ฉบับที่ 128 Up date มาตรา 61

  นับว่าที่ลงแรงไปไม่เสียเปล่า รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ตอบรับให้ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...เดินหน้าต่อ ตามหมายเดิมจะเข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม 54 แต่อย่างที่ทราบกัน ประเทศไทยเรากำลังประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายนับแสนล้าน จึงมีหมายยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าวออกไปก่อน ไม่เป็นไรค่ะ เรารอได้ ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก ทุกฝ่ายต้องเร่งเข้าช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ก่อน อย่างไรเสียขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยเถิด   น้ำท่วมครั้งนี้ หลายเครือข่ายงานผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือ ถูกน้ำท่วมสำนักงานเสียหาย ก็ขอเอาใจช่วยนะคะ และต้องชื่นชมกับสิ่งที่พวกเราพยายามรณรงค์กันสุดตัวในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่าย กทม. ที่ขนทีมมาช่วยกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่ สิ่งที่เรียกว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ   เราไปกันหลายพื้นที่ในเขต กทม. เช่น รณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ  มาตรา 61  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 12 ก.ย. พอวันที่ 13 เราก็ไปร่วมรณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และ ยื่น จม.ให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำกฎหมายมาพิจารณาในการประชุม ครม.(วันอังคาร) 14 ก.ย. ไปสีลม 17 ก.ย. ไปเดอะมอลล์บางกะปิ และในช่วง 15 – 20 ก.ย. เครือข่ายทั่วประเทศ ก็ช่วยกันขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ มาตรา 61 ให้ สส.สว. สนับกฎหมายองค์การอิสระทั่วประเทศ   นอกจากนั้นยังใช้ Social network ทำงาน ทั้ง คลิป ใน ยูทูป และ เฟสบุ๊ค   เรียกว่า ทุ่มกันสุดตัว ก็นับว่า ผ่านไปด้วยดี แต่...   เราก็ยังต้องร่วมใจกันขับเคลื่อนให้ กฎหมายนี้สำเร็จให้ได้นะคะ ตอนนี้มันแค่ครึ่งทางเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 Update มาตรา 61

  ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งสมัยนั้นก็ยากหน่อย ต้องรวมกันให้ได้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อให้มีกฎหมายสักฉบับ  แต่กฎ กติกานี้ ผ่อนคลายลงเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้แค่ 10,000 รายชื่อเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด พอมีช่องทางก็เลยสบโอกาสเสนอกฎหมายภาคประชาชนกันบ้าง เสนอกันเข้าไปหลายฉบับเชียว ซึ่งมันสะท้อนล่ะนะว่า ยิ่งภาคประชาชนเสนอกฎหมายมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า ปัญหาของประชาชนมันมากมายหลายเรื่อง  เฉพาะองค์กรผู้บริโภคกับองค์กรพันธมิตร ก็มีร่างกฎหมายที่นอนรอดูตัวรอบสองรอบสามในสภากันถึง 9 ฉบับ โดยเฉพาะ กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ผ่านการพิจารณาจาก สส. ในรัฐบาลที่แล้วไปแบบฉลุย 3 วาระนั้น ดันสะดุดวิกฤตการเมืองเข้า รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ยุบสภาไปเสียก่อนไม่อยู่จนครบวาระ เลยต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จ จัดรัฐบาลใหม่เสร็จ และรอรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่านยิ่งลักษณ์ชงเรื่องต่อเพื่อให้ร่างกฎหมายฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสมาชิกต่อไป ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณานำเสนอกฎหมายให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่การเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก  ถามว่า ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ชงเรื่องต่อ ร่างกฎหมายฯ จะเป็นอย่างไร งานเข้าเต็มๆ สิ ทำงานใหม่กันอีกครั้งเลยนะคะพี่น้อง ต้องออกหารายชื่อ 10,000 กันใหม่ เริ่มผลักดันกันใหม่ คืออะไรๆ ที่ทำมา(14 ปี) มันสูญเปล่าต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง  ตอนนี้เลยต้องเร่งรณรงค์กันใหญ่ ก่อนวันสิ้นสุด 60 วัน คือในวันที่ 30 กันยายน 54 เพื่อขอให้ประชาชนทั่วไป ช่วยส่งเสียงเชียร์ให้รัฐบาลท่านเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายฯ มาตรา 61  เพราะฉะนั้นหากท่านเห็น ขบวนการหน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค มาตรา 61 แวะเวียนไปรณรงค์กันที่ไหน โปรดส่งแรงใจและช่วยลงรายชื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่126 เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นที่พะงัน: เมื่อชุมชนรับรองกันเอง

  ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง   เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นเกษตรอินทรีย์กันไปหมด หันไปทางไหนก็มีสินค้าออร์แกนิค ที่อ้างว่า ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์  บางคนอาจมีการขอรับรองมาตรฐานเฉพาะของบ้านเรา และบางคนก็หลายมาตรฐานทั้งยุโรป อเมริกาและสากล ดูลายตาไปทีเดียว  ที่จริงแล้ว การรับรองมาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด  มีเกษตรกรหลายคน ฟาร์มหลายแห่ง ที่ทำเกษตรโดยยึดหลักการเกษตรอินทรีย์จริงๆ (ตามหลักการของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ เป็นธรรม และดูแลเอาใจใส่) โดยไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน  แต่ก็มีหลายฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจุบัน การรับรองมาตรฐานเป็นธุรกิจที่หน่วยตรวจรับรองมาตรฐานหลายแห่งให้บริการตรวจรับรองฟาร์ม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพและหลักการเกษตรอินทรีย์กันเท่าไหร่นัก  แต่การรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการจำหน่ายผลผลิตไปให้กับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถทราบและมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จริงมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตที่ขายผลผลิตในท้องถิ่นหรือขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(16 สิงหาคม 2553) องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะพะงัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเกาะพะงัน ให้เป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีท่านรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ เป็นประธานในการจัดงานดังกล่าว และต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ได้ ริเริ่มโครงการ "เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดยมอบหมายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาร่วมกันกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบนเกาะพะงันร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์ โดยจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรบนเกาะพะงันผลิตอาหารออร์แกนิค ส่งขายให้กับร้านอาหาร โรงแรม และใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนเศษอาหาร อาหารที่เป็นขยะอินทรีย์จะถูกจัดแยก แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ เป็นการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารและปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน  นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนให้โรงแรมเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ในห้องพักและสวนไม้ประดับรอบโรงแรม มาเป็นสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย  หลายคนอาจเห็นว่า การพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์นี้น่าจะต้องใช้ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ที่มีการทำอยู่แล้วในต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว(ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) มีความมั่นใจในสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นบนเกาะพะงัน โดยให้หน่วยงานอิสระจากภายนอกเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วเกาะพะงันมีทางเลือกอย่างอื่นอยู่อีก  จากการศึกษาข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่า  มีระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่น่าจะเหมาะสมกับเกาะพะงันมากกว่าการตรวจสอบจากภายนอก คือระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ "ชุมชนรับรอง" โดย ระบบ "ชุมชนรับรอง" นี้เป็นการริเริ่มของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ในระบบชุมชนรับรองนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน(ถ้าเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า คลัสเตอร์เกษตรกรอินทรีย์) โดยสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาจมีประมาณ 5 - 7 คน จะหมุนเวียนไปตามฟาร์มของเพื่อนสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งในหมู่สมาชิกเกษตรกรอาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และให้ข้อแนะนำกันเองไปในตัว  เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง ยิ่งกว่า "3 in 1" เสียอีก  และถ้าใครคิดว่าเกษตรกรจะโกงกันเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบระบบชุมชนรับรองนี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกลุ่ม ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรสมาชิกทุกราย รวมทั้งผลการตรวจรับรองโดยชุมชนด้วย  และถ้ายังไม่เชื่อกันอีก ก็สามารถแวะเวียนไปดูฟาร์มของเกษตรกรด้วยตัวเองได้ ซึ่งอาจกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการพัฒนา “เกาะพะงัน เกษตรอินทรีย์” ที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน  ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ ที่ facebook/Organic Phangan หรือจะไปทดลองเป็นนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปดูฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พะงันด้วยก็ได้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ปัจฉิมกถา งาน ๑๐๐ ปีชาตกาล

  ท่านทั้งหลายได้รับฟังถ้อยคำที่ยกย่องเชิดชูท่านอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้วมาแล้วกว่าครึ่งวัน ทั้งจากกวี นักวิชาการ ศิษยานุศิษย์ จะขาดคนสำคัญไปก็เพียงคนเดียว คืออดีตนายกรัฐมนตรี ที่จำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ   แท้ที่จริง ถือได้ว่า ท่านอาจารย์หมอเสมเป็นปูชนียบุคคลร่วมสมัยที่สำคัญยิ่งของเรา แม้คนในสังคมส่วนใหญ่จะไม่แลเห็นคุณค่าของท่านเท่าที่ควรก็ตาม แต่อย่างน้อยในวงการของพวกเราซึ่งรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเนื่องในชาตกาลครบศตวรรษของท่านในวันนี้ ก็มีมากและหลากหลายพอ และแต่ละหน่วยงานนั้นๆ ยังประกอบไปด้วยผู้คนที่ยืนหยัดอยู่ข้างคุณงามความดี ทั้งบางคนยังมีความกล้าหาญจากจริยธรรม ถึงกับไม่กลัวกับการเสี่ยงชีวิต เพื่อท้าทายอำนาจอันเป็นธรรม นอกเหนือไปจากหลายท่าน ที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะเช่นท่านอาจารย์หมอเสม โดยช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมทางด้านความดีความงามและความจริง อย่างไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ ทั้งหมดนี้พวกเราล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านอาจารย์หมอเสมด้วยกันแทบทั้งนั้น แม้เราจะดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ ได้ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของท่านแต่คุณูปการที่ท่านมอบให้เรามา ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นพลานุภาพที่สำคัญยิ่งนัก ท่านได้ฟังถ้อยคำ มาจากหลายท่านแล้ว แล้วจะมีอะไรให้ข้าพเจ้ากล่าวปิดท้ายอีกเล่า ทั้งท่านอาจารย์หมอเสมยังขอร้องข้าพเจ้าไว้ด้วยว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพูด ขออย่าได้พูดปากเปล่า ให้เขียนมาอ่านให้ฟังกัน เพราะท่านเกรงโอษฐภัยของข้าพเจ้า ซึ่งอาจต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าอีกก็เป็นได้ และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องคดีดังกล่าว หรือเผชิญกับโลกธรรมในทางลบ ท่านจะกรุณาหาทางช่วยเยียวยาแก้ไขให้ข้าพเจ้าเสมอๆ มา ไม่แต่ในทางการแพทย์ หากรวมถึงในทางจิตวิทยาและในทางสังคมการเมืองอีกด้วย ดังเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับอุปการคุณจากท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้าย่อมมีอีกมิใช่น้อย   ปาฐกเอย กวีเอย และนักอภิปรายเอย ล้วนพูดถึงท่านอาจารย์เสมกันมามากแล้ว และเชื่อว่าจะบรรยายถึงคุณความดีของท่านอีกต่อไปเท่าไรๆ ก็ได้ หากในที่นี้ ข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญของท่านอาจารย์หมอเสมในแง่มุมของข้าพเจ้า กล่าวคือท่านเป็นพุทธศาสนิกก่อนอื่นใด ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธไทยส่วนใหญ่นั้นคือพิธีกรรม ดังงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านอาจารย์เสมคราวนี้ ก็มีพิธีกรรมทางฝ่ายพระพุทธแต่ตอนเช้า ทั้งๆ ที่พิธีกรรมดังกล่าวเกือบสื่อสาระมายังชาวพุทธไทยร่วมสมัยไม่ได้เอาเลย อาจมีคุณประโยชน์ก็ตรงที่พอพระฉันภัตตาหารแล้ว เราก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน   แต่ถ้าเราจับสาระแห่งพุทธพิธีได้ เราน่าจะตราไว้ว่า ประการแรกคือการรับไตรสรณคม ซึ่งหมายความว่าเราถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับเรา ว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งสำหรับเรา โดยเราอาจเข้าถึงการตื่นอย่างพระพุทธะก็ได้ เราอาจเข้าไปแนบสนิทกับคุณงามความดีอันสูงสุดอย่างพระธรรมก็ได้ โดยเราอาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นชุมชนที่ถือเอาความเสมอภาคเป็นเนื้อหา มีภารดรภาพเป็นแกนกลาง เพื่อให้เราเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง อย่างพระอริยสงฆ์ก็ได้   ถ้าเราเข้าถึงสาระของการรับไตรสรณคมได้ ชีวิตเราจะมีความหมายยิ่งนัก ชีวิตเราย่อมจักไม่เป็นไปเพียงทรัพย์ศฤงคาร หรือยศศักดิ์อัครฐาน หรือการแก่งแย่งแข่งดีกัน ดังที่มักเป็นไปอยู่ในสังคมกระแสหลัก อย่างน่าสมเพทเวทนายิ่งนัก   อาจารย์หมอเสม ท่านถือเอาพระรัตนตรัยเป็นนิรัตศัยบุญเขต อย่างยากที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าได้ถึง ท่านจึงเต็มไปด้วยการให้ ยิ่งกว่าการรับ ท่านเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ แทนความโกรธเกลียด และท่านเต็มไปด้วยปัญญาที่รับรู้อะไรๆ อย่างเป็นองค์รวม อย่างไม่แยกเป็นเสี่ยงๆ ดังวิทยาการกระแสหลักในโลกสมัยใหม่ อาจารย์หมอเสม ดำเนินรอยตามพระบาทพระบรมศาสดา ซึ่งทรงเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ ทางนิกายวัชรยาน เขามีพระพุทธรูปปางพระไภษัชคุรุไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเตือนพุทธศาสนิกว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นทั้งแพทย์และเป็นทั้งครู คือครูที่เรียนจากตนเองด้วย เรียนจากผู้อื่นด้วย และเรียนจากธรรมชาติด้วย ผู้ที่ถึงพร้อมในการเรียนรู้ ย่อมอยู่ในสถานะที่พร้อมจักเป็นผู้สอน หากจักไม่สอนเกินความรู้หรือประสบการณ์ของตน โดยที่ความรู้หรือวิชานั้นย่อมควบคู่ไปกับจรณะ หรือความประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นคุณประโยชน์ด้วยเสมอไป การสอนตามตำราดังการศึกษากระแสหลัก หรือสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง ย่อมให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ และถ้าครูปราศจากองค์คุณของความเป็นคนที่พร้อมจะให้ พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัวแล้วไซร้ ครูพวกนี้มีโทษยิ่งกว่ามีคุณ   แพทย์ก็เช่นกัน คำๆ นี้เป็นไวพจน์กับวิทยะ คือความรู้ที่แท้ ซึ่งทางภาษาบาลีใช้คำว่า วิชชา อันตรงกันข้ามกับ อวิชชา ความหลง ความยึดถืออย่างผิดๆ หรืออย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยอ้าขาผวาปีกว่าตนเรียนรู้มาดีกว่าคนอื่น สูงส่งกว่าคนอื่น ยิ่งได้ไปชุบตัวในต่างประเทศมาด้วยแล้ว ยิ่งมักจะกำเริบเสิบสานกันยิ่งนัก และยิ่งแพทย์ที่มีอติมานะเช่นนี้ บวกไปกับอวิชชา ซึ่งยึดมั่นถือมั่นว่าจำเพาะความรู้ในแวดวงของตนเท่านั้น คือคำตอบ นั่นคือเหตุแห่งความหายนะ โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงเอาเลยก็ว่าได้ แพทยศาสตร์ สยบอยู่กับลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมมากเพียงใด โดยมิใยต้องเอ่ยว่า บรรษัทยาและบริษัทที่ควบคุมเครื่องยนต์กลไก ในสิ่งซึ่งอ้างถึงความทันสมัยต่างๆ ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น นับว่าเป็นอันตรายในวงการแพทย์อย่างมหันต์   เมื่อใดแพทย์ แลเห็นว่าวิชาชีพของตนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรู้ ซึ่งมักถูกผนวกเอาไว้กับอวิชชาแล้วไซร้ นั่นแหละเขาอาจจะเกิดมนสิการขึ้นได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของเขา สูงส่งมากกว่าความเป็นแพทย์ โดยเขาน่าจะต้องตราจ่อไปด้วยว่า อวิชชาหรือโมหจริตนั้น มักโยงไปถึงโลภจริต ที่ทำให้หมอมักร่ำรวยเกินคนธรรมดาสามัญเกินไป โดยไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าการแพทย์สมัยใหม่โยงไปถึงโทสจริตด้วย ดังคงจะสังเกตได้ว่านายแพทย์มักเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานต่างๆ กันมิใช่น้อย เช่น พากันไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น โดยที่รู้กันไหมว่า การบริหารจัดการนั้นๆ ทำให้เขาตกอยู่ใต้โทสจริต ซึ่งโยงไปถึงโลภจริตและโมหจริตพร้อมๆ กันไป ยังนายแพทย์ชั้นนำเป็นจำนวนมากไม่น้อย ก็เข้าไปข้องแวะกับนักการเมือง นักการทหาร อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพียงใด ตระหนักกันบ้างไหม หาไม่นายแพทย์บางคนก็เตรียมให้ทายาทได้ไต่เต้าไปเอาดีทางการเมืองเอาเลย โดยเขาแลเห็นไหมว่านั่นคือผลพลอยได้จากอกุศลมูลทั้งสาม ดังที่กล่าวมาแล้วมากกว่าอะไรอื่น   การกล่าวปิดงานนั้น ควรมีบทสรุป แต่ข้าพเจ้าต้องการเปิดประเด็นไว้ให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดนึกตรึกตรอง เพื่อหาสาระจากชีวิตสำหรับตัวท่านเอง และถ้าพิจารณาวิถีชีวิตอาจารย์หมอเสมได้ชัด ก็ย่อมถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางที่ท่านเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ โดยที่ท่านเป็นมนุษย์ที่พยายามสนิทแนบแน่นกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาแทบตลอดชีวิตของท่านอันยืนยาวจนครบศตวรรษในวันนี้   ส.ศิวรักษ์ กล่าวปิดในงาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ววันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว สิ้นลมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ด้วยโรคชราหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้นายแพทย์เสมเพิ่งมีอายุครบ100ปีไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 คนไข้ไทย..กับทางตัน

ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออกมารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ “แพทยสภา” และ “กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่างๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช้อำนาจรัฐในการซ้ำเติมความทุกข์ของผู้เสียหายเหมือนอย่างที่เคยทำ ฤา..พฤติกรรมที่ฉ้อฉลของหน่วยงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของคู่กัน

อ่านเพิ่มเติม >

บทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

บทความพิเศษบทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ศลิษา เตรคุพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและประเมินสินค้าไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของผู้บริโภคที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะประสบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมาโดยตลอด ดังที่ท่านจะได้รับทราบจากประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงกรณีศึกษาจากการทดสอบสินค้าต่างๆ   ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าชนิดหนึ่งๆมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือคุณภาพ ส่งผลให้มีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตสินค้าต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตมักนำมาใช้คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้า หรือ การให้ข้อมูลสินค้าไม่ครบ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยตามหลักวิชาการอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับที่มูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ STIFTUNG WARENTEST ได้ดำเนินการมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กรฯปี 1962 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เสนอความคิดในการจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นกลางขึ้นต่อรัฐสภา หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจได้วางแผนสร้างองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐสภา (สภาบุนเดสทาก) มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ ที่ขอจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าในรูปของมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ STIFTUNG WARENTEST (ชติ๊ฟทุ่ง วาเร่นเทสท์) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน และใน วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ทำพิธีเปิดมูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้านี้อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกำหนดระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 1966 STIFTUNG WARENTEST ได้จัดจำหน่ายวารสาร test ฉบับปฐมฤกษ์ตามร้านค้าทั่วไปในราคาเล่มละ 1.50 มาร์ค รวมทั้งจัดจำหน่ายวารสารในรูปแบบของสมาชิกอีกด้วย โดยสินค้าแรกๆ ที่ถูกนำมาทดสอบคือ จักรเย็บผ้าและเครื่องผสมอาหาร ส่วนผลการทดสอบสินค้าในวารสารฉบับแรกๆ นั้นจะเป็นการบรรยายความคิดเห็นโดยรวมเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาผลการทดสอบให้อยู่ในรูปของค่าคะแนนและจัดอันดับระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ระดับ ‘ดีมาก’ ‘ดี’ ‘ปานกลาง’ ‘พอใช้’ ไปจนถึง ‘คุณภาพต่ำ’ ค่าคะแนนและการจัดอันดับนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ (ที่ได้รับคะแนนดี!) สามารถนำไปใช้โฆษณาสินค้าของตนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่มูลนิธิกำหนดไว้เท่านั้น จวบจนทุกวันนี้ STIFTUNG WARENTEST ก็ยังคงจำหน่ายวารสารดังกล่าวอยู่ ในราคา 4.20 ยูโร ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีการทดสอบสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือของ STIFTUNG WARENTEST ทำให้บริษัทเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ Forsa (Forsa: Gesellschaft f?r Sozialforschung und statistische Analysen mbH) สรุปผลการวิจัยในปี 2000 ว่า ชาวเยอรมันจำนวนถึง 96 % รู้จัก STIFTUNG WARENTEST และหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรจะยึดผลการทดสอบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างเรื่องราวของกรณีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ และคำพิพากษาของศาลล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่างๆ ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น กรณีศึกษาที่ 1 : การทดสอบอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี (1975)เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี จึงทำให้ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ (Bundesgerichtshof) ณ เมือง คาร์ลสรูเฮ่อ (Karlsruhe)ได้เข้ามาพิจารณาการทำงานของมูลนิธิเพื่อการทดสอบสินค้าเป็นครั้งแรก และให้คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานแก่มูลนิธิ โดยศาลฯได้เน้นย้ำถึงหน้าที่อันจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความสำคัญขององค์กรนี้ ตลอดจนได้ให้อำนาจแก่ STIFTUNG WARENTEST เพื่อพิจารณากำหนดขั้นตอนการทดสอบสินค้า การประเมินคุณภาพ และการแสดงผลการทดสอบเองอีกด้วย   กรณีศึกษาที่ 2: เครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติ (1987)ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ได้พิพากษากรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติแห่งหนึ่ง ข้อพิพาทนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อสงสัยที่ว่า การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธินั้นทำให้สินค้าต้องมีมาตรฐานสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สถาบันเพื่อการวางมาตรฐานแห่งเยอรมันหรือ สถาบันมาตรฐานสินค้า DIN (DIN: Deutsches Institut f?r Normung) กำหนดไว้หรือไม่ โดยศาลฯพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภาระหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องทำการเปิดเผยสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ทั้งนี้รวมถึงข้อบกพร่องของมาตรฐาน DIN ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออย่างไร้ความเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ เสีย อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป กรณีศึกษาที่ 3 : ครีมบำรุงผิวหน้า (2005-2006)เกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อ Hautnah (เฮ้าท์นา) ที่มีดาราหญิงยอดนิยมรุ่นใหญ่ ชื่อ อุ๊ชชี่ กลาส (Uschi Glas)เป็นพรีเซนเตอร์ โดยได้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้อง STIFTUNG WARENTEST ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากทางมูลนิธิได้ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขายตรงต่างๆ และให้ผลการประเมินครีมชนิดนี้ว่า ‘คุณภาพต่ำ’ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ คดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ต่อมาศาลแขวงกรุงเบอร์ลินจะพิจารณาเพิกถอนคำร้องของโจทก์ แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ละความพยายามและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอีกครั้ง ทว่าศาลสูงกรุงเบอร์ลินก็เพิกถอนคำร้องดังกล่าวซึ่งทำให้คดียุติลงได้ในที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ขององค์กรทดสอบสินค้าและบริการ ซึ่งทางกลุ่ม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สนใจและเห็นความสำคัญ ในการทดสอบสินค้า ตลอดจนให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและยุโรป คือการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กลรักลวงใจ : เมนูบุฟเฟ่ต์ของเจ้าหญิงในเทพนิยาย

  เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสคุยผ่านทางโลกออนไลน์กับ บก. นิตยสารฉลาดซื้อ และ บก. ได้ปรารภขึ้นมาว่า ช่วงนี้กระแสของละครโทรทัศน์บ้านเรากำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ผมจะสนใจลองเปลี่ยนสลับมาเขียนวิจารณ์หรือเชิญชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้เท่าทันละครโทรทัศน์กันบ้างหรือไม่ ผมก็ได้ตกปากรับคำคุณ บก. เธอไปว่าจะเริ่มต้นจากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้ก็แล้วกัน  ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตสลับฉากสลับอารมณ์ของคุณผู้อ่านมาวิเคราะห์ละครโทรทัศน์กันบ้าง โดยเลือกเรื่อง “กลรักลวงใจ” ที่หลายคนหลายบ้านติดกันงอมแงมในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับส่งกอง บก. ชิ้นนี้ ก็เพราะทั้งความน่ารักของคุณเจนนี่ในบทของบัวระวง และความหล่อเหลาของคุณเคนธีรเดชในบทของพี่รัญ กับทัศนียภาพวิวสวยๆ ในดินแดนฝันอย่างกรุงปรากของสาธารณรัฐเชค  อันที่จริง โครงเรื่องของละครนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเรื่องราวสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ของบัวระวงลูกสาวเศรษฐีโรงงานซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย กับเลขานุการเอกอัครราชทูตหนุ่มไทยประจำกรุงปรากอย่างพี่รัญ ทั้งคู่ได้ถูกทางบ้านจับคลุมถุงชนกับคนที่ตนเองไม่ได้รู้จักรักกันมาก่อน น้องบัวเธอก็เลยต้องระเห็จปลอมตัวมาเป็นสาวขายบริการ เพื่อไปรับจ้างเป็นภรรยาของพี่รัญถึงอีกฟากหนึ่งของโลก  ด้วยความที่บัวระวงเธอทั้งสวย ฉลาดหลักแหลม และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี จึงทำให้พี่รัญแอบหลงรักเธอตั้งแต่แรกเห็นเป็น “love at the first sight” แต่ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะฝ่าด่าน “กลรัก” มากมายที่มา “ลวงใจ” ได้นั้น ก็ต้องมีบททดสอบจากผู้คนรอบข้างเพื่อพิสูจน์ว่า “รักแท้” ต้องมาจากการพิสูจน์ของชายหญิงเท่านั้น แม้ว่าโดยธีมหลักของเรื่องจะเป็นการเปิดโปงให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ ไม่ใครก็ใคร หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องผองเพื่อนกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านั้นจะปลอดจากการเสกสรรปั้นแต่งหน้ากาก “กลลวง” มาล่อหลอกจิตใจของกันและกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นกลวิธีตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงชนชั้นกลางยุคนี้ ว่า เมื่อพวกเธอต้องมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมรอบตัว เธอเหล่านั้นจะกากบาททับตัวเลือกทางเดินชีวิตเยี่ยงไร  ก็แบบเดียวกับบัวระวง ที่พอถูกจับคู่คลุมถุงชนกับลูกชายรัฐมนตรีที่เธอไม่ได้เลือกเองอย่างฉัตรชัย แถมเขายังเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เป็นเบอร์หนึ่ง เธอเองก็เลือกกากบาทที่การหลบลี้หนีปัญหาไปตามล่าหาชายในฝันแบบพี่รัญ ซึ่งเธอเองเคยแอบหลงรักมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นวัยรุ่น  หนีแล้วก็ไม่หนีเปล่า...บัวระวงก็ได้พาผู้ชมเข้าไปชิม “บุฟเฟ่ต์ยำใหญ่” ของการ “ตัดแปะ” ผสมเอา fairy tales เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาสร้างเป็นจินตนิยายแบบที่เธอเองจะได้สนุกสนานจากการหลบเร้นหนีปัญหานั้นไปเสียเลย  เริ่มตั้งแต่ที่หญิงสาวเก็บกระเป๋าออกจากคฤหาสน์โรงงานซีอิ๊วไปเป็นคุณโดโรธีที่ “follow the yellow line” บินลัดฟ้าตามกระต่ายไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ที่ไกลโพ้นถึงกรุงปราก ที่บรรยากาศก็ช่างดูไม่แตกต่างจากเทพนิยายแฟนตาซีแต่อย่างใด  และถ้าจะให้ดูเป็นเทพนิยายจริง ๆ แล้ว “Beauty” แบบน้องบัวระวง ก็ต้องไปพบกับเจ้าชายในฝันที่รูปหล่อเลิศเลอเพอร์เฟ็ค (หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจ้าชายที่หาได้ยากยิ่งในโลกความจริง) ซึ่งเลขานุการหนุ่มของท่านทูตไทยอย่างคุณพี่รัญก็คือเขาคนนั้นที่เป็น “The Best” ของ “Beauty” อย่างน้องบัว   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ในเทพนิยายแบบนี้ บัวระวงก็ต้องจำแลงกายอีกครั้งเป็นคุณอลิซผู้ท่องวันเดอร์แลนด์ ควงแขนพี่รัญพากันเดินเที่ยวชมทัศนียภาพของกรุงปรากโดย “ไม่สนสายตาใคร” ไล่เลาะกันเรื่อยไปตั้งแต่ย่านโอลด์ทาวน์สแควร์ ผ่านสะพานชาร์ลส์บริดจ์ ไปจนถึงปราสาทแห่งปรากที่มองเห็นแม่น้ำไหลผ่านอยู่ไกลๆ  เมื่อท่องเที่ยวเป็นอลิซอินวันเดอร์แลนด์แล้ว บัวระวงก็มาเป็นซินเดอเรลล่าคอยทำงานบ้าน ปรนนิบัติพัดวี กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม และสร้างสรรค์เมนูอาหารตำรับนานาชาติมาบำรุงบำเรอพระเอกหนุ่มเลขาท่านทูต  เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับฉากการเดินท่องเที่ยววนรอบกรุงปรากกันแล้ว บัวระวงก็มักจะปรากฏกายในชุดคอสตูมผ้ากันเปื้อน และสาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตในห้องครัว รังสรรค์เมนูนานานาชนิดอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อ “พ่อแง่” มาเจอกับ “แม่งอน” ในดินแดนในฝันแบบนี้ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ก็ต้องมีฉากประเภทที่บัวระวงในอารมณ์งอนง้อพี่รัญ และหนีออกไปจากบ้าน จนไปพานพบกับคนร้ายหรือบรรดาปีศาจที่จะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับเธอ และก็ต้องเป็นเจ้าชายอย่างพี่รัญนั่นแหละที่เข้ามาช่วยเธอจัดการกับเจ้าปีศาจเพื่อพิสูจน์ว่ารักแท้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว  รวมไปถึงฉากคลาสสิคแบบที่พี่รัญอาบน้ำอยู่แล้วบังเอิญทำสบู่เข้าตา ก็ต้องเป็นบัวระวงนี่เองที่เอาน้ำมาล้างตาให้เขา และแอบสำรวจตรวจสอบเรือนร่างของเจ้าชายหนุ่มที่กำลังสรงสนานอยู่นั้น และไหนๆ ก็สร้างแฟนตาซีในฝันกันมาเสียขนาดนี้ ถ้าจะให้ครบเรื่องกันแล้ว ละครก็ต้องสร้างตัวละครผู้หญิงที่ร้ายกาจอย่างอ้อมคู่หมั้นของพี่รัญขึ้นมา ให้เป็นประหนึ่งนางแม่มดที่คอยหาเรื่องหาราวสโนว์ไวท์บัวระวงกับเจ้าชายรัญรูปงามไม่ให้ “they live happily ever after” กันได้ง่าย ๆ จนกว่าจะถึงตอนจบ กว่าที่สโนว์ไวท์บัวระวงจะฝ่าด่านแม่มดอ้อมตัวร้ายไปได้ เธอก็แทบจะงอมพระรามกันไปเลย เพราะบังเอิญในโลกจินตนาการนั้น สโนว์ไวท์กลับลืมพาบรรดาเพื่อนคนแคระทั้งเจ็ดมาเป็น “ตัวช่วย” ไปเสียนี่ ก็เลยต้องเป็นเธอเองที่ประมือกับนางแม่มดกันโดยตรง  “กลรัก” ที่ “ลวงใจ” ของน้องบัวระวงและพี่รัญนั้น ดูแล้วช่างไม่แตกต่างจากการซื้อตั๋วไปดู “ฮอลิเดย์ออนไอซ์” ที่ผู้สร้างบทได้ “ตัดแปะ” ปรุงบุฟเฟ่ต์เจ้าหญิงในเทพนิยายหลาย ๆ เรื่องที่ลากพาผู้หญิงชนชั้นกลางให้หลีกหนี มากกว่าจะหันกลับไปเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง และที่สำคัญ ยิ่งผู้หญิงกลุ่มนี้หนีจากปัญหาไปมากเท่าไร เธอก็จะยิ่งรู้สึกสนุกสนานกับการท่องโลกแฟนตาซีกันไปอย่างไม่สิ้นไม่สุด ดูชีวิตหญิงชนชั้นกลางแบบบัวระวงที่เลือก “หลบหนี” ปัญหาไปเช่นนี้แล้ว ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงชายขอบบ้างล่ะ เมื่อพวกเธอต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต เธอจะเลือกสร้างเทพนิยายท่องวันเดอร์แลนด์หรือไม่ หรือเธอจะเลือกครวญเพลงว่า “ก็ฉันเองก็เป็นหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่ใช่ดังเจ้าหญิงในนิยาย”…???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 เวทีนี้ไม่มีแพ้คัดออก

