ฉบับที่ 150 สะตอผัดกุ้งสด

เห็นเพื่อนบางคนใน FB ที่ต้องโยกย้ายตัวเองไปทำงานไกลบ่นคิดถึงบ้าน และคนที่บ้าน  ฉันเลยพลอยคิดไปถึงตอนต้องอยู่นอกบ้านไกลๆ สมัยยังเป็นละอ่อนเรียนมหาวิทยาลัย  นั่นเป็นการอยู่ไกลบ้านสุดกู่เกินกว่าจะเทียวเดินทางไป-กลับ จากบ้านต่างอำเภอกับโรงเรียนในจังหวัดในทุกวันจันทร์และศุกร์ ได้อย่างสมัยมัธยม   แต่ตอนเลือกที่เรียนต่อผ่านการสอบเอ็นทรานซ์สมัยนั้นฉันก็คิดว่าอดทนไปเรียนไกลๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำงานแถวบ้าน  แต่การงานที่ฉันอยากทำกับบ้านก็อยู่ไกลจนต้องทำใจ และเฝ้าแต่หาวิธีขยับขยายช่องทางจนกลับเข้ามาทำงานในบ้านได้เมื่อวัยกลางคน ระหว่างที่กลายเป็นคนไกลบ้าน สิ่งที่คิดถึงบ่อยๆ คงไม่พ้นของที่เคยกิน เมนูที่สุดโปรด  และเป็นไปโดยปริยายว่าเมื่อได้ลิ้มลองอาหารแบบที่เคยคุ้นกับการกินก็มักอดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบกันทั้งรสชาติ หน้าตา และองค์ประกอบ  บางครั้งก็ได้รู้เลยไปถึงกรรมวิธีการปรุงและเคล็ดลับต่างๆ ของบรรดาแม่ครัวต่างถิ่น  ทำให้เรื่องราวที่ประกอบกับสิ่งที่จะกินกลายเป็นรสที่เติมแต่ง จนกลิ่นรสแปลกแปร่งจากที่คุ้นเคยกลายเป็นของใหม่ให้ได้ลองลิ้น และหากติดใจก็รับเอามากินต่อไปจนเป็นความคุ้นเคยแบบใหม่  เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ฉันเองจำไม่ได้แล้วว่า รสแรกสัมผัสของอาหารต่างถิ่นอย่าง สะตอผักกุ้งสด เมนูนี้ เป็นอย่างไร   ตั้งแต่จำความ  โต เล่น และเรียนอยู่ในถิ่นตัวเองจนจะอายุ 20 ปี ก็ยังไม่เคยได้กินสะตอสักครั้ง จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัยปี1 ฉันและเพื่อนอีกเกือบทั้งคณะกว่า 200 คน ที่นั่งรถไฟแบบเหมายกตู้ จากขอนแก่นไปสงขลา นั่นแหละฉันจึงได้กินอาหารใต้แบบ ปักษ์ใต้ของแท้  แต่ก็นานกว่าจะได้ลอง ทั้งๆ ที่ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย และโรงเตี๊ยมเล็กๆ ข้างคณะจะมีอาหารใต้หลายเมนูขายอยู่   เพราะส่วนใหญ่ มัวแต่ทดลอง “สารพัดตำ” ที่เพื่อนๆ เจ้าถิ่นแนะนำให้เรากินเสียมากกว่า   หลังจากได้กินอาหารต้อนรับของเพื่อน นักศึกษา มอ.เจ้าถิ่น  มื้อแรกและมื้อต่อๆ มา กลิ่นรสสะตอก็กลายเป็นอาหารอีกจานที่เริ่มจะทำความคุ้นชิน ทั้งการกินแบบผัดกับกุ้งและน้ำพริกกะปิ  ทั้งแบบกินสดและแบบดองน้ำเกลือ กินกับน้ำพริก  ขนมจีน และกับข้าวแกงราดข้าว   จำได้ว่าขึ้นรถไฟเที่ยวกลับ เพื่อนกลุ่มใหญ่ของฉันเกือบ 20 คน ตกลงกันว่าจะหิ้วสะตอกองใหญ่กลับมากินกันที่ขอนแก่นด้วย สะตอสดกินแนมกับตำส้ม และสารพัดตำรสแซ่บ และกลิ่นสะตอผัดกุ้งฟุ้งกระจายที่บ้านเพื่อนเจ้าถิ่นในตัวเมืองขอนแก่นอยู่หลายมื้อทีเดียวเชียว   จะว่าไปคนอีสานก็ออกจะคุ้นกับรสสะตอที่ใกล้เคียงกับฝักกระถิ่น ที่คนอีสานนิยมกินเมล็ดอ่อนของมันกับตำส้มสารพัด รวมไปถึงบรรดาแจ่ว บอง และขนมจีนน้ำยาป่า ผิดแต่ว่าขนาดใหญ่และรสจัดกว่าเท่านั้น    ส่วนบางคนที่ไม่ชอบเพราะกลิ่นแรงๆ ของสะตอที่เหลือค้างอยู่ในปาก แก้ได้ไม่ยาก โดยเอาใบฝรั่งที่หน้าบ้านเพื่อนนั่นแหละมาเคี้ยว(ปัจจุบันต้นฝรั่งหาไม่ได้ง่าย แต่กาแฟดำชงแก่ๆ แบบไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำนมสด ดื่มล้างปากหลังเมนูนี้  สำทับอีกทีด้วยหมากฝรั่งก็ช่วยขจัดกลิ่นมันไปได้) ตอนแรกที่รู้จักสะตอก็จากการกิน  กินในรั้วมาหวิทยาลัย  จนกระทั่งได้ทำงานและแวะเวียนไปพบผู้คนในถิ่นใต้ จึงได้รู้จักสะตอที่มีต้นสูงใหญ่  กระบวนการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงงานอย่างมาก  ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ช่วงเวลาสะตอออกใหม่ๆ  การซื้อ-ขาย  สะตอ ราคาของสะตอยอดฮิตถึงได้พุ่งสูงขึ้นไป แทบจะเรียกว่า “นับเม็ดขาย” กันเลยทีเดียว   หากอยากกินแต่มีอาการโรคทรัพย์จางก็จำต้องรอจนกระทั่งช่วงเข้าฤดูที่สะตอออกชุกจัดๆ เหมือนกับผลิตผลทางการเกษตรทั่วๆ ไปนั่นแหละราคาจึงค่อยๆ ลดลงมาตามหลักอุปสงค์-อุปทาน  ครั้นพอสะตอราคาถูกถูกมากๆ เข้าก็เตรียมตั้งน้ำต้มเกลือดองสะตอเก็บไว้กินยามอยากตอนหายากกันอีกที ฉันยังจำได้อีกว่า คราวแรกที่เอาสะตอกลับมาฝากแม่ที่บ้าน  และบอกแม่ว่าอยากกินผัดสะตอ  แม่ก็รับสะตอไป พยักหน้า ไม่ว่าอะไรตามนิสัยคนไม่พูด แต่พร้อมจะจัดให้ตามรีเควสท    จนกระทั่งตกค่ำแม่เรียกกินข้าวนั่นแหละ  ฉันจึงได้รู้จักกับผัดสะตอที่แปลกไปจากที่คาดว่าจะได้กินในตอนแรก แต่ไม่แปลกไปจากความคุ้นชินจากการนั่งกินข้าวในครัวกับแม่ สะตอกุ้งของแม่ หน้าตาดูคล้ายกับถั่วฝักยาวผัดพริกแกง  เมนูประจำบ้านจานโปรดที่แม่มักผัดกินเองอยู่บ่อยๆ  ไปซะงั้น มื้อค่ำวันนั้นฉันเลยได้นั่งโม้เรื่องสะตอที่ฉันเคยไปเจอไปกินในถิ่นปักษ์ใต้ และที่อีสานให้แม่ฟังได้เป็นคุ้งเป็นแคว ถึงตอนนี้  ที่ฉันกลับมาอยู่กับแม่ยามวัยชรา อยู่โยงแต่กับบ้าน  ทำงานหากินอยู่แต่แถวๆ บ้าน  และไปไหนไกลเกินกว่าการ ไป-กลับ ภายใน 1 วันโดยไปค้างที่ไหนไม่ได้  ฉันว่ากินสะตอแล้วอาการกำเริบอยากจะไปเที่ยวอย่างสมัยเรียน และทำงานใหม่ๆ กะเขามั่งเหมือนกัน มันก็อย่างนี้แหละเพื่อนเอ๋ย ... ฉันรำพึงก่อนจะเลื่อนเม้าท์ผ่านข้อความของเพื่อนไปเฉยๆ ซะงั้น   สะตอผัดกุ้ง สะตอผัดกุ้งสดจานนี้  เหลือกินมาจากน้ำพริกกะปิกับสะตอสด  ที่ฉันชอบกินเม็ดสดๆ ที่มีเปลือกหุ้มรสฝาดด้วย  เพื่อนคนใต้บอกฉันว่ามันช่วยดับกลิ่นแรงๆ ของสะตอ แต่ฉันชอบรสฝาดที่เปลือกของมันมากกว่าจะกังวลกับกลิ่นค้างตัวหลังกิน ส่วนประกอบที่ใช้ มีน้ำพริกกะปิก้นถ้วยที่เหลือ 2 – 3 ช้อนโต๊ะ  , น้ำมันถั่วเหลือง 2 ช้อนโต๊ะ , สะตอสดแกะเอาแต่เม็ด  1 ถ้วย ,  กุ้งสดแกะเปลือกผ่าหลังดึงเอาเส้นดำออกแล้วล้างสะอาด 7 – 8 ตัว , น้ำสะอาดนิดหน่อย วิธีทำ ตั้งกระทะไฟแรง ใส่น้ำมันรอให้ร้อนจัดจึงตักน้ำพริกลงไปผัด ใส่กุ้ง ผัดจนกุ้งเริ่มสุกตัวขาว จึงใส่สะตอ พลิกตะหลิวไวๆ เติมน้ำให้พอขลุกขลิก แล้วดับไฟตักเสิร์ฟ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 เต้าหู้ขาวญี่ปุ่นนึ่งซีอิ๊ว

ฉันกับแม่กลับเข้าบ้านมาถึงในตอนค่ำ ก็เห็น 2 สาวเพื่อนบ้านกำลังเขย้อเขย่งเก็บช่อดอกเข็มแดงริมรั้วบ้านเตรียมให้ลูกชายใช้ไหว้ครูพอดี  พอรู้ว่าเธอๆ จะใช้ไหว้ครู ฉันก็เดินไปที่กอมะเขือพวงที่กำลังออกดอก และตัดช่อของมันส่งให้เธอไปอีก 3 ช่อ กับคำถามในใจว่าเมื่อไหร่หนอบ้านเราเมืองเราจะมี   “วันนักเรียน” กะเขามั่ง  วันนักเรียนที่สอนให้นักเรียนรู้คิด ตั้งคำถาม  รู้วิธีหาคำตอบ  มีระบบการเรียนรู้ที่มากไปกว่าการเป็นเด็กดี  มีระเบียบวินัย สามัคคี  และเชื่อฟังคุณครู?   ปีนี้ฝนแล้ง มาล่าช้า และเริ่มมาตกชุกเอาช่วงต้นเดือนมิถุนายน  เข็มที่ได้น้ำจากน้ำประปาที่แม่รดทุกวันจึงไม่มีดอกช่อโตดกใหญ่มากอย่างทุกปี   ถัดมาก่อนหน้านี้ 2 วัน  ฉันเพิ่งพบกับเพื่อนชาวนาในทุ่งหน้าโคก ที่เก็บผักมาขายประจำในตลาดนัดวันจันทร์ ซึ่งเช้าวันนั้นพื้นดินลูกรังตลาดเนืองนองเฉอะแฉะหลังฝนกระหน่ำเสียจนหนำใจ  เราได้คุยกันสั้นๆ เรื่องการเตรียมทำนาขอเธอ   เธอว่า ปีนี้ฝนมาช้า จนทำให้ข้าวต้องหว่านช้าไปกว่าเดิม  กว่าจะหว่านได้นั้นเธอรอทั้งน้ำในลำรางให้เขาปล่อยมาและฝน ก็ยังไม่ได้มาดังใจ  ระหว่างนี้ได้พบชาวนาหลายคนที่ต้องไปขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากสำนักงานการไฟฟ้าฯ  และเสียค่าเช่าหม้อไฟถึงคนละ 8,000 บาท เพื่อติดตั้งเครื่องไฟฟ้าสูบน้ำเข้านา  ส่วนเธอต้องจ่ายค่าพิเศษให้เจ้าหน้าที่ไป 500 บาท เธอว่า “คนมันต่อคิวกันเยอะ เราอยากได้ไว  ถ้าไม่งั้นเรารอนาน ข้าวเราก็ไม่ได้ปลูกสักที” เงินที่เธอต้องลงทุนเพิ่มในการทำนาเที่ยวนี้  ยังไม่รู้ว่าจะได้รับคืนมาเป็นผลกำไรหรือไม่นั้น คงต้องรอดูตอนช่วงเก็บเกี่ยวต้นเดือนกันยายนปีนี้กันอีกที  เธอว่ายังดีที่หลังเลิกใช้งานแล้วคืนหม้อไฟ จะได้รับเงินคืนกลับมา 6,000 บาท  แต่นั่นก็อีกเกือบ 4 เดือนเชียวแหละที่ต้องรอดูกันต่อ ดูเหมือนเป็นชาวนาต้องรอนั่น รอนี่ และมีเรื่องให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอยู่เสมอ ... นั่นสินะ  หากรอให้น้ำท่าดีสมบูรณ์ในภาวะที่แล้งจัดแบบนี้  ก็คงยังอีกนานกว่าจะได้ลงมือตีเทือก หว่านข้าวปลูก   ครั้นพอลงมือหว่านทำนาแล้วก็ต้องมาคอยดูด้วยใจระทึกต่อไปว่า ฝนที่เริ่มตกชุกจนอดหวั่นไหวไม่ได้ว่าปีนี้จะน้ำมากจนมาท่วมข้าวก่อนเกี่ยวเหมือนปี54 กันอีกหรือเปล่านั้น  มันเป็นความทุกข์ที่คนทำนาต้องอดทนแบกรับ   มาเรื่องกินกันดีกว่า – วันนี้ว่าด้วยเมนูเต้าหู้ขาว กินแบบเบาๆ สบายๆ   เครื่องปรุง 1. เต้าหู้ขาวญี่ปุ่น 1 ชิ้น   2.เห็ดเข็มทอง  100 กรัม   3.ต้นหอม  2 – 3 ต้น หั่นท่อน   4.สาหร่ายญี่ปุ่น แช่น้ำจนพองตัวแล้วสรงขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ  1/3 ถ้วย   5.ขิงซอย 1 แง่ง (ขยำน้ำเลือกแล้วล้างออก 2 ครั้ง)   6.พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ 2 เม็ด   7.ซีอิ๊วขาว  2 ช้อนโต๊ะ   8.น้ำมันงา  1 ช้อนโต๊ะ   9.งาคั่วบุบหยาบ  1 ช้อนโต๊ะ  10.น้ำตาลทรายตัดรสเค็ม ปลายช้อน  11.หมูสามชั้นหั่นเรียง (ใส่หรือไม่ – แล้วแต่ชอบ)   วิธีทำ เรียงสาหร่ายบนจานกระเบื้องทนไฟ  หั่นเต้าหู้ขาวญี่ปุ่น เป็นก้อน 3 เหลี่ยมมุมฉากวางบนสาหร่าย   โรยด้วยเครื่องปรุงที่เหลือ แล้วนำไปนึ่งเตาไฟแรงๆ นาน 10 นาทียกลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 ซุปมันฝรั่ง

นับเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ที่ฉันตื่นแต่เช้าหยิบไม้แบดมินตันมาฟาดลูกขนไก่น็อคลงไปที่ข้างฝาห้องประชุมอำเภอ   ฉันยังไม่แน่ใจนักว่าจะเล่นแบบนี้ไปได้อีกสักกี่วัน แต่หลังจากวัน สองวันแรก ที่ทำอย่างนั้นแล้ว ฉันพบว่ามันยอดเยี่ยมมาก อาการปวดตึงไหล่จากการนั่งหน้าจอคอมพ์นานๆ เปลี่ยนมาเป็นปวดล้าไปแทบทั้งตัว ตัวเบาโล่ง และเสียเหงื่อมากเพียงแค่การเล่นไม่ถึง 30 นาที ที่เยี่ยมยอดไปกว่านั้นก็คือ การเลือกเล่นน็อคลูกขนไก่กับฝาหนังห้องประชุมอำเภอ(ซึ่งอดีตเคยเป็นเรือนไม้และภายในห้องประชุมเคยตีเส้นขึงเน็ตให้เป็นที่เล่นแบดฯ ได้อย่างมาตรฐานที่ฉันเคยเล่นกีฬาแบบเดียวกันนี้ในวัยเด็กนั้น) ดันอยู่ฝั่งด้านนอกอาคาร มีลานหญ้าคาต้นสูงให้ฉันวิ่งถลารับลูกให้ได้คันยุบยิบนิดๆ  และอยู่ติดกับถนน ที่ผู้คนและรถราวิ่งผ่านไปมาเป็นระยะๆ คนแถวบ้านฉันคงไม่ค่อยเห็นใครเล่นแบดมินตันอย่างที่ฉันกำลังเล่นอยู่นี้  เสียงทักทายของผู้คนผ่านไปมา ทำให้ฉันรู้สึกว่าค่อยเหมือนกลับมาอยู่บ้านอีกหน่อย  หลังจากเอาแต่หมกหมุ่นอยู่กับงานและความเพลิดเพลินผ่านหน้าเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งใช้สื่อสารกับโลกภายนอกที่อยู่ไกลให้เหมือนไกลที่แทบจะเรียกได้ว่าจ่อมจมหมกตัวอยู่กับมันไปแล้ว  มันได้ดึงเอาเสียงทักทายและหยอกล้อจากคนที่ผ่านไปมา   นอกจากนี้ยังมีเพื่อนสูงวัยร่วมตลาดบางคนมาชวนฉันไปเดินออกกำลังกายกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีทั้งกลุ่มเดินตอนเช้าและเดินตอนเย็นแทนการเล่นคนเดียวอย่างนี้ที่ดูน่าจะหงอยเหงา    แถมยังมีกรรมการโรงเจมาชวนฉันไปเต็นแอโรบิคพร้อมแจงว่าจะมีเสื้อแจก 5 ตัว 5 สี ซึ่งได้งบสนับสนุนมาจากกระทรวงศึกษาธิการซะอีก    แต่...ฉันก็ยังคงเล่นน็อคบอร์ดอยู่ลำพัง  จนกระทั่งการเล่นน็อคบอร์ดในตอนเย็นนั่นแหละทำให้ฉันประสบความสำเร็จในการเล่นแบคมินตันแบบมีคู่ซ้อมด้วย ไม่ใช่เพื่อนร่วมรุ่นที่แทบไม่มีเหลืออยู่ในตลาด กับคนรุ่นสูงวัยกว่าที่ฉันเคยไปขอต่อคิวเล่นแบตฯ ด้วยในวัยเด็ก  หากแต่เป็นเด็กวัยตั้งแต่ ป.2 – ม. 2 จำนวน 8 คน ที่อยู่แฟล็ตตำรวจหน้าบ้านฉันนั่นเองที่มาชวนฉันไปเล่นแบตฯ แบบตีโต้กันที่หน้าลานโล่งของสำนักงานไปรษณีย์ซึ่งตั้งอยู่ข้างบ้าน ฝั่งตรงข้ามแฟล็ตตำรวจนั่นเอง ไม่น่าแปลกที่การเล่นแบดฯ แบบนอกคอกนอกคอร์ด ซึ่งมีเพียงแค่ลานโล่ง  ขาดเส้นคอร์ดและเน็ตขึง หากเต็มไปด้วย กระแสลมพัดอวลไปมาตลอดเวลาการเล่นราว 1 ชั่วโมงกว่านั้นจะเรียกเสียงหัวเราะและเหงื่อจากการเก็บลูกที่ตีพลาดเสียเป็นส่วนใหญ่  ลมแรงๆ ที่พัดมาทำให้ฉันนึกไปว่าลานหน้าไปรษณีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ชายหาดริมทะเล  จะขาดไปก็แค่พื้นทรายยวบยาบยามวิ่งเท่านั้น ไม่งั้นลานกีฬาแห่งนี้จะกลายเป็นที่เล่นแบดมินตันชายหาดไปแล้วจริงๆ อาจจะเพราะทีมนักกีฬาแบดมินตันชายหาด(ปลอมๆ) ที่ลงสนามกันนั้นต่างก็รู้กันว่ามันคือการเล่น  เล่นๆ  แม้จะมีบางครั้งที่ฉันจะบอกสอนวิธีจับไม้แบดมินตันที่ถูกต้องตามพื้นฐานการเล่นธรรมดา  แต่เหมือนทั้งคนสอนและคนหัดใหม่กลับไม่ได้คิดว่ามันจะมาเป็นอุปสรรคหรือส่วนเสริมทักษะต่อการเล่นสนุกของพวกเขาเท่าไหร่   การตีไม่ถูกท่า หรือตีไม่โดนลูกกลับการเป็นเรื่องสนุกขำขันระหว่างคนเล่นมากกว่าจะกลายเป็นเสียงเยาะเย้ยถากถางที่หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงขับให้คนพลาดต้องเก่งยิ่งกว่าเก่าให้ได้ในสนามแข่งขันที่มีมาตรฐานและกฎกติกา มารยาทของการกีฬาชนิดนี้   จนทำให้การเล่นแบดฯ แบบน็อคบอร์ดคนเดียวในตอนเช้า และเล่นร่วมแก๊งค์ได้ตอนเย็นยืดระยะเวลาออกมาได้อีกด้วยความสนุก ออกกำลังกายกันจนเหนื่อยล้า เราลองมาทำซุปกินง่ายๆ ทำง่ายๆ กันดีกว่า   ซุปมันฝรั่ง วิธีทำ 1.เลือกหัวมันฝรั่งขนาดย่อม 2 หัว ที่ไม่มีแมงกิน และยังไม่งอกราก มาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นแว่นหนา 1 ซม. ในน้ำเดือดราว 10 นาที 2.ระหว่างรอมันฝรั่งสุก ปอกหอมหัวใหญ่ 1 ลูก หั่นเป็นชิ้น 4 เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด 1 x 1 ซม. 3.นำมันฝรั่งที่สุกแล้วตักขึ้นพัก  แบ่ง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งยีให้เนื้อละเอียด  อีกส่วนหนึ่งนำไปหั่นเป็น 4 เหลี่ยมขนาด 1 x 1  ซม.  ซึ่งฉันนึกขี้เกียจหั่นเลยหันไปพึ่งตะแกรงอะลูมิเนียมที่เป็นตารางสี่เหลี่ยม(ตามรูปประกอบ)   นำชิ้นมันฝรั่งไปวางบนเขียงแล้วใช้ตะแกรงกดลงไปตรงๆ ก็ได้ลูกเต๋ามันฝรั่งเหมือนกัน ง่ายสะดวก รวดเร็วกว่าหั่นมือเยอะเลย 4.ตั้งกระทะเทฟล่อน ใส่เนยสดรสเค็มลงไปจนละลายแล้วจึงนำหอมหัวใหญ่หั่นแล้วลงไปผัดจนหอม จึงค่อยๆ เติมมันฝรั่งหั่นเต๋าลงไป จากนั้นนมสด 2 ถ้วย และมันฝรั่งบด  คนตลอดให้มันฝรั่งละลายเข้ากับน้ำนม  จนกระทั่งเดือดก็ปิดเตาและตักใส่ชาม เท่านี้ก็ได้ซุปมันฝรั่งแสนอร่อยแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 147 ก๋วยจั๊บเวียดนาม

