนักศึกษาปีที่ 3 กับ 4 ซึ่งจะเป็นวิชาเรียน คล้ายๆ ลักษณะไปค่าย แต่เราจะไม่ไปสร้างนั่น สร้างนี่ จะกลับกันก็คือเราจะให้ชาวบ้านเป็นผู้บรรยาย บางคนอยู่ในทุ่งนา บางคนทอผ้า ก็จะมาสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้แทน การลงไปค้นความจริงกับชาวบ้านช่วยเปิดโลกทรรศน์ให้กับพวกเขา ทำให้เห็นชีวิตของเจ้าของประเทศว่า เขาอยู่กินกันอย่างไร มีปัญหาอะไรที่กำลังเผชิญอยู่ และที่สำคัญคือไปดูว่าพวกเขาเหล่านั้นมีอะไรดี เพราะถ้าเราทำให้นักศึกษาเห็นว่าชาวบ้านมีอะไร ชาวบ้านก็จะอยู่ในสายตา ว่า…เอ้ยพวกชาวบ้านก็เก่งนะ อีกอย่างก็คือทำให้นักศึกษาเราเห็นปัญหาของชาวบ้าน อย่างที่ผ่านมาก็ลงพื้นที่ จังหวัดสตูล ไปสัมผัสชีวิตชาวบ้าน ไปดูเขากรีดยาง ทำให้เรารู้ว่า ชาวสวนยางอายุสั้นลง เพราะพักผ่อนน้อย ไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ไปลงพื้นที่ดูเขื่อนปากมูล พาพวกเขาไปดู ไปสัมผัส เพื่อให้เกิดความเข้าใจเจ้าของประเทศ” นั่นเป็นวิธีการ การให้ความรู้ของ อ.รุจน์ ที่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องสี่เหลี่ยม นอกตำรา แต่ได้สัมผัสทุกรสชาติของชีวิต “พอจะเริ่มเดินทางทุกคนก็จะตื่นเต้น บางคนเป็นคุณหนูไม่เคยทำอะไรเองเลย พอได้ลงพื้นที่ได้ล้างจาน ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ได้เห็นจนเกิดจิตสาธารณะขึ้นมา ได้เรียนรู้ทุกนาทีที่อยู่ร่วมกัน ต้องยอมรับเลยนะเมื่อคนเราได้ผ่านประสบการณ์ ณ จุดหนึ่งแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดอย่างเห็นได้ชัดเลย อย่างบางคนก่อนไปไม่เคยรู้เลยว่า จิตสาธารณะคืออะไร แต่พอเขาได้ลงไปเรียนรู้และใช้ชีวิตจริงๆ เขาก็เข้าใจได้ทันที บางคนถูกทำให้คิดถึงผลกำไร และขาดทุน แต่พอลงไปเห็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำเพื่อชุมชนซึ่งก็ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนเลย ความคิดของเขาก็เปลี่ยน” อยู่ทำเนียบทำงานในห้องแอร์ พอถึงเวลาก็สัมภาษณ์ ไปหาชาวบ้าน ไปคุยกับชาวบ้าน ไปดูปัญหาเขาเนี่ยเหนื่อยไหม อยู่กลางแดด เดินไปในทุ่ง นั่งรถไปไกล ตากแดด ข้าวปลาก็ไม่มีให้กิน พยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าทำไมประชาชนไม่ค่อยได้เป็นข่าว เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสเป็นนักข่าวก็อย่าลืมแล้วกัน คุยกับประชาชนบ้าง ข้อมูลต้องหลากหลายและคิดถึงคนอื่นเสมอนอกจากจะให้นักศึกษาได้ลงไปค้นความจริงของเจ้าของประเทศแล้ว การให้มองสื่ออย่างรอบด้าน คืออีกหนึ่งแนวทางของอาจารย์รุจน์ “เวลาเราทำงานด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านไหนไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านและต้องเป็นอิสระ เวลาสอนนักศึกษาผมจะเน้นเรื่องนี้มาก อีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญเปิดเทอมวันแรก ผมจะถามนักศึกษาว่า จ่ายค่าเล่าเรียนเท่าไร ใครเป็นคนจ่าย หลายคนก็จะตอบว่า ‘พ่อผมจ่าย แม่หนูจ่าย’ ‘ผมก็ย้ำว่าแน่ใจนะว่าที่คุณเรียนแปดหมื่นต่อปีแน่ใจว่าคุณจ่ายคนเดียว’‘ก็พ่อแม่ผมจ่ายก็ถูกแล้วนี่นาอาจารย์’ ‘ค่าเงินเดือนผม ค่าน้ำ ค่าไฟ คิดว่าแปดหมื่นพอไหม อ่ะที่นี้เริ่มงง เงินจำนวนมากกว่านั้นประชาชนจ่าย ภาษีประชาชนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคุณเรียนไปทำอะไร ประชาชนจ้างคุณมาเรียน แล้วคุณจะทำอะไรให้พวกเขาบ้าง’ ก็เล่นกันตั้งแต่เปิดเทอมเลย ให้เขารู้สึกว่าไม่ว่าจะทำงานหรือทำอะไรให้คิดถึงคนอื่นๆเยอะๆ อย่ามัวแต่คิดถึงตัวเองหรือสะตุ้งสตางค์อะไรหนักหนา คิดถึงคนอื่นให้มากๆ หน่อย อย่างผมสอนวิชาเขียนข่าวก็จะพยายามทำให้เขาเห็นว่า “แหล่งข่าว” มีหลายแหล่งข่าว นักข่าวทั่วไปจะใช้แหล่งข่าวที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดอำเภอ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ผิดอะไรใช่ไหม เพียงแต่ว่า ”พวกเขาใช่เจ้าของประเทศหรือเปล่า” เจ้าของประเทศตัวจริงน่ะใคร เขาเคยได้ออกหนังสือพิมพ์บ้างไหม มีนักข่าวโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์เขาบ้างไหม คุณคิดว่าการไปตามนายกฯ กับไปตามชาวบ้านสักคนมาพูด อะไรมันง่ายกว่ากัน อยู่ทำเนียบทำงานในห้องแอร์ พอถึงเวลาก็สัมภาษณ์ ไปหาชาวบ้าน ไปคุยกับชาวบ้าน ไปดูปัญหาเขาเนี่ยเหนื่อยไหม