  เมื่อวันก่อน ขณะที่ผมกำลังเผชิญชะตากรรมรถติดเป็นแพอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครอยู่นั้น ผมได้เหลือบไปเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่คันหนึ่ง เขียนข้อความว่า “ไม่ต้องเร่ง...กูก็รีบ”  ผมอ่านสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไป ก็ขำไป ทำไมมนุษย์เราช่างมีอารมณ์ขันจนสร้างสรรค์ข้อความเสียดสีล้อเลียนบรรยากาศที่เกิดทุกช่วงเช้าและเย็นในเมืองหลวงของเรากันได้ขนาดนี้???  แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นสติ๊กเกอร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ในวังวนของ “การแข่งขัน” ที่จะเอาชนะกันอย่างสูง แข่งขันกันในภาระหน้าที่การงาน แข่งกันกินแข่งกันอยู่ แข่งกันดังแข่งกันเด่น แข่งกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่วายเว้นแม้แต่จะแข่งขันเร่งรีบกันอยู่บนท้องถนนขนาดนี้  แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “แข่งขัน” ที่แปลว่า ต่อสู้ช่วงชิงชัยเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และเพื่อจะไม่เราต้องกลายเป็น “the weakest link” ที่จะถูก “กำจัดจุดอ่อน” ออกไปเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยามเดียวที่ผูกขาดความหมายของคำว่า “การแข่งขัน” เสมอไปนะครับ ในระบบวิธีคิดของคนไทย เรายังมีชุดความหมายอื่นๆ ของคำว่า “แข่งขัน” ได้อีกเช่นกัน ในโฆษณาน้ำอัดลมอัดกระป๋องยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าเรื่องราวการแข่งขันประชันเสียงดนตรีร็อคของคนสองกลุ่มเอาไว้ กลุ่มแรกเป็นคณะนักดนตรีร็อคชื่อก้องอย่างวงบอดี้สแลม ที่นำโดยพี่ตูนและคณะ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำโดยดาราหนุ่มสุดหล่ออย่างน้องเก้าจิรายุและผองเพื่อน  เปิดฉากมา พี่ตูนและคณะนักดนตรีบอดี้สแลมเดินทางมาที่เขาชนไก่ พร้อมอาวุธเครื่องดนตรีครบมือ และระหว่างทางนั้น ทั้ง 4 ชีวิตก็มาพานพบเจอกับกลุ่มศิลปินรุ่นน้องอีก 4 คนที่ดักรออยู่  จากนั้น เสียงดนตรีร็อคก็ดังกระหึ่มขึ้น เมื่อศิลปินทั้งสองกลุ่มต่างประชันกันด้วยอาวุธในมืออย่างเป็นพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดกีต้าร์ไฟฟ้า การรัวไม้กลองห้ำหั่น หรือการกระหน่ำยิงเสียงดนตรีใส่กัน ประหนึ่งการโคจรมาเจอกันในสนามเล่นบีบีกันยังไงยังงั้น  ต่างฝ่ายต่างวิ่งหลบเข้าหลังบังเกอร์บ้าง หลบหลังกำแพงอิฐบ้าง ในหลืบตึกบ้าง หรือหลบอยู่หลังหอคอยกระโดดสูงบ้าง พร้อมๆ กับที่ทุกชีวิตต่างก็สาดกระสุนตัวโน้ตดนตรีร็อคกระจายไปทั่วสนามฝึกที่เขาชนไก่ หลังจากที่พี่ตูนและน้องเก้าหลบออกมาจากหลังบังเกอร์กำแพงแล้ว ต่างก็รัวกีตาร์ไฟฟ้าสาดห่ากระสุนตัวโน้ตเข้าใส่กัน ศิลปินรุ่นพี่ใช้ไหวพริบหลอกล่อรุ่นน้องวิ่งตามไปจนติดกับบ่วงเชือกที่กระตุกขาของเขาขึ้นไปห้อยติดอยู่บนต้นไม้ ก่อนที่พี่ตูนจะยกนิ้วเป็นสัญญาณว่า “เป็นต่อ” อยู่ในขณะนั้น   ภาพตัดมาที่พี่ตูนและศิลปินบอดี้สแลมทั้งวงวิ่งตรงมายังเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง พี่ตูนกระโดดขึ้นไปบนเวทีและเตรียมเริ่มต้นการแสดงของพวกเขา แต่ปรากฏว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักดนตรีร็อคยังรู้พลั้ง พี่ตูนของมิตรรักแฟนเพลงกลับเผลอลืมหยิบปิ๊กเล่นกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมาเวทีเสียนี่  น้องเก้าจิรายุที่คราวนี้มายืนเชียร์อยู่ด้านล่างเวที ก็เลยเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม แล้วโยนฝาขึ้นไปบนเวที ให้พี่ตูนได้ใช้แทนปิ๊กเล่นกีตาร์ ก่อนโฆษณาจะจบลงด้วยภาพศิลปินทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโดดขึ้นไปร่วมแจมดนตรีกันบนเวทีอย่างมีความสุข  ในขณะที่คนเราทุกวันนี้อาจจะรับรู้ว่า “การแข่งขัน” ก็คือ การพยายามเอาชนะหรือห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ทว่า ความหมายอีกชุดหนึ่งของ “การแข่งขัน” แบบในโฆษณา ก็อาจจะแปลความได้ด้วยว่า เป็นการประชันฝีมือ ลับเหลี่ยมลับคมอย่างมีมิตรภาพ  บนเวทีของระบบการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น พยายามทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า วิธีคิดเรื่อง “การแข่งขัน” นั้นมีอยู่เพียงความหมายเดียว นั่นคือ ในสนามแข่งขันนั้น “ม้าตัวสุดท้าย” ต้องถูกคัดออกเสมอ เพราะฉะนั้น หากใครก็ตามคิดจะมาลงแข่งขันกันในสนามของระบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องพยายามถีบตัวเองให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เข้าวิน และต้องทำทุกวิถีทางแม้จะต้องห้ำหั่นทำลายกันเพื่อไม่ให้ตนตกเป็น “ม้าตัวสุดท้าย” ที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขัน  แต่ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง หากเราย้อนกลับยังวิถีการผลิตของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมแล้วนั้น คำว่า “การแข่งขัน” อาจมิได้เป็นไปเพื่อการประหัตประหารกันและกันให้ม้วยสิ้นไปข้างหนึ่ง ตรงกันข้าม การแข่งขันถือเป็นกิจกรรมทางสังคม เพื่อลับเหลี่ยมลับคมลับฝีมือกันมากกว่าจะทำลายกัน  ตัวอย่างศิลปินในสมัยก่อนนั้น กว่าที่จะมีชื่อเสียงขจรขจายขึ้นมาได้ พวกเขาไม่ใช่แค่จะร่ำเรียนฝึกฝนความรู้อยู่กับตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขามักจะชอบออกตระเวนท่องยุทธภพไปแสวงหาความรู้และฝึกฝนประชันกับศิลปินที่มีความสามารถสมน้ำสมเนื้อหรือพอเหมาะพอฝีมือกัน   ด้านหนึ่ง การออกไปตระเวนร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของบรรดาศิลปินโบราณ ก็เพื่อสานมิตรสร้างเครือข่ายของศิลปินด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะว่า การได้ประชันฝึกฝีมือกับศิลปินคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับการเอามีดไปฝนลับกับหิน ยิ่งลับก็จะยิ่งคมมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็เหมือนกับศิลปินร่วมสมัยรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในโฆษณานั่นแหละครับ ที่นานๆ ครั้งก็ต้องมีจังหวะท้าดวลท้าประลองดนตรีร็อคกันให้สนั่นภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือกีตาร์ไฟฟ้ากับการรัวไม้กลองดนตรีนั้น จะ “คม” ขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการ “ลับ” ฝีมืออยู่เป็นเนืองๆ  ไหวพริบ ลีลา และตัวโน้ตที่บรรเลง จึงต้องมาจากการฝึกฝนกันอยู่ในสนามประลอง ผลัดกันรุกผลัดกันรับ หรือแม้แต่การพลาดท่าติดบ่วงเชือกไปห้อยอยู่บนต้นไม้ ก็เป็นบทเรียนที่ดีของศิลปินรุ่นน้องที่จะใช้ความผิดพลาดเป็นครูที่ดี ก่อนจะขึ้นเวทีเติบใหญ่เป็นศิลปินที่เข้มแข็งในอนาคต  และที่สำคัญ หลังจากสาดกระสุนตัวโน้ตกันจนเขาชนไก่แทบแตกแล้ว เกมจบก็คือการแข่งขันก็ต้องจบลงเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการประชันในเกมนี้ก็คือ การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพ มิใช่การพยายามทำลายล้างกันและกันจนราบกันไปทุกๆ ฝ่าย “ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร...” แบบที่โฆษณาน้ำอัดลมก็บอกเราด้วยว่า หากทุกวันนี้ เราลองย้อนกลับไปหาความหมายเก่าๆ ความหมายดีๆ ของ “การแข่งขัน” แบบที่เคยมีมาในอดีตบ้าง ต่อไปสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเขียนข้อความใหม่ว่า “คุณไม่เร่ง...ผมก็เลยไม่รีบ” เพราะเวทีนี้เขาไม่มีการแพ้คัดออกกันอีกแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ความอิหลักอิเหลื่อกับความแรงของพัดลม