เพื่อนสาวชาวนา ลูกหลานพญาคันคาก เพิ่งกลับจากเยี่ยมญาติช่วงเทศกาลสงกรานต์ ฉันเลยได้ของฝากเป็นหอมแดงผลผลิตขึ้นชื่อประจำจังหวัดศรีสะเกษกับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเส้นก๋วยจั๊บเวียดนาม ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ดูว่าจะอร่อยขึ้นชื่อเทียบเคียงสูสีกับแหล่งผลิตชื่อดังแห่งเดิม คือที่อุบลราชธานีหรือปล่าว อิ อิ การกลับไปเยี่ยมญาติข้างปู่-ย่า ของเธอเที่ยวนี้  เพื่อนๆ ในเฟสบุ้ค ต่างรับรู้การเดินทางเป็นระยะๆ ด้วยรถปิ๊กอัพป้ายแดงคันใหม่ที่เธอถอยมาหลังเกี่ยวข้าวขายเข้าโครงการรับจำนำไป 2 เที่ยวเมื่อปีที่แล้ว  ตอนนี้เธอเปิดหน้าเพจ “ชาวนาเงินล้าน” แล้ว ใครสนใจเทคนิคทำนาลดต้นทุนเข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเธอได้เลย ส่วนฉันเหมือนเคย    นั่งแซ่วหน้าจอคอมพ์ไม่ได้ไปไหน   เอาแต่นั่งเขียนรายงานสถานการณ์การปรับตัวของชาวนาแถวบ้านที่นำการใช้เครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่อย่างเครื่องพ่นปุ๋ยและหว่านข้าวมาใช้ในนา จนทำให้เขาลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์ลงจากเดิมไปกว่า 30 %  ลดต้นทุนแถมยังผ่อนแรง แต่ขายข้าวได้ในราคาตันละ 13,000 บาท  จนทำให้เขาปลดหนี้ได้จากที่เมื่อปี 2553 เคยเป็นหนี้ 500,000 บาท จากการทำนาปรัง 2 ครั้งและถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายในครั้งแรกและน้ำท่วมเสียหายในครั้งที่2   เขายังบอกฉันด้วยว่า แค่ราคาข้าวดีอย่างเดียวคงทำให้เขามัวนิ่งนอนใจไม่ได้ แต่ต้องขวนขวายหาวิธีลดต้นทุนให้ได้มากเพื่อเตรียมตัวเข้าแข่งขันในเวที AEC กับเวียดนามที่ต้นทุนการผลิตข้าวต่ำกว่า   การทำนา 140 ไร่ของเขา เผชิญมาหมดทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ศัตรูข้าว  เจ้าของโรงสีซื้อข้าวกดราคา  แถมหลายปีก่อนนายทุนยึดที่เช่านาคืนเพื่อเอาไปขายคนกรุงเทพฯ ที่อยากจะเป็นชาวนาอย่างเขาบ้าง ทั้งที่มีสัญญาเช่า 6 ปี   โอกาสจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการทำนาในระหว่างปี 2555 – ปัจจุบันนี้  ทำให้เขาพอมีความหวัง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นต้องเผชิญกับสภาพ ลุ่มๆ ดอนๆ ในการประกอบอาชีพมากว่า 15 ปี  จนทำให้เขาไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เรียนรู้ปรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ๆ  อยู่เสมอๆ จากแหล่งข้อมูลสื่อสารทั้งในทีวี วิทยุ และการพบปะพูดคุยกันในแวดวงของเขา ใคร ที่ว่าจำนำข้าวให้ราคาดีทำให้ชาวนาเร่งผลิตจนเพิ่มต้นทุนและเลิกทำอินทรีย์  น่าจะมาเดินดูชาวนาแถวบ้านฉันดูมั่งเนาะว่าเขาจะเสียฟรีจากที่เคยทำได้ดีไปได้ยังไงกัน  - - ได้ยินได้ฟังแบบนั้น ฉันมึนจุงเบย...   มาดูวิธีทำ “ก๋วยจั๊บเวียดนาม” ของเรากันดีกว่า ก๋วยจั๊บเวียดนามมีดีที่เส้นนุ่ม  น้ำซุปใสๆ รสเข้มข้น และชูกลิ่นรสด้วยเครื่องปรุงพริกเผาหอมๆ   ส่วนเนื้อสัตว์อย่าง หมู กระดูกหมู และหมูยอ ที่เห็นกันเป็นประจำในชามก๋วยจั๊บเวียดนามนั้น ถ้าไม่ชอบอาจหาอย่างอื่นมาทดแทน   สูตรที่นำมาแลกเปลี่ยนวันนี้ฉันเองทำเสร็จเตรียมจะกินแล้วเพิ่งนึกได้เหมือนกันว่าลืมหมูยอไปอย่างหนึ่งเหมือนกัน เอาเถอะ ไม่มีก็ไม่ใส่ก็ได้เนอะ เริ่มง่ายๆ ที่เครื่องปรุงพริกเผากันก่อน  วิธีเร่งรัดอย่างฉันทำง่ายมาก  มี ส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ  1.พริกขี้หนูป่นหยาบ 2 ส่วน   2.หอมแดง 2 ส่วน   3.กระเทียม 1 ส่วน    เริ่มทำโดยปอกหอมและกระเทียม จากนั้นนำไปโขลกพอแหลกแล้วตักพริกขี้หนูป่นหยาบลงไปตำให้เข้ากันดี  แล้วจึงตั้งกระทะน้ำใส่มันถั่วเหลืองให้ร้อน  แล้วนำส่วนผสมเครื่องลงไปทอดให้เหลืองหอม แล้วพักเตาไฟ ตักใส่ถ้วย  แล้วไปดูเครื่องปรุงก๋วยจั๊บกันต่อ เครื่องปรุง 1.เส้นก๋วยจั๊บ   2.ถั่วงอก   3.กระดูกหมู อ่อน  ½ กก.  4.หัวไชเท้า 1 หัว   5. ต้นหอม ผักชี ซอยหยาบ  6.พริกไทยเม็ด  20 เม็ด  7.กระเทียมสด  5 กลีบ  8.กระเทียมดอง 1 หัว   9.รากผักชี 1 ราก    10.เกลือ  11.ซีอิ๊ว  12.ยอดหม่อน 3 – 4 ยอด  (ไม่มีก็ใส่น้ำตาลแทน) 13.น้ำกระเทียมดอง 1 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ เริ่มทำน้ำซุปกันก่อน   ตักน้ำสะอาด ใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง  ใส่กระดูกหมูอ่อนที่ล้างและหั่นเป็นชิ้นคำโตๆ ลงไปต้ม   ปรุงรสด้วยยอดใบหม่อน   โขลกพริกไทยเม็ดให้เข้ากับรากผักชีกระเทียมสดและกระเทียมดองที่ตำแบบหยาบๆ  เกลือ ซีอิ๊ว และน้ำกระเทียมดอง  หมั่นช้อนออก  พอกระดูกหมูเปื่อยได้ที่ราว 30 นาที จึงใส่หัวไชเท้าหั่นแว่นลงไปต้มนานอีกสัก 5 นาที   ระหว่างรอน้ำซุปได้ที่  ตั้งหม้อที่ใส่น้ำสะอาดอีก 1 ใบ เพื่อลวกถั่วงอกแล้วตักสงไว้ให้สะเด็ดน้ำ ใช้น้ำที่ลวกถั่วงอกต้มเส้นก๋วยจั๊บ โดยนำเส้นก๋วยจับไปล้างฝุ่นแป้งที่เกาะเส้นให้หมดเสียก่อน จึงค่อยนำเส้นลงไปต้มขณะน้ำเดือดจัด  ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เส้นสุก  หากน้ำที่ต้มมากไปก็เททิ้ง  ทิ้งไว้สักพักเส้นจะนิ่มและดูดซึมน้ำเข้าไปอีกนิดหน่อยจนเส้นพอง   พอจะกิน  ฉันก็ตักถั่วงอกลวกกับเส้นในชาม ตักน้ำซุป กระดูกหมู หัวไชเท้า โรยด้วยผักชีต้นหอม และปรุงรสด้วยเครื่องปรุงพริกเผา  แล้วนั่งนึกเอาถึงความอร่อยขอหมูยอที่ขาดหายไปอยู่แว้บๆ เอาเถอะ  แค่นี้ก็อร่อยเหลือเฟือจนต้องเอามาเผื่อแผ่กันในคอลัมน์นี้แหละคุณขา  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 146 ซอสมะม่วงกับหมูทอด

  ข้อดีอีกอย่างของพิมเสนสุกเมื่อเอามาปั่นและเคี่ยวไฟ สีไม่คล้ำเข้มเหมือนอย่างอกร่อง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งความหวานจนต้องใช้เนื้อมะม่วงแก้วสุกปนด้วยเมื่อเอามากวนยามทำมะม่วงกวน มะม่วงแผ่น ฉันได้แต่หวังว่าสักวันคนแถวบ้านนอกอย่างฉันจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แบบ คน กทม. กะเขามั่ง เลยยังอินและละเลียดระเรื่อยไปกับข่าวสำคัญของคน กทม.  และติดตามดูอยู่ว่า คุณสุขุมพันธ์จะถูกพิษการหาเสียงบนฐานความเกลียดชังจากกรณี “เผาบ้านเผาเมือง” และข้อความของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่โพสต์ใน FB ในลักษณะที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือไม่   กับอีกข่าวที่ไม่ค่อยโด่งดังเท่า  เป็นข่าวที่เกิดขึ้นหลังจากมีผลตัดสินการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ฯ แค่ 2 วัน   มันคือข่าวที่ศาลแพ่งตัดสินให้บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ห้างเซนเป็นเงินกว่า 1,647 ล้านบาท เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ห้างเซนเกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เป็นการกระทำจากเหตุก่อการร้าย แถมบริษัทฯ ยังต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมตามคำขอของโจทก์อีกต่างหาก   แม้จะไม่นึกชอบใจวิธีหาเสียงของฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเลย และทำใจยอมรับกับผลการเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม   แต่ฉัน ก็ยังไม่รู้จะคิดอย่างไรดี กับบทบาทขององค์กรอิสระอย่าง ก.ก.ต. รวมทั้งอีกหลายๆ องค์กร ที่ต้องเล่นกับขอบเขตหน้าที่และบทบาทในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งในระดับต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ไปขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย   กฎ กติกา มารยาทของระบอบประชาธิปไตยของเรา ยังคงต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ และช่วยทำความเข้าใจ  วิธีการหาเสียงเลือกตั้งแบบไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งอาจทำให้ผู้ว่าคนใหม่ที่เลือกเข้ามาตายน้ำตื้นก็ได้ใครจะรู้?  ฉันเลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาจับตาดูเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน  ถึงวันที่ฉลาดซื้อเล่มนี้อยู่ในมือคุณ เราคงรู้ผลการตัดสินเหล่านั้นกันแล้วก็ได้   ไปว่าเรื่องกินของเรากันดีกว่า…มะม่วงสุกมีเป็นกระบุงหลังจาก 2 วันก่อน แม่เพิ่งให้คนสอยลงมา  นานหลายปีแล้วที่พิมเสนต้นนี้ไม่ออกลูกให้กินสักที   ฉันชอบมันตอนที่ยังไม่สุกแต่แก่จัดจนหัวเหลือง  เนื้อกรอบแข็งรสมันอมเปรี้ยว  แต่พอสุกก็จะมีรสหวานเฉพาะตัว ไม่เหมือนอกร่อง หรือน้ำดอกไม้  แน่ๆ  - - ก็มันพิมเสนนี่นา   กินดิบก็แล้ว กินสุกก็แล้ว แบ่งขายที่แผงหนังสือหน้าบ้านด้วย  ยังมีเหลืออีกเยอะแยะ  ฉันเลยเปิดเว็บว่าคนอื่นๆ เขากินมะม่วงสุกกันด้วยวิธีไหน?   นั่นไง... เพลินจบเกือบลืมปั่นต้นฉบับส่ง บ.ก.ฉลาดซื้อ!  แฮะ  แฮะ  แต่ก็ได้มาแระ เมนูเที่ยวนี้   ปิดหน้าเว็บ  ฉันเดินเข้าตลาด ได้มะนาว 3 ลูก เดินต่อไปเขียงหมูเจ้าประจำ  บอกแม่ค้าว่าอยากได้เนื้อหมูสำหรับทอดกิน  เธอว่าให้ฉันใช้เนื้อสันลายที่นุ่มอร่อยกว่าเนื้อสันในและไม่ติดมันมากนักมาครึ่งโล  ยังเหลือแต่เกล็ดขนมปัง ที่ต้องเข้าไปซื้อในร้านสะดวกซื้อ  แหม... ฉันพอเข้าใจ เมนูทอดเป็นเมนูยอดนิยมของเรา  มันจึงเป็นสินค้าสุดยอดขายดีของร้านไปซะได้   ฉันเลยโมเมเอาง่ายๆ ว่า เมนูเที่ยวนี้น่าจะถูกใจใครๆ ได้มากพอสมควรตามประสาคนหลงตัวเองซะงั้น   เครื่องปรุงซอสมะม่วง 1.มะม่วงสุก หั่นละเอียด 2 ถ้วย  หั่นเต๋า ¼ ถ้วย    2.น้ำ 2 ถ้วย    3.เกลือ 1 ช้อนชา  4.มะนาว ¼ ถ้วย   วิธีทำซอสมะม่วง นำมะม่วงสุกมาปั่นละเอียดโดยเติมน้ำลงไป 1 ถ้วยแล้วเทใส่ชามพักไว้   จากนั้นใช้น้ำอีก 1 ถ้วยที่เหลือล้างโถปั่นแล้วเทน้ำลงหม้อ นำไปตั้งไฟกลาง ใส่เกลือ จนกระทั่งน้ำเดือดจัด จึงเทมะม่วงปั่นลงไป   คนให้เข้ากัน หรี่ไฟลง เคี่ยวให้งวดราว 15 นาที  จึงเติมเนื้อมะม่วงหั่นเต๋า และมะนาวลงไปต้มอีก 5 นาที จึงปิดเตา   สูตรดั้งเดิมที่ได้มาจากเว็บเขาต้องใส่น้ำหวานและน้ำผึ้งด้วย  แต่ฉันว่ามันจะหวานไป  เลยไม่ใส่   ข้อดีอีกอย่างของพิมเสนสุกเมื่อเอามาปั่นและเคี่ยวไฟ สีไม่คล้ำเข้มเหมือนอย่างอกร่อง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งความหวานจนต้องใช้เนื้อมะม่วงแก้วสุกปนด้วยเมื่อเอามากวนยามทำมะม่วงกวน มะม่วงแผ่น   ส่วนหมูทอด ฉันเอาเนื้อหมูทั้งชิ้นที่ได้จากตลาดมาล้าง  แล่ให้มีความหนาพอประมาณตามแนวขวางของชิ้นเนื้อ  คลุกเกลือกับพริกไทป่นไว้สักพักแล้วจึงเอามาเคล้ากับเศษขนมปัง  ทอดน้ำมันไฟปานกลาง   ก็อย่างที่เห็นในรูปค่ะว่าน่ากินขนาดไหน   กินแล้วคุณอาจจะติดใจ และเพิ่มซอสเข้ามาคู่กับเมนูใหม่ๆ ได้อีกหลายรายการทีเดียวเชียว   Glutathione Precursors) คือ อะมิโนแอซิด เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งโมเลกุลชนิดนี้ จะสามารถถูกดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว และจะไปรวมตัวกับโปรตีนอีก 2 ชนิด คือ อะมิโนแอซิด ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate) ที่มีอยู่มากมายในกระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การรวมตัวของอะมิโนแอซิดทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดเป็นโมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือด   อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะกินอาหารเสริมชนิดนี้เป็นประจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือด เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย และเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพล่ามัว และอาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย ยาทาผิวหนัง สารกลูตาไธโอน เมื่อนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือเจล สำหรับทาผิวหนัง เพื่อหวังให้ผิวขาวนั้น จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะโมเลกุลสารนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้   เอกสารอ้างอิง  1, Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995. 2, The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55.  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 สปาเก็ตตี้ข้างนา

  เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  ....ไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   ว่ากันว่าช่วง  6 – 7 ปี มานี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย และเรายังคงอยู่กับแรงเสียดทานในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมแบบเสมอหน้าและมีสิทธิเสรีภาพตามที่มนุษย์ในโลกสมัยใหม่พึงจะมีกัน   การวิ่งวนเอาสินค้าเกษตรลงสนามแข่งขัน ดูเหมือนจะขยายหัวเรื่องการสนทนาไปสู่เรื่องอื่นๆ มากกว่า เทคนิควิธีการจัดการดูแลระหว่างการผลิตและจำหน่ายผลผลิต  หากแต่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนพวกเขาโดยตรง   ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับเหล่าผู้ผลิต ที่เรียกกันติดปากว่า “ชาวบ้าน” ชาวบ้านๆ ที่ทำการผลิตอาหารโดยอยู่นอกสังกัดการอุปถัมภ์ของหน่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่าง NGOs ดูบ้าง  คุณอาจเข้าใจถึงเงื่อนไขในการเลือกผลิตและดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากกลุ่มผู้ผลิตที่คุ้นเคย  และอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า  แค่เลือกบริโภคอาหารอินทรีย์ และทดลองทำการผลิตปลูกผักทำสวนครัวเองบ้างเมื่อมีโอกาส มันจะยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจระบบการผลิตอาหารทั้งหมดทั้งมวลที่เราอาศัยกินดื่มใช้กัน   ระบบอาหารอินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันกับการขยับขยายให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นแหละ  เพียงแต่ตอนนี้ มันเป็นเพียงแต่ “ติ่ง” เล็กๆ ที่เกิดขึ้น  และมันขยายออกไปไม่ได้เพราะเงื่อนไขมากมาย เราพูดเรื่องบางเรื่องไม่ได้จนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะ ม. 112 ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมโดยอ้างความมั่นคงของประเทศที่ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในประเทศ  ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการพูดไม่หมดถึงความซับซ้อนของเงื่อนไขต่างๆ ที่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจน ไร้ที่ ไร้ทุน ในการที่จะเปลี่ยนเทคนิควิธีการผลิตที่ไปสัมพันธ์กับระบบตลาดที่กว้างใหญ่กว่าตลาดทางเลือกแคบๆ ที่ผุดพรายขึ้นมา ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับผลผลิตทั้งหมดของพวกเขา   เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  แต่ยึดหลงกับภาพแทนของกลุ่มผู้ผลิตอินทรีย์ หรือแม้แต่ดาราชาวนา ผู้บริโภคแม้กินอาหารอินทรีย์อยู่จริง  และนี่นั่นไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   วันก่อนฉันไปคุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่สุพรรณบุรี  เธอเป็นลูกจ้างประจำที่ต้องทำงานในฟาร์มอินทรีย์ประจำวันทุกวันจันทร์ – ศุกร์ รายได้ของเธอ และสามีซึ่งมีเงินเดือนประจำจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้นแทบไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าส่งเสียเล่าเรียนของลูก 2 คนที่กำลังเรียนในระดับประถมต้น   ทางเลือกอื่นๆ ที่พอจะหารายได้ให้กับครอบครัวของเธอที่เธอเลือกจะทำได้ตามเงื่อนไขเอื้ออำนวยก็คือทำนาลดต้นทุนและปลูกเมล็ดพันธุ์ผักขาย   “พันธุ์ข้าวที่ใช้ก็ซื้อเขา ซื้อเอาจากที่คนปลูกแล้วเอามาตากเอง  ไม่ได้เอาพันธุ์ที่เขาสีขายให้คนกินอินทรีย์อย่างที่เขาส่งเสริมกัน เพราะต้องสีขายโรงสี  ข้าวขายโรงสีมีแค่ข้าวที่ทำแป้ง กับข้าวหอมปทุมเท่านั้นแหละ” นาลดต้นทุนของเธอนั้นเคยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเองในช่วงแรก แต่ก็ต้องเลิกทำไปแล้ว   เธอยังคงใช้น้ำหมักและฮอร์โมนชีวภาพ แต่ต้องพึ่งยากำจัดวัชพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ     แต่การที่เธอทำนามา 7 – 8 ปี  ก็เพิ่งจะมีช่วงโครงการรับจำนำข้าวนี่แหละที่ทำให้เธอถอยรถปิ๊กอัพป้ายแดง 2 ประตูออกมาใช้อย่างคนอื่นๆ บ้าง   นี่เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง   ที่ทำให้ฉันแปลกใจว่าข้อเสนอของใครหลายคนในแวดวงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จึงไม่เคยเป็นที่โดนใจของชาวนา  ชาวนาที่พวกเขาเรียกกล่าวหาว่าไม่รู้จักพอเพียงนั่นแหละ   กลับจากนาของเพื่อนรุ่นน้องคนนั้น ฉันควักเอาซอสมะเขือเทศของคุณชาวนาฯ เพื่อนสนิทมาปรุงเป็นสปาเก็ตตี้กิน  กะทำทีเดียวกินไปตลอด 3 มื้อของวันนี้หลังปั่นต้นฉบับให้ บ.ก. ฉลาดซื้อ   เครื่องปรุง 1.ซอสมะเขือเทศสูตรคุณชาวนาฯ(ดูจากฉบับที่แล้ว) 1 ถ้วย 2.ตับหมู หั่นชิ้นเล็ก  ½  ถ้วย (หรือไก่ กุ้ง ฯลฯ) 3.หอมหัวใหญ่สับ ½ ถ้วย , มะเขือเทศสับ   ½ ถ้วย 4. ถั่วฝักยาวหั่วท่อนละ 0.5 ซม. ½  ถ้วย 5.เกลือเล็กน้อย 6.น้ำมันมะกอก ¼ ถ้วย , เส้นสปาเก็ตตี้ต้มสุกแล้ว 1 ชาม   วิธีทำ ตั้งกระทะเทฟลอน เทน้ำมันมะกอกลงไป รอให้ร้อนแล้วนำหอมหัวใหญ่สับลงไปผัดจนหอม  จึงใส่ตับหมูลงไปผัดให้สุก  ตามด้วยมะเขือเทศ และถั่วฝักยาว  จากนั้นจึงใส่ซอสมะเขือเทศลงไป  ปรุงรสตามชอบ แล้วปิดเตา ตักเสิร์ฟ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 ซอสมะเขือเทศเชอร์รี่ ของคุณชาวนาฯ

เตรียมตัวไปเยี่ยมผู้ใหญ่ แต่เตลิดเลยไปบ้านคุณชาวนา ลูกหลานพญาคันคากที่สุพรรณบุรีเสีย  เลยได้ของฝากจากคุณชาวนาฯ มาฝากท่านผู้อ่าน   ผู้ใหญ่ที่ว่านั้น เป็นชาวนาสูงวัย 2 ราย ที่ฉันเคยได้ไปขออาศัยศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องนาฟางลอยเมื่อ 2 ปีก่อน   รายแรกที่แวะไปเยี่ยม  เป็นคู่สามี-ภรรยา  วัย 60 ปี   ที่ทำนามาตลอดชีวิต  ตอนที่ไปหานั้นทั้งคู่อยู่ในนาทั้งที่เป็นเวลาบ่ายสี่โมงกว่าๆ แล้ว  เราคุยทักทายกันเบื้องแรกอยู่ไม่กี่นาทีประสาคนไม่เจอหน้ากันนานหลายเดือน  สักพักป้าแกเลยพาไปนั่งหลบเงารถแทรกเตอร์พ่วงบนคันนา  จึงได้รู้ว่านอกจากโครงการจำนำข้าวจะสร้างความพึงพอใจในด้านการผลิตของแก แล้ว  แกเพิ่งนำเงินกำไรจากการขายข้าวไปดาวน์รถคันแรกให้กับลูกชายคนสุดท้ายที่เพิ่งได้งานทำในบริษัท หลังจากช่วงที่ว่างงานลูกชายคนนี้เคยมาช่วยงานในนาบ้างเป็นครั้งคราว  แต่เขาก็ไม่ได้ชอบงานนาสักเท่าไหร่   ทั้งลุงและป้าก็อยากให้เขาได้งานที่สบายกว่าเป็นชาวนา     ฝ่ายลุงก็ยังอดเปรยให้ฉันฟังไม่ได้ว่าบริษัทของลูกชายนั้นเขี้ยว  หาคนเข้าไปทำงานก็ต้องมีรถไปด้วย บริษัทไม่ยอมซื้อให้  ยอมจ่ายแต่ค่าน้ำมัน   อีกรายเป็นชาวนาวัย 70 กว่า  ที่นอกจากทำนาปีในช่วงฤดูนาปีแล้ว  ยังปล่อยให้คนเช่าทำนาปรังของตัวเองในช่วงฤดูนาปรังด้วย   ส่วนรอบๆ บ้านของแกก็มีบ่อปลา เลี้ยงไก่ ปลูกกล้วย ผลไม้ และผักสวนครัวไว้กินตามประสาคนไกลตลาด    สิ่งที่น่ายินดีไปกับแกด้วย  คือลูกชายคนโตที่แกส่งเรียนจนเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอนั้นมาหลายปี เก็บเงินเก็บทองได้ก้อนใหญ่กลับมาซื้อที่นาแปลงใกล้ๆ บ้านไว้ 30 ไร่  และพ่อลูกสองคนได้ใช้โอกาสตระเวนไปดูงานชาวนาดีเด่นอย่าง คุณชัยพร พรหมพันธุ์ , คุณทองเหมาะ แจ่มแจ้ง  และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมจะมาเป็นชาวนา   แต่คุณลุงแกก็ยังแย้มออกมาว่า ต้องดูก่อนเรื่องน้ำที่ปีนี้ว่าแล้งมากและอาจจะเบิกที่ทำนาปรังไม่ได้  และถึงทำนายังไม่ได้การมีที่ดินที่รู้แต่แรกว่าถนนเส้นใหญ่จะตัดผ่านใกล้ๆ บริเวณนั้น มันช่างการเป็นการเก็งกำไรที่คุ้มค่า  ถึงไม่ได้ทำนา ราคาที่ดินก็ขึ้นมาอยู่ดี แม้บริเวณทุ่งนาแห่งนี้จะถูกประกาศให้เป็นแอ่งรับน้ำนองในช่วงที่เกิดอุทกภัยในเขตเมืองก็ตาม   ฟังข่าวดีของผู้ใหญ่ชาวนาที่ฉันไปเยี่ยมแล้วอดแช่มชื่นใจไปกับแกด้วยไม่ได้   นี่ไม่รวมความครึ้มอกครึ้มใจที่ได้ของฝากแสนอร่อยของคุณชาวนาฯ เพื่อนฉันด้วยนะนี่   ของฝากจากคุณชาวนาฯ ที่ว่า เป็นซอสมะเขือเทศโฮมเมท ที่คุณชาวนาฯ ปลูกเองเคี่ยวเอง กินอร่อยเองภายในครอบครัวแล้วยังมีเหลือแบ่งมาให้ฉันได้ทดลองกิน    แค่ได้ดมก็หอมเหลือใจ  มันมีกลิ่นของอบเชยลอยอวลมากระทบจมูกแล้วชวนน้ำลายไหล พาให้คิดไปไกลว่าจะทำอะไรกินดีระหว่าง พาสต้าของชอบ กับพิซซ่าที่พอจะหาสูตรแป้งในอินเตอร์เน็ตได้ แต่ไม่มีเตาอบสำหรับมัน   คุณชาวนาฯ ปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ไว้  ทั้งกินเองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้บรรจุเป็นซองสวยงามจำหน่ายทั้งตามงานของเหล่าชาว GREEN ตามแต่จะมีโอกาส และทางอินเตอร์เน็ตผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook  ด้วย  พอมีผลผลิตเหลือเยอะเกินจัดการ ก็เปิดค้นหาทั้งรูปแบบและวิธีการแปรรูปจากอินเตอร์เน็ต  แล้วก็เอารูปผลิตภัณฑ์มาอวดกันใน Facebook   หลังจากทั้งได้ดูภาพใน Facebook  ได้ดมและได้กินซอสของจริงแล้ว ฉันว่าผู้ที่สนใจก็อาจจะเอาไปทดลองทำได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย   ส่วนประกอบ มะเขือเทศเชอร์รี่สุก                   2              ถ้วย หอมหัวใหญ่                           1              ถ้วย น้ำส้มสายชู                            2              ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด                              ½             ถ้วย เกลือป่น                               1              ช้อนชา อบเชย                               2 – 3          ชิ้น   วิธีทำ นำมะเขือเทศและหอมหัวใหญ่ใส่น้ำ ปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้  แล้วเทใส่หม้อเคลือบ  ใส่ส่วนผสมที่เหลือทั้งหมดลงไปในหม้อ ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวสัก 30 นาที โดยคนตลอดเวลา  แล้วปิดเตาไป  ยกลง ตั้งให้เย็น   จากนั้นนำไปกรองด้วยกระชอนตาละเอียด หรือกระชอนร่อนแป้ง  กรองเอาแต่น้ำซอสไว้ใช้   สูตรนี้คุณผู้อ่านอาจจะปรับแต่งรสชาติได้เองตามชอบโดยการชิมแล้วค่อยๆ ปรุงเพิ่ม   ถ้าทำในปริมาณมากโดยเก็บใส่ขวดแก้วสะอาดมีฝาปิดแช่ไว้ในตู้เย็น   เมื่อต้องการนำมาใช้ปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องจิ้ม จึงเทแบ่งมาใช้   ฉันทดลองนำซอสมะเขือเทศทำเองของคุณชาวนามาทาขนมปังเป็นแยมกินก็อร่อยดี  ปิ้งขนมปังให้กรอบแล้วทา  จะเสริมเพิ่มแฮมโบโลน่า และ Cheddar Cheese  ลงไปด้วยก็ได้ตามอัธยาศัย   นึกแผลงขึ้นมาอีกนิดก็เอาซอสทาขนมปังแล้วเอากุ้งสดที่ล้างสะอาดผ่ากลางตัวเอาเส้นดำกลางหลังออกมาวางแผ่หรา    แล้วเรียงด้วยถั่วแขกหั่นแฉลบ ของคุณชาวนาฯ นั่นแหละลงไป  โปะด้วย  Cheddar Cheese  ที่หั่นเป็นริ้วๆ แล้วยกไปใส่ไมโครเวฟอบแป๊บเดียวก็ได้กิน   เสียแต่ว่า ขนมปังที่รองมันบางและใส่ซอสมากไปนิด เลยออกจะแฉะไป  เลยกะว่าจะลองปิ้งขนมปังให้เกรียมกรอบก่อน ค่อยบรรจงทาซอส เรียงชิ้นถั่วแขกแล้วเอาเข้าเวฟใหม่คราวหน้า   นี่ยังเสียดายว่าฉันเพลินชิมซอสไปนิด  ถ้ามีเหลือมากกว่านี้   เอาตับหมูบดละเอียดแล้วเอาลงไปเคี่ยวไฟอ่อนๆ ให้ตับสุก  ก็จะได้เป็นแยมตับกับซอสเชอร์รี่ เอาไว้ทาขนมปังกินยามเร่งด่วนก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 บุฟเฟต์จากข้าว : เมี่ยงกรอบ

  ก่อนปีใหม่ 2 สัปดาห์ฉันเพิ่งเจอกับเพื่อนสาวชาวนาเช่าเจ้าเก่าที่เธอมีอีกอาชีพคือแม่ค้าขายผักในตลาดนัด  ทำให้ฉันได้มีโอกาส up date สถานการณ์ ด้านการผลิตของเธอไปพร้อมๆ กับการจับจ่ายของในตลาดไปด้วย “น้ำในทุ่งลดลงเร็วเหลือแค่เอวแล้ว  ว่าจะวิดน้ำออกแล้วปลูกข้าว ก็กลัวจะไม่มีน้ำอีก”  เธอว่าสั้นๆ พลางส่ายหน้า โดยปกติแล้ว ทุ่งนาที่เธอเช่าทำนานั้นมักได้เริ่มต้นปั่นนาและทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านข้าวแบบนาน้ำตมในช่วงหลังปีใหม่ เป็นนาปรังเที่ยวแรก   แต่ความกังวลของเธอก็คือข่าวภาวะน้ำจะแล้ง  น้ำในเขื่อนจะมีไม่เพียงพอ และทำให้ทำนาไม่ได้ตามที่ต้องการ  หรือทำนาได้แค่ปีละเที่ยวเดียวเท่านั้นจากที่เคยทำนาปี ละ 2 หน เมื่อภาวะแล้งมาเยือน  ประสบการณ์เดิมๆ ของเพื่อนนชาวนายังตามหลอนและสร้างความกังวลจนเธอต้องคิดหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ยังคงทำนาได้ปีละ 2 หนตามที่ต้องการ   แต่การเร่งวิดน้ำออกจากนาเพื่อเตรียมหว่านไถ  แล้วใช้วิธีการวิดน้ำเข้าไปอีกอย่างน้อยอีกประมาณ  3 – 4 เที่ยว เป็นช่วงๆ ใน ทุกๆ  7 – 10 วัน  เพื่อหล่อเลี้ยงข้าวให้เติบโต   ที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าน้ำมันทำให้เธอเอาโดยคร่าวๆ แล้วก็ได้แต่ส่ายหน้าว่าไม่คุ้ม   ผิดกับที่ใครหลายคนที่ไม่เคยมาสัมผัส คลุกคลี อยู่กับปัญหาของเธอที่คาดการณ์เอาอย่างง่ายๆ ว่า ราคาข้าวที่ถูกยกระดับขึ้นมาถึงตันละ 15,000 บาท นั้น จะทำให้ชาวนาอย่างเธอตาโตและหาช่องโกยกำไรโดยปลูกข้าวระยะสั้นมาขายเข้าโครงการ!! สำหรับเธอ  แม้จะอยากปลูกข้าวขาย แต่ก็ต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ ที่ยังพอเหลืออยู่ และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตัวเธอมากกว่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น  ”ความยืดหยุ่น”  ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน  โดยการที่เธอผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า  ระดมทุนจากที่ตัวเองมีและร่วมทุนกับเครือญาติเปิดร้านค้าเล็กๆ แล้วเร่ขายไปตามตลาดนัดต่างๆ  ในช่วงที่ว่างจากงานนาราว 4 เดือน   ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ 1 ตัวอย่างที่ทำให้ฉันคลายข้อสงสัยที่เคยมีว่า ทำไมชาวนาภาคกลางซึ่งเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ไร้ที่ทำกินมากที่สุด จึงมีการรวมตัวเพื่อต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินตัวน้อยที่สุด  เพราะการต่อสู้ในเรื่องนี้ต้องอาศัยพลังการรวมตัว อำนาจการวิเคราะห์ และระยะเวลาอย่างยาวนานในการต่อรองต่างๆ กับรัฐและทุน   ชาวนาที่ไม่มีที่ดิน  มีต้นทุนสำคัญของตัวเองคือเวลา หรือชั่วโมงการทำงานเพื่อสร้างผลิตผล เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน(ผลผลิต หรือรายได้จากการค้าขาย)   และในกรณีชาวนารับจ้างทำนา  สิ่งที่ได้รับจากการลงทุนลงแรงในงานคือ ค่าจ้าง(กรณีชาวนารับจ้างทำนา)   ซึ่งถูกคิดคำนวณออกมาเป็นขนาดพื้นที่ของการผลิต  เช่น ค่าฉีดยา - หว่านปุ๋ย ไร่ละ 50 บาท   เมื่อผลผลิตทางการเกษตรมีเพดานราคาขายออกจากไร่นาต่ำ ความหวังที่จะดิ้นรนเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดจึงไม่ใช่แค่ลดต้นทุนการผลิต หรือกินอยู่ใช้จ่ายอย่างพอเพียง  อย่างที่แนวคิดของกระบวนการส่งเสริมอินทรีย์พร่ำบอกให้พวกเขาต้องปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาด    แต่มันคือความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลำบากให้น้อยลงโดยการไปให้พ้นจากการทำการเกษตรที่ตกอยู่ภายใต้กลไกการตลาดที่รุมทึ้งเอากับส่วนเกินของผลตอบแทนจากชาวนาและแรงงานภาคการเกษตรไปให้กับฝ่ายพ่อค้า/ตัวกลางอย่างที่เป็นมาในอดีต   อุดมการณ์ชาวนาอินทรีย์อันเรียวแคบ  ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวนาที่มีที่ดิน ทุน และเวลา มากพอที่จะใช้เทคนิคทางเลือกต่างๆ ซึ่งเพิ่มเวลาในการจัดการมากยิ่งขึ้น  และเข้มงวดกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์   และขายผลผลิตในระบบตลาด(เดิม) ตามแนวทางการส่งเสริมที่เป็นมา   ในสายตาของชาวนาไร้ที่จึงเป็นการขูดรีดตัวเองมากขึ้น  และเฝ้ารอผลตอบแทนที่เลื่อนออกไป      และหากมองในแง่ของการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบกับการทำนาปกติของพวกเขา   การทำนาอินทรีย์ที่ขายในตลาดปกติจึงเป็นการเพิ่มอำนาจการแข่งขันของฝ่ายที่มีทุนมากกว่า  มีอำนาจในการจัดการมากกว่า เข้ามาเบียดขับชาวนาไร้ที่ให้หลุดออกไปจากระบบการทำนาไวยิ่งขึ้น  จากเบียดบังเอาส่วนของผลกำไร(ค่าตอบแทน) ของชาวนา  ที่มีผลต่อการกดค่าแรงของลูกจ้างในนา  โดยราคาข้าวเพดานต่ำกว่าตันละ  10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ชาวนาเคยขายได้ในระบบประกันราคา   เมื่อเครือข่ายชาวนาอินทรีย์อีสานออกมาโวยว่าราคาข้าวที่แพงขึ้นจากโครงการจำนำข้าว ทำให้ชาวนาที่พวกเขาคาดว่าจะเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนของขบวนการทำนาอินทรีย์หดหายไป  เพราะราคาข้าวอินทรีย์ยังขายได้ในราคาเดิม(ที่สูงกว่าข้าวทั่วไปเล็กน้อย)  จึงกลายเป็นเรื่องกึ่งชวนหัวให้ขื่นขันกันว่า   ที่ผ่านมานาอินทรีย์และข้าวอินทรีย์นั้นอยู่ได้ในตลาดที่ขูดรีดตัวเองและเพื่อนๆ ชาวนาด้วยกันนั่นเอง   เมี่ยงกรอบ บุฟเฟต์อันนี้เหมาะกับงานปาร์ตี้ปีใหม่  ดัดแปลงมากจากเมนูอาหารเวียดนาม คือแหนมเนือง และหมูห่อชะพลูอันโด่งดัง  โดยเอาแผ่นแป้งข้าวเจ้าที่ใช้สำหรับกินกับแหนมเนืองมาใช้ห่อไส้หมูบดปรุงรสที่คลุกเคล้ากันใบชะพลูซอย   เครื่องปรุง หมูบด (หรือกุ้งบด)  1 ขีด  ,  รากผักชี  3 ราก  , พริกไทยเม็ด 20 เม็ด ,  กระเทียม 10 กลีบ,  เกลือนิดหน่อย,   แผ่นแป้ง 6 แผ่น , ใบชะพลูดซอยละเอียด 20 ใบ, น้ำมันปาล์มสำหรับทอด   วิธีทำ 1.โขลกรากผักชีกับพริกไทยเม็ดและกระเทียมให้ละเอียด  นำไปคลุกกับเกลือและหมูบด จนเข้ากันดีจึงนำใบชะพลูมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน 2.เตรียมแผ่นแป้ง ผ่าแบ่งเป็นแผ่นครึ่งวงกลม แล้วใช้น้ำสะอาดลูบแผ่นแป้งให้ทั่วจนแผ่นแป้งนิ่มลงจึงหยิบเนื้อหมูบดที่ปรุงแล้วมาพันเป็นรูปกรวย   หรือจะใช้วิธีเกลี่ยหมูปรุงรสลงบนแผ่นแป้งทั้งแผ่นแล้วใช้อีกแผ่นประกบก็ได้ 3.ใส่น้ำมันลงกระทะ ตั้งไฟปานกลางจนร้อนดี จึงค่อยนำกรวยแป้งลงไปทอดจนเหลืองกรอบให้ทั่ว ตักขึ้น กินกับน้ำจิ้มทอดมัน  น้ำจิ้มไก่ หรือบ๊วยเจี่ย แนมกับแตงกวา ต้นหอม และใบชะพลู ตามชอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 (ไม่)กินเส้น