อยู่กลางแดด เดินไปในทุ่ง นั่งรถไปไกล ตากแดด ข้าวปลาก็ไม่มีให้กิน คือจะพยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าทำไมประชาชนไม่ค่อยได้เป็นข่าว เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสเป็นนักข่าวก็อย่าลืมแล้วกัน คุยกับประชาชนบ้าง ผมชอบยกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพชัดในวิชาทำข่าวก็คือเรื่องราวของเกษตรกรคนหนึ่งชื่อลุงชุ่มแกมาผูกคอตายอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วก็เขียนจดหมายใส่กระเป๋าไว้ว่าทำไมถึงมาผูกคอตาย ประเด็นก็คือแกถูกโกงเรื่องที่ดิน แล้วร้องเรียนมาตลอดชั่วชีวิตทั้งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการ สส. สุดท้ายก็เขียนจดหมายถึงนายกฯ ชวน แล้วนายกฯ ก็แทงจดหมายกลับให้ผู้ว่าฯ ดูแลเรื่องนี้ต่อ คิดว่าผู้ว่าฯ จะช่วยเหรอเพราะเคยร้องมาแล้ว สุดท้ายก็คิดแผนผูกคอตายเผื่อให้เป็นข่าวสำเร็จ พอผูกคอตายเรียบร้อย ท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย เชิญภรรยาลุงชุ่มเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลถ่ายภาพออกข่าวใหญ่โต แล้วที่ดินที่ถูกยึดไปก็ได้คืนมา นี่ไงบิ๊กเนมอะไรก็เป็นข่าว แต่โนเนมอย่างลุงชุ่มต้องแลกด้วยชีวิต กว่าความจริงจะปรากฏว่าเขาต้องการอะไร ถ้านักข่าวฟังบ้างเรื่องแบบนี้ก็คงไม่ต้องแลกด้วยชีวิต” งานสื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค“นักข่าวปัจจุบันต้องตามข่าวเป็นเรื่องๆ และบางครั้งทำข่าวกันทางโทรศัพท์ไม่ได้ลงไปดูพื้นที่ด้วยซ้ำ อย่างการขุดทรายปากแม่น้ำไปขาย นักข่าวไม่ได้ดมด้วยซ้ำ ไม่ได้ดูแววตาชาวบ้านด้วยว่าเขารู้สึกอย่างไร อาจจะเพราะสื่อมีการแข่งขันกันเยอะ แต่ บก.ไม่น่าที่จะพอใจนะเพราะเนื้อข่าวมันไม่ได้ แต่ก็เข้าใจด้วยระบบเศรษฐกิจแบบนี้สำนักพิมพ์ก็ต้องลดต้นทุน เพิ่มกำไร แล้วเดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์กลัวตกข่าว นักข่าวก็ต้องแบ่งกันไปเฝ้าแหล่งข่าว แล้วมาเฉลี่ยข่าวกันส่งโรงพิมพ์ เพราะเดี๋ยวนี้เน้นความเร็วเป็นหลัก ฉะนั้นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นอ่านฉบับเดียวก็เดาได้แล้ว” ฉลาดซื้อถามถึงพื้นที่ผู้บริโภคในสื่อปัจจุบัน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร อาจารย์รุจน์ให้ความเห็นว่า “เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือในระบบ เพราะเอาเนื้อหาไปผูกกับโฆษณา เพราะฉะนั้นระหว่างหน้าโฆษณากับเนื้อหา ถ้ามีความจำเป็นต้องตัดทิ้งเพื่อต้นทุนการผลิต คงพอจะเดาออกนะว่าเขาจะตัดหน้าอะไร หน้าผู้บริโภคก็ต้องถูกตัดไปเสมอเพราะจะนำเสนอข้อมูลที่ไปขัดกับการตลาด อีกอย่างก็คือในแง่หน้ากอง บก.จะจัดการยาก เพราะมองหาแหล่งข่าวผู้บริโภคยาก มองหาคนเดือดร้อนไม่เจอ เพราะคนเดือดร้อนเข้าไม่ถึง และมองหาแหล่งข่าวไม่เจอ อย่างมองเรื่องการเมืองเราก็นึกภาพออกใช่ไหม แต่พอมองด้านผู้บริโภค มองไม่ออก ยาก” เสพ…สื่ออย่างไรดีเบื้องต้นก็วิเคราะห์สื่อที่เรารับเข้ามาหน่อย ต้องแยกให้ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น และต้องตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงนั้นได้ คือตามหลักนิตยสาร ข้อเท็จจริงมันไม่ได้เป็นความจริงนะเพียงแต่มันถูกประกอบขึ้นมาให้เป็นจริง หรือถูกบัญญัติขึ้นมาว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นต้องอ่านและต้องวิเคราะห์ให้ออกได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างเรื่องความขาวในปัจจุบัน เหมือนความขาวกลายเป็นวาระของโลกนี้ไปแล้ว ความขาวถูกนิยามว่าสวย อะไรแบบนี้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาว่านั่นคือความจริง ซึ่งผู้บริโภคต้องแยกให้ออกและเท่าทัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 เกือบตายเพราะถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