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวัตถุแห่งยุคสมัยหนึ่งๆ ต้องมาปรากฏอยู่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ที่ผิดฝาผิดตัวและไม่น่าจะเป็นไปได้  ตัวอย่างเช่น ถ้าเรานั่งชมละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคหรือนั่งดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านเข้ามาในฉาก เราในฐานะผู้ชมก็คงจะรู้สึกตะขิดตะขวงหรืออิหลักอิเหลื่อใจพิกลๆ อยู่  ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า รถยนต์เป็นวัตถุจากโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่วัตถุอย่างรถยนต์จะไปปรากฏอยู่ในโลกที่โพ้นสมัยแบบที่เขาจำลองไว้ที่หน้าจอเช่นนั้น  แต่ทว่า ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่เวลาต่างกันมาซ้อนทับกันเฉกเช่นนี้ กลับไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หากไปปรากฏอยู่ในโลกแห่งโฆษณาโทรทัศน์!!!  ตัวอย่างโฆษณาพัดลมไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ที่จำลองฉากท้องพระโรงของละครจักรๆ วงศ์ๆ เอาไว้ ได้เริ่มต้นด้วยการใช้กล้องจับภาพพระสาโท(เหงื่อ)ที่ผุดพรายจับใบหน้าตัวละครพระราชา ก่อนที่พระองค์จะตรัสกับมุขอำมาตย์ว่า “ร้อน...” ข้างๆ พระราชา มีนางกำนัลในชุดสไบสีบานเย็นคอยนั่งหน้าไร้อารมณ์แต่ก็ยังปรนนิบัติ “พัดวี” โชยลมแห่งความสุขไปให้กับพระราชา แต่ดูเหมือนว่า ลมจากพัดวีโบกและแรงงานมนุษย์อาจไม่มากพอจะสนองพระหฤทัยหรือไม่ช่วยบรรเทาความร้อนให้กับตัวละครพระราชาได้ จึงทรงตรัสกับปุโรหิตต่อไปว่า “ขอเบอร์ 3 สิ”  จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ท่อนแขนนางกำนัล ซึ่งปรากฏให้เห็นปุ่มกดสามระดับตามสปีดของแรงลม และเมื่อปุโรหิตกดเปลี่ยนเป็นปุ่มเบอร์ 3 นางกำนัลก็เร่งสปีดของการพัดวีให้แรงขึ้น จนนางนั้นช็อคหยุดนิ่งและควันดำคลุ้งไหลออกมาทางจมูก เหมือนกับเครื่องมอเตอร์ในตัวของนางได้น็อคพังลง  มหาดเล็กยกนางกำนัลที่มอเตอร์ชำรุดออกไปจากท้องพระโรง ก่อนจะยกพัดลมไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดเข้ามาแทน พระราชาที่ออกอาการเซ็งก็ถามขึ้นว่า “แล้วพัดลม...มันดียังไง”  ว่าแล้ว ปุโรหิตก็กดปุ่มเปิดพัดลม เป่าได้แป็บเดียวเท่านั้น เล่นเอาตัวละครพระราชากระเด็นออกไปทางพระบัญชรของท้องพระโรงนั่นเลย ก่อนที่จะมีเสียงบรรยายพูดปิดท้ายกล่าวชื่นชมสรรพคุณของพัดลมรุ่นใหม่นี้ว่า ทั้ง “ใหญ่กว่า” และ “แรงกว่า” ก็ดังที่เราๆ ท่านๆ คงทราบกันดีว่า พื้นที่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือบรรดานิทานพื้นบ้านทั้งหลายนั้น เป็นพื้นที่ที่มิติเรื่อง “เวลา” มีความคลุมเครือยิ่งนัก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรื่องเล่าพื้นบ้านต่างๆ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” ซึ่งผู้ฟังหรือผู้ชมเองก็มิอาจทราบได้ว่า เป็นกาลครั้งหนึ่งเมื่อไร เป็นกาลสมัยยุคไหน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของศักราชที่จะระบุชี้ชัดได้แน่นอน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ น่าจะต้องเป็นอดีตกาลที่ “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ด้วยเหตุดังกล่าว วัตถุต่างๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือที่ภาษาเทคนิคการผลิตโทรทัศน์เขาเรียกว่า “props” นั้น ก็ต้องเป็นอะไรก็ตามที่บ่งบอกนัยว่า “นานมาแล้ว” นั่นเอง ตั้งแต่โต๊ะตั่งเตียงแท่นบัลลังก์ ตัวท้องพระโรง เสื้อผ้าของมุขอำมาตย์ รวมไปถึงสไบสีบานเย็นและพัดวีพัดโบกที่อยู่ในมือของนางกำนัล  แต่ที่น่าแปลกก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศของกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านพ้นมานานแล้วนั้น โฆษณาได้อนุญาตให้นวัตกรรมอย่างพัดลมไฟฟ้า เข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าพื้นบ้านหรือนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ได้เช่นนี้  ทั้งๆ ที่พัดลมเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของยุคสังคมสมัยใหม่ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า “ความอิหลักอิเหลื่อ” ของช่วงเวลาที่แตกต่างกันแต่ก็มาซ้อนทับกันได้นั้น กลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือปกติวิสัยในพื้นที่ของโฆษณา  อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ที่ตัวละครถูกลมหอบพัดปลิวไปที่นั่นที่นี่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในเรื่องเล่าพื้นบ้านแต่อย่างใด ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อเด็กๆ ตอนเรียนวิชาวรรณคดีไทยนั้น จะมีเรื่องเล่าพื้นบ้านอยู่หลายเรื่องที่ใช้ลมหอบตัวละครจากดินแดนหนึ่งไปยังดินแดนอื่นที่ไกลๆ เพื่อสร้างความรู้สึกถึงการพลัดพรากให้กับตัวละครเอก และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบางอย่างในท้องเรื่อง  แต่อย่างไรก็ดี ลมพายุที่หอบพัดเอาตัวละครให้พรากพลัดจากกันในวรรณคดีโบราณนั้น มักเกิดเนื่องมาแต่การดลบันดาลจากเทพยดา หรือมาจากบัญชาของอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ทั้งปวง และที่แน่ๆ คงไม่ใช่ลมหอบจากพัดลมไฟฟ้าหน้ากว้างรุ่นใหม่ แบบที่เราสัมผัสเห็นได้จากโฆษณาโทรทัศน์แบบนี้ เพราะฉะนั้น จะมีเหตุผลอันใดกันเล่าที่โฆษณาจึงต้องนำเสนอภาพ “ความอิหลักอิเหลื่อ” ด้วยการหยิบจับเอาสองช่วงเวลาที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ให้มาอยู่ที่หน้าจอโฆษณาในเวลาเดียวกันเช่นนี้ ?  ผมเดาเอาว่า คำตอบข้อแรกก็น่าจะเป็นเพราะว่า โฆษณาพัดลมรุ่นใหม่ชิ้นนี้ได้อาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ “ขบขัน” หรือที่เรียกว่า “humour” เป็นพื้นฐาน และการที่จะทำให้ผู้ชม “ขบ” จน “ขัน” ได้นั้น ก็ต้องทำให้คนดูเกิดคำถามบางอย่างถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็นหน้าจอโทรทัศน์  ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งเวลาดูละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วเห็นภาพนางกำนัลนั่งโบกพัดวีอยู่ในท้องพระโรงนั้น จะเกิดความสงสัยอยู่เสมอว่า ถ้าพัดกันทีละพรึ่บๆ แบบนี้แล้ว พระราชาบนบัลลังก์จะเย็นไหมเนี่ย ??? ความสงสัยเช่นนี้ทำให้ดูละครกี่ครั้ง ก็ “ขบ” จน “ขัน” ขึ้นมาได้ทุกที  แต่พอมาถึงปัจจุบัน ความรู้สึกขบขันคงไม่ใช่เหตุที่เกิดแบบไม่ตั้งใจของคนดู(เช่นที่ผมรู้สึกในวัยเด็กแบบนั้น) แต่เกิดมาจากความจงใจของนักโฆษณาที่จะใช้เทคนิคบางอย่างในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งใจสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ บังเกิดกลายเป็น “ความเป็นไปได้” ขึ้นมา ตัวอย่างของความอิหลักอิเหลื่อแบบนี้ก็เช่น การสร้างภาพนางกำนัลสไบบานเย็น ซึ่งมีท่อนแขนแบบหุ่นยนต์เป็นปุ่มกดบังคับสปีดการโบกพัด รวมไปถึงการจับวัตถุสมัยใหม่อย่างพัดลมมาวางไว้ในท้องพระโรงของฉากเรื่องเล่าแบบโบราณ ส่วนคำตอบอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าพัดลมเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของวัตถุในโลก “สมัยใหม่” และถ้านางกำนัลสไบบานเย็นกับ “พัดวี” ที่อยู่ในมือของเธอ เป็นตัวแทนของโลก “โบราณ” โฆษณาเองก็คงบอกคนดูเป็นนัยว่า ความโบราณคือความเชย ล้าหลัง และไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด สู้บรรดาวัตถุในโลกสมัยใหม่อย่าง “พัดลม” ไม่ได้ ทั้ง “ใหญ่กว่า” ทั้ง “แรงกว่า” เป็นนวัตกรรมที่ทรงประสิทธิภาพของผู้คนในยุคนี้  เพราะฉะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่ง ความอิหลักอิเหลื่อในความแตกต่างของเวลา ถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกขบขัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โฆษณาก็ใช้ความอิหลักอิเหลื่อเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” และลดทอนคุณค่าของความเก่าให้ดูด้อยค่ากว่าความใหม่นั่นเอง วันนี้ หากคุณเปิด “พัดลม” คุณอาจจะรู้สึกว่าได้ลมเย็นๆ เต็มที่ยิ่งกว่า “พัดวี/พัดโบก” แบบโบราณ แต่ก็อย่าลืมด้วยนะครับว่า พัดลมอาจพัดไปพัดมา แต่ก็เป่าให้คุณกระเด็นออกไปนอกหน้าต่างได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ความสุขของเรา...กับใครที่เป็นคนสร้าง?

  พุทธศาสนาเคยมีคำกล่าวว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” และดูเหมือนว่า โฆษณาในสังคมบริโภคทุกวันนี้ก็พยายามจะให้คำตอบแก่เราเหมือนกันว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราจริงๆ” หลังจากที่ผู้ชมโทรทัศน์เคยเห็นภาพของคุณเรย์ แมคโดนัลด์ สะพายเป้แบ็คแพ็คเดินทางถือวีซ่าไปที่นั่นที่นี่แบบ around the world กันมาหลายปีดีดักแล้ว โฆษณากาแฟผงยี่ห้อหนึ่งก็จับเอาคุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ มาเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยกันบ้าง พร้อมกับประโยคที่เขาพูดเปิดต้นเรื่องโฆษณาขึ้นว่า “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก ความสุขก็มาหาเราได้เสมอ...”   ว่าแล้ว ภาพก็ตัดมาที่คุณเรย์กำลังพายเรือแคนนูอยู่ท่ามกลางทะเลที่เงียบสงบ และสะท้อนประกายแดดอยู่กลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ สลับมาที่ภาพของคุณเรย์ที่หยิบขวดกาแฟผงขึ้นมาสูดดม ก่อนจะตักกาแฟมาชงและคนในถ้วย พร้อมกับมีไอควันกรุ่นๆ ลอยออกมาจากถ้วยกาแฟ   คุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ กล่าวต่อไปว่า “แค่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ อยู่กับกลิ่นหอมๆ อยู่กับรสชาติกาแฟ xxx ที่เป็นตัวเรา แค่นี้ความสุขก็มาอยู่ตรงหน้า”   คุณเรย์ยกถ้วยกาแฟสีแดงขึ้นมาจิบ และมองออกไปที่ฉากหลังของท้องทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ก่อนจะแสดงสีหน้าเอมอิ่ม แล้วเดินออกไปชื่นชมชะง่อนผาริมทะเล   ภาพตัดมาที่คุณเรย์ว่ายน้ำเล่นกับฝูงปลาทะเลหลากสี แล้วก็โคลสอัพถ้วยกาแฟสีแดงวางอยู่ข้างเคียงกับหนังสือหนึ่งเล่ม และมีแว่นกันแดดวางอยู่บนชายหาด ก่อนที่จะฉายให้เห็นภาพคุณเรย์นอนแช่น้ำทะเลอยู่ริมหาด พร้อมกับเสียงของเขาที่พูดด้วยว่า “ถ้าถามผมว่า ที่ไหนสวยที่สุดในโลก ผมว่าที่นี่...ความสุขที่เราสร้างเอง”   แล้วโฆษณาก็จบลงด้วยภาพกว้างของเวิ้งทะเลของหาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ก่อนจะตัดมายังภาพของนักเดินทางอย่างคุณเรย์ นั่งจิบกาแฟบนแพ มีขวดกาแฟและขวดครีมเทียมวางอยู่เคียงข้าง โดยมีข้อความเป็นตัวอักษรขึ้นว่า “ความสุขที่เราสร้างเอง...”  เพื่อนๆ หลายคนของผมบอกว่า ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วรู้สึกชอบ เพราะว่าให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ซึ่งผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่เพียงแต่การได้เห็นท้องทะเลและธรรมชาติไกลๆ ที่โอกาสน้อยมากสำหรับชีวิตคนเมืองอย่างผมจะได้สัมผัสภาพแบบนี้แล้ว การได้เห็นภาพวิวสวยๆ ของเมืองไทย โดยที่ “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก” แบบที่คุณเรย์บอกแก่เรา ก็ให้ความรู้สึกดีๆ ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งได้ยินเสียงดนตรีประกอบ และภาพกิจกรรมของตัวละครแบบที่สร้างความแปลกตาแปลกใจไปจากชีวิตประจำวันด้วยแล้ว ภาพของการพายเรือแคนนูหรือภาพการว่ายน้ำเริงเล่นกับฝูงปลาเล็กปลาน้อยในทะเลเหล่านี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ชมหลายๆ คนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตแบบนั้นเป็นบางครั้งบางคราว   อย่างไรก็ดี ผมอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่โฆษณาบอกไว้แค่ครึ่งเดียวว่า “ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหาให้ไกลถึงอีกซีกโลก” แต่ทว่า ความคิดเรื่อง “ความสุขมาหาตัวเราได้เสมอ” นั้น กลับเป็นเรื่องที่ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าจะเป็นจริงได้เยี่ยงนั้นเลยหรือ??? หากเทียบสิ่งที่โฆษณานำเสนอกับชีวิตของตนเองดูแล้ว ผมว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้กระมังที่อยู่ดีๆ เราจะได้แว่บไปพายเรือแคนนูหรือนอนแช่น้ำทะเลเล่นอยู่ที่จังหวัดกระบี่ หรือคงเป็นไปได้ยากที่อยู่ดีๆ เราจะมีฝูงปลาการ์ตูนมาแหวกว่ายอยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่ว่าอยู่ดีๆ เรามีจะมีกาแฟสักถ้วยมายกดื่ม   วัตถุแห่งการบริโภคมากมายหลายหลากนี้ ไม่ใช่ว่า “อยู่ดีๆ” วัตถุดังกล่าวจะกลายเป็น “ความสุขที่เข้ามาหาเราได้เสมอ” แต่ตรงกันข้าม วัตถุเหล่านั้นจะมอบ “ความสุข” ให้แก่เราได้ ก็ต่อเมื่อเราเองต้องไปเสาะแสวงซื้อหามาเสพมาบริโภคดื่มกิน นั่นก็หมายความว่า หากนักเดินทางอย่างคุณเรย์จะได้อยู่กับ “สิ่งที่เราชอบ” อยู่กับ “กลิ่นหอมๆ” หรืออยู่กับ “รสชาติกาแฟแบบที่เป็นตัวเรา” ก็คงต้องเป็นตัวของคุณเรย์เองที่ออกไปสืบเสาะค้นหาเอาสิ่งเหล่านั้นมาให้กับตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยผันเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภควัตถุต่างๆ เหล่านี้ให้กลายมาเป็น “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ท่ามกลางเวิ้งทะเลครามแห่งคาบสมุทรอันดามัน เมื่อย้อนกลับไปสู่วิธีคิดแบบศาสนาพุทธที่ว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” แล้ว และดูเปรียบเทียบกับสิ่งที่โฆษณาสื่อสารให้กับเรา ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่า อัน “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ดังกล่าว ก็อาจจะเริ่มไกลห่างไปจากความหมายของ “ความสุขที่แท้จริง” ตามหลักแห่งพุทธธรรมเสียแล้ว   ทำไมน่ะหรือครับ? เพราะในขณะที่ทางพุทธศาสนาเห็นว่า “ใจ” เป็นที่มาของความสุขอันเกิดมาแต่ “ภายใน” แต่ทว่า หากเป็นกาแฟผงชงดื่มผสมครีมเทียมแล้วนั้น กลับถือเป็นความสุขอันเกิดมาแต่การเสพวัตถุที่มาจาก “ภายนอก” ตัวของเรามากกว่า ดังนั้น แม้ในโฆษณาจะบอกว่า การดื่มกาแฟเป็น “ความสุขที่เราสร้างเอง” แต่ก็ดูเหมือนว่า เป็นความสุขที่เราสร้างผ่านการบริโภควัตถุที่จัดสรรไว้ให้โดยเจ้าของสินค้าบางกลุ่ม ที่จะหยิบยื่นให้เราทั้งกลิ่นอาย รสชาติ และทัศนียภาพบางอย่างที่เราควรจะเสพไปพร้อมกับซึมซับผลิตภัณฑ์กาแฟที่ “เป็นตัวเรา” ยิ่งไปกว่านั้น หากความสุขจากกาแฟที่เสพเป็นความสุขที่มาจาก “ภายนอก” ความสุขเยี่ยงนี้ก็มีแนวโน้มจะเป็นความสุขแบบ “ชั่วครั้งชั่วคราว” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นความสุขตราบเท่าที่กาแฟยังไม่ได้หมดไปจากถ้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกาแฟหยดสุดท้ายถูกจิบเข้าคอไปแล้ว ทั้งกลิ่นอายและรสชาติแห่งความสุข ก็อาจจะมีอันต้องดับไปตามการเกิดแก่เจ็บตายของกาแฟในถ้วย จนกว่าเราจะชงกาแฟถ้วยใหม่ขึ้นมาซดดื่มแทนนั่นเอง ในยุคหนึ่ง โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง เคยนำเสนอสโลแกนทางการตลาดที่ว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” มาถึงทุกวันนี้ โฆษณากาแฟได้เริ่มตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ความสุขที่เราจะดื่มเข้าไปได้จริงๆ นั้น อาจจะเป็นใครบางคนกันหนอที่มีอำนาจสร้างให้เราดื่มสินค้านั้นด้วยความสุขจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เสน่ห์ปลายจวัก...แต่อย่าลืมเหยาะผงปรุงรสด้วยล่ะ

  คนโบราณเคยกล่าวเอาไว้ว่า เสน่ห์ที่ปลายจวัก จะทำให้ผัวรักผัวหลงกันเลยทีเดียว อันอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยแบบนี้ ก็น่าจะมีที่มาอยู่ว่า ผู้หญิงที่จะมัดใจสามีเอาไว้ได้ ในอดีตนั้นต้องอาศัยรสมือปรุงอาหาร และจัดสำรับคาวหวานไว้ให้เพียบพร้อม ไม่ต้องดูอื่นใดไกลเกิน แม้แต่ในตำนานของนางนาคพระโขนง ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ขนาดว่านางได้เสียชีวิตเพราะคลอดลูกตายทั้งกลมไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณของนางก็ยังพันผูกว่ายเวียนคอยปรุงสำรับน้ำพริกให้กับพี่มากผู้เป็นสามีด้วยใจภักดียิ่ง   และฉากคลาสสิกของตำนานนางนาคพระโขนง ที่ใครๆ ต่างก็จดจำและพูดถึงกันอยู่เสมอ ก็คงหนีไม่พ้นฉากที่นางเอื้อมมือยาวๆ ไปเก็บลูกมะนาวที่กลิ้งหล่นไปอยู่ใต้ถุนเรือน ขณะตำน้ำพริกมื้อเย็นให้กับพี่มากสุดที่รัก   แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อเวลาเปลี่ยน กาลสมัยเปลี่ยน นางนาคพระโขนงที่เคยเป็นตำนานเรื่องเล่าก็มีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนตาม   เพราะฉะนั้น เมื่อนางนาคให้ต้องมาปรากฏตัวอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ของยุคปี 2011 ในวันนี้ แม้แต่เสน่ห์ปลายจวักที่เคยมัดใจพี่มากไว้แต่ครั้งโบราณกาล ก็มีเหตุให้ต้องปรับตัวตามความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน   โฆษณาในปี ค.ศ.2011 ได้แปลงเรื่องเล่าของนางนาคที่เคยสยองขวัญแกมรักโรแมนติก ให้กลายเป็นเรื่องโรมานซ์ในแบบฉบับชวนหัวชวนขัน  โฆษณาเปิดฉากมาด้วยนางนาคในชุดห่มสไบนั่งอยู่ในเรือนไทยโบราณ แม่นาคกำลังบรรจงปรุงเสน่ห์ปลายจวักลงในมื้อสำรับอาหาร และแสดงฝีมือทำสะตอผัดกุ้งให้กับชายคนรัก โดยมีชายหนุ่มอย่างอ้ายมากแอบดูเจ้าหล่อนผ่านร่องประตู ด้วยแววตาชื่นชมความเป็นเบญจกัลยาณีของศรีภรรยา  ไฟในเตาที่ลุกโชน บวกกับรอยยิ้มของนางที่บรรจงจัดเตรียมสำรับเย็นอยู่นั้น ยิ่งชายหนุ่มได้สัมผัสเห็นและสูดกลิ่นอายของอาหารเข้าไปเต็มปอด เขาก็ยิ่งดื่มด่ำในรสเสน่ห์ปลายจวักและรสชาติแห่งภักษาหารอันปรุงผ่านรสมือของนาง แต่สักพัก นางนาคก็บังเอิญทำซองผงปรุงรสหล่นลงในร่องพื้นเรือน และก็มาถึงฉากคลาสสิกที่เธอเอื้อมมือยาวๆ ลงไปใต้ถุนเรือน แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อเก็บลูกมะนาวมาตำน้ำพริก แต่เป็นมือยาวที่เอื้อมไปเก็บซองผงปรุงรส อันเป็นเคล็ดลับความอร่อยคู่ครัวของเธอ  โดยพลันทันใดนั้น พี่มากก็ถึงกับออกอาการตกใจ ผมตั้งฟูกับภาพตรงหน้าของนางนาคที่หันมาทำหน้าตาน่าชวนหัวลุก และแล้วนางนาคก็เปิดประตูเรือนเข้ามา พร้อมถือสำรับอาหารน้อยใหญ่มาเสิร์ฟให้กับสามี ชายหนุ่มลูบศีรษะตัวเองไป และชิมอาหารที่เปี่ยมด้วยผงปรุงรสบรรจุซอง ก่อนจะพูดขึ้นว่า “อร่อยจัง ขอทานอีกสิ...” จากนั้น แม่นาคก็ปิดท้ายโฆษณาด้วยการยื่นมือยาว ๆ ของนางไปหยิบซองผงปรุงรสสำเร็จรูป ก่อนจะพูดขึ้นด้วยเสียงที่ลากโหยหวนว่า “จัดให้...”  แม้จะล่วงเลยมาจนถึงปี 2011 แล้วก็ตาม แต่ทว่าดวงวิญญาณของนางนาคก็มิอาจหลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพได้เลย ตรงกันข้าม ในโฆษณาโทรทัศน์นั้น ก็ยังมีการจำลองภาพของเธอมาใช้ “เสน่ห์ปลายจวัก” ผัดผักต้มแกงและตำน้ำพริกป้อนปรนเปรอภัสดาสามีอยู่ไม่สิ้นสุด  แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนไป กับรูปแบบวัฒนธรรมงานครัวแบบใหม่ที่เอื้อให้ชีวิตคนยุคนี้สะดวกสบายมากขึ้น โฆษณาก็เลยเนรมิตซองผงปรุงรสมาช่วยเพิ่มรสเสน่ห์ปลายจวักที่ประทินแต่งอาหารได้อย่างสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น ทั้งรวดเร็วขึ้น แถมยังสะดวกทันใจแม่บ้านยุคใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบยิ่งกว่าศรีภรรยาในอดีตยิ่งนัก  แม้บรรยากาศของฉากในโฆษณาจะถูกวาดให้เป็นเรือนไทย ที่ดูเหมือนกับสถาปัตยสถานในยุคโบราณกาลนานมา แต่ทว่า ด้วยซองผงปรุงรสที่หลุดเข้ามาเป็น “prop” หรือของประดับที่แปลกปลอมอยู่ในฉากบ้านเรือนไทยนั้น ก็ทำให้นางนาคแห่งปี 2011 ได้กลายเป็นวิญญาณแม่นาคที่ทั้งทันสมัยและก้าวล้ำนำมาตรฐานการปรุงสำรับอาหาร ไม่ต่างจากแม่บ้านร่วมสมัยในยุคนี้  หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางนาคผู้มากับซองผงปรุงรส ดูจะไม่แตกต่างจากตัวแทนของวิญญาณสตรีไทย ที่กำลังจะบุกเบิก “ครัวไทย” ให้เดินทางก้าวไกลไปสู่ “ครัวโลก” เพราะฉะนั้น จากยุคหนึ่งที่ “คาถามัดใจ” ให้สามีหลงรักหัวปักหัวปำ จะเกิดเนื่องมาแต่ “รสมือ” ในการปรุงสำรับคาวหวานมาปรนเปรอความสุขให้ทุกคนในครอบครัว แต่มาสู่ทุกวันนี้ที่การปรนเปรอเมนูอาหารหลากรส ไม่ได้มาด้วยรสมือนางล้วนๆ แต่ต้องมาด้วยผงปรุงสำเร็จรูปคลุกเคล้ารวมกันเข้าไป  เพียงเหยาะผงปรุงจากซองลงไป นอกจากจะไม่ต้องรอนานเหมือนกับการเคี่ยวซี่โครงไก่หรือกระดูกหมูกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงแล้ว ยังได้รสรักแบบปรุงสำเร็จรูปได้ในชั่วกระพริบตาเท่านั้น  แม่นาคที่ว่ากันว่าฝีมืองานครัวเป็นเลิศ ขนาดเป็นผีแล้ว เธอก็ยังต้องยอมสยบให้กับซองผงปรุงรสอันแสนวิเศษด้วยเช่นกัน เพราะในขณะที่ต้นฉบับดั้งเดิมของตำนานนางนาคกับพี่มากนั้น ต้องพลัดพรากกันอีกครั้งในตอนจบ เพียงเพราะค่านิยมที่ว่า “ผีพึงอยู่ส่วนผี คนก็ต้องอยู่ส่วนคน ผีกับคนไม่มีวันบรรจบกันได้”  แต่แม่นาคในยุครักสำเร็จรูปนั้น เพียงแค่ใช้ผงปรุงเหยาะไปไม่กี่ซอง เธอก็ทำให้พี่มากเลิกเป็นกังวล แถมยังช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้กลายเป็น “คนกับผีอยู่ด้วยกันได้” ร่วมเรียงเคียงคู่แบบไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด หรือกลายเป็นรักมั่นอมตะนิรันดรระหว่างผีกับคนไปโน่นเลย สำหรับผมเองแล้ว ก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เจ้าผงปรุงรสที่บรรจุอยู่ในซอง จะมีพลังอำนาจสร้างรักแท้สำเร็จรูปได้ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า และรสชาติอาหารที่ได้จากผงปรุงรสจะอร่อยจริงหรือไม่ เพราะในโฆษณาโทรทัศน์นั้น คนดูจะไม่เคยได้ชิมอาหารที่เสิร์ฟใส่จานอยู่หน้าจอได้จริง ๆ หรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าปรุงอาหารไป และกินอาหารกันไป แล้วทำให้ผีกับคนต้องมากินอยู่คู่เรียงเคียงหมอนเป็น “รักไม่มีวันตาย” กันในแบบโฆษณาด้วยแล้วล่ะก็ คราวนี้ท่าทางจะตัวใครตัวมันกันแล้วนะครับ!!!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 กระดาษพิมพ์หนึ่งแผ่นกับความยับยู่ยี่ของคุณภาพงาน

  มีคำอธิบายว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เรามีอารยธรรมก้าวหน้ากว้างไกลมาได้จนถึงทุกวันนี้นั้น สืบเนื่องมาจากการเริ่มต้นประดิษฐ์คิดค้นแผ่นกระดาษตั้งแต่ครั้งโบราณกาลนานมา   ย้อนกลับไปเมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่ชาวอียิปต์โบราณได้ค้นคิดการผลิตกระดาษปาปิรุสขึ้นมา นับจากนั้นมนุษยชาติก็ได้เริ่มรู้จักกับวัฒนธรรมการสื่อสารแบบใหม่ที่ผ่านการเขียนลงบน “แผ่นกระดาษ” อันผิดแผกแตกต่างจากแต่เดิมที่มีแต่เพียงการจารึกลงบนแผ่นหินหรือการตอกลิ่มลงบนก้อนดินเหนียวที่ปั้นขึ้นไว้เท่านั้น   แล้วกระดาษแผ่นเบาๆ เล็กๆ หนึ่งแผ่นที่คิดค้นขึ้นมาเช่นนี้ ส่งผลอันใดต่ออารยธรรมของมนุษย์เราบ้าง?   คุณูปการของแผ่นกระดาษนั้นมีมากอนันต์ ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารได้แบบข้ามพื้นที่ข้ามพรมแดน เพราะความที่เบาและพกพาสะดวกกว่าการบันทึกลงบนแผ่นศิลาจารึก   กระดาษยังช่วยให้มีการจดบันทึกความทรงจำทุกอย่างมิให้สูญหายไป และที่สำคัญ กระดาษยังช่วยให้มนุษย์เราสามารถสั่งสมความรู้สืบต่อไว้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อนุชนอีกรุ่นหนึ่ง และความรู้ที่สั่งสมเอาไว้เช่นนี้ ต่อมาก็ค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน   คิดง่ายๆ นะครับว่า มนุษย์เราต้องรู้จักคิดประดิษฐ์แผ่นกระดาษขึ้นมาก่อน เราจึงจะค่อยมีสมุด หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน มีการเขียนบันทึก เขียนจดหมาย เขียนรายงาน เขียนภาพวาด มีการสร้างแบบแปลนทางสถาปัตยกรรม และมีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ฉะนั้น จากกระดาษแผ่นแรกในยุคอียิปต์โบราณ ก็สามารถพลิกโฉมหน้าอารยธรรมโลกได้อย่างมากมายมหาศาล   และที่สำคัญ เมื่อแผ่นกระดาษจากยุคปาปิรุส เริ่มไหลมาสู่ยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มนุษย์ในทุกวันนี้ก็ได้สร้างสรรค์ธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ๆ มารองรับกับอารยธรรมแผ่นกระดาษแห่งยุคปัจจุบันกาล   ลองดูตัวอย่างในโฆษณากระดาษพิมพ์ยี่ห้อหนึ่งก็ได้นะครับ โฆษณานี้ได้ผูกเรื่องราวของชีวิตผู้คนในสังคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเปิดเรื่องมาในบริษัทแห่งหนึ่งที่เลขานุการิณีสาวได้ยื่นแฟ้มผลประกอบการประจำปีให้กับบอสใหญ่ เมื่อบอสใหญ่เปิดแฟ้มออกดู ก็แสดงทีท่าพิโรธโกรธกริ้วกับเอกสารรายงานที่เส้นกราฟต่าง ๆ ดูเลอะเทอะไปด้วยหมึกสี และมีเสียงบรรยายชายพูดขึ้นว่า “ถ้างานเลอะเทอะ คุณก็จะกลายเป็นคนเลอะเทอะ”   และเมื่อเสียงโองการสวรรค์ได้พูดจบลง ภาพโคลสอัพใบหน้าของคุณเลขาสาวก็กลายเป็นใบหน้าที่ยับยู่ยี่ คอสเมติกเมคอัพก็เลอะเลือน และผมเผ้าของเธอก็ยุ่งเหยิงยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากคุณภาพกระดาษที่เธอใช้พิมพ์เอกสารใส่แฟ้มให้กับเจ้านายใหญ่   เมื่อบิ๊กบอสขยำต้นฉบับรายงานในแฟ้มทิ้ง ใบหน้าของเธอก็ยิ่งยับเยินยู่ยี่มากขึ้น พร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงที่คลอด้วยความเศร้า และคุณเลขาสาวก็ต้องมานั่งคอตกหดหู่เหม่อมองดูกระดาษที่ถูกขยำทิ้งไปต่อหน้าต่อตา สักพักหนึ่ง เสียงโองการสวรรค์ก็พูดแนะนำขึ้นว่า “ลองใช้กระดาษยี่ห้อ xxx ดูสิ...คมชัดทุกเฉดสี” แล้วภาพกระดาษพิมพ์ก็ไหลออกมาจากเครื่องพริ้นเตอร์   จากนั้น เมื่อเจ้านายได้รับรายงานแฟ้มชุดใหม่ กระดาษรายงานที่พิมพ์ได้อย่างคมชัดด้วยสีสัน ก็ทำให้ใบหน้าอันยับยู่ยี่ของเลขาสาวค่อยๆ คลี่ออก กลายเป็นวงพักตร์ที่ผุดผ่องสดใสขึ้นมา เจ้านายใหญ่ได้ส่งสายตาหวานฉ่ำให้กับเธอ พร้อมกับเสียงสวรรค์ที่พูดตบท้ายว่า “งานดี คุณก็ดูดี...กระดาษไม่ดี คนใช้กระดาษก็ดูไม่ดีด้วย”   ตามที่ผมได้เบิกประเด็นเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า การเกิดขึ้นของแผ่นกระดาษได้เปลี่ยนแปลงอารยธรรมโลกเป็นอย่างมาก และทุกวันนี้มนุษย์เราก็ได้ปรับเปลี่ยนคุณค่าใหม่ๆ ในการสื่อสารด้วยแผ่นกระดาษออกไป   ย้อนกลับไปในยุคเก่าก่อน คุณค่าของมนุษย์จะถูกตัดสินด้วยความรู้ที่บันทึกบนแผ่นกระดาษ และคุณค่าจากการอ่านออกเขียนได้ จนคนไทยสมัยก่อนเองก็มีคำพูดที่ว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” อันแปลว่า ความรู้ที่ผ่านการอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่ใช้ตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของคนในยุคนั้น   ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อตอนเด็กๆ นั้น ตนเคยถูกบังคับให้เรียนทั้งวิชาเขียนไทยและคัดไทย คัดเขียนกันตั้งแต่ตัวอักษรไทยธรรมดา ตัวเลขไทย ไปจนถึงการฝึกเขียนอักษรแบบตัวอาลักษณ์ซึ่งยากเย็นแสนเข็ญยิ่ง แต่นั่นก็เพราะว่ามาตรวัดคุณค่าของคนยุคนั้นเขาตัดสินกันจากลายเส้นอักขระที่เราเขียนลงบนแผ่นกระดาษ  จนถึงขนาดที่นักร้องลูกทุ่งสมัยก่อนเอาไปร้องเป็นเพลงว่า “ลายมือไม่ดีต้องขอโทษทีเพราะความรู้ต่ำ” ประมาณนั้น แต่มาถึงทุกวันนี้ ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้ามากขึ้น “ลายมือไม่ดี” ยังไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพกระดาษที่ไม่ดี” เพราะการพิมพ์งานให้ออกมาดูสวยงามได้นั้น ต้องอาศัยคุณภาพแผ่นกระดาษที่ทนความร้อนจากเครื่องพิมพ์ได้ เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่ “ลายมือ” ที่จะถูกใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าและความรู้ของคนอีกต่อไป หากแต่เป็นคุณภาพของกระดาษที่เราเลือกใช้มากกว่า ที่จะบ่งบอกว่า “ผลของงาน” นั้นจะมีคุณภาพแค่ไหนและเพียงใด   ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเจ้านายใหญ่ที่รับแฟ้มรายงานประจำปีมาอ่าน จึงแทบจะไม่สนใจเนื้อหาและกราฟสถิติที่สรุปผลไว้ในรายงานชิ้นดังกล่าวเลย แต่กลับตัดสินคุณค่าของงานจากแผ่นกระดาษที่เลขาสาวเลือกมาใช้พิมพ์เป็นลำดับแรก   กระดาษที่ดีและไม่ทำให้สีผิดเพี้ยนนั้น ได้กลายมาเป็น “คุณค่า” แบบใหม่ในสังคมอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ผิดกับกระดาษอันยับยู่ยี่ที่จะถูกนำมาใช้ตัดสิน “คุณค่า” ของคุณเลขานุการิณีสาวว่า คุณภาพของผลงานที่เธอทำขึ้นมา ก็ยับยู่ยี่ไม่ต่างไปจากกระดาษที่เธอเลือกใช้แต่อย่างใด   ถ้าใช้แผ่นกระดาษดี แล้วแปลว่าผู้เลือกใช้จะดูดีตามแล้วไซร้ ผมว่าต่อไป หากคุณเลขานุการสาวจะลองเลือกพิมพ์งานด้วยกระดาษปาปิรุสดูบ้าง ก็อาจจะดูดี ดูคลาสสิก และดูโดดเด่นแตกต่างไปจากแฟ้มงานแบบอื่น ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อย...  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 อะไรเอ่ย...คนกินไม่ได้ปลูก คนปลูกไม่ได้กิน?