ฉันเพิ่งอ่านบันทึก face book ของคุณชาวนา ลูกหลานพญาคันคาก ที่อัดอั้นตันใจกับเหล่าผู้ค้านนโยบายจำนำข้าว เรื่อง “ชาวนาผู้ (ไม่) มีอำนาจเต็ม บันทึกของ Pseudo farmer ท่ามกลางกระแส Pseudo demand” ที่เว็บข่าวออนไลน์ประชาไทนำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนผ่านมา ที่แจงรายละเอียดที่คนเมืองไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพข้าวที่ปลูกและขายในทัศนะของชาวนา เลยคิดว่าจะทำก๋วยเตี๋ยวหลอดกิน ว่ากันว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวจากจีนเข้ามาในอาณาเขตสยามประเทศตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์ ที่ว่ากันว่ามีความรุ่งเรืองในการค้าขาย ข้าวพันธุ์ที่ผลิตเพื่อขายทั้งจากนาปีและนาปรังที่มีคุณสมบัติแข็งกินไม่อร่อยนั้น นอกจากพ่อค้ารับซื้อข้าวเอาไปนึ่งขายเป็นข้าวนึ่งแล้ว ยังใช้ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ทั้งเส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นจันทร์ เส้นโคราช ก๋วยจั๊บ(จีน และ เวียดนาม) รวมถึงขนมจีน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและกินกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมนูเส้นจากข้าวต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นอาหารจานด่วนราคาประหยัดทางเลือกอีกทางที่แตกต่างจากร้านขายข้าวแกงที่นำข้าวเม็ดแข็งมาขายให้กับคนทำมาหากินได้ตามข้างถนนอีกด้วย ตลาดนัดวันจันทร์พอดี ฉันได้ผักบุ้งไทยต้นอวบขาวมาจากแม่ค้าชาวนาเจ้าเก่าที่คุ้นเคย เธอสอนฉันว่าถ้าหั่นผักบุ้งแล้วให้โรยเกลือไว้แล้วเวลาเอาไปปรุงจะได้ไม่ดำ ฉันเลยแกล้งอำเธอว่ากำผักบุ้งอ้วนขาวในกะละมังที่ขายแช่เกลือแน่ๆ เธอร้องเสียงหลง ว่า เฮ้ย! ไม่ได้ มันจะเน่าหมดก่อนได้ขาย แล้วส่ายหน้ากับความไม่รู้ประสาอะไรของฉันเอาเสียเลย เหมือนกับตอนที่ฉันถามเธอเรื่องการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง เธอว่าช่วงที่มีเวลาหลังเกี่ยวข้าวนาปรังหน 2 แล้วต้องปล่อยนาให้น้ำท่วม 4 เดือนนั้น เธอจะแยกเก็บข้าวบางส่วนจากที่ขายมาตากไว้และเก็บไว้ใช้ แต่ 2 – 3 ปีก็ต้องเปลี่ยน เมื่อมีข้าวปนมากขึ้น ข้าวปนทำให้คนรับซื้อข้าวหาโอกาสติและตัดราคา หรือถ้าหากว่ามีปัญหาโรคแมลงระบาดและรัฐแนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทานใหม่ เธอก็ต้องหาซื้อพันธุ์ข้าวจากชาวนาด้วยกันเอง โดยดูว่าแปลงไหนสวยแล้วจองเอาโดยให้ราคาอาจจะเท่าหรือแพงกว่าข้าวที่ขายในลานรับซื้อเล็กน้อยแล้วเอามาจัดการเอง หรือไม่ก็ซื้อจากร้านขายพันธุ์ข้าว เธอว่า คนขายพันธุ์ข้าวก็ใช้วิธีเดียวกันกับชาวนานั่นแหละ คือออกตระเวนหาซื้อจากชาวนาโดยออกปากให้ราคากันไว้ก่อน พอถึงวันเกี่ยวก็มาบอกให้เอาข้าวที่ว่าไว้ไปจัดการต่ออีกทีทั้งการตาก แยก คัด และบรรจุเพื่อเตรียมขาย ราคาก็แพงขึ้นมาหน่อยเพราะคนขายก็ต้องได้กำไร หากเทียบกับเวลาที่เธอใช้ในการออกไปทำรายได้นอกแปลงนาอย่างการขายผักในตลาดนัดแล้วเธอว่าเธอซื้อพันธุ์ข้าวเขาก็สะดวกดี และไม่เห็นว่ามันจะไร้ศักดิ์ศรีตรงไหนหากต้องไปซื้อเชื่อพันธุ์ข้าวรวมทั้งปุ๋ย ยา เมื่อร้านค้าก็ยอมให้เครดิต เช่นเดียวกับชาวนารายอื่นๆ ในสนามที่ฉันเคยคุยด้วย ในช่วงการปลูกข้าวนาปรังหน 2 ที่หลายคนว่าปลูกให้ได้เกี่ยวก่อนน้ำจะมาจึงต้องรีบไถหว่านนากันให้ไว ข้าวที่เพิ่งเกี่ยวไปไม่เกิน 20 วันนั้นใช้ปลูกไม่ได้เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวมีระยะพักตัว วิธีที่มั่นใจว่าข้าวที่หว่านไปจะขึ้นมาทันใจตามกำหนดเวลาจึงต้องใช้วิธีวิ่งหาซื้อจากชาวนาที่เกี่ยวไปก่อน หรือไม่ก็จากร้านขาย รายที่จนๆ มักเลือกระบบการซื้อเชื่อจากร้านค้าโดยมีค่าดอกเบี้ย 1.5 บาท/เดือน หรือไม่ก็ซื้อเชื่อจากสหกรณ์ได้หากเข้าเป็นสมาชิก ส่วนร้านค้ากับสหกรณ์ก็มีการแข่งขันกันอยู่ในที มีหลายโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม และมีการจัดพบปะสังสรรค์กับลูกค้าอยู่เป็นระยะๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งมีผลกับยอดจำหน่ายของร้าน ชาวนาที่อยู่นอกเครือข่ายอุปถัมภ์ของการส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก จึงมีความสัมพันธ์กับตลาดมากกว่าในลักษณะที่นักส่งเสริมหรือแกนนำของเครือข่ายฯ วิจารณ์ว่า “ถูกครอบงำโดยระบบตลาด” หากแต่มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าโดยมีเครือข่ายความสัมพันธ์อื่นๆ มาหนุนเสริม และมีการปะทะ ต่อรองกับตลาดอยู่ตลอดเวลา และมีความสัมพันธ์มากเกินไปกว่าการซื้อมาขายไป หรือ กำไร ขาดทุน ฉันได้ผักบุ้งแล้ว แต่ต้องไปตลาดสดอยู่ดี ยังขาดเส้นหมี่และหมู 3 ชั้น ฉันไปหาน้าแอ๊ แม่ค้าขายหมูที่ฉันวิ่งซื้อมาแต่เด็กตั้งแต่ยังใช้ใบตองห่อเชือกกล้วยมัด และหยุดขายหมูในทุกวันพระ กว่า 20 ปีแล้วที่ระบบการเลี้ยงหมูสมัยใหม่เพื่อตอบสนองกับตลาด ทำให้น้าแอ๊มีหมูขายทุกวัน ระหว่างรอน้าแอ๊ที่กำลังจัดสรรสินค้าให้กับลูกค้าประจำที่มาซื้อแบบเชื่อโดยเอาของไปเที่ยวนี้แล้วจ่ายเที่ยวหน้า หน้าแอ๊สอนวิธีเจียวกากหมูให้ฉันไปด้วย โดยบอกว่าให้หั่น 3 ชั้นเป็นชิ้นเล็กๆ เท่ากับมันเส้นติดหนังที่แกแถมมาให้ก้อนใหญ่ บอกให้ฉันใช้เจียวไปพร้อมๆ กันจนเหลือง แล้วปล่อยให้เย็นจึงเจียวซ้ำอีกทีให้กรอบแล้วค่อยบุบกระเทียบใส่ลงไปรอให้เหลือง เครื่องปรุง เช็คเครื่องปรุงกันอีกที เส้นหมี่ขาวไวไว 1 ห่อ , ผักบุ้ง 1 กำ , หมู 3 ชั้น 2 ขีด , กระเทียม 1 หัว, มันติดหนัง 2 ขีด , กุ้งแห้ง ¼ ถ้วย , ปลาเส้น 1 แท่ง หั่นเป็นแผ่นบางๆ , เต้าหูขาวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ , น้ำมันพืช 1 ถ้วย, ต้นหอมผักชีหั่นท่อน , น้ำตาลทราย , ซีอิ๊วดำหวาน , พริกน้ำส้ม , น้ำปลา และพริกป่น วิธีทำ 1.เจียวกระเทียมรอไว้ แช่เส้นหมี่ขาวในน้ำสะอาดให้นุ่มแล้วสงขึ้นพักไว้ หันไปล้างผักบุ้งให้สะอาดเลือกเอาแต่ส่วนยอด นำมาผ่าแบ่งเป็น 2 หรือ 4 ส่วนให้กลายเป็นเส้นยาวๆ ที่มีขนาดเล็กลง แต่ถ้ายุ่งยากมากนักและไม่มีเวลาให้หั่นเป็นท่อนก็ได้ เตรียมน้ำผสมเกลือละลายไว้ระหว่างที่เตรียมผักบุ้งเพราะใช้เวลาพอควร หากไม่ชอบกินผักบุ้ง เปลี่ยนไปใช้ถั่วงอกก็ไม่ว่ากัน ส่วนกุ้งแห้งก็ล้างให้หายเค็มแล้วแช่น้ำสะอาดให้นิ่มแล้วสงพักไว้ 2.ใส่น้ำมันลงกระทะตั้งไฟกลาง ทอดเต้าหู้ข้าวให้เหลืองสุก จากนั้นจึงทอดปลาเส้นที่หั่นเตรียมไว้ให้เหลือง 3.ใส่น้ำลงหม้อตั้งไฟให้เดือด ลวกเส้นหมี่ให้นุ่มแล้วสงขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ ใช้น้ำที่กำลังเดือดนั่นโดยเติมเกลือลงไปเพื่อให้การลวกผักบุ้งให้สุกแล้วตักขึ้นแช่น้ำเย็นจะมีสีสวยไม่คล้ำหมอง เมื่อจะกิน น้ำเส้นหมี่และผักบุ้งที่ลวกแล้วใส่ลงจาน แล้วเครื่องปรุงต่างๆ ที่เตรียมไว้ กากหมูกรอบๆ หอมๆ กระเทียมเจียวขาดไม่ได้เลย แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำหวาน น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้ม พริกป่น คล้ายก๋วยเตี๋ยวแห้งที่เราคุ้นเคย หากใครชอบหมูรวนและหนังหมูต้มเปื่อยหั่นเป็นเส้นลงไปด้วยก็ได้เช่นกัน ตามอัธยาศัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 มาม่า - กระเจี๊ยบเขียว

โครงการรับจำนำข้าวคงต้องรอปิดดีลการขายแบบ G – to – G ของสิ้นปี 2555 จบ แล้วดูผลลัพท์เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้จะสามารถเปลี่ยนกลไกการตลาดข้าวโลกเพื่อเพิ่มรายได้ของชาวนาตามมาตรฐานใหม่ที่ชาวนาควรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างความเสี่ยงที่จะการเกิดภัยพิบัติ  ภาวการณ์ขาดแคลนพลังงาน และราคาปัจจัยการผลิต ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในโลกอนาคต  และหันมาเพิ่มรายได้ชาวนาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและสร้างการเงินหมุนวียนภายในประเทศได้มากน้อยเพียงไร ดีไปอย่างที่วิวาทะเกี่ยวกับโครงการจำนำนั้น   นอกจากจะทำคนไทยหันมาสนใจเรื่องของชาวนาอย่างกว้างขวาง  ตั้งแต่ชาวนาไทยที่แท้จริงรวยหรือจน?    รวมถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาชาวนาที่ยั่งยืนมากขึ้นในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นรัฐควรดูแลที่ดินทำกินของเกษตรกรให้ชาวนาเป็นผู้ถือครองมีกรรมสิทธิเป็นของตนเอง  การดูแลรายได้และการลดต้นทุนการผลิต ประเด็นแลกเปลี่ยนกันอย่างสุดฮิตใน FB  ก็คือ ความสามารถของชาวนาไทยในการแข่งขันผลิตข้าวขายในตลาดข้าวโลก โดยอิงตัวเลขจาก TDRI  โดยระบุว่า ไทยมีผลผลิต/ไร่ เป็นลำดับที่ 6  อัตรา 448 กก./ไร่   ต่ำกว่าลำดับที่ 1 เวียดนาม , อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ , มาเลเซีย ,  และลาว คือ  862.4 , 779.2 , 616 ,  592 , 588.8 กก./ไร่   แถมด้วยมีสารคดี “ASEAN Beyond 2015 : ข้าวเวียดนามชนะข้าวไทย”   ที่ Thai PBS ลงทุนเดินทางไปถ่ายทำและนำเสนอความยาวเกือบ 1 ชั่วโมง ฉายภาพให้เห็นโอกาสอันก้าวหน้าของอนาคตข้าวเวียดนาม พร้อมบรรยายว่ามีต้นทุนการผลิตเพียง 4,426 บาท/ไร่ แต่กำไรมากเป็น 4 เท่าของชาวนาไทย คือ 5,555 บาท และปีนี้ซื้อขายกันที่ตันละ 7,000 บ.  ซึ่ง อ.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยของ TDRI เอง ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ผิดพลาดนี้ว่า หากชาวนาเวียดนามจะขายให้ได้กำไรอย่างที่บรรยายไว้ โดยอัตราผลผลิต/ไร่ที่ 800 กก./ไร่ ราคาที่ควรขายจริงน่าจะอยู่ที่ 12,500 บาท   ถ้าผลผลิต/ไร่ของไทยต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่งราคาที่ชาวนาไทยจะอยู่รอดได้จริงควรเป็นเท่าไหร่ดี(ฮา) อันที่จริงเรื่องปริมาณผลผลิต/ไร่ ที่มากกว่า ก็ไม่ชัวร์ว่าจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้   ตัวเลขที่หลายคนหยิบมาใช้นี้ไม่ได้บอกวิธีคิดที่แยกแยะความแตกต่างของชนิด/พันธุ์ข้าวที่ปลูกในแต่ละประเทศ   และลักษณะจำเพาะของตลาดที่ซื้อขายข้าวชนิดต่างๆ    ในกรณีของไทยอนุมานว่านำตัวเลขผลผลิต/ไร่ ของข้าวพื้นที่เพาะปลูกนาปรังในพื้นที่ชลประทานรวมกับนาปีเขตน้ำฝนรวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย  ขณะที่เวียดนามเองก็มีทั้งพื้นที่ปลูกข้าวอายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตสูงแต่ราคาต่ำ  และพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพดีรวมอยู่ด้วยเช่นกัน   นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชี้วัดผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศในแต่ละปีว่าจะมีแค่พอกินหรือเหลือขาย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีอัตราผลผลิต/ไร่สูงกว่าไทยแต่ต้องนำเข้าข้าว  เป็นต้น ยิ่งกว่าขำก็คือ หลายคนห่วงว่าชาวนาไทยจะเปลี่ยนใจหันมาเพิ่มรอบการปลูกข้าวมากขึ้นด้วยการใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น แต่กลับเอาปริมาณผลผลิต/ไร่ของข้าวอายุสั้นที่มากกว่าในเวียดนามมาใช้    ข้อมูลภาคสนามที่ฉันได้จากชาวนาพบว่า ข้าวอายุสั้น 75 วัน หรือที่เรียกว่าข้าวซีพี แม้จะโตไวแต่เพราะผลผลิต/ไร่ต่ำ ไม่ได้น้ำหนัก และขายยากไม่น่าสนใจ  ชาวนาแถวบ้านยังเลือกปลูกข้าวอายุ 100 กว่าวันในนาปรังหนแรกช่วงต้นปี และรีบปลูกข้าวปรังหนที่ 2 ทันที ซึ่งบางรายยังสนใจที่จะปลูกข้าวพันธุ์เดียวกับปรังหนแรกเพราะน้ำหนักดี แต่บางรายปรับมาปลูกข้าว 90 วันแทนเพราะต้องการหนีให้ทันน้ำ ยังมีเรื่องขำขันในสารคดีนี้อีกไม่น้อย เช่น แหล่งข้าวหอมมะลิไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือภาพที่ดูดีไปหมดของการมีอาชีพทำนาในเวียดนาม และประสิทธิภาพของรัฐในการส่งเสริมการลดต้นทุนชาวนา ที่ฉันได้แต่รำพึงในใจว่าถ้าดีและเก่งอย่างนั้นจริงๆ น่าจะส่งหน่วยงานส่งเสริมเกษตรของไทยไปฝึกงานอย่างจริงจังดูมั่ง แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ชาวนารายที่มีที่นาถือครองเพียง 4 – 5,000 ตร.เมตร นั้นสามารถขายข้าวและผลผลิตในการทำเกษตรผสมผสานได้จริงๆ หรือ ก่อนคอลัมน์นี้จะเปลี่ยนสถานะจากคอลัมน์ how to cook ไปเป็น วิจารณ์หนัง/โฆษณา และกลายเป็นมาม่าทีวีไทยไปเสียก่อน เรามาทำอะไรง่ายๆ กินดีกว่า หลายวันก่อน คุณชาวนาเพื่อนของฉันที่สุพรรณ เอารูปกระเจี๊ยบเขียวและประชาสัมพันธ์ขายเมล็ดของมันใน FB  ฉันเลยทดลองทำกระเจี๊ยบเขียวอบกรอบกินดู ทั้งที่ไม่มีหม้ออบสุญญากาศ  ... แต่ยังไม่ได้ผลค่ะ รอสำเร็จเมื่อไหร่ค่อยเอามาแลกเปลี่ยนกันในคอลัมน์นี้ กระเจี๊ยบเขียว  ฝักรูปทรงยาวเรียวคล้ายนิ้วมือ(ยักษ์)แต่มี  5 - 10 เหลี่ยม เลยได้ชื่อว่า Okra หรือ Lady’s finger  พันธุ์ที่นิยมมากเพื่อนำไปแปรรูปและส่งออกไปชาวญี่ปุ่นของคือพันธุ์ 5 เหลี่ยม รูปฝักค่อนข้างตรง  ด้วยเพราะความนิยมในการปลูกส่งออกแล้วนี่แหละเราคนไทยจึงได้มีโอกาสกินกระเจี๊ยบเขียวเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต  ซึ่งนิยามกินในรูปของการนำไปลวกจิ้มน้ำพริก เกือบ 20 ปีก่อน เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งแนะนำฉันต่อหน้าเพื่อนชาวเนเธอแลนด์ว่ากระเจี๊ยบเขียวกินสดได้และส่งเข้าปากเคี้ยวกรุบกรอบทันทีในแปลงผักอินทรีย์แห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี   ฉันก็ลองดูบ้างและพบว่ามันกรอบอร่อยและมีเมือกน้อยกว่า    หลังจากนั้นมาฉันว่าฉันชอบกินกระเจี๊ยบสดมากกว่ากระเจี๊ยบลวกสุกจริงๆ ด้วย หลังรู้วิธีกินกระเจี๊ยบเขียวสดได้ไม่กี่ปี ฉันมีโอกาสได้ไปประชุมอะไรสักอย่างที่กัวลาลัมเปอร์ แต่เพราะต้องเดินทางราคาประหยัดกับเพื่อนหมู่มาก จึงมีโอกาสได้แวะพักที่นอนราคาถูกแถวปีนัง   และเจอร้านบะหมี่โต้รุ่งที่นั่นมีบริการหั่นผักชนิดต่างๆ ใส่ตะกร้า และบอกราคาขายที่คนซื้อต้องจ่ายเพิ่มหากต้องการเติมลงในบะหมี่  ซึ่งในตะกร้าเหล่านั้นนั้นมีทั้งเห็ดทอด เห็ดฟาง ต้นกระเทียมญี่ปุ่น บล็อกโคลี และกระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อนรวมอยู่ด้วย   โกยซีหมี่กันดีกว่า เครื่องปรุง 1.บะหมี่เหลืองกวางตุ้งหรือบะหมี่เตี๊ยว  2.แฮม 1 ขีด  2.กระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อน  2 ขีด 3.เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ  3 – 4 ดอก 4.ต้นหอม  3 ต้น 5.กระเทียม  4 – 5 กลีบ  6.แป้งข้าวโพดหรือแป้งมัน  7.น้ำ  8.ซีอิ๊วขาว  9.น้ำตาล  10.จิ๊กโฉ่(ซอสเปรี้ยว) วิธีทำ ลวกเส้นบะหมี่ให้สุกแล้วพักไว้   จากนั้นเตรียมน้ำสำหรับราดเส้นหมี่ ซึ่งมีวิธีทำคล้ายราดหน้า   เริ่มที่เจียวกระเทียมให้หอมแล้วนำเห็ดหอมแห้งที่แช่น้ำและหั่นเป็นชิ้นแล้วลงไปผัดสักครู่ ตามด้วยแฮมหั่นเป็นเส้น  แล้วเติมฝักกระเจี๊ยบเขียวลงไปผัดต่อไปไวๆ เติมน้ำ ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลตามชอบ รอจนกระทั่งน้ำเดือด ค่อยๆ เติมน้ำละลายแป้งข้าวโพดลงไป  เมื่อน้ำข้นได้ที่ก็ปิดเตา บางรายหากชอบมาม่า ก็ใช้แทนเส้นบะหมี่ได้ ทั้งแบบกรุบกรอบและแบบลวกล้างเค็มออก ก่อนตักโกยซีหมี่กระเจี๊ยบเขียวเข้าปาก  ฉันยังอดสงสัยไม่ได้ว่าปรากฏการณ์แล้งนานและกินพื้นที่กว้างขวางในสหรัฐอเมริกาปีนี้จะมีผลต่อราคาขนมปัง มาม่า บะหมี่ มักกะโรนี พลาสต้า  และบรรดาผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีหรือเปล่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 คะน้าหมูกรอบ