จะเป็นอย่างไรหากคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่งด้วยเล็งเห็นถึงความปลอดภัย แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นถึงได้รู้ว่ารถยนต์ที่คิดว่าปลอดภัย มีถุงลมนิรภัย จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ก็หาเป็นดังที่หวัง อย่างกรณีของ จิรพงษ์ ชูชาติวงศ์ และพรศรี ชูชาติวงศ์ 2 สามีภรรยา ที่เกิดอุบัติเหตุรถที่ขับมาพุ่งชนเข้ากับรถยนต์คันที่สวนมาระหว่างทาง แต่ปรากฏว่าถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทางบริษัทให้เหตุผลว่า ชนไม่ถูกจุด ถุงลมจึงไม่ทำงาน เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อจะพาคุณผู้อ่านไปคุยกับคู่ชีวิตที่รอดจากมัจจุราชได้อย่างหวุดหวิด ชนไม่ถูกจุด ถุงลมไม่ทำงาน“ช่างเทคนิค เขาบอกเจ๊ว่าชนครั้งแรกเข็มขัดมันรัดไว้แล้ว ชนซ้ำอีกถุงลมนิรภัยจะออก เจ๊ก็บอกว่าน้องอย่าพูดอย่างนี้ ถ้าชนซ้ำเจ๊ไม่ตายซะก่อนเหรอ” พรศรี บอกเล่าถึงคำพูดของช่างเทคนิคของบริษัทที่อธิบายกับเธอและสามีถึงเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อเธอมาทวงถามว่าเหตุใดหนอถุงลมนิรภัยในรถคันที่เธอซื้อมาไม่โผล่ออกมาช่วยลดแรงปะทะไม่ให้ได้รับบาดเจ็บมากกว่าที่เป็นอยู่นี้เมื่อครั้งเธอและสามีเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 เช้าตรู่ของวันนั้นเธอและสามีเดินทางไปทำธุระต่างจังหวัด โดยใช้เส้นทางถนนดอยสะเก็ด-เชียงราย ผ่านทางโค้งหลายโค้ง แล้วรถยนต์ของเธอและสามี(คนขับ) ขณะกำลังวิ่งขึ้นเขาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พุ่งชนกับรถยนต์อีกคันที่วิ่งสวนลงมาเข้าอย่างจัง ส่งผลให้รถยนต์โตโยต้า คัมรี่ สีขาวไข่มุก ที่ซื้อมาราคา 1,528,000 บาท เมื่อปี 2545 ของเธอและสามีถึงกับกันชนส่วนหน้า คานหน้า หน้ากระจัง หม้อน้ำ บังโคลนซ้าย-ขวา และฝากระโปรงรถยนต์ เสียหายอย่างหนัก เธอและสามีเป็นอย่างไรบ้างนะหรือ เดชะบุญที่เธอและสามีคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถ แต่แรงปะทะก็ทำให้เธอบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอก กลางหลังและต้นคอ กระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 11 หักและแตกละเอียด สามีเธอก็บาดเจ็บไม่แพ้กันเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอกและกลางหลัง กระดูกสันหลังยุบ 1 ข้อ อีกทั้งซี่โครงร้าว ทั้งสองต้องรักษาตัวอยู่นานถึง 6 เดือน จนปัจจุบันถึงแม้จะผ่านไปปีกว่าแล้วแต่อาการเสียวๆ ที่กระดูกของเธอ และความหวาดระแวงที่ขึ้นรถก็ยังมีอยู่ การงานที่เคยทำได้ก็แทบไม่ได้ทำทั้งสวนลำไย งานรับจ้างทำรองเท้าผ้าฝ้ายส่งประเทศญี่ปุ่น ขายผ้าฝ้ายและผ้าชาวเขาที่ทำให้เธอมีรายได้เดือนละ 150,000 บาท ก็มีอันต้องเลิกรา “น้องคนนั้นก็บอกว่าจะให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง เจ๊ก็บอกว่าเสนอให้ซ่อมรถให้เจ๊ถูกหน่อยหรือซ่อมรถให้เจ๊ฟรีก็ได้ เจ๊จะไม่เอาเรื่องที่ถุงลมไม่ทำงาน แค่นี้ก็พอใจแล้ว เขาก็ไม่ยอม เขาให้รอไปก่อน แล้วเขาจะติดต่อที่กรุงเทพฯให้ทางบริษัทติดต่อเราโดยตรงเลย จากนั้นประมาณ 1 เดือนเจ๊ก็โทรไปตามตลอด เกือบ 2 เดือน ช่างเทคนิคที่ กทม.ก็มาบอกให้เจ๊ไปฟัง” ก่อนจะได้พูดคุยกับตัวแทนจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด “เจ๊ได้ยินช่างเทคนิคเขาบอกกับพนักงานข้างๆ ว่าถุงลมนิรภัยไม่ออกดีแล้ว ถ้าออกค่าซ่อมเป็นแสนนะ คล้ายๆ ให้เจ๊ดีใจว่าถุงลมนิรภัยเจ๊ไม่ออกนี่ประหยัดค่าซ่อม เจ๊ก็เลยเอ๊ะขนาดค่าซ่อมยังเป็นแสน แล้วซื้อใหม่นี่บวกเข้าไปกี่แสนก็ไม่รู้ แต่ถึงเวลาฉุกเฉิน เกือบจะเอาชีวิตแลก ถุงลมนิรภัยมันไม่ออกมาป้องกันเราแล้วเอามาทำไม มันไม่เป็นไปตามที่โฆษณาเลย เจ๊ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าช้ำใจ แล้วยิ่งได้คำตอบว่ารถไม่บกพร่องสักอย่าง เพราะมันชนแรงไม่พอ และชนไม่ถูกที่ เจ๊ก็เลยว่าอย่างนี้ไม่ได้ ขนาดแรงสั่นสะเทือน กระดูกข้อที่สิบเอ็ดที่เจ๊เอกซเรย์ออกมานี่มันจะแตกสลาย หมอบอกว่าเจ๊กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกเลยไม่ยุบลงไป ถ้ายุบลงไป ต้องมาผ่าตัด มาจัดกระดูกใหม่ ถ้าโดนเส้นเอ็นต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ถ้าผ่าตัดสำเร็จก็โชคดีไป แต่ยังดีกล้ามเนื้อเจ๊แข็งแรงมันก็เลยประคองไว้ไม่ยุบลงไป เจ๊ก็เลยไม่ยอมที่ช่างเทคนิคพูดอย่างนี้ เขาก็เลยมีเอกสารมาจากกรุงเทพฯ ฝ่ายเทคนิคบอกว่าถ้าไม่พอใจให้โทร.ไปทางโน้น เขาว่าชนแรงไม่พอ ชนไม่ตรงจุด ก็เหมือนเดิมนั่นล่ะ เจ๊ก็เลยโทร.