  อะไรเอ่ย คนกินไม่ได้ปลูก แถมคนปลูกก็อาจจะไม่เคยแม้แต่จะได้กิน?... คำเฉลยก็คือ “กาแฟ” ไงล่ะครับ เป็นเรื่องที่น่าแปลกไหมครับว่า ทำไมกาแฟที่ผู้คนดื่มจิบกันอยู่ทุกวันจึงกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาได้แต่ดื่ม แต่ไม่เคยลงมือปลูกเอง ในขณะที่คนปลูกเองก็แทบจะไม่มีใครได้ดื่มเป็นกิจวัตรวิสัย   ในโฆษณากาแฟสำเร็จรูปแบบ 3 in one ยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าภาพเรื่องราวของพระเอกหนุ่มซุป’ตาร์รูปงามในชุดสเวตเตอร์สีแดงนายหนึ่ง เดินทางเข้าไปเยือนธรรมชาติของหุบเขาทางภาคเหนือกลางฤดูใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสี   ดนตรีคลอเบา ๆ ฟังสบาย ๆ และเขาก็กำลังรื่นรมย์ชมชื่นอยู่กับทัศนียภาพรอบตัว (ด้วยแววตาตกอยู่ในภวังค์แห่งธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก) ทันใดนั้น เสียงเอคโค่แทนความในใจของเขาก็ก้องดังขึ้นมาว่า “…(กับบรรยากาศดี ๆ แบบนี้) ถ้ามีกาแฟหอม ๆ สักถ้วยก็คงดี...”   ฉับพลัน เด็กน้อยชาวเขานางหนึ่งที่แอบอยู่หลังต้นไม้ก็ปรากฏตัวออกมา เด็กหญิงเดินเข้ามาสะกิดตัวของซุป’ตาร์หนุ่ม และเอ่ยกล่าวกับเขาที่กำลังต้องมนตราแห่งใบไม้เปลี่ยนสีว่า “...พี่ ๆ ตัวจริงหล่อกว่าในทีวีอีกนะคะ...”   คุณพี่พระเอกส่งยิ้มหวานให้กับน้องชาวเขาตัวน้อย และราวกับจะรู้และได้ยินเสียงเอคโค่ความในใจของคุณพี่พระเอกสุดหล่อ เด็กหญิงได้หยิบซองกาแฟ 3 in one ส่งให้ เขาอ่านออกเสียงชื่อยี่ห้อข้างซองกาแฟให้ผู้ชมได้ยิน แล้วเสียงเพลงคลอกีตาร์โปร่งก็เริ่มดังขึ้นว่า “...มีเวลาดี ๆ ก็บอกให้ฉันได้ฟัง ไม่มากเกินไปกว่านั้น...”   ภาพตัดสลับมาที่เมล็ดกาแฟยอดดอยซึ่งคั่วจนหอมแล้ว กำลังร่วงกราวลงมาที่หน้าจอโทรทัศน์ มีมือของคนงานที่กำลังกวาดเกลี่ยเมล็ดกาแฟให้แห้งทั่วกัน ก่อนที่จะกลายเป็นภาพของเมล็ดกาแฟเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปแบบ 3 in one ที่เทออกจากซองระเรี่ยไหลลงในถ้วยกาแฟของพระเอกหนุ่ม ชายหนุ่มสูดกลิ่นอายของกาแฟ แกล้มกับการสูดอนุภาคของโอโซนเข้าไปเต็มปอด เขาจิบกาแฟในถ้วย และแสดงแววตาตื่นตะลึงออกมา ประหนึ่งว่าได้ “ค้นพบ” บางสิ่งบางอย่างที่วิเศษเลอเลิศที่สุดในชีวิต พร้อมกับชูถ้วยกาแฟบอกกับผู้ชมทางบ้านว่า “หอม...นี่แหละรสชาติดี ๆ ที่ผมค้นพบ” ปิดท้ายโฆษณาด้วยภาพคุณพี่พระเอกกับคุณน้องชาวเขานั่งเคียงคู่กัน ก่อนจะถ่ายภาพคู่เพื่อเก็บความทรงจำอันดีและมนต์เสน่ห์ในการจิบกาแฟกลางขุนเขาของคุณพี่พระเอกเอาไว้แบบเป็นนิรันดร์   ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันนะครับ ด้วยทำเลที่ดีทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ ภาคเหนือของเราได้กลายมาเป็นดินแดนที่เหมาะสมกับการทำกสิกรรมไร่กาแฟ ยิ่งประกอบกับยุคสมัยหนึ่งที่ทางภาครัฐได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวเขาชาวดอยปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น การผลิตกาแฟจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเบ่งบานมากจนถึงปัจจุบัน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในขณะที่ชาวเขาประกอบอาชีพกสิกรในไร่กาแฟเป็นจำนวนมาก แต่ผลผลิตของกาแฟกลับไม่ใช่เป็นไปเพื่อการบริโภคโดยชาวเขาเองเป็นหลัก ทว่า กาแฟหลากหลายตันต่อปีได้ถูกแปรรูปไปเป็นผลิตผลเพื่อการดื่ม(ด่ำ)ของผู้บริโภคที่อยู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ดื่มที่อยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ   ก็คล้าย ๆ กับในโฆษณานั่นแหละครับ เมื่อคุณพระเอกหนุ่มปรารถนาจะหากาแฟหอม ๆ สักถ้วยมาดื่มท่ามกลางบรรยากาศใบไม้ร่วงบนยอดเขา เขาก็ไม่ได้เลือกจะลงมือปลูกกาแฟเอาไว้เพื่อดื่มเอง   ตรงกันข้าม คุณพี่พระเอกกลับเลือกชงกาแฟที่หยิบยื่นให้จากมือน้อย ๆ ของคุณน้องผู้หญิงชาวเขา โดยบอกกับผู้ชมว่า นี่แหละคือสิ่งดี ๆ ที่ตน “ค้นพบ” พร้อม ๆ กับที่คนดูเองก็ค้นพบคำตอบด้วยว่า เรื่องของกาแฟนั้น คนปลูกเขาจักไม่ดื่ม เฉกเช่นเดียวกับที่คนดื่มเองก็จักไม่ใช่ผู้ที่ลงสองมือปลูก รวมไปถึงคั่ว ตาก เก็บ และบดออกมาเป็นผงกาแฟปรุง 3 in one แบบที่ผมถามอะไรเอ่ยเล่น ๆ ในตอนต้นนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าชาวเขาปลูกกาแฟแต่ไม่ได้ดื่มเองนั้น ปัญหาไม่ใช่อยู่แค่เพราะว่า เขาดื่มกาแฟไม่เป็นกันหรอกนะครับ แต่น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นชนชายขอบหรือแรงงานชายขอบที่มี “อำนาจน้อย” ตั้งแต่การไร้อำนาจที่จะเป็นเจ้าของไร่กาแฟ (ซึ่งนายทุนเจ้าของส่วนใหญ่ก็เป็นคนนอกพื้นที่) การไม่มีอำนาจในการเป็นเจ้าของเม็ดเงินที่จะลงทุนเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่า “ใครพึงควรเป็นผู้ปลูก” และ “ใครพึงควรเป็นผู้ดื่ม” ในวงจรการผลิตสินค้ากาแฟ    เพราะฉะนั้น เมื่อมีอำนาจน้อย โฆษณาก็เลยทำให้ตัวละครชาวเขากลายสภาพเป็น “เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยก” ไปเสียเลย แถมยังเป็นเด็ก “บ้านป่าบ้านเขา” ที่ชื่นชมความหล่อเหลาของพระเอกทีวี และเอื้ออารีมากพอที่จะส่งมอบกาแฟรสหอมแบบ 3 in one ให้กับคุณพี่พระเอก ที่แสดงความในใจว่าอยากดื่มกาแฟหอม ๆ เพื่อแกล้มเคล้ากับโอโซนกลางขุนเขา ชาวเขาผู้ผลิตกาแฟที่กลายเป็นเด็กน้อย “น่ารัก” และ “น่าชัง” จึงมีสถานะเป็นได้แค่คนชายขอบของอำนาจในกระบวนการผลิตและบริโภคกาแฟไปโดยปริยาย   ท้ายสุด ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหนอ ถ้าโฆษณาเกิดนำเสนอภาพขึ้นมาใหม่ว่า ให้คุณพี่พระเอกหนุ่มลงมือปลูกกาแฟและตากคั่วเมล็ดกาแฟเองเลย ในขณะที่คุณน้องหนูชาวเขามานั่งจิบกาแฟชมทัศนียภาพแห่งขุนเขาในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแทน กับบทบาทผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สลับกันดังกล่าวนี้ หลาย ๆ คนก็คงจะบอกว่า เป็นภาพที่สลับขั้วสลับข้าง และคงจะดูแปลกประหลาดหรือชวนตะหงิด ๆ ใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย???  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 คืนวันอันพิเศษกับการบริโภคอันล้นเกิน

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมครับว่า ช่วงเวลาใดในชีวิตที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะบริโภควัตถุกันอย่างเข้มข้นและมากมายที่สุด คำตอบก็คือ ช่วงเวลาพิเศษที่เราปลีกตัวออกไปอยู่ในสภาวะที่แปลกและแตกต่างไปจากชีวิตปกติประจำวัน   และที่สำคัญ ช่วงเวลาพิเศษแบบนี้แหละครับ ที่โฆษณาจะมีอำนาจในการขยายพฤติกรรมการบริโภคของมนุษยชาติให้ล้นเกินไปจากความต้องการพื้นฐานของเรา ก็ดังที่เราได้เห็นจากโฆษณาโลชั่นบำรุงผิวยี่ห้อหนึ่ง ที่นักการตลาดได้ผูกความเรื่องราวของคู่รักข้าวใหม่ปลามันในช่วงเวลาพิเศษอย่างช่วงฮันนีมูนอันแสนหวาน และใช้ฉากในพื้นที่พิเศษที่อยู่ไกลโพ้นถึงนครปารีสดินแดนน้ำหอม   โฆษณาชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการจับภาพของหอไอเฟล ที่มองผ่านสายตาของคู่ฮันนีมูนจากแดนสยาม และมีเสียงผู้บรรยายกล่าวกับผู้ชมขึ้นว่า “...(ชื่อผลิตภัณฑ์)...ค้นพบคนที่ต้องการมีผิวเนียนนุ่ม...”   แล้วจากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ชายหนุ่มซึ่งกุมมือภรรยาสาวอยู่กลางสวนแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ภรรยาสารภาพกับกล้องว่า “ช่วงฮันนีมูน ฉันไม่อยากให้ผิวแห้งกร้าน ฉันจึงใช้...(ชื่อแบรนด์ของโลชั่นดังกล่าว)...ผิวจะได้ชุ่มชื่นตลอด 24 ชั่วโมง...” แล้วโฆษณาก็ฉายภาพของเธอกำลังชะโลมโลชั่นให้ผิวกายนุ่มเนียน ภาพโฆษณาตัดสลับไปมาระหว่างทัศนียภาพของกรุงปารีส จากหอไอเฟล ผ่านย่านต่างๆ ในตัวเมือง จนถึงภาพของมหาวิหาร Notre Dame de Paris สลับกับภาพของคู่รักใหม่ที่นั่งกอดเอวกัน กุมมือกัน ควงโอบกันไปชื่นชมราตรีของปารีส ดื่มด่ำกับดนตรีที่บรรเลงริมแม่น้ำ Seines และยืนเต้นรำกันอยู่ริมถนนสายหนึ่ง ภาพที่ตัดสลับกันไปมานี้ก็เหมือนกับจะเป็นการสื่อสารกับผู้ชม ถึงความหมายและความสุขที่คู่ฮันนีมูนได้รับในช่วงเวลาอันเป็นพิเศษสุด และกับคืนวันอันพิเศษเยี่ยงนี้ ชายหนุ่มก็ได้เอ่ยสารภาพกับกล้องว่า “เราสองคนแทบจะไม่อยากปล่อยมือออกจากกันและกันเลย” และสาวเจ้าก็พูดโต้กลับแบบค้อนๆ ว่า “คุณต่างหาก...ไม่ใช่ฉัน...” โฆษณามาจบที่ประโยคของชายหนุ่มที่พูดขึ้นว่า “ผมไม่เคยคิดเลยนะครับว่า ผิวของเธอจะนุ่มอย่างนี้” โดยที่หญิงคนรักได้เอาศอกกระทุ้งเอวเขาเบาๆ ก่อนจะกล่าวว่า “อะไรนะคะ” แล้วภาพก็ปิดลงที่ฉากของมหาวิหาร Notre Dame ที่แสงของวันคืนค่อย ๆ เปลี่ยนไป คุณผู้อ่านนึกฉงนหรือไม่ครับว่า แล้วช่วงเวลาพิเศษอย่างการเดินทางไปฮันนีมูนนั้น สัมพันธ์อย่างไรกับพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เรา ถ้าสังเกตในโฆษณากันดี ๆ ช่วงเวลาพิเศษถือเป็นช่วงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของคนเรา เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นห้วงเวลาและพื้นที่ที่แตกต่างออกไป ธรรมเนียมปฏิบัติของเราก็เลยต้องผิดแหวกและหวือหวาเกินไปกว่าภาวะปกติ แบบเดียวกับที่ตัวละครก็จะมีการเดินทางที่มากไปกว่าปกติ(ชนิดข้ามฟ้ากันไปไกลถึงยุโรป) แต่งตัวให้ดูโก้เก๋ไปกว่าชีวิตประจำวัน เกาะกุมมือและเดินโอบเอวกันมากกว่าช่วงเวลาทั่วไป หรือแม้แต่ประกอบกิจกรรมอันใดที่อาจจะไม่เคยได้ทำกันมาก่อนเลยในชีวิต อย่างเช่น การเต้นรำคลอกับแสงจันทร์และเสียงดนตรีอยู่ริมบาทวิถีของนครปารีส   และเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่พิเศษกับการสร้างวัตรปฏิบัติที่พิเศษออกไป มนุษย์เราจึงต้องการการบริโภควัตถุบางอย่างที่ออกจะล้นเกินไปจากความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ด้วยสภาวะอากาศของปารีสที่หนาวและแตกต่างอย่างยิ่งกับภูมิอากาศเมืองร้อนของไทย ประกอบกับมือของคู่รักที่เกาะกุมกันไว้แทบไม่ปล่อยออกจากกันเลยในช่วงแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ผิวและมืออันแห่งกร้านก็เลยกลายเป็นอุปสรรคต่อความสุขของคู่วิวาห์มือใหม่ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น ในการนี้ วัตถุหรือสินค้าต่างๆ จึงได้เสนอตัวออกมาเพื่อขจัดปัดเป่าปัญหา และทำให้ช่วงเวลาพิเศษกลายเป็นสภาวะพิเศษจริง ๆ อันจะส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่าของชีวิตไปในที่สุด   ก็เช่นเดียวกับที่คุณผู้อ่านหลายท่านก็คงจะสังเกตได้ว่า ในวาระโอกาสพิเศษอย่างการไปเที่ยวสถานที่ไกลๆ หรือไปท่องเที่ยวฮันนีมูนยังต่างประเทศนั้น มนุษย์เราก็พร้อมจะซื้อ จะจ่าย จะเสพ หรือจะบริโภควัตถุต่าง ๆ รอบตัว ชนิดว่ามากล้นเกินกว่ามาตรฐานการครองชีพทั่วไป ยิ่งเสริมด้วยมนต์เสน่ห์แห่งแม่น้ำ Seines และมหานครปารีสด้วยแล้ว คนรักสาวที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากแดนสยาม ก็พร้อมจะชะโลมโลชั่นและอบร่ำประทินผลิตภัณฑ์ปริมาณมหาศาลไปทั่วองคาพยพร่างกาย ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่มนุษย์เราจะยินดีและยินยอมที่จะขยับขยายพฤติกรรมการบริโภคของตนให้เป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาพิเศษที่เราสร้างขึ้นให้กับชีวิต(แบบช่วงท่องเที่ยวดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์) อันเป็นจังหวะชีวิตที่สินค้าและบริการต่าง ๆ จะเปล่งประกายอำนาจเข้ามากำกับและชโลมเคลือบอยู่ทั่วสรรพางค์กายของเรา โดยปกติแล้ว ช่วงเวลาพิเศษนั้นเป็นความจำเป็นของชีวิตผู้คนในทุกยุคทุกสมัย ที่จะหาจังหวะโอกาสในการประกอบกิจกรรมหรือออกแบบพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม ที่เลี่ยงหลบและตื่นตาไปจากความซ้ำซากของชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ในวโรกาสพิเศษแบบนี้ การกิน การนอน และการใช้ชีวิต จึงเอื้อให้เราได้มีประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ กับโลกที่แตกต่างไปกว่าแค่การตื่นขึ้นมา แต่งตัวไปทำงานและกลับมาบ้าน กินข้าวอาบน้ำ แล้วก็เข้านอน จนซ้ำซากวนเวียนเป็นวัฏจักร แต่ก็นั่นแหละครับ ช่วงเวลาพิเศษเยี่ยงนี้ก็อาจจะกลายเป็นจังหวะเวลาที่เปราะบางของชีวิต ที่มนุษย์เรามักจะถูกยวนเย้าให้เหหันไปหาศิลปะแห่งการบริโภคและปรุงแต่งการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ขึ้นมา และเราเองก็จะได้ละเลงโลชั่นกันแบบมากล้น การบริโภคไม่ได้มีความผิดอันใดในตัว เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องเสพวัตถุต่างๆ เพื่อดำรงชีวิตเป็นพื้นฐานกันอยู่แล้ว แต่กับคืนวันอันพิเศษและการบริโภคแบบที่ล้นเกินความจำเป็นนั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่น่าคิดยิ่งนักสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 “มูลค่า” ในกายทองคำ

  “มูลค่า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “value” นั้น เป็นหัวใจหลักหรือเป็นคุณค่ามูลฐานที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมแห่งการบริโภค  แล้ว “มูลค่า” กลายมาเป็นมูลฐานแห่งชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร? เราอาจควานหาคำตอบได้จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ประทินผิวยี่ห้อหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์  โฆษณาชิ้นนี้เปิดฉากมาด้วยความอลังการของราชสำนักจีนในอดีตอันไกลโพ้น โดยเริ่มด้วยภาพของขุนนางนายหนึ่งส่งถวายแหวนทองคำให้แด่พระจักรพรรดิ แล้วพระองค์ก็นำแหวนมาร้อยเป็นสร้อยคล้องคอของราชินีรูปงาม ทันใดนั้นพระศอของพระนางก็เปล่งฉัพพันรังสีแห่งทองคำออกมาในบัดดล  เสียงผู้บรรยายสตรีก็พูดขึ้นในโฆษณาว่า “ผู้ใดได้ครอบครองทองคำ ผู้นั้นจะคงความเปล่งประกายแห่งวัยและความรักชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด…”   ภาพตัดกลับมาที่ราชินีรูปงามขี่ม้าหนีศัตรูที่ตามล่าไปถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจวนตัวและกำลังจะถูกชิงแหวนทองคำไป พระนางจึงกระชากแหวนทองออกจากพระศอ แล้วเขวี้ยงลงไปในหุบผา พร้อมกับเสียงผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “...และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มันสูญหายไปในกาลเวลา...” จากนั้นโฆษณาก็ตัดมายังภาพแหวนที่กลิ้งลงไปด้านล่างของหน้าผา แล้วสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประทินความงามบรรจุขวด พร้อมเสียงบรรยายว่า “…จนถึงวันที่อานุภาพแห่งทองคำกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อสานต่อความรักให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์...” บัดนี้ราชินีนางนั้นได้กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน เธอเดินอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ และเอื้อมไปหยิบแหวนทองคำขึ้นมาเชยชม พร้อมกับมีรัศมีออร่าเปล่งออกมาจากเรือนกายของเธอ ชายหนุ่มเดินเข้ามาในร้านวัตถุโบราณ เขาถึงกับตะลึงงันและสัมผัสได้ถึงอดีตชาติที่แฝงอยู่ในรัศมีทองคำที่เคลือบกายของหญิงสาวนางนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แต่เธอก็ยังมี “ผิวที่เปล่งประกายดุจวัยเยาว์” ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เปล่งรัศมีออร่าสีทองฉานต่อสายตาของผู้ชม จากโฆษณาข้างต้น ดูเหมือนว่า “ทองคำ” มิใช่จะเป็นแค่ “ทองคำ” หรือเป็นแค่ธาตุทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่ชำแรกอยู่ในสายแร่เหมือนกับโลหะชนิดอื่น ก่อนที่มนุษย์เราจะเพียรขุดค้นแร่ธาตุดังกล่าวนั้น ขึ้นมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ทว่า “ทองคำ” ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา “เสกมนตรา” ให้มีมูลค่าบางอย่างที่มากเกินโลหะวัตถุ และจะมีก็แต่เฉพาะมนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ทองคำจึงมิใช่วัตถุที่มีไว้สำหรับปัจเจกบุคคลทั่วไป แต่เป็นวัตถุที่จำเพาะไว้ก็แต่ราชินีรูปงามที่จะมีไว้คล้องพระศอของพระนางเท่านั้น และยิ่งเมื่อมาถึงในกาลปัจจุบัน ทองคำจากพระศอของราชินีงามได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสาวๆ รุ่นใหม่ ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์เราได้กำหนดมูลค่าบางอย่างที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นให้กับวัตถุอย่างทองคำ ในอดีตนั้น มูลค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนนั้น จะเป็นบรรดามูลค่าที่เกิดจากอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทุกครั้งที่มนุษย์เราเสพหรือบริโภควัตถุใดๆ เป้าหมายเบื้องแรกสุดของเราก็มักจะเป็นการใช้วัตถุแห่งการบริโภคเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์บางประการต่อตัวเรา   ตัวอย่างของมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์นี้ก็เช่น เรากินข้าวบริโภคอาหารก็เพื่อให้อิ่มท้อง เราสวมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เราใช้ครีมชะโลมผิวก็เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวกาย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบริโภคข้าว เสื้อผ้า และครีมบำรุงผิว ก็คือการบริโภคใน “มูลค่าใช้สอย” ของวัตถุต่างๆ ดังกล่าว จนเมื่อยุคสมัยผ่านไป ดูเหมือนว่า การบริโภคเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่ออิ่มท้อง อาจไม่ใช่เป้าหมายเดียวและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้คนอีกต่อไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้เริ่มรู้จักมักคุ้นที่จะพัดพาเอามูลค่าแบบใหม่มาฉาบเคลือบให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงได้สร้างวัตถุอย่างทองคำขึ้นมา ก็เพื่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทองคำธรรมดาๆ หรือเป็นทองคำที่ผนวกมูลค่าเชิงความหมายหรือ “สัญญะ” ที่จะบอกคนอื่นว่า หากใครได้ครอบครองสัญญะแห่งทองคำแล้ว คนนั้นก็จะ “เปล่งประกายแห่งวัยเยาว์และความรักชั่วนิรันดร์”   ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรจีนโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงไม่ได้ไล่ล่าแค่วัตถุแบบทองคำ แต่เป็นการทั้งไล่และทั้งล่าตามหา “สัญญะ” หรือมูลค่าเชิงความหมายที่แนบมาในทองคำ เพราะมูลค่าเชิงสัญญะที่อยู่ในทองคำนี่เอง จะทำให้ผู้ครอบครองมูลค่าดังกล่าวมีอำนาจเปล่งประกายรัศมีเหนือผู้อื่น และเป็นรัศมีออร่าที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา   และที่น่าสนใจก็คือ ในยุคอาณาจักรจีนโบราณนั้น แม้จะมีการกำหนดคุณค่าแห่งสัญญะเอาไว้ในวัตถุอย่างทองคำ แต่มนุษย์เราหรือราชินีรูปงามก็พร้อมจะสลัดมูลค่าดังกล่าวทิ้งลงหุบเหวไป หากแม้นว่าสัญญะดังกล่าวได้ผันกลายเป็น “สุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด” ที่จะเข้ามาครอบงำมวลมนุษย์เอง   แต่ในยุคแห่งการบริโภคแล้ว อำนาจแห่งสัญญะนั้น จะมืดหรือจะสว่างก็คงไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนว่า จะเป็นมนุษย์เรานั่นเองที่จับเอามูลค่าสัญญะในทองคำมาบรรจุเอาไว้ในขวด ก่อนที่เราเองก็จะเลือกเอาสัญญะนั้นมาฉาบเคลือบชะโลมผิวพรรณให้เปล่งประกาย   มูลค่าเชิงสัญญะที่เคลือบเอาไว้ถ้วนทั่วสรรพางค์กายเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เราติดกับอยู่ในวังวนของสิ่งปลอมๆ เพราะมันมิใช่การบริโภคของจริงที่เป็นรูปธรรม(แบบข้าวปลาอาหารที่เป็นอรรถประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ) แต่ทว่า การบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงการเสพความหมายเชิงนามธรรม ที่ยิ่งกินยิ่งประทินยิ่งเสพ เราเองก็จะถูกลวงล่อว่าดูดีมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น มนุษย์เรามีต่างเพศต่างผิวพรรณกันเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว แต่หากในวันนี้ ผู้หญิงรูปงามบางคนเริ่มใช้ผิวกายที่เปล่งรัศมีทองคำออกมาแสดงความหมายว่า เธอดูดีดูเด่นดูมีคุณค่ากว่าบุคคลอื่น ๆ บางทีเราเองก็อาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า แล้วมูลค่าในกายทองคำเป็นมูลค่าอันแท้จริงของอิสตรีกันจริงหรือ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 ความเพียรกับจินตนาการ…ที่กำลังหายไป