3 กันยายน 55 – ฉันออกสำรวจตลาดนัดเช้าวันจันทร์ด้วยระยะเวลาอันสั้น  เดินวนตลาดครบรอบ ได้กับข้าวสด ผลไม้ และมะดันแช่อิ่ม  และผ่านตรงจุดที่จำเนียรนั่งขายผัก ผลไม้อยู่  วันนี้เธอกับเพื่อนอีก 3 คนนั่งจัดผักในกระจาดอยู่พอดี "เกี่ยวข้าวแล้ว ได้แค่ 30 ตันเอง มันเป็นข้าวเบา กข. 51 น่ะ ไวเลยได้น้อย  แทบไม่ได้พักดินเลย ไม่เหมือนต้นปี นั่นนาดีเพราะพักนานน้ำท่วม 35 ไร่ได้ 35 ตัน เที่ยวนี้ได้ ตัน 10,800 บาท  มันเปียกน้ำ โรงสีเขาวัดความชื้นเที่ยวเดียว  สู้ ของพี่สำไม่ได้ นาข้างกัน   ข้าวแบบเดียวกันแต่ไม่ล้มเหมือนเรา เกี่ยววันเดียวกันเขาได้ 12,000 บ.  ของเรามันล้มจมน้ำ ฝนมันตกก่อนวัน  พอรุ่งขึ้นก็เกี่ยวขายกันเลย โรงสีมันสุ่มจิ้มลงไปเที่ยวเดียวมันกดราคาเลย หาว่าความชื้น 34 % ยังดีว่า เกี่ยวทันน้ำ ไม่งั้นคงแย่กว่านี้ แต่ขายที่สุพรรณราคาดีกว่านี้หนึ่งพัน"  สาวชาวนาสุพรรณ ที่วันว่างจากนาจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าตอบฉันด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อฉันถามถึงนา 30 ไร่ ที่ เธอว่าเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "แหม ก็ฟางแทบจะยังไม่ทันเน่าเลยต้องปลูกอีกรอบแล้ว ไม่งั้นหนีน้ำไม่ทัน" เพื่อนเธอที่ขายผักอยู่ข้างกันเสริม"   ปีที่แล้วทั้งน้ำทั้งฝนมาไวกว่าปกติราว 40 วัน  พอสิ้นเดือนสิงหาคม น้ำก็ท่วมบ้านริมแม่น้ำ และถูกปล่อยลงทุ่งตั้งแต่ต้นกันยายน  แต่ช่วงหน้าแล้งและขาดน้ำนี่สิ  นาที่อยู่ปลายน้ำหากจะทำนาหนที่ 2 ก็ต้องลงทุนเพิ่มกว่านาที่อยู่ต้นน้ำ   บางพื้นที่ทำนาได้แค่นาปรังหนเดียวก็มี  บางพื้นที่ทำแต่ข้าวปีเพราะอาศัยแต่น้ำฝน ครั้นพอเจ้าหน้าที่กรมชลประทานขอให้นาต้นน้ำระงับการใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวรอบ 3 เพราะจะผันน้ำมาให้ด้านล่างทำนาบ้าง  ชาวนาต้นน้ำก็มักไม่สละสิทธิ และตั้งคำถามกลับเอากับเจ้าหน้าที่รัฐจนอึ้งว่า “หลวงจะประกันได้ไหมว่าจะมีน้ำให้เขาทำได้พอเหมาะพอดีกับการทำนา ปล่อยมาตามเวลาเป๊ะๆ น่ะ?” ปัญหางูกินหางของการจัดการน้ำโดยระบบเขื่อน ที่หน้าแล้งขาดน้ำ และหน้าน้ำปล่อยน้ำ  แล้วปล่อยให้ชาวนาไปลุ้นเอาทั้งค่าข้าวที่จะขายได้ กับภัยน้ำ ภัยแล้ง และภัยต่างๆ   เพราะเขาต้องความเสี่ยงกับภัยสารพัด    หลักประกันเดียวของชาวนาคือพึ่งตัวเองมาโดยตลอด ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต/ไร่ และผลิตให้ได้จำนวนรอบการปลูกมากที่สุด ฉันจึงเห็นว่าน่าจะดี ถ้าระบบจำนำข้าวที่จะปรับปรุงใหม่ในปีนี้จะเปิดช่วงประกาศรับจำนำข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เกี่ยวมากขึ้น และให้สิทธิชาวนาได้เข้าโครงการจำนำได้ปีละ 2 หน เพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการจำนำข้าว เพิ่มอำนาจและกลไกการต่อรองของชาวนา แล้วให้กลไกตลาดทำงานตามที่รัฐเข้าไปแทรกแซง และถ้าหากว่ารัฐหรือเราอยากให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพดี   รัฐควรมีนโยบายเรื่องข้าวที่หลากหลายกว่านี้สำหรับชาวนาที่มีระบบการผลิตที่แตกต่างกัน ราคาข้าว  ถูก/แพง  จำนำ/ประกันราคา ชาวนาก็จะปลูกข้าวให้มากรอบ/ปีที่สุด   บางคนเหลืออดเหลือทนจริงๆ ก็ยังจะเสี่ยงปลูก 75 วัน ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ข้าวที่ขายจะต่ำลงไปอีก   เพราะน้ำหนักข้าวที่เบาตามอายุปลูก แถมข้าวเป็นท้องไข่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรับซื้อที่ลานข้าวกดราคาลงไปอีก เพราะปัจจัยเรื่องน้ำต่างหากที่ควบคุมรอบการปลูกข้าว   รัฐต้องแก้ไขระบบการจัดการน้ำให้ดีกว่าเดิม   หันมาดูปัจจัยเงื่อนไขที่จะช่วยอุดหนุนให้พวกเขาผลิตในระบบการปลูกข้าวคุณภาพ   และ ...  อีกมากมายที่รัฐต้องการเปิดใจและรับฟังเสียงของชาวนาที่ถูกกลไกการผลิตข้าวกดดันขูดรีดโดยตลอดจนบางรายอย่างจำเนียรและพี่น้องต้องหารายได้เสริมนอกอาชีพด้วยการค้าขาย  และชาวนาอีกตั้งมากมายที่ไม่อยากเป็นแล้วชาวนาพอเพียง อ้อ!  เกือบลืมแหนะ   ว่ารัฐก็ต้องฟังเสียงของผู้บริโภคที่เข้าใจชาวนา ที่ยอมจ่ายในราคาที่แพงให้กับชาวนาที่ต้องขูดรีดแรงงานตัวเอง(หรือจ้างคนงานเพิ่ม)เพราะเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น  อีกทั้งยังต้องอดทนรอการฟื้นตัวเข้าสู่สมดุลธรรมชาติที่ใช้เวลานานกว่าระบบการผลิตข้าวกระแสหลัก ที่ชาวนาไร้สังกัดและทุนต่ำ หรือชาวนาเช่าที่ทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ยาก   ก่อนวันสุดท้ายที่ต้องส่งต้นฉบับ  ข่าวโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  และออนไลน์ประโคมเรื่องน้ำท่วม ข่าวหนึ่งที่เห็นเป็นข่าวที่ทางการจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อบรรเทาระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ 3 – 4 วัน  นั่นเป็นชะตากรรมของชาวนาในทุ่งรอบเขตเมืองใกล้กรุงเทพฯ ที่เสี่ยงภัยกันทุกปี   ดีว่าปีนี้ชาวนาผักไห่โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงฝนฉ่ำที่ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน   เย็นนี้ฉันรอกินข้าวต้มร้อนๆ กับคะน้าหมูกรอบไฟแดง ที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ระหว่างรอกิน   ฉันเห็นและชอบที่เพื่อนใน FB แชร์ คำเท่ห์ของ บารัก โอบามา พูดไว้ที่ประชุมพรรคเดโมแครต เมื่อ 6 กันยายนนี้  “คุณไม่ได้เลือกผมมาเพื่อให้มาบอกในสิ่งที่คุณอยากฟัง คุณเลือกผมเพราะต้องการให้ผมบอกความจริง ความจริงคือเราต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเราจะแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นหลายศตวรรษได้” ฟังนักการเมืองบ้านเขาพูดเขาท่า  นึกถึงว่าถ้านำเทียบกับเมืองไทย ปัญหาชาวนาที่สะสมไว้ก่อนปี 2475 กลับมาที่วิธีทำ ‘หมู (สามชั้น) กรอบ’ กินกันดีกว่า แม่เอาหมูสามชั้นที่ต้มพอสุกแล้วใส่กระจาดไม้ไผ่ เอาส้อมจิ้มหนังหมู  ทาเกลือให้ทั่วชิ้นแล้วล้างด้วยการบีบน้ำมะนาวใส่ จึงนำผึ่งแดดที่เพิ่งโผล่มาหลังม่านฝน   ดีว่ามันแห้งพอหมาดแล้วฝนก็ตั้งท่าจะตกลงมาอีกรอบ   จากนั้นจึงเห็นแม่เอาชิ้นหมูไปทอดในน้ำมันบนเตาไฟปานกลางแค่ให้สุกแล้วดับเตา  ปล่อยให้ชิ้นหมูสามชั้นนั้นนอนจมน้ำมันจนทั้งน้ำมันและชิ้นหมูเย็น  แล้วแม่จึงเริ่มกรรมวิธีการทอดอีกรอบโดยตักชิ้นหมูขึ้น ตั้งกระทะไฟกลางจนน้ำมันร้อน  แล้วทอดให้ชิ้นหมูสุกนิ่มเป็นหมูกรอบ 3 ชั้นอันแสนโอชะ แหมพิถีพิถันและรอกันนานหน่อยค่ะ  เพราะกว่าจะได้หั่นชิ้นหมูกรอบให้ขนาดพอเป็นคำก่อนจะเอาไปผัดไฟแดงกับคะน้านั่น หมู 3 ชั้น ต้องผ่านร้อนมาถึง 3 – 4 ที  ร้อนซ้ำซากแบบนี้แหละ ถึงจะได้ของอร่อยเต็มคำไว้ให้เราแม่ลูกได้กินกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 ข้าว(เม่า)จี่ AEC

ได้ข่าวจากพี่ชาวนาที่ฉันเคยไปสัมภาษณ์ว่าเขาเลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข. 51 อายุเพียง 90 วัน ในรอบการปลูกนาปรังหนที่ 2 ที่ต้องเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำมาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นอย่างช้า  หากเลือกพันธุ์อื่นที่อายุยาวนานกว่านั้นอาจจะต้องเสี่ยงเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำกันอีกรอบเพราะเมื่อต้นปี 55 นั้น น้ำลดช้าทำให้ แม้ว่าเกษตรตำบลจะท้วงติงว่าข้าว กข. 51 จะขายได้ราคาต่ำเพราะคุณภาพข้าวไม่ดี แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่พี่เขาเลือกได้ ฉันเองก็นึกขำเกษตรตำบลอยู่ไม่น้อย แม้ในช่วงการปฏิบัติตามนโยบายประกันราคาของรัฐบาลประชาธิปัตย์  พันธุ์ข้าวอายุตั้งแต่ 100 วัน ที่รัฐกำหนดให้ขึ้นทะเบียนนั้นมีอยู่จริงเฉพาะในทะเบียนเมื่อต้องปลูกข้าวนาปรังรุ่นที่2 ซึ่งต้องปลูกระหว่างเดือนพฤษาคม –ต้นกันยายน  หรือที่ชาวนาเรียก “รุ่นหนีน้ำ” และถึงแม้จะปลูกพันธุ์ข้าว 90 วันแล้วแต่หากน้ำมาก่อนกำหนดเกี่ยวหนีน้ำก็ต้องการเป็นเกี่ยวข้าวให้เป็ดกินเพราะโรงสีไม่รับซื้อ ส่วนข้าวที่เกี่ยวขายได้ตามปกติก็ถูกพ่อค้าช้อนซื้อในราคาต่ำแต่มีรัฐบาลยอมจ่ายส่วนต่างชดเชยให้โดยตรงกับชาวนา แต่รวมแล้วเงินจากการขายข้าว 1 ตันที่ชาวนาได้จริงก็ไม่ถึง 10,000 บ. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ปี 2554 น้ำมาไวและมากเหมือนเดิม พันธุ์ข้าวที่ปลูกพันธุ์เดิม เกี่ยวข้าวเขียวขายเหมือนเดิม แต่ปีนี้ราคาข้าวเขียวขายได้เกือบเท่าราคาข้าวปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากประกันราคาข้าวเป็นจำนำข้าวแทน - - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สื่อต่างประเทศอย่างบลูมเบิร์กวิเคราะห์ไว้ว่าราคาข้าวที่ขึ้นสูงในช่วงนั้นเป็นเพราะนโยบายจำนำข้าวมีผลทำให้ดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น  พ่อค้าข้าว/โรงสี พยายามกักตุนข้าวก่อนรัฐจะดำเนินนโยบายดังกล่าว  กระตุ้นกลไกตลาดให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและชาวบ้านรับตรงเองจากชาวนา  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวนาส่วนใหญ่ถึงพออกพอใจกับการขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาทจากการขายข้าวงวดนั้น ผลที่ตามมาของนโยบายจำนำข้าวคือชาวนากล้าที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนจากนาฟางลอยที่ปลูกแล้วไม่คุ้มมาเป็นนาปรัง 2 หนแทน เพราะแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องหนีน้ำในการปลูกนาหนที่ 2 อยู่บ้าง แต่การจัดการผลผลิตและแนวโน้มของผลตอบแทนที่ได้รับอย่างคุ้มค่าก็มีอยู่โอกาสอยู่มากด้วยเช่นกัน   ราคาข้าวก่อนหน้านั้นมันถูกกดให้ต่ำมานานมากแล้วโดยกลไกตลาด ก่อนปี 2550 ราคาข้าวไม่เคยสูงเกินกว่าตันละ 6,500 บ. และค่าเช่านาปีละ 300-400 บ./ไร่  และที่นาหลุดมือจากชาวนาเพราะราคาข้าวถูกกดไปแล้วเท่าไหร่?  แม้ช่วงปี 50-51 ซึ่งราคาข้าวเขยิบขึ้นสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาทนั่นก็เพราะประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยเราเจอปัญหาภัยพิบัติและเกิดการเก็งกำไรของตลาดโลก   ฉันยังสงสัยว่าถ้าราคาข้าวนาปรังไทยเรายังขายได้ต่ำกว่าหมื่นบาท/ตัน  เมื่อถึงวันที่ไทยต้องเปิดเสรีข้าวในปี 2558 นั่น เราจะขายข้าวส่งออกกันในราคาที่เท่าไหร่  หากไม่พยายามดึงราคาให้สูงขึ้นไว้และหนีให้พ้นสงครามตัดราคากันเองของประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างที่เราทำๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง? ฉันยังสงสัยต่อไปอีกว่า มีสัดส่วนของชาวนาหน้าใหม่ ทุนใหม่ กับชาวนาหน้าเดิมหรือชาวนารับมรดกต่อเนื่องมาจากครอบครัว เป็นเท่าไหร่ที่จะเหลือพออยู่สู้กับวิกฤติการแข่งขันข้าวครั้งใหม่ในโลกตลาดเสรีถ้าเรายังขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตันละ 1 หมื่น? ยังมีเรื่องข้าวคุณภาพอย่างข้าวนาปี ข้าวเมล็ดยาวของไทยที่หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะโดนข้าวหอมเมล็ดยาวของกัมพูชา และข้าวปอซานมุยของพม่ามาแข่งขันในตลาดชั้นสูงเพิ่มจากเดิมที่มีข้าวบาสมาติของอินเดียข่มกันอยู่กับข้าวหอมมะลิของไทย ให้เราได้ฉงนสงสัยกับการเคลื่อนย้ายไปของนักลงทุนภาคการเกษตรเสรีอีก  ถึงตอนนี้ฉันได้แต่ฝันแทนประชากรกลุ่มชาวนาของประเทศผู้ส่งออกว่าถ้ามีสหภาพชาวนาและครัสเตอร์ส่งออกข้าวแห่งอาเซียนในการค้าเสรี AEC ก็คงจะดี  - - อา  อยากจะฝันแบบนี้นานๆ จัง   ก่อนจะไปฝันแบบนั้นฉันเพิ่งอิ่มมาจากเมนูข้าวเม่าที่จับเอาวิธีการปรุงโดยการจี่ไฟ (ปิ้ง-ย่าง) แบบอีสาน กับเครื่องปรุงแบบไทยปนแขกอย่างหมูสะเต๊ะ มาผสมผเสปนเปกันน่ะ เครื่องปรุง 1.ไข่ไก่ใบใหญ่ 1 ฟอง   2.ข้าวเม่าข้าวเหนียว(สีเขียว)  1 ถ้วย  3.หมูสะเต๊ะ  4 ไม้ 4.พริกไทยป่น   5.เกลือ 1 ช้อนชา   6.น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ    7.สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งท่อน 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้) วิธีทำ 1.ตอกไข่ลงชาม ตีไข่แดงให้แตกเข้ากันกับไข่ขาว   ปรุงรสด้วยพริกไทยและเกลือเติมสีสันอาหารโดยการใส่สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งที่ใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาว 1 ซม. 2.ใส่ข้าวเม่าลงในไข่เจียวที่เตรียมไว้  คนให้เข้ากันให้ทั่วแล้วทิ้งไว้สัก 5 นาทีเพื่อให้ไข่ซึมเนื้อข้าวเม่าจนนิ่มดี 3.นำข้าวเม่าผสมไข่ห่อหมูสะเต๊ะ  โดยนำใช้มือที่สวมถุงพสาสติกใส(ถุงใส่แกงร้อน) เพื่อห่อไม้หมูสะเต๊ะให้แน่นและไม่ติดมือ 4.นำไปย่างบนเตาไฟฟ้า หรือเตาถ่านตามสะดวก   โดยตั้งไฟให้แรงปานกลาง  เมื่อเหลืองหอมสุกดีแล้วยกลง เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และอาจาด หากชอบข้าวจี่หอมๆ อาจจะต้องหาชามใบเล็กๆ อีกใบและเพิ่มไข่อีกลูก  เจียวไข่และปรุงรสให้เหมาะตามชอบแล้วนำข้าวปั้นที่นำไปจี่มาชุบแล้วจี่สัก 3 – 4 ครั้ง ส่วนผู้ที่พิสมัยรสชาติที่แตกต่างออกไป อาจจะเปลี่ยนไส้ในข้าวเป็น หมู ไก่ กุ้ง  เห็ด และแน่นอน  น้ำจิ้มที่ใช้ก็เลือกเป็นแจ่วแบบอีสาน หรือน้ำพริกตาแดง  หรืออื่นๆ ตามแต่สะดวกค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 เค้กกระทะกะข้าวเม่า