ไปคุยกับกับบริษัทฯ ที่กรุงเทพ ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้ ไม่เกี่ยวกับบริษัท เจ๊บอกว่าทำไมไม่เกี่ยว เจ๊ก็ว่าถ้าเธอไม่รับผิดชอบนะเจ๊จะฟ้อง เขาก็บอกว่าเชิญตามสบาย” นั่นคือคำตอบที่เธอและสามีได้จากบริษัท ซื้อรถใหม่ เพราะอยากได้ถุงลมนิรภัย“ตอนเจ๊ตัดสินใจซื้อรถคันนี้ เพราะรถคันเก่าเจ๊มันไม่มีถุงลมนิรภัยไง เขาก็แนะนำว่ารถนี้รุ่นพิเศษมีถุงลมนิรภัย 4 ใบ ปกป้องชีวิตได้ แต่ถ้าซื้อแล้วนะ ข้างในห้ามไปติดสติกเกอร์ ห้ามไปตกแต่ง ถ้าตกแต่งแล้วมันไม่ออกจะเข้าบริษัทไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไร เวลาเกิดเรื่องแล้วมันจะออกมาอัตโนมัติ ป้องกันชีวิตเราเนอะ ถ่ายรูปไว้ด้วยนะวันที่เราไปรับรถคันนี้มา ไม่ใช่ว่าร่ำรวยอะไรมากมายและซื้อรถใหม่ๆ มาโชว์ แต่ว่าเพื่อปกป้องชีวิต เพราะเราเดินทางบ่อย ซื้อด้วยเงินสดเลยนะ แล้วเวลาเกิดเรื่องขึ้นมา ชนปุ๊บมันไม่ออกเลย ชนแรงจนหัวยุบไปหมดเลยที่เห็น ค่าซ่อมที่เขาประเมินตั้งเจ็ดแสนกว่าบาท” เธอว่าพลางนำภาพเมื่อครั้งได้รถมาใหม่ๆ ให้ทีมงานฉลาดซื้อดู ไล่เรียงมาตั้งแต่ใหม่เอี่ยม จนถึงสภาพรถบุบบู้บี้ไม่เหลือสภาพรถรุ่นพิเศษให้เห็นแม้แต่น้อย “หลังจากเรายื่นคำขาดกับบริษัทไปว่าเราจะฟ้องเขาก็ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับนะ ไปหาทนาย ไปหาทุกที่เลย ทนายเชียงใหม่ก็ไม่มีใครกล้าต่อสู้กับบริษัทเลย แต่เขาก็แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ที่กรุงเทพ เจ๊ก็เลยให้ลูกชายช่วยติดต่อให้ ระหว่างนั้นก็มีคนบอกว่าอย่าไปสู้เลย ดีไม่ดีถูกฟ้องกลับเพราะทำชื่อเสียงบริษัทเขาเสียหาย ตอนแรกเจ๊ก็รู้สึกกังวลอยู่ครึ่งนึง แต่พอเจ๊ติดต่อกับคุณอิฐบูรณ์ว่าช่วยดูรูปถ่ายและเอกสารต่างๆ ว่าพอจะฟ้องเขาได้ไหม ถ้ามั่นใจก็ฟ้อง แต่ถ้าไม่มั่นใจเจ๊ก็ยอมทิ้งแล้ว เพราะส่วนตัวเจ๊ก็ล้าแล้วเหมือนกัน เพราะสู้กับเขามาเกือบครึ่งปีกว่าแล้ว” มูลนิธิที่พรศรี พูดถึงคือศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากอิฐบูรณ์ อ้นวงศา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ดูเอกสารต่างๆ แล้ว จึงส่งเรื่องต่อให้ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องแพ่งบริษัทโตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ในข้อหา ละเมิด เรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 5,620,208 บาท ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ ถ้าไม่ฟ้อง จะให้ทำอย่างไร“ทุกวันนี้รู้สึกว่าถ้าทางบริษัทถ้าเขาเห็นใจเราสักนิด ทางเราก็ไม่ฟ้อง ขอแค่เขามาถามทุกข์สุขนิดนึง ก็พอใจ เจ๊ไม่ใช่งกเงินตรงนี้ ถ้าเขามีน้ำใจนิดนึง ให้ผู้มีอำนาจมาเยี่ยมหน่อย มาพูดดีๆหน่อย อย่าใจดำเกินไป รถคันนี้ราคาประเมินค่าซ่อมเจ็ดแสนกว่าบาท แล้วยังจะขอค่าจอดรถเจ๊ด้วย ตอนเอารถไปจอด พอเจ๊ไม่ซ่อมรถกับเขา เจ๊จะเอาออกรถไปขายไงเพราะซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เจ๊เลยไม่จ่ายค่าจอดเขาก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเขาเรียกเก็บค่าประเมินรถเจ็ดพันบาท เฮีย(สามี) ก็เลยจ่ายไปหกพันกว่า คือของเราเสีย ไม่ช่วยเหลือเราไม่ว่า เราไม่ซ่อมยังขอค่าจอดอีก ใบเสร็จตรงนี้ก็ยังเก็บไว้ เจ๊รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม มันเยอะเกินไป แล้วเจ๊ก็ขายรถคันนี้เป็นเศษเหล็กไปแล้ว คิดแล้วเจ็บใจตอนที่เจ๊ไปซื้อนะขับรถมาเสนอขายถึงที่บ้านเลย เอาใจสารพัดเลย พอซื้อมาบริการก็เปลี่ยนแปลงแล้ว” คนทั้งประเทศไม่มีใครรู้ อยากให้คนอื่นรู้ “มีคนบอกว่าเจ๊มีทางก็ต่อสู้ ก็สู้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนทั้งประเทศ ไม่มีใครรู้เลยว่าถุงลมนิรภัยต้องออกตามโฆษณา ในความหมายของเขามันแค่ไหน ชนแบบนี้ออก แต่หากชนตรงนี้ไม่ออก ในคู่มือบอกว่าวิ่ง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปชนอย่างไรถุงลมนิรภัยก็จะออกมา อะไรมันก็จะมีลูกศรชี้ไว้ว่า หน้าไฟสองอัน กลางๆ ชนตรงไหนก็ออก แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา ชนจนหัวยุบหมดแล้วมาบอกอย่างนี้อย่างโน้นแล้ว ใครไม่เจอกับตัวจะไม่รู้เลยว่า ความยุติธรรมมันเป็นยังไง แถวภาคเหนือเราอาจจะคิดว่าใครใหญ่ใครอยู่ บริษัทมันใหญ่ เราเป็นคนตัวเล็กๆ ต่อสู้เขาไม่ได้หรอก ก็เลยไม่กล้าไปต่อสู้กัน ช่างรถยนต์ก็พูดว่าอย่าไปสู้เลย สู้กับเขาไม่ไหวหรอก แต่เจ๊ก็จะสู้แรกๆ ก็กลัวเขาฟ้องกลับติดคุกนะ แต่พอเรารู้ว่าฟ้องแพ่งไม่ติดคุกเราก็ไม่กลัวละ เราต้องลุกขึ้นมาสู้ เจ๊ดูรายการทีวีต่างประเทศชอบดูเรื่องกฎหมายของเมืองนอก อย่างไต้หวัน พอดีเจ๊เห็นของเมืองนอก มีถุงลมนิรภัยไม่ออกแหละ ฝรั่งเขาเรียกสิบล้านเลย สุดท้ายบริษัทเขาชดใช้ไปเจ็ดหรือแปดล้าน แล้วก็ยังมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า BMW คันหนึ่ง เมียเขาขับไปแล้วถุงลมนิรภัยไม่ออกแล้วคอหักเลย พอไปบอกบริษัทแต่ยังไม่ได้ฟ้องนะ แค่ไปบอก บริษัทก็เสียค่ารักษาพยาบาลให้แล้วก็เปลี่ยนรถคันใหม่ให้ทันทีเลย แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ จริงๆ แล้วคนไทยเราเป็นคนที่ใจอ่อน นิสัยดีกว่าต่างประเทศมากเลย ขอให้เขายอมมีน้ำใจ การชดใช้ตรงนี้มันไม่ใช่ปัญหา เราคุยกันได้ ถ้าจะให้เหมือนบริษัทเมืองนอกนี่ กฎหมายเมืองไทยก็ยังไปไม่ถึงขนาดนั้น เมืองนอกเขาจะเอาเท่าไหร่เขาจะเรียกเยอะๆ เลย รถคันนี้ราคาเท่าไหร่ ไม่เกี่ยวเขาจะดูว่าชีวิตเขามีค่าแค่ไหนมาเปรียบเทียบเอา แต่เมืองไทยเราจะดูว่ารถคันนี้ราคาแค่นี้เอง แล้วจะเรียกร้องได้แค่นั้น เขาจะคิดอย่างนั้น ถ้าต่างประเทศเขาจะไม่คิดแบบนี้ เขาจะคิดว่าชีวิตคนมีค่ามหาศาลเท่าไหร่ก็ประเมินค่าไม่ได้ เรื่องกฎหมายบ้านเรากับต่างประเทศอาจจะเทียบกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ในบ้านเรา เราก็ยังมีสิทธิในการเรียกร้อง เราต้องใช้สิทธิเมื่อเกิดความเสียหาย ให้บริษัทยอมรับผิดชอบบ้าง ปกติเขาจะไม่รับผิดชอบทิ้งไปอย่างนี้ตลอด ที่เจ๊ต่อสู้มาทุกวันนี้นะ ไปศาล ทำอะไรทุกครั้ง เจ๊รู้สึกว่าเจ๊ก็เสียรายได้เยอะเหมือนกันจะไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องรอขึ้นศาล เสียเวลา เจ๊ไม่ได้ว่าไม่มีทางหากินแล้วจะมาตื้อเอาเงินกับบริษัทนะ เจ๊ก็ทำมาหากิน แต่ที่เจ๊ทำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้นเอง” ทุกวันนี้ พรศรี ชูชาติวงศ์ และสามี เหลือเพียงกิจการเล็กๆ ขายเสื้อผ้าและกระเป๋าอยู่ที่ ตลาดสันป่าข่อย จังหวัดเชียงใหม่ กิจการอื่นๆ ที่เคยทำต้องงดไปโดยปริยายด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 หมอนิล หมอติดดินของชาวเกาะยาว

“ป่ะ เดี๋ยวไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน” หมอนิลเอ่ยชวนทีมฉลาดซื้อ หมอนิลว่าพลางสตาร์ทรถมอร์เตอร์ไซค์ ขับพาทีมฉลาดซื้อเข้าหมู่บ้าน ไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่งในสวนยาง  ซึ่งเป็นบ้านที่เชิญหมอให้มากินข้าวกลางวันที่บ้าน ครั้นพอมาถึงหมอก็เข้าครัว  ยกสำรับอาหาร พลางเรียกม๊ะกับป๊ะให้มาทานข้าวด้วยกัน รวมกับเป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ “หมอนิลเหรอ โอ้ยเหมือนลูกเหมือนหลานของคนที่นี่ละ” บังโกบบอกกับทีมฉลาดซื้อ ฉลาดซื้อจะพาคุณมารู้จัก นพ.มารุต เหล็กเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา หมอติดดินของชาวบ้านเกาะยาวกันค่ะ เป็นหมออย่างหมอนิล“อยากทำงานที่นี่ตั้งแต่ได้เดินทางมาเที่ยวในช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านที่ไม่มีหมอดูแล เมื่อเรียนจบก็เลยอยากจะมาดูแลชาวบ้านที่เกาะนี้” นั่นเป็นความตั้งใจของหมอนิล เมื่อตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร หมอนิลเป็นคนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความที่เป็นคนใต้ ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร แต่จะมีบ้างเพราะชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ก็จะมีบ้างบางคราวที่ไม่เข้าใจกันในช่วงแรกๆ  แต่ถึงที่สุดชาวบ้านก็เห็นความจริงใจของหมอนิล จนเอ็นดูเหมือนลูกหลานในที่สุด ก่อนที่จะมาเรียนหมอนั้นหมอนิลอ่านหนังสือของหมอ ประเวศ วะสี ซึ่งพูดถึงปัญหาในระบบสาธารณสุขว่าเป็นสาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์ และนั่นเองเป็นตัวจุดประกายให้หมอนิลเห็นว่าในวงการแพทย์มีเรื่องต้องแก้อีกเยอะและท้าทายทำให้เขาตัดสินใจเรียนหมอในที่สุด หมอนิลบอกว่าทำงานอยู่ที่นี่ไม่กลัวถูกฟ้อง เมื่อเราลองถามว่า เป็นหมอกลัวถูกฟ้องไหมหมอบอกว่า เขามีความสัมพันธ์กับคนไข้ดี แล้วคนไข้ก็ไม่มากราวๆ 60-70 คน ต่อวัน มีเวลาจะคุยหรืออธิบายเรื่องต่างๆ ได้พอสมควร หมอมองว่า ปัญหาการฟ้องร้องมันเกิดจากที่ว่าไม่ใช่เพราะหมอรักษาพลาดอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดี ไม่อธิบาย “บางโรงพยาบาลที่ใหญ่ๆ คนเยอะๆ ก็เจอหมอแค่แป๊บเดียว มีข้อสงสัยอะไรก็ไม่ได้ถามให้หายสงสัย พอผิดพลาดขึ้นมามันก็มีเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าเรามีการคุยกันบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งมันผิดพลาดไปแล้ว ถ้ามีการคุยกัน อธิบายว่าเป็นยังไง บางทีเขาก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าเขาเข้าใจในระบบ แต่มันเกิดจากการที่ไม่คุยกัน ไม่สื่อสารกัน หรือว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกันมาก่อน ซึ่งผมว่ามันน้อยมากที่ปัญหาการฟ้องร้องจะเกิดจากข้อผิดพลาดทางการแพทย์จริงๆ  ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดความผิดพลาด คือถ้าเขารู้ว่ามันจะเกิดเขาก็ไม่ทำแน่นอน คือมันมีโรคบางโรค บางอย่างที่เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดมันมี”  หมอนิลกล่าว หมอนิลมองกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ว่ามันเป็นสิทธิของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน แล้วการเรียกร้องค่าเสียหายก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาจะได้รับ “มันก็ทำให้เกิด มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งมาตรานี้ก็โอเค มันก็เป็นสิทธิที่เขาควรทำได้ มันก็เป็นพื้นฐานของสิทธิทั่วไปเลย เช่นถ้าหากราชการทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เราก็มีสิทธิที่จะถามได้ว่ามันคืออะไร ยังไง แล้วถ้าเราไม่ได้รับความชอบธรรมเราก็ควรจะได้รับความชอบธรรมนั้นกลับคืนมา ซึ่งมันเป็นพื้นฐานทั่วไปที่ทำกับหน่วยงานราชการ ไม่ใช่เฉพาะหมอ อาจจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือทางฝ่ายปกครองก็ได้” โรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชน “ผมอยากให้เขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่อยากให้คิดว่าโรงพยาบาลเป็นที่ของคนเจ็บป่วย แต่โรงพยาบาลเป็นของชุมชนที่เขาจะมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่เขาต้องการ และอยากให้โรงพยาบาลเป็นที่ส่งเสริมสุขภาพ อย่างเขาอยากจะจัดตลาดนัดสุขภาพ เขาก็มาใช้โรงพยาบาลได้ หรือว่าอยากจะมาออกกำลังกาย มาอบสมุนไพร อบซาวน่า มานวด มาปลูกผักปลอดสารพิษ มาทำกับข้าวให้คนไข้กิน ให้หมอพยาบาลกิน คือถ้ามันเป็นของชุมชนจริงๆ ชุมชนก็ต้องมีบทบาทในการคิดว่าใครอยากทำอะไร มาทำที่โรงพยาบาลทำได้ไหม แล้วมาช่วยกันทำ อยากเห็นการพัฒนาโรงพยาบาลอื่นๆ ไปแบบนั้น ไม่ใช่เป็นที่สำหรับหมอพยาบาล คนไข้ คนเยี่ยมไข้ เท่านั้น อยากให้มันขยายความออกไป คือเราต้องเปิดพื้นที่ให้คนอื่นมาร่วมกันคิดว่าเราจะใช้โรงพยาบาลในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของชาวบ้านเอง เขาจะทำอะไร เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล อย่างที่ผมยกตัวอย่าง แล้วพอโรงพยาบาลมันเป็นของชุมชน มีอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเรา ช่วยเฝ้าระวังโรคต่างๆ ช่วยเป็นอาสาสมัคร  พวกนี้ก็จะมาช่วย คือเราไม่สามารถจะทำได้อยู่แล้ว อย่างไข้เลือดออก มาลาเรีย ก็ต้องใช้ชาวบ้านช่วยกัน คือถ้าเขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นของเขา แล้วก็มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง คือแทนที่เราจะมีพยาบาล 5-6 คนอยู่ที่โรงพยาบาล แต่กลายเป็นว่าเหมือน เรามีพยาบาล 5,000-6,000 คน ที่เป็นคนอยู่ที่นี่ ดูแลเพื่อนบ้าน ดูแลตัวเอง ดูแลญาติเขาอยู่ในชุมชน ที่สำคัญต้องไม่เอาตัวหมอเป็นศูนย์รวม เราต้องคุยกับคนไข้ และญาติคนไข้ให้เยอะๆ การรักษานอกจากรักษาอาการทางกายแล้ว การดูแลเยียวยาเรื่องจิตใจก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน” พูดถึงอาสาสมัครหมู่บ้านหมอนิลบอกว่าจะแบ่งเป็นหมู่บ้าน อาสาสมัคร 1 คนจะช่วยดูแลประมาณ 10 ครัวเรือน มีอะไรเขาจะรู้หมดว่าใครเกิด ใครตาย ใครป่วยอะไร ใครจะต้องมาตรวจบ้าง ใครมารับยาหรือไม่มารับ เขาจะรู้ แล้วอาสาสมัครก็จะช่วยมาบอกโรงพยาบาล ครั้นเมื่อเกิดระบาดอาสาสมัครก็จะช่วยติดตามข่าวบอกทั้งชาวบ้านและหมอ การสร้างเครือข่ายสุขภาพจึงทำให้ชุมชนช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้ทางด้านสุขภาพ ถือเป็นแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพที่ดีเลยทีเดียว ที่นี่มี แพทย์ประจำ 1 คนนั่นคือก็คือหมอนิล พยาบาล 6 คน และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขอีก 2 คน รวม 9 คน มีขนาด 5 เตียง มีการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพโดยให้การดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการออกไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน คือวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ จากแนวคิดโรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชนนี้เอง หมอนิลกับชาวบ้านจึงคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาโดยจะขยายเรือนพักผู้ป่วย ชื่อว่า “โครงการสร้างเรือนพักผู้ป่วยหลังใหม่ โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมทุกประการ”  ขณะนี้เขียนแผนและแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว  อยู่ระหว่างการระดมทุนสร้าง หมอนนิลบอกว่าค่อยๆ สร้าง มีเท่าไรก็ค่อยๆ ทำไป “ตอนนี้ออกแบบเสร็จแล้ว แต่ว่าต้องหาเงินมาทำ รมต.เขาก็บอกว่าน่าจะได้ แต่ก็ดูความแน่นอนอีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองต้องขึ้นอยู่กับการเมืองหรือเปล่าไม่รู้ ไม่แน่นอน อย่างผมก็ไม่กล้าบอกชาวบ้านหรอก ว่าได้หรือไม่ได้ แต่มีแนวโน้มว่าเขาอนุมัติในหลักการแล้วว่าให้เราทำแบบนี้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยน รมต.มันก็ยกเลิกไปได้” คลินิคหนัง(สือ) สำหรับวิชาชีพแพทย์ หลายคนมองว่าการอุทิศตนทำงานในชนบทเป็นการเสียโอกาส แต่สำหรับหมอนิลแล้วเขากลับคิดว่านี่เป็นความสุข และยังถือโอกาสใช้บรรยากาศบนเกาะบ่มเพาะความฝันของตนเองด้วย "ข้อด้อยของการมาทำงานในที่แบบนี้คือเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้โลกภายนอก หากออกไปพบกับคนในวงการเขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นหมอบ้านนอก ซึ่งตอนแรกก็มีความรู้สึกแบบนั้นบ้าง แต่พอตอนหลังรู้ว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเราคืออะไร ก็เลยไม่รู้สึกแบบนั้นอีก ส่วนข้อดีของการทำงานในที่แบบนี้ก็คือการทำงานไม่ได้เป็นแค่เพื่องาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของการได้เรียนรู้ชีวิต เหมือนเราได้มารู้อะไรใหม่ๆ ได้มีเวลาคิดว่าความสุข ความทุกข์ของคนคืออะไร และต่อไปเราอยากจะทำอะไร ซึ่งเป็นเหมือนบันไดในการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปในอนาคต ไม่เคยคิดว่าการมาทำงานที่นี่เป็นการเสียโอกาส เพราะมีเวลามากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ ทั้งการเขียนหนังสือ การทำหนังสั้นและการเปิดร้านหนังสือ" ในวงการวรรณกรรมหลายคนรู้จักเขาในนาม “นฆ ปักษนาวิน” ที่มีผลงานทั้งงานเขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ ร่วมกับเพื่อนๆ ในหนังสือชื่อ 'ธรรมชาติของการตาย' จากประสบการณ์และมุมมองในเหตุการณ์สึนามิ  นอกจากนั้นยังเปิดร้านหนังสือชื่อ 'ร้านหนัง(สือ)๒๕๒๑' ซึ่งอยู่ถนนถลาง ในย่านเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ต โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของร้านเอาไว้ให้นักเขียนมานั่งเสวนาแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นกัน รวมถึงมีห้องฉายหนังเล็กๆ ด้วย ส่วนผลงานหนังสั้นขณะนี้ได้ทำออกมาแล้ว 5 เรื่อง เรื่องแรกคือ Burmese Man Dancing ซึ่งเป็นสารคดีสั้น 6 นาที เกี่ยวกับแรงงานพม่า ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้โอกาสไปฉายในเทศกาลหนังสั้นที่ประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 2008 ด้วย ส่วนหนังสั้นเรื่องล่าสุดคือ แมวสามสี เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคน โดยได้มีโอกาสนำไปฉายที่เมืองรอสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน “คลินิก(แพทย์) ก็อยากเปิดนะครับ แต่ผมไม่มีเวลา วันเสาร์-อาทิตย์ก็อยากพักผ่อน อยากทำอย่างอื่น  อย่างผมเปิดร้านหนังสือก็จะจัดกิจกรรมมีวงคุย เสวนา จัดอีเว้นต์ แล้วก็ต้องคุยกับคนเยอะแยะ สนุกกันคนละแบบกับที่โรงพยาบาล” หมอนิลอธิบายง่ายๆ ว่าทำไมหมอไม่เปิดคลินิกเหมือนกับหมอทั่วๆ ไป เปิดกัน ไม่ว่าบทบาทไหน