ทุกวันนี้ เมื่อเราพูดถึงคำว่า “คนรุ่นใหม่” เราก็มักจะนึกถึงบรรดากลุ่มวัยรุ่น ที่กำลังจะก้าวจากเยาวชนในวันนี้ มาเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า  และสำหรับวัยรุ่นไทยในวันนี้ ที่กำลังจะก้าวเติบใหญ่ไปในภายภาคหน้านั้น ผมพบว่า คนกลุ่มดังกล่าวกำลังอยู่ในสภาวะบางอย่างที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม หรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ คุณค่าสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนจำนวนมากในอดีต ดูเหมือนว่ากำลังจะค่อยๆ ถดถอยเลือนหายไปแล้วจากชีวิตของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน แล้วคุณค่าที่กำลังแห้งเหือดไปดังกล่าวคือคุณค่าแบบใดกันหรือ? คำตอบนี้มีเฉลยไว้ในโฆษณาซุปไก่สกัดชิ้นที่มี pop idol แห่งยุคนี้สองคนเป็นตัวเดินเรื่อง นั่นคือ คุณโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ กับคุณนิชคุณนักร้องแห่งวง 2PM  ซุปไก่สกัดยี่ห้อนี้ได้จับเอาซูเปอร์สตาร์หนุ่มทั้งสองคนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ฉากเริ่มต้นนักร้องหนุ่มนิชคุณหันหน้ามาพูดกับกล้อง ก่อนที่ภาพจะตัดมาที่เขาแสดงลีลาบนเวทีคอนเสิร์ต นิชคุณกล่าวว่า “ที่เรามีวันนี้ได้ ไม่ใช่เพราะหน้าตา...?”  จากนั้น  ไอดอลหนุ่มด้านดนตรีอย่างคุณโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ ก็กล่าวต่อว่า “หรือเพราะความสามารถเท่านั้น...???” ก่อนที่เขาจะใช้นิ้วมาบรรเลงคีย์เปียโนได้อย่างไพเราะพลิ้วไหว โฆษณาได้ย้อนกลับไปฉายภาพจุดเริ่มต้นชีวิตไอดอลของหนุ่มนิชคุณ ที่ค้นคว้าตำรับตำราเกี่ยวกับทฤษฎีการเต้นในห้องสมุด แม้จะเขียนเป็นภาษาเกาหลี แต่เขาก็มีความเพียรพยายามแกะอักขระ จนเข้าใจถึงแก่นแท้ในท่าเต้นหมุนแบบกังหันลม  หนุ่มนักร้องฝึกเต้นท่ากังหันตามตำรา แม้จะสะดุดล้มบ้าง แต่ก็ยังลุกขึ้นมาเต้นได้ต่อด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนในที่สุดเขาก็สามารถประดิษฐ์คิดค้นท่าเต้นใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย  อีกด้านหนึ่ง โฆษณาก็ฉายภาพนักดนตรีหนุ่มโต๋ยืนยิ้มอยู่ท่ามกลางกราฟิกตัวโน้ตดนตรีเขบ็จต่างๆ รอบกายเขา แล้วก็นำมาสรรค์สร้างเป็นจินตนาการท่วงทำนองเพลง ที่เขาเล่นบรรเลงบนคีย์เปียโน  ไอดอลหนุ่มทั้งสองคนโชว์ลีลาท่าเต้นกับบรรเลงเปียโนต่อหน้ามิตรรักนักเพลง พร้อมกับพูดสลับกันไปมาว่า “จากเริ่มหมั่นฝึกฝนจนเกิดการเรียนรู้...เปิดจินตนาการเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ ...รู้จักต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่าง”   ปิดท้ายด้วยสองหนุ่มพูดขึ้นพร้อมกันว่า “และนี่แหละ...(ยี่ห้อซุปไก่)...ของเรา สร้างสรรค์ทุกวันของเรา” พร้อมกับชูขวดซุปไก่สกัดให้แฟน ๆ ดู ก่อนจะตามมาด้วยเสียงกรี๊ดอันไม่สิ้นสุดของบรรดาแฟนานุแฟนคลับ  สำหรับผมแล้ว โฆษณานี้น่าสนใจยิ่ง เพราะกำลังนำเสนอคุณค่าสองอย่างที่ “คนรุ่นใหม่” มีแนวโน้มจะมองข้ามและขาดหายไปจากชีวิต นั่นคือ คุณค่าของ “ความเพียร” กับคุณค่าของ “จินตนาการ” อันเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของมนุษย์  ก็อย่างที่หนุ่มโต๋และหนุ่มนิชคุณได้บอกเอาไว้ สิ่งที่เรียกว่า “หน้าตา” กับ “ความสามารถ” อาจเป็นความจำเป็นในความสำเร็จของคนยุคใหม่ แต่ทว่า คุณค่าสองอย่างนี้อาจเทียบไม่ได้กับ “ความเพียร” จากการหมั่นฝึกฝน (แบบหนุ่มนิชคุณ) กับ “จินตนาการ” ที่จะค้นหาความคิดใหม่ ๆ (แบบหนุ่มโต๋)  ทำไมน่ะหรือครับ???  กล่าวกันว่า ในสังคมทุนนิยมร่วมสมัยนั้น น้อง ๆ วัยรุ่น มักจะถูกรับรู้ว่าเป็นกลุ่มเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ที่จะเป็นกำลังสำคัญของสังคมในวันพรุ่งนี้ หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ พวกเขาจะมีสถานะเป็น “แรงงาน” ที่จะเข้ามาหมุนฟันเฟืองสืบต่อระบบทุนนิยมไปในอนาคต  อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต แต่ระบบทุนนิยมก็มิได้คาดหวังที่จะผลิตให้แรงงานวัยรุ่นในวันนี้เป็นพวกที่รู้จักตั้งคำถามหรือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันจะแหกออกไปจากขนบเดิม ๆ แต่อย่างใด ตรงกันข้าม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของระบบสังคมดังกล่าวต่อไปได้ สังคมทุนนิยมมักมีแนวโน้มที่จะผลิตบุคลากร “คนรุ่นใหม่” ที่ทั้ง “เซื่อง” “เชื่อง” และ “ชิว ๆ” หรือเป็นคนที่มีชีวิตสำเร็จรูปไปเรื่อย ๆ มีชีวิตที่ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย และเป็น “Mr. & Miss Yes” ผู้ยอมจำนนต่อระบบแบบง่าย ๆ เพราะฉะนั้น ทั้งความเพียรและจินตนาการซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายของระบบทุนนิยม จึงกลายเป็นคุณค่าแรกๆ สองประการ ที่สังคมยุคนี้พยายามจะ delete ทิ้งไปจากความคิดของคนรุ่นใหม่  จึงไม่น่าแปลกใจนักที่บ่อยครั้งเราเองก็มักจะพบว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มักจะกลายสภาพเป็นพวกจับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หรือคิดค้นหาแก่นสารและความแตกต่างในชีวิตไม่เจอและนี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมโฆษณาจึงต้องหวนย้อนกลับไปฉายให้เราเห็นเบื้องหลัง “กว่าจะได้มา” ซึ่งไอดอลหนุ่มโต๋และหนุ่มนิชคุณทั้งสองคน  เพราะโดยความหมายของคนที่เรียกว่า “ไอดอล” นั้น ก็คือภาพของอุดมคติที่มนุษย์จำนวนหนึ่งใฝ่ฝันชื่นชม และคาดหวังอยากจะจำเริญรอยตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอดอลกลับกลายเป็นภาพที่คนส่วนใหญ่ยากที่จะไปถึงหรือเป็นได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง เนื่องจาก “กว่าจะได้มา” หรือ “กว่าที่จะเป็น” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายหรือเป็นเพียงแค่การปอกกล้วยแล้วกินเข้าปากแต่อย่างใดเลย ท่าเต้นหมุนเป็นกังหันลมของหนุ่มนิชคุณ ดูเผินๆ ก็อาจจะง่าย แต่กว่าจะได้มาซึ่งลีลาท่าทางออนสเตจเช่นนี้ ต้องอาศัยทั้งการค้นคว้าตำรับตำรา ความบากบั่นพากเพียร การล้มแล้วลุก การรู้จักแพ้ก่อนที่จะต่อสู้ฟันฝ่าต่อ  เฉกเช่นเดียวกัน กว่าจะได้มาซึ่งนิ้วที่บรรเลงเพลงเปียโนของหนุ่มโต๋นั้น ก็ต้องอาศัยทั้งความวิริยะอุตสาหะ และรู้จักคิดสรรค์สร้างจินตนาการ เพื่อที่จะสร้างตัวโน้ตต้นแบบทั้ง 7 ตัว ให้กลายเป็นบทเพลงที่ริเริ่มสร้างสรรค์ออกไปได้ไม่สิ้นไม่สุด   แม้ว่าในโฆษณาจะไม่ได้ให้คำตอบกับเราว่า ทำไมการดื่มซุปไก่สกัดสามารถนำมาซึ่งความเพียรและจินตนาการให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ได้ และผมเอง ก็ยังมองไม่เห็น ความสัมพันธ์แบบสาเหตุ-ผลลัพธ์ที่ว่า ซุปไก่หนึ่งขวดจะมีผลทำให้มนุษย์เราบังเกิดความวิริยะอุตสาหะและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้  แต่อย่างน้อย โฆษณาก็ได้ทำให้เราหวนกลับไปหาคุณค่าบางอย่างที่ทุกวันนี้ค่อยๆ เหือดหายลางเลือนไปแล้ว จากชีวิต “คนรุ่นใหม่” ในวันนี้ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 เมื่อ “ผู้หญิง” กลายเป็น “ผี”…บรื๋อ!!!

ในอดีต ศาสนาพุทธเคยมีการให้คำอธิบายเอาไว้ว่า ผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงในชาตินี้ คือผู้ที่ทำบุญไว้น้อยนิดในชาติก่อน เพราะฉะนั้น หากในชาตินี้ผู้หญิงรู้จักทำบุญเอาไว้เยอะๆ แล้ว ชาติหน้าเธอก็จะได้ไปเกิดเป็นผู้ชายในที่สุด วิธีให้คำอธิบายแบบนี้ โดยนัยหนึ่งก็คือ รูปแบบการจัดวางสถานภาพที่ว่า สังคมพุทธมีการจัดลำดับให้บุรุษเพศมีสถานะที่สูงกว่าอิตถีเพศ โดยมีเรื่องของ “กรรม” หรือการสั่งสม “เนื้อนาบุญ” เป็นเงื่อนไขกำหนดสถานภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถ้าในสมัยก่อน กรรมหรือเนื้อนาบุญเป็นเครื่องจัดวางลำดับสถานภาพทางสังคมของสตรีให้สูงหรือต่ำได้แล้ว ในสมัยนี้ อะไรบ้างที่จะทำหน้าที่กำหนดสถานภาพที่สูงและต่ำให้กับคุณ ๆ ผู้หญิง??? สำหรับผมแล้ว คำตอบก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากตัวของคุณผู้หญิงทั้งหลายเองนัก นั่นก็คือ เงื่อนไขที่มาจากเม็ดสิวที่ผุดพรายขึ้นบนใบหน้าของพวกเธอนั่นเอง แล้วทำไมผมจึงเชื่อว่าเม็ดสิวมีอานุภาพกำหนดสถานภาพหรือจัดวางที่ทางทางสังคมให้กับคุณผู้หญิงในยุคปัจจุบันได้ ประจักษ์พยานก็ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์เกี่ยวกับบริการของผลิตภัณฑ์ประทินใบหน้ายี่ห้อหนึ่ง โฆษณาเปิดเรื่องด้วยเสียงดนตรีชวนขนหัวลุก และมีภาพของผู้หญิงผมยาวชุดขาวมองไม่เห็นหน้าตาปรากฏตัวอยู่ในมุมของห้องมืด คลับคล้ายคลับคลาว่าเธอไม่ใช่ “มนุษย์” แต่ได้กลายสภาพไปเป็น “อมนุษย์” หรือ “ผีสาว” ผู้มีใบหน้าชวนสยอง ขนาดที่เพื่อนสนิทมาเห็นใบหน้าของเธอ ก็ต้องมีอาการช็อคจนเป็นลมหมดสติไปเลย เสียงโหยหวนพิลาปรำพันของเธอผู้เป็นประหนึ่ง “อมนุษย์” นางนี้ ได้พูดขึ้นว่า “คิดว่าฉันมีความสุขนักเหรอ...อะไรที่เขาว่าดี ฉันก็ทำหมด แต่ยิ่งทำฉันกลับยิ่งแย่...แต่นั่นแหละ หนังสยองขวัญทุกเรื่องมันต้องมีจุดจบ...” จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ใบหน้าของ “ผีสาว” ที่พอกด้วยสารนานาชนิด ทั้งผลไม้สดเอย มะม่วงสุกเอย ครีมมาสค์หน้าเอย สบู่เอย สารกระปุกชนิดต่าง ๆ เอย และแม้ว่าเธอจะหลบมาอาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์ในตอนกลางคืน แต่ใครที่ผ่านไปมา ได้มาเห็นใบหน้าของเธอเข้า ก็เหมือนกับเจอผีหรือนางเมดูซ่าในตำนาน จนขวัญหนีดีฝ่อกันกระเจิดกระเจิง และในที่สุด สตรีผู้มีใบหน้าเป็นอาวุธนางนี้ ก็ได้มาพานพบกับบริการของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่อยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมได้เห็นใบหน้าที่มีรอยยิ้มของเธอ พร้อมๆ กับเสียงของผู้ประกาศชายอธิบายขั้นตอนการประทินใบหน้าเพื่อรักษาสิวอย่างเป็นระบบ ปิดท้าย อมนุษย์สาวนางนี้ก็ได้กลายร่างเป็น “น้องแนน” สาวน้อยหน้าสวย ที่นั่งหัวร่อต่อกระซิกอยู่กับเพื่อนๆ ท่ามกลางห้องที่มีแสงสว่าง และเธอก็พูดกับกล้องด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “เรื่องสยองขวัญแบบนั้นไม่อีกแล้ว...จริงเปล่า” แม้โดยทั่วไป ผู้หญิงเองก็มักจะรับรู้กันว่า สิวเป็นภาวะตามธรรมชาติของวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาและเธอก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่กระนั้นก็ดี ภาวะธรรมชาติเช่นนี้กลับถูกโฆษณาทำให้กลายเป็นเรื่อง “สยองขวัญ” สำหรับหญิงสาวจำนวนมากมาย และที่น่าสนใจ การผุดพรายของเม็ดสิวบนใบหน้านั้น ยังมีอำนาจทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งๆ เปลี่ยนสภาวะจาก “คน” ให้กลายเป็น “ผี” ไปได้เลย!!! แล้วเมื่อผู้หญิงกลายสภาพเป็นผีเช่นนี้ จะมีความหมายหรือนัยสำคัญอันใดกับพวกเธอกันหรือ? เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของท่านพระยาอนุมานราชธน ปราชญ์ทางวัฒนธรรมนามอุโฆษของเมืองไทย เคยให้นิยามจำกัดความของ “ผี” เอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า ผีก็คือ “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน” ด้วยเหตุฉะนี้ หากผีเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่คน ดังนั้น ผู้หญิงที่เป็นสิวก็เลยแปรสภาพจาก “มนุษย์” เป็น “อมนุษย์” หรืออีกนัยหนึ่ง เธอกลายสภาวะ “เป็นอื่น” ซึ่งแตกต่างไปจากมนุษย์ปกติธรรมดาทั่วๆ ไป และเมื่ออิสตรีที่เป็นสิวได้แปรสภาพไป “เป็นอื่น” เช่นนี้แล้ว สถานภาพของเธอก็จะต่ำต้อยด้อยค่าไปโดยปริยาย ใบหน้าอันชวนสยองขวัญจึงมีอันต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่เบื้องหลังสสารพอกหน้านานาชนิดแทน หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็นใบหน้าที่หลบเร้นอยู่แต่ในห้องมืดอับแสง ที่อาจปรากฏออกสู่สาธารณะได้ ก็ต่อเมื่อดวงจันทร์ขึ้นสาดแสงอยู่บนท้องฟ้าในยามวิกาล แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่า อมนุษย์สาวหน้าสิวจะมีโอกาสเลื่อนสถานะกลับขึ้นมาเป็นมนุษย์ปกติธรรมดาในสังคมได้บ้างหรือไม่ คำตอบแบบนี้ก็อยู่ในโฆษณาชิ้นเดียวกันนั่นแหละครับ หากเป็นเมื่อครั้งพุทธกาล การสั่งสมเนื้อนาบุญอาจถือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเขยิบสถานภาพขึ้นมาได้ในภพชาติถัดไป แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันกาล เนื้อนาบุญที่ผู้หญิงไทยค่อยๆ เพียรทยอยสั่งสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ช้าเกินการนานเกินคุณไปเสียแล้ว โฆษณาก็เลยแนะนำให้คุณผู้ชมได้รู้จักเนื้อนาบุญฉบับหลักสูตรเร่งรัดชนิดใหม่ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์พอกหน้าเนียน และบริการอันเป็นระบบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้น เพียงแค่หญิงสาวหน้าสิวได้รับบริการประทินเคมีธาตุอย่างเป็นลำดับขั้นตอน พวกเธอก็ไม่ต้องเป็นกังวล และไม่ต้องเฝ้ารอให้ถึงภพชาติหน้า เพราะใบหน้าที่เคยสยองขวัญก็สามารถกลายสภาพเป็นวงพักตร์อันเรียวงามได้ในภพชาตินี้ เนื้อนาบุญของบริการผลิตภัณฑ์ความงาม ไม่เพียงแต่ทำให้เม็ดสิวสูญสลายหายไปจากใบหน้าของผีสาวเท่านั้น หากแต่ยังมีอานิสงส์ทำให้เธอเกิดความมั่นใจที่จะมานั่งยิ้มและปรากฏตัวออกสู่สาธารณชน จาก “ความเป็นอื่น” ของอมนุษย์สาวหน้าสิว ก็กลายเป็น “ความเป็นปกติวิสัย” ไปได้ในที่สุด ดูโฆษณาชิ้นนี้จบลง ผมก็เกิดสนเท่ห์ใจตามมาว่า หากตอนนี้เรามีบริการผลิตภัณฑ์ความงามที่ช่วยแปลงผู้หญิงให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นได้ จะเป็นไปได้ด้วยไหมหนอ หากเราจะมีบริการผลิตภัณฑ์แบบใหม่ ๆ อีก ที่ช่วยขจัด “ความเป็นอื่น” อันมีอีกอย่างดาดดื่นมากมาย...ไม่รู้ว่าคำตอบข้อดังกล่าว จะมีให้เห็นได้ในภพชาตินี้ หรือต้องรอไปเห็นถึงภพชาติหน้ากันแน่???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point