ก่อนน้องสาวจะต้องย้ายตัวเองไปเรียนภาษาที่นิวซีแลนด์ เธอกลับมาอยู่บ้านของพ่อเธอ 1 สัปดาห์ ก็บ้านเดียวกับที่ฉันกับแม่อาศัยอยู่นี่แหละ แล้วบ่ายวันหนึ่ง ก็ได้ฤกษ์ดีที่ฉันมีโอกาสว่างได้ละจากหน้าจอคอมพ์ชั่วคราว  ฉันก็ได้ลองทำเค้กกระทะ(pan cake) กันกับแม่และน้อง  ทำครั้งแรกก็ทำเลียนแบบสูตรที่ข้างกล่องแป้งแพนแค้กสำเร็จรูปจำหน่ายว่าไว้ เพียงแต่ลดเนื้อแป้งลงนิดหน่อย และไม่ใส่เนยตามสูตร เพราะแม่ต้องควบคุมไขมัน อันที่จริง ก่อนหน้านี้ย้อนไปกว่า 10 ปี เค้กกระทะที่เคยกินอยู่นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเคยทำให้กิน  ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่นิยมการทำอาหารใดๆ เลย ยกเว้นการชงกาแฟหอมๆ ให้เพื่อนๆ ดื่ม  จำได้ว่านอกจากความแปลกประหลาดใจที่เห็นเธอลงมือทำเองแล้ว  รสอร่อยของแพนเค้กชุดนั้นมันอร่อยมากด้วยเช่นกัน   หลังจากนั้นมา พอเบื่อๆ อาหาร บางคราวก็นึกถึงเค้กกระทะ  แล้วก็ทดลองทำกินเองจากสูตรแป้งสำเร็จที่มีวางขายในชั้นของซูเปอร์มาร์เก็ต  มีบ่อยๆ ที่ฉันเพิ่มแป้ง ลดแป้ง ลดนม  แล้วเติมกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ้ต  รำละเอียด หรืองา  ลงไปผสม  ทำเสร็จออกมาก็กินกับแยมมั่ง น้ำผึ้งมั่ง  ผลัดเปลี่ยนไปตามแต่จะมีวัตถุดิบอะไรมาให้เล่น   แพนเค้กข้าวเม่า เครื่องปรุง แป้งแพนเค้กสำเร็จรูป 100 กรัม  หรือ  1 ถ้วย , นมสด   1 ถ้วย , ไข่ไก่ฟองใหญ่ 1 ฟอง , ข้าวเม่า  1/3 ถ้วย , น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ 1ใส่น้ำมันลงในถ้วย ตีไข่แล้วคนให้ไข่แดง และไข่ขาวเข้ากันกับน้ำมัน 2.เติมน้ำนมลงไปแล้วใส่ข้าวเม่าคนให้เข้ากัน  จากนั้นจึงค่อยๆ เติมแป้งลงไปทีละน้อย  คนให้แป้งละลาย จนกระทั่งแป้งหมด 3.ตั้งกระทะเทฟลอนบนเตาไฟขนาดกลาง  เมื่อกระทะร้อนดีแล้วจึงค่อยๆ ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ลงไปทอด จนกระทั่งเหลืองหอมแล้วพลิกอีกด้านหนึ่งทอดให้เหลืองสุก ตัดเสิร์ฟ กินกับเนย แยม หรือน้ำผึ้ง ครบ 1 เดือนพอดี ที่น้องไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครในบ้านรู้จัก  อาการกินอะไรไม่ได้นอกจากนมกับกล้วยหอมของน้องเริ่มดีขึ้น เธอเริ่มกินขนมปัง และหันมาพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง  แต่ยังปฏิเสธชัดเจน แกะแพะและเนื้อวัว จนฉันกับแม่คลายห่วงลงได้นิดหน่อย ระหว่างเคี้ยวเค้กกระทะราดแยมส้มและเนยที่มีเม็ดข้าวเม่าเจือกลิ่นอยู่ในปาก  ฉันกำลังสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นข้าวเม่าในไข่เจียวกินกับปลาร้าบ้องอุบลฯ  หรือน้ำพริกหนุ่มเจ้าอร่อยจากเชียงใหม่ที่น้องชอบ   มันจะทำให้อาการช่วยบรรเทาคิดถึงปลาร้าสับ ปลาร้าหลนของน้องสาวที่อยู่ไกลได้ไหมหว่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 ข้าวเม่าห่อกุ้ง

ช่วงนี้ฝนฟ้าตกบ่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง หลายคนก็ยังหวังว่าข้าวนาปรังหนที่2 ซึ่งเริ่มปลูกกันช่วงต้นพฤษภาคมจะได้เกี่ยวทันน้ำในต้นกันยายน และมีชาวนาอีกไม่น้อยที่เปลี่ยนเอาข้าวอายุสั้น 90 วันลงแทนข้าว 110 วันก็เพราะเหตุนี้ ข้าวเม่ายังมีเหลืออยู่ในครัว  คราวนี้เลยลองเอามาห่อกุ้งแล้วเอาไปทอดกินจิ้มกับครีมสลัดและแนมผักแก้เลี่ยน วิธีที่ทดลองมี 2 แบบ   แบบที่ 1 ห่อด้วยข้าวเม่า เครื่องปรุง   น้ำเปล่า  5 ช้อนโต๊ะ  , น้ำส้มสายชูกลั่น  1 ช้อนโต๊ะ , น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา , กุ้ง 4 ตัว , ข้าวเม่า 8 ช้อนชา , งาบด 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำมันพืช 1 ถ้วย   วิธีทำ 1.ผสมน้ำ, น้ำส้มสายชูกลั่น และน้ำตาลทราย คนเพื่อละลายให้เข้ากันดี 2.นำงาบด และข้าวเม่าที่คัดแยกสิ่งปลอมปนออกแล้วมาคลุกเคล้าทิ้งไว้สักพัก ข้าวเม่าจะนิ่มและมีลักษณะแฉะกว่าที่เคยกินแบบข้าวเม่าคลุกกับมะพร้าวเล็กน้อย 3.ระหว่างรอให้ข้าวเม่านิ่ม  ปอกกุ้งและผ่าแนวกลางลำตัวตามยาวลึกแค่พอเห็นเส้นสีดำเพื่อเอามันออกมา ล้างกุ้งให้สะอาดและทิ้งให้สะเด็ดน้ำ 4.เมื่อข้าวเม่านิ่มแล้ว ใช้มือนวดโดยออกแรงเล็กน้อยให้ข้าวเม่านิ่มจับตัวกัน 5.ใช้ถุงพลาสติกขนาดถุงแกง ผ่าออกให้เป็นแผ่น  นำข้าวเม่าที่นวดมาวางลงบนถุงพลาสติกแล้วใช้อีกด้านวางประกบ จากนั้นใช้ฝ่ามือกดลงให้ข้าวเม่าเป็นแผ่นบางๆ แล้วจึงนำไปห่อกุ้งที่เตรียมไว้ 6.นำกุ้งที่ห่อข้าวเม่าไปทอดในน้ำมันปาล์มที่ตั้งระดับความร้อนปานกลางจนเหลืองสุก ตักให้สะเด็ดน้ำแล้วเสิร์ฟคู่กับครีมสลัดหรือบ๊วยเจี่ย   แบบที่ 2 ชุบแป้งแล้วคลุกข้าวเม่า เครื่องปรุง    แป้งสำหรับทอด  4 – 5 ช้อนโต๊ะ  ,  น้ำเย็น  ½ ถ้วย  ,  ข้าวเม่า 1 ขีด , กุ้ง 5 ตัว , น้ำมันพืช 1 ถ้วย วิธีทำ 1.เตรียมกุ้งแบบเดียวกับวิธีที่ 1 2.ผสมแป้งกับน้ำเย็น  คนให้เข้ากันดี  แป้งที่ผสมไม่ควรข้นหรือเหลวจนเกินไปนัก 3.เทข้าวเม่าลงในจาน 4.นำกุ้งมาชุบลงในน้ำแป้งให้ทั่ว  จากนั้นนำกุ้งขึ้นมาคลุกกับข้าวเม่า  ทำจนครบ 5 ตัว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อให้ข้าวเม่านิ่มและเกาะตัวกัน 5.นำกุ้งลงทอดในน้ำมันให้เหลืองสุกโดยตั้งไฟปานกลาง  แล้วนำมาจัดลงจานราดด้วยสลัดครีม   ข้าวเม่าที่นำมาใช้ทั้ง 2 วิธี ใช้ข้าวเม่าข้าวเหนียวซึ่งมีสีเขียว  เมื่อนำมาปรุงในที่ 1 แล้วทอดให้กรอบ ถ้าห่อหนาจะกรอบนอกนุ่มใน  ส่วนการปรุงแบบวิธีที่ 2 ข้าวเม่าที่ห่อกุ้งจะบางกว่าและกรอบกว่าถ้ามีแต่ข้าวเม่าสีขาวซึ่งเป็นข้าวเม่าที่ทำจากข้าวเจ้าไม่เหมาะกับวิธีที่ 1  แต่จะเหมาะกับวิธีที่ 2 มากกว่า เศษข้าวเม่าที่เหลือเมื่อนำไปทอดกรอบๆ แล้วเอามาคลุกกับสลัดครีมทำให้ฉันนึกไปถึงข้าวเม่าหมี่ได้ยังไงกันนะ  ชักอยากกินขึ้นมาแล้วเหมือนกัน ไม่ได้เจอกับมันเสียนาน แต่นึกถึงเครื่องเคราและวิธีการก็ชวนคร้านขึ้นมาซะแล้ว เครื่องปรุงข้าวเม่าซึ่งมีทั้งกุ้งแห้ง, เต้าหู้ขาว(แข็ง), ข้าวเม่า, ถั่วลิสง ,  ทั้งหมดนี่จะต้องเอามาทอดให้สุกกรอบ  จากนั้นจึงเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับน้ำมะขามเปียกและน้ำปลาจนเป็นฟองละเอียดแล้วจึงนำเครื่องปรุงที่ทอดกรอบรอไว้ลงมาคลุกเคล้าให้ข้าวกัน ฉันจำวิธีการได้ แต่สูตรที่แม่เคยทำขายนั้นเลือนราง จำได้ว่าเวลาทำแค่พอให้เอาทุกอย่างลงไปคลุกในกระทะใบเขื่อง(แต่ไม่เท่ากระทะใบบัว) ต้องใช้ข้าวเม่า และถั่วลิสงเป็นกิโล  เต้าหู้ข้าวนั้นก็หลายก้อนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ทอดได้กรอบ  ส่วนตอนเคี่ยวน้ำตาลปี๊บนั่นต้องกะให้ฟองละเอียดพอที่เครื่องทอดจะจับกันดีกับน้ำตาล   แต่ต้องไม่แก่ไฟเกินไปจนเมื่อนำเครื่องปรุงทุกอย่างไปคลุกแล้วปล่อยให้เย็นจนข้าวเม่าหมี่ตกทราย อีกอย่าง ฉันอยากหาวิธีกินข้าวเม่าแบบใหม่ๆ  นึกวิธีกินแบบอื่นได้เมื่อไหร่คงมีเมนูใหม่มาให้ลองทำกันดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 แกงเผ็ดเป็ดเนื้อ

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฉันนัดกับ บก.เจี๊ยบ และ สุ ตากล้องของฉลาดซื้อไปถ่ายรูปประกอบพ็อกเก็ตบุ้ค “เรียนในจาน” หนังสือประเภท How to cook ที่คัดเอาจากเมนูต่างๆ ที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้เขียนใหม่ในบริบทใหม่ ที่รวบรวมเมนูอาหารทำกินเองได้ง่ายๆ พร้อมเรื่องเล่าที่เรียนรู้และเลียนแบบมาจากแหล่งต่างๆ ไว้เกือบ 30 รายการ หนึ่งในเมนูนั้นมีตุ๋นเป็ดมะนาวดองสูตรของแม่ที่ต้องแน่ใจว่า เครื่องปรุงสำคัญ 3 อย่างคือ เป็ด ฟัก และมะนาวดอง ต้องแก่จึงจะได้รสชาติอร่อยอย่างที่แม่คอนเฟิร์มอยู่ด้วย เมื่อต้องย้ายที่ปรุงจากบ้านที่ผักไห่ไปทำกันที่บ้านทาวน์เฮ้าส์ของฉันที่นนทบุรี แถมยังเป็นวันอาทิตย์อีกต่างหาก ตุ๋นเป็ดมะนาวดองเที่ยวนี้เลยต้องมีเหตุได้ปรับแปลงจากเป็ดไข่ปลดระวางราคาตัวละ 60 บาท และหาได้จากตลาดนัดวันจันทร์เท่านั้น ไปเป็นเดินหาเป็ดแบบด้นสดกันในตลาดบางบัวทองในเช้าวันที่จะปรุง   เดินหาเป็ดไข่ปลดระวางในตลาดบางบัวทองตั้งแต่ยังไม่ตี 5 เดินไปมา 3 รอบ ก็ไม่เจอ แม้แต่เป็ดเนื้อที่คาดว่าจะมีก็ไม่เห็นสักตัวบนแผงที่มีเรียงรายเกือบ 10 แผง เอายังไงดีละทีนี้ จะขับรถไปตลาดบางใหญ่ที่อยู่ไม่ไกล ก็เกรงว่าจะเสียเวลาเพราะเมนูที่เตรียมไว้วันนี้กว่า 10 รายการ สุดท้ายเอ่ยปากถามเป็ดเอาจากแม่ค้าขายไข่ไก่ เธอเลยตะโกนถามแม่ค้าเป็ดพะโล้ที่อยู่ใกล้ๆ ให้ว่า “แบ่งขายหรือเปล่า” ไม่งั้นไม่ได้เป็ดมาตุ๋นลงเล่มแน่ๆ ทีแรกฉันก็งงๆ จนเดินมาหาแม่ค้าเป็ดพะโล้ เธอบอกว่ากำลังจะพะโล้เป็ดพอดี เป็ดเนื้อที่จับมัดตั้งท่าไว้สวยงาม กำลังถูกลำเลียงลงหม้อพะโล้ใบใหญ่ 4 – 5 ใบ ที่วางเรียงรายหน้าถังน้ำแข็งใบใหญ่มาก เป็ดเนื้อราคาแพงกว่าเป็ดไข่ถึง 4.6 เท่า และแม่ไม่ชอบกินเพราะมันเยอะกว่า แต่ถ้าจะเอามาตุ๋นแก้ขัด ฉันก็งัดวิชามารขึ้นมาใช้ แร่เนื้อเอามันและหนังส่วนคอทิ้งไป ผ่าครึ่งตัวแล้วหั่นเป็นชิ้นโตๆ ก่อนนำไปเคี่ยวไฟ และลดเวลาในการเคี่ยวไฟลงเพื่อไม่ให้เนื้อเปื่อยเละเกินอร่อย แถมสุกและเปื่อยไวกว่าเป็ดไข่แก่ๆ เท่านี้ฉันก็เอาตัวรอดไปได้อีกคราว เป็ดอีกครึ่ง เอาใส่ถุงพลาสติกมัดปากแน่น ยัดลงกล่องโฟมโป๊ะน้ำแข็งกลับมาบ้านที่ผักไห่ จะทำอะไรกินดีละทีนี้ แรกทีเดียวกะหั่นเนื้อเป็ดเป็นชิ้นๆ แล้วเอามารวนเพื่อทำลาบเป็ด กินกับพริกขี้หนูทอดหอมๆ แนมกับผักสด แต่สุดท้าย ก็มาจบเอาที่แกงเผ็ดเป็ดเนื้อแทน เครื่องปรุง 1.เนื้อเป็ดสดหั่นเป็นชิ้นพอคำ 1 ถ้วย 2.พริกแกงเผ็ด    1 ขีด 3.มะพร้าวขูด 2 ขีด คั้นหัว-หางกะทิ 1 ½ ถ้วย 4.หน่อไม้ดอง 2/3 ถ้วย 5.มะเขือพวง      2/3 ถ้วย 6.พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ 4 – 5 เม็ด 7.ใบมะกรูดฉีก 3 – 4 ใบ 8.โหระพา 9.น้ำปลา – น้ำตาลทราย วิธีทำ หาหม้อใบย่อมใส่น้ำตั้งไฟให้เดือด จึงใส่หน่อไม้ดองลงไปต้มสัก 5 นาที แล้วจึงดับเตาไฟ เทและสรงหน่อไม้ดองให้สะเด็ดน้ำ ตั้งกระทะ ผัดพริกแกงกับหัวกะทิจนหอม กะทิแตกมัน จึงเอาเนื้อเป็ดที่หั่นไว้ลงไปผัดให้สุกแล้วจึงเติมหางกะทิลงไป ปล่อยทิ้งไว้ให้เดือดอีกครั้ง จึงเติมหน่อไม้ดองลงไป ปล่อยให้เดือดอีกสักครู่ ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลได้ตามชอบ แล้วจึงใส่มะเขือพวง และใบมะกรูดลงไป ปล่อยให้เดือดอีกครั้งจึงจะปิดเตา ตักเสิร์ฟร้อนๆ โรยหน้าด้วยพริกชี้ฟ้าและใบโหระพา เป็ดเนื้อในแกงคราวนี้เนื้อก็นุ่มอร่อยดีนะ ไม่ต้องเคี่ยวนาน จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็ดไข่ปลดระวางหรือเป็นเป็ดเนื้อ สุดท้ายก็บินไม่ได้ไกล อยู่ในน้ำได้แค่พอไม่ให้น้ำท่วมหลัง ไม่เชี่ยวอย่างปลา แถมยังต้องคอยระวังว่าจะถูกเชือดกินเมื่อไหร่ไม่รู้ นี่พูดถึงเป็ด ไหงรู้สึกว่ารำพึงรำพันชีวิตตัวเองอยู่ก็ไม่รู้ ไว้ฉบับหน้า ค่อยมาเก็บตกมาจากวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารและถ่ายรูปขึ้นเล่ม ด้วยเมนูใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเขียนทั้งในคอลัมน์และในฉบับรวมเล่มกันอีกดีกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 135 ทำโปรไบโอติกแบบง่ายกินกันเถอะ