ล้วนเป็นอย่างเดียวกันเมื่อฉลาดซื้อถามถึงบทบาทระหว่างเป็นหมอกับเป็นคนในวงการวรรณกรรม ว่าชอบอย่างไหนมากกว่ากัน หมอนิลให้คำตอบที่น่าทึ่งมากๆ ว่า “ผมว่าผมทำคละๆ กันนะ อยู่ที่โรงพยาบาลผมก็เหมือนนักกิจกรรมนะ อยู่ที่ร้านผมก็เหมือนเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิม แต่ว่าทำอีกด้านหนึ่ง ที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นนักกิจกรรมด้านสุขภาพ แต่ที่ร้านหนังสืออาจจะเป็นเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ ทำชุมชนอีกแบบหนึ่ง แต่ผมว่ามันคืออันเดียวกัน คือเราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอันนี้คือการส่งเสริมสุขภาพ อันนี้คือหนังสือ มันไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่ควรโดนแบ่งแยกแบบนั้น เพราะเราสร้างสุขภาวะได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่ทางกายเท่านั้น โดยการทำกิจกรรมอย่างนี้มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่ง การทำให้คนรู้จักศิลปะ วรรณกรรม มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่งครับ” หมอนิลยกตัวอย่างหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ที่ไม่มองอะไรแบบแยกส่วน หมอบอกว่า อ่านแล้วเปลี่ยนโลกทัศน์ในมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ ที่เคยชินกับการมองแบบแยกส่วน เป็นมามองแบบองค์รวม มองความสัมพันธ์ มองทุกอย่างเป็นองค์รวม “สมมติคนนี้มีปัญหาเรื่องการแยกส่วน เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนไป การปฏิวัติอุตสาหกรรมมันเกิดจากกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ยุคหนึ่ง มันมาประสบความสำเร็จในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนต้องแบ่งงานกันทำ ว่าคนนี้มีบทบาทหน้าที่นี้ แต่ว่าในชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างคนสมัยก่อนก็มีความรู้หลากหลายด้าน เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี่ เป็นหมอ วิศวะ จิตรกร เขาไม่มีการมาแยกว่าคนนี้เป็นอะไร คนที่รักในความรู้ แล้วแสวงหาความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม เป็นแบบใช้ด้วยกันหมด แต่พอมายุคโลกสมัยใหม่ตอนนี้มันก็ใช้ความรู้อย่างเดียวไปแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เหมือนกันอย่างผมเคยเขียนว่าผมจะรักษาคนไม่ได้ ถ้าคนไม่หายจน เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าทำยังไงให้คนไม่จน มันไม่ใช่ความรู้ด้านการแพทย์ ผมยังรักษาให้คนมีสุขภาพดีไม่ได้ ถ้าเขายังจนอยู่ ถ้าเราไปถามวิธีแก้ปัญหาความจนกับนักเศรษฐศาสตร์ เขาก็อาจจะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้าไม่มีรัฐศาสตร์ที่ดี ไม่มีการเมืองที่เหมาะสม  ครั้นไปถามนักรัฐศาสตร์ก็จะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้านั่นนี่อีกจิปาถะ คือทุกอย่างมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้าหากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างสาขา คือความรู้มันต้องประสานกัน แล้วมาถกเถียงพูดคุยกัน มาต่อรองกัน ถ้าเรามองแต่แบ่งแยกว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้คุณก็คิดไป มันแก้อะไรไม่ได้ ในสังคมที่มันซับซ้อน เพราะโลกทัศน์แบบแบ่งแยกมันทำให้โลกเรายิ่งมีปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา” หมอนิลกล่าวทิ้งท้ายกับฉลาดซื้ออย่างหนักแน่น ทำให้ฉลาดซื้อคิดต่อไปว่า ถ้าระบบสาธารณะสุขของไทย ไม่แยกการรักษาตามบัตรนั่น บัตรนี่ ระบบสาธารณะสุขคงพัฒนาไปอีกเยอะเพราะไม่ต้องมองอะไรแบบแยกส่วนนั้นแล… สำหรับใครที่อยากร่วมสร้างเรือนพักผู้ป่วย โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน ต.พรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ติดต่อกับ นพ.มารุต เหล็กเพชร หมายเลขโทรศัพท์ 089-6524223 ค่ะ หรือติดตามกระบวนการออกแบบของโครงการได้ที่ kohyaoproject.com และ ร่วมบริจาคสร้างเรือนพักผู้ป่วยฯดังกล่าว ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเกาะยาว บัญชีเลขที่ 060-2-37342-3 ชื่อบัญชี กองทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน รพ.เกาะยาว สาขา สอต.พรุใน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point