แม้จะมีข้าวเหนียวกล้องอยู่ แต่แผนทดลองที่เพาะให้งอกเพื่อทำข้าวหมากอารมณ์อีกรอบต้องปิดตัวลง ลูกแป้งข้าวหมากที่เป็นหัวเชื้อในการหมักหาซื้อได้ยากในตลาดแถวบ้าน ที่ง่ายกว่าคือซื้อข้าวหมากจากแม่ค้าในตลาดกิน แต่บ่อยๆ ซ้ำซากก็เบื่อได้  จึงสลับกันไปกับโปรไบโอติกที่ทำกินเองอย่างโยเกิร์ต ไว้ช่วยเสริมสร้างจุลินทรีย์ในลำไส้ในระบบการย่อยอาหาร และเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะฉันเองเอาแต่นั่งทำงานหน้าจอไม่ค่อยออกกำลัง และที่ชอบมากอีกอย่างคือรสชาติของโยเกิร์ตที่ทำเองยังไม่มีรสหวานจัดอย่างที่มีวางจำหน่าย วิธีทำแบบง่ายๆ คือ ใช้โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ที่ซื้อมา 1 แก้ว  เทใส่กล่องพลาสติกเป็นหัวเชื้อแล้วเทด้วยน้ำนมรสธรรมชาติลงไป 400 – 500 มล.เลือกภาชนะเทส่วนผสมทั้ง 2 อย่างจนให้เหลือช่องว่างเพียงเล็กน้อย แล้วคนให้เนื้อโยเกิร์ตกับนมเข้ากันดี  ปิดฝาให้แน่น วางตั้งในที่ไม่มีแสงแดดส่อง ทิ้งไว้ 1 คืนกับอีก 1 วัน ถ้าอากาศเย็นอาจเพิ่มชั่วโมงในการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์  ลองสังเกตดูว่าใช้เวลาหมักนานเกินไปอาจมีน้ำสีเหลืองใสลอยอยู่เหนือเนื้อโยเกิร์ต เป็น byproduct ให้ช้อนทิ้งออก ช่วงเวลาในการปล่อยให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานนั้นขึ้นกับปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ กับน้ำนม และอุณหภูมิ หากอากาศร้อนจะใช้เวลาน้อยลง แต่ถ้าอากาศเย็นก็อาจจะเพิ่มเวลามากขึ้น  เมื่อเชื้อเดินหน้าทำงาน น้ำนมจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพ โดยมีเนื้อข้นขึ้น รสเปรี้ยว ไม่หวานอย่างที่เราซื้อกิน หากต้องการเพิ่มรสก็นำแยมรสที่ชอบมาใส่เพิ่ม  แต่ผู้เขียนนิยมเอามาราดมะละกอ สับปะรด เม็ดข้าวโพดต้ม ลูกอินทผาลัม ถั่วอบชนิดต่าง เมล็ดธัญพืช ฯลฯ กินตอนเช้า คล้ายๆ ฟรุ้ตสลัด   โยเกิร์ตที่หมักเองนี้ต้องแช่เก็บไว้ในตู้เย็น และยังนำมาใช้ต่อเชื้อทำเพิ่มใหม่ในครั้งต่อๆ ไปได้อีก  และถ้าจะให้ประหยัดอีกลองเลือกซื้อน้ำนมจืดในชั้นวางที่ลดราคาเพราะว่าจะหมดอายุแต่ยังไม่บูดดู  รับรองว่าใช้ได้ดีและคุ้มค่าจริงๆ ถ้าอยากได้เนื้อโยเกิร์ตที่เนียนเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ให้เอาน้ำใส่หม้อตั้งไฟ  แล้วเทนมใส่ภาชนะทนไฟที่มีขนาดเล็กกว่า เอาภาชนะใส่นมลงไปอุ่นในน้ำ หมั่นคนให้นมไม่เป็นก้อน พออุ่นแล้วตั้งทิ้งไว้พอนมเย็นลงขนาดทดลองเอาหยดลงหลังมือแล้วไม่สะดุ้ง แล้วใช้วิธีการทำโยเกิร์ตแบบข้างต้น   บางคนชอบเนื้อเนียนข้นถึงขนาดลงทุนซื้อเครื่องตุ๋นเพื่อทำโยเกิร์ตเพื่อควบคุมอุณหภูมิและเวลา  แต่ผู้เขียนมักใช้วิธีแรกมากกว่า เพราะถ้าทำบ่อยๆ จะรู้จังหวะการทำงานของเชื้อซึ่งช่วยให้ ประหยัดสตางค์ไปอีกนิด เมื่อคั้นผักกับเกลือเพื่อเอารสขื่นฉุนออกแล้ว ใช้น้ำสะอาดล้างออก 1 เที่ยว บีบต้นหอมให้สะเด็ดน้ำ แล้วจึงใส่ลงในชาม กินโปรไบโอติกแบบฝรั่งไปแล้ว หันมาทำแบบบ้านๆ มั่งดีกว่า ผักดอง ที่ใช้กินกับน้ำพริกเป็นอีกตัวหนึ่งที่ฉันกับแม่ชอบ น้านิตย์ บางครั้งลูกค้าประจำที่รับหนังสือพิมพ์ที่บ้านก็เอามาผักกุ่มดองมาแบ่งให้ กินบ่อยๆ เพราะชอบกินและทำทีละเยอะๆ  และเป็นความสุข ความภูมิใจของแก แม่ก็เคยดองหอมไว้กินเองแต่ไม่บ่อยนัก   วิธีการทำก็คือเอาต้นหอมแบ่ง 2 ขีด  ล้างสะอาดแล้วมาหั่นให้ได้ 3 ท่อนใหญ่ๆ ส่วนหัวหนาอวบหนาใช้มีดบางผ่าแบ่งให้บางลง ใส่ถาด  จากนั้นโรยเกลือ 1 – 2 ช้อนโต๊ะลงไปให้ทั่ว ทิ้งไว้สัก 15 นาที ผักจะสลดแล้วจึงค่อยลงมือขยำเกลือกับต้นหอมให้เข้ากัน  หากลงมือคั้นสดๆ เลยอาจจะน้ำตาไหลพรากด้วยความซาบซึ้งก็เป็นได้ ใบเขื่องที่เป็นแก้ว หรือกระเบื้องเคลือบ หลีกเลี่ยงภาชนะที่เป็นสังกะสีหรืออะลูมิเนียม จากนั้นใส่น้ำพอท่วมผัก ใส่ข้าวสุกที่เป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ 1 กำมือ และเกลือ 1 หยิบมือ  ทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน  ถ้าทิ้งไว้นานกว่านั้นจะเปรี้ยว หากกินเหลือก็ให้ใส่ภาชนะปิดฝาเก็บไว้ในตู้เย็น(สูตรนี้ที่แม่ทำคล้ายกับของแม่สั้น ทองมวย มีสง่า จากโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน จ.อุบลราชธานี เคยสาธิตไว้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ จนหลายคนติดใจเมื่อหลายปีก่อน) ผักดองที่แม่ทำบ่อยกว่าคือผักบุ้งไทย แต่วิธีการดองแบบ “ด่วน” ที่ทำปุ๊บก็ได้กินเชียวและเก็บไว้กินได้อีก 2 – 3 วันจนกว่าจะหมดโดยวิธีการนี้จะไม่ค่อยได้โปรไบโอติกเท่าไหร่เพราะไม่ผ่านกระบวนการหมัก แต่อร่อยได้รสชาติชวนน้ำลายสอไม่แพ้กัน   รสเปรี้ยวที่ใช้ก็แล้วแต่จะมีในช่วงนั้น มะขามเปียกหรือมะดันก็ได้ วิธีการคือล้างยอดผักบุ้งไทย จากนั้นเอาเกลือ มะขามเปียก หรือมะดัน ขยำกับผักบุ้ง  โดยสัดส่วนคือผักบุ้ง 1 กำมือ   เกลือ 1 ช้อน  มะขามเปียก 3 – 4 ฝัก หรือมะดัน 2 – 3 ลูก  ขยำให้เข้ากัน  บางทีแม่ก็ฝานมะเขือเปาะใส่ลงไปในชามดองผักบุ้งด้วย  ผักดองด่วนนี้เอาไปกินกับน้ำพริกกะปิ หรือน้ำพริกตาแดงเข้ากันดีมาก สลับกับผักลวกราดกะทิและผักสด    อ้อ! กะปิ ที่ใช้ตำน้ำพริกนี่ก็โปรไบโอติก มรดกทางอาหารที่รับมาจากภูมิภาคของเราชาวอุษาคเนย์  ที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับชีส โปรไบโอติกยอดฮิตติดครัวของฝรั่งตะวันตก ผักกาดดอง ผักดองแบบจีนที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กอีกอย่าง  ทั้งแบบเอาผักกาดเขียวมาดองทั้งหัวโดยหมักเกลือกับข้าวอัดลงในไหดินเคลือบ   ในตลาดสด เวลาขายคนขายก็ควักจากไหใส่ถุงเดินหิ้วเอากลับมาบ้าน และแบบกระป๋อง ที่หลังๆ มามีฝาเปิดกินแบบง่ายๆ   ซึ่งแบบหลังนี้มักจะได้กินแบบเอามายำกับกุ้งแห้งกินกับข้าวต้ม และผัดกับกระเพาะหมูเสียมากกว่า   ส่วนอย่างแรกนั้นเจอกัน บ่อยๆ ในเมนู ผัดไข่  ผัดกระเพาะหมู  ต้มกับกระดูกหมูหรือกระเพาะหมู  ต้มกับมะระ   และซอยเป็นชิ้นเล็กๆ กินแนมกับขนมจีน น้ำพริก-น้ำยา วิธีต้มกระเพาะหมูผักกาดดอง เริ่มโดยเอากระเพาะหมูมาล้างด้วยเกลือ 3 – 4 ครั้ง ให้หมดเมือกก่อนจึงเอาไปต้มทั้งกระเพาะจนเปื่อยได้ที่ ระหว่างต้มหมั่นช้อนฟองออกเพื่อให้น้ำซุปใส   เมื่อกระเพาะเปื่อยนุ่มดีแล้วหั่นเป็นชิ้นพอคำ  ใส่กระเทียมทุบ พริกไทยเม็ดบุบ เก๋ากี๋ และเกลือ  จากนั้นหั่นผักกาดดองที่ล้างสะอาดแล้วให้มีขนาดเขื่องกว่าชิ้นกระเพาะหมูเล็กน้อยลงไป  ถ้าชอบกินผักกาดดองกรอบๆ ก็ไม่ต้องเคี่ยวนาน แค่พอเดือดก็ยกลง เท่านี้ก็ได้ต้มจืดร้อนๆ ซดโฮกๆ ได้อย่างลื่นคอแนมกับผักบุ้งดองและน้ำพริกกะปิ ปลาทูแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 ผักหวานป่าต้มปลาย่าง

ตั้งแต่ช่วงกลางกุมภาพันธ์- ต้นมีนาคม ที่ผ่านมา ปัญหาควันไฟในภาคเหนือก็วนกลับมาสร้างปัญหาให้กับคนที่นั่นกันอีกหน  เช็คกระแสข่าวในประเทศไทยดู ก็พบว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดควันจากไฟป่ามากที่สุด ก็หนีไม่พ้นคนที่อยู่กับป่า  โดยเฉพาะคนเก็บผักหวานป่าและเห็ดโคนมาขาย แต่ช้าก่อน...จริงหรือที่ ผักหวานป่าเป็นต้นตอของควันมหึมามหาศาลที่ก่อปัญหาอย่างที่สื่อพาให้เราเข้าใจไปแบบนั้น? ผักหวานป่า จากอาหารบ้านๆ แต่กลับกลายเป็นเมนูยอดนิยมในปัจจุบัน ก็เพราะมาจากชุดความรู้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่ระบุว่า เป็นเมนูสุขภาพจากอาหารพื้นบ้าน  ดังนั้นจึงมีเมนูที่มีผักหวานร่วมอยู่ด้วยในหลายชนิดอาหาร เช่น แกงเห็ดผักหวานแบบอีสาน  ทั้งแบบปรุงสำเร็จตามร้านข้าวแกง  แบบกึ่งสำเร็จรูปในห้างสรรพสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาปรุงเองที่บ้าน  และแบบที่ยืนสั่งรอจากร้านที่ปรุงให้ตามสั่งที่ผุดขึ้นมามากมายในตลาดนัดและริมฟุตบาทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะแหล่งที่มีคนงานอีสานอยู่หนาแน่น   ร้านก๋วยเตี๋ยวบางแห่งยังเลือกใช้ผักหวานป่าเป็น เมนูเรียกลูกค้า แข่งกับก๋วยเตี๋ยวตำลึงและก๋วยเตี๋ยวแบบดั้งเดิมที่ใช้ถั่วงอก ต้นคะน้า   ความนิยมต่อผักหวานป่าที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อจำกัดสำคัญของผักหวานป่าที่มีให้กินได้เฉพาะหน้าแล้ง และมีขึ้นได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เกิดความพยายามที่จะทำการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าในแปลงเกษตรแทนการเก็บจากป่า ซึ่งมักมีขึ้นหลังจากป่าถูกเผา(ปัจจุบันมีนวัตกรรมการขยายพันธุ์ผักหวานได้หลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด การชำไหล การตอน และการสกัดจากรากต้นผักหวานที่มีอายุมาก) ผักหวานป่าจึงกลายเป็นผักหวานป่าในแปลงเกษตรกรรมที่ทำรายได้ดีให้กับผู้ปลูกตาม demand ของผู้บริโภค และทำให้หาซื้อกินกันได้เกือบตลอดทั้งปี ดังนั้นสัดส่วนการหาผักหวานป่าของคนที่อยู่ป่าก็คงจะมีแต่น่าจะเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตและบริโภคที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน  เพราะไม่ใช่ว่าผักหวานป่าเกิดขึ้นได้ทุกจุดทั่วไปในป่า อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐยกขึ้นอ้างว่าเป็นเหตุสำคัญของการเกิดควันในช่วงดังกล่าว หากมองในมุมของคนที่ทำงานกับเกษตรกรมานาน ปัญหาการควันที่เกิดจากเผ่าพื้นที่การเกษตรน่าจะมาจากการเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในป่าตามนโยบายของรัฐ  จากไร่หมุนเวียนมาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างสำหรับการปศุสัตว์ อย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ  มากกว่า เพราะในระยะไม่ถึงทศวรรษให้หลังมานี้ก็มีพืชอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของชาวบ้าน(อีกแหละก็ตามความต้องการที่มีมากขึ้นของผู้บริโภคเช่นกัน) ดังนั้นเราๆ ท่านๆ ก็มีส่วนในการเผาผลาญให้เกิดควันทั้งในบ้าน  บนถนน ในโรงงานอุตสาหกรรม  การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบินก็สร้างปัญหาควัน มลพิษ และภาวะโลกร้อนไม่แพ้กันกับการเผาที่เกิดขึ้นในแปลงเกษตร (อย่างไรก็ตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาเศษซากใบไม้ สร้างปัญหาเรื่องพิษต่อการสูดดมเข้าสู่ร่างกายและโลกร้อนน้อยกว่า ก๊าซที่เผาไหม้เชื้อเพลิงจากน้ำมันใต้ผืนดินและถ่านหิน  อีกทั้งต้นไม้ยังทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ นั้นหมุนเวียนกลับมาอยู่ในดินและต้นไม้ได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้) เดิมชาวบ้านในป่าภาคเหนือใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน แต่ก็ถูกนโยบายรัฐควบคุมโดยกล่าวหาว่าเป็นการทำลายป่าโดย ในนามว่า “ไร่เลื่อนลอย” ทั้งที่ระบบการปลูกพืชไร่หมุนเวียนนั้นเป็นระบบการจัดสรรพื้นที่ปลูกแบบยั่งยืน  ชาวบ้านจะเลือกเผาแปลงบางแปลง  แล้ววนกลับไปปลูกในแปลงที่เผาอีกครั้งในช่วงระยะเวลา 4-8 ปี หมุนเวียนกันไปในพื้นที่ที่จำกัดของแต่ละครอบครัว  ส่วนช่วงเวลาในการเผาจะเลือกในช่วงที่ไม่มีความกดอากาศสูงจากตอนใต้ของจีนแผ่เข้ามาในภาคเหนือของไทย เพราะต้องสัมพันธ์กับช่วงที่เหมาะสมกับฝนจะตกลงมาหลังการเผาป่าเพื่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่า ทำการเกษตร หากินและเก็บของป่าขาย  ทั้งในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต่างประสบปัญหารัฐประกาศที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวนทับที่ทำกิน  จนชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้องคดีและขึ้นโรงขึ้นศาลนับหมื่นราย    จนทำให้ประชาชนหน้าหมอง ต่างสงสัยว่าการที่รัฐควบคุม โดยการละเมิดสิทธิที่พวกเขาเคยอยู่และทำกินมาก่อนการประกาศของนโยบายรัฐที่ดำเนินการมีข้าราชการเป็นผู้ชงขึ้นนั้น ใช้ได้เฉพาะกับชาวบ้านที่ด้อยอำนาจ แต่กับนายทุนและผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ๆ  ที่มากอำนาจวาสนาบารมีทั้งหลายกับเพิกเฉยใช่ไหม  ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นสร้างปัญหามากกว่าที่ชาวบ้านในป่าจะสร้างปัญหา “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” จากการเผาป่าอย่างที่รัฐกล่าวหาพวกเขาเสียอีก --------------------------------------------------------------------------------------------------------- แกงผักหวาน  ส่วนประกอบที่ใช้มี พริกขี้สดหรือพริกขี้หนูแดง  5 – 7 เม็ด  ปลาสดย่าง  ½ ถ้วย   หอมแดง  3 – 5 หัว  กะปิ  1 ช้อนชา ( หรือปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ)  และผักหวาน 2 กำ    บางคนก็ใส่ทั้งกะปิและปลาร้า  และบางคนก็ไม่ใส่ทั้งกะปิและปลาร้าก็ได้ เลือกเอาตามอัธยาศัย วิธีทำ ระหว่างใส่น้ำลงในหม้อ 1 ถ้วย ตั้งให้น้ำเดือด เราเตรียมเครื่องแกงโดย ตำกะปิ พริกและหอมแดงให้เข้ากัน พอแหลกแล้วใส่ปลาย่างลงไปตำให้เข้ากัน   เมื่อน้ำเดือดดีแล้วตักเครื่องแกงใส่ลงในหม้อ  ต้มสักพัก  5 นาที ก็ใส่ผักหวานที่เด็ดเอาแต่ยอดอ่อน  ชิมรสและแต่งรสด้วยเกลือและน้ำปลาร้า  แล้วยกลง    บางบ้านนิยมใส่วุ้นเส้นและเห็ดลงไปด้วย   โดยจะใส่เห็ดในช่วงเดียวกับเครื่องแกงและใส่วุ้นเส้นพร้อมผักหวาน   สวนใครที่ชอบเผ็ดร้อนจะเติมเม็ดพริกไทยลงไปในช่วงโขลกน้ำพริกแกงด้วยก็ได้ ไม่ว่ากัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 คำนั้น ฉันจำ

  เที่ยงแล้ว แต่สิ่งที่คิดว่าจะกินกลับไม่ใช่มื้อกลางวัน ฉันเดินไปร้านคนขายมะพร้าวเพียงอึดใจเดียวก็ถึง บอกแม่ค้าให้ช่วยเลือกมะพร้าวแก่ห้าวขนาดพอเหมาะมือ เพื่อกะเทาะเอากะลาและน้ำมะพร้าวออก เดินประคองมะพร้าวลูกนั้นมา เคาะปุๆ ดูอย่างครึ้มใจตลอดทาง ต้นชะพลูมีอยู่เขียวครึ้มใต้โคนมะม่วงใหญ่ ไม้เถากึ่งเลื้อย รูปทรงของใบสวย สีเขียวเข้มสด รสและกลิ่นของมันมีเฉพาะตัว แถมปลูกง่าย โตง่าย กระจายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็วเพราะที่ข้อของต้นมักมีรากแตกแขนงออกมา วันนี้ฉันกับแม่จะทำ “เมี่ยงคำ” ตามประสาคนอยู่ใกล้ตลาด กลับถึงบ้านเอามะพร้าววางแล้วต้องวนกลับไปใหม่ คราวนี้เอาถั่วลิสง น้ำตาลปี๊บและมะนาวกลับมาด้วย ส่วนกะปิดีมีอยู่แล้วที่บ้าน กินข้าวกลางวันตอนบ่ายเสร็จ ฉันเริ่มกิจกรรมโปรดโดยปูเสื่อกลางบ้าน เตรียม ถาด มีด เขียง และมีดปอกผลไม้ และมะพร้าวแก่ลูกนั้นมาวางเคียงอย่างพร้อมเพรียง เพราะจากนี้ไปอีกสักราว 1 ชั่วโมงฉันจะไม่ไปไหนหรือทำอะไรทั้งสิ้นหากไม่จำเป็น ฉันผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก แล้วเอามีดปอกผลไม้เถือไปตามขอบซีกมะพร้าวออกมาเป็นเส้นยาวๆ ทีละเส้น .... ทีละเส้น แม้มีดปอกผลไม้จะคม แต่มะพร้าวแก่ทำให้ต้องออกแรงสักหน่อย บางครั้งที่กะจังหวะไม่ดี สันมือก็เผลอไปกระแทกขอบเขียงขอบกะละมังเรียกสติแบบเจ็บๆ ได้เหมือนกัน หั่นมะพร้าวเป็นเส้นเพื่อจะซอยให้เป็นฝอยยิบย่อยด้วยมีดนั่นยากกว่านี้ และใช้เวลานานกว่านี้มาก จับมะพร้าวเส้นบางมาเรียงซ้อนๆ เพื่อซอยย่อยลงไปแบบเพลินๆ ...ก็จะไม่เพลินได้ไงในเมื่อมือ 2 ข้างจับมะพร้าวและมีดซอยอยู่นั้น ปากฉันก็เคี้ยวชิ้นมะพร้าวหงับๆ อย่างเมามัน แม่ว่าฉันเคี้ยวมันจนน้ำกะทิไหลแล้ว ซอยมะพร้าวเสร็จแล้ว เอาไปคั่วในกระทะ จนเสร็จแล้วเอาไปให้แม่ดู แม่ว่าใช้ไฟแรงไป มันเหลืองแต่ไม่กรอบ เลยต้องเคี่ยวไฟอ่อนๆ ใหม่จนได้ดีอย่างที่แม่ต้องการ คราวนี้แม่หว่านน้ำตาลทรายลงไปนิดหน่อยให้น้ำตาลเกาะมะพร้าวจะได้กรอบ พอใกล้จะเย็นจึงเทใส่ขวดเก็บไว้ ถั่วลิสงที่ต้องล้างก่อนคั่ว ต้องคั่วให้สุกไม่งั้นเดี๋ยวถั่วเป็นพิษ เสร็จเอาไปให้แม่ดู ฉันก็คั่วไฟแรงเกินไปอีกนั่นแหละ แม่ว่างั้น เรื่องเหลือจากนี้เป็นแม่เตรียมการ ได้แก่ ตั้งเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับกะปิและเกลือจนเหนียวหนืด หั่นขิง หั่นพริก เอากุ้งแห้งแช่น้ำแล้วสงขึ้นมา รวมถึงเด็ดใบชะพลูมาล้างเตรียมพร้อมการกินเมี่ยงไว้เสร็จสรรพ ปากกินเมี่ยงใบชะพลู แต่หัวกลับนึกไปถึงวัยเด็ก การกินเมี่ยงที่เมื่อจะกิน คนขายวางใบเรียงเต็มถาดตามที่คนกินแจ้งบอก จากนั้นก็เอาเครื่องเคราวางเป็นกองๆ ใครไม่กินหอม ไม่กินขิง ไม่กินพริก ก็จะร้องบอกคนขายไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็ตักน้ำจิ้มมาเป็นถ้วยให้เติมเอง เจอแม่ค้าดีหน่อย ก็จะวางถั่ว กุ้งแห้ง พริก ขิง หอม มะนาวไว้ แล้วให้ตักมะพร้าวคั่วได้ตามใจชอบ พร้อมน้ำจิ้มที่เติมได้ไม่อั้น ระหว่างเคี้ยวคำมันๆ กลิ่นชะพลูทำให้ฉันนึกไปถึงกลิ่นใบทองหลางที่เอามาห่อกินเมี่ยงได้รสอร่อยไม่แพ้กันขึ้นมารำไร ทองหลางไม้ตระกูลถั่วที่พบได้ทั่วไปในสวนทุเรียนเมืองนนท์ ที่คนสวนว่ามันช่วยให้ดินดีและทำให้ทุเรียนนนท์มีรสอร่อย ไม่รู้ทั้งต้นทุนเรียนและต้นทองหลางจะเหลืออยู่สักกี่ต้นหลังน้ำลงแล้วในปีนี้ ฉันเล่าให้แม่ฟังถึงการขายเมี่ยงคำแบบใหม่(สำหรับแม่) ที่ตลาดจตุจักร ที่เสียบเมี่ยงคำที่ห่อสำเร็จพร้อมกินไว้กับไม้คล้ายซื้อลูกชิ้นกิน แม่ทึ่งมาก เมี่ยงคำ ทำกัน 2 คน ใช้เวลาเตรียมไม่เกินครึ่งวัน แต่ก็เก็บไว้กินไปได้หลายวัน อร่อยได้หลายคำ ตอนช่วงบ่ายๆ แม่บอกฉันว่า น้ำจิ้มที่ราดเมี่ยงเหนียวๆ หวานๆ เค็มๆ ที่เหลือเยอะแยะนั่น แม่จะเอาไปกินเป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน ซะด้วยสิ!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 ชูชิลุงจิโร่ : กับ(ดัก)ความซ้ำขั้นเทพ

  8.30 น. -  “ได้แล้ว เนื้อกำลังกิน” แม่ยื่นจานกุ้งแม่น้ำย่างที่แกะเปลือกออกให้กับฉันเอาไปขยำข้าวร้อนๆ กับน้ำปลา-พริก(มีหอมซอยด้วย) ให้เป็นเมนูง่ายๆ ในเช้าวันเสาร์(หลังจากล่อข้าวกับกุ้งย่างน้ำปลาหวานสะเดาซ้ำๆ กันมา 3 – 4 มื้อในตอนเย็น) 2 – 3 วันมาแล้วที่แม่เพียรหาระดับอุณหภูมิและช่วงเวลาของเตาไมโครเวฟ เพื่อจะย่างกุ้งแม่น้ำตัวเขื่องที่ละ 2 ตัวให้ได้ “สุกพอดี” อย่างที่แม่ต้องการ หลังที่เตาปิ้งย่างไฟฟ้าเครื่องใหม่ที่แม่ใช้มัน “ไม่เวิร์ค” ครั้นแม่จะกลับไปก่อเตาไฟ ก็คร้านเกินกว่าวัยอย่างแม่จะทำ   09.18 น.  - เพื่อน ด็อกเตอร์ วันสุข โพสต์ ใน FB   - - Karl  Polanyi พูดถึงการใช้สถาบันทางสังคมมาควบคุมตลาดและกลไกทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้บอกว่า ต้องเอาชุมชนมาควบคุม ของเราเอา Polanyi มาตัดต่อยีนส์ - - กลไกควบคุมอาจจะเป็นระบบภาคีหลายส่วน หรือองค์กรรูปแบบใหม่ๆ ก็ได้ แต่ของไทยมีแนวโน้มที่จะมองว่า "สิทธิชุมชน" คือสถาบันอันเดียว แถมยังมองสิทธิแบบ essentialist ไม่ใช่วาทกรรมที่สร้างเพื่อต่อรอง และยังหยุดแค่ชุมชน โดยไม่มองการจัดการร่วมระหว่างชุมชนกับส่วนอื่นที่กว้างกว่า  ฉันตอบเพื่อนสั้นๆ ว่าให้ไปฟังเพลง “หมู่บ้านในนิทาน” ของเต๋อ เรวัตร  เพลงฮิตที่เอาไว้ฟังปลอบใจตัวเองเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน วันนั้น... ฉันฟังเพลงนี้จากเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต  หลังจากไปนั่งคุยกับเกษตรกรรายหนึ่ง ที่ตัดใจแล้วว่าจะเลิกที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ไปทำโต๊ะจีนเป็นอาชีพเสริมรายได้หลัก และยังหาเวลากลับมาดูแลแปลงผักแบบเทคนิคเกษตรลดต้นทุน  ด้วยเหตุผลว่าการทำเกษตรอินทรีย์แม้จะให้ผลดีจริงแต่ก็ต้องลงทุนหนักมากในช่วงแรกในขณะที่ผลตอบแทนช่วงแรกก็ต่ำเกินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาลูก และค่ารักษาพยาบาลเมีย  - เขายังบอกอีกว่า ลูกของเขาต้องไปได้ดีกว่าและไม่ต้องมาลำบากเป็นเกษตรกรแบบเขา เกษตรกรหลายคนที่ต้องหลุดไปจากวงการผู้ผลิตอินทรีย์ และก้าวไปสู่วิถีการผลิตแบบกล้าได้กล้าเสีย ล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างไป  ฉันก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่า “ชุมชนผู้บริโภคในฝัน” จะตอบโจทย์ของพวกเขาเหล่านั้นได้มากแค่ไหน   11.45 น. – น้องชายที่เป็นกุ๊กในโรงแรมแห่งหนึ่งก็โพสต์ลิ้งค์หนัง  “Jiro Dreams of Sushi” หนังสารคดีเชิงอัตชีวประวัติของกุ๊กญี่ปุ่นวัยกว่า 85 ปี ที่มุ่งมั่นฝึกฝนตนอย่างซ้ำซากจำเจจนเชี่ยวชำนาญมาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเปิดร้านซูซิ  มีการันตีโดยยี่ห้อ 3 ดาว จากมิชชิลิน ที่เปิดให้ลูกค้าลิ้มรสจิตวิญญาณเซนของญี่ปุ่นเพียง 7 โต๊ะ ในราคาคอร์สละ 20 ชิ้น ในราคา 30,000 เยน ภาพเคลื่อนไหวของหนังตัวอย่างทำให้กระหายอยากดูหนังเต็มๆ เรื่อง หนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารหลายๆ เรื่องที่เคยผ่านโสตประสาทนั้นล้วนอาศัยตากล้องและกลวิธีตัดต่อที่เรียงร้อยภาพให้เราได้เคลิ้มคล้อยและอินไปกับมันได้อย่างหมดจิตหมดใจ  ยังอากัปกิริยาอันคล่องแคล่วชำนาญการครัวของกุ๊กขั้นเทพอีกเล่า  ไหนจะกลเม็ดเคล็ดลับในการปรุงอาหารให้สุดเริ่ดอีก โอวววว...........   แต่  เอ๊ะ! อะไรนะ!  10 ปีเชียวหรือที่บรรดาสานุศิษย์ที่มาสมัครตนเพื่อจะเรียนวิชาซูชิจะต้องทนทำหน้าที่เตรียมวัตถุดิบอย่างเดียวถึง 10 ปีโดยไม่มีค่าจ้าง  แล้วจึงจะได้เริ่มต้นเรียนรู้วิธีย่างไข่ม้วนแบบเทพ! รายละเอียดในขั้นตอนการฝึกฝนซ้ำซากอย่างประณีต  ที่หนังบรรจงสร้างให้ได้ซึมซาบกับศิลปะการทำซูชิในวิถีเซนแห่งญี่ปุ่นกลับเหวี่ยงให้ฉันรู้สึกได้ถึงการปลดปล่อยจากความริษยาบรรดาผู้มีอันจะกิน โดยไม่ต้องนึกอนาถจิตในความน้อยวาสนาของตนอีกต่อไป ซูชิราคาหรูคำละ 500 บาท กับกระบวนการจ้างงานของลุงจิโร่?   หรือว่าบรรดาลูกจ้างในร้านของคุณปู่จิโร่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของคนที่พอจะมีกะตังค์และฐานะมากพอที่เมื่อผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำซ้ำซากจากขบวนการทำซูชิขั้นเทพของคุณปู่จิโร่ไป 20 ปี ก็จะมีกะตังค์ไปเปิดร้านซูชิศิษย์คุณปู่จิโร่ขั้นเทพสาขา 2 , 3 , 4 กันหว่า??   16.45 น. – ฉันเดินลากขาไปหาอะไรกินรองท้องที่ตลาดสด  หลังจากดูลิ้งค์ข่าว ดาราสาวชาวนาแต่งงานกับแฟนหนุ่มอเมริกันแบบสายฟ้าผ่า ที่เพื่อนด็อกเตอร์ วันสุข ถามฉันว่าเธอจะกลับมาทำนาอินทรีย์อีกหรือไม่  - ฉันไม่รู้  และสลัดเรื่องนี้ทิ้งตอนเดินไปซื้อตีนไก่ตุ๋นร้านยายต้อย ยายต้อย แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวเรือน้ำตกที่เปิดขายเป็นประจำมากกว่า 25 ปี มีสูตรเด็ดที่ไม่ยอมบอกใคร   แม้จะคอยเพียรถามสูตรจากยายต้อยแค่ไหนก็ไม่ยอมบอกสูตร  แต่หากชวนยายต้อยคุยจนถูกคอแล้วละกอ เดี๋ยวแกก็แอบๆ แย้มออกมาเอง  แต่ก็ไม่เคยได้ครบสูตรจริงๆ สักที   17.30 น. – เดินแกว่งถุงตุ๋นตีนไก่ มาให้แม่  แกะแล้วเทใส่ชาม  ตีนไก่ 6 ชิ้นกลิ่นหอมเนื้อเปื่อยนิ่มชวนหลงใหลเรียงอยู่ในชามใบย่อมดูน่าเอร็ดอร่อยในราคาเพียง 30 บาท ที่ให้รสชาติอร่อยสม่ำเสมอได้ทุกครั้งได้ตามมาตรฐานแม่ค้าแผงลอยในตลาด แม่เคยตุ๋นตีนไก่หลังจากฉันลองซื้อไปให้แม่ชิมอยู่ครั้งหนึ่ง   และถึงแม้จะมีรสชาติการกินและปรุงที่แปลกต่างไปจากยายต้อย  แต่ฉันก็อดนึกไม่ได้ว่า แม่ต้องชิมและทดลองตุ๋นตีนไก่ยายต้อยไปอีกกี่เที่ยวหนอ  แม่ถึงจะตุ๋นได้รสชาติเทียบเคียงตีนไก่ของยายต้อยที่อร่อยในราคาย่อมเยา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 เมนูกุ้งฝอย : ไข่เจียว กับ กุ้งฝอยคลุกกะปิ

  ตั้งแต่หัวน้ำเริ่มลดลงหลังวันลอยกระทง กุ้งฝอยโผล่โฉมมาให้เห็นแบบยกขบวนมามากหน้าหลายตาอยู่หลายหน ทั้งในตลาดสด ตลาดนัด ทั้งรูปแบบปรุงเป็นอาหารแล้วและแบบสดๆ จะเพราะความคุ้นชินกับฐานทรัพยากรอาหารตัวนี้ที่มีติดตัวมาตั้งแต่จำความได้ ทั้งในแง่เหยื่อของปลาที่วิ่งไปซื้อในตลาดแทนการขุดไส้เดือนดิน – แมงกะชอน   และเหยื่อของคนในรูปตำรับอาหารต่างๆ ก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ...  แต่จู่ๆ วันหนึ่งพลันนึกถึงว่าตัวเองกำลังกลายเป็นกุ้งซะงั้น  ประเภทกุ้งฝอยน้ำจืดที่คุ้นที่สุดนั่นแหละ อ่านข่าวเร่งพัฒนาแก้มลิงตามโครงการพระราชดำริ กว่า 3,000 แห่ง รับมือภัยน้ำท่วมที่จะมาในอนาคต , อิทธิพลลานิญาปี 55  และ ระบบปลูกข้าวใหม่ 3 รูปแบบ ตามนโยบาย ก.เกษตร ที่ยังดันทุรังผลักดันที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้วแม้จะมีชาวนาในจังหวัดอยุธยาเข้าร่วมต่ำกว่าเป้ามโหฬาร และยิ่งมีตัวเลขต่ำลงอีกเมื่อนับพื้นที่นาที่ชาวนาทำจริงตามโครงการ แล้วอดไปได้ที่จะขับรถออกไปดูเวิ้งน้ำที่ยังเนืองนองในทุ่งต่างๆ รอบตัวอำเภอ ทำให้ฉันครุ่นคิดไปเองอีกแล้วว่า มันจะลดลงทันต้นมกราคมปีหน้าแล้วชาวนาเริ่มไถหว่านกันตั้งแต่ต้นปีอย่างที่รายงานข่าวสั้นในวิทยุประกาศนโยบายของกรมชลประทานไหม? ไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวที่ไหลอวลอยู่ในหัว หรือยาที่ฉันเพิ่งอัพเข้าไปก่อนขับรถมาถึงทุ่งลาดชะโด ออกฤทธิ์  ฉันจอดรถแล้วลง เดินเซแถดๆ ไปที่ริมถนน 4เลนส์เส้นใหญ่ที่ใครๆ ก็ต้องบอกขอบคุณบรรหารที่สร้างและยกมันขึ้นสูงอีก 1.5 เมตร หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2549  เพราะมันเป็นเส้นทางเดียวที่คนในตลาดผักไห่ใช้เดินทางไปสุพรรณ และที่ใกล้เคียงที่น้ำยังไม่ท่วมได้  แต่นโยบายกระทรวงเกษตรนี่ทำเอาฉันอยากเปลี่ยนคนบริหารจัง รวงข้าวฟางลอยที่เพิ่งหว่านเมื่อพฤษภาคมเพิ่งอยู่ในช่วงน้ำนม ไม่รู้ว่าปีนี้ผลผลิตจะเป็นอย่างไร จะแย่กว่าปีที่แล้วที่ได้แค่ 2 ขีด/ไร่ ไหม?  และหากน้ำไม่ลดลงจนแห้งกลางเดือนมกราคม ชาวนาที่นี่คงได้เกี่ยวข้าวกลางน้ำกันอีกรอบหรือเปล่า?  ข่าวเรื่องน้ำท่วม โครงการแก้มลิง  ลานิญา ปัญหา กส.ยึดเงินชาวนาลูกหนี้ในโครงการจำนำข้าว และชาวนาสุพรรณกับชาวนาอยุธยาจะปิดถนนประท้วงเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อวานนี้ที่ ถนนสาย 340 ช่วง อ.สาลี จะมีอิทธิพลต่อแผนการขยายพื้นที่นาปรังปี 55 อีกกว่า 100 ไร่ ในทุ่งแห่งนี้ที่ฉันรับรู้มาเมื่อช่วงตอนน้ำขึ้นขั้นพีคหรือเปล่าหนอ? ดงดอกผักบุ้งที่อยู่ในช่วงอุ้มลูกอุ้มดอกบานล้อลมแข่งกับดอกพงพลิ้วสวยไม่มีคำตอบให้ แต่แดดแรงๆ และลมเย็นกรรโชกทำให้ฉันเย็นใจ ผักบุ้งรอดมาช่วงฤดูกาลการจ้างฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในเดือนสิงหาคมมาได้ฉันใด ชีวิตคนปลูกข้าวก็คงอยู่ในครรลองเดียวกันกับเหล่าสิ่งชีวิตในทุ่งแห่งนี้ฉันนั้น อา... หรือว่ายาที่อัพมาเมื่อกี้มันหมดฤทธิ์อีกแล้ว ฉันถึงกลับมานึกว่าตัวเองเป็นกุ้งฝอยอีกครั้งเมื่อนึกว่าต้องกลับมาปั่นต้นฉบับ กุ้งฝอยสด 2 ขีด 25 บาท ถูกใส่กระชอนล้างน้ำที่ไหลจากก๊อกอย่างเหม่อๆ  แม้เลยกำหนดส่งต้นฉบับไป 1 วัน ฉันยังเย็นใจได้กับการนั่งตัดกรีกุ้ง และเฉือนเอาส่วนขี้ที่อยู่ในหัวออกไปทีละตัว ทีละตัว จนครบทุกตัวแล้วจับใส่กระชอนล้างน้ำอีกรอบ ตอกไข่ 2 ใบใส่ชาม ฝานมะนาว 1 ซีกลงชามนั้น จนสะดุ้งเฮือก ... มือที่พลาดไปถูกไอกรดกำจัดเชื้อราหลังทำความสะอาดบ้านที่บางบัวทองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำเอาฉันตื่นขึ้นมาอีกครั้งจากฤทธิ์ยาที่เพิ่งอัพเข้าไปใหม่ ฉันพยายามตื่นฝืนฤทธิ์ยา  ตั้งใจตีไข่ในชาม  แล้ว ใส่หอมแดงซอย กุ้งฝอย 2 – 3 ช้อน และน้ำปลา  แล้วตั้งกระทะใส่น้ำมัน เจียวไข่ กุ้งฝอยหัวขาดที่เหลือ 3 ใน 5 ส่วน จากที่เตรียมไว้ เอามาผัดกับเครื่องปรุง คล้ายๆ กับเมนูที่คนใต้ใช้ผัดสะตอกับน้ำพริกก้นถ้วย แต่หลายวันมานี่ฉันกินแต่น้ำพริกแมงดากับปลาช่อนย่าง เลยต้องเตรียม กระเทียมบุบ-สับ 1 หัว พริกขี้หนูสวนบุบ 4- 5 เม็ด  กะปิดี 1 ช้อนชาละลายน้ำและใส่น้ำตาลทรายสัก 1 ช้อนชา ใบมะกรูด 2 ใบ หั่นเส้น  ถั่วพู 2 ฝัก   และมะนาวอีก 2 ชิ้นที่เหลือจากเจียวไข่ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันจนน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมบุบลงไปผัดจนเหลืองหอม ใส่กุ้งฝอยหัวขาดผัดจนแดงระเรื่อแล้วใส่น้ำละลายกะปิกับน้ำตาลทราย  ผัดต่ออีกนิดจะยกลงใส่ถั่วพูหั่นแฉลบและพริกขี้หนูบุบ  ปิดเตา ตักใส่จาน ... ว้า! น้ำแห้งไปหน่อย มีแต่เนื้อๆ ถ่ายรูปจัดฉาก ชิม และเตรียมส่งงาน  แต่ไม่วายแว้บ... ดู FB อีกที เม้นท์ตอบ พรรคเพื่อนในแคมเปญฝ่ามืออากง...  ฮากับการไล่ไปอยู่ตปท.ของท่านแม่ทัพ  ฯ นาทีนี้ฉันก็นึกว่าตัวเองย้ายไปอยู่ที่เกาหลีเหนือเป็นวูบๆ ตามแรงของยาที่อัพเข้าไป ... มั้ง   ...เพลินกะจะโม้ถึงรสอร่อยที่เพิ่งกินให้เพื่อนฟัง ใบหน้าใจดีของหัวหน้ากองบก.ฉลาดซื้อก็ลอยเข้าไปได้ก็รีบละมาก่อน เฮ่อ!... นี่ฉันจะต้องผวานึกว่าเป็นกุ้งที่กินไปเมื่อกี้อีกกี่ครั้ง กว่าจะหมดฤทธิ์ยา  สวัสดีปี